เว็บพุทธภูมิ: พุทธภูมิ พระโพธิสัตว์ การบำเพ็ญบารมี



แสดงกระทู้

This section allows you to view all posts made by this member. Note that you can only see posts made in areas you currently have access to.


Messages - DHAMMASAMEE

หน้า: [1] 2 3 ... 15
1
... สาธุ สาธุ สาธุ ขออนุโมทนากับทุกท่านที่มีจิตปรารถนาพุทธภูมิ ปรารถนาจะเปลื้องสัตว์จากวัฏฏสงสาร เข้าสู่แดนเอกันตบรมสุข คือพระนิพพานทุกท่านทุกคนครับ

... การเดินทางครั้งนี้ลำบาก และต้องใช้ระยะเวลายาวนาน นับเป็นแสนๆ ชาติ กว่าจะสำเร็จได้ ขอให้ทุกท่านสมความมุ่งมาดปรารถนาทุกท่านครับ   

2
... ทุกอย่างล้วนเป็นอนิจจัง หาความเที่ยงแท้แน่นอนไม่ได้

3
สมเด็จพระทีปังกรพุทธเจ้า
     
... อุบาสกชาวรัมมนครเหล่านั้น ถวายมหาทานแด่ภิกษุสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นประธานแล้ว ก็บูชาพระผู้มีพระภาคเจ้า ซึ่งเสวยเสร็จชักพระหัตถ์ออกจากบาตรแล้ว ด้วยดอกไม้และของหอมเป็นต้นอีก ถวายบังคมแล้วอยากจะฟังอนุโมทนาทาน จึงเข้าไปนั่งใกล้ๆ ลำดับนั้น พระศาสดาได้ทรงทำอนุโมทนาทานไพเราะอย่างยิ่ง จับใจของอุบาสกเหล่านั้นว่า
     
... “ ธรรมดาทาน ท่านกล่าวว่าเป็นต้นเหตุสำคัญของความสุขเป็นต้น และยังกล่าวว่าเป็นที่ตั้งแห่งบันไดทั้งหลายที่นำไปสู่พระนิพพาน
     ทานเป็นเครื่องป้องกันของมนุษย์ ทานเป็นเผ่าพันธุ์ เป็นเครื่องนำหน้า ทานเป็นคติสำคัญของสัตว์ที่ถึงความทุกข์
     
... ทาน ท่านแสดงว่า เป็นดังเรือ เพราะอรรถว่าเป็นเครื่องช่วยข้ามทุกข์ และทานท่านสรรเสริญว่า เป็นดังนคร เพราะป้องกันภัย
     
... ทาน ท่านกล่าวว่า เป็นดังอสรพิษ เพราะอรรถว่า เข้าใกล้ได้ยาก ทานเป็นดังดอกปทุม เพราะมลทิน คือ โลภะเป็นต้นฉาบไม่ได้
     
... ที่พึ่งพาอาศัยของบุรุษเสมอด้วยทานไม่มีในโลก  เพราะฉะนั้น ท่านทั้งหลายจงบำเพ็ญทานด้วยการทำตามอัธยาศัย นรชนคนไรเล่า ผู้มีปัญญาในโลกนี้ ผู้ยินดีในประโยชน์เกื้อกูล จะไม่พึงให้ทานทั้งหลาย ที่เป็นเหตุแห่งโลกสวรรค์
     
... นรชนคนไรเล่า ได้ยินว่าทานเป็นแดนเกิดสมบัติในเทวดาทั้งหลาย จะไม่พึงให้ทานอันให้ถึงซึ่งความสุข ทานเป็นเครื่องยังจิตให้ร่าเริง
     
... นรชนบำเพ็ญทานแล้ว ก็เป็นผู้อันเทพอัปสรห้อมล้อม อภิรมย์ในนันทนวัน แหล่งสำเริงสำราญของเทวดาตลอดกาลนาน
     
... ผู้ให้ย่อมได้ปีติอันโอฬาร ย่อมประสบความเคารพในโลกนี้ ผู้ให้ย่อมประสบเกียรติเป็นอันมาก ผู้ให้ย่อมเป็นผู้อันมหาชนไว้วางใจ
     
... นรชนนั้นให้ทานแล้ว ย่อมถึงความมั่งคั่งแห่งโภคะและมีอายุยืน ย่อมได้ความมีเสียงไพเราะและรูปสวยอยู่ในวิมานทั้งหลายในสวรรค์
     
... ทานเป็นทรัพย์ไม่ทั่วไปแก่ภัยทั้งหลาย คือ โจรภัย อริภัย ราชภัย อุทกภัยและอัคคีภัย
     
... ทานนั้นย่อมให้สาวกญาณภูมิ ปัจเจกพุทธภูมิ ตลอดถึงพุทธภูมิ ”

     
... ครั้นทรงทำอนุโมทนาทาน ประกาศอานิสงส์แห่งทาน โดยนัยดังกล่าวมาอย่างนี้เป็นต้นแล้ว ก็ตรัสศีลกถาในลำดับต่อจากทานนั้น
     
... “ ธรรมดาศีลนั้นเป็นมูลแห่งสมบัติในโลกนี้และโลกหน้า ศีลเป็นต้นเหตุสำคัญของสุขทั้งหลาย
     
... ผู้มีศีลย่อมไปไตรทิพย์สวรรค์ด้วยศีล ศีลเป็นเครื่องป้องกัน เครื่องเร้น เครื่องนำหน้าของผู้เข้าถึงสังสารวัฏฏ์
     
... ก็ที่พึ่งพาอาศัยของชนทั้งหลายในโลกนี้หรือในโลกหน้าอย่างอื่น ที่เสมอด้วยศีลจะมีแต่ไหน
     
... ศีลเป็นที่ตั้งสำคัญของคุณทั้งหลาย เหมือนแผ่นดินเป็นที่ตั้งแห่งสิ่งที่อยู่กับที่และสิ่งที่เคลื่อนที่ได้ ฉะนั้น
     
... ศีลเท่านั้นเป็นกรรมดี ศีลยอดเยี่ยมในโลก ผู้ประพฤติชอบในธรรมจริยาของพระอริยะ ท่านเรียกว่า ผู้มีศีล 
     
... เครื่องประดับเสมอด้วยเครื่องประดับคือศีลไม่มี

... กลิ่นเสมอด้วยกลิ่นคือศีลไม่มี

... เครื่องชำระมลทินคือกิเลสเสมอด้วยศีลไม่มี

... เครื่องระงับความเร่าร้อนเสมอด้วยศีลไม่มี

... เครื่องให้เกิดเกียรติเสมอด้วยศีลไม่มี

... บันไดขึ้นสู่สวรรค์เสมอด้วยศีลไม่มี

... ประตูในการเข้าไปยังนครคือพระนิพพาน เสมอด้วยศีลไม่มี
     
... พระราชาทั้งหลาย ทรงประดับด้วยแก้วมุกดาและแก้วมณี ยังงามไม่เหมือนนักพรตทั้งหลาย ผู้ประดับด้วยเครื่องประดับคือศีล ย่อมงามสง่า
     
... กลิ่นที่หอมไปทั้งตามลมทั้งทวนลมเสมอ ที่เสมอด้วยกลิ่นคือศีล จักมีแต่ไหนเล่า
     
... กลิ่นดอกไม้ไม่หอมทวนลม หรือกลิ่นจันทน์ กฤษณามะลิ ก็ไม่หอมทวนลม ส่วนกลิ่นของสัตบุรุษย่อมหอมทวนลม สัตบุรุษย่อมหอมไปทุกทิศ
     
... กลิ่นคือศีล เป็นยอดของคันธชาติเหล่านี้ คือจันทน์ กฤษณา อุบล มะลิ
     
... มหานที คือ คงคา ยมุนา สรภู สรัสวดี นินนคา อจิรวดี มหี ไม่สามารถชำระมลทินของสัตว์ทั้งหลายในโลกนี้ แต่น้ำคือศีล ชำระมลทินของสัตว์ทั้งหลายได้
     
... อริยศีลนี้ ที่รักษาดีแล้ว เยือกเย็นอย่างยิ่ง ระงับความเร่าร้อนอันใดได้ ส่วนจันทน์เหลือง สร้อยคอแก้วมณีและช่อรัศมีจันทร์ ระงับความเร่าร้อนไม่ได้
     
... ศีลของผู้มีศีล ย่อมกำจัดภัยมีการติตนเองเป็นต้นได้ทุกเมื่อ และให้เกิดเกียรติและความร่าเริงทุกเมื่อ
     
... สิ่งอื่นซึ่งเป็นบันไดขึ้นสวรรค์ที่เสมอด้วยศีลจะมีแต่ไหน ก็แลว่าศีลเป็นประตูเข้าไปยังนครคือพระนิพพาน
     
... ท่านทั้งหลาย จงรู้อานิสงส์อันยอดเยี่ยมของศีล ซึ่งเป็นมูลแห่งคุณทั้งหลาย กำจัดกำลังแห่งโทษทั้งหลาย ดังกล่าวมาฉะนี้ ”

     
... พระผู้มีพระภาคเจ้า ครั้นทรงแสดงอานิสงส์แห่งศีลอย่างนี้แล้ว เพื่อทรงแสดงว่า อาศัยศีลนี้ย่อมได้สวรรค์นี้ จึงตรัสสัคคกถาในลำดับต่อจากศีลนั้น
     
... “ ธรรมดาสวรรค์นี้น่าปรารถนา น่าใคร่ น่าชอบใจ มีแต่สุขส่วนเดียว เทวดาทั้งหลายย่อมได้การเล่นในสวรรค์นั้นเป็นนิตย์ ได้สมบัติทั้งหลายเป็นนิตย์
     
... เหล่าเทวดาชั้นจาตุมหาราชย่อมได้สุขทิพย์ สมบัติทิพย์ตลอดเก้าล้านปีเทวดาชั้นดาวดึงส์ได้สามโกฏิหกล้านปี ”

     
... ตรัสกถาประกอบด้วยคุณแห่งสวรรค์ดังกล่าวมานี้เป็นต้น ครั้นทรงประเล้าประโลมด้วยสัคคกถาอย่างนี้แล้ว ก็ทรงประกาศโทษต่ำทราม ความเศร้าหมองแห่งกามทั้งหลาย และอานิสงส์ในเนกขัมมะว่า
     
... “ สวรรค์และพรหมโลกแม้นี้ก็ไม่เที่ยง ไม่ยั่งยืน ไม่ควรทำความยินดีด้วยอำนาจความพอใจในสวรรค์หรือพรหมนั้น แล้วตรัสธรรมกถาที่จบลงด้วยอมตธรรมคือพระนิพพาน ”
     
... ครั้นทรงแสดงธรรมแก่มหาชนนั้นอย่างนี้แล้ว ยังชนทั้งหลายให้ตั้งอยู่ในอริยมรรคอริยผลเป็นอันมาก เสด็จออกจากรัมมนครกลับไปยังสุทัสสนมหาวิหารนั่นแล
     
... พระศาสดาทีปังกรทรงบรรลุความเป็นพระพุทธเจ้าแล้วทรงยับยั้งอยู่ ๗ สัปดาห์ ณ โคนโพธิพฤกษ์ ในสัปดาห์ที่ ๘ ก็ทรงประกาศพระธรรมจักร ณ สุนันทาราม ตามปฏิญญาที่ทรงรับอาราธนาแสดงธรรมของท้าวมหาพรหม ทรงยังเทวดาและมนุษย์ร้อยโกฏิให้ดื่มอมฤตธรรม นี้เป็นอภิสมัย คือการตรัสรู้ธรรมครั้งแรก
     
... ต่อมา พระศาสดาทรงทราบว่า พระโอรสผู้มีลำพระองค์กลมเสมอกัน พระนามว่าอุสภักขันธะ มีญาณแก่กล้าจึงทรงทำพระโอรสนั้นให้เป็นหัวหน้า ทรงแสดงธรรมเช่นเดียวกับราหุโลวาทสูตร ทรงยังเทวดาและมนุษย์ถึงเก้าสิบโกฏิให้ดื่มอมฤตธรรมนี้เป็นอภิสมัย คือการตรัสรู้ธรรมครั้งที่สอง
     
... ต่อมา พระศาสดาทรงทำยมกปาฏิหาริย์ ณ โคนต้นซึกใหญ่ใกล้ประตูพระนครอมรวดี ทรงทำการเปลื้องมหาชนจากเครื่องผูกพัน อันหมู่เทพห้อมล้อมแล้ว ประทับนั่งเหนือพื้นบัณฑุกัมพลศิลาซึ่งเย็นอย่างยิ่ง ใกล้โคนต้นปาริฉัตต-กะ ในภพดาวดึงส์ ทรงเทศน์โปรดพระนางสุเมธาเทวีพระชนนีของพระองค์ พร้อมหมู่เทวดาและพรหมทั้งปวง ทรงแสดงพระอภิธรรมปิฏก ๗ ปกรณ์ อันทำความบริสุทธิ์แห่งความรู้ อันสุขุมลุ่มลึกอย่างยิ่ง กระทำประโยชน์เกื้อกูลแก่สัตว์ทั้งปวง ยังเทวดาเก้าหมื่นโกฏิให้ดื่มอมฤตธรรม นี้เป็นอภิสมัยคือการตรัสรู้ธรรมครั้งที่สาม
     
... สมัยต่อๆ มา พระทศพลอันภิกษุสี่แสนรูปแวดล้อม ทรงทำการอนุเคราะห์มหาชน ตามลำดับ ตามนิคมและนคร เสด็จจาริกมาโดยลำดับ ก็ลุถึงภูเขาลูกที่น่ารื่นรมย์อย่างยิ่งชื่อนารทกูฏ มียอดสูงจรดเมฆ มียอดอบอวลด้วยไม้ต้นไม้ดอกส่งกลิ่นหอมนานาชนิด มียอดที่ฝูงมฤคนานาพันธุ์ท่องเที่ยวกันอันอมนุษย์หวงแหน น่ากลัวอย่างยิ่ง เลื่องลือไปในโลกทั้งปวง ที่มหาชนเซ่นสักการะในประเทศแห่งหนึ่ง เขาว่าภูเขาลูกนั้น ยักษ์มีชื่อนารทะหวงแหน ณ ที่นั้น มหาชนนำมนุษย์มาทำพลีสังเวยแก่ยักษ์ตนนั้นทุกๆ ปี
     
... ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าทีปังกรทรงเห็นอุปนิสัยสมบัติของมหาชน แต่นั้นก็ทรงส่งภิกษุไปสี่ทิศ ไม่มีเพื่อน ไม่มีสหาย มีพระหฤทัยอันมหากรุณามีกำลังเข้ากำกับแล้ว เสด็จขึ้นภูเขานารทะลูกนั้น เพื่อทรงแนะนำยักษ์ตนนั้น
     
... ลำดับนั้น ยักษ์ที่มีมนุษย์เป็นภักษา ไม่เล็งประโยชน์เกื้อกูลแก่ตน ขยันแต่ฆ่าผู้อื่นตนนั้น ทนการลบหลู่ไม่ได้ มีใจอันความโกรธครอบงำแล้ว ประสงค์จะให้พระทศพลกลัวแล้วหนีไปเสีย จึงเขย่าภูเขาลูกนั้น เล่ากันว่า ภูเขาลูกนั้นถูกยักษ์ตนนั้นเขย่า ก็มีอาการเหมือนจะหล่นทับบนกระหม่อมยักษ์ตนนั้นนั่นแหละ เพราะอานุภาพของพระผู้มีพระภาคเจ้า
     
... แต่นั้น ยักษ์ตนนั้นก็กลัว คิดว่า เอาเถิด เราจะใช้ไฟเผาสมณะนั้น แล้วก็บันดาลกองไฟที่ดูน่ากลัวยิ่งกองใหญ่ ไฟกองนั้นกลับทวนลมก่อทุกข์แก่ตนเอง แต่ไม่สามารถจะไหม้แม้เพียงชายจีวรของพระผู้มีพระภาคเจ้าได้
     
... ฝ่ายยักษ์ตรวจดูว่า ไฟไหม้สมณะหรือไม่ไหม้ ก็เห็นพระผู้มีพระภาคเจ้าทศพล เหมือนประทับนั่งเหนือกลีบบัว ที่อยู่บนผิวน้ำเย็นดุจดวงจันทร์ ส่องแสงนวลในฤดูสารททำความยินดีแก่ชนทั้งปวง จึงคิดได้ว่า โอ! พระสมณะ ท่านนี้มีอานุภาพมาก เราทำความพินาศใดๆ แก่พระสมณะท่านนี้ ความพินาศนั้นๆ กลับตกลงเหนือเราผู้เดียว แต่ปล่อยพระสมณะท่านนี้ไปเสีย เราก็ไม่มีที่พึ่งที่ชักนำอย่างอื่น คนทั้งหลายที่พลั้งพลาดบนแผ่นดิน ยังต้องยันแผ่นดินเท่านั้นจึงลุกขึ้นได้ เอาเถิด จำเราจักถึงพระสมณะท่านนี้แหละเป็นสรณะ
     
... ดังนั้น ยักษ์ตนนั้นครั้นคิดอย่างนี้แล้ว จึงหมอบศีรษะลงแทบเบื้องยุคลบาทที่ฝ่าพระบาทประดับด้วยจักรของพระผู้มีพระภาคเจ้า กราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์สำนึกผิดในความล่วงเกิน ขอลุกะโทษพระเจ้าข้า แล้วได้ถึงพระผู้มีพระภาคเจ้าเป็นสรณะ
     
... ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าก็ตรัสอนุปุพพิกถาโปรดยักษ์ตนนั้น จบเทศนา ยักษ์ตนนั้นก็ตั้งอยู่ในโสดาปัตติผล พร้อมด้วยยักษ์หนึ่งหมื่น
     
... ในวันนั้น มนุษย์สิ้นทั้งชมพูทวีปทำบุรุษแต่ละหมู่บ้านๆ ละคนมาเพื่อพลีสังเวยยักษ์ตนนั้น และนำสิ่งอื่นๆ มีงา ข้าวสาร ถั่วพู ถั่วเขียวและถั่วเหลืองเป็นต้นเป็นอันมาก และมีเนยใส เนยข้น น้ำมัน น้ำผึ้งและน้ำอ้อยเป็นต้น
     
... ขณะนั้น ยักษ์ตนนั้นก็ให้ของทั้งหมดที่นำมาวันนั้นคืนแก่ชนเหล่านั้น แล้วมอบมนุษย์ที่เขานำมาเพื่อพลีสังเวยเหล่านั้นถวายพระทศพล
     
... ครั้งนั้น พระศาสดาทรงให้มนุษย์เหล่านั้นบวชด้วยเอหิภิกษุอุปสัมปทา ภายใน ๗ วันเท่านั้น ก็ทรงให้เขาตั้งอยู่ในพระอรหัตทั้งหมด ประทับท่ามกลางภิกษุร้อยโกฎิ ทรงยกโอวาทปาติโมกข์ขึ้นแสดงในที่ประชุมอันประกอบด้วยองค์ ๔ ณ วันเพ็ญมาฆบูรณมีองค์ ๔ เหล่านี้คือ ทุกรูปเป็นเอหิภิกขุ, ทุกรูปได้อภิญญา ๖, ทุกรูปมิได้นัดหมายกัน มาเอง, และเป็นวันอุโบสถขึ้น ๑๕ ค่ำ ชื่อว่ามีองค์ ๔ นี้เป็นสันนิบาต การประชุมครั้งที่ ๒
     
... ก็ครั้งใด พระทีปังกรผู้นำโลกเสด็จจำพรรษา ณ ภูเขาชื่อสุทัสสนะ ได้ยินว่า ครั้งนั้น มนุษย์ชาวชมพูทวีปจัดงานมหรสพกัน ณ ยอดเขา ทุกๆ ปี
     
... เล่ากันว่า มนุษย์ที่ประชุมในงานมหรสพนั้น พบพระทศพลแล้วก็ฟังธรรมกถา เลื่อมใสในธรรมกถานั้น ก็พากันบวช ในวันมหาปวารณา พระศาสดาตรัสวิปัสสนากถาที่อนุกูลแก่อัธยาศัยของภิกษุเหล่านั้น ภิกษุเหล่านั้นฟังวิปัสสนากถานั้นแล้ว พิจารณาสังขารแล้วบรรลุพระอรหัต โดยลำดับวิปัสสนาและโดยลำดับมรรคทุกรูป ครั้งนั้น พระศาสดาทรงปวารณาพร้อมด้วยภิกษุเก้าหมื่นโกฏิ นี้เป็นการประชุม ครั้งที่ ๓
     
... เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าทีปังกรทรงแสดงธรรม ธรรมาภิสมัยการตรัสรู้ธรรมก็ได้มีแก่สัตว์หนึ่งหมื่นและสองหมื่น แต่ที่สุดแห่งการตรัสรู้ มิได้มีโดยจำนวนหนึ่งคน สองคน สามคนและสี่คนเป็นต้น เพราะฉะนั้น ศาสนาของพระผู้มีพระภาคเจ้าทีปังกร จึงแผ่ไปกว้างขวาง มีคนรู้กันมาก
     
... ก็ในกาลนั้นแล สมเด็จพระศรีศากยมุนีพุทธเจ้าของเราเกิดเป็นพราหมณ์มหาศาลมีนามว่า สุเมธพราหมณ์ ได้พบสมเด็จพระพุทธทีปังกร ได้นอนลงเป็นสะพานให้องค์พระทีปังกรและพระอรหันตสาวกได้ข้ามร่องน้ำที่เป็นเลนแล้วกระทำความปรารถนาขอเป็นพระพุทธเจ้าพระองค์หนึ่งในอนาคต
     
... ในครั้งนั้นพระบรมศาสดาทีปังกรเจ้าจึงตรัสพยากรณ์ว่า
     
... “ นับจากกัปป์นี้ไป ๔ อสงไขยกับแสนกัปป์ ท่านจะได้ตรัสเป็นพระพุทธเจ้าพระองค์หนึ่ง ชื่อว่า พระสมณโคดมพุทธเจ้า ”
     
... แล้วองค์สมเด็จพระทีปังกรจึงตรัสพระสัทธรรมเทศนาความว่า
     

     ... “ ดูก่อนพราหมณ์ ถ้าท่านปรารถนาพุทธภูมิ ปรารถนาเป็นพระพุทธเจ้าในอนาคตแล้วไซร้ ท่านจงบำเพ็ญทานบารมีเถิด ถ้าท่านปรารถนาจะบรรลุโพธิญาณ ท่านเห็นยาจกทั้งชั้นต่ำ ปานกลางและชั้นสูงแล้ว จงให้ทานอย่าให้เหลือ ดังหม้อที่เขาคว่ำไว้ เปรียบเหมือนหม้อที่เต็มด้วยน้ำ ผู้ใดผู้หนึ่งจับคว่ำลงแล้ว น้ำย่อมไหลออกหมด ไม่ขังอยู่ในหม้อนั้น ฉะนั้น     
     
... ท่านจงบำเพ็ญศีลบารมีเถิด ถ้าท่านปรารถนาจะบรรลุโพธิญาณ ท่านจงบำเพ็ญศีลในภูมิ ๔ ให้บริบูรณ์ จงรักษาศีลในกาลทั้งปวง ดังจามรีรักษาขนหาง เปรียบเหมือนดังจามรีย่อมรักษาขนหางอันติดในที่ไรๆ ยอมตายในที่นั้น ไม่ยอมทำขนหางให้เสีย ฉะนั้น
     
... ท่านจงบำเพ็ญเนกขัมมะบารมีเถิด ถ้าท่านปรารถนาจะบรรลุโพธิญาณ ท่านจงเห็นภพทั้งปวงดังเรือนจำ ท่านจงมุ่งหน้าต่อเนกขัมมะ เพื่อหลุดพ้นไปจากภพ เปรียบเหมือนบุรุษที่ถูกขังในเรือนจำ ได้รับทุกข์มานาน ย่อมไม่ยังความยินดีให้เกิดในเรือนจำนั้น แสวงหาความพ้นไป ฉะนั้น
     
... ท่านจงบำเพ็ญปัญญาบารมีเถิด ถ้าท่านปรารถนาจะบรรลุโพธิญาณ ท่านได้สอบถามคนมีปัญญาตลอดกาลทั้งปวง บำเพ็ญปัญญาบารมีแล้ว จักบรรลุสัมโพธิญาณได้ เปรียบเหมือนภิกษุ เมื่อเที่ยวภิกษา ไม่เว้นตระกูลต่ำ ปานกลางและสูงย่อมได้อาหารเครื่องเยียวยาอัตภาพ ฉะนั้น
     
... ท่านจงบำเพ็ญวิริยบารมีเถิด ถ้าท่านปรารถนาจะบรรลุโพธิญาณ ท่านประคองความเพียรให้มั่นไว้ทุกภพ บำเพ็ญวิริยบารมีแล้ว จักบรรลุสัมโพธิญาณได้ เปรียบเหมือนสีหมฤคราช มีความเพียรไม่ย่อหย่อนในที่นั่งที่ยืนและที่เดินประคองใจไว้ทุกเมื่อ ฉะนั้น
     
... ท่านจงยึดขันติบารมีข้อนี้ให้มั่น ท่านมีใจแน่วแน่ในขันตินั้น จักบรรลุสัมโพธิญาณได้ ท่านจงอดทนต่อคำยกย่องและคำดูหมิ่นทั้งปวง บำเพ็ญขันติบารมี เปรียบเหมือนแผ่นดินอดทนสิ่งที่เขาทิ้งลงทุกอย่างทั้งสะอาดและไม่สะอาด ไม่แสดงความยินดียินร้ายฉะนั้น
     
... ท่านจงยึดสัจจะบารมีข้อนี้ให้มั่น ท่านมีใจแน่วแน่ในสัจจะนั้น จักบรรลุสัมโพธิญาณได้ ดาวประกายพรึก เป็นดาวนพเคราะห์ ประจำอยู่ในมนุษย์โลกไม่หลีกไปจากทางเดิน ทุกสมัยฤดูหรือปี ฉันใด แม้ท่านก็ฉันนั้น อย่าหลีกไปจากแนวในสัจจะ
     
... ท่านจงยึดอธิษฐาน(ความตั้งใจ)บารมีข้อนี้ให้มั่น ท่านไม่หวั่นในอธิษฐานบารมีนั้น จักบรรลุสัมโพธิญาณได้ ท่านจงเป็นผู้ไม่หวั่นไหวในการอธิษฐานในการทั้งปวง บำเพ็ญอธิษฐานบารมี เปรียบเหมือนภูเขาหินไม่หวั่นไหว ตั้งมั่น ไม่สะท้านสะเทือนเพราะลมจัด คงอยู่ในที่เดิม ฉะนั้น
     
... ท่านจงยึดเมตตาบารมีข้อนี้ให้มั่น ท่านจงเป็นผู้ไม่มีใครเสมอด้วยเมตตา ถ้าท่านปรารถนาจะบรรลุสัมโพธิญาณ ท่านจงมีเมตตาจิตให้เสมอกันในสัตว์ทั้งปวงทั้งที่เป็นมิตรและเป็นศัตรู เปรียบเหมือนน้ำย่อมแผ่ความเย็น ชำระล้างมลทินธุลี เสมอกันทั้งในคนดีและคนชั่ว ฉะนั้น
     
... ท่านจงยึดอุเบกขาบารมีข้อนี้ให้มั่น ท่านเป็นผู้มีอุเบกขามั่นคงดังตราชั่งจักบรรลุโพธิญาณได้ ท่านจงมีใจเที่ยงตรงดังตราชั่งในสุขและทุกข์ในกาลทุกเมื่อ เปรียบเหมือนแผ่นดินย่อมวางเฉย ในสิ่งที่เขาทิ้งลงทั้งที่สะอาดและไม่สะอาดทั้งสองอย่าง ฉะนั้น
     
... ธรรมอันเป็นเครื่องบ่มโพธิญาณ มีอยู่เพียงเท่านี้ ท่านจงตั้งมั่นอยู่ในธรรมทั้ง ๑๐ ประการนี้เถิด ”
     
 

     
... ท่านสุเมธพราหมณ์ได้ฟังพระสัทธรรมเทศนาดังนี้ มีจิตยินดียิ่งนัก ดุจจะบรรลุพระโพธิญาณในวันพรุ่งนี้ สรรเสริญพระธรรมเทศนาของพระผู้มีพระภาคเจ้าและได้กราบนิมนต์พระพุทธเจ้าและพระสาวกไปรับบิณฑบาตเป็นนิตย์ และได้ทำบุญทานการกุศลต่างๆ ในพระศาสนาพระพุทธเจ้าทีปังกรอีกหลายประการ เมื่อสิ้นอายุขัยก็ไปสู่สุคติ ฯ.
     
... องค์พระพุทธทีปังกรมหามุนี ทรงมีพระนครชื่อว่ารัมมวดี พระชนกพระนามพระเจ้าสุเทวะ พระชนนีพระนาม พระนางสุเมธา
     
... พระพิชิตมารทรงครอบครองอาคารสถานอยู่หมื่นปี ทรงมีปราสาทอันอุดม ๓ หลัง ชื่อว่า หังสาปราสาท โกญจาปราสาท และมยุราปราสาท
     
... มีสนมนารี ๓ แสนนาง ล้วนประดับประดาสวยงาม พระมเหสีพระนามว่า ปทุมา พระโอรสพระนามว่า อุสภักขันธกุมาร
     
... พระชินเจ้าทรงเห็นนิมิต ๔ ประการแล้ว ออกผนวชด้วยคชยานคือพระยาช้างต้น ทรงบำเพ็ญเพียรรวบรวมบารมีอยู่ ๑๐ เดือนเต็ม
     
... ครั้นทรงบำเพ็ญเพียรแล้ว ก็ได้ตรัสรู้พระสัมโพธิญาณ พระมหามุนีทีปังกร มหาวีรเจ้าอันพรหมทูลอาราธนาแล้ว ทรงประกาศพระธรรมจักร ประทับอยู่ ที่นันทาราม ประทับนั่งที่ควงไม้ซึก ทรงปราบปรามเดียรถีย์
     
... พระทีปังกรศาสดา ทรงมีพระอัครสาวก ชื่อว่า พระสุมังคละเถระ และ พระติสสะเถระ มีพุทธอุปัฏฐาก ชื่อว่า พระสาคตะเถระ
     
... พระอัครสาวิกา ชื่อว่า พระแม่นันทาเถรี และ พระแม่สุนันทาเถรี
     
... ต้นไม้ตรัสรู้ ของพระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้น เรียกกันว่า ต้นเลียบ
     
... พระทีปังกรมหามุนี สูง ๘๐ ศอก สง่างามเหมือนต้นไม้ประจำทวีป เหมือนต้นพระยาสาละออกดอกบานเต็มต้น
     
... พระผู้แสวงคุณยิ่งใหญ่พระองค์นั้น มีพระชนมายุแสนปี พระองค์พระชนม์ยืนถึงเพียงนั้น จึงทรงยังหมู่ชนเป็นอันมากให้ข้ามโอฆสงสารแล้ว ก็เสด็จดับขันธ์ปรินิพพาน ทั้งพระสาวก เหมือนกองไฟลุกโพลงแล้วก็ดับไป
     
... พระวรฤทธิ์ด้วย พระยศด้วย จักรรัตนะที่พระยุคลบาทด้วย ทั้งนั้นก็อันตรธานไปสิ้น สังขารทุกอย่างก็ว่างเปล่า แน่แท้
     
... พระทีปังกรชินศาสดา เสด็จปรินิพพาน ณ นันทาราม พระสถูปของพระชินเจ้าพระองค์นั้น ที่นันทารามสูง ๓๖ โยชน์
     
... พระสถูปบรรจุบาตร จีวร บริขารและเครื่องบริโภคของพระศาสดา ประดิษฐานอยู่ที่โคนโพธิพฤกษ์ในกาลนั้นสูง ๓ โยชน์

4
พระมงคลวิริยาธิกะสัพพัญญูพุทธเจ้า
     
... ดังได้สดับมา เมื่อพระโกณฑัญญศาสดาเสด็จดับขันธปรินิพพานแล้ว ศาสนาของพระองค์ดำรงอยู่แสนปีก็อันตรธาน
     
... ต่อจากสมัยของพระโกณฑัญญพุทธเจ้า ล่วงไปอสงไขยหนึ่ง ในสารมัณฑกัปหนึ่ง บังเกิดพระพุทธเจ้า ๔ พระองค์ คือ พระมงคล พระสุมน พระเรวต พระโสภิต
     
... ใน ๔ พระองค์นั้น พระมงคลพุทธเจ้าผู้นำโลก ทรงบำเพ็ญบารมี ๑๖ อสงไขยกำไรแสนกัป ก็บังเกิดในสวรรค์ชั้นดุสิต ทรงดำรงตลอดอายุในสวรรค์ชั้นนั้น เมื่อบุพนิมิต ๕ ประการเกิดขึ้นแล้ว ก็เกิดพุทธโกลาหลขึ้น ครั้งนั้น เทวดาในหมื่นจักรวาลก็ประชุมกันในจักรวาลนั้น จึงพากันอ้อนวอนว่า
                            
กาโลยํ เต มหาวีร      อุปฺปชฺช มาตุ กุจฺฉิยํ
                            
สเทวกํ ตารยนฺโต      พุชฺฌสฺสุ อมตํ ปทํ.
     
... ข้าแต่ท่านมหาวีระ นี้เป็นกาลอันสมควรสำหรับพระองค์

โปรดเสด็จอุบัติในพระครรภ์ของพระมารดาเถิด

พระองค์เมื่อทรงยังโลกพร้อมทั้งเทวโลกให้ข้ามโอฆสงสาร

โปรดตรัสรู้อมตบทเถิด เจ้าข้า ฯ.
     
