เว็บพุทธภูมิ: พุทธภูมิ พระโพธิสัตว์ การบำเพ็ญบารมี



แสดงกระทู้

This section allows you to view all posts made by this member. Note that you can only see posts made in areas you currently have access to.


Messages - DHAMMASAMEE

หน้า: 1 2 [3] 4 5 ... 15
31
... การทำเพียรนี้ท่านจึงได้ว่าเป็นสัมมาทิฏฐิ รู้มันเสียก่อนว่าเป็นสัมมาทิฏฐิความเห็นชอบ เมื่อความเห็นชอบ อะไรมันก็ชอบไปหมด สัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปโป สัมมากัมมันโต สัมมาทุกอย่างทั้ง ๘ ประการนั้น มีสัมมาทิฏฐิเกิดขึ้นอันเดียวเท่านั้น มันก็เชื่อมกันไปเลย สม่ำเสมอกันไปเรื่อยๆ มันเป็นอย่างนั้น ฯ. 

32
... เมื่อท่านมีโอกาสมาประพฤติปฏิบัติแล้ว ถึงแม้ว่าสมาธิมันทำยากหรือทำง่าย หรือมันไม่ค่อยเป็นสมาธิ มันก็เป็นเพราะเรา ไม่ใช่เป็นเพราะสมาธิ มันเป็นเพราะเราทำไม่ถูก ฯ.

33
... ศีลก็ดี สมาธิก็ดี ปัญญาก็ดี เมื่อเรามีศีลขึ้นมาสมาธิก็เกิดขึ้นเท่านั้น สมาธิเราเกิดขึ้นมาปัญญามันก็เกิดเท่านั้น มันเป็นวงกลมครอบกันอยู่อย่างนี้ มันเป็นอันเดียวกัน เหมือนมะม่วงใบเดียวกัน เมื่อมันเล็กก็เป็นมะม่วงใบนั้น เมื่อมันโตมามันก็เป็นมะม่วงใบนั้น เมื่อมันสุกมา มันก็เป็นมะม่วงใบนั้น ฯ.

34
... การทำเพียร การภาวนา มันเป็นที่จิต ไม่ใช่เป็นที่กายของเรา จิตของเรามันเลื่อมใสอยู่ จิตของเรามันตรงอยู่ มันมีกำลังอยู่ มันรู้อยู่ที่จิตนั้น ฯ.

35
... สังขารุเปกขาญาณ  คือ วางเฉยในสังขารคือร่างกาย  มันจะเป็นอะไรก็ช่างหัวมัน  โลกทั้งโลก ทรัพย์สินทั้งหลายมันจะเป็นอะไรก็ช่างหัวมัน  ร่างกายมันป่วยจะตายมีทุกขเวทนาสาหัส  เราเป็นสาวกขององค์สมเด็จพระทรงสวัสดิ์  จะไปแยแสอะไรกะมัน  ช่างมัน  มันอยากป่วยเชิญมันป่วยไป  มันอยากตายเชิญมันตายไป  ตัดตัวนี้ได้มันก็มีความสุข  เราเฉยเข้าไว้เพราะเรารู้อยู่แล้วว่า  อัตภาพร่างกายหรือว่าขันธ์ ๕ นี่มันไม่ใช่เรา  มันไม่ใช่ของเรา เราไม่มีในขันธ์  ๕ ขันธ์  ๕ ไม่มีในเรา ฯ.

โอวาทหลวงปู่พระราชพรหมยาน

36
พระไตรปิฎก สุตตันตปิฎก
มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ วิภังควรรค
ทักขิณาวิภังคสูตร

... ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้ สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ที่พระวิหารนิโครธาราม เขตพระนครกบิลพัสดุ์ ในสักกชนบท

... สมัยนั้นแล พระนางมหาปชาบดีโคตมีทรงถือผ้าห่มคู่หนึ่ง เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคยังที่ประทับ แล้วถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาค ประทับนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง พอประทับนั่งเรียบร้อยแล้ว ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า

... " ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ผ้าใหม่คู่นี้ หม่อมฉันกรอด้าย ทอเอง ตั้งใจอุทิศพระผู้มีพระภาค ขอพระผู้มีพระภาคทรงอาศัยความอนุเคราะห์ โปรดรับผ้าใหม่ทั้งคู่ของหม่อมฉันเถิด "
             
... เมื่อพระนางกราบทูลแล้วอย่างนี้ พระผู้มีพระภาคได้ตรัสดังนี้ว่า

... " ดูกรโคตมี พระนางจงถวายสงฆ์เถิด เมื่อถวายสงฆ์แล้ว จักเป็นอันพระนางได้บูชาทั้งอาตมภาพและสงฆ์ "

