เว็บพุทธภูมิ: พุทธภูมิ พระโพธิสัตว์ การบำเพ็ญบารมี



แสดงกระทู้

This section allows you to view all posts made by this member. Note that you can only see posts made in areas you currently have access to.


Topics - Wisdom

หน้า: [1] 2 3 ... 5
1
เรื่องนางปัญจปาปา
(ข้อคิด ทำบุญทำกุศลอันใดให้ตั้งจิตให้ดี)

นิทานเรื่องนี้มาในกุณาลชาดก พระธรรมกถึกทั้งหลายชอบนำมาเทศน์ ชื่อเรื่องว่านางปัญจปาปา ในอดีตกาลนานมาแล้ว ก่อนที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะอุบัติขึ้นในโลก เป็นช่วงว่างจากพระพุทธศาสนา แต่ยุคนั้นยังมีพระปัจเจกพุทธเจ้าอุบัติขึ้น พระปัจเจกพุทธเจ้านั้นก็คือพระพุทธเจ้าผู้ซึ่งตรัสรู้ธรรมด้วยตนเองแต่มิได้ออกสั่งสอนประกาศพระศาสนา นับแต่วันที่ท่านบรรลุอรหันต์ด้วยตนเองแล้ว ท่านก็ปลีกวิเวกไปตามชอบใจของท่านจนกว่าท่านจะสิ้นอายุขัยก็จะเข้าสู่นิพพาน ท่านไม่มีภาระที่จะต้องประกาศศาสนาสั่งสอนใครเหมือนพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ยังมีนางกุมารีคนหนึ่งกำลังขยำดินเหนียวฉาบทาฝาเรือนอยู่ ขณะนั้นมีพระปัจเจกพุทธเจ้าพระองค์หนึ่งกุฏิที่ท่านอาศัยมีรูโหว่ท่านจึงออกแสวงหาดินเหนียวไปอุดรูกุฏิของท่าน เมื่อท่านผ่านมาเห็นนางกุมารีนางนี้กำลังขยำดินเหนียวอยู่ ท่านจึงถือบาตรเดินตรงไปหานางกุมารีนั้นเพื่อขอบิณฑบาตดินเหนียวใส่บาตรมาสักก้อน นางกุมารีเห็นดังนั้นก็โกรธคิดว่า "สมณะพวกนี้ตอนเช้าเที่ยวเดินขอข้าวชาวบ้านชาวเมืองกินยังไม่พอ ตัวเรานี้สู้อุตส่าห์ไปขนดินเหนียวหอบหิ้วมานั่งขยำ กว่าจะได้ที่ก็ต้องขยำแทบมืองอเท้างอ สมณะนี้กลับมายืนเฝ้าจะขอดินที่เราขยำดีแล้วไปอีก ช่างไม่รู้จักไปหาเองเอาเสียเลย" คิดดังนี้แล้วก็ค้อนควัก เชิดจมูก ปากบ่นอุบอิบพึมพัม เพื่อจะให้พระปัจเจกพุทธเจ้าล่วงรู้อาการว่านางไม่เต็มใจจะให้ จะได้ไปไปเสีย ฝ่ายพระปัจเจกพุทธเจ้าก็มีความเมตตาอารี อยากจะโปรดนางกุมารีน้อยให้ได้ทำบุญ จึงแสร้งทำเป็นไม่ทราบอาการของนาง ยืนนิ่งเปิดบาตรรอรับการบริจาคของนางต่อไป นางกุมารีเห็นดังนั้นก็คิดว่า "ชะรอยสมณะองค์นี้ถ้าไม่ได้อะไรคงจะไม่ไปแน่" นางจึงโกรธกระฟัดกระเฟียดปั้นดินได้ก้อนหนึ่งก็โยนใส่บาตรโดยไม่เคารพ พระปัจเจกพุทธเจ้าเมื่อได้ดินแล้วท่านก็เดินจากไปเพื่อทำกิจของท่าน

นางกุมารีนั้นเมื่อตายจากชาตินั้นได้มาเกิดในตระกูลคนจน มีอวัยวะที่บิดเบี้ยวอัปลักษณ์ ๕ แห่งคือ มือ เท้า ปาก นัยน์ตา จมูก จึงมีชื่อเรียกว่านางปัญจปาปา แปลว่าผู้มีบาป ๕ ประการ ถามว่าเหตุใดนางจึงมีอวัยวะบิดเบี้ยวอัปลักษณ์ ๕ แห่ง ตอบว่าเพราะนางมีความโกรธเมื่อพระปัจเจกพุทธเจ้ามาบิณฑบาตดินเหนียว นางคิดว่าเราสู้อุตส่าห์ไปขนดินเหนียวมาขยำแทบมืองอเท้างอ สมณะนี้กลับจะมาขอเอาไปเฉยๆ เพราะเหตุนี้จึงทำให้นางมีมือและเท้างอคดอัปลักษณ์ไม่น่าดู และก็เนื่องจากนางใช้ดวงตาค้อนควัก ใช้จมูกเชิดใส่ ใช้ปากบ่นอุบอิบพึมพำให้พระปัจเจกพุทธเจ้า นางจึงมีดวงตา จมูก และปากบิดเบี้ยวพิกลอัปลักษณ์ ฉะนั้นนางจึงมีชื่อว่า ปัญจปาปา แต่ว่าด้วยอานิสงส์การถวายดินเหนียวก้อนนั้นแก่พระปัจเจกพุทธเจ้าก็มีผลอันยิ่งใหญ่แก่นาง คือทำให้ร่างกายผิวพรรณของนางนั้นมีความนุ่มเนียนเรียบลื่นน่าสัมผัสเปรียบประดุจสัมผัสอันเป็นทิพย์ของนางฟ้านางสวรรค์ ใครถูกต้องนางจะติดใจไม่สามารถตัดใจจากนางได้ ด้วยผลบุญที่นางได้ถวายดินเหนียว ทำให้นางได้เป็นอัครมเหสีของพระราชาถึง ๒ พระองค์ คือพระเจ้าพกะ และพระเจ้าทีปาวาริกะ

เรื่องราวมีอยู่ว่า การที่นางได้เป็นมเหสีของพระราชาองค์แรกเนื่องจากพระราชาได้ปลอมพระองค์ออกไปตรวจตราบ้านเมืองยามค่ำคืน บังเอิญนางปัญจปาปาวิ่งเล่นได้มาชนพระราชาโดยไม่ตั้งใจ พระราชาก็ติดใจในสัมผัสกายของนางจึงไปสู่ขอต่อพ่อแม่นางและปลอมตัวออกมาสมสู่กับนาง และต่อมายิ่งหลงใหลในสัมผัสของนางมากขึ้น มิอาจตัดใจจึงได้รับนางเข้าวัง แต่ต่อมามีผู้อิจฉาใส่ร้ายนางว่าที่นางอัปลักษณ์ดังนี้คงเป็นยักษ์เป็นมารปลอมตัวมา พระราชาเชื่อจึงจับนางใส่เรือลอยน้ำไป นางลอยไปกับเรือจนไปเจอพระราชาองค์ที่ ๒ กำลังประพาสท่องเที่ยว นางจึงร้องบอกว่านางคือมเหสีของพระเจ้าพกะ แล้วนางจึงออกอุบายให้พระราชาองค์ที่ ๒ คือพระเจ้าทีปาวาริกะฉุดนางขึ้นจากเรือ เมื่อมือสัมผัสมือพระเจ้าทีปาวาริกะก็เกิดหลงใหลในสัมผัสของนาง พานางไปแต่งตั้งอยู่ในอัครมเหสี ฝ่ายพระเจ้าพกะหวนคิดถึงนางปัญจปาปาจนไม่เป็นอันกินอันนอน ต่อมาได้ข่าวว่านางมาอยู่กับพระเจ้าทีปาวาริกะ จึงยกกองทัพมาหวังจะชิงนางคืน ภายหลังได้ตกลงกันว่าจะแบ่งเวลาที่จะอยู่ร่วมกับนางปัญจปาปา นั่นคือนางปัญจปาปาจะอยู่กับพระราชาองค์ที่ ๑ ช่วงหนึ่ง แล้วจึงย้ายไปอยู่กับพระราชาองค์ที่ ๒ อีกช่วงหนึ่งเวลาเท่าๆ กันเหตุการณ์จึงสงบลง นางปัญจปาปาจึงเป็นอัครมเหสีของพระราชา ๒ เมืองได้ด้วยประการฉะนี้

ฉะนั้นนิทานเรื่องนี้สอนว่า เวลาเราจะทำบุญทำกุศลอันใดให้ตั้งจิตให้ดี อย่าทะเลาะเบาะแว้งโกรธเคืองขุ่นเคืองกับใคร จงทำจิตให้ผ่องใส ปิติร่าเริง บุญกุศลจะได้บังเกิดอย่างบริสุทธิ์ไม่มีมลทินมาแปดเปื้อนอย่างเรื่องของนางปัญจปาปาที่สาธกมาเป็นอุทาหรณ์ดังนี้แล..

2


การปฏิบัติธรรมตามแบบฉบับของหลวงปู่ดู่ พรหมปัญโญ ไม่มีอะไรยากเพราะทุกคนสามารถทำได้ ขอแค่เพียงสละเวลาวันละ 3-5 นาทีมาปฏิบัติธรรมเป็นประจำทุกวัน ซึ่งจะทำที่ไหนก็ได้ อยู่บ้านก็ทำได้ ขอเพียงมีใจที่เคารพศรัทธาในพระรัตนไตรเท่านั้นก็เพียงพอแล้ว ก่อนจะเริ่มทำก็กราบพระเสียก่อน จะกราบที่หิ้งพระหรือที่หัวเตียงก็ได้ หากหัวเตียงไม่มีพระ ก็ให้นึกถึงพระแล้วกราบลงไป คนเราหากนึกถึงพระอยู่ กราบลงไปเมื่อใดก็ถึงพระท่านเสมอ

จากนั้นก็นั่งในอริยาบทสบายๆ จะนั่งขัดสมาธิก็ได้ จะนั่งเหยียดขาก็ได้ แล้วให้นึกท่องในใจว่า

"พุทธัง สรณัง คัจฉามิ
ธัมมัง สรณัง คัจฉามิ
สังฆัง สรณัง คัจฉามิ"

ซึ่งพระคาถาบทนี้เรียกว่าพระไตรสรณคมน์ อันมีความหมายว่า

"ขอยึดเอาพระพุทธ พระธรรม และพระอริยสงฆ์เป็นที่พึ่ง"

หรือจะใช้บทพระคาุถามหาจักรพรรดิก็ได้ ซึ่งพระคาถานี้มีอยู่ว่า

"นะโมพุทธายะ พระพุทธไตรรัตนญาณ มณีนพรัตน์ สีสหัสสสุธรรมา พุทโธ ธัมโม สังโฆ
ยะธาพุทโมนะ พุทธบูชา ธรรมบูชา สังฆบูชา อัคคีทานัง วะรังคันธัง สิวลีจะมหาเถรัง
อะหังวันทามิ ทูระโต อะหังวันทามิ ทาตุโย อะหังวันทามิ สัพพะโส
พุทธะ ธัมมะ สังฆะ ปูเชมิ"

เลือกเอาบทใดบทหนึ่ง ซึ่งระหว่างท่องนั้นให้นึกถึงพระที่เราชอบไปด้วย จะเป็นพระพุทธชินราชก็ได้ พระพุทธโสธรก็ได้ พระพุทธนิมิตก็ได้ พระแก้วมรกตก็ได้ หรือจะเป็นหลวงปู่ดู่ก็ได้ เพราะหลวงปู่ดู่ท่านเคยกล่าวเอาไว้ว่า
"แกนึกถึงข้า ข้าก็นึกถึงแก แกไม่นึกถึงข้า ข้าก็ยังนึกถึงแก"

ให้ท่องในใจไปเรื่อยๆ ท่องจบก็เริ่มใหม่ ท่องจบก็เริ่มใหม่
อย่างนี้ไปเรื่อยๆ ทำด้วยใจสบาย ไม่ต้องเพ่ง ไม่ต้องเกร็ง
อย่างนี้เขาเรียกว่า ภาวนา

หากจำภาพพระที่เราชอบไม่ได้ ก็ให้หารูปมานั่งดู ดูรูปไปด้วยภาวนาไปด้วย ทำอย่างนี้วันละ 3-5 นาทีทุกๆวัน ขอแนะนำให้ทำตอนตื่นนอนหรือไม่ก็ก่อนนอน เพราะเป็นช่วงเวลาที่ธาตุขันธุ์(ร่างกาย)ได้รับการพักผ่อน จิตจะพลอยสบายไปด้วย นี่แหละคือกรรมฐานสูตรหลวงปู่ดู่


หลวงตาม้าท่านเคยกล่าวได้ใจความว่า
"กรรมฐานสูตรหลวงพ่อ(ดู่)เป็นกรรมฐานผู้ใหญ่
ครูคือพุทธะ ธัมมะ สังฆะ ครูคือหลวงพ่อ(ดู่)"

อันที่จริงแล้วหากจะให้ครบเครื่องเรื่องการปฏิบัติตามแนวหลวงปู่ดู่ จะต้องมีพระเครื่องอย่างน้อยหนึ่งองค์เอาไว้กำขณะภาวนา ซึ่งพลังงานพุทธคุณจากพระเครื่องจะช่วยให้จิตเราสงบเป็นสมาธิหรือเบาเย็นสบาย โดยขณะกำและภาวนานั้น ท่านให้นึกถึงองค์พระที่กำเอาไว้ด้วย ซึ่งถ้าหากว่าเป็นพระเครื่องที่สร้างและอธิษฐานจิตด้วยวิชาของหลวงปู่ดู่หลวงตาม้า จะสามารถดิ้นได้ เดินได้ เมื่อภาวนาไปจนใจสบาย จะพบว่าพระที่กำเอาไว้มีอาการดิ้นอยู่ในมือเลยทีเดียว

อีกทั้งเมื่อผู้ปฏิบัติธรรม ปฏิบัติไปจนถึงขั้นจิตละเอียดเบาสบาย ก็จะสามารถพูดคุยกับองค์พระที่เรานึกถึงหรือพระที่อยู่ในมือได้ ซึ่งองค์พระท่านสามารถตอบปัญหาในสิ่งที่เราสงสัยคาใจอยู่ได้เช่นกัน ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะว่าพระเครื่องที่อธิษฐานจิต ตามแนวทางหลวงปู่ดู่หลวงตาม้า สามารถพูดได้ทุกองค์ ซึ่งตรงนี้หลวงตาม้าท่านเคยกล่าวเอาไว้ว่า พระที่ท่านสร้างนั้น เราสามารถถามได้ทั้งสามโลกธาตุ เพราะท่านตอบได้ทั้งหมด อยู่ที่ผู้ปฏิบัติจะเข้าถึงหรือไม่ก็เท่านั้นเอง

3


แนะนำหลักการแนวทางอีกรูปแบบหนึ่งในการปฎิบัติ
ตามสูตรหลวงปู่ดู่หลวงตาม้า . . . (โพสยาว)

ขั้นตอนที่ ๑
ให้ท่านกล่าว นะโม ขึ้นมา ๓ ครั้งดังนี้

นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมา สัมพุทธัสสะ
(๓ ครั้ง)

ข้าพระพุทธเจ้าขอกราบนมัสการนอบน้อมต่อองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทั้งในอดีต ปัจจุบัน และอนาคตที่จะเกิดขึ้นข้าพเจ้าขอระลึกถึงพระปัญญาธิคุณขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าซึ่งบังเกิดขึ้นแล้ว ทำให้จิตของพระพุทธองค์เต็มไปด้วยความบริสุทธิ์แจ่มใสเรียกว่า พระบริสุทธิคุณ และเมื่อพระองค์มีพระบริสุทธิคุณ และมีพระปัญญาธิคุณแล้ว ก็มิได้นิ่งนอนใจ หวังเพียงเพื่อที่จะช่วยให้สัตว์โลกทั้งหลาย ที่กำลังระทมไปด้วยความทุกข์ได้พ้นทุกข์ ซึ่งมีวิธีการที่จะทำให้จิตของตนเองนั้น เกิดความสว่างจากความดี จากคุณธรรม เป็นพระคุณในข้อที่ ๓ อันนี้เรียกว่า พระมหากรุณาธิคุณอันยิ่งใหญ่ไม่มีประมาณข้าพระพุทธเจ้า ขอน้อมรับ ระลึกถึงพระคุณขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า นับตั้งแต่บัดนี้ . . .

พุทธัง ชีวิตัง เมปูเชมิ
ธัมมัง ชีวิตัง เมปูเชมิ
สังฆัง ชีวิตัง เมปูเชมิ

ข้าพเจ้าขอเอาชีวิตจิตใจ ร่างกาย ถวายเป็นพุทธบูชา ธรรมบูชา สังฆบูชา ในบางครั้งที่เราทำสมาธิ เราอาจจะไม่มีดอกไม้ธูปเทียนเราก็ใช้วิธีเอาชีวิต จิตใจ ถวายเป็พุทธบูชา ธรรมบูชา สังฆบูชา เพราะว่าพระพุทธองค์ พระธรรม พระสงฆ์ จะเป็นผู้ชุบชีวิต ทำจิตของเราจากการที่เป็นผู้ที่มีสันดานบาปหยาบช้า เป็นปุถุชน ให้เป็นสาธุชนหรือกัลยาณชน ในที่สุดจนเป็นพระอริยบุคคล เนื่องจากว่า ในพระพุทธศาสนานั้น ไม่ได้สอนเพียงให้ทำดี และละความชั่ว แต่มีขั้นตอนอีกอย่างหนึ่งคือ วิธีการทำจิตให้บริสุทธิ์ เมื่อจิตที่บริสุทธิ์แจ่มใสแล้ว จะเป็นจิตที่เป็นเหมือนพระอริยะ จึงกล่าวได้ว่า ศาสนาพุทธ เป็นศาสนาเอกของโลก เนื่องจากพระพุทธองค์ ทรงค้นพบสัจจะธรรม ทรงพบทุกข์ - เหตุของทุกข์ - วิธีการดับทุกข์ และผลที่ได้รับจากการดับทุกข์ . . .

หลังจากนั้น ให้ตั้งใจสมาทานศีล เนื่องจากว่าในวันหนึ่งๆ นั้น เราอาจจะไปทำผิดศีลข้อหนึ่งข้อใด การสมาทานศีลจะป็นการทำจิตให้พร้อม เพราะเมื่อสมาทานศีลแล้ว จิตของเราก็จะบริบูรณ์ โดยให้ระลึกนึกถึงดังนี้

นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมา สัมพุทธัสสะ (กราบ 3 ครั้ง)
พุทธัง สรณัง คัจฉามิ ธัมมัง สรณัง คัจฉามิ สังฆัง สรณัง คัจฉามิ ทุติยัมปิ พุทธัง สรณัง คัจฉามิ ทุติยัมปิ ธัมมัง สรณัง คัจฉามิ ทุติยัมปิ สังฆัง สรณัง คัจฉามิ ตติยัมปิ พุทธัง สรณัง คัจฉามิ ตติยัมปิ ธัมมัง สรณัง คัจฉามิ ตติยัมปิ สังฆัง สรณัง คัจฉามิ ปาณาติปาตา เวรมณี สิกขาปะทังสมาธิยามิ อทินนาทานา เวรมณี สิกขาปะทังสมาธิยามิ
กาเมสุมิจฉาจารา เวระมะณี สิกขาปะทัง สะมาทิยามิ (หรือ: อพรัมจริยา เวรมณี สิกขาปะทังสมาธิยามิ :ก็ได้ข้อนี้เป็นการระงับในกามสำหรับเวลาก่อนเราจะปฎิบัติ) มุสาวาทา เวรมณี สิกขาปะทังสมาธิยามิ สุราเมรยะ มัชชปมาทัฎฐานา เวรมณี สิกขาปะทังสมาธิยามิ

** อิมานิ ปัญจสิกขา ปทานิ สมาธิยามิ ** (3 ครั้ง)

สีเลนะ สุคติง ยันติ สีเลนะ โภคะสัมปทา สีเลนะ นิพพุตติง ยันติ ตัสมา สีลัง วิโส ธะเย

ข้าพเจ้าขอถึงซึ่งพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ ว่าเป็นที่พึ่ง ที่ระลึก ทั้งครั้งที่ ๑ ครั้งที่ ๒ และครั้งที่ ๓ การที่เราได้กล่าวไตรสรณคมน์นี้ ก็เป็นการประกาศตนเองเป็นพุทธมามกะ เมื่อประกาศตนเป็นพุทธมามกะได้ ก็จะต้องมีศีล ศีลของฆราวาส หรือศีลของปุถุชนทั่วไป คือ ศีล ๕ ศีลแปลว่า ความปกติ จะเป็นปกติได้ก็อยู่ที่กฎเกณฑ์ของสังคม พระพุทธเจ้าทรงมองสังคมว่า ถ้าไม่มีการล่วงละเมิดศีลทั้ง ๕ ข้อนี้ สังคมนั้น ก็จะเป็นสังคมที่สงบ เนื่องจากว่า ถ้าคนทุกรูป ทุกนาม ถือศีล รักษาศีล ศีลก็จะรักษาตัวเรา และรักษาสังคม . . .

