เว็บพุทธภูมิ: พุทธภูมิ พระโพธิสัตว์ การบำเพ็ญบารมี



แสดงกระทู้

This section allows you to view all posts made by this member. Note that you can only see posts made in areas you currently have access to.


Messages - Wisdom

หน้า: 1 [2] 3 4 ... 17
16


พระโกนาคมนะพุทธเจ้า

หลังจากศาสนาของพระกกุสันธะพุทธเจ้าล่วงไป จึงได้ถึงสมัยของพระพุทธเจ้าทรงพระนามว่า พระโกนาคมนะพุทธเจ้า อุบัติขึ้นในภัททกัปเดียวกัน
พระโกนาคมนะพุทธเจ้า เกิดเป็นบุตรของพราหมณ์แห่งโสภวดีนคร นามว่า โกนาคมนะกุมาร บิดาคือยัญญทัตตพราหมณ์ และมารดาคืออุตตราพราหมณี
โกนาคมนะกุมารเกษมสำราญอยู่ ๓,๐๐๐ ปี ในปราสาท ๓ หลัง คือ ดุสิตะปราสาท สันดุสิตะปราสาท และสันตุฏฐะปราสาท มีภริยาชื่อว่า รุจิคัตตาพราหมณี และมีบาทบริจาริกาแวดล้อมอีก ๑๖,๐๐๐ นาง
วันหนึ่ง โกคมนะพราหมณ์ได้เห็นเทวทูตทั้งสี่ คือ คนแก่ คนเจ็บ คนตาย และนักบวช จึงมีใจน้อมไปทางบรรพชา
เมื่อนางโรจินีพราหมณีให้กำเนิดบุตร นามว่า สัตถวาหะกุมาร จึงได้ออกบรรพชาโดยคชยาน โดยมีผู้ออกบรรพชาตามจำนวน ๓๐,๐๐๐ คน
โกนาคมนะพราหมณ์บำเพ็ญเพียรอยู่เป็นเวลา ๘ เดือน จนถึงวันเพ็ญเดือนวิสาขะ รับข้าวมธุปายาสจากอัคคิโสณพราหมณกุมารี ธิดาของอัคคิโสณพราหมณ์ และรับหญ้า ๘ กำจากคนเฝ้าไร่ข้าวเหนียวชื่อ ชฏาตินทุกะ ปูลาดใต้ต้นอุทุมพร (ต้นมะเดื่อ) เป็นโพธิบัลลังก์ และได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าในคืนนั้นเอง
พระโกนาคมนะพุทธเจ้าทรงเสด็จไปยังป่าอสิปตนะมิคทายวัน ใกล้สุทัสสนะนคร ทรงแสดงปฐมเทศนาแก่พระสาวกที่ออกบวชติดตามจำนวน ๓๐,๐๐๐ รูป ทำให้พระสาวกทั้งหลาย สำเร็จเป็นพระอริยบุคล

พระโกนาคมนะพุทธเจ้า ทรงแสดงธรรมาภิสมัยให้บังเกิดขึ้น ๓ วาระ คือ
วาระที่ ๑ แสดงปฐมเทศนา
ธรรมาภิสมัยบังเกิดแก่มนุษย์และเทวดา ๓๐,๐๐๐ โกฏิ
วาระที่ ๒ แสดงยมกปาฏิหาริย์ ที่สุนทรนคร
ธรรมาภิสมัยบังเกิดแก่มนุษย์และเทวดา ๓๐,๐๐๐ โกฏิ
วาระที่ ๓ แสดงธรรมบนดาวดึงส์เทวโลกโปรดพุทธมารดา
ธรรมาภิสมัยบังเกิดแก่เทวดา ๑๐,๐๐๐ โกฏิ

พระโกนาคมนะพุทธเจ้า ทรงประชุมสาวกสันนิบาตครั้งเดียว แก่พระสงฆ์สาวก ๓๐,๐๐๐ รูป ณ สุรินทวดีอุทยาน กรุงสุรินทวดี

พระโกนาคมนะพุทธเจ้าทรงมีพระสาวกองค์สำคัญ คือ
พระอัครสาวก คือ พระภิยโยสะเถระ และพระอุตตระเถระ
พระอัครสาวิกา คือ พระสมุททาเถรี และพระอุตตราเถรี
พระอุปัฏฐาก คือ พระโสตถิชะ

พระโกนาคมนะพุทธเจ้าทรงมีพระวรกายสูง ๓๐ ศอก และปรินิพพานเมื่อมีพระชนมายุได้ ๓๐,๐๐๐ ปี

17


พระกกุสันธะพุทธเจ้า

หลังจากศาสนาของพระเวสภูพุทธเจ้าล่วงไป ๒๙ กัป จึงได้ถึงกัปปัจจุบัน เรียกว่าภัททกัป มีพระพุทธเจ้ามาอุบัติแล้ว ๔ พระองค์ พระพุทธเจ้าองค์แรกทรงพระนามว่า พระกกุสันธะพุทธเจ้า
พระกกุสันธะพุทธเจ้า เกิดในสกุลพราหมณ์ชื่อว่า กกุสันธะกุมาร เป็นบุตรของพราหมณ์ปุโรหิตในราชสำนักของพระเจ้าเขมังกร เขมะวดีนคร นามว่าอัคคิทัตตะพราหมณ์ มารดาชื่อวิสาขาพราหมณี
กกุสันธะกุมารเกษมสำราญอยู่ ๔,๐๐๐ ปี ในปราสาท ๓ หลัง คือ กามะปราสาท กามวัณณะปราสาท และกามสุทธิปราสาท มีภริยาชื่อว่า โรจินีพราหมณี และมีบาทบริจาริกาแวดล้อมอีก ๓๐,๐๐๐ นาง
วันหนึ่ง กกุสันธะพราหมณ์ได้เห็นเทวทูตทั้งสี่ คือ คนแก่ คนเจ็บ คนตาย และนักบวช จึงมีใจน้อมไปทางบรรพชา
เมื่อนางโรจินีพราหมณีให้กำเนิดบุตร นามว่า อุตตระกุมาร จึงได้ออกบรรพชาโดยรถม้า โดยมีผู้ออกบรรพชาตามจำนวน ๔๐,๐๐๐ คน
กกุสันธะพราหมณ์บำเพ็ญเพียรอยู่เป็นเวลา ๘ เดือน จนถึงวันเพ็ญเดือนวิสาขะ รับข้าวมธุปายาสจากธิดาวชิรินธพราหมณ์ ณ สุจิรินธนิคม และรับหญ้า ๘ กำจากคนเฝ้าไร่ข้าวเหนียวชื่อ สุภัททะ ปูลาดใต้ต้นสิรีสะ (ต้นซึก) เป็นโพธิบัลลังก์ และได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าในคืนนั้น
พระกกุสันธะพุทธเจ้าทรงเสด็จไปยังป่าอสิปตนะมิคทายวัน ใกล้มกิลนคร ทรงแสดงปฐมเทศนาแก่พระสาวกที่ออกบวชติดตามจำนวน ๔๐,๐๐๐ รูป ทำให้พระสาวกทั้งหลาย สำเร็จเป็นพระอริยบุคล

ธรรมาภิสมัยในพุทธกาลของพระกกุสันธะพุทธเจ้าบังเกิดขึ้น ๓ วาระ คือ
วาระที่ ๑ แสดงปฐมเทศนา
ธรรมาภิสมัยบังเกิดแก่มนุษย์และเทวดา ๔๐,๐๐๐ โกฏิ
วาระที่ ๒ แสดงยมกปาฏิหาริย์ ที่ กัณณกุชชนคร
ธรรมาภิสมัยบังเกิดแก่มนุษย์และเทวดา ๓๐,๐๐๐ โกฏิ
วาระที่ ๓ แสดงธรรมแก่ยักษ์ นรเทพ
ธรรมาภิสมัยบังเกิดแก่มนุษย์และเทวดานับจำนวนไม่ได้

พระกกุสันธะพุทธเจ้า ทรงประชุมสาวกสันนิบาตเพียงครั้งเดียว โดยทรงแสดงปาฏิโมกข์แก่พระสงฆ์สาวก ๔๐,๐๐๐ รูป ที่ได้รับฟังปฐมเทศนาที่ป่าอิสิปัตนมิคทายวัน

พระกกุสันธะพุทธเจ้าทรงมีพระสาวกองค์สำคัญ คือ
พระอัครสาวก คือ พระวิธุระเถระ และพระสัญชีวะเถระ
พระอัครสาวิกา คือ พระสามาเถรี และพระจัมปาเถรี
พระอุปัฏฐาก คือ พระพุทธิชะ

พระกกุสันธะพุทธเจ้าทรงมีพระวรกายสูง ๔๐ ศอก มีพระรัศมีแผ่ไปไกล ๑๐ โยชน์ เมื่อพระชนมายุได้ ๔๐,๐๐๐ ปี จึงปรินิพพาน

18


พระเวสสภูพุทธเจ้า

หลังจากศาสนาของพระสิขีพุทธเจ้าล่วงไป จึงได้ถึงสมัยของพระพุทธเจ้าทรงพระนามว่า พระเวสภูพุทธเจ้า อุบัติขึ้นในมัณฑกัปเดียวกันนั้น
พระเวสภูพุทธเจ้า ทรงประสูติเป็นเวสภูราชกุมาร ในราชวงศ์กษัตริย์แห่งอโนมะนคร พระราชบิดาทรงพระนามว่าพระเจ้าสุปปตีตะ และพระราชมารดาทรงพระนามว่าพระนางยสวดีเทวี
เวสภูกุมารทรงเกษมสำราญอยู่ ๖,๐๐๐ ปี ในปราสาท ๓ หลัง คือ สุจิปราสาท สุรุจิปราสาท และรติวัฑฒนะปราสาท ทรงมีพระมเหสีพระนามว่า สุจิตตาเทวี และทรงมีสนมนารีแวดล้อมอีก ๓๐,๐๐๐ นาง
วันหนึ่ง เวสภูกุมารทรงทอดพระเนตรเห็นเทวทูตทั้งสี่ คือ คนแก่ คนเจ็บ คนตาย และนักบวช พระองค์จึงมีพระทัยน้อมไปทางบรรพชา
เมื่อพระนางสุจิตตาเทวีประสูติพระโอรส พระนามว่า พระสุปปพุทธกุมาร จึงได้ออกบรรพชาโดยพระวอทอง โดยมีผู้ออกบรรพชาตามจำนวน ๗๐,๐๐๐ คน
เวสภูราชกุมารทรงบำเพ็ญความเพียรอยู่เป็นเวลา ๖ เดือน จนถึงวันเพ็ญเดือนวิสาขะ ทรงรับข้าวมธุปายาสจากพระพี่เลี้ยงชื่อว่าสิริวัฒนา ณ สุจิตตนิคม และรับหญ้า ๘ กำจากพระยานาคชื่อนรินทะ ปูลาดใต้ต้นสาละเป็นโพธิบัลลังก์ และได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าในคืนนั้น
พระเวสภูพุทธเจ้าทรงเสด็จไปยังอรุณราชอุทยาน ในกรุงอนูปมะ ทรงแสดงปฐมเทศนาแก่พระโสณกุมาร และพระอุตตรกุมาร ซึ่งเป็นพระอนุชา ทำให้พระอนุชาทั้งสองพร้อมบริวาร สำเร็จเป็นพระอริยบุคล

