เว็บพุทธภูมิ: พุทธภูมิ พระโพธิสัตว์ การบำเพ็ญบารมี



แสดงกระทู้

This section allows you to view all posts made by this member. Note that you can only see posts made in areas you currently have access to.


Messages - DHAMMASAMEE

หน้า: 1 ... 9 10 [11] 12 13 ... 15
151
การให้ทานเป็นพื้นฐานของพระพุทธเจ้าทุกๆ พระองค์
โดย หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน
   
... การให้ทาน แปลว่า การให้ การเสียสละนั้นแล เขาได้รับมากน้อยก็มีความยิ้มแย้มแจ่มใส ตายใจจนกระทั่งถึงคนกับสัตว์เลยเป็นอันเดียวกัน ตายใจเป็นอันเดียวกัน เพราะอำนาจแห่งทานการเสียสละ นี้เป็นเครื่องสมานจิตใจให้ไม่ระแคะระคาย ไม่ระเวียงระวังกัน ให้สนิทตายใจต่อกันได้ระหว่างคนกับสัตว์
   
... เพราะฉะนั้น การให้ทานจึงเป็นของจำเป็นมาก เป็นพื้นฐานของพระพุทธเจ้าทุกๆ พระองค์ ก่อนที่จะตรัสรู้นี้ การให้ทานนี้เป็นเหมือนกันหมด บรรดาพระพุทธเจ้าเป็นอันดับหนึ่ง อย่างพระพุทธเจ้าของเราองค์ปัจจุบันนี้ก็เหมือนกัน จวนเข้ามาเท่าไหร่ การให้ทานไม่หยุดไม่ถอย อย่างที่เราได้ตัวอย่างมาจากพระเวสสันดร ทานเสียจนหมดเนื้อหมดตัว
   
... นี่ล่ะการให้ทาน ท่านมีงดเว้นที่ไหน แม้แต่พระชายาคู่พึ่งเป็นพึ่งตายกัน ท่านยังยอมเสียสละได้ นี่ถึงคราวที่บารมีแก่กล้าแล้วในการให้ทาน ก็เสียสละจนไม่มีอะไรติดเนื้อติดตัว เพราะหวังโพธิญาณ ความหลุดพ้นจากทุกข์โดยสิ้นเชิงในกาลข้างหน้า อาศัยทานเป็นเครื่องหนุนให้หลุดพ้นจากทุกข์เป็นลำดับลำดาไปพระองค์จึงทรงทำอย่างนั้น
   
... เพราะฉะนั้น บรรดาพระพุทธเจ้าจึงหนักแน่นในการให้ทาน ไม่มีใครเสมอได้เลย เมื่อได้ตรัสรู้ ก็ตรัสรู้ขึ้นจากการให้ทานนั้นแล เรื่องบารมี ๓๐ ทัศก็ขึ้นทานเป็นเบื้องต้น ทานบารมี คือ การให้ทาน แสดงความอัธยาศัยเชื่อมโยงถึงกันและกัน เพื่อความสนิทสนมจากการเสียสละต่อกัน นี่การให้ทาน จึงมีความจำเป็นอย่างมากทั้งสัตว์ บุคคล สัตว์อยู่กับคนได้ก็เพราะการให้ทานการเสียสละ 

152
พระพุทธเจ้า ๓ ประเภท
จากหนังสือ โพธิสัตว์ โดยหลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน
   
... โห! ธรรมะพระพุทธเจ้า คิดดูซิว่าทรงปรารถนาเป็นพระพุทธเจ้ามาสร้างโพธิญาณ โพธิสัตว์ๆ สัตว์ที่จะตรัสรู้ข้างหน้า ความหมาย จะเป็นพระพุทธเจ้าข้างหน้า เรียกว่า โพธิสัตว์ ทรงปรารถนามานานสักเท่าไร เฉพาะพระพุทธเจ้าของเรานี้ไม่นาน ๔ อสงไขย แสนมหากัป ที่จะเป็นพระพุทธเจ้ามีอยู่ ๓ ประเภท
   
... ๑๖ อสงไขย แสนมหากัป นี้เป็นประเภทที่เยี่ยมที่สุด คำว่าเยี่ยมนี่หมายถึง สูงส่งในการแนะนำสั่งสอนสัตว์โลก รื้อขนสัตว์ได้มากกว่าบรรดาพระพุทธเจ้าทั้งหลาย แต่ความรู้แจ้งแทงทะลุนั้นเหมือนกันหมด แต่อำนาจวาสนาเหมือนกับต้นไม้ กิ่งก้านสาขาดอกใบแผ่กระจายไปหมด อย่างที่เขาเรียกว่า ไทรงามๆ ต้นเดียวนี้แผ่ไปได้เป็นกิโล ไทรทั้งหลายก็มี แต่ไม่เหมือนกัน
   
... ประเภทที่สอง ๘ อสงไขย แสนมหากัป ฟังซิ นานไหม ท่านทำความปรารถนาที่จะเป็นศาสดาเอกสอนโลก รื้อขนสัตว์โลกให้หลุดพ้นจากความล่มจมตายกองกัน มนุษย์ตายกองกันค่อยยังชั่ว ประเภทของเราคนเดียวนี้ มันไปตายกองอยู่ทุกภพ ทุกชาติ ทุกแห่ง ทุกหน ทุกประเภทของสัตว์ ใจดวงนี้นะ
   
