เว็บพุทธภูมิ: พุทธภูมิ พระโพธิสัตว์ การบำเพ็ญบารมี

หมวดหลัก => พุทธภูมิ พระโพธิสัตว์ การบำเพ็ญบารมี => ข้อความที่เริ่มโดย: Wisdom ที่ กุมภาพันธ์ 21, 2012, 11:54:16 AM

หัวข้อ: มุนีนาถทีปนี การตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า โดย พระพรหมโมลี วิลาศ ญาณวโร
เริ่มหัวข้อโดย: Wisdom ที่ กุมภาพันธ์ 21, 2012, 11:54:16 AM
ปนามพจน์
นมตฺถุ  รตนตฺตยสฺส
            ข้าพเจ้าขอน้อมนมัสการแด่องค์
สมเด็จพระบรมศาสดาจารย์  พระองค์
ผู้ทรงมีพระมหากรุณาแผ่ไปในไตรภพ
          และพระนพโลกุตรธรรมอันล้ำเลิศ  กับ
ทั้งพระอริยสงฆ์ผู้ทรงพระคุณอันประเสริฐ
ด้วยเศียรเกล้าแล้ว  จักขออภิวาทนบไหว้
ซึ่งท่านบุรพาจารย์ทั้งหลาย  ผู้ทรงไว้ซึ่ง
ญาณและพระคุณอันบริสุทธิ์ด้วยคารวะ
เป็นอย่างยิ่งแล้ว  จักรจนาเรียบเรียงกถา
ซึ่งตั้งชื่อว่า “ มุนีนารถทีปนี ” เพื่อแสดงถึง
เรื่องของพระองค์ผู้ทรงเป็นนาถะที่พึ่ง
อย่างประเสริฐสุดแห่งประชาสัตว์ในไตรโลก
กล่าวคือ  องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
จอมมุนี  โดยประสงค์จะสดุดีสรรเสริญซึ่ง
พระพุทธคุณเป็นสำคัญ  ฉะนั้นขอมวลชน
คนดีมีปัญญาทั้งหลาย  จงตั้งใจสดับกถา
ของข้าพเจ้า  ซึ่งจักกล่าวในโอกาสต่อไป
นี้ด้วยดีเทอญ.

บัดนี้  จักขอถือชี้แจงแก่ท่านพุทธศาสนิกชนทั้งปวงว่า   บรรดาเราท่านทั้งหลายที่เกิดมาเป็นมนุษย์พบพระพุทธศาสนา  พร้อมกับมีศรัทธาเสื่อมใสและมีใจประกอบด้วยสัมมาทิฐิ  น้อมนำเอาพระบวรพุทธศาสนามาเป็นศาสนาประจำชีวิตตน  เช่นที่กำลังเป็นอยู่ในปัจจุบันนี้นั้น  ถ้าจะถือกันว่าเป็นโชค  เวลานี้เรากำลังได้ประสบโชคอย่างมหาศาล  ซึ่งไม่มีโชคอื่นใดจะเปรียบปาน   ถ้าจะถือกันว่าเป็นลาภ    เวลานี้เราก็กำลังได้รับลาภอย่างประเสริฐสุดขนาดเป็นบรมลาภทีเดียว  ซึ่งจักหาลาภอื่นใดในโลกนี้มาเปรียบเทียบอีกไม่ได้เลย
ที่กล่าวมานี้  ไม่ใช่กล่าวไปด้วยอำนาจความคล่องปาก  หรือมีใจอยากยกย่องพระพุทธศาสนาจนเกินไป  ไม่ใช่อย่างนั้น  อันที่จริงการที่สัตว์โลกทั้งหลายซึ่งยังต้องท่องเที่ยวเวียนว่ายตายเกิดอยู่ในวัฏสงสาร  จักได้มีโอกาสเกิดมาพบพระบวรพุทธศาสนาแห่งองค์สมเด็จพระศาสดาบรมไตรโลกนาถ  แต่ละชาติแต่ละหนนั้น  อย่าได้สำคัญผิดคิดอย่างผิวเผินเป็นอันขาดว่า  เป็นสภาพที่เป็นไปได้อย่างง่ายๆ  ความจริงไม่ใช่  เพราะว่าเป็นสิ่งที่เป็นไปได้ยากเย็นแสนเข็ญนักหนา  ขอให้ท่านผู้มีปัญญาทั้งหลาย  จงมาพิจารณาใคร่ครวญถึงมหาวิบัติ  คือความฉิบหายของสัตว์โลกอย่างใหญ่หลวง  ตามที่จะพรรณนาต่อไปนี้เถิด  แล้วก็จะแลเห็นเองว่าการที่เราเกิดมาในชาตินี้ได้เป็นมนุษย์พบพระพุทธศาสนา  จัดว่าได้รับโชคลาภอย่างประเสริฐเพริศพริ้งเพียงไร


มหาวิบัติ

ขึ้นชื่อว่าความวิบัติทั้งหลายที่มนุษย์เราต้องประสบกันอยู่เสมอในโลกนี้  ความวิบัติอื่นใดก็จงยกไว้ก่อนเถิด  เพราะมิสู้จะสำคัญ  แต่ความวิบัติหนึ่งนั้น  เป็นความวิบัติอย่างใหญ่หลวงของสามัญสัตว์  ซึ่งจัดว่าเป็นยอดแห่งความวิบัติจริงๆ  มีอยู่  ๖  ประการ  คือ

๑. วิบัติกาล

   วิบัติกาลนี้  ได้แก่วิบัติเพราะกาลว่างจากพระพุทธศาสนา ! หมายความว่าในโลกมนุษย์ที่เราเกิดอยู่นี้  ใช่ว่าจะปรากฏมีพระบวรพุทธศาสนาอยู่เป็นประจำจนชั่วฟ้าดินสลายนั้นหามิได้  โดยที่แท้  บางกาลก็มีพระพุทธศาสนา  แต่บางเวลาก็ไม่มี  เพราะไม่ใช่คราวที่สมเด็จพระจอมมุนีสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จมาอุบัติตรัสในโลก  ก็ในระหว่างกาลที่พระพุทธศาสนากับไม่มีนี้  ปรากฏกาลที่ไม่มีพระพุทธศาสนานั่นแหละ  มีปริมาณมากกว่ากาลที่มีพระพุทธศาสนามากมายนัก  ซึ่งก็หมายความว่า  ในโลกนี้  นานๆจึงจะมีพุทธกาลเกิดขึ้นสักครั้งหนึ่ง  ทีนี้  สมมติว่าตัวเราเกิดมาในเวลาที่มิใช่พุทธกาล  เป็นกาลว่างเปล่า  ไม่มีสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จมาอุบัติตรัสในโลก  เราก็หมดโอกาสที่จะรู้จักพระพุทธศาสนา  มิได้รับรสพระสัทธรรมเทศนา   การเกิดของเราในกาลที่ว่างเปล่าจากพระพุทธศานาก็เท่ากับว่าเกิดมาเปล่าประโยชน์   หาสาระแก่นสารแห่งชีวิตอันแท้จริงมิได้    เกิดมาเปล่าแล้วก็ตายไปเปล่าตามธรรมดาของการเวียนว่ายตายเกิดในวัฏสงสารเท่านั้นเอง   สภาพการณ์เช่นว่ามานี้  เรียกว่าวิบัติกาล  ประสบความฉิบหายอย่างใหญ่หลวงแห่งชีวิต  เพราะเกิดผิดกาลเวลา  นับว่าเป็นมหาวิบัติประการหนึ่ง.

๒. วิบัติคติ
   วิบัติคตินี้  ได้แก่วิบัติเพราะไม่ได้คติที่ดี  หมายความว่าแม้ว่ากาลเวลาจะถึงพร้อมแล้ว  คือมีสมเด็จพระมิ่งมงกุฎสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จมาอุบัติตรัสในโลก ทรงประกาศพระสัทธรรมเทศนายังประชาสัตว์ให้ได้ดื่มอมตรส ทรงโปรดสัตว์รื้อสัตว์ขนสัตว์ให้พ้นจากทุกข์ในวัฏสงสาร ให้ลุล่วงถึงพระนิพพาน ทรงประดิษฐานพระพุทธศาสนาให้ปรากฎอยู่ในโลก เช่นในปัจจุบันทุกวันนี้ แต่ทีนี้สมมติว่า ตัวเราเป็นคนอาภัพอับโชคมีบุญน้อยด้อยวาสนา ไม่ได้เกิดมาเป็นมนุษย์อย่างเวลานี้ เพราะค่าที่เป็นผู้มีคติวิบัติ พลัดไปในเกิดในภูมิอื่นโลกอื่นเสียอย่างเพลิดเพลิน เช่นกำลังไปเกิดอยู่ในนิรยภูมิถือกำเนิดเป็นสัตว์นรกเสียก็ตาม กำลังไปเกิดอยู่ในเปตวิสัยภูมิ ถือกำเนิดเป็นเปรตอดอยากอยู่ก็ตาม กำลังไปเกิดอยู่ในอสุรกายภูมิ ถือกำเนิดเป็นอสุรกายมีความหิวกระหายอย่างแสนสาหัสอยู่ก็ตาม หรือกำลังไปเกิดอยู่ในติรัจฉานภูมิ ถือกำเนิดเป็นสัตว์เดรัจฉานอยู่เสีย ก็เมื่อเป็นอย่างนี้แล้วจะมีโอกาสได้มาพบพระบวรพุทธศาสนากระไรได้ เพราะสัตว์ในอบายภูมิทั้งหลายเหล่านั้น ทุกวันเวลามีแต่จะมะงุมมะงาหราเสวยทุกข์โทษจนหน้าดำหน้าแดง มีชีวิตอยู่อย่างหดหู่เหี่ยวแห้งน่าสมเพชเวทนา ก้มหน้าก้มตารับผลกรรมชั่วของตน จนหน้ามืดตามัว ไม่มีเวลาหยุดว่างเว้น สภาพการณ์เช่นว่ามานี้ เรีกชื่อว่า วิบัติคติ ประสบความฉิบหายอย่างใหญ่หลวงแห่งชีวิต เพราะไปเกิดผิดภูมิผิดโลก จึงโชคร้ายนักหนา นับว่าเป็นมหาวิบัติประการที่สอง

๓. วิบัติประเทศ

วิบัติประเทศนี้ ได้แก่วิบัติเพราะเป็นประเทศที่ไม่มีพระพุทธศาสนา!

หมายความว่า ถึงแม้จะพ้นจากวิบัติที่กล่าวมาแล้ว คือ สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถศาสดาจารย์เจ้า ก็ทรงมาอุบัติตรัสในโลกแล้ว และตัวเราก็พ้นจากคติวิบัติ มาอุบัติเกิดเป็นมนุษย์ในมนุษย์โลกนี้แล้ว ก็แต่ว่าโลกนี้เป็นพื้นแผ่นปฐพีอันกว้างขวางใหญ่โตนักหนา เป็นที่สถิตแห่งนานาประเทศ มีจำนวนมากมายหลายประเทศนัก พระพุทธศาสนาไม่สามารถจักแผ่ไปถึงทั่วประเทศทั้งสิ้นทั้งปวงได้ ประเทศใด พระพุทธศาสนาแผ่ไปไม่ถึง ประเทศนั้น ก็ไม่รู้จักคุณค่าของพระบวรพุทธศาสนา ไม่ทราบเลยว่า ศาสนาคำสอนแห่งองค์สมเด็จพระชินวรสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นนิยานิกธรรม สามารถนำสัตว์โลกออกจากกองทุกข์ได้อย่างแท้จริงโดยไม่ต้องสงสัย ทีนี้สมมติว่า ตัวเราไปเกิดในประเทศนั้น ก็ไม่มีวันที่จะได้รู้จักพระพุทธศาสนาเลย เมื่อไม่รู้จักก็ย่อมไม่เห็นคุณค่าของพระศาสนาอันมีอยู่โดยวิเศษเป็นธรรมดา เมื่อเป็นอย่างนี้แล้ว ก็จักมีโอกาสเป็นพุทธศาสนิกชนคนนับถือพระพุทธศาสนาได้อย่างไร ย่อมจะมีชีวิตอยู่ในชาติหนึ่งอย่างไร้แก่นสาร น่าเศร้า เข้าทำนองเกิดมาเปล่าแล้วก็ตายไปเปล่าเท่านั้นเอง สภาพการณ์เช่นว่ามานี้ เรียกชื่อว่าวิบัติประเทศ ประสบความฉิบหายอย่างใหญ่หลวงแห่งชาติ เพราะไปเกิดผิดประเทศ จึงต้องโชคร้ายนักหนา จัดว่าเป็นมหาวิบัติสำคัญประการที่สาม

๔. วิบัติตระกูล


วิบัติตระกูลนี้ ได้แก่วิบัติเพราะตระกูลที่ไม่เป็นสัมมาทิฏฐิ!

หมายความว่า ถึงแม้จะได้มีสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เสด็จมาอุบัติตรัสในโลกนี้แล้ว และเราก็ได้มีโอกาสมาเป็นมนุษย์ เป็นคน ในประเทศที่นับถือพระบวรพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติแล้ว ก็แต่ว่าในประเทศนี้ย่อมมีวงศ์ตระกูลของหมูมนุษย์อยู่มากมายหลายตระกูลนัก ตระกูลที่เป็นสัมมาทิฐิ เคารพนับถือพระพุทธศาสนาก็มี ตระกูลที่เป็นมิจฉาทิฐิ ไม่มีความเลื่อมใส ไม่เคารพนับถือในพระพุทธศาสนาก็มี ทีนี้ สมมติว่าตัวเราบังเอิญไปเกิดในตระกูลที่เป็นมิจฉาทิฐิเสีย บิดามารดา ปู่ ย่า ตา ยาย ซึ่งเป็นบรรพชนต้นโคตร ต้นวงศ์ของเรา ท่านไม่รู้จักพระบวรพุทธศาสนา ไม่เห็นคุณค่า ไม่มีศรัทธาเคารพเลื่อมใสในพระธรรมคำสั่งสอน แห่งองค์สมเด็จพระชินวรสัมมาสัมพุทธเจ้าเอาเสียเลย เราก็จะต้องมีความเห็นหรือมีทิฐิไปตามโคตร ตามวงศ์ คือจักไม่ปลงใจเชื่อ ไม่เห็นคุณค่า อาจมองพระบวรพุทธศาสนาไปในแง่ว่าไม่ถูกต้องก็ได้ เมื่อเป็นอย่างนี้แล้ว ชีวิตของเราถึงแม้จะได้รับความสมบูรณ์ พูนสุขอย่างไร ก็นับเข้าในจำพวกที่อับโชค เกิดมาในโลกกับเขาครั้งหนึ่ง แต่หาที่พึ่งอันแท้จริงเป็นแก่นสารมิได้ เกิดมาเปล่าแล้วก็ตายเปล่าอีกเหมือนกัน สภาพการณ์เช่นว่ามานี้ เรียกว่าวิบัติตระกูล ประสบความฉิบหายอย่างใหญ่หลวงแห่งชาติ เพราะไปเกิดผิดตระกูลจึงต้องโชคร้ายหนักหนา จัดว่าเป็นมหาวิบัติสำคัญประการที่สี่

๕. วิบัติอุปธิ

วิบัติอุปธิ นี้ ได้แก่วิบัติอุปธิ คือร่างกาย!

หมายความว่า ถึงแม้จะได้มีสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จมาอุบัติ และทรงประกาศพระพุทธศาสนาให้ตั้งมั่นในโลกอย่างปัจจุบันทุกวันนี้แล้ว และเาก็ได้มีโอกาสเกิดมาในตระกูลที่เป็นสัมมาทิฐิเคารพเลื่อมใสในพระบวรพุทธ ศาสนาอยู่แล้วก็ตามที แต่ที่นี้ สมมติว่า ตัวเราเป็นคนอาภัพอับวาสนา องคาพยพไม่สมบูรณ์เป็นคนมีอุปธิวิบัติ คือร่างกายไม่สมประกอบ เหมือนคนธรรมดาสามัญทั้งหลาย กลายเป็นบ้า เป็นใบ้ ตาบอด หูหนวก เสียจริต จิตวิปลาสไปเสีย เช่นนี้ก็ไม่สามารถมีปัญญามองเห็นคุณค่าพระบวรพุทธศาสนา ไม่มีโอกาสจะรู้ว่าศาสนธรรมคำสอนของพระพุทธองค์ ว่าทรงไว้ซึ่งความประเสริฐล้ำเลิศเพียงไรอย่างนี้แม้จะได้เกิดมากับเขาชาติ หนึ่ง ก็ถึงการนับได้ว่าเกิดมาเปล่าๆ เป็นชีวิตที่ไร้ค่า เท่ากับว่าไม่ได้เกิดมานี้เอง สภาพการณ์เช่นว่ามานี้เรียกชื่อว่าอุปธิวิบัติ ประสบความฉิบหายอย่างใหญ่หลวงแห่งชีวิต เพราะความวิปริตของกายตน จึงต้องเป็นคนโชคร้ายนักหนา จัดว่าเป็นมหาวิบัติสำคัญประการที่ห้า
หัวข้อ: Re: มุนีนารถทีปนี การตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า โดย พระพรหมโมลี วิลาศ ญาณวโร
เริ่มหัวข้อโดย: Wisdom ที่ กุมภาพันธ์ 21, 2012, 11:54:39 AM
๖. วิบัติทิฐิ

วิบัติทิฐินี้ ได้แก่วิบัติ เพราะทิฐิแห่งตน!

หมายความว่าถึงแม้จะได้มีสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จมาอุบัติ และทรงประกาศพระบวรพุทธศาสนาให้ตั้งมั่นในโลกเช่นปัจจุบันทุกวันนี้แล้ว และตัวเราก็หลบพ้นจากมหาวิบัติต่างๆ ได้มีโอกาสมาเกิดในตระกูลที่เป็นสัมมาทิฐิ มีอุปธิร่างกายเป็นปกติ มิใช่เป็นคนหูหนวก ตาบอด คนบ้า คนใบ้ แต่ประการใดเลย คราวนี้สมมติว่า ตัวเราเองนี่กลายเป็นคนมีทิฐิวบัติ คือมีความเห็นผิดมักบูชาความคิดความเห็นของตนอันไม่ถูกต้อง จะเป็นเพราะว่าไปซ่องเสพสมาคมกับชนมิจฉาทิฐิเข้า หรือว่าจะเป็นเพราะเหตุอื่นใดก็ตาม แล้วก็ให้มีอันเป็นเกิดความคิดเห็นวิปริตไปโดยนัย เป็นต้นว่า

"สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่มี! พระธรรมที่พร่ำสอนกัน ก็ไม่เป็นนิยานิกธรรม นำสัตว์ให้พ้นทุกข์ไม่ได้ แม้พระอริยสงฆ์นั้นไซร็ ก็หาได้มีคุณวิเศษยิ่งไปกว่าตัวเรานี่ไม่ มรรค ผล นิพพาน บุญบาป เป็นสภาพที่เพ้อฝันกันไปอย่างนั้นเอง ความจริงหามีไม่ คำสอนในศาสนาไม่มีคุณ่าควรแก่การปฏิบัติตาม"

เกิดความเห็นไม่เข้าท่าไปทำนองนี้ ก็เลยไม่มีศรัทธาจิตคิดเลื่อมใส ไม่มีโอกาสได้ปฏิบัติตามกระแสพระพุทธฎีกาอันหาได้ยากในโลก เมื่อไม่ปฏิบัติตาม ก็ย่อมไม่ได้พบความวิเศษสุดของพระบวรพุทธศาสนา เมื่อเป็นอย่างนี้ เกิดมาก็นับว่าเสียชาติเกิดไปเปล่าๆ ได้มาพบศาสนาของสมเด็จพระพุทธเจ้าอันแสนประเสริฐแล้ว แต่จักษุกลับไม่มีแวว เป็นคนตาบอด ตาใส มองเห็นเป็นของต่ำทรามไม่มีค่า ไม่ช้าก็ถึงกาลกิริยาตายไปโดยไม่มีที่พึ่ง เพราะมีทิฐิดึงดันดื้อรั้นยิ่งนัก ไม่รู้จักเชื่อฟังคำสอนของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เข้าทำนองที่ว่า เกิดมาเปล่าแล้วก็ตายไปเปล่าอีกตามเดิม สภาพการณ์เช่นว่ามานี้เรียกชื่อว่าวิบัติทิฐิ ประสบความฉิบหายอย่างใหญ่หลวงแห่งชีวิต เพราะความเห็นผิดของคน จึงต้องเป็นคนโชคร้ายนักหนา จัดว่าเป็นมหาวิบัติประการสุดท้าย

บัดนี้ ลองหันมาตรวจดูที่ตัวเราท่านทั้งหลายนี้ดูเถิด เราเกิดมาในชาตินี้จะได้รู้เกิดมาก่อนก็หาไม่ แต่ก็ให้บังเอิญเกิดมาพบพระบวรพุทธศาสนา แม้ว่าสมเด็จพระบรมศาสดาจารย์จะเสด็จดับขันธ์ปรินิพพานไปนานแล้วก็ตาม แต่ศาสนธรรมคำสั่งสอนของพระองค์ยังปรากฎอยู่ ก็เท่ากับว่าเราเกิดมาทันพุทธกาลเหมือนกัน นอกจากนั้นยังได้มีจิตใจเลื่อมใสในพระบวรพุทธศาสนา ปฏิญาณตนเป็นพุทธศาสนิกชน น้อมรับเอาพระพุทธศาสนาอันทรงคุณค่าประเสริฐสุดมาเป็นสรณะที่พึ่งของตน ก็เป็นอันว่าพ้นแล้วจากมหาวิบัติความฉิบหายอย่างใหญ่หลวงทั้ง ๖ ประการ ตามที่พรรณามาแล้วนั้นใช่ไหมเล่า? อย่างนี้แล้ว จะไม่ให้กล่าวว่า เราเกิดมาในชาตินี้ กำลังได้รับโชคลาภอย่างมหาศาลอยู่แล้วได้อย่างไร?

ในบรรดามหาวิบัติทั้งหลายนั้น หากจะพิจารณากันให้ดีก็จะเห็นได้ว่า มหาวิบัติข้อแรก คือ วิบัติกาล นับว่าสำคัญกว่าข้ออื่น เพราะเกี่ยวกับการอุบัติบังเกิดขึ้นแห่งองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าโดย ตรง ถ้าลงว่าสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่เสด็จมาอุบัติตรัสขึ้นในโลกแล้ว ถึงแม้ว่าเราท่านทั้งหลายจะเพียบพร้อมอุดมสมบูรณ์ไปด้วยสมบัติอื่นใดก็ตาม ก็ถือว่าไม่พ้นจากความวิบัติเหล่านี้ไปได้ฉะนั้น การเสด็จอุบัติขึ้นแห่งองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จึงเป็นอุบัติกาลที่สัตว์โลกพากันถือว่าสำคัญที่สุด อย่าว่าแต่มนุษย์เรานี่เลย แม้แต่ปวงเทพเจ้าเหล่าอมร อินทร์ พรหม ยม ยักษ์ ผู้ทรงไว้ซึ่งมเหศักดิ์มีปัญญาต่างก็ปรารถนากาลเป็นที่เสด็จอุบัติขึ้นแห่ง องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ากันทุกถ้วนหน้า

ในกรณีนี้ พึงทราบว่า การเสด็จอุบัติขึ้นแห่งองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้น จักมีปรากฎขึ้นได้ในโลกแต่ละครั้งแต่ละหน ย่อมเป็นสภาพที่เป็นไปโดยยากยิ่งนัก ต่อกาลนานนักหนา จึงจะมีสมเด็จพระบรมศาสดาจารย์เจ้าเสด็จมาตรัสสักพระองค์หนึ่ง ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะว่าท่านที่จะมาตรัสเป็นพระพุทธเจ้านั้น
จะต้องเป็นบุคคลสำคัญที่เรียกว่าวิสิฏฐบุคคล คือเป็นบุคคลพิเศษจริงๆ ได้สร้างสมอบรมพระบารมีมาเพื่อปรมาภิเษกสัมโพธิญาณ กล่าวคือเพื่อจะตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าโดยเฉพาะ และพระบารมีที่ว่านั้น ได้ถูกบ่มมาเป็นเวลานานนับด้วยจำนวนมากมายหลายมหากัปทีเดียว จนถึงความแก่รอบสมบูรณ์แล้วทุกประการ ท่านผู้มีโพธิสมภารเป็นวิสิฏฐบุคคลนั้นจึงจะพลันมาอุบัติ ได้ตรัสเป็นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบรมโลกุตตมจารย์ แล้วจึงทรงประทานประโยชน์มหาศาลให้แก่ชาวโลก ด้วยการแนะนำให้รู้จักทางหลีกพ้นจากโอฆสงสาร อันมีภัยใหญ่น่ากลัวนักหนา แต่ว่าประชาสัตว์ถูกอวิชาเข้าครอบงำ จึงทำให้ไม่รู้สึกว่า ตนกำลังเวียนว่ายอยู่ในโอฆสงสารอันมีภัยใหญ่แลน่าเกรงกลัวเป็นที่สุดนั้นได้ ครั้นพอมาถูกแนะนำเข้าแล้ว ก็รู้สึกตนหวั่นเกรงภัย พยายามปฏิบัติไปตามกระแสพระพุทธฎีกา ก็พาตนพ้นภัยใหญ่ เข้าไปสู่พระนิพพานอันเป็นแดนเกษมสานติ์มากต่อมากเหลือคณนา ฉะนั้น จึงกล่าวได้ว่า บรรดาผู้ที่ทำประโยชน์ให้แก่ชาวโลกทั่วไปในไตรภพแล้ว ผู้ที่จะสามารถทำได้เท่าสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นไม่มี ก็ท่านผู้ที่ทำประโยชน์อย่างมหาศาลและแท้จริงอย่างนี้ จะหาได้ง่ายๆ ที่ไหนเล่า

ก็เพราะความที่สมเด็จพระชินสีห์สัมมาสัมพุทธเจ้า จะปรากฏอุบัติขึ้นในโลกแต่ละพระองค์เป็นการยากนักหนา ตามที่พรรณนามานี้ สมเด็จพระชินสีห์บรมโลกเชษฐเจ้าแห่งเราชาวพุทธทั้งหลาย พระองค์ผู้ทรงมีพระกมลหฤทัยประกอบไปด้วยพระมหากรุณาและแสนจะบริสุทธิ์ซื่อ ตรง จึงทรงมีพระบรมพุทโธวาทตักเตือนอยู่เสมอว่า

" การอุบัติบังเกิดขึ้น แห่งพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นสิ่งที่หาได้ยากในโลก"

พระพุทธฎีกานี้ ถ้ามีความสนใจน้อย ฟังดูแต่เพียงคร่าวๆ พอผ่านไป ก็จะไม่เกิดความรู้สึกอะไรนัก มักให้เห็นแต่เพียงว่าเป็นพระพุทธพจน์บทหนึ่งเท่านั้นเอง แต่ความจริงแล้ว ทรงไว้ซึ่งความสำคัญและความจริงเป็นที่สุด เพราะปรากฎว่าพระพุทธฎีกาบทนี้มิใช่จะตรัสแต่เพียงหนหนึ่งครั้งเดียวโดยที่ แท้ สมเด็จพระพุทธองค์ตรัสอยู่เนื่องๆ เพื่อเป็นเครื่องเตือนสติเหล่าชาวพุทธบริษัท ด้วยความกรุณาและห่วงใยอันปรากฎเต็มเปี่ยมอยู่ในดวงหฤทัยแห่งองค์สมเด็จพระ ชินสีห์ โดยมีหลักฐานที่ท่านพรรณาไว้ ดังต่อไปนี้
หัวข้อ: Re: มุนีนารถทีปนี การตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า โดย พระพรหมโมลี วิลาศ ญาณวโร
เริ่มหัวข้อโดย: Wisdom ที่ กุมภาพันธ์ 21, 2012, 11:55:54 AM
อนุสาสนีประจำวัน

กาลเมื่อ องค์สมด็จพระมหากรุณาสัมมาสัมพุทธเจ้า ยังทรงพระชนม์ชีพอยู่นั้น ทุกวันพอได้เวลาอรุณสมัยรุ่งเช้า องค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้า ย่อมทรงพาพระภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่เสด็จออกไปเพื่อบิณฑบาตโปรดเวไนยสัตว์ เหล่าชนผู้ใดได้ทอดทัศนาการเห็น ย่อมบังเกิดศรัทธาเลื่อมใสนั้นในดวงใจนักหนาเพราะสมเด็จพระมหากรุณาเจ้าทรง มีพระวรกายอันรุ่งเรืองไปด้วยถ่องแถวแห่งพระฉัพพัณณรังสี มีพระสรีระครบบริบูรณ์ด้วยพระทวัตติงสะมหาปุริสลักษณะและพระอสีตยานุพยัญชนะ อันวิจิตร ตั้งแต่พระอุณหิสตลอดลงมาถึงพื้นฝ่าพระบาทไพโรจน์ด้วยพระพุทธสิริวิลาสหาที่ จะเปรียบได้ ด้วยว่า องค์สมเด็จพระพุทธเจ้านั้นไซร้ ทรงมีเส้นพระเกษาอันอ่อน และวงเวียนเป็นทักษิณาวัฏ มีสีดำสนิททุกเส้นเป็นอันดี และทรงมีพระนลาตงามเลิศบริสุทธิ์ ประดุจสุริยมณฑลอันปราศจากเมฆมลทิน และพระนาสิกของพระชินสีห์นั้น ก็มีสัณฐานยาวงามยิ่งนัก รุ่งเรืองไปด้วยพระรัศมีพรรโณภาส พระองค์ทรงเป็นนรสีห์ราชบุรุษมนุษย์สุดประเสริฐ งามเลิศตลอดทั้งพระวรกายแม้ภายใต้พื้นพระยุคลบาท ก็มีพรรณอันแดงประดับไปด้วยพระลายลักษณวงกงจักร์ และรอยรูปมหามงคลร้อยแปดประการเป็นอัศจรรย์

สมเด็จพระบรมโลกนาถเสด็จไปในกาลนั้น เพื่อทรงทำประโยชน์แก่ชาวโลกทั้งผอง ด้วยพระพักตร์มีพรรณผ่องเพียงศศิธรมณฑลอันเต็มดวงในวันปุณณมีดิถีและพระพุทธ กิริยาที่ทรงดำเนินไป ก็งามเหมือนประดุจดังลีลาแห่งพญาไกรสรสีหราช มฤคินทร์ สมควรที่อินทร์ พรหม ยม ยักษ์ เทพยดาหมู่อมรและมนุษย์นิกร จักอ่อนน้อมอภิวาทพระบวรพุทธบาท เสด็จยุรยาตรไปในท่ามกลางพระอริยสงฆ์สาวกทั้งปวง แลดูประหนึ่งดวงจันทร์อันแวดล้อมด้วยหมู่ดารากำลังลีลาไปในอัมพรประเทศ สมเด็จพระโลกเชษฐ์ผู้ทรงพระคุณหาที่เปรียบมิได้ ย่อมเสด็จบทจรไปเพื่อบิณฑบาต ตามลำดับตรอกลำดับเรือนแห่งมหาชนชาวประชา ไม่ทรงเลือกหน้าว่าไพร่ผู้ดี พระพุทธจริยานี้แลเป็นพระอริยวงศ์ประเพณีแห่งองค์สมเด็จพระชินสีห์สัมมา สัมพุทธเจ้าแต่ปางก่อนสืบมา

ครั้นว่าเสด็จกลับจากบิณฑบาต ทรงกระทำภัตกิจแล้วเมื่อตอนสายแห่งทิว่า บรรดาพระภิกษุสงฆ์องค์สาวกทั้งหลายต่างก็มาประชุมพร้อมกัน ณ ที่ใกล้พระคันธกุฎีที่ประทับ ด้วยมีใจมุ่งหมายจักสดับพระบรมพุทโธวาทประจำวัน และพระสงฆ์สาวกบางองค์นั้น ก็มีความประสงค์จะทูลขอบทพระกรรมฐานในกาลหลังจากที่ทรงประทานพระบรมพุทโธวาท จบลงแล้วด้วยเหตุนี้ จึงปรากฎมีพระภิกษุสงฆ์สาวกพากันมารอคอยการเสด็จออกของพระบรมโลกุตมาจารย์ อยู่ในขณะนี้มากมาย

ครั้นได้เวลา สมเด็จพระมหากรุณาสัมมาสัมพุทธเจ้าของชาวเราทั้งหลาย ก็เสด็จออกมาจากพระคันธกุฎีด้วยพระพุทธลีลางดงามหาที่เปรียบมิได้แล้ว ประทับนั่งห้อยพระบาทเหนือพระแท่นที่ตั้งไว้ในที่นั้น เพื่อจักทรงล้างพระยุคลบาทให้บริสุทธิ์ สะอาดปราศจากละอองธุลี เสร็จแล้วก็ทรงยืนขึ้นทอดพระเนตรดูหมู่พระสงฆ์สาวกที่พากันมาเฝ้า และกำลังน้อมเกล้าประนมกรอยู่ทุกถ้วนหน้า ด้วยพระพุทธนัยนาอันเต็มเปี่ยมไปด้วยพระมหากรุณาเป็นยิ่งนัก และแล้วในขณะนั้น และ ณ ที่นั่นเอง พระองค์ก็ทรงเปล่งพระกระแสพุทธฎีกาเป็นโอวาทนุสาสนีแก่พระองค์สาวกทั้งปวง ว่า

ดูกร เธอผู้เห็นภัยในวัฏสงสารทั้งหลาย! ขอเธอทั้งหลายจงตกแต่งรักษาซึ่งตนให้บริบูรณ์ด้วยความไม่ประมาทเถิด ด้วยว่า เวลาที่จะได้มีพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามาบังเกิดขึ้นในโลกเป็นสิ่งที่หาได้โดย ยากนักหนา การที่จะได้มีโอกาสเกิดมาเป็นมนุษย์ ก็เป็นสิ่งที่หาได้โดยยาก การที่เป็นมนุษย์แล้วจะถึงพร้อมด้วยศรัทธาก็เป็นสิ่งหาได้โดยยาก การที่ผู้มีศรัทธาจะได้มีโอกาสบรรพชาอุปสมบทในพระพุทธศาสนาก็เป็นสิ่งที่ทำ ได้โดยยาก และการที่จะได้มีโอกาสสดับตรับฟังพระสัทธรรมเทศนาขององค์สมเด็จพระสัมมา สัมพุทธเจ้านั้นเล่า ก็เป็นสิ่งที่หาได้โดยยากในโลก

ครั้นทรงประทานโอวาทานุสาสนีดังนี้แล้ว สมเด็จองค์ประทีปแก้วพระมหากรุณาเจ้าจึงประทับนั่งลง ณ พระบวรพุทธอาสน์ แล้วจึงทรงเริ่มประทานพระบรมพุทโธวาทอย่างอื่นหรือทรงประทานบทพระกรรมฐาน เพิ่มเติมให้แก่พระสงฆ์สาวกที่ต้องการจะนำไปปฏิบัติต่อไป เหตุการณ์เป็นเช่นนี้อยู่เป็นปกติทุกวันโดยมาก ในสมัยที่สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้ายังทรงพระชนม์ชีพอยู่

เราท่านทั้งปวง ผู้เป็นสาวกของพระพุทองค์ท่านในกาลบัดนี้เป็นปัจฉิมชนคนมีวาสนาน้อย เกิดมาในกาลสุดท้ายภายหลัง ดังนั้นจึงไม่มีโอกาสได้พบประสบการณ์เช่นที่ว่ามานี้ แต่จะอย่างไรก็ดี พระอนุสาสนีนี้ก็ยังปรากฎก้องอยู่ คล้ายกับจะเป็นองค์สมเด็จพระบรมครูเจ้าคอยเฝ้าเตือนจิต ด้วยเหตุนี้ขอจงเร่งคิดเร่งอนุสรณ์ถึงพระอนุสาสนีประจำวันนี้ให้จงมากเถิด จะได้เกิดความไม่ประทาทในวัยและชีวติของตน เพื่อผลกล่าวคือความได้สาระแก่นสารอย่างแท้จริง อันเนื่องมาจากการเกิดมาพบพระบวรพุทธศาสนาของตัวเราในชาตินี้ อย่าให้พลาดท่าเสียทีได้

ต่อจากนี้ไป จักได้อัญเชิญเอาพระอนุสาสนีประจำประการแรกคือข้อที่ว่า

ทุลฺลโก พุทฺธูปฺปาโท โลกสฺมึ

ซึ่งแปลว่า เวลาที่จะได้มีพระสัมมาสัมพุทธเจ้า มาบังเกิดขึ้นในโลก เป็นสิ่งที่ทำได้โดยยาก อัญเชิญเอาพระอนุสาสนีข้อนี้มาเป็นต้นเค้า แล้วจักเล่าเรื่องราวอันเกี่ยวกับองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทั้งหลาย ต่อจากนั้น ก็ตั้งใจไว้ว่าจักพรรณาถึงการสร้างพระบารมีเพื่อพระปรมาภิเษกสัมโพธิญาณของ องค์สมเด็จพระบรมศาสดาจารย์ คือ พระมิ่งมงกุฏศรีศากยมุนีโคตมบรมครูเจ้าแห่งเราท่านทั้งหลายในขณะนี้ กับทั้งจักพรรณนาถึงความพระองค์ทรงเป็นนาถะ คือเป็นที่พึ่งอย่างแท้จริงของพวกเราทั้งหลาย โดยให้ชื่อเรื่องว่า มุนีนาาถทีปนี หรือศาสตร์ว่าด้วยการเป็นพระพุทธเจ้า ซึ่งหมายถึงการชี้แจงแสดงเรื่องพระองค์ผู้ทรงเป็นนาถะที่พึ่ง คือสมเด็จพระสัมมามาพุทธเจ้าผู้เป็นจอมมุนี ทรงมีพระปัญญาลึกล้ำสามารถนำสัตว์ออกจากวัฏสงสารได้ ทั้งนี้ ก็ด้วยมีเจตจำนงใคร่จะสดุดีพระคุณแห่งพระองค์เป็นประการสำคัญ

ฉะนั้น ขอมวลท่านพุทธศาสนิกชนผู้สนใจในความเป็นไปขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่กล่าวมานี้ จงมีมนัสมั่นอุตสาห์พยายามติดตามศึกษาต่อไป ตามสมควรแห่งอัธยาศัยแห่งตนเถิด.

บทที่ ๑

พระพุทธาธิการ


บัดนี้  จักกล่าวถึงพระพุทธาธิการ คือการกระทำอันยิ่งใหญ่เพื่อให้ได้พระปรมาภิเษกสัมมาสัมโพธิญาณแห่งสมเด็จ พระบรมศาสดาจารย์ผู้ทรงเป็นจอมมุนีทั้งหลาย ก็องค์พระจอมมุนีชินสีห์สัมมาสัมพุทธเจ้านั้น เราท่านทั้งหลายก็คงจะทราบกันได้ดีแล้วว่า มิใช่จะมีปรากฏในโลกแต่เพียงพระองค์เดียวเท่านั้น โดยที่แท้ ในอดีตกาล ก็มีสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จมาอุบัติตรัสในโลกหลายพระองค์ล่วงมาแล้ว และในอนาคตกาล พอสิ้นสูญศาสนาองค์สมเด็จพระมิ่งมงกุฏศรีศากยมุนีโคดมบรมโลกนายก ที่เราเคารพบูชาอยู่ทุกวันนี้แล้ว ก็จักมีสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ใหม่เสด็จมาอุบัติตรัสในโลกนี้อีก แต่ว่ามาตรัสเป็นครั้งเป็นคราว ไม่เป็นระยะเวลาติดต่อรับช่วงกัน โดยที่บางทีพอสิ้นศาสนาพระพุทธเจ้าพระองค์หนึ่งแล้ว โลกก็ว่างจากพระพุทธศาสนาอยู่ไม่นานนักเพียงในกัปเดียวกันนั่นเอง ก็มีศาสนาของสมเด็จพระพุทธเจ้าพระองค์ใหม่อุบัติขึ้น แต่บางทีนั้น พอสิ้นศาสนาสมเด็จพระพุทธเจ้าองค์หนึ่งแล้ว โลกเรานี้ต้องว่างจากพระพุทธศาสนาอยู่เป็นเวลานานแสนนานนับเป็นสิบๆ มหากัปทีเดียว จึงจะมีศาสนาของสมเด็จพระพุทธเจ้าพระองค์ใหม่ปรากฎขึ้นมา

และเมื่อสมเด็จพระพุทธเจ้า เสด็จมาอุบัติตรัสขึ้นในโลกคราวใด คราวนั้นพระองค์ท่านย่อมตรัสพระสัทธรรมเทศนาแสดงปฏิปทาข้อปฏิบัติให้ถึงความ พ้นทุกข์ในวัฏสงสารประทานอมตธรรม นำสัตว์โลกให้ได้บรรลุถึงพระนิพพานสมบัติ เหล่าสัตว์ผู้มีวาสนาบารมี แต่พอได้สดับพระโอวาทานุสสนีขององค์พระจอมมุนีสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว ย่อมได้บรรลุมรรคผลนิพพานตามสมควรแก่อุปนิสัยวาสนาบารมี แห่งตนๆ เป็นอันพ้นจากทุกข์ภัยในสงสารได้เป็นอันมาก แล้วศาสนาของพระพุทธเจ้าพระองค์นั้น ก็จะพลันเสื่อมถอยลงๆ จนกระทั่งหายสาปสูญไปจากโลกนี้ในคราวหนึ่งๆ ในระยะกาลเวลาที่โลกว่างจากพระพุทธศาสนานี้ โลกก็จะมีสภาวะเป็นโลกมืดมนมืดบอดจากมรรคผลนิพพาน เพราะไม่มีแสงประทีปกล่าวคือ พระสัทธรรมอันแสดงหนทางให้ถึงธรรมวิเศษนี้ได้ สัตว์ที่เกิดมาในระยะนี้ ก็ชื่อว่าเกิดมาเปล่าและก็ตายไปเปล่า หาสาระแก่นสารอันใดมิได้ ต่อเมื่อใด ปรากฎมีสมเด็จพระพุทธเจ้าพระองค์ใหม่ เสด็จมาประกาศพระพุทธศาสนาขึ้นอีกนั่นแหละ โลกจึงจะลุกโพลงขึ้นด้วยแสงประทีปอันประเสริฐ คือพระสัทธรรมนำสัตว์ให้บรรลุถึงมรรคผลนิพพานเสียอีกคราวหนึ่ง จึงเป็นว่าโลกเรานี้ บางทีก็ว่างจากพระบวรพุทธศาสนาอยู่ในนานเท่าใด แต่บางสมัยนั้นโลกต้องว่างจากพระพุทธศาสนาอยู่เป็นเวลานานนัก

มีปัญหาว่า เหตุไฉน สมเด็จพระพุทธเจ้าทั้งหลายจึงไม่ผลัดกันมาตรัสในโลกเรานี้ให้เสมอติดต่อกัน ไปโดยไม่ขาดสาย จะปล่อยให้โลกว่างจากพระพุทธศาสนาอยู่เป็นเวลานานๆ ทำไมกัน? จะมาตรัสให้ติดต่อกันไป เช่น พอสิ้นศาสนาของพระพุทธเจ้าองค์เก่าแล้ว พระพุทธเจ้าพระองค์ใหม่ ก็มาประกาศพระศาสนาแทนต่อไปอีก โดยมิให้โลกต้องว่างจากพระพุทธศาสนาเลยทีเดียวมิได้หรือ? ในกรณีนี้เห็นทีจะขัดสน ทั้งนี้ ก็เพราะว่าการที่โลกเรานี้ จักได้มีโอกาสต้อนรับการอุบัติขึ้นแห่งองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสัก พระองค์หนึ่งนั้น เป็นการลำบากยากเย็นเป็นอย่างยิ่ง เพราะเหตุอะไร ก็เพราะว่า จะหาผู้ที่มาตรัสเป็นพระพุทธเจ้าแต่ละท่านนั้น หากันมิค่อยจะได้เลย

ก็การที่จะได้ตรัสรู้พระปรมาภิเษกสัมโพธิญาณ ดำรงฐานะเป็นเอกองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้น ใช่ว่าจะเป็นกันได้ง่ายๆ เมื่ไหร่เล่า โดยที่แท้ เป็นได้โดยยากนักหนา ความยากอย่างยิ่งจะขอยกไว้ในตอนเบื้องต้นนี้ จักกล่าวถึงน้ำใจก่อนท่านที่จักตรัสเป็นพระพุทธเจ้าคือได้บรรลุถึงพระพุทธ ภูมินั้นต้องเป็นท่านที่มีน้ำใจกล้าหาญเด็ดเดี่ยวขนาดเป็นมหาวีรบุรุษที เดียว ในข้อนี้พึงทราบอุปมากถาที่ท่านพรรณาไว้ ดังต่อไปนี้

น้ำใจพระโพธิสัตว์


กาลเมื่อโลกจักรวาล อันมีเนื้อที่กว้างใหญ่สุดประมาณนี้มีถ่านเพลิงซึ่งร้อนรุ่มสุมคุ ระอุ จนเต็มไปหมด ผู้ใดมีน้ำใจองอาจเพื่อจะเดินฝ่าบุกไปโดยเท้าเปล่าๆ ไปจนสุดหมื่นโลกจักวาลก็ดี



ในเมื่อโลกจักรวาล อันมีเนื้อที่กว้างใหญ่สุดประมาณนี้มีเปลวไฟลุกแดงเป็นพืดยาวเต็มไปหมด ผู้ใดมีน้ำใจองอาจเพื่อจะเดินฝ่าบุกไปโดยเท้าเปล่าๆ ไปจนสุดหมื่นโลกจักรวาลก็ดี



ท่านผู้มีน้ำใจองอาจเด็ดเดี่ยวกล้าหาญเห็นปานฉะนั้ จึงควรที่จะปรารถนาเป็นพระโพธิสัตว์ สร้างพระบารมีเพื่อจะได้ตรัสรู้พระปรมาภิเษกสมโพธิญาณได้ เห็นไหมเล่า ว่าท่านผู้มีปรารถนาซึ่งพระพุทธภูมินั้น จะต้องเป็นผู้มีน้ำใจกล้าหาญเด็ดเดี่ยวเพียงใด ถ้ามีน้ำใจอ่อนแอมีความกลัวตายมากกว่าพระโพธิญาณแล้ว ก็ไม่มีทางที่จะได้ตรัสรู้เป็นสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้เลย ก็ผู้ที่มีน้ำใจเด็ดเดี่ยวกล้าหาญเช่นว่ามานั้น หากันได้ง่ายๆ ในโลกที่ไหนเล่า



อนึ่ง ผู้ปรารถนาซึ่งพระพุทธภูมินั้น ย่อมบำเพ็ญธรรมหนักแน่นด้วยน้ำใจเด็ดเดี่ยวมั่นคง ไม่ว่าจักเสวยพระชาติคือถือกำเนิดเป็นอะไรก็ตาม ย่อมจะมีน้ำใจสมาทานมั่นคง จะได้ย่อหย่อนเบื่อหน่ายส่ายพักตร์เป็นไม่มีเลย สมณพราหมณ์ อินทร์ พรหม ยม ยักษ์ ผู้ใดผู้หนึ่ง ซึ่งมีจิตคิดจะทดลองด้วยอุบาย มุ่งหมายจะให้พระโพธิสัตว์ละเสียซึ่งกุศลสมาทาน ก็มิอาจจะทำได้สำเร็จเลย กิริยาที่พระโพธิสัตว์ประกอบด้วยกุศาลสมาทานมั่นคงนี้ ในชาติที่พระองค์ถือกำเนิดเกิดเป็นมนุษย์จะขอยกไว้ ในที่นี้ ใคร่จะขอเล่าแต่เพียงชาติที่พระองค์ทรงเกิดเป็นสัตว์เดียรัจฉาน ก็ยังมีพระบวรสันอานประกอบไปด้วยกุศลสมาทานมั่นคง มีน้ำใจตรงแน่วไม่หวั่นไหว ตามเรื่องที่ปรากฎมีในพระคัมภีร์ทางพระพุทธศาสนา ดังต่อไปนี้

กระแตผู้โพธิสัตว์

กาลเมื่อ สมเด็จพระจอมมุนี ยังสร้างสมบารมีเป็นพระโพธิสัตว์ ซึ่งต้องทรงท่องเที่ยวเวียนว่ายตายเกิดในวัฏสงสารนั้น ปรากฎว่าครั้งหนึ่ง พระองค์อุบัติในดิรัจฉานภูมิเสวยพระชาติเป็นกระแตสัตว์เดียรฉานมีนิวาสสถาน อยู่ ณ ที่ใกล้มหาสมุทรทะเลใหญ่

อยู่มาวันหนึ่ง เกิดฝนตกหนัก น้ำท่วมมาเป็นอันมาก กระแสน้ำซึ่งมีกำลังเชี่ยวกรากดุดัน พัดผันพาเอารังพร้อมทั้งลูกของพระโพธิสัตว์ลงไปสู่มหาสมุทรทะเลหลวงหายไป ฝ่ายพระโพธิสัตว์ เมื่อได้รับอุปัทวเหตุเช่นนี้ ก็มีใจเศร้าเฝ้าคิดสงสารลูกของตนเป็นหนักหนา เสวยทุกขเวทนาดั่งว่าจะขาดใจตายไปตามบุตร สุดที่จะคิดถึงเหตุผลประการใด มีใจมุ่งหมายครุ่นคิดอยู่แต่ว่า


"เราจะกระทำความเพียร วิดน้ำในมหาสมุทรนี้ให้แห้งแล้วจะค้นหาลูกของเราจนพบให้จงได้"

ครั้นคิดมุมานะฉะนั้นแล้ว ก็เริ่มกระทำความเพียรเอาหางของตนจุ่มลงไปปในน้ำพอเปียกชุ่มแล้วก็วิ่งขึ้น ไปสลัดน้ำลงบนที่ดอน แล้วก็ย้อนกลับมาเอาหางจุ่มน้ำ และวิ่งไปสลัดน้ำลงบนที่ดอนอีก แต่พระโพธิสัตว์เจ้าเฝ้าวิดน้ำในมหาสมุทรด้วยหางแห่งตนอยู่อย่างนี้ จนสรีระร่างกายได้รับความบอบช้ำเหน็ดเหนื่อยนักหนา เป็นเวลาถึง ๕-๖ วัน น้ำนั้นจะได้พร่อมไปสักนิดหนึ่งก็หามิได้ ก็มันจะพร่องไปได้อย่างไรเล่า เพราะว่าไม่ใช้น้ำในตุ่มในไห แต่เป็นน้ำในมหาสมุทรใหญ่ทะเลหลวง ซึ่งมีมากมายเหลือคณนา แม้ว่าจะเป็นอย่างนี้ สัตว์ผู้มีใจเด็ดคือกระแตโพธิสัตว์นั้น ก็มีใจมั่นคง จะได้ย่อท้อหย่อนจากความเพียรเสียก็หามิได้ กลับตั้งใจมีมานะพยายามวิดน้ำในมหาสมุทรนั้นต่อไปอีกอย่างไม่ลดละ

ด้วยเดชะวิริยบารมีแห่งพระโพธิสัตว์ ซึ่งตั้งใจกระทำอย่างผิดธรรมดาในครานั้น ก็บันดาลให้บัณฑุกัมพลศิลาอาสน์ขององค์สมเด็จพระอมรินทราธิราช ผู้ทรงเป็นจอมเทพยดาเจ้าเบื้องสวรรค์ชั้นไตรตรึงษ์ถึงอาการแข็งกระด้างเป็น อัศจรรย์! ครั้นองค์มัฆวานทรงส่องทิพยเนตรทราบประพฤติเหตุนั้นแล้ว จึงเสด็จลงมาจากเทวโลกในวันที่ ๗ แปลงเพศเข้าไปหากระแตโพธิสัตว์เจ้า ซึ่งกำลังเอาหางวิดน้ำในมหาสมุทรอยู่อย่างอุตลุดแล้วทรงมีเทววาทีเอ่ยถาม ขึ้นว่า


"ดูกร ท่านผู้เป็นกลันทกชาติ คือกระแต! ท่านมาทำอะไรพิกลอยู่ที่นี่?"


"เรากำลังทำการวิดน้ำในมหาสมุทร" พระโพธิสัตว์ตอบ


"ท่านมีความประสงค์สิ่งใดๆ จึงถึงกับต้องวิดน้ำทั้งมหาสมุทรทีเดียว?"


"เรากระทำความเพียรในครั้งนี้เพื่อหวังจะให้น้ำในมหาสมุทรนี่แห้ง แล้วจะค้นหาบุตรของเราที่ถูกน้ำพัดพามาจมลงที่มหาสมุทรนี่ให้พบ"

สมเด็จพระอมรินทราธิราช จึงตรัสว่า

"การที่ท่านจะวิดน้ำในมหาสมุทรนี่ให้แห้งนั้น เห็นทีจะขัดสนนัก คือ ข้าพเจ้าเห็นว่า ท่านจักต้องตายเสียเปล่าเป็นแน่แท้! ท่านมิแลดูดอกหรือว่า น้ำในมหาสมุทรนี้มากมายนัก สุดวิสัยที่ผู้ใดผู้หนึ่งจักวิดให้แห้งได้ ไฉนท่านจึงมากระทำการอันสำแดงความโง่ออกมาให่ปรากฎเห็นปานฉะนี้ หยุดเสียเถิด อย่าได้พยายามต่อไปเลย จะตายเสียเปล่าๆ"

"ท่านนั่นแหละ โง่! " พระโพธิสัตว์ผู้เป็นกลันทกชาติกล่าวตอบ แล้วจึงพูดต่อไปตามประสาแห่งตนว่า "ตัวท่านเป็นคนโง่ เพราะเป็นผู้มีใจเกียจคร้านหาความเพียรมิได้ ขึ้นชื่อว่าคนเกียจคร้านเหมือนเช่นตัวท่านนี้ หาควรที่เราจะเจรจาด้วยไม่ ตั้งแต่ท่านมาชักชวนเจรจาอยู่นี่ ก็เป็นการเสียเวลาเราอยู่เป็นอันมาก เราเสียดายเวลานัก ท่านจงไปเสียให้พ้นเถิด อย่ายืนอยู่ที่นี้เลย อ้าว...ว่าอย่างไรเล่า บอกว่าไปให้พ้น..."


พระโพธิสัตว์ตวาดไล่พระอินทร์ดังนี้แล้ว ก็ก้มหน้าก้มตาวิดน้ำในมหาสมุทรด้วยหางของตนต่อไปอย่างขะมักเขม้น โดยไม่ยอมพักผ่อนหยุดยั้ง ข้างฝ่ายสมเด็จพระอมรินทราธิราช เมื่อถูกตวาดเช่นนั้น จึงทรงพระดำริว่า แท้จริงธรรมดาว่า สัตว์ผู้เป็นหน่อเนื้อพุทธางกูรนี้ ย่อมมีความเพียรใหญ่ประจำอยู่ในสันดานอย่างเอกอุ ดูเอาเถิดในกาลบัดนี้ ถึงแม้จะกระทำสิ่งที่เหลือวิสัย เราลองน้ำใจบอกให้เลิกละเสียด้วยเหตุผลอันสมควรนักหนาก็หาได้ละทิ้งความ ตั้งใจเดิมเสียไม่ ช่างมีน้ำใจเด็ดเดี่ยวอาจหาญน่าสรรเสริญนัก เมื่อมีเทวดำริเช่นนี้แล้ว จึงทรงไปนำเอาลูกกระแตซึ่งยังไม่ตายมากมอบให้แก่พระโพธิสัตว์ด้วยเทวานุภาพ แล้วก็สำแดงองค์ให้ทราบว่า พระองค์เป็นจอมเทพเบื้องสรวงสวรรค์ เปล่งรัศมีมีพรรณรุ่งเรืองโอภาส เสด็จกลับไปสู่ไพชยนตปราสาท อันเป็นเทวสถานพิมานที่ประทับอยู่แห่งพระองค์


เรื่องที่เล่ามานี้ ย่อมจะชี้ให้เห็นว่าพระโพธิสัตว์คือท่านผู้ปรารถนาเพื่อจะได้ตรัสรู้เป็นสม เด้จพระจอมมุนีสัมมาสัมพุทธเจ้าในอนาคตกาลนั้น ย่อมจะมีมนัสมั่นคงนักหนา ถึงแม้ว่าจะพลาดพลั้งไปถือกำเนิดเป็นสัตว์เดียรฉานก็ดี ก็ย่อมมีน้ำใจมั่นคงเด็ดเดี่ยวเต็มไปด้วยวิริยะอุตสาหะเป็นยอดเยี่ยม ถ้าลงได้ตั้งใจกระทำสิ่งใดแล้ว แม้จักยากแสนยากเพียงใดก็ตาม การที่จะมีความเพียรอันย่อหย่อนหรือเลิกล้มความตั้งใจเสียกลางคันนั้นเป็น อันไม่มีอย่างเด็ดขาด นี่แหละท่านทั้งหลาย คือความมั่นคงเด็ดเดี่ยวแห่งน้ำใจ ของพระมหาบรมโพธิสัตว์เจ้า ผู้เฝ้าปรารถนาเพื่อจักได้ตรัสพระปรมาภิเษกสัมโพธิญาณ
หัวข้อ: Re: มุนีนารถทีปนี การตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า โดย พระพรหมโมลี วิลาศ ญาณวโร
เริ่มหัวข้อโดย: Wisdom ที่ กุมภาพันธ์ 21, 2012, 11:56:57 AM
พระพุทธเจ้า ๓ ประเภท


เมื่อได้ชี้แจงให้ทราบถึงน้ำใจพระโพธิสัตว์ ผู้ปรารถนาพระพุทธภูมิเป็นเบื้องแรกดังกล่าวมาแล้ว บัดนี้ เพื่อความเข้าใจในเรื่องราวตามลำดับ จักขอกลับมากล่าวถึงประเภทแห่งสมเด็จพระจอมมุนีชินสีห์สัมมาสัมพุทธเจ้าเสีย ก่อน ก็สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้น เมื่อจะแบ่งเป็นประเภท ก็ได้ ๓ ประเภท ตามพระบารมีที่ได้ทรงสร้างสมอบรมมา คือ พระปัญญาธิกะพุทธเจ้าประเภทหนึ่ง พระสัทธาธิกะพุทธเจ้าประเภทหนึ่ง พระวิริยาธิกะพุทธเจ้าประเภทหนึ่ง ซึ่งมีอรรถาธิบายตามที่ท่านพรรณนาไว้ ดังต่อไปนี้

พระปัญญาธิกะพุทธเจ้า


สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าประเภทปัญญาธิกะนี้ พระองค์ทรงสร้างพระบารมีชนิดปัญญาแก่กล้า คือทรงมีพระปัญญามาก แต่มีพระศรัทธาน้อย จึงทรงสร้างพระบารมีน้อยกว่าพระพุทธเจ้าในประเภทอื่น เมื่อจะนับเวลาที่ทรงสร้างพระบารมีตั้งแต่ต้น จนกระทั่งได้ตรสพระปรมาภิเษกสมโพธิญาณ เป็นเวลายาวนาน ดังนี้
ก. เริ่มแรกตั้งแต่ทรงดำริในพระทัยที่ว่า "เราจักเป็นพระพุทธเจ้าสักองค์หนึ่ง" ได้ทรงนึกอย่างนี้อย่างเดียว มิได้ออกโอษฐออกพระวาจาแต่ประการใด ก็นับเป็นเวลานานถึง ๗ อสงไขย
ข. ต่อจากนั้น จึงออกโอษฐปรารถนาว่า "เราจักตรัสเป็นพระพุทธเจ้าในอนาคตกาลเบื้องหน้าให้จงได้" แล้วก็ทรงสร้างพระบารมีเพื่อพระโพธิญาณเรื่อยไป พร้อมกับออกโอษฐปรารถนาอยู่อย่างนั้น นับเป็นเวลานานได้ ๙ อสงไขย
ค. ต่อจากนั้น จึงจะได้รับลัทธาเทศ คือ คำพยากรณ์จากสมเด็จพระพุทธเจ้าพระองค์ใดพระองค์หนึ่งว่า "จักได้ตรัสรู้เป็นองค์พระพุทธเจ้าอย่างแน่นอน" ครั้นได้รับลัทธาเทศบาลดังนี้แล้ว ก็ต้องสร้างพระบารมีอยู่อีกนานหนักหนา นับเป็นเวลาได้ ๔ อสงไขย กับอีกหนึ่งแสนมหากัป
จึงเป็นอันว่า สมเด็จพระพุทธเจ้าประเภทปัญญาธิกะนี้ ต้องทรงสร้างพระบารมีมาตั้งแต่เริ่มแรก จนกว่าจะได้ตรัสรู้นั้นนับเป็นเวลานานถึง ๒๐ อสงไขย กับอีกหนึ่งแสนมหากัปพอดีและมีข้อควรทราบไว้ในที่นี้อีกอย่างหนึ่ง ก็คือ

สมเด็จพระพุทธเจ้าปัญญาธิกะนี้ หลังจากพระองค์ได้ทรงสร้างพระบารมีมานานแล้ว และเมื่อจะได้รับลัทธยาเทศคำพยากรณ์จากสมเด็จพระพุทธเจ้าว่า "จักได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าอย่างแน่นอน" เป็นครั้งแรกนั้น ในขณะนี้ หากพระองค์ท่านจะละความปรารถนาดั้งเดิมที่จะเป็นพระพุทธเจ้าเสีย แล้วกลับมามีพระทัยน้อมไปในทางสาวกโพธิญาณ คือปรารถนาที่จะได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์และปรินิพพานในชาตินั้น พูดอีกทีก็ว่าพระองค์ทรงกลับใจไม่อยากเป็นพระพุทธเจ้า เพราะทรงคิดเห็นว่า

"การที่จะเป็นพระพุทธเจ้าได้ ต้องสร้างพระบารมี อีกนานนัก เราสมัครเป็นสาวกของพระพุทธเจ้าที่จะทรงพยากรณ์ในขณะนี้ดีกว่า"

เมื่อเป็นแต่เพียงกลับใจดังนี้ แล้วตั้งใจสดับพระธรรมเทศนาเฉพาะพระพักตร์มณฑลแห่งสมเด็จพระทศพลพระองค์นั้น พอสดับพระธรรมเทศนาบาทพระคาถาที่ ๓ ยังมิทันจะจบลง พระองค์ท่านก็จักได้สำเร็จเป็นพระอรหันตสาวก พร้อมกับปฏิสัมภิทาญาณทั้งหลายทันที ทั้งนี้ก็เพราะมีพระบารมีญาณแก่กล้าอยู่ในขันธสันดานแล้ว

แต่การที่ไม่ทรงรีบคว้าเอามรรค ผลนิพพาน อันอยู่ใกล้แค่พระหัตถ์เอื้อมในครั้งกระนั้น ก็เพราะทรงมีพระมนัสมั่นมุ่งหมายเอาพระพุทธโพธญาณ ทั้งนี้น้ำพระทัยอาจหาญเด็ดเดี่ยวปรารถนาเพื่อจักได้บรรลุถึงพระสัมมา สัมพุทธเจ้าอย่างเดียว จึงสู้ทนทรมาณสร้างพระพุทธบารมีด้วยพระวิริยะอุตสาหะไปอีกนานนักหนา นับเป็นเวลาถึง ๔ อสงไขย กับเศษอีกหนึ่งแสนมหากัป

พระสัทธาธิกะพุทธเจ้า


สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าประเภทสัทธาธิกะพุทธเจ้านี้ พระองค์ทรงสร้างพระบารมีประเภทศรัทธาแก่กล้า คือทรงมีพระศรัทธามากยิ่ง จึงทรงสร้างพระบารมีประเภทปานกลาง เมื่อจะนับเวลาที่ทรงสร้างพระบารมีมาตั้งแต่ต้นจนกระทั่งได้ตรัสพระ ปรมาภิเษกสัมโพธิญาณ ก็เป็นเวลายาวนาน ดังนี้
ก. เริ่มแรกแต่ทรงดำริในพระทัยไปจนกว่าจะถึงเวลาออกพระโอษฐปรารถนาเป็นองค์สมเด็จพระพุทธเจ้านั้น นับเป็นเวลานานถึง ๑๔ อสงไขย
ข. นับจำเดิมแต่ออกพระโอษฐ ปรารถนาเป็นสมเด็จพระพุทธเจ้าเป็นต้นไป กว่าจะได้ลัทธยาเทศคำพยากรณ์จากสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ใดพระองค์ หนึ่งนั้น นับเป็นเวลาถึง ๑๘ อสงไขย
ค. นับจำเดิมแต่ได้รับลัทธาเทศคำพยากรณ์ครั้งแรกเป็นต้นไป กว่าจะได้ตรัสแก่พระปรมาภิเษกเป็นเอกองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าในชาติ สุดท้ายนั้น นับเป็นเวลานานถึง ๘ อสงไขย กับเศษอีกหนึ่งแสนมหากัป
จึงเป็นอันว่า สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าประเภทสัทธาธิกะนี้ ต้องทรงสร้างพระบารมีมาตั้งแต่แรกเริ่ม จนกว่าจะได้ตรัสรู้นั้น นับเป็นเวลารวมทั้งสิ้นได้นานถึง ๔๐ อสงไขย กับเศษอีกหนึ่งแสนมหากัป และมีข้อที่ควรทราบไว้ในที่นี้อีกอย่างหนึ่ง ก็คือว่า

สมเด็จพระพุทธเจ้าสัทธาธิกะนี้ ในขณะที่ทรงได้รับลัทธยาเทศคำพยากรณ์จากสมเด็จพระพุทธเจ้าว่า "จักได้ตรัสเป็นองค์พระพุทธเจ้าอย่างแน่นอน" เป็นครั้งแรกนั้น หากพระองค์ท่านจะกลับใจไม่ปรารถนาเป็นพระพุทธเจ้า ไม่เอาพระสัมมาสัมโพธิญาณอันประเสริฐสุด รีบรุดประสงค์สาวกโพธิญาณ กล่าวคือปรารถนาเป็นพระสาวกของพระพุทธเจ้าพระองค์ที่พยากรณ์ตนแล้วตั้งใจ สดับพระสัทธรรมเทศนาในขณะนั้น แต่พอสมเด็จพระพุทธองค์เจ้าทรงเทศนาบาทพระคาถาที่ ๔ ยังมิทันที่จะจบลง ก็จะได้สำเร็จเป็นพระอรหันตสาวก พร้อมกับปฏิสัมภิทาญาณทั้งหลายทันที ทั้งนี้ ก็เพราะมีพระบารมีญาณเต็มเปี่ยมอยู่ในขันธสันดานแล้ว

พระวิริยาธิกะพุทธเจ้า


สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าประเภทวิริยาธิกะพุทธเจ้านี้ พระองค์ทรงสร้างพระบารมีประเภทมีความเพียรแก่กล้า คือทรงมีพระวิริยะมากยิ่ง จึงต้องการสร้างพระบารมีมากมาย นับเป็นเวลาช้านานกว่าสมเด็จพระพุทธเจ้าประเภทอื่นทั้งหมด เมื่อจะนับเวลาที่จะสร้างพระบารมีมาตั้งแต่ต้นจนกระทั่งได้ตรัสพระปรมาภิเษก สัมโพธิญาณก้นับเป็นเวลายาวนาน ดังนี้
ก. เริ่มแรกแต่ทรงดำริในพระทัย ไปจนกว่าจะถึงเวลาออกโอษฐปรารถนาเป็นองค์สมเด็จพระพุทธเจ้านั้น ก็นับเป็นเวลานานถึง ๒๘ อสงไขย
ข. นับจำเดิมแต่ออกโอษฐ ปรารถนาเป็นสมเด็จพระพุทธเจ้าเป็นต้นไป กว่าจะได้ลัทธยาเทศคำพยากรณ์จากสมเด็จพระพุทธเจ้าพระองค์ใดพระองค์หนึ่ง ก็นับว่าเป็นเวลานานถึง ๓๖ อสงไขย
ค. นับจำเดิมแต่ได้รับลัทธยาเทศ คำพยากรณ์ครั้งแรกเป็นต้นไปกว่าจะได้ตรัสแก่พระปรมาภิเษกเป็นเอกองค์สมเด็จ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าในชาติสุดท้ายนั้น ก็นับเป็นเวลานานถึง ๑๖ อสงไขยกับเศษอีกหนึ่งแสนมหากัป
จึงเป็นอันว่า สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าประเภทวิริยาธิกะนี้ ต้องทรงสร้างพระบารมีตั้งแต่เริ่มแรกที่สุดจนกระทั่งได้ตรัสรู้นั้น นับเป็นเวลายาวนานรวมทั้งสิ้น ๘๐ อสงไขยกับเศษหนึ่งแสนมหากัปพอดี และมีข้อที่ควรทราบไว้ในที่นี้อีกอย่างหนี่งก็คือว่า

สมเด็จพระพุทธเจ้าวิริยาธิกะนี้ ในขณะที่จะทรงได้รับลัทธยาเทศคือ คำพยากรณ์จากสมเด็จพระพุทธเจ้าเป็นครั้งแรกนั้น หากพระองค์ท่านจะทรงกลับใจไม่ปรารถนาเป็นพระพุทธเจ้า คือ ไม่เอาพระสัมมาสัมโพธิญาณอันประเสริฐสุด รีบรุดเร่งประสงค์เพียงแค่สาวกโพธิญาณแล้วไซร้ ตั้งใจสดับพระสัทธรรมเทศนาในขณะนั้น ครั้นสดับอรรถาธิบายพระคาถา ๔ บาท ที่องค์สมเด็จพระบรมศาสดาจารย์ ทรงจำแนกแจกแจงอรรถออกโดยพิศดาร แต่เพียงจบลงเท่านั้น ก็จะพลันได้สำเร็จเป็นพระอรหันตสาวก พร้อมกับปฏิสัมภิทาญาณทั้งหลายทันที ทั้งนี้ก็เพราะมีพระบารมีญาณเต็มเปี่ยมอยู่ในขันธสันดานแล้ว จึงอาจสำเร็จเป็นพระอรหันต์และบรรลุถึงพระนิพพานในชาตินั้นได้

เรื่องอสงไขย


กาลเวลาที่นับเป็นจำนวนอสงไขยและเป็นจำนวนมหากัปที่ว่าเรื่อยมานั้น ถ้าทำไม่รู้ไม่ชี้ ฟังเรื่อยๆ ไปแต่เพียงผิวเผินก็ย่อมเป็นสักแต่ว่าอย่างนั้นเอง... คือ คล้ายๆ กะว่าพูดเพื่อให้เกิดความระรื่นหู ผู้ที่ไม่รู้อาจจะคิดด่วนสรุปความเอาเองง่ายๆ ตามประสาของผู้มีปัญญามักจะแล่นไปข้างหน้าว่า คงเป็นเวลาที่ไม่นานเท่าไหร่กระมัง? อย่าด่วนคิดเอาเองดังนั้น เพราะความจริงไม่ใช่ ด้วยว่า กาลเวลาที่นับเป็นอสงไขยและเป็นมหากัปนั้น มันเป็นเวลาที่ยาวนานนักหนา พึงทรงทราบอรรถาธิบายที่ท่านพรรณนาไว้ ดังต่อไปนี้

กาลเวลาที่เรียกว่า อสงไขย นั้น ท่านกำหนดเอากาลเวลาที่มากมายยาวนานเหลือที่จะนับจะประมาณได้ เพราะคำว่า อสงไขย แปลว่านับไม่ได้ คืออย่านับดีกว่า โดยมีคำอุปมาเปรียบเทียบไว้ว่า
ฝนตกใหญ่มโหฬารทั้งกลางวันกลางคืนเป็นเวลานานถึง ๓ ปีติดต่อกันมิได้หยุด มิได้ขาดสายเม็ดฝน จนน้ำฝนเจิ่งนองท่วมท้นเต็มขอบเขาจักรวาล อันมีระดับความสูงได้ ๘๔,๐๐๐ โยชน์ ทีนี้ ถ้าสามารถนับเม็ดฝน และหยาดแห่งเม็ดฝนที่กระจายเป็นฟองฝอยใหญ่น้อย ในขณะที่ฝนตกใหญ่ ๓ ปีติดต่อกันนั้น นับได้จำนวนเท่าใด อสงไขยหนึ่งเป็นจำนวนปีเท่ากับเม็ดฝนและหยาดแห่งเม็ดฝนที่นับได้นั้น
อุปมานี้เป็นอุปมากาลเวลาที่เรียกว่า อสงไขย ท่านทั้งหลายที่รู้สึกว่าเข้าใจยากในข้อความที่ว่ามานี้ ต้องอ่านทบทวนดูอีกทีแล้ว คงจะเข้าใจดีขึ้น และแล้วก็คงจะเห็นเองว่าเวลาที่อสงไขยๆ นั้น เป็นเวลานานหนักหนาเพียงไร

สมเด็จพระจอมมุนี สัมมาสัมพุทธเจ้าทั้งหลาย แต่ละพระองค์แต่ละประเภทต้องทรงสร้างพระบารมีมาจำนวนหลายๆ อสงไขย จึงนับได้ว่า พระองค์ต้องการมีน้ำพระทัยประกอบไปด้วยวิริยะอุตสาหะน่าสรรเสริญเป็นนักหนา ยิ่งกว่านั้น ยังยืดเวลาที่เป็นเศษนับเป็นแสนมหากัปอีกด้วย ก็เวลาที่นับเป็นกัปหรือมหากัปนี่ ก็หาใช่เวลาเล็กน้อยไม่ พึงทราบอรรถาธิบายในเรื่องมหากัป ดังต่อไปนี้

เรื่องมหากัป


ยังมีจอมบรรพตภูเขาใหญ่หนึ่ง ซึ่งตั้งตระหง่านเงื้อมทะมึนอยู่ เมื่อทำการวัดภูเขานั้นโดยรอบ ย่อมได้ปริมาณความกว้างใหญ่และส่วนสูงได้ ๑ โยชน์พอดี ทีนี้ พอถึงกำหนด ๑๐๐ ปี มีเทพยดาผู้วิเศษองค์หนึ่งมีหัตถ์ถือเอาผ้าทิพย์ซึ่งมีเนื้อละเอียดอ่อน ประดุจควันไฟลงาจากเบื้องสวรรค์เทวโลก ครั้นพอมาถึง ก็ลงมือเช็ดถูบนยอดภูเขาใหญ่ด้วยผ้าทิพย์นั้นหนหนึ่งแล้วกลับไปเสวยทิพย สมบัติอยู่ ณ วิมานอันแสนสุขแห่งตนบนเทวโลกตามเดิม พอครบกำหนด ๑๐๐ ปีอีกแล้วจึงถือเอาผ้าทิพย์มาเช็ดถูยอดภูเขานั้นอีกหนหนึ่ง เทพยดาผู้วิเศษนั้นเฝ้าเช็ดถูยอดภูผาตามวาระอยู่อย่างนี้เรื่อยไป ร้อยปีเช็ดถูทีหนึ่งๆ จนกระทั่งภูเขาใหญ่ที่สูงได้ ๑ โยชน์น้น สึกเกรียนเหี้ยนลงมาราบเป็นหน้ากลองเสมอพื้นดินแล้วเมื่อใด ตลอดเวลาเท่านั้นแหละจึงกำหนดได้ว่าเป็นหนึ่งมหากัป
อีกอุปมาหนึ่งว่า ยังมีกำแพงแห่งหนึ่ง ซึ่งใหญ่มหึมาเป็นสี่เหลี่ยมจตุรัส มีความกว้างและความลึกวัดได้ ๑ โยชน์พอดี ทีนี้ พอถึงกำหนด ๑๐๐ ปี ปรากฎมีเทพยดาองค์หนึ่งมีหัตถ์ถือเอาเมล็ดพันธุ์ผักกาดมาหยอดใส่กำแพงสี่ เหลี่ยมที่ว่านี้เมล็ดหนึ่ง แล้วกลับไปเสวยทิพยสมบัติอยู่ ณ วิมานอันแสนสุขแห่งตนบนเทวโลก ครั้นครบกำหนด ๑๐๐ ปีอีกแล้ว จึงนำเอาเมล็ดพันธุ์ผผักกาดมาใส่เพิ่มเติม ลงมาในกำแพงสี่เหลี่ยมนั้นอีกเมล็ดหนึ่ง แต่เทพยดาผู้วิเศษนั้น เฝ้าเวียนมาหยอดใส่เมล็ดพันธุ์ผักกาดด้วยอาการอย่างนี้ ร้อยปีหยอดใส่ลงไปเมล็ดหนึ่งๆ จนกระทั่งเมล็ดพันธุ์ผักกาดนั้น เต็มเสมอขอบปากกำแพงอันกว้างใหญ่ได้โยชน์หนึ่งนั้นแล้วเมื่อใด ตลอดเวลาเท่าที่อุปมาเปรียบเทียบมานี้ จึงจะกำหนดนับได้ว่าเป็นหนึ่งมหากัป
ตามที่กล่าวมานี้ เป็นการชี้ให้เห็นความยาวนานแห่งเวลาที่เรียกว่า มหากัป ด้วยการกล่าวอุปมา หากจะนับเป็นเวลาให้ทราบกันเป็นระยะๆ ก็พอจะมีทางนับได้ ดังต่อไปนี้

อันตรกัป


สมัยเริ่มแรกแต่ดึกดำบรรพ์นั้น บรรดามนุษย์คือว่าคนเรานี้ ไม่ใช่ว่าจะมีอายุน้อยนิดเดียว เกิดมาในโลกแต่เพียง ๗๐-๘๐ ปีมาแล้ว ก็ให้มีอันเป็นถึงแก่กาลกิริยาได้แก่ต้องตายไปตามๆ กันเป็นส่วนมาก ตามที่รู้เห็นกันในปัจจุบันทุกวันนี้ก็หามิได้เลย โดยที่แท้มนุษย์ในสมัยเริ่มแรกนั้น มีอายุยืนนานมากคือ มีอายุถึงอสงไขยปี

ก็จำนวนที่เรียกอสงไขยนั้น ก็คือจำนวนปีที่มีเลขหนึ่งขึ้นหน้าแล้วมีเลขศูนย์ตามหลังอีก ๑๔๐ เลขศูนย์ หรือจะว่าเป็นจำนวนที่นับด้วยตัวเลข ๑๔๐ หลักก็ได้ ถ้าอยากจะทราบว่ามันเป็นจำนวนเท่าใด? ได้ตัวเลขรูปร่างเป็นอย่างไร? จะลองทำดูก็ได้ คือ ตั้งเลข ๑ เข้าแล้วต่อเติมเลขศูนย์เข้าข้างท้ายต่อเติมไปให้ได้ ๑๔๐ เลขศูนย์ จำนวนเท่าที่ได้นั้นนับเป็นอสงไขยปี

อสงไขยปีนี้เอง เป็นอายุของมนุษย์เราโดยอนุมานในสมัยเริ่มแรก แล้วอายุอันมีจำนวนมากมายมหาศาลนั้นก็ค่อยๆ ลดลงมา โดยร้อยปีลดลงปีหนึ่งๆ ลดลงมาๆ (อาการที่อายุลดลงมานี้ พึงเห็นตัวอย่างเช่น ในสมัยที่สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าของเราทั้งหลาย ยังทรงพระชนม์ชีพอยู่นั้น อายุของมนุษย์มี ๑๐๐ ปีเป็นประมาณ ตั้งแต่สมัยพุทธกาลนั้น ตราบเท่ามาถึงปัจจุบันนี้ล่วงแล้วได้ ๒๕๐๐ กว่าพรรษา เอาเป็นว่า ๒๕๐๐ พรรษาก็แล้วกัน ในจำนวน ๒๕๐๐ นี้ หนึ่งร้อยปีหักออกเสียหนึ่งปี ก็คงเป็นหักออก ๒๕ ปี เมื่อ ๑๐๐ ปี หักออกเสีย ๒๕ ปี ก็คงเหลือ ๗๕ ปี จึงเป็นอันยุติได้ว่า อายุของมนุษย์เรา ในสมัยปัจจุบันนี้ประมาณ ๗๕ ปี เป็นเกณฑ์โดยมาก) อายุของมนุษย์ก็ค่อยๆ ลดลงด้วยอาการอย่างนี้จนกระทั่งเหลือเพียง ๑๐ ปี เมื่อเหลือเพียง ๑๐ ปีแล้ว ทีนี้ไม่ลดต่อไปอีกละ แต่จะเพิ่มขึ้นคือค่อยเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ร้อยปีเพิ่มขึ้นปีหนึ่ง ๆ เช่นเดียวกับตอนที่ลดลงมานั่นเอง เพิ่มขึ้นๆ เรื่อยไม่หยุดยั้ง จนกระทั่งมนุษย์มีอายุยืนนานถึงอสงไขยปีอีกตามเดิม เวลาหนึ่งรอบอสงไขยนี้ เรียกว่าเป็นหนึ่งอันตรกัป
หัวข้อ: Re: มุนีนารถทีปนี การตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า โดย พระพรหมโมลี วิลาศ ญาณวโร
เริ่มหัวข้อโดย: Wisdom ที่ กุมภาพันธ์ 21, 2012, 11:58:23 AM
อสงไขยกัป


เมื่อนับจำนวนอันตรกัปที่กล่าวมาแล้วนั้น จนครบ ๖๔ อันตรกัปแล้ว จึงเรียกว่าเป็นหนึ่งอสงไขยกัป
ก็อสงไขยกัปนี้ มีอยู่ ๔ อสงไขยกัปด้วยกัน โดยแบ่งเป็นตอนๆ ดังนี้
๑. สังวัฏฏอสงไขยกัป... เป็นอสงไขยกัปปรากฎในตอนที่โลกถูกทำลาย ซึ่งได้แก่คำว่า สงวฏฏตีติ สงวฏโฏ = กัปที่กำลังพินาศอยู่ เรียกว่าสังวัฏฏอสงไขยกัป
๒. สังวัฏฏฐายีอสงไขยกัป...เป็นอสงไขยกัปปรากฎในตอนที่โลกถูกทำลายเสร็จเรียบ ร้อยแล้ว ซึ่งได้แก่คำว่า สงวฏโฏ หุตวา ติฏฐตีติ สงวฏฏฐยี = กัปที่มีแต่ความพินาศตั้งอยู่เรียกชื่อว่า สังวัฏฏฐายิอสงไขยกัป
๓. วิวัฏกอสงไขยกัป... เป็นอสงไขยกัป ปรากฎในตอนที่โลกกำลังจะเริ่มพัฒนาเข้าสู่สภาวะปกติ ซึ่งได้แก่คำว่า วิวฏฏตีติ วิวฏโฏ = กัปที่กำลังเริ่มเจริญขึ้น เรียกชื่อว่า วิวัฏฏอสงไขยกัป
๔. วิวัฏฏฐายีอสงไขยกัป... เป็นอสงไขยกัปปรากฎในตอนที่โลกเจริญขึ้น พัฒนาเรียบร้อยเป็นปกติตามเดิมแล้ว ซึ่งได้แก่คำว่า วิวฏโฏ หุตฺวา ติฏฐตีติ วิวฏฏฐายี = กัปที่เจริญขึ้นพร้อมแล้วทุกอย่างตั้งอยู่ตามปกติ เรียกชื่อ่า วิวัฏฏฐายีอสงไขยกัป
มีข้อที่ควรทราบไว้ในที่นี้ ก็คือว่า สัตว์โลกทั้งหลายเช่น มนุษย์แลเดียรฉานเป็นต้น จะมีชีวิตอยู่ในโลกนี้ได้ก็เฉพาะตอนอสงไขยกัปสุดท้าย คือ วิวัฏฏฐายีอสงไขยกัปเท่านั้น ส่วนในตอน ๓ อสงไขยกัปข้างต้น ไม่มีสิ่งมีชีวิตอาศัยอยู่ในโลกนี้เลย เป็นตอนที่โลกกำลังถูกทำลายพังพินาศและผลแห่งการทำลายก็ยังคุกรุ่นอยู่ มาเป็นปกติเอาก็เมื่อตอนอสงไขยกัปสุดท้ายนี่เอง

อสงไขยกัปหนึ่งๆ นั้น นับเป็นเวลานานมาก ดังกล่าวแล้ว คือ
๑. สังวัฏฏอสงไขยกัป นานถึง ๖๔ อันตรกัป
๒. สังวัฏฏฐายีอสงไขยกัป นานถึง ๖๔ อันตรกัป
๓. วิวัฏฏอสงไขยกัป นานถึง ๖๔ อันตรกัป
๔. วิวัฏฐายีอสงไขยกัป นานถึง ๖๔ อันตรกัป
รวม ๕ อสงไขยกัป ก็เป็น ๒๕๖ อันตรกัป

มหากัป
เมื่อนับจำนวนทั้ง ๔ อสงไขยกัป หรือ ๒๕๖ อันตรกัป ตามที่กล่าวมาแล้วจนครบ จึงเป็นหนึ่งมหากัป

ฉะนั้น กาลเวลาที่เรียกชื่อว่า มหากัป นี้จึงเป็นระยะเวลาที่ยาวนานนักหนา ตามที่กล่าวมานี้ รู้สึกว่าจะฟังยากอยู่สักหน่อย จึงขอสรุปความซ้ำ เพื่อให้จำได้ง่ายอีกทีหนึ่ง ดังนี้
๑ รอบอสงไขยปี เป็น ๑ อันตรกัป
๖๔ อันตรกัป เป็น ๑ อสงไขยกัป
๔ อสงไขยกัป เป็น ๑ มหากัป
กาลเวลาที่นับเป็นมหากัป เป็นอสงไขย หวังว่าคงจะเป็นที่เข้าใจกันบ้างแล้ว ทีนี้ เราจะหวนกลับพูดกันเรื่องเดิม คือการสร้างพระบารมีเพื่อพระปรมาภิเษกแห่งเอกองค์พระจอมมุนีชินสีห์เจ้าทั้ง ปวงกันต่อไป ได้กล่าวไว้แล้วว่า สมัยพระจอมมุนีสัมมาสัมพุทธเจ้าทั้งปวงนั้น ต้องทรงสร้างพระบารมีตั้งแต่เริ่มแรกจนกระทั่งได้ตรัสรู้นับเป็นเวลานานตาม ประเภทของพระพุทธเจ้า คือ

๑. สมเด็จพระพุทธเจ้าประเภทปัญญาธิกะ ต้องทรงสร้างพระบารมีรวมทั้งหมดเป็นเวลา ๒๐ อสงไขย กับเศษเวลาอีกหนึ่งแสนมหากัป
๒. สมเด็จพระพุทธเจ้าประเภทสัทธาธิกะ ต้องทรงสร้างพระบารมีรวมทั้งหมดเป็นเวลา ๔๐ อสงไขย กับเศษเวลาอีกหนึ่งแสนมหากัป
๓. สมเด็จพระพุทธเจ้าประเภทวิริยาธิกะ ต้องทรงสร้างพระบารมีรวมทั้งหมดเป็นเวลา ๘๐ อสงไขย กับเศษเวลาอีกหนึ่งแสนมหากัป

บัดนี้ ขอให้ท่านผู้มีปัญญาทั้งหลายจงใคร่ครวญพิจารณาดูเถิดว่า สมเด็จพระพุทธเจ้าแต่ละพระองค์กว่าจะได้ทรงมีโอกาสเสด็จมาอุบัติตรัสในโลก นี้ ต้องทรงสร้างสมอบรมพระบารมีมานานนักหนาเพียงใด ถ้าจะว่าสร้างพระบารมีเพื่อปรมาภิเษกสัมโพธิญาณ เป็นการทำงานชนิดหนึ่งแล้ว ก็ต้องนับว่าเป็นการทำงานที่ต้องใช้ระยะยาวนานที่สุด ซึ่งไม่มีงานอื่นใดในโลกจะมาเทียบเทียมได้ และผู้ที่จะทำงานนี้ได้นั้นก็ต้องเป็นท่านผู้มีใจเพชรเด็ดขาดขนาดมหา วีรบุรุษ จึงจะสามารถมีความอดทนทำงานใหญ่ ซึ่งต้องใช้เวลานับชาติที่เกิดไม่ถ้วนนี้ ให้สำเร็จลุล่วงไปได้

และมีกฎตายตัวอยู่ว่า สมเด็จพระบรมโพธิสัตว์ผู้ปรารถนาเป็นเอกองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านัน หากว่าพระองค์ท่านยังสร้างพระบารมีไม่ครบกำหนด คือยังไม่ถึง ๒๐ อสงไขยแสนมหากัปก็ดี ยังไม่ถึง ๔๐ อสงไขยแสนมหากัปก็ดี และยังไม่ถึง ๘๐ อสงไขยแสนมหากัปก็ดี ตามประเภทการสร้างพระบารมีแห่งพระพุทธเจ้าแล้ว ย่อมจะไม่มีโอกาสได้ตรัสรู้ก่อนกำหนดเวลาเหล่านี้เลยเป็นอันขาด ถึงแม้จะสามารถสร้างพระบารมี เช่น ให้ทานกันอย่างขนานใหญ่ดุจพระเวสสันดรทุกวันก็ดี หรือจะบำเพ็ญพระบารมีอันยิ่งใหญ่อื่นๆ เป็นนักหนาก็ดี การที่จะได้ตรัสรู้เป็นองค์สมเด็จพระพุทธเจ้าเร็ว ๆ ก่อนกาลกำหนดที่กล่าวมาแล้วนั้น ย่อมเป็นไปไม่ได้อย่างเด็ดขาด เพราะเหตุว่า วาสนาบารมีและปัญญาของพระองค์ ยังไม่ถึงซึ่งความบริบูรณ์และแก่กล้า

ถ้าจะเปรียบ ก็มีอุปมาดุจข้าวกล้าที่ชาวนาปลูกดำลงในนา ตามธรรมดากว่าจะออกเป็นเมล็ด สำเร็จเป็นรวงทองสุกเหลืองพอที่จะเก็บเกี่ยวได้ ก็ต้องใช้เวลา ๔-๕ เดือน ถ้ายังไม่ถึงกำหนดนี้ ต่อให้ชาวนาหมั่นพรวนดินวันละแสนหน หมั่นรดน้ำวันละแสนครั้ง ด้วยตั้งใจว่าจะให้ข้าวกล้านั้น มันออกเป็นเมล็ดเป็นรวงเร็วกว่ากำหนดเวลาตามธรรมชาติแห่งข้าวกล้านั้น ย่อมจะไม่มีวันสำเร็จได้ อุปมาข้อนี้ฉันใด สมเด็จพระบรมโพธิสัตว์เจ้าทั้งหลาย ซึ่งทรงสร้างพระบารมีมุ่งหมายพระปรมาภิเษกสัมโพธิญาณนั้น การที่จะได้สำเร็จเป็นพระพุทธเจ้าก่อนกำหนด คือยังไม่ถึงกาลแก่กล้าแห่งวาสนาบารมีย่อมจะเป็นไปไม่ได้เช่นเดียวกัน ฉะนั้น เราท่านทั้งหลายที่ได้มีโชคดี เกิดมาในระยะที่โลกยังมีพระศาสนาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งเป็นผู้ยิ่งด้วยพระบารมี ควรจะมีจิตยินดีและเลื่อมใสในพระคุณของพระองค์ผู้ทรงประกอบด้วยพระวิริยะ อุตสาหะ ซึ่งไม่มีผู้ใดในโลกจะเทียมเหมือน

ธรรมสโมธาน

นอกจากจะทรงมีพระวิริยะอุตสาหะเป็นยอดเยี่ยมในการสร้างสมอบรมพระบารมีเป็น เวลานานนักหนา นับเวลาเป็นจำนวนอสงไขย เป็นจำนวนมหากัปดังกล่าวแล้ว สมเด็จพระบรมโพธิสัตว์เจ้าทั้งปวงผู้ปรารถนาจะได้ตรัสเป็นเององค์สมเด็จพระ พุทธเจ้าในกาลอนาคตนั้น ย่อมต้องปรารถนาธรรมสำคัญหมวดหนึ่ง ซึ่งมีชื่อว่า ธรรมสโมธาน เสียก่อน จึงจักได้สำเร็จความปรารถนาเป็นพระพุทธเจ้าได้ ถ้าไม่มีธรรมสโมธานนี้แล้ว ก็ไม่แน่นักว่าจักได้สำเร็จเป็นพระพุทธเจ้า กล่าวอย่างนี้อาจจะทำให้งงงันไปก็ได้ จึงจะขอขยายความต่อไปดังนี้

ท่านที่จักได้ตรัสเป็นสมเด็จพระพุทธเจ้านั้น เพียงแต่ตั้งใจว่าต้องเป็นพระพุทธเจ้าให้ได้ ก็เป็นเวลาหลายอสงไขยแล้วจึงจะมีโอกาสได้ออกโอษฐเปล่งวาจาเป็นคำพูดว่า จักเป็นพระพุทธเจ้าให้ได้ ตอนนี้ก็ต้องใช้เวลาหลายอสงไขยอีกเหมือนกัน ถึงแม้จะมีน้ำใจเด็ดเดี่ยวปรารถนามาเป็นเวลานานเช่นนี้ก็ยังเป็นอนิยต โพธิสัตว์ คือเป็นพระโพธิสัตว์ที่ยังไม่แน่นักว่าจักได้เป็นสมเด็จพระพุทธเจ้า ต่อเมื่อใด ได้บรรลุถึงโอกาสสำคัญ คือได้เกิดมาเป็นมนุษย์พบสมเด็จพระพุทธเจ้าพระองค์ใดพระองค์หนึ่งแล้ว มีโอกาสได้รับลัทธยาเทศคำพยากรณ์จากสำนักสมเด็จพระพุทธองค์เจ้านั่นแหละ จึงจะเป็นนิยตโพธิสัตว์ คือเป็นพระโพธิสัตว์ที่เที่ยงแท้แน่นอนว่า จักได้เป็นสมเด็จพระพุทธเจ้า

คราวนี้ สมเด็จพระจอมมุนีสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ผู้จะทรงพยากรณ์ใครผู้ใดผู้หนึ่ง ว่า "จักได้เป็นพระพุทธเจ้าในอนาคตกาล" นั่นก่อนที่จะทรงพยากรณ์มิใช่วาจะไม่ทรงเลือกโดยทรงนึกจะพยากรณ์ก็ทรง พยากรณ์ไปอย่างนั้นเอง ไม่ใช่อย่างนั้น โดยที่แท้ พระองค์ผู้ทรงไว้ซึ่งพระสัพพัญญูตญาณย่อมต้องทรงเลือกดูก่อน ถ้าทรงเห็นว่า ผู้นั้นมีวาสนาบารมีไม่เพียงพอและไม่ประกอบด้วยธรรมสโมธาน พระองค์จะไม่ทรงพยากรณ์อย่างเด็ดขาด และผู้นั้นก็ยังได้ชื่อว่าเป็นอนิยตโพธิสัตว์ คือเป็นพระโพธิสัตว์ที่ยังไม่แน่นอนอยู่นั่นเอง หากทรงเห็นว่า ผู้นั้นได้สร้างสมบ่มบารมีมาในอดีตชาติ เพื่อพระปรมาภิเษกสัมโพธิญาณอย่างเพียงพอ และในขณะนั้น ก็เป็นผู้เพียบพร้อมไปด้วยธรรมสโมธานแล้ว พระองค์จึงจักทรงพยากรณ์ และเมื่อได้รับพยากรณ์แล้ว ผู้นั้นก็ได้ชื่อว่าเป็น นิยตโพธิสัตว์ คือเป็นพระโพธิสัตว์ผู้เที่ยงแท้ที่จักได้ตรัสเป็นพระพุทธเจ้า

เท่าที่กล่าวมานี้ ท่านผู้มีปัญญาทั้งหลายก็คงจะเห็นแล้วว่าธรรมสโมธานย่อมเป็นธรรมะสุดสำคัญ ที่เป็นเหตุให้ได้รับลัทธยาเทศน์คำพยากรณ์จากสำนักสมเด็จพระพุทธเจ้า เพื่อให้ได้เป็นนิยตโพธิสัตว์นั่นเอง ฉะนั้น ธรรมสโมธานนี้ จึงเป็นธรรมะจำเป็นอย่างยิ่งที่พระโพธิสัตว์เจ้าทั้งหลายต้องตั้งใจปรารถนา ก่อนอะไรอื่นทั้งหมด เมื่อความปรารถนาในธรรมสโมธานนี้สำเร็จแล้ว พระพุทธภูมิ กล่าวคือ ความปรารถนาเป็นพระพุทธเจ้าก็จักสำเร็จได้ในภายหลังอย่างไม่ต้องสงส้ย ก็ธรรมสโมธานนี้ มีอยู่ ๘ ประการ ด้วยกันคือ ๑. มนุสฺสตฺตํ ๒.ลิงฺคสมฺปตฺติ ๓. เหตุ ๔. สตฺถุทสฺสนํ ๕. ปพฺพชฺชา ๖. คุณสมฺปัตฺติ ๗. อธิการโร ๘. ฉนฺทตา  ซึ่งมีอรรถาธิบายตามลำดับ ดังต่อไปนี้

๑. มนุสฺสตฺตํ... ท่านที่ปรารถนาซึ่งพระพุทธภูมิ หวังจักได้สำเร็จเป็นองค์พระพุทธเจ้าในอนาคตกาลนั้น ในเบื้องต้นจำต้องปรารถนาได้เกิดเป็น มนุษย์เสียก่อน เพราะการที่จะได้รับลัทธยาเทศคำพยากรณ์จากสำนักสมเด็จพระพุทธเจ้านั้น จะได้ก็แต่เฉพาะในชาติที่เป็นมนุษย์เท่านั้น หากว่าอุบัติเกิดเป็นองค์อินทร์ องค์พรหม หรือเป็นเทพยดา เป็นนาค เป็นครุฑ เป็นอสูร หรือเป็นผู้มีฤทธิ์วิเศษอื่นใด ถึงแม้จะทรงไว้ซึ่งศักดามหานุภาพมากมายสักเพียงใดก็ดี การที่ว่าพระพุทธองค์เจ้าจะทรงพยากรณ์นั้น เป็นอันไม่มี เพราะองค์สมเด็จพระชินสีห์จะทรงพยากรณ์ก็แต่ท่านที่เป็นมนุษยชาติเท่านั้น นี่เป็นธรรมสโมธานประการที่หนึ่ง

๒. ลิงฺคสมฺปตฺติ... ท่านที่ปรารถนาซึ่งพระพุทธภูมินั้นในขั้นแรกจำต้องปรารถนาความถึงพร้อมด้วย เพศ คือปรารถนาเป็นบุรุษเพศเสียก่อน เพราะการที่จะมีโอกาสได้รับลัทธยาเทศคำพยากรณ์นั้น จะได้ก็แต่เฉพาะชาติที่เป็นบุรุษเพศเท่านั้น หากว่าเป็นสตรีเพศก็ดี เป็นบัณเฑาะว์ กะเทยก็ดี เป็นอุภโตพยัญชนะก็ดี ผู้ที่มีลิงควิบัติเหล่านี้ การที่ว่าจะได้รับพยากรณ์จากสมเด็จพระพุทธองค์เจ้าเป็นอันไม่มี เหตุฉะนี้ พระโพธิสัตว์ทั้งหลาย ผู้มีจิตมุ่งหมายในพระโพธิญาณ เมื่อบำเพ็ญกุศลมีการให้ทานรักษาศีลเป็นต้น ท่านย่อมปรารถนาความเป็นบุรุษก่อนแล้วจึงค่อยปรารถนาซึ่งพระพุทธภูมิต่อภาย หลัง นี่เป็นสโมธานประการที่สอง

๓. เหตุ... ท่านที่ปรารถนาซึ่งพระพุทธภูมิ และจักมีโอกาสได้รับลัทธยาเทศนั้น ต้องเป็นผู้สมบูรณ์ด้วยเหตุ คือมีอุปนิสสัยปัจจัยแห่งพระอรหันต์รุ่งเรืองอยู่ในขันธสันดาน หากจะกลับใจไม่ปรารถนาพระสัมโพธิญาณ ต้องการเพียงแค่สาวกโพธิญาณแล้วไซร้ แต่พอตั้งใจสดับพระสัทธรรมเทศนาที่พระบรมศาสดาจารย์เจ้าทรงแสดงในขณะนั้นก็ จักพลันได้สำเร็จมรรคผลเป็น พระอรหันตสาวก พร้อมทั้งปฏิสัมภิทาญาณทั้ง ๔ ทันที ทั้งนี้ก็เพราะว่าเป็นผู้มีเหตุ กล่าวคืออุปนิสัยปัจจัยแห่งอรหันต์แก่กล้ารุ่งเรืองอยู่ในขันธสันดานแล้ว ต้องเป็นผู้ถึงพร้อมด้วยเหตุเช่นนี้แล จึงจักได้รับลัทธยาเทศ หากว่าเป็นคนธรรมดาสามัญยังไม่ไพบูลย์ด้วยเหตุกล่าว คือ อรหัตตูปนิสัยนี้แล้ว สมเด็จพระพุทธองค์เจ้าท่านก็หาทรงพยากรณ์ไม่ นี่เป็นธรรมสโมธานประการที่สาม

๔. สตฺถุทสฺสนํ... ท่านที่ปรารถนาซึ่งพระพุทธภูมิและจักมีโอกาสได้รับลัทธยาเทศนั้น ต้องเป็นมนุษย์ผู้มีโชคดีมหาศาลได้พานพบองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า คือมีโอกาสได้บำเพ็ญกองการกุศลเป็นต้นว่า ท่านรักษาศีลในสำนักของพระพุทธองค์ท่านแล้ว และได้กระทำปณิธานตั้งความปรารถนาเฉพาะพระพักตร์ของสมเด็จพระสรรเพชญสัมพุทธ เจ้า จึงจะสำเร็จสมความมุ่งมาดปรารถนา เพราะว่าการได้รับลัทธยาเทศคำพยากรณ์จักมีขึ้นได้ ก็แต่เฉพาะอาศัยพระพุทธฎีกาที่หลั่งออกมาจากพระโอษฐของพระพุทธเจ้าเท่านั้น ผู้อื่นใดเล่าจักมีปัญญาลึกล้ำให้คำพยากรณ์ได้ ด้วยเหตุนี้ หากได้พบแต่พระปัจเจกพุทธเจ้าก็ดี ได้พบแต่พระอรหันตขีณาสพเจ้าก็ดี ได้พบแต่พระมหาเจดีย์สถาน หรือโพธิพฤกษ์อื่นใดก็ดี ถึงแม้จะมีน้ำใจเลื่อมใสประกอบกองการกุศลเป็นหนักหนา แล้วจึงทำความปรารถนาซึ่งพระพุทธภูมิ ความปรารถนานั้นจักได้อย่างเที่ยงแท้แน่นอนนั้นยังไม่สำเร็จก่อน เพราะยังไม่ได้รับลัทธยาเทศคำพยากรณ์จากสำนักสมเด็จพระพุทธเจ้าโดยตรง นี่เป็นธรรมสโมธานประการที่สี่

๕. ปพฺพชฺชา... ท่านที่ปรารถนาซึ่งพระพุทธภูมิและจักมีโอกาสได้รับลัทธยาเทศนั้น ต้องเป็นบรรพชิต คือเป็นนักบวช เป็นสมณะพระภิกษุในพระบวรพุทธศาสนา หากว่ามิได้บรรพชิตอุปสมบทในพระบวรพุทธศาสนา ก็ต้องเป็นโยคี ฤาษี ดาบส หรือปริพาชก ซึ่งเป็นนักบวชภายนอกพระพุทธศาสนา แต่ว่ามีลัทธิเป็นกรรมวาที กิริยาวาที คือถือว่า บุญมี บาปมี ทำบุญได้บุญ ทำบาปได้บาป ดำรงเพศเป็นบรรพชิตเช่นนี้แล้ว จึงจะได้รับลัทธยาเทศจากสำนักแห่งพระพุทธองค์เจ้า หากว่าดำรงเพศอยู่ในฆราวาสวิสัย เป็นคฤหัสถ์ผู้ครองเรือนก็ดี แม้จะมีความปรารถนาซึ่งพระพุทธภูมิ สมเด็จพระพุทธองค์เจ้าก็หาทรงพยากรณ์ไม่ นี่เป็นธรรมสโมธาน ประการที่ห้า

๖. คุณสมฺปตฺติ ... ท่านที่ปรารถนาซึ่งพระพุทธภูมิ และจักมีโอกาสได้รับลัทธยาเทศนั้น ต้องเป็นผู้มีคุณสมบัติวิเศษบริบูรณ์ไปด้วยคุณ คือ อภิญญา และฌานสมาบัติ อันเชี่ยวชาญต้องเป็นผู้บรรลุถึงคุณวิเศษเกินคนธรรมดาสามัญอย่างนี้ จึงจักได้รับลัทธยาเทศพยากรณ์จากสำนักแห่งพระพุทธองค์เจ้า หากว่าไม่มีคุณวิเศษ คือ อภิญญาและฌานสมาบัติอยู่ในสันดานแม้จะดำรงเพศเป็นบรรพชิตนักบวชอยู่แล้วก็ดี สมเด็จพระจอมมุนีสัมมาสัมพุทธเจ้า ก็หาทรงพยากรณ์ไม่ นี่เป็นธรรมสโมธานประการที่หก

๗. อธิกาโร... ท่านทีปรารถนาซึ่งพระพุทธภูมิและจักมีโอกาสได้รับลัทธยาเทศนั้น ต้องเป็นผู้ได้เคยทำอธิการมาแล้วหมายความว่า ได้เคยบำเพ็ญมหาบริจาค กล่าวคือการเสียสละ ครั้งยิ่งใหญ่ ให้ชีวิตของตนเองเป็นทานในอดีตชาติ ซึ่งเรียกว่า อธิการ มาแล้ว หากท่านปราศจากอธิการ คือไม่เคยเอาชีวิตเข้าออกแลกกับพระสัมโพธิญาณ ไม่เคยบำเพ็ญทานปรมัตถ์มหาบริจาคมาก่อน ถึงแม้จะทรงเพศประเสริฐล้ำเลิศเพียงใด ก็หาทรงพยากรณ์ไม่ ต่อเมื่อพระองค์ได้ทรงทราบด้วยพระสัพพัญญุตญาณว่า ผู้นั้นได้เคยกระทำอธิการแต่ปางก่อนจึงจักทรงพยากรณ์ เพราะพระปรมาภิเษกสัมโพธิญาณนั้นจะสำเร็จได้ต้องอาศัยอธิการการกระทำอันยิ่ง ใหญ่ ขนาดต้องพลีชีวิตเลือดเนื้อเข้าแลกเอา นี่เป็นธรรมสโมธานประการที่เจ็ด

๘. ฉนฺทตา... ท่านที่ปรารถนาซึ่งพระพุทธภูมิและจักได้มีโอกาสได้รับลัทธยาเทศนั้น ต้องเป็นผู้มีน้ำใจประกอบด้วย ฉันทะ คือมีความรักความพอใจในพระพุทธภูมิเป็นกำลัง มิได้ย่อท้อถอยในอุปสรรค ไม่ว่าจะใหญ่เล็กชนิดใดทั้งสิ้น ซึ่งในกรณีนี้ หากจะมีผู้ถามพระโพธิสัตว์ผู้ปรารถนาพระพุทธภูมินั้นว่า

"ดูกรท่าน! การที่ท่านปรารถนาซึ่งพระพุทธภูมิอันประเสริฐสุดนี้ ท่านยังจะมีน้ำใจกล้าแข็งสามารถทนทุกข์ในนรกได้ตลอด ๔ อสงไขย ๑ แสนมหากัปได้ หรือว่าหามิได้"

เมื่อมีผู้มาสำทับถามเอาด้วยภัยในนรกเห็นปานฉะนี้ ท่านที่เป็นพระโพธิสัตว์ปรารถนาพระพุทธภูมินั้น ย่อมจะไม่มีความย่อท้อ อาจรับปากเอาด้วยความเต็มใจเป็นอย่างยิ่งว่า

"อาตมานี่แหละ จะสู้อุตส่าห์ทนทุกข์ในนรกอันน่ากลัวนักหนา ไปให้ได้ตลอดเวลาอันยาวนานตามที่ว่ามานั่นเพื่อแลกเอากับพระปรมาภิเษก สัมโพธิญาณด้วยใจสมัครให้จงได้"

ในกรณีนี้ หากจะมีผู้ใดใครผู้หนึ่ง ซึ่งใคร่จะสอบถามถึงน้ำใจที่รักปรารถนาอย่างแรงกล้าในพระโพธิญาณ กับพระโพธิสัตว์เจ้าอีกต่อไปด้วยอุปมาปัญหาว่า

"อันตัวท่าน ซึ่งปรารถนาพระพุทธภูมินั้น ท่านยังจะสามารถเดินบุกเข้าไปในป่าไม้ไผ่อันแน่นหนาไปด้วยเรียวหนามที่คม กล้า เป็นป่าไผ่ใหญ่เต็มไปหมดตลอดทั้งจักรวาลโลกธาตุนี้ ซึ่งมีความกว้างใหญ่ วัดได้ไกลถึงสิบสองแสนสามพันสี่ร้อยห้าสิบโยชน์ ตัวท่านจะสามารถเหยียบย่ำบุกฝ่าขวากหนามไปไกลให้ถึงที่สุดตามกำหนดนี้ เพื่อจะความเอาพระโพธิญาณมาไว้ในเงื้อมมือแห่งตนได้ฤา?"

