เว็บพุทธภูมิ: พุทธภูมิ พระโพธิสัตว์ การบำเพ็ญบารมี



แสดงกระทู้

This section allows you to view all posts made by this member. Note that you can only see posts made in areas you currently have access to.


Topics - Webmaster

หน้า: 1 ... 11 12 [13] 14 15 16
181


ชมวิดีโอพุทธประวัติตอนพาพระนันทะท่องสวรรค์
http://youtu.be/kg2assLStZM

“ความรักไม่มีที่สิ้นสุด ความรักทำให้เกิดความทุกข์ และความเศร้าโศกเสียใจไม่มีที่สิ้นสุด อนึ่ง สตรีที่มีความงามก็ไม่มีที่สิ้นสุด คนใหม่ย่อมดูงามกว่าคนเก่า คนนั้นก็ดูสวยดี แต่คนนี้ก็งามกว่า จึงเป็นสิ่งที่หาที่สุดมิได้”

พระนันทเถระ เอตทัคคะในทางผู้สำรวมอินทรีย์

พระนันทศากยะ เป็นพระราชโอรสของพระเจ้าสุทโธทนะ กับ พระนางมหาปชาบดีโคตรมี พระน้านาง เป็นพุทธอนุชาร่วมพระบิดาเดียวกัน เมื่ออยู่ในครรภ์พระมารดา บรรดาพระประยูรณาติปรารถนาจะได้เห็น ต่างก็มีความปีติยินดีร่างเริงบันเทิงใจ เมื่อประสูติออกมาจึงขนานนามว่า “นันทกุมาร” เมื่อเจ้าชายสิทธัตถะ เสด็จออกบรรพชา บำเพ็ญเพียร ได้ตรัสรู้พระสัพพัญญุตญาณแล้ว เสด็จโปรดพระประยูรญาติ ณ พระนครกบิลพัสดุ์ และในวันที่ ๔ แห่งการเสด็จโปรดพระประยูรญาตินั้น พระบรมศาสดาทรงรับอาราธนาเข้าไปรับอาหารบิณฑบาตในนิวาสสถานแห่ง นันทกุมาร เนื่องในการอาวาหมงคลอภิเษกสมรส ระหว่างนันกุมารกับนางชนปทกัลยาณี

อุ้มบาตรตามเสด็จ

ครั้งเสร็จภัตกิจแล้ว พระพุทธองค์ประทานบาตรส่งให้นันทกุมารถือไว้ตรัสมงคลกถาแก่พระประยูรญาติในสมาคมนั้นโดยสมควรแล้ว เสด็จลุกจากอาสนะ เสด็จลงจากนิวาสสถานโดยมิได้รับบาตรคืนจากนันทกุมาร ส่วนนันทะเองก็ไม่กล้ากราบทูลเตือนให้ทรงรับบาตรคืน ด้วยความเคารพในพระเชษฐาเป็นอย่างยิ่ง ได้แก่ถือบาตรตามเสด็จลงมาโดยมิได้ตรัสอะไร ได้แต่นึกอยู่ในใจว่าพระองค์คงจะรับบาตรคืนเมื่อถึงพื้นล่าง เมื่อพระองค์ไม่ทรงรับบาตร จึงดำริต่อไปว่าเมื่อเสร็จถึงประตูพระราชวังก็คงจะทรงรับ ครั้นเห็นว่าไม่ทรงรับก็ถือบาตรตามเสด็จไปเรื่อย แล้วก็ดำริอยู่ในใจว่า ถึงตรงนั้นก็คงจะทรงรับ ถึงตรงนี้ก็คงจะทรงรับ แต่พระพุทธองค์ก็มิทรงรับบาตรคืนเลย ส่วนนางชนปทกัลยาณี เมื่อได้ทราบจากนางสนมว่า พระผู้มีพระภาค ทรงพานัทกุมารไปด้วยก็ตกพระทัย รีบเสด็จตามไปโดยเร็วแล้วร้องทูลสั่งว่า “ข้าแต่พระลูกเจ้า ขอพระองค์รีบเสด็จกลับโดยด่วน”จำใจบวชนันทราชกุมาร ได้สดับเสียงของนางแล้วประหนึ่งว่า เสียงนั้นเข้าไปขวางอยู่ในหฤทัย ให้รู้สึกปั่นป่วนอยากจะหวนกลับ แต่ก็กลับไม่ได้ ด้วยมีความเคารพในพระบรมศาสดาเป็นอย่างมาก ต้องทนฝืนพระทัยถือบาตรตามเสด็จจนถึงนิโครธาราม

เมื่อเสด็จถึงพระคันธกุฏี พระผู้มีพระภาค ทรงรับบาตรคืนแล้วตรัสแก่นันทกุมารว่า “นันทะ เธอจงบรรพชาเถิด”สำหรับนันทกุมารนั้น เรื่องการบวชไม่มีอยู่ในความคิดเลยแม้สักนิดหนึ่ง ภายในดวงจิตคิดคำนึงถึงแต่ถ้อยคำและพระพักตร์ของนางชนปทกัลยาณีที่มาร้องสั่งเตือนให้รีบเสด็จกลับ แต่เพราะความเคารพยำเกรงในพระเชษฐาเป็นยิ่งนักไม่สามารถจะขัดพระบัญชาได้ จึงจำใจรับพระพุทธฏีกา บวชในวันนั้นพระนันทะ นับตั้งแต่บวชแล้ว ในดวงจิตคิดคำนึงถึงแต่นางชนปทกัลยาณีเจ้าสาวของตนที่เพิ่งจะแต่งงานกัน แล้วก็ต้องจำพรากจากกันด้วยความเคารพในพระศาสดา ไม่มีแก่ใจที่จะประพฤติพรตพรหมจรรย์ มีแต่ความกระสันที่จะลาสิกขาอยู่ตลอดเวลา ไม่ทราบว่าจะทำอย่างไร ก็ได้แต่เล่าความในใจนั้นให้เพื่อสหธรรมมิด้วยกันฟัง

เปรียบอดีตเจ้าสาวเหมือนลิงแก่

พระบรมศาสดา ทรงทราบความจึงทรงพาพระนันทะเที่ยวจาริกไปยังสถานที่ต่าง ๆ เพื่อให้พระนันทะได้เห็นสตรีที่มีรูปร่างต่าง ๆ กัน ตั้งต้นแต่ให้เห็นสิ่งที่อัปลักษณ์ที่สุด โดยให้ได้เห็นนางลิงแก่ที่หูแหว่ง จมูกโหว่ และหางขาด นั่งอยู่บนตอไม้ที่ไฟไหม้ดำเป็นตอตะโก จนกระทั่งให้ได้เห็นนางเทพอัปสรบนสวรรค์ชั้นต่าง ๆ ที่สวยโสภายิ่งนักจนหาที่สุดมิได้ ทำให้เกิดความกระสันอยากได้นางเทพอัปสรเหล่านั้นมาเป็นคู่ครอง พระบรมศาสดาทรงทราบวาระจิตของท่าน จึงตรัสถามว่า “นันทะ เธอมีความเห็นอย่างไร ระหว่างนางเทพอัปสร เหล่านี้ กับนางชนปทกัลยาณี เจ้าสาวของเธอ ?” “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์เห็นว่า นางชนปทกัลยาณีนั้นเปรียบเสมือนนางลิงแก่ที่นั่งอยู่บนตอไม้ จะนำมาเปรียบเทียบกับนางเทพอัปสรเหล่านี้มิได้เลย พระเจ้าข้า” พระบรมศาสดา ทรงรับรองว่า ถ้าเธอตั้งใจประพฤติพรหมจรรย์แล้ว เธอก็จะได้นางเทพ อัปสรเหล่านั้นตามต้องการ

ตั้งแต่นั้นมาพระนันทะได้ตั้งใจประพฤติพรหมจรรย์ เพื่อหวังจะได้ นางเทพอัปสรตามที่พระบรมศาสดา ทรงรับรองไว้ เพื่อนภิกษุทั้งหลายทราบความแล้ว ต่างก็พา กันพูดจาเยาะเย้ยว่า “พระนันทะ บวชเพราะรับจ้างบ้าง พระนันทะ ประพฤติพรหมจรรย์ เพื่อหวังจะได้นางเทพอัปสรบ้าง” จนทำให้พระนันทะเกิดความละอายใจไม่กล้าเข้าสมาคมกับเพื่อนพระภิกษุด้วยกันและเกิดความคิดขึ้นว่า “ความรักไม่มีที่สิ้นสุด ความรักทำให้เกิดความทุกข์ และความเศร้าโศกเสียใจไม่มีที่สิ้นสุด” “อนึ่ง สตรีที่มีความงามก็ไม่มีที่สิ้นสุด คนใหม่ย่อมดูงามกว่าคนเก่า คนนั้นก็ดูสวยดี แต่คนนี้ก็งามกว่า จึงเป็นสิ่งที่หาที่สุดมิได้” ท่านจึงตัดสินใจปลีกตัวออกจากหมู่ภิกษุตั้งใจประพฤติพรหมจรรย์อุตสาหะเจริญสมาธิ กรรมฐาน ตั้งจิตไว้โดยไม่ประมาท ไม่นานนักก็ได้บรรลุพระอรอัตผล เป็นพระขีณาสพในพระพุทธศาสนา

จากนั้นท่านได้กลับมากราบทูลพระบรมศาสดาให้ทรงทราบว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ กิจอันใดที่พระองค์ทรงพระมหากรุณาจะช่วยสงเคราะห์ให้ได้ นางฟ้านั้น กิจอันนั้นข้าพระองค์เปลื้องปลดจนหมดสิ้นสมประสงค์แล้ว พระเจ้าข้า” พระบรมศาสดา ตรัสอนุโมทนาและตรัสธรรมกถาว่า “อันเปือกตมคือกามคุณ และเสี้ยนหนามคือกองกิเลส อันบุคคลใดกำจัดทำลายได้แล้ว บุคคลนั้นชื่อว่ามีใจไม่หวั่นไหวในสุขและทุกข์ทั้งปวงอยู่มาวันหนึ่ง เพื่อนภิกษุถามท่านว่า “เมื่อก่อนนี้ท่านพูดว่ามีจิตปรารถนาจะสึก มาบัดนี้ ท่านยังปรารถนาอย่างนั้นอยู่หรือไม่ ?" ท่านตอบว่า “ไม่มีความปรารถนาอย่านั้นอยู่อีกแล้ว” ภิกษุทั้งหลายพากันติเตียนแล้ว ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า “พระนันทะพูดไม่เป็นความจริง พระเจ้าข้า” พระบรมศาสดา ตรัสแก่ภิกษุเหล่านั้นว่า “ภิกษุทั้งหลายเมื่อก่อนนี้ อัตภาพของพระนันทะเปรียบเสมือนเรือนที่มุงหลังคาไม่ดี ฝนตกลงมาย่อมรั่วรดได้ แต่บัดนี้ เธอได้สำเร็จกิจแห่งบรรพชิตแล้ว จึงเปรียบเสมือนเรือนที่มุงหลังคาดีแล้ว ฝนตกลงมาย่อมไม่อาจรั่วรดได้ฉันใด จิตที่บุคคลเจริญสมาธิภาวนาดีแล้ว กิเลสราคาทั้งหลายย่อมย่ำยีไม่ได้ ฉันนั้น”