หลังจากนั้น ให้พึงกำหนดจิต
กล่าวอาราธนาบารมีพระ

นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะะหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ (๓ ครั้ง)

พุทธัง อาราธนานัง กะโรมิ
ธัมมัง อาราธนานัง กะโรมิ
สังฆัง อาราธนานัง กะโรมิ

นะโม โพธิสัตโต อาคันติมายะ อิติภะคะวา (๓ ครั้ง)
นะโม โพธิสัตโต พรหมปัญโญ (๓ ครั้ง)

ข้าพระพุทธเจ้าทั้งหลาย ขออารธนาบารมีขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทุกๆ พระองค์ ทั้งแสนโกฎิจักรวาล พระปัจเจกพุทธเจ้าทุกๆ พระองค์ ทั้งแสนโกฎิจักรวาล พระธรรม และพระอริยสงฆ์ทั้งหลาย อันมีบารมีหลวงปู่ทวด เหยียบน้ำทะเลจืด บารมีของหลวงปู่ดู่ พรหมปัญโญ เป็นที่สุด และหลวงตาม้า ขอได้โปรดได้ควบคุมการปฏิบัติสมาธิของข้าพเจ้า ให้มีจิตใจที่สะอาด ให้มีจิตใจที่สว่าง และมีจิตใจที่สงบด้วยเทอญ . . .

ลำดับต่อไปให้นึกถึง ความผิดที่เราได้เคยกระทำมา ด้วยกาย วาจา ใจ หรืการประมาทพลาดพลั้งในพระรัตนตรัย คือ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ซึ่งการกระทำของเราจะเป็นไปด้วยเจตนาหรือไม่ก็ตาม เราตั้งใจที่จะขอขมาโทษ เพราะว่ากรรมที่ได้ประมาทในพระรัตนตรัยนั้น จะทำให้จิตของเราเนิ่นช้าต่อคุณธรรมที่ควรจะได้ จงดำริขึ้นในใจว่า

โยโทโส โมหะจิตเต นะพุทธัสมิง ปาปะกะโต มะยา
ขะมะถะเม กะตัง โทสัง สัพพะปาปัง วินัสสันตุ

โยโทโส โมหะจิตเต นะธัมมัสมิง ปาปะกะโต มะยา
ขะมะถะเม กะตัง โทสัง สัพพะปาปัง วินัสสันตุ

โยโทโส โมหะจิตเต นะสังฆัสมิง ปาปะกะโต มะยา
ขะมะถะเม กะตัง โทสัง สัพพะปาปัง วินัสสันตุ

ทำจิตของเรานึกถึงบารมีของ หลวงปู่ทวด หลวงปู่ดู่ ทำจิตของเรานึกถึงบารมีของพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ รวมทั้งบุญที่เราเคยทำมาตั้งแต่อดีตชาติ ปัจจุบัน และในขณะนี้ แผ่เมตตาไปโดยไม่มีประมาณไปยังสรรพสัตว์ทั้งหลายว่า

พุทธัง อนันตัง ธัมมัง จักรวาลัง สังฆัง นิพพานะปัจจะโยโหตุ

การที่เราจะทำสมาธิต่อไปนั้น ให้นั่งเอาเท้าขวาทับเท้าซ้าย มือขวาวางไว้บนมือซ้าย มือขวากำพระไว้ในมือ กำพระไว้ในอุ้งมือโดยให้หัวแม่มือชนกันตั้งกายให้ตรง ทำกายให้ตรงไม่ต้องยืดหรือเกร็งตัวจนเกินไปนั่งให้สบายๆ เสร็จแล้วนำความรู้สึกนึกคิดทั้งหมดมาวางไว้ที่ตรงหน้าผากเหมือนเราคิดอะไรในใจ ความคิดอะไรวางไว้ตรงนั้นซึ่งหน้าผากนี้ จะเป็นฐานหนึ่งของลมหายใจเช่นกันไม่ต้องนึกถึงลมหายใจเข้าออกเพราะลมหายใจเป็นของที่ละเอียด แต่จิตของเราจะเป็นของที่หยาบของที่หยาบจะไปจับของที่ละเอียดนั้น เป็นไปได้ยากอันแรกเราก็ำหนดฐานของลมหายใจไว้ตรงที่กลางหน้าผาก หรือจะใช้การกำหนดภาพองค์พระ กำหนดภาพ หลวงปู่ทวด หลวงปู่ดู่ ในใจ ก็ได้ เบาๆสบายๆ ไม่เพ่ง นึกสบายๆ เหมือนเวลานึกถึงพ่อกับแม่ แล้วบริกรรมในใจว่า

พุทธัง สะระณัง คัจฉามิ
ธัมมัง สะระณัง คัจฉามิ
สังฆัง สะระณัง คัจฉามิ

หรือใช้คาถามหาจักรพรรดิเป็นองค์บริกรรมก็ได้เช่นกัน

การบริกรรมนี้ก็ให้บริกรรมไปเรื่อยๆ ไม่ต้องรีบไม่ต้องร้อนไม่ต้องเร่ง ทำใจให้สบายๆทีนี้ บางครั้งก่อนที่เราจะบริกรรมนั้น เราอาจจะสูดลมหายใจเข้าไปลึกๆเพื่อเป็นการปรับอารมณ์ ให้จิตของเราสบายโปรดจำไว้อย่างหนึ่งว่า ให้ปฏิบัติหรือให้ทำอย่างสบายๆอย่าไปเคร่งเครียด อย่าไปเร่งรัดเพราะจะทำให้ไม่ได้อะไรขึ้นมาให้ทำใจเราให้ยึดอยู่แต่คำภาวนา

หน้าที่ของเราก็คือ การบริกรรมนี้ เขาเรียกว่า การทำงานของจิตเนื่องจากว่าจิตของคนเรานั้นจะสนองทันทีในการคิด วุ่นวาย สับสน ปรุงแต่งเมื่อมีการปรุงแต่งแล้ว จิตของเราก็จะหาความสงบไม่ได้เมื่อจิตหาความสงบไม่ได้ ก็เป็นจิตที่วุ่นวายสับสนเมื่อจิตวุ่นวายสับสน ก็หาความสุขไม่ได้ดังพุทธภาษิตของพระพุทธเจ้าที่ตรัสไว้ว่า

นัตถิ สันติปะรัง สุขังสุขยิ่งกว่าความสงบไม่มี

การที่เราได้มาบำเพ็ญสมาธิ ได้ชื่อว่า เรากำลังทำให้จิตได้ทำงานเพื่อให้เกิดความสงบเพราะจิตที่สงบเท่านั้นจึงจะเป็นการพักจิต ฟอกจิตคนเราทุกวันนี้ อาบน้ำชำระร่างกายวันละ ๓ เวลาแต่ว่าไม่ได้ฟอกจิตของตัวเองเลยเรารับประทานอาหารวันละหลายมื้อ แต่ว่าเราไม่ได้ให้อาหารแก่จิตเลยเมื่อจิตซึ่งปราศจากความสงบ ความสมบูรณ์พูนสุขเข้าไปสะสมอยู่ในตัวจิตนั้นจะไปเกิดเป็น อาสวะ เป็นกิเลสซึ่งหมักหมมพอหมักหมมแล้วก็จะเกิดเป็นพิษต่อเจ้าของเขาเหล่านั้นจะหาหนทาง หรือหาตัวเองไม่พบเนื่องจากว่า ไม่ได้เข้ามาสู่การปฏิบัติในทางพระพุทธศาสนาเพราะการปฏิบัติภาวนาเป็นวิถีทางที่พระอริยเจ้าทั้งหลายได้ดำเนินมาเราซึ่งได้ชื่อว่า เป็นลูกหลานขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ควรกะทำตาม ประพฤติยึดแนวตามที่เรากล่าวกันว่าเรานับถือบูชาพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์นั้น

การนับถือบูชาคือการยอมรับและนำมาปฏิบัติตามพระพุทธองค์ทรงสำเร็จพระสัมมาสัมโพธิญาณได้ก็ด้วยวิถีแห่งการบำเพ็ญสมาธิ

เพราะเมื่อจิตสงบแล้ว ก็จะเกิดกำลังของจิตขึ้นเมื่อเราวิเคราะห์ไตร่ตรองได้แล้วเราก็มีปัญญารู้ตามว่า สิ่งนั้นผิด สิ่งนั้นถูกโดยจิตใจของเราเองหรือเรียกว่า เป็นคนที่รู้จริง ไม่ได้รู้ตามทฤษฎีคนที่รู้ตามทฤษฎีนั้น โอกาสที่จะทำจิตใจของตนเองเพื่อที่จะค้นคว้าเข้าไปหาจิตของตนเองนั้นเป็นไปได้ยาก
การที่เราบำเพ็ญภาวนาและกล่าวไตรสรณคมน์นั้นเมื่อจิตของเรายังไม่สงบนิ่งก็ให้กำหนดให้จิตเห็นเป็นตัวหนังสือปรากฎขึ้นในห้วงใจของเราที่จิตของเรา เหมือนกับเรากำลังเขียนหนังสือลงบนกระดานดำหรือเขียนหนังสือฉายลงบนจอภาพพอเราภาวนาว่า พุทธัง สะระณัง คัจฉามิก็ให้เขียนเป็นตัวหนังสือไปตามนั้นทั้ง ๓ อย่างพอจิตของเราชำนาญก็จะทำได้ดีเนื่องจากว่าเราใช้จิตของเราทำงานถึง ๒ อย่างคือ

๑. การบริกรรมในใจ
๒. การกำหนดตัวหนังสือ หรือ กำหนดภาพองค์พระ

เมื่อจิตมีงานทำทั้ง ๒ อย่างการที่จิตจะส่ายก็จะลดน้อยลงจิตก็จะมุ่งมั่นอยู่กับการภาวนาอย่างสม่ำเสมอภาวนาไปเรื่อยๆ อย่างที่บอก ไม่ต้องรีบให้ถือ มัชฌิมา ปฏิปทาคือว่าในตอนแรกๆ ไม่ต้องนั่งนาน ทั้งนี้ เพราะจิตยังไม่คุ้นเคยก็จะเกิดทุกขเวทนาขึ้นมา คือการปวดเมื่อยตามร่างกายแรกๆ เราก็อย่าไปฝืนนั่งพอจิตของเราเริ่มมีกำลังขึ้น เราก็ค่อยๆ เพิ่มทีละนิดๆเพื่อให้จิตคุ้นอยู่กับคำภาวนา เมื่อจิตสงบแล้วมันจะมีตัวชี้ความสงบนั้นแสดงผลอยู่ที่ใจ
คือ ใจหรือจิตของเราจะไม่ฟุ้งซ่านจะมีความสบายกาย เบาเนื้อ เบาตัว เบาจิต เบาใจเนื่องจาก จิตกับกายกำลังแยกออกจากกัน

การที่จิตกับกายเริ่มแยกออกจากกันนั้นเกิดจากจิตที่เป็นสมาธิในขั้นหยาบ ขั้นกลาง ขั้นละเอียดเป็นลำดับๆไม่มีวิธีการใดเลย ในทางพระพุทธศาสนา ที่จะยิ่งใหญ่ไปกว่าการบำเพ็ญสมาธิเพราะเมื่อมีสมาธิแล้ว สิ่งที่ติดตามมาก็คือ ปัญญาเราจึงมีปัญญาเกิดขึ้นโดยอัตโนมัติ เนื่องจากว่าเราจะเห็นทุกสิ่งทุกอย่างในขณะที่เราไม่ได้บำเพ็ญสมาธิ เข้ามาอยู่ในสายตาของเราเข้ามาอยู่ในอารมณ์ของเราอยู่ตลอดเมื่อจิตของเราได้รับการทำสมาธิแล้ว จิตมีกำลังแล้วก็เริ่มที่จะพิจารณาความเป็นจริงความเป็นจริงที่แสดงออก เมื่อแสดงออกมาแล้ว เราจะเข้าใจสิ่งเหล่านั้นอันนี้คือ วิถีทางหรือกระบวนการที่ทำให้จิตเกิดวิปัสสนาวิปัสสนาคือปัญญา

ปัญญาเมื่อเกิดขึ้นแล้ว ก็ย่อมที่จะไปคุมศีล หรือคุมสมาธิคือว่าเราจะรักษาศีล ทำสมาธิโดยไม่ต้องมีใครมาบังคับเพราะปัญญาเราเริ่มจะรู้แจ้งเห็นจริงแล้วว่าสิ่งเหล่านั้นเป็นคุณ เหมือนกับเราต้องรับประทานอาหาร หรือเราต้องหายใจพอสิ่งเหล่านี้เป็นคุณ เราก็ถือว่าเป็นสิ่งหนึ่งซึ่งจะประจำตัวของเรา

การที่เราได้เกิดมาเป็นมนุษย์ ได้มาพบพระพุทธศาสนาและได้มาปฏิบัติธรรมนั้น เป็นสิ่งที่ยากเย็นมากเพราะบารมีของผู้ที่จะมาศึกษา มาปฏิบติภาวนานั้นเป็นบารมีขั้นสุดท้ายในการที่จะตัดภพ ตัดชาติการที่จะตัดภพตัดชาติได้ บารมีของท่านผู้นั้นจะต้องเข้มข้นจึงสามารถจะตัดสินได้เลยว่า บุคคลนั้นมีบารมีเข้มข้นหรือยังถ้าเราเริ่มที่จะพอใจในการบำเพ็ญสมาธิ ปฏิบัติภาวนานั่นแหละขอให้รู้ว่า บารมีของเรากำลังบังเกิดขึ้นและกำลังจะดำเนินไปสู่ทางที่ดีงามที่สุด

ให้บริกรรมไปเรื่อยๆ บริกรรมไป ทำจิต ทำใจ ตั้งสติให้คุมคำภาวนาไว้ตลอด
ไม่ให้จิตส่ายโอนเอียงไปข้างหน้าไปข้างหลังให้ทำจิตใจของเราให้เหมือนเรากำลังเข้าเฝ้าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเรากำลังอยู่เบื้องพระพักตร์ของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเรากำลังอยู่ในแวดวงพระอริยสงฆ์ทั้งหลาย
เมื่อเราได้บำเพ็ญมาแล้วด้วยดีทุกครั้งก่อนที่เราจะเริ่มทำสมาธิหรือเริ่มภาวนาให้ตั้งจิตของเราให้มีเมตตา อ้างเอาบุญญาธิการขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระปัจเจกพุทธเจ้า พระธรรม และพระอริยสงฆ์ทั้งหลาย
ขอบุญบารมีของหลวงปู่ทวด เหยียบน้ำทะเลจืด หลวงปู่ดู่ วัดสะแกรวมทั้งบุญบารมีของข้าพเจ้าที่ได้กระทำมาด้วยดีขอแผ่ผลบุญนี้ไปไม่มีประมาณ ณ กาลบัดนี้

พุทธัง อนันตัง ธัมมัง จักรวาลัง สังฆัง นิพพานะปัจจะโย โหตุ

สัพเพพุทธา สัพเพธัมมา สัพเพสังฆา
พะลัปปัตตา ปัจเจกานัญ จะยังพะลัง
อะระหันตานัญจะเตเชนะรักขัง พันธามิสัพพะโส

ขออำนาจบุญบารมีพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์
จงมาสถิตติดอยู่ในใจของข้าพเจ้าตลอดไป

พุทธังกำลังกล้า ธัมมังกำลังแกร่ง สังฆังกำลังแรงด้วยฤทธิ์แห่งพระกำลัง ขอเชิญพระปัจเจกมาช่วยเสกกับพระอรหันต์ให้เป็นวิมานแก้วล้อมรอบครอบตัวพัวพัน คอยป้องกันภยันตราย

พุทธัง อธิษฐามิ
ขอการอธิษฐานของข้าพเจ้า จงสำเร็จได้ด้วยอานุภาพพระพุทธเจ้า
ธัมมัง อธิษฐามิ
ขอการอธิษฐานของข้าพเจ้า จงสำเร็จได้ด้วยอานุภาพพระธรรม
สังฆัง อธิษฐามิ
ขอการอธิษฐานของข้าพเจ้า จงสำเร็จได้ด้วยอานุภาพพระอริยสงฆ์ทั้งหลายด้วยเทอญ

ก่อนที่เราจะลืมตาขึ้นมานั้น ให้พึงพิจารณาว่าทุกสิ่งทุกอย่างพอเกิดขึ้น แล้วมาตั้งอยู่ แล้วก็ดับไปนี่เป็นของจริงแท้แน่นอน เป็นสัจธรรมที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงเล็งเห็นด้วยพระญาณอันประเสริฐว่า ขึ้นชื่อว่าโลกแล้วจะต้องถึงคราวอันตรธานสูญหายวิบัติไปโลกภายนอกเช่น บุคคล สิ่งของทั้งหลายโลกภายใน คือโลกของเราเอง เปรียบเสมือนพวกร่างกาย
เมื่อถึงวันเวลาซึ่งเรายืมเขามา คือ ดิน น้ำ ลม ไฟ อากาศธาตุมาประชุมรวมกันเป็นร่างกาย โดยมีจิตปฏิสนธิวิญญาณของเราครองอยู่ สิงสถิตรวมอยู่
จึงถือได้ว่า พ่อแม่เป็นผู้ที่ให้ร่างกายให้เรามาอาศัยอยู่ถึงเวลาแล้วเขาก็ต้องเรียกคืนไป โลกก็จะต้องกลับคืนไปสู่โลกไม่มีคนหนึ่งคนใดจะเอาทรัพย์สมบัติอะไรไปได้ แม้แต่เพียงหยิบมือ หรือเพียงธุลีเดียวสิ่งที่จะติดตัวไปได้นั้นคือ บุญ บาป ชั่ว ดี เท่านั้นหมั่นพิจารณาอยู่เสมอๆ ว่า พอร่างกายนั้นตาย เราไม่สามารถจะนำเอาอะไรไปได้การที่เราได้คิดอยู่ทุกวัน คิดถึงความตายอยู่เสมอๆจิตของเราก็จเป็นจิตซึ่งทรงอานุภาพ และเป็นจิตที่ไม่ประมาท
ในการที่จะสร้างคุณงามความดียิ่งๆ ขึ้นไปสมดังที่พระพุทธเจ้าได้ทรงตรัสบอกกับพระอานนท์ว่าตถาคตคิดถึงความตายอยู่ทุกลมหายใจเข้าออก
พระดำรัสนี้ย่อมแสดงถึงว่าผู้มีสติพร้อมบริบูรณ์ก็จะระลึกความตายเหมือนสายฟ้าแลบเมื่อระลึกดังนี้ได้อยู่อย่างสม่ำเสมอ จิตของเราก็จะเป็นจิตที่เมตตาไม่อาฆาต ไม่พยาบาท บุคคลหนึ่งบุคคลใด

และก่อนที่จะลืมตา ให้ทำจิตของเราให้แจ่มใสแผ่เมตตาและสูดลมหายใจเข้าไปลึกๆอธิษฐานถึงความดีอันนี้ ขอให้ติดตัวตลอดไป . . .

