เว็บพุทธภูมิ: พุทธภูมิ พระโพธิสัตว์ การบำเพ็ญบารมี



แสดงกระทู้

This section allows you to view all posts made by this member. Note that you can only see posts made in areas you currently have access to.


Messages - DHAMMASAMEE

หน้า: 1 ... 3 4 [5] 6 7 ... 15
61
... ขอให้ท่านทั้งหลายมีความสำนึกรู้สึกตัวอยู่เสมอว่า เราเป็นผู้ปฏิบัติ เป็นผู้ปฏิบัติต้องสังวรสำรวมระวัง อย่างคำสอนที่ท่านสอนว่า ภิกขุ ท่านแปลว่า ผู้ขอ ถ้าแปลอย่างนี้การปฏิบัติมันก็ไปรูปหนึ่ง...หยาบๆ
     
... ถ้าใครเข้าใจอย่างพระพุทธเจ้าท่านตรัสว่า ภิกขุ แปลว่า ผู้เห็นภัยในสงสาร นี่มันลึกซึ้งกว่ากันทั้งนั้น ผู้เห็นภัยในสงสารก็คือเห็นโทษของวัฏฏะทั้งหลายนั้น ในวัฏฏะสงสารนี้มันมีภัยมากที่สุด แต่ว่าคนธรรมดาสามัญไม่เห็นภัยในสงสารนี้ เห็นความสนุก เห็นความสนาน ความรื่นเริงบันเทิงในโลกอันนี้ ฯ.

62
... ให้เรายึดเอาคำสอนของพระพุทธเจ้าว่า อย่าประมาท ความไม่ประมาทนี่แหละเป็นสิ่งที่ไม่ตาย ความประมาทนั่นแหละคือความตาย ให้ถืออย่างนี้ ใครทำอย่างไรก็ช่างใครเถอะ เราอย่าประมาทเท่านั้น อันนี้เป็นของสำคัญ ฯ.

63
การประพฤติปฏิบัติในทางพระพุทธศาสนานั้น มันเป็นเรื่องของจิต ถึงแม้ไม่แสดงทางกาย ทางวาจา เรื่องจิตมันก็เป็นส่วนจิต ฯ.

64
... การอยู่กับครูบาอาจารย์ หรืออยู่นอกครูบาอาจารย์ก็เหมือนกัน ไอ้ความกลัวนั้น บางคนก็มีความกลัว ถ้าไม่เดินจงกรมก็กลัวครูบาอาจารย์จะดุจะว่า นี่ก็ยังดีอยู่ แต่ว่าข้อประพฤติปฏิบัติที่แท้นั้นไม่ต้องกลัวใคร  กลัวแต่ความประมาทมันจะเกิดขึ้นมา กลัวความผิดมันจะเกิดขึ้นมาที่กาย ที่วาจา ที่ใจของเรานี้เอง

... เมื่อเราเห็นความบกพร่องที่กาย ที่วาจา ที่ใจของเราแล้ว เราก็ต้องพิจารณาควบคุมจิตใจของเราอยู่เสมอ อัตตะนา โจทะยัตตานัง จงเตือนตนด้วยตนเอง ไม่ต้องทิ้งการงานอันนั้นให้คนอื่นช่วย เรารีบปรับปรุงตัวเองเสีย ให้รู้จักอย่างนี้ ฯ.

65
... การศึกษาในทางกรรมฐานเรานี้ ศึกษาเรื่องการบำเพ็ญและการละ ที่ว่าศึกษานี้ ถ้าหากว่าเราถูกอารมณ์มา เรายังยึดไหม ยังมีวิตกไหม ยังมีความน้อยใจไหม มีความดีใจไหม พูดง่ายๆ เรายังหลงอารมณ์เหล่านั้นอยู่ไหม หลงอยู่ เมื่อไม่ชอบก็แสดงความทุกข์ขึ้นมา เมื่อชอบก็แสดงความพอใจขึ้นมา จนเกิดกิเลส จนใจเราเศร้าหมอง อันนั้นเราจะมองเห็นได้ว่า เรายังบกพร่องอยู่ ยังไม่สมบูรณ์บริบูรณ์
     
... เราจะต้องศึกษา จะต้องมีการละ การบำเพ็ญอยู่เสมอมิได้ขาด นี่ผู้ศึกษาอยู่ มันติดอยู่ตรงนี้ เราก็รู้จักว่าติดอยู่ตรงนี้ เราเป็นอย่างนี้ เราจะต้องแก้ไขตัวเราเอง ฯ.