... ทรงถูกเทวดาทั้งหลายอ้อนวอนอย่างนี้แล้ว ทรงพิจารณาวิโลกนะ ๕ ประการก็จุติจากสวรรค์ชั้นดุสิต ถือปฏิสนธิในพระครรภ์ของพระนางอุตตราเทวี ราชสกุลของพระเจ้าอุตตรผู้ยอดเยี่ยม ในอุตตรนคร ซึ่งเป็นนครสูงสุดเหนือนครทุกนคร
     
... ครั้งนั้นได้ปรากฏปาฏิหาริย์เป็นอันมาก นับตั้งแต่พระมงคลมหาสัตว์ผู้เป็นมงคลของโลกทั้งปวง ทรงถือปฏิสนธิในพระครรภ์ของพระนางอุตตรามหาเทวีพระองค์นั้น พระรัศมีแห่งพระสรีระก็แผ่ไปตลอดเนื้อที่ประมาณ ๘๐ ศอกทั้งกลางคืนกลางวัน มีพระพี่เลี้ยงพระนม ๖๘ นางคอยปรนนิบัติอยู่
     
... เล่ากันว่า พระนางอุตตราเทวีนั้นมีเทวดาถวายอารักขา ครบทศมาสก็ประสูติพระมงคลมหาบุรุษ ณ มงคลราชอุทยาน ชื่อว่าอุตตรมธุรอุทยาน อันมีไม้ดอกหอมอบอวล ไม้ต้นติดผลมีกิ่งและค่าคบ ประดับด้วยดอกบัวต้นและบัวสาย มีเนื้อกวาง ราชสีห์ เสือ ช้าง โคลาน ควาย เนื้อฟานและฝูงเนื้อนานาชนิดเที่ยวกันไป น่ารื่นรมย์อย่างยิ่ง
     
... พระมหาสัตว์พระองค์นั้นพอประสูติเท่านั้น ก็ทรงแลดูทุกทิศ หันพระพักตร์สู่ทิศอุดร ทรงย่างพระบาท ๗ ก้าว ทรงเปล่งอาสภิวาจา
     
... ขณะนั้น เทวดาสิ้นทั้งหมื่นโลกธาตุก็ปรากฏกาย ประดับองค์ด้วยทิพยมาลัยเป็นต้น ยืนอยู่ในที่นั้นๆ แซ่ซ้องถวายสดุดีชัยมงคล
     
... ในวันขนานพระนามพระมหาบุรุษนั้น โหรทำนายลักษณะขนานพระนามว่า มงคลกุมาร เพราะประสูติด้วยมงคลสมบัติทุกอย่าง
     
... ได้ยินว่า พระมหาบุรุษนั้นมีปราสาท ๓ หลัง คือ ยสวาปราสาท รุจิมาปราสาท สิริมาปราสาท สตรีเหล่านาฏกะ(ฟ้อน, ขับ, บรรเลง) จำนวนสามหมื่น มีพระนางยสวดีเป็นประธาน ณ ปราสาทนั้นพระมหาสัตว์ครองเรือนเก้าพันปี ทรงได้พระโอรสพระนามว่า สีลวา
     
... ทรงม้านามว่าปัณฑร เสด็จออกมหาภิเนษกรมณ์ มนุษย์สามโกฏิก็พากันบวชตามเสด็จ พระมหาบุรุษอันภิกษุเหล่านั้นแวดล้อมแล้วทรงบำเพ็ญความเพียรอยู่ ๘ เดือน
     
... แต่นั้นก็เสวยข้าวมธุปายาส มีโอชะทิพย์ที่เทวดาใส่ไว้ อันนางอุตตรา ธิดาของอุตตรเศรษฐี ในหมู่บ้านอุตตรคามถวายแล้ว ทรงยับยั้งพักกลางวัน ณ สาละวัน ซึ่งประดับด้วยไม้ดอกหอมกรุ่น ทรงรับหญ้า ๘ กำที่อุตตระอาชีวกถวาย เสด็จเข้าไปยังต้นไม้ที่ตรัสรู้ชื่อต้นนาคะ(กากะทิง) ก็ทรงทำประทักษิณต้นนาคะโพธิ ประทับยืนข้างทิศอีสาน ทรงลาดสันถัตหญ้า ๕๘ ศอก ประทับนั่งขัดสมาธิเหนือสันถัตหญ้านั้น
     
... ทรงอธิษฐานความเพียรอันประกอบด้วยองค์ ๔ ทรงเจริญอานาปานสติยังฌาน ๘ ให้บังเกิด ทรงทำการพิจารณาปัจจยาการ หยั่งลงโดยอำนาจอนิจจลักษณะเป็นต้นในขันธ์ทั้ง ๕ ในยามเช้าตรู่ก็ทรงบรรลุพระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ
     
... ส่วนรัศมีแห่งพระสรีระพระมงคลพุทธเจ้ามีเกินยิ่งกว่าพระพุทธเจ้าพระองค์อื่นๆ รัศมีแห่งพระสรีระของพระองค์ ไม่เหมือนพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์อื่นๆ ซึ่งมีรัศมีพระสรีระ ประมาณ ๘๐ ศอกบ้าง วาหนึ่งบ้างโดยรอบ ส่วนรัศมีแห่งพระสรีระของพระมงคลพุทธเจ้าพระองค์นั้น แผ่ไปตลอดหมื่นโลกธาตุเป็นนิจนิรันดร์ ต้นไม้ ภูเขา เรือน กำแพง หม้อน้ำ บานประตูเป็นต้น ได้เป็นเหมือนหุ้มไว้ด้วยแผ่นทอง
     
... พระองค์มีพระชนมายุถึงเก้าหมื่นปี รัศมีของดวงจันทร์ดวงอาทิตย์และดวงดาวเป็นต้นไม่มีตลอดเวลาถึงเท่านั้น การกำหนดเวลากลางคืนกลางวันไม่ปรากฏ สัตว์ทั้งหลายทำการงานกันทุกอย่างด้วยแสงสว่างของพระพุทธเจ้าเท่านั้น เหมือนทำงานด้วยแสงสว่างของดวงอาทิตย์เวลากลางวัน โลกกำหนดเวลาตอนกลางคืนกลางวัน โดยดอกไม้บานยามเย็นและนกร้องยามเช้า
     
... ถามว่า อานุภาพนี้ของพระพุทธเจ้าพระองค์อื่นๆ ไม่มีหรือ
     
... ตอบว่า ไม่มี หามิได้
     
... ความจริง พระพุทธเจ้าแม้เหล่านั้น เมื่อทรงประสงค์ ก็ทรงแผ่พระรัศมีไปได้ตลอดหมื่นโลกธาตุหรือยิ่งกว่านั้น แต่รัศมีแห่งพระสรีระของพระผู้มีพระภาคเจ้ามงคล แผ่ไปตลอดหมื่นโลกธาตุเป็นนิจนิรันดร์ เหมือนรัศมีวาหนึ่งของพระพุทธเจ้าพระองค์อื่นๆ ก็ด้วยอำนาจความปรารถนาแต่เบื้องต้น
     
... เมื่อครั้งเป็นพระโพธิสัตว์ พระมงคลพุทธเจ้าพระองค์นั้นทรงมีพระโอรสและพระชายา ในอัตภาพเช่นเดียวกับอัตภาพเป็นพระเวสสันดร ประทับอยู่ ณ ภูเขาเช่นเดียวกับเขาวงกต
     
... ครั้งนั้น ยักษ์ผู้มีศักดิ์ใหญ่ตนหนึ่งกินมนุษย์เป็นอาหาร ชอบเบียดเบียนคนทุกคน ชื่อ ขรทาฐิกะ ได้ข่าวว่า พระมหาบุรุษชอบให้ทาน จึงแปลงกายเป็นพราหมณ์เข้าไปหา ทูลขอทารกสองพระองค์กะพระมหาสัตว์
     
... พระมหาสัตว์ทรงดีพระทัยว่า เราจะให้ลูกน้อยสองคนแก่พราหมณ์ดังนี้ ได้ทรงประทานพระราชบุตรทั้งสองพระองค์แล้ว ทำให้แผ่นดินหวั่นไหวจนถึงน้ำ ขณะนั้น ทั้งที่พระมหาสัตว์ทรงเห็นอยู่ ยักษ์ละเพศเป็นพราหมณ์นั้นเสีย มีดวงตากลมเหลือกเหลืองดังเปลวไฟ มีเขี้ยวโง้งไม่เสมอกัน น่าเกลียดน่ากลัว มีจมูกบี้แบน มีผมแดงหยาบยาว มีเรือนร่างเสมือนต้นตาลไหม้ไฟใหม่ๆ จับทารกสองพระองค์ เหมือนกำเหง้าบัวเคี้ยวกิน
     
... พระมหาบุรุษมองดูยักษ์ พอยักษ์อ้าปากก็เห็นปากยักษ์นั้น มีสายเลือดไหลออกเหมือนเปลวไฟ ก็ไม่เกิดโทมนัสแม้เท่าปลายผม เมื่อคิดว่าเราให้ทานดีแล้ว ก็เกิดปีติโสมนัสมากในสรีระ พระมหาสัตว์นั้นทรงทำความปรารถนาว่า ด้วยผลแห่งทานของเรานี้ ในอนาคตกาล ขอรัศมีทั้งหลายจงแล่นออกโดยทำนองนี้ เมื่อพระองค์อาศัยความปรารถนาเป็นพระพุทธเจ้าแล้ว รัศมีทั้งหลายจึงเปล่งออกจากสรีระ แผ่ไปตลอดสถานที่มีประมาณเท่านั้น
     
... บุพจริยาอย่างอื่นของพระองค์ยังมีอีก ครั้งเป็นพระโพธิสัตว์ พระมงคลพุทธเจ้าพระองค์นี้เห็นเจดีย์ของพระพุทธเจ้าพระองค์หนึ่ง คิดว่า " ควรที่จะสละชีวิตของเราเพื่อพระพุทธเจ้าพระองค์นี้ " ให้เขาพันทั่วทั้งสรีระโดยทำนองพันประทีปด้าม ให้บรรจุถาดทองมีค่านับแสนซึ่งมีช่อดอกไม้ตูมขนาดศอกหนึ่ง เต็มด้วยของหอมและเนยใส จุดไส้เทียนพันไส้ไว้ในถาดทองนั้น ใช้ศีรษะเทินถาดทองนั้นแล้วให้จุดไฟทั่วทั้งตัว ทำประทักษิณบูชาพระเจดีย์ของพระชินเจ้าตลอดทั้งคืน
     
... ก็พระมงคลสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงบรรลุพระโพธิญาณแล้ว ทรงยับยั้ง ณ โคนต้นไม้ที่ตรัสรู้ ๗ สัปดาห์ ทรงรับคำวอนขอให้ทรงแสดงธรรมของพรหม ทรงใคร่ครวญว่าเราจะแสดงธรรมนี้แก่ใครหนอ ก็ทรงเห็นว่า ภิกษุสามโกฏิที่บวชกับพระองค์ ถึงพร้อมด้วยอุปนิสัย
     
... ครั้งนั้น ทรงดำริว่า กุลบุตรเหล่านี้บวชตามเราซึ่งกำลังบวชอยู่ถึงพร้อมด้วยอุปนิสัย พวกเขาถูกเราซึ่งต้องการวิเวกสละไว้ เมื่อวันเพ็ญเดือนวิสาขะ เข้าไปอาศัยสิริวัฒนนคร อยู่ยังชัฏสิริวัน เอาเถิด เราจักไปแสดงธรรมแก่พวกเขาในที่นั้น แล้วทรงถือบาตรจีวรของพระองค์ เหาะสู่อากาศ ปรากฏพระองค์ ณ ชัฏสิริวัน
     
... ภิกษุเหล่านั้นถวายบังคมพระผู้มีพระภาคเจ้า แสดงอันเตวาสิก วัตรแล้วนั่งแวดล้อมพระผู้มีพระภาคเจ้า พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสพระธัมมจักกัปปวัตตนสูตร ซึ่งพระพุทธเจ้าทุกพระองค์ทรงปฏิบัติมาแล้ว แก่ภิกษุเหล่านั้น ต่อจากนั้น ภิกษุสามโกฏิก็บรรลุพระอรหัต ธรรมาภิสมัยการตรัสรู้ธรรม ได้มีแก่เทวดาและมนุษย์แสนโกฏิ
     
... สมัยใด พระมงคลพุทธเจ้าทรงอาศัยนคร ชื่อจิตตประทับอยู่ ทรงทำยมกปาฏิหาริย์ ข่มมานะของพวกเดียรถีย์ ณ โคนต้นจำปา แล้วประทับนั่งเหนือพื้นพระแท่นบัณฑุกัมพลศิลาอาสน์ ใต้โคนต้นปาริฉัตตก ณ ภพดาวดึงส์ ตรัสพระอภิธรรม สมัยนั้น ธรรมาภิสมัยการตรัสรู้ธรรมได้มีแก่เทวดาแสนโกฏิ นี้เป็นอภิสมัยครั้งที่ ๒
     
... สมัยใด พระเจ้าจักรพรรดิพระนามสุนันทะ ทรงบำเพ็ญจักรวรรดิวัตร ณ สุรภีนคร ทรงได้จักรรัตนะ
     
... เล่ากันว่า เมื่อพระมงคลทศพลเสด็จอุบัติขึ้นในโลก จักรรัตนะนั้นก็เขยื้อนจากฐาน พระเจ้าสุนันทะทรงเห็นแล้ว ก็หมดความบันเทิงพระหฤทัย จึงทรงสอบถามพวกพราหมณ์ว่า จักรรัตนะนี้บังเกิดเพราะกุศลของเรา เหตุไฉนจึงเขยื้อนจากฐาน
     
... สมัยนั้น พราหมณ์เหล่านั้นจึงพยากรณ์ ถึงเหตุที่จักรรัตนะนั้นเขยื้อนแด่พระราชาว่า จักรรัตนะจะเขยื้อนจากฐาน เพราะพระเจ้าจักรพรรดิหมดพระชนมายุ เพราะพระเจ้าจักรพรรดิทรงผนวช หรือเพราะพระพุทธเจ้าปรากฏ
     
... แล้วกราบทูลว่า ข้าแต่พระมหาราชเจ้า พระชนมายุของพระองค์ยังไม่สิ้นดอกพระพุทธเจ้าข้า พระองค์ทรงมีพระชนมายุยืนยาว แต่พระมงคลสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จอุบัติแล้วในโลก ด้วยเหตุนั้น จักรรัตนะของพระองค์จึงเขยื้อน
     
... พระเจ้าสุนันทจักรพรรดิราชพร้อมทั้งบริษัท จึงทรงไหว้จักรรัตนะนั้นด้วยเศียรเกล้า ทรงวอนขอว่า ตราบใดเราจักสักการะพระมงคลทศพล ด้วยอานุภาพของท่าน ขอท่านอย่าเพิ่งอันตรธานไป ตราบนั้นด้วยเถิด ลำดับนั้น จักรรัตนะนั้นก็ได้ตั้งอยู่ที่ฐานตามเดิม
     
... แต่นั้น พระเจ้าสุนันทจักรพรรดิผู้มีความบันเทิงพระหฤทัยพรั่งพร้อม อันบริษัทมีปริมณฑล ๓๖ โยชน์แวดล้อมแล้ว ก็เสด็จเข้าเฝ้าพระมงคลทศพลผู้เป็นมงคลของโลกทั้งปวง ทรงอังคาสพระศาสดาพร้อมทั้งพระสงฆ์สาวกให้อิ่มหนำสำราญด้วยมหาทาน ถวายผ้าแคว้นกาสีแด่พระอรหันต์แสนโกฏิรูป ถวายบริขารทุกอย่างแด่พระตถาคต ทรงทำการบูชาแด่พระผู้มีพระภาคเจ้า ซึ่งทำความประหลาดใจสิ้นทั้งโลก แล้วเข้าเฝ้าพระมงคลพุทธเจ้าผู้เป็นนาถะของโลกทั้งปวง ทรงทำอัญชลีดั่งช่อดอกบัวอันไร้มลทิน อันรุ่งเรืองด้วยทศนขสโมธานไว้เหนือเศียรเกล้า ทรงถวายบังคมแล้วประทับนั่ง ณ ที่สมควรส่วนหนึ่ง แม้พระราชโอรสของพระองค์ พระนามว่าอนุราชกุมาร ก็ประทับนั่งอย่างนั้นเหมือนกัน
     
... ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสอนุปุพพิกถาโปรดชนเหล่านั้น ซึ่งมีพระเจ้าสุนันทจักรพรรดิเป็นประธาน พระเจ้าสุนันทจักรพรรดิพร้อมทั้งบริษัท บรรลุพระอรหัตพร้อมด้วยปฏิสัมภิทา ๔
     
... ลำดับนั้น พระศาสดาทรงสำรวจบุพจริยาของชนเหล่านั้น ทรงเห็นอุปนิสสัยแห่งบาตรจีวรที่สำเร็จด้วยฤทธิ์ ก็ทรงเหยียดพระหัตถ์เบื้องขวาซึ่งประดับด้วยข่ายจักร ตรัสว่า พวกเธอจงเป็นภิกษุมาเถิด ในทันทีภิกษุทุกรูปก็ผมขนาดสองนิ้ว ทรงบาตรจีวรสำเร็จด้วยฤทธิ์ ถึงพร้อมด้วยอาการอันสมควรแก่สมณะ ประหนึ่งพระเถระ ๖๐ พรรษา แวดล้อมพระผู้มีพระภาคเจ้า นี้เป็นอภิสมัยครั้งที่ ๓
     
... เล่ากันว่า ครั้งนั้น เมื่อพระมงคลโลกนาถประทับอยู่ ณ เมขลบุรี ในนครนั้นนั่นแล สุเทวมาณพและธัมมเสนมาณพ มีมาณพพันหนึ่งเป็นบริวาร พากันบวชด้วยเอหิภิกขุบรรพชาในสำนักของพระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้น
     