. . .
เรียบเรียงบทความมาจากแหล่งข้อมูลต่างๆใน
watthummuangna.com

ศึกษาเพิ่มเติมโดยละเอียดได้ที่
http://www.watthummuangna.com/home/practice

4


เวลาทำบุญ ควรอธิษฐานอย่างไร

คนส่วนใหญ่เวลาทำบุญมักอธิษฐานว่า ขอให้รวย ขอให้สุขภาพแข็งแรง ขอให้ได้ยศตำแหน่ง ฯลฯ แต่ที่จริงแล้วมีคำอธิษฐานที่ง่าย สั้น ครบวงจรเป็นประโยชน์ครบถ้วนกว่ามาก

หลวงปู่ดู่เคยสอนไว้ว่า เวลาทำบุญให้อธิษฐานสั้นๆไปเลยว่า "ขอให้ประสบแต่ความดี ปราศจากความทุกข์" เพราะคำว่า ความดี นั้นรวมครบหมด ทั้งรวย สุขภาพดี มียศตำแหน่ง มีคนรักเมตตา ฯลฯ ส่วนปราศจากความทุกข์ก็ตัดสิ่งไม่ดีหมดทุกอย่าง ไม่มีทุกข์ ไม่มีโรคภัย ไม่มีอุปสรรค ไม่มีศัตรู ฯลฯ

ที่สำคัญคือ การ "พบแต่ความดี" นั้นสำคัญมาก เพราะแม้เราจะขอพรจนร่ำรวยจริง แต่ไม่ดี เงินนั้นเราอาจเอาไปเล่นพนัน ไปซื้อยาบ้า สุดท้ายก็พาไปนรก แม้จะมียศตำแหน่งแต่ปราศจากความดี ก็อาจเอาตำแหน่งไปข่มเหงคนอื่น คดโกงประเทศชาติ ก็มีนรกเป็นที่ไป แม้จะมีแต่ใครๆก็รักเมตตา แต่หากเราไม่ดี เราก็อาจกลายเป็นคนเจ้าชู้ หลอกคนนี้ให้รัก คนนั้นให้หลง สุดท้ายก็ทะเลาะตบตีกัน และไปนรกกันทั้งหมู่

"การขอให้พบความดี" จึงถือเป็นพรอันสำคัญที่สุด เพราะผู้ที่จะทำความดี ต้องมีปัญญาพอที่จะรู้ว่าความดีมีประโยชน์เช่นใด ดังนั้นเมื่อมีปัญญา แม้จะเกิดมาจน ก็ใช้ปัญญาหาเงินจนรวยได้ แม้จะเกิดมาต่ำต้อย ก็ใช้ปัญญาทำงานหายศตำแหน่งมาได้ไม่ยาก แม้เกิืดมาไม่มีใครรัก แต่หากมีปัญญารู้จักพูดจา ใครๆก็จะหันมารัก ที่สำคัญคือเมื่อมีปัญญา ก็รู้ว่าความชั่วไม่มีประโญชน์ ไม่ควรทำ ความดี มีแต่ประโยชน์และควรทำ ดังนั้นจึุงเป็นผู้มีความสุขทั้งโลกนี้ และโลกหน้า มีแต่สุคติเป็นที่ไป นรกไม่ได้เยี่ยมเยีน ใครอยู่ใกล้ก็มีความสุข

ดังนั้น เวลาทำบุญครั้งใด อธิษฐานง่ายๆก็ได้เช้นกันว่า "ขอให้พบแต่ความดี ปราศจากความทุกข์..."

5
นิสัยของพระโพธิสัตว์


เทศน์อบรมคณะนักเรียนโรงเรียนประจักษ์ศิลปาคาร อุดรธานี

เมื่อวันที่ ๑๔ กันยายน พุทธศักราช ๒๕๓๒


พวกเราทั้งหลายให้เห็นใจพระพุทธเจ้าที่ทรงขวนขวายแทบเป็นแทบตาย สร้างพระบารมีมาเฉพาะพระพุทธเจ้าของเรานี่ ๔ อสงไขยแสนมหากัป คำว่า ๔ อสงไขย แปลว่านับไม่ได้ ๔ หน ถ้าหากเราเทียบก็อย่างเรานับ ๑, ๒, ๓ , ไปถึง ๑ ล้าน พอล้านแล้วก็หยุดที่ตรงนั้นแล้วมานับใหม่ จนถึงล้านเป็นสองล้าน สามล้าน เป็นสี่ล้าน นี่อสงไขยคือนับไม่ได้ ตั้งแต่ครั้งนั้นเขาจะถือเลขไหนเป็นสำคัญไม่รู้ แต่สำหรับเมืองไทยเรานี้ถือเลขล้าน พอถึงล้านแล้วก็หยุดมานับใหม่ ไปถึงล้านแล้วหยุด เพราะฉะนั้นจึงว่าหนึ่งล้าน สองล้าน หรือสิบล้าน ยี่สิบล้าน พันล้าน หมื่นล้าน อยู่ในจุดล้าน เป็นจุดขีดขั้นตายตัวเอาไว้ย้อนมานับใหม่ อันนี้อสงไขยนั่นก็คงหมายเลขล้านนั่นแหละ เป็นแต่ว่าเขาไม่เรียกล้าน นับไปถึงไหนไม่ทราบแล้วก็นับไม่ได้หนหนึ่ง อสงไขยแปลว่านับไม่ได้หนึ่งหนสองหน ถ้าหากว่าเราเทียบในสมัยปัจจุบันเราก็เรียกว่า ๔ ล้าน กำไรแสนมหากัป หมายความว่าพิเศษออกไปเรียกว่ากำไรๆ นี่ เหมือนอย่างเราไปซื้อของมานี่เราซื้อสิบเราขายมากกว่านั้น นั้นเรียกว่าเป็นกำไร อันนี้ต้น ๔ อสงไขย เศษออกไปอีกแสนมหากัป นี่พระพุทธเจ้าสร้างพระบารมี

การสร้างพระบารมีของพระพุทธเจ้ามีมากน้อยต่างกัน บางองค์ ๑๖ อสงไขย ๘ อสงไขย ๔ อสงไขย อย่างน้อย ๔ อสงไขย นับไม่ได้ ๔ หน นับไม่ได้ ๑๖ หน นับไม่ได้ ๘ หน เรียกว่าอสงไขยๆ แล้วก็แสนมหากัปๆ เศษด้วยกันทั้งนั้น นี่กว่าจะเต็มสมบูรณ์ความเป็นพระพุทธเจ้า ถ้าน้ำกว่าจะเต็มตุ่มเต็มถังนี้ก็ ๑๖ อสงไขย กว่าจะเต็มตุ่ม ตุ่มใหญ่ ตุ่มแห่งความเป็นพระพุทธเจ้า บรรจุอรรถธรรมไว้อยู่นั้นหมด พุทธวิสัยความสามารถของพระพุทธเจ้าอยู่นั้นหมด ไม่มีใครมีความสามารถเหมือนพระพุทธเจ้า เพราะเวลาสร้างก็สร้างเอาหนักเอาหนา ฟังซิว่า ๔ อสงไขยนับไม่ได้ถึง ๔ หน ถ้าเราเทียบอย่างทุกวันนี้ก็เรียกว่า ๔ ล้านแล้วอีกแสนมหากัป คำว่ากัปหนึ่งนี้นานแสนนานนะ จึงเรียกว่าหนึ่งกัปอีกด้วยนะ แสนมหากัปอีกด้วย นั่นมากไหม ๔ อสงไขยแล้วยังแสนมหากัปอีก มากขนาดไหน กัปหนึ่งนี้นานแสนนานกว่าจะนับเป็นกัปหนึ่งได้ กัปหนึ่งกัลป์หนึ่ง

นี่ละพระพุทธจ้าแต่ละพระองค์ๆ ทรงพยายามอุตส่าห์ทุกสิ่งทุกอย่าง คอก็ตัดขาดไปได้เลยเพื่อสร้างพระบารมี ทุกสิ่งทุกอย่างไม่มีความเสียดาย คิดดูอย่างพระพุทธเจ้าของเราชาติสุดท้ายที่จะมาเป็นพระพุทธเจ้านี้ก็ทานกัณหา - ชาลี ใครล่ะทานได้ ทานแล้วพราหมณ์เอาไปเฆี่ยนตีต่อหน้าต่อตาอยู่นั่น ถ้าธรรมดาแล้วพราหมณ์นั้นคอขาดเลย ตีลูกให้เห็นต่อหน้าต่อตาของเจ้าของทานจะทนได้ยังไงคนเรามีกิเลส ฉวยได้ดาบก็ตัดคอพราหมณ์ ไม่ได้กัณหา - ชาลีไปเลยละ กัณหา - ชาลีก็ต้องกลับคืนมา เพราะพราหมณ์นั้นคอขาดแล้ว เนื่องจากมาเฆี่ยนต่อหน้าตีต่อหน้าต่อตาของเจ้าของทาน อับดับที่สองอีกก็ทานพระนางมัทรี พระนางมัทรีคือพระชายาคู่พึ่งเป็นพึ่งตายเหมือนเงาเทียมตัว

ชายาๆ แปลว่าผู้เกิดพร้อมกัน พระนางมัทรีนี้เกิดพร้อมกันกับพระพุทธเจ้า นี่ละคู่พึ่งเป็นพึ่งตาย พระองค์ก็สละให้ทานได้ ทีนี้ในชาติพระเวสสันดรการให้ทานก็ไม่มีใครเป็นคู่แข่งทาน จนกระทั่งชาวบ้านชาวเมืองเขาไม่พออกพอใจ ขับไล่ไสส่งพระองค์หนีจากเมือง ขับออกจากความเป็นพระเจ้าแผ่นดิน เข้าอยู่ในป่าเขาวงกต พระองค์ก็ยอมไปเขาให้ไปก็ไป เรื่องของชาวบ้านชาวเมืองเขาไม่พอใจเพราะการให้ทาน เอาช้างมงคลนั่นแหละทานแล้วเขาไม่พอใจ จึงขับไล่พระองค์ไปอยู่เขาคิรีวงกตโน่น พระองค์ก็ยอมไป แต่เรื่องนิสัยของพระโพธิสัตว์จะสร้างบารมีนั้นไม่ยอมถอย ไปในป่าไม่มีอะไรทานก็ยกกัณหา – ชาลีทาน ยกพระนางมัทรีทาน นั่นฟังซิ

นี่ละวิสัยของพระโพธิสัตว์ไม่มีคำว่าถอย โลกเขาไม่ยินดีเขาขับไปไหนก็ไป แต่เรื่องพระอัธยาศัยหรือนิสัยของพระโพธิสัตว์นั้นไม่ยอมปล่อยวางเลย เพราะนักทาน คำว่าโพธิสัตว์คือผู้ที่จะตรัสรู้ข้างหน้า แปลออกแล้วเป็นอย่างนั้น เป็นผู้ที่มีความเมตตาสงสารมากมาโดยลำดับลำดา ไปอยู่ในฝูงสัตว์ก็ให้อภัยแก่สัตว์ เจ้าของยอมตายแทนสัตว์ได้ เป็นหัวหน้าสัตว์ เจ้าของยอมตายทีเดียวๆ อยู่กับสัตว์ เอ้า สัตว์อดให้พระองค์อดเสียก่อนให้สัตว์อิ่ม พวกบริษัทบริวารอิ่มท้อง พระโพธิสัตว์ถึงจะอิ่มทีหลัง

ทีนี้เวลามาเป็นพระพุทธเจ้าแล้ว ความเมตตาสงสารนี้เราอย่ามาพูดเลยเม็ดหินเม็ดทราย ที่อื่นที่ไม่มีเม็ดหินเม็ดทรายยังมีอีก พระเมตตาของพระพุทธเจ้าไปได้หมด ถ้าว่ามีแต่เม็ดหินเม็ดทรายมันก็จะมีอยู่ในแผ่นดินนี้เท่านั้นเม็ดหินเม็ดทราย พระเมตตาของพระพุทธเจ้าก็จะมีอยู่เพียงแผ่นดินนี้ เพราะมีเม็ดหินเม็ดทรายอยู่ที่นี่ ถ้าหากว่าพระเมตตาแทรกอยู่ทุกเม็ดหินเม็ดทราย เลยจากเม็ดหินเม็ดทรายไปอีก เทียบกับท้องฟ้ามหาสมุทรสุดสาคร ในสามภพนี้พระเมตตาของพระพุทธเจ้าหยั่งถึงหมด มากยิ่งกว่าเม็ดหินเม็ดทรายนี้อีก นี่ละเวลาพระองค์สร้างพระบารมี สร้างมาเต็มที่แล้ว

เวลาขวนขวายที่จะเป็นพระพุทธเจ้าในชาติปัจจุบันเราก็เห็นแล้ว สลบไสล เป็นยังไงถอยไหมพระพุทธเจ้า สลบก็ยังไม่ถอย เอ้า ฟื้นขึ้นมาเอาอีก สลบลงไป ฟื้นขึ้นมาสู้อีกไม่ถอย จนได้ตรัสรู้ เก่งไหมฟังซิ เราหาใครมาเทียบมาเป็นคู่แข่ง นอกจากสลบลงไปบนหมอนดังครอกๆ อู๊ย อันนี้ทุเรศนะ พวกนี้พวกสลบบนหมอน เสื่อขาด ขาดนี่เพราะนอนทั้งวันไม่ตื่น นี่พวกเรามันพวกอย่างนี้ พระพุทธเจ้านั่นสลบเอาจริงๆ ต่อสู้จนถึงขั้นสลบ

นี่เวลามาตรัสรู้ธรรมแล้วทรงเล็งญาณในเดี๋ยวนั้นเลย ว่าใครจะสามารถรู้ธรรมเห็นธรรมของเราตถาคตที่รู้อยู่เวลานี้ได้และทรงธรรมนี้ได้ จะมีใคร ก็เล็งไปถึงดาบสทั้งสองที่พระองค์เคยไปอาศัยอยู่ ก็ทรงทราบในพระญาณนั้นเอง พระญาณคือความหยั่งทราบ ไม่ใช่หลักฐานพยานนะ พระญาณปรีชาสามารถ ละเอียดแหลมคมยิ่งกว่าปัญญาเข้าไปอีก ท่านจึงเรียกว่าญาณ คือความซึมซาบไปหมดเลย นี่พระองค์ก็ทราบว่า โห เสียดายได้สิ้นเสียตั้งแต่เมื่อวานนี้ คือดาบสทั้งสองนั้นตายเสียเมื่อเย็นวานนี้ ถ้าหากว่ายังอยู่แล้วพระองค์จะเสด็จไปโปรดสองดาบสนี้ก่อน

จากนั้นมาก็เล็งญาณอีก ก็เห็นเบญจวัคคีย์ทั้ง ๕ จึงได้เสด็จไปโปรดพระเบญจวัคคีย์ทั้ง ๕ จากนั้นก็มีเมตตาสงสารสัตว์ทุกสิ่งทุกอย่างที่พระพุทธเจ้าจะทรงทำได้แล้ว ยังไงก็ไม่ถอย จนกระทั่งวันปรินิพพาน ไม่มีคำว่าหยุดว่าถอยในการสงเคราะห์สัตว์โลกทั้งหลาย นี่ละให้เราเห็นใจพระพุทธเจ้าที่ทรงอุตส่าห์พยายามเพื่อสัตว์ทั้งหลาย ท่านไม่ได้หวังเอาอะไรจากสัตว์เลย เห็นสัตว์ตกอยู่ในความทุกข์ความลำบากทรมานแล้วก็เมตตาสงสาร ถ้าเป็นบันไดก็ยื่นบันไดลงไปให้ ยื่นมือลงไปให้จับ ฉุดลากขึ้นมา ๆ เหนื่อยยากขนาดไหนไม่ได้คำนึงถึงพระองค์ คำนึงตั้งแต่สัตว์ทั้งหลายที่จะให้หลุดพ้นจากทุกข์นั้นเท่านั้น นั่นละความเมตตาของพระพุทธเจ้านี่เป็นอันดับหนึ่ง มาแนะนำสั่งสอนสัตว์โลก

ธรรมที่พระพุทธเจ้านำมาสั่งสอนนี้ไม่มีใครจะมาสั่งสอนได้นะ ความรู้อย่างพระพุทธเจ้าไม่มีความรู้ใดเสมอได้ อันดับที่สองก็ความรู้ของพระอรหันต์ ความบริสุทธิ์นั้นเสมอกันกับพระพุทธเจ้า จิตใจนี้เปิดโล่งเหมือนกันหมด เป็นความบริสุทธิ์พุทโธ นี่เรียกว่าเต็มดวงเหมือนกัน ถ้าเป็นพระอาทิตย์ก็เต็มดวง นี่คือความสว่างกระจ่างแจ้งของจิตใจที่หลุดพ้นจากทุกข์ อันนี้เสมอกันกับพระพุทธเจ้า แต่พุทธวิสัยคือวิสัยของพระพุทธเจ้า กับสาวกวิสัยคือวิสัยของสาวก นั้นต่างกัน ถ้าเป็นภาชนะหรือถ้าเป็นถังก็ถังพระพุทธเจ้านี้ถังใหญ่ ถังของสาวกแต่ละถังๆ แต่ละองค์ ๆ นั้นลดกันลงมา แต่น้ำเต็มถังท่านเหมือนกัน ความเมตตาสงสารเต็มหัวใจท่าน จากใจที่บริสุทธิ์เต็มหัวใจเช่นเดียวกัน นี่ละให้เราเห็นใจพระพุทธเจ้าเป็นอันดับหนึ่ง เห็นใจของพระสาวกทั้งหลายที่เป็นสาวกของพระพุทธเจ้า ตะเกียกตะกายจนได้ตรัสรู้ หรือบรรลุธรรมได้เป็นพระอรหันต์ แล้วสั่งสอนโลกแทนพระพุทธเจ้าเรื่อยมาจนกระทั่งถึงปัจจุบันนี้

มาปัจจุบันนี้ก็เห็นอยู่แล้ว หนังสือนี่ออกมาจากไหน ก็ออกมาจากพระพุทธเจ้า ธรรมของพระพุทธเจ้าเอามาสอนนี่ เพราะฉะนั้นเวลาเราเอาไปอ่าน อย่าได้อ่านด้วยความขี้เกียจขี้คร้าน อ่านให้กิเลสมัดคอไว้อ่าน เป็นยังไงกิเลสมัดคอไว้ คือมันไม่ปล่อยให้เป็นอิสระ ให้ได้อ่านหนังสือธรรมะสะดวกสบาย พอจับหนังสือธรรมะขึ้นมาแล้ว มันจะรัดคอรัดแข้งรัดขาไปหมดแหละ เจ็บนั้นปวดนี้ยุ่งไปหมด การงานก็ยุ่ง ถ้าเวลาจะอ่านหนังสือธรรมะนะ กิเลสมันผูกมันมัดอย่างนั้นเอง เราปล่อยทั้งหมดเรื่องเหล่านี้ เวลาเราอ่านธรรมะ อ่านพินิจพิจารณาแล้วธรรมะนี้จะซึ้งเข้าสู่จิตใจ เมื่อธรรมะซึ้งเข้าสู่จิตใจแล้ว ใจจะเย็น ใจจะมีเหตุมีผล มีการยับยั้งชั่งตัวได้ แล้วก็ได้สนุกพิจารณาแหละที่นี่ อันใดผิดอันใดถูกพิจารณา อันใดควรทำอันใดไม่ควรทำ

เพราะการทำทั้งสองคือดีและชั่วนี้ เราเป็นผู้จะรับผลของกรรมทั้งสองประเภทนี้ ไม่มีผู้อื่นใดจะมารับแทนเราได้ เพราะฉะนั้น การกระทำทุกสิ่งทุกอย่างของผู้มีธรรม ต้องเป็นผู้พินิจพิจารณาเต็มหัวใจ นอกจากผู้ไม่มีธรรมแล้ว อยากอะไรก็โดดผึงๆ หัวขาดขาด้วนก็ขาดลงไปๆ ไม่ได้สนใจไม่เข็ดไม่หลาบ ก็คือคนไม่มีธรรมะในหัวใจนั่นเอง นี่เราเป็นลูกศิษย์ตถาคต มีธรรมะในหัวใจ ขอให้เอาไปพินิจพิจารณา