และว่า

"อันตัวท่าน ซึ่งปรารถนาพระพุทธภูมินั้น ท่านยังจะสามารถเดินตลุยด้วยเท้าเปล่า ไปในกองถ่านเพลิงอันมีเปลวไฟรุ่งโรจน์โชตนาการ ซึ่งเต็มไปในห้วงจักรวาลโลกธาตุนี้ได้ฤา?"

พระโพธิสัตว์เจ้า ผุ้มีน้ำใจประกอบไปด้วยฉันทะ ความใคร่พอใจทั้งมีความปรารถนาอย่างแรงกล้า ในพระปรมาภิเษก สัมโพธิญาณ ย่อมจะมีใจองอาจกล้าหาญ ยอมรับเอาด้วยความยินดี เต็มใจเป็นนักหนาว่า

"อาตมาคือว่าตัวเรานี่แหละ จะสู้ก้มหน้าฟันฝ่าอุปสรรคอันตรายทั้งหลาย มิได้อาลัยแก่เลือดเนื้อร่างกายและชีวิตของตน จะสู้อดทนเดินบุกเหยียบย่ำไปให้ถึงที่สุด จะรุดหน้าก้าวไปคว้าเอาพระปรมาภิเษก สัมโพธิญาณด้วยใจรักให้จงได้"

ท่านผู้มีน้ำใจกอรปด้วยฉันทะอย่างแรงกล้า มีความรักความปรารถนาในพระโพธิญาณเป็นเบื้องหน้ามิได้หวาดผวากลัยภัยในนรก เป็นอาทิ เห็นปานฉะนี้แล้ว จึงจะปรารถนาซึ่งพระพุทธภูมิได้สำเร็จสมความปรารถนา หากว่าเป็นผู้มีปกติขลาดหวาดหวั่นไหว มีน้ำใจมิได้กล้าหาญ กลัวทุกข์ กลัวภัยและรักรูป รักกาย รักชีวิต มีจิตสันดานย่อท้ออยู่ การที่จะปรารถนาซึ่งพระพุทธภูมินั้น ย่อมจะสำเร็จลงมิได้อย่างแน่นอน และสมเด็จพระชินวรสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ทรงหาพยากรณ์ไม่ นี่เป็นธรรมสโมธานประการที่แปด
หัวข้อ: Re: มุนีนารถทีปนี การตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า โดย พระพรหมโมลี วิลาศ ญาณวโร
เริ่มหัวข้อโดย: Wisdom ที่ กุมภาพันธ์ 21, 2012, 11:59:49 AM
ธรรมสำคัญ ๘ ประการ ตามที่พรรณนามานี้ มีชื่อว่า ธรรมสโมธานที่เป็นเหตุให้ได้รับลัทธยาเทศคำพยากรณ์ จากสำนักแห่งองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ท่านผู้มีปัญญาทั้งหลาย ได้พิจารณาดูธรรมตามที่กล่าวมานี้แล้ว เป็นอย่างไรบ้างเล่า เป็นสิ่งที่ได้โดยยาก หรือว่าได้ง่ายๆ แน่นอนเป็นสิ่งที่ได้โดยไม่ง่ายเลย

ครั้นองค์สมเด็จพระจอมมุนีสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรวจดูด้วยพระสัพพัญญุตญาณ และทรงทราบว่า ผู้ที่ปรารถนาพระปรมาภิเษกสัมโพธิญาณนั้น พรั่งพร้อมไปด้วยธรรมสโมธานทั้ง ๘ ประการนี้ มิได้ขาดแต่สักข้อหนึ่งแล้ว องค์สมเด็จพระชินสีห์จึงจะทรงชี้พยากรณ์โดยนัยว่า ผู้นั้นจักได้ตรัสรู้เป็นองค์พระพุทธเจ้า ทรงว่าอย่างนั้น ในกัปอันเป็นอนาคตที่เท่านั้น ... ดังนี้เป็นต้น แล้วก็ทรงมีพระโอวาทอนุสาสน์ให้พยายามสร้างสมบ่มพระบารมีเพื่อพระปรมาภิเษก สัมโพธิญาณต่อไปอีก เมื่อได้รับลัทธยาเทศคำพยากรณ์จากสำนักแห่งพระพุทธองค์เจ้าอย่างนี้แล้ว พระโพธิสัตว์เจ้าผู้นั้นก็ได้นามว่า พระนิยตโพธิสัตว์จักอุบัติมาตรัสเป็นสมเด็จพระสรรเพชญพุทธเจ้าในโลกเรานี้ พระองค์หนึ่งในอนาคตกาลอย่างเที่ยงแท้แน่นอน

พระพุทธพากย์

ในกรณีนี้ หากจะมีปัญหาว่า พระบรมโพธิสัตว์ผู้ได้รับลัทธยาเทศคำพยากรณ์จากสมเด็จพระสรรเพชญสัมมา สัมพุทธเจ้าว่าเป็นนิยตโพธิสัตว์นั้น จักได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าในอนาคตอย่างเที่ยงแท้แน่นอน สมจริงตามคำพยากรณ์หรือ?

ปัญหาเรื่องนี้ เป็นข้อที่ไม่ควรคิดสงสัยให้เสียเวลา เพราะธรรมดาว่าพระพุทธพากย์กถา คือถ้อยคำของสมเด็จพระจอมมุนีชินสีห์สัมาสัมพุทธเจ้าเหล่านั้น ย่อมทรงไว้ซึ่งความมหัศจรรย์เป็นสุภาษิต จะได้วิปริตผิดแปลกพจนะกระแส แปรเป็นสองหรือสูญเปล่าไม่เป็นจริงนั้น ย่อมเป็นไปมิได้ พระองค์ดำรสอรรถคดีสิ่งใด สิ่งนั้นไซร้ย่อมปรากฎมีเป็นจริงแท้ ย่อมเป็นไปตามกระแสพระพุทธบรรหารไม่ผิดเพี้ยน และเที่ยงตรงนักหนา มีครุวนาดุจสรรพสิ่งทั้งหลายมีไม้ฆ้อนและก้อนดินเป็นอาทิ อันบุคคลขว้างขึ้นไปสุดแรงเกิดบนอากาศ เมื่อมันขึ้นไปสูงจนสุดกำลังที่ขว้างแล้ว ย่อมเที่ยงที่จะตกลงมายังพื้นปฐพี อุปมานี้ฉันใด พระพุทธพากย์คำพยากรณ์ของสมเด็จพระพุทธเจ้า ย่อมจะมีสภาวะเที่ยงแท้เป็นเหมือนเช่นนั้น

อีกประการหนึ่ง อันว่าฝูงสัตว์โลกทั้งปวงเช่นมนุษย์เรานี้ เมื่อมีกำเนิดเป็นรูปเป็นกายขึ้นมาแล้ว ก็เที่ยงแท้ที่จะถึงแก่มรณกรรม กล่าวคือจำต้องตายทั่วทุกรูปทุกนามเป็นแน่แท้อุปมานี้ฉันใด พระพุทธพากย์คำพยากรณ์ของสมเด็จพระพุทธเจ้า ย่อมจะมีสภาวะเที่ยงแท้แน่นอนเป็นเหมือนเช่นนั้น

อีกประการหนึ่ง อันว่าดวงทิพากรเทพมณฑล คือพระอาทิตย์นี้ย่อมเที่ยงแท้ที่จะอุทัยขึ้นเมื่อยามสิ้นราตรี ณ เพลาอรุณรุ่งเช้าเป็นแน่แท้ อุปมาข้อนี้ฉันใด พระพุทธพากย์คำพยากรณ์ของสมเด็จพระพุทธเจ้า ก็ย่อมจะมีสภาวะเที่ยงแท้แน่นอนเป็นเหมือนเช่นนั้น

อีกประการหนึ่ง อันว่าพญามฤคินทร์ไกรสรสีหราช เมื่อออกจากถ้ำที่สีหาไสยาสน์แล้ว ย่อมเที่ยงแท้ที่จะบันลือสุรสิงหนาทเป็นนิจเสมอ ไปทุกครั้งเป็นแน่แท้ อุปมาข้อนี้ฉันใด พระพุทธพากย์คำพยากรณ์ของสมเด็จพระพุทธเจ้า ก็ย่อมจะมีสภาวะเที่ยงแท้แน่นอนเป็นเหมือนเช่นนั้น

อีกประการหนึ่ง อันว่าชนผู้เป็นพาณิชพ่อค้า เมื่อทราบจะขนสินค้ามาวางร้านเรียงขายนั้น ต้องหาบหิ้วขนแบกซึ่งภาระสินค้าอันหนักของตนเพียบแปร้มาแต่บ้าน กว่าจะถึงร้านในตลาดก็แสนจะเหน็ดเหนื่อยนักหนา พอมาถึงร้านขายของร้านตนแล้ว ก็ย่อมรีบปลงภาระสิ่งของอันหนักนั้น ลงจากบ่าของตนเสียทันทีอย่างนี้เป็นธรรม เพราะถ้าไม่ปลงลงแล้ว จะยืนแบกยืนหาบให้หนักตนเองเหมือนกับเป็นบ้าอย่างนั้น อยู่ชั่วกัปชั่วกัลห์อย่างไรได้เล่า ก็อาการที่ภาระสิ่งของอันหนักซึ่งตั้งอยู่บนบ่านั้น ย่อมเที่ยงที่จะถูกพ่อค้าปลงมาจากบ่าอย่างแน่นอน โดยไม่ต้องสงสัย อุปมาข้อนี้ฉันใด พระพุทธพจน์พิสัยแห่งองค์สมเด็จพระสัพพัญญูผู้ประเสริฐ ที่ตรัสพยากรณ์ไว้ ย่อมเป็นสัจจะเป็นธรรมเที่ยงแท้แน่นอน เป็นเหมือนเช่นกัน

จึงเป็นอันสรุปความได้ว่า เมื่อพระบรมโพธิสัตว์เจ้า ได้รับลัทธยาเทศกล่าวคือคำพยากรณ์ จากสำนักขององค์สมเด็จพระสรรเพชญสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว ย่อมเป็นผู้เที่ยงแท้ที่จักได้ตรัสเป็นพระพุทธเจ้าพระองค์หนึ่งในอนาคตกาล สมจริงตามพระพุทธพากย์พยากรณ์อย่างแน่นอน

พระพุทธภูมิธรรม

สมเด็จพระนิยตบรมโพธิสัตว์ ซึ่งมีพระกฤดาอภินิหารเที่ยงแท้ที่จะตรัสแก่พระปรมาภิเษกสัมโพธิญาณเพราะได้ รับลัทธาเทศแล้วนี้ พระองค์ท่านย่อมมีน้ำใจสลดหดหู่จากบาปธรรม กล่าวคือกุศลกรรมทั้งปวง อุปมาดุจปีกไก่อันต้องเพลิง คือ ถ้าพระองค์ท่านพิจารณาเห็นว่า สิ่งใดเป็นบาปเป็นกรรมแล้ว ย่อมหดหู่เกรงกลัวยิ่งนัก จักได้มีจิตยินดีพอใจกระทำการสิ่งนั้น แม้แต่สักนิดหนึ่งเป็นไม่มีเลย อันน้ำใจแห่งพระนิยตโพธิสัตว์เจ้าทั้งหลายนั้น ย่อมเบิกบานมั่นคง ตรงซื่อแต่ก็จะทำกองการกุศลสิ่งเดียว และขณะเดียวจะกระทำกุศลนั้น ย่อมมีใจชื่นบานกว้างขวาง มีอุปมาดุจเพดานฝ้าที่บุคคลคลี่ออกยาวใหญ่จะได้มีน้ำใจแคบเล็กน้อยต่อการ บำเพ็ญกุศลแต่สักเพลาหนึ่งนั้นเป็นอันไม่มี

อนึ่งนับแต่กาลที่ได้รับลัทธาเทศเป็นต้น สมเด็จพระนิยตโพธิสัตว์เจ้าทั้งปวงย่อมยังเพิ่มพูนพระบารมีให้มากยิ่งขึ้น และมีน้ำใจกอรปไปด้วยพระพุทธภูมธรรม อันยิ่งใหญ่ ๔ ประการ คือ
๑. อุสฺสาโห... ได้แก่ทรงประกอบไปด้วยพระอุตสาหะ มีความเพียรอันสลักติดแน่นในดวงฤทัยอย่างมั่นคง

๒.อุมตฺโต...ได้แก่ทรงประกอบไปด้วยพระปัญญา ทรงมีพระปัญญาเชี่ยวชาญหาญกล้าเฉียบคมยิ่งนัก

๓.อวตฺถานํ...ได้แก่ทรงประกอบไปด้วยพระอธิษฐาน ทรงมีอธิษฐานอันมั่นคงมิได้หวั่นไหวคลอนแคลน

๔.หิตจริยา...ได้แก่ทรงประกอบไปด้วยพระเมตตา ทรงมีพระเมตตาเป็นนิตย์ เจริญจิตอยู่ด้วยเมตตาพรหมวิหารเป็นปกติ
สมเด็จพระนิยตโพธิสัตว์เจ้าทั้งปวง ย่อมสมาทานมั่นในพระพุทธภูมิธรรม สิริรวมเป็น ๔ ประการ นี้อยู่เนืองนิตย์ทุกพระชาติ ไม่ว่าจะทรงเสวยพระชาติถือกำเนิดเกิดเป็นอะไร และในชาติดี ก็ย่อมมีพระพุทธภูมิธรรมประจำในดวงหฤทัยเสมอ

อนึ่ง พระองค์ท่านผู้มีปกติเที่ยงแท้ที่จักได้ตรัสเป็นสมเด็จพระพุทธเจ้าใน อนาคตกาลนั้น ย่อมมีพระอัธยาศัยอันประเสริฐ คือประกอบไปด้วยกุศลธรรมสูงส่งดีงามอยู่เสมอ ทั้งนี้ก็เพื่อเป็นเครื่องช่วยหล่อเลี้ยงให้พระโพธิญาณแก่กล้าเพิ่มขึ้น เรื่อยๆ หากไม่มีพระอัธยาศัยที่ดีงามเป็นกุศลคอยสนับสนุนหล่อเลี้ยงแล้ว "พระโพธิญาณ" อันเป็นเครื่องให้ได้ตรัสรู้เป็นเอกอัครบุคคลกล่าวคือพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จักถึงความแก่กล้าและเต็มบริบูรณ์มิได้ ฉะนั้น พระอัธยาศัยเพื่อให้พระโพธิญาณจริงขึ้นนี้ จึงเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งที่พระบรมโพธิสัตว์เจ้าทั้งปวงจะต้องมีอยู่เป็น ประจำในขันธสันดาน ก็เรื่องอัธยาศัยแห่งพระโพธิสัตว์เจ้านี้ ขอให้ท่านผู้มีปัญญาทั้งหลายพึงทราบจากเนื้อความที่ออกจากโอษฐสมเด็จพระศรี อริยเมตไตรยซึ่งเป็นพระบรมโพธิสัตว์องค์หนึ่ง... ดังต่อไปนี้


อัธยาศัยโพธิสัตว์

กาลครั้งหนึ่ง ยังมีพระมหาเถรเจ้าผู้เป็นพระอรหันต์สาวกวิเศษประกอบด้วยพระปฏิสัมภิทาและ พระอภิญญา ทรงไว้ซึ่งพระอริยฤทธิ์ประเสริฐสุด ได้มีโอกาสขึ้นไปพบเทพบุตรสมเด็จพระศรีอริยเมตไตรยบรมโพธิสัตว์ ซึ่งขณะนี้สถิตเสวยสุขอยู่ ณ เบื้องสวรรค์ชั้นดุสิตภูมิ หลังจากสนทนากันเรื่องอื่นแล้ว พระมหาเถรเจ้าก็ถามขึ้นว่า

"ขอถวายพระพร พระองค์กระทำพระอัธยาศัยเพื่อที่จะให้พระโพธิญาณแก่กล้านั้น ทรงกระทำประการใด คือพระองค์ทรงมีพระอัธยาศัยเป็นอย่างไรบ้าง?"

สมเด็จพระศรีอริยเมตไตรยบรมโพธิสัตว์ ซึ่งมีพระพุทธบารมีเต็มเปี่ยมอยู่แล้ว และรอโอกาสที่จะมาอุบัติตรัสเป็นพระพุทธเจ้าในอนาคตกาล ครั้นถูกพระมหาเถรเจ้าถามดังนั้นจึงตรัสตอบว่า

"ข้าแต่พระคุณผู้เจริญ! โยมนี้เป็นพระโพธิสัตว์ตั้งอยู่ในอัธยาศัย ๖ ประการ คือ
๑. เนกขัมมัชฌาสัย... พอใจบวช รักเพศบรรพชิต นักบวชเป็นยิ่งนัก
๒. วิเวกัชฌาสัย... พอใจอยู่ในที่เงียบสงัดวิเวกผู้เดียวเป็นยิ่งนัก
๓. อโลภัชฌาสัย... พอใจบริจาคทาน และพอใจบุคคลผู้ไม่โลภไม่ตระหนี่เป็นยิ่งนัก
๔. อโทสัชฌาสัย... พอใจในความไม่โกรธเจริญเมตตาแก่สัตว์ทั้งปวงยิ่งนัก
๕. อโหสัชฌาสัย... พอใจในการที่จะพิจารณาสิ่งที่เป็นคุณแลโทษเสพสมาคมกับคนมีสติปัญญายิ่งนัก
๖. นิสสรณัชฌาสัย... พอใจที่จะยกตนออกจากภพ ไม่ยินดีในการเวียนว่ายตายเกิดในวัฏสงสาร ต้องประสงค์พระนิพพานเป็นยิ่งนัก
นี่แหละพระคุณผู้เจริย โยมนี้มีอัธยาศัย สิริรวมเป็น ๖ ประการติดอยู่ในขันธสันดานเป็นนิตย์ พระโพธิญาณของโยมจึงแก่กล้ายิ่งขึ้นทุกทีเพิ่มทวีขึ้นเรื่อยๆ จนถึงกาลบัดนี้"

พระมหาเถรเจ้าผู้ชาญฉลาด เมื่อได้โอกาสแล้วจึงไต่ถามต่อไปอีกว่า
"ขอถวายพระพร พระองค์ทรงสร้างพระบารมีมามากมาย เพราะมีพระทัยประกอบไปด้วยพระอัธยาศัย ๖ ประการ ซึ่งแสดงว่าไม่พอพระทัยในโลภะ โทสะ โมหะ และมีพระทัยรักใคร่ปรารถนาในบรรพชาเพศบรรพชิต มีจิตยินดีพอใจที่จะอยู่ในที่อันเงียบสงัดวิเวก อย่างนี้ก็เป็นการดี แต่อาตมภาพให้สงสัยแคลงใจอยู่เป็นหนักหนาว่าสวรรค์ชั้นดุสิตที่พระองค์เสวย สุขสำราญอยู่เวลานี้ เห็นทีจะเงียบสงัดดีอยู่ดอกกระมัง?"

"ข้าแต่พระคุณ! สวรรค์จะเงียบใยเล่า?" สมเด็จพระศรีอริยเมตไตรยเจ้าทรงตอบตามจริง "อันสวรรค์ชั้นดุสิตภูมิที่โยมอยู่เวลานี้ ย่อมอึกทึกครึกโครมไปด้วยเครื่องประโลมจิต เสียงขับร้องฆ้องกลองพิณพาทย์เป็นอเนกอนันต์ สนั่นเสนาะสำเรียงเสียงไพเราะ ควรจะรื่นรมย์ยินดี หมู่เทพนารีอัปสรสวรรค์มีมากหน้าหลายหมื่นหลายพันเป็นนักหนา"

"ขอถวายพระพร ก็เหตุไรจึงทนประทับอยู่ได้ มิเป็นการขัดกับพระอัธยาศัยแห่งพระองค์ที่ทรงว่าๆ มาเมื่อตะกี้นี้ดอกหรือนี่แหละอาตมาภาพสงสัย?"

"ข้าแต่พระคุณผู้เจริญ! พระคุณนี่ช่างฉลาดถามนักหนา" สมเด็จพระศรีอริยเมตไตรยเจ้าทรงกล่าวชม แล้วตรัสสืบไปว่า "เอาเถิดโยม จะว่าให้ฟัง คือว่า ธรรมดาสรวงสวรรค์ชั้นดุสิตนี้ถึงแม้จะมีเสียงอึกทึกครึกโครมประกอบไปด้วย เครื่องประโลมจิตอยู่มากมายก็จริงแล แต่ทว่าเป็นที่พนัก เป็นที่สถิตอยู่แห่งสมเด็จพระบรมโพธิสัตว์ผู้สร้างพระบารมีทุกๆ พระองค์มาเพราะว่าพระโพธิสัตว์เจ้านั้น ครั้นจุติจากมนุษยโลกแล้ว ย่อมมาอุบัติเกิดในสวรรค์ดุสิตนี้ ครั้นจุติจากดุสิตสวรรค์นี้แล้ว ก็กลับไปเกิดในมนุษยโลกอีก ทั้งนี้ ก็เพื่อที่จะสร้างสมบ่มเพาะบารมีเพิ่มพระโพธิญาณให้ภิญโญภาพยิ่งขึ้นไป แต่เฝ้าเวียนไปเวียนมาอยู่อย่างนี้ หลายครั้งหลายหนเป็นธรรมดา ยกตัวอย่างเช่นว่า โยมนี้ ใช่ว่าจะพอใจยินดีหลงเพลินเพลินติดอยู่แต่ในสวรรค์ชั้นดุสิตนี้ตลอดไปหามิ ได้ รอคอยจนกว่าจะสิ้นศาสนาขององค์สมเด็จพระสมณโคดมบรมครูเจ้าแห่งเราทั้งสองนี้ แล้วมีอยู่คราวหนึ่ง โยมจักกระทำอธิษฐานจุติจากสวรรค์ชั้นดุสิตที่กำลังอยู่ขณะนี้ ไปบังเกิดในมนุษยโลก แล้วบำเพ็ญกองการกุศลเป็นสืบสร้างบารมีให้ยิ่งใหญ่ต่อไปอีก ครั้งสิ้นชนมายุจุติตายจากมนุษยโลกในครั้งนั้นแล้ว ก็จักกลับมาอุบัติเกิดเป็นเทพบุตร เสวยสุขอยู่ที่สรวงสวรรค์ชั้นดุสิตนี่อีกนานแสนนาน จนถึงกาลที่ปวงเทพเจ้าทั้งหลายในหมื่นจักรวาลพากันมาอาราธนา ดยมจึงจักจุติไปอุบัติเหตุในมนุษยโลกอีกเป็นครั้งสุดท้าย แล้วจักได้สำเร็จแก่พระปรมาภิเษกสัมโพธิญาณ การณ์เป็นเช่นนี้แล พระคุณผู้เจริญ" สมเด็จพระศรีอาริยเมตไตรยทรงอธิบายให้พระมหาเถรเจ้าฟังอย่างยืดยาว

พุทธกรณธรรม
สมเด็จพระบรมโพธิสัตว์เจ้าทั้งหลาย ซึ่งมีน้ำพระทัยมุ่งหมายพระปรมาภิเษกสัมโพธิญาณ ประสงค์จักเป็นเอกองค์สมเด็จพระพุทธเจ้าในอนาคตกาลนั้น นอกจากจะมีคุณสมบัติพิเศษเกินกว่าคนธรรมดาสามัญหลายอย่างหลายประการตามที่ พรรณนามาแล้ว พระองค์ท่านยังต้อบำเพ็ญธรรมอันสำคัญอย่างยิ่งอีกอย่างหนึ่ง ธรรมที่ว่านี้มีชื่อเรียกอย่างรวมๆ ว่า "พุทธกรณธรรม" คือธรรมพิเศษที่กระทำให้ได้เป็นสมเด็จพระพุทธเจ้า หากว่าปราศจากธรรมะพิเศษ หมวดนี้ก็ดี หรือว่าธรรมะพิเศษหมวดนี้ยังไม่ถึงภาวะบริบูรณ์เต็มที่ในขันธสันดานก็ดี พระโพธิสัตว์เจ้าทั้งหลาย ย่อมจักไม่มีโอกาสได้ตรัสแก่พระปรมาภิเษกสัมโพธิญาณเป็นอันขาด ก็พุทธกรณธรรมซึ่งเป็นธรรมะพิเศษเป็นเหตุให้ได้เป็นสมเด็จพระพุทธเจ้านี้ มีอยู่ทั้งหมด ๑๐ ประการคือ
๑. ทานพุทธกรณธรรม
๒. ศีลพุทธกรณธรรม
๓.เนกขัมมพุทธกรณธรรม
๔. ปัญญาพุทธกรณธรรม
๕. วิริยพุทธกรณธรรม
๖.ขันติพุทธกรณธรรม
๗.สัจจพุทธกรณธรรม
๘.อธิฏฐานพุทธกรณธรรม
๙.เมตตาพุทธกรณธรรม
๑๐. อุเบกขาพุทธกรณธรรม

พุทธกรณธรรมหรือธรรมพิเศษ ที่ให้ได้สำเร็จเป็นพระพุทธเจ้าทั้ง ๑๐ ประการนี้ มีอรรถาธิบายสำหรับดังต่อไปนี้
๑. ทานพุทธกรณธรรม
สมเด็จพระบรมโพธิสัตว์เจ้าทั้งปวง ย่อมยินดีในการบำเพ็ญทานเป็นเนืองนิตย์ ไม่ว่าพระองค์ท่านจะสถิตหรือเกิดในชาติไหน และเสวยพระชาติเป็นอะไร ทุกๆ พระชาติที่เกิดย่อมมีน้ำพระทัยใคร่บริจาคท่าน เมื่อได้ประสบพบพานยาจกซึ่งเป็นคนหินชาติ มีฐานะต่ำทรามก็ดี หรือยาจกผู้มีฐานะมัชฌิมปานกลางก็ดี หรือยาจกผู้ขอซึ่งมีฐานะสูงสุดเป็นอุกฤษฐ์ก็ดีเมื่อขอแล้วพระโพธิสัตว์เจ้า จะได้คิดหน้าพะวงหลังก็หามิได้ย่อมรีบเร่งจำแนกทรัพย์ธนสารให้เป็นทาน ตามความต้องการของผู้ขอด้วยความยินดีเต็มใจอย่างยิ่ง สิ่งไรที่ตนมีแล้วเป็นต้องให้ทั้งสิ้น ถวิลหวังแต่การที่จะบริจาคทานเป็นเบื้องหน้า

อย่าว่าแต่ทรัพย์สมบัติ อันเป็นสิ่งของภายนอกเลย แม้แต่อวัยวะเลือดเนื้อและชีวิต หากใครคิดปรารถนาอยากจะได้และมาเอ่ยปากขอแก่พระโพธิสัตว์ พระองค์ก็อาจจะบริจาคให้ได้ด้วยว่า พระโพธิสัตว์เจ้าทั้งหลาย ย่อมมีน้ำพระทัยประดุจดังตุ่มใหญ่ เต็มเปี่ยมด้วยน้ำ ที่ถูกบุคคลมาจับเทคว่ำ ทำให้ปากตุ่มคว่ำลงกับพื้น ก้นตุ่มปรากฎอยู่ในเบื้องบน อย่างนี้แล้วน้ำภายในตุ่มน้ำก็จักเหลืออยู่แม้แต่สักหยดหนึ่งไปได้อย่างไร กัน น้ำพระทัยของพระองค์ท่านก็เป็นเช่นนั้น คือ เหมือนกับตุ่มน้ำใหญ่ที่คว่ำลง ยินดีในการบริจาคทานโดยต้องการให้หมดไม่มีเหลือในเมื่อมียาจกผู้มาขอ ไม่ว่าจะเป็นทรัพย์สมบัติภายนอก หรือวัตถุภายในคือเลือดเนื้อร่างกายและชีวิตก็ตามที

๒. ศีลพุทธกรณธรรม

สมเด็จพระบรมโพธิสัตว์เจ้าทั้งปวง ย่อมรักษาศีล สมาทานศีลผูกใจมั่นคงในศีลเป็นอาจิณวัตร สู้อุตสาหะปฏิบัติตนให้ตั้งมั่นอยู่ในศีล ยังศีลให้บริสุทธิ์อยู่เสมอ ตลอดระยะเวลาทุกๆ ชาติที่เกิด ไม่ว่าจะเกิดในชาติไหน และเสวยพระชาติเป็นอะไรก็ตาม พระองค์ท่านย่อมสมาทานมั่นคง ไม่ให้ศีลของตนย่อหย่อนบกพร่องได้ ในบางครั้ง แม้จะต้องเสียสละชีวิตเพื่อรักษาศีลแห่งตนไว้ก็จำยอม เพียบพร้อมไปด้วยน้ำใจรักศีลหาผู้เสมอเหมือนมิได้

ในกรณีที่พระบรมโพธิสัตว์เจ้า มีน้ำใจรักในศีลนี้ พึงเห็นอุปมาว่า ธรรมดาหมู่มฤคจามีรซึ่งมีน้ำใจรักขน จนสู้สละชนม์เพื่อรักษาไว้ซึ่งโลมชาติแห่งตนฉันใด พระบรมโพธิสัตว์เจ้าทั้งหลายก็เป็นเช่นนั้น พระองค์ท่านสู้อุตสาหะพยายามรักษาศีล สมาทานศีล มีใจรักในศีล โดยอาการเปรียบปานดุจจามรีรักในขนหางแห่งตนฉะนั้น

๓.เนกขัมพุทธกรณธรรม

สมเด็จพระบรมโพธิสัตว์เจ้าทั้งปวง ย่อมมีน้ำใจยินดีในการบรรพชา คือหมั่นออกจากฆราวาสวิสัยการอยู่ครองเรือนไปบวชบำเพ็ญพรตพรหมจรรย์อยู่เสมอ บางครั้งเมื่อโลกเรานี้ว่างจากพระพุทธศาสนา เพราะไม่มีสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จมาอุบัติ พระโพธิสัตว์เจ้าทั้งหลายได้มาเกิดเป็นมนุษย์แล้วย่อมจะออกบวชเป็นโยคี ฤาษีดาบสบำเพ็ญพรตเพื่ออบรมบ่มพระบารมี แต่เมื่อถึงคราวที่พระบวรพุทธศาสนาปรากฎในโลก พระโพธิสัตว์เจ้าทั้งหลายย่อมมีความเลื่อมใสในพระรัตนตรัยแล้วออกบรรพชา อุปสมบทเป็นสมณะพระภิกษุในพระธรรมวินัยแห่งองค์สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ สัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้นๆ หมั่นออกบวชเพื่อสั่งสมเนกขัมบารมีให้ภิญโญภาพยิ่งขึ้นไปทุกชาติที่เกิด ด้วยมีน้ำจิตยินดีในภาวะที่จะออกจากทุกข์ในวัฏสงสาร พระองค์ท่านจึงตั้งใจสมาทานถือมั่นในเนกขัมมะการออกบวชอยู่เนืองๆ มา

ในกิริยาที่พระบรมโพธิสัตว์เจ้า มีจิตปรารถนาที่จะออกจากทุกข์ภัยในวัฏสงสารนั้น เปรียบปานดังความปรารถนาของนักโทษที่อยู่ในเรือนจำ อันธรรมดาบุรุษนักโทษที่ประพฤติทุจริตมีความผิดต้องติดคุกตะรางทนทุกข์ทรมาน ได้รับความรำคาญขุ่นข้องหมองใจหนักหนา ย่อมปรารถนาแต่จะออกไปให้พ้นจากร้านเรือนจำที่ตนต้องระกำทุกข์อยู่เสมอทุก วันฉันใด พระโพธิสัตว์เจ้าทั้งหลายก็เป็นเช่นนั้น ย่อมมีมนัสมั่นหมายที่จะออกไปจากคุกตะรางคือการเวียนว่ายตายเกิดอยู่ในไตรภพ วัฏสงสาร จึงหาทางออกด้วยการบำเพ็ญพรต กล่าวคือเนกขัมมะอยู่เนืองนิตย์ ไม่ยอมที่จะติดเป็นนักโทษแห่งวัฏสงสารอยู่ตลอดกาล เปรียบปานด้วยนักโทษ ไม่ปรารถนาจะติดอยู่ในคุกตลอดชีวิตเรื่อยไป ฉะนั้น

๔. ปัญญาพุทธกรณธรรม

สมเด็จพระบรมโพธิสัตว์เจ้าทั้งปวง ย่อมเพิ่มพูนปัญญา หมายความว่า ย่อมแสวงหาวิชาความรู้ อันเป็นบ่อเกิดแห่งปัญญาอยู่เป็นเนืองนิตย์ หมั่นอบรมจิตให้ประกอบด้วยปัญญาอยู่เสมอ ทั้งนี้ก็เพราะปัญญาเป็นธรรมสูงสุดอันผู้ปรารถนาพระพุทธภูมิพึงขวนขวาย ฉะนั้น พระโพธิสัตว์เจ้าทั้งหลาย จึงขวนขวายอุตส่าห์พยายามอบรมสั่งสม   ปัญญาบารมีทุกชาติที่เกิด ไม่ว่าจะเกิดในชาติไหน และเสวยพระชาติเป็นอะไร ก็ต้องตั้งใจสมาทานปัญญาบารมีเป็นสำคัญ หมั่นเสพสมาคมกับท่านผู้รู้ ผู้เป็นนักปราชญ์ ย่อมไม่เลือกเลยซึ่งชนผู้มีความรู้ ไม่ว่าผู้นั้นจะเป็นใครก็ตาม ขอแต่ให้ประกอบไปด้วยความรู้ก็แล้วกัน พระองค์ท่านย่อมยินดีใคร่จะคบหาสมาคมไม่เลือกหน้า พร้อมทั้งเอาใจใส่ไต่ถามซึ่งอรรถธรรมและเหตุการณ์ทั้งปวงเป็นเนืองนิตย์ ด้วยมีน้ำจิตไม่รู้จักอิ่มในวิทยาการทั้งปวง

ในกรณีที่พระโพธิสัตว์เจ้า แสวงหาความรู้อันเป็นการสั่งสมปัญญานี้ พึงทราบอุปมาว่า ธรรมดาพระภิกษุสงฆ์องค์สาวกของสมเด็จพระจอมมุนีสัมพุทธเจ้า ผู้ประพฤติตามอริยวงศ์ประเวณีนั้น ครั้นเมื่อโคจรเที่ยวไปบิณฑบาต จะได้เลือกลีลาศหลีกเลี่ยงตระกูลที่สูงต่ำปานกลางใดๆ ก็หามิได้ ย่อมเที่ยวบิณฑบาตเรื่อยไป สุดแท้แต่ว่าใครจะเอาอาหารมาใส่ลงในบาตรก็ยินดีรับเอาไม่เลือกหน้าว่าไพร่ ผู้ดี ยาจก เศรษฐีผู้ใด เพราะมีความประสงค์เพียงจะได้อาหารพอเป็นยาปรมัตเครื่องเลี้ยงชีพตนให้คง อยู่ เพื่อบำเพ็ญสมณกิจแห่งตนอย่างเดียวเป็นประการสำคัญ จะได้เลือกผู้ให้อาหารอันเป็นบิณฑบาตทานแก่ตนเป็นไม่มีเลย อุปมาข้อนี้ฉันใด พระโพธิสัตว์เจ้าทั้งหลายก็เป็นเช่นนั้น เมื่อมีมนัสมั่นมุ่งหมายพระปรมาภิเษกสัมโพธิญาณ ก็ดั้นด้นค้นคว้าแสวงหาปัญญาความรู้ ไม่เลือกท่านผู้เป็นครู ผู้ให้วิชาว่าจะเป็นอย่างไร ขอให้มีความรู้ที่จะให้วิทยาการแก่ตนก็แล้วกัน พระองค์ท่านย่อมพอใจหมั่นคบหาสมาคม ไต่ถามนำเอาความรู้มาสั่งสมไว้ในจิตสันดานของตนเป็นเนืองนิตย์ เพื่อให้ผลผลิตเป็นปัญญาบารมียิ่งๆ ขึ้นไป
หัวข้อ: Re: มุนีนารถทีปนี การตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า โดย พระพรหมโมลี วิลาศ ญาณวโร
เริ่มหัวข้อโดย: Wisdom ที่ กุมภาพันธ์ 21, 2012, 12:00:43 PM
๕. วิริยพุทธกรณธรรม

สมเด็จพระบรมโพธิสัตว์เจ้าทั้งปวง ย่อมเพิ่มพูนวิริยะความเพียรเป็นยิ่งยวด คือมีน้ำใจกล้าหาญ ในการที่จะประกอบกุศลกรรมทำความดีอย่างไม่ลดละ เพราะโพธิญาณอันเป็นสิ่งประเสริฐสุดยอดน้น มิใช่เป็นธรรมที่จะพึงได้โดยง่าย โดยที่แท้ต้องอาศัยความเพียรอันยิ่งใหญ่จึงจะให้สำเร็จได้ ด้วยเหตุนี้พระโพธิสัตว์เจ้าทั้งหลาย จึงสู้อุตสาหะพยายามเพิ่มพูนวิริยะธรรมทุกๆ ชาติที่เกิด ไม่ว่าจะเกิดในชาติไหนและเสวยพระชาติเป็นอะไร ก็ตั้งใจสมาทานถือมั่นในวิริยะธรรมเป็นสำคัญ ประกอบความเพียรเป็นสามารถองอาจไม่ท้อถอยในการก่อสร้างกองการกุศล จนในบางครั้งแม้จักต้องถึงแก่ชีพิตักษัย ก็ไม่คลายความเพียรไม่ย่นย่อครั้นคร้ามขามขยาดต่ออุปสรรคอันตรายทั้งหลาย ที่บังเกิดมี

ในกรณีที่พระโพธิสัตว์เจ้า มีน้ำใจประกอบไปด้วยความเพียรอันยิ่งใหญ่ เพื่อได้ตรัสเป็นเอกองค์สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถนี้ พึงทราบอุปมาว่า ธรรมดาพญาไกรสรสีหราชมฤคินทร์ซึ่งเรืองฤทธิ์ คราวเมื่อมีจิตปรารถนาจะขึ้นนั่งแท่น ย่อมจะแล่นเลี้ยวไม่ลดละ อุตสาหะพยายามอย่างยิ่งยวด แม้จะพลาดพลั้งอยู่ครั้งแล้วครั้งเล่าก็ไม่ถอย เพียรพยายามอยู่นักหนาจนกว่าจะขึ้นนั่งแท่นได้สำเร็จ อุปมาข้อนี้ฉันใด พระบรมภูมิอันประเสริฐสุดประมาณ ย่อมมีน้ำใจอาหาญประกอบไปด้วยอุตสาหะพยายามอันเป็นวิริยธรรม ไม่ท้อถอยไม่ยั้งหยุดจนกว่าจะถึงจุดมุ่งหมาย กล่าวคือพระปรมาภิเษกสัมโพธิญาณ

๖. ขันติพุทธกรณธรรม

สมเด็จพระบรมโพธิสัตว์เจ้าทั้งปวง ย่อมพยายามเพิ่มพูนขันติ คือความอดทนเป็นอย่างยิ่ง ทั้งนี้ ก็เพราะว่า พระโพธิญาณจักสำเร็จสมความมุ่งหมายได้นั้น ต้องอาศัยความอดทนอันยิ่งใหญ่เป็นประการสำคัญ ถ้ามีน้ำใจไม่มั่นคง ไม่มีขันติความอดทน ยอมตนเป็นประดุจดังทาสแห่งบรรดาสรรพกิเลสอยู่เสมอไปแล้ว ก็ย่อมจักแคล้วคลาดจากพระโพธิญาณ การใหญ่คือพระพุทธภูมิปรารถนาก็ไม่มีวันที่จะสำเร็จลงได้ ด้วยเหตุนี้พระโพธิสัตว์เจ้าทั้งหลาย จึงพยายามสั่งสมซึ่งพระขันติธรรมอยู่เสมอทุกชาติที่เกิด ไม่ว่าจะเกิดในชาติและเสวยพระชาติเป็นอะไรก็ตาม พระองค์ท่านย่อมสมาทานมั่นในขันติธรรม อุตส่าห์ระงับใจไม่ให้เกิดความปฏิฆะ ความขุ่นข้องหมองกมลได้ ในบางครั้งสู้อดทนจนถึงแก่ชีพิตักษัยก็มี

ในกรณีพระโพธิสัตว์เจ้าทั้งหลายมีน้ำใจประกอบไปด้วยขันติธรรมความอดทนนี้ มีอุปมาที่ท่านกล่าวไว้ว่า ธรรมดาพื้นพสุธาคือแผ่นดิน ย่อมอดทนทรงไว้ซึ่งสัมภาระน้อยใหญ่คนทั้งหลายในโลกนี้ พากันทิ้งถมระดมสาดวัตถุสิ่งของที่สะอาดก็มี และของที่โสโครกไม่สะอาดก็มี เป็นสัมภาระสิ่งของมากมายนักหนา ลงบนแผ่นพสุธาไม่ว่างเว้นตลอดทุกวันเวลา แต่ว่าพื้นพสุธาก็ดีใจหาย จะได้สำแดงอาการรำคาญเคืองหรือยินดีชอบใจในพัศดุสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ที่บุคคลทิ้งลงทับถมเอาตามขอบใจเป็นไม่มีเลย เฉยอยู่อย่างนั้นชั่วกัปชั่วกัลป์ อุปมาข้อนี้ฉันใด พระโพธิสัตว์เจ้าทั้งหลายก็เป็นเช่นนั้น เมื่อมีมนัสมั่นมุ่งหมายเอาพระโพธิญาณอันประเสริฐเลิศล้ำ ท่านย่อมพยายามสั่งสมขันติธรรมบำเพ็ญตนไม่ให้มีอาการโกรธพิโรธจิต คิดมุ่งร้ายหมายประหารด้วยความเดือดดาลในน้ำใจ ไม่ใช่เกิดมีอาการหวั่นไหว ในเหตุการณ์ทั้งปวงจนกว่าจะลุล่วงถึงพระปรมาภิเษกสัมโพธิญาณ


๗. สัจจพุทธกรณธรรม

สมเด็จพระบรมโพธิสัตว์เจ้าทั้งหลาย ย่อมพยายามเพิ่มพูนสัจธรรมเป็นยิ่งนัก คือมีน้ำใจประกอบไปด้วยสัจจะไม่ละความสัตย์ซื่อตรง หากพระองค์ท่านได้ตั้งสัจจะลงไปในการใดแล้วก็เที่ยงตรงการนั้นไม่แปรผัน ยักย้าย ด้วยว่า พระพุทธภูมิอันยิ่งใหญ่จักสำเร็จลงได้ ต้องอาศัยสัจจะ กล่าวคือความตรงความจริงเป็นประการสำคัญ ดังนั้น พระโพธิสัตว์เจ้าทั้งหลายจึงพยายามสั่งสมสัจธรรมอยู่เสมอทุกชาติที่เกิด ไม่ว่าจะเกิดในชาติใด และเสวยพระชาติเป็นอะไรก็ตามที ย่อมพยายามที่จะรักษาความสัตย์ เชน จะรักษาวาจาคำพูดแห่งตนไม่ให้ล่วงละเมิดเกิดเป็นเท็จขึ้นมาได้ อันเป็นกิริยาที่โกหกทั้งตนเองและผู้อื่น มีความเที่ยงธรรมประจำใจนักหนา เสมอด้วยตราชูคันชั่งอันเที่ยงตรง บางครั้งถึงกับยอมให้ถึงแก่ชีพิตักษัย เพื่อรักษาสัจจะเอาไว้ก็มี

ในกรณีที่พระบรมโพธิสัตว์เจ้าทั้งหลายมีน้ำใจประกอบไปด้วยสัจจะความเที่ยง ตรงนี้ มีอุปมาที่ท่านกล่าวไว้ว่า ธรรมดาโอสธิดาราคือดาวประกายพรึกนั้น เมื่อเคยขึ้นประจำอยู่ทิศไหน ก็ย่อมโคจรขึ้นประจำอยู่ทิศนั้นวิถีนั้น จะได้แปรเปลี่ยนเยื้องยักไปปรากฎขึ้นในทิศอื่นก็หามิได้ ย่อมทรงไว้ซึ่งความเที่ยงตรงนัก ไม่ว่ากาลไหนฤดูไหน อุปมาข้อนี้ฉันใด พระโพธิสัตว์เจ้าทั้งหลายก็เป็นเช่นั้น เมื่อมีมนัสมั่นมุ่งหมายเอาพระโพธิญาณอันประเสริฐเลิศล้ำ ย่อมพยายามสั่งสมสัจธรรมบำเพ็ญตนตั้งอยู่ในความสัตย์ ไม่ตระบัดบิดเบือนแปรผัน ตั้งมั่นอยู่ในความเที่ยงตรงเป็นล้นพ้น จนกว่าจะได้สำเร็จผลพระปรมาภิเษกสัมโพธิญาณ

๘. อธิษฐานพุทธกรณธรรม

สมเด็จพระบรมโพธิสัตว์เจ้าทั้งปวง ย่อมมีใจมั่นประกอบไปด้วยอธิษฐานธรรม มีความมั่นคงเด็ดขาดยิ่งนัก ด้วยว่าพระพุทธภูมิจักสำเร็จได้ ต้องอาศัยอธิษฐานธรรมเป็นสำคัญเหตุนั้น พระโพธิสัตว์เจ้าทั้งปวงจึงพยายามสร้างสมอบรมพระอธิษฐานธรรมให้มากมูลเพิ่ม พูนและเสวยพระชาติเป็นอะไรก็ตาม ก็ย่อมพยายามสร้างความมั่นคงตั้งมั่นแห่งดวงจิตเพื่อให้ศักดิ์สิทธิ์ สัมฤทธิ์ผลตามความมุ่งหมาย ถ้ายังขาดอยู่ไม่บริบูรณ์ ก็เพียรเพิ่มพูนให้ภิญโญภาพยิ่งๆ ขึ้นไป ให้สำเร็จตามความประสงค์ให้จงได้ ถ้าลงได้อธิษฐานในสิ่งใดแล้ว ก็มีใจแน่วแน่ตั้งมั่นในสิ่งนั้น มิได้หวั่นไหวโยกคลอนเลยแม้แต่น้อยถึงใครจะคอยขู่คำรามเข่นฆ่าให้อาสัญสิ้น ชีวิต ก็ไม่ละอธิษฐาน จิตสมาทานในกาลไหนๆ

ในกรณีที่พระบรมโพธิสัตว์ทั้งหลายมีน้ำใจประกอบไปด้วยอธิษฐานธรรมนี้ มีอุปมาไว้ว่า ธรรมดาไศลที่ใหญ่หลวงคือ ก้อนหินภูเขาแท่งทึบใหญ่มหึมา อันตั้งมั่นประดิษฐานอยู่เป็นอันดี แม้จะมีพายุใหญ่สักปานใด ยกไว้แต่ลมประลัยโลกพัดผ่านมาแต่สี่ทิศ ก็มิอาจที่จะให้ภูเขาใหญ่นั้นสะเทือนเคลื่อนคลอดหวั่นไหวได้แม้แต่สักนิดหนึ่งเลย อุปมาข้อนี้ฉันใด พระโพธิสัตว์เจ้าทั้งหลายก็เป็นเช่นนั้น เมื่อมีมนัสมั่นมุ่งหมายซึ่งพระโพธิญาณประเสริฐเลิศล้ำ ย่อมพยายามเสริมสร้างอธิษฐานธรรมอยู่เนืองนิตย์ ไม่มีจิตหวั่นไหวในทุกสถานในกาลทุกเมื่อเพื่อให้สำเร็จเป็นอธิษฐานบารมี ยิ่งๆ ขึ้นไป จนกว่าจะได้บรรลุพระปรมาภิเษกสัมโพธิญาณ

๙. เมตตาพุทธกรณธรรม

สมเด็จพระบรมโพธิสัตว์เจ้าทั้งปวง ย่อมมีใจประกอบไปด้วยเมตตา มีน้ำใจใคร่จะให้บรรดาสรรพสัตว์ทั้งหลายได้ประสบความสุขสำราญโดยถ้วนหน้า ด้วยว่า พระพุทธภูมิจักสำเร็จลงได้ ต้องอาศัยเมตตาธรรมเป็นสำคัญ เหตุดังนั้น พระบรมโพธิสัตว์เจ้าทั้งปวงย่อมพยายามสั่งสมเมตตาธรรมอันล้ำเลิศ ให้มากมูลเพิ่มพูนแก่กล้าทุกชาติที่เกิด ไม่ว่าจะเกิดในชาติไหนและเสวยพระชาติเป็นอะไรก็ตาม ก็ย่อมอุตส่าห์พยายามอบรมเมตตาธรรม ตั้งความปรารถนาดีไม่ให้มีราคีเคืองขุ่นรุ่มร้อนในดวงจิต เพื่อให้สัมฤทธิ์ผลเป็นความสุขแก่ปวงชนปวงสัตว์ทุกถ้วนหน้า ถ้ายังขาดอยู่ไม่เต็มบริบูรณ์ ก็เพียรเพิ่มพูนเสริมสร้างครั้งแล้วครั้งเล่า บางคราวถึงกับเอาชีวิตเข้าแลกเพื่อให้ชนอื่นสัตว์อื่นได้รับความสุขก็มี

ในกรณีที่พระบรมโพธิสัตว์เจ้าทั้งหลาย มีน้ำใจประกอบไปด้วยเมตตาธรรมนี้ มีอุปมากล่าวไว้ว่า ตามธรรมดาอุทกวารีที่สะอาดเย็นใสในธารแม่น้ำใหญ่ ย่อมแผ่ความเย็นฉ่ำชุ่มชื่นใจให้แก่สัตว์ทั้งหลายทุกถ้วนหน้าไม่ว่าจะเป็น อะไรก็ตามที จะเป็น หมี หมา ไก่ป่า กระทิงเถื่อนเป็นอาทิ ซึ่งเป็นสัตว์เดียรัจฉานก็ดี หรือจะเป็นมนุษย์ทั้งหลายตั้งอยู่ในเพศพรรณวรรณะใด จะเป็นขี้ข้า ตาบอด หูหนวก กระยาจก วณิพกก็ดี หรือจะเป็นคนมีทรัพย์ มียศ เป็นเศรษฐีอำมาตย์ราชเสนาตลอดจนกระทั่งเป็นองค์พระมหากษัตรย์ประเสริฐก็ดี เมื่อมีความปรารถนา บ่ายหน้าลงมาวักดื่มกินน้ำในธารานั้นแล้ว อุทกวารีย่อมให้รสแผ่ความเย็นชื่นเข้าไปในทรวงอกทุกถ้วนหน้า จะได้เลือกว่าผู้นั้นดี ผู้นี้ชั่ว หรือว่าประการใดๆ ก็มิได้มีเลย อุปมาข้อนี้ฉันใด พระบรมโพธิสัตว์เจ้าทั้งหลายก็เป็นเช่นนั้น เมื่อมีมนัสมั่นมุ่งหมาย ซึ่งพระโพธิญาณอันประเสริฐเลิศล้ำ ย่อมพยายามเสริมสร้างเมตตาธรรมให้มากในดวงจิต เพื่อให้ผลิตผลแผ่กว้างออกไปไม่สิ้นสุด ไม่มีจิตประทุษร้าย แม้แต่ในศัตรูคู่อาฆาตปรารถนาให้ได้รับความสุขให้หายมลทินสิ้นทุกข์หมดภัย หมดเวร แผ่ความเย็นใจไปทั่วทุกทิศ มีน้ำใจเป็นมิตรไมตรีไม่มีจำกัด หมู่มนุษย์หรือเหล่าสัตว์ที่คบหาสมาคมด้วย ย่อมได้รับความเย็นใจไม่เดือดร้อนในทุกกรณี เพื่อให้สำเร็จผลเป็นเมตตาบารมียิ่งๆ ขึ้นไป จนกว่าจะได้บรรลุพระปรมาภิเษก สัมโพธิญาณ


๑๐. อุเบกขาพุทธกรณธรรม

สมเด็จพระบรมโพธิสัตว์ทั้งหลาย ย่อมมีน้ำใจประกอบไปด้วยอุเบกขา อุตส่าห์ยังจิตให้ตั้งมั่นในอุเบกขาธรรม ซึ่งเป็นธรรมพิเศษที่ท่านผู้แสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่ ได้เคยซ่องเสพสืบกันมา คือ มีจิตอุเบกขาวางเฉยเป็นกลางในธรรมทั้งหลายด้วยว่า พระพุทธภูมิอันวิเศษนี้ จะสำเร็จลงได้ ต้องอาศัยอุเบกขาธรรมเป็นประการสำคัญ ฉะนั้นพระบรมโพธิสัตว์เจ้าทั้งปวงจึงพยายามบำเพ็ญอุเบกขาธรรมอันล้ำเลิศให้ มากมูลเพิ่มพูนแก่กล้าขึ้นทุกชาติที่เกิด ไม่ว่าจะเกิดในชาติไหน และเสวยพระชาติเป็นอะไรก็ตาม ก็ยอมอุตส่าห์พยายามบำเพ็ญอุเบกขาธรรม กล่าวคือความวางเฉยในที่ทุกสถานในกาลทุกเมื่อ ถ้ายังขาดบกพร้องอยู่ ยังไม่เต็มบริบูรณ์ก็เพียรเพิ่มพูนเสริมสร้างอยู่ครั้งแล้วครั้งเล่า บางครั้งถึงกับต้องเอาชีวิตของตนเข้าออกแลก ด้วยหวังจักทำให้ปราศจากความจำแนก กล่าวคือความยินดียินร้าย มุ่งหมายเพื่อให้มั่นในอุเบกขาธรรมเป็นสำคัญ

ในกรณีที่พระบรมโพธิสัตว์เจ้าทั้งหลาย มีน้ำใจประกอบด้วยอุเบกขาธรรมนี้ มีอุปมาที่กล่าวไว้ว่า ธรรมดาว่า พื้นปฐพีอันกว้างใหญ่ไพศาลนี้ เมื่อมีผู้ถ่ายมูตรคูถของสกปรกโสมมอย่างใดอย่างหนึ่งลงก็ดี หรือแม้จะมีผู้เอาเครื่องสักการะบูชา บุปผา ธูปเทียน เครื่องหอม ของสะอาดทิ้งใส่ลงก็ดี พื้นปฐพี มหาพสุธาดล อันบุคคลและสัตว์ทั้งหลายเหยียบย่ำอยู่ทุกวันนี้จะได้มีความโกรธอาฆาตหรือ ความรักใคร่ขอบใจแม้แต่สักนิดก็หามิได้ ปราศจากความยินดียินร้ายโดยประการทั้งปวง เป็นปฐพีที่นิ่งเฉย ไม่ไหวหวั่นอยู่อย่างนั้น ตลอดเวลาชั่วกัปชั่วกัลป์ อุปมาข้อนี้ฉันใด พระโพธิสัตว์เจ้าทั้งหลายก้เป็นเช่นนั้น คือเมื่อมีมนัสมั่นมุ่งหมายพระโพธิญาณ ย่อมมีน้ำใจอาจหาญ พยายามเสริมสร้างพระอุเบกขาธรรมให้เกิดขึ้นประจำจิตให้ภิญโญภาพยิ่งๆ ขึ้นไป เพื่อให้สำเร็จผลเป็นอุเบกขาบารมีจนกว่าจะบรรลุถึงที่หมายอันยิ่งใหญ่ กล่าวคือพระปรมาภิเษกสัมโพธิญาณ

ท่านผู้มีปัญญาทั้งหลาย พุทธกรณธรรมหรือธรรมพิเศษที่เป็นเหตุให้ได้เป็นสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า นี้ เป็นธรรมที่บำเพ็ญให้สำเร็จได้โดยยากใช่ไหมเล่า ถึงกระนั้น ท่านผู้ปรารถนาเป็นสมเด็จพระจอมมุนรีสัมพุทธเจ้า ก็เฝ้าบำเพ็ญธรรมเหล่านี้เป็นเวลาช้านานหลายแสนโกฎิชาติหนักหนา อุตส่าห์พยายามบำเพ็ญให้เพิ่มพูนเจริญเต็มที่ในจิตสันดาน จนกว่าจะได้บรรลุถึงพระปรมาภิเษกสัมโพธิญาณ

พระบารมี ๓๐ ถ้วน

พระพุทธกรณธรรมที่กล่าวมาแล้วนี้ มีชื่อเรียกอย่างหนึ่งว่า โพธิปริปาจนธรรม = ธรรมสำหรับบ่มพระพุทธภูมิ หมายความว่า เป็นธรรมอันจำเป็นอย่างยิ่ง ที่พระบรมโพธิสัตว์เจ้าทั้งหลาย ผู้ปรารถนาซึ่งพระพุทธภูมิ จะต้องพยายามบำเพ็ญเนืองนิตย์ เพื่อให้สัมฤทธิ์ผลอันประเสริฐ กล่าวคืออบรมบ่มให้พระพุทธภูมิถึงความแก่สุกรอบ แล้วจึงจะได้ตรัสรู้ นอกจากนั้นแล้ว พระพุทธกรณธรรมนี้ยังมีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่ง  ซึ่งเป็นคำคุ้นหูในหมู่พุทธบริษัทว่า บารมี = ธรรมที่นำไปให้ถึงฝั่งนั้น กล่าวคือพระนิพพาน หมายความว่า เมื่อพระบรมโพธิสัตว์เจ้าเฝ้าบำเพ็ญธรรมเหล่านี้ จนครบบริบูรณ์เต็มที่แล้ว ธรรมเหล่านี้ก็จะเป็นสารถีนำพระองค์ท่านให้บรรลุถึงฝั่งโน้น คือได้ตรัสพระปรมาภิเษกสัมโพธิญาณและเสด็จดับขันธ์เข้าสู่พระปรินิพพาน ฉะนั้น ต่อจากนี้ไป เพื่อความเข้าใจง่ายๆ จะเรียกธรรมเหล่านี้ว่ พระบารมีธรรม

ก็พระบารมีธรรมนี้ เมื่อว่าโดยองค์ธรรมจริงๆ แล้วก็มีอยู่ ๑๐ ประการ มีท่านเป็นต้น มีอุเบกขาเป็นปริโยสาน ตามที่พรรณนามาแล้ว แต่ทีนี้ สมเด็จพระบรมโพธิสัตว์เจ้าแต่ละพระองค์ กว่าจะทรงยังพระบารมีเหล่านี้ให้บริบูรณ์เต็มที่ จนกระทั่งได้ตรัสเป็นเอกองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้น มิใช่ว่าจะทรงสร้างพระบารมีเป็นเวลาเล็กน้อย เพียง ๑๐-๒๐ ชาติเท่านั้น โดยที่แท้ ต้องทรงสร้างพระบารมีอยูนานนักหนา นับเวลาเป็นอสงไขยเป็นมหากัป นับพระชาติที่เกิดไม่ถ้วน เมื่อเป็นเช่นนี้ บรรดาพระบารมีที่สร้างแต่ละพระชาติจึงไม่เท่ากันคือ บางพระชาติก็สร้างธรรมดาเป็นปกติ แต่บางพระชาติก็สร้างอย่างอุกฤษฐ์สูงสุดหนักหนา ฉะนั้น จึงจำแนกพระบารมีเหล่านี้ออกเป็นตรียางค์ คือเป็นองค์สาม โดยจัดเป็นพระบารมีอย่างต่ำประเภทหนึ่ง พระบารมีอย่างมัชฌิมปานกลางประเภทหนึ่งและพระบารมีอย่างสูงสุดอุกฤษฐ์ประเภทหนึ่ง ยกตัวอย่าง เช่น พระบารมีธรรมอันดับแรกคือ ทาน เมื่อจำแนกออกเป็นตรียางค์ ก็กำหนดเอาโดยประเภทของทานดังต่อไปนี้
๑. ทานที่บำเพ็ญโดยสถานประมาณเป็นปกติธรรมดาบริจาคธนสารทรัพย์สมบัติน้อยใหญ่ ถึงแม้จะมากมายเพียงใดก็ดี จัดเป็นบารมีประเภทต่ำธรรมดา เรียกชื่อว่า ทานบารมี
๒. ทานที่บำเพ็ญยิ่งขึ้นไปกว่านั้น คือ ถึงกับบริจาคอวัยวะเลือดเนื้อในร่างกาย จัดเป็นพระบารมีประเภทมัชฌิมาปานกลาง เรียกชื่อว่า ทานอุปบารมี
๓. ทานที่บำเพ็ญยิ่งขึ้นไปกว่านั้นอีก คือถึงกับต้องบริจาคชีวิตให้เป็นทาน นับว่าเป็นการบริจาคอย่างใหญ่หลวงอุกฤษฐ์ อย่างนี้จัดเป็นพระบารมีประเภทสูงสุดอย่างยิ่ง เรียกชื่อว่า ทานปรมัตถบารมี
หัวข้อ: Re: มุนีนารถทีปนี การตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า โดย พระพรหมโมลี วิลาศ ญาณวโร
เริ่มหัวข้อโดย: Wisdom ที่ กุมภาพันธ์ 21, 2012, 12:01:56 PM
แม้พระบารมีธรรมที่บำเพ็ญข้ออื่นๆ ก็จำแนกออกเป็นพระบารมีละ ๓ ประเภท เช่นเดียวกับทานที่ยกเป็นตัวอย่างนั่นเอง ทีนี้ พระบารมีที่เป็นองค์ธรรมมีอยู่ ๑๐ ประการ เมื่อจำแนกออกเป็นองค์ละ ๓ พระบารมีจึงรวมเป็นพระสมติงสบารมี คือพระบารมี ๓๐ ถ้วนพอดี เพื่อที่จักให้เห็นได้ง่ายๆ จะขอจำแนกออกไปตามรายชื่อพระบารมี ดังต่อไปนี้
๑. ทานบารมี
๒. ศีลบารมี
๓. เนกขัมมบารมี
๔. ปัญญาบารมี
๕. วิริยบารมี
๖. ขันติบารมี
๗. สัจจบารมี
๘. อธิษฐานบารมี
๙. เมตตาบารมี
๑๐. อุเบกขาบารมี
๑๑. ทานอุปบารมี
๑๒. ศีลอุปบารมี
๑๓. เนกขัมมอุปบารมี
๑๔.ปัญญาอุปบารมี
๑๕. วิริยอุปบารมี
๑๖. ขันติอุปบารมี
๑๗. สัจจอุปบารมี
๑๘. อธิษฐานอุปบารมี
๑๙. เมตตาอุปบารมี
๒๐. อุเบกขาอุปบารมี
๒๑. ทานปรมัตถบารมี
๒๒. ศีลปรมัตถบารมี
๒๓. เนกขัมมปรมัตถบารมี
๒๔. ปัญญาปรมัตถบารมี
๒๕. วิริยปรมัตถบารมี
๒๖. ขันติปรมัตถบารมี
๒๗. สัจจปรมัตถบารมี
๒๘. อธิษฐานปรมัตถบารมี
๒๙. เมตตาปรมัตถบารมี
๓๐. อุเบกขาปรมัตถบารมี
สิริรวมเป็นพระบารมีธรรม ที่ท่านผู้ปรารถนาเป็นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจักต้องบำเพ็ญให้ครบ บริบูรณ์เต็มที่ ๓๐ ถ้วนพอดี ฉะนั้น จึงเรียกเป็นศัพท์ว่า พระสมติงสบารมี ด้วยประการฉะนี้

อานิสงส์พระบารมี

มีข้อที่ควรทราบไว้อีกอย่างหนึ่ง ก็คือว่า นับตั้งแต่ได้ทรงก่อสร้างพระกฤษฏาภินิหารมา จนกระทั่งได้ลัทธยาเทศคำพยากรณ์จากสำนักแห่งองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ว่าเป็น พระนิยตโพธิสัตว์ ผู้เที่ยงแท้ที่จะตรัสพระปรมาภิเษกสัมโพธิญาณในอนาคตกาล ในขณะที่ทรงก่อสร้างอบรมบ่มพระบารมีอยู่ ต้องทรงสังสรณาการ ท่องเที่ยวเวียนว่ายตายเกิดอยู่ในวัฏสงสารนับด้วยแสนโกฏิชาติ เป็นประมาณหรือมากยิ่งกว่านั้น พระบรมโพธิสัตว์เจ้า ผู้เที่ยงที่จะได้บรรลุพระโพธิญาณทั้งหลาย ย่อมได้รับอานิสงส์แห่งพระบารมีที่บำเพ็ญอยู่เรื่อยๆ รวมเป็น ๑๘ ประการคือ
๑. เมื่อเกิดเป็นมนุษย์ ย่อมไม่เป็นคนมีจักษุบอดมาแต่กำเนิด
๒. ไม่เป็นคนหูหนวกแต่กำเนิด
๓. ไม่เป็นคนบ้า
๔. ไม่เป็นคนใบ้
๕. ไม่เป็นคนง่อยเปลี้ย
๖. ไม่เกิดในมิลักขประเทศ คือประเทศป่าเถื่อน
๗. ไม่เกิดในท้องนางทาสี
๘. ไม่เป็นนิยตมิจฉาทิฐิ
๙. ไม่เป็นสตรีเพศ
๑๐. ไม่ทำอนันตริยกรรม
๑๑. ไม่เป็นโรคเรื้อน
๑๒. เมื่อเกิดในกำเนิดสัตว์เดียรฉาน ย่อมเป็นสัตว์อยุ่ในประเภทที่มีกายไม่เล็กกว่านกกระจาบ และไม่ใหญ่กว่าช้าง
๑๓. ไม่เกิดในกำเนิดขุปปิปาสิกเปรต นิชฌานตัณหิกเปรตและกาลกัญจิกาสุรกาย
๑๔. ไม่เกิดในอเวจีมหานรกและโลกันตนรก
๑๕. เมื่อเกิดเป็นเทวดาในกามาพจรสวรรค์ ก็ไม่เกิดเป็นเทวดาผู้นับเข้าในเทวดาจำพวกหมู่มาร
๑๖. เมื่อเกิดในองค์พระพรหม ณ รูปาพจรพรหมโลกก็ไม่เกิดในปัญจสุทธาวาสพรหมโลก และอสัญญสัตตาภูมิพรหมโลก
๑๗. ไม่เกิดในอรูปพรหมโลก
๑๘. ไม่ไปเกิดในจักรวาลอื่น
สิริรวมเป็นอานิสงส์พระบารมี ๑๘ ประการ ที่ท่านผู้ปรารถนาเป็นองค์สมเด็จพระบรมโลกุตมาจารย์ จักต้องได้รับอย่างแน่นอน ในขณะที่ยังท่องเที่ยวอยู่ในวัฏสงสารเพื่ออบรมบ่มพระบารมีญาณ

อนึ่ง ในขณะที่อบรมบ่มพระบารมีญาณอยู่นั้น พระนิยตโพธิสัตว์ผู้เที่ยงแท้จะตรัสรู้เป็นองค์สมเด็จพระพุทธเจ้า หากคราวใดท่านได้มีโอกาสมาบังเกิดเป็นมนุษย์แล้ว ก็ย่อมมีใจผ่องแผ้วยินดีในการที่จะบรรพชา และบำเพ็ญประพฤติในพระจริยามีญาตัดถจริยาความประพฤติเป็นประโยชน์แก่หมู่ ญาติเป็นอาทิอยู่เป็นนิตย์ ทั้งสู้อุทิศชีวิตของพระองค์ทั้งสิ้นให้หมดไปด้วยการสั่งสมพระบารมี ๓๐ ซึ่งมีทานบารมีเป็นต้นและมีอุเบกขาปรมัตถบารมีเป็นปริโยสาน จึงเป็นการสมควรอย่างยิ่งที่พวกเราชาวพุทธบริษัททั้งหลายผู้เกิดมาเป็น มนุษย์พบพระพุทธศาสนาในชาตินี้ จักมีใจยินดีเลื่อมใสในรพะคุณอันเป็นอนันต์แห่งองค์สมเด็จพระภควันต์จอมมุนี

อธิมุตตกาลกิริยา

กาลเมื่อสมเด็จพระนิยตบรมโพธิสัตว์ ยังต้องท่องเที่ยวอยู่ในวัฏสงสารเพื่ออบรมบ่มพระบารมีญาณอยู่นั้น ครั้นว่าพระองค์ได้ไปอุบัติเกิดเป็นเทพบุตรอยู่ ณ เบื้องสวรค์เทวโลกชั้นใดชั้นหนึ่งเช่นสวรรค์ชั้นดุสิต เป็นต้น ซึ่งมีอายุยืนนานกว่ามนุษยโลกมากมายนักแล้วองค์พระโพธิสัตว์เจ้าจะได้หลงใหล เพลิดเพลินเสวยทิพยสมบัติเป็นสุขอยู่ในสวรรค์เทวโลกจนตราบเท่าสิ้นอายุแห่ง เทพยดานั้นก็หามิได้ เพราะว่าแท้จริง สันดานแห่งพระนิยตบรมโพธิสัตว์ผู้เที่ยงแท้จักได้ตรัสเป็นองค์สมเด็จพระ พุทธเจ้านั้น กอรปด้วยพระมหากรุณาแก่เหล่าประชาสัตว์เป็นอันมาก ยิ่งกว่าการที่จะรักตนเอง สันดานที่รักตนเองเห็นประโยชน์ชีวิตตนเองนั้นเบาบางหนักหนา

ฉะนั้น คราเมื่อพระองค์เสวยทิพยสมบัติเป็นสุขอยู่พอควรแก่กาลแล้ว ย่อมจะพิจารณาเห็นว่า เทวโลกมิได้เป็นที่อันเหมาะสมที่จะก่อสร้างอบรมบ่มพระบารมีเพื่อพระ ปรมาภิเษกสัมโพธิญาณเหมือนเช่นมนุษยโลก ครั้นทรงพิจารณาเห็นเช่นนี้แล้ว องค์พระนิยตโพธิสัตว์เจ้าก็มีพระทัยเฝ้าเบื่อหน่ายในการที่จะอยู่ในสวรรค์ เทวโลก ให้อึดอัดรำคาญเป็นกำลัง คราวครั้งหนึ่ง จึงเสด็จเข้าในทิพยวิมานแต่ลำพังพระองค์เดียว แล้วทรงกระทำอธิมุตตกาลกิริยา คือหลับพระเนตรทั้งสองลงแล้วก็อธิษฐานว่า

อิโต อุทฺธํ เม ชีวิตํ นปฺปตฺตตุ
ชีวิตของเรานี้ จงอย่าได้ประพฤติสืบต่อไป เบื้องหน้าแต่นี้

เมื่อพระองค์อธิษฐานในพระทัยฉะนี้แล้ว ด้วยอำนาจกำลังอธิษฐานพระนิยตโพธิสัตว์เจ้าพระองค์นั้น ก็ปวัตตนาการจุติจากสวรรค์เทวโลกในฉับพลันนั้นเอง เสด็จลงมาอุบัติเกิดในมนุษยโลกเรานี้ เพื่อที่จักได้มีโอกาสเสริมสร้างอบรมบ่มพระบารมีให้ภิญโญภาพยิ่งขึ้นไป ในกรณีที่พระองค์พระนิยตโพธิสัตว์เจ้าทรงอธิษฐานในพระทัยแล้ว และจุติจากสวรรค์ลงมาบังเกิดในมนุษยโลก ซึ่งเรียกว่าอธิมุตตกาลกิริยานี้ นับเป็นกรณีพิเศษอย่างหนึ่ง  ซึ่งปรากฎมีแก่ท่านผู้มีมนัสมั่นมุ่งหมายพระโพธิญาณด้วยว่า บรรดาสัตว์โลกผู้ยังเวียนว่ายตายเกิดในวัฏสงสาร ถึงแม้จะมีมหิธาศักดานุภาพสักเพียงไหน เป็นเทพบุตรอินทร์พรหมอื่นใดก็ดี ก็มิอาจที่จะกระทำอธิมุตตกาลนี้ได้ง่ายๆ ซึ่งผู้ที่สามารถจะกระทำการพิเศษคืออธิมุตตกาลกิริยานี้ได้ง่ายดายตามใจ ปรารถนา ก็มีแต่เฉพาะพระนิยตโพธิสัตว์ผู้เที่ยงที่จักต้องได้ตรัสเป็นพระสัพพัญญูจอม มุนีเท่านั้น

การที่สมเด็จพระนิยตโพธิสัตว์ สามารถที่จะกระทำอธิมุตตกาลกิริยาเป็นกรณีพิเศษได้โดยง่ายนี้ ก็เพราะพระองค์ท่านทรงมีสันดานพิเศษ เหตุว่าพระบารมีธรรมทั้งปวงที่พระองค์สั่งสมมาแล้วนั้น มีปริมาณมากมายนักหนา ถึงซึ่งความแก่กล้าบริบูรณ์เป็นอุกฤษฐ์ พระอธิฐานบารมีจึงกล้าหาญเป็นอัศจรรย์ เมื่อพระองค์ท่านจะอธิษฐานสิ่งไร ในขณะที่เป็นเทพบุตรโพธิสัตว์นี้ ก็ได้สำเร็จทุกสิ่งทุกประการ และสมเด็จพระนิยตโพธิสัตว์นี้ ย่อมมีความชำนาญในการอธิษฐานนัก หากจะเปรียบก็อุปมาดุจจิตรกรนายช่างเขียนผู้มีฝีมือเอก ซึ่งชำนาญในการที่จะวาดเขียน เมื่อช่างเขียนนั้น ปรารถนาที่จะเขียนสิ่งใดก็อาจจะเขียนสิ่งนั้นได้สำเร็จดังมโนรถความปรารถนา มิได้ข้องขัดประการใด สำเร็จตามมโนภาพแห่งตนที่นึกคิดว่ อุปมาข้อนี้ฉันใด พระบรมโพธิสัตว์เจ้าผู้ชำนาญในพระอธิษฐานบารมีนั้น ก็ชำนิชำนาญยิ่งนัก พระองค์ท่านอธิษฐานให้เป็นอย่างไร ก็ได้สำเร็จสมมโนรถความปรารถนามิได้ขัดข้อง เพราะเหตุนี้ พระนิยตโพธิสัตว์จึงสามารถจะกระทำอธิมุตตกาลกิริยาได้ ด้วยอำนาจพระอธิษฐานบารมี เพื่อที่จะลงมาบังเกิดในมนุษยโลกนี้ แล้วขวนขวายก่อสร้างอบรมบ่มพระโพธิญาณสืบต่อไป

พุทธอุบัติ


เมื่อสมเด็จพระนิยตบรมโพธิสัตว์เจ้า ได้ทรงบำเพ็ญพระบารมีจนถ้วนสมบูรณ์ ครบกำหนดกาลเวลาตามประเภทแห่งสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทั้ง ๓ ประเภทแล้ว บัดนี้ก็ถึงกาลสำคัญที่สุด คือ ถึงวาระที่จะเสด็จมาอุบัติตรัสแก่ปรมาภิเษกสัมโพธิญาณ และจักได้รับการเฉลิมพระนามว่า สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่ทรงมุ่งมาดปรารถนามานานนักหนาเสียที และเมื่อพระบรมโพธิสัตว์ผู้มีวาสนาบารมีแก่สุกรอบแล้ว จักได้มีโอกาสตรัสเป็นองค์สมเด็จพระพุทธเจ้านั้น พระองค์ท่านย่อมจุติลงมาอุบัติตรัสเป็นองค์สมเด็จพระสรรเพชญพุทธเจ้าใน มนุษย์โลกเรานี้เท่านั้น

ในกรณีนี้ หากจะมีปัญหาว่า เพราะเหตุดังฤา พระนิยตโพธิสัตว์เจ้าจึงจำเพาะเจาะจงเสด็จลงอุบัติเป็นสมเด็จพระพุทธเจ้าแต่ เฉพาะในมนุษยโลกเรานี้เท่านั้น จะไปอุบัติบังเกิดในโลกดีอื่นๆ เช่น บนสรวงสวรรค์เทวโลกมิได้หรือประการใด?

คำวิสัชชนาก็จะพึงมีว่า การที่สมเด็จพระนิยตโพธิสัตว์มิได้อุบัติตรัสเป็นสมเด็จพระพุทธเจ้า ณ เบื้องสวรรค์เทวโลกนั้น ก็เพราะเหตุว่า เทวโลกมิได้เป็นที่ตั้งแห่งศาสนพรหมจรรย์อันการที่จะบำเพ็ญศาสนพรหมจรรย์ และการบรรพชาอุปสมบทนี้ ย่อมเหมาะสมที่จะมีอยู่แต่ในมนุษยโลกนี้เท่านั้น จะได้มีในสวรรค์เทวโลกก็หามิได้

อีกประการหนึ่งนั้น ครั้นว่าสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงบังเกิดเป็นเทวดาแล้ว ถ้าพระองค์จะแสดงพระพุทธนุภาพอันประกอบไปด้วยพระอริยฤทธิ์มีประการต่างๆ มนุษย์ทั้งหลายผู้มักเป็นคนช่างความคิด ก็จะไม่เชื่อฤทธิ์พระพุทธานุภาพ มักให้มีความคิดเห็นไปตามประสาโง่แห่งตนว่า การที่พระองค์แสดงฤทธิ์ต่างๆ ได้นั้น ก็เพราะพระพุทธองค์ท่านทรงเป็นเทวดา ซึ่งประกอบไปเทวานุภาพเป็นอันมาก หากจะทรงอ้างว่าเป็นพระพุทธานุภาพ ก็มีเทวานุภาพเจือปนอยู่ นี่หากพระองค์เป็นมนุษย์แล้ว ไหนเลยจะทรงแสดงพระพุทธานุภาพอันเชี่ยวชาญให้สำเร็จกิจอิทธิปาฏิหารย์ดังที่ เห็นได้ เมื่อคิดไขว้เขวไปเสียเช่นนี้ ก็จะเป็นเหตุให้ลดหย่อนความเลื่อมใสในพระพุทธานุภาพ ตลอดจนไม่สนใจในศาสนธรรมคำสอนอันทรงไว้ซึ่งคุณค่าสูงสุด อนึ่ง หากสมเด็จพระพุทธองค์ทรงเป็นเทวดาแล้วไซร้ ถ้าจะใช้ความเป็นเทวดาสำแดงเทวานุภาพให้ปรากฎ มนุษย์ทั้งหลายก็จักเข้าใจผิดได้อีกเช่นเดียวกัน คือเขาเหล่านั้นจะพากันคิดว่า เทวานุภาพนั้นเจือปนไปด้วยพระพุทธานุภาพ ได้พระพุทธานุภาพอุดหนุนเป็นกำลัง เทวานุภาพจึงเชี่ยวชาญให้สำเร็จอิทธิปาฏิหารย์ทั้งปวงได้ แต่เทวานุภาพสิ่งเดียว ไหนเลยจะได้สำเร็จอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์อย่างนี้ได้ เมื่อมนุษย์ทั้งหลายเข้าใจไขว้เขวไปอย่างนี้แล้ว อารมณ์แห่งมนุษย์นั้นก็จะเป็นสอง จะมิได้เชื่อถือในพระพุทธานุภาพและเทวานุภาพ ที่สมเด็จพระพุทธเจ้าและไม่ปฏิบัติตาม เมื่อไม่มีการปฏิบัติแล้ว ปฏิเวธความได้บรรลุธรรมวิเศษ คือมรรคผลนิพพานอันเป็นจุดมุ่งหมายที่พระองค์ทรงตั้งไว้นานนักหนาจักสำเร็จ ลงได้อย่างไร ด้วยเหตุนี้ สมเด็จพระนิยตโพธิสัตว์เจ้าผู้มีพุทธบารมี จึงไม่เสด็จอุบัติตรัสเป็นสมเด็จพระพุทธเจ้าที่โลกอื่น เช่น พรหมโลกและเทวโลกเป็นต้น อันเป็นโลกคับแคบไม่ควรแก่การที่จะแสดงซึ่งพระพุทธานุภาพ แต่จำเพาะเจาะจงเสด็จลงมาอุบัติตรัสในมนุษยโลก อันเหมาะสมแก่การแสดงพระพุทธานุภาพ ให้ปรากฎได้เต็มที่ เช่นนี้เป็นธรรมประเพณีของพระนิตยโพธิสัตว์เจ้าทุกพระองค์สืบมาแต่ปางบรรพ์

อสุญกัป


ครั้นเมื่อมนุษยโลกเรานี้ ได้มีโอกาสต้อนรับการเสด็จมาอุบัติขึ้นแห่งองค์สมเด็จพระนิยตบรมโพธิสัตว์ ผู้ตรัสเป็นพระเอกองค์พระจอมมุนีชินสีห์สัมมาสัมพุทธเจ้าคราวใด คราวนั้นกาลเวลาย่อมถูกเรียกว่า อสุญกัป = กัป์ที่ไม่สูญเปล่า

กล่าวถึงตอนนี้ บางทีอาจจะมีบางท่านเกิดความสงสัยขึ้นมาในใจบ้างก็ได้ว่า เรื่องกัปนี้ ก็ว่ามาแล้วนี้ ยังไม่หมดอีกหรือ ยังจะมีอสุญกัปอะไรอีกเล่า? เพื่อความเข้าใจในเรื่องนี้ขอให้ท่านผู้มีปัญญาทั้งหลายพึงตั้งใจศึกษาอรรถ วรรณนา ดังต่อไปนี้

กาลเวลาที่นับเป็นมหากัปและเป็นอสงไขย ที่ได้กล่าวไว้แต่ตอนต้นโน้นนะ ท่านผู้มีปัญญาทั้งหลายย่อมจำได้เป็นอย่างดีแล้วมิใช่หรือว่า เป็นระยะยาวนานเพียงใด ทีนี้ แต่ละมหากัปซึ่งกินเวลายาวนานเหล่านั้น ใช่ว่าจะมีสมเด็จพระพุทธเจ้าเสด็จมาอุบัติตรัสในโลกเรานี้ทุกๆ มหากัปไปก็หาไม่ โดยที่แท้บางมหากัปก็มีสมเด็จพระพุทธเจ้ามาตรัส แต่บางมหากัปก็ไม่มีเลย ทั้งนี้ก็เพราะว่า การที่จะหาวิสิฏฐิบุคคล กล่าวคือบุคคลที่ทรงคุณพิเศษ เป็นพระโพธิสัตว์เจ้าผู้มีพระกฤษฎาภินิหารอันสำเร็จแล้ว มาตรัสรู้เป็นองค์สมเด็จพระพุทธเจ้าแต่ละองค์นั้นเป็นไปได้ยากยิ่งนักหนา กล่าวอีกทีก็ว่า ไม่ค่อยจะมีพระนิยตโพธิสัตว์นั่นเอง ฉะนั้น เมื่อมีสมเด็จพระนิยตโพธิสัตว์เสด็จมาอุบัติตรัสในโลกเรานี้ในมหากัปใด มหากัปนั้นย่อมไม่สูญจากคุณวิเศษอันยิ่งใหญ่คือมรรคผลนิพพาน เพราะว่ามีสมเด็จพระบรมโลกุตมาจารย์มาทรงชี้แจงแสดงออก และมหากัปนั้นก็เลยถูกเรียกว่าอสุญกัปไป เมื่อว่าโดยนัยนี้ จึงอาจจะแบ่งมหากัปเป็นประเภทใหญ่ๆ เพื่อให้เข้าใจได้ง่ายเป็น ๒ ประเภท คือ

ก. มหากัปใด ไม่มีองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามาอุบัติตรัสในโลกนี้เลยแม้แต่สักพระองค์เดียว มหากัปนั้นมีชื่อเรียกว่า สุญ กัป คือเป็นกัปที่สูญจากองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า สูญเปล่าจากมรรคผลนิพพาน มิใช่แต่เท่านั้น ในกาลที่เป็นสุญกัปนี้ ยังสูญจากวิสิฏฐิบุคคลอื่นๆ อีกด้วย คือพระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลายก็ดี สมเด็จพระเจ้าจักรพรรดิราชก็ดี ย่อมไม่ปรากฎมีในสุญกัปนี้เลย นับว่าเป็นกัปที่สูญจากวิสิฏฐิบุคคลจริงๆ
ข. มหากัปใด มีสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จมาอุบัติตรัสในโลก มหากัปนั้น มีชื่อเรียกว่า อสุญกัป คือเป็นกัปที่ไม่สูญจากองค์สมเด็จพระพุทธเจ้า ไม่สูญเปล่าจากมรรคผลนิพพาน มิใช่แต่เท่านั้นดัวยว่า ในกาลที่เป็นอสุญกัปนี้ยังมีวิสิฏฐิบุคคลทั้งหลายอื่นปรากฏในโลกอีกด้วย คือพระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลายก็ดี สมเด็จพระเจ้าจักรพรรดิราชก็ดีย่อมปรากฎมีเฉพาะในกาลที่เป็นสุญกัปนี้เท่า นั้น
บรรดาอสุญกัป คือกัปที่มีสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จมาอุบัตินี้ ยังมีชื่อเรียกตามจำนวนสมเด็จพระพุทธเจ้าที่เสด็จมาตรัสอีก ดังต่อไปนี้
๑. สารกัป... อสุญกัปใด มีสมเด็จพระสรรเพชญสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จมาอุบัติตรัสในโลกนี้แต่เพียง ๑ พระองค์ อสุญกัปนั้นเรียกชื่อว่า สารกัป

๒. มัณฑกัป... อสุญกัปใด มีสมเด็จพระสรรเพชญสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จมาอุบัติตรัสในโลกนี้ ๒ พระองค์ อสุญกัปนั้นเรียกชื่อว่า มัณฑกัป

๓. วรกัป... อสุญกัปใด มีสมเด็จพระสรรเพชญสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จมาอุบัติตรัสในโลกนี้ ๓ พระองค์ อสุญกัปนั้นเรียกชื่อว่า วรกัป

๔. สารมัณฑกัป... อสุญกัปใด มีสมเด็จพระสรรเพชญสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จมาอุบัติตรัสในโลกนี้ ๔ พระองค์ อสุญกัปนั้นเรียกชื่อว่า สารมัณฑกัป

๕. ภัทรกัป... อสุญกัปใด มีสมเด็จพระสรรเพชญสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จมาอุบัติตรัสในโลกนี้ ๕ พระองค์ อสุญกัปนั้นเรียกชื่อว่า ภัทรกัป
ตาม ที่กล่าวมานี้ ท่านผู้มีปัญญาทั้งหลายก็คงจะเห็นแล้วว่าอสุญกัปสุดท้าย คือภัทรกัป นี้เป็นกัปที่ประเสริฐที่สุด เพราะมีสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จมาอุบัติตรัสในโลกเราถึง ๕ พระองค์ นับเป็นจำนวนมากที่สุด ไม่มีกัปใดที่จักมีองค์พระจอมมุณีสัมมาสัมพุทธเจ้า เสด็จมาอุบัติมากยิ่งขึ้นไปกว่านี้อีกแล้ว และบรรดาประชาสัตว์ทั้งหลายซึ่งได้อุบัติเป็นมนุษย์หรือเทวดาในกัปนี้ ย่อมมีโอกาสที่จักได้พบองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า หรือมิฉะนัน ก็ได้พบศาสนธรรมคำสั่งสอนแห่งองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นระยะติดต่อกันไปมากมายถึง ๕ พระองค์ ด้วยเหตุนี้ เหล่าสัตว์โลก คือมนุษย์และเทวดาอินทร์พรหม ผู้มีจิตเป็นกุศลโสภณ ปฏิสนธิด้วยไตรเหตุ ประกอบไปด้วยบุญวาสนาบารมี ย่อมสามารถที่จะกระทำอาสวะกิเลสให้สูญสิ้นไปจากขันธสันดานแห่งตนโดยชุกชุม ในภัทรกัปนี้มากกว่ากัปอื่น เพราะค่าที่เป็นกัปที่ประเสริฐที่สุด เป็นกัปที่หาได้โดยยากยิ่ง นานแสนนานจึงจักปรากฎมีในโลกเรานี้สักครั้งหนึ่ง ท่านจึงขนานนามอสุญกัปสุดท้ายนี้ว่า ภัทรกัป=กัปที่เจริญที่สุด
หัวข้อ: Re: มุนีนารถทีปนี การตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า โดย พระพรหมโมลี วิลาศ ญาณวโร
เริ่มหัวข้อโดย: Wisdom ที่ กุมภาพันธ์ 21, 2012, 12:03:04 PM
พระเจ้า ๕ พระองค์


บัดนี้ มีความยินดีเป็นยิ่งนัก ที่จักขอแจ้งให้พวกเราชาวพุทธบริษัทจงทราบทั่วกันว่า อสุญกัปที่พวกเราโผล่ขึ้นมาเกิดโดยไม่รู้เนื้อรู้ตัวล่วงหน้ามาก่อนเลยเวลา นี้นั้น มีชื่อเรียกว่า ภัทรกัป ซึ่งเป็นกัปที่เจริญที่สุด ประเสริฐที่สุด และหาได้ยากในโลกเป็นที่สุดดังกล่าวมาแล้ว ไม่มีอสุญกัปใดที่ประเสริฐเลิศล้ำ ยิ่งกว่าอสุญกัปที่เราท่านทั้งหลายกำลังเกิดเป็นคนเป็นมนุษย์อย่างเวลานี้ อีกแล้ว เพราะว่าสมเด็จพระจอมมุนีชินสีห์สัมมาสัมพุทธเจ้า เสด็จมาอุบัติตรัสในโลกเรานี้ถึง ๕ พระองค์ คือ
๑. สมเด็จพระกกุสันโธพุทธเจ้า

๒. สมเด็จพระโกนาคมโนพุทธเจ้า

๓. สมเด็จพระกัสสโปพุทธเจ้า

๔. สมเด็จพระศรีศากยมุนีโคตโมพุทธเจ้า คือองค์สมเด็จพระบรมศาสดาจารย์แห่งเราท่านทั้งหลาย ผู้เป็นพุทธศาสนิกชนในขณะนี้ นั่นเอง และต่อจากนี้ไป เมื่อศาสนาของพระพุทธองค์ท่าน ที่พวกเราชาวพุทธศาสนิกบริษัทกำลังประพฤติปฏิบัติด้วยศรัทธาเคารพเลื่อมใส กันอยู่ทุกวันนี้ เสื่อมสูญอันตรธานให้หมดสิ้นแล้ว โลกเรานี้ ก็จักว่างจากพระบวรพุทธศาสนาเป็นโลกมืดบอดจากมรรคผลนิพพานไปอีกนานนักหนา แล้ววาระหนึ่ง จึงจักถึงกาลอันตรกัปที่ ๑๓ (ในปัจจุบันทุกวันนี้กำลังอยู่ในอันตรกัปที่ ๑๒) ก็ในอันตรกัปที่ ๑๓ นั้น สมเด็จพระนิยตบรมโพธิสัตว์เจ้าซึ่งมีพระนามว่า สมเด็จพระศรีอาริยเมตไตรยเทวบุตรโพธิสัตว์ ซึ่งขณะนี้กำลังสถิตเสวยสุขอยู่ ณ เบื้องสวรรค์เทวโลกชั้นดุสิตภูมิ จักเสด็จมาอุบัติตรัสเป็นสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นองค์สุดท้ายในภัทรกัปนี้ ทรงพระนามว่า
๕. สมเด็จพระศรีอริเมตไตรยพุทธเจ้า
สิริรวมเป็นสมเด็จพระพุทธเจ้า ที่เสด็จมาอุบัติตรัสในภัทรกัปนี้ ถึง ๕ พระองค์ ด้วยประการฉะนี้

ทีนี้ หันมาพิจารณาถึงตัวเราท่านนี้บ้าง บรรดาเราท่านทุกผู้ทุกคนผู้กำลังโชคดี เพราะเกิดมาเป็นมนุษย์ในโลกนี้ ในขณะที่เป็นภัทรกัปซึ่งเป็นกัปที่ประเสริฐสุด มีผู้บรรลุมรรคผลนิพพานโดยชุกชุมมากมายในกัปนี้แล้ว ก็จงอย่าได้มีความประมาท จงอย่าทำตนให้แคล้วคลาดจากอมตสมบัติคือมรรคผลนิพพานเสียเลย จงพยายามแสวงหาประโยชน์จากความมีโชคดีในครั้นนี้ให้จงได้ ด้วยการรีบปฏิบัติธรรมตามคำสอนของพระพุทธองค์เจ้า เพื่อเอามรรคผลนิพพานมาเป็นสมบัติของตนให้จงได้ ถ้าจะถามต่อไปว่าจะปฏิบัติอย่างไรกันเล่า จึงจักเข้าถึงซึ่งมรรคผลนิพพานอันเป็นการดำเนินตามรอยบาทพระอริยเจ้าทั้ง หลาย?

