เว็บพุทธภูมิ: พุทธภูมิ พระโพธิสัตว์ การบำเพ็ญบารมี



แสดงกระทู้

This section allows you to view all posts made by this member. Note that you can only see posts made in areas you currently have access to.


Topics - Webmaster

หน้า: 1 ... 13 14 [15] 16
211


ในโลกนี้ ทุกข์ อะไรไม่เท่ากับ ทุกข์ใจ และในโลกนี้ สุขอะไรไม่มีจะมาเปรียบได้เสมือนกับสุขใจ ใจเท่านั้นเป็นใหญ่ ใจเป็นนายใจเป็นประธาน ทุกสิ่งสำเร็จอยู่ที่ใจ ขอแต่จงอย่าได้เอาจิตออกนอกกาย จะสำเร็จได้ก็ด้วย ลงมือทำ ปฎิบัติ ด้วยการใช้ความคิด สมองที่หมั่นฝึกฝนคิดอยู่เสมอความคิดจะยิ่ง คนเสมือนกับมืดที่ยิ่งคม

สิ่งที่ไม่เป็นแก่นสารหรือไม่มีสารประโยชน์ในโลกนี้มีมากมาย แต่เมื่อกล่าวโดยสรุปแล้วก็มีอยู่ 3 อย่าง คือ 1.ชีวิต 2.ร่างกาย 3.ทรัพย์สมบัติ

ชีวิต ได้แก่ ความเป็นอยู่ เป็นเครื่องหล่อเลี้ยงร่างกายให้ดำรงชีพอยู่ และเป็นเครื่องหมายแห่งการเป็นการตายของสัตว์โลก เมื่อชีวิตยังไม่ดับ สัตว์ก็ชื่อว่ายังไม่ตาย เมื่อชีวิตดับลงแล้ว สัตว์ก็ชื่อว่าตายแล้ว อันลักษณะของชีวิตนี้ เป็นของไม่คงที่ ไม่เที่ยงแท้แน่นอน ย่อมหมดเปลืองไปตามวันคืนที่ล่วงไป แม้ว่าชีวิตจะดับเหมือนกันหมดก็จริง แต่ก็มีข้อแตกต่างกัน กล่าวคือชีวิตของคนบางคนยืนยาว ชีวิตของบางคนเกิดมายังไม่ทันไรก็ตายเสียแล้ว แต่การที่ชีวิตจะยาวหรือสั้นนั้น ไม่ใช่สิ่งที่ใครๆ จะนึกปรารถนาเอาได้ตามใจตนเอง เพราะเป็นเรื่องของกุศลและอกุศล เช่น ชีวิตของคนบางคนเศร้าหมองก็มี ผ่องใสก็มี ขมขื่นก็มี สดชื่นก็มี ทั้งนี้ก็เป็นเพราะความประพฤติเรียบร้อยดีงามหรือความประพฤติไม่ดีไม่งาม ด้วยเหตุนี้เองชีวิตจึงจัดว่าเป็นของหาแก่นสารมิได้

ร่างกาย ได้แก่ อวัยวะน้อยใหญ่ความกันเข้าเป็นอัตภาพ เรียกตามบัญญัติว่า สัตว์บ้าง บุคคลบ้าง อันร่างกายนี้เป็นของไม่ถาวร พอเกิดขึ้นแล้วก็ตกอยู่ใต้อำนาจของชราพยาธิมรณะชราทำให้แก่ให้ทรุดโทรมทุพพลภาพ ความแก่ความเจ็บความตายเป็นภัยที่ใครๆ นี้ไม่สามารถจะหนีพ้นได้ เพราะเป็นตัวทุกข์ประจำสังขาร ยังเป็นสังขารอยู่ตราบใด ก็ต้องประสบทุกข์ภัยเหล่านี้ตราบนั้น ด้วยเหตุนี้ ร่างกายจึงเป็นสิ่งที่หาสาระแก่นสาร อะไรไม่ได้เลย

ทรัพย์สมบัติ ได้แก่ บรรดาเครื่องอุปโภคบริโภคทั้งหมด อันเป็นอุปการะแก่ชีวิตและร่างกาย ขึ้นชื่อว่าทรัพย์สมบัติย่อมเป็นของที่ทุกคนปรารถนา เพราะผู้มีทรัพย์มากก็มีสุขมาก ผู้มีทรัพย์น้อยก็มีสุขน้อย ด้วยเหตุนี้เองทุกคนจึงกล้าลงทุนลงแรงและพากเพียรพยายามประกอบงานโดยไม่เห็นแก่ความเหนื่อยเมื่อยล้า แต่ทรัพย์สมบัติเหล่านี้ล้วนเป็นของไม่เที่ยงแท้แน่นอน เป็นสิ่งสมมติในโลกใบนี้เท่านั้น ด้วยเหตุนี้ ทรัพย์สมบัติจึงจัดเป็นอสาระหาแก่นสารอะไรไม่ได้เลย

สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้ทรงตรัสสิ่งที่เป็นสาระหรือคุณภาพแห่งชีวิตอันแท้จริง ไว้ 5 ประการ คือ

1.ศรัทธา หมายถึง ความเชื่อต่อสิ่งที่ควรเชื่อโดยใช้ปัญญาคอยควบคุม สิ่งที่ควรเชื่อนั้นคือเชื่ออะไร? ในทางพระพุทธศาสนาท่านสอนให้เชื่อกรรมคือการกระทำของตนเอง คือ เชื่อว่าทำดีให้ผลดีเป็นความสุข ทำชั่วให้ผลเป็นความทุกข์ เป็นต้น

2.ศีล หมายถึง การรักษามารยาททางกายและวาจาให้เรียบร้อยดีงาม เว้นจากการเบียดเบียนกันและกันด้วยกายวาจา

3.สุตะ หมายถึง การสดับตรับฟังตลอดจนถึงการอ่าน บ้านเมืองของเราจะเจริญรุ่งเรืองก้าวหน้าได้ก็ต้องอาศัยพลเมืองมีความรู้มีคุณธรรม ฟังอ่านในสิ่งที่เป็นประโยชน์ แล้วนำไปปฏิบัติให้เป็นรูปธรรม

4.จาคะ หมายถึง การเสียสละทรัพย์สมบัติของตนให้เป็นประโยชน์แก่ผู้อื่น และเสียสละ คือ ลดละเลิก อารมณ์โลภ อารมณ์โกรธ อารมณ์หลง อันเป็นกิเลสภายในใจ

5. ปัญญา หมายถึง ความรอบรอบรู้เฉลียวฉลาด ปัญญานี้นับว่า เป็นคุณธรรมสำคัญที่สุด มีศรัทธาความเชื่อ แต่ปราศจากปัญญาก็ถือว่าเข้าข่ายงมงาย รักษาศีลโดยปราศจากปัญญาก็รักษาอย่างไม่ถูกต้อง ดังนั้นปัญญาจึงนับว่าสำคัญยิ่งทั้งในทางโลกและทางธรรม ทำให้ชีวิตมีแก่นสารสาระอย่างแท้จริง

คุณธรรมทั้ง 5 ประการ ดังกล่าวมานี้ เป็นสิ่งที่มีสาระ บุคคลใดสามารถทำให้เกิดมีขึ้นในตน บุคคลนั้นย่อมสามารถทำตนให้มีสาระแก่นสาร มีคุณภาพที่ดี ย่อมประสบความสงบร่มเย็นทั้งในโลกนี้และในโลกหน้า ท่านสาธุชนทั้งหลาย จงอย่าเสียเวลากับสิ่งที่ไม่เป็นแก่นสารสาระเลย รีบหันมายึดเอาสิ่งที่เป็นแก่นสารสาระตามหลักทางพระพุทธศาสนา จะทำให้ชีวิตของท่านทั้งหลายมีคุณ ภาพที่ดี มีประโยชน์แก่ตนเองและสังคม และเป็นการปฏิบัติธรรมทางศาสนาอย่างแท้จริง

212


วันหนึ่งขณะที่หลวงปู่กำลังสนทนากับลูกศิษย์ มีญาติโยมบ้านอยู่ที่อำเภอนครหลวง เข้ามากราบนมัสการพร้อมกับขอร้องหลวงปู่ให้ช่วยเหลือลูกสาวซึ่งถูกผีเข้าเป็นเวลาถึง ๓ ปี ผีที่เข้าบอกว่า โดนยิงตายที่หลังวัดข้างบ้านเจอผู้หญิงเกิดชอบใจ ต้องการได้ไว้เป็นภรรยา บางเวลาผีก็เข้า บางเวลาผีก็ออก ทำให้เกิดความกลัดกลุ้มมาก ถึงกับบางครั้งแกแทบจะยิงผี ซึ่งผีบอกว่า ยิงก็โดนลูกสาวแกเอง หลวงปู่ฟังเสร็จจึงพยักหน้ามาที่ลูกศิษย์แล้วบอกว่า

หลวงปู่ “แกช่วยเขาทีเอาบุญ”

โยม “ต้องเอาตัวคนไข้มาหรือไม่ครับ”

หลวงปู่ “ไม่ต้อง” หลังจากนั้นหลวงปู่ตั้งจิตแล้วพูดว่า

“เรียกตัวผีมารับบุญหลวงปู่ทวด มารับบุญข้าให้โมทนาซะ จะได้ไปดี เป็นผีก็ไปเอาเมียผี ไม่ใช่มาเอาเมียคน รับบุญไปจะได้มีเมียนางฟ้าเยอะแยะ ดูด้วยว่าผีรับหรือยัง...รับแล้วใช่ไหม....ไปเกิดซะ เอาละหมดเรื่องแล้ว”

ลูกศิษย์จึงบอกโยมคนนั้นว่า “ตอนที่เขาไปเกิดแล้วนี่เป็นเหตุ ลุงกลับบ้านลองไปดู ถ้าลูกสาวไม่เป็นไรแสดงว่าหาย”

โยมคนนั้นจึงกลับไปพร้อมกับความสงสัยจนกระทั่งผ่านไปเกือบเดือน แกได้กลับมาที่วัดอีกครั้ง พร้อมรายงานว่า “หายดีแล้วครับ ตั้งแต่วันนั้นไม่มีอาการเกิดขึ้นอีกเลย เพราะหลวงปู่เมตตาช่วยเหลือไว้”

213


หลวงปู่ดู่ วัดสะแก สมัยที่ท่านยังดำรงขันธ์ หรือมีชีวิตอยู่ บุญญาภินิหารปรากฎเป็นเนือง ๆ แต่มีอยู่เรื่องหนึ่งที่ฮือฮามาก เรื่องมีอยู่ว่า มีหญิงสาวผู้หนึ่ง เป็นบุตรีอดีตผู้ว่าฯ หญิง ดังกล่าว เป็นหญิงที่มีรูปงาม งามทั้งรูป งามทั้งเกียรติ์ และพร้อมด้วยทรัพย์ ย่อมเป็นที่ ปราถนาของชายหนุ่มทั่วไป มีชายหนุ่มมากหน้าหลายตาเข้ามาคบหา และในวันหนึ่ง บุตรีอดีตท่านผู้ว่าฯ ได้ออกไปเที่ยวนอกบ้าน โดยมีสาวใช้ติดตามไปด้วย ขณะเดินได้ พบชายผู้หนึ่ง แอบมองเธออยู่ และขณะที่เธอกำลังซื้อของ ได้พบหนุ่มดังกล่าวเข้า ถึง ขนาดเดินชน ขณะที่เดินชนเธอ เธอเล่าว่ามีความรู้สึกเหมือนวูบ และดิ่งในภวังค์ ช่วง นั้นเข้าใจว่า อากาศร้อน ไม่สบาย หรืออาจเป็นลมแดดก็ได้

หลังจากที่กลับมาถึงบ้าน เธอฝันแต่ชายหนุ่มคนดังกล่าวตลอด มีจิตใจรักเสน่หา หวังที่ จะใช้ชีวิตคู่ด้วย พอตื่นขึ้นมา ระหว่างทานข้าวเห็นหน้าชายหนุ่มคนดังกล่าวในจานข้าว และนับวันความรักที่มีต่อชายหนุ่มแปลกหน้า หนักเป็นทวีคูณ ถึงขนาดล้มหมอน นอนเสื่อ

ได้บอกสาวใช้ว่า ไปข้างนอกบ้านกันเถอะ อยากไปพบพี่เขา จำได้ใช่ไหม ผู้ชายที่ชน เราเมื่อ 3 วันก่อน ฝ่ายอดีตผู้ว่าฯ รู้เข้าได้สั่งบริวาร ห้ามให้ลูกสาวออกนอกบ้านเด็ดขาด และได้นำเรื่องนี้ไปปรึกษากับเพื่อนรุ่นเดียวกัน ทุกคนลงความเห็นว่า โดนของ หรือโดน เสน่ห์เข้าจังแล้ว

ทุกวันหญิงสาวคนดังกล่าว เอาแต่เก็บตัวในห้องพัก ข้าวปลาไม่ยอมทาน ทั้งวันเอาแต่เพ้อ พรรณาถึงชายหนุ่มแปลกหน้าดังกล่าว ท่านอดีตผู้ว่า ฯ ได้พาบุตรีไปหาสำนักไสยเวทย์ หลายแห่ง ตามที่มีคนแนะนำ แต่ก็ไม่หาย ร่างกายของหญิงดังกล่าว ก็ซูบผอม หน้าตา หมองคล้ำ สาวใช้ และมารดา ตามไปทานข้าว มองตาขวาง ถึงขนาดเข้ามาบีบคอ ฝ่ายบิดามารดา ทุกข์กว่าเป็น 100 เท่า 1000 เท่า

และแล้วฝันที่ฟ้าเปิดมาถึง มีข้าราชการผู้หนึ่งบอกว่าที่จังหวัดอยุธยา มีภิกษุรูปหนึ่ง นามว่า อาจารย์ดู่ แห่งวัดสะแก (พระอาจารย์ของหลวงตาม้า) วิทยาคมแก่กล้า ลูกศิษย์ลูกหามากมาย ทำไมท่านเจ้าเมืองถึงไม่ไป ขอความเมตตากับหลวงปู่ท่านดู ผมว่าท่านสงเคราะห์ช่วยคูณหนูได้

อดีตผู้ว่า ฯ ได้เดินทางไปที่วัดสะแก เพื่อพบหลวงปู่ดู่ ซึ่งขณะนั้นท่านนั่งอยู่นอกกุฏิ กำลัง สนทนากับมัคทายกวัดอยู่ ได้เล่าเรื่องราวทั้งหมดให้ฟังเกี่ยวกับบุตรีท่าน + หลวงปู่ดู่ ท่านบอกว่า มัคทายกสงเคราะห์เข้าหน่อย มัคทายกได้นั่งหลับตา บอกว่า หลวงปู่ หญิงสาวดังกล่าว ต้องมนต์เสน่ห์ผีพรายเข้าครับ ของแรงซะด้วย เห็นทีหลวงปู่ต้องสงเคราะห์ บุตรีท่านเจ้าเมืองแล้วละ หลวงปู่ดู่ ท่านนั่งหลับตาสักครู่ใหญ่ และลืมตาขึ้น บอกว่า ไม่มี อะไรแล้วกลับไปบ้านเถอะ ฉันขอบารมีหลวงปู่ทวด แผ่กุศลปลดปล่อยวิญญาณดวงนั้นแล้ว ผีพรายตนนั้นเขาไม่อยากทำเช่นนั้น แต่ถูกอำนาจผู้เรืองอาคมบังคับเอา หมดเคราะห์แล้ว

ฝ่ายอดีตผู้ว่าฯ ยิ่ง งง กันใหญ่ อะไรยังไม่ได้พาลูกสาวมา รักษาได้แล้วหรือ แต่เนื่องจากท่านเป็นพระผู้ใหญ่ จึงได้กราบลา แต่จิตของท่านผู้ว่า ขณะนั้นท่านบอกว่าไม่อยากเชื่อ แต่พอกลับถึงบ้าน เห็นลูกสาวที่เก็บตัวในห้องพัก เดินลงมาข้างล่าง สวมกอดแม่อยู่ ร้องไห้เป็นการใหญ่ บอกว่าหนูตายแล้วเหมือนเกิดใหม่ หนูจะเข้าร่าง แต่มัน ไม่ให้หนูเข้าร่าง ใครก็ไม่รู้ เป็นเงาผู้ชาย เป็นเงาดำทั้งตัว น่ากลัวมาก ๆ ฝ่ายบิดามารดา ถามต่อว่า และหนูหลุดมาได้ยังไง บอกว่า ไม่รู้เหมือนกัน เห็นแสงสว่างสาดเข้าตาหนู พอลืมตามาอีก ครั้งก็พบว่าเข้าร่างได้แล้ว เงาดำที่เห็นก็หายไป

ฝ่ายบิดา และมารดา ได้พาบุตรี ไปกราบหลวงปู่ดู่ วัดสะแก ที่วัด ซึ่งท่านก็ได้ให้ศีลให้พร หมดเคราะห์ หมดโศกแล้ว โยม นับจากนี้ไปคงไม่มีอะไรมารบกวนอีกแล้วละ คุณพระรัตนตรัยมาช่วยทัน

เรื่องดังกล่าวเป็นเรื่องจริงที่เกิดขึ้น และสร้างความฮือฮา และชื่อเสียงให้กับหลวงปู่ดู่เป็นอย่างมาก ผู้คนทุกสารทิศ ล้วนแต่หลั่งไหล สู่วัดสะแก เพื่อ กราบหลวงปู่ดู่ พระอภิญญาจารย์ผู้มากด้วยเมตตา บารมี และบูชาวัตถุมงคลที่หลวงปู่อธิษฐานจิต

เรื่องดังกล่าว เคยกราบเรียนถามพ่อพราหมณ์ฯ ว่า เหตุใดไม่ต้องพาหญิงที่ถูกของมา เพียงหลับตาก็แก้อาถรรพ์ได้แล้ว พ่อพราหมณ์ฯ บอกกับลูกศิษย์ว่า หลวงปู่ดู่ ท่านเข้าถึง หัวใจพระรัตนตรัยและวิชา สำเร็จฌาณสมาบัติ และอภิญญาชั้นสูง ทรงไว้ซึ่งบุญญาบารมีที่สูง เทวดาทุกชั้นฟ้าต้องอนุโมทนาและให้ความช่วยเหลือ ไม่ต้องมีพิธีมากมายอะไร หากหลวงปู่ลงมือ กระทำเอง หรือว่ายวานให้ช่วย เพราะเทวดาทุกชั้นฟ้า ต้องโมทนาและให้ความช่วยเหลือ เทวดาก็ต้องการทำบุญกับพระอะระหังเช่นกัน เจ้าอั้ง ใครมีพระหลวงปู่ดู่เก็บไว้ให้ดีเถอะ ของดีของสูง เรื่องนี้เป็นเรื่องจริงที่เกิดขึ้น สมัยที่หลวงปู่ดู่ ยังดำรงขันธ์อยู่

214


เคยมีผู้กล่าวถึงเจ้าแม่กวนอิมให้หลวงปู่ฟัง
หลวงปู่ดู่ท่านพูดยิ้ม ๆ ว่า “อ้อ เจ๊นะเหรอ”
ท่าน ว่าเพียงเท่านี้

เมื่อกล่าวถึงเจ้าแม่กวนอิมหรือพระ โพธิสัตว์อวโลกิเตศวร ตามประวัติแล้วก็ต้องนับว่าท่านตั้งความปรารถนาไว้สูงยิ่ง คือปรารถนาจะรื้อขนสัตว์โลกไปจนกระทั่งไม่มีเหลือ แต่ถึงกระนั้น ด้วยเพศภาวะที่เป็นหญิงจึงทำให้สันนิษฐานว่าท่านยังมิได้รับพุทธพยากรณ์จาก พระพุทธเจ้าพระองค์ใดพระองค์หนึ่ง (เพราะหากได้รับการพยากรณ์แล้ว ย่อมจะเที่ยงแท้ว่าอีกกี่อสงไขยจะได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า รวมทั้งย่อมจะเกิดเป็นชายเท่านั้น เป็นต้น)

มีอาม่าท่านหนึ่ง (อาม่าท่านที่เป็นที่รู้จักในฐานะที่สัมผัสเหรียญหลวงปู่ดู่ รุ่นกระโดดบาตร ดังที่มีคนอ้างอิงอย่างกว้างขวาง) ซึ่งปฏิบัติภาวนามากว่า ๕๐ ปี โดยมีเจ้าแม่กวนอิมเป็นสรณะในใจตลอดมา ได้กล่าวยืนยันให้ลูกชายฟังว่า เจ้าแม่กวนอิมมีจริง แต่ก็นึกไม่ถึงว่าในแผ่นดินไทยผืนเล็ก ๆ เมื่อเทียบกับประเทศจีน จะมีพระโพธิสัตว์ที่มีบารมีมากกว่าเจ้าแม่กวนอิมที่อาม่านับถืออยู่ (อาม่าทราบจากการสัมผัสพลังพระที่หลวงปู่ดูเสก)



อาม่าบอกให้ลูกชายไปตามหาและกราบ สักการะผู้ที่เสกเหรียญดังกล่าว (เหรียญที่หลวงปู่ดู่เสก) ผ่านไปไม่นาน ลูกชายก็เอารูปหลวงปู่ดู่มาให้อาม่าดู อาม่าพูดทันทีว่าองค์นี้แหละที่เป็นผู้เสกเหรียญดังกล่าว เพราะอาม่าเห็นท่านนั่งอยู่ในเหรียญ แต่อาม่าไม่รู้ว่าท่านยังมีชีวิตอยู่หรือไม่ (ช่วงนั้นหลวงปู่ยังไม่ละสังขาร) จากการปฏิบัติภาวนาสม่ำเสมอมาอย่างยาวนาน ทำให้อาม่ามีความรู้อะไรแปลก ๆ แต่แทบไม่ได้เล่าให้ใครฟัง กระทั่งใกล้จะละสังขาร

วกกลับมาเรื่องเจ้าแม่กวนอิม อาม่าบอกว่าองค์จริงของท่านที่บนสวรรค์นั้นเป็นผู้ชาย และส่วนใหญ่ท่านก็เกิดเป็นผู้ชาย มีเพียงชาติที่เป็นเจ้าแม่กวนอิมนี้แหละที่มีเหตุปัจจัยบางอย่างทำให้เกิด เป็นหญิง (ข้อนี้สอดคล้องกับข้อสันนิษฐานของท่านผู้รู้ที่ว่าเจ้าแม่กวนอิมแท้จริง เป็นชาย ซึ่งก็คือพระอวโลกิเตศวรนั่นเอง แต่การที่สร้างรูปเคารพในสมัยหลังเป็นหญิง ก็อาจเป็นเพราะเพศหญิงเป็นเพศแม่ที่ให้ความรู้สึกอบอุ่นใจมากกว่า หรือไม่ก็เพราะพระโพธิสัตว์สามารถแปลงร่างไปสงเคราะห์ผู้คนให้เหมาะกับ สถานการณ์ เช่น เวลาไปสงเคราะห์ผู้หญิงก็จะแปลงเป็นหญิง เป็นต้น – ข้อสันนิษฐานของอาจารย์เสถียร โพธินันทะ ปราชญ์ทางพระพุทธศาสนาในช่วงกึ่งพุทธกาล)

อาม่ายืนยันว่าบารมีของผ่อสัก (พระโพธิสัตว์) ในเมืองไทย (หมายถึงหลวงปู่ทวด/หลวงปู่ดู่) นั้นมากกว่าเจ้าแม่กวนอิมที่อาม่านับถือ และอาม่ายังบอกกับลูกชายอีกว่าเจ้าแม่กวนอิมยังจะไม่เป็นพระพุทธเจ้า แต่ผ่อสักเมืองไทยใกล้จะเป็นพระพุทธเจ้าแล้ว (บารมีเต็มแล้ว) ซึ่งเรื่องนี้ ตัวลูกชายอาม่ารู้สึกแปลกใจเพราะโดยปรกติครูบาอาจารย์ใคร ก็มักได้รับการยกไว้สูงสุด เป็นการยากมากที่อยู่ ๆ จะยกใคร โดยเฉพาะผู้ที่ตนไม่รู้จักให้มาอยู่เหนือครูอาจารย์ของตน ทั้ง ๆ ที่อาม่าเองก็ปฏิบัติภาวนาถือเจ้าแม่กวนอิมเป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจว่ากว่า ๕๐ ปีแล้ว นี่น่าจะเป็นเครื่องยืนยันว่าอาม่าสัมผัสรู้ภายในได้จริง ๆ และอย่างผู้ไม่มีอคติ