พระพุทธเจ้าเป็นนักใคร่ครวญที่สุด พระสาวกอรหันต์เป็นนักใคร่ครวญที่สุด นักพิจารณาละเอียดลออที่สุด ไม่มีใครเกินพระพุทธเจ้าและพระอรหันต์ท่าน ถ้าพูดถึงเรื่องความละเอียดลออแห่งจิตใจ เพราะใจนั้นใจบริสุทธิ์ นี่เราเป็นลูกศิษย์ตถาคต ถึงจะไม่ได้อย่างนั้นก็ตาม ขอให้ใช้ความพินิจพิจารณาเสียก่อน อยากจะทำอะไรอยากจะไปจะมา อยากจะเตร็ดเตร่เร่ร่อนไปไหนบ้างเป็นธรรมดาของคนมีหัวใจก็มีบ้าง แต่อย่าให้เป็นจนกระทั่งถึงปล่อยเนื้อปล่อยตัวจนเสียผู้เสียคนไปหมด ศักดิ์ศรีของมนุษย์จะไม่มีเหลือเลยให้กิเลสเอาไปกินหมด เปิดดูภายในตับไม่มีปอดไม่มีอะไรเหลือ ไส้พุงก็ไม่มี กินข้าวแล้วไม่ทราบไส้พุงมันหายไปไหน กิเลสเอาไปกินหมด

กินก็ไม่กินธรรมดากินแบบโลภ กินจะเอาให้ตายเหมือนพราหมณ์ ถ้าว่านอนก็นอนจะเอาให้ตายจนจะให้พระไปกุสลา ใครจะไปกุสลาคนนอนหลับ ถ้าตายจริงๆ ก็จะไป อย่างเมื่อวานนี้ก็ไป เขามานิมนต์ไป นั่นมันตายจริงๆ ไม่ใช่คนนอนหลับครอกๆ ไม่มีวันตื่นแล้วให้ไปกุสลา มีแต่ค้อนแต่ไม้ที่เราจะเอาไปกุสลา เป็นยังไงฟังซิ เอาให้มันชัดเจน หลวงตาพูดให้ถึงเหตุถึงผล เรื่องของมันเป็นอย่างนี้ พูดให้เห็นเหตุเห็นผล นี่ละให้ใช้ความพินิจพิจารณา อย่าปล่อยเนื้อปล่อยตัว

ไม่มีอันใดมีคุณค่ายิ่งกว่ามนุษย์ ให้พี่น้องทั้งหลายทราบเอาไว้นะ เงินจะมีเป็นกี่หมื่น ๆ แสนๆ ล้านๆ ก็ตาม ไปจากมนุษย์ มนุษย์เป็นผู้ผลิตขึ้น มนุษย์เป็นผู้ใช้ ถ้าหากว่าเรามีความเฉลียวฉลาด เงินทุกบาททุกสตางค์จะมาเป็นผลเป็นประโยชน์ หนุนเราให้มีความสุขความเจริญ เป็นแก้วสารพัดนึกได้เลย แต่ถ้าเราเป็นคนชั่วคนไม่ดีเสีย เงินทั้งหลายนั้นก็กลายมาเป็นฟืนเป็นไฟเผาไหม้เราหมด เพราะเราไปกว้านเอามาซื้อสิ่งของที่มันจะเป็นภัยละซี

ยกตัวอย่างเช่นเฮโรอีนเป็นยังไง ยาเสพย์ติดต่างๆ เป็นยังไง เอาไปซื้อมาดูซิ ไม่กี่บาทกี่สตางค์ละมันจะติด ทีนี้เมื่อติดแล้วไม่ซื้ออยู่ไม่ได้ นั่นแหละเงินเหล่านี้เป็นภัยทั้งหมดที่นี่ มาเสริมฟืนเสริมไฟให้เผาไหม้เจ้าของที่โง่ๆ นั่นแหละให้ตายทั้งเป็น เพราะฉะนั้นจึงต้องถือเจ้าของเป็นของสำคัญ มีคุณค่าอยู่กับเจ้าของ เจ้าของต้องพินิจพิจารณาให้ดี เป็นเจ้าของของสมบัติใด สมบัตินั้นจะเกิดประโยชน์ทั้งหมด ถ้าเราเป็นผู้มีความเฉลียวฉลาดในการรักษาในการใช้สอยในสิ่งเหล่านั้นแล้ว ถ้าเราเป็นคนโง่แล้วสิ่งเหล่านั้นจะกลายมาเป็นฟืนเป็นไฟเผาไหม้เราหมดอีกเหมือนอีก เพราะฉะนั้นจึงต้องได้ใช้ความพินิจพิจารณา มนุษย์เราจึงต้องมีธรรมเป็นเครื่องกำกับรักษาตัว

ธรรมเป็นธรรมชาติที่ปลอดภัยไร้กังวลทุกสิ่งทุกอย่าง ธรรมเป็นที่ฝากเป็นฝากตายได้ ธรรมคือความพอเหมาะพอดี ความถูกต้องแม่นยำทุกสัดทุกส่วนไม่มีอะไรเกินธรรม เพราะฉะนั้นจึงมีธรรมเป็นพื้นไว้ในตัวของเรา จะทำอะไรอย่าลืมคำว่าธรรมความถูกต้อง คนเราทั้งคนนี่ถ้าไม่มีความถูกต้องดีงามเข้าไปประดับ เข้าไปแทรกไปซึมแล้ว จะหาคุณค่าไม่ได้ ทีนี้เราอยากเป็นคนไร้คุณค่าไหม ถ้าเราอยากไร้คุณค่าก็ปล่อยตัวไป ปล่อยตัวไปเท่าไรก็ยิ่งแหลกยิ่งเหลวเลวไปหมดเลย

ถ้าเราพยายามรักษาตัวของเราเราก็มีคุณค่า จะทุกข์จะจนอันนั้นเป็นเรื่องของโลกอนิจจัง ไม่เป็นของแน่นอนอะไร มันเกิดมีมาก็ว่ามี มันหมดไปก็ว่าหมดเท่านั้น แต่ความดีของเราคนดีนี่อยู่ในหัวใจของเรา อยู่ในตัวของเราไม่หาย ให้รักษานี้ให้คงเส้นคงวาเอาไว้ แล้วเราจะมีความสุขความเจริญรุ่งเรือง อยู่ในบ้านในเรือน ไปนอกบ้านนอกเมือง ไปคบค้าสมาคม ต่างคนต่างได้รับการศึกษาอบรมในทางที่ถูกที่ดีด้วยกันแล้ว เข้ากันได้ง่ายมนุษย์เรา

ถ้าผีกับเปรตนี้มันเข้ากันได้ยากนะ เข้าไปคอยที่จะกัดกัน นี่ละกิเลสเข้าตรงไหนกัดตรงนั้นทะเลาะตรงนั้น อย่างน้อยซุบซิบๆ นินทาว่าร้ายเขา คนนั้นไม่ดีอย่างนี้ คนนี้ไม่ดีอย่างนั้น ปากนี้มันเก่งมาก ปากไม่มีเบรก ปากสกปรก ปากไม่มีห้ามล้อมันเสีย นี่ปากไม่มีธรรมะเป็นอย่างนั้น ถ้าปากมีธรรมะไม่ต้องบ่น บ่นไปทำไม นินทาเขาทำไม เกิดประโยชน์อะไร ดูเจ้าของนั่นซิเจ้าของเป็นยังไง ผิดถูกดีชั่วใครจะรู้ยิ่งกว่าเจ้าของรู้เจ้าของ ดูเจ้าของนี่มันไม่ดีตรงไหน แก้ไขเจ้าของอยู่เรื่อยๆ ต่างคนต่างแก้ไขเจ้าของแล้วก็ได้ของดีออกมาโชว์กันน่ะซิ

เมื่อของดีออกมาโชว์มีเท่าไรไม่เฟ้อ ถ้าชั่วแล้วเอาแหละ เฟ้อทันที เห็นไหมคนชั่ว สมมุติว่าอย่างบ้านตาดนี้มีเพียงสามคนเป็นยังไง บ้านนี้จะแตกนี่นะ ไม่ใช่เล่นๆ นะ คนดีมีอยู่เท่าไรไม่เป็นไร ดีหมดทุกสิ่งทุกอย่าง เหมือนเครื่องใช้ไม้สอยของเรา มีมากมีน้อยมีแต่ของดีเสียหมดก็ใช้ดีทั้งนั้น ถ้ามีของเสียเข้ามาดูซิในบ้านนั้นแตกบ้านอีกแหละ ให้จำเอานะ ให้เอาธรรมะนี้ไปพินิจพิจารณา อ่านให้เข้าอกเข้าใจ อ่านพินิจพิจารณา อันดับที่สองก็อย่างประวัติหลวงปู่มั่น นี่เราพยายามตะเกียกตะกายเขียนประวัติของท่านมาให้ท่านทั้งหลายได้เอาไปอ่านให้เป็นคติเครื่องเตือนใจ

ธรรมะแต่ละเล่ม ๆ ที่จัดออกมานี้ก็ไม่ใช่เรื่องเล็กน้อย แม้แต่เราตัวเท่าหนูนี้เราก็ทุกข์ยากลำบากแสนสาหัสเหมือนกันนะ ตามภูมิของเราวาสนาของเรา เมื่อมันลำบากเราก็ต้องว่าลำบาก การลำบากนี้ไม่มีอะไรเกินกว่าการฆ่ากิเลส การรบกับกิเลส การต่อสู้กับกิเลส กิเลสเป็นสิ่งที่แหลมคมมาก เป็นสิ่งที่มีอำนาจมาก กล่อมสัตว์ทั้งหลายให้หลับสนิทได้ทั้งตาลืมๆ อยู่นี่ ว่าอะไรดีหมด ๆ ถ้าลงกิเลสได้กล่อมแล้วหลับสนิทไปหมดทั้งๆ ที่ยังไม่หลับ หัวใจมันหลับแล้ว คล้อยตามไปแล้ว นี่ละกิเลสมันแหลมคมอย่างนี้

เพราะฉะนั้น การจะเรียนเพลงธรรมะ เรียนอันใดก็ตาม ถ้าไม่ใช่ธรรมะแล้วแก้กิเลสไม่ตก ฆ่ากิเลสไม่ตาย ต้องหลักธรรมะพระพุทธเจ้า ธรรมะพระพุทธเจ้านี้เป็นธรรมะที่ได้ฆ่ากิเลสตายแล้ว ธรรมะเกิดขึ้นมาด้วยความบริสุทธิ์ใจ จึงเอาธรรมะอันนี้มาฆ่ากิเลส เราอย่าเอาอย่างอื่นไปฆ่า มันก็เหมือนกันกับสถานที่นี่สกปรก เอาน้ำสกปรกมาเทลงไปซี มันก็เพิ่มความสกปรกเข้าไป เพิ่มความสกปรกยิ่งขึ้น อะไรมันจะหาย เอาน้ำที่สะอาดมาเทซี มาชะมาล้าง ล้าง ๑ ถังไม่พอ ๒ ถังเข้าไป ๓ ถังเข้าไป สถานที่นั่นก็สะอาดได้ มันจะสกปรกขนาดไหนก็ไม่พ้นการชะล้างด้วยน้ำที่สะอาดไปได้เลย มันจะสะอาดจนได้

นี่หัวใจของเรามันสกปรกด้วยอำนาจของกิเลสมันโสมมเต็มอยู่ภายในจิตใจ เอาน้ำอรรถน้ำธรรมนี้เข้าไปชะไปล้าง แก้ไขดัดแปลงตนเองไปวันละเล็กละน้อย แล้วก็ค่อยสะอาดไปๆ ก็กลายเป็นคนสะอาด เมื่อใจของเราสะอาดด้วยความสุจริตธรรมแล้ว กิริยามารยาทแสดงออกมาทางใดสะอาดไปหมด นี่ละคนมีธรรม ให้เอาธรรมนี้ไปชำระล้างนะ เพราะคำว่ากิเลสนี่ขนาดอย่างที่ว่านั่นแหละ เราพูดเต็มหัวใจลืมไม่ได้กับเรื่องของกิเลสนี่ พอพูดขึ้นมาเดี๋ยวนี้ยังคันฟันให้กับกิเลสอยู่นี่ ยังจะต่อสู้กิเลสอยู่นี่ ฟังซิมันเจ็บแสบขนาดไหน ถึงได้ผูกโกรธผูกแค้นกันถึงขนาดนั้นมนุษย์เรา เจ็บแสบขนาดนั้นแหละ

เรื่องของกิเลสนี่ทำให้เจ็บแสบขนาดนั้น ฟัดกันนี่บางทีมันจะตายอยู่ในภูเขาจะว่ายังไง เดินบิณฑบาตในบ้านไม่ถึงบ้านเขานี่จะตายแล้ว นั่งพักอยู่ตามร่มไม้ นั่งพักอยู่ตามข้างทาง มันไปไม่ถึงจะตายเสียก่อน มันทำไมถึงจะตาย ก็ไม่กินข้าวตั้งหลายๆ วัน นั่น ถ้ากินข้าวแล้วมันคึกมันคะนอง กิเลสราคะตัณหามันก็มาก คนกำลังหนุ่มกำลังน้อยเรานี่ กิเลสมันวิ่งรวดเร็วที่สุดเลย สติตามไม่ทันมัน ยิ่งกินให้มันดีนอนให้หลับสบายๆ แล้วมันตายทั้งเป็นนั่นแหละ เพราะฉะนั้นจึงต้องได้ดัดกันทุกด้านทุกทาง เมื่อเวลาดัดลงไป ข้าวก็ไม่ให้กินๆ กำลังมันก็อ่อนลงทางร่างกาย

ร่างกายเป็นเครื่องเสริมกิเลส เป็นเครื่องมือของกิเลสได้ดี ถ้าเราปล่อยให้อันนี้เป็นเครื่องมือได้ดี ก็คือว่ากินมากนอนมาก อยู่สบายๆ อันนี้ละกิเลสหัวเราะทีเดียว กิเลสสบายมาก ได้เครื่องมือที่ทันสมัย เครื่องมือนี้บอกนอนสอนง่ายที่สุดเลย ทีนี้อะไรมันก็เกิดซี ขึ้นชื่อว่าเรื่องของกิเลส มันจะเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วๆ เมื่อเป็นเช่นนั้นเราต้องการจะไปให้กิเลสเกิดขึ้นส่งเสริมกิเลส เพาะกิเลสเหรอ หรือเราจะไปฆ่ากิเลส เมื่อเราจะไปฆ่ากิเลส อันใดกิเลสชอบเราต้องดัดกัน

ธรรมะเราชอบกิเลสยังดัด มันไม่ให้ชอบ ทีนี้กิเลสมันชอบตรงไหน ธรรมะเราก็ดัดเข้าไปๆ ฟันเข้าไป ฟันกิเลสด้วยเหตุใดมันถึงดี เช่น ฟันด้วยการอดนอน เอ้าไม่นอน มันเป็นยังไง เมื่อไม่นอนแล้วได้ผลยังไงบ้าง ภาวนาเดินได้ผลยังไงบ้าง เอ้า อดอาหารมันได้ผลยังไงบ้าง หาอุบายวิธีการ เอาวิธีนี้ไม่ได้หาวิธีนี้มาแก้ หาวิธีนี้แก้ไม่ได้ เอาวิธีนี้มาแก้ นั่นจึงเรียกว่าเป็นความฉลาด เอาจนกระทั่งสู้ได้

พอจับเคล็ดลับมันได้แล้ว อ๋อ กิเลสตัวนี้ต้องฆ่าวิธีนี้ เมื่อฆ่าวิธีนี้ได้ผลแล้วจะปล่อยวิธีนี้ไปเป็นวิธีอื่นซึ่งไม่ได้ผล ไปปล่อยได้ยังไงคนเรา เมื่อได้ด้วยวิธีใด ได้ผลได้ประโยชน์ด้วยวิธีใด มันก็ต้องฝืนต้องบืนซีคนเรา เช่น ได้ประโยชน์ด้วยการอดหลับอดนอน ด้วยการผ่อนอาหาร อดอาหารก็ต้องอด หิวจนจะตายก็ต้องได้อดแหละ เพราะกิเลสมันหมอบเวลาอดอาหาร ภาวนามันก็ดีดมันก็ขึ้น จิตใจสง่างาม จิตใจสว่างกระจ่างแจ้งไปทั่วแดนโลกธาตุนี่จะว่าไง ฟังซิ ตาเรามันเห็นแต่แค่นี้เท่านั้น ใจนี่อะไรจะมาปิดบังได้ สว่างกระจ่างแจ้งไปหมดทั่วแดนโลกธาตุอะไรจะไปเกินใจ เพราะฉะนั้นใจจึงเป็นของเลิศประเสริฐสุด จึงต้องให้บำรุงหัวใจเรา นี่ท่านสอนตรงนี้

นี่เราพูดถึงเรื่องกิเลสมันแหลมมันคมมันละเอียดลออมาก อำนาจของมันนี้กล่อมตรงไหนหลับสนิทๆ ไปหมดไม่ว่าชาติชั้นวรรณะใด สัตว์ในสามแดนโลกธาตุนี้อยู่ในเพลงของกิเลสที่กล่อมให้หลับสนิทด้วยกันทั้งนั้น นอกจากพระพุทธเจ้าและพระอรหันต์ท่านกล่อมท่านไม่ได้ ท่านฆ่ามันสังหารมันแล้ว จึงได้เห็นว่าเพลงของมันนี้เก่งมาก เพลงของมันละเอียดมาก แหลมคมมากทีเดียว แล้วจึงได้มาสอนโลกทั้งหลายนี่ สอนโลกให้รู้วิธีแก้กิเลส ถ้ากิเลสยังมีบนหัวใจมากน้อย ยิ่งไม่มีธรรมะด้วยแล้ว คนนั้นจะตายทั้งเป็น กุสลา ไม่ทันนั่นแหละ ตามกุสลาไม่ทัน ถ้ามีธรรมะเข้าแทรกยังพอฟัดพอเหวี่ยง มีแพ้มีชนะกันได้ มีทีได้ทีเสียบ้าง พากันจำเอานะ

นี่แลเรื่องกิเลสมันละเอียดขนาดนั้นละ จึงว่ามันลืมไม่ได้ พระพุทธเจ้าท่านก็ลืมไม่ได้ ประวัติของท่านมีมาจนกระทั่งป่านนี้เห็นไหม พระองค์สลบ พระองค์ทำงานอะไรเคยสลบไหม เป็นพระเจ้าแผ่นดินมา ๑๓ ปีพระองค์เคยสลบไหม ไม่เห็นสลบ เวลามาฟัดกับกิเลส ๖ ปี สลบ ๓ หน นั่นฟังซิทุกข์ไหม พระสาวกก็เหมือนกัน บางองค์ฝ่าเท้าแตก เดินจงกรมนี่ เดินไปเดินมาฆ่ากิเลสจนกระทั่งฝ่าเท้าแตก กิเลสยังไม่แตก ฝ่าเท้าแตกเสียก่อน แล้วตานี้แตก โน่นพระจักขุบาล อดนอนไม่นอน ไม่ยอมนอน จนกระทั่งตาพิการขึ้นมา หมอเขาว่าต้องนอน โห นอนไม่ได้ เราได้ตั้งสัจอธิษฐานแล้วว่า ๓ เดือนนี้จะไม่นอน ท่านก็ไม่ยอมนอน ตาแตกแตกไปท่านว่ายังงั้น เอ้า ตาก็แตก กิเลสก็แตกสะบั้นออกจากหัวใจกลายเป็นพระอรหันต์ขึ้นมาในเวลานั้นนั่นแล

นั่นฟังซิ ทุกข์ไหมลำบากไหม นี่ท่านจะลืมได้ยังไง พระอรหันต์แทบทุกองค์ท่านเป็นอย่างนั้น ท่านก็ลืมไม่ได้ พระพุทธเจ้าท่านก็ลืมไม่ได้ จึงได้เขียนประวัติมาให้พวกเราทั้งหลายทราบว่า คือกิเลสมันเก่งขนาดนั้นนะ ความหมายว่าอย่างนั้น ไม่เอาจริงเอาจังไม่ได้นะว่างั้น นี่ละท่านเอาธรรมะมาสอนพวกเรา