ได้รับยกย่องในทางสำรวมอินทรีย์

พระนันทเถระ เมื่อบรรลุเป็นพระอรหันต์แล้ว ปรากฏว่าท่านเป็นผู้สำรวมระวังอินทรีย์ทั้ง ๖ คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ มิให้ยินดียินร้ายในเวลาเห็นรูป ฟังเสียง ดมกลิ่น ลิ้มรส ถูกต้องโผฏฐัพพะ รู้ธรรมารมณ์ด้วยใจระวังไม่ให้กิเลสครอบงำใจในเวลารับรู้อารมณ์ทางอินทรีย์ทั้ง ๖ มิให้ตกอยู่ในอำนาจโลกธรรม ด้วยเหตุนี้ ท่านจึงได้รับยกย่องจากพระบรมศาสดาในตำแหน่งเอตทัคคะ เป็นผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลาย ในทาง ผู้สำรวมอินทรีย์ท่านพระนันทเถระ ดำรงอายุสังขาร ช่วยกิจการพระพุทธศาสนาอยู่ พอสมควรแก่กาลเวลาแล้ว ก็ดับขันธปรินิพพาน

182


คนเราเกิดมาไม่เห็นมีอะไรดี มีดีอยู่อย่างเดียว คือ สวดมนต์ไหว้พระปฏิบัติภาวนา คือ มองทุกสิ่งทุกอย่างในโลกเป็นของชั่วคราว มีแต่ปัญหา มีแต่ทุกข์ แล้วก็เสื่อมพังสลายไปในที่สุด

ดูก่อนท่านผู้เห็นภัยในวัฏฏสงสาร (การเวียนว่ายตายเกิด) ทั้งหลาย ถ้าท่านต้องการพ้นภัยจากการเกิดแก่เจ็บตาย ท่านควรมีคุณธรรม ๖ ประการนี้ไว้เป็นประจำจิตประจำใจ ทุกท่านย่อมจะได้บรรลุมรรคผลนิพพาน ถึงความสุขใจอย่างยอดเยี่ยม

คุณ ๖ ประการนั้น คือ

๑. ข่มจิตในเวลาที่ควรข่ม
๒. ประคับประคองจิตในยามที่ควรประคับประคอง
๓. ทำจิตให้ร่าเริงในยามที่ควรร่าเริง
๔. ทำจิตวางเฉยในยามที่ควรวางเฉย
๕. มีจิตน้อมไปในอริยมรรค อริยผลอันประณีตสูงสุด
๖. มีจิตตั้งมั่นในพระนิพพานเป็นจุดหมายปลายทางของชีวิต

ผู้ปฏิบัติที่มีความสามารถฉลาดย่อมจะต้องศึกษาจิตใจและอารมณ์ของตนให้เข้าใจ และรู้จักวิธีกำหนดปล่อยวางหรือควบคุมจิตใจและอารมณ์ให้ได้ เปรียบเสมือนเวลาที่เราขับรถยนต์ จะต้องศึกษาให้เข้าถึงวิธีการขับขี่ที่ปลอดภัย บางครั้งควรเร่ง บางคราวควรผ่อน บางทีก็ต้องเร่งในเวลาที่ควรเร่ง ผ่อนในเวลาที่ควรผ่อน หยุดในเวลาที่ควรหยุด ก็จะสามารถถึงที่หมายได้อย่างปลอดภัย

ข้อสำคัญที่สุดของการปฏิบัติคือ ต้องไม่ประมาท ต้องปฏิบัติให้เต็มที่ตั้งแต่วันนี้ ใครจะรู้ว่าความตายจะมาถึงเราเมื่อไร ถ้าเราปฏิบัติไม่เป็นเสียแต่วันนี้ เวลาใกล้จะตายมันก็ไม่เป็นเหมือนกัน เหมือนคนที่เพิ่งคิดหัดว่ายน้ำ เวลาใกล้จะจมน้ำตาย นั่นแหละก็จมตายไปเปล่า ๆ ถ้าในหนึ่งวันนี้ไม่ปฏิบัติภาวนาวันนั้นขาดทุนเสียหายหลายล้านบาท

จงมองดูทุกสิ่งทุกอย่างในโลกนี้ไม่ว่า คน สัตว์ สิ่งของ เงิน ทอง ลาภ ยศ นินทา สรรเสริญ เป็นของโกหกของสมมุติ ภาพมายาทั้งนั้น ทุกอย่างไม่ใช่ของจริงเป็นของหลอกลวงที่คนไม่ฉลาดต่างพากันหลงใหลกับสิ่งของสมมุติของโกหก ไม่ว่าอารมณ์ดี อารมณ์ร้าย ก็ไม่ใช่ของเราจริงผ่านมาแล้วก็ผ่านไป ทุกข์ทั้งหลายเกิดจากเหตุ (คือ ความไม่รู้ ความอยากได้) ถ้าต้องการดับทุกข์ ต้องดับเหตุก่อน คือ ให้รู้ว่าทั้ง ๓ โลก เป็นอนิจจัง เปลี่ยนแปลงเป็นโทษเป็นทุกข์เป็นปัญหา และสูญสลายตายกันในที่สุด ถ้าเรามีญาณก็จะรู้ ทุกสิ่งทุกอย่างที่เกิดในชีวิตเราไม่มีการบังเอิญเลย

ผู้ปฏิบัติธรรมย่อมพิจารณาร่างกายคนสัตว์ในโลกว่าน่าเกลียดน่ากลัว เป็นทุกข์เป็นโทษเป็นภาระต้องดูแลอย่างหนัก เน่าเหม็นแตกสลายตายไปกันหมด ผู้ที่มีศรัทธาแท้ คือ ผู้ที่เชื่อและยอมรับ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์เป็นที่พึ่งแทนที่จะเอาความโลภ ความโกรธ ความหลงมาเป็นที่พึ่ง ผู้ปฏิบัติตามพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงสอน คือ ให้ขยันภาวนา แล้วความโลภ ความโกรธ ความหลงจะน้อยลงและหมดไป

ผู้ปฏิบัติต้องหมั่นตามดูจิต รักษาจิต ผู้ฝึกจิตถ้าทำจิตให้มีอารมณ์หลายอย่างจะสงบไม่ได้ และ ไม่เห็นสภาพของจิตตามเป็นจริง ถ้าทำจิตให้ดิ่งแน่วแน่อยู่ในอารมณ์อันเดียว โดยเห็นว่าทุกสิ่งทุกอย่างแตกสลายตายหมดสิ้นแล้ว จิตก็มีกำลังเปล่งรัศมีแห่งความสว่างออกมาเต็มที่ มองสภาพของจิตตามเป็นจริง ได้ว่าอะไรเป็นจิต อะไรเป็นกิเลส อะไรควรรักษา อะไรควรละทิ้งออกจากจิต ไม่ควรใส่ใจสนใจเรื่องของผู้อื่น ควรตั้งใจตรวจสำรวจดูจิตของเราเองว่ายังมีความโลภ ความโกรธ ความหลง คิดว่าร่างกายนี้ยังเป็นของจิตหรือไม่ ตามความเป็นจริงแล้ว จิตกับกายไม่ใช่อันเดียวกัน เพียงแต่มาอาศัยกันชั่วคราวเท่านั้น

อารมณ์วางเฉยมี ๓ อย่าง

๑. วางเฉยแบบหยาบ คือ อารมณ์ปุถุชนที่เฉย ๆ ไม่คิดดี ไม่คิดชั่ว ซึ่งมีเป็นครั้งคราวเท่านั้น

๒. วางเฉยแบบกลาง มีในผู้ปฏิบัติสมาธิภาวนา มีความรู้ตัว มีความสงบของจิต วางอารมณ์จากความดี ความชั่ว สุข ๆ ทุกข์ ๆ ใด ๆ ในโลกีย์วิสัย เฉยบ่อยมากขึ้น

๓. วางเฉยแบบละเอียด คือ อารมณ์ของพระอริยเจ้า พระอรหันต์ ซึ่งไม่มีอารมณ์สุขหรือทุกข์ ดีหรือชั่ว ดีใจปนเสียใจ วิตกกังวลฟุ้งซ่านรำคาญใจ ไม่มี ไม่คิดปรุงแต่งไปในอดีต ปัจจุบัน อนาคต มีความวางเฉยในร่างกายของท่านเอง จะเจ็บปวดทรมาน จิตท่านนิ่งเฉยอยู่ในจิตของท่านว่าจิตส่วนจิต กายเป็นเพียงของสมมุติของชั่วคราว ตายเมื่อไร ท่านก็พร้อมที่จะทิ้งรูปนามขันธ์ เสวยวิมุติสุขแดนอมตะทิพย์นิพพานติดตามองค์พระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า

ของดีนั้นมีอยู่ในตัวเราทุกคน ของดีนั้นอยู่ที่จิตของท่านทุกท่าน ของไม่ดีอยู่ที่ร่างกาย

จิตมี ๓ ขั้น ตรี โท เอก

ถ้าตรีก็ต่ำหน่อย ยังวุ่นวายเป็นทุกข์กับเรื่องของโลก
ขั้นโท ก็มีศีลครบ มีเมตตา ทำบุญทำทาน
ขั้นเอกนี่ ดีมาก จิตก็มองดูทุกสิ่งทุกอย่างในโลกมนุษย์ สัตว์ นรก เป็นทุกข์ มีความเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา แล้วก็ตายสลายผุพังไปกันหมดสิ้น ตัวอนัตตา ไม่ใช่ตัว ไม่ใช่ของตน ไม่มีใครเป็นเจ้าของ บังคับเอาไว้ให้คงที่ก็ไม่ได้ ตัวนี้แหละเป็นตัวเอก ไล่ไปไล่มา ให้มันเห็นร่างกายคนเรา ตายแน่ ๆ คนเราหนีตายไม่พ้น แม้เพียงวันเดียว

๑. ตายน้อย ก็คือ นอนหลับทุกคืน หลับชั่วคราว คือ ตายทุกคืน ตื่นตอนเช้า

๒. ตายใหญ่ ก็คือ นอนหลับตลอดกาล แต่จิตไปตื่นตรงที่มีกายใหม่ มีกายใหม่ที่อื่นเป็นกายผี กายสัตว์ กายเทวดา กายพรหม แล้วแต่ผลบุญหรือผลบาปที่ทำไว้ตอนเป็นคน

184
จักรวาลแบบพุทธ / พระเจ้าจักรพรรดิ
« เมื่อ: ตุลาคม 02, 2012, 05:38:15 AM »


หลายๆครั้งที่เราได้ยินครูบาอาจารย์กล่าวถึงพระจักรพรรดิ หรือพระพุทธเจ้าปางจักรพรรดิ พระปางจักรพรรดิ หรือ กำลังจักรพรรดิ แต่มีหลายๆคนที่ยังไม่เข้าใจความหมายของคำว่าจักรพรรดิ จึงขอสรุปมาย่อๆ ดังต่อไปนี้

พระเจ้าจักรพรรดิ (ภาษาบาลี: จกฺกวตฺติ) คือจักรพรรดิผู้ปกครองทวีปทั้ง 4 ในความเชื่อของพระพุทธศาสนา เป็นผู้รักษาศีล เป็นธรรมราชา ปกครองด้วยทศพิธราชธรรม มีพระโอรสนับพัน ไม่เบียดเบียนผู้อื่น ไม่ปรารถนาสงคราม ไม่ประสงค์เครื่องบรรณาการ พระเจ้าจักรพรรดิมีแต่ผู้เคารพนับถือ พระเจ้าจักรพรรดิเป็นผู้มีบุญญาธิการมาก พระเจ้าจักรพรรดิมีลักษณะของมหาบุรุษเช่นเดียวกับพระพุทธเจ้า แต่ทรงเลือกปกครองแผ่นดิน ยามใดที่มีพระพุทธศาสนา พระเจ้าจักรพรรดิก็ทรงบำรุงอุปัฎฐากพระพุทธเจ้า พระอรหันตสาวก ช่วยเผยแพร่พระธรรม แต่ยามใดที่ไม่มีพระพุทธศาสนา พระองค์ก็ทรงรวบรวมผืนแผ่นดิน ผู้คนให้เป็นปึกแผ่น ทรงปกครองโดยธรรม สั่งสอนประชาชนทั้งมวล พระเจ้าจักรพรรดิทรงขยันในการสร้างบารมีมาก ถึงแม้จะเป็นพระมหาจักรพรรดิก็ยังทรงสร้างพระบารมีไม่หยุดหย่อน

