เว็บพุทธภูมิ: พุทธภูมิ พระโพธิสัตว์ การบำเพ็ญบารมี

หมวดครูบาอาจารย์ => พุทธวจนะ และ คติธรรม คำสอน ธรรมะ ของพระสุปฏิปัณโณ => ข้อความที่เริ่มโดย: DHAMMASAMEE ที่ กันยายน 13, 2014, 04:47:59 PM

หัวข้อ: บทพิจารณาขัน ๕
เริ่มหัวข้อโดย: DHAMMASAMEE ที่ กันยายน 13, 2014, 04:47:59 PM
บทพิจารณาขันธ์ ๕

... ร่าเริงอะไรกันหนอ ยินดีอะไรกัน ในเมื่อโลกสันนิวาสถูกไฟไหม้โพลงแล้วเป็นนิตย์ ท่านทั้งหลายถูกความมืดหุ้มห่อแล้ว เพราะเหตุไรจึงไม่แสวงหาประทีป ฯ.

... ท่านจงดูอัตภาพอันบุญกรรมทำให้วิจิตรแล้ว มีกายเป็นแผล อันกระดูกสามร้อยท่อนปรุงขึ้นแล้ว กระสับกระส่าย อันมหาชนดำริกันโดยมาก ไม่มีความยั่งยืนมั่นคง รูปนี้คร่ำคร่าแล้ว เป็นรังแห่งโรค ผุพัง กายของตนอันเปื่อยเน่าจะแตก เพราะชีวิตมีความตายเป็นที่สุด ฯ.

... กระดูกเหล่าใดเขาไม่ปรารถนาแล้ว เหมือนน้ำเต้าในสารทกาล มีสีเหมือนนกพิราบ จะยินดีอะไรเพราะได้เห็นกระดูกเหล่านั้น ฯ.

... สรีระอันกรรมสร้างสรรให้เป็นเมืองแห่งกระดูก มีเนื้อและเลือดเป็นเครื่องไล้ทา เป็นที่ตั้งแห่งความแก่ ความตาย ฯ.   

... ขันธ์ ๕ นี้ เป็นของไม่เที่ยง มันเกิดขึ้นในเบื้องต้น  ตั้งอยู่ในท่ามกลาง  แล้วดับไปในที่สุด ทุกขัง ขันธ์ ๕ นี้มันเต็มไปด้วยความทุกข์นานา  ทุกข์เพราะความเกิด ทุกข์เพราะเจ็บไข้ได้ป่วย  ทุกข์เพราะความแก่ชรา  ทุกข์เพราะความตาย ร่างกายนี้เป็นอนัตตา ไม่นานมันก็ต้องตายต้องสลายตัวไป  โรคะนิทัง  ร่างกายนี้มันเป็นรังของโรค  ปะพังคุณัง ร่างกายนี้มันเปื่อยเน่าของมันทุกวัน  ขะยะวัยยัง มันเสื่อมไปสิ้นไปอยู่ทุกขณะ  เหมือนก้อนน้ำแข็งที่วางอยู่กลางแดด ฯ.

... ดูกรภิกษุทั้งหลาย ! จงดูกายอันนี้เถิด  มีฟันหัก  ผมหงอก  หนังเหี่ยวยาน  มีอาการทรุดโทรมให้เห็นอย่างเด่นชัด  เหมือนเกวียนที่ชำรุดแล้วชำรุดอีก  ได้อาศัยแต่ไม้ไผ่มาซ่อมผูกกระหนาบคาบค้ำไว้  จะยืนนานไปได้สักเท่าใด  การแตกสลายย่อมจะมาถึงเข้าสักวันหนึ่ง  ภิกษุทั้งหลาย  พวกเธอจงมีธรรมเป็นที่เกาะ มีธรรมเป็นที่พึ่ง  อย่ามีสิ่งอื่นเป็นที่พึ่งเลย แม้ตถาคตก็เป็นเพียงผู้บอกทางเท่านั้น ฯ.

... ดูกรภิกษุทั้งหลายดี  ! จงดูร่างกายอันเปื่อยเน่านี้เถิด มันอาดูรไม่สะอาด  มีสิ่งสกปรกไหลเข้าไหลออกอยู่เสมอ ถึงกระนั้นก็ตาม  มันยังเป็นที่พอใจปรารถนายิ่งนักของผู้ไม่รู้ความจริงข้อนี้ 

... ภิกษุทั้งหลาย  ร่างกายนี้ไม่นานนักหรอกคงจะนอนทับถมแผ่นดิน  ร่างกายนี้เมื่อปราศจากวิญาณครองแล้ว  ก็ถูกทอดทิ้งเหมือนท่อนไม้ที่ไร้ค่า  อันเขาทิ้งเสียแล้วไม่ใยดี ฯ.

... ดูกรภิกษุทั้งหลาย ! อันร่างกายนี้สะสมไว้แต่ของสกปรกโสโครก  มีสิ่งปฏิกูลไหลออกจากทวารทั้งเก้า มีช่องหู  ช่องจมูก  เป็นต้น  เป็นที่อาศัยของสัตว์เล็กสัตว์น้อย  เป็นป่าช้าแห่งซากสัตว์นานาชนิด เป็นรังแห่งโรค  เป็นที่เก็บมูตรและกรีส อุปมาเหมือนถุงหนังซึ่งบรรจุเอาสิ่งโสโครกต่างๆ เข้าไว้  แล้วซึมออกมาเสมอๆ  เจ้าของกายจึงต้องชำระล้างขัดถูวันละหลายๆ ครั้ง เมื่อเว้นจากการชำระล้างแม้เพียงวันเดียวหรือสองวัน  กลิ่นเหม็นก็ปรากฎเป็นที่รังเกียจ  เป็นของน่าขยะแขยง ฯ.

... ดูกรภิกษุทั้งหลาย ! ร่างกายนี้เปรียบเป็นเหมือนเรือนซึ่งสร้างด้วยโครงกระดูก  มีหนังและเลือดเป็นเครื่องฉาบทา  ที่มองเห็นเปล่งปลั่งผุดผาดนั้นเป็นแต่เพียงผิงหนังเท่านั้น  เหมือนมองเห็นความงามแห่งหีบศพอันวิจิตรตระการตา  ผู้ไม่รู้ก็ติดในหีบศพนั้น  แต่ผู้รู้เมื่อทราบว่าเป็นหีบศพ  แม้ภายนอกจะวิจิตรตระการตาเพียงใด  ก็หาพอใจยินดีไม่  เพราะทราบชัดว่าภายในแห่งหีบอันสวยงามนั้นมีสิ่งปฏิกูลน่ารังเกียจ ฯ.
หัวข้อ: Re: บทพิจารณาขัน ๕
เริ่มหัวข้อโดย: DHAMMASAMEE ที่ กันยายน 13, 2014, 05:02:34 PM
... " ดูก่อนมาร เพราะเหตุไรหนอ ความเห็นของท่านจึงหวนกลับมาว่าสัตว์ ในกองสังขารล้วนนี้ ย่อมได้นามว่าสัตว์ เหมือนอย่างว่าเพราะคุมส่วนทั้งหลายเข้า เสียงว่ารถย่อมมีฉันใด เมื่อขันธ์ทั้งหลายยังมีอยู่ การสมมติว่าสัตว์ย่อมมีฉันนั้น

... ความจริงทุกข์เท่านั้นย่อมเกิดขึ้น ทุกข์เท่านั้นย่อมตั้งอยู่ และทุกข์เท่านั้นย่อมเสื่อมสิ้นไป

... นอกจากทุกข์ไม่มีอะไรเกิด นอกจากทุกข์ไม่มีอะไรดับ "

พระแม่เจ้าวชิราภิกษุณี
หัวข้อ: Re: บทพิจารณาขัน ๕
เริ่มหัวข้อโดย: DHAMMASAMEE ที่ ตุลาคม 01, 2014, 11:09:46 PM
โอวาทพระครูวิหารกิจจานุการ
หลวงปู่ปาน  โสนันโท  วัดบางนมโค
     
… ร่างกายของคนและสัตว์มันเป็นอนิจจัง มีสภาพไม่เที่ยง เวลาอยู่ก็เป็นทุกข์ แต่ในที่สุดก็เป็นอนัตตาคือตาย ใครบังคับบัญชาไม่ได้

... เวลาเผาศพอย่าตั้งหน้าตั้งตาเผาเขา เวลาเราไปเผาศพก็เผากิเลสในใจของเราเสียด้วย

... กิเลสส่วนใดที่มันสิงอยู่ที่เรา คิดว่าเราจะไม่แก่ ไม่เจ็บ ไม่ตายน่ะ เผามันเสียให้หมดไป

... เราคิดว่าวันนี้เราเผาเขา ไม่ช้าเขาก็เผาเรา

... คนเกิดมาแล้วตายอย่างนี้เราจะเกิดมันทำไม ต่อไปข้างหน้าเราไม่เกิดดีกว่า เราไปพระนิพพานนั่นละดีที่สุด

... เรื่องอัตภาพร่างกายสิ่งที่มีชีวิตหรือไม่มีชีวิต ไม่มีอะไรเป็นความหมาย ไม่มีอะไรเป็นที่พึ่ง ตายแล้วหาสาระหาแก่นสารไม่ได้ หาประโยชน์ไม่ได้

... ให้ทุกคนเตรียมพร้อมที่จะตายได้ ให้ขยันหมั่นเพียร ชำระจิตใจให้สะอาด มีพระนิพพานเป็นอารมณ์

... จงวางภาระว่า เราของเรา เสียให้สิ้นด้วยไม่มีอะไรเลยเป็นของเรา แม้แต่ร่างกายก็มีเจ้าของ คือ มรณภัยมันมาทวงคืน

... ให้คิดว่าเราไม่มีอะไรเป็นของเรา เราไม่ต้องการมนุษย์โลก เทวโลก พรหมโลก เรามีนิพพานเป็นที่ไป ฯ.

