เว็บพุทธภูมิ: พุทธภูมิ พระโพธิสัตว์ การบำเพ็ญบารมี



แสดงกระทู้

This section allows you to view all posts made by this member. Note that you can only see posts made in areas you currently have access to.


Topics - DHAMMASAMEE

หน้า: [1]
1
พระมงคลวิริยาธิกะสัพพัญญูพุทธเจ้า
     
... ดังได้สดับมา เมื่อพระโกณฑัญญศาสดาเสด็จดับขันธปรินิพพานแล้ว ศาสนาของพระองค์ดำรงอยู่แสนปีก็อันตรธาน
     
... ต่อจากสมัยของพระโกณฑัญญพุทธเจ้า ล่วงไปอสงไขยหนึ่ง ในสารมัณฑกัปหนึ่ง บังเกิดพระพุทธเจ้า ๔ พระองค์ คือ พระมงคล พระสุมน พระเรวต พระโสภิต
     
... ใน ๔ พระองค์นั้น พระมงคลพุทธเจ้าผู้นำโลก ทรงบำเพ็ญบารมี ๑๖ อสงไขยกำไรแสนกัป ก็บังเกิดในสวรรค์ชั้นดุสิต ทรงดำรงตลอดอายุในสวรรค์ชั้นนั้น เมื่อบุพนิมิต ๕ ประการเกิดขึ้นแล้ว ก็เกิดพุทธโกลาหลขึ้น ครั้งนั้น เทวดาในหมื่นจักรวาลก็ประชุมกันในจักรวาลนั้น จึงพากันอ้อนวอนว่า
                            
กาโลยํ เต มหาวีร      อุปฺปชฺช มาตุ กุจฺฉิยํ
                            
สเทวกํ ตารยนฺโต      พุชฺฌสฺสุ อมตํ ปทํ.
     
... ข้าแต่ท่านมหาวีระ นี้เป็นกาลอันสมควรสำหรับพระองค์

โปรดเสด็จอุบัติในพระครรภ์ของพระมารดาเถิด

พระองค์เมื่อทรงยังโลกพร้อมทั้งเทวโลกให้ข้ามโอฆสงสาร

โปรดตรัสรู้อมตบทเถิด เจ้าข้า ฯ.
     
... ทรงถูกเทวดาทั้งหลายอ้อนวอนอย่างนี้แล้ว ทรงพิจารณาวิโลกนะ ๕ ประการก็จุติจากสวรรค์ชั้นดุสิต ถือปฏิสนธิในพระครรภ์ของพระนางอุตตราเทวี ราชสกุลของพระเจ้าอุตตรผู้ยอดเยี่ยม ในอุตตรนคร ซึ่งเป็นนครสูงสุดเหนือนครทุกนคร
     
... ครั้งนั้นได้ปรากฏปาฏิหาริย์เป็นอันมาก นับตั้งแต่พระมงคลมหาสัตว์ผู้เป็นมงคลของโลกทั้งปวง ทรงถือปฏิสนธิในพระครรภ์ของพระนางอุตตรามหาเทวีพระองค์นั้น พระรัศมีแห่งพระสรีระก็แผ่ไปตลอดเนื้อที่ประมาณ ๘๐ ศอกทั้งกลางคืนกลางวัน มีพระพี่เลี้ยงพระนม ๖๘ นางคอยปรนนิบัติอยู่
     
... เล่ากันว่า พระนางอุตตราเทวีนั้นมีเทวดาถวายอารักขา ครบทศมาสก็ประสูติพระมงคลมหาบุรุษ ณ มงคลราชอุทยาน ชื่อว่าอุตตรมธุรอุทยาน อันมีไม้ดอกหอมอบอวล ไม้ต้นติดผลมีกิ่งและค่าคบ ประดับด้วยดอกบัวต้นและบัวสาย มีเนื้อกวาง ราชสีห์ เสือ ช้าง โคลาน ควาย เนื้อฟานและฝูงเนื้อนานาชนิดเที่ยวกันไป น่ารื่นรมย์อย่างยิ่ง
     
... พระมหาสัตว์พระองค์นั้นพอประสูติเท่านั้น ก็ทรงแลดูทุกทิศ หันพระพักตร์สู่ทิศอุดร ทรงย่างพระบาท ๗ ก้าว ทรงเปล่งอาสภิวาจา
     
... ขณะนั้น เทวดาสิ้นทั้งหมื่นโลกธาตุก็ปรากฏกาย ประดับองค์ด้วยทิพยมาลัยเป็นต้น ยืนอยู่ในที่นั้นๆ แซ่ซ้องถวายสดุดีชัยมงคล
     
... ในวันขนานพระนามพระมหาบุรุษนั้น โหรทำนายลักษณะขนานพระนามว่า มงคลกุมาร เพราะประสูติด้วยมงคลสมบัติทุกอย่าง
     
... ได้ยินว่า พระมหาบุรุษนั้นมีปราสาท ๓ หลัง คือ ยสวาปราสาท รุจิมาปราสาท สิริมาปราสาท สตรีเหล่านาฏกะ(ฟ้อน, ขับ, บรรเลง) จำนวนสามหมื่น มีพระนางยสวดีเป็นประธาน ณ ปราสาทนั้นพระมหาสัตว์ครองเรือนเก้าพันปี ทรงได้พระโอรสพระนามว่า สีลวา
     
... ทรงม้านามว่าปัณฑร เสด็จออกมหาภิเนษกรมณ์ มนุษย์สามโกฏิก็พากันบวชตามเสด็จ พระมหาบุรุษอันภิกษุเหล่านั้นแวดล้อมแล้วทรงบำเพ็ญความเพียรอยู่ ๘ เดือน
     
... แต่นั้นก็เสวยข้าวมธุปายาส มีโอชะทิพย์ที่เทวดาใส่ไว้ อันนางอุตตรา ธิดาของอุตตรเศรษฐี ในหมู่บ้านอุตตรคามถวายแล้ว ทรงยับยั้งพักกลางวัน ณ สาละวัน ซึ่งประดับด้วยไม้ดอกหอมกรุ่น ทรงรับหญ้า ๘ กำที่อุตตระอาชีวกถวาย เสด็จเข้าไปยังต้นไม้ที่ตรัสรู้ชื่อต้นนาคะ(กากะทิง) ก็ทรงทำประทักษิณต้นนาคะโพธิ ประทับยืนข้างทิศอีสาน ทรงลาดสันถัตหญ้า ๕๘ ศอก ประทับนั่งขัดสมาธิเหนือสันถัตหญ้านั้น
     
... ทรงอธิษฐานความเพียรอันประกอบด้วยองค์ ๔ ทรงเจริญอานาปานสติยังฌาน ๘ ให้บังเกิด ทรงทำการพิจารณาปัจจยาการ หยั่งลงโดยอำนาจอนิจจลักษณะเป็นต้นในขันธ์ทั้ง ๕ ในยามเช้าตรู่ก็ทรงบรรลุพระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ
     
... ส่วนรัศมีแห่งพระสรีระพระมงคลพุทธเจ้ามีเกินยิ่งกว่าพระพุทธเจ้าพระองค์อื่นๆ รัศมีแห่งพระสรีระของพระองค์ ไม่เหมือนพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์อื่นๆ ซึ่งมีรัศมีพระสรีระ ประมาณ ๘๐ ศอกบ้าง วาหนึ่งบ้างโดยรอบ ส่วนรัศมีแห่งพระสรีระของพระมงคลพุทธเจ้าพระองค์นั้น แผ่ไปตลอดหมื่นโลกธาตุเป็นนิจนิรันดร์ ต้นไม้ ภูเขา เรือน กำแพง หม้อน้ำ บานประตูเป็นต้น ได้เป็นเหมือนหุ้มไว้ด้วยแผ่นทอง
     
... พระองค์มีพระชนมายุถึงเก้าหมื่นปี รัศมีของดวงจันทร์ดวงอาทิตย์และดวงดาวเป็นต้นไม่มีตลอดเวลาถึงเท่านั้น การกำหนดเวลากลางคืนกลางวันไม่ปรากฏ สัตว์ทั้งหลายทำการงานกันทุกอย่างด้วยแสงสว่างของพระพุทธเจ้าเท่านั้น เหมือนทำงานด้วยแสงสว่างของดวงอาทิตย์เวลากลางวัน โลกกำหนดเวลาตอนกลางคืนกลางวัน โดยดอกไม้บานยามเย็นและนกร้องยามเช้า
     
... ถามว่า อานุภาพนี้ของพระพุทธเจ้าพระองค์อื่นๆ ไม่มีหรือ
     
... ตอบว่า ไม่มี หามิได้
     
... ความจริง พระพุทธเจ้าแม้เหล่านั้น เมื่อทรงประสงค์ ก็ทรงแผ่พระรัศมีไปได้ตลอดหมื่นโลกธาตุหรือยิ่งกว่านั้น แต่รัศมีแห่งพระสรีระของพระผู้มีพระภาคเจ้ามงคล แผ่ไปตลอดหมื่นโลกธาตุเป็นนิจนิรันดร์ เหมือนรัศมีวาหนึ่งของพระพุทธเจ้าพระองค์อื่นๆ ก็ด้วยอำนาจความปรารถนาแต่เบื้องต้น
     
... เมื่อครั้งเป็นพระโพธิสัตว์ พระมงคลพุทธเจ้าพระองค์นั้นทรงมีพระโอรสและพระชายา ในอัตภาพเช่นเดียวกับอัตภาพเป็นพระเวสสันดร ประทับอยู่ ณ ภูเขาเช่นเดียวกับเขาวงกต
     
... ครั้งนั้น ยักษ์ผู้มีศักดิ์ใหญ่ตนหนึ่งกินมนุษย์เป็นอาหาร ชอบเบียดเบียนคนทุกคน ชื่อ ขรทาฐิกะ ได้ข่าวว่า พระมหาบุรุษชอบให้ทาน จึงแปลงกายเป็นพราหมณ์เข้าไปหา ทูลขอทารกสองพระองค์กะพระมหาสัตว์
     
... พระมหาสัตว์ทรงดีพระทัยว่า เราจะให้ลูกน้อยสองคนแก่พราหมณ์ดังนี้ ได้ทรงประทานพระราชบุตรทั้งสองพระองค์แล้ว ทำให้แผ่นดินหวั่นไหวจนถึงน้ำ ขณะนั้น ทั้งที่พระมหาสัตว์ทรงเห็นอยู่ ยักษ์ละเพศเป็นพราหมณ์นั้นเสีย มีดวงตากลมเหลือกเหลืองดังเปลวไฟ มีเขี้ยวโง้งไม่เสมอกัน น่าเกลียดน่ากลัว มีจมูกบี้แบน มีผมแดงหยาบยาว มีเรือนร่างเสมือนต้นตาลไหม้ไฟใหม่ๆ จับทารกสองพระองค์ เหมือนกำเหง้าบัวเคี้ยวกิน
     
... พระมหาบุรุษมองดูยักษ์ พอยักษ์อ้าปากก็เห็นปากยักษ์นั้น มีสายเลือดไหลออกเหมือนเปลวไฟ ก็ไม่เกิดโทมนัสแม้เท่าปลายผม เมื่อคิดว่าเราให้ทานดีแล้ว ก็เกิดปีติโสมนัสมากในสรีระ พระมหาสัตว์นั้นทรงทำความปรารถนาว่า ด้วยผลแห่งทานของเรานี้ ในอนาคตกาล ขอรัศมีทั้งหลายจงแล่นออกโดยทำนองนี้ เมื่อพระองค์อาศัยความปรารถนาเป็นพระพุทธเจ้าแล้ว รัศมีทั้งหลายจึงเปล่งออกจากสรีระ แผ่ไปตลอดสถานที่มีประมาณเท่านั้น
     
... บุพจริยาอย่างอื่นของพระองค์ยังมีอีก ครั้งเป็นพระโพธิสัตว์ พระมงคลพุทธเจ้าพระองค์นี้เห็นเจดีย์ของพระพุทธเจ้าพระองค์หนึ่ง คิดว่า " ควรที่จะสละชีวิตของเราเพื่อพระพุทธเจ้าพระองค์นี้ " ให้เขาพันทั่วทั้งสรีระโดยทำนองพันประทีปด้าม ให้บรรจุถาดทองมีค่านับแสนซึ่งมีช่อดอกไม้ตูมขนาดศอกหนึ่ง เต็มด้วยของหอมและเนยใส จุดไส้เทียนพันไส้ไว้ในถาดทองนั้น ใช้ศีรษะเทินถาดทองนั้นแล้วให้จุดไฟทั่วทั้งตัว ทำประทักษิณบูชาพระเจดีย์ของพระชินเจ้าตลอดทั้งคืน
     
... ก็พระมงคลสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงบรรลุพระโพธิญาณแล้ว ทรงยับยั้ง ณ โคนต้นไม้ที่ตรัสรู้ ๗ สัปดาห์ ทรงรับคำวอนขอให้ทรงแสดงธรรมของพรหม ทรงใคร่ครวญว่าเราจะแสดงธรรมนี้แก่ใครหนอ ก็ทรงเห็นว่า ภิกษุสามโกฏิที่บวชกับพระองค์ ถึงพร้อมด้วยอุปนิสัย
     
... ครั้งนั้น ทรงดำริว่า กุลบุตรเหล่านี้บวชตามเราซึ่งกำลังบวชอยู่ถึงพร้อมด้วยอุปนิสัย พวกเขาถูกเราซึ่งต้องการวิเวกสละไว้ เมื่อวันเพ็ญเดือนวิสาขะ เข้าไปอาศัยสิริวัฒนนคร อยู่ยังชัฏสิริวัน เอาเถิด เราจักไปแสดงธรรมแก่พวกเขาในที่นั้น แล้วทรงถือบาตรจีวรของพระองค์ เหาะสู่อากาศ ปรากฏพระองค์ ณ ชัฏสิริวัน
     
