เว็บพุทธภูมิ: พุทธภูมิ พระโพธิสัตว์ การบำเพ็ญบารมี



แสดงกระทู้

This section allows you to view all posts made by this member. Note that you can only see posts made in areas you currently have access to.


Topics - Wisdom

หน้า: 1 2 3 [4] 5
46
จักรวาลแบบพุทธ / ขั้นตอนการสร้างบารมี
« เมื่อ: กุมภาพันธ์ 22, 2012, 07:10:14 PM »
เมื่อเราได้ติดตามดูการสร้างบารมีของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า นับตั้งแต่พระชาติแรกเป็นต้นมา ก็พอจะสรุปได้ว่า มี อยู่ ๒ ขั้นตอนใหญ่ ๆ ด้วยกันคือ

ขั้นตอนที่ ๑
ช่วยตนเองให้พ้นทุกข์ได้จริง เป็นการบำเพ็ญบารมีแบบพระอรหันต์ทั่ว ๆ ไป คือ พยายามละเว้น ความชั่วทุกชนิดอย่างเด็ดขาด ขวนขวายทำความดีทุกอย่างที่ขวางหน้าโดยไม่เห็นแก่ความเหนื่อยยาก และพยายามกลั่นจิตใจให้ผ่องใสไม่ว่างเว้น เต็มกำลังสติปัญญาความสามารถ ในชาตินั้น ๆ โดยอาศัยคำสอนจากนักปราชญ์บัณฑิต ตลอดจนพระพุทธเจ้าในยุคนั้น ๆ ขั้นตอนที่ ๑ นี้ ถ้าจะแบ่งย่อยการบำเพ็ญบารมีออกไปอีกก็ได้ ๒ ระยะคือ

ระยะแรก สร้างบารมีไปเงียบ ๆ โดยไม่เอยปากบอกใคร และไม่ชักชวนใคร เพราะบารมียังอ่อนอยู่ ต้องใช้เวลาไปในระยะนี้ทั้งหมด นานถึง ๗ อสงไขยกัป

ระยะหลัง สร้างบารมีไป ก็ประกาศให้ชาวโลกทราบไป และบำเพ็ญตนเป็นกัลยาณมิตร ด้วยการชักจูงผู้อื่นให้สร้างบารมีตาม จะกระทั่งบารมีแก่กล้าเต็มที่ พอจะหมดกิเลสเป็นพรอรหันต์ได้ ( ในพระชาติที่เป็นสุเมธดาบส ) ซึ่งใช้เวลานานอีก ๙ อสงไขยกัป

ขั้นตอนที่ ๒ ทุ่มเทชีวิต สร้างบารมีเพื่อช่วยเหลือสัตว์โลกโดยส่วนรวม คือ นับตั้งแต่ทันทีที่สุเมธดาบสได้รับพยากรณ์จากพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทีปังกร จนกระทั่งได้มาเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้เป็นบรมครูของเรา ขั้นตอนที่ ๒ นี้ เป็นขั้นตอนที่ละเอียดอ่อน แสดงถึงพระมหากรุณาธิคุณอันยิ่งใหญ่ของพระองค์ที่มีต่อสัตว์โลก ไม่มีศาสดาใด ๆ จะเทียบเทียมได้ เพราะต้องใช้เวลาต่อไปอีกถึง ๔ อสงไขยแสนกัป เพื่อสัตว์โลกทั้งหลาย มิใช่เพื่อพระองค์เองเลย ยิ่งกว่านั้นยังเป็นขั้นตอนที่ต้องประพฤติปฏิบัติอย่างรอบคอบ รัดกุม เรียกว่า สร้างบารมี ๑๐ จึงควรที่พวกเราจะต้องจดจำแบบแผนของพระองค์ไว้ให้ดี และตั้งใจปฏิบัติตาม อย่างทุ่มเท

เพื่อความสะดวกในการจดจำ และนำไปปฏิบัติตามจึงขอสรุปการบำเพ็ญบารมี ๑๐ ประการอีกครั้งหนึ่งในเชิงปฏิบัติคือ

๑. ทานบารมี ทรงวางแผนแห่งการเสียสละ เพื่อเตรียมเสบียงข้ามชาติ จะได้ไม่ต้องอกอยากยากจน เป็นตัวอย่างแก่ชาวโลกผู้ไม่ประมาททั้งหลาย

๒. ศีลบารมี ทรงวางแบบแผนแห่งความสำรวมระวังตน เพื่อป้องกันการเบียดเบียน กระทบกระทั่งซึ่งกันและกัน เป็นตัวอย่างแก่ชาวโลก

๓. เนกขัมมบารมี ทรงวางแบบแผนแห่งการตัวความกังวลน้อยใหญ่ จะได้ไม่ต้องห่วงหน้าพะวงหลัง ด้วยการเสียสละครอบครัว ไม่เป็นภาระในการครองเรือน เป็นตัวอย่างแก่ชาวโลก

๔. ปัญญาบารมี ทรงวางแบบแผนแห่งการแสวงหาและสร้างเสริมปัญญาให้งอกงามถึงที่สุด เพื่ออาศัยปัญญานั้นฟาดฟันกิเลสให้มอดมลาย เป็นตัวอย่างแก่ชาวโลก

๕. วิริยบารมี ทรงวางแบบแผนแห่งการฝึกหัดดัดตนจนกระทั่งมีความประพฤติปฏิบัติดีพร้อมบริบูรณ์ ทั้งทางกาย วาจา และ ใจ ใคร ๆ จะตำหนิไม่ได้ เป็นตัวอย่างแก่ชาวโลก

๖. ขันติบารมี ทรงวางแบบแผนแห่งการต่อสู้หักหาญกับอุปสรรคน้อยใหญ่ ทุก ๆ ชนิดแบบเย็น ๆ จนกว่าจะชนะ แต่ไม่ยอมถอยหลังแม้แต่ก้าวเดียว เป็นตัวอย่างแก่ชาวโลก

๗. สัจจบารมี ทรงวางแบบแผนแห่งความเป็นคนตรง ที่มีความจริงจัง และจริงใจ ทั้งแก่บุคคลและความดี เป็นตัวอย่างแก่ชาวโลก

๘. อธิษฐานบารมี ทรงวางแบบแผนแห่งความฉลาดรอบคอบในการทำความดี และความเด็ดเดี่ยวในการทำความดีนั้น ๆ ไปจนกว่าจะสำเร็จ เป็นตัวอย่างแก่ชาวโลก

๙. เมตตาบารมี ทรงวางแบบแผนแห่งความรักสากลให้คนทั้งโลกมีความรกใคร่ปราถนาดี มีไมตรีซึ่งกันและกันเหมือนญาติร่วมสายโลหิต เป็นตัวอย่างแก่ชาวโลก

๑๐. อุเบกขาบารมี ทรงวางแบบแผนแห่งความเที่ยงธรรม มีใจสงบเรียบสม่ำเสมอ มั่นคง ไม่เอนเอียงขึ้นลง เป็นตัวอย่างแก่ชาวโลก

47

หลวงปู่กินรี

หลวงพ่อชากล่าวถึงครูบาอาจารย์หลวงปู่กินรี

หลวงพ่อเดินทางไปยังวัดป่าหนองฮี ตำบลหนองฮี อำเภอปลาปาก จังหวัดนครพนม ซึ่งมี หลวงปู่กินรี จนฺทิโย เป็นประหนึ่งร่มโพธิธรรมอยู่ที่นั่น ศึกษา ประพฤติปฏิบัติอยู่กับท่านหลายวันได้กำลังใจคืนมา ขณะนั้นเป็นฤดูแล้ง เป็นช่วงเวลาที่เหมาะต่อ การหลีกเร้นภาวนาในป่าตามธรรมชาติ หลวงพ่อจึงกราบลาหลวงปู่กินรีออกจาริกธุดงค์ ต่อไป

ครั้นย่างเข้าฤดูฝนในปี พ.ศ. 2490 ซึ่งเป็นพรรษาที่เก้าของหลวงพ่อ ท่านได้ย้อนกลับมา จำพรรษากับหลวงปู่กินรีที่วัดป่าหนองฮี

หลวงปู่กินรีเป็นครูบาอาจารย์ที่มีปฏิปทาเรียบง่ายน่าเคารพบูชา ชอบใช้ชีวิตโดดเดี่ยว มั่นคงในข้อปฏิบัติ มักน้อยสันโดษ บริขารเครื่องใช้ของท่าน ล้วนแต่เป็นของปอน ๆ เรียบง่าย และส่วนใหญ่ท่านทำใช้เอง แม้ไม่สวยงาม แต่มันจะถูกใช้จนสึกกร่อนไปตามกาลเวลา

อุปนิสัยพิเศษอย่างหนึ่งของหลวงปู่คือ ความขยันในการงานทุกอย่างที่พระจะพึงทำได้ ท่านไม่เคยอยู่นิ่งเฉย นอกจากขณะทำสมาธิภาวนาเท่านั้น แม้ในวัยชรา หลวงปู่ก็ยังรักษาปฏิปทา นี้ไว้อย่างมั่นคง

หลวงพ่อเล่าถึงปฏิปทาของหลวงปู่กินรีว่า...

ในพรรษาที่อยู่กับหลวงปู่นั้น ท่านเองทำความเพียรอย่างหนัก เดินจงกรมทั้งวัน ฝนตก แดดออกอย่างไรก็เดินจนทางจงกรมเป็นร่องลึก

แต่หลวงปู่กลับไม่ค่อยเดิน บางครั้งเดินเพียงสองสามเที่ยวก็หยุด แล้วไปเอาผ้ามาปะ มาเย็บ หรือไม่ก็นั่งทำนั่นทำนี่...

เราประมาท คิดว่าครูบาอาจารย์จะไปถึงไหนกัน เดินจงกรมก็ไม่เดิน นั่งสมาธินาน ๆ ก็ไม่เคยนั่ง คอยแต่จะทำนั่นทำนี่ตลอดวัน แต่เรานี่ปฏิบัติไม่หยุดเลย ถึงขนาดนั้นก็ยังไม่รู้ไม่เห็น อะไร ส่วนหลวงปู่ปฏิบัติอยู่แค่นั้น จะไปรู้เห็นอะไร
เรามันคิดผิดไป หลวงปู่ท่านรู้อะไร ๆ มากกว่าเราเสียอีก คำเตือนของท่านสั้น ๆ และไม่ ค่อยมีให้ฟังบ่อยนัก เป็นสิ่งที่ลุ่มลึกแฝงไว้ด้วยปัญญาอันแยบคาย ความคิดของครูบาอาจารย์ กว้างไกลเกินปัญญาของเราเป็นไหน ๆ ...ตัวแท้ของการปฏิบัติ คือ ความพากเพียรกำจัดอาสวะ กิเลสภายในใจ ไม่ใช่ถือเอากิริยาอาการภายนอกของครูอาจารย์มาเป็นเกณฑ์...

ในปีนั้นจีวรของหลวงพ่อเก่าคร่ำคร่า จนผุขาดเกือบทั้งผืน แต่ท่านไม่ยอมออกปากขอใคร หลวงปู่กินรีก็มองดูอยู่เงียบ ๆ ไม่ว่ากระไร

วันหนึ่งหลวงพ่อนั่งปะชุนจีวรอยู่ ขณะเย็บผ้าคิดอยากให้เสร็จเร็ว ๆ จะได้หมดเรื่องหมด ราว แล้วไปนั่งภาวนา เดินจงกรมให้เต็มที่สักที หลวงปู่กินรีเดินมาหยุดยืนดูอยู่ใกล้ ๆ หลวงพ่อ ก็ยังไม่รู้ เพราะจิตกังวลอยากเย็บผ้าให้เสร็จเร็ว ๆ เท่านั้น

หลวงปู่ถามว่า "ท่านจะรีบร้อนไปทำไมเล่า"
"ผมอยากให้เสร็จเร็ว ๆ"
"เสร็จแล้วท่านจะไปทำอะไร" หลวงปู่ถามอีก
"จะไปทำอันนั้นอีก"
"ถ้าอันนั้นเสร็จ ท่านจะทำอะไรอีก" หลวงปู่ถามต่อ
"ผมจะทำอย่างอื่นอีก"
"เมื่ออย่างอื่นของท่านเสร็จ ท่านจะไปทำอะไรอีกเล่า ?"
หลวงปู่กินรีให้ข้อคิดว่า... "ท่านรู้ไหม นั่งเย็บผ้านี่ก็ภาวนาได้ ท่านดูจิตตัวเองสิว่า เป็นอย่างไร แล้วก็แก้ไขมัน ท่านจะรีบร้อนไปทำไมเล่า ทำอย่างนี้เสียหายหมด ความ อยากมันเกิดขึ้นท่วมหัว ท่านยังไม่รู้เรื่องของตัวเองอีก"

คำพูดสั้น ๆ แต่มีความหมายและเจือความปรารถนาดีของหลวงปู่ ทำให้หลวงพ่อหูตา สว่างขึ้น ท่านปรารภให้ฟังว่า "เรานึกว่าทำถูกแล้ว อุตสาห์รีบทำ อยากให้มันเสร็จเร็ว ๆ จะได้ภาวนา แต่ที่ไหนได้ เราคิดผิดไปไกลทีเดียว"

อยู่ต่อมา หลวงปู่กินรีปรารภกับญาติของท่านว่า มีพระรูปหนึ่งมาอยู่ด้วย จีวรขาดหมดแล้ว ช่วยตัดจีวรใหม่ถวายท่านด้วย พอดีมีคนเอาผ้าฝ้ายด้ายดิบเนื้อหนามาถวาย หลวงปู่จึงให้แม่ชี ช่วยกันตัดเย็บถวายหลวงพ่อ

หลวงพ่อเล่าถึงความรู้สึกตอนนั้นว่า... "ดีใจที่สุด ใช้อยู่ตั้งหลายปีก็ยังไม่ขาด ใส่ใน ครั้งแรกดูกระปุกกระปุย เพราะผ้าหนาและแข็งกระด้าง ยิ่งใส่สังฆาฏิซ้อนเป็นสองชั้น ยิ่งดูตัวเองอ้วนใหญ่ เวลาเดินดังสวบสาบ ๆ เพราะผ้ามันแข็ง ใส่ไปตั้งปีสองปีผ้าจึงอ่อน แต่เราก็ไม่เคยบ่น ได้อาศัยผ้าผืนนั้นมาเรื่อย ยังนึกถึงบุญคุณของท่านอยู่เสมอ..."

เมื่อปัญหาเรื่องเครื่องนุ่งห่ม ซึ่งทำให้ใจเร่าร้อนกระสับกระส่ายถูกดับลงด้วยการภาวนา และหยาดน้ำใจจากครูอาจารย์ผ่านไปไม่นาน ศัตรูคู่ปรับเก่า ที่หลวงพ่อเคยออกปากในทำนองว่า ยากยิ่งสิ่งเดียวได้หวนกลับมาย่ำยีจิตใจอีกครั้ง...




   คืนหนึ่ง ขณะหลวงพ่อพากเพียรภาวนาอยู่ตามลำพัง อารมณ์แห่งกามราคะได้เกิดขึ้น
คืนนั้นไม่ว่าจะเดินจงกรม นั่งสมาธิ หรือพลิกยุทธวิธีใด ๆ ก็ไม่สามารถกำราบกิเลสมาร ลงได้ รูปลักษณ์ของอวัยวะเพศหญิงปรากฏเป็นมโนภาพเด่นชัดตลอดเวลา เกิดความรู้สึกทาง ธรรมชาติของบุรุษอย่างรุนแรง จนแทบภาวนาต่อไปไม่ได้ ต้องอดทนต่อสู่กับความรู้สึกและ มโนภาพนั้นอย่างยากเย็น
หลวงพ่อเปรียบเทียบว่า จิตใจถูกกิเลสย่ำยี อย่างหนัก พอ ๆ กับครั้งที่เกิดความกลัวใน คราวอยู่ ป่าช้าครั้งแรกนั่นเอง
การต่อสู้กับราคะดำเนินไปอย่างดุเดือด ขับ เคี่ยวรุกไล่กันอยู่ถึง 10 วัน ความรู้สึกและมโนภาพ นั้นจึงได้เลือนหายไป
หลังการต่อสู้กับกามราคะในวันนั้น หลวงพ่อ ยิ่งบากบั่นเร่งภาวนาหนักขึ้น เพื่อสร้างเกราะ และ ภูมิคุ้มกันภัยให้มั่นคง ศรัทธาและกำลังใจกล้าแกร่ง ขึ้นตามลำดับ




คืนหนึ่งในพรรษานั้น หลังทำความเพียรเป็นเวลาพอสมควร หลวงพ่อได้ขึ้นไปพักผ่อนบน กุฏิ กำหนดสติเอนกายลงนอน พอเคลิ้มไปเกิดนิมิตเห็นหลวงปู่มั่น เดินเข้ามาหยุดยืนอยู่ใกล้ ๆ แล้วส่งลูกแก้วให้ลูกหนึ่ง พร้อมกับกล่าวว่า... "ชา... เราขอมอบลูกแก้วนี้แก่ท่าน มันมีรัศมี สว่างไสวมากนะ" ในนิมิตนั้น ปรากฏว่าตนได้ลุกขึ้นนั่ง พร้อมกับยื่นมือไปรับลูกแก้วจาก หลวงปู่มั่นมากำไว้ พอรู้สึกตัวตื่นขึ้นแปลกใจมาก ที่พบตัวเองนั่งกำมืออยู่ดังในความฝัน จิตใจ เกิดความสงบระงับผ่องใส พิจารณาสิ่งใดไม่ติดขัด มีความปลื้มปิติตลอดพรรษา
หลวงพ่อได้อยู่ร่วมศึกษาปฏิบัติและอุปัฏฐากรับใช้หลวงปู่กินรีเรื่อยมา กระทั่งถึงฤดูแล้ง ของปี พ.ศ. 2491 หลวงพ่อจึงได้กราบลาครูบาอาจารย์จาริกต่อไป
ก่อนจาก หลวงปู่กล่าวตักเตือนศิษย์สั้น ๆ ตามอัธยาศัยของท่านว่า "ท่านชา อะไร ๆ ในการปฏิบัติ ท่านก็พอสมควรแล้ว แต่อยากให้ระวังเรื่องการเทศน์นะ"

48
อภิญญาปฎิบัติ / พระสมติงสบารมี
« เมื่อ: กุมภาพันธ์ 22, 2012, 07:06:18 PM »
พระสมติงสบารมี หมายถึง พระบารมีสามสิบถ้วน ...

พระโพธิสัตว์เจ้าผู้ปรารถนาซึ่งพระพุทธภูมิ ย่อมจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องบำเพ็ญธรรมที่เรียกว่า พุทธกรณธรรม เป็นธรรมเครื่องบ่มพระพุทธภูมิ เรียกง่าย ๆ ในหมู่ชาวพุทธเราว่า พระบารมี ซึ่งมีอยู่ 10 ประการ
1. ทานบารมี
2. ศีลบารมี
3. เนกขัมมบารมี
4. ปัญญาบารมี
5. วิริยบารมี
6. ขันติบารมี
7. สัจจบารมี
8. อธิษฐานบารมี
9. เมตตาบารมี
10. อุเบกขาบารมี

=========================

ในการสร้างพระบารมี ไม่ใช่ทำเพียง 10-20 ชาติ พอสักแต่ว่าให้ครบ ๆ ชื่อตามจำนวนพระบารมีเหล่านี้ แต่ต้องทรงสร้างพระบารมีซ้ำซากมากมาย หลายชาติเป็นอสงไขยเป็นมหากัป ในบางชาติก็ทรงสร้างอย่างสามัญ บางชาติก็ทรงสร้างอย่างอุกฤษฏ์ ท่านจึงแยกพระบารมีเหล่านี้เป็น ตรียางค์ คือเป็นองค์ 3 ดังนี้
1. ทรงสร้างอย่างสามัญ เรียก พระบารมี
2. ทรงสร้างสูงกว่าสามัญ เป็นแบบมัชฌิมาปานกลาง เรียก พระอุปบารมี
3. ทรงสร้างอย่างสูงสุด (อุกฤษฏ์) เรียก พระปรมัตถบารมี
เพราะฉะนั้น พระบารมีที่ต้องทรงสร้างอย่างแท้จริง มีอยู่ถึง 30 ประการ คือ พระบารมี 30 ถ้วน เรียกเป็นศัพท์ว่า พระสมติงสบารมี

===========================

ตัวอย่าง เพียงชาติหนึ่งในหลาย ๆ ชาติของแต่ละพระบารมี
มีดังนี้ .....