... พระพุทธเจ้าของเรานี้ ๔ อสงไขย แสนมหากัป จึงได้มาตรัสรู้ พอตรัสรู้ผางขึ้นมานี้ ฟังซิ ทรงท้อพระทัย ความรู้ของพระศาสดาเต็มสัดเต็มส่วนแล้ว ก็มามองดูสัตว์โลก เหมือนว่าจะดูไม่ได้ ทรงท้อพระทัย จะสอนไปทำไม ฟังซิ ธรรมเลิศขนาดไหน

153
... การที่ทรงบำเพ็ญทานบารมีได้อย่างเต็มพระทัยนี้  เนื่องจากที่ทรงอาศัยอยู่ในสถานที่ที่โลกเห็นว่า  เป็นที่อยู่ของบุคคลผู้จนมุม  แต่สำหรับพระเวสสันดรกลับทรงเห็นว่า 

... เป็นที่เวิ้งว้างจากภาระหนักและอารมณ์เครื่องกังวลใจ ทั้งการบำเพ็ญทานบารมี ศีลบารมี ตลอดอุเบกขาบารมี ซึ่งเป็นธรรมเครื่องส่งเสริมทุกประเภท พระเวสสันดรทรงมีโอกาสได้บำเพ็ญอย่างพอพระทัยในเวลานั้น
     
... การบำเพ็ญที่แสนยากลำบากและเต็มไปด้วยความชอกช้ำ  เพราะการกระทบกระเทือนนานาประการ  ทั้งเป็นการขัดขวางทางดำเนินของพระเวสสันดร 

... หากกรรมดี  กรรมชั่วจะเป็นไปตามความตำหนิติชมของบุคคลแล้ว   

... พระเวสสันดรถึงกับต้องถูกเนรเทศเพราะการให้ทาน  ก็ไม่ควรจะรอดจากเหตุการณ์อันรุนแรงนั้นกลายมาเป็น พระ(สมณะโคดมปัญญาธิกะสัมมาสัม)พุทธเจ้าให้โลกกราบไหว้ได้  เพราะผลแห่งทานอันเป็นต้นเหตุนั้น

154
... ฝ่ายพระเวสสันดรหน่อพระสัพพัญญูผู้ทรงธรรม  มีพระทัยเต็มไปด้วยพระเมตตาต่อสัตว์ผู้ยากจน  และมีพระราชศรัทธาอันกว้างขวางเหมือนท้องฟ้ามหาสมุทร  เมื่อทรงสดับพระดำรัสจากพระราชบิดาผู้บังเกิดเกล้าแล้ว  ทรงน้อมพระเศียรรับและปฏิบัติตามด้วยความพอพระทัยมิได้ขัดขืน  แม้เช่นนั้นก่อนจะเสด็จอออกจากพระนคร  ยังทรงขอยับยั้งไว้ชั่วกาล (๗  วัน)  พอได้ให้บริจาคทานให้พอพระทัยก่อน  แล้วก็เสด็จออกจากพระนครด้วยพระอาการยิ้มแย้มแจ่มพระทัย  ซึ่งสมกับพระองค์เป็นพระเวสสันดรผู้เป็นจอมให้ทานในโลก  อันไม่มีใครเสมอเหมือน  ไม่ทรงมีพระอาการหวั่นไหว  เพราะความไม่พอใจและการขับไล่ของชาวเมือง  ทรงเปี่ยมด้วยพระราชศรัทธาทั้งการเสด็จไป  เสด็จอยู่ในป่า  และเสด็จกลับสู่พระนครตามคำทูลให้เสด็จกลับ
     
... การเสด็จออกจากพระนคร  มีพระนางมัทรีและพระราชโอรสพระธิดาดวงหทัยตามเสด็จ  การเสด็จออกจากพระนครทั้งนี้   พระเวสสันดรทรงปฏิบัติให้เป็นที่พอใจของชาวเมือง  แต่การบริจาคซึ่งเป็นธรรมประจำพระนิสัยของหน่อพระโพธิญาณ  ผู้จะทรงรื้อขนสัตว์โลกให้ข้ามตามเสด็จ  พระเวสสันดรไม่เคยลดหย่อนอ่อนพระทัยตามใคร  และไม่ทรงยอมอยู่ใต้อำนาจของผู้ใดทั้งนั้น  แม้จะเสด็จเข้าอยู่ในดงหนาป่าทึบแร้นแค้นกันดารเหมือนแดนนรก  อันใครๆไม่พึงปรารถนาก็ตาม  พระองค์ยังพอพระทัยในที่เช่นนั้น  และทรงบำเพ็ญทานไม่เคยลดละ  เมื่อไม่มีอะไรจะทรงบริจาคก็ทรงยกพระลูกรักทั้งสอง  บริจาคให้แก่พราหมณ์(ชูชก)ผู้จนมุมมาร้องขอ  และไม่ทรงถือพระลูกรักทั้งสองให้เป็นอุปสรรคต่อทานบารมีเพื่อความเป็นศาสดาของโลกเลย
     