... ภิกษุเหล่านั้นถวายบังคมพระผู้มีพระภาคเจ้า แสดงอันเตวาสิก วัตรแล้วนั่งแวดล้อมพระผู้มีพระภาคเจ้า พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสพระธัมมจักกัปปวัตตนสูตร ซึ่งพระพุทธเจ้าทุกพระองค์ทรงปฏิบัติมาแล้ว แก่ภิกษุเหล่านั้น ต่อจากนั้น ภิกษุสามโกฏิก็บรรลุพระอรหัต ธรรมาภิสมัยการตรัสรู้ธรรม ได้มีแก่เทวดาและมนุษย์แสนโกฏิ
     
... สมัยใด พระมงคลพุทธเจ้าทรงอาศัยนคร ชื่อจิตตประทับอยู่ ทรงทำยมกปาฏิหาริย์ ข่มมานะของพวกเดียรถีย์ ณ โคนต้นจำปา แล้วประทับนั่งเหนือพื้นพระแท่นบัณฑุกัมพลศิลาอาสน์ ใต้โคนต้นปาริฉัตตก ณ ภพดาวดึงส์ ตรัสพระอภิธรรม สมัยนั้น ธรรมาภิสมัยการตรัสรู้ธรรมได้มีแก่เทวดาแสนโกฏิ นี้เป็นอภิสมัยครั้งที่ ๒
     
... สมัยใด พระเจ้าจักรพรรดิพระนามสุนันทะ ทรงบำเพ็ญจักรวรรดิวัตร ณ สุรภีนคร ทรงได้จักรรัตนะ
     
... เล่ากันว่า เมื่อพระมงคลทศพลเสด็จอุบัติขึ้นในโลก จักรรัตนะนั้นก็เขยื้อนจากฐาน พระเจ้าสุนันทะทรงเห็นแล้ว ก็หมดความบันเทิงพระหฤทัย จึงทรงสอบถามพวกพราหมณ์ว่า จักรรัตนะนี้บังเกิดเพราะกุศลของเรา เหตุไฉนจึงเขยื้อนจากฐาน
     
... สมัยนั้น พราหมณ์เหล่านั้นจึงพยากรณ์ ถึงเหตุที่จักรรัตนะนั้นเขยื้อนแด่พระราชาว่า จักรรัตนะจะเขยื้อนจากฐาน เพราะพระเจ้าจักรพรรดิหมดพระชนมายุ เพราะพระเจ้าจักรพรรดิทรงผนวช หรือเพราะพระพุทธเจ้าปรากฏ
     
... แล้วกราบทูลว่า ข้าแต่พระมหาราชเจ้า พระชนมายุของพระองค์ยังไม่สิ้นดอกพระพุทธเจ้าข้า พระองค์ทรงมีพระชนมายุยืนยาว แต่พระมงคลสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จอุบัติแล้วในโลก ด้วยเหตุนั้น จักรรัตนะของพระองค์จึงเขยื้อน
     
... พระเจ้าสุนันทจักรพรรดิราชพร้อมทั้งบริษัท จึงทรงไหว้จักรรัตนะนั้นด้วยเศียรเกล้า ทรงวอนขอว่า ตราบใดเราจักสักการะพระมงคลทศพล ด้วยอานุภาพของท่าน ขอท่านอย่าเพิ่งอันตรธานไป ตราบนั้นด้วยเถิด ลำดับนั้น จักรรัตนะนั้นก็ได้ตั้งอยู่ที่ฐานตามเดิม
     
... แต่นั้น พระเจ้าสุนันทจักรพรรดิผู้มีความบันเทิงพระหฤทัยพรั่งพร้อม อันบริษัทมีปริมณฑล ๓๖ โยชน์แวดล้อมแล้ว ก็เสด็จเข้าเฝ้าพระมงคลทศพลผู้เป็นมงคลของโลกทั้งปวง ทรงอังคาสพระศาสดาพร้อมทั้งพระสงฆ์สาวกให้อิ่มหนำสำราญด้วยมหาทาน ถวายผ้าแคว้นกาสีแด่พระอรหันต์แสนโกฏิรูป ถวายบริขารทุกอย่างแด่พระตถาคต ทรงทำการบูชาแด่พระผู้มีพระภาคเจ้า ซึ่งทำความประหลาดใจสิ้นทั้งโลก แล้วเข้าเฝ้าพระมงคลพุทธเจ้าผู้เป็นนาถะของโลกทั้งปวง ทรงทำอัญชลีดั่งช่อดอกบัวอันไร้มลทิน อันรุ่งเรืองด้วยทศนขสโมธานไว้เหนือเศียรเกล้า ทรงถวายบังคมแล้วประทับนั่ง ณ ที่สมควรส่วนหนึ่ง แม้พระราชโอรสของพระองค์ พระนามว่าอนุราชกุมาร ก็ประทับนั่งอย่างนั้นเหมือนกัน
     
... ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสอนุปุพพิกถาโปรดชนเหล่านั้น ซึ่งมีพระเจ้าสุนันทจักรพรรดิเป็นประธาน พระเจ้าสุนันทจักรพรรดิพร้อมทั้งบริษัท บรรลุพระอรหัตพร้อมด้วยปฏิสัมภิทา ๔
     
... ลำดับนั้น พระศาสดาทรงสำรวจบุพจริยาของชนเหล่านั้น ทรงเห็นอุปนิสสัยแห่งบาตรจีวรที่สำเร็จด้วยฤทธิ์ ก็ทรงเหยียดพระหัตถ์เบื้องขวาซึ่งประดับด้วยข่ายจักร ตรัสว่า พวกเธอจงเป็นภิกษุมาเถิด ในทันทีภิกษุทุกรูปก็ผมขนาดสองนิ้ว ทรงบาตรจีวรสำเร็จด้วยฤทธิ์ ถึงพร้อมด้วยอาการอันสมควรแก่สมณะ ประหนึ่งพระเถระ ๖๐ พรรษา แวดล้อมพระผู้มีพระภาคเจ้า นี้เป็นอภิสมัยครั้งที่ ๓
     
... เล่ากันว่า ครั้งนั้น เมื่อพระมงคลโลกนาถประทับอยู่ ณ เมขลบุรี ในนครนั้นนั่นแล สุเทวมาณพและธัมมเสนมาณพ มีมาณพพันหนึ่งเป็นบริวาร พากันบวชด้วยเอหิภิกขุบรรพชาในสำนักของพระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้น
     
... เมื่อคู่พระอัครสาวกพร้อมบริวารบรรลุพระอรหัต ในวันเพ็ญเดือนมาฆะ พระศาสดาทรงยกปาติโมกข์ขึ้นแสดง ในท่ามกลางภิกษุแสนโกฏิ นี้เป็นการประชุมครั้งแรก
     
... ทรงยกปาติโมกข์ขึ้นแสดง ในการประชุมของบรรพชิต ในสมาคมญาติอันยอดเยี่ยม ณ อุตตรารามอีก นี้เป็นการประชุมครั้งที่ ๒
     
... ทรงยกปาติโมกข์ขึ้นแสดงในท่ามกลางภิกษุเก้าหมื่นโกฏิ ในสมาคมคณะภิกษุพระเจ้าสุนันทจักรพรรดิ นี้เป็นการประชุมครั้งที่ ๓
     
... ครั้งนั้น พระโพธิสัตว์ของเราเป็นพราหมณ์ชื่อว่าสุรุจิ ในหมู่บ้านสุรุจิคาม เป็นผู้จบไตรเพทพร้อมทั้งนิฆัณฑุศาสตร์ เกฏุภศาสตร์ ทั้งประเภทอักขรศาสตร์ ชำนาญร้อยกรอง ชำนาญร้อยแก้ว ทั้งเชี่ยวชาญในโลกายตศาสตร์และมหาปุริสลักษณศาสตร์
     
... ท่านสุรุจิพราหมณ์นั้นเข้าไปเฝ้าพระศาสดา ฟังธรรมกถาอันไพเราะของพระทศพลแล้วเลื่อมใสถึงสรณะ นิมนต์พระผู้มีพระภาคเจ้าพร้อมทั้งพระสงฆ์สาวกว่า พรุ่งนี้ ขอพระองค์โปรดทรงรับอาหารของข้าพระองค์ด้วยเถิด
     
... ท่านพราหมณ์นั้นอันพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสถามว่า ท่านพราหมณ์ ท่านต้องการภิกษุจำนวนเท่าไร จึงกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ภิกษุบริวารของพระองค์มีเท่าไรเล่า พระเจ้าข้า
     
... ครั้งนั้น เป็นการประชุมครั้งที่ ๑ เพราะฉะนั้น เมื่อตรัสว่ามีแสนโกฏิ สุรุจิพราหมณ์จึงนิมนต์ว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ถ้าเป็นเช่นนั้น ขอพระองค์โปรดทรงรับอาหารของข้าพระองค์ พร้อมกับภิกษุทุกรูปพระเจ้าข้า พระศาสดาจึงทรงรับนิมนต์
     
... สุรุจิพราหมณ์ ครั้นนิมนต์พระผู้มีพระภาคเจ้าเพื่อเสวยในวันรุ่งขึ้นแล้วก็กลับไปบ้านตนคิดว่า ภิกษุจำนวนถึงเท่านี้ เราก็สามารถถวายข้าวต้มข้าวสวยและผ้าได้ แต่สถานที่ท่านจะนั่งกันจักทำอย่างไร
     
... ความคิดของท่านพราหมณ์นั้นก็ร้อนไปถึงพระแท่นบัณฑุกัมพลศิลาอาสน์ของท้าวสหัสนัยน์สักกเทวราช ครั้งนั้น ท้าวสักกเทวราชทรงเห็นอาสน์ร้อนขึ้นมา ก็เกิดปริวิตกว่า ใครหนอประสงค์จะให้เราเคลื่อนย้ายจากที่นี้ ทรงเล็งทิพยเนตรตรวจดูมนุษยโลกก็เห็นพระมหาบุรุษ คิดว่า พระมหาสัตว์ผู้นี้นิมนต์พระภิกษุสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นประธาน คิดถึงเรื่องสถานที่ภิกษุสงฆ์นั้นจะนั่ง แม้เราก็ควรจะไปที่นั้นแล้วรับส่วนบุญ จึงปลอมตัวเป็นนายช่างไม้ถือมีดและขวานแล้วปรากฏตัวต่อหน้าพระมหาบุรุษ กล่าวว่า ใครหนอมีกิจที่จะจ้างเราทำงานบ้าง พระมหาสัตว์เห็นแล้วก็ถามว่า ท่านสามารถทำงานของเราได้หรือ เขาบอกกล่าวว่า ขึ้นชื่อว่าศิลปะที่เราไม่รู้ ไม่มี ผู้ใดประสงค์จะให้ทำสิ่งไรๆ ไม่ว่าจะเป็นมณฑป ปราสาทหรือนิเวศน์เป็นต้นไรๆ อื่น เราก็สามารถทำได้ทั้งนั้น
     
... พระมหาสัตว์บอกว่า ถ้าอย่างนั้นเรามีงาน เขาถามว่า งานอะไรเล่า นายท่าน พระมหาสัตว์บอกว่า เรานิมนต์ภิกษุจำนวนแสนโกฏิ เพื่อฉันอาหารวันพรุ่งนี้ ท่านจักต้องสร้างมณฑปสำหรับภิกษุเหล่านั้นนั่งนะ เขากล่าวว่า ได้สิ พ่อคุณ เขากล่าวว่า ดีละ ถ้าอย่างนั้นเราจักทำ แล้วก็ตรวจดูภูมิประเทศแห่งหนึ่ง ภูมิประเทศเหล่านั้นประมาณสิบสองโยชน์ พื้นเรียบเหมือนวงกสิณน่ารื่นรมย์อย่างยิ่ง เขาคิดอีกว่า มณฑปที่เห็นเป็นแก่นไม้สำเร็จด้วยรัตนะ ๗ ประการจงผุดขึ้น ณ ที่ประมาณเท่านี้ แล้วตรวจดู ในทันใด มณฑปที่ชำแรกพื้นดินผุดโผล่ขึ้นก็เสมือนมณฑปจริง มณฑปนั้นมีหม้อเงินอยู่ที่เสาทอง มีหม้อทองอยู่ที่เสาเงิน มีหม้อแก้วประพาฬอยู่ที่เสาแก้วมณี มีหม้อแก้วมณีอยู่ที่เสาแก้วประพาฬ มีหม้อรัตนะ ๗ อยู่ที่เสารัตนะ ๗
     
... ต่อนั้น เขาตรวจดูว่าข่ายกระดิ่งจงห้อยระหว่างระยะของมณฑป พร้อมกับการตรวจดู ข่ายกระดิ่งก็ห้อย ซึ่งเมื่อต้องลมพานอ่อนๆ ก็เปล่งเสียงไพเราะ น่ารื่นรมย์อย่างยิ่ง เหมือนอย่างดนตรีเครื่อง ๕ ได้เป็นเหมือนเวลาบรรเลงทิพยสังคีต
     
... เขาคิดว่า พวงของหอม พวงดอกไม้ พวงใบไม้และพวงรัตนะ ๗ ของทิพย์ จงห้อยลงเป็นระยะๆ พร้อมกับคิด พวงทั้งหลายก็ห้อย อาสนะ เครื่องลาดมีค่าเป็นของกัปปิยะและเครื่องรองทั้งหลาย สำหรับภิกษุจำนวนแสนโกฏิ จงชำแรกแผ่นดินผุดโผล่ขึ้น ในทันใด ของดังกล่าวก็ผุดขึ้น เขาคิดว่าหม้อน้ำ จงตั้งอยู่ทุกๆ มุมๆ ละหม้อ ทันใดนั่นเองหม้อน้ำทั้งหลายเต็มด้วยน้ำสะอาดหอมและเป็นกัปปิยะมีรสอร่อย เย็นอย่างยิ่ง มีปากปิดด้วยใบตองก็ตั้งขึ้น
     
... ท้าวสหัสสนัยน์นั้น ทรงเนรมิตสิ่งของมีประมาณเท่านี้แล้ว เข้าไปหาพราหมณ์กล่าวว่า นายท่าน มานี่แน่ะ ท่านเห็นมณฑปของท่านแล้ว โปรดให้ค่าจ้างแก่เราสิ
     