66
... ปริยัติและปฏิบัติมันเป็นคู่กันโดยตรง คือว่า ปริยัติกับปฏิบัตินี้เป็นของคู่กันมา ยังพระพุทธศาสนาให้เจริญถาวรรุ่งเรืองตลอดถึงบัดนี้ ก็เพราะการศึกษาแล้วก็รู้ รู้แล้วก็ปฏิบัติตามความรู้ของเรา นั้นเรียกว่าการประพฤติปฏิบัติ ฯ.

67
     ... ธรรมอันใดเป็นไปเพื่อความสะสมซึ่งกิเลส

... ธรรมอันใดเป็นไปเพื่อความประกอบทุกข์

... ธรรมเหล่าใดเป็นไปเพื่อความกำนัดย้อมใจ

... ธรรมเหล่าใดเป็นไปเพื่อความมักมาก

... ธรรมเหล่าใดเป็นไปเพื่อความมักใหญ่ใฝ่สูง

... ธรรมเหล่าใดเป็นไปเพื่อความคลุกคลีหมู่คณะ

... ธรรมเหล่าใดเป็นไปเพื่อความเกียจคร้าน

... ธรรมเหล่าใดเป็นไปเพื่อความเลี้ยงยาก

... ลักษณะตัดสินพระวินัยแปดประการนั้น รวมกันลงไปแล้ว อันนี้เป็นสัตถุคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ฯ.

68
... อะไรทั้งหมดนี่ ท่านไปดูนะ มันขึ้นต่อจิตทั้งนั้น ถ้าท่านยังไม่อบรมจิตของท่านให้มีความรู้ มีความสะอาด ท่านจะมีความสงสัยอยู่เรื่อยไป วิจิกิจฉาอยู่ตลอดเวลา

... ดังนั้น ท่านจงรวมธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าไว้ที่จิต สำรวมอยู่ที่จิต อะไรที่มันเกิดขึ้นมาแล้ว สงสัยแล้ว เลิกมัน ถ้ายังไม่รู้แจ้งเมื่อใดแล้วอย่าพึงทำมัน อย่าพึงพูดมัน เช่นว่า อันนี้ผิดไหมนอ หรือไม่ผิด อย่างนี้ คือยังไม่รู้ตามความเป็นจริง อย่าทำมัน อย่าไปพูดมัน อย่าไปละเมิดมัน ฯ.

69
... เราอบรมจิตของเราให้มีความอาย มีความกลัวต่อความผิดทั้งหมด นั่นแหละก็จะเป็นคนสำรวม จะเป็นคนสังวร จะเป็นคนระวัง ฯ.

70
... จงเห็นว่าไม่มีอะไรเหลือเลยในโลกนี้ เห็นทุกอย่างเป็นเรื่องสมมุติทั้งสิ้น แปรปรวน เสื่อมไป สลายไป ทุกอย่างไม่มีอะไรควรยึดถือทั้งสิ้น 
     
... เห็นใครเขาแก่ ก็นึกว่าไม่ช้าเราก็ต้องแก่ตามเขา

... เห็นใครเขาป่วย ก็นึกว่าไม่ช้าเราก็ป่วยอย่างเขา

... เห็นใครเขาตาย ก็นึกว่าไม่ช้าเราต้องตายอย่างเขา
     
... ร่างกายของเราก็ดี ร่างกายของเขาก็ดี ไม่มีอะไรจีรังยั่งยืน 

... มีความเกิดขึ้นในเบื้องต้น มีความแปรปรวนไปในท่ามกลาง มีการสลายตัวไปในที่สุด 

... และร่างกายของแต่ละร่างกาย ก็เต็มไปด้วยความสกปรกโสมม มันไม่มีอะไรเป็นจริงเป็นของเราจริงๆ
     
... จำไว้ว่าโลกนี้ไม่มีอะไรเที่ยง  ถ้าเราเกาะความเที่ยงมันก็ทุกข์ 

... แต่ทว่าจะสุขหรือทุกข์ก็ตาม อนัตตามันก็เข้ามาถึง อย่ายึดอย่าถือว่ามันเป็นเราเป็นของเรา 

... คิดไว้เสมอว่าชาตินี้เป็นชาติสุดท้ายที่เราจะอยู่กับมัน ตายจากความเป็นคนเมื่อไหร่ ขอไปพระนิพพานเมื่อนั้น ฯ.