หัวข้อ: Re: บทพิจารณาขัน ๕
เริ่มหัวข้อโดย: DHAMMASAMEE ที่ ตุลาคม 01, 2014, 11:14:16 PM
... พระพุทธเจ้าท่านทรงตรัสไว้ว่า สัตว์ก็ดี คนก็ดี หรือสิ่งที่ไม่มีชีวิตก็ดี มีความเกิดขึ้นในเบื้องต้น แล้วมีความเปลี่ยนแปลงไปในระหว่างกลาง ที่สุดมันก็แตกทำลายหมด ถ้าเป็นสัตว์ เป็นบุคคลก็ตายในที่สุด ถ้าเป็นของวัตถุธาตุ ก็แตกทำลายในที่สุด

... ไอ้บ้านเรือนโรงภูเขา ลำเนาป่า อะไรมันก็เหมือนกัน ภูเขามันเป็นหินแข็ง แต่ว่านานๆ เข้าก็เป็นหินผุกลายเป็นดินไป

... ที่นี้ไอ้คนหรือสัตว์ก็เหมือนกัน มันเกิดขึ้นมาในตอนต้น มันตัวเล็กๆ แล้วมันก็เปลี่ยนแปลง มันเปลี่ยนสภาพเข้ามาทุกทีๆ ถึงความเป็นคน เป็นบุคคลใหญ่ เป็นหนุ่ม เป็นสาว แล้วก็แก่

... ในระหว่างนั้นสภาพของร่างกายก็ไม่ปกติ โรคภัยไข้เจ็บเบียดเบียน นี่เป็นอาการเปลี่ยนแปลง จัดเป็นอนิจจัง

... ทีนี้ตัวอนิจจังไม่เที่ยง มีความทุกข์ก็บังเกิดขึ้น ไอ้ความทุกข์มันเกิดขึ้นก็เพราะตัวอนิจจังนี่แหละ ไม่มีใครต้องการให้มันเป็น " นิจจัง " คือมันเที่ยงแน่นอน มีสภาพปกติ

... แต่อนิจจังมันขับรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ให้เคลื่อนไปจากความปกติ ให้มีความเปลี่ยนแปลง แปรสภาพเสื่อมโทรมลงไปเป็นธรรมดา

... แล้วในเมื่อความเสื่อมโทรมมันปรากฏ ความทุกข์ใจของเจ้าของร่างกายก็ปรากฏ คือ โรคภัยไข้เจ็บมันก็เกิดขึ้น ความทุกข์ใจของเจ้าของร่างกายก็ปรากฏ นี่มันเป็นตัวทุกข์ อนิจจังมันทำให้ทุกข์

... ไม่มีใครจะห้ามความตาย ไม่มีใครจะห้ามความเสื่อมความสูญ ความสลายตัวได้

... คนทุกคนเกิดมาแล้วเป็นอย่างนั้น สัตว์ทุกตัวเกิดมาแล้วเป็นอย่างนั้น สภาพของวัตถุต่างๆ เป็นอย่างนั้น ตรงตามความเป็นจริงทุกอย่าง

... ซึ่งมนุษย์ทุกคนที่เกิดมาในโลก ยากนักที่จะคิดอย่างนี้ที่จะเห็นตามความเป็นจริงอย่างนี้ ฯ.
หัวข้อ: Re: บทพิจารณาขัน ๕
เริ่มหัวข้อโดย: DHAMMASAMEE ที่ ตุลาคม 01, 2014, 11:17:45 PM
... นี่พระพุทธเจ้าทรงสอนกฏของธรรมดา ซึ่งคนทั้งหลายที่เกิดมาแล้ว ด้วยอำนาจของกิเลสและตัณหาเข้าไปปิดบังใจ

... ไม่ยอมรับนับถือกฏธรรมดา เช่น กระดูกนี่เป็นของปฏิกูลน่าเกลียด ร่างกายเราเมื่อสภาพการหมดไปแล้ว ก็คงมีโครงกระดูกนี่เป็นเรือนร่าง เป็นแก่นของร่างกาย

... คนและสัตว์ที่เกิดมาแล้ว ไม่มีสภาพจะคงที่ได้ ถ้ามีร่างกายบริบูรณ์สมบูรณ์ เมื่อสิ้นลมปราณแล้ว ร่างกายก็จะผุพังน้ำเหลืองจะไหล

... ธาตุดินไปส่วนหนึ่ง ธาตุน้ำไปส่วนหนึ่ง ธาตุไฟไปส่วนหนึ่ง ธาตุลมไปส่วนหนึ่ง ผลที่สุดเนื้อหนังก็จะละลายไป เหลือแต่ธาตุกระดูก

... กระดูกก็จะเป็นโครงอย่างนี้ หาความสวยไม่ได้ หาความงามไม่ได้

... อัตตภาพร่างกายอย่างนี้ มันเกิดขึ้นในเบื้องต้น มันเป็นอนิจจังคือ เปลี่ยนแปลงมาในระหว่างกลาง แล้วต่อไปก็ผุพังทำลายไปในที่สุด เป็นอนัตตาอย่างนี้

... ไม่มี นิจจัง สุขขัง อัตตา หมายความว่า นิจจังมีสภาพคงที่ สุขขังไม่มีทุกข์ อัตตามีสภาพ เป็นตัวตน ยืนยาวตลอดกาลตลอดสมัย ไม่มีการเปลี่ยนแปลง อย่างนั้นไม่มีในร่างกายนี้ ฯ.
หัวข้อ: Re: บทพิจารณาขัน ๕
เริ่มหัวข้อโดย: DHAMMASAMEE ที่ ตุลาคม 01, 2014, 11:19:48 PM
... สำหรับอัตตภาพที่มีขันธ์ ๕ มันต้องเป็นอนิจจัง คือ เปลี่ยนแปลงไม่เที่ยงอยู่เรื่อยไป

... เพราะความไม่เที่ยงมันจึงเป็นทุกข์

... เพราะเป็นทุกข์นี่แหละสภาวะอนัตตาจึงปรากฏ คือ ความไม่ใช่ตัว ไม่ใช่ตน มันพัง มันทำลาย

... นี่ร่างกระดูกที่เราเห็นนี่ เมื่อก่อนก็มีเรือนร่างครบถ้วนบริบูรณ์อย่างเรา มีลมปราณเหมือนกัน มีชีวิตจิตใจเหมือนกัน แต่ว่านี่เนื้อหนังมังสามันหมดไปแล้วเหลือแต่กระดูก อันเป็นส่วนแก่นแท้ภายในร่างกาย

... เมื่อพิจารณาไปส่วนไหนมันก็ไม่น่ารัก ไม่น่าดู ไม่น่าชม มันน่าเกลียด ฯ.
หัวข้อ: Re: บทพิจารณาขัน ๕
เริ่มหัวข้อโดย: DHAMMASAMEE ที่ ตุลาคม 01, 2014, 11:21:44 PM
... จึงกล่าวได้ว่า ชีวิตเป็นของไม่เที่ยง

... แต่ความตายเป็นของเที่ยง

... การเกิดเป็นมนุษย์มันเต็มไปด้วยความทุกข์ หาความสุขไม่ได้

... จงอย่าอาลัยในชีวิต มันจะตายเมื่อไหร่ก็ได้ช่างมัน เอาดีเข้าไว้

... ดีนั่น คือ ธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

... ที่ให้คิดว่าร่างกายมันไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา เราไม่มีในร่างกาย ร่างกายไม่มีในเรา

... ร่างกายเป็นเพียงธาตุ ๔ เข้ามาประชุมกัน มีธาตุน้ำ ธาตุดิน ธาตุลม ธาตุไฟ มันก็ปั้นเป็นก้อนขึ้นมา เขาแยกเป็นอาการ ๓๒

... ในไม่ช้าก็ตาย อย่าลืมความตายเป็นสำคัญ ฯ.
หัวข้อ: Re: บทพิจารณาขัน ๕
เริ่มหัวข้อโดย: DHAMMASAMEE ที่ ตุลาคม 01, 2014, 11:25:09 PM
... ถึงแม้เราจะมีคาถาอาคมของดีอะไรก็ตาม เราก็ต้องตาย

... ก่อนตายควรเลือกทางเดินเอาอย่างน้อยที่สุด

... เราควรไปสวรรค์ชั้นกามาวจรให้ได้

... ขอให้ทุกคนนะ เวลาก่อนจะหลับ ให้นึกถึงความดีที่ตนเคยทำ

... ทรัพย์สินที่สละเป็นวิหารทาน ธรรมทาน สังฆทาน เลี้ยงพระ

... นึกถึงศีลที่ตนเคยรับมา เทศน์ที่ตนเคยฟัง

... แล้วหมั่นภาวนาถึงพระพุทธคุณ พระธรรมคุณ พระสังฆคุณ

... พุทโธ ธัมโม สังโฆ

... เมื่อจะเจริญกรรมฐาน ให้ตั้งอยู่ในพรหมวิหาร ๔

... ให้เป็นฌานสมาธิแน่วแน่ ให้แผ่เมตตาไปทั่วจักรวาล

...  แล้วจึงพิจารณาตามอารมณ์วิปัสสนาหรือภาวนาตามแบบสมถะ

... ทุกคนตายแล้วจงไปสวรรค์ จงไปพรหมโลก จงไปนิพพาน ฯ.
หัวข้อ: Re: บทพิจารณาขัน ๕
เริ่มหัวข้อโดย: DHAMMASAMEE ที่ ตุลาคม 03, 2014, 11:37:15 PM
   ... เข้าถึงปฐมฌานก็ดี ฌานที่ ๒ ที่ ๓ ที่ ๔ ถึงฌานที่ ๘ ก็ตาม

... เป็นคุณธรรมที่จะทำให้บรรดาท่านพุทธบริษัทให้เกิดเป็นพรหม

... หากว่าท่านทรงความดีอย่างนี้ไว้ได้ เมื่อตายท่านก็เกิดเป็นพรหม

... ทีนี้ถ้าหากว่า บรรดาท่านพุทธบริษัทยังไม่นิยมว่า

... การเกิดเป็นพรหมยังไม่พ้นวัฏสงสาร ต้องการพระนิพพานเป็นที่ไป

... อันนี้ก็ขอให้บรรดาท่านพุทธบริษัททั้งหลายจงคิดว่า


... โลกทั้งโลกมีตัวเราเป็นต้น และมีบุคคลอื่น สัตว์อื่น วัตถุอื่นทั้งหมดเป็นสภาวะไม่เที่ยง มันไม่มีอะไรทรงตัว

... มีความเกิดขึ้นในเบื้องต้น มีความเปลี่ยนแปลงในท่ามกลาง มีความทุกข์ในขณะที่ทรงอยู่ และมีการตายในที่สุด 

... ถ้าเรายังมีการยึดมั่นตัวเราเป็นของเราก็ดี ญาติพี่น้องหรือบุคคลที่เนื่องถึงเราก็ดี หรือวัตถุใดๆ ก็ตามที

... ถ้ายังถืออยู่แบบนี้ก็ได้ชื่อว่า เราต้องกลับมาเกิดในโลกมีความทุกข์อยู่ต่อไป


... องค์สมเด็จพระจอมไตรทรงแนะนำว่า

... การเกิดเป็นทุกข์ แดนที่ไม่ทุกข์มีอยู่

... เราจะเกิดเป็นมนุษย์ก็ดี พรหมก็ดียังไม่สิ้นความทุกข์

... ยิ่งเกิดใน นรก เปรต อสุรกาย สัตว์เดรัจฉานด้วยแล้ว กลับทุกข์ใหญ่


... องค์สมเด็จพระจอมไตรทรงแนะนำว่า

... การถึงพระนิพพานสิ้นความทุกข์ ขึ้นชื่อว่าความขัดข้องของจิตนิดหนึ่งก็ไม่มี

... คนที่จะถึงพระนิพพานได้นี้ องค์สมเด็จพระชินสีห์ทรงสอน ให้ปล่อยกายเสีย ถ้าเราปล่อยกายเสียได้อย่างเดียว วัตถุต่างๆ หรือบุคคลอื่นเราก็ปล่อยได้ เพราะสิ่งที่เรารักมากที่สุด ต้องการมากที่สุดก็ คือ กาย  ฯ.

