เว็บพุทธภูมิ: พุทธภูมิ พระโพธิสัตว์ การบำเพ็ญบารมี



แสดงกระทู้

This section allows you to view all posts made by this member. Note that you can only see posts made in areas you currently have access to.


Messages - DHAMMASAMEE

หน้า: 1 ... 5 6 [7] 8 9 ... 15
91
..... พระโยคาพจรเจ้าผู้ปฏิบัติแล้ว เห็นจิตว่าเป็นอยู่อย่างนี้ มันเกิดๆ ตายๆ เป็นของไม่แน่นอนสักอย่างหนึ่งเลย 

... ถ้าพิจารณาแล้วท่านดูมันทุกวิธี มันเป็นของมันอย่างนั้น ไม่มีอะไรแน่นอน เกิดแล้วก็ตาย ตายแล้วก็เกิด ไม่มีอะไรเป็นแก่นสาร ฯ.

92
     ... ก่อนที่ผมจะปฏิบัตินี่คิดว่า

... ศาสนาตั้งอยู่ในโลก ทำไมบางคนทำ บางคนไม่ทำ ทำแบบนิดๆ หน่อยๆ แล้วเลิก มันอะไรอย่างนี้ 

... ผู้ไม่เลิก ก็ไม่ประพฤติปฏิบัติเต็มที่ นี่มันเป็นเพราะอะไร ก็ไม่รู้นั่นเองละ 

... ผมจึงต้องอธิษฐานในใจว่า

... เอาละ ชาตินี้เราจะมอบกายอันนี้ ใจอันนี้ให้มันตายไปชาติหนึ่ง 

... จะทำตามคำสอนของพระพุทธเจ้าทุกประการเลย จะทำให้มันรู้จักในชาตินี้ ถ้าไม่รู้จักมันก็ลำบากอีก 

... จะปล่อยวางมันเสียทุกอย่าง จะพยายามทำ ถึงแม้ว่ามันจะทุกข์ มันจะลำบากขนาดไหน ก็ต้องทำ ไม่เช่นนั้นก็จะสงสัยเรื่อยไป   

... คิดอย่างนี้เลยตั้งใจทำ

... ถึงแม้มันจะสุข มันจะทุกข์จะลำบากขนาดไหนก็ต้องทำ 

... ชีวิตในชาตินี้ให้เหมือนวันหนึ่งกับคืนหนึ่งเท่านั้น ทิ้งมัน 

... จะทำตามคำสอนของพระพุทธเจ้า จะตามธรรมะให้มันรู้ ทำไมมันยุ่งยากนักวัฏฏะสงสารนี้ ฯ.

93
... ความจริงปฏิปทาของเรานั้น เป็นคนมักน้อย เป็นคนสันโดษ ธรรมดาๆ ของเรานั้นให้ปฏิปทาทำขนาดเดิม 

... อย่าสนใจกับความเกียจคร้าน อย่าสนใจกับความขยัน ปฏิบัติอย่าว่าขยันอย่าว่าขี้เกียจ

... พระท่านไม่เอาอย่างนั้น 

... ขยันก็ทำอยู่อย่างนั้น ขี้เกียจก็ทำอยู่อย่างนั้น

... ไม่สนใจมันสิ่งเหล่านั้น ตัดมันไปอย่างนี้เรื่อยๆ กลางคืนกลางวัน ปีนี้ปีหน้า เวลาใดก็ตาม ให้ทำของเราไปเรื่อยๆ 

... ปฏิปทานี้ไม่สนใจกับความเกียจคร้าน ไม่สนใจกับความขยัน ไม่สนใจอากาศร้อนอากาศหนาว ให้ทำไปเรื่อยๆ ฯ. 

94
... ถึงแม้เราจะมีคาถาอาคมของดีอะไรก็ตาม เราก็ต้องตาย

... ก่อนตายควรเลือกทางเดินเอาอย่างน้อยที่สุด

... เราควรไปสวรรค์ชั้นกามาวจรให้ได้

... ขอให้ทุกคนนะ เวลาก่อนจะหลับ ให้นึกถึงความดีที่ตนเคยทำ

... ทรัพย์สินที่สละเป็นวิหารทาน ธรรมทาน สังฆทาน เลี้ยงพระ

... นึกถึงศีลที่ตนเคยรับมา เทศน์ที่ตนเคยฟัง

... แล้วหมั่นภาวนาถึงพระพุทธคุณ พระธรรมคุณ พระสังฆคุณ

... พุทโธ ธัมโม สังโฆ

... เมื่อจะเจริญกรรมฐาน ให้ตั้งอยู่ในพรหมวิหาร ๔

... ให้เป็นฌานสมาธิแน่วแน่ ให้แผ่เมตตาไปทั่วจักรวาล

...  แล้วจึงพิจารณาตามอารมณ์วิปัสสนาหรือภาวนาตามแบบสมถะ

... ทุกคนตายแล้วจงไปสวรรค์ จงไปพรหมโลก จงไปนิพพาน ฯ.