ธรรมาภิสมัยในพุทธกาลของพระเวสภูพุทธเจ้าบังเกิดขึ้น ๓ วาระ คือ
วาระที่ ๑ แสดงปฐมเทศนา
ธรรมาภิสมัยบังเกิดแก่มนุษย์และเทวดา ๘๐,๐๐๐ โกฏิ
วาระที่ ๒ แสดงธรรมในแว่นแคว้นชนบท
ธรรมาภิสมัยบังเกิดแก่มนุษย์และเทวดา ๗๐,๐๐๐ โกฏิ
วาระที่ ๓ แสดงยมกปาฏิหาริย์ ในกรุงอนูปมะ
ธรรมาภิสมัยบังเกิดแก่มนุษย์และเทวดา ๖๐,๐๐๐ โกฏิ

พระเวสภูพุทธเจ้า ทรงประชุมสาวกสันนิบาต ๓ ครั้ง
ครั้งที่ ๑ ทรงแสดงปาฏิโมกข์แก่พระสงฆ์สาวก ๑๐๐,๐๐๐ โกฏิ
ซึ่งบวชในสำนักของพระโสณะ และพระอุตระ
ครั้งที่ ๒ ทรงแสดงปาฏิโมกข์แก่พระสงฆ์สาวก ๑,๐๐๐ โกฏิ
ที่มาประชุมกัน ณ โสเรยยะนคร
ครั้งที่ ๓ ทรงแสดงปาฏิโมกข์แก่พระสงฆ์สาวก ๙๐ โกฏิ
ที่ประชุมกัน ณ นาริวาหนะนคร

พระเวสภูพุทธเจ้าทรงมีพระสาวกองค์สำคัญ คือ
พระอัครสาวก คือ พระโสณะเถระ และพระอุตตระเถระ
พระอัครสาวิกา คือ พระรามาเถรี และพระสมาลาเถรี
พระอุปัฏฐาก คือ พระอุปสันตะ

พระเวสภูพุทธเจ้าทรงมีพระวรกายสูง ๖๐ ศอก พระรัศมีเหมือนดวงไฟบนเขายามราตรี เมื่อพระชนมายุได้ ๖๐,๐๐๐ ปี จึงปรินิพพานที่เขมมิคทายวัน กรุงอุสภวดี

19


พระสิขีพุทธเจ้า

หลังจากศาสนาของพระวิปัสสีพุทธเจ้าล่วงไป ๕๙ กัป ล่วงมาถึงมัณฑกัปหนึ่ง มีพระพุทธเจ้ามาอุบัติ ๒ พระองค์ พระพุทธเจ้าองค์แรกทรงพระนามว่า พระสิขีพุทธเจ้า
พระสิขีพุทธเจ้า ทรงประสูติเป็นสิขีราชกุมาร ในราชวงศ์กษัตริย์แห่งอรุณวดีนคร พระราชบิดาทรงพระนามว่าพระเจ้าอรุณ และพระราชมารดาทรงพระนามว่าพระนางปภาวดีเทวี
สิขีกุมารทรงเกษมสำราญอยู่ ๗,๐๐๐ ปี ในปราสาท ๓ หลัง คือ สุจันทกสิริปราสาท คิริยสะปราสาท และนาริวสภะปราสาท ทรงมีพระมเหสีพระนามว่า สัพพกามาเทวี และทรงมีสนมนารีแวดล้อมอีก ๒๔,๐๐๐ นาง
วันหนึ่ง สิขีกุมารทรงทอดพระเนตรเห็นเทวทูตทั้งสี่ คือ คนแก่ คนเจ็บ คนตาย และนักบวช พระองค์จึงมีพระทัยน้อมไปทางบรรพชา
เมื่อพระนางสัพพกามาเทวีประสูติพระโอรส พระนามว่า อตุละกุมาร จึงได้ออกบรรพชาโดยคชยาน โดยมีผู้ออกบรรพชาตามจำนวน ๑๓๗,๐๐๐ คน
สิขีกุมารทรงบำเพ็ญความเพียรอยู่เป็นเวลา ๘ เดือน จนถึงวันเพ็ญเดือนวิสาขะ ทรงรับข้าวมธุปายาสจากธิดาปิยเศรษฐี สุทัสสนนิคม และรับหญ้า ๘ กำจากดาบสชื่อ อโนมทัสสี ปูลาดใต้ต้นบุณฑรีกะ (ต้นกุ่มบก) เป็นโพธิบัลลังก์ และได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าในคืนนั้น
พระสิขีพุทธเจ้าทรงเสด็จไปยังมิคาจิระราชอุทยาน ในกรุงอรุณวดี ทรงแสดงปฐมเทศนาแก่พระภิกษุสาวก ๑๗๐,๐๐๐ รูป ทำให้พระภิกษุสาวกนั้น สำเร็จเป็นพระอริยบุคล

ธรรมาภิสมัยในพุทธกาลของพระสิขีพุทธเจ้าบังเกิดขึ้น ๓ วาระ คือ
วาระที่ ๑ แสดงปฐมเทศนา
ธรรมาภิสมัยบังเกิดแก่มนุษย์และเทวดา ๑๐๐,๐๐๐ โกฏิ
วาระที่ ๒ แสดงธรรมแก่อภิภูราชโอรส และสัมภวะราชโอรส กรุงอรุณวดี
ธรรมาภิสมัยบังเกิดแก่มนุษย์และเทวดา ๙๐,๐๐๐ โกฏิ
วาระที่ ๓ แสดงยมกปาฏิหาริย์ ที่สุริยวดีนคร
ธรรมาภิสมัยบังเกิดแก่มนุษย์และเทวดา ๘๐,๐๐๐ โกฏิ

พระสิขีพุทธเจ้า ทรงประชุมสาวกสันนิบาต ๓ ครั้ง
ครั้งที่ ๑ ทรงแสดงปาฏิโมกข์แก่พระสงฆ์สาวก ๑๐๐,๐๐๐
ที่ประชุมกันภายหลังปฐมเทศนา
ครั้งที่ ๒ ทรงแสดงปาฏิโมกข์แก่พระสงฆ์สาวก ๘๐,๐๐๐
ที่ประชุมกันภายหลังทรงโปรดพระประยูรญาติ
ครั้งที่ ๓ ทรงแสดงปาฏิโมกข์แก่พระสงฆ์สาวก ๗๐,๐๐๐
ที่ประชุมกันภายหลังทรงปราบช้างธนปาล

พระสิขีพุทธเจ้าทรงมีพระสาวกองค์สำคัญ คือ
พระอัครสาวก คือ พระอภิภูเถระ และพระสัมภวะเถระ
พระอัครสาวิกา คือ พระสขิลาเถรี และพระปทุมาเถรี
พระอุปัฏฐาก คือ พระเขมังกร

พระสิขีพุทธเจ้าทรงมีพระวรกายสูง ๗๐ ศอก พระรัศมีแผ่ไปไกล ๓ โยชน์ เมื่อพระชนมายุได้ ๗๐,๐๐๐ ปี จึงปรินิพพานที่พระวิหารอัสสาราม สีลวตีนคร

20


พระวิปัสสีพุทธเจ้า

หลังจากศาสนาของพระปุสสะพุทธเจ้าล่วงไป กัปต่อมาเป็นสารกัป มีพระพุทธเจ้ามาอุบัติองค์หนึ่งทรงพระนามว่า พระวิปัสสีพุทธเจ้า
พระวิปัสสีพุทธเจ้า ทรงประสูติเป็นวิปัสสีราชกุมาร ในราชวงศ์กษัตริย์แห่งพันธุมวดีนคร พระราชบิดาทรงพระนามว่าพระเจ้าพันธุมะ และพระราชมารดาทรงพระนามว่าพระนางพันธุมดี
วิปัสสีราชกุมารทรงเกษมสำราญอยู่ ๘,๐๐๐ ปี ในปราสาท ๓ หลัง คือ นันทะปราสาท สุนันทะปราสาท และสิริมาปราสาท ทรงมีพระมเหสีพระนามว่า สุทัสสนา หรือสุตนูเทวี และทรงมีสนมนารีแวดล้อมอีก ๑๒๐,๐๐๐ นาง
วันหนึ่ง วิปัสสีราชกุมารทรงทอดพระเนตรเห็นเทวทูตทั้งสี่ คือ คนแก่ คนเจ็บ คนตาย และนักบวช พระองค์จึงมีพระทัยน้อมไปทางบรรพชา
เมื่อพระเทวีทรงประสูติพระโอรส พระนามว่า สมวัฏฏขันธะกุมาร จึงได้ออกบรรพชาโดยราชรถเทียมม้า โดยมีผู้ออกบรรพชาตามจำนวน ๘๔,๐๐๐ คน
วิปัสสีราชกุมารทรงบำเพ็ญความเพียรอยู่เป็นเวลา ๘ เดือน จนถึงวันเพ็ญเดือนวิสาขะ ทรงรับข้าวมธุปายาสจากธิดาสุทัสสนเศรษฐี และรับหญ้า ๘ กำจากคนเฝ้าไร่ข้าวเหนียวชื่อสุชาตะ ปูลาดใต้ต้นปาฏลี (ต้นแคฝอย) เป็นโพธิบัลลังก์ และได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าในคืนนั้น
พระวิปัสสีพุทธเจ้าทรงเสด็จไปยังเขมมิคทายวัน และทรงแสดงปฐมเทศนาแก่พระอนุชาต่างมารดาชื่อพระขัณฑกุมาร และบุตรปุโรหิตชื่อติสสกุมาร ทำให้พระขัณฑกุมาร และติสสะกุมาร พร้อมบริวาร สำเร็จเป็นพระอริยบุคล

ธรรมาภิสมัยในพุทธกาลของพระวิปัสสีพุทธเจ้าบังเกิดขึ้น ๓ วาระ คือ
วาระที่ ๑ แสดงปฐมเทศนา
ธรรมาภิสมัยบังเกิดแก่มนุษย์และเทวดาไม่อาจกำหนดจำนวน
วาระที่ ๒ แสดงธรรมแก่ผู้บวชตามพระขัณฑกุมารและติสสกุมาร
ธรรมาภิสมัยบังเกิดแก่มนุษย์ ๘๔,๐๐๐
วาระที่ ๓ แสดงธรรมที่เขมิคทายวัน
ธรรมาภิสมัยบังเกิดแก่มนุษย์ ๘๖,๐๐๐

พระวิปัสสีพุทธเจ้า ทรงประชุมสาวกสันนิบาต ๓ ครั้ง
ครั้งที่ ๑ ทรงแสดงปาฏิโมกข์แก่พระสงฆ์สาวก ๖,๘๐๐,๐๐๐ ณ เขมิคทายวัน
ครั้งที่ ๒ ทรงแสดงปาฏิโมกข์แก่พระสงฆ์สาวก ๑๐๐,๐๐๐
ครั้งที่ ๓ ทรงแสดงปาฏิโมกข์แก่พระสงฆ์สาวก ๘๐,๐๐๐ ณ เขมิคทายวัน

พระวิปัสสีพุทธเจ้าทรงมีพระสาวกองค์สำคัญ คือ
พระอัครสาวก คือ พระขัณฑะเถระ และพระติสสะเถระ
พระอัครสาวิกา คือ พระจันทาเถรี และพระจันทมิตตาเถรี
พระอุปัฏฐาก คือ พระอโสกะ

พระวิปัสสีพุทธเจ้าทรงมีพระวรกายสูง ๘๐ ศอก พระรัศมีแผ่ไป ๗ โยชน์ เมื่อพระชนมายุได้ ๘๐,๐๐๐ ปี จึงปรินิพพาน