ความพิเศษของพระเจ้าจักรพรรดิ

พระเจ้าจักรพรรดิมีพระวรกายงดงามยิ่งกว่ามนุษย์ใดๆ
พระเจ้าจักรพรรดิมีอายุยืนกว่ามนุษย์ใดๆ
มีอาพาธน้อย เจ็บป่วยได้ยากกว่าคนทั่วไป
พระเจ้าจักรพรรดิเป็นที่รักของมนุษย์และเทวดา
แม้แต่เทวดาก็ยังเกรงใจ

ประเภทของพระเจ้าจักรพรรดิ

พระเจ้าจักรพรรดินั้นยังแบ่งออกได้เป็น 4 ประเภทอีก ได้แก่

จักรพรรดิทองคือ พระเจ้าจักรพรรดิที่ครอบครองทั้ง 4 ทวีป ตั้งแต่ประสูติ โดยมิต้องทำการรบพุ่งแย่งชิงมา

จักรพรรดิเงินคือ พระเจ้าจักรพรรดิที่ครอบครอง 3 ทวีป ตั้งแต่ประสูติ โดยมิต้องทำการรบพุ่งแย่งชิงมา

จักรพรรดิทองแดงคือ พระเจ้าจักรพรรดิที่ครอบครอง 2 ทวีป แต่มิได้ครอบครองเช่นนี้มาตั้งแต่ประสูติ ต้องทำสงครามรบพุ่งแย่งชิงมา

จักรพรรดิเหล็กคือ พระเจ้าจักรพรรดิที่ครอบครองได้เฉพาะชมพูทวีป โดยทำสงครามรบพุ่งแย่งชิงมา ซึ่งพระจักรพรรดิเหล็กนี้เป็นสถานะพระจักรพรรดิที่เป็นไปได้ในโลกปัจจุบัน ซึ่งคติความเชื่อในเรื่องจักรพรรดิเหล็กนั้น ได้ปลูกฝังในระบอบคิดของกษัตริย์ในประเทศที่นับถือพุทธศาสนาเป็นหลักมาแต่ครั้งโบราณกาล

แก้ว 7 ประการ

พระเจ้าจักรพรรดิเป็นผู้ครอบครองแก้ว 7 ประการ อันได้แก่

จักรแก้ว (จกฺกรตฺตนํ) เมื่อผู้ที่จะเป็นพระเจ้าจักรพรรดิ ในวันเพ็ญขึ้น 15 ค่ำ พระองค์ทรงรักษาศีลอุโบสถ ชำระจิตให้สะอาดแล้วทรงทำสมาธิ จักรแก้วก็บังเกิดขึ้น ทำจากโลหะมีค่า ส่องแสงสว่างไสว แล้วพาพระเจ้าจักรพรรดิพร้อมเหล่าเสนาบดีลอยไปยังประเทศต่างๆ ในทวีปทั้ง 4 ประเทศต่างๆ ก็ยอมสวามิภักดิ์ ไม่มีการสู้รบกัน เมื่อจะถวายเครื่องบรรณาการพระเจ้าจักรพรรดิก็ไม่ยอมรับแต่พระราชทานโอวาทศีล 5 ให้

ช้างแก้ว (หตฺถีรตฺตนํ) ช้างแก้วของพระเจ้าจักรพรรดิ เป็นพญาช้าง มีชื่อว่า อุโบสถ สีขาวเผือก สง่างาม มีฤทธิ์เดชสามารถเหาะได้ คล่องแคล่วว่องไว ฝึกหัดได้เอง สามารถพาพระเจ้าจักรพรรดิไปรอบชมพูทวีป จรดขอบมหาสมุทร ได้ตั้งแต่เช้ารุ่ง และกลับมาทันเวลาเสวยพระกระยาหารเช้า

ม้าแก้ว (อสฺสรตฺตนํ)
ม้าแก้วของพระเจ้าจักรพรรดิ เป็นพญาม้า มีชื่อว่า วลาหกะ เป็นอัศวราชผู้สง่างาม ขนงาม มีหางเป็นพวง ตรงปลายคล้ายดอกบัวตูม มีฤทธิ์เดชเหาะเหินเดินบนอากาศได้ คล่องแคล่วว่องไง ฝึกหัดได้เอง สามารถพาพระเจ้าจักรพรรดิไปรอบชมพูทวีป จรดขอบมหาสมุทร ได้ตั้งแต่เช้ารุ่ง และกลับมาทันเวลาเสวยพระกระยาหารเช้า

มณีแก้ว (มณิรตฺตนํ) มณีแก้วของพระเจ้าจักรพรรดิ เป็นแก้วมณีเปล่งแสงสุกสกาว ใสแวววาวยิ่งกว่าเพชร เปล่งรังสีแสงสว่างไสวโดยรอบถึง 1 โยชน์ คอยบันดาลความอุดมสมบูรณ์ทุกอย่างให้บังเกิดขึ้น ดึงดูดสมบัติทั้งหลายมาให้ สามารถเลี้ยงคนได้ทั้งชมพูทวีปโดยไม่ต้องทำมาหากิน เมื่อพระมหาจักรพรรดิทรงทดลองแก้วมณีกับกองทัพ โดยติดแก้วมณีไว้บนยอดธงนำทัพ แก้วมณีก็เปล่งแสงสว่างไสว ทำให้กองทัพเดินทางได้สะดวกสบาย เหมือนเดินทัพในเวลากลางวัน

นางแก้ว (อิตถรตฺตนํ) นางแก้วของพระเจ้าจักรพรรดิ เป็นหญิงที่มีบุญญาธิการ รูปร่างน่าดูชม ผิวพรรณเปล่งปลั่งผ่องใส สวยงามกว่ามนุษย์ทั่วไป พูดจาไพเราะ ไม่โกหก มีกลิ่นดอกบัวหอมฟุ้งออกจากปาก มีกลิ่นจันทน์หอมฟุ้งรอบกาย นางแก้วเป็นผู้คอยปรนนิบัติพระเจ้าจักรพรรดิอย่างไม่ขาดสาย ตื่นก่อนนอนทีหลังพระเจ้าจักรพรรดิ คอยฟังรับสั่งของพระเจ้าจักรพรรดิ ประพฤติชอบต่อพระเจ้าจักรพรรดิเสมอ

ขุนคลังแก้ว (คหปติรตฺตนํ) คฤหบดีแก้ว หรือขุนคลังแก้ว สามารถนำทรัพย์สินมาให้แด่พระเจ้าจักรพรรดิได้ ขุมทรัพย์อยู่ที่ไหน ขุนคลังแก้วเห็นหมด

ขุนพลแก้ว (ปริณายกรตฺตนํ) ปริณายกแก้ว หรือขุนพลแก้ว คือพระราชโอรสองค์โตของพระเจ้าจักรพรรดิ เป็นขุนศึกคู่ใจ เป็นบัณฑิตนักปราชญ์ มีความฉลาดเฉลียว รู้สิ่งใดควรไม่ควร คอยให้คำแนะนำปรึกษาแด่พระเจ้าจักรพรรดิอยู่เสมอ

อานิสงส์ผลบุญที่ทำให้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ

ทำบุญทำทานด้วยจิตใจงดงาม เป็นเจ้าในงานทอดกฐิน หรือเป็นเจ้าภาพในการสร้างวัด พระอุโบสถ พระวิหาร พระพุทธรูป ฯลฯ เป็นประธานในการเทศนาธรรม การสังคายนาพระไตรปิฏก ฯลฯ บูชาเจดีย์ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

ในยุคพระพุทธเจ้าองค์ปัจจุบัน แม้นไม่มีพระเจ้าจักรพรรดิมาอุบัติเกิดขึ้นเหมือนในยุคอื่นๆที่ผ่านมาและในอณาคต เช่นในยุคพระศรีอาริยเมตไตรย พระพุทธเจ้าพระองค์หน้าที่จะมีพระสังขจักรพรรดิเกิดขึ้นมาอุปัฐฐากพระพุทธเจ้าศรีอริยเมตไตรย แต่ในพระไตรปิฎกก็มีกล่าวถึงตอนที่พระพุทธเจ้าองค์ปัจจุบัน เนรมิตองค์ท่านเป็นพระเจ้าจักรพรรดิเพื่อปราบทิฐิมานะของท้าวพญาชมพูบดี ซึ่งมีกล่าวไว้ในพระไตรปิฎก รวมถึงในส่วนของเนื้อหาพระเจ้าจักรพรรดิก็มีกล่าวถึงในพระไตรปิฎกเช่นกัน . . .

185


วันหนึ่ง หลวงพ่อดู่ท่านมองไปที่ลูกศิษย์ใกล้ชิดกลุ่มหนึ่งแล้วเอ่ยขึ้นว่า "ข้าตายแล้วต้องลงนรก"

พอลูกศิษย์ได้ยินเช่นนั้นก็ตกใจเรียนถามท่านในทันทีว่า"หลวงพ่อจะตกนรกได้อย่างไร ในเมื่อหลวงพ่อบำเพ็ญคุณงามความดีมามากออกอย่างนี้"

หลวงพ่อตอบกลับไปว่า
"ข้าก็จะลงนรก เพื่อไปเตะพวกแกขึ้นมาน่ะสิ"

คำ เตือนของหลวงพ่อนั้น ชวนให้ศิษย์ทั้งหลายต้องมานึกทบทวนตัวเองว่าการที่ได้มีโอกาสอยู่ใกล้ครูบา อาจารย์นั้นก็มิใช่เป็นหลักประกันว่าจะไม่ลงนรก ตรงกันข้าม หลวงพ่อท่านได้พูดเตือนทำนองเดียวกันนี้หลายครั้งหลายหน เพราะช่องทางทำบาปของคนเรามีมากเหลือเกิน จนท่านเอ่ยว่า คนเราเป็นอยู่โดยบาปทั้งนั้น เพียงแต่ผู้ที่ตั้งอยู่ในความไม่ประมาท ก็บาปน้อยหน่อย

หลวงพ่อท่านเป็นแบบอย่างที่หาได้ยากในเรื่องความ ระมัดระวัง ไม่ให้เป็นหนี้สงฆ์ ถึงขนาดว่าก่อนที่ท่านจะมรณภาพไม่กี่วัน ท่านได้บอกช่องลับกับโยมอุปัฏฐากให้ทราบ เพื่อว่าจะได้สามารถเปิดประตูเข้ากุฏิท่านในกรณีฉุกเฉินได้ โดยไม่ต้องไปงัดประตู อันเป็นการทำลายของสงฆ์ ซึ่งในที่สุดก็มีเหตุให้ได้เปิดประตูกุฏิท่านผ่านทางช่องลับนั้นจริงๆ ในเช้าตรู่ของวันอังคารที่ 17 มกราคม 2533 อันเป็นวันที่ท่านละสังขาร