     
... วิธีปล่อยกายก็ค่อยๆ คิดว่า

... เราเกิดมาจะต้องตาย เวลาที่ทรงกายอยู่ก็เต็มไปด้วยความทุกข์หาความสุขไม่ได้

... ถ้าเราเกิดมาใหม่ก็ดีไม่มีประโยชน์อะไร เพราะร่างกายก็ดี ทรัพย์สมบัติก็ดี นี้มันไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา เราไม่มีในมัน มันไม่มีในเรา

... ทั้งนี้เพราะอะไร เพราะร่างกายเป็นธาตุ ๔ คือ ธาตุน้ำ ธาตุดิน ธาตุลม ธาตุไฟ

... เป็นเรือนร่างที่จิตเข้ามาอาศัยชั่วคราว เมื่อร่างกายพังแล้ว จิตก็ คือ เราต้องไปสู่ความสุขหรือความทุกข์ หาชาติหาภพเป็นที่เกิด

... เมื่อเกิดขึ้นอีกก็ต้องประสบกับความทุกข์แบบนี้ กระทบกับความไม่เที่ยง พบกับความเป็นทุกข์ พบกับการสลายตัว  ฯ.

ฯ.
หัวข้อ: Re: บทพิจารณาขัน ๕
เริ่มหัวข้อโดย: DHAMMASAMEE ที่ ตุลาคม 05, 2014, 09:49:27 PM
... ถ้าหากว่าเราปล่อยร่างกายเสียได้เมื่อไร คิดเสียว่า

... " การเกิดเป็นทุกข์ เราไม่ต้องการความเกิด เกิดเป็นมนุษย์ก็เป็นทุกข์ เกิดเป็นเทวดา หรือพรหมก็ไม่สิ้นความทุกข์ "

... ทำจิตไว้เป็นปกติ คิดไว้ว่า

... " การเกิดมีขันธ์ ๕ เป็นมนุษย์ก็ดี เป็นสัตว์ หรือว่าเกิดมีอทิสสมานกายเป็นเทวดา หรือพรหมก็ตามเราไม่ต้องการ สิ่งที่เราต้องการก็คือพระนิพพานอย่างเดียว "

... ต้องพยายามทำจิตปล่อย คิดเห็นอะไรก็ตาม เห็นว่ามันพังเป็นปกติ

... รู้ตัวร่างกายของเราว่า สักวันหนึ่งข้างหน้ามันจะต้องพัง มีญาติ มีพี่น้อง มีสามีภรรยา มีบุตรธิดา มีทรัพย์สินต่างๆ เราก็คิด

... ร่างกายแต่ละบุคคล หรือทรัพย์สินทั้งหลายเหล่านี้เป็นของโลก เราไม่สามารถจะครองหรือจะอยู่ได้ตลอดกาลตลอดสมัย

... เมื่อถึงวาระที่สุดต่างคนก็ต่างตาย ต่างคนก็ต่างพัง สิ่งทั้งหลายเหล่านี้ เราไม่ต้องการมันอีก ขึ้นชื่อว่ามนุษยโลกก็ดี เทวโลกก็ดี พรหมโลกก็ดี เราไม่ต้องการ

... และเราจะไม่เห็นว่ามนุษยโลก เทวโลก พรหมโลก เป็นดินแดนที่สวยงาม เราเห็นว่าเป็นดินแดนประกอบไปด้วยความทุกข์ เราต้องการดินแดนที่มีความสุข คือ พระนิพพาน

... และจากนั้นก็ตั้งใจยอมรับนับถือกฎของธรรมดา

... ถ้าความแก่เกิดขึ้น ความป่วยไข้ไม่สบายเกิดขึ้น ความพลัดพรากจากของรักของชอบใจเกิดขึ้น ความตายเกิดขึ้นแก่เราหรือบุคคลอื่นก็ตาม ถือว่านี่เป็นเรื่องธรรมดาของโลก เราไม่ยุ่ง เราไม่หนักใจ

... และโดยเฉพาะอย่างยิ่งโลกธรรมทั้ง ๘ ประการ ก็คือ  การได้ลาภแล้วก็เสื่อมลาภ ได้ยศแล้วยศก็เสื่อมไป นินทาหรือว่าสรรเสริญ  สุขหรือทุกข์

... เหตุทั้ง ๘ ประการนี้ เข้าใจ รู้ไว้เสมอว่า มันเป็นสมบัติของโลก เมื่อเกิดมาในโลกแล้ว มันต้องพบ เมื่อพบแล้วก็ทำใจเฉย ๆ

... มีลาภเกิดขึ้น ก็จงนึกว่าลาภ มันจะต้องเสื่อม เมื่อมันเสื่อมเราก็ไม่เสียใจ เกิดหามาได้ ก็ไม่ดีใจเกินไป

... ได้รับยศก็ไม่ดีใจเกินไป ถือว่ายศมันสลายตัวไป เมื่อยศสลายตัวก็ไม่เสียใจ เพราะรู้ตัวอยู่แล้ว

... เมื่อพบใครเขานินทา ก็คิดว่านี่มันเรื่องธรรมดาของคนที่เกิดมาจะต้องถูกนินทา แม้แต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามีคุณประเสริฐก็ยังมีคนนินทาว่าร้าย เราก็ไม่สนใจกับคำนินทา

... ใครเขาสรรเสริญว่าดี ประเสริฐยังไงเราก็พิจารณาตัวเรา ถ้าเราไม่ดี ตามคำพูดของเขาเราไม่รับฟัง ฟังเหมือนกัน แต่ไม่ยินดีด้วยกับคำสรรเสริญ  ฯ.
หัวข้อ: Re: บทพิจารณาขัน ๕
เริ่มหัวข้อโดย: DHAMMASAMEE ที่ ตุลาคม 05, 2014, 09:51:04 PM
... ทีนี้ความสุขกับความทุกข์อันเนื่องด้วยโลกียวิสัยเกิดขึ้นกับใจ ก็ถือว่า นี่เป็นเรื่องหลอกลวงหาความจริงมิได้ ขึ้นชื่อว่าโลกธรรมทั้ง ๘ ประการเราจะต้องวางเสีย จะต้องทิ้งเสีย คือค่อยๆ ทิ้ง ค่อยๆ วางไป

... เมื่อกระทบกับอารมณ์อย่างใดอย่างหนึ่งเกิดขึ้น ก็ถือว่าเป็นเรื่องธรรมดา เราจะอดทนต่อสู้กับมันไปจนกว่าจะสิ้นลมปราณ เมื่อเราสิ้นลมปราณคือร่างกายนี้สลายตัวเมื่อไร เราจะไปพระนิพพานเมื่อนั้น ฯ.
หัวข้อ: Re: บทพิจารณาขัน ๕
เริ่มหัวข้อโดย: DHAMMASAMEE ที่ ตุลาคม 05, 2014, 09:53:48 PM
... เราก็ต้องรู้ด้วยว่า

... ร่างกาย ความจริงมันไม่ใช่เรา มันไม่ใช่ของเรา เราไม่มีในร่างกาย ร่างกายไม่มีในเรา

... เรา คือ จิตที่เรียกว่า อทิสมานกาย ที่เข้ามาอาศัยร่างกายเป็นเรือนร่างที่อาศัยอันนี้

... ร่างกายมันไม่ใช่เราไม่ใช่ของเรา แล้วมันก็ไม่อยู่ในอำนาจของเรา เราจะปรนเปรอบังคับบัญชามันอย่างไรก็ตาม มันจะไม่ยอมปฏิบัติตามด้วยประการทั้งปวง 

... การถือตัวถือตนว่า เราเสมอเขาก็ดี เราดีกว่าเขาก็ดี เราเลวกว่าเขาก็ดี เป็นปัจจัยของความทุกข์

... อย่ามองคนด้วยฐานะ อย่ามองคนด้วยศักดิ์ศรี อย่ามองคนด้วยความรู้ความสามารถ มองคนแต่เพียงว่าสภาพของเขาเป็นวัตถุเหมือนสภาพของเรา จิตใจของเราพร้อมในการเมตตาปรานีไม่ถือตน เขาจะมาในฐานะเช่นใดก็ช่าง ถือว่าเป็นเพื่อนเกิด แก่ เจ็บ ตาย เหมือนกันหมด การกำหนดอารมณ์อย่างนี้ เราก็สามารถจะกำจัดตัวมานะ การถือตัวถือตนเสียได้ อย่างนี้เรียกว่า อรหัตมรรค ฯ.
หัวข้อ: Re: บทพิจารณาขัน ๕
เริ่มหัวข้อโดย: DHAMMASAMEE ที่ ตุลาคม 05, 2014, 09:57:19 PM
... จงเห็นว่าไม่มีอะไรเหลือเลยในโลกนี้ เห็นทุกอย่างเป็นเรื่องสมมุติทั้งสิ้น แปรปรวน เสื่อมไป สลายไป ทุกอย่างไม่มีอะไรควรยึดถือทั้งสิ้น 
     
... เห็นใครเขาแก่ ก็นึกว่าไม่ช้าเราก็ต้องแก่ตามเขา

... เห็นใครเขาป่วย ก็นึกว่าไม่ช้าเราก็ป่วยอย่างเขา

... เห็นใครเขาตาย ก็นึกว่าไม่ช้าเราต้องตายอย่างเขา
     
... ร่างกายของเราก็ดี ร่างกายของเขาก็ดี ไม่มีอะไรจีรังยั่งยืน 

... มีความเกิดขึ้นในเบื้องต้น มีความแปรปรวนไปในท่ามกลาง มีการสลายตัวไปในที่สุด 

... และร่างกายของแต่ละร่างกาย ก็เต็มไปด้วยความสกปรกโสมม มันไม่มีอะไรเป็นจริงเป็นของเราจริงๆ
     
... จำไว้ว่าโลกนี้ไม่มีอะไรเที่ยง  ถ้าเราเกาะความเที่ยงมันก็ทุกข์ 

... แต่ทว่าจะสุขหรือทุกข์ก็ตาม อนัตตามันก็เข้ามาถึง อย่ายึดอย่าถือว่ามันเป็นเราเป็นของเรา 

