เว็บพุทธภูมิ: พุทธภูมิ พระโพธิสัตว์ การบำเพ็ญบารมี



แสดงกระทู้

This section allows you to view all posts made by this member. Note that you can only see posts made in areas you currently have access to.


Messages - Wisdom

หน้า: 1 ... 3 4 [5] 6 7 ... 17
61
กัณฑ์ที่ ๓

( สฺตถา สารีปุตฺต ธมฺมสามีสมฺมาสมฺพุทธสฺ สสาสนกาเล อติกฺกนฺเต มหาปฐวิยา โยชนมตฺตํ
อภิรุฬฺหาย มณฺฑกปฺเป นารโท จ รงฺสิมุนิ จ เทฺว พุทฺธา อุปปชฺชิส สฺนตีติ อิมํ ธมฺมเทสนํ กเถสีติฯ )

( อนุสนธิพระสัทธรรมเทศนา มีปุพพาปรสืบเนื่องมาโดยลำดับ บัดนี้จะได้วิสัชนาในประวัติกาลแห่งสมเด็จพระบรมศรีสุคตทศพลญาณ สี่พระองค์ทรงพระนามว่า พระนารท, พระรังสีมุนีนาถ, พระเทวเทพ, พระนรสีหะ เป็นลำดับต่อไป ดำเนินเนื้อความว่า )




พระนารทะ (พระยาอสุรินทราหู)

สตฺถา สมเด็จพระบรมครูสัพพัญญูเจ้าของเราตรัสพระธรรมเทศนาว่า ในกาลเมื่อสิ้นศาสนาพระยามาราธิราช ผู้เป็นธรรมสามีสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว โลกทั้งหลายจะสูญจากสมเด็จพระพุทธเจ้าสิ้นกาลช้านานถึง ๘ กัปป์ แผ่นดินตั้งขึ้นมาใหม่ได้แสนแผ่นดิน แผ่นดินนั้นสูญเปล่าเป็นสุญญกัปป์ หาบังเกิดสมเด็จพระพุทธเจ้าไม่ ในเมื่อสุญญกัปนับได้แสนแผ่นดินล่วงไปแล้ว จึงบังเกิดแผ่นดินมาใหม่ มีชื่อว่ามัณฑกัปนั้น เป็นแผ่นดินทรงพระพุทธเจ้าได้ตรัส ๒ พระองค์ คือ
- พระยาอสุรินทราหู ๑
- โสณพราหมณ์ ๑
อันว่าพระยาอสุรินทราหูจะได้ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก่อน ลำดับนั้นโสณพราหมณ์จักได้ตรัสเป็นพระพุทธเจ้าสืบไปฯ
เมื่อพระยาอสุรินทราหูได้ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้น ทรงพระนามว่าพระนารทะ
- มีพระองค์สูงได้ ๒๐ ศอก
- มีพระชนมายุยืนได้หมื่นปีเป็นกำหนด
- มีไม้จันทร์เป็นพระมหาโพธิ
- ประกอบไปด้วยรัศมีสว่างรุ่งเรืองทั้งกลางวันและกลางคืน เปรียบประดุจดังว่าสายฟ้าในกลีบเมฆ พระพุทธรัศมีที่เป็นแผ่นแผ่ทึบเป็นแท่งเดียวนั้น ปรากฏสัณฐานดุจดอกปทุมชาติอันตั้งขึ้นมา
- ครั้นศาสนาพระยาอสุรินทราหูนั้น ในแผ่นดินประเทศทั้งปวงเกิดรสภักษาหาร ๗ ประการ มนุษย์ทั้งหลายได้บริโภคภักษาหาร ๗ ประการ อันเกิดแก่แผ่นดิน ก็ประพฤติเลี้ยงชีวิตของอาตมาเป็นสุขสำราญมิได้ขาด

ดูก่อนสำแดงสารีบุตร อันว่าพระนารทผู้ทรงพระภาคนั้น มีพระรัศมีเห็นปานดังนี้ คือพระยาอสุรินทราหูแต่ก่อนได้สร้างบำเพ็ญพระบารมีทั้งหลาย ๑๐ ประการมาเป็นอันมากแล้ว จึงได้ตรัสเป็นพระพุทธเจ้าในอนาคตกาลฯ แต่กองบารมีอันหนึ่ง พระยาอสุรินทราหูได้กระทำเป็นปรมัตถบารมีอันยิ่ง ปรากฏเป็นอัศจรรย์ พระองค์มีพระพุทธฎีกาดังนั้นแล้ว จึงนำมาซึ่งอดีตนิทานมาตรัสพระธรรมเทศนาว่า อตีเต กาเล ในอดีตกาลล่วงแล้วช้านาน ในเมื่อพระสาสนาพระพุทธกัสสปทศพลญาณ พระยาอสุรินทราหูนี้ได้เสวยพระชาติเป็นบรมกษัตริย์ เสวยศิริราชสมบัติอยู่ในมัลลนคร เป็นเอกราชอันประเสริฐ ทรงพระนามว่า พระยาสิริคุตตมหาราช มีพระราชอัครมเหสีพระองค์หนึ่ง ทรงพระนามว่า ลัมภุราชเทวี มีพระราชบุตร พระราชธิดา ๒ พระองค์ พระราชบุตรมีนามว่า เจ้านิโครธกุมาร พระราชธิดามีนามว่า นางโคตมี อยู่มาวันหนึ่งยังมีพราหมณ์ ๘ คน พากันมาสู่สำนักแห่งพระยาสิริคุตต์ กราบทูลขอพระนคร พระองค์ก็ทรงโสมนัสบังเกิดพระราชศรัทธาโปรดพระราชทานพระนครให้แก่พราหมณ์ทั้ง ๘ ยังแต่พระราชอัครมเหสีและพระราชโอรสกับพระราชธิดาทั้ง ๒ ก็พากันออกจากพระนครเข้าไปในอรัญประเทศ กระทำอาศรมอาศัยอยู่บนยอดเขาใหญ่ พร้อมกันทั้งสี่กษัตริย์ทรงเพศเป็นบรรพชิตอยู่ในอาศรมบทฯ

ในกาลครั้งนั้นยังมียักษ์ตนหนึ่ง มีนามว่ายันตะ ยักษ์ใหญ่สูงได้ ๑๒๐ ศอก ออกจากประเทศราวป่ามาเฉพาะต่ออาศรมแห่งกษัตริย์ทั้ง ๔ องค์ ยืนอยู่ในที่นั้นแล้วจึงกล่าววาจาว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นกษัตริย์อันประเสริฐ ข้าพเจ้านี้เกิดมาเป็นยักษ์รักษาพนาลี มีแต่เลือดและเนื้อเป็นภักษาหารเลี้ยงชีวิต ข้าพเจ้ามาทั้งนี้ ปรารถนาจะขอพระราชโอรสและพระราชธิดา ทั้ง๒องค์ เป็นภักษาหาร ถ้าพระองค์ทรงพระราชศรัทธาโปรดพระราชทานให้แล้ว ไปในอนาคตเบื้องหน้า พระองค์จะได้ตรัสรู้เป็นองค์สมเด็จพระพุทธเจ้าองค์หนึ่งเป็นแม่นมั่น เมื่อหน่อพระชินวงศ์ได้ทรงฟังยันตะยักษ์ทูลขอพระราชโอรสและพระราชธิดาทั้ง ๒ นั้น พระยาสิริคุตตราชฤาษีผู้แสวงหาพระโพธิญาณก็ชื่นบานในกมลหฤทัยแสนทวี ท้าวเธอจึงมีสุนทรสารทีตรัสแก่ยันตะยักษ์ว่า ดูก่อนท่านผู้เจริญเอ๋ย พระราชกุมารและพระราชกุมารีทั้ง ๒ องค์นี้ ใช่ว่าเราจะไม่มีความเสน่หาอาลัยหามิได้ ด้วยเรารักใคร่ในพระโพธิญาณยิ่งกว่ากุมารทั้ง ๒ ได้ แสนเท่าพันทวี เราจะสละพระราชโอรสและพระราชธิดาทั้ง ๒ ศรี ให้เป็นทานแก่ท่านในกาลบัดนี้ ตรัสแล้วเท่านั้นก็เสด็จลุกจากอาสน์ จูงเอาข้อพระหัตถ์พระราชโอรสและพระราชธิดาทั้ง๒ ผู้ร่วมพระราชหฤทัย มาพระราชทานให้แก่ยันตะยักษ์ แล้วหล่อหลั่งอุทกธาราให้ตกลงเหนือมือแห่งยักษ์ พระองค์จึงประกาศแก่ฝูงเทพเจ้าและนางพระธรณีให้เป็นสักขีพยานว่า เดชะแห่งผลทานนี้จงสำเร็จแก่พระสร้อยเพชุดาญาณในอนาคตกาลด้วยเถิด พอสิ้นความปรารถนาก็บังเกิดมหัศจรรย์ทั่วโลกทุกห้องจักรวาล ปานแผ่นพสุธาจะทรุดจะทำลายฯ
เบื้องหน้ายันตะยักษ์ครั้นได้รับพระราชทานพระราชกุมารและพระราชกุมารีแล้ว ก็บังเกิดมีความชื่นชมยินดี พาตรุณสองศรีไปยังหลังพระบรรณศาลา ก็ก้มศีรษะลงกัดเอาคอกุมารและกุมารีทั้งสองให้ขาดด้วยอำนาจของอาตมา แล้วก็ดื่มโลหิตกินเป็นภักษาหาร แล้วก็เคี้ยวซึ่งเนื้อและกระดูกกลืนเข้าไป เสียงเคี้ยวนั้นดังกร้วมๆ พระฤๅษีผู้เป็นบิดาและมารดาเห็นเห็นหยาดเลือดย้อยลงจากปากยันตะยักษ์ในขณะเมื่อเคี้ยวนั้น มิได้มีพระทัยไหวหวาดด้วยโลกธรรม จึงร้องประกาศแก่ฝูงเทพเจ้าทุกหย่อมหญ้าลดาวัลย์ทั้งปวงจงมาชื่นชม ด้วยทานของเราบัดนี้เป็นอันประเสริฐแล้วฯ

ดูก่อนสำแดงสารีบุตร ในเมื่อพระศาสนาของของพระยาอสุรินทราหูได้ตรัสรู้เป็นพระสัพพัญญูสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว
- ฝูงชนทั้งปวงประกอบไปด้วยรูปศิริวิลาสเป็นอันงาม ควรจะนำมาซึ่งความสิเนหา ด้วยเดชะผลานิสงส์ที่ให้ลูกทั้งสองเป็นทานฯ
- ซึ่งพระองค์ประกอบได้ด้วยพระพุทธรัศมีส่องสว่างสิ้นทั้งกลางวันและกลางคืนนั้นด้วยเดชะผลานิสงส์ที่เห็นโลหิตกุมารทั้ง ๒ หยดย้อยลงจากปากยักษ์ มิได้มีความหวาดหวั่นไหวในมหาทานเลย
แสดงมาด้วยเรื่องราบพระยาอสุรินทราหูบรมโพธิสัตว์คำรบ ๕ ก็ยุติแต่เพียงนี้ฯ




พระรังสีมุนีนาท (โสณพราหณ์)
ลำดับนั้น โสณพราหมณ์จะได้บังเกิดเป็นพระพุทธเจ้าสืบต่อไปในอนาคตกาล ทรงพระนามว่าพระรังสีมุนีนาถศาสดาจารย์เจ้านั้น
- พระองค์มีพระวรกายสูงได้ ๖๐ ศอก
- มีพระชนมายุยืนได้ ๕ พันปีเป็นกำหนด
- คัมภีร์หนึ่งว่าไม้เลียบ คัมภีร์หนึ่งว่าไม้ดีปลี เป็นพระมหาโพธิ
- ประกอบไปด้วยพระพุทธรัศมีดุจสีทองรุ่งเรืองสว่างทั้งกลางวันและกลางคืนเป็นอันงาม
- ในศาสนาพระพุทธรังสีมุนีนั้น มนุษย์ทั้งปวงกระทำการงานเลี้ยงชีวิตของอาตมาเหมือนมนุษย์ทุกวันนี้
พระพุทธเจ้าผู้ทรงพระนามว่า รังสีมุนี นั้น ได้สร้างพระบารมีทั้ง ๑๐ ประการมาเป็นอาทิ คือทานและศีล แต่กองพระบารมีครั้งหนึ่ง เป็นปรมัตถบารมีปรากฏอัศจรรย์หวั่นไหวจึงได้พระพุทธสมบัติทั้งปวง พระองค์ตรัสดังนั้นแล้วจึงนำมาซึ่งอดีตนิทาน ของพระรังสีมุนีนาถว่า อตีเต กาเล ในอดีตกาลล่วงลับไปแล้วช้านาน ในเมื่อพระศาสนาพระกุกกุสันธสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ตรัสในโลก

.ครั้งนั้นโสณพราหมณ์บรมโพธิสัตว์ บังเกิดเป็นมาณพผู้หนึ่งมีนามว่า มาฆมานพ เป็นมหาวาณิชพ่อค้าสำเภา มีความปรารถนามักมาก ไปค้าสำเภาเป็นปฐมนั้น ราคาสินค้าอันหนึ่งขายได้กำไร ๑๐ เท่าแล้วประมวญทรัพย์กลับสำเภาแล่นมานาวาก็จมลงในน้ำแต่ตัวนั้นรอดมาได้ มาฆมานพก็จัดแจงสำเภาไปใหม่เป็นคำรบ ๒ สินค้าอันเดียวขายได้กำไร ๑๐ เท่า ได้ทรัพย์แล้วกลับมาสู่บ้านเรือนได้ ๗ วันก็เกิดเพลิงไหม้เรือนสิ้นข้าวของทั้งหลายเป็นอันมาก จึงจัดแจงสำเภาไปค้าขายอีกเป็นคำรบ ๓ ก็ขายของสิ่งเดียวได้กำไรอีก ๑๐ เท่า ได้ทรัพย์แล้วกลับมายังบ้านเรือนก็มีโจรทั้งหลายเข้าสะกดหลับเก็บเอาทรัพย์สิ่งของทองเงินทั้งปวงไปสิ้น ในขณะนั้นมฆมานพจัดแจงแต่งสินค้าไปขายเป็นคำรบ ๔ ก็ได้ราคาขายของสิ่งเดียวบังเกิดผลถึง ๑๐ เท่า ได้ทรัพย์แล้วกลับถึงบ้านเรือน ในวันนั้นพระมหากษัตริย์ให้ราชบุรุษทั้งหลายไปเก็บเอาทรัพย์สิ่งของแห่งมาฆมาณพนั้น มาเข้าท้องพระคลังจนหมดจนสิ้น ตกลงว่ามาฆมาณพผู้เป็นมหาวาณิชนั้น ได้ซึ่งความพินาศฉิบหายถึง ๔ ครั้ง มาฆมาณพกับภรรยาสองคนผัวเมีย ก็เกิดความทุกข์ยากวิวาทกับภรรยาเมื่อคราวจนแล้ว ส่วนตัวได้ผ้าแดงผืนหนึ่งกับทองแสนหนึ่ง หย่ากันกับภรรยาเสียแล้วก็ลงจากเรือนไปเที่ยวค้าขาย คิดว่าครั้งนี้เราจะไปกระทำวาณิชกรรมในที่ดังฤา ก็เที่ยวไปในประเทศจนถึงเมืองโกสัมพี ในกาลนั้นเป็นวันปัณณรสีอุโบสถ มาณพนั้นก็รักษาศีลสำรวมจิตปรกติ ฝ่ายว่าชาวเมืองโกสัมพีและชาวนิคมชนบททั้งหลายก็ชวนกันเดินไปมาในท่ามกลางพระนครตามความปรารถนา

ในกาลนั้น พระสาวกองค์หนึ่งแห่งพระกุกกุสันธสัพพัญญูพระผู้เป็นเจ้าพระองค์นั้นเข้าสู่ผลสมาบัติ ครั้นว่าออกจากษมาบัติแล้วพระผู้เป็นเจ้าจินตนาว่า ใครหนอมีความทุกข์เบียดเบียนเป็นอันมาก เล็งแลดูด้วยทิพยจักษุญาณก็เห็นแจ้งว่ามาฆมาณพผู้เป็นบรมโพธิสัตว์นั้นประกอบด้วยมหันตทุกข์มากนัก ควรอาตมาจะยังมาณพผู้นี้ให้บังเกิดผลเห็นเป็นทิฏฐธรรมเวทนีย์ ให้ได้เสวยผลในอัตภาพชาตินี้ พระผู้เป็นเจ้าคิดแล้วก็จับบาตรและจีวรประดับกายพร้อมแล้วเหาะมาโดยอากาศ ลงในท่ามกลางเมืองโกสัมพี ยืนอยู่ในที่ใกล้มรรคาหนทาง พอมาฆมาณพเดินมาตามมรรคาเห็นพระสาวกแล้วก็เข้าไปกราบไหว้ถามว่า ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้าจะปรารถนาสิ่งดังฤา ดูก่อนมาณพ อาตมาภาพมายืนอยู่เพื่อจะรับทานของท่าน มาณพได้ฟังดังนั้นก็มีจิตเลื่อมใสศรัทธา ประกอบไปด้วยความโสมนัส เปรียบเหมือนบุรุษยากไร้เข็ญใจ ได้ซึ่งถุงทรัพย์พันตำลึงอันท่านมาวางลงในมือแห่งตน จึงกล่าวว่าข้าแต่พระผู้เจริญศีลาธิคุณ ตัวของข้าพเจ้าเป็นปุถุชนวาณิช เที่ยวค้าขายได้กำไรถึง ๔ หน ก็บังเกิดมหันตทุกข์เป็นอันมาก บัดนี้ข้าพเจ้าขอกระทำพระนิพพานเป็นวาณิชกรรมแห่งข้าพเจ้าแล้ว จะยังจิตให้เที่ยวไปค้าขายในเมืองแก้ว ให้ได้สมบัติโลกุตระในเบื้องหน้า ครั้นว่าแล้วก็เอาทองแสนหนึ่งกับผ้าแดงผืนหนึ่งถวายแก่พระสาวก ด้วยจิตโสมนัสศรัทธาเลื่อมใสเป็นอันดี แล้วก็กระทำความปรารถนาว่า เดชะผลทานในกาลบัดนี้จงเป็นปัจจัยให้สำเร็จแก่พระสัพพัญญุตญาณเถิด พระสาวกเจ้าก็รับเอาไทยทานแล้วก็อนุโมทนาว่า ดูก่อนอุบาสกผู้รู้พระไตรสรณาคุณแก้วสามประการ อันว่าความปรารถนาของท่านมีประการใด ขิปฺปํ สมิจฺฉตุ จงสำเร็จเป็นอันเร็วแก่ท่านดังความปรารถนานั้นเถิด พระผู้เป็นเจ้ากล่าวอนุโมทนาแล้วก็เหาะไปในอากาศเวหา ในเมื่อพระสาวกนั้นหายไปลับจักษุมาณพแล้ว ในที่ถวายทานแห่งมาณพนั้นก็บังเกิดมีไม้กัลปพฤกษ์ขึ้นมาต้นหนึ่ง ฝ่ายมาณพก็ขึ้นอาศัยไม้กัลปพฤกษ์นั้น เปรียบเหมือนเทพบุตรผู้มีฤทธิ์ไปนั่งอยู่บนยอดเขายุคนธรบรรพต

ครั้งนั้นพระเจ้าโกสัมพีเสด็จแวดล้อมมาด้วยมหาชนเป็นบริวาร ออกมาถึงสถนที่นั้น ทอดพระเนตรเห็นมาณพนั่งอยู่ใต้ต้นกัลปพฤกษ์นั้น ประดุจดังทิพยพิมาน จึงเสด็จเข้าไปใกล้ต้นกัลปพฤกษ์ ฝ่ายว่าเทพารักษ์ที่รักษาต้นกัลปพฤกษ์นั้น ก็จับเอาพระศอพระยาโกสัมพีเสือกไสออกมา จึงทรงพิโรธ สั่งให้ราชบุรุษทั้งหลายเอาไฟมาเผาทิพยพิมานนั้นเสีย ในที่นั้นก็บังเกิดเป็นดอกประทุมชาติผุดขึ้นมารองรับเอามาณพนั้นไว้ให้นั่งอยู่บนดอกบัวเป็นอันงาม ฝ่ายพระยาโกสัมพีทรงเห็นเป็นอัศจรรย์ จึงสั่งให้จับตัวมาณพบรมโพธิสัตว์ให้เอาไปถ่วงน้ำเสีย เมื่อมหาชนเอามาณพไปถ่วงน้ำครั้งนั้นดอกบัวใหญ่ก็ผุดขึ้นมารับเอามาณพไว้มิได้เป็นอันตราย ครั้นพระยาโกสัมพีเห็นอัศจรรย์ดังนั้น จึงถามมาณพว่า ไม้กัลปพฤกษ์ต้นนี้บุคคลดังฤาให้แก่ท่าน มาณพจึงทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้ประเสริฐไม้วิมานทิพย์นี้พระสาวกให้แก่ข้าพระบาท จึงตรัสว่าท่านจงไปหาพระสาวกให้มายังสำนักแห่งเรา เราจึงจะเชื่อถ้อยฟังคำของท่าน ครั้งนั้นมาฆมาณพจึงตั้งจิตอธิษฐาน เพื่อจะให้พระผู้เป็นเจ้ามา ด้วยวาจาว่าข้าแต่พระผู้เจริญคุณเป็นอันมาก บัดนี้จงอนุเคราะห์แก่ข้าพเจ้ากลับมายังสำนักข้าพเจ้าก่อนเถิด พอขาดคำอธิษฐานลง องค์พระสาวกผู้ประเสริฐก็เล็งแลด้วยทิพยจักษุญาณ รู้แจ้งแล้วก็เหาะลอยลงมายืนประดิษฐานอยู่ณที่ใกล้แห่งมาณพนั้น พระผู้เป็นเจ้าจึงบอกแก่กษัตริย์กรุงโกสัมพีว่า ดูก่อนพระองค์ผู้ทรงเป็นสมมติเทวราช ถ้าแลพระองค์ขืนกระทำประทุษร้ายแก่มาณพหน่อพุทธางกูรผู้นี้ ในพระนครของพระองค์ก็จะทรุดจมลงไปในแผ่นปฐพีหมดสิ้น พระผู้เป็นเจ้ากล่าวดังนั้นแล้ว ก็กลับเหาะไปในอากาศเวหา ลงยังสำนักของพระผู้เป็นเจ้า พระยาโกสัมพีได้ฟังพระมหาเถระกล่าวดังนั้น ก็ตกใจสะดุ้งกลัวแต่ภัยยิ่งนัก จึงตรัสว่าดูก่อนมาณพผู้เจริญ เราขออภัยโทษแก่ท่านเสียเถิด ตั้งแต่วันนี้ไปท่านจงเป็นที่อนุชาธิราชของเรา พระยาโกสัมพีกตั้งมาฆมาณพบรมโพธิสัตว์ไว้ในที่เป็นอนุชาธิราชของพระองค์ฯ

ดูก่อนธรรมเสนาบดีสารีบุตร อันว่ามาณพนั้นได้ซึ่งมหาสมบัติทั้งปวงเป็นอันมาก เมื่อได้ตรัสเป็นพระสัพพัญญูเจ้า ทรงพระนามว่าพระรังสีมุนี จึงมีพระพุทธรัศมี และได้ซึ่งสมบัติบริบูรณ์อันประเสริฐยิ่งนัก แสดงมาด้วยเรื่องราวโสณพราหมณ์บรมโพธิสัตว์ คำรบ ๖ ก็ยุติแต่เพียงนี้

62
พระธรรมสามี (พระยามาธิราช)
สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้า ตรัสแสดงพระธรรมเทศนาแก่พระสารีบุตรว่า ในกาลเมื่อสมเด็จพระพุทธเจ้าสองพระองค์ คือพระรามเจ้าและพรเจ้ากรุงโกศลราช ได้ตรัสในมัณฑกัปป์เดียวกัน ล่วงลับดับขันธ์เข้าสู่พระปรินิพพานแล้วในมัณฑกัปอันนั้น ตั้งอยู่ถ้วนกำหนดกาลช้านานครบ ๖๔ อันตรากัปป์เข้าแล้ว แผ่นดินนั้นก็บังเกิดกัปวินาศฉิบหายไปด้วยไฟ ไฟไหม้อยู่สิ้นกาลช้านาน จนถึง ๓ อสงไขย ล่วงไปได้ ๖๔ อันตรากัปป์ ๓ หนแล้ว ในกาลนั้นมีแผ่นดินตั้งขึ้นใหม่เป็นกัปป์อันหนึ่ง ชื่อว่าสารกัปป์ ในสารกัปแผ่นดินนานได้ ๖๔ อันตรากัปนั้น บังเกิดมีพระพุทธเจ้าองค์หนึ่งมาตรัสในสารกัปนั้นคือ พระยามาราธิราช จักได้ตรัสเป็นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทะเจ้าพระองค์หนึ่ง ทรงพระนามว่าพระธรรมสามีสัพพัญญูผู้ประเสริฐ
- พระองค์มีพระชนมายุได้ ๑๐ หมื่นปีเป็นกำหนด
- พระวรกายสูงได้ประมาณ ๘๐ ศอก
- มีไม้รังเป็นพระมหาโพธิ
- ประกอบไปด้วยพระพุทธรัศมีรุ่งเรืองสว่างประดุจดวงพระจันทร์ พระอาทิตย์ และสายฟ้าแลบ
- ในเมื่อพระองค์ทรงพระดำเนินก็ดี ทรงนั่งก็ดี ไสยาสน์ก็ดี อยู่ในที่ใดๆ บังเกิดมีพระบวรเศวตฉัตร สูงและกว้างใหญ่ได้ประมาณ ๓๐ โยชน์ ผุดขึ้นมาในประเทศกลางเวหา
- ด้วยเดชานุภาพพระสัพพัญญูเจ้า บังเกิดมีขุมทองอันหนึ่งใหญ่สำเร็จในโลก มนุษย์ทั้งหลายในพระพุทธศาสนาพระยามาราธิราชนั้น ได้อาศัยขุมทองประพฤติเลี้ยงชีวิตเป็นสุข