... พระนางมหาปชาบดีโคตมี ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า

... " ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ผ้าใหม่คู่นี้ หม่อมฉันกรอด้าย ทอเอง ตั้งใจอุทิศพระผู้มีพระภาค ขอพระผู้มีพระภาคทรงอาศัยความอนุเคราะห์ โปรดรับผ้าใหม่ทั้งคู่นี้ของหม่อมฉันเถิด "

... แม้ในครั้งที่ ๒ แม้ในครั้งที่ ๓ แล พระผู้มีพระภาคก็ตรัสกะพระนาง แม้ในครั้งที่ ๒ แม้ในครั้งที่ ๓ ดังนี้ว่า

... " ดูกรโคตมีพระนางถวายสงฆ์เถิด เมื่อถวายสงฆ์แล้ว จักเป็นอันพระนางได้บูชาทั้งอาตมภาพและสงฆ์ "
             
... เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้ ท่านพระอานนท์ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า

... " ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอพระผู้มีพระภาค โปรดรับผ้าใหม่ทั้งคู่ ของพระนางมหาปชาบดีโคตมีเถิด พระนางมหาปชาบดีโคตมี มีอุปการะมาก เป็นพระมาตุจฉาผู้ทรงบำรุงเลี้ยง ประทานพระขีรรสแด่พระผู้มีพระภาคเมื่อพระชนนีสวรรคตแล้ว ได้โปรดให้พระผู้มีพระภาคทรงดื่มเต้าพระถัน แม้พระผู้มีพระภาคก็ทรงมีอุปการะมากแก่พระนางมหาปชาบดีโคตมี พระนางทรงอาศัยพระผู้มีพระภาค จึงทรงถึงพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เป็นสรณะได้ทรงอาศัยพระผู้มีพระภาค จึงทรงงดเว้นจากปาณาติบาต จากอทินนาทาน จากกาเมสุมิจฉาจาร จากมุสาวาท จากฐานะเป็นที่ตั้งแห่งความประมาทเพราะดื่มน้ำเมาคือสุราและเมรัยได้ ทรงอาศัยพระผู้มีพระภาค จึงทรงประกอบด้วยความเลื่อมใสอย่างไม่หวั่นไหวในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ทรงประกอบด้วยศีลที่พระอริยะมุ่งหมายได้ ทรงอาศัยพระผู้มีพระภาค จึงเป็นผู้หมดความสงสัยในทุกข์ ในทุกขสมุทัย ในทุกขนิโรธ ในทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาได้ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ แม้พระผู้มีพระภาคก็ทรงมีพระอุปการะมากแก่พระนางมหาปชาบดีโคตมี "
             
... พระพุทธเจ้าตรัสว่า

... " ถูกแล้วๆ อานนท์ จริงอยู่บุคคลอาศัยบุคคลใดแล้ว เป็นผู้ถึงพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เป็นสรณะได้ เราไม่กล่าวการที่บุคคลนี้ตอบแทนต่อบุคคลนี้ด้วยดี เพียงกราบไหว้ ลุกรับ ทำอัญชลี ทำสามีจิกรรม ด้วยเพิ่มให้จีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และคิลานปัจจยเภสัชบริขาร บุคคลใดอาศัยบุคคลใดแล้ว งดเว้นจากปาณาติบาต จากอทินนาทาน จากกาเมสุมิจฉาจาร จากมุสาวาท จากฐานะเป็นที่ตั้งแห่งความประมาทเพราะดื่มน้ำเมาคือสุราและเมรัยได้ เราไม่กล่าวการที่บุคคลนี้ตอบแทนต่อบุคคลนี้ด้วยดี เพียงกราบไหว้ลุกรับ ทำอัญชลี ทำสามีจิกรรม ด้วยเพิ่มให้จีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และคิลานปัจจยเภสัชบริขาร บุคคลอาศัยบุคคลใดแล้ว เป็นผู้ประกอบด้วยความเลื่อมใสอย่างไม่หวั่นไหวในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ประกอบด้วยศีลที่พระอริยะมุ่งหมายได้ เราไม่กล่าวการที่บุคคลนี้ตอบแทนบุคคลนี้ด้วยดี เพียงกราบไหว้ลุกรับ ทำอัญชลี ทำสามีจิกรรม ด้วยเพิ่มให้จีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และคิลานปัจจยเภสัชบริขาร บุคคลอาศัยบุคคลใดแล้ว เป็นผู้หมดความสงสัยในทุกข์ ในทุกขสมุทัย ในทุกขนิโรธ ในทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาได้ เราไม่กล่าวการที่บุคคลนี้ตอบแทนบุคคลนี้ด้วยดี เพียงกราบไหว้ ลุกรับ ทำอัญชลี ทำสามีจิกรรม ด้วยเพิ่มให้จีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และคิลานปัจจยเภสัชบริขาร ฯ