... คิดไว้เสมอว่าชาตินี้เป็นชาติสุดท้ายที่เราจะอยู่กับมัน ตายจากความเป็นคนเมื่อไหร่ ขอไปพระนิพพานเมื่อนั้น ฯ.
หัวข้อ: Re: บทพิจารณาขัน ๕
เริ่มหัวข้อโดย: DHAMMASAMEE ที่ ตุลาคม 10, 2014, 09:06:39 PM
...  "เรา" คือ "จิต" ที่สิงในกาย หรือที่เรียกว่า "อทิสมานกาย" 

... "เรา" จริง ๆ คือ "จิต" ร่างกายเป็นแต่เพียงเรือนร่างที่อาศัยชั่วคราว

... เมื่อเรานึกถึงอารมณ์ของจิต คำว่าเราคือจิต เราไม่เคยคิดเลยว่าต้องการให้ร่างกายของเราแก่ ไม่ต้องการให้หิว ไม่ต้องการให้ปวดอุจจาระ ปัสสาวะ ไม่ต้องการให้ป่วยไข้ไม่สบาย ไม่ต้องการให้มีทุกข์อย่างอื่น ไม่ต้องการพลัดพรากจากของรักของชอบใจ ไม่ต้องการตายในที่สุด แล้วร่างกายมันตามใจเราไหม

... อารมณ์ที่เราต้องการแบบนี้ มีความปรารถนาเหมือนกันหมดทุกคน แล้วก็ร่างกายมันตามใจเราไหม ลองนึกดู เวลานี้เราอายุเท่าไรแล้ว ถ้าร่างกายมันเป็นของเราจริง เราพอใจอยู่แค่ไหน ถึงความเป็นหนุ่มเป็นสาวร่างกายสมบูรณ์บริบูรณ์ ก็เพราะว่าเราไม่อยากจะแก่แล้ว  มันเชื่อไหมล่ะ อยากจะกินอาหารอย่างไหนที่ว่ามันดีที่สุดที่มันมีประโยชน์แก่ร่างกายที่สุด ร่างกายจะได้ไม่ทรุดโทรม แต่กินเข้าไปเท่าไรก็โทรมก็แก่ ยาขนานไหนดีที่สุดกินแล้วไม่แก่ ไม่ป่วย ไม่ตาย กินเข้าไปเถอะ ไม่ช้ามันก็ตาย มันก็แก่


โอวาทหลวงปู่พระราชพรหมยาน วัดท่าซุง จ.อุทัยธานี
หัวข้อ: Re: บทพิจารณาขัน ๕
เริ่มหัวข้อโดย: DHAMMASAMEE ที่ ตุลาคม 10, 2014, 11:21:41 PM
... นี่เป็นอันว่าเราห้ามร่างกายไม่ได้ ในเมื่อร่างกายเราห้ามมันไม่ได้แล้ว เราก็ต้องรู้ว่าร่างกายความจริงมันไม่ใช่เรา มันไม่ใช่ของเรา เราไม่มีในร่างกาย ร่างกายไม่มีในเรา เราคือจิตที่เรียกว่า อทิสมานกาย ที่เข้ามาอาศัยร่างกายเป็นเรือนร่างที่อาศัยอันนี้ ร่างกายมันไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา แล้วมันก็ไม่อยู่ในอำนาจของเรา

... เราจะปรนเปรอบังคับบัญชามันอย่างไรก็ตาม มันจะไม่ยอมปฏิบัติตามด้วยประการทั้งปวง ถึงเวลาที่มัน จะแก่ มันก็ต้องแก่ ถึงเวลาที่มันจะต้องป่วยก็ต้องป่วย ถึงเวลาเวทนาต่างๆ เวทนาจะเกิดขึ้นมันก็เกิด ถึงเวลามันจะตาย จ้างมันเท่าไรมันก็ไม่เอา
   
... แต่พอตายแล้ว ไปสวรรค์บ้าง ไปนรกบ้าง ไปเกิดเป็นเปรต อสุรกาย สัตว์เดรัจฉานบ้าง ไปเป็นพรหมบ้าง ไปนิพพานกันบ้าง ไอ้ที่ไปจริงๆ ร่างกายมันไปด้วยรึเปล่า มันก็เปล่า ร่างกายเน่าทับถมพื้นแผ่นดินอยู่ บางทีเขาก็เผา บางรายไม่ได้เผาก็เละกระจายเป็นกรวดเป็นดิน อันนี้ร่างกายมันไม่ได้ไป ผู้ที่ตกนรก ไปสู่สวรรค์ มันเป็นใคร นั่นแหละคือเราที่เรียกกันว่าอทิสมานกายหรือจิตที่สิงในกาย
   
... นี่มาถึงตรงนี้เราจะเห็นได้ทันทีถ้าไม่โง่เกินไป หรือว่าไม่ฉลาดเกินพอดีก็จะเห็นว่าร่างกายนี้มันไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเราจริงๆ ในเมื่อมันไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเราจริงๆ จะไปนั่งเมาเพื่อประโยชน์อะไร ต้องการมันหรือเกิดมาชาตินี้ความทุกข์โถมเต็มกำลังอยู่แล้ว เกิดในชาติต่อๆ ไป มันก็เป็นรูปนี้ ไม่ว่าชาติไหน แต่เกิดเป็นคนมันก็ยังดี แต่ถ้าเป็นคนเลวลงนรกไป มันก็นานนักถึงจะกลับมา
   
... นี่พระพุทธเจ้าพิจารณาให้เห็นว่าร่างกายไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา เราก็จงวางภาระเสีย ทำใจให้สบายว่าร่างกายนี้เกิดขึ้นมาในเบื้องต้น แล้วมีความเสื่อมโทรมไปในท่ามกลาง มีการแตกสลายไปในที่สุดเป็นของธรรมดา เอาใจเข้าไปรับตัวธรรมดาเข้าไว้ ตนของตนเองก็ยังไม่มี ทรัพย์หรือบุตรจะมีแต่ไหน

... " เจ้าจงใคร่ครวญอย่างนี้ จงคิดว่าเราเป็นผู้ไม่มีอะไรเลย ทรัพย์สินก็ไม่มี ญาติ เพื่อน ลูก หลาน เหลน ไม่มี แม้ร่างกายเราก็ไม่มี เพราะทุกอย่างที่กล่าวมามีสภาพพังหมด เราจะทำกิจที่ต้องทำตามหน้าที่ เมื่อสิ้นภาระคือร่างกายพังแล้ว เราจะไป พระนิพพาน เมื่อความป่วยไข้ ปรากฏจงดีใจว่า วาระที่เราจะมีโอกาสเข้าสู่พระนิพพานมาถึงแล้ว เราสิ้นทุกข์แล้ว "
   
... คิดไว้อย่างนี้ทุกวันจิตจะชินจะเห็นเหตุผล เมื่อจะตายอารมณ์จะสบายดี แล้วก็จะเข้านิพพานได้ทันที ฯ.

                         
หลวงปู่พระราชพรหมยาน วัดท่าซุง จ.อุทัยธานี

หัวข้อ: Re: บทพิจารณาขัน ๕
เริ่มหัวข้อโดย: DHAMMASAMEE ที่ ตุลาคม 12, 2014, 09:27:00 PM
... สังขารุเปกขาญาณ  คือ วางเฉยในสังขารคือร่างกาย  มันจะเป็นอะไรก็ช่างหัวมัน  โลกทั้งโลก ทรัพย์สินทั้งหลายมันจะเป็นอะไรก็ช่างหัวมัน  ร่างกายมันป่วยจะตายมีทุกขเวทนาสาหัส  เราเป็นสาวกขององค์สมเด็จพระทรงสวัสดิ์  จะไปแยแสอะไรกะมัน  ช่างมัน  มันอยากป่วยเชิญมันป่วยไป  มันอยากตายเชิญมันตายไป  ตัดตัวนี้ได้มันก็มีความสุข  เราเฉยเข้าไว้เพราะเรารู้อยู่แล้วว่า  อัตภาพร่างกายหรือว่าขันธ์ ๕ นี่มันไม่ใช่เรา  มันไม่ใช่ของเรา เราไม่มีในขันธ์  ๕ ขันธ์  ๕ ไม่มีในเรา ฯ.

โอวาทหลวงปู่พระราชพรหมยาน
หัวข้อ: Re: บทพิจารณาขัน ๕
เริ่มหัวข้อโดย: DHAMMASAMEE ที่ ตุลาคม 15, 2014, 04:30:57 AM
... ท่านบอกพิจารณาเห็นความเสื่อมไปของกายในคือเรา กายนอกคือกายของคนอื่น กายในกายเห็นอะไรมันเสื่อมล่ะ ส่วนที่เราพึ่งเห็นได้ง่ายก็ผม ผมมันเคยดำ นานๆ เข้ามันก็เปลี่ยนเป็นสีขาว เมื่อก่อนนี้ผมดก เวลานี้หัวล้านเข้าไปแล้ว นี่มันไม่จริง   ความเสื่อมของกาย ความเป็นเด็กทรงอยู่ไม่นานนักมันก็คลานเข้าไปหาความเสื่อม เพราะว่ามันเดินเข้าไปหาความสลายตัว เมื่ออาการแข็งแรงปรากฏเราคิดว่ามันเจริญ มันยิ่งเดินเร็วเท่าไหร่มันก็ใกล้ความตายเข้าไปเท่านั้น แล้วมันจะดีอะไร นี่ความเสื่อมภายใน บางทีเราจะเห็นยาก แต่ก็พยายามดูไว้ ฯ.