21


พระปุสสะพุทธเจ้า

หลังจากศาสนาของพระติสสะพุทธเจ้าล่วงไป จึงได้ถึงสมัยของพระพุทธเจ้าทรงพระนามว่า พระปุสสะพุทธเจ้า บังเกิดในมัณฑกัปเดียวกันนั้น
พระปุสสะพุทธเจ้า ทรงประสูติเป็นปุสสะราชกุมาร ในราชวงศ์กษัตริย์แห่งกาสีนคร พระราชบิดาทรงพระนามว่าพระเจ้าชัยเสน และพระราชมารดาทรงพระนามว่าพระนางสิริมาเทวี
ปุสสะราชกุมารทรงเกษมสำราญอยู่ ๙,๐๐๐ ปี ในปราสาท ๓ หลัง คือ ครุฬปักขะปราสาท หังสะปราสาท และสุวรรณภาระปราสาท ทรงมีพระมเหสีพระนามว่า กีสาโคตมี และทรงมีสนมนารีแวดล้อมอีก ๓๐,๐๐๐ นาง
วันหนึ่ง ปุสสะราชกุมารทรงทอดพระเนตรเห็นเทวทูตทั้งสี่ คือ คนแก่ คนเจ็บ คนตาย และนักบวช พระองค์จึงมีพระทัยน้อมไปทางบรรพชา
เมื่อพระนางสิริมาเทวีประสูติพระโอรส พระนามว่า อนูปมะกุมาร จึงได้ออกบรรพชาโดยคชยาน โดยมีผู้ออกบรรพชาตามจำนวน ๑ โกฏิ
ปุสสะราชกุมารทรงบำเพ็ญความเพียรอยู่เป็นเวลา ๖ เดือน จนถึงวันเพ็ญเดือนวิสาขะ ทรงรับข้าวมธุปายาสจากนางสิริวัฑฒาธิดาของเศรษฐี และรับหญ้า ๘ กำจากอุบาสกชื่อสิริวัฒนะ ปูลาดใต้ต้นอาลมกะ (ต้นมะขามป้อม) เป็นโพธิบัลลังก์ และได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าในคืนนั้น
พระปุสสะพุทธเจ้าทรงแสดงปฐมเทศนาแก่พระภิกษุ ๑ โกฏิ ที่ออกบรรพชาตามพระองค์ ที่ป่าอิสิปตนะมิคทายวัน สังกัสสนคร ทำให้พระภิกษุทั้งแสนโกฏินั้นสำเร็จเป็นพระอริยบุคล

ธรรมาภิสมัยในพุทธกาลของพระปุสสะพุทธเจ้าบังเกิดขึ้น ๓ วาระ คือ
วาระที่ ๑ แสดงปฐมเทศนา
ธรรมาภิสมัยบังเกิดแก่มนุษย์และเทวดา ๑๐๐,๐๐๐ โกฏิ
วาระที่ ๒ แสดงธรรมแก่สิริวัฑฒะดาบส
ธรรมาภิสมัยบังเกิดแก่มนุษย์ ๙,๐๐๐,๐๐๐
วาระที่ ๓ แสดงธรรมแก่พระโอรส
ธรรมาภิสมัยบังเกิดแก่มนุษย์และเทวดา ๘,๐๐๐,๐๐๐

พระปุสสะพุทธเจ้า ทรงประชุมสาวกสันนิบาต ๓ ครั้ง
ครั้งที่ ๑ ทรงแสดงปาฏิโมกข์แก่พระสงฆ์สาวก ๑,๐๐๐,๐๐๐
ที่ประชุมกัน ณ กัณณกุชชนคร
ครั้งที่ ๒ ทรงแสดงปาฏิโมกข์แก่พระสงฆ์สาวก ๕,๐๐๐,๐๐๐
ที่ประชุมกัน ณ นครกาสี ภายหลังจากที่ทรงแสดงพุทธวงศ์โปรดพระประยูรญาติ
จนมีมหาชนออกบวชจำนวนมาก
ครั้งที่ ๓ ทรงแสดงปาฏิโมกข์แก่พระสงฆ์สาวก ๔,๐๐๐,๐๐๐
ที่ประชุมกันในมหามงคลสถาน

พระปุสสะพุทธเจ้าทรงมีพระสาวกองค์สำคัญ คือ
พระอัครสาวก คือ พระสุรักขิตะเถระ และพระธัมมเสนะเถระ
พระอัครสาวิกา คือ พระจาลาเถรี และพระอุปจาลาเถรี
พระอุปัฏฐาก คือ พระสภิยะเถระ

พระปุสสะพุทธเจ้าทรงมีพระวรกายสูง ๕๘ ศอก เมื่อพระชนมายุได้ ๙๐,๐๐๐ ปี จึงปรินิพพาน ณ พระวิหารเสนาราม กรุงกุสินารา

22



พระติสสะพุทธเจ้า

หลังจากศาสนาของพระสิทธัตถะพุทธเจ้าล่วงไปได้กัปหนึ่ง กัปต่อมาเป็นมัณฑกัป มีพระพุทธเจ้ามาอุบัติ ๒ พระองค์ พระพุทธเจ้าองค์แรกทรงพระนามว่า พระติสสะพุทธเจ้า
พระติสสะพุทธเจ้า ทรงประสูติเป็นติสสะราชกุมาร ในราชวงศ์กษัตริย์แห่งเขมกะนคร พระราชบิดาทรงพระนามว่าพระเจ้าชนสันธะ และพระราชมารดาทรงพระนามว่าพระนางปทุมาเทวี
ติสสะราชกุมารทรงเกษมสำราญอยู่ ๗,๐๐๐ ปี ในปราสาท ๓ หลัง คือ คุหาเสละปราสาท นาริสยะปราสาท และนิสภะปราสาท ทรงมีพระมเหสีพระนามว่า สุภัททาเทวี และทรงมีสนมนารีแวดล้อมอีก ๓๓,๐๐๐ นาง
วันหนึ่ง ติสสะราชกุมารทรงทอดพระเนตรเห็นเทวทูตทั้งสี่ คือ คนแก่ คนเจ็บ คนตาย และนักบวช พระองค์จึงมีพระทัยน้อมไปทางบรรพชา
เมื่อพระนางปทุมาเทวีประสูติพระโอรส พระนามว่า อานันทกุมาร จึงได้ออกบรรพชาโดยม้าโสนุตตระ โดยมีผู้ออกบรรพชาตามจำนวน ๑ โกฏิ
ติสสะราชกุมารทรงบำเพ็ญความเพียรอยู่เป็นเวลา ๘ เดือน จนถึงวันเพ็ญเดือนวิสาขะ ทรงรับข้าวมธุปายาสจากธิดาวีรเศรษฐี ณ วีรนิคม และรับหญ้า ๘ กำจากคนเฝ้าไร่ข้าวเหนียวชื่อวิชิตสังคามะกะ ปูลาดใต้ต้นอสนะ (ต้นประดู่) เป็นโพธิบัลลังก์ และได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าในคืนนั้น
พระติสสะพุทธเจ้าทรงแสดงปฐมเทศนา แก่พระราชโอรสกรุงยสวดี ๒ พระองค์ คือ พระพรหมเทวะ กับพระอุทยะ พร้อมบริวาร ที่ยสวดีมิคทายวัน กรุงยสวดี ทำให้ราชโอรสทั้งสองพระองค์พร้อมบริวารสำเร็จเป็นพระอริยบุคล

ธรรมาภิสมัยในพุทธกาลของพระติสสะพุทธเจ้าบังเกิดขึ้น ๓ วาระ คือ
วาระที่ ๑ แสดงปฐมเทศนา
ธรรมาภิสมัยบังเกิดแก่มนุษย์และเทวดา ๑๐๐ โกฏิ
วาระที่ ๒ แสดงธรรมแก่ผู้ออกบรรพชาตามโกฏิหนึ่ง
ธรรมาภิสมัยบังเกิดแก่มนุษย์และเทวดา ๙๐ โกฏิ
วาระที่ ๓ แสดงธรรมในมหามงคลสมาคม
ธรรมาภิสมัยบังเกิดแก่มนุษย์และเทวดา ๖๐ โกฏิ

พระติสสะพุทธเจ้า ทรงประชุมสาวกสันนิบาต ๓ ครั้ง
ครั้งที่ ๑ ทรงแสดงปาฏิโมกข์แก่พระสงฆ์สาวก ๑๐๐,๐๐๐ ณ ยสวดีนคร
ครั้งที่ ๒ ทรงแสดงปาฏิโมกข์แก่พระสงฆ์สาวก ๙,๐๐๐,๐๐๐ ณ นาริวาหนนคร
ครั้งที่ ๓ ทรงแสดงปาฏิโมกข์แก่พระสงฆ์สาวก ๘,๐๐๐,๐๐๐ ณ เขมวดีนคร
ภายหลังจากแสดงพุทธวงศ์โปรดพระประยูรญาติ

พระติสสะพุทธเจ้าทรงมีพระสาวกองค์สำคัญ คือ
พระอัครสาวก คือ พระพรหมเทวะเถระ และพระอุทยะเถระ
พระอัครสาวิกา คือ พระผุสสาเถรี และพระสุทัตตาเถรี
พระอุปัฏฐาก คือ พระสุมังคะ

พระติสสะพุทธเจ้าทรงมีพระวรกายสูง ๖๐ ศอก เมื่อพระชนมายุได้ ๑๐๐,๐๐๐ ปี จึงปรินิพพาน ณ พระวิหารสุนันทาราม กรุงสุนันทวดี

23


พระสิทธัตถะพุทธเจ้า

หลังจากศาสนาของพระธรรมทัสสีพุทธเจ้าล่วงไปได้ ๑,๗๐๖ กัป จึงเกิดสารกัปหนึ่ง มีพระพุทธเจ้ามาอุบัติ ๑ พระองค์ ทรงพระนามว่า พระสิทธัตถะพุทธเจ้า
พระสิทธัตถะพุทธเจ้า ทรงประสูติเป็นสิทธัตถะราชกุมาร ในราชวงศ์กษัตริย์แห่งเวภาระนคร พระราชบิดาทรงพระนามว่าพระเจ้าอุเทน และพระราชมารดาทรงพระนามว่าพระนางสุผัสสาเทวี
สิทธัตถะราชกุมารทรงเกษมสำราญอยู่ ๑๐,๐๐๐ ปี ในปราสาท ๓ หลัง คือ โกกาสะปราสาท อุปปละปราสาท และปทุมะปราสาท ทรงมีพระมเหสีพระนามว่า โสมนัสสาเทวี และทรงมีสนมนารีแวดล้อมอีก ๘๔,๐๐๐ นาง
วันหนึ่ง สิทธัตถะราชกุมารทรงทอดพระเนตรเห็นเทวทูตทั้งสี่ คือ คนแก่ คนเจ็บ คนตาย และนักบวช พระองค์จึงมีพระทัยน้อมไปทางบรรพชา
เมื่อพระนางโสมนัสสาเทวีประสูติพระโอรส พระนามว่า พระอนุปมกุมาร จึงได้เสด็จโดยพระวอทองออกบรรพชาในราชอุทยาน โดยมีผู้ออกบรรพชาตามจำนวน ๑ แสนโกฏิ
สิทธัตถะราชกุมารทรงบำเพ็ญความเพียรอยู่เป็นเวลา ๑๐ เดือน จนถึงวันเพ็ญเดือนวิสาขะ ทรงรับข้าวมธุปายาสจากสุเนตตาพราหมณี บ้านอสทิสพราหมณ์ และรับหญ้า ๘ กำจากคนเฝ้าไร่ข้าวเหนียวชื่อ วรุณะ ปูลาดใต้ต้นกณิการะ (ต้นกรรณิการ์) เป็นโพธิบัลลังก์ และได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าในคืนนั้น
พระสิทธัตถะพุทธเจ้าทรงแสดงปฐมเทศนา แก่พระภิกษุแสนโกฏิที่ออกบวชตามพระองค์ ที่คยามิคทายวัน ทำให้พระภิกษุแสนโกฏินั้นสำเร็จเป็นพระอริยบุคล