71
... เราก็ต้องรู้ด้วยว่า

... ร่างกาย ความจริงมันไม่ใช่เรา มันไม่ใช่ของเรา เราไม่มีในร่างกาย ร่างกายไม่มีในเรา

... เรา คือ จิตที่เรียกว่า อทิสมานกาย ที่เข้ามาอาศัยร่างกายเป็นเรือนร่างที่อาศัยอันนี้

... ร่างกายมันไม่ใช่เราไม่ใช่ของเรา แล้วมันก็ไม่อยู่ในอำนาจของเรา เราจะปรนเปรอบังคับบัญชามันอย่างไรก็ตาม มันจะไม่ยอมปฏิบัติตามด้วยประการทั้งปวง 

... การถือตัวถือตนว่า เราเสมอเขาก็ดี เราดีกว่าเขาก็ดี เราเลวกว่าเขาก็ดี เป็นปัจจัยของความทุกข์

... อย่ามองคนด้วยฐานะ อย่ามองคนด้วยศักดิ์ศรี อย่ามองคนด้วยความรู้ความสามารถ มองคนแต่เพียงว่าสภาพของเขาเป็นวัตถุเหมือนสภาพของเรา จิตใจของเราพร้อมในการเมตตาปรานีไม่ถือตน เขาจะมาในฐานะเช่นใดก็ช่าง ถือว่าเป็นเพื่อนเกิด แก่ เจ็บ ตาย เหมือนกันหมด การกำหนดอารมณ์อย่างนี้ เราก็สามารถจะกำจัดตัวมานะ การถือตัวถือตนเสียได้ อย่างนี้เรียกว่า อรหัตมรรค ฯ.

72
... ทีนี้ความสุขกับความทุกข์อันเนื่องด้วยโลกียวิสัยเกิดขึ้นกับใจ ก็ถือว่า นี่เป็นเรื่องหลอกลวงหาความจริงมิได้ ขึ้นชื่อว่าโลกธรรมทั้ง ๘ ประการเราจะต้องวางเสีย จะต้องทิ้งเสีย คือค่อยๆ ทิ้ง ค่อยๆ วางไป

... เมื่อกระทบกับอารมณ์อย่างใดอย่างหนึ่งเกิดขึ้น ก็ถือว่าเป็นเรื่องธรรมดา เราจะอดทนต่อสู้กับมันไปจนกว่าจะสิ้นลมปราณ เมื่อเราสิ้นลมปราณคือร่างกายนี้สลายตัวเมื่อไร เราจะไปพระนิพพานเมื่อนั้น ฯ.

73
... ถ้าหากว่าเราปล่อยร่างกายเสียได้เมื่อไร คิดเสียว่า

... " การเกิดเป็นทุกข์ เราไม่ต้องการความเกิด เกิดเป็นมนุษย์ก็เป็นทุกข์ เกิดเป็นเทวดา หรือพรหมก็ไม่สิ้นความทุกข์ "

... ทำจิตไว้เป็นปกติ คิดไว้ว่า

... " การเกิดมีขันธ์ ๕ เป็นมนุษย์ก็ดี เป็นสัตว์ หรือว่าเกิดมีอทิสสมานกายเป็นเทวดา หรือพรหมก็ตามเราไม่ต้องการ สิ่งที่เราต้องการก็คือพระนิพพานอย่างเดียว "

... ต้องพยายามทำจิตปล่อย คิดเห็นอะไรก็ตาม เห็นว่ามันพังเป็นปกติ

... รู้ตัวร่างกายของเราว่า สักวันหนึ่งข้างหน้ามันจะต้องพัง มีญาติ มีพี่น้อง มีสามีภรรยา มีบุตรธิดา มีทรัพย์สินต่างๆ เราก็คิด

... ร่างกายแต่ละบุคคล หรือทรัพย์สินทั้งหลายเหล่านี้เป็นของโลก เราไม่สามารถจะครองหรือจะอยู่ได้ตลอดกาลตลอดสมัย

... เมื่อถึงวาระที่สุดต่างคนก็ต่างตาย ต่างคนก็ต่างพัง สิ่งทั้งหลายเหล่านี้ เราไม่ต้องการมันอีก ขึ้นชื่อว่ามนุษยโลกก็ดี เทวโลกก็ดี พรหมโลกก็ดี เราไม่ต้องการ

... และเราจะไม่เห็นว่ามนุษยโลก เทวโลก พรหมโลก เป็นดินแดนที่สวยงาม เราเห็นว่าเป็นดินแดนประกอบไปด้วยความทุกข์ เราต้องการดินแดนที่มีความสุข คือ พระนิพพาน