ดูก่อนสำแดงสารีบุตร พระยามาราธิราชบรมโพธิสัตว์ ได้ก่อสร้างบารมี ๑๐ ประการ มีทานและศีลเป็นอาทิมามากแล้ว แต่กองบารมีอันหนึ่ง ปรากฏเป็นยอดยิ่งมิ่งมงกุฎบารมี เป็นปรมัตถคุณควรจะได้สำเร็จซึ่งพระพุทธสมบัติทั้งปวง พระองค์ตรัสดังนี้แล้ว จึงนำมาซึ่งอดีตนิทานแห่งพระยามาราธิราชบรมโพธิสัตว์ เป็นใจความว่า เมื่อครั้งพระพุทธศาสนาพระพุทธกัสสปทศพลญาณเจ้านั้น พระยามาราธิราชองค์นี้ได้บังเกิดเป็นมหาเสนาบดีใหญ่แห่งสมเด็จพระเจ้ากิงกิสสมหาราชา มีนามว่า โพธิอำมาตย์ อยู่มาวันหนึ่งองค์สมเด็จพระพุทธกัสสปสัพพัญญูเจ้าเข้าสู่ผลสมาบัติเชยชมพระนิพพานเป็นบรมสุข ถ้วนกำหนดกาลแล้วออกจากผลสมาบัติในที่ภายใต้ต้นไทรใหญ่ ส่วนสมเด็จบรมกษัตริย์พระเจ้ากิงกิสสราชทรงพระจินตนาในพระหฤทัยว่า แท้จริงอันว่า พระมหากรุณาธิคุณเจ้าเสด็จออกจากผลสมาบัติใหม่ๆนี้ ถ้าแม้นบุคคลผู้ใดได้ถวายทานแก่พระพุทธองค์เจ้าแล้ว จะบังเกิดผลอานิสงส์หาที่สุดมิได้ บัดนี้ควรเราจะทำทานรักษาศีลสดับตรับฟังพระสัทธรรมเทศนาขององค์สมเด็จพระพุทธเจ้า ทรงพระจินตนาดังนี้แล้วจึงมีพระราชโองการดำรัสสั่งราชบุรุษทั้งหลาย ให้ตีกลองร้องป่าวชาวเมือง ให้ทั่วกันว่า ถ้าบุคคลผู้ใดไปถวายทานแก่สมเด็จพระพุทธเจ้าก่อนเรา จะให้ลงพระราชอาญาผู้นั้น แล้วตรัสสั่งสหชาติโยธาทั้งหลาย ไปแวดล้อมพิทักษ์รักษาพระเชตุพนมมหาวิหารไว้โดยรอบ

ในกาลครั้งนั้น โพธิอำมาตย์ ได้ทราบเหตุดังนั้นแล้ว ก็มีความปรารถนาจะถวายทานแก่องค์สมเด็จพระพุทธเจ้าบ้าง ถึงว่าราชบุรุษทั้งหลายจะจับตัวอาตมาไปถวายพระมหากษัตริย์ พระมหากษัตริย์จะประหารชีวิตเราเสียด้วยความเพียรในการกุศลครั้งนี้ เสยฺโย ประเสริฐโดยวิเศษอันยิ่งแล้วเราจะคิดเกรงกลัวพระราชอาญานั้นด้วยเหตุใด โพธิอำมาตย์คิดดังนี้แล้ว ก็ไปบอกกับบุตร ภรรยา ให้แจ้งดังพรรณนามานี้ว่า เจ้าจงจัดแจงแต่งอาหารเครื่องไทยทาน กระทำเป็นห่อใหญ่ให้แก่เราสักห่อหนึ่ง กับผ้าสักผืนหนึ่ง ฝ่ายภรรยาได้ฟังสามีบอกดังนั้น ก็เกิดมีศรัทธารับวาจาว่าสาธุแล้ว ครั้นเวลารุ่งเช้า นางก็ไปจัดแจงแต่งเครื่องไทยทานทั้ง ๒ สิ่งนั้น เสร็จแล้วนำมาให้แก่สามี แล้วกระทำเครื่องไทยทานอีกส่วนหนึ่งให้เป็นของแห่งตน ฝากสามีให้ไปถวายทานด้วย ครั้นโพธิอำมาตย์ได้เครื่องไทยทานดังปรารถนาแล้ว ก็ตรงไปยังพระวิหารโดยเร็ว ครั้งนั้นพวกเสนาทั้งหลายที่แวดล้อมอยู่นั้นเห็นโพธิอำมาตย์เดินตรงมา จึงถามว่า โภเสนาบดี ดูก่อนท่านเสนาบดี เหตุดังฤาท่านจึงองอาจมายังสำนักสมเด็จพระพุทธเจ้า โพธิอำมาตย์ได้ฟังก็คิดว่า ถ้าเราจะบอกแก่คนทั้งหลายด้วยถ้อยคำมุสาวาทว่า พระมหากษัตริย์ใช้ให้เรามาอาราธนาองค์สมเด็จพระพุทธเจ้าเข้าไปยังพระราชนิเวศน์ก็จะได้ แต่ทว่าหาควรที่เราจะกล่าวมุสาไม่ เราก็ตั้งใจว่าจะถวายทานแก่สมเด็จพระพุทธเจ้า เมื่อเรากล่าวมุสาวาทแล้ว ทานของเราจะมีผลานิสงส์หามิได้ ควรแก่เราจะบอกแก่คนทั้งหลายโดยความจริงเถิด เสนาบดีคิดแล้วก็บอกแก่ราชบุรุษทั้งหลายว่า เราจะไปถวายทานแก่องค์สมเด็จพระพุทธเจ้า ราชบุรุษได้ฟังถ้อยคำแห่งโพธิอำมาตย์ ก็มีความขึ้งโกรธ กรูกันเข้าจับเอาตัวโพธิอำมาตย์ มัดมือไพล่หลัง ไปถวายแก่พระมหากษัตริย์ กราบทูลเหตุนั้นให้ทรงทราบ พระเจ้ากิงกิสสราชก็ทรงพระพิโรธ สั่งให้นายเพชฌฆาตเอาตัวไปตัดศีรษะเสียให้สิ้นชีวิต ฝ่ายเพชฌฆาตและนักการทั้งหลายก็พาเอาตัวโพธิอำมาตย์ไปตามรับสั่ง ถึงที่ป่าช้าเข้าเพื่อว่าจะฆ่าเสียฯ

ขณะนั้นองค์สมเด็จพระกัสสปทศพลญาณเจ้า ทรงทราบประพฤติเหตุดังนั้นแล้ว ทรงคิดว่าโพธิอำมาตย์นี้ เป็นหน่อบรมโพธิสัตว์ เสมอวงศ์แห่งพระตถาคต มีอภินิหารเหตุได้กระทำมาแต่ก่อน จะกระทำกาลกิริยาตายเสียในเวลาวันนี้ สมเด็จพระกัสสปสัพพัญญูเจ้า ทรงพระมหากรุณาแก่โพธิอำมาตย์จึงนิรมิตเป็นองค์สมเด็จพระพุทธเจ้า ให้สถิตอยู่ในพระเชตวันวิหาร ส่วนพระองค์ยังพระพุทธรูปขององค์ให้อันตรธานหายเสด็จไปประดิษฐานอยู่ในที่สุสานประเทศ ครั้งนั้นบังจักษุแห่งนายเพชฌฆาตไว้ให้เป็นมหาละลวยละลายไป นายเพชฌฆาตเห็นรูปสมเด็จพระพุทธเจ้าเปรียบเหมือนกับเหล่าราชบุรุษทั้งหลายที่มานั่งอยู่นั้น กระทำแต่จักษุโพธิอำมาตย์ผู้เดียวให้เห็นเป็นรูปพระพุทธองค์ จึงมีพุทธฎีกาตรัสว่า ดูก่อนโพธิอำมาตย์ผู้เจริญ ท่านจงละชีวิตของท่านเสียเถิด อย่ากระทำอาลัยในชีวิตอยู่เลย อันว่าปัจจัยทานของท่านมีประการใด ท่านจงให้ทานยังน้ำจิตให้เลื่อมใสในพระตถาคตเถิด อันว่าเครื่องปัจจัยทานของโพธิอำมาตย์นั้น ราชบุรุษทั้งหลายเอามาวางไว้ตรงหน้าแห่งโพธิอำมาตย์ด้วยเดชะพุทธานุภาพ โพธิอำมาตย์ได้สดับฟังพระพุทธฎีกาดังนั้น ก็บังเกิดมีจิตโสมนัสหาที่จะอุปมามิได้ ก็ถือเอาเครื่องปัจจัยทานของอาตมาส่วนหนึ่ง ของภรรยาส่วนหนึ่ง ถวายแก่สมเด็จพระพุทธกัสสปสัมมาสัมพุทธเจ้าโดยเบญจางคประดิษฐ์ แล้วกราบทูลว่าข้าแต่พระองค์เป็นที่พึ่งแก่สรรพสัตวโลกทั้งหลาย อันว่าชีวิตข้าพระบาทเสียสละแล้ว ด้วยเดชะผลทานของข้าพระพุทธเจ้าในกาลบัดนี้ ขอให้ได้บังเกิดเป็นองค์สมเด็จพระพุทธเจ้าเห็นปานดังพระองค์ ในอนาคตกาลโน้นเถิด

โพธิอำมาตย์กระทำปณิธานความปรารถนาดังนั้น สมเด็จพระภควันตบพิตรผู้ประเสริฐ ทรงพระอนุเคราะห์ยื่นพระหัตถ์ไปปรามาสเหนือศีรษะแห่งโพธิอำมาตย์ แล้วมีพระพุทธฎีกาว่า ตัวท่านยังความสุขเป็นอันมากให้บังเกิดแก่ตน จะได้พ้นจากวัฏฏทุกข์ในสงสาร ท่านปรารถนาประการใด ความปรารถนานั้นจงพลันสำเร็จแก่ท่านเถิด ดูก่อนโพธิอำมาตย์ผู้เจริญเอ๋ย ในอนาคตเบื้องหน้าโน้น ท่านจะได้บังเกิดเป็นองค์สมเด็จพระพุทธเจ้าพระองค์หนึ่ง สมดังความปรารถนาของท่าน ทรงพยากรณ์ทำนายโพธิอำมาตย์แล้วก็เสด็จกลับยังเชตวันมหาวิหาร กระทำภัตตกิจซึ่งปัจจัยทานบิณฑบาต ที่โพธิอำมาตย์ถวายสำเร็จแล้ว ขณะนั้นนายเพชฌฆาตก็ตัดศีรษะโพธิอำมาตย์ผู้เป็นเจ้าของทาน ขาดตกลงกระเด็นไปจากกาย โพธิอำมาตย์กระทำกาลกิริยาตาย มหาปฐพีอันใหญ่ก็ไหวหวาดเป็นมหัศจรรย์โกลาหล ครั้งนั้นเศวตฉัตรแห่งสมเด็จพระเจ้ากิงกิสสราชก็หักทบลง พระองค์เห็นเศวตฉัตรหักก็ประหลาดพระทัยนักให้สะดุ้งพระทัยไหวหวั่น สั่งให้ปิดประตูพระทวารให้มั่นฯ

ลำดับนั้น อันว่าทิพย์วิมานทอง อันประกอบไปด้วยนางเทพอัปสรสาวสวรรค์ประมาณพันนาง ก็บังเกิดผุดขึ้นมาในสุสานประเทศที่กระทำกาลกิริยาตายแห่งโพธิอำมาตย์นั้น กับขุมทองทั้งหลาย ๑๖ ขุม และไม้กัลปพฤกษ์ด้วยต้นหนึ่ง ประกอบไปด้วยสรรพสิ่งสาระพันต่างๆ บังเกิดขึ้นในที่นั้น อันว่าบุตร ภรรยา โพธิอำมาตย์นั้น ก็ได้อาศัยอยู่ในวิมานทอง ได้บริโภคซึ่งขุมทอง และไม้กัลปพฤกษ์ประพฤติเลี้ยงชีวิตสืบมา ถ้วนถึง ๕๐๐ ปีเป็นกำหนด ฝ่ายโพธิอำมาตย์ก็ได้ขึ้นไปบังเกิดในดุสิตาสวรรค์เสวยทิพยสมบัติด้วยเดชะผลทานนั้นฯ

ดูก่อนสำแดงสารีบุตร เมื่อครั้งศาสนาของพระยามาราธิราชนี้
- มหาชนทั้งหลายได้บริโภคซึ่งข้าวสาลีเป็นนิจจกาล ด้วยเดชะผลทานข้าวสุกห่อหนึ่งถวายแก่พระพุทธกัสสป ในกาลเมื่อเป็นโพธิอำมาตย์
- เมื่อพระยามาราธิราชได้ตรัสแล้ว บังเกิดมีเศวตฉัตรแก้วสูงได้ ๓ โยชน์ ด้วยเดชะผลทานถวายผ้าผืนหนึ่ง
- และพระองค์มีพระชนมายุประมาณถึงแสนปีนั้น ด้วยเดชะผลทานที่สละซึ่งชีวิตฯ

ดูก่อนสำแดงสารีบุตร พระยามาราธิราชองค์นี้ ต่อไปในอนาคตกาลจักได้ตรัสรู้เป็นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงพระนามว่า พระธรรมสามี
สำแดงมาด้วยเรื่องราวพระยามาราธิราชบรมโพธิสัตว์คำรบ ๔ ก็ยุติแต่เพียงนี้ฯ

63
กัณฑ์ที่ ๒

( ภควา “เมตฺเตยฺยสฺส สาสนฺกาเล อติกฺกนฺเต ตสฺส สทฺธมฺมปชฺโชโต อนฺตรธายิ
มณฺฑกปฺเป ราโมจ ธมฺมราชา จ เทฺว พุทธา อุปฺปชฺชิสฺสนฺตีติ อิมํ สทฺธมฺมเทสนํ กเถสีติฯ )

( อนุสนธิพระสัทธรรมเทศนา มีปุพพาปรสืบเนื่องมาโดยลำดับ บัดนี้จะได้วิสัชนาในประวัติกาลแห่งสมเด็จพระสัพพัญญูบรมครูพระพุทธเจ้าสามพระองค์ ทรงพระนามว่า พระราม พระธรรมราชา พระธรรมสามี เป็นลำดับต่อไป ดำเนินเนื้อความว่า )

พระรามเจ้า


ภควา สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสเทศนาแก่พระสารีบุตรสืบต่อไปว่า ในกาลเมื่อพระพุทธศาสนา แห่งองค์สมเด็จพระศรีอาริยเมตไตรยเสื่อมสูญสิ้นแล้ว อันว่าประทีปแก้ว คือพระสัทธรรมนั้น ก็สูญสิ้น ฝูงสัตว์ทั้งหลายก็มืดมัวไม่รู้จักบาปและบุญ คุณและโทษ ประโยชน์และไม่ประโยชน์ ประการใด จนถึงไฟประลัยโลกล้างวินาศฉิบหายสิ้นทั้งแสนโกฏิจักรวาล เพลิงประลัยกัลป์เกิดขึ้นไหม้แผ่นดินภัทรกัปอันนี้ฉิบหายหมดแล้ว สิ้นกาลช้านาน จึงบังเกิดแผ่นดินใหม่ขึ้นมา มีมนุษย์และสัตว์ทั้งหลายบังเกิดมีมาสำหรับแผ่นดิน ก็มีมาเสียเปล่า กัปป์แผ่นดินที่มีมาในเบื้องหน้านั้นเป็นสุญญกัปนับได้อสงไขยแผ่นดิน จะได้มีสมเด็จพระพุทธเจ้า ปัจเจกพุทธเจ้า และพระยาจักรผู้ประเสริฐบังเกิดมีมานั้นหามิได้ จึงมีนามว่าสุญญกัปป์ เกิดมีแต่มนุษย์ทั้งหลายหาบุณหาวาสนาบารมีมิได้ฯ เมื่อแผ่นดินเกิดขึ้นมา สูญเสียจากท่านผู้ทรงพระคุณแล้ว ฉิบหายไปด้วยไฟ ด้วยน้ำ ด้วยลม แล้วเกิดขึ้นใหม่อีกเล่าจนถ้วนอสงไขย แผ่นดินล่วงลับไปนับด้วยอสงไขยแผ่นดินแล้วฯ

ในกาลนั้น บังเกิดแผ่นดินขึ้นมาใหม่เรียกชื่อว่ามัณฑกัปป์ พระพุทธเจ้าจักได้บังเกิด ๒ พระองค์ คือ
- พระรามโพธิสัตว์ ๑
- พระเจ้าปเสนทิโกศล ๑
แรกปฐมกัปป์เกิดก็มีอายุยืนได้อสงไขยหนึ่ง แล้วลดน้อยถอยลงมาอยู่เพียง ๙ หมื่นปีฯ ครั้งนั้นพระรามโพธิสัตว์ จะได้ตรัสเป็นพระพุทธเจ้าก่อนพระเจ้าปเสนทิโกศล พระองค์มีพระชนม์อายุได้ ๙หมื่นปี พระสรีรกายสูงประมาณ ๘๐ ศอก ไม้จันทร์เป็นไม้พระศรีมหาโพธิ มีพระรัศมีส่องสว่างไปในอากาศอยู่เป็นนิจจกาล ปรากฏงามเปรียบด้วยรัศมีของพระจันทร์สว่างทั่วโลกธาตุ ด้วยเดชะพระพุทธานุภาพนั้น โลกทั้งปวงบังเกิดมีไม้กัลปพฤกษ์ มหาชนได้อาศัยไม้ทิพย์นั้นประพฤติเลี้ยงชีวิต เป็นบรมสุขทุกเมื่อมิได้ขาด ครั้งเมื่อพระพุทธศาสนาพระรามโพธิสัตว์สัมมาสัมพุทธเจ้านั้น ฝูงสัตว์ทั้งหลายได้บังเกิดในสวรรค์เป็นอันมาก

ดูก่อนสารีบุตร พระรามโพธิสัตว์เจ้าได้บำเพ็ญกองบารมีทั้งหลายมาช้านานเป็นอันมากแล้ว แต่กองบารมีธรรมครั้งหนึ่งนั้น ปรากฏเป็นยอดปรมัตถบารมีอันประเสริฐ เพราะเหตุดังนั้นพระรามสัพพัญญูเจ้า จึงได้พระพุทธสมบัติเห็นปานดังนี้สมเด็จพระศรีสรรเพ็ชญ์จึงตรัสพระสัทธรรมเทศนาแก่พระสารีบุตรว่า ในเมื่อครั้งพระศาสนาพระพุทธกัสสปสัมมาสัมพุทธเจ้านั้น พระรามองค์นี้เป็นบรมโพธิสัตว์บังเกิดในตระกูลพราหมณ์ มีนามว่านารทมาณพ วันหนึ่งนารทมาณพได้ทัศนาการเห็นองค์พระพุทธกัสสปสัพพัญญูบรมครูเจ้าครั้งนั้น ก็มีความโสมนัสยินดีปรีดา คิดว่าจะกระทำสักการบูชาแก่พระองค์ให้เห็นศรัทธาของอาตมา มิได้คิดแก่ชีวิตอินทรีย์ คิดแล้วจึงเอาผ้า ๒ ผืนชุบน้ำมัน พันสรีรกายตั้งแต่เศียรเกล้าตลอดปลายเท้าทั้ง ๒ แล้วก็จุดไฟขึ้นบนศีรษะเป็นประทีปกระทำสักการบูชา ถวายแก่องค์สมเด็จพระพุทธเจ้า แล้วตั้งปณิธานความปรารถนาว่า ข้าแต่พระองค์ผู้ทรงพระภาคเป็นอันงาม อันว่าองค์อวัยวะน้อยใหญ่ในสรีรกายของข้าพระพุทธเจ้า คือเลือดเนื้อเป็นอาทิ กระทำเป็นทานถวายแก่พระองค์ในกาลบัดนี้ ปัจจโย โหตุ จงบังเกิดมีเป็นปัจจัย ให้อุปการคุณอุปถัมภกยกชูข้าพระพุทธเจ้าให้ได้สำเร็จแก่พระสร้อยสรรเพชุดาญาณ ในอนาคตกาลเบื้องหน้าโน้นเถิด

ครั้งนั้นองค์สมเด็จพระพุทธกัสสปเจ้า จึงตรัสพยากรณ์ทำนายนารทมาณพนั้นในท่ามกลางบริษัททั้ง ๔ มีพระพุทธฎีกาว่า ดูก่อนมาณพผู้เจริญ ในเมื่อภัทรกัปนี้ฉิบหายไปแล้ว บังเกิดมีกัปป์ตั้งขึ้นมาใหม่ เป็นสุญญกัปอยู่สิ้นกาลช้านาน นับได้อสงไขยแผ่นดินล่วงไปแล้ว ครั้งนั้นจึงบังเกิดมัณฑกัปป์ ในกาลเบื้องหน้าคือตัวของมาณพนี้จะได้บังเกิดเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์หนึ่ง ทรงพระนามว่าพระรามสัพพัญญูในมัณฑกัปป์อันนั้น พระองค์ทรงพยากรณ์ทำนายมาณพดังนี้แล้ว ครั้นเวลาราตรียังรุ่ง ก็กระทำกายของมาณพเป็นประทีปถวายต่างเครื่องสักการบูชาสมเด็จพระพุทธเจ้าเป็นอันดี ครั้นนารทมาณพดับจิต ก็ได้ไปบังเกิดในดุสิตาสวรรค์เทวโลก ในที่เผาสรีรกายกระทำสักการบูชาแห่งมาณพนั้นก็บังเกิดดอกบัวผุดขึ้นมา มหาชนเห็นเป็นอัศจรรย์จึงกล่าวสรรเสริญชมว่า จะหามนุษย์ผู้ใดเปรียบเสมอสองหามิได้ นานไปจะได้บังเกิดเป็นสมเด็จพระพุทธเจ้าพระองค์หนึ่ง
- ด้วยผลอานิสงส์ที่ท่านมิได้เอื้อเฟื้อแก่สรีรกายและชีวิตของอาตมากระทำเป็นมหาบริจาค เจตนาอันใหญ่ยิ่งกว่าบารมีทั้งหลายทั้งปวง
- ด้วยเดชะอานิสงส์ที่บูชาสรีรกายของอาตมานั้นเมื่อได้ตรัสเป็นพระพุทธเจ้า มีสรีรกายสูง ๘๐ ศอก
- สละชีวิตเป็นทาน เป็นปรมัตถบารมีอันอุดมอุกฤษฏ์นั้น จะมีพระชนมายุได้ ๙ หมื่นปีเป็นกำหนด
- เวลาราตรียังรุ่งตามประทีปแล้ว คือ สรีรกายของอาตมากระทำสักการบูชานั้น จะบังเกิดพระรัศมีรุ่งเรืองงามสว่างไปทั้งกลางวันและกลางคืนเป็นนิจจกาล อาจปกปิดเสียซึ่งแสงพระจันทร์และพระอาทิตย์ กระทำให้อัปภาคย์แพ้พระรัศมีของพระองค์ฯ
สำแดงมาด้วยเรื่องราวพระรามโพธิสัตว์คำรบ ๒ ก็ ยุติแต่เพียงนี้ฯ




พระธรรมราชา (พระเจ้าปเสนทิโกศล)
ลำดับนั้น พระผู้ทรงพระภาคเจ้าจึงตรัสพระสัทธรรมเทศนาแก่พระสารีบุตรสืบต่อไปว่า ในกาลเมื่อสิ้นศาสนาของพระรามเจ้าแล้ว มนุษย์ทั้งหลายในมัณฑกัปก็มีอายุเรียวน้อยถอยลดลงไปพ้นจาก ๘ หมื่นปีลงมา กำหนดอายุของมนุษย์ทั้งหลายในกาลครั้งนั้นได้ ๕ หมื่นปีเป็นอายุขัย แล้วพระเจ้าปเสนทิโกศลราชบรมโพธิสัตว์นี้ จักได้บังเกิดเป็นพระพุทธเจ้า ทรงพระนามว่า พระธรรมราชา มีพระองค์สูงได้ ๑๖ ศอก พระชนมายุยืนได้ ๕ หมื่นปีเป็นกำหนด ไม้กากะทิงเป็นพระมหาโพธิ เมื่อเสด็จพระพุทธดำเนินไปนั้น จะบังเกิดดอกบัวทองทั้งสองผุดขึ้นมาจากแผ่นดินเข้ารับรองเอาพระบาท อนึ่ง จะบังเกิดดอกบัวแก้ว ๗ ประการผุดขึ้นมาจากแผ่นดินเข้ารับพระองค์ไว้ เป็นอาสนะของพระองค์เมื่อทรงนั่งและยืนและไสยาสน์นั้น ประการหนึ่งเล่าในพระพุทธศาสนาพระเจ้าปเสนทิโกศลสัพพัญญูผู้ประเสริฐนั้น บังเกิดมีไม้กัลปพฤกษ์ต้นหนึ่งให้สำเร็จประโยชน์เป็นเครื่องบริโภคแห่งมนุษย์ทั้งหลาย มนุษย์ทั้งหลายได้อาศัยซึ่งไม้กัลปพฤกษ์นั้นแล้วก็ประพฤติเลี้ยงชีวิตอาตมาเป็นสุขสบาย มิได้กระทำการถากไร่ไถนาค้าขาย ด้วยพระพุทธานุภาพแห่งสมเด็จพระเจ้าปเสนทิโกศลสัพพัญญูนั้น

ดูก่อนสำแดงสารีบุตร พระเจ้าปเสนทิโกศลราช ได้ก่อสร้างพระบารมีทั้งหลายมาเป็นอันมากแล้ว แต่กองบารมีครั้งหนึ่งปรากฏเป็นปรมัตถบารมีอันยิ่ง จึงได้พระพุทธสมบัติเห็นปานดังนี้ พระองค์จึงนำมาซึ่งอดีตนิทานแห่งกองบารมีของพระเจ้าปเสนทะโกศลราชว่า อตีเต กาเล ในกาลเมื่อครั้งพระศาสนาพระโกนาคมน์สัมมาสัมพุทธเจ้านั้น พระเจ้าปเสนทิโกศลราชได้บังเกิดเป็นมาณพผู้หนึ่ง มีนามว่าสุททมาณพ ไปรักษาสระบัวอยู่แห่งหนึ่ง แล้วเก็บเอาดอกบัวนั้นมาวันละสองดอกเอามาขายเลี้ยงชีวิตทุกวัน

มาวันหนึ่ง สุททมาณพไปเก็บดอกบัวมาสองดอก เดินมาตามมรรคาเพื่อว่าจะขายดอกบัวนั้น ในกาลนั้นเป็นเวลาเช้า สมเด็จพระโกนาคมน์สัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จพระพุทธดำเนินไปเที่ยวโคจรบิณฑบาต ทอดพระเนตรเห็นสุททมาณพ พระองค์พิจารณาเห็นในขณะนั้น ก็ทรงทราบด้วยพระญาณว่า สุททมาณพคนนี้เป็นวงศ์แห่งสมเด็จพระพุทธเจ้า ได้บำเพ็ญพระบารมีมามากอยู่แล้ว จะได้ตรัสรู้เป็นพระสัพพัญญูสัมมาสัมพุทธเจ้าในอนาคตกาล บัดนี้ควรพระตถาคตจะให้พยากรณ์ทำนายแก่สุททมาณพในท่ามกลางมหาชนเถิด ทรงพระจินตนาดังนี้แล้วก็เกิดโสมนัสจิตต์อันประกอบกับพระญาณ แย้มพระโอษฐ์อันงามทรงพระสรวลในดวงพระพักตร์ สุททมาณพเห็นสมเด็จพระสัพพัญญูเจ้าเบิกบานแย้มพระโอษฐ์ดังนั้น จึงกระทำนมัสการกราบทูลถามว่า ข้าแต่พระโลกนาถผู้ประเสริฐ ข้าพระบาทนี้มิใช่ญาติวงศ์พงศ์ตระกูลของพระผู้ทรงพระภาคเจ้า อนึ่งเล้าจะได้เป็นมิตรสหาย วิสาสะคุ้นเคยกันกับพระองค์มาก็หามิได้ เหตุประการดังฤา พระองค์ทอดพระเนตรแล้วจึงแย้มพระโอษฐ์ดังนี้ สมเด็จพระสัพพัญญูเจ้าจึงมีพระพุทธฎีกาตรัสว่า ดูก่อนสุททมาณพเอ๋ย ท่านหารู้ไม่หรือประการใด ตัวของท่านนี้แหละเป็นน้องของพระตถาคต ท่านร่วมบิดาร่วมมารดาเดียวกันกับพระตถาคตเป็นไรเล่า สุททมาณพได้สดับพระพุทธฎีกาดังนั้น ก็ยิ่งบังเกิดความพิศวงงงงวยไป แล้วกราบทูลว่า พระพุทธเจ้าข้า ข้าพระบาทนี้เป็นน้องของพระพุทธองค์ในกาลเมื่อครั้งใด