นอก จากนี้ ท่านยังได้พูดเตือนอีกหลายๆ เรื่อง ซึ่งเป็นสิ่งที่พวกเราอาจมองข้าม เป็นต้นว่า เอ่ยปากใช้พระหยิบโน่นหยิบนี่ ไม่ยกเว้นแม้กรณีขอให้พระท่านหยิบซองให้เพื่อจะใส่ปัจจัยถวาย การหยิบฉวยของสงฆ์ไปใช้ส่วนตัว การพูดชักไปในทางโลกในขณะที่ผู้อื่นกำลังสนทนาธรรม การส่งเสียงรบกวนผู้ที่กำลังปฏิบัติภาวนา การขายพระกิน ซึ่งเรื่องหลังนี้ ท่านพูดเอาไว้ค่อยข้างรุนแรงว่า ใครขายพระกิน จะฉิบหาย สมัยท่านยังมีชีวิต ท่านจะพูดกระหนาบบ่อยครั้ง โดยเฉพาะเวลารับประทานอาหาร ทานไม่ให้พูดคุยกัน จะทำกิจอันใดอยู่ ก็ให้มีสติ พยายามบริกรรมภาวนาไว้เรื่อยๆ เรียกว่าเกลี่ยจิตไว้ให้ได้ทั้งวัน เมื่อถึงคราวนั่งภาวนา จิตจะได้เป็นสมาธิได้เร็ว เวลาจิตจะโลภ จะโกรธ จะหลง ก็จะได้รู้ได้เท่าทัน

ดัง ที่หลวงพ่อสอนว่า การตั้งอยู่ในความไม่ประมาทเท่านั้น จึงจะช่วยให้เราห่างจากนรกได้ ดังนั้น เราจึงจำเป็นต้องคอยสอบทานตัวเองอยู่เสมอๆ ว่าเราเข้าวัดเพื่ออะไร เพื่อความเด่นความดัง หวังลาภสักการะ หวังเป็นผู้จัดการพระ ผู้จัดการวัด ฯลฯ หรือเพื่อมุ่งละโลภ โกรธ หลง ซึ่งเป็นตัวก่อทุกข์ก่อโทษข้ามภพข้ามชาติไม่รู้จักจบจักสิ้นที่มีอยู่ในใจ เรานี้

ปฏิปทาที่จะช่วยให้เราปลอดภัย และห่างไกลจากนรกคือ การเกรงกลัวและละอายใจในการทำบาปกรรม หรือสิ่งที่จะทำจิตใจเราให้เศร้าหมองขุ่นมัว ทั้งในที่ลับและที่แจ้ง นอกจากนี้ ควรหลีกเลี่ยงการคลุกคลีกับหมู่คณะโดยไม่จำเป็น หากแต่ควรมุ่งเน้นการปฏิบัติภาวนาเป็นหลัก เป็นผู้พร้อมรับฟับคำตักเตือนของผู้อื่น โดยเฉพาะคำตักเตือนจากครูบาอาจารย์ อย่างที่ทางพระท่านสอนว่า ให้อดทนในคำสั่งสอน คิดเสียว่าท่านกำลังดุด่ากิเลสของเราอยู่

ท่อนซุงทั้งท่อน ถ้าไม่ได้ขวานช่วยสับช่วยบาก ไม่ได้กบไสไม้ ช่วยทำพื้นไม้หยาบๆ ให้เกลี้ยงเกลาขึ้น ไม่ได้กระดาษทรายช่วยขัดให้ไม้เรียบเนียน ไม่ถูกดัดถูกประกอบ ก็คงไม่กลายมาเป็นเครื่องเรือนเครื่องใช้ที่มีประโยชน์ ฉันใดก็ฉันนั้น จิตใจของเราที่หยาบอยู่ หากไม่ได้รับการขัดเกลาหรืออบรมจากครูอาจารย์ไม่ได้รับการอบรมด้วยธรรมของ พระพุทธเจ้า จิตใจนั้นก็ย่อมเอาเป็นที่พึ่งไม่ได้

ครั้งหนึ่ง ได้มีโอกาสเรียนถามหลวงพ่อว่า "หลวงพ่อครับ ที่ว่าธรรมย่อมรักษาผู้ประพฤติธรรมนั้น ธรรมที่ว่านั้นท่านหมายถึงธรรมเรื่องใดครับ" เมื่อสิ้นเสียงคำถามของข้าพเจ้า หลวงพ่อท่านก็ตอบในทันทีว่า "กายสุจริต วาจาสุจริต และมโนสุจริต"

ซึ่ง คำสอนของท่านข้างต้น ก็เป็นการตอบให้ชัดอีกครั้วว่า อานิสงส์แห่งการประพฤติความดีทั้งทางกาย ทางวาจา และทางใจนี้แหละ จะกลับมารักษาเราไม่ให้ตกไปสู่โลกที่ชั่ว จึงเป็นหลักประกันที่ช่วยให้เราห่างไกลจากนรก อีกทั้งยังช่วยให้เราสามารถเข้าใกล้หลวงพ่อด้วยการเพิ่มพูนคุณธรรมความดีให้ ยิ่งๆ ขึ้นไป เพื่อว่าในที่สุดจะได้ไม่ต้องรบกวนหลวงพ่อให้ต้องลำบากลงนรกมาสงเคราะห์ ศิษย์ ดังที่ท่านปรารภด้วยความห่วงใย ตั้งแต่ครั้งที่ท่านยังมีชีวิตอยู่

186


คำสอนของหลวงตาม้า : อธิษฐานสัจจะบารมี

หลวงตาท่านเมตตาสอนว่า “เราทั้งหลายควรหมั่นอธิษฐานสัจจะไว้บ้าง แต่ต้องดูเค้าของตัวเองก่อนว่าจะทำได้ไหม โดยให้อธิษฐานจากสิ่งรอบกายที่พอจะทำได้ก่อน เมื่อทำได้แล้ว ก็ให้ค่อยๆ เพิ่มมากขึ้น การอธิษฐานสัจจะบารมีนี้ เป็นการสร้างบารมีอย่างหนึ่ง เพราะสัจจะบารมีที่เราอธิษฐานนี้ เราสามารถทำได้แล้ว จะได้บารมีอื่นๆ อีกหลายบารมีตามมา เช่น ขันติบารมี ทานบารมี ฯลฯ นอกจากนี้แล้ว ยังทำให้เราเกิดกำลังใจในการปฏิบัติธรรมเพิ่มมากขึ้นอีก เวลาจะตั้งอธิษฐานจิตให้กล่าวว่า “อิมัง สัจจะวาจัง อธิษฐานมิ”

หลวงตายังบอกอีกว่า “นักปฏิบัติควรจะมีการตั้งจิตอธิษฐาน แต่ก่อนที่จะเริ่มตั้งจิตอธิษฐานนั้น อย่าลืมพิจารณาก่อนว่า สิ่งนั้นๆ เราต้องแน่ใจว่าเราสามารถทำได้ เราต้องเข้มแข็งพอกับสิ่งที่จะเกิดขึ้น และการตั้งจิตอธิษฐานนี้ ท่านให้เริ่มจากทีละน้อยก่อน เช่น เริ่มจาก ๓-๗ วันก่อน แล้วค่อยเพิ่มเป็น ๑-๓ เดือน แล้วค่อยเป็นปี ถ้าเราสามารถปฏิบัติได้ ตามที่เราตั้งจิตอธิษฐานแล้ว บารมีของเราก็เพิ่มมากขึ้นมหาศาลนะ ถ้าทำได้ แต่ถ้าทำไม่ได้ ทำไม่สำเร็จ ก็ต้องไปเริ่มต้นที่ ก ไก่ ใหม่ คือทุกอย่างที่เราเคยสร้างไว้ ทำไว้ เป็นอันว่าสูญนะ แต่ทุกคนต้องทำนะ อย่ามัวแต่รอช้า

เริ่มจากง่ายๆ ก่อน อย่างเช่น เราตั้งจิตอธิษฐานขอถือธรรมะตลอดชีวิต ข้อนี้นักปฏิบัติต้องทำกันได้อยู่แล้ว หรือจะตั้งจิตอธิษฐานว่าชาตินี้เราจะไม่แต่งงาน อันนี้สำคัญนะ เวลาตั้งจิตอธิษฐานข้อนี้ดูเอาเองแล้วกัน ไม่รู้ใครต่อใครมาจากที่ไหนๆ มาหากันเป็นโขยงเลย รับกันไม่หวาดไม่ไหว ไม่เชื่อก็ไปลองทำดูเอง แรงอธิษฐานและบารมีเป็นสิ่งสำคัญ เช่น คน ๒ คน อธิษฐานด้วยกันอย่างไร ก็ต้องเจอกัน เพราะการอธิษฐานนี้เป็นการเชื่อมต่อจิตให้ถึงกัน การอธิษฐานนี้ให้เลือกช่วงที่เรามีจิตใจที่สบาย ปลอดโปร่ง จะช่วยให้การอธิษฐานนี้สำเร็จผล เหมือนกับการที่เราทำบุญ พอเริ่มตั้งจิตอธิษฐานตอนที่เราทำบุญนั้น เราเกิดความศรัทธา ความสบายใจ มันพร้อมไปหมด คำอธิษฐานนั้นก็ได้ผล อย่างหลวงตาพอเริ่มอธิษฐานปั๊ป ให้สังเกตเลย ไม่รู้คนมาจากไหน จนสร้างไม่ทัน เดี๋ยวก็มีโน่น เดี๋ยวก็มีนี่ ด้วยแรงอธิษฐานผู้ที่เกี่ยวพัน เกี่ยวข้อง จะต้องมาช่วยกัน ที่เห็นๆ อยู่นี้ ก็ด้วยแรงอธิษฐานทั้งนั้น ไม่ใช่เที่ยวไปหา ไปแจกซอง ใช้แรงอธิษฐานจากผู้ที่เกี่ยวข้องและเกี่ยวพันเท่านั้น แล้วผู้ที่เกี่ยวข้องเกี่ยวพันทั้งหลายก็ต้องมา ไม่งั้นอยู่ได้ที่ไหน เร่าร้อน หงุดหงิด ต้องมา”

หลวงตาเล่าว่า “เคยให้พระชัชวาลท่านลองอธิษฐานจิตดู ตอนที่ท่านจะกลับไปบ้านท่าน โดยบอกให้ท่านอธิษฐานถึงผู้ที่เกี่ยวข้องเกี่ยวพันกับท่าน ให้มาหาท่าน หลังจากนั้น พระชัชวาลได้กลับมาเล่าให้หลวงตาฟังว่า เห็นผลเลย เขาอยู่กันไม่ได้ อยากจะมาหา แล้วก็จะมาหาอีก เพื่อนท่านจากกรุงเทพฯ อยู่ๆ ก็ต้องขับรถมาเลย”

หลวงตาบอกว่า “หลวงปู่ดู่ท่านให้อธิษฐานโดยตั้งบารมี ๑๐ ได้แก่

๑. ทานบารมี ความพอใจในการให้ทานอยู่เสมอ เป็นการตัดโลภ
๒. ศีลบารมี พยายามรักษาศีลให้ครบ เป็นการป้องกันอบายภูมิ
๓. เนกขัมมบารมีพยายามระงับนิวรณ์ในเบื้องต้น ป้องกันความวุ่นวายของจิต
๔. วิริยะบารมี ความพากเพียรต่อสู้กับกิเลส
๕. ปัญญาบารมี การทรงปัญญายอมรับนับถือกฎของความเป็นจริง
๖. ขันติบารมี ต้องมีความอดทน
๗. สัจจะบารมี ความตั้งใจจริง
๘. อธิษฐานบารมี
๙. เมตตาบารมี
๑๐.อุเบกขาบารมี อดทนต่อความอดกลั้นทั้งหลาย และให้รู้จักละวาง