95
... จึงกล่าวได้ว่า ชีวิตเป็นของไม่เที่ยง

... แต่ความตายเป็นของเที่ยง

... การเกิดเป็นมนุษย์มันเต็มไปด้วยความทุกข์ หาความสุขไม่ได้

... จงอย่าอาลัยในชีวิต มันจะตายเมื่อไหร่ก็ได้ช่างมัน เอาดีเข้าไว้

... ดีนั่น คือ ธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

... ที่ให้คิดว่าร่างกายมันไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา เราไม่มีในร่างกาย ร่างกายไม่มีในเรา

... ร่างกายเป็นเพียงธาตุ ๔ เข้ามาประชุมกัน มีธาตุน้ำ ธาตุดิน ธาตุลม ธาตุไฟ มันก็ปั้นเป็นก้อนขึ้นมา เขาแยกเป็นอาการ ๓๒

... ในไม่ช้าก็ตาย อย่าลืมความตายเป็นสำคัญ ฯ.

96
... สำหรับอัตตภาพที่มีขันธ์ ๕ มันต้องเป็นอนิจจัง คือ เปลี่ยนแปลงไม่เที่ยงอยู่เรื่อยไป

... เพราะความไม่เที่ยงมันจึงเป็นทุกข์

... เพราะเป็นทุกข์นี่แหละสภาวะอนัตตาจึงปรากฏ คือ ความไม่ใช่ตัว ไม่ใช่ตน มันพัง มันทำลาย

... นี่ร่างกระดูกที่เราเห็นนี่ เมื่อก่อนก็มีเรือนร่างครบถ้วนบริบูรณ์อย่างเรา มีลมปราณเหมือนกัน มีชีวิตจิตใจเหมือนกัน แต่ว่านี่เนื้อหนังมังสามันหมดไปแล้วเหลือแต่กระดูก อันเป็นส่วนแก่นแท้ภายในร่างกาย

... เมื่อพิจารณาไปส่วนไหนมันก็ไม่น่ารัก ไม่น่าดู ไม่น่าชม มันน่าเกลียด ฯ.

97
... นี่พระพุทธเจ้าทรงสอนกฏของธรรมดา ซึ่งคนทั้งหลายที่เกิดมาแล้ว ด้วยอำนาจของกิเลสและตัณหาเข้าไปปิดบังใจ

... ไม่ยอมรับนับถือกฏธรรมดา เช่น กระดูกนี่เป็นของปฏิกูลน่าเกลียด ร่างกายเราเมื่อสภาพการหมดไปแล้ว ก็คงมีโครงกระดูกนี่เป็นเรือนร่าง เป็นแก่นของร่างกาย

... คนและสัตว์ที่เกิดมาแล้ว ไม่มีสภาพจะคงที่ได้ ถ้ามีร่างกายบริบูรณ์สมบูรณ์ เมื่อสิ้นลมปราณแล้ว ร่างกายก็จะผุพังน้ำเหลืองจะไหล

... ธาตุดินไปส่วนหนึ่ง ธาตุน้ำไปส่วนหนึ่ง ธาตุไฟไปส่วนหนึ่ง ธาตุลมไปส่วนหนึ่ง ผลที่สุดเนื้อหนังก็จะละลายไป เหลือแต่ธาตุกระดูก

... กระดูกก็จะเป็นโครงอย่างนี้ หาความสวยไม่ได้ หาความงามไม่ได้

... อัตตภาพร่างกายอย่างนี้ มันเกิดขึ้นในเบื้องต้น มันเป็นอนิจจังคือ เปลี่ยนแปลงมาในระหว่างกลาง แล้วต่อไปก็ผุพังทำลายไปในที่สุด เป็นอนัตตาอย่างนี้

... ไม่มี นิจจัง สุขขัง อัตตา หมายความว่า นิจจังมีสภาพคงที่ สุขขังไม่มีทุกข์ อัตตามีสภาพ เป็นตัวตน ยืนยาวตลอดกาลตลอดสมัย ไม่มีการเปลี่ยนแปลง อย่างนั้นไม่มีในร่างกายนี้ ฯ.