จึงทรงพยากรณ์ทำนายว่า ดูก่อน สุททมาณพ ในเมื่อภัทรกัปป์อันนี้ล่วงไปแล้วช้านาน บังเกิดมีกัปอันหนึ่งชื่อว่ามัณฑกัปป์ ในมัณฑกัปป์นั้น พระพุทธเจ้าบังเกิดสองพระองค์ คือ พระรามพระองค์หนึ่ง จักได้บังเกิดเป็นสมเด็จพระพุทธเจ้าก่อนท่าน ในเมื่อสิ้นพระศาสนาพระรามเจ้าแล้วได้พุทธันดรหนึ่ง ตัวท่าน สุททมาณพ ครั้งนั้นจะได้ตรัสรู้เป็นพระสัพพัญญูสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงพระนามว่าพระธรรมราชาผู้ประเสริฐพระองค์หนึ่ง บัดนี้พระตถาคตเป็นพระพุทธเจ้าเสียก่อนท่านแล้ว นานไปในอนาคตกาลเบื้องหน้าโน้น ตัวท่านก็จักได้เป็นพระพุทธเจ้าเหมือนดังพระตถาคตต่อภายหลัง เหตุดังนั้น พระตถาคตจึงว่า ตัวท่านเป็นน้องของพระตถาคตฯ

เมื่อสุททมาณพได้สดับพระพุทธฎีกาพยากรณ์ทำนายดังนั้น ก็เกิดความปสันนาการเลื่อมใสโสมนัสเป็นที่ยิ่ง จึงดำริว่า บัดนี้มีชีวิตอยู่ด้วยมูลค่าแห่งดอกบัว ๒ ดอกเท่านี้จะได้มีสิ่งอื่นนอกจากดอกบัวหามีไม่แล้ว ควรอาตมาจะเสียสละชีวิต ยกดอกบัวสองดอกนี้กระทำเป็นสักการบูชาถวายสมเด็จพระพุทธเจ้าเถิด สุททมาณพคิดดังนี้แล้ว ก็ก้มเศียรเกล้าลงน้อมนำดอกบัวเข้าไปถวายแก่สมเด็จพระโกนาคมน์เจ้า ด้วยเจตนาของอาตมานั้นเป็นสิ้นสุดศรัทธาแต่เท่านั้น สมเด็จพระโกนาคมน์เจ้าจึงเสด็จขึ้นทรงนั่งในเบื้องบนแห่งดอกบัวทั้งสองนั้น ส่วนว่าสุททมาณพได้เห็นพระพุทธปาฏิหาริย์ก็พิศวงว่า สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จขึ้นทรงนั่งเหนือดอกบัวนี้ ในเบื้องบนหาสิ่งจะปิดบังแสงพระอาทิตย์ไม่ จะคิดเป็นประการใดจึงจะมิให้แสงพระอาทิตย์อันร้อนมาถูกต้องพระผู้ทรงพระภาคได้ สุททมาณพจึงเอาไม้อ้อมาสี่ลำ กระทำเป็นเสาดาดด้วยผ้าสองผืนบังแสงพระอาทิตย์ไว้ให้สมเด็จพระโกนาคมน์เจ้า ทรงนั่งอยู่ในที่นั้นประมาณสิ้นกลางวันกลางคืนยังรุ่ง แล้วกระทำปณิธานความปรารถนาว่า ข้าพระพุทธเจ้าได้ถวายดอกบัวสองดอกกับผ้าสองผืนนี้เป็นเครื่องสักการบูชาแก่พระองค์ตามยากตามมี เดชะผลทานนี้ขอให้เป็นปัจจัยได้สำเร็จแก่พระสร้อยสรรเพชุดาญาณในอนาคตกาลโน้นเถิดฯ

ครั้งนั้น สมเด็จพระโกนาคมน์เจ้า จึงตรัสพระสัทธรรมเทศนาพยากรณ์ทำนาย เป็นใจความว่า ความปรารถนาของท่านที่คิดไว้ประการฉันใด จงสำเร็จแก่ท่านโดยเร็วด้วยประการฉันนั้น พระสุรสำเนียงพระสัพพัญญูเจ้าที่ตรัสว่า จงสำเร็จ นั้นดังสนั่นถึงภายใต้ที่อยู่แห่งพระยาภุชงค์นาคราช เบื้องบนจนกระทั่งพรหมโลก ฝูงเทพยดา อินทร์ พรหม ยม ยักษ์ ทั้งหลายได้ยินทั่วกันแล้วออกจากพิภพของอาตมามายังสำนักพระโกนาคมน์เจ้า แล้วก็ถวายนมัสการกราบทูลถามว่า พระพุทธเจ้าข้า ข้าพระพุทธเจ้าทั้งหลายได้สดับพระสุรสำเนียงของพระองค์ตรัสพระธรรมเทศนาว่าสำเร็จนั้น ด้วยเหตุผลสิ่งไร บุคคลดังฤาสำเร็จพระพุทธเจ้าข้า จึงมีพระพุทธฎีกาตรัสว่าดูก่อนฝูงเทพยดาผู้เจริญ สุททมาณพผู้นี้ได้ถวายดอกบัวกับผ้าแก่พระตถาคต ยังพระตถาคตให้นั่ง ได้บังแสงแดดสิ้นเวลากลางวัน ได้บังน้ำค้างสิ้นเวลาราตรียังรุ่ง มีความปรารถนาจะให้ได้พระสัพพัญญุตญาณในอนาคตกาลเบื้องหน้า พระตถาคตทำนายว่า อิจฺฉิตํ อิจฺฉิตํ จงสำเร็จตามความปรารถนาของสุททมาณพเถิด ฝ่ายฝูงเทพยดามหาพรหมทั้งหลายก็กระทำสักการบูชา พากันโถมนาการด้วยองค์สมเด็จพระโกนาคมน์เจ้าเป็นอันมากฯ

นี่แหละ ดูก่อนสารีบุตร เมื่อพระธรรมราชาสัพพัญญูสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ตรัสนั้น
- จึงบังเกิดดอกบัวทองทั้งคู่ประมาณเท่าจักรรถ ผุดขึ้นมาแต่พื้นแผ่นดินเข้ารองรับฝ่าพระบาทไว้ในเมื่อยกย่างไปมาทุกก้าวพระบาทนั้น ด้วยอานิสงส์ที่ได้ถวายดอกบัวแก่องค์สมเด็จพระโกนาคมน์เจ้า
- ที่บังเกิดมีไม้กัลปพฤกษ์นั้น ด้วยอานิสงส์ขันติอดใจของสุททมาณพบรมโพธิสัตว์
- เมื่อพระธรรมราชาสัพพัญญูเจ้าจะเสด็จทรงนั่งก็ดี ยืนก็ดี ไสยาสน์ก็ดี ณ ที่นั้นๆบังเกิดมีห้องแก้ว ๗ ประการควรจะชื่นชมยินดี ด้วยผลทานที่กระทำเพดานผ้าบังแดดและน้ำค้างถวายแก่พระโกนาคมน์เจ้า ในกาลเมื่อยังเป็นสุททมาณพ
- เมื่อพระองค์ได้ตรัสนั้น มีชนมายุยืนได้ ๕ หมื่นปี แล้วจึงล่วงลับดับขันธ์เข้าสู่พระปรินิพพานฯ
แสดงมาด้วยเรื่องราวแห่งพระเจ้าปเสนทิโกศลราชบรมโพธิสัตว์คำรบ ๓ ก็ยุติเพียงเท่านี้ฯ

64
อันว่าองค์พระศรีอาริยเมตไตรยเจ้า ทรงสร้างพระบารมีมาสิ้นกาลช้านานถึง ๑๖ อสงไขยกำไรแสนมหากัปป์ มีศีลบารมี ทานบารมี เป็นต้น เต็มบริบูรณ์ กองพระบารมีทั้งหลายที่สำเร็จเป็นองค์พระสรรเพ็ชญ์พุทธเจ้า นั้นคือ พระบารมีจองพระองค์ครั้ง ๑ ปรากฏชัดเจนเป็นปรมัตถบารมี อันยิ่งยอดกว่าพระบารมีทั้งปวงฯ สมเด็จพระพุทธเจ้าของเราจึงนำมาซึ่งอดีตนิทาน แห่งกองพระบารมีของสมเด็จพระศรีอาริยเมตไตรยมาตรัสพระสัทธรรมเทศนาแก่พระสารีบุตรเถรเจ้าว่า อตีเต กาเล ในกาลล่วงลับมาแล้วช้านาน มีองค์สมเด็จพระพุทธเจ้าพระองค์หนึ่งทรงพระนามว่า พระสิริมิตร ได้ตรัสในโลก

ครั้งนั้น องค์พระศรีอาริยเมตไตรย ได้เสวยศิริราชสมบัติ ในเมืองอินทปัตต์มหานคร ทรงพระนามว่าบรมสังขจักร มีแก้ว ๗ ประการ อยู่มาในกาลวันหนึ่ง พระเจ้าสังขจักรเสด็จทรงนั่งอยู่ภายใต้เศวตฉัตร มีพระทัยปรารถนาว่า ผู้ใดมาบอกข่าวว่า พระพุทธรัตนะพระธรรมรัตนะ พระสังฆรัตนะ บังเกิดมีแล้ว พระองค์จะสละศิริราชสมบัติบรมจักร พระราชทานให้แก่บุคคลผู้นั้นแล้ว พระองค์ก็จะเสด็จพระราชดำเนินไปยังองค์สมเด็จพระพุทธเจ้า ในกาลนั้น ยังมีกุลบุตรเข็ญใจผู้หนึ่ง ไปบรรพชาเป็นสามเณรอยู่ในพระพุทธศาสนา ด้วยมารดาของสามเณรเป็นทาสทาสีอยู่ในตระกูลหนึ่ง สามเณรนั้นคิดแสวงหาทรัพย์จะไปให้แก่มารดา ให้พ้นจากทาสทาสี จึงเที่ยวไปโดยลำดับจนถึงกรุงอินทปัตต์มหานคร ฝูงมหาชนชาวพระนคร ไม่รู้จักว่าสามเณรเป็นอย่างไร ครั้นเห็นเข้าก็สงสัยว่าเป็นมหายักษ์ ก็พากันจับไม้ไล่ทุบตีสามเณรฯ สามเณรนั้นก็กลัว วิ่งหนีมหาชนเข้าไปจนถึงพระราชวัง ไปยืนอยู่ตรงพระพักตร์ของพระองค์ พระองค์จึงตรัสถามว่ามาณพนี้มีนามชื่อใด เจ้าสามเณรกราบทูลว่า อาตมภาพมีนามว่าสามเณร จึงตรัสถามว่าสามเณรนั้นด้วยเหตุดังฤา สามเณรจึงทูลว่าข้าพเจ้ามีนามว่าสามเณรนั้น ด้วยเหตุว่าข้าพเจ้ามิได้กระทำบาปในภายนอก แล้วตั้งอยู่ภายในแห่งกุศล เหตุดังนั้นจึงมีนามว่าสามเณร พระองค์ก็ทรงตรัสถามว่า นามกรของท่านนั้นบุคคลผู้ใดให้แก่ท่าน สามเณรจึงทูลว่า พระอาจารย์ของข้าพเจ้าให้แก่ข้าพเจ้า พระองค์จึงตรัสถามว่า อาจารย์ของท่านนั้นชื่อดังฤา สามเณรจึงทูลว่าอาจารย์ของอาตมามีนามว่าภิกษุ จึงทรงตรัสถามต่อไปว่าพระอาจารย์ของท่านนั้นมีนามว่าภิกษุนั้นด้วยเหตุดังฤา สามเณรจึงทูลว่าอาจารย์ของข้าพเจ้านั้น ชื่อรัตนะเป็นแก้วอันหาค่ามิได้

ครั้นทรงสดับว่าพระสังฆรัตนะในพระพุทธศาสนาหาได้เป็นอันยากยิ่งนัก พระองค์ก็มีความชื่นชมยินดีหาที่จะอุปมามิได้ คำนึงอยู่ในพระราชหฤทัยว่า จะเสด็จลงจากอาสน์ไปนมัสการเจ้าสามเณรที่ใกล้ ด้วยความปิติกายของพระองค์ก็ลอยไปตกลงตรงหน้าเจ้าสามเณร เดชะที่พระองค์มีพระราชหฤทัยเลื่อมใสในพระสังฆรัตนะ ดอกประทุมชาติก็บังเกิดผุดขึ้นรองรับพระองค์ไว้มิได้เป็นอันตราย จึงถวายนมัสการเจ้าสามเณรโดยเบญจางคประดิษฐ์ แล้วจึงตรัสถามเจ้าสามเณรต่อไปว่า พระสังฆรัตนะอาจารย์ของท่านนั้นบุคคลผู้ใดให้นามกร เจ้าสามเณรก็ทูลว่า อาจารย์ของข้าพเจ้านั้น องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้ทรงนามว่า พระสิริมิตรสัพพัญญู พระองค์โปรดประทานให้นามว่าพระสังฆรัตนะแก่อาจารย์ของข้าพเจ้า

เมื่อสมเด็จพระบรมโพธิสัตว์ผู้ทรงอุตสาหะในพระศาสนา ได้ทรงฟังสามเณรออกวาจาว่า องค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว พระองค์ก็ถึงวิสัญญีภาพลงอยู่กับที่ ครั้นพระองค์ได้พระสติขึ้นมา จึงตรัสถามสามเณรอีกว่า ดูก่อนเจ้าสามเณรผู้เจริญ บัดนี้องค์สมเด็จพระพุทธเจ้าเสด็จยับยั้งอยู่ในที่ดังฤา สามเณรจึงทูลว่า สมเด็จพระมหากรุณาธิคุณเจ้าเสด็จยับยั้งอยู่ในบุพพารามวิหาร อันมีอยู่ในอุตตรทิศแต่กรุงอินทปัตต์มหานครนี้ไปไกลกันมีประมาณ ๑๖ โยชน์ ได้ทรงฟังสามเณรแจ้งความว่า สมเด็จพระพุทธเจ้าบังเกิดแล้วในโลก จึงตรัสว่าดูก่อนสามเณร ผิว่าองค์สมเด็จพระสัพพัญญูเจ้าเสด็จอยู่ในฐานทิศใด เราก็จะไปในประเทศทิศนั้นฯ

สมเด็จพระเจ้าสังขจักรบรมบพิตรผู้ประเสริฐ หาความเอื้อเฟื้อในศิริราชสมบัติบรมจักรของพระองค์มิได้ ด้วยมีพระทัยนั้นผูกพันอยู่ในการที่จะได้พบเห็นองค์สมเด็จพระพุทธเจ้าเป็นที่ยิ่งอย่างอุกฤษฏ์ ก็กระทำการราชาภิเษกเจ้าสามเณรนั้น ให้สึกออกเสวยศิริราชสมบัติแทนพระองค์ เป็นพระยาอันประเสริฐ ครั้นกระทำการราชาภิเษกเจ้าสามเณรแล้ว ก็เสด็จออกแต่พระองค์เดียวโดยอุตตราภิมุขมีพระทัยเฉพาะต่ออุตตรทิศ ตั้งพระทัยไปสู่บุพพารามวิหาร อันเป็นที่ประทับแห่งองค์สมเด็จพระสิริมิตรสัพพัญญูสัมมาสัมพุทธเจ้า

สมเด็จบรมสังขจักรจอมทวีปเป็นสุขมาลชาติ พระสรีรกายนั้นละเอียดอ่อนเป็นอันดี เมื่อเสด็จพระราชดำเนินไปตามมรรคาหนทางแต่พระบาทเปล่า เวลาวันเดียวพระบาททั้ง ๒ ข้างก็ภินทนาการแตกออก จนพระโลหิตไหลตามฝ่าพระบาททั้ง ๒ เมื่อพระบาททั้ง ๒ ทำลาย จะเดินไปมิได้แล้ว ในกาลนั้น พระองค์ก็ลงนั่งคุกเข่าคลานไปทีละน้อยค่อยคมนาการไปตามหนทางที่เจ้าสามเณรชี้แจงบอกมานั้น จะได้ละความเพียรเสียหามิได้ ครั้นล่วงไปถึง ๔ วัน พระหัตถ์ซ้าย-ขวา และพระชงฆ์ทั้ง ๒ ข้างนั้นก็แตกช้ำโลหิตไหลออกมา จะคลุกคลานไปก็มิได้ ให้เจ็บปวดแสนสาหัส เห็นขัดสนพระทัยนักแล้ว ถึงกระนั้นพระองค์จะได้คิดท้อถอยย้อนรอยกลับคืนมาหามิได้ อาตมาต้องไปให้ถึงสำนักองค์สมเด็จพระผู้ทรงพระภาคเจ้าให้จงได้ ครั้นพระองค์คุกคลานไปมิได้แล้วก็ลงพังพาบไถลไปแต่ทีละน้อยด้วยพระอุระของพระองค์ ประกอบไปด้วยทุกขเวทนาเหลือที่จะอดกลั้น พระองค์ยึดหน่วงเอาพระพุทธคุณของสมเด็จพระพุทธเจ้าเป็นอารมณ์ ด้วยพระเจตนาจะใคร่พบเห็นพระผู้เป็นอธิบดีอันใหญ่ยิ่ง แล้วก็ทรงอดกลั้นซึ่งทุกขเวทนานั้นเสีย หาเอื้อเฟื้ออาลัยในร่างกายของพระองค์ไม่ฯ

ครั้งนั้น สมเด็จพระสิริมิตรสัพพัญญูผู้ประเสริฐ พระองค์ทรงพระมหากรุณาเล็งดูสัตว์โลกทั้งหลายด้วยสัพพัญญุตาญาณ ก็รู้แจ้งเห็นด้วยกำลังความเพียรแห่งบรมสังขจักรนั้นเป็นอุกฤษฏ์ยิ่งโดยวิเศษ แล้วก็มิใช่อื่นมิใช่ไกล เป็นหน่อพุทธางกูร พุทธพงศ์อันเดียวกันกับพระตถาคต สมควรที่พระตถาคตจักเสด็จไปสู่ที่ใกล้แห่งบรมสังขจักร เมื่อพระองค์ทรงพระดำริแล้ว ก็เสด็จพระพุทธดำเนินมาด้วยพระศิริวิลาสเป็นอันงาม แล้วพระองค์กระทำอิทธิฤทธิ์นิรมิต พระบวรกายของพระองค์ให้อันตรธานสูญหายกลับกลายเป็นมาณพหนุ่มน้อย ขึ้นขับรถทวนมรรคามาเฉพาะหน้าแห้งสมเด็จบรมสังขจักรนั้น แล้วพระพุทธสัพพัญญูเจ้าจึงร้องถามไปว่า ผู้ใดมานอนอยู่กลางทางขวางหน้ารถเราจงหลีกไปเสียเราจะขับรถไปฯ ฝ่ายพระบรมโพธิสัตว์จึงตรัสตอบพระพุทธฎีกาว่า ดูก่อนนายสารถีผู้ขับรถ ท่านจะมาขับเราไปให้พ้นจากหนทางนั้นด้วยเหตุดังฤา ตัวเราผู้รู้จักคุณสมเด็จพระพุทธเจ้าเป็นอารมณ์ยิ่งนัก ชอบแต่นายสารถีจะยั้งรถของท่านให้หลีกเราเสียจึงจะสมควร ถ้าท่านไม่หลีกก็ให้ท่านขับรถไปเหนือหลังเราเถิด ซึ่งจะให้เราหลีกนั้นเราหาหลีกไม่ แล้วจึงมีพระพุทธฎีกาว่าถ้าแหละท่านจะไปยังสำนักพระพุทธเจ้าแล้ว จงมาขึ้นรถไปกับเราเถิด เราจะพาท่านไปให้ถึงสำนักสมเด็จพระพุทธเจ้าให้สมดังความปรารถนา พระจอมขัตติยาจึงตอบว่า ถ้าท่านเอ็นดูกรุณาแก่เรา เราก็มีความยินดีสาธุอนุโมทนาด้วยท่าน
ว่าแล้วหน่อพระพิชิตมารก็อุตสาหะดำรงทรงพระกายขึ้นสู่รถแห่งสมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้า สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าก็หันหน้ารถไปตามมรรคา พาพระยาสังขจักรไป

ครั้นถึงกึ่งกลางมรรคาหนทางแล้ว สมเด็จพระอมรินทราธิราชกับองค์ดวงสุชาดาผู้เป็นอัครมเหสีนั้น นำเอาโภชนาหารอันเป็นทิพย์กับทั้งน้ำทิพย์ลงมา จำแลงเพศเป็นบุรุษยืนอยู่ตรงหน้ารถแล้วร้องว่า ดูก่อนนายสารถีผู้เจริญเอ๋ย ท่านอยากข้าวน้ำโภชนาหารหรือ เราจะให้ เมื่อโกสีย์อมรินทราธิราชกับนางสุชาดากล่าวดังนั้น สมเด็จพระสัพพัญญูเจ้าซึ่งแปลงเพศเป็นนายสารถีขับรถจึงว่า มาณพผู้เจริญ บุรษทุพลภาพผู้หนึ่งมาในรถด้วยเรา มีความลำบากเวทนานัก ท่านจะให้ข้าวน้ำโภชนาหารแก่เราก็ให้เถิด เราจะได้ให้แก่บุรุษทุพลภาพนั้นบริโภค ท้าวโกสีย์อมรินทร์กับนางสุชาดาก็ให้ข้าวน้ำโภชนาหารอันเป็นทิพย์แก่องค์สมเด็จพระมหาบุรุษสัทธรรมสารถีผู้ประเสริฐ พระองค์ก็ประธานให้แก่พระบรมโพธิสัตว์บรมสังขจักรเสวยข้าวน้ำโภชนาหารอันเป็นทิพย์ ครั้นพระองค์เสวยอิ่มหนำสำเร็จแล้ว ด้วยเดชะข้าวน้ำโภชนาหารอันเป็นทิพย์อุปัทวโทมนัสทุกขเวทนาในสรีรกาย ก็อันตรธานหาย พระองค์ก็มีสรีรกายเป็นสุขเสมอเหมือนแต่ก่อน


องค์สมเด็จพระพุทธเจ้าก็พาพระยาสังขจักรไปใกล้บุพพารามวิหาร แล้วพระองค์ก็นิสีทนาการนั่งบนพระบวรพุทธอาสน์ในพระวิหาร ส่วนสมเด็จพระบรมโพธิสัตว์ก็เสด็จลงจากรถ เข้าไปสู่บุพพารามวิหาร ทอดพระเนตรแลไปได้ทัศนาการเห็นองค์สมเด็จพระพุทธเจ้า ผู้ประกอบไปด้วยทวัตติงสมหาบุรุษลักษณะอสีตยานุพยัญชนะประดับ ทั้งพระพุทะรัศมีอันโอภาสสว่างรุ่งเรืองออกจากพระวรกายอันเสด็จทรงนั่งอยู่ในที่นั้น
พระองค์ก็ทรงวิสัญญีภาพลงตรงพระพักตร์แห่งสมเด็จพระผู้ทรงพระภาคด้วยความโสมนัสสาการ เกิดความปิติยินดีหาที่สุดมิได้ ส่วนสมเด็จพระสัพพัญญูเจ้าจึงมีพระพุทธฎีกาตรัสว่า ดูก่อนมหาบุรุษราชผู้เป็นอภิชาตชายอันประเสริฐ พระตถาคตเสด็จอยู่ในที่นี้แล้ว

ครั้งนั้น สมเด็จพระบรมสังขจักรก็ได้ซึ่งอัสสาสประสาท เกิดความยินดีชื่นชมก้มเศียรเกล้า คลานเข้าไปในสำนักสมเด็จพระพุทธองค์เจ้า เสด็จนั่งยังที่อันสมควรแล้วจึงยกพระกรขึ้นประนมบังคมเหนือศิโรตม์กระทำอภิวาทนมัสการ กราบทูลว่า ภนฺเต ภควา ข้าแต่สมเด็จพระพุทธองค์เจ้า บัดนี้ข้าพระบาทถึงสำนักพระองค์เจ้าแล้ว ขอจงทรงพระกรุณาเป็นที่พึ่งแก่ข้าพระพุทธเจ้า โปรดตรัสแสดงพระธรรมเทศนาอันอุดม ให้ข้าพระบาทฟังในกาลบัดนี้ฯ

ปางนั้น สมเด็จพระชินศรีจึงตรัสพระสัทธรรมเทศนาโปรดแก่พระยาสังขจักร เมื่อพระองค์ได้ทรงสดับพระสัทธรรมเทศนาบทหนึ่งสิ้นเนื้อความลงแล้ว ก็ทูลห้ามสมเด็จพระพุทธเจ้าว่า ขอพระองค์จงหยุดพระธรรมเทศนาเสียเถิด อย่าทรงสำแดงต่อไปเลยฯ


***มีปุจฉาว่า เหตุไฉนพระเจ้าสังขจักรจึงทูลห้ามสมเด็จพระพุทธเจ้าเสียดังนี้ เดิมทีสิมีพระทัยผูกพันในพระพุทธศาสนา ระลึกถึงซึ่งคุณพระพุทธเจ้า พระธรรมเจ้า พระสังฆเจ้าเป็นอันมาก ทรงสู้สละศิริราชสมบัติบรมจักรเสด็จมาด้วยความลำบากแทบถึงซึ่งชีวิต ครั้นมาประสพพบพระภควันตบพิตร พระองค์ประทานธรรมเทศนาแล้วห้ามเสียด้วยเหตุประการใดฯ
***วิสัชนาว่า สมเด็จบรมสังขจักรทรงคิดเห็นว่า ถ้าสมเด็จพระพุทธเจ้าโปรดประทานพระสัทธรรมเทศนาเป็นอันมาก แล้วพระองค์ก็เสด็จมาแต่พระองค์เดียวเปลี่ยวพระทัยนัก จะหาเครื่องไทยธรรมอันสมควรที่จะสักการบูชา ให้สมควรแก่รสพระสัทธรรมนั้นหามีไม่ บัดนี้เราได้สดับรับรสพระธรรมเทศนาแต่บทเดียว เครื่องสักการบูชาของอาตมานี้มิพอสมควรกันกับพระสัทธรรมแล้ว พระองค์ทรงคิดดังนี้ จึงทรงห้ามสมเด็จพระพุทธเจ้าเสีย