เมื่อจะวิสัชชนากันไปอย่างตรงๆ ไม่ต้องอ้อมค้อมพูดมากให้เสียเวลา ก็ต้องตอบดังนี้ว่า การที่จะนำตนให้ได้บรรลุถึงมรรคผลนิพพานอันประเสริฐสุดนั้น ต้องกระทำกุศลกรรมขั้นอุกฤษฐ์ คือปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน ให้วิปัสสนาญาณเกิดขึ้นโดยลำดับ จนกระทั่งพระอริยมรรค พระอริยผล บังเกิดขึ้นในสันดานแห่งตนนั่นแหละ จึงจะรู้จักมรรคผลนิพพานและได้ลิ้มรสอมตธรรม เมื่อทำได้เช่นนี้ จึงจะได้ชื่อว่า ไม่เสียทีที่เกิดมาเป็นมนุษย์พบพระพุทธศาสนา ที่ กล่าวมานี้ ต้องการที่จะชี้ให้เห็นว่าจุดประเสริฐสุดแห่งการได้พบพระพุทธศาสนาในภัทรกัป นี้ อยู่ตรงนี้ คือตรงที่ได้ลิ้มรสอมตธรรมนี่เอง ทีนี้ ถ้าหากผู้ใดไม่ต้องการอมตะธรรมแล้ว ต่อให้มีสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จมาโปรดตรงหน้าเขาสักหมื่นแสนพระองค์ ก็ดี ก็ไม่มีความหมาย คือไม่มีประโยชน์อะไรเลย

ทรงเป็นเอก


ได้พรรณนาไว้แล้วว่า เมื่อถึงโอกาสอันสมควร เพราะวาสนาบารมีครบควรแก่การที่จะได้ตรัสแก่พระปรมาภิเษกสัมโพธิญาณแล้ว สมเด็จพระนิตยโพธิสัตว์เจ้า ย่อมเสด็จมาอุบัติตรัสเป็นเอกองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงประกาศสัจธรรมนำสัตว์ผู้ปฏิบัติตามให้พ้นจากทุกข์ภัยในวัฏสงสาร ทรงเป็นเอกอัครบรมศาสดาจารย์ผู้ยอดเยี่ยม ไม่มีใครเทียมเสมอสองทรงเป็นเอกในโลกจริงๆ แม้แต่เวลาที่ทรงอุบัติ ก็ทรงอุบัติได้คราวละพระองค์เดียว โดยมีกฎธรรมดาอยู่ว่า เมื่อสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จอุบัติขึ้นนั้น ไม่ว่ากาลไหนๆ ย่อมมาตรัสได้ในโลกเรานี้ คราวละพระองค์เดียวเท่านั้น ไม่เสด็จอุบัติพร้อมกันคราวละ ๒-๓ พระองค์เลยเป็นอันขาด ถึงแม้จะมาตรัสในกัปเดิมหลายพระองค์ก็ตาม ถึงกระนั้น สมเด็จพระพุทธเจ้าพระองค์หลัง ต้องทรงรอให้ศาสนาสมเด็จพระพุทธเจ้าพระองค์เก่า หมดสิ้นเสื่อมสูญอันตรธานไปเสียก่อน แล้วจึงจักเสด็จมาตรัสต่อไป

ในกรณีนี้ หากจะปัญหาว่า เหตุไฉน สมเด็จพระสัพพัญญูสัมมาสัมพุทธเจ้า จึงไม่ตรัสในโลกเรานี้พร้อมกันเล่า? เพราะว่าสมเด็จพระพุทธเจ้าทั้งหลายนั้น จะตรัสพระสัทธรรมเทศนาใดก็ดี หรือจะทรงบัญญัติพระวินัยสิกขาบทใดก็ดี ย่อมเป็นเหมือนๆ กันหมด จะได้ผิดแผกแยกให้ต่างกัน แม้แต่บทเดียวก็หามิได้ ถ้าแม้สมเด็จพระสัพพัญญูเจ้าผู้ทรงคุณใหญ่ จะได้ตรัสขึ้นในโลกพร้อมกันแม้ไม่มากแต่เพียง ๒ พระองค์แล้ว โลกเรานี้ก็จะยิ่งเจริญรุ่งเรืองขึ้นไปนักหนา ด้วยมีสมเด็จพระบรมศาสดาจารย์ถึง ๒ พระองค์ จะได้ช่วยกันทรงเทศนา โปรดฝูงมนุษย์เทวดา อินทร์ พรหม ยม ยักษ์ เป็นอันมาก พระพุทธศาสนาก็จักแพร่ไพศาลถึงความรุ่งเรืองภิญโญภาพยิ่งๆ ขึ้นไปมิใช่เหรือ?'

หากจักสงสัยเช่นนี้ คำวิสัชชนาก็จะมีว่า อันว่าโลกธาตุเรานี้มีปกติจำเพาะจะทรงไว้ ซี่งพระคุณแห่งสมเด็จพระสรรเพชญสัมมาสัมพุทธเจ้าได้แต่เพียงพระองค์เดียว เท่านั้น ถ้าว่าสมเด็จพระสัพพัญูเจ้า จักมาตรัสพร้อมกันถึง ๒ พระองค์แล้ว โลกธาตุนี้ก็มิอาจจะทรงไว้ซึ่งพระพุทธคุณอันมากมายก่ายกองไว้ได้ ก็จะถึงความหวั่นไหวสะท้านสะเทือนและถึงความฉิบหายไร้ประโยชน์ยิ่งนัก ถ้าจักให้กล่าวเป็นอุปมาโวหารก็มีคำที่ท่านพรรณนาไว้ ดังต่อไปนี้

นาวาเล็กลำเดียว มีปกติจุแต่บุรุษเดียวเท่านั้น จึงจะข้ามแม่น้ำแล่นไปได้ ทีนี้ ยังมีบุรุษอีกผู้หนึ่ง ซึ่งมีรูปร่างกำยำส่ำสันใหญ่โตพอๆ กันกับบุรุษผู้เป็นเจ้าของเรือนั้นมาขอโดยสารข้ามฟาก จะขอนั่งลงในนาวานั้นเป็น ๒ คนด้วยกัน อย่างนี้นาวาน้อยลำนนั้นจะบรรทุกคนทั้งสองให้ข้ามไปถึงฝั่งได้อย่างไรกัน เพราะเหตุว่าแต่เพียงบุรุษเจ้าของเรือคนเดียวนั่งลงก็เพียบเต็มที่อยู่แล้ว หากยังมีบุรุษล่ำสันเท่ากันมาโดยสารอีกเล่า แต่พอนั่งลง นาวานั้นย่อมมิอาจจะทรงตัวไว้ได้ ก็จะล่มลงเป็นมั่นคงเที่ยงแท้ในกระแสคงคา อุปมาข้อนี้ฉันใด โลกธาตุนี้ก็เป็นเช่นนั้นคือ มีปกติทรงไว้ได้ซึ่งพระคุณแห่งสมเด็จพระพุทธเจ้าแต่เพียงพระองค์เดียวเท่า นั้น ครั้นจะมีสมเด็จพระสรรเพชญพุทธเจ้าเสด็จมาอุบัติขึ้นพร้อมกันอีกพระองค์ หนึ่งเล่า ก็เข้าภึงภาวะที่ไร้ประโยชน์และกลับจะเป็นโทษ ตามอุปมาที่แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนนั้น

อีกประการหนึ่ง เปรียบเหมือนบุรุษผู้ซึ่งบริโภคอาหารอิ่มท้องเต็มแปร้ตลอดคอหอยสุดที่จักรับ ประทานได้แล้ว ยังจะขืนให้บริโภคอาหารเข้าไปใหม่ ให้มีปริมาณเท่ากับที่บริโภคเข้าไปแล้วนั้นอีกเล่า อย่างนี้ก็น่าที่บุรุษนั้นจักต้องได้รับทุกขเวทนาให้มีอันเป็นจุกรากอาเจียร ต่างๆ ไม่มีความสุขสบายเป็นแน่แท้อุปมาข้อนี้ฉันใด โลกธาตุนี้ทรงไว้ซึ่งพระคุณแห่งสมเด็จพระสรรเพชญบรมโลกนาถแต่เพียงพระองค์ เดียวก็เต็มหนักอยู่แล้ว หากจะมีสมเด็จพระจอมมุนีศาสดาจารย์มาตรัสขึ้นพร้อมกันอีกพระองค์หนึ่งเล่า ก็จะปั่นป่วนหวั่นไหวทรุดเซไป มิอาจจะต้านทานพระคุณไว้ได้ เข้าถึงภาวะที่เปล่าประโยชน์และกลับจะเป็นโทษไปเสียด้วยซ้ำ

อีกประการหนึ่ง เปรียบเหมือนบุรุษผู้หนึ่ง  ซึ่งเอาสัมภาระสิ่งของบรรทุกลงในเกวียน ๒ เล่มให้เต็มเสมอเรือนเกวียนแล้ว กลับจะขนสัมภาระอันหนักลงจากเกวียนเล่มหนึ่ง   เอาไปบรรทุกลงในเกวียนเล่มเดียวกัน อย่างนี้ เกวียนเล่มนั้นจะทนทานได้อย่างไรกันเล่า เพราะตามปกติก็บรรทุกไว้จนเต็มที่อยู่แล้ว ยังจะเอามาบรรทุกซ้ำเข้าอีกเท่าหนึ่งเล่า เช่นนี้ก็น่าที่จะเกิดเหตุเป็นแม่นมั่น คือว่ากงกำเกวียนนั้นก็จะต้องทำลายฉิบหายลง มิฉะนั้น เพลาเกวียนก็จะหักสะบั้นไปอย่างไม่ต้องสงสัย อุปมาข้อนี้ฉันใด โลกธาตุแผ่นพสุธาอันกว้างใหญ่นี้ก็เป็นเช่นกัน จำเพาะจะทรงไว้ได้ซึ่งพระคุณแห่งสมเด็จพระโลกเชษฐ์แต่เพียงพระองค์เดียว เท่านั้น หากมีสมเด็จภควันต์เสด็จมาตรัสพร้อมกันเป็นสองพระองค์แล้วไซร้ ก้มิอาจจะทนทานได้ น่าที่จะวิการไปเป็นเหมือนเกวียนบรรทุกสิ่งของเกินอัตราเป็นแม่นมั่น

อนึ่ง  ที่นับว่าสำคัญในกรณีนี้ ก็คือว่า หากสมเด็จพระบรมศาสดาจารย์เจ้า จักเสด็จมาตรัสในโลกนี้พร้อมกันเป็น ๒ พระองค์ แล้วทรงช่วยกันประกาศพระบวรพุทธศาสนา ทรงช่วยกันแสดงพระสัทธรรมเทศนาโปรดสัตว์โลกทั้งหลาย มนุษย์หญิงชายทั้งปวงก็จะแตกต่างออกเป็น ๒ ฝ่าย แล้วต่างก็จะถือเอาแต่วิวาททุ่มเถียงซึ่งกันแลกันไปตามประสาทิฐิแห่งมนุษย์ ว่า

"สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าของพวกเรา"
และว่า
"สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าของพวกท่าน"


เมื่อพุทธบริษัทต่างพากันถือเอาด้วยทิฐิเป็นสองฝ่ายสองพวกไปเสียเช่นนี้ พระโอวาทานุสาสนีอันล้ำค่าก็น่าที่จะไม่ได้ผลเต็มเม็ดเต็มหน่วยเป็นแม่นมั่น การณ์ดีก็จะมีน้อยกว่าการณ์เสีย เปรียบดุจเสนาบดีใหญ่ยิ่ง ๒ คน ซึ่งเป็นข้าเผ้าสมเด็จพระบรมกษัตริยาธิราชเจ้า ที่พระองค์ทรงแต่งตั้งไว้ต่างพระเนตรพระกรรณให้ปรึกษาราชการ เหล่าบริวารทั้งหลายของเสนาบดีทั้งสองนั้น ย่อมถือกันแบ่งกันเป็น ๒ พวก ด้วยถ้อยคำว่า "เสนาบดีนั้น เป็นเจ้านายของพวกท่าน . เสนาบดีนั้นเป็นเจ้านายของพวกเรา" เหล่าบริวารทั้งหลายเกิดมีทิฐิในน้ำใจแบ่งแยกแตกออกเป็น ๒ ฝ่ายไปเสียเช่นนี้ ก็น่าที่จะไม่สามารถยังราชกิจแห่งสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวให้สำเร็จลงได้เต็ม เม็ดเต็มหน่วย อุปมาข้อนี้ฉันใด เมื่อสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถเสด็จมาอุบัติในโลกนี้ทีเดียวพร้อม ๒ พระองค์แล้ว ก็จะเป็นเหตุให้พุทธบริษัทถือทิฐิแบ่งแยกเป็นสองพวกสองเหล่า เช่นอุปมาที่เล่ามานี่ดุจกัน

อีกประการหนึ่ง สิ่งที่ว่าใหญ่โตบรรดามีในโลกธาตุนี้ คือ

มหาปฐพีอันกว้างใหญ่ย่อมมีเป็นอันเดียว จักได้เป็นสองก็หามิได้

มหาสมุทรทะเลใหญ่ย่อมมีเป็นอันเดียว จักได้มีเป็นสองก็หามิได้

สิเนรราชจอมภูผา เป็นพญาแห่งภูเขาทั้งปวง ก็มีแต่หนึ่งซึ่งจะเป็นสองก็หามิได้

สมเด็จเจ้าผู้เป็นใหญ่ ณ เบื้องสวรรค์ชั้นไตรตรึงษ์ ก็ประเสริฐเป็นหนึ่งอยู่แต่พระองค์เดียว คือ องค์สมเด็จพระอัมรินทราธิราช ซึ่งสถิตเสวยสุขอยู่ในไพชยนต์ปราสาทพิมาน

พญามาราธิราช ซึ่งสถิตอยู่ ณ เบื้องสวรรค์ชั้นสูงสุด คือปรนิมิตสวัตตีเทวโลก ก็ประเสริฐเป็นหนึ่งอยู่แต่เพียงพระองค์เดียว จักได้มีผู้ใดเทียมเท่าก็หามิได้
ท้าวมหาพรหมผู้เป็นใหญ่วิเศษอยู่ ณ เบื้องพรหมโลกแต่ละภพ ก็มีอำนาจเลิศเป็นใหญ่แต่ลำพังพระองค์เดียว

เพราะฉะนั้น สมเด็จพระสัพพัญญูสัมมาสัมพุทธเจ้า พระองค์ผู้ทรงพระคุณอันประเสริฐล้ำเลิศในไตรโลก จึงทรงเป็นเอกประเสริฐสุดอยู่แต่เพียงพระองค์เดียว และเมื่อมาตรัสก็ไม่มาตรัสพร้อมกันเป็นสองพระองคืในคราวเดียวกันเลย สภาพการณ์เช่นนี้ เป็นธรรมประเพณีเที่ยงแท้แต่เดิมมา

พรรณาในพระพุทธาธการ กล่าวเรื่องอันเกียวกับองค์สมเด็จพระจอมมุนีชินสีห์สัมมาสัมพุทธเจ้าทั้ง หลาย เห็นว่าเป็นการสมควรแล้ว จึงขอยุติลงเพียงแค่นี้ ต่อจากนี้ เพื่อความเข้าใจดี ขอเชิญท่านผู้มีปัญญาทั้งหลายจงได้ติดตามประวัติการสร้างพระพุทธบารมีของ องค์สมเด็จพระศรีศากยมุนโคดมบรมครูเจ้าแห่งเราทั้งหลายสืบต่อไป

บทที่ ๒

พระบารมีเริ่มแรก


บัดนี้ จักพรรณนาถึงการสร้างพระบารมี เพื่อพระปรมาภิเษกสัมโพธิญาณของสมเด็จพระมิ่งมงกุฏศรีศากยมุนีโคดมบรมโลกนาถ พระองค์ผู้ทรงเป็นพระบรมศาสดา ทรงมีพระมหากรุณาประกาศศาสนธรรมคำสั่งสอน ให้พวกเราชาวพุทธเวไนยนิกรได้ประพฤติปฏิบัติสืบๆ กันมาจนกระทั่งทุกวันนี้ เพื่อเป็นการสดุดีสรรเสริญคุณแห่งพระองค์ เท่าที่สามารถจะประมวลนำมากล่าวไว้ในที่นี้ได้ ขอท่านสาธุชนทั้งหลายจงตั้งใจสดับตรับฟังด้วยดีเถิด เพื่อที่จะได้เกิดศรัทธาปสาทะความเชื่อความเลื่อมใสในองค์พระผู้มีพระภาค เจ้า โดยมาเข้าใจทราบชัดว่า สมเด็จพระบรมศาสดาของพวกเราทั้งหลาย กว่าจะได้ตรัสพระปรมาภิเษกสัมโพธิญาณนั้น พระองค์ท่านต้องทรงพระอุตสาหะพยายามสั่งสมบ่มพระบารมีมาเป็นเวลานาน และยากลำบากนักหนาเพียงไร

สมเด็จพระสรรเพชญ์ศรีศากยมุนีโคดมบรมครูเจ้าของเรานี้ พระองค์ทรงเป็นพระพุทธเจ้าประเภทปัญญาธิกะ คือทรงยิ่งด้วยพระปัญญา ฉะนั้น จึงปรากฎว่าพระองค์ทรงสร้างพระบารมีเพื่อพระพุทธภูมิได้ยิ่งยวดรวดเร็ว นักหนา เร็วยิ่งกว่าพระพุทธเจ้าประเภทอื่นทั้งหมด ตั้งแต่เริ่มปรารถนาพระพุทธภูมิจนกระทั่งได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า แม้จะนับว่ารวดเร็วกว่าพระพุทธเจ้าประเภทอื่น ถึงกระนั้น พระองค์ก็ต้องทรงใช้เวลาสร้างพระบารมีถึง ๒๐ อสงไขยกับ ๑ แสนมหากัปพอดี ในบทนี้ จะกล่าวถึงตอนเริ่มแรกทรงสร้างพระบารมี คือตอนทรงปรารถนาพระพุทธภูมิ ได้แต่ดำริในพระหฤทัยมิได้ออกโอษฐ์เป็นวาจา นับเวลานานถึง ๗ อสงไขย ดังต่อไปนี้


พรหมรำพึง
   

กาลครั้งหนึ่ง ปรากฎว่าในโลกธาตุว่างจากพระบวรพุทธศาสนาคือ ไม่มีองค์สมเด็จพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จมาอุบัติตรัสในโลกเรานี้ เป็นเวลานับได้นานนักหนาถึง ๑ อสงไขย เมื่อไม่มีพระพุทธศาสนา โลกธาตุก็ย่อมจะว่างเว้นจากการได้บรรลุมรรคผลธรรมวิเศษเป็นธรรมดา เพราะว่าธรรมพิเศษคือพระอริยมรรคอริยผลอันเป็นโลกุตตรธรรมนั้น จักมีได้ก็แต่เฉพาะภายในพระพุทธศาสนาเท่านั้น ไม่มีในศาสนาลัทธิอื่นเป็นอันชาด ก็ในกาลครั้งนั้น จึงบรรดาเทพเจ้าทั้งหลายผู้ซึ่งเป็นพุทธศาสนิกบริษัทแลได้บรรลุมรรคผลธรรม วิเศษ คือเป็นพระอริยบุคคลชั้นพระโสดาบัน พระสกิทาคามีมาแต่ศาสนาของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ก่อน เทพยเจ้าพระอริยบุคคลเหล่านั้น ต่างก็พากันอนุโยคพยายามประกอบความเพียรบำเพ็ญเป็นพระอนาคามี อริยบุคคล แล้วจึงจุติขึ้นไปอุบัติเกิดเป็นพระพรหมอนาคามี ณ พรหมโลกชั้นสุทธาวาสทั้งห้า คือ อวิหาพรหมโลก อตัปพรหมโลก สุทัสสาพรหมโลก สุทัสสีพรหมโลก และอกนิฏฐพรหมโลก องค์ใดจะไปอุบัติเกิดในปัญจสุทธาวาสพรหมโลกชั้นไหนนั้น ก็สุดแต่วาสนาบารมีที่ตนอบรมให้แก่กล้าในอินทรีย์ไหน

เมื่อเทพยดาเจ้าทั้งหลายเหล่านั้น ไปอุบัติบังเกิดเป็นพระพรหมอนาคามีแล้ว ก็ย่อมเจริญกรรมฐานต่อไปจนกระทั่งได้บรรลุมรรคผลขั้นสูงสุด คือ ได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์แล้วก็ดับขันธ์ปรินิพพาน ณ พรหมโลกนั้นเอง อันนี้เป็นกฎธรรมดาของพระพรหมอนาคามีทั่วไป ที่ไม่ต้องกลับมาเกิดในโลกไหนๆ อีก เมื่อได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์และดับขันธ์เข้าสู่พระอมตนิพพานไปทีละองค์สอง องค์เช่นนี้ พระพรหมอนาคามีก็เหลือน้อยลงทุกที เพราะผู้ที่จะมาอุบัติเกิดใหม่ก็ไม่มี โดยที่โลกธาตุนี้ว่างจากพระพุทธศาสนา จึงไม่มีพระอนาคามีบุคคลผู้ทรงคุณวิเศษมาอุบัติเกิดดังกล่าวแล้ว เมื่อเป็นเช่นนี้ ท่านสุทธาวาสมหาพรหมอนาคามี ได้ทอดทัศนาเห็นมหาพรหมที่เหลืออยู่น้อยนักหนา ทั้งยังจะต้องได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์และดับขันธ์เข้าสู่ปรินิพพานในวันหน้า อีกด้วยเล่า ท่านมหาพรหมเหล่านั้นจึงให้รำพึงปรึกษากันไปว่า

"ดูรา เราท่านผู้นิรทุกข์เอ๋ย! กาลบัดนี้ บรรดามหาพรหมในชั้นปัญจสุทธาวาสเรานี้ น้อยลงๆ นักหนาแล้ว ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะว่าในโลกธาตุว่างเว้นจากพระพุทธศาสนา กาลที่ไม่มีองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้นแล ปรากฎเป็นอันมากมายกว่ากาลที่มีพระพุทธเจ้าเป็นไหนๆ ฉะนั้น หมู่พระพรหมสุทธาวาสเรานี้ จึงค่อยน้อยไปๆ" เมื่อได้รำพึงปรึกษากันไปดังนี้ ต่างก็มีกมลหฤทัยบังเกิดความสังเวช แลคิดจะแก้ไขเหตุการณ์ให้ดีขึ้น จึงทอดทัศนาเล็งแลดูไปทั่วทั้งจักรวาลแลอนันตจักรวาลน้อยใหญ่ ก็ไม่เห็นพระพุทธเจ้าจักเสด็จมาอุบัติขึ้นในกาลใกล้ๆ นี้เลย จึงรำพึงปรึกษากันต่อไปว่า

"อันธรรมดาองค์สมเด็จพระสรรเพชญ์สัมมาสัมพุทธเจ้าทั้งหลาย ย่อมเสด็จอุบัติตรัสในมงคลจักรวาลนี้เท่านั้น เว้นจากมงคลจักรวาลโลกธาตุแล้ว จักมิได้ไปเสด็จอุบัติตรัสในจักรวาลทั้งหลายอื่นเลย ก็แลใครผู้ใดเล่าหนา จักเป็นผู้มีความพยายามใหญ่ หฤทัยมั่นคงแข็งกล้าอุตสาหพยายามบำเพ็ญกุศลพุทธการกธรรมเพื่อจักได้ตรัสรู้ พระปรมาภิเษกสัมโพธิญาณได้ จำเราทั้งหลายจักต้องคอยค้นคว้าแสวงหาดู"

ครั้นสุทธาวาสมหาพรหมทั้งหลาย ปรึกษากันฉะนั้นแล้ว จึงค่อยสอดส่องแสวงหาดูทั่วทั้งหมู่มนุษย์และเทวดา เพื่อจักหาบุคคลผู้มีกมลหฤทัยผูกพันมั่นคงกล้าหาญ เต็มไปด้วยอนุโยคพยายามอันยิ่งใหญ่ อาจประกอบกิจที่ตนมุ่งหวังให้สำเร็จได้โดยมิได้อาลัยถึงร่างกายแลชีวิต โดยประสงค์ว่า เมื่อพบผู้มีน้ำใจองอาจมั่นคงชนิดนี้แล้ว จักได้เข้าบันดาลดลจิตของผู้นั้นให้บังเกิดมีน้ำใจรักใคร่ในทางที่จะปรารถนา พระพุทธภูมิเพื่อตรัสรู้พระปรมาภิเษกสัมโพธิญาณ ในอนาคตกาลภายภาคหน้า

มานพหนุ่มผู้เข็ญใจ


กาลครั้งนั้น ยังมีมาณพหนุ่มผู้ยากจนเข็ญใจคนหนึ่ง เมื่อถึงกาลชนมายุเจริญวัยแล้ว มารดาบิดาจึงคิดจะปลูกฝังแต่งตั้งให้มีครอบครัวตามประเพณี แต่มาณพนั้นมิได้มีความปรารถนาด้วยประมาณตัวว่าตนเป็นคนยากจน ครั้นชนกชนนีรบเร้าเฝ้ารำพันปลอบ จึงตอบว่า

"ข้าแต่พ่อแม่ทั้งสอง! ทุกวันนี้ทรัพย์สมบัติอันหนึ่งอันใดที่มีค่าในเรือนของเราก็มิได้มี เพราะว่าเราเป็นคนเข็ญใจ ฉะนั้นข้าพเจ้าจึงยังมิพอใจจะมีเหย้ามีเรือน เมื่อมารดาบิดาทั้งสองยังครองชีวิตอยู่ตราบใด ข้าพเจ้าก็จักอุปฐากบำรุงเลี้ยงไปตามประสายาก จนกว่าชีวิตข้าพเจ้าจะหาไม่" เมื่อให้คำตอบดังนี้แล้ว ก็ทำการงานเลี้ยงดูท่านทั้งสองเป็นนิตย์ ครั้งจำเนียรกาลนานมา ท่านบิดาก็ถึงแก่กรรมไปตามธรรมดาของสังขาร

ตั้งแต่นั้นมา มาณพหนุ่มก็มิได้มีความประมาท หมั่นระวังระไวเอาใจใส่อภิบาลมารดาด้วยความรัก เที่ยวแสวงหาหักไม้ในอรัญพอแก่ความต้องการแล้ว ก็นำมาขายได้มูลค่าเท่าใด ก็จ่ายจัดเครื่องภัตตาหารได้แล้วก็นำมาอุปฐากบำรุงเลี้ยงมารดา เป็นกิจวัตรตลอดมาทุกทิวาวาร

วันหนึ่งมาณพหนุ่มผู้ยากไร้นั้น ครั้นเสร็จการเรือนแล้วก็เข้าไปสู่อรัญประเทศเที่ยวหาฟืนแลผักได้มากเหลือ กำลัง นำกลับมาในระหว่างทางก็ให้เหนื่อยกายกระหายหิวน้ำนัก จึงแวะเข้าอาศัยพักนั่งอยู่ริมฝั่งน้ำใต้ร่มไทรใบดกหนาแห่งหนึ่งใกล้ท่าเรือ สำเภา นึกในใจว่า จักเอนกายพอคลายเหนื่อยสักหน่อย จึงจะค่อยเดินทางกลับบ้านต่อไป แล้วก็เอนกายระงับหลับม่อยไปครู่หนึ่ง พอตื่นขึ้นมาเหลือบไปเห็นเรือสำเภาจึงเกิดความคิดอันบรรเจิดคำนึงไปว่า

"อา บัดนี้ เรากำลังเป็นคนหนุ่มอยู่ในปฐมวัย มีกำลังกายอุดมดี จึงอาจแสวงหาผักฟืนอันเป็นงานหนักถึงเพียงนี้ได้ ก็เมื่อกายแก่ชราล่วงกาลนานไปถอยกำลังลงก็ดี หรือเมื่อมีพยาธิความเจ็บไข้มาเบียดเบียนกายให้พิการลงแล้วก็ดี เราจักมีความสามารถประกอบการงานอันหนักอย่างที่กำลังกระทำอยู่ทุกวันนี้ได้ หรือ จำเราจะคิดขยับขยายหนทางประกอบอาชีพเสียใหม่ เข้าไปหานายสำเภานั่นแล้ว ของานทำเพื่อนำค่าจ้างมาเลี้ยงดูมารดา เช่นนี้น่าจะเป็นการดี"
หัวข้อ: Re: มุนีนารถทีปนี การตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า โดย พระพรหมโมลี วิลาศ ญาณวโร
เริ่มหัวข้อโดย: Wisdom ที่ กุมภาพันธ์ 21, 2012, 12:06:00 PM
ครั้งคิดดังนั้นแล้ว จึงผันผายเข้าไปหาพ่อค้าใหญ่นายสำเภา แล้วกล่าวขึ้นว่า

"ข้าแต่นาย! กาลบัดนี้ ข้าพเจ้าถึงซึ่งความยากจนเข็ญใจนัก จึงเซซังมาสู่สำนักท่านด้วยหวังใจว่า ถ้าท่านอนุเคราะห์ข้าพเจ้าได้ ข้าพเจ้าก็จักขอทำงานอยู่กับท่านด้วยความซื่อสัตย์สุจริตต่อไป"

ฝ่ายนายเรือสำเภาผู้ใหญ่ ครั้นได้ฟังวาจาของมาณพหนุ่มมาอ้อนวอนของงานทำเช่นนั้น ก็พลังให้เกิดความสงสาร กอปรทั้งได้เห็นรูปร่างของมาณพหนุ่มดูอุดมไพบูลย์ไปด้วยกำลังกาย อาจทำงานต่างๆ ได้โดยง่าย จึงตกลงใจอนุเคราะห์เร่งรับคำโดยเร็วว่า

"เออ...พ่อนี่ร่างกายดี ทั้งมีปัญญาพูดจาก็คมสันสมควรอยู่ มาเถิดเราจักรับอนุเคราะห์จะต้องการค่าจ้างเท่าไร เราจักให้ตามต้องการ อีกทั้งเสบียงอาหาร เมื่อต้องการก็จงเอาไปก่อนเถิด เราจะรับเลี้ยงเจ้าไปตราบเท่าวันมรณะ เจ้าอย่างได้คิดรังเกียจเลย"

มาณพหนุ่มคนเข็ญใจ เมื่อได้รับความอนุเคราะห์เช่นนั้นก็มีจิตยินดีนักหนา กล่าวคำอำลาแล้วเดินนึกสรรเสริญคุณของนายเรือสำเภาพ่อค้าใหญ่ไปพลาง จนมาถึงร่มไทรที่พักเพื่อจะนำผักและฟืนไปขายเสียก่อน ก็กลับวิตกไปอีกว่า

"หากเราจะไปต่างประเทศกับพวกพ่อค้าพานิชในเรือสำเภา มารดาเราอยู่ข้างหลังใครจักอภิบาลบำรุงเลี้ยงดูเล่า เรานี้น่าจะเป็นคนคิดผิดเสียในครั้งนี้กระมังหนอ แต่จะอย่างไรก็ตาม จำเราจะต้องไต่ถามบอกความแก่มารดาดูเสียก่อน แล้วจึงจะค่อยผ่อนผันตามสมควรในภายหลัง"

คิดดังนี้แล้ว ก็ยกภาระอันหนักนั้นขึ้นใส่บ่าไปขาย ได้มูลค่าแล้วก็จับจ่ายภัตตาหารกลับมาสู่เรือน ประกอบสรรพกิจที่เคยทำมา ครั้นมารดาบริโภคอาหารเสร็จเรียบร้อยแล้ว จึงเข้าไปกราบกรานเล่าเรื่องที่ตนคิดจะไปทำงานกับพวากพานิชยังต่างประเทศให้ ฟัง

ฝ่ายชนนีของมาณพหนุ่มนั้น ครั้นได้ฟังวาจาของปิยบุตรสุดที่รักบอกว่าจักใคร่ไปทำงานเพื่อความก้าวหน้า จะกล่าวห้ามปรามเสียก็ไม่สมควร จึงกล่าวว่า

"ดูกร พ่อผู้ปิยบุตร! ทุกวันนี้ชีวิตของแม่ย่อมเนื่องอยู่กับเจ้าผู้เป็นลูกรัก เพราะฉะนั้น เจ้าจะไปที่ไหนก็จงไปตามใจเถิด แต่ว่าขอให้แม่นี้ได้ไปกับเจ้า ได้อยู่ใกล้ๆ เจ้าเสมอไปก็แล้วกัน"

มาณพหนุ่มได้ฟังดังนี้ ก็มีความยินดีกึ่งวิตก จึงรีบลามารดาไปที่ท่าเรือสำเภา เข้าไปหานายพานิชผู้ใจดีแล้วแจ้งความว่า

"ข้าแต่ท่านผู้มีจิตกรุณา! บัดนี้การที่ข้าพเจ้าจะทำงานในเรือไปกับท่านยังต่างประเทศนั้น ข้าพเจ้าจะไปแต่ตัวคนเดียวหาได้ไม่ ถ้าท่านมีความกรุณา ขอจงอนุญาตให้ข้าพเจ้าพามารดาไปด้วยเถิด แท้จริงมารดาของข้าพเจ้านั้น เป็นคนชราอนาถาหาที่พึ่งมิได้ บุตรธิดาคณาญาติผู้ใดใครผู้หนึ่งนอกจากข้าพเจ้าแล้ว ที่จะบำรุงอุปัฏฐากเป็นไม่มีเลย ข้าพเจ้าจึงไม่อาจสละละทิ้งมารดาไว้แต่เดียวดายได้"

ฝ่ายนายสำเภาได้ฟัง ก็ยิ่งมีจิตกรุณาหนักหนา จึงตอบเป็นมธุรวาทีว่า
"ดูกรพ่อผู้เจริญ! เออ...พ่อนี้ก็เป็นคนมีกตัญญูรู้คุณอุตส่าห์ชุบเลี้ยงมารดาอยู่ด้วยหรือ เออ ดีแล้ว จงพามารดาไปด้วยเถิด เราจะรับอุปการะทั้งสิ้นโดยสุจริตใจ เพราะรักใคร่ในน้ำใจจริงๆ อย่าวิตกกังวลไปเลย"

มาณพก็มีจิตโสมนัสยินดี อัญชลีกรกล่าวขอบคุณนายพานิชแล้วรีบมายังเรือนของตน แจ้งความแก่มารดาให้ทราบแล้ว ก็เลือกเก็บทรัพย์สมบัติอันไม่ค่อยจะมีค่านัก ราบรวมได้ห่อหนึ่งแล้ว จึงพามารดาของตนสู่สำนักนายสำเภา ครั้นได้เวลาเรือออกจากท่าจะไปยังต่างประเทศแล้ว นายสำเภาผู้มีใจกรุณาก็มอบหมายหน้าที่ให้นายมาณพหนุ่มนั้นทำตามกำลังความ สามารถ มาณพนั้นมิได้ประมาทอุตสาหะประกอบกิจทุกประการเป็นอันดี

เมื่อเรือสำเภาแล่นไปในมหาสมุทรทะเลใหญ่ ประมาณได้ ๗ วันสำเภานั้นต้องลมพายุใหญ่เหลือกำลัง ก็เลยถึงซึ่งความอัปปาง ทำลายจมลงในท้องมหาสมุทร บรรดามนุษย์พานิชนิกรทั้งหลายรวมทั้งนายสำเภาผู้ใจดี ก็สิ้นชีวิตถึงแก่มรณาเป็นภักษาแห่งเต่าปลาทั้งหลายในมหาสมุทรนั้น

ฝ่ายมาณพหนุ่ม เมื่อพบประสพการณ์อันร้ายแรงเช่นนั้น ก็ตั้งสติมั่นคงจัดแจงแต่งตัวให้ทะมัดทะแมงเป็นอันดี พอได้ทีก็โลดโผนโจนออกไปจากเรือที่กำลังอับปาง เพื่อรักษาชีวิตแห่งตนไว้ ครั้นแล้วรำลึกได้ถึงมารดาจึงเหลียวหลังกลับมาแลดู ก็บังเอิญให้เห็นมารดายังไม่ตาย ยังเหนี่ยวต้นไม้หักห้อยตัวอยู่จึงดีใจนักหนา ว่ายน้ำกลับมารับมารดาให้นั่งเหนือคอของตนแล้วก็พาว่ายน้ำไปในมหาสมุทร แม้ว่าจะแลเห็นมหาสมุทรอันกว้างใหญ่สุดวิสัยไม่เห็นฟากฝั่งจะข้ามไปให้รอด ชีวิตได้ ถึงกระนั้นก็มิได้มีใจย่อท้อถอยความเพียรเสีย แม้จะเพลียแสนเพลียเหน็ดเหนื่อยนักหนา ก็สู้อุตสาหะอดทนต่อต้านทานกำลังน้ำเชี่ยวเค็มเต็มไปด้วยคลื่น ดัวยน้ำใจเด็ดเดี่ยวมากไปด้วยความพยายามอดทนเป็นยิ่งนัก เพื่อที่จักนำมารดาไปใด้รอดชีวิตให้จงได้

กล่าวฝ่ายท้าวสุทธาวาสมหาพรหมอนาคามี ซึ่งสถิตอยู่ ณ ชั้นอกนิฏฐภพพรหมโลกโพ้น เพื่อคอยแลเล็งเพ่งดูหมู่สัตว์ประสงค์จะเลือดคัดจัดสรรผู้มีหฤทัยองอาจเต็ม ไปด้วยความอุตสาหะใหญ่ใจกล้าสามารถที่จะกระทำพุทธการกธรรมได้ คราวนั้น ครั้นทอดทัศนาลงมาเห็นมาณพผู้กำลังแบกมารดาว่ายน้ำอยู่ในมหาสมุทร จึงดำริว่า "โอ... บุรุษนี้เป็นมหาบุรุษโดยแท้ ดูรึ...ไม่เอื้อเฟื้อย่นย่อต่อมหาสมุทรอันลึกซึ้งกว้างไกล สู้อดทนพยายามว่ายน้ำ เพื่อพามารดาให้ข้ามพ้นบรรลุถึงฝั่ง ก็บุคคลผู้มีใจพยายามมั่นคงเต็มไปด้วยอุตสาหะใหญ่เห็นปานนี้ จึงควรนับว่าเป็นผู้สามารถเพื่อที่จะบำเพ็ญพุทธการกธรรมให้สำเร็จลุล่วงไป ได้" เมื่อท้าวมหาพรหมผู้วิเศษคำนึงฉะนี้แล้ว ก็เข้าดลจิตให้มาณพหนุ่มนั้นนึกปณิธานปรารถนาซึ่งพระพุทธภูมิ

เวลานั้น มาณพหนุ่มผู้ซึ่งมีน้ำใจเด็ดเดี่ยวอดทนเป็นมหาบุรุษ เมื่อแบกมารดาว่ายอยู่ในหมู่คลื่นอันมีกำลังกล้า ซัดซ่ามาปะทะประหารจึงให้เกิดอาการอ่อนเพลียเหน็ดเหนือยนักหนา ก็จมลงไปในมหาสมุทรหน่อยหนึ่งแล้วก็โผล่ขึ้นมาอีก ในเวลานาทีอันเลวร้ายใกล้มรณะ ด้วยเดชอำนาจแห่งน้ำหฤทัยที่ท้าวมหาพรหมผู้วิเศษให้นึกนั้น ก็บังเกิดความคิดขึ้นมาว่า
"ถ้าตัวเราถึง แก่ชีวิตพินาศขาดสูญลงไปในท้องมหาสมุทรทะเลใหญ่พร้อมกับมารดา ณ กาลบัดนี้ ขอกุศลที่เราแบกมารดาว่ายน้ำในมหาสมุทรมาด้วยความเหน็ดเหนื่อยนักหนานี้ จงเป็นปัจจัยให้ถึงซึ่งพระโพธิญาณ ขอเราพึงอาจนำสัตว์ทั้งหลายที่เวียนว่ายในวัฏสงสารให้ข้ามพ้นลุถึงฝั่งโน้น คืออมตมหานิพพาน"
ครั้นคิดดังนี้แล้ว มาณพหนุ่มนั้นก็ตั้งปณิธานซ้ำลงไปอีกว่า
"เมื่อ เราเปลื้องตนออกพ้นจากวัฏสงสารแล้ว ขอเราพึงนำสัตว์ทั้งหลายให้เปลื้องตนพ้นวัฏสงสารด้วยเถิด อนึ่งเมื่อเราข้ามจากวัฏสงสารได้แล้ว ขอให้เราพึงนำสัตว์ทั้งหลาย ข้ามพ้นจากวัฏสงสารได้ด้วยเถิด"
เมื่อนึกปณิธาน ดังนี้แก้ว ก็ให้เกิดอัศจรรย์ พละกำลังที่จวนจะหมดสิ้น ก็พลันเกิดมีขึ้นมาอีกด้วยกำลังแห่งพรหมอนุเคราะห์ มาณพหนุ่มนั้นจึงอุตสาหะแบกมารดาว่ายน้ำข้ามมหาสมุทร สองสามวันก็บรรลุถึงฝั่ง พอพามารดาขึ้นถึงฝั่งได้แล้ว ก็เข้าไปอาศัยบ้านแห่งหนึ่งอยู่ ทำงานเลี้ยงชีวิตด้วยความยากจนสืบไป ครั้นถึงแก่กาลกิริยาสิ้นชีวิต กุศลก็ส่งให้ได้ขึ้นไปอุบัติเกิดในสวรรคสุคติภูมิ

ชีวประวัติของมาณพหนุ่มเข็ญใจนี้ แสดงให้เห็นถึงความปรารถนาดั้งเดิมเริ่มแรก เพื่อต้องการพระพุทธภูมิ ขององค์สมเด็จพระสรรเพชญมิ่งมงกุฏศรีศากยมุนีโคดม บรมครูเจ้าแห่งเราทั้งหลาย คือพระองค์เริ่มตั้งปณิธานความปรารถนาเป็นครั้งแรก ตั้งแต่ปางเมื่อเสวยพระชาติเป็นมาณพหนุ่มแบกมารดาว่ายข้ามมหาสมุทรตามที่ เล่ามานี้ แล้วต่อจากนั้น พระองค์ท่านก็มีหฤทัยมั่นคง ตั้งความปรารถนาในทุกๆ ชาติที่เกิดเรื่อยมาไม่เปลี่ยนแปลง ก็เป็นอันแสดงว่า พระองค์ทรงเริ่มเป็นพระโพธิสัตว์ตั้งแต่ครั้งนั้นเป็นต้นมา เพราะทรงปรารถนาพระพุทธภูมิหรือพุทธภาวะซึ่งเป็นคุณอันยิ่งใหญ่แล้ว ฉะนั้น ต่อแต่นี้ไป จะเรียกคำแทนชื่อพระองค์ว่า พระโพธิสัตว์ ในพระชาติต่างๆ ที่จะนำมาเล่าให้ฟัง อนึ่งขอแจ้งให้ทราบล่วงหน้าไว้ เสียก่อนว่า พระชาติต่างๆ ทีจะนำมาเล่าต่อไปนี้เป็นส่วนเล็กน้อยที่พระองค์เกิดเท่านั้น อย่าพลันเข้าใจว่าพระองค์เกิดเพียงไม่กี่ชาติเท่าที่เล่ามานี้เป็นอันขาด ความ จริง พระองค์เกิดเป็นพระโพธิสัตว์สร้างพระบารมีมากมายจนนับพระชาติไม่ถ้วน ไม่สามารถจะประมวลมาให้สิ้นสุดลงได้ จะยกย่องเอาแต่บางพระชาติมาเล่าไว้ในที่นี้เท่านั้น เมื่อได้ทำความเข้าใจเป็นอันดีเช่นนี้แล้ว ก็จะขอเล่าเรื่องการสร้างพระบารมีของสมเด็จพระชินสีห์สัมมาสัมพุทธเจ้าต่อไป

สัตตุตาปะราชา


หลังจากที่ได้ตั้งปรารถนาพระพุทธภูมิ ในพระชาติที่เป็นมาณพผู้ยากจนเข็ญใจเป็นประเดิมเริ่มแรกแล้ว พระโพธิสัตว์เจ้าก็ท่องเที่ยวเสวยสุขอยู่ ณ สวรรค์เทวโลกอยู่นานแสนนานแล้วจึงจุติจากเทวโลกลงมาบังเกิดในขัตติยตระกูล ณ พระนครที่ปรากฎนามว่า สิริบดีนคร เมื่อพระชนมพรรษาทรงเจริญแล้ว สมเด็จพระชนกธิราชก็เสด็จทิวงคตล่วงลับไป พระองค์จึงได้เสวยมไหศูรยสมบัติ ทรงพระนามว่า สมเด็จพระเจ้าสัตตุตาปนราธิราช มีพระบรมเดชานุภาพเป็นอันมาก ทรงปกครองไพร่ฟ้าประชาชนโดยทศพิธราชธรรม ก็สมเด็จพระบรมโพธิสัตว์เจ้านั้น ทรงมีพระหฤทัยรักใคร่ในหัตถีพาหนะคือช้างเป็นอย่างยิ่ง พระองค์ได้ทรงสดับว่ามีมงคลคชสารอยู่ ณ ประเทศที่ใดแล้ว ก็ทรงพระอุตสาหะเสด็จไปประทับแรมอยู่ ณ ประเทศนั้น จนกว่าจะจับมงคลคชสารได้ จึงจะเสด็จกลับนำมาสู่พระนคร แล้วทรงมอบให้นายหัตถาจารย์ผู้วิเศษชำนาญเวทย์ฝึกสอนต่อไป

สมัยนั้น ที่แขวงเมืองสิรบดี มีพรานไพรพเนจรผู้หนึ่ง ซึ่งเป็นคนเจนจัดสันทัดเที่ยวไปในทางเถื่อนทุรประเทศ วันหนึ่ง เขาสัญจรไปในอรัญราวป่าเพื่อแสวงหาเนื้อ แต่มิได้ประสบพบพานหมู่มฤคแลฟานโดยที่สุด แม้แต่สัตว์เดียรฉานสักตัวเดียวพอที่จะล่าได้ ก็ไม่อาจกลับบ้านได้ด้วยมือเปล่าตามวิสัยพราน จึงลดเลี้ยวเที่ยวไปในป่าลึก จนล่วงหนทางที่ท่องเที่ยวไปของมนุษย์ ก็บังเอิญไปพบมงคลคชสารสีเสวตผู้ผ่องพรรณงามด้วยงวงงาปรากฎขาวราวขนทราย จามรี ท่องเที่ยวอยู่ที่ถิ่นสถานสระโบกขรณีแห่งหนึ่ง แล้วจึงคิดรำพึงว่า

"แต่อาตมาเที่ยวป่ามาช้านาน นับเดือนและปีก็ได้มากแล้ว ยังไม่เคยพบมงคลหัตถ์เช่นนี้เลย ก็คราวนี้ตั้งแต่ออกจากบ้านมา เราไม่ได้ประสบเนื้อถึกมฤคี แม้แต่หมีเม่น กระต่าย ฟานทราย นกกระทา ตัวใดตัวหนึ่งก็ไม่ได้พบพาน จึงได้ล่วงดงกันดารมาถึงสถานที่นี้ บุตรภริยาเราก็ไม่ได้สิ่งใดเลี้ยงชีวิต อย่ากระนั้นเลย เราจะนำเอาข่าวพญาคชสารสีเสวตนี้เข้าไปเป็นบรรณการกราบทูลให้สมเด็จพระเจ้า อยู่หัวของเราทรงทราบ น่าที่จะได้ทรัพย์ข้าวของรางวัลสืบชีวิตได้"

ครั้นคิดสำเร็จตกลงใจดังนี้แล้ว ตะแกก็ตั้งจิตกำหนดแนวพนารัญสิขรินทรบรรพตให้ถนัดแน่ แล้วก็กลับมาในเมืองเข้าไปหยุดอยู่แทบพระทวารพระราชวังแล้ว จึงบอกความนั้นให้ท่านข้างในนำไปกราบทูลสมเด็จพระบรมกษัตริย์ เพื่อทราบเนื้อความ ครั้นสมเด็จพระเจ้าสัตตุตาปะบรมโพธิสัตว์ทรงทราบความแล้ว ก็พระราชทานทรัพย์เป็นราวัลแก่พรานไพรเป็นอันมาก แล้วมีรับสั่งให้ตระเตรียมพลพาหนะเสด็จออกจากพระนคร ให้พรานนั้นเป็นมรรคนายกนำทาง เสด็จมาตามระหว่างเขาไม้ไพรพนมโดยลำดับ จนบรรลุถึงประเทศที่นั้น

ครั้นได้ทอดพระเนครเห็นมงคลคชสาร ก็ทรงโสมนัสดำรัสส่งให้แวดล้อมด้วยคชพาหนะคชาะารเป็นอันมาก ก็ทรงจับพญาคชสารนั้นได้โดยไม่ยาก แล้วนำมาพระนครดำรัสสั่งให้นายหัตถาจารย์ผู้ฝึกช้างเข้ามา เมื่อพระราชทานรางวัลแล้วจึงมีราชโองการว่า

"ดูกร พ่อหัตถาจารย์! ในระหว่างกาล ๗-๘ วันนี้ ท่านจงเร่งฝึกสอนมงคลคชสารที่เราจับมาจากป่าให้มีมารยาทเป็นอันดี เราจะเล่นนักขัตฤกษ์มหรสพด้วยมงคลหัตถีสีเสวตอันประเสริฐตัวนี้"

ฝ่ายนายหัตถาจารย์ รับพระราชโองการแล้วก็เข้าทำการฝึกสอนคชสารให้สำเหนียกโดยให้โอสถ และให้หญ้าเป็นอาหารเพราะความที่ตนเป็นผู้ชำนาญในการฝึกช้างเป็นอย่างเยี่ยม ทั้งรอบรู้ในคชวิชาเป็นอย่างดี ต่อมาไม่ช้าล่วงมาได้ ๓ วันพญาคชสารประเสริฐตัวนั้นเป็นอันถูกฝึกสอนทรมานเป็นอันดีแล้ว จึงนำมาถวายไดตามกำหนด ครั้นพอถึงวันนักขัตฤกษ์ สมเด็จพระบรมกษัตริย์จึงสั่งให้ประดับมงคลคชสารนั้น ด้วยมงคลหัศดาภรณ์พิเศษ ซึ่งล้วนแล้วด้วยแก้วแลทองกุก่องตระการเสร็จแล้ว ก็เสด็จทรงมงคลคชสารนั้นออกด้วยจตุรงนิกรเสนาโยคะมหาราชบริวารเป็นอิสสริยยศ ใหญ่ยิ่ง เพื่อจะทรงเล่นนักขัตฤกษ์ แล้วก็เลยเสด็จทำประทักษิณพระนคร คือเลียบเมืองเป็นที่พระสำราญพระราชหฤทัย

ก็ในเวลาราตรีที่ล่วงหน้า ได้มีฝูงช้างโขลงทั้งหลายมาแต่ราวป่าเข้าลุยเล่นในสวนพระราชอุทยาน ไล่หักรานพรรณพฤกษาที่ทรงผลพวงผกาบุบผาชาติใหญ่น้อยทั้งสิ้นให้แหลกย่อยยับ แล้ว มิหนำซ้ำยังถ่ายมูตกรีสลงไว้ในที่นั้นเกลื่อนกลาดแล้วก็พากันหลีกไป ครั้นเวลารุ่งสางสว่างกาล นายอุทยานบาลเห็นอุทยายยับอยู่เช่นนั้น จึงด่วนพลันนำเอาเนื้อความเข้าไปเพื่อจะกราบทูล ในขณะที่สมเด็จพระบรมกษัตริย์เสด็จกลับจากประทักษิณพระนคร เมื่อถึงที่เฝ้าแล้ว ก็ยอกรประณมบังคมทูลว่า

"ข้าแต่พระองค์! เมื่อเวลารัตติกาลนี้มีฝูงช้างโขลงมาแต่ไพร บุกเข้ามาลุยไล่หักรานพรรณพฤกษาในพระราชอุทยานแหลกเหลวสิ้นแล้วพระเจ้าข้า"

สมเด็จพระบรมกษัตริย์ได้ทรงสดับเช่นนั้น ก็ตรัสสั่งให้เดินขบวนด่วย เสด็จออกไปเพื่อจะทรงทอดพระเนครพระราชอุทยาน ครั้นถึงแล้วก็ทรงเที่ยวทอดพระเนตรดูไปจนทั่ว ในขณะนั้น พญามงคลคชาธารพระที่นั่งทรงตัวประเสริฐก็บังเอิญได้สูดดมกลิ่นแห่งนางพัง ช้างตัวเมียทั้งหลาย ซึ่งมีกลิ่นติดอยู่ในที่นั้นๆ ก็เกิดความเมามัวขึ้นมาภายในด้วยอำนาจราคะดำกฤษณาให้เกิดความเสียวกระสัน จึงสลัดกายให้นายควาญท้ายตกลงแล้ว ก็คลุ้มคลั่งแทงสถานกำแพงอุทยานทะลายลง แล้วก็ลุแล่นไปไม่หยุดยั้ง สมเด็จพระบรมกษัตริย์จึงทรงพระแสงขอคอเกี่ยวเหนี่ยวไว้ด้วยพละกำลัง ก็มิสามารถจะให้พญาคสารนั้นหมดความบ้าคลั่ง และรู้สึกตัวกลัวเจ็บได้ พญามงคลคชสารตัวใหญ่จึงพาพระองค์สละจาตุรงค์นิกายน้อยใหญ่ทั้งปวงไปโดยเร็ว ครั้นแล่นเข้ามาถึงอรัญราวไพรแล้ว พระองค์ได้เสวยความลำบากบอบช้ำระกำพระองค์ แต่ก็จำต้องทรงพระทรมานมากับพญาหัตถี ทรงหมดพระปัญญาที่จะหยุดยั้งไว้ได้ ครั้นยิ่งแล่นไปนานนักหนา สมเด็จพระราชก็ให้เกิดมีอันเป็นทรงพระมึนงง มิอาจที่จะทรงกำหนดทิศานุทิศได้ จึงทรงวินิจนึกในพระหฤทัยว่า "ถ้าเราจักไม่ปล่อยพญาช้างที่กำลังบ้าคลั่งตัวนี้เสียแล้ว เกลือกว่าไปประสบได้ประสานสัปยุทธกับช้างอื่นก็น่าที่จะทำให้อาตมาแตกกาย ทำลายชีวิตเสียเป็นแน่แท้ อย่ากระนั้นเลย จำเราจะสละพญาหัตถีนี้เสียก่อนเถิด" มีพระสติดังนี้แล้ว จึงทอดพระเนตรสังเกตดูหมู่ไพรริมทางจร ครั้นถึงไม้อุทุมพรคือมะเดื่อใหญ่ต้นหนึ่ง มีกิ่งทิ้งทอดห้อยลง พระองค์จึงโน้มพระกายขึ้นเกาะบนกิ่งไม้อุทุมพรนั้นได้ แล้วปล่อยให้พญาหัตถีวิ่งเตลิดไปตามเรื่อง ส่วนพระองค์ทรงนั่งบนกิ่งไม้ให้ทรงหิวกระหายนักหนา จึงทรงเสวยผลมะเดื่อนั้นไปพลาง

ข้างฝ่ายพวกพลนิกาย ก็มีใจเป็นห่วงสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวของตนยิ่งนัก จึงพากันเร่งรีบตามรอยช้าง ส่วงทางมาได้ไกลนักหนาจนเข้ามาถึงป่าใหญ่ ครั้นยังไม่พบพระบรมกษัตริย์ ก็กระทำอุโฆษประสานศัพท์สำเนียงบันลือลั่นสนั่นมา สมเด็จพระราชาได้ทรงสดับ จึงทรงอุโฆษร้องรับ พวกพลนิกายได้ยินพระสุรเสียงก็พากันเข้าไปถึง จึงเห็นสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวสถิตอยู่บนคบไม้มะเดื่อ ก็เชิญเสด็จรับพระองค์ลงมาจากคบพฤกษาแล้ว ก็ประโคมดุริยดนตรีเชิญองค์บรมนราธิบดีเสด็จกลับสู่พระนคร ครั้นประทับแท่นสีห์อาสน์อันประเสริฐแล้ว จึงดำรัสสั่งให้หานายหัตถาจารย์เข้ามาเฝ้า แล้วตรัสถามว่า

"ดูกร นายหัตถาจารย์ผู้เจริญ! ตัวท่านนี้มีความผิด ด้วยประสงค์จะใคร่ฆ่าเราเสียมิใช่หรือ?"

นายหัตถาจารย์ผู้ฝึกช้าง จึงกลับทูลสนองพระราชปุจฉาว่า
"ข้าแต่พระราชาผู้เป็นใหญ่! เหตุไฉน พระองค์จึงดำรัสเหนือเกล้ากับข้าพระพุทธเจ้าฉะนี้ ก็พญามงคลราชหัตถีนั้น เกล้ากระหม่อมก็ได้ฝึกสอนด้วยดีเป็นอย่างยิ่งแล้ว พระเจ้าข้า"

"ก็...เหตุใด พญาช้างจึงอาละวาดวิ่งพาเราเข้าป่าไปให้ได้รับความลำบากแทบล้อมประดาตาย เป็นการสนุกอยู่เมื่อไหร่?" พระราชาทรงถามด้วยความขุ่นพระทัย

"พระเจ้าข้า" นายหัตถาจารย์ทูลตอบ "ซึ่งพญาหัตถีให้มีอันเป็นวิปริตไปเช่นนี้นั้น เป็นเพราะอำนาจความเร่าร้อนแห่งราคะกิเลส แม้ได้สมความต้องการของตนแล้ว ก็คงจะกลับมาดอก พระเจ้าข้า" เขาทูลอธิบายด้วยความเชี่ยวชาญมั่นใจในวิทยาการ

"เออ...ดีแล้ว" พระราชายังไม่หายขุ่นพระทัย "ถ้ากระนั้น จงยับยั้งอยู่ก่อน กว่ามงคลกุญชรนั้นจะกลับมา ถ้าพญามงคลหัตถีกลับมาก็เป็นบุญวาสนาของเจ้า ถ้าแม้นมิได้กลับมา ชีวิตของเจ้าก็จักมิได้มี" ดำรัสฉะนี้แล้ว ก็รับสั่งให้คุมตัวนายหัตถาจารย์ผู้วิเศษนั้นไว้ให้มั่นคง เพื่อรอการลงพระราชอาญา หากว่าพญามงคลหัตถีไม่กลับมาตามคำ

ส่วนพญามงคลหัตถีตัวประเสริฐนั้น ครั้นวิ่งคลุ้มคลั่งไปด้วยอำนาจราคะดำกฤษณาไปทันนางช้างเถื่อนในไพร สำเร็จมโนรถประสงค์ของตนแล้ว ก็รีบกลับมาในเมืองเข้าไปในที่ตนอยู่ เมื่อเวลาปัจจุสมัยใกล้รุ่ง นายหัตถาจารย์ก็ตื่นขึ้นเห็นมงคลคชสารยืนอยู่ในโรงแล้ว รุ่งเช้าจึงเข้าไปเฝ้ากราบทูลแต่สมเด็จพระราชา พระองค์ก็ทรงพระโสมนัสปรีดาหายโกรธเคือง รีบเสด็จลงมาจากปราสาทโดยด่วน ถึงโรงมงคลคชาธารทอดพระเนตรเห็นมงคลคชสารสีเสวต จึงเสด็จเข้าไปใกล้ ยกพระกรขึ้นปรามาสลูบคลำท้องและงาพญาช้างแล้ว จึงมีพระดำรัสว่า

"เออ...ก็มงคลราชหัตถี ท่านสามารถฝึกสอนให้รู้ดีถึงเพียงนี้แล้ว เหตุไฉน เมื่อยามแล่นไปในวันนั้น เรากดเกี่ยวเหนี่ยวไว้โดยแรงด้วยพระแสงขออันคมยิ่ง ยังไม่สามารถที่จะห้ามได้ มันเป็นเพราะเหตุใดหนอ พ่อหัตถาจารย์?"

"พระเจ้าข้า เหตุไฉน พระองค์จึงตรัสดังนี้เล่า" ท่านอาจารย์ช้างผู้ขมังเวทย์ได้ทีจึงรับทูลตอบ "ขึ้นชื่อว่าราคะดำกฤษณานี้ ย่อมมีคมเฉียบแหลมยิ่ง เกินกว่าคมแห่งพระแสงขอนั้นไปร้อยพันทวี อนึ่ง ถ้าจะว่าช้างร้อนเล่า ขึ้นชื่อว่าร้อนแห่งเพลิงคือราคะดำกฤษณานี้ ย่อมร้อนรุ่มอยู่ในทรวงของสัตว์บุคคลอย่างเหลือร้อน ยิ่งกว่าร้อนแห่งเพลิงตามปกติเป็นไหนๆ ...อนึ่ง ถ้าจะว่าไปข้างเป็นพิษเล่า ขึ้นชื่อว่าพิษคือราคะดำกฤษณานี้ ย่อมมีพิษซึมซาบฉุนเฉียวเรี่ยวแรงรวดเร็วยิ่งเกินกว่าพิษแห่งจตุรภิธภุชงค์ คือพิษพระยานาคทั้งสี่ชาติ สี่ตระกูลเป็นไหนๆ เพราะเหตุนั้น ฝ่าละอองธุลีพระบาท จึงไม่อาจเพื่อจะเที่ยวกดพญามงคลราชหัตถี ซึ่งแล่นได้ด้วยแรงแห่งราคะดำกฤษณานั้น ให้หยุดยั้งด้วยกำลังพระแสงขอได้ พระเจ้าข้า" นายหัตถาจารย์ผู้เชี่ยวชาญพูดอธิบายอย่างยืดยาว

"เออ...ก็ไฉนพญาคชสารนี้ จึงกลับมาโดยลำพังใจตนเอง?" พระเจ้าอยู่หัวทรงถามขึ้น หลังจากที่ทรงนิ่งฟังท่านอาจารย์ช้างอธิบายอยู่ นายหัตถาจารย์จึงทูลตอบว่า

"พระเจ้าข้า ข้อซึ่งพญาช้างไปแล้วและกลับมานั้น ใช่ว่าจะมาโดยใจตนก็หาไม่ โดยที่แท้ กลับมาด้วยกำลังอำนาจมนตรามหาโอสถของข้าพระพุทธเจ้า"
ได้ทรงสดับดังนั้น พระองค์จึงดำรัสว่า "ถ้ากระนั้น ท่านจงแสดงกำลังมนต์และโอสถให้เราเห็นสักหน่อยเถิดเป็นไร"

นายหัตถาจารย์ผู้เรืองเวทย์ รับพระราชโองการแล้ว หวังจักสำแดงอำนาจมนต์ของตนให้ประจักษ์แก่สายตาชาวพระนคร จึงสั่งให้บริวารไปนำเอาก้อนเหล็กก้อนใหญ่มา แล้วให้ช่างทอเอาใส่เตาสูบ เผาด้วยเพลิงให้ก้อนเหล็กนั้นสุกแดงแล้ว จึงเอาคีมหยิบออกจากเตา เรียกพญาช้างเข้ามาแล้วก็ร่ายมนต์มหาโอสถประเสริฐ พลางบังคับให้คชสารจับเอาก้อนเหล็กแดงนั้นด้วยคำกำชับสั่งว่า "ดูกร พญานาคินทร์ผู้ประเสริฐ! ตัวท่านจงหยิบเอาก้อนเหล็กนั้นในกาลบัดนี้ แม้นเรายังไม่ได้บอกให้วาง ท่านจงอย่าได้วางเลยเป็นอันขาด"

พญาคชสารตัวทรงพลัง ครั้นได้ฟังคำนายหัตถาจารย์สั่งบังคับ ก็ยื่นงวงมาจ้องจับเอาก้อนเหล็กซึ่งลุกเป็นไฟ แม้วาจะร้อนงวงเหลือหลาย จนงวงไหม้ลุกเป็นเปลวควันขึ้นก็ดี ก็ไม่อาจจะทิ้งก้อนเหล็กนั้นเสียได้" ด้วยกลัวต่อกำลังมนตราของนายหัตถาจารย์นั้นเป็นกำลัง สมเด็จพระบรมกษัตริย์ทอดพระเนตรเห็นงวงคชสารถูกเพลิงไหม้อยู่เช่นนั้น ก็ทรงเกรงพญาช้างจะถึงแก่กาลมรณะ จึงดำรัสสั่งให้นายหัตถาจารย์ บอกให้พญาช้างสารทิ้งก้อนเหล็กนั้นเสียแล้ว ทรงหวนคิดถึงราคะดำกฤษณาของพญาช้างที่ยืนอยู่ตรงพระพักตร์ พร้อมกับคำชักอุปมาอธิบายของนายหัตถาจารย์เมื่อครู่นี้ ทรงรำพึงไป ก็ยิ่งทรงสังเวชในพระราชหฤทัยแสนทวี จึงทรงเปล่งออกซึ่งสังเวชาวาทีว่า

"โอหนอ...น่าสมเพชนักหนา ด้วยฝูงสัตว์มาติดต้องข้องข้ดอยู่ด้วย ราคะดำกฤษณะอันมีพิษพิลึกน่าสพึงกลัวร้ายกาจยิ่งนัก ราคะคือความกำหนัดนี้ย่อมมีอาทีนวโทษเป็นอันมาก ก็เพราะเพลิงราคะมีกำลังหยาบช้ากล้าแข็ง ร้อนรุ่มสุมทรวงสัตว์ทั้งหลายอยู่อย่างนี้ สัตว์ทั้งหลายจึงต้องถูกราคะกิเลสย่ำยีบีฑา นำทุกข์มาทุ่มถมให้จมอยู่ในอู่แอ่งอ่าวโลกโอฆสงสาร ไม่มีวันสิ้นสุดลงได้เพราะราคะกิเลสนี่แล สัตว์ทั้งหลายจึงต้องไปตกนรกหมกไหม้อยู่ในมหานรกทั้งแปดขุม และสัตว์ทั้งหลายบางหมู่ต้องไปเกิดอยู่ในอุสสทนรกบริวารมีประมาณร้อยยี่สิบ แปดขุม อนึ่งเพราะอาศัยราคะกิเลสนี้ สัตว์ทั้งหลายจึงต้องทนทุกขเวทนาอยู่ในเปติวิสัยภูมิ และสัตว์ทั้งหลายบางหมู่ต้องไปเกิดอยู่ในกำเนิดเดียรฉาน สัตว์ทั้งหลายที่ต้องบ่ายหน้าไปสู่อบายภูมิ ก็เพราะอาศัยราคะดำกฤษณาเป็นประการสำคัญ ฉะนั้นจึงน่าสมเพชนัก"

ครั้นทรงแสดงสังเวชวาทีฉะนี้แล้ว สมเด็จพระบรมกษัตริย์หน่อพระพุทธากูร จึงตรัสแสดงอาทีนวโทษแห่งราคะดำกฤษณาต่อไปว่า

"บรรดาสัตว์ทั้งหลายในโลกสันนิวาสนี้ เพราะอาศัยราคะดำกฤษณาย่อมเบียดเบียนบีฑาซึ่งกันและกัน เป็นต้นว่า

บิดาย่อมเบียดเบียนบุตร บางทีฆ่าเสียก็มี
บุตรย่อมเบียดเบียนบิดา บางทีฆ่าเสียก็มี
บิดาย่อมเบียดเบียนธิดาตน เพราะร้อนรนด้วยราคะกฤษณาก็มี

อนึ่ง  ฝูงสัตว์ในโลกสันนิวาสนี้เพราะร้อนด้วยราคะย่อมเบียดเบียนซึ่งกันและกัน เป็นต้นว่า

บุตรย่อมเบียดเบียนชนนี บางทีฆ่าเสียก็มี
ชนนีย่อมเบียดเบียนบุตร บางทีฆ่าเสียก็มี
บางทีพี่ชายมุ่งหมายปองร้าย ราวีตีรันฟันฆ่าน้องชายของตนให้ตายก็มี
บางมีพี่หญิงย่อมบีฑาฆ่าน้องสาว ที่สืบกษิรมารดาเดียวกันมาก็มี
บางทีหลานสาวบีฑาลุงตัวให้ตายก็มี
บางทีลุงลุ่มหลงลงทัณฑกรรมบีฑาหลานสาวตนเองก็มี
บางทีภัสดาย่อมบีฑาโบยรันฟันแทงภริยาตน ให้ถึงตายก็มี
บางทีภริยาบีพ่าฆ่าตีสามีตน ให้ถึงตายก็มี

สัตว์ทั้งหลายเห็นเช่นนี้เพราะอาศัยความร้อนแห่งพลังราคะดำกฤษณามาบีฑาให้ ระทมตรมทุกข์ ถึงซึ่งความพินาศนานาประการ แม้แต่บุตรธิดา มารดาบิดา และภรรยาสามีที่แสนรักนักหนาแล้ว ยังเบียดเบียนบีฑากันเพราะอำนาจราคะกิเลสเป็นมูลฐานมากกว่ามากสุดประมาณ

อีกประการหนึ่ง ฝูงสัตว์ในโลกสันนิวาสนี้ เพราะอาศัยอำนาจราคะดำกฤษณา บางคราย่อมจ่ายทรัพย์สินไปในทางไร้ประโยชน์ บางทีย่อมเสื่อมจากยศและเกียรติคุณ บางทีย่อมประกอบกรรมทำสิ่งที่เป็นโทษ บางทีย่อมทำความสุขให้เสื่อมสิ้นทุกเมื่อและให้ใจเชือนเบือนเบื่อจากกุศล ห้ามทางข้างฝ่ายสุคติภพ บางทีให้ลุอำนาจแก่ความโลภและความโกรธ และให้เจริญโทษทุกภพทุกชาติที่เกิด ให้ถือกำเนิดในอบายภูมิทั้งสี่เพียงเท่านี้ก็หาไม่ ฝูงสัตว์ทั้งหลายในโลกสันนิวาสนี้ เพราะอาศัยอำนาจราคะดำกฤษณา บางคราย่อมทำตนให้พินาศจากศีลสมาทาน บางกาลย่อมทำตนให้เสื่อมจากเานภาวนาสมาธิจิตเป็นนิจกาล ก็อันว่าความอากูลด้วยราคะกิเลส ย่อมเป็นเหตุให้เกิดอาทีนวโทษให้เสวยทุกข์มากกว่ามาก และเป็นเหตุให้สัตว์ทั้งหลายต้องเศร้าหมองมีประการต่างๆ อย่างพรรณนามาฉะนี้
หัวข้อ: Re: มุนีนารถทีปนี การตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า โดย พระพรหมโมลี วิลาศ ญาณวโร
เริ่มหัวข้อโดย: Wisdom ที่ กุมภาพันธ์ 21, 2012, 12:06:15 PM
สมเด็จพระนราธิบดีสัตตุตาประชา ตรัสแสดงอาทีนวโทษแห่งราคะดำกฤษณาอย่างมากมายดังนี้แล้ว จึงพระราชทานรางวัลแก่นายหัตถาจารย์เป็นอันมาก แล้วก็ทรงคำนึงในพระราชหฤทัยว่า สัตว์ทั้งหลายในโลกสันนิวาสนี้ จักพ้นจากอำนาจราคะดำกฤษณา อันเป็นทุกข์ภัยในวัฏฏะนี้ได้ด้วยประการใด? แล้วจึงทรงเห็นแท้แน่ในพระราชหฤทัยว่า รวมทั้งหลายอื่นนอกจากพุทธกรกธรรมแล้ว ก็ไม่เห็นว่าสิ่งไรอื่นจะมี ที่จะเปลื้องตนไปให้พ้นจากวัฏฏะ เพราะฉะนั้น พระองค์จึงหยั่งพระราชหฤทัยลงเที่ยง ถือเอาพระพุทธภูมิปณิธานว่า

"เรา ได้ตรัสรู้ซึ่งพระโพธิญาณแล้ว ก็จักทำสัตว์ทั้งหลายให้รู้ด้วย เราพ้นจากทุกข์ในวัฏสงสารเมื่อใด ก็จักทำสัตว์ทั้งหลายให้พ้นจากทุกข์ในวัฏสงสารเมื่อนั้นด้วย"

ครั้นทรงกระทำปณิธานปรารถนา เฉพาะพระพุทธภูมิในพระราชหฤทัยด้วยประการฉะนี้แล้ว ก็ทรงสละสิริราชสมบัติประหนึ่งบุคคลสลัดเสียซึ่งก้อนข้าวอันคั่งค้างอยู่ ปลายลิ้น สิ้นเยื่อใยในฆราวาสวิสัย พระองค์แต่ผู้เดียวเที่ยวไปสู่ป่าหิมวันต์ประเทศ แล้วทรงเพศเป็นดาบส บำเพ็ญพรตปฏิบัติชอบอยู่ตราบเท่าพระชนมายุขัยแล้ว ไปบังเกิดในสวรรค์เทวโลกเสวยสุขอยู่สิ้นกาลนาน

เรื่อง ในอดีตที่พรรณนามานี้ มีข้อความประการหนึ่งซึ่งควรนำมากล่าวไว้ในทีนี้ด้วย เพื่อเป็นเครื่องช่วยให้เห็นการเวียนว่ายตายเกิดในวัฏสงสารอย่างแจ่มชัดก็ คือว่า

องค์สมเด็จพระนราธิบดีสัตตุตาปะราชา กลับชาติมาก็คือองค์สมเด็จพระศรีศากยมุนีโคดมบรมครูเจ้าของชาวเราพุทธบริษัททั้งหลาย

พญา มงคลหัตถี กลับชาติมาในชาติสุดท้ายภายหลัง คือพระมหากัสสปเถรเจ้าสังหวุฒาจารย์ ซึ่งเป็นพระมหาเถระอรหันต์สำคัญที่สุดองค์หนึ่งในศาสนาของเรานี้

นาย หัตถาจารย์ผู้ชำนาญเวทย์ กลับมาในชาติสุดท้ายภายหลัง จักได้ตรัสเป็นสมเด็จพระมิ่งมงกุฏศรีอริยเมตไตรยสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งจักมาตรัสในอนาคตกาล หลังจากศาสนาของสมเด็จพระศรีศากยมุนีโคดมบรมครูเจ้า ที่เราท่านทั้งหลายเคารพนับถือกันอยู่ทุกวันนี้ เสื่อมคลายสลายสูญไปจากโลกนี้แล้ว และเมื่อสมเด็จพระศรีอริยเมตไตรยได้ตรัสรู้ประกาศพระศาสนาแล้ว คราวหนึ่งพระองค์จักเสด็จไปที่ภูเขากุกกุฏสัมปาตบรรตอันเป็นที่บรรจุศพของ พระมหากัสสปเถรเจ้าแล้ว พระองค์เจ้าจักยื่นพระหัตถ์เบื้องขวาช้อนเอาซากศพของพระสังฆวุฒาจารย์ อรหันต์กัสสปนั้น ขึ้นชูไว้บนฝ่าพระหัตถ์อันประกอบด้วยจักรลักษณะแล้ว จะมีพระพุทธฏีกาตรัสแก่พระอริยสงฆ์ทั้งหลายว่า

"ดูกร เธอผู้เห็นภัยในวัฏสงสารทั้งหลาย! เธอจงพากันมองดูซึ่งซากศพนี้ นี่คือศพของผู้เป็นพี่ชายของตถาคต ซึ่งเป็นสาวกผู้ใหญ่ในศาสนาของสมเด็จพระมิ่งมงกุฏศรีศากยมุนีโคดมบรมครูเจ้า (สมเด็จพระศรีอริยเมตไตรย เคยบวชเป็นพระภิกษุในสมัยพุทธกาล มีนามว่า อชิตภิกษุ เป็นภิกษุหนุ่มมีพรรษาน้อย ฉะนั้น พระองค์จึงทรงเรียกพระมหากัสสปเถรเจ้าด้วยคำกล่าวออกนามว่า "พี่ชายของตถาคต" ในกาลครั้งนั้น) มีนามว่าพระอริยกัสสปเถระ เป็นผู้ทรงคุณพิเศษถือธุตังควัตรจนตราบเท่าดับขันธปรินิพพาน"

ทรงมีพระพุทธฏีกาตรัสแนะนำดังนี้แล้ว สมเด็จพระศรีอริยเมตไตรยก็ทรงสรรเสริญคุณแห่งพระมหากัสสปเถรเจ้าอีกมากมาย ลึกซึ้งนักหนา ต่อหน้าพระอริยสงฆ์ทั้งหลายเป็นอันมาก ในขณะนั้น เปลวอัคคีก็จะบันดาลมีเกิดขึ้นเองในซากอสุภของพระเถรเจ้า แล้วก็ค่อยลามเลียลุกไหม้ศพให้สิ้นซากปราศจากเถ้าถ่าน อยู่บนฝ่าพระหัตถ์ ของสมเด็จพระสรรเพชญศรีอริยเมตไตรย ในกาลครั้งนั้นเป็นอัศจรรย์

บัดนี้ เพื่อป้องกันความไขว้เขวออกไปนอกเรื่องมากมายเกินไป จะได้กลับมากล่าวถึงการสร้างพระบารมีเพื่อพระปรมาภิเษกสัมโพธิญาณขององค์ สมเด็จพระบรมโลกกุตตมาจารย์ของเราทั้งหลาย ตั้งแต่ครั้งพระองค์ยังทรงเป็นพระโพธิสัตว์สืบต่อไป

พระพรหมดาบส

กาลครั้งหนึ่ง เมื่อพระบรมโพธิสัตว์เจ้าจุติจากเทวโลกแล้ว ก็มาบังเกิดในตระกูลพราหมณ์มหาศาล มีพระนามว่า พรหมกุมาร ครั้นเจริญวัยวัฒนาการแล้ว ก็ได้ศึกษาจนสำเร็จในไตรเวทางค์ และได้เป็นอาจารย์ผู้บอกเวทย์แก่มานพห้าร้อยคนผู้เป็นนักศึกษา ครั้นจำเนียรกาลนานมา เมื่อท่านมารดาบิดาทั้งสองล่วงลับไปแล้ว พรหมกุมารจึงเรียมาณพทั้งหลายผู้เป็นศิษย์มาพร้อมหน้ากันแล้ว ก็เร่งบอกมนต์ซึ่งตนควรจะสอนให้เสร็จสิ้นแล้ว ได้จัดการแบ่งปันทรัพย์สมบัติของตนสิ้นทั้งเรือนนั้น ให้แก่มาณพผู้เป็นศิษย์ถ้วนทุกคนแล้วก็ให้โอกาสอนุสาสนี และกล่าวคำอำลาเพื่อจะไปบรรพชาเป็นดาบส มิใยที่ศิษย์ทั้งหลายจะอาลัยไหว้วอนกล่าวห้ามด้วยความคารวะเป็นอันมากประการ ใด ก็มิได้เอื้อเฟื้ออาลัย สละฆราวาสวิสัยเที่ยวไปแต่พระองค์เดียว เข้าไปอาศัยบัณฑรบรรพต บรรพชาเป็นดาบส ปฏิบัติตนเลี้ยงชีวิตด้วยผลาผลอยู่เป็นสุขสืบมา

ฝ่ายมานพทั้งหลาย ผู้เป็นศิษย์ของพระพรหมดาบสนั้น ครั้นมารดาบิดาของตนๆ ล่วงลับไปแล้ว ต่างก็พากันออกมาบวชเป็นดาบสอยู่กับพระโพธิสัตว์ทั้งนั้น ด้วยเหตุที่มีความรักเป็นกำลังมาแต่ปางก่อน พระโพธิสัตว์ก็สอนให้ประพฤติวัตร บำเพ็ญพรตตามแบบอย่างของดาบสโดยถ้วน อยู่ร่วมกันมาโดยความผาสุกตามสมควร

วันหนึ่ง เมื่อดาบสทั้งหลายไปเที่ยวแสวงหาผลาผลยังมิได้กลับมา ท่านอาจารย์พรหมดาบสจึงเรียกศิษย์ผู้ใหญ่ซึ่งอยู่เฝ้ากุฎิใกล้ตนมาแล้ว ชวนกันขึ้นไปสู่บัณฑรภุผาเพื่อจะแสวงหาผลไม้ เมื่อเที่ยวไปในที่นั้นๆ ก็มิได้ผลไม้อันใดอันหนึ่งเลย จึงแสลงไปที่เชิงภูเขาก็ได้เห็นแม่เสือตัวหนึ่ง มีลูกอ่อนออกใหม่ได้ประมาณสองสามวัน แม่เสือตัวนั้นอดอาหารอยู่ แลเขมนดูลูกน้อยของตนด้วยจิตโหดร้าย คิดจะใคร่จับลูกของตนเองเคี้ยวกินเป็นภักษา พระพรหมดาบสแลเห็นอาการก็รู้ว่าแม่เสือจะกินลูกของตนเองแน่แล้ว จึงรำพึงในหฤทัยว่า
"โอ้หนอ...วัฏสงสารนี้ ควรที่จะพึงติเตียนโดยแท้ ดูรึ แม่เสือตัวนี้คิดจะขบกัดเคี้ยวกินลูก ที่เกิดแต่สายโลหิตตน เพื่อจะรักษาชีวิตแห่งตนไว้ถ่ายเดียว เช่นนี้ จึงควรที่จะเห็นว่าวัฏสงสารนี้ เป็นสิ่งที่น่าสะพรึงกลังยิ่งนัก"
ครั้น รำพึงดังนั้นแล้ว พระพรหมดาบสจึงใช้ดาบสศิษย์ผู้ใหญ่ซึ่งไปด้วยกันนั้นว่า "ท่านจงรีบไปหาเนื้อเดนเสื้อหรือราชสีห์ตามข้างๆ ภูเขานี้ดูทีหรือ หากว่าจะมีอยู่บ้าง แม้นได้แล้วจงรีบนำมาโดยเร็ว เราจักให้แก่แม่เสือตัวนี้" ดาบสศิษย์ผู้ใหญ่รับคำแล้ว ก็รีบไปหาเดนมังสะ ในที่ทั่วๆ ไป แต่ก็หามิได้

ฝ่ายพระพรหมดาบสผู้โพธิสัตว์ เมื่อศิษย์ผู้ใหญ่ไปนานแล้ว และยังมิได้กลับมา จึงรำพึงในหฤทัยว่า
"โอ... ร่างกายนี้ เป็นของเปล่าปราศจากแก่นสารเป็นที่อาศัยแห่งชาติ ชรา พยาธิ มรณะและมีโสกะ ความแห้งใจ ปริเทวะ ความร่ำไร รำพัน ทุกข์ความลำบากกายไม่สบายใจ โทมนัสความขุ่นข้องหมองใจ อุปายาสะ ความคับแค้นใจ อนึ่ง กายนี้เป็นที่เกิดของกองทุกข์ กับทั้งมีราคะกิเลสเป็นประดุจหัตถีที่บ้าคลั่งเมามัน มีโมหะมืดมิดปิดธรรมเป็นประดุจดังผีเสื้อน้ำรักษาสระ มีอุปนาหะความผูกโกรธ เป็นประดุจดังแว่นแคว้นเมืองมากด้วยคนพาล มีมักขะความลบหลู่คุณท่านเป็นประดุจที่อยู่ของพวกกุมภัณฑ์ มีปลาสะความสำคัญวิปลาศ เป็นประดุจดังนายทวารผู้มีสันดานดื่มไปด้วยอิสสาฤษยา มีทุจริตเป็นบริวารแวดล้อมไปด้วยโลภ มีนันทิภวราคะ ความกำหนัดยินดีในภพเป็นมหาโยธา มีมิจฉาทิฐิเป็นธรรมวินิจฉัย คือราชบัญญัติบทอัยการ มีอวัณณะความพรรณนาโทษเป็นกองทุกข์มาก มีวิตกความตรึกตรองเป็นหมู่แมลงวันพึงเกลียดชัง มีมทะความมัวเมาเป็นเหล่าคนธรรพ์ขับร้อง มีปมาทะควาเมาทั่วเป็นช่างฟ้อนมาซ่องเสพอยู่ มีทิฐิเป็นที่อาศัย มีอนุสัยเป็นบ้านที่อยู่ของหมู่พราหมณ์ มีสัญโพชน์ความผูกล่ามไว้ในสามภพ เป็นอำมาตย์ผู้ใหญ่ในกายนคร และมีอวิชชาเป็นอันธการราชบรมกษัตริย์เถลิงราชสมบัติเป็นอิสสราธิบดีอยู่ใน กายนครนี้"

ครั้นพระมุนีพรหมดาบส พิจารณารำพึงถึงธรรมสรีระ ดังนี้แล้ว ดาบสศิษย์ผู้ใหญ่ที่ตนใช้ให้ไปหาเศษเนื้อก็ยังไม่กลับมา จึงจินตนาสืบไปอีกว่า ในเมื่อสัตว์ทั้งหลายบรรดาที่มีรูปกายครองอยู่ ได้เสวยทุกข์เห็นปานนี้ จะมีทางปลดเปลื้องทุกข์นี้ด้วยธรรมสิ่งไร? เมื่อนึกไปก็เห็นว่าพุทธการกะรรมเท่านั้นที่สามารถจะทำสัตว์ให้พ้นทุกข์ได้ เมื่อมองเห็นแท้แน่ฉะนี้แล้วจึงจินตนาต่อไปว่า
"อัน พุทธการกธรรมนี้ ถ้าบุคคลใดไม่สามารถที่จะทำกรรมที่บุคคลอื่นทำได้ยาก ไม่สามารถบริจาคสิ่งที่บุคคลอื่นบริจาคได้ยาก ไม่สามารถให้ทานที่บุคคลอื่นให้ได้โดยยาก ไม่สามารถอดกลั้นกรรมที่บุคคลอื่นอดกลั้นได้ยาก อย่างนี้แล้วบุคคลนั้นจะบำเพ็ญพุทธการกธรรมนี้ ให้สำเร็จหาได้ไม่ ก็แลสรีราพยพคือร่างกายของเรานี้ ย่อมมีอาทีนวโทษเป็นอันมาก มิได้ยั่งยืนอยู่สิ้นกาลนาน และจิตใจเราที่อาศัยอยู่ในร่างกายนี้ย่อมมีอารมณ์ไม่เป็นหนึ่ง คือไม่เที่ยงแท้แน่นอนย่อมแปรปรวนไปเป็นนิตย์ เอาเถิด... บัดนี้เราจักให้สรีระร่างของเรากับทั้งชีวิตนี้ให้เป็นทานแก่แม่เสือหิวตัว นี้ ให้ทันกาลที่จิตกำลังเลื่อมใสใคร่บริจาคในกาลนี้เถิด เออ.. ก็เราจะเป็นห่วงอันใดด้วยการจะให้อาหารที่อื่นเล่า"
พระโพธิสัตว์เจ้าคำนึกจินตนาการดังนี้แล้ว จึงตั้งจิตปณิธานว่า
"ด้วยเดชะบุญกรรมนี้ ขอเราจงได้ตรัสเป็น พระพุทธเจ้าในอนาคตกาล ให้เรานำสัตว์ทั้งหลายออกจากวัฏสงสารให้ถึงความระงับดับทุกข์ด้วยเถิด"
ครั้น ตั้งจิตปณิธานปรารถนาพระพุทธภูมิดังนี้แล้ว เพื่อจะประกาศแก่หมู่เทพยดาให้รู้ทั่วกันอีกเล่า พระพรหมดาบสโพธิสัตว์เจ้าจึงประกาศเป็นเนื้อความว่า
"ขอ ทวยเทพเจ้าทั้งปวง คือภูมิพฤกษาเทวา และอากาสเทวาทั้งสมเด็จอัมรินทราธิราชเจ้า และท้าวมหาพรหมปชาบดี ศศิธรเทพบุตร ทั้งพญายมและท้าวจตุมหาราชโลกบาลทั้งสี่ ทวยเทพซึ่งสถิตอยู่ ณ สถานทุกถิ่นที่ ตลอดจนนารถบรรพตจอมภูผาขออัญเชิญทั่วทุกพระองค์ จงมาทำการอนุโมทนาในชีวิตสรีรทานของข้าที่ได้อบรมสั่งสมกระทำ ณ กาลบัดนี้เถิด"
ครั้นกระทำแก่ทวยเทพเจ้าดังนี้ ขณะที่ดาบสศิษย์ผู้ใหญ่ยังมิทันได้กลับมาถึง พระพรหมดาบสซึ่งมีน้ำใจกล้าหาญ ก็โจนทะยานจากยอดบัณฑูรภูผา ตกลงเฉพาะหน้าเสือโคร่งแม่ลูกอ่อน ขณะนั้นนางพยัคฆ์ที่กำลังหิวกระหายนักหนา เมื่อเห็นอาหารตกลงมากองอยูเช่นนั้น ก็ละไม่กินลูกของมัน แล่นมาบริโภคมังสะสรีราพยพของพระบรมโพธิสัตว์เจ้าในกาลบัดนั้นทันที...