... เมื่อทรงบริจาคไปแล้ว  แม้พราหมณ์ผู้มีนิสัยโหดร้ายไร้ศีลธรรม  จะเฆี่ยนตีพระลูกรักทั้งสองต่อพระพักตร์โดยไม่เกรงขามพระบารมีก็ตาม ก็ทรงทอดอาลัยไม่ทรงกริ้วโกรธต่อพราหมณ์เลย  เพราะทรงถือว่าเป็นทานที่บริจาคให้เป็นของคนอื่นด้วยความบริสุทธิ์พระทัยแล้ว  ไม่เพียงพระลูกรักซึ่งเทียบกับพระเนตรทั้งสองที่บริจาคให้แก่พราหมณ์ไปแล้ว  ยังทรงยกพระนางมัทรีคู่พระบารมี  ผู้เปรียบเหมือนดวงหทัยให้แก่(อินทะ)พราหมณ์ผู้มาร้องขอในอันดับต่อมาอีก  ด้วยความพอพระทัยมิได้ทรงอิดเอื้อนซึ่งเป็นเหตุให้ปลีกแวะจากทานบารมีเพื่อพระโพธิญาณเลย  และยังทรงอุทานเพื่อสละเลือดเนื้อและชีวิตทุกพระอาการแก่ผู้มุ่งมาขออีก  ไม่ทรงอาลัยในพระกายและจิตใจแม้แต่น้อย

155
... ธรรมทั้งนี้ท่านประทานไว้เพื่อพุทธบริษัท  คือ  พวกเราจะตามเสด็จพระองค์ท่านตามกำลังภูมินิสัยวาสนาของแต่ละท่าน  ถ้าจะกล่าวถึงการบำเพ็ญ(บารมี) และฝ่าฝืนความทุกข์ทรมานในคราวเป็นพระเวสสันดรนั้น  จะเห็นได้ว่าเป็นการยากลำบากแสนสาหัส  และไม่มีใครกล้าทำได้เหมือนอย่างพระองค์
       
... การบำเพ็ญทานก็เป็นความอัศจรรย์  อาจจะกล่าวได้ว่าพระองค์คว้าประวัติศาสตร์แห่งการเสียสละของคนสมัยนั้น  โดยไม่มีใครสามารถจะเป็นคู่แข่งได้  ประหนึ่งว่าฟ้าดินอันแสนกว้างจะถล่ม  เพราะความเลื่องลือกิตติศัพท์กิตติคุณฟุ้งขจรไปทุกแห่งทุกหนทั้งเบื้องบนเบื้องล่าง
     
... ชาวเมืองเกิดความไม่ยินดีและไม่พอใจในการบำเพ็ญของพระองค์  (พระเวสสันดร)ถูกกล่าวหาว่าให้ทานช้างมงคลประจำเมืองประจำแผ่นดิน  จนเกิดฟ้องร้องกันขึ้น  โดยตั้งข้อหาว่า  พระเวสสันดรเป็นคนขวางโลก  ไม่สมควรเป็นกษัตริย์ปกครองแผ่นดินต่อไป  ถ้าฝืนให้อยู่บ้านเมืองและแผ่นดินจะล่มจม  ฝ่ายพระบิดาซึ่งเป็นเป้าหมายแห่งการรับฟ้องร้องของคนทั้งแผ่นดิน  ด้วยพระปรีชาฉลาดท่านก็ทรงบรรเทาเหตุร้ายซึ่งกำลังเกิดขึ้น  โดยพระอุบายให้พระเวสสันดรพระลูกรักเหมือนดวงหทัย  ขยับขยายออกจากเมืองตามเหตุการณ์ก่อน  พอมีทางแก้เหตุร้ายให้สงบลง

156
พระเวสสันดรมหาโพธิสัตว์
โดย หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน วัดป่าบ้านตาด
     
... วันนี้จะมีการเทศน์มหาชาติของพระพุทธเจ้า  ครั้งเสวยพระชาติเป็นพระเวสสันดร 

... แปลว่า  ชาติที่ยิ่งใหญ่ของพระองค์  ที่ทรงก้าวผ่าน วัฏฏะสงสารมาด้วยทรงบำเพ็ญมหาทาน   ซึ่งเป็นทานใหญ่และอัศจรรย์   

... แปลว่า  ชาติสุดท้ายที่ทรงทุ่มเทพระกำลังลงเพื่อพระสัพพัญญูด้วยความกล้าหาญต่อแดนพ้นทุกข์(คือพระนิพพาน) 

... และแปลว่า  การประมวลภพชาติซึ่งเป็นสมบัติของพระองค์ที่ทรงท่องเที่ยวมาเป็นเวลานาน  ลงในพระชาติของพระเวสสันดร
     
... พระพุทธเจ้า ครั้งเป็นพระเวสสันดร  พระองค์ทรงทำอย่างไร 

... ในพระคาถาของพระเวสสันดรชาดกมีมากมาย(ถึงหนึ่งพันพระคาถา)  แต่จะยกมาแสดงเพียงย่อๆ  ว่า