พระองค์จึงกราบทูลว่า ข้าพระพุทธเจ้าเกล้ากระหม่อมฉันได้สดับฟังพระสัทธรรมของพระองค์ในกาลบัดนี้ พระองค์ทรงพระมหากรุณาตรัสพระสัทธรรมเทศนาสำแดงพระนิพพานอันเดียวเป็นที่สุดพระสัทธรรมอยู่แล้ว ข้าพระพุทธเจ้าจะตัดเศียรเกล้า อันเป็นที่สุดแห่งสรีรกายแห่งข้าพเจ้า ออกกระทำสักการบูชาพระสัทธรรมเทศนาของสมเด็จพระพุทธองค์ก่อน ตรัสดังนั้นแล้ว พระเจ้าสังขจักรผู้มีอัธยาศัยอันยิ่ง จึงทรงอธิษฐานขอให้เล็บของพระองค์คมดังพระแสงดาบ เด็ดซึ่งพระศอให้ขาดแล้ววางไว้บนฝ่าพระหัตถ์ ตั้งปณิธานความปรารถนา ออกพระโอษฐ์ตรัสด้วยวาจาว่า ภนฺเต ภควา ข้าแต่พระองค์ผู้ทรงศิริเป็นที่เฉลิมโลก เชิญพระองค์เสด็จเข้าสู่เมืองแก้วอันเกษมสานต์ คือพระอมตมหานิพพานอันสำราญก่อนข้าพระบาทเถิด ข้าพระบาทจะขอตามเสด็จไปสู่พระนิพพานอันสำราญต่อภายหลัง ด้วยข้าพระพุทธเจ้าได้ถวายเศียรเกล้าบูชาพระสัทธรรมเทศนาของพระองค์ในกาลบัดนี้ ในที่สุดขาดพระวาจาปณิธานปรารถนาลง พระบรมโพธิสัตว์ก็จุติจิตต์สิ้นชีวิตไปบังเกิดในดุสิตาสวรรค์เทวโลกฯ

ดูก่อนสำแดงสารีบุตร ครั้นเมื่อพระบรมโพธิสัตว์ศรีอาริยเมตไตรยเจ้าได้ตรัสเป็นพระสัพพัญญูสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว จึงมีพระองค์สูงได้ ๘๘ ศอก ด้วยผลทานที่เด็ดพระเศียรกระทำสักการบูชาพระสัทธรรม พระองค์ทรงพระรัศมีสิ้นทั้งกลางวันกลางคืนมิได้ขาดนั้น ด้วยผลอานิสงส์ที่พระองค์ทรงอุตสาหไปในมรรคาหนทาง ปรารถนาจะพบเห็นสมเด็จพระพุทธเจ้าจนพระโลหิตไหลออกจากพระบาท และพระชงฆ์ พระหัตถ์ พระอุระของพระองค์เมื่อเป็นบรมสังขจักรนั้นฯ อนึ่ง พระพุทธรัศมีของพระองค์แผ่ซ่านตลอดไปเบื้องบนจนถึงพรหมโลก เบื้องต่ำตลอดลงไปจนถึงมหาอเวจีนรก ด้วยผลอานิสงส์ที่พระองค์เด็ดพระเศียรออกกระทำสักการบูชาพระสัทธรรมโลหิตไหลออกจากพระเศียร อนึ่ง ในพระศาสนาพระศรีอาริยเมตไตรยเจ้า บังเกิดมีไม้กัลปพฤกษ์นึกได้สำเร็จความปรารถนานั้น ด้วยผลอานิสงส์ที่พระองค์เสด็จไปตามมรรคหนทาง จะใคร่พบองค์สมเด็จพระพุทธเจ้า ถ้วนถึง ๗ วันเป็นกำหนด จึงได้ประสพพบปะฯ

ดูก่อนสำแดงสารีบุตร ผู้เป็นพระยาธรรมของพระตถาคต ฝูงคนทั้งหลายที่มิได้เห็นรูปกายของพระตถาคตนี้ แล้วได้กระทำทานรักษาศีลจำเริญเมตตาภาวนาด้วยเดชะผลานิสงส์ ฝูงคนทั้งหลายเหล่านั้นจักได้บังเกิดทันพระพุทธศาสนา องค์สมเด็จพระศรีอาริยะเมตไตรย อันจะมาบังเกิดเป็นพระสัพพัญญูสัมมาสัมพุทธเจ้าในอนาคตฯ สำแดงมาด้วยเรื่องพระศรีอาริยเมตไตรยบรมโพธิสัตว์ ก็ยุติแต่เท่านี้ฯ
เอวํ ก็มีด้วยประการฉะนี้

65
พระอนาคตวงศ์ 10 พระองค์



คำนำ

http://www.84000.org/anakot/index.html

พระอนาคตวงศ์นี้ เป็นเรื่องกล่าวถึงประวัติย่อของพระโพธิสัตว์เจ้าทั้งหลาย ผู้บำเพ็ญพระบารมีในชาติหนึ่ง


ซึ่งปรากฏเป็นยอดปรมัตถบารมีอันประเสริฐ เกิดสำเร็จผล ทรงพระอภินิหาร ประกอบด้วยพระเดชามหานุภาพ
เป็นพุทธสมบัติที่จะมาอุบัติตรัสเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสิบพระองค์ในโลก ณ อนาคตกาลภายหน้า นั้นคือ

- พระศรีอาริยเมตไตรย์ พระองค์หนึ่ง
- พระราม พระองค์หนึ่ง
- พระธรรมราช พระองค์หนึ่ง
- พระธรรมสามี พระองค์หนึ่ง
- พระนารท พระองค์หนึ่ง
- พระรังสีมุนีนาถ พระองค์หนึ่ง
- พระเทวเทพ พระองค์หนึ่ง
- พระนรสีหะ พระองค์หนึ่ง
- พระติสสะ พระองค์หนึ่ง
- พระสุมงคล พระองค์หนึ่ง

ซึ่งต่อจากพระสัมมาสัมพุทธเจ้าของเราไป โดยลำดับกัปป์ นับตั้งแต่ภัทรกัปป์นี้เป็นต้นไป
พระพุทธเจ้าสิบพระองค์นี้ ทรงสร้างพระบารมีสิบทัศครบบริบูรณ์แล้ว จึงทรงพระคุณ มีอภินิหารต่างๆ ยิ่งหย่อนกว่ากัน ด้วยสามารถพระบารมีนั้นๆของพระองค์ อันพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงพยากรณ์ตรัสไว้แก่พระสารีบุตร โดยพุทธภาษิตบรรยาย จัดเป็นพุทธประวัติกาลอนาคตเรื่องหนึ่งฯ

กัณฑ์ที่ ๑

( เอกํ สมยํ ภควา สาวตฺถิยํ วิสาขาย สตฺตวีสติโกฏิธนปริจฺจาเคน การิเต
ปุพฺพาราเม วสฺสาวาสํ วสนฺโต อชิตตฺเถรํ อารพฺภ ทส โพธิสตฺตาติ อิมํ ธมฺมเทสนํ กเถสีติฯ )

( บัดนี้ จะได้วิสัชนาในเรื่อง พระอนาคตวงศ์ โดยพุทธภาษิตปริยาย มีเนื้อความตามพระบาลีว่า เอกํ สมยํ )

***บาลีและข้อความในวงเล็บทุกแห่งได้เพิ่มขึ้นเมื่อ พ.ศ.๒๔๗๔ เพื่อให้เทศน์ได้สะดวก***



พระศรีอาริยเมตไตร (พระอชิตเถระ)

ครั้งหนึ่ง สมเด็จพระสรรเพ็ชญ์พุทธเจ้าเสด็จยับยั้งอาศัยใกล้กรุงสาวัตถีมหานคร วสนฺโต เมื่อสมเด็จพระชินวรผู้ทรงญาณสำราญพระอิริยาบถ เข้าพรรษาอยู่ในบุพพาราม อันพระวิสาขา สร้างถวายสิ้นทรัพย์ ๒๗ โกฏิฯ

ครั้งนั้น พระองค์ทรงปรารภซึ่งพระอชิตเถระ ผู้หน่อบรมพุทธางกูรอริยเมตไตรยเจ้าให้เป็นเหตุ พระโลกเชษฐ์จึงตรัสพระธรรมเทศนา สำแดงซึ่งพระโพธิสัตว์ทั้ง ๑๐ องค์ อันจะมาตรัสเป็น องค์สมเด็จพระพุทธเจ้าในอนาคตกาลฯ ครั้งนั้น พระธรรมเสนาบดีสารีบุตรเถรเจ้า จึงกราบทูลอาราธนา พระองค์ก็นำมาซึ่งอดีตนิทาน แห่งสมเด็จพระพุทธเจ้าทั้ง ๑๐ พระองค์ ที่จะลงมาตรัสในอนาคตกาลเบื้องหน้าต่อไป

เป็นใจความว่า เมื่อศาสนาพระตถาคตครบ ๕๐๐๐ ปีแล้ว ฝูงสัตว์ก็มีอายุถอยลง คงอยู่ ๑๐ ปีเป็นอายุขัย ครั้งนั้นแล จะบังเกิดมหาภัยเป็นอันมาก มีสัตถันตะระกัปป์ มนุษย์ทั้งหลายจะวุ่นวายเป็นโกลาหล เกิดรบพุ่งฆ่าฟันซึ่งกันและกัน จะจับไม้และใบหญ้าก็กลับกลายเป็นหอก ดาบ แหลน หลาว อาวุธน้อยใหญ่ ไล่ทิ่มแทงกัน ถึงซึ่งความฉิบหายเป็นอันมาก ฝูงมนุษย์ทั้งหลายที่มีปัญญา ก็หนีไปซุกซ่อนตัวอยู่ในซอกห้วย หุบเขา เมื่อพ้น ๗ วันล่วงไปแล้ว มนุษย์ทั้งหลายที่เร้นซ่อนอยู่นั้น เห็นสงบสงัดเสียงคนก็ออกมาจากที่ซ่อนเร้น ครั้นเห็นซึ่งกันและกัน ก็มีความสงสารรักใคร่เป็นอันมาก เข้าสวมสอดกอดรัดร้องไห้กันไปมา บังเกิดมีความเมตตากรุณากันมากขึ้นไป ครั้นตั้งอยู่ในเมตตาพรหมวิหาร แล้วก็อุตสาหะรักษาศีล ๕ จำเริญกรรมฐานภาวนาว่า อยํ อตฺตภาโว อันว่าร่างกายของอาตมานี้ อนิจฺจํ หาจริงมิได้ ทุกฺขํ เป็นกองแห่งทุกข์ฝ่ายเดียว อนตฺตา หาสัญญา สำคัญมั่นหมายมิได้ ด้วยกายอาตมาไม่มีแก่นสารฯ
…..เมื่อมนุษย์ทั้งหลาย ปลงสัญญาเห็นในกระแสพระกรรมฐานภาวนาดังนี้เนืองๆ อายุของมนุษย์ทั้งหลายก็วัฒนาจำเริญขึ้นไป ที่มีอายุ ๑๐ ปีเป็นอายุขัยนั้น ค่อยทวีขึ้นไปถึง ๒๐ ปีเป็นอายุขัย ค่อยทวีขึ้นไปทุกชั้นทุกชั้น จนอายุได้ ร้อย พัน หมื่น แสน โกฏิ จนถึงอสงไขยหนึ่ง ครั้นนานไปเห็นว่าไม่รู้จักความตายแล้ว ก็มีความประมาท มิได้ปลงใจลงในกอง ทุกฺขํ อนิจฺจํ อนตฺตา อายุก็ถอยน้อยลงมาทุกทีจนถึง ๘ หมื่นปี ฝนก็ตกเป็นฤดูคือ ๕ วันตก ๑๐ วันตก ในชมพูทวีปทั้งปวงมีพื้นแผ่นดินราบคาบสม่ำเสมอเป็นอันดีฯ

ครั้งนั้น กรุงพาราณสีเปลี่ยนนาม ชื่อว่า เกตุมมะดี โดยยาวได้ ๑๖ โยชน์ โดยกว้างได้ ๑ โยชน์ มีไม้กัลปพฤกษ์เกิดทั้ง ๔ ประตูเมือง มีแก้ว ๗ ประการ ประกอบเป็นกำแพงแก้ว ๗ ชั้นโดยรอบพระนคร ครั้งนั้น มหานฬกาลเทวบุตร ก็จุติลงมาเกิดเป็นสมเด็จบรมจักรพรรตราธิราช ทรงพระนามว่า พระยาสังขจักร เสวยศิริราชสมบัติในเกตุมมะดีมหานคร ในท่ามกลางเมืองนั้นมีปรางค์ปราสาททองอันแล้วไปด้วยแก้ว ๗ ประการ ผุดขึ้นมาแต่มหาคงคา ลอยมายังนภาดลอากาศเวหา มาตั้งอยู่ในท่ามกลางพระนคร ปรางค์ปราสาทนี้ แต่กาลก่อนเป็นปรางค์ปราสาทแห่งสมเด็จพระเจ้ามหาปะนาท ครั้นสิ้นบุญพระเจ้ามหาปะนาทแล้ว ปรางค์ปราสาทนั้นก็จมลงไปในคงคา เมื่อสมเด็จบรมจักรจอมทวีปผู้ทรงพระนามว่า พระยาสังขจักร ได้เสวยราชสมบัติในเกตุมมะดีนั้น ปรางค์ปราสาทก็ผุดขึ้นมาแต่มหาคงคาด้วยอานุภาพแห่งบรมจักร ประดับไปด้วยหมู่พระสนมแสนสาวสุรางค์ทั้งหลายประมาณ ๘ หมื่น ๔ พัน พระองค์มีพระราชโอรสประมาณพันพระองค์ พระราชโอรสผู้ใหญ่นั้น ทรงพระนามว่า อชิตราชกุมาร เจ้าอชิตราชกุมารนั้น เป็นปรินายกแก้ว แห่งสมเด็จพระราชบิดาผู้เป็นพระยาบรมสังขจักร อันบริบูรณ์ไปด้วยแก้ว ๗ ประการ คือ
จักรแก้ว ๑
นางแก้ว ๑
แก้วมณีโชติ ๑
ช้างแก้ว ๑
ม้าแก้ว ๑
คฤหบดีแก้ว ๑
ปรินายกแก้ว ๑
อันว่าสมบัติบรมจักรนั้นย่อมมีทุกสิ่งทุกประการ เป็นที่เกษมสานต์ยิ่งนัก เหลือที่จะพรรณนาในกาลนั้นฯ

ฝ่ายว่า มหาปุโรหิตผู้ใหญ่ของสมเด็จพระเจ้าสังขจักรนั้น เป็นมหาพราหมณ์ประกอบไปด้วยอิสริยยศเป็นอันมาก หาผู้จะเปรียบเสมอมิได้ มีนามปรากฏว่า สุตพราหมณ์ นางพราหมณีผู้เป็นภรรยานั้นมีนามว่า นางพราหมณวดีฯ ในกาลนั้น สมเด็จพระบรมโพธิสัตว์ พระศรีอาริยเมตไตรยเจ้า รับอาราธนานิมนต์แห่งฝูงเทพยดาทั้งหลาย ก็จุติลงมาจากสวรรค์เทวโลก ลงมาถือเอาปฏิสนธิในครรภ์แห่งนางพราหมณวดี ภรรยาแห่งมหาปุโรหิตพราหมณ์ผู้ใหญ่ ในวันบัณณสี อุโบสถ เพ็ญเดือน ๘ ขึ้น ๑๕ ค่ำ เวลาปัจจุสสมัยใกล้รุ่ง พร้อมด้วยอัศจรรย์ทั้งหลาย ๑๒ ประการ เทพยดาพากันกระทำสักการบูชาดังห่าฝนตกลงในกลางอากาศ แล้วก็มีปรางค์ปราสาททั้ง ๓ ผุดขึ้นมา เพื่อจะให้เป็นที่สำราญ แห่งพระบรมโพธิสัตว์เจ้า
ปราสาท ๑ ชื่อว่า ศิริวัฒนะ
ปราสาท ๑ ชื่อว่า สิทธัตถะ
ปราสาท ๑ ชื่อว่า จันทกะ

ปรางค์ปราสาททั้ง ๓ นี้เป็นที่จำเริญพระศิริสวัสดิมงคล ควรจะให้สำเร็จประโยชน์ทุกประการ ปรากฏงามดังดวงพระจันทร์ แล้วหอมฟุ้งไปด้วยกลิ่นอันหอมมิรู้ขาด เดียรดาษไปด้วยนางนาฏพระสนมประมาณ ๗ แสน ส่วนสมเด็จพระอัครมเหสีแห่งสมเด็จพระศรีอาริยเมตไตรย บรมโพธิสัตว์เจ้านั้น ทรงพระนามว่า พระจันทมุขี เป็นประธานแห่งนางบริวารทั้ง ๗ แสน มีพระราชโอรสองค์ ๑ ทรงพระนามว่า พราหมณ์วัฒนกุมาร เมื่อพระมหาบุรุษผู้ประเสริฐ ทรงพระสำราญแรมอยู่ในปรางค์ปราสาททั้ง ๓ ควรแก่ฤดูโดยนิยมดังนี้ฯ จนพระองค์มีพระชนม์ได้ ๘ หมื่นปี แล้วจึงเสด็จขึ้นสู่รถแก้วอันเป็นทิพย์วิมานมีศิริหาเสมอมิได้ เสด็จไปประพาสอุทยานทอดพระเนตรเห็นจตุรนิมิตทั้ง ๔ ประการนี้ เป็นเทวทูตยังธรรมสังเวชให้เกิดขึ้น ก็มีพระทัยน้อมไปในบรรพชา พิจารณาเห็นเพศสมณะนั้นเป็นอารมณ์ ในขณะนั้นอันว่าปรางค์ปราสาทแก้วซึ่งทรงพระสำราญยับยั้งอยู่นั้น ก็ลอยไปในอากาศเวหา พร้อมทั้งพระราชโอรส และหมู่นิกรอนงค์นางกัลยาทั้งหลายก็ไปกับปรางค์ปราสาทนั้น

ครั้งนั้นเปรียบประดุจดังว่า พระยาสุวรรณราชหงส์ทองอันบินไปในอากาศเวหา ฝ่ายฝูงเทพยดาทั้งหลายในหมื่นจักรวาล ก็ชวนกันถือเครื่องสักการบูชา เหาะตามกันมากระทำสักการบูชาในอากาศเวหา แน่นเนื่องกันมาเป็นอเนกอสงไขย ทั้งท้าวพระยามหากษัตริย์ทั้งหลาย ๘ หมื่น ๔ พัน พระนครก็ดี และชาวนิคมประจันตประเทศชนบททั้งหลายก็ดี ก็ชวนกันมากระทำสักการบูชาด้วยดอกไม้และของหอม มีประการต่างๆเต็มเดียรดาษกลาดเกลื่อนไปทั้งชมพูทวีป เหล่าพวกอสูรทั้งหลาย ก็เข้าแวดล้อมพิทักษ์รักษาปรางค์ปราสาทฯ ฝ่ายพระยานาคราชนั้น กระทำสักการบูชาด้วยแก้วมณี พระยาสุวรรณราชปักษีกระทำสักการบูชาด้วยแก้ว อันเป็นเครื่องประดับตน พระยาคนธรรพ์ทั้งหลายนั้น กระทำสักการบูชาด้วยเครื่องทิพย์ดุริยางค์ ฟ้อนรำ มีประการต่างๆฯ

ปางเมื่อองค์สมเด็จพระบรมโพธิสัตว์ศรีอาริยเมตไตรยเจ้าเสด็จออกบรรพชานั้น ฝูงเทพยดา อินทร์ พรหม ยม ยักษ์ และ มนุษย์ นาค ครุฑ คนธรรพ์ทั้งหลาย กระทำสักการบูชา ทั้งพระยาบรมจักรพรรตราธิราชเจ้าผู้ประเสริฐ ก็พร้อมด้วยแสนสาวสนมในทั้งปวง และโยธาหาญ หมู่จตุรงค์องค์พยุหะเสนาอเนกนับมิได้ เสด็จไปที่ใกล้แห่งสมเด็จพระบรมโพธิสัตว์

ครั้งนั้นมหาชนทั้งหลายทั้งปวง มีความปรารถนาจะทรงบรรพชาแล้วก็ลอยไปในอากาศ กับด้วยพระบรมโพธิสัตว์เจ้า ด้วยเดชานุภาพแห่งบรมจักร และอานุภาพแห่งพระศรีอาริยเมตไตรยบรมโพธิสัตว์นั้น ครั้นเสด็จถึงควงไม้พระศรีรัตนมหาโพธิ์ คือไม้กากะทิงแล้ว ปรางค์ปราสาทแก้วก็เลื่อนลอยลงจากอากาศใกล้ในที่ปริมณฑลไม้มหาโพธินั้น ฝ่ายท้าวมหาพรหมก็เชิญซึ่งพานผ้ากาสาวพัสตร์ กับเครื่องบริขารทั้ง ๘ น้อมเข้าไปถวายสมเด็จพระบรมโพธิสัตว์ แล้วพระองค์จึงชักเอาพระแสงดาบแก้วตัดพระเกศเกล้าให้ขาด แล้วก็โยนขึ้นไปในอากาศเวหา ถือเครื่องบริขารทั้ง ๘ ประการ ทรงเพศบรรพชาเสร็จแล้ว ส่วนว่าบริวารทั้งหลายทั้งปวงนั้น ก็ชวนกันบรรพชา บวชตามสมเด็จพระโพธิสัตว์เจ้าเป็นอันมาก ฝ่ายพระมหาบุรุษราช องค์พระศรีอาริยเมตไตรยเจ้านั้น กระทำความเพียรอยู่ที่ใกล้พระศรีมหาโพธิสิ้นประมาณ ๗ วัน ในเมื่อเวลาเย็นพระองค์ก็เสด็จเข้าไปสู่ควงไม้พระมหาโพธิ ขึ้นทรงนั่งเหนือรัตนอปราชิตบัลลังค์พระที่นั่งแก้ว แล้วทรงพระคำนึงระลึกถึงบุพพชาติของพระองค์ด้วย บุพเพนิวาสานุสติญาณ ทรงเห็นโดยลำดับกัน ประจักษ์แจ้งในปฐมยามฯ ครั้นล่วงเข้ามัชฌิมยามทรงเห็นซึ่ง จุติ-ปฏิสนธิ แห่งสัตว์ทั้งหลาย ด้วยทิพย์จักษุญาณฯ ครั้นล่วงไปในปัจฉิมยามที่สุดนั้น พระองค์พิจารณาซึ่งปัจจัยการ อันประกอบไปด้วยองค์ ๒ ประการ ตามกระแสพระปฏิจจสมุปบาทธรรม ด้วยสามารถอนุโลม ตรัสรู้ตลอดกัน ในลำดับนั้นก็ได้สำเร็จแก่พระปรมาภิเษกสัมโพธิญาณ ทรงพระนามว่า อรหังสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นอาทิ ปรากฏเป็นพระพุทธคุณทั่วโลกธาตุ แล้วพระองค์ก็ยังมนุษย์ทั้งหลายประมาณแสนโกฏิ ให้ดื่มกินซึ่งน้ำอมฤตรสคือพระสัทธรรม
เห็นพระนิพพานอันมิได้รู้แก่ รู้ตาย เป็นธรรมาภิสมัย ให้บังเกิดแก่ฝูงเทพยดาและมนุษย์ทั้งหลาย ได้ตรัสรู้มรรคและผลหาประมาณมิได้ฯ - และองค์พระศรีอาริยเมตไตรยเจ้าผู้ทรงพระภาคมีประเภทเป็นอันงามนั้น
- พระองค์มีพระวรกายสูงได้ ๘๘ ศอก
- พระองค์ใหญ่กว้างได้ ๒๕ ศอก
- ตั้งแต่พระบาทถึงพระชานุมณฑลมีประมาณ ๒๒ ศอก
- ตั้งแต่พระชานุมณฑลขึ้นไปถึงพระนาภีประมาณ ๒๒ ศอก
- ตั้งแต่พระนาภีขึ้นไปถึงพระรากขวัญทั้ง ๒ ประมาณ ๒๒ ศอก
- ตั้งแต่พระรากขวัญขึ้นไปถึงพระเศียรเกล้า ที่สุดยอดพระอุณหิส เปลวพระพุทธรัศมีนั้น ประมาณ ๒๒ ศอก เสมอกันทั้ง ๔ส่วน
- พระรากขวัญทั้ง ๒ แต่ละอันนั้นยาวได้ ๕ ศอก
- อันว่าพระหัตถ์ทั้ง ๒ ซ้าย-ขวานั้น ยาวได้ ๔๐ ศอก ( เข้าใจว่าความยาวจากหัวไหล่ถึงปลายนิ้วมือแต่ละข้าง ยาวได้ ๔๐ ศอก…..พีรจักร )
- ในระหว่างภายในแห่งพระพาหาทั้ง ๒ ซ้าย-ขวา นั้นมีประมาณ ๒๕ ศอก
- พระอังคุลีแต่ละอันยาวได้ ๕ ศอก
- ฝ่าพระหัตถ์แต่ละข้างกว้างได้ ๕ ศอก
- พระศอโดยกลมรอบมีประมาณ ๕ ศอก โดยยาวก็ ๕ ศอก
- พระโอษฐ์เบื้องบนเบื้องล่างกว้าง ๑๐ ศอกเสมอกัน เป็นอันดี
- พระชิวหาอยู่ภายในพระโอษฐ์ยาว ๑๐ ศอก
- พระนาสิกสูงยาวลงมาได้ ๗ ศอก
- ดวงพระเนตรทั้ง ๒ โดยกว้างได้ ๗ ศอก
- แววพระเนตรทั้ง ๒ ที่ดำ กลม เป็นปริมณฑลอยู่นั้น มีประมาณ ๕ ศอก
- พระขนงแต่ละข้าง ยาวได้ ๕ ศอก
- ในระหว่างพระขนงทั้ง ๒ กว้างได้ ๔ ศอก
- พระกรรณทั้ง ๒ แต่ละข้าง ยาวได้ ๗ ศอก
- ดวงพระพักตร์นั้นเป็นปริมณฑล กลมดังดวงพระจันทร์เมื่อวันเพ็ญ มีประมาณกลมได้ ๒๕ ศอก
- พระอุณหิสที่เวียนเป็นทักขิณาวัฏรอบพระเศียร เป็นเปลวพระพุทธรัศมีขึ้นไปนั้น โดยกลมรอบได้ ๒๕ ศอกฯ
…..ลำดับนี้ จะพรรณนาไม้พระศรีรัตนมหาโพธิต่อไป อันว่า ต้นไม้กากะทิง ที่เป็นไม้ศรีมหาโพธินั้น
- มีปริมณฑลไปได้ ๑๒๐ ศอก
- มีกิ่งทั้ง ๕ โดยรอบครอบนั้นก็ได้ ๑๒๐ ศอก
- แต่ต้นขึ้นไปปลายสุดกิ่งนั้นได้ ๒๔๐ ศอก โดยสูง โดยสะกัดเป็นปริมณฑลเหมือนกัน
- มีใบสดเขียวอยู่เป็นนิจจกาล
- ทรงดอกและเกสรหอมฟุ้งขจรมิรู้ขาด เปรียบประดุจดอกปาริชาติ ในดาวดึงสาสวรรค์ก็เหมือนกันฯ