98
... พระพุทธเจ้าท่านทรงตรัสไว้ว่า สัตว์ก็ดี คนก็ดี หรือสิ่งที่ไม่มีชีวิตก็ดี มีความเกิดขึ้นในเบื้องต้น แล้วมีความเปลี่ยนแปลงไปในระหว่างกลาง ที่สุดมันก็แตกทำลายหมด ถ้าเป็นสัตว์ เป็นบุคคลก็ตายในที่สุด ถ้าเป็นของวัตถุธาตุ ก็แตกทำลายในที่สุด

... ไอ้บ้านเรือนโรงภูเขา ลำเนาป่า อะไรมันก็เหมือนกัน ภูเขามันเป็นหินแข็ง แต่ว่านานๆ เข้าก็เป็นหินผุกลายเป็นดินไป

... ที่นี้ไอ้คนหรือสัตว์ก็เหมือนกัน มันเกิดขึ้นมาในตอนต้น มันตัวเล็กๆ แล้วมันก็เปลี่ยนแปลง มันเปลี่ยนสภาพเข้ามาทุกทีๆ ถึงความเป็นคน เป็นบุคคลใหญ่ เป็นหนุ่ม เป็นสาว แล้วก็แก่

... ในระหว่างนั้นสภาพของร่างกายก็ไม่ปกติ โรคภัยไข้เจ็บเบียดเบียน นี่เป็นอาการเปลี่ยนแปลง จัดเป็นอนิจจัง

... ทีนี้ตัวอนิจจังไม่เที่ยง มีความทุกข์ก็บังเกิดขึ้น ไอ้ความทุกข์มันเกิดขึ้นก็เพราะตัวอนิจจังนี่แหละ ไม่มีใครต้องการให้มันเป็น " นิจจัง " คือมันเที่ยงแน่นอน มีสภาพปกติ

... แต่อนิจจังมันขับรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ให้เคลื่อนไปจากความปกติ ให้มีความเปลี่ยนแปลง แปรสภาพเสื่อมโทรมลงไปเป็นธรรมดา

... แล้วในเมื่อความเสื่อมโทรมมันปรากฏ ความทุกข์ใจของเจ้าของร่างกายก็ปรากฏ คือ โรคภัยไข้เจ็บมันก็เกิดขึ้น ความทุกข์ใจของเจ้าของร่างกายก็ปรากฏ นี่มันเป็นตัวทุกข์ อนิจจังมันทำให้ทุกข์

... ไม่มีใครจะห้ามความตาย ไม่มีใครจะห้ามความเสื่อมความสูญ ความสลายตัวได้

... คนทุกคนเกิดมาแล้วเป็นอย่างนั้น สัตว์ทุกตัวเกิดมาแล้วเป็นอย่างนั้น สภาพของวัตถุต่างๆ เป็นอย่างนั้น ตรงตามความเป็นจริงทุกอย่าง

... ซึ่งมนุษย์ทุกคนที่เกิดมาในโลก ยากนักที่จะคิดอย่างนี้ที่จะเห็นตามความเป็นจริงอย่างนี้ ฯ.

99
โอวาทพระครูวิหารกิจจานุการ
หลวงปู่ปาน  โสนันโท  วัดบางนมโค
     
… ร่างกายของคนและสัตว์มันเป็นอนิจจัง มีสภาพไม่เที่ยง เวลาอยู่ก็เป็นทุกข์ แต่ในที่สุดก็เป็นอนัตตาคือตาย ใครบังคับบัญชาไม่ได้

... เวลาเผาศพอย่าตั้งหน้าตั้งตาเผาเขา เวลาเราไปเผาศพก็เผากิเลสในใจของเราเสียด้วย

... กิเลสส่วนใดที่มันสิงอยู่ที่เรา คิดว่าเราจะไม่แก่ ไม่เจ็บ ไม่ตายน่ะ เผามันเสียให้หมดไป

... เราคิดว่าวันนี้เราเผาเขา ไม่ช้าเขาก็เผาเรา

... คนเกิดมาแล้วตายอย่างนี้เราจะเกิดมันทำไม ต่อไปข้างหน้าเราไม่เกิดดีกว่า เราไปพระนิพพานนั่นละดีที่สุด

... เรื่องอัตภาพร่างกายสิ่งที่มีชีวิตหรือไม่มีชีวิต ไม่มีอะไรเป็นความหมาย ไม่มีอะไรเป็นที่พึ่ง ตายแล้วหาสาระหาแก่นสารไม่ได้ หาประโยชน์ไม่ได้