๑. ทานัง เทติ 
พระเวสสันดรท่านทรงให้ทาน

๒. สีลัง รักขะติ 
พระเวสสันดรท่านทรงรักษาศีล

๓. ภาวะนาวัง ภาเวตฺวา
พระเวสสันดรท่านทรงเจริญภาวนา
     
... จึงเป็นพระพุทธเจ้าขึ้นมา  และกลายเป็นศาสดาของโลกทั้ง ๓ ( คือ มนุสสโลก  เทวโลก  พรหมโลก ) นี่คือหลักธรรมเครื่องดำเนินของพระเวสสันดรที่ทรงดำเนินมาเป็นลำดับ  จนบรรลุถึงความเป็นพระพุทธเจ้าอย่างสมบูรณ์ 

157
โอวาทหลวงปู่ปานสอนหลวงพ่อฤาษีลิงดำ
ให้เร่งสะสมบุญบารมี

..... การบำเพ็ญบารมีเพื่อพุทธภูมิ เราจะหวังไปบำเพ็ญบารมีต่อในการเกิดเป็นเทวดาหรือพรหมน่ะไม่มีทาง ไม่เหมือนกับสาวกภูมิ

... สาวกภูมิสามารถบำเพ็ญบารมีต่อบนสวรรค์หรือพรหมได้ แต่ถ้าบำเพ็ญบารมีเพื่อพุทธภูมิแล้ว จะบำเพ็ญบารมีนอกจากความเป็นมนุษย์ไม่ได้

... ฉะนั้น ก่อนที่เราจะตายถ้าบารมีใดยังอ่อนอยู่ ก็ควรจะส่งเสริมให้ครบถ้วนบริบูรณ์ ถึงแม้ว่าจะไม่เต็มก็ให้ใกล้เต็มเข้าไป ทนลำบากเอาเพื่อพุทธภูมิ เพื่อความเป็นพระพุทธเจ้า

... เพราะการปฏิบัติเพื่อการเป็นพระพุทธเจ้า ก็เพื่อทำลายความทุกข์ บำรุงความสุขให้แก่บรรดาสรรพสัตว์ทั้งหลายในโลก หรือชี้ช่องบอกทางให้พ้นอบายภูมิเป็นอย่างน้อย แล้วก็แนะนำให้เข้าถึงพระนิพพานเป็นที่สุด ฯ.

... พวกพุทธภูมินี่ ถ้ายังไม่มีอารมณ์ต้องการพระนิพพาน แสดงว่าบารมียังอ่อนมาก ต้องสร้างบารมีกันอีกนานหลายอสงไขย ฯ.


158
โอวาทพระองค์ที่ ๑๐ (พระสมณโคดมพุทธเจ้า)
แนะนำพระโพธิสัตว์

..... เธอเห็นใหมว่า พุทธภูมิใหญ่กว่าพระอริยเจ้าขนาดใหน เพราะฉะนั้นเธออย่าสงสัยเลย การปฏิบัติอะไรก็แล้วแต่ ถ้าทำด้วยจิตเป็นบุญเป็นกุศล เข้าขั้นพระศาสนาแล้ว จะเป็นพระพุทธเจ้า เป็นพระอริยเจ้า หรือหวังสาวกภูมิก็แล้วแต่ หรือว่าจะเป็นความดีทุกสิ่ง ทีนี้ความดีที่เกิดขึ้น มันใหญ่มันน้อยมันมากแล้วแต่กำลังของสัตว์หรือว่าช้าง ถ้าช้างตัวเล็กมันก็ยกของได้น้อยๆ ถ้าตัวใหญ่มันก็ยกของได้มากๆ ฯ.

..... การปฏิบัติบารมีจำเป็นต้องมีกำลังใจ การปฏิบัติอะไรก็แล้วแต่ ถ้ามีกำลังใจเข้มแข็งพอสมควร สิ่งทั้งหลายที่ปฏิบัติย่อมสัมฤทธิ์ผลโดยเร็วไว ถ้ากำลังใจไม่ค่อยแน่วแน่ ขาดตกบกพร่อง มีมั่งไม่มีมั่ง ขาดๆเกินๆก็ต้องใช้เวลานานหน่อยล่ะ ฯ.

..... เพราะฉะนั้น การหวังพุทธภูมิ แม้กระทั่งสัตว์เดรัจฉาน ก็ได้ชื่อว่าสมควรที่จะกราบไหว้บูชา เพราะไม่ใช่ร่างสัตว์ธรรมดา แต่เป็นร่างของพระโพธิสัตว์ ฯ.

(ถอดความจากเทป คำสอนพระองค์ที่ ๑๐)

159
พระพุทธภาษิต

จะชะ ทุชชะนะสัคคัง
จงละเว้นการคบคนชั่ว

ภะชะ สาธุมาคะตัง
จงหมั่นสมาคมด้วยบัณฑิต

กะระ ปุญญะมะโหรัตตัง
จงหมั่นประกอบการบุญทั้งกลางวันและกลางคืน

สะระ นิจจะมะนิจจะตัง
จงระลึกถึงความไม่เที่ยงแท้แน่นอนของสังขารคือ ร่างกายนี้ ไว้เสมอ ฯ.