สมเด็จพระสัพพัญญูองค์พระศรีอาริยเมตไตรยเจ้า ทรงทวัตติงสามหาปุริสลักษณะประกอบไปด้วยพระฉัพพรรณรังสี พระพุทธรัศมี ๖ ประการ สว่างออกจากพระสรีรกายเป็นอันงาม ประดุจดังท่อธารสุวรรณ ธาราน้ำทองอันไหลหลั่งออกมา เต็มเปี่ยมบริบูรณ์ไปด้วยสุขทุกเมื่อ มีสติระลึกถึงพระพุทธคุณเป็นอารมณ์เนืองๆ ด้วยเดชานุภาพพระพุทธคุณนั้น มนุษย์ทั้งหลายได้บริโภคซึ่งโภชนาหารแต่เนื้อแห่งข้าวสาลี อันบังเกิดมีมาเอง ได้ประดับประดาสรีรกายและผ้านุ่งผ้าห่ม เครื่องอาภรณ์ต่างๆ แต่ต้นไม้กัลปพฤกษ์ ประพฤติเลี้ยงชีวิตเป็นบรมสุขฯ ปางเมื่อพระองค์ผู้ทรงสวัสดิภาคเป็นอันงาม ทรงพระนามว่า พระศรีอาริยเมตไตรยเจ้า ตรัสแสดงพระสัทธรรมเทศนา
พระธัมมจักกัปปวัตตนสูตรนั้น มนุษย์และเทพยดาทั้งหลายได้ซึ่งธรรมาภิสมัย มรรคและผลธรรมวิเศษ ประมาณ ๓ แสนโกฏิฯ


66
"เทศกาลวันสำคัญในทางพระพุทธศาสนา"

เทศกาลสำคัญที่เกี่ยวกับพระพุทธศาสนา โดยตรงคือ

การทอดกฐิน มีกำหนดระยะเวลา ๑ เดือน ระหว่างวันแรม ๑ ค่ำเดือน ๑๑ ถึงขึ้น ๑๕ ค่ำเดือน ๑๒ การทอดกฐินนี้คนไทยนิยมทำกันมาก ถือว่าได้อานิสงฆ์แรงเพราะทำในระยะเวลาจำกัด และมักทำเป็นพิธีรีตองมโหฬารทีเดียว บางแห่งมีการแห่แหนประดับตกแต่งองค์กฐินพร้อมทั้งไทยธรรมที่เป็นของบริวาร ซึ่งจัดทำกันอย่างประณีตบรรจงบาทีก็มีฉลององค์กฐินก่อนที่จะแห่ไปวัด การแห่แหนนั้นมีทั้งทางบกทางน้ำ สมัยนี้ยังมีการแห่ผ้ากฐินไปทางอากาศ (เครื่องบิน) อีกด้วย ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสถานที่ที่จะนำผ้ากฐินไปทอด จะสะดวกทางใดก็ไปทางนั้น

 รายละเอียดการทอดกฐิน


นอกจากนั้น ก็มีเทศกาลที่ไม่เกี่ยวกับพระพุทธศาสนาโดยตรง แต่พุทธศาสนิกชนก็ได้บำเพ็ญกุศลกันตามแบบพระพุทธศาสนาเทศกาลเหล่านี้ ได้แก่


๑.วันตรุษ ตรงกับวันสิ้นเดือน ๔ เป็นพิธีแสดงความยินดีที่ได้มีชีวิตผ่านพ้นมาด้วยดีในรอบปีหนึ่ง ๆ เรียกว่าการ "ส่งปีเก่า"

๒. วันสงกรานต์ ตรงกับวันที่ ๑๓-๑๔-๑๕ เมษายน ของทุกปี วันที่ ๑๓ เป็นวันที่พระอาทิตย์โคจรเข้าสู่ราศีเมษ เรียกว่า วันสงกรานต์ วันที่ ๑๔ เป็นวันเนา และวันที่ ๑๕ เป็นวันเถลิงศกถือว่าเป็นวันเปลี่ยนจุลศักราชใหม่ หรือวันขึ้นปีใหม่

๓. วันสารท ตรงกับวันสิ้นเดือน ๑๐ นับว่าเป็นวันนักขัตฤกษ์ที่คนไทยเรานิยมทำกันมาก เพราะถือว่าเป็นสมัยที่จะได้ทำบุญในเมื่อวันเดือนได้ล่วงมาถึงรอบปี อันแสดงถึงความไม่ประมาทของชีวิตเพราะปลายปีทำพิธีตรุษ ต้นปีทำพิธีสงกรานต์ ดังนั้นกลางปีจึงทำพิธีสารท


ที่มา : หนังสือ ความรู้เกี่ยวกับพระพุทธเจ้า โดย ภัทรวรรณ วันทนชัยสุข
และ http://dhammathai.org/indexthai.php

67
"วันสำคัญในทางพระพุทธศาสนา"

วันสำคัญในทางพระพุทธศาสนา มีดังนี้



๑. วันวิสาขบูชา ซึ่งถือว่าเป็นวันประสูติ ตรัสรู้ และปรินิพพาน ของพระพุทธเจ้า ตรงกับวันขึ้น ๑๕ ค้ำ (วันเพ็ญ) เดือน ๖ ถ้าปีใดมีอธิกมาส คือ มีเดือน ๘ สองครั้ง ก็เลื่อนไปทำพิธีในวันขึ้น ๑๕ ค่ำเดือน ๗


๒.วันอาสาฬหบูชา คือวันที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงพระธรรมเทศนาโปรดพระปัญจวัคคีย์เป็นครั้งแรก ซึ่งเรียกว่า "ปฐมเทศนา" ตรงกับ วันขึ้น ๑๕ ค่ำเดือน ๘





๓. วันเข้าพรรษา ตรงกับวันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๘ ถ้าหากปีใดมีเดือน ๘ สองครั้งก็เข้าพรรษาในวันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๘ หลัง



๔. วันออกพรรษา ตรงกับวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๑ หลังจาก ออกพรรษาแล้ว รุ่งขึ้นวันแรม ๑ ค่ำมักนิยมบำเพ็ญกุศลเรียกว่า "ตักบาตรเทโว" คือ ตักบาตรเนื่องในวันที่พระพุทธเจ่าเสด็จลงจากเทวโลกหลังจากที่เสด็จไปโปรดพระพุทธมารดาอยู่พรรษาหนึ่งแล้ว


๕. วันมาฆบูชา ตรงกับวันขึ้น ๑๕ ค้ำเดือน ๓ แต่ถ้าหากปีใดมีเดือน ๘ สองครั้ง ก็เลื่อนไปทำในวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๔ วันนี้ ถือว่าเป็นวัน "จาตุรงคสันนิบาต" คือมีเหตุการณ์ที่เกิดในวันนี้ ๔ อย่างคือ
ก. วันนั้นเป็นวันเพ็ญเดือน ๓
ข. เป็นวันที่พระอรหันต์ ๑,๒๕๐ องค์ มาประชุมกันที่เวฬุวนาราม เมืองราชคฤห์ แคว้นนคธ
ค. พระอรหันต์เหล่านั้นล้วนได้รับ " เอหิภิกขุอุปสัมปทา" คือพระพุทธเจ้าทรงบวชให้เองทั้งสิ้น
ง. พระอรหันต์เหล่านั้นมาประชุมพร้อมกันเองโดยมิได้นัดหมาย

พระพุทธเจ้าจึงทรงถือเหตุนี้ประทาน "โอวาทปาติโมกข์" ซึ่งเท่ากับเป็นการวาง "ธรรมนูญสวฆ์" ขึ้น
คล้าย ๆ กับรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นแม่บทของกฎหมายทั้งหลายฉะนั้น โอวาทปาติโมกข์นี้เปรียบเสมือนหัวใจพระพุทธศาสนา มี ๓ ข้อ คือ
๑. งดเว้นจากาการทำชั่วทั้งปวง
๒. สร้างสมความดีให้บริสุทธิ์
๓. ชำระจิตตนให้บริสุทธิ์

นอกจากนั้น ในวันเพ็ญ เดือน ๓ นี้ ยังมีเหตุการณ์ที่สำคัญประการหนึ่ง คือ เป็นวันที่พระพุทธเจ้าทรงปลงพระชนมายุสังขาร ว่าจะปรินิพพานในอีก ๓ เดือนข้างหน้า

68
"กาลต่อไปพระพุทธศาสนาจะไปตั้งมั่นนอกชมพูทวีป"
ในคราวสังคายนาพระพุทธศาสนา ครั้งที่ ๓ ดังได้กล่าวถึงมาแล้วข้างต้น พระโมคคัลลีบุตรติสสเถระผู้เป็นประธานทรงเล็งเห็นการณ์ไกลอย่างยิ่ง โดยพิจารณาว่า กาลต่อไปพระพุทธศาสนาจะไปตั้งมั่นนอกชมพูทวีป จึงจัดส่งพระเถระพร้อมด้วยบริวารให้ไปเผยแฟ่พุทธศาสนา ในส่วนต่าง ๆ ของทวีปเอเชีย ๙ สาย คือ

๑. พระมหินทเถระ พร้อมด้วยพระอิฏฏิยเถระ พระอุตติยเถระพระสัมพลเถระ พระภัททสาลเถระ และสุมนสามเณรไปเผยแผ่พระศาสนาที่เกาะลังกา ในรัชสมัยของพระเจ้าเทวานัมปิยติสสะ

๒.พระมัชฌันติกเถระ ไปเผยแผ่พระพุทธศาสนาที่แคว้นคันธาระและกาศมีระ ทรมานพวกนาคให้ยอมรับนับถือพระพุทธศาสนา

๓. พระมหาเทวะ ไปเผยแผ่พระพุทธศาสนา ณ แคว้นมหิสสกมณฑล ได้แก่ แถบตอนใต้ของลุ่มแม่น้ำโคธาวารี อันเป้นแคว้นไมซอร์ในปัจจุบัน

๔. พระรักขิตเถระ ไปเผยแผ่พระพุทธศาสนา ณ วนวาสีประเทศ ได้แก่ แว่นแคว้นกนราเหนือ ทางภาคตะวันออกเฉียงใต้ของอินเดียก่อให้เกิดวัดขึ้นถึง ๕๐๐ วัด ในดินแดนส่วนนี้

๕.พระโยนกธรรมรักขิต ซึ่งเป็นเถระอรหันต์ชนชาติกรีก ไปเผยแผ่พระพุทธศาสนา ณ อปันตกชนบท เชื่อกันว่า ได้แก่ ดินแดนชายทะเลอันเป็นเมืองบอมเบย์ในปัจจุบัน

๖. พระมหารักขิตเถระ ไปเผยแผ่พระพุทธศาสนา ณ โยนกประเทศคือดินแดนที่อยู่ในการยึดครองของผรั่งชาติ กรีก ในทวีปเอเชียตอนกลาง เหนืออิหร่าน ขึ้นไปจนถึงเตอรกีสถาน

๗. พระโสณเถระ และพระอุตตรเถระ อีก ๔ รูปคือ พระกัสสปโคตะ พระมูลกเทวะ พระทุนทภิสสร และพระเทวะไปเผยแผ่พระพุทธศาสนาที่ดินแดนแถบภูเขาหิมาลัย

๘. พระโสณเถระ และพระอุตตรเถระ ไปเผยแผ่พระพุทธศาสนา ณ ดินแดนที่เรียกว่า สุวรรณถูมิ เชื่อกันว่าได้แก่ดินแดนที่เป็นจังหวัดนครปฐมในปัจจุบัน

๙. พระมหาธรรมรักขิต ไปเผยแผ่พระพุทธศาสนาที่แว้นมหาราษฎร์ คือดินแดนแถบตะวันออกเฉียงเหนือ ห่างจากเมืองบอมเบย์ในปัจจุบัน

การไปเผยแผ่พระพุทธศาสนาของธรรมทูตทุกสาย เป็นการไปอย่างคณะสงฆ์ ซึ่งสามารถให้การอุปสมบทแก่กุลบุตรผู้มีศรัทธาได้ มีหลักฐานซึ่งค้นพบที่จังหวัดนครปฐมระบุว่า พระโสณเถระกับพระอุตตรเถระมาประดิษฐานพระพุทธศาสนาในดินแดนส่วนนี้

พระพุทธศาสนาได้เจริญถึงขั้นสูงสุด โดยเฉพาะในสมัยพระเจ้าอโศกมหาราช จักรพรรดิผู้ยิ่งใหญ่ในโลกที่นับถือพระพุทธศาสนา และเผยแผ่พระพุทธศานาออกนอกชมพูทวีปสู่ประเทศต่าง ๆ ในเอเชียแต่แล้วในกาลต่อมา พระพุทธศาสนาในดินแดนอินเดียค่อย ๆ เสื่อมแล้วได้มาสูญไปเกือบสิ้นเชิง เป็นเวลานานกว่า ๗๐๐ ปีที่พระพุทธศาสนาสูญไปจากประเทศนี้ จวบจนกระทั่งเมื่อประมาณ ๖๐ ปีที่ผ่านมามีการฟื้นฟูพระพุทธศาสนาในอินเดียมากขึ้น มีชาวพุทธเพิ่มมากขึ้นมีการประมาณกันว่า ในปัจจุบันมีผู้นับถือพระพุทธศาสนา ในประเทศอินเดีย ๓๐-๔๐ ล้านคน จากจำนวนประชากรอินเดียประมาณเกือบพันล้านคน

ภัียอันตรายที่เป็นเหตุแห่งความเสื่อมของพระพุทธศาสนา ในอินเดียนั้น มีอยู่ ๒ ประเภทใหญ่ คือ ๑. ภัยภายใน ๒. ภัยภายนอก

ภัยภายใน เกิดจากพุทธบริษัท ๔ (ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา) โดยตรง พอจะจำแนกเป็น ๓ ประการคือ
๑. การเสื่อมทางศีลธรรมและการเสื่อมจากการบรรลุมรรคผลของชาวพุทธ
๒. ความแตกแยกทางนิกายและความขัดแย้งทางนิกาย
๓. ลัทธิมหายานและลัทธิตันตรยานเกิดขึ้น ทำให้เกิดพระสัทธรรมปฏิรูปต่าง ๆ ขึ้นในพระพุทธศาสนา

ภัยภายนอก การที่พระพุทธศาสนาต้องเสื่อมไปจากอินเดียนั้นหาได้เกิดจากภัยภายในอย่างเดัยวไม่ ภัยภายนอกก็จัดว่าเป็นอันตรายมากเช่นกันที่ทำให้พระพุทธศาสนาต้องเสื่อมไปจากดินแดนพุทธภูมิภัยภายนอกนั้นพอจะจำแนกได้ ๖ ประการคือ
๑. การปองร้ายของพวกพราหมณ์
๒.การฟื้นตัวใหม่ของพวกพราหมณ์
๓.การถูกศาสนาพราหมณ์กลืน
๔.การขาดราชูปถัมภ์
๕. การทำลายล้างของกษัตริย์ภายนอกพระพุทธศาสนา
๖. การทำลายล้างของพวกมุสลิม




"พุทธศาสนา ๒ นิกาย ใหญ่ มหายาน กับ หีนยาน"
หลังจากที่พระพุทธเจ้าปรินิพพานแล้วประมาณ ๑๐๐ ปี พระพุทธศาสนาก็เริ่มมีเค้าแตกแยกในด้านความคิดเห็นเกี่ยวกับการปฏิบัติตามพระธรรมวินัย จนมาถึงสมัยพระเจ้าอโศกมหาราชก็แตกแยกกันออกเป็นนิกายใหญ่ ๆ ๒ นิกาย คือมหายาน กับหีนยาน

มหายาน เป็นนิกายของภิกษุฝ่ายเหนือของอินเดีย บาทีเรียก "อุตรนิกาย" (นิกายฝ่ายเหนือ) บ้าง "อาจารยวาท" บ้าง ซึ่งมีจุดมุ่งสอนให้ระงับดับกิเลส ทั้งยังได้แก้ไขคำสอนในพระพุทธศาสนา ให้ผันแปรไปตามลำดับ พวกนี้เรียกลัทธิของตนว่า "มหายาน" ซึ่งแปลว่า "ยานใหญ่" อาจพาประชาชนให้ข้ามวัฏสงสาร คือ ความทุกข์จาการเวียนว่ายตายเกิดได้คราวละมาก ๆ นิกายนี้ได้เข้าไปเจริญรุ่งเรื่องอยู่ในประเทศทิเบต จีน มองโกเลีย ญี่ปุ่น เกาหลี และเวียดนาม

หีนยาน เป็นนิกายของภิกษุฝ่ายใต้ของอินเดีย บางทีเรียก "ทักษิณนิกาย" (นิกายฝ่ายใต้) คือ "เถรวาท" ซี่งมุ่งสอนให้พระสงฆ์ปฏิบัติเพื่อดับกิเลสของตนเองก่อน และห้ามเปลี่ยนแลงแก้ไขพระธรรมวินัยอย่างเด็ดขาด คำว่า "หีนยาน" เป็นคำที่ฝ่ายมหายานตั้งให้ แปลว่า "ยานเล็ก" ส่วนภิกษุฝ่ายใต้เรียกตัวเองว่า "เถรวาท"หมายถึง ผู้ปฏิบัติตามพุทธบัญญัติอย่างเที่ยงตรง นิกายนี้มีผู้นับถือมากในประเทศศรีลังกา พม่า ลาว ไทย และกัมพูชา

สำหรับพระเจ้าอโศกมหาราชนั้น เป็นกษัตริย์พระองค์ที่ ๓ แห่งราชวงศ์โมริยะ ครองราชสมบัติ ณ พระนครปาฏลีบุตร ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๖๐ เมื่อครองราชย์ได้ ๘ พรรษา ทรงยกทัพไปปราบแคว้นกลิงคะที่เป็นชนชาติเข้มแข็งลงได้ ทำให้อาณาจักรของพระองค์กว้างใหญ่ที่สุดในประวัติชาติอินเดีย พระเจ้าอโศกมหาราชนับเป็นพระราชาผู้ยิ่งใหญ่ที่สุดพระองค์หนึ่งของชมพูทวีป

แต่ในการสงครามครั้งนั้น มีผู้คนล้มตายและประสบภัยพิบัติมากมาย ทำให้พระองค์ทรงสลดพระทัย ครั้นได้ทรงสดับคำสอนในพระพุทธศาสนา ทรงเลื่อมใส ได้ทรงเลิการสงครามหันมาทำนุบำรุงพระศาสนาและความรุ่งเรืองในทางสงบของประเทศ ทรงสร้างมหาวิหาร ๘๔,๐๐๐ แห่งทรงอุปถัมภ์การสังคายนา คือการประชุมตรวจชำระสอบทานและจัดหมวดหมู่คำสั่งสอน ของพระพุทธเจ้าวางลงเป็นแบบแผนอันหนึ่งอันเดียวการสังคายนาครั้งที่ ๓ มีขึ้นเมื่อประมาณ พ.ศ. ๒๓๔ สิ้นเวลา ๙ เดือน จึงเสร็จ นอกจากนั้นยังอุปถัมภ์การส่งศาสนทูตออกไปเผยแพร่พระพุทธศาสนา ในนานาประเทศพระเจ้าอโศกมหาราชนับเป็นพุทธศาสนูปถัมภกที่สำคัญยิ่ง

69
การสังคายนาครั้งที่ ๔

เมื่อพุทธศักราช ๒๓๖
ณ ถูปาราม เมืองอนุราชบุรี ลังกาทวีป

สำหรับการสังคายนาครั้งที่ ๔ และครั้งที่ ๕ นั้น กระทำกันขึ้นนอกชมพูทวีป คือกระทำที่ลังกาทวีป และไม่เป็นที่รับรองทั่วไป

การสังคายนาครั้งที่ ๔ ปรารภจะให้พระศาสนาประดิษฐานมั่นคงในลังกาทวีป พระสงฆ์ ๖๘,๐๐๐ รูปมีพระมหินทเถระเป็นประธานและเป็นผู้ถาม พระอริฏฐะเป็นผู้วิสัชนา ประชุมทำที่ถูปาราม เมืองอนุราชบุรีลังกาทวีป เมื่อพุทธศักราช ๒๓๖ โดยพระเจ้าเทวนัมปิยติสสะเป็นสาสนูปถัมภก์ สิ้นเวลา ๑๐ เดือนจึงเสร็จ

พระพุทธศาสนาได้เริ่มแผ่เข้าสู่ลังกาทวีป เมื่อปีพุทธศักราช ๒๓๖ - ๒๘๗ โดยการนำของพระมหินทเถระ ซึ่งพระเจ้าอโศกมหาราชและพระโมคคัลลีบุตรติสสเถระส่งไปเป็นธรรมทูต ประจำลังกาทวีป พระเถระได้ไปถึงในรัชสมัยของพระเจ้าเทวานัมปิยติสสะ ผู้เป็นอทิฏฐสหายกับพระเจ้าอโศกมหาราช พระมนินทเถระได้มาถึงลังกาทวีปเมื่อพระชนมายุ ๓๒ พรรษา และนิพพานเมื่อพระชนมายุ ๘๐ พรรษาที่เจติบรรพตซึ่งตรงกับปีที่ ๘ แห่งรัชสมัยพระเจ้าอุตติยะ ผู้เป็นพระอนุชาของพระเจ้าเทวานัมปิยติสสะ

พระเจ้าเทวานัมปิยติสสะทรงประกาศพระองค์ เป็นพุทธศสนูปถัมภก ทรงโปรดให้อุปสมบทบุคคลสำคัญ ๆ หลายท่าน และก่อสร้างวิหาร เจดีย์มากมาย โปรดให้อริฎฐมหาอำมาตย์ไปทูลพระเจ้าอโศกมหาราชขอภิกษุณีสงฆ์ เพื่อมาอุปสมบทแก่สตรีชาวลังกา ตลอดจนทูลขอกิ่งพระศรีมหาโพธิ์เพื่อสักการะบูชาด้วย พระเจ้าอโศกมหาราชทรงสนับสนุนพระราชธิดาคือ พระนางสังฆมิตตาเถรีพร้อมด้วยบริวารเพื่อไปเป็นปวัตตินีบวชกุลธิดาชาวลังกา และให้อัญเชิญกิ่งพระศรีมหาโพธิ์มาประทาน น้องสะใภ้ของพระเจ้าเทวานัมปิยติสสะทรงพระนามว่า "อนุลาเทวี" ออกอุปสมบทเป็นนางภิกษุณีพร้อมด้วยบริวารเป็นครั้งปฐมในลังกาทวีป ส่วนกิ่งมหาโพธิ์ทรงโปรดให้ปลูกขึ้นในมหาอุทยาน "มหาเมฆวัน" ซึ่งสืบเชื้อสายปรากฏอยู่ถึงปัจจุบัน

ต่อมาเมื่อการศึกษาพระธรรมวินัยแพร่หลายในหมู่สงฆ์ชาวลังกาแล้วพระมหินทเถระก็ได้ทูลขอให้พระเจ้าเทวานัมปิยติสสะทรงเป็นราชูนปถัมภ์ชุมนุมสงฆ์ ในลังกาจัดทำสังคายนาขึ้น ณ ถูปาราม เมืองอนุราชบุรี

มีพระสงฆ์ ๖๘,๐๐๐ รูป ทำอยู่ ๑๐ เดือนจึงสำเร็จ นับแต่นั้นมา พระพุทธศาสนาแบบเถรวาท (หีนยาน) เจริญรุ่งเรื่องขึ้นโดยลำดับ มีคันถรจนาจารย์ (อาจารย์ผู้แต่งคัมภีร์) แต่งคัมภีร์อรรถกถาฏีกาอธิบาย

พระไตรปิฎกเป็นภาษาลังกา เพื่อศึกษาแพร่หลาย เป็นหลักฐานยิ่งกว่าในชมพูทวีป ซึ่งนับวันนิกายเถรวาทจะหมดรัศมีลงไปเรื่อย ๆ









การสังคายนาครั้งที่ ๕

เมื่อพุทธศักราช ๔๕๐
ณ อาโลกเลณสถาน ในมลยชนบท ลังกาทวีป



การสังคายนาครั้งที่ ๕ ปรารภพระสงฆ์แตกกันเป็น ๒ พวกคือ พวกมหาวิหารกับพวกอภัยคีรีวิหาร และคำนึงว่าสืบไปภายหน้า กุลบุตรจะถอยปัญญา ควรจารึกพระธรรมวินัยลงในใบลาน ณ อาโลกเลณสถานในมลยชนบท ในลังกาทวีป เมื่อพุทธศักราช ๔๕๐ โดยพระเจ้าวัฎฎคามณีอภัยเป็นศาสนูปถัมภก์ ถึงแม้ว่าจะเป็นครั้งแรกที่เกิดความแตกแยกขึ้นในคณะสงฆ์ลังกาทวีปในด้านทิฏฐิ แต่ทางวินัยต่างฝ่ายต่างก็พร้อมกันรักษาดีอยู่อย่างน่าสรรเสริญ

70

การสังคายนาครั้งที่ ๓

เมื่อพุทธศักราช ๒๓๔
ณ อโศการมา เมืองปาฏลีบุตร

การสังคายนาครั้งที่ ๓ ปรารภเดียรถีย์มากมายปลอมบวชในพระศาสนาเพราะมีลากสักการะเกิดขึ้นมาก พระอรหันต์ ๑,๐๐๐ รูปมีพระโมทคัลลีบุตรติสสเถระ เป็นประธาน ประชุมทำที่อโศการาม เมืองปาฏลีบุตรติสสเถระเป็นประธาน ประชุมทำที่อโศกหรือศรีธรรมาโศกราช เป็นศาสนูปถัมภก์ สิ้นเวลา ๙ เดือนจึงเสร็จ

ในรัชสมัยของพระเจ้าอโศกมหาราชได้มีเดียรถีย์ปลอมเข้ามาบวชในพระพุทธศาสนา เพราะเห็นว่าพระพุทธศาสนา มีลาภสักการะมากจนพระสงฆ์เกิดรังเกียจกันเพราะไม่รู้ว่าใครเป็นใคร ในที่สุดไม่ทำอุโปสถสังฆกรรมร่วมกันถึง ๗ ปี ต่อมาความทราบถึงพระเจ้าอโศกมหาราช พระองค์ได้รังสั่งให้อำมาตย์คนหนึ่งไปอาราธนาให้พระร่วมสังฆกรรมกัน เมื่อพระเหล่านั้นไม่ยินยอม อำมาตร์ถือว่าขัดพระบรมราชโองการจึงตัดคอพระมรณภาพไปหลายองค์ พระติสสเถระซึ่งเป็นพระอนุชาของพระเจ้าอโศกเห็นเช่นนั้นจึงไปนั่งขวางไว้ อำมาตย์ไม่กล้าฆ่าพระราชอนุชา จึงกลับไปกราบทูลให้พระเจ้าอโศกมหาราชทรงทราบทุกประการ พระเจ้าอโศกมหาราชทรงตกประทัยมากกลัวว่าบาปกรรมจะมาถึงพระองค์ด้วย แม้ว่าอำมาตย์จะทำไปโดยพลการก็ตาม จึงไปเรียนถามพระเถระทั้งหลายปรากฏว่าท่านเหล่านั้นตอบไม่ตรงกัน ในที่สุดได้รับคำแนะนำจากพระเถระให้ไปอาราธนาพระโมคคัลลี บุตรติสสเถระ ให้มาวินิจฉัยให้ และจะได้ช่วยชำระเรื่องเสื่อมเสียที่เกิดขึ้น