ทรงสร้างอย่างสามัญ เรียก พระบารมี

1.ทานบารมี ทรงบำเพ็ญเมื่อเสวยพระชาติเป็น สมเด็จพระสีวิราช
2. ศึลบารมี - พญาช้างฉัททันต์
3. เนกขัมมบารมี - อโยฆรราชกุมาร
4. ปัญญาบารมี - สัมภวกุมาร
5. วิริยบารมี - พญามหากปิราช
6. ขันติบารมี - พระจันทอุปราช
7. สัจจบารมี - สกุณโปดกนกคุ่ม
8. อธิษฐานบารมี - พญาสุนขราช
9. เมตตาบารมี - พระสุวรรณสาม
10. อุเบกขาบารมี - พญานกแขกเต้า

ทรงสร้างสูงกว่าสามัญ เป็นแบบมัชฌิมาปานกลาง เรียก พระอุปบารมี

1.ทานอุปบารมี ทรงบำเพ็ญเมื่อเสวยพระชาติเป็น พระเวสสันดรราช
2. ศึลอุปบารมี - พญาจัมเปยยกนาคราช
3. เนกขัมมอุปบารมี - หัตถิปาลกุมาร
4. ปัญญาอุปบารมี - วิธูรบัณฑิต
5. วิริยอุปบารมี - พระเจ้าสีลวมหาราช
6. ขันติอุปบารมี - ธรรมิกเทพบุตร
7. สัจจอุปบารมี - พญามัจฉาปลาช่อน
8. อธิษฐานอุปบารมี - มาตังคชฎิล
9. เมตตาอุปบารมี - กัณหทีปายนฤาษี
10. อุเบกขาอุปบารมี - พญามหิงสราช

ทรงสร้างอย่างสูงสุด (อุกฤษฏ์) เรียก
พระปรมัตถบารมี

1.ทานปรมัตถบารมี ทรงบำเพ็ญเมื่อเสวยพระชาติเป็น สสบัณฑิต
2. ศึลปรมัตถบารมี - พญาสังขปาลนาคราช
3. เนกขัมมปรมัตถบารมี - พระจุลสุตโสมราชาธิบดี
4. ปัญญาปรมัตถบารมี - เสนกบัณฑิต
5. วิริยปรมัตถบารมี - พระมหาชนก
6. ขันติปรมัตถบารมี - พระขันติวาทีดาบส
7. สัจจปรมัตถบารมี - พระมหาสุตโสม
8. อธิษฐานปรมัตถบารมี - พระมูคผักขราชกุมาร
9. เมตตาปรมัตถบารมี - พระเจ้าเอกราช
10. อุเบกขาปรมัตถบารมี - มหาโลมหังสบัณฑิต

ขอย่อสั้น ๆ + เรียบเรียงจับใจความใหม่
จากหนังสือโลกนาถทีปนี ของพระพรหมโมลี

49
การสร้างบุญบารมี
โดย สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก

บุญ เครื่องชำระสันดาน, ความดี, กุศล, ความสุข, ความประพฤติชอบทางกายวาจาและใจ, กุศลธรรม
บารมี คุณความดีที่บำเพ็ญอย่างยิ่งยวด เพื่อบรรลุจุดหมายอันสูงยิ่ง มี ๑๐ คือ ทาน, ศีล เนกขัมมะ, ปัญญา, วิริยะ, ขันติ, สัจจะ, อธิษฐาน, เมตตา, อุเบกขา
วิธีสร้างบุญบารมีในพระพุทธศาสนามีอยู่ ๓ ขั้นตอนคือการให้ทาน การถือศีล และการเจริญภาวนา ที่นิยมเรียกกันว่า "ทาน ศีล ภาวนา"
ซึ่งการให้ทานหรือการทำทานนั้น เป็นการสร้างบุญที่ต่ำที่สุด ได้บุญน้อยที่สุด ไม่ว่าจะทำมากอย่างไรก็ไม่มีทางที่จะได้บุญมากไปกว่าการถือศีลไปได้ การถือศีลนั้นแม้จะมากอย่างไร ก็ไม่มีทางที่จะได้บุญมากเกินไปกว่าการภาวนาไปได้ ฉะนั้น การเจริญภาวนานั้น จึงเป็นการสร้างบุญบารมีที่สูงที่สุด ได้มากที่สุด ในทุกวันนี้เรารู้จักกันแต่การให้ทานอย่างเดียว เช่นการทำบุญตักบาตร ทอดกฐิน ทอดผ้าป่า สละทรัพย์สร้างโบสถ์ วิหาร ศาลาการเปรียญ ส่วนการถือศีล แม้จะได้บุญมากกว่าการทำทาน ก็ยังมีการทำเป็นส่วนน้อย เพื่อความเข้าใจอันดี จึงขอชี้แจงการสร้างบุญบารมีอย่างไรจึงจะเป็นการลงทุนน้อยที่สุด แต่ได้บุญบารมีมากที่สุด ดังนี้คือ "ทาน ศีล ภาวนา"
การทำทาน ได้แก่การสละทรัพย์สิ่งของสมบัติของตนที่มีอยู่ให้แก่ผู้อื่น โดยมุ่งหวังจะจุนเจือให้ผู้อื่นได้รับประโยชน์และความสุขด้วยความเมตตาจิตของตน ทานที่ได้ทำไปนั้น จะทำให้ผู้ทำทานได้บุญมากหรือน้อยเพียงใด ย่อมสุดแล้วแต่องค์ประกอบ ๓ ประการ ถ้าประกอบถึงพร้อมด้วยองค์ประกอบทั้ง ๓ ประการต่อไปนี้แล้ว ทานนั้นย่อมมีผลมาก ได้บุญบารมีมาก กล่าวคือ
องค์ประกอบข้อที่ ๑. "วัตถุทานที่ให้ต้องบริสุทธิ์"
วัตถุทานที่ให้ ได้แก่สิ่งของทรัพย์สมบัติที่ตนได้สละให้เป็นทานนั้นเอง จะต้องเป็นของที่บริสุทธิ์ ที่จะเป็นของบริสุทธิ์ได้จะต้องเป็นสิ่งของที่ตนเองได้แสวงหา ได้มาด้วยความบริสุทธิ์ในการประกอบอาชีพ ไม่ใช่ของที่ได้มาเพราะการเบียดเบียนผู้อื่น เช่น ได้มาโดยยักยอก ทุจริต ลักทรัพย์ ฉ้อโกง ปล้นทรัพย์ ชิงทรัพย์ ฯลฯ
ตัวอย่าง ๑ ได้มาโดยการเบียดเบียนชีวิตและเลือดเนื้อสัตว์ เช่นฆ่าสัตว์ต่าง ๆ เป็นต้นว่า ปลา โค กระบือ สุกร โดยประสงค์จะเอาเลือดเนื้อของเขามาทำอาหารถวายพระเพื่อเอาบุญ ย่อมเป็นการสร้างบาปเอามาทำบุญ วัตถุทานคือเนื้อสัตว์นั้นเป็นของที่ไม่บริสุทธิ์ แม้ทำบุญให้ทานไป ก็ย่อมได้บุญน้อย จนเกือบไม่ได้อะไรเลย ทั้งอาจจะได้บาปเสียอีก หากว่าทำทานด้วยจิตที่เศร้าหมอง แต่การที่จะได้เนื้อสัตว์มาโดยการซื้อหามาจากผู้อื่นที่ฆ่าสัตว์นั้น โดยที่ตนมิได้มีส่วนร่วมรู้เห็นเป็นใจในการฆ่าสัตว์นั้นก็ดี เนื้อสัตว์นั้นตายเองก็ดี เนื้อสัตว์นั้นย่อมเป็นวัตถุทานที่บริสุทธิ์ เมื่อนำมาทำทานย่อมได้บุญมากหากถึงพร้อมด้วยองค์ประกอบข้ออื่น ๆ ด้วย
ตัวอย่าง ๒ ลักทรัพย์ ยักยอก ฉ้อโกง ชิงทรัพย์ ปล้นทรัพย์ รวมตลอดถึงการทุจริตฉ้อราษฎร์บังหลวง อันเป็นการได้ทรัพย์มาในลักษณะที่ไม่ชอบธรรม หรือโดยเจ้าของเดิมไม่เต็มใจให้ทรัพย์นั้น ย่อมเป็นของที่ไม่บริสุทธิ์ เป็นของร้อน แม้จะผลิดอกออกผลมาเพิ่มเติม ดอกผลนั้นก็ย่อมเป็นของไม่บริสุทธิ์ ด้วยนำเอาไปกินไปใช้ย่อมเกิดโทษ เรียกว่า "บริโภคโดยความเป็นหนี้" แม้จะนำเอาไปทำบุญ ให้ทาน สร้างโบสถ์วิหารก็ตาม ก็ไม่ทำให้ได้บุญแต่อย่างไร สมัยหนึ่งในรัชการที่ ๕ มีหัวหน้าสำนักนางโลมชื่อ "ยายแฟง" ได้เรียกเก็บเงินจากหญิงโสเภณีในสำนักของตนจากอัตราที่ได้มาครั้งหนึ่ง ๒๕ สตางค์ แกจะชักเอาไว้ ๕ สตางค์ สะสมเอาไว้เช่นนี้จนได้ประมาณ ๒,๐๐๐ บาท แล้วจึงจัดสร้างวัดขึ้นวัดหนึ่งด้วยเงินนั้นทั้งหมด เมื่อสร้างเสร็จแล้วแกก็ปลื้มปีติ นำไปนมัสการถามหลวงพ่อโตวัดระฆังว่าการที่แกสร้างวัดทั้งวัดด้วยเงินของแกทั้งหมดจะได้บุญบารมีอย่างไร หลวงพ่อโตตอบว่า ได้แค่ ๑ สลึง แกก็เสียใจ เหตุที่ได้บุญน้อยก็เพราะทรัพย์อันเป็นวัตถุทานที่ตนนำมาสร้างวัดอันเป็นวิหารทานนั้น เป็นของที่แสวงหาได้มาโดยไม่บริสุทธิ์ เพราะว่าเบียดเบียนมาจากเจ้าของที่ไม่เต็มใจจะให้ ฉะนั้น บรรดาพ่อค้าแม่ขายทั้งหลายที่ซื้อของถูก ๆ แต่มาขายแพงจนเกินส่วนนั้น ย่อมเป็นสิ่งของที่ไม่บริสุทธิ์โดยนัยเดียวกัน
วัตถุทานที่บริสุทธิ์เพราะการแสวงหาได้มาโดยชอบธรรมดังกล่าว ไม่ได้จำกัดว่าจะต้องเป็นของดีหรือเลว ไม่จำกัดว่าเป็นของมากหรือน้อย น้อยค่าหรือมีค่ามาก จะเป็นของดี เลว ประณีต มากหรือน้อยไม่สำคัญ ความสำคัญขึ้นอยู่กับเจตนาในการให้ทานนั้น ตามกำลังทรัพย์และกำลังศรัทธาที่ตนมีอยู่
องค์ประกอบข้อที่ ๒. "เจตนาในการสร้างทานต้องบริสุทธิ์"
การให้ทานนั้น โดยจุดมุ่งหมายที่แท้จริงก็เพื่อเป็นการขจัดความโลภ ความตระหนี่เหนียวแน่นความหวงแหนหลงใหลในทรัพย์สมบัติของตน อันเป็นกิเลสหยาบ คือ "โลภกิเลส" และเพื่อเป็นการสงเคราะห์ผู้อื่นให้ได้รับความสุขด้วย เมตตาธรรมของตน อันเป็นบันไดก้าวแรกในการเจริญเมตตา พรหมวิหารธรรมในพรหมวิหาร ๔ ให้เกิดขึ้น ถ้าได้ให้ทานด้วยเจตนาดังกล่าวแล้ว เรียกว่าเจตนาในการทำทานบริสุทธิ์ แต่เจตนาที่ว่าบริสุทธิ์นั้น ถ้าจะบริสุทธิ์จริงจะต้องสมบูรณ์พร้อมกัน ๓ ระยะ คือ
(๑) ระยะก่อนที่จะให้ทาน ก่อนที่จะทานก็จะมีจิตที่โสมนัสร่าเริงเบิกบานยินดีที่จะให้ทาน เพื่อสงเคราะห์ผู้อื่นให้ได้รับความสุขเพราะทรัพย์สิ่งของของตน
(๒) ระยะที่กำลังลงมือให้ทาน ระยะที่กำลังมือให้ทานอยู่นั้นเอง ก็ทำด้วยจิตใจโสมนัสร่าเริงยินดีและเบิกบานในทานที่ตนกำลังให้ผู้อื่น
(๓) ระยะหลังจากที่ได้ให้ทานไปแล้ว ครั้นเมื่อได้ให้ทานไปแล้วเสร็จ หลังจากนั้นก็ดี นานมาก็ดี เมื่อหวนคิดถึงทานที่ตนได้กระทำไปแล้วครั้งใด ก็มีจิตใจโสมนัสร่าเริงเบิกบาน ยินดีในทานนั้น ๆ
เจตนาบริสุทธิ์ในการทำทานนั้น อยู่ที่จิตใจโสมนัสร่าเริงเบิกบานยินดีในทานที่ทำนั้นเป็นสำคัญ และเนื่องจากเมตตาจิต ที่มุ่งสงเคราะห์ผู้อื่นให้พ้นความทุกข์ และให้ได้รับความสุขเพราะทานของตน นับว่าเป็นเจตนาบริสุทธิ์ในเบื้องต้น แต่เจตนาที่บริสุทธิ์เพราะเหตุดังกล่าวมาแล้วนี้ จะทำให้ยิ่ง ๆ บริสุทธิ์มากขึ้นไปอีก หากผู้ใดให้ทานนั้นได้ทำทานด้วยการวิปัสสนาปัญญา กล่าวคือ ไม่ใช่ทำทานอย่างเดียว แต่ทำทานพร้อมกับมีวิปัสสนาปัญญา โดยใคร่ครวญถึงวัตถุทานที่ให้ทานนั้นว่า อันบรรดาทรัพย์สิ่งของทั้งที่ชาวโลกนิยมยกย่องหวงแหนเป็นสมบัติกันด้วยความโลภนั้น แท้ที่จริงแล้วก็เป็นเพียงวัตถุธาตุประจำโลก เป็นสมบัติกลาง ไม่ใช่ของผู้ใดโดยเฉพาะ เป็นของที่มีมาตั้งแต่ก่อนเราเกิดขึ้นมา และไม่ว่าเราจะเกิดขึ้นหรือไม่ก็ตาม วัตถุธาตุดังกล่าวก็มีอยู่เช่นนั้น และได้ผ่านการเป็นเจ้าของมาแล้วหลายชั่วคน ซึ่งท่านตั้งแต่ก่อนนั้น ได้ล้มหายตายจากไปแล้วทั้งสิ้น ไม่สามารถนำวัตถุธาตุดังกล่าวนี้ติดตัวไปได้เลยจนในที่สุดก็ได้ตกทอดมาถึงเรา ให้เราได้กินได้ใช้ไดยึดถือเพียงชั่วคราว แล้วก็ตกทอดสืบเนื่องไปเป็นของคนอื่น ๆ ต่อ ๆ ไปเช่นนี้ แม้เราเองก็ไม่สามารถจะนำวัตถุธาตุดังกล่าวนี้ติดตัวไปได้เลย จึงนับว่าเป็นสมบัติผลัดกันชมเท่านั้น ไม่จากไปในวันนี้ก็ต้องจากไปในวันหน้า อย่างน้อยเราก็ต้องจากต้องทิ้งเมื่อเราได้ตายลงนับว่าเป็นอนิจจัง คือไม่เที่ยงแท้แน่นอน จึงไม่อาจจะยึดมั่นถือมั่นว่าเป็นของเราได้ถาวรได้ตลอดไป แม้ตัววัตถุธาตุดังกล่าวนี้เอง เมื่อมีเกิดขึ้นเป็นตัวตนแล้ว ก็ต้องอยูในสภาพนั้นให้ตลอดไปไม่ได้ จะต้องเก่าแก่ ผุพัง บุบสลายไป ไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตนแต่อย่างไร แม้แต่เนื้อตัวร่างกายของเราเองก็มีสภาพเช่นเดียวกับวัตถุธาตุเหล่านั้น ซึ่งไม่อาจจะตั้งมั่นให้ยั่งยืนอยู่ได้ เมื่อมีเกิดขึ้นแล้วก็จะต้องเจริญวัยเป็นหนุ่มสาวแล้วก็แก่เฒ่าและตายไปในที่สุด เราจะต้องพลัดพรากจากของอันเป็นที่รัก ที่หวงแหน คือทรัพย์สมบัติทั้งปวง
เมื่อเจตนาในการให้ทานบริสุทธิ์ผุดผ่องดีพร้อมทั้งสามระยะดังกล่าวมาแล้ว ทั้งยังประกอบไปด้วยวิปัสสนาปัญญาดังกล่าวมาแล้วด้วย เจตนานั้นย่อมบริสุทธิ์อย่างยิ่ง ทานที่ได้ทำไปนั้นย่อมมีผลมาก ได้บุญมากหากวัตถุทานที่ได้ทำเป็นของบริสุทธิ์ตามองค์ประกอบข้อ ๑ ด้วย ก็ย่อมทำให้ได้บุญมากยิ่ง ๆ ขึ้นไปอีก วัตถุทานจะมากหรือน้อย เป็นของเลวหรือประณีตไม่สำคัญ เมื่อเราได้ให้ทานไปตามกำลังทรัพย์ที่เรามีอยู่ย่อมใช้ได้ แต่ก็ยังมีข้ออันควรระวังอยู่ก็คือ "การทำทานนั้นอย่าได้เบียดเบียนตนเอง" เช่นมีน้อย แต่ฝืนทำให้มาก ๆ จนเกินกำลังของตนที่จะให้ได้ เมื่อได้ทำไปแล้วตนเองและสามี ภริยา รวมทั้งบุตรต้องลำบาก ขาดแคลน เพราะว่าไม่มีจะกินจะใช้ เช่นนี้ย่อมทำให้จิตเศร้าหมอง เจตนานั้นย่อมไม่บริสุทธิ์ ทานที่ได้ทำไปแล้วนั้น แม้วัตถุทานจะมากหรือทำมาก ก็ย่อมได้บุญน้อย ต่อไปนี้เป็นตัวอย่างที่ทำทานด้วยเจตนาอันไม่บริสุทธิ์ คือ
ตัวอย่าง ๑ ทำทานเพราะอยากได้ ทำเอาหน้า ทำอวดผู้อื่น เช่น สร้างโรงเรียน โรงพยาบาลใส่ชื่อของตน ไปยืนถ่ายภาพลงโฆษณาในหน้าหนังสือพิมพ์เพื่อให้ได้รับความนิยมยกย่องนับถือ โดยที่แท้จริงแล้วตนมิได้มีเจตนาที่จะมุ่งสงเคราะห์ผู้ใด เรียกว่า "ทำทานด้วยความโลภ" ไม่ทำเพื่อขจัดความโลภ ทำทานด้วยความอยากได้ คืออยากได้หน้า ๆได้เกียรติ ได้สรรเสริญ ได้ความนิยมนับถือ
ตัวอย่าง ๒ ทำทานด้วยความฝืนใจ ทำเพราะเสียไม่ได้ ทำด้วยความเสียหาย เช่นทีพวกพ้องมาเรี่ยไร ตนเองไม่มีศรัทธาที่จะทำ หรือมีศรัทธาอยู่บ้างแต่มีทรัพย์น้อย เมื่อมีพวกมาเรี่ยไรบอกบุญ ต้องจำใจทำทานไปเพราะความเกรงใจพวกพ้อง หรือเกรงว่าจะเสียหน้า ตนจึงได้สละทรัพย์ทำทานไปด้วยความจำใจ ย่อมเป็นการทำทานด้วยความตระหนี่หวงแหน ทำทานด้วยความเสียดาย ไม่ใช่ทำทานด้วยจิตเมตตาที่มุ่งจะสงเคราะห์ผู้อื่น ซึ่งยิ่งคิดก็ยิ่งเสียดาย ให้ไปแล้วก็เป็นทุกข์ใจ บางครั้งก็นึกโกรธผู้ที่มาบอกบุญ เช่นนี้จิตย่อมเศร้าหมอง ได้บุญน้อย หากเสียดายมาก ๆ จนเกิดโทสะจริตกล้าแล้ว นอกจากจะไม่ได้บุญแล้ว ที่จะได้ก็คือบาป
ตัวอย่าง ๓ ทำทานด้วยความโลภ คือทำทานเพราะว่าอยากได้นั่น อยากได้นี่ อยากเป็นนั่น อยากเป็นนี่ อันเป็นการทำทานเพราะว่าหวังสิ่งตอบแทน ไม่ใช่ทำทานเพราะมุ่งหมายที่จะขจัดความโลภ ความตระหนี่หวงแหนในทรัพย์ของตน เช่น ทำทานแล้วตั้งจิตอธิษฐานขอพรให้ชาติหน้าได้เป็นเทวดา นางฟ้า ขอให้รูปสวย ขอให้ทำมาค้าขึ้น ขอให้รำรวยเป็นเศรษฐี มหาเศรษฐี ทำทาน ๑๐๐ บาท แต่ขอให้ร่ำรวยนับล้าน ขอให้ถูกสลากกินแบ่งกินรวบ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ล้วนแต่เป็นสมบัติสวรรค์ หากชาติก่อนไม่เคยได้ทำบุญใส่บาตรฝากสวรรค์เอาไว้ อยู่ๆก็มาขอเบิกในชาตินี้ จะมีที่ไหนให้เบิก การทำทานด้วยความโลภเช่นนี้ย่อมไม่ได้บุญอะไรเลย สิ่งที่จะได้พอกพูนเพิ่มให้มากและหนาขึ้นก็คือ"ความโลภ"
ผลหรืออานิสงส์ของการทำทานที่ครบองค์ประกอบ ๓ ประการนั้น ย่อมมีผลให้ได้ซึ่งมนุษย์สมบัติ สวรรค์สมบัติเอง แม้ว่าจะไม่ได้ตั้งเจตนาเอาไว้ล่วงหน้าก็ตาม เพราะสิ่งเหล่านี้เป็นผลที่สืบเนื่องมาจากเหตุ เมื่อทำเหตุครบถ้วนย่อมมีผลเกิดขึ้นตามมาเอง เช่นเดียวกับปลูกต้นมะม่วง เมื่อรดน้ำพรวนดินและใส่ปุ๋ยไปตามธรรมดาเรื่อยไป แม้จะไม่อยากให้เจริญเติบโตและออกดอกออกผล ในที่สุดต้นไม้ก็จะต้องเจริญเติบโตและผลิตดอกออกผลตามมา สำหรับผลของทานนั้น หากน้อยหรือมีกำลังไม่มากนัก ย่อมน้อมนำให้เกิดในมนุษย์ชาติ หากมีกำลังแรงมากก็อาจจะน้อมนำให้ได้บังเกิดในเทวโลก ๖ ชั้น เมื่อได้เสวยสมบัติในเทวโลกจนสิ้นบุญแล้ว ด้วยเศษของบุญที่ยังคงหลงเหลืออยู่บ้าง ประกอบกับไม่มีอกุศลกรรมอื่นแทรกให้ผลก็อาจจะน้อมนำให้มาบังเกิดในมนุษย์อีกครั้งหนึ่ง และเมื่อได้มาบังเกิดเป็นมนุษย์แล้ว ก็ย่อมทำให้ได้เกิดในตระกูลที่ร่ำรวยมั่งคั่ง สมบูรณ์ไปด้วยทรัพย์ หรือไม่ก็เป็นผู้ที่มีลาภผลมาก ทำมาหากินขึ้นและร่ำรวยในภายหลัง ทรัพย์สมบัติไม่วิบัติหายนะไปเพราะวินาศภัย โจรภัย อัคคีภัย วาตภัย ฯลฯ แต่จะมั่งคั่งร่ำรวยในวัยใดก็ย่อมแล้วแต่ผลทานแต่ชาติก่อน ๆ จะส่งผล คือ
๑. ร่ำรวยตั้งแต่วัยต้น เพราะผลของทานที่ได้ตั้งเจตนาไว้บริสุทธิ์ดีตั้งแต่ก่อนจะทำทาน คือก่อนที่จะลงมือทำทานก็มีจิตเมตตาโสมนัสร่าเริง เบิกบานยินดีในทานที่ตนจะได้ทำเพื่อสงเคราะห์ผู้อื่น แล้วก็ได้ลงมือทำทานไปตามเจตนานั้น เมื่อเกิดเป็นมนุษย์ย่อมโชคดี โดยเกิดในตระกูลที่ร่ำรวย ชีวิตในวัยต้นอุดมสมบูรณ์พูนสุขไปด้วยทรัพย์ ไม่ยากจนแร้นแค้น ไม่ต้องขวนขวายหาเลี้ยงตนเองมาก แต่ถ้าเจตนานั้นไม่งามบริสุทธิ์พร้อมกันทั้ง ๓ ระยะแล้ว ผลทานนั้นก็ย่อมส่งผลให้ไม่สม่ำเสมอกัน คือแม้ว่าจะร่ำรวยตั้งแต่วัยต้นโดยเกิดมาบนกองเงินกองทองก็ตาม หากในขณะที่กำลังลงมือทำทานเกิดจิตเศร้าหมองเพราะหวนคิดเสียดายหรือหวงแหนทรัพย์ที่จะให้ทานขึ้นมา หรือเกิดหมดศรัทธาขึ้นมาเฉยๆแต่ก็ยังฝืนใจทำทานไปเพราะเสียไม่ได้หรือเพราะตามพวกพ้องไปอย่างเสียไม่ได้ เช่นนี้ผลทานย่อมหมดกำลังให้ผลระยะที่ ๒ ซึ่งตรงกับวัยกลางคน ซึ่งจะมีผลทำให้ทรัพย์สมบัติหายนะไปด้วยประการต่างๆแม้จะได้รับมรดกมาก็ไม่อาจจะรักษาไว้ได้ หากเจตนาในการทำทานนั้นเศร้าหมองในระยะที่ ๓ คือทำทานไปแล้วหวนคิดขึ้นมาทำให้เสียดายทรัพย์ ความหายนะก็มีผลต่อเนื่องมาจนบั้นปลายชีวิตด้วย คือทรัพย์สินคงวิบัติเสียหายต่อเนื่องจากวัยกลางคนตลอดไปจนถึงตลอดอายุขัยชีวิตจริงของผู้ที่เกิดบนกองเงินกองทองก็มีให้เห็น เป็นตัวอย่างที่เมื่อได้รับทรัพย์มรดกแล้วก็วิบัติเสียหายไป หรือนักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จในวัยต้นแต่ก็ต้องล้มละลายในวัยกลางคน และบั้นปลายชีวิต แต่ถ้าได้ตั้งเจตนาในการทำทานไว้บริสุทธิ์ครบถ้วนพร้อม ๓ ระยะแล้ว ผลทานนั้นย่อมส่งผลสม่ำเสมอ คือร่ำรวยตั้งแต่เกิด วัยกลางคนและจนปัจฉิมวัย

50
ศาสนาพระศรีอาริยเมตตรัย
ผู้ถาม   "กระผมได้ยินมาว่าเมื่อครบ ๕,๐๐๐ ปีแล้ว ก็จะมีศาสนาของพระศรีอาริยเมตตรัย สืบต่อจากศาสนานี้ใช่ไหมครับ"

"หมายความว่า เมื่อสิ้นศาสนา ๕,๐๐๐ ปีแล้วใช่ไหม แล้วพระศรีอาริยเมตตรัยจึงมาตรัส"
ผู้ถาม   "ใช่ครับ"

"ความจริงไม่ใช่อย่างนั้นนะคุณ ถ้าศาสนานี้ครบ ๕,๐๐๐ ปีแล้ว พระศรีอาริยเมตตรัยยังไม่มาตรัส จะต้องว่างจากพระพุทธศาสนาไปหนึ่งพุทธันดรก่อน แต่ว่าในช่วงที่ว่างพระพุทธเจ้านี่ก็จะมี พระปัจเจกพุทธเจ้า ขึ้นมาแทน สำหรับพระปัจเจกพุทธเจ้านี่ ต่ำกว่าสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
คือว่าพระพุทธเจ้าอุบัติขึ้นมาแล้วก็ทรงสอนคนตั้งแต่อันดับต้นให้รู้จักการให้ทาน ให้รู้จักการรักศีล ให้รู้จักการเจริญภาวนาให้รู้จักการครองเรือนให้อยู่เป็นสุข และให้รู้จักการปฏิบัติตนให้เข้าถึงกามาวจรสวรรค์ ให้เข้าพรหมโลก ให้เข้าถึงพระนิพพาน
สำหรับพระปัจเจกพุทธเจ้าไม่เช่นนั้น ท่านตรัสแล้วท่านก็เฉยๆ หากว่าจะสงเคราะห์กันก็สงเคราะห์ในขั้นต้น คือ ทานกับศีล ไม่เหมือนพระพุทธเจ้า
ทีนี้เมื่อเวลากาลล่วงไปหนึ่งพุทธันดร อาตมาตอบไม่ได้นะว่ากี่ปี ถ้าจะให้รู้กันจริงๆ คุณก็จงอย่าตายนะ อยู่ไปจนกว่าพระศรีอาริย์จะมา อยู่ไหวไหมล่ะ...?