... เมื่อคู่พระอัครสาวกพร้อมบริวารบรรลุพระอรหัต ในวันเพ็ญเดือนมาฆะ พระศาสดาทรงยกปาติโมกข์ขึ้นแสดง ในท่ามกลางภิกษุแสนโกฏิ นี้เป็นการประชุมครั้งแรก
     
... ทรงยกปาติโมกข์ขึ้นแสดง ในการประชุมของบรรพชิต ในสมาคมญาติอันยอดเยี่ยม ณ อุตตรารามอีก นี้เป็นการประชุมครั้งที่ ๒
     
... ทรงยกปาติโมกข์ขึ้นแสดงในท่ามกลางภิกษุเก้าหมื่นโกฏิ ในสมาคมคณะภิกษุพระเจ้าสุนันทจักรพรรดิ นี้เป็นการประชุมครั้งที่ ๓
     
... ครั้งนั้น พระโพธิสัตว์ของเราเป็นพราหมณ์ชื่อว่าสุรุจิ ในหมู่บ้านสุรุจิคาม เป็นผู้จบไตรเพทพร้อมทั้งนิฆัณฑุศาสตร์ เกฏุภศาสตร์ ทั้งประเภทอักขรศาสตร์ ชำนาญร้อยกรอง ชำนาญร้อยแก้ว ทั้งเชี่ยวชาญในโลกายตศาสตร์และมหาปุริสลักษณศาสตร์
     
... ท่านสุรุจิพราหมณ์นั้นเข้าไปเฝ้าพระศาสดา ฟังธรรมกถาอันไพเราะของพระทศพลแล้วเลื่อมใสถึงสรณะ นิมนต์พระผู้มีพระภาคเจ้าพร้อมทั้งพระสงฆ์สาวกว่า พรุ่งนี้ ขอพระองค์โปรดทรงรับอาหารของข้าพระองค์ด้วยเถิด
     
... ท่านพราหมณ์นั้นอันพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสถามว่า ท่านพราหมณ์ ท่านต้องการภิกษุจำนวนเท่าไร จึงกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ภิกษุบริวารของพระองค์มีเท่าไรเล่า พระเจ้าข้า
     
... ครั้งนั้น เป็นการประชุมครั้งที่ ๑ เพราะฉะนั้น เมื่อตรัสว่ามีแสนโกฏิ สุรุจิพราหมณ์จึงนิมนต์ว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ถ้าเป็นเช่นนั้น ขอพระองค์โปรดทรงรับอาหารของข้าพระองค์ พร้อมกับภิกษุทุกรูปพระเจ้าข้า พระศาสดาจึงทรงรับนิมนต์
     
... สุรุจิพราหมณ์ ครั้นนิมนต์พระผู้มีพระภาคเจ้าเพื่อเสวยในวันรุ่งขึ้นแล้วก็กลับไปบ้านตนคิดว่า ภิกษุจำนวนถึงเท่านี้ เราก็สามารถถวายข้าวต้มข้าวสวยและผ้าได้ แต่สถานที่ท่านจะนั่งกันจักทำอย่างไร
     
... ความคิดของท่านพราหมณ์นั้นก็ร้อนไปถึงพระแท่นบัณฑุกัมพลศิลาอาสน์ของท้าวสหัสนัยน์สักกเทวราช ครั้งนั้น ท้าวสักกเทวราชทรงเห็นอาสน์ร้อนขึ้นมา ก็เกิดปริวิตกว่า ใครหนอประสงค์จะให้เราเคลื่อนย้ายจากที่นี้ ทรงเล็งทิพยเนตรตรวจดูมนุษยโลกก็เห็นพระมหาบุรุษ คิดว่า พระมหาสัตว์ผู้นี้นิมนต์พระภิกษุสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นประธาน คิดถึงเรื่องสถานที่ภิกษุสงฆ์นั้นจะนั่ง แม้เราก็ควรจะไปที่นั้นแล้วรับส่วนบุญ จึงปลอมตัวเป็นนายช่างไม้ถือมีดและขวานแล้วปรากฏตัวต่อหน้าพระมหาบุรุษ กล่าวว่า ใครหนอมีกิจที่จะจ้างเราทำงานบ้าง พระมหาสัตว์เห็นแล้วก็ถามว่า ท่านสามารถทำงานของเราได้หรือ เขาบอกกล่าวว่า ขึ้นชื่อว่าศิลปะที่เราไม่รู้ ไม่มี ผู้ใดประสงค์จะให้ทำสิ่งไรๆ ไม่ว่าจะเป็นมณฑป ปราสาทหรือนิเวศน์เป็นต้นไรๆ อื่น เราก็สามารถทำได้ทั้งนั้น
     
... พระมหาสัตว์บอกว่า ถ้าอย่างนั้นเรามีงาน เขาถามว่า งานอะไรเล่า นายท่าน พระมหาสัตว์บอกว่า เรานิมนต์ภิกษุจำนวนแสนโกฏิ เพื่อฉันอาหารวันพรุ่งนี้ ท่านจักต้องสร้างมณฑปสำหรับภิกษุเหล่านั้นนั่งนะ เขากล่าวว่า ได้สิ พ่อคุณ เขากล่าวว่า ดีละ ถ้าอย่างนั้นเราจักทำ แล้วก็ตรวจดูภูมิประเทศแห่งหนึ่ง ภูมิประเทศเหล่านั้นประมาณสิบสองโยชน์ พื้นเรียบเหมือนวงกสิณน่ารื่นรมย์อย่างยิ่ง เขาคิดอีกว่า มณฑปที่เห็นเป็นแก่นไม้สำเร็จด้วยรัตนะ ๗ ประการจงผุดขึ้น ณ ที่ประมาณเท่านี้ แล้วตรวจดู ในทันใด มณฑปที่ชำแรกพื้นดินผุดโผล่ขึ้นก็เสมือนมณฑปจริง มณฑปนั้นมีหม้อเงินอยู่ที่เสาทอง มีหม้อทองอยู่ที่เสาเงิน มีหม้อแก้วประพาฬอยู่ที่เสาแก้วมณี มีหม้อแก้วมณีอยู่ที่เสาแก้วประพาฬ มีหม้อรัตนะ ๗ อยู่ที่เสารัตนะ ๗
     
... ต่อนั้น เขาตรวจดูว่าข่ายกระดิ่งจงห้อยระหว่างระยะของมณฑป พร้อมกับการตรวจดู ข่ายกระดิ่งก็ห้อย ซึ่งเมื่อต้องลมพานอ่อนๆ ก็เปล่งเสียงไพเราะ น่ารื่นรมย์อย่างยิ่ง เหมือนอย่างดนตรีเครื่อง ๕ ได้เป็นเหมือนเวลาบรรเลงทิพยสังคีต
     
... เขาคิดว่า พวงของหอม พวงดอกไม้ พวงใบไม้และพวงรัตนะ ๗ ของทิพย์ จงห้อยลงเป็นระยะๆ พร้อมกับคิด พวงทั้งหลายก็ห้อย อาสนะ เครื่องลาดมีค่าเป็นของกัปปิยะและเครื่องรองทั้งหลาย สำหรับภิกษุจำนวนแสนโกฏิ จงชำแรกแผ่นดินผุดโผล่ขึ้น ในทันใด ของดังกล่าวก็ผุดขึ้น เขาคิดว่าหม้อน้ำ จงตั้งอยู่ทุกๆ มุมๆ ละหม้อ ทันใดนั่นเองหม้อน้ำทั้งหลายเต็มด้วยน้ำสะอาดหอมและเป็นกัปปิยะมีรสอร่อย เย็นอย่างยิ่ง มีปากปิดด้วยใบตองก็ตั้งขึ้น
     
... ท้าวสหัสสนัยน์นั้น ทรงเนรมิตสิ่งของมีประมาณเท่านี้แล้ว เข้าไปหาพราหมณ์กล่าวว่า นายท่าน มานี่แน่ะ ท่านเห็นมณฑปของท่านแล้ว โปรดให้ค่าจ้างแก่เราสิ
     
... พระมหาสัตว์ไปตรวจดูมณฑปนั้น เมื่อเห็นมณฑปนั่นแลสรีระก็ถูกปีติ ๕ อย่างถูกต้อง แผ่ซ่านมิได้ว่างเว้นเลย
     
... ครั้งนั้น พระมหาสัตว์เมื่อแลเห็นก็คิดอย่างนี้ว่า มณฑปนี้มิใช่ฝีมือมนุษย์สร้าง อาศัยอัธยาศัยของเรา คุณของเรา จึงร้อนถึงภพของท้าวสักกเทวราช ต่อนั้น ท้าวสักกจอมทวยเทพจึงทรงเนรมิตมณฑปนี้แน่แล้ว
     
... พระมหาสัตว์คิดว่า การจะถวายทานวันเดียวในมณฑปเห็นปานนี้ไม่สมควรแก่เรา จำเราจะถวายตลอด ๗ วัน
     
... ธรรมดาทานภายนอกแม้มีประมาณเท่านั้น ก็ยังไม่อาจทำหัวใจของพระโพธิสัตว์ให้พอใจได้ พระโพธิสัตว์ทั้งหลายอาศัยจาคะ ย่อมจะชื่อว่าพอใจ ก็แต่ในเวลาที่ตัดศีรษะที่ประดับแล้วหรือควักลูกตาที่หยอดแล้ว หรือถอดเนื้อหัวใจให้เป็นทาน
     
... จริงอยู่ ในสิวิชาดก เมื่อพระโพธิสัตว์ของเราสละทรัพย์ห้าแสนกหาปณะทุกๆ วัน ให้ทาน ๕ แห่ง คือท่ามกลางนครและที่ประตูทั้ง ๔ ทานนั้นไม่อาจให้เกิดความพอใจในจาคะได้เลย. แต่สมัยใด ท้าวสักกเทวราชปลอมตัวเป็นพราหมณ์มาขอจักษุทั้งสองข้าง สมัยนั้น พระโพธิสัตว์นั้นก็ควักจักษุเหล่านั้นให้ กำลังทานนั่นแหละจึงเกิดความร่าเริง จิตมิได้เปลี่ยนแปลงแม้แต่เท่าปลายเส้นผม
     
... ด้วยประการดังกล่าวมานี้ พระสัพพัญญูโพธิสัตว์ทั้งหลายอาศัยแต่ทานภายนอกจึงมิได้อิ่มเลย เพราะฉะนั้น พระมหาบุรุษแม้พระองค์นั้นคิดว่า เราควรถวายทานแก่ภิกษุจำนวนแสนโกฏิ จึงให้ภิกษุเหล่านั้นนั่ง ณ มณฑปนั้นแล้วถวายทาน ชื่อว่า ควปานะ (ขนมแป้งผสมนมโค) ๗ วัน
     
... โภชนะที่เขาบรรจุหม้อขนาดใหญ่ๆ ให้เต็มด้วยน้ำนมโคแล้วยกตั้งบนเตา ใส่ข้าวสารทีละน้อยๆ ลงที่น้ำนมซึ่งสุกโดยเคี่ยวจนข้นแล้วปรุงด้วยน้ำผึ้งคลุกน้ำตาลกรวดละเอียดและเนยใสเข้าด้วยกัน เรียกกันว่า ควปานะ
     
... แต่มนุษย์ทั้งหลายไม่อาจอังคาสได้ แม้แต่เทวดาทั้งหลายที่อยู่ช่องว่างช่องหนึ่งจึงอังคาสได้ สถานที่นั้นแม้มีขนาดสิบสองโยชน์ ก็ยังไม่พอรับภิกษุเหล่านั้นได้เลย แต่ภิกษุเหล่านั้นนั่งโดยพระพุทธานุภาพ
     
... วันสุดท้าย พระมหาบุรุษให้เขาล้างบาตรภิกษุทุกรูป บรรจุด้วยเนยใส เนยข้น น้ำผึ้ง น้ำอ้อยเป็นต้น ได้ถวายพร้อมด้วยไตรจีวร ผ้าจีวรที่ภิกษุสังฆนวกะในที่นั้นได้แล้วก็เป็นของมีค่านับแสน
     
... ครั้งนั้น พระศาสดาเมื่อทรงทำอนุโมทนา ทรงใคร่ครวญดูว่า มหาบุรุษผู้นี้ได้ถวายมหาทานเห็นปานนี้จักเป็นใครกันหนอ ก็ทรงเห็นว่า ในอนาคตกาล เขาจักเป็นพระพุทธเจ้าพระนามว่าโคตมะ ในที่สุดสองอสงไขยกำไรแสนกัป แต่นั้นจึงทรงเรียกพระมหาสัตว์มาแล้วทรงพยากรณ์ว่า ล่วงกาลประมาณเท่านี้ ท่านจักเป็นพระพุทธเจ้าพระนามว่า พระสมณโคดม
     
... ลำดับนั้น พระมหาบุรุษสดับคำพยากรณ์ของพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้ว ก็มีหัวใจปลาบปลื้ม คิดว่า พระองค์ตรัสว่าเราจักเป็นพระพุทธเจ้า เราก็ไม่ต้องการอยู่ครองเรือนจึงละสมบัติเห็นปานนั้นเสียเหมือนก้อนเขฬะ บวชในสำนักของพระศาสดา เรียนพระพุทธวจนะ ยังอภิญญาและสมาบัติ ๘ ให้บังเกิด มีฌานไม่เสื่อม ดำรงอยู่จนตลอดอายุ ที่สุดอายุบังเกิดแล้วในพรหมโลก
     
... ก็พระผู้มีพระภาคมงคลพุทธเจ้ามีพระนครชื่อว่า อุตตรนคร แม้พระชนกของพระองค์เป็นกษัตริย์ พระนามว่า พระเจ้าอุตตร แม้พระชนนีพระนามว่าพระนางอุตตรา คู่พระอัครสาวกชื่อว่า พระสุเทว และ พระธรรมเสน มีพระพุทธอุปัฏฐากชื่อว่า พระปาลิต มีคู่พระอัครสาวิกาชื่อว่า พระสีวลา และ พระอโสกา ต้นไม้ที่ตรัสรู้ชื่อต้นนาคะ (กากะทิง) พระวรกายสูง ๘๘ ศอก พระชนมายุประมาณเก้าหมื่นปี ส่วนพระชายาพระนามว่า ยสวดี พระโอรสพระนามว่า สีวล เสด็จอภิเนษกรมณ์โดยยานคือม้า ประทับ ณ พระวิหาร อุตตราราม อุปัฏฐากชื่ออุตตร
     
... เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้นดำรงพระชนม์อยู่เก้าหมื่นปีก็เสด็จดับขันธปรินิพพาน หมื่นจักรวาลก็มืดลงพร้อมกัน โดยเหตุอย่างเดียวเท่านั้น มนุษย์ทุกจักรวาลก็พากันร่ำไห้คร่ำครวญเป็นการใหญ่

5
พระโกณฑัญญวิริยาธิกะสัมมาสัมพุทธเจ้า
     
... ดังได้สดับมา เมื่อพระผู้มีพระเจ้าทีปังกรเสด็จดับขันธ์ปรินิพพานแล้ว ศาสนาของพระองค์ดำรงอยู่แสนปี เพราะอันตรธานแห่งพระสาวกทั้งหลาย ศาสนาของพระองค์ก็อันตรธาน
     
... ต่อมาภายหลังศาสนาของพระองค์ ล่วงไปอสงไขยหนึ่ง พระศาสดาพระนามว่าโกณฑัญญะก็อุบัติในสารกัปหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้นทรงบำเพ็ญบารมีมา ๑๖ อสงไขยกำไรแสนกัป อบรมบ่มพระญาณแก่กล้าแล้ว บังเกิดในสวรรค์ชั้นดุสิต ดำรงอยู่ในดุสิตนั้น จนตลอดพระชนมายุ ประทานปฏิญาณแก่เทวดาทั้งหลาย จุติจากดุสิต ถือปฏิสนธิในพระครรภ์ของพระนางสุชาดาเทวี ในราชสกุลของพระเจ้าสุนันทะ กรุงรัมมวดี
     
... ในขณะที่พระองค์ทรงถือปฏิสนธิ ก็บังเกิดพระปาฏิหาริย์ ๓๒ ประการ มีเหล่าเทวดาถวายอารักขา ถ้วนทศมาสก็ประสูติจากพระครรภ์พระมารดา ทรงเป็นยอดของสรรพสัตว์ บ่ายพระพักตร์ทางทิศอุดร เสด็จย่างพระบาทได้ ๗ ก้าว ทรงแลดูทุกทิศ ทรงเปล่งอาสภิวาจาว่า

... “ เราเป็นผู้เลิศแห่งโลก เราเป็นผู้เจริญที่สุดแห่งโลก เราเป็นผู้ประเสริฐที่สุดแห่งโลก ชาตินี้เป็นชาติสุดท้าย ตั้งแต่บัดนี้ไม่มีการเกิดอีก ”
     
... ต่อนั้น ในวันขนานพระนามของพระโพธิสัตว์นั้น พระประยูรญาติทั้งหลายก็ขนานพระนามว่า โกณฑัญญ ความจริง พระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้นทรงมีพระโคตรเป็นโกณฑัญญโคตร เขาว่า พระองค์มีปราสาท ๓ หลังน่ารื่นรมย์อย่างยิ่ง ชื่อว่า รุจิปราสาท สุรุจิปราสาท สุภะปราสาท
     