พระโมคคัลลีบุตรดิสสเถระนี้ ท่านเล่าว่าเป็นผู้ที่พระอรหันต์ในคราวทุติยสังคายนา ขอให้จุติจากพรหมโลกมาชำระพระศาสนาในคราวนี้โดยตรง โดยมอบหมายให้พระเถระ ๒ รูปคือ พระสิคควเถระและพระจันทวิชชีเถระ รับหน้าที่ในการนำติสสมหาพรหม ซึ่งจะมาปฏิสนธิในครรถ์ของนางโมคคัลลีพราหมณ์ ให้ออกบวช อบรมให้การศึกษาจนแตกฉานในพระธรรมวินัยโดยถือเป็นทัณฑกรรมสำหรับท่านทั้ง ๒ ฐานขาดการประชุม ในคราวที่พระสงฆ์ทำทุติยสังคายนา พระเถระทั้งสองได้ทำหน้าที่ของท่านตามมติสงฆ์ทำทุติยสังคายนา พระเถระทั้งสองได้ทำหน้าที่ของท่านตามมติสงฆ์ โดยพระสิคควะเถระนำติสสกุมารออกบวชเป็นสามเณร ให้ศึกษาข้อธรรมเบื้องต้น พระจันทวัชชีเถระให้อุปสมบทเป็นภิกษุ ให้ศึกษาธรรมเบื้องสูงขึ้นไป เดียรถีย์ปลอมเข้ามาบวชในพระพุทธศาสนา เมื่อพระโมคคัลลีบุตรติสสเถระเป็นพระอรหันต์แล้ว แต่เป็นเรื่องใหญ่มาก ไม่อาจจัดการได้ด้วยลำพังอำนาจสงฆ์ ต้องอาศัยพระราชอำนาจจึงทำได้ พระเถระเมื่อเห็นเหตุการณ์เช่นนั้นจึงคิดว่า

"บัดนี้อธิกรณ์เกิดขึ้นแล้ว ไม่นานนักอธิกรณ์นี้จักหยาบช้ากล้าแข็งขึ้น ถ้าเราอยู่ในท่ามกลางเดียรถีย์ เหล่านี้จักไม่อาจระงับอธิกรณ์ได้ " จึงมอบหมายการบริหารสงฆ์ให้พระมหินทเถระ ซึ่งเป็นลัทธิวิหารริกของท่าน และเป็นราชโอรสของพระเจ้าอโศกมหาราช ท่านเองได้หลีกไปพักอยู่ที่อโธคังบรรพต ตอนเหนือของแม่น้ำคงคา

พระเจ้าอโศกมหาราชส่งอำมาตย์ พระธรรมกถึก ๔-๘ ท่านพร้อมด้วยบริวารไปเรียนให้พระโมคคัลลีบุตรติสสเถระมาตามพระบรมราชโองการ ๒ คราว แต่พระเถระไม่ยอมรับอาราธนา เพราะท่านเหล่านั้นพูดไม่ถูกเรื่อง จึงต้องเพิ่มจำนวนพระธรรมกถึก อำมาตย์ ๑๖ คน พร้อมด้วยบริวารให้ไปอาราธนาว่า

"ข้าแต่พระคุณเจ้า ศาสนากำลังเสื่อมโทรม ขอพระคุณเจ้าเป็นสหายของพวกข้าพเจ้า เพื่อเชิดชูพระพุทธศาสนาเถิด"

เมื่อพระเถระได้สดับพระราชสาสน์นั้นคิดว่า

"เรามาบวชด้วยตั้งใจว่า จักเชิดชูพระศาสนามาตังแต่ต้นแล้วเวลาของเรามาถึงแล้ว"

พระเถระได้มาด้วยแพล่องมาตามลำน้ำคงคา พระเจ้าอโศกมหาราชเสด็จลงต้อนรับด้วยความเลื่อมใส แต่ยังข้องใจในคุณสมบัติของพระเถระ หลังจากได้ทดสอบแล้วจึงเกิดความมั่นพระทัยในคุณสมบัติของพระเถระ หลังจากได้ทดสอบแล้วจึงเกิดความมั่นพระทัยในคุณสมบัติของพระเถระ จึงได้เรียนถามข้อที่ทรงข้องพระทัย เรื่องอำมาตย์ฆ่าพระเถระมรณภาพไปหลายรูป พระเถระได้ถวายวิสัชนาให้หายข้องพระทัยความว่า เมื่อพระองค์ไม่มีพระประสงค์จะให้อำมาตย์ฆ่าภิกษุ บาปจึงไม่มีแก่พระองค์ และให้พระราชามั่นพระทัยด้วยพระพุทธภาษิตว่า

"ภิกษุทั้งหลาย เรากล่าวเจตนาว่าเป็นกรรม บุคคลคิดแล้วจึงกระทำกรรมด้วยกาย วาจา ใจ "

นอกจากนั้น พระเถระยังได้ยกภาษิตของดาบสในติตติรชาดกความว่า
"ถ้าท่านไม่มีความคิดไซร้ บาปก็ไม่มี แท้จริงกรรมย่อมถูกต้องบุคคลผู้คิดอยู่เท่านั้น หากถูกต้องบุคคลผู้ไม่คิดไม่"

หลังจากพระเจ้าอโศกมหาราชทรงสบายพระทัย เพราะได้ฟังคำวินิจฉัยพระเถระแล้ว พระเถระได้ถวายพระพรให้ทราบเรื่องสถานการณ์ของพระพุทธศาสนาในกรุงปาฏิลีบุตร พร้อมกับให้พระราชาเรียนสัจธรรมทางพระพุทธศาสนา จนสามารถแยกได้ว่าอะไรเป็นคำสอนของพระพุทธศาสนา อะไรไม่ใช่ พระเจ้าอโศกมหาราชได้เรียกภิกษุทั้งหลายมาสอบถามด้วยพระองค์เองว่า
"ก็วาที สมมาสมพุทโธ พระสัมมาสัมพุทธเจ้ามีปกติตรัสว่าอย่างไร"
ท่านรูปใดตอบว่า วิภชชวาที มีปรกติตรัสจำแนก ถือว่าเป็นพระที่แม่จริง ท่านที่ตอบเป็นอย่างอื่น ถือว่าเป็นเดียรถีย์ปลอมบวช รับสั่งให้แจกผ้าขาวแก่คนเหล่านั้น ให้สึกออกไปจำนวนมาก

เมื่อได้มีการชำระสังฆมณฑลให้บริสุทธิ์แล้ว พระเจ้าอโศกมหาราชจึงได้อาราธนาให้พระสงฆ์ทำอุโบสถสังฆกรรมกันตามปรกติโดยพระองค์ทำการอารักขาพระสงฆ์ทั้งปวงก็พร้อมเพรียงกันทำอุโบสถตั้งแต่นั้นมา พระโมคคัลลีบุตรติสสเถระได้เลือกพระจำนวน ๑,๐๐๐ รูปเฉพาะท่านที่ทรงพระปริยัติ (เล่าเรียนพระธรรมวินัย) แตกฉานในปฏิสัมภิทา (ปัญญาแตกฉานมี ๔ คือ ๑. แตกฉานในอรรถ ๒. แตกฉานในธรรม ๓.แตกฉานในนิรุกติคือ ภาษา ๔. แตกฉานในปฏิภาณ) และชำนาญในวิชชา ๓ ประชุมกันทำสังคายนาครั้งที่ ๓ ขึ้นที่อโศการามเมืองปาฏลีบุตร ภายใต้พระบรมราชูปถัมภ์ของพระเจ้าอโศกมหาราช ประเด็นสำคัญในตติสังคายนาคือ

๑. พระโมคคัลลีบุตรติสสเถระเป็นประธาน มีสังคีติกาจารย์เข้าร่วม ๑,๐๐๐ รูป ทำที่อโศการาม เมืองปาฏลีบุตร พระเจ้าอโศกมหาราชเป็นองค์อุปถัมภ์ เริ่มทำปีพุทธศักราช ๒๓๔

๒. พระโมคคัลลีบุตรติสสเถระ ได้ยกเอาวาทะของนิกายต่าง ๆ ที่เผยแพร่กันในสมัยนั้นขึ้นวิพากย์เกือบ ๓๐๐ ข้อ ถือว่าเป็นความเห็นผิดจากพระพุทธศาสนา เป็นเหตุให้เกิดคัมภีร์ "กถาวัตถุ ในพระอภิธรรมปิฎก" ขึ้นทำให้คัมภีร์ในอภิธรรมปิฏกสมบูรณ์ในคราวนี้เอง

๓.รูปแบบการสังคายนาอย่างอื่นทำตามแบบที่พระสังคีติกาจารย์ในคราวปฐมสังคายนาท่านกระทำโดยใช้เวลานานถึง ๙ เดือน จึงสำเร็จ

๔.พระโมคคัลลีบุตรติสสเถระพิจารณาเห็นว่า กาลต่อไปพระพุทธศาสนาจะไปตั้งมั่นนอกชมพูทวีป จึงได้จัดส่งพระเถระพร้อมด้วยบริวารไปเผยแผ่พระศาสนา ในส่วนต่าง ๆ ของทวีปเอเชีย ๙ สาย (มีความโดยละเอียดในหัวข้อ "กาลต่อไปพระพุทธศาสนาจะไปตั้งมั่นนอกชมพูทวีป")

71
การสังคายนาครั้งที่ ๒

เมื่อพุทธศักราช ๑๐๐
ณ วาลิการาม เมืองเวสาลี แคว้นวัชชี

การสังคายนาครั้งที่ ๒ ปรารถพวกภิกษุวัชชีบุตรกแสดงวัตถุ ๑๐ ประการนอกธรรมนอกวินัย พระยศกากัณฑกบุตรเป็นผู้ชักชวน ได้พระอรหันต์ ๗๐๐ รูป พระเรวตะเป็นผู้ถาม พระสัพพกามีเป็นผู้วิสัชนา ได้พระอรหันต์ ๗๐๐ รูป พระเรวตะเป็นผู้ถาม พระสัพพกามีเป็นผู้สิสัชนาประชุมทำที่วาลิการาม เมืองเวสาลี เมื่อุทธศักราช ๑๐๐ โดยพระกาลาโศกราชเป็นศาสนูปภัมภก์ สิ้นเวลา ๘ เดือนจึงเสร็จ

หลังจากพระพุทธเจ้าได้เสด็จดับขันธปรินิพพานผ่านไปได้ ๑๐๐ ปี พระภิกษุที่จำพรรษาในเมืองเวสาลี ได้ประพฤติผิดวินัย ๑๐ ประการเรียกว่าวัตถุ ๑๐ ประการคือ
๑. ภิกษุจะเก็บเกลือไว้ในเขนง (ภาชนะที่ทำด้วยเขาสัตว์) แล้วนำไปฉันปนกับอาหารได้
๒. ภิกษุจะฉันอาหารหลังจากตะวันบ่ายผ่านไปเพียง ๒ องคุลี
๓. ภิกษุฉันภัตตาหารในวัดเสร็จแล้ว ห้ามภัตแล้วเข้าไปสู่บ้านจะฉันอาหารที่ไม่เป็นเดนและไม่ได้ทำวันัยกรรมตามพระวินัยได้
๔. ในอาวาสเดียวมีสีมาใหญ่ ภิกษุจะแยกกันทำอุโบสถได้
๕. ในเวลาทำอุโบสถ แม้ว่าพระจะเข้าประชุมยังไม่พร้อมกันจะทำอุโบสถไปก่อนได้ โดยให้ผู้มาทีหลังขออนุมัติเอาเองได้
๖. การประพฤติปฏิบัติตามพระอุปัชฌายะอาจารย์ ไม่ว่าจะผิดหรือถูกพระวินัยก็ตาม ย่อมเป็นการกระทำที่สมควรเสมอ
๗. นมส้มที่แปรมาจากนมสดแต่ยังไม่กลายเป็นทธิ(นมเปรี้ยว)ภิกษุฉันภัตตาหารเสร็จแล้ว ห้ามภัตแล้ว จะฉันนมนั้นทั้งที่ยังไม่ได้ทำวินัยกรรม หรือทำให้เดนตามพระวินัยก็ได้
๘. สุราที่ทำใหม่ ๆ ยังมีสีแดง เหมือนสีเท้านกพิราบ ยังไม่เป็นสุราเต็มที่ ภิกษุจะฉันก็ได้
๙. ผ้าปูนั่งคือนิสีทนะอันไม่มีชาย ภิกษุจะบริโภค ใช้สอยก็ได้
๑๐. ภิกษุรับและยินดีในทองเงินที่เขาถวายหาเป็นอาบัติไม่

ต่อมาพระเถระอรหันต์ รูปหนึ่งชื่อพระยสกากัณฑกบุตร จากเมืองโกสัมพีได้ไปที่เมืองเวสาลี ได้พบเห็นพระภิกษุวัชชีบุตรชาวเมืองเวสาลี นำถาดทองสำริดเต็มด้วยน้ำ นำมาวางไว้ที่โรงอุโบสถ แล้วประกาศเชิญชวนให้ชาวบ้านบริจาคเงินใส่ลงในถาดนั้น โดยบอกว่าพระมีความต้องการด้วยเงินทอง แม้พระยสเถระจะห้ามปรามไม่ให้มีการถวายเงินทองในทำนองนั้น พระภิกษุวัชชีบุตรก็ไม่เชื่อฟังชาวบ้านเองก็คงถวายตามที่เคยปฏิบัติมา พระเถระจึงตำหนิทั้งพระวัชชีบุตรและชาวบ้าน ที่ถวายเงินทองและรับเงินทองในลักษณะนั้นเมื่อพระภิกษุวัชชีบุตรได้รับเงินแล้ว นำมาแจกกันตามลำดับพรรษานำส่วนของพระยสการัณฑบุตรมาถวายท่าน พระเถระไม่ยอมรับและตำหนิอีก

ภิกษุวัชชีบุตรไม่พอในที่พระเถระไม่ยอมรับตำหนิ จึงประชุมกันฉวยโอกาสลงปฏสาราณียกรรม คือการลงโทษให้ไปขอขมาคฤหัสถ์โดยกล่าวว่าพระเถระรุกรานชาวบ้าน ซึ่งพระเถระก็ยิยยอมไปขอขมาโดยนำภิกษุอนุฑูตไปเป็นพยานด้วย เมื่อไปถึงสำนักของอุบาสก พระเถระได้ชี้แจงพระวินัยให้ฟัง และบอกให้ชาวบ้านเหล่านั้นทราบว่า การกระทำของพระภิกษุวัชชีบุตรเป็นความผิด โดยยกเอาพระพุทธภาษิตที่พระพุทธเจ้าทรงไว้ความว่า

"พระจันทร์และพระอาทิตย์ไม่ได้ร้อนแรงและรุ่งเรืองด้วยรัศมีเพราะโทษมลทิน ๔ ประการ คือ หมอก ควัน ธุลี และอสุรินทราหู กำบังฉันใด ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ จะไม่มีตบะรุ่งเรืองด้วยศีล เพราะโทษมลทิน ๔ ประการปิดบังไว้ คือ ดื่มสุราเมรัย เสพเมถุนธรรม ยินดีรับเงินและทองอันเป็นเหมือนภิกษุนั้นยินดีบริโภคซึ่งกามคุณ และภิกษุเลี้ยงชีพในทางมิชอบด้วย เวชชกรรม กุลทูสกะ (ประจบเอาใจคฤหัสถ์ด้วยอาการอันผิดวินัย) อเนสนา (การหาลี้ยงชีพในทางที่ไม่สมควรภิกษุ) และวิญญัติ (ขอสิ่งของต่อคฤหัสถ์ผู้ที่ไม่ญาติ ผู้ไม่ใช่คนปวารณา) พร้อมด้วยกล่าวอวดอตตริมนุษย์ธรรม อันไม่มีจริง"

เมื่อพระยสกากัณฑกบุตรชี้แจง ให้อุบาสกอุบาสิกาเข้าใจแล้ว คนเหล่านั้นเกิดความเลื่อมใสพระเถระ อาราธนาให้ท่านอยู่จำพรรษา ณ วาลการาม โดยพวกเขาจะอุปฐากบำรุงและได้อาศัยท่านบำเพ็ญกุศลต่อไป ฝ่ายภิกษุที่เป็นอนุฑูตไปกับพระเถระ ได้กลับมาแจ้งเรื่องทั้งปวงให้ภิกษุวัชชีบุตรทราบ ภิกษุวัชชีบุตรจะใช้พวกมากบีบบังคับพระเถระด้วยการลงอุปเขปนียกรรม (ตัดสิทธิแห่งภิกษุชั่วคราว) แก่ท่านได้พากันยกพวกไปล้อมกุฏิของพระเถระ แต่พระเถระทราบล่วงหน้าเสียก่อนจึงได้หลบออกไปจากที่นั้น

พระยาสกากัณฑกบุตรพิจารณาเห็นว่า เรื่องนี้หากปล่อยไว้เนิ่นนานไป พระธรรมวินัยจะเสื่อมถอยลง พวกอธรรมวาทีอวินัยวาทีได้พวกแล้วจักเจริญขึ้น จึงได้ไปเมองปาฐา เมืองอวันตี และทักขิณาบถแจ้งให้พระที่อยู่ในเมืองนั้น ๆ ทราบ เพื่อจะได้ร่วมกันแก้ไข และได้ไปเรียนให้พระสาณสัมภูตวาสี ซึ่งพำนักอยู่ ณ อโหคังคบบรรพตทราบและขอการวินิจฉัยจากพระเถระ พระสาณสัมภูตวาสีมีความเห็นเช่นเดียวกับพระยาสกากัณฑกบุตรทุกประการ

ในที่สุดพระเถระอรหันต์จากเมืองปาฐา ๖๐ รูป จากแคว้นอวัตีและทักขิณาบถ ๘๐ รูป ได้ประชุมร่วมกับพระสาณสัมภูตวาสีและพระยสกากัณฑกบุตร ณ อโหคังคบพรรพต มติของที่ประชุมเห็นร่วมกันว่าเรื่องนี้จะต้องมีการชำระกันให้เรียบร้อย โดยตกลงให้ไปอาราธนาพระเรวตเถระ ซึ่งเป้นพระอรหันต์ที่เป็นพหูสูตร ชำนาญในพระวินัยทรงธรรมวินัยมาติกาฉลาดเฉียบแหลม มีความละอายบาปรังเกียจบาปใคร่ต่อสิขาและเป็นนักปราชญ์ ให้เป็นประธานในการวินิจฉัยตัดสินเรื่องวัตถุ ทั้ง ๑๐ ประการนี้

พระสาณสัมภูตวาสีได้นำเรื่องวัตถุ ๑๐ ประการ เรียนถวายให้พระเรวตเถระทราบ และขอให้ท่านวินิจฉันทีละข้อ ปรากฏว่าทุกข้อที่ภิกษุวัชชีบุตรกระทำนั้น เป็นความผิดทางวินัยทั้งหมด จึงตกลงร่วมกันที่จะชำระเรื่องนี้ และจัดการสังคายนาพระธรรมวินัยทั้งหมด จึงตกลงร่วมกันที่จะชำระเรื่องนี้ และจัดการสังคายนาพระธรรมวินัยตามที่พระสังคีติกาจารย์ได้กระทำมาแล้วในคราวสังคายนา

ในที่สุดที่ประชุมของพระอรหันต์ทั้งหลายได้ตกลงกันว่า อธิกรณ์ (เรื่องที่สงฆ์ต้องดำเนินการ) เกิดขึ้นในที่ใด ควรไปจัดการระงับในที่นั้นโดยพระเรวตเถระได้ประกาศให้สงฆ์ทราบด้วยญัตติทุติยกรรมวาจา ขอให้สงฆ์ระงับอธิกรณ์ด้วยอพุพาหิกา คือ การยกอธิกรณ์ไปชำระในที่เกิดอธิกรณ์ สงฆได้คัดเลือกพระเถระ ๘ รูปคือ
- พระสัพพากามีเถระ พระสาฬหเถระ พระขุชชโสภิตเถระ พระวาสภคามีเถระทำหน้าที่แทนฝ่ายปราจีนคือพวกวัชชีบุตร ทำหน้าที่ในการวินิจฉัยอธิกรณ์
- พระเรวตเถระ พระสาณสัมภูตวาสี พระยสกากัณฑกบุตร เถระพระสุมนเถระเป็นตัวแทนฝ่ายเมืองปาฐา ทำหน้าที่เป็นตัวแทนฝ่ายเมืองปาฐา ทำน้าที่เป็นตัวแทนฝ่ายสงฆ์ธรรมวาที มีหน้าที่ในการเสนออธิกรณ์ต่อสงฆ์

สงฆ์ได้มอบหมายการสวดปาติโมกข์ การจัดแจงเสนาเสนะให้เป็นหน้าที่ของพระอชิตะ ซึ่งพรรษาได้ ๑๐ พรรษา และตกลงเลือกเอาวาลิการามหรือวาลุการาม เมืองเวสาลี อันเป้นที่เกิดเรื่องวัตถุ ๑๐ ประการ เป็นศิษย์ของพระอนุรุทธเถระ อีก ๖ รูป เป้นศิษย์ของพระอานนท์เถระซึ่งเป็นสังคีติกาจารย์สำคัญในราวปฐมสังคายนา

เมื่อพระเจ้ากาลาโศกราชรับสั่งให้พระสงฆ์ทัเง ๒ ฝ่ายประชุมร่วมกัน และขอให้แต่ละฝ่ายแถลงเหตุผลให้ทราบ ทรงโปรดในเหตุผลของฝ่ายพระอรหันต์ทั้งหลาย จึงปวารณาพระองค์ที่จะให้การอุปถัมภ์ฝ่ายอาณาจักรทุกประการ และโปรดให้ชำระมลทินพระศาสนา พร้อมด้วยการทำทุติยสังคายนา (การร้อยกรองพระธรรมวินัยครั้งที่ ๒) ที่วาลุการาม เมืองเวสาลี พระอรหันต์เข้าร่วม ๗๐๐ รูปโดยมีการทำตามลำดับดังนี้

๑. พระเถระที่ได้กำหนดหน้าที่กันฝ่ายละ ๔ รูปนั้น พระเรวตเถระเอาวัตถุ ๑๐ ประการขึ้นมาถามทีละข้อ พระสัพพากามีเถระได้ตอบไปตามลำดัสว่า

๑.๑ การเก็บเกลือไว้ในแขนง โดยตั้งใจว่าจะใส่ลงในอาหารที่จืดฉันเป้นอาบัติปาจิตตีย์ (จัดไว้ในจำพวกอาบัติเบา พ้นได้ด้วยการแสดง) เพราะการสะสมอาหารตามโภชนสิกขาบท
๑.๒ การฉันโภชนะในเวลาวิกาลเมื่อตะวันบ่ายคล้อยไปแล้ว ถึง ๒ องคุลี ผิดต้องอาบัติปาจิตตีย์ เพราะฉันโภชนะในยามวิกาล
๑.๓ ภิกษุฉันอาหารเสร็จแล้วคิดว่าจักฉันอาหารเข้าไปในบ้านแล้วฉันโภชนะที่เป็นอนติริตตะ (อาหารซึ่งไม่เป็นเดน ที่ว่าเป็นเดนมี ๒ คือ เป็นเดนภิกษุไข้ ๑ เป็นของที่ภิกษุทำให้เป็นเดน ๑) ผิดเป็นอาบัติปาจิตตีย์ เพราะฉันอาหารที่ไม่เป็นเดนภิกษุไข้ และไม่ได้ทำวินัยกรรมก่อน
๑.๔ สงฆ์ทำสังฆกรรมด้วยคิดว่าให้พวกมาทีหลังอนุมัติทั่งที่ยังประชุมไม่พร้อมหน้ากัน ผิดหลักที่ทรงบัญญัติไว้ในจัมเปยขันธกะ ใครทำต้องอาบัติทุกกฏ
๑.๕ อาวาสแห่งเดียวมีสีมาเดียวเท่านั้น ภิกษุจะแยกกันทำอุโบสถสังฆกรรมไม่ได้ ผิดหลักที่สรงบัญญัติไว้ในอุปโบสถขันธกะ ใครขืนทำต้องอาบัติทุกกฏ
๑.๖ การประพฤติปฏิบัติด้วยความเข้าใจว่าอุปัชฌาย์อาจจารย์ของเราเคยประพฤติมาอย่างนี้ ไม่ถูกต้องนัก เพราะท่านเหล่านั้นอาจจะประพฤติผิดหรือถูก ก็ได้ ต้องยึดหลักพระวินัยจึงจะสมควร
๑.๗ นมส้มที่ละความเป็นนมสดไปแล้ว แต่ยังไม่กลายเป็นทธิภิกษุฉันภัตตาหารส้มห้ามภัตรแล้ว จะดื่มนมนั้นอันไม่เป็นเดนภิกษุไข้หรือยังไม่ทำวินัยกรรมไม่ควรต้องอาบัติปาจิตตีย์ เพราะฉันอาหารที่เป็นอนติริตตะ
๑.๘ การดื่มสุราอย่างอ่อนที่มีสีเหมือนเท้านกพิราบ ซึ่งยังไม่ถึงความเป็นน้ำเมาไม่ควร เป็นปาจิตตีย์ เพราะดื่มสุราและเมรัย
๑.๙ ผ้านิสีทนะที่ไม่มีชายภิกษุจะใช้ไม่ควร ต้องอาบัติปาจิตตีย์ซึงต้องตัดเสียจึงแสดงอาบัติตก
๑.๑๐ การรับเงินทองหรือยินดีทองเงินที่เขาเก็ไว้เพื่อตนไม่ควรต้องอาบัตินิสสัคคียะ ปาจิตติยะ เพราะรับทองและเงินซึ่งจะต้องสละจึงแสดงอาบัติตก
ทุกข้อที่พระสัพพกามีวิสัชชนา ฝ่ายพระเรวตเถระได้เสนอให้สงฆ์ทราบทุกข้อและขอมติจากสงฆ์เพื่อให้ยอมรับว่า
"วัตถุเหล่านี้ผิดธรรม ผิดวินัย เป็นการหลีกเลี่ยงต่อคำสอนของพระพุทธเจ้า" และได้ขอให้สงฆ์ลงมติทุกครั้นที่พระสัพพากมีเถระตอบ มติของสงฆ์จึงเห็นว่าวัตถุ ๑๐ ประการนี้ ผิดธรรม ผิดวินัย โดยเสียงเอกฉันท์

๒. จากนั้นพระเถระทั้งหลายจึงเริ่มสังคายนาพระธรรมวินัยตามแบบที่พระมหากัสสปเถระ เป็นต้น ได้กระทำในคราวปฐมสังคายนากระทำสังคายนาคราวนี้ใช้เวลา ๘ เดือนจึงสำเร็จ

72
"สังคายนา ๕ ครั้ง"

การสังคายนา หมายถึง การประชุมตรวจชำระสอบทานและจัดหมวด หมู่คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า วางลงเป็นแบบแผนอันหนึ่งอันเดียวกัน การสังคายนาพระพุทธศาสนา ครั้ง ที่ ๑ ถึง ครั้งที่ ๕ มีความเป็นมาดังนี้

สถานการณ์พระพุทธศาสนาบางอย่าง มีความเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ก่อนพุทธปรินิพพาน ซึ่งตอนปลายพุทธสมัยมีเหตุการณ์ที่น่าสนใจหลายประการเช่น
พระมหาเถรผู้ใหญ่อย่าง พระสารีบุตรเถระ พระโมคคัลลานะเถระ เป็นต้น ได้นิพพานไปก่อนการปรินิพพานของพระพุทธเจ้าทำให้โฉมหน้าพระพุทธศาสนาเปลี่ยนแปลงไป เพราะตามหลักฐานในจาตุมสูตร พระพุทธเจ้าทรงยกย่องพระอัครสาวกทั้งสองว่า อยู่ในฐานะที่จะบริหารคณะสงฆ์เสมอด้วยประองค์ หากพระอัครสาวกทั้งสองไม่นิพพานไปก่อนระบบการปกครองอาจจะเป็นแบบของศาสนาคริสต์ก็ได้
เมื่อพระอัครสาวกทั้นสองนิพพานไปแล้วพระมหาเถระรูปอื่นไม่รับยกบ่องในฐานะดังกล่าว รูปการปกครองพระพุทธศาสนาจึงต้องให้พระสงฆ์ยึดถือพระธรรมวินัยที่พระองค์ทรงบัญญัติแสดงแล้ว เป็นศาสดาแทนพระองค์อย่างที่เป็นอยู่