ธรรมะปกิณกะ สติปัฏฐาน๔ โดยละเอียด โดย พระมหาวีระ ถาวโร วัดท่าซุง จ.อุทัยธานี
หัวข้อ: Re: บทพิจารณาขัน ๕
เริ่มหัวข้อโดย: DHAMMASAMEE ที่ ตุลาคม 15, 2014, 04:36:42 AM
... ร่างกายเราเมื่อแก่ไปอายุมาก ร่วงโรยไปบ้างไหม ความเสื่อมของร่างกายมันมีทุกวัน ตอนเช้าตื่นขึ้นมายังไม่ได้กินข้าว หิวๆ ก็กินข้าว แล้วมันอิ่มๆ แล้ว พอตอนสายๆ หรือตอนกลางวันมันก็เริ่มหิว

... นี่รู้ไว้เลยว่า ความเสื่อมของร่างกายเกิดขึ้นแล้ว นี่คิดกันอย่างพระผู้มีสตินะ ทำไมจึงว่าเสื่อม ก็เพราะอาหารที่กินไปตอนเช้ามันเสื่อมคุณภาพ ถ้ามันไม่เสื่อมก็ไม่หิว เลยเวลาไปจากนั้นก็เสื่อมอีก เรากินกลางวัน  ไปจากนั้นพอตกเย็นมันก็หิวความเสื่อมมันปรากฏ อันนี้เห็นได้ยากนักก็มานั่งดูกัน

... ดูความเสื่อมของตัวเองมันเห็นช้า ดูกายในกายก็เห็นช้า พระพุทธเจ้าท่านให้ขยับออกไปอีกหน่อย พิจารณาภายนอกคือกายภายนอกไม่ใช่กายเรากายคนอื่น เราก็มานั่งดูคนที่เขาเดินผ่านหน้าเราไป หรือนั่ง อยู่ข้างหน้าที่เราผ่านไป หรือว่าท่านผู้ใหญ่ที่อยู่กับเราว่า

... ท่านทั้งหลายเหล่านี้สมัยก่อนท่านแก่ขนาดนี้หรือว่าเป็นเด็กเหมือนเรา ถ้าเราไม่ใช้ความโง่เสียนิดเดียว เราก็จะทราบว่าคนทุกคนเกิดมาเป็นเด็กแล้วต่อมาก็เติบโตขึ้นที่ละน้อยๆ เป็นหนุ่มสาว ต่อมาก็มาถึงเป็นคนแก่

... ทีนี้เรามานั่งดูคนแก่ คนแก่เขาบอกว่าไม่มีดี เขาว่ากันอย่างนั้นนะ มันจะมีดีตรงไหนล่ะ ตาก็ไม่ดี  ตาของเราเคยแจ่มใสก็มองอะไรไม่เห็น ดีไม่ดีอย่างผม เอาแว่นเข้ามาใส่ยังมองไม่เห็นเลย หูเคยดีก็จะฟังอะไรไม่ชัด ผมเคยดำสละสลวยก็เริ่มเปลี่ยนสี ทีนี้ร่างกายที่เคยแข็งแรงก็งกๆ เงิ่นๆ ผิวหนังที่เคยเปล่งปลั่งก็ย่อหย่อนไปด้วยประการทั้งปวง ความจำก็เสื่อม อะไรก็ใช้ไม่ได้ เรียกว่าคนแก่หาอะไรดีไม่ได้

... ท่านบอกให้ดูกายนอกกายหรือกายภายนอก เราก็ใช้ปัญญาสักนิดเข้ามาพิจารณา อันนี้ตัวสติสัมปชัญญะไม่ใช่ตัวปัญญานะ ฯ.

ธรรมะปกิณกะ สติปัฏฐาน๔ โดยละเอียด โดย พระมหาวีระ ถาวโร วัดท่าซุง จ.อุทัยธานี
หัวข้อ: Re: บทพิจารณาขัน ๕
เริ่มหัวข้อโดย: DHAMMASAMEE ที่ ตุลาคม 16, 2014, 08:20:13 PM
... เราหันมาพิจารณากายในกาย คือร่างกายของเรา เอากายของชาวบ้านเป็นสื่อ ถ้าเราเห็นกายในกายของเราไม่ค่อยจะเห็น  ก็ต้องเอากายของชาวบ้านมาเป็นครู มาเป็นครูตรงที่เราเห็นกายชาวบ้านเขาแก่ลงไป ผมเคยดำกลับขาว ตาเคยยาวกลับสั้น ฟันที่เคยดีกลับหัก หูฟังเคยอะไรมันก็ฟังไม่ได้ เนื้อหนังที่เคยเปล่งปลั่งก็หย่อนยาน สติสัมปชัญญะก็ไม่ดีเท่าเดิม ร่างกายก็ไม่แข็งแรง นี่เรื่องของชาวบ้านเป็นอย่างนี้   

... ก็มานั่งนึกถึงตัวเรา นึกไว้เป็นประจำว่าอาการอย่างนี้มีมากับคนอื่นที่เขาเกิดก่อน มันไม่ไปไหน ถึงเวลานานไป เราอายุแบบนี้เข้าเมื่อไหร่มันก็เป็นแบบนี้แหละ

... เมื่อถึงเวลาที่เราแก่เข้าจริง ๆ ผมมันก็เริ่มขาวเราก็ไม่หนักใจ เราเข้าใจแล้วว่าเป็นเรื่องธรรมดา   

.. ต่อมาถ้าตามันฝ้าลงเราก็ไม่เห็นแปลก อาการสะดุ้งทางใจทางกายมันก็ไม่มี เพราะถือว่าเป็นเรื่องธรรมดา 

... ตาฝ้า ตาฟาง หูไม่ดี ร่างกายสุขภาพไม่ดีมันงกๆ เงิ่นๆ ความเปล่งปลั่งหายไปก็ตามที ในเมื่อเรายอมรับนับถือว่ามันเป็นธรรมดาแล้วความสะดุ้งหวาดหวั่นมันก็ไม่มี นี่ท่านบอกว่า ต้องยึดถือว่าเป็นเรื่องธรรมดา ฯ.


ธรรมะปกิณกะ สติปัฏฐาน๔ โดยละเอียด โดย พระมหาวีระ ถาวโร วัดท่าซุง จ.อุทัยธานี
หัวข้อ: Re: บทพิจารณาขัน ๕
เริ่มหัวข้อโดย: DHAMMASAMEE ที่ ตุลาคม 16, 2014, 11:22:01 PM
... อนิจจา วะตะ สังขารา สังขารทั้งหลายไม่เที่ยงหนอ นี้ให้พิจารณากายภายนอก คือคนที่เขาเกิดเหมือนเราแล้วก็เวลานี้มันพังลงไปแล้ว นี่เป็นเรื่องธรรมดา   

... อุปาทะวะยะ ธัมมิโน เมื่อเกิดขึ้นแล้วก็เสื่อมไป เสื่อมอย่างไร เมื่อเกิดขึ้นมาเป็นเด็กแล้วก็โตขึ้นมา แล้วความทรุดโทรมย่อมปรากฏ นี่เป็นอาการของความเสื่อมทางกาย     

... อุปปัชฺชิตวา นิรุชฌันติ เมื่อเกิดขึ้นแล้วย่อมดับไป นี่อันนี้เขาตายแล้ว เราเองก็มีสภาพแบบนี้ ความไม่เที่ยงมีแล้วสำหรับเรา มีกับเขาฉันใดก็มีกับเราเหมือนกัน เราเกิดเหมือนเขาก็ต้องเสื่อมเหมือนเขา แล้วก็เวลานี้เค้าดับหรือเขาตายไปแล้ว ไม่ช้าเราก็ต้องตายเหมือนเขา

... ตอนท้ายท่านบอกว่า เตสัง วูปะสะโม สุโข แปลว่า การเข้าไปสงบกายชื่อว่าเป็นสุข นี่ตรงนี้เราคิดเลยว่า นี่ครูใหญ่เราพบแล้ว เราพบมาตั้งแต่ต้น มานั่งดูตัวคนอื่นเขาบ้าง นั่งดูตัวเราเองบ้าง มันปรากฏกระทบกระทั่งกับความเสื่อม ความไม่ทรงตัวอยู่ตลอดเวลา นี่เราก็เลยยอมรับนับถือว่า เป็นเรื่องของธรรมดา ฯ.


ธรรมะปกิณกะ สติปัฏฐาน๔ โดยละเอียด โดย พระมหาวีระ ถาวโร วัดท่าซุง จ.อุทัยธานี
หัวข้อ: Re: บทพิจารณาขัน ๕
เริ่มหัวข้อโดย: DHAMMASAMEE ที่ ตุลาคม 16, 2014, 11:43:55 PM
... เตสัง วูปะสะโม สุโข จิตเห็นเป็นของธรรมดาอยู่แล้วเป็นของไม่ยาก

... อารมณ์ของธรรมดาจริงๆ นี่คนที่ยอมรับนับถือการเกิดขึ้น การเสื่อมไป การดับไปของร่างกายจริงๆ โดยมีอารมณ์ไม่หวั่นไหวมาก มีอารมณ์มากระทบจิตแต่หวั่นไหวน้อย ไม่ยึดถือมากเกินไป เวลาจะตายจริงๆ ก็ไม่ได้ว่าอะไร อาการอย่างนี้มันเป็นของพระโสดาบัน   

... คนที่ยอมรับนับถือกฎของธรรมดา ว่านี่มันเรื่องไม่แปลก ของธรรมดา ฟันมันจะหักก็ธรรมดาไม่ใช่หักแต่เรา ชาวบ้านเขาก็หัก ผมมันหงอกก็ของธรรมดา ชาวบ้านเขาก็หงอกกันตั้งเยอะ เราหัวหงอกคนเดียวเป็นไรไป หัวมันล้านเขาว่า อีตานี่หัวล้าน ก็ธรรมดานี่ นี่เป็นเรื่องธรรมดาเรายอมรับนับถือ   

... ความแก่มันเข้ามา ฟันหัก ตาไม่ดีเข้ามา ถือว่าเป็นเรื่องธรรมดา เรารู้ตัวแล้วว่ามันจะเป็นอย่างนั้น

... อารมณ์ของการยอมรับนับถือธรรมดาด้วยความจริงใจเป็นเรื่องของพระโสดาบันขึ้นไปนะ

... นี่ท่านทั้งหลายก็ตั้งใจรู้ไว้เลย ว่าใครก็ตามที่ยอมรับนับถือกฎของธรรมดาอารมณ์นี้มันจะรักพระนิพพาน เพราะมันเกลียดตัวเกิด 

... เกิดนี่มันเป็นธรรมดาจริงๆ เมื่อเกิดขึ้นมาแล้วตัวทุกข์มันตามมา ตัวนี้เราไม่พูด อริยสัจพระพุทธเจ้าสอนตอนท้าย หาตัวธรรมดาเข้ามาแล้วมันแก่ บางทีไม่ทันจะแก่ความปรารถนาไม่สมหวังก็เกิด กินอิ่มแล้วก็หิว อยู่สบายๆ มันก็ร้อน ดีไม่ดีมันหนาวอีกแล้ว ดีไม่ดีอาการป่วยไข้ไม่สบายมันก็เกิด ตั้งแต่นี้มาเรายอมรับนับถือว่าเป็นเรื่องธรรมดา แล้วเราไม่หนักใจ

... เมื่อมันหิวมีก็กิน ไม่มีก็ทนหิวไป เพราะอยากเกิดมาทำไม หมายความว่า ถ้าเราไม่มีร่างกายเสียอย่างเดียวอาการอย่างนี้มันไม่ปรากฏ

... จิตมันก็กำหนดไว้เลยว่า ขึ้นชื่อว่าความเกิดไม่มีสำหรับเรา นับตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป ความเกิดจะไม่มีสำหรับเราอีก

... ความเกิดเป็นมนุษย์ก็ดี เทวดาก็ดี พรหมก็ดีเราไม่ต้องการ หรือการที่จะมีอาการพิสมัยว่าโลกมนุษย์สวยสดงดงาม เทวโลกพรหมโลกสวยสดงดงามมันเป็นที่น่าอยู่ไม่มีสำหรับเรา เราต้องการอย่างเดียวอาการความดับไม่มีเชื้อ โลก ๓ (มนุสสโลก เทวโลก พรหมโลก)ไม่ต้องการทั้งหมด จิตที่เราจะกำหนดไว้ก็ คือ ไม่มีกายและก็มีพระนิพพานเป็นที่ไป ฯ.