ถึงเราไม่ได้เป็นอย่างนั้นก็ตาม ไม่ได้แบบนั้นก็ตาม ขอให้ได้แบบลูกศิษย์มีครู ให้เอาไปประพฤติปฏิบัติตามสติกำลังความสามารถของตน อย่าให้แต่กิเลสเอาไปถลุงเสียทั้งวันทั้งคืน นอนอยู่ก็ถลุง แล้วแต่ว่าจะตื่นเมื่อไร ตื่นขึ้นมาแล้วก็เพลิน เอาไปถลุงทางเพลิน เอ้า การจับจ่ายใช้สอยมีมากมีน้อยเอาหมดกระเป๋า เพลินเอาไปถลุงๆ เสียทั้งหมด สิ่งใดที่มีให้กิเลสเอาไปใช้และถลุงแหลกๆ ไม่มีคำว่าพอประมาณ ไม่มีคำว่าพอดิบพอดี ถ้าลงว่ากิเลสได้ถือบังเหียนแล้วเสร็จเลย เพราะฉะนั้น ให้ธรรมถือบังเหียนซิ ธรรมถือบังเหียนจะรู้จักความพอดี ใช้สอยอะไรความพอดีให้มีประจำ จะควรซื้ออะไรพิจารณาดูก่อน ซื้อนี้เป็นประโยชน์อะไร ถ้าไม่เป็นประโยชน์ไม่ซื้อ อย่างนั้นซีจึงเรียกว่าธรรม ธรรมกำกับไว้ตลอดเวลา

อันใดที่ควรซื้อควรหาค่อยซื้อค่อยหา อันใดไม่ควรก็ไม่ต้องเอา บังคับ เรื่องความอยากมันไม่ถอย เพราะเรื่องของกิเลสมันจะถอยเมื่อไรล่ะ มันไม่ถอยแหละ เอาธรรมะสกัดความอยากด้วยเบรกห้ามล้อไว้กึ๊ก เอา อยากเท่าไรก็อยากเถอะเราไม่ซื้อ เพราะเหตุผลบอกอยู่แล้วว่าซื้อมาก็เพื่อทำลายตัวเอง คนเราจะตั้งใจซื้อเครื่องสังหารมาทำลายตัวเองมีอย่างเหรอ นั่นเท่านั้นหยุด แล้ววันหลังเบาลงๆ คราวต่อไปนี้ฟังเหตุฟังผล เราจะทำอะไร ไปมาอะไรก็ตาม ควรหรือไม่ควร มันจะบอกทันทีในหัวใจนั่นแหละ เมื่อไม่ควรแล้วหยุดไม่เสียดายๆ ไม่ได้ฝืนกันเหมือนดังแต่ก่อน นี่ละการฝึกตนต้องเป็นอย่างนี้

ขอให้พี่น้องลูกหลานทั้งหลายได้นำธรรมะนี้ไปประพฤติปฏิบัติ เราจะเป็นคนดีมีสง่าราศีมีความสุขความเจริญทั้งปัจจุบันและอนาคต คำว่าอนาคตคือจิตดวงนี้แหละ ย้ายออกจากร่างกายนี้มันจะไปสู่ร่างกายข้างหน้า ร่างกายข้างหน้าในภพหน้านั่นมันมีความดีไหม ถ้าไม่มีความดี ความจมมันจะมีอยู่ในนั้นแหละ คนเรามันไม่ทำความดีมันมักทำชั่ว ส่วนมากมักทำแต่ความชั่ว ตายแล้วจม นี่เราอยากจมละเหรอ คิดตั้งแต่เราอยู่ในโลกกับมนุษย์เขา เราไม่ได้จมไปไหน ทุกข์เรายังรู้ว่ามันทุกข์ ลำบากเรายังรู้ว่าลำบาก จนยังรู้ว่าจน แล้วไปเมืองผีใครจะตามไปส่งเสียอะไรๆ ต่อเรา ใครจะไปสงเคราะห์สงหาเรา ไม่มีใครสงเคราะห์ใครนะ ถ้าเจ้าของไม่ได้จัดการทำเจ้าของ รับรองเจ้าของ ยืนยันเจ้าของ ด้วยความดีทั้งหลายเสียตั้งแต่บัดนี้แล้วไม่มีทาง จำให้ดีนะ

เอาละพอ


คัดลอกจาก Luangta.Com

6
ผู้ตั้งจิตบำเพ็ญ อีกพวกหนึ่ง ที่ตั้งจิตปรารถนาไว้ว่า จะปฏิบัติพากเพียรเอา "อนุตรอรหันตสัมมา สัมพุทธเจ้า" ทีเดียว ผู้นี้จึงเรียกว่า "พระโพธิสัตว์"
ก็มี ๒ ประเภท คือ "พระอนิยตโพธิสัตว์" กับ "พระนิยตโพธิสัตว์"
"พระอนิยตโพธิสัตว์" คือ ผู้ตั้งจิตปรารถนาจะเป็น "พระโพธิสัตว์" ที่จะไต่เต้าขึ้นเป็น "พระพุทธเจ้า" และ ตั้งใจ บำเพ็ญตน ตามศีล -ตามจริยาของ โลกุตรภูมิ
แต่ยังไม่เที่ยงแท้ว่า "จะเป็นผู้ได้ข้ามภูมิไปถึง "พุทธภูมิ" หรือเปล่า ?"
อาจอยู่แค่ "โลกียภูมิ" นี้ หรือ อยู่แค่ "โลกุตรภูมิ" ก็ได้ หรือ อาจจะขึ้นถึงเขต "พุทธภูมิ" มีภูมิเลยขั้น "อรหันต์" สำหรับตนจบแล้วก็ได้ เป็นแต่ว่า "ยังไม่แน่นอน ยังไม่มีภูมิถึงขั้นเที่ยงแท้พอที่จะได้เป็น 'พระพุทธเจ้า' เท่านั้น"
ดังนั้น "พระอนิยตโพธิสัตว์" ที่เลิกบำเพ็ญบางรูปที่ได้แต่ละขั้นบ้าง ไม่ได้สักขั้นบ้าง จึงอาจจะเป็น ผู้ที่มี จิตต่ำกว่า "ปุถุชน" ธรรมดาบางคนก็ได้ อาจจะสูงกว่าสมณะบางองค์ก็ได้เช่นกัน แต่ก็คือ ผู้ยังไม่เที่ยงแท้ ต่อ "พุทธภูมิ"
"พระนิยตโพธิสัตว์" คือ ผู้มี "จิตบรรลุ" แล้ว เป็น "พระโพธิสัตว์" แท้ มี "อรหันตคุณ" สั่งสมไปตามลำดับๆ เที่ยงแท้ ต่อการได้สู่ "พุทธภูมิ" การดำเนิน หรือเป็นไป ก็คล้ายกับการจะไปเป็น "พระอริยเจ้า" ที่หมาย จะบรรลุ "พระอรหันต์" เช่นกัน โดยนัยเดียวกัน เป็นแต่ว่า "ภูมิธรรมมีจุดสูงสุด คนละระดับขั้น"
การบำเพ็ญของ "พระนิยตโพธิสัตว์" นั้น จะต้องเวียนตายเวียนเกิดอีกนานับชาติ วัฏฏะลึกซึ้งยิ่งใหญ่มาก มาเกิด เป็นมนุษย์อีกบ้าง เกิดเป็นเทพบ้าง พรหมบ้าง และ ซับซ้อนกลับไปอยู่ในรูปของสัตว์เดรัจฉานบ้าง (แต่ภูมิธรรม ของท่านไม่ได้ต่ำเช่นเดรัจฉาน) ตามคุณธรรม และ ตามวาระ
เมื่อมาเกิดเป็น "มนุษย์" อีกนั้น ท่านก็จะไม่ติดหนักกับ "โลกียะ" เหมือนคนธรรมดามากนัก คือ "ไม่มัวเมา หรือ ไม่ติดอยู่นาน เป็นแต่เพียง อยู่เพื่อสำรอกกรรม"
ถ้าท่านมี "ภูมิธรรม" สูงเลยเขตความเป็น "อรหันต์" ไปมากๆ แล้ว ท่านก็ไม่จำเป็นต้องไปเป็นลูกศิษย์ ของใคร เพื่อจะเรียนหาความบรรลุ "อรหันต์"
ท่านบรรลุของท่านเองได้แล้ว ท่านตรัสรู้สิ้นทุกข์ของท่านเองได้ โดยไม่ต้องเรียนรู้ธรรมจากอาจารย์ องค์ใดอีก เพราะในอดีตท่านมี "ภูมิธรรม" สูง เลยการทำตัวให้พ้นทุกข์อริยสัจ มาได้แล้ว ท่านมีบารมีจิต สั่งสมมาแล้วจริง (กัมมทายาท)
ท่านจึง "บำเพ็ญตนพ้นทุกข์อริยสัจ" ได้เอง และ พร้อมกันนั้น ก็บำเพ็ญบารมีอื่น อันเป็นบารมีที่ "พระโพธิสัตว์" จะต้องสั่งสมต่อไปด้วย บำเพ็ญบารมีหนึ่ง จนสำเร็จบารมีนั้น ก็ได้บารมีนั้น ผู้นี้แหละคือ "พระปัจเจกโพธิพุทธเจ้า" หรือ "พระปัจเจกสัมมาสัมพุทธ" บำเพ็ญชาติหนึ่งไปเรื่อยๆ จนตรัสรู้ได้ขั้นหนึ่ง ก็ได้เป็น "พระปัจเจกโพธิพุทธเจ้า" ไปครั้งหนึ่ง
อย่าไปแปลคำว่า "พระปัจเจกโพธิพุทธเจ้า" แต่เพียงว่า "ผู้ตรัสรู้เองไม่อาศัยธรรมะของผู้ใดเท่านั้น" ต้องแปลว่า "ผู้ยังตั้งศาสนาพุทธเองไม่ได้ด้วย" ซึ่งมีอยู่มาก
หรือ "ตั้งศาสนาเองได้" ก็มีแต่ "ศาสนา" นั้น หรือ "ลัทธิ" นั้น ยังไม่ใช่ หรือ ยังไม่เทียบเท่า "พุทธศาสนา" คือ "ยังไม่ถึงแก่นแท้" ยังโยนความไม่รู้ไปให้สิ่งลึกลับ ซึ่งส่วนมากก็สมมุติเป็น"พระเจ้า" หรือ"เทพเจ้า"ต่างๆ อยู่
และที่ว่า "พระปัจเจกโพธิพุทธเจ้า" รู้ได้แต่ตัวเอง สอนคนอื่นไม่ได้นั้น เป็น "พระปัจเจกพุทธเจ้า" แบบฤๅษี หรือ ของลัทธิอื่นๆ ที่ไม่สมบูรณ์ด้วย "สัมมาอริยมรรค" ย่อมสอนคนอื่นไม่ได้ ก็มีอยู่จริง นั่น ไม่ใช่ "พระปัจเจก" ของ ศาสนาพุทธ ไม่ใช่ "พระปัจเจกโพธิพุทธเจ้า" ไม่ใช่ "พระปัจเจกสัมมาสัมพุทธ"
ซึ่งต่างกันกับ "พระปัจเจกโพธิพุทธเจ้า" หรือ "พระปัจเจกสัมมาสัมพุทธ" ที่มีภูมิถึงขั้นเป็น "พระนิยตโพธิสัตว์" แท้ ในโอกาสข้างหน้า
ท่านผู้นี้จะต้องมาเกิด "ตรัสรู้" เป็น "พระสัมมาสัมพุทธเจ้า" แน่นอน และอีกอย่างก็คือ ท่านยังเป็นผู้สั่งสม "บารมีธรรม" ต่ออยู่อีกด้วย
"พระปัจเจกโพธิพุทธเจ้า" ก็จะเวียนอุบัติ-เวียนนิพพาน เพื่อบำเพ็ญบารมีอยู่อีกหลายชาติ แต่แท้จริง ท่านก็เป็น "พุทธชาติ" เวียนเกิดมาเพื่อบำเพ็ญ "โพธิกิจ" ทุกชาติ ท่านสามารถ "บรรลุพุทธธรรม" ได้ด้วย ตนเองจริง จึงชื่อว่า "พระปัจเจก" (แม้ต้องไปเป็นลูกศิษย์ใคร ท่านก็ไม่ได้ "บรรลุพุทธธรรม" กับ อาจารย์ ผู้นั้น)
และหากชาติใด ท่านได้เผยแพร่ธรรม ถึงขั้น "ตั้งศาสนา" ได้ ศาสนานั้นก็เป็นไปเพื่อ "ความดีงาม" เพื่อ "ความสงบสุข" และ เพื่อ "ความแท้จริง" ในแนวเดียวกัน เป็นแต่ว่า "ยังไม่ละเอียดลออเท่า "พุทธศาสนา" เท่านั้น" และ "ศาสนา" นั้น ก็เรียกไปตามกาลเทศะ ดังที่มีอยู่แล้ว ในโลก ขณะนี้
เมื่อมาเกิดบำเพ็ญธรรมแห่ง "พระนิยตโพธิสัตว์" นั้น จะเห็นได้ว่า "ท่านจะต้องใช้ "กรรม" ต่างๆ มากมาย" เช่น "ต้องสละทรัพย์สมบัติชาติหนึ่ง ต้องสละลูกตาชาติหนึ่ง สละชีวิตทั้งชีวิตชาติหนึ่ง หรือ บำเพ็ญธรรม อันมนุษย์ธรรมดา จะกระทำได้ยากยิ่งต่างๆ นานา" จนไม่มีอะไรติดข้องเป็นการ "ผูกพันกรรม" จนเหลือแต่ "ความหมดจด" ทุกประการ !
และพร้อมๆ กันนั้น ท่านก็ย่อมได้เรียนรู้ "จิตขั้นละเอียด" หรือ เรียนรู้พลังงาน หรือ อณูขั้นละเอียด ลงไปอีก เรื่อยๆ ตามลำดับ จนหมด "อวาสนา" อย่างเต็มครบ เป็น "วาสนาบารมี" ! "บริสุทธิ์พร้อม บริบูรณ์พร้อม" นั่นคือ "สำเร็จพระโพธิญาณ"
ก็เป็นอันถึงซึ่ง "อนุตรอรหันตสัมมาสัมโพธิญาณ" พร้อมที่จะเกิดอีกครั้งสุดท้าย คือ เกิดมาเป็น "มนุษย์" นี่แหละ และก็เป็น "พระอนุตรอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า"
ซึ่งก็เป็นชื่อ เป็นตำแหน่งของ "พระผู้มีสัพพัญญุตญาณ" ...ฯ
เมื่ออ่านมาถึงตรงนี้ ก็ให้เข้าใจด้วยว่า "ภาษาศัพท์ที่เรียกกันว่า ไม่เกิดอีกนั้น" ต้องเข้าใจให้สำคัญ !
เพราะ "พระอรหันต์" ที่เป็น "พระโพธิสัตว์" ท่านยังต้องเกิดอยู่ดังนี้ จนกว่าจะบำเพ็ญบารมีครบ ๑๐ ทัศ หรือ ๓๐ ทัศ อย่างละเอียด จึงจะครบ "บารมีธรรม" สำหรับการเป็น "พระพุทธเจ้า" ได้ตรัสรู้ "สัพพัญญุตญาณ" เป็นผู้รู้รอบแจ้งสิ้นทุกโลก ทุกภูมิ
ถ้าไม่มีผู้ตั้งจิตปรารถนาเป็น "พระพุทธเจ้า" ก็ย่อมจะไม่มี "พระพุทธเจ้า" อุบัติกันได้ต่อๆ ไปอีก "พระพุทธเจ้า" ก็จะสูญสิ้นไปจากพิภพภูมิ หรือ สากล จักรวาลใดๆ เท่านั้นเอง
ด้วยเหตุว่า "มีผู้ปรารถนาจิตไว้ และ มุ่งมั่นจะเป็น "พระพุทธเจ้า" อยู่"
"พระพุทธเจ้า" จึงจะเกิดได้ มีได้ !!!

7


พระไตรปิฎก เล่มที่ ๓๓ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๒๕
ขุททกนิกาย อปทาน ภาค ๒ -พุทธวังสะ-จริยาปิฎก

พุทธปกิรณกกัณฑ์
ว่าด้วยเรื่องเบ็ดเตล็ดเกี่ยวกับพระพุทธเจ้า

ในกัปอันประมาณมิได้แก่ภัทรกัปนี้ มีพระพุทธเจ้าผู้เป็นนายกชั้น
พิเศษ ๔ พระองค์ คือ พระตัณหังกรสัมพุทธเจ้า ๑
พระเมธังกรสัมพุทธเจ้า ๑ พระสรณังกรสัมพุทธเจ้า ๑ และพระ
ทีปังกรสัมพุทธเจ้า ๑ ท่านเหล่านั้นเสด็จอุบัติในกัปเดียวกัน ต่อจาก
ที่พระทีปังกรสัมพุทธเจ้า พระสัมพุทธเจ้าพระนามว่าโกณฑัญญะ
พระองค์เดียวเสด็จอุบัติกัปหนึ่ง ทรงช่วยให้หมู่ชนข้ามพ้นวัฏสงสาร
ได้มากมาย ระหว่างพระผู้มีพระภาคทีปังกร และพระโกณฑัญญะ
บรมศาสดา เป็นอันตรกัป โดยจะคำนวณนับมิได้ ต่อจากพระโกณ
ฑัญญะบรมศาสดา มีพระพุทธเจ้าพระนามว่ามังคละ แม้ระหว่าง
พระโกณฑัญญะและพระมังคละพุทธเจ้านั้น ก็เป็นอันตรกัป โดยจะ
คำนวณนับมิได้ พระพุทธเจ้าพระนามว่ามังคละ สุมนะ เรวตะ และ
โสภิตะ ผู้เป็นมุนี มีจักษุ มีพระรัศมีสว่างไสว แม้พระพุทธเจ้า ๔
พระองค์นั้นก็เสด็จอุบัติขึ้นในกัปเดียว กันต่อจากพระโสภิตพุทธเจ้า
มีพระมหามุนีพระนามว่าอโนมทัสสี แม้ระหว่างพระพุทธเจ้าพระนาม
ว่าโสภิตะ และอโนมทัสสีนั้นก็เป็นอันตรกัป โดยจะคำนวณนับมิ
ได้ พระพุทธเจ้าพระนามว่าอโนมทัสสี ปทุมะ และนารทะ ผู้เป็น
มุนีกระทำที่สุดความมืด ก็เสด็จอุบัติขึ้นในกัปเดียว ต่อจากพระ
นารทสัมพุทธเจ้า มีพระพุทธเจ้าพระนามว่าปทุมุตระ เสด็จอุบัติใน
กัปหนึ่ง ทรงช่วยให้หมู่ชนข้ามพ้นวัฏสงสารได้มากมาย แม้ระหว่าง
พระผู้มีพระภาคนารทะและพระปทุมุตรศาสดานั้น ก็เป็นอันตรกัป
โดยจะคำนวณนับมิได้ในแสนกัป มีพระมหามุนีพระองค์เดียว คือ
พระปทุมุตระผู้รู้แจ้งโลก ผู้สมควรรับเครื่องบูชา ในสามหมื่นกัป
ต่อจากพระพุทธเจ้าพระนามว่าปทุมุตระ มีพระพุทธเจ้า ๒ พระองค์
คือ พระสุเมธะและพระสุชาตะ ในพันแปดร้อยกัป (แต่กัปนี้) มี
พระพุทธเจ้า ๓ พระองค์ คือ พระปิยทัสสี พระอัตถทัสสี และ
พระธรรมทัสสี ต่อจากพระสุชาตพุทธเจ้า พระสัมพุทธเจ้าผู้อุดม
กว่าสัตว์ ผู้ไม่มีบุคคลเปรียบในโลก ๓ พระองค์นั้น เสด็จอุบัติใน
กัปเดียวกัน ในกัปที่ ๙๔ แต่ภัทรกัปนี้ มีพระมหามุนีพระองค์เดียว
คือ พระสิทธัตถะ ผู้ทรงรู้แจ้งโลก ยอดเยี่ยมโดยมีบุญสิริ ในกัป
ที่ ๙๒ แต่ภัทรกัปนี้ มีพระสัมพุทธเจ้า ๒ พระองค์ คือพระติสสะ
และพระปุสสะ ผู้ไม่มีบุคคลเปรียบเสมอ ในกัปที่ ๙๑ แต่ภัทรกัปนี้
มีพระพุทธเจ้าผู้เป็นนายกของโลก ผู้มีพระกรุณาพระนามว่าวิปัสสี
ทรงเปลื้องสัตว์ทั้งหลายจากเครื่องผูก ในกัปที่ ๓๑ แต่ภัทรกัปนี้ มี
พระพุทธเจ้า ๒ พระองค์ คือพระสิขีและพระเวสสภู ผู้ไม่มีบุคคล
เปรียบเสมอ ในภัทรกัปนี้ มีพระพุทธเจ้า ๓ พระองค์ คือ พระ-
กุกกุสันธะ พระโกนาคมนะ และพระกัสสปะ บัดนี้เราเป็นพระ
สัมพุทธเจ้าและจักมีพระเมตไตรย์สัมพุทธเจ้า แม้พระพุทธเจ้า ๕
พระองค์นี้ ก็เป็นนักปราชญ์ อนุเคราะห์โลก บรรดาพระพุทธเจ้า
ผู้เป็นธรรมราชาเหล่านี้ พระเมตไตรย์สัมพุทธเจ้าจักตรัสบอกมรรคา
นั้นแก่ผู้อื่นหลายโกฏิ แล้วจักเสด็จนิพพานพร้อมด้วยพระสาวก
ฉะนี้แล.