... ทั้ง ๓ หลังนั้นมีสตรีฝ่ายนาฏกะ ผู้ชำนาญการฟ้อนรำ การขับร้องและการบรรเลง ประจำอยู่ถึงสามแสนนาง พระองค์มีพระมเหสีพระนามว่า รุจิเทวี มีพระโอรสพระนามว่า วิชิตเสนะ ทรงครองฆราวาสวิสัยอยู่หมื่นปี
     
... พระโพธิสัตว์นั้นทรงเห็นคนแก่ คนเจ็บ คนตายและนักบวช เสด็จออกอภิเนษกรมณ์ด้วยรถทรงเทียมม้า ทรงผนวชแล้ว ทรงบำเพ็ญเพียรอยู่ ๑๐ เดือน
     
... โกณฑัญญกุมารกำลังผนวชอยู่ คนสิบโกฏิก็บวชตามเสด็จโกณฑัญญกุมารนั้น อันคนเหล่านั้นแวดล้อมแล้ว ก็ทรงบำเพ็ญเพียรอยู่ ๑๐ เดือน ณ ดิถีเพ็ญเดือนวิสาขะเสวยข้าวมธุปายาสรสอร่อยอย่างยิ่ง ซึ่งธิดาเศรษฐีชื่อว่า ยโสธรา ณ บ้านสุนันทคาม ถวายแล้ว ทรงยับยั้งพักกลางวัน ณ ป่าต้นสาละ ที่ประดับด้วยผลใบอ่อนและหน่อ
     
... เวลาเย็นทรงละหมู่แล้ว ทรงรับหญ้า ๘ กำที่สุนันทอาชีวกถวายมาแล้ว ทรงทำประทักษิณต้นสาลกัลยาณี (ต้นขานาง) ๓ ครั้ง ทรงสำรวจดูทิศบูรพา ทรงทำต้นไม้ที่ตรัสรู้ไว้เบื้องพระปฤษฎางค์ ทรงปูลาดหญ้ากว้าง ๕๘ ศอก ทรงนั่งขัดสมาธิ อธิษฐานความเพียรมีองค์ ๔ เวลานั้นประมาณบ่ายสี่โมงกว่า ทรงเจริญอานาปานสติยังฌาน ๘ ให้บังเกิด เมื่อพระองค์เจริญฌานจนเป็นวสีชำนาญดีแล้ว
     
... ในราตรีปฐมยาม(๑๘.๐๐ น. - ๒๒.๐๐ น.)ทรงชำระปุพเพนิวาสานุสสติญาณ ในมัชฌิมยามทรงชำระทิพยจักษุ ในปัจฉิมยามทรงพิจารณาปัจจยาการ ทรงออกจากจตุตถฌานที่มีอานาปานสติเป็นอารมณ์ ทรงหยั่งสำรวจในปัญจขันธ์ ก็ทรงเห็นสามัญญลักษณะ คือ อนิจฺจํความไม่เที่ยง ทุกฺขํ ความทุกข์ อนตฺตา ความไม่ใช่ตัวตนแห่งเราของเราจริง ด้วยปัญญาอันสม่ำเสมอ โดยอุทยัพพยญาณ ทรงเจริญวิปัสสนาจนถึงโคตรภูญาณ ทรงบรรลุพระโพธิญาณแทงตลอดมรรคญาณ ๔ ผลญาณ ๔ ปฏิสัมภิทา ๔ ญาณกำหนดกำเนิด ๔ ญาณกำหนดคติ ๕ อสาธารณญาณ ๖ และพระพุทธคุณทั้งสิ้น ทรงมีความดำริบริบูรณ์แล้ว ประทับนั่ง ณ โคนไม้ที่ตรัสรู้ ทรงเปล่งอุทานอย่างนี้ว่า
     
... “ เราแสวงหาตัณหานายช่างผู้สร้างเรือน เมื่อไม่พบจึงต้องท่องเที่ยวไปตลอดชาติสงสารเป็นอันมาก ความเกิดบ่อยๆ เป็นทุกข์ ดูก่อนตัณหานายช่างผู้สร้างเรือน เราเห็นท่านแล้ว ท่านจักสร้างเรือนอีกไม่ได้ โครงสร้างเรือนของท่านเราหักหมดแล้ว ยอดเรือนเราก็รื้อออกแล้ว จิตของเราถึงธรรมเป็นที่สิ้นตัณหาแล้ว คติแห่งไฟที่ลุกโพลง ที่ภาชนะสัมฤทธิ์ที่นายช่างตี ด้วยพะเนินเหล็กกำจัดแล้วก็สงบเย็นลงโดยลำดับ ไม่มีใครรู้คติความไปของมันได้ ฉันใด คติของพระขีณาสพผู้หลุดพ้นโดยชอบ ข้ามเครื่องผูกคือกามโอฆะ บรรลุสุขอันไม่หวั่นไหว ก็ไม่มีใครจะรู้คติของท่านได้ ฉันนั้น ”
     
... ทรงยับยั้งอยู่ด้วยสุขในผลสมาบัติ ณ โคนโพธิพฤกษ์ ๗ สัปดาห์ในสัปดาห์ที่ ๘ ทรงอาศัยการอาราธนาของพรหม ทรงใคร่ครวญว่า เราจะแสดงธรรมครั้งแรกแก่ใครเล่าหนอ ก็ได้ทรงเห็นภิกษุ ๑๐ โกฏิซึ่งบวชกับพระองค์ว่า
     
... “ กุลบุตรพวกนี้สะสมกุศลมูลไว้ จึงบวชตามเราซึ่งกำลังบวช บำเพ็ญเพียรกับเรา บำรุงเรา เอาเถิด เราจะพึงแสดงธรรมแก่กุลบุตรพวกนี้ก่อนใครหมด ”
     
... ครั้นทรงใคร่ครวญอย่างนี้แล้ว ก็ทรงตรวจดูว่า ภิกษุเหล่านั้น บัดนี้อยู่ที่ไหนก็ทรงเห็นว่าอยู่กันที่เทววัน กรุงอรุนธวดีระยะทาง ๑๘ โยชน์แต่ที่นี้ จึงทรงอันตรธานจากโคนโพธิพฤกษ์ไปปรากฏที่เทววัน เหมือนบุรุษมีกำลังเหยียดแขนที่คู้หรือคู้แขนที่เหยียดฉะนั้น
     
... สมัยนั้น ภิกษุสิบโกฏิเหล่านั้นอาศัยกรุงอรุนธวดีอยู่ที่เทววัน ก็แลเห็นพระทศพลทรงพุทธดำเนินมาแต่ไกล พากันมีใจผ่องใสรับเสด็จ รับบาตร จีวรของพระผู้มีพระภาคเจ้า ปูลาดพุทธอาสน์ ทำความเคารพ ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคเจ้า นั่งแวดล้อม ณ ที่สมควรส่วนหนึ่ง
     
... ณ ที่นั้น พระโกณฑัญญทศพลอันหมู่มุนีแวดล้อมแล้ว ประทับนั่งเหนือพุทธอาสน์อันรุ่งโรจน์ ประดุจท้าวสหัสนัยน์อันหมู่เทพชั้นไตรทศแวดล้อม ประดุจดวงรัชนีกรในฤดูสารทที่โคจร ณ พื้นนภากาศอันไร้มลทิน ประดุจดวงจันทร์เพ็ญ อันหมู่ดาวแวดล้อม
     
... ครั้งนั้น พระศาสดาตรัสพระธัมมจักกัปวัตตนสูตร มีปริวัฏ ๓ อาการ ๑๒ อันยอดเยี่ยม ซึ่งพระพุทธเจ้าทุกพระองค์ทรงซ่องเสพแล้ว แก่ภิกษุเหล่านั้น ทรงยังเทวดาและมนุษย์แสนโกฏิ มีภิกษุสิบโกฏิเป็นประธานให้ดื่มอมฤตธรรม
     
... ต่อจากนั้น ในมหามงคลสมาคม เทวดาในหมื่นจักรวาล เนรมิตอัตภาพอันละเอียด ประชุมกันในจักรวาลนี้นี่แล
     
... เล่ากันว่า ในมหามงคลสมาคมนั้น เทพบุตรองค์หนึ่งทูลถามมงคลปัญหากะพระโกณฑัญญทศพล พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสมงคลทั้งหลายโปรดเทพบุตรองค์นั้น ในมหามงคลสมาคมนั้น เทวดาเก้าหมื่นโกฏิบรรลุพระอรหัตตผล จำนวนพระอริยบุคคลมีพระโสดาบันเป็นต้นกำหนดไม่ได้เลย       

... ครั้งใด พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงทำยมกปาฏิหาริย์ ย่ำยีมานะของเดียรถีย์ ทรงแสดงธรรม ณ ภาคพื้นนภากาศ ครั้งนั้น มนุษย์และเทวดาแปดหมื่นโกฏิ บรรลุพระอรหัต ผู้ที่ตั้งอยู่ในผล ๓ เกินที่จะนับได้
     
... ได้ยินว่า พระโกณฑัญญศาสดาตรัสรู้พระอภิสัมโพธิญาณแล้ว พรรษาแรก ทรงอาศัยกรุงจันทวดี ประทับอยู่ ณ พระวิหารจันทาราม ในที่นั้น ภัททมาณพ บุตรของพราหมณ์มหาศาลชื่อสุจินธร และสุภัททมาณพ บุตรของยโสธรพราหมณ์ ฟังพระธรรมเทศนาเฉพาะพระพักตร์ของพระโกณฑัญญพุทธเจ้า มีใจเลื่อมใส ก็บวชในสำนักของพระองค์ พร้อมกับมาณพหมื่นหนึ่งแล้วบรรลุพระอรหัตตผล
     
... ครั้งนั้น พระโกณฑัญญศาสดาอันภิกษุแสนโกฏิมีพระสุภัททเถระ เป็นประธานแวดล้อมแล้ว ทรงยกปาติโมกข์ขึ้นแสดง ณ เพ็ญเดือนเชษฐะ(เดือน ๗) นั้นเป็นการประชุมครั้งที่ ๑
     
... ต่อจากนั้น เมื่อพระโอรสของพระโกณฑัญญศาสดา พระนามว่า วิชิตเสน ทรงบรรลุพระอรหัต พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงยกปาติโมกข์ขึ้นแสดง ณ ท่ามกลางภิกษุพันโกฏิมีพระวิชิตเสนนั้นเป็นประธาน นั้นเป็นการประชุมครั้งที่ ๒
     
... สมัยต่อมา พระทศพลเสด็จจาริก ณ ชนบท ทรงยังพระเจ้าอุเทนซึ่งมีชนเก้าสิบโกฏิเป็นบริวารให้ทรงผนวชพร้อมด้วยบริษัท เมื่อพระเจ้าอุเทนนั้นทรงบรรลุพระอรหัตแล้ว พระผู้มีพระภาคเจ้าอันพระอรหันต์เก้าสิบโกฏิมีพระเจ้าอุเทนนั้นเป็นประธานแวดล้อมแล้ว ทรงยกปาติโมกข์ขึ้นแสดง นั้นเป็นการประชุมครั้งที่ ๓
     
... ได้ยินว่า ครั้งนั้น พระโพธิสัตว์ของเราเป็นพระเจ้าจักรพรรดิ พระนามว่า วิชิตาวี ประทับอยู่ ณ กรุงจันทวดี
     
... เล่ากันว่า พระองค์อันคนชั้นดีเป็นอันมากแวดล้อมแล้ว ทรงปกครองแผ่นดิน อันเป็นที่อยู่แห่งน้ำและขุมทรัพย์ พร้อมทั้งขุนเขาสุเมรุและยุคันธร ทรงไว้ซึ่งรัตนะหาประมาณมิได้โดยธรรม ไม่ใช้อาชญา ไม่ใช้ศัสตรา
     
... ครั้งนั้น พระโกณฑัญญพุทธเจ้าอันพระขีณาสพแสนโกฏิแวดล้อมแล้ว เสด็จจาริก ณ ชนบท เสด็จถึงกรุงจันทวดีโดยลำดับ
     
... เล่ากันว่า พระเจ้าวิชิตาวีทรงสดับข่าวว่า เขาว่า พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จถึงนครของเราแล้ว จึงออกไปรับเสด็จ จัดแจงสถานที่ประทับของพระผู้มีพระภาคเจ้า นิมนต์เพื่อเสวยภัตตาหาร ณ วันรุ่งขึ้นพร้อมด้วยภิกษุสงฆ์
     
... วันรุ่งขึ้นก็ทรงให้เขาจัดภัตตาหารเป็นอย่างดีแล้ว ได้ถวายมหาทานแก่ภิกษุสงฆ์นับได้แสนโกฏิ มีพระพุทธเจ้าเป็นประธาน พระโพธิสัตว์ทรงให้พระผู้มีพระภาคเจ้าเสวยแล้ว จบอนุโมทนา ทรงทูลขอว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระองค์เมื่อจะทรงทำการสงเคราะห์มหาชน ขอโปรดประทับอยู่ในนครนี้นี่แหละตลอดไตรมาส ได้ทรงถวายอสทิสทานแก่ภิกษุสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นประธาน เป็นนิตย์ตลอดไตรมาส
     
... ครั้งนั้น พระศาสดาทรงพยากรณ์พระโพธิสัตว์ว่าจักเป็นพระพุทธเจ้าพระนามว่าโคตมะ ในอนาคตกาล แล้วทรงแสดงธรรมแก่พระองค์ ท้าวเธอทรงสดับธรรมกถาของพระศาสดาแล้ว ทรงมอบราชสมบัติ ออกทรงผนวช ทรงเล่าเรียนพระไตรปิฎก ทำสมาบัติ ๘ และอภิญญา ๕ ให้เกิดแล้วมีฌานไม่เสื่อม ก็บังเกิดในพรหม
 
... พระโกณฑัญญพุทธเจ้าพระองค์นี้มีพระนครชื่อว่ารัมมวดี พระชนกทรงพระนามว่าพระเจ้าสุนันทะ พระชนนีพระนามว่าพระนางสุชาดาเทวี คู่พระอัครสาวกคือพระภัททะและพระสุภัททะ พระอุปัฏฐากชื่อว่าอนุรุทธะ คู่พระอัครสาวิกาคือพระติสสาและพระอุปติสสา ต้นไม้ที่ตรัสรู้ คือ ต้นสาลกัลยาณี (ต้นขานาง) พระวรกายสูง ๘๘ ศอก พระชนมายุประมาณแสนปี พระองค์มีพระมเหสีพระนามว่ารุจิเทวี มีพระโอรสพระนามว่าวิชิตเสนะ มีอุปัฏฐากพระนามว่าเจ้าจันทะ ประทับอยู่ ณ พระวิหารจันทารามแล
     
... พระมหามุนีพระองค์นั้น สูง ๘๘ ศอก ทรงมีพระชนมายุแสนปี พระองค์มีพระชนม์ยืนถึงเพียงนั้น ก็ยังหมู่ชนเป็นอันมากให้ข้ามโอฆสงสาร
     
... แผ่นเมทนี งดงามด้วยพระขีณาสพทั้งหลายผู้ไร้มลทิน ก็เหมือนท้องนภากาศ งดงามด้วยเหล่าดวงดาวทั้งหลาย พระโกณฑัญญพุทธเจ้าพระองค์นั้นก็ทรงงดงามอย่างนั้น
     
... พระขีณาสพแม้เหล่านั้น หาประมาณมิได้ อันโลกธรรมให้ไหวมิได้ ยากที่สัตว์จะเข้าไปหา พระผู้มียศใหญ่เหล่านั้น แสดงตัวเหมือนสายฟ้าแลบแล้วต่าง ก็ดับขันธปรินิพพาน
     
... พระวรฤทธิ์ของพระชินเจ้า ที่ไม่มีผู้เทียบได้นั้น และพระสมาธิที่พระญาณอบรมแล้ว ทั้งนั้นก็อันตรธาน ไปหมดสิ้น สังขารทุกอย่างก็ว่างเปล่าโดยแน่แท้
     
... พระโกณฑัญญสัมพุทธเจ้า เสด็จดับขันธปรินิพพาน ณ พระวิหารจันทาราม ที่น่ารื่นรมย์ เขาสร้างพระเจดีย์สำหรับบรรจุพระบรมสารีริกธาตุของพระองค์ สูงเจ็ดโยชน์ พระธาตุทั้งหลาย ของพระศาสดาพระองค์นั้นไม่กระจัดกระจาย คงดำรงอยู่เป็นแท่งเดียว มนุษย์ชาวชมพูทวีปทั้งสิ้นช่วยกันเอาหินอ่อนสีเหลืองก่อแทนดิน ใช้น้ำมันและเนยแทนน้ำสร้างจนแล้วเสร็จแล ฯ.

             



   
                                       













































































































6
... ท่านบอกว่ากายเราก็ดี คือ กายภายใน กายภายนอก คือ กายคนอื่นก็ดี สัตว์อื่นก็ดี วัตถุธาตุก็ดี ถ้าเราไปสนใจยึดมั่นถือมั่นว่าเป็นเรา เป็นของเรา จะเสียใจภายหลังว่า กายของเรานี้ เลี้ยงเท่าไรไม่มีการทรงตัว มันเสื่อมลงไปทุกวัน ในที่สุดมันก็พัง เขาตายให้เราดูนี่
     
... กายของคนอื่นก็เหมือนกัน จะยึดเป็นที่พึ่งที่อาศัยมันเป็นไปไม่ได้ มันทรุดโทรมลงไปทุกวัน ผลที่สุดมันก็พัง ตาย!
     