ธรรมะปกิณกะ สติปัฏฐาน๔ โดยละเอียด โดย พระมหาวีระ ถาวโร วัดท่าซุง จ.อุทัยธานี
หัวข้อ: Re: บทพิจารณาขัน ๕
เริ่มหัวข้อโดย: DHAMMASAMEE ที่ ตุลาคม 23, 2014, 12:22:34 AM
... โครภูญาณ จิตมันอยู่ระหว่างโลกีย์กับโลกุตตระ คือ ความเป็นคนกับความเป็นพระอริยเจ้า ท่านเปรียบเหมือนกับลำรางเล็กๆ น่ะ คือ ขาหนึ่งยืนอยู่นี่ อีกขาหนึ่งฝ่ายโลกีย์ ยังยกไม่ขึ้น

... ทีนี้อารมณ์ของโคตรภู เราต้องรู้ว่าขณะใด เราเข้าถึงโคตรภู ไอ้พูดตามตำรานี่ มันพูดได้ ไม่ยากหรอก แต่ตัวเข้าถึงนี่ซี ถ้าเราเป็นฝ่ายวิชชาสามนะมันเห็นชัด คือ เวลาที่เราถอดจิตขึ้นไป ตามปกติเราจะท่อง เที่ยวแต่เฉพาะในส่วนของโลกีย์ใช่ไหม จะเป็นเมืองมนุษย์ก็ดี อบายภูมิก็ดี เทวดา พรหมก็ดี แต่ส่วนโลกุตตระเราจะเข้าไม่ได้ ไม่สามารถจะเห็น แต่ถ้าอารมณ์ของจิตเข้าถึงโคตรภู เราจะเห็นพระนิพพานชัด

... ถ้าพูดถึงอารมณ์ อันดับแรกอารมณ์มันจะยึดตัว " ธรรมดา " คือ ใครเขาด่าก็ว่าเป็นธรรมดา เกิดมาต้องมีคนเขาด่าว่า อันที่จริงก็โมโหเหมือนกันนะ แต่โมโหแล้วมันปล่อยไม่เกาะอยู่ ถ้ายังไม่ได้อนาคามีอย่านึกว่าไม่มีโมโห โทโส มีโกรธ เหมือนกัน โกรธเดี๋ยวเดียว แต่ไม่ไปอาฆาต ไม่ไปทำร้ายเขาแล้วมันก็หายไป เห็นอะไรๆ มันก็ธรรมดา ถ้าไปเจอะคนตายมันก็วาบหวิวไปนิดหนึ่ง ประเดี๋ยวตัว " ธรรมดา " มันก็ปรากฏ

... ถ้าอารมณ์เข้มขึ้น มันก็ยัน " ธรรมดา " อยู่เสมอ แต่ก็ยังมีสะท้านอยู่บ้าง ในขณะเดียวกันก็มีอารมณ์รักพระนิพพานเป็นที่สุด ใครจะพูดเรื่องอะไรก็ฟังได้ แต่ฉันไม่เอาด้วย ฉันจะไปนิพพาน นี่สำหรับพวกมีวิชชาสาม

... ส่วนพวกสุกขวิปัสสโก ก็ต้องสังเกตอารมณ์เอาว่ายึด " ธรรมดา " และรักพระนิพพานเพียงใด ถ้ารักมากก็ชื่อว่าเข้าถึงโคตรภู ต้องสังเกตตรงนี้ ไม่ใช่ว่าเราไปแกล้ง " ธรรมดา " นะ ต้อง " ธรรมดา " ของมันเป็นปกติ จิตจะรักพระนิพพานเป็นอารมณ์จริงๆ แต่ถ้าไปนิพพานไม่ได้อย่างอื่นก็ต้องการ คือ จะไปพักสวรรค์พักพรหมโลก พักเพื่อหวังนิพพาน จะทำอะไรก็ตามไม่หวังผลตอบแทนฉันหวังจะไปนิพพาน นี่คืออารณ์โคตรภู

... ถึงโคตรภูแล้วสงสัยว่าเราจะเป็นพระโสดาบัน ก็มานั่งไล่เบี้ยสังโยชน์สามดูว่า สักกายทิฏฐิเราเป็นอย่างไร เรารู้หรือเปล่าว่า ร่างกายมันจะพัง ตัวของเรา ตัวของคนอื่นน่ะรู้หรือเปล่าว่ามันจะพัง มันจะตาย รู้ว่าจะตายความจริงก็มีจิตห่วงนั่นห่วงนี่บ้าง พระโสดาบันนี่ยังห่วง แต่ว่าห่วงไม่มาก ถ้ามันจะตายจริงๆ ก็ เอวังกิ่ม ฉันจะไปนิพพานนะ

... สังโยชน์ที่สอง วิจิกิจฉา เราไม่สงสัยในคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ที่ว่า " ไม่สงสัย " นี่ไม่ใช่ว่านึกเอานะต้องปฏิบัติด้วย ต้องแน่ใจว่าเกิดแก่เจ็บตายนี่เป็นของมีจริงใช่ไหม เชื่อเหลือเกินว่าเราเกิดมานี่ต้องแก่ ไอ้การป่วยไข้ไม่สบายนี่มันต้องมีแน่ ถ้ามันมีขึ้นมา เราก็ไม่ตกใจ การรักษาพยาบาลถือเป็นของธรรมดา เพราะถือเป็นการระงับเวทนา แม้พระพุทธเจ้า แม้พระอรหันต์ทุกองค์ท่านก็ต้องรักษา แต่ในระหว่างรักษาตัว ก็นึกว่า จะระงับได้หรือไม่ได้ จะทรงอยู่ได้หรือไม่ได้ก็ตามใจมัน ถ้าเกิดทุกเวทนามาก รักษาพยาบาลแล้ว อาการมันไม่ลด ก็ตามใจมันซี ฉันจะทนให้แกทรมานประเดี๋ยวเดียว แล้วฉันก็จะไปนิพพาน อารมณ์มันตัดตรงนี้นะ

... ทีนี้มาสังโยชน์ข้อที่ 3 ศีล 5 ไม่ต้องระวังจะทรงไว้เป็นปกติ อันนี้เป็นพระโสดาบันกับสกิทาคามี แต่ว่าพระโสดาบัน ก็ยังมีลูกมีหลานได้อย่างคนทั่วไป กิเลสมันไม่ได้ตกไป กามราคะไม่ได้ตกไป ยังมีความรัก ความโลภ ความโกรธ แต่ว่าไม่เป็นภัยแก่คนอื่น โกรธน่ะโกรธ แต่ไม่ฆ่าใครจริง ทำท่าย๊องแย๊งๆ ไปยังงั้น ความรักก็ยังรักอยู่ แต่ว่าเวลามันจะไปจริง ๆ ก็คลายได้ ความหลงก็ยังมีอยู่ว่า เอ๊ะ นี่กูนี่หว่า ไอ้นั่นก็ของกู ไอ้นี่ก็ของกู ยังมีอยู่แต่ว่าหลงไม่หนัก

... มาถึงสกิทาคามีตัวนี้ซียุ่ง ถ้าคนที่เข้าถึงสกิทาคามีไม่รู้ตัวจริงๆ ละก็นึกว่าตัวเป็นพระอนาคามี ลักษณะอาการอย่างนี้ เคยไปไล่เบี้ยคนอื่นมาแล้ว ล่อเสียทุกองค์แหละทีแรกนึกว่า เอ๋ ข้าว่าข้าได้อนาคามีแล้วนี่หว่า ไปๆ มาๆ ไม่ยักใช่แฮะ เพราะไอ้กามารมณ์นี้น่ะ ตัวอยากมันไม่มีเลย ความรักในรูป เสียง กลิ่น รส และสัมผัส หรือเรียกว่าความต้องการในเพศตรงกันข้ามมันไม่มีอยู่เลย แต่โน่นซี อีตอนอารมณ์ฌานสบายๆ บางทีโผล่มาแล้ว นั่นแน่! ตัวอนุสัยตีหัวเข้าบ้านเลย คือโผล่เข้ามานิดหนึ่ง พอเขารู้ตัวเขา ขับมันมันก็วิ่งเปิดไป นี่ตัวอนุสัยนานๆ ก็ย่องมาเสียที จนบางท่านคิดว่าตัวเป็นอนาคามีไปแล้ว ไม่ใช่บางท่านหรอก ฉันว่าร้อยเปอร์เซ็นต์เทียวแหละ ถามใครมันก็อีแบบนี้ทุกคน ตอนต้นดีใจ นึกว่าอนาคามีแล้วนะ ที่ไหนได้ 2-3 เดือนพ่อย่องมาโผล่หน้าแผล็บ โผล่ไม่นานนะ นาทีสองนาทีเท่านั้น

... เขาคอยสะกิดหลัง บอกว่า ยังไม่ถึงหรอกโว้ย คือ ชักจะปรารภไอ้รูปสวยสดงดงาม ไอ้เสียงเพราะอะไรนี่ มันชักจะต้องการ มีความรูสึกขึ้นมาเอง พอรู้สึกปั๊บ กำลังเขาสูงเสียแล้ว เขาตบหัวแล้วไปเลย จิตก็ตกไป พอรู้ตัวก็ต้องเร่งรัด ต้องเร่งสักกายทิฏฐิ หากถึงโสดาบันได้ มันก็ยึดหัวหน้าได้แล้วนี่ ยกพลขึ้นบกได้แล้วโจมตีแหลก มองดูก่อนอีจุดไหนแข็งมากก็ยังไม่ตี ล่อหน่วยลาดตระเวนเล็กๆ ไปก่อนจะไปตีฐานทัพใหญ่ เราเห็นจะแหลกเอง

... เมื่อถึงสกิทาคามีแล้ว อนาคามีก็ไม่ยากนักหรอก ตัดกามฉันทะความรู้สึกในทางเพศหมดไปเลย หายไปเลย อันนี้แน่นอนไม่กำเริบ ทีนี้ไอ้ความโกรธ ความพยาบาท ความกระทบกระทั่ง มันกระทบจิตพับตกเลย คือ ไม่พอใจเหมือนกัน แต่แป๊บเดียวหายเลย ไม่ใช่ไม่รู้สึก