จบพุทธปกิรณกกัณฑ์.
เนื้อความพระไตรปิฎก เล่มที่ ๓๓ บรรทัดที่ ๘๕๖๓ - ๘๖๐๖. หน้าที่ ๓๖๖ - ๓๖๘

8
ความหมายของคำว่า “พระพุทธรูป”
พระพุทธรูป หมายถึงรูปเหมือนของพระพุทธเจ้า หรือบางทีเรียกว่า “พระพุทธปฏิมา” แปลว่ารูปเปรียบเสมือนพระพุทธเจ้า นั่นก็คือมิใช่รูปเหมือนพระองค์จริงขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า เพราะปฏิมากรหรือจิตรกรผู้สร้างพระพุทธรูปนั้น ไม่มีใครเคยเห็นองค์จริงของพระพุทธเจ้าเลย ประติมากรรมและจิตรกรรมศิลปะในการสร้างพระพุทธรูปเกิดจากจินตนาการ เป็นพระรูปเนรมิตในมโนภาพของผู้สร้างเอง ซึ่งตั้งอยู่บนพื้นฐานประสบการณ์ สภาพแวดล้อม ทั้งเชื้อชาติ ภูมิประเทศ ความรู้ทางด้านศาสนา ศิลปะ วัฒนธรรม ที่มีอยู่เดิมของช่างจะมีอิทธิพลสูง ทำให้พระพุทธรูปของแต่ละชนชาติ แต่ละยุค แต่ละสมัยแตกต่างกันออกไป เช่น พระพุทธรูปของประเทศใดจะมีพุทธลักษณะคล้ายกับชนชาตินั้น พระพุทธรูปของอินเดีย ก็ไม่เหมือนพระพุทธรูปจีนหรือธิเบต หรือเขมร หรือญี่ปุ่น เป็นต้น แม้ของชนชาติเดียวกันแต่ต่างยุคต่างสมัยกัน ก็จะมีพระพุทธลักษณะแตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัด แต่อย่างไรก็ตาม พุทธศาสนิกชนทุกชาติก็ถือว่าพระพุทธรูปเป็นสัญลักษณ์แทนองค์พระพุทธเจ้า เป็นเสมือนพระพุทธเจ้า เป็นสิ่งเคารพสักการะอย่างสูงสุด ผู้ที่พบเห็นได้เคารพสักการะบูชา กราบไหว้ ระลึกถึงองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ระลึกถึงพระธรรม คำสั่งสอนของพระองค์ และพระสงฆ์สาวก ผู้เป็นศาสนทายาท สืบต่ออายุพระพุทธศาสนาของพระองค์ ก่อให้เกิดศรัทธาปสาทะ เลื่อมใสมั่นคงในพระพุทธศาสนาสืบๆไป

พระพุทธรูปพระพุทธเจ้า ๕ พระองค์
พระพุทธรูปพระพุทธเจ้า ๕ พระองค์ หมายถึงพระพุทธรูปพระพุทธเจ้า ๕ พระองค์ที่ตรัสรู้ในภัทรกัปปัจจุบันนี้คือ พระกกุสันธะ พระโกนาคมนะ พระกัสสปะ พระโคตมะ และพระเมตเตยยะ หรือพระศรีอริยเมตไตรย์
ปริศนาธรรมที่แฝงอยู่ในองค์พระพุทธรูป
พระพุทธรูป แม้เป็นประติมากรรมที่สร้างขึ้นจากวัตถุต่างๆ เช่น ทอง เงิน หิน ดิน ปูน หรือสิ่งใดก็ตาม เมื่อสร้างสำเร็จเป็นพระพุทธรูปแล้ว พระพุทธศาสนิกชนเมื่อทำการกราบไหว้สักการะบูชา ก็มิได้กราบไหว้วัสดุที่สร้าง แต่จะเคารพ สักการะ บูชา และปฏิบัติต่อพระพุทธรูปนั้นเหมือนปฏิบัติต่อองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ประดุจพระองค์ยังทรงพระชนม์อยู่ เป็นสิ่งที่เคารพสักการะสูงสุด ฉะนั้น ในการสร้างพระพุทธรูป ช่างผู้สร้างจะต้องบรรจงสร้างให้มีมิติที่สมบูรณ์แบบที่สุด เพื่อให้ตรงกับพระพุทธลักษณะพระมหาบุรุษลักษณะ ๓๒ ประการ และอนุพยัญชนะ คือพระลักษณะปลีกย่อยของพระมหาบุรุษลักษณะอีก ๘๐ ประการด้วย พระพุทธคุณที่มีอยู่ในพระองค์ด้วย อันประกอบด้วยพระปัญญาธิคุณ พระบริสุทธิคุณ และพระมหากรุณาธิคุณ ตลอดจนพุทธคุณ ๙ ประการ คือ อรหันต์ เป็นผู้ปราศจากกิเลส อาสวะทั้งปวง ควรไหว้บูชา สัมมาสัมพุทโธ เป็นตรัสรู้เองโดยชอบ วิชชาจรณสัมปันโน เป็นผู้สมบูรณ์ด้วยวิชชาและจรณะ สุคโต เป็นผู้เสด็จไปดีแล้ว โลกวิทู เป็นผู้ทรงรู้แจ้งโลกทั้งสาม อนุตตโร ปุริสทัมมสารถิ เป็นผู้ฝึกบุคคลที่ควรฝึกทั้งเทวดาและมนุษย์ ไม่มีผู้ยิ่งไปกว่า สัตถา เทวะมนุสสานัง เป็นศาสดาของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย พุทโธ เป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบานแล้ว ภควา เป็นผู้จำแนกธรรม และผู้สร้างต้องเข้าใจในหลักพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธองค์อย่างแท้จริง จนเกิดมโนภาพเนรมิตพระพุทธรูปเพื่อสื่อแทนพระธรรมที่พระองค์ทรงตรัสรู้และสั่งสอนเวไนยสัตว์ให้พ้นทุกข์ด้วย ฉะนั้น พระพุทธรูปจึงเป็นประติมากรรมชั้นเลิศที่บ่งบอกพุทธลักษณะอันเลิศกว่าเทวดาและมนุษย์ของพระพุทธองค์ให้ได้มากที่สุด และใกล้เคียงความจริงมากที่สุด ผสมกลมกลืนเข้ากับพระพุทธคุณในส่วนที่พระองค์มีอยู่จริง ผสมกลมกลืนเข้ากับหลักปรมัตถธรรมที่พระองค์ตรัสรู้ และบ่งบอกถึงพระพุทธองค์ผู้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า หลุดพ้นจากกิเลสอาสวะทั้งปวง พระพุทธรูปจึงแฝงไว้ซึ่งปริศนาธรรมทางพระพุทธศาสนา ทำให้ผู้พบเห็นมีจิตเคารพเลื่อมใสในพระพุทธองค์ กราบไหว้สักการะเคารพรำลึกถึงพระพุทธองค์ พระพุทธคุณ พระธรรมคุณ ซึ่งเป็นคำสอนอันเป็นปรมัตถสัจธรรม เป็นเบื้องต้นในการก่อให้ศรัทธาในพระพุทธศาสนา และส่งผลไปสู่การน้อมนำพระธรรมไปปฏิบัติซึ่งเป็นธัมมานุธัมมะปฏิบัติ คือปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรมตามกำลังของตน เพื่อความหลุดพ้นจากกองทุกข์คือกิเลสอาสวะทั้งปวงต่อไป
มหาบุรุษลักษณะ ๓๒ ประการ
ดังได้กล่าวมาแล้วว่า ช่างผู้สร้างพระพุทธรูปได้รังสรรค์เนรมิตพระพุทธรูป ให้มีพระพุทธลักษณะใกล้เคียงพระพุทธองค์ตามมโนภาพ อุดมคติของตนเอง โดยยึดหลักของมหาบุรุษลักษณะ ๓๒ ประการ และอนุพยัญชนะ พระลักษณะข้อปลีกย่อยของมหาบุรุษลักษณะอีก ๘๐ ประการ ดังนั้นจะเห็นได้ว่า พระพุทธรูปจึงมีพุทธลักษณะไม่เหมือนรูปปั้นประติมากรรมของคนทั่วไป ซึ่งมีนิ้วพระหัตถ์ นิ้วพระบาทยาวเสมอกัน พระขนงมีสัณฐานอันงามดุจคันธนู เป็นต้น อันนี้ก็เนื่องมาจากจินตนาการจากพระลักษณะของพระมหาบุรุษและอนุพยัญชนะนั้นเอง
ในมหาปทานสูตร ทีฆนิกาย มหาวรรค และลักขณสูตร ปาฏิกวรรค พระสุตตันตปิฎก ได้กล่าวถึงมหาบุรุษลักษณะของพระพุทธองค์ไว้ ๓๒ ประการ คือ
๑. สุปติฏฺฐิตปาโท มีฝ่าพระบาทราบเสมอกัน ๒. เหฎฺฐาปาทตเลสุ จกฺกานิ ชาตานิ ลายพื้นพระบาทเป็นจักร ๓. อายตปณฺหิ มีส้นพระบาทยาว (ถ้าแบ่ง ๔. พระชงฆ์ตั้งอยู่ในส่วนที่ ๓) ๔. ทีฆงฺคุลิ มีนิ้วยาวเรียว (หมายถึงนิ้วพระหัตถ์และพระบาทด้วย) ๕. มุทุตลนหตฺถปาโท ฝ่าพระหัตถ์และฝ่าพระบาทอ่อนนุ่ม ๖. ชาลหตฺถปาโท ฝ่าพระหัตถ์และฝ่าพระบาทมีลายดุจตาข่าย ๗. อุสฺสงฺขปาโท มีพระบาทเหมือนสังข์คว่ำ อัฐิข้อพระบาทตั้งลอยอยู่หลังพระบาท กลับกลอกได้คล่อง เมื่อทรงดำเนินผิดกว่าสามัญชน ๘. เอณิชงฺโฆ พระชงฆ์เรียวดุจแข้งเนื้อทราย ๙. ฐิตโก ว อโนมมนฺโต อุโภหิ ปาณิตเลหิ ชณฺณุกานิ ปรามสติ เมื่อยืนตรง พระหัตถ์ทั้งสองลูบจับถึงพระชานุ ๑๐. โกโสหิตวตฺถคุยฺโห มีพระคุยหะเร้นอยู่ในฝัก ๑๑. สุวณฺณวณฺโณ มีฉวีวรรณดุจสีทอง ๑๒. สุขุมจฺฉวิ พระฉวีละเอียด ธุลีละอองไม่ติดพระกาย ๑๓. เอเกกโลโม มีเส้นพระโลมาเฉพาะขุมละเส้นๆ ๑๔. อุทฺธคฺคโลโม เส้นพระโลมาดำสนิท เวียนเป็นทักษิณาวัฏ มีปลายงอนขึ้นข้างบน ๑๕. พฺรหฺมชุคตฺโต พระกายตั้งตรงดุจท้าวมหาพรหม ๑๖. สตฺตุสฺสโท มีพระมังสะอูมเต็มในที่ ๗ แห่ง (คือหลังพระหัตถ์ทั้ง ๒ และหลังพระบาททั้ง ๒ พระอังสาทั้ง ๒ กับลำพระศอ) ๑๗. สีหปุพฺพฑฺฒกาโย มีส่วนพระสรีรกายบริบูรณ์ (ล่ำพี) ดุจกึ่งท่อนหน้าแห่งพญาราชสีห์ ๑๘. ปีตนฺตรํโส พระปฤษฎางค์ราบเต็มเสมอกัน ๑๙. นิโครธปริมณฺฑโล ส่วนพระกายเป็นปริมณฑล ดุจปริมณฑลแห่งต้นไทร (พระกายสูงเท่ากับวาของพระองค์) ๒๐. สมวฏฺฏกฺขนฺโธ มีลำพระศอกลมงามเสมอตลอด ๒๑. รสคฺคสคฺคี มีเส้นประสาทสำหรับรับรสพระกระยาหารอันดี ๒๒. สีหหนุ มีพระหนุดุจคางแห่งราชสีห์ (โค้งเหมือนวงพระจันทร์) ๒๓. จตฺตาฬีสทนฺโต มีพระทนต์ ๔๐ ซี่ (ข้างละ ๒๐ ซี่) ๒๔. สนทนฺโต พระทนต์เรียบเสมอกัน ๒๕. อวิวรทนฺโต พระทนต์เรียบสนิทมิได้ห่าง ๒๖. สุสุกฺกทาโฐ เขี้ยวพระทนต์ทั้ง ๔ ขาวงามบริสุทธิ์ ๒๗. ปหูตชิวฺโห พระชิวหาอ่อนและยาว (อาจแผ่ปกพระนลาฎได้) ๒๘. พฺรหฺมสโร กรวิกภาณี พระสุรเสียงดุจท้าวมหาพรหม ตรัสมีสำเนียงดุจนกการเวก ๒๙. อภินีลเนตฺโต พระเนตรดำสนิท ๓๐. โคปขุโม ดวงพระเนตรแจ่มใสดุจตาลูกโคเพิ่งคลอด ๓๑. อุณฺณา ภมุกนฺตเร ชาตา มีอุณาโลมระหว่างพระโขนง เวียนขวาเป็นทักษิณาวัฏ ๓๒. อุณฺหิสสีโส มีพระเศียรงามบริบูรณ์ดุจประดับด้วยกรอบพระพักตร์
อนุพยัญชนะ ๘๐
อนุพยัญชนะ หมายถึงลักษณะข้อปลีกย่อยหรือส่วนประกอบเสริมของพระมหาบุรุษลักษณะ ซึ่งช่างผู้บรรจงสร้างพุทธปฏิมาจะต้องคำนึงถึงด้วย มี ๘๐ ประการ คือ
๑. มีนิ้วพระหัตถ์และนิ้วพระบาทอันเหลืองงาม ๒. นิ้วพระหัตถ์และนิ้วพระบาทเรียวออกไปโดยลำดับแต่ต้นจนปลาย ๓. นิ้วพระหัตถ์ และนิ้วพระบาทกลมดุจนายช่างกลึงเป็นอันดี ๔. พระนขาทั้ง ๒๐ มีสีอันแดง ๕. พระนขาทั้ง ๒๐ นั้น งอนงามช้อนขึ้นเบื้องบนมิได้ค้อมลงเบื้องต่ำ ดุจเล็บแห่งสามัญชนทั้งปวง ๖. พระนขานั้นมีพรรณอันเกลี้ยงกลมสนิทมิได้เป็นริ้วรอย ๗. ข้อพระหัตถ์และข้อพระบาทซ่อนอยู่ในพระมังสะ มิได้สูงขึ้นปรากฏออกมาภายนอก ๘. พระบาททั้งสองเสมอกันมิได้ย่อมใหญ่กว่ากันมาตรว่าเท่าเมล็ดงา ๙. พระดำเนินงามดุจอาการเดินแห่งกุญชรชาติ ๑๐. พระดำเนินงามดุจสีหราช ๑๑. พระดำเนินงามดุจดำเนินแห่งหงส์ ๑๒. พระดำเนินงามดุจอุสภราชดำเนิน ๑๓. ขณะเมื่อยืนจะย่างดำเนินนั้น ยกพระบาทเบื้องขวาย่างไปก่อน พระกายเยื้องไปข้างเบื้องขวาก่อน ๑๔. พระชานุมณฑลเกลี้ยงกลมงามบริบูรณ์ บ่มิได้เห็นอัฏฐิสะบ้าปรากฏออกมาภายนอก ๑๕. มีบุรุษพยัญชนะบริบูรณ์คือมิได้มีกิริยามารยาทคล้ายสตรี ๑๖. พระนาภีมิได้บกพร่อง กลมงามมิได้วิกลในที่ใดที่หนึ่ง ๑๗. พระอุทรมีสัณฐานอันลึก ๑๘. ภายในพระอุทรมีรอยเวียนเป็นทักขิณาวัฏ ๑๙. ลำพระเพลาทั้งสองกลมงามดุจลำสุวรรณกัททลี ๒๐. ลำพระกรทั้งสองงามดุจงวงแห่งเอราวัณเทพยหัตถี ๒๑. พระอังคาพยพใหญ่น้อยทั้งปวงจำแนกเป็นอันดี คือ งามพร้อมทุกสิ่งหาที่ตำหนิบ่มิได้ ๒๒. พระมังสะที่ควรจะหนาก็หนา ที่ควรจะบางก็บางตามที่ทั่วทั้งพระสรีรกาย ๒๓. พระมังสะมิได้หดหู่ในที่ใดที่หนึ่ง ๒๔. พระสรีรกายทั้งปวงปราศจากต่อมและไฝปาน มูลแมลงวันมิได้มีในที่ใดที่หนึ่ง ๒๕. พระกายงามบริสุทธิ์พร้อมสมกันโดยตามลำดับทั้งเบื้องบนแลเบื้องล่าง ๒๖. พระกายงามบริสุทธิ์พร้อมสิ้นปราศจากมลทินทั้งปวง ๒๗. ทรงพระกำลังมาก เสมอด้วยกำลังแห่งกุญชรชาติ ประมาณถึงพันโกฏิช้าง ถ้าจะประมาณด้วยกำลังบุรุษก็ได้ถึงแสนโกฏิบุรุษ ๒๘. มีพระนาสิกอันสูง ๒๙. สัณฐานพระนาสิกงามแฉล้ม ๓๐. มีพระโอษฐ์เบื้องบนเบื้องต่ำมิได้เข้าออกกว่ากัน เสมอเป็นอันดี มีพรรณแดงงามดุจสีผลตำลึงสุก ๓๑. พระทนต์บริสุทธิ์ปราศจากมูลมลทิน ๓๒. พระทนต์ขาวดุจดังสีสังข์ ๓๓. พระทนต์เกลี้ยงสนิทมิได้เป็นริ้วรอย ๓๔. พระอินทรีย์ทั้ง ๕ มีจักขุนทรีย์เป็นอาทิงามบริสุทธิ์ทั้งสิ้น ๓๕. พระเขี้ยวทั้ง ๔ กลมบริบูรณ์ ๓๖. ดวงพระพักตร์มีสัณฐานยาวสวย ๓๗. พระปรางค์ทั้งสองดูเปล่งงามเสมอกัน ๓๘. ลายพระหัตถ์มีรอยอันลึก ๓๙. ลายพระหัตถ์มีรอยอันยาว ๔๐. ลายพระหัตถ์มีรอยอันตรง บ่มิได้ค้อมคด ๔๑. ลายพระหัตถ์มีรอยอันแดงรุ่งเรือง ๔๒. รัศมีพระกายโอภาสเป็นปริมณฑลโดยรอบ ๔๓. กระพุ้งพระปรางค์ทั้งสองเคร่งครัดบริบูรณ์ ๔๔.กระบอกพระเนตรกว้างแลยาวงามพอสมกัน ๔๕. ดวงพระเนตรกอปรด้วยประสาททั้ง ๕ มีขาวเป็นอาทิผ่องใสบริสุทธิ์ทั้งสิ้น ๔๖. ปลายเส้นพระโลมาทั้งหลายมิได้งอมิได้คด ๔๗. พระชิวหามีสัณฐานอันงาม ๔๘. พระชิวหาอ่อนบ่มิได้กระด้าง มีพรรณอันงามแดงเข้ม ๔๙. พระกรรณทั้งสองมีสัณฐานอันยาวดุจกลีบปทุมชาติ ๕๐. ช่องพระกรรณมีสัณฐานอันกลมงาม ๕๑. ระเบียบพระเส้นทั้งปวงนั้นสละสลวยบ่มิได้หดหู่ในที่ใดอันหนึ่ง ๕๒. แถวพระเส้นทั้งหลายซ่อนอยู่ในพระมังสะทั้งสิ้น บ่มิได้เป็นคลื่นฟูขึ้นเหมือนสามัญชนทั้งปวง ๕๓. พระเศียรมีสัณฐานงามเหมือนฉัตรแก้ว ๕๔. ปริมณฑลพระนลาฎโดยกว้างยาวพอสมกัน ๕๕. พระนลาฎมีสัณฐานอันงาม ๕๖. พระโขนงมีสัณฐานอันงามดุจคันธนูอันก่งไว้ ๕๗. พระโลมาที่พระโขนงมีเส้นอันละเอียด ๕๘. เส้นพระโลมาที่พระโขนงงอกขึ้นแล้วล้มราบไปโดยลำดับ ๕๙. พระโขนงนั้นใหญ่ ๖๐. พระโขนงนั้นยาวสุดหางพระเนตร ๖๑. ผิวพระมังสะละเอียดทั่วทั้งพระกาย ๖๒. พระสรีรกายรุ่งเรืองไปด้วยสิริ ๖๓. พระสรีรกายมิได้มัวหมอง ผ่องใสอยู่เป็นนิตย์ ๖๔. พระสรีรกายสดชื่นดุจดวงดอกปทุมชาติ ๖๕. พระสรีรสัมผัสอ่อนนุ่มสนิท บ่มิได้กระด้างทั่วทั้งพระกาย ๖๖. กลิ่นพระกายหอมฟุ้งดุจกลิ่นสุคนธกฤษณา ๖๗. พระโลมามีเส้นเสมอกันทั้งสิ้น ๖๘. พระโลมามีเส้นละเอียดทั่วทั้งพระกาย ๖๙. ลมอัสสาสะปัสสาสะ ลมหายพระทัยเข้าออกก็เดินละเอียด ๗๐. พระโอษฐ์มีสัณฐานอันงามดุจแย้ม ๗๑. กลิ่นพระโอษฐ์หอมดุจกลิ่นอุบล ๗๒. พระเกศาดำเป็นแสง ๗๓. กลิ่นพระเกศาหอมฟุ้งขจรตลบ ๗๔. กลิ่นพระเกศาหอมดุจกลิ่นโกมลบุบผชาติ ๗๕. พระเกศามีสัณฐานเส้นกลมสลวยทุกเส้น ๗๖. พระเกศาดำสนิททั้งสิ้น ๗๗. พระเกศากอปรด้วยเส้นอันละเอียด ๗๘. เส้นพระเกศามิได้ยุ่งเหยิง ๗๙. เส้นพระเกศาเวียนเป็นทักขิณาวัฏทุกๆเส้น ๘๐. วิจิตรไปด้วยระเบียบพระเกตุมาลา กล่าวคือถ่องแถวแห่งพระรัศมีอันโชตนาการขึ้น ณ เบื้องบนพระอุตมังคสิโรตม์ ฯ
สาเหตุแห่งการสร้างพระพุทธรูป
พระพุทธเจ้าทรงแสดงสัมมาสัมพุทธเจดีย์ไว้ ๔ ประเภท คือ
1. พระธาตุเจดีย์
2. บริโภคเจดีย์
3. ธรรมเจดีย์
4. อุทเทสิกเจดีย์
พระธาตุเจดีย์ หมายเอาพระบรมสารีริกธาตุทั้ง ๘ ส่วน จำนวน ๑๖ ทะนาน บริโภคเจดีย์ หมายเอาสังเวชนียสถาน ๔ ตำบล คือ สถานที่ประสูติ ตรัสรู้ แสดงปฐมเทศนา ปรินิพพาน และอัฏฐบริขารที่พระองค์ทรงใช้สอย เช่น บาตร จีวร ที่กรองน้ำ เป็นต้น ธรรมเจดีย์ หมายเอาผู้ที่แสวงหาพระบรมสารีริกธาตุและอัฏฐบริขารของพระองค์เพื่อมาสร้างเป็นพระสถูปไม่ได้ เมื่อประสงค์จะสร้างพระสถูปเจดีย์ไว้เป็นที่กราบไหว้สักการะบูชา ก็ได้นำเอาพระธรรมจารึกไว้ในแผ่นทองคำบ้าง ศิลาบ้าง ใบลานบ้าง บรรจุไว้ในพระเจดีย์แทนพระบรมสารีริกธาตุ อีกนัยหนึ่ง หมายเอาพระธรรมที่พระองค์ทรงแสดงไว้จำนวน ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ เป็นเจดีย์ที่พุทธบริษัทจะพึงนำไปประพฤติปฏิบัติ เพื่อเป็นประโยชน์และความสุขแก่ตนและผู้อื่น ส่วนอุทเทสิกเจดีย์ หมายเอา พระพุทธรูปที่พุทธศาสนิกชนสร้างขึ้นเพื่อเคารพสักการะแทนพระองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
จะเห็นได้ว่า พระพุทธรูปก็นับเนื่องในสัมมาสัมพุทธเจดีย์ จึงมีความสำคัญและมีคุณค่ายิ่งสำหรับพุทธศาสนิกชน ซึ่งการสร้างพระพุทธรูปถือว่าเป็นการสืบต่ออายุพระพุทธศาสนาอีกอย่างหนึ่งด้วย เนื่องจากเป็นสิ่งแทนพระพุทธเจ้า ซึ่งเสมือนพระองค์ยังทรงพระชนม์อยู่ และชาวพุทธมีความรู้สึกเหมือนปฏิบัติ เคารพ สักการบูชาด้วยอามิสบูชาและปฏิบัติบูชาต่อพระพุทธเจ้า อนึ่ง พระพุทธรูปเป็นทั้งสัญลักษณ์ เครื่องหมายของพระพุทธศาสนาและความดีงามทั้งพุทธภาวะที่เป็นธรรมกายและพระพุทธคุณ ตลอดจนสื่อถึงปรมัตถธรรมซึ่งเป็นแก่นพระพุทธศาสนา นอกจากนี้พระพุทธรูปยังเป็นสิ่งที่แสดงถึงศรัทธาอันแรงกล้าของพุทธศาสนชิกชน ที่สร้างพระพุทธรูปเพื่อเป็นศูนย์รวมจิตใจ เป็นแหล่งรวมศรัทธาปสาทะของชาวพุทธทั้งมวลตลอดกาลนานอีกด้วย