... " ดูกรอานนท์ ก็ทักษิณาเป็นปาฏิปุคคลิกมี ๑๔ อย่าง คือ ให้ทานในตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธ นี้เป็นทักษิณาปาฏิปุคคลิกประการที่ ๑
ให้ทานในพระปัจเจกสัมพุทธ นี้เป็นทักษิณาปาฏิปุคคลิกประการที่ ๒
ให้ทานในสาวกของตถาคตผู้เป็นพระอรหันต์ นี้เป็นทักษิณาปาฏิปุคคลิกประการที่ ๓
ให้ทานในท่านผู้ปฏิบัติเพื่อทำอรหัตผลให้แจ้ง นี้เป็นทักษิณาปาฏิปุคคลิกประการที่ ๔
ให้ทานแก่พระอนาคามี นี้เป็นทักษิณาปาฏิปุคคลิกประการที่ ๕
ให้ทานในท่านผู้ปฏิบัติเพื่อทำอนาคามิผลให้แจ้ง นี้เป็นทักษิณาปาฏิปุคคลิกประการที่ ๖
ให้ทานแก่พระสกทาคามี นี้เป็นทักษิณาปาฏิปุคคลิกประการที่ ๗
ให้ทานในท่านผู้ปฏิบัติเพื่อทำสกทาคามิผลให้แจ้ง นี้เป็นทักษิณาปาฏิปุคคลิกประการที่ ๘
ให้ทานในพระโสดาบัน นี้เป็นทักษิณาปาฏิปุคคลิกประการที่ ๙
ให้ทานในท่านผู้ปฏิบัติเพื่อทำโสดาปัตติผลให้แจ้ง นี้เป็นทักษิณาปาฏิปุคคลิกประการที่ ๑๐
ให้ทานในบุคคลภายนอกผู้ปราศจากความกำหนัดในกาม นี้เป็นทักษิณาปาฏิปุคคลิกประการที่ ๑๑
ให้ทานในบุคคลผู้มีศีล นี้เป็นทักษิณาปาฏิปุคคลิกประการที่ ๑๒
ให้ทานในปุถุชนผู้ทุศีล นี้เป็นทักษิณาปาฏิปุคคลิกประการที่ ๑๓
ให้ทานในสัตว์เดียรัจฉาน นี้เป็นทักษิณาปาฏิปุคคลิกประการที่ ๑๔ "
             
... " ดูกรอานนท์ ใน ๑๔ ประการนั้น บุคคลให้ทานในสัตว์เดียรัจฉาน พึงหวังผลทักษิณาได้ร้อยเท่า
ให้ทานในปุถุชนผู้ทุศีล พึงหวังผลทักษิณาได้พันเท่า
ให้ทานในปุถุชนผู้มีศีล พึงหวังผลทักษิณาได้แสนเท่า
ให้ทานในบุคคลภายนอกผู้ปราศจากความกำหนัดในกาม พึงหวังผลทักษิณาได้แสนโกฏิเท่า
ให้ทานในท่านผู้ปฏิบัติเพื่อทำโสดาปัตติผลให้แจ้ง พึงหวังผลทักษิณาจนนับไม่ได้ จนประมาณไม่ได้ จะป่วยกล่าวไปไยในพระโสดาบัน
ในท่านผู้ปฏิบัติเพื่อทำสกิทาคามิผลให้แจ้ง
ในพระสกิทาคามี
ในท่านผู้ปฏิบัติเพื่อทำอนาคามิผลให้แจ้ง
ในพระอนาคามี
ในท่านผู้ปฏิบัติเพื่อทำอรหัตผลให้แจ้ง
ในสาวกของตถาคตผู้เป็นพระอรหันต์
ในพระปัจเจกสัมพุทธ
และในตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธ "
             
... " ดูกรอานนท์ ก็ทักษิณาที่ถึงแล้วในสงฆ์มี ๗ อย่าง คือ ให้ทานในสงฆ์ ๒ ฝ่าย มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุข นี้เป็นทักษิณาที่ถึงแล้วในสงฆ์ประการที่ ๑

... ให้ทานในสงฆ์ ๒ ฝ่าย ในเมื่อตถาคตปรินิพพานแล้ว นี้เป็นทักษิณาที่ถึงแล้วในสงฆ์ทั้ง ๒ ฝ่าย ในเมื่อตถาคตปรินิพพานแล้ว นี้เป็นทักษิณาที่ถึงแล้วในสงฆ์ประการที่ ๒