... วัตถุธาตุทั้งหลายในโลกก็เหมือนกัน มันมีการตั้งตัวขึ้นมาได้มันเก่าลงไปทุกวัน แล้วมันพัง
     
... รวมความว่า เราก็พัง เขาก็พัง วัตถุธาตุก็พัง
     
... คำว่า “ กายในกาย ” หมายความว่า พังในกายนะ ไม่ใช่จิต
     
... กายภายใน คือ กายของเราก็ดี
     
... กายภายนอก คือ ร่างกายของบุคคลอื่นก็ดี
     
... วัตถุธาตุทั้งหลายก็ดี ไม่มีการทรงตัว
     
... เมื่อมีการเกิดขึ้นเบื้องต้นแล้ว
   
... ก็เสื่อมไปในท่ามกลาง
   
... และสลายตัวในที่สุด
     
... ถ้ายึดถือว่าเป็นเรา เป็นของเราจริง เพราะอาศัยความโง่เท่านั้น ฯ.

7
... เป็นความจริงแท้แน่นอนครับ สัตว์ทั้งหลายผู้ยังมีกิเลส ย่อมเวียนเกิดเวียนตายว่ายวนในวัฏฏะสงสาร เกิดในมนุสสโลกบ้าง เทวโลกบ้าง พรหมโลกบ้าง เกิดในอบายภูมิบ้าง แต่ส่วนมากจะเกิดในฝ่ายอบายภูมิเสียโดยมาก

... นรก สวรรค์มีจริง พรหมและพระนิพพานมีจริง ใครไม่เชื่อก็ตามใจครับ ส่วนผมเชื่อ ๑๐๐% ว่ามีจริง

8
... ที่พระพุทธเจ้าท่านกล่าวว่า
     
... “ ภิกฺขเว ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เมื่อเห็นกายภายในจงทำใจแต่สักว่าเห็น ไม่สนใจกับกายในกาย กายภายใน คือ กายของเรา ”
     
... คำว่า “ ไม่สนใจ ” ก็หมายความว่า กายของเรามันสวย ตรงนี้เขียว ตรงนี้ขาว ตรงนี้ดำ ตรงนี้คิ้วโก่ง ตรงนี้ผมดี ปากแดง หรือฟันดี อย่าไปสนใจตามนั้น มันโกหกตัวเอง ส่วนทุกส่วนของร่างกายนี่ เต็มไปด้วยความสกปรก หนังก็มีเหงื่อมีไคลจับ หนังมีการเสื่อม หนังก็เต็มไปด้วยความสกปรก
     
... ถ้าร่างกายของเราไม่สกปรก ก็ไม่ต้องอาบน้ำ ไม่ต้องชำระร่างกาย นี่ปล่อยไว้แค่วันเดียวไม่อาบน้ำ อากาศร้อนแบบนี้ไม่อาบน้ำก็เหนอะหนะ ทนไม่ไหว
     
... ถ้าไม่อาบน้ำชำระร่างกายนี่ แสดงว่าหนังมันคงสกปรก เมื่อหนังสกปรกในหนังเข้าไปคือเนื้อก็เต็มไปด้วยความสกปรก คนที่เห็นว่าสวยสดงดงาม แค่หนังกำพร้าบังนิดเดียว

... ที่เห็นว่าสวยงามก็หลอกตัวเองแล้ว ความจริงมันไม่สวย เพราะอาศัยตาโง่ มองของเลวว่าของดี ถ้าลอกหนังเข้าไปอีกทีไม่มีใครอยากมอง เหมือนกับผีตายซาก เหมือนกับผีดิบเดินมา ลอกเนื้อเข้าไปไม่มีหนังไม่มีเนื้อ เหลือแต่ตับ ไต ไส้ ปอดซี่โครง ดูไม่ได้
     
... รวมความว่า กายในกายทั้งกายนี่ ที่เราหลงว่ามันดี ความจริงมันไม่ดี มันสกปรก ฯ.


โอวาทหลวงปู่พระราชพรหมยาน

9
... ตอนท้ายของมหาสติปัฏฐานสูตรกล่าวว่า
     
“ เธอทั้งหลาย จงอย่าสนใจในกายภายในด้วย
     
จงอย่าสนใจกายภายนอกด้วย
     
จงอย่าสนใจวัตถุธาตุใดๆ ทั้งหมดในโลก ”
     
... เมื่อเห็นกายภายในกาย(ร่างกายเรา)อยู่ ก็ทำจิตแต่สักว่าเห็น

... เห็นกายภายนอกอยู่ ก็ทำจิตแต่สักว่าเห็น

... เห็นวัตถุทั้งหลายในโลกด้วย ก็ทำจิตสักแต่ว่าเห็นวัตถุทั้งหลายเหล่านั้น

... ตัวนี้เป็นวิปัสสนาญาณ แล้ววิปัสสนาญาณตัวนี้ เป็นอารมณ์ของพระอรหันต์โดยตรง ฯ.


โอวาทหลวงปู่พระราชพรหมยาน

10
การเกิดนับไม่ถ้วน
     
... ทีนี้สำหรับพวกเราที่นั่งอยู่ที่นี่มันเกิดมาแล้วนับไม่ถ้วนหรือไม่ได้นับก็ไม่รู้ อาจารย์นับหรือเปล่า ไม่นับ เห็นไหม มันเกิดมาแล้วนับไม่ถ้วน ตั้งแต่ก่อนที่เราจะรู้จักคำว่าบาปบุญคุณโทษประโยชน์ไม่ใช่ประโยชน์ ตั้งแต่สมัยที่เราเลวมากน่ะเวลามันมากกว่าที่เรารู้สึกว่าดี รู้จักความดี กว่าจะรู้จักการให้ทาน รู้จักการรักษาศีล ต้องเกิดมานับไม่ถ้วน หลังจากนั้นแล้วจึงเข้าไปรู้จักความดี และความดีที่รู้จักก็ได้แก่

ความดี ๓ อย่าง
     
๑. ทาน
     
๒. ศีล
     
๓. ภาวนา
     
... สามอย่างที่เรารู้จักเรียกว่า “ ความดี ” ไอ้ก่อนหน้านั้นมันมากกว่าใช่ไหม ขณะที่เราไม่รู้จักความดีแล้วมันลงนรก ตายแล้วก็ลงนรก ออกจากนรกก็เป็นเปรต ออกจากเปรตเป็นอสูรกาย ออกจากอสูรกายเป็นสัตว์เดรัจฉาน ออกจากสัตว์เดรัจฉานมาเป็นคน จากคนลงนรกใหม่ มันทำเลวอีกนี่ใช่ไหม ก็วนแบบนั้นน่ะไม่รู้กี่เที่ยว
     
... หลังจากนั้นมาเมื่อรู้จักความดีบ้าง ทำดีได้บ้าง สร้างความดีบ้าง เมื่อตายแล้วไปอบายภูมิบ้างคือนรกเป็นต้น ไปสวรรค์บ้าง ไปพรหมบ้าง มาเป็นคนบ้าง ไปนรกบ้าง ว่ากันไปว่ากันมาแบบนี้
     
... นี่จนกว่าเราจะมีความเข้าใจว่านิพพานมีจริง และจิตจะต้องนึกถึงพระนิพพานจริงอันนี้ต้องใช้เวลามาก อารมณ์ของคนที่จะรู้จักนิพพานและเข้าใจเรื่องนิพพานนี่ใช้เวลาเยอะ

บารมี ๓ ขั้น
     
... ที่พระพุทธเจ้าตรัสบารมีไว้ ๓ ขั้น คือ
     
... ๑. บารมีต้น เขาเรียก “ บารมี ” เฉยๆ อย่างนี้ยังไม่คิดถึงนิพพาน ถ้าอย่างเก่งก็ให้ทานกับรักษาศีลก็ยังไม่แน่นอนนัก เอาแค่นั้นแหละ ถ้าชวนไปเจริญภาวนาเขาบอกไม่ไหว ทำไม่ได้
     
... ๒. บารมีกลาง ที่เรียกว่า “ อุปบารมี ” ถ้าขั้นนี้ชวนเจริญภาวนาพอทำได้ แต่ทำแค่ฌานโลกีย์ทำได้ ให้หวังนิพพานเป็นที่ไปเขาส่ายหัว บอกไม่ไหวนะ เพราะกำลังใจไม่ถึง
     
... ๓. บารมีขั้นสูง ต่อไปจะเข้าใจเรื่องนิพพานได้ต้องเป็น “ ปรมัตถบารมี ” ฉะนั้นทุกคนที่มีความตั้งใจคิดว่าอยากจะไปนิพพานเป็นอารมณ์นั่นคนนั้นมีบารมีเป็นปรมัตถบารมี
     
... และกว่าจะถึงปรมัตถบารมีนี่อย่างน้อยๆ นะ ก็ต้องผ่านโลกมาอย่างน้อยประมาณ ๑๐๐ อสงไขยกัป(๑ อสงไขยกัป เท่ากับ หนึ่งหมื่นล้านกัป) แค่อสงไขยกัปก็ยังแย่ ไอ้ ๔ อสงไขย ๘ อสงไขย ๑๖ อสงไขยน่ะมันดีมากแล้ว ไอ้ก่อนหน้าที่มันเลวน่ะมันมากกว่านี้อีกใช่ไหม


พระพุทธเจ้า ๓ ประเภท
     
... ถ้าหากว่าเป็น ปัญญาธิกะ อย่างพระพุทธเจ้าแบบปัญญาธิกะบำเพ็ญบารมี ๔ อสงไขยกัป ถ้าศรัทธาธิกะ ๘ อสงไขยกัปกับแสนกัป ถ้าวิริยาธิกะก็ ๑๖ อสงไขยกับแสนกัป
     
... ทีนี้พวกเรากว่าจะรู้ความดีความชั่วนี่ต้องอาศัยผ่านความเลวมามาก เมื่อรู้จักความดีก็ยังต้องเกิดอีกนับไม่ถ้วน
     
... ฉะนั้นขอให้ทุกคนพึงมีความเข้าใจว่าความตายมีกับเราแน่ จงอย่าคิดว่าความตายจะเข้าถึงเราในวันพรุ่งนี้ ให้คิดว่าความตายอาจจะถึงเราในวันนี้ไว้เสมอ แต่ไม่ใช่งอมืองอเท้านะ ให้เร่งรัดทำความดี


ตายแล้วต้องการไปไหน
     
... เราจะไปไหนกันล่ะ จะไปนรกไหม ไปนรกไม่ยาก ไม่ต้องไปด่าชาวบ้านให้เขาโกรธ เราอยู่ในบ้านไปนั่งด่าพระพุทธรูปที่อยู่ในบ้านสบาย เราลงนรกเอง ไปด่าชาวบ้านเดี๋ยวเขาด่าเอาบ้างใช่ไหม
     
... ถ้าเราอยากจะไปสวรรค์ก็นั่งไหว้พระพุทธรูปในบ้านนั่นแหละ ไม่ต้องไปไหนก็ได้ ตั้งใจนึกถึงพระพุทธเจ้าอย่างเดียวนั่งต่อหน้าท่านก็ไปสวรรค์
     
... ถ้าอยากจะไปเป็นพรหมก็นึกให้จิตทรงตัวก็เป็นพรหม
     
... ถ้าอยากจะไปนิพพานก็ตั้งใจคิดว่าไอ้ร่างกายเลวๆ อย่างนี้ให้มีชาตินี้เป็นชาติสุดท้าย ต่อไปไม่มีสำหรับเราอีก
     
... ต่อไปข้างหน้าขึ้นชื่อว่าความเกิดเป็นคนก็ดี เป็นสัตว์ก็ดีจะไม่มีสำหรับเรา เราต้องการจุดเดียวคือนิพพาน ถ้ามันตายระหว่างนั้นจริงๆ ก็ไปนิพพาน

     
     
ธัมมวิโมกข์ ปีที่ ๒๙ ฉบับที่ ๓๒๙ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๕๑คำสอนที่สายลมปี ๒๕๓๔ หน้า ๗๔ – ๗๖โดย พระราชพรหมยาน วัดท่าซุง
   
 

11
คำสมาทานพระกัมมัฏฐาน

นะโม  ตัสสะ  ภะคะวะโต  อะระหะโต  สัมมาสัมพุทธัสสะ (ว่า ๓ จบ)
     
... อิมาหัง  ภะคะวา  อัตตะภาวัง  ตุมหากัง  ปะริจัชชามิ ฯ.

... ข้าแต่สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าผู้เจริญ ข้าพระพุทธเจ้าขอมอบกายถวายชีวิต แด่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ฯ. 
   
... ข้าพระพุทธเจ้าขออาราธนาบารมีพระพุทธเจ้าทุกๆ พระองค์ พระปัจเจกพุทธเจ้าทุกๆ พระองค์ พระธรรม พระอริยสงฆ์ทั้งหลาย พระโพธิสัตว์ทุกๆ พระองค์ ครูบาอาจารย์ทั้งหลายสืบๆ กันมา มีหลวงปู่ปาน วัดบางนมโค หลวงปู่พระราชพรหมยาน วัดท่าซุง เป็นที่สุด ขอได้โปรดยกจิตของข้าพระพุทธเจ้าขึ้นสู่ภาวะพระกัมมัฏฐานทั้ง ๔๐ ทัศ พระปีติทั้ง๕ และวิปัสสนาญาณทั้ง๙ ขอพระกัมมัฏฐานทั้ง ๔๐ ทัศ พระปีติทั้ง ๕  และวิปัสสนาญาณทั้ง ๙  จงมาบังเกิดปรากฏ ในกายทวาร ในวจีทวาร ในมโนทวาร ของข้าพระพุทธเจ้า ณ กาลบัดเดี๋ยวนี้เถิด
     
... ขอได้โปรดยกจิตของข้าพระพุทธเจ้าขึ้นสู่ภาวะแห่งเมฆจิต สามารถกำหนดจิต รู้ภาวการณ์ต่างๆ ทั้งเหตุผล อดีต อนาคต และปัจจุบัน  ได้ทุกขณะจิตที่ปรารถนาจะรู้  เมื่อรู้แล้วขอให้เห็นภาพนั้นได้ชัดเจนแจ่มใส และพยากรณ์ได้  ตามความเป็นจริงทุกประการ  เหตุใดที่จะพึงบังเกิดแก่ข้าพระพุทธเจ้า ขอให้ข้าพระพุทธเจ้าได้รู้เหตุนั้น โดยมิต้องกำหนดจิตแม้แต่ประการใด ณ กาลบัดเดี๋ยวนี้เถิด ฯ.