อัปปัง วา พะหุง วา
เครื่องบูชาจะน้อยก็ดี จะมากก็ดี ไม่เป็นประมาณในการทำบุญ

จิตเต ปะสันเน
บุญจะมากจะน้อย ก็อาศัยแก่จิตที่เลื่อมใสเป็นประมาณ

ติฏฐะติ วา นิพพุติ วา
สมเด็จพระพุทธเจ้าจะทรงมีพระชนม์ชีพอยู่
หรือจะเสด็จล่วงลับดับขันธ์สู่พระปรินิพพานก็ดี
บุคคลทั้งปวง ผู้มีจิตศรัทธาเลื่อมใส กราบไหว้บูชาอยู่แล้วก็ย่อมมีผลเสมอกันแล ฯ.

ชนทั้งหลายผู้ใคร่ต่อบุญ ถวายทานมุ่งตรงต่อสงฆ์
ทานของเขาเหล่านั้น ชื่อว่า เป็นทานที่ถวายดีแล้ว
เพราะทานนั้นจัดเป็นสังฆทาน มีผลมาก มีอานิสงส์มาก
อันสมเด็จพระสรรเพชญพุทธเจ้าทั้งหลายผู้รู้แจ้งโลก ทรงสรรเสริญ ฯ.

160
ปฏิปทาพระโพธิสัตว์

... ข้อปฏิบัตินี้ท่านครูบาอาจารย์หลวงพ่ออภิญญา อาจาโร วัดป่าวิเวกอาศรม จ.ร้อยเอ็ด ท่านสอนผมมาตั้งแต่ท่านให้ปรารถนาพุทธภูมิ เลยเอามาลงไว้ เผื่อจะมีประโยชน์แก่ทุกท่านที่ปรารถนาพุทธภูมิครับ

... ๑. เราจะหมั่นทำบุญตักบาตร ทำทานการสงเคราะห์คนและสัตว์ให้เป็นปกติ โดยเฉพาะ การถวายสังฆทาน วิหารทาน ธรรมทาน ทำบุญทอดกฐิน และสิ่งที่เป็นสาธารณประโยชน์ เช่น โรงเรียน โรงพยาบาล ถนนหนทาง บ่อน้ำ เป็นต้นฯ.

... ๒. เราจะรักษาศีล ๕ และกุศลกรรมบถ ๑๐ ให้ครบถ้วน ทั้งศีล ๕ และกรรมบถ ๑๐ รวมกันแล้ว มีดังนี้.

ทางกาย

... ไม่ฆ่าสัตว์และทรมานสัตว์ให้ได้รับความลำบาก.

... ไม่ลักขโมยทรัพย์สินข้าวของเงินทอง ของคนอื่นมาเป็นของตัวเอง.

... ไม่ประพฤติผิดในกามเล่นชู้ ทั้งผัวเขา ทั้งเมียเขา ทั้งลูกหลาน หรือคนในปกครองของคนอื่น .

... ไม่ดื่มสุราเมรัยและสิ่งเสพย์ติดทุกชนิด ที่ทำให้สติสัมปะชัญญะเลอะเลือน.


ทางวาจา
... ไม่พูดจาโกหกหลอกลวง.

... ไม่พูดคำหยาบคาย.

... ไม่พูดจาส่อเสียด ให้คนอื่นหรือหมู่คณะเขาแตกแยกกัน.

... ไม่พูดเพ้อเจ้อเหลวไหลไร้สาระประโยชน์.


ทางใจ

... ไม่คิดเพ่งเล็งอยากจะลักขโมย ฉ้อโกง แย่งชิงของคนอื่น มาเป็นของตนเอง.

... ไม่คิดผูกเวร พยาบาท อาฆาต จองล้างจองผลาญใครๆ.

... ไม่มีความเห็นผิด คือ คัดค้านคำสั่งสอนองค์สมเด็จพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้าเด็ดขาด.

... *** ทางกายในวันธรรมดาอาจบกพร่องบ้างในบางข้อเพราะต้องทำมาหากิน แต่ในวันพระขอให้รักษาให้ครบถ้วน ฯ.

... ๓. มีพรหมวิหาร ๔ ประจำใจ คือ.

... เมตตา มีความรักในคนและสัตว์เสมอด้วยตัวเราเอง.

... กรุณา ช่วยเหลือคนหรือสัตว์ที่มีความทุกข์ยากลำบากให้มีความสุข ตามความสามารถที่เราจะทำได้.

... มุทิตา ยินดีกับผู้อื่นเมื่อเขาได้ดี ไม่คิดอิจฉาริษยา.

... อุเบกขา วางเฉยเมื่อเห็นคนและสัตว์มีความทุกข์ยากลำบาก หากมีโอกาสเราช่วยตามกำลังของเราทันที.

... ๔. มีความเคารพเลื่อมใส เชื่อในคุณขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า คุณของพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า และคุณของพระอริยสงฆ์ทั้งหลาย อย่างมั่นคงจริงใจไม่หวั่นไหว ฯ.