... ให้ทานในภิกษุสงฆ์ นี้เป็นทักษิณาที่ถึงแล้วในสงฆ์ประการที่ ๓

... ให้ทานในภิกษุณีสงฆ์ นี้เป็นทักษิณาที่ถึงแล้วในสงฆ์ประการที่ ๔

... เผดียงสงฆ์ว่า ขอได้โปรดจัดภิกษุและภิกษุณีจำนวนเท่านี้ ขึ้นเป็นสงฆ์แก่ข้าพเจ้าแล้วให้ทาน นี้เป็นทักษิณาที่ถึงแล้วในสงฆ์ประการที่ ๕

... เผดียงสงฆ์ว่า ขอได้โปรดจัดภิกษุจำนวนเท่านี้ขึ้นเป็นสงฆ์แก่ข้าพเจ้า แล้วให้ทาน นี้เป็นทักษิณาที่ถึงแล้วในสงฆ์ประการที่ ๖

เผดียงสงฆ์ว่า ขอได้โปรดจัดภิกษุณีจำนวนเท่านี้ขึ้นเป็นสงฆ์แก่ข้าพเจ้า แล้วให้ทาน นี้เป็นทักษิณาที่ถึงแล้วในสงฆ์ประการที่ ๗ "
             
... " ดูกรอานนท์ ก็ในอนาคตกาล จักมีแต่เหล่าภิกษุโคตรภู มีผ้ากาสาวะพันคอ เป็นคนทุศีล มีธรรมลามก คนทั้งหลายจักถวายทานเฉพาะสงฆ์ได้ในเหล่าภิกษุทุศีลนั้น

... ดูกรอานนท์ ทักษิณาที่ถึงแล้วในสงฆ์แม้ในเวลานั้น เราก็กล่าวว่า มีผลนับไม่ได้ ประมาณไม่ได้ แต่ว่าเราไม่กล่าวปาฏิปุคคลิกทานว่า มีผลมากกว่าทักษิณาที่ถึงแล้วในสงฆ์โดยปริยายไรๆ เลย "

             
... " ดูกรอานนท์ ก็ความบริสุทธิ์แห่งทักษิณานี้มี ๔ อย่าง ๔ อย่างเป็นไฉน

... ดูกรอานนท์ ทักษิณาบางอย่างบริสุทธิ์ฝ่ายทายก ไม่บริสุทธิ์ฝ่ายปฏิคาหก

... บางอย่างบริสุทธิ์ฝ่ายปฏิคาหก ไม่บริสุทธิ์ฝ่ายทายก

... บางอย่างฝ่ายทายกก็ไม่ บริสุทธิ์ฝ่ายปฏิคาหกก็ไม่บริสุทธิ์

... บางอย่างบริสุทธิ์ทั้งฝ่ายทายกและฝ่ายปฏิคาหก "
             
... " ดูกรอานนท์ ก็ทักษิณาชื่อว่าบริสุทธิ์ฝ่ายทายก ไม่บริสุทธิ์ฝ่ายปฏิคาหกอย่างไร

... ดูกรอานนท์ ในข้อนี้ ทายกมีศีล มีธรรมงาม ปฏิคาหกเป็นผู้ทุศีล มีธรรมลามก อย่างนี้แล ทักษิณาชื่อว่าบริสุทธิ์ฝ่ายทายก ไม่บริสุทธิ์ฝ่ายปฏิคาหก ฯ
             
... ดูกรอานนท์ ก็ทักษิณาชื่อว่าบริสุทธิ์ฝ่ายปฏิคาหก ไม่บริสุทธิ์ฝ่ายทายกอย่างไร

... ดูกรอานนท์ ในข้อนี้ ทายกเป็นผู้ทุศีล มีธรรมลามก ปฏิคาหกเป็นผู้มีศีล มีธรรมงาม อย่างนี้แล ทักษิณาชื่อว่าบริสุทธิ์ฝ่ายปฏิคาหกไม่บริสุทธิ์ฝ่ายทายก
             
... ดูกรอานนท์ ก็ทักษิณาชื่อว่าฝ่ายทายกก็ไม่บริสุทธิ์ ฝ่ายปฏิคาหกก็ไม่บริสุทธิ์อย่างไร

... ดูกรอานนท์ในข้อนี้ ทายกก็เป็นผู้ทุศีล มีธรรมลามก ปฏิคาหกก็เป็นผู้ทุศีล มีธรรมลามก อย่างนี้แล ทักษิณาชื่อว่าฝ่ายทายกก็ไม่บริสุทธิ์ ฝ่ายปฏิคาหกก็ไม่บริสุทธิ์ ฯ
             