... พระมหาสัตว์ไปตรวจดูมณฑปนั้น เมื่อเห็นมณฑปนั่นแลสรีระก็ถูกปีติ ๕ อย่างถูกต้อง แผ่ซ่านมิได้ว่างเว้นเลย
     
... ครั้งนั้น พระมหาสัตว์เมื่อแลเห็นก็คิดอย่างนี้ว่า มณฑปนี้มิใช่ฝีมือมนุษย์สร้าง อาศัยอัธยาศัยของเรา คุณของเรา จึงร้อนถึงภพของท้าวสักกเทวราช ต่อนั้น ท้าวสักกจอมทวยเทพจึงทรงเนรมิตมณฑปนี้แน่แล้ว
     
... พระมหาสัตว์คิดว่า การจะถวายทานวันเดียวในมณฑปเห็นปานนี้ไม่สมควรแก่เรา จำเราจะถวายตลอด ๗ วัน
     
... ธรรมดาทานภายนอกแม้มีประมาณเท่านั้น ก็ยังไม่อาจทำหัวใจของพระโพธิสัตว์ให้พอใจได้ พระโพธิสัตว์ทั้งหลายอาศัยจาคะ ย่อมจะชื่อว่าพอใจ ก็แต่ในเวลาที่ตัดศีรษะที่ประดับแล้วหรือควักลูกตาที่หยอดแล้ว หรือถอดเนื้อหัวใจให้เป็นทาน
     
... จริงอยู่ ในสิวิชาดก เมื่อพระโพธิสัตว์ของเราสละทรัพย์ห้าแสนกหาปณะทุกๆ วัน ให้ทาน ๕ แห่ง คือท่ามกลางนครและที่ประตูทั้ง ๔ ทานนั้นไม่อาจให้เกิดความพอใจในจาคะได้เลย. แต่สมัยใด ท้าวสักกเทวราชปลอมตัวเป็นพราหมณ์มาขอจักษุทั้งสองข้าง สมัยนั้น พระโพธิสัตว์นั้นก็ควักจักษุเหล่านั้นให้ กำลังทานนั่นแหละจึงเกิดความร่าเริง จิตมิได้เปลี่ยนแปลงแม้แต่เท่าปลายเส้นผม
     
... ด้วยประการดังกล่าวมานี้ พระสัพพัญญูโพธิสัตว์ทั้งหลายอาศัยแต่ทานภายนอกจึงมิได้อิ่มเลย เพราะฉะนั้น พระมหาบุรุษแม้พระองค์นั้นคิดว่า เราควรถวายทานแก่ภิกษุจำนวนแสนโกฏิ จึงให้ภิกษุเหล่านั้นนั่ง ณ มณฑปนั้นแล้วถวายทาน ชื่อว่า ควปานะ (ขนมแป้งผสมนมโค) ๗ วัน
     
... โภชนะที่เขาบรรจุหม้อขนาดใหญ่ๆ ให้เต็มด้วยน้ำนมโคแล้วยกตั้งบนเตา ใส่ข้าวสารทีละน้อยๆ ลงที่น้ำนมซึ่งสุกโดยเคี่ยวจนข้นแล้วปรุงด้วยน้ำผึ้งคลุกน้ำตาลกรวดละเอียดและเนยใสเข้าด้วยกัน เรียกกันว่า ควปานะ
     
... แต่มนุษย์ทั้งหลายไม่อาจอังคาสได้ แม้แต่เทวดาทั้งหลายที่อยู่ช่องว่างช่องหนึ่งจึงอังคาสได้ สถานที่นั้นแม้มีขนาดสิบสองโยชน์ ก็ยังไม่พอรับภิกษุเหล่านั้นได้เลย แต่ภิกษุเหล่านั้นนั่งโดยพระพุทธานุภาพ
     
... วันสุดท้าย พระมหาบุรุษให้เขาล้างบาตรภิกษุทุกรูป บรรจุด้วยเนยใส เนยข้น น้ำผึ้ง น้ำอ้อยเป็นต้น ได้ถวายพร้อมด้วยไตรจีวร ผ้าจีวรที่ภิกษุสังฆนวกะในที่นั้นได้แล้วก็เป็นของมีค่านับแสน
     
... ครั้งนั้น พระศาสดาเมื่อทรงทำอนุโมทนา ทรงใคร่ครวญดูว่า มหาบุรุษผู้นี้ได้ถวายมหาทานเห็นปานนี้จักเป็นใครกันหนอ ก็ทรงเห็นว่า ในอนาคตกาล เขาจักเป็นพระพุทธเจ้าพระนามว่าโคตมะ ในที่สุดสองอสงไขยกำไรแสนกัป แต่นั้นจึงทรงเรียกพระมหาสัตว์มาแล้วทรงพยากรณ์ว่า ล่วงกาลประมาณเท่านี้ ท่านจักเป็นพระพุทธเจ้าพระนามว่า พระสมณโคดม
     
... ลำดับนั้น พระมหาบุรุษสดับคำพยากรณ์ของพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้ว ก็มีหัวใจปลาบปลื้ม คิดว่า พระองค์ตรัสว่าเราจักเป็นพระพุทธเจ้า เราก็ไม่ต้องการอยู่ครองเรือนจึงละสมบัติเห็นปานนั้นเสียเหมือนก้อนเขฬะ บวชในสำนักของพระศาสดา เรียนพระพุทธวจนะ ยังอภิญญาและสมาบัติ ๘ ให้บังเกิด มีฌานไม่เสื่อม ดำรงอยู่จนตลอดอายุ ที่สุดอายุบังเกิดแล้วในพรหมโลก
     
... ก็พระผู้มีพระภาคมงคลพุทธเจ้ามีพระนครชื่อว่า อุตตรนคร แม้พระชนกของพระองค์เป็นกษัตริย์ พระนามว่า พระเจ้าอุตตร แม้พระชนนีพระนามว่าพระนางอุตตรา คู่พระอัครสาวกชื่อว่า พระสุเทว และ พระธรรมเสน มีพระพุทธอุปัฏฐากชื่อว่า พระปาลิต มีคู่พระอัครสาวิกาชื่อว่า พระสีวลา และ พระอโสกา ต้นไม้ที่ตรัสรู้ชื่อต้นนาคะ (กากะทิง) พระวรกายสูง ๘๘ ศอก พระชนมายุประมาณเก้าหมื่นปี ส่วนพระชายาพระนามว่า ยสวดี พระโอรสพระนามว่า สีวล เสด็จอภิเนษกรมณ์โดยยานคือม้า ประทับ ณ พระวิหาร อุตตราราม อุปัฏฐากชื่ออุตตร
     
... เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้นดำรงพระชนม์อยู่เก้าหมื่นปีก็เสด็จดับขันธปรินิพพาน หมื่นจักรวาลก็มืดลงพร้อมกัน โดยเหตุอย่างเดียวเท่านั้น มนุษย์ทุกจักรวาลก็พากันร่ำไห้คร่ำครวญเป็นการใหญ่

2
พระโกณฑัญญวิริยาธิกะสัมมาสัมพุทธเจ้า
     
... ดังได้สดับมา เมื่อพระผู้มีพระเจ้าทีปังกรเสด็จดับขันธ์ปรินิพพานแล้ว ศาสนาของพระองค์ดำรงอยู่แสนปี เพราะอันตรธานแห่งพระสาวกทั้งหลาย ศาสนาของพระองค์ก็อันตรธาน
     
... ต่อมาภายหลังศาสนาของพระองค์ ล่วงไปอสงไขยหนึ่ง พระศาสดาพระนามว่าโกณฑัญญะก็อุบัติในสารกัปหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้นทรงบำเพ็ญบารมีมา ๑๖ อสงไขยกำไรแสนกัป อบรมบ่มพระญาณแก่กล้าแล้ว บังเกิดในสวรรค์ชั้นดุสิต ดำรงอยู่ในดุสิตนั้น จนตลอดพระชนมายุ ประทานปฏิญาณแก่เทวดาทั้งหลาย จุติจากดุสิต ถือปฏิสนธิในพระครรภ์ของพระนางสุชาดาเทวี ในราชสกุลของพระเจ้าสุนันทะ กรุงรัมมวดี
     
... ในขณะที่พระองค์ทรงถือปฏิสนธิ ก็บังเกิดพระปาฏิหาริย์ ๓๒ ประการ มีเหล่าเทวดาถวายอารักขา ถ้วนทศมาสก็ประสูติจากพระครรภ์พระมารดา ทรงเป็นยอดของสรรพสัตว์ บ่ายพระพักตร์ทางทิศอุดร เสด็จย่างพระบาทได้ ๗ ก้าว ทรงแลดูทุกทิศ ทรงเปล่งอาสภิวาจาว่า

... “ เราเป็นผู้เลิศแห่งโลก เราเป็นผู้เจริญที่สุดแห่งโลก เราเป็นผู้ประเสริฐที่สุดแห่งโลก ชาตินี้เป็นชาติสุดท้าย ตั้งแต่บัดนี้ไม่มีการเกิดอีก ”
     
... ต่อนั้น ในวันขนานพระนามของพระโพธิสัตว์นั้น พระประยูรญาติทั้งหลายก็ขนานพระนามว่า โกณฑัญญ ความจริง พระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้นทรงมีพระโคตรเป็นโกณฑัญญโคตร เขาว่า พระองค์มีปราสาท ๓ หลังน่ารื่นรมย์อย่างยิ่ง ชื่อว่า รุจิปราสาท สุรุจิปราสาท สุภะปราสาท
     
... ทั้ง ๓ หลังนั้นมีสตรีฝ่ายนาฏกะ ผู้ชำนาญการฟ้อนรำ การขับร้องและการบรรเลง ประจำอยู่ถึงสามแสนนาง พระองค์มีพระมเหสีพระนามว่า รุจิเทวี มีพระโอรสพระนามว่า วิชิตเสนะ ทรงครองฆราวาสวิสัยอยู่หมื่นปี
     
... พระโพธิสัตว์นั้นทรงเห็นคนแก่ คนเจ็บ คนตายและนักบวช เสด็จออกอภิเนษกรมณ์ด้วยรถทรงเทียมม้า ทรงผนวชแล้ว ทรงบำเพ็ญเพียรอยู่ ๑๐ เดือน
     
... โกณฑัญญกุมารกำลังผนวชอยู่ คนสิบโกฏิก็บวชตามเสด็จโกณฑัญญกุมารนั้น อันคนเหล่านั้นแวดล้อมแล้ว ก็ทรงบำเพ็ญเพียรอยู่ ๑๐ เดือน ณ ดิถีเพ็ญเดือนวิสาขะเสวยข้าวมธุปายาสรสอร่อยอย่างยิ่ง ซึ่งธิดาเศรษฐีชื่อว่า ยโสธรา ณ บ้านสุนันทคาม ถวายแล้ว ทรงยับยั้งพักกลางวัน ณ ป่าต้นสาละ ที่ประดับด้วยผลใบอ่อนและหน่อ
     
... เวลาเย็นทรงละหมู่แล้ว ทรงรับหญ้า ๘ กำที่สุนันทอาชีวกถวายมาแล้ว ทรงทำประทักษิณต้นสาลกัลยาณี (ต้นขานาง) ๓ ครั้ง ทรงสำรวจดูทิศบูรพา ทรงทำต้นไม้ที่ตรัสรู้ไว้เบื้องพระปฤษฎางค์ ทรงปูลาดหญ้ากว้าง ๕๘ ศอก ทรงนั่งขัดสมาธิ อธิษฐานความเพียรมีองค์ ๔ เวลานั้นประมาณบ่ายสี่โมงกว่า ทรงเจริญอานาปานสติยังฌาน ๘ ให้บังเกิด เมื่อพระองค์เจริญฌานจนเป็นวสีชำนาญดีแล้ว
     
... ในราตรีปฐมยาม(๑๘.๐๐ น. - ๒๒.๐๐ น.)ทรงชำระปุพเพนิวาสานุสสติญาณ ในมัชฌิมยามทรงชำระทิพยจักษุ ในปัจฉิมยามทรงพิจารณาปัจจยาการ ทรงออกจากจตุตถฌานที่มีอานาปานสติเป็นอารมณ์ ทรงหยั่งสำรวจในปัญจขันธ์ ก็ทรงเห็นสามัญญลักษณะ คือ อนิจฺจํความไม่เที่ยง ทุกฺขํ ความทุกข์ อนตฺตา ความไม่ใช่ตัวตนแห่งเราของเราจริง ด้วยปัญญาอันสม่ำเสมอ โดยอุทยัพพยญาณ ทรงเจริญวิปัสสนาจนถึงโคตรภูญาณ ทรงบรรลุพระโพธิญาณแทงตลอดมรรคญาณ ๔ ผลญาณ ๔ ปฏิสัมภิทา ๔ ญาณกำหนดกำเนิด ๔ ญาณกำหนดคติ ๕ อสาธารณญาณ ๖ และพระพุทธคุณทั้งสิ้น ทรงมีความดำริบริบูรณ์แล้ว ประทับนั่ง ณ โคนไม้ที่ตรัสรู้ ทรงเปล่งอุทานอย่างนี้ว่า
     
... “ เราแสวงหาตัณหานายช่างผู้สร้างเรือน เมื่อไม่พบจึงต้องท่องเที่ยวไปตลอดชาติสงสารเป็นอันมาก ความเกิดบ่อยๆ เป็นทุกข์ ดูก่อนตัณหานายช่างผู้สร้างเรือน เราเห็นท่านแล้ว ท่านจักสร้างเรือนอีกไม่ได้ โครงสร้างเรือนของท่านเราหักหมดแล้ว ยอดเรือนเราก็รื้อออกแล้ว จิตของเราถึงธรรมเป็นที่สิ้นตัณหาแล้ว คติแห่งไฟที่ลุกโพลง ที่ภาชนะสัมฤทธิ์ที่นายช่างตี ด้วยพะเนินเหล็กกำจัดแล้วก็สงบเย็นลงโดยลำดับ ไม่มีใครรู้คติความไปของมันได้ ฉันใด คติของพระขีณาสพผู้หลุดพ้นโดยชอบ ข้ามเครื่องผูกคือกามโอฆะ บรรลุสุขอันไม่หวั่นไหว ก็ไม่มีใครจะรู้คติของท่านได้ ฉันนั้น ”
     