... ๕. นึกถึงความตายเอาไว้เป็นปกติ ปกติในที่นี้คือ ว่างๆ นึกขึ้นมาได้ก็คิดว่า " ชีวิตนี้เป็นของไม่เที่ยง ความตายเป็นของเที่ยง ไม่นานเราต้องตายแน่นอน " คิดไว้บ่อยๆ เพื่อจะได้ไม่ประมาทในชีวิต ฯ.

... ๖. ก่อนนอนทุกวันสวดมนต์ไหว้พระนั่งสมาธิเสร็จแล้ว พอหัวถึงหมอนขอให้ท่านคิดว่า

... " ร่างกายของเรานี้มันไม่เที่ยง มีแต่ความทุกข์หาความสุขไม่ได้ ในที่สุดก็ต้องแตกตายสลายตัวไป ร่างกายนี้ตายเมื่อไหร่ เราจะไปพระนิพพานเมื่อนั้น " (ไม่ต้องกลัวว่าจะเป็นพระอรหันต์ เพราะนี่เป็นอารมณ์ของอุปสมานุสสติกรรมฐาน เป็นอารมณ์สมถภาวนา)

... แล้วดูลมหายใจเข้าออก โดยหายใจเข้าภาวนาว่า " พุท " หายใจออกภาวนาว่า " โธ " จนกว่าจะหลับไป ตื่นนอนก่อนลุกจากที่นอนก็ภาวนาและพิจารณาเหมือนตอนก่อนนอนอีกสักนาทีสองนาที ค่อยลุกจากที่นอนไปทำกิจธุระต่างๆ


161
... อันนี้ เราต้องดูตัวอย่างพระพุทธเจ้า นับแต่ปรารถนาพระโพธิญาณเป็นต้นมา

... พระองค์ก็มีแต่ความดีสร้าง ความดีทุกชาติ

... แต่ในเวลาเดียวกัน ก็มีผู้ลิดรอนความดีทุกชาติเหมือนกัน

... เทวทัต ก็เป็นคู่ปฏิปักษ์ที่จองเวรกันมา

... พระยามาราธิราช ผู้ปรารถนาพุทธภูมิอีกคนหนึ่ง ก็เป็นคู่จองเหมือนกัน

... ถอยหลังไป ๔ อสงไขยกำไรแสนกัป

... พระพุทธเจ้า กับ เทวทัต เป็นเพื่อกัน

... พุทธเจ้าเป็นพ่อค้าสุจริต

... วันหนึ่ง ยายแก่ยากจนนำถาดทองคำมาเสนอขายแก่เทวทัต

... แกทราบดีว่า เป็นทองคำ แต่ทำเป็นดูไปดูมาบอกว่า

... " ยายถาดนี่ไม่ใช่ทองคำแท้ "

... แล้วตีราคาให้ต่ำๆ

... รุ่งขึ้น ยายแกเอาไปให้พระพุทธเจ้าดู

... ท่านตีราคาให้เท่ากับน้ำหนักทองคำที่ควรจะได้ แกก็ขายให้

... ต่อมาเทวทัตรู้เรื่องก็โกรธหาว่า ตัดหน้า แล้วประกาศ เลิกเป็นมิตร บอกว่า

... " เราจะจองล้างจองผลาญท่านทุกชาติ ไปเป็นจำนวนชาติ เท่ากับเมล็ดทรายในกำมือนี้ "

... แล้วแกก็ตามมาตัดรอนพระพุทธเจ้าทุกชาติ

... ชาติหนึ่ง พระพุทธเจ้าบำเพ็ญขันติบารมี

... เทวทัตไปเกิดเป็นพระเจ้าแผ่นดิน ไปเชิญดาบสมาถามว่า

... " ท่านถือขันติบารมีใช่ไหม "

... ตอบว่า " ใช่ "

... " ถ้างั้นใครทำอะไรท่านๆ ก็ไม่โกรธใช่ไหม "

... ตอบว่า " ใช่ " อีก

... พระราชาก็ลอง โดยเอามีดตัดแขนซ้ายไปข้างหนึ่ง ถามว่า

... " โกรธไหม "

... ตอบว่า " ไม่โกรธ "

... แกก็ตัดเรื่อยไป ลงท้ายเลยตัดกลางตัวขาด ถามว่า

... " โกรธไหม " ก็ตายเสียแล้ว จะไปตอบได้ยังไง

... มาในสมัย พระเวสสันดร นี่แกก็มาเกิดเป็นชูชกอีก

... นี่เรื่องพระเวสสันดรมีความเป็นมาอย่างนี้

... บรรดานักศึกษาเขาไม่มีความรู้ และครูเขาก็ไม่มีความรู้เบื้องต้น

... เมื่อลูกศิษย์ถาม ครูไม่มีความรู้ก็ตอบไม่ได้

162
... แล้วสมัยต่อมา ว่างจากพระพุทธเจ้า (ระหว่างพุทธันดรองค์พระพุทธกัสสปกับพุทธันดรองค์พระปัจจุบัน)