พระสิทธัตถะพุทธเจ้า ทรงแสดงธรรมาภิสมัยให้บังเกิดขึ้น ๓ วาระ คือ
วาระที่ ๑ แสดงปฐมเทศนา
ธรรมาภิสมัยบังเกิดแก่มนุษย์และเทวดา ๑๐๐,๐๐๐ โกฏิ
วาระที่ ๒ แสดงธรรมในภีมรถนคร
ธรรมาภิสมัยบังเกิดแก่มนุษย์และเทวดา ๙๐ โกฏิ
วาระที่ ๓ แสดงธรรมแก่พระประยูรญาติในเภวาระนคร
ธรรมาภิสมัยบังเกิดแก่มนุษย์และเทวดา ๙๐ โกฏิ

พระสิทธัตถะพุทธเจ้า ทรงประชุมสาวกสันนิบาต ๓ ครั้ง
ครั้งที่ ๑ ทรงแสดงปาฏิโมกข์แก่พระสงฆ์สาวก ๑๐๐ โกฏิ
ณ อมรนคร
ครั้งที่ ๒ ทรงแสดงปาฏิโมกข์แก่พระสงฆ์สาวก ๙๐ โกฏิ
ประชุมกันในสมาคมของพระญาติ ในเวภาระนคร
ครั้งที่ ๓ ทรงแสดงปาฏิโมกข์แก่พระสงฆ์สาวก ๘๐ โกฏิ
ณ สุทัสสนวิหาร

พระสิทธัตถะพุทธเจ้าทรงมีพระสาวกองค์สำคัญ คือ
พระอัครสาวก คือ พระสัมพละเถระ และพระสุมิตตะเถระ
พระอัครสาวิกา คือ พระสีวลาเถรี และพระสุรามาเถรี
พระอุปัฏฐาก คือ พระเรวตะ

พระสิทธัตถะพุทธเจ้าทรงมีพระวรกายสูง ๖๐ ศอก เมื่อพระชนมายุได้ ๑๐๐,๐๐๐ ปี จึงปรินิพพาน ณ อโนมราชอุทยาน กรุงกาญจนเวฬุ

24


พระธรรมทัสสีพุทธเจ้า

หลังจากศาสนาของพระอัตถะทัสสีพุทธเจ้าล่วงไป จึงได้ถึงสมัยของพระพุทธเจ้าทรงพระนามว่า พระธรรมทัสสีพุทธเจ้า อุบัติเป็นองค์สุดท้ายในวรกัปนั้น
พระธรรมทัสสีพุทธเจ้า ทรงประสูติเป็นธรรมทัสสีราชกุมาร ในราชวงศ์กษัตริย์แห่งสรณะนคร พระราชบิดาทรงพระนามว่าพระเจ้าสรณะ และพระราชมารดาทรงพระนามว่าพระนางสุนันทาเทวี
ธรรมทัสสีราชกุมารทรงเกษมสำราญอยู่ ๘,๐๐๐ ปี ในปราสาท ๓ หลัง คือ อรชะปราสาท วิรชะปราสาท และสุทัสสนะปราสาททรงมีพระมเหสีพระนามว่า วิจิโกฬิเทวี และทรงมีสนมนารีแวดล้อมอีก ๒๒๐,๐๐๐ นาง
วันหนึ่ง ธรรมทัสสีราชกุมารทรงทอดพระเนตรเห็นเทวทูตทั้งสี่ คือ คนแก่ คนเจ็บ คนตาย และนักบวช พระองค์จึงมีพระทัยน้อมไปทางบรรพชา
เมื่อพระนางวิจิโกฬิเทวีประสูติพระโอรส พระนามว่า ปุญญวัฒนะกุมาร จึงได้ดำริว่าจะออกบรรพชา สุทัสสนะปราสาทจึงลอยเลื่อนไปส่งพระองค์ที่ต้นรัตตกุรวกะ (ต้นมะกล่ำทอง) โดยมีผู้ออกบรรพชาตามจำนวน ๑ แสนโกฏิ
ธรรมทัสสีราชกุมารทรงบำเพ็ญความเพียรอยู่เป็นเวลา ๗ วัน จนถึงวันเพ็ญเดือนวิสาขะ ทรงรับข้าวมธุปายาสจากพระนางวิจิโกฬิเทวี และรับหญ้า ๘ กำจากคนเฝ้าไร่ข้าวเหนียวชื่อสิริวัฒนะ ปูลาดใต้ต้นพิมพิชาละ (ต้นมะพลับ) เป็นโพธิบัลลังก์ และได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าในคืนนั้น
พระธรรมทัสสีพุทธเจ้าทรงแสดงปฐมเทศนา แก่พระภิกษุแสนโกฏิที่ออกบวชตามพระองค์ ที่ป่าอิสิปตนะมิคทายวัน ทำให้พระภิกษุแสนโกฏินั้นสำเร็จเป็นพระอริยบุคล

ธรรมาภิสมัยในพุทธกาลของพระธรรมทัสสีพุทธเจ้าบังเกิดขึ้น ๓ วาระ คือ
วาระที่ ๑ แสดงปฐมเทศนา
ธรรมาภิสมัยบังเกิดแก่มนุษย์และเทวดา ๑๐๐,๐๐๐ โกฏิ
วาระที่ ๒ แสดงธรรมแก่สัญชัยดาบส
ธรรมาภิสมัยบังเกิดแก่มนุษย์และเทวดา ๙๐ โกฏิ
วาระที่ ๓ แสดงธรรมแก่ท้าวสักกเทวราช
ธรรมาภิสมัยบังเกิดแก่มนุษย์และเทวดา ๘๐ โกฏิ

พระธรรมทัสสีพุทธเจ้า ทรงประชุมสาวกสันนิบาต ๓ ครั้ง
ครั้งที่ ๑ ทรงแสดงปาฏิโมกข์แก่พระสงฆ์สาวก ๑๐๐,๐๐๐ โกฏิ
ณ กรุงสรณะ
ครั้งที่ ๒ ทรงแสดงปาฏิโมกข์แก่พระสงฆ์สาวก ๑๐๐ โกฏิ
ประชุมกันในคราวรอรับเสด็จพระธรรมทัสสีพุทธเจ้าเสด็จกลับจากดาวดึงส์
ครั้งที่ ๓ ทรงแสดงปาฏิโมกข์แก่พระสงฆ์สาวก ๘๐ โกฏิ
ณ สุทัสสนาราม

พระธรรมทัสสีพุทธเจ้าทรงมีพระสาวกองค์สำคัญ คือ
พระอัครสาวก คือ พระปทุมะเถระ และพระปุสสเทวะเถระ
พระอัครสาวิกา คือ พระเขมาเถรี และพระสัจจนามาเถรี
พระอุปัฏฐาก คือ พระสุเนตตะเป็น

พระธรรมทัสสีพุทธเจ้าทรงมีพระวรกายสูง ๘๐ ศอก เมื่อพระชนมายุได้ ๑๐๐,๐๐๐ ปี จึงปรินิพพาน ณ พระวิหารเกสาราม กรุงสาลวดี
__________________

25


พระอัตถทัสสีพุทธเจ้า

หลังจากศาสนาของพระปิยทัสสีพุทธเจ้าล่วง จึงได้ถึงสมัยของพระพุทธเจ้าทรงพระนามว่า พระอัตถะทัสสีพุทธเจ้า บังเกิดในวรกัปเดียวกัน
พระอัตถะทัสสีพุทธเจ้า ทรงประสูติเป็นอัตถะทัสสีราชกุมาร ในราชวงศ์กษัตริย์แห่งโสภณะนคร พระราชบิดาทรงพระนามว่าพระเจ้าสาคระ และพระราชมารดาทรงพระนามว่าพระนางสุทัสสนเทวี
อัตถะทัสสีราชกุมารทรงเกษมสำราญอยู่ ๑๐,๐๐๐ ปี ในปราสาท ๓ หลัง คือ อมรคิรีปราสาท สุรคิรีปราสาท และคิริวาหนะปราสาท ทรงมีพระมเหสีพระนามว่า วิสาขาเทวี และทรงมีสนมนารีแวดล้อมอีก ๓๓,๐๐๐ นาง
วันหนึ่ง อัตถะทัสสีราชกุมารทรงทอดพระเนตรเห็นเทวทูตทั้งสี่ คือ คนแก่ คนเจ็บ คนตาย และนักบวช พระองค์จึงมีพระทัยน้อมไปทางบรรพชา
เมื่อพระนางวิสาขาเทวีประสูติพระโอรส พระนามว่า เสละกุมารกุมาร จึงได้เสด็จด้วยม้าสุทัสสนะออกบรรพชา โดยมีผู้ออกบรรพชาตาม ๙ โกฏิ
อัตถะทัสสีราชกุมารทรงบำเพ็ญความเพียรอยู่ในพระราชอุทยานเป็นเวลา ๘ เดือน จนถึงวันเพ็ญเดือนวิสาขะ ทรงรับข้าวมธุปายาสที่มหาชนนำมาสังเวยนางนาคชื่อ สุจินธรา และรับหญ้า ๘ กำจากพระยานาคชื่อ มหารุจิ ปูลาดใต้ต้นจัมปกะ (ต้นจำปา) เป็นโพธิบัลลังก์ และได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าในคืนนั้น
พระอัตถะทัสสีพุทธเจ้าทรงแสดงปฐมเทศนา แก่พระภิกษุ ๙ โกฏิที่ออกบวชตามพระองค์ ที่ราชอุทยานในอโนมนคร ทำให้พระภิกษุ ๙ โกฏินั้นสำเร็จเป็นพระอริยบุคล

ธรรมาภิสมัยในพุทธกาลของพระอัตถะทัสสีพุทธเจ้าบังเกิดขึ้น ๓ วาระ คือ
วาระที่ ๑ แสดงปฐมเทศนา
ธรรมาภิสมัยบังเกิดแก่มนุษย์และเทวดา ๑๐๐,๐๐๐ โกฏิ
วาระที่ ๒ แสดงธรรมบนดาวดึงส์เทวโลกโปรดพุทธมารดา
ธรรมาภิสมัยบังเกิดแก่เทวดา ๑๐๐,๐๐๐ โกฏิ
วาระที่ ๓ แสดงธรรมแก่พระเจ้าสาคระพุทธบิดา
ธรรมาภิสมัยบังเกิดแก่มนุษย์และเทวดา ๑๐๐,๐๐๐ โกฏิ

พระอัตถะทัสสีพุทธเจ้า ทรงประชุมสาวกสันนิบาต ๓ ครั้ง
ครั้งที่ ๑ ทรงแสดงปาฏิโมกข์แก่พระสงฆ์สาวก ๙๘,๐๐๐ ณ สุจันทกนคร
ครั้งที่ ๒ ทรงแสดงปาฏิโมกข์แก่พระสงฆ์สาวก ๘๘,๐๐๐ มีพระเสละเถระ ผู้เป็นพุทโธรสเป็นประธาน
ครั้งที่ ๓ ทรงแสดงปาฏิโมกข์แก่พระสงฆ์สาวก ๗๗,๐๐๐