... ให้ทุกคนเตรียมพร้อมที่จะตายได้ ให้ขยันหมั่นเพียร ชำระจิตใจให้สะอาด มีพระนิพพานเป็นอารมณ์

... จงวางภาระว่า เราของเรา เสียให้สิ้นด้วยไม่มีอะไรเลยเป็นของเรา แม้แต่ร่างกายก็มีเจ้าของ คือ มรณภัยมันมาทวงคืน

... ให้คิดว่าเราไม่มีอะไรเป็นของเรา เราไม่ต้องการมนุษย์โลก เทวโลก พรหมโลก เรามีนิพพานเป็นที่ไป ฯ.


100
... ท่านหลวงพ่อพระราชพรหมยาน ท่านสอนไว้ว่า

เป็นเครื่องเตือนใจให้ทราบว่า

การจะมีทรัพย์สินมากหรือน้อยก็ตาม

ได้มาจากผลของการบริจาคทาน

การให้ทานเป็นบ่อเกิดแห่งทรัพย์สินในชาติต่อไป

ความจริงถ้าเป็นนักบุญที่เนื่องในการให้ทานจริงๆ

ทำบุญให้ทานในเขตทานที่ให้ผลมาก

ไม่ต้องทำคราวละมากๆ ทำน้อยๆ พอไม่เดือดร้อน

แต่ให้ทำบ่อยๆ ให้ติดต่อกันเป็นประจำ

เช่น  การถวายสังฆทานเป็นปกติ

สังฆทานก็ไม่ต้องลงทุนมาก ใส่บาตรวันละองค์สององค์

หรือเอาข้าวเปลือก ข้าวสาร (หรือตังค์วันละบาทสองบาท)ใส่ที่เก็บเล็กๆ ไว้วันละนิดหน่อย ตั้งใจไว้ว่า

ข้าวที่เก็บไว้นี้เราจะรวมไว้ เมื่อมีมากพอสมควรจะเอาไปถวายเป็นอาหารของพระ

อย่างนี้เรียกว่าถวายสังฆทาน 

ทำอย่างนี้เสมอๆ

ขอให้ค่อยๆ พิจารณา เมื่อวันเวลาผ่านไปสักปีหรือสองปี

จะเห็นว่าผลของทานแม้เล็กน้อยเพียงเท่านี้

จะทำให้ความเป็นอยู่เพิ่มพูนขึ้นมากกว่าปกติ

มีการหาได้คล่องตัวขึ้น

ชาติหน้าจะรวยขั้นมหาเศรษฐี


ถ้าอยากเห็นผลแน่นอน ต้องรักษาศีล ข้ออทินนาฯ ข้อกาเมฯ และข้อสุราฯ อย่างนี้ จะเห็นผลภายใน ๑ ปีครับ


102
... สมเด็จพุทธสิริมิตตสัพพัญญูเจ้า ก็พาพระยาบรมสังขจักรไปใกล้บุพพารามมหาวิหารแล้ว

... พระองค์ก็ทรงนิสีทนาการนั่งบนพระบวรพุทธอาสน์ในพระวิหาร

... ส่วนสมเด็จพระโพธิสัตว์เจ้าก็เสด็จลงจากรถเข้าสู่บุพพารามมหาวิหาร

... ทอดพระเนตรไปได้ทัศนาการเห็นองค์สมเด็จพระสิริมิตตบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้ประกอบไปด้วยทวัตติงสมหาปุริสลักษณะแลอสีตยานุพยัญชนะประดับ ทั้งพระพุทธรัศมีอันโอภาสสว่างรุ่งเรืองออกจากพระบวรกาย อันเสด็จทรงประทับนั่งอยู่ในที่นั้น พระองค์ก็ทรงวิสัญญีภาพสลบลงตรงพระพักตร์แห่งสมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าด้วยความโสมนัส เกิดความปีติยินดีหาที่สุดมิได้ ส่วนสมเด็จพระสัพพัญญูเจ้า จึงมีพระพุทธฎีกาตรัสว่า 
     
... " ดูก่อนมหาราชผู้เป็นอภิชาตชายอันประเสริฐ พระตถาคตเจ้าเสด็จอยู่ในที่นี้แล้ว "   
     