... และจากนั้นก็ตั้งใจยอมรับนับถือกฎของธรรมดา

... ถ้าความแก่เกิดขึ้น ความป่วยไข้ไม่สบายเกิดขึ้น ความพลัดพรากจากของรักของชอบใจเกิดขึ้น ความตายเกิดขึ้นแก่เราหรือบุคคลอื่นก็ตาม ถือว่านี่เป็นเรื่องธรรมดาของโลก เราไม่ยุ่ง เราไม่หนักใจ

... และโดยเฉพาะอย่างยิ่งโลกธรรมทั้ง ๘ ประการ ก็คือ  การได้ลาภแล้วก็เสื่อมลาภ ได้ยศแล้วยศก็เสื่อมไป นินทาหรือว่าสรรเสริญ  สุขหรือทุกข์

... เหตุทั้ง ๘ ประการนี้ เข้าใจ รู้ไว้เสมอว่า มันเป็นสมบัติของโลก เมื่อเกิดมาในโลกแล้ว มันต้องพบ เมื่อพบแล้วก็ทำใจเฉย ๆ

... มีลาภเกิดขึ้น ก็จงนึกว่าลาภ มันจะต้องเสื่อม เมื่อมันเสื่อมเราก็ไม่เสียใจ เกิดหามาได้ ก็ไม่ดีใจเกินไป

... ได้รับยศก็ไม่ดีใจเกินไป ถือว่ายศมันสลายตัวไป เมื่อยศสลายตัวก็ไม่เสียใจ เพราะรู้ตัวอยู่แล้ว

... เมื่อพบใครเขานินทา ก็คิดว่านี่มันเรื่องธรรมดาของคนที่เกิดมาจะต้องถูกนินทา แม้แต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามีคุณประเสริฐก็ยังมีคนนินทาว่าร้าย เราก็ไม่สนใจกับคำนินทา

... ใครเขาสรรเสริญว่าดี ประเสริฐยังไงเราก็พิจารณาตัวเรา ถ้าเราไม่ดี ตามคำพูดของเขาเราไม่รับฟัง ฟังเหมือนกัน แต่ไม่ยินดีด้วยกับคำสรรเสริญ  ฯ.

74
... ทีนี้ พระองค์ก็ได้พิจารณาธรรม ท่านก็เลยฉันให้สบาย อยู่ให้สบาย จิตก็ให้มันเป็นจิต กายก็ให้มันเป็นกาย จิตมันก็เป็นเรื่องของจิต กายมันก็เป็นเรื่องของกาย ท่านก็ไม่ได้บีบมันเท่าไร ไม่ได้บังคับมันเท่าไร พอแต่จะทำราคะโทสะโมหะให้บรรเทาลง
     
... แต่ก่อนท่านก็เดินอยู่สองทาง กามสุขัลลิกานุโยโค มีความสุขมีความรักเกิดขึ้นมาแล้วก็สนใจ เกาะด้วยอุปาทานเป็นตัวเป็นตนขึ้นมา ไม่ได้ปล่อยได้วาง กระทบความสุขก็ติดในความสุข กระทบความทุกข์ก็ติดในความทุกข์ เป็นกามสุขัลลิกานุโยโค กับอัตตกิลมถานุโยโค พระองค์ติดอยู่ในสังขาร
     
... ท่านมองพิจารณาเห็นชัดเข้าไปว่า อันนี้ไม่ใช่หน้าที่ของสมณะที่จะเดินไปในทางนั้น สุขแล้วยึดสุข ทุกข์แล้วยึดทุกข์คุณสมบัติของผู้เป็นสมณะไม่ใช่อย่างนั้น ไม่ใช่เรื่องยึดเรื่องมั่นเรื่องหมายในสิ่งทั้งหลายเหล่านั้น ฯ.

75
... พระพุทธเจ้าของเราท่านเห็นว่าทำอย่างนั้นก็ตายเปล่า อดตายเปล่า ทำตามโลก ทำตามตน ท่านก็พิจารณาใหม่ หาสิ่งที่มันพอดี เป็นสัมมาปฏิปทา ส่วนจิตก็เป็นจิต ส่วนกายก็เป็นกาย
     
... เรื่องกายนี้มันใช่กิเลสตัณหากับใครหรอก ถ้าจะไปฆ่าอันนั้นเฉยๆ มันก็ไม่หมดกิเลส มันไม่ใช่ที่ของมัน แม้จะอดขบอดฉัน อดหลับอดนอนให้มันเหี่ยวมันแห้ง ว่าจะให้มันหมดกิเลสอย่างนั้นมันหมดไม่ได้ ฯ.

หน้า: 1 ... 3 4 [5] 6 7 ... 15