ฝ่ายคฤหัสถ์ที่มีบทบาทสำคัญในการอุปถัมภ์บำรุงพระพุทธศาสนา เช่น พระเจ้าพิมพิสาร พระเจ้าปเสนทิโกศล พระเจ้าสุทโธทนะได้สวรรคตและนิพพานไปก่อนไม่นานนัก ท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐีนางอุตราอุบาสิกาเป็นต้น ก็ได้สิ้นชีวิตไปก่อนพระพุทธเจ้าทำให้ผู้อุปถัมภ์พระพุทธศาสนาขาดไปหลายท่าน

พระพุทธศาสนาได้เผยแพร่ออกไปไกลมาก ทำให้การติดต่อสอบทามความรู้ความเข้าใจในพระธรรมวินัยไม่สะดวกเท่าที่ควร ทั้งคนที่เข้ามาบวชก็มีเจตนาแตกต่างกัน ทำให้เรื่องเสื่อมเสียบางอย่างเกิดขึ้นและมีคนบางพวกที่ต้องการเป็นพระ แต่ไม่ยินดีที่จะปฏิบัติตามพระธรรมวินัย คนเหลานั้นได้แสดงความคิดเห็นของตนออกมาในโอกาส ต่าง ๆ แต่ความแตกแยกอย่างรุนแรงคงไม่เกิดขึ้นหรือถึงแม้จะเกิดขึ้นก็สามารถระงับลงไปได้ ทั้งนี้มิได้หมายความว่า คนพวกนี้จะหมดไปก็หาไม่ เป็นเพียงสงบอยู่ชั่วคราวเท่านั้นเอง

พระเถระทั้งหลายในสมัยพุทธกาลและหลังพุทธกาล มีความรับผิดชอบต่อพระพุทธศาสนาสูง ได้พยายามรักษาป้องกันพระธรรมวินัยไว้ด้วยวิธีการต่าง ๆ เช่นพระจุนทเถระ ปรารภการนิรวาณของท่านมหาวีระจนสาวกแตกแยกกันเป็นสองฝ่าย ได้เสนอให้มีการสังคายนาพระธรรมวินัยจนพระสารีบุตรเถระ ได้รับพุทธานุมัติให้จัดทำ แต่ทำไม่สำเร็จเพราะท่านนิพพานเสียก่อน

หลังจากพระพุทธเจ้าปรินิพพานเพียง ๗ วัน คนที่ต้องการเป็นพระในพระพุทธศาสนา แต่ไม่ยินดีที่จะปฏิบัติตามพระธรรมวินัยก็แสดงตัวออกมา จนเป็นเหตุนำไปสู่สังคายนาครั้งที่ ๑



การสังคายยานาครั้งที่ ๑

หลังพุทธปรินิพาน ๓ เดือน
ณ ถ้ำสัตตบรรณคูหา ภูเขาเวภารบรรพต
เมืองราชคฤห์ แคว้นมคธ



การสังคายนาครั้งที่ ๑ ปรารภเรื่องสุภัททภิกษุผู้บวชเมื่อแก่ได้กล่าวจ้วงจาบพระธรรมวินัย และปรารถที่จะทำให้พระธรรมรุ่งเรืองอยู่สืบไปพระอรหันต์ ๕๐๐ รูปมีพระมหากัสสปะเป็นประธานและเป็นผู้ถามพระอุบาลีเป็นผู้วิสัชนาพระวินัย พระอานนท์เป็นผู้วิสัชนา พระธรรมประชุมสังคายนาที่ถ้ำสัตตบรรณคูหา ภูเขาภารบรรพต เมืองราชคฤห์แคว้นมคธ เมื่อหลังพุทธปรินิพพาน ๓ เดือน โดยพระเจ้าอชาตศัตรูเป็นศาสนูปถัมภก์ สิ้นเวลา ๗ เดือนจึงเสร็จ

เมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพานผ่านไปได้ ๗ วัน พระมหากัสสปะเถระพร้อมด้วยภิกษุสงฆ์ ๕๐๐ รูป ได้ทราบจากปริพาชกท่านหนึ่งว่า พระพุทธเจ้าเสด็จปรินิพพานได้ ๗ วันแล้ว ขณะที่ท่านและภิกษุสงฆ์ทั้งหลายเดินทางจากเมืองปาวาใกล้มาถึงนครกุสินารา ภิกษุทั้งหลายเมื่อได้ทราบข่าวต่างก็แสดงตัวออกมาแตกต่างกันคือ

ท่านที่เป็นพระอริยบุคคล มีสติอดกลั้นด้วยคิดว่า สังขารทั้งหลายไม่เที่ยง คนจะได้สิ่งที่เที่ยงจากสังขารทั้งหลายแต่ที่ได้ ฝ่ายท่านที่ยังมีราคะ โทสะ โมหะ อยู่ได้แสดงความเศร้าโศกเพราะปิยวิปโยคอย่างหนักว่า

"พระผู้มีพระภาคเจ้าปรินิพพานเร็วนัก พระสุคตเสด็จปรินิพพานเร็วนัก จักษุแห่งโลกหายไปจากโลกเร็วนัก"

ในขณะที่พระอริยบุคคลทั้งหลายได้แสดงความจริงแห่งสังขารเพื่อให้ภิกษุเหล่าวนั้นยอมรับตามพระพุทธดำรัสความว่า
"ท่านทั้งหลายอย่าเศร้าโศกร่ำไรไปเลย พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสไว้ก่อนแล้วมิใช่หรือว่า ความเป็นต่าง ๆ ความเว้น ความเป็นอย่างอื่นจากสัตว์และสังขารที่รักที่ชอบใจทั้งปวง ย่อมไม่อาจจะหาสิ่งที่เที่ยงจากสังขารทั่งหลาย สิ่งใดเกิดมาแล้มีแล้ว อันปัจจัยปรุงแต่งแล้ว ต้องมีความแตกสลายไปเป็นธรรมดา การที่เราจะปรารถนาว่า ขอสิ่งนั้นอย่าสลายเลย ไม่เป็นฐานะที่จะมีได้"

เวลานั้นมีภิกษุรูปหนึ่งบวชเมื่อแก่ ชื่อสภัททะ มีจิตดื้อด้านด้วยสันดานพาลชน เป็นอลัชชีมืดมนย่อหย่อนในพระธรรมวินัยกลับกล่าวขึ้นว่า

"พวกเราพ้นจากมหาสมณะนั้นด้วยดีแล้ว เพราะเมื่อก่อนท่านได้เบียดเบียนเรา ด้วยการตักเตือนว่า นี่ควร นี่ไม่ควร สำหรับพวกเธอทั้งหลาย บัดนี้พวกเราสบายแล้ว พวกเราต้องการทำสิ่งใดก็ทำสิ่งน้นไม่ต้องการทำสิ่งใดก็ไม่ทำสิ่งนั้น"

คำพูดของสุภัททภิกษุถือว่าเป็นการกล่าวจ้วงจาบขาดความเคารพต่อพระธรรมวินัย ทั้ง ๆ ที่ตนเองเป็นพุทธสาวก เสมือนผู้แสดงตนเป้นขบถต่อพระพุทธศาสนา แต่เนื่องจากเป็นเวลาที่ใกล้ถวายพระเพลิงพระพุทธสรีระ พระมหากัสสปะจึงไม่ได้กล่าวอะไรในขณะนั้น

หลังจากถวายพระเพลิงพระพุทธสรีระแล้ว พระมหากัสสปะเถระจึงนำเรื่องนี้เข้าที่ประชุมสงฆ์ พร้อมกับเสนอให้มีการสังคายนาพระธรรมวินัยโดยให้เหตุผลว่าถ้าปล่อยนานไป "สิ่งที่ไม่ใช่ธรรมไม่ใช่วินัยจักเจริญ สิ่งที่เป็นธรรมเป็นวินัยจะเสื่อมถอย พวกอธรรมวาที อวินัยวาทีได้พวกแล้วจักเจริญ ฝ่ายธรรมวาทีวินัยวาทีจะเสื่อมถอย"

นอกจากนี้พระมหากัสสปะเถระยังมีเหตุผลส่วนตัวท่าน ที่จะต้องพิทักษ์ศาสนธรรมอันเป็นตัวแทนของพระศาสดาไว้ คือท่านได้รับยกย่องจากพระพุทธเจ้าว่า มีธรรมเครื่องอยู่เสมอด้วยพระองค์ และทรงเปลี่ยนผ้าสังฆาฏิของพระองค์กับท่าน อันเปรียบเหมือนพระเจ้าจักพรรดิทรงเปลื้องเกราะมอบให้แก่เชฏฐโอรส เพื่อเป็นเครื่องหมายว่าพระราชโอรสจะเป็นผู้รับผิดชอบราชการแผ่นดินต่อไป หลังจากพระองค์สวรรคตไปแล้วฐานะที่ทรงยกย่องพระมหากัสสปะเถระทั้ง ๒ นี้ไม่เคยยกย่องพระสาวกรูปอื่นเลย

ในที่สุดมติที่ประชุมของเถระทั้งหลายในคราวนั้น กำหนดให้มีการสังคายนาพระธรรมวินัย โดยใช้การสงฆ์ (สงฆ์ผู้กระทำ) ๕๐๐ รูปเป็นพระอรหันต์ล้วน ๆ เพื่อประกอบกันเป็นสังคีติกาจารย์ และกำหนดให้ทำสังคายนาที่สัตตบรรณคูหา ข้างเวภารบรรพต กรุงราชคฤห์เมื่อพระมหากัสสปะเถระเลือกพระอรหันต์ทั้งหลายอยู่นั้น เลือกไปได้ครบ ๔๙๙ รูป ก็เกิดปัญหาคือสังคายนาครั้งนี้จะขาดพระอานนท์เถระไม่ได้ เพราะท่านทรงจะพระธรรมวินัยได้ทั้งหมด แต่ถ้จะเลือกท่านเข้าร่วมด้วยผิดมติที่ประชุมเพราะท่านยังเป็นพระโสดาบันอยู่ ในที่สุดประชุมจึงเสนอให้พระมหากัสสปะเถระเลือกพระอานนท์เถระเข้าไปด้วยโดยให้เหตุผลว่า

แม้พระอานนท์เถระจะเป็นพระเสขบุคคล (พระอริยบุคคลที่ยังไม่บรรลุอรหัตตผล เป็นผู้ยังต้องศึกษา) แต่ท่านไม่ลำเอียงด้วยอคติ ๔ ประการ

พระอานนท์เถระ เป็นเหมือนคลังพระสัทธรรม (ธรรมที่ดีธรรมที่แท้) เพราะได้สดับจากพระพุทธเจ้ามากว่าพระเถระทั้งหลายเป็นอันมาก

พระมหากัสปะเถระจึงเลือกพระอานนท์เถระเข้าร่วมในการสังคายนาและประกาศด้วยญัติทุตยกรรมวาจาให้พระสงฆ์ทั้งปวงยอมรับมติ ๓ ประการคือ

๑. ยอมรับให้พระเถระจำนวน ๕๐๐รูป ที่คัดเลือกตามมติสงฆ์เป็นพระสังคีติกาจารย์ มีหน้าที่ในการสังคายนาพระธรรมวินัย
๒. ใช้สัตบรรพต ข้างเวภารบรรพต กรุงราชคฤห์ เป็นที่ทำสังคายนา
๓. ห้ามพระอื่นนอกจากพระสังคีติกาจารย์ เข้าจำพรรษาในกรุงราชคฤห์ เพื่อสะดวกแกการบิณฑบาต และป้องกันผู้ไม่หวังดีทำอันตรายต่อการสังคายา

เมื่อพระสงฆ์ทั้งปวงลงมติยอมรับเป็นเอกฉันท์แล้วพระสังคีติกาจารย์ทั้งหลายก็เดินทางเข้ากรุงราชคฤห์ ขอพระบรมราชูปถัมภ์ จากพระเจ้าอชาตศัตรู เรื่องการซ่อมวิหาร ๑๘ ตำบล สร้างสถานที่ทำสังคายนา ซึ่งพระเจ้าอชาตศัตรูทรงรับภาระเกี่ยวกับด้านราชอาณาจักรทุกประการ พระอานนท์เถระได้บำเพ็ญเพียรจนบรรลุอรหัตก่อนการทำสังคายนา จึงเป็นอันว่าการทำสังคายนาในคราวนั้นทำโดยพระอรหันต์ล้วนทั้ง ๕๐๐ องค์ โดยเริ่มลงมือทำหลังจากพระพุทธเจ้าปรินิพานแล้วได้ ๓ เดือน พระมหากัสสปะทำหน้าที่ปุจฉาพระวินัยและพระธรรม พระอุบาลีเถระกับพระอานนท์เถระทำหน้าที่วิสัชชนาพระวินัยและพระธรรมตามลำดับ โดยที่ประชุมกำหนดให้สังคายนาพระวินัยก่อน เพราะถือว่าพระวินัยเป็นรากแก้วของพระพุทธศาสนาเมื่อพระวินัยยังดำรงอยู่ พระพุทธศาสนาย่อมชื่อว่าดำรงอยู่

ในชั้นแรก พระมหากัสสปะเถระ พระอุบาลีเถระ พระอานนท์เถระได้ประกาศสวดสมติตน เพื่อทำหน้าที่ปุจฉาและวิสัชชานาพระวินัยและพระธรรม ตามหน้าที่ซึ่งได้รับมอบหมายจากสงฆ์ ต่อแต่นันพระมหากัสสปะเถระจะสอบถมพระวินัยแต่ละข้อในส่วนที่เกี่ยวกับ สัตถุนิทาน บุคคล บัญญัติ อนุบัญญัติ อาบัติ อนาบัติ เป็นต้นแห่งสิกขาบทแต่ละสิกขาบท เมื่อพระอุบาลีตอมไปตามลำดับแล้ว พระสงฆ์ที่ประชุมกันจะสวดพระวินัยข้อนั้น ๆ พร้อมกัน เมื่อตรงกันไม่ผิดพลาดแล้วสงฆ์รับว่าถูกต้อง จึงถาข้ออื่นต่อไป ทำกันโดยนัยนี้จนจบพระวินัยปิฎกแบ่งเป็นหมวดใหญ่ได้ ๕ หมวด คือทิกกรรม ปาจิตตีย์ มหาวรรคจุลวรรค และบริวาร (ปัจจุบันพิมพ์ออกมาเป็นหนังสือขนาดใหญ่ถึง ๘ เล่ม เรียกว่า เป็นหัวใจพระวินัยว่า อา.ปา.ม.จุ.ป.)

ในด้านพระสูตรนั้นท่านเริ่มสังคายนาจากพระสูตรขนาดยาวก่อน คือ พรหมชาลสูตร สามัญญผลสูตร เป็นต้น สิ่งที่พระมหากัสสปะเถระ ถามคือ นิทาน บุคคล เนื้อหาแห่งพระสูตรนั้นเมื่อพระอานนท์เถระตอบแล้ว พระสงฆ์ทั้งปวงก็สาธยายพระสูตรนั้น ๆ พร้อมกันจนจบพระสูตรทั้งหมด โยแบ่งออกเป็น ๕ นิกาย การสังคายนาครั้งนี้ใช้เวลา ถึง ๗ เดือนจึงสำเร็จ

หลังจากเสร็จการสังคายนาแล้ว พระอานนท์เถระได้แจ้งให้สงฆ์ทราบว่า ก่อนจะปรินิพาพาน พระพุทธเจ้ารับสั่งไว้ว่า

"เมื่อเราล่วงไปสงฆ์ยังอยู่ จะพึงถอนสิกขาบทเล็ก ๆ น้อย ๆ เสียบ้างก็ได้"
แต่พระอานนท์เถระไม่ได้กราบทูลว่า สิกขาบทเล็กๆ น้อยๆ นั้นคือสิกขาบทอะไรบ้าง กังสงฆ์ไม่อาจหาข้อยุติได้ว่า สิกขาบทเช่นไรชื่อว่าเล็กน้อย พระมหากัสสปะเถระจึงเสนอเป็นญัตติในที่ประชุมว่าด้วยญัตติทตุยกรรมวาจาความว่า
- สิกขาบททั้งหลายบางอย่างก็เกี่ยวกับชาวบ้าน ชาวบ้านย่อมทราบว่า อะไรควรหรือไม่ควร สำหรับสมณศากยบุตรทั้งหลาย
- หากจะถอนสิกขาบทบางข้อ ชาวบ้านจะตำหนิว่าพวกเราศึกษาและปฏิบัติตามสิกขาบททั้งหลาย ในขณะที่พระศาสดายังดำรงพระชนม์อยู่เท่านั้น พอพระศาสนานิพพานก็ไม่ใส่ใจที่จะปฏิบัติ
- ขอให้สงฆ์ทั้งปวงอย่าเพิกถอนสิกขาบทที่ทรงบัญญัติไว้ และอย่าได้บัญญัติสิ่งที่พระพุทธมิได้ทรง บัญญัติไว้ สมาทานศึกษาตามสิกขาที่ทรงบัญญัติไว้เท่านั้น

73
หมวดที่ ๘ หลังพุทธปรินิพพาน
"พระพุทธเจ้าทรงปรินิพพาน"
เมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จปรินิพพาน ณ ปัจฉิมยามแห่งราตรีวิสาขปรุณมีเพ็ญเดือน ๖ ขณะมีพระชนมายุ ๘๐ พรรษา กาลนั้น บรรดาพุทธบริษัททั้งหลายทั้งปวงที่ประชุมอยู่ในอุทยานสาลวันนั้นต่างก็เศร้าโศกร้ำไรรำพันปริเทวนาการ คร่ำครวญถึงพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นที่น่าสลดใจยิ่งนัก พระอานนท์มหาเถระเจ้าได้แสดงธรรมีกถาปลุกปลอบบรรเทาจิตบริษัทให้เสื่อมสร่างจากความเศร้าโศกตามควรแก่วิสัยและควรแก่เวลา

ครั้นสว่างแล้ว พระอนุรุทธัมหาเถระเจ้าก็มีเถระบัญชาให้พระอานนท์รีบเข้าไปในเมืองกุสินารา แจ้งข่าวปรินิพพานของพระพุทธเจ้าแก่มัลลกษัตริย์ทั้งหลาย เมื่อมัลลกษัตริย์ได้สดับข่าวปรินิพพานกำสรดโศกด้วยอาลัยในพระบรมศาสดาเป็นกำลัง จึงดำรัสสั่งให้ประกาศข่าวปรินิพพานแก่ชาวเมืองให้ทั่วนครกุสินารา แล้วนำเครื่องสักการบูชานานสุคนธชาติพร้อมด้วยผ้าขาว ๕๐๐ พับ เสด็จไปยังอุทยานสาลวันทำการสัการบูชาพระสรีระพระบรมศาสดาด้วยบุปผามาลัยสุคันธชาติเป็นอเนกประการ

มวลหมู่มหาชนเป็นอันมากแม้จะอยู่ในที่ไกล เมื่อได้ทราบข่าวปรินิพพานของพระบรมศาสดาต่างก็ถืออนานาสุคนธชาติมาสักการบูชามากมายสุดจะคณาเวลาค้ำก็ตามชวาลาสว่างไสวทั่วทั้งสาลวันประชาชนต่างพากันมาไม่ขาดสายตลอดเวลา ๖ วันไม่มีหยุด พากันรีบรุดมาทำการสักการบูชาด้วยความเลื่อมใสถวายความเคารพอันสูงในพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

ครั้นวันที่ ๗ ได้อัญเชิญพระพุทธสรีระศพขึ้นประดิษฐานบนเตียบมาลาอาสน์ ซึ่งตกแต่งด้วยอาภรณ์อันวิจิตร แล้วเคลื่อนขบวนอัญเชิญไปโดยทางทิศอุดร เข้าไปภายในพระนครกุสารา ประชาชนพากันสโมสรเข้าขบวนแห่ตามพระพุทธสรีระศพสุดประมาณ เสียงดุริยางค์ดนตรีแซ่ประสานกับเสียงมหาชนดังสนั่นลั่นโกลาหลเป็นอัศจรรย์ ทั้งดอกไม้ทิพย์มณฑารพ ดอกไม้อันเป็นของทิพย์ในสรวงสวรรค์ตกโปรยปรายละลิ่วลงจากฟากฟ้า ดาดาษทั่วเมืองกุสินาราร่วงหล่นลงมาสักการบูชาพระบรมศาสดา ขบวนมหาชนอัญเชิญพระพุทธสรีระศพได้ผ่านไปในวิ๔ทางท่ามกลางพระนครกุสินารา ประชาชนทุกถ้วนหน้าพากันสักการบูชาทั่วทุกสถาน ตลอดทางที่พระพุทธสรีระศพแห่ผ่านไปตามลำดับ

ครั้นเมื่อขบวนอัญเชิญผ่านมาถึงหน้าบ้านของนางมัลลิกา ผู้เป็นภรรยาของท่านพันธุละเสนาบดีซึ่งล่วงลับไปแล้ว นางมัลลิกาได้ขอร้องแสดงความประสงค์จะบูชาด้วยอาภรณ์มหาลดาปสาธน์อันสูงค่ามหาศาล มหาชนผู้อัญเชิญพระพุทธสรีระศพก็วางเตียงมาลาอาสน์ลง นางมัลลิกาถวายอภิวาทเชิญเครื่องมหาลดาปสาธน์มาสวมพระพุทธสรีระศพเป็นเครื่องบูชา ขณะนั้นพระพุทธสรีระศพก็งามโอภาสเป็นที่เจริญตาเจริญใจแล้วมหาชนก็อัญเชิญพระพุทธสรีระศพเคลื่อนจากที่นั้นออกจากประตูเมืองทางทิศบูรพา ไปสู่กุฎพันธเจดีย์

ครั้นถึงยังจิตกาธานอันสำเร็จด้วยไม้จันทน์หอมงามวิจิตร ก็จัดการห่อพระพุทธสรีระศพด้วยทุกุลพัสตร์ภูษา ๕๐๐ ชั้น แล้วก็อัญเชิญลงประดิษฐานในหีบทองซึ่งประดิษฐบนจิตกาธานทำการสักการบูชาแล้วกษัตริย์มัลลราชทั้ง ๘ องค์ผู้เป็นประธานกษัตริย์ทั้งปวงก็นำเอาเพลิดจุดเพื่อถวายพระเพลิงพระพุทธสรีระศพพรสัมมาสัมพุทธเจ้าแต่พระเพลิงก็ไม่ติดตามประสงค์แม้จะพยายามจุดเท่าใดก็ไม่บรรลุผลมัลลกษัตริย์มีความสงสัยจึงได้เรียนถามพระอนุรุทธะมหาเถระเจ้าว่า

"ข้าแต่ท่านพระอนุรุทธะ ด้วยเหตุใดเพลิงจึงไม่ติดโพลงขึ้น"
พระอนุรุทธะมหาเถระกล่าวตอบว่า "เทวดาต้องการให้คอยท่านพระมหากัสสะเถระ หากยังมาไม่ถึงตราบใด ไฟจะไม่ติดตราบนั้นขณะนี้พระมหากัสสะเถระกำลังเดินทางมาใกล้จะถึงอยู่แล้ว

เวลานั้นพระมหากัสสปะเถระเจ้าพาภิกษุสงฆ์ ๕๐๐ เดินทางจากเมืองปาวามายังเมืองกุสินาราครั้นถึงยังพระจิตกาธานที่ประดิษฐานพระพุทธสรีระศพพระบรมศาสดาแล้ว ก็ทำจีวรเฉวียงบ่า ประคองอัญชลี กระทำประทักษิณเวียนพระจิตกาธานสามรอบแล้ว เข้าสู่ทิศเบื้องพระยุคคลบาท น้อมถวายอภิวาทและตั้งอธิฐานจิต

ครั้นพระมหากัสสปะเถระเจ้ากับพระสงฆ์บริวาร ๕๐๐ และมหาชนทั้งหลาย กราบนมัสการพระบรมยุคลบาทโดยควรแล้ว ขณะนั้นเสียงโศกาปริเทวนาการของมวลเทพดาและมนุษย์ ซึ่งได้หยุดสร่างสะอื้นแล้วแต่ต้นวัน ก็ได้พลันดังสนั่นขึ้นอีกเสมอด้วยวันเสด็จดับขันธปรินิพพาน

ขณะนั้น เตโชธาตุก็บันดาลติดพระจิตกาธานขึ้นเองด้วยอานุภาพเทพยดา เพลิงได้ลุกพวยพุ่งโชตนาเผาพระพุทธสรีระศพ พร้อมคู่ผ้า ๕๐๐ ชั้นและเครื่องอาภรณ์มหาลดาปสาธน์ กับหีบทองและจิตกาธานจนหมดสิ้น ยั้งมีสิ่งซึ่งเพลิงมิได้เผาให้ย่อยยับไปด้วยอนุภาพพุทธอธิฐานดังนี้ ผ้าห่อหุ้มพระสรีระชั้นใน ๑ ผืน ผ้าห่อนหุ้มพระพุทธสรีระภายนอก ๑ ผืน ทั้งสองนี้แตกฉานการะจัดกระจาย ส่วนพระเขี้ยวแก้วทั้ง ๔ พระรากขวัญ (ไหปลาร้า) ทั้ง ๒ และพระอุณหิสปัฎ (กระบังหน้า) ๑ พระบรมธาตุทั้ง ๗ นี้ยังปกติดีมิได้แตกกระจัดกระจาย


"พระสถูปเจดีย์บรรจุพระบรมสารีริกธาตุิ"
พระบรมสารีริกธาตุของพระพุทธเจ้าถูกตวงด้วยทนานทอง ถวายแก่กษัตริย์ ทั้ง ๘ พระนคร คือ

๑. พระเจ้าอชาตศัตตุราช ผู้ครองนครราชคฤห์ แคว้นมคธ
๒. พระเจ้าลิจฉวี ผู้ครองนครพระนครไพศาลี แคว้นวัชชี
๓.พระเจ้ามหานาม ผู้ครองนครกบิลพัสดุ์ แคว้นสักกะ
๔.พระเจ้าฐลิยราช ผู้ครองนครอัลลกัปปนคร
๕.พระเจ้าโกลิยราช ผู้ครองนครนครรามคาม แคว้นโกลิยะ
๖.พระเจ้ามัลลราช ผู้ครองเมืองปาวานคร แคว้นมัลละ
๗.มหาพราหมณ์ ผู้ครองเมืองเวฏฐทีปกนคร
๘.กษัตริย์มัลลราช ผู้ครองนครกุสินารา แคว้นมัลละ