ลูกศิษย์ถามว่า “ถ้าเราอธิษฐานตามใครสักคน ก็ต้องตามตลอดเลยหรือ”

หลวงตาบอกว่า “แน่นอนอยู่แล้ว เรื่องของบารมี ไม่ใช่ว่าบารมีคนจะเท่ากัน อย่างเช่น เราเกิดมาในภพนี้ เราอัดบุญกัน ๒ คน พร้อมๆ กัน บุญที่ได้ยังไม่เท่ากันเลย บารมีคือกำลังใจ อย่างคนนั่งสมาธิ ๒ คน คนหนึ่งนั่งแค่ ๒ นาทีก็เมื่อยแล้ว ส่วนอีกคนหนึ่งนั่ง ๒ ชั่วโมง ไม่เป็นไร นั่งเหมือนกัน ปฏิบัติเหมือนกัน ยังได้ไม่เหมือนกันเลย บุญที่ได้ก็ไม่เหมือนกัน อย่างเรื่องของการพิจารณา ให้พิจารณาให้รอบคอบ พิจารณาคำสอนของพระพุทธเจ้าให้ลึกๆ ในคำสอนแต่ละข้อๆ ลูกศิษย์ ๕ คน สอนในบทเดียวกันยังใช้ไม่เหมือนกัน เพราะอะไร เพราะอยู่ที่ความตั้งใจ เจตนา และความเชื่อของแต่ละบุคคล

ผลออกมาจึงย่อมไม่เท่ากัน ต้องรู้หลักอธิษฐานและหลักของการทำบุญ ผู้ที่ไปแล้วก็เยอะแยะ ผู้ที่ยังตามอยู่นี่ก็มี พวกที่ไปแล้ว อย่านึกว่าจะตามอีก บางคนก็ไม่ตาม เขาไม่ตามก็เพราะเขาถึงแล้ว เขารู้แล้วว่า เกิดนี่ทุกข์ขนาดไหน เขาก็ไม่ตามอีก” (คำว่า “ถึง” ในที่นี้ หลวงตาหมายถึง พระนิพพาน)

ลูกศิษย์ถามว่า “ถ้าเราอธิษฐานขอถึงพระนิพพานนี่เรามีโอกาสจะถึงไหม”

หลวงตาบอกว่า “ถ้าเราปฏิบัติจริงก็ถึง ถ้ากำลังใจเราถึง ดูอย่างพระมหาวีระ (หลวงพ่อฤาษีลิงดำ) สิ พอท่านละสังขาร ลูกศิษย์ท่านมาเยอะเลย หลวงตาพูดจริงไหมละ การลานี่ไม่ใช่ลากันง่ายๆ เพราะความผูกพันกับพรรคพวก หมู่คณะ ไหนๆ มาด้วยกันไม่รู้กี่ภพต่อกี่ชาติ กี่ชาติต่อกี่ชาติ ก็ตามกันมา เพราะฉะนั้นเราต้องเตรียมตัวให้พร้อม ศึกษาศรัทธา ศีล ทาน การศึกษา ปัญญา หลวงปู่ดู่ท่านสอนไว้อย่างนี้แหละ ว่ามีครบ ปรารถนาไปไหนก็ได้”

๑. ศรัทธา คือ ความเชื่อ เชื่อในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เชื่อว่านรก สวรรค์มีจริง เชื่อเรื่องมีเกิด มีแก่ มีตาย
๒. ทาน คือ การให้
๓. ศีล คือ การรักษา
๔. อศิตะ คือ การศึกษาจากพระไตรปิฎก หนังสือ คณาจารย์

เวลาไปวัดไหนก็ตาม ท่านสอนก็ฟัง ฟังแล้วก็เอามาพิจารณาว่าเท็จจริงอย่างไร ถูกไหม แล้วก็รวมเข้าเป็นปัญญาทั้งหมด ตั้งแต่ข้อแรก อย่างเราเชื่อว่าเราต้องตายแน่ เมื่อตายแล้วเราต้องเกิด เมื่อเกิดแล้วเราอยากสวย อยากหล่อ อยากรวย อยากเป็นใหญ่ เราจะทำอย่างไร เราก็ต้องรักษาศีล ไม่เป็นคนขี้โกรธ หมั่นให้ทาน เกิดมาก็สวย ไม่โกรธ เพราะโกรธแล้ว ให้ไปส่องกระจกดู หน้าจะหงิก เมื่อหน้าหงิกเพราะความโกรธ จิตก็อัดเข้าไปแล้ว ยิ่งโกรธบ่อยเท่าไร เกิดใหม่ก็ไม่สวยเท่านั้น ถ้าไม่โกรธ เกิดอีกทีก็เป็นใหญ่ สวย รวย นี่มีในพระไตรปิฎก อย่างนางวิสาขา ในพระไตรปิฎกมีอยู่ ๗ นาง ที่ปรารถนาพร้อมกัน ตั้งแต่นางอุบลวรรณา นางเขมา นางผกาจารา ฯลฯ พอถึงพระพุทธเจ้าองค์ปัจจุบัน ดูซิทุกข์ไม่เหมือนกันเลย เพราะช่วงที่เวียนว่ายตายเกิด ไปทำกรรมไว้ นางผกาจารานี่ทุกข์กว่าใครเพื่อน ทั้งๆ ที่ปรารถนาพร้อมกัน นางวิสาขาสบายกว่าเพื่อน ฉะนั้น เมื่อเรารู้หลีกแล้วจะทำอย่างไร ก็เลือกกันเอาเอง เกิดมานี่ทุกข์มากเห็นๆ กันอยู่ ถ้าเรามองว่าเกิดมาแล้วเป็นอย่างไร แต่ละคนไม่เหมือนกัน แต่ก็ใกล้เคียงกัน เวลาเขาให้ทาน ก็ไปกินเหล้าซะ ไม่โมทนา แค่โมทนาเท่านั้น หรือเวลาเขาทำบุญ ก็มัวแต่ไปขัดซะ ให้ดูเราโชคดีเท่าไร หลวงปู่ดู่ท่านสอนให้เตรียมตัวไว้ เพราะเราตายแน่ๆ ตายแล้วจะไปไหนนั่นคือปัญหา เราจะเอาพ้นทุกข์ หรือตามหลวงปู่ หรือจะปรารถนาสูงกว่านั้นก็ได้ ให้เราตั้งความปรารถนาไว้ ตั้งไว้แล้วก็ต้องทำ ไม่ใช่ตั้งแล้วก็ไม่ทำ อย่างนี้ก็จบกันเท่านั้น”

ลูกศิษย์ถามว่า “ถ้าอย่างนี้เราอธิษฐานไว้สองอย่างได้ไหม คือ ถ้าเราไปไม่รอด ก็ขอตาม แต่ถ้าเราไปรอดก็ขอแยก”

หลวงตาบอกว่า “ได้ เราต้องเผื่อขาดเผื่อเหลือไว้ หลวงปู่ดู่ท่านก็สั่งพระเล็กกับหลวงตาไว้ว่า ถ้าไปได้ให้ไปเลย และหลวงปู่ดู่ยังสั่งอีกว่า ให้ลูกศิษย์ทุกคนรีบปฏิบัติกลัวไม่ทันกัน หลวงปู่ดู่บอกว่า “ให้รีบทำเข้าไว้” โลกกำลังเปลี่ยนแปลง เราจะตายเมื่อไรก็ไม่รู้”

หลวงตาท่านยังบอกอีกว่า “การตั้งสัจจะอธิษฐานอย่างที่ทำกันทุกวันนี้ถูกแล้ว ให้ทำกันอย่างจริงจัง จะได้ทั้งวิริยะ ได้ทั้งศีล ได้ทั้งทาน ได้ทั้งขันติ ได้ทั้งอธิษฐาน ได้เกือบครบบารมี ๑๐ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ต้องทำให้ได้จริงๆ เอาเท่าที่กำลังใจเราจะทำได้ การตั้งสัจจะอธิษฐานในการนั่งสมาธินั้น ให้อธิษฐานว่า นับตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป ภายใน ๗ วัน ข้าพเจ้าจะนั่งสมาธิทุกวัน แล้วก็ว่า อิมัง สัจจะวาจัง อธิษฐานมิ แต่อย่าบอกว่ากี่ชั่วโมง อย่าเจาะจงจนกว่าเราจะแน่น"

ลูกศิษย์ถามว่า “ถ้าเราตั้งสัจจะอธิษฐานอะไรก็แล้วแต่ เกิดเราทำไม่ได้นี่ขอลาได้ไหม”

หลวงตาบอกว่า “การตั้งสัจจะอธิษฐานนี้ ถ้าเราทำได้ เป็นการเพิ่มกำลังใจ ถ้าเราเสียสัจจะ เราก็เสียกำลังใจนะ ถ้าขอลาก็ได้ แต่กำลังใจเราจะคงที่หรือ การเสียสัจจะนี่ ทำให้บารมีไม่เต็ม ถ้าเราตั้งสัจจะอธิษฐานสมมุติตั้งไว้ว่า เราจะนั่งสมาธิ พอถึงเวลาเราก็ต้องนั่งนะ ถึงแม้ว่าเราจะนอนก็ต้องคิดว่าเรานั่งสมาธิอยู่ หมายถึงเอากายใน (กายทิพย์) นั่งก็ได้ เพราะเราไม่ได้ระบุว่า เราจะใช้กายไหนนั่งสมาธิ นอนเราก็นึกว่าเรานั่ง ถ้าเราอธิษฐานว่าใช้กายนอก (กายเนื้อ) นั่ง เราก็ต้องนั่ง แต่ถ้าเรากลัวก็ให้อธิษฐานว่า ข้าพเจ้าจะภาวนาทุกวัน นี่คือการใช้วิจารณญาณเป็นที่ตั้ง ถ้าเราทำได้ กำลังใจเราจะเพิ่มขึ้น เพราะเมื่อเกิดบารมี ก็เกิดสัจจะและกำลังใจ เวลาเราภาวนาเราก็ใช้กายใน (กายทิพย์) ภาวนา ไม่ใช่กายนอก (กายเนื้อ) หลับตาก็นึกว่าเรากำลังนั่งภาวนาข้างหน้าพระ ทำไปเรื่อยๆ จิตกับกายจะสัมพันธ์กันตลอด จะไม่ละเมอ เพราะช่วงที่จิตกับกายปฏิสนธิอยู่จะติดคำภาวนา จะไม่มีการละเมอ ถ้าละเมอจะรู้เลย ถ้าเอาสติคุม จะรู้ทันทีว่านี่คือความฝัน จิตยังมีกิเลสตัณหา แต่กายนี้สามารถแยกได้ เราเอากายออกมาแล้ว เอาศีลคุมกรรมฐาน หลวงปู่ดู่ท่านว่า “พอตื่นขึ้นให้ทำเลย” คือลืมตาขึ้นทำเลย จะเอาวิปัสสนา หรือจะเอากรรมฐาน ๔๐ เราก็ต้องทำจนกว่าจะหลับ ให้คุมอยู่ตลอด มันจะโผล่บ้างก็ช่วงที่เราคุยกันอยู่”