... ดูกรอานนท์ ก็ทักษิณาชื่อว่าบริสุทธิ์ทั้งฝ่ายทายก และฝ่ายปฏิคาหกอย่างไร

... ดูกรอานนท์ ในข้อนี้ ทายกก็เป็นผู้มีศีล มีธรรมงาม ปฏิคาหกก็เป็นผู้มีศีล มีธรรมงาม อย่างนี้แล ทักษิณาชื่อว่าบริสุทธิ์ทั้งฝ่ายทายกและฝ่ายปฏิคาหก
             
... ดูกรอานนท์ นี้แล ความบริสุทธิ์แห่งทักษิณา ๔ อย่าง
             
... พระผู้มีพระภาคผู้สุคตศาสดา ได้ตรัสไวยากรณภาษิตนี้แล้ว ได้ตรัสคาถาประพันธ์ดังนี้ต่อไปอีกว่า

                         
ผู้ใดมีศีล ได้ของมาโดยธรรม มีจิตเลื่อมใสดี
                          เชื่อกรรมและผลแห่งกรรมอย่างยิ่ง ให้ทานในคนทุศีล
                          ทักษิณาของผู้นั้น ชื่อว่าบริสุทธิ์ฝ่ายทายก ฯ
                         
ผู้ใดทุศีล ได้ของมาโดยไม่เป็นธรรม มีจิตไม่เลื่อมใส
                          ไม่เชื่อกรรมและผลของกรรมอย่างยิ่ง ให้ทานในคนมีศีล
                          ทักษิณาของผู้นั้นชื่อว่า บริสุทธิ์ฝ่ายปฏิคาหก ฯ
                         
ผู้ใดทุศีล ได้ของมาโดยไม่เป็นธรรม มีจิตไม่เลื่อมใส
                          ไม่เชื่อกรรมและผลของกรรมอย่างยิ่ง ให้ทานในคนทุศีล
                          เราไม่กล่าวทานของผู้นั้นว่า มีผลไพบูลย์ ฯ
                         
ผู้ใดมีศีล ได้ของมาโดยธรรม มีจิตเลื่อมใสดี เชื่อกรรม
                          และผลของกรรมอย่างยิ่ง ให้ทานในคนมีศีล เรากล่าวทาน
                          ของผู้นั้นแลว่า มีผลไพบูลย์ ฯ
                         
ผู้ใดปราศจากราคะแล้ว ได้ของมาโดยธรรม มีจิตเลื่อมใส
                          ดี เชื่อกรรมและผลของกรรมอย่างยิ่ง ให้ทานในผู้ปราศจาก
                          ราคะ ทานของผู้นั้นนั่นแล เลิศกว่าอามิสทานทั้งหลาย ฯ

นิฏฐิตา

37
... พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า

... " ชนผู้ใคร่ต่อบุญ ถวายทานมุ่งตรงต่อสงฆ์ ทานของเขาเหล่านั้นชื่อว่าเป็นทานที่ถวายดีแล้ว เพราะทานนั้นจัดเป็นสังฆทาน มีผลมาก มีอานิสงส์มาก อันพระสัมมาสัมมาพุทธเจ้าทั้งหลายผู้รู้แจ้งโลกทรงสรรเสริญ ฯ.
     
... อนึ่ง บุคคลที่จะถวายสังฆทานนั้น ให้ตั้งจิตอุทิศเฉพาะพระอริยเจ้า อย่าตั้งจิตอุทิศแก่ภิกษุปุถุชน
     
... อนึ่ง ขอสงฆ์(นิมนต์พระมารับสังฆทาน)แล้ว จะได้พระเถระมาก็ดี จะได้ภิกษุหนุ่มหรือสามเณรก็ดี อย่าดีใจอย่าเสียใจ ทำใจให้เป็นกลางๆ ถ้าดีใจหรือเสียใจก็ไม่เป็นสังฆทาน


... ด้วยสังฆทานนี้มีผลมาก สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงตรัสไว้ในทักขิณาวิภังคสูตรแก่พระอานนท์มหาเถระ พระองค์ทรงปรารภนางกีสาโคตรมีถวายผ้า