หากเป็นดังที่อาม่าเล่ามาก็ช่วยให้ พอสันนิษฐานได้ว่า การที่หลวงปู่ดู่ท่านเรียกเจ้าแม่กวนอิมว่า “เจ๊” อาจเป็นเพราะเจ้าแม่กวนกิมนั้นเป็นพระโพธิสัตว์ที่อยู่เมืองจีน ประกอบกับยังอยู่ระหว่างการบำเพ็ญบารมี คือยังเป็นน้องในทางพระโพธิญาณ ท่านจึงพูดหยอกเอานั่นเอง

มีเรื่องที่น่าพิจารณาเกี่ยวกับปาง ต่าง ๆ ของเจ้าแม่กวนอิม อาจารย์เสถียร โพธินันทะ ผู้แตกฉานในพุทธศาสนาฝ่ายมหายาน และเป็นผู้ริเริ่มแปลพระสูตรทางฝั่งมหายานให้ชาวพุทธเถรวาทเราได้รู้จัก ท่านได้ให้ความรู้ไว้ว่า ในลัทธิมหายานนิกายพุทธตันตระหรือมนตรยาน ซึ่งเป็นลักทธิมหายานรุ่นหลัง เอาคติทางลัทธิฮินดูตันตระมาแทรก จำแนกปางอวตารต่าง ๆ ของพระอวโลกิเตศวรออกเป็น ๓๓ ปาง ที่รู้จักก็เช่น ปางพันพระหัตถ์ และปางทรงเครื่อง (อลังการภูษิต) เป็นต้น

อาจารย์เสถียร ยังบอกอีกการนับถือพระโพธิสัตว์ขึ้นอยู่กับวุฒิปัญญาและฐานะของผู้นับถือ คือจะนับถืออย่างเทพเจ้าที่คอยประทานอะไรต่อมิอะไรเหมือนอย่างเทพเจ้าของ ฮินดู หรือจะนับถือบูชาด้วยการเข้าถึงแก่นแห่งธรรมะในองค์พระโพธิสัตว์ คือพระปัญญาคุณ พระสันติคุณ และพระกรุณาธิคุณ ให้มาประทับอยู่ในดวงจิต ก็ขึ้นอยู่ที่ผู้บูชา

หมายเหตุ อาจารย์เสถียรละสังขารเมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๙ ด้วยวัยเพียง ๓๘ ปี เท่านั้น ประวัติความมีอัจฉริยภาพของท่านน่าสนใจอย่างยิ่ง ท่านเกิดมาเพื่อทำงานในทางพระพุทธศาสนาโดยแท้

215


สูตรทำบุญไม่เสียเงินของหลวงปู่ดู่ พฺรหฺมปัญโญ

พอตื่นเช้ามาขณะล้างหน้า หรือดื่มน้ำให้ว่า “พุทธัง สรณัง คัจฉามิ ธัมมังสรณัง คัจฉามิ สังฆังสรณัง คัจฉามิ” ก่อนจะกินข้าว ก็ให้นึกถวายข้าวพระพุทธ (เป็นอนุสสติอย่างหนึง) ออกจากบ้านเห็นคนอื่นเขากระทำความดี เป็นต้นว่า ใส่บาตรพระ จูงคนแก่ข้ามถนน ข่าวงานบุญต่างๆ ฯลฯ ก็ให้นึก อนุโมทนา กับเขา

ผ่านไปเห็นดอกไม้ที่ใส่กระจาดวางขายอยู่ หรือดอกบัวในสระข้างทาง ก็ให้นึกอธิฐานถวายเป็นเครื่องบูชาพระรัตนตรัย โดยว่า “พุทธัสสะ ธัมมัสสะ สังฆัสสะ ปูเชมิ” แล้วต้องไม่ลืมอุทิศบุญให้แม่ค้าขายดอกไม้ หรือรุกขเทวดาที่ดูแลสระบัวนั้นด้วย ตอนเย็นนั่งรถกลับบ้าน เห็นไฟข้างทางก็ให้นึกน้อมบูชาพระรัตนตรัยโดยว่า “โอม อัคคีไฟฟ้า พุทธบูชา ธรรมบูชา สังฆบูชา” (เป็นการบูชาระลึกถึงคุณของพระรัตนตรัย ก่อเกิดอานิสงค์แห่งบุญในดวงจิต) เวลาไปที่ไหนเห็นข่าว คนตาย คนเจ็บ คนป่วย คนที่กำลังมีความทุกข์ ก็ดี ผ่านจุดที่คนตายบ่อยๆ เห็นศาลเจ้า ศาลพระภูมิ ก็ดี ให้ระลึกถึงพระพุทธเจ้า บารมีรวมของครูบาอาจารย์ อันมีหลวงปู่ดู่เป็นที่สุด แผ่บุญไป (เป็นการเจริญเมตตา ฝึกให้จิตมีพรหมวิหาร เป็นการบำเพ็ญบุญ)

ก่อนนอนก็นั่งสมาธิ เอนตัวนอนลง ก็ให้นึกคำบริกรรมภาวนาไตรสรณะคมนี้จนหลับ ตื่นขึ้นมาก็บริกรรมภาวนาต่ออีกตลอดวัน

เหล่านี้คือตัวอย่างเทคนิคการตะล่อมจิตให้อยู่แต่ในบุญกุศลตลอดวัน และได้บุญมากกว่าการทำทาน โดยไม่เสียเงินแม้แต่บาทเดียว เป็นการทำให้ดวงจิตเราเกิดแสงแห่งบุญทุกขณะลมหายใจเข้าออก สะสมบุญได้ตลอดทั้งวัน

216
การฝึกหัดจิตให้มีสติทุกเมื่อ

หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี
แสดง  ณ  วัดหินหมากเป้ง   อ.ศรีเชียงใหม่  จ.หนองคาย
วันที่ ๑๒ เมษายน  พ.ศ. ๒๕๒๔
จากหนังสือ  เทสกานุสรณ์  หน้า ๑๗๑

วันนี้จะเทศนาเรื่อง  การฝึกหัดจิต    จิตของคนเราต้องฝึกหัด  เช่นเดียวกับสัตว์ที่อยู่ในป่าที่เขาจับมาใช้  จะใช้งานได้ต้องฝึกต้องหัดเสียก่อน    จิตของเรายังไม่ได้ฝึกหัดก็เหมือนกับสัตว์ที่อยู่ในป่านั่นแหละ  เราจับจิตมาฝึกหัด คือ เราตั้งใจฝึกหัดจริงๆ จึงจะเรียกว่าเราฝึกหัดจิต

         การฝึกหัดสัตว์ป่า เช่น ช้าง เป็นต้น  พอจับได้มาเขาก็ผูกมันไว้กับต้นเสา  ตอนแรกมันก็แข็งแรงอยู่จะต่อสู้ดิ้นรนมาก  เขาจึงไม่ให้กินหญ้ากินนํ้า  หรือให้แต่เพียงเล็กน้อยพอไม่ให้ตาย  จนซูบซีดผอมลงไป  ทีนี้ก็เริ่มหัดมัน  หัดจนกระทั่งมันยอมคนขึ้นขี่คอได้  หัดให้อยู่ในอำนาจของเราทุกอย่างได้   เมื่อมันอยู่ในอำนาจของเราเรียบร้อยดีแล้ว  เราจึงให้อาหารมันกินอย่างอุดมสมบูรณ์

         การฝึกหัดจิตก็คล้ายๆกันนั่นแหละ  แต่ไม่ต้องถึงอย่างนั้น  เพราะสัตว์เป็นของภายนอกมีตัวตน  ต้องฝึกหัดด้วยการทรมาน  การฝึกหัดจิตต้องหัดด้วยอุบายวิธี  จิตเป็นของไม่มีตัว  จะขับขี่ก็ไม่ได้  จะตีก็ไม่ได้  แต่ทำให้มันอยู่ในอำนาจของตนนั้นได้  แต่ก็ยากแสนยากที่มันจะอยู่ในบังคับของเรา  ต้องฝึกฝนอบรม

         ที่ว่าคล้ายกัน คือ  ให้อดอาหารหรือฉันอาหารเพียงเล็กน้อย  เพื่อให้มันมักน้อยที่สุด  เป็นการฝึกหัดอบรมกาย แต่มันเนื่องถึงจิต    เหมือนอย่างพระพุทธเจ้า พระองค์ไม่เสวยพระกระยาหาร แต่ไม่สำเร็จมรรคผลนิพพาน  พระองค์จึงค่อยผ่อนเสวยพระกระยาหารทีละน้อยๆ จนกระทั่งพอดีพองาม  ฉันพอสมควรไม่ฉันฟุ่มเฟือย พอให้กายอยู่ได้ไปวันๆหนึ่ง    อาหารนั้นถ้าฉันมากจิตใจมันทื่อ  มันกำเริบเฟิบฟาย  มันไม่อยู่ในอำนาจของตน  ผู้ที่ไม่ได้ฝึกฝนอบรม รับประทานอย่างอิ่มหนำสำราญก็ให้มันรับประทานเรื่อยไป    แต่สำหรับคนที่ฝึกหัดอบรมใจนั้นจะฉันน้อยพอประมาณพอบำรุงร่างกาย  เพื่อยังชีวิตให้เป็นไปในวันหนึ่งๆเท่านั้น  แล้วก็ไม่สะสม  การสะสมเป็นเรื่องของกิเลส  ลองคิดดู ถ้าสะสมแล้วมันเป็นการพะวักพะวน ท่านจึงไม่ให้สะสม นี่พูดเฉพาะเรื่องของพระภิกษุ คือ ฉันแล้วก็ทิ้งไป ให้มันหมดเรื่องหมดราว วันหลังหาใหม่ ได้เท่าไรก็ฉันเท่านั้น ฉันเท่าที่มีอยู่    ถึงฆราวาสก็ดี ผู้ฝึกหัดจิตต้องฝึกฝนอบรมอย่างนั้น คือรับประทานมื้อเดียว  ไม่ให้เกี่ยวข้องพัวพันในเรื่องอื่นๆ  เอาปัจจุบัน  แม้ว่าจะต้องเกี่ยวข้องพัวพันบ้างก็ตาม หากลงปัจจุบันในขณะนั้นก็ไม่มีอะไร  เอาปัจจุบันเท่านั้น  ไม่คิดอดีต  อนาคต  มันถึงจะเป็นไปได้  การฝึกฝนอบรมใจมันต้องไปจากกายนี้เหมือนกัน

(webmaster - กล่าวคือ กายที่สมบูรณ์จากการกินเกินพอดี นอกจากทำให้มิทธะง่วงเหงาซึมเซาแล้ว ย่อมยังทำให้เกิดความกำหนัดคือราคะอีกด้วย หรือโผฏฐัพพะแต่ภายในเอง เป็นเหตุปัจจัยหนึ่งที่เนื่องหรือกระตุ้นจิตให้เกิดตัณหาขึ้น  พึงเข้าใจว่า อดอาหารก็ด้วยสิ่งนี้เป็นเหตุ  มิได้ด้วยเจตนาจะทรมานตนแต่ประการใด แต่เป็นไปเพื่อการลดละความซึมเซา ตัณหาและราคะโดยตรง)

         นอกจากอบรมทางกายแล้ว  ยังต้องอบรมวาจาด้วย  พูดให้น้อย  พูดด้วยความสำรวมระวัง    การที่ว่าสำรวมในที่นี้ไม่ได้หมายถึงไม่ให้พูด พูดได้แต่หากว่าให้มีสติควบคุมอยู่  พูดก็รู้เรื่องว่าพูดอยู่ พูดดีชั่ว หยาบละเอียด จะพูดสักเท่าไรก็ตามแต่รู้เท่ารู้ทันอยู่ทุกขณะ เรียกว่าสำรวมวาจา  จะพูดอะไรก็พูดเถอะ  การทำอะไรก็ทำเถอะ  แต่รู้เรื่องอยู่ทุกขณะ    สติควบคุมอยู่อย่างนี้ เรียกว่า มีสติระวังกายวาจา

(webmaster - กล่าวคือ เหมือนกันทั้งกาย วาจา ใจ  จึงไม่ใช่การไปหยุดการกระทำทางกาย วาจา ใจ  แต่เป็นเมื่อกระทำทางกาย วาจา ใจ แล้วให้มีสติควบคุมอยู่  จึงไม่ใช่การปฏิบัติในลักษณะหยุดกระทำ หยุดพูด หยุดคิดเสียดื้อๆ)

         ส่วนการสำรวมระวังใจ  ถ้าอยู่เฉยๆ ใจไม่มีเครื่องอยู่  ให้เอาคำบริกรรมอันใดอันหนึ่งมาเป็นเครื่องอยู่มาเป็นหลักผูกใจ  เช่น  พุทโธ  อานาปานสติ ตามลมหายใจเข้าออก  ยุบหนอพองหนอ  หรือสัมมาอรหังก็ได้    เอาอันนั้นมาเป็นเครื่องอยู่เสียก่อน  นึกคิดอยู่เสมอๆจนเป็นอารมณ์  มีสติควบคุมจิตอยู่ตรงนั้นแหละ  จิตอยู่ที่ใดให้เอาสติไปตั้งตรงไว้ในที่นั่น  จึงจะเรียกว่าควบคุมจิต  รักษาจิต  ที่จะห้ามไม่ให้คิดไม่ให้นึกนั้น ห้ามไม่ได้เด็ดขาด  ธรรมดาของจิตมันต้องมีคิดมีนึก แต่หากมีสติควบคุมจิตอยู่เสมอ คิดนึกอะไรก็รู้ตัวอยู่ทุกขณะ เรียกว่า บริกรรมภาวนา

         การบริกรรมภาวนานี้มิใช่ของเลว คนบางคนเข้าใจว่าเป็นของเลว เป็นเบื้องต้น ที่จริงไม่ใช่เบื้องต้น   ธรรมไม่มีเบื้องตน ท่ามกลาง ที่สุดหรอก ธรรมะอันเดียวกันนั่นแหละ   ถ้าหากสติอ่อนเมื่อไรก็เป็นเบื้องต้นเมื่อนั้น   สติแก่กล้าเมื่อไรก็เป็นท่ามกลางและที่สุดเมื่อนั้น  คือหมายความว่าสติคุมจิตอยู่ทุกขณะ  จนกระทั่งเป็นมหาสติปัฏฐาน  จะยืน  เดิน  นั่ง  นอน ในอิริยาบถใดๆทั้งหมด มีสติรอบตัวอยู่เสมอโดยที่ไม่ได้ตั้งใจให้มีสติ  แต่มันเป็นของมันเอง  สติควบคุมจิตไปในตัว   เมื่อมีสติเช่นนั้นมันก็ไม่เกี่ยวข้องพัวพันกันกับสิ่งต่างๆ    เมื่อตาเห็นรูป  หูได้ยินเสียง  ลิ้นลิ้มรสต่างๆ  กายได้สัมผัส  มันก็เป็นสักแต่ว่า  สัมผัสแล้วก็หายไปๆ  ไม่ได้เอามาเป็นอารมณ์  ไม่เอามาคำนึงถึงใจ  อันนั้นเป็น มหาสติ  แท้ทีเดียว

(webmaster - ถ้าบริกรรมอย่างมีสติ หมายถึงไม่ปล่อยให้เลื่อนไหลไปลงภวังค์ กล่าวคือไม่ลงลึกไปในฌานหรือสมาธิอันละเอียดจนเคลิบเคลิ้มท่องเที่ยวไปในภวังค์หรือเพลิดเพลินไปในนิมิต  ก็จักเกิดประโยชน์อย่างมาก  จะทำให้เห็นจิตคือคำบริกรรมนั้นๆ อันย่อมเป็นจิตสังขารอย่างหนึ่ง จึงเป็นการฝึกให้เห็นจิตหรือจิตสังขารอย่างหนึ่งหรือจิตตานุปัสสนาอย่างหนึ่งอย่างดียิ่ง ที่เมื่อสั่งสมอย่างถูกต้องดีงามแล้วก็จะเกิดอาการเห็น จิตมีโทสะ จิตมีราคะ จิตฟุ้งซ่าน จิตหดหู่ ฯ.   ตลอดจนยังเป็นวิหารธรรมหรือเครื่องอยู่ของจิต จิตจึงไม่ส่งออกไปปรุงแต่งฟุ้งซ่าน)

         ถ้าจิตอ่อนเมื่อไร จิตจะส่งไปตามอายตนะทั้ง ๖ เมื่อนั้น  เช่น  ตาได้เห็นรูปอะไร  หูได้ยินเสียงอะไร  มันก็จะพุ่งไปตามรูปที่เห็น  เสียงที่ได้ยินนั้นแหละ    เมื่อเป็นเช่นนั้นก็ต้องเอาบริกรรมมาใช้อีก  ให้จิตมันอยู่กับบริกรรมนั้นอีก   บริกรรม คือ สัมมาอรหัง  พุทโธ  อานาปานสติ  อะไรต่างๆก็ตาม ที่ท่านสอนแต่ละสำนักนั้น  มันเป็นไปตามความชำนาญของแต่ละท่าน มันเป็นนโยบายของท่านต่างหาก  แท้ที่จริงก็อันเดียวกันนั่นแหละ  ใครจะเลือกภาวนาบริกรรม อันใดก็ได้  ความต้องการคือ มุ่งหมายเอาสติอย่างเดียว  เพื่อตั้งสติให้มั่นคง  จึงว่าคำบริกรรมเป็นคู่กับการฝึกหัดจิต  คำบริกรรมเปรียบเหมือนกับเครื่องล่อจิต  เหมือนกับเด็กเล็กๆที่มันร้องไห้ เราเอาขนมมาล่อให้มันกิน  มันก็หยุดร้อง   จิตของเราก็ยังเป็นเด็กอยู่เหมือนกัน คือว่ายังไม่เป็นผู้ใหญ่ ยังรักษาตัวเองไม่ได้  ยังต้องอาศัยคำบริกรรมอยู่ จึงเรียกว่าเป็นเด็ก   คนเฒ่าคนแก่กระทั่งผมหงอกผมขาวก็ตาม  ถ้ายังควบคุมจิตของตนไม่ได้ก็ยังเป็นเด็กอยู่นั่นแหละ   ถ้าหากควบคุมจิตได้แล้ว  แม้จะเป็นเด็กก็ตามนับเป็นผู้ใหญ่ได้    ในพุทธศาสนา  ผู้บวชตั้งร้อยพรรษา  โดยธรรมแล้ว  ถ้าควบคุมจิตไม่ได้ก็เรียกว่ายังเป็นเด็กอยู่  องค์ใดบวชในพรรษานั้นแต่ว่าควบคุมจิตได้  ก็เรียกว่าเป็นเถระ  การรักษาจิตควบคุมจิตจึงต้องมีเครื่องอยู่  ได้แก่  การบริกรรม

         จิตเป็นของสูงๆตํ่าๆ คือ ฝึกหัดไม่สมํ่าเสมอ  สูงหมายถึงว่าเจริญขึ้นไป คือ มีสติควบคุมอยู่  ขณะที่มีสติควบคุมอยู่ก็กล้าหาญเด็ดเดี่ยว  ต่อสู้กับอารมณ์ได้ อะไรมาก็ไม่กลัว   พอสัมผัสมากระทบเข้าจริงๆจังๆ อ่อนปวกลงไปเลย นั่นมันตํ่าลงไปแล้ว มันไม่เป็นผู้ใหญ่  ดังนั้นจึงต้องหัดสติตัวนี้ให้แก่กล้า  ให้แข็งแรงที่สุด

         ในพุทธศาสนานี้มีการฝึกหัดสติอันเดียว  การฝึกหัดเรื่องอะไรก็ตาม  ฝึกหัดสติอันเดียวเท่านั้น    พระพุทธองค์ทรงสั่งสอนสาวกทั้งหลายแต่ก่อนนี้ ก็ทรงสอนให้ฝึกสติอันเดียวเท่านั้น  ทรงสอนฆราวาสก็เหมือนกัน ทรงสอนเรื่องสติ  ให้มนุษย์คนเราพากันมีสติ    พวกเราก็พากันถือคำสอนของพระองค์นั่นแหละมาพูด เช่น พอพลั้งๆเผลอๆ ก็ว่า ไม่มีสตินี่  ก็พูดกันไปอย่างนั้นแหละ  ตัวผู้พูดเองก็ไม่รู้เรื่องว่าตัวสติมันเป็นอย่างไร  พูดไปเฉยๆ อย่างนั้นแหละ  มิหนำซํ้าบางคนไม่มีสติอยู่แล้ว ยิ่งไปดื่มสุรายาเมาเข้า ยิ่งไปใหญ่จนเสียสติเป็นบ้าไปก็มี    เหตุนี้จึงว่า คำสอนของพุทธศาสนาทั้งหมดมาลงที่สติอันเดียว  ตั้งแต่เบื้องต้นก็สอนสติ  ท่ามกลาง  ที่สุดก็สอนสติ  เป็นศาสนาที่สอนถึงที่สุด  แต่คนทำนั่น ทำสติไม่ถึงที่สุดสักที  ทำมากี่ปีกี่ชาติก็ไม่สมบูรณ์สักที  พระพุทธเจ้าพระองค์ใดก็ทรงสอนสติตัวเดียวนี้

         เราเกิดมากี่ภพกี่ชาติก็มาหัดสติตัวเดียวนี้  แต่ก็หัดสติไม่สมบูรณ์สักที  เหตุนั้นจึงควรที่พวกเราจะพากันรีบเร่งหัดสติทุกคนแต่บัดนี้    อายุอานามมาถึงป่านนี้แล้ว  เรียกว่าจวนเต็มที  จวนจะหมดสิ้น  จวนจะตายอยู่แล้ว  ไม่ทราบว่าจะตายวันไหน   ควรที่จะหัดสติให้อยู่ในเงื้อมมือของตนให้ได้  อย่าให้จิตไปอยู่ในเงื้อมมือของความหลงมัวเมา  ผู้ใดจิตไม่อยู่ในอำนาจของตนก็ชื่อว่าเราเกิดมาแล้วเสียเปล่า  ได้ฟังคำสอนของพระพุทธเจ้าเสียเปล่า  เปล่าจากประโยชน์

         อย่าให้จิตอยู่แต่ในอำนาจของกิเลส  ให้จิตอยู่แต่ในอำนาจของสติ  สติเป็นตัวระมัดระวัง  อันนั้นแหละเป็นประโยชน์ส่วนตัวโดยแท้   ถ้าจิตอยู่ใต้อำนาจของกิเลสแล้วหมดท่า  ตัวของเราจึงเป็นทาสของกิเลส  เหตุนั้นจึงควรที่จะพากันรู้สึกตัว  ตื่นตัวเสียตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป  แล้วฝึกอบรมกัมมัฏฐาน

         การอบรมกัมมัฏฐานนั้น  ทุกคนต้องอบรมเหมือนกันหมด  มิใช่อบรมเฉพาะพระภิกษุ  สามเณร  แม่ชี  อุบาสกอุบาสิกาเท่านั้น  การฝึกหัดธรรมะก็ต้องหัดสติตัวนี้แหละ  ถือพุทธศาสนาก็ต้องหัดสติตัวนี้แหละ  มีสติสมบูรณ์บริบูรณ์ก็เรียกว่าถึงศาสนา  ถ้ายังไม่มีสติเสียเลยก็เรียกว่ายังไม่ถึงศาสนา  เอาละ  วันนี้เทศน์ให้ฟังเพียงเท่านี้  เอวํฯ