187


ปัจจุบันนี้คำว่า "พระศรีอาริยเมตไตรย" ถูกนำมาใช้กันมากในวงการปฎิบัติธรรมในประเทศไทยสำหรับสำนักต่างๆที่เผยแพร่โดยถูกต้องตามตำราก็สมควรแก่การโมทนาบุญอย่างยื่งที่รักษาสืบทอดไว้ให้ถูกต้อง แต่ก็ยังมีบางสำนักที่กลับนำมาปรุงแต่งเนื้อหากันไปหลากหลายเพื่อเรียกศรัทธา หนักถึงขนาดที่ว่ามีบางสำนักที่ใช้พุทธแอบแฝงอ้างว่าตนคือ "พระศรี" ที่ลงมาอุบัติแล้วเพื่อช่วยเหลือสัตว์โลก บางสำนักก็อ้างว่าตนเองพยากรณ์ถึงการมาของพระศรีอาริยเมตไตรยได้ว่าจะลงมาเร็วๆนี้ในยุคนี้แหละ ทั้งๆที่ความจริงหาเป็นเช่นนั้นไม่ เพราะพระศาสนาของพระพุทธเจ้าองค์ปัจจุบันยังดำรงอยู่ พระศรีอาริยเมตไตรยพุทธเจ้าย่อมไม่มาอุบัติเกิดขึ้นซ้ำซ้อนแน่นอน อย่างมากท่านก็เพียงแต่ช่วยดูแลพระศาสนาองค์ปัจจุบันอยู่ห่างๆในฐานะพระโพธิสัตว์ให้ดำรงไปให้ครบ 5 พันปีเท่านั้น เราในฐานะชาวพุทธลูกศิษย์ของตถาคตต้องพิจารณาดูดีๆว่าคำกล่าวอ้างต่างๆเหล่านั้น เป็นไปเพื่อแสวงหาผลประโยชน์แอบแฝงหรือเปล่า และในฐานะชาวพุทธถึงเวลาแล้วหรือไม่ที่จะเข้าในความหมายจริงๆของคำว่า "พระศรีอาริยเมตไตรย" โดยที่ไม่หลงไปกับเรื่องราวต่างๆที่ถูกปรุงแต่งขึ้นโดยสำนักบางสำนักที่ใช้คำว่าพระศรีอาริยเมตไตรยมาเรียกศรัทธา ทั้งๆที่การกระทำกลับไม่ใช่พุทธแท้ แต่มีลักษณะของการนำเอาความเชื่ออื่นๆต่างลัทธิ ต่างศาสนามาเจือปนอยู่ด้วย จริงอยู่ที่ชาวพุทธควรศึกษาและทำความเข้าใจในเรื่องนี้ เพื่อไม่ให้หลงทาง แต่ก็ไม่กล่าวร้าย เพราะเป็นศรัทธาของและละบุคคล แต่หากปราถนาที่จะอยู่ในทางและหลักการคำสอนอันเป็นพุทธที่ไม่มีสิ่งอื่นมาเจือปนก็ควรทำความเข้าใจให้ถูกต้อง เพื่อที่เราเองจะได้ไม่หลงทาง

มารู้จักกับคำว่า "พระศรีอาริยเมตไตรย" คือผู้ที่จะเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าในอนาคตข้างหน้า ตามที่พระพุทธเจ้าได้ทรงทำนายไว้ โดยท่านได้ทรงทำนายเท่าที่มีบันทึกไว้ว่าในอนาคตกาลจะมีพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอุบัติขึ้น 10 พระองค์ ซึ่งหลังจาก 10 พระองค์นี้ก็ยังจะมีพระพุทธเจ้ามาตรัสรู้ไปอีกเรื่อยๆ เพียงแต่ขึ้นอยู่กับว่าระยะเวลาห่างกันเท่าใด

เรื่องราวจริงๆของพระศรีอาริยเมตตรัยที่เป็นพุทธพจน์และพระพุทธเจ้า,ครูบาอาจารย์รับรอง เนื้อหาเรียบเรียงมาจากพระไตรปิฏก . . .

เพื่อความเข้าใจอันถูกต้องและสัมมาทิฐิ

พระศรีอริยเมตไตรยหรือพระเมตไตรย (บาลี: Metteyya เมตฺเตยฺย; สันสกฤต: मैत्रेय ไมเตฺรย) เป็นพระโพธิสัตว์ผู้จะได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าพระองค์ที่ 5 และองค์สุดท้ายแห่งภัทรกัปนี้ เมื่อศาสนาของพระโคตมพุทธเจ้าสิ้นสุดไปแล้ว โลกจะล่วงเข้าสู่ยุคแห่งความเสื่อมถอย อายุขัยของมนุษย์ลดลงจนเหลือ 10 ปี ก็เข้าสู่ยุคมิคสัญญี ผู้สลดใจกับความชั่วก็หันมารวมกลุ่มกันทำความดี จนอายุขัยเพิ่มขึ้นถึง 1 อสงไขยปี จากนั้นจึงลดลงอีกจนเหลือ 80,000 ปี ในยุคนี้จะมีพระโพธิสัตว์พระองค์หนึ่งที่บำเพ็ญบารมีครบ 16 อสงไขยแสนมหากัป ลงมาตรัสรู้เป็น "พระเมตไตรยพุทธเจ้า"

พุทธพยากรณ์เกี่ยวกับพระศรีอริยเมตไตรย จากพระไตรปิฎกเล่มที่ 11 พระสุตตันตปิฎก เล่ม 3 ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค จักกวัตติสูตรซึ่งเป็นพระไตรปิฎกของพระพุทธศาสนานิกายเถรวาท โดยถือกันว่ารักษาเนื้อหาได้สมบูรณ์ที่สุดในบรรดาทุกนิกาย ดังนี้

"ดูกรภิกษุทั้งหลาย ในเมื่อมนุษย์มีอายุ ๘๐,๐๐๐ ปี พระผู้มีพระภาคทรงพระนามว่าเมตไตรย์ จักเสด็จอุบัติขึ้นในโลก พระองค์เป็นอรหันต์ ตรัสรู้เองโดยชอบ ถึงพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ เสด็จไปดีแล้ว ทรงรู้แจ้งโลก เป็นสารถีฝึกบุรุษที่ควรฝึกไม่มีผู้อื่นยิ่งกว่า เป็นศาสดาของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เป็นผู้เบิกบานแล้ว เป็นผู้จำแนกพระธรรม เหมือนตถาคตอุบัติขึ้นแล้วในโลกในบัดนี้เป็นอรหันต์ พระผู้มีพระภาคพระนามว่าเมตไตรย์พระองค์นั้น จักทรงทำโลกนี้พร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก ให้แจ้งชัดด้วยพระปัญญาอันยิ่งด้วยพระองค์เองแล้ว ทรงสอนหมู่สัตว์พร้อมทั้งสมณพราหมณ์เทวดาและมนุษย์ให้รู้ตาม เหมือนตถาคตในบัดนี้ พระผู้มีพระภาคพระนามว่าเมตไตรย์พระองค์นั้นจักทรงแสดงธรรม งามในเบื้องต้น งามในท่ามกลาง งามในที่สุด ทรงประกาศพรหมจรรย์ พร้อมทั้งอรรถ พร้อมทั้งพยัญชนะ บริสุทธิ์บริบูรณ์สิ้นเชิงเหมือนตถาคตในบัดนี้ พระผู้มีพระภาคพระนามว่าเมตไตรย์พระองค์นั้น จักทรงบริหารภิกษุสงฆ์หลายพัน เหมือนตถาคตบริหารภิกษุสงฆ์หลายร้อย ในบัดนี้ฉะนั้น ฯ"

สรุปได้ว่า พระโพธิสัตว์จะจุติจากสวรรค์ชั้นดุสิตมาถือปฏิสนธิในตระกูลพราหมณ์ ในครรภ์ของนางเมตไตรยพรหมวดี ภรรยาของสุพรหมพราหมณ์ ปุโรหิตของพระเจ้าสังขจักรพรรดิ แห่งเกตุมดีนคร เมื่อทรงประสูติได้มีนิมิต ๓๒ ประการแล้ว ก็บังเกิดปราสาท ๓ หลังเพื่อเป็นที่ประทับ เมื่อพระชนมายุ ๘,๐๐๐ ปี ทอดพระเนตรเห็นนิมิตทั้ง ๔ จึงทรงพอพระทัยในการบวช เสด็จขึ้นไปสู่ปราสาท ปราสาทก็ลอยขึ้นสู่อากาศ มาลงที่ใกล้โพธิมณฑล ท้าวมหาพรหมอัญเชิญอัฏฐบริขารมาถวาย พระโพธิสัตว์ทรงเอาพระขรรค์แก้วตัดพระเมาลี ทรงรับเครื่องอัฏฐบริขารที่ท้าวมหาพรหมนำมาถวาย ผนวชแล้วบำเพ็ญเพียร มีคนบวชตามเป็นอันมาก พระโพธิสัตว์ประทับนั่งเหนืออปราชิตบัลลังก์ในปฐมยาม ทรงบรรลุบุพเพนิวาสานุสติญาณในมัชฌิมยาม ทรงทำให้แจ้งทิพยจักษุญาณในปัจฉิมยาม ทรงพิจารณาปัจจยาการ ๑๒ ประการ ในเวลารุ่งอรุณ ทรงบรรลุซึ่งพระสัพพัญญุตญาณ เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ใต้ต้นกากะทิง พระศรีอริยเมตไตรยพุทธเจ้า ทรงมีพระฉัพพรรณรังสีจากพระวรกาย ทำให้สว่างไสวทั้งกลางวันและกลางคืน คนทั้งหลายอยู่ด้วยกันอย่างมีความสุข ระลึกถึงพระพุทธเจ้าเป็นอารมณ์ บริโภคข้าวสาลีที่เกิดจากพระพุทธานุภาพ

ยุคพระศรีอาริย์ที่แท้จริง

พระศรีอริยเมตไตรยจะมาเป็นพระพุทธเจ้าองค์หนึ่งมาในอนาคต โลกนี้จะมีความสงบสุข และพระศาสนาจะมีความรุ่งเรืองกว่า พระศาสนาของพระพุทธเจ้าในองค์ปัจจุบันนี้ ดังที่พระพุทธเจ้าตรัสว่าจะมีพระอริยบุคคลมากกว่า และประชาชนจะมีความสุขอย่างยิ่ง คือจะไม่มีเรื่องร้อนใจเลย ทุกคนพอใจในความเป็นอยู่ ไม่มีการเบียดเบียน ตอนนอนไม่ต้องปิดประตูก็ได้ บ้านเลยไม่ต้องทำประตูก็ได้ เรื่องคนร้าย หรือขโมยก็ไม่ต้องกลัว แล้วก็คนจะเป็นคนดีเหมือนกันหมด ไม่มีคนพาล จนกระทั่งลงจากบ้าน ก็ไม่มีใครจำได้ว่าใครเป็นใคร เพราะมันดีเหมือนกันหมด มันสุภาพเหมือนกันหมด มันสวยเหมือนกันหมด จนเมื่อกลับเข้าบ้าน จึงจะจำได้ว่า นี่คือภรรยาของเรา นี่คือสามีของเรา นี่คือลูกของเรา และต้องการอะไรก็ได้ มันมีต้นไม้พิเศษที่เรียกว่า ต้นกัลปพฤกษ์ อยู่ทุกทิศ อยากได้อะไรก็ไปขอที่ต้นไม้ จะสะดวกสบาย แม้แต่การคมนาคม การไปการมา จนว่าน้ำในแม่น้ำนั้น จะไหลลงข้างหนึ่ง จะไหลขึ้นข้างหนึ่ง เพื่อจะสะดวกต่อการใช้เรือ สรุปว่าไม่มีความทุกข์ อยู่กันเป็นผาสุก ไม่มีอันธพาล ทุกอย่างได้อย่างใจ