... ครั้งนั้น สมเด็จพระบรมสังขจักร ก็ได้ซึ่งความยินดีชื่นชมก้มเศียรเกล้า คลานเข้าไปในสำนักสมเด็จพระสิริมิตตพุทธองค์ เสด็จประทับนั่งยังที่อันสมควร แล้วจึงยกพระกรขึ้นประณมบังคมเหนือศิโรตม์ กระทำอภิวาทนมัสการกราบทูลว่า 
     
... " ภนฺเต ภควา ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้าผู้เจริญ บัดนี้ข้าพระบาทมาถึงสำนักพระองค์แล้ว ขอจงทรงพระกรุณาเป็นที่พึ่งแก่ข้าพระพุทธเจ้า โปรดตรัสพระสัทธรรมเทศนาอันอุดมให้ข้าพระบาทฟังในกาลบัดนี้ "
     
... สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า 
     
... " ดูก่อนมหาบพิตรผู้ประเสริฐ จงตั้งโสตประสาทสดับรับรสพระสัทธรรมเทศนาของตถาคตแล้ว พิจารณาธรรมกถาอันกล่าวในคุณแห่งพระนิพพาน ในบัดนี้ "

103
... ครั้นถึงกึ่งกลางมรรคาหนทางแล้ว พระอมรินทราธิราชกับพระนางสุชาดาผู้เป็นอัครมเหสีนั้น นำเอาโภชนาหารอันเป็นทิพย์กับทั้งน้ำทิพย์ลงมา จำแลงแปลงเพศเป็นบุรุษยืนอยู่ตรงหน้ารถแล้วร้องว่า 
     
... " ดูก่อนนายสารถีผู้เจริญเอ๋ย ท่านอยากข้าวน้ำโภชนาหารหรือเราจะให้ "   
     
... เมื่อท้าวโกสีย์สักกะเทวราชกับพระนางสุชาดากล่าวดังนั้น สมเด็จพระสัพพัญญูเจ้าซึ่งแปลงเพศเป็นนายสารถีขับรถจึงว่า 
     
... " มาณพผู้เจริญ บุรุษทุพพลภาพผู้หนึ่งมาในรถด้วยเรา มีความลำบากเวทนานัก ท่านจะให้ข้าวน้ำโภชนาหารแก่เราก็ให้เถิด เราจะได้ให้แก่บุรุษทุพพลภาพนั้นบริโภค "   
     
... ท้าวโกสีย์อมรินทราธิราชกับพระนางสุชาดาผู้มเหสี ก็ถวายข้าวน้ำโภชนาหารอันเป็นทิพย์แก่สมเด็จพระมหาบุรุษสัทธรรมสารถีผู้ประเสริฐ  พระองค์ก็ประทานให้แก่พระบรมโพธิสัตว์บรมสังขจักรเสวยข้าวน้ำโภชนาหารอันเป็นทิพย์
     
... ครั้นพระองค์เสวยอิ่มหนำสำเร็จแล้ว ด้วยเดชะข้าวน้ำโภชนาหารอันเป็นทิพย์อุปัทวะโทมนัสทุกขเวทนาในสรีระกาย ก็อันตรธานหายพระองค์ก็มีพระสรีระกายเป็นสุขเสมอเหมือนแต่ก่อน   

104
... ครั้งนั้น สมเด็จพระสิริมิตตสัพพัญญูผู้ประเสริฐ พระองค์ทรงพระมหากรุณาเล็งแลดูสัตว์โลกทั้งหลายด้วยพระญาณ

... ก็รู้แจ้งเห็นกำลังความเพียรแห่งบรมสังขจักรนั้นเป็นอุกฤษฏ์โดยยิ่งวิเศษแล้ว

... มิใช่อื่นมิใช่ไกล เป็นหน่อพุทธางกูรพุทธวงศ์อันเดียวกันกับพระตถาคต สมควรที่ตถาคตจักเสด็จไปสู่ที่ใกล้แห่งบรมสังขจักร

... เมื่อพระองค์ทรงพระดำริแล้ว ก็เสด็จพระพุทธดำเนินมาด้วยพระสิริวิลาศเป็นอันงาม แล้วพระองค์ทรงกระทำอิทธิฤทธิ์นิรมิตพระบวรกายของพระองค์ให้อันตรธานสูญหาย กลับกลายเป็นมาณพหนุ่มน้อย ขึ้นรถขับทวนมรรคามาเฉพาะหน้าแห่งสมเด็จบรมสังขจักรนั้น แล้วพระพุทธสัพพัญญูเจ้าจึงร้องถามไปว่า 
     