ผู้ถาม   (หัวเราะ) "ไม่ไหวครับ"

"เป็นอันว่าเมื่อครบหนึ่งพุทธันดรแล้ว พระศรีอาริยเมตตรัยมาตรัสเป็นพระพุทธเจ้าองค์ที่ ๕ ในกัปนี้ แต่ว่าสำหรับกัปนี้ไม่ได้มีพระพุทธเจ้าเพียง ๕ พระองค์ พระพุทธเจ้าทรงพยากรณ์ไว้ว่า หลังจากพระศรีอริยเมตตรัยมาตรัสแล้ว ยังมีพระพุทธเจ้าต่อไปอีก ๕ พระองค์ คือ ในกัปนี้ทรงพระพุทธเจ้าได้ ๑๐ พระองค์
ศาสนาพระศรีอาริย์ ท่านว่าศาสนาของท่านนั้นมีผลดังนี้

๑. คนสวยทุกคน มีผิวเหลือง เนื้อละเอียด คนแก่ที่สุดมีทรวดทรงเท่ากับคนอายุประมาณ ๒๐ ปีเศษ ของสมัยนี้เท่านั้นเอง อายุคนสมัยนั้นท่านว่า มีอายุถึง ๔ หมื่นปีเป็นอายุขัย
๒. สมัยของท่าน ไม่มีคนจน มีแต่คนรวย มีต้นไม้สารพัดนึกอยู่ในที่ทุกสถาน สัตว์นรก เปรต อสุรกาย ที่มีจิตใจชั่วร้ายยังไม่มีโอกาสเกิดในสมัยของพระองค์ ท่านที่จะไปเกิดนั้น ต้องเป็นเทวดาหรือพรหมเท่านั้น โลกจึงมีแต่ความสุข ไม่มีตำรวจทหารมีแต่พ่อบ้านแม่เรือน
๓. การสัญจรไปมาก็สะดวกสบาย ไปทางไหนก็พายตามน้ำ ๔. คนเข้าถึงธรรมทุกคน ท่านว่าคนที่เจริญสมถะพอมีญาณ หรือมีวิปัสสนาญาณบ้าง พอสมควร จะเข้าถึงธรรมาพิสมัยได้โดยฉับพลัน คือเป็นพระอริยะเจ้า คนที่ได้อริยะต้นแล้ว จะเข้าถึงอรหัตผลได้โดยฉับพลัน คนที่ทำบุญไว้น้อย คือฟังคาถาพัน และปฏิบัติตามแต่ไม่สมบูรณ์ อย่างต่ำก็เข้าถึงไตรสรณคมน์ อย่างสูงก็ได้อริยะ ที่เป็นอย่างนี้ เป็นเพราะว่าท่านบำเพ็ญบารมีถึง ๑๖ อสงไขยกับแสนกัป ท่านบำเพ็ญบารมีมาก คนเลวจึงเข้าแทรกแซงในศาสนาของพระองค์ไม่ได้ น่าเกิดจริงนะ

ผู้ถาม :   "ผมอยากจะถามว่า พระพุทธเจ้าองค์แรกทรงพระนามว่าอะไรครับ...? "

"พระกกุสันโธ เป็นพระพุทธเจ้าองค์แรกสำหรับกัปนี้ แต่องค์แรกจริงๆ ไม่ใช่องค์นี้ ที่เราเรียกว่า องค์ปฐม องค์ปฐมน่ะท่านเป็นพระพุทธเจ้าองค์แรก เคยถามท่านว่าใช้เวลาถอยหลังไปเท่าไร ท่านบอกว่า ให้ตั้งเลข ๕ ขึ้นมา แล้วเอาศูนย์ใส่ไป ๕๐ ตัว ได้เท่าไรบอกฉันด้วย นับเป็นอสงไขยกัปนะ ไม่ใช่นับเป็นกัปเฉยๆ อสงไขยของกัป
ถ้าจะถามว่ามากเกินไปไหม ก็ต้องตอบว่าไม่มากหรอก เราต้องดูซิว่า
พระพุทธเจ้าขั้นปัญญาธิกะ ต้องใช้เวลาบำเพ็ญบารมีถึง ๔ อสงไขยกับแสนกัป
ถ้าศรัทธาธิกะ ต้องใช้เวลา บำเพ็ญบารมีถึง ๘ อสงไขยแสนกัป
ถ้าวิริยาธิกะ ต้องใช้เวลาบำเพ็ญบารมี ๑๖ อสงไขยกับแสนกัป ไม่เท่ากัน
ทีนี้กัปหนึ่งมีพระพุทธเจ้ากี่องค์
สำหรับสูญญากัป อันตรายกัปนี่ไม่มีพระพุทธเจ้า มีแต่พระปัจเจกพุทธเจ้า อันตรายกัปนี่เป็นกัปที่มีอันตรายมาก รบราฆ่าฟันกันเป็นประจำ มันมีแต่พวกมาจากอบายภูมิมาเกิด อันนี้เป็นเรื่องจริง บางกัปก็มีพระพุทธเจ้าองค์เดียว บางกัปมี ๒ องค์ ๕ องค์ ยังไม่เคยเจอ แต่กัปนี้มีถึง ๑๐ องค์นะ ฉะนั้นคนที่เกิดในกัปนี้เฮงที่สุด แล้วก็ซวยที่สุด"

ผู้ถาม   "เป็นยังไงครับ....?"

"เฮงที่สุดก็คือ เกิดมาแล้วตั้งใจทำความดี ตายไปเป็นเทวดาหรือพรหม เมื่อเป็นเทวดาหรือพรหมแล้วพระพุทธเจ้าไปเทศน์ครั้งเดียวก็เป็นพระโสดาบัน ไอ้ซวยที่สุดก็คือ เกิดมาชาตินี้ไม่ทำความดี ตายไปก็ลงนรกลงนรกแล้วพระพุทธเจ้าอีก ๖ องค์มาตรัส นึกว่าจะเกิดมาได้พบ ไม่มีทาง อีก ๓๐ องค์ก็ยังไม่ได้พบ"

ผู้ถาม   "โอโฮ้....ทีนี้ผลต่างกันไหมครับ ที่ใช้เวลาบำเพ็ญบารมีไม่เท่ากัน....?"

"ผลมันต่างกันแน่ อย่างพระพุทธเจ้าองค์ปัจจุบันนี้บำเพ็ญมีขั้นปัญญาธิกะ จะเห็นว่าโลกมันเป็นอย่างนี้ละ มีการรบราฆ่าฟันกัน มีคนจน มีคนรวย ถ้าศรัทธาธิกะละก็คนจนไม่มี มีแต่คนรวย เพราะพระพุทธเจ้าท่านมีบารมีมาก
ส่วนวิริยาธิกะละก็เพียบพร้อมไปทุกอย่าง สมัยโน้นจะหาคำว่าลำบากสักนิดไม่มี ความป่วยไข้ไม่สบายเกือบหาไม่ได้ ที่ท่านต้องบำเพ็ญบารมีมาก ก็เพื่อสั่งสมความดีให้มาก แล้วก็คนที่ไปเกิดในสมัยนั้นก็ต้องเป็นคนที่ต้องบำเพ็ญบารมีตามกันไป พระพุทธเจ้าแต่ละองค์มิใช่จะโปรดคนได้หมด ต้องโปรดคนได้เฉพาะคนที่บำเพ็ญบารมีร่วมกันมาแต่ละชาติที่เกิดร่วมกันมา เป็นพวกเป็นพ้อง ทำอะไรก็ทำด้วยกัน เวลาทำบาปก็ทำด้วยกัน ไปสวรรค์ก็ไปด้วยกัน ไปนรกก็ไปด้วยกัน
หลวงพ่อลาพุทธภูมิแล้วจะไปนิพพาน ลูกหลานจะอยู่หรือจะไปด้วยล่ะ?


คัดลอกจากหนังสือหลวงพ่อตอบปัญหาธรรม ฉบับพิเศษเล่ม ๒ หลวงพ่อฤๅษีลิงดำ วัดท่าซุง จ.อุทัยธานี

51
พระปัจเจกพุทธเจ้า : พุทธที่ถูกลืม

วารสารสิรินธรปริทรรศน์

มานพ นักการเรียน

คัดลอกจาก http://www.src.ac.th/web/jurnal/issu1/patjekab.htm

--------------------------------------------------------------------------------

ความนำ

ในประเพณีหรือธรรมเนียมของพระพุทธศาสนา พระปัจเจกพุทธเจ้าเป็นพระพุทธเจ้า (พุทธะ)๑ ที่มีความสำคัญเป็นอันดับสองรองจากพระสัมมาสัมพุทธเจ้าหรือพระสัพพัญญูพุทธเจ้าไม่ว่าทั้งด้านความรู้หรือคุณธรรม แต่ปรากฏว่า พระปัจเจกพุทธเจ้านั้นเป็นพระพุทธเจ้าหรือพุทธะที่ถูกละเลย ไม่ได้รับความสนใจใฝ่ศึกษาจากชาวพุทธเท่าที่ควรจะเป็น

พระปัจเจกพุทธเจ้าคือพุทธะประเภทหนึ่งที่ตรัสรู้อริยสัจ ๔ เฉพาะตนเอง ปรมัตถโชติกา อรรถกถาของสุตตนิบาตอธิบายว่า การบรรลุธรรมของพระปัจเจกพุทธเจ้า เปรียบเสมือนความฝันที่คนใบ้ฝัน และเปรียบเสมือนรสกับข้าวที่พรานป่าได้ลิ้มในเมืองฉะนั้น๒ จึงไม่อาจสอนให้บุคคลอื่นรู้ตามตนได้ (คือสอนได้แต่ไม่อาจให้รู้ตามได้) ไม่ก่อตั้งหรือสถาปนาในรูปสถาบันศาสนา แต่เน้นอนุโมทนาแก่ผู้ถวายทานในท่าน อุบัติขึ้นในช่วงพุทธันดร คือ ช่วงเวลาที่โลกว่างจากพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ดังนั้น ในปัจจุบันนี้ จึงไม่มีพระปัจเจกพุทธเจ้าอุบัติขึ้น

พระปัจเจกพุทธเจ้าต้องบำเพ็ญพุทธการกธรรมนับแต่ตั้งความปรารถนาแล้วนานถึง ๒ อสงไขยกับแสนกัป พุทธการกธรรมนั้นได้แก่ บารมี ๑๐ สติปัฏฐาน ๔ สัมมัปปธาน ๔ อิทธิบาท ๔ อินทรีย์ ๕ พละ ๕ โพชฌงค์ ๗ และมรรคมีองค์ ๘

พระปัจเจกพุทธเจ้าแต่ละองค์มีประวัติคล้ายกันเป็นส่วนใหญ่ คือ เป็นกษัตริย์ พราหมณ์ หรือคหบดี ในสมัยโบราณที่เบื่อหน่ายในโลกิยสมบัติ ได้ออกบวชศึกษาพระธรรมจนบรรลุพระปัจเจกโพธิญาณ เมื่อบรรลุพระปัจเจกโพธิญาณแล้ว ก็ไปชุมนุมที่เขาคันธมาทน์กูฏ ซึ่งเป็นยอดเขาแห่งหนึ่งของเทือกเขาหิมพานต์ หรือหิมาลัย มีฝูงช้างฉัททันต์คอยปรนนิบัติอยู่เป็นนิจ ถึงแม้ว่า เรื่องของพระปัจเจกพุทธเจ้าเหล่านี้จะจบลงด้วยเหตุการณ์ที่คล้ายคลึงกัน คือ ตัวเอกของเรื่องออกบวชแล้วตรัสรู้เป็นพระปัจเจกพุทธเจ้าแต่รายละเอียดของเนื้อเรื่องจะแตกต่างกันออกไป

องค์ธรรมของบุคคลที่ตั้งปณิธานเป็นพระปัจเจกพุทธเจ้า

เมื่อได้ศึกษาปรมัตถโชติกาแล้ว พบว่า บุคคลที่ตั้งปณิธานเป็นพระปัจเจกพุทธเจ้า ต้องประกอบด้วยองค์ธรรม ซึ่งเรียกว่าธรรมสโมธาน (การประชุมธรรม) ๕ ประการ ๓ คือ:-

๑. ความเป็นมนุษย์ (มนุสฺสตฺตํ) คือ ในชาติที่ตั้งปณิธานเป็นพระปัจเจกพุทธเจ้านั้น ต้องเป็นมนุษย์เท่านั้น เป็นเทวดาไม่ได้ ไม่ต้องกล่าวถึงเป็นสัตว์นรก สัตว์เดรัจฉาน เปรต หรือ อสุรกาย

๒. ความถึงพร้อมด้วยเพศ (ลิงฺคสมฺปตฺติ) คือ เป็นเพศชายเท่านั้น จะเป็นผู้หญิง กะเทยและอุภโตพยัญชนก (บุคคลที่มี ๒ เพศในคนเดียวกัน) ไม่ได้ แต่กระนั้น ผู้หญิงสามารถเป็นมารดาของผู้ที่ตั้งปณิธานเป็นพระปัจเจกพุทธเจ้าได้

๓. การเห็นท่านผู้ปราศจากอาสวกิเลสทั้งหลาย (วิคตาสวทสฺสนํ) คือ การเห็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระปัจเจกพุทธเจ้าหรือพระอนุพุทธเจ้าองค์ใดองค์หนึ่ง

๔. อธิการ (อธิกาโร) คือกระทำอันยิ่ง ต้องบริจาคชีวิตของตนเองแล้วจึงตั้งปณิธานเป็นพระปัจเจกพุทธเจ้า

๕. ความพอใจ (ฉนฺทตา) คือ ความเป็นผู้ปรารถนาเพื่อทำให้เป็นพระปัจเจกพุทธเจ้า แม้ว่าจะยากลำบากประสบพบปัญหาอุปสรรคมากเพียงใดก็ตาม อาทิเช่น มีคนกล่าวว่า ใครก็ตามที่สามารถเหยียบสากลจักรวาล อันเต็มไปด้วยถ่านเพลิงที่ปราศจากเปลวไฟได้ ใครก็ตามที่สามารถเหยียบข้ามสากลจักวาลอันเกลื่อนกล่นด้วยหอกและหลาวได้ ใครก็ตามที่สามารถลุยข้ามสากลจักรวาลอันเต็มไปด้วยน้ำปริ่มฝั่งได้ ใครก็ตามที่สามารถก้าวล่วงสากลจักรวาลซึ่งดารดาษด้วยกอไผ่ชั่วนิรันดรได้ จึงตั้งปณิธานเป็นพระปัจเจกพุทธเจ้าได้ บุคคลที่ตั้งปณิธานเป็นพระปัจเจกพุทธเจ้าบอกว่า "เราสามารถทำเช่นนั้นได้"

มีคาถาแสดงไว้ว่า

"มนุสฺสตฺตํ ลิงฺคสมฺปตฺติ วิคตาสวทสฺสนํ อธิกาโร ฉนฺทตา เอเต อภินีหารการณาฯ"

"มีเหตุแห่งปณิธานขึ้นพื้นฐาน (ก็เพราะธรรมสโมธาน ๕ ประการ) เหล่านี้ คือ ความเป็นมนุษย์, ความถึงพร้อมด้วยเพศ,การเห็นท่านผู้ปราศจากอาสวะ, อธิการและความพอใจ"

แต่สำหรับบุคคลที่ตั้งปณิธานเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ต้องประกอบด้วยองค์ธรรมซึ่งเรียกว่า ธรรมสโมธาน ๘ ประการ๔ คือ:-

๑. ความเป็นมนุษย์ (มนุสฺสตฺตํ) มีนัยเดียวกับองค์ธรรมของบุคคลที่ตั้งปณิธานเป็นพระปัจเจกพุทธเจ้า

๒. ความถึงพร้อมด้วยเพศ (ลิงฺสมฺปตฺติ) ก็มีนัยเดียกัน

๓. เหตุ (เหตุ) คือ ความถึงพร้อมด้วยอุปนิสัยแห่งพระอรหันต์ ในชาติที่ตั้งปณิธานเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ถ้าพยายามอย่างเต็มกำลัง จะสามารถเป็นพระอรหันต์ได้

๔. การเห็นพระศาสดา (สตฺถารทสฺสนํ) คือการเห็นเฉพาะพระพักตร์ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าองค์ใดองค์หนึ่ง อาทิเช่นสุเมธบัณฑิตได้เห็นพระทีปังกรพุทธเจ้าเฉพาะพระพักตร์แล้วจึงตั้งปณิธาน

๕. การบรรพชา (ปพฺพชฺชา) คือ ความเป็นอนาคาริก ต้องเป็นนักบวชผู้เป็นกรรมวาทีและกิริยวาที อาทิเช่น สุเมธบัณฑิตเป็นดาบสชื่อสุเมธ จึงตั้งปณิธาน

๖. ความถึงพร้อมแห่งคุณ (คุณสมฺปตฺติ) คือการได้คุณธรรมหรือธรรมวิเศษมีฌานเป็นต้น อาทิเช่น สุเมธบัณฑิตได้อภิญญา ๕ และสมาบัติ ๘ แล้วจึงตั้งปณิธาน

๗. อธิการ (อธิกาโร) มีนัยเดียวกัน

๘. ความพอใจ (ฉนฺทตา) ก็มีนัยเหมือนกัน

มีคาถาแสดงไว้ว่า

"มนุสฺสตฺตํ ลิงฺคสมฺปตฺติ เหตุ สตฺถารทสฺสนํ ปพฺพชฺชา คุณสมฺปตติ อธิกาโร ฉนฺทตา

อฎฺฐธมฺมสโมธานา อภินีหาโร สมิชฺฌติฯ"

"ปณิธานขั้นพื้นฐานย่อมสำเร็จได้ ก็เพราะธรรมสโมธาน ๘ ประการ คือ ความเป็นมนุษย์, ความถึงพร้อมด้วยเพศ, เหตุ, การเห็นพระศาสดา, การบรรชา, ความถึงพร้อมแห่งคุณ, อธิการและความพอใจ"

ส่วนผู้ที่ตั้งปณิธานเป็นพระอัครสาวกทั้งสองและพระอสีติมหาสาวก ต้องมีองค์ธรรม ๒ ประการ คือ อธิการ หรือการกระทำอันยิ่ง (อธิกาโร) และความพอใจ (ฉนฺทตา)๕

หลักคำสอนของพระปัจเจกพุทธเจ้า

ปรมัตถโชติกา ๖ เล่าเรื่องของสุสีมมาณพผู้ปรารถนาจะเห็นเบื้องปลายของศิลปะจึงถูกส่งไปหาฤาษีที่ป่าอิสิปตนะ หลังจากไปป่าอิสิปตนะแล้ว ได้เข้าไปหาพระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลายแล้วถามว่า "ท่านผู้เจริญ ท่านรู้เบื้องปลายของศิลปะบ้างไหม?"

พระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลายกล่าวว่า "เออ เรารู้สิท่าน"

สุสีมมาณพอ้อนวอนว่า "โปรดให้ข้าพเจ้าศึกษาเบื้องปลายของศิลปะนั้นเถิด"

พระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลาย "ถ้าอย่างนั้นก็บวชเสียสิ ท่านผู้ไม่ใช่นักบวชศึกษาไม่ได้ดอก"

สุสีมาณพ "ดีละ ขอรับ โปรดให้ข้าพเจ้าบวช แล้วให้ศึกษาเบื้องปลายของศิลปะนั้นเถิด"

พระปัจเจกพุทธเจ้าเหล่านั้นให้เขาบวชแล้ว ไม่สามารถให้เขาเจริญกรรมฐานได้ ให้ศึกษาได้แต่อภิสมาจาร (ความประพฤติที่ดีงาม) อาทิเช่น ท่านพึงนุ่งอย่างนี้ พึงห่มอย่างนี้ เขาศึกษาอยู่ในข้อนั้น แต่เพราะเป็นผู้ถึงพร้อมด้วยอุปนิสัย ไม่นานนักจึงบรรลุพระปัจเจกโพธิญาณ

ในวรรณกรรมของพระพุทธศาสนา พระปัจเจกพุทธเจ้าสอนแต่เรื่องอภิสมาจารเป็นส่วนใหญ่ บางครั้งท่านก็สอนธรรมเช่นกัน แต่สอนเพียงสั้นๆ อาทิเช่น จงสิ้นราคะ จงสิ้นโทสะ จงสิ้นโมหะ จงสิ้นคติ จงสิ้นวัฏฏะ จงสิ้นอุปธิ จงสิ้นตัณหา โดยไม่มีหลักคำสอนที่เป็นระบบเช่นเดียวกับพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

อีกประการหนึ่ง พระปัจเจกพุทธเจ้าคงจะเป็นเช่นเดียวกับพระสัมมาสัมพุทธเจ้า กล่าวคือพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เมื่อตรัสรู้แล้วทรงท้อพระทัยที่จะแสดงธรรมแก่หมู่สัตว์ เพราะเหตุที่ว่า "ธรรมที่เราบรรลุแล้วนี้ ลึกซึ้ง เห็นได้ยาก รู้ตามได้ยาก สงบ ประณีต ไม่เป็นวิสัยของตรรกวิทยา ละเอียด รู้ได้เฉพาะบัณฑิต ก็ถ้าเราพึงจะแสดงธรรม สัตว์อื่นไม่พึงรู้ทั่วถึงธรรมของเรา ข้อนั้นจะพึงเป็นความเหนื่อยเปล่า ความลำบากเปล่าแก่เรา"

ท้าวสหัมบดีพรหมจึงทูลอาราธนาพระสัมมาสัมพุทธเจ้าให้ทรงแสดงธรรมแก่หมู่สัตว์ โดยให้เหตุผลว่า "ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ของพระองค์ จงทรงแสดงธรรมเถิด เพราะสัตว์ผู้มีธุลีในดวงตาแต่เล็กน้อยก็มีอยู่ เขาจักเสื่อมเสียเพราะไม่ได้ฟังธรรม สัตว์ผู้รู้ทั่วถึงธรรม จักมีโดยแท้"๗

แต่จากนั้น พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงสลัดทิ้งความท้อพระทัยเสีย แล้วทรงตัดสินพระทัยแสดงธรรมแก่เวไนยสัตว์

จากหลักฐานข้างต้นนี้ อาจจะวิเคราะห์ได้ว่า การตัดสินใจเช่นนี้ เป็นคุณลักษณะพิเศษเฉพาะของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเท่านั้น ส่วนพระปัจเจกพุทธเจ้านั้นไม่สามารถเอาชนะความคิดที่ว่าธรรมเป็นสิ่งที่บุคคลอื่นรู้ตามได้ยากนั้นได้ จึงไม่ได้เตรียมแสวงหาสาวกและสอนให้รู้แจ้งเช่นเดียวกับตน แต่พระปัจเจกพุทธเจ้านั้นรู้สึกจะสมัครใจช่วยเหลือบุคคลอื่นให้รู้แจ้ง โดยอาศัยความถึงพร้อมแห่งอุปนิสัยของผู้นั้นเป็นหลัก ดังนั้น ท่านจึงมิได้ก่อตั้งสถาบันศาสนาอันประกอบด้วย ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก และอุบาสิกา เหมือนกับพระสัมมาสัมพุทธเจ้า.