อ้างอิงข้อมูลจาก
^ ราชบัณฑิตยสถาน, พจนานุกรมศัพท์ศาสนาสากล ฉบับราชบัณฑิตยสถาน, พิมพ์ครั้งที่ 3, 2552, หน้า 290
^ สุชีพ ปุญญานุภาพ, พระไตรปิฎกฉบับสำหรับประชาชน, พิมพ์ครั้งที่ 17, 2550, หน้า 351
^ พระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๑ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๓ ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค จักกวัตติสูตร ท่อน ๔๘ ย่อหน้า ๔

188


พระพุทธเจ้ามีพระคุณต่อเราอย่างไร? พระคุณของพระพุทธเจ้านั้นมากมายมหาศาล ท่านคือผู้ชี้ทางให้แก่สัตว์โลก ที่ตาบอดมืดมัวไปด้วยกิเลศ ต้องเวียนว่ายตายเกิดไปตามกรรม หากจะพรรณนาถึงพระคุณของพระพุทธเจ้า อันไม่มีประมาณนั้น แม้จะพรรณนาไปสักหมื่นปี คุณที่พรรณนานั้นก็เทียบได้แค่กับลมอากาศที่นกกระพือปีกเท่านั้น หากแต่ยังมีลมอากาศไปอีกไม่มีประมาณ อันเทียบได้ว่าพุทธคุณของพระพุทธองค์นั้นมากมายยากจะหยั่งได้ว่ามหาศาลเพียงใด หากจะกล่าวโดยรวม พระคุณของพระพุทธเจ้านั้นยังมี

"ปัญญาธิคุณ" พระองค์มีปัญญาคุณแก่เรา เพราะว่า พระองค์ทรงสั่งสอนมนุษย์ให้รู้จักบาป บุญ คุณ โทษ ชี้ ทางสว่างให้เรา ให้ทุกคนใช้ปัญญาในการดำเนินชีวิตอย่างถูกต้อง ชอบธรรม ใช้ปัญญาตาม มรรคมีองค์ 8 อันเป็นแนวทางที่พระองค์ ชี้แนวทางให้เราปฏิบัติตาม คือ

- สัมมาทิฏฐิ คือ ปัญญาเห็นชอบ หมายถึง การปฏิบัติอย่างเหมาะสมตามความเป็นจริงด้วยปัญญา
- สัมมาสังกัปปะ คือ ดำริชอบ หมายถึง การใช้สมองความคิดพิจารณาแต่ในทางกุศลหรือความดีงาม
- สัมมาวาจา คือ เจรจาชอบ หมายถึง การพูดต้องสุภาพ แต่ในสิ่งที่สร้างสรรค์ดีงาม
- สัมมากัมมันตะ คือ การประพฤติดีงาม ทางกายหรือกิจกรรมทางกายทั้งปวง
- สัมมาอาชีวะ คือ การทำมาหากินอย่างสุจริตชน ไม่คดโกง เอาเปรียบคนอื่น ๆ
- สัมมาวายามะ คือ ความอุตสาหะพยายาม ประกอบความเพียรในการกุศลกรรม
- สัมมาสติ คือ การไม่ปล่อยให้เกิดความพลั้งเผลอ จิตเลื่อนลอย ดำรงอยู่ด้วยความรู้ตัวอยู่เป็นปกติ
- สัมมาสมาธิ คือ การฝึกจิตให้ตั้งมั่น สงบ สงัด จากกิเลส นิวรณ์อยู่เป็นปกติ

และทรงสอนให้มนุษย์มี เมตตา กรุณา ต่อกัน ไม่เบียดเบียนกันและกัน อยู่ด้วยกันอย่างมีความสงบสุข รู้จักให้อภัยซึ่งกันและกัน

"บริสุทธิคุณ" พระองค์มีศีลธรรมที่บริสุทธิ์ บริสุทธิด้วย กายบริสุทธิ วาจาบริสุทธิ และใจบริสุทธิ มีจิตใจที่หวังดีต่อเพื่อนมนุษย์ทุกคน ประสงค์ให้ทุกคนพ้นทุกข์ มีสุข พระองค์เป็นพระอรหันต์ ปราศจากกิเลส มลทินเป็นเครื่องเศร้าหมองแห่งใจ คือ โลภะ ความโลภ โทสะ ความโกรธ โมหะความหลง ฉะนั้นพระองค์จึงเป็นผู้บริสุทธิ อย่างแท้จริง

"มหากรุณาธิคุณ" พระองค์มีพระมหากรุณาต่อทุกคน ไม่เลือกชั้น วรรณะ เป็นพระมหากรุณาที่ยิ่งใหญ่ ช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ให้พ้นเสียจากบ่วงคือความทุกข์ ที่ทุกคนยึดมั่นถือมั่นถือมั่นว่าเป็นของตนเอง แต่จริงๆแล้วทุกสิ่งเป็นสิ่งสมมุติ ไม่เที่ยงแท้แน่นอน เกิดขึ้น ตั้งอยู่ดับไป เป็นธรรมดา พระองค์ทรงสอนมนุษย์ทุกคนให้เห็นสัจธรรมชีวิตจุดประสงค์หลักของพระองค์คือ การพาสัตว์โลกให้พ้นจากวัฎฎะสงสาร คือการเวียนว่ายตายเกิด เข้าสู่นิพพานคือการดับเสียซึ่งกิเลส โลภ โกรธ หลง ทั้งมวล และจะไม่ทุกข์อีกต่อไป จะไม่กลับมาเกิดอีกต่อไป เพราะการเกิดใหม่ เป็นทุกข์

พระองค์ทรงสอนมนุษย์ทั้งหลายตลอด 45 พรรษา ไม่ใช่เพื่อตัวเองแต่เพื่อมวลมนุษย์ทั้งมวล เพื่อให้มนุษย์พ้นทุกข์ และอยู่ด้วยกันอย่างมีความสุขสงบ นั่นคือคุณของพระองค์ที่พวกเราควรสรรเสริญอย่างยิ่ง

189


อย่าดูถูกบุญเล็กน้อย ว่าจักไม่สนองผล
น้ำตกจากเวหา ทีละหยาดๆ ยังเต็มตุ่มได้ ฉันใด
นักปราชญ์สะสมบุญทีละเล็กละน้อย
ย่อมเต็มด้วยบุญได้ฉันนั้น

อย่าดูถูกความชั่วเล็กน้อย ว่าจักไม่สนองผล
น้ำตกจากเวหา ทีละหยาดๆ ยังเต็มตุ่มได้ ฉันใด
คนพาลทำความชั่ว ทีละเล็กละน้อย
ย่อมเต็มด้วยความชั่วได้ฉันนั้น

อย่าเห็นเป็นความดีเล็กน้อย จึงไม่ทำ
อย่าเห็นเป็นความชั่วเล็กน้อย แล้วจึงทำ

- พุทธวจนะ

190


ผู้ปฏิบัติส่วนใหญ่มักจะไม่พอใจในผลการปฏิบัติของตน โดยที่มักจะขาดการไตร่ตรองว่าสาเหตุนั้นเป็นเพราะอะไร ดังเช่นที่เคยมีลูกศิษย์คนหนึ่งของหลวงปู่ดู่ ได้มานั่งบ่นให้ท่านฟังในความอาภัพอับวาสนาของตนในการภาวนา ว่าตนไม่ได้รู้ ไม่ได้เห็นในสิ่งต่างๆ ภายใน มีนิมิตภาวนา เป็นต้น ลงท้ายก็ตำหนิว่าตนนั้นไม่มีความรู้อรรถ รู้ธรรมและความดีอะไรเลย

หลวงปู่นั่งฟังอยู่สักครู่ ท่านจึงย้อนถามลูกศิษย์
จอมขี้บ่นผู้นั้นว่า

“แกแน่ใจหรือว่าไม่มีอะไรดี
แล้วแกรู้จักพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ หรือเปล่า”

ลูกศิษย์ผู้นั้นนิ่งอึ้งสักครู่จึงตอบว่า “รู้จักครับ”

หลวงปู่จึงกล่าวสรุปว่า

“เออ นั่นซี แล้วแกทำไมจึงคิดว่าตัวเราไม่มีดี”

191


คติธรรมจากภาพ "ธรรมของพระพุทธเจ้า
เป็นอกาลิโก อยู่เหนือกาลเวลา"

บุญ ที่ถูกต้อง คืออย่าหลงบุญ ชาวพุทธเราส่วนใหญ่ยังเข้าใจผิดเกี่ยวกับเรื่องของ “บุญ” …คิดว่าการทำบุญก็คือเฉพาะ การตักบาตร, การถวายทรัพย์, ปัจจัย, การถวายสังฆทาน ฯลฯ เพียงเท่านี้ เป็นต้น ซึ่งสิ่งเหล่านี้ดีและควรทำอยู่เสมอก็จริงในฐานะชาวพุทธ แต่การสร้างบุญนั้นยังมีมากกว่านี้ เพราะเมื่อสร้างบุญเบื้องต้นพื้นฐานแล้ว ก็ต้องรู้จักต่อยอดสร้างบุญที่ละเอียดยิ่งขึ้น โดยไม่หลงอยู่กับบุญเพียงบางประเภทโดยไม่รู้จักต่อยอดจากฐานที่ควรทำประจำขึ้นไปเลย ยิ่งบางพุทธพาณิชย์ เน้นสอนให้บริจาคทรัพย์ หรือร่วมสร้างความยิ่งใหญ่อลังการเข้าวัดจนเกินตัว มียอดบริจาคมากเท่าไหร่ถือว่ายิ่งได้บุญหนักศักดิ์ใหญ่ รวยล้นฟ้าไม่รู้เรื่อง…

แท้จริงแล้ว “บุญ” หรือ “ปุญญ” แปลว่า “ชำระ” หมายถึง การทำให้หมดจดจากมลทิน เครื่องเศร้าหมอง อันได้แก่ โลภะ โทสะ และ โมหะ

ตามพระไตรปิฎก เราสามารถสร้าง “บุญ” ได้ ๓ อย่าง คือ ทาน ศีล ภาวนา

๑. ทาน คือ การให้ เช่นที่กล่าวมาแล้ว คือ การตักบาตร บริจาคทรัพย์ ถวายสังฆทาน สร้างวิหาร หล่อพระ เป็นต้น ถือเป็น จาคะ หรือ การให้นับเป็น บุญอย่างหนึ่ง นับเป็นบุญที่เป็นพื้นฐานเบื้องต้นที่จะส่งเสริมบารมีบุญด้านอื่นๆไปด้วยกัน แต่มีการให้บางประการที่ไม่นับเป็นบุญ เช่น สุรา มหรสพ ให้สิ่งเพื่อกามคุณ เป็นต้น
๒. ศีล คือ ความประพฤติที่ไม่ละเมิด หรือรักษาความสำรวมทางกาย วาจา การรักษาศีลสำหรับฆราวาส ได้แก่ ศีล ๕ และอุโบสถศีล (มี ๘ ข้อ)
๓. ภาวนา คือ การอบรมจิตทางสมถะและทางวิปัสสนา การนั่งสมาธิ เรียกว่า สมถะภาวนา ส่วนการนั่งวิปัสสนา (สติรู้ถึงรูป–นาม) เรียกว่า วิปัสสนาภาวนา

“บุญ” ยังมีอีก ๗ อย่าง ตามคัมภีร์อรรถกถา หรือข้อปลีกย่อยที่อธิบายความจากพระไตรปิฎก นับถัดไปเป็นลำดับที่ ๔ ดังนี้

๔. อปจายนะ ความเป็นผู้นอบน้อม ต่อผู้ที่ควรนอบน้อม
๕. เวยยาวัจจะ ความขวนขวายในกิจ หรืองานที่ควรกระทำ
๖. ปัตติทาน การให้บุญที่ตนถึงแล้วแก่คนอื่น
เช่น การอุทิศส่วนกุศล การกรวดน้ำ
๗. ปัตตานุโมทนา คือการยินดีในบุญที่ผู้อื่นถึงพร้อมแล้ว เช่น เห็นผู้อื่นทำบุญตักบาตร เมื่อเราพลอยปลื้มปิติยินดี กล่าวอนุโมทนา
เพียงเท่านี้ ก็ได้บุญแล้ว
๘. ธัมมัสสวนะ หรือการฟังธรรม ไม่ว่าจะฟังธรรมโดยตรง
หรือจากสื่อวิทยุ โทรทัศน์ ฯลฯ
๙. ธัมมเทศนา หรือการแสดงธรรมเมื่อได้ศึกษาธรรมะ
แล้วถ่ายทอดให้แก่ผู้อื่น นับเป็นบุญประการหนึ่งด้วย
๑๐. ทิฏฐุชุกรรม คือการกระทำความเห็นให้ตรง
หรือ สัมมาทิฏฐิ นั่นเอง

บุญทั้ง ๑๐ ประการนี้ บางที่เรียกกันว่า “บุญกิริยาวัตถุ ๑๐” จะเห็นว่าบุญทำได้ถึง ๑๐ อย่าง มีเพียงข้อแรกเท่านั้นที่ต้องใช้ทรัพย์ อีก ๙ ข้อล้วนไม่ต้องใช้ทรัพย์ . . .