... " ผู้ใดมานอนกลางทางขวางหน้ารถเรา จงหลีกไปเสียเราจะขับรถไป "   
     
... ฝ่ายพระบรมโพธิสัตว์จึงตรัสตอบพระพุทธฎีกาว่า 
     
... " ดูก่อนนายสารถีผู้ขับรถ ท่านจะมาขับเราไปให้พ้นจากหนทางนั้นด้วยเหตุดังฤา ตัวเราผู้รู้จักคุณสมเด็จพระพุทธเจ้าเป็นอารมณ์ยิ่งนัก ชอบแต่นายสารถีจะยั้งรถของท่านให้หลีกเราเสียจึงควร ถ้าท่านไม่หลีกเราก็ให้ท่านขับรถไปเหนือหลังเราเถิด ซึ่งจะให้เราหลีกนั้น เราหาหลีกไม่ "
     
... แล้วจึงมีพระพุทธฎีกาว่า 
     
... " ถ้าแหละท่านจะไปยังสำนักพระพุทธเจ้าแล้ว จงมาขึ้นรถไปกับเราเถิด เราจะพาท่านไปให้ถึงสำนักสมเด็จพระพุทธเจ้า ให้สมดังความปรารถนา "   
     
... พระจอมขัตติยาจึงตรัสว่า 
     
... " ถ้าท่านเอ็นดูกรุณาแก่เรา เราก็มีความยินดีสาธุอนุโมทนาด้วย " 
     
... ท่านว่าแล้วหน่อพระพิชิตมาร ก็อุตสาหะดำรงทรงพระกายขึ้นสู่รถแห่งสมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้า สมเด็จพระผู้ทรงธรรม์ก็หันหน้ารถไปตามมรรคาพาพระยาสังขจักรไป 

105
... ครั้นกระทำราชาภิเษกเจ้าสามเณรแล้ว

... เอโก ว แต่พระองค์เดียวเสด็จไปโดยมีพระทัยเฉพาะต่ออุดรทิศ ตั้งพระทัยสู่บุพพารามวิหาร อันเป็นที่ประทับแห่งองค์พระสิริมิตตสัพพัญญู

... พระเจ้าบรมสังขจักรจอมทวีปเป็นสุขุมาลชาติ พระสรีระกายนั้นละเอียดอ่อนเป็นอันดี เมื่อเสด็จพระราชดำเนินไปตามมรรคาหนทางแต่พระบาทเปล่าเวลาวันเดียว พระบาททั้งสองข้างก็ภินทนาการแตกออก จนพระโลหิตไหลตามฝ่าพระบาททั้งสอง 

... เมื่อพระบาททั้งสองเดินมิได้แล้ว ในกาลนั้นพระองค์ก็ลงนั่งคุกเข่าคลานไปทีละน้อย ค่อยๆ คมนาการไปตามหนทางที่เจ้าสามเณรชี้แจงบอกมานั้น จะได้ละความเพียรเสียหามิได้ 
     
... ครั้นล่วงไปถึงสี่วัน พระหัตถ์ซ้ายขวาและพระชงฆ์ทั้งสองข้างนั้น ก็แตกช้ำพระโลหิตไหลออกมา จะคลุกคลานไปบ่มิได้ เจ็บปวดแสนสาหัส เห็นขัดสนพระทัยนักแล้ว ถึงกระนั้นพระองค์ก็มิได้คิดท้อถอยย้อนรอยกลับคืนมา หมายมั่นในพระทัยว่าอาตมาจะไปให้ถึงสำนักขององค์สมเด็จพระผู้ทรงพระภาคเจ้าให้จงได้ 
     
... ครั้นพระองค์ทรงคุกคลานไปมิได้แล้ว พระองค์ก็ลงพังพาบไถลไปแต่ทีละน้อย ด้วยพระอุระของอาตมา ประกอบไปด้วยทุกขเวทนาเหลือที่จะอดกลั้น  พระองค์ทรงยึดหน่วงเอา พระพุทธคุณของพระพุทธเจ้าเป็นอารมณ์ (หรือที่เรียกว่าเจริญพุทธานุสสติกรรมฐาน)ด้วยพระเจตนาจะใคร่พบเห็นพระสิริมิตตพุทธเจ้าผู้ทรงพระคุณอันใหญ่ยิ่ง  แล้วก็ทรงอดกลั้นซึ่งทุกขเวทนานั้นเสีย หาเอื้อเฟื้ออาลัยในร่างกายของพระองค์ไม่

หน้า: 1 ... 5 6 [7] 8 9 ... 15