เชิงอรรถ

๑. พระพุทธเจ้า (พุทธะ) มี ๔ ประเภท คือ ๑. พระสัพพัญญูพุทธเจ้า ๒. พระปัจเจกพุทธเจ้า ๓. พระจตุสัจจพุทธเจ้า ๔. พระสุตพุทธเจ้า ประเภทที่ ๓ และที่ ๔ เป็นพระสาวกพุทธเจ้าหรือพระอนุพุทธเจ้า

๒. สุตฺต.อ. ๑/๔๘.

๓. สุตฺต.อ. ๑/๔๗.

๔. สุตฺต.อ. ๑/๔๕.

๕. สุตฺต.อ. ๑/๔๘.

๖. สุตฺต.อ. ๒/๔๑-๔๒.

๗. วินย. ๔/๗-๘.


52
ความรู้เกี่ยวกับพระเจ้า“จักรพรรดิ”

พระเจ้าจักรพรรดิ คือ มนุษย์ผู้มีบุญ เพราะได้ทำบุญมาดีแล้วแต่ชาติก่อน ด้วยการให้ทาน รักษาศีล ๕ และศีล ๘ หรือได้บำรุงบำเรอพระพุทธเจ้า พระปัจเจกพุทธเจ้า พระอะระหันต์ พระภิกษุสงฆ์ ได้บำรุงพระพุทธศาสนา ได้ประกาศเผยแพร่พระพุทธศาสนา หรือได้ทำประโยชน์แก่สาธารณะชนด้วยกำลังศรัทธาที่แรงกล้า.

พระเจ้าจักรพรรดิ เป็นพระราชาโดยธรรมะ ไม่ต้องแย่งชิงอำนาจจากใครด้วยอุบายหรือการทำสงคราม ทรงชนะแล้ว มีอาณาจักรที่มั่นคง ทรงมีพระราชอำนาจสิทธิ์ขาดในโลกแต่ผู้เดียว ทรงมีพระปัญญาอันประเสริฐ ฉลาดรอบรู้ในสรรพวิชาการ ทรงบำรุงพัฒนาบ้านเมืองจนเจริญสูงสุด พระองค์มีแก้ว ๗ ประการ มีพระราชบุตรมากกว่าพันล้วนกล้าหาญ มีรูปทรงสมเป็นวีระกษัตริย์ สามารถย่ำยีกองกำลังของข้าศึกได้ไม่ยาก ด้วยอานุภาพบุญฤทธิ์ของพระองค์ และอานุภาพแห่งแก้ว ๗ ประการ ทำให้พระองค์ทรงบริหารและปกครองราษฎรโดยไม่ต้องใช้ศาสตรา ไม่ต้องใช้อาวุธหรือเครื่องมือประหัตประหารใดๆ ไม่ต้องลงโทษ ไม่ต้องลงอาชญา.
สมัยใดโลกมีพระพุทธศาสนา พระองค์ก็ทรงทะนุบำรุงพระพุทธศาสนา สมัยใดโลกว่างเปล่าจากจากพระพุทธศาสนาและพระปัจเจกพุทธเจ้า สมัยนั้นได้ชื่อว่าโลกมืด โลกจะแบ่งแยกเป็นประเทศเล็กประเทศน้อยอย่างมากมาย มีเชื้อชาติมากมาย ภาษามากมาย ขนบธรรมเนียมประเพณีมากมาย มีลัทธิศาสนาอันไม่ได้ช่วยให้พ้นทุกข์ได้มากมาย แล้วมวลมนุษย์ในโลกก็เกิดความขัดแย้งกัน ทะเลาะไม่สามัคคีกัน ด่ากัน แล้วลงท้ายด้วยการจับก้อนดินบ้าง ท่อนไม้บ้าง อาวุธอันมีคมบ้าง ประหัตประหารกัน รบกัน ทำสงครามกัน แล้วเกิดการจองเวรด้วยการลอบทำร้ายกัน ลอบสังหารกันและก่อวินาศกรรม กลายเป็นลัทธิก่อการร้ายล้างผลาญกันไป ล้างผลาญกันมาไม่จบสิ้น พระองค์ทรงเห็นโทษเห็นความลามกของความแตกแยกและความแตกต่าง พระองค์จึงทรงรวบรวมมนุษย์ทุกชาติทุกเผ่าพันธุ์ให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน เพื่อให้มนุษย์โลกมีเพียงชาติเดียว เผ่าพันธุ์เดียว ภาษาเดียว ขนบธรรมเนียมประเพณีเดียว ใช้สกุลเงินเดียว แล้วพระองค์ทรงสอนศีล ๕ แก่มวลมนุษย์ในโลก เป็นหลักคำสอนเดียวศาสนาเดียว ดังนั้นมนุษย์ในยุคนั้นจึงมีพระเจ้าจักรพรรดิเป็นพระประมุขของชาวโลก และเป็นศาสดาของชาวโลก.

เมื่อประมุขของโลกและมนุษย์โลกต่างมีศีล ๕ มีธรรมะอันงาม ไม่มีแหล่งอบายมุขใดๆในแผ่นดิน ไม่แตกแยกไม่ขัดแย้งกันดังนี้ มวลมนุษย์ย่อมเห็นความสุขความเจริญในปัจจุบัน เหล่าเทวดาทั้งหลายย่อมปลื้มปีติยินดี ร่าเริงบันเทิงใจ ฝนฟ้าก็ตกต้องตามฤดูกาล พืชพันธุ์ธัญญาหารก็อุดมสมบูรณ์ มนุษย์ทั้งหลายก็มีสุขภาพจิตสุขภาพกายดี อายุยืน จำนวนมนุษย์ก็มากขึ้นแต่ไม่ขาดแคลน มวลมนุษย์ทั้งปวงต่างมองหน้ากันด้วยแววตาแห่งความรักความเมตตา เมื่อนั้นได้ชื่อว่าพระเจ้าจักรพรรดิเป็นผู้ประทานแสงสว่างให้แก่โลก ประทานความร่มเย็นให้แก่โลก.



ฤทธิ์ ๔ ประการของพระเจ้าจักรพรรดิ
๑. พระเจ้าจักรพรรดิทรงมีพระรูปงาม น่าดู น่าชม น่าเลื่อมใส ทรงมีพระฉวีวรรณผ่องใสยิ่งกว่ามนุษย์ทั่วไป
๒. พระเจ้าจักรพรรดิทรงมีพระชนมายุยืนนานกว่ามนุษย์ทั่วไป
๓. พระเจ้าจักรพรรดิทรงมีอาพาธน้อย มีพระโรคน้อยกว่ามนุษย์ทั่วไป
๔. พระเจ้าจักรพรรดิทรงเป็นที่รักที่ชอบใจของมนุษย์ทั้งหลาย และมนุษย์ทั้งหลายก็เป็นที่รักที่ชอบใจของพระเจ้าจักรพรรดิ
ดุจบุตรเป็นที่รักที่ชอบใจของบิดาทีเดียว เมื่อถึงคราวพระเจ้าจักรพรรดิเสด็จเลียบพระนครออกเยี่ยมราษฎร ราษฎรทั้งหลายไปเฝ้า พระองค์พลางกราบทูลว่า “ขอเดชะ... ขอพระองค์อย่าด่วนเสด็จไป พวกข้าพระองค์จะได้เฝ้าพระองค์นานๆ”แม้พระเจ้าจักรพรรดิก็
ทรงตรัสกับนายสารถีว่า “นายสารถี เธออย่าด่วนขับรถไป เราจะได้เห็นราษฎรนานๆ”


ลักษณะ ๓๒ ประการของมหาบุรุษ

มหาบุรุษผู้มีลักษณะ ๓๒ ประการนี้ ย่อมเป็นพระเจ้าจักรพรรดิ หรือเป็นพระพุทธเจ้าเท่านั้น คือ....

๑. มีพระบาทเรียบเสมอ
๒. ที่ฝ่าพระบาททั้งสองมีลายรูปจักร อันมีซี่พันหนึ่ง มีกง มีดุมบริบูรณ์
๓. ส้นพระบาทยาว
๔. มีพระองคุลี (นิ้ว) ยาว
๕. ฝ่าพระหัตถ์และฝ่าพระบาทอ่อนนุ่ม
๖. ฝ่าพระหัตถ์และฝ่าพระบาท มีลายดุจตาข่าย
๗. มีพระบาทนูนสูงดุจสังข์คว่ำ
๘. มีพระชงฆ์ (แข้ง) เรียวดุจแข้งเนื้อทราย
๙. เมื่อประทับยืนมิได้ก้ม พระหัตถ์ทั้งสองลูบพระชานุ (เข่า) ทั้งสองได้
๑๐. มีพระคุยหะ (องคชาติ) เร้นอยู่ในฝัก
๑๑. พระฉวีวรรณดุจสีทอง
๑๒. พระฉวีวรรณละเอียดฝุ่นไม่เกาะ
๑๓. พระโลมา (ขน) เกิดขึ้นขุมละเส้น
๑๔. พระโลมาทุกเส้นชี้ขึ้นข้างบน
๑๕. พระวรกายตรงดุจกายพระพรหม
๑๖. พระมังสะเต็มในที่ ๗ แห่ง คือ หลังพระหัตถ์ทั้งสอง, หลังพระบาททั้งสอง, พระอังสะ (บ่า) ทั้งสอง และพระศอ (คอ)
๑๗. พระวรกายท่อนบนดุจกายท่อนหน้าของราชสีห์
๑๘. แผ่นหลังมีพระมังสะเต็ม
๑๙. พระวรกายดุจต้นไทร มีพระวรกายเท่ากับวา
๒๐. ลำพระศอกลม
๒๑. เส้นประสาทรับรู้รสได้ดี
๒๒. พระหนุ (คาง) ดุจคางของราชสีห์
๒๓. พระทนต์ (ฟัน) ๔๐ ซี่
๒๔. พระทนต์เรียบเสมอ
๒๕. พระทนต์ไม่ห่าง
๒๖. พระเขี้ยวแก้วขาวงาม
๒๗. พระชิวหา (ลิ้น) ใหญ่
๒๘. พระสุรเสียงก้องกังวานดุจเสียงของพระพรหม ไพเราะดุจเสียงของนกการเวก
๒๙. พระเนตรดำสนิท
๓๐. ดวงพระเนตรดุจตาของลูกโค
๓๑. พระอุณาโลม (ขนระหว่างคิ้ว) ขาวอ่อนนุ่มดุจสำลี
๓๒. พระเศียรดุจสวมมงกุฎ

คุณธรรมของพระราชาผู้จะได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ

๑. อาศัยธรรมะ สักการะเคารพธรรมะ นับถือธรรมะ บูชาธรรมะ ยำเกรงธรรมะ มีธรรมะเป็นธงชัย มีธรรมะเป็นใหญ่
๒. รักษาคุ้มครอง ป้องกันอย่างเป็นธรรมะในราชนิกุล ในกองพล ในกษัตริย์ เมืองขึ้น ในชาวเมือง ชาวชนบท สมณะ พราหมณ์
๓. รักษาคุ้มครองป้องกันอย่างเป็นธรรมะในเหล่าสัตว์เดรัจฉาน ทั้งสัตว์เลี้ยงและสัตว์ป่า
๔. ไม่ให้มีสิ่งผิดศีลธรรมในแผ่นดิน
๕. ให้ทรัพย์แก่ผู้ไม่มีทรัพย์
๖. เข้าไปหาสมณะพราหมณ์ผู้มีความอดทน มีความสงบระงับ ฝึกตนอยู่ผู้เดียว ดับกิเลสอยู่ผู้เดียว ล้วถามว่า“ท่านขอรับ...กุศล
คือ อะไร อกุศลคืออะไร กรรมใดไม่มีโทษ กรรมใดมีโทษ กรรมใดควรเสพ กรรมใดไม่ควรเสพ กรรมใดทำแล้วเป็นประโยชน์ กรรมใด
ทำแล้วไม่เป็นประโยชน์”
๗. เมื่อฟังคำของสมณะพราหมณ์นั้นแล้ว สิ่งใดเป็นอกุศลจงเว้นเสีย สิ่งใดเป็นกุศลจงถือมั่นประพฤติปฏิบัติ

จักรแก้ว

พระราชาผู้ที่จะได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิย่อมทรงศีล ๕ อยู่เป็นนิตย์ ในวันอุโบสถ ๘ ค่ำ ๑๔ – ๑๕ ค่ำ พระองค์จะทรงจัดการงานแผ่นดิน
ทั้งหลายให้เสร็จแต่เช้าตรู่ แล้วทรงถวายมหาทาน ทรงสรงน้ำชำระพระเศียรแล้วฉลองพระองค์ด้วยชุดขาว เสวยพระกระยาหารประทับนั่ง
สมาธิอยู่บนปราสาทสมาทานศีล ๘ ทรงลำลึกถึงเหตุแห่งบุญที่สำเร็จด้วย ทาน ศีล การข่มใจ และการฝึกตนของพระองค์ จนกระทั่งวันอุโบสถขึ้น ๑๕ ค่ำ เป็นวันเพ็ญพระจันทร์เต็มดวง คืนหนึ่งขณะที่พระองค์ทรงถือศีล ๘ และเจริญสมาธิอยู่ จักรแก้วอันเป็นทิพย์ก็ปรากฏแก่พระองค์ จักรแก้วอันเป็นทิพย์นั้นบริบูรณ์ด้วย ดุม กง และซี่พันซี่ ล้วนสำเร็จด้วยทองและเงิน ประดับด้วยรัตนะชาติ ๙ ประการ ที่ได้รับการสลักลวดลายอย่างวิจิตรงดงาม มีแสงรัศมีซ่านออกโดยรอบดุจดวงอาทิตย์ จักรแก้วเมื่อต้องลมแล้วมีเสียงไพเราะยวนใจ ชวนให้ฟัง ชวนให้เคลิบเคลิ้ม เหมือนเสียงดนตรีทั้ง ๕ ที่บรรเลงโดยนักดนตรีผู้ชำนาญดีแล้ว
จักรแก้วนั้นลอยมาจากทิศตะวันออกเปล่งแสงสุกสว่างดุจพระจันทร์ดวงที่ ๒ มาวนเวียนรอบพระนครแล้วหยุดอยู่ที่สีหะบัญชรด้านทิศเหนือของปราสาท มหาชนเห็นแล้วแตกตื่นพากันวิ่งตามมาดูและสักการบูชา พระราชาทรงทอดพระเนตรเห็นจักร
แก้วแล้วทรงดำริว่า “เราเคยได้ฟังมาว่า พระราชาผู้ได้รับการราชาภิเษ แล้วองค์ใด ทรงสรงน้ำชำระพระวรกาย สระพระเศียร แล้วรักษาอุโบสถศีลอยู่บนปราสาทในวันเพ็ญขึ้น ๑๕ ค่ำ จักรแก้วอันเป็นทิพย์จะปรากฏแก่พระราชาพระองค์นั้น ผู้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ เราเห็นจะได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิแล้วหรือ?” จึงทรงออกจากสมาธิลุกขึ้นมาทรงผ้าสไบเฉวียงบ่า พระหัตถ์ซ้ายจับพระเต้าทองหลั่งน้ำทักษิโณทก พระหัตถ์ขวาชูจักรขึ้น แล้วตรัสว่า “โอ... จักรแก้วอันเจริญ จงหมุนไปพิชิตจักรวรรดิเถิด” ทันใดนั้นจักรแก้วก็หมุนลอยนำไปทางทิศตะวันออก พระราชาพร้อมด้วยกองทัพ ๔ เหล่า คือ พลช้าง พลม้า พลรถ และพลเดินเท้า อีกทั้งมหาชนทั้งหลายก็ติดตามไป ด้วยอานุภาพของจักรแก้วพาให้พระราชาและผู้ติดตามทั้งหมดเหาะลอยไปได้ในอากาศ ข้ามภูเขา ข้ามแม่น้ำ ข้ามทะเล จักรแก้วนำพาไปสู่อาณาจักรของประเทศใด ก็หยุดลงที่หน้าพระราชนิเวศของพระราชาประเทศนั้น พระองค์พร้อมผู้ติดตามก็หยุด ณ ที่นั้น พระราชาของประเทศนั้นๆก็นำเครื่องบรรณาการเสด็จเข้ามาเฝ้าพระองค์ แล้วน้อมพระเศียรอันทรงมหามงกุฎซบพระบาทของพระองค์ กราบทูลด้วยวจนะว่า “ข้าแต่มหาราช... ขอพระองค์ทรงเสด็จมาเถิด การเสด็จมาของพระองค์เป็นความดี ข้าพระองค์ขอถวายการต้อนรับพระองค์ด้วยราชสมบัติของหม่อมฉันขอยกถวายแก่พระองค์ ขอพระองค์ได้โปรดประทานพระราชโอวาทแก่หม่อมฉันเถิด”.

พระองค์ไม่ทรงตรัสว่า “ท่านทั้งหลายจงนำเครื่องราชพลีมาให้เรา” พระองค์ไม่ทรงเอาโภคทรัพย์ของพระราชาองค์ใดไป แต่ทรงตรัสด้วยพระปัญญาอันสมควรที่พระองค์เป็นธรรมราชา ทรงแสดงธรรมะด้วยพระวจนะอันเป็นที่รัก อันละเอียดอ่อนว่า

“ดูก่อนพ่อทั้งหลาย.... การฆ่าสัตว์ก็ดี การลักทรัพย์ก็ดี การประพฤติผิดในกามก็ดี การพูดโกหกก็ดี การเสพสุราเมรัยและสิ่งเสพติดก็ดี บุคคลเสพแล้ว เจริญแล้ว ทำให้มากแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อทุกข์ในโลกนี้ เมื่อละโลกนี้ไปแล้วย่อมไปสู่นรก การไม่เสพกรรมทั้ง ๕ อย่างเหล่านี้ ย่อมเป็นไปเพื่อสุขในโลกนี้ เมื่อละโลกนี้ไปแล้วย่อมไปสู่สวรรค์ ดังนั้นพ่อทั้งหลายไม่พึงฆ่าสัตว์ ไม่พึงลักทรัพย์ ไม่พึงประพฤติผิดในกาม ไม่พึงพูดโกหก ไม่พึงเสพสุราเมรัยและสิ่งเสพติด แล้วพ่อทั้งหลายจงเสวยราชสมบัติตามเดิมเถิด”.
จักรแก้วนำพาพระราชาพิชิตประเทศต่างๆทางทิศตะวันออก... พระราชาของประเทศเหล่านั้นก็ออกมาสวามิภักดิ์โดยดี ทรงเป็นบริวารของพระองค์โดยทั่วแล้ว จักรแก้วก็นำเสด็จสู่ทิศใต้... พระราชาแห่งประเทศทั้งหลายทางทิศใต้ก็ออกมาสวามิภักดิ์ จักรแก้วนำเสด็จสู่ทิศตะวันตก... พระราชาแห่งประเทศทั้งหลายทางทิศตะวันตกก็ออกมาสวามิภักดิ์ จักรแก้วนำเสด็จสู่ทิศเหนือ... พระราชาแห่งประเทศทั้งหลายทางทิศเหนือก็ออกมาสวามิภักดิ์ พระราชาทั้งหลายที่จะประชุมกองกำลังเตรียมรบหรือพยายามยก

อาวุธขึ้นต่อกรไม่มีเลยพระราชาของประเทศทั้งหลายย่อมเข้าถึงการฝึกอบรมแล้วด้วยอานุภาพของจักรแก้ว พระองค์ก็บรรลุความเป็นผู้ยิ่งใหญ่แห่งปฐพี โดยมีมหาสมุทรทั้งหมดเป็นขอบเขต ถึงซึ่งความเป็นพระเจ้าจักรพรรดิปกครองโลกด้วยประการฉะนี้ เมื่อจักรแก้วนำพิชิตทั่วพื้นปฐพีนี้แล้ว ก็นำเสด็จกลับสู่ราชธานีตั้งประดิษฐานอยู่ในประตูเมืองให้สง่างาม มหาชนทั้งหลายก็นำเครื่องสักการะบูชาอันมีดอกไม้และของหอมเป็นต้นมาสักการะบูชา กิจที่จะต้องทำด้วยการจุดคบเพลิง ด้วยการจุดตะเกียงในราชธานีไม่มี แสงสว่างแห่งจักรแก้วย่อมกำจัดความมือแห่งราตรี บุคคลใดต้องการแสงสว่าง แสงสว่างก็เกิดแก่บุคคลนั้น บุคคลใดต้องการความมืด ความมืดก็เกิดแก่บุคคลนั้น.

ช้างแก้ว

ช้างแก้วได้ปรากฏแก่พระเจ้าจักรพรรดิ เป็นพญาช้างชื่อ อุโบสะถะ ตระกูลอุโบสถ เป็นช้างเผือกขาวปลอด มีลักษณะถูกต้องตามตำราคชลักษณ์ทั้งปวง มีฤทธิ์เหาะได้ พระเจ้าจักรพรรดิทอดพระเนตรด้วยความเลื่อมใสตรัสว่า “โอ... ผู้เจริญ ช้างเชือกนี้ถ้าได้รับการฝึกหัดก็จะดี” ช้างแก้วก็เป็นช้างแสนรู้ในทันทีเหมือนช้างที่ได้รับการฝึกอย่างดีมาเป็นเวลานาน ในเวลาเช้าพระองค์ทรงทดลองช้างแก้วด้วยการเสด็จขึ้นคอแล้วให้พาเที่ยวไปทั่วแผ่นดินจนสุดราชอาณาจักร เหาะไปรอบโลกแล้วกลับสู่ราชธานีทันเสวยพระกระยาหารเช้า.

ม้าแก้ว

ม้าแก้วได้ปรากฏขึ้นแก่พระเจ้าจักรพรรดิ เป็นพญาม้าชื่อ วลาหะกะ ตระกูลสินธพ มีสีขาวล้วน ศีรษะดำเหมือนกา มีผมเป็นพวงเหมือนหญ้าปล้อง มีฤทธิ์เหาะได้ พระเจ้าจักรพรรดิทอดพระเนตรด้วยความเลื่อมใสตรัสว่า “โอ... ผู้เจริญ ม้าตัวนี้ถ้าได้รับการฝึกหัดก็จะดี” ม้าแก้วก็เป็นม้าแสนรู้ในทันที เหมือนม้าที่ได้รับการฝึกหัดอย่างดีมาเป็นเวลานาน ในเวลาเช้าพระองค์ทรงทดลองม้าแก้วด้วยการเสด็จขึ้นขี่หลังแล้วให้พาเที่ยวไปทั่วแผ่นดินจนสุดราชอาณาจักร เหาะไปรอบโลกแล้วกลับสู่ราชธานีทันเสวยพระกระยาหารเช้า.

แก้วมณี

แก้วมณีได้ปรากฏขึ้นแก่พระเจ้าจักรพรรดิ เป็นแก้วไพฑูรย์น้ำงามโดยกำเนิด แปดเหลี่ยมเจียรนัยดีแล้ว กว้างยาว ๔ ศอก ลักษณะงามพร้อมทุกประการ มีแสงสุกใสแวววาว มีรัศมีส่องแสงแผ่ออกไปไกล ๑ โยชน์ ถ้าติดไว้ที่ปลายยอดธงในเวลากลางคืนที่มืดมิด จะมีแสงสว่างดุจกลางวัน ชาวบ้านพากันประกอบการงานนึกว่าเป็นกลางวัน.