217
อภิญญาปฎิบัติ / สติปัฎฐาน 4
« เมื่อ: สิงหาคม 26, 2012, 02:23:24 AM »
มิจฉาสมาธิ  ย่อมบังเกิดแก่ผู้มี มิจฉาสติ
สัมมาสมาธิ  ย่อมบังเกิดแก่ผู้มี สัมมาสติ
มิจฺฉาสติสฺส  มิจฺฉาสมาธิ  ปโหติ
สมฺมาสติสฺส  สมฺมาสมาธิ  ปโหติ
(อวิชชาสูตร ๑๙/๑)
         สติปัฏฐาน ๔ เป็นการปฏิบัติที่พระองค์ท่านตรัสว่าเป็นทางสายเอก(เอกายนมรรค)  เมื่อปฏิบัติอย่างดีงามย่อมเป็นเครื่องสนับสนุนให้โพชฌงค์๗องค์แห่งการตรัสรู้บริบูรณ์ ซึ่งยังให้วิชชาและวิมุตติบริบูรณ์ จึงถึงที่สุดแห่งทุกข์ได้ ดังที่ตรัสแสดงไว้อย่างแจ่มแจ้งในกุณฑลิยสูตร    ในการศึกษาการปฏิบัติทั้งหลายไม่ว่าในทางโลกหรือทางธรรมก็ตามที ต่างล้วนต้องเรียนรู้ให้เข้าใจจุดประสงค์เสียก่อน กล่าวคือ ต้องมีปัญญาหรือวิชชาเป็นพื้นฐานบ้างเสียก่อน จึงเริ่มลงมือปฏิบัติ จึงถูกต้องดีงาม อันจักยังผลให้การปฏิบัติเป็นไปอย่างถูกต้องแนวทาง  ดังนั้นจึงควรมีความเข้าใจด้วยการศึกษาธรรมให้เข้าใจจุดประสงค์อย่างถูกต้องด้วย  เพราะเป็นที่นิยมปฏิบัติกันโดยไม่ศึกษาให้ดีงามเสียก่อน  เริ่มต้นปฏิบัติก็มักเพราะเป็นทุกข์กำลังรุมเร้า หรือด้วยความเป็นพุทธศาสนิกชนที่ได้ยินได้ฟังมาอยู่เนืองๆ ก็เริ่มปฏิบัติอานาปานสติหรือสติปัฏฐาน ๔ โดยไม่มีความรู้ความเข้าใจเลย ดังนั้นแทนที่เป็นการฝึกสติ,ใช้สติชนิดสัมมาสติ กลับกลายเป็นการฝึกการใช้มิจฉาสติจึงได้มิจฉาสมาธิแบบผิดๆอันให้โทษ จึงเกิดขึ้นและเป็นไปตามพุทธพจน์ตามที่แสดงไว้ข้างต้น ดังเช่นการติดสุข คือสุขในวิปัสสนูปกิเลสอันให้โทษ,   จึงอุปมาเหมือนการเรียนเคมี โดยไปปฏิบัติในห้องปฏิบัติการเสียเลย ด้วยเข้าใจว่าไปเรียนไปศึกษาจากการปฏิบัติโดยตรงคงยังให้เกิดความรู้ความเข้าใจขึ้นเอง ด้วยเหตุดั่งนี้เอง จึงเกิดอุบัติเหตุการระเบิดขึ้นได้ด้วยความไม่รู้หรืออวิชชานั่นเอง  จึงสมควรอย่างยิ่งที่ต้องมีการเรียนรู้ให้เข้าใจจุดประสงค์เป็นพื้นฐานบ้างเสียก่อน จะได้ดำเนินไปอย่างถูกต้องแนวทางสมดังพุทธประสงค์ คือสัมมาสติที่เป็นไปเพื่อการดับทุกข์ อันเป็นสุขยิ่ง
         สติปัฏฐาน ๔ จึงเป็นการฝึกสติและใช้สติ สมดังชื่อ ที่ความหมายว่า การมีสติเป็นฐาน, ธรรม(สิ่ง)ที่เป็นที่ตั้งแห่งสติ  ซึ่งเมื่อเกิดสัมมาสติขึ้นแล้ว ย่อมยังให้เกิดจิตตั้งมั่นอันคือสัมมาสมาธิร่วมด้วยโดยธรรมหรือธรรมชาติ  แล้วนำทั้งสัมมาสติและสัมมาสมาธินั้นไปดำเนินการพิจารณาในธรรมคือเจริญวิปัสสนา ในธรรมทั้งหลายดังที่แสดงในธัมมานุปัสสนา หรือธรรมอื่นใดก็ได้ตามจริต สติ ปัญญา มิได้จำกัดแต่เพียงในธรรมานุปัสสนาเท่านั้น
         อานาปานสติ เป็นทั้งการฝึกสติและใช้สติ ไปในการใช้ลมหายใจเข้าลมหายใจออกเป็นอารมณ์ ที่หมายถึงเครื่องกำหนด กล่าวคืออยู่ในอารมณ์คือลมหายใจเข้าและออกอย่างมีสติระลึกรู้เท่าทันหรือพิจารณาเป็นจุดประสงค์สำคัญ   แต่ปัจจุบันกลับนิยมนำไปใช้เป็นอารมณ์ในการวิตกเพื่อการวิจารให้เคล้ากัน เพื่อให้จิตสงบเพื่อการทำฌานสมาธิเสียแต่ฝ่ายเดียวเป็นส่วนใหญ่หรือทุกครั้งไป เนื่องด้วยอวิชชาด้วยความไม่รู้และสังขารที่สั่งสมไว้จากการปฏิบัติผิด  จึงไม่ได้ใส่ใจในการเจริญวิปัสสนาเพื่อให้เกิดนิพพิทา,ให้เกิดปัญญาเลย  โดยปล่อยให้เลื่อนไหลหรือสติขาดไปอยู่แต่ในความสงบสุขสบายอันเกิดแต่ภวังค์ของฌานหรือสมาธิระดับประณีตแต่ฝ่ายเดียวหรือเสมอๆ  เพราะฌานสมาธินั้นยังให้เกิดความสุข ความสงบ ความสบายอันเกิดขึ้นจากภวังค์ และการระงับไปของกิเลสในนิวรณ์ ๕  เป็นระยะเวลาหนึ่ง  อันเนื่องจากจิตหยุดการส่งส่ายไปปรุงแต่งอันเนื่องมาจากแน่วแน่อยู่กับอารมณ์จนเป็นสมาธิ,  ตลอดจนนิมิตต่างๆที่เกิดขึ้นจากฌานสมาธิล้วนตื่นตาตื่นใจ อย่างเห็นได้ชัดและรวดเร็วเมื่อปฏิบัติได้ผลขึ้น จึงเกิดการติดเพลิน(นันทิ)โดยไม่รู้ตัว  ในที่สุดความตั้งใจที่ฝึกสัมมาสติอันเป็นมรรคองค์ที่ ๗ จึงกลับกลายเป็นมิจฉาสติไปโดยไม่รู้ตัว จึงได้มิจฉาสมาธิร่วมไปโดยไม่รู้ตัวอีกด้วย
        หรือนิยมเข้าใจกันทั่วๆไปโดยนัยๆว่า ปฏิบัติสมถสมาธิ หรือปฏิบัติอานาปานสติ หรือปฏิบัติสติติดตามอริยาบถ ก็เพียงพอเป็นการปฏิบัติสติปัฏฐาน ๔ อันดีงามแล้ว และก็ทำอยู่แต่อย่างนั้นอย่างเดียวนั่นเอง เช่นนั่งแต่สมาธิแต่ขาดการเจริญวิปัสสนา,   ดังนั้นการปฏิบัติสติปัฏฐาน ๔ จึงควรดำเนินประกอบด้วยการเจริญวิปัสสนาให้เกิดปัญญาหรือความเข้าใจตามความเป็นจริงอย่างถูกต้อง เพราะไม่เช่นนั้นก็ย่อมดำเนินและเป็นไปดังพุทธดำรัสที่ตรัสแสดงไว้ข้างต้น
        สติปัฏฐาน ๔ แปลว่า ธรรมอันเป็นที่ตั้งแห่งสติ, หรือข้อปฏิบัติที่ใช้สติเป็นประธานหรือหลัก ในการกำหนดระลึกรู้หรือพิจารณาสิ่งทั้งหลาย ให้รู้เห็นตามความเป็นจริงของธรรม(ธรรมชาติ)นั้นๆ  โดยไม่ถูกครอบงําด้วยความยินดียินร้าย(ตัณหา)ที่ทําให้เห็นผิดไปจากความเป็นจริงตามอํานาจของกิเลสตัณหา  หรือกล่าวได้ว่าสติปัฏฐาน ๔ เป็นธรรมที่ตั้งแห่งสติ จุดประสงค์เพื่อฝึกสติ และใช้สตินั้นพิจารณาและรู้เท่าทันใน กาย เวทนา จิต และธรรม  เพื่อให้เกิดนิพพิทาความคลายกำหนัดความยึดความอยากจากการไปรู้ตามความเป็นจริงของสิ่งนั้นๆ จึงคลายตัณหา  จึงเป็นไปเพื่อนําออกและละเสียซึ่งตัณหาแลอุปาทานความยึดมั่นถือมั่นในกิเลสด้วยความพึงพอใจหรือสุขของตัวของตนเป็นสำคัญ  ที่มีในสันดานของปุถุชนอันก่อให้เกิดความทุกข์โดยตรงด้วยเป็นสมุทัยเหตุแห่งทุกข์,  พระองค์ท่านแบ่ง สติปัฏฐาน ๔ ออกเป็น ๔ หมวดใหญ่ด้วยกัน คือ
        ๑. กายานุปัสสนา การมีสติในกายเป็นอารมณ์ คือมีสติกําหนดพิจารณากาย  ให้เห็นกายในกาย คือเห็นตามความเป็นจริงของกาย เช่น "เป็นเพียงการประชุมกันของเหตุปัจจัยอันมีธาตุ ๔ ดิน นํ้า ลม ไฟ" (อ่านรายละเอียดในไตรลักษณ์)  หรือการเกิดแต่เหตุที่เป็นของสกปรกปฏิกูลโสโครกประกอบหรือเป็นปัจจัยกันขึ้น(ทวัตติงสาการ)  หรือการพิจารณาส่วนต่างๆของร่างกายเพื่อให้เกิดนิพพิทา อันล้วนเป็นไปการระงับหรือดับตัณหาแลอุปาทานโดยตรงทั้งสิ้น
        ในขั้นแรกนั้น เป็นการฝึกให้มีสติเสียก่อน  โดยฝึกดูลมหายใจที่หายใจเข้า ที่หายใจออก อย่างมีสติ,  หรือการมีสติอยู่ในอิริยาบถของกาย(ไม่ใช้การใช้อิริยาบถของกายเป็นอารมณ์จนเกิดสมาธิโดยไม่รู้ตัว)  แล้วใช้สตินั้นในการพิจารณากายในแบบต่างๆ ตลอดจนการเกิดดับต่างๆของกาย ฯลฯ. ล้วนเพื่อให้เกิดนิพพิทา เพื่อให้จิตลดละความยินดียินร้ายในกายแห่งตนแลบุคคลอื่นเมื่อรู้เห็นตามความเป็นจริงของกายนั้นว่า ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา  จิตจะได้คลายความยึดมั่นถือมั่นพึงพอใจหรือหลงใหลในกายแม้ตัวตนของตนหรือบุคคลอื่น  เป็นการตัดกำลังตัณหาแลอุปาทานโดยตรงทางหนึ่ง ซึ่งท่านแบ่งเป็น ๖ แบบ
        ๑.๑ อานาปานสติ  ขอเน้นว่าจุดประสงค์อยู่ที่สติ โดยให้จิตคือสติกําหนดตามดูหรือรู้ตามลมหายใจเข้าออกแบบต่างๆ  ตลอดจนสติสังเกตุเห็นอาการของลมหายใจ  มีจุดประสงค์เพื่อฝึกให้มีสติและเพื่อละความดำริพล่านคือฟุ้งซ่านเป็นสำคัญหรือเป็นธรรมเอก  เหตุเพราะลมหายใจนั้นก็สามารถใช้เป็นอารมณ์หรือการวิตกในการทำฌานหรือสมาธิได้ด้วย  ข้อนี้จึงมักสับสนกันอยู่เนืองๆ จนก่อโทษ  จึงทำสติต้องเป็นสติ  สมาธิก็เป็นสมาธิ  กล่าวคือเมื่อทำสติต้องเป็นสติ จึงเป็นสัมมาสติ  เมื่อตั้งใจทำสมาธิแล้วเป็นสมาธิก็เป็นสัมมาสมาธิ   แต่บางครั้งคราวในการปฏิบัติอาจมีการเลื่อนไหลเพราะสติขาดเกิดขึ้นบ้างเป็นครั้งเป็นคราว เป็นเรื่องปกติธรรมดาไม่ต้องกังวล  เนื่องจากบางครั้งฝึกสติก็จริงอยู่ แต่เกิดอาการขาดสติหรือสติอ่อนลงเป็นครั้งคราวบ้างจึงเลื่อนไหลไปเป็นฌานหรือสมาธิแทน  อย่างนี้ไม่เป็นไร  (ดังแสดงจุดประสงค์ไว้อย่างชัดเจนเรื่องอานาปานสติในกายคตาสติสูตร),  การตั้งกายตรง ก็เพื่อช่วยดำรงสติไว้ ไม่ให้เลื่อนไหลไปง่วงหาวนอนได้ง่ายๆในขณะปฏิบัติ
        อานาปานสติ นอกจากฝึกสติแล้วสามารถใช้วิปัสสนาได้เช่นกัน โดยการพิจารณาลมหายใจที่หายใจเข้าออกอยู่นั้นๆว่า เป็นกายสังขาร คือถูกกายปรุงแต่งขึ้น พิจารณาความไม่เที่ยง ทนอยู่ไม่ได้ เป็นอนัตตา  ดังเช่น ลมหายใจนั้น เป็นไปในลักษณาการ เกิดดับ เกิดดับ....อยู่ตลอดเวลาที่ยังดำรงขันธ์อยู่  เพียงแต่การเกิดดับเป็นไปอย่างต่อเนื่อง.
        ๑.๒ อิริยาบถ  คือกําหนดสติให้ระลึกรู้ในอิริยาบถอาการต่างๆของกาย เช่น เดิน นอน ยืน นั่งฯลฯ. คือมีสติรู้ในอิริยาบทต่างๆนั่นเอง  มีจุดประสงค์เช่นเดียวกับอานาปานสติคือเพื่อละความดำริพล่านคือฟุ้งซ่านเป็นสำคัญหรือเป็นธรรมเอก  ไม่ได้มีจุดประสงค์โดยตรงเพื่อใช้เป็นอารมณ์ในการทำสมาธิหรือฌาน (ดังแสดงจุดประสงค์ไว้อย่างชัดเจนเรื่องอิริยาบถในกายคตาสติสูตร)
        ดังนั้นอานาปานสติจึงใช้ปฏิบัติเมื่อวิเวก   ส่วนอิริยบถอาจใช้โดยทั่วไปได้เนืองๆในการดำรงชีวิตประจำวันเช่นเดียวกับสัมปชัญญะ
        ๑.๓ สัมปชัญญะ  ความรู้ตัวคือปัญญาในการให้มีสติต่อเนื่องในการกระทําหรือการเคลื่อนไหว เช่นเดิน ดื่ม กิน ถ่าย วิ่ง ตื่น หลับ ฯลฯ. กล่าวคือมีสติอย่างรู้ตัวทั่วพร้อม  สติระลึกรู้อย่างต่อเนื่องสลับสับเปลี่ยนอิริยาบทกันได้ ตามที่สติระลึกรู้ตามความเป็นจริง มีสติระลึกรู้ไม่เพ่งจนแน่วแน่เพื่อการเป็นสมาธิระดับสูงหรือประฌีตแต่อย่างใด ใช้แค่ขณิกสมาธิเป็นเบื้องต้นเท่านั้น เพราะต้องการฝึกสติเป็นหลัก  ไม่ใช่สมาธิ สมาธิเป็นผลที่เกิดรองลงมาเท่านั้น ซึ่งอาจเลื่อนไหลไปสู่ฌานสมาธิในระดับประณีตได้โดยธรรมหรือธรรมชาติอีกด้วย แต่ต้องไม่ใช่เจตนาฝึกสติแล้วไหลเลื่อนเป็นฌานสมาธิเสียทุกครั้งไป ดังเช่น การใช้การจงกรมไปในการเจริญสมาธิเป็นสำคัญก็มี กล่าวคือการใช้ท่าการเดินนั้นเป็นอารมณ์เพื่อเน้นให้เกิดความสงบจากฌานสมาธิเสียเป็นสำคัญแต่อย่างเดียว ไม่ได้สนใจสติหรือปัญญาเลย  แล้วไปเข้าใจเอาว่า ความสงบนั้นถูกต้องดีงามแล้ว  มีจุดประสงค์เช่นเดียวกัน คือเพื่อละความดำริพล่านคือฟุ้งซ่านเป็นสำคัญหรือเป็นธรรมเอก (ดังแสดงจุดประสงค์ไว้อย่างชัดเจนเรื่องสัมปชัญญะในกายคตาสติสูตร)   หรือการรู้ตัวทั่วพร้อมในกิจหรืองานที่กระทำนั่นเอง
        ๑.๔ ปฏิกูลมนสิการ เมื่อมีสติในสิ่งดังกล่าวข้างต้น จิตย่อมไม่ดำริพล่านออกไปปรุงแต่งฟุ้งซ่าน จึงใช้สติที่ฝึกมานั้นอันย่อมประกอบด้วยสมาธิจิตตั้งมั่นอยู่ในที เนื่องจากการละดำริพล่านลงไปเสีย  จึงนำสติและจิตตั้งมั่นนั้นไปใช้พิจารณาส่วนต่างๆของร่างกายว่าล้วนเป็นสิ่งปฏิกูล ไม่สะอาด โสโครก ต้องเข้าใจว่ากายตน(เห็นกายในกายภายใน) และกายของบุคคลอื่น(เห็นกายในกายภายนอก)ต่างก็เป็นเฉกเช่นนี้ ล้วนเป็นไปเพื่อให้เกิดนิพพิทาเพื่อลดละความยึดมั่นพึงพอใจหลงไหลในกายตนและในกายบุคคลอื่นลง  เพื่อให้เห็นตามความเป็นจริงว่าล้วนแล้วแต่เป็นของปฏิกูลโสโครก เพื่อคลายความหลงใหลรักใคร่ยึดมั่นมันลงไป จึงคลายกำหนัด ดังมีกล่าวแสดงรายละเอียดไว้ในกายคตาสติสูตร  หรือดังภาพที่แสดงในทวัตติงสาการ
        ๑.๕ ธาตุมนสิการ พิจารณาให้เห็นตามความเป็นจริงของกายนี้ว่า เป็นเพียงก้อนหรือมวลหรือฆนะของธาตุทั้ง ๔ อันล้วนไม่งาม ไม่สะอาด มาประชุมกันเป็นเหตุปัจจัยให้เกิดกายนี้ชั่วขณะระยะหนึ่ง ทั้งกายตนเองและบุคคลอื่นเช่นกัน   ดังที่ได้กล่าวไว้ ๒ ลักษณะในการพิจารณาในไตรลักษณ์  และกายคตาสติสูตรโดยละเอียด
        ๑.๖ นวสีวถิกา คือพิจารณาซากศพในสภาพต่างๆ เป็นระยะๆ ๙ แบบหรือระยะ จนผุพังเน่าเปื่อยไปในที่สุด และต้องเข้าใจว่ากายตนแลผู้อื่นต่างก็ล้วนต้องเป็นเฉกเช่นนี้  ไม่เป็นอื่นไปได้(ภาพอสุภะ)
        ในทางปฏิบัติของ เห็นกายในกาย คือมีสติระลึกรู้อยู่เนืองๆว่า สักแต่ว่ากายตามที่ได้พิจารณาเข้าใจ เพื่อให้บังเกิดนิพพิทาญาณ จึงดับตัณหา
        อนึ่งพึงระลึกรู้ด้วยว่า  การมีสติอยู่กับกาย เป็นเพียงการระลึกรู้เท่าทันกาย ทั้งทางด้านปัญญาด้วยเช่นว่าไม่งามเป็นปฏิกูลเพื่อความนิพพิทา   แต่ถ้าแน่วแน่แต่อย่างเดียวขาดสติการระลึกรู้ก็กลับกลายเป็นสมถสมาธิไปได้โดยไม่รู้ตัว (หมายความว่า มีความตั้งใจฝึกสติ แต่ไปทำสมาธิเสียโดยไม่รู้ตัว)
        อนึ่งพึงทำความเข้าใจให้แจ่มแจ้งว่า การมีจิตอยู่กับกายหรือกายานุปัสสนานั้น มิได้มีความหมายไปว่า ส่งจิตไปแช่นิ่งภายในส่วนกายตน ไม่ได้หมายถึงการมีจิตอยู่ในร่างกายภายในหรือภายนอกตน  เพราะเป็นความเข้าใจผิดอย่างแรงกล้า จนเกิดผลร้ายได้  ก่อให้เกิดอาการจิตส่งใน เป็นที่สุด ที่เลิกได้ยากแสนยาก และเป็นโทษในภายหลังอย่างรุนแรงและที่สำคัญคือโดยไม่รู้ตัวอีกเสียด้วย
(พระอภิธรรม แสดงความหมายของกายภายใน จึงไม่ใช่ การส่งจิตเข้าไปแช่หรือจับจ้องในกายตน หรือจิตส่งใน   และแสดงกายภายนอก)
 