พระอัตถะทัสสีพุทธเจ้าทรงมีพระสาวกองค์สำคัญ คือ
พระอัครสาวก คือ พระสันตะเถระ และพระอุปสันตะเถระ
พระอัครสาวิกา คือ พระธัมมาเถรี และพระสุธัมมาเถรี
พระอุปัฏฐาก คือ พระอภยะ

พระอัตถะทัสสีพุทธเจ้าทรงมีพระวรกายสูง ๘๐ ศอก มีพระรัศมีแผ่ไปโดยรอบโยชน์หนึ่ง เมื่อพระชนมายุได้ ๑๐๐,๐๐๐ ปี จึงปรินิพพาน

26


พระปิยทัสสีพุทธเจ้า

หลังจากศาสนาของพระสุชาตะพุทธเจ้าล่วงไปได้ ๒๘,๒๐๐ กัป ถึงวรกัปหนึ่ง มีพระพุทธเจ้ามาอุบัติ ๓ พระองค์ พระพุทธเจ้าองค์แรกทรงพระนามว่า พระปิยทัสสีพุทธเจ้า
พระปิยทัสสีพุทธเจ้า ทรงประสูติเป็นปิยทัสสีราชกุมาร ในราชวงศ์กษัตริย์แห่งสุธัญญวดีนคร พระราชบิดาทรงพระนามว่าพระเจ้าสุทัตตะ และพระราชมารดาทรงพระนามว่าพระนางจันทาเทวี
ปิยทัสสีราชกุมารทรงเกษมสำราญอยู่ ๙,๐๐๐ ปี ในปราสาท ๓ หลัง คือ สุนิมมละปราสาท วิมละปราสาท และคิริพรหาปราสาท ทรงมีพระมเหสีพระนามว่า วิมลาเทวี และทรงมีสนมนารีแวดล้อมอีก ๓๓,๐๐๐ นาง
วันหนึ่ง ปิยทัสสีราชกุมารทรงทอดพระเนตรเห็นเทวทูตทั้งสี่ คือ คนแก่ คนเจ็บ คนตาย และนักบวช พระองค์จึงมีพระทัยน้อมไปทางบรรพชา
เมื่อพระนางวิมลาเทวีประสูติพระโอรส พระนามว่า กัญจนเวฬะกุมาร จึงได้เสด็จด้วยราชรถเทียมม้าออกบรรพชา โดยมีผู้ออกบรรพชาตาม ๑ โกฏิ
ปิยทัสสีราชกุมารทรงบำเพ็ญความเพียรเป็นเวลา ๖ เดือน จนถึงวันเพ็ญเดือนวิสาขะ ทรงรับข้าวมธุปายาสจากธิดาของวสภพราหมณ์ บ้านวรุณพราหมณ์ และรับหญ้า ๘ กำจากสุชาตะอาชีวก ปูลาดใต้ต้นกกุธะ (ต้นกุ่ม) เป็นโพธิบัลลังก์ และได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าในคืนนั้น
พระปิยทัสสีพุทธเจ้าทรงแสดงปฐมเทศนา แก่พระภิกษุแสนโกฏิที่ออกบวชตามพระองค์ ที่ราชอุทยานในกรุงอุสภวดี ทำให้พระภิกษุแสนโกฏินั้นสำเร็จเป็นพระอริยบุคล

ธรรมาภิสมัยในพุทธกาลของพระปิยทัสสีพุทธเจ้าบังเกิดขึ้น ๓ วาระ คือ
วาระที่ ๑ แสดงปฐมเทศนา
ธรรมาภิสมัยบังเกิดแก่มนุษย์และเทวดา ๑๐๐,๐๐๐ โกฏิ
วาระที่ ๒ แสดงธรรมบรรเทาทิฏฐิแก่ท้าวสุทัสสนะเทวราช
ธรรมาภิสมัยบังเกิดแก่มนุษย์และเทวดา ๙๐,๐๐๐ โกฏิ
วาระที่ ๓ ทรงปราบช้างตกมันโทณมุขะ
ธรรมาภิสมัยบังเกิดแก่มนุษย์และเทวดา ๘๐,๐๐๐ โกฏิ

พระปิยทัสสีพุทธเจ้า ทรงประชุมสาวกสันนิบาต ๓ ครั้ง
ครั้งที่ ๑ ทรงแสดงปาฏิโมกข์แก่พระสงฆ์สาวก ๑๐๐,๐๐๐ โกฏิ
มีพระปาลิตะ โอรสของพระราชาสุมงคลนคร กับพระสัพพทัสสิ
บุตรราชปุโรหิต เป็นประธาน
ครั้งที่ ๒ ทรงแสดงปาฏิโมกข์แก่พระสงฆ์สาวก ๙๐,๐๐๐ โกฏิ
ณ สมาคมของท้าวสุทัสสนะเทวราช
ครั้งที่ ๓ ทรงแสดงปาฏิโมกข์แก่พระสงฆ์สาวก ๘๐,๐๐๐ โกฏิ
ประชุมกันในคราวปราบช้างโทณมุขะ

พระปิยทัสสีพุทธเจ้าทรงมีพระสาวกองค์สำคัญ คือ
พระอัครสาวก คือ พระปาลิตะเถระ และพระสัพพทัสสีเถระ
พระอัครสาวิกา คือ พระสุชาดาเถรี และพระธัมมทินนาเถรี
พระอุปัฏฐาก คือ พระโสภิตะ

พระปิยทัสสีพุทธเจ้าทรงมีพระวรกายสูง ๘๐ ศอก มีพระรัศมีแผ่ไปโดยรอบไม่มีประมาณ เมื่อพระชนมายุได้ ๙๐,๐๐๐ ปี จึงปรินิพพาน

27


หลังจากศาสนาของพระสุเมธะพุทธเจ้าล่วงไป จึงได้ถึงสมัยของพระพุทธเจ้าทรงพระนามว่า พระสุชาตะพุทธเจ้า ซึ่งอุบัติขึ้นในมัณฑกัปเดียวกัน
พระสุชาตะพุทธเจ้า ทรงประสูติเป็นสุชาตะราชกุมาร ในวงศ์กษัตริย์แห่งสุมงคลนคร พระราชบิดาทรงพระนามว่าพระเจ้าอุคคตะ และพระราชมารดาทรงพระนามว่าพระนางปภาวดี
สุชาตะราชกุมารทรงเกษมสำราญอยู่ ๙,๐๐๐ ปี ในปราสาท ๓ หลัง คือ สิรีปราสาท อุปสิรีปราสาท และสิรินันทะปราสาท ทรงมีพระมเหสีพระนามว่า สิรินันทาเทวี และทรงมีสนมนารีแวดล้อมอีก ๒๓,๐๐๐ นาง
วันหนึ่ง พระสุชาตะทรงทอดพระเนตรเห็นเทวทูตทั้งสี่ คือ คนแก่ คนเจ็บ คนตาย และนักบวช พระองค์จึงมีพระทัยน้อมไปทางบรรพชา
เมื่อพระนางสิรินันทาเทวีประสูติพระโอรส พระนามว่า อุปเสนกุมาร จึงได้เสด็จทรงม้าหังสวหังออกบรรพชา โดยมีผู้ออกบรรพชาตาม ๑ โกฏิ
สุชาตะราชุมารทรงบำเพ็ญความเพียรอยู่ในพระราชอุทยานเป็นเวลา ๙ เดือน จนถึงวันเพ็ญเดือนวิสาขะ ทรงรับข้าวมธุปายาสจากธิดาของสิรินันทนเศรษฐี แห่งสิรินันทนนคร และรับหญ้า ๘ กำจากสุนันทะอาชีวก ปูลาดใต้ต้นเวฬุ (ต้นไผ่) เป็นโพธิบัลลังก์ และได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าในคืนนั้น
พระสุชาตะพุทธเจ้าทรงแสดงปฐมเทศนา แก่พระสุทัสสนกุมารพระอนุชา และเทวกุมารบุตรปุโรหิต พร้อมบริวาร ในราชอุทยานนั้นเอง

ธรรมาภิสมัยในพุทธกาลของพระสุชาตะพุทธเจ้าบังเกิดขึ้น ๓ วาระ คือ
วาระที่ ๑ แสดงปฐมเทศนา
ธรรมาภิสมัยบังเกิดแก่มนุษย์และเทวดา ๑ โกฏิ
วาระที่ ๒ แสดงธรรมบนดาวดึงส์เทวโลกโปรดพุทธมารดา
ธรรมาภิสมัยบังเกิดแก่เทวดา ๓,๗๐๐,๐๐๐
วาระที่ ๓ แสดงธรรมแก่พระเจ้าอุคคตะพุทธบิดา
ธรรมาภิสมัยบังเกิดแก่มนุษย์และเทวดา ๖,๐๐๐,๐๐๐

พระสุชาตะพุทธเจ้า ทรงประชุมสาวกสันนิบาต ๓ ครั้ง
ครั้งที่ ๑ ทรงแสดงปาฏิโมกข์แก่พระสงฆ์สาวก ๖,๐๐๐,๐๐๐
ณ สุธรรมราชอุทยาน
ครั้งที่ ๒ ทรงแสดงปาฏิโมกข์แก่พระสงฆ์สาวก ๕,๐๐๐,๐๐๐
ที่มาประชุมกันเพื่อรอรับเสด็จพระสุชาตะพุทธเจ้าเสด็จกลับจากดาวดึงส์
ครั้งที่ ๓ ทรงแสดงปาฏิโมกข์แก่พระสงฆ์สาวก ๔๐๐,๐๐๐
ที่นำโดยพระสุทัสสนเถระ

พระสุชาตะพุทธเจ้าทรงมีพระสาวกองค์สำคัญ คือ
พระอัครสาวก คือ พระสุทัสสนะเถระ และพระสุเทวะเถระ
พระอัครสาวิกา คือ พระนาคาเถรี และพระนาคสมาลาเถรี
พระอุปัฏฐาก คือ พระนารทะ

พระสุชาตะพุทธเจ้าทรงมีพระวรกายสูง ๕๐ ศอก มีพระรัศมีแผ่ไปได้โดยรอบไม่มีประมาณ เมื่อพระชนมายุได้ ๙๐,๐๐๐ ปี จึงปรินิพพาน ณ พระวิหารสิลาราม กรุงจันทวดี
__________________

28
ชมพูทวีป หมายถึง โลกมนุษย์ทั้งหมด ไม่ใช่อินเดีย-เนปาล อย่างที่หลายๆคนเข้าใจ ดังมีหลักฐานที่พระพุทธเจ้าแสดงดังนี้