... ทรงยับยั้งอยู่ด้วยสุขในผลสมาบัติ ณ โคนโพธิพฤกษ์ ๗ สัปดาห์ในสัปดาห์ที่ ๘ ทรงอาศัยการอาราธนาของพรหม ทรงใคร่ครวญว่า เราจะแสดงธรรมครั้งแรกแก่ใครเล่าหนอ ก็ได้ทรงเห็นภิกษุ ๑๐ โกฏิซึ่งบวชกับพระองค์ว่า
     
... “ กุลบุตรพวกนี้สะสมกุศลมูลไว้ จึงบวชตามเราซึ่งกำลังบวช บำเพ็ญเพียรกับเรา บำรุงเรา เอาเถิด เราจะพึงแสดงธรรมแก่กุลบุตรพวกนี้ก่อนใครหมด ”
     
... ครั้นทรงใคร่ครวญอย่างนี้แล้ว ก็ทรงตรวจดูว่า ภิกษุเหล่านั้น บัดนี้อยู่ที่ไหนก็ทรงเห็นว่าอยู่กันที่เทววัน กรุงอรุนธวดีระยะทาง ๑๘ โยชน์แต่ที่นี้ จึงทรงอันตรธานจากโคนโพธิพฤกษ์ไปปรากฏที่เทววัน เหมือนบุรุษมีกำลังเหยียดแขนที่คู้หรือคู้แขนที่เหยียดฉะนั้น
     
... สมัยนั้น ภิกษุสิบโกฏิเหล่านั้นอาศัยกรุงอรุนธวดีอยู่ที่เทววัน ก็แลเห็นพระทศพลทรงพุทธดำเนินมาแต่ไกล พากันมีใจผ่องใสรับเสด็จ รับบาตร จีวรของพระผู้มีพระภาคเจ้า ปูลาดพุทธอาสน์ ทำความเคารพ ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคเจ้า นั่งแวดล้อม ณ ที่สมควรส่วนหนึ่ง
     
... ณ ที่นั้น พระโกณฑัญญทศพลอันหมู่มุนีแวดล้อมแล้ว ประทับนั่งเหนือพุทธอาสน์อันรุ่งโรจน์ ประดุจท้าวสหัสนัยน์อันหมู่เทพชั้นไตรทศแวดล้อม ประดุจดวงรัชนีกรในฤดูสารทที่โคจร ณ พื้นนภากาศอันไร้มลทิน ประดุจดวงจันทร์เพ็ญ อันหมู่ดาวแวดล้อม
     
... ครั้งนั้น พระศาสดาตรัสพระธัมมจักกัปวัตตนสูตร มีปริวัฏ ๓ อาการ ๑๒ อันยอดเยี่ยม ซึ่งพระพุทธเจ้าทุกพระองค์ทรงซ่องเสพแล้ว แก่ภิกษุเหล่านั้น ทรงยังเทวดาและมนุษย์แสนโกฏิ มีภิกษุสิบโกฏิเป็นประธานให้ดื่มอมฤตธรรม
     
... ต่อจากนั้น ในมหามงคลสมาคม เทวดาในหมื่นจักรวาล เนรมิตอัตภาพอันละเอียด ประชุมกันในจักรวาลนี้นี่แล
     
... เล่ากันว่า ในมหามงคลสมาคมนั้น เทพบุตรองค์หนึ่งทูลถามมงคลปัญหากะพระโกณฑัญญทศพล พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสมงคลทั้งหลายโปรดเทพบุตรองค์นั้น ในมหามงคลสมาคมนั้น เทวดาเก้าหมื่นโกฏิบรรลุพระอรหัตตผล จำนวนพระอริยบุคคลมีพระโสดาบันเป็นต้นกำหนดไม่ได้เลย       

... ครั้งใด พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงทำยมกปาฏิหาริย์ ย่ำยีมานะของเดียรถีย์ ทรงแสดงธรรม ณ ภาคพื้นนภากาศ ครั้งนั้น มนุษย์และเทวดาแปดหมื่นโกฏิ บรรลุพระอรหัต ผู้ที่ตั้งอยู่ในผล ๓ เกินที่จะนับได้
     
... ได้ยินว่า พระโกณฑัญญศาสดาตรัสรู้พระอภิสัมโพธิญาณแล้ว พรรษาแรก ทรงอาศัยกรุงจันทวดี ประทับอยู่ ณ พระวิหารจันทาราม ในที่นั้น ภัททมาณพ บุตรของพราหมณ์มหาศาลชื่อสุจินธร และสุภัททมาณพ บุตรของยโสธรพราหมณ์ ฟังพระธรรมเทศนาเฉพาะพระพักตร์ของพระโกณฑัญญพุทธเจ้า มีใจเลื่อมใส ก็บวชในสำนักของพระองค์ พร้อมกับมาณพหมื่นหนึ่งแล้วบรรลุพระอรหัตตผล
     
... ครั้งนั้น พระโกณฑัญญศาสดาอันภิกษุแสนโกฏิมีพระสุภัททเถระ เป็นประธานแวดล้อมแล้ว ทรงยกปาติโมกข์ขึ้นแสดง ณ เพ็ญเดือนเชษฐะ(เดือน ๗) นั้นเป็นการประชุมครั้งที่ ๑
     
... ต่อจากนั้น เมื่อพระโอรสของพระโกณฑัญญศาสดา พระนามว่า วิชิตเสน ทรงบรรลุพระอรหัต พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงยกปาติโมกข์ขึ้นแสดง ณ ท่ามกลางภิกษุพันโกฏิมีพระวิชิตเสนนั้นเป็นประธาน นั้นเป็นการประชุมครั้งที่ ๒
     
... สมัยต่อมา พระทศพลเสด็จจาริก ณ ชนบท ทรงยังพระเจ้าอุเทนซึ่งมีชนเก้าสิบโกฏิเป็นบริวารให้ทรงผนวชพร้อมด้วยบริษัท เมื่อพระเจ้าอุเทนนั้นทรงบรรลุพระอรหัตแล้ว พระผู้มีพระภาคเจ้าอันพระอรหันต์เก้าสิบโกฏิมีพระเจ้าอุเทนนั้นเป็นประธานแวดล้อมแล้ว ทรงยกปาติโมกข์ขึ้นแสดง นั้นเป็นการประชุมครั้งที่ ๓
     
... ได้ยินว่า ครั้งนั้น พระโพธิสัตว์ของเราเป็นพระเจ้าจักรพรรดิ พระนามว่า วิชิตาวี ประทับอยู่ ณ กรุงจันทวดี
     
... เล่ากันว่า พระองค์อันคนชั้นดีเป็นอันมากแวดล้อมแล้ว ทรงปกครองแผ่นดิน อันเป็นที่อยู่แห่งน้ำและขุมทรัพย์ พร้อมทั้งขุนเขาสุเมรุและยุคันธร ทรงไว้ซึ่งรัตนะหาประมาณมิได้โดยธรรม ไม่ใช้อาชญา ไม่ใช้ศัสตรา
     
... ครั้งนั้น พระโกณฑัญญพุทธเจ้าอันพระขีณาสพแสนโกฏิแวดล้อมแล้ว เสด็จจาริก ณ ชนบท เสด็จถึงกรุงจันทวดีโดยลำดับ
     
... เล่ากันว่า พระเจ้าวิชิตาวีทรงสดับข่าวว่า เขาว่า พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จถึงนครของเราแล้ว จึงออกไปรับเสด็จ จัดแจงสถานที่ประทับของพระผู้มีพระภาคเจ้า นิมนต์เพื่อเสวยภัตตาหาร ณ วันรุ่งขึ้นพร้อมด้วยภิกษุสงฆ์
     
... วันรุ่งขึ้นก็ทรงให้เขาจัดภัตตาหารเป็นอย่างดีแล้ว ได้ถวายมหาทานแก่ภิกษุสงฆ์นับได้แสนโกฏิ มีพระพุทธเจ้าเป็นประธาน พระโพธิสัตว์ทรงให้พระผู้มีพระภาคเจ้าเสวยแล้ว จบอนุโมทนา ทรงทูลขอว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระองค์เมื่อจะทรงทำการสงเคราะห์มหาชน ขอโปรดประทับอยู่ในนครนี้นี่แหละตลอดไตรมาส ได้ทรงถวายอสทิสทานแก่ภิกษุสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นประธาน เป็นนิตย์ตลอดไตรมาส
     
... ครั้งนั้น พระศาสดาทรงพยากรณ์พระโพธิสัตว์ว่าจักเป็นพระพุทธเจ้าพระนามว่าโคตมะ ในอนาคตกาล แล้วทรงแสดงธรรมแก่พระองค์ ท้าวเธอทรงสดับธรรมกถาของพระศาสดาแล้ว ทรงมอบราชสมบัติ ออกทรงผนวช ทรงเล่าเรียนพระไตรปิฎก ทำสมาบัติ ๘ และอภิญญา ๕ ให้เกิดแล้วมีฌานไม่เสื่อม ก็บังเกิดในพรหม
 
... พระโกณฑัญญพุทธเจ้าพระองค์นี้มีพระนครชื่อว่ารัมมวดี พระชนกทรงพระนามว่าพระเจ้าสุนันทะ พระชนนีพระนามว่าพระนางสุชาดาเทวี คู่พระอัครสาวกคือพระภัททะและพระสุภัททะ พระอุปัฏฐากชื่อว่าอนุรุทธะ คู่พระอัครสาวิกาคือพระติสสาและพระอุปติสสา ต้นไม้ที่ตรัสรู้ คือ ต้นสาลกัลยาณี (ต้นขานาง) พระวรกายสูง ๘๘ ศอก พระชนมายุประมาณแสนปี พระองค์มีพระมเหสีพระนามว่ารุจิเทวี มีพระโอรสพระนามว่าวิชิตเสนะ มีอุปัฏฐากพระนามว่าเจ้าจันทะ ประทับอยู่ ณ พระวิหารจันทารามแล
     
... พระมหามุนีพระองค์นั้น สูง ๘๘ ศอก ทรงมีพระชนมายุแสนปี พระองค์มีพระชนม์ยืนถึงเพียงนั้น ก็ยังหมู่ชนเป็นอันมากให้ข้ามโอฆสงสาร
     
... แผ่นเมทนี งดงามด้วยพระขีณาสพทั้งหลายผู้ไร้มลทิน ก็เหมือนท้องนภากาศ งดงามด้วยเหล่าดวงดาวทั้งหลาย พระโกณฑัญญพุทธเจ้าพระองค์นั้นก็ทรงงดงามอย่างนั้น
     
... พระขีณาสพแม้เหล่านั้น หาประมาณมิได้ อันโลกธรรมให้ไหวมิได้ ยากที่สัตว์จะเข้าไปหา พระผู้มียศใหญ่เหล่านั้น แสดงตัวเหมือนสายฟ้าแลบแล้วต่าง ก็ดับขันธปรินิพพาน
     
... พระวรฤทธิ์ของพระชินเจ้า ที่ไม่มีผู้เทียบได้นั้น และพระสมาธิที่พระญาณอบรมแล้ว ทั้งนั้นก็อันตรธาน ไปหมดสิ้น สังขารทุกอย่างก็ว่างเปล่าโดยแน่แท้
     
... พระโกณฑัญญสัมพุทธเจ้า เสด็จดับขันธปรินิพพาน ณ พระวิหารจันทาราม ที่น่ารื่นรมย์ เขาสร้างพระเจดีย์สำหรับบรรจุพระบรมสารีริกธาตุของพระองค์ สูงเจ็ดโยชน์ พระธาตุทั้งหลาย ของพระศาสดาพระองค์นั้นไม่กระจัดกระจาย คงดำรงอยู่เป็นแท่งเดียว มนุษย์ชาวชมพูทวีปทั้งสิ้นช่วยกันเอาหินอ่อนสีเหลืองก่อแทนดิน ใช้น้ำมันและเนยแทนน้ำสร้างจนแล้วเสร็จแล ฯ.