        ๒. เวทนานุปัสสนา สติปัฏฐาน สติกําหนดพิจารณาเวทนาหรือการเสพรสอารมณ์ที่บังเกิดขึ้นเป็นธรรมดาจาการกระทบคือผัสสะ  ให้เห็นเวทนาที่เกิดขึ้น แล้วพิจารณาให้เห็นตามความจริงของเวทนาว่า "เวทนาเป็นสักแต่ว่าเป็นการรับรู้ การเสพรสอารมณ์ที่มากระทบสัมผัส(ผัสสะ)ทั้งในทางใจและกายคือใน รูป, เสียง, กลิ่น, รส, สัมผัส, ธรรมารมณ์ เป็นขบวนการธรรมชาติหรือสภาวธรรมแท้อันยิ่งใหญ่ที่มีในมนุษย์ทุกผู้นาม เป็นทุกข์โดยธรรมชาติ  เป็นเพียงกระบวนการรับรู้ในขั้นแรกๆที่เอาข้อมูลมาจากสัญญา(ความจํา)อดีตหรืออาสวะกิเลส    ยังไม่ใช่ความทุกข์จริงๆ   พิจารณาให้เห็นว่าเมื่อมีการผัสสะย่อมเกิดเวทนาอันมี สุขเวทนา ทุกขเวทนาและอทุกขมสุข(ไม่สุขไม่ทุกข์)อย่างใดอย่างหนึ่งขึ้นเป็นธรรมดาทุกครั้งทุกทีไป  ซึ่งเป็นเวทนาปกติหรือเป็นไปโดยธรรมหรือธรรมชาติ  หลีกเลี่ยงหลบหนีไม่ให้เกิดไม่ให้เป็นไม่ได้ เป็นหลักธรรมชาติธรรมดาๆแต่สูงสุด  จิตจะได้คลายความยึดมั่นถือมั่นในเวทนาหรือการเสพรสอารมณ์ ที่บังเกิดนั้นๆ จึงไม่เกิดตัณหาขึ้น จึงเป็นเพียงสุขเวทนาหรือทุกขเวทนาตามธรรมหรือธรรมชาติแต่ย่อมไม่เร่าร้อนเผาลนดังเวทนาที่ประกอบด้วยอุปาทาน(เวทนูปาทาน)  ดังพุทธพจน์ที่แสดงไว้ให้เข้าใจและรู้เท่าทันในเวทนาดังนี้
        เมื่อเป็นสุขเวทนาก็ให้รู้ว่าเป็นสุขเวทนา เมื่อไม่มีก็รู้ว่าไม่มี
        เมื่อเป็นทุกขเวทนาก็ให้รู้ว่าเป็นทุกขเวทนา เมื่อไม่มีก็รู้ว่าไม่มี
        เมื่อเป็นอทุกขมสุขก็ให้รู้ว่าเป็นอทุกขมสุข เมื่อไม่มีก็รู้ว่าไม่มี
        เมื่อเป็นสุข เป็นทุกข์ เป็นอทุกขมสุข ชนิดมีอามิส(เครื่องล่อใจ-เจือกิเลส)ก็รู้ว่ามี เมื่อไม่มีก็รู้ว่าไม่มี
        เมื่อเป็นสุข เป็นทุกข์ เป็นอทุกขมสุข ชนิดไม่มีอามิส ก็รู้ว่ามี เมื่อไม่มีก็รู้ว่าไม่มี
เวทนาเป็นเพียงสักแต่ว่าเวทนาคือความรู้สึกที่เกิดขึ้นและจำต้องรับรู้  ที่แท้จริงก็แค่ความรู้สึกที่ต้องเกิดขึ้นจากการกระทบจึงไม่ควรไปยึดมั่น  เกิดขึ้นและเป็นไปตามธรรมหรือสภาวธรรมหรือธรรมชาติจริงๆ ตามเหตุปัจจัยอันมาปรุงแต่ง หรือมาผัสสะ  จึงเกิดๆดับๆ ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตาไม่มีตัวไม่มีตนแท้จริง จึงไม่ใช่เราไม่ใช่ของเราอย่างแท้จริงอีกด้วย จึงควบคุมบังคับบัญชาไม่ได้,   เห็นเวทนาทั้งในเวทนาตนเอง(เห็นเวทนาในเวทนาภายใน  แต่ไม่ใช่อาการของจิตส่งในแต่อย่างใดด้วยเข้าใจผิด)  และเห็นเวทนาในเวทนาบุคคลอื่น(เห็นเวทนาในเวทนาภายนอก  จึงไม่ใช่อาการจิตส่งออกนอกไปฟุ้งซ่านหรือปรุงแต่งแต่อย่างใด)
        ในทางปฏิบัติของ เห็นเวทนาในเวทนา คือมีสติรู้อยู่เนืองๆว่าเวทนาสักแต่ว่าเวทนา อันย่อมต้องเกิดความรู้สึกจากการรับรู้ในอารมณ์ที่ผัสสะกันเป็นธรรมดาโดยธรรมชาติหรือตถตา  จึงไม่ไม่ยึดมั่นหมายมั่นในเวทนาเหล่าใดเหล่านั้น ด้วยการอุเบกขาไม่เอนเอียงไปนึกคิดปรุงแต่งคือฟุ้งซ่านอันยังให้เกิดเวทนาขึ้นอีก อันจักเป็นเหตุปัจจัยให้เกิดตัณหา อันทําให้เกิดทุกข์ อันเป็นไปตามปฏิจจสมุปบาทธรรม  กล่าวคือไม่ต่อล้อต่อเถียงกับจิต อันเป็นการเปิดโอกาสให้จิต หลอกล่อไปปรุงแต่งต่างๆนาๆให้เกิดเวทนาๆต่างๆนาๆ อันอาจเป็นเหตุปัจจัยให้เกิดทุกข์อุปาทานโดยไม่รู้ตัวด้วยความไม่รู้คืออวิชชา
(พระอภิธรรม แสดงความหมายของเวทนาภายใน จึงไม่ได้หมายถึงอาการส่งจิตไปแช่นิ่งภายในหรือจิตส่งใน   และแสดงเวทนาภายนอก)
 
        ๓. จิตตานุปัสสนา สติปัฏฐาน คือการเห็นจิตในจิต หรือสติระลึกรู้เท่าทันหรือพิจารณาจิต (จิตตสังขารหรือมโนสังขารเช่นความคิด,ความนึก คือธรรมารมณ์ต่างๆ) และโดยเฉพาะอาการของจิตหรือกริยาของจิต(เจตสิก) ดังเช่น ราคะ, โทสะ,โมหะ, ฟุ้งซ่าน หดหู่ เป็นสมาธิ ฯ.  ที่ย่อมยังให้เกิดเศร้าหมองหรือผ่องแผ้วเป็นอารมณ์ คือ มีสติระลึกรู้เท่าทันในจิตตสังขาร ตามสภาพเป็นจริงที่เป็นอยู่ในขณะนั้นๆ(บ้างเรียกกันว่าเห็นจิตในจิต)เช่น จิตมีราคะ โทสะ โมหะ ก็รู้ว่าจิตมี,  จิตปราศจากราคะ โทสะ โมหะก็รู้ว่าปราศจากราคะ โทสะ โมหะ,  จิตหดหู่ ก็รู้ชัดว่าจิตหดหู่  หรือจิตฟุ้งซ่าน ก็รู้ชัดว่าจิตฟุ้งซ่าน ทั้งในของตนเองและของบุคคลอื่น อันเพื่อเป็นเครื่องรู้ เครื่องระลึก เครื่องเตือนสติ  และพิจารณาการเกิดๆดับๆว่า เป็นไปตามธรรมคือสภาวธรรมหรือธรรมชาติ ล้วนไม่เที่ยงของจิตตสังขารดังกล่าว
    เห็นจิตในจิต หรือ จิตเห็นจิต  ถ้าเข้าใจขันธ์ ๕ จักเข้าใจได้ว่าหมายถึงการมีสติเห็นจิตตสังขารที่บังเกิดขึ้น(จิตสังขารหรือมโนสังขารในขันธ์๕นั่นเอง ล้วนเป็นสิ่งเดียวกัน)  อันมีตามที่ท่านตรัสไว้ในมหาสติปัฏฐานสูตรดังนี้ คือมี
    จิตมีราคะ เป็นเจตสิก คืออาการของจิตที่ประกอบด้วยราคะ กล่าวคือกลุ่มของความคิดฟุ้งซ่านหรือปรุงแต่ง ที่ประกอบด้วยความกำหนัดความปรารถนาในกามทั้ง๕ นั่นเอง
    จิตมีโทสะ เป็นเจตสิก คืออาการของจิตที่ประกอบด้วยโทสะ กล่าวคือกลุ่มของความคิดนึกหรือฟุ้งซ่านที่ประกอบด้วยความโกรธความขุ่นเคือง นั่นเอง
    จิตมีโมหะ เป็นเจตสิก คืออาการของจิตที่ประกอบด้วยโมหะความหลง หรือกลุ่มของความคิดนึกหรือฟุ้งซ่านที่ประกอบด้วยความไม่รู้จริง นั่นเอง
    จิตหดหู่ ก็เป็นเจตสิกในข้อที่ ๒๕ ในเจตสิก ๕๒  เป็นกลุ่มอาการของความคิดนึกหรือฟุ้งซ่านปรุงแต่งที่ทำให้เกิดความหดหู่ใจ ใจหดห่อ แห้งเหี่ยวใจ
    จิตฟุ้งซ่าน เป็นอาการของจิตอย่างหนึ่ง ที่เรียกอุทธัจจะในข้อที่ ๑๗ ในเจตสิก ๕๒  เป็นอาการของจิตที่ฟุ้งซ่าน หรือส่งจิตออกนอกไปปรุงแต่งคือผัสสะในสิ่งหรือเรื่องต่างๆ  หรือเปรียบเทียบได้ดั่งองค์ธรรมชรา ในปฏิจจสมุปบาทนั่นเอง
    จิตเป็นฌานหรือมหรคต จิตเป็นฌาณ, จิตอยู่ในกำลังฌาน, จิตประกอบด้วยกำลังของฌานอยู่ (เกิดขึ้นได้แม้ในขณะดำเนินชีวิตประจำวัน ขึ้นอยู่กับวสีความชำนาญ  และมาจากการสั่งสมประพฤติปฏิบัติจนมักเกิดการเลื่อนไหลไปโดยไม่รู้ตัว)
    จิตเป็นสมาธิ จิตมีความตั้งใจมั่นในสิ่งใดอยู่  แม้ในชีวิตประจำวัน ไม่ได้หมายถึงการไปนั่งสมาธิแต่อย่างเดียว
    จิตมีสิ่งอื่นยิ่งกว่า หมายถึงอาการของจิตเป็นเอกหรือเป็นใหญ่อยู่ในสิ่งหนึ่งสิ่งใดอยู่ เช่นจิตเป็นเอกอยู่กับการคำบริกรรมพุทโธ  หรือจิตเป็นเอกอยู่ในกิจหรืองานใดๆ,  หรือจิตเป็นเอกในธรรมที่เป็นเครื่องอยู่เครื่องพิจารณา,  หรือจิตหมกมุ่นจดใจจ่อในสิ่งใดสิ่งหนึ่งอยู่,  จิตหมกมุ่นกับการส่งออกไปปรุงแต่ง
    จิตวิมุตติหรือจิตหลุดพ้น หมายถึงอาการที่จิตหลุดพ้นจากกิเลสหรือเจตสิกต่างๆ เช่นดังที่กล่าวข้างต้น (เป็นไปในขณะหนึ่งๆ  ยังไม่ได้หมายถึงเป็นการถาวรหรือนิพพาน)
กล่าวคือ ล้วนมีสติระลึกรู้เท่าทัน กล่าวคือมีสติระลึกรู้ "จิต หรืออาการของจิต คือเจตสิกที่บังเกิดขึ้น ณ ขณะจิตนั้นๆ"
        อนึ่งอาการของจิตทั้งหลายหรือเจตสิก ดังเช่น ราคะ โทสะ โมหะ จิตฟุ้งซ่าน ฯลฯ. นั้นมันไม่มีอาการเป็นรูปธรรมเป็นตัวเป็นตนแท้จริง  แต่มันอาศัยแฝงอยู่กับสังขารขันธ์ คือการกระทำต่างๆนั่นเอง  ดังเช่น ความคิด(มโนสังขาร)ที่ประกอบด้วยราคะ,  การทำร้ายผู้อื่นทางกาย(กายสังขาร)ที่ประกอบด้วยโทสะ,  การคิดด่าทอ,ต่อว่า(วจีสังขาร)ที่ประกอบด้วยโมหะคืออาการหลงไปปรุงจนเกิดทุกข์ที่ประกอบด้วยความไม่รู้ตามความเป็นจริง เช่นคิดหรือธรรมารมณ์กระทบใจแล้วจะให้รู้สึกเฉยๆ,  การเกี้ยวพาราสีทั้งด้วยคำพูดทั้งกริยาท่าทางที่ประกอบด้วยราคะ,  จิตคิดฟุ้งซ่านหรือคิดวนเวียนไม่หยุดหย่อนในเรื่องไร้แก่นสาร เช่นคิดไปในอดีต อนาคต ก็คือความคิดที่ประกอบด้วยจิตฟุ้งซ่านหรือส่งจิตออกนอกไปปรุงแต่งนั่นเอง
        ใช้วิธีมีสติรู้เท่าทันเวทนาและจิต เป็นหลักปฏิบัติประจําเมื่อปฏิบัติจนชํานาญแล้ว ระลึกรู้และเท่าทันในเวทนา(เวทนานุปัสสนา)อย่างถึงใจ และเข้าใจปฏิจจสมุปบาทดีแล้ว  จิตจักรู้สภาพจิตสังขารหรืออาการของจิต(เจตสิก)ที่เกิดขึ้น คือ เห็น ราคะ โมหะ โทสะ ชัดเจนขึ้น  เมื่อจิตเห็นจิต ซึ่งก็คือ สติเห็นจิตตสังขารนั่นเอง เพราะจิตตัวแรกนั้นหมายถึงสติอันเป็นจิตตสังขารหรือเจตสิกอย่างหนึ่งนั่นเอง  จิตจะเห็นความคิดหรืออาจเห็นเวทนาที่ เกิดๆ ดับๆ อยู่ตลอดเวลาว่าเป็นสภาวธรรมอันไม่เที่ยง ไม่มีแก่นแกนหรือแก่นสาร และก่อให้เกิดทุกข์อย่างชัดแจ้ง อันทําให้รู้เห็นตามความเป็นจริงในสภาวธรรม   จิตจักได้คลายความยึดมั่นถือมั่นในเวทนาและจิตที่ไม่เที่ยง คงทนอยู่ไม่ได้จึงเป็นทุกข์ และอนัตตา  อันก่อให้เกิดทุกข์ กล่าวคือ เห็นความคิด(จิตหรือจิตตสังขารนั่นเอง) และการเสวยอารมณ์ต่างๆหรือความรู้สึกสุข,ทุกข์,ไม่สุขไม่ทุกข์ (เหล่าเวทนา) ว่าเป็นไปตามไตรลักษณ์  ดังนั้นเมื่อไปอยากด้วยตัณหา จึงย่อมเกิดการยึดด้วยอุปาทานเป็นไปตามหลักปฏิจจสมุปบาทนั่นเอง  ดังนั้นเมื่อไปอยากหรือไปยึดไว้ด้วยเหตุผลกลใดก็ดี  เมื่อมีการแปรปรวนด้วยอนิจจัง แล้วย่อมดับไปด้วยทุกขังเพราะสภาวธรรม จึงไม่เป็นไปตามปรารถนา จึงเกิดเป็นทุกข์อุปาทานที่ต่างจากทุกขเวทนาตรงที่มีความเร่าร้อน,เผาลน,กระวนกระวายตามกำลังของตัณหาแลอุปาทานนั่นเอง
        ในทางปฏิบัติของการ เห็นจิตในจิต คือสติเห็นจิตสังขาร(เช่นความคิด)ที่เกิดขึ้นว่า สักแต่ว่าจิตสังขารตามที่พิจารณาอยู่เนืองๆ  แล้วอุเบกขาไม่เอนเอียงไปแทรกแซงด้วยถ้อยคิดปรุงแต่ง หรือกริยาจิตใดๆ ดังการคิดเรื่อยเปื่อยหรือฟุ้งซ่านจึงย่อมยังให้เกิดเวทนาอื่นๆที่อาจเป็นปัจจัยจึงมีตัณหาเกิดขึ้น จึงทําให้เกิดทุกข์อุปาทานอันเร่าร้อน
(จิตตานุปัสสนานิเทส  แสดงความหมายของจิตภายใน จึงไม่ใช่หมายถึงจิตส่งใน   และความหมายของจิตภายนอก)
(แสดงความหมายของคำว่าจิต ในจิตตัวที่๒ของ จิตเห็นจิต อะไร?)
 
        ๔. ธัมมานุปัสสนา สติปัฏฐาน สติกําหนดพิจารณาธรรม(สิ่งต่างๆ)ที่บังเกิดแก่ใจเป็นอารมณ์ทั้งที่เป็นกุศลหรืออกุศล ก็เพื่อเป็นเครื่องเตือนสติและเครื่องระลึกรู้เพื่อให้เกิดปัญญาเป็นสำคัญหรือเป็นวัตถุประสงค์  ดังที่พระพุทธองค์ทรงแสดงแนะในมหาสติปัฏฐานสูตรให้พิจารณา เป็นอาทิ เช่น
        ๔.๑  นิวรณ์ ๕ เช่น ข้อพยาบาทให้พิจารณาว่า
                มีอยู่ ย่อมรู้ชัดว่า มีอยู่ ณ ภายในจิต
                ไม่มีอยู่ ย่อมรู้ชัดว่า ไม่มีอยู่ ณ ภายในจิต
                ที่ยังไม่เกิด จะเกิดขึ้นด้วยประการใด ย่อมรู้ชัดประการนั้น
                ที่เกิดขึ้นแล้ว จะละเสียได้ด้วยประการใด ย่อมรู้ชัดประการนั้น
                ที่ละได้แล้ว จะไม่เกิดขึ้นต่อไปด้วยประการใด ย่อมรู้ชัดประการนั้น
                เป็นเช่นนี้ทุกข้อใน กามฉันทะ พยาบาท ถีนมิทธะ อุทธัจจกุกกุจจะ วิจิกิจฉา
         ๔.๒ ขันธ์ ๕ และอุปาทานขันธ์๕
         ๔.๓ อายตนะภายใน และนอก
         ๔.๔ โพชฌงค์ ๗
         ๔.๕ อริยสัจ ๔ และมรรคองค์ ๘
        การพิจารณาธรรมต่างๆเหล่านี้ในจิต เป็นธัมมวิจยะ(การพิจารณาธรรม)เพื่อเป็นเครื่องรู้, ระลึกเตือนสติเป็นแนวทาง ให้เกิดปัญญาไม่ไปยึดมั่นถือมั่นเช่นกัน เพราะธรรมทั้งหลายเหล่านี้จัดเป็นสังขารในไตรลักษณ์ คือเกิดแต่เหตุปัจจัยเช่นกัน เมื่อเหตุปัจจัยของสังขารธรรมเหล่านี้แปรปรวนหรือดับ สังขารธรรมนี้ก็เช่นกัน  อีกทั้งเมื่อเรารู้ระลึกธรรมทั้งหลายก็เกิดขึ้น เมื่อเราหยุดรู้ระลึกธรรมทั้งหลายก็ดับลงเช่นกัน เป็นไปตามกฎไตรลักษณ์ แม้จักเป็นจริงตามธรรมชาติเช่นนี้ตลอดกาล แต่เหตุปัจจัยได้แปรปรวนและดับเสียแล้วเช่นกัน
        ในทางปฏิบัติของ สติเห็นธรรม คือระลึกรู้ในธรรมหรือสิ่งทั้งหลายที่บังเกิดแก่จิตในขณะนั้นๆ ก็เพื่อให้เกิดปัญญาญาณนั่นเอง คือมีความรู้ความเข้าใจในเรื่องทุกข์และการดับไปของทุกข์อย่างแจ่มแจ้ง
 
       

218

เรียนเชิญทุกท่านรับชมรับฟังการบรรยาย ถามตอบปัญหาธรรมในแนวทางปู่ดู่
ประจำเดือน เมษายน 2555 โดยหลวงตาม้า ได้ตามวันเวลาดังกล่าวด้านล่าง


(ถ่ายทอดสด 31 มีนาคม - 9 เมษายน 2555)

วันที่ 31 มีนาคม 55 เวลา 19:00 น. ถ่ายทอดสดการตอบปัญหาธรรม

วันที่ 1 เมษายน 55 เวลา 19:00 น. ถ่ายทอดสดการตอบปัญหาธรรมที่
อ.หนองไผ่ จ.เพชรบูรณ์ สอบถามรายละเอียดได้ที่ 0852808084

วันที่ 2 เมษายน 55 เวลา 19:00 น. ถ่ายทอดสดการตอบปัญหาธรรมที่ สถานธรรมพุทธพรหมปัญโญ
สาขาท่าด้วง อ.หนองไผ่ จ.เพชรบูรณ์ สอบถามรายละเอียดได้ที่ 0852808084

วันที่ 3 เมษายน 55 เวลา 19:00 น. ถ่ายทอดสดการตอบปัญหาธรรม

วันที่ 4 เมษายน 55 เวลา 19:00 น. ถ่ายทอดสดการตอบปัญหาธรรมที่ บ้านบุญ
ถ.กลางเมือง อ.เมือง จ.ขอนแก่น สอบถามได้ที่ 0804114416

วันที่ 5 เมษายน 55 เวลา 19:00 น.  ถ่ายทอดสดการตอบปัญหาธรรมที่
บ้านเฮียฐาฯ อ.เมือง จ.นครราชสีมา สอบถามได้ที่ 0815485483

วันที่ 6 เมษายน 55 เวลา 19:00 น. ถ่ายทอดสดการตอบปัญหาธรรม
เพชรเกษม 69  จ.กรุงเทพ สอบถามโทร เบอร์มือถือ 081-731-5303

วันที่ 7 เมษายน 55 เวลา 19:00 น.  ถ่ายทอดสดการตอบปัญหาธรรมที่ ห้องประชุมใหญ่
มหาวิทยาลัยเอเชียฯ สอบถามรายละเอียดได้ที่ แม่ชีหนูนา 0817315303

วันที่ 8 เมษายน 55 เวลา 19:00 น. ถ่ายทอดสดการตอบปัญหาธรรมที่
จ.ลำปาง สอบถามรายละเอียดได้ที่ แม่ชีหนูนา 0817315303

วันที่ 9 เมษายน 55 เวลา 19:00 น. ถ่ายทอดสดการตอบปัญหาธรรมที่ สถานธรรมพุทธพรหมปัญโญ
สาขาเชียงดาว สอบถามรายละเอียดได้ที่ แม่ชีหนูนา 0817315303


.....................................................................................

สมาชิกที่ดูผ่านทาง www. สามารถติดตามชมภาพพร้อมเสียงได้ทาง

http://www.watthummuangna.com/home/


วิธีการการรับชมภาพพร้อมเสียงในช่วงเวลาถ่ายทอดสดในกรณีที่ไม่ได้ใช้ Internet explorer
http://www.watthummuangna.com/home/community/index.php/topic,2410.0.html

วิธีการแก้ไขในกรณีที่มีเสียงซ้อนกันในช่วงเวลาถ่ายทอดสด
http://www.watthummuangna.com/home/community/index.php/topic,2412.0.html

.....................................................................................

ขอประชาสัมพันธ์

ระบบการถ่ายทอดสดของวัดถ้ำเมืองนะ ทุกท่านสามารถรับฟังผ่านระบบโทรศัพท์มือถือ ที่เปิดบริการ Internet Package Edge, 3G and Wifi โดยทุกท่านสามารถรับฟังการถ่ายทอดสดการสวดจักรพรรดิ จากถ้ำใหญ่วัดถ้ำเมืองนะ ทั้ง 4 ช่วงเวลาจากโปรแกรม Vplayer และ Yxplayer และทุกท่านสามารถรับฟังการถ่ายทอดสดการตอบปัญหาธรรมของหลวงตาม้า ทุกวันที่ 1-15 ของทุกเดือน บนมือถือระบบ OS Android 2.2 เป็นต้นไป โดย CPU ต้องมี Speed 1 Ghz เป็นต้นไป และต้องใส่ Streaming URL ที่โปรแกรมดังนี้ mms://radio.thaidhost.com/wat

ข่าวดีสำหรับชาว IPHONE and IPAD ท่านสามารถใช้โปรแกรม Yxplayer for IPHONE and IPAD ในการรับฟังการถ่ายทอดสดการตอบปัญหาธรรมของหลวงตาม้าได้ในทุกวันที่ 1-15 ของทุกเดือน โดยท่านสามารถดาวน์โหลดได้ที่ http://itunes.apple/

219
จักรวาลแบบพุทธ / โลกธาตุ
« เมื่อ: มีนาคม 24, 2012, 08:43:12 PM »
โลกธาตุ ในทางพระพุทธศาสนานั้น มีแสนโกฏิจักรวาลหรือ 1ล้านล้านจักรวาล คือ แบ่งเป็น
จักรวาลขนาดเล็ก (เช่นสุริยจักรวาล)
จักรวาลขนาดกลาง (เช่นกาแล็คซี่)
จักรวาลขนาดใหญ่ (เอกภพ )

หนึ่งพันจักรวาลขนาดเล็ก เป็น หนึ่งโลกธาตุขนาดเล็ก
หนึ่งพันจักรวาลขนาดกลาง เป็น หนึ่งโลกธาตุขนาดกลาง
หนึ่งพันจักรวาลขนาดใหญ่ เป็น หนึ่งโลกธาตุขนาดใหญ่
ดังนั้น
หนึ่งพันจักรวาลขนาดเล็ก เป็น หนึ่งจักรวาลขนาดกลาง
หนึ่งพันจักวาลขนาดกลาง เป็น หนึ่งจักรวาลขนาดใหญ่
และ
หนึ่งพันโลกธาตุขนาดเล็ก เป็น หนึ่งโลกธาตุขนาดกลาง
หนึ่งพันโลกธาตุขนาดกลาง เป็น หนึ่งโลกธาตุขนาดใหญ่
โลกธาตุขนาดใหญ่ มีหนึ่งพันโลกธาตุ เมื่อรวมจักรวาลทั้งสิ้น จะได้แสนโกฏิจักรวาล (1000000000000)
เวลาถือกำเนิดจนสิ้นสลายไปของจักรวาลขนาดเล็กเป็น1จุลกัปป์ จักรวาลขนาดเล็กแตก 7 ครั้งในครั้งที่8จักรวาลขนาดกลางจะแตกเรียกมัชฌิมกัปป์ จักรวาลขนาดกลางแตก 7 ครั้งในครั้งที่ 8 จักรวาลขนาดใหญ่จะแตกเรียกมหากัป จักรวาลขนาดเล็กแตกด้วยธาตุไฟ จักรวาลขนาดกลางแตกด้วยธาตุน้ำ จักรวาลขนาดใหญ่แตกด้วยธาตุลม
ในวันสิ้นโลกในคัมภีร์ทางพระพุทธศาสนากล่างว่าดวงอาทิตย์จะมีขนาดใหญ่ขึ้น 7 เท่า หรืออาจมี 7 ดวง (ในคัมภีร์ สัตต แปลว่า 7 อาจ 7 เท่า หรือ 7 ดวงก็ได้)
พระพุทธองค์ทรงตรัสแสดงบอกลักษณ์ของโลกนี้ ว่า มหาปฐพีนี้ตั้งอยู่บนน้ำ (แผ่นดินและมหาสมุทร) น้ำตั้งอยู่บนลม (มหาสมุทรและชั้นบรรยากาศ) ลมตั้งอยู่บนอากาศ (ชั้นบรรยากาศและอวกาศ) สมัยที่ลมใหญ่พัด เมื่อลมใหญ่พัดอยู่ย่อมยังน้ำให้ไหว น้ำไหวแล้ว ย่อมยังแผ่นดินให้ไหว
[แก้]อ้างอิง

จูฬนีสูตร สุตตันตะปิฎก อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต เล่ม 1 ภาค 3 หน้า 431
สุริยสูตร พระสุตตันตปิฎก อังคุตรนิกาย สัตตก-อัฏฐก-นวกนิบาต เล่ม ๔ - หน้าที่ 214
สุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค มหาปรินิพพาน

220
ฝึกจิต  เร่งสมาธิ  เร่งนิมิต
            เป็นวิชาบทแรกที่กล่าวเนื่องจากเป็นบาทฐานของบทต่าง ๆที่ตามมา  หากได้บทต้นแล้ว  บทต่อ ๆไปจะเข้าใจได้ง่ายเอง  ทั้งยังเป็นการเช็คการเดินวิชาของเรา  เมื่อเราทำวิชาต่าง ๆด้วย


เริ่ม
๑. ตั้งจิตอันสบาย ในที่อันสบาย แต่จิตอันสบายนั้นสำคัญที่สุด
๒. กำพระและกำหนดนึกรู้เห็นพระที่เราชอบเบาๆ (หลวงปู่ดู่) หรือ ตามจริตชอบ (พระทรงเครื่องจักรพรรดิ)
๓. วางลมหายใจสบาย ๆ ในกายที่เบาสบาย
๔. ภาวนาคาถาอย่างสบาย ๆ คลอไปเรื่อย ๆ ไม่ต้องคิดอะไร ทำไปสบาย ๆเท่านั้น
๕. ไม่ช้าไม่นานนิมิตสบาย ๆจะเกิดแก่ท่านเอง สาธุ.....