ทวีปต่างๆในจักรวาล
๑) ชมพูทวีป ตั้งอยู่ทางทิศใต้ของเขาสิเนรุ (เขาพระสุเมรุ)
-มีธาตุมรกตอยู่ทางทิศใต้ของเขาสิเนรุ แสงสะท้อนของธาตุมรกตทำให้ทองฟ้าและมหาสมุทรของชมพูทวีปมีสีน้ำเงินแกมเขียว
-มนุษย์ที่ชมพูทวีป มีความสูง ๔ ศอก มีอายุประมาณ ๑๐๐ ปี (อาจตายก่อนอายุได้ ไม่แน่นอน)
-มนุษย์ที่อาศัยอยู่ในทวีปนี้ อายุยิ่งหย่อนขึ้นอยู่กับคุณธรรม ไม่แน่นอน
-สมัยของพระพุทธเจ้าพระนามว่า "พระวิปัสสี" มนุษย์ในชมพูทวีปมีอายุถึง ๘๐,๐๐๐ ปี
-สมัยของพระพุทธเจ้าพระนามว่า "พระเรวะตะ" มนุษย์ในชมพูทวีปมีความสูงถึง ๘๐ ศอก
-แต่เมื่อคุณธรรมเสื่อมลง จิตใจหยาบช้าลง อาหารเลวลง อายุก็ลดลง ร่างกายก็เตี้ยลง
-ต่อไปภายภาคหน้ามนุษย์ในชมพูทวีป จะมีอายุเพียง ๑๐ ปี เท่านั้น และตัวจะเตี้ยถึงขนาดต้องสอยมะเขือกิน เรียกยุคนั้นว่า "ยุคทมิฬ" เป็นยุคที่เสื่อมที่สุดของ "ชมพูทวีป"
-ดอกไม้ประจำชมพูทวีปคือ "ชมพู (ไม้หว้า)" ...เพราะเหตุนี้ ถึงเรียกว่า "ชมพูทวีป" เพราะดอกไม้ประจำทวีปนี้คือ ดอก "ชมพู"
-ชมพูทวีป เป็นทวีปเดียวที่พระพุทธเจ้าทุกพระองค์ ต้องมาตรัสรู้ที่ทวีปนี้เท่านั้น

๒) อมรโคยานทวีป ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกของเขาสิเนรุ (เขาพระสุเมรุ)
-เป็นแผ่นดินกว้าง ๗,๐๐๐ โยชน์ ประกอบด้วยเกาะ และแม่น้ำใหญ่น้อย
-มีธาตุแก้วผลึกอยู่ทางทิศตะวันตกของเขาสิเนรุ แสงสะท้อนของธาตุแก้วผลึกทำให้ทองฟ้าและมหาสมุทรของอมรโคยานทวีปมีสีแก้วผลึก
-มนุษย์ที่อาศัยอยู่ในทวีปนี้ มีรูปหน้าเหมือนพระจันทร์ครึ่งซีก มีใบหน้าวงกลม คล้ายวงพระจันทร์ คนหน้าเหมือนดั่งเดือนแรม จมูกโด่ง คางแหลม
-มนุษย์ที่อมรโคยานทวีป มีความสูง ๖ ศอก มีอายุ ๕๐๐ ปี (จะไม่ตายก่อนอายุ เป็นกฏตายตัว)
-ดอกไม้ประจำอมรโคยานทวีปคือ "กะทัมพะ (ไม้กระทุ่ม)"

๓) ปุพพวิเทหะทวีป ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของเขาสิเนรุ (เขาพระสุเมรุ)
-เนื้อที่กว้าง ๗,๐๐๐ โยชน์ มีเกาะ ๔๐๐ เกาะ
-มีธาตุเงินอยู่ทางทิศตะวันออกของเขาสิเนรุ แสงสะท้อนของธาตุเงินทำให้ทองฟ้าและมหาสมุทรของปุพพวิเทหะทวีปมีสีเงิน
-มนุษย์ที่อาศัยอยู่ในทวีปนี้ มีรูปหน้าเหมือนพระจันทร์เต็มดวง คนหน้ากลมเหมือนดวงจันทร์ มีใบหน้าตอนบนโค้งตัดลงมาเหมือนบาตร
-มนุษย์ที่ปุพพวิเทหะทวีป มีความสูง ๙ ศอก มีอายุ ๗๐๐ ปี (จะไม่ตายก่อนอายุ เป็นกฏตายตัว)
-ดอกไม้ประจำปุพพวิเทหะทวีปคือ "สิรีสะ (ไม้ทรึก)"

๔) อุตรกุรุทวีป ตั้งอยู่ทางทิศเหนือของเขาสิเนรุ (เขาพระสุเมรุ)
-มีพื้นที่เป็นรูปสี่เหลี่ยม เนื้อที่กว้าง ๘,๐๐๐ โยชน์ เป็นที่ราบ
-มีธาตุทองคำอยู่ทางทิศเหนือของเขาสิเนรุ แสงสะท้อนของธาตุทองคำทำให้ทองฟ้าและมหาสมุทรของอุตรกุรุทวีปมีสีเหลืองทอง
-มนุษย์ที่อาศัยอยู่ในทวีปนี้ รูปร่างงาม มีลักษณะใบหน้าเป็นรูป ๔ เหลี่ยม รักษาศีล ๕ เป็นนิจ ไม่ยึดถือสมบัติ บุตร ภรรยา สามี ว่าเป็นของๆตน
-มนุษย์ที่อุตรกุรุทวีป มีความสูง ๑๓ ศอก มีอายุ ๑,๐๐๐ ปี (จะไม่ตายก่อนอายุ เป็นกฏตายตัว)
-มีต้นไม้นานาชนิด ดอกไม้ประจำอุตรกุรุทวีปคือ "กัปปรุกขะ (กัลปพฤกษ์)" ถ้าอยากได้อะไร ก็ไปนึกเอาที่ต้นกัลปพฤกษ์ จะสมปรารถนา
-มนุษย์ที่อุตรกุรุทวีป เมื่อตายจากทวีปนี้ ทุกคนจะได้ไปเกิดใน "เทวภูมิ ชั้นตาวติงสาห์ภูมิ" ทุกๆคน เป็นกฏตายตัว
-ในภาษาบาลี "อุตร" แปลว่า "เหนือ" ...เพราะเหตุนี้ ถึงเรียกทวีปนี้ว่า "อุตรกุรุทวีป"

29
ความลับของจักรวาล ในพระไตรปิฏก

ขนาดของจักรวาล

จักรวาลอันหนึ่ง โดยยาวและโดยกว้าง ประมาณ ๑,๒๐๓,๔๕๐ โยชน์ (๑ โยชน์ = ๑๖ กิโลเมตร)
ส่วนโดยรอบปริมณฑลทั้งสิ้น (ของจักรวาลนั้น) ประมาณ ๓,๖๑๐,๓๕๐ โยชน์

ขนาดหนาของแผ่นดิน ในจักรวาลนั้น
แผ่นดินนี้ กล่าวโดยความหนา มีประมาณถึงเท่านี้ คือ ๒๔๐,๐๐๐ โยชน์

ขนาดหนาของน้ำรองแผ่นดิน สิ่งที่รองแผ่นดินนั้นหรือ
คือน้ำอันตั้งอยู่บนลม โดยความหนามีประมาณถึงเท่านี้ คือ ๔๘๐,๐๐๐ โยชน์

ขนาดความหนาของลมรองน้ำ
ลมอัน (พัดดัน) ขึ้นฟ้า (โดยความหนา) มีประมาณ ๙๖๐,๐๐๐ โยชน์ นี่เป็นความตั้งอยู่พร้อมมูลแห่งโลก

ขนาดภูเขาสิเนรุ (เขาพระสุเมรุ) และต้นไม้ประจำทวีป
อนึ่ง ในจักรวาลที่ตั้งอยู่พร้อมมูลอย่างนี้นั้น มี
ภูเขาสิเนรุอันเป็นภูเขาสูงที่สุด หยั่ง (ลึก) ลงไปในมหาสมุทร ๘๔,๐๐๐ โยชน์ สูงขึ้นไป (ในฟ้า) ก็ประมาณเท่ากันนั้น
ภูเขาใหญ่ทั้งหลาย คือภูเขายุคันธร ภูเขาอิสินธร ภูเขากรวีกะ ภูเขาสุทัสสนะ ภูเขาเนมินธระ
ภูเขาวินตกะ ภูเขาอัสสกัณณะ อันตระการไปด้วยรัตนะหลากๆ ราวกะภูเขาทิพย์ หยั่ง (ลึก) ลงไป
(ในมหาสมุทร) และสูงขึ้นไป (ในฟ้า) โดยประมาณกึ่งหนึ่งแต่ประมาณแห่งภูเขาสิเนรุไปตามลำดับ
ภูเขาใหญ่ทั้ง ๗ นั้น (ตั้งอยู่) โดยรอบภูเขาสิเนรุเป็นที่อยู่ของ (จาตุ)มหาราช เป็นที่ๆ เทวดา และยักษ์อาศัยอยู่

ภูเขาหิมวาสูง ๕๐๐ โยชน์ ยาวและกว้าง ๓,๐๐๐ โยชน์ (เท่ากัน) ประดับไปด้วยยอดถึง ๘๔,๐๐๐ ยอด
ต้นชมพู (หว้า) ชื่อนคะ วัดรอบลำต้นได้ ๑๕ โยชน์ ลำต้นสูง ๕๐ โยชน์ และกิ่ง (แต่ละกิ่ง)
ก็ยาว ๕๐ โยชน์ แผ่ออกไปวัดได้ ๑๐๐ โยชน์โดยรอบ และสูงขึ้นไปก็เท่ากันนั้น ด้วยอานุภาพของ
ต้นชมพู (นี้) ไรเล่า ทวีปนี้จึงถูกประกาศชื่อว่า ชมพูทวีป
ก็แลขนาดของต้นชมพูนี้ใด ขนาดนั้นนั่นแหละเป็นขนาดของต้นจิตรปาฏลี (แคฝอย) ของพวกอสูร
ต้นสิมพลี (งิ้ว) ของพวกครุฑ ต้นกทัมพะ (กระทุ่ม) ในอมรโคยานทวีป ต้นกัปปะในอุตตรกุรุทวีป
ต้นสิรีระ (ซึก) ในบุพพวิเทหทวีป ต้นปาริฉัตตกะ ในดาวดึงส์ เพราะเหตุนั้นแล ท่านโบราณจารย์จึงกล่าวไว้ว่า
(ต้นไม้ประจำภพและทวีป คือ) ต้นปาฏลี ต้นสิมพลี ต้นชมพู ต้นปาริตฉัตตะของพวกเทวดา
ต้นกทัมพะ ต้นกัปปะ และต้นที่ ๗ คือ ต้นสิรีสะ ดังนี้

ขนาดภูเขาจักรวาล
ภูเขาจักรวาล หยั่ง (ลึก) ลงไปในมหาสมุทร ๘๒,๐๐๐ โยชน์ สูงขึ้นไป (ในฟ้า) ก็เท่ากันนั้น
ภูเขาจักรวาลนี้ตั้งล้อมโลกธาตุทั้งสิ้นนั้นอยู่

ขนาดของภพและทวีป
ในโลกธาตุนั้น มีดวงจันทร์ ดวงอาทิตย์ ภพดาวดึงส์ ๑๐,๐๐๐ โยชน์ ภพอสูร มหานรกอเวจี และชมพูทวีปก็
เท่ากันนั้น อมรโคยานทวีป ๗,๐๐๐ โยชน์ บุพพวิเทหทวีปก็เท่านั้น อุตตรกุรุทวีป ๘,๐๐๐ โยชน์ อนึ่ง ในโลกธาตุนั้น
ทวีปใหญ่ๆ ทวีป ๑ ๆ มีทวีปน้อยเป็นบริวาร ทวีปละ ๕๐๐
สิ่งทั้งปวง (ที่กล่าวมานี้) นั้น (รวม) เป็นจักรวาล ๑ ชื่อว่า โลกธาตุอัน ๑ ๑ในระหว่างแห่งโลกธาตุ
ทั้งหลายมีโลกันตนรก (แห่งละ ๑)