นางแก้ว

นางแก้วปรากฏแก่พระเจ้าจักรพรรดิ เป็นสตรีรูปร่างสวยงาม น่าดู น่าชม น่าเลื่อมใส ไม่สูงนัก ไม่ต่ำนัก ไม่ผอมนัก ไม่อ้วนนัก ไม่ดำนัก ไม่ขาวนัก เอวเล็กและบาง สะโพกผาย ทรวดทรงงามระหงอรชรได้สัดส่วน ผิวพรรณเปล่งปลั่งเกินมนุษย์ มีรัศมีสว่างไสวแผ่ไปไกล ๑๒ ศอก มีร่างกายอ่อนนุ่มเหมือนนุ่นหรือปุยฝ้าย เมื่ออากาศเย็นเนื้อตัวจะอุ่น เมื่ออากาศร้อนเนื้อตัวจะเย็น มีกลิ่นจันทร์ฟุ้งออกจากกาย กลิ่นอุบลฟุ้งออกจากปาก นางแก้วย่อมตื่นก่อนนอนทีหลังพระเจ้าจักรพรรดิ คอยรับฟังคำสั่ง คอยขับกล่อมพัดวี ประพฤติปฏิบัติเป็นที่พอพระราชหฤทัย พูดจาไพเราะอ่อนหวานด้วยคำที่น่ารัก ใจของนางไม่นอกพระหฤทัยของพระเจ้าจักรพรรดิแล้วทางกายจะประพฤติชั่วแต่ที่ไหน นางมีหน้าตายิ้มแย้มแจ่มใสไม่บูดบึ้ง ชวนทัศนา.

คฤหบดีแก้ว

คฤหบดีแก้วปรากฏแก่พระเจ้าจักรพรรดิ เป็นคนมีตาทิพย์ สามารถเห็นขุมทรัพย์ทั้งที่มีเจ้าของและไม่มีเจ้าของ ทั้งบนดินใต้ดิน ทั้งบนน้ำใต้น้ำ ได้ไกล ๑ โยชน์ เขากราบทูลพระเจ้าจักรพรรดิว่า “ขอเดชะ... พระองค์ไม่ต้องทรงเป็นห่วงเรื่องทรัพย์ ข้าพระองค์จะกระทำหน้าที่จัดหาจัดการพระราชทรัพย์แก่พระองค์” พระเจ้าจักรพรรดิทรงทดลองคฤหบดีแก้ว ด้วยการเสด็จพาประทับบนเรือลอยสู่กลางแม่น้ำคงคา แล้วทรงรับสั่งคฤหบดีแก้ว “ดูก่อน... ท่านคฤหบดี ฉันต้องการเงินทอง”
คฤหบดี “มหาราชเจ้า... ถ้ากระนั้นขอพระองค์จงทรงให้เทียบเรือที่ริมตลิ่งเถิด”
พระเจ้าจักรพรรดิ “ท่านคฤหบดี... ฉันต้องการเงินทองตรงกลางแม่น้ำนี้แหละ”
ทันใดนั้น คฤหบดีแก้วก็เอามือทั้งสองจุ่มลงไปใต้น้ำ แล้วยกเอาหม้อที่เต็มไปด้วยเงินทองขึ้นมาพลางกราบทูลว่า “มหาราชเจ้า... เท่านี้พอ
หรือยังพระเจ้าข้า?”
พระเจ้าจักรพรรดิ “ท่านคฤหบดี... เท่านี้พอแล้ว ทำเพียงเท่านี้เถิด เท่านี้ก็เป็นอันท่านบูชาฉันแล้ว”

ปริณายกแก้ว

ปริณายกแก้วปรากฏแก่พระเจ้าจักรพรรดิ เป้นพระราชโอรสองค์ใหญ่ของพระองค์เอง เป็นบัณฑิต เป็นนักปราชญ์ มีวิชาความรู้ทุกด้าน เฉลียวฉลาดสามารถรู้ว่าอะไรเป็นประโยชน์ อะไรไม่เป็นประโยชน์ สามารถรู้วาระจิตของผู้อื่น เข้มแข็ง สามารถชี้แนะให้พระเจ้าจักรพรรดิเสด็จไปยังที่ๆควรไป ให้หลีกในที่ๆควรหลีก ให้ยับยั้งในที่ๆควรยับยั้ง เขากราบทูลพระเจ้าจักรพรรดิว่า “ขอเดชะ... พระองค์ไม่ต้องทรงเป็นห่วง ข้าพระองค์จะทำหน้าที่จัดการปกครองและบริหารราชการแผ่นดินแทนพระองค์ พระองค์จะวางนโยบายอย่างไร ขอพระองค์จงทรงตรัสบอกเถิด พระเจ้าข้า” แก้วเจ็ดประการเห็นป่านนี้ปรากฏแล้วปรากฏแล้วแก่พระเจ้าจักรพรรดิ

53
อภิญญาปฎิบัติ / ธรรมของพระโพธิสัตว์
« เมื่อ: กุมภาพันธ์ 22, 2012, 06:44:52 PM »
จริยธรรม 10 ประการ ของพระโพธิสัตว์

1. พระโพธิสัตว์ไม่ปรารถนาเลยว่า ร่างกายจะไม่มีโรคภัยไข้เจ็บ (มีความเจ็บไข้หรือ โรคภัยเป็นธรรมดา)

2.พระโพธิสัตว์ครองชีพ โดยไม่ปรารถนาว่า จะไม่มีภยันตราย (มีอันตรายเป็นธรรมดา)

3.พระโพธิสัตว์ไม่ปรารถนาเลยว่า จะไม่มีอุปสรรคในการชำระจิตให้บริสุทธิ์ (ย่อมมีอุปสรรคเป็นธรรมดา)

4.พระโพธิสัตว์ไม่ปรารถนาเลยว่า จะไม่มีมารขัดขวางการปฏิบัติภารกิจ (จะต้องมีมารขัดขวางการปฏิบัติโพธิจิตเป็นธรรมดา)

5.พระโพธิสัตว์คิดว่าจะทำงานให้นานที่สุด โดยไม่ปรารถนาจะให้สำเร็จผลเร็ว (ปล่อยวางเรื่องกาลเวลา ทำงานเพื่องาน)

6.พระโพธิสัตว์คบเพื่อน โดยไม่ปรารถนาจะได้ผลประโยชน์จากเพื่อน(รักผู้อื่นด้วยความบริสุทธิ์ใจ)

7.พระโพธิสัตว์ไม่ปรารถนาเลยว่า จะให้คนอื่นต้องตามใจตนเองเสมอไปทุกอย่าง (ไม่มีความเห็นแก่ตัว)

8.พระโพธิสัตว์ทำความดีแก่คนอื่น ไม่ปรารถนาสิ่งตอบแทน (ต้องการให้ผู้อื่นพ้นทุกข์)

9.พระโพธิสัตว์เห็นลาภแล้วไม่ปรารถนาว่าจะมีหุ้นส่วนด้วย (ไม่ปรารถนาในลาภและสรรเสริญ)

10.พระโพธิสัตว์เมื่อถูกใส่ร้ายป้ายสี ติเตียน นินทาแล้ว ไม่ปรารถนาจะได้โต้ตอบหรือฟ้องร้อง (การใส่ร้ายป้ายสี ติเตียน นินทา เป็นธรรมดาของโลก)


ขอให้พิจารณาทบทวนดูให้ดี จริยธรรมทั้ง 10 ประการนี้ เป็นการปฏิบัติธรรมชั้นสูง ของพระโพธิสัตว์ทุกพระองค์ เรียกว่า มหาอุปสรรค หรือเครื่องกีดขวางโพธิจิต คือ ผู้ปฏิบัติทั้งหลายหนีไม่พ้นสิ่งแวดล้อมที่ขัดขวางอย่างแน่นอน หากไม่รู่เท่าทัน หรือเตรียมพร้อมไว้ก่อน ผู้ปฏิบัติธรรมจะท้อถอย หรือสูญเสียโอกาสไป

54


ความลับของจักรวาล ในพระไตรปิฏก

ขนาดของจักรวาล

จักรวาลอันหนึ่ง โดยยาวและโดยกว้าง ประมาณ ๑,๒๐๓,๔๕๐ โยชน์ (๑ โยชน์ = ๑๖ กิโลเมตร)
ส่วนโดยรอบปริมณฑลทั้งสิ้น (ของจักรวาลนั้น) ประมาณ ๓,๖๑๐,๓๕๐ โยชน์

ขนาดหนาของแผ่นดิน ในจักรวาลนั้น
แผ่นดินนี้ กล่าวโดยความหนา มีประมาณถึงเท่านี้ คือ ๒๔๐,๐๐๐ โยชน์

ขนาดหนาของน้ำรองแผ่นดิน สิ่งที่รองแผ่นดินนั้นหรือ
คือน้ำอันตั้งอยู่บนลม โดยความหนามีประมาณถึงเท่านี้ คือ ๔๘๐,๐๐๐ โยชน์

ขนาดความหนาของลมรองน้ำ
ลมอัน (พัดดัน) ขึ้นฟ้า (โดยความหนา) มีประมาณ ๙๖๐,๐๐๐ โยชน์ นี่เป็นความตั้งอยู่พร้อมมูลแห่งโลก

ขนาดภูเขาสิเนรุ (เขาพระสุเมรุ) และต้นไม้ประจำทวีป
อนึ่ง ในจักรวาลที่ตั้งอยู่พร้อมมูลอย่างนี้นั้น มี
ภูเขาสิเนรุอันเป็นภูเขาสูงที่สุด หยั่ง (ลึก) ลงไปในมหาสมุทร ๘๔,๐๐๐ โยชน์ สูงขึ้นไป (ในฟ้า) ก็ประมาณเท่ากันนั้น
ภูเขาใหญ่ทั้งหลาย คือภูเขายุคันธร ภูเขาอิสินธร ภูเขากรวีกะ ภูเขาสุทัสสนะ ภูเขาเนมินธระ
ภูเขาวินตกะ ภูเขาอัสสกัณณะ อันตระการไปด้วยรัตนะหลากๆ ราวกะภูเขาทิพย์ หยั่ง (ลึก) ลงไป
(ในมหาสมุทร) และสูงขึ้นไป (ในฟ้า) โดยประมาณกึ่งหนึ่งแต่ประมาณแห่งภูเขาสิเนรุไปตามลำดับ
ภูเขาใหญ่ทั้ง ๗ นั้น (ตั้งอยู่) โดยรอบภูเขาสิเนรุเป็นที่อยู่ของ (จาตุ)มหาราช เป็นที่ๆ เทวดา และยักษ์อาศัยอยู่

ภูเขาหิมวาสูง ๕๐๐ โยชน์ ยาวและกว้าง ๓,๐๐๐ โยชน์ (เท่ากัน) ประดับไปด้วยยอดถึง ๘๔,๐๐๐ ยอด
ต้นชมพู (หว้า) ชื่อนคะ วัดรอบลำต้นได้ ๑๕ โยชน์ ลำต้นสูง ๕๐ โยชน์ และกิ่ง (แต่ละกิ่ง)
ก็ยาว ๕๐ โยชน์ แผ่ออกไปวัดได้ ๑๐๐ โยชน์โดยรอบ และสูงขึ้นไปก็เท่ากันนั้น ด้วยอานุภาพของ
ต้นชมพู (นี้) ไรเล่า ทวีปนี้จึงถูกประกาศชื่อว่า ชมพูทวีป
ก็แลขนาดของต้นชมพูนี้ใด ขนาดนั้นนั่นแหละเป็นขนาดของต้นจิตรปาฏลี (แคฝอย) ของพวกอสูร
ต้นสิมพลี (งิ้ว) ของพวกครุฑ ต้นกทัมพะ (กระทุ่ม) ในอมรโคยานทวีป ต้นกัปปะในอุตตรกุรุทวีป
ต้นสิรีระ (ซึก) ในบุพพวิเทหทวีป ต้นปาริฉัตตกะ ในดาวดึงส์ เพราะเหตุนั้นแล ท่านโบราณจารย์จึงกล่าวไว้ว่า
(ต้นไม้ประจำภพและทวีป คือ) ต้นปาฏลี ต้นสิมพลี ต้นชมพู ต้นปาริตฉัตตะของพวกเทวดา
ต้นกทัมพะ ต้นกัปปะ และต้นที่ ๗ คือ ต้นสิรีสะ ดังนี้



ขนาดภูเขาจักรวาล

ภูเขาจักรวาล หยั่ง (ลึก) ลงไปในมหาสมุทร ๘๒,๐๐๐ โยชน์
สูงขึ้นไป (ในฟ้า) ก็เท่ากันนั้น
ภูเขาจักรวาลนี้ตั้งล้อมโลกธาตุทั้งสิ้นนั้นอยู่

ขนาดของภพและทวีป
ในโลกธาตุนั้น มีดวงจันทร์ ดวงอาทิตย์ ภพดาวดึงส์ ๑๐,๐๐๐ โยชน์ ภพอสูร มหานรกอเวจี และชมพูทวีปก็
เท่ากันนั้น อมรโคยานทวีป ๗,๐๐๐ โยชน์ บุพพวิเทหทวีปก็เท่านั้น อุตตรกุรุทวีป ๘,๐๐๐ โยชน์ อนึ่ง ในโลกธาตุนั้น
ทวีปใหญ่ๆ ทวีป ๑ ๆ มีทวีปน้อยเป็นบริวาร ทวีปละ ๕๐๐
สิ่งทั้งปวง (ที่กล่าวมานี้) นั้น (รวม) เป็นจักรวาล ๑ ชื่อว่า โลกธาตุอัน ๑ ๑ในระหว่างแห่งโลกธาตุ
ทั้งหลายมีโลกันตนรก (แห่งละ ๑)

๑. มหาฎีกาว่า จักรวาล ก็คือโลกธาตุ โลกธาตุได้ชื่อว่า จักรวาล ก็เพราะมีภูเขาจักรวาล ซึ่งสัณฐานดังกง
รถล้อมอยู่โดยรอบเท่านั้นเองไม่ใช่จักรวาลอัน ๑ โลกธาตุอัน ๑
๒. ท่านว่าจักรวาลหรือโลกธาตุนั้นมีมากนัก ช่องว่างในระหว่างจักรวาล ๓ จักรวาลต่อกัน มีโลกันตนรก ๑
ทุกแห่งไป โดยนัยนี้ คำว่า โลกันตนรก ก็แปลว่า นรกอันตั้งอยู่ในช่องระหว่างจักรวาล ๓ อันนั่นเอง

พระพุทธเจ้าทรงตรัสไว้ใน "จูฬนีสูตร" พระไตรปิฎก หน้า ๒๑๕ เล่ม ๒๐ ว่า
จักรวาล ประกอบด้วยดวงจันทร์ โลก ดวงอาทิตย์ และดาวเคราะห์ทั้งหลายโคจร ไปร่วมกัน
จะมีขุนเขาสิเนรุ (เขาพระสุเมรุ) (เป็นภูเขาทิพย์ที่เห็นได้เฉพาะผู้มีอภิญญา) ทวีปต่างๆ ที่ตั้งชื่อกันในสมัย
นั้นคือ ชมพูทวีป อปรโคยานทวีป อุตรกุรุทวีป และปุพพวิเทหทวีป มหาสมุทรทั้ง ๔ (นับกันได้ในสมัยนั้น)
มีนรกขุมต่างๆ สวรรค์ชั้นต่างๆ และพรหมโลกชั้นต่างๆ
โลกธาตุ มี ๓ ขนาด คือ โลกธาตุอย่างเล็กมีจำนวนพันจักรวาล โลกธาตุอย่างกลางมีจำนวนล้านจักรวาล
โลกธาตุอย่างใหญ่มีจำนวน แสนโกฏิจักรวาล

ทั้งโลกธาตุอย่างเล็กก็ดี อย่างกลางก็ดี อย่างใหญ่ก็ดี ยังมีอีกจำนวนมากมาย
"ทุกสิ่งทุกอย่างมีการเกิดขึ้น ตั้งอยู่ และแตกดับไปในที่สุด"
กำเนิดของโลกพระพุทธเจ้าทรงตรัสไว้ใน "อัคคัญญสูตร" พระไตรปิฎก หน้า ๖๑ เล่ม ๑๑ ว่า
เกิดมีน้ำขึ้นในห้วงอวกาศอันมืดมิดก่อนแล้วนานๆไปเกิดการรวมตัวงวดเข้าเป็นง้วนดิน แล้วพัฒนาเป็นกระบิดิน
ต่อไปเป็นเครือดิน จากนั้นมีต้นข้าวและพืชทั้งหลายเกิดขึ้น ดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์ หมู่ดาว
นรกขุมต่างๆ เทวโลก และพรหมโลกชั้นต่างๆ ก็เกิดขึ้นเอง

กำเนิดชีวิตพระพุทธเจ้าทรงตรัสไว้ว่า "เพราะมีความอยาก จึงมีการเกิดเป็นสัตว์เป็นบุคคลขึ้นมา
เมื่อไม่มีความอยากการเกิดเป็นสัตว์เป็นบุคคลก็ไม่มี"

กำเนิดชีวิตในจักรวาลอื่น ปัจจุบันนักวิทยาศาสตร์ยังถกเถียงกันอยู่ว่ามีหรือไม่มี ?
และยังคงไม่มีใครสามารถสร้างเครื่องมือติดต่อค้นหาเพื่อตอบคำถามนี้ได้
แต่พระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้แน่นอนมากว่าสองพันปีแล้วว่า "มี"

นักวิทยาศาสตร์กล่าวว่า "ดวงอาทิตย์ มีเส้นผ่าศูยน์กลางประมาณ ๑,๔๐๐,๐๐๐ กิโลเมตร
หรือโตกว่าโลกประมาณ ๑๐๙ เท่า มีน้ำหนักประมาณ ๒ x ๑,๐๓๐ กิโลกรัม (หรือ ๒๐ ตามด้วย ๐ จำนวน ๓๐ ตัว)
เนื้อตัวทั้งหมดของดวงอาทิตย์เป็นธาตุไฮโดรเจนซึ่งเป็นธาตุเบา เผาไหม้ตัวเองด้วยปฏิกิริยา
เทอร์โมนิวเคลียร์ จากภายในใจกลางออกมาไม่ใช่เผาไหม้เฉพาะพื้นผิว
สิ้นมวลของตัวเองวินาทีละ ๔ ล้านตัน เผาไหม้อย่างนี้มาแล้ว ๕,๕๐๐ ล้านปี
และจะเผาไหม้อย่างนี้ต่อไปอีก ๕,๕๐๐ ล้านปี" เมื่อเป็นเช่นนี้ลองคิดดูว่าวันหนึ่งมีกี่วินาที ?
ต่อให้ดวงอาทิตย์หรือดาวฤกษ์นั้นใหญ่โตขนาดไหนก็ตาม น่าจะย่อยยับหมดสิ้นภายในวันเดียว
แต่ดวงอาทิตย์หรือดาวฤกษ์นั้นก็ยังอยู่ยืนยาวมานานนับพันๆล้านปี โดยยังมีขนาดเท่าเดิม "
นี้คือความมหัศจรรย์ที่ยังคงเหนือการพิสูจน์



อีกอย่างหนึ่ง นักวิทยาศาสตร์คาดคะเนว่า "เวลาอันยาวนานในอนาคต
ดวงอาทิตย์จะขยายตัวบวมขึ้นจนมีขนาดโตถึงวงโคจรของโลก
แล้วกลืนกินโลกและดาวเคราะห์วงในทั้งหมด และเมื่อเวลายาวนานอีกต่อไป
ก็จะค่อยๆยุบตัวลงกลายเป็นดาวแคระ คือจะมีขนาดเล็กลงเท่าโลกแต่มีความร้อนจัด
ดาวฤกษ์บางดวงก็ยุบตัวลงเป็นดาวนิวตรอนที่มีขนาดเส้นผ่าศูยน์กลางเพียง ๒๕-๓๐
กิโลเมตร และดาวฤกษ์บางดวงก็ยุบตัวลงเป็นหลุมดำ"

พระพุทธเจ้าตรัสว่า "ในอนาคตอันยาวไกลในสุริยะจักรวาล จะมีดวงอาทิตย์เกิดขึ้น
เองเพิ่มขึ้นทีละดวงๆ จนครบ ๗ ดวง แล้วเผาไหม้โลกและดาวเคราะห์บริวารทั้งหมด
นรกทุกขุม สวรรค์ทุกชั้น และพรหมโลกชั้นต่ำๆ รวมทั้งดวงอาทิตย์ทั้ง ๗ ดวงนั้น
ก็พินาศไปด้วย แล้วก็จะมีแต่ความมืดมิดจนนานแสนนาน ก็ก่อตัวขึ้นมาใหม่อีก" (สุริยะสูตร พระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๓ หน้า ๘๓)

นักวิทยาศาสตร์ทั้งหลาย คือปุถุชนผู้ที่ยังมีกิเลสตัณหา ตั้งทฤษฎีมาจากการคาดคะเน
การนึกคิด การเดา การสันนิษฐาน การค้นคว้าทดลอง การสังเกตจดจำ
การใช้เครื่องมือและอุปกรณ์เป็นจำนวนมาก แต่ทฤษฎีเหล่านั้นก็ยังไม่ตายตัว
พร้อมที่จะถูกลบล้างได้ตลอดเวลา
พระพุทธเจ้าทั้งหลาย คือบุคคลพิเศษ วิเศษ เป็นอัจฉริยะมนุษย์ เป็นบุคคลเอก
ที่ไม่มีใครเสมอเหมือน เป็นผู้สิ้นกิเลสตัณหา เป็นผู้มีญาณวิเศษรู้อดีต ปัจจุบัน
และอนาคต เป็นผู้ตรัสรู้ เป็นผู้รู้แจ้งโลก ดังนั้นพระสูตรหรือทฤษฎีต่างๆที่พระพุทธองค์ทรงตรัสไว้ดีแล้ว
จึงตายตัวไม่มีใครลบล้างได้

ลักษณะของจักรวาล คือ มีเขาสิเนรุเป็นแกนกลาง มี เขาสัตตบริภัณฑ์ คือ เขาล้อมรอบ ๗ ชั้น
ซึ่งมี สีทันดรมหาสมุทร คั่นอยู่ในระหว่าง ตั้งเป็นรูปร่างขึ้นไว้ก่อน ภูมิสวรรค์อยู่พ้นทวีปทั้งหลาย
ซึ่งเป็นที่อยู่ของมนุษย์ เช่น ชมพูทวีปซึ่งมีอินเดียเป็นศูนย์กลาง จึงอยู่พ้นป่าหิมพานต์
พ้นภูเขาหิมวันตะหรือ หิมาลัย พ้นมหาสมุทรแห่งทวีปทั้งปวง แล้วถึงภูเขาสัตตบริภัณฑ์
ตั้งต้นแต่ภูเขาสุทัสสนะ จนถึงภูเขาอัสสกัณณะ จึงเป็นอันถึงสวรรค์ชั้นที่ ๑ เพราะยอดเขา
สัตตบริภัณฑ์เหล่านี้เองเป็นที่อยู่ของท้าวมหาราช ๔ องค์กับบริวาร นับเป็นสวรรค์ชั้นที่ ๑ เรียกว่า จาตุมหาราชิก

ท้าวมหาราช ๔ องค์นี้ แบ่งกันครอบครอง ดั่งนี้

๑)ด้านทิศตะวันออกของเขาสิเนรุเป็นที่อยู่ของ ท้าวธตรัฏฐะ
มีพวกคนธรรพ์เป็นบริวาร (ถัดออกไปเป็นปุพพวิเทหทวีป)

๒)ด้านทิศใต้เป็นที่อยู่ของ ท้าววิรุฬหก มีพวกกุมภัณฑ์เป็นบริวาร
(ถัดออกไปเป็นชมพูทวีป) พวกกุมภัณฑ์นี้ ท่านอธิบายว่าได้แก่ ทานพรากษส