ใช้งาน

๑. ทุกอิริยาบถ ยืน เดิน นั่ง นอน ยามหลับ ยามตื่น ยามรู้ตัว ยามมิรู้ตัว ให้ภาวนาและตั้งองค์พระตลอด เผลอก็ช่างมัน เป็นเรื่องปกติ ตั้งต้นใหม่ ทุกครั้งเมื่อมีสติ อย่าบังคับ อย่าเกร็ง ให้ทำ สบาย ๆ .......


๒. ยามจะหลับให้ภาวนาจนหลับ ยามตื่นให้รีบภาวนาจนมีสติดีแล้ว นึกถึงพระที่เราชอบ พร้อมทั้งอธิษฐานว่า
            ข้าพเจ้า ......(นามของท่าน)...ผู้เป็นข้ารับใช้แห่งพระพุทธองค์ ขอนอบน้อมและน้อมนำบารมีแห่งพระพุทธเจ้า พระปัจเจกพุทธเจ้า พระอริยบุคคลทุกชั้นภูมิ และพระมหาจักรพรรดิ ตั่งแต่อดีต ปัจจุบันและอนาคต โดยมีบารมีรวมของหลวงปู่ดู่ พรมปัญโญเป็นที่สุด ขอได้โปรดยกจิตของข้าพเจ้า ขึ้นสู่ภาวะ พระกรรมฐานทั้ง 40 ทัศ พระปิติทั้ง 5 และวิปัสสนาญาณทั้ง 9 ขอพระกรรมฐานทั้ง 40 ทัศ พระปิติทั้ง 5 และวิปัสสนาญาณทั้ง 9 จงมาบังเกิดปรากฏ ในกายทวาร ในวจีทวาร ในมโนทวาร ของข้าพระพุทธเจ้า ณ กาลบัดเดี๋ยวนี้เถิด

            ขอได้โปรดยกจิตของข้าพเจ้า ขึ้นสู่ภาวะเมฆจิต สามารถกำหนดจิต รู้ภาวะการณ์ต่างๆทั้งเหตุ ผล อดีต อนาคต และปัจจุบัน ได้ทุกขณะจิตที่ปรารถนาจะรู้ เมื่อรู้แล้วขอให้เห็นภาพนั้นได้ชัดเจนแจ่มใสและพยากรณ์ได้ตามความเป็นจริงทุกๆประการ เหตุที่จะพึงบังเกิดแก่ข้าพเจ้า ขอให้ข้าพเจ้าได้รู้เหตุนั้นโดยมิต้องกำหนดจิตแม้แต่ประการใด ณ กาลบัดเดี๋ยวนี้เถิด (ให้กำหนดอฐิษฐานให้ได้ทุกวัน จะกันเฝือได้ดีมาก)

             สัพเพพุทธา สัพเพธัมมา สัพเพสังฆา
             พะลัปปัตตา ปัจเจกานัญ จะยังพลัง
             อรหันตานัญ จะ เตเชนะรักขัง พันธามิ สัพพะโส

(ในระหว่างนี้ให้วางจิตเบา ๆ โน้มนำพระบารมีเข้าตัว หรือผู้ที่ได้แล้ว จะเห็นเองว่าจะมีพระบารมีเข้าตัวเป็นแสงสว่างวาบไปหมด)

             พุทธัง อธิษฐามิ ธัมมัง อธิษฐามิ สังฆัง อธิษฐามิ

๓. ต่อไปก็อาศัยภาวนาเบา ๆ สบาย ๆ ทุกอิริยาบถ ยืน เดิน นั่ง นอน ยามหลับ ยามตื่น ยามรู้ตัว ยามมิรู้ตัว เฉกเช่นเดิมตลอดทั้งวัน เมื่อจะใช้งานหรือจะดูอะไรก็ ภาวนา คาถาอาราธนาพระเข้าตัว จากนั้นก็นึกถึงหลวงปู่ดู่ ขอบารมีท่านดูเอา

๔. เมื่อชินดี ได้นานพอ คล่องพอแล้ว คำอธิษฐาน " ....สามารถกำหนดจิต รู้ภาวะการณ์ต่างๆทั้งเหตุ ผล อดีต อนาคต และปัจจุบัน ได้ทุกขณะจิตที่ปรารถนาจะรู้ เมื่อรู้แล้วขอให้เห็นภาพนั้นได้ชัดเจนแจ่มใสและพยากรณ์ได้ตามความเป็นจริงทุกๆประการ เหตุที่จะพึงบังเกิดแก่ข้าพเจ้า ขอให้ข้าพเจ้าได้รู้เหตุนั้นโดยมิต้องกำหนดจิตแม้แต่ประการใด ณ กาลบัดเดี๋ยวนี้เถิด..... " จะให้ผล ถือว่าได้วิชาแล้ว ต่อไปการใช้วิชาอื่น ๆ ก็จะตรวจสอบได้เอง ไม่ต้องงม ๆมืด ๆอีก ความคล่องตัวก็จะมีมากขึ้น เรื่องราวทางโลกทิพย์ก็จะเป็นเรื่องธรรมดาสามัญ

๕. ข้อเตือนใจ
             + เมื่อห่างครูบาอาจารย์ท่านจะเฝือ
             + เมื่อเกิดอหังกา ท่านจะรู้เห็นผิด
             + ขอจงอยู่อย่างพอเพียง อยู่อย่างนอบน้อม แม้มิร่ำรวยเงินทอง มิร่ำรวยชื่อเสียง เราก็มีความสุขได้ เราก็เป็นคนดีได้ เราก็สร้างประโยชน์ให้สังคมได้   การอยู่อย่างดิ้นรนอยากได้อยากมีไม่รู้พอ จะทำจิตใจให้ขุ่นมัวเศร้าหมอง ความเป็นทิพย์ทางจิต ความใสกระจ่างทางจิตจะเกิดขึ้นได้ยากนั่นเอง ขอโมทนาในความดี ....สาธุ......


สร้างประโยชน์

            วิชานี้อาศัยบารมีพระท่าน พระท่านไม่ต้องการสิ่งใดมากไปกว่าให้ท่านเป็นคนดี รู้จักคิดถึงตัวเองและคนอื่นบ้าง สร้างประโยชน์ให้สาธารณะชน ซึ่ง การสร้างประโยชน์นั้นคือวิชาลำดับขั้นต่อไปนั่นเอง

221
วิชาต่างๆที่อธิบายมานี้ให้ไว้เป็นแนวทาง สำหรับผู้ที่มีจริตแบบนี้ เป็นตัวเลือกหนึ่งในการฝึกปฎิบัติในสายเปิดโลก ไม่ปฎิบัติแบบนี้ก็ไปต่อถึงจุดหมายได้เหมือนกันบางคนชอบแบบลึกซึ้งบางคนชอบ แบบเรียบง่ายก็ว่ากันไปเสมือนว่ามีถนน 10 สาย ที่จุดสุดท้ายถึงที่เดียวกันไม่ว่าปฎิบัติไปแบบไหน ขอให้ถูกตามที่หลวงปู่หลวงตาสอนเป็นพอ

การดูกายทิพย์และวิธีการทรงกายจักรพรรดิ

ขอนำเรื่องราวบางอย่างที่ได้เรียนรู้มาจาก หลวงตาม้าสมัยบวชเรียนอยู่กับท่านที่วัดถ้ำเมืองนะ
นำมาถ่ายทอดเรียบเรียงเป็นบทความนี้เป็นธรรมทานครับ หวังว่าจะเป็นประโยชน์ไม่มากก็น้อย

-----------------------------



การดูกายทิพย์และวิธีการทรงกายจักรพรรดิ

ร่าง กายที่เราใช้ในการดำเนินชีวิตอยู่ทุกวันนี้ เป็นแค่ ธาตุ 4 ที่รวมตัวกันขึ้นมา ประกอบเป็นสิ่งที่โลกๆเรียกว่า เราแต่แท้จริงแล้วนี้ไม่ใช่เรา ไม่มีส่วนไหนในร่างกายอันเน่าเหม็นสกปรกนี้ ที่เป็นเราแม้แต่อย่างเดียว ทุกอย่างกำลังแก่ตัวลงตามกาลและเวลาและในไม่ช้า จะสลายตัวคืนสู่ธรรมชาติไปในที่สุด

กายทิพย์ คือรูปและนามที่ประกอบขึ้นจากจิตและมีความเปลี่ยนแปลงไปตามสภาวะอารมณ์ของ จิต กายทิพย์คือกายที่ซ้อนอยู่ในกายเน่าๆกายนี้ กายเน่าๆกายนี้ที่กายทิพย์ซ้อนอยู่เป็นเพียงเปลือกเท่านั้น ทุกวันนี้เราเหมือนตัวทากที่อาศัยอยู่ในเปลือก ซึ่งเปลือกนี้แลที่เป็นสิ่งสำคัญที่จะดำรงอยู่ในภพมนุษย์ได้ เมื่อเปลือกแตกไปจิต กายทิพย์นี้ก็ไม่อาจทรงอยู่ในภพมนุษย์ได้อีกต่อไป ซึ่งเป็นที่ๆเราเอาร่างกายเนื้อมารับกรรม ใช้กรรม หรือ มาสร้างบุญบารมีมาปฎิบัติ ฯลฯ ต่อไปนี้จะลงลึกในส่วนกายทิพย์ซึ่งเป็นรูปและนามที่ประกอบขึ้นถูกตกแต่งจาก อำนาจกรรม (ใครจะใหญ่เกินกรรม) และ สภาวะจิต ที่ส่งผลต่อกายทิพย์โดยตรงว่าจะมีรูปร่างเช่นไร

กำหนดดูกายทิพย์

หาก กำหนดดู ทำใจให้สบายๆ อธิษฐานขอกำลังหลวงปุ่ ขอดูเพื่อศึกษา แล้วกำหนดไป จับอารมณ์แรก จิตจะเห็นถึงกายทิพย์ที่ซ้อนอยู่ ไม่ต้องเพ่ง ไม่ต้องเกร็งวางใจสบายๆทรงอารมณ์กระแสหลวงปู่ที่ไหลผ่านเข้าสู่จิตเราให้มี กำลังแล้วน้อมไปอารมณ์คล้ายการนึกแล้วเห็นแต่ไม่ใช่อุปาทาน ขอแค่ใจสบายและอาราธนากำลังหลวงปุ่ มาก่อนกำหนดทุกครั้ง แล้วไม่ต้องลังเลไม่ต้องสงสัย ให้มีความกล้า นึกกำหนดไป หลวงตาเมตตาสอนว่าอุปาทานต่างๆ หลวงปู่ท่านคุมปิดให้หมด เราไม่ต้องกังวล นิมิตที่เห็นนั้นจริงทุกประการ ซึ่ง

หลักการนี้ยังใช้กับการกำหนดดูภพภูมิด้วย และที่สำคัญที่สุดและเป็นพื้นฐานหัวใจที่สำคัญที่สุดของวิชาเปิดโลกทั้งหมด คือ พรหมวิหาร ซึ่งหลักการง่ายๆ ไม่มีอะไรมากเลยหลวงตาสอนว่า " รักทุกคน ไม่เกลียดใคร ไว้ใจบางคน" ซึ่งแปลถึงว่าเราไม่มีอคติใดกับใครๆ รักทุกคนโดยไม่มีสิ่งใดแฝง แต่ในทางเดียวกันก็เป็นการมีเมตตาอย่างมีปัญญาทั้งนี้ในการทรงอารมณ์หลวงปู่ ในการน้อมไปดูนั้น การกำพระผงจักรพรรดิ จะช่วยได้มากสำหรับคนที่ฝึกใหม่ๆ ที่อำนาจจิตยังทรงกำลังหลวงปู่ได้ไม่นิ่งพอ

หลวงปู่ดู่ เป็นพระมหาบรมโพธิสัตว์เจ้าบารมีรวมทั้งก่อนและหลังรับพยากรณ์ถึง 80 อสงไขย กับเศษแสนมหากัป และ สร้างบารมีพิเศษด้านกำลังจักรพรรดิ และเป็นผู้ที่จักมาตรัสรู้เป็นพระศรีอาริยเมตไตรยในอนาคตกาลอีกประมาณล้านปี มนุษย์ ขอจงมั่นใจในกำลังและเมตตาท่านเถิด

คำแนะนำ - อย่าทิ้งการปฎิบัติภาวนา ตลอดชีวิต จนกว่าลมหายใจจะหมดไป

ประเภทของกายทิพย์

1. กายสัตว์นรก

- เป็นกายทิพย์ที่จะปรากฎกับผู้ที่อำนาจจิตใจอยู่ในกิเลศอย่างเข้มข้น มีจิตใจที่เร่าร้อน ไม่สงบ วุ่นวายมีความคิดที่น้อมไปสู่อกุศล กายสัตว์นรกยังจำแนกออกไป ตาม อบาย ขั้นต่างๆ เช่นเปรต หรือนรกชั้นต่างๆซึ่งความน่าเกลียดน่ากลัวของกายทิพย์เหล่านี้ก็แตกต่างกัน ออกไป
ตามชั้นของสถาวะจิตที่อยู่ในอารมณ์แห่งบาปเพียงใดเมื่อเราสามารถที่จะกำหนดดูกายทิพย์เหล่านี้ได้ เมื่อเราเห็นกายสัตว์นรกเราก็สามารถ
น้อมกระแสดูต่อได้ว่า เมื่อเขาตายไป จะไปตกนรก ชั้นใดแต่ในทางกลับกัน แทนที่จะปล่อยให้เขาตกนรก เราก็สัพเพครอบวิมาน
ให้ เขาเพื่อปรับพื้นฐานจิตใจเขาให้ดีขึ้นเรื่อยๆ เมื่อครอบวิมานกำลังบารมีบุญตัวนี้จักไหลเข้าสู่กายทิพย์เขาทำให้เขาจะมี โอกาสที่จะดีขึ้นเรื่อยๆได้หากไม่พ้นวิสัยของกรรมก็อาจรอดนรกได้ในที่สุด

2.กายในของสัตว์

- เมื่อพูดถึงกายในของสัตว์คนส่วนใหญ่คงนึกกันว่าจะมีลักษณะเหมือนสัตว์ชนิด นั้นๆ เช่นเมื่อสุนัขตายไป ก็ จะมีวิญญานในรูปร่างลักษณะ ของสุนัข แต่แท้จริงแล้วหาใช่เป็นยังงั้นเลย สุนัขที่เราเห็นนั้น แท้จริงกายในก็มีลักษณะคล้ายกับรูปร่างมนุษย์ที่ขดตัวลงไปคลาน 4 ขาในร่างของสุนัข และนับว่าเป็นความทรมานอย่างยิ่ง ภูมิของสัตว์พระพุทธเจ้าจึงจัดเป็นอบายภูมิชนิดหนึง แต่ทั้งนี้กายทิพย์ที่อยู่ในร่างของสัตว์ก็ยังมีลักษณะความหยาบละเอียดแตก ต่างกันไป เช่นหากเห็นสุนัขเรื้อนตามวัดวา พวกนี้ส่วนใหญ่คือสัตว์นรกที่ขึ้นมาชดใช้กรรมต่อในภูมิของสัตว์ ส่วนสุนัขที่เราเห็นอยู่ดีกินดี ก็ จะมีกายทิพย์ที่ยังเป็นกลางๆอยู่ ส่วนหากเป็นพระโพธิสัตว์ที่มีบุญญาบารมีหรือผู้มีธรรม โดนกรรมวิสัยทำ ให้ต้องเกิดเป็นสัตว์ เช่นเกิดเป็นช้าง นก ฯลฯ จะมีความบริสุทธิ์ของกายทิพย์ที่มากกว่าสัตว์ทั่วไป แต่ทั้งนี้สำหรับโพธิสัตว์ที่บารมีเต็มแล้วจะไม่มีการไปเกิดเป็นสัตว์ หรืออบายภูมิใดๆ อีกเลย จักขึ้นลงเพียง ภูมิมนุษย์ กับภูมิ เทวดา พรหม

3. กายมนุษย์

- มีความคล้ายคลึงกับร่างกายที่เราครองอยู่ในชาติปัจจุบันมากที่สุด เพราะกรรมตกแต่ง กายทิพย์มนุษย์ คือกายที่อยู่ตรงกลางของประเภทกายทิพย์ทั้งหมด โดยกายทิพย์มนุษย์โดยทั่วไปสภาวะ อารมณ์จะอยู่กลางๆ คาบเกี่ยวระหว่างบาปและบุญ ขึ้นๆลงๆ ไม่คานกันมากนัก แต่ทั้งนี้ก็ยังแตกต่างกันอยู่ในเรื่อง ความหมองคล้ำ หรือความใสของกายทิพย์ สำหรับกายทิพย์มนุษย์ที่หมองคล้ำนั้น เหตุเกิดจาก ศีล 5 ไม่ครบ ยิ่ง มากข้อก็ยิ่งหมองและสุดท้ายนำพาไปสู่การเป็นกายทิพย์สัตว์นรกในที่สุดส่วน สำหรับมนุษย์ที่มีศีล 5 เป็นพื้นฐาน กายทิพย์จะมีความละเอียดมากกว่ายิ่งสถาวะอารมณ์ดีด้วย ก็ยิ่งมาก และเข้าใกล้สู่การเป็นกายทิพย์เทวดาต่อไป

4.กายเทวดา

- คือผู้ที่สามารถทำสภาวะจิตจนตั้งมั่นอยู่ในบุญตลอดเวลา เป็นปกติ มีหิริโอตะปะ ความละอายในบาป เป็นปกติมีศีลบริสุทธิ์ และมี อารมณ์เมตตาระดับหนึง แม้จะมีอารมณ์ขุ่นเคืองบ้างในบ้างครั้งแต่ก็เบาบางมาก และหายไปทันทีและจิตก็กลับมาทรงอารมณ์ที่อยู่ในบุญทันที กายทิพย์ตั้งแต่ระดับเทวดาขึ้นไปจะมีเครื่องทรงที่มาจากอำนาจบุญที่เคยกระทำ ไว้ ไม่ว่าทาน ศีล เนกขัมมะ ปัญญา วิริยะ ขันติ สัจจะ อธิษฐาน เมตตา อุเบกขาและรวมถึงความเข้มข้นของอารมณ์จิตที่ตั้งมั่นในบุญและความละเอียดของ จิต ซึ่งจะส่งผลต่อความะเอียดของกายเทวดาว่าจะสามารถเข้าถึงสวรรค์ชั้นใดได้ จาก 6 ชั้น ซึ่งขึ้นอยู่กับบุญบารมี ด้วย จึงขึ้นอยู่กับเราที่จะทรงกายเทวดาได้ละเอียดแค่ไหนวิมานของเทวดาเองก็มี ความละเอียดประณีตแตกต่างกันตามกำลังบุญของเจ้าของวิมานนั้นๆ

5.กายพรหม

- มีความคล้ายคลึงกับกายทิพย์เทวดาแต่จะมีความละเอียดกว่ามากเครื่องทรงจะมี ความละเอียดกว่ามากและเบาบางลึกซึ้งสุขุม การจะทรงกายทิพย์ของพรหมได้จักต้องมีอารมณ์ตั้งมั่นและสมาธิของจิตที่ดีมาก อารมณ์ใจสบายอย่างที่สุด และ มีพรหมวิหาร เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขาอย่างเข้มข้นครบถ้วน ซึ่งเป็นพรหมวิหารธรรม ความหมายตรงตามชื่ออยู่แล้ว

6.จิตพรหมลูกฝัก

- ไม่จำเป็นต้องอธิบายอะไรมากเป็นเรื่องของคนที่เล่นณานสมาบัติขั้นสูงๆกัน พบมากในฤาษีและผู้ปฎิบัติบางสายที่เข้าใจผิดขั้นสุดท้ายว่านี้คือนิพพาน สถาวะนี้จิตจะไร้รูปไร้ร่าง ฯลฯ เมื่อตายไปจะไปติดแหง่กอยู่ในอรูปพรหม 4 ไปไหนไม่ได้ นิ่งอยู่อย่างนั้นไปไหนไม่ได้จนกว่าจะหมดกำลัง พอหมด หากมีกรรมบาปที่เคยทำเผลอๆดิ่งลงนรกต่อภูมินี้ให้อธิษฐานไว้เลยว่านับแต่บัด นี้ ตราบเข้านิพพานเราขอ ปิด อรูปพรหม 4 อย่างเด็ดขาด รวมถึงอบายภูมิ 4 แต่อธิษฐานอย่างนี้ ก็ต้องปฎิบัติด้วยต้องทำด้วยไม่งั้นก็ไม่มีประโยชน์อะไร