... กิร ดังได้สดับมา พระนางกีสาโคตรมีพระน้านางของพระพุทธเจ้ามีจิตยินดี ศรัทธานำคู่ผ้าไปถวายแก่พระพุทธองค์ พระองค์ไม่ทรงรับคู่ผ้า จึงทรงกรุณาให้ถวายแก่สงฆ์ พระนางเสียใจร้องไห้ไปหาพระอานนท์ พระอานนท์จึงได้เข้าไปกราบทูลพระองค์ให้ทรงรับซึ่งคู่ผ้า พระบรมศาสดาทรงตรัสว่า 
     
... " ดูกรอานนท์ สังฆทานนี้มีผลมากกว่าทานทั้งปวง ที่สุดจะสิ้นพระศาสนา มีแต่โคตรภูสงฆ์ทรงผ้ากาสาว์ผูกคอและข้อมือเป็นต้น ทำไร่ ไถนา ค้าขาย มีบุตรภรรยา ทายกมีใจศรัทธาจะถวายสังฆทาน ไปเชิญสงฆ์เหล่านั้นมานั่งตั้งแต่ ๔ รูปขึ้นไป ตั้งใจอุทิศในพระอริยสงฆ์ ก็เป็นสังฆทานมีผลมากเป็นอสงไขยจะนับประมาณมิได้ "
     
... " ดูกรอานนท์ บุคคลให้ทานแก่สัตว์เดรัจฉานร้อยหน ยังไม่สู้ผลที่ให้ทานแก่คนไม่มีศีลครั้งหนึ่ง ให้ทานแก่คนไม่มีศีลร้อยหน ยังไม่เท่าให้ทานกับคนรักษาศีลครั้งหนึ่ง ให้ทานแก่คนมีศีลร้อยหนยังไม่เท่าให้ทานกับพระโสดาบันครั้งหนึ่ง ให้ทานกับพระโสดาบันร้อยหนยังไม่เท่ากับให้ทานกับพระสกิทาคามีครั้งหนึ่ง ให้ทานแก่พระสกิทาคามีร้อยหนยังไม่เท่ากับให้ทานแก่พระอนาคามีครั้งหนึ่ง ให้ทานกับพระอนาคามีร้อยครั้งยังไม่เท่าทำทานกับพระอรหันต์หนหนึ่ง ถวายทานแก่พระอรหันต์ร้อยหนก็ไม่เท่ากับถวายทานแก่พระปัจเจกพุทธเจ้า  ถวายทานแก่พระปัจเจกโพธิ์ร้อยหนก็ไม่เท่าถวายทานกับพระสัมมาสัมพุทธเจ้าครั้งหนึ่ง ถวายทานกับพระพุทธเจ้าร้อยหน ยังไม่เท่าถวายสังฆทานหนหนึ่ง ถวายสังฆทานมีผลมากดังนี้แล ฯ."

... ในพระไตรปิฎกท่านกล่าวไว้ว่า สังฆทานมีพระพุทธเจ้าเป็นประธาน มีอานิสงส์มากที่สุด เข้าพระนิพพานแล้วอานิสงส์ยังใช้ไม่หมด

38
... ถ้าหากท่านองค์ใดตอนเย็นๆ ก็มานั่ง เมื่อออกจากสมาธิแล้ว ก็เรียกว่าได้ออกแล้ว ไม่มีเยื่อใย ออกไปเลย ส่งอารมณ์ไปเลย ตลอดทั้งวันก็ปล่อยตามอารมณ์ไป ไม่มีสติ เย็นต่อไปนึกอยากจะนั่ง พอไปนั่งปุ๊บก็มีแต่เรื่องใหม่ทั้งนั้นเข้ามาสุมมัน ปัจจัยเรื่องเก่าที่มันสงบก็ไม่มี เพราะทิ้งไว้ตั้งแต่เช้า มันก็เย็นนะสิ ทำอย่างนี้เรื่อยๆ มันก็ยิ่งห่างไปทุกปี ทุกปี ฯ.

39
.... ฉะนั้น การปฏิบัติของท่านทั้งหลายนี้ อย่าพึงถือว่าการหลับตาอย่างเดียวเป็นการปฏิบัติ เมื่อออกจากนั่งแล้วก็ออกจากการปฏิบัติ อย่าเข้าใจอย่างนั้น ถ้าเข้าใจอย่างนั้นก็รีบกลับมันเสีย ที่เรียกว่าการปฏิบัติสม่ำเสมอ คือ เราจะยืน จะเดิน จะนั่ง จะนอน ให้มีความรู้สึกอยู่อย่างนั้น เมื่อเราออกจากสมาธิ ก็อย่าเข้าใจว่าออกจากสมาธิ เพียงแต่เปลี่ยนอิริยาบถเท่านั้น ถ้าท่านทั้งหลายคิดอย่างนี้ก็จะสุขใจ เมื่อท่านไปทำงานอยู่ที่ไหน ไปทำอะไรอยู่ก็ดี ท่านจะมีการภาวนาอยู่เสมอ ฯ.