ท่าน ผู้มีปัญญาทั้งหลาย บรรดาที่มีใจเคารพเลื่อมใสในพระบวรพุทธศาสนา จงพิจารณาดูเถิดว่า สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าของเรา เมื่อครั้งพระองค์ท่านปรารถนา พระพุทธภูมิเพื่อตรัสเป็นพระพุทธเจ้านั้น พระองค์ท่านต้องมีน้ำพระทัยมุ่งมั่นเด็ดเดี่ยวอาจหาญเพียงไร ใช่แน่แล้ว... พระองค์ต้องทรงสละชีวิตเข้าแลกกับพระโพธิญาณมาจนนับครั้งไม่ถ้วน เช่นครั้งที่พระองค์ทรงเสวยพระชาติเป็นพรหมดาบสที่เล่ามาแล้วนี้ นี่เป็นเพียงครั้งหนึ่งในจำนวนมากหลายเท่านั้น นอกจากนี้แล้วในระยะการสร้างพระบารมีตอนต้นนี้ พระองค์ยังต้องประสบกับความทุกข์ยากมากมาย เพราะอำนาจของการเวียนว่ายอยู่ในวัฏสงสาร ตามเรื่องที่ปรากฎมีในคัมภีร์ทางพระพุทธศาสนาดังต่อไปนี้

มานพหนุ่มช่างทอง

หลัง จากที่ได้อุบัติเกิดเป็นเทพบุตร ในสรวงสวรรค์แดนสุขาวดี และเกิดเป็นมนุษย์ในโลกนี้ ด้วยอำนาจการเวียนว่ายตายเกิดหลายชาตินักแล้ว ต่อมา กาลครั้งหนึ่ง พระโพธิสัตว์มาเกิดเป็นมนุษย์ในตระกูลช่างทอง ทรงรูปสิริเลิศล้ำบุรุษงดงามนักหนา เมื่อเจริญวัยใหญ่กล้าขึ้นก็มีอาชีพเป็นช่างทองผู้ชำนาญสืบสายตระกูลของตน วันหนึ่ง มีเศรษฐีมาว่าจ้างให้ไปทำเครื่องประดับให้แก่ธิดาสาวโสภา ซึ่งกำลังจะเข้าพิธีวิวาห์มงคล ครั้นไปถึงคฤหาสน์แล้ว เศรษฐีจึงถามว่า "ดูกรช่างทองผู้เจริญ! ถ้าท่านได้เห็นเพียงมือและเท้าเท่านั้น ท่านยังจะสามารถทำเครื่องประดับได้หรือไม่?" เมื่อช่างทองหนุ่มรับคำว่าทำได้ เศรษฐีจึงให้ธิดาของตนยื่นแต่มือและเท้ามาแสดงให้ปรากฏ ช่างทองหนุ่มก็สังเกตกำหนดบาทและหัตถาวัยวะที่ได้เห็นแต่ห่างๆ แล้วกระทำได้ด้วยความชำนาญ

ขณะนั้น ธิดาเศรษฐีซึ่งมีนามว่า กาญจนวดีกุมารีให้นึกสงสัยอยู่เป็นกำลังว่า "เหตุไฉนหนอ บิดาจึงมิให้เราปรากฎกายต่อหน้าช่างทอง ให้แสดงแต่เพียงมือและเท้าเท่านั้น" ครั้นคิดดังนี้แล้ว จึงลอบแลดูตามช่องไม้ แต่พอได้เห็นสิริรูปสมบัติของช่างทอง ก็ให้เกิดปฏิพัทธ์รักใคร่เป็นกำลัง คลุ้มคลั่งในดวงใจด้วยอำนาจราคะดำกฤษณา นางจึงจารึกอักษรสาราเป็นใจความว่า
หัวข้อ: Re: มุนีนารถทีปนี การตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า โดย พระพรหมโมลี วิลาศ ญาณวโร
เริ่มหัวข้อโดย: Wisdom ที่ กุมภาพันธ์ 21, 2012, 12:06:29 PM
"ดูกรพ่อช่างทองผู้เป็นที่รัก! หากท่านมีจิตใจรักใคร่เราแล้ว ณ ที่หลังเรือนใหญ่นี้มีบุปผาพฤกษชาติต้นหนึ่งเป็นต้นไม้ใหญ่ ในค่ำคืนวันนี้ ท่านจงมานั่งซุ่มอยู่บนต้นไม้นั้น ถึงราตรีกาล เราจะออกไปพบกับท่านด้วยใจรัก" จารึกเรื่องความรักดังนี้แล้ว จึงค่อยทิ้งลงไปให้ตกลงตรงหน้าช่างทอง เมื่อช่างทองหนุ่มอ่านดูแล้วก็กำหนดไว้ในใจ ถึงเวลาสายัณหสมัย เลิกงานแล้ว จึงกลับมาอาบน้ำชำระกายรับประทานอิ่มหนำสำราญแล้ว พอเวลาสุริยอัสดงคตพลบค่ำลง ก็รีบตรงมาสถานที่นางนัด ขึ้นไปบนต้นพฤกษชาตินั้น ตั้งตาชะแง้ดูทางที่กาญจนวดีกุมารีนั้นจะมา ณ ระหว่างคาคบไม้ แต่นางก็ยังไม่มา มิช้าตนเองก็ได้เผลอม่อยง่วงงุนนักหนา เพราะว่าเมื่อตอนกลางวันนั้น ตนเร่งทำงานอยู่วันยังค่ำ ก็ลำบากกายพออยู่แล้ว เมื่อรับประทานอาหารอิ่มแลมานั่งเงียบเหงาเฝ้าคอยอยู่แต่ผู้เดียวฉะนี้ จึงเอนองค์ลงกับที่กิ่งไม้ใหญ่ ก็เลยเผลอม่อยผลอยหลับไป

ก็กาญจนวดีกุมารีทรามวัยนั้น นางเป็นกุลสตรีธิดาของคหบดีมหาศาลย่อมมีความยำเกรงบิดามารดาอยู่โดยมากเป็น ธรรมดา เมื่อมารดาบิดายังมิได้หลับนอน นางจึงไม่มีโอกาสออกมาได้ ครั้นท่านทั้งสองหลับไปแล้ว นางจึงค่อยลุกมาจากที่นอนออกมาจัดหาอาหาร ได้ข้าวสาลีกับแกงมังสะสดใส่ลงในขันทองเสร็จแล้ว ก็รีบลอบนำลงมาจากปราสาทไปสู่ที่นัด ณ ต้นไม้ใหญ่ เพื่อไปหาชายสุดที่รัก ครั้นเห็นเขาหลับอยู่ก็มิรู้ที่จะปลุกให้รู้สึกตนตื่นขึ้นได้ ด้วยเหตุว่ามนุษย์ในสมัยนั้นถือลัทธิธรรมเนียมอยู่อย่างหนึ่งว่า
"ถ้าบุคคลหลับสนิทอยู่ ผู้ใดปลุกให้ลุกตื่นขึ้นแล้ว ผู้ปลุกนั้นย่อมมีบาป ตายไปต้องตกนรกหมกไหม้ตลอดกัปหนึ่ง"
เพราะ ฉะนั้น นางจึงไม่สามารถปลุกช่างทองนั้นให้ตื่นขึ้นมาได้ แต่คอยอยู่นานนักหนา เมื่อเห็นว่าไม่ตื่นแน่ นางจึงเก็บใบรุกขชาติปูลาดลงตั้งขันทองใส่อาหารไว้แล้วกลับลับไป

ฝ่ายนายช่างทอง ตื่นขึ้นมาได้เห็นภาชนะขันทองนั้น จึงกำหนดว่า ชะรอยนางกุมารีมาแล้วเห็นเราหลับ จึงกลับไปเป็นมั่นคง เมื่อผันแปรแลไปดูข้างโน้นข้างนี้ ก็ได้แลเห็นนางดำเนินกลับเข้าไปภายในปราสาท ในขณะนั้น ก็ให้น้อยจิตคิดโกรธตัวเองเป็นหนักหนาว่า ควรหรือมานอนหลับใหลเสียได้ น่าเคืองตัวเองนัก รำพึงพลางก็ถือสุพรรณภาชน์โภชนะนั้นกลับมาเรือนตน ครั้นรุ่งวันใหม่ได้เวลาก็ไปทำงานอยู่ที่เก่าอีก ไม่ช้าก็มีสารตกลงมาอีก จารึกอักษรมีใจความว่า "วันนี้ท่านจงอุตสาหะข่มใจไว้ อย่าให้หลับใหลไปเสียอย่างเมื่อคืนอีกเล่า" นายช่างอ่านรู้ความแล้ว ก็ไม่พูดว่าอะไร ประกอบการงานทำเครื่องประดับต่อไป พอได้เวลาตอนราตรี จึงมานั่งคอยทำอยู่เช่นเคย ไม่ช้าก็ยังเอิญให้หลับไปเสียอีกเล่า กาญจนวดีกุมารีเมื่อถือโภชนาหารมาเห็นเขาหลับไปแล้ว ก็กลับไปเหมือนคืนก่อน

ครั้นถึงคืนที่สาม กาญจนวดีกุมารีเมื่อได้มาเห็นนายช่างทองสุดที่รักหลับไปเหมือนเดิม นางมีความเศร้าในน้ำใจหนักหนา จึงพิไรร่ำด้วยคำว่า

"น่าเสียดายนัก กุมารน้อยนี้เป็นที่รักใคร่เจริญใจแห่งเรา ชะรอยสันนิวาสเรานี้มิได้มีแต่ปางก่อน จึงเผอิญให้กุมารนี้เป็นผู้มักหลับเสียได้สามวาระสามหน ความพยายามของเราสองคนนี้ปราศจากประโยชน์เสียแล้ว พ่อจงไปโดยสุขสวัสดีเถิดหนาเจ้า แต่วันนี้ไปเราก็จักหมดอิสระมิได้มาพบหน้าอีกแล้ว" เธอพิไรรำพันด้วยความโศกศัลย์เป็นอันมากแล้ว ก็ยกโภชนะนั้นวางตั้งไว้ แล้วก็ตัดความอาลัยกลบไป นายช่างทองเมื่อตื่นขึ้นก็ให้เจ็บใจตนเองยิ่งกว่าวันก่อน มีความโศกอาดูรด้วยความรักเป็นหนักหนา จึงรำพึงรำพันออกมาว่า

"กุมารีมีรูปงามอย่างนี้ ควรที่จะทอดทัศนานำความภิรมย์มาให้แก่ใจ นี่เป็นกรรมอะไร จึงตักเตือนให้หลับใหล ไม่รู้สึกตัวตื่นได้สามวาระ บุญญาภิสมภารเราแต่ก่อนมิได้มี ชะรอยเรากับนารีนี้มิได้เคยร่วมกันกระทำทาน หรือว่าตัวเรานี้มิได้มีกมลสันดาน เคยอนุโมทนากุศลของเศรษฐี จึงให้มีอันเป็นสักแต่ว่าได้พบเห็นนารีงามเท่านั้น มิทันได้ร่วมภิรมย์ก็ให้จางจากกันไป" นายช่างทองรำพันพลางถือเอาโภชนาหารที่นางตั้งไว้ แล้วกลับไปสู่เรือนตนด้วยความเศร้าเป็นล้นพ้น
หัวข้อ: Re: มุนีนารถทีปนี การตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า โดย พระพรหมโมลี วิลาศ ญาณวโร
เริ่มหัวข้อโดย: Wisdom ที่ กุมภาพันธ์ 21, 2012, 12:07:11 PM
ครั้นรุ่งขึ้นถึงวันอาวาหสมัย ฝ่ายเศรษฐีบิดาเจ้าบ่าว จึงบรรทุกข้าวของสำหรับการแต่งงานมามากมายหลายร้อยเล่มเกวียน พอมาถึงแล้วทั้งสองฝ่ายก็ประชุมกันทำอาวาหมงคล เลี้ยงดูกันเป็นนักษัตรฤกษ์โกลาหล ฉลองกันอยู่สิ้นกาลประมาณหนึ่งเดือนโดยกำหนด ครั้นการฉลองอันมีเวลาถึงหนึ่งเดือนล่วงแล้ว เศรษฐีผู้เป็นบิดาเจ้าบ่าวก็พาบริวารกลับไปบ้านตน

ฝ่ายนายช่างทองผู้งามโสภา จำเดิมแต่วันแคล้วคลาดจากนางมา ก็รำพึงรำพันถึงนางอยู่ไม่วางวายว่า นางกุมารีนี้ได้มีน้ำใจรักเป็นปิยสหายแห่งเรามากอ่น บุรุษเช่นเรานี้จึงสมควรจะได้นาง รำพึงพลางจึงคิดหาอุบาย ครั้นคิดได้แล้วจึงอุตสาหะทำเครื่องประดับสำหรับศอสำรับหนึ่งสวยสดงดงาม นักหนา แล้วไปด้วยแก้วมุกดาวิจิตรบรรจงเป็นลวดลายละเอียดอุดม สมควรเป็นราชอลังการแล้ว ก็น้อมนำเข้าไปถวายพระมหาอุปราชเจ้า

"เอ๊ะ! เจ้านำของที่ชอบใจมาให้เราเช่นนี้ จักมีความประสงค์สิ่งใดหรือ" พระมหาอุปราชซึ่งมีพระกมลโสมนัสตรัสถามขึ้น นายช่างทองจึงทูลสนองบอกความประสงค์ของตนให้ทรงทราบ "อย่าวิตกไปเลย จะเป็นไรมี เรานี้รับธุระจะทำอุบายให้เจ้าสมมโนรถจงได้" พระมหาอุปราชตรัสรับรองแล้วจึงทรงให้นายช่างทองแต่งตัวเป็นสตรีเพศ ทรงสรรพาภรณ์พิจิตร บิดเบือนแสร้งแปลงองค์เป็นขัตติยอนงค์กัญญาเสร็จแล้วจึงให้นั่ง ณ ภายในกระโจมทองข้างพระที่นั่ง ส่วนพระองค์ทรงพระแสงขอสถิตบนคอมงคลคชาธาร เสด็จมาถึงบ้านท่านเศรษฐีประทับหยุดยืนช้างพระที่นั่ง แล้วรับสั่งให้เศรษฐีเข้ามาเฝ้าและแสร้งดำรัสถามว่า

"ปราสาทหลังใหม่นั่น เป็นของใครอีกเล่า"

"เป็นปราสาทธิดาของข้าพระพุทธเจ้า" เศรษฐีทูล

"เออพ่อ...ดีแล้ว บัดนี้ พระบรมชนกธิราชดำรัสราชวโรงการให้เราไปปราบพวกโจรร้ายในชนบทประเทศ จะขอฝากพระกนิษฐภคีนีน้องสาวเราไว้ให้อยู่กับธิดาของท่านด้วยเป็นการชั่ว คราว กว่าเราจะกลับมา เมื่อกลับมาแล้ว เราจึงจะมาพระน้องนางนั้นไป" พระอุปราชตรัสขึ้นตามอุบายทรงวางไว้

"พระเจ้าข้า แต่ว่าธิดาเกล้ากระหม่อมนั้น นางได้สามีแล้ว พระภคินีของพระองค์จะทรงอยู่ด้วยธิดาเกล้ากระหม่อมจะได้หรือ" เศรษฐีทูลด้วยความกังวลใจ

"จะเป็นไรไปเล่า ท่านเศรษฐี" พระมหาอุปราชตรัสดุจไม่พอพระหฤทัย "ท่านจงให้ธิดาของท่านงดการอยู่ร่วมกับสามีชั่วคราวก่อน ให้เจ้าอยู่เป็นเพื่อนพระน้องนางเราสักหน่อยเถิดเราไปไม่นานนัก ก็จักรีบกลับมารับไป"

"ถ้ากระนั้น ก็พอจะผ่อนผันรับพระธุระ สนองท่านได้ พระเจ้าข้า" ท่านเศรษฐีทูลแล้ว เรียกธิดามาบอกความต่อหน้าพระที่นั่ง แล้วสั่งให้นำพระภคนีปลอมนั้นขึ้นสู่ปราสาท และก่อนที่เจ้ามหาอุปราชจะอำลาไป พระองค์ยังได้ทรงสั่งซ้ำดุจเป็นห่วงหนักหนาว่า

"ดูกรท่านเศรษฐี! ขอท่านจงอย่าได้ประมาทเลย จงเห็นแก่เราเถิด จงช่วยเป็นธุระเอาใจใส่ ของสิ่งไรที่น้องรักเราเจ้าต้องการ ท่านจงจัดอย่าได้ขัดใจเจ้าเลย อนึ่งบุคคลทั้งหลายอื่นๆ ท่านต้องคอยระวังจงห้ามอย่าให้ขึ้นไปจุ้นจ้านบนปราสาทเป็นอันขาด โดยที่สุด แม้แต่สามีของธิดาท่านก็จงอย่าให้ขึ้นไปอย่างเด็ดขาดเลยทีเดียว เข้าใจไหมเล่า"

"ไว้ใจเถิด พระเจ้าข้า" ท่านเศรษฐีรีบทูล "จงวางพระทัยไว้ธุระข้าพระบาททุกประการเถิด พระองค์อย่าได้ทรงพระวิตกเลย" ทูลรับรองอย่างหนักแน่นแล้ว ก็ตามส่งเสด็จจนถึงนอกกำแพงปราสาท

ตั้งแต่วันนั้นเป็นต้นมา มาณพหนุ่มช่างทอง ก็ได้อยู่ร่วมภิรมย์กามรดีกับด้วยกาญจนวดีกุมารีสมมโนรถความปรารถนาเป็นเวลา นานสิ้นกำหนดสามเดือน จะได้มีบุคคลผู้ใดใครผู้หนึ่งในที่นั่นล่วงรู้ความลับนี้ก็หามิได้ ฝ่ายพระมหาอุปราชนั้น ครั้นกาลล่วงไปครบสามเดือนแล้ว ก็ทรงทำเป็นเสด็จมารับพระกนิษฐภคินีกลับไป

พระพุทธางกูรโพธิสัตว์ เมื่อพระองค์ดำรงกฤษดาภินิหารพระบารมีญาณยังอ่อน ต้องถูกเพลิงคือราคะกิเลสเบียดเบียนบีฑา บังเกิดขึ้นมาแล้ว และมิอาจระงับเสียได้ จึงเป็นไปตามอำนาจราคะกิเลสประกอบปรทารโทษล่วงเกินภรรยาของผู้อื่นเป็นกาย ทุจริต เช่นนี้ ครั้นดับขันธ์สิ้นชีวิตในครั้งนี้แล้ว ก็ต้องสืบปฏิสนธิไปบังเกิดในนรกหมกไหม้ ต้องได้รับทุกขเวทนาถึงสาหัสเป็นหลายครั้งหลายหน เวียนวนอยู่ในภูมิอันต่ำช้านานนักหนา นับเป็นเวลาถึง ๑๔ มหากัป
ด้วยเหตุนี้ สมเด็จพระชินสีห์บรมโลกุตมาจารย์ ครั้นได้สำเร็จพระปรมาภิเษกสัมโพธิญาณแล้ว จึงได้ทรงพระมหากรุณาตรัสพระธรรมเทศนาสั่งสอนพวกเราชาวพุทธบริษัทว่า
"สัตว์ ทั้งหลายในโลกสันนิวาสนี้ ย่อมได้เสวยทุกขเวทนาแสนสาหัสในอบายภูมสี่ คือเป็นสัตว์นรกในนิรยภูมิเป็นต้น เพราะความกระวนกระวายเดือดร้อนด้วยอำนาจราคะกิเลส สัตว์ที่ไม่รู้พระสัทธรรม ย่อมถึงความก่อเกิดเป็นร่างกายเที่ยวเวียนว่ายอยู่ในโอฆสงสารเจริญภพเจริญ ชาติมากมาย แม้จะนับด้วยหลายล้านหลายโกฏิอสงไขยนั้นก็นับหาได้ไม่ ต่อเมื่อเป็นพุทธบุคคลแล้วนั่นแล จึงจะได้ชื่อว่าเป็นผู้พ้นจากอบายภูมิ"
เมื่อ ได้ทราบความพระพุทธภาษิตนี้แล้ว ขอให้ท่านผู้มีปัญญาทั้งหลาย จงเชื่อถือคำสอนของพระพุทธองค์เถิด จงทำใจให้เห็นโทษภัยในอบายจงมาก หากแต่น่าสังเวชอยู่ที่ว่า วิสัยจิตใจของปุถุชนคนเราโดยมากทุกวันนี้ มักคิดไปเองว่าตนนั้นมีปัญญดี เมื่อมีผู้เอาภัยในอบายมาชี้แจงมาแสดงบอก ก็มักคิดไปว่าแกล้งมากล่าวหลอกลวงให้เกรงกลัวไม่ยอมเชื่อว่าเป็นจริง เพราะสิ่งที่ว่าคือนรกตนเองพิสูจน์ไม่ได้ ให้หันเหคิดขวางๆ ไปว่า เป็นเพียงอุบายสอนคนโบราณกาลก่อน ตั้งแต่ครั้งสมัยคนเรายังโง่อยู่เท่านั้นเอง นรกสวรรค์มีที่ไหนกัน เมื่อคิดผันแปรไปเช่นนี้ ก็จะพอกพูนความประมาทให้เกิดมากยิ่งขึ้นในสันดานตน อาจประกอบอกุศลกรรมต่างๆ อันเป็นเหตุให้ไปเกิดในอบายได้ ฉะนั้น ต้องสอนตนให้กลัวภัยในอบายภูมิก่อนนั่นแลเป็นดี

เจ้าหญิงสุมิตตาเทวี

เมื่อพระโพธิสัตว์เจ้าของเรา แต่ครั้งมีพระบารมียังอ่อนถูกราคะกิเลสครอบงำ ทำให้ประกอบกรรมล่วงกามมิจฉาแล้วไปสืบปฏิสนธิเกิดในนรกเสวยทุกข์แสนสาหัส เป็นเวลานานนักถึง ๑๔ มหากัปดังกล่าวแล้ว แต่ต่อจากนั้น ด้วยอำนาจเศษกรรมยังตามให้ผลอยู่ไม่เสื่อมคลายไปง่ายๆ ครั้นจุติจากนรกแล้ว จึงต้องไปสืบปฏิสนธิถือกำเนิดเกิดเป็นลา เป็นเวลานานนับได้ ๕๐๐ ชาติ แล้วจึงไปถือกำเนิดเป็นโคอีก ๕๐๐ ชาติ แล้วจึงถือกำเนิดเป็นคนพิการ ตาบอด หูหนวกแต่กำเนิดอีก ๕๐๐ ชาติ แล้วมิหนำซ้ำให้ถือกำเนิดเป็นกระเทยอีก ๕๐๐ ชาติ แล้วจึงมาถือกำเนิดเป็นสตรีอีก เป็นเวลานานถึง ๕๐๐ ชาติ

ในกรณีนี้ ขอให้ท่านผู้มีปัญญาทั้งหลาย พึงสันนิษฐานลงเถิดว่าแต่เพียงเศษของอกุศลกรรมที่ทำด้วยความประมาทมาตามสนอง ก็น่าสะพึงกลัวยิ่งนักหนา ฉะนั้น จงอย่าได้ประมาทในอกุศลกรรมความชั่วทั้งปวงเลย ดูแต่พระโพธิสัตว์เจ้าของเรานี่เถิด ทั้งๆ ที่ตั้งพระหฤทัยไว้แล้วว่า จะขอตรัสเป็นพระพุทธเจ้าอนุกูลสงเคราะห์แก่สัตว์ทั้งหลายอยู่โดยแท้ ควรแลหรือที่พระองค์ยังต้องถูกราคะกิเลสมาครอบงำเหยียบย่ำบีฑา แต่ครั้งเป็นมาณพหนุ่มช่างทอง ให้เกิดปรองดองรักใคร่กับภรรยาของผู้อื่น ได้ชมชื่นรื่นรมย์อยู่เพียงสามเดือน แต่ต้องถูกกรรมมาซัดทำให้วิบัติขัดขวางเสียเวลาที่จะสร้างบารมีเพื่อโพธิญาณ นับเป็นเวลานานถึงเพียงนี้ได้ ก็จะป่วยกล่าวไปใยถึงสามัญชนสัตว์ทั่วไปนี่เล่า อย่าได้ประมาทเลย

เมื่อถือกำเนิดเกิดเป็นสตรีเพศได้สี่ร้อยกว่าชาติแล้ว ครั้นถึงพระชาติเป็นที่สิ้นสุด เศษปรทากรรมคือการล่วงเกินภรรยาของผู้อื่น พระชาติสุดท้ายที่เกิดเป็นสตรีเพศครบห้าร้อยนั้น ด้วยอปราปรเวทนียกรรมตามสนองจึงเป็นเหตุให้พระองค์ถือกำเนิดเป็นขัตติย กุมารี ทรงพระนามว่าเจ้าฟ้าหญิงสุมิตตาราชกุมารี เป็นพระธิดาของพระเจ้าสุปปบุตรมหาราชผู้เป็นใหญ่

ก็ในสมัยนั้น เป็นกัปที่มีชื่อว่า สารกัป เพราะมีพระพุทธเจ้าเสด็จมาอุบัติตรัสในโลกธาตุนี้พระองค์เดียว ทรงพระนามว่า สมเด็จพระมิ่งมงกุฏปุราณทีปังกรสัมมาสัมพุทธเจ้า พระองค์ทรงเป็นพระราชบุตรของพระเจ้าสุปปบุตรมหาราชเช่นกันฉะนั้น พระโพธิสัตว์เจ้าของเราซึ่งทรงพระนามว่าเจ้าฟ้าหญิงสุมิตตราชกุมารี จึงทรงเป็นพระกนิษฐภคินีของสมเด็จพระมิ่งมงกุฎพระองค์นั้น แต่ต่างพระมารดากัน

เมื่อสมเด็จพระปุราณทีปังกรจอมไตรโลกุตมาจารย์เจ้าเสด็จมากอุบัติตรัสในโลก กาลครั้งนั้น หมู่มนุษย์นิกรนานาประชาชาติ มีสมเด็จพระพุทธบิดา คือพระเจ้าสุปปบุตรมหาราชาธิราชเป็นประธาน ได้มีจิตศรัทธาเลื่อมใสในพระบวรพุทธศาสนาเป็นอันมาก พากันจัดสรรทำสักการะบูชาอุทิศเป็นพระพุทธบูชา ธรรมบูชา สังฆบูชา และอุปัฏฐากบำรุงด้วยจตุปัจจัยในสังฆมณฑล พระพุทธศาสนาถึงความเจริญรุ่งเรืองนักหนา ประชาสัตว์ต่างได้ลิ้มรสอมตธรรม สำเร็จเป็นพระอริยบุคคลเป็นจำนวนมาก ตามสมควรแก่อุปนิสัยวาสนาบารมีของตนที่สร้างไว้
หัวข้อ: Re: มุนีนารถทีปนี การตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า โดย พระพรหมโมลี วิลาศ ญาณวโร
เริ่มหัวข้อโดย: Wisdom ที่ กุมภาพันธ์ 21, 2012, 12:08:41 PM
วันหนึ่งเป็นเวลาสายัณหสมัยใกล้ค่ำแล้ว เจ้าฟ้าหญิงสุมิตตาราชบุตรี ประทับยืนอยู่บนปราสาทชั้นที่ ๗ ทอดพระเนตรลงมาข้างล่างก็ทอดทัศนาการเห็นพระภิกษุรูปหนึ่งทรงสมณสารูป มีกิริยาอาการน่าเลื่อมใสยิ่งนัก เจ้ากูมาประดิษฐานบิณฑบาตอยู่แทบพระทวารวัง พระนางเจ้าจึงทรงจินตนาว่า "ภิกษุมาบิณฑบาตในเวลาเย็น อันมิใช่กาลที่ควรบิณฑบาตเช่นนี้ ชะรอยจะมีประสงค์สิ่งใดสิ่งหนึ่งเป็นมั่นคง" ทรงจินตนาดังนี้แล้ว จึงดำรัสใช้บุรุษคนหนึ่งว่า "ท่านจงลงไปถามความต้องการของพระผู้เป็นเจ้าให้รู้แจ้งแล้วจงมา" ราชบุรุษรับพระดำรัสถวายบังคม ลงมาถามได้ความแล้ว กลับขึ้นไปทูลว่า "พระผู้เป็นเจ้า ประสงค์จะบิณฑบาตน้ำมัน"

เจ้าฟ้าหญิงสุมิตตาราชบุตรีนั้น จึงให้ไปอาราธนาพระผู้เป็นเจ้าขึ้นมาเอง ณ อาสนะอันสมควรแล้ว จึงมีพระดำรัสถามว่า
"พระผู้เป็นเจ้า ต้องประสงค์น้ำมันเอาไปเพื่อประโยชน์สิ่งใด?"
"ขอถวายพระพร พระราชธิดา! อาตมภาพโคจรบิณฑบาตน้ำมันได้เป็นอันมากแล้ว ก็แต่งประทีปมากมายนักหนาทำสักการะบูชาแด่องค์สมเด็จพระมิ่งมงกุฏปุราณทีปัง กรสัมมาสัมพุทธเจ้าจนสิ้นราตรียันรุ่ง ครั้นเวลาสายสว่างแล้ว พระอริยสงฆ์สาวกมาประชุมพร้อมกัน ณ สำนักแห่งพระบรมครูอาตมภาพก็ตามประทีปบูชาพระอริยสงฆ์สาวกทั้งหลายอีกเล่า แต่เฝ้ากระทำอยู่อย่างนี้เป็นนิตย์เสมอมานะ พระราชธิดา ขอถวายพระพร"

ทรงได้ฟังพระคุณเจ้าเล่าถวายให้ฟังดังนี้ เจ้าสุมิตตาราชบุตรีก็มีจิตยินดีเลื่อมใสหนักหนา จึงทรงถือขันสุพรรณภาชน์ยุรยาตรไปตักตวงน้ำมันพันธุ์ผักกาดจนเต็มขันแล้วก็ ทูนเหนือเศียรเกล้านำมา ในขณะนั้นเจ้าหญิงราชธิดาก็ทรงบังเกิดความคิดอันสูงส่งบรรเจิดจ้าขึ้นมาว่า
"สมเด็จ พระบรมเชษฐาธิราชของเราได้ตรัสเป็นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงกระทำประโยชน์เกื้อกูลแก่มวลสัตว์โลกเป็นอันมากฉันใด กาลนานไปเบื้องหน้า ขอจงอาตมาได้ตรัสเป็นพระพุทธเจ้าสักพระองค์หนึ่ง เพื่อจะอนุกูลแก่สัตว์โลกฉันนั้นเถิด"
เมื่อเกิด ความคิดคำนึง ฉะนี้แล้ว พระราชธิดาเจ้าจึงนำสุพรรณภาชน์น้ำมันนั้น ลงจากเบื้องบนพระเศียรเกล้าแล้วก็รินลงในบาตรของพระคุณเจ้าจนเต็มบาตร พร้อมกับทรงตั้งมโนปณิธานว่า

"ข้าแต่พระ คุณเจ้าผู้เจริญ ด้วยเดชะอานิสงส์ผลทานนี้ ขอจงเป็นปัจจัยให้ความปรารถนาของข้าพเจ้าสำเร็จดังมโนรถเถิด พระคุณเจ้าขา ขอพระคุณเจ้าจงเอาน้ำมันนี้ไปบูชาองค์สมเด็จพระบรมเชษฐาธรรมิกราช ซึ่งตรัสเป็นองค์พระสัพพัญญูของข้าพเจ้าแล้ว ขอพระคุณเจ้าจงมีจิตการุณช่วยกราบทูลพระองค์ด้วยว่า พระราชบุตรีกนิษฐภคิณีของสมเด็จพระพุทธองค์เจ้านี้ ซึ่งมีนามว่า สุมิตตากุมารี มีกาลประสาทโสมนัสศรัทธายิ่งนักหนา ขอน้อมพระเกศถวายอภิวาทพระบาทยุคลสมเด็จพระทศพลญาณ และขอตั้งปณิธานปรารถนาดังนี้ว่า ด้วยเดชะอานิสงส์ผลทานนี้เป็นปัจจัยนานไปในอนาคต จักขอตรัสเป็นพระพุทธเจ้าสักพระองค์หนึ่งแลขอให้ทรงพระนามว่าสิทธัตถะ เหมือนด้วยชื่อแห่งน้ำมันพันธุ์ผักกาดนี้ด้วยเถิด"
ครั้นมีพระดำรัสไปดังนี้แล้ว สุมิตตาราชกุมารีก็ถวายอภิวาทพลางส่งพระผู้เป็นเจ้านั้นกลับไป

ฝ่ายพระภิกษุผู้เป็นเจ้ารูปนั้น ครั้นได้น้ำมันตามความประสงค์มากกว่าทุกวันแล้วก็ดีใจนักหนา รีบอุ้มบาตรน้ำมันกลับมาสู่มหาวิหารในราตรีกาลวันนั้น พระผู้เป็นเจ้าก็ได้มีโอกาสกระทำประทีปบูชาให้สว่างไสวมากกว่าทุกวัน ครั้นแล้วจึงเข้าไปถวายอภิวาทสมเด็จพระสรรเพชญ์ปุราณทีปังกรสัมมาสัมพุทธ เจ้า แล้วจึงกราบทูลว่า

"ข้าแต่พระผู้ทรงพระภาค พระเจ้าข้า! เวลาราตรีนี้ข้าพระองค์ได้ตกแต่งประทีปบูชามากขึ้นกว่าทุกราตรีเช่นที่เห็น อยู่เวลานี้ ด้วยน้ำมันพันธุ์ผักกาดอันภคินีของพระองค์ถวายมาและพระนางเจ้าได้ทำพุทธภูมิ ปณิธานว่า ด้วยเดชะผลทานที่ถวายด้วยใจเลื่อมใสยิ่งนักนี้ พระกนิษฐภคินีเจ้าปรารถนาขอได้ตรัสเป็นพระพุทธเจ้าสักพระองค์หนึ่งทรงพระนาม ว่า สิทธัตถะในอนาคต ข้าพระองค์โอกาสกราบทูลถามว่า ความปรารถนาของพระภคินีเจ้าจะสำเร็จหรือไม่ พระเจ้าข้า?"

สมเด็จพระมิ่งมงกุฏปุราณทีปังกรบรมศาสดาได้ทรงสดับแล้วจึงทรงมีพระพุทธฎีกาตรัสว่า

"ดูกรภิกษุ! บัดนี้ สุมิตตาราชกุมารีกนิษฐภคินีของเรานั้น เจ้ายังตั้งอยู่ในอัตภาพเป็นสตรีเพศ จึงยังไม่สมควรที่จะได้รับลัทธยาเทศคำพยากรณ์ก่อน"

"พระเจ้าข้า ข้าแต่พระผู้มีพระภาคผู้เจริญ! ก็พระกนิษฐภคินีของพระองค์จักไมมีโอกาสได้สำเร็จพระพุทธภูมิเลยหรือ พระเจ้าข้า" พระคุณเจ้ารูปนั้นถวายนมัสการกราบทูลขึ้นอีก

ลำดับนั้น สมเด็จพระจอมไตรโลกนาถปุราณทีปังกรสัมมาสัมพุทธเจ้า จึงทรงพิจารณาดูในอดีตภาคก็ทรงทราบว่าพระกนิษฐภิคินีสุมิตตรากุมารีเจ้าได้ เคยมีพุทธภูมิปณิธานไว้นานนักหนา แต่ครั้งเป็นมาณพแบกมารดาว่ายข้ามมหาสมุทรเป็นเดิม เมื่อทรงพิจารณาดูในกาลส่วนอนาคตภาค ก็ทรงทราบว่าพระน้องนางเจ้าอาจสำเร็จซึ่งพระพุทธภูมิปณิธานได้ จึงทรงมีพระพุทธฎีกาว่า
"ดูกรภิกษุ! กาลข้างหน้าในอนาคตนับแต่นี้ไปอีก ๑๖ อสงไขยหนึ่งแสนมหากัปจักมีพระพุทธเจ้าพระองค์หนึ่งทรงพระนามว่าสมเด็จพระที ปังกรซึ่งเป็นนามเสมอกับด้วยเรานี้ จักเสด็จมาอุบัติตรัสในโลก ในกาลนั้นแล สมเด็จพระพุทธเจ้าพระองค์นั้นจักได้กล่าวพยากรณ์ซึ่งพระภคนีของเรา พระน้องนางจักได้รับลัทธยาเทศในสำนักของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ นั้น"
เมื่อสมเด็จพระปุราณทีปังกรสัมมา สัมพุทธเจ้าตรัสฉะนี้แล้ว พระภิกษุรูปนั้นก็ถวายนมัสการกระทำปทักษิณแล้ว ก็ไปสู่ปราสาทเจ้าฟ้าหญิงสุมิตตากุมารี เล่าแจ้งความตามที่ได้ฟังมาจากพระโอษฐพระผู้มีพระภาคเจ้า พอได้ทรงสดับคำเล่าบอกจบจง เจ้าฟ้าหญิงก็ทรงมีพระกมลโสมนัสยิ่งนัก มีพระเสาวณีย์ถวายนิตยปวารณาว่า "ข้าแต่พระคุณเจ้าขา! แต่วันนี้เป็นต้นไป ขอพระคุณเจ้าจงอย่าได้เที่ยวไปแสวงหาที่อื่นเลย พระคุณจงมารับน้ำมันในสำนักแห่งข้าพเจ้านี้เป็นนิตย์ทุกวันเถิด"

ตั้งแต่วันนั้นมา พระผู้เป็นเจ้าก็มารับน้ำมันพันธุ์ผักกาดจากปราสาทของเจ้าฟ้าหญิงสุมิตตาราช กุมารี ไปทำประทีปบูชาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และพระอริยสงฆ์สาวกเป็นนิตย์ทุกวัน

ฝ่ายเจ้าหญิงสุมิตตาราชกุมารีนั้นเล่า ครั้นเวลาอรุณรุ่งเช้า ก็ให้จัดแจงอาหารอันประณีตเป็นอันมาก พร้อมด้วยเครื่องสักการะบูชามีมาลาและของหอมเป็นอาทิ แวดล้อมด้วยบริวารเข้าสู่มหาวิหาร ถวายบิณฑบาตทานแก่หมู่พระภิกษุสงฆ์มีสมเด็จพระพุทธเจ้าเป็นประธาน ด้วยความเชื่อมั่นเลื่อมใสเป็นอย่างยิ่ง ก็จำเดิมแต่กาลนั้นมา เจ้าฟ้าหญิงก็มีให้พระหฤทัยเบื่อหน่ายจากความที่ได้อัตภาพเป็นสตรีเพศยิ่ง นัก สู้อุตส่าห์ก้มหน้าบำเพ็ญกุศล เป็นต้นว่าบริจาคทาน รักษาศีล สมาทานอุโบสถ ประพฤติพรหมจรรย์เป็นอาจิณ ครั้นสิ้นพระชนมายุแล้ว ก็ได้ขึ้นไปบังเกิดเสวยทิพยสมบัติในดุสิตเทวโลก ก็เป็นอันว่า บัดนี้ สมเด็จพระโพธิสัตว์เจ้าของเราทรงหมดสิ้นจากเศษปรทารกรรมความล่วงเกินภรรยา ของผู้อื่นแต่เพียงนี้

อรติเทวราชบพิตร

เมื่อเจ้าฟ้าหญิงสุมิตตาราชกุมารี สิ้นพระชนมายุไปบังเกิดในสวรค์เทวโลกชั้นดุสิต เป็นเทพบุตรเสวยทิพยสมบัติอยู่สิ้นกาลนาน กำหนดได้ห้าสิบเจ็ดโกฎิกับอีกหกล้านปีแล้ว ก็จุติจากดุสิตสวรรค์ท่องเที่ยวเวียนตายเวียนเกิดด้วยอำนาจวัฎสงสารอีกสิ้น กาลนานช้า

กาลครั้งหนึ่ง พระองค์ได้ทรงมาถือกำเนิดในราชตระกูล ครั้นสมเด็จพระบรมชนกนาถเสด็จสวรรคตแล้ว ก็ได้สืบราชสมบัติแทนพระราชบิดา ได้ราชาภิเษกเป็นเอกองค์อัครราชาธิบดี เถลิงสิริราชสมบัติสืบสันตติวงศ์ ทรงพระนามว่า สมเด็จพระเจ้าอรดีเทวราชบพิตร ดำรงราชกิจโดยทศพิธราชธรรม มีอำมาตย์ผู้หนึ่งนามว่า สิริคุตมหาอำมาตย์ เป็นผู้อนุศาสน์บอกอรรถธรรม

ก็ในกาลครั้งนี้ ปรากฏว่ามีพระพุทธเจ้าเสด็จมาอุบัติตรัสในโลกธาตุนี้พระองค์หนึ่ง ทรงพระนามว่า สมเด็จพระมิ่งมงกุฎพรหมเทวสัมมาสัมพุทธเจ้า คราวหนึ่ง พระองค์ทรงอุตสาหะเสด็จพระพุทธดำเนินมา ณ กรัณฑกะนครของพระเจ้าอรดีเทวราช เพื่อทรงแสดงพระธรรมเทศนาประกาศพระบวรพุทธศาสนา ให้เหล่าประชาสัตว์ได้ดื่มอมตธรรม ในขณะที่พระองค์เสด็จมาถึงพระนครนั้น พระฉัพพัณณรังษีหกประการอันซ่านออกจากพระพุทธสรีระกาย ปรากฎมากมายนักหนาครอบงำทั่วภารา แลดูราวกับว่าภานุมาศเทพมณฑล คือพระจันทร์มาอุทัยไขรัศมีพร้อมกันทั้งพันดวง มีรัศมีรุ่งเรืองสว่างไสวน่าอัศจรรย์ใจยิ่งนัก


ในระยะนั้น สมเด็จพระเจ้าอรดีเทวราชบพิตรกำลังประทับนั่งบนพระแท่นรัตนบัลลังก์ ณ พื้นเบื้องบนพระมหาปราสาท มีสิริคุตมหาอำมาตย์หมอบเฝ้าอยู่ในที่เฉพาะพระพักตร์ ครั้นท้าวเธอทอดพระเนตรเห็นพระพุทธรังษีมาปรากฎอย่างอัศจรรย์ มิได้ทันที่จะทรงพระอนุสรณ์คำนึงเห็นว่าเป็นอะไรกันแน่ จะว่าเป็นพญาไกรสรสีหราชหรือว่าเป็นเทพยดามนุษย์นิกรคนธรรพ์กินนรมากระทำ ฤทธิ์ให้วิปริตไปก็ให้ทรงมีพระกมลสะท้านหวาดเสียวเป็นที่สุด ทรงมีพระอาการจะทรุดพระองค์ลงจากพระราชบัลลังก์อาสน์

สิริคุตมหาอำมาตย์ได้เห็นพระอาการสะดุ้งพระราชหฤทัยดังนั้น จึงรีบผายผันไปทัศนาดูโดยสีหบัญชรของพระแกล ก็แลเห็นองค์สมเด็จพระบรมศาสดา ซึ่งทรงพระสิริโสภาประดับด้วยพระทวัตติงสะมหาปุริสลักษณ์และพระอสีติยานุ พยัญชนะมีพระฉัพพรรณรังษีโอภาสทำให้สว่างกระจ่างจับทั่วสกลภารา สิริคุตมหาอำมาตยาบดี แต่พอได้ทอดทัศนาเห็นพระองค์เช่นนี้ก็ทราบได้ทันทีว่า เจ้าของพระรัศมีนั้นเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าคราวนี้ หากจะมีปัญหาว่า ทำไมสิริคุตอำมาตย์จึงทราบได้ทันทีเช่นนี้ มีคำวิสัชนาว่า สิริคุตอำมาตย์ผู้นี้หรือก็คือ พระศรีอริยเมตไตรยโพธิสัตว์ ซึ่งได้มีอภินิหารบารมีอบรมมานานนักหนา นานกว่าพระเจ้าอรดีเทวราชมหากษัตริย์แห่งตน ได้เคยประสบพบปะองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามามากมายหลายร้อยชาติแล้ว ทั้งในชาตินี้ก็เป็นพระราชครูผู้รอบรู้สั่งสอนอรรถธรรมแก่สมเด็จพระเจ้าอยู่ หัว ฉะนั้นพอได้ทอดทัศนาเห็นสมเด็จพระจอมมุนี จึงพลันทราบได้ทันทีว่า องค์พระผู้ทรงพระรัศมีเห็นปานฉะนี้ คือ องค์สมเด็จพระชินสีห์สัมมาสัมพุทธเจ้า ครั้นสิริคุตอำมาตย์ทราบชัดด้วยใจตนเองเช่นนี้ ก็มีจิตยินดีโสมนัสเป็นล้นพ้น รีบลนลานกราบทูลสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวของตน

ข้าแต่มหาราช พระเจ้าข้า! ขอพระองค์อย่าได้ทรงหวาดเสียว ทรงพระวิตกถึงภัยสิ่งใดเลย แสงพระรัศมีที่เห็นนั้นเป็นแสงแห่งรัศมีของท่านผู้ทรงบุญญาธิการยิ่งผู้ หนึ่ง ที่กำลังมุ่งหน้ามาสู่พระนครของเรานี้ และท่านผู้มีกำลังมาสู่พระนครเรานี้นั้น จะได้เป็นสามัญบุคคลก็หามิได้ โดยที่แท้ ท่านผู้นั้นคือสมเด็จพระมิ่งมงกุฎบรมศาสดาจารย์ผู้ทรงพระสัพพัญญุตญาณยอดโลก แล้ว ท่านผู้นี้เป็นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้อุดมในไตรโลกเป็นเอกอัครโลกนายก ทรงอุบัติขึ้นเพื่อจะเกื้อกูลแก่สรรพสัตว์ ทรงเป็นพระเจ้าผู้ชนะมารและสมควรจะรับสักการะบูชาน้อยใหญ่ของประชาสัตว์ ทั้งหลาย ทรงมีคติที่ไปเป็นอันดี ทรงไพบูลย์ด้วยวิทยาและจรณธรรม เป็นผู้อำนวยนำนิพพานสุขให้แก่ฝูงสัตว์ได้ พระองค์ย่อมเป็นใหญ่ในสามภพตรัสรู้แจ้งจบในสรรพเญยยธรรมทั้งปวง ด้วยพระองค์เป็นผู้วิเศษในทางทรมานสัตว์บุรุษดุจสารถีอุดม ทรงเป็นบรมศาสดาของหมู่เทพยดาแลมนุษย์ เป็นพุทธบุคคลเบิกบานในโลก จะหาผู้ใดเปรียบโดยคุณธรรมใดๆ มิได้ เป็นผู้ไม่มีความอาลัยแล้วในสรรพสมบัติอันเป็นเครื่องรัดตรึงสัตว์ทั้งปวง ไว้ มีปัญญาจักษุลุล่วงในทางเป็นประโยชน์ ทรงเป็นธรรมสามีใหญ่ในธรรมสำเร็จพระพุทธภูมิเหมือนพระพุทธเจ้าแต่ปางก่อน ทรงมีพระกมลมากด้วยความละเอียดอ่อนยิ่งด้วยพระมหากรุณา ทรงสามารถที่จะประกาศธรรมโฆษณา ทั่วทั้งไตรโลกธาตุ พระเจ้าข้า"

เมื่อสิริคุตอำมาตย์ประกาศพรรณนาพระพุทธเจ้าด้วยพจนากถาอยู่ฉะนี้ องค์สมเด็จพระชินสีห์พรหมเทวาสัมมาสัมพุทธเจ้าได้เสด็จมาใกล้สถานที่นั้น โดยลำดับกาล สิริคุตอำมาตย์เห็นสมเด็จพระพิชิตมารเสด็จมาใกล้ จึงทูลเตือนให้พระสติแก่พระเจ้าอรดีเทวราชว่า "ข้าแต่มหาราชเจ้า! ขอเชิญเสด็จอุฏฐานการจากราชบัญลังก์ ไปทำปัจจุคมนาการต้อนรับสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเถิด พระเจ้าข้า"

สมเด็จพระเจ้าอรดีเทวราชบรมกษัตริย์ ครั้นได้ทรงสดับสิริคุตมหาอำมาตย์กราบทูลดังนี้ พระองค์ก็ทรงมีพระกมลโสมนัสเต็มตื้นไปด้วยพระปิติ ซาบซ่านไปทั่วทั้งพระสรีระกาย ทรงมีพระพักตร์มืดมนด้วยกำลังพระปิติกล้า ในขณะนั้น พระองค์ก็ทรงมีปวัตตนาการวิงเวียนล้ม และตกลงมาจากชานพระทวาร น่าตกใจกลัวจะสิ้นพระชนม์นักหนา แต่ด้วยอำนาจพระราชศรัทธาอันกล้าหาญของพระองค์มาโอบอุ้ม จึงเกิดอัศจรรย์บันดาลเกิดเป็นดอกเศวตโกสุมปทุมชาติงามสะอาดตระการประมาณ เท่ากงเกวียน แหวกพื้นปฐพีผุดขึ้นบานรับประคับประคองพระองค์ไว้ ครั้นทรงได้พระสติจึงทรงเลื่อนพระองค์ลงจากดอกปทุมบุปผชาติ และดอกปทุมบุปผชาตินั้นก็เลื่อนหายไปในขณะนั้นทันที สมเด็จพระเจ้าอรตีเทวราช จึงเสด็จยุรยาตรไปด้วยพระบาทเปล่า เข้าไปสู่สำนักเฉพาะพระพักตร์แห่งองค์สมเด็จพระพรหมเทวาสัมมาสัมพุทธเจ้า แล้วถวายนมัสการและกระทำการสักการะบูชาด้วยสุมนบุปผชาติเลือกล้วนแต่ที่ดีๆ บริบูรณ์ด้วยสีและกลิ่นบริสุทธิ์สะอาด ทรงพระราชศรัทธาเลื่อมใสโสมนัสเป็นอย่างยิ่ง ได้แต่ทรงนิ่งงัน เฝ้านมัสการบูชาแล้วบูชาเล่าอยู่อย่างนั้น เป็นเวลานานแสนนาน

ภายหลังต่อมา สมเด็จพระเจ้าอรดีเทวราชบพิตรพระองค์ทรงมีพระราชศรัทธา ทรงบำเพ็ญพระราชกุศลสมภารถวายเครื่องอุปกรณ์ทานทั้งหลายอื่นเป็นอันมาก ทรงมีพระราชหฤทัยชื่นชมโสมนัสนัก แล้วทรงเกิดความคิดบรรเจิดจ้าปรารถนาซึ่งพระพุทธภูมิ จึงทรงซบพระเศียรเกล้าก้มลงกราบด้วยเบญจางคประดิษฐ์ ตั้งพระทัยอุทิศทำพุทธภูมิปณิธานว่า
"้ข้า แต่พระองค์ผู้สัพพัญญู! พระองค์ได้ตรัสเป็นพระพุทธองค์บรมนารถ สามารถยังสัตว์โลกทั้งหลายให้รู้ตามได้ฉันใด ขอให้ข้าพระองค์ จงได้ตรัสเป็นพระพุทธเจ้าแล้วจงสามารถนำสัตว์โลกทั้งหลายให้รู้ตามด้วยฉัน นั้น อนึ่งพระองค์ได้ตรัสรู้พระสัพพัญญุตญาณพ้นจากภพกันดารแล้ว และสามารถเปลื้องตัวในโลกทั้งหลาย ให้ล่วงพ้นจากภพกันดารด้วยฉันใด ขอให้ข้าพระองค์จงได้ตรัสรู้ธรรมเช่นนั้น และสามารถเปลื้องสัตว์โลกทั้งหลาย ให้ล่วงพ้นจากภพกันดารฉันนั้นเถิด"
เมื่อ สมเด็จพระเจ้าอรดีเทวราช ได้ทรงกระทำพระพุทธภูมิกปณิธานในพระทัยฉะนี้แล้ว ก็มีพระกมลเบิกบานบันเทิงเป็นหนักหนาแล้วจึงถวายนมัสการลา เสด็จอุฏฐาการกระทำประทักษิณสมเด็จพระพรหมเทวาโลกนายกแล้ว ก็เสด็จกลับคืนสู่พระราชวัง ตั้งแต่วันนั้นเป็นต้นมา พระองค์ก็ทรงพระอุตสาหะสร้างสมพระราชกุศล ทรงบริจาคทานสมาทานศีลอุโบสถ ประพฤติพรหมจรรย์เป็นอาจิณ มีพระกมลนิยมยินดีในกุศลธรรมสุจริต มิได้เบื่อหน่าย ทรงมุ่งหมายในพระพุทธภูมิเป็นนิรันดร์ จนสวรรคตสิ้นพระชนมายุแล้ว เสด็จไปอุบัติเกิดในสวรรค์เทวโลก

การ สร้างพระพุทธบารมีที่เล่ามานี้ เป็นการสร้างพระบารมีเพื่อพระปรมาภิเษกสัมโพธิญาณตอนเริ่มแรก คือตอนมโนปณิธาน ตั้งความปรารถนาเป็นพระพุทธเจ้าไว้แต่ในหฤทัยอย่างเดียว มิได้ออกโอษฐ์เปล่งวาจาปรารถนา ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบรมครูแห่งเราทั้งหลาย แต่เพียงส่วนน้อยในอสงไขยต้นเท่านั้น มิใช่ทั้งหมด อย่าเข้าใจผิดเป็นอันขาด ความจริงพระองค์ได้ทรงสร้างพระบารมีในตอนนี้และได้พบพระพุทธเจ้ามากมายหลาย ชาตินักหนา จนนับไม่ถ้วน ไม่สามารถจะประมวลพระชาติของพระองค์มากล่าวไว้ให้หมดสิ้นในที่นี้ ได้จำไว้ง่ายๆ ก็แล้วกันว่า องค์สมเด็จพระศรีศากยมุนีโคดมบรมครูเจ้าของเราทั้งหลายนี้ พระองค์ทรงสร้างพระบารมีตอนเริ่มแรก ได้แต่นึกปรารถนาพระพุทธภูมิในพระหฤทัย ตามเรื่องที่ยกมาเล่าเป็นตัวอย่างนี้ นับเป็นเวลานานถึง ๗ อสงไขย

ใน กรณีนี้ ท่านผู้มีปัญญาก็ย่อมจะพิจารณาเห็นกันทั่วไปแล้วหรือมิใช่เล่าว่า การสร้างพระบารมีเพื่อปรมาภิเษกสัมโพธิญาณขององค์พระผู้มีพระภาคนั้น เป็นการลำบากแลใช้เวลายืนยาวนานเพียงไร

พรรณาในมโนปณิธาน ความปรารถนาเริ่มแรกซึ่งพระพุทธภูมิแห่งองค์สมเด็จพระมิ่งมงกุฏศรีศากยมุนี โคดม เห็นสมควรที่จะยุติลงได้แล้ว จึงขอยุติลง ด้วยประการฉะนี้

บทที่ ๓

พระบารมีตอนกลาง

บัดนี้ จักพรรณนาถึงการสร้างพระบารมีเพื่อพระปรมาภิเษกสมโพธิญาณ ของสมเด็จพระมิ่งมงกุฏศรีศากยมุนีโคตมบรมครูเจ้าของเราในตอนวจีมโนปณิธาน คือ ตอนที่พระองค์ออกโอษฐ์เปล่งพระวาจาปรารถนาซึ่งพระพุทธภูมิต่อไป

ก็องค์สมเด็จพระศรีศากยมุนีโคดมบรมศาสดาเจ้าของเราทั้งหลายนั้น พระองค์ท่านเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าประเภทปัญญาธิกะ สร้างพระบารมีมาชนิดยอดเยี่ยมด้วยพระปัญญาฉะนั้น หลังจากทรงตั้งมโนปณิธาน ความปรารถนาเป็นพระพุทธเจ้าอยู่ในพระหฤทัย มิได้ออกพระวาจามาครบถ้วน ๗ อสงไขย ดังกล่าวมาแล้ว พระองค์ยังจะต้องทรงตั้งวจีปณิธานคืออกพระวาจาปรารถนาเป็นพระพุทธเจ้าอีก เป็นเวลานานถึง ๙ อสงไขย ตามความเป็นไปที่จะได้พรรณนา ดังต่อไปนี้

สาครจักรพรรดิ์ภูมิบดี

เมื่อพระบรมโพธิสัตว์ทรงท่องเที่ยวเวียนว่ายตายเกิด อยู่ด้วยอำนาจวัฏสงสารสิ้นกาลช้านานนักหนา บางเวลาก็มาเกิดเป็นมนุษย์ บางชาติก็ได้เกิดเป็นเทพบุตร เสวยทิพยสมบัติในสรวงสวรรค์นั้น กาลครั้งหนึ่ง พระองค์ได้อัตภาพมาอุบัติเกิดเป็นมนุษย์ ในสมัยนั้นเป็นสุญกัป โลกธาตุว่างจากพระบวรพุทธศาสนา พระองค์จึงได้ออกบรรพชาเป็นดาบสประพฤติพรตอยู่ในป่าใหญ่ พยายามบำเพ็ญกสิณบริกรรมภาวนาจนได้สำเร็จปฐมฌาน ครั้นดับสังขารสิ้นชีวิตแล้ว ก็ได้ไปอุบัติเกิดเป็นพระพรหมผู้วิเศษอยู่ ณ พรหมโลกชั้นปฐมฌานพรหมภูมิเสวยพรหมสมบัติชมฌาน เป็นสุขอยู่เป็นเวลาหนึ่งมหากัป แล้วจึงจุติลงมาจากพรหมโลก

ด้วยเดชะอานิสงส์ผลบุญกุศล ที่พระองค์ได้ทรงสั่งสมสุจริตธรรมความประพฤติดีงามไว้ ในอดีตชาติแต่ปางก่อนเป็นอันมาก หากมาอำนวยผลให้ในคราวนี้ พอจุติจากพรหมโลกแล้ว พระองค์ก็ได้สืบปฏิสนธิถือกำเนิดในราชตระกูล ณ ธัญญวดีมหานคร เมื่อถึงศุภวารดิถีวันที่จะเฉลิมพระนามนั้น จึงประชุมพระบรมวงศ์ได้พร้อมกันขนานพระนามว่า สมเด็จพระสาครราชกุมาร ครั้น เจริญวัยวัฒนาการนานมา เมื่อสมเด็จพระชนกธิบดีดับขันธ์สวรรคตแล้ว ก็ได้ดำรงสิริราชสมบัติสืบกษัตริย์ขัตติยวงศ์โดยทศพิธราชธรรม ต่อมาทรงพระอุตสาหะปฏิบัติในจักรพรรดิวัตร ที่เหล่าราชปุโรหิตจารย์กำหนดถวายต่างๆ อย่างครบถ้วน แต่ที่พิเศษก็คือว่า เมื่อถึงวันอุโบสถขึ้น ๑๕ ค่ำแล้ว สมเด็จพระเจ้าสาครจักรพรรดิภูมิบดีย่อมเสด็จเข้าที่สรง ทรงชำระสระสนานพระองค์ให้สะอาดแล้ว ก็ทรงพระภูษาโขมพัสตร์พื้นขาวคู่อุโบสถวิเศษ เสด็จขึ้นสถิตอยู่เบื้องบนพระมหาปราสาท ทรงพระอาวัชชนะนึกถึงอุโบสถศีล ที่พระองค์สมาทานเสมอมามิได้ขาด

หัวข้อ: Re: มุนีนารถทีปนี การตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า โดย พระพรหมโมลี วิลาศ ญาณวโร
เริ่มหัวข้อโดย: Wisdom ที่ กุมภาพันธ์ 21, 2012, 12:09:20 PM
ลำดับนั้น ด้วยเดชะอำนาจผลแห่งพระราชกุศล ที่พระองค์ทรงรักษาอุโบสถศีลเป็นประธาน จึงบันดาลให้สัตตรัตนะอุบัติเกิดขึ้น คือ
๑. ทิพยรัตนะจักรแก้ว บังเกิดแต่เบื้องปุริมทิศแห่งมหาสมุทรงามบริสุทธิ์พร้อมด้วยพันแห่งกำกง อลงกต ย่อมมีมหิทธิประสิทธิสามารถจะให้สำเร็จความประสงค์ทุกประการ

๒. พญาคชสารหัศดินทร์รัตนสาร คือ ช้างแก้วตัวประเสริฐเกิดมาแต่อุโบสถตระกูลอันยิ่งใหญ่

๓. พญาอัศดรรัตนะมัย คือ ม้าแก้วสินธพชาติตัวประเสริฐบังเกิดมีแต่พลาหกตระกูลอาชาไนย

๔. ดวงจินดารัตนะมณี คือ แก้วมณีอันช่วงโชติรัศมีบังเกิดมีมาแต่บรรพตคีรี

๕. ดรุณรัตนะนารี คือ นางแก้วที่เกิดคู่สำหรับบรมกษัตริย์ ซึ่งเทพเจ้าจัดสรรนำมาแต่อุตตรกุรุทวีป

๖. คหบดีรัตนะ คือขุนคลังแก้วผู้ประเสริฐคู่พระบารมี

๗. ปรินายกรัตนะ คือ พระองค์ทรงมีพระบวรดนัยเชษฐวโรรส ดำรงตำแหน่งที่ปรินายกรัตนะขุนพลแก้ว บริหารราชกิจให้ชาวประชาผาสุกอยู่เป็นนิตย์
สมเด็จ พระเจ้าสาครราชจักรพรรดิทรงประกอบด้วยรัตนะทั้ง ๗ ประการ อย่างครบถ้วนบริบูรณ์ เสวยมไหศูรย์ราชสมบัติโดยราชธรรมประเพณี ทรงมีพระเดชานุภาพแผ่ไปทั่วพิภพจบสกลพื้นปฐพี มีสาครสมุทรทั้งสี่กั้นเป็นขอบเขต ทรงเสวยจักรพรรดิสุขอยู่แสนจะสำราญ

กาลครั้งนี้ ปรากฎมีสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จมาอุบัติตรัสในโลกธาตุนี้หนึ่งพระองค์ ทรงพระนามว่า สมเด็จพระมิ่งมงกุฏปุราณศากยมุนีสัมมาสัมพุทธเจ้า เมื่อพระองค์ได้ตรัสรู้แล้ว จึงทรงแสดงพระธรรมเทศนาธัมมจักกัปปวัตนสูตร ตามพระพุทธประเพณีอันมีสืบมา ด้วยพระมหาเดชานุภาพแห่งพระธรรมจักรของพระองค์ที่ทรงแสดงในกาลครั้งนั้นหนัก ยิ่งนัก ประหนึ่งว่าพื้นแผ่นปฐพีนี้ จะทรงน้ำหนักซึ่งพระคุณไว้มิได้ ก็เกิดกัมปนาทหวาดหวั่นไหวเป็นมหัศจรรย์ทั่วโลกธาตุ ก็เพราะให้มีอันเป็นเกิดกัมปนาทหวั่นไหวเป็นมหัศจรรย์ทั่วโลกธาตุก็เพราะให้ มีอันเป็นเกิดกัมปนาทหวาดหวั่นไหวไปทั่วพื้นปฐพีนี่เอง จึงเป็นเหตุให้จักรแก้วของสมเด็จพระเจ้าสาครราชจอมจักรพรรดิ เคลื่อนตกจากที่ตั้งไว้ เป็นนิมติเหตุให้เห็นประจักษ์ตาอย่างน่าอัศจรรย์ยิ่ง

แท้จริง ธรรมดาจักรแก้วของพระบรมจักรพรรดิราชเจ้านั้น มหาอำมาตย์ราชบุรุษทั้งหลาย ย่อมมั่นคงสวยงามที่เสาสองต้นแล้วเอาเชือกผูกจักรแก้วประดิษฐานตั้งไว้มั่น คงเป็นอันดี อภิบาลรักษาอย่างถ้วนถี่ไม่มีโอกาสที่จะเคลื่อนคลาดพลาดตกลงมาได้ ครั้นเมื่อเกิดกัมปนาทไปทั่วทั้งแผ่นดินเช่นนั้น จักรแก้วก็พลันตกลงมาจากที่ตั้งอย่ ณ ภายใต้เสาทั้งสองนั้น ฝ่ายราชบุรุษผู้อภิบาลรักษา ได้เห็นแล้วก็ตกใจ จึงรีบเข้าไปกราบทูลสมเด็จพระสาครราชบรมจักรพรรดิ์ พระองค์ได้สดับก็ทรงสะดุ้งพระทัยว่าจักรแก้วนี้ ย่อมเป็นที่นับถือทั่วโลก เหตุไฉนจึงพลัดตกไปจากที่ตั้งได้ ในกรณีเช่นนี้อันตรายแห่งชีวิตจะมีแก่เรา หรือว่าอันตรายจะปรากฎมีแก่ราชสมบัติเห็นประการใด ทรงสงสัยดังนี้แล้ว จึงดำรัสถามโหราราชเนมิตทิพาจารย์ทั้งหลายว่าเป็นประการใด

พระโหราราชครูผู้รู้นิมิตทั้งหลาย ถึงถวายพยากรณ์กราบทูลว่า
"ข้าแต่สมมติเทวราช! เหตุที่ทำให้จักรแก้วนี้ เกิดมีอันเป็นเลื่อนเคลื่อนตกลงไปนั้นมีอยู่ ๒ ประการ คือ
๑. เป็นนิมิตแห่งอันตรายต่อพระชนม์ ของสมเด็จพระบรมจักรพรรดิและ

๒. เป็นนิมิตแห่งเหตุที่สมเด็จพระสรรเพชญ์สัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จมาอุบัติในโลก
จักรแก้วจะเคลื่อนตกจากที่ตั้งไว้ได้ ด้วยเหตุ ๒ ประการนี้เท่านั้น พระเจ้าข้า"

สมเด็จพระจักรพรรดิราช จึงตรัสถามต่อไปว่า
"ก็จักรแก้วของเราที่เคลื่อนตกครั้งนี้ จะเป็นด้วยเหตุประการใดเล่า?"

พระโหราราชครูทั้งหลาย จึงพร้อมใจกันตรวจดูจนแน่แก่ใจแล้ว จึงกราบทูลว่า
"ข้าแต่พระองค์ผู้ทรงพระคุณอันประเสริฐ! การที่จักรรัตนะตกลงมาครั้งนี้ จะได้ปรากฎเป็นนิมิตแห่งชีวิตอันตรายของพระองค์นั้น หามิได้ดอก พระเจ้าข้า โดยที่แท้ เป็นนิมิตแห่งความที่สมเด็จพระสรรเพชญ์สัมมาสัมพุทธเจ้า เสด็จมาอุบัติตรัสในโลกธาตุนี้แท้ทีเดียว

ก็สมเด็จพระสรรเพชญ์สัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น เมื่อเสด็จมาอุบัติตรัสในโลกธาตุนี้แล้ว ย่อมทรงมีพระเกียรติศัพท์บรรลือด้วยพระคุณมากมายเป็นอดุลนับไม่ได้ ทรงไว้ซึ่งเนมิตตกนามดังต่อไปนี้ คือ

๑. อรหํ...ทรงเป็นพระอรหันต์กอรปด้วยพระคุณควรที่จะรับสรรพสักการะน้อยใหญ่ได้ ทุกประการของชาวโลกทั้งผอง อาจทำให้เกิดอานิสงส์เนืองนองมากมาย แก่สรรพสัตว์ผู้กราบไหว้บูชา

๒. สมฺมาสมฺพุทฺโธ... ทรงเป็นผู้ตรัสรู้เองโดยชอบด้วยอำนาจพระบารมีธรรม ที่พระองค์ทรงสั่งสมมาช้านานธรรมทั้งปวงมาเกิดขึ้นพร้อมในพระหฤทัยของ พระองค์เอง

๓. วิชชาจรณสมฺปนฺโน... ทรงไพบูลย์ด้วยไตรวิชาและอัษฎางควิชา พร้อมทั้งจรณะสิบห้าประการ

๔. สุคโต... ทรงดำเนินไปดี เพราะมีพระนิพพานคติอันดีเป็นที่ดำเนินไป

๕. โลกวิทู... ทรงรู้แจ้งโลก เพราะทรงพระสัพพัญญุตญาณรู้แจ้งจบทั้งสังขารโลก (โลกแห่งความมีความเป็น) และโอกาสโลก (โลกแห่งความว่าง)

๖. อนุตฺตโร ปุริสทมฺมสารถิ... ทรงเป็นสารถีมีพระปรีชารู้ทรมานบุรุษผู้ควรทรมานอย่างประเสริฐ เลิศยิ่งในไตรภพเป็นอันดีไม่มีผู้เสมอเหมือน

๗. สตฺถา เทวมนุสฺสานํ... ทรงเป็นบรมครูใหญ่ ได้โอกาสตรัสพระพุทธฎีกาแก่ฝูงสัตว์ เทพยดา และหมู่มนุษย์พุทธเวไนยทั่วโลกสันนิวาส ให้สามารถบรรลุถึงคุณธรรม อันมีผลเป็นสุขพิเศษ มีพระนิพพานธรรมเป็นที่สุด

๘. พุทฺโธ... พระองค์เป็นผู้ตรัสรู้แล้วเต็มที่ เป็นผู้ตื่นแล้วจากความหลับ คือกิเลสนิทรา

๙. ภควา... พระองค์ทรงเป็นผู้จำแนกธรรม และเป็นผู้มีส่วนแห่งพระบารมีธรรมอันจำเริญ

โดยพระเดชานุภาพแห่งองค์สมเด็จพระสรรเพชญ์สัมมาสัมพุทธเจ้า พระองค์ผู้ทรงพระคุณอันประเสริฐล้ำเลิศในไตรโลก จักรรัตนของพระองค์จึงหวั่นไหวให้มีอันตกลงมา จะได้มีอันตรายอันใดอันหนึ่งก่อนนั้นหามิได้ ขอเดชะ" พระโหราราชครูกราบทูลอธิบายอย่างยืดยาว
หัวข้อ: Re: มุนีนารถทีปนี การตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า โดย พระพรหมโมลี วิลาศ ญาณวโร
เริ่มหัวข้อโดย: Wisdom ที่ กุมภาพันธ์ 21, 2012, 12:10:22 PM
สมเด็จพระเจ้าสาครราชบรมจักรพรรดิ์โพธิสัตว์ได้ทรงสดับคำเนมิตตกามาตย์ โหราจารย์กราบทูลพรรณนาบรรยายโดยเอนกประการเช่นนั้น ก็ทรงมีพระกมลตื้นตันเต็มไปด้วยปีติ มิอาจจะดำรงพระสติให้มั่นคงได้ จึงตรัสถามเพื่อให้แน่พระทัยว่า

"เมื่อครู่นี้ ท่านว่ากระไรนะ พระราชครู! ดูเหมือนท่านกล่าวว่า พุทโธ หรือกล่าวว่ากระไร?
พระราชครูโหรา จึงกราบทูลสนองไปว่า
"พระเจ้าข้า ข้าแต่พระองค์ผู้สมมติเทวราช! บัดนี้สมเด็จพระชินสีห์สัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จอุบัติเกิดในโลกนี้แล้ว พระเจ้าข้า"

ขณะนั้น จึงนายเนมิตตกาจารย์ผู้หนึ่งซึ่งปัญญาดี มีความฉลาดไหวพริบรวดเร็ว ได้กระทำผ้าสะไบเฉียงบ่าข้างซ้าย และยอกรประณมถวายนมัสการด้วยเบญจางคประดิษฐ์ บ่ายหน้าไปทางทิศที่ตนทราบว่าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าประทับอยู่ แล้วกล่าวคำประกาศพระพุทธคุณทูลซ้ำอึกว่า

"ข้าแต่พระมหาราชะ! สมเด็จพระสรรเพชญสัมมาสัมพุทธเจ้านี้ พระองค์ทรงเป็นบรมไตรโลกนาถ ไม่มีผู้ใดจะยิ่งกว่า เป็นพระอริยะผู้ทรงคุณประเสริฐ เป็นพระบรมครูตรัสรู้เญยยธรรมทั้งปวง เป็นผู้จำแนกธรรมคือมรรคผลนิพพาน ทรงพระพุทธลักษณะงดงามศิริพิลาส ข้าพระบาทได้ทราบมาว่าพระองค์ทรงปรากฎโดยพระนามขนานว่า สมเด็จพระศรีศากยมุนีชินสีห์ สัมมาสัมพุทธเจ้า อนึ่งเล่า พระองค์กำลังเสด็จมาประทับอยู่ ณ มิจจีนอุทยานกรุงธัญวดีของเรานี่ พระเจ้าข้า

สมเด็จพระเจ้าสาครราชบรมจักรพรรดิ์ ได้ทรงสดับดังนี้ ก็ทรงมีพระกมลโสมนัสยินดียิ่งนัก จักใคร่เสด็จไปมนัสการสักการะบูชา จึงมีพระบรมราชโองการชักชวนว่า

"มาเถิด... ชาวเราเอ๋ย เราจักพากันไปเฝ้าสมเด็จพระผู้ทรงพระภาคเจ้า เพื่อเป็นกุศลส่วนทัสสนานุตตริยะ การได้ทอดทัศนายอดเยี่ย ดำรัสสั่งแล้ว ก็ทรงจัดแจงประทีปธูปเทียนและมาลัยเครื่องสักการะบูชา เสด็จด้วยจาตุรงคิกเสนาบรมจักรพรรดิ มีเสวกามาตย์ราชบริษัทเป็นปริมณฑลแวดล้อมมากมาย เสด็จไปยังมิจีนอุทยาน ครั้นไปถึงได้ทรงทอดทัศนาการเห็นพระตถาคตเจ้า พระองค์กำลังสถิตเหนือพระบวรบัลลังก์พุทธอาสน์ ทรงงามพิลาศด้วยพระทวัตติงสมหาปุริสลักษณะและพระอสีตยานุพยัญชนะ ก็ทรงถวายอภิวาทด้วยเบญจางคประดิษฐ์ซบพระเศียรเกล้าลงแทบพระบวรพุทธบาทอันไห จิตรด้วยจักรลักษณะทั้งคู่ของสมเด็จพระศรีศากยมุนีโลกนาถเจ้าแล้ว จึงตรัสสดุดีสรรเสริญพระพุทธสรีระอันงามหาที่เปรียบมิได้ ด้วยพระหฤทัยอันโสมนัสชื่นชมว่า "โอ้...นับว่าเป็นบุญแท้ของตน เราได้ยลพระตถาคตเจ้าพร้อมทั้งได้เข้าเฝ้าอย่างใกล้ชิด ณ โอกาสบัดนี้ ความเห็นของเราคราวนี้ นับว่าเป็นความเห็นอย่างประเสริฐได้ การระบายลมหายใจของเราคราวนี้ ควรนับได้ว่าเป็นการระบายได้คล่อง ไม่ข้องขัด ชีวิตของเราคราวนี้ ก็จักได้ว่าเป็นชีวิตดีมีผลประเสริฐ"

ครั้นตรัสสดุดีเป็นโถมนวาทีฉะนี้แล้ว สมเด็จพระเจ้าสาครจักรพรรดิราช ก็บังเกิดพระปีติ ทรงรำพึงในพระหฤทัยว่า "เรานี้ได้อุดมสมบัติ ปรากฎเยี่ยมเทียมเทพมไหศูรย์อันประเสริฐล้ำเลิศเกิดแก่เราในชาตินี้ ก็เพราะมีอุตสาหะสร้างสมกุศลสมภารมีทานบริจาคและเป็นผู้มากด้วยศีลสมาทานไว้ แต่ชาติปางก่อน จึงอำนวยผลให้ได้ประสบสุขเห็นปานนี้ นี่เป็นส่วนหนึ่ง ก็ในอนาคตเบื้องหน้าเล่า บัดนี้สมเด็จพระตถาคตศรีศากยมุนีเจ้า ได้ทรงเปลื้องพระองค์ให้พ้นจากทุกข์ในวัฏสงสารได้แล้ว ทั้งยังทนงนำสัตว์ทั้งหลายให้หลุดพ้นจากกองทุกข์ได้ด้วยฉันใด แม้เรานี้ก็จะตั้งใจเปลื้องตนให้หลุดพ้นจากทุข์ภัยในวัฏสงสารแล้วก็จะนำ สัตว์ทั้งหลายอื่นให้หลุดพ้นได้ด้วยฉันนั้น" เมื่อทรงมีพระมนัสมุ่งหมายซึ่งพระโพธิญาณ ดังนี้แล้วก็ถวายบังคมลาลุกจากอาสน์ทำประทักษิณสมเด็จพระผู้ทรงพระภาคศรี ศากยมุนีแล้ว ก็เสด็จกลับคืนสู่พระนคร

ครั้นเสด็จมาถึงแล้ว ก็ทรงเร่งร้อนดำรัสสั่งให้ราชบริพารนำเอาแก่นจันทน์บริบูรณ์ด้วยสีและกลิ่น มาเป็นอันมาก รับสั่งให้ประชุมนายช่างก่อสร้างทั้งหลายมากมายหลายหมวดหลายกอง เร่งให้สร้างปราสาทกุฎิอันเป็นที่อยู่ของพระภิกษุสงฆ์ด้วยไม้แก่นจันทน์มาก มายหลายหลัง แล้วรับสั่งให้สร้างกุฎีศาลามณฑปที่พักผ่อนที่หลีกเร้นในราตรีทิวาวัน สร้างหอฉัน ที่จงกรม โรงไฟ และซุ้มพระทวาร ล้วนแล้วแต่แก่นจันทน์อีกเช่นกัน ในวาระสุดท้าย ทรงให้เรียกนายช่างชั้นเอกมาประชุมกันออกแบบสร้างพระคันธกุฎีที่ประทับของ องค์สมเด็จพระผู้มีพระภาค สวยงามวิจิตรสัมฤทธิ์ด้วยแก่นจันทน์มีกลิ่นหอม ครั้นมหาวิหารอันสร้างด้วยไม้แก่นจันทน์สำเร็จลงเรียบร้อยทุกประการแล้ว สมเด็จพระเจ้าสาครราชบรมโพธิสัตว์แวดล้อมด้วยราชบริวาร เสด็จออกมาเฝ้าสมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้า แล้วทรงถวายอภิวาทกราบทูลถวายพระมหาวิหารว่า
"ข้าพระองค์ผู้เจรญ! พระเจ้าข้า พระมหาจันทน์วิหารนี้ ข้าพระบาทสร้างถวายเฉพาะพระพุทธองค์ ขอพระพุทธองค์จงทรงพระมหากรุณาอนุเคราะห์ข้าพระบาท ขอจงรับเสนาสนะมหาจันทวิหารแห่งข้าพระบาทนี้ด้วยเถิด พระเจ้าข้า"

ครั้นกราบทูลถวายมหาจันทน์วิหาร ฉะนี้แล้ว ก็ทรงนำเสด็จพระพุทธดำเนินเข้าสู่ภายในวิหาร ถวายอาหารบิณฑบาตทานแก่พระอริยสงฆ์มีองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็น ประธาน พร้อมกับทรงอุทิศถวายเครื่องอุปกรณ์ทานอีกมากมาย ด้วยพระหัตถ์ของพระองค์เอง แล้วทรงมีพระกมลผ่องแผ้วชื่นชมโสมนัส บัดนั้น สมเด็จพระเจ้าบรมจักรพรรดิสาครราชบรมโพธิสัตว์ จึงเปล่งพระวจีปณิธานว่า
"ด้วย เดชะอำนาจแห่งบุญกรรมนี้ ของจงเป็นปัจจัยราสีเสริมส่งให้ข้าพระองค์ ได้ตรัสเป็นพระพุทธเจ้าทรงพระนามว่า พระศากยมุนีโคดม เสมอด้วยพระนามพระผู้มีพระภาคเจ้านี้ด้วยเถิด"
หัวข้อ: Re: มุนีนารถทีปนี การตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า โดย พระพรหมโมลี วิลาศ ญาณวโร
เริ่มหัวข้อโดย: Wisdom ที่ กุมภาพันธ์ 21, 2012, 12:10:49 PM
ครั้นตรัสฉะนี้แล้ว พระองค์จึงทรงตั้งวจีปณิธาน ซ้ำลงไปอีกว่า
"พระ บรมไตรโลกนาถเจ้านี้ ได้ตรัสเป็นพระพุทธเจ้าแล้ว ทรงสามารถยังสัตว์ทั้งหลายให้รู้ได้ด้วยฉันใด ข้าพระบาทจักของตรัสเป็นพระพุทธเจ้าจะยังสัตว์ทั้งหลายให้รู้ได้ด้วยฉันนั้น พระผู้ทรงพระภาคผู้นาถะของโลกนี้ ได้ล่วงพ้นจากสงสารแล้ว ทรงสามารถยังสัตว์ทั้งหลายให้ล่วงพ้นได้ด้วยฉันใด ข้าพระบาทขอจงได้เป็นนาถะของโลก ล่วงพ้นจากทุกข์ในสงสารแล้ว และสามารถยังสัตว์ทั้งหลายให้ล่วงพ้นได้ด้วยฉันนั้น พระผู้มีพระภาคนาถะของโลกนี้ ทรงข้ามได้แล้ว จากโลกและย่อมยังสัตว์ทั้งหลายให้ข้ามได้ด้วยฉันใด ขอข้าพระบาทจงได้เป็นพระโลกนาถะข้ามได้แล้วจากโลก และยังสัตว์ทั้งหลายให้ข้ามได้ด้วยฉันนั้นเถิด"
ลำดับนั้น สมเด็จพระปุณาณศรีศากยมุนีสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงมีพระพุทธฎีกาตรัสว่า
"ดูกร มหาบพิตร! การที่จะปรารถนาซึ่งพระพุทธภูมินั้น ย่อมเป็นการยากยิ่งนักที่บุคคลจะทำสำเร็จได้ ถ้าพระองค์ใคร่จะเป็นพระพุทธเจ้าแล้ว จงค่อยสดับความอุปมาดังนี้ คือ ในเมื่อห้วงจักรวาลอันกว้างลึกสุดที่จะประมาณ เต็มไปด้วยภูเขาเหล็กลุกเป็นโพลงอยู่ไม่รู้ดับ และมีพื้นเบื้องต่ำตามระหว่างๆ ข้างซอกแห่งภูเขานั้น เต็มไปด้วยน้ำทองแดงที่ร้อนแรงจนเหลวละลายไหลเหลวเคว้งๆ อยู่ดุจมหากุมภีนรก ผู้ใดมีน้ำใจกล้าหาญเด็ดเดี่ยว สามารถที่จะว่ายน้ำทองแดงไปได้ด้วยกำลังแขนของตน จนตลอดถึงฟากจักรวาลโน้นได้ โดยมิได้อาลัยถึงเลือดเนื้อร่างกายและชีวิต ผุ้มีน้ำจิตองอาจเห็นปานนี้ จึงจะทำตนให้ถึงพุทธภาวะความเป็นพระพุทธเจ้าได้ นี่แหละมหาบพิตร พระพุทธภูมิสำเร็จได้โดยยากดังกล่าวมานี้ ขอจงทราบไว้ในพระทัยเถิด"
สมเด็จพระเจ้าบรมจักรพรรดิได้ทรงสดับพระบรมพุทธาธิบายเปรียบดังนั้น ด้วยกำลังพระปิติกล้า ก็ทรงออกพระวาจารับเอาว่า
"ข้า แต่พระองค์ผู้เจริญ! พระเจ้าข้า ข้าพระบาทนี่และสู้ก้มหน้าว่ายข้ามแม่น้ำทองแดงร้อนนั้นไปให้ได้ อย่าว่าแต่สิ่งที่มีในมนุษยโลกที่พระองค์ทรงพระมหากรุณาชักอุปมาเปรียบเทียบ มานี่เลย ถึงแม้ว่าพระสัพพัญญุตฐาณจะมีอยู่ใต้อเวจีมหานรกก็ดี ตัวข้าพระบาทนี่แลพระเจ้าข้า จะสู้ก้มหน้าดำด้นลงไปค้นคว้าหาให้พบให้จงได้"
สมเด็จ พระปุราณศรีศากยมุนีได้ทรงสดับดังนั้น ก็ทรงทราบด้วยพระสัพพัญญุตญาณว่า ปณิธานของพระบรมจักรพรรดิพุทธางกูรโพธิสัตว์นี่ นานไปอีกแสนนานถึง สิบสอง อสงไขย กับเศษแสนมหากัปจึงจักสำเร็จได้ และพระราชาผู้นี้จักได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า ทรงนามว่าพระศรีศากยมุนีโคดมเสมอด้วยนามเราตถาคตนี้ เมื่อพระองค์ทรงทราบชัดฉะนี้จึงมีพระพุทธฏีกาดำรัสเป็นพระโอวาทว่า

"ดูกรมหาบพิตร! ถ้าพระองค์มีพระราชประสงค์ซึ่งพระปรมาภิเษกสัมโพธิญาณแล้ว จงทรงบำเพ็ญพระบารมี ๓๐ ให้ครบบริบูรณ์เถิด"
ฝ่าย สมเด็จพระเจ้าสาครราชบรมจักรพรรดิเจ้า ครั้นได้ทรงสดับพระพุทธโอวาท ดังนั้น ก็มีพระกมลโสมนัสเป็นนักหนาประหนึ่งว่า ตนจักได้เป็นพระพุทธเจ้าในวันพรุ่งนี้ก็ปานกัน จำเดิมแต่วันนั้นเป็นต้นมา พระองค์ก็ทรงบริจาคทรัพย์สมบัติทั้งหลายเป็นอันมาก กระทำบุญสร้างกุศลปลูกฝังไว้ในพระบวรพุทธศาสนา แต่ยังหาทรงอิ่มในพระทัยไม่ ในภายหลัง จึงได้ออกบรรพชาบวชเป็นพระภิกษุสงฆ์องค์สาวกของพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น ทรงพระอุตสาหะหมั่นศึกษาในทางคันถธุระจนชำนิชำนาญในพระไตรปิฎกแล้ว จึงทรงบำเพ็ญเพียรในสมถกรรมฐานภาวนาทำฌานอภิญญามิให้เสื่อม ครั้นสิ้นพระชนมายุแล้ว ก็ขึ้นไปอุบัติเกิดในรูปาพจรพรหมโลก

การ สร้างพระพุทธบารมีที่เล่ามานี้ เป็นการสร้างพระบารมีตอนกลาง คือ ตอนเปล่งวจีปณิธานออกโอษฐปรารถนาพระพุทธภูมิ ของสมเด็จพระบรมครูเจ้าของเราทั้งหลายแต่เพียงชาติแรกชาติเดียว ต่อจากชาตินี้ไป พระองค์ก็ได้ทรงเปล่งพระวาจาปรารถนาพระพุทธภูมิต่อพระพักตร์ของสมเด็จพระ สัมมาสัมพุทธเจ้าอีกมากมาย จนไม่สามารถจะนำมากล่าวไว้ในที่นี้ให้หมดสิ้นลงได้ จำไว้ง่ายๆ ก็แล้วกันว่า องค์สมเด็จพระศรีศากยมุนีโคดมบรมครูเจ้าที่ทรงมีพระมหากรุณาประทานคำสอนไว้ ให้พวกเราได้ประพฤติปฏิบัติกันทุกวันนี้น่ะ พระองค์
สร้างพระบารมีตอนเปล่งวจีปณิธานนี้ เป็นเวลานานได้ ๙ อสงไขย

พรรณนาในวจีปณิธาน ความปรารถนาตอนออกโอษฐเปล่งพระวาจากว่าจะตรัสรู้แห่งองค์สมเด็จพระบรมครูศรี ศากยมุนีโคดม เห็นสมควรจะยุติลงไปแล้ว จึงขอยุติลง ด้วยประการฉะนี้

จบบทที่ ๓

บทที่ ๔


พระบารมีตอนปลาย

บัดนี้ จักพรรณนาถึงการสร้างพระบารมี เพื่อพระปรมาภิเษกสัมโพธิญาณขององค์สมเด็จพระมิ่งมงกุฎศรีศากยมุนีโคดมบรม ครูเจ้าตอนปลาย คือตอนที่ทรงได้รับลัทธาเทศคำพยากรณ์จากสำนักสมเด็จพระชินวรสัมมาสัมพุทธ เจ้าทั้งหลายต่อไป

เมื่อพระองค์ได้ทรงเริ่มสร้างพระบารมีตอนต้นเป็นมโนปณิธานตั้งความปรารถนา ซึ่งพระพุทธภูมิแต่ในพระหฤทัยเป็นเวลานาน ๗ อสงไขยและต่อมาได้ทรงสร้างพระบารมีตอนกลางเป็นวจีปณิธานตั้งความปรารถนาซึ่ง พระพุทธภูมิด้วยการออกโอษฐ์เปล่งพระวาจาเป็นเวลานาน ๙ อสงไขย ตามที่ได้กล่าวมาแล้วในบทก่อน ตอนนี้ ก็ถึงการสร้างพระบารมีตอนปลาย ซึ่งเป็นตอนที่สำคัญเพราะความมุ่งมั่นในพระโพธิญาณของพระองค์ใกล้จะสำเร็จลง แล้ว โดยได้รับลัทธาเทศคำพยากรณ์จากสำนักแห่งสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทั้งหลาย ว่าจักได้ตรัสเป็นพระพุทธเจ้าพระองค์หนึ่ง ในกาลอนาคตแน่นอน ซึ่งนั่นก็หมายความว่า พระองค์ใดทรงเป็น นิยตโพธิสัตว์ คือ เป็นพระโพธิสัตว์ผู้เที่ยงแท้แน่นอนต่อการได้พระปรมาภิเษกสัมโพธิญาณ ในตอนนี้เองแม้ว่าพระองค์ใกล้จะได้สำเร็จพระโพธิญาณ เพราะได้ผ่านการสร้างพระบารมีมานาน ๒ ตอนต้น รวมกันถึง ๑๖ อสงไขยก็ดี ถึงกระนั้นพระองค์ก็ยังต้องทรงสร้างพระบารมีในตอนปลายนี้อีก เป็นเวลานานถึง ๔ อสงไขย กับเศษอีกหนึ่งแสนมหากัป

ก่อนอื่นขอแจ้งให้ทราบว่า ในการกล่าวถึงการสร้างพระบารมีตอนปลายนี้ ตั้งใจว่าจะพรรณนาให้มากกว่าตอนอื่น เพราะเป็นตอนสำคัญที่เราท่านควรสนใจ เมื่อได้ปรับความเข้าใจกันเป็นอันดีเช่นนี้แล้ว ก็จะได้เริ่มเข้าเรื่องเสียที

ที่ว่า สมเด็จพระศรีศากยมุนีโคดมบรมครูเจ้าของเราทั้งหลาย ได้ทรงพระอุตสาหะสร้างพระบารมีในตอนปลายนี้ เป็นเวลานานถึง ๔ อสงไขย กับอีกหนึ่งแสนมหากัปนั้น พึงทราบตามลำดับของพระชาติที่พระองค์ทรงมีโอกาสพบสมเด็จพระพุทธเจ้าและได้ รับลัทธยาเทศพยากรณ์จากสำนักสมเด็จพระพุทธเจ้าทั้งหลาย ที่พระองค์พบในพระชาตินั้นๆ ดังต่อไปนี้

๑. สมเด็จพระทีปังกรอุบัติ

บรรดาเวลา ๔ อสงไขยกับหนึ่งแสนมหากัปนั้น ในอสงไขยที่หนึ่งคนแรกทีเดียว ปรากฎว่ามีสารมัณฑกัปหนึ่งบังเกิดขึ้น ก็คำว่า สารมัณฑกัปนี้ ท่านผู้มีปัญญาทั้งหลายก็คงจะจำได้ว่า เป็นกัปที่มีสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จมาอุบัติตรัสในโลก ๔ พระองค์ใช่ไหมเล่า เพราะได้เคยกล่าวไว้แล้วในตอนว่าด้วยเรื่องอสุญกัปโน่นแล้ว ก็ในสารมัณฑกัปที่เรากำลังพูดถึงกันอยู่นี่ ก็มีสมเด็จพระพุทธเจ้าเสด็จมาอุบัติตรัสในโลก ๔ พระองค์ คือ
๑. สมเด็จพระมิ่งมงกุฎตัณหังกรพุทธเจ้า
๒. สมเด็จพระมิ่งมงกุฏเมธังกรพุทธเจ้า
๓. สมเด็จพระมิ่งมงกุฎสรณังกรพุทธเจ้า
๔. สมเด็จพระมิ่งมงกุฎทีปังกรพุทธเจ้า
ก็ในระยะกาล ที่สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ๓ พระองค์แรก คือพระตัณหังกรพุทธเจ้าและพระเมธังกรพุทธเจ้า และพระสรณังกรพุทธเจ้า เสด็จมาอุบัติตรัสในโลกและประกาศพระศาสนาอยู่นั้น พระโพธิสัตว์เจ้าของเรา ก็ได้เกิดในโลกนี้ ด้ประสบพบปะและสร้างพระบารมีในสำนักของพระพุทธเจ้าเหล่านั้นทุกๆ พระองค์มา แต่เพราะวาสนาบารมียังไม่เต็มที่บริบูรณ์ดี จึงยังไม่ได้รับลัทธาเทศพยากรณ์จากพระโอษฐ์ของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทั้งสามพระองค์นั้นเลย ฉะนั้นตอนนี้จึงไม่ค่อยสำคัญเท่าใดนัก มาถึงตอนสำคัญเอาเมื่อถึงศาสนาของสมเด็จพระพุทธเจ้าพระองค์สุดท้ายในสารมัณ ฑกัปนั้น คือศาสนาของสมเด็จพระสรรเพชญทีปังกรพุทธเจ้า จึงจะเกิดเหตุสำคัญ ซึ่งจะได้พรรณนาดังต่อไปนี้

จะกล่าวกลับจับความ จำเดิมตั้งแต่ศาสนาของสมเด็จพระมิ่งมงกุฎสรณังกรพุทธเจ้า ค่อยเสื่อมสลายสูญสิ้นไปหมดแล้ว โลกก็ว่างจากศาสนาอยู่ชั่วระยะกาลนานช้า ต่อมาจึงได้มีสมเด็จพระพุทธเจ้าเสด็จมาอุบัติตรัสขึ้นอีกพระองค์หนึ่ง สมเด็จพระพุทธเจ้าพระองค์นี้ทรงพระนามว่า สมเด็จพระมิ่งมงกุฎทีปังกรสัมมาสัมพุทธเจ้า เมื่อพระองค์ทรงอุบัติขึ้นแล้ว ก็ทรงประกาศพระพุทธศาสนา ยังศาสนธรรมให้แผ่กว้างออกไปเหล่าสัตว์ทั้งหลายในสมัยนั้น ครั้นได้รับรสพระธรรมเทศนา ต่างก็ได้บรรลุมรรคผลตามสมควรแก่อุปนิสัยของตนเป็นอันมากแล้ว
หัวข้อ: Re: มุนีนารถทีปนี การตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า โดย พระพรหมโมลี วิลาศ ญาณวโร
เริ่มหัวข้อโดย: Wisdom ที่ กุมภาพันธ์ 21, 2012, 12:11:38 PM
กาลครั้งนั้น ยังมีพราหมณ์มาณพหนุ่มผู้หนึ่งปรากฏนามว่า สุเมธพราหมณ์ มีทรัพย์มหาศาลนับได้มากมายหลายโกฏิทีเดียว นอกจากนั้นยังเป็นผู้เชี่ยวชาญในเชิงมนต์ เฟื่องฟุ้งรู้แจ้งในไตรเพทางคศาสตร์ฉลาดในศิลป์สิ้นทุกประการ วันหนึ่งสุเมธพราหมณ์ผู้หนุ่มนั้น นั่งอยู่ภายในห้องระโหฐานเป็นที่สงัดแล้วรำพึงขึ้นด้วยจินตามยปัญญาว่า
"ขึ้น ชื่อว่า การก่อภพกำเนิดเกิดเป็นรูปกายขึ้นใหม่นี้ ย่อมมีกองทุกข์ท่วมท้นหฤทัยเที่ยงแท้ อนึ่ง แม้เมื่อชนม์ชีพแตกพรากจากกายทำลายร่างสรีรพยพนั้นเล่า ก็เป็นทุกข์ถึงที่สุดใหญ่ยิ่งกว่าทุกข์ทั้งปวง การก่อภพชาติใหม่นี้เป็นทุกข์ใหญ่หลวง เพราะก่อชาติกำเนิด ชาติก่อให้เกิดชรา ชราก่อให้เกิดพยาธิมรณะ เมื่อชาติชรา พยาธิ มรณะ มีขึ้นมาได้แล้ว ความไม่เกิด ไม่แก่ ไม่เจ็บไข้ ไม่ตายก็คงจะมีเป็นแม่นนั่น อย่ากระนั้นเลย ควรที่เราจะประสงค์เจาะจงแสวงหาความดับชาติ ชรา พยาธิ มรณะนั้นให้จงได้ อนึ่ง ตัวเราคงต้องตายต้องทอดทิ้งซึ่งร่างกายอันเน่าเปื่อยปฏิกูลนี้ แล้วไปเกิดใหม่ให้ได้ทุกข์อีกอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ไฉนจึงยังหนักหน่วงห่วงใยในร่างกายเครื่องปฏิกูลนี้อยู่เล่า ควรที่เราจะพึงหาทางออกไป ไม่เกิดเสียจะดีกว่า ก็แต่ว่าหนทางนั้นเห็นทีจะพึงพบได้โดยยาก จำเราจะพึ่งความพยายามให้จงมาก อุตสาหะเสาะแสวงหาหนทางนั้นให้พบจงได้ อนึ่งความทุกข์ภัยพยาธิมีแล้วฉันใด ความสุขก็คงมีเช่นเดียวกัน อีกประการหนึ่ง เมื่อภวะกำเนิดคือความก่อเกิดมีแล้วฉันใด วิภวะคือความไม่ก่อกำเนิดเป็นร่างกาย ก็คงจะมีเช่นเดียวกัน อีกประการหนึ่ง เมื่อความร้อนคือเตโชธาตุไฟมีอยู่แล้ว ความเย็นคืออาโปธาตุ ก็มีไว้สำหรับความร้อนแก้กันฉันใด ก็เมื่อไฟคือความเกิด แก่ เจ็บ ตาย บังเกิดมีแล้ว สิ่งที่พึงระงับดับอัคคีเหล่านั้น ก็คงมีเป็นแม่นมั่น อีกประการหนึ่ง เหมือนการบาปมีแล้ว ย่อมมีการบุญแก้ ความเกิดมีแน่ ความไม่เกิดเที่ยงแท้ที่สัตว์พึงปรารถนา ก็คงจักมีเป็นแม่นมั่น
อีก ประการหนึ่ง เปรียบเหมือนบุรุษผู้ทรงพลัง แต่มีตัวแปดเปื้อนคูถอุจจาระเน่าเหม็นร้ายกาจนักหนา เมื่อมาเห็นสาระอันเต็มเปี่ยมด้วยน้ำใสสะอาด ควรหรือที่เขาจะไม่กระวีกระวาดล้างเนื้อล้างตัวเสียให้หมดมลทิน ก็ตัวเรานี้ ในเมื่อมลทินคือกิเลสที่ควรล้างกำลังแปดเปื้อนฉันใด ตัวเรานี่เล่า ก็มีร่างกาย อันเปรียบประหนึ่งหมู่มหาโจรใจฉกาจสามารถที่จะปล้นผลาญจิตใจ ให้ขาดจากกุศลธรรมทั้งปวง จำเราจะตัดห่วงเสน่หาในกายทอดทิ้งเสียอย่าให้มีอาลัย เหมือนหนึ่งบุรุษที่ถูกโจรชิงทรัพย์ไปฉันนั้นเถิด
สุเมธ มาณพผู้มีปรีชา ครั้นคิดอุปมาทบทวนย้อนหน้าย้อนหลังวิจิตรพิศดารมากมายดังนี้แล้ว ในที่สุด ก็ตัดสินใจให้เปิดคลังสมบัติของตนมากมายหลายโกฏิบริจาคให้เป็นทานแจกจ่าย ยาจกวณิพกพวกอนาถาหาที่พึ่งมิได้จนหมดลิ้นแล้ว ก็ออกไปสู่ประเทศเขตป่าใหญ่ ณ ที่ใกล้เชิงเขาธรรมิกบรรพตจัดแจงสร้างบรรณศาลาอาศรมบทเป็นที่อาศัยเสร็จแล้ว ก็เปลื้องผ้าสาฎกเนื้อดีที่ตนครอง นุ่งผ้าเปลือกป่านและคากรองบวชเป็นดาบสสร้างพรตพรหมจรรย์ ไม่กี่วันต่อมา ก็ละทิ้งเสียซึ่งบรรณศาลาที่อยู่ เพราะรู้ว่ายังทำให้เกิดห่วงใย เข้าป่าลึกเข้าไปอีก อาศัยสถานร่มไม้รุกขมูลเป็นที่อยู่ เลือกดูผลไม้ที่หล่นลงมาเอาเป็นประมาณ รับประทานเป็นอาหารพอแต่ว่าเป็นปาปนมัติเครื่องเลี้ยงชีพเท่านั้น มีจิตมุ่งมั่นปฏิบัติโดยทางกสิณานุโยคพยายามอยู่ในอรัญญสถานไม่นานก็ได้ บรรลุอภิญญาสมาบัติ

ครั้นเมื่อสุเมธดาบสผู้ยิ่งด้วยพรตพรหมจรรย์ ท่านได้สำเร็จอภิญญาณานสมาบัติบริบูรณ์ดี มีวสีภาพเชี่ยวชาญชำนาญแล้ว ก็เพลิดเพลินเจริญฌานเป็นสุขอยู่ หารู้ไม่เลยว่า บัดนี้ สมเด็จพระชินสีห์ทีปังกรสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้ มาตรัสเป็นพระบรมโลกนายกแล้ว ความจริงนั้นควรจะรู้ หากไม่เพลิดเพลินเจริญฌานอยู่ เพราะธรรมดาวิสัยของผู้ได้อภิญญาสมาบัติย่อมรู้เห็นซึ่งนิมิตในกาลทั้ง ๔ ก่อน คือกาลเมื่อผู้ที่จะเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จมาปฏิสนธิ ๑ กาลเมื่อพระองค์ประสูติจากพระครรภ์ ๑ กาลเมื่อได้ตรัสรู้พระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ ๑ กาลเมื่อทรงประทานพระธรรมจักรเทศนา ๑ ซึ่งสุเมธดาบสฌานมีอยู่แล้ว จะไม่แสวงหาสระน้ำที่มีอมตธรรมเป็นอทกวารี แล้วล้างเสียซึ่งมลทินคือกิเลสนั้นหรือไฉน

อีกประการหนึ่ง เปรียบเหมือนโยธีนายทหารผู้ชายฉลาดที่ถูกข้าศึกศัตรู หมู่ปรปักษ์ปัจจามิตรมาล้อมไว้ เมื่อหนทางที่พอจะประลาดหลีกลี้หนีไปได้ยังมีอยู่ ควรหรือที่จะหลงมุมานะสู้จนเสียชีวิตไม่คิดหนี ก็ตัวเรานี้เมื่อข้าศึกคือกิเลสมีอำนาจร้อนรุมหุ้มห้อมล้อมไว้อยู่ และหนทางเป็นที่เกษมเปรมใจคือพระนิพพาน อันเป็นที่หลีกหนีจากกิเลสมีอยู่ เมื่อเป็นเช่นนี้จักไม่คิดหลีกหนีไปหรือไฉน

อีกประการหนึ่ง เปรียบเหมือนบุรุษผู้มีโรคาพยาธิบีฑาอยู่ เพื่อได้พบแพทย์ผู้วิเศษแล้ว ควรหรือที่บุรุษนั้นจะไม่คิดอ่านเยียวยารักษาพยาธิแห่งตนให้หาย ก็ตัวเรานี้ เมื่อโรคพยาธิคือกิเลสมาย่ำยีบีฑาเบียดเบียนอยู่ จะไม่เสาะแสวงหาแพทย์ทิพยาจารย์ให้พยาบาลขจัดเสียซึ่งโรคาพยาธิคือ กิเลสหรือไฉน

อีกประการหนึ่ง เปรียบเหมือนชายผู้มีน้ำใจรักความสะอาด ซึ่งมีซากศพอันแรงร้ายกาจด้วยกลิ่นเหม็นปฏิกูลน่าเกลียดยิ่ง มาผูกพันกระสันติดอยู่กับคอตน ควรหรือที่ชายคนนั้นจะสู้ทนกลิ่นเหม็นได้ เขาย่อมจะร้อนรนขวนขวายปลดเปลื้องซากศพนั้นให้พ้นจากคอตนเสียโดยเร็วฉันใด ตัวเรานี้เล่าจะเอื้อเฟื้ออาลัยอาวรณ์อะไร ในร่างกายอันเน่าเปื่อยปฏิกูลมากมูลอยู่ด้วยซากสางต่างๆ จงรีบหาทางปลดเปลื้องทอดทิ้งเสีย อย่าให้เป็นห่วงใยเฝ้าอาลัยเหลียวแลอยู่ เหมือนบุรุษผู้มีซากศพติดคอนั่นเถิด

อีกประการหนึ่ง เปรียบเหมือนบุรุษถูกหมู่โจรร้ายใจฉกาจมันอาจหาญพากันมาปล้นกลุ้มรุมชิงฉวย เอาห่อทรัพย์ได้แล้ว แลเห็นว่าตัวจักไม่สามารถเพื่อจะหักชิงเอาห่อทรัพย์กลับคืนมาได้ เขาย่อมสิ้นอาลัยในทรัพย์ไม่เสียดาย หมายแต่จะเอาชีวิตรอดรีบวิ่งหนีไปโดยเร็ว ข้อนี้มิได้รู้ในกาลสำคัญที่กล่าวมานี้ ก็เพราะความที่ตนเพลิดเพลินเจริญฌานเป็นการหนักอยู่ จึงมิได้เห็นมิได้รู้ด้วยมิได้ใฝ่ใจดูซึ่งเหตุอื่นเลย ต่อเมื่อหมู่มหาชนเป็นอันมาก อาราธนาสมเด็จพระทีปังกรตถาคตเจ้ามาแต่ปัจจันตประเทศ จึงเกิดเหตุมหาโกลาหลเป็นการใหญ่ เพราะว่าประชาชนทั้งหลายมีความชื่นชมโสมนัสต่างพากันจัดแจงตกแต่งหนทาง แผ้วถางเกลี่ยมูลพูนถมระดมกันกระทำทางเป็นที่เสด็จพระพุทธดำเนินอยู่