7.กายทิพย์ของพระอริยะเจ้า

- มีเครื่องทรงที่ใสคล้ายแก้วมีความบริสุทธิและละเอียดสูงส่ง ยิ่งตัดกิเลสมากข้อเท่าใดเข้าใกล้ความเป็นอรหันต์เพียงใดไล่ไปตั้งแต่ พระโสดาบัน พระ สกิทาคามี พระอนาคามีกายทิพย์รวมถึงเครื่องทรงก็ยิ่งใสเป็นแก้วมากขึ้นเท่านั้นส่วนถ้า ถึงกายทิพย์พระอรหันต์นั้นกายจะใสบริสุทธิ์หมดจดเป็นแก้วเป็นสภาวะกายทิพย์ ที่อยู่เหนืออำนาจของโลกสมมุติใดๆ และเมื่อละสังขารไป ก็จักเข้าสุ่แดนพระนิพพาน วิมานเป็นแก้วกายทิพย์ก็จักเป็นกายทิพย์พระวิสุทธิเทพ รูปลักษณ์กายพระอริยะเจ้านอกจากจะเป็นแบบมีเครื่องทรงโดยส่วนใหญ่ก็พบว่าจะอยู่ในลักษณะพระสงฆ์ได้ด้วย คือกายทิพย์ห่มบวชเป็นพระเลยก็อยู่ที่ความประสงค์ของพระอริยะองค์นั้นๆ แต่ส่วนมากครูบาอาจารย์ที่เป็นพระเวลาท่านไปโปรดใครท่านจะไปในรูปลักษณ์พระเป็นส่วนใหญ่

8.กายทิพย์พระวิสุทธิเทพที่ประทับที่พระนิพพาน

เครื่องทรงแตกต่างกันตาม สาวกภูมิ ปัจเจกภุมิ พุทธภูมิ แต่ความบริสุทธิ์เหมือนกันวิมานที่พระนิพพานก็แตกต่างกันตาม สาวกภูมิ ปัจเจกภุมิ พุทธภูมิ สภาวะนิพพานทุกอย่างเป็นแก้ว บริสุทธิ์ลักษะเหมิอนเพชรประกายพรึกเมื่อต้องแสงแดด เป็นแดนทิพย์และสภาวะทิพย์พิเศษที่อยู่นอกเหนือจากอำนาจใดๆ ทั้งสิ้นไม่ใช่อัตตา และไม่ใช่อนัตตา ไม่ไช่สูญ เป็นวิมุติเหนือโลกเฉพาะผู้เข้าถึงจักเข้าใจถึงอารมณ์นี้อย่างถ่องแท้ปถุชน ทั่วไปก็ฟังเอาตามผู้ที่เข้าถึงแล้ว แต่ทั้งนี้พระวิสุทธิเทพหากท่านจะโปรดใครหรือใครกำหนดไปหาท่านท่านก็จะแสดง เป็นรูปลักษณ์พระพุทธเจ้าห่มจีวร(หากเป็นพระวิสุทธิเทพพุทธภูมิ)หรือเป็นรูป ลักษณ์พระสงฆ์หากเป็นพระวิสุทธิสาวกภูมิ เรื่องวิมานนี้ก็นิยามได้ว่าพลังงานนั้นต้องมีทั้งรูปและนามถึงจะทรงตัวอยู่ ได้วิมานแต่ละแบบที่จะรองรับกายทิพย์เรา ณ สวรรค์แต่ละชั้นนั้น

ก็เป็น เหมือนภาชนะรองสภาวะจิตตามกำลังนั้นๆ เป็นทั้งรูปและนามเกาะกันอยู่ แต่นั้นยังเป็นแบบสมมุติ วิมานแก้วที่พระนิพพานนั้นก็เป็นเหมือนภาชนะรองรับสภาวะธรรมที่เป็นที่สุด แล้ว มีทั้งรูปและนามประกอบกัน แต่เป็นรูปนาม แบบวิมุติและสุดท้ายจริงๆแล้ว รูปนามแบบวิมุตินี้ก็คือไม่มีอะไร นิพพานคือนิพพาน สภาวะอันปราศจากทุข์ แต่ไม่ใช่สูญ ที่สูญไปคือกิเลศ

-------------------------------------------

วิธีการทรงกายจักรพรรดิ

ก่อนจะเข้าสุ่การทรงกายจักรพรรดิ ให้ฝึกการบวชจิตให้เป็นปกติ

การบวชจิต-บวชใน

หลวงปู่ปรารภว่า... จะเป็นชายหรือหญิงก็ดี ถ้าตั้งใจประพฤติปฏิบัติมีศีล รักในการปฏิบัติจิตมุ่งหวังเอาการพ้นทุกข์เป็นที่สุด
ย่อมมีโอกาสเป็นพระกันได้ทุกๆ คนมีโอกาสที่จะบรรลุมรรค ผล นิพพาน ได้เท่าเทียมกันทุกคนไม่เลือกเพศ เลือกวัย หรือฐานะ แต่อย่างใด
ไม่มีอะไรจะมาเป็นอุปสรรคในความสำเร็จได้ นอกจากใจของผู้ปฏิบัติเอง ท่านได้แนะเคล็ดในการบวชจิตว่า.....

" ในขณะที่เรานั่งสมาธิเจริญภาวนานั้น คำกล่าวว่า

พุทธัง สรณัง คัจฉามิ ให้นึกถึงว่าเรามีพระพุทธเจ้าเป็นพระอุปัฌาย์ของเรา
ธัมมัง สรณัง คัจฉามิ... ให้นึกว่าเรามีพระธรรมเป็นพระกรรมวาจาจารย์
สังฆัง สรณัง คัจฉามิ... ให้นึกว่าเรามีพระอริยสงฆ์ เป็นพระอนุสาวนาจารย์
แล้วอย่าสนใจขันธ์ 5 หรือร่างกายเรานี้ ให้สำรวมจิตให้ดี มีความยินดีในการบวช

ชายก็ตั้งจิตเป็นพระภิกษุ หญิงก็ตั้งจิตเป็นพระภิกษุณี
อย่างนี้จะมีอานิสงส์สูงมาก จัดเป็นเนกขัมบารมีขั้นอุกฤษฎ์ทีเดียว "

กาย ทิพย์ของเรานั้นหากก่อนภาวนาเราได้ตั้งจิตบวชพระแล้ว ระหว่างที่ภาวนาอยู่กายทิพย์เราก็เป็นพระมีรัศมีกายทิพย์สว่างมากอย่างนี้จะ มีอานิสงส์พลังบุญสูงมาก ภาวนาได้ง่าย เนื่องจากตั้งจิตไว้ในศีลและฐานะอันสูง อย่างนี้เรียกว่าบวชจิต ซึ่งการบวชจิตด้วยใจกุศลศรัทธานั้น มีอานิสงค์ดีกว่าผู้ที่บวชรูปลักษณ์ภายนอกแล้วไม่บวชจิตเสียอีก แต่หากบวชได้ทั้งนอกและในอานิสงค์ก็ทวีคูณแต่สำหรับฆราวาสผู้ครองเรือนนั้น เวลาสวดมนต์หรือภาวนาทำสมาธิ ตั้งจิตบวชเป็นพระแล้วอานิสงค์มากภาวนาได้ง่าย หลวงตาท่านสอนไว้ว่าหากเราภาวนาคาถาจักรพรรดิสบายๆ ทรงไว้ ภาวนาบ่อยๆ กายทิพย์จิตจะทรงเครื่องจักรพรรดิ เพราะว่าเป็นไปตามพลังงานที่เราสวด พอเป็นเช่นนี้แล้วอารมณ์สภาวะทิพย์นั้นจะทรงตัวได้เข้มขึ้นส่งผลดีต่อการปฎิ บัติ

การทรงกายจักรพรรดิ

เราสามารถจะทรงกายพระจักรพรรดิได้ก็ต่อเมื่อเราสามารถปรับสภาวะจิตให้เข้าถึงกายทิพย์ตั้งแต่กายเทวดาขึ้นไป คุณสมบัติพิเศษของกายทิพย์คือ เมื่อเราทรงกายเทวดา หรือ พรหม เราก็ทรงเครื่องจักรพรรดิเข้าไปอีกซึ่งจะทำให้มีกำลังบุญมาก เครื่องทรงจักรพรรดินี้ก็จะทรงที่กายทิพย์ตั้งแต่ชั้นเทวดาขึ้นไปตราบใดที่อารมณ์จิตยังไม่ตก สำหรับผู้ที่ฝึกบ่อยๆเข้าจนชำนาญแล้ว ก็จะสามารถทรงเครื่องจักรพรรดิเป็นปกติไปเลยเวลา

ไปที่ไหน เมื่อเราทรงกำลังบุญเปิดโลก รัศมีจะแผ่ในโลกทิพย์กว้างไกล การสัพเพมีกำลังมาก ฯลฯเรียกได้ว่าหากจะชำนาญในวิชาขั้นสูงของวิชาเปิดโลกได้ก็ต้องฝึกทรง เครื่องจักรพรรดิให้ชำนาญ ที่สำคัญอารมณ์ต่างๆ อย่าไปหมายมั่นว่าฉันจะทรง ให้เราทำอารมณ์ใจสบายๆ ก็พอ พยายามทำใจให้ถึงสภาวะของกายทิพย์ที่อธิบายไว้ตั้งแต่ชั้นเทวดาขึ้นไป ทำไปเพื่อความดี เพื่อความระงับกิเลศ เดี๋ยวก็ได้เองถึงเอง

การทรง คือการทรงคาถาจักรพรรดินั้นเอง คาถาจักรพรรดิหลวงปู่เข้าถึงได้หลายระดับเมื่อเราเข้าถึงระดับที่ทรงคาถาจักรพรรดิจน
เป็น อารมณ์ เราไม่ต้องมานั่งไล่ กายทิพย์ เพราะศีล อารมณ์ สภาวะกำลังบุญ พระไตรรัตน์ อยู่ในคาถาจักรพรรดิ หมดแล้ว ขอเพียงทำใจให้สบาย นึกถึงหลวงปุ่ ขอบารมีท่าน ตั้งท่านเป็นอารมณ์ พระพุทธเจ้าทรงเครื่องจักรพรรดิ อยู่บนหัว หลวงปู่ทวดอยู่บ่าซ้ายหลวงปุ่ดุ่อยู่บ่าขวา ภาวนา คาถาจักรพรรดิให้ใจสบายๆ อารมณ์สบายๆ คาถาจักรพรรดิเป็นอารมณ์ยิ่งดีเข้าเท่าไร โดยไม่ต้องสนใจว่าถึงไหนๆ เดี๋ยวก็ค่อยๆทรงได้เอง

คาถาจักรพรรดิ หลวงปู่ดู่ คือ คาถาทรงกายจักรพรรดิ

เมื่อ ภาวนาคาถาจักรพรรดิจนเป็นอารมณ์ ฝึกบ่อยๆ ทำให้เป็นนิสัย ให้เป็นปกติ ฝึกให้ชำนาญ ใช้เวลา มากน้อยแค่ไหนขึ้นอยู่กับ ความตั้งใจของคุณเอง ข้อคิดที่ฝากไว้คือ อย่าเหลิง ไม่ว่าได้ถึงไหน อย่าหลงตนเอง ไม่ว่าคนจะสรรเสริญตนเช่นไร ให้มีสติ ตั้งใจภาวนา ไม่ประมาท ไม่มีใครจะใหญ่เกินกรรมเมื่อทำได้ คุณก็จะได้ พลังเหนือพลัง ที่จะสร้างประโยชน์สืบไป กำลังพระ+จักรพรรดิหลวงตาท่านเองก็ทรงเครื่องจักรพรรดิ กายในท่านก็บวชพระจึงเป็นกำลังเหนือกำลัง และที่สำคัญที่สุด อย่าทิ้งหลวงปู่เป็นอันขาด ไม่งั้นทุกอย่างที่กล่าวมา คุณจะไม่มีกำลังของตนเองที่จะทำได้แม้แต่ข้อเดียว เราปฎิบัติไปโดย ตั้งให้ท่านคุมเราทุกขณะจิตให้อธิษฐานไว้ยังนี้เลย

วิชาต่างๆที่อธิบายมานี้ให้ไว้เป็นแนวทางสำหรับผู้ที่มีจริตแบบนี้ เป็นตัวเลือกหนึ่งในการฝึกปฎิบัติในสายเปิดโลก ไม่ปฎิบัติแบบนี้ก็ไปต่อถึงจุดหมายได้เหมือนกันบางคนชอบแบบลึกซึ้งบางคนชอบ แบบเรียบง่ายก็ว่ากันไปเสมือนว่ามีถนน 10 สาย ที่จุดสุดท้ายถึงที่เดียวกันไม่ว่าปฎิบัติไปแบบไหน ขอให้ถูกตามที่หลวงปู่หลวงตาสอนเป็นพอ

ถนนแต่ละสายจะแตกต่างกันที่ลีลาการเดินทางและประโยชน์ที่ สร้างทิ้งไว้ระหว่างเดินทาง มากน้อย แตกต่างกันอยู่ที่ตัวเรา ใครที่เน้นอยากจะช่วยผู้อื่นให้มากๆ ช่วยสรรพวิญญาณอย่างลึก ส่วนมากเป็นพุทธภูมิหรือสาวกภูมิพิเศษก็จะเดินอีกสายหนึง กับท่านที่มุ่งตัดกิเลศเพื่อพระนิพพานซึ่งทุกสายทุกทางย่อมถึง ที่หมายเดียวกัน บริสุทธิ์เหมือนกัน ขอโมทนา

จะอ่านไว้เป็นความรู้หรือจะ เอาข้อที่ตนสนใจลองปฎิบัติดูก็ได้ ไม่ว่าปฎิบัติเน้นแบบใดจุดสุดท้ายก็เหมือนกัน ทุกคนมีหลวงปู่ สุดท้ายสำคัญที่สุด อยู่ที่ความสบายของใจนั้นแหละ

ธรรมรักษา

222
เรียนเชิญทุกท่านร่วมเข้าฟังการบรรยาย
ถามตอบปัญหาธรรมในแนวทางพระโพธิสัตว์ หลวงปู่ดู่ โดยหลวงตาม้า

รายละเอียดคลิ๊ก

http://www.watthummuangna.com/home/community/index.php/topic,2475.0.html

อนุโมทนาสาธุ

223

โดยย่อกล่าวคือ

บทนี้เป็นการสวดไหว้พระพุทธเจ้าทั่วทั้งพระนิพพานตลอดจนถึงพระธรรมเจ้าและพระโพธิสัตว์เจ้า พระอริยสงฆ์สาวกทั้งมวลไหว้พระพุทธเจ้าทั้ง5พระองค์รวมถึงน้อมนำกำลังของเทพพรหมพระอริยะเจ้าทั้งหลาย

การสวดครั้งหนึงเป็นการดึงกำลังของพระเจ้าจักรพรรดิทุกๆพระองค์ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันมาร่วมถึงกำลังของพระมหาโพธิสัตว์เจ้ามารวมอารธนาเข้าที่กายและใจและรวมกำลังของพระโพธิญานโพธิสัตว์เจ้าทั้งหลายตั้งแต่อดีต
ถึง ปัจจุบัน และอณาคต

การสวดครั้งหนึงมีอานิสงส์แผ่ไปทั่วจักวาลสามแดนโลกธาตุสามารถแผ่บญไปทั่วทุกสรรพสัตว์ตลอดจนเทวดาประจำตัวเราญาติมิตรเพื่อนฝูงครอบครัวเจ้ากรรมนายเวรและหากนำบทสวดนี้ไปสวดในนรกหรือแผ่ไปไฟนรกจะดับชั่วขณะ

บทนี้เป็นการสร้างกำแพงแก้วคุ้มกันตัวร่วมถึงการอารธนาบารมีครูบาอาจารย์พระพุทธพระธรรมพระสงฆ์อัญเชิญเข้าตัวเพื่อป้องกันภัยและสร้างมหาโชคมหาลาภ อานิสงส์แก่ผู้สวดมีทั่งมหาบุญมหาลาภเนื่องจากมีการกล่าวถึงพระสีวลีร่วมถึงบทนี้มีพลังงานอย่างยิ่งในการเจริญพระกรรมฐาน หากนำไปสวดบริกรรมก่อนหรือระหว่างนั่งภาวนากรรมฐาน...จะทำให้การภาวนามีพุทธานุภาพมาคลุมและคุมการปฎิบัติของเรา คลุมกายและจิตเราเป็นวิมานทิพย์(ครอบวิมานให้ตัวเองหรือสวดอธิษฐานครอบคนอื่นก็ได้)

หากสวดบทนี้สามารถอฐิษฐานเรื่องราวใดๆมี่ติดข้องใจได้ให้ผ่านพ้นไปอย่างทะลุปรุโปร่ง กล่าวโดยสรุปได้ว่าคาถาจักรพรรดินี้
จากการเรียบเรียงถ้อยคำโดยหลวงปู่ดู่ท่าน ก่อให้เกิด จักรพรรดิ กำลังจักรพรรดิขึ้นด้วยในบทสวด พระคาถาครอบจักรวาล

ปล.สำหรับนักปฎิบัติเบื้องต้นใช้คู่กับพระผงจักรพรรดิจะทำให้ก้าวหน้าเร็ว
บทนี้เป็นการสวดไหว้พระพุทธเจ้าทั่วทั้งพระนิพพานตลอดจนถึงพระธรรมเจ้าและพระโพธิสัตว์เจ้า พระอริยสงฆ์สาวกทั้งมวลไหว้พระพุทธเจ้าทั้ง5พระองค์รวมถึงน้อมนำกำลังของเทพพรหมพระอริยะเจ้าทั้งหลาย

การสวดครั้งหนึงเป็นการดึงกำลังของพระเจ้าจักรพรรดิทุกๆพระองค์ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันมาร่วมถึงกำลังของ
พระมหาโพธิสัตว์เจ้ามารวมอารธนาเข้าที่กายและใจ
และรวมกำลังของพระโพธิญานโพธิสัตว์เจ้าทั้งหลายตั้งแต่อดีต ถึง ปัจจุบัน และอณาคต

การสวดครั้งหนึงมีอานิสงส์แผ่ไปทั่วจักวาลสามแดนโลกธาตุสามารถแผ่บญไปทั่วทุกสรรพสัตว์ตลอดจนเทวดา
ประจำตัวเราญาติมิตรเพื่อนฝูงครอบครัวเจ้ากรรมนายเวรและหากนำบทสวดนี้ไปสวดในนรกหรือแผ่ไปไฟนรกจะดับชั่วขณะ

บทนี้เป็นการสร้างกำแพงแก้วคุ้มกันตัวร่วมถึงการอารธนาบารมีครูบาอาจารย์พระพุทธพระธรรมพระสงฆ์อัญเชิญเข้าตัวเพื่อ
ป้องกันภัยและสร้างมหาโชคมหาลาภ

อานิสงส์แก่ผู้สวดมีทั่งมหาบุญมหาลาภเนื่องจากมีการกล่าวถึงพระสีวลีร่วมถึงบทนี้มีพลังงานอย่างยิ่งในการเจริญพระกรรมฐาน
หากนำไปสวดบริกรรมก่อนหรือระหว่างนั่งภาวนากรรมฐาน...จะทำให้การภาวนามีพุทธานุภาพมาคลุมและคุมการปฎิบัติของเรา
คลุมกายและจิตเราเป็นวิมานทิพย์(ครอบวิมานให้ตัวเองหรือสวดอธิษฐานครอบคนอื่นก็ได้)

หากสวดบทนี้สามารถอฐิษฐานเรื่องราวใดๆมี่ติดข้องใจได้ให้ผ่านพ้นไปอย่างทะลุปรุโปร่ง กล่าวโดยสรุปได้ว่าคาถาจักรพรรดินี้
จากการเรียบเรียงถ้อยคำโดยหลวงปู่ดู่ท่าน ก่อให้เกิด จักรพรรดิ กำลังจักรพรรดิขึ้นด้วยในบทสวด พระคาถาครอบจักรวาล

ปล.สำหรับนักปฎิบัติเบื้องต้นใช้คู่กับพระผงจักรพรรดิจะทำให้ก้าวหน้าเร็ว

--------------------------------------------------

พระคาถามหาจักรพรรดิก่อให้เกิดพุทธนิมิตครอบสถิตผู้ทรงคาถา

พระคาถามหาจักรพรรดิที่หลวงปู่ดู่แต่งขึ้นมานั้น
นอกจากท่านจะได้ทำการอธิษฐานบารมีให้ผู้สวดได้รับพลังจากพระรัตนตรัย
อย่างมหาศาลแล้ว ยังก่อให้กิด "พุทธนิมิต" เป็นวิมานแก้วพระพุทธเจ้า
มาครอบสถิตผู้สวดด้วย โดยมีลักษณะเป็นมณฑปแก้วจัตุรมุข
ปรากฎฉัพพรรณรังสีหกประการสว่างสไหวพร้อมด้วยโพธิสัตตราวุธ
ทั้ง 4 ประการ ประจำอยู่ทั้ง 4 ทิศ ได้แก่ พระมหามงกุฎ
ตรีศูล จักรแก้ว และ พระขรรค์เพชร ทั้งหมดล้วนเป็นของคู่บุญบารมี
ของพระศรีอารย์โพธิสัตว์ โดยมี "พระมหามงกุฎ" เป็นศิราภรณ์ที่ปี่ยมไปด้วย
บุญญฤทธิ์ (หลวงปู่บุดดา ถาวโร พระอรหันต์ระดับจตุปฎิสัมภิทาญานได้เคย
นำมาถวายหลวงปู่ดู่เป็นพุทธบูชาอีกองค์หนึงด้วย)

ส่วนอาวุธที่เหลือทั้ง 3 ล้วนเป็นเทพศาสตราวุธชั้นสูง
มีไว้เพื่อประดับบารมีแห่งพระโพธิสัตว์ และเปี่ยมไปด้วยอิทธิฤทธิ์อย่างยิ่ง
หากสวดเป็นประจำสามารถอธิษฐานให้เกิดเป็นองค์พระพุทธนิมิต
ปางมหาจักรพรรดิได้ ซึ่งเปี่ยมไปด้วยอิทธิฤทธิ์และบุญฤทธิ์
มีความศักสิทธิ์อย่างมาก ประดับด้วยครื่องทรงแห่งพระมหาจักรพรรดิ
อย่างวิจิตรอลังการเปล่งรัศมีหลากสีด้วยแสงแห่งรัตนอัญมณี
เรียกว่า "พระมหาวิษิตาภรณ์" มาครอบสถิตผู้ภาวนา บารมีของ
หลวงปู่ดู่ที่ท่านน้อมนำอธิษฐานจิตจึงมีความศักสิทธิ์ป็นอย่างมาก
เพราะท่านใช้บารมีทั้งหมดของท่านอัญชิญกระแสบารมีแห่งพระรัตนตรัย
และตั้งองค์พระพุทธนิมิตปางมหาจักรพรรดิบรรจุลงไปในวัตถุมงคลที่บารมี
ท่านมาประจุอีกด้วย


คำแปล

  นะโมพุทธายะ : ข้าพเจ้าขอนอบน้อมบูชา ต่อพระพุทธเจ้า ๕ พระองค์ คือ
    นะ - พระกกุสันธะ
    โม - พระโกนาคม
    พุท - พระกัสสป
    ธา - พระสมณโคดม
    ยะ - พระศรีอริยเมตไตรย
  พระพุทธไตรรัตนญาณ : พระพุทธเจ้าซึ่งมีพระญาณแก้วทั้งสาม อันหมายถึง ปุพเพนิวาสานุสติญาณ, จุตูปปาตญาณ, อาสวักขยญาณ
  มณีนพรัตน์ : มีสมบัติคือแก้ว ๙ ประการ มีเพชร, ทับทิม เป็นต้น ซึ่งหมายถึงพระนวโลกุตรธรรม
  สีสะหัสสะ สุธรรมา : มีมือถึงพันมือ หมายถึงการที่พระพุทธองค์ ทรงแจกแจงหลักธรรม คือ พระไตรปิฎก ถึง ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์
  พุทโธ : ทรงเป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน
  ธัมโม : พระธรรมของพระพุทธเจ้า
  สังโฆ : พระสาวกผู้ปฏิบัติตาม
  ยะธาพุทโมนะ : ขอพระพุทธเจ้าปางมหาจักรพรรดิ ซึ่งมีชัยแก่พญาชมพูผู้มีฤทธิ์มาก พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์ จงบังเกิดขึ้น ณ บัดนี้ด้วยเทอญ
  พุทธบูชา : ข้าพเจ้าขอบูชาพระพุทธเจ้า
  ธัมมะบูชา : ข้าพเจ้าขอบูชาพระธรรม
  สังฆะบูชา : ข้าพเจ้าขอบูชาพระสงฆ์
  อัคคีทานัง วะรังคันธัง : ด้วยสิ่งเหล่านี้ ได้แก่ ธูป เทียน ไฟ หรือแสงสว่าง และของหอมทั้งมวล มีดอกไม้และน้ำอบ เป็นต้น
  สีวลี จะมหาเถรัง : ขอนมัสการพระสีวลีเถระเจ้า ผู้เป็นเลิศทางลาภสักการะ
  อะหังวันทามิ ทูระโต : ขอนมัสการสถานศักดิ์สิทธิ์ทั่วไป มีสังเวชนียสถาน เป็นต้น
  อะหังวันทามิ ธาตุโย : ขอนมัสการพระบรมสารีริกธาตุ และพระธาตุทั้งหลาย ทั่วทั้งแสนโกฏิจักรวาล
  อะหังวันทามิ สัพพะโส : ขอนมัสการสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลาย
  พุทธะ ธัมมะ สังฆะ : ซึ่งเป็นพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์
  ปูเชมิ : ด้วยเทอญ