... พอถึงอนาคามีแล้ว ไม่ยึดหรอกเรื่องอรหันต์ ชาตินี้ไม่ได้เราก็ไปนิพพาน เอาตอนเป็นเทวดาโน่นหมดเรื่องกัน เพราะได้อนาคามีแล้ว เขาไม่ลงมาเกิดกันอีก ไม่เป็นเทวดาเป็นพรหมแล้วอยู่นั่นบำเพ็ญบารมีเป็นอรหันต์ไปเลย สกิทาคามียังลงมาอีกครั้งหนึ่ง

... โสดาบันแบ่งเป็น 3 พวก สัตตขัตตุปรมะ โกลังโกละ กับ เอกพิชี ฉันขึ้นสัตตขัตตุปรมะก่อน เพราะว่าถ้ามีบารมีอ่อนอยู่ ก็ต้องลงมาเกิดเป็นมนุษย์อีก 7 ชาติ แช่อยู่แค่มนุษย์นี่แหละ เปรต หรือ นรก ไม่ไป บาปจะมีอยู่เท่าไรก็ช่างมัน ไอ้เจ้าหนี้ไม่มีทางจะได้หรอกเงินต้น จะได้ก็ได้ดอกของดอกเบี้ยเท่านั้น แค่ดอกเบี้ยก็ไม่เต็มนะ คือมันจะมารบกวน ในขณะที่มีขันธ์ 5 คือเกิดเป็นมนุษย์ ไอ้บาปเก่าๆ มันก็จะทำให้เจ็บป่วยบ้าง ของหายบ้าง ไฟไหม้บ้านบ้าง น้ำท่วมบ้านบ้าง ก็ตามเรื่องตามราวไป แต่มีเกณฑ์ว่า 7 ชาติเป็นอรหันต์

...  ถ้าหากว่า โกลังโกละ ก็เกิดอีก 3 ชาติเป็นอรหันต์

... ถ้าเอกพิชีก็ 1 ชาติ คือ ลงมาชาตินั้นก็เป็นอรหันต์เลย

... พระสกิทาคามีก็ลงมาเหมือนกัน แต่เขาบางกว่าสะกิดปั๊บเดียวเป็นอรหันต์เลย

... แต่ถ้าเป็นพระอนาคามี ไม่ลงมาเกิดเป็นเทวดา หรือพรหมแล้ว บำเพ็ญบารมีไปเลย นี่ว่ากันตามแบบนะ

... แต่ถ้าเราจะว่ากันอีกแบบหนึ่ง ถึงความเป็นอรหันต์นี่น่ะ ถ้าเราหากินเป็นคือฉลาดสักนิดหนึ่ง ชาตินี้ถ้าเราตั้งใจพอใจธรรมส่วนไหน เช่น เวลานี้เราต้องการพุทธานุสติกรรมฐาน พุทโธ ๆ ใครไปบ้านไหนเมืองไหนก็ช่าง ใจฉัน พุทโธ พุทโธ ด้วยความเต็มใจมากบ้างน้อยบ้าง ดีบ้าง ชั่วบ้างก็ตามเรื่องของมัน วันนี้ได้ 30 นาที พรุ่งนี้ได้ 5 นาที มะรืนนี้ได้ 3 นาที บางวันได้ชั่วโมงหนึ่งก็ตามเรื่องตามราว แต่ว่าตั้งใจจริง ๆ ด้วยอำนาจของพุทโธหรือจะใช้อะไรก็ช่าง ฉันไม่จำกัด " พุทโธ " นะ จะ สัมมาอรหัง นะมะพะทะ หรือ นะโมพุทธายะ อะไรก็ตามเถอะ ตั้งใจใน ธรรมะ หรือ ในทานบารมี ศีลบารมี จุดใดจุดหนึ่งเป็นชีวิตจิตใจ เอาจริงๆ นะ รักจริงๆ

... ตายไป ก็นั่งพักอยู่แค่เทวดาหรือพรหม พอถึงเวลา หมดอายุขัยก็ลงมาใหม่ แต่ก็ไม่แน่นะเทวดาหรือพรหม ไม่แน่ว่าจะรอให้หมดอายุ พวกชอบโดดลงมาก่อนก็เยอะ คือ เห็นมีจังหวะจะบำเพ็ญได้ ก็โดดปุ๊ปลงมาทีเดียว ถ้าโดดลงมาพบพระพุทธเจ้าหรือพระอรหันต์ ท่านก็ย่อมรู้นิสัย คือหมายถึงพระอรหันต์ที่มีวิชชาสามขึ้นไป หรือไม่งั้นพระพุทธเจ้า พอท่านเห็นหน้าท่าน ก็รู้ว่าอีตานี่ " พุทโธ " มาแต่ชาติก่อน ข้ารู้ยายนี่ชอบให้ทานมาตั้งแต่ชาติก่อนข้ารู้ ท่านก็ไม่เทศน์อะไรละ เทศน์ไปแกะไอ้ผลเก่านั่นแหละ อีชาตินั้นละไปเลยเป็นอรหันต์ไม่เห็นยากหากินง่ายๆ ฯ

หลวงพ่ออธิบายเรื่องโคตรภูญาณ โดย พระมหาวีระ ถาวโร วัดจันทาราม
หัวข้อ: Re: บทพิจารณาขัน ๕
เริ่มหัวข้อโดย: DHAMMASAMEE ที่ ตุลาคม 25, 2014, 08:07:18 PM
... ให้เราทั้งหลายพิจารณาเห็นกายในกายว่า กายภายในก็ดี กายภายนอกก็ดี มีการเสื่อมไปบ้าง มีการเคลื่อนตัวไปบ้าง หาการทรงตัวไม่ได้ 

... เธอทั้งหลายจงเห็นเป็นแต่เพียงว่าสักแต่ว่าเห็น รูปนี้เป็นแต่เพียงสักแต่ว่าเราจะอาศัยชั่วคราวเท่านั้น จะไม่ทรงตลอดกาลไป ขอท่านทั้งหลายจงอย่ายึดถือรูปนี้ แล้วจงอย่ายึดถือทุกสิ่งทุกอย่างในโลกทั้งหมด ฯ.
หัวข้อ: Re: บทพิจารณาขัน ๕
เริ่มหัวข้อโดย: DHAMMASAMEE ที่ ตุลาคม 25, 2014, 11:14:38 PM
... ก็คิดถึงชีวิตของเราว่า 

... ชีวิตของเรานี่มันเติบโตมีการเคลื่อนไปทุกวันทุกวัน อาหารเก่าที่เรากินเข้าไปเมื่อวานนี้มันสลายตัวแล้ว แล้ววันนี้ ความหิวปรากฏ ร่างกายต้องการอาหาร แสดงว่าอาหารเมื่อวานและเวลาก่อนที่เรากินเข้าไป ไม่พอกับความต้องการ เวลานั้นมันพอ แต่ต่อมามันใช้งานไปหมดไม่พอต้องการอาหารใหม่ ถ้าเราไม่กินอาหารใหม่เราก็จะถึงกับความตาย   

... เหมือนกับลมหายใจลมหายใจนี่ พระพุทธเจ้าก็เรียกว่าอาหารเหมือนกัน ท่านเรียกว่าผัสสาหาร อาหารคือผัสสะ ถ้าอาหารประเภทนี้ไม่มีสำหรับคนและสัตว์ท่านใด คนนั้นก็หมายความว่าต้องตาย   

... ทีนี้อาหารที่เรากินเข้าไป ลมที่เราสูดเข้าไปก่อน เมื่อระบายออกไปแล้วมันสลายตัวไป มันไม่กลับเข้ามาใหม่ สิ่งที่จะทรงอยู่ได้ของร่างกายต่อไปก็อาศัยลมใหม่ หรืออาหารใหม่ว่าร่างกายของเรามีสภาพไม่เที่ยง มันมีการสลายตัวอยู่เป็นปกติ

... การที่จะตั้งอยู่ได้ก็อาศัยสันตติ คือการสืบเนืองหรือติดต่อกัน ที่เราจะเห็นว่าลมหายใจ ถ้าเราหายใจออกไปแล้วไม่หายใจเข้ามันก็ตาย  หายใจเข้าไปแล้วไม่หายใจออกไป ไม่นำลมเข้ามาใหม่มันก็ตาย แสดงว่าไอ้ลมที่ออกไปแล้วมันสลายตัวไป ที่เรียกกันว่าพ้นไปหรือตายไป  แต่ว่าเราทรงขึ้นมาได้ใหม่ก็เพราะอาหารใหม่เข้ามาช่วย หรือลมใหม่เข้ามาช่วย
หัวข้อ: Re: บทพิจารณาขัน ๕
เริ่มหัวข้อโดย: DHAMMASAMEE ที่ ตุลาคม 26, 2014, 01:17:10 AM
... จึงมีคำปุจฉาว่า อาศัยเหตุที่พระโยคาพจรไม่กระทำมนสิการในธรรมดังฤๅ พระไตรลักษณ์จึงไม่ปรากฏ ธรรมสิ่งดังฤๅปกปิดไว้ พระไตรลักษณ์จึงไม่ปรากฏ

... วิสัชชนาว่า อนิจจลักษณะจะไม่ปรากฏแจ้ง อาศัยเหตุที่พระโยคาพจรมิได้กระทำมนสิการในกิริยาที่บังเกิดและฉิบหาย นัยหนึ่งว่าสันตติปกปิดกำบังอยู่ อนิจจลักษณะจึงบ่มิได้ปรากฏ

... แลทุกขลักษณะจะไม่ปรากฏแจ้งนั้น อาศัยเหตุที่พระโยคาพจรบ่มิได้กระทำมนิสิการในกิริยาที่อาพาธเบียดเบียนเนือง ๆ นัยหนึ่งว่าอิริยาบถปกปิดกำบังอยู่ ทุกขลักษณะจึงบ่มิได้ปรากฏ

... แลอนัตตลักษณะจะไม่ปรากฏแจ้งนั้น อาศัยที่พระโยคาพจรบ่มิได้กระทำมนสิการในพิธีพิจารณาพรากธาตุทั้ง ๔ ให้ต่างออกเป็นแผนกๆ นัยหนึ่งว่าฆนสัญญาปกปิดกำบังอยู่ อนัตตลักษณะจึงบ่มิได้ปรากฏ

... มีคำปุจฉาว่า สันตติ(ความสืบเนื่อง)ที่ปกปิดอนิจจลักษณะไว้นั้น จะได้แก่สิ่งดังฤๅ

... วิสัชชนาว่า สันตตินั้นใช่อื่นใช่ไกล ได้แก่สภาวะสืบต่อแห่งชีวิต ลักษณะที่เห็นว่าชีวิตจะยั่งยืน จะสืบต่อไปสิ้นวันคืนเดือนปีเป็นอันมากนี้แล พระอรรถกถาจารย์เจ้าเรียกว่าสันตติปิดป้องกำบังอนิจจลักษณะไว้มิให้เห็นอนิจจลักษณะโดยอันควรแน่แท้