... สุเมธดาบส เกิดเป็น พระเวสสันดร

... หญิงชายคู่ที่ต้องการเป็น บิดามารดา ก็มาเกิดเป็น พระเจ้ากรุงสญชัย กับ พระนางผุสดี

... หญิงที่ปฏิญาณ เป็นคู่บารมี มาเป็น พระนางมัทรี

... อีก ๒ คนที่ปรารถนา เป็นลูก ก็มาเป็นชาลีกับกัณหา

... นี่เรื่องเดิม มีมาอย่างนี้ ต่างคน ต่างตั้งใจ จะมาเสริมสร้างบารมีให้ท่านสุเมธดาบส มาเป็นพระพุทธเจ้า

... แล้วจะว่า พระเวสสันดร เห็นแก่ตัวอย่างไร

... พระพุทธเจ้าท่านตรัสพระบาลีบทหนึ่งว่า


... กัมมัง สัตเต วิภัชชติ

กรรมย่อมเป็นเครื่องจำแนกสัตว์


... คนที่เกิดมาในโลกนี้ ต่างคนต่างมีความดีความชั่วไม่เท่ากัน ฉะนั้น

... บางคนจึงมีความอยากจนเข็ญใจ บางคนรวย

... บางคนมีวาสนาบารมีมาก บางคนมีวาสนามีบารมีน้อย

... บางคนเกิดมาในกองเงินกองทอง แต่พอพ่อแม่ตาย กลับมาขอทานเขากิน

... อาศัยที่คนเกิดมานี้ มีกรรมไม่เท่ากัน

... เราจะไปกะเกณฑ์ให้ทุกคนมีความเข้าใจเสมอกันไม่ได้ ในเรื่องของศาสนา


... แล้วบรรดาคนที่คัดค้านความดีของพระพุทธเจ้า

... จงทราบว่าคนเหล่านั้นมาจากอบายภูมิ

... เพราะว่าเวลานี้สัตว์ที่เกิดจากอบายภูมิมีอำนาจในโลก แล้วต่อไปไม่ช้ามันก็หมด

... ต่อจากนั้นก็จะมีสัตว์ที่มาจากสวรรค์และพรหมโลกมากขึ้น เพราะว่า

... พระพุทธศาสนาจะก้าวขึ้นอีกวาระหนึ่ง

... โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศไทย เวลานี้มีพระอริยเจ้ามากแล้ว

... พระอริยเจ้ามีมากเพียงไร คนผู้รับธรรมจากพระอริยเจ้า ก็มีมากขึ้น

... โลกก็จะมีความเยือกเย็นขึ้น แต่พร้อมกันนั้น ก็จะได้พบกับบรรดาอลัชชีทั้งหลายไปด้วย


163
... ในขณะนั้น มีอัครสาวกซ้ายขวา ตามเสด็จมาด้วย มีความสง่า มีรัศมีดีกว่าพระสงฆ์ทั้งหลาย

... ฉะนั้น จึงมีฤาษี ๒ ท่านด้วยกัน เข้ามากล่าวปวารณา เป็นสาวกเบื้องขวาและสาวกเบื้องซ้าย

... พร้อมกันนั้น มีผู้ชาย ๑ ผู้หญิง ๑ เข้ามาตั้งความปรารถนา จะเป็นบิดาและมารดาของพระพุทธเจ้าสมณโคดม

... สตรีท่านหนึ่งขอ เป็นภรรยาเป็นคู่บารมี

... เพราะการบำเพ็ญบารมีที่จะเป็นพระพุทธเจ้านั้น ต้องบริจาคลูกเมียให้เป็นทาน

... ก็ไม่เป็นไรจะขอสนับสนุน เมธาดาบสเป็นพระพุทธเจ้าให้ได้

... แล้วก็มีผู้หญิงผู้ชายอีกคู่หนึ่งมาขออาศัยพุทธบารมีที่บำเพ็ญร่วมกันนี้ จะเป็นลูกหญิงลูกชาย ของท่านเมธดาบส

... ยอมถูกบริจาคเป็นทานเพื่อ พระโพธิญาณ

... บรรดาท่านฤาษีทั้งหลาย บริษัททั้งหลาย ที่มีความเคารพในสุเมธดาบส ก็มากราบพระพุทธเจ้าบอกว่า

... " ข้าพระพุทธเจ้าทั้งหลายอาศัยบุญบารมีที่ข้าพเจ้าได้บำเพ็ญมานี้

ขอให้ข้าพเจ้าได้เป็นสาวกของท่านสุเมธดาบส ในสมัยที่ท่านบรรลุเป็นพระพุทธเจ้า "

164
... คนที่ถวายทานกับท่านที่ออกจาก ผลสมาบัติ จะมีอาการคล่องตัวมาก ในความเป็นอยู่ เรียกว่า หากินคล่องตัว

... ทีนี้ การถวายทาน กับพระสงส์ที่เป็นพระอริยเจ้าที่ออกจากสมาบัติ ผลการครองชีพของท่าน ผู้นั้นจะมีการคล่องตัวมากขึ้น