การเจริญอานาปานสติกัมมัฏฐานแบบหลวงปู่ปาน  โสนันโท  วัดบางนมโค
     
... ท่านที่สนใจการทำสมาธิในพระพุทธศาสนา ขอให้ท่านทำดังนี้อันดับแรกไหว้พระสวดมนต์ เอาแค่อิติปิโสสวากขาโตสุปฏิปันโนก็พอ  จากนั้นสมาทานพระกัมมัฏฐาน  เสร็จแล้วนั่งขัด สมาธิเอาขาขวาทับขาซ้ายมือขวาทับมือซ้าย  ตั้งตัวให้ตรงให้  แล้วนึกรักใคร่พอใจในการปฏิบัติกัมมัฏฐานว่า ด้วยการปฏิบัติกัมมัฏฐานนี้เราจะข้ามพ้นจากวัฏฏะสงสารเข้าถึงพระนิพพานเป็นแน่แท้ 

... เริ่มต้นให้พิจารณาขันธ์ ๕ ก่อน โดยพิจารณาว่า ขันธ์ ๕ นี้ ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ท่านสอนให้รู้เรื่องของขันธ์ ๕ จนละเอียด แล้วสั่งให้พิจารณาไป ท่านบอกว่าการพิจารณาอย่างนี้ถ้าพิจารณาได้ตลอดไป โดยที่จิตไม่ส่ายไปสู่อารมณ์อื่น ท่านให้พิจารณาเรื่อยไป ท่านบอกว่าพิจารณาได้ตลอดวันตลอดคืนยิ่งดี แต่ท่านไม่ได้บอกว่าเป็นวิปัสสนาญาณ เพียงแต่ท่านบอกว่าก่อนภาวนาควรพิจารณาขันธ์เสียก่อน และไม่ต้องรีบภาวนา ถ้าใครพิจารณาจนเห็นว่าร่างกายไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเราเราไม่มีในขันธ์ ๕ ขันธ์ ๕ ไม่มีในเรา อัตภาพตัวตนเป็นเพียงธาตุ ๔ ประชุมเป็นร่าง เป็นที่อาศัยชั่วคราวของจิต จนละความห่วงใยในขันธ์ ๕ เสียได้ โดยที่ไม่ได้ภาวนาเลยก็ยิ่งดี 

... ต่อเมื่อจิตจะส่าย พิจารณาไม่ได้ดี ท่านให้ภาวนาโดยตั้งอารมณ์ดังต่อไปนี้ กำหนดลมหายใจไว้สามฐาน คือ ที่จมูก อก และศูนย์เหนือสะดือ ลมจะกระทบสามฐานนี้ ให้กำหนดรู้ทั้งสามฐานเพื่อลมหายใจเข้าออกตลอดเวลา พร้อมกันนั้นท่านก็ให้ภาวนาว่า พุท ภาวนาเมื่อสูดลมหายใจเข้า โธ ภาวนาเมื่อหายใจออก  แล้วท่านให้นึกถึงภาพพระพุทธรูปที่ผู้ปฏิบัติเคารพมากจะเป็นพระพุทธรูปวัดใด องค์ใดก็ได้ตามใจชอบ ท่านสอนดังนี้

... ผู้เขียนเรียนกับท่าน ไม่เคยรู้เลยว่าตอนแรกท่านให้เจริญวิปัสสนาญาณคิดว่าเป็นสมถะ ตอนที่ภาวนา คิดว่าเป็นพุทธานุสสติล้วน ต่อมาถึงได้ทราบว่า ท่านให้กรรมฐาน ๔อย่างร่วมกัน คือ ตอนพิจารณาขันธ์ ๕ เป็นวิปัสสนาญาณ ตอนกำหนดลมหายใจเข้าออกเป็นอานาปานานุสสติกรรมฐาน ตอนภาวนา เป็นพุทธานุสสติกรรมฐาน ตอนเพ่งรูปพระเป็นกสิณ ท่านมีความฉลาดสอนรวมคราวเดียว ๔ อย่าง กำลังพุทธานุสสติมีเพียงอุปจารฌาน อานาปานและกสิณมีกำลังถึงฌาน ๔ รู้สึกว่าท่านฉลาดสอน ท่านสอนเผื่อเหนียวไว้พร้อมมูล หากพบท่านที่มีอุปนิสัยสุกขวิปัสสโกเข้า ท่านเหล่านั้นก็พอใจในวิปัสสนาญาณ ท่านก็จะพากันได้มรรคผลไปตาม ๆ กัน ฯ. 
                                                                 

คู่มือปฏิบัติพระกรรมฐาน โดยพระมหาวีระ ถาวโร วัดท่าซุง หน้า ๑๒๒

12
... ถ้าทำอย่างนี้ทุกๆ วัน เป็นการบำเพ็ญบุญกิริยาวัตถุ ๓ เป็นนิจ คือ

... ๑. ทานมัย บุญสำเร็จด้วยการบริจาคทาน

... ๒. สีลมัย บุญสำเร็จด้วยการรักษาศีล

... ๓. ภาวนามัย บุญสำเร็จด้วยการเจริญภาวนา (คือ พระสมถกรรมฐานและพระวิปัสนากรรมฐาน)

... การทำอย่างนี้ทุกวัน เป็นการสั่งสมบารมีให้แก่กล้า ถ้าเป็นสาวกวิสัยสามารถไปพระนิพพานได้ในชาตินี้ ถ้ายังเกิดอีก ชาติหน้าก็จะไม่ลำบากและเป็นอุปนิสัยแก่อุฆฏิตัญญู ฟังเทศน์จบเดียวเป็นพระอรหันต์พร้อมปฏิสัมภิทาญาณ

... ถ้ามีนิสัยเป็นพระโพธิสัตว์ผู้ปรารถนาพุทธภูมิ ก็จะไม่อดอยากสามารถเลี้ยงประชาชนผู้คนได้สบายๆ ถ้าตรัสเป็นพระพุทธเจ้า ก็จะเป็นพระพุทธเจ้าที่มีลาภสักการะมากเป็นพิเศษ


13
บทสวดมนต์ก่อนนอนโดยย่อ
   
... อะระหัง สัมมาสัมพุทโธ ภะคะวา พุทธัง ภะคะวันตัง อะภิวาเทมิ (กราบ)
   
... สวากขาโต ภะคะวะตา ธัมโม ธัมมัง นะมัสสามิ (กราบ)
   
... สุปฏิปันโน ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ สังฆัง นะมามิ (กราบ)



นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ (ว่า ๓ จบ)

พุทธัง สะระณัง คัจฉามิ

ธัมมัง สะระณัง คัจฉามิ

สังฆัง สะระณัง คัจฉามิ

สมาทานศีล ๕

... ๑. ปาณาติปาตา เวระมะณี สิกขาปะทัง สะมาทิยามิ

... ๒. อะทินนาทานา เวระมะณี สิกขาปะทัง สะมาทิยามิ

... ๓. กาเมสุมิจฉาจารา เวระมะณี สิกขาปะทัง สะมาทิยามิ

... ๔. มุสาวาทา เวระมะณี สิกขาปะทัง สะมาทิยามิ

... ๕. สุราเมระยะมัชชะปะมาทัฏฐานา เวระมะณี สิกขาปะทัง สะมาทิยามิ


สรรเสริญพระพุทธคุณ พระธรรมคุณ พระสังฆคุณ
   
... โย โส ตะถาคะโต อะระหัง สัมมาสัมพุทโธ วิชชาจะระณะสัมปันโน สุคะโต โลกะวิทู อะนุตตะโร ปุริสะทัมมะสาระถิ สัตถา เทวะมะนุสสานัง พุทโธ ภะคะวา โย  อิมัง โลกัง สะเทวะกัง สะมาระกัง สะพรฺหมฺ(พัม-มะ)กัง สัสสะมะณะพรฺาหมฺ(พาม-มะ)ณิง ปะชัง สะเทวะมะนุสสัง สะยัง อะภิญญา สัจฉิกัตฺ(กัด-ตะ)วา ปะเวเทสิ โย ธัมมัง เทเสสิ อาทิกัลฺ(กัน-ละ)ยาณัง มัชเฌกัลฺยาณัง ปะริโยสานะกัลฺยาณัง สาตถัง สะพะยัญชะนัง เกวะละปะริปุณณัง ปะริสุทธัง พรฺหมฺ(พัม-มะ)จะริยัง ปะกาเสสิ ตะมะหัง ภะคะวันตัง อะภิปูชะยามิ ตะมะหัง ภะคะวันตัง สิระสา นะมามิ ฯ.
กาเยนะ วาจายะ วะ เจตะสา วา, พุทเธ กุกัมมัง ปะกะตัง มะยา ยัง
พุทโธ ปะฏิคคัณหะตุ อัจจะยันตัง, กาลันตะเร สังวะริตุง วะ พุทเธ ฯ.
   
... สวากฺขาโต ภะคะวะตา ธัมโม สันทิฏฺฐิโก อะกาลิโก เอหิปัสสิโก โอปะนะยิโก ปัจจัตตัง เวทิตัพโพ วิญญูหี(ฮี)ติ ฯ.

กาเยนะ วาจายะ วะ เจตะสา วา, ธัมเม กุกัมมัง ปะกะตัง มะยา ยัง
ธัมโม ปะฏิคคัณหะตุ อัจจะยันตัง, กาลันตะเร สังวะริตุง วะ ธัมเม ฯ.
   
... สุปะฏิปันโน ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ อุชุปะฏิปันโน ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ  ญายะปะฏิปันโน ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ สามีจิปะฏิปันโน ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ  ยะทิทัง จัตตาริ ปุริสะยุคคานิ อัฏฐะ ปุริสะปุคคะลา เอสะ ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ อาหุเนยโย ปาหุเนยโย ทักขิเณยโย อัญชะลีกะระณีโย อะนุตตะรัง ปุญญักเขตตัง โลกัสสาติ ฯ.

กาเยนะ วาจายะ วะ เจตะสา วา, สังเฆ กุกัมมัง ปะกะตัง มะยา ยัง
สังโฆ ปะฏิคคัณหะตุ อัจจะยันตัง, กาลันตะเร สังวะริตุง วะ สังเฆ ฯ.

นมัสการทศโพธิสัตว์
     
... นะมัตถุ พุทธานัง นะมัตถุ โพธิยา เมตเตยยะ เมตเตยโย นามะ ราโม จะ รามะสัมพุทโธ โกสะโล ธัมมะราชา จะ มาระ มาโร ธัมมะสามี ทีฆะชังฆี จะ นาระโท โสโณ รังสิมุนีตะถา สุภูเต เทวะเทโว โตเทยโย นะระสีหะโก ติสโส นามะ ธะนะปาโล ปาริเลยโย สุมังคะโล เอเตทะสะ พุทธานามะ ภะวิสสันติ อะนาคะเต เตสาหัง  สิระสา ปาเท วันทามิ ปะริสุตฺตะ เม วะจะสา มะนะสา เจวะ วันทาเม เต ตะถาคะเต สะยะเน อาสะเน ฐาเน คะมะเน จาปิ สัพพะทาฯ.

ตักบาตร
   
... หลังจากสวดมนต์เสร็จแล้วให้ใส่บาตร โดยจะใช้เงิน ๑ บาท หรือข้าวเปลือกข้าวสาร ๑ ช้อนก็ได้ จบใส่หัวแล้วว่า ข้าพเจ้าขอถวายเงินค่าอาหารแก่พระสงฆ์ หรือ ข้าพเจ้าขอถวายข้าวนี้เป็นอาหารแก่พระสงฆ์ แล้วใส่ในกระปุกไว้ เมื่อได้เยอะแล้วก็เอาไปถวายพระ ทำอย่างนี้เช้าเย็นทุกวันห้ามขาด แล้วเงินทองจะไม่ขาดมือ ทำมาหากินเจริญรุ่งเรืองยิ่งๆขึ้นไป ดังที่ท่านท่านพระสุธรรมยานเถร (พระมหาวีระ ถาวโร) วัดจันทาราม จ.อุทัยธานี สอนไว้ว่า   
     
... " เป็นเครื่องเตือนใจให้ทราบว่า การที่จะมีทรัพย์สินมากหรือน้อยก็ตามได้มาจากผลของการบริจาคทาน การให้ทานเป็นบ่อเกิดแห่งทรัพย์สินในชาติต่อไป ความจริงถ้าเป็นนักบุญที่เนื่องในการให้ทานจริงๆ ทำบุญให้ทานในเขตทานที่ให้ผลมาก ไม่ต้องทำคราวละมากๆ ทำน้อยๆ พอไม่เดือดร้อน แต่ให้ทำบ่อยๆ ให้ติดต่อกันเป็นประจำ เช่น “ การถวายสังฆทาน ” เป็นปกติ  สังฆทานก็ไม่ต้องลงทุนมาก ใส่บาตรวันละองค์สององค์ หรือเอาข้าวเปลือกข้าวสารใส่ที่เก็บเล็กๆ ไว้วันละนิดหน่อย ตั้งใจไว้ว่า “ ข้าวที่เก็บไว้นี้เราจะรวมไว้ เมื่อมีมากพอสมควรจะเอาไปถวายเป็นอาหารของพระ ” อย่างนี้เรียกว่าถวายสังฆทานทำอย่างนี้เสมอๆ ขอให้ค่อยๆ พิจารณาเมื่อวันเวลาผ่านไปสักปีหรือสองปี จะเห็นว่าผลของทานแม้เล็กน้อยเพียงเท่านี้ จะทำให้ความเป็นอยู่เพิ่มพูนขึ้นกว่าปกติมาก มีการหาได้คล่องตัวขึ้น ถ้าชาติหน้าจะรวยขั้นมหาเศรษฐี ฯ. "                                                                                     

ภาวนา
     
... เมื่อใส่บาตรแล้ว ให้นั่งขัดสมาธิหรือนั่งพับเพียบ เอาแค่สบาย พิจารณาร่างกายของเรา โดยนัยว่า “ ร่างกายนี้เป็นอนิจจัง หาความเที่ยงไม่ได้ ทุกขัง ร่างกายนี้มีแต่ความทุกข์หาความสุขไม่ได้  อนัตตา ในที่สุดก็ต้องสลายตัว คือ ต้องตาย ถ้าเราตายเมื่อไหร่ขอไปพระนิพพานเมื่อนั้น ”  แล้วดูลมหายใจเข้าออก โดยหายใจเข้าภาวนาว่า “ พุท ”  หายใจออกภาวนาว่า “ โธ ” เมื่อนั่งพอใจสบายมีความสุขแล้ว ให้อุทิศส่วนกุศลต่อดังนี้

คำอุทิศส่วนกุศล
     
... อิทํ ปุญฺญผลํ ผลบุญใดที่ข้าพเจ้าได้กระทำมาแล้ว ตั้งแต่ต้นจนถึงปัจจุบัน และจักบำเพ็ญต่อๆ ไป จนกว่าจะถึงพระนิพพาน ข้าพเจ้าขออุทิศส่วนกุศลนี้ให้แก่ปู่ย่าตายายทั้งหลาย พ่อแม่ทั้งหลาย ครูอุปัชฌาย์อาจารย์ ญาติสนิทมิตรสหาย ท่านผู้มีพระคุณทั้งหลาย ลูกหลานบริวารทั้งหลายของข้าพเจ้า ตั้งแต่ชาติก่อนก็ดี ชาตินี้ก็ดี ขอท่านทั้งหลายจงได้อนุโมทนาส่วนกุศลนี้ ขอจงได้รับประโยชน์และความสุข เช่นเดียวกับข้าพเจ้าจะพึงได้รับ ณ กาลบัดเดี๋ยวนี้ด้วยเถิด
     
... และข้าพเจ้าขออุทิศส่วนกุศลทั้งหลายเหล่านี้ ให้แก่ท่านเจ้ากรรมนายเวรทั้งหลายที่เคยได้ล่วงเกินมาแล้ว ตั้งแต่ชาติก่อนก็ดี ชาตินี้ก็ดี ขอท่านเจ้ากรรมนายเวรทั้งหลาย จงได้อนุโมทนาส่วนกุศลนี้ และขอจงได้ให้อโหสิกรรมแก่ข้าพเจ้า นับแต่บัดเดี๋ยวนี้เป็นต้นไป จนกว่าจะเข้าถึงซึ่งพระนิพพานด้วยเถิด
     
... และข้าพเจ้าขออุทิศส่วนกุศลนี้ให้แก่ท่านเทพเจ้าทั้งหลายที่ปกปักรักษาข้าพเจ้า และท่านเทพเจ้าทั้งหลายทั่วสากลพิภพ และท่านพระยายมราช ขอท่านเทพเจ้าทั้งหลายและท่านพระยายมราช จงได้อนุโมทนาส่วนกุศลนี้ และขอจงได้เป็นสักขีพยานในการบำเพ็ญกุศลของข้าพเจ้า ในกาลวันนี้ด้วยเถิด
     
... และข้าพเจ้าขออุทิศส่วนกุศลทั้งหลายเหล่านี้ ให้แก่ท่านทั้งหลายที่ล่วงลับไปแล้ว ที่เป็นญาติก็ดี ไม่ใช่ญาติก็ดี สัมภเวสี ภูตผี ปีศาจ เปรต  อสุรกาย และบรรดาท่านทั้งหลายที่รอตัดสินโทษอยู่  ณ สำนักพระยายมราช ขอท่านทั้งหลายจงได้อนุโมทนาส่วนกุศลนี้ ขอจงได้รับประโยชน์และความสุขเช่นเดียวกับข้าพเจ้าจะพึงได้รับ ณ กาลบัดเดี๋ยวนี้เถิด ถ้าหากท่านทั้งหลายยังไม่รู้จัก ขอท่านพระยายมราชและเทวดาทั้งหลาย จงบอกสัตว์เหล่านั้นให้อนุโมทนาส่วนกุศลนี้ด้วยเถิด
     
... อิทํ ปุญฺญผลํ ผลบุญใดที่ข้าพเจ้าได้กระทำมาแล้ว ตั้งแต่ต้นจนถึงปัจจุบัน และจักบำเพ็ญต่อๆ ไป จนกว่าจะถึงพระนิพพาน ขอผลบุญทั้งหลายเหล่านี้จงเป็นปัจจัยให้ข้าพเจ้าเข้าถึงพระนิพพานในชาตินี้ด้วยเถิด
     
... ตราบใดที่ข้าพเจ้ายังเป็นผู้มีบารมียังอ่อน ยังจักต้องเร่ร่อนไปในชาติภพใดใด ขอความขัดข้องต่างๆ ความอดอยากยากจน ความทุกข์ยากลำบากเข็ญใจ คำว่าไม่รู้ คำว่าไม่มี และคำว่าความปรารถนาไม่สมหวัง จงอย่าพึงบังเกิดมีแก่ข้าพเจ้าเลย นับตั้งแต่บัดเดี๋ยวนี้เป็นต้นไป จนกว่าจะเข้าถึงซึ่งพระนิพพานด้วยเถิด


คำขอขมาพระรัตนตรัย

สัพพัง อะปะราธัง ขะมะถะ เม ภันเต, อุกาสะ ทะวาระตะเยนะกะตัง
สัพพัง อะปะราธัง ขะมะถะ เม  ภันเต, อุกาสะ ขะมามิ ภันเต ฯ. (ว่า ๓ จบ)
   
... ถ้าหากข้าพเจ้า ได้เคยประมาทพลาดพลั้งล่วงเกินต่อพระรัตนตรัย อันมีพระพุทธเจ้าทุกๆ พระองค์ พระปัจเจกพุทธเจ้าทุกๆ พระองค์ พระธรรม และพระอริยสงฆ์ทั้งหมด แต่ชาติก่อนก็ดี ชาตินี้ก็ดี ด้วยกายหรือวาจาก็ดี ด้วยใจก็ดี และด้วยมีเจตนาหรือไม่มีเจตนาก็ดี รู้เท่าไม่ถึงการณ์ก็ดี
       
... ขอองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทุกๆ พระองค์ พระปัจเจกพุทธเจ้าทุกๆ พระองค์ พระธรรม และพระอริยะสงฆ์ทั้งหมด พระโพธิสัตว์ทุกๆ พระองค์ และท่านผู้มีพระคุณทั้งหมด ขอจงได้โปรดอดโทษให้แก่ข้าพเจ้า ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป ตราบเท่าเข้าสู่พระนิพพานด้วยเทอญ ฯ.