ในขณะนั้น สุเมธดาบสผู้มีตบะอันสูง เพราะบรรลุฝั่งแห่งอภิญญา เที่ยวจาริกมาทางอากาศกลางเวหา มองลงมาเห็นประชาชนประชุมอยู่เป็นหมู่มาก ดูหลากประหลาดด้วยล้วนรื่นเริงบันเทิงจิตน่าพิศวง สุเมธดาบสจึงลงจากคัคฆณัมพรห้วงเวหาหาว แล้วมีพจนประภาษถามข่าวคราวชนมนุษย์หมู่นั้นว่า
"มหาชนชวนชื่นรื่นเริงบันเทิงจิต ชวนกันประกอบกิจแผ้วถางปฐพีโสภโณภาสเพื่อบุคคลผู้ใดจะจรมา?"
มหาชนเหล่านั้นได้ฟังถาม จึงแจ้งความแก่สุเมธฤาษีผู้มีฤทธิ์ว่า
"ข้า แต่ท่านฤาษี! สมเด็จพระทีปังกรสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้อนุตตรโลกนายกยอดบุคคลเสด็จอุบัติขึ้น ในโลกแล้ว กาลบัดนี้ ข้าพเจ้าทั้งหลายมีใจเลื่อมใสในพระองค์เป็นยิ่งนัก จึงชวนกันแผ้วยถางเพื่อให้เป็นทางที่เสด็จพระพุทธดำเนิน ณ สถลมารควิถีเพื่อที่จะได้เสด็จมาแสดงพระธรรมเทศนาโปรดพวกเราชาวเมืองนี้"
สุเมธ ฤาษี แต่พอได้สดับว่าสมเด็จพระพุทธเจ้าบังเกิดแล้วในโลกเท่านั้น ก็พลันเกิดปิติเป็นล้นพ้นสุดประมาณ จึงมาจินตนาการว่า กาลนี้ควรที่เราจะหว่านพืชเพื่อผล ขระนี้เป็นมงคลขณะบังเกิดมี หาควรที่เราจะมาทำละเมินเสียไม่ ครั้นได้คำนึงจินตนาด้วยอำนาจศรัทธากอปรด้วยญาณโสมนัสฉะนี้แล้ว จึงกล่าวกะชนเหล่านั้นว่า
"แม้ท่านทั้ง หลาย แผ้วถางทางถวายพระพุทธเจ้าละก็จงของให้โอกาสแก่เราสักแห่งหนึ่งเถิด เราบังเกิดศรัทธาปรารถนาใคร่จะทำทางถวายพระพุทธเจ้าบ้าง"
คราว นั้น ชนทั้งหลายเห็นว่าฤาษีเป็นผู้มีฤทธิ์เป็นผู้มีฤทธิ์เพราะเหาะมากลางอากาศได้ เช่นนั้น ก็เลยชี้มือไปตรงบริเวณซึ่งถากถางทางยากลำบาก เพราะมีเปือกตมโคลนเลน เป็นบริเวณที่ต้องถมหามูลดินมาเกลี่ยให้เสมอ เป็นส่วนที่ทำยาก แล้วบอกแก่ฤาษีว่า
"ถ้าท่านปรารถนาจะทำทาง ถวายต้ององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ก็จงทำบริเวณที่ตรงนั้นให้สำเร็จด้วยดีเถิด ท่านฤาษี"
สุเมธ ดาบสบรมโพธิสัว์ ครั้นเขายกอนุญ่าตให้ทำที่ตรงนั้นให้สะอาดเรียบร้อย ก็มิรอช้า อุสาหะตั้งหน้าประกอบการมีจิตวารำพึงพระพุทธนามว่า พุทโธ นั้นเป็นเนืองนิตย์ เปลื้องหนังเสือที่รองนั่งออกผูกทำเป็นถุงกะทอห่อหิ้วซึ่งมูลดิน เอามาถมในที่ลาดลุ่มลึกเป็นเลนเหลวอยู่นั้น ยังมิทันที่จะทำได้สำเร็จตลอด เหลืออยู่ยาวประมาณชั่วตัวคน ก็ได้เวลาที่สมเด็จพระทศพลมิ่งมงกุฎพุทธทีปังกรศาสดา เสด็จพาพระขีณาสวสงฆ์มากมายมาใกล้จะถึง

เสียงศัพท์บรรเลงอื้ออึง ด้วยสำเนียงทวยเทพศุภสุรคณานิกรเป็นถ่องแถวแนวสลอนด้วยมหาชนเอนกแน่นหนา ทำปัจจุคมนาการนำเสด็จพระพุทธดำเนินมา บางหมู่ก็ประโคมดุริยดนตรีแตรสังข์กังสดาลห้องกลองก้องสนั่นศัพท์แซ่ซ้อง สาธุการ เอิกเกริกด้วยความโสมนัสทั้งมนุษย์และเทพยดาอินทร์พรหมต่างก็มีกรประณมมิได้ คลายเคลื่อนแลละลานเลื่อนตามเสด็จพระพุทธดำเนินมา ฝูงเทวดาก็ประโคมทิพยดนตรีหมู่มนุษย์ก็ประโคมดีดสีตีเป่าตามภาษามนุษย์ ดำเนินนำตามเสด็จพระพุทธลีลา บางเทพยดาก็โปรยปรายทิพยบุปฝา มีดวงดอกทิพยมณฑารพโกสุมเป็นประธานลอยเลื่อนเกลื่อนทั่วทั้งทิศานุทิศ ณ เบื้องบนนภากาศ หมู่มนุษยชาติก็ยกขึ้นซึ่งเครื่องสักการะบูชาล้วนเครื่องหอม แห่ห้อมล้อมจรลีตามเสด็จพระพุทธดำเนินมา

กาลครั้งนั้น สุเมธดาบสก็มีจิตเบิกบานอธิษฐานอุทิศชีวิตถวายแด่พระพุทธองค์ จึงปลดเปลื้องชำาสยายเกษาลง ลาดปูผ้าเปลือกไม้กับหน้งเสือรอนั่งบนเปือกตมนั้นแล้ว ก็ทอดกายนอนคว่ำหน้าลงต่อถนนที่ขาดลาดลุ่มเป็นเลนเหลว ที่ตนทำยังไม่ทันเสร็จนั้น พลันตั้งใจคำนึงนึกว่า
"ขอ อาราธนาพระพุทธองค์ จงทรงพระมหากรุณาพาพระขีณาสวสงฆ์ทั้งหลายเสด็จทรงย่างพระบาทดำเนินไปบนกาย แห่งข้าพระบาทนี้เถิด จักได้เกิดเป็นหิตานุหิประโยชน์แก่ข้าพระบาท พระองค์อย่าได้ย่างพระบาทหลักลงเลียบลุยเลนเหลวนี้เลย"
แล้วก็หมอบคว่ำหน้านิ่งเฉย เพื่อรอให้สมเด็จพระทีปังกรพุทธเจ้าพาพระอริยสงฆ์ทรงเหยียบกายของตน ซึ่งทอดเป็นสะพานอยู่อย่างนั้น

มีกรณีที่เราท่านทั้งหลาย ควรจะทราบไว้ในตอนนี้ ก็คือว่า ในขณะนี้หากสุเมธฤาษีจะปรารถนาหน่วงเอาอมตธรรมกำจัดกิเลสเสียให้ขาดจาก สันดานแล้ว ก็จักได้สำเร็จอย่างแน่นอน เพราะอุปนิสสัยแห่งพระอรหังรุ่งเรืองเต็มอยู่ในสันดานแล้ว เพียงแต่ได้สดับพระสัทธรรมเทศนากึ่งบาทพระคาถาก็จักได้บรรลุอรหัตผล สำเร็จเป็นพระอรหันตอริยบุคคลทันที แต่สุเมธมหาฤาษีเคยสร้างพระบารมีมาเพื่อปรมาภิเษก สัมโพธิญาณปรารถนาการได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้ามานานนักหนา จึงในขณะนี้ท่านมหาฤาษีก็คิดไปว่า
"จะ มีประโยชน์ใหญ่หลวงอย่างไร หากเราจะได้อมตธรรมแต่เพียงตน จะมีประโยชน์ใหญ่หลวงอย่างไร ด้วยการได้ข้ามโอฆสงสารแต่ผู้เดียว แต่เมื่อใด เราได้ถึงความเป็นพระสัพพัญญูผู้ข้ามโลกแล้ว เมื่อนั้นเราจักยังสัตว์ทั้งหลายทั้งมนุษยโลกและเทวโลกให้ข้ามได้ด้วย จักให้ชึ้นสถิตสำเภอธรรม ขนส่งให้ลุล่วงข้ามถึงฝั่งแห่งพระนฤพานให้จงได้"
จินตนาคิดไปเสียเช่นนี้ จึงมิปรารถนาเป็นสาวกสำเร็จเป็นพระอรหันต์ในกาลครั้งนี้

คราวนั้น สมเด็จพระภควันต์ทีปังกรสัมมาสัมพุทธเจ้าเมื่อเสด็จมาถึง จึงเสด็จสถิตอยู่ ณ เบื้องเศียรเกล้าแห่งสุเมธฤาษีนั้น ครั้นทรงพิจารณาดูด้วยพระสัพพัญญุตญาณแล้ว ก็พลันมีพระพุทธฎีกา ตรัสแก่ชาวประชาพุทธบริษัททั้งหลายในที่นั้นว่า
"ถ้า ท่านทั้งหลาย แคล้วคลาดจากอมตธรรมไม่ได้บรรลุมรรคผลธรรมวิเศษในศาสนาของเรานี้แล้ว และยังต้องท่องเที่ยวอยู่ในภพสงสาร นานไปในอนาคตกาลเบื้องหน้า ก็จงปรารถนาให้ได้บรรลุในศาสนาของดาบสนี้เถิด ต่อไป ดาบสผู้นี้จักได้อุบัติตรัสเป็นพระพุทธเจ้าองค์หนึ่งในโลกทรงนามว่า สมเด็จพระศรีศากยมุนีโคดม ในระยะเวลาอีก ๔ อสงไขยกับหนึ่งแสนมหากัป นักตั้งแต่กัปนี้เป็นต้นไป ในกรณีย่อมเปรียบเหมือนบุรุษที่ว่ายข้ามมหานทีถึงจะคลาดเคลื่อนจากท่าเหนือ นี้ข้ามขึ้นไม่ได้แล้วไซร้ ก็คงจะข้ามขึ้นจากท้องนทีได้ ณ ท่าน้ำต่ำลงไปอีกเป็นแน่แท้ ฉันใด เมื่อท่านทั้งหลายแม้คลาดจากศาสนาของเรานี้แล้ว หากมีวาสนาก็คงจะได้สำเร็จในศาสนาของพระพุทธังกูรเจ้าดาบสนี้ ในอนาคตกาลฉะนั้น"
เมื่อองค์พระภควันต์ที ปังกรพุทธเจ้าตรัสพยากรณ์ฉะนี้ ก็ทรงสงเคราะห์ยกทักขิณบาทเบื้องขวาขึ้นจรดกายสุเมธดาบสนั้นก่อน แล้วก็เสด็จบทจรพาพระขีณาสวสงฆ์เหยียบกายสะพานนั้นไป ฝ่ายเทพนิกร นาค ครุฑ คนธรรพ์เมื่อได้สดับพระพุทธฎีกาดังนั้น ต่างก็น้อมหัตถ์นมัสการพระพุทธังกูรสุเมธดาบสเจ้า แล้วก็เลยหลีกจรดลโดยเสด็จพระพุทธดำเนินต่อไป ครั้นล่วงทัศนวิสัยสมเด็จพระพุทธองค์สงฆ์บริษัทแล้ว สุเมธดาบสมหาบุรุษก็อุฏฐาการลุกขึ้นจากนั้น หากแต่ยังมีมนัสเต็มไปด้วยความสุขสันต์ปรีดาปราโมทย์ จึงมิได้เคลื่อนกายไปไหน กลับทำบัลลังก์นั่งสมาธิคำนึงด้วยปิติว่า
"เรา มีฌานชำนาญเป็นอันดี หมู่ฤาษีทั้งหลายในหมื่นโลกธาตุจะได้มีอิทธิวชิรธรรม สามารถเสมอด้วยเรานั้นหามิได้ เพราะเราได้อาศัยสมบัติธรรมมากอยู่ในสันดาน จึงได้เสวยความสุขสิ้นกายวิการเห็นปานนี้"

กาล เมื่อสุเมธฤาษีนั่งบัลลังก์สมาธิอยู่นั้น บรรดาเทพเจ้าทุกราศีสถานในโลกจักรวาล ต่างก็มาประสานศัพท์นฤนาทก้องแซ่ซ้องสาธุการถวายพรว่า
"ท่าน จักได้ตรัสเป็นสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นเที่ยงแท้ มิได้แปรปรวนวิปริต ขอองค์ท่านจงสถิตถือมั่นผูกพันความพยายามไว้อย่าทำให้ความเพียรมั่นนั้นกลับ ถอยน้อยลงไป จงทำวิริยะบารมีให้ยิ่งใหญ่ เพื่อได้พระปรมาภิเษกสัมโพธิญาณต่อไปเถิด"
สุเมธ ดาบสบรมโพธิสัตว์ผู้ยิ่งใหญ่ เมื่อได้สดับพระพุทธพยากรณ์ทำนายและเทพเจ้าทั้งหลายถวายพรดังนั้น ก็ยิ่งมีกมลมั่นคำนึงพินิจฉันในพระพุทธพยากรณ์นี้ว่า
"อัน ธรรมดาพระพุทธพากยกถาขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทั้งหลายนี้ย่อมเป็น สุภาษิต จะได้วิปริตผิดพจนะกระแสแปรไปเป็นสองหรือเปล่าสูญเสียมิเป็นจริงนั้น ย่อมเป็นไปมิได้ พระองค์ดำรัสอรรถคดีสิ่งใด สิ่งนั้นย่อมมีเป็นแน่แท้สมกระแสพระพุทธบรรหารพระโพธิญาณของเราเห็นจะไม่สูญคงจะสำเร็จสมประสงค์เป็นมั่นคง เราคงได้ตรัสเป็นพระสัพพัญญูพุทธเจ้าเที่ยงแท้แน่นอน"
ครั้น คิดพินิจฉัยดังนี้แล้ว สุเมธมหาฤาษีจึงพิจารณาพระทศบารมีธรรมทั้งสิบสืบไป ด้วยอำนาจอภิญญาสสมาบัติอันตนชำนาญด้วยดีเป็นวสีภาพ จึงได้ทราบว่าโพธิปริปาจนธรรมสำหรับบ่มพุทธภูมินั้น ตนได้สั่งสมมามากมายชั่วระยะเวลานานนักหนาแล้ว ก็แลด้วยเดชะมหานุภาพที่พระดาบสนั่งพิจารณาบารมี ที่เคยสร้างไว้มากมายนับไม่ถ้วนอยู่ในขณะนั้น พอจบลงก็พลันบันดาลเกิดโกลาหล ทั่วพิภพจบสกลพสุธาดลพื้นปฐพี ก็มีอันก้องกึกพิลึกสนั่นหวั่นไหว ประหนึ่งว่าจะแหลกทลายลงก็ปานนั้น

ครานั้น มหาชนต่างก็ล้มสยบหวาดเสียวอยู่มิได้ล่วงรู้ดีประการใด พากันตกใจกลัวแต่เหตุการณ์ข้าที่ร้ายนั่นแหละเป็นกำลัง จึงรีบพากันเข้าไปเฝ้าสมเด็จพระทีปังกรสัมพุทธเจ้าแล้วกราบทูลถามว่า

"ข้า แต่พระองค์ผู้ทรงพระคุณอันประเสริฐ! มหาโกลาหลนี้ จักเป็นด้วยมหาศักดานุภาพของทวยเทพอินทร์ พรหม ยมยักษ์ ฤาษีสิทธิศักดิ์ อสูร มานพ นาค ครุฑ ตนใด ข้าพระบาททั้งหลายจักได้ทราบนั้นหามิได้ จักเป็นมหาวินาสภัยมาบีฑาโลกธาตุ หรือจักเป็นด้วยอำนาจอุปัทวะการบาปกรรมสิ่งใดประดามี หือว่าจะมีสวัสดีมงคลเป็นประการใด ขอพระองค์จงทรงแสดงเหตุให้ทราบเกล้วแก่เหล่าข้าพระบาททั้งปวงด้วยเถิด พระเจ้าข้า"

หัวข้อ: Re: มุนีนารถทีปนี การตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า โดย พระพรหมโมลี วิลาศ ญาณวโร
เริ่มหัวข้อโดย: Wisdom ที่ กุมภาพันธ์ 21, 2012, 12:12:21 PM
สมเด็จพระทีปังกรสัมพุทธเจ้า จึงทรงมีพระพุทธฎีกาสำแดงเหตุมหาโกลาหลแก่มหาชนเหล่านั้นว่า

"ท่าน ทั้งหลาย อย่ามีความสะดุ้งหวาดเสียวต่อภัยสิ่งใดเลย เหตุที่เมทนีคือแผ่นดินเกิดกึกก้องโกลาหลกำเริบเช่นนี้ ก็เพราะเราตถาคตได้พยากรณ์สุเมธฤาษีว่า เธอจะได้ตรัสเป็นพระพุทธเจ้าพระองค์หนึ่ง ในอนาคตกาล บัดนี้ สุเมธดาบสนั้นพินิจฉัยคำนึงในบารมีธรรมของตน ด้วยเหตุนั้น มหาโกลาหลจึงบังเกิดขึ้น ด้วยเดชะอำนาจคุณบารมีของพระโพธิสัตว์นั้นเป็นเหตุ"

หมู่มหาชน ครั้นได้สดับพระพุทธฎีกาดังนั้น ต่างก็มีกมลโสมนัสปสันการในพระสุเมธโพธิสัตว์ จึงพากันรีบจัดประทีปธูปเทียนบุปผาสุมาลัย ออกไปประชุมกันกระทำสักการบูชา ต่างกันก็มีมุรอัตถวาทีถวายพรด้วยคำมงคลเป็นต้นว่า

"ขอให้ท่านดาบส ได้ตรัสเป็นพระพุทธเจ้าในอนาคตกาลเบื้องหน้า สมจริงเถิด"

แม้ทวยเทพในสกลสถานทั่วหมื่นโลกธาตุ ก็พากันมาประชุมสักการะบูชา ด้วยทิพยสุคนธมาลัยงามเลิศต่างๆ โปรยปรายลงมาราวกะห่าฝน ที่พื้นปฐพีดลดารดาษทั่วทิศ บันลือศัพท์สาธุการเพรียกพร้องร้องถวายเทพพรมงคลว่า

"ข้า แต่พระสุเมธดาบสผู้เจริญ! วันนี้ท่านมาทำปณิธานอันยิ่งใหญ่ ได้แล้วซึ่งคำพยากรณ์จากสำนักแห่งสมเด็จพระทีปังกรทศพลญาณ ขอความปรารถนาของท่าน จงสำเร็จสมประสงค์ ขอท่านจงได้ตรัสเป็นองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า สำเร็จพระปรมาภิเษกสัมโพธิญาณ เหมือนเช่นพรรณพฤกษชาติ ย่อมทรงช่อต่อผลอุบัติโดยฤดูกาล อนึ่ง สมเด็จพระบรมศาสดาจารย์พระองค์ที่ล่วงแล้วๆ ล้วนแต่ได้ทรงบำเพ็ญพระบารมีถึงที่สุด ก็ได้ตรัสรู้พระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณสถิตเหนือ อปราชิตบัลลังก์และได้ทรงแสดงพระธรรมจักรเทศนา อันเป็นพระพุทธประเพณีสืบมาฉันใด ขอท่านดาบสจงบำเพ็ญบารมีให้ถึงที่สุด แล้วสถิตเหนืออปราชิตบัลลังก์แสดงธรรมจักรเทศนา เหมือนกับสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเหล่านั้นเถิด อนึ่ง นทีแม่น้ำน้อยใหญ่ใดๆ ย่อมมีกระแสชลอันไหลหลั่งมาสู่มหาสมุทรทั้งหมดนี้ฉันใด ขอท่านจงได้ตรัสรู้พระอนุตรสัมมาสมโพธิญาณ เป็นองค์สมเด็จพระบรมโลกุตมาจารย์จอมโลก เป็นที่ไหลหลั่งมาแห่งสรรพสัตว์ทั่วโลกธาตุประชุมเป็นสโมสรสันนิบาตกัน ณ สำนักแห่งพระองค์ ดังมหาสมุทรใหญ่เป็นที่รวมแห่งกระแสชล ฉะนั้น"

เมื่อสุเมธฤาษีผู้มีฤทธิ์ใหญ่ ได้เห็นหมู่เทพยดาและมนุษยนิกรมาสโมสรประชุมกันกระทำสักการะบูชา และอำนวยศุภพรด้วยประการเป็นอันมากเช่นนี้ ก็มีความปรีดาว่า กาลยังอีก ๔ อสงไขยกับเศษอีกแสนมหากัปเท่านั้น เราก็จะได้ตรัสเป็นพระพุทธเจ้าอย่างเที่ยงแท้ เมื่อแน่แก่ใจตนเช่นนั้น ก็มีความอิ่มใจยิ่งนัก จึงอธิษฐานมั่นด้วยวิริยะบารมีหน่วงเอาพระพุทธานุสสติเป็นอารมณ์ น้อมกายบ่ายพักตร์นมัสการเฉพาะทิศ ซึ่งเป็นที่สถิตอยู่แห่งองค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคพุทธทีปังกรแล้ว ก็เหาะไปสู่ประเทศป่าใหญ่อันเป็นที่อยู่ของตนโดยนภากาศอยู่เจริญอภิญญา สมาบัติมิให้เสื่อม สิ้นชนมายุแล้วก็ไปอุบัติเกิดในพรหมโลก ด้วยประการฉะนี้.

สมเด็จพระโกณฑัญญะอุบัติ

เมื่อ สมเด็จพระทีปังกรสัมมาสัมพุทธเจ้า เสด็จดับขันธ์ปรินิพพานล่วงไปแล้ว ศาสนาของพระองค์ก็ยังเจริญถาวรอยู่ในโลกนี้สืบต่อมาอีกหนึ่งแสนปี เมื่อครบกำหนดหนึ่งแสนปีแล้ว ศาสนาของพระองค์ก็สิ้นอายุลง เพราะว่า พระอริยสงฆ์สาวกผู้ได้ดื่มอมตธรรมวิเศษสำเร็จเป็นพระอรหันต์ ต่างก็ดับขันธ์นิพพานไปหมดสิ้น ทั้งเหล่าพุทธศาสนิกชนคนนับถือพระพุทธศาสนาต่างก็ทำกาลกิริยาตายไปๆ ศาสนธรรมก็เสื่อมถอยน้อยลงจนหาผู้ทรงจำคำสอนขององค์สมเด็จพระบรมศาสดามิได้ ด้วยอำนาจแห่งโลภะ โทสะ โมหะ เข้าครอบงำอยู่ในดวงจิตของสัตว์ทั้งหลายนักหนา ปวงประชาจึงไม่สนใจใยดีในพระสัทธธรรม มิหนำซ้ำ พากันประพฤติย่ำยี บรรพชิตนักบวชก็เป็นอลัชชีหลงใหลในอามิสสักการะ ไม่นำพาที่จะทรงไว้ซึ่งศาสนาธรรมคำสอนของพระองค์ด้วยการประพฤติปฏิบัติชอบใน พระธรรมวินัย จะป่วยการกล่าวไปใย ถึงฝ่ายคฤหัสถ์ชาวบ้านที่ยังครองเรือน เมื่อเจ้ากูทั้งหลายไม่สนใจทรงจำคำสอนในพระพุทธศาสนาแล้ว ก็จักทรงศาสนาไว้ได้อย่างไร เมื่อเป็นเช่นนี้ ศาสนาขององค์พระชินสีห์ทีปังกรสัมมาสัมพุทธเจ้าก็เสื่อมสูญลงสิ้น จะได้ยินแม้แต่เพียงบทว่า นโม ตสฺส ดังนี้ จากปากของผู้ใดผู้หนึ่งย่อมไม่มี จึงนับได้ว่า บัดนี้ศาสนาของพระองค์ได้สิ้นสุดลงแล้ว

กาล เวลาค่อยล่วงลงไปเรื่อยๆ นานนักหนา เป็นเวลาถึงอสงไขยหนึ่ง ซึ่งเรียกว่าเป็นสุญกัป เพราะไม่มีสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระปัจเจกพุทธเจ้า และสมเด็จพระเจ้าบรมจักรพรรดิเสด็จมาอุบัติในโลกเรานี้เลย ครั้นต่อมาจึงมีสารกัปบังเกิดขึ้น คำว่า สารกัป นี้ ท่านทั้งหลายยังพอจำได้หรือไม่ว่า หมายความว่าอย่างไร? ใช่แน่แล้ว กาลเวลาที่เรียกว่าสารกัปนี้ หมายถึงว่าเป็นกัปที่มีสมเด็จพระพุทธเจ้ามาตรัสในโลกหนึ่งพระองค์ ก็ในสารกัปที่เรากำลังพูดถึงกันอยู่นี้ ก็มีสมเด็จพระพุทธเจ้าเสด็จมาอุบัติตรัสในโลกหนึ่งพระองค์ ทรงพระนามว่า สมเด็จพระมิ่งมงกุฏโกณฑัญญะ สัมมาสัมพุทธเจ้า พระองค์ทรงเป็นพระบรมไตรโลกนายก ทรงพระเดชพระยศหาที่สุดมิได้ ประกาศศาสนธรรมให้เหล่าสัตว์ผู้เลื่อมใสได้ดื่มอมติธรรม นำตนให้พ้นจากภัยในวัฏสงสารเป็นอันมาก

กาลครั้งนั้น พระบรมโพธิสัตว์เจ้าของพวกเราได้อุบัติเกิดเป็นสมเด็จพระเจ้าจักพรรดิราช ทรงพระนามว่า สมเด็จพระเจ้าวิชิตาวี บรมจักรพรรดิ พระองค์ ทรงตั้งอยู่ในจักรพรรดิธรรม มีน้ำพระทัยเต็มเปี่ยมไปด้วยพระเมตตาการุญภาพ ในสรรพสัตว์ทุกถ้วนหน้าทั้งมนุษย์และนก โดยมิได้มีอาชญาและศาสตราเครื่องประหารสัตว์ ทรงบำรุงประชาชนและบำเพ็ญราชกิจในราชสีมามณฑลโดยธรรมสม่ำเสมอเป็นนิตย์

ครั้ง หนึ่ง สมเด็จพระโกณฑัญญะศาสดาจารย์เจ้าทรงมีพระอริยสงฆ์สาวกแวดล้อมเป็นบริวาร เสด็จจาริกไปโดยลำดับจนถึงพระนครของพระเจ้าวิชิตาวีราชบรมจักรพรรดิ พระองค์จึงเสด็จออกไปทรงกระทำการต้อนรับด้วยความเคารพเลื่อมใสแล้ว ได้ทรงบำเพ็ญมหาทานแก่พระภิกษุสงฆ์ ซึ่งมีองค์สมเด็จพระสัพพัญญูพุทธเจ้าเป็นประธาน เป็นเวลานานตลอดไตรมาสมิได้ขาดเลย สมเด็จพระโกณฑัญญะสัพพัญญูเจ้าได้ทรงกระทำพุทธพยากรณ์ไว้ในคราวนั้นว่า
"พระ บรมขัตติยาธิบดีวิชิตาวีจักรพรรดิพระองค์นี้ คือหน่อพระชินสีห์พระโพธิสัตว์ สืบไปเมื่อหน้าในอนาคตกาล พระองค์จะได้ตรัสเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์หนึ่ง ทรงพระนามว่า สมเด็จพระศรีศากยมุนีโคดมบรมครูเจ้าเป็นแม่นมั่น"
สมเด็จ พระโกณฑัญญะสัพพัญญูเจ้า ดำรัสพยากรณ์ทำนายพระบรมโพธิสัตว์โดยนัยนี้แล้ว ก็ทรงแสดงพระสัทธรรมเทศนาสมเด็จพระบรมจักพรรดิราชทรงปสาทะเลื่อมใส จึงทรงสละมไหศูรย์สมบติให้แก่ข้าราชการบริพารผู้ใหญ่คนหนึ่งแล้วก็ทรงบรรพชา ในสำนักพระบรมศาสดาเพื่อบำเพ็ญเนกขัมมบารมีในพระบวรพุทธศาสนา ทรงศึกษาเล่าเรียนในคันถธุระ พระปริยัติธรรมไตรปิฎก และทรงบำเพ็ญสมถกรรมฐาน ในที่สุดก็ได้สำเร็จฌานอภิญญามิได้เสื่อมถอย ครั้นกาลเวลาเคลื่อนคล้อยล่วงไป ถึงคราวที่พระภิกษุวิชิตาวีบรมโพธิสัตว์ ผู้มีพุทธบารมีถึงแก่ชีพิตักษัยแล้ว ก็ไปอุบัติเกิดเป็นพระพรหมในพรหมโลกเสวยพรหมสมบัติเป็นสุขสืบไป

๓. สมเด็จพระสุมังคละอุบัติ


เมื่อ ศาสนาของสมเด็จพระสัพพัญญูโกณฑัญญะพุทธเจ้าเสื่อมสูญไปหมดแล้ว กาลเวลาก็ล่วงมาจนสิ้นสารกัปนั้น และเวลาต่อมาจากนั้นมา โลกก็ว่างจากพระพุทธศาสนา เพราะไม่มีสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า มาประกาศอมตธรรมนำสัตว์ออกจากโอฆสงสารช้านาน ต่อกาลครั้งหนึ่ง จึงมีสารมัณฑกัปบังเกิดขึ้นอีก ก็ในสารมัณฑกัปนี้ ปรากฎมีพระพุทธเจ้าเสด็จมาอุบัติตรัสในโลก ๔ พระองค์ คือ
๑. สมเด็จพระมิ่งมงกุฎสุมังคละสัมมาสัมพุทธเจ้า
๒. สมเด็จพระมิ่งมงกุฎสุมนะสัมมาสัมพุทธเจ้า
๓. สมเด็จพระมิ่งมงกุฎเรวตะสัมมาสัมพุทธเจ้า
๔. สมเด็จพระมิ่งมงกุฎโสภีตะสัมมาสัมพุทธเจ้า

ใน สมัยที่สมเด็จพระพุทธเจ้าองค์แรกในสารมัณฑกัปนี้คือ ขณะที่สมเด็จพระมิ่งมงกุฎสุมังคละสัมมาสัมพุทธเจ้า กำลังทรงประกาศพระศาสนา ยังมหาชนให้ดื่มอมตธรรมคุณพิเศษอยู่นั้น พระโพธิสัตว์เจ้าของพวกเราก็ได้มาอุบัติเกิดถือกำเนิดในตระกูลพรหมณ์มหาศาล มีนามอันเป็นมงคลว่า สุรุจิพราหมณ์

อยู่ มาวันหนึ่ง สุริจิพราหมณ์ได้ออกไปถวายนมัสการและสดับธรรมีกถา ณ สำนักแห่งองค์สมเด็จพระสุมังคละสัมพุทธเจ้าบรมโลกนายกแล้ว จึงกราบทูลอาราธนาว่า
"ข้อแต่ พระองค์ผู้ทรงพระคุณอันประเสริฐ วันพรุ่งนี้ ข้าพระบาทขออาราธนาพระพุทธองค์ พร้อมกับพระภิกษุสงฆ์ทั้งปวงไปรับอาหารบิณฑบาตของพระบาท พระเจ้าข้า"
สมเด็จ พระสุมังคละศาสดาทรงรับอาราธนาแล้ว พราหมณ์ก็ถวายบังคมลามาสู่เรือนและรำพึงว่าพัสดุสิ่งของทั้งหลายที่จะตกแต่ง เป็นยาคูภัตตาหาร กับทั้งผ้าไตรจีวรที่จะถวายแก่พระภิกษุสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาค ที่อาราธนาได้เป็นจำนวนมาก ก็พอจะมีถวายทั่วทุกองค์ได้ ก็แต่ว่าสถานที่ๆ จะแต่งตั้งอาสนะที่นั่งของภิกษุทั้งหลายให้เพียงพอนี่แล รู้สึกว่าจะอัตคัตคับแคบขัดข้องนัก จักทำฉันใดดี? สุรุจิพราหมณ์เธอครุ่นคิดวิตกอยู่อย่างนี้ ก็เพราะว่าพระภิกษุสงฆ์สาวกของพระตถาคตเจ้าในกาลครั้งนั้นมีมากมายนัก นัยว่ามีตั้งแสนกว่ารูปขึ้นไป แต่ด้วยใจเลื่อมใสโอฬารกว้างขวาง เธอจึงนิมนต์อาราธนามาฉันที่เรือนของตนหมดทุกรูปไม่ทันคิด มาคิดได้เอาก็เมื่อกลับถึงบ้านแล้วนั่นเอง

ด้วย เดชะอำนาจอภินิหารทานบารมีของพระโพธิสัตว์เจ้าก็ให้บันดาลร้อนถึงบัณฑุกัมพล สิลาอาสน์สมเด็จพระอินทราธิราชเจ้าจอมไตรตรึงษ์สวรรค์ ท้าวเธอจึงพลันตรวจดูก็ทรงรู้เหตุว่า
"พระ บรมโพธิสัตว์สุรุจิพราหมณ์ เธออาราธนาพระภิกษูสงฆ์กับพระสัพพัญญูเจ้าแล้ว บัดนี้ วิตกด้วยว่าจะตกแต่งปูลาดอาสนะให้พอเพียงแก่พระสงฆ์อันมากมายนักหนา กาลนี้ควรที่เราจะต้องลงไปช่วยสงเคราะห์ในบุญกรรมนั้น"
ทรง ดำริดังนี้แล้ว สมเด็จพระอมรินราธิราชจอมทวยเทพเจ้าเหล่าชาวสวรรค์ชั้นไตรตรึงษ์ จึงจำแลงแปลงเพศเป็นนายช่างใหญ่ มีมือถือขวานมายืนปรากฎอยู่ต่อหน้าพราหมณ์โพธิสัตว์ แล้วจึงทรงเอื้อนอรรถตรัสถามว่า
"ท่านผู้เจริญ ท่านจะต้องการจ้างทำงานสิ่งใดบ้างหรือไม่?"
"ท่านรับจ้างทำงานสิ่งใดเป็นบ้างเล่า?" สุรุจิพราหมณ์ถามขึ้นทั้งๆ กำลังวิตกอยู่'

"ขึ้น ชื่อว่าศิลปศาสตร์ในการช่าง ส่งไรที่ข้าพเจ้าจะมิได้รู้ มิได้เชี่ยวชาญนั้นมิได้มี คือการสร้างโรงร้าน หรือเรือนอยู่ หรือมณฑปใหญ่ ใครจะจ้างทำสิ่งใดๆ ข้าพเจ้าก็ย่อมทำได้อย่างสวยงามสิ้นทุกประการ" อันทวัฑฒกีคือนายช่างพระอินทร์บอกความสามารถของตน
"ถ้า เช่นนั้นก็ดีแล้ว เรามีการที่จะจ้างท่านให้ทำสักอย่างหนึ่ง แต่ก็สงสัยว่าท่านจะทำไม่ได้เสร็จตามความประสงค์ของข้าพเจ้า" พราหมณ์กล่าวขึ้นตามความรู้สึกอันจริงใจของตนในขณะนั้น
" ข้าแต่ท่านมหาพรามหณ์ การสิ่งใดของท่านมี ก็จงบอกแก่ข้าพเจ้าเถิด ข้าพเจ้าคิดว่าจักทำให้สำเร็จตามความต้องการของท่านได้ "นายช่างพระอินทร์รุกเร้าถาม


สุรุจิ พราหมณ์จึงว่า "ดูกรนายช่าง บัดนี้เราได้อาราธนาพระภิกษุสงฆ์มีองค์สมเด็จพระพุทธเจ้าเป็นประธาน ประมาณแสนกว่ารูปเอาไว้ให้มารับบิณฑบาตฉันในวันพรุ่งนี้ ตอนอรุณรุ่งเช้า เราคิดว่าจะจ้างให้ท่านสร้างมหามณฑปใหญ่ ให้ปูลาดเป็นอาสนะถวายพระสงฆ์มากมายเห็นปานนั้น ท่านยังจะสามารถรับทำได้หรือไม่?"


"ข้าพเจ้า รับจะสร้างให้เสร็จตามความต้องการของท่านได้แต่ว่าท่านสามารถจะให้ค่าจ้าง แก่ข้าพเจ้าได้หรือ?" นายช่างพระอินทร์กลับถามถึงเรื่องค่าจ้างแรงงาน


"เอา เถิด...เมื่อท่านทำได้ตามความต้องการของข้าพเจ้าแล้ว ท่านประสงค์ค่าจ้างเท่าใด ข้าพเจ้าจะไม่ขัดข้องเลย แม้แต่ชีวิตของข้าพเจ้าก็ยินดีสละให้ได้ อย่าว่าแต่ทรัพย์สมบัติที่ข้าพเจ้ามีอยู่เลย ขอให้ข้าพเจ้ามีสถานที่ๆ จะถวายอาหารบิณฑบาตแก่พระภิกษุสงฆ์ตามความตั้งใจของข้าพเจ้าก็แล้วกัน" พราหมณ์กล่าวตอบ


อินทวัฑฒกีก็กล่าวว่า "ดีแล้ว" ถ้าเช่นนั้น ข้าพเจ้าจะรับทำเอง ขอท่านจงบอกสถานที่ๆ จะก่อสร้างมณฑปนั้นเถิด" เมื่อสุรุจิพราหมณ์ชี้มือไปยังบริเวณเนื้อที่อันกว้างใหญ่ของตนแห่งหนึ่ง จึงไปยืนแลดูที่บริเวณนั้นด้วยกำลังเทพศักดามหานุภาพ ก็บันดาลภูมิสถานบริเวณกว้างใหญ่นั้น ให้มีอันเตียนเลี่ยนตลอดราบรื่นมีพื้นเสมอเป็นอันดี สมเด็จท้าวสักรินทรโกสีย์จึงดำริว่า
"ในภูมิสถานมีประมาณเท่านี้ มหามณฑปแล้วไปด้วยแก้วเจ็ดประการ จงบังเกิดมี ณ กาลบัดนี้"
ครา ที่นั้น ก็บังเกิดมหัศจรรย์ด้วยเทพนฤมิต มหามณฑปวิภูสิตสำเร็จแล้วด้วยแก้วหลังใหญ่ ก็ทำลายปฐพีผุดขึ้นมา เสาและขื่อแห่งมหามณฑปนั้น ประดับสลับต้นกันแล้วไปด้วยแก้วและเงินทอง ตามเชิงข่ายรายรอบเขตมณฑปนั้น มีระบายตาข่ายกระดึงแก้วและทองห้อยอยู่ระยับสลับกันเป็นอันดี เวลามีลมอ่อนรำเพยพัด ก็อุบัติเสียงเสนาะศัพท์สำเนียงกระดึงดังวังเวงฟังเสียงดังเพลงทิพย์ อนึ่ง ในที่ว่างบางแห่งย่อมมีทิพย์สุคนธบุปผชาติหอมฟุ้งขจรตลบอบอวลไปทั่วมหามณฑป สถาน แล้วสมเด็จท้าวมัฆวานเทวราชจึงอธิษฐานจิตเนรมิตว่า
"อาสนะอันสมควรพร้อมทั้งตั่งรองเท้าน้ำใช้น้ำฉัน จงพลันบังเกิดขึ้นภายในมณฑปนี้"
หัวข้อ: Re: มุนีนารถทีปนี การตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า โดย พระพรหมโมลี วิลาศ ญาณวโร
เริ่มหัวข้อโดย: Wisdom ที่ กุมภาพันธ์ 21, 2012, 12:13:07 PM
ทรง อธิษฐานแล้ว ก็ทอดพระเนตรไปในมหามณฑปขณะนั้น อาสนะสงฆ์ครบจำนวนก็บังเกิดขึ้นพลันพร้อมไพบูลย์และมีตุ่มใหญ่ๆ เต้มไปด้วยน้ำใสตั้งไว้ตามมุมมหามณฑปนั้น ครั้นสำเร็จสิ่งประสงค์แล้ว ก็กลับมาบอกความแก่สุรุจิพราหมณ์ผู้เป็นนายจ้าง ซึ่งบัดนี้กำลังนั่งวิตกอยู่ในเรือนด้วยคิดว่า บุรุษนายช่างนั้นคงทำไม่สำเร็จเสียมากกว่า เพราะตามธรรมดาต้องใช้เวลาสร้างนานเป็นเดือนเป็นปี ครั้นท้าวโกสีย์แปลงมาบอกว่า
"ข้า แต่ท่าน บัดนี้ มหามณฑปนั้น ข้าพเจ้าทำสำเร็จแล้ว ท่านจงไปดูก่อน เสร็จแล้วอย่าลืมย้อนกลับมาให้ค้าจ้างค่าออกแก่ข้าพเจ้าเสียก็แล้วกัน"

พราหมณ์ ผู้โพธิสัตว์เจ้าได้สดับดังนั้น ก็ดีใจ รีผลุนผลันลุกขึ้นออกไปดู ครั้นเห็นประจักษ์แจ้งแก่สายตา ก็มีความโสมนัสเป็นล้นพ้น มีกมลเต็มไปด้วยปิติ มิได้ทันที่จะคิดถึงสิ่งใด รีบกลับเข้าไปในเรือนเพื่อจักจ่ายทรัพย์อันเป็นค่าจ้างแก่นายช่างผู้วิเศษ ก็ให้เกิดเหตุอัศจรรย์ใจเป็นล้นพ้น เพราะว่าคนผู้เป็นนายช่างซึ่งทวงค่าจ้างอยู่เมื่อครู่นี้ ให้มีอันเป็นอันตรธานหายไปเสียแล้ว จึงได้สติวิจารณ์ดูด้วยปัญญา ก็ตระหนักแน่แก่ใจว่า
"มหา มณฑปประดับงามตระการเป็นปานนี้ มนุษย์ที่ไหนจักทำได้ นี่ชะรอยท้าวสหัสนัยน์จอมไตรตรึงษ์ทรงรู้ถึงความวิตกหนักใจของเรา จึงทรงพระอุตสาหะเสด็จมากระทำความอนุเคราะห์แก่อาตมาเป็นแน่แท้"

ครั้นตระหนักแน่ในใจฉะนี้ ก็มีความเลื่อมใสศรัทธาเป็นทวีตรีคูณในบุญวิบากเป็นนักหนา จึงจินตนาการสืบไปว่า
"ด้วย ความงามของมหามณฑปมีความประเสริฐถึงเพียงนี้ อาตมาจะถวายทานแก่พระสงฆ์มีองค์สมเด็จพระสัพพัญญูเป็นประธาน แต่เพียงเวลากาลวันเดียวหาควรไม่ จำเราจักอาราธนาพระสงฆ์ถวายทานสืบไปอีก ให้ได้สักเจ็ดวันเถิด นั่นแหละจึงจะสมควร"


ดำริ ดังนี้แล้ว สุรุจิพราหมณ์ผู้มีทรัพย์มหาศาลก็สั่งให้จัดแจงพัสดุสิ่งของสำหรับถวายทาน เพิ่มขึ้นอีกเป็นอันมาก ได้บำเพ็ญมหาทานบริจาคแด่พระสงฆ์มากมายสุดประมาณทุกๆ วันถ้วนถึงเจ็ดวัน ครั้นถึงวันอวสานที่สุดจะเลิกแล้วนั้น สุรุจิพราหมณ์บรมโพธิสัตว์ได้จัดบำเพ็ญมหาทานเป็นพิเศษ คือครั้นพระภิกษูสงฆ์ทั้งปวงฉันภัตตาหารเสร็จเรียบร้อยก็ให้ชำระบาตรเช็ดถู ให้สะอาดดีแล้ว ก็ให้ใส่ให้เต็มด้วยน้ำมันเนย น้ำผึ้งน้ำอ้อยทั้งแสนกว่าบาตรเป็นส่วนเภสัชทานแล้ว ก็จัดการถวายไตรจีวรครบผ้าบริวารอันกอปรด้วยมูลค่าเป็นอันมาก แต่ผ้าไตรจีวรที่มิสู้งามที่ถึงแก่พระภิกษุนวกะผู้บวชใหม่ สถิต ณ อาสน์สุดท้าย ก็ยังมีค่านับได้หลายตำลึง จะป่วยการกล่าวไปใย ถึงไตรจีวรที่ได้แก่พระเถระผู้ใหญ่ในสังฆมณฑลนั่นเล่า


คราวนั้น สมเด็จพระสุมังคละบรมโลกุตมาจารย์ เมื่อจะทรงประทานภัตตานุโมทนากถา จึงทรงพิจารณาว่า
"มหาพราหมณ์ผู้นี้ มีอุตสาหะมาบำเพ็ญอามิสมหาทานใหญ่ยิ่งนักฉะนี้ จะมีอานิสงส์เป็นประการใดหนอ"

ก็ทรงทราบด้วยพระญาณทุกประการแล้ว จึงโปรดประทานพุทธฎีกาดำรัสพยากรณ์ว่า
"ดูกร มหาพราหมณ์ กาลล่วงไปในอนาคตกำหนดไว้ ๒ อสงไขยเศษอีกแสนกัป ในเบื้องหน้านั้น ตัวท่านจะได้ตรัสเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงนามว่าพระศรีศากยมุนีโคดม ในภัทรกัปอันจักมี ณ ที่สุด ๒ อสงไขยกับเศษแสนมหากัปนั้น"
ครั้น ได้สดับพระพุทธพยากรณ์จากพระโอษฐ์ของสมเด็จพระชินสีห์เป็นลัทธยาเทศเช่นนี้ สุรุจิมหาพราหมณ์โพธิสัตว์ก็ปรีดาปราโมย์ยิ่งนัก ดำริว่า
"เรา จักได้สำเร็จโพธิญาณเป็นเที่ยงแท้แล้ว ก็แต่ว่า บัดนี้ จักมีประโยชน์อันใด ด้วยฆราวาสวิสัยครองเรือนอยู่ จำเราจักสู้อุตสาหะบำเพ็ญเนกขัมมบารมีออกบวชดีกว่า"

เบื้อง ว่า พระโพธิสัตว์นั้น ครั้นคิดบำเพ็ญเนกขัมมบารมีเช่นนี้ จึงสละสมบัติอันไพบูลย์มิได้อาลัย ออกบรรพชาในสำนักพระผู้มีพระภาคเจ้าบรมศาสดา อุตสาห์บำเพ็ญคันถะธุระและสมถกรรมฐาน ก็สำเร็จฌานอภิญญาสมาบัติมิได้เสื่อม สิ้นชนมายุแล้วก็ไปอุบัติเกิดเป็นองค์พระพรหมวิเศษ เสวยพรหมสุข ณ ชั้นพรหมโลก

๔. สมเด็จพระสุมนะอุบัติ

เมื่อ ศาสนาของสมเด็จพระมิ่งมงกุฎสุมังคละบรมโลกนายกเสื่อมสิ้นล่วงไปแล้ว โลกก็ว่างจากพระบวรพุทธศาสนาอยู่เป็นเวลานานสิ้นกาลได้พุทธันดรหนึ่ง จึงปรากฎมีสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามาเสด็จอุบัติตรัสในโลกนี้อีกพระองค์ หนึ่ง ทรงพระนามว่า สมเด็จพระมิ่งมงกุฎสุมนะสัมมาสัมพุทธเจ้า พระองค์ผู้ทรงเป็นพระบรมไตรโลกนายก ทรงประกาศศาสนธรรมนำสัตว์ทั้งหลายให้ออกจากทุกข์ในวัฏสงสารได้เป็นจำนวนมาก


กาลครั้งนั้น พระบรมโพธิสัตว์เจ้าของเราได้สืบปฏิสนธิถือกำเนิดในภุชงคตระกูล เป็นพญานาคราชนามว่า พญาอดุลยวาสุกรี มีมหิทธศักดานุภาพอันยิ่งใหญ่ ได้เป็นอิสสราธิปไตยในนาคพิภพ ครั้นได้แจ้งกิตติศัพท์บันลือว่า
"บัดนี้ สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงพระนามว่า พระสุมนะบรมศาสดาจารย์ ทรงอุบัติมาตรัสในโลกแล้ว"
เพียง แต่ได้สดับอรรถประโยคนี้เข้าเท่านั้น พญาอดุลยวาสุกรีก็ให้มีอันเป็นเกิดขนพองสยองเกล้าด้วยความปรีดาปราโมทย์ เป็นนักหนา รีบพาประยูรวงศ์สัมพันธ์ ญาติคณานาคบริษัทออกจากนาคพิภพมาถวายนมัสการกระทำสักการะบูชาสมเด็จพระสุมนะ พุทธองค์กับพระอริยสงฆ์บริวาร ทำการประโคมด้วยดุริยางค์ดนตรีสำเนียงเสนาะเลิศ แล้วได้อุทิศถวายทิพยภูษามีสีงามประเสริฐแด่พระพุทธองค์และพระสงฆ์บริวารมี หฤทัยเบิกบานชมชื่นในพระพุทธคุณ ถึงพระไตรสรณคมน์เป็นนาถะที่พึ่ง


จึงในกาลครั้งนั้น สมเด็จพระสุมนะบรมศาสดาจารย์ได้ทรงมีพระพุทธฎีกาดำรัสพยากรณ์ว่า
"พญา อดุลยนาคราชนี้ นานไปในอนาคตกำหนดได้ ๒ อสงไขยกับเศษอีกแสนกัปแล้วจักได้ตรัสเป็นพระสัพพัญญูพุทธเจ้าองค์หนึ่ง ทรงนามว่าพระศรีศากยมุนีโคดม ในภัทรกัปอันจักมี ณ ที่สุดแห่ง ๒ อสงไขยกับแสนมหากัปนั้น"

ครั้น ได้สดับพระพุทธพยากรณ์ฉะนี้ พญาอดุลยวาสุกรีก็มีจิตยินดีปราโมทย์ยิ่งนัก แล้วถวายนมัสการลงพาบริวารของตนกลับไปยังนาคพิภพ เสวยภิรมย์ชมสมบัติเป็นสุขอยู่ตลอดกาลนาน จวบจนถึงกาลอายุขัย


๕. สมเด็จพระเรวตะอุบัติ


เมื่อ ศาสนาของสมเด็จพระมิ่งมงกุฎสุมนะสัมมาสัมพุทธเจ้าเสื่อมสูญหมดสิ้นไปแล้ว โลกก็ว่างเปล่าจากพระบวรพุทธศาสนาอยู่เป็นเวลาสิ้นกาลนับได้พุทธันดรหนึ่ง แล้วจึงมีสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จมาอุบัติตรัสในโลกอีกพระองค์หนึ่ง ทรงพระนามว่า สมเด็จพระมิ่งมงกุฎเรวตะสัมมาสัมพุทธเจ้า พระองค์ผู้ทรงเป็นพระบรมโลกนายกทรงพระยศพระคุณหาที่สุดมิได้นำสัตว์ทั้งหลายให้ลุถึงความเกษมสวัสดีเป็นอันมาก


กาลครั้งหนึ่ง พระบรมโพธิสัตว์เจ้าของเราได้สืบปฏิสนธิถือกำเนิดในตระกูลพราหมณ์ มีนามว่า อติเทวมาณพ ศึกษาเจนจบในไตรเวทางคศาสตร์ วันหนึ่ง ได้มีโอกาสสดับมธุรสธรรมิกถา ที่แสดงคุณแห่งปหานการละกิเลส จากพระโอษฐองค์สมเด็จพระโลกเชษฐเรวตะพุทธเจ้า แล้วมีจิตเลื่อมใสนักหนามีศรัทธาตั้งอยู่ในไตรสรณคมน์ ยกมือขึ้นเหนืออุตมางค์ พลางเปลื้องผ้าห่มสีสวยสดมีค่าหนึ่งพันตำลึง ออกทำสักการะบูชาพระสัทธรรมเทศนา


จึงในกาลครั้งนั้น สมเด็จพระเรวตะบรมศาสดาจารย์ได้ทรงมีพระพุทธฎีกาดำรัสพยากรณ์ว่า
"อติ เทวมาณพผู้นี้ นานไปในอนาคตจักได้ตรัสเป็นพระสัพพัญญูพุทธเจ้าองค์หนึ่ง ทรงนามว่า พระศรีศากยมุนีโคดมในกาลภัทรกัปอันจักมี ณ ที่สุดแห่ง ๒ อสงไขยกับเศษอีกแสนมหากัป"

ครั้น ได้สดับพระพุทธพยากรณ์ ฉะนี้ อติเทวมาณพผู้โพธิสัตว์ทรงพุทธบารมี ก็มีจิตยินดีปลาบปลื้มเป็นทียิ่ง อุตสาหะบำเพ็ญกุศลทรงพระบารมี ครั้นถึงแก่ชีพิตักษัยก็ได้ไปอุบัติเกิดในสุคติภูมิ


๖. สมเด็จพระโสภิตะอุบัติ

เมื่อศาสนาขององค์สมเด็จพระมิ่งมงกุฎเรวตะสัมมาสัมพุทธเจ้าเสื่อสูญหมดสิ้น ไปแล้ว โลกก็ว่างเปล่าจากพระบวรพุทธศาสนาอยู่เป็นเวลานานนับได้ประมาณพุทธันดรหนึ่ง แล้วจึงปรากฎมีสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จมาอุบัติตรัสในโลกอีกพระองค์ หนึ่ง นับเป็นองค์สุดท้ายในสารมัณฑกัปนั้น ทรงพระนามว่า สมเด็จพระมิ่งมงกุฎ โสภิตะ สัมมาสัมพุทธเจ้า พระองค์ผู้ทรงเป็นบรมโลกนายกทรงพระยศและพระคุณหาที่สุดมิได้ ทรงยังพุทธเวไนยทั้งหลายให้ได้ดื่มอมตรสบรรลุอริยธรรมข้ามพ้นจากหัวงมหรรณ พภพสงสารเป็นประมาณมิใช่น้อย ตามสมควรแก่อุปนิสัยแห่งตน

กาลครั้งนั้น พระโพธิสัตว์เจ้าของเราได้สืบปฏิสนธิถือกำเนิดในตระกูลพราหมณ์มหาศาล มีนามว่า อชิตมาณพ อยู่ ในเมืองรัมมวดีนคร วันหนึ่งได้มีโอกาสสดับมธุรธรรมิกถาจากพระโอษฐสมเด็จพระโลกเชษฐโสภิตะสัมมา สัมพุทธเจ้าแล้วมีจิตเลื่อมใสนักหนา มีศรัทธาตั้งอยู่ในไตรสรณคมน์และศีล ต่อมาได้บำเพ็ญมหาทานการบริจาคอันยิ่งใหญ่แก่พระอริยสงฆ์ซึ่งมีองค์สมเด็จ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นประธาน สละทรัพย์บริจาคทานมากมายในครั้งนี้อยู่นานถึงหนึ่งสัปดาห์

คราที่นั้น จึงองค์สมเด็จพระสรรเพชญ์โสภิตะบรมศาสดาจารย์ได้ทรงมีพระพุทธฎีกาดำรัสพยากรณ์ว่า
"อชิตพราหมณ์ ผู้นี้ นานไปในอนาคตจักได้ตรัสเป็นพระสัพพัญญูพุทธเจ้าองค์หนึ่ง ทรงนามว่า พระศรีศากยมุนีโคดม ในกาลภัทรกัปป์อันจักมี ณ ที่สุด แห่ง ๒ อสงไขยกับเศษอีกแสนมหากัป"
ครั้นได้สดับพระพุทธ พยากรณ์ฉะนี้ อชิตพราหมณ์ผู้โพธิสัตว์ก็มีจิตยินดีปลาบปลื้มเป็นที่ยิ่ง อุตสาหะบำเพ็ญกุศลสร้างพระบารมีต่อไป ในไม่ช้า ก็ถึงแก่ชีพิตักษัย ไปอุบัติเกิดเป็นเทพบุตรสุดประเสริฐ ณ เทวโลก แดนสุขาวดี

๗. สมเด็จพระอโนมทัสสีอุบัติ

เมื่อสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทั้ง ๔ พระองค์ คือพระสุมังคลพุทธเจ้า ๑ พระสุมนะพุทธเจ้า ๑ พระเรวตะ พุทธเจ้า ๑ และพระโสภิตะพุทธเจ้า ๑ ได้เสด็จมาอุบัติตรัสในโลกเรียงกันตามลำดับและได้ทรงกระทำพุทธพยากรณ์ทำนาย พระบรมโพธิสัตว์ของเรามาทุกๆ พระองค์ดังกล่าวแล้วนั้น กาลต่อมา ครั้นสิ้นอายุศาสนาของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าองค์สุดท้าย คือ พระโสภิตะพุทธเจ้า โลกก็ว่างเปล่าจากพระพุทธศาสนาอยู่นาน จนสิ้นสารมัณฑกัปนั้น ครั้นขึ้นอสงไขยกัปใหม่ก็ยิ่งซ้ำร้าย เพราะอสงไขย หนึ่งต่อมานั้นเป็นสุญอสงไขยคือ ไม่มีพระพุทธเจ้ามาตรัสเลยสักพระองค์เดียว เมื่อเป็นเช่นนี้ ก็ทำให้โลกเรามือบอดปลอดจากพระสัทธรรม ถูกอวิชชาเข้าครอบงำเพราะไม่มีผู้นำทางไปสู่ความสว่าง คือพระนฤพาน เมื่อโลกว่างเว้นห่างไกลจากพุทธกาลนานนักแล้ว คราที่นั้นจึงมี วรกัป หนึ่งบังเกิดขึ้น ก็คำว่าวรกัปนี้ ก็คงจะเป็นที่ทราบกันดีแล้วว่า เป็นชื่อของกัปที่มีพระพุทธเจ้ามาอุบัติตรัสในโลก ๓ พระองค์ ใช่ไหมเล่า ก็วรกัปที่เรากำลังกล่าวถึงกันอยู่นี้ ก็มีสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เสด็จมาอุบัติตรัสในโลก ๓ พระองค์ คือ
๑. สมเด็จพระมิ่งมงกุฎอโนมทัสสีสัมพุทธเจ้า
๒. สมเด็จพระมิ่งมงกุฎปทุมะสัมพุทธเจ้า
๓. สมเด็จพระมิ่งมงกุฎนารทะสัมพุทธเจ้า
ในกาลเมื่อสมเด็จ พระมิ่งมงกุฎอโนมทัสสีสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จมาอุบัติตรัสในโลกเป็นองค์ปฐมใน วรกัปนั้น พระองค์ทรงประกาศพระบวรพุทธศาสนา ยังศาสนธรรมได้แพร่หลาย นำความสว่างไสวให้เกิดขึ้นในดวงใจของเหล่าประชานิกร เพราะได้สดับคำสอนอันเป็นสัจธรรม นำตนให้พ้นภัย ได้บรรลุคุณวิเศษ ตามสมควรแก่อุปนิสัยวาสนาบารมีของตนๆ เป็นอันมากแล้ว

กาลครั้งนั้น พระบรมโพธิสัตว์เจ้าของเราทั้งหลายได้สืบปฏิสนธิถือเอากำเนิดเกิดเป็น พญายักขเสนาบดี มี ฤทธาศักดานุภาพมาก ได้เป็นใหญ่กว่ายักษ์บริษัทนับได้แสนโกฏิปกครองบริษัทบริวารของตนให้ได้รับ ความสุขโดยถ้วนหน้า กาลวันหนึ่ง ได้สดับข่าวว่า
สมเด็จพระอโนมทัสสีสัมมาสัมพุทธเจ้า เสด็จอุบัติตรัสในโลกแล้ว
พอ ได้สดับกิติตศัพท์บันลือเช่นนี้ ก็มีจิตยินดีเต็มตื้นไปด้วยปิติเป็นที่ยิ่ง จึงนิรมติมณฑปใหญ่อันวิจิตร งดงามล้วนไปด้วยแก้วเจ็ดประการ แล้วอาราธนาสมเด็จพระพุทธองค์พร้อมกับพระอริยสงฆ์บริวารเข้าไปในมณฑปนั้น พร้อมด้วยยัขบริวาร บำเพ็ญมหาทานเป็นอันมาก ตลอดเจ็ดวัน ด้วยมีมนัสมุ่งพระโพธิญาณ

กาลครั้งนั้น จึงองค์สมเด็จพระอโนมทัสสีบรมศาสดา เมื่อจะทรงกระทำอนุโมทนาทาน จึงมีพระพุทธฎีกาดำรัสพยากรณ์ว่า
ท่าน พญายักขเสนาบดีนี้ นานไปในอนาคตกำหนดอีก ๑ อสงไขยแสนมหากัป จักได้ตรัสเป็นพระสัพพัญญูพุทธเจ้าพระองค์หนึ่ง ทรงนามว่า พระศรีศากยมุนโคดม ในกาลภัทรกัป อันจักมี ณ ที่สุดแห่ง ๑ อสงไขยแสนมหากัปนั้น
ครั้นได้สดับพระพุทธพยากรณ์ ฉะนี้ พญายักขเสนาบดีก็มีจิตยินดีปรีดาปราโมทย์เป็นยิ่งนัก ตั้งจิตมั่นในอันที่จะสร้างพระบารมี เพื่อพระปรมาภิเษกสัมโพธิญาณต่อไป
หัวข้อ: Re: มุนีนารถทีปนี การตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า โดย พระพรหมโมลี วิลาศ ญาณวโร
เริ่มหัวข้อโดย: Wisdom ที่ กุมภาพันธ์ 21, 2012, 12:13:46 PM
๘. สมเด็จพระปุทมะอุบัติ

กาลเมื่อศาสนาของสมเด็จพระมิ่งมงกุฎอโนมทัสสีสัมมาสัมพุทธเจ้าเสื่อมสูญหมด สิ้นไปแล้ว โลกก็ว่างเปล่าจากพระบวรพุทธศาสนาอยู่เป็นเวลานาน นับได้พุทธันดรหนึ่ง แล้วจึงปรากฎมีสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จมาอุบัติตรัสในโลกอีกพระองค์ หนึ่ง ทรงพระนามว่า สมเด็จพระมิ่งมงกุฎ ปทุมะ สัมมาสัมพุทธเจ้า พระองค์ทรงเป็นพระบรมโลกนายก ทรงพระยศและท่านหาที่สุดมิได้ ทรงนำสัตว์ทั้งหลายให้บรรลุถึงความเกษมสวัสดีเป็นอันมากแล้ว

กาลครั้งนั้น พระบรมโพธิสัตว์เจ้าสืบปฏิสนธิถือกำเนิดในดิรัจฉานภูมิ ด้วยอำนาจวัฏสงสารความเวียนว่ายตายเกิดในวัฏฏะชักพาให้องค์พระโพธิสัตว์เกิด เป็นพญาไกรสรสีหราช อยู่ในอรัญญประเทศ วันหนึ่งได้พบสมเด็จพระปทุมะสัมมาสัมพุทธเจ้า พร้อมกับพระสงฆ์บริษัท กำลังทรงนั่งเข้านิโรธสมาบัติอยู่ ณ รุกขมูลโคนต้นไม้ใหญ่

พญาไกรสรสีหราช ได้เห็นภาพ อันควรแก่การเลื่อมใสที่ใครๆ จะมีโอกาสเห้นได้โดยยากเช่นนั้นแล้ว ก็มีจิตชื่นบานคิดว่า
เราจักทำการพิทักษ์รักษาพระผู้มีพระภาคเจ้ากับพระอริยสงฆ์เหล่านี้ แม้จะสิ้นชีวีไปก็ตามที
แล้ว ก็กระทำประทักษิณบริรักษ์เดินเวียนไปมาเฝ้าดูอยู่ หวังใจให้พระบรมครูกับพระอริยสงฆ์ปลอดอันตราย จนสรีระกายอิดโรยอ่อนเพลียนักหนา เพราะมิได้ขวนขวายแสวงหาภักษาหารตลอดกาลหนึ่งสัปดาห์

ครั้นสมเด็จพระปทุมะสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งเสด็จยับยั้งเสวยวิมุติสุขอยู่ในนิโรธสมาบัติครบ ๗ วันแล้ว จึงทรงออกจากสมาบัติ ได้ทรงเห็นพญาสัตว์ไกรสรสีหราชกระทำอธิการ คือผู้สละชีวิตเฝ้าบริรักษ์อยู่เช่นนั้น จึงทรงมีพระพุทธฎีกาดำรัสพยากรณ์ว่า
พญา ไกรสรสีหราชนี้ นานไปในอนาคตกำหนดพอสิ้นอสงไขยนี้กับอีกแสนมหากัป จักได้ตรัสเป็นพระพุทธเจ้าองค์หนึ่งทรงนามว่าพระศรีศากยมุนีโคดม ในภัทรกัปอันจักมี ณ ที่สุดแห่งอสงไขยกับอีกแสนมหากัป
เมื่อ สมเด็จพระปทุมะสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงกระทำพุทธพยากรณ์ดังนี้แล้ว ก็พาพระภิกษุสงฆ์ออกจากอรัญราวป่าไป เพื่อทรงทำพุทธกิจเกื้อกูลพุทธเวไนย ถึงอวสานกาลแล้ว ก็เสด็จดับขันธ์ปรินิพพานล่วงไป ฝ่ายพญาไกรสรสีหาชนั้น ครั้นสิ้นชีวิตกาลก็ไปอุบัติเกิดเป็นเทพบุตรสุดประเสริฐเสวยทิพยสัมบัติเป็น สุขอยู่ ณ เทวโลก แดนสุขาวดี

๙. สมเด็จพระนารทะอุบัติ

กาลเมื่อศาสนาของสมเด็จพระมิ่งมงกุฎปทุมะพระพุทธเจ้าเสื่อมสูญหมดสิ้นไป แล้ว โลกก็ว่างเปล่าจากพระพุทธศาสนาอยู่เป็นเวลาช้านาน สิ้นกาลนับได้พุทธันดรหนึ่งแล้ว จึงปรากฎมีสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จมาอุบัติตรัสในโลกอีกพระองค์หนึ่ง ทรงพระนามว่าสมเด็จพระมิ่งมงกุฎนารทะสัมมาสัมพุทธเจ้า พระองค์ทรงเป็นพระบรมโลกนาย ทรงพระยศและท่านหาที่สุดมิได้ ทรงนำสัตว์ทั้งหลายให้ลุถึงความเกษมสวัสดีเป็นอันมากแล้ว

กาลครั้งนั้น พระบรมโพธิสัตว์เจ้าของเราได้สืบปฏิสนธิถือกำเนิดเกิดมาเป็นมนุษย์ หวังความบริสุทธิ์แห่งขันธสันดานจึงได้ไปสร้างอาศรมอยู่ในป่าใหย่ ออกบวชเป็นฤาษี มีวิริยะบำเพ็ญพรตพรหมจรรย์ จนได้สำเร็จฌานสมาบัติและอภิญญาอันแกล้วกล้าชำนาญ วันหนึ่ง สมเด็จพระพุทธนารทะบรมครูแวดล้อมด้วยพระอริยสงฆ์ผู้ทรงคุณวิเศษชั้นพระ อรหันต์และพระอนาคามีบุคคล กับอุบาสกอีกมากมายหลายท่าน ได้พากันเข้าไปในที่ใกล้อาศรมฤาษี คราที่นั้น องค์พระมหาฤาษีโพธิสัตว์ผู้ทรงอภิญญาได้ทอดทัศนาเห็น ก็ให้บังเกิดความเลื่อมใสจึงได้เนรมิตอาศรมมากมายให้มีจำนวนเพียงพอกับพระ บรมครูเจ้าและพระสาวกทั้งหลาย ถวายให้นั่งเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

สมัยนั้น สมเด็จพระภควันต์นารทะศาสดาจารย์เจ้า จึงแสดงพระธรรมเทศนานิวาสนานุโมทนา และอานิสงส์แห่งการเจริญพระพุทธานุสติ ด้วยมธุรสวาทีของสมเด็จพระชินสีห์สัพพัญู ฤาษีโพธิสัตว์ได้สดับมีความปรีดาปราโมทย์เป็นที่สุด ในวันรุ่งขึ้น จึงเหาะไปยังอุตตรกุรุทวีปด้วยอำนาจฌานวิสัย เพื่อนำเอาภัตตาหารมาถวายพระพุทธองค์และพระอริยสงฆ์ พร้อมกับอุบาสกทั้งหมดอย่างพอเพียง กระทำอยู่อย่างนี้เป็นเวลานานถึงหนึ่งสัปดาห์ ในวันสุดท้าย ได้ทำพุทธบูชาสักการะด้วยแก่นจันทร์แดงอันมีค่าสูง ด้วยความเลื่อมใสเป็นอย่างยิ่ง

จึงในครั้งนั้น สมเด็จพระสรรเพชญนารทะสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงมีพระพุทธฎีกา ดำรัสพยากรณ์ว่า
มหา ฤาษีผู้มีมหานุภาพนี้ นานไปในอนาคตกำหนดแต่นี้ไปในที่สุด ๑ อสงไขย แสนมหากัป จักได้ตรัสเป็นพระพุทธเจ้าพระองค์หนึ่งทรงพระนามว่า พระศรีศากยมุนีโคดม อย่างแม่นมั่น ในที่สุดแห่ง ๑ อสงไขยแสนมหากัปนั้น
ครั้น ได้สดับพระพุทธพยากรณ์จากพระโอษฐ์ของสมเด็จพระชินสีห์เจ้าฉะนี้ ท่านมหาฤษีโพธิสัตว์ผู้ทรงอภิญญาก็มีจิตปลาบปลื้มปราโมทย์นักหนา อุตสาหะบำเพ็ญพระพุทธบารมีเมื่อถึงแก่ชีพิตักษัยแล้ว ก็ไปอุบัติบังเกิดเป็นพระพรหมวิเศษ ณ พรหมโลก

ท่าน ผู้มีปัญญาทั้งหลาย สมเด็จพระมิ่งมงกุฎสมณโคดมบรมครูเจ้าของเราท่านทุกวันนี้ พระองค์ได้ทรงสร้างพระบารมีในตอนปลายเป็นนิยตโพธิสัตว์เที่ยงแท้ที่จะได้ ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า เพราะได้รับลัทธยาเทศคำพยากรณ์จากสำนักของพระพุทธเจ้าเป็นลำดับมาทุกๆ พระองค์ นับตั้งแต่พระองค์ที่หนึ่ง คือสมเด็จพระมิ่งมงกุฎ ทีปังกรสัมมาสัมพุทธเจ้า จนถึงสมเด็จพระมิ่งมงกุฎนารทะสัมพุทธเจ้า ที่เรากำลังกล่าวถึงกันอยู่ในบัดนี้ นับไปได้กี่พระองค์แล้วเล่า?
"...อ๋อ ก็จะไปยากอะไร นับได้ทั้งหมดด้วยกัน รวม ๙ พระองค์ ใช่หรือไม่?"
"ถูกต้องแล้ว..."
"...อ้าว ก็ในเมื่อถูกต้องแล้ว ไฉนจึงมาเฉไฉให้เสียเวลาไปเปล่าๆ สะดดุหยุดเสียกลางคันเช่นนี้ มีเหตุผลอะไรรึ... หรือว่าพระองค์สร้างพระบารมีมาเพียงแค่นี้?"
"เปล่า! ที่หยุดลงนี่ ไม่ใช่คิดจะกล่าวออกไปนอกเรื่องหรือว่าพระองค์สร้างพีระบารมีเพียงแค่นี้ ไม่ใช่ทั้งสิ้น แต่ต้องการที่จะบอกให้ทราบว่า บัดนี้ กาลเวลาก็ได้ล่วงเลยมาแล้ว..."
"กาลเวลาอะไรกัน แล้วมันเกี่ยวพันกับเรื่องนี้อย่างไร?"
"อ้าว...ก็ กาลเวลาที่พระบรมโพธิสัตว์เจ้าของทรงใช้ในการสร้างพระบารมีตอนปลายนี้นะซี นับตั้งแต่ได้พบพระพุทธทีปังกรองค์ที่ ๑ เป็นต้นมา จนถึงพระพุทธนารทะองค์ที่ ๙ นี้นับเป็นเวลาได้ ๔ อสงไขยแล้ว ทีนี้ สมเด็จพระศรีศากยมุนีโคดมบรมครูเจ้าของเรา ก็ทรงเป็นพระพุทธเจ้าประเภทที่ได้กล่าวมาแล้ว คือ ทรงเป็นพระพุทธเจ้าประเภท ปัญญาธิกะ ก็อันว่าพระพุทธเจ้าประเภทปัญญาธิกะนี้ ต้องทรงสร้างพระพุทธบารมีตอนปลายเป็นเวลานานถึง ๔ อสงไขย กับเศษอีกหนึ่งแสนมหากัป ฉะนั้น จึงจำเป็นต้องหยุดเรื่องการพรรณนาเรื่องไว้เสียสักนิดก่อนในตอนนี้ แล้วบอกให้ทราบว่า ในระยะเวลายาวนานถึง ๔ อสงไขยนี้ พระบรมโพธิสัตว์เจ้าของเราทรงได้มีโอกาสพบพระพุทธเจ้า เพียง ๙ พระองค์เท่านั้น ส่วนเวลาที่เหลือเศษอีกหนึ่งแสนมหากัปนั้น พระบรมโพธิสัตว์จะมีโอกาสพบพระพุทธเจ้าอีกกี่พระองค์ และทรงเสวยพระชาติเป็นอะไรบ้าง ก็จะได้พรรณาให้ฟังในกาลบัดนี้ ขอจงตั้งอกตั้งใจสดับด้วยดีต่อไปเถิด


๑๐. พระปทุมมุตระอุบัติ


บัด นี้ จะขอกล่าวกลับจับความ จำเดิมเมื่อสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทั้ง ๓ พระองค์คือ พระอโนมทัสสีสัมมาสัมพุทธเจ้า และพระนารทะสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้เสด็จมาอุบัติและทรงกระทำพุทธพยากรณ์ ทำนายพระบรมโพธิสัตว์เจ้าของเรา โดยทรงพยากรณ์เรียงกันตามลำดับในวรกับดังกล่าวมาแล้ว กาลต่อมา เมื่อสิ้นศาสนาของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า โลกเรานี้ก็ว่างเปล่าจากพระพุทธศาสนาอยู่นานจนสิ้นวรกัปนั้น ครั้นสิ้นวรกัปนั้นแล้วขึ้นกัปใหม่ต่อมา ก็น่าอนาถ เพราะขาดผู้ทรงคุณพิเศษ ไม่มีสมเด็จพระพุทธเจ้ามาเสด็จอุบัติสักพระองค์เดียว เลยกลายเป็นสุญกัป คือกัปทีสูญเปล่าจากพระพุทธเจ้าไป ทำให้โลกว่างเว้นจากพุทธกาลมาช้านานนักหนา คราที่นั้น จึงมีสารกัปหนึ่ง บังเกิดขึ้นปรากฎมีสมเด็จพระสรรเพชญสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จมาอุบัติตรัสในโลก นี้พระองค์หนึ่ง พระนามว่า สมเด็จมิ่งมงกุฎปทุมุตระสัมมาสัมพุทธเจ้า


คราว นั้น พระบรมโพธิสัตว์เจ้าของเราได้สืบปฏิสนธิถือกำเนิดเป็นนายบ้านชื่อ ชฎิล ต่อมาได้ทรงเพศเป็นดาบส ปรากฎด้วยตบะเดชะมีฌานธรรมอันเชี่ยวชาญ วันหนึ่ง ได้มีโอกาสพบสมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้า แล้วมีน้ำใจประกอบไปด้วยความเลื่อมใสเป็นอันมาก จึงได้ตกแต่งจีวรทานถวายพระอริยสงฆ์ซึ่งมีองค์สมเด็จพระปทุมมุตระพุทธเจ้า เป็นประธาน


เมื่อองค์สมเด็จพระปทุมุตระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงเสวยภัตตาหารและทรงแสดงอนุโมทนากถาจบลงแล้ว จึงทรงมีพระพุทธฎีกาดำรัสพยากรณ์ว่า

ชฎิล ดาบสผู้นี้ นานไปในอนาคต จักได้ตรัสเป็นพระพุทธเจ้าพระองค์หนึ่ง ทรงนามว่า พระศรีศากยมุนีโคดม ในภัทรกัป อันจักมีในที่สุดหนึ่งแสนมหากัป


ครั้น ได้สดับพระพุทธฎีกาทรงพยากรณ์ฉะนี้ ชฎิลดาบสก็ปลาบปลื้มยินดีเป็นล้นพ้น มีดวงกมลกระหยิ่มอยู่ ดูประหนึ่งว่าตนจักได้สำเร็จแก่พระปรมาภิเษกสัมโพธิญาณในวันในพรุ่ง จึงมีวิริยะอุตสาหกรรมสร้างพระบารมีให้ยิ่งขึ้นไป ไม่ช้านาน ไปในเบื้องต้น


๑๑. สมเด็จพระสุเมธะอุบัติ


เมื่อ ศาสนาของสมเด็จพระมิ่งมงกุฎปทุมุตระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสื่อมสูญไปแล้ว โลกก็ว่างจากพระบวรพุทธศาสนาจนสิ้นสารกัปนั้น ครั้นขึ้นมหากัปใหม่ต่อมา ก็เป็นเวลาที่เรียกว่าเป็น สุญกัป คือเป็นกัปที่สูญเปล่าไม่มีพระพุทธเจ้ามาตรัส เป็นสุญกัปอยู่อย่างนี้ สิ้นกาลช้านานจำนวน ๓๐,๐๐๐ มหากัปทีเดียว ท่านผู้มีปัญญาทั้งหลายคงจะเข้าใจกันดีแล้วว่า มหากัปหนึ่งนั้นเป็นเวลานานเท่าใด ทีนี้ ก็จงใช้วิจารณปัญญาพิจารณาดูเถิดว่า ในระยะนี้ไม่มีพระพุทธเจ้ามาอุบัติตรัสในโลกถึง ๓๐,๐๐๐ มหากัป อย่างนี้แล้ว โลกเราจะมืดบอดจากพระสัทธรรมเป็นเวลาช้านานเพียงไร


เมื่อ ๓๐,๐๐๐ สุญกัปล่วงไปโดยลำดับแล้ว คราที่นั้นจึงมีมัณฑกัปหนึ่งบังเกิดขึ้น มัณฑกัป นี้เป็นกัปที่มีสมเด็จพระสรรเพชญ์สัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จอุบัติตรัสในโลก ๒ พระองค์ คือ

๑. สมเด็จพระมิ่งมงกุฎพระสุเมธพุทธเจ้า


๒. สมเด็จพระมิ่งมงกุฎพระสุชาตะพุทธเจ้า



ก็ ในกาลเมื่อสมเด็จพระมิ่งมงกุฎ พระสุเมธะสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จมาอุบัติตรัสขึ้นในโลก พระองค์ทรงบำเพ็ญพระพุทธจริยา ประกาศศาสนธรรมคำสอน ยังประชากรทั้งเทพยดาแลมนุษย์ให้ได้ดื่มอมตรส นำความสว่างไสวให้ปรากฎในดวงหทัยของชาวโลกเป็นอันมาก พระองค์ทรงเป็นพระบรมโลกุตตมาจารย์ของประชาสัตว์ ซึ่งไม่มีศาสดาองค์ใดจะเทียมเหมือน ดำรงพระยศและท่านหาที่สุดมิได้ เป็นที่สุดเคารพเลื่อมใสแห่งดวงใจของชาวโลกทั้งผอง

กาล ครั้งนั้น พระบรมโพธิสัตว์ของเราได้สืบปฏิสนธิถือกำเนิดเป็นมนุษย์หนุ่มมีนาม อุตตรมาณพ มีทรัพย์สมบัติมากมายมหาศาลประกอบด้วยข้าทาสบริวารเป็นอันมาก วันหนึ่งได้มีโอกาสพบพระบรมศาสดา ได้สดับพระธรรมเทศนาแล้ว ก็มีกมลเปี่ยมล้นไปด้วยความเลื่อมใสจึงให้บริวารขุดขนทรัพย์สมบัติสำหรับ ตระกูลขึ้นจากภูมิภาคปฐพี มีประมาณแปดสิบโกฎิ ออกบำเพ็ญทานอันยิ่งใหญ่แด่พระอริยสงฆ์มีองค์สมเด็จพระพุทธเจ้าเป็นประธาน ครั้นได้สดับอนุโมนากถาในวาระสุดท้าย จึงละเพศฆราวาสวิสัย มิได้อาลัยในทรัพย์สมบัติ ออกบวชเป็นภิกษุในพระบวรพุทธศาสนา


คราที่นั้น จึงองค์สมเด็จพระภควันต์สุเมธมุนีนาถ ได้ทรงมีพระพุทธฎีกาพยากรณ์ว่า

อุ ตตรภิกขุนี้ นานไปเบื้องหน้าในอนาคตจักได้ตรัสเป็นพระพุทธเจ้าพระองค์หนึ่ง ทรงพระนามว่า พระศรีศากยมุนี โคดมในภัทรกัปอันจักมีในอนาคตกาล


ครั้น ได้สดับพระพุทธพยากรณ์ฉะนี้ หน่อพระชินสีห์อุตตรภิกขุผู้มีบารมี ก็เกิดปรีดาปราโมทย์ด้วยมีหฤทัยมุ่งมั่นพระโพธิญาณมาช้านานนักหนา จึงสู้อุตสาหะบำเพ็ญบารมีเป็นที่ยิ่งสิ่งประเสริฐอื่นใด ไม่ว่จะเป็นมนุษย์สมบัติ เทวสมบัติ หรือแม้แต่พรหมสมบัติอันวิเศษ ก็ไม่มีเจตจำนงที่จะต้องการ หวังแต่พระสัมโพธิญาณอยู่อย่างเดียวเป็นสำคัญ ครั้นดับขันธ์ถึงแก่ชีพิตักษัยในชาตินั้นแล้ว ก็มีสุคติภพเป็นที่ไปในเบื้องหน้า


๑๒. สมเด็จพระสุชาตะอุบัติ


เมื่อ ศาสนาของสมเด็จพระมิ่งมงกุฎสุเมธะสัมมาสัมพุทธเจ้าเสื่อมสูญหมดสิ้นไปแล้ว โลกก็ว่างเปล่าจากพระบวรพุทธศาสนา นับเป็นเวลาช้านานได้พุทธันดรหนึ่ง แล้วจึงมีสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จมาอุบัติตรัสขึ้นในโลกอีกพระองค์ หนึ่ง ทรงพระนามว่า สมเด็จพระมิ่งมงกุฎ สุชาตะ สัมมาสัมพุทธเจ้า พระองค์ทรงเป็นพระบรมไตรโลกนาถ สามารถนำโลกทั้งหลายให้พ้นจากทุกข์ในวัฎสงสาร ประทานอมตธรรมให้แก่พุทธเวไนยเป็นอันมากแล้ว


กาล ครั้งนั้น พระบรมโพธิสัตว์เจ้าของเราได้สืบปฏิสนธิถือกำเนิดเป็น สมเด็จพระบรมจักรพรรดิราชเจ้า ทรงมหิทธิอำนาจแผ่ไปในทวีปทั้ง ๔ มีทวีปน้อยสองพันเป็นบริวาร วันหนึ่งได้ทรงสดับข่าวสารว่าสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงพระนามว่า สุชาตะมหามุนีนาถทรงอุบัติขึ้นในโลกแล้ว ก็ทรงมีพระกมลผ่องแผ้วปรีดาปราโมทย์ เสด็จพาบริวารเข้ไปเฝ้าสมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้า ครั้นได้ทรงสดับมธุรธรรมีกถาก็ยิ่งทรงพระราชศรัทธาเลื่อมใส ทรงกระทำสักการะบูชาซึ่งพระรัตนตรัยด้วยมหาจักรพรรดิสมบัติอันไพบูลย์ด้วย สัตตพิธรัตนสารแก้วเจ็ดประการ แล้วทรงบำเพ็ญวรามิสมหาทานอันเลิศแด่พระอริยสงฆ์มีองค์สมเด็จพระพุทธเจ้า เป็นประธาน ทรงสละฆราวาสวิสัยออกบรรพชาในสำนัก แห่งสมเด็จพระสุชาตะสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น เพื่อเพิ่มพูนพระเนกขัมมบารมี


ครั้ง นั้น ชาวชมพูทวีปทั้งหลาย ต่างก็นำเอาแก้วแหวนเงินทองซึ่งเคยเป็นเครื่องราชบรรณาการสมเด็จพระเจ้า จักรพรรดิราชนั้น มารวมกันเป็นทุนสร้างพระอารามใหญ่แห่งหนึ่งถวายเป็นของสงฆ์ ครั้นเสด็จแล้วก็ทำการฉลองพากันถวายทานตรั้งมโหฬารแด่พระสงฆ์ ซึ่งมีองค์สมเด็จพระบรมโลกุตมาจารย์เป็นประธาน กาลครั้งนั้น องค์สมเด็จพระโลกเชษฐสุชาตะสัมมาสัมพุทธเจ้า เมื่อจะทรงอนุโมทนา จึงมีพระพุทธฎีกาดำรัสพยากรณ์ว่า
พระ บรมจักรพรรดิภิกษุนี้ นานไปในกาลอนาคตภายหน้าจักได้ตรัสเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์หนึ่ง ทรงพระนามว่า พระศรีศากยมุนีโคดม ในภัทรกัปที่จักมีปรากฎในอนาคตกาล

ครั้น ได้สดับพระพุทธฎีกาพยากรณ์ฉะนี้ หน่อพระชินสีห์บรมจักพรรดิภิกษุโพธิสัตว์ผู้ทรงพุทธบารมี ก็มีจิตยินดีปลาบปลื้ม สู้อุตสาหะตั้งหน้าศึกษาคันธะธุระ พระปริยัติธรรม และบำเพ็ญพระสมถกรรมฐาน ไม่นานก็ถึงแก่ชีพิตักษัย ไปบังเกิดเป็นเทพบุตรสุดประเสริฐในสุคติภูมิแดนสุขาวดี


๑๓. สมเด็จพระปิยทัสสีอุบัติ

ครั้นศาสนาของสมเด็จพระมิ่งมงกุฎสุชาตะสัมพุทธเจ้าล่วงไปนานแล้ว จึงสิ้นกาลแห่งมัณฑกัปนั้น ครั้นสิ้นกาลปัณฑกัป ที่มีพระพุทธเจ้ามาตรัสสองพระองค์ดังกล่าวแล้ว เมื่อขึ้นกัปใหม่ต่อมา ก็น่าอนาถนักหนา เพราะว่าเป็นสุญกัปเสียทั้งสิ้น ไม่มีสมเด็จพระพุทธเจ้าเสด็จมาอุบัติตรัสในโลกเลยสักพระองค์เดียว นับเป็นเวลานานยืดยาวเป็นที่สุด ถึง ๖๐,๐๐๐ กว่ามหากัป นับว่าโลกเรานี้ว่างเว้นจากพุทธกาลมานานมิใช่น้อย ทำให้สัตว์ทั้งหลายต้องพลอยประลัยจากมรรคผล ไม่มีบุคคลใดใครผู้หนึ่งสามารถลุถึงธรรมวิเศษ คือ อมตมหานฤพานในกาลอันยาวนานนี้ได้ คราวนี้ จึงมี วรกัปหนึ่ง บังเกิดขึ้น ปรากฎมีสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า มาตรัสเรียงลำดับกันจำนวน ๓ พระองค์คือ
๑. สมเด็จพระมิ่งมงกุฎปิยทัสสีพุทธเจ้า
๒. สมเด็จพระมิ่งมงกุฎอัตถทัสสีพุทธเจ้า
๓. สมเด็จพระมิ่งมงกุฎธรรมทัสสีพุทธเจ้า

ในกาลเมื่อสมเด็จพระมิ่งมงกุฎ ปิยทัสสี สัมมาสัมพุทธเจ้า เสด็จมาอุบัติตรัสในโลกนั้น พระองค์ทรงบำเพ็ญพระพุทธจริยา ประกาศศาสนธรรมคำสอน ยังประชากรทั้งหลายให้ได้ดื่มอมตรส ให้บรรลุธรรมวิเศษเป็นอันมากแล้ว

กาลครั้งนั้น พระบรมโพธิสัตว์เจ้าของเราได้สืบปฏิสนธิถือกำเนิดในตระกูลพราหมณ์ มีนามว่า กัสสปะมาณพ ได้ศึกษาเล่าเรียนจบไตรเพทางคศาสตร์ศิลป์อยู่เป็นสุข กาลวันหนึ่ง กัสสปะมาณพหนุ่มผู้ได้มีโอกาสไปสู่สำนักขององค์สมเด็จพระปิยทัสสีบรมศาสดา ได้สดับมธุรธรรมมีกถา ก็มีดวงกมลกอปรด้วยศรัทธาปราโมทย์ จึงกลับไปยังเรือนตน ให้ขนเอาทรัพย์สมบัติออกมาหลายโกฎิ แล้วให้สร้างอารามแห่งหนึ่งอุทิศถวายแด่พระอริยสงฆ์ ซึ่งมีองค์สมเด็จพระบรมศาสดาเป็นประธาน ด้วยดวงจิตอาจหาญในกุศลสัมมาปฏิบัติ

บัดนั้น องค์สมเด็จพระโลกเชษฐ์ปิยทัสสีสัมมาสัมพุทธเจ้า เมื่อจะทรงอนุโมทนาจึงมีพระพุทธฎีกาพยากรณ์ว่า
"กัส สปะมาณพผู้นี้ นานไปในอนาคตกาล จักได้ตรัสเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าองค์หนึ่ง ทรงพระนามว่า พระศรีศากยมุนีโคดมในภัทรกัปหนึ่ง อันจักปรากฎมีในอนาคตกาล"
สม เด็จพระปิยทัสสีศาสดาจารย์ ครั้นดำรัสพระพุทธพยากรณ์ ฉะนี้แล้ว ก็ทรงกระทำพุทธกิจโปรดเวไนยสัตว์อยู่จนถึงอวสานกาลแล้ว ก็เสด็จดับขันธ์ปรินิพพานล่วงไป ฝ่ายกัสสปมาณพก็อุตสาหะอบรมบ่มบารมีเพื่อพระปรมาภิเษกสัมโพธิญาณ เมื่อสิ้นอายุกษัยกาลก็มีสุคตเป็นที่ไปในเบื้องหน้า
หัวข้อ: Re: มุนีนารถทีปนี การตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า โดย พระพรหมโมลี วิลาศ ญาณวโร
เริ่มหัวข้อโดย: Wisdom ที่ กุมภาพันธ์ 21, 2012, 12:14:43 PM
๑๔. สมเด็จพระอัตถทัสสีอุบัติ
กาล เมื่อ ศาสนาของสมเด็จพระมิ่งมงกุฎพระปิยทัสสีสัมมาสัมพุทธเจ้า เสื่อมสูญหมดสิ้นไปแล้ว โลกก็ว่างจากพระบวรพุทธศาสนาอยู่เป็นเวลานานได้พุทธันดรหนึ่ง แล้วจึงมีสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จมาอุบัติตรัสในโลกอีกองค์หนึ่ง ทรงพระนามว่า สมเด็จพระมิ่งมงกุฎอัตถทัสสีสัมมาสัมพุทธเจ้า พระองค์ทรงเป็นพระบรมไตรโลกนาถ ทรงสามารถนำสัตว์ทั้งปวงให้ล่วงพ้นจากทุกข์ภัยในวัฏสงสาร ทรงประทานอมตธรรมคุณพิเศษให้แก่พุทธเวไนยเป็นอันมากแล้ว

กาลครั้งนั้น พระบรมโพธิสัตว์เจ้าของเราได้สืบปฏิสนธิถือกำเนิดเป็นมนุษย์ในตระกูลพรหมณ์ มหาศาล มีนามว่า สุสิมะพราหมณ์ ครั้นเจริญวัยเติบโตใหญ่ขึ้นมา มีจิตยินดีในบรรพชาเพศ จึงสละทรัพย์สมบัติที่ตนมีอยู่ ออกทำบุญให้ทานแก่คนที่ต้องการทรัพย์สินอันมิค่อยจะมีสาระนักจนหมดสิ้น แล้วจึงมุ่งหน้าเข้าป่าใหญ๋ไปบวชเป็นดาบส บำเพ็ญพรตพระพรหมจรรย์จนบรรลุอภิญญาฌานสมบัติ ปรากฎว่าเป็นผู้มีมหิทธิศักดานุภาพเหาะเหิรเดินอากาศได้ ทั้งมีใจยินดีเที่ยวจาริกไปในเทวโลกสวรรค์สองชั้นฟ้า คือ สวรรค์ชั้นจาตุมหาราชิกาและสวรรค์ชั้นไตรตรึงษ์ และมีปรีชาฉลาดสามารถแสดงกุศลให้ประชาชนเข้าใจได้ง่าย ทั้งได้นำเอาลายลักษณ์พระพุทธบาทมาทำเป็นพระพุทธบาทเจดีย์ ให้เป็นที่สักการะบูชาของมหาชน เพื่อให้ก่อเกิดเป็นอีกส่วนหนึ่งด้วย

เมื่อสมเด็จพระอัตถทัสสีเสด็จมาตรัสในโลก และกำลังทรงโปรดประทานพระสัทธรรมเทศนาแก่หมู่มหาชนอยู่นั้น วันหนึ่ง สุสิมะมหาฤาษีได้มีโอกาสสดับมธุรธรรมีกถา แล้วเกิดศรัทธาปสาทะเป็นอย่างยิ่ง จึงเหาะขึ้นไปสู่สวรรค์เทวโลกด้วยอำนาจฌานอภิญญา นำเอาดอกมณฑาทิพย์ปทุม และดอกปาริชาติมาสู่มนุษยโลกนี้ แล้วโปรยทิพยบุปผาชาติเหล่านั้นให้ตกลงมาบูชาพระผู้มีพระภาคเป็นอันมากแล้ว จึงถือเอาก้านทิพยมณฑาใหญ่ดอกหนึ่ง ชูชึ้นกางกั้นทำเป็นฉัตรบูชาสมเด็จพระอัตตทัสสีบรมศาสดาจารย์ ซึ่งกำลังทรงแสดงพระสัทธรรมเทศนาอยู่

ครั้นสมเด็จพระบรมครูผู้ทรงพระคุณอันประเสริฐแสดงพระธรรมเทศนาจบแล้ว จึงมีพระพุทธดำรัสพยากรณ์ว่า
"สุ สิมะมหาฤาษีผู้นี้ นานไปในอนาคต จักได้ตรัสเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์หนึ่ง ทรงพระนามว่า พระศรีศากยมุนีโคดม ในภัทรกัปหนึ่ง อันจักมีปรากฎในอนาคตกาลภายภาคหน้า"
สมเด็จ พระอัตถทัสสีบรมศาสดาจารย์ ครั้นทรงมีพระพุทธบรรหารพยากรณ์พระบรมโพธิสัตว์สัตว์เจ้าของเราด้วยประการ ฉะนี้แล้ว ก็ทรงกระทำพุทธกิจประดิษฐานพระพุทธศาสนาโปรดประชานิกรพุทธเวไนยทั้งหลาย เมื่อถึงอวสานกาลแล้วก็เสด็จดับขันธ์ปรินิพพานล่วงไป ฝ่ายสุสิมะมหาฤาษีบรมโพธิสัตว์เจ้าก็อุตสาหะอบรมบ่มบารมีเพื่อพระปรมาภิเษก สัมโพธิญาณอันยิ่งใหญ่ ครั้นถึงแก่ชีพิตักษัยแล้ว ก็ขึ้นไปอุบัติเกิดเป็นพระพรหมผู้วิเศษ ณ พรหมโลก

๑๕. สมเด็จพระธรรมทัสสีอุบัติ

เมื่อศาสนาของสมเด็จมิ่งมงกุฎอัตตทัสสีสัมมาสัมพุทธเจ้าเสื่อมสูญหมดสิ้นไป แล้ว โลกก็ว่างเปล่าจากพระบวรพุทธศาสนาอยู่เป็นเวลานาน นับได้ พุทธันดร หนึ่งคือระหว่างพระพุทธเจ้าพระองค์หนึ่งกับอีกพระองค์หนึ่งต่อกัน ครั้งนี้ จึงมีสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จมาอุบัติตรัสในโลกอีกพระองค์หนึ่ง ทรงพระนามว่า สมเด็จพระมิ่งมงกุฎ ธรรมทัสสีสัมมาสัมพุทธเจ้า พระองค์ทรงเป็นพระบรมไตรโลกนาถเมื่อทรงอุบัติขึ้นแล้ว ก็ทรงสามารถนำสัตว์ทั้งหลายให้พ้นทุกข์ภัยในวัฏสงสาร ทรงประทานอมตธรรมคุณพิเศษให้แก่พุทธเวไนยเป็นอันมากแล้ว

กาลครั้งนั้น พระบรมโพธิสัตว์เจ้าของเราได้สืบปฏิสนธิถือกำเนิดเป็นเทพเจ้า สมเด็จพระอมรินทราธิราช หรือที่เรียกให้รู้กันง่ายๆ ในหมู่ชาวเราว่า พระอินทร์ คราวหนึ่ง พระองค์มีเทพบริษัทแวดล้อมเป็นบริวาร เสด็จลงมาจากเทววิมาน นำนานาทิพย์สักการะมาบูชาสมเด็จพระธรรมทัสสีบรมโลกุตตมาจารย์ ในมหาสมัยคราวประชุมใหญ่แห่งปวงเทพยดา

คราวนั้น องค์สมเด็จพระสรรเพชญธรรมทัสสีมหามุนีนาถ จึงทรงออกโอษฐ์ประกาศเป็นพระพุทธพยากรณ์ว่า
"สมเด็จ พระอมรินทรเทวราชนี้ นานไปในอนาคตกาล จักได้ตรัสเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์หนึ่ง ทรงพระนามว่า พระศรีศากยมุนีโคดม ในภัทรกัปหนึ่งอันจักปรากฏมีในอนาคตภายภาคหน้า"
เมื่อ ได้ทรงสดับพระพุทธฎีกาพยากรณ์เช่นนี้ องค์ท้าวโกสีย์ผู้บรมโพธิสัตว์ก็มีจิตโสมนัส เต็มไปด้วยความปลาบปลื้มเป็นล้นพ้น แล้วก็ถวายบังคับมนัสการลาสมเด็จพระธรรมทัสสีบรมศาสดาจารย์ พาเทพบริวารกลับไปยังไพชยนตปราสาทพิมานแห่งตน


๑๖. สมเด็จพระสิทธัตถะอุบัติ

ครั้นศาสนาของสมเด็จพระมิ่งมงกุฎธรรมทัสสีสัมมาสัมพุทธเจ้าเสื่อมสูญล่วงไป แล้ว โลกก็ว่างเปล่าจากพระพุทธศาสนาจนสิ้นอายุแห่งวรกัปนั้น เมื่อวรกัปนั้นล่วงไปแล้ว ขึ้นมหากัปใหม่ต่อมา ก็เป็นสุญมหากัป อีก ๒๔ กัป ซึ่งหมายความว่าโลกต้องมืดมนอนธการ ต้องสูญเปล่าจากพระอมตธรรม ไม่ม่ใครสามารถนำตนให้พ้นทุกข์ภัยในวัฏสงสารได้ เป็นเวลานานถึง ๒๔ มหากัป เพราะเป็นสุญกัปไม่มีสมเด็จพระพุทธเจ้ามาตรัสในโลกเลยสักองค์เดียว เมื่อโลกเว้นว่างห่างจากพระพุทธกาลมาเป็นเวลาช้านานด้วยประการฉะนี้แล้ว คราที่นั้น จึงมีสารกัป หนึ่งบังเกิดขึ้น ก็สารกัปนี้ เราท่านทั้งหลายก็คงทราบได้ดีแล้วว่า เป็นมหากัปที่ทรงไว้ซึ่งพระพุทธเจ้าพระองค์เดียวเท่านั้น ในสารกัปที่กำลังกล่าวถึงอยู่นี้ ก็เช่นเดียวกัน คือมีสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จมาอุบัติตรัสในโลกเพียงพระองค์เดียว ได้แก่สมเด็จพระมิ่งมงกุฎ สิทธัตถะ สัมมาสัมพุทธเจ้า เมื่อพระองค์ทรงอุบัติขึ้นแล้ว ก็ทรงบำเพ็ญพระพุทธจริยาประกาศศาสนธรรมคำสอน ยังพุทธเวไนยนิกรทั้งทวยเทพแลมนุษย์ให้ได้ดื่มอมตรสเป็นจำนวนมากแล้ว

กาลครั้งนั้น พระบรมโพธิสัตว์เจ้าของเราได้สืบปฏิสนธิถือกำเนิดเป็นมนุษย์ในตระกูลพราหมณ์ มหาศาลประกอบด้วยยศบริวารมากหลาย ปรากฎนามว่า มังคะมาณพ ได้เล่าเรียนจนจบวิชาไตรเพทางคศาสตร์ ภายหลังมาพิจารณาเห็นว่า ทั้งวิชาไตรเพทและทรัพย์สมบัติอันมหาศาลเป็นของมีสาระน้อย จึงสละทรัพย์สมบัติของตนให้เป็นทานแก่คนยากจนอนาถาเสียจนหมดสิ้น ประกอบด้วยมหิทธิศักดานุภาพสามารถเหาะเหินเดินอากาศได้ทุกเวลาตามใจปรารถนา วันหนึ่งได้เหาะมาจากอาศรมของตน เข้าไปฟังธรรมในสำนักขององค์สมเด็จพระชินสีห์สิทธัตถะสัมมาสัมพุทธเจ้า มีปสาทะเลื่อมใสศรัทธาเป็นอันมาก จึงได้รีบเหาะไปโดยเวหาหาวจนถึงฟากฟ้าป่าหิมพานต์แดนไกล แล้วเลือกเก็บเอาผลชมพู่ลูกหว้ามาถวายสมเด็จพระพุทธองค์พร้อมกับพระอริยสงฆ์ สาวกทั้งหลาย ด้วยดวงใจกอรปด้วยศรัทธาปสาทะเป็นที่ยิ่ง