... เป็นกรณีพิเศษ คือ จิตจะสามารถบรรลุอริยมรรคอริยผลได้ในชาติปัจจุบัน

... ทานที่ถวายกับท่าน ที่ออกจากนิโรธสมาบัติ หวังมรรค หวังผล ได้โดยฉับพลัน

... หวังความร่ำรวยเป็น มหาเศรษฐีในวันนั้น มีผลไม่เสมอกัน

... เวลานี้หาพระเข้านิโรธสมาบัติไม่ได้

... ที่เข้าได้เขาก็ไม่อยากเข้า เพราะคนมันไม่ควรจะได้รับผลแบบนั้น

... เมื่อพระพุทธเจ้ากับพระสงฆ์ ออกจากสมาบัติ และฉันภัตตาหารเสร็จแล้ว

... พระพุทธเจ้าก็เทศน์โปรดถึงอานิสง์การเป็นพระพุทธเจ้าว่า มีอะไรบ้าง เทศน์จบ

... ท่านสุเมธดาบสก็เข้าปฏิญาณตน ปรารถนาพุทธภูมิ

... พระพุทธเจ้า ก็ทรงพยากรณ์ว่า

... " นับแต่นี้ต่อไปไม่ช้านัก จะได้เป็น พระพุทธเจ้าองค์ที่ ๔ (ของกัปนี้) เรียกว่า พระสมณโคดมพุทธเจ้า

165
... มาถึงสมัยพระพุทธเจ้า ทรงพระนามว่า พระพุทธกัสสป

... พระพุทธเจ้าของเราตอนนั้นเสวยพระชาติเป็น สุเมธดาบส อยู่กับลูกศิษย์ลูกหาประมาณ 500 คนในป่า

... วันหนึ่งได้ยินว่า พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงอุบัติขึ้นแล้วในโลก พระองค์พร้อมด้วยบริวาร

... ก็ไปเฝ้าฟังเทศน์จบหนึ่ง แล้วก็ทูลอาราธนา พระพุทธกัสสป ให้ ไปโปรดที่สำนักในป่า พระองค์ก็ทรงรับ

... เมื่อถึงเวลาที่สมเด็จพระสุคต พร้อมด้วยพระสงฆ์ทั้งหลายเสด็จมา ท่านสุเมธดาบส ออกไปรับ

... ถึงตอนไหน เป็นลำราง ไม่มีสะพาน ท่านก็ทอดตัว เป็นสะพานให้พระพุทธเจ้ากับพระสงฆ์ เดินข้ามไปบนร่างของท่าน

... ด้วยอำนาจความดี และอำนาจของพระพุทธเจ้า และพระอรหันต์ทั้งหลาย

... ก็ทำให้ท่านสุเมธดาบส ไม่รู้สึกหนัก

... เมื่อถึงแล้วก็ถวายอาหาร และบิณฑบาต แก่พระพุทธเจ้า

... พระพุทธเจ้า ท่านทรงทราบดีว่า

... " ฤาษีองค์นี้ปรารถนาพุทธภูมิ "

... ฉะนั้น ก่อนจะฉันอาหาร ท่านจึง เข้านิโรธสมาบัติ

... บรรดาพระอรหันต์ทั้งหลายเข้า ผลสมาบัติ

... นิโรธสมาบัติ กับ ผลสมาบัติ นี้ต่างกัน วิธีเข้าไม่เหมือนกัน

... นิโรธสมาบัติ เป็นเรื่องของ อริยมรรค อริยผล ไม่ใช่ ฌานโลกีย์

... ถ้าจะเข้าสมาบัติแบบฌานโลกีย์ ต้องปลดนิวรณ์ 5 ประการก่อน ตั้งจิตกำหนดลมหายใจเข้าออก หรือ ใช้คำภาวนา อย่างนี้ เรียกว่า ฌานสมาบัติ เป็นฌานโลกีย์

... สำหรับ ผลสมาบัติ กับ นิโรธสมาบัติ ไม่ทำแบบนั้น คือ

... พระพวกนั้นไม่มีนิวรณ์ หานิวรณ์รบกวนไม่ได้อยู่แล้ว

... เวลาที่พระพุทธเจ้าจะเข้า นิโรธสมาบัติ ก็จับสมาบัติ๘ เป็นพื้นฐาน คือ เข้ารูปฌาน ๔ กำหนดผล ที่พระองค์ทรงบรรลุ คือ พระพุทธเจ้าทรงอารมณ์อยู่อย่างนี้ เรียกว่า นิโรธสมาบัติของพระพุทธเจ้า

... ส่วนบรรดาพระสงฆ์ทั้งหลายนั้น เข้าผลสมาบัติ คือ เข้าไม่ถึงฌาน ๔ เข้าแต่เพียง รูปฌาน คือ ฌาน ๑ ถึง ๔ แล้วแต่องค์ไหนจะเข้าแค่ไหน

... แล้วท่านก็ชำระผล ตามที่ท่านบรรลุแล้ว เป็นอรหัตผล แล้วก็ทรงฌาน อันนี้เรียกว่า สมาบัติ มีผลไม่เสมอกันนะ

หน้า: 1 ... 9 10 [11] 12 13 ... 15