๓)ด้านทิศตะวันตกของเขาสิเนรุเป็นที่อยู่ของ ท้าววิรูปักข์ มีพวกนาคเป็นบริวาร (ออกไปเป็น อมรโคยานทวีป)

๔)ด้านทิศเหนือของเขาสิเนรุเป็นที่อยู่ของ ท้าวกุเวร มีพวกยักษ์เป็นบริวาร (ถัดออกไปเป็นอุตตรกุรุทวีป)

ท้าวมหาราชที่ ๔ ครองอยู่ ๔ ทิศของเขาสิเนรุ มีกล่าวถึงใน อาฏานาฏิยสูตร
หน้าที่ของท้าวมหาราชที่ ๔ และบริวารตามที่ได้กล่าวไว้ คือเป็นผู้รับด่านหน้า
ของสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ เพื่อป้องกันพวกอสูรซึ่งเป็นศัตรูของเทพชั้นดาวดึงส์จะ
ยกมาตีเอาถิ่นสวรรค์ชั้นนั้น แต่ใน สุตตันตปิฎก ติกนิบาต ได้มีแสดงหน้าที่ให้
เป็นผู้ตรวจ ซึ่งเป็นที่อยู่ของหมู่มนุษย์อีกด้วย แสดงเป็นพระพุทธภาษิตมีความว่า
ในวัน ๘ ค่ำแห่งอมาตย์บริษัทของท้าวมหาราชทั้ง ๔ เที่ยวตรวจดูโลก ในวัน ๑๔ ค่ำแห่งปักข์
บุตรทั้งของท้าวมหาราชทั้ง ๔ เที่ยวตรวจดูโลก ในวัน ๑๕ ค่ำแห่งปักษ์
ท้าวมหาราชทั้ง ๔ ตรวจดูโลกเองว่าพวกมนุษย์พากันบำรุงบิดามารดา
บำรุงสมณพราหมณ์ เคารพนบน้อมผู้ใหญ่ในตระกูล รักษาอุโบสถ ทำบุญกุศล
มีจำนวนมากด้วยกันอยู่หรือ เมื่อตรวจดูแล้ว ถ้าเห็นว่ามีจำนวนน้อย ก็ไปบอกแก่พวกเทพชั้นดาวดึงส์
ซึ่งประชุมกันใน สุธรรมสภา พวกเทพชั้นดาวดึงส์ เมื่อได้ฟังดั่งนั้นก็มีใจหดหู่ว่า ทิพยกายจักลดถอย
อสุรกายจักเพิ่มพูน แต่ถ้าเห็นว่าพวกมนุษย์พากันทำดี มีบำรุงมารดาบิดาเป็นต้น เป็นจำนวนมาก
ก็ไปบอกแก่พวกเทพชั้นดาวดึงส์เหมือนอย่างนั้น พวกเทพชั้นดาวดึงส์ก็พากันมีใจชื่นบานว่า
ทิพยกายจักเพิ่มพูน อสุรกายจักลดถอย ๑

55
จงเห็นว่าไม่มีอะไรเหลือเลยในโลกนี้ เห็นทุกอย่างเป็นเรื่องสมมุตคิทั้งสิ้น แปรปรวน เสื่อมไป สลายไป ทุกอย่างไม่มีอะไรควรยึดถือทั้งสิ้น

(พระราชพรหมยาน วัดท่าซุง จ.อุทัยธานี)

การปฎิบัติตนเพื่อการหนีบาป ท่านสาธุชนพุทธบริษัททั้งหลาย ต่อไปนี้อาตมาจะขอปรารภ เรื่อง การปฏิบัติตนหนีบาป คำว่า "บาป" นี่บรรดาท่านพุทธบริษัท ซึ่งแปลว่า "การกระทำความชั่ว" ซึ่งสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงยืนยันว่า บุคคลใดถ้าตกเป็นทาสของความชั่วคือ บาป เวลาก่อนจะตาย ถ้ากำลังจิตเศร้าหมองมีกำลังใจกังวลอยู่กับบาป ตายแล้วก็ต้องตกนรก ความจริงที่บางท่านคิดว่า การตายแล้วไม่เกิด คือว่าตายแล้วมีสภาพสูญ อย่างไรก็ตามเถอะพระพุทธเจ้าทรงยืนยันว่า คนเราตายแล้วต้องมีการเกิด แต่การเกิดนั้นจะเกิดเป็นมนุษย์ หรือเกิดเป็นสัตว์นรก เป็นเปรต เป็นอสุรกาย เป็นสัตว์เดรัจฉาน ก็ถือว่าเกิดทั้งหมด ถ้าส่วนดีก็ไปเกิดเป็นเทวดาบ้าง เป็นพรหมบ้าง ถ้าดีถึงที่สุดก็ไปเกิดเป็นพระอรหันต์เข้านิพพานไป เป็นอันว่าอาตมาเองก็ขอยืนยันตามที่สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสว่า การตายแล้วเกิดนั้นมีจริง ซึ่งบรรดาท่านพุทธบริษัทชายและหญิง ส่วนใหญ่เวลานี้ก็ปฏิบัติในหลักสูตรของวิชชาสามบ้าง ในหลักสูตรของอภิญญาหกบ้าง สามารถระลึกชาติได้ว่าก่อนจะเกิดเราเคยเกิดเป็นอะไรบ้าง ตายเป็นอะไรมาบ้าง อย่างนี้ทราบกันอยู่แล้วก็เป็นอันว่ายืนยันตามคำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระประทีปแก้วได้ว่าการตายแล้วต้องเกิดจริง การที่จะกลับมาเกิดเป็นมนุษย์หรือไม่นั้น ก็เป็นเรื่องของบุญและบาปการกลับมาเกิดเป็นมนุษย์นี่ก็ไม่แน่นักว่ามาจากบุญฝ่ายเดียวส่วนใหญ่การกลับมาเกิดเป็นมนุษย์ก็นำมาทั้งเศษบุญและเศษบาป เศษบุญ เป็นปัจจัยให้ทุกคนมีความสุขตามสมควรกับบุญนั้น เศษบาป เข้ามาครอบงำจิตเมื่อไหร่ ทุกคนที่รับผลนั้นก็จะมีแต่ความทุกข์ ความเร่าร้อน ถ้าหากว่าเราคิดว่าตายแล้วไม่เกิด จิตจะมีความประมาทพลาดจากความเป็นจริงถ้าคิดอย่างนั้นบรรดาท่านพุทธบริษัทชายและหญิง ก็จะมีความประมาทในชีวิต คิดว่าการเกิดมาแล้วตายก็สูญ เมื่อมันจะสูญไปจากโลกนี้ไม่มีการเกิดต่อไป
การกระทำความดีหรือการกระทำความชั่วใด ๆ ย่อมมีผลเฉพาะในชาติปัจจุบันเท่านั้น เพราะชาติข้างหน้าไม่มี ถ้าคนที่มีกำลังใจดีก็จะสั่งสมความดี เพื่อความสุขของตน คนที่มีจิตหยาบบาปอกุศลก็ครอบงำ ก็จะทำแต่ความชั่ว สร้างความเร่าร้อนให้แก่ตัวและบุคคลอื่นถ้าตายแล้วบังเอิญที่ต้องเกิดจริง ๆ ความจริงอาตมาใช้คำว่าบังเอิญเฉพาะบุคคลที่คิดว่าตายแล้วสูญ สำหรับอาตมาเองจริง ๆ ขอยืนยันว่าตายแล้วเกิดแน่ การระลึกชาติเราสอนกันได้แล้วมีญาติโยมพุทธบริษัททำได้นับแสน ถ้าเราไม่มีการเกิดเราจะรู้ชาติที่แล้วมาได้อย่างไร ก็รวมความว่า ขอยืนยันอีกครั้งหนึ่งว่าการเกิดต่อไปมีจริง ๆ ใครท่านจะว่าไม่มีก็ช่างท่านเถอะ เรื่องความเห็นนี่อย่าไปถือว่าเป็นเรื่องผิดเรื่องถูก ของใครก็ของมันอาตมาบวชมาตามหลักสูตรในพระไตรปิฎก ซึ่งบรรดาพระทั้งหลายยอมรับว่าเป็นถ้อยคำที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงสั่งสอน และก็ปฏิบัติตามพระไตรปิฎกก็มีผลตามนั้นจึงหมดสงสัย ในเมื่อเรามาพูดกันถึงเรื่องเกิดพอสมควร เพราะว่าเมื่อเกิดแล้วตายแล้วจะต้องไปนรกบ้าง จะพบกับแดนของความทุกข์ ต้องการอย่างเดียวคือ ต้องการพบกับแดนของความสุข เราจะทำอย่างไรกัน? ข้อนี้ขอบรรดาท่านพุทธบริษัททุกท่าน ที่มีความเคารพในพระพุทธเจ้า ฟังคำแนะนำของพระพุทธเจ้าสักหน่อยหนึ่ง แล้วลองไปปฎิบัติตาม ถ้าทุกท่านที่ฟังแล้วนำไปปฏิบัติตามได้จริง อาตมาก็ขอยืนยันว่าการเกิดต่อไปข้างหน้าของท่าน ที่มีกี่ครั้งก็ตามกี่ชาติก็ตาม ขอยืนยันว่าทุกท่านจะไม่พบกับอบายภูมิทั้ง ๔ คือการเกิดเป็นสัตว์นรกก็ดี เป็นเปรตก็ดี เป็นอสุรกายก็ดี เป็นสัตว์เดรัจฉานก็ดี จะไม่มีแก่ท่านทุกชาติที่เกิดต่อไปและการเกิดของบรรดาท่านพุทธบริษัททั้งหลาย ก็จะจำกัดการเกิด เอาเฉพาะการปฏิบัติอย่างหยาบๆท่านทั้งหลายถ้าจะมีการเกิดจริง ถ้ากำลังใจของท่านย่อหย่อนปฏิบัติได้แต่ว่าไม่เคร่งเครียดนัก คือปฏิบัติได้ไม่ละเอียดนัก พอทำกันได้ เรียกว่าประเภท"เช้าชามเย็นชาม"แต่ก็สามารถทรงความดีไว้ได้
อย่างนี้ถ้าหากว่าท่านจะเกิดใหม่ก็เกิดเป็นเทวดาหรือพรหม ๗ ชาติ และกลับมาเกิดเป็นมนุษย์อีก ๗ ชาติตามหลักวิชาหลังจากนั้นก็เป็นพระอรหันต์เข้านิพพาน ถ้ามีกำลังใจอย่างกลางคือไม่เก่งเกินไป ไม่เก่งจนถึงที่สุดและก็ไม่ล่าถึงที่สุดคือว่าประเภท "ทำได้แต่ทำได้อย่างเชื่องช้า"กำลังใจอ่อน ๆ ไม่ถึงอย่างนั้น มีกำลังใจกลางๆ ที่เรียกว่า "มีบารมีอย่างกลาง"อย่างนี้ท่านจะเกิดเป็นเทวดาหรือพรหม ๓ ชาติ จะเกิดเป็นมนุษย์อีก ๓ ชาติ เท่านี้ก็สามารถเป็นพระอรหันต์เข้านิพพาน ถ้ามีกำลังใจเข้มแข็งทำได้แบบละเอียดจริง ๆ อารมณ์สุขุมทรงตัวได้อย่างดีถ้ากำลังใจประเภทนี้เราทำได้จะเกิดเป็นเทวดาหรือพรหมอีกชาติเดียวเท่านั้น กลับลงมาเกิดเป็นมนุษย์อีก ๑ ชาติเป็นพระอรหันต์เข้านิพพาน หลักสูตรนี้มีในพระไตรปิฎก ที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า ทุกคนใหัตัดสังโยชน์ สังโยชน์นี่ถ้าตัดได้ ๓ จะเป็นพระโสดาบัน หรือสกิทาคามี เพียงแต่เป็นพระโสดาบันอย่างหยาบที่เรียกว่า สัตตักขัตตุง ต้องเกิดอีก ๗ ชาติ เพียงเท่านี้บรรดาท่านพุทธบริษัทอบายภูมิทั้ง ๔ จะเข้าไม่ถึงและก็ไม่พบหน้ากันแล้วก็ขอลาอบายภูมิได้ สังโยชน์ทั้ง ๑๐ ประการนี้มีอะไรบ้าง? ๑. สักกายทิฏฐิ ๒. วิจิกิจฉา ๓. สีลัพพตปรามาส สามข้อนี้อาตมาจะสอนญาติโยมพุทธบริษัทปฏิบัติกัน ถ้าตัด ๓ ข้อนี้ได้ อย่างหยาบก็สามารถหลีกนรกได้แน่นอน ไม่พบหน้ากันอีกแล้ว ข้อที่ ๑ ที่เรียกว่า สักกายทิฏฐิ ซึ่งมีความเห็นว่าร่างกายนี้เป็นเราเป็นของเรา หรือเรามีในร่างกาย ร่างกายมีในเรา อย่างนี้เป็นต้น หรือว่ามีความรู้สึกว่าร่างกายนี้มีสภาพไม่ตาย มันจะทรงตัวอยู่ตลอดกาลตลอดสมัย ไม่เสื่อมไม่ตายไปจากโลกนี้หรือว่ามีความเห็นว่าร่างกาย ไปสวรรค์บ้าง คือไปสู่แดนของความสุขบ้าง แดนของความทุกข์บ้าง ทุกคนก็ไม่มีใครอยากนี้นอกจากจะไม่ตายแล้ว มันก็มีแต่ความสะอาด เรียกว่ามีความสะอาดน่ารัก น่าชม น่านิยมทุกอย่าง ไม่มีส่วนใดส่วนหนึ่งเป็นของโสโครกแล้วก็มีความรู้สึกว่าร่างกายนี้เป็นเราเป็นของเรา เรามีในร่างกาย ร่างกายมีในเรา ความรู้สึกในสักกายทิฏฐิ อาตมาตั้งไว้ ๓ ระดับก็เพราะอารมณ์อย่างนี้มีความรู้สึกไม่เสมอกัน ถ้าอารมณ์ขั้นพระโสดาบันหรือสกิทาคามี จะมีความรู้สึกเป็นแต่เพียงว่าร่างกายนี้ต้องตายถ้าอารมณ์ของพระอนาคามี จะมีความรู้สึกว่าร่างกายนี้นอกจากจะตายแล้วมีสภาพเสื่อม ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ และสลายตัวไปในที่สุด ร่างกายของคนก็ดี ของสัตว์ก็ดี วัตถุธาตุใด ๆ ก็ดี ไม่มีคำว่าสะอาด มีแต่คำว่าสกปรก น่าเกลียด น่าชังอย่างยิ่งมีความรังเกียจในการที่จะมีร่างกายต่อไปอีก
อันนี้เป็นอารมณ์ของพระอนาคามี ถ้าเป็นอารมณ์ของพระอรหันต์ จะมีความรู้สึกว่าร่างกายนี้ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา เราไม่มีในร่างกาย ร่างกายไม่มีในเรา ฉะนั้นจึงขอชวนบรรดาท่านพุทธบริษัทปฏิบัติแค่เบื้องต้น ยึดอารมณ์ของพระโสดาบันเข้าไว้ เราจะเป็นพระโสดาบันหรือสกิทาคามีหรือไม่นั้นไม่สำคัญ อย่าคำนึงถึงว่าเราจะต้องเป็นพระโสดาบันบ้าง เป็นสกิทาคามีบ้าง ถ้ามีความรู้สึกอย่างนั้นความประมาทจะเกิดแก่บรรดาท่านพุทธบริษัทคิดว่า "เราดีแล้ว" ถ้าบังเอิญเราไม่ได้เป็นจริง ๆ ถ้าพลาดพลั้งตายลงไปอาจจะไปอบายภูมิได้ ฉะนั้นการปฏิบัติจริง ๆ ให้ต้องการแต่ผล อย่าคิดว่าตนเป็นอย่างนั้น คิดว่าตนเป็นอย่างนี้ จะกลายเป็นคนมีมานะทิฏฐิ ซึ่งเป็นกิเลสหยาบทำปัญญาให้ถอยหลัง รวมความว่าสังโยชน์ ๑๐ ประการก็คือ
๑. สักกายทิฏฐิ มีความรู้สึกว่าร่างกายนี่มันจะไม่ตาย ร่างกายสะอาด ร่างกายเป็นเราเป็นของเรา เรามีในร่างกาย ร่างกายมีในเรา
๒. วิจิกิจฉา มีความสงสัยในพระพุทธเจ้า ในพระธรรมคำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า สงสัยในความดีของพระอริยสงฆ์ ไม่ตกลงว่าเราจะยอมรับนับถือหรือไม่
๓. สีลัพพตปรามาส ไม่ตั้งใจรักษาศีลอย่างจริงจัง รักษาศีลประเภทศีลหัวเต่าคือ ผลุบเข้าผลุบออก ประเดี๋ยวก็ทรงตัวบ้าง ประเดี๋ยวก็ไม่ทรงตัวบ้าง สังโยชน์
ข้อที่ ๔ กามฉันทะ มีความหลงใหลใฝ่ฝันในรูปสวย เสียงเพราะ กลิ่นหอม รสอร่อย สัมผัสระหว่างเพศ นี่เรียกว่าติดหลงใหลใฝ่ฝันอยู่ในกามารมณ์ สังโยชน์
ข้อที่ ๕ ปฏิฆะ มีอารมณ์ข้องใจไม่พอใจ คือ มีความโกรธ มีความไม่พอใจอยู่เป็นปกติยังเหลืออย สังโยชน์
ข้อที่ ๖ รูปราคะ มีความหลงใหลใฝ่ฝันในรูปที่เป็นวัตถุ หรือรูปฌาน สังโยชน์
ข้อที่ ๗ สงสัยใฝ่ฝันในอรูป หรือสิ่งที่ไม่มีรูป หรือ อรูปฌาน ว่าดีเลิศประเสริฐแล้ว สังโยชน์
ข้อที่ ๘ มานะ ยังมีการถือตัวถือตน ว่าเราดีกว่าเขา เราเสมอเขา เราเลวกว่าเขา สังโยชน์
ข้อที่ ๙ อุทธัจจะ ยังมีอารมณ์ฟุ้งซ่าน ไม่มั่นใจในตัวเองว่าเราจะไปนิพพานดีหรือไม่ไปนิพพานดี ไปได้แน่หรือไปไม่ได้แน่ เอาแน่นอนไม่ได้ คือจิตใจขาดความเข้มแข็ง สังโยชน์
ข้อที่ ๑๐ อวิชชา อวิชชานี้ยังมีความหลงใหลใฝ่ฝันในมนุษย์โลก เทวโลกและพรหมโลก ยังเห็นว่ามนุษย์โลก เทวโลก พรหมโลกเป็นของดี ต้องการเวียนว่ายตามเกิดในวัฏฏะ
รวมความว่าสังโยชน์ ๑๐ ประการนี้เป็นเครื่องดึงเราให้เวียนว่ายตายเกิด ตายแล้วเกิด เกิดแล้วก็ตาย ไม่ใช่เกิดจากมนุษย์ตายเป็นมนุษย์ ตายจากมนุษย์เกิดเป็นมนุษย์ไม่ใช่อย่างนั้น ตายจากมนุษย์แล้วอาจจะเป็นสัตว์นรกก็ได้ เปรตก็ได้ อสุรกายก็ได้ สัตว์เดรัจฉานก็ได้ เป็นเทวดาหรือพรหมก็ได้ เป็นอะไรก็ได้ สุดแล้วแต่ความดีหรือความชั่ว ถ้าบรรดาท่านพุทธบริษัท หรือบรรดาเพื่อนภิกษุสามเณรสามารถตัดสังโยชน์ได้ถึง ๑๐ ประการ พระพุทธเจ้าทรงเรียกว่า "พระอรหันต์" เป็นผู้ตัดกิเลสเป็น "สมุจเฉทปหาน" ก็รวมความว่าเราจะไม่พบกับคำว่าการเกิดเป็นสัตว์นรก เป็นเปรต เป็นอสุรกาย เป็นสัตว์เดรัจฉาน การเกิดเป็นมนุษย์ เป็นเทวดา หรือพรหมไม่มีอีกแล้ว ไปอยู่นิพพานแห่งเดียวมีแต่ความสุขสำราญ ไม่มีความทุกข์เป็นที่ไป ก็รวมความว่าวันนี้หรือวันต่อไป ก็ยังไม่ชวนบรรดาญาติโยมพุทธบริษัทและเพื่อนภิกษุสามเณร เป็นพระอนาคามี หรือเป็นพระอรหันต์ ก็ยังไม่ชวนทุกท่านเป็นพระโสดาบัน หรือสกิทคามี และชวนแต่เพียงว่า เรามาเอากันอย่างนี้ดีกว่า ในเมื่อพระโสดาบัน ก็ดี พระสกิทาคามีก็ดี ท่านสามารถหลีกนรกได้เด็ดขาด ถึงอย่างไรก็ตามท่านไม่มีโอกาสลงนรกได้อีก นรกก็ไม่เกิด เป็นเปรตก็ไม่เกิด อสุรกายก็ไม่เกิดเป็นสัตว์เดรัจฉานก็ไม่เกิด จะมีแดนที่ไปที่มาระหว่างมนุษย์โลกกับเทวโลกเท่านั้นเป็นอันว่า "ตัดอบายภูมิได้เด็ดขาด" เราต้องการกันแค่นี้ก่อน ทั้งนี้เพราะอะไร เพราะบรรดาญาติโยมพุทธบริษัทก็ดี เพื่อนภิกษุสามเณรก็ดี อาตมาเองก็ตาม สำหรับอาตมาจริง ๆ มีความรู้สึกว่าเวลานี้เป็นเด็กอ่อน ยังเป็นเด็กอ่อนอยู่ ยังไม่กล้าต่อสู้อารมณ์ที่เข้าไปถึงความเป็นพระอรหันต์ เราเป็นเด็กเล็กมีกำลังน้อย ๆ ยกของเบา ๆ ก่อน
อันดับแรก ลองยกสังโยชน์ทั้ง ๓ ประการออกจากใจ ก็คิดว่ายังไง ๆ เราก็ไม่ไปนรกกันก่อน ไม่เป็นเปรต ไม่เป็นอสุรกาย ไม่เป็นสัตว์เดรัจฉานกันก่อนดีกว่าเอายังไงก็ดี ตั้งต้นกันจุดนี้เถอะบรรดาท่านพุทธบริษัทผู้ปฏิบัติพระกรรมฐาน การปฏิบัติพระกรรมฐานในหลักสูตรของวิชชาสามก็ดี อภิญญาก็ดี ปฏิสัมภิทาญาณก็ดี หากว่าท่านได้ ๒ ในวิชชาสาม, ๕ ในอภิญญาหก หรือสมาบัติ ๘ แต่ว่าท่านไม่สามารถจะตัดสังโยชน์ ๓ ประการให้พ้นจากใจได้ ท่านก็ยังเป็นเหยื่อของอบายภูมิ มีนรกเป็นต้น เราก็มาลองดูมันยากนักไหม ยากหรือไม่ยากก็ลองพิจารณากันดู ๑. สักกายทิฏฐิ เอาตัวนี้เข้ามาตั้งต้นก่อน อารมณ์ขั้นต้นของพระโสดาบันกับสกิทาคามท่านมีความรู้สึกว่าชีวิตนี้ต้องตายและบรรดาเพื่อนภิกษุสามเณรก็ดี ญาติโยมพุทธบริษัทก็ดี มีความรู้สึกเหมือนพระโสดาบัน สกิทาคามีไหม ท่านมีความรู้สึกตัวท่านเองท่านจะตายไหม แต่ก็บางทีหลาย ๆ ท่านอาจจะลืม คิดว่าเราจะต้องตายเป็นปี ๆ ก็ได้ บางทีเกิดมา ๑๐ ปี ๒๐ ปี ลืมนึกถึงว่าชีวิตมันจะต้องตาย อันนี้เป็นของธรรมดาของพวกเรา ญาติโยมก็เหมือนกัน เพื่อนภิกษุสามเณรก็เหมือนกัน อาตมาก็เช่นเดียวกัน เราก็พวกขี้หลงขี้ลืมเหมือนกัน ต่อแต่นี้ไปเรามาตั้งต้นกันใหม่ดีไหม ว่าต่อนี้ไปก่อนจะหลับเราจะคิดไว้ว่าหลับคราวนี้จะได้ตื่นเห็นพระอาทิตย์วันใหม่หรือไม่ก็ไม่ทราบ เราอาจจะต้องตายระหว่างการหลับหรือก่อนสว่างก็ได้ พอสว่างแล้วตื่นขึ้นมา ก็มีความรู้สึกว่าเราจะได้เห็นกลางคืนของคืนวันนี้หรือไม่ก็ไม่ทราบ เพราะชีวิตในช่วง ๑๒ ชั่วโมงของกลางวันเราอาจจะตายก่อนก็ได้ ตามที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า "ชีวิตเป็นของไม่เที่ยง แต่ความตายเป็นของเที่ยง" เรื่องความตายนี้บรรดาท่านพุทธบริษัทจงอย่าคิดว่าคนคิดถึงความตายนี้ ต้องงอมืองอเท้าไม่ทำมา หากิน ไม่สั่งสมความดี อันนั้นผิด องค์สมเด็จพระธรรมสามิสรทรงแนะนำว่าคนที่นึกถึงความตายนี่ เขาเป็นคนที่มีความแกล้วกล้า ประกอบกิจการงานทุกอย่างตามหน้าที่ครบถ้วน เพราะไม่แน่ใจว่าจะตายเมื่อไร สมมุติว่า ท่านมีสามีหรือภรรยา และมีบุตร ธิดาอยู่ด้วย มีคนที่ต้องอุปถัมภ์ ถ้าเราประมาทในชีวิต คิดว่าแก่สัก ๖๐ ปีหรือ ๗๐ ปี ๘๐ ปี หรือ ๑๐๐-๒๐๐ ปี จะต้องตายเราก็ไม่สั่งสมทรัพย์สินไว้เพื่อลูกเพื่อหลาน ยังคิดว่าอีกนานเราจะตายไม่เป็นไร ระหว่างนี้ทำกินพอกินไปวัน ๆ หนึ่งก็ได้ ถ้าเผอิญมันปุ๊บปั๊บตายไปก่อนล่ะ ลูกหลานไม่ลำบากหรือ เราเองก็ลำบาก เพราะเรามีทรัพย์น้อย พอจะตายขึ้นมาจริง ๆ จิตก็มีความกังวลถึงลูกถึงหลาน ตัวจิตกังวลนี่แหละบรรดาท่านพุทธบริษัท จะทำให้เราต้องลงอบายภูมิ หากว่าเราไม่ประมาทในชีวิต คิดว่าอาจจะตายวันนี้ไว้เสมอ
เราก็หาทางรวบรัดสิ่งใดที่จะสร้างทรัพย์สมบัติได้ให้เกิดขึ้น สำหรับทำทุนทำรอนไว้เพื่อเราในยามป่วยหรือยามแก่ ถึงเวลาที่มันตายไปแล้วลูกหลานไม่ลำบากในการจัดการศพ หรือการเป็นอยู่ในเบื้องหน้าเราก็หาทรัพย์สมบัติมาตามกำลังที่จะพึงหาได้ หาจนเต็มความสามารถด้วยความไม่ประมาทในชีวิต อย่างนี้ถ้าบังเอิญมันยังไม่ตาย ทรัพย์สินที่เราหาได้ก็จะสร้างความสุขให้เกิดขึ้นกับเราในปัจจุบัน ในเมื่อเราคิดว่าเราจะตายแล้ว รู้ว่าตายแล้วถ้าทำความชั่ว จิตชั่วเราต้องไปอบายภูมิ มีการเกิดเป็นสัตว์นรกเป็นต้น เราก็จะละจากความชั่วนั้น ตั้งหน้าตั้งทำดี พูดดี คิดดี คนที่ทำดีพูดดีและคิดดี คนประเภทนี้เป็นที่รักของคนทุกคนในโลก ไม่มีคนเลวที่ ไหนที่เห็นว่าคนพูดดี ทำดี คิดดี เป็นคนที่น่าเกลียด ที่ต้องการประกาศเป็นศัตรู ถ้าคนที่มีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์ บรรดาท่านพุทธบริษัทใครเขาก็รักทุกคนที่ทำดี พูดดี และคนคิดดี เพราะการทำดีเป็นการกระทำที่ไม่เบียดเบียนบุคคลอื่นให้มีความทุกข์ คนก็ดี สัตว์ก็ดี ไม่มีความทุกข์ เพราะการกระทำของเรา การพูดดี คนก็ดี สัตว์ก็ดีในโลกจะไม่เกิดความลำบากเดือดร้อนจากคำพูดของเราคนที่คิดดี คนและสัตว์ในโลกจะไม่เกิดความลำบากยากแค้นไม่มอันตรายเพราะความคิดดีของเรา เราเองก็มีแต่ความสดชื่น คนอื่นเห็นเข้าก็มีการชื่นอกชื่นใจ อยากคบหาสมาคม ไปที่ไหนก็มีแต่มิตรเป็นที่รัก ถ้าอย่างนี้บรรดาท่านพุทธบริษัท คนที่คิดว่าจะต้องตายและเกรงว่าจะไปอบายภูมิต่างคนต่างทำดี ต่างคนต่างพูดดี ต่างคนต่างคิดดี อย่างนี้เจอะหน้ากันก็มีแต่ความเป็นมิตร ไม่มีใครคิดเป็นศัตรูต่อกัน พูดก็พูดวาจาที่เป็นที่รักซึ่งกันและกัน การกระทำก็ไม่ขัดใจกัน ไม่ขัดขวาง ไม่มีการกลั่นแกล้งกัน ช่วยเหลือกัน ความคิดก็ไม่หมกมุ่นไปด้วยอารมณ์ที่เศร้าหมอง
อย่างนี้บรรดาญาติโยมพุทธบริษัท รวมทั้งเพื่อนภิกษุสามเณรเห็นด้วยไหม ว่าก่อนจะตายหรือไม่ทันจะตายเราก็มีความสุขแล้ว ความสุขเกิดจากการเห็นหน้าและยิ้มแย้มแจ่มใสเข้าหากัน ทุกคนก็มีแต่ความสดชื่น ถ้ามีการขัดข้องในทรัพย์สินหรือสิ่งของต่าง ๆ ต่างคนต่างยื่นโยนซึ่งกันและกัน สงเคราะห์ซึ่งกันและกันอย่างนี้ความทุกข์ยากมันก็ไม่มี กำลังใจก็ดีมีแต่คิดถึงความเป็นมิตรซึ่งกันและกัน อย่างนี้แหละบรรดาท่านภิกษุสามเณรทั้งหลายและญาติโยมพุทธบริษัทควรคิดไหมว่าเราจะตาย ในเมื่อเราคิดว่าจะต้องตายแล้ว เราก็ตั้งใจว่าการตายของเราคราวนี้จะตายเมื่อไรก็ตามที จะตายระยะไหนก็ตามคิดว่าพร้อมที่จะตายวันนี้ไว้เสมอ เราก็ทำดีทุกจุด ความดีอันดับแรกบรรดาท่านพุทธบริษัทจะทำอะไรดี จะทำอะไรเป็นจุดแรกดีก็ขอยืนยันยึดเอาสังโยชน์ข้อที่ ๒ ที่เราเรียกว่า "วิจิกิจฉา" ทำลายวิจิกิจฉาให้พ้นจากกำลังใจของเรา คำว่า "วิจิกิจฉา" นี่แปลว่า "สงสัย" คือสงสัยในความดีของพระพุทธเจ้า สงสัยในความดีของพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า สงสัยในความดีของพระอริยสงฆ์ มีพระอรหันต์ เป็นต้น สงสัยว่าพระพุทธเจ้าน่ะมีจริงหรือไม่จริง ถ้ามีจริง ๆ พระพุทธเจ้าน่ะดีไหม คำสอนของพระองค์ดีจริง ๆ หรือเปล่า นี่สงสัย สงสัยคำสอน นี่สงสัยพระธรรมเลย แล้วสงสัยว่าพระอริยสงฆ์ในพระพุทธศาสนานี่มีหรือไม่มี หนัก ๆ เข้าก็เลยคิดว่าไม่มี เพราะตัวสงสัย พระพุทธเจ้าจริง ๆ ก็ไม่มี พระไตรปิฎกที่มีอยู่อ่านกันอยู่ ก็เป็นพระไตรปิฎกโกหกมดเท็จ ใครเขียนขึ้นมาก็ไม่รู้ก็เขียนแบบโกหกขึ้นมาว่าโลกนั้นมีโลกนี้มี ระลึกชาติได้ไม่ได้ จิปาถะกันไป เลยสงสัยพระสงฆ์ในพระพุทธศาสนาที่เขาบอกว่าพระสงฆ์ พระสงฆ์น่ะเป็นพระสงฆ์จริง ๆ หรือว่าเป็นตัวเบียดเบียนประชาชน ทำให้สังคมมีความทุกข์ มีความเร่าร้อน เพราะพระไม่เห็นจะทำอะไรได้แต่บิณฑบาตแล้วก็กิน กินแล้วก็นอน นอนแล้วก็บิณฑบาตแล้วก็บอกบุญบ้าง ขอบุญบ้างเรี่ยไรกันบ้างจิปาถะ มีแต่พูดไปพูดมาแล้วก็พูดไป ไม่เห็นมีอะไรให้เกิดประโยชน์ นี่ไม่สงสัยนะเลยไม่เชื่อเสียเลย ลักษณะอย่างนี้เป็นสังโยชน์ ข้อที่ ๒ ที่ทำให้คนเราต้องลงอบายภูมิ
ขอยืนยันว่าถ้ามีอารมณ์อย่างนี้ต้องลงอบายภูมิ เป็นสัตว์นรก เป็นเปรต เป็นอสุรกาย เป็นสัตว์เดรัจฉาน แน่นอน ถ้าถามว่าคนที่เขามีความรู้สึกอย่างนี้แล้วไม่ไปนรกมีไหม ? ก็ต้องตอบว่าไม่มี เว้นไว้แต่ว่าจะมีเวลาส่วนใดส่วนหนึ่ง แม้แต่เป็นเวลาน้อยมีความเชื่อมีความเลื่อมใสเข้ามาเพียงเล็กน้อย ตายปุ๊บปั๊บในขณะนั้นอาศัยที่จิตมีความเลื่อมใสในพระพุทธเจ้า เป็นต้น แล้วก็ไปสวรรค์ชั่วคราว ใช้เวลาไม่นานก็ลงป๋อมลงนรกไป เอาละบรรดาท่านพุทธบริษัททั้งหลายสำหรับเบื้องต้นวันนี้ก็พูดกันมากไปกว่านี้ไม่ได้ เพราะเวลาหมดแล้ว ก็ต้องขอลาก่อน ขอความสุขสวัสดิ์พิพัฒนมงคลสมบูรณ์พูนผลจงมีแด่บรรดาท่านพุทธศาสนิกชนทุกท่านสวัสดี