             



   
                                       













































































































3
การเกิดนับไม่ถ้วน
     
... ทีนี้สำหรับพวกเราที่นั่งอยู่ที่นี่มันเกิดมาแล้วนับไม่ถ้วนหรือไม่ได้นับก็ไม่รู้ อาจารย์นับหรือเปล่า ไม่นับ เห็นไหม มันเกิดมาแล้วนับไม่ถ้วน ตั้งแต่ก่อนที่เราจะรู้จักคำว่าบาปบุญคุณโทษประโยชน์ไม่ใช่ประโยชน์ ตั้งแต่สมัยที่เราเลวมากน่ะเวลามันมากกว่าที่เรารู้สึกว่าดี รู้จักความดี กว่าจะรู้จักการให้ทาน รู้จักการรักษาศีล ต้องเกิดมานับไม่ถ้วน หลังจากนั้นแล้วจึงเข้าไปรู้จักความดี และความดีที่รู้จักก็ได้แก่

ความดี ๓ อย่าง
     
๑. ทาน
     
๒. ศีล
     
๓. ภาวนา
     
... สามอย่างที่เรารู้จักเรียกว่า “ ความดี ” ไอ้ก่อนหน้านั้นมันมากกว่าใช่ไหม ขณะที่เราไม่รู้จักความดีแล้วมันลงนรก ตายแล้วก็ลงนรก ออกจากนรกก็เป็นเปรต ออกจากเปรตเป็นอสูรกาย ออกจากอสูรกายเป็นสัตว์เดรัจฉาน ออกจากสัตว์เดรัจฉานมาเป็นคน จากคนลงนรกใหม่ มันทำเลวอีกนี่ใช่ไหม ก็วนแบบนั้นน่ะไม่รู้กี่เที่ยว
     
... หลังจากนั้นมาเมื่อรู้จักความดีบ้าง ทำดีได้บ้าง สร้างความดีบ้าง เมื่อตายแล้วไปอบายภูมิบ้างคือนรกเป็นต้น ไปสวรรค์บ้าง ไปพรหมบ้าง มาเป็นคนบ้าง ไปนรกบ้าง ว่ากันไปว่ากันมาแบบนี้
     
... นี่จนกว่าเราจะมีความเข้าใจว่านิพพานมีจริง และจิตจะต้องนึกถึงพระนิพพานจริงอันนี้ต้องใช้เวลามาก อารมณ์ของคนที่จะรู้จักนิพพานและเข้าใจเรื่องนิพพานนี่ใช้เวลาเยอะ

บารมี ๓ ขั้น
     
... ที่พระพุทธเจ้าตรัสบารมีไว้ ๓ ขั้น คือ
     
... ๑. บารมีต้น เขาเรียก “ บารมี ” เฉยๆ อย่างนี้ยังไม่คิดถึงนิพพาน ถ้าอย่างเก่งก็ให้ทานกับรักษาศีลก็ยังไม่แน่นอนนัก เอาแค่นั้นแหละ ถ้าชวนไปเจริญภาวนาเขาบอกไม่ไหว ทำไม่ได้
     
... ๒. บารมีกลาง ที่เรียกว่า “ อุปบารมี ” ถ้าขั้นนี้ชวนเจริญภาวนาพอทำได้ แต่ทำแค่ฌานโลกีย์ทำได้ ให้หวังนิพพานเป็นที่ไปเขาส่ายหัว บอกไม่ไหวนะ เพราะกำลังใจไม่ถึง
     
... ๓. บารมีขั้นสูง ต่อไปจะเข้าใจเรื่องนิพพานได้ต้องเป็น “ ปรมัตถบารมี ” ฉะนั้นทุกคนที่มีความตั้งใจคิดว่าอยากจะไปนิพพานเป็นอารมณ์นั่นคนนั้นมีบารมีเป็นปรมัตถบารมี
     
... และกว่าจะถึงปรมัตถบารมีนี่อย่างน้อยๆ นะ ก็ต้องผ่านโลกมาอย่างน้อยประมาณ ๑๐๐ อสงไขยกัป(๑ อสงไขยกัป เท่ากับ หนึ่งหมื่นล้านกัป) แค่อสงไขยกัปก็ยังแย่ ไอ้ ๔ อสงไขย ๘ อสงไขย ๑๖ อสงไขยน่ะมันดีมากแล้ว ไอ้ก่อนหน้าที่มันเลวน่ะมันมากกว่านี้อีกใช่ไหม


พระพุทธเจ้า ๓ ประเภท
     
... ถ้าหากว่าเป็น ปัญญาธิกะ อย่างพระพุทธเจ้าแบบปัญญาธิกะบำเพ็ญบารมี ๔ อสงไขยกัป ถ้าศรัทธาธิกะ ๘ อสงไขยกัปกับแสนกัป ถ้าวิริยาธิกะก็ ๑๖ อสงไขยกับแสนกัป
     
... ทีนี้พวกเรากว่าจะรู้ความดีความชั่วนี่ต้องอาศัยผ่านความเลวมามาก เมื่อรู้จักความดีก็ยังต้องเกิดอีกนับไม่ถ้วน
     
... ฉะนั้นขอให้ทุกคนพึงมีความเข้าใจว่าความตายมีกับเราแน่ จงอย่าคิดว่าความตายจะเข้าถึงเราในวันพรุ่งนี้ ให้คิดว่าความตายอาจจะถึงเราในวันนี้ไว้เสมอ แต่ไม่ใช่งอมืองอเท้านะ ให้เร่งรัดทำความดี


ตายแล้วต้องการไปไหน
     
... เราจะไปไหนกันล่ะ จะไปนรกไหม ไปนรกไม่ยาก ไม่ต้องไปด่าชาวบ้านให้เขาโกรธ เราอยู่ในบ้านไปนั่งด่าพระพุทธรูปที่อยู่ในบ้านสบาย เราลงนรกเอง ไปด่าชาวบ้านเดี๋ยวเขาด่าเอาบ้างใช่ไหม
     
... ถ้าเราอยากจะไปสวรรค์ก็นั่งไหว้พระพุทธรูปในบ้านนั่นแหละ ไม่ต้องไปไหนก็ได้ ตั้งใจนึกถึงพระพุทธเจ้าอย่างเดียวนั่งต่อหน้าท่านก็ไปสวรรค์
     
... ถ้าอยากจะไปเป็นพรหมก็นึกให้จิตทรงตัวก็เป็นพรหม
     
... ถ้าอยากจะไปนิพพานก็ตั้งใจคิดว่าไอ้ร่างกายเลวๆ อย่างนี้ให้มีชาตินี้เป็นชาติสุดท้าย ต่อไปไม่มีสำหรับเราอีก
     
... ต่อไปข้างหน้าขึ้นชื่อว่าความเกิดเป็นคนก็ดี เป็นสัตว์ก็ดีจะไม่มีสำหรับเรา เราต้องการจุดเดียวคือนิพพาน ถ้ามันตายระหว่างนั้นจริงๆ ก็ไปนิพพาน

     
     
ธัมมวิโมกข์ ปีที่ ๒๙ ฉบับที่ ๓๒๙ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๕๑คำสอนที่สายลมปี ๒๕๓๔ หน้า ๗๔ – ๗๖โดย พระราชพรหมยาน วัดท่าซุง
   
 

4
บทสวดมนต์ก่อนนอนโดยย่อ
   
... อะระหัง สัมมาสัมพุทโธ ภะคะวา พุทธัง ภะคะวันตัง อะภิวาเทมิ (กราบ)
   
... สวากขาโต ภะคะวะตา ธัมโม ธัมมัง นะมัสสามิ (กราบ)
   
... สุปฏิปันโน ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ สังฆัง นะมามิ (กราบ)



นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ (ว่า ๓ จบ)

พุทธัง สะระณัง คัจฉามิ

ธัมมัง สะระณัง คัจฉามิ

สังฆัง สะระณัง คัจฉามิ

สมาทานศีล ๕

... ๑. ปาณาติปาตา เวระมะณี สิกขาปะทัง สะมาทิยามิ

... ๒. อะทินนาทานา เวระมะณี สิกขาปะทัง สะมาทิยามิ

... ๓. กาเมสุมิจฉาจารา เวระมะณี สิกขาปะทัง สะมาทิยามิ

... ๔. มุสาวาทา เวระมะณี สิกขาปะทัง สะมาทิยามิ

... ๕. สุราเมระยะมัชชะปะมาทัฏฐานา เวระมะณี สิกขาปะทัง สะมาทิยามิ


สรรเสริญพระพุทธคุณ พระธรรมคุณ พระสังฆคุณ
   
... โย โส ตะถาคะโต อะระหัง สัมมาสัมพุทโธ วิชชาจะระณะสัมปันโน สุคะโต โลกะวิทู อะนุตตะโร ปุริสะทัมมะสาระถิ สัตถา เทวะมะนุสสานัง พุทโธ ภะคะวา โย  อิมัง โลกัง สะเทวะกัง สะมาระกัง สะพรฺหมฺ(พัม-มะ)กัง สัสสะมะณะพรฺาหมฺ(พาม-มะ)ณิง ปะชัง สะเทวะมะนุสสัง สะยัง อะภิญญา สัจฉิกัตฺ(กัด-ตะ)วา ปะเวเทสิ โย ธัมมัง เทเสสิ อาทิกัลฺ(กัน-ละ)ยาณัง มัชเฌกัลฺยาณัง ปะริโยสานะกัลฺยาณัง สาตถัง สะพะยัญชะนัง เกวะละปะริปุณณัง ปะริสุทธัง พรฺหมฺ(พัม-มะ)จะริยัง ปะกาเสสิ ตะมะหัง ภะคะวันตัง อะภิปูชะยามิ ตะมะหัง ภะคะวันตัง สิระสา นะมามิ ฯ.
กาเยนะ วาจายะ วะ เจตะสา วา, พุทเธ กุกัมมัง ปะกะตัง มะยา ยัง
พุทโธ ปะฏิคคัณหะตุ อัจจะยันตัง, กาลันตะเร สังวะริตุง วะ พุทเธ ฯ.
   
... สวากฺขาโต ภะคะวะตา ธัมโม สันทิฏฺฐิโก อะกาลิโก เอหิปัสสิโก โอปะนะยิโก ปัจจัตตัง เวทิตัพโพ วิญญูหี(ฮี)ติ ฯ.

กาเยนะ วาจายะ วะ เจตะสา วา, ธัมเม กุกัมมัง ปะกะตัง มะยา ยัง
ธัมโม ปะฏิคคัณหะตุ อัจจะยันตัง, กาลันตะเร สังวะริตุง วะ ธัมเม ฯ.
   
... สุปะฏิปันโน ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ อุชุปะฏิปันโน ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ  ญายะปะฏิปันโน ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ สามีจิปะฏิปันโน ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ  ยะทิทัง จัตตาริ ปุริสะยุคคานิ อัฏฐะ ปุริสะปุคคะลา เอสะ ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ อาหุเนยโย ปาหุเนยโย ทักขิเณยโย อัญชะลีกะระณีโย อะนุตตะรัง ปุญญักเขตตัง โลกัสสาติ ฯ.

กาเยนะ วาจายะ วะ เจตะสา วา, สังเฆ กุกัมมัง ปะกะตัง มะยา ยัง
สังโฆ ปะฏิคคัณหะตุ อัจจะยันตัง, กาลันตะเร สังวะริตุง วะ สังเฆ ฯ.

นมัสการทศโพธิสัตว์
     
... นะมัตถุ พุทธานัง นะมัตถุ โพธิยา เมตเตยยะ เมตเตยโย นามะ ราโม จะ รามะสัมพุทโธ โกสะโล ธัมมะราชา จะ มาระ มาโร ธัมมะสามี ทีฆะชังฆี จะ นาระโท โสโณ รังสิมุนีตะถา สุภูเต เทวะเทโว โตเทยโย นะระสีหะโก ติสโส นามะ ธะนะปาโล ปาริเลยโย สุมังคะโล เอเตทะสะ พุทธานามะ ภะวิสสันติ อะนาคะเต เตสาหัง  สิระสา ปาเท วันทามิ ปะริสุตฺตะ เม วะจะสา มะนะสา เจวะ วันทาเม เต ตะถาคะเต สะยะเน อาสะเน ฐาเน คะมะเน จาปิ สัพพะทาฯ.

ตักบาตร
   
... หลังจากสวดมนต์เสร็จแล้วให้ใส่บาตร โดยจะใช้เงิน ๑ บาท หรือข้าวเปลือกข้าวสาร ๑ ช้อนก็ได้ จบใส่หัวแล้วว่า ข้าพเจ้าขอถวายเงินค่าอาหารแก่พระสงฆ์ หรือ ข้าพเจ้าขอถวายข้าวนี้เป็นอาหารแก่พระสงฆ์ แล้วใส่ในกระปุกไว้ เมื่อได้เยอะแล้วก็เอาไปถวายพระ ทำอย่างนี้เช้าเย็นทุกวันห้ามขาด แล้วเงินทองจะไม่ขาดมือ ทำมาหากินเจริญรุ่งเรืองยิ่งๆขึ้นไป ดังที่ท่านท่านพระสุธรรมยานเถร (พระมหาวีระ ถาวโร) วัดจันทาราม จ.อุทัยธานี สอนไว้ว่า   
     
... " เป็นเครื่องเตือนใจให้ทราบว่า การที่จะมีทรัพย์สินมากหรือน้อยก็ตามได้มาจากผลของการบริจาคทาน การให้ทานเป็นบ่อเกิดแห่งทรัพย์สินในชาติต่อไป ความจริงถ้าเป็นนักบุญที่เนื่องในการให้ทานจริงๆ ทำบุญให้ทานในเขตทานที่ให้ผลมาก ไม่ต้องทำคราวละมากๆ ทำน้อยๆ พอไม่เดือดร้อน แต่ให้ทำบ่อยๆ ให้ติดต่อกันเป็นประจำ เช่น “ การถวายสังฆทาน ” เป็นปกติ  สังฆทานก็ไม่ต้องลงทุนมาก ใส่บาตรวันละองค์สององค์ หรือเอาข้าวเปลือกข้าวสารใส่ที่เก็บเล็กๆ ไว้วันละนิดหน่อย ตั้งใจไว้ว่า “ ข้าวที่เก็บไว้นี้เราจะรวมไว้ เมื่อมีมากพอสมควรจะเอาไปถวายเป็นอาหารของพระ ” อย่างนี้เรียกว่าถวายสังฆทานทำอย่างนี้เสมอๆ ขอให้ค่อยๆ พิจารณาเมื่อวันเวลาผ่านไปสักปีหรือสองปี จะเห็นว่าผลของทานแม้เล็กน้อยเพียงเท่านี้ จะทำให้ความเป็นอยู่เพิ่มพูนขึ้นกว่าปกติมาก มีการหาได้คล่องตัวขึ้น ถ้าชาติหน้าจะรวยขั้นมหาเศรษฐี ฯ. "                                                                                     

ภาวนา
     
... เมื่อใส่บาตรแล้ว ให้นั่งขัดสมาธิหรือนั่งพับเพียบ เอาแค่สบาย พิจารณาร่างกายของเรา โดยนัยว่า “ ร่างกายนี้เป็นอนิจจัง หาความเที่ยงไม่ได้ ทุกขัง ร่างกายนี้มีแต่ความทุกข์หาความสุขไม่ได้  อนัตตา ในที่สุดก็ต้องสลายตัว คือ ต้องตาย ถ้าเราตายเมื่อไหร่ขอไปพระนิพพานเมื่อนั้น ”  แล้วดูลมหายใจเข้าออก โดยหายใจเข้าภาวนาว่า “ พุท ”  หายใจออกภาวนาว่า “ โธ ” เมื่อนั่งพอใจสบายมีความสุขแล้ว ให้อุทิศส่วนกุศลต่อดังนี้