9
ตำนานพระปริตร : อาฏานาฏิยปริตร

อาฏานาฏิยปริตร

บทขัดอาฏานาฏิยปริตร

องค์สมเด็จพระผู้มีพระภาค ผู้เป็นมหาวีรบุรุษ ทรงแสดงพระปริตรใด เพื่อคุ้มกันพุทธบริษัททั้ง ๔ มิให้ถูกเบียดเบียน จากอมนุษย์ทั้งหลาย ที่ดุร้ายสันดานหยาบช้า ไม่เลื่อมใสในพระพุทธศาสนา ซึ่งบัณฑิตทั้งหลายรับรองแล้วว่า เป็นศาสนาดีทุกเมื่อ ท่านผู้เจริญทั้งหลายพึงสวดพระปริตรนั้นเทอญ

ตำนาน

สมัยหนึ่งสมเด็จ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงเสด็จประทับอยู่ ณ ภูเขาคิชฌกูฎบรรพต ใกล้กรุงราชคฤห์มหานคร ในครั้งนั้น ท้าวจาตุมมหาราชทั้ง ๔ ซึ่งสถิตย์อยู่เหนือยอดเขายุคันธร ที่เรียกว่าชั้นจาตุมหาราชิกา อันเป็นชั้นต่ำกว่า สวรรค์ชั้นดาวดึงส์ลงมาซึ่งเป็นที่สถิตย์ขององค์อินทราธิราช

พระอินทร์ ทรงมีเทวะพระบัญชาให้มหาราชทั้ง ๔ ทำหน้าที่เฝ้ารักษาประตูสวรรค์ในทิศทั้ง ๔ เพื่อป้องกันมิให้พวกอสูรมารบกวน โดยมี

ท้าวธตรฐ ผู้เป็นเจ้าแห่งพวกคนธรรพ์ รักษาทิศบูรพา
ท้าววิรุฬหก เป็นเจ้าแห่งกุมภัณฑ์ รักษาทิศทักษิณ
ท้าววิรูปักษ์ เป็นเจ้าแห่งนาคทั้งปวง รักษาทิศปัจจิมท้าวเวสวัน เป็นเจ้าแห่งยักษ์ รักษาทิศอุดร

ท้าวมหาราชทั้ง ๔ มีจิตเลื่อมใสศรัทธา ปรารถนาจะเกื้อกูลพระพุทธศาสนา มิให้พวกอสูร หรือพวกศัตรูมาย่ำยีบีฑา แด่พระภิกษุสงฆ์สาวกของพระบรมสุคตเจ้า

จึงคิดจะชวนกันลงมาเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า แต่ก็ห่วงภาระหน้าที่ที่จะต้องดูแลรักษาความสงบเรียบร้อยในประตูสวรรค์ทั้ง ๔ ทิศ มหาราชทั้ง ๔ จึงมีบัญชาแต่งตั้งให้ คนธรรพ์ กุมภัณฑ์ นาค และยักษ์ อย่างละแสนรักษาประตูสวรรค์ทั้ง ๔ ทิศ ซึ่งก็ให้พวกคนธรรพ์ รักษาทิศบูรพา กุมภัณฑ์รักษาทิศทักษิณ นาครักษาทิศปัจจิม ยักษ์รักษาทิศอุดร

ครั้นแล้ว ท้าวมหาราชทั้ง ๔ ได้ประชุมพร้อมกันที่ อาฏานาฏิยนคร ณ สวรรค์ชั้นจาตุมหาราชิกา พร้อมกับผูกมนต์อาฏานาฏิยปริตร ซึ่งมีเนื้อความสรรเสริญคุณของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทั้ง ๗ พระองค์ มี

พระวิปัสสี ผู้มีสิริอันงาม
พระสิขี พุทธเจ้า ผู้มากด้วยการอนุเคราะห์แก่สัตว์ทั้งปวง
พระเวสสภู พุทธเจ้า ผู้ปราศจากกิเลส มีตบะ
พระกกุสันธะ พุทธเจ้า ผู้มีชัยชนะแก่พญามารและเสนามาร
โกนาคมนะ พุทธเจ้า ผู้มีบาปอันลอยเสียแล้วมีพรหมจรรย์อันจบแล้ว
กัสสปะ พุทธเจ้า ผู้พ้นวิเศษแล้ว จากกองกิเลสทั้งปวง
พระอังคีส พุทธเจ้า ผู้เป็นโอรสแห่งหมู่ศากยราช ผู้มีศักดิ์ มีสิริ ดัง นี้เป็นต้น

ครั้นผูกมนต์พระปริตรแล้ว ท้าวมหาราชทั้ง ๔ จึงประกาศแก่บริวารของตนว่า ธรรมอาณาจักรของพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า อันเป็นบรมครูของเราทั้ง ๔ ถ้ามีผู้ใดสาธยายมนต์ อาฏานาฏิยปริตร นี้ขึ้น แล้วถ้าใครไม่เชื่อฟัง ไม่สดับ จะต้องถูกลงโทษอย่างสาสม รุนแรง

และแล้วมหาราชทั้ง ๔ ก็พร้อมใจกันลงมาเข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า ณ ภูเขาคิชฌกูฏ กราบบังคมทูลว่าหมู่ยักษ์ทั้งหลาย หมู่นาคทั้งหลาย หมู่กุมภัณฑ์ทั้งหลาย และหมู่คนธรรพ์ทั้งหลาย ผู้มีเดช มีศักดา มีอานุภาพ มีจิตกระด้างหยาบช้า ละเมิดเบญจศีลเป็นอาจิณ ที่ยังไม่เลื่อมใสในคุณของพระรัตนตรัยนั้นมีมากพวกที่เลื่อมใสนั้นมีน้อย

เมื่อพระสาวกของพระผู้มีพระภาค เป็นผู้ยินดีในการอยู่ป่า เพื่อบำเพ็ญสมณธรรม ในที่ห่างไกลจากมนุษย์สัญจร อมนุษย์ผู้ไม่เลื่อมใส ย่อมจะย่ำยี หลอนหลอก กระทำให้เจ็บไข้เป็นอันตรายแก่ชีวิตและพรหมจรรย์ แต่ต่อนี้ไปจะไม่บังเกิดเหตุการณ์เช่นนั้นอีกแล้ว ถ้าพระบรมสุคตเจ้าทรงพระกรุณาโปรดรับมนต์อาฏานาฏิยปริตรนี้ไว้ แล้วโปรดประทานให้พระภิกษุสาวก สาธยายอยู่เนือง ๆ อมนุษย์ทั้งปวงก็จะมิกล้าย่ำยีหลอนหลอกทำร้าย อีกทั้งยังจะช่วยปกป้องคุ้มครอง กันภัยทั้งปวงให้อีกด้วยพระเจ้าข้า

องค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงรับมนต์พระปริตรนั้นโดยดุษฏี

ท้าวเวสวัณ ก็แสดงอาฏานาฏิยปริตรนั้นถวายและแล้ว มหาราชทั้ง ๔ ก็ถวายมนัสการลา

สมเด็จพระบรมศาสดา จึงทรงมีพระบัญชาให้ประชุมภิกษุทั้งหลายในที่นั้น แล้วทรงแสดงมนต์พระปริตรนั้นให้แก่ภิกษุทั้งหลายได้เรียนสาธยาย เสร็จแล้วทรงมีพุทธฎีกาตรัสว่า

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ท่านทั้งหลายจงอุตสาหะ สาธยายมนต์พระปริตรนี้ให้บริบูรณ์ในสันดาน จะพ้นจากอุปัทวันอันตรายทั้งปวงได้ อมนุษย์ทั้งหลายก็จะไม่มาย่ำยี หลอนหลอก เธอทั้งหลายจะได้ดำรงค์อยู่เป็นสุข เพื่อยังพรหมจรรย์ให้เจริญ

ภิกษุเหล่านั้นก็เปล่งสาธุการ น้อมรับด้วยเศียรเกล้า จบ

10


พระสมณโคตมพุทธเจ้า

หลังจากศาสนาของพระกัสสปะพุทธเจ้าล่วงไป จึงได้ถึงสมัยของพระพุทธเจ้าทรงพระนามว่า พระสมณโคตมพุทธเจ้า อุบัติขึ้นในอันตรกัปที่ ๑๒ แห่งภัททกัปนี้
พระสมณโคตมพุทธเจ้า ทรงประสูติเป็นสิทธัตถะราชกุมาร ในศากยวงศ์แห่งกรุงกบิลพัสดุ์ พระราชบิดาทรงพระนามว่าพระเจ้าสุทโธทนะ และพระราชมารดาทรงพระนามว่าพระนางสิริมหามายาเทวี
สิทธัตถะราชกุมารทรงเกษมสำราญอยู่ ๒๙ ปี ในปราสาท ๓ หลัง คือ สุจันทะปราสาท โกกนุทะปราสาท และโกญจะปราสาท ทรงมีพระเทวีนามว่า ยโสธราพิมพา มีนางสนมนารีแวดล้อม ๔๐,๐๐๐ นาง
วันหนึ่ง เจ้าชายสิทธัตถะทรงทอดพระเนตรเห็นเทวทูตทั้งสี่ คือ คนแก่ คนเจ็บ คนตาย และนักบวช พระองค์จึงมีพระทัยน้อมไปทางบรรพชา
เมื่อพระนางพิมพาเทวีประสูติพระโอรส พระนามว่า ราหุลกุมาร จึงได้เสด็จออกบรรพชาโดยทรงม้าชื่อกัณฑกะ มีผู้บรรพชาติดตาม ๕ คน เรียกว่า ปัญจวัคคีย์
เจ้าชายสิทธัตถะทรงบำเพ็ญความเพียรอยู่เป็นเวลา ๖ ปี จนถึงวันเพ็ญเดือนวิสาขะ ทรงรับข้าวมธุปายาสจากนางสุชาดา ตำบลอุรุเวลาเสนานิคม และรับหญ้า ๘ กำจากคนหาบหญ้าชื่อ โสตถิยะ ปูลาดใต้ต้นอัสสัตถะ (ต้นโพธิใบ) เป็นโพธิบัลลังก์ และได้ตรัสรู้เป็นพระปัญญาธิกะพุทธเจ้าในคืนนั้น
พระสมณโคตมพุทธเจ้าทรงแสดงปฐมเทศนาที่ป่าอิสิปัตนะมิคทายวัน แก่ปัญจวัคคีย์ ทำให้ปัญจวัคคีย์สำเร็จเป็นพระอริยบุคคล

ธรรมาภิสมัยในพุทธกาลของพระสมณโคตมพุทธเจ้าบังเกิดขึ้น ๓ วาระ คือ
วาระที่ ๑ แสดงปฐมเทศนา
ธรรมาภิสมัยบังเกิดแก่พระอัญญาโกณฑัญญะและเทวดา ๑๘ โกฏิ
วาระที่ ๒ แสดงธรรมในมหามงคลสมาคมแก่มนุษย์และเทวดาทั่วหมื่นจักรวาล
ธรรมาภิสมัยบังเกิดแก่มนุษย์และเทวดานับจำนวนไม่ได้
วาระที่ ๓ แสดงธรรมแก่ราหุลกุมาร
ธรรมาภิสมัยบังเกิดแก่มนุษย์และเทวดานับจำนวนไม่ได้

พระสมณโคตมพุทธเจ้าทรงมีพระสาวกองค์สำคัญ คือ
พระอัครสาวก คือ พระสารีบุตรเถระ และพระโมคคัลลานะเถระ
พระอัครสาวิกา คือ พระเขมาเถรี และพระอุบลวรรณาเถรี
พระอุปัฏฐาก คือ พระอานนท์

พระสมณโคตมพุทธเจ้า ทรงประชุมสาวกสันนิบาตเพียงครั้งเดียว จำนวนพระสงฆ์ ๑,๒๕๐ รูป

พระสมณโคตมพุทธเจ้าทรงมีพระวรกายสูง ๑๘ ศอก พระรัศมีแผ่ไปได้ ๔ ศอกโดยรอบ เมื่อพระชนมายุได้ ๘๐ ปี จึงปรินิพพานที่เมืองกุสินารา

11


พระกัสสปะพุทธเจ้า

หลังจากศาสนาของพระโกคมนะพุทธเจ้าล่วงไป จึงได้ถึงสมัยของพระพุทธเจ้าทรงพระนามว่า พระกัสสปะพุทธเจ้า อุบัติขึ้นในภัททกัปเดียวกัน
พระกัสสปะพุทธเจ้า เกิดในสกุลพราหมณ์นามว่ากัสสปะพราหมณ์ เป็นบุตรของพราหมณ์แห่งพาราณสีนคร นามว่าพรหมทัตตะพราหมณ์ มารดาชื่อธนวดีพราหมณี
กัสสปะพราหมณ์เกษมสำราญอยู่ ๒,๐๐๐ ปี ในปราสาท ๓ หลัง คือ หังสวาปราสาท ยสวาปราสาท และสิรินันทะปราสาทมีภริยาชื่อว่า สุนันทาพราหมณี และมีบาทบริจาริกาแวดล้อมอีก ๔๘,๐๐๐ นาง
วันหนึ่ง กัสสปะพราหมณ์ได้เห็นเทวทูตทั้งสี่ คือ คนแก่ คนเจ็บ คนตาย และนักบวช จึงมีใจน้อมไปทางบรรพชา
เมื่อนางสุนันทาพราหมณีให้กำเนิดบุตร นามว่า วิชิตเสนะกุมาร จึงได้ออกบวชโดยปราสาทลอยเลื่อนไปลงที่ต้นนิโครธ (ต้นไทร) ผู้ที่อยู่ในปราสาทนั้นออกบวชตามทั้งหมด ยกเว้นนางบาทบริจาริกา
กัสสปะพราหมณ์บำเพ็ญความเพียรอยู่เป็นเวลา ๗ วัน จนถึงวันเพ็ญเดือนวิสาขะ รับข้าวมธุปายาสจากนางสุนันทาพราหมณี และรับหญ้า ๘ กำจากคนเฝ้าไร่ข้าวเหนียวชื่อ โสมะ ปูลาดใต้ต้นนิโครธ (ต้นไทร) เป็นโพธิบัลลังก์ และได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าในคืนนั้นเอง
พระกัสสปะพุทธเจ้าทรงเสด็จไปยังป่าอิสิปตนะมิคทายวัน ใกล้กรุงพาราณสี และทรงแสดงปฐมเทศนาแก่พระสาวกที่ออกบวชติดตาม ทำให้พระสาวกทั้งหลายเหล่านั้น สำเร็จเป็นพระอริยบุคล