คราวนั้น องค์สมเด็จพระมิ่งมงกุฎสิทธิตถะบรมศาสดา เมื่อจะทรงกระทำอนุโมทนา จึงมีพระพุทธฎีกาพยากรณ์ว่า
"มัง คะดาบสนี้ นานไปในอนาคตกำหนดได้ ๙๔ มหากัปแต่กาลนี้ไป จักได้ตัเป็นพระสัพพัญญูสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์หนึ่ง ทรงพระนามว่า พระศรีศากยมุนีโคดม ในภัทรกัปหนึ่งดังปรากฎจักมีในอนาคตภายภาคหน้า"
ครั้น ได้สดับพระพุทธพยากรณ์ฉะนี้ มังคะมหาฤาษีผู้บรมโพธิสัตว์ ก็มีจิตโสมนัสยินดีเป็นที่สุด หวังจักได้พระพุทธภูมิอันประเสริฐ จึงเกิดวิริยะอุตสาหะอบรมบ่มพระบารมีเพื่อปรมาภิเษกสัมโพธิญาณ เมื่อถึงกาลสิ้นชีพหมดอายุแล้ว ก็ไปอุบัติเกิดเป็นพระพรหมวิเศษ ณ พรหมโลก



๑๗. สมเด็จพระติสสะพุทธเจ้า

ครั้นศาสนาของสมเด็จพระมิ่งมงกุฎสิทธัตถะสัมมาสัมพุทธเจ้าล่วงไปแล้ว จึงสิ้นกาลแห่งสารกัปนั้น เมื่อกาลแห่งสารกัปนั้นหมดสิ้นไปแล้ว พอเริ่มต้นกัปใหม่ ก็กลายเป็นสุญกัป ไม่มีสมเด็จพระพุทธเจ้ามาตรีสเสียอีก ๒ มหากัป จึงทำให้โลกเรานี้ว่างเว้นห่างจากพุทธกาลมาช้านานแล้ว ที่นั้นจึงมี มัณฑกัป หนึ่งบังเกิดขึ้น ทรงไว้ซึ่งพระพุทธเจ้า ๒ พระองค์ คือ
๑. สมเด็จพระมิ่งมงกุฎติสสะพุทธเจ้า
๒. สมเด็จพระมิ่งมงกุฎมหาปุสสะพุทธเจ้า
ใน กาลเมื่อสมเด็จพระมิ่งมงกุฎพระติสสะสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จมาอุบัติตรัสในโลก แล้ว พระองค์ก็ทรงบำเพ็ญพระพุทธจริยา ทรงประกาศพระบวรพุทธศาสนาอันประเสริฐ ให้เกิดความสว่างไสวในดวงใจของพุทธเวไนยทั้งหลาย ทั้งให้ได้ดื่มอมตรสสันติบทคือพระนฤพานเป็นอันมากนัก

กาลครั้งนั้น พระบรมโพธิสัตว์เจ้าของเราได้สืบปฏิสนธิถือกำเนิดเป็นมนุษย์ในตระกูล กษัตริย์ ดำรงอยู่ในราชสมบัติปรากฎพระนามว่า สมเด็จพระเจ้าสุชาตะมหาราช อยู่ในกรุงยศวดีมหานคร มีพระเกียรติปรากฎขจรไปทั่วทุกทิศ ทรงประกอบด้วยกำลังทรัพย์ กำลังพลและกำลังพระปัญญา ไม่มีใครจักเปรียบได้ ถึงกระนั้น พระองค์ก็ไม่พอพระทัยยินดีที่จะครองฆราวาสวิสัย ภายหลังจึงได้ทรงสละราชสมบัติอันมหาศาลดุจถ่มพระเขฬะทิ้งลงบนพื้นปฐพี มิได้มีจิตอาลัยใยดี เสด็จไปทรงบรรพชาเป็นดาบสอยู่ในป่าใหญ่ ไม่ช้าก็ได้สำเร็จอภิญญาฌานสมาบัติ มีมหิทธิศักดานุภาพจนหาผู้เสมอเหมือนมิได้

วันหนึ่ง ท่านสุชาตะดาบสโพธิสัตว์มีโอกาสเข้าไปสดับพระธรรมเทศนาในสำนักองค์สมเด็จพระ โลกเชษฐติสสะสัมมาสัมพุทธเจ้า เกิดความเลื่อมใสสุดประมาณจึงเหาะทะบานขึ้นไปสู่สวนจิตรลดา บนดาวดึงษ์เทวโลก เลือกเก็บเอาดอกไม้ทิพยมณฑารพใส่ผอบกว้างใหญ่ด้วยอำนาจแห่งฌานวิสัย และนำมากระทำสักการะบูชาสมเด็จพระติสสะสัพพัญญูเจ้า ซึ่งกำลังทรงแสดงพระสัทธรรมเทศนาอยู่ในท่ามกลางพุทธบริษัท

เมื่อทรงแสดงพระธรรมเทศนาจบลงแล้ว องค์สมเด็จพระสรรเพชญ์ติสสะพุทธเจ้าบรมศาสดาจารย์ จึงทรงมีพระพุทธบรรหารพยากรณ์ว่า
"พระ สุชาตะดาบสนี้ นานไปอนาคตกำหนดได้ ๙๒ มหากัปแต่กาลนี้ไป จักได้ตรัสเป็นพระสัพพัญญูสัมมาสัมพุทธเจ้า พระองค์หนึ่งทรงพระนามว่า พระศรีศากยมุนีโคดม ในภัทรกัปหนึ่งอันจักปรากฎมีในอนาคตกาลภายภาคหน้า"
ครั้น ได้สดับพระพุทธพยากรณ์ฉะนี้ หน่อพระชินสีห์สุชาตะดาบสผู้มีพุทธภูมิบารมี ก็มีพระหฤทัยเกิดปรีดาปราโมทย์เป็นล้นพ้น หวังจักได้บรรลุผลอันวิเศษ คือพระปรมาภิเษกสัมโพธิญาณ จึงอุตสาหะบากบั่นอบรมบ่มพระบารมีให้แก่กล้าขึ้นไป ในกาลหมดอายุถึงแก่ชีพิตักษัยแล้ว ก็ไปอุบัติเกิดเป็นพระพรหมผู้วิเศษ เสวยพรหมสมบัติเป็นสุขอยู่ ณ พรหมโลก

๑๘. สมเด็จพระมหาปุสสะอุบัติ

เมื่อ ศาสนาของสมเด็จพระมิ่งมงกุฎพระติสสะสัมมาสัมพุทธเจ้าเสื่อมสูญหมดสิ้นไปแล้ว โลกก็ว่างเปล่าจากพระบวรพุทธศาสนาอยู่เป็นเวลานาน สิ้นกาลนับได้พุทธันดรหนึ่งแล้วคราที่นั้น จึงมีสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เสด็จมาอุบัติตรัสในโลกอีกพระองค์หนึ่งในมัณฑกัปนั้น ทรงพระนามว่า สมเด็จพระมิ่งมงกุฎ มหาปุสสะ สัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ทรงเป็นพระบรมไตรโลกนาถ เมื่อทรงอุบัติขึ้นแล้ว ก็ทรงประกาศพระศาสนา ยังประชาสัตว์ทั้งปวงให้พ้นจากทุกข์ภัยอันใหญ่หลวงในวัฎฎสงสาร ทรงประทานอมตธรรมคุณวิเศษตามสมควรแก่อุปนิสัย ให้แก่พุทธเวไนยเป็นอันมากแล้ว

กาลครั้งนั้น พระบรมโพธิสัตว์เจ้าของเราได้สืบปฏิสนธิถือกำเนิดเป็นมนุษย์ในขัตติยวงศ์ ทรงพระนามว่า สมเด็จพระเจ้าวิชิตบรมกษัตริย์ ครองราชสมบัติอยู่ในอรินทมะมหานครปกครองประชานิกรโดยทศพิธราชธรรม ทรงยังความสุขให้เกิดมีแก่ชาวประชาทุกถ้วนหน้า วันหนึ่งเมื่อได้ทรงสดับว่าสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงอุบัติขึ้นในโลก แล้ว จึงเสด็จเข้าไปเฝ้าถึงที่ประทับ ได้ทรงสดับพระธรรมเทศนาแล้ว ทรงมีพระกมลผ่องแผ้วเลื่อมใสอย่างสุดซึ้ง จึงทรงสละราชสมบัติอันมหาศาล ออกบรรพชาเป็นพระพุทธสาวกในสำนักของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว ก็ทรงบำเพ็ญคันถธุระ คือศึกษาในพระไตรปิฎกจนแตกฉาน ได้รับขนานนามว่า พระเตปิฎกธราจารย์ คืออาจารย์ผู้ทรงไว้ซึ่งพระไตรปิฎก เป็นพระธรรมกถึกผู้แสดงธรรมคล่องแคล่วยิ่งนัก เป็นที่เคารพเลื่อมใสของชาวประชาทั่วไป

ในกาลนั้น สมเด็จพระภควันต์มหาปุสสะผู้ทรงพระยศ จึงทรงเอื้อนโอษฐออกพระพุทธวาจาพยากรณ์ว่า
"พระ วิชิตขัตติยภิกขุหรือพระเตปิฎกธราจารย์นี้ นานไปในอนาคตกำหนดไว้ ๙๒ มหากัปแต่กาลนี้ไป จักได้ตรัสเป็นพระสัพพัญญูสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์หนึ่ง ทรงพระนามว่า พระศรีศากยมุนีโคดม ในภัทรกัปหนึ่ง อันจักปรากฎมีในอนาคตภายภาคหน้า"
ครั้น ได้สดับพระพุทธพยากรณ์ฉะนี้ หน่อพระชินสีห์วิชิตขัตติยภิกษุผู้โพธิสัตว์ก็มีจิตเต็มไปด้วยความโสมนัส ยินดี เป็นที่สุดดุจว่าตนจักได้ตรัสเป็นพระพุทธเจ้าในวันพรุ่ง จึงมุ่งหน้าอุตสาหะพยายามอบรมบ่มพระบารมีให้แก่กล้ายิ่งขึ้นไป เพื่อหวังจะได้สำเร็จพระปรมาภิเษกสัมโพธิญาณ กาลต่อมา เมื่อสิ้นอายุถึงแก่ชีพิตักษัย ก็มีสุคติเป็นที่ไปเบื้องหน้า

๑๙. สมเด็จพระวิปัสสีอุบัติ

ครั้นศาสนาสมเด็จพระมิ่งมงกุฎมหาปุสสะสัมมาสัมพุทธเจ้าเสื่อมสูญไปนานแล้ว จึงจะสิ้นอายุแห่งมัณฑกัป เมื่อมัณฑกัปนั้นล่วงไปแล้วก็ขึ้นกัปใหม่ต่อมา กาลครั้งนี้ นับว่าดีนักหนา เพราะว่าไม่มีสุญกัปมาคั่นเหมือนอย่างที่แล้วๆ มา มหากัปขึ้นต้นใหม่ต่อมานี้ มีชื่อว่า สารกัป เพราะมีสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จมาตรัสในโลกนี้เพียงพระองค์เดียว เท่านั้น ทรงพระนามว่า สมเด็จพระมิ่งมงกุฎ วิปัสสี สัมมาสัมพุทธเจ้า เมื่อพระองค์ทรงอุบัติแล้ว ก็ทรงบำเพ็ญพระพุทธจริยาทรงประกาศศาสนธรรมคำสอน ให้เวไนยนิกรทั้งทวยเทพยดาแลมนุษย์ได้ดื่มอมตรสบรรลุสันติบทคุณพิเศษ ตามควรแก่อุปนิสัยวาสนาบารมีแห่งตนๆ เป็นอันมากแล้ว

ครั้งนั้น พระบรมโพธิสัตว์เจ้าของเราได้สืบปฏิสนธิถือกำเนิดเป็น ภุชงคนาคราช เสวยนาคสมบัติ ในนาคพิภพ มีมหิทธิอำนาจใหญ่ไม่มีใครเทียม ทรงมหเศรศักดานุภาพมากมาย ประกอบด้วยยศบริวารไพศาล กาลวันหนึ่ง ได้สดับกิตติคุณบันลือว่า สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงอุบัติขึ้นในโลกแล้ว ก็มีหฤทัยเลื่อมใสจึงพาบรรดานาคนิกรน้อยใหญ่ออกจากนาคภิภพ มานอบนบนมัสการสมเด็จพระวิปัสสีศาสดาจารย์แล้ว จึงเนรมิตมณฑปใหญ่ ประดับไปด้วยแก้วเจ็ดประการโอฬารวิจิตรงดงามด้วยนาคฤทธิ์แล้ว จึงอาราธนาสมเด็จพระประทีปแก้วกับพระอริยสงฆ์สาวกทั้งหลาย ให้เข้าอาศัยแล้วถวายอาหาร และตั้งที่พระพุทธองค์ประทับนั่งเป็นพระพุทธอาสน์ด้วยปสาทเลื่อมใสนักหนา

คราที่นั้น จึงองค์สมเด็จพระสรรเพชญพระวิปัสสีมหามุนีนาถได้ทรงประกาศเป็นพระพุทธฏีกาพยากรณ์ว่า
"พญา ภุชงคนาคราชนี้ นานไปในอนาคตกำหนดได้ ๙๐ มหากัปแต่กาลนี้ไป จักได้ตรัสเป็นพระศรีศากยมุนโคดม ในภัทรกัปหนึ่ง อันจักปรากฎมีในอนาคตกาลภายภาคหน้า"
ครั้นได้สดับ พระพุทธพยากรณ์ฉะนี้ หน่อพระชินสีห์พญาภุชงคอุรคินทร์มีจิตยินดีโสมนัสสเป็นที่สุด แล้วกราบถวายบังคมลาสมเด็จพระพุทธองค์ พาบริวารกลับไปยังพิภพของตนเสวยนาคสมบัติเป็นสุขอยู่สิ้นกาลนาน


๒๐. สมเด็จพระสิขีอุบัติ

ครั้นศาสนาสมเด็จพระมิ่งมงกุฎวิปัสสีสัมมาสัมพุทธเจ้าเสื่อมสูญล่วงไปนาน แล้ว จึงจะสิ้นอายุแห่งสารกัปนั้น เมื่อกาลแป่งสารกัปล่วงไปแล้ว ก็เริ่มต้นขึ้นกัปใหม่ต่อไป แต่เป็นที่อนาถใจนักหนา เพราะว่ากัปใหม่ๆ ต่อไปนี้ กัปแล้วกัปเล่า ล้วนเป็นสุญกัป เสียทั้งสิ้น ไม่มีพระพุทธเจ้าเสด็จมาอุบัติตรัสในโลกเรานี้เลย ทำให้โลกต้องมืดบอดปลอดเปล่าจากพระสัทธรรมมรรคผลอมตมหานฤพาน สิ้นกาลช้านานถึง ๖๐ มหากัป คราที่นั้น จึงมี มัณฑกัป หนึ่งบังเกิดขึ้น ก็มัณฑกัปนั้น ท่านผู้มีปัญญาก็คงทราบแล้วว่า เป็นชื่อของกัปที่มีกำลังธารไว้ได้ซึ่งพระพุทธเจ้าสองพระองค์ หรือกล่าวให้ฟังกันง่ายๆ ก็ว่า ในมัณฑกัปนี้ ปรากำมีสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จอุบัติตรัสในโลก ๒ พระองค์
๑. สมเด็จพระมิ่งมงกุฎสิขีพุทธเจ้า
๒. สมเด็จพระมิ่งมงกุฎพระเวสสภูพุทธเจ้า
ก็ ในกาลเมื่อสมเด็จพระมิ่งมงกุฎ พระสิขีสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จมาอุบัติตรัสในโลกนั้น พระองค์ทรงมีพระมหากรุณาบำเพ็ญพระพุทธจริยา ทรงประกาศพระบวรศาสนา ยังประชาสัตว์ทั้งทวยเทพและมนุษย์มากมายสุดประมาณให้ได้ดื่มซึ่งอมตรสให้ถึง ซึ่งสันติบท คือพระนิพพาน พระองค์ทรงเป็นพระบรมโลกกุตมาจารย์ ประทานโลกุตตรสมบัติอันสูงสุดให้แก่ปวงมนุษย์และเทพยดาทั้งหลาย ยังความสว่างไสวให้ปรากฎขึ้นในดวงหฤทัยอันมืดบอดของชาวโลกทั้งผอง พระองค์ทรงดำรงพระยศและท่านหาที่สุดมิได้ ทรงเป็นที่เคารพเลื่อมใสอย่างสุดซึ้งของบรรดาพุทธเวไนยนิกร ทรงประทานพระโอวาทคำสอนเป็นอันมากแล้ว

กาลครั้งนั้น พระบรมโพธิสัตว์เจ้าของเราได้สืบปฏิสนธิถือกำเนิดเป็นมนุษย์ในขัตติยตระกูล ทรงพระนามว่า สมเด็จพระเจ้าอรินทมะราชาธิราช ทรงมีมหิทธิอำนาจราชบริวาร และพระอิสสริยยศอันยิ่งใหญ่อุดมไปด้วยทรัพย์ศฤงคาร วันหนึ่งทรงมีโอกาสพบสมเด็จพระสรรเพชญ์สิขีสัมพุทธเจ้า แล้วมีพระทัยกอปรด้วยความเลื่อมใสเป็นอันมาก จึงได้ทรงบริจาคไตรจีวร ทานถวายแด่พระอริยสงฆ์ มีองค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าเป็นประธาน แล้วจึงทรงบริจาคทรัพย์ รับสั่งให้นายช่างผู้มีฝีมือเลิศสร้างเป็นรูปพญาหัสดินกใหญ่แล้วไปด้วยมณี มัยแก้วอันมีค่าเจ็ดประการ ตัวใหญ่ประมาณเท่าพญาช้างฉัททันต์เสร็จแล้วจึงทรงอุทิศเป็นวรามิสเครื่อง บูชา แด่องค์สมเด็จพระสิขีสัมมาสัมพุทธเจ้า พร้อมกับถวายสมณบริขารแก่พระอริยสงฆ์อีกมากมายนักหนา

คราที่นั้น องค์สมเด็จพระสรรเพชญ์สิขีบรมครูเจ้า เมื่อจะทรงอนุโมทนาแก่พระบรมกษัตริย์ จึงมีพุทธดำรัสพยากรณ์ว่า
"พระ เจ้าอรินทมะมหาราชนี้ นานไปในอนาคตกำนหดได้ ๓๑ มหากัปแต่กัปนี้ไป จักได้ตรัสเป็นพระสัพพัญญูสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์หนึ่ง ทรงพระนามว่า พระศรีศากยมุนีโคดมในภัทรกัปหนึ่ง อันจักมีปรากฎในที่สุดแห่ง ๓๑ มหากัป ในอนาคตภายภาคหน้า"
สมเด็จพระโลกเชษฐสิขีบรมศาสดา จารย์ ครั้นทรงโปรดประทานพระพุทธฎีกาพยากรณ์แก่พระเจ้าอรินทมะราชาธิราชดังนี้แล้ว องค์พระประทีปแก้วบรมครูเจ้าก็ทรงพระมหากรุณาบำเพ็ญพระพุทธกิจอยู่จนตลอดกาล อวสาน แล้วก็เสด็จดับขันธ์ปรินิพพานล่วงไป

ฝ่ายสมเด็จพระเจ้าอรินทมะราชาผู้โพธิสัตว์ ครั้นได้ลัทธยาเทศคำพยากรณ์จากสำนักของพระผู้มีพระภาคเจ้าฉะนี้ ก็เกิดความยินดีปรีดาปราโมทย์เป็นหนักหนา จึงตั้งพระทัยอุตสาหะพยายามสร้างสมอบรมบ่มพระบารมีให้ยิ่งขึ้นไปอีก ด้วยมีพระราชประสงค์จำนงมั่นแก่พระปรมาภิเษกสัมโพธิญาณในอนาคตกาลภายภาคหน้า ตามพระพุทธฎีกาพยากรณ์ของพระสิขีบรมศาสดาจารย์ เมื่อถึงกาลสวรรคตแล้วก็มีสุคติเป็นที่ไปในเบื้องหน้า

๒๑. สมเด็จพระเวสสภูอุบัติ

เมื่อศาสนาของสมเด็จพระมิ่งมงกุฎพระสิขีสัมมาสัมพุทธเจ้า เสื่อมสูญสิ้นไปแล้ว โลกก็ว่างเปล่าจากพระบวรพุทธศาสนาอยู่เป็นเวลาช้านาน สิ้นกาลนับได้ พุทธันดร หนึ่งแล้ว คราที่นั้น จึงมีสมเด็จพระชินสีห์สัมมาสัมพุทธเจ้า เสด็จมาอุบัติตรัสในโลกอีกพระองค์หนึ่ง ภายในมัณฑกัปนั้นเอง สมเด็จพระพุทธเจ้าพระองค์ใหม่ที่เรากำลังกล่าวถึงกันอยู่นี้ ทรงพระนามว่าสมเด็จพระมิ่งมงกุฎ เวสสภู สัมมาสัมพุทธเจ้า พระองค์ทรงเป็นพระบรมไตรดลกนาถ เมื่อทรงอุบัติขึ้นแล้ว ก็ทรงมีพระมหากรุณาบำเพ็ญพระพุทธจริยา ทรงประกาศพระบวรพุทธศาสนายังประชาสัตว์ทั้งหลายให้พ้นจากทุกข์ภัยอันใหญ่ หลวงในวัฏสงสาร ทรงประทานอมตธรรมคุณวิเศษตามสมควรแก่อุปนิสสัยให้แก่พุทธเวไนยนิกรทั้งปวง เป็นอันมาก

กาลครั้งนั้น พระบรมโพธิสัตว์เจ้าของเราได้สืบปฏิสนธิถือกำเนิดในขัตติยราชตระกูล ณ กรุงสรกวดีมหานคร เมื่อสมเด็จพระชนกาธิราชเสด็จสวรรคตแล้วก็ได้เสวยราชสมบัติ ทรงพระนามว่า สมเด็จพระเจ้าสุทัสสนะมหาราช พระองค์ทรงมีมหิทธิอำนาจยิ่งใหญ่ แผ่ไปทั่วพื้นปฐพีแว่นแคว้น ทรงปกครองอาณาประชานิกรให้ได้รบความผาสุกทุกถ้วนหน้า ด้วยทรงมีพระปรีชาแลาด มีน้ำพระทัยองอาจมั่นคงในการประกอบกุศลกรรมให้ส่ำสัตว์ได้รับสุขโดยทศพิธ ราชธรรม

วันหนึ่งได้ทรงสดับกิตติคุณบันลือว่า สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จอุบัติขึ้นในโลกแล้ว ก็มีพระกมลผ่องแผ้วมากไปด้วยความโสมนัสยินดี รีบเสด็จไปยังที่ๆ องค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ ครั้นได้ทรงสดับพระธรรมเทศนาที่พระบรมครูเจ้าทรงแสดงโปรดก็ยิ่งทรงปรีดา ปราโมทย์เป็นล้นพ้นนิมนต์พระอริยสงฆ์มีองค์สมเด็จพระเวสสภูเจ้าเป็นประธาน ให้เข้าไปรับภัตตาหารในพระราชวังในวันรุ่งขึ้น แล้วก็ทรงถวายไตรจีวรสมณบริขารอื่นอีกเป็นอันมาก เท่านั้นยังไม่สมกับพระราชศรัทธา จึงรับสั่งให้หานายช่างฝีมือเอกมาเสกสรรสร้างพระคันธกุฎีเป็นที่ประทับของ สมเด็จพระพุทธองค์ โดยมีวิหารอันเป็นที่พักอยู่ของพระอริยสงฆ์ แวดล้อมพระคันธกุฎีนั้นเป็นอันมาก แล้วทรงอุปัฏฐากบำรุงด้วยจตุปัจจัยมิได้ขาด จำเนียรกาลนานมา พระราชศรัทธาก็แก่กล้าขึ้นเรื่อยๆ ในที่สุด พระองค์ได้สละราชสมบัติออกทรงผนวชเป็นภิกษุในสำนักแห่งสมเด็จพระเวสสภูบรม ครูเจ้าเพื่อทรงบำเพ็ญพระพุทธบารมี

คราที่นั้น องค์สมเด็จพระสรรเพชญ์เวสสภูบรมโลกนายกจึงตกพระโอษฐออกพระวาจาเป็นพระพุทธพยากรณ์ว่า
"สุ ทัสสนะบรมขัตติยภิกษุนี้ นานไปในอนาคต กำหนดได้ ๓๑ มหากัปแต่กัปนี้ไป จักได้ตรัสเป็นพระสัพพัญญูสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์หนึ่ง ทรงพระนามว่า พระศรีศากยมุนีโคดม ในภัทรกัปหนึ่งอันจักปรากฎมีในอนาคตภายภาคหน้า"
ครั้น ได้สดับพระพุทธพยากรณ์ฉะนี้ หน่อพระชินสีห์สุทัสสนะภิกษุผู้โพธิสัตว์ก็มีจิตโสมนัสยินดี ครั้นถึงแก่ชีพิตักษัยก็มีสุคติเป็นที่ไปในเบื้องหน้า ด้วยประการ ฉะนี้
หัวข้อ: Re: มุนีนารถทีปนี การตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า โดย พระพรหมโมลี วิลาศ ญาณวโร
เริ่มหัวข้อโดย: Wisdom ที่ กุมภาพันธ์ 21, 2012, 12:15:24 PM
ภัทรกัป

ลำดับนี้ ก็ถึงระยะเวลาที่เรียกว่า ภัทรกัป ซึ่งเป็นมหากัปสำคัญกันเสียที ก่อนอื่น ก็ใคร่ที่จะกล่าวว่า บรรดาเราท่านทั้งหลายที่ได้ติดตามการสร้างพระบารมีเพื่อพระปรมาภิเษกสัมโพธิ ญาณ แห่งองค์สมเด็จพระศรีศากยมุนีโคดมบรมศาสดาจารย์ของเรา มาจนถึงเพียงนี้แล้ว เป็นอย่างไร เห็นแล้วหรือยังว่า สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ทรงเป็นพระบรมศาสดาของเรานั้น กว่าจะได้มีโอกาสมาอุบัติตรัสในโลกและทรงประทานพระโอวาทนนุสาสนี ให้เราท่านทั้งหลายได้ประพฤติปฏิบัติกันอยู่ทุกวันนี้ พระองค์ต้องทรงสร้างพระบารมีมาเป็นเวลาช้านาน และยากลำบากนักหนาใช่หรือไม่เล่า

การที่กล่าวแทรกไว้ คล้ายกับจะแกล้งให้เรื่องหยุดชะงักเสียชั่วครู่ ในตอนนี้ความจริงไม่มีอะไร เพียงแต่มาคิดเอาเองว่า หากจะพรรณนาเรื่อยๆ ไปก็ย่อมทำได้ แต่ให้เป็นห่วงอยู่ว่าเรื่องการสร้างพระบารมีที่พรรรณนานี้ เท่าที่ผ่านมาแล้ว ก็เป็นเวลามากมายหลายมหากัปนักหนา ว่าเป็นมหากัปนั้นบ้าง มหากัปนี้บ้าง ซึ่งค่อนข้างจะจำได้ยากสักหน่อย ถ้าไม่ค่อยพิจารณาให้ดีก็เห็นทีจะสับสน คืออาจทำให้งงๆ ไปบ้างก็ได้ "ฮั้ย! นี่มันผ่านกัปอะไรต่อมิอะไรมาบ้างแล้วล่ะ และเมื่อไรจะสิ้นสุดถึงกัปที่ได้ทรงตรัสรู้กันเสียที" ด้วยเหตุนี้ จึงหยุดเล่าเสียชั่วครู่แล้ว ตั้งใจจะบอกให้รู้ว่า บัดนี้ถึงมหากัปที่สำคัญแล้ว ขอให้คอยสังเกตจดจำให้ดี เอาละ เมื่อได้หยุดพักออกนอกเรื่องมาพอสมควรแล้ว ทีนี้ ก็จะได้กล่าวถึงเรื่องการสร้างพระบารมีขององค์สมเด็จพระผุ้มีพระภาคเจ้าสืบ ต่อไป

ดำเนินความว่า เมื่อศาสนาแห่งองค์สมเด็จพระมิ่งมงกุฎ พระเวสสภู สัมมาสัมพุทธเจ้า เสื่อมสูญล่วงไปนานแล้ว จึงจะสิ้นอายุแห่งมัณฑกัป ที่กล่าวมาแล้วนั้นล่วงไปแล้ว ก็เริ่มต้นขึ้นกัปใหม่ต่อมา แต่ก็ล้วนสูญเปล่าเป็นสุญกัป เสียทั้งสิ้น ไม่มีองค์พระชินสีห์สัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จมาอุบัติตรัสในโลกเรานี้แต่สัก พระองค์เดียวเลย เป็นเวลาล่วงเลยนานถึง ๓๑ มหากัป นับว่าโลกต้องเว้นว่างห่างไกลสูญเปล่าจากพระบวรพุทธศาสนาอยู่นานนัก เมื่อสุญมหากัปทั้ง ๓๑ นั้น ล่วงไปโดยลำดับ คราที่นั้น จึงมาถึงมหากัปที่สำคัญ มหากัปที่สำคัญที่ว่านั้น ก็คือ มหากัปที่กำลังปรากฎอยู่ในปัจจุบันทุกวันนี้นั่นเอง

มหากัปที่กำลังปรากฎอยู่ในปัจจุบันนี้ มีชื่อเรียกว่า ภัททกัป หรือภัทรกัป ทำไมจึงเรียกว่า ภัทรกัป? ข้อนี้เห็นจะไม่ต้องพูดมาก เพราะได้เคยกล่าวไว้แล้ว หากจะให้กล่าวซ้ำอีกทีก็ต้องกล่าวว่า คำว่า ภัทรกัป หมายถึงกัปที่เจริญที่สุด เจริญยิ่งกว่าบรรดากัปอื่นๆ ทั้งหมด ไม่ว่ากับอะไรก็เจริญสู้ภัทรกัปนี้ไม่ได้ ต่อกาลนานนักหนาจึงจะปรากฎกัปเช่นนี้ขึ้นในโลกสักครั้งหนึ่ง ลองนึกทบทวนเถิด ตั้งแต่พรรณนามานี่เป็นเวลานานมิใช่น้อย แต่ยังไม่เคยมีภัทรกัปเลย เพิ่งจะมามีปรากฎเอาในตอนนี้เอง เหตุไรจึงถูกเรียกว่าเป็นกัปที่เจริญที่สุด ก็เพราะว่า เมื่อภัทรกัปนี้ปรากฎแล้ว ย่อมมีสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จมาอุบัติตรัสในระหว่างกัปนี้มากถึง ๕ พระองค์ทีเดียว เช่นในภัทรกัปที่กำลังถึงอยู่นี้ ก็มีสมเด็จพระพุทธเจ้าเสด็จมาอุบัติตรัสในโลกตามลำดับ ๕ พระองค์ คือ
๑. สมเด็จพระมิ่งมงกุฎกกุสันธะพุทธเจ้า
๒. สมเด็จพระมิ่งมงกุฎโกนาคมนะพุทธเจ้า
๓. สมเด็จพระมิ่งมงกุฏกัสสปะพุทธเจ้า
๔. สมเด็จพระมิ่งมงกุฎศรีศากยมุนีโคดมพุทธเจ้า คือองค์พระบรมศาสดาของเราท่านทุกวันนี้ และ
๕. สมเด็จพระมิ่งมงกุฏศรีอาริยเมตไตรยพุทธเจ้า ซึ่งจะมาตรัสในอนาคตกาลภายภาคหน้า
บัด นี้จะได้พรรรณนาถึงการสร้างพระบารมีขององค์สมเด็จพระศรีศากยมุนีโคดมบรมครู เจ้า ในตอนต้นแห่งภัทรกัปนี้ต่อไป ขอท่านผู้มีปัญญาทั้งหลาย จงตั้งใจศึกษาพิจารณาด้วยดี ดังต่อไปนี้

๒๒. สมเด็จพระกกุสันธะอุบัติ

กาลเมื่อสมเด็จพระมิ่งมงกุฎพระกกุสันธะสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จมาอุบัติตรัสใน โลกในตอนต้นภัทรกัปนั้น พระองค์ทรงเป็นพระบรมไตรโลกนาถ ด้วยทรงมีพระมหากรุณาในพระทัย ทรงบำเพ็ญพระพุทธจริยา ทรงประกาศพระบวรพุทธศาสนา อันเสื่อมสูญไปจากโลกนานนักหนาแล้ว ให้ปรากฎมีขึ้นเพื่อประชาสัตว์ทั้งหลายจักได้ดื่มอมตรสถึงสันติบทคือพระ นิพพาน พระองค์ทรงเป็นพระบรมโลกุตตมาจารย์ประทานโลกุตตรสมบัติอันสูงสุดให้แก่ปวง สัตว์เป็นอันมากแล้ว

ครั้งนั้น พระโพธิสัตว์เจ้าของเราได้สืบปฏิสนธิถือกำเนิดเป็นมนุษย์ในขัตติยราชวงศ์ เมื่อองค์สมเด็จพระบรมชนกาธิราชเสด็จสวรรคตแล้ว ก็ได้เสวยราชสมบัติทรงพระนามว่า สมเด็จพระเจ้าเขมะนราธิราช พระองค์ทรงมีมหิทธิอำนาจอันยิ่งใหญ่ ทรงปกครองไพร่ฟ้าประชาชนด้วยพระมหากรุณาดุจบิดากับบุตร เป็นที่สุดเคารพของปวงประชากร เพราะพรองค์ทรงดำรงอยู่ในทศพิธราชธรรรม วันหนึ่งทรงมีโอกาสพบสมเด็จพระโลกเชษฐกกุสันธะสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้ทรงสดับพระธรรมเทศนาแล้ว มีพระทัยโสมนัสเลื่อมใสนักหนา ตั้งแต่วันนั้นเป็นต้นมา ก็ทรงพระอุตสาหะเสด็จไปสดับพระธรรมเทศนาในสำนักแห่งองค์สมเด็จพระผู้มีพระ ภาคเป็นประจำทุกวันอุโบสถพร้อมกับได้ถวายทานในพระศาสนาเป็นอันมาก ต่อมาก็ทรงมีพระราชศรัทธายิ่งขึ้นเป็นลำดับ ในที่สุด ทรงสละราชสมบัติออกบรรพชาในสำนักแห่งพระบรมศาสดา ทรงพระอุตสาหะศึกษาพระปริยัติธรรมจนแตกฉานในพระไตรปิฎก ปรากฎพระคุณนามเป็นพิเศษว่า พระธรรมปิฎกธราธิราชภิกขุ เป็นที่เลื่อมใสของประชาชนทั้งหลาย ในสมัยนั้นเป็นอันมาก

กาลวันหนึ่ง สมเด็จพระสรรเพชญ์กกุสันธะบรมไตรโลกาจารย์จึงโปรดประทานพระพุทธฎีกาพยากรณ์ว่า
พระ เขมราชภิกขุนี้ เป็นนิยตโพธิสัตว์เที่ยงแท้ที่จะได้ตรัสเป็นพระสัพพัญญูสัมมาสัมพุทธเจ้า พระองค์หนึ่ง ทรงพระนามว่า พระศรีศากยมุนีโคดม ในอนาคตกำหนดนับเป็นลำดับที่ ๔ ในภัทรกัปนี้
ครั้นทรงกระทำพระพุทธพยากรณ์แก่ พระบรมโพธิสัตว์เจ้าซึ่งเป็นพระเขมราชภิกขุฉะนี้แล้ว สมเด็จองค์พระประทีปแก้วกกุสันธะสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ทรงบำเพ็ญพระพุทธกิจอยู่ จนตลอดอวสานกาลเมื่อประมาณพระชนมายุยืนถึงสี่หมื่นปี ก็เสด็จดับขันธปรินิพพานล่วงไป ฝ่ายหน่อพระชินสีห์เขมราชภิกขุผู้มีพระพทธบารมีญาณใกล้จะสำเร็จ เมื่อได้รับลัทธยาเทศคำพยากรณ์จากสมเด็จพระพุทธเจ้าผู้ทรงพระทศพลญาณก็มีกมล โสมนัสปรีดา อธิษฐานพุทธาภินิหารบารมีให้มั่นมากในขันธสันดาน สมาทานถือเที่ยงทศบารมีธรรมไม่เสื่อมคลาย ครั้นแตกกายทำลายขันธ์แล้ว ก็อุบัติเกิดเป็นเทพบุตรสุดประเสริฐ ณ สวรรค์เทวโลก

๒๓. สมเด็จพระโกนาคมนะอุบัติ

เมื่อศาสนาของสมเด็จพระมิ่งมงกุฎพระกกุสันธะสัมมาสัมพุทธเจ้าเสื่อมสูญหมด สิ้นไปแล้ว โลกก็ว่างเปล่าจากพระบวรพุทธศาสนาอยู่ชั่วระยะเวลานานสิ้นกาลได้ พุทธันดร หนึ่งแล้วจึงมีสมเด็จพระชินสีห์สัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จมาอุบัติตรัสในโลกใน ภัทรกัปนี้อีกพระองค์หนึ่ง สมเด็จพระพุทธเจ้าพระองค์ใหม่นี้ ทรงพระนามว่า สมเด็จพระมิ่งมงกุฎโกนาคมนะสัมมาสัมพุทธเจ้า พระองค์ทรงเป็นพระบรมไตรโลกนาถ เมื่อทรงอุบัติขึ้นแล้วก็ทรงมีพระมหากรุณาบำเพ็ญพระพุทธจริยา ทรงประกาศพระบวรพุทธศาสนา ยังประชาสัตว์ทั้งหลาย ทั้งเทพยดาและมนุษบ์ให้ได้ดื่มอมตรสถึงซึ่งสันติบทคือนฤพานให้พ้นจากทุกอัน ใหญ่หลวง ในวัฎสงสารเป็นอันมากแล้ว

กาลครั้งนั้น พระบรมโพธิสัตว์เจ้าของเราได้สืบปฏิสนธิถือกำเนิดเป็นมนุษย์ในขัตติยราชวงศ์ ณ กรุงมถิลาราชธานี เมื่อสมเด็จพระชนกาธิบดีเสด็จสวรรคตแล้ว ก็ได้เสวยราชสมบัติทรงพระนามว่า สมเด็จพระเจ้าบรรพตบรมขันติยาธิบดี ทรงมีมหิทธิอำนาจอันยิ่งใหญ่ ทรงปกครองไพร่ฟ้าประชานิกรให้ได้รับความผาสุกสวัสดีเสมอเป็นนิตย์ เพราะทรงดำรงอยู่ในทศพิธราชธรรม วันหนึ่งได้ทรงมีโอกาสเข้าเฝ้าสมเด็จพระโกนาคมนะสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้วสดับ มธุรธรรมิกถา ทรงมีจิตศรัทธาเลื่อมใส จึงได้ถวายไตรจีวรอันตระการด้วยกัปปาสิกพัสตร์และโกไสยพัสตร์ กับรองเท้าทำแล้วด้วยกนกรัตนน์ แล้วถวายภัตตาหารอันประณีตแก่พระอริยสงฆ์ มีองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นประธานอยู่สิ้นกาลเจ็ดวัน ครานั้นถึงจุดเข้าพรรษา จึงทรงอาราธนาสมเด็จพระบรมศาสดา กับทั้งพระอริยสงฆ์สาวกให้เข้าจำพรรษา ณ อารามใกล้กรุงซึ่งทรงสร้างขึ้นแล้วทรงอุปัฏฐากบำรุงอยู่เป็นนิตย์ตลอดไตรมาส สามเดือน ครั้งกาลเวลาเคลื่อคล้อยออกพรรษาแล้ว ก็ทรงมีพระราชศรัทธาบำเพ็ญพระราชกุศลถวายสมณบริขารแด่พระภิกษุสงฆ์ ซึ่งมีองค์สมเด็จพระทศพลเป็นประธานอีกเป็นอันมาก

คราที่นั้น องค์สมเด็จพระโกนาคมนะบรมศาสด เมื่อทรงมีพระมหากรุณแก่บรมกษัตริย์ จึงได้ตรัสพระธรรมเทศนาภัตตานุโมทนาเป็นพิเศษ ครั้นทรงสดับธรรรมิกถาของสมเด็จพระโลกเชษฐแล้ว พระเจ้าบรรพตบรมกษัตริย์ก็มีพระทัยเลื่อมใสยิ่งนัก ทรงสละราชสมบัติออก ทรงผนวชบวชเป็นพระภิกษุในสำนักแห่งพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้ว ก็ทรงพระอุตสาหะศึกษาเล่าเรียนจนทรงมีความรู้แตกฉานในพระไตรปิฎก เป็นที่เคารพเลื่อมใสของชาวประชาในสมัยนั้นเป็นอันมาก

ครั้งนั้น จึงองค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคโกนาคมนะสัมมาสัมพุทธเจ้า พระองค์ผู้บรมไตรโลกาจารย์ ได้โปรดประทานพระพุทธฎีกาพยากรณ์ว่า
พระ บรรพตราชภิกขุนี้ เป็นนิยตโพธิสัตว์เที่ยงแท้ที่จะได้ตรัสเป็นพระสัพพัญญู สัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์หนึ่ง ทรงพระนามว่า พระศรีศากยมุนีโคดม ณ กาลใกล้ในอนาคต กำหนดเป็นลำดับที่ ๔ ในภัทรกัปนี้
สมเด็จ พระชินสีห์โกนาคมนะสัมมาสัมพุทธเจ้า ครั้นทรงกระทำพระพุทธพยากรณ์ฉะนี้แล้ว ก็ทรงบำเพ็ญพระพุทธกิจโปรดพุทธเวไนยอยู่จนพระชนมายุได้สามหมื่นปี ก็เสด็จดับขันธ์ปรินิพพานล่วงไป ฝ่ายพระบรมโพธิสัตว์บรรพตราชภิกขุผู้มีพระบารมีใกล้จะสำเร็จ เมื่อได้รับลัทธยาเทศคำพยากรณ์จากสมเด็จพระพุทธองค์ดังนั้น ก็มีพระกมลเกษมโสมนัสปรีดาทงพระอุตสาหะสร้างพระพุทธาภินิหาร ให้มากมั่นในสันดานสมาทานถือเที่ยงทศบารมีธรรมไม่เสื่อมคลาย ครั้นแตกกายวายชีวิตแล้วก็มีสุคติเป็นที่ไปในเบื้องหน้า คือ สังสารณาการท่องเที่ยวในมนุษย์แลสวรรค์เป็นอันมาก ด้วยวิบากกุศลกรรมความดีที่พระองค์ทรงสร้างไว้แต่อดีตชาติ แลบัดนี้ ก็ใกล้จักได้สำเร็จแก่พระปรมาภิเษกสัมโพธิญาณแล้ว ฉะนั้น พระองค์จึงไม่คลาดแคล้วจากสุคติภูมิ

๒๔.สมเด็จพระกัสสปะอุบัติ

เมื่อศาสนาของสมเด็จพระมิ่งมงกุฎโกนาคมนะสัมมาสัมพุทธเจ้าเสื่อมสูญหมดสิ้น ไปแล้ว โลกก็ว่างเปล่าจากพระบวรพุทธศาสนาชั่วระยะเวลานานได้พุทธันดรหนึ่งแล้ว คราที่นั้น จึงปรากฎมีองค์สมเด็จพระประทีปแก้วสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จมาอุบัติตรัสในโลก เรานี้อีกพระองค์หนึ่ง ทรงพระนามว่า สมเด็จพระมิ่งมงกุกัสสปะสัมมาสัมพุทธเจ้า พระองค์ทรงเป็นพระบรมไตรโลกนาถ เมื่อทรงอุบัติขึ้นแล้ว ก็ทรงมีพระมหากรุณาบำเพ็ญพระพุทธจริยา ทรงประกาศพระบวรพุทธศาสนายังประชาสัตว์ทั้งทวยเทพแลมนุษย์ให้ได้รับสมบัติ อันประเสริฐสุด คือมรรค ผล นิพพานเป็นอันมากแล้ว

กาลครั้งนั้น พระบรมโพธิสัตว์เจ้าอขงเราได้สืบปฏิสนธิถือกำเนิดเป็นมนุษย์มาณพหนุ่มนามว่า โชติปาลมาณพ ได้ศึกษาแจ้งจบในไครเพทางศาสตร์ ปรากฎว่าเป็นผู้ฉลาดรอบรู้ในการพิจารณาดูภูมิสถานและอากาศวิถีทางแห่ง นักษัตรฤกษ์นิมิตมีสหายร่วมชีวิตนามว่า ฆฏิการมาณพ เป็นนายช่างหม้อ วันหนึ่งได้สดับข่าวกิตติคุณบันลือว่า พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงอุบัติขึ้นในโลกแล้ว จึงชวนกันเข้าไปเฝ้าสมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้า ครั้นได้สดับมธุรธรรมนิกายแล้ว ก็มีจิตผ่องแผ้วเต็มไปด้วยความเลื่อมใสศรัทะา จึงสละเพศฆราวาสบวชเป็นภิกษุภาวะในพระบวรพุทธศาสนา มีความอุตสาหะในคันถธุระ พยายามศึกษาเล่าเรียนจนได้รับยกย่องนับถือจากมหาชนเป็นอันมาก

ดังนั้น จึงองค์สมเด็จพระสรรเพชญ์กัสสปะสัมมาสัมพุทธเจ้า พระองค์ผู้ทรงเป็นพระบรมโลกนายก ทรงไว้ซึ่งพระสัพพัญญุตาญาณ ได้ทรงมีพระพุทธบรรหารพยากรณ์ว่า
พระ โชติปาลภิกขุนี้ เป็นนิยตโพธิสัตว์เที่ยงแท้จะที่จะตรัสเป็นพระสัพพัญญูสัมมาสัมพุทธเจ้า พระองค์หนึ่ง ทรงพระนามว่า พระศรีศากยมุนีโคดม ในอนาคตกาลภายภาคหน้า เมื่อศาสนาแห่งเราตถาคตเสื่อมสูญสิ้นหมดไปแล้ว พระโชติปาลภิกขุจักได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าต่อจากเราตถาคต กำหนดนับเป็นลำดับที่ ๔ ในภัทรกัปนี้
สมเด็จ พระชินสีห์กัสสปะสัมมาสัมพุทธเจ้า ครั้นทรงกระทำพระพุทธพยากรณ์แก่บรมโพธิสัตว์เจ้าของเราฉะนี้แล้ว ต่อแต่นั้น ได้ทรงบำเพ็ญพุทธกิจโปรดพุทธเวไนยอยู่จนพระชนมายุได้สองหมื่นปี ก็เสด็จดับขันธปรินิพพานล่วงไป ฝ่ายพระบรมโพธิสัตว์โชติปาลภิกขุผู้มีพระบารมีใกล้จะสำเร็จ เมื่อได้รับลัทธยาเทศคำพยากรณ์จากสมเด็จพระพุทธองค์ดังนั้น ก็มีกมลเกษมโสมนัสปรีดา มีอุตสาหะสร้างพระพุทธาภินิหารบารมีให้มากมั่นในสันดาน สมาทานถือเที่ยงทศบารมีธรรมไม่เสื่อมคลาย เมื่อแตกกายวายชีวิตแล้ว ก็มีสุคติโลกสวรรค์เป็นที่อุบัติ

ท่านผู้มีปัญญาทั้งหลาย สมเด็จพระศรีศากยมุนีโคดมบรมครูเจ้าแห่งเราทั้งปวงนั้น เมื่อพระองค์ท่านทรงสร้างพระบารมีในระยะกาลเวลาหนึ่งแสนมหากัป ทรงมีโอกาสพบและได้รับลัทธยาเทศน์คำพยากรณ์จากสำนักแห่งองค์สมเด็จพระสัมมา สัมพุทธเจ้า ๑๕ พระองค์ ซึ่งมีรายละเอียดปรากฎตาที่พรรณนามานี้

ฉะนั้น จึงเป็นอันสรุปได้ว่า ในการสร้างพระพุทธบารมีเพื่อพระปรมาภิเษกสัมโพธิญาณของพระองค์ในตอนปลาย ซึ่งนับเป็นเวลานานมากหลายถึง ๔ อสงไขย กับอีกหนึ่งแสนมหากัปนั้น พระองค์ได้ทรงพบพระพุทธเจ้ารวมทั้ง ๒๗ พระองค์คือ
๑. ในตอนระยะเวลา ๔ อสงไขยนั้น ได้ทรงพบพระพุทธเจ้า ๑๒ พระองค์
๒. ในตอนระยะเวลาหนึ่งแสนมหากัปนั้น ได้ทรงพบพระพุทธเจ้า ๑๕ พระองค์
รวม สองระยะเวลานี้เข้าด้วยกัน จึงเป็นอันว่พระองค์ทรงมีโอกาสพบสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ๒๗ พระองค์ แต่พระองค์ทรงได้รับลัทธยาเทศคำพยากรณ์จากสำนักแห่งพระพุทธเจ้าเพียง ๒๔ พระองค์เท่านั้น เพราะว่าในนพุทธสมัยแห่งพระพุทธเจ้า ๓ พระองค์แรก คือสมเด็จพระตัณหังกรพุทธเจ้า ๑ สมเด็จพระเมธังกรพุทธเจ้า ๑ สมเด็จพระสรณังกรพุทธเจ้า ๑ นั้น ถึงแม้พระองค์ท่านจะมีโอกาสพบทุกๆ พระองค์ก็ดี ก็ยังไม่ได้รับลัทธยาเทศคำพยากรณ์ เพราะธรรมสโมธานยังไม่บริบูรณ์ มาได้รับลัทธยาเทศคำพยากรณ์เอา ตั้งแต่สมเด็จพระทีปังกรสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นต้นมา จนกระทั่งถึงสมเด็จพระบรมศาสดากัสสปสัมมาสัมพุทธเจ้าที่กล่าวถึงเมื่อตะกี้ นี้เป็นพระองค์สุดท้าย จึงเป็นอันรวมความได้ว่า สมเด็จพระบรมครูเจ้าของเราทั้งหลาย เมื่อครั้งเป็นพระบรมโพธิสัตว์ ได้รับลัทธยาเทศจากสำนักแห่งองค์พระโลกเชษฐสัมมาสัมพุทธเจ้า รวมด้วยกันทั้งสิ้น ๒๔ พระองค์ ด้วยประการฉะนี้

เมื่อหน่อพระชินสีห์บรมโพธิสัตว์ได้รับลัทธยาเทศเป็นครั้งสุดท้ายจากสำนัก แห่งองค์สมเด็จพระมิ่งมงกุฎกัสสะปะสัมมาสัมพุทธเจ้าในภัทรกัปนี้แล้ว พระองค์ก็ยังต้องสร้างพระบารมีต่อไปอีกอย่างไม่หยุดยั้ง เพราะเหตุที่พระองค์มีน้ำพระทัยรักในพระโพธิญาณ รักในพระศาสนาเป็นกำลัง ก็ความที่พระองค์มีน้ำพระทัยรักและเป็นห่วงใยในพระบวรพุทธศาสนานี้ มีตัวอย่างที่จะเห็นได้ง่ายๆ ตามเรื่องที่ปรากฎในตอนใกล้ที่จะได้ตรัสรู้นี่เอง ดังต่อไปนี้
หัวข้อ: Re: มุนีนารถทีปนี การตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า โดย พระพรหมโมลี วิลาศ ญาณวโร
เริ่มหัวข้อโดย: Wisdom ที่ กุมภาพันธ์ 21, 2012, 12:16:18 PM
พระอมรินทรเทวราชโพธิสัตว์

เมื่อสมเด็จพระมิ่งมงกุฎกัสสปะสัมมาสัมพุทธเจ้า เสด็จดับขันธ์ปรินิพพานไปแล้ว แต่ศาสนาของพระองค์ที่ทรงพระมหากรุณาประกาศไว้ยังดำรงอยู่ ยังมีผู้ประพฤติตาม พุทธบริษัททั้ง ๔ คือภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา ก็ยังมีครบอยู่ แต่กาลค่อยล่วงเลยมา พระศาสนาของพระองค์ก็ค่อยเสื่อมถอยลง เพราะพุทธบริษัทต่างพากันประพฤติกรรมลามกเลวทรามประการต่างๆ ไม่ตั้งอยู่ในพระธรรมวินัยเห็นไปว่าศาสนาคำสอนของพระบรมศาสดาเป็นของไม่ สำคัญ จึงพากันถือเอาศาสนาเป็นเครื่องมือสำหรับเลี้ยงชีวิต เห็นศาสนาเป็นเครื่องเล่น เอาความคิดความเห็นอันไม่ถูกต้องของตนเข้ามาระคนปนกับคำสอนของพระบรมครูเจ้า มีน้ำใจดูเบาในคำสอนของพระผู้มีพระภาคเจ้า บอกเล่าพระพุทธพจน์ผิดๆ ถูกๆ เพราะขาดการปฏิบัติ จึงขจัดวิจิกิจฉาความสงสัยในพระรัตนตรัยให้ออกจากดวงใจของตนมิได้ เมื่อมีความสงสัยอยู่ ความเชื่อในคำสอนของพระผู้มีพระภาคเจ้าก็ไม่มีอันตั้งมั่นแน่นอนลงไปได้ จึงพากันประพฤติกรรมอันเป็นการบ่อนทำลายศาสนาที่ ตนเคารพนับถือโดยไม่รู้ตัว เมื่อแตกกายวายชีวิตแล้ว พุทธบริษัทเหล่านั้นต่างก็พากันไปเกิดในนิรยภูมิ คือต้องตกนรกหมกไหม้ได้เสวยทุกข์อย่างนี้มากมายนักหนา

ครา ที่นั้น จึงสมเด็จพระอมรินทรเทวาธิราช เจ้าจอมสวรรค์ชั้นไตรตรึงษ์ ซึ่งครั้งหนึ่งเคยเป็น พระโชติปาลภิกขุ ผู้เป็นสาวกขององค์สมเด็จพระกัสสปะสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น จำได้ไหมเล่าท่านทั้งหลาย ว่าโชติปาลภิกขุองค์นี้ คือท่านผู้ใด? ถูกแล้ว... ก็คือพระโชติปาลภิกขุองค์ที่องค์สมเด็จพระกัสสปะสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงมี พระมหากรุณาธิคุณพยากรณ์ว่าจักได้ตรัสเป็นพระพุทธเจ้า ทรงนามว่าพระศรีศากยมุนีโคดม ตามที่เล่ามานั่นเอง บัดนี้ได้มาสืบปฏิสนธิถือกำเนิดเป็นจอมเทพยเจ้า ณ สรวงสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ดำรงพระยศยิ่งใหญ่ในตำแหน่งสมเด็จพระอมรินทราธิราช คือพระอินทร์ เสวยทิพยสมบัติปกครองเทพบริษัทอยู่โดยผาสุก เมื่อได้ทรงทราบว่าพวกพุทธบริษัทพากันเป็นอลัชชี ไม่มีความละอายต่อบาป กระทำการหยาบช้าเป็นการย่ำยีพระพุทธศาสนา ประพฤตินอกพระธรรมวินัยของพระบรมศาสดา ทำให้พระพุทธศาสนา อันแสนประเสริฐต้องเสื่อมลงเช่นนั้น ก็พลันบังเกิดความสังเวชในดวงจิต และมีพระทัยคิดจะยกย่องพระบวรพุทธศาสนา จึงมีเทวโองการรับสั่งให้หา พระมาตลีเทพบุตร เข้ามาเฝ้า แล้วจึงมีเทวประกาศิตรับสั่งให้พระมาตุลีเทพบุตรนั้น จำแลงแปลงเพศเป็นสุนัขดำตัวใหญ่นักหนาขนาดม้าอาชาไนย มีเขึ้ยว ๔ ซึ่ใหญ่เท่ากับผลกล้วย ทั้งมีรัสมีพวกพุ่งออกจากปากน่ากลัวยิ่งนัก ปรากฎว่ามีความน่ากลัวขนาดที่หญิงมีครรภ์ เห็นเข้าแล้วตกใจจนครรภ์ตกไปได้ทีเดียว พระมาตลีเทพบุตรสุนัขแปลงมีพวงดอกไม้แดงผูกที่ศีรษะ ฝ่ายสมเด็จพระอมรินทร์เทวาธิราชผู้โพธิสัตว์เอง ก็ทรงจำแลงแปลงเพศเป็ฯนายพรานนุ่งห่มผ้าย้อมน้ำฝาดคร่ำ เกล้าผมข้างหลัง สวมพวงดอกไม้แดงที่คอ หัตถ์ข้างซ้ายถือธนูมีสายประกอบด้วยสีเหมือนแก้วประพาฬ หัตถ์ข้างขวาถือเชือกผูกสุนัขนั้น แล้วก็พลันเสด็จลงมาจากสรวงสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ดั้นด้นมาถึงมนุษยโลก ณ กรุงพาราณสี ซึ่งมีพระเจ้าอุสสินนรมหาราช เป็นพระราชาในสมัยนั้น ครั้นจวนจะถึงพาราณสีซึ่งมีระยะทางกึ่งโยชน์ ก็ทรงอุโฆษณาการร้องประกาศกึกก้องขึ้น ๓ ครั้ง
ภิกษุทั้งหลาย! โลกจักฉิบหาย
ภิกษุทั้งหลาย! โลกจักฉิบหาย
ภิกษุทั้งหลาย! โลกจักฉิบหาย

แล้วก็ทรงดำเนินจูงสุนัขบ่ายหน้าไปยังพระบรมราชวัง ด้วยอาการขรึกอยู่ดูน่ากลัวนักหนา

ฝ่ายชาวประชาทั้งหลาย เมื่อได้ประสบการณ์เช่นนั้น ต่างก็พากันตกใจกลัวเป็นที่ยิ่ง วิ่งหนีเข้าไปกราบทูลพระเจ้าอุสสินนรมหาราชให้ทรงทราบ พระองค์ก็รีบรับสั่งให้ปิดประตูพระนครเสียโดยเร็ว เมื่อนายพรานมาถึงเห็นประตูวังปิดอยู่เช่นนั้นก็พาสุนัขดำใหญ่ของตนกระโดด ข้ามประตูวังซึ่งมีความสูงถึง ๑๘ ศอก เข้าไปในพระนครได้แล้ว ก็ปล่อยให้สุนัขเที่ยวไล่กัดคนทั้งหลายเป็นโกลาหล คนเหล่านั้นก็พากันวิ่งหนีอย่างไม่คิดชีวิต บางคนก็วิ่งหนีเข้าไปในเรือน บางคนวิ่งเข้าไปในพระลานหลวง พระราชทรงเห็นเหตุการณ์เช่นนั้นก็ตกพระทัย สุนัขใหญ่ตัวนั้นก็ยกเท้าหน้าทั้งสองขึ้นเหยียบช่องพระแกล แล้วก็เห่าขึ้นด้วยเสียงดุดันลงไปถึงอเวจีมหานรก และทางเบื้องสูงก็ดังขึ้นไปถึงพรหมโลก ชาวเมืองต่างก็พากันตกใจกลัวอกสั่นขวัญหาย ไม่มีใครกล้าออกมารอหน้านายพรานประหลาดนั้นได้เลย

เมื่อพระเจ้าอุสสินนรมหาราช รวบรวมพระสติได้มั่นแล้ว จึงมีพระดำรัสถามนายพรานป่าไปว่า
"สุนัขของท่าน มันเห่าเพราะอะไร?"
"มันหิว พระเจ้าข้า" นายพรานป่ากราบทูล
"ถ้าเช่นนั้น ก็มิเป็นไร เราจะหาอาหารให้มันเอง"

พระราชาตรัสแล้ว ก็ดำรัสสั่งให้คนจัดหาอาหารมาให้สุนัขตัวนั้น เมื่ออาหารถูกนำมาวางให้ตรงหน้า สุนัขใหญ่นั้นเคี้ยวขย้ำเพียงคำเดียวก็หมดแล้ว จึงเริ่มเห่าดุดันด้วยเสียงเขย่าขวัญคนทั้งหลายต่อไปอีก พระราชาก็ทรงให้จัดอาหารมาให้สุนัขใหม่ แม้จะหามาให้มากมายหลายครั้งหลายหน จนเอาอาหารหมอวังสุนัขนั้นก็เคี้ยวจนหมดสิ้น และหาอิ่มไม่ แล้วทำกิริยาตาขวางดุร้ายเห่าด้วยเสียงดังขึ้นอีก พระราชาเมื่อได้ทอดพระเนตรเห็นการณ์อันแปลกประหลาดเช่นนั้น ก็ทรงเกรงกลัวยิ่งนัก เพราะทรงตระหนักสงสัยว่าคงเป็นยักษ์ปลอมแปลงมาหรืออย่างไร จึงดำรัสถามพรานป่าต่อไปว่า

"สุนัขดำของท่านนี้ ดูท่าทีดุร้ายเหลือประมาณ มีเขี้ยวมีฟันขาว คมใหญ๋ จะให้กินเท่าใดก็ไม่อิ่ม มันกัดกินแต่อาหารหรือว่ากินอย่างอื่นด้วย?"

"ขอเดชะ ข้าแต่พระเจ้าอุสสินนรมหาราช ! สุนัขของข้าพระบาทตัวนี้ มันกัดกินมนุษย์ด้วย พระเจ้าข้า" พรานป่าสมเด็จพระอมรินทราธิราชทูลตอบ
"สุนัขของท่าน กินมนุษย์ทุกคนหรือๆ ว่าเลือกกินเฉพาะเป็นบางคน" พระราชทรงถามด้วยความหวั่นเกรง

"มันเลือก พระเจ้าข้า! เลือกยกเว้นเฉพาะผู้ที่มีธรรมเป็นมิตรของข้าพระบาทเท่านั้น มันจึงจะไม่กัดกิน แต่ถ้าผู้ใดไม่ใช่มิตรในธรรมของข้าพระบาทนี้ หากมีอยู่ในโลกแล้ว สุนัขดำตัวนี้ เมื่อหลุดจากเชือกล่ามคอที่ข้าพระบาทถือไว้ มันจะวิ่งไปกัดกินคนเหล่านั้นเป็นอาหารทั้งหมด ขอพระองค์จงทรงจำไว้เถิดพระเจ้าข้า"

พรานป่ากราบทูลดั่งนี้แล้ว ยังมิทันที่พระราชาจะดำรัสถามสิ่งใดต่อไป ก็เหาะลอยขึ้นไปกลางอากาศเวหา กายากลับเพศเป็นองค์สมเด็จพระอมรินเทวาธิราช รุ่งเรืองด้วยเทพรัศมีแล้ว มีเทวโองการขู่กษัตริย์อุสสินนรราชาผู้ครองนครนั้นว่า

"ดูกรพระราชา ตัวเรานี่เป็นท้าวสักกเทวราช เรานี่เห็นว่าโลกจักฉิบหาย เพราะว่าคนทั้งหลายพากันประพฤติผิดทำนองคลองธรรม ย่ำยีพระบวรพุทธศาสนาอันประเสริฐ ตายไปเกิดต็มแน่นอยู่ในอบายนรกแล้ว มีใจสังเวช จึงได้มาที่นี่ ต่อจากนี้ไป หากผู้ใดประพฤติไม่ชอบธรรม เราจะลงโทษผู้นั้น ขอพระองค์จงอย่าประมาท จงเอาใจใส่ราษฎรทั้งบรรพชิตแลคฤหัสถ์ ตักเตือนให้ประพฤติธรรมจงทั่วกันเถิด"

ครั้นมีเทวโองการขู่คนทั้งหลาย มีพระราชเป็นประธานให้เกิดความกลัวตาย เพราะจะถูกลงโทษจากเทพฤทธ์ ให้มีจิตเป็นกุศลตั้งอยู่ในธรรมดังนี้แล้ว องค์สมเด็จพระอมรินทร์เทวาธิราชผู้เป็นหน่อพระชินสีห์บรมโพธิสัตว์พร้อมด้วย สุนัขดำใหญ่ คือพระมาตลีเทพบตร ก็พากันเสด็จกลับไปยังดาวดึงส์เทวโลก

เรื่องที่พรรณนามานี้ ย่อมจะชี้ให้เห็นแล้วว่า พระบรมโพธิสัตว์ของเราท่านทั้งหลายนั้น พระองค์มีพระหฤทัยมั่นคงในธรรม และมีน้ำใจรักและห่วงใยพระบวรพุทธศาสนา เพียงไร แม้ว่ากำลังสถิตเสวยเทวสมบัติอยู่ ณ สรวงสวรรค์ แต่พระทัยนั้นมีความเป็นห่วงพระพุทธศาสนา เมื่อเห็นชาวประชาพากันประพฤตินอกรีตผิดทำนองคลองธรรม ก็มีอุตสาหะมาตักเตือนให้ประพฤติชอบ นี่แลเป็นคุณลักษณะของท่านผู้สร้างพระบารมีเพื่อพระปรมาภิเษกสัมโพธิญาณ หวังจะช่วยรื้อขนสัตว์ไปให้พ้นจากทุกข์ภัยอันใหญ่หลวงในวัฏสงสาร

จำเนียรกาลแต่ชาติเป็นองค์สมเด็จพระอมรินทรเทวาธิราชตามที่เล่ามานี้แล้ว พระบรมโพธิสัตว์เจ้าของเราก็เฝ้าสร้างสมอบรมบ่มพระบารมี จนกระทั่งถึงพระชาติที่ทรงสืบปฏิสนธิถือกำเนิดในมนุษยโลกเรานี้ คือ คราที่เสวยพระชาติเป็นพระเวสสันดรมหาบุรุษเจ้า ก็ในกาลที่พระองค์ทรงเสวยพระชาติเป็นพระเวสสันดรโพธิสัตว์เจ้านั้น ได้ทรงบำเพ็ญพระบารมีมากมายทำให้พื้นแผ่นปฐพีไหวถึง ๗ ครั้ง ครั้นถึงแก่ชีพิตักษัยจากพระชาตินั้นแล้ว ก็ได้ไปอุบัติเกิดเป็นเทพยเจ้าผู้มเหศักดิ์นามว่า พระเสตุเกตุเทพบุตร เสวยทิพยสมบัติเป็นบรมสุขอยู่ ณ ดุสิตเทวโลก เจริญพระชนมายุได้ ๔,๐๐๐ ปีทิพย์ อันนี้เป็นธรรมประเพณีแห่งพระมหาบุรุษรัตนโพธิสัตว์เจ้าทุกๆ พระองค์มา

แท้จริง ธรรมดาว่าพระมหาบุรุษรัตนโพธิสัตว์เจ้าทั้งหลายนั้น หากว่าพระบารมียังมิได้บริบูรณ์แล้ว แม้ว่าในบางพระชาติจะได้ไปอุบัติเกิด  ณ สรวงสวรรค์ เทวโลกชั้นใดชั้นหนึ่งจะเป็นดุสิตเทวโลกก็ดี นิมานรดีเทวโลกก็ดี หรือปรนิมมิตวสวัตตีเทวโลกก็ดี ซึ่งมีอายุทิพย์ยั่งยืนนักหนา พระองค์ก็หาสถิตอยู่ในสวรรค์ชั้นนั้นๆ จนตราบเท่าสิ้นพระชนมายุไม่ เพราะเหตุว่าในเทวภิภพนั้น ยากที่จะบำเพ็ญพระบารมีเพื่อพระโพธิญาณให้บริบูรณ์ได้ ฉะนั้นสมเด็จพระโพธิสัตว์เจ้าทั้งหลายผู้มีหฤทัยจำนงรักใคร่อยู่แต่เฉพาะพระ โพธิญาณ เมื่อเสวยทิพยสมบัติพอควรแก่กาลแล้ว ย่อมทรงทำอธิมุตตกาลกิริยาจุติลงมาบังเกิดในมนุษยโลกเรานี้โดยควรแก่ อัธยาศัย หาสู้มีความอาลัยในสวรรคสมบัติมากนัไม่ เพราะมีความประสงค์ใคร่จะทรงสร้างพระบารมีให้บริบูรณ์เป็นประมาณ ครั้นเมื่อพระบรมโพธิสมภารเต็มเปี่ยมอาจสามารถจักได้ตรัสเป็นเอกองค์อรหันต สัมมาสัมพุทธเจ้าในพระชาติต่อไปแล้ว จึงจะเสด็จสถิตอยู่ ณ ดุสิตเทวโลกจนครบกำหนดพระชนมายุ

ก็บัดนี้ หน่อพระชินสีห์โพธิสัตว์เจ้าที่เรากำลังติดตามดูพระประวัติของพระองค์ ท่านอยู่นี้ พระองค์ทรงมีพระบรมโพธิสมภารเต็มเปี่ยมบริบูรณ์ ตั้งแต่ครั้งเป็นพระเวสสันดรบรมกษัตริย์ ฉะนั้น จึงทรงมาอุบัติเกิดเป็นเทพบุตร เสวยทิพย์สมบัติเป็นสุขอยู่ ณ ดุสิตเทวโลกไป จวบจนสิ้นทิพายุกาลในสวรรค์ชั้นดุสิตนี้ ซึ่งมีเวลานานถึง ๔,๐๐๐ ปี หรือถ้าจะนับด้วยปีมนุษยโลกนี้ ก็นับได้ ๕๗ โกฏิ ๖ ล้านปี รอเวลาที่จะได้ลงมาตรัสแก่พระปรมาภิเษกสัมโพธิญาณต่อไป

พรรณนาในเรื่องการสร้างพระบารมีตอนปลาย ซึ่งนับเป็นเวลายาวนานได้ ๔ อสงไขย กับเศษอีกหนึ่งแสนมหากัปแห่งองค์สมเด็จพระมิ่งมงกุฎศรีศากยมุนีโคดมบรมครู เจ้าของเราท่านทั้งหลาย เห็นสมควรทึ่จะยุติลงได้แล้ว จึงขอยุติลงด้วยประการฉะนี้

บทที่ ๕
พระบรมไตรโลกนาถ

บัดนี้ จักพรรณนาถึงความที่องค์สมเด็จพระสรรเพชญ์สัมมาสัมพุทธเจ้าทรงเป็นพระบรม ไตรโลกนาถ คือเป็นที่พึ่งอย่างยอดเยี่ยมแห่งสัตว์โลกทั้งสาม ซึ่งรวมทั้งตัวเราท่านทั้งหลายในปัจจุบันขณะนี้สืบต่อไป

นับตั้งแต่พระองค์ได้ทรงสร้าง พระพุทธบารมีเริ่มแรกเป็นมโนปณิธาน ตั้งความปรารถนาเป็นพระพุทธเจ้าในพระทัย ณ สมัยที่ทรงสืบปฏิสนธิถือกำเนิดเป็นมาณพหนุ่ม ผู้แบกมารดาข้ามมหาสมุทรเป็นต้นมา จนกระทั่งถึงครั้งสุดท้ายได้ทรงถือกำเนิดเกิดเป็นพระเวสสันดรมหาบุรุษพุทธ พงศ์โพธิสัตว์เจ้านับนับเป็นเวลาช้านาน รวมทั้งสิ้นได้ ๒๐ อสงไชย กับเศษอีกหนึ่งแสนมหากัป

ตลอดระยะเวลาเหล่านี้ พระองค์ผู้ทรงมีพระหฤทัยผูกพันมุ่งมั่นปรารถนาซึ่งพระปรมาภิเษกสัมโพธิญาณ ต้องทรงสร้างสมอบรมพระบารมีอย่างยิ่งยวด มิได้ทรงเอื้อเฟื้ออาลัยใยดีต่อร่างกายและชีวิตพระองค์เลยแม้แต่น้อย ต้องทรงพลีชีวิตเลือดเนื้อออกแลกกับพระโพธิญาณนับครั้งไม่ถ้วน

พระองค์ทรงบริจาคโลหิตในพระวรกายให้เป็นทน ก็มีประมาณมากกว่ากระแสชลวารีทั้ง ๔ สมุทร

พระองค์ทรงบริจาคมังสะ คือเนื้อในพระวรกายให้เป็นทานก็มีประมาณมากกว่าพื้นแผ่นมหาปฐพี

พระองค์ตัดพระเศียรซึ่งประดับสรรพอลังการให้เป็นทาน ถ้าจะประมาณสะสมเอาไว้ ก็มีประมาณมากกว่าผลมะพร้าวอันมีอยู่ในปฐพีมณฑล

พระองค์ทรงคว้านควัพระเนตรทั้งสองซ้ายขวาให้เป็นทานก็มีประมาณมากว่าดวงดารากรในอากาศ

พระองค์ทรงผ่านพระทรวง เพิกหฤทัยออกให้เป็นทานก็มีประมาณมากกว่าผลไม้ทั้งหลายบรรดามีในพื้นมณฑลสกลปฐพี

ท่านผู้มีปัญญาทั้งหลาย ความเสียสละอันยิ่งใหญ่ในการสร้างพระบารมี แห่งองค์สมเด็จพระบรมโพธิสัตว์เจ้าของเราย่อมปรากฎมีมากมายเป็นมหัศจรรย์ตาม ที่พรรณนามานี้ เมื่อพระองค์ทรงมีวาสนาบารมีครบถ้วนบริบูรณ์ทุกประการ และถึงกาลอันสมควรแล้ว พระองค์ก็เสด็จจุติจากสวรรค์ชั้นดุสิตเทวโลกมาอุบัติตรัสพระปรมาภิเษก เป็นเอกองค์สมเด็จพระจอมมุนีชินสีห์สัมมาสัมพุทธเจ้าในมนุษยโลกนี้ เมื่อประมาณ ๒,๕๐๐ กว่าปีมาแล้ว ซึ่งพระพุทธประวัติในตอนนี้ก็เป็นที่ทราบกันทั่วไปโดยมากแล้ว จึงจักขอยกไว้ ในที่สุด ใคร่ที่จะกล่าวถึงความที่พระองค์ทรงเป็นนาถะที่พึ่งอย่างยอดเยี่ยมของชาวโลก ว่าการที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงเป็นนาถะที่พึ่งอย่างยอดเยี่ยม ของชาวโลกนั้น ทรงเป็นที่พึงได้อย่างไร?


ในกรณีนี้ ก่อนอื่นต้องทราบว่า การที่พระองค์ทรงพระอุตสาหะสร้างพระบารมีมาอย่างแสนลำบากยากเย็นตามที่ พรรณนามาแล้วนั้น ก็ด้วยมีพระประสงค์จะนำพระองค์ออกจากทุกข์ภัยในวัฏสงสารและมีพระประสงค์จะ รื้อขนสัตว์โลกออกจากทุกข์ภัยในวัฏสงสาร เพื่อให้มีโอกาสเข้าไปสู่แดนเกษมสำราญ คืออมตมหานิพพาน นี่แหละคือจุดประสงค์อันยิ่งใหญ่ของสมเด็จพระพุทธองค์เจ้า ขอให้พวกเราชาวพุทธบริษัทจำไว้ให้ดีอย่างนี้ก่อน ทีนี้ พวกเราจะพากันย้อนไปพูดถึงเรื่องที่ว่า วัฏสงสารฟ นั้น คือ อะไร? มีอรรถาธิบายที่ควรแก่การศึกษาให้เข้าใจ ดังต่อไปนี้
วัฏสงสาร

การที่สัตว์ทั้งหลายทุกรูปทุกนาม ต้องท่องเที่ยววนเวียนอยู่ในภูมิต่างๆ คือต้องวนเวียนตายเกิดอยู่ในโลกต่างๆ อย่างไม่มีวันสิ้นสุด เรียกชื่อว่า วัฎสงสาร คือ การท่องเที่ยวเวียนตายเวียนเกิดเพราะวัฏฏ หมายถึงวนเวียน เมื่อจะจำแนกวัฏสงสารเป็นประเภทใหญ่ๆ เพื่อให้จำได้ง่าย ก็มี ๓ ประเภท คือ

๑. เหฏฐิมสงสาร คือ การท่องเที่ยวเวียนเกิดเวียนตายอยู่ในภูมิชั้นต่ำอันเป็นชั้นเลว มีทุกข์มาก ซึ่งมีอยู่ ๔ โลก คือ
๑. นิรยภูมิ โลกนรก
๒. เปตติวิสัยภูมิ โลกเปรต
๓. อสุรกายภูมิ โลกอสุรกาย
๔. ติรัจฉานภูม โลกเดียจฉาน
๒. ปัชฌิมสงสาร คือการท่องเที่ยวเวียนตายเวียนเกิดอยู่ในภูมิชั้นกลางอันเป็นโลกชั้นดี มีสุขเป็นโลกีย์พอประมาณ ซึ่งมีอยู่ ๗ โลก คือ
๑. มนุสสภูมิ โลกมนุษย์
๒. จาตุมหาราชิกาภูมิ เทวโลกชั้น ๑
๓. ตาวติงสาภูมิ เทวโลกชั้น ๒
๔. ยามาภูมิ เทวโลกชั้น ๓
๕. ตุสิตาภูมิ เทวโลกชั้น ๔
๖. นิมมานรตีภูมิ เทวโลกชั้น ๕
๗. ปรนิมมิตวสวัตติภูมิ เทวโลกชั้น ๖
๓. อุปริมสงสาร คือการท่องเที่ยวเวียนเกิดเวียนตายอยู่ในภูมิชั้นสูง อันเป็นโลกชั้นดีวิเศษ มีสุขมาก ซึ่งมีอยู่ ๒๐ โลก คือ
๑. พรหมปาริสัชชาภูมิ พรหมโลกชั้น ๑
๒. พรหมปุโรหิตาภูมิ พรหมโลกชั้น ๒
๓. มหาพรหมภูมิ พรหมโลกชั้น ๓
๔. ปริตตาภาภูมิ พรหมโลกชั้น ๔
๕. อัปปมาณาภาภูมิ พรหมโลกชั้น ๕
๖. อาภัสสราภูมิ พรหมโลกชั้น ๖
๗. ปริตตสุภาภูมิ พรหมโลกชั้น ๗
๘. อัปปมาณสุภาภูมิ พรหมโลกชั้น ๘
๙. สุภกิณหกาภูมิ พรหมโลกชั้น ๙
๑๐. เวหัปผลาภูมิ พรหมโลกชั้น ๑๐
๑๑. อสัญญาสัตตาภูมิ พรหมโลกชั้น ๑๑
๑๒. อวิหาภูมิ พรหมโลกชั้น ๑๒
๑๓. อตัปปาภูมิ พรหมโลกชั้น ๑๓
๑๔. สุทัสสาภูมิ พรหมโลกชั้น ๑๔
๑๕. สุทัสสีภูมิ พรหมโลกชั้น ๑๕
๑๖. อกนิฏฐกาภูมิ พรหมโลกชั้น ๑๖
พรหมโลกทั้ง ๑๖ ภูมินี้เป็นรูปภูมิ คือเป็นที่อยู่ของพระพรหม ผู้วิเศษทั้งหลายที่ปรากฎมีรูป แต่ว่าเป็นรูปทิพย์
๑๗. อากาสานัญจายตนภูมิ พรหมโลกชั้น ๑๗
๑๘. วิญญานัญจายตนภูมิ พรหมโลกชั้น ๑๘
๑๙. อากิญจัญญายตนภูมิ พรหมโลกชั้น ๑๙
๒๐. เนวสัญญานาสัญญายตนภูมิ พรหมโลกชั้น ๒๐
พรหม โลกทั้ง ๔ ภูมินี้ เป็นอรูปภูมิ คือเป็นที่อยู่ของพระพรหมผู้วิเศษทั้งหลาย ซึ่งมีฌานอันสูงเยี่ยม อยู่ไกลสูงสุดจากมนุษยโลกเรานี้มากนัก ท่านพระพรหมเหล่านี้ไม่มีรูปร่างปรากฏอยู่เลย แม้แต่รูปทิพย์ก็ไม่มี และมีอายุยืนนานนับเป็นหมื่นๆ มหากัปทีเดียว


ท่านผู้มีปัญญาทั้งหลาย ภูมิเหล่านี้ทั้งหมด ยกเว้นสุทธาวาสภูมิ ๕ เสียแล้ว ย่อมเป็นที่อุบัติเกิด เป็นที่อยู่และเป็นที่ตายแห่งสัตว์ทั้งหลายทุกรูปทุกนาม ไม่มีการยกเว้น ไม่ว่าจะเป็นเราเป็นท่าน ย่อมต้องท่องเที่ยวเวียนตายเวียนเกิดอยู่ภายในภูมิเหล่านี้เรื่อยไปไม่มี วันสิ้นสุดลงได้ต้องอยู่ภายในวัฏสงสารมิภูมิใดก็ภูมิหนึ่งอย่างแน่นอน


บรรดาสัตว์ทั้งหลาย ซึ่งท่องเที่ยวอยู่ในวัฏสงสารขณะนี้นั้น ที่จะได้ชื่อว่าเป็นผู้เที่ยงแท้ยั่งยืนตลอดกาล ย่อมเป็นไปมิได้เลยเป็นอันขาด จงเชื่อเถิด แม้จะอุบัติเกิดในภูมิที่ดี ภูมิสูง เสวยสมบัติวิเศษสุดดุจพระยามหาจักรพรรดิราชก็ดี มีทิพยสมบัติประเสริฐหนักหนา ดุจองค์สมเด็จอมรินทราธิราชเจ้าจอมสวรรค์ชั้นไตรตรึกษ์ก็ได้ หรือมีความสุขแสนวิเศษดุจองค์พรหมเมศร์ ณ เบื้องพรหมโลกทั้งปวงก็ดี แต่ที่จะเที่ยงแท้ยั่งยืนเป็นอยู่อย่างนั้นตลอดกาล ย่อมเป็นไปมิได้อย่างเด็ดขาด ย่อมจะต้องรู้พลัดรู้พรากรู้ฉิบหาย ตายจากสมบัติ จากความสุขนั้นๆ ไปเป็นธรรมดา ในเมื่อถึงคราวสิ้นอายุหมดบุญแล้ว ก็ย่อมจะแคล้วคลาดเคลื่อนจากวัฏสงสารที่กล่าวมานี้ และการที่จะไปเกิดในภูมิอะไรนั้น ก็เป็นไปตามอำนาจกรรมแห่งตน คือ

หากว่ามีอกุศลกรรม ได้แก่มีบาปอันหยาบช้าลามกที่ตนทำไว้ด้วยใจสกปรกใจหมองเศร้า บางทีเล่า ก็พลัดไปเกิดในจตุรบายคืออบายภูมิทั้ง ๔ มีโลกนรกเป็นต้น ต้องกระวนกระวายเสวยทุกขเวทนาอย่างแสนสาหัสเหลือประมาณ เพราะเป็นเหฏฐิมสงสาร การพลัดไปเกิดในภูมิขั้นต่ำ ถ้าทำความดีประกอบกรรมที่เป็นกุศลไว้ กรรมที่เป็นกุศลก็จะดลบันดาลให้ขึ้นมาอุบัติในมัชฌิมสงสาร คือเกิดในมนุษยภูมิ มีสุขบ้าง ทุกข์บ้างปะปนกันอยู่ตามที่รู้ๆ กันอยู่นี้ ถ้าทำความดีไว้มากก็ไปอุบัติเกิดเป็นเทพบุตร เทพธิดา ณ สวรรค์ชั้นฟ้า มีหน้าตาชื่นบานได้รับความสุขสำราญดีกว่ามนุษย์เป็นไหนๆ เพราะเต็มไปด้วยกามคุณอารมณ์ ถ้าได้สร้างสมาสมาธิจิตบำเพ็ญภาวนา จนบรรลุถึงฌานต่างๆ แล้ว ก็ไม่แคล้วที่จักไปอุบัติเกิด ณ พรหมโลกเป็นองค์พรหมเมศร์ กรรมที่ทำไว้ ถึงอายุขัยก็ต้องจุติไปเกิดในภูมิอื่นอีกต่อไปตามยถากรรม แล้วเฝ้าพำนักอยู่ และก็เวียนไปเวียนมาอยู่ในมหาสมุทรทะเลหลวง กล่าวคือวัฏสงสารนี้เรื่อยไปไม่มีวันหยุดยั้งเที่ยงแท้แน่นอนอยู่ในที่แห่ง เดียวได้เลย เพื่อความกระจ่างแจ้งในข้อนี้ พึงทราบความวิจิตรพิสดารของวัฏสงสาร ซึ่งจะกล่าวอย่างย่อๆ ดังต่อไปนี้

อันว่าฝูงสัตว์นรกนั้น ครั้นเขาสิ้นอายุในนรกขุมที่ตนเสวยทุกข์โทษนั้นแล้ว บางทีก็กลับเกิดซ้ำอยู่ในนรำขุมเก่านั้นอีกก็มี บางทีก็ไปเกิดในนรกขุมอื่นๆ ก็มี บางทีก็ไปเกิดเป็นเปรต บางทีไปเกิดในกำเนิดอสุรกายก็มี บางทีไปเกิดเป็นสัตว์เดียรฉานก็มี บางทีก็มาเกิดเป็นคนในมนุษยโลกเรานี้ บางทีถ้าเคยได้ประกอบกรรมอันเป็นบุญกุศลมาก่อนบ้าง ก็ได้ไปเกิดเป็นเทพยดา ณ สวรรค์เมืองฟ้า

อันว่าฝูงเปรตทั้งหลายนั้น ครั้นเขาสิ้นอายุตายจากเปรตวิสัยแล้ว บางทีก็ไม่แคล้วกลับเกิดเป็นเปรตซ้ำอีกก็มี บางทีไปเกิดเป็นสัตว์เดียรแานก็มี บางทีพอหมดบาปกรรมแล้ว มาเกิดเป็นคนในมนุษยโลกเรานี้ก็มี บางทีก็เคยได้ประกอบกรรมอันเป็นกุศลมาก่อนบ้างก็ได้ ไปเกิดเป็นเทพยดา ณ สวรรค์เมืองฟ้า

อันว่าฝูงอสุรกายทั้งปวงนั้น ครั้นเขาสิ้นอายุตายจากอสุรกายภูมิแล้ว บางทีก็ไม่แคล้วกลับเกิดเป็นอสุรกายซ้ำอีกก็มี บางทีก็ไปเกิดเป็นสัตว์นรกก็มี บางทีไปเกิดเป็นเปรตก็มี บางทีไปเกิดเป็นสัตว์เดรัจฉานก็มี บางทีก็กลับมาเกิดเป็นคนในมนุษยโลกเรานี้ก็มี บางทีถ้าเคยได้ประกอบกุศลกรรมความดีไว้บ้างแล้ว ก็ได้ไปเกิดเป็นเทพยดา ณ สวรรค์เมืองฟ้า

อันว่าฝูงสัตว์เดรัจฉานทั้งหลายนั้น ครั้นเขาสิ้นอายุตายจากติรัจฉานภูมิแล้ว บางทีก็ไม่แคล้วต้องกลับเกิดเป็นสัตว์เดียรฉานอีกเช่นนี้ก็มี บางทีก็ไปเกิดในกำเนิดเปรตก็มี บางทีก็ไปเกิดเป็นอสุรกายก็มี บางทีก็มาเกิดเป็นคนในมนุษยโลกเรานี้ก็มี บางทีถ้าเคยได้ประกอบกุศลกรรมความดีไว้ ก็ได้มีโอกาสไปเกิดเป็นเทพยดา ณ สวรรค์เมืองฟ้า
หัวข้อ: Re: มุนีนารถทีปนี การตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า โดย พระพรหมโมลี วิลาศ ญาณวโร
เริ่มหัวข้อโดย: Wisdom ที่ กุมภาพันธ์ 21, 2012, 12:17:03 PM
อันว่ามนุษย์ชายหญิงท้งหลายในมนุษยโลกเรานี้ เมื่อแบ่งเป็นประเภทใหญ่ ก็ได้ ๒ ประเภท คือ
๑. อันธพาลปุถุชน... ได้แก่คนพาลสันดานหยาบ บุญบาปไม่คำนึงถึง มีชีวิตอยู่ไปวันๆ หนึ่งประดุจคนตาบอด แต่เข้าใจว่าตนเป็นยอดคนในเชิงความคิด เที่ยงแผลงฤทธิ์ประพฤติทุจริตเกเร มีจิตใจหวนเหไปข้างบาป มีใจอาบไปด้วยความชั่วเช่นนี้ ครั้นเขาดับขันธ์สิ้นชีวี ตายจากมนุษย์แล้วก็ไม่แคล้วที่จะต้องไปเกิดในอบายภูมิ คือไปเกิดเป็นสัตว์นรก ๑ เป็นเปรต ๑ เป็นอสุรกาย ๑ เป็นเดียรฉาน ๑ เช่นนี้ก็มี บางทีอันธพาลปุถุชนนี้ ก็กลับมาเกิดเป็นคนในมนุษยโลกเรานี้ซ้ำอีกแต่หลีกกรรมชั่วไปไม่พ้น เขาจึงเป็นคนทุรพลพิการเป็นพาลอัปลักษณ์บัดสีมีน้ำใจโหดหื่น ผู้อื่นเห็นเขาเป็นคนสันดานร้ายเพราะใจเขามิรู้จักบุญและบาปเลย

๒. กัลยาณปุถุชน ... ได้แก่คนดีมีสันดานงาม มีศีลธรรมประจำใจประกอบไปด้วยหิริความละอายต่อบาปและโอตตัปปะ ความสะดุ้งกลัวต่อบาปกรรม พยายามจะทำแต่ความดี มีการให้ทานรักษาศีลเป็นต้น บำเพ็ญกุศลอยู่เนืองๆ เช่นนี้ ครั้นเขาดับขันธ์ถึงแก่ชีพิตักษัยตายไปจากมนุษย์แล้ว ก็ย่อมไม่แคล้วที่จะไปเกิดเป็นเทพยดา ณ สวรรค์เมืองฟ้าชั้นใดชั้นหนึ่ง เช่นจตุมหาราชิกาสวรรค์ และไตรตรึงษ์สวรรค์เป็นต้น เช่นนี้ก็มีบางทีก็กลับมาเกิดเป็นคนในมนุษยโลกเรานี้ซ้ำอีก แต่หลีกกรรมดีงามที่ตนทำไว้ไม่พ้น เขาจึงเกิดเป็นคนที่อุดมไปด้วยมนุษย์สมบัติ เกิดในตระกูลสูง ฝูงชนพากันรักใคร่ได้รับความสุขสบายนักหนา และกัลยาณปุถุชนอีกจำพวกหนึ่งนั้น มีน้ำใจอาญหาญเหลือประมาณ ได้กระทำสมถกรรมฐานบำเพ็ญภาวนากรรม จนสำเร็จฌานต่างๆ ครั้นเขาวางวายสิ้นชีวิตจากโลกนี้แล้ว ก็ไม่แคล้วที่จักไปอุบัติเกิดเป็นพระพรหมผู้วิเศษ ณ พรหมโลก
อัน ว่าเหล่าเทพยดาผู้สถิตเสวยสุขอยู่ ณ เทวโลกทั้งหลายนั้น ครั้นเขาหมดอายุถึงกาลจุติแล้ว บางทีก็ไม่แคล้วอุบัติเกิดเป็นเทพยดาอยู่ที่สวรรค์ชั้นเดิมซ้ำอีก เช่นนี้ก็มี บางทีก็ไปอุบัติเกิดเป็นพระพรหม ณ พระหมโลกก็มี บางทีก็ลดลงมาเกิดเป็นคนในมนุษยโลกเรานี้ บางทีมีบาปอกุศลที่ตนเคยทำก็จะมีอันเป็นให้วาบหวำตกลงมาจากเทวโลก จุติไปอุบัติเกิดในจตุรบาย คือเป็นสัตว์นรก เปรต อสุรกาย เดียรฉาน เช่นนี้ก็มี ทั้งนี้ย่อมเป็นไปตามอำนาจแห่งอกุศลที่ทำไว้เป็นที่น่าสังเวชสลดใจนัก

อันว่าพระพรหมผู้มเหศักดิ์ทั้งหลาย ซึ่งสถิตย์อยู่ ณ เบื้องบรมพรหมโลกนั้นเล่า ครั้นเขาสิ้นอายุจุติจากพรหมโลกแล้วบางทีก็ไม่แคล้วต้องอุบัติเป็นพระ พรหมอยู่ ณ พรหมโลกนั้นก็มี บางทีก็กลับมาเกิดเป็นคน ณ มนุษยโลกเรานี้ แต่ที่จะไปอุบัติเกิดในจตุรบายภูมินนั้นมิได้มี ที่ว่ามานี้ มิใช่ว่าพระพรหมทั้งหลายท่านปิดอบายภูมิได้ เป็นแต่เพียงว่า ท่านที่จุติจากพรหมโลกแล้ว จะไม่ไปเกิดในอบายภูมิใดในชาติที่ ๒ เท่านั้น ในชาติต่อไปนั้นไม่แน่ อาจจะไปเกิดในอบายภูมิทั้งหลาย ภูมิใดภูมิหนึ่งก็ได้ ยกตัวอย่าง เช่น มีพระพรหมผู้วิเศษองค์หนึ่ง ซึ่งหมดอายุจุติจากพรหมโลกแล้ว มาเกิดเป็นคนในมนุษยโลกเรานี้ หากว่าคนที่เคยเป็นพระพรหมแล้ว มาเกิดเป็นคนในมนุษยโลกเรานี้ หากว่าคนที่เคยเป็นพระพรหมมาก่อนนั้น มีความประมาทประกอบกรรมอันเป็นบาปหยาบช้าเช่น ปาณาติบาต เป็นต้น และก่อนที่จะตาย จิตยึดเหนี่ยวเอาอกุศลปาณาติบาตนั้นเป็นนิมิตตารมณ์ อย่างนี้ ทั้งๆ ที่คนผู้นั้นเคยเป็นพระพรหมมาก็ตาม ก็ต้องไปเกิดในอบายภูมิ คือต้องเป็นสัตว์นรก เพราะอกุศลชาตินี้ชักนำไป ฉะนั้น จึงได้ว่าพระพรหมทั้งหลายท่านไม่ไปเกิดในอบายภูมิในชาติที่ ๒ เท่านั้น แต่ชาติต่อไปนั้นไม่แน่

สภาพการณ์แห่งวัฏฏสงสาร ย่อมเป็นเช่นที่กล่าวมานี้แล ท่านผู้มีปัญญาทั้งหลาย ขึ้นชื่อว่าการเวียนว่ายตายเกิดในวัฏสงสารนั้น ที่จะมีอันเป็นเที่ยงแท้แน่นอนตลอดกาล ย่อมจะเป็นไปมิได้เลย ย่อมจะต้องมีอันเป็นให้ท่องเที่ยวไปเกิดในโลกที่ดีบ้าง ชั่วบ้าง และสุขบ้าง ทุกข้บ้าง สลับสับสนปะปนกันไป หากคราวใดได้มีโอกาสไปเกิดในโลกที่ดีมีความสุข กล่าวคือเทวโลกหรือพรหมโลกแล้ว คราวนั้นนับว่าเป็นการดี แต่ทีนี้ ถ้าพลาดพลั้งลงไปอุบัติเกิดใน
โลกชั่ว เช่นโลกนรกและโลกเปรต เป็นต้นแล้ว ย่อมไม่แคล้วที่จะได้รับความทุกข์ทรมานอย่างแสนสาหัส และเป็นการยากนักหนาที่จักยกตนขึ้นมาจากโลกชั้นต่ำนั้นได้ เพราะจะต้องมีอันเป็นให้เวียนตายเวียนเกิดอยู่ที่นั่นเป็นเวลานานแสนนาน

อีกประการหนึ่ง การท่องเที่ยวเวียนวนอยู่อย่างมะงุมมะงาหลาในวัฏสงสารนี้นัน นับว่าเป็นการเวียนวนไปมาไม่มีเวลาสิ้นสุด กรณีนี้สิน่าสะพึงกลัวนักหนา ลองหลับตานึกวาดภาพดูบัดนี้เถิดว่า ประชาสัตว์ทั้งหลาย รวมทั้งตัวเราที่กำลังเป็นมนุษย์อยู่ขณะนี้ด้วย ต้องเวียนเกิดเวียนตายอยู่อย่างนั้นตลอดไป ไม่ว่าจะเกิดขึ้นครั้งใดเป็นต้องตายลงไป ครั้งนั้น เกิดทีไรเป็นต้องตายทุกที ซ้ำซากอยู่อย่างนี้ไม่มีวันหยุดยั้ง ตัวเรานี้เอง เกิดตายมาแล้วนับครั้งไม่ถ้วน แต่ที่ไม่รู้ตัว มาทำเป็นหลงลืมเสียเหมือนกับไม่มีอะไรเกิดขึ้น ทำวางทีท่าเป็นมนุษย์อย่างสง่าผ่าเผยในขณะนี้ ก็เพราะอวิชชา คือความไม่รู้ในเรื่องชาติภพมันปิดบังเสียเท่านั้นเอง และต่อไปนี้อีกไม่นาน ตัวเราก็ต้องตายแล้วใช่ไหมเล่า? ตายแล้วก็เกิดอีก แต่เฝ้าตายเกิดอยู่อย่างนี้ตลอดไปและตลอดไปไม่มีวันสิ้นใดลงได้ ดังนั้นท่านจึงว่า วัฏสงสาร เป็นภัยที่น่ากลัวกว่าสิ่งที่น่ากลัวทั้งหลายในทุกโลก

พระสัพพัญญูเจ้า

ลำดับนี้ จึงมีปัญหาต่อไปว่า จะทำอย่างไร จึงสามารถนำประชาสัตว์ทั้งหลาย ซึ่งต้องตายและต้องเกิดเวียนวนไปมาอย่างไม่หยุดนี้ ให้รอดพ้นจากวัฏสงสารอันมีภัยใหญ่น่าสะพึงกลัวนั้นเสียได้

คำวิสัชชนาก็มีอยู่ว่า อย่าไปคิด...อย่าไปทำด้วยตนเองให้ยากลำบากไปเปล่าๆ เลย ไม่สำเร็จดอก ถึงจะทำอย่างไรๆ ก็ไม่สำเร็จ ต่อให้มีฤทธาศักดาเดช เป็นองค์พรหมเมศร์องค์อินทร์และพญายมราช หรือแม้แต่มนุษย์ผุ้มีความเพียรเป็นอุกฤษฐ์ ประพฤติตบะบำเพ็ญพรตพรหมจรรย์เป็นโยคีฤาษีชีไพรก็ดี หรือผู้มีความคิดยอดเยี่ยม ทำตนเทียมเทวดา มีปฏิภาณโวหารกล้า มหาชนยกย่องนับถือกันทั่วทั้งโลกก็ดี หากว่ายังมีสันดานเป็นพาลปุถุชน ไม่รู้พระจตุราริยสัจธรรมแล้ว ก็มิอาจที่จะนำประชาสัตว์ออกจากวัฏสงสารได้สำเร็จ อย่าว่าแต่ผู้มีกิเลสทั้งหลายตามที่กล่าวมาแล้วนี่เลย แม้แต่องค์พระปัจเจกพุทธเจ้าซึ่งพระองค์ท่านเป็นพระอรหันต์ ตัดกิเลสขาดออกจากจิตสันดานได้จนหมดสิ้นแล้วด้วยพระองค์เอง ถึงกระนั้น พระองค์ท่านก็สามารถนำพระองค์ออกจากวัฏสงสารได้ แต่ลำพังพระองค์ท่านผู้เดียวเท่านั้น แต่ไม่ทรงสามารถที่จะนำประชาสัตว์ทั้งหลายออกจากวัฏสงสารไปได้