บทวิเคราะห็บทสวดมนต์มหาจักรพรรดิ

คำอัญเชิญภพภูมิ

การใช้คำอัญเชิญภพภูมิ ผลและกำลังบุญที่ได้จะมากมายกว่าสวดคนเดียวมาก และเช่นเดียวกัน หากสวดมนต์บทพระมหาจักรพรรดิเวลา 20.30 น. กำลังที่ได้ก็มากกว่าสวดเวลาอื่นมากมายนัก ด้วยสาเหตุคือ

1. เป็นการทำสมาธิหมู่ สวดมนต์หมู่ทั้ง 3 โลก กำลังย่อมมีมากกว่า
2. เป็นช่วงเวลาที่หลวงปู่ท่านเปิดโลกให้ภพภูมิมองเห็นกันทั้ง 3 โลก พลานิสงส์ การขอ การให้ การช่วยเหลือจึงเกิดขึ้นได้โดยง่าย และมหาศาลกว่ามาก

ลูกขอตั้งสัจจะอธิษฐานกราบขออาราธนาเมตตาบารมีรวมหลวงปู่ทวด หลวงปู่ดู่ ขอหลวงปู่ได้โปรดมีเมตตา อาราธนาบารมีรวม ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า โดยตั้งแต่องค์ปฐมจนถึงองค์ปัจจุบันบรมมหาจักรพรรดิทุกๆพระองค์ บารมีรวมพระปัจเจกพุทธเจ้า พระโพธิสัตว์ พระธรรม และพระอริยะสงฆ์ทั้งหลาย โดยตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันและอนาคต บารมีรวมหลวงปู่ทวด หลวงปู่ดู่ ท่านอันเป็นที่สุด บารมีรวมหลวงตาม้าเป็นต้น

การอ้างอิงบารมีของพระพุทธเจ้า และสิ่งศักดิ์สิทธิ์ดังกล่าวเพื่ออัญเชิญภพภูมิ จะมีผลมากกว่าเรากล่าวเชิญเองลอย ๆ ด้วยเหตุที่บางภพภูมิก็อยากจะมาแต่มาไม่ได้ เพราะด้วยข้อจำกัดแห่งบุญของแต่ละภพภูมิ คือชั้นที่จะไปไหนมาไหนได้เองไกล ๆ จะต้องสูงกว่าเทวดาชั้นจาตุมหาราชิกาเป็นต้นไป การกล่าวอ้างพระบารมีของพระพุทธองค์เป็นประธาน บารมีรวมของพระโพธิสัตว์เป็นที่สุด พระโพธิสัตว์ท่านจะกำหนดเป็นทางแสงทำให้ภพภูมิต่าง ๆตามแสงนั้นมาร่วมสวดมนต์ได้

ขอบารมีหลวงปู่ได้โปรดเมตตาน้อมนำ ภพภูมิต่างๆทั้งหลายในทั่วทั้ง 3 แดนโลกธาตุ อันประกอบไปด้วยเทพ 6 ชั้นพรหม 20 ชั้น เทพพรหมทุกชั้นฟ้ามหาสมุทรโดย ทั่วทั้งหมื่นแสนโกฎิจักรวาล เทพพรหมเทวาที่เกี่ยวพันกับหลวงปู่ทวด หลวงปู่ดู่ หลวงตาม้า เทพพรหมเทวาที่เกี่ยวพันเกี่ยวข้องกับข้าพเจ้า โดยตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันและอนาคต ท่านปู่พระอินทร์เจ้าฟ้า ท่านท้าวจตุมหาราชทั้ง 4 พระยายมราชพร้อมด้วยบริวารทั้งหมด พระศรีสยามเทวาธิราชทุกๆพระองค์ วีรบุรุษและวีรสตรีทั้งหลาย ที่คอยปกป้องรักษาแผ่นดินสยาม โอปาติกะทั้งหลาย พระฤาษีและดาบสทั้งหลาย ศาลเจ้าพ่อหลักเมืองทุกๆจังหวัด พระเสื้อเมือง พระทรงเมือง พระราหูวราหก เจ้ากรุงพาลี แม่พระธรณี แม่พระโพสพ แม่พระคงคา พระเพลิง พระพาย พระพิรุณ พญาครุฑ-พญานาคพร้อมด้วยบริวาร คนธรรพ์ ชาวเมืองลับแล และสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในสถานที่อันศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลาย ที่ข้าพเจ้าได้เคยไปอธิษฐานไว้ ขอหลวงปู่ได้โปรดเมตตาน้อมนำท่านทั้งหลายมาร่วมสวดบทพระมหาจักรพรรดิ พร้อมกันกับพวกข้าพเจ้า เพื่อเพิ่มกำลัง ณ กาลบัดเดี๋ยวนี้ด้วยเถิด

คำอัญเชิญนี้เป็นแบบยาวที่คิดว่ามีประโยชน์ เพราะท่านที่ลองฝึกใหม่ ๆอาจจะยังไม่คล่องในการกำหนดจิต จึงใส่คำอัญเชิญแบบคลุมที่สุดให้ จะตัดทอนหรือเพิ่มได้ตามใจชอบ รักใครชอบใคร นับถือใครพิเศษก็กล่าวเพิ่มได้ หรือจะย่อ ๆว่า “ ขอเชิญภพภูมิต่างๆทั้งหลายในทั่วทั้ง 3 แดนโลกธาตุ มาร่วมสวดมนต์พร้อมกันเพื่อเพิ่มกำลัง” ก็ได้



บทบูชาพระ


พุทธัง ชีวิตตัง เม ปูเชมิ
ข้าพเจ้า ขอบูชาพระพุทธเจ้า ด้วยชีวิต
ธัมมัง ชีวิตตัง เม ปูเชมิ
ข้าพเจ้า ขอบูชาพระธรรมเจ้า ด้วยชีวิต
สังฆัง ชีวิตตัง เม ปูเชมิ
ข้าพเจ้า ขอบูชาพระสงฆ์เจ้า ด้วยชีวิต

เป็นบทกล่าวถึงการมอบกายถวายชีวิต เพื่อพระรัตนตรัยแล้วแม้ชีวิตก็มอบให้ได้ พลานิสงส์บทนี้จึงมากมายนัก เรียกว่าทำดี ๆ ปิดทางนรกได้เว้นแต่กระทำอานันตนิรยะกรรม 4 ประการเท่านั้น เป็นบาทฐานของการเข้าถึงพระไตรสรณะคมนั่นเอง


กราบพระ ๖ ครั้ง

พุทธัง วันทามิ(กราบ)
ข้าพเจ้า ขอไหว้ซึ่งพระพุทธเจ้า
ธัมมัง วันทามิ(กราบ)
ข้าพเจ้า ขอไหว้ซึ่งพระธรรมเจ้า
สังฆัง วันทามิ(กราบ)
ข้าพเจ้า ขอไหว้ซึ่งพระสงฆ์เจ้า
ครูอุปัชฌาย์อาจาริยคุณัง วันทามิ(กราบ) (ผู้หญิงว่า อาจาริยคุณัง วันทามิ)
ข้าพเจ้า ขอไหว้ซึ่งครูอุปัชฌาย์อาจารย์
มาตาปิตุคุณัง วันทามิ(กราบ)
ข้าพเจ้า ขอไหว้ซึ่งบิดา มารดา
พระไตรสิกขาคุณัง วันทามิ(กราบ)
ข้าพเจ้า ขอไหว้ซึ่งพระไตรสิกขา


การไหว้พระ ๖ ครั้งเป็นการแสดงความอ่อนน้อมแก่สรณะผู้ควรบูชา ๖ สรณะด้วยกัน แฝงไว้ด้วยกุศโลบายแห่งความอ่อนน้อมและความกตัญญูกตเวทีอันเป็นเครื่องหมายแห่งคนดี

สำหรับในบทกราบพระไตรสิกขาบทนั้น เนื่องเพราะเป็นบทสรุปแห่งธรรมะทั้งปวงในพระพุทธศาสนา เป็นหนทางโดยย่อแต่ชัดเจนไม่อ้อมค้อม ทั้งยังเป็นปัจฉิมโอวาท แห่งองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าด้วย นั่นคือ "ภิกษุทั้งหลาย บัดนี้ เราขอเตือนท่านทั้งหลาย สังขารทั้งหลายมีความเสื่อม ความสิ้นไปเป็นธรรมดา ท่านทั้งหลาย จงบำเพ็ญไตรสิกขา คือศีล สมาธิ ปัญญา ให้บริบูรณ์ด้วยความไม่ประมาทเถิด"



บทสมาทานศีล ๕


นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุท ธัสสะ(๓ ครั้ง)
ข้าพเจ้า ขอนอบน้อมแด่ พระผู้มีพระภาค อรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น


หลายท่านคงสงสัยว่า ทำไมต้องกล่าวบทคำบูชาพระพุทธเจ้านี้ก่อนว่าคาถา(ที่โบราณเรียกตั้งนะโม ๓ จบ) หรือ นำหน้าบทสวดมนต์ต่าง ๆตลอดด้วย ที่มาของคำบูชาพระบรมศาสดานี้ มีเรื่องเล่าว่า ณ แดนหิมวันต์ประเทศ มีเทือกเขาชื่อว่า สาตาคิรี เป็นที่ร่มรื่น รมณียสถาน เป็นที่อยู่ของพวกยักษ์ที่เป็นภุมเทพยดา อันมีนามตามที่อยู่ว่า สาตาคิรียักษ์ มีหน้าที่เฝ้าทางเข้าหิมวันต์ ทางทิศเหนือ เป็นบริวารของท้าวเวสสุวัณ สาตาคิรียักษ์ได้มีโอกาสสดับ พระสัทธรรมจากพระบรมศาสดา จนมีจิตเลื่อมใสศรัทธา เปล่งคำยกย่องบูชาด้วยคำว่า " นะโม "หมายถึง พระผู้มีพระภาค ทรงเป็นใหญ่กว่า มนุษย์ เทพยดา พราหมณ์ มาร ยักษ์ และสัตว์ทั้งปวง



กล่าวฝ่ายอสุรินทราหู เมื่อได้สดับพระเกียรติศัพท์ ของพระบรมศาสดา ก็มีจิตปรารถนา ที่จะได้ฟังธรรมของพระบรมศาสดาบ้าง แต่ด้วยกายของตนใหญ่โตเท่ากับโลก จึงคิดดูแคลน พระบรมศาสดา ว่า มีพระวรกายเล็กดังมด จึงอดใจรั้งรออยู่ พอนานวันเข้า พระเกียรติคุณของพระผู้มีพระภาคเจ้า ก็ยิ่งขจรขจายไปทั้งสามโลก จนทำให้อสุรินทราหูอดรนทนอยู่มิได้ จึงเหาะมาในอากาศ ตั้งใจว่าจะร่ายเวทย่อกาย เพื่อเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า ขอฟังธรรม แต่พอมาถึงที่ประทับ อสุรินทราหู กลับต้องแหงนหน้าคอตั้งบ่า เพื่อจะได้ทัศนาพระพักตร์พระบรมศาสดา พระผู้มีพระภาคจึงทรงแสดงพระสัทธรรม ชำระจิตอันหยาบกระด้าง ของอสุรินทราหู ให้มีความเลื่อมใสศรัทธา แสดงตนเป็นอุบาสกผู้ถือพระรัตนตรัยตลอดชีวิต แล้วกล่าวสรรเสริญพระบรมศาสดาว่า “ ตัสสะ ”แปลว่า ขอบูชา ขอนอบน้อม ขอนมัสการ



เมื่อครั้งที่ท้าวจาตุมหาราช ทั้ง ๔ ผู้ดูแลปกครองสวรรค์ชั้นแรก มีชื่อเรียกว่า ชั้น กามาวจร มีหน้าที่ปกครองดูแลประตูสวรรค์ทั้ง ๔ ทิศ พร้อมบริวาร ได้พากันเข้ามาเฝ้าพระบรมศาสดา แล้วทูลถามปัญหา พระบรมศาสดา ทรงแสดงธรรมตอบปัญหา แก่มหาราชทั้งสี่พร้อมบริวาร จนยังให้เกิดธรรมจักษุแก่มหาราชทั้งสี่ และบริวาร ท่านทั้ง ๔ นั้น จึงเปล่งคำบูชาสาธุขึ้นว่า “ ภะคะวะโต ” แปลว่า พระผู้มีพระภาค ทรงเป็นผู้จำแนกธรรมอันยิ่ง อย่างไม่มีใครยิ่งกว่า


อะระหะโต เป็นคำกล่าวสรรเสริญ ของท้าวสักกะเทวราช เจ้าสวรรค์ทั้ง ๖ ชั้น ท่านสถิตอยู่ ณ สวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ท้าวสักกะเทวราช ได้ทูลถามปัญหา แด่พระผู้มีพระภาค พระพุทธองค์ทรงตรัสปริยายธรรม และ ทรงตอบปัญหา จนทำให้ท้าวสักกะเทวราช ได้ดวงตาเห็นธรรม บรรลุเป็นพระโสดาปัตติผล จึงเปล่งอุทานคำบูชาขึ้นว่า " อะระหะโต " แปลเป็นใจความว่า อรหันต์ เป็นผู้ไกลจากกิเลส ไกลจากเครื่องข้องทั้งปวง



สัมมาสัมพุทธัสสะ เป็นคำกล่าวยกย่องสรรเสริญ ของท้าวมหาพรหม หลังจากได้ฟังธรรม จนบังเกิดธรรมจักษุ จึงเปล่งคำสาธุการ "สัมมาสัมพุทธัสสะ" หมายถึง ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน ด้วยพระองค์เอง ทรงรู้ดี รู้จริง รู้ยิ่ง กว่าผู้รู้อื่นใด
รวมเป็นบทเดียวว่า "นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ" แปลโดยรวมว่า ขอนอบน้อมแด่ พระผู้มีพระภาค อรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า พระองค์นั้น(3) ด้วยเหตุนี้โบราณท่านจึงว่า หากขึ้นต้นคาถาหรือบทสวดมนต์ใด ๆด้วยการตั้งนะโม ๓ จบ คาถานั้นจะมีความศักดิ์สิทธิ์ยิ่งนักด้วย เพราะเป็นคำสรรเสริญพระพุทธเจ้าที่มีเทพพรหมชั้นหัวหน้าได้กล่าวไว้ แรงครูหรือแรงแห่งเทพ-พรหม และแรงพระรัตนตรัยท่านจึงประสิทธิ์ให้สมประสงค์


พุทธัง สรณัง คัจฉามิ
ข้าพเจ้าขอถึงพระพุทธเจ้าเป็นที่พึ่งที่ระลึก
ธัมมัง สรณัง คัจฉามิ
ข้าพเจ้าขอถึงพระธรรมเป็นที่พึ่งที่ระลึก
สังฆัง สรณัง คัจฉามิ
ข้าพเจ้าขอถึงพระสงฆ์เป็นที่พึ่งที่ระลึก
ทุติยัมปิ พุทธัง สรณัง คัจฉามิ
แม้ครั้งที่สอง ข้าพเจ้าขอถึงพระพุทธเจ้าเป็นที่พึ่งที่ระลึก
ทุติยัมปิ ธัมมัง สรณัง คัจฉามิ
แม้ครั้งที่สอง ข้าพเจ้าขอถึงพระธรรมเป็นที่พึ่งที่ระลึก
ทุติยัมปิ สังฆัง สรณัง คัจฉามิ
แม้ครั้งที่สอง ข้าพเจ้าขอถึงพระสงฆ์เป็นที่พึ่งที่ระลึก
ตะติยัมปิ พุทธัง สรณัง คัจฉามิ
แม้ครั้งที่สาม ข้าพเจ้าขอถึงพระพุทธเจ้าเป็นที่พึ่งที่ระลึก
ตะติยัมปิ ธัมมัง สรณัง คัจฉามิ
แม้ครั้งที่สาม ข้าพเจ้าขอถึงพระธรรมเป็นที่พึ่งที่ระลึก
ตะติยัมปิ สังฆัง สรณัง คัจฉามิ
แม้ครั้งที่สาม ข้าพเจ้าขอถึงพระสงฆ์เป็นที่พึ่งที่ระลึก


บทสมาทานพระไตรสรณะคมณ์ : บทนี่สำคัญมาก กล่าวด้วยกำลังใจที่เข้าถึงเต็มเปี่ยม ขอพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่งสูงสุด ไม่มีที่พึ่งที่ยึดถืออื่นใดสูงกว่า เป็นปัจจัยให้ปิดทางนรกภูมิได้ เว้นแต่ได้กระทำอานันตนิรยะกรรมมาก่อน บทนี้ควรทำความเข้าใจและให้เข้าถึงให้ได้ ด้วยเป็นเส้นทางเดินที่ตรงต่อพระนิพพาน ไม่หลงทาง ผู้เข้าถึงจะได้เกิดในบวรพุทธศ่าสนาอีกหากยังไม่เข้านิพพานฉันใด บทนี้คนกล่าวกันเป็นประจำแต่หาได้เข้าใจเข้าถึงอย่างลึกซึ้งไม่ จะสังเกตว่าด้วยไม่เข้าถึงจุดนี้กัน การถือมงคลตื่นข่าวจึงเกิดขึ้นได้ตลอดในสังคมไทย…..บทนี้นี่เองที่หลวงปู่ใช้ภาวนาทำสมาธิจนกระทั่งค้นพบวิชาภูติพระพุทธเจ้า หรือวิชาเปิดโลกที่มีผู้อื่นตั้งชื่อวิชาให้ในภายหลังนั่นเอง

และเพื่อพลานิสงส์ยิ่งขึ้น และเป็นการตล่อมจิตให้ชินต่อการทรงคุณความดี หลวงปู่ดู่ท่านแนะนำให้มีการบวชจิตในขณะกล่าวการสมาทานพระไตรสรณะคมด้วย ดังนี้

" ในขณะที่เรานั่งสมาธิเจริญภาวนานั้น คำกล่าวว่า
พุทธัง สรณัง คัจฉามิ
ให้นึกถึงว่าเรามีพระพุทธเจ้าเป็นพระอุปัฌาย์ของเรา
ธัมมัง สรณัง คัจฉามิ...
ให้นึกว่าเรามีพระธรรมเป็นพระกรรมวาจาจารย์
สังฆัง สรณัง คัจฉามิ...
ให้นึกว่าเรามีพระอริยสงฆ์ เป็นพระอนุสาวนาจารย์

แล้วอย่าสนใจขันธ์ 5 หรือร่างกายเรานี้ ให้สำรวมจิตให้ดี มีความยินดีในการบวช ชายก็ตั้งจิตเป็นพระภิกษุ หญิงก็ตั้งจิตเป็นพระภิกษุณี อย่างนี้จะมีอานิสงส์สูงมาก จัดเป็นเนกขัมบารมีขั้นอุกฤษฎ์ทีเดียว "

เมื่อจะออกจากสมาธิก็ให้อธิษฐานกลับมาเป็นฆราวาสเหมือนเดิม การสวดมนต์ภาวนาของเราจะมีผลมากครับ อีกประการความชินของจิตในการทรงกำลังความเป็นพระจะทำให้เราปฏิบัตธรรมได้โดยง่ายขึ้น


บทอาราธนาศีล


1 ปาณาติปาตา เวรมณี สิกขาปะทังสมาธิยามิ
เจตนาเป็นเครื่องงดเว้นจากการฆ่า
2 อทินนาทา เวรมณี สิกขาปะทังสมาธิยามิ
เจตนาเป็นเครื่องงดเว้นจากการถือเอาสิ่งของที่เจ้าของไม่ได้ให้ด้วยอาการแห่งขโมยหรือโจร
3 อพรัมจริยา เวรมณี สิกขาปะทังสมาธิยามิ
เจตนาเป็นเครื่องงดเว้นจากการประพฤติผิดในพรหมจรรย์
4 มุสาวาทา เวรมณี สิกขาปะทังสมาธิยามิ
เจตนาเป็นเครื่องงดเว้นจากการพูดเท็จ
5 สุราเมรยะ มัชชปมาทัฎฐานา เวรมณี สิกขาปะทังสมาธิยามิ
เจตนาเป็นเครื่องงดเว้นจากการดื่มน้ำเมาอันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท
อิมานิ ปัญจสิกขา ปทานิ สมาธิยามิ(๓ ครั้ง)

ข้าพเจ้าขอทรงไว้ซึ่งศีลทั้งห้าประการด้วยจิตตั้งมั่น
สีเลนะ สุคะติง ยันติ สีเลนะ โภคะสัมปทา
ศีลนำความสุขมาให้ ศีลนำมาซึ่งโภคทรัพย์
สีเลนะ นิพพุติง ยันติ ตัสมา สีลัง วิโส ธะเย
ศีลคือหนทางสู่พระนิพพาน

บทอาราธนาศีล : เป็นกุศโลบายให้คนชินต่อการกล่าวศีล เพื่อการรักษาศีลอย่างแท้จริงในอนาคต อีกทั้งยังเป็นการเกิดพลานิสงส์อย่างมาก เพราะถือว่าตลอดเวลาที่เราสวดมนต์อยู่นี่เรามีศีลบริสุทธิ์จนกว่าเราจะล่วงศีลด้วยความจำเป็นต่าง ๆเช่น ด้วยอาชีพ ในส่วน “อพรัมจริยา เวรมณี…” นั้นเพราะในช่วงที่สวดมนต์อยู่นั้น เราไม่ได้ถูกเนื้อต้องตัวกับเพศตรงข้ามอยู่แล้ว ท่านจึงในถือพรหมจรรย์เสีย เพื่อบุญที่มากกว่า แต่เมื่อเราสวดมนต์เสร็จแล้วหากต้องถูกเนื้อต้องตัวเพศตรงข้ามด้วยฆราวาสวิสัยก็ย่อมทำได้ ศีลจะเลื่อนมาที่กาเมสุมิจฉาฯแทน เรื่องศีลนี้ความจริงมีถึง 3 ขั้น ตั้งแต่ขั้นต้นจนถึงปรมัติเลยทีเดียว


บทอาราธนาพระ


นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุท ธัสสะ(๓ ครั้ง)
ข้าพเจ้า ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาค อรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
พุทธัง อาราธนานัง กะโรมิ
ข้าพเจ้าขออาราธนาซึ่ง พระพุทธเจ้า
ธัมมัง อาราธนานัง กะโรมิ
ข้าพเจ้าขออาราธนาซึ่ง พระธรรมเจ้า
สังฆัง อาราธนานัง กะโรมิ
ข้าพเจ้าขออาราธนาซึ่ง พระสงฆ์เจ้า





บทอาราธนาพระรัตนตรัยนี้เป็นการอัญเชิญพระบารมีของพระรัตนตรัยมาสถิตอยู่ที่กายและมโนแห่งเราอยู่ทุกลมหลายใจเข้า-ออก อยู่ทุกขณะจิต ให้เราไม่ห่างจากพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เพื่อการเข้าถึงพระไตรสรณะคม เรื่องการเข้าถึงพระไตรสรณะคมนี่ถือว่าจำเป็นมาก เพราะปิดอบายได้ เราจะไม่ลงนรก ผู้เขียนเคยถามหลวงตาว่า แล้วชาติหน้าเราจะต้องทำใหม่ไหม หลวงตาท่านว่า ไม่ต้อง เข้าถึงชาตินี้แล้วอารมณ์เก่าจะมี จะเข้าถึงตลอดทุกชาติ ปิดอบายตลอดทุกชาติจนกว่าจะนิพพาน