ลักษณะแห่งการหนีบาป

ท่านสาธุชนพุทธบริษัททั้งหลาย ตอนนี้เป็นตอนที่ ๒ ก็มาพูดถึงลักษณะแห่งการหนีบาปกันต่อไป แต่ขอย้ำไว้ก่อนว่าการที่จะหนีอบายภูมิทั้ง ๔ คือการไม่เกิดเป็นสัตว์นรก เป็นเปรต เป็นอสุรกาย เป็นสัตว์เดรัชฉาน ต่อไปนั้น ต้องกำจัดสังโยชน์ คือ อารมณ์ชั่ว ๓ ประการ ให้พ้นจากใจ อารมณ์ชั่วทั้ง ๓ ประการ ขอย้ำไว้ตอนนี้ก่อนตอนต้นจะได้ไม่เฝือ

๑. ที่มีความรู้สึกว่าชีวิตนี้ไม่ตายตัดทิ้งไป ให้มีความรู้สึกว่ามันจะต้องตายแน่และไม่ประมาทในชีวิต คิดทำความดีต่อไป
๒. วิจิกิจฉา ความสงสัยในความดีของพระพุทธเจ้า พระธรรม และพระอริยสงฆ์ตอนนี้ตัดทิ้งไป ยอมรับนับถือพระพุทธเจ้า พระธรรม และพระอริยสงฆ์
๓. สีลัพพตปรามาส มีการปฏิบัติในศีลไม่แน่นอน ไม่จริงจัง อันนี้ต้องทิ้งไปหันมากลับมาปฎิบัติในศีลให้แน่นอนและจริงจัง ฆราวาสเพียงแค่ศีลห้า หรือว่ากรรมบถ ๑๐ ใช้ได้แล้ว สำหรับภิกษุสามเณรก็มีศีลของท่าน ถ้าปฏิบัติได้อย่างนี้ทุกคน
ขอบรรดาท่านพุทธศาสนิกชนมีความมั่นใจได้ว่าจะตายเมื่อไหร่ก็ตามที เราไม่ลงอบายภูมิกันแน่ ที่หันมาพูดอย่างนี้ก็ย่ำไว้แต่ตอนต้น เพราะว่าบรรดาท่านพุทธศาสนิกชนจะงงเพราะในตอนต่อไปนี้พูดเรื่องตายจำให้ได้ว่าชาตินี้ทั้งชาติตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป เราจะไม่ประมาทเรื่องความตายของชีวิต และคนที่เกิดทีหลังเราเด็กเล็กตายก่อนเราไปเยอะแยะเราต้องตายแน่ พยายามรวบรัดความดีเข้าไว้ บาปเก่า ๆ ที่ทำไว้แล้วช่างมัน มันจะไปไหนก็ช่างมันมันตามเราไม่ทันด้วยอาศัยเคารพพระพุทธเจ้า เคารพพระธรรม เคารพพระอริยสงฆ์ และปฏิบัติศีลให้บริสุทธิ์ อย่าลืมว่าฆราวาสศีลห้า อาจจะหยาบไปนิดหนึ่งแต่ก็พ้นอบายภูมิแล้ว ถ้าทางที่ดีได้กรรมบถ ๑๐ จะดีมาก เรื่องนี้รายละเอียดเป็นอย่างไรอ่านต่อไปข้างหน้า สำหรับตอนนี้ก็มาขอต่อตอนต้นที่ผ่านมาก็คือ ตอนที่ ๑ ว่าในเมื่อเรานึกถึงความตายแล้วเราก็เข้ามาไม่สงสัยในความดีของพระพุทธเจ้า ในความดีของพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า และความดีของพระอริยสงฆ์ ตอนนี้ก็มาว่าถึงความดีของพระพุทธเจ้าก่อน พระพุทธเจ้ามีความดีเหลือหลาย อาตมาเองก็ไม่สามารถจะพรรณนาความดีของพระพุทธเจ้าให้ครบถ้วนได้ แต่ขืนพรรณนาไปมาก บรรดาท่านพุทธบริษัทก็จะเบื่อเอากันตอนต้นน้อย ๆ ก็แล้วกัน เพียงแค่เรายอมรับนับถือความจริงของท่าน ที่พระพุทธเจ้าทรงอุบัติขึ้นมาแล้วในโลก พระองค์ไม่ได้หวังประโยชน์ความสุขส่วนตัวเลย คือว่าไม่หวังเฉพาะความสุขส่วนตัว ต้องการแจกจ่ายความสุขให้แก่บุคคลทั้งโลกตามที่พระองค์จะพึงทำได้ ทั้งนี้ก็ต้องอาศัยความเชื่อความเลื่อมใสในพระองค์ ถ้าขาดความเลื่อมใสพระพุทธเจ้าก็ช่วยไม่ได้เหมือนกัน เพราะคนที่ไม่เชื่อกันแล้วนี่พูดเท่าไรก็ไม่ยอมรับฟังฟังแล้วก็ไม่ยอมเชื่อและก็ไม่ยอมปฏิบัติตาม อย่างนี้ก็ไม่มีทางจะช่วยได้ ที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า "อักขาตาโร ตถาคตา" ตถาคตเป็นแต่เพียงผู้บอกเท่านั้น บอกแล้วจะทำตามหรือไม่ทำตามเป็นหน้าที่ของท่าน ถ้าทุกคนทำตามได้ บุคคลนั้นก็พ้นจากอบายภูมิได้ เอาแค่เบื้องต้นนะ ถ้าเราสามารถปฏิบัติตามได้พ้นได้แน่ นี่เราจะปฏิบัติตามท่าน จะเอาอย่างไร ในตอนนี้เรายังไม่พูดถึงศีลก่อน เอาแค่ความดีของพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้ามีกฎแห่งการสอนอยู่ว่า
๑. สัพพปาปัสสะ อะกะระณัง ให้บรรดาพระสงฆ์และพระองค์เองก็เช่นเดียวกัน พยายามสอนให้ทุกคนละจากความชั่วทุกประเภท คือไม่ทำความชั่วทุกประเภทไม่ทำ ไม่พูด และก็ไม่คิดซะด้วย
๒. กุสลัสสูปสัมปทา แนะนำให้ทำความดีทุกประการ
๓. สจิตตะปริโยทะปะนัง แนะนำสั่งสอนให้มีจิตใจผ่องใส คือไม่มีอารมณ์มัวหมองมีอารมณ์สดชื่นอยู่เสมอ
๔. เอตัง พุทธานะสาสะนัง ท่านยืนยันว่าพระพุทธเจ้าทุกองค์ตรัสอย่างนี้เหมือนกันหมด มาตอนนี้ทุกท่านจะสงสัยไหม ก็ไม่ขอพูดให้มันเลอะ สงสัยหรือไม่สงสัยก็ช่าง เอาคนเข้านับถือพระพุทธเจ้าแบบย่อ ๆ เอาประเภทย่อ ๆ ที่ทำแบบง่ายที่สุด แล้วตายจากความเป็นคนก็ยังไม่มาเกิดเป็นคน และก็ไม่ลงนรก ไปเกิดเป็นเทวดา เอากันอย่างย่อ ๆ ง่าย ๆ นะ ยังไม่ต้องปฏิบัติตามมากเอาแค่นึกถึง แค่นึกถึงพระพุทธเจ้าเท่านี้ แล้วเขาผู้นั้นก็ตายจากความเป็นคนแล้วไม่ยอมลงนรกด้วย แล้วไปเกิดเป็นเทวดาบนสวรรค์ชั้นดาวดึงสเทวโลก หลังจากนั้นเมื่อเป็นเทวดาแล้วได้พบพระพุทธเจ้าอีกครั้งหนึ่ง ฟังเทศน์อีกครั้งเดียวย่อ ๆ สั้น ๆ ท่านผู้นั้นก็เป็นพระโสดาบัน

56


ธรรมดาของโลก

"การที่คนเราแม้แต่ในวงนักปฎิบัติธรรมะ
ตราบใดที่เรายังเป็นปถุชนคนมีกิเลศอยู่
ก็ย่อมที่จะมีการกระทบกระทั่งกันเป็นเรื่องธรรมดา
แต่เราควรพึงระลึกถึงประโยชน์เพื่อคนส่วนใหญ่ไว้ก่อน
ยิ่งหากการที่เราเข้ามาเกี่ยวข้องกันเป็นไปเพื่องานบุญไดๆ
หรือประโยชน์แก่พระศาสนา เราต้อง
มีขันติในส่วนที่จะขัดกับจุดสำเร็จของงานให้ได้
ซึ่งเข้ามากระทบเรา แม้ว่าซ้ำแล้วซ้ำอีก
เมื่อเราคล่องแล้วการรู้จักปล่อยวางและให้อภัย
จะเป็นสิ่งไม่ยากเลยและเราจะสามารถเป็นผู้ไม่หวั่นไหว
ไปตามโลกธรรมที่เข้ามากระทบได้ง่ายจนในที่สุด
ไม่เลยหากเราทำถึง...

แม้แต่การถูกกระทบจาก
ผู้ไม่หวังดีก็ควรพิจารณาตามนี้
เพื่อความไม่ทุกข์ตามสิ่งเร้านั้นๆ

...โลกธรรม เป็น ธรรมดาของโลก อย่าไปหวั่นไหว
น้อมใจสู่คุณพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์
แล้วปฎิบัติจิต อารมณ์ของจิตตามนี้ จับจิตสู่สมาธิ วิธีง่ายๆ
สูดลมหายใจเข้าลึกๆ สบายๆ ถอนลมหายใจออกอย่างผ่อนคลาย
ยาวๆ สบายๆ(ระบายลมหยาบออก)
แล้วระลึกรู้ลมหายใจเข้า ออก
หรือระลึกรู้ฐานของสมาธิฐานใดก็ได้ที่เราถนัด"


สติ...

พิจารณา...ให้

ขันติ...เกิด(เพราะยับยั่งอารมณ์ชั่ววูบนั้นกดไว้ได้ด้วยการระลึกรู้ทันอารมณ์นั้น)

แล้วมาผลิกอารมณ์จิตโดยการ

ยังกำหนดสติ สตินั้นจึง..พิจารณา...แล้วก่อให้

เกิด...เมตตา(โดยการระลึกถึงผลเสียที่จะตามมาและสงสารในความทุกข์ผู้อื่นนั้นที่ต้องทุกข์เพราะอวิชชาและไฟที่แผดเผาจิตผู้นั้น)

เมตตา...ก่อให้

อภัยทาน...เกิด(เพราะไม่เห็นประโยชน์ของการที่จะบันดาลโทสะประกอบกับเมตตาสงสารที่เขาต้องมาทุกข์เพราะความไม่รู้)

น้อมระลึกสติไว้...จนอารมณ์จิต

ปล่อยวางได้(เพราะอภัยทานก่อให้เกิด)...จึงยกจิตเหนือปัญหานั้นโดยการ

น้อมสู่อุเบกขา(การมีอารมณ์ไปตามสิ่งที่เข้ามากระทบก่อให้เกิดทุกข์ เราพึงวางเฉยต่อสิ่งนั้นๆเสีย)

...แล้วยังคงระลึกถึง

สติอยู่เสมอตลอดกระบวนการ...อันนำไปสู่การ

พิจารณาไตร่ตรองกระบวนการทั้งหมดด้วยจิตที่โล่ง สบายและปล่อยวาง

...อัน

นำไปสู่...ผล


ผลลัพธ์ที่เกิดจากการไตร่ตรองด้วยจิตอันเป็นกุศล
การกระทำสิ่งใดๆด้วยจิตอันเป็นกุศล
และพิจารณาดีแล้วนั้น
ผลย่อมแตกต่างจากจิตที่ขุ่นมัว...

และท้ายที่สุดตัวเราเองนั้นละจะเป็นผู้สบายกายสบายใจ...แม้เราเป็นฝ่ายกระทำ
เพียงฝ่ายเดียวก็ตาม...บุคคลผู้มีเมตตาบริสุทธิ์แม้ศัตรูที่ร้ายกาจที่สุด
สักวันหนึงย่อมระลึกรู้ถึงกระแสตัวนี้ได้...ที่สำคัญการทรงจิตให้ตั้งอยู่ใน
ความไม่หวั่นไหวต่อกิเลศและตั้งจิตเป็นกุศล ฟ้าดินย่อมแลเห็นและคุ้มครองเอย...

57


"อายุของพวกมนุษย์น้อย
บุรุษผู้ใคร่ความดี พึงดูหมิ่นอายุที่น้อยนี้
พึงรีบประพฤติให้เหมือนคนถูกไฟไหม้ศีรษะ ฉะนั้น
เพราะความตายจะไม่มาถึงมิได้มี
วันคืนย่อมล่วงเลยไป
ชีวิตก็กระชั้นเข้าไปสู่ความตาย
อายุของสัตว์ทั้งหลายย่อมสิ้นไป
เหมือนน้ำในแม่น้ำน้อยย่อมสิ้นไป ฉะนั้น..."

พุทธพจน์

58


หลวงปู่ปรารภว่า...