๑. มหาฎีกาว่า จักรวาล ก็คือโลกธาตุ โลกธาตุได้ชื่อว่า จักรวาล ก็เพราะมีภูเขาจักรวาล ซึ่งสัณฐานดังกง
รถล้อมอยู่โดยรอบเท่านั้นเองไม่ใช่จักรวาลอัน ๑ โลกธาตุอัน ๑
๒. ท่านว่าจักรวาลหรือโลกธาตุนั้นมีมากนัก ช่องว่างในระหว่างจักรวาล ๓ จักรวาลต่อกัน มีโลกันตนรก ๑
ทุกแห่งไป โดยนัยนี้ คำว่า โลกันตนรก ก็แปลว่า นรกอันตั้งอยู่ในช่องระหว่างจักรวาล ๓ อันนั่นเอง
------------------
พระพุทธเจ้าทรงตรัสไว้ใน "จูฬนีสูตร" พระไตรปิฎก หน้า ๒๑๕ เล่ม ๒๐ ว่า
จักรวาล ประกอบด้วยดวงจันทร์ โลก ดวงอาทิตย์ และดาวเคราะห์ทั้งหลายโคจร ไปร่วมกัน จะมีขุนเขาสิเนรุ (เขาพระสุเมรุ) (เป็นภูเขาทิพย์ที่เห็นได้เฉพาะผู้มีอภิญญา) ทวีปต่างๆ ที่ตั้งชื่อกันในสมัย
นั้นคือ ชมพูทวีป อปรโคยานทวีป อุตรกุรุทวีป และปุพพวิเทหทวีป มหาสมุทรทั้ง ๔ (นับกันได้ในสมัยนั้น) มีนรกขุมต่างๆ สวรรค์ชั้นต่างๆ และพรหมโลกชั้นต่างๆ
โลกธาตุ มี ๓ ขนาด คือ โลกธาตุอย่างเล็กมีจำนวนพันจักรวาล โลกธาตุอย่างกลางมีจำนวนล้านจักรวาล โลกธาตุอย่างใหญ่มีจำนวน แสนโกฏิจักรวาล
ทั้งโลกธาตุอย่างเล็กก็ดี อย่างกลางก็ดี อย่างใหญ่ก็ดี ยังมีอีกจำนวนมากมาย "ทุกสิ่งทุกอย่างมีการเกิดขึ้น ตั้งอยู่ และแตกดับไปในที่สุด"
กำเนิดของโลกพระพุทธเจ้าทรงตรัสไว้ใน "อัคคัญญสูตร" พระไตรปิฎก หน้า ๖๑ เล่ม ๑๑ ว่า เกิดมีน้ำขึ้นในห้วงอวกาศอันมืดมิดก่อนแล้วนานๆไปเกิดการรวมตัวงวดเข้าเป็นง้วนดิน แล้วพัฒนาเป็นกระบิดิน ต่อไปเป็นเครือดิน จากนั้นมีต้นข้าวและพืชทั้งหลายเกิดขึ้น ดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์ หมู่ดาว นรกขุมต่างๆ เทวโลก และพรหมโลกชั้นต่างๆ ก็เกิดขึ้นเอง
กำเนิดชีวิตพระพุทธเจ้าทรงตรัสไว้ว่า "เพราะมีความอยาก จึงมีการเกิดเป็นสัตว์เป็นบุคคลขึ้นมา เมื่อไม่มีความอยากการเกิดเป็นสัตว์เป็นบุคคลก็ไม่มี"
กำเนิดชีวิตในจักรวาลอื่น ปัจจุบันนักวิทยาศาสตร์ยังถกเถียงกันอยู่ว่ามีหรือไม่มี ? และยังคงไม่มีใครสามารถสร้างเครื่องมือติดต่อค้นหาเพื่อตอบคำถามนี้ได้ แต่พระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้แน่นอนมากว่าสองพันปีแล้วว่า "มี"

นักวิทยาศาสตร์กล่าวว่า "ดวงอาทิตย์ มีเส้นผ่าศูยน์กลางประมาณ ๑,๔๐๐,๐๐๐ กิโลเมตร หรือโตกว่าโลกประมาณ ๑๐๙ เท่า มีน้ำหนักประมาณ ๒ x ๑,๐๓๐ กิโลกรัม (หรือ ๒๐ ตามด้วย ๐ จำนวน ๓๐ ตัว) เนื้อตัวทั้งหมดของดวงอาทิตย์เป็นธาตุไฮโดรเจนซึ่งเป็นธาตุเบา เผาไหม้ตัวเองด้วยปฏิกิริยา เทอร์โมนิวเคลียร์ จากภายในใจกลางออกมาไม่ใช่เผาไหม้เฉพาะพื้นผิว สิ้นมวลของตัวเองวินาทีละ ๔ ล้านตัน เผาไหม้อย่างนี้มาแล้ว ๕,๕๐๐ ล้านปี และจะเผาไหม้อย่างนี้ต่อไปอีก ๕,๕๐๐ ล้านปี" เมื่อเป็นเช่นนี้ลองคิดดูว่าวันหนึ่งมีกี่วินาที ? ต่อให้ดวงอาทิตย์หรือดาวฤกษ์นั้นใหญ่โตขนาดไหนก็ตาม น่าจะย่อยยับหมดสิ้นภายในวันเดียว แต่ดวงอาทิตย์หรือดาวฤกษ์นั้นก็ยังอยู่ยืนยาวมานานนับพันๆล้านปี โดยยังมีขนาดเท่าเดิม " นี้คือความมหัศจรรย์ที่ยังคงเหนือการพิสูจน์
อีกอย่างหนึ่ง นักวิทยาศาสตร์คาดคะเนว่า "เวลาอันยาวนานในอนาคต ดวงอาทิตย์จะขยายตัวบวมขึ้นจนมีขนาดโตถึงวงโคจรของโลก แล้วกลืนกินโลกและดาวเคราะห์วงในทั้งหมด และเมื่อเวลายาวนานอีกต่อไปก็จะค่อยๆยุบตัวลงกลายเป็นดาวแคระ คือจะมีขนาดเล็กลงเท่าโลกแต่มีความร้อนจัด ดาวฤกษ์บางดวงก็ยุบตัวลงเป็นดาวนิวตรอนที่มีขนาดเส้นผ่าศูยน์กลางเพียง ๒๕-๓๐ กิโลเมตร และดาวฤกษ์บางดวงก็ยุบตัวลงเป็นหลุมดำ"

พระพุทธเจ้าตรัสว่า "ในอนาคตอันยาวไกลในสุริยะจักรวาล จะมีดวงอาทิตย์เกิดขึ้นเองเพิ่มขึ้นทีละดวงๆ จนครบ ๗ ดวง แล้วเผาไหม้โลกและดาวเคราะห์บริวารทั้งหมด นรกทุกขุม สวรรค์ทุกชั้น และพรหมโลกชั้นต่ำๆ รวมทั้งดวงอาทิตย์ทั้ง ๗ ดวงนั้น ก็พินาศไปด้วย แล้วก็จะมีแต่ความมืดมิดจนนานแสนนาน ก็ก่อตัวขึ้นมาใหม่อีก" (สุริยะสูตร พระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๓ หน้า ๘๓)

นักวิทยาศาสตร์ทั้งหลาย คือปุถุชนผู้ที่ยังมีกิเลสตัณหา ตั้งทฤษฎีมาจากการคาดคะเน การนึกคิด การเดา การสันนิษฐาน การค้นคว้าทดลอง การสังเกตจดจำ การใช้เครื่องมือและอุปกรณ์เป็นจำนวนมาก แต่ทฤษฎีเหล่านั้นก็ยังไม่ตายตัว พร้อมที่จะถูกลบล้างได้ตลอดเวลา
พระพุทธเจ้าทั้งหลาย คือบุคคลพิเศษ วิเศษ เป็นอัจฉริยะมนุษย์ เป็นบุคคลเอกที่ไม่มีใครเสมอเหมือน เป็นผู้สิ้นกิเลสตัณหา เป็นผู้มีญาณวิเศษรู้อดีต ปัจจุบัน และอนาคต เป็นผู้ตรัสรู้ เป็นผู้รู้แจ้งโลก ดังนั้นพระสูตรหรือทฤษฎีต่างๆที่พระพุทธองค์ทรงตรัสไว้ดีแล้ว จึงตายตัวไม่มีใครลบล้างได้
-----------------------------
ลักษณะของจักรวาล คือ มีเขาสิเนรุเป็นแกนกลาง มี เขาสัตตบริภัณฑ์ คือ เขาล้อมรอบ ๗ ชั้น ซึ่งมี สีทันดรมหาสมุทร คั่นอยู่ในระหว่าง ตั้งเป็นรูปร่างขึ้นไว้ก่อน ภูมิสวรรค์อยู่พ้นทวีปทั้งหลายซึ่งเป็นที่อยู่ของมนุษย์ เช่น ชมพูทวีปซึ่งมีอินเดียเป็นศูนย์กลาง จึงอยู่พ้นป่าหิมพานต์ พ้นภูเขาหิมวันตะหรือ หิมาลัย พ้นมหาสมุทรแห่งทวีปทั้งปวง แล้วถึงภูเขาสัตตบริภัณฑ์ ตั้งต้นแต่ภูเขาสุทัสสนะ จนถึงภูเขาอัสสกัณณะ จึงเป็นอันถึงสวรรค์ชั้นที่ ๑ เพราะยอดเขาสัตตบริภัณฑ์เหล่านี้เองเป็นที่อยู่ของท้าวมหาราช ๔ องค์กับบริวาร นับเป็นสวรรค์ชั้นที่ ๑ เรียกว่า จาตุมหาราชิก

ท้าวมหาราช ๔ องค์นี้ แบ่งกันครอบครอง ดั่งนี้
๑)ด้านทิศตะวันออกของเขาสิเนรุเป็นที่อยู่ของ ท้าวธตรัฏฐะ มีพวกคนธรรพ์เป็นบริวาร (ถัดออกไปเป็นปุพพวิเทหทวีป)
๒)ด้านทิศใต้เป็นที่อยู่ของ ท้าววิรุฬหก มีพวกกุมภัณฑ์เป็นบริวาร (ถัดออกไปเป็นชมพูทวีป) พวกกุมภัณฑ์นี้ ท่านอธิบายว่าได้แก่ ทานพรากษส
๓)ด้านทิศตะวันตกของเขาสิเนรุเป็นที่อยู่ของ ท้าววิรูปักข์ มีพวกนาคเป็นบริวาร (ออกไปเป็น อมรโคยานทวีป)
๔)ด้านทิศเหนือของเขาสิเนรุเป็นที่อยู่ของ ท้าวกุเวร มีพวกยักษ์เป็นบริวาร (ถัดออกไปเป็นอุตตรกุรุทวีป)