คาถาพระปัจเจกโพธิ์โปรดสัตว์
     
... สาธุ ข้าพเจ้าขออาราธนาพระบารมีพระพุทธคุณ พระธรรมคุณ และพระสังฆคุณ คุณพระปัจเจกโพธิ์ คุณพระโพธิสัตว์ทั้งหลาย คุณครูบาอาจารย์ทั้งหลายสืบๆ กันมา มีคุณครูผึ้ง คุณอาจารย์เนียร คุณหลวงปู่ปาน วัดบางนมโค คุณหลวงปู่พระราชพรหมยาน วัดท่าซุงเป็นที่สุด พรหมและเทวดาทั้งหมด ขอจงได้มาโปรดลูกด้วยเถิด ฯ.

พุทธะ มะอะอุ นะโมพุทธายะ  (ว่า ๑ จบ)
     
... วิระทะโย วิระโคนายัง วิระหิงสา วิระทาสี วิระทาสา วิระอิตถิโย พุทธัสสะ มานีมามะ พุทธัสสะ สวาโหม ฯ.

... ว่า ๕, ๗, ๙ จบ ให้สวดเช้าเย็น ไม่มีเวลาก็เดินสวด วิ่งสวด หรือทำงานสวดก็ได้ ผู้ที่สวดจะต้องรักษาศีลสองข้อห้ามลักขโมยและกินเหล้าเบียร์หรือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เด็ดขาด
   
... สาธุ ข้าพเจ้าขออาราธนาพระบารมี พระพุทธเจ้าทุกๆ พระองค์ พระปัจเจกพุทธเจ้าทุกๆ พระองค์ พระธรรม และพระอริยสงฆ์ทั้งหลาย พระโพธิสัตว์ทั้งหลาย คุณครูบาอาจารย์ทั้งหลายสืบๆ กันมา มีคุณครูผึ้ง คุณอาจารย์เนียร คุณหลวงปู่ปาน วัดบางนมโค คุณหลวงปู่พระราชพรหมยาน วัดท่าซุงเป็นที่สุด พรหมและเทวดาทั้งหมด ขอจงได้มาโปรดลูกด้วยเถิด




ด้วยผลบุญนี้ จงเป็นปัจจัยให้ข้าพเจ้าได้บรรลุพระอภิเษกสัมมาสัมโพธิญาณ
ตรัสเป็นพระพุทธเจ้าทรงพระนามว่า พระพุทธมหามุนีธัมมสามีวิริยาธิกะสัพพัญญูสัมมาสัมพุทธเจ้า ในอนาคต
เพื่อจะปลดเปลื้องสัตว์ทั้งหลายจากวัฏฏะสงสาร เข้าสู่แดนเอกันตบรมสุข คือ เมืองแก้วพระนิพพาน
                                                                                                                                                                                           
ดนัย  ศิริเวช
๒๘  ตุลาคม ๒๕๕๗































     




   
 

14
... จึงมีคำปุจฉาว่า อาศัยเหตุที่พระโยคาพจรไม่กระทำมนสิการในธรรมดังฤๅ พระไตรลักษณ์จึงไม่ปรากฏ ธรรมสิ่งดังฤๅปกปิดไว้ พระไตรลักษณ์จึงไม่ปรากฏ

... วิสัชชนาว่า อนิจจลักษณะจะไม่ปรากฏแจ้ง อาศัยเหตุที่พระโยคาพจรมิได้กระทำมนสิการในกิริยาที่บังเกิดและฉิบหาย นัยหนึ่งว่าสันตติปกปิดกำบังอยู่ อนิจจลักษณะจึงบ่มิได้ปรากฏ

... แลทุกขลักษณะจะไม่ปรากฏแจ้งนั้น อาศัยเหตุที่พระโยคาพจรบ่มิได้กระทำมนิสิการในกิริยาที่อาพาธเบียดเบียนเนือง ๆ นัยหนึ่งว่าอิริยาบถปกปิดกำบังอยู่ ทุกขลักษณะจึงบ่มิได้ปรากฏ

... แลอนัตตลักษณะจะไม่ปรากฏแจ้งนั้น อาศัยที่พระโยคาพจรบ่มิได้กระทำมนสิการในพิธีพิจารณาพรากธาตุทั้ง ๔ ให้ต่างออกเป็นแผนกๆ นัยหนึ่งว่าฆนสัญญาปกปิดกำบังอยู่ อนัตตลักษณะจึงบ่มิได้ปรากฏ

... มีคำปุจฉาว่า สันตติ(ความสืบเนื่อง)ที่ปกปิดอนิจจลักษณะไว้นั้น จะได้แก่สิ่งดังฤๅ

... วิสัชชนาว่า สันตตินั้นใช่อื่นใช่ไกล ได้แก่สภาวะสืบต่อแห่งชีวิต ลักษณะที่เห็นว่าชีวิตจะยั่งยืน จะสืบต่อไปสิ้นวันคืนเดือนปีเป็นอันมากนี้แล พระอรรถกถาจารย์เจ้าเรียกว่าสันตติปิดป้องกำบังอนิจจลักษณะไว้มิให้เห็นอนิจจลักษณะโดยอันควรแน่แท้

... ก็ไฉนจึงจะเห็นอนิจจลักษณะโดยอันควรแน่แท้ได้ อ้อถ้าปรารถนาจะให้เห็นอนิจจลักษณะ โดยอันควรแน่แท้นั้นพึงอุตสาหะเพียรพยายามที่จะกีดกันสันตติออกเสียให้ห่างไกล อย่าให้สันตตินั้นปิดป้องกำบังอยู่ อนิจจลักษณะจึงจะปรากฏโดยอันควรแน่แท้

... กระทำไฉนเล่า จึงจะกีดกันสันตติออกเสียให้ห่างไกลได้ จะปฏิบัติเป็นประการใด จึงจะพรากสันตติออกได้

... อ้อ ถ้าปรารถนาจะกันเสียซึ่งสันตติ จะพรากสันตติออกเสียให้ห่างไกลนั้น พึงอุตสาหะมนสิการกำหนดกฏหมายให้เห็นที่เกิดและที่ฉิบหายแห่งสังขารธรรม อย่าได้ประมาท พึงคิดถึงความตายจงเนืองๆ พิจารณาให้เห็นว่าสังขารธรรมนี้เร็วที่จะดับจะทำลาย จะยั่งจะยืนจะมั่นจะคงนั้นหาบ่มิได้ เกิดมาแล้วก็มีแต่จะดับสูญเป็นที่สุด กองแห่งรูปธรรมนามธรรมทั้งปวงนี้ มีแต่จะฉิบหายทำลายไปเป็นเบื้องหน้า รูปขันธ์นี้มีครุวนาดุจดังว่าก้อนแห่งฟองน้ำ อันลอยไปตามกระแสน้ำแล้วก็แตกทำลายแล้ว ยังไม่เร็วพลัน รูปขันธ์นี้ว่าเร็วที่จะทำลายแล้ว ยังไม่เร็วเท่าเวทนาขันธ์อีกเล่า

... เวทนาขันธ์นี้เร็วนักหนาที่จะแปรปรวน เร็วนักหนาที่จะดับจะทำลาย ทีครุวนาดุจปุ่มเปือกแห่งน้ำ อันเร็วที่จะแปรจะปรวน เร็วที่จะแตกจะทำลาย ฟองน้ำที่เป็นก้อนๆ ลอยไปลอยมาตามกระแสน้ำนั้นว่าเร็วแตกเร็วทำลายแล้วจะได้เร็วเท่าปุ่มเปือกแห่งน้ำนั้นหาบ่มิได้ ปุ่มเปือกน้ำที่เกิดขึ้นใหม่ๆ ผุดขึ้นเป็นเม็ด เหนือพื้นน้ำด้วยกำลังกระแสน้ำกระทบน้ำนั้นเร็วแตกเร็วทำลายยิ่งขึ้นไปกว่าฟองน้ำที่เป็นก้อนๆ แลมีครุวนาฉันใดเวทนาขันธ์นี้ก็เร็วที่จะแปรปรวน เร็วที่จะดับจะทำลายยิ่งขึ้นไปกว่ารูปขันธ์มีอุปไมยดังนั้น

... สัญญาขันธ์นี้ก็จะแปรปรวน เร็วที่จะดับจะทำลายยิ่งขึ้นไป มีอุปมาดุจดังว่าพยับแดดอันปรากฏและอันตรธานหายไปเป็นอันเร็วพลัน

... สังขารขันธ์เล่าก็หาแก่นสารบ่มิได้ มีครุวนาดุจต้นกล้วยอันปราศจากแก่น 

... วิญญาณขันธ์นั้นเล่า เทียรย่อมล่อลวงให้ลุ่มให้หลงมีครุวนาดุจบุคคลที่เป็นเจ้ามารยา จะยั่งจะยืนจะมั่นจะคงนั้นหาบ่มิได้

... เมื่อมีสติปัญญามนสิการกำหนดกฏหมาย เห็นที่เกิดและฉิบหายแห่งอุปทานขันธ์ทั้ง ๕ มิได้เห็นว่าขุนธ์ทั้ง ๕ นั้นจะยั่งจะยืนจะสืบต่อไปสิ้นวันคืนเดือนปีเป็นอันมากแล้วกาลใด ก็ได้ชื่อว่ากีดกันสันตติออกเสียได้ พรากสันตติออกเสียได้ในกาลนั้น เมื่อกันเสียได้ซึ่งสันตติ พรากสันตติออกเสียได้แล้ว อนิจจลักษณะก็ปรากฏในสันดานเปรียบปานประดุจว่าปริมณฑลพระจันทร์ อันหาเมฆพลาหกจะปกปิดมิได้แล้วและแจ่มใสบริสุทธ์เป็นอันงาม สุดแท้แต่ไม่มีสันตติปิดป้องกำบังแล้ว อนิจจลักษณะก็จะปรากฏแจ้งโดยอันควรแก่แท้ ฯ.


พระวิสุทธิมรรค ปัญญาบรรพ หน้า ๗๑๐ บรรทัดที่ ๑๕ - หน้า ๗๑๓ บรรทัดที่ ๘

15
... ถามว่าแนะนำแล้วทุกอย่าง แต่ว่าไม่รู้ข้อเจาะจง ให้เจาะจงไปว่าทำบุญอย่างไรจึงจะทันศาสนาพระศรีอาริย์
     
... ( นี่สำหรับคนมีบารมีอ่อนนะ คนมีบารมีเข้มให้ตั้งใจไปนิพพานชาตินี้ ถ้าคนบารมีอ่อนตั้งใจไปนิพพานชาติพระศรีอาริย์ หรือวางแผนไว้ ๒ อย่างก็ได้ว่า ตั้งใจไปนิพพานชาตินี้ ถ้าพลาดชาตินี้ ขอให้ได้นิพพานสมัยพระศรีอาริย์ฯ ก็ได้)
     
... ท่านบอกว่า ให้ทุกคนที่ต้องการเกิดทันสมัยผมให้หมั่นให้ทาน โดยเฉพาะสังฆทาน วิหารทาน ทอดกฐิน และธรรมทาน

... (ความจริงถ้าเป็นนักบุญที่เนื่องในการให้ทานจริงๆ ทำบุญให้ทานในเขตทานที่ให้ผลมาก ไม่ต้องทำคราวละมากๆ ทำน้อยๆ พอไม่เดือดร้อน แต่ให้ทำบ่อยๆ ให้ติดต่อกันเป็นประจำ เช่น  การถวายสังฆทานเป็นปกติ สังฆทานก็ไม่ต้องลงทุนมาก ใส่บาตรวันละองค์สององค์ หรือเอาข้าวเปลือกข้าวสารใส่ที่เก็บเล็กๆ ไว้วันละนิดหน่อย ตั้งใจไว้ว่า “ ข้าวที่เก็บไว้นี้เราจะรวมไว้ เมื่อมีมากพอสมควรจะเอาไปถวายเป็นอาหารของพระ อย่างนี้เรียกว่าถวายสังฆทาน ”  ทำอย่างนี้เสมอๆ ทุกๆ วันเช้าเย็น)
     
... ให้รักษาศีล ๕ กรรมบถ ๑๐ เป็นปกติทุกวัน ไม่คลาดเคลื่อนอยู่อย่างนี้เป็นอุฆฏิตัญญู ไปเกิดในสมัยผมฟังเทศน์แค่หัวข้อเล็กๆ สั้นๆ ก็บรรลุมรรคผลทันที 
     
... ถ้าบางท่านปฏิบัติอ่อนกว่านั้นรักษากรรมบถ ๑๐ได้เหมือนกันศีลห้าก็ครบ แต่ว่าบางทีมีอาการเผลอเล็กน้อย อย่างนี้เป็นวิปจิตัญญูหมายความว่า ไปเกิดในสมัยผม เทศน์หัวข้อฟังไม่เข้าใจต้องอธิบายเล็กน้อยจึงบรรลุอรหันต์ 
     
... บางท่านที่มีบารมีอ่อนกว่านั้น วันธรรมดาๆ อาจจะบกพร่องบ้างเป็นของธรรมดา แต่สำหรับวันพระต้องรักษาให้ครบถ้วนทั้งศีล ๕ และกรรมบถ ๑๐ หมายความตามธรรมดาคนเรามีอาชีพต่างกัน บางคนปลูกพืชพันธุ์ธัญญาหาร ก็ต้องฉีดยาฆ่าเพลี้ยฆ่าสัตว์ที่มารบกวนพืชพันธุ์ธัญญาหารบ้าง บางคนมีอาชีพไปในทางการประมง ต้องทำการประมงฆ่าปลาฆ่าสัตว์บ้าง ถ้าอย่างนี้ถือว่าวันธรรมดาบกพร่องได้ แต่วันพระต้องครบถ้วนบริบูรณ์ อย่างนี้เกิดในสมัยผมเขาเรียกว่าเนยยะ เทศน์ครั้งเดียวสองครั้งไม่มีผล ต้องฟังเทศน์หลายๆ หนจึงสามารถเป็นพระอริยเจ้าได้
     
... เอาละ  บรรดาญาติโยมพุทธบริษัททั้งหลาย ท่านทั้งหลายมานั่งอยู่กันที่ตรงนี้และฟังเทศน์แล้ว เรื่องของพระศรีอาริยเมตไตรย ถ้าจะว่ากันไปก็คงไม่แตกต่างกับเรื่องขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ถ้าทุกท่านรักษา ศีล ๕ ครบถ้วน กรรมบถ ๑๐ ครบถ้วน ที่มีบารมีเข้มข้นสามารถจะไปนิพพานได้ในชาตินี้
     
... ถ้าบังเอิญชาตินี้พลาดไปนิพพาน ไปเกิดเป็นเทวดาก็ดี นางฟ้าก็ดี หรือพรหมก็ตาม อีกไม่นานนักพระศรีอาริย์ก็ตรัส เราก็ฟังเทศน์ จากพระศรีอาริย์ภายในไม่ช้าก็บรรลุอรหันต์สามารถไปนิพพานได้ ฯ.
     
... ในขณะนั้น ท่านเรียก พระศรีอาริย์ฯมา พระศรีอาริย์ฯท่านมีความต้องการให้คนที่มีความต้องการจะเกิดในสมัยท่าน ได้ฟังเทศน์จบเดียวก็เป็นพระอรหันต์ พระศรีอาริย์ฯท่านตรัสว่า
   
... คนที่ต้องการไปเกิดในสมัยผม ขอให้ปฏิบัติตามดังนี้ คือ

... ๑. ตั้งใจรักษาศีล ๕ และกรรมบถ ๑๐ ให้ครบถ้วนเสมอ ถ้ารักษาครบทุกวันไม่ได้ วันอื่นอาจจะบกพร่องบ้าง ก็ไม่เป็นไร แต่ทุกวันพระต้องรักษาให้ครบ ทั้งศีล ๕ และ กรรมบถ ๑๐

... ๒. จงหมั่นให้ทาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งก็คือ สังฆทาน ถ้าจนมากมีทรัพย์น้อย ก็จัดอาหารหรือผลไม้ผลสองผลถวายพระที่มีตั้งแต่ ๔ รูปขึ้นไป ก็เป็นสังฆทาน มีอานิสงส์มาก

... ๓. จงเจริญภาวนาเสมอๆ ถ้าทำไม่ได้มาก เมื่อศีรษะถึงหมอน ก็ให้ภาวนา หายใจเข้าว่า “ พุท ”  หายใจออกว่า “ โธ ”  สักเล็กน้อยแล้วหลับไป

     
... เพียงเท่านี้ เขาจะเกิดทันในยุคสมัยผมตรัสเป็นพระพุทธเจ้าแน่นอน ”

หน้า: [1] 2 3 ... 15