เว็บพุทธภูมิ: พุทธภูมิ พระโพธิสัตว์ การบำเพ็ญบารมี



ผู้เขียน หัวข้อ: ปฏิบัติธรรมมานาน แต่เหมือนไม่รู้หรือไม่ได้อะไรเลย  (อ่าน 12462 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 3 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ Webmaster

  • Administrator
  • สมาชิก
  • *****
  • กระทู้: 404
    • ดูรายละเอียด


ปฏิบัติธรรมมานาน แต่เหมือนไม่รู้หรือไม่ได้อะไรเลย

การปฏิบัติธรรม ในแง่หนึ่งก็แปลก เพราะสังเกตดูผู้ที่ใฝ่ใจปฏิบัติมักมีกรอบแห่งประสบการณ์ที่คล้าย ๆ กัน คือ

๑.เริ่มจากความไม่รู้ แล้วมามีศรัทธา เริ่มเรียนรู้ ศึกษา และจดจำธรรมะและเรื่องราวที่เกี่ยวเนื่องต่าง ๆ อย่างมากมาย

๒.จากนั้นก็เกิดความยินดีว่าตนรู้ตนเข้าใจไม่น้อยที เดียว และในขั้นนี้ ก็มีข้อควรระวังโดยเฉพาะกับผู้ที่มุ่งมั่นและเคร่งเครียดในการปฏิบัติ กล่าวคือการเป็น “ตำรวจ” หมายความว่าการจ้องจับผิดคนอื่น ว่าเขาไม่เคร่งอย่างเรา เขาไม่รู้หรือไม่มีปัญญาอย่างเรา ฯลฯ สารพัดที่กิเลสตัวหลงยึดมั่นในความดีจะหรอกเรา ดังที่เรียกว่า “ติดดี แก้ยากกว่าติดชั่ว”

๓.พัฒนาการต่อมาก็มาถึงความรู้สึกท้อถอยเหนื่อยหน่ายว่าปฏิบัติมาตั้งนานแต่ก็เหมือนตนไม่รู้ ไม่ได้อะไรเลย เพราะ “เวลาเจออะไรมากระทบ ก็มักกระเทือนทุกที” ทำให้ต้องนึกทบทวนตัวเองและเริ่มตระหนักว่า “ความรู้จำมันดับทุกข์ไม่ได้ เรายังเอาตัวไม่รอด คือยังไม่มีภูมิป้องกันความทุกข์ที่เพียงพอ จนกว่าจะ “พัฒนาความรู้จำ (สัญญา) ให้กลายเป็นความรู้จริง (ปัญญา)” ให้ได้ตั้งแต่ขั้นหยาบ ขั้นกลางเรื่อยไป ซึ่งในขั้นนี้ โอวาทที่ฟังเผิน ๆ แล้วสุดแสนจะธรรมดาของหลวงปู่ดู่ที่ว่า “ถ้าแกเคารพ และเชื่อพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์มากขึ้น ข้าก็ว่าแกใช้ได้” หรือ “ถ้าโลภ โกรธ หลงของแกลดลง ข้าก็ว่าแกใช้ได้” จะกลายเป็นแหล่งที่มาอันยิ่งใหญ่ของกำลังศรัทธาและความเพียร ช่วยให้เราไม่ท้อถอยหรือละทิ้งการปฏิบัติธรรม

๔.พัฒนาการต่อมาก็คือการเริ่มมีตนเป็นที่พึ่งได้ เริ่มมีวิจารณญาณที่พอตัว รู้ว่าอะไรใช่ทางหรือไม่ใช่ทาง เริ่มมองเห็นและยอมรับความจริงมากขึ้น ๆ ความทุกข์ก็เลยน้อยลง ๆ เพราะความทุกข์แท้จริงแล้วก็เกิดจากความคับข้องใจจากการที่เราไม่ยอมรับความ จริงนั่นเอง มันเป็นการยากที่จะให้ยอมรับในความแก่ ความเจ็บ ความตาย ความพลัดพรากจากสิ่งอันเป็นที่รัก การต้องเจอะเจอกับสิ่งที่ไม่พึงปรารถนา ฯลฯ เราอาจพูดออกมาอย่างง่ายดายว่า ฉันพร้อมรับต่อความตายทุกเมื่อ แต่พอมีสิ่งมากระทบแม้เล็กน้อย ก็กลับแสดงพฤติกรรมในทางตรงกันข้ามกับคำพูด เช่น ยังเสียดายนั่นนี่ มันต้องอย่างนั้น มันต้องอย่างนี้ สารพัดสิ่งที่เป็นความยึดมั่นหมายมั่นที่ฟ้องว่ายังไม่พร้อมต่อการปล่อยวาง ชนิดลาโลกนี้ไปอย่างไม่อาลัย