คำอุทิศส่วนกุศล
     
... อิทํ ปุญฺญผลํ ผลบุญใดที่ข้าพเจ้าได้กระทำมาแล้ว ตั้งแต่ต้นจนถึงปัจจุบัน และจักบำเพ็ญต่อๆ ไป จนกว่าจะถึงพระนิพพาน ข้าพเจ้าขออุทิศส่วนกุศลนี้ให้แก่ปู่ย่าตายายทั้งหลาย พ่อแม่ทั้งหลาย ครูอุปัชฌาย์อาจารย์ ญาติสนิทมิตรสหาย ท่านผู้มีพระคุณทั้งหลาย ลูกหลานบริวารทั้งหลายของข้าพเจ้า ตั้งแต่ชาติก่อนก็ดี ชาตินี้ก็ดี ขอท่านทั้งหลายจงได้อนุโมทนาส่วนกุศลนี้ ขอจงได้รับประโยชน์และความสุข เช่นเดียวกับข้าพเจ้าจะพึงได้รับ ณ กาลบัดเดี๋ยวนี้ด้วยเถิด
     
... และข้าพเจ้าขออุทิศส่วนกุศลทั้งหลายเหล่านี้ ให้แก่ท่านเจ้ากรรมนายเวรทั้งหลายที่เคยได้ล่วงเกินมาแล้ว ตั้งแต่ชาติก่อนก็ดี ชาตินี้ก็ดี ขอท่านเจ้ากรรมนายเวรทั้งหลาย จงได้อนุโมทนาส่วนกุศลนี้ และขอจงได้ให้อโหสิกรรมแก่ข้าพเจ้า นับแต่บัดเดี๋ยวนี้เป็นต้นไป จนกว่าจะเข้าถึงซึ่งพระนิพพานด้วยเถิด
     
... และข้าพเจ้าขออุทิศส่วนกุศลนี้ให้แก่ท่านเทพเจ้าทั้งหลายที่ปกปักรักษาข้าพเจ้า และท่านเทพเจ้าทั้งหลายทั่วสากลพิภพ และท่านพระยายมราช ขอท่านเทพเจ้าทั้งหลายและท่านพระยายมราช จงได้อนุโมทนาส่วนกุศลนี้ และขอจงได้เป็นสักขีพยานในการบำเพ็ญกุศลของข้าพเจ้า ในกาลวันนี้ด้วยเถิด
     
... และข้าพเจ้าขออุทิศส่วนกุศลทั้งหลายเหล่านี้ ให้แก่ท่านทั้งหลายที่ล่วงลับไปแล้ว ที่เป็นญาติก็ดี ไม่ใช่ญาติก็ดี สัมภเวสี ภูตผี ปีศาจ เปรต  อสุรกาย และบรรดาท่านทั้งหลายที่รอตัดสินโทษอยู่  ณ สำนักพระยายมราช ขอท่านทั้งหลายจงได้อนุโมทนาส่วนกุศลนี้ ขอจงได้รับประโยชน์และความสุขเช่นเดียวกับข้าพเจ้าจะพึงได้รับ ณ กาลบัดเดี๋ยวนี้เถิด ถ้าหากท่านทั้งหลายยังไม่รู้จัก ขอท่านพระยายมราชและเทวดาทั้งหลาย จงบอกสัตว์เหล่านั้นให้อนุโมทนาส่วนกุศลนี้ด้วยเถิด
     
... อิทํ ปุญฺญผลํ ผลบุญใดที่ข้าพเจ้าได้กระทำมาแล้ว ตั้งแต่ต้นจนถึงปัจจุบัน และจักบำเพ็ญต่อๆ ไป จนกว่าจะถึงพระนิพพาน ขอผลบุญทั้งหลายเหล่านี้จงเป็นปัจจัยให้ข้าพเจ้าเข้าถึงพระนิพพานในชาตินี้ด้วยเถิด
     
... ตราบใดที่ข้าพเจ้ายังเป็นผู้มีบารมียังอ่อน ยังจักต้องเร่ร่อนไปในชาติภพใดใด ขอความขัดข้องต่างๆ ความอดอยากยากจน ความทุกข์ยากลำบากเข็ญใจ คำว่าไม่รู้ คำว่าไม่มี และคำว่าความปรารถนาไม่สมหวัง จงอย่าพึงบังเกิดมีแก่ข้าพเจ้าเลย นับตั้งแต่บัดเดี๋ยวนี้เป็นต้นไป จนกว่าจะเข้าถึงซึ่งพระนิพพานด้วยเถิด


คำขอขมาพระรัตนตรัย

สัพพัง อะปะราธัง ขะมะถะ เม ภันเต, อุกาสะ ทะวาระตะเยนะกะตัง
สัพพัง อะปะราธัง ขะมะถะ เม  ภันเต, อุกาสะ ขะมามิ ภันเต ฯ. (ว่า ๓ จบ)
   
... ถ้าหากข้าพเจ้า ได้เคยประมาทพลาดพลั้งล่วงเกินต่อพระรัตนตรัย อันมีพระพุทธเจ้าทุกๆ พระองค์ พระปัจเจกพุทธเจ้าทุกๆ พระองค์ พระธรรม และพระอริยสงฆ์ทั้งหมด แต่ชาติก่อนก็ดี ชาตินี้ก็ดี ด้วยกายหรือวาจาก็ดี ด้วยใจก็ดี และด้วยมีเจตนาหรือไม่มีเจตนาก็ดี รู้เท่าไม่ถึงการณ์ก็ดี
       
... ขอองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทุกๆ พระองค์ พระปัจเจกพุทธเจ้าทุกๆ พระองค์ พระธรรม และพระอริยะสงฆ์ทั้งหมด พระโพธิสัตว์ทุกๆ พระองค์ และท่านผู้มีพระคุณทั้งหมด ขอจงได้โปรดอดโทษให้แก่ข้าพเจ้า ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป ตราบเท่าเข้าสู่พระนิพพานด้วยเทอญ ฯ.

คาถาพระปัจเจกโพธิ์โปรดสัตว์
     
... สาธุ ข้าพเจ้าขออาราธนาพระบารมีพระพุทธคุณ พระธรรมคุณ และพระสังฆคุณ คุณพระปัจเจกโพธิ์ คุณพระโพธิสัตว์ทั้งหลาย คุณครูบาอาจารย์ทั้งหลายสืบๆ กันมา มีคุณครูผึ้ง คุณอาจารย์เนียร คุณหลวงปู่ปาน วัดบางนมโค คุณหลวงปู่พระราชพรหมยาน วัดท่าซุงเป็นที่สุด พรหมและเทวดาทั้งหมด ขอจงได้มาโปรดลูกด้วยเถิด ฯ.

พุทธะ มะอะอุ นะโมพุทธายะ  (ว่า ๑ จบ)
     
... วิระทะโย วิระโคนายัง วิระหิงสา วิระทาสี วิระทาสา วิระอิตถิโย พุทธัสสะ มานีมามะ พุทธัสสะ สวาโหม ฯ.

... ว่า ๕, ๗, ๙ จบ ให้สวดเช้าเย็น ไม่มีเวลาก็เดินสวด วิ่งสวด หรือทำงานสวดก็ได้ ผู้ที่สวดจะต้องรักษาศีลสองข้อห้ามลักขโมยและกินเหล้าเบียร์หรือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เด็ดขาด
   
... สาธุ ข้าพเจ้าขออาราธนาพระบารมี พระพุทธเจ้าทุกๆ พระองค์ พระปัจเจกพุทธเจ้าทุกๆ พระองค์ พระธรรม และพระอริยสงฆ์ทั้งหลาย พระโพธิสัตว์ทั้งหลาย คุณครูบาอาจารย์ทั้งหลายสืบๆ กันมา มีคุณครูผึ้ง คุณอาจารย์เนียร คุณหลวงปู่ปาน วัดบางนมโค คุณหลวงปู่พระราชพรหมยาน วัดท่าซุงเป็นที่สุด พรหมและเทวดาทั้งหมด ขอจงได้มาโปรดลูกด้วยเถิด




ด้วยผลบุญนี้ จงเป็นปัจจัยให้ข้าพเจ้าได้บรรลุพระอภิเษกสัมมาสัมโพธิญาณ
ตรัสเป็นพระพุทธเจ้าทรงพระนามว่า พระพุทธมหามุนีธัมมสามีวิริยาธิกะสัพพัญญูสัมมาสัมพุทธเจ้า ในอนาคต
เพื่อจะปลดเปลื้องสัตว์ทั้งหลายจากวัฏฏะสงสาร เข้าสู่แดนเอกันตบรมสุข คือ เมืองแก้วพระนิพพาน
                                                                                                                                                                                           
ดนัย  ศิริเวช
๒๘  ตุลาคม ๒๕๕๗































     




   
 

5
... ความจริงปฏิปทาของเรานั้น เป็นคนมักน้อย เป็นคนสันโดษ ธรรมดาๆ ของเรานั้นให้ปฏิปทาทำขนาดเดิม 

... อย่าสนใจกับความเกียจคร้าน อย่าสนใจกับความขยัน ปฏิบัติอย่าว่าขยันอย่าว่าขี้เกียจ

... พระท่านไม่เอาอย่างนั้น 

... ขยันก็ทำอยู่อย่างนั้น ขี้เกียจก็ทำอยู่อย่างนั้น

... ไม่สนใจมันสิ่งเหล่านั้น ตัดมันไปอย่างนี้เรื่อยๆ กลางคืนกลางวัน ปีนี้ปีหน้า เวลาใดก็ตาม ให้ทำของเราไปเรื่อยๆ 

... ปฏิปทานี้ไม่สนใจกับความเกียจคร้าน ไม่สนใจกับความขยัน ไม่สนใจอากาศร้อนอากาศหนาว ให้ทำไปเรื่อยๆ ฯ. 

6
... โภคทรัพย์ทั้งหลาย ถูกโจรลักไป ถูกพระราชาริบไป ถูกไฟไหม้ เสียหาย

... อนึ่ง บุคคลผู้เป็นเจ้าของย่อมละทิ้งสรีรกาย กับทั้งข้าวของ เพราะความตาย

... นักปราชญ์ทราบเหตุนี้แล้ว พึงใช้สอยบ้าง พึงให้ทานบ้าง
                         
... ครั้นให้ทาน และใช้สอยตามสมควรแล้ว เป็นผู้ไม่ถูกติเตียน

... ย่อมเข้าถึงสถาน คือ สวรรค์

                         

7
บทพิจารณาขันธ์ ๕

... ร่าเริงอะไรกันหนอ ยินดีอะไรกัน ในเมื่อโลกสันนิวาสถูกไฟไหม้โพลงแล้วเป็นนิตย์ ท่านทั้งหลายถูกความมืดหุ้มห่อแล้ว เพราะเหตุไรจึงไม่แสวงหาประทีป ฯ.

... ท่านจงดูอัตภาพอันบุญกรรมทำให้วิจิตรแล้ว มีกายเป็นแผล อันกระดูกสามร้อยท่อนปรุงขึ้นแล้ว กระสับกระส่าย อันมหาชนดำริกันโดยมาก ไม่มีความยั่งยืนมั่นคง รูปนี้คร่ำคร่าแล้ว เป็นรังแห่งโรค ผุพัง กายของตนอันเปื่อยเน่าจะแตก เพราะชีวิตมีความตายเป็นที่สุด ฯ.

... กระดูกเหล่าใดเขาไม่ปรารถนาแล้ว เหมือนน้ำเต้าในสารทกาล มีสีเหมือนนกพิราบ จะยินดีอะไรเพราะได้เห็นกระดูกเหล่านั้น ฯ.

... สรีระอันกรรมสร้างสรรให้เป็นเมืองแห่งกระดูก มีเนื้อและเลือดเป็นเครื่องไล้ทา เป็นที่ตั้งแห่งความแก่ ความตาย ฯ.   

... ขันธ์ ๕ นี้ เป็นของไม่เที่ยง มันเกิดขึ้นในเบื้องต้น  ตั้งอยู่ในท่ามกลาง  แล้วดับไปในที่สุด ทุกขัง ขันธ์ ๕ นี้มันเต็มไปด้วยความทุกข์นานา  ทุกข์เพราะความเกิด ทุกข์เพราะเจ็บไข้ได้ป่วย  ทุกข์เพราะความแก่ชรา  ทุกข์เพราะความตาย ร่างกายนี้เป็นอนัตตา ไม่นานมันก็ต้องตายต้องสลายตัวไป  โรคะนิทัง  ร่างกายนี้มันเป็นรังของโรค  ปะพังคุณัง ร่างกายนี้มันเปื่อยเน่าของมันทุกวัน  ขะยะวัยยัง มันเสื่อมไปสิ้นไปอยู่ทุกขณะ  เหมือนก้อนน้ำแข็งที่วางอยู่กลางแดด ฯ.

... ดูกรภิกษุทั้งหลาย ! จงดูกายอันนี้เถิด  มีฟันหัก  ผมหงอก  หนังเหี่ยวยาน  มีอาการทรุดโทรมให้เห็นอย่างเด่นชัด  เหมือนเกวียนที่ชำรุดแล้วชำรุดอีก  ได้อาศัยแต่ไม้ไผ่มาซ่อมผูกกระหนาบคาบค้ำไว้  จะยืนนานไปได้สักเท่าใด  การแตกสลายย่อมจะมาถึงเข้าสักวันหนึ่ง  ภิกษุทั้งหลาย  พวกเธอจงมีธรรมเป็นที่เกาะ มีธรรมเป็นที่พึ่ง  อย่ามีสิ่งอื่นเป็นที่พึ่งเลย แม้ตถาคตก็เป็นเพียงผู้บอกทางเท่านั้น ฯ.

... ดูกรภิกษุทั้งหลายดี  ! จงดูร่างกายอันเปื่อยเน่านี้เถิด มันอาดูรไม่สะอาด  มีสิ่งสกปรกไหลเข้าไหลออกอยู่เสมอ ถึงกระนั้นก็ตาม  มันยังเป็นที่พอใจปรารถนายิ่งนักของผู้ไม่รู้ความจริงข้อนี้ 

... ภิกษุทั้งหลาย  ร่างกายนี้ไม่นานนักหรอกคงจะนอนทับถมแผ่นดิน  ร่างกายนี้เมื่อปราศจากวิญาณครองแล้ว  ก็ถูกทอดทิ้งเหมือนท่อนไม้ที่ไร้ค่า  อันเขาทิ้งเสียแล้วไม่ใยดี ฯ.