แต่วิสิฐบุคคลผู้หนึ่งนั้นไซร้ ได้มุ่งมั่นด้วยหฤทัยหมายใคร่จะรื้อขนสัตว์โลกออกไปจากวัฏสงสาร จึงปรารถนาพระโพธิญาณ อุตส่าห์สร้างสมอบรมบ่มพระบารมีมานานนักหนา และพอพระบารมีแก่กล้าก็ได้ตรัสแก่พระปรมาภิเษกสัมโพธิญาณ สำเร็จเป็นเอกอุงค์อัครบรมศาสดาจารย์สัมมาสัมพุทธเจ้า ได้ตรัสรู้จตุราริยสัจธรรมเป็นพระอรหันต์ หมดกิเลสเป็นสมุทเฉทประหานด้วยพระองค์เมื่อหมดกิเลสเป็นสมุจเฉทประหานด้วย พระองค์แล้ว มีน้ำพระทัยประกอบไปด้วยพระกรุณาใหญ่ พระพุทธองค์เจ้านี่เอง พระพุทธองค์เจ้านี้แต่เพียงพระองค์เดียวเท่านั้น จึงจะทรงสามารถนำประชาสัตว์ออกจากวัฏสงสารได้ ขอให้พวกเราชาวพุทธบริษัท พึงตระหนักในข้อนี้ให้จงดี จักได้มีน้ำใจเลื่อมใสในพระมหากรุณาธิคุณแห่งสมเด็จพระจอมมุนีโดยยิ่ง


ก็การที่องค์สมเด็จพระมิ่งมงกุฎจอมมุนีนาถบรมศาสดาจารย์เจ้าทรงสามารถนำ ประชาสัตว์ออกจากวัฏสงสารได้นี้ พระองค์ทรงสามารถนำออกไปได้จริงๆ ทั้งนี้ก็เพราะว่าพระองค์ทรงเป็นพระสัพพัญญู คือทรงมีพระปัญญาแหลมคม ทรงรู้ทุกสิ่งทุกประการ เกินกว่าที่ปัญญาแห่งสามัญสัตว์จะรู้ได้ สิ่งไรที่ว่าพระองค์ไม่ทรงรู้เป็นอันไม่มี ในกรณีที่พระองค์เป็นพระสัพพัญญูทรงรู้ทุกสิ่งอย่างละเอียดลออ เกินวิสัยของปัญญาสามัญสัตว์ตลอดไตรโลกนี้ ขอท่านผู้มีปัญญาทั้งหลายพึงเห็นตัวอย่างที่ท่านยกไว้อย่างอุกฤษณ์ ดังต่อไปนี้

สมเด็จพระชินสีห์สัพพัญญูเจ้า พระองค์ผู้ทรงไว้ซึ่งพระสัพพัญญุตญาณนั้น ย่อมทรงรู้บุญรู้บาปแห่งสัตว์ทั้งปวง พระองค์ทรงรู้ได้โดยละเอียด รู้โดยอุปเทสสิ้นท่วงสิ้นที หาผู้ที่จะเสมอเหมือนมิได้ ดุจใตกรณีตัวอย่าง คือ

ชาวบ้านร้อยคนพันคนพากันกระทำอกุศลกรรม ฆ่าเนื้อตัวเดียวกัน หรือฆ่าสุกรตัวเดียวกันก็ดี เจตนาในการฆ่าแห่งชาวบ้านทั้งปวงนั้น จะได้เหมือนกันก็หามิได้ คือ บางคนมีเจตนากล้าหาญ คิดทำการฆ่าด้วยลำพังใจตนเอง บางคนมีเจตนาฆ่าอ่อน ห่าเพราะมีผู้ชักชวนหรือมีผู้ใช้ บางคนเสียมิได้จำใจต้องฆ่า บางคนกลัวคนอื่นเขาว่าจึงต้องฆ่า แต่บางคนเมื่อร่วมกันฆ่าเนื้อ หรือสุกรนั้นมีจิตชื่นชมโสมนัสในการฆ่า บางคนก็ได้แต่มัธยัสถ์เป็นอุเบกขา มิได้ยินดียินร้ายในการฆ่านั้น บางคนมิได้ลงมือฆ่าเป็นแต่ช่วยโห่ช่วยร้อง บางคนไม่โห่ไม่ร้อง ได้แต่เพิกเฉยอยู่จะห้ามเสียก็ไม่ห้าม เพราะตกลงปลงใยด้วยเจตนาในการฆ่าย่อมมีเป็นต่างๆ กันเช่นนี้ จะได้มีเหมือนกันนั้นหามิได้เลย

เมื่อชาวบ้านเป็นร้อยเป็นพัน พากันกระทำอกุศลกรรมในคราวเดียวร่วมกัน เช่นวามานี้ สมเด็จพระจอมมุนีสัพพัญญูเจ้า ย่อมทรงรู้แจ้งประจักษ์ละเอียดละออ แต่แรกกระทำ โดยทรงรู้ว่า "บรรดาชาวบ้านที่ทำอกุศลกรรมด้วยกันในครั้งนี้ หากแตกายทำลายขันธ์ไปแล้ว...
ผู้นี้จักได้ไปเกิดในสัญชีวนรก
ผู้นั้นจักได้ไปเกิดในกาฬสุตตนรก
ผู้โน้นจักได้ไปเกิดในสังฆาฏนรก
ผู้นี้จักได้ไปเกิดในรุวนรก
ผู้นั้นจักได้ไปเกิดในมหาโรรุวนรก
ผู้โน้นจักได้เกิดในตาปนรก
ผู้นี้จักได้ไปเกิดในมหาตาปนรก
ผู้นั้นจักได้ไปเกิดในอเวจีนรก
ผู้โน้นจักได้ไปเกิดในอุสสทนรก
ผู้นี้จักได้ไปเกิดในยมโลกิยนรก
ผู้นั้นจักได้ไปเกิดในนิชฌามตัณหิกเปรต
ผู้โน้นจักได้ไปเกิดเป็นขุบปิปาสิกเปรต
ผู้นี้จักได้ไปเกิดเป็นสัตว์เดียรฉานมีเท้ามาก
ผู้นั้นจักได้ไปเกิดเป็นสัตว์เดียรฉานประเภทสัตว์ไม่มีเท้าและผู้โน้นมีบาป น้อยกว่าคนทั้งปวง บาปในครั้งนี้มิอาจจะให้ปฏิสนธิได้ ต่อเมื่อใดกรรมอื่นให้ผลปฏิสนธิแล้ว บาปที่ตนกระทำในครั้งนี้จึงจะพลอยให้ผล
ชน ชาวบ้านร้อยคนพันคนร่วมมือกันกระทำอกุศลกรรมอย่างเดียวกัน กระทำในคราวเดียวกัน คนเหล่านั้นจะได้รับทุกข์โทษ ต้องเสวยผลแห่งบาปต่างกันเป็นประการใดๆ ก็ดี สมเด็จพระจอมมุนีชินสีห์สัมมาสัมพุทธเจ้าย่อมทรงรู้แจ้งประจักษ์ทุกสิ่งทุก ประการ ตั้งแต่เขาเหล่านั้นแรกลงมือกระทำทีเดียวดังนัยดังพรรณนามานี้

ในกรณีที่ทำกุศลกรรมก็เช่นเดียวกัน เมื่อชาวบ้านเป็นร้อยเป็นพันร่วมมือกันทำบุญอย่างเดียวกัน และกระทำในคราวเดียวกัน สมเด้จพระมหากรุณาสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ทรงรู้แจ้งประจักษ์อย่างละเอียดลออทุก ประการ ตั้งแต่เขาเหล่านั้นลงมือกระทำ พระองค์ก็ทรงรู้ว่า "บรรดาคนทั้งปวง ซึ่งพากันประกอบกองการกุศลด้วยในครั้งนี้ ย่อมมีกุศลเจตนาต่างกันเป็นอย่างๆ เมื่อจะได้เสวยผล ก็เสวยผลต่างกันอย่างนี้ๆ คือ
ผู้นี้จักได้ไปเกิด ณ ปรินิมมิตวสวัตตีสวรรค์
ผู้นั้นจะได้ไปเกิด ณ นิมมานรตีสวรรค์
ผู้โน้นจะได้ไปเกิด ณ ดุสิตสวรรค์
ผู้นี้จักได้ไปเกิด ณ ยามาสวรรค์
ผู้นั้นจักได้ไปเกิด ณ ดาวดึงส์สวรรค์
ผู้โน้นจักได้ไปเกิด ณ จาตุมหาราชิกาสวรรค์
ผู้นี้จะได้ไปเกิดเป็นภุมมเทวดา
ผู้นั้นจะได้ไปเกิดเป็นมเหสักขาเทวราชผู้ใหญ่
ผู้โน้นจะได้ไปเกิดเป็นฐานันดรที่สองรองเทวดาผู้ใหญ่
ผู้นี้จะได้ไปเกิดเป็นฐานันดรที่สามรองเทวดาผู้ใหญ่
ผู้นั้นจะได้ไปเกิดเป็นทวดารับใช้
ผู้โน้นจะได้ไปเกิดเป็นมนุษย์ในตระกูลกษัตริย์
ผู้นี้จะได้ไปเกิดเป็นมนุษย์ในตระกูลพราหมณ์
ผู้นั้นจะได้ไปเกิดเป็มนุษย์ในตระกูลพระยามหาอำมาตย์
ผู้โน้นจะได้ไปเกิดเป็นมนุษย์ในตระกูลรองจากพระยามหาอำมาตย์
ผู้นี้จะได้ไปเกิดเป็นมนุษย์ในตระกูลพ่อค้าพานิช
ผู้นั้นจะได้ไปเกิดเป็นมนุษย์ในตระกูลชาวนา
ผู้โน้นจะได้ไปเกิดเป็นมนุษย์ในตระกูลพ่อครัว
ผู้นี้จะได้ไปเกิดเป็นมนุษย์คนใช้ของผู้อื่น
และ ผู้คนอื่น มีบุญน้อยกว่าคนทั้งปวง บุญในครั้งนี้มีผลน้อยมิอาจจะให้ปฏิสนธิได้ ต่อเมื่อใดบุญกรรมอื่นให้ผลปฏิสนธิแล้ว บุญที่ตนกระทำในครั้งนี้จึงจะพลอยให้ผลได้'

จึงเป็นอันว่า ชนร้อยคนพันคนร่วมมือกันกระทำกุศลกรรมอย่างเดียวกัน แลเขาเหล่านั้นจะได้รับผลแห่งกุศลที่ตนประกอบขึ้นต่างๆ กัน เป็นประการใดๆ ก็ดี สมเด็จพระจอมมุนีชินสีห์สัมมาสัมพุทธเจ้าย่อมทรงรู้แจ้งประจักษ์อย่าง ละเอียดลออทุกสิ่งทุกประการ ตั้งแต่เขาเหล่านั้นแรกลงมือประกอบการทีเดียว ด้วยประการฉะนี้

กรณีตัวอย่างที่กล่าวมานี้ ย่อมจักชี้ให้เห็นว่าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้ทรงอบรมบ่มพระบารมีมา ช้านาน จนกระทั่งได้ตรัสแก่พระปรมาภิเศาสัมโพธิญาณนั้น พระพุทธองค์ท่านย่อมทรงไว้ซึ่งความเป็นพระสัพพัญญู กล่าวคือทรงรู้แจ้งประจักษ์ชัดในสภาวธรรมทุกสิ่งทุกประการ โดยที่พระองค์ทรงประกอบด้วยพระสัพพัญญูตญาณอันหาญกล้า ทรงไว้ซึ่งพระปัญญาเกินกว่าสามัญสัตว์โดยประการทั้งปวง สมควรที่ท่านผู้มีปัญญาทั้งหลายจะไม่ต้องเคลือบแคลงสงสัยในความเป็นพระ สัพพัญญูของพระองค์อีกต่อไป (การฝึกให้รู้ทุกสิ่งนี้ ศึกษาเพิ่มเติมได้จากหนังสือ "วิธีสร้างสรรค์ภูมิปัญญา" จัดพิมพ์โดยคณะสังคมผาสุก)

ก็ในเมื่อสมเด็จพระพุทธองค์ทรงไว้ซึ่งความเป็นพระสัพพัญูเช่นนี้ และได้มีโอกาสเสด็จมาอุบัติตรัสในโลกแล้ว องค์พระประทีปแก้วจึงทรงชี้ให้เห็นเหล่าประชาชนสัตว์ได้ทราบโดยนัยว่า

บรรดาสัตว์ในไตรโลก คือสัตว์ที่กำลังมีชีวิตอยู่ในเหฏฐิมสงสารหรือภูมิเบื้องต่ำ ซึ่งได้แก่สัตว์นรก เปรต อสุรกาย เดียรฉานก็ดี สัตว์ที่กำลังมีชีวิตอยู่ในมัชฌิมสงสาร หรือภูมิเบื้องกลาง ซึ่งได้แก่มนุษย์และสัตว์ที่มีชีวิตอยู่ในอุปริมสงสารหรือภูมิเบื้องสูง ซึ่งได้แก่พระพรหมผู้วิเศษทั้งหลายก็ดี สัตว์เหล่านี้ทั้งหมด ล้วนตกอยู่ในอำนาจของวัฏสงสาร คือต้องเวียนว่ายตายเกิดอยู่ในภูมิเหล่านี้ ต้องเวียนตายเวียนเกิดอยู่อย่างไม่มีวันสิ้นสุด และไม่มีวันพักผ่อน ไม่ว่าจะเวียนตายเวียนเกิดอยู่ในภูมิไหน

หัวข้อ: Re: มุนีนารถทีปนี การตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า โดย พระพรหมโมลี วิลาศ ญาณวโร
เริ่มหัวข้อโดย: Wisdom ที่ กุมภาพันธ์ 21, 2012, 12:18:03 PM
อะไรเป็นเหตุให้ต้องเวียนวนอยู่ในวัฏสงสารเช่นนี้เล่า? ก็เพราะเหตุที่ยังมีกิเลสติดอยู่ในจิตสันดาน ตราบใดที่ยังมีกิเลสติดอยู่ในจิตสันดานแล้ว ก็จะถูกกิเลสนี่แหละมันพาให้หลงติดอยู่มิรู้หยุดหย่อน เมื่อพูดถึงกิเลสตัณหาที่นอนนิ่งอยู่ในสันดานของประชาสัตว์นี่แล้ว แต่ละสัตว์แต่ละบุคคลก็มีอยู่มากมายเหลือพรรณนา ท่าย่อมว่า กิเลส ๑๕๐๐ ตัณฆา ๑๐๘ ย่อมมีเป็นประจำอยู่ในสันดานของแต่ละบุคคล การที่จะจับเอากิเลสตัณหามาจาระไนทีละตัวนั้น ย่อมเป็นการยากนักหนา ฉะนั้นจึงขอรวบรัดกล่าวว่า กิเลสตัณหาอันมากมายเหล่านั้น รวมเรียกว่าเป็นสิ่งจัญไรสิ่งหนึ่ง ซึ่งคอยผูกมัดสัตว์ทั้งหลายให้เวียนตายเกิดอยู่ในโลกต่างๆ สิ่งจัญไรที่ว่านี้ มีชื่อว่าสัญโญชน์

สัญโญชน์

ธรรมชาติใด ทำการผูกประชาสัตว์ไว้ให้ติดอยู่ในวัฏสงสาร ธรรมชาตินั้น เรียกชื่อว่า สัญโญชน์ ซึ่งมีอยู่ ทั้งหมด ๑๐ ประการคือ
๑. ทิฐิสัญโญชน์
๒. วิจิกิจฉาสัญโญชน์
๓. สีลัพพตปรามาสสัญโญชน์
๔. กามราคะสัญโญชน์
๕. ปฏิฆะสัญโญชน์
๖. รูปราคะสัญโญชน์
๗. อรูปราคะสัญโญชน์
๘.มานะสัญโญชน์
๙. อุทธัจจะสัญโญชน์
๑๐.อวิชชาสัญโญชน์
สัญโญชน์ เหล่านี้ มีสภาพเปรียบเสมือนโซ่เหล็กจัญไรผูกมัดไว้ที่คอของประชาสัตว์ทั้งหลายในโลก ต่างๆ ซึ่งรวมทั้งเราท่านทั้งหลาย ที่กำลังอยู่ในมนุษยโลกขณะนี้ด้วย แล้วฉุดกระชากลากไปให้ไปเกิดในภูมิที่ดีบ้าง ชั่วบ้าง ให้ต้องเสวยผลกรรมของตนเป็นสุขบ้าง เป็นทุกข์บ้าง อย่างไม่มีเวลาที่จะสิ้นสุดหยุดหย่อนลงเลย แม้แต่ชั่วขณะเล็กน้อยเพียงเสี้ยวแห่งวินาทีเดียว เมื่อพิจารณาดูด้วยปัญญาจึงจะเห็นเป็นภาวะที่น่าเบื่อหน่ายน่าระอานักหนา ตราบใด หากว่ายังตัดโซ่เหล็กที่ผูกคอคือสัญโญชน์เหล่านี้ไม่ได้แล้ว ก็อย่าหวังเลยว่าจักได้หยุดการท่องเที่ยวไปอย่างเหน็ดเหนื่อยในวัฏสงสาร

แต่การที่จะตัดสัญโญชน์เหล่านี้ให้หลุดไปจากตนนั้นเป็นการกระทำที่ยากนักหนา เพราะว่าประชาสัตว์ในไตรโลก ตามปกติเป็นผู้มีปัญญามืดบอดเพราะถูกอวิชาเข้าครอบงำ อย่าว่าแต่คิดจะตัดสัญโญชน์ให้หลุดออกไปจากจิตสันดานของตนเองเลย แม้แต่เจ้าตัวสัญโญชน์ที่มันมีสภาวะเหมือนกับโซ่เหล็กที่ฉุดกระชากลากให้ตน ไปเกิดในภูมินั้นภูมินี้อยู่อย่างไม่หยุดหย่อน ประชาสัตว์ทั้งหลายก็หามีปัญญาที่จะรู้จักไม่ เมื่อเป็นเช่นนี้แล้วจะป่วยการกล่าวไปใย ถึงการที่จะคิดตัดสัญโญชน์เหล่านี้ได้

ต่อเมื่อใด สมเด็จพระจอมมุนีสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จมาอุบัติตรัสในโลก เมื่อนั้นพระองค์ผู้ทรงเป็นพระสัพพัญญูเจ้าย่อมทรงชี้แจงแสดงให้ประชาสัตว์ ได้รู้จักสัญโญชน์เหล่านี้ และที่เป็นพระมหากรุณาธิคุณยิ่งขึ้นไปกว่านี้ ก็คือว่า พระองค์ทรงพระกรุณาบอกหลักการและวิธีการสำหรับตัดสัญโญชน์ ไว้อย่างเรียบร้อยในศาสนธรรมคำสอนของพระองค์ ซึ่งศาสนธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้านี้ เรียกให้รู้กันอยู่ทั่วไปอย่างคุ้นหูว่า พระบวรพุทธศาสนา ฉะนั้น จึงอาจที่จะกล่าวได้ว่าวิธีการตัดสัญโญชน์นี้ มีอยู่แต่เฉพาะในพระบวรพุทธศาสนาเท่านั้น ในคำสอนของชนเหล่าอื่นไม่มีอย่างแน่นอน จึงควรที่พวกเราจักอนุสรณ์ระลึกถึงคุณแห่งพระบวรพุทธศาสนา อันเป็นที่สุด เคารพสุดบูชานี่ ให้จงมากเถิด
โลกุตรภูมิ

วิธีการตัดสัญโญชน์ ซึ่งเปรียบเสมือนโซ่เหล็กจัญไร ที่คอยฉุดกระชากลากประชาสัตว์ให้เวียนว่ายตายเกิดอยู่ในวัฏสงสารอันมีภัยน่า สะพึงกลัวนั้น ต้องทำการตัดเป็นข้อๆ ไป ตามลำดับแห่ง โลกุตตระ คือภูมิที่พ้นโลก ซึ่งมีอยู่ทั้งหมด ๔ ภูมิ คือ
๑. โลตาปันนโลกุตรภูมิ
๒. สกิทาคามิโลกุตรภูมิ
๓. อนาคามีโลกุตรภูมิ
๔. อรหัตโลกุตรภูมิ
ในบรรดาโลกุตรภูมิทั้ง ๔ นี้มีอรรถาธิบายตามลำดับ ดังต่อไปนี้
โสตาปันนโลกุตรภูมิ

โลกุตรภูมิ ขั้นที่ ๑ นี้ มีนามว่า โสตาปันนโลกุตรภูมิ =ภูมิที่พ้นโลก คือผู้ถึงกระแสพระนิพพาน หมายความว่า ท่านผู้ใดบรรลุถึงภูมินี้แล้ว ท่านผู้นั้นย่อมได้ชื่อว่า พระโสดาบันอริยบุคคล เป็นพระอริยบุคคลชั้นแรกในพระบวรพุทธศาสนา เป็นผู้ได้ดื่มอมตรสคือพระนิพพานแล้ว

ท่านที่ได้บรรลุถึงโลกุตตรภูมิขั้นนี้ ไม่ใช่ว่าอยู่ๆ แล้วจะได้จะถึงขึ้นมาเอง ไม่ใช่อย่างนั้น โดยที่แท้ ต้องเป็นผู้มีโชคอย่างประเสริฐสุดได้เกิดมาเป็นมนุษย์พบพระบวรพุทธศาสนาแล้ว มีศรัทธากล้าหาญมั่นคงปลงปัญญาลงเห็นภัยในวัฎสงสารใคร่จะตามรอยบาทพระ พุทธองค์มุ่งตรงต่อพระนิพพาน จึงอุตสาหะปฏิบัติธรรมบำเพ็ญกรรมฐานและจะบำเพ็ญกรรมฐานอย่างอื่นก็ไม่ได้ ต้องบำเพ็ญ วิปัสสนากรรมฐาน เท่านั้น จึงจะได้ และในการบำเพ็ญวิปัสสนากรรมฐานนั้น ถ้าบำเพ็ญวิปัสสนาเป็นมิจฉาปฏิบัติ คือปฏิบัติไม่ถูกต้อง กลายเป็นวิปัสสนาเทียมไปเสียก็ไม่ได้ ต้องบำเพ็ญวิปัสสนาเป็นสัมมาปฏิบัติ คือปฏิบัติถูกต้องตามกระแสพุทธฎีกา เป็นวิปัสสนาอย่างแท้จริงจึงจะได้ (วิธีปฏิบัติที่ถูกต้อง ศึกษาได้จากหนังสือ "พระพุทธเจ้าสอนกรรมฐาน" จัดพิมพ์โดยคณะสังคมผาสุก)

เมื่อบำเพ็ญวิปัสสนากรรมฐานเป็นสัมมาปฏิบัติแล้วและเมื่ออินทรีย์ทั้ง ๕ คือ สัทธินทรีย์ ๑ วิริยินทรีย์ ๑ สตินทรีย์ ๑ สมาธินทรีย์ ๑ ปัญญินทรีย์ ๑ ถึงความพร้อมเพรียงสม่ำเสมอกันเป็นอันดีไม่ขาดตกบกพร่องแต่อย่างใดอย่าง หนึ่งแล้ว พระวิปัสสนาญาณ ก็จะเกิดขึ้นและก้าวหน้าขึ้นไปเรื่อยๆ ตามลำดับ ดังต่อไปนี้
๑. นามรูปปริเฉทญาณ... มีปรีชากำหนดนาม กำหนดรูปได้ พูดง่ายๆ ว่า รู้จักตนเองว่าคืออะไรกันแน่
๒. ปัจจยปริคตหาญาณ... มีปรีชากำหนดเหตุผลของนาม รู้ว่ารูปและนามทั้งสองนี้ ต่างเป็นเหตุผลแห่งกันและกัน
๓. สัมมสนญาณ... มีปรีชาเห็นพระไตรลักษณ์ เห็นรูปนามเป็นไปตามอำนาจแห่งพระไตรลักษณ์ คืออนิจจลักษณ์ ทุกขลักษณ์ และอนันตลักษณ์ เพราะเมื่อถึงญาณนี้แล้ว พระไตรลักษณ์จะปรากฎให้เห็นมาก
๔. อุทยัพพยญาณ... มีปรีชาเห็นความเกิดดับแห่งรูปนามเพราะเมื่อบรรลุถึงญาณนี้แล้ว รูปนามจะแสดงอาการเกิดดับให้ปรากฎเห็นมากมาย
๕. ภังคญาณ... มีปรีชาเห็นรูปนามแตกดับ เสื่อมสลายหายไปเพราะเมื่อบรรลุถึงญาณแล้ว รูปนามจะแสดงอาการแตกดับให้ปรากฎเห็นมากมาย และละสมมติบัญญัติเข้าขั้นปรมัตถสภาวะล้วน
๖. ภยญาณ... มีปรีชาเห็นรูปนามเป็นภัย คือเป็นสิ่งที่น่ากลัว เพราะเมื่อบรรลุถึงญาณนี้แล้ว รูปนามจักแสดงสภาวะที่น่ากลัวให้ปรากฎเห็นอย่างแจ่มชัด
๗. อาทีนวญาณ... มีปรีชาเห็นรูปนามโดยอาทีนวโทษ เพราะเมื่อบรรลุถึงญาณนี้แล้ว รูปนามจักแสดงทุกข์โทษให้ปรากฎเห็นอย่างแจ่มชัด
๘. นิพพิทาญาณ... มีปรีชาให้เกิดความเบื่อหน่ายในรูปนาม เพราะเมื่อบรรลุถึงญาณนี้แล้ว ผู้ปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานซึ่งเรียกว่า โยคีบุคคล จะเกิดความรู้สึกให้เบื่อหน่ายในรูปนามเป็นที่สุด การที่จะเกิดเบื่อโลกต่างๆ ไม่ปรารถนาที่จะไปเกิดอยู่ ณ ภูมิไหนๆ ก็มาเบื่อเอาจริงๆ ในตอนนี้ คือ ในตอนที่บรรลุนิพิทาญาณนี้
๙. มุญจิตุกัมยตาญาณ... มีปรีชาเกิดปรารถนาใคร่จะไปเสียให้พ้นจากรูปนาม เพราะเมื่อถึงญาณนี้แล้ว โยคีบุคคลผู้ปฏิบัติจะเกิดความรู้สึกใคร่จะหลุดพ้นใคร่จะออกจากวัฏสงสารเสีย เป็นที่สุด โลกอะไรแม้จะดีวิเศษสักเพียงไหน ก็ไม่อยากอยู่ทั้งนั้น อยากถึงพระนิพพาน การที่จะมีความปรารถนาพระนิพพานนั้น จะมีความปรารถนาเอาจริงๆ ก็ในตอนนี้
๑๐. ปฏิสังขาญาณ... มีปรีชาพิจารณากำหนดพระไตรลักษณะอีกทีหนึ่ง เพราะเมื่อโยคีบุคคลบรรลุถึงญาณนี้แล้วพระไตรลักษณ์จะปรากฎให้เห็นอย่าง ชัดเจนอีกครั้งหนึ่งและการที่จักเข้าไปถึงพระนิพพานได้นั้น ต้องเข้าไปโทษทางอันประเสริฐ กล่าวคือพระไตรลักษณ์นี้เท่านั้น
๑๑. สังขารุเปกขาญาณ... มีปรีชากำหนดวางเฉยในรูปนามทั้งปวง ไม่มีความยินดียินร้ายในสังขารอารมณ์ทั้งหมด จิตแห่งโยคีบุคคลถึงสภาวะที่เรียกว่าสงบเป็นอย่างยิ่ง เพราะสังขารุเปกขาญาณนี้เป็นยอดแห่งโลกียญาณ ถ้าวาสนาบารมีไม่พอ โยคีบุคคลผู้นั้นปฏิบัติก็จะติดขัดอยู่เพียงแค่นี้ สภาวะญาณไม่ขึ้นต่อไป หากวาสนาบารมีเคยสร้างไว้ คือได้อบรมบารมีไว้พอและอินทรีย์ทั้ง ๕ ก็ถึงภาวะที่ได้ส่วนสมดุลกันดี โยคีบุคคลก็จะก้าวขึ้นสู่วิปัสสนาญาณเบื้องสูงต่อไป
๑๒. อนุโลมญาณ... จะก้าวขึ้นสู่โลกุตรภูมิขั้นแรกแล้วเป็นญาณที่มีสภาวะตระเตรียม เพื่อความอุบัติขึ้นแห่งพระอริยมรรคอันประเสริฐ
๑๓. โคตรภูญาณ... กำลังก้าวเข้าสู่โลกุตรภูมิ ทำการประหาร โคตรปุถุชน ให้ขาดได้อย่างเด็ดขาดในตอนนี้เอง
๑๔. มรรคญาณ... ถึงโลกุตรภูมิแล้ว พระอริยมรรคบังเกิดขึ้นแล้ว แต่เป็นพระอริยมรรคขั้นที่ หนึ่ง ซึ่งเรียกชื่อว่าปฐมมรรค หรือพระโสตาปัตติมรรค ทำการตัดโซ่เหล็ก กล่าวคือสัญโญชน์ ได้เป็นบางข้อบางเปลาะแล้ว แต่จะตัดสัญโญชน์อะไรบ้างนั้น เดี๋ยวเอาไว้พูดกันทีเหลัง
๑๕. ผลญาณ...เสวยผลอันประเสริฐสุดแห่งโลกุตตรภูมิได้รู้รสชาติพระอมตมหานิพพานที่ต้องการและปรารถนามานานนักหนา
๑๖. ปัจจเวกขณญาณ...พิจารณาดูว่าตนละกิเลสอะไรได้บ้าง พูดอีกทีก็ว่า ทำการตรวจตราดูว่าตัดสัญโญชน์อะไรได้บ้างแล้ว
ท่าน ผู้มีปัญญาทั้งหลาย เมื่อท่านผู้ใดอุตสาหะบำเพ็ญวิปัสสนากรรมฐาน จนกระทั่งได้ผ่าน โสฬสญาณ คือวิปัสสนาญาณทั้ง ๑๖ ตามที่พรรณนามานี้อย่างครบถ้วนบริบูรณ์ ท่านผู้นั้นก็ได้ชื่อว่าบรรลุถึงโสดาบันโลกุตรภูมิ และได้นามว่าเป็น พระโสดาบันอริยบุคคล
คุณวิเศษ

ท่านพระโสดาบันอริยบุคคลนี้ ท่านตัดโซ่เหล็กอันเป็นบ่วงร้อยรัดให้ติดอยู่ในวัฏสงสาร กล่าวคือสัญโญชน์ได้ ๓ ประการ คือ
๑. สักกายทิฐิสัญโญชน์ ... ความเข้าใจผิดในรูปนาม
๒. วิจิกิจฉาสัญโญชน์ ... ความสงสัยในพระไตรรัตน์ คือพระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์ การที่จะมาปลงใจเชื่อในพระบรมพุทธศาสนา เชื่อในพระปัญญาสามารถแห่งสมเด็จพระจอมมุนีนาถ สัมพุทธเจ้าก็มาเชื่อเอาอย่างแน่นอนเด็ดขาด ในตอนที่ตัดวิจิกิจฉาสัญโญชน์ได้นี่เอง
๓. สีลัพพตปรามาสสัญโญชน์ ...ความยึดถือในข้อปฏิบัติที่ผิดไม่ถูกทาง การที่จะให้ยึดถือข้อปฏิบัติอื่นใดในภายนอกพระบวรพุทธศาสนา เช่น ถือว่าการบำเพ็ญศีลและพรตอย่างฤษี ชีป่า ดาบส ว่าเป็นหนทางให้บรรลุถึงพระนิพพานนั้น ย่อมไม่มีในสันดานแห่งพระโสดาบันอริยบุคคลอย่างเด็ดขาด เพราะว่าท่านตัดสีลัพพตปราสมาสัญโญชน์นี้ได้แล้ว
จงเป็น อันว่า สัญโญชน์เบื้องต่ำทั้ง ๓ ประการนี้ พระอริยบุคคลโสดาบัน ท่านตัดได้อย่างเด็ดขาด ไม่ให้มีเหลือติดอยู่ในจิตสันดานแห่งตนเลย นอกจากนี้ ท่านยังสามารถจะเข้าโสดาบันผลสมาบัติ เสวยอารมณ์พระนิพพานได้ตามจิตปรารถนาอีกด้วย และถึงแม้ว่าจะตัดสัญโญชน์ได้เพียง ๓ ประการ ยังไม่หมดเลยทีเดียว ถึงกระนั้น ท่านก็ตัดการเวียนว่ายตายเกิด ในวัฎสงสาร อันมีภัยน่าสะพรึงกลัวได้มากทีเดียว เพราะมีกฎธรรมดาอยู่ว่า พระโสดาบันบุคคลจะเกิดอีกอย่างมาก ไม่เกิน ๗ ชาติ ตามประเภทแห่งพระโสดาบัน ๓ จำพวก คือ
๑.เอกพีชีโสดาบัน.. ท่านพระโสดาบันจำพวกนี้ จะเกิดอีกเพียง ๑ ชาติ แล้วก็จะมีโอกาสได้บรรลุพระอรหัตผลเป็นพระอริยบุคคลชั้นสูงสุดในพระบวรพุทธ ศาสนา และแล้วก็จัดกับขันธ์เข้าสู่พระปรินิพพาน

๒. โกลังโกละโสดาบัน... ท่านพระโสดาบันจำพวกนี้ จะเกิดอีกเพียง ๒-๓ ชาติเป็นต้น แล้วก็จะมีโอกาสได้บรรลุพระอรหันตผล สำเร็จเป็นพระอริยบุคคลชั้นสูงสุดในพระพุทธศาสนา และแล้วก็จัดกับขันธ์เข้าสู่พระปรินิพพาน

๓. สัตตักขัตตุบรมโสดาบัน... ท่านพระโสดาบันจำพวกนี้เป็นจำพวกสุดท้าย เพราะมีวาสนาบารมีหย่อนกว่าพระโสดาบันทั้ง ๒ จำพวกที่กล่าวมาแล้ว ถึงแม้ว่าจะเป็นผู้มีวาสนาบารมีด้อยกว่าก็จริง ถึงกระนั้นท่านก็จะเกิดอีกอย่างมากไม่เกิน ๗ ชาติ แล้วก็จะมีโอกาสได้บรรลุพระอรหัตผล สำเร็จเป็นพระอริยบุคคลชั้นสูงสุดในพระบวรพุทธศาสนาและแล้วก็จักดับขันธ์ เข้าสู่พระปรินิพพาน
การที่พระโสดาบันอริยบุคคลมี ประเภทแตกต่างกันออกไปเป็น ๓ จำพวกดังกล่าวมานี้ ก็เพราะเหตุว่าบารมีอินทรีย์ที่ท่านอบรมสั่งสมมานนั้นแตกต่างกัน คือ


ถ้า สร้างบารมีมาอย่างแก่กล้า เป็นบุคคลประเภทโทสจริต จิตสันดานมากไปด้วยปัญญา แต่มีสมาธิน้อย เคยเจริญวิปัสสนามามาก เมื่ออินทรีย์ทั้ง ๕ แก่กล้าในชาตินี้แล้ว ก็สามารถได้บรรลุมรรคผลอย่างรวดเร็ว เช่นนี้ก็เป็นพระเอกพีชีโสดาบัน

ถ้า สร้างบารมีมาอย่างปานกลาง เป็นบุคคลประเภทราคจริต จิตสันดานมีปัญญาและสมาธิเท่ากัน เคยเจริญวิปัสสนากรรมฐานและสมถกรรมฐานมาเท่าๆ กัน เมื่ออินทรีย์ทั้ง ๕ แก่กล้าในชาตินี้แล้ว ก็สามารถได้บรรลุมรรคผลอย่างปานกลาง คือไม่เร็วไม่ช้า เช่นนี้ก็เป็นพระโกลังโกละโสดาบัน

ถ้า สร้างบารมีมาอย่างอ่อน เป็นบุคคลประเภท โมหะจริต จิตสันดานมีสมาธิมาก แต่ปัญญาน้อย เจริญวิปัสสนากรรมฐานมาน้อย แต่เคยเจริญสมถกรรมฐานมามาก เมื่อินทรีย์ทั้ง ๕ แก่กล้าในชาตินี้แล้ว ก็สามารถได้บรรลุมรรคผลเหมือนกันแต่บรรลุได้อย่างเชื่องช้ากว่าพระโสดาบัน ประเภทอื่น เช่นนี้ก็เป็นพระสัตตักขัตตุปรมโสดาบัน

เมื่อกล่าวถึงการเวียนว่ายตายเกิดแล้ว การที่ท่านพระโสดาบันเหล่านี้จะเกิดทุกๆ ชาติอีกต่อไปนั้น ต้องเข้าใจว่าท่านจะไม่ไปเกิดในอบายภูมิ คือ ภูมินรก เปรต อสุรกาย เดียรฉาน เหล่านี้เลยเป็นอันขาด เพราะโลกุตรธรรมที่ท่านได้บรรลุนี้เป็นวิเศษสูงยิ่ง สามารถปิดอบายภูมได้อย่างเด็ดขาดและแน่นอน ทุกๆ ชาติที่ท่านเกิดนั้น ท่านจะต้องไปเกิดในภูมิที่ดี มีความสุขเป็นพิเศษ เช่น เมื่อไปอุบัติเกิด ณ เทวโลก ก็เป็นเทพยดาเจ้าผู้เพียบพร้อมอุดมสมบูรณ์ไปด้วยเทวสมบัติ หรือเมื่อมาเป็นคนในมนุษยโลกเรานี้ก็เกิดในตระกูลสูง อุดมสมบูรณ์ไปด้วยมนุษยสมบัติเป็นต้น แต่ข้อสำคัญที่นับเป็นพิเศษก็คือว่า ท่านได้สมบัติแก้วอันประเสริฐล้ำเลิศยิ่งกว่าสมบัติแห่งพระเจ้าจักรพรรดิราช เจ้า หรือสมบัติวิเศษอื่นใดพระบวรพุทธศาสนา และจักได้ดับขันธ์เข้าสู่พระนิพพานในอนาคตกาลอย่างแน่นอน นับได้ว่าท่านเป็นผู้มีโชคดี ได้มีโอกาสเกิดมาเป็นมนุษย์พบพระพุทธศาสนาแล้ว ยังยึดเอาองค์พระประทีปแก้ว คือสมเด็จพระพุทธเจ้ามาเป็นนาถะที่พึ่งแห่งตนได้อย่างแท้จริง อีกโสดหนึ่งด้วย ดังธรรมภาษิตที่ว่า
สมเด็จ พระเจ้าจักรพรรดิราชผู้บริบูรณ์ด้วยทรัพย์มหาศาลทั้งเป็นอิสระใหญ่ในหมู่ มนุษย์ สมเด็จพระอมรินทราธิราชผู้เป็นใหญ่ในสรวงสวรรค์หรือท่านท้าวมหาพรหมผู้เจริญ ด้วยอิสระ มีมหิทธานุภาพยิ่งใหญ่ในหมู่พระพรหมทั้งหลายก็ตาม ถึงกระนั้นก็สู้ความเป็นพระโสดาบันอริยบุคคลไม่ได้ ดังนี้

สกิทาคามีโลกุตรภูมิ

โลกุตรภูมิ ขั้นที่ ๒ มีนามว่า สกิทาคามีโลกุตรภูมิ = ภูมิที่พ้นจากโลก คือท่านที่จะมาเกิดอีกครั้งเดียว หมายความว่า ท่านผู้ใดบรรลุถึงภูมินี้แล้ว ท่านผู้นั้นย่อมได้ชื่อว่า พระสกิทาคามี อริยบุคคล เป็นพระอริยบุคลชั้นที่ ๒ ในพระบวรพุทธศาสนาจะกลับมาเกิดอีกครั้งเดียวเท่านั้น ก็จักดับขันธ์ปรินิพพาน

ท่านที่จะบรรลุถึงโลกุตรภูมิขั้นนี้ ต้องเป็นผู้ที่บำเพ็ญวิปัสสนากรรมฐานผ่านโสดาปันนโลกุตรภูมิมาแล้ว ปรารถนาจักบรรลุมรรคผลขั้นนี้ จึงเจริญวิปัสสนากรรมฐานต่อไปให้ยิ่งขึ้น เมื่ออินทรีย์ทั้ง ๕ เสมอกันแล้ว เพราะมีวาสนาบารมีที่ตนได้สั่งสอนอบรมมาเพียงพอ สภาวะแห่งวิปัสสนาญาณก็จะเกิดขึ้นเรื่อยๆ ตั้งแต่ อุทยัพพยญาณ เป็นต้นไป จึงถึงสังขารุเปกขาญาณ แต่สภาวญาณเหล่านี้ จะปรากฎชัดเจนและละเอียดแจ่มแจ้งกว่าสภาวญาณที่ตนเคยผ่านมาแล้ว ต่อจากนั้น อนุโลมญาณ ก็จะเกิดขึ้น ติดตามมาด้วย โวทนะ (โว ทานะแทนโคตรภูญาณ เพราะท่านผู้นี้เป็นพระอริยบุคคลแล้ว มิใช่ปุถุชน เพราะฉะนั้น ญาณที่ตัดโคตรปุถุชน คือ โคตรภูญาณ จึงไม่จำต้องเกิดขึ้นอีก) ครั้นแล้วทุติยมรรค หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า พระสกิทาคามิมรรค ก็จักอุบัติขึ้น ติดตามมาด้วยพระสกิทาคามิผล เป็นการถึงพระนิพพานอีกครั้งหนึ่ง พระสกิทาคามิมรรคนี้ไม่มีอำนาจตัดสัญโญชน์อันใดอันหนึ่งได้เด็ดขาด แต่ถึงกระนั้น ก็มีอำนาจทำกิเลสทั้งหลายให้เป็น ตนุกร คือทำให้เบาบางกว่าพระโสภาปัตติมรรค ซึ่งเป็นพระอริยมรรคครั้งแรกเป็นธรรมดา
หัวข้อ: Re: มุนีนารถทีปนี การตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า โดย พระพรหมโมลี วิลาศ ญาณวโร
เริ่มหัวข้อโดย: Wisdom ที่ กุมภาพันธ์ 21, 2012, 12:19:16 PM
คุณวิเศษ

ท่านพระสกิทาคามิอริยบุคคลนี้ นอกจากจะมีกิเลสเบาบางกว่าพระโสดาบันอริยบุคคลแล้ว ยังมีคุณวิเศษ คือสามารถเข้าถึงสกทาคามีผลสมาบัติ เสวยอารมณ์พระนิพพานได้ตามจิตปรารถนาอีกด้วย แต่ที่วิเศษสุดยอดก็คือว่า ท่านพระสกิทาคามีอริยบุคคลนี้ ท่านจะเกิดอีกชาติเดียวเท่านั้น ก็จักได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์ และแล้วก็จัดดับขันธ์เข้าสู่พระปรินิพพาน ส่วนการที่ท่านจะเกิดอีกชาติเดียวนั้น ท่านจะไปเกิด ณ ที่ไหน ก็เป็นไปตามประเทภแห่งพระสกิทาคามี ๕ จำพวกคือ
๑. บางท่านเป็นมนุษย์ สำเร็จเป็นพระสกิทาคามีบุคคลในมนุษยโลกนี้ แล้วจุติไปอุบัติเกิดเป็นเทพเจ้า ณ สวรรค์เทวโลก ครั้นแล้วจึงจุติจากสวรรค์เทวโลก กลับมาเกิดในมนุษยโลกเรานี้อีกครั้งหนึ่งแล้วได้บรรลุพระอรหัตผลและดับขันธ์ ปรินิพพานในมนุษยโลกนี้เอง

๒. บางท่านเป็นมนุษย์ สำเร็จเป็นพระสกิทาคามีบุคคลแล้ว กระทำความเพียรเจริญวิปัสสนากรรมฐานต่อไปอย่างไม่หยุดยั้ง จนกระทั่งได้บรรลุพระอรหัตผลและดับขันธ์ปรินิพพานในชาติเดียวในมนุษยโลกเรา นี่เอง

๓. บางท่านเป็นมนุษย์ สำเร็จเป็นพระสกิทาคามีบุคคลในมนุษยโลกนี้แล้วจุติไปอุบัติเกิดเป็นเทพเจ้า ณ สวรรคเทวโลก ครั้นแล้วก็ได้บรรลุพระอรหัตผล และดับขันธ์ปรินิพพานบนสวรรคเทวโลกนั่นเอง

๔. บางท่านเป็นเทพดาเจ้า สำเร็จเป็นพระสกิทาคามีบุคคล ณ สวรรคเทวโลก แล้วได้บรรลุพระอรหัตผล และดับขันธ์ปรินิพพานบนสวรรคเทวโลกนั่นเอง

๕. บางท่านเป็นเทพยดาเจ้า สำเร็จเป็นพระสกิทาคามีบุคคล ณ สวรรคเทวโลกแล้วจุติมาอุบัติเกิดในมนุษยโลกเรานี้ได้บรรลุพระอรหันตผล และดับขันธ์ปรินิพพานในมนุษย์โลกนี้เอง
ท่านผู้มี ปัญญาทั้งหลาย ความอัศจรรย์แห่งพระโอวาทานุสาสนีขององค์สมเด็จพระจอมมุนีสัมมาสัมพุทธเจ้า ในกรณีที่สามารถชักนำสัตว์ให้ออกไปจากวัฏสงสารได้อย่างแน่นอน ย่อมปรากฎมีตามที่พรรณนามานี้ ผู้มีปัญญาเห็นภัยในวัฏสงสารคนใด เมื่อมีใจเลื่อมใสยึดถือเอาพระพุทธองค์มาเป็นนาถะที่พึ่งแล้วและพยายาม ปฏิบัติตามพระโอวาทานุสาสนี ผู้นั้นย่อมจะตัดภพตัดชาติที่จะต้องเวียนว่ายตายเกิดอยู่ในวัฏสงสารได้อย่าง เด็ดขาดเป็นขั้นๆ ไป โดยไม่ต้องสงสัย


อนาคามีโลกุตตรภูมิ

โลกุตรภูมิขั้นที่ ๓ มีนามว่า อนาคามีโลกุตรภูมิ = ภูมิพ้นจากโลก คือท่านผู้จะไม่กลับมาอีก หมายความว่า ท่านผู้ใดบรรลุถึงภูมินี้แล้ว ท่านผู้นี้ย่อมได้ชื่อว่า พระอนาคามี อริยบุคคล เป็นพระอริยบุคคลชั้นที่ ๓ ในพระบวรพุทธศาสนา ท่านจะไม่กลับมาถือปฏิสนธิในกามาวจรภูมิ คือมนุษยโลกและเทวโลกอีกเลย

ท่านที่จะได้บรรลุถึงโลกุตรภูมิขั้นนี้ ต้องเป็นผู้บำเพ็ญวิปัสสนากรรมฐาน ผ่านโลกุตรภูมิขั้นที่ ๒ มาแล้ว ปรารถนาที่จะบรรลุมรรคผลขั้นนี้ จึงตั้งหน้าอุตสาหะเจริญวิปัสสนากรรมฐานให้ยิ่งขึ้นไป เมื่ออินทรีย์ทั้ง ๕ ได้ส่วนสมดุลเสมอกันเป็นอันดีแล้ว เพราะวาสนาบารมีที่ตนได้สั่งสมอบรมมาเพียงพอสภาวญาณก็เกิดขึ้นเรื่อยๆ ตั้งแต่อุทยัพพยญาณ เป็นต้นไปจนกระทั่งถึง สังขารุเปกขาญาณ แต่สภาวญาณเหล่านี้จะปรากฎชัดเจนจนละเอียดแจ่มแจ้งกว่าญาณที่ตนเคยได้ผ่านมา ต่อจากนั้น อนุโลมญาณ ก็จะเกิดขึ้นตามติดมาด้วย โวทานะ ครั้นแล้ว ตติยมรรค หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า พระอนาคามิมรรค ก็จักเกิดขึ้น พอพระอนาคามิมรรคเกิดขึ้น ก็จักทำการประหารสัญโญชน์ได้อย่างเด็ดขาดอีกบางประการ แต่จะประหารสัญโญชน์อะไรบ้างนั้น ประเดี๋ยวจะกล่าวทีหลัง ครั้นพระอนาคามีมรรคเกิดขึ้นแล้ว พระอนาคามีผลก็จักปรากฎตามติดกันมา จึงเป็นอันว่า บัดนี้ ท่านผู้นั้นเป็นพระอนาคามีบุคคลแล้ว

ตามที่กล่าวมานี้ ดูเหมือนเป็นสิ่งที่กระทำได้สำเร็จง่ายๆ แต่ความจริงเปล่าเลย เพราะเป็นการกระทำที่ยากนักหนาสำหรับโยคีบุคคลผู้ปฏิบัติ เพราะว่าผู้ปฏิบัติเพื่อให้พระอนาคามิมรรคเกิดขึ้นในสันดานของตนนี้ ต้องเป็นผู้ที่มีสมาธิอย่างดีเยี่ยม ต้องเป็นผู้มีสมาธิเต็มเปี่ยมสมบูรณ์ที่สุด โดยมีกฎตายตัวอยู่ว่า

ท่านผู้สามารถที่จะปฏิบัติให้พระโสดาปัตติมรรคและพระสกิทาคามิมรรคบังเกิดขึ้นในสันดานของตนนั้น ต้องเป็นผู้บริบูรณ์ด้วย ศีล คือ มีศีลบริสุทธิ์เป็นอย่างยิ่ง

ท่านผู้สามารถที่จะปฏิบัติให้พระอนาคามีมรรคบังเกิดขึ้นในสันดานของตนนั้นต้องเป็นผู้บริบูรณ์ด้วย สมาธิ คือมีสมาธิดีเป็นยอดเยี่ยม

ฉะนั้น การปฏิบัติบำเพ็ญเพื่อความเป็นพระอนาคามีบุคคลนี้ จึงต้องมีสมาธิดีเป็นอย่างยิ่ง ต้องมีสมาธิเต็มเปี่ยมสมบูรณ์ที่สุด พระอนาคามีมรรคจึงจักอุบัติเกิดขึ้นได้ แม้จะเป็นการปฏิบัติที่ค่อนข้างจะยาก แต่ก็มิใช่สิ่งเหลือวิสัยสำหรับผู้ใคร่จะออกจากทุกข์ในวัฏสงสาร

คุณวิเศษ

ท่านพระอนาคามีอริยบุคคลนี้ ท่านตัดสัญโญชน์ได้เด็ดขาดไปอีก ๒ ประการ คือ
๑. กามราคะสัญโญชน์... ประหารกามราคะความติดอยู่ในกามคุณอารมณ์ทุกชนิดได้อย่างเด็ดขาด พูดอีกทีก็ว่า ไม่มีความรักความใคร่ติดอยู่ในจิตเลย ด้วยอำนาจแห่งพระอนาคามีมรรคนี้

๒. ปฏิฆะสัญโญชน์...ประหารปฏิฆะ คือความไม่พอใจในอารมณ์ต่างๆ ได้อย่างเด็ดขาด พูดอีกทีก็ว่าไม่มีโทโสโกรธาติดอยู่ในจิตเลย ตัดความโกรธได้ด้วยอำนาจแห่งพระอนาคามิมรรคนี้
เห็น ไหมเล่า ท่านผู้มีปัญญาทั้งหลาย ว่าการปฏิบัติธรรมในพระพุทธศาสนา สามารถตัดโซ่เหล็กอันผูกมัดคอสัตว์ให้ติดอยู่ในวัฏสงสาร กล่าวคือสัญโญชน์ได้เป็นลำดับมา บัดนี้ ตัดสัญโญชน์ได้ ๕ ประการ แล้ว คือ
๑. สักกายทิฐิสัญโญชน์
๒. วิจิกิจฉาสัญโญชน์
๓. สีลัพพตปรามาสสัญโญชน์
สัญโญชน์ทั้ง ๓ ประการนี้ ตัดได้ด้วยอำนาจแห่งพระโสดาปัตติมรรคที่กล่าวมาในตอนต้นนั้นแล้ว
๔. กามราคะสัญโญชน์
๕. ปฏิฆะสัญโญชน์
สัญโญชน์ทั้ง ๒ ประการนี้ ตัดได้ด้วยอำนาจแห่งพระนาคามิมรรค ที่เรากำลังพูดถึงกันอยู่นี้

ส่วนสัญโญชน์ที่เหลืออีก ๕ ประการ จะสามารถตัดได้หรือไม่? และถ้าตัดได้ จะตัดด้วยอะไร? ขอท่านผู้มีปัญญาทั้งหลายจงอุตส่าห์ติดตามศึกษาต่อไป ประเดี๋ยวก็คงจะทราบตอนนี้จะขอกล่าวถึงคุณพิเศษของพระอนาคามีบุคคลก่อน คือพระอนาคามีอริยบุคคลนี้ นอกจากท่านจะตัดสัญโญชน์ได้อีก ๒ ประการตามที่กล่าวมาแล้ว ท่านยังสามารถที่จะเข้าอนาคามีผลสมาบัติ เสวยอารมณ์พระนิพพานได้ตามจิตปรารถนาอีกด้วย แต่ที่วิเศษสุดก็คือว่า เมื่อท่านจุติไปแล้ว จะไม่กลับมาปฏิสนธิในกามภูมิ เช่นมนุษยโลกและเทวโลกอีกเลย ท่านย่อมไปอุบัติเกิดในสุทธาวาสพรหมโลก แล้วก็จะได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์และดับขันธ์ปรินิพพานบนโน้นเลยทีเดียว

ในวันนี้ หากจะมีปัญหาว่า การที่จะไปอุบัติเกิด ณ พรหมโลกได้นั้น จะต้องปฏิสนธิด้วยฌานวิบากอันเป็นผลแห่งฌานกุศล สำหรับพระอนาคามิบุคคลที่เป็นฌานลาภี เคยบำเพ็ญสมถกรรมฐานได้ฌานมาก่อน ก็ไม่มีปัญหาอันใด คือต้องไปเกิดในพรหมโลกได้แน่ๆ แต่ทีนี้พระอนาคามีบุคคลที่เป็น สุกขวิปัสสกะ คือบำเพ็ญวิปัสสนากรรมฐานมาอย่างเดียวล้วนๆ ไม่เคยบำเพ็ญสมถกรรมฐาน ไม่เคยได้ฌานมาก่อนเลย แล้วอย่างนี้จะไปบังเกิดในพรหมโลกได้อย่างไรกัน?

ปัญหานี้ไม่ต้องสงสัย เพราะว่าพระอนาคมีบุคคลประเภทสุกขวิปัสสกะนี้ เมื่อท่านใกล้จะจุติ มัคคสิทธิฌาณ ย่อมบังเกิดขึ้น แล้วก็เป็นปัจจัยนำให้ท่านไปเกิดในพรหมโลก ถึแม้ว่าท่านจะถึงแก่มรณภาพลงโดยไม่ทันรู้ตัว เช่น ขณะที่กำลังหลับอยู่ก็ดี หรือขณะที่กำลังกระทำกิจการใดๆ เผลออยู่ก็ดี มีผู้มากระทำร้ายให้ถึงแก่มรณภาพลงในทันทีทันใด โดยมิได้รู้ตัวเลย เช่นนี้มัคคสิทธิฌาณก็ย่อมจะบังเกิดขึ้นแก่ท่านก่อนแล้วจึงจะจุติ ตราบใดที่มัคคสิทธิฌาณยังไม่เกิดขึ้นแล้ว พระอนาคามีบุคคลประเภทนี้จักไม่มีการจุติเลยเป็นอันขาด ต่อเมื่อมัคคสิทธิฌานบังเกิดขึ้นแล้ว ท่านจะจุติไปปฏิสนธิ ณ พรหมโลกดังกล่าวนั้น

และเมื่อท่านไปอุบัติเกิดในพรหมโลกแล้ว ย่อมจักมีโอกาสได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์และดับขันธ์ปรินิพพาน ตามประเภทแห่งพระอนาคามี ๕ จำพวกคือ
๑. อันตราปรินิพพายี... ได้แก่พระอนาคามีบุคคลที่ไปอุบัติเกิด ณ สุทธาวาสพรหมโลกภูมิใดภูมิหนึ่งแล้ว ก็ได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์และปรินิพพานภายในอายุครึ่งแรกของสุทธาวาสพรหมโลก ที่ท่านไปเกิดนั้น

๒. อุปหัจจปรินิพพายี... ได้แก่พระอนาคามีบุคคลที่ไปอุบัติเกิด ณ สุทธาวาสพรหมโลกภูมิใดภูมิหนึ่งแล้ว ก็ได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์และปรินิพพานภายในอายุครึ่งหลังของสุทธาวาสพรหมโล ที่ท่านไปเกิดอยู่นั้น

๓. อสังขารปรินิพพายี... ได้แก่พระอนาคามีบุคคลที่ไปอุบัติเกิด ณ สุทธาวาสพรหมโลกภูมิใดภูมิหนึ่งแล้ว ก็ได้สำเร็จพระอรหันต์ในภูมินั้นโดยสะดวกดายไม่ต้องใช้ความพยายามมากแล้ว ดับขันธ์ปรินิพพาน

๔. สสังขารปรินิพพายี... ได้แก่พระอนาคามีบุคคลที่ได้ไปอุบัติเกิด ณ สุทธาวาสพรหมโลก ภูมิใดภูมิหนึ่งแล้ว ก็ได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์ในภูมินั้นโดยต้องใช้ความพยายามอย่างแรงกล้าแล้ว ดับขันธ์ปรินิพพาน

๕. อุทธังสโตอกนิฏฐคามี...ได้แก่พระอนาคามีบุคคลที่ไปอุบัติเกิด ณ สุทธาวาสพรหมโลกชั้นต่ำ คือพรหมโลกชั้น อวิหาภูมิ แล้ว จึงจุติไปอุบัติเกิดในสุทธาวาสพรหมโลกชั้นสูงขึ้นไปตามลำดับ คือ
อตัปปาภูมิ
สุทัสสาภูมิ
สุทัสสีภูมิ
อกนิฏฐกาภูมิ
แล้วจึงได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์และดับขันธ์ปรินิพพานที่ชั้นอกนิฏฐกาภูมิ สุทธาวาสพรหมโลกเอง
คุณวิเศษ ที่พรรณนามานี้ เป็นคุณวิเศษแห่งพระอนาคามีอริยบุคคลผู้ทรงพระคุณ อันประเสริฐในพระบวรพุทธศาสนาผู้ซึ่งจะไม่กลับมาสู่กามภูมิคือเทวโลกและ มนุษยโลกนี่อีกเลยในอนาคตกาล สำหรับในปวัตติกาล หากสมัยใดมีองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จมาอุบัติตรัสในโลกแล้ว พระอนาคามีอริยบุคคลซึ่งเป็นองค์พระพรหมผู้วิเศษสถิตย์อยู่ ณ ปัจสุทธาวาสพรหมโลกทั้งหลาย ก็ย่อมจะจรมาสู่มนุษยโลกเรานี้ เพื่อที่จักได้ทอดทัศนาและได้สดับพระสัทธรรม แห่งองค์สมเด็จพระจอมมุนีชินสีห์สัมมาสัมพุทธเจ้าบ้างเป็นครั้งคราว เช่นนี้ก็มีอยู่บ้างเป็นธรรมดา

ท่านผู้มีปัญญาทั้งหลาย เมื่อองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จมาอุบัติตรัสขึ้นในโลกแล้ว พระองค์ก็ทรงดำรงฐานะอยู่ในภาวะเป็นนาถะที่พึ่งของประชาสัตว์ผู้ติดอยู่ใน วัฏสงสารโดยทรงโปรดประทานพระธรรมเทศนาอันประเสริฐสุด เหล่าพุทธบริษัททั้งหลาย เมื่อปฏิบัติตามกระแสพระพุทธฎีกา ย่อมสามารถที่จะพาตนออกจากวัฏสงสารได้ โดยตัดสัญโญชน์โซ่เหล็กจัญไรที่พันผูกคอตนไว้เป็นลำดับไป เข้าสู่จุดหมายอันเพริศพริ้ง กล่าวคือแดนพระอมตะมหานิพพานใกล้เข้าไปทุกทีประดุจ เช่นพระอนาคามีอริยบุคคลที่กล่าวมานี้ ฉะนั้นจึงควรที่เราท่านทั้งหลายที่มีโชคดี เกิดมาพบพระบวรพุทธศาสนาในชาตินี้ จะน้อมใจให้เลื่อมใสในพระพุทธคณให้จงมากเถิด อย่าได้เคลือบแคลงสงสัยอะไรเลย แล้วรีบปฏิบัติตามพระโอวาทานุสาสนี เพื่อที่จักน้อมนำเอาสมเด็จพระจอมมุนีพุทธเจ้ามาเป็นนาถะที่พึ่งของตัวเรา ให้จงได้

อรหัตโลกุตรภูมิ

โลกุตรภูมิขั้นที่ ๔ อันเป็นขั้นสูงสุด มีนามว่า อรหัต โลกุตรภูมิ คือภูมิที่พ้นจากโลก กล่าวคือท่านผู้สมควรแก่การบูชา หมายความว่า ท่านผู้ใดบรรลุถึงภูมินี้แล้ว ท่านผู้นั้นย่อมได้ชื่อว่าพระอรหันต อริยบุคคล เป็นพระอริยบุคคลชั้นสูงสุดในพระพุทธศาสนา เป็นผู้สมควรแก่การบูชาของเหล่าเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย

ท่านที่จักได้บรรลุถึงโลกุตรภูมิขึ้นสูงสุดนี้ ต้องเป็นผู้ที่บำเพ็ญวิปัสสนากรรมฐานผ่านโลกุตรภูมิขึ้นที่ ๓ มาแล้ว และปรารถนาที่จักได้บรรลุคุณวิเศษอันประเสริฐสุด จึงรีบรุดตั้งหน้าอุตสาหะเจริญวิปัสสนากรรมฐานให้ยิ่งขึ้นไป เมื่ออินทรีย์ทั้ง ๕ ได้ส่วนสมดุลลเสมอกันเป็นอันดี เพราค่าที่มีวาสนาบารมีอันตนได้สั่งสมอบรมมาถึงภาวะที่เรียกว่า เต็มเปี่ยมสมบูรณ์ที่สุดแล้ว สภาวญาณก็จะเกิดขึ้นเรื่อยๆ ตั้งแต่อุทยัพพยญาณ เป็นต้นไป จนกระทั่งถึง สังขารุเปกขาญาณ แต่สภาวญาณเหล่านี้จะปรากฎชัดเจนละเอียดแจ่มแจ้งเป็นที่สุด ต่อจากนั้น อนุโลมญาณก็จะเกิดขึ้น ตามติดด้วย โวทานะ ครั้นแล้ว จตุตถมรรค หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า พระอรหัตมรรค ก็จะพลันอุบัติขึ้นและเมื่อพระอรหัตมรรคอุบัติขึ้นแล้ว ก็จะเป็นเสมือนดาบที่คมกล้าสามารถฟาดฟันประหัตประหารบรรดาสรรพกิเลสทั้งหลาย ที่หมักดองอยู่ในขันธสันดานมานานนักหนา ให้ถึงภาวะหมดไปโดยสิ้นเชิง และโซ่เหล็กกล่าวคือ สัญโญชน์ที่ยังเหลืออยู่อีก ๕ ประการ ก็ให้มีอันขาดสะบั้นหมดลง ตั้งอำนาจแห่งพระอรหัตมรรคที่อุบัติขึ้นในขณะนี้ ต่อจากนั้นพระอรหัตตผลก็จะเกิดตามติดมา ให้ท่านได้เสวยอารมณ์พระนิพพาน เป็นขันธวิมุติหลุดพ้นจากเบญจขันธ์ กล่าวคือรูปนามเป็นพระมหาขีณาสพ ถึงความบริสุทธิ์อย่างยิ่ง กิเลสธุลีแม้แต่เท่ายองใยก็ไม่มีเหลือติดอยู่ในขันธสันดาน

อนี่ง พึงทราบไว้ในที่นี้ด้วยว่า ท่านที่สามารถจะปฏิบัติเพื่อให้พระอรหัตมรรคบังเกิดขึ้นในขันธสันดานได้นั้น ต้องเป็นผู้ที่สมบูรณ์ด้วย ปัญญา กล่าวคือมีปัญญาบารมีที่เต็มเปี่ยมสมบูรณ์ที่สุดแล้ว พระอรหัตมรรคนี้ จึงจักอุบัติเกิดขึ้นได้ ด้วยเหตุนี้ ในพระบวรพุทธศาสนาที่สุดบูชาแห่งพวกเราชาวพุทธบริษัทนี้ จึงเป็นพระศาสนาที่เต็มเปี่ยมไปด้วยหลัก ๓ ประการ คือ ศีล สมาธิ ปัญญา อย่างยอดเยี่ยมสมบูรณ์เป็นอย่างยิ่ง เพราะการบรรลุมรรคผลอันประเสริฐสุดเป็นโลกุตระนี้ จะต้องบรรลุด้วยหลัก ๓ ประการ ดังกล่าวแล้ว คือ
๑.จะบรรลุพระโสตาปัตติมรรค และพระสกิทาคามีมรรคได้ด้วย อธิศีล คือศีลขั้นยอดเยี่ยมสมบูรณ์ที่สุด

๒. จะบรรลุพระอนาคามิมรรคได้ด้วย อธิจิต คือมีจิตเป็นสมาธิชั้นยอดเยี่ยมสมบูรณ์ที่สุด

๓. จะบรรลุพระอรหัตมรรคได้ด้วย อธิปัญญา คือปัญญาชั้นยอดเยี่ยมสมบูรณ์ที่สุด
ประเภทพระอรหันต์

พระอรหันต์อริยบุคคลในพระบวรพุทธศาสนานี้ เมื่อกล่าวโดยประเภทแล้วก็ย่อมมีอยู่ ๒ ประเภทคือ
๑.เจโตวิมุติ อรหันต์... ได้แก่โยคีบุคคลผุ้ปฏิบัติสมถกรรมฐานได้ฌานมาก่อนแล้ว ภายหลังมาปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานจนได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์ก็ดี หรือโยคีบุคคลผู้ที่ปฏิบัติเฉพาะแต่วิปัสสนากรรมฐาน แต่เมื่อพระอรหัตมรรคจะอุบัติขึ้นนั้น ฌาน ก็อุบัติขึ้นในขณะนั้น นั่นเองด้วยอำนาจแห่งบุรพาธิการเช่นนี้ก็ดี ท่านเหล่านี้มีชื่อว่า ฌาณลาภี บุคคล คือสำเร็จฌานสมาบัติได้วิชา ๓ อภิญญา ๖ มีคุณพิเศษในทางสำแดงฤทธิ์เดชทั้งหลาย เช่นสามารถเหาะเหิรไปในอากาศเวหาหาวได้เป็นต้น

๒. ปัญญาวิมุติอรหันต์... ได้แก่โยคีบุคคลผู้ปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานล้วนๆ ไม่ได้ปฏิบัติสมถกรรมฐานมาก่อนเลยและเมื่อพระอรหัตมรรคจักอุบัติขึ้นนั้น ฌานก็ไม่มีเกิดขึ้นด้วยเลย ท่านเหล่านี้มีชื่อว่า สุกขวิปัสสกะ คือ ท่านเป็นผู้ปฏิบัติทำให้ฌานแห้ง ไม่สามารถที่จะสำแดงฤทธิ์ต่างๆ ได้
นอกจากนี้ พระอรหันต์อริยบุคคลทั้งหลาย ยังแบ่งโดยประเภทแห่งคุณพิเศษได้ ๒ ประเภท คือ
๑. ปฏิสัมภิทาปัตตอรหันต์...ได้แก่พระอรหันต์ผู้แตกฉานในปฏิสัมภิทา เพราะเมื่อท่านจะได้บรรลุพระอรหัตมรรคพระอรหัตผลนั้น ปฏิสัมภิทาญาณทั้ง ๔ คือ
ก. อรรถปฏิสัมภิทา แตกฉานในอรรถ
ข. ธรรมปฏิสัมภิทา แตกฉานในธรรม
ค. นิรุตติปฏิสัมภิทา แตกฉานในภาษา
ง.ปฏิภาณปฏิสัมภิทา แตกฉานในปฏิภาณ
ปฏิสัมภิทาญาณทั้ง ๔ นี้เกิดขึ้นพร้อมกับขณะที่ท่านได้บรรลุมรรคผล ด้วยอำนาจแห่งบุรพาธิการ

๒. อัปปฏิสัมภิทาปัตตอรหันต์... ได้แก่พระอรหันต์ผู้ซึ่งไม่แตกฉานในปฏิสัมภิทาญาณทั้ง ๔ ที่กล่าวมาแล้วนั้น ท่านพระอรหันต์ประเภทนี้ มีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า มูคพระอรหันต์ คือพระอรหันต์ผู้ไม่มีความรู้ในพระปริยัติธรรม
ก็การ ที่ท่านจักได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์ผู้ทรงคุณพิเศษประเภทฌานลาภีบุคคล คือมีฌาณกล้าสามารถสำแดงอิทธิฤทธิ์ต่างๆ ได้ก็ดีทรงคุณพิเศษประเภทแตกฉานในปฏิสัมภิทาญาณต่างๆ ก็ดี ทั้งนี้ด้วยอำนาจแห่งบุรพาการ ที่ท่านได้สร้างสมอบรมมาแต่อดีตชาติ กล่าวคือเมื่อชาติปางก่อนนั้น ท่านประกอบการอันเป็นบุญกุศลใดๆ ย่อมได้เคยตั้งจิตอธิษฐานปรารถนาไว้โดยนัยว่า
"ต่อ ไปภายหน้า เมื่อข้าฯ ได้บรรลุมรรคผลเป็นพระอรหันตสาวกแห่งองค์สมเด็จพระทศพลแล้วไซร้ ขอให้มัคคสิทธิฌานหรือพระปฏิสัมภิทาญาณจงบังเกิดขึ้นพร้อมกับการให้บรรลุ มรรคผลนั้นเถิด"
ด้วยอำนาจแห่งบุรพาธิการดังนี้ ท่านจึงได้เป็นฌานลาภีอรหันต์ หรือเป็นปฏิสัมภิทาปัตตอรหันต์ดังกล่าวมา ฝ่ายว่าท่านพระอรหันต์ผู้ไม่มีญาณหรือไม่ได้ปฏิสัมภิทาญาณ ก็เพราะไม่มีบุรพาธิการ กล่าวคือในอดีตชาติ เมื่อท่านประกอบกองการกุศลใดๆ แล้วไม่เคยได้ตั้งความปรารถนาเช่นกล่าวเอาไว้ดังนั้น คุณพิเศษคือฌานและปฏิสัมภิทาญาณจึงไม่เกิดขึ้น

คุณวิเศษ

ท่านพระอรหันต์อริยบุคคล ผู้เป็นพระมหาขีณาสพเจ้าทรงคุณวิเศษขั้นสูงสุดในพระบวรพุทธศาสนานี้ ท่านตัดสัญโญชน์ที่เหลือได้หมดเด็ดขาด รวมทั้งสิ้น ๕ ประการ คือ
๑. รูปราคะสัญโญชน์... ความยินดีในรูปภพ คืออยากไปเกิดเป็นพระพรหมผู้วิเศษ อยู่ ณ รูปพรหมภูมิ ๑๖

๒. อรูปราคะสัญโญชน์...ความยินดีในอรูปภพ คือความอยากไปเกิดเป็นพระพรหมผู้วิเศษสุดอยู่ ณ อรูปพรหมภูมิ ๔
ยัง จำได้ไหมเล่า? ท่านผู้มีปัญญาทั้งหลายว่า รูปพรหมภูมิและอรูปพรหมภูมนี้ คือภูมิในวัฏสงสารชั้นไหน ถ้าชักจะงงๆ ก็จงเปิดกลับไปดูตอนต้นโน่น คือ ตอนที่ว่าด้วย อุปริมสงสาร นั้นแล้ว ก็คงจะเข้าใจได้และคงหายงง
๓. มานะสัญโญชน์...ความถือตัวซึ่งได้แก่ อหังการ์และมนังการ์

๔. อุทธัจจะสัญโญชน์... ความที่จิตฟุ้งไป โดยที่จิตไม่สามารถจะตั้งอยู่ในอารมณ์เดียวได้นานๆ

๕. อวิชชาสัญโญชน์... สภาพที่ไม่รู้พระจตุราริยสัจจธรรม... คือโง่ พูดอีกทีว่า "โมหะ" ความมืดหลงแห่งจิต
ใน กรณีนี้ หากจะมีผู้สงสัยว่า ความไม่รู้ในสภาพธรรมกล่าคืออวิชชานี้ เหตุไฉนจึงยังเหลือติดค้าง คอยให้พระอรหัตมรรคประหารอยู่อีก เพราะเมื่อมรรคเบื้องต่ำทั้ง ๓ เกิดขึ้นแต่ละครั้ง ก้ได้เห็นพระจตุราริยสัจกำจัดอวิชชาได้ทุกครั้งไป เหตุไฉนจึงยังมีอวิชชาเหลืออยู่อีกเหล่า น่าสงสัยนักหนา?

วิสัชนาว่า อย่าสงสัยเลย ทั้งนี้ก็เพราะมรรคเบื้องต่ำทั้ง ๓ คือพระโสตาปัตติมรรค ๑ พระสกิทาคามิมรรค ๑ พระอนาคามิมรรค ๑ เมื่ออุบัติขึ้น ย่อมเห็นพระจตุราริยสัจกำจัดอวิชชาได้ทุกมรรคก็จริง แต่ว่ามรรคเหล่านี้มีสภาพเป็น วิชฺชูปมา ธมฺมา คือมีสภาพเหมือนกับฟ้าแลบ ตาม ธรรมดาฟ้าแลบ ที่เราเห็นแปลบปลาบกันอยู่ในยามราตรีมืดตื้อนั้น ย่อมมีแสงสว่างเกิดขึ้นแวบหนึ่ง แล้วความมืดก็ปกคลุมต่อไป ในกรณีแห่งมรรคเบื้องต่ำทั้ง ๓ เห็นพระจตุราริยสัจกำจัดอวิชชาก็เช่นเดียวกับอุปมาที่ว่ามานั้น ส่วนพระอรหัตมรรคนี้มีสภาพเป็น วชิรูปมา ธมฺมา คือมีสภาพเหมือนกับฟ้าผ่า ตาม ธรรมดาสายฟ้าที่ฟาดผ่าลงมานั้น สิ่งที่กีดขวางอยู่จะไม่ถูกทำลายเป็นอันไม่มี ในกรณีนี้ก็เหมือนกัน กล่าวคือเมื่อพระอรหัตมรรคผ่าลงมาแล้ว กองอวิชชาหรือโมหะที่ประจำจิตติดอยู่ในขันธสันดานมานานไม่รู้ว่ากี่แสนโกฏิ กัปนั้นย่อมจะพลันถูกทำลายแตกกระจายสูญหายไปหมดสิ้น ไม่เหลือติดอยู่ในจิตสันดาน คือไม่อาจปกคลุมได้อีกต่อไปเลย

รวมความว่า บัดนี้ บรรดาสรรพกิเลสน้อยใหญ่ทั้งหลายซึ่งเอามารวมเรียกไว้ในที่นี้ว่า สัญโญชน์ ได้ถูกตัด ถูกประหัต ประหารด้วยอำนาจพระอริยมรรคญาณต่างๆ หมดสิ้นแล้วใช่ไหมเล่า? เพื่อให้เข้าใจดี จะขอกล่าวซ้ำทบทวนดูอีกทีดังนี้
๑. พระโสตาปัตติมรรค ประหารได้ ๓ สัญโญชน์ คือสักกายทิฏฐิสัญโญชน์ ๑ วิจิกิจฉาสัญโญชน์ ๑ สีลัพพตประมาสสัญโญชน์ ๑

๒. พระสกิทาคามิมรรค ประหารไม่ได้สักสัญโญชน์เดียว แต่มีอำนาจพิเศษ คือทำกิเลสทั้งหลาย อันได้แก่ ราคะ โทสะ โมหะ ให้เบาบางลง ซึ่งเรียกว่า ตนุกร
๓. พระอนาคามิมรรค ประหารได้ ๒ สัญโญชน์ คือ กามราคะสัญโญชน์๑ ปฏิฆะสัญโญชน์ ๑

๔. พระอรหัตมรรค ประหารได้ ๕ สัญโญชน์ คือรูปราคะสัญโญชน์๑ อรูปราคะสัญโญชน์ ๑ มานะสัญโญชน์ ๑ อุทธัจจะสัญโญชน์๑ อวิชชาสัญโญชน์ ๑
พระ อรหันตอริยบุคคล นอกจากจะสิ้นกิเลสเป็นสมุจเฉทประหารโดยการตัดสัญโญชน์ได้หมดสิ้นดังกล่าวมา แล้ว ท่านยังสามารถเข้าสู่อรหัตตผลสมาบัติเสวยอารมณ์พระนิพพานได้ตามจิตปรารถนา อีกด้วย แต่ที่วิเศษสุดก็คือ ท่านหมดกิจอยู่จบพรหมจรรย์แล้ว เป็นพระมหาขีณาสสวเจ้าผู้ทรงคุณวิเศษประเสริฐสุดกว่าประชาสัตว์ทั้งปวง ไม่ต้องเวียนว่ายตายเกิดให้ต้องทนทุกข์ทรมาณอยู่ในห้วงมหรรณพสงสารอีกต่อไป เมื่อถึงอายุขัยแล้ว ท่านก็ดับขันธ์เข้าสูพระปรินิพพาน ซึ่งเป็นแดนอมตะแสนสุขเกษมนักหนา เป็นอันว่าท่านสามารถยึดถือสมเด็จพระจอมมุนีบรมไตรโลกนาถผู้ทรงเป็นนาถะที่ พึ่งของประชาสัตว์ในไตรโลกเอามาเป็นนาถะที่พึ่งของตนได้อย่างแท้จริงแน่นอน เป็นที่สุด

ท่านพุทธบริษัทผู้มีปัญญาทั้งหลาย เมื่อองค์สมเด็จพระจอมมุนีผู้ทรงมีพระบารมี เพื่อพระโพธิญาณอันอบรมบ่มมานานหนักหนาได้เสด็จมาอุบัติตรัสในมนุษย์โลกเรา นี้แล้ว ย่อมทรงเปรียบเหมือนประทีปแก้ว ส่องให้ประชาสัตว์ในไตรโลกได้เห็นว่าตนกำลังถูกมัดให้ติดอยู่ในวัฏสงสาร แล้วก็ทรงแนะนำพร่ำสอน ถึงวิธีการออกจากวัฏสงสารด้วยการตัดสัญโญชน์ ฝ่ายประชาสัตว์ผู้มีปัญญา ไม่ว่าจะเป็นเทพยดา อินทร์ พรหม และมนุษย์ เมื่อเชื่อตามกระแสพระพุทธฎีกาแล้ว ปฏิบัติตามพระโอวาทานุสาสนี ย่อมสามารถที่จะนำตนออกมาจากทุกข์ภัยในวัฏสงสาร เข้าไปเสวยสุขอยู่ในแดนพระนิพพานได้ชั่วนิรันดร์กาล ฉะนั้น สมเด็จพระจอมมุนีศาสดาจารย์ จึงควรอย่างยิ่งแก่การที่จะได้รับสดุดีว่ สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ

บัดนี้ เราท่านทั้งหลาย เกิดมาปะเหมาะพบพระบวรพุทธศาสนาแห่งองค์สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถนี้เข้าพอดี จึงนับว่าเป็นโชคดีเหลือเกิน เมื่อเป็นเช่นนี้แล้วจะมามัวประมาท ทำเป็นนิ่งเฉยมิรู้มิชี้เสียอย่างนั้น จะเป็นการสมควรแก่ตัวเราผู้โชคดีแลหรือ โดยที่แท้ เราต้องอุตสาหะพยายามปฏิบัติให้เกิดภาวนามยปัญญาเห็นความวิเศษสุดแห่งพระ พุทธศาสนา เพื่อหาทางออกจากทุกข์วัฎสงสารให้จงได้ เพื่อจักได้หายเหน็ดเหนื่อยเป็นการหยุดพักผ่อนตลอดกาล ด้วยการเสวยนิพพานสมบัติอันเป็นบรมสุขกันเสียที เมื่อปฏิบัติได้อย่างนี้ จึงจะสามารถนำพระองค์มาเป็นที่พึ่งอันประเสริฐสุดได้เป็นบรมสุขกันเสียที และตัวเรานี้ก็จักได้ชื่อว่าเป็นสาวกอย่างแท้จริง ขององค์สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถพระองค์ผู้ทรงเป็นที่พึ่งอย่างยอดเยี่ยม แห่งประชาสัตว์ในไตรโลก

พรรณนาในเรื่องพระบรมไตรโลกนาถ สมควรที่จะยุติลงได้แล้ว จึงขอยุติลง ด้วยประการฉะนี้

หัวข้อ: Re: มุนีนารถทีปนี การตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า โดย พระพรหมโมลี วิลาศ ญาณวโร
เริ่มหัวข้อโดย: Wisdom ที่ กุมภาพันธ์ 21, 2012, 12:20:14 PM
บทที่ ๖

พระอนันตพุทธคุณ

บัดนี้ จักพรรณนาถึงพระคุณแห่งสมเด็จพระจอมมุนีสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งมีอยู่มากมายเป็นอนันต์ ขอท่านผู้มีปัญญาทั้งหลาย จงอุตสาหะติดตามต่อไปเถิด คงจักเกิดประโยชน์บ้างไม่มากน้อย ดำเนินความว่า

สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระองค์ทรงเป็นพระบรมไตรโลกนาถ คือ ทรงเป็นนาถะที่พึ่งแห่งประชาสัตว์ทุกจำพวกนั้น ทรงมีพระหฤทัยมั่นคงเด็ดเดี่ยว และประกอบไปด้วยพระกรุณาใหญ่ ใคร่จะช่วยรื้อสัตว์โลก ขนสัตว์โลกทั้งหลายให้พ้นจากทุกข์ภัยในวัฏสงสาร จึงทรงพระอุตสาหะอาจหาญบำเพ็ยพระโพธิญาณบารมีธรรมยั่งยืนไม่เสื่อมถอยนับ เป็นเวลาสิ้นกาลช้านานนัก เมื่อพระพุทธบารมีพรั่งพร้อมบริบูรณ์ครบถ้วนแล้ว ก็ได้สำเร็จพระปรมาภิเษกสัมโพธิญาณ ทรงมีพระสันดานแสนจะบริสุทธิ์โดยประการทั้งปวง เป็นที่อยู่แห่งพระกรุณาและพระญาณอันกว้างใหญ่ เปรียบประดุจชลาลัยมหาสมุทร ฉะนั้น

ครั้นได้ตรัสแก่พระปรมาภิเษกสัมโพธิญาณแล้ว พระองค์ก็ทรงบำเพ็ญพระพุทธกิจประทานประโยชน์ให้แก่ชาวโลก โดยเทศนาวิธีประเภทเป็นเอนกประการ ทรงมีพระอนุสาสโยบายผ่อนผันยักย้ายไปตามจริตอัธยาศัยแห่งเวไนยสัตว์ ทรงแสดงธรรมบัญญัติพระวินัยทรงประดิษฐานไว้ซึ่งพระสัทธรรม ๓ ประการ คือ
๑. พระปริยัติธรรม
๒. พระปฏิบัติธรรม
๓. พระปฏิเวธธรรม
ครั้นแล้ว องค์พระประทีปแก้วผู้ยังโลกให้ช่วงโชติชัชวาลก็เสด็จดับขันธ์ปรินิพพานล่วง ไป เปรียบได้ดังดวงภานุมาสสุริยมณฑลอันอุทัยไขแสงขึ้น ยังโลกให้สว่างชัชวาล ต่อกาลไม่นานก็ล่วงลับอัสดงคตไปเสียฉะนั้น

กาลปัจจุบันนี้ ถึงแม้องค์สมเด็จพระจอมมุนีจักเสด็จดับขันธปรินิพพานมานานนับศาสนายุกาลได้ ๒๕๐๖ พรรษา เข้าปีนี้แล้วก็ดี ถึงกระนั้นพระคุณอันมีเอนกอนันต์แห่งพระพุทธองค์เจ้านั้น ก็หาล่วงลับดับไปเหมือนพระรูปกายไม่ ยังฝังแน่นอยู่ในดวงใจของพวกเราชาวพุทธบริษัทอยู่มิใช่หรือ เมื่อกล่าวถึงพระคุณของพระองค์แล้ว ก็มีอยู่มากมายไม่มีใครในโลกจะพร่ำพรรณนาให้สิ้นสุดลงได้

ในกรณีนี้ มีอุปมากล่าวว่า ยังมีบุรุษหนึ่งซึ่งมีศีรษะ ๑,๐๐๐ ศีรษะ ศีรษะหนึ่งมีปาก ๑๐๐ ปาก ปากหนึ่งมีลิ้น ๑๐๐ ลิ้น เขาเป็นบุรุษมีมหิทธิศักดา มีอายุยืน ๑ มหากัปตลอดเวลาไม่ทำอะไรทั้งหมด เฝ้าแต่พร่ำพรรณาพระพุทธคุณอย่างเดียว อายุของบุรุษนี้ย่อมจะสิ้นไปก่อน แต่พระพุทธคุณหาสิ้นสุดลงไม่ เพื่อความเข้าใจอย่างแจ่มแจ้งในเรื่องนี้ จะขอยกเอาเรื่องของพระอรหันตเถรเจ้าซึ่งมีปัญญามากรูปหนึ่งมาเล่าให้ฟัง ดังต่อไปนี้

พระกาฬพุทธรักขิตเถระ

กาล เมื่อร้อยปี ก่อนตั้งพุทธศก สมัยนั้น ยังมีนิครนถ์ ๒ คน เป็นชายหนึ่ง หญิงหนึ่ง ได้เรียนวาทะคารมคนละ ๕๐๐ ข้อ เมื่อเรียนสำเร็จแล้ว ต่างก็ออกสัญจรไปในประเทศต่างๆ เพื่อจะหาผู้โต้ตอบชิงชัย เพราะสมัยนั้นประชาชนในชมพูทวีป ทั้งหญิงแลชายต่างก็สนใจลัทธิธรรมเป็นอันมาก คราวหนึ่ง คนทั้งสองไปพบกันที่พระนครเวสาลี ได้โต้ตอบวาทะไม่แพ้ไม่ชนะกัน พระเจ้าลิจฉวีผู้ครองนครเวสาลีเห็นความฉลาดของเขาทั้งสองแล้ว มีความประสงค์จะให้เกิดคนฉลาดขึ้นในเมืองของตน จึงจัดการให้นิครนถ์ทั้งสองนั้นแต่งงานกัน ต่อกาลไม่นานก็เกิดบุตรธิดาขึ้น ๕ คน เป็นชาย ๑ เป็นหญิง ๔ ล้วนแต่มีปัญญาเฉลียวฉลาด เรียนเอาวาทะของบิดามารดาไว้ได้จนหมดสิ้น ภายหลังธิดาทั้ง ๔ ซึ่งมีอุปนิสัยได้ออกบวชเป็นภิกษุณีในพระบวรพุทธศ่สนา เพราะจำนนต่อปัญญาของพระสารีบุตรเจ้า ผู้อัครสาวกธรรมเสนาบดี

ฝ่ายบุตรชายซึ่งมีชื่อว่า สัจจกนิครนถ์ ได้เรียนวาทะจากมารดา ๑,๐๐๐ ข้อจบลงแล้ว ยังได้เรียนรู้อื่นๆ เพิ่มขึ้นอีกเป็นอันมาก เป็นคนเจ้าคารมโวหารมีปฏิภาณสามารถในการโต้ตอบ มหาชนยกย่องว่าเป็นคนฉลาดยากยิ่งจะหาผู้เทียมถึงเลยตั้งตนเป็น ทิศาปาโมกขอาจารย์ แสดงตนเป็นผู้วิเศษประเสริฐเลิศด้วยความรู้ มีวิทยาการเชี่ยวชาญชำนาญนัก เหล่าศิษย์ก็ล้วนแต่มีศักดิ์เป็นลูกกษัตริย์แลพวกพรามหณ์มหาศาลเป็นส่วนมาก หนักเข้าเลยเกิดความปริวิตกไปว่า
อาตมา นี่สิ มีความรู้วิทยาการมากมาย นานไปเบื้องหน้าน่าที่จะมีอันตรายเป็นแน่ คือว่า อุทรท้องของอาตมาอันบรรจุความรู้มากมายไว้นี่ เห็นทีจะทะลุทะลายออกไปสักวันหนึ่งเป็นแม่นมั่น อย่ากระนั้นเลย อาตมาจะอาพึดเหล็กมารึงรัดอย่าให้ท้องแตกออกไปได้
ครั้น มาจินตนาการเห็นเช่นนี้แล้ว จึงพึดเหล็กอันหนึ่งมารึงรัดท้องไว้ ฝ่ายมหาชนชาวบ้านชาวเมืองทั้งหลายก็บังเกิดระบือลือเลื่องฟุ้งขจรไปต่างๆ นานา รวมแล้วก็ได้ความว่ายกย่องสรรเสริญสัจจกนิครนถ์ว่ามีปัญญามากนั่นเอง บางครั้งเขาถึงกับประกาศในที่ประชุมชนชาวเมืองเวสาลีว่า
เรา ไม่เห็นสมณะหรือพราหมณ์ที่เป็นเจ้าหมู่เจ้าคณะซึ่งเป็นคณาจารย์ แม้ปฏิญาณตนว่าเป็นพระอรหันต์ก็ตาม ที่เราโต้ตอบด้วยถ้อยคำแล้ว จะไม่ประหม่าตัวสั่นหวั่นไหว ไม่มีเหงื่อโทรมหน้า โทรมรักแก้เป็นไม่มีเลย เรานี่มีปัญญามากแม้จะพูดจากกับต้นเสาซึ่งไม่มีชีวิตจิตใจ เสานั้นก็ยังสั่นสะท้านหวั่นไหวแล้วจะนับประสาอะไรกับมนุษย์!
อรุณ รุ่งวันหนึ่ง ท่านพระอัสสชิเถรเจ้า เข้าไปบิณฑบาตรในเมืองเวสาลี สัจจกนิครนถ์เห็นเข้า จึงรีบเดินไปหาแล้วกล่าวถามขึ้นทันทีตามนิสัยเดิม
ดูกรสมณะ! พระโคดมทรงสั่งสอนสาวกทั้งหลายอย่างไร และคำสอนของพระโคดมที่เป็นไปโดยมากว่าอย่างไร?
"ดูกร ท่าน! สมเด็จพระบรมครูเจ้าของเราทรงสั่งสอนพระสาวกเป็นอันมาก แต่ส่วนแห่งคำสอนนั้นมีอยู่ว่า รูป เวทนา สัญญา สังขารและวิญญาณทั้งห้านี้ไม่เที่ยง ไม่ใช่ตัวตน สังขารทั้งปวงไม่เที่ยง ธรรมทั้งปวงไม่ใช่ตัวตน" พระอัสสชิเถระย่อพระโอวาทานุสาสนีให้เขาฟัง

ยังไม่เป็นที่พอใจของข้าพเจ้า สัจจนิครนถ์พูดตามสันดานของตน ถ้า ข้าพเจ้าได้พบกับสมณโคดมได้เจรจากันสักหน่อย บางทีอาจจะเปลื้องความเห็นที่เลวทรามนั้นเสียได้ เอาละ...ประเดี๋ยวข้าพเจ้าจะไปพูดให้เข้าใจถูกต้องกันเสียที เขากล่าวดุจมีจิตกรุณานักหนา แล้วก็รีบมุ่งหน้าเข้าไปหาเจ้าลิจฉวีทั้งหลายกล่าวประกาศขึ้นว่า

ท่าน ทั้งหลาย! ขอพวกท่านจงตามข้าพเจ้าไปด้วยเถิด ถ้าพระโคดมตั้งอยู่ตามถ้อยคำที่พระอัสสชิพูดแก่ข้าพเจ้าเมื่อตะกี้นี้แล้ว ไซร้ ข้าพเจ้าจะชักลากถ้อยคำของพระโคดมมาตามถ้อยคำของข้าพเจ้า เหมือนกับบุรุษมีกำลังจับแกะที่มีขนขาวฉุดลากมา หรือมิฉะนั้นก็เหมือนกับคนทำงานในโรงสุรา วางลำแพนสำหรับรองแป้งสุราผืนใหญ่ไว้ในห้วน้ำลึก แล้วจับที่มุมชักลากไปมาก็ปานกัน คอยดูเถิด ข้าพเจ้าจักถอนถ้อยคำของพระโคดมเสียแล้วจักฟาดพระโคดมเล่น ให้เป็นเหมือนกับช้างลงสู่สระโบกขรณีแล้วพ่นน้ำเล่นสนุกฉะนั้น

บรรดา เจ้าลิจฉวีทั้งหลาย เมื่อได้ฟังสัจจกนิครนถ์ประกาศเป็นคำโตใหญ่เช่นนั้น บ้างก็เชื่อ บ้างก็ไม่ยอมเชื่อ แต่เพื่อจะรู้ว่าใครจะเป็นฝ่ายแพ้ฝ่ายชนะ จึงพากันตามเขาไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า ซึ่งประทับนั่งอยู่ ณ ร่มไม้แห่งหนึ่ง เมื่อสัจจกนิครนถ์เข้าไปถึงที่เฝ้าแล้ว ก็ได้ทูลถามปัญหาเหมือนอย่างที่ถามกับพระอัสสชิเถระ และสมเด็จพระพุทธองค์ก็ทรงตอบปัญหาของเขาเหมือนกับที่พระอัสสชิเถระได้ตอบมา แล้วนั่นแล

ไม่จริง พระโคดม เขาค้านขึ้น หวังจะหักล้างวาทะของสมเด็จพระผู้มีพระภาค ไม่ เป็นความจริงหรอกที่พระโคดมว่า ขันธ์ ๕ ไม่ใช่ของเรา โดยที่แท้ขันธ์ ๕ คือรูป เวทนา สัญญา สังขารและวิญญาณ มันเป็นตัวเป็นตนเป็นของเราต่างหาก

ดู กรสัจจกะ! ถ้าท่านถือว่า ขันธ์ ๕ เป็นตัวเป็นตนเป็นของเราแล้ว ท่านมีอำนาจที่จะกล่าวรูปของท่านหรือไม่ว่า รูปของเราจงเป็นอย่างนั้น จงอย่าเป็นอย่างนั้นเลย บังคับไม่ได้ใช่ไหมเล่า? เพราะเหตุนั้น ขันธ์ ๕ จึงไม่เป็นของเรา เพราะเราบังคับไม่ได้ สมเด็จพระผู้มีพระภาคทรง อธิบายให้เขาเข้าใจ และในที่สุดเขาก็ยอมจำนน และยอมรับว่าสิ่งเหล่านี้ทั้งหมดไม่ใช่ตัวตน ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนไปเป็นธรรมดา (สนใจการปะทะคารมระหว่างพระพุทธเจ้ากับเหล่าปราชญ์โดยละเอียด ศึกษาได้จาก หนังสือ จ้าววิชชา จัดพิมพ์โดยคณะสังคมผาสุก)

หลังจากสมเด็จพระบรมครูเจ้าได้ทรงแก้ไขปัญหาที่เขาผูกมาทูลถามจนแจ่มกระจ่าง หมดสิ้นแล้ว ในขณะที่สัจจกะนิครนถ์ผู้เข้าใจว่า ตนมีปัญญามาก กำลังนั่งนิ่งอึ้งจนปัญญาอยู่ สมเด็จพระบรมครูเจ้าจึงตรัสขึ้นว่า

ดู กรสัจจกะ! เราซักถามท่านให้กล่าวแก้ในถ้อยคำของท่านเอง และท่านก็แพ้ไปเองแล้วในบัดนี้ อนึ่งเราได้สดับว่าท่านได้เคยกล่าวในที่ประชุมหมู่ใหญ่ว่า ไม่เห็นใครเลยที่ท่านโต้ตอบถ้อยคำแล้ว จะไม่มีเหงื่อไหลออกจากรักแร้เป็นไม่มี แต่บัดนี้สิ หยาดเหงื่อของท่านหยดจากหน้าผากเปียกชุ่มผ้าห่มตกลงยังพื้นเป็นประจักษ์ตา อยู่ แต่ดูเอาเถิด เหงื่อในกายของเราไม่มีเลย

เมื่อสมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสอย่างนี้แล้ว สัจจกนิครนถ์ก็นั่งนิ่งอึ้งเก้อเขินก้มหน้าหงอยเหงาไม่มีปฏิภาณที่จะคิดโต้ เถียงอีก แล้วทูลสารภาพลุกะโทษว่า

ข้าแต่ พระโคดม! ข้าพเจ้าเป็นคนคะนองวาจา เพราะสำคัญตัวว่า อาจจะโต้เถียงกับพระองค์ได้ บุรุษมาปะทะช้างที่กำลังซับมันก็ดี หรือมาเจอกองไฟใหญ่ที่กำลังลุกโชนดักหน้าดักหลังอยู่ก็ดี ก็ยังพอเอาตัวรอดได้ แต่ถ้ามาเจอกับพระสมณโคดมเข้าแล้ว ไม่มีทางเอาตัวรอดได้เลย อนึ่งข้าพเจ้า มีอุปมาประการหนึ่งปูอยู่ในสระโบกขรณี ยังมีกุมาร กุมารีทั้งหลายชวนกันออกมาจากบ้าน คมนาการไปสู่สระเพื่อประสงค์จะอาบน้ำ ได้แลกเห็นปูจึงจับเอาขึ้นมาจากน้ำวางไว้ที่ริมฝั่ง หักก้ามและตีนปูเสียให้หมด ฝ่ายปูนั้นก็มิอาจเพื่อจะคลานต่อไปได้ กรณีนี้มีอุปมาฉันใดก็ดี สมเด็จพระผู้มีพระภาคคือ พระองค์นี่เอง ได้ทรงพระกรุณาแก้ไขแก่ข้าพเจ้า จนบัดนี้เกิดองค์ปัญญากำจัดทิฐานุทิฐิให้อันตรธานจากขันธสันดานเสียสิ้น ก็มีอุปมาประดุจกุมาร กุมารีหักตีนปูและก้ามปูและทิ้งให้นอนกลิ้งอยู่ที่พื้นดินฉะนั้น

ฝ่ายสมเด็จพระบรมศาสดาเจ้า พระองค์ผู้ทรงโปรดสัจจกนิครนถ์ให้ละพยศอันร้าย จนในบัดนี้เขาเป็นผู้มีลักษณะสันดานเสื่อมหาคลายจากมิจฉาทิฏฐิ ค่อยมีปัญญาดำริในพระไตรลักษณญาณ ปานประหนึ่งสกุลชาตินกหัวขวานซึ่งมีจะงอยปากอันคมกล้าบินไปเที่ยวเจ้าต้น พฤกษา อันหาแก่นมิได้ ครั้นอุตส่าห์เจาะไปๆ ต้นไม้นั้นก็อาจจะทะลุตลอดไปตามมโนมัยความปรารถนา ครั้นสืบไปเบื้องหน้า นกนั้นไปพบต้นไม้อีกต้นหนึ่งซึ่งประกอบไปด้วยแก่นแน่นหนายิ่งนัก ถึงจะพยายามสักเพียงไร ก็มิอาจสามารถเพื่อจะเจาะแก่นไม้ต้นนั้นให้ทะลุทะลายไปได้ เมื่อขืนดึงกันเจาะไปด้วยน้ำใจมานะ จะงอยปากแห่งนกนั้นก็ย่อมภินทนาการหักย่อยยับไป สัจจกนิครนถ์นี้ไซร้ก็เป็นเช่นนั้น ดีแต่จะสัญจรเที่ยวไปไต่ถามปริศนาแก่บุคคลอื่น ผู้อ่อนความรู้เป็นทาสปัญญา ก็ย่อมคว้าเอาซึ่งชัยทุกครั้งไป ครั้นได้มาถึงสำนักของสมเด็จพระบรมทศพลญาณ แล้วก็ขัดสนจนปัญญามิอาจเพื่อจะแก้ไขอรรถปริศนานั้นได้ ย่อมถึงความปราชัยได้สำนึกและทูลสารภาพลุกะโทษอยู่ สมเด็จพระบรมครูเจ้าผู้ทรงพระคุณากร จึงมีพระพุทธฎีกาตรัสพระธรรมเทศนาสั่งสอนสัจจกนิครนถ์เป็นเอนกปริยายยิ่ง นักหนา เพื่อจะให้ได้สติปัญญาและบังเกิดอัครประโยชน์ใหญ่หลวงในอนาคตกาลภายหน้าแล้ว ในที่สุด พระองค์ทรงมีพระมหากรุณาตรัสว่า

ดู กรสัจจกะ! บุคคลในโลกนี้ยากที่จะได้พบพระบวรพุทธศาสนาแห่งตถาคตเจ้า บางเหล่าบางคนเกิดมาเป็นมนุษย์ตั้งพันชาติ หมื่นชาติแสนชาติ จึงจะได้มีโอกาสพบพระพุทธศาสนาสักครั้งหนึ่งหนเดียว หรือบางทีก็มิได้พบเลย อันตัวท่านนี้สิ ได้มาพบพระบวรพุทธศาสนาของพระตถาคตในครั้งนี้ ก็เป็นบุญลาภอันยิ่งใหญ่ไพศาลนักหนา เหตุว่าได้เกิดสติปัญญาหยั่งเห็นประจักษ์แจ้งในกองบุญกองบาป เห็นคุณโทษประโยชน์และมิใช่ประโยชน์ จึงจัดว่าเป็นการประเสริฐยิ่งนักเพราะฉะนั้น ท่านจงอย่าได้มีความประมาทเสียเลย

สัจจกนิครนถ์ผู้มีวาสนา เมื่อได้สดับรับรสพระธรรมเทศนาก็บังเกิดมโนน้อมศรัทธาสรรเสริญสาธุการสมเด็จพระทศพลญาณเจ้าขึ้นอีกว่า

ข้า แต่พระสมณโคดมผู้เจริญ! ข้าพเจ้ามาที่นี่ก็เพื่อจะไต่ถามปฤษณาด้วยมีจิตเจตนาหวังว่าจะให้พระองค์อัป ภาคพ่ายแพ้แก่ถ้อยคำ แต่ถ้าพระองค์ทรงพระกรุณาบรรเทาโทษขจัดมิจฉาทิฐิในสันดาน ให้อันตรธานหายไปด้วยอำนาจพระธรรมเทศนาอุปมาเช่นบุรุษผุ้หนึ่งซึ่งถูกอสรพิษ ขบกัด ก็ให้กำเริบร้อนประหนึ่งว่าจะสิ้นชีวิตแล้ว ยังมีบุรุษอีกผู้หนึ่งซึ่งมีวิษณุมนต์คุณวิชามาช่วยดับพิษงูนั้นให้อันตรธาน หาย บุรุษผู้นั้นได้รับความสบายหายจากเจ็ดปวดเจียนตาย นี่แลมีอุปมาฉันใด ข้าพเจ้านี้ถูกงูพิษร้ายคือมิจฉาทิฐิมาขบกัดให้บังเกิดมืดมนมัวเมาเห็นผิด เป็นชอบ พระเจ้าข้า บัดนี้ พระองค์ทรงพระกรุณาแนะนำให้เห็นสว่างในทางบาปบุญคุณโทษประโยชน์แลมิใช่ ประโยชน์ บังเกิดผลประโยชน์ทุกสิ่งทุกประการ ชำระสันดานให้บริสุทธิ์บังเกิดสุขหาที่สุดมิได้ ดังนั้น พระองค์จึงเปรียบเหมือนหมองูผู้ทรงวิษณุมนต์ มีใจกรุณาเอื้ออารีช่วยระงับพิษให้สร่างหายจางไปด้วยวิชาคุณแห่งตน พระเจ้าข้า เขากราบทูลไปพลางคิดไปพลางก็ยิ่งเกิดศรัทธาขึ้นท่วมทับในดวงใจ จึงกล่าวอย่างไม่หยุดยั้งว่า พระ เจ้าข้า ข้าแต่พระองค์ผู้ประเสริฐ! พระองค์มากระทำให้บังเกิดสวัสดิมงคลผลประโยชน์แก่ข้าพเจ้ายิ่งนักหนา พ้นที่จะคณนานับ ข้าพระองค์ขออารธานาสมเด็จพระมิ่งมงกุฏปิ่นเกล้าโลกาจารย์กับหมู่นิกรสงฆ์ ทั้งปวงที่เป็นบริวาร โปรดคมนาการไปรับอาหารบิณฑบาตเพื่อเป็นบุญโกฏฐาสส่วนบุญแห่งข้าพระบาท ทูลอาราธนาแล้ว ก็น้อมนมัสการด้วยความเลื่อมใสเป็นนักหนา...