40
... ดูไปมันมีอารมณ์ดีอารมณ์ชั่วสลับซับซ้อนกันไปเป็นธรรมดาของมัน อย่าไปสรรเสริญจิตของเราอย่างเดียว อย่าไปให้โทษมันอย่างเดียว ให้รู้จักกาลรู้จักเวลามัน เมื่อถึงคราวสรรเสริญก็สรรเสริญมันหน่อย สรรเสริญให้พอดีอย่าให้หลง ฯ.

41
... สองอย่างนี้หมายความว่า จะเป็นสุขก็ต้องปฏิบัติ จะเป็นทุกข์ก็ต้องปฏิบัติ จะอยู่สบายๆ ก็ต้องปฏิบัติ จะเป็นไข้อยู่ก็ต้องปฏิบัติ มันถึงจะถูกแบบ ฯ.

42
... ถ้าหากว่ามันสุขจะปฏิบัติไหม มันสุขก็ไม่ปฏิบัติอีก มันติดสุขเท่านั้นแหละ แต่ทุกข์มันไม่ปฏิบัติ ก็ติดทุกข์อยู่นั่นแหละ ไม่รู้จะไปปฏิบัติกันเมื่อไหร่ ได้แต่รู้ว่ามันป่วย มันเจ็บ มันไข้จวนจะตาย ฯ.

43
... รู้จักธรรมที่ควรละ รู้ธรรมที่ควรปฏิบัติ สุขก็รู้ ทุกข์ก็รู้ เมื่อมันรู้สุขรู้ทุกข์ จิตใจเราจะวางตรงที่ว่า มันไม่สุขไม่ทุกข์ เพราะว่าสุขนั้นมันก็เป็นทางหย่อน กามสุขัลลิกานุโยโค ทุกข์มันก็เป็นทางตึง คือ อัตตกิลมถานุโยโค ถ้าเรารู้สุขรู้ทุกข์อยู่ เรารู้จักสิ่งทั้งสองนี้ ถึงแม้ว่าจิตใจเรามันจะเอนไปเอนมา เราก็ชักมันไว้ เรารู้อยู่ว่ามันจะเอนไปทางสุขก็ชักมันไว้มันจะเอนไปทางทุกข์ก็ชักมันไว้  ไม่ให้มันเอนไป รู้อยู่อย่างนี้ น้อมเข้ามาเส้นทางเดียว เอโก ธมฺโม นี้ น้อมเข้ามาในทางที่รู้ ไม่ใช่ว่าเราปล่อยไปตามเรื่องของมัน ฯ.

44
... นี่เป็นอันว่าเราห้ามร่างกายไม่ได้ ในเมื่อร่างกายเราห้ามมันไม่ได้แล้ว เราก็ต้องรู้ว่าร่างกายความจริงมันไม่ใช่เรา มันไม่ใช่ของเรา เราไม่มีในร่างกาย ร่างกายไม่มีในเรา เราคือจิตที่เรียกว่า อทิสมานกาย ที่เข้ามาอาศัยร่างกายเป็นเรือนร่างที่อาศัยอันนี้ ร่างกายมันไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา แล้วมันก็ไม่อยู่ในอำนาจของเรา

... เราจะปรนเปรอบังคับบัญชามันอย่างไรก็ตาม มันจะไม่ยอมปฏิบัติตามด้วยประการทั้งปวง ถึงเวลาที่มัน จะแก่ มันก็ต้องแก่ ถึงเวลาที่มันจะต้องป่วยก็ต้องป่วย ถึงเวลาเวทนาต่างๆ เวทนาจะเกิดขึ้นมันก็เกิด ถึงเวลามันจะตาย จ้างมันเท่าไรมันก็ไม่เอา
   
... แต่พอตายแล้ว ไปสวรรค์บ้าง ไปนรกบ้าง ไปเกิดเป็นเปรต อสุรกาย สัตว์เดรัจฉานบ้าง ไปเป็นพรหมบ้าง ไปนิพพานกันบ้าง ไอ้ที่ไปจริงๆ ร่างกายมันไปด้วยรึเปล่า มันก็เปล่า ร่างกายเน่าทับถมพื้นแผ่นดินอยู่ บางทีเขาก็เผา บางรายไม่ได้เผาก็เละกระจายเป็นกรวดเป็นดิน อันนี้ร่างกายมันไม่ได้ไป ผู้ที่ตกนรก ไปสู่สวรรค์ มันเป็นใคร นั่นแหละคือเราที่เรียกกันว่าอทิสมานกายหรือจิตที่สิงในกาย
   