... ดูกรภิกษุทั้งหลาย ! อันร่างกายนี้สะสมไว้แต่ของสกปรกโสโครก  มีสิ่งปฏิกูลไหลออกจากทวารทั้งเก้า มีช่องหู  ช่องจมูก  เป็นต้น  เป็นที่อาศัยของสัตว์เล็กสัตว์น้อย  เป็นป่าช้าแห่งซากสัตว์นานาชนิด เป็นรังแห่งโรค  เป็นที่เก็บมูตรและกรีส อุปมาเหมือนถุงหนังซึ่งบรรจุเอาสิ่งโสโครกต่างๆ เข้าไว้  แล้วซึมออกมาเสมอๆ  เจ้าของกายจึงต้องชำระล้างขัดถูวันละหลายๆ ครั้ง เมื่อเว้นจากการชำระล้างแม้เพียงวันเดียวหรือสองวัน  กลิ่นเหม็นก็ปรากฎเป็นที่รังเกียจ  เป็นของน่าขยะแขยง ฯ.

... ดูกรภิกษุทั้งหลาย ! ร่างกายนี้เปรียบเป็นเหมือนเรือนซึ่งสร้างด้วยโครงกระดูก  มีหนังและเลือดเป็นเครื่องฉาบทา  ที่มองเห็นเปล่งปลั่งผุดผาดนั้นเป็นแต่เพียงผิงหนังเท่านั้น  เหมือนมองเห็นความงามแห่งหีบศพอันวิจิตรตระการตา  ผู้ไม่รู้ก็ติดในหีบศพนั้น  แต่ผู้รู้เมื่อทราบว่าเป็นหีบศพ  แม้ภายนอกจะวิจิตรตระการตาเพียงใด  ก็หาพอใจยินดีไม่  เพราะทราบชัดว่าภายในแห่งหีบอันสวยงามนั้นมีสิ่งปฏิกูลน่ารังเกียจ ฯ.

8
ปฏิปทาพระโพธิสัตว์

... ข้อปฏิบัตินี้ท่านครูบาอาจารย์หลวงพ่ออภิญญา อาจาโร วัดป่าวิเวกอาศรม จ.ร้อยเอ็ด ท่านสอนผมมาตั้งแต่ท่านให้ปรารถนาพุทธภูมิ เลยเอามาลงไว้ เผื่อจะมีประโยชน์แก่ทุกท่านที่ปรารถนาพุทธภูมิครับ

... ๑. เราจะหมั่นทำบุญตักบาตร ทำทานการสงเคราะห์คนและสัตว์ให้เป็นปกติ โดยเฉพาะ การถวายสังฆทาน วิหารทาน ธรรมทาน ทำบุญทอดกฐิน และสิ่งที่เป็นสาธารณประโยชน์ เช่น โรงเรียน โรงพยาบาล ถนนหนทาง บ่อน้ำ เป็นต้นฯ.

... ๒. เราจะรักษาศีล ๕ และกุศลกรรมบถ ๑๐ ให้ครบถ้วน ทั้งศีล ๕ และกรรมบถ ๑๐ รวมกันแล้ว มีดังนี้.

ทางกาย

... ไม่ฆ่าสัตว์และทรมานสัตว์ให้ได้รับความลำบาก.

... ไม่ลักขโมยทรัพย์สินข้าวของเงินทอง ของคนอื่นมาเป็นของตัวเอง.

... ไม่ประพฤติผิดในกามเล่นชู้ ทั้งผัวเขา ทั้งเมียเขา ทั้งลูกหลาน หรือคนในปกครองของคนอื่น .

... ไม่ดื่มสุราเมรัยและสิ่งเสพย์ติดทุกชนิด ที่ทำให้สติสัมปะชัญญะเลอะเลือน.


ทางวาจา
... ไม่พูดจาโกหกหลอกลวง.

... ไม่พูดคำหยาบคาย.

... ไม่พูดจาส่อเสียด ให้คนอื่นหรือหมู่คณะเขาแตกแยกกัน.

... ไม่พูดเพ้อเจ้อเหลวไหลไร้สาระประโยชน์.


ทางใจ

... ไม่คิดเพ่งเล็งอยากจะลักขโมย ฉ้อโกง แย่งชิงของคนอื่น มาเป็นของตนเอง.

... ไม่คิดผูกเวร พยาบาท อาฆาต จองล้างจองผลาญใครๆ.

... ไม่มีความเห็นผิด คือ คัดค้านคำสั่งสอนองค์สมเด็จพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้าเด็ดขาด.

... *** ทางกายในวันธรรมดาอาจบกพร่องบ้างในบางข้อเพราะต้องทำมาหากิน แต่ในวันพระขอให้รักษาให้ครบถ้วน ฯ.

... ๓. มีพรหมวิหาร ๔ ประจำใจ คือ.

... เมตตา มีความรักในคนและสัตว์เสมอด้วยตัวเราเอง.

... กรุณา ช่วยเหลือคนหรือสัตว์ที่มีความทุกข์ยากลำบากให้มีความสุข ตามความสามารถที่เราจะทำได้.

... มุทิตา ยินดีกับผู้อื่นเมื่อเขาได้ดี ไม่คิดอิจฉาริษยา.

... อุเบกขา วางเฉยเมื่อเห็นคนและสัตว์มีความทุกข์ยากลำบาก หากมีโอกาสเราช่วยตามกำลังของเราทันที.

... ๔. มีความเคารพเลื่อมใส เชื่อในคุณขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า คุณของพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า และคุณของพระอริยสงฆ์ทั้งหลาย อย่างมั่นคงจริงใจไม่หวั่นไหว ฯ.

... ๕. นึกถึงความตายเอาไว้เป็นปกติ ปกติในที่นี้คือ ว่างๆ นึกขึ้นมาได้ก็คิดว่า " ชีวิตนี้เป็นของไม่เที่ยง ความตายเป็นของเที่ยง ไม่นานเราต้องตายแน่นอน " คิดไว้บ่อยๆ เพื่อจะได้ไม่ประมาทในชีวิต ฯ.

... ๖. ก่อนนอนทุกวันสวดมนต์ไหว้พระนั่งสมาธิเสร็จแล้ว พอหัวถึงหมอนขอให้ท่านคิดว่า

... " ร่างกายของเรานี้มันไม่เที่ยง มีแต่ความทุกข์หาความสุขไม่ได้ ในที่สุดก็ต้องแตกตายสลายตัวไป ร่างกายนี้ตายเมื่อไหร่ เราจะไปพระนิพพานเมื่อนั้น " (ไม่ต้องกลัวว่าจะเป็นพระอรหันต์ เพราะนี่เป็นอารมณ์ของอุปสมานุสสติกรรมฐาน เป็นอารมณ์สมถภาวนา)

... แล้วดูลมหายใจเข้าออก โดยหายใจเข้าภาวนาว่า " พุท " หายใจออกภาวนาว่า " โธ " จนกว่าจะหลับไป ตื่นนอนก่อนลุกจากที่นอนก็ภาวนาและพิจารณาเหมือนตอนก่อนนอนอีกสักนาทีสองนาที ค่อยลุกจากที่นอนไปทำกิจธุระต่างๆ


9
จากหนังสือสุวรรณภูมิปกรณ์
โดยพระราชกวี (อ่ำ ธมฺมทตฺโต)
พระพุทธกุกกุสันธกาล(ยุคไทยขุนสรวง,สาง)
     
... เรื่องทั้งนี้ ได้รวบรวมเรียบเรียงขึ้นถึง พระพุทธันดรทั้ง ๓ ที่มีมาแล้ว และมีเรื่องปรากฎอยู่เฉพาะเท่านั้น ได้นำมาเป็นหลักฐาน ๓ พุทธันดร

... และไทย ๓ กาลที่ปรากฎอยู่ ณ ยุคขุนสรวง นางสางนั้น อันตรงกับ พุทธันดรพระกุกกุสันธสัมมาสัมพุทธองค์

... ซึ่งมีเรื่องพระเจ้าจักรพรรดิมีนามชื่อว่า พระมหาปนาทบรมจักรพรรดิ ซึ่งมีปรากฎในอนาคตวงศ์ว่า

... ในสมัยพระพุทธกาลนั้น ได้มาเกิดเป็นช้างป่าชื่อ ปาลิไลยกะ ได้ทะนุบำรุงพระผู้มีพระภาคเจ้าตลอด ๓ เดือน ณ พระพุทธพรรษาที่ ๑๐ นั้น

... ซึ่งพระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสพยากรณ์ว่า

... " จะได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธองค์พระองค์หนึ่งเป็นที่ ๑๐ มีพระนามว่า พระสุมงคลสัมมาสัมพุทธองค์ ในอนาคตกาล "

... อีกด้วย พอเป็นเรื่องอ้างขึ้นได้จึงนำมาอ้างเพื่อรู้ระยะกาลสมัยดึกดำบรรพ์นั้น
     
... เฉพาะไทยนี้มีเพียงชื่อที่ยังคงอยู่ในความรู้ของไทย

... เมื่อมีเรื่องอยู่ก็จะได้มีเค้าความ จะได้ความสำคัญขึ้น เฉพาะก็คือมีเล่าถึงการคิดตัวหนังสืออ่านได้ และเป็นเรื่องที่พระพุทธเจ้าตรัสได้จะอย่างไรก็ตามเรื่องที่มีมาแล้ว และพระคันถรจนาจารย์ท่านได้จารึกลงในใบลาน กระทั่งเป็นคัมภีร์ที่ยืนยงคงมาแล้วอย่างน้อยก็เกือบ ๒,๐๐๐ ปี หรือกว่าดียิ่งกว่าฝรั่งที่เขียนกันในเร็วๆ นี้

... ซึ่งยืนยันว่าหลักฐานนี้มีมานานแล้ว และพระคันถรจนาจารย์ท่านเขียนสืบต่อกันมา ก็คงจะหลายสิบองค์จึงยั่งยืนอยู่มาได้จนถึงบัดนี้
     
... ในกาลก่อน กระทั่งถึงกาลพระกุกกุสันธสัมมาสัมพุทธองค์นั้น

... ในกาลนั้น ชมพูทวีปมีชื่อว่าโสฬสนคร(๑๖นคร)ซึ่งปรากฎในอนาคตวงศ์ ระบุถึงต้นภัทรกัปเป็นยุคสมัยพระพุทธองค์ทรงพระนามว่าพระกุกกุสันโธ อันตรงกับยุคสมัยขุนสรวง

... และเมืองสรวงไทยก็คือ เมืองทอง และสุวรรณภูมิรัฐประเทศไทยนี้ ซึ่งยุคสมัยเดิมนั้นชื่อว่า เมืองสรวง
     
... ก็กาลที่มีอายุเจริญขึ้นไปถึงนับไม่ได้(สมัยนั้นยังไม่มีการนับเลขกัน) แล้วลดลงมาถึง ๔๐,๐๐๐ ปีเป็นอายุขัยนั้น

... ชมพูทวีป หรือ มัชฌิมชนบท ซึ่งยุคสมัยนั้นชื่อว่า โสฬสนคร(เมือง ๑๖) นั้น

... ส่วนทางช่วงแหลมทอง ก็มีชื่อว่า สุวรรณทวีป ก็คือ เมืองทอง หรือ เมืองถิ่นทอง ซึ่งเป็นชื่อที่ต่างๆ อยู่ในเมืองสรวงนั้น ได้มีมาตั้งแต่ขุนสรวงและนางสาง ได้มีลูกหลานแผ่เชื้อสายสืบต่อกันตลอดมา จึงเจริญขึ้นกระทั่งนับไม่ได้ ก็คือ กาลดึกดำบรรพ์นั้น
     
... ครั้นอายุลดลงมาถึงกาล ๔๐,๐๐๐ ปีเป็นอายุขัย ซึ่งเป็นกาลพระกุกกุสันโธสัมมาสัมพุทธองค์นั้น แหลมทอง มีชื่อว่า เมืองทอง
     
... ครั้นกาลเวลาล่วงมามากๆ เข้า ก็ได้เปลี่ยนแปลงไป จึงมีชื่อต่างๆ ขึ้น เช่นชื่อเมืองทอง เมืองแก้ว, เมืองพริบ คือ เมืองเพชร เมืองพลี คือ เมืองแก้วแสงก็คือ เมืองไพลิน หรือ เมืองพลิน บางทีก็ชื่อ กรุงพาลี
     
... ถ้าเป็นชื่อพ่อขุน แม่ขุน ก็มีชื่อว่าท้าวกรุงพาลี จ้าวแม่ หรือ นางพระยากรุงพาลี
     
... ชาวเมืองก็เรียกชื่อชาวเมืองพาลี , ชาวกรุงพาลี หรือ ชาวพาลี , ชาวพลินชาวไพลิน
     
... โดยเฉพาะชื่อว่าเมืองแก้ว และ ขุนแก้วนั้นว่ามีสืบมาจากเมืองสรวง และ เมืองทอง
     
... แต่ก่อนกาลพระกุกกุสันธสัมมาสัมพุทธองค์นั้น พ่อขุนแก้วไทยฟ้า กับ นางพระยาก่องแก้ว

... มีลูกชายทรงโปรดปรานมากจึงตั้งชื่อว่า ยอดแก้วไทย

... ทั้งได้แก้วหินสุกสว่างก้อนหนึ่ง จึงเปลี่ยนชื่อ เมืองทอง ขนานชื่อตามแก้วแสงก้อนใหญ่นั้นว่า เมืองแก้วพริบพลี

... และพระลูกเจ้าพ่อขุนยอดแก้วไทยฟ้านี้ เมื่อทรงเป็นมหาขุนได้มีเนมิตนามชื่อว่า พระเจ้ามหาปนาทบรมจักรพรรดิ
     
... ในพระพุทธวงศ์ และ อนาคตวงศ์ ซึ่งเป็นพระพุทธพจน์ตรัสแก่พระสารีบุตรเถระ

... ทรงตรัสไว้ตั้งแต่สมัยปฐมโพธิกาล ณ คราวที่เสด็จสู่กรุงกบิลพัสดุ์ครั้งแรก

... ในพระพุทธพรรษาที่ ๓ได้ทรงกระทำตามพระพุทธวงศ์ ก็คือพระพุทธองค์ที่ได้ตรัสรู้มาแล้วและได้ตรัสอนาคตวงศ์