คาถาหลวงปู่ทวด

น้อมระลึกถึงหลวงปู่ทวด แล้วว่าคาถาดังนี้
นะโม โพธิสัตโต อาคันติมายะ อิติภะคะวา (๓ ครั้ง)
ข้าพเจ้าขอนอบน้อมแด่ เจ้าประคุณสมเด็จหลวงปู่ทวด ผู้เป็นพระโพธิสัตว์ เป็นผู้มีโชคซึ่งเข้ามาสถิตอยู่ในตัวของข้าพเจ้านี้ (4)



คาถาหลวงปู่ดู่

น้อมระลึกถึงหลวงปู่ดู่ แล้วว่าคาถาดังนี้
นะโม โพธิสัตโต พรหม ปัญโญ (๓ ครั้ง)
ข้าพเจ้าขอนอบน้อมแด่พระพรหม ปัญโญ โพธิสัตว์



หลวงตาม้าท่านเมตตาเล่าฟังว่า ถ้าจะศึกษาและปฏิบัติธรรมตามแนวของหลวงปู่ดู่ ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจในชื่อของท่านก่อน คือพระพรหมปัญโญมีความหลายเช่นไร

โดยคำว่า “พรหมปัญโญ” มีความหมายถึง การเป็นผู้มีปัญญาเยี่ยงพระพรหม นั่นเอง ในการที่จะมีปัญญา เยี่ยงพระพรหม ได้นั้นต้องสร้างความเป็นพระพรหมให้เกิดขึ้นแก่เราก่อน โดยการปฏิบัติตามหลักของพรหมวิหาร 4 ประกอบด้วยเมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา และพยายามทรงอารมณ์ตามหลักของพรหมวิหารให้ได้ก่อน จึงจะได้ชื่อว่าเป็นผู้ปฏิบัติตามแนวของหลวงปู่ดู่พรหมปัญโญ



บทขอขมาพระรัตนตรัย


โยโทโส โมหะจิตเต นะพุทธัสมิง ปาปะกะโต มะยา ขะมะถะเม กะตัง โทสัง สัพพะปาปัง วินัสสันตุ
การกระทำอันหลงผิดอันใด ซึ่งกระทำล่วงเกินแล้วในคุณพระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าขอกล่าวคำขอขมา เพื่อการบาปกรรมทั้งหลายทั้งปวงจงสูญสิ้นไป
โยโทโส โมหะจิตเต นะธัมมัสมิง ปาปะกะโต มะยา ขะมะถะเม กะตัง โทสัง สัพพะปาปัง วินัสสันตุ
การกระทำอันหลงผิดอันใด ซึ่งกระทำล่วงเกินแล้วในคุณพระธรรมเจ้า ข้าพเจ้าขอกล่าวคำขอขมา เพื่อการบาปกรรมทั้งหลายทั้งปวงจงสูญสิ้นไป
โยโทโส โมหะจิตเต นะสังฆัสมิง ปาปะกะโต มะยา ขะมะถะเม กะตัง โทสัง สัพพะปาปัง วินัสสันตุ
การกระทำอันหลงผิดอันใด ซึ่งกระทำล่วงเกินแล้วในคุณพระสงฆ์เจ้า ข้าพเจ้าขอกล่าวคำขอขมา เพื่อการบาปกรรมทั้งหลายทั้งปวงจงสูญสิ้นไป

บทนี้มีความสำคัญมาก ด้วยกรรมไม่ดีที่เกิดแก่พระรัตนตรัยนั้น เป็นอุปสรรคอย่างมากต่อการปฏิบัติธรรม ต้องหมั่นดูกริยาของตัวเองมิให้ก้าวล่วงต่อพระรัตนตรัยอยู่ตลอดเวลา และให้คอยหมั่นขอขมาทุกวัน เนื่องเพราะบางทีเราอาจเผอเรอล่วงเกินทั้งโดยเจตนา หรือไม่เจตนา ทั้งเล็กน้อยทั้งใหญ่หลวง กุศโลบายข้อนี้คล้ายคลึงกับการต่อศีลของพระ หรือการปลงอาบัติของพระ ทั้งนี้เพื่อให้กำลังใจ ให้รู้ตัว ให้นึกรู้ตัวตาม ให้เกิดสติอยู่ทุกขณะจิตนั่นเอง เพื่อในกาลต่อไปจะได้ระมัดระวังตัวไม่ทำผิดอีกนั่นเอง


224


"วันหนึ่งสมเด็จท่านพามาที่วิมาน นิพพานที่มันกว้างลิ่ว และบ้านนี่นะนานๆจะได้ไปสักที ส่วนมากก็ไปนั่งป๋ออยู่ที่วิมานพระพุทธเจ้า ถ้าเราไปอยู่ที่นั่นแล้ว เวลาเราตายมันจะไปไหน อาตมาเป็นคนเกาะ พุทธานุสสติกรรมฐานเป็นอารมณ์ตลอดเวลา ถ้าวันไหนไม่ได้เห็นพระพุทธเจ้าวันนั้นตายดีกว่า มันจะเป็นยังไงก็ตาม ยิ่งป่วยยิ่งไข้ยิ่งหนัก ป่วยนิดเดียวจิตจะไม่ยอมคลาดพระพุทธเจ้า เราถือว่าถ้าเราเกาะพระพุทธเจ้าอยู่ มันจะตายลงนรกก็ยอม ท่านคงไม่ยอมให้ลง แล้วท่านก็พาไปดูที่วิมาน ชี้ให้ดูบอกว่า "คณะของคุณมันมาก เพราะคุณใช้เวลาบำเพ็ญบารมีถึง ๑๖ อสงไขยกับแสนกัป และเป็นฝ่ายวิริยาธิกะ"
เป็นอันว่าคณะของเราที่ตามกันมาเป็นระยะ ไอ้ที่เขาหนีไปนิพพานแล้วนับไม่ถ้วน พวกนั้นขี้ขลาดสู้เราไม่ได้ ไอ้เราต้องมาตกระกำลำบาก ช่วยกันวิ่งโน่นวิ่งนี่ ไอ้ที่จะกินก็ยังไม่มี แต่ยังพยายามหาเลี้ยงคนอื่น ใช่ไหม....

วันนี้มีเวลาลองสอบดูนิดหนึ่ง ถามว่า "คณะของข้าพระพุทธเจ้ามีกี่สาย จากหลังบ้านไปนี่"
ท่านบอกว่า "มี ๓๗ สาย"
ถามว่า "สายหนึ่งมีระยะยาวเท่าไร....?"

ท่านบอกว่า "สองแสนโยชน์ของนิพพาน"
แล้วก็ไปดูเห็นหมดทั้ง ๓๗ สาย สองฝั่งของถนนวิมานเต็มหมด มันไม่มีจุดพร่อง สายหนึ่งประมาณ ๒ แสนโยชน์ แต่ละสาย ๓๗ คูณด้วย ๒ วิมานมันจะตั้งสายละสองฝั่งถนน ๓๗ ถนนยาวเหยียด ถนนกลายเป็นแก้วแพรวเป็นประกายสวยสดงดงามไปหมดบอกไม่ถูก วิมานแต่ละหลังก็แพรวพราวหาที่ติไม่ได้เลย หัวหน้าทีมตั้งบ้านใหญ่อยู่ด้านหน้า ต่อไปก็มีถนนซอยเข้าไป

ทางด้านของนิพพานนี่เขาอยู่กันเป็นกลุ่มๆ อย่างกลุ่มของพระกกุสันโธ ท่านก็อยู่กลุ่มหนึ่ง วิมานของพระพุทธเจ้าก็ตั้งข้างหน้า บริวารก็เป็นสายอยู่ข้างหลัง พระโกนาคม ท่านก็อยู่กลุ่มหนึ่ง พระพุทธกัสป ก็ตั้งอยู่จุดหนึ่ง ของสมเด็จพระสมณโคดม ท่านก็ตั้งอยู่จุดหนึ่ง

ตอนนี้ของอาตมาก็เป็นจุดที่แปลก วิมานตั้งอยู่ในเกณฑ์เรียงของพระพุทธเจ้า ใหญ่คล้ายคลึงกัน แต่สวยสู้ของท่านไม่ได้ เพราะเราไม่ใช่พระพุทธเจ้า แต่ในฐานะที่ปรารถนาพุทธภูมิมาสิ้นระยะเวลา ๑๖ อสงไขยกับแสนกัปพอดี แต่ว่าต้องเกิดไปอีก ๗ ที ทนไม่ไหวไม่เอา แค่นี้พอ รอเกิดอีก ๗ ครั้ง ก็ในกัปนี้แหละ และต้องไปรอองค์ที่ ๒๒ หลังจากพระศรีอาริย์ ต้องไปนั่งรออยู่ชั้นดุสิต ไม่ไหวเปิดดีกว่า ฉะนั้นกลุ่มของพวกเราจึงมีวิมานตั้งอยู่ในระหว่างกลุ่มของพระพุทธกัสป และกลุ่มของพระสมณโคดม

เป็นอันว่าหาจุดพร่องไม่ได้ตามสายของพวกเรา วิมานสวยไม่เต็มที่มีอยู่มากพอสมควร แต่ก็ไม่เต็มสาย ที่วิมานสวยไม่มากก็เพราะว่า จิตของบุคคลใดถ้ารักพระนิพพาน วิมานจะปรากฎที่นั่น แต่ถ้าจิตใจของท่านผู้นั้นยังไม่ถึงอรหัตผลเพียงใด วิมานจะสวยไม่เต็มที่ ไอ้จิตกับวิมานมันสวยเท่ากัน เดินไปจึงรู้ เป็นอันว่าวิมานมันนั่งคอยอยู่ เป็นอันว่าคนที่ติดตามมาไม่พลาดพระนิพพาน
สมเด็จท่านตรัสต่อไปว่า


ทุกคนที่เอาจริง ที่ตามแกมาตั้ง ๑๖ อสงไขยกับแสนกัปมันมีที่อยู่กันหมดแล้ว คำว่าถอยหลังไม่มี ประการที่สองให้เตือนไว้ว่า

ในระหว่างชีวิตที่ยังไม่ตาย
ใครจะปฏิบัติดีบ้างปฏิบัติชั่วบ้าง ขณะใดที่เราสร้างความดีเพราะจิตมันดี แต่บางครั้งจิตมันจะเศร้าหมองลงไปให้มีแต่ความวุ่นวาย นั่นต้องถือว่าเป็นเรื่องของกรรมที่เป็นอกุศลของชาติก่อนเข้ามาบันดาล แต่เรื่องนี้เราจะแพ้มันในระยะต้น เวลาตายน่ะไม่มีหรอก มันจะทำร้ายได้ชั่วคราวเท่านั้น

เราจะให้มันในขณะที่มีชีวิตทรงอยู่เท่านั้น ถ้าใกล้ตายจริงๆ ไม่สามารถจะสังหารจิตเราได้ เมื่อใกล้จะถึงความตาย พอจิตเข้าถึงจุดนั้น ไอ้กิเลสไม่สามารถเข้ามายุ่งได้เลย เพราะว่ากรรมที่เป็นกุศลใหญ่ที่บำเพ็ญมาแล้วจะเข้าไปกีดกันหมด กรรมที่เป็นอกุศลเข้าไม่ถึง อาตมารับรองผลว่าทุกคนไม่ไร้สติ และไม่ไร้ความดีที่ปฎิบัติ

เพราะอะไรเพราะไปตรวจบ้านมาแล้วสบายใจ หมดเรื่องหมดราวเสียที ตามธรรมดาเราจะตำหนิกัน บางคนเราก็เห็นว่ามานั่งกรรมฐานกัน มาศึกษากัน กลับไปก็ดีบ้างไม่ดีบ้าง เอะอะโวยวาย ก็ถือว่าเป็นการชำระหนี้ชำระสินกันไป ถือว่าช่างมันไว้ ท่านบอกว่าไปบอกเขานะ เพื่อความมั่นใจ

เป็นอันว่าทุกคนที่มีวิมานอยู่ที่นิพพานละก็ควรจะภูมิใจว่าเราเข้าถึงกิจสูงสุดในพระพุทธศาสนาแล้ว ขึ้นชื่อว่าการถอยหลังกลับไปสู่อบายภูมิย่อมไม่มี ถึงแม้ว่าในชาตินี้เราจะประมาทพลาดพลั้งในด้านอกุศลกรรมเป็นธรรมดา ก็แต่ว่าจิตเราก็ต้องหน่วงเหนี่ยวเอาไว้ ถือว่าขันธ์ ๕ ไม่มีความหมายสำหรับเรา ว่าช่างมันๆเอาไว้ อารมณ์ดีก็ช่างมัน เวลาคันก็ช่างเผือก หมดเรื่องหมดราว อย่างนี้สลับกันไปสลับกันมา คำว่า ฌาน ก็คือ อารมณ์ชิน จิตมันชินอยู่อย่างนั้น จิตมันก็ตั้งอยู่ในอารมณ์พระนิพพานโดยเฉพาะ จิตก็เข้าถึงพระโสดาบัน เรื่องสกิทาคา อนาคา อรหันต์ เป็นของไม่ยาก ยากอยู่ที่พระโสดาบันเท่านั้น

สมเด็จท่านตรัสเรื่องพระศาสนาว่า
"การขึ้นคราวนี้กว่าจะลงของพระพุทธศาสนา คนที่จะบรรลุมรรคผล คราวนี้นับโกฏิเหมือนกัน และจะไปโทรมเอา พ.ศ. ๔๕00 ช่วงนี้จะขึ้นเรื่อยๆต่อไปไม่ช้าคำว่าพระนิพพานจะพูดกันติดปาก ชินเป็นของธรรมดา จะเห็นเป็นเรื่องปกติ"

ถ้าเราจะถอยหลังไปจากนี้ ๒0 ปี จะเห็นว่าจิตใจของคนเวลานี้ต่างกันเยอะ พูดถึงด้านความดีนะ เวลานี้ฟังแล้วทุกคนอยากไปนิพพาน สังเกตที่จดหมายมาบอกอยากจะไปนิพพานทั้งนั้น

และจากนี้ไปอีกไม่ถึง ๒0 ปี จะมีพระอริยเจ้านับแสนไม่ใช่ฉันสอนเป็นผู้เดียวหรอกนะ คือว่าเขาสอนกันโดยทั่วๆไป แต่ว่ากลุ่มเราจะมาก หมายถึงว่าอาจจะไม่มีตัวมาแต่มีหนังสือมีเทป กาลเวลามันเข้ามาถึง เวลานี้คนที่เข้าถึงมุมง่ายแล้ว กำลังใจมันตีขึ้นมา ถามว่าตอนก่อนทำไมไม่ให้สอนแบบนี้ ท่านบอกว่า คนมันหาว่าง่ายเกินไป มันเลยไม่เอาเลย จะต้องยากๆ แต่พวกของแกไม่มีใครเหลือ ท่านชี้จุดเลย ก็เลยดีใจ แล้วท่านก็บอกว่า

"ต่อไปภาระมันจะหนัก ต้องวางพื้นฐานไว้"
ก็ถามว่า "พื้นฐานจากพระองค์อื่นไม่มีหรือ"
ท่านก็บอกว่า "พระองค์อื่นเขาก็มีความสามารถ ไม่ใช่ไม่มี แต่สงสัยว่าคนที่เรียนกรรมฐาน ๔0 กับมหาสติปัฏฐานจนครบกันนี่มีกี่องค์ หมายถึงว่าทำได้ฌาน ๔ หมด"
บอก "ไม่เคยถามชาวบ้านเขาเลย" ท่านบอก "ไม่มีหรอก ปัจจุบันนี้ ไม่มีใครเขาจบ มันเหลืออยู่แกคนเดียว ท่านปานก็ตายเสียแล้ว"

ท่านบอกว่า "ผู้ที่จะทรงกรรมฐาน ๔0 นี่ ต้องเป็นฝ่ายพุทธภูมิถึงขั้นปรมัตถบารมี ถ้ายังไม่เต็มปรมัตถบารมีนี่ยังไม่ได้กรรมฐาน ๔0 ครบ พระโพธิสัตว์ต้องเรียนวิชาครู"

ท่านก็ถามว่า "คุณทำไมไม่หมั่นขึ้นมา"
ก็บอกว่า "เหนื่อยเต็มที ร่างกายเพลียมากก็ต้องชำระตัว เกรงว่าจะประมาท"
ท่านถามว่า "คนอย่างแกยังมีคำว่าประมาทหรือ....?"
เลยบอกท่านว่า มี
ท่านถามว่า "ทำไมว่ามี....?"
ก็เลยบอกว่า "ยังไม่รู้ตัวว่าดี"
ท่านบอกว่า "เออ ใช้ได้"

คือว่าถ้ารู้ตัวว่าดีเมื่อไรก็เลวเมื่อนั้น รู้ตัวว่าเราวิเศษแล้วเราประเสริฐแล้ว เราสำเร็จแล้ว ทุกข์มันก็เกิด แต่ว่าอารมณ์จิตถึงระดับนี้แล้ว มันก็คิดงั้นไม่ได้แล้วนะ เรื่องตัวนี้ชำระกันอยู่ตลอดวันเป็นปกติ คำว่าชำระก็หมายความว่า พิจารณาว่าร่างกายไม่มีความหมาย โลกนี้ไม่มีความหมาย คำว่าไม่มีความหมายมันติดอารมณ์
สมเด็จท่านตรัสต่อไปว่า

"งานสาธารณประโยชน์ มันเป็น ปรมัตถบารมี อย่างสูงสุด อันนี้จะทำให้เร็วที่สุด ทำให้เร่งรัดพวกเราให้เร็วที่สุด ท่านบอกว่าให้คุณบอกลูกหลานไว้ จะได้รู้ว่าเป็นจุดที่มีกำลังแรงให้เข้าถึงได้เร็วที่สุด เป็นการบั่นทอนไอ้กฎของกรรมต่างๆ ที่มันคอยกั้นขวางเรา งานนี้มันเป็นเมตตากฎของกรรมมันก็ดันไม่อยู่"

ต่อไปเรื่อง "สมเด็จองค์ปฐม" ซึ่งทรงพระนามว่า พระพุทธสิกขี พระพุทธเจ้านี่มีชื่อซ้ำกันนะ อย่าง เรวัติ ก็มีชื่อซ้ำกัน พระพุทธสิกขีนี่องค์ปฐมจริงๆ
วันนั้นพบท่านเข้า พบจริงๆสมัยที่ พล.อ.ท.อาทร โรจนวิภาค อยู่ที่นครราชสีมา วันนั้นไปนั่งกรรมฐานกันเห็นพระพุทธเจ้าท่านเยอะ ยืนสองแถวพนมมือ เราคิดว่าพระพุทธเจ้าไหว้ใครไม่มี ใช่ไหม...ก็เลยถามหลวงพ่อปานว่า มีเรื่องอะไรกัน ท่านบอกว่า
"ประเดี๋ยวพระพุทธเจ้าองค์ปฐมจะเสด็จ"

องค์ปฐม หมายถึงองค์แรกสุด ไม่มีครูสำหรับท่านเลย ต้องบำเพ็ญบารมีอย่างหนัก ต้องเข้มแข็ง เดี๋ยวท่านเดินมากลางพระพุทธเจ้า ยืนสองข้างพนมมือตลอดสวยสว่าง จิตเราเลยสว่างเห็นอะไรชัดหมด"


จากหนังสือ "หลวงพ่อตอบปัญหาธรรม ฉบับพิเศษ เล่ม ๓"
โดย พระราชพรหมยาน วัดท่าซุง จ.อุทัยธานี
 
อ่านจบแล้วอย่าลืมอุทิศส่วนกุศลด้วยนะครับ


คำอุทิศส่วนกุศล
โดยพระราชพรหมยาน (หลวงพ่อฤๅษีลิงดำ)
วัดจันทาราม(ท่าซุง) อ.เมือง จ.อุทัยธานี

อิทังปุญญะผะลังผลบุญใดที่ข้าพเจ้าทั้งหลายได้บำเพ็ญแล้ว ณ โอกาสนี้ข้าพเจ้าทั้งหลายขออุทิศส่วนกุศลนี้ให้แก่เจ้ากรรมนายขอเจ้ากรรมนายเวรทั้งหลายจงโมทนาส่วนกุศลนี้ขอจงอโหสิกรรมให้แก่ข้าพเจ้าตั้งแต่วันนี้ ตราบเท่าเข้าสู่พระนิพพาน

และข้าพเจ้าทั้งหลาย ขออุทิศส่วนกุศลนี้ ให้แก่เทพเจ้าทั้งหลายที่ปกปักรักษาข้าพเจ้าและเทพเจ้าทั้งหลายทั่วสากลพิภพ และพระยายมราชขอเทพเจ้าทั้งหลาย และพระยายมราชจงโมทนาส่วนกุศลนี้ขอจงเป็นสักขีพยานในการบำเพ็ญกุศล ของข้าพเจ้าในครั้งนี้ด้วยเถิด

และขออุทิศส่วนกุศลนี้ ให้แก่ท่านทั้งหลาย ที่ล่วงลับไปแล้ว ที่เสวยความสุขอยู่ก็ดีเสวยความทุกข์อยู่ก็ดี เป็นญาติก็ดี มิใช่ญาติก็ดี ขอท่านทั้งหลายจงโมทนาส่วนกุศลนี้พึงได้รับประโยชน์ ความสุข เช่นเดียวกับ

225

พระญาณสิทธาจารย์
(หลวงปู่สิม พุทฺธาจาโร)
สำนักสงฆ์ถ้ำผาปล่อง
อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่


การสวดมนต์จึงเป็นการภาวนาวิธีหนึ่งที่ หลวงปู่สิม พุทฺธาจาโรท่านอบรมลูกศิษย์ให้ฝึกฝนจนเกิดความชำนิชำนาญ
นอกเหนือจากการเดินจงกรมและนั่งสมาธิภาวนา
หลวงปู่ย้ำว่า อานิสงส์ของการสวดมนต์ทำให้จิตใจตั้งมั่นได้เช่นเดียวกัน
แต่ต้องสวดด้วยความตั้งอกตั้งใจจริงๆ ฝึกให้คล่อง ออกเสียงให้ชัดเจน

“ ไม่ใช่สวดเล่นๆ สวดเปล่าๆ สวดให้เป็นสิริมงคลแก่ตนและหมู่คณะ
บางแห่งท่านก็กล่าวไว้ว่า สวดมนต์ภาวนา สวดมนต์ก็เป็นภาวนาทำให้จิตใจตั้งมั่นได้
คือ เมื่อสวดไปจิตก็ตามไปพิจารณา ทำให้จิตใจสงบระงับได้

แม้บางครั้งบางอย่างเราจะไม่รู้ความหมายก็ตาม แต่ในนั้นมันเป็นอุบายธรรม เป็นธรรมมงคล เมื่อเราสวดไปไม่รู้ ก็จะรู้ภายหลัง
เพราะอะไรทุกอย่าง ถ้าสวด ถ้าว่า ถ้ากล่าวไปบ่อยๆ ความเคยชิน ความชำนิชำนาญมันก็เกิดมีขึ้น
ถ้าเราอยากจะรู้จะเข้าใจ ก็มีในสวดมนต์แปล

สวดมนต์แปลนั้น เพิ่นแปลเอาไว้ อธิบายไว้ ถ้าเราอ่านก็จดจำไปในนั้น ก็เป็นมงคล
ฉะนั้น มงคลอันนี้นั้นอยู่ที่เจริญ (สวด, ระลึกถึง) ไม่ใช่ว่ามงคลอยู่ที่ธรรม มีตู้พระธรรมแล้วนั่งเฝ้าพระธรรมอยู่
ไม่ไหว้พระสวดมนต์ไม่ภาวนา ก็ได้ผลน้อยเต็มที”

หน้า: 1 ... 13 14 [15] 16