เคยมีเรื่องน่าขันเรื่องหนึ่ง คือ เมื่อหลวงตาท่านหนึ่งเทศน์จบ ท่านก็ให้พรแล้วมาจบที่ “นิพพานะปัจจะโยโหตุ ขอบุญกุศลนี้จงเป็นปัจจัยให้เข้าถึงนิพพานเทอญ” ทุกคนก็สาธุดังลั่น หลวงตาจึงว่า “เอ๊า สมมุติว่าถ้าอาตมาภาพสามารถให้ทุกคนไปนิพพานได้ ณ ตอนนี้เลย ถามว่าพร้อมมั้ย” ทีนี้เสียงก็ระงมเลย บ้างก็ว่าอิฉันยังไม่พร้อม ยังต้องดูแลลูกดูแลหลาน ไอ้นั่นก็ยังไม่ได้ทำ ไอ้นี่ก็ยังทำค้างอยู่ สารพัดจะงัดขึ้นมาอ้าง หลวงตาท่านก็ว่า “ปากก็ว่าอยากไปนิพพาน พอให้ไปจริง ๆ กลับว่าไม่พร้อมอย่างนั้นอย่างนี้” นี่แหล่ะใจคน มันยึดกันมาเสียเคย จะให้ปล่อย จะให้วาง มันจึงไม่ใช่เรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ เลย

๕.พัฒนาการต่อมาของผู้ที่ยังไม่ทิ้งการปฏิบัติไปเสีย ก่อน ก็คือการลิ้มรสพระธรรม การสัมผัสถึงผลการปฏิบัติที่เรียกว่าปฏิเวธด้วยใจเจ้าของเอง แต่ไหนแต่ไรมา เคยได้ยินว่า รสพระธรรม ชนะรสทั้งปวง ก็ยังไม่เข้าใจ แต่พอได้ลิ้มรสผลการปฏิบัติจิตภาวนาตั้งแต่อย่างหยาบ อย่างกลาง ไปตามลำดับ จึงทำให้ไม่ต้องเชื่อตัวหนังสือ แต่เชื่อเพราะประสบการณ์ตรงของตัวเอง สามารถเป็นกำลังให้กับเจ้าของเองได้ การจะละทิ้งการปฏิบัติจึงเป็นเรื่องห่างตัวออกไป เพราะเห็นคุณของการปฏิบัติและเห็นโทษของการไม่ปฏิบัติด้วยตัวเอง แล้วก็จะมาประจักษ์พุทธโอวาทอีกตอนหนึ่งที่ว่า “ความดี คนดีทำง่าย คนชั่วทำยาก แต่ความชั่ว คนชั่วทำง่าย คนดีทำยาก”

เมื่อพิจารณาตามข้อต่างๆข้างต้นเหล่านี้แล้วความลังเลสงสัยในเรื่องการปฏิบัติจะลดลงมาก เหลือเพียงดำเนินตามคำเตือนของหลวงปู่ดู่หลวงตาม้าที่ว่า “หมั่นทำเข้าไว้...เวลาเหลืออีกไม่มากแล้ว ให้พากันปฎิบัติ”

ออฟไลน์ Phatchara

  • สมาชิก
  • *
  • กระทู้: 2
  • ญาติธรรม
    • ดูรายละเอียด
อ่านเเล้สได้รับข้อคิดที่ใช้ในการดำเนินนชีวิตที่ดีมากเลยนะครับ