... ก็คือ พระพุทธองค์ที่จะได้ตรัสรู้ในอนาคตกาลอีก ๑๐ พระองค์ อนาคตวงศ์ทรงปรารภพระนางมหาปชาบดีโคตมี และ อชิตะภิกขุ จึงตรัสทักขิณาวิภังคสูตร
     
... ต่อมา พระสารีบุตรเถรได้ทูลถาม จึงตรัสอนาคตวงศ์ จะได้ย่อพอได้ความ เพื่อเป็นหลักฐานในยุคสมัยขุนสรวงนางสาง และพระพุทธันดรพระกุกกุสันธพุทธกาลนั้น ดังนี้

... ในกาลที่อายุมนุษย์ลดลงมาเหลือเพียง ๔๐,๐๐๐ ปีนั้น ชมพูทวีปได้มีชื่อว่า โสฬสนคร
     
... ในส่วนอื่นมีชื่อว่า เมืองทอง และเมืองแก้วปนๆ กันอยู่ คือ เมืองพลิน กรุงพาลี บ้าง

... ช้างป่าชื่อ ปาลิไลยกะ ซึ่งเป็นพระบรมโพธิสัตว์วิริยาธิกะพุทธภูมิ

... ได้เกิดเป็นสมเด็จพระเจ้ามหาปนาทบรมจักรพรรดิราชาธิราชเจ้า

... ทรงพระบรมเดชานุภาพตลอดทวีปทั้ง๔ ทรงมีสัตตรัตนสมบัติ ๗ ประการ

... กับมีคทาใหญ่ สถิต ณ เชิงรอง ซึ่งตั้งบนพานทองใหญ่ อันเป็นนิมิตสมบัติจักรพรรดิชุดบก

... และเป็นเนมิตนามชื่อว่า มหาปนาทจักรพรรดิ เป็นประจำมา
     
... ก็สัตตรัตนสมบัติ ๗ ประการนั้นคือ
   
๑. จักกรัตนะ จักรแก้ว
 
๒. หัตถิรัตนะ ช้างแก้ว
   
๓. อัสสรัตนะ ม้าแก้ว
   
๔. มณีรัตนะ แก้วมณี
   
๕. อิตถีรัตนะ นางแก้ว
   
๖. คหปติรัตนะ ขุนคลังแก้ว
   
๗. ปรินายกรัตนะ ขุนพลแก้ว
     
... ทั้งนี้มีอยู่ ๒ ชุด ชุดบกและชุดน้ำ

... ถ้ามีพระคทาใหญ่(กระบองยอด) สถิต ณ เชิงตั้งบนพานทองใหญ่ เพราะมหาคทานั้นเป็นนิมิตที่ระบุนามชื่อว่า มหาปนาทบรมจักรพรรดิ จึงเป็นชุดบกหรือชุดแผ่นดิน
     
... และสัตตรัตนสมบัติ ๗ ประการนั้น แต่มีสังข์ใหญ่ หรือมหาสังข์สถิต ณ เชิงพานทองใหญ่ อันเป็นนิมิตสมบัติจักรพรรดิชุดน้ำ หรือชุดทะเล
     
... และทั้ง ๒ ชุดนั้น ก็มีปราสาทแก้ว ปราสาททอง หรือ รัตนะปราสาท สุวรรณปราสาทพร้อมกับมีแก้ว,ทอง,เงิน,แร่ธาตุต่างประดับพร้อมทุกประการ
     
... ในพระพุทธันดรต้นภัทรกัปนี้ พระเจ้ามหาปนาทบรมจักรพรรดิ ได้อุบัติขึ้นแล้ว ณ เมืองแก้วมีนามว่า ยอดแก้วไทย

... ครั้นเจริญถึงอายุกาลแล้ว จึงมีปราสาทแก้วปรากฏขึ้น แม้ภูเขาใหญ่ๆ ก็กลายเป็นปราสาทขึ้น

... บ้างก็เกิดเป็นพื้นทองขึ้นเป็นสิริเกียรติสมบัติ บริชนและพาหนะก็เป็นรัตน จึงเป็นสัตตรัตนสมบัติ

... มีมหาคทาสถิตเป็นสิริบรมจักรพรรดิราชสมบัติ ณ ทวีปทั้ง ๔ มีทวีปน้อย ๒,๐๐๐ เป็นบริวาร

... ทรงสำราญเป็นปกติตลอดกาลนาน ในกาลชนม์ชีพนั้น ทรงชำนาญศิลปะวิทยาการตลอดทุกชนิด ได้ทรงประดิษฐ์และสร้างเสกสรรเครื่องกลต่างๆ ได้ และปรินายกช่วยทำขึ้นตามประสงค์
     
... บางทีช้างแก้ว ม้าแก้วนำมาให้

... บางอย่างจักรแก้วบันดาลให้ เช่น ดวงแก้วลอยในท้องฟ้า ส่องให้มองเห็นได้ทั่วทุกทวีปใหญ่น้อย

... หลายอย่างที่แก้วมณีรัตนดลดาลให้เช่น ไฟฟ้า และเสียงสายฟ้า
     
... ที่ทรงคิดเป็นพิเศษก็คือ ลายสือ ซึ่งทรงคิดว่า

... " ถ้าเอาเสียงคำพูดกับจำนวนนับเข้าลายเส้นได้ คงจะคงที่และอยู่ได้นาน ทั้งจะนำไปไหนก็ได้ "

... เมื่อครุ่นคิดอยู่นั้น ด้วยบุญญานุภาพพระบารมี ๑๐ ทั้งรัตนะ ๗ และเทพโพธิสัตว์มิตรสหายทั้งหลาย

... ก็ร่วมกันส่งแสงสว่างเป็นปัญญาบารมี พร้อมพลันก็บันดาลให้เกิดปัญญาญาณสว่างแจ้ง ส่องให้เห็น ก.กา ข.ขา ข่า. ข้า เป็นต้น

... และอินทรีย์ทั้งปวงก็คล่องแคล่ว จึงใช้มือเขียนได้ ใช้เสียงและปากอ่านได้

... ใช้ปัญญาส่องทราบได้ว่า ถูกและผิด
     
... เมื่อทรงคิดได้ เขียนได้ อ่านได้คงที่และชำนาญแล้ว

... จึงสอนขุนคลังแก้วให้ทำบัญชี

... สอนขุนพลแก้วให้เขียนวิชาสอนทหารและเขียนกฎหมาย

... และสอนชาวเมืองให้เขียนวิชาต่างๆ

... และให้นางแก้วทั้งบริวาร เรียนเขียน จดคำสอน คำเพลง คำกลอน และข้อความ

... " ทำดีให้จำ ทำชั่วให้ละเว้น "

... มีการประพฤติผิดลักฉ้อ ทำร้ายฆ่าฟัน กล่าวเท็จหลอกลวง กินดื่มของมึนเมาและติดตัง
   
... เอื้อเอ็นดู ช่วยเหลือกัน ซื่อตรงต่อกัน อ่อนน้อมผู้ใหญ่พ่อแม่

... ผู้ชายให้รู้ต่อสู้ทำงาน ป้องกันตัว คุ้มครองสินตน

... ผู้หญิงเรียนรู้การครัว การเรือนเลี้ยงลูก คุ้มครองสินสาวตัวตน ตลอดถึงทุกคนให้รู้เซ่นสรวงอำนวยผีต้น ฯลฯ
   
... ครั้นล่วงมาถึงกาล สมเด็จพระกุกกุสันโธได้ตรัสรู้เป็นพระสัพพัญญูสัมมาสัมพุทธองค์แล้ว ได้เสด็จไปแสดงพระธรรมจักกัปปวัตตนสูตรจบแล้วเทพพรหมตลอดสุดนั้นได้เปล่งเสียงรับต่อๆ กัน ทั้งได้เกิดมหัศจรรย์ให้หมื่นโลกธาตุสะท้านสะเทือนหวั่นไหวตลอดถึงเมืองแก้วซึ่งได้ทำให้มหาคทานั้นพลัดตกจากเชิงกระเด็นลง ณ พื้นปราสาท แต่ไม่แตกหัก

... จึงทรงดำริถึงบุญบารมี มหาคทาก็ลอยขึ้นสถิต ณ เชิงตามเดิม ได้ทรงเห็นเช่นนั้นทรงดำริก็ทรงทราบด้วยญาณปัญญาว่า

... " พระมหาบุรุษได้อุบัติและได้ตรัสรู้ กับได้แสดงธัมมจักกัปปวัตตนสูตรจบแล้ว เป็นกาลถึงพร้อมพระรัตนตรัยแล้ว "

... พระเจ้าจักรพรรดิจึงตรัสประกาศให้รัตนะนั้นๆ ไปนำรัตนะนั้นๆ มาถวายให้ตลอดได้ทรงสำราญประทับอยู่โดยปกติ

10
... ข้าพเจ้าได้ทราบมาว่า การที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบางพระองค์หลังจากออกมหาภิเนษกรมณ์ ทรงบำเพ็ญเพียรอยู่แค่ ๗ วันก็ทรงได้ตรัสแก่พระอนุตรสัมมาสัมโพธิญาณนั้น มีเหตุอยู่ ๒ ประการ


... ข้อ ๑ เพราะชาติที่เกิดมาบำเพ็ญปรมัตถบารมีชาติสุดท้าย พระโพธิสัตว์ได้บวชเป็นพระภิกษุในพระพุทธศาสนา เป็นผู้เล่าเรียนพระสัทธรรมพระไตรปิฎก ปฏิบัติชำนาญในกัมมัฏฐาน ๔๐ กอง (ข้อนี้หมายความว่า ทำกัมมัฏฐานจนเป็นฌาน ๘ ทุกกอง) 

... เชี่ยวชาญในสติปัฏฐาน ๔ (ข้อนี้หมายความว่า ทำจนได้ฌาน ๘ ทุกข้อ)

... และช่ำชองในวิปัสสนาญาณทั้ง ๙ (เจริญวิปัสสนาจนมีอารมณ์จิตคล้ายคลึงกับอารมณ์จิตของพระอรหันต์) อย่างหาผู้เปรียบมิได้

... เพราะอาศัยอุปนิสัยติดตัวอย่างนี้ เมื่อถึงกาลที่พระมหาสัตว์จะได้ตรัสเป็นองค์สมเด็จพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าโปรดเหล่าพุทธเวไนยสัตว์สู่เมืองแก้วพระนิพพาน ทำให้เมื่อพบคนแก่ คนเจ็บ คนตาย และสมณะนิดเดียว อารมณ์จิตก็เกิดเหนื่อยหน่ายในโลกียวิสัย สามารถบรรลุพระโพธิญาณได้ภายในเจ็ดวัน


... ข้อ ๒ เกิดจากอธิษฐานตั้งความปรารถนาไว้ คือ ในกาลที่พระมหาสัตว์ทำบุญกุศลต่างๆ ในสำนักสมเด็จพระพุทธเจ้าหรือในสงฆ์ก็ดี ก็จะอธิษฐานขอให้ได้บรรลุพระอภิเษกสัมมาสัมโพธิญาณ ในวันที่เจ็ดหลังจากออกมหาภิเนษกรมณ์


... ตามที่มีปรากฏหลักฐานใน พระไตรปิฎก สุตตันตะปิฎก ขุททกะนิกาย อปทาน พุทธวงศ์ มีองค์สมเด็จพระสรรเพชญพุทธเจ้าอยู่ ๕ พระองค์ ที่ทรงบำเพ็ญเพียรอยู่ ๗ วัน คือ

... องค์สมเด็จพระโสภิตะปัญญาธิกะสัมมาสัมพุทธเจ้า

... องค์สมเด็จพระนารทะปัญญาธิกะสัมมาสัมพุทธเจ้า

... องค์สมเด็จพระปทุมุตตระวิริยาธิกะสัมมาสัมพุทธเจ้า

... องค์สมเด็จพระธัมมะทัสสีวิริยาธิกะสัมมาสัมพุทธเจ้า

... องค์สมเด็จพระกัสสปะสัทธาธิกะสัมมาสัมพุทธเจ้า




... และพระพุทธเจ้า ๓ ประเภท เมื่อถึงพุทธกาลของพระองค์ จะแตกต่างกันอย่างนี้

... ๑. ในสมัยของสมเด็จพระวิริยาธิกะสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้คนในยุคนั้นจะอาศัยต้นกัลปพฤกษ์ที่เกิดมีอยู่ทุกหนแห่งเลี้ยงชีวิต ไม่ต้องขวนขวายทำมาหากินค้าขายอะไร มนุษย์ทุกคนมีรูปร่างงดงาม มีแก้วแหวนเงินทองทรัพย์สมบัติมากมาย มีความสุขสบาย ไม่มีโรคาพาธเบียดเบียน คนเข้าถึงธรรมได้โดยง่ายมากๆ ปฏิบัตินิดหน่อยก็ได้บรรลุพระอรหัตตผล พระเสขะบุคคลส่วนมากเมื่อใกล้ตายก็ได้บรรลุเป็นพระอรหันต์


... ๒. ในสมัยของสมเด็จพระสัทธาธิกะสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้คนในยุคนั้นส่วนมากร่ำรวย มีรูปร่างงดงาม มีศีลมีธรรม สามารถบรรลุธรรมได้ง่าย


... ๓. ในสมัยของสมเด็จพระสัทธาธิกะสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้คนก็เหมือนปัจจุบัน ต้องดิ้นรนขวนขวายทำมาหากิน รวยจนก็อาศัยแก่บุญกรรมของตนๆ การบรรลุธรรมก็ต้องอาศัยความบากบั่นพยายามเข้าว่า



... ในข้อนี้ ครูผมสอนมาอย่างนี้ ผมก็เลยเอามาเผยแพร่ต่อเพื่อเป็นธรรมทาน จะถูกผิดเป็นประการใด ก็ด่าผมแต่ผู้เดียวครับ ขอบคุณครับ

หน้า: [1]