จะเป็นชายหรือหญิงก็ดี ถ้าตั้งใจประพฤติปฏิบัติมีศีล
รักในการปฏิบัติจิตมุ่งหวังเอาการพ้นทุกข์เป็นที่สุด
ย่อมมีโอกาสเป็นพระกันได้ทุกๆ คนมีโอกาสที่จะบรรลุมรรค ผล นิพพาน
ได้เท่าเทียมกันทุกคนไม่เลือกเพศ เลือกวัย หรือฐานะ แต่อย่างใด

ไม่มีอะไรจะมาเป็นอุปสรรคในความสำเร็จได้ นอกจากใจของผู้ปฏิบัติเอง
ท่านได้แนะเคล็ดในการบวชจิตว่า.....

" ในขณะที่เรานั่งสมาธิเจริญภาวนานั้น
คำกล่าวว่า

พุทธัง สรณัง คัจฉามิ
ให้นึกถึงว่าเรามีพระพุทธเจ้าเป็นพระอุปัฌาย์ของเรา

ธัมมัง สรณัง คัจฉามิ...
ให้นึกว่าเรามีพระธรรมเป็นพระกรรมวาจาจารย์

สังฆัง สรณัง คัจฉามิ...
ให้นึกว่าเรามีพระอริยสงฆ์ เป็นพระอนุสาวนาจารย์

แล้วอย่าสนใจขันธ์ 5 หรือร่างกายเรานี้ ให้สำรวมจิตให้ดี
มีความยินดีในการบวช

ชายก็ตั้งจิตเป็นพระภิกษุ
หญิงก็ตั้งจิตเป็นพระภิกษุณี

อย่างนี้จะมีอานิสงส์สูงมาก
จัดเป็นเนกขัมบารมีขั้นอุกฤษฎ์ทีเดียว "


59
ภาวนาบทมหาจักรพรรดิ

นะโมพุทธายะ พระพุทธะไตรรัตนญาณ

มณีนพรัตน์ สีสะหัสสะสุธรรมา

พุทโธ ธัมโม สังโฆ ยะธาพุทโมนะ

พุทธะบูชา ธัมมะบูชา สังฆะบูชา อัคคีธานัง วะรังคันธัง

สีวลี จะมหาเถรัง

อะหังวันทามิ ทูระโต

อะหังวันทามิ ธาตุโย

อะหังวันทามิ สัพพะโส

พุทธะ ธัมมะ สังฆะ ปูเชมิ


ถ้าจะให้ได้ผลเต็มที่ต้องภาวนาไตรสรณคมณ์และบทมหาจักรพรรดิ ตามกำลังวันทุกวัน เหรียญและพระผงดวงนี้ จึงจะเกิด  พุทธานุภาพโดยไม่มีประมาณ ที่เรียกว่า        ดวงเหนือดวง พลังเหนือพลัง
(อาทิตย์ 6, จันทร์  15, อังคาร  8, พุธ 17, พฤหัสบดี  19, ศุกร์ 21, เสาร์  10, )

บทสวดมหาจักรพรรดินี้  หลวงปู่ดู่ พรหมปัญโญ เป็นผู้เรียบเรียงขึ้น เป็นการสวดบูชาพระพุทธเจ้าทั่วทั้งพระนิพพาน ตลอดจนถึงพระธรรมเจ้า พระโพธิสัตว์เจ้า พระอริยะสงฆ์ และพระสงฆ์สาวกทั้งมวล เป็นการบูชาพระพุทธเจ้าทั้ง 5 พระองค์ รวมถึงน้อมนำกำลังของเทพพรหม พระอริยเจ้าทั้งหลาย การสวดครั้งหนึ่งๆ เป็นการอัญเชิญกำลังของพระเจ้าจักรพรรดิทุกๆพระองค์ ตั้งแต่อดีต จนถึงปัจจุบัน รวมถึงกำลังแห่งพระโพธิญาณของพระโพธิสัตว์เจ้าทั้งหลาย  ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน และอนาคต อาราธนาเข้าที่กาย ใจ จิต วิญญาณของผู้สวด

อานิสงค์การสวดบทพระบรมมหาจักรพรรดิ

บทนี้เป็นการสวดไหว้พระพุทธเจ้าทั่วทั้งพระนิพพานตลอดจนถึงพระธรรมเจ้าและพระโพธิสัตว์เจ้า พระอริยสงฆ์สาวกทั้งมวล ไหว้พระพุทธเจ้าทั้ง 5 พระองค์ รวมถึงน้อมนำกำลังของเทพพรหมพระอริยะเจ้าทั้งหลาย การสวดครั้งหนึ่งเป็นการดึงกำลังของพระเจ้าจักรพรรดิทุกๆพระองค์ ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันมาร่วมดึงกำลังของพระมหาโพธิสัตว์เจ้า มารวมอาราธนาเข้าที่กายและใจ และรวมกำลังของพระโพธิญานโพธิสัตว์เจ้าทั้งหลาย ตั้งแต่อดีต
ถึง ปัจจุบัน และอนาคต

การสวดครั้งหนึ่งมีอานิสงค์แผ่ไปทั่วจักวาลสามแดนโลกธาตุ สามารถแผ่บญไปทั่วทุกสรรพสัตว์ตลอดจนเทวดาประจำตัวเรา ญาติมิตรเพื่อนฝูงครอบครัว เจ้ากรรมนายเวร และหากนำบทสวดนี้ไปสวดในนรกหรือแผ่ไปไฟนรกจะดับชั่วขณะ บทนี้เป็นการสร้างกำแพงแก้วคุ้มกันตัว รวมถึงการอาราธนาบารมีครูบาอาจารย์ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ อัญเชิญเข้าตัว เพื่อป้องกันภัย และสร้างมหาโชคมหาลาภ

อานิสงส์แก่ผู้สวดมีทั้งมหาบุญมหาลาภ เนื่องจากมีการกล่าวถึงพระสีวลี รวมถึงบทนี้มีพลังงานอย่างยิ่งในการเจริญพระกรรมฐาน หากนำไปสวดบริกรรมก่อนหรือระหว่างนั่งภาวนากรรมฐาน...จะทำให้การภาวนามีพุทธานุภาพมาคลุมและคุมการปฎิบัติของเรา  คลุมกายและจิตเราเป็นวิมานทิพย์ (ครอบวิมานให้ตัวเองหรือสวดอธิษฐานครอบคนอื่นก็ได้) หากสวดบทนี้สามารถอฐิษฐานเรื่องราวใดๆมีติดข้องใจไห้ได้ผ่านพ้นไปอย่างทะลุปรุโปร่ง กล่าวโดยสรุปได้ว่าคาถาจักรพรรดินี้ จากการเรียบเรียงถ้อยคำโดยหลวงปู่ดู่ ท่านก่อให้เกิด จักรพรรดิ กำลังจักรพรรดิขึ้นด้วยในบทสวด พระคาถาครอบจักรวาล


ปล.สำหรับนักปฎิบัติเบื้องต้นใช้คู่กับพระผงจักรพรรดิจะทำให้ก้าวหน้าเร็ว



พระคาถามหาจักรพรรดิก่อให้เกิดพุทธนิมิตครอบสถิตผู้ทรงคาถา
 
พระคาถามหาจักรพรรดิที่หลวงปู่ดู่แต่งขึ้นมานั้น นอกจากท่านจะได้ทำการอธิษฐานบารมีให้ผู้สวดได้รับพลังจากพระรัตนตรัย อย่างมหาศาลแล้ว ยังก่อให้เกิด "พุทธนิมิต" เป็นวิมานแก้วพระพุทธเจ้า มาครอบสถิตผู้สวดด้วย โดยมีลักษณะเป็นมณฑปแก้วจัตุรมุข ปรากฎฉัพพรรณรังสีหกประการสว่างไสว พร้อมด้วยโพธิสัตตราวุธ ทั้ง 4 ประการ ประจำอยู่ทั้ง 4 ทิศ ได้แก่ พระมหามงกุฎ ตรีศูล จักรแก้ว และ พระขรรค์เพชร ทั้งหมดล้วนเป็นของคู่บุญบารมี ของพระศรีอารย์โพธิสัตว์ โดยมี "พระมหามงกุฎ" เป็นศิราภรณ์ที่ปี่ยมไปด้วยบุญญฤทธิ์ (หลวงปู่บุดดา ถาวโร พระอรหันต์ระดับจตุปฎิสัมภิทาญานได้เคยนำมาถวายหลวงปู่ดู่เป็นพุทธบูชาอีกองค์หนึ่งด้วย) 
ฏิบัติจึงมีพร้อมทั้งบุญฤทธิ์อิทธิฤทธิ์ เป็นพลังงานที่บริบูรณ์ สนับสนุน ให้การอธิษฐานจิต สัมฤทธิ์ผล ส่วนอาวุธที่เหลือทั้ง 3 ล้วนเป็นเทพศาสตราวุธชั้นสูง มีไว้เพื่อประดับบารมีแห่งพระโพธิสัตว์ และเปี่ยมไปด้วยอิทธิฤทธิ์อย่างยิ่ง หากสวดเป็นประจำสามารถอธิษฐานให้เกิดเป็นองค์พระพุทธนิมิต ปางมหาจักรพรรดิได้ ซึ่งเปี่ยมไปด้วยอิทธิฤทธิ์และบุญฤทธิ์ มีความศักสิทธิ์อย่างมาก ประดับด้วยครื่องทรงแห่งพระมหาจักรพรรดิ อย่างวิจิตรอลังการเปล่งรัศมีหลากสีด้วยแสงแห่งรัตนอัญมณี เรียกว่า "พระมหาวิษิตาภรณ์" มาครอบสถิตผู้ภาวนา บารมีของ หลวงปู่ดู่ที่ท่านน้อมนำอธิษฐานจิตจึงมีความศักสิทธิ์ป็นอย่างมาก เพราะท่านใช้บารมีทั้งหมดของท่านอัญเชิญกระแสบารมีแห่งพระรัตนตรัย และตั้งองค์พระพุทธนิมิตปางมหาจักรพรรดิบรรจุลงไปในวัตถุมงคลที่บารมีท่านมาประจุอีกด้วย
(เมื่อสวดครบตามกำลังวันแล้ว เท่ากับเราได้เก็บกักพลังงานอันมหาศาลยิ่ง เป็นพลังของหลวงปู่ดู่ หลวงปู่ทวด พระมหาจักรพรรดิทุกพระองค์ตั้งแต่อดีต ปัจจุบัน และอนาคต หรือจะเรียกว่าเราสวดภายใต้การสนับสนุนส่งเสริมของทุกๆพระองค์นั่นเอง ถ่ายเทพลังบุญบารมีรวมเข้าสู่ภาชนะของผู้สวดภาวนา ให้บังเกิดสว่างไสวนับล้านๆๆๆ แรงเทียน  เป็นที่สังเกตของสรรพสัตว์ในมิติต่างๆอย่างกว้างไกล ระหว่างที่สวด   

หลวงตาม้าท่านอธิบายต่อไปว่า เมื่อเราน้อมจากหลวงปู่ มาที่ธาตุเรานั้น เสมือนเป็นการเก็บพลังงานไว้ในภาชนะ(ภาชนะของแต่ละคนไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่กับการฝึกฝนและบารมีเก่าก่อนที่ได้สั่งสมมาตั้งแต่อดีตชาติ)  หลังจากที่เราน้อมนำพลังงานของหลวงปู่มาที่เราแล้ว จากนั้นให้เราก็ส่งต่อพลังงานออกไปยังเป้าหมาย โดยการอธิษฐานจิต แล้วสวดสัพเพฯ  ส่งพลังงานออกไป พลังงานของหลวงปู่ดู่ หลวงปู่ทวด พระมหาจักรพรรดิทุกๆพระองค์ ไปสู่สรรพสัตว์ทั่วทั้ง 3 โลก และทุกตำแหน่งแห่งที่ในทุกๆมิติ หรือไปถึงบุคคลที่เราระบุ ส่งพลังงานไปช่วยเหลือ หรือครอบวิมานให้หรือกิจการงานต่างๆ ผู้เกี่ยวข้องทุกคน

พลังงานที่ส่งผ่านภาชนะเป็นพลังงานของครูบาอาจารย์ทุกๆ พระองค์ มีกำลังส่งกว้างไกล และทรงพลังยิ่งนัก มีคลื่นความถี่สูงกว่าการเดินทางของแสงอาทิตย์ อย่างชนิดเทียบกันไม่ได้ เช่นพอนึกเท่านั้นก็ไปทั่วแสนโกฏิจักรวาลนั่นเอง เพียงแต่ให้เราหมั่นทำทุกๆวัน หลวงปู่ดู่ หลวงปู่ทวด และพระมหาจักรพรรดิ ทุกๆพระองค์ที่หลวงปู่ดู่ได้อัญเชิญเอาไว้ล่วงหน้า ก็จะช่วยส่งเสริมการสวดภาวนาของเราเต็มที่  หลวงปู่จึงเตือนให้เราหมั่นทำ ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน หากเราไม่ดำริ หลวงปู่ก็จะวางอุเบกขา หากเราทำตามคำแนะนำของท่านๆก็ยินดีช่วยเราเต็มที่ เช่นเดียวกับที่หลวงปู่เคยพูดให้ลูกศิษย์ได้ฟังว่า   ข้าจะคอยช่วย ศรัทธาข้าจริง นับถือข้าจริง แกคิดถึงข้า ข้าก็คิดถึงแก แกไม่คิดถึงข้า ข้าก็คิดถึงแก ข้าอยู่ใกล้ ๆ แกจำไว้  พลังงาน บุญกุศล คลื่นแสง สี เสียง ที่หลวงปู่ได้สร้างไว้ยาวนาน 80 อสงไขย กับแสนมหากัป นับตั้งแต่หลวงปู่ได้รับการพยากรณ์จากพระพุทธเจ้า ยังอยู่ครบถ้วนพร้อมบริบูรณ์ สำหรับให้ลูกหลานได้น้อมนำพลังงานมาที่ภาชนะของตนเองในการสวดภาวนาและสัพเพฯ)

* รายละเอียดเพิ่มเติม อ่านได้ที่หนังสือ มณีนพรัตน์จักรพรรดิเปิดโลก เรียบเรียงโดย โด่งวัดถ้ำ

http://www.watthummuangna.com/home/practice/

60
 

ในการปฏิบัติธรรมนั้น หลวงตาท่านเมตตาสอนว่า

"หลวงตาเพียงแต่แนะนำให้ได้เท่านั้น ครูบาอาจารย์อื่นๆ ก็เหมือนกัน ท่านทำได้เพียงแต่แนะนำ และชี้แนะทางที่ถูกให้เท่านั้น ส่วนการปฏิบัตินั้น อยู่ที่ตัวของผู้ปฏิบัติเองที่จะทำได้แค่ไหน ต้องทำจริงๆ ไม่ใช่พอครูบาอาจารย์แนะนำทีก็ทำที พอนานๆ ไปก็เลิกทำ ถ้าเป็นอย่างนี้จะก้าวหน้าได้อย่างไร ช่วงนี้เป็นเวลาที่เหมาะสมแล้วที่จะปฏิบัติธรรม เพราะตอนนี้พวกเราก็ได้พบทั้งหลวงปู่ดู่ และพระอริยสงฆ์ต่างๆ มากมาย ได้พบครูบาอาจารย์ที่ดี พบหมู่คณะที่ดี สถานที่ปฏิบัติธรรมก็มีแล้วตั้งหลายที่ การปฏิบัติสายหลวงปู่ดู่ก็ไม่ลำบาก ไม่เคร่งจนเกินไป ปฏิบัติไปอย่างสบายๆ จะหาได้ที่ไหนอีก ถ้าไม่ทำตอนนี้ก็ไม่รู้จะไปทำตอนไหนแล้ว เดี๋ยวเกิดต้องตายก่อนจะตามพวกไม่ทัน เพราะเมื่อชาติก่อนเขาทำบุญกันมา เรามัวแต่รบจนไม่มีเวลาปฏิบัติ มาชาตินี้เวลามี สถานที่ก็เหมาะ แล้วช้าอยู่ทำไม...."


 ....ภพชาติมันเหมาะแล้วนะ การปฏิบัติ การบวช มันตัดภพตัดชาติได้เลยนะ อย่างจะเกิดอีก ๑๐๐ ชาติ ก็เกิดแค่ ๕๐ ชาติ มันจะลดไปเรื่อยๆ แต่ถ้าปฏิบัติจนถึงขั้นโสดาบันก็แค่ ๗ ชาติเท่านั้น ถ้าเป็นพระอรหันต์ก็ไม่ต้องเกิดเลยไม่ดีหรือ การปฏิบัติหลวงปู่ดู่ ท่านเคยเมตตาสอนว่า

 "ต้องแลกด้วยความตาย ตายเป็นตาย
ถ้ากลัวตายก็ไปไม่ได้
นักปฏิบัติถ้ากลัวตายเสียแล้วก็จะไม่ก้าวหน้า"


 พระธุดงค์เวลาจะออกธุดงค์ ท่านอธิษฐานจิตตายเลย การปฏิบัติควรทำให้จริงจัง นับวันคนเราก็อายุมากขึ้น จะมัวรอช้าอยู่ทำไม เวลาไม่คอยใคร ควรเริ่มทำได้แล้ว"

หลวงตายังเตือนอีกว่า "เริ่มปฏิบัติซะ เพราะเราไม่มีทางรู้ว่าเราจะไปเมื่อไหร่ อย่างน้อยๆ เราก็ ๑ ใน ๕๐ หรือ ๑๐๐ ก็ยังดี จะรอครูบาอาจารย์มาคอยชี้ คอยเตือนคงไม่ไหว มาหาหลวงตาลองคิดดู ถ้าหลวงตาเข้ากุฏิ ปิดประตูไปก็เรียบร้อย เราต้องไล่ของเราเองแล้ว ใครก็ไล่ให้เราไม่ได้ เวลาเราไปไหนกับเขา เราได้รู้ได้ฟังอะไรมา เราก็ต้องนำเอากลับมาพิจารณาเองทุกครั้ง ต้องทำนะ"


 หลวงตาถามลูกศิษย์ว่า "เวลากราบพระ กราบกันอย่างไร หรือเพียงแต่กราบเท่านั้น หรือกราบอย่างที่ผู้ใหญ่ทั่วๆ ไปสอนเด็ก เอา...กราบ ๑ กราบ ๒ กราบ ๓" แล้วท่านก็หัวเราะแล้วก็เมตตาสอนว่า

"เวลากราบพระต้องกราบด้วยความเคารพจริงๆ ให้ตั้งจิตระลึกถึงองค์พระตรงหน้า แล้วตั้งจิตตั้งใจกราบ


 โดยกราบครั้งที่ ๑ ให้นึกในใจว่า พุทธัง ชีวิตัง เมปูเชมิ
กราบครั้งที่ ๒ ว่า ธัมมัง ชีวิตัง เมปูเชมิ
กราบครั้งที่ ๓ ว่า สังฆัง ชีวิตัง เมปูเชมิ

ความหมายก็คือ
ข้าพเจ้าขอบูชาพระพุทธเจ้า พระธรรมเจ้า พระสงฆ์เจ้า ด้วยชีวิต"


 "...เช่นกัน ในขณะที่เราเดินทางไปนอกเคหะสถานพบพระพุทธรูปที่ใด หรือได้ไปในสถานที่ใด ที่มีความสำคัญทางพระพุทธศาสนา ก็ให้เราตั้งจิตเอากายใน (กายทิพย์) ลงกราบแล้วสวด
บทมหาจักรพรรดิ ๑ จบที่ว่าด้วย


 นะโมพุทธายะ พระพุทธะ ไตรรัตนะญาณ
มณีนพรัตน์ สีสะหัสสะ สุธรรมา
พุทโธ ธัมโม สังโฆ ยะธาพุทโมนะ
พุทธะบูชา ธัมมะบูชา สังฆะบูชา
อัคคีทานัง วะรังคันธัง สีวลี จะมหาเถรัง
อะหังวันทามิ ทูระโต อะหังวันทามิ ธาตุโย
อะหังวันทามิ สัพพะโส
พุทธะ ธัมมะ สังฆะ ปูเชมิ


 บทมหาจักรพรรดิ เป็นการบูชาพระพุทธเจ้าทั้ง ๕ พระองค์ พระธรรม พระสงฆ์ พระสีวลี สถานที่ศักดิ์สิทธิ์ทั่วไป พระบรมสารีริกธาตุ และพระธาตุทั้งหลายในแสนโกฏิจักรวาล พร้อมทั้งสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลาย บทนี้บทเดียว สามารถบูชาไปทั่วทั้งแสนโกฏิจักรวาลพอจบบทมหาจักรพรรดิ ก็ให้กล่าวคำว่า

 พุทธัง ชีวิตตัง เม ปูเชมิ
ธัมมัง ชีวิตตัง เม ปูเชมิ
สังฆัง ชีวิตตัง เม ปูเชมิ

แล้วกล่าว
พุทธัง วันทามิ
ธัมมัง วันทามิ
สังฆัง วันทามิ
ครูอุปัชฌาย์อาจาริยคุณัง วันทามิ
มาตาปิตุคุณัง วันทามิ
พระไตรสิกขาคุณัง วันทามิ

เป็นการกราบพระ ๖ ครั้ง.."


 การภาวนาหลวงปู่ดู่สอนเอาไว้ว่า

 "ให้หมั่นภาวนาเข้าไว้
นึกได้เมื่อไรก็ภาวนาเลย
เป็นการเกลี่ยจิตตัวเอง ก่อนที่จะปฏิบัติธรรม"


 หลวงตาเมตตาแนะนำอีกว่า
"เรานักปฏิบัติทั้งหลาย อย่าปล่อยเวลาให้หมดไปโดยเปล่าประโยชน์ ให้หมั่นภาวนาไว้ตลอดเวลา พอลืมตาตื่นก็ให้ภาวนาไปจนถึงเวลานอน ให้คำภาวนานั้นหายไปพร้อมกับการหลับ ทำเช่นนี้ให้เคยชิน ไม่ว่าขณะนั้นกำลังทำอะไรอยู่ก็ตาม ไม่ว่าจะอยู่ในรถ ในเรือ หรือเดินอยู่ ก็ต้องภาวนา อย่าประมาท การภาวนานี้นอกจากจะเป็นบุญ และทำให้จิตได้ทำงานแล้ว ยังช่วยให้เราไม่ประมาทในความตายด้วย เพราะไม่มีใครรู้หรอกว่า ตัวเองจะตายเมื่อไหร่ นอกจากพระอรหันต์ท่านเท่านั้น ฉะนั้น จงภาวนาไป ไม่เสียหาย ไม่เสียตัง
มีแต่กำไร..."


 "...การภาวนานั้น ต้องเอาจิตจับองค์พระตลอดเวลา พระองค์ไหนก็ได้ ไม่ว่าจะเป็นพระพุทธรูป หรือพระอริยสงฆ์ องค์ใดก็ได้ที่เรานับถือ ที่เราคุ้นเคย เวลาตายจะได้มีที่ไป คือไปกับพระ เพราะจิตเราจะระลึกแต่พระตลอดเวลาจนเคยชิน ตัวอย่างมีให้ดูตั้งมากมาย เห็นไหมเวลาคนใกล้ตาย เขาจะมีคนไปคอยบอกอยู่ข้างหูว่า ให้คิดถึงพระเข้าไว้ ให้ภาวนา หรือไม่ก็สวดมนต์ พยายามทำทุกวิถีทางให้จิตของคนที่ใกล้ตาย คิดอยู่แต่เรื่องพระ เรื่องกุศล   เพราะอะไร ก็เพราะว่าจิตของคนเราตอนที่ใกล้จะดับนี้แรงนัก ถ้าจิตตอนนั้นคิดแต่เรื่องดีๆ ในที่นี้หมายถึงเรื่องบุญ พอตายไปก็เสวยสุข ไม่ต้องไปนรก ถ้าคิดถึงเรื่องบาป ก็โน่น ไปเลยนรก ไปรับกรรมที่ตัวก่อ จำไว้ให้ดี แล้วก็ไปเลือกเอา จะภาวนาตอนนี้หรือจะรอใกล้ตายค่อยภาวนา ถึงตอนนั้นก็ตัวใครตัวมัน ถือว่าบอกแล้ว..."

หน้า: 1 2 3 [4] 5