ธรรมาภิสมัยในพุทธกาลของพระกัสสปะพุทธเจ้าบังเกิดขึ้น ๓ วาระ คือ
วาระที่ ๑ แสดงปฐมเทศนา
ธรรมาภิสมัยบังเกิดแก่มนุษย์และเทวดา ๒๐,๐๐๐ โกฏิ
วาระที่ ๒ แสดงยมกปาฏิหาริย์ ที่สุนทรนคร
ธรรมาภิสมัยบังเกิดแก่มนุษย์และเทวดา ๑๐,๐๐๐ โกฏิ
วาระที่ ๓ แสดงธรรมบนดาวดึงส์สวรรค์
ธรรมาภิสมัยบังเกิดแก่เทวดา ๕,๐๐๐ โกฏิ

พระกัสสปะพุทธเจ้า ทรงประชุมสาวกสันนิบาตเพียงครั้งเดียว

พระกัสสปะพุทธเจ้าทรงมีพระสาวกองค์สำคัญ คือ
พระอัครสาวก คือ พระติสสะเถระ และพระภารทวาชะเถระ
พระอัครสาวิกา คือ พระอนุฬาเถรี และอุรุเวฬาเถรี
พระอุปัฏฐาก คือ พระสัพพมิตตะ

พระกัสสปะพุทธเจ้าทรงมีพระวรกายสูง ๒๐ ศอก เมื่อพระชนมายุได้ ๒๐,๐๐๐ ปี จึงปรินิพพาน ณ เสตัพยอุทยาน ใกล้เสตัพยนคร แคว้นกาสี

12


พระโกนาคมนะพุทธเจ้า

หลังจากศาสนาของพระกกุสันธะพุทธเจ้าล่วงไป จึงได้ถึงสมัยของพระพุทธเจ้าทรงพระนามว่า พระโกนาคมนะพุทธเจ้า อุบัติขึ้นในภัททกัปเดียวกัน
พระโกนาคมนะพุทธเจ้า เกิดเป็นบุตรของพราหมณ์แห่งโสภวดีนคร นามว่า โกนาคมนะกุมาร บิดาคือยัญญทัตตพราหมณ์ และมารดาคืออุตตราพราหมณี
โกนาคมนะกุมารเกษมสำราญอยู่ ๓,๐๐๐ ปี ในปราสาท ๓ หลัง คือ ดุสิตะปราสาท สันดุสิตะปราสาท และสันตุฏฐะปราสาท มีภริยาชื่อว่า รุจิคัตตาพราหมณี และมีบาทบริจาริกาแวดล้อมอีก ๑๖,๐๐๐ นาง
วันหนึ่ง โกคมนะพราหมณ์ได้เห็นเทวทูตทั้งสี่ คือ คนแก่ คนเจ็บ คนตาย และนักบวช จึงมีใจน้อมไปทางบรรพชา
เมื่อนางโรจินีพราหมณีให้กำเนิดบุตร นามว่า สัตถวาหะกุมาร จึงได้ออกบรรพชาโดยคชยาน โดยมีผู้ออกบรรพชาตามจำนวน ๓๐,๐๐๐ คน
โกนาคมนะพราหมณ์บำเพ็ญเพียรอยู่เป็นเวลา ๘ เดือน จนถึงวันเพ็ญเดือนวิสาขะ รับข้าวมธุปายาสจากอัคคิโสณพราหมณกุมารี ธิดาของอัคคิโสณพราหมณ์ และรับหญ้า ๘ กำจากคนเฝ้าไร่ข้าวเหนียวชื่อ ชฏาตินทุกะ ปูลาดใต้ต้นอุทุมพร (ต้นมะเดื่อ) เป็นโพธิบัลลังก์ และได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าในคืนนั้นเอง
พระโกนาคมนะพุทธเจ้าทรงเสด็จไปยังป่าอสิปตนะมิคทายวัน ใกล้สุทัสสนะนคร ทรงแสดงปฐมเทศนาแก่พระสาวกที่ออกบวชติดตามจำนวน ๓๐,๐๐๐ รูป ทำให้พระสาวกทั้งหลาย สำเร็จเป็นพระอริยบุคล

พระโกนาคมนะพุทธเจ้า ทรงแสดงธรรมาภิสมัยให้บังเกิดขึ้น ๓ วาระ คือ
วาระที่ ๑ แสดงปฐมเทศนา
ธรรมาภิสมัยบังเกิดแก่มนุษย์และเทวดา ๓๐,๐๐๐ โกฏิ
วาระที่ ๒ แสดงยมกปาฏิหาริย์ ที่สุนทรนคร
ธรรมาภิสมัยบังเกิดแก่มนุษย์และเทวดา ๓๐,๐๐๐ โกฏิ
วาระที่ ๓ แสดงธรรมบนดาวดึงส์เทวโลกโปรดพุทธมารดา
ธรรมาภิสมัยบังเกิดแก่เทวดา ๑๐,๐๐๐ โกฏิ

พระโกนาคมนะพุทธเจ้า ทรงประชุมสาวกสันนิบาตครั้งเดียว แก่พระสงฆ์สาวก ๓๐,๐๐๐ รูป ณ สุรินทวดีอุทยาน กรุงสุรินทวดี

พระโกนาคมนะพุทธเจ้าทรงมีพระสาวกองค์สำคัญ คือ
พระอัครสาวก คือ พระภิยโยสะเถระ และพระอุตตระเถระ
พระอัครสาวิกา คือ พระสมุททาเถรี และพระอุตตราเถรี
พระอุปัฏฐาก คือ พระโสตถิชะ

พระโกนาคมนะพุทธเจ้าทรงมีพระวรกายสูง ๓๐ ศอก และปรินิพพานเมื่อมีพระชนมายุได้ ๓๐,๐๐๐ ปี

13


พระกกุสันธะพุทธเจ้า

หลังจากศาสนาของพระเวสภูพุทธเจ้าล่วงไป ๒๙ กัป จึงได้ถึงกัปปัจจุบัน เรียกว่าภัททกัป มีพระพุทธเจ้ามาอุบัติแล้ว ๔ พระองค์ พระพุทธเจ้าองค์แรกทรงพระนามว่า พระกกุสันธะพุทธเจ้า
พระกกุสันธะพุทธเจ้า เกิดในสกุลพราหมณ์ชื่อว่า กกุสันธะกุมาร เป็นบุตรของพราหมณ์ปุโรหิตในราชสำนักของพระเจ้าเขมังกร เขมะวดีนคร นามว่าอัคคิทัตตะพราหมณ์ มารดาชื่อวิสาขาพราหมณี
กกุสันธะกุมารเกษมสำราญอยู่ ๔,๐๐๐ ปี ในปราสาท ๓ หลัง คือ กามะปราสาท กามวัณณะปราสาท และกามสุทธิปราสาท มีภริยาชื่อว่า โรจินีพราหมณี และมีบาทบริจาริกาแวดล้อมอีก ๓๐,๐๐๐ นาง
วันหนึ่ง กกุสันธะพราหมณ์ได้เห็นเทวทูตทั้งสี่ คือ คนแก่ คนเจ็บ คนตาย และนักบวช จึงมีใจน้อมไปทางบรรพชา
เมื่อนางโรจินีพราหมณีให้กำเนิดบุตร นามว่า อุตตระกุมาร จึงได้ออกบรรพชาโดยรถม้า โดยมีผู้ออกบรรพชาตามจำนวน ๔๐,๐๐๐ คน
กกุสันธะพราหมณ์บำเพ็ญเพียรอยู่เป็นเวลา ๘ เดือน จนถึงวันเพ็ญเดือนวิสาขะ รับข้าวมธุปายาสจากธิดาวชิรินธพราหมณ์ ณ สุจิรินธนิคม และรับหญ้า ๘ กำจากคนเฝ้าไร่ข้าวเหนียวชื่อ สุภัททะ ปูลาดใต้ต้นสิรีสะ (ต้นซึก) เป็นโพธิบัลลังก์ และได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าในคืนนั้น
พระกกุสันธะพุทธเจ้าทรงเสด็จไปยังป่าอสิปตนะมิคทายวัน ใกล้มกิลนคร ทรงแสดงปฐมเทศนาแก่พระสาวกที่ออกบวชติดตามจำนวน ๔๐,๐๐๐ รูป ทำให้พระสาวกทั้งหลาย สำเร็จเป็นพระอริยบุคล

ธรรมาภิสมัยในพุทธกาลของพระกกุสันธะพุทธเจ้าบังเกิดขึ้น ๓ วาระ คือ
วาระที่ ๑ แสดงปฐมเทศนา
ธรรมาภิสมัยบังเกิดแก่มนุษย์และเทวดา ๔๐,๐๐๐ โกฏิ
วาระที่ ๒ แสดงยมกปาฏิหาริย์ ที่ กัณณกุชชนคร
ธรรมาภิสมัยบังเกิดแก่มนุษย์และเทวดา ๓๐,๐๐๐ โกฏิ
วาระที่ ๓ แสดงธรรมแก่ยักษ์ นรเทพ
ธรรมาภิสมัยบังเกิดแก่มนุษย์และเทวดานับจำนวนไม่ได้

พระกกุสันธะพุทธเจ้า ทรงประชุมสาวกสันนิบาตเพียงครั้งเดียว โดยทรงแสดงปาฏิโมกข์แก่พระสงฆ์สาวก ๔๐,๐๐๐ รูป ที่ได้รับฟังปฐมเทศนาที่ป่าอิสิปัตนมิคทายวัน

พระกกุสันธะพุทธเจ้าทรงมีพระสาวกองค์สำคัญ คือ
พระอัครสาวก คือ พระวิธุระเถระ และพระสัญชีวะเถระ
พระอัครสาวิกา คือ พระสามาเถรี และพระจัมปาเถรี
พระอุปัฏฐาก คือ พระพุทธิชะ

พระกกุสันธะพุทธเจ้าทรงมีพระวรกายสูง ๔๐ ศอก มีพระรัศมีแผ่ไปไกล ๑๐ โยชน์ เมื่อพระชนมายุได้ ๔๐,๐๐๐ ปี จึงปรินิพพาน

14


พระเวสสภูพุทธเจ้า

หลังจากศาสนาของพระสิขีพุทธเจ้าล่วงไป จึงได้ถึงสมัยของพระพุทธเจ้าทรงพระนามว่า พระเวสภูพุทธเจ้า อุบัติขึ้นในมัณฑกัปเดียวกันนั้น
พระเวสภูพุทธเจ้า ทรงประสูติเป็นเวสภูราชกุมาร ในราชวงศ์กษัตริย์แห่งอโนมะนคร พระราชบิดาทรงพระนามว่าพระเจ้าสุปปตีตะ และพระราชมารดาทรงพระนามว่าพระนางยสวดีเทวี
เวสภูกุมารทรงเกษมสำราญอยู่ ๖,๐๐๐ ปี ในปราสาท ๓ หลัง คือ สุจิปราสาท สุรุจิปราสาท และรติวัฑฒนะปราสาท ทรงมีพระมเหสีพระนามว่า สุจิตตาเทวี และทรงมีสนมนารีแวดล้อมอีก ๓๐,๐๐๐ นาง
วันหนึ่ง เวสภูกุมารทรงทอดพระเนตรเห็นเทวทูตทั้งสี่ คือ คนแก่ คนเจ็บ คนตาย และนักบวช พระองค์จึงมีพระทัยน้อมไปทางบรรพชา
เมื่อพระนางสุจิตตาเทวีประสูติพระโอรส พระนามว่า พระสุปปพุทธกุมาร จึงได้ออกบรรพชาโดยพระวอทอง โดยมีผู้ออกบรรพชาตามจำนวน ๗๐,๐๐๐ คน
เวสภูราชกุมารทรงบำเพ็ญความเพียรอยู่เป็นเวลา ๖ เดือน จนถึงวันเพ็ญเดือนวิสาขะ ทรงรับข้าวมธุปายาสจากพระพี่เลี้ยงชื่อว่าสิริวัฒนา ณ สุจิตตนิคม และรับหญ้า ๘ กำจากพระยานาคชื่อนรินทะ ปูลาดใต้ต้นสาละเป็นโพธิบัลลังก์ และได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าในคืนนั้น
พระเวสภูพุทธเจ้าทรงเสด็จไปยังอรุณราชอุทยาน ในกรุงอนูปมะ ทรงแสดงปฐมเทศนาแก่พระโสณกุมาร และพระอุตตรกุมาร ซึ่งเป็นพระอนุชา ทำให้พระอนุชาทั้งสองพร้อมบริวาร สำเร็จเป็นพระอริยบุคล

ธรรมาภิสมัยในพุทธกาลของพระเวสภูพุทธเจ้าบังเกิดขึ้น ๓ วาระ คือ
วาระที่ ๑ แสดงปฐมเทศนา
ธรรมาภิสมัยบังเกิดแก่มนุษย์และเทวดา ๘๐,๐๐๐ โกฏิ
วาระที่ ๒ แสดงธรรมในแว่นแคว้นชนบท
ธรรมาภิสมัยบังเกิดแก่มนุษย์และเทวดา ๗๐,๐๐๐ โกฏิ
วาระที่ ๓ แสดงยมกปาฏิหาริย์ ในกรุงอนูปมะ
ธรรมาภิสมัยบังเกิดแก่มนุษย์และเทวดา ๖๐,๐๐๐ โกฏิ

พระเวสภูพุทธเจ้า ทรงประชุมสาวกสันนิบาต ๓ ครั้ง
ครั้งที่ ๑ ทรงแสดงปาฏิโมกข์แก่พระสงฆ์สาวก ๑๐๐,๐๐๐ โกฏิ
ซึ่งบวชในสำนักของพระโสณะ และพระอุตระ
ครั้งที่ ๒ ทรงแสดงปาฏิโมกข์แก่พระสงฆ์สาวก ๑,๐๐๐ โกฏิ
ที่มาประชุมกัน ณ โสเรยยะนคร
ครั้งที่ ๓ ทรงแสดงปาฏิโมกข์แก่พระสงฆ์สาวก ๙๐ โกฏิ
ที่ประชุมกัน ณ นาริวาหนะนคร

พระเวสภูพุทธเจ้าทรงมีพระสาวกองค์สำคัญ คือ
พระอัครสาวก คือ พระโสณะเถระ และพระอุตตระเถระ
พระอัครสาวิกา คือ พระรามาเถรี และพระสมาลาเถรี
พระอุปัฏฐาก คือ พระอุปสันตะ

พระเวสภูพุทธเจ้าทรงมีพระวรกายสูง ๖๐ ศอก พระรัศมีเหมือนดวงไฟบนเขายามราตรี เมื่อพระชนมายุได้ ๖๐,๐๐๐ ปี จึงปรินิพพานที่เขมมิคทายวัน กรุงอุสภวดี

15


พระสิขีพุทธเจ้า

หลังจากศาสนาของพระวิปัสสีพุทธเจ้าล่วงไป ๕๙ กัป ล่วงมาถึงมัณฑกัปหนึ่ง มีพระพุทธเจ้ามาอุบัติ ๒ พระองค์ พระพุทธเจ้าองค์แรกทรงพระนามว่า พระสิขีพุทธเจ้า
พระสิขีพุทธเจ้า ทรงประสูติเป็นสิขีราชกุมาร ในราชวงศ์กษัตริย์แห่งอรุณวดีนคร พระราชบิดาทรงพระนามว่าพระเจ้าอรุณ และพระราชมารดาทรงพระนามว่าพระนางปภาวดีเทวี
สิขีกุมารทรงเกษมสำราญอยู่ ๗,๐๐๐ ปี ในปราสาท ๓ หลัง คือ สุจันทกสิริปราสาท คิริยสะปราสาท และนาริวสภะปราสาท ทรงมีพระมเหสีพระนามว่า สัพพกามาเทวี และทรงมีสนมนารีแวดล้อมอีก ๒๔,๐๐๐ นาง
วันหนึ่ง สิขีกุมารทรงทอดพระเนตรเห็นเทวทูตทั้งสี่ คือ คนแก่ คนเจ็บ คนตาย และนักบวช พระองค์จึงมีพระทัยน้อมไปทางบรรพชา
เมื่อพระนางสัพพกามาเทวีประสูติพระโอรส พระนามว่า อตุละกุมาร จึงได้ออกบรรพชาโดยคชยาน โดยมีผู้ออกบรรพชาตามจำนวน ๑๓๗,๐๐๐ คน
สิขีกุมารทรงบำเพ็ญความเพียรอยู่เป็นเวลา ๘ เดือน จนถึงวันเพ็ญเดือนวิสาขะ ทรงรับข้าวมธุปายาสจากธิดาปิยเศรษฐี สุทัสสนนิคม และรับหญ้า ๘ กำจากดาบสชื่อ อโนมทัสสี ปูลาดใต้ต้นบุณฑรีกะ (ต้นกุ่มบก) เป็นโพธิบัลลังก์ และได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าในคืนนั้น
พระสิขีพุทธเจ้าทรงเสด็จไปยังมิคาจิระราชอุทยาน ในกรุงอรุณวดี ทรงแสดงปฐมเทศนาแก่พระภิกษุสาวก ๑๗๐,๐๐๐ รูป ทำให้พระภิกษุสาวกนั้น สำเร็จเป็นพระอริยบุคล

ธรรมาภิสมัยในพุทธกาลของพระสิขีพุทธเจ้าบังเกิดขึ้น ๓ วาระ คือ
วาระที่ ๑ แสดงปฐมเทศนา
ธรรมาภิสมัยบังเกิดแก่มนุษย์และเทวดา ๑๐๐,๐๐๐ โกฏิ
วาระที่ ๒ แสดงธรรมแก่อภิภูราชโอรส และสัมภวะราชโอรส กรุงอรุณวดี
ธรรมาภิสมัยบังเกิดแก่มนุษย์และเทวดา ๙๐,๐๐๐ โกฏิ
วาระที่ ๓ แสดงยมกปาฏิหาริย์ ที่สุริยวดีนคร
ธรรมาภิสมัยบังเกิดแก่มนุษย์และเทวดา ๘๐,๐๐๐ โกฏิ

พระสิขีพุทธเจ้า ทรงประชุมสาวกสันนิบาต ๓ ครั้ง
ครั้งที่ ๑ ทรงแสดงปาฏิโมกข์แก่พระสงฆ์สาวก ๑๐๐,๐๐๐
ที่ประชุมกันภายหลังปฐมเทศนา
ครั้งที่ ๒ ทรงแสดงปาฏิโมกข์แก่พระสงฆ์สาวก ๘๐,๐๐๐
ที่ประชุมกันภายหลังทรงโปรดพระประยูรญาติ
ครั้งที่ ๓ ทรงแสดงปาฏิโมกข์แก่พระสงฆ์สาวก ๗๐,๐๐๐
ที่ประชุมกันภายหลังทรงปราบช้างธนปาล

พระสิขีพุทธเจ้าทรงมีพระสาวกองค์สำคัญ คือ
พระอัครสาวก คือ พระอภิภูเถระ และพระสัมภวะเถระ
พระอัครสาวิกา คือ พระสขิลาเถรี และพระปทุมาเถรี
พระอุปัฏฐาก คือ พระเขมังกร

พระสิขีพุทธเจ้าทรงมีพระวรกายสูง ๗๐ ศอก พระรัศมีแผ่ไปไกล ๓ โยชน์ เมื่อพระชนมายุได้ ๗๐,๐๐๐ ปี จึงปรินิพพานที่พระวิหารอัสสาราม สีลวตีนคร

หน้า: [1] 2 3 ... 5