... ก็ไฉนจึงจะเห็นอนิจจลักษณะโดยอันควรแน่แท้ได้ อ้อถ้าปรารถนาจะให้เห็นอนิจจลักษณะ โดยอันควรแน่แท้นั้นพึงอุตสาหะเพียรพยายามที่จะกีดกันสันตติออกเสียให้ห่างไกล อย่าให้สันตตินั้นปิดป้องกำบังอยู่ อนิจจลักษณะจึงจะปรากฏโดยอันควรแน่แท้

... กระทำไฉนเล่า จึงจะกีดกันสันตติออกเสียให้ห่างไกลได้ จะปฏิบัติเป็นประการใด จึงจะพรากสันตติออกได้

... อ้อ ถ้าปรารถนาจะกันเสียซึ่งสันตติ จะพรากสันตติออกเสียให้ห่างไกลนั้น พึงอุตสาหะมนสิการกำหนดกฏหมายให้เห็นที่เกิดและที่ฉิบหายแห่งสังขารธรรม อย่าได้ประมาท พึงคิดถึงความตายจงเนืองๆ พิจารณาให้เห็นว่าสังขารธรรมนี้เร็วที่จะดับจะทำลาย จะยั่งจะยืนจะมั่นจะคงนั้นหาบ่มิได้ เกิดมาแล้วก็มีแต่จะดับสูญเป็นที่สุด กองแห่งรูปธรรมนามธรรมทั้งปวงนี้ มีแต่จะฉิบหายทำลายไปเป็นเบื้องหน้า รูปขันธ์นี้มีครุวนาดุจดังว่าก้อนแห่งฟองน้ำ อันลอยไปตามกระแสน้ำแล้วก็แตกทำลายแล้ว ยังไม่เร็วพลัน รูปขันธ์นี้ว่าเร็วที่จะทำลายแล้ว ยังไม่เร็วเท่าเวทนาขันธ์อีกเล่า

... เวทนาขันธ์นี้เร็วนักหนาที่จะแปรปรวน เร็วนักหนาที่จะดับจะทำลาย ทีครุวนาดุจปุ่มเปือกแห่งน้ำ อันเร็วที่จะแปรจะปรวน เร็วที่จะแตกจะทำลาย ฟองน้ำที่เป็นก้อนๆ ลอยไปลอยมาตามกระแสน้ำนั้นว่าเร็วแตกเร็วทำลายแล้วจะได้เร็วเท่าปุ่มเปือกแห่งน้ำนั้นหาบ่มิได้ ปุ่มเปือกน้ำที่เกิดขึ้นใหม่ๆ ผุดขึ้นเป็นเม็ด เหนือพื้นน้ำด้วยกำลังกระแสน้ำกระทบน้ำนั้นเร็วแตกเร็วทำลายยิ่งขึ้นไปกว่าฟองน้ำที่เป็นก้อนๆ แลมีครุวนาฉันใดเวทนาขันธ์นี้ก็เร็วที่จะแปรปรวน เร็วที่จะดับจะทำลายยิ่งขึ้นไปกว่ารูปขันธ์มีอุปไมยดังนั้น

... สัญญาขันธ์นี้ก็จะแปรปรวน เร็วที่จะดับจะทำลายยิ่งขึ้นไป มีอุปมาดุจดังว่าพยับแดดอันปรากฏและอันตรธานหายไปเป็นอันเร็วพลัน

... สังขารขันธ์เล่าก็หาแก่นสารบ่มิได้ มีครุวนาดุจต้นกล้วยอันปราศจากแก่น 

... วิญญาณขันธ์นั้นเล่า เทียรย่อมล่อลวงให้ลุ่มให้หลงมีครุวนาดุจบุคคลที่เป็นเจ้ามารยา จะยั่งจะยืนจะมั่นจะคงนั้นหาบ่มิได้

... เมื่อมีสติปัญญามนสิการกำหนดกฏหมาย เห็นที่เกิดและฉิบหายแห่งอุปทานขันธ์ทั้ง ๕ มิได้เห็นว่าขุนธ์ทั้ง ๕ นั้นจะยั่งจะยืนจะสืบต่อไปสิ้นวันคืนเดือนปีเป็นอันมากแล้วกาลใด ก็ได้ชื่อว่ากีดกันสันตติออกเสียได้ พรากสันตติออกเสียได้ในกาลนั้น เมื่อกันเสียได้ซึ่งสันตติ พรากสันตติออกเสียได้แล้ว อนิจจลักษณะก็ปรากฏในสันดานเปรียบปานประดุจว่าปริมณฑลพระจันทร์ อันหาเมฆพลาหกจะปกปิดมิได้แล้วและแจ่มใสบริสุทธ์เป็นอันงาม สุดแท้แต่ไม่มีสันตติปิดป้องกำบังแล้ว อนิจจลักษณะก็จะปรากฏแจ้งโดยอันควรแก่แท้ ฯ.


พระวิสุทธิมรรค ปัญญาบรรพ หน้า ๗๑๐ บรรทัดที่ ๑๕ - หน้า ๗๑๓ บรรทัดที่ ๘
หัวข้อ: Re: บทพิจารณาขัน ๕
เริ่มหัวข้อโดย: DHAMMASAMEE ที่ พฤศจิกายน 04, 2014, 12:38:06 AM
... ตอนท้ายของมหาสติปัฏฐานสูตรกล่าวว่า
     
“ เธอทั้งหลาย จงอย่าสนใจในกายภายในด้วย
     
จงอย่าสนใจกายภายนอกด้วย
     
จงอย่าสนใจวัตถุธาตุใดๆ ทั้งหมดในโลก ”
     
... เมื่อเห็นกายภายในกาย(ร่างกายเรา)อยู่ ก็ทำจิตแต่สักว่าเห็น

... เห็นกายภายนอกอยู่ ก็ทำจิตแต่สักว่าเห็น

... เห็นวัตถุทั้งหลายในโลกด้วย ก็ทำจิตสักแต่ว่าเห็นวัตถุทั้งหลายเหล่านั้น

... ตัวนี้เป็นวิปัสสนาญาณ แล้ววิปัสสนาญาณตัวนี้ เป็นอารมณ์ของพระอรหันต์โดยตรง ฯ.


โอวาทหลวงปู่พระราชพรหมยาน
หัวข้อ: Re: บทพิจารณาขัน ๕
เริ่มหัวข้อโดย: DHAMMASAMEE ที่ พฤศจิกายน 04, 2014, 12:41:11 AM
... ที่พระพุทธเจ้าท่านกล่าวว่า
     
... “ ภิกฺขเว ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เมื่อเห็นกายภายในจงทำใจแต่สักว่าเห็น ไม่สนใจกับกายในกาย กายภายใน คือ กายของเรา ”
     
... คำว่า “ ไม่สนใจ ” ก็หมายความว่า กายของเรามันสวย ตรงนี้เขียว ตรงนี้ขาว ตรงนี้ดำ ตรงนี้คิ้วโก่ง ตรงนี้ผมดี ปากแดง หรือฟันดี อย่าไปสนใจตามนั้น มันโกหกตัวเอง ส่วนทุกส่วนของร่างกายนี่ เต็มไปด้วยความสกปรก หนังก็มีเหงื่อมีไคลจับ หนังมีการเสื่อม หนังก็เต็มไปด้วยความสกปรก
     
... ถ้าร่างกายของเราไม่สกปรก ก็ไม่ต้องอาบน้ำ ไม่ต้องชำระร่างกาย นี่ปล่อยไว้แค่วันเดียวไม่อาบน้ำ อากาศร้อนแบบนี้ไม่อาบน้ำก็เหนอะหนะ ทนไม่ไหว
     
... ถ้าไม่อาบน้ำชำระร่างกายนี่ แสดงว่าหนังมันคงสกปรก เมื่อหนังสกปรกในหนังเข้าไปคือเนื้อก็เต็มไปด้วยความสกปรก คนที่เห็นว่าสวยสดงดงาม แค่หนังกำพร้าบังนิดเดียว

... ที่เห็นว่าสวยงามก็หลอกตัวเองแล้ว ความจริงมันไม่สวย เพราะอาศัยตาโง่ มองของเลวว่าของดี ถ้าลอกหนังเข้าไปอีกทีไม่มีใครอยากมอง เหมือนกับผีตายซาก เหมือนกับผีดิบเดินมา ลอกเนื้อเข้าไปไม่มีหนังไม่มีเนื้อ เหลือแต่ตับ ไต ไส้ ปอดซี่โครง ดูไม่ได้
     
... รวมความว่า กายในกายทั้งกายนี่ ที่เราหลงว่ามันดี ความจริงมันไม่ดี มันสกปรก ฯ.


โอวาทหลวงปู่พระราชพรหมยาน
หัวข้อ: Re: บทพิจารณาขัน ๕
เริ่มหัวข้อโดย: DHAMMASAMEE ที่ พฤศจิกายน 04, 2014, 09:19:38 PM
... ท่านบอกว่ากายเราก็ดี คือ กายภายใน กายภายนอก คือ กายคนอื่นก็ดี สัตว์อื่นก็ดี วัตถุธาตุก็ดี ถ้าเราไปสนใจยึดมั่นถือมั่นว่าเป็นเรา เป็นของเรา จะเสียใจภายหลังว่า กายของเรานี้ เลี้ยงเท่าไรไม่มีการทรงตัว มันเสื่อมลงไปทุกวัน ในที่สุดมันก็พัง เขาตายให้เราดูนี่
     
... กายของคนอื่นก็เหมือนกัน จะยึดเป็นที่พึ่งที่อาศัยมันเป็นไปไม่ได้ มันทรุดโทรมลงไปทุกวัน ผลที่สุดมันก็พัง ตาย!
     
... วัตถุธาตุทั้งหลายในโลกก็เหมือนกัน มันมีการตั้งตัวขึ้นมาได้มันเก่าลงไปทุกวัน แล้วมันพัง
     
... รวมความว่า เราก็พัง เขาก็พัง วัตถุธาตุก็พัง
     
... คำว่า “ กายในกาย ” หมายความว่า พังในกายนะ ไม่ใช่จิต
     
... กายภายใน คือ กายของเราก็ดี
     
... กายภายนอก คือ ร่างกายของบุคคลอื่นก็ดี
     
... วัตถุธาตุทั้งหลายก็ดี ไม่มีการทรงตัว
     
... เมื่อมีการเกิดขึ้นเบื้องต้นแล้ว
   
... ก็เสื่อมไปในท่ามกลาง
   
... และสลายตัวในที่สุด
     
... ถ้ายึดถือว่าเป็นเรา เป็นของเราจริง เพราะอาศัยความโง่เท่านั้น ฯ.