พระบรมสารีริกธาตุซึ่งตวงด้วยทะนานทองทั้งหมด ๑๘ ทะนาทด้วยกันโดยแบ่งให้กษัตริย์ ทั้ง ๘ พระนคร ได้พระนครละ ๒ ทะนานเท่า ๆ กันบรรดากษัตริย์ทั้งหลาย เมื่อได้รับส่วนแบ่งบรมสารีรืกธาตุแล้ว ต่างองค์ต่างกันจัดขบวนอันมโหฬาร อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุ ไปยังพระนครของตนด้วยเกียรติยศอันสูง แล้วให้ก่อพระสถูปเจดีย์ ขึ้นบรรจะพระบรมสารีริกธาตุไว้เป็นที่สักการบูชาของมหาชน จึงปรากกว่ามีพระสูปเจดีที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ ดังนี้

๑. พระธาตุเจดีย์ ที่เมืองราชคฤห์
๒.พระธาตุเจดีย์ ที่เมืองไพศาลี
๓.พระธาตุเจดีย์ ที่เมืองบิลพันดุ์
๔.พระธาตุเจดีย์ ที่เมืองอัลลกัปปนคร
๕. พระธาตุเจดีย์ ที่เมืองรามนคร
๖. พระธาตุเจดีย์ ที่เมืองเวฏฐาทีปนคร
๗. พระธาตุเจดีย์ ที่เมืองปาวานคร
๘.พระธาตุเจดีย์ ที่เมืองกุสินารานคร

นอกจากนั้นกษัตริย์แห่งเมองโมรีนครซึ่งเดินทางมาถึงภายหลังได้ประชุมแบ่งปันพระสารีริรธาตุกันหมดสิ้นแล้ว ได้อัญเชิญ พระอังคาร (ถ่านเถ้าที่ถวายพระเพลิงพระพุทธสรีระ) ไปสักการบูชาที่พระสถูปเจดีย์ ในพระนครของตน คือ

๙. พระอังคารเจดีย์ ที่เมืองโมรีนนคร

ส่วนพระทนานทองที่ใช้ตวงพระบรมสารีริกธาตุซึ่งโทณพราหมร์เป็นผู้สร้างนั้นได้ถูกบรรจุไว้ในเมืองต่าง ๆ ดังนี้

๑. พระเขี้ยวแก้วเบื้องบนขวา กับพระรากขวัญเบื้องขวาขึ้นไป ประดิษฐานอยู่ในพระจุฬามณีเจดีย์สถาน ณ ดาวดึงสเทวโลก
๒. พระเขี้ยวแก้วเบื้องต่ำกว่าเดิมไปประดิษฐาน ณ เมืองกาลิราฐแต่บัดนี้ไปสถิตอยู่ในลักกาทวีป
๓. พระเขี้ยวแก้วเบื้องบนซ้าย ไปประดิษฐานอยู่ ณ เมืองคันธารราฐ
๔. พระเขี้ยวแก้วเบื้องต่ำซ้าย ไปประดิษฐานอยู่ในนาคพิภพ
๕. พระรากขวัญเบื้องซ้ายกับพรุอุณหิสปัฏ ขึ้นไปประดิษฐานอยู่ในทุสสเจดีย์ ณ พรหมโลก

ส่วนพระทนต์ (ฟัน) ทั้ง ๓๖ และพระเกศา (ผม) พระโลมา(ขน) กับพระนขา (เล็บ) ทั้ง ๒๐ นั้นเทพยดาอัญเชิญไปองค์ละองค์สู่จักรวาลต่าง ๆ

ส่วนพระบริขารพุทธบริโภคทั้งหลายนั้นได้กล่าวถึงไปแล้วในหัวข้อ
 "เจดีย์และสถูปสำคัญเกี่ยวกับพระพุทธเจ้า"

74
"ทรงเปิดโลกเสด็จลีลาลงจากดาวดึงส์สวรรค์"

เมื่อพรบรมศาสดาเสด็จขึ้นไปประทับพรรษานดาวดึงส์สวรรค์ ชั้นที่ ๒ แสดงธรรมโปรดพระพุทธมารดาได้บรรลุอริยมรรคผลสมดั่งพระกมลที่ทรงพระอุตสาหะ และในครานั้นพระรรมเทศนาของพระบรมศาสดาได้ยังประโยชน์เป็นอเนกอนันต์แก่บรรดาทวยเทพทั่วทุกทิศที่เข้าเฝ้าสถิตแห่แหนเป็นจำนวนมาก ครั้นใกล้ครบเวลาสามเดือนครั้นเวลาจวนใกล้จะออกพรรษาเข้าแล้ว ชาวประชามหาชนกทั้งหลายที่ตั้งตาคอยจะเผ้าพระบรมศาสดา สุดที่จะทนทานการรอคอย จึงพากันเข้าไปหาพระมหาโมคคัลลานะ อัครสาวกเบื้องซ้ายของพระพุทธเจ้า

เนื่องจาก เมื่อครั้นการเสด็จสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ของพระบรมศาสดาในเวลาเสร็จการแสดงยมกปกาฏิหาริย์โดยฉับพลัน ซึ่งมหาชนทั่วทุกทิศกำลังใส่ใจแลดูอยู่ด้วยความเลื่อมใส จึงเป็นเหมือนเดือนตกหรือตะวันตกหายวับลับไปจากโลกเป็นที่น่าเสียดายยิ่งนัก เพราะฉะนั้นชนทั้งหลายจึงพากันคร่ำครวญว่า พระศาสดาผู้เลิศในโลกเสด็จไปแห่งหนใดกันหนอ พวกเราจึงไม่เห็นพระองค์ ชนเหล่านั้นได้พากันเข้าไป ถามพระมหาโมคคัลลานะเถระว่า พระศาสดาเสด็จไปที่ไหนเสียเล่าพระคุณเจ้าพระมหาโมคคัลลานะแม้จะรู้ดีอยู่ แต่เพื่อถวายความเคารพแก่พระอนุรุทธะ จึงได้บอกแก่ชนเหล่านั้นไปว่า พวกท่านจงไปถามพระอนุรุทธะเถระดูเถิด คนเหล่านั้นจึงพากันไปถามพระอนุรุทธะเถระ ๆ ตอบว่า พระศาสดาเสด็จขึ้นไปจำพรรษาในสรวงสวรรค์ดาวดึงส์ เพื่อแสดงพระอภิธรรมโปรดพระพุทธมารดา

เมื่อไรจักเสด็จมาเล่า พระคุณเจ้า ? สามเดือนอุบาสก พระเถระกรุณาบอก และจะเสด็จมาวันมหาปวารณาด้วย

คนเหล่านั้นปรึกษากันว่า พวกเราจักรอเฝ้าพระบรมศาสดาอยู่ที่นี่แหละ หากไม่ได้เห็นพระบรมศาสดาแล้วก็จักไม่ไป แล้วจัดแจงทำที่พักอยู่ในที่นั้นเอง ท่านจุลละอนาถบิณฑิกเศรษฐี ผู้มีกำลังทรัพย์มากไดกรุณาให้ความอนุเคราะห์แก่คนเหล่านั้นพอสมควร แม้พระมหาโมคคัลลานะก็ได้กรุณา แสดงธรรมให้กำลังใจ เจริญความเลื่อมใสแก้ความข้องใจของมหาชนที่ติดตามมาเพื่อชมปาฏิหาริย์ในภายหลังอีก

ครั้นเวลาเนิ่นนานมาถึงปานนี้ มหาชนจึงเจ้าไปหาพระมหาโมคคัลลานะเรียนถามว่า พระพุทธเจ้าจะเสด็จลงจากสวรรค์เมื่อใด และจะเสด็จลงที่ไหน เมื่อข้าพเจ้าทั้งหลายจะได้พากันไปเฝ้าพระองค์ ณ ที่นั้นพระมหาโคคัลลานะเถระตอบว่า จะต้องขึ้นไปเฝ้าทูลถามพระบรมศาสดาดูก่อน ได้ความอย่างไรจากพระองค์แล้วจึงจะแจ้งให้ทราบ แล้วพระเถระก็สำแดงอานุภาพแห่งสมาบัติขึ้นไปสู่ดาวดึงส์เทวภพ สำแดงกายให้ปรากฏแก่มหาชนในขณะขึ้นไปเฝ้าพระบรมศาสดาด้วยฤทธิ์แห่งอภิญญา

ครั้นพระเถระเจ้าเข้าไปเฝ้าพระบรมศาสดาแล้วก็กราบทูลตามเรื่องที่มหาชนมีความประสงค์
พระบรมศาสดารับสั่งว่า โคคัลลานะ บัดนี้ สารีบุตรพี่ชายเธออยู่ ณ ที่ได
พระมหาโมคคัลลานะก็กราบทูลว่า เวลานี้สารีบุตรเถระเจ้าจำพรรษาอยู่ที่เมืองสังกัสสนคร พระเจ้าข้า
ถ้าเช่นนั้น ตถาคตก็จะลงที่ประตูเมืองสังกะสะนครในวันมหาปวรณา โมคคัลลานะจงแจ้งให้มหาชนทราบตามนี้ ผู้ใดประสงค์จะเห็นตถาคต ก็จงพากันไปยังที่นั้นเถิด
พระมหาโมคคัลลานะรับพระพุทธบัญชาแล้ว ก็ลงมาแจ้งข้อความนั้นแกมหาชนทั้งหลายผู้ต้องการทราบเรื่องนี้อยู่

ฝ่ายมหาชนทั้งหลายที่ตั้งใจคอยเฝ่าพระบรมศาสดเสด็จลงจากดาวดึงส์สวรรค์ เมื่อได้ทราบข่าวจากพระมหาโมคคัลลานะเถระเจ้าก็ดีใจพร้อมกับออกเดินทางไปยังเมืองสังกัสสนครร่วมประชุมกันอย่างคับคั่งตลอดพระภิกษุสงฆ์ทั้งหลายอันมีประสารีบุตรเถระ อัครสาวกเบื้องขวาเป็นประธาน มาประชุมต้อนรับพระบรมศาสดา อยู่ ณ ที่นั้นอย่างพร้อมเพรียง

ครั้นถึงวันปรุณมีแห่งอัสสยุชมาส เพ็ญเดือน ๑๑ พระพุทธเจ้าทรงปวารณาพระวัสสาแล้ว ทรงรับสั่งแก่ท้าวสักกเทวราชว่า ตถาคตจะลงไปสู่มนุษยโลกในวันนี้ เมื่อท้าวโกสีย์ทราบพุทธประสงค์แล้วจึงทรงนิรมิตบันไดทิพย์ ๓ บันได สำหรับพระพุทธดำเนินเสด็จลงสู่มนุษยโลกบันไดแก้วอยู่กลาง บันไดทองอยู่ข้างขวา บันไดเงินอยู่ข้างซ้าย เชิงบันไดทั้ง ๓ นั้นประดิษฐานอยู่ภาคพื้นปฐพีที่ใกล้ประตูเมืองสังกัสสนครศีรษะบันไดเบื้องบนจนยอดภูเขาสิเนรุ บันไดแก้วนั้นเป็นที่พระพุทธเจ้าเสด็จลง บันใดทองเป็นที่เทพยดาทั้งหลายตามส่งเสด็จ บันไดเงินเป็นที่พรหมทั่งหลายตามส่งเสด็จ ขณะนั้นเทพยดาและพรหมทั้งหลาย ได้มาประพร้อมกันบูชาพระบรมศาสดาเต็มทั่วจักวาล

เมื่อได้เวลาเสด็จ พระพุทธเจ้าก็เสด็จมาประทับยืนที่ฐานศีรษะบันได ในท่ามกลางเทพพรหมบริษัทซึ่งแวดล้อมเป็นบริวาร จึงได้ทรงทำ "โลกวิวรรณปาฏิหาริย์" เปิดโลก โดยพระอาการทอดพระเนตรไปในทิศต่าง ๆ รวมทั้งเบื้องบนและเบื้องล่าง รวมเป็น ๑๐ ทิศด้วยกันและด้วยพุทธานุภาพ ในทันใดนั้นทุกทิศทกทางจะแลโล่งตลอดหมดไม่มีอันใดกีดบัง เทวดาในสวรรค์จะมองเห็นมนุษย์ เห็นยมโลก เห็นนรกและมนุษย์ก็มองเห็นเทวดาเห็นสัตว์นรก แม้สัตว์นรกก็มองเห็นมนุษย์ตลอดเทวดาในสวรรค์ ไม่มีสิ่งใดปิดบัง พระพุทธเจ้าทรงสำแดปาฏิหาริย์เปิดโลก พร้อมกับเปล่งฉัพพัณณรังษี พระรัศมี ๖ ประการเป็นมหาอัศจรรย์

ครั้นนั้น เทพยดาในหมื่นจักรวาลได้มาประชุมกันในจักรวาลนี้เพื่อชื่นชมพระบารมีพระบรมศาสดาทรงทำปาฏิหาริย์ พร้อมกันทำสักการบูชาสมโภชพระพุทธเจ้าด้วยทิพย์บุปผามาลัยเป็นอเนกประการ

พระบรมศาสดาได้เยื้องย่างลีลาเสด็จลงจากดาวดึงส์ โดยบันไดแก้วมณีมัย ท่ามกลางเทพยดาในหมื่นจักวารมีท้าวสักกะเป็นต้น โดยบนไดทองสุวรรณมัยในเบื้องขวา ท้าวสหัมบดีพรหมกับหมู่พรหมเป็นอันมากลงโดยบันไดเงินหิรัญญมัยในเบื้องซ้าย ปัญจสิขรคนธรรมพ์เทพบุตรทรงพิณมีสีดังผลมะตูมสุก ดีดขับร้องด้วยมธุรเสียงอันไพเราะมาใบเบื้องหน้าพระบรมศาสดา ท้าวสันตุสิตเทวราชกับท้ายสุยามเทวราชทรงทิพย์จามรถวายพระบรมศาสดาทั้ง ๒ ข้าง ท้าวมหาพรหมปชาบดี

ทรงทิพย์เศวตฉัตรกั้นถวายพระบรมศาสดา ท้าวโกสีย์อมรินทราธิราชประคองบาตรเสลมัยของพระบรมศาสดา เสด็จเป็นมัคคุเทศก์นำพระบรมศาสดาลงมา ในท่ามกลางทวยเทพยดาแลพรหมทั้หลายพากันแวดล้อมแห่ห้อมเป็นบริวาร

เมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จลีลาลงจากดาวดึงส์สวรรค์ โดยบันไดแก้ลงมาถึงเชิงบันได มหาชนทั้งหลายได้เห็นพระรูปโฉมของพระบรมศาสดา ได้เห็นการเสด็จลีลาลงจากสวรรค์ในท่ามกลางเทพยดาและพรหมเป็นอันมาก ครั้นนั้นงามจับอกจับใจอย่างที่ไม่เคยคิดเคยเห็นมาแต่ก่อน ก็พากันลิงโลดแซ่ซ้องสาธุการเสียงสนั่นหวั่นไหว แม้แต่พระสารีบุตรพุทธสาวกยังได้กล่าวคาถาสรรเสริญด้วยความยินดีความว่าข้าพระองค์ไม่เคยได้เห็น ไม่เคยได้ยินมาก่อนเลยว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าซึ่งงามด้วยสิริโสภาคยิ่งกว่าเทพเจ้าทั้งมวล มีพระสุรเสียงอันไพเราะอย่างนี้ เสด็จลงมาจากสวรรค์

ขณะนั้น พระบรมศาสดาซึ่งมีพระทัยมากด้วยพระมหากรุณาจึงได้แสดงธรรมโปรดพุทธบริษัท ผู้กำลังมีความโสมนัสพึงตาพึงใจชมในพระรูปพระโฉม อยู่ในท่ามกลางเทพเจ้าและหมู่พรหมที่พร้อมกันถวายสักการบูชา ด้วยทิพยบุปผานาวรามิสให้เกิดกุศลจิตสัมประยุตด้วยปรีชาญาณ หยั่งรู้ในเทศนาบรรหารตามควรแก่อุปนิสัย เมื่อจบเทศนานัยธรรมานุสรธ์ ต่างก็ได้บรรลุอริยมรคอริยผล ตั้งแต่เบื้องต้นจนถึงเบื้องปลาย ตามอริยอุปนิสัยได้สั่งสมมา

75
"รัตนสูตรปราบภัย ๓ ประการ ณ เมืองไพศาลี อาณาจักรวัชชี"

ในสมัยพุทธกาล เมืองไพศาลี หรือเวสาลี นครหลวงแห่งอาณาจักรวัชชี มีการปกครองระบอบสามัคคีธรรม (คล้ายกับลักษณะสาธารณรัฐในปัจจุบัน) เป็นเมืองที่มั่งคั่งอุดมสมบูรณ์มีประชาชนอยู่หนาแน่นมีกำแพง ๓ ชั้น ซึ่งเรียกว่า "ตรีบูร" แต่ละชั้นห่างกันประมาณ ๔ กิโลเมตร มีปราสาทอุทยาน สระโบกขรณีเป็นจำนวนมาก ทางตอนเหนือของเมืองไพศาลีมีป่าใหญ่เป็นพืดขึ้นไปทางเหนือจนจดทิวเขาหิมาลัย เรียกว่าป่ามหาวันมีผู้สร้างกุฏาคารศาลา (เรือนยอด) ถวายไว้เป็นที่ประทับพระพุทธเจ้า

ต่อมาเมืองไพศาลีเกิดข้าวยากหมากแพงฝนไม่ตกต้องตามฤดูกาล ข้าวกล้าแห่งเหี่ยวตาย เกิดทุพภิกขภัยใหญ่และมีโรคระบาดพวกคนยากคนจนอดอยากล้มตายลงเป็นจำนวนมาก ซากศพถูกนำไปทิ้งไว้นอกเมืองก็ส่งกลิ่นเหม็นตลบไปทพวกอมนุษย์ก็พากันเข้าเมืองคนยิ่งล้มตายกันมากขึ้น เกิดอหิวาตกโรคตามมา

เมื่อเกิดภัย ๓ ประการคือ ทุพภิกขภัย (ข้าวยากหมากแพง)อมนุษยภัย (ภัยจากพวกอมนุษย์) และพยาธิภัย (ภัยที่เกิดจากโรคระบาด)ขึ้นในเมืองไพศาลีอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน กษัตริย์ลิจฉวีซึ่งมีจำนวนถึง ๗,๗๐๗ องค์ จึงให้ประชาชนประชุมพร้อมกันในสัณฐาคาร (ห้องประชุมใหญ่) เพื่อร่วมกันพิจารณาสอดส่องความประพฤติของบรรดากษัตริย์ทั้งหลายว่า ได้ทำความผิดอันใดไว้จึงทำให้เกิดภัยต่าง ๆ ดังกล่าว

เมื่อไม่เห็นว่ากษัตริย์ทั้งหลายทำความผิดมีโทษอันใดจึงหาทางระงับภัย ๓ ประการนั้น โดยเห็นร่วมกันว่าควรกราบทูลนิมนต์พระพุทธเจ้า ซึ่งขณะนั้นประทับอยู่ที่พระนครราชคฤห์ นครหลวงของอาณาจักรมคธ จึงได้ส่งเจ้าลิจฉวี ๒ องค์ เป็นฑูตนำเครื่องราชบรรณาการไปถวายพระเจ้าพิมพิศาร ณ พระนครราชคฤห์ กราบทูลเรื่องราวให้ทรงทราบ และกราบทูลของอนุญาตินิมนต์พระพุทธเจ้าเสด็จนครไพศาลี พระเจ้าพิมพิสารได้ตรัสให้เจ้าลิฉวีไปกราบทูลนิมนต์ด้วยพระองค์เอง

เจ้าลิจฉวีทั้งสองจึงได้ไปเฝ้าพระพุทธเจ้าทรงรับนิมนต์แล้วจึงทูลขอเวลาตกแต่งหนทางตั้งแต่เมื่องราชคฤห์ ไปจนถึงฝั่งแม่น้ำคงคาเป็นระยะทางประมาณ ๘๐ กิโลเมตร และโปรดให้สร้างวิหารไว้สำหรับพักตามระยะทางอีก ๕ หลัง พระเจ้าพิมพิสารโปรดให้กั้นเศวตฉัตร (ร่มขาว) ถวายพระพุทธเจ้า ๒ คันและกั้นถวายภิกษุสงฆ์ที่ติดตามอีก ๕๐๐ รูป รูปละ ๑ คัน พระองค์ได้ตามเสด็จไปพร้อมด้วยข้าราชบริพาร ทรงถวายเครื่องสักการบูชา ของหอมและทรงบำเพ็ญกุศลถวายทานตลอดทางไปจนถึงฝั่งขวาของแม่น้ำคงคาง และทรงส่งข่าวสารไปยังเมืองไพศาลีให้ทราบว่า บัดนี้พระพุทธเจ้าได้เสด็จมาถึงฝั่งแม่น้ำคงคาแล้ว

พระเจ้าพิมพิสารโปรดให้จัดเรือ ๒ ลำ ตรึงขนานเข้าด้วยกันให้สร้างมณฑปขึ้นบนเรือขนาน แล้วกราบทูลนิมนต์พระพุทธเจ้าเสด็จขึ้นประทับพร้อมด้วยภิกษุสงฆ์ ๕๐๐ รูป พระเจ้าพิมพิสารทรงพระดำเนินลงไปในน้ำลึกจนถึงพระศอ (คอ) แล้วทรงกราบทูลพระพุทธเจ้าว่าพรองค์จะรอคอยอยู่ที่ฝั่งแม่น้ำคงคานี้จนกว่าพระบลรมศาสดาจะเสด็จกลับ

ทางเมืองไพศาลี ซึ่งตั้งอยู่ห่างฝั่งซ้ายของแม่น้ำคงคาขึ้นไปทางเหนือประมาณ ๔๐ กิโลเมตร เมื่อทราบข่าวว่าพระพุทธเจ้าทรงรับนิมนต์แล้ว ก็เตรียมปราบทางให้ราบเรียบตั้งแต่ฝั่งซ้ายของแม่น้ำคงคาไปจนถึงเมืองไพศาลี และสร้างวิหารประจำไว้จำนวน ๓ หลัง เตรียมทำการบูชาเป็น ๒ เท่าของพระเจ้าพิมพิสารที่ทรงทำมาแล้ว เรือขนานนำพระพุทธเจ้าและภิกษุสงฆ์ ๕๐๐ รูป มาในแม่น้ำคงคาเป็นระยะทาง ๑๖ กิโลเมตร ก็ถึงเขตเมืองไพศาลี บรรดากษัตริย์ลิจฉวีก็พากันลุยนำลงรับเสด็จพระพุทธเจ้าในแม่น้ำคงคาถึกถึงพระศอเช่นกัน

ครั้นเรือขนาบเทียบถึงฝั่ง พอพระพุทธเจ้าทรงยกพระบาทแรกย่างเหยียบฝั่งแม่น้ำคงคา กลุ่มเมฆมหึมาซึ่งแผ่กระจายตั้งเค้ามืดมิดก็บันดาลให้ฝตตกลงมาห่าใหญ่ น้ำฝนไหลนองท่วมพื้นดินระดับน้ำสูงถึงเข่าบ้างถึงสะเอวบ้าง ถึงคอบ้าง พัดพาเอาซากศพลอยลงแม่น้ำคงคาไปหมด ทำให้ภาคพื้นดินบริสุทธิ์สะอาดโดยทั่วไป

บรรดากษัตริย์สิจฉวีทั้งหลายก็นำเสด็จพระบรมศาสดาและภิกษุสงฆ์ ๕๐๐ รูปเข้าพัก ณ วิหารที่สร้างไว้ แล้วถวายทานมากมายเป็น ๒ เท่าของพระเจ้าพิมพิสาร ให้กางเศวตฉัตรกั้นถวายพระพุทธเจ้า ๔ คันกั้นถวายพระภิกษุสงฆ์รูปละ ๒ คัน น้ำเสด็จพระพุทธดำเนินเป็นเวลา ๓ วัน ก็ถึงพระนครไพศาลี ขณะนั้นพระอินทร์ได้เสด็จพร้อมด้วยเหล่าทวยเทพมาชุมนุมอยู่ด้วย ทำให้พวกอมนุษย์ กรงกลัวอำนาจพากันหลบหนีไป

พระพุทธเจ้าเสด็จถึงประตูเมืองไพศาลีในเวลาเย็น ได้ตรัสให้พระอานนท์เรียน "รัตนสูตร" เพื่อเดินจาริกทำพระปริตไปในระหว่างกำแพง ๓ ชั้น (ตรีบูร) ในเมืองไพศาลีกับบรรดากุมารลิจฉวีแล้วตรัส "รัตนสูตร" ขึ้นในกาลครั้งนั้น ที่เรียกพระสูตรนี่ว่า "รัตนะ" เพราะหมายถึง พระรัตนตรัย คือ พุทธรัตนะ ธรรมรัตนะ และสังฆรัตนะ

เมื่อพระอานนท์เรียนรัตนสูตรจากพระพุทธเจ้าแล้ว ก็เอาบาตรของพระพุทธเจ้าใส่น้ำถือไปยืนที่ประตูเมือง พลางรำลึกถึงพระพุทธคุณตั่งแต่ทรงตั้งความปรถนาที่จะได้บรรลุพระโพธิญาณ จนถึงทรงแสดงธัมมจักกัปปวัตนสูตรและโลกุตรธรรม ๙ (คือมรรค ๔ ผล ๔ และนิพพาน ๑ ) แล้วเข้าไปภายในพระนคร เดินทำพระปริตไปในระหว่างกำแพงเมือง ๓ ชั้น ทำให้พวกอมนุษย์ที่ยังหลวงเหลืออยู่บ้างพากันหนีออกจากเมืองไปหมด พวกชาวเมืองจึงออกจากบ้านของตนถือดอกไม้และของหอม พากันตามบูชาพระอานนท์แห่ล้อมท่านมา พระอานนท์เดินทำพระปริตไปทั้งคืน

ประชาชนชาวเมืองไพศาลีได้พร้อมใจกันตกแต่งสัณฐาคาร กลางพระนคร ด้วยของหอมและผูกเพดานประดับด้วยรัตนชาติ จัดตั้งอาสนะสำหรับพระพุทธเจ้า แล้วเชิญเสด็จพระบรมศาสดามาประทับในสัณฐาคาร พระภิกษุสงฆ์และกษัตริย์ลิจฉวี ตลอดจนประชาชนชาวเมืองไพศาลี ได้พากันมานั่งล้อมพระพุทธเจ้า พระอินทร์พร้อมเทพบริวารก็มาเฝ้าด้วย ครั้งพระอานนท์ทำพระปริตอารักขาทั่วพระนครแล้วก็กลับมาเฝ้าพระพุทธเจ้า พระบรมศาสดาจึงตรัสรัตนสูตรอีกครั้ง หนึ่งรวม ๑๔ คาถา แล้วพระอินทร์ได้ผูกคาถา (ฉันท์) ต่ออีก ๓ คาถา

พระพุทธเจ้าได้ประทับอยู่ที่เมืองไพศาลี และตรัสเทศนารัตนสูตรทุกวันรวม ๗ วัน เมื่อทรงเห็นว่าภัยทุกอย่างสงบเรียบร้อยแล้วจึงตรัสลากษัตริย์ลิจฉวีและชาววัชชีทั้งหลายเสด็จกลับราชคฤห์ครั้งนี้ มีประชาชนมาบูชาสักการะถวายแก่พระองค์เป็นการยิ่งใหญ่ เรียกว่า "คังโคโรหณสมาคม" คือการชุมนุมใหญ่ในโอกาสที่พระพุทธเจ้าเสด็จลงแม่น้ำคงคา

หน้า: 1 ... 3 4 [5] 6 7 ... 17