กาลล่วงมานานนับด้วยร้อยปีทีเดียว ขณะนี้ สมเด็จพระชินสีห์บรมครูเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพานไปแล้ว และสัจจกนิครนถ์ผู้กลับใจก็ได้ถึงแก่กาลกิริยาตายไปนานแล้ว แต่เจติยคิรีมหาวิหารซึ่งตั้งอยู่ ณ ลังกาทวีป ปรากฎว่ามีพระภิกษุรูปหนึ่ง ซึ่งทรงคุณวิเศษสุดในพระพุทธศาสนา สิ้นกิเลสตัณหาเป็นพระอรหันต์อริยบุคคล มีปัญญามาก หยั่งเห็นประจักษ์แจ้งในพระไตรปิฎกธรรม เที่ยงแท้ในทางพระกรรมฐาน มีหมู่นิกรสงฆ์เป็นบริวารเป็นจำนวนมาก ทั้งมีปรีชาแตกฉานในพระปฏิสัมภิทาญาณ ๔ เป็นที่สักการะบูชาแห่งท้าวพระยาทั้งปวง พระคุณเจ้าผู้วิเศษรูปนี้มีนามว่า พระกาฬพุทธรักขิตเถระ ใน ขณะนั้น คนธรรมดาสามัญน้อยคนนักที่รู้จัก่า พระคุณเจ้าองค์พระกาฬพุทธรักขิตอรหันต์วิเศษที่ตนเคารพเลื่อมใสอยู่นั้นที่ แท้ก็คือ สัจจกะนิครนถ์ ผู้มีปัญญามากในครั้งพุทธกาลนั่นเอง บัดนี้ ด้วยบุญวาสนาบารมีที่ตนได้สั่งสมอบรมมา จึงพาให้มาเกิดและได้สำเร็จผลสูงสุดในพระพุทธศาสนา เป็นพระอรหันต์ผู้ปราดเปรื่องอยู่ในขณะนี้


วันหนึ่งเป็นวันอุโบสถ พระผู้เป็นเจ้าองค์อรหันต์ท่านพระกาฬพุทธรักขิตเถระ อดีตสัจจกนิครนถ์ครั้งพุทธกาล ท่านขึ้นนั่งบนธรรมาสน์ซึ่งตั้งอยู่ ณ ใต้ต้นมะพลับในเจติยคีรีวิหารกำลังแสดงพระธรรมเทศนาว่าด้วยเรื่องพระมหา พุทธคุณกถาพรรณนาถึงพระคุณแห่งสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เริ่มแสดงตั้งแต่ตอนหัวค่ำปฐมยาม มาจนถึงเวลาสิ้นราตรีปัจฉิมยามใกล้สว่าง จึงกล่าวอวสานกถาว่า อิทมโวจภควา เป็นอาทิ นี่เป็นสังเขปกถาคือแสดงพระพุทธคุณจบลงแต่เพียงโดยย่อเท่านั้น


"สาธุ...สาธุ" เสี ยงหนึ่งซึ่งมีอำนาจประหลาด ให้สาธุการขึ้นที่สุดบริษัท ในขณะที่พระผู้เป็นเจ้าแสดงธรรมจบลงเหล่าพุทธบริษัทที่สดับตรับฟังพระธรรม เทศนา และพระผู้เป็นเจ้าผู้แสดงพระธรรมต่างมองไปยังเจ้าของเสียงที่ให้สาธุการนั้น ก็พลันได้เห็นบุรุษหนึ่งร่างสูงใหญ่ยืนอยู่ในที่สุดบริษัทไม่ค่อยถนัด เพราะเป็นยามราตรี แต่พระผู้เป็นเจ้าก็จำได้ว่าบุรุษผู้นั้นคือ สมเด็จพระเจ้าสิทธาติสมหาราช กษัตริย์ปิ่นธรณีลงกาธานีจึงมีวาจาถวายพระพรถามว่า
"ขอถวายพระพร มหาบพิตรผู้ทรงพระคุณอันประเสริฐ! พระองค์เสด็จมาเมื่อใด?"
"ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า" สมเด็จพระบรมกษัตริย์ทรงประณมกรตอบ "โยมนี้ สมาทานอุโบสถศีลวันนี้แล้ว เข้าไปนั่งอยู่ในกุฎีที่เร้นแทบภูเขาใกล้ๆ วิหารนี่เอง ได้ทราบว่าพระผู้เป็นเจ้าแสดงพระธรรมเทศนาจึงรีบมาถึงนี่ตั้งแต่ตอนหัวค่ำ ปฐมยาม ยืนฟังอยู่จนกระทั่งบัดนี้นะ พระคุณเจ้า"
"ขอถวายพระพร บพิตรพระราชสมภารเสด็จยืนอยู่สิ้นราตรีสามยามฉะนี้ ยากที่ผู้อื่นจะทำได้" พระเถรเจ้ากล่าวชมขึ้นตามความเป็นจริง
"ข้า แต่พระคุณเจ้า! อันการที่ยืนฟังพระธรรมเทศนาอยู่ตลอดราตรีสามยามฉะนี้หาสู้เป็นไรไม่ แต่ข้อซึ่งโยมนี้ตั้งใจฟังได้จบจน มิได้ล่งจิตไปในที่อื่นเลย อันนี้ยากที่บุคคลผู้อื่นจะกระทำได้อย่างโยม ก็โยมฟังพระธรรมเทศนาของพระคุณวันนี้ โยมปรีดาภิรมย์ชื่นชมยิ่งนัก มิได้ส่งจิตไปในที่อื่นเลยนะ พระคุณเจ้า... เออ ก็พระธรรมเทศนาแสดงสรรเสริญซึ่งพระคุณของพระมหากรุณาสัมมาสัมพุทธเจ้าแห่ง เรา ที่พระคุณเจ้าสำแดงนั้นสิ้นเพียงเท่านี้ หรือว่าพระพุทธคุณนั้นยังมีอยู่อีกประการใด?"
"ขอ ถวายพระพร พระคุณแห่งสมเด็จพระบรมครูเจ้า ที่อาตมาภาพสำแดงมาตั้งแต่หัวค่ำจนถึงบัดนี้นั้นน้อยนัก พระพุทธคุณที่อาตมาภาพยังมิได้สำแดงนั้น ยังมีอยู่อีกมากที่จะนับจะประมาณได้ ขอถวายพระพร"
"มากอีกแค่ไหนเหรอ พระคุณเจ้า" สมเด็จพระบรมกษัตริย์ตรัสถามด้วยความเต็มตื้นศรัทธาเลื่อมใสในพระพุทธคุณ "ขอพระคุณเจ้าจงแสดงให้โยมนี้เข้าใจก่อนเถิด"
พระเถรเจ้ากาฬพุทธรักขิตองค์อรหันต์ ครั้นได้สดับพระบรมราชโองการตรัสดังนั้น จึงมีเถราวาจาว่า
"ขอ ถวายพระพร บพิตรพระราชสมภารเจ้าผู้ทรงพระคุณอันประเสริฐ! ยังมีบุรุษผู้หนึ่งไปสู่นาข้าวสาลีอันกว้างขวางไพศาลได้พันกรีส บุรุษผู้นั้นเด็ดเอาข้าวสาลีมารวงหนึ่ง ก็เมล็ดข้าวสาลีรวงเดียวที่บุรุษนั้นเด็ดมา ย่อมมีประมาณน้อยนัก เมล็ดข้าวสาลีที่ยังเหลืออยู่ในนาอันกว้างใหญ่นั้น ย่อมมีประมาณมากนักฉันใด พระพุทธคุณที่อาตมภาพสำแดงวันนี้น้อยนัก มีอุปมัยดังข้าวสาลีที่บุรุษเด็ดมาเท่านั้น ก็อันว่าพระพุทธคุณที่อาตมภาพยังมิได้สำแดงนั้น ยังมีมากมายจะนับจะประมาณมิได้ มีอุปมัยดุจเมล็ดข้าวสาลีที่มีอยู่ในนาทั้งหมด ฉะนั้น
หัวข้อ: Re: มุนีนารถทีปนี การตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า โดย พระพรหมโมลี วิลาศ ญาณวโร
เริ่มหัวข้อโดย: Wisdom ที่ กุมภาพันธ์ 21, 2012, 12:21:07 PM
อีกประการหนึ่ง ขอถวายพระพรบรมบพิตรพระราชสมภาร! เปรียบเหมือนบุรุษผู้หนึ่ง เอาเข็มจุ่มลงไปในมหานทีแม่น้ำใหญ่ น้ำที่ไหลเข้าไปในช่องเข็มนั้น ย่อมมีประมาณน้อยนักหนา แต่ว่าน้ำที่ไหลไปภายนอกช่องรูเข็มย่อมมากกว่ามากสุดจะนับจะประมาณได้ฉันใด พระคุรแห่งองค์สมเด็จพระพุทธเจ้าที่อาตมภาพสำแดงในราตรีนี้น้อยนัก มีอุปมัยดุจน้ำที่ไหลไปในรูเข็มเท่านั้น ก็อันว่าพระพุทธคุณที่อาตมภาพยังมิได้สำแดงนั้นย่อมมีอยู่มากมายจะนับประมาณ มิได้ มีอุปมัยดุจกระแสน้ำที่ไหลไปภายนอกรูเข็ม ฉะนั้น

อีก ประการหนึ่ง ขอถวายพระพรบรมบพิตรพระราชสมภาร! เปรียบเหมือนสกุลชาตินกแอ่นลมตัวน้อย ที่ร่อนเริงสราญอยู่ในนภาลัยประเทศพื้นนภากาศที่นกน้อยนั้นเหยียดปีกเหยียด หาง ย่อมมีประมาณน้อยนักหนา แต่ว่าอากาศที่เปล่าอยู่นั้นย่อมใหญ่กว่าจะนับจะประมาณมิได้ฉันใด พระคุณแห่งสมเด็จพระพุทธเจ้าที่อาตมภาพยกเอามาสำแดงในราตรีนี้น้อยนัก มีอุปมัยดุจประเทศอากาศที่ปักษีชาตินกแอ่นลมตัวน้อยเหยียดซึ่งปีกแลหางออกไป เท่านั้น ก็อันว่าพระพุทธคุณที่อาตมภาพยังมิได้สำแดงนั้น ย่อมมีอยู่มากมายสุดจักนับประมาณ มีอุปมัยดุจประเทศอากาศอันกว้างใหญ่เปล่าอยู่ ฉะนั้นสมเด็จพระพุทธเจ้าผู้ทรงพระบรมไตรโลกนาถที่พึ่งของสัตว์โลกทั้งมวล ย่อมทรงไว้ซึ่งพระคุณเป็นอนันต์มากมายเป็นมหัศจรรย์ ตามที่อาตมภาพถวายพระพรมาดังนี้แหละมหาบพิตร ขอถวายพระพร"

สมเด็จพระเจ้าสัทธาติสบรมกษัตริย์ ท้าวเธอได้ทรงเสวนาฟังดังนั้น ก็ทรงมีพระราชหฤทัยภิรมย์เกษมสันต์ปรีดา จึงมีพระวาจาตรัสว่า "ข้า แต่พระคุณเจ้า! ขอพระคุณเจ้าจงสอดส่งทิพยญาณหยั่งเห็นด้วยเถิด พระคุณเจ้าขา คือ่ว่า โยมนี้บังเกิดศรัทธายินดียิ่งนักหนาไม่รู้ว่าจะทำอย่างไรให้สมกับศรัทธาใน ขณะนี้ได้ ก็จะถวายสมบัติในเมืองลงกานี้แก่พระรัตนตรัยทั้งหมด จะเว้นว่างไว้แม้พื้นที่ประมาณเท่าปลายปฏักจรดลงก็หามิได้ โดยจะถวายไว้ในพระศาสนา ในกาลบัดนี้ พระคุณเจ้าขาขอพระคุณเจ้าจงรบรู้ด้วยเถิด"

ลำดับนั้น พระมหาเถรเจ้าจึงถวายสมบัติคืนแก่พระเจ้าสัทะาติสมหาราชผู้มีจิตศรัทธา แล้วปลอบประโลมว่า
"ขอถวายพระพร บพิตรพระราชสมภารเจ้าพระองค์ผู้ทรงพระคุณอันประเสริฐ! ขออัญเชิญพระองค์ครองสมบัติสืบไปในนครนี้โดยทศพิธราชธรรมเถิด จะได้เป็นที่พึ่งแก่ฝูงประชาทุกถ้วนหน้า"

สมเด็จพระมหาษัตริย์ทรงตริตรองอยู่ชั่วครู่แล้ว ก็ทรงรับราชสมบัติคืนด้วยดี ฝ่ายพระกาฬพุทธรักขิตอรหันตเจ้า ตั้งแต่ครั้งนั้นมาก็บังเกิดปรากฎดุจว่าภานุมาสพระจันทร์อันแต่ดวงในเวหาส เป็นที่กราบไหว้บูชาของเหล่าเทพยดาแลมนุษย์ทั้งหลายในลังกาธานีนั้น ด้วยประการฉะนี้

ท่านผู้มีปัญญาทั้งหลายเห็นแล้วใช่ไหมเล่า ว่าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ย่อมทรงไว้ซึ่งพระคุณเป็นอนันต์คือ มากมายไม่มีที่สิ้นสุด ดุจคำของพระอรหันต์กาฬพุทธรักขิตเถรเจ้า ท่านกล่าวอุปมาให้สมเด็จพระเจ้าสัทธาติสมหาราช ทรงสดับตรับฟังตามเรื่องที่เล่ามานี้ แต่การที่ใครจะมองเห็นพระคุณของพระพุทธองค์ได้มากน้อยแค่ไหน นั่นก็สุดแท้แต่ว่าปัญญาของใคร คือหมายความว่า ใครมีปัญญาจักษุดวงตาคือปัญญามาก มีสันดานบริสุทธิ์มาก ก็ย่อมจะเห็นพระคุณของพระองค์ได้มาก แต่ถ้าใครมีปัญญาจักษุน้อย มีสันดานบริสุทธิ์น้อยก็ย่อมจักเห็นพระคุณของพระองค์ได้น้อย ยิ่งผู้ที่อาภัพอับวาสนาไม่มีโอกาสได้พบพระพุทธศาสนา หรือผู้ที่พบพระพุทธศาสนาแล้วแต่เป็นคนทิฐิวิบัติหาปัญญาจักษุมิได้ คนเหล่านี้จะคิดจะมองไปเท่าใดๆ ก็ยิ่งมืดมองไม่เห็นพระคุณของสมเด็จพระพุทธเจ้าเลย

เมื่อมองไม่เห็นพระคุณของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเช่นนี้แล้ว ก็ย่อมทำให้เกิดมีทิฐิความคิดความเห็นต่างๆ นานาตามประสาโง่แห่งตน บางคนบางพวกถึงกับมีความเห็นไปว่าสมเด็จพระมหากรุณาสัมมาสัมพุทธเจ้า คงจะไม่มีปรากฎในโลกนี้เป็นมั่นคง องค์พระอรหันต์สัมมาสัมพุทธเจ้าที่ยกย่องสรรเสริญกันนั่น ก็คือ คนธรรมดาสามัญนี่เอง ไม่มีคุณวิเศษเป็นมหัศจรรย์อะไรที่ควรจะเชื่อถือ พระพุทธศาสนาก็คือนโยบายสอนคนโบราณนานมาแล้ แต่ครั้งคนเรายังโง่อยู่ ความเห็นทำนองนี้ ซึ่งเป็นไปเพราะความไม่เชื่อในกำลังพระสัพพัญญูติญาณของพระตถาคตเจ้า ย่อมปรากฎในห้วงนึกของปุถุชนคนที่ยังมีทิฐิกิเลสทั้งหลายเป็นอันมาก แ ละมิใช่จะเพิ่งมาปรากฎแก่คนเราในสมัยนี้เท่านั้น แม้แต่ในอดีตสมัยกาลที่ล่วงมาแล้ว ตั้งแต่องค์สมเด็จพระประทีปแก้วปรินิพพานเป็นต้นมา ชาวประชาผู้เกิดมาภายหลังไม่เคยได้เห็นพระพุทธองค์ ทั้งมีปัญญาทรามไม่ได้ลิ้มรสอมตธรรมอันประเสริฐสุดไม่ได้เป็นพระพุทธบุตร ดื่มอมตรสที่พระตถาคตเจ้าทรงประทานไว้ให้ย่อมจะมีความกินแหนงแคลงใจอยู่ไม่ หายว่า พระพุทธเจ้ามีจริงหรือ?

ความจริง นั้น สมเด็จพระอรหันต์สัมมาสัมพุทธเจ้าย่อมทรงปรากฎมีแล้วในโลกโดยแท้ อย่าสงสัยเลย จงเชื่อฟังเถิดแม้นักปราชญ์ผู้เกิดแต่ปางก่อน ซึ่งท่านมีสันดานบริสุทธิ์ซื่อตรง สำเร็จเป็นองค์พระอรหันต์ได้ไม่หวั่นไหวในโลกธรรม ก็ได้อุตสาหะพร่ำสอนในเรื่องนี้สืบๆ กันมา โดยมีข้อความที่จะพรรณนาให้ฟัง ดังต่อไปนี้

โลกสมุทร

ธรรมดาว่ามหาสมุทรทะเลใหญ่ อันลึกล้ำคัมภีรภาพพ้นพิสัยย่อมทรงไว้ซึ่งทรายและชลชาติมากมายสุดจะนับได้ อากูลมูลมากไปด้วยมัจฉาหมู่ปลาใหญ่น้อยเหลือคณนา และเป็นที่ไปมาอาศัยอยู่แห่งหมู่นาคครุฑและผีเสื้อน้ำ บรรดาสัตว์ทั้งหลายย่อมพากันเที่ยวแหวกว่ายแสวงหาอาหารท่องแถวชลธารอยู่ คลาคล่ำ บางคราก็กำเริบด้วยหมู่อสูรคึกคะนองแลเสียงเมฆกึก้องสะเทือนท้องน้ำ กัมปนาทฟังดังเหมือนพิณพาทย์ฆ้องกลองดุริยางค์ดนตรีเภรีสวรรค์ สมุทรวารีนั้นมีเกาะเกิดเป็นเขางามหลากหลายประมาณได้มากมายนับเป็นหมื่นแสน มีหมู่อมรแทนเฝ้าแหนสิงสถิตทุกยอดเขา เทพยเจ้าทั้งหลายย่อมเสวยทิพยสมบัติโสมนัสบรรเทิงใจ โดยอาศัยสมัครสโมสรแต่ก่อนมา อนึ่งมหาสมุทรวารีนั้น ย่อมมีนาวาสลุปกำปั่นสำเภาแห่งเหล่าพานิชแล่นไปมาทำการค้าขายไม่ขาดสาย อนึ่งย่อมประกอบไปด้วยสิ่งทั้งหลายเหล่านี้คือ มีฟองและระลอกคลื่นดาษดื่นอยู่ทุกเช้าค่ำ มีคุ้งน้ำและปากอ่าวมากหลาย เป็นที่อาศัยของหมู่สัตว์และนิกรชน ทั้งประกอบด้วยวังวนแลบาดาลน่าอัศจรรย์แปลกประหลาด วิจิตรโอภาสด้วยแก้วอเนกา มีหมู่ปลาและเต่าอาศัยอยู่อย่างสะดวกสบายเป็นอันมาก หลากหลายด้วยปลามัจฉาชาตินานาชาติ มีปลาโลมา ปลาฉลาม ช้างน้ำม้าน้ำ และเงือกเบื้องต้น ย่อมอยู่อาศัยในมหาสมุทรนั้นโดยปกติธรรมดา

คราที่นั้น ก็พลันมีมหามัจฉาปลาใหญ่หนึ่งมีกายใหญ่โตมหึมานักหนา จะใคร่ลองกำลังของตนจึงโดดขึ้นไปสุดแรงย่อมกระทำให้มหาสมุทรนั้นกำเริบเป็น ระลอกใหญ่ชัดไปที่ริมฝั่งปรากฎเสียงดังสนั่นกึกก้องเหลือประมาณ กาลนั้นมนุษย์นิกรซึ่งสัญจรไปที่ริมฝั่งมหาสมุทรนั้น ครั้นเห็นคลื่นใหญ่พิกล ทุกคนก็ย่อมจะต้องเข้าใจว่า "ปลาใหญ่มีอยู่ในมหาสมุทรนี้เป็นมั่นคง ไม่ต้องสงสัย" คำอุปมาที่ว่ามานี้ฉันใด

โลกที่เราอาศัยอยู่เวลานี้ ก็เปรียบเหมือนกับมหาสมุทรวารีที่ว่ามานั้น เพราะมีความลึกล้ำสุดพรรณนา ทรงไว้ซึ่งน้ำคือ ราคะ โทสะ โมหะ มากมายเหลือจะคณนา อากูลมากมูลด้วยหมู่มิจแาคือพาลปุถุชนมีแพคือสกลกิเลสทั้งหลายลอยอยู่ แวดวงด้วยข่ายคือมิจฉาทิฐิ ความคิดเห็นวิปริตผิดปกติมากมาย มีกระแสสายคือตัณหา พาให้ไหลไปไม่รู้จักหยุดยั้ง ได้มีธงชัยคือมานะ ความถือตัวสั่นระรัวอยู่เสมอในทุกดวงใจ ร้อนด้วยไฟ คือราคะ โทสะ โมหะ สุดประมาณ ประกอบด้วยอันธการความมืดมิด้วยฤทธิ์แห่งอวิชชา ความเขลาปราศจากปัญญา มีความสาหัสไปด้วยโลภเจตนาเป็นที่สุด ก็โลกสมุทรนี้ผู้มีสติปัญญาเห็นแจ้งประจักษ์ย่อมเห็นเป็นภัยน่ากลัวนักหนา สุดที่จักหาอะไรมาเปรียบได้ เพราะเป็นที่อยู่ของคนตามืดตาบอด คือผู้ที่ประกอบไปด้วยมิจฉาทิฐิในดวงจิตทั้งหลาย และเป็นที่อยู่อาศัยของมนุษย์หญิงชายที่มีน้ำใจเป็นกุศล และมีน้ำใจเป็นอกุศล คนมียศและหายศมิได้ คนมีเดชแลหาเดชมิได้ คนมีบุญแลหาบุญมิได้ คนที่มีคุณวิเศษและหาคุณวิเศษมิได้ คนที่มีความเจริญแลหาความจำเริญมิได้ คนมีปัญญาและหาปัญญามิได้ คนที่มีความรู้แลหาความรู้มิได้ อนึ่ง โลกสมุทรนี้จะได้มีแต่คนทั้งหลายเช่นว่ามาแล้วนั่นก็หามิได้ ย่อมประกอบไปด้วยกษัตริย์และพราหมณ์ พ่อค้าแลชาวนา พ่อครัวและอาชีวก คนนุ่งขาวและปริพาชก พระพุทธสาวกแลคนขอทาน คนถือทิฐิประพฤติพรตนอนกับพื้นแผ่นดินปฐพีภาค แลคนถือการนอนข้างเดียวเป็นวัตร คนไม่อาบน้ำเต็มไปด้วยเหงื่อไคลแลชีเปลือยเปล่ากายรวมทั้งพระดาบส โยคีฤาษีทั้งหลายเป็นอันมาก ย่อมปรากฎมีอยู่ในโลกสมุทรนี้เกลื่อนกลาด นอกจากนั้น ยังมีสัตจตุนาทมีเอนกนานา เป็นต้นว่า อูฐ ฬา แพะ แกะ หมู หมา ช้าง ม้า แลสีหราช เป็นจำนวนมากมายเหลือที่จะกล่าว นอกจากนั้นเล่า ยังมีสัตว์สองเท้าเป็นต้นว่า นกจากพราก นกแก้ว นกสาลิกา นกดุเหว่า นกเขา นกพิราบและนกตะกรุม นกฮุก มีลูกหลานสืบพันธุ์กันไม่ขาดสาย ทั้งยังประกอบไปด้วยสัตว์ทั้งหลายที่มีเท้ามาก เช่น ตะขาบ กิ้งกือ แลสัตว์ประเภทที่หาเท้ามิได้ เช่นงูและไส้เดือน เป็นต้น ล้วนปะปนสถิตอาศัยอยู่ในโลกสมุทรนี้ทั้งสิ้น


ปางเมื่อ สมเด็จพระชินสีห์สัพพัญญูเจ้า ผู้ทรงพระภาคอันงามเลิศประเสริฐสุด พระองค์ทรงอุบัติผุดขึ้นโลกนี้แล้ว องค์พระประทีปแก้วย่อมมีอานุภาพยังพื้นพิภพปฐพี ทั่วหมื่นโลกธาตุให้หวาดไหว ได้ตรัสพระปรมาภิเษกสัมโพธิญาณ สำเร็จเป็นเอกองค์อัครมหามุนีโลกนายกแล้ว ทรงสามารถยังมนุษยโลกกับทั้งเทวโลกให้กำเริบปั่นป่วนด้วยพระสัทธรรม แล้วก็ทรงปักแพ้วไว้ซึ่งธรรมธุชธงชัย คือธรรมอันเลิศ สมเด็จพระองค์ผู้สุดประเสริฐสัพพัญญูเจ้าทรงยังโลกให้กำเริบขึ้นด้วยระลอก คลื่น กล่าวคือตรัสพระสัทธรรมเทศนาสั่งสอนสัตว์ ตักเตือนสัตว์ เปลื้องสัตว์รื้อสัตว์ขนสัตว์ทั้งหลายให้พ้นจากทุคติภพ คืออบายภูมิทั้ง ๔ มีภูมินรก ภูมิเปรต ภูมิอสุรกาย และภูมิเดียรฉาน ทรงประทานพระอมฤตหนทางพ้นทุกข์ให้แก่สัตว์ทั้งหลายทั่วประเทศ มิได้เลือกเพศเลือกหน้า ทรงประทานยาดับพิษโลกคือกิเลสให้แก่สัตว์ในประเทศทั้งหลาย กระทำใจให้สิ้นมลทินขาวบริสุทธิ์ผอ่ง ยังสัตว์โลกทั้งหลายให้ตั้งอยู่ในพระปฏิสัมภิทา ให้ตั้งอยู่ในพระวิโมกข์ ให้ตั้งอยู่ในพระอริยภูมิอันสำราญ ตรัสประทานพระสัทธรรมเทศนาซึ่งพระจตุราริยสัจธรรมอันประเสริฐนักหนา หมู่เทวดาและมนุษย์ได้สวนาการสดับตรับฟัง บางพวกตั้งอยู่ในพระอนาคามีผล บางพวกตั้งอยู่ในพระสกิทาคามิผล บางพวกตั้งอยู่ในพระอนาคามีผล บางพวกตั้งอยู่ในพระอรหัตผล บางพวกก็ตั้งจิตสมาทานศีล บางพวกตั้งจิตสมาทานพระไตรสรณคมน์ บางพวกตั้งอยู่ในภูมิเป็นอุบาสก อุบาสิกา มีศรัทธาเลื่อมใสในคุณพระรัตนตรัย

กาลเมื่อสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถเสด็จพระพุทธลีลาศขึ้นไปตรัสพระสัทธรรมเทศนา ณ เบื้องสวรรค์ชั้นไตรตรึงษ์นั้น พระองค์ประทับนั่งเหนือบัณฑุกัมพลสิลาอาสน์ แล้วตรัสพระสัทธรรมเทศนาพระทุกขสัจ เหล่าเทพยเจ้า ๘๐ โกฏิ ต่างล้วนโสมนัสปราโมทย์ชื่นชมยินดีในกระแสธรรม ก็ได้ธรรมจักษุบรรลุคุณวิเศษด้วยการพิจารณาเห็นซึ่งทุกขสัจ แล้วปลงปัญญาเห็นซึ่งนิโรธธรรมอันวิเศษ... อีกครั้งหนึ่ง กาลเมื่อสมเด็จพระโลกเชษฐเสด็จอยู่ ณ ปาสาณเจดีย์ ตรัสพระสัทธรรรมเทศนาสมุทยสัจ เหล่าเทพเจ้าและมนุษย์ทั้งหลายได้สดับแล้ว ก็มีหฤทัยปราโมทย์ยินดีในพระกระแสธรรม ได้บรรลุมรรคผลมากมายนับจำนวนได้ถึง ๑๔ โกฏิ... อนึ่งโสต กาลเมื่อเสด็จลงจากดาวดึงส์ภพ สมเด็จพระนราสภสัพพัญญูเจ้าก็ได้ตรัสพระสัทธรรมเทศนาพระนิโรธสัจ เหล่าเทพยเจ้าแลมนุษย์ทั้งหลายได้สดับรับรสพระธรรมเทศนาแล้วหมดความสอดแคล้ว สงสัยพระพุทธคุณ ได้บรรลุมรรคผลมากล้นเหลือปลายประมาณได้ถึง ๓๐ โกฏิ .. พระเทศนาที่พระมุนีโปรดประทานนั้น ปานประหนึ่งว่าคลื่นระลอกที่ซัดกระฉอกกำเริบหวั่นไหวอยู่ในโลกสมุทรอัน สุดกว้างนี้ และแล้วพระสมเด็จพระชินสีห์สัมพุทธเจ้าก็ทรงบ่ายพักตรเข้าสู่เขาภูมิอันเกษม สานต์ คือดับขันธ์ปรินิพพานเป็นเอกัตบรมสุขพิสัยไปตามธรรมดา


ฝ่ายว่า บัณฑิตชนมีปัญญาในสมัยหลังต่อมา ได้พบเห็นคลื่น คือพระสัทธรรมอันโอฬารของพระบรมโลกุตตรมาจารย์เข้าก็เฝ้าปฏิบัติตามพระโอวา ทานุสาสนี ผู้ที่มีวาสนาบารมีสูงก็ย่อมตัดเสียได้ ซึ่งเครื่องจองจำอันมากมูลอากูลเหลือล้นในขันธสันดาน ผลาญเสียซึ่ง ราคะ โทสะ โมหะ ให้หมดสิ้น มีจิตพ้นมลทินผ่องใสจากกิเลสบาปธรรม บรรลุถึงพระอรหัตผลเป็นพระอริยบุคคลโอฬาร กระทำพระนิพพานให้แจ้งชัดเป็นพระปรมัตถธรรม ฝ่ายผู้ที่มีวาสนาบารมีต่ำกว่านั้นเป็นผู้ปฏิบัติตามก็ย่อมได้รับผลสมควรแก่ การปฏิบัติเป็นอัศจรรย์ ชนเหล่านี้ก็ย่อมอนุมานกำหนดแน่ลงด้วยปัญญาได้ว่า "คลื่น พระสัทธรรมอันแสนมหัศจรรย์นี้ ไม่มีใครที่จักให้เป็นไปได้ นอกจากพระผู้ห่างไกลจากกิเลส คือพระโลกเชษฐอรหันต์สัมมาสัมพุทธเจ้าเท่านั้น สมเด็จพระภควันตสัมมาสัมพุทธเจ้าปรากฎมีแล้วในโลกโดยแท้" แต่ชนมีบุญน้อยด้อยวาสนา ปัญญาเขลามัวเมาไปด้วยทิฐิมานะอหังการ ถือว่าตนมีความคิดดีเป็นยอดคน ไม่สนใจการปฏิบัติตามพระโอวาทานุสาสนีก็ชวดเปล่าที่จักเห็นความมหัศจรรย์ แห่งพระพุทธพจน์ เมื่อไม่ดื่มรสอมตธรรมเป็นพระพุทธบุตร ก็ย่อมจะถูกวิจิกิจฉาฉุดให้คลางแคลงสงสัยอยู่มิวายว่า พระสัมมาสัมพุทธเจ้ามีจริงฤา?

ธรรมบรรพต

ธรรมดาพญาเขาหิมพานต์นั้น ย่อมประกอบไปด้วยระเบียบแห่งเงื่อนเขา ยอดเขาแล้วไปด้วยศิลามากมายหนักหนา เป็นที่อยู่แห่งหมู่สัตว์นานา ประกอบไปด้วยไม้แลเครือลดาปกคลุมเป็นสุมทุมพุ่มพฤกษา มากไปด้วยซอกธารเหวท่า คณามนุษย์ คนธรรมพ์นิกร กินนร วิทยาธร ต่างสัญจรเที่ยวเล่นสำราญ อนึ่งภูเขาหิมพานต์นั้น เป็นที่อาศัยอยู่แห่งหมู่สุบรรณครุฑ นาค อสูร กุมภัณฑ์ และยักษ์ทั้งหลาย ทั้งเหล่าอสรพิษร้ายก็อาศัยอยู่มากมายหลายชนิดเหลือคณนา พร้อมทั้งโอสถต้นยาก็สารพัดจะมี แวดล้อมด้วยยอดคีรีทั้งหลาย คือตรีกูฎ ไกรลาศกูฎ สุมนกูฎ จิตตกูฏ และยุคนธรกูฏ และดูสูงชลูดขึ้นไปดุจก้อนเมฆเป็นช่อขึ้น ก็ยอดเขาหิมพานต์นั้นแลดูมีสีดุจเมฆเมื่อวันแรก หรือมิฉะนั้นเมื่อแลดูมีฤาดุจทาด้วยดอกอัญชัญอันมีสีเขียวปนสีคราม สีม่วง สีหม่นทั้งหลาย บ้างก็คล้ายสีในกายแห่งนาคราชอันเขียวคล้ำ ถ้ามิฉะนั้น แลดูแวววับเหมือนกับพยับแดดเดือน ๕ งามสง่าไม่มีใดเทียม ทีนี้ มนุษย์ทั้งหลายผู้เป็นปัญญาชน เมื่อตั้งต้นไปเห็นยอดเขานั้นแต่ไกล เขาก็เข้าใจด้วยอนุมานปัญญาว่า...นี่เป็นยอดเขาหิมพานต์! หิมพานต์บรรพตปรากฎมีอยู่โดยแท้หนอ ความอุปมาที่ว่ามานี้ฉันใด

ธรรมบรรพตภูเขาคือพระธรรมแห่งองค์สมเด็จพระบรมโลกนาถศาสดาจารย์เจ้า ก็มีลักษณาการเหมือนเช่นนั้น ถือว่าธรรมและผลเป็นเอนกประการ ประดับไปด้วยยอดและแง่เงื้อม กล่าวคือ สุญญตวิโมกข์ ทางเข้าสู่พระนิพพานโดยอนัตตลักษณะ อนิมิตตวิโมกข์ ทางเข้าสู่พระนิพพานโดยอนิจจลักษณะ อัปปณิหิตวิโมกข์ ทางเข้าสู่พระนิพพานโดยทุกขลักษณะและมีทางขึ้นสู่ธรรมบรรพตนั้น กล่าวคือท่านผู้มีปัญญาทรงพระสูตร พระวินัยและพระอภิธรรม เป็นที่สถิตอาศัยอยู่แห่งท่านพระอรหันต์ อริยบุคคลผู้บรรลุพระอรหัตผล เป็นที่เที่ยวไปแห่งท่านผู้ปฏิบัติเพื่อมรรคผลชั้นต่ำมีท่านผู้ปฏิบัติเพื่อ พระโสดาปัตติผลเป็นต้น และท่านผู้ทรงจีวรเศร้าหมองครองชีพด้วยสุจริตปรารถนาน้อยค่อยอยู่สุขสำราญ ซ่องเสพสถิตอยู่เป็นอันมาก อนึ่ง ธรรมบรรพตนี้ ย่อมเป็นที่สถิตอยู่แห่งท่านผู้ได้ไตรวิชชาและอภิญญาท่านผู้ได้ปฏิสัมภิทา และผู้ได้สำเร็จในบารมีญาณ นอกจากนั้นธรรมบรรพตนี้ ยังอาเกียรณ์มากมูลไปด้วยยาอันดับเสียซึ่งพิษร้ายที่กำซาบซ่านในใจสัตว์ ทั้งยังมีโอาสถอันจะบำบัดดับโรคทุกข์ทั้งปวงและรักษาอายุให้เจริญ เช่นประกอบไปด้วยจันทน์ กล่าวคือ ศีล

โอสถกล่าวคือสมถะ กฤษณากล่าวคือปัญญา กลิ่นกล่าวคือสันโดษอันบริสุทธิ์เป็นต้น อนึ่ง ธรรมบรรพตนี้มียอดคีรีภูเขาธรรมอันประเสริฐเป็นบริวารแวดล้อมอีกด้วย ซึ่งได้แก่ภูเขาคือพระสติปัฏฐาน ภูเขาคือพระสัมมัปปะาน ภูเขาคือพระอิทธิบาท ภูเขาคืออินทรีย์ ภูเขาคือพละ ภูเขาคือโพชฌงค์ และภูเขาคือพระอัฏฐังคิกมรรค ภูเขาคีรีเหล่านี้เป็นบริวารแวดล้อมธรรมบรรพตนั้น และประการที่สำคัญก็คือว่า ธรรมบรรพตมียอดสูงเยี่ยมนัก สุดที่อันตรายอื่นใดจักล้างผลาญได้ ยอดบรรพตนี้คือพระนิพพานอย่างไรเล่า พระนิพพานอันดับเสียซึ่งความอยากและความกระวนกระวายถอนเสียซึ่งความอาลัยทำ ให้สิ้นไปเสียซึ่งความยินดี คือราคะ ทำให้สิ้นไปเสียซึ่งยินร้ายคือโทสะ และโมหะ มีสภาวะเยือกเย็นเป็นสุขคือไม่รู้เกิด ไม่รู้ตาย เป็นมหาสุญญตา เงียบสูญสงบสุดในโลก นี่แลเป็นยอดธรรมบรรพต สมเด็จพระสุตตสัมมาสัมพุทธเจ้า ครั้นทรงสร้างธรรมบรรพตอันประเสริฐนี้แล้ว ก็ทรงบ่ายพักตรเข้าสู่เขตภูมิอันเกษมสานต์ เสด็จดับขันธ์ปรินิพพานล่วงไป

ฝ่ายบัณฑิตชนคนมีปัญญาในสมัยหลังมา ครั้นได้ข่าวธรรมบรรพตมีอยู่ ก็สู้อุตสาหกรรมปฏิบัติตามพระโอวาทานุสาสนี เมื่อถึงที่เห็นธรรมบรรพตนั่นเข้าแล้ว ย่อมไม่แคล้วที่จะตะลึงงันด้วยความอัศจรรย์ใจตน ทุกคนถึงแม้จะเกิดในกาลสุดท้ายภายหลัง ไม่ทันได้เห็นพระรูปกายของพระพุทธเจ้าก็จริง แต่เมื่อได้เห็นสิ่งสำคัญคือธรรมบรรพตที่พระสุคตทรงสร้างไว้นี่แล้วย่อมจะ อนุมานด้วยปัญญา อุท่านออกมาว่า "โอ้..อัศจรรย์จริงหนอ ธรรมบรรพตอันแสนประเสริฐนี้ไม่มีใครอีกแล้วที่จะมีปัญญาสามารถสร้างไว้ได้ นอกจากพระผู้ห่างไกลจากกองกิเลสคือ สมเด็จพระโลกเชษฐอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์เดียวเท่านั้น สมเด็จพระภควันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงอุบัติขึ้นแล้ว ทรงปรากฎขึ้นแล้วในโลกเรนี้โดยแท้เป็นแม่นมั่น"
หัวข้อ: Re: มุนีนารถทีปนี การตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า โดย พระพรหมโมลี วิลาศ ญาณวโร
เริ่มหัวข้อโดย: Wisdom ที่ กุมภาพันธ์ 21, 2012, 12:21:39 PM
ฝ่ายท่านที่มีบุญน้อยด้อยวาสนา หรือว่าผู้มีปัญญาเขลามัวเมาไปด้วยทิฐิมานะอหังการ์ ไม่เห็นคุณค่าแหงพระศาสนา แม้ว่าพระธรรมคำสั่งสอนของสมเด็จพระชินวรพุทธเจ้ายังปรากฏอยู่ ก็มิสู้จะปลงใจให้เชื่อลงได้ ให้มีอันเป็นคิดวิจารณ์ไปต่างๆ ตามประสาคนที่ยังมีทิฐิกิเลสและวิจิกิจฉากิเลสอยู่ บูชาความคิดเห็นของตน อันค่อนข้างจะใช้ไม่ได้เป็นใหญ่ มิใคร่จะเชื่อฟังในพระโอวาทานุสาสนี หรือมิฉะนั้นก็ตีความดูประหนึ่งว่าพระพุทธพจน์อันลึกล้ำคัมภีร์ภาพของสมเด็จ พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้ทรงอบรมบ่มพระสัมโพธิญาณมานานช้า อยู่ภายใต้ปัญญาความดีของตนเท่านั้นเอง เลยเป็นเหตุให้ไม่มีการปฏิบัติอย่างจริงจัง เมื่อไม่มีการปฏิบัติอย่างจริงจังแล้ว การบรรลุมรรคผลอันเป็นวิเศษเบื้องสูง ซึ่งสามารถขจัดความสงสัยในพระรัตนตรัย จักบังเกิดขึ้นได้อย่างไร เมื่อ วิจิกิจฉา ความสงสัยยิ่งมากมูลอากูลอยู่ในจิตสันดาน ก็เลยมักให้พาลคิดไปว่า "ฮึ...พระธรรมคำสั่งสอนมีค่าควรแก่การปฏิบัติจริงหรือ... พระพุทธศาสนาเป็นนิยยานิกธรรมนำสัตว์ออกจากทุกข์ได้จริงหรือ... ที่ว่าพระพุทธเจ้านี่ มีจริงหรือๆ ว่าเป็นเรื่องราวที่มนุษย์อะไร ใครคนหนึ่งเสกสรรเป็นทำนองเทพนิยายปรัมปราเรื่องหนึ่งดอกกระมัง?" ให้คิดสงสัยวนเวียนอยู่อย่างน่ากลุ้มใจแทนอยู่เช่นนี้ ก็เพราะขาดสิ่งสำคัญอยู่อย่างเดียว คือขาดการปฏิบัติ จึงอาจเห็นธรรมบรรพตปรากฎอยู่โดยแท้ แต่ก็ไม่อาจจะรู้จะเห็นได้ ตาบอดตาใส เลยถูกความสงสัยสะกิดใจอยู่เนืองๆ ว่า พระพุทธเจ้ามีปรากฎในโลกจริงฤา?

ธรรมเมฆ

ธรรมดา มหาเมฆหนึ่งซึ่งมีชื่อว่า จตุทีปกะ เมื่อตั้งขึ้นจะให้ฝนตกใหญ่นั้น ท่านผู้ได้ฌานชำนาญฤทธิ์ทั้งหลายย่อมจะเห็นนิมิตบังเกิดขึ้นเป็นสำคัญก่อน คือเบื้องบนอากาศจะปรากฎเป็นกลุ่มก้อนห้อยย้อยดุจสร้อยสังวาลย์ และปรากฎมีดอกไม้สวรรค์บันดาลตกลงมามากมาย มีมหาวาตลมอ่อนละเอียดค่อยพัดมาเรื่อยๆ เย็นน้อยเฉื่อยชื่นสบาย มนุษย์นิกรทั้งหลายก็สโมสรชื่นชมยินดี อนึ่ง ย่อมมีเสียงอึงมี่แห่งหัตถีโปดก ลูกช้างและอัสสโปดกลูกม้าทั้งสองร้องโกญจนาท ทั้งสกุณชาติทั้งหลาย ก็มาบินว่อนร่อนร่าปราโมทย์ยินดี สายอสุนีฟ้าแลบแปลบปลาบไปทั่วทิศา มีกลิ่นมหาเมฆมากมายกว่าหมื่นพันสีสันต่างๆ บ้างก็เขียว บ้างก็เหลือง บ้างก็แดง บ้างก็ขาว บ้างก็เป็นสีหงสบาท มีสีอ่อนแซมซ้อนสลับกัน พลันก็มีคฤโฆษอื้ออึงกึกก้องไปด้วยเสียงฆ้องกลองสวรรค์ บังเกิดเป็นมหันตนิมิตเอนกจะนับจะประมาณมิได้! เมื่อจตุทีปกะมหาเมฆนี้บันดาลฝนตกลงมา ฝ่ายมนุษย์นิกรแลส่ำสัตว์ทั้งหลายทั่วโลกา เห็นฝนตกลงมาที่โกรก ตรอกซอกธาร ละหานห้วยหนองคลองบึงบางบ่อและสระ ทุกสถานที่เต็มเปี่ยมด้วยน้ำ และทั่วพื้นปฐพีแผ่นดินชุ่มคล่ำไปด้วยต้นไม้ใบหญ้าใหญ่น้อยเขียวชะอุ่มเป็น คราบอยู่ดูร่มเย็น หมู่มหาชนครั้นได้เห็นกาลนี้ ก็ย่อมจะมีความรู้อนุมานด้วยปัญญาได้ว่า "ฝนนี้เป็นฝนห่าใหญ่ ตกลงมาแล้วหนอ" ข้อนี้มีอุปมาฉันใด

สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถศาสดาจารย์เจ้าเมื่อเสด็จมาอุบัติและตรัสพระปรมาภิเษกสัมโพธิญาณในโลกเรานี้แล้ว องค์พระประทีปแก้วก็ทรงยังธรรมเมฆให้ตกลงมาเหมือนกัน ด้วยว่าสมเด็จพระอรหันต์สัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงยังโลกสวรรค์และโลกมนุษย์ให้เอิบอิ่มเกษมสานต์หรรษาด้วยห่าฝนคืออมตธรรม ส่ำสัตว์ทุกแหล่งหล้า เมื่อถูกหยาดห่าฝนของพระองค์ราดลงในดวงจิต บางหมู่ก็สถิตตั้งอยู่ในไตรสรณคมน์ และศีล ๕ ศีล ๘ ศีล ๑๐ บางหมู่ก็บวชเป็นพระภิกษุภาวะในพระบวรพุทธศาสนาทรงพระปาติโมกข์สังวรศีล บางหมู่ผู้มีวาสนามิได้บรรลุถึงธรรมวิเศษ สำเร็จเป็นพระอริยบุคคลชั้นพระโสดาบันชั้นพระสกิตทาคามีและชั้นพระอนาคามี บางหมู่มีวาสนาสูงสุด จัดเป็นพุทธบุตรผุ้วิเศษ ได้บรรลุธรรมวิเศษเป็นพระอรหันต์อริยบุคคลพ้นจากราคะ โทสะ โมหะ มานะ ทิฐิ กำจัดเสียซึ่งเครือลดากล่าวคือความยินดีในกามคุณ ๕ ประการ ให้พินาศขาดจากสันดาน บรรลุพระนิพพานอันเกษมสานต์สิ้นทุกข์ทั้งมวล เช่นนี้เป็นจำนวนมากกว่ามาก ครั้นสมเด็จพระผู้มีพระภาพอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงยังธรรมเมฆให้ตกลงมา ให้ประชาสัตว์ได้รับอมตธรรมชุ่มฉ่ำในดวงหฤทัยอย่างนี้แล้ว ก็เสด็จดับขันธ์ปรินิพพานล่วงไป

ฝ่ายบัณฑิตชนคนมีปัญญาในสมัยหลังต่อมา ได้เห็นวารีคือธรรมของพระชินสีห์ อันเกิดจากธรรมเมฆห่าฝน ยังเปี่ยมล้นปรากฎอยู่ในโลกา ก็สู้อุตส่าห์ปฏิบัติตามพระโอวาทานุสาสนีจนสามารถที่จะนำเอาธรรมวารีนั้นมา ดื่มกิน แต่พอกระแสสินธุ์คืออมตธรรมนั้นตกลงถึงดวงฤทัยก็พลันให้เกิดมหัศจรรย์ใจ เป็นล้นพ้น ถึงแม้ว่าตนจะเกิดมา ณ โอกาสสุดท้ายภายหลังมิทันได้เห็นสมเด็จพระพุทธองค์เจ้าก็ตาม แต่เมื่อได้ดื่มอมตธรรรม มีธรรมวารีซาบซ่านอยู่ใในหฤทัยบัดนี้ ย่อมจะอนุมานได้ด้วยปัญยาเป็นอันดีว่า "โอ้หนอ! ธรรมวารีอันเป็นอมตรสนี้ ใครผู้ใดฤา จักสามารถให้ปรากฎมีขึ้นได้ นอกจากพระผู้ห่างไกลจากกองกิเลสคือองค์สมเด็จพระโลกเชษฐสัมมาสัมพุทธเจ้า องค์เดียวเท่านั้น สมเด็จพระภควันต์ทรงยังธรรมเมฆให้ปรากฎแล้ว ประทานอมตธรรมคือฝนห่าใหญ่ สำหรับดับไฟ คือกองทุกข์ของส่ำสัตว์ในโลกนี้ โอ... สมเด็จพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงอุบัติขึ้นในโลกนี้จริงแล้ว หนอ" ดังนี้

ฝ่ายผู้ที่มีบุญน้อยด้อยวาสนา หรือผู้ที่มีปัญญาโฉดเขลามัวเมาไปด้วยทิฐิมานะ ไม่เห็นคุณค่าพระพุทธศาสนา แม้ว่าธรรมวารีอันเกิดจากธรรมเมฆ ยังปรากฎอยู่เปี่ยมล้นเต็มโลกอยู่ขณะนี้ แทนที่จะเกิดปิติยินดีรีบวักรีบตักมาดื่มกินให้รู้รสกระแสสินธุ์ คืออมตะรรมว่าล้ำเลิศวิเศษสุดปานใด แต่ก็ให้มัวเมาตกอยู่ในความประมาท ขาดการปฏิบัติตามพระโอวาทานุสาสนี เมื่อไม่มีการปฎิบัติคือการกระทำแล้ว ปฏิเวธความดี การบรรลุธรรมวิเศษอันเปรียบเสมือนการนำเอาธรรมวารีมาอาบใจหรือดื่มกินให้รู้ รส จักมีได้แต่ที่ไหน เมื่อไม่รู้รสธรรมวารี ก็ย่อมเป็นที่แน่นอนเหลือเกิน คน โซปัญญาทรามเหล่านี้ จักไม่มีโอกาสได้มองเห็นความสามารถแห่งองค์สมเด็จพระบรมศาสดาจารย์เจ้า พระองค์ผู้ทรงบันดาลธรรมเมฆยังธรรมวารีให้ตกลงมาในโลกนี้ได้เลยอย่างแน่นอน คราใด ที่อนุสรณ์ถึงพระพุทธศาสนา ก็มักให้มีวิจิกิจฉาความสงสัย ผุดขึ้นในใจอยู่เสมอว่าพระพุทธเจ้าปรากฎขึ้นแล้วจริงฤา?

ธรรมนที

ธรรมดาว่าคงคาทั้งหลาย ย่อมไหลมาแต่ป่าเขาใหญ่แล้ว และไหลหลั่งลงมาทางพื้นภูมิภาคฝ่ายใต้ลงสู่มหาสมุทรทะเลใหญ่ในคราวที่มหาเมฆ มโหฬาร บันดานฝนให้ตกลงมาเป็นห่าใหญ่ ท่วมบ่อสระสถานที่ทั้งหลายแล้ว ก็เป็นน้ำป่า พัดพาเอาขอนไม้ใหญ่น้อย และรากใบเป็นสวะลอยไป สัตว์จตุบท ทวิบาททั้งหลายเช่นแมลงปอ ตะขาบ มด หนู งู พังพอน สุนัข กระต่ายและเสือป่าเป็นอาทิ ก็พากันหนีอุทกภัยขึ้นไปอาศัยบนดอย สัตว์ที่มีกำลังน้อยน่าสงสารหนีไม่พ้น น้ำฝนก็ท่วมตายและไหลพัดพาไปสู่มหาสมุทร ใช่แต่เทานั้น อุทกขันธ์คือห้วงน้ำอันมีกระแสเชี่ยวแกร่งกล้าเป็นน้ำป่ายังพัดพาเอาสิ่ง โสโครกบรรดามีให้ไหลไปหมดสิ้น ชำระท้องถิ่นผืนปฐพีให้สะอาดหมดลามก และน้ำนั้นก็ไหลไปสู่มหาสมุทรจนแห้งหมดไม่เหลือเลยในไม่ช้านาน กาลต่อมา มนุษย์นิกรได้สัญจรมา ณ ประเทศที่นั้น ครั้นได้เห็นคราบน้ำปุ่มเปือกติดอยู่ตามกอหญ้าและตามยอดไม้ และเห็นรวงรังของสัตว์ที่เคยอยู่พื้นดิน มันขึ้นไปทำรังอาศัยอยู่ตามเชิงซุ้มพุ่มไม้อันเป็นที่สูง ก็ย่อมจะจูงใจให้เกิดความคิด อนุมานด้วยปัญญาแห่งตนโดยไม่ต้อมีใครบอกก็ได้ว่า "นั่นแน่ ที่นี้เคยมีห้วงน้ำไหลมาท่วมแล้ว ดูซิ...ที่กอหญ้าก็มีคราบน้ำ หรือที่ยอดไม้ก็มีคราบน้ำท่วมขึ้นไปถึง สกุณีปักษีชาติไม่อาจอยู่พื้นที่ต่ำได้ อุตส่าห์ขึ้นไปทำรังอยู่บนต้นไม้สูง ต้องมีคงคาสายน้ำป่าใหญ่ไหลผ่านประเทศที่นี่แล้วเป็นแม่นมั่น" ข้อความที่เสกสรรมานี่มีอุปมาฉันใด

สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถศาสดาจารย์เจ้า เมื่อได้ตรัสรู้สำเร็จพระปรมาภิเษกสัมโพธิญาณแล้ว องค์พระประทีปแก้วก็ทรงยังธรรมนทีสายน้ำคือธรรมอันโอฬารยิ่งใหญ่ ให้หลั่งไหลออกมาจากพระโอษฐ์สำเร็จเป็นพระพุทธพจน์รวมกันทั้งหมดมีจำนวนมาก มายถึง ๘ หมื่น ๔ พันพระธรรมขันธ์ ก็ธรรมนทีของพระองค์นั้น เมื่อไหลมาโดยลำดับกัน ย่อมไหลลงสู่ สาครปากอ่าว กล่าวคือพระนิพพาน ซึ่งเป็นสถานที่ปัจจยาการประชุมตกแต่งมิได้ มิรู้แก่ มิรู้ตาย มีสภาวะเป็นสุขสบายยิ่งนักหนา ด้วยว่า เมื่อสมเด็จพระมหากรุณาสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงยังธรรมนทีให้หลั่งไหลอยู่นั้น ก็ทรงยังโพไธยยกสัตว์ที่ได้สร้างบารมีมาแก่กล้าสมบูรณ์ ให้ได้รู้ธรรมวิเศษสำเร็จกิจแห่งพรหมจรรย์ ทรงยังชาวโลกสวรรค์หมู่อมรแลมนุษย์นิกร ให้อิ่มเอิบด้วยธรรมปิติเป็นอันมาก ให้กำจัดเสียซึ่งราคะ โทสะ มานะ และมักขะคือความกระด้าง หลู่คุณท่านผู้อื่น ด้วยสันดาลพาลเขลาคิดว่าตนดีกว่า และให้กามคุณอารมณ์เป็นที่สุขสบายน่าพอใจชอบใจ พยาบาทความยินร้ายไม่พอใจในอารมณ์ที่ไม่ถูกกับใจตน สักกายทิฐิ ความเข้าใจผิดในรูปนามว่า เป็นตัวตน อันเปรียบเสมือนหอกปักอก ให้วงเวียนว่ายตายเกิดในวัฏสงสาร วิจิกิจฉาความลังเลสงสัยไม่เชื่อลงไปได้ในพระรัตนตรัย คือ พระพุทธรัตน์ พระธรรมรัตน์ พระสังฆรัตน์ และตัณหาอันรกชัฏ มิไใช่น้อยให้ลอยเสียซึ่งอกุศลธรรมปาปกรรมอันพิลึกต่างๆ ให้ล่วงเสียซึ่งเปือกตม กล่าวคือโมหะ มานะ และลาภสักการะ ให้เปลื้องเสียให้พ้นจากอกุศลทั้งปวง ให้ล่วงพ้นจนถึงเป็นพระอรหันต์ในที่สุด สมเด็จพระพุทธเจ้าทรงยังธรรมนที ให้ไหลหลั่งพัดพาประชาสัตว์ไปสู่นิพพานสาครแล้วองค์สมเด็จพระชินวรก็เสด็จ ดับขันธ์ปรินิพพานไป

ฝ่ายบัณฑิตชนคนมีปัญญาซึ่งเกิดในสมัยหลังต่อมา ครั้นได้เห็นรอยธรรมนทีของสมเด็จพระชินสีห์สัพพัญญูเจ้านั้นแล้วก็ดีใจดัง ได้แก้วไม่ประมาทชักช้าให้เสียเวลา ด้วยเกรงว่า ตนนี้เกิดมาจะเสียชีวิตเกิดเสียเปล่า เฝ้าอุตสาหะปฏิบัติดำเนินตามรอยธรรมนมทีนั้นไปมิได้เห็นแก่การเหนื่อยยาก พยายามถอนตนจากเปือกตมโคลนเลน คือโมหะ มานะ และลาภสักการะค่อยดำเนินไปๆ แล้ว ในที่สุด เมื่อมาถึงปากอ่าวเห็นนิพพานสาครเข้า ก็ให้ตะลึงงันอัศจรรย์เป็นล้นพ้น อุทานออกมาว่า "โอ้หนอ นิพพานสาครนี่แสนมหัศจรรย์นัก ใครเล่าหนาจักเป็นผู้สามารถมาพบมาเจอก่อนเป็นคนแรกได้ นอกจากสมเด็จสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้วเป็นไม่มี สมเด็จพระชินสีห์ทรงพบแล้วทรงแสดงธรรมนทีพัดพาให้สัตว์ทั้งหลายมาถึงนิพพาน สาครนี่แล้วโดยมาก บัดนี้หากพระองค์ดับขันธ์นิพพานแล้วก็จริง แต่สิ่งสำคัญคือร่องรอยแห่งธรรมนทียังมีอยู่ ผู้ใดปฏิบัติตามธรรมนทีแล้ว ต้องมาถึงพระนิพพานสาครนี่แน่นอน โอ้...อัศจรรย์แท้ พระผู้ปล่อยกระแสธรรมนที คือองค์สมเด็จพระชินสีห์ สัมมาสัมพุทธเจ้าทรงอุบัติขึ้นแล้วในโลกจริงเป็นแม่นมั่น"
หัวข้อ: Re: มุนีนารถทีปนี การตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า โดย พระพรหมโมลี วิลาศ ญาณวโร
เริ่มหัวข้อโดย: Wisdom ที่ กุมภาพันธ์ 21, 2012, 12:22:30 PM
ฝ่าย มิจฉาทิฐิชนและคนที่มีปัญญาโฉดเขลาทั้งหลาย ซึ่งเป็นผู้มีบุญน้อยด้อยวาสนา มีดวงตาเสียเปล่าแต่หามีแววไม่ ไร้ปัญญามองไม่เห็นคุณค่าอันประเสริฐของพุทธศาสนา แม้ว่าขณะนี้ รอยธรรมนทีแห่งพระพุทธองค์เจ้ายังปรากฎอยู่ในโลกนี้ แทนที่จะรับดำเนินตามไป ด้วยการปฏิบัติตามพระโอวาทานุสาสนี ก็ให้มีอันเป็นเกิดทิฐิวิบัติ มีความเห็นขัดๆ ขวางๆ ไปว่า " พระพุทธศาสนามิได้เป็นนิยยานิกธรรม คือนำสัตว์ออกจากทุกข์มิได้ ไม่ควรที่ใครจะปฏิบัติตามให้เหนื่อยยากไปเปลาๆ นิพพานอะไรกันเล่า? นิพพานไม่มี ที่ว่าพระนิพพานๆ นั้น มันเป็นเพียงสภาวะเหลวไหลอย่างหนึ่ง ซึ่งใครคนไหนก็ไม่รู้ในยุคก่อน บัญญัติชื่อขึ้น แล้วสอนว่าเป็นสุขสบาย เพื่อให้คนทั้งหลายปฏิบัติตามไปอย่างโง่งมงายเท่านั้นเอง ตัวเราอยู่ทุกวันนี้ก็สุขสบายดีแล้ว จักต้องไปแสวงหาสวรรค์นิพพานอะไรที่ไหนกันอีกเล่า" เมื่อโง่เขลาเบาปัญญาไปเสียเช่นนี้ ศรัทธาที่จะดำเนินตามรอยธรรมนทีก็ย่อมไม่มีที่สุดในชาตินี้ ก็ไม่มีโอกาสได้เห็นปากอ่าวแห่งธรรมนที คือพระนิพพาน ชีวิตก็เป็นหมันไปชาติหนึ่ง เมื่อถึงคราวสิ้นชีพตายไปจากโลกนี้ หากยังมีดวงจิตเฝ้าดูถูกดูหมิ่นธรรมนทีแห่งองค์สมเด็จพระชินสีห์เจ้า ว่าไม่เป็นนิยยานิกธรรมแล้วไซร้ ผู้บ้าใบ้ตาบอดเพราะทิฐิวิบัติเหล่านี้ ย่อมมีคติไปอุบัติในดิรัจฉานภูมิ คือเกิดเป็นสัตว์เดรัจฉาน เพราะมีจิตสันดานมากไปด้วยโมหะกิเลส ถึงขึ้นนี้แล้วก็จะอาเพศวิปริตไปกันใหญ่ คือการที่เขาจะได้มีโอกาสเห็นพระคุณแห่งองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้น ย่อมเป็นโอกาสสุดแสนจะยากนัก ก็จะไม่ยากอย่างไรได้เล่า เพราะเขาพลาดท่าเสียไปเกิดในภูมิที่ต่ำทรามซึ่งมีสันดานโง่นัหนา ไม่รู้พระพุทธฎีกาอันเป็นภาษามนุษย์เสียแล้ว อย่างนี้ก็ไม่แคล้วที่จะมีวิจิกิจฉาเกิดความสงสัยไปอีกนานไม่รู้ว่ากี่ชาติ ต่อกี่ชาติว่า พระพุทธเจ้านั้นมีจริงฤา!

พระพุทธสีหนาท

ธรรมดาพญาไกรสรสีหราช ย่อมมีนิสัยใจคอองอาจ มิได้เกรงกลัวภัยอันพิลึก มิได้สะดุ้งตกใจหวาดเสียว มิได้มีขนพองสยองเกล้าแต่ประการใด เป็นสัตว์โลกที่มีโลหิตและเนื้อแห่งสัตว์อื่นบริโภคเป็นภักษาหาร มีกายใหญ่โอฬารลักษณะไพบูลย์บวรยิ่ง มีสร้อยเกษรเป็นแถวตามคอ มีขนลายพร้อยเป็นวงเวียนทักษิณาวัฏ เกิดมาเป็นอภิชาติ สัตว์ทั้งหลายให้หวั่นไหวพรั่นพรึงมิอาจประทุษร้ายได้ เพราะว่าพญาไกรสรสีหราชนั้นเป็นมฤคาธิบดี หมู่มฤคีทั้งหลายไม่ว่าใหญ่และน้อยแต่มาตราสลบซบทรุดอยู่กับที่ ด้วยเกรงเดชแห่งพญาราชสีห์นั้นเป็นกำลัง อีกประการหนึ่ง พญาไกรสีหราชนั้น ปกติประกอบได้ด้วยกำลัง ทั้งประกอบไปด้วยอุตสาหะพยายามซึ่งจะหาสัตว์อื่นเสมอเหมือนมิได้ ย่อมอาศัยอยู่ในไพรสณฑ์อันสงัด เสพซึ่งมฤคชาติเป็นอาหาร ยามเมื่อสายัณห์สมัยเพลาเย็นย่ำสนธยา ราชสีห์ก็ลีลาออกจาที่อยู่อาศัยเหลียวแลไปมาทั้ง ๔ ทิศ แล้วก็ค่อยเข้าไปแอบอยู่ในที่กำบังอันใหญ่ เมื่อจะสำแดงภัยเบียดเบียนฆ่าเสียซึ่งสัตว์ทั้งหลาย หรือจะยังพื้นธรณีดลให้กึกก้อง ก็บันลือออกซึ่งศัพท์สำเนียงเป็นสีหนาทรื่นเริงบันเทิงใจ ขณะเมื่อราชสีห์บันลือสีหนาทออกไปนั้น พลันสัตว์ทั้งหลายซึ่งอยู่ในป่าก็ดี ในคูหาถ้ำทั้งหลายก็ดี หรือในที่อื่นๆ ก็ดี ย่อมมีความสะทกตกใจหวั่นหวาด แม้สกุณชาตินกหนึ่งกำลังผกโผผินบินอยู่บนอากาศ ก็ตกลงมายังพื้นปฐพี สัตว์สี่เท้า สองเท้า เป็นจตุบทวิบาทก็มิอาจจะควบคุมตนให้เป็นปกติได้ย่อมสยบซบล้มลงกับที่ ครานั้น มนุษย์นิกรซึ่งสัญจรเที่ยวไปในอรัญ เมื่อได้ประสพการณ์เห็นฤทธิ์ราชสีห์นั้นแล้ว ย่อมจักต้องเข้าใจโดยอุปมานได้ด้วยปัญญาตนว่า พญาไกรสรราชสีห์นี้มีกำลังอานุภาพมากยิ่งนักหนา ความอุปมาที่ว่านี้ฉันใด

สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถศาสดาจารย์เจ้า แห่งเราทั้งหลายนี้ พระองค์ทรงมีภัยอันพิลึกไม่เหลือติดในพระหฤทัย มิได้บังเกิดตกพระทัยกลัว และพระโลมาของพระองค์มิได้ลุกชันหวั่นไหวในที่ทุกสถานในกาลทุกเมื่อ เพราะว่าทรงประกอบไปด้วยพระบารมีเป็นอนันตคุณอดุลล้ำเลิศประเสริฐสุด ซึ่งจะหาสิ่งที่จะชั่งตวงให้เท่าพระคุณบารมีแห่งสมเด็จพระชินสีห์พระ พุทธเจ้านั้นหามิได้ ด้วยว่าพระองค์ทรงสั่งสอนสัตว์ทั้งหลายให้ลุถึงคุณวิเศษ สามารถที่จะนำตนให้พ้นจากทุกข์ภัยในวัฏสงสารได้หรือแม้อย่างน้อยก็ให้ตั้ง อยู่ในไตรสรณคมน์เป็นต้น เพราะองค์สมเด็จพระทศพลสัมมาสัมพุทธเจ้าเอง ก็ทรงบรรลุพระวิมิตเศวตฉัตร ครองสัพพัญญุตญาณสมบัติในโลกุตรราไชยศวรรย์มีพระกายประกอบด้วยลักษณะอัน วิจิตร พระองค์สถิตอยู่ในวิโมกข์และพระนิโรธธรรมทรงมีปกติสันโดษซ่อนเร้นในป่าชัฎ คือพระองค์สถิตอยู่ในป่าอันสงัดเงียบ คราเมื่อเสด็จออกจากพระพุทธศาสัย พระองค์ย่อมประกอบไปด้วยพระญาณอันองอาจเสด็จเข้าไปในท่ามกลางพุทธบริษัทด้วย พระพุทธลีลาสง่างามนักไม่มีเสมอสอง แล้วทรงบันลือซึ่งศัพท์สำเนียงทำนองพุทธสีหนาท กล่าวคือทรงประกาศพระสัทธรรมโปรดมนุษย์นิกรร และเหล่าเทพยดาให้มีจิตผ่องใสบริสุทธิ์ ทรงจุดประทีปคือดวงปัญญา ให้เกิดแก่สาวกผู้ฟังทั้งหลายเป็นอันมาก หากผู้ใดมีวาสนาบารมีอบรมมาแก่กล้าบริบูรณ์แล้ว ก็ไม่แคล้วที่จะได้ดื่มอมตรสพบเห็นบัญยธรรมขององค์สมเด็จพระ สัมพุทธสัพพัญญูผู้ประเสริฐ ส่วนว่ามนุษย์ผู้ใดเกิดมา ถือมั่นในมิจฉาทิฏฐิ ๖๒ ประการ มีสัสสตทิฐิแลอุจจเแททิฐเป็นต้นอันร้ายกาจครั้นได้ฟังพระพุทธสีหนาทแล้ว เขาก็ละเสียได้ซึ่งทิฐิอันร้ายนั้น ส่วนพวกที่มีทิฐิอันมั่นคงแรงกล้า ตั้งหน้าที่จะเป็นคู่แข่งแห่งพระทศพล ตั้งตนเป็นครูเจ้าหมู่ทั้งหลาย เช่นศาสดาทั้ง ๖ คือ ปูรณกัสสป๑ มักขลิโคสาล๑ อชิตเกสกัมพล๑ ปกุทธกิจจายะนะ๑ สัญชัยเวฬัญบุตร๑ นิครนถ์นาฏบุตร๑ ซึ่งตั้งตนเป็นศาสดาสั่งสอนสาวกให้เป็นมิจฉาทิฐิเป็นอันมาก หากบังอาจมาคัดค้านพระพุทธวจนะในคราใด ครั้นได้ฟังพระพุทธสีหนาทบันลืออก ก็มีหฤทัยหวั่นไหวกลับกลอกสยบซบอยู่ มิอาจที่จะคิดต่อสู้ตอบโต้พระพุทธภาษิตได้ ก็หลบเร้นซุ่มซ๋อนอยู่ส่วนสาวกของสมเด็จพระบรมครูเจ้านั้น ครั้นได้ฟังเสียงบันลือพระพุทธสีหนาท ก็บังเกิดประสาทะเสื่อมใสพยายามปฏิบัติตามไป ก็ได้ได้บรรลุวิมุติธรรมนำตนออกจากทุกข์ได้เป็นอันมาก สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าแห่งเราทั้งหลายนั้น ครั้นพระองค์บันลือพระพุทธสีหนาท คือประกาศพระสัทธรรมเทศนาไว้ในโลกเช่นนี้แล้ว ก็เสด็จดับขันธ์ปรินิพพานล่วงไป

ฝ่ายบัณฑิตชนคนมีปัญญาทั้งหลาย ซึ่งเกิดในสมัยต่อมาครั้นได้ยินพระพุทธสีหนาท คือพระโอวาทานุสาสนีอันประกาศสัจธรรมขององค์สมเด็จพระสัมพุทธเจ้า ซึ่งมีผู้ป่าวประกาศสืบกันมาก้องโลกอยู่ ใคร่จะรู้รสอมตธรรม ก็พยายามปฏิบัติตามพระโอวาทานุสาสนีด้วยดวงฤดีเลื่อมใสศรัทธาเชื่อมั่น ครั้นได้ดื่มอมตรสสมดังพระพุทธพจน์ที่ทรงประกาศไว้ ก็ให้ตะลึงงันอัศจรรย์ใจในพระสัพพุญญุตญาณ อุทานออกมาว่า "โอ้...พระพุทธสีหนาท คือสัจธรรมอันล้ำลึกกัน ใครผู้ใดเล่าหนาที่จักมีปัญญาประกาศไว้ได้ นอกจาองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้ทรงไว้ซึ่งพระสัพพัญญุตญาณแล้วไซร้เป็นอัน ไม่มี สมเด็จพระชินสีห์สัมมาสัมพุทธเจ้าอุบัติในโลกจริงเป็นแม่นมั่นแล้วหนอ"

ฝ่ายผู้ที่มีบุญน้อยด้อยวาสนาและมีปัญญาโฉดเขลาเต็มไปด้วยทิฐิมานะ แม้พระพุทธสีหนาทคือพระสัจธรรมคำสั่งสอนอขงสมเด็จพระชินวรพุทธเจ้า ยิ่งกึก้องคฤโฆษอยู่เช่นนี้แล้วก็เป็นผู้มีทิฐิวิบัติ คือถูกทิฐิอันร้ายกาจมาปิดโสตประสาทของตนเสีย กลายเป็นคนหูหนวกไม่สามารถที่จะรับฟังพระสัทธรรมได้ เมื่อไม่ได้ฟังพระธรรมเทศนา การปฏิบัติตามเพื่อดื่มรสอมตธรรมจักมีแต่ที่ไหน เมื่อตนไม่ได้ดื่มรสอมตธรรม ก็เลยไม่รู้ฤทธิ์แห่งพระสัพพัญญุตญาณว่าแสนลึกล้ำมหัศจรรย์พิสดารเพียงใด อย่างนี้ก็ต้องมีความสงสัยอยู่ร่ำไปว่า พระพุทธเจ้าปรากฎขึ้นแล้วจริงฤา?

รอยพระบาท

ยังมีพญาคชสารตัวหนึ่ง ซึ่งประเสริฐกว่าช้างทั้งหลายมีกายสูงได้ ๗ ศอก ยาวได้ ๙ ศอก มีหางยาว มีปลายเล็บขาว เป็นช้างมีสีขาวดุจสีหมอก มีกายเต็มดุจบ่ออันมิได้พร่อง มีอายตนะบริสุทธิ์ไพบูลย์ แลดูดุจจอมคีรีที่มีไม้หนุ่มๆ ขึ้นสูงสล้างต่างชนิด คชสารนั่นวิจิตรงดงามเพราะมีเครื่องประดับผูกสอดกาย เป็นเจ้าแห่งฝูงช้างทั้งหลายที่มีอยู่ในธรณี เพราะมีสรีรกายใหญ่โต มีงาอันโอฬารงอนงาม สิริวิลาสดังงอนไถ มีกำลังอาจจะกำจัดเสียได้ซึ่งปัจจมิตร มีฤทธิ์ห้าวหาญมากเชี่ยวชาญในการที่จะโจนเที่ยวไปในทิศต่างๆ พญาช้างนั้นยังหนุ่ม มีกำลังมากมายยิ่งนักหนา ละเสียซึ่งที่อยู่แห่งอาตมาเที่ยวไปในไพรสณฑ์ประเทศเพื่อแสวงหาอาหาร กินหญ้าใบไม้และถอนขึ้นมาทั้งรากด้วยบาทา โน้มน้าวด้วยงวง ยังแมกไม้ทั้งปวงเช่นกอไผ่ อ้อย เถาวัลย์ และพันธุ์พฤกษาอื่นๆ ให้พินาศย่อยยับไปไม่มีชิ้นดีในที่ทั้งสองข้างทางสัญจรเที่ยวไปมาตามสถาน ห้วยธารละหารเขาลำเนาไพร มีรอยบาทาปรากฎที่ธรณีอ่อนๆ ครั้งนั้น หนุ่มมนุษย์นิกรสัญจรเที่ยวไป เมื่อได้เห็นรอยพญาคชสารตัวประมาณ วิจิตรไปด้วยบุญลักษณ์อันต้องด้วยแบบอย่าง เพียงแต่ได้เห็นรอยบาทาพญาคเชนทรประเสริฐนั่นแล้ว ผู้ที่มีปัญญารอบรู้ในลักษณะคชชาติ มาตรว่าไม่เห็นตัวจริงของพญาคชสาร ก็อาจอนุมานเอาด้วยปัญญาแล้วบอกแก่กันได้ว่า "ดูกรชาวเราเอ๋ย พญาช้างใหญ่ในป่านี้เห็นทีจะมีอยู่เป็นมั่นคง มีรอยบาทาปรากฎเป็นพยานนี่อย่างไรเล่า" อุปมาที่ยกเอามานี่ฉันใด
หัวข้อ: Re: มุนีนารถทีปนี การตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า โดย พระพรหมโมลี วิลาศ ญาณวโร
เริ่มหัวข้อโดย: Wisdom ที่ กุมภาพันธ์ 21, 2012, 12:23:21 PM
สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถศาสดาจารย์เจ้าแห่งเราท่านทั้งหลาย พระองค์ก็ทรงประเสริฐเหมือนพญาคชสารนั้นโดยวิเศษ ด้วยเหตุว่ารอยพระพุทธบาทมีลักษณะวิลาส เป็นมงคล ๑๐๘ ประการ ทรงประดิษฐานไว้เป็นหลักฐาน แต่ประการที่สำคัญนั้นก็คือว่า พระพุทธเจ้าแห่งเราทั้งหลาย ทรงความประเสริฐต่างๆ ไม่ว่าจะเปรียบด้วยสิ่งไร มองในแง่ไหน ก็ประเสริฐไปเสียทั้งนั้น ถ้าจะเปรียบว่าทรงเป็นเหมือนกุญชร ฉัททันต์ พระองค์ก็ประเสริฐกว่า ถ้าจะว่าเป็นพญาไกรสีหราช พระองค์ก็ทรงองอาจประเสริฐกว่า หรือจะว่าข้างบุคคลที่ทรมานอินทรีย์ พระองค์ก็ทรงเป็นบุคคลที่ทรมานอินทรีย์ยอดเยี่ยมประเสริฐกว่าว่าข้างบุคคล ผู้ระงับบาปอกุศล พระองค์ก็ทรงเป็นผู้ระงับบาปอกุศลยอดเยี่ยมกว่าคนอื่น คือประเสริฐกว่าจะว่าข้างบุคคลผู้ประกบด้วยอธิษฐาน หรือมีญาณมีเพียรอุตสาหะ มีปัญญา มีฤทธานุภาพรุ่งเรือง มีฌาน มีวสีภาพชำนาญดี มียศ มีเดช มีวิมุติ สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้น ย่อมทรงประเสริฐกว่าทั้งนั้น อนึ่ง เมื่อจินตนาการถึงความเป็นอย่างประเสริฐในไตรโลก ไม่ว่าจะเป็นสงฆ์ เป็นโยคี เป็นฤาษี เป็นครู เป็นนักปราชญ์ เป็นพระยา เป็นราชาธิบดี เป็นเจ้าจอมปฐพี จักรพรรดิราช เป็นเทวดา เป็นท้าวสักกะ เป็นพระพรหมผู้วิเศษ ประกอบด้วยสรรพธรรมสรรพคุณเป็นที่พึ่งอาศัย และให้สำเร็จความปรารถนาแก่สรรพสัตว์ทั้งหลายได้ สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถเจ้า ย่อมทรงเป็นได้อย่างประเสริฐโดยประการทั้งปวงไม่ต้องสงสัย ด้วยว่า พระองค์ทรงเป็นพระบวรดนัย แห่งบรมกษัตริย์โดยพระชาติ แต่แล้วก็ทรงมาละเสียซึ่งกรุงแก้วกบิลพัสดุ์ ซึ่งเป็นเมืองกษัตริย์เลิศด้วยวงศ์มหาสมมติ ละเสียซึ่งพระราชบุตรที่เพิ่งจะประสูติในวันนั้น กับสมบัติอันประกอบด้วยสัตตรัตนะทั้งเศวตฉัตร พระองค์ก็ตัดไม่อาลัยใยดี เสด็จหนีออกสู่มหาภิเนษกรมณ์อยู่ในไพรสณฑ์สงัด แสวงหาซึ่งวิชาญาณอันประเสริฐอยู่แทบว่าพระชนม์ชีพจะวางวาย ครั้งสุดท้ายเมื่อพระองค์จะกำจัดเสียซึ่งละอองธุลี กล่าวคือ กิเลสราคะ และจะทรงพรากเสียซึ่งโมหะ มานะ วิจิกิจฉา คือความมัวเมากระด้างและสงสัย อันติตามมานานนักหนา จะทรงถอนเสียซึ่งเถาวลดา คือทิฐิอันร้ายกาจลามกสามานย์ จะทรงทำลายเสียซึ่งเครือวัลย์ กล่าวคือความยินดีในสิ่งที่ชอบใจทั้งปวง จะตัดเสียซึ่งโลภะกับทั้งโทสะทั้งหลาย จะห้ามเสียซึ่งความเวียนว่าย อยู่ในกระแสตัณหา และจะทรงตัดเสียซึ่งวิตก จะปิดเสียงซึ่งมรรคาอันลามกเป็นมิจฉา จะทรงเปิดออกซึ่งมรรคาหนทางแห่งอมตมหานิพพาน ครั้งนั้น พระอังคีรสราชบุรุษ หน่อพุทธางกูรพระองค์จึงเสด็จคมนาการ โดยมรรคาอันเป็นสัมมาปฏิบัติคือพระอัฏฐางคิกมรรค ก็ทรงบรรลุถึงธรรมนคร สำเร็จแก่สรรเพชญดาญาณทรงได้รับการขนานพระนามเป็น สมเด็จพระศรีศากยมุนี โคดมบรมไตรโลกนาถศาสดาจารย์ ครั้นแล้วพระองค์จึงทรงประดิษฐานไว้ ซึ่งพระโพชฌงควรพุทธบาทอันประเสริฐ ๗ ประการคือ
๑. สติโพชฌงควรพุทธบาท
๒. ธรรมวิจยโพชฌงควรพุทธบาท
๓. วิริยโพชฌงควรพุทธบาท
๔. ปิติโพชฌงควรพุทธบาท
๕. ปัสสัทธิโพชฌงควรพุทธบาท
๖. สมาธิโพชฌงควรพุทธบาท
๗. อุเบกขาโพชฌงควรพุทธบาท

อันว่าโพ ชฌงควรพุทธบาท แห่งองค์สมเด็จพระบรมศาสดาจารย์เจ้าทั้ง ๗ ประการนั้น มีพรรณแลลักษณะอันวิจิตรโสภา เป็นรอยพระพุทธบาทที่ควรจะทอดทัศนา ควรจะยินดี ควรจะเสวยเชยชม ควรจะภิรมย์ปรีดา เป็นสิ่งที่นำมาซึ่งความเกษมสวัสดี เป็นสิ่งที่กระทำให้ไม่มีภัย นำมาซึ่งความสบายอกสบายใจ กระทำมิให้เกิดความเสียหายตกใจ กระทำให้เกิดปรีดา ปราโมทย์ กระทำให้มีอารมณ์แน่วแน่เป็นหนึ่ง เป็นสิ่งที่ควรจะจำเรญ และควรจะจำเริญด้วยดียิ่งนัก ด้วยว่าจะเป็นเหตุให้ความสุข ให้ความเย็น ให้ยศ ให้กำลัง ให้มีสีสันพรรณงามให้มีโภคสมบัติ ให้สำเร็จความใคร่ที่ต้องการ ให้สำเร็จความปรารถนาที่ตั้งไว้ รวมความว่าสามารถจะให้สมบัติทั้งปวงแก่บุคคลผู้บำเพ็ญทุกประการ

อนึ่ง อันว่ารอยพระวรพุทธบาทแห่งองค์สมเด็จพระสัพพัญญูผู้ประเสริฐนั้น ย่อมทรงไว้ซึ่งความอัศจรรย์ครอบงำเสียได้ซึ่งรอยเท้าอันประเสริฐบรรดามี ไม่ว่าจะเป็นรอยเท้าพญาไกรสรสีหราชก็ดี หรือรอยเท้าพญาคชาชาติ รอยเท้าม้าอาชาไนย รอยเท้าโคอสุภราช รอยเท้ายักษ์ รอยเท้าเจ้าลัทธิ เดียรถีร์ รอยเท้าศาสดาครูสอน รอยเท้าผู้มีเวทย์ รอยเท้าเทพยดา รอยเท้าพระพรหมผู้วิเศษ รอยเท้าผู้สงบระงับแล้ว รอยเท้าฤษี รอยเท้ามุนี รอยเท้าผู้ชำนะ รอยเท้าผู้ประเสริฐและรอยเท้าแห่งท่านที่จัดว่าเป็นผู้อุดมผู้เลิศก็ดี รอยเท้าเหล่านี้ย่อมเป็นรอง กล่าวคือย่อมถูกรอยพระพุทธบาทครอบงำทั้งสิ้น เพราะว่าพระบาทแห่งองค์สมเด็จพระชินสีห์สัมมาสัมพุทธเจ้านี้ เป็นรอยเท้าประเสริฐโดยวิเศษกว่ารอยเท้าทั้งปวง เป็นรอยเท้าที่ถึงซึ่งวิมุติความหลุดพ้นอย่างสิ้นเชิง เป็นรอยเท้าที่บรรลุผลสูงสุดคือพระอรหัตอันทรงไว้ซึ่งพระอรหาทิคุณ และรอยพระบาทสมเด็จพระบรมโลกนาถศาสดาเจ้าของเราทั้งหลายนี้ ย่อมเป็นที่แสดงรอยพระบาทแห่งสมเด็จพระบรมโลกนาถสัมมาสัมพุทธเจ้า พระองค์ผู้ทรงมีรอยพระวรพุทธบาทเป็นมหัศจรรย์ดั่งพรรณนามา ครั้นทรงประดิษฐานพระโพชฌงควรพุทธบาทอันประเสริฐสุดเสร็จสิ้นแล้ว ก็เสด็จดับขันธ์นิพพานล่วงไป

ฝ่ายบัณฑิตชนคนมีปัญญาทั้งหลาย ซึ่งเกิดในสมัยหลังต่อมา ครั้นได้พบรอยพระพุทธบาท คือพระสัตตโพชฌงค์นั้นแล้ว ก็มีใจผ่องแผ้วปราโมทย์ไปด้วยความเลื่อมใส รีบดำเนินตามรอยพระบาทไปไม่ชักช้าด้วยการปฏิบัติตามพระโอวาทานุสาสนี เมื่อมีการปฏิบัติชอบ ปฏิเวธ ความบรรลุคุณวิเศษอันเป็นผลของการปฏิบัติก็ย่อมจะปรากฎติดตามมา คราที่นั้นคนปฏิบัติดำเนินตามรอยพระบาททั้งหลายย่อมจะเกิดความอัศจรรย์ใจ ในวิสัยแห่งพระสัพพัญญุตญาณว่า
โอ้... รอยพระบาทคือพระสัทธรรมอันสำแดงหนทางพ้นทุกข์ ถึงซึ่งความเกษมสานต์คือพระนิพพานนี้ ใครเล่าหนาที่จักมีปํญญาสำแดงไว้ได้ ในไตรภพจบทั้งสามโลกนี้เป็นไม่มี จักมีได้ก็แต่วิสัยแห่งพระสัพพัญญูตญาณเท่านั้น สมเด็จพระภควันตบรมโลกนาถศาสดาจารย์เจ้า พระองค์ผู้ทรงไว้ซึ่งพระสัพพัญญุติญาณอันประเสริฐ ได้ทรงอุบัติเกิดในโลกนี้จริงแล้วหนอ
ฝ่ายผู้ที่มี ปัญญาโฉดเขลา มัวเมาไปตามโลกธรรม ไม่นำพาต่อคำบัณฑิต ไม่คิดที่จะนำตนห้พ้นจากทุกข์ภัยในวัฏสงสาร เพราะเป็นพาลสันดานโง่แลหยิ่งนักหนา ไม่เห็นคุณค่าแห่งพระพุทธพจน์ มีพยศอันร้ายกาจคือทิฐิประจำอยู่ในดวงจิต ทั้งๆ ที่บัณฑิตชนทั้งหลายมีใจกรุณาชี้บอกให้รู้ว่า "พระโอวาทานุสาสนีของพระผู้มีพระภาคเจ้า ซึ่งเสด็จดับขันธ์ปรินิพพานไปแล้วนั้น ยังมีปรากฎ อยู่เปรียบเสมือนรอยพระบาทสำแดงหนทางให้ลุถึงความสุขเกษมสานต์สวัสดีแก่ผู้ ที่มีศรัทธาปฏิบัติตามไม่ควรจะมีความประมาทในวัยและชีวิตอันเป็นอนิจจัง จงเชื่อฟังและเร่งรีบปฏิบัติตามเพื่อความสุขสวัสดีของตนเถิด" ก็เกิดคลุ้มคลั่งคัดค้านเอาตามสันดานพาล สุดแต่ทิฐิอันโง่ๆ ของตนจะบันดาลให้คิดไปต่างๆ ล้วนแต่อ้างเหตุที่ตนจะไม่ปฏิบัติตามทั้งสิ้น เช่นว่า "พระพุทธศาสนาเป็นนิยยานิกธรรมนำออกจากทุกข์ได้จริงหรือ? พระนิพพานและมรรคผลอันเป็นคุณวิเศษทางพระพุทธศาสนามีจริงหรือ? พระนิพพานเป็นสุขจริงหรือ? ก็แล้วสุขที่เราได้เสวยอยู่ในนี้มิใช่สุขดอกหรือ? ทุกวันนี้ยังมีบุคคลได้รู้รสพระนิพพานจริงหรือ? ตัวเรานับถือพระพุทธศาสนามานาน ก็ไม่เห็นได้รู้รสพระนิพพานเลย พระนิพพานที่จะปฏิบัติตาม เมื่อการปฏิบัติดำเนินตามไม่มี ปฏิเวธ ความลุถึงคุณวิเศษอันเป็นผลของการปฏิบัติดำเนินตามไม่มี ปฏิเวธความลุถึงคุณวิเศษอันเป็นผลของการปฏิบัติจักมีแต่ที่ไหน ผู้ตาบอดตาใสทำเป็นไม่เห็นรอยพระบาทเหล่านี้ จึงไม่มีโอกาสได้พบอมตรธรรมอันล้ำลึกขององค์สมเด็จพระสัพพัญญูเจ้าหนักเข้า ก็เลยลามปามสงสัยไปจนถึงว่า พระพุทธเจ้ามีจริงฤา?

อุปมา ที่พรรณนามานี้ เป็นอุปมากถาที่กล่าวไว้เพื่อจักแสดงให้เห็นว่า องค์สมเด็จพระบรมศาสดาจารย์เจ้าแห่งเราท่านทั้งหลายนั้น ทรงอุบัติขึ้นแล้วในโลกอย่างเที่ยงแท้มิต้องกังขากันอีกต่อไป และเมื่อพระองค์ได้ทรงอุบัติขึ้นแล้ว ก็ทรงบำเพ็ญพระพุทธกิจประดิษฐานพระบวรศาสนา ยังประชาสัตว์ให้ดื่มรสอมตธรรม พระพุทธเจ้าจริยาอย่างนี้ ย่อมเข้าถึงภาวะเป็นอนัตพุทธคุณอย่างจริงแท้ไม่ต้องสงสัย

พรรณนาในพระอนันตพุทธคุณ สมควรที่จะยุติลงได้แล้ว จึงขอยุติลงด้วยประการฉะนี้.

อวสานบท

เมื่อได้ติดตามศึกษาเรื่องมุนีนาถทีปนีมา ตั้งแต่ต้นจนกระทั่งถึงบัดนี้ ท่านผู้มีปัญญาก็คงจะเห็นแล้วว่า การที่สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจักเสด็จมาอุบัติตรัสในโลกเรานี้สักพระองค์ หนึ่งนั้น เป็นการยากนักหนาและพอพระองค์เสด็จมาอุบัติแล้วก็ย่อมทรงไว้ซึ่งพระคุณเป็น อนันต์ สุดจะนับจะประมาณได้จริงหรือไม่ เพราะสมเด็จพระผู้มีพระภาคนั้น พระองค์ทรงไว้ซึ่งพระคุณธรรมเป็นพิเศษ โดยทรงเทศนาโปรดสัตว์โลกทั้งหลาย ให้พ้นจากภัยอันร้ายกาจในวัฏสงสาร ทรงประทานอมตธรรม คือพระนิพพานสมบัติอันเกษมสานต์ปราศจากทุกข์โดยประการทั้งปวงแก่ชาวโลกทั้ง หลาย สมแล้วกับพระนามาภิไธยที่ว่า สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ องค์พระศาสดาจารย์เจ้าจอมมุนี ผู้ทรงเป็นที่พึ่งแห่งสัตว์ทั้งหลายในไตรโลก

ปัจจุบันนี้ เราท่านทั้งหลายนับได้ว่าเป็นผู้มีโชคอย่างที่สุด เพราะบังเอิญเกิดมาได้พบพระบวรพุทธศาสนา แห่งองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเข้าโดยไม่คาดฝัน ใช่แต่เท่านั้นยังประกอบด้วยสัมมาทิฐิมีความเห็นอันถูกต้อง ประกอบรองรับเอาพระพุทธศาสนาไว้เหนือเศียรเกล้า ยึดเอาเป็นที่พึ่งของตนได้นามว่าเป็นพุทธศาสนิกชนคนนับถือพระพุทธศาสนาจึง เป็นอันว่าพ้นจากความวิบัติอย่างใหญ่หลวง ๖ ประการ ตามที่กล่าวมาในตอนต้นโน้นแล้ว ยังจำได้ใช่ไหมเล่า

เมื่อเราเกิดมาเป็นผู้โชคดีมหาศาลในชาตินี้แล้ว การที่จะนิ่งนอนใจตกอยู่ในความประมาท ปล่อยให้โอกาสแห่งโชคลาภนี้ ผ่านเราไปเสียเฉยๆ ย่อมเป็นการไม่สมควรยิ่งนัก ทางที่ดีควรจักเร่งรีบกอบโกยเอาสาระสมบัติอันมีอยู่ในพระบวรพุทธศาสนา รีบคว้ารีบยึดเอามาเป็นสมบัติแห่งตัวเราให้จงได้


ก็สมบัติในพระบวรพุทธศาสนามีอยู่มากมายนักหนาเหลือที่จะพรรณนาให้สิ้นสุดลง ได้ แต่สมบัติหนึ่งนั้น นับว่าเป็นสมบัติสำคัญยอดเยี่ยม เพราะเป็นสมบัติประเสริฐเลิศล้ำ สำคัญสูงสุดในพระพุทธศาสนา สมบัติที่ว่านี้ก็คือ พระนิพพานสมบัติ ฉะนั้นเราท่านทั้งหลายก่อนที่จะตาย ควรที่จะตื่นตัวเร่งรีบแสวงหาพระนิพพานสมบัติกันเถิด
ฮึ!...ทำไมถึงได้มีน้ำใจอหังการ์ ออกปากว่าจะเอาพระนิพพานสมบัติอันสูงสุดถึงเพียงนี้เล่า จะมิเป็นการบังอาจเอื้อมเกินไปฤา?
ใน กรณีนี้ไม่เป็นการบังอาจดอก หากยังไม่เข้าใจจะว่าให้ฟัง คือการที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแห่งเราท่านทั้งหลาย พระองค์ทรงพระอุตสาหะพยายามเฝ้าสร้างสมอบรมพระบารมีมาอย่างแสนจะยากเย็น เป็นเวลานานนักหนาจนกระทั่งได้ตรัสแก่พระปรมาภิเษกสัมโพธิญาณ สำเร็จเป็นพระบรมศาสดาจารย์สัพพัญญูเจ้านั้น พระพุทธองค์ท่านทรงมีพระประสงค์อะไร? มิใช่ทรงมุ่งหมายเพื่อจะรื้อสัตว์ขนสัตว์ให้ไปนิพพาน คือทรงปรารถนาเพื่อจะให้สัตว์ทั้งหลายไปพระนิพพานสมบัติด้วยกันดอกหรือ ก็แล้วทีนี้เราท่านทั้งหลายก็คือสาวกขององค์ท่าน หากตั้งมนัสมั่นมุ่งหมายพระนิพพานสมบัติที่พระองค์ทรงประทานไว้ มันจะเป็นการบังคับอาจเอื้อมไปได้อย่างไรโดยที่แท้เป็นการกระทำที่ถูกพระ พุทธประสงค์ที่แท้