... นี่มาถึงตรงนี้เราจะเห็นได้ทันทีถ้าไม่โง่เกินไป หรือว่าไม่ฉลาดเกินพอดีก็จะเห็นว่าร่างกายนี้มันไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเราจริงๆ ในเมื่อมันไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเราจริงๆ จะไปนั่งเมาเพื่อประโยชน์อะไร ต้องการมันหรือเกิดมาชาตินี้ความทุกข์โถมเต็มกำลังอยู่แล้ว เกิดในชาติต่อๆ ไป มันก็เป็นรูปนี้ ไม่ว่าชาติไหน แต่เกิดเป็นคนมันก็ยังดี แต่ถ้าเป็นคนเลวลงนรกไป มันก็นานนักถึงจะกลับมา
   
... นี่พระพุทธเจ้าพิจารณาให้เห็นว่าร่างกายไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา เราก็จงวางภาระเสีย ทำใจให้สบายว่าร่างกายนี้เกิดขึ้นมาในเบื้องต้น แล้วมีความเสื่อมโทรมไปในท่ามกลาง มีการแตกสลายไปในที่สุดเป็นของธรรมดา เอาใจเข้าไปรับตัวธรรมดาเข้าไว้ ตนของตนเองก็ยังไม่มี ทรัพย์หรือบุตรจะมีแต่ไหน

... " เจ้าจงใคร่ครวญอย่างนี้ จงคิดว่าเราเป็นผู้ไม่มีอะไรเลย ทรัพย์สินก็ไม่มี ญาติ เพื่อน ลูก หลาน เหลน ไม่มี แม้ร่างกายเราก็ไม่มี เพราะทุกอย่างที่กล่าวมามีสภาพพังหมด เราจะทำกิจที่ต้องทำตามหน้าที่ เมื่อสิ้นภาระคือร่างกายพังแล้ว เราจะไป พระนิพพาน เมื่อความป่วยไข้ ปรากฏจงดีใจว่า วาระที่เราจะมีโอกาสเข้าสู่พระนิพพานมาถึงแล้ว เราสิ้นทุกข์แล้ว "
   
... คิดไว้อย่างนี้ทุกวันจิตจะชินจะเห็นเหตุผล เมื่อจะตายอารมณ์จะสบายดี แล้วก็จะเข้านิพพานได้ทันที ฯ.

                         
หลวงปู่พระราชพรหมยาน วัดท่าซุง จ.อุทัยธานี


45
...  "เรา" คือ "จิต" ที่สิงในกาย หรือที่เรียกว่า "อทิสมานกาย" 

... "เรา" จริง ๆ คือ "จิต" ร่างกายเป็นแต่เพียงเรือนร่างที่อาศัยชั่วคราว

... เมื่อเรานึกถึงอารมณ์ของจิต คำว่าเราคือจิต เราไม่เคยคิดเลยว่าต้องการให้ร่างกายของเราแก่ ไม่ต้องการให้หิว ไม่ต้องการให้ปวดอุจจาระ ปัสสาวะ ไม่ต้องการให้ป่วยไข้ไม่สบาย ไม่ต้องการให้มีทุกข์อย่างอื่น ไม่ต้องการพลัดพรากจากของรักของชอบใจ ไม่ต้องการตายในที่สุด แล้วร่างกายมันตามใจเราไหม

... อารมณ์ที่เราต้องการแบบนี้ มีความปรารถนาเหมือนกันหมดทุกคน แล้วก็ร่างกายมันตามใจเราไหม ลองนึกดู เวลานี้เราอายุเท่าไรแล้ว ถ้าร่างกายมันเป็นของเราจริง เราพอใจอยู่แค่ไหน ถึงความเป็นหนุ่มเป็นสาวร่างกายสมบูรณ์บริบูรณ์ ก็เพราะว่าเราไม่อยากจะแก่แล้ว  มันเชื่อไหมล่ะ อยากจะกินอาหารอย่างไหนที่ว่ามันดีที่สุดที่มันมีประโยชน์แก่ร่างกายที่สุด ร่างกายจะได้ไม่ทรุดโทรม แต่กินเข้าไปเท่าไรก็โทรมก็แก่ ยาขนานไหนดีที่สุดกินแล้วไม่แก่ ไม่ป่วย ไม่ตาย กินเข้าไปเถอะ ไม่ช้ามันก็ตาย มันก็แก่


โอวาทหลวงปู่พระราชพรหมยาน วัดท่าซุง จ.อุทัยธานี

หน้า: 1 2 [3] 4 5 ... 15