192


สูตรทำบุญไม่เสียเงินของหลวงปู่ดู่ พฺรหฺมปัญโญ

พอตื่นเช้ามาขณะล้างหน้า หรือดื่มน้ำให้ว่า “พุทธัง สรณัง คัจฉามิ ธัมมังสรณัง คัจฉามิ สังฆังสรณัง คัจฉามิ” ก่อนจะกินข้าว ก็ให้นึกถวายข้าวพระพุทธ (เป็นอนุสสติอย่างหนึง) ออกจากบ้านเห็นคนอื่นเขากระทำความดี เป็นต้นว่า ใส่บาตรพระ จูงคนแก่ข้ามถนน ข่าวงานบุญต่างๆ ฯลฯ ก็ให้นึก อนุโมทนา กับเขา

ผ่านไปเห็นดอกไม้ที่ใส่กระจาดวางขายอยู่ หรือดอกบัวในสระข้างทาง ก็ให้นึกอธิฐานถวายเป็นเครื่องบูชาพระรัตนตรัย โดยว่า “พุทธัสสะ ธัมมัสสะ สังฆัสสะ ปูเชมิ” แล้วต้องไม่ลืมอุทิศบุญให้แม่ค้าขายดอกไม้ หรือรุกขเทวดาที่ดูแลสระบัวนั้นด้วย ตอนเย็นนั่งรถกลับบ้าน เห็นไฟข้างทางก็ให้นึกน้อมบูชาพระรัตนตรัยโดยว่า “โอม อัคคีไฟฟ้า พุทธบูชา ธรรมบูชา สังฆบูชา” (เป็นการบูชาระลึกถึงคุณของพระรัตนตรัย ก่อเกิดอานิสงค์แห่งบุญในดวงจิต) เวลาไปที่ไหนเห็นข่าว คนตาย คนเจ็บ คนป่วย คนที่กำลังมีความทุกข์ ก็ดี ผ่านจุดที่คนตายบ่อยๆ เห็นศาลเจ้า ศาลพระภูมิ ก็ดี ให้ระลึกถึงพระพุทธเจ้า บารมีรวมของครูบาอาจารย์ อันมีหลวงปู่ดู่เป็นที่สุด แผ่บุญไป (เป็นการเจริญเมตตา ฝึกให้จิตมีพรหมวิหาร เป็นการบำเพ็ญบุญ)

ก่อนนอนก็นั่งสมาธิ เอนตัวนอนลง ก็ให้นึกคำบริกรรมภาวนาไตรสรณะคมนี้จนหลับ ตื่นขึ้นมาก็บริกรรมภาวนาต่ออีกตลอดวัน

เหล่านี้คือตัวอย่างเทคนิคการตะล่อมจิตให้อยู่แต่ในบุญกุศลตลอดวัน และได้บุญมากกว่าการทำทาน โดยไม่เสียเงินแม้แต่บาทเดียว เป็นการทำให้ดวงจิตเราเกิดแสงแห่งบุญทุกขณะลมหายใจเข้าออก สะสมบุญได้ตลอดทั้งวัน

193


มีผู้ปฏิบัติหลายคน ปฏิบัติไปนานเข้าชักเขว ไม่แจ้งว่าตนปฏิบัติไปทำไม หรือปฏิบัติไปเพื่ออะไร ดังครั้งหนึ่ง เคยมีลูกศิษย์กราบเรียน ถามหลวงปู่ดู่ท่านว่า “ภาวนามาก็นานพอสมควรแล้ว รู้สึกว่ายังไม่ได้รู้ได้เห็นสิ่งต่างๆ มีนิมิตภายนอก แสดงสีต่างๆ เป็นต้น ดังที่ผู้อื่นเขารู้เห็นทางปฏิบัติกันเลย” หลวงปู่ท่านย้อนถาม สั้นๆ ว่า “ ปฏิบัติแล้ว โกรธ โลภ หลง แกลดน้อยลงหรือเปล่าล่ะ ถ้าลดลงข้าว่าแกใช้ได้”

เคยมีผู้ปฏิบัติกราบเรียนถามหลวงปู่ว่า “หลวงพ่อครับ ขอธรรมะสั้นๆ ในเรื่องวิธีปฏิบัติเพื่อให้กิเลส 3 ตัว คือ โกรธ โลภ หลง หมดไปจากใจเรา จะทำได้อย่างไรครับ” หลวงปู่ตอบเสียงดังฟังชัด จนพวกลูกศิษย์ในที่นั้นได้ยินกันทุกคนว่า “สติ”

194


"การบวชจิต บวชใน" เนี่ย เป็นสูตรของหลวงปู่ดู่ท่านเลยนะ หลวงปู่ดู่ท่านบอกว่าการบวชทั้งในและนอกมันลำบากในยุคนี้เราบวชใน คนไม่รู้.... แต่ผีรู้ เทวดารู้การบวชในเป็นกรรมฐานอย่างหนึ่ง เวลาทำบุญให้นึกว่าตัวเองเป็นพระ ...จะได้ชิน ..ถ้าทำบ่อยๆ จะเป็นไปเองโดยอัตโนมัติ

เวลาทำความดีอะไรก็ตามให้นึกว่าตัวเองเป็นพระมันจะปรับออกมาข้างนอกเองเป็นการบวชจากข้างในไปหาข้างนอกข้างนอก คือด้วยรูปลักษณ์บวชในที่เป็นพระเนี่ยพอเราบวชแล้วเราจะไม่กล้าทำอะไรที่ไม่ดีเวลาเราแผ่บุญออกไป พลังงานก็ผ่านเราออกไปได้มากกว่าไม่ได้บวชเพราะข้างในเราเป็นพระ

พลังงานเนี่ย จะผ่านพระได้มากกว่าฆราวาสนะลองคิดดูสิ เราเป็นพระนะ (กายใน) แค่เรานึกเนี่ย ก็เป็นแล้ว ทำไม่เกิน ๓ ปี จะรู้สึกว่าเราเป็นพระ เรื่องอะไรที่ไม่ดีเราจะไม่พูด ไม่ทำ แม้แต่ในฝัน ยังเป็นพระเลย

บวชจิตแล้วต้องสึกไหม..ไม่ต้อง มันไม่เกี่ยวกัน เรื่องโลกกับเรื่องธรรมเป็นคนละเรื่อง เวลาอยู่ทางโลกก็อยู่ไป เมื่อไรอยู่ทางธรรมเราก็บวชใน

ตื่นขึ้นมาก็ให้ทำแล้ว กราบพระ ๖ ครั้ง แล้วทำวัตรสั้นๆ อาราธนาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ตั้งแต่องค์ปฐมถึงองค์ปัจจุบัน เวลากินข้าว อาบน้ำ เวลาว่าง เวลานอน ให้สวด ให้ภาวนา จนกว่าจะหลับ ๓ ปี จะรู้สึกว่าข้างนอกจะเปลี่ยน ทรงอารมณ์แบบนี้ อานิสงค์มหาศาล เป็นบุญทุกลมหายใจเข้าออก

หลวงปู่ดู่ท่านได้เคยแนะเคล็ดในการบวชจิตไว้ว่า.....

" ในขณะที่เรานั่งสมาธิเจริญภาวนานั้น

คำกล่าวว่า

พุทธัง สรณัง คัจฉามิ
ให้นึกถึงว่าเรามีพระพุทธเจ้าเป็นพระอุปัฌาย์ของเรา

ธัมมัง สรณัง คัจฉามิ...
ให้นึกว่าเรามีพระธรรมเป็นพระกรรมวาจาจารย์

สังฆัง สรณัง คัจฉามิ...
ให้นึกว่าเรามีพระอริยสงฆ์ เป็นพระอนุสาวนาจารย์

แล้วอย่าสนใจขันธ์ 5 หรือร่างกายเรานี้ ให้สำรวมจิตให้ดี
มีความยินดีในการบวช

ชายก็ตั้งจิตเป็นพระภิกษุ
หญิงก็ตั้งจิตเป็นพระภิกษุณี

อย่างนี้จะมีอานิสงส์สูงมาก
จัดเป็นเนกขัมบารมีขั้นอุกฤษฎ์ทีเดียว "

195


หากว่าใครเคยไปกราบหลวงตาม้า วัดถ้ำเมืองนะ ต.เมืองนะ อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ หรือว่าเคยเห็นรูปท่าน สิ่งที่ทุกคนจะเห็นแบบเดียวกัน คือ หลวงตาท่านยิ้มแย้ม แจ่มใส อยู่ตลอดเวลา และสิ่งที่ท่านสอนเราอยู่เสมอก็คือการทรงอารมณ์ให้ดี เพราะใจที่สบายนั้นจะเป็นใจที่มีกระแสบุญ หากจิตเศร้าหมองกระแสบุญจะไม่เกิด หมั่นระลึกถึง พระรัตนไตรยไว้เป็นอารมณ์ ครูบาอาจารย์ ดูท่านเป็นตัวอย่าง และให้จิตมีเมตตาอยู่เสมอ

ทั้งหมดนี้เรียกได้ว่าเป็นการฝึกตายก่อนตายนั้นเอง เตรียมตัวตาย เพราะจิตสุดท้ายก่อนจะตายนั้นสำคัญ และเป็นตัวชี้ว่าเราจะไปไหนหลังจากที่ตายแล้ว . . .

บางคนบอกว่าทำยาก ที่ยากเพราะว่าท่านอยู่กับกระแสสังคมรอบตัวที่วุ่นวาย วิธีง่ายๆที่หลวงตาแนะนำ ให้ทำทุกวันคือ "ตื่นเช้าขึ้นมา ให้ไปส่องกระจก แล้วยิ้มให้ตัวเอง" บอกกับตัวเองไปเลยว่า “ถ้าเรายิ้ม เราก็จะเป็นผู้น่ารัก” วันนี้ท่านเป็นผู้น่ารักแล้วหรือยัง . . .

หน้า: 1 ... 11 12 [13] 14 15 16