ท้าวมหาราชที่ ๔ ครองอยู่ ๔ ทิศของเขาสิเนรุ มีกล่าวถึงใน อาฏานาฏิยสูตร หน้าที่ของท้าวมหาราชที่ ๔ และบริวารตามที่ได้กล่าวไว้ คือเป็นผู้รับด่านหน้าของสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ เพื่อป้องกันพวกอสูรซึ่งเป็นศัตรูของเทพชั้นดาวดึงส์จะยกมาตีเอาถิ่นสวรรค์ชั้นนั้น แต่ใน สุตตันตปิฎก ติกนิบาต ได้มีแสดงหน้าที่ให้เป็นผู้ตรวจ ซึ่งเป็นที่อยู่ของหมู่มนุษย์อีกด้วย แสดงเป็นพระพุทธภาษิตมีความว่า ในวัน ๘ ค่ำแห่งอมาตย์บริษัทของท้าวมหาราชทั้ง ๔ เที่ยวตรวจดูโลก ในวัน ๑๔ ค่ำแห่งปักข์ บุตรทั้งของท้าวมหาราชทั้ง ๔ เที่ยวตรวจดูโลก ในวัน ๑๕ ค่ำแห่งปักษ์ ท้าวมหาราชทั้ง ๔ ตรวจดูโลกเองว่าพวกมนุษย์พากันบำรุงบิดามารดา บำรุงสมณพราหมณ์ เคารพนบน้อมผู้ใหญ่ในตระกูล รักษาอุโบสถ ทำบุญกุศล มีจำนวนมากด้วยกันอยู่หรือ เมื่อตรวจดูแล้ว ถ้าเห็นว่ามีจำนวนน้อย ก็ไปบอกแก่พวกเทพชั้นดาวดึงส์ ซึ่งประชุมกันใน สุธรรมสภา พวกเทพชั้นดาวดึงส์ เมื่อได้ฟังดั่งนั้นก็มีใจหดหู่ว่า ทิพยกายจักลดถอย อสุรกายจักเพิ่มพูน แต่ถ้าเห็นว่าพวกมนุษย์พากันทำดี มีบำรุงมารดาบิดาเป็นต้น เป็นจำนวนมาก ก็ไปบอกแก่พวกเทพชั้นดาวดึงส์เหมือนอย่างนั้น พวกเทพชั้นดาวดึงส์ก็พากันมีใจชื่นบานว่า ทิพยกายจักเพิ่มพูน อสุรกายจักลดถอย ๑

ท้าวมหาราชทั้ง ๔ มีหน้าที่เป็น จตุโลกบาล คือ เป็นผู้คุ้มครองโลกทั้ง ๔ ทิศ ตามที่เชื่อถือกันมาเก่าก่อนพระพุทธศาสนา แต่เมื่อพระพุทธศาสนาเกิดขึ้นแล้ว พระพุทธเจ้าได้ทรงแสดง ธรรมเป็นโลกบาล คือ คุ้มครองโลกไว้ ๒ ข้อ คือ หิริ ความละอายใจ ที่จะทำชั่ว โอตตัปปะ ความเกรงกลัวต่อความชั่ว เพราะเหตุนี้ จึงไม่กล่าวให้ท้าวมหาราชทั้ง ๔ ทำหน้าที่คุ้มครองโลกโดยตรง จะไม่กล่าวถึงเลยก็จะขัดขวางต่อความเชื่อของคนทั้งหลายจนเกินไป จึงกล่าวเปลี่ยนไปให้มีหน้าที่เที่ยวตรวจดูโลกมนุษย์ ว่าได้พากันทำดีมากน้อยอย่างไร แล้วก็นำไปรายงานพวกเทพชั้นดาวดึงส์ พวกเทพชั้นนั้นได้รับรายงานแล้วก็เพียงแต่มีใจชื่นบานหรือไม่เท่านั้น เห็นได้ว่าท่านผู้รวบรวมร้อยกรองเรื่องนี้ไว้ในพระสุตตันตปิฎก ต้องการจะรักษาเรื่องเก่าที่คนส่วนมากเชื่อถือ ด้วยวิธีนำมาเล่าให้เป็นประโยชน์ในทางตักเตือนให้ทำดี เหมือนอย่างที่มีคำเก่ากล่าวไว้ว่า ถึงคนไม่เห็น เทวดาก็ย่อมเห็น คือ สดงจตุโลกบาลที่เขาเชื่อกันอยู่แล้วในทางที่อาจเข้าใจเป็นธรรมาธิษฐาน ซึ่งเป็นข้อมุ่งหมายโดยตรง ถึงจะเชื่อว่ามีตัวตนอยู่จริงและคอยมาตรวจดูโลกว่า ใครทำดีไม่ดีอย่างไรก็ไม่เสียหาย กลับจะดีเพราะจะได้เกิดละอายกลัวเกรงว่า จตุโลกบาลจะรู้จะเห็นว่าทำไม่ดี หรือไม่ทำดี เป็นอันหนุนให้เกิดหิริโอตตัปปะขึ้นได้ ผู้ที่ไม่ยอดเชื่อเสียอีกอาจจะร้ายกว่า เพราะไม่มีที่ละอายยำเกรง เว้นไว้แต่จะมีภูมิธรรมในจิตใจดีอยู่แล้ว หรือมีที่ละอายยำเกรงอย่างอื่นแทนอยู่ วันที่ท่านกล่าวว่าจตุโลกบาลมาตรวจดูโลก เดือนหนึ่งมีไม่กี่วัน ดูเหมือนจะน้อยไป แต่คงไม่หมายความว่าตรวจกรรมของคนเฉพาะวันนั้น วันอื่นไม่เกี่ยวข้องด้วย ควรเข้าใจว่า ตรวจดูรู้ย้อนไปถึงวันอื่นๆ ในระหว่างที่ไม่ได้ลงมานั้นด้วย ตัวของเราเองทุกๆคนนึกย้อนตรวจดูกรรมของตนเองภายใน ๗ วันยังจำได้ ไฉนโลกบาลจะไม่รู้กรรมที่ตนเองทำ แม้จะลืมไปแล้ว โลกบาลก็ต้องรู้ เมื่อเชื่อว่าโลกบาลมีจริง ก็ควรจะเชื่ออย่างนี้ด้วย จึงจะเป็นโลกบาลที่สมบูรณ์ สรุปลงแล้วทำความเข้าใจว่า โลกบาลมาตรวจตราดูที่จิตใจนี้เอง จะเกิดประโยชน์มาก.
ตามหลักในการจัดภูมิต่างๆ สัตว์ดิรัจฉานเป็นอบายภูมิต่ำกว่าภูมิมนุษย์และสวรรค์ พระอาจารย์จึงกล่าวว่าในสวรรค์ไม่มีสัตว์เดียรัจฉาน การเกิดในสวรรค์ เกิดโดยอุปปาติก กำเนิดอย่างเดียว จึงน่ามีปัญหาว่า พวกนาคซึ่งเป็นบริวารของท้าวมหาราชจะจัดว่าเป็นภูมิอะไร นอกจากนี้ บริวารของท้าวมหาราชจำพวกอื่น เช่น พวกกุมณฑ์ ก็มีลักษณะพิกล ยักษ์บางพวกก็ดุร้าย เป็นผีเที่ยวสิงมนุษย์ก็มี ดูต่ำต้อยกว่าภูมิมนุษย์ แต่ก็อยู่ในสวรรค์ชั้นหนึ่งนี้ด้วย ตามที่กล่าวมานี้ น่าเห็นว่าเก็บเอามาจากเรื่องเก่าๆ จึงฟังไม่สนิทตามหลักการจัดภูมิต่าง ๆ ดั่งกล่าว
--------------------------------

30


พระสุเมธะพุทธเจ้า

หลังจากศาสนาของพระปทุมุตระพุทธเจ้าล่วงไปได้ ๓๐,๐๐๐ กัป ล่วงถึงมัณฑกัปหนึ่ง มีพระพุทธเจ้ามาอุบัติ ๒ องค์ พระพุทธเจ้าองค์แรกทรงพระนามว่า พระสุเมธะพุทธเจ้า
พระสุเมธะพุทธเจ้า ทรงประสูติเป็นสุเมธะราชกุมาร ในราชวงศ์กษัตริย์แห่งสุทัสสนะนคร พระราชบิดาทรงพระนามว่าพระเจ้าสุทัตตะ และพระราชมารดาทรงพระนามว่าพระนางสุทัตตาเทวี
สุเมธะราชกุมารทรงเกษมสำราญอยู่ ๙,๐๐๐ ปี ในปราสาท ๓ หลัง คือ สุจันทนะปราสาท สุกัญจนะปราสาท และสิริวัฒนะปราสาท ทรงมีพระมเหสีพระนามว่า สุมนาเทวี และทรงมีสนมนารีแวดล้อมอีก ๓๘,๐๐๐ นาง
วันหนึ่ง สุเมธะราชกุมารทรงทอดพระเนตรเห็นเทวทูตทั้งสี่ คือ คนแก่ คนเจ็บ คนตาย และนักบวช พระองค์จึงมีพระทัยน้อมไปทางบรรพชา
เมื่อพระนางสุมนาเทวีประสูติพระโอรส พระนามว่า ปุนัพพสุมิตตะกุมาร จึงได้เสด็จทรงคชยานออกบรรพชา โดยมีผู้ออกบรรพชาตาม ๑๐๐ โกฏิ
สุเมธะราชกุมารทรงบำเพ็ญความเพียรอยู่ในพระราชอุทยานเป็นเวลา ๘ เดือน จนถึงวันเพ็ญเดือนวิสาขะ ทรงรับข้าวมธุปายาสจากธิดานกุลเศรษฐี ณ นกุลนิคม และรับหญ้า ๘ กำจากสุวัฑฒอาชีวก ปูลาดใต้ต้นมหานีปะ (ต้นกะทุ่ม) เป็นโพธิบัลลังก์ และได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า
พระสุเมธะพุทธเจ้าทรงแสดงปฐมเทศนา แก่สรณอนุชา และสัพพกามีอนุชา พร้อมทั้งพระภิกษุที่บรรพชาตามจำนวน ๑๐๐ โกฏิ ในราชอุทยานนั้นเอง

ธรรมาภิสมัยในพุทธกาลของพระสุเมธะพุทธเจ้าบังเกิดขึ้น ๓ วาระ คือ
วาระที่ ๑ แสดงปฐมเทศนา
ธรรมาภิสมัยบังเกิดแก่มนุษย์และเทวดา ๑๐๐,๐๐๐ โกฏิ
วาระที่ ๒ แสดงธรรมแก่ยักษ์กุมภกรรณ
ธรรมาภิสมัยบังเกิดแก่มนุษย์และเทวดา ๙๐,๐๐๐ โกฏิ
วาระที่ ๓ แสดงธรรมที่ราชอุทยานสิรินันทะ อุปการีนคร
ธรรมาภิสมัยบังเกิดแก่มนุษย์และเทวดา ๘๐,๐๐๐ โกฏิ

พระสุเมธะพุทธเจ้า ทรงประชุมสาวกสันนิบาต ๓ ครั้ง
ครั้งที่ ๑ ทรงแสดงปาฏิโมกข์แก่พระสงฆ์สาวก ๑๐๐ โกฏิ ณ กรุงสทัสสนะ
ครั้งที่ ๒ ทรงแสดงปาฏิโมกข์แก่พระสงฆ์สาวก ๙๐ โกฏิ ณ ภูเขาเทวกูฏ ในพิธีกรานกฐิน
ครั้งที่ ๓ ทรงแสดงปาฏิโมกข์แก่พระสงฆ์สาวก ๘๐ โกฏิ ที่ประชุมกันคราวพระสุเมธะพุทธเจ้าเสด็จจาริก

พระสุเมธะพุทธเจ้าทรงมีพระสาวกองค์สำคัญ คือ
พระอัครสาวก คือ พระสรณะเถระ และพระสัพพกามะเถระ
พระอัครสาวิกา คือ พระรามาเถรี และพระสุรามาเถรี
พระอุปัฏฐาก คือ พระสาคระ

พระสุเมธะพุทธเจ้าทรงมีพระวรกายสูง ๘๘ ศอก มีพระรัศมีแผ่ไปได้โยชน์หนึ่งโดยรอบ เมื่อพระชนมายุได้ ๙๐,๐๐๐ ปี จึงปรินิพพาน

หน้า: 1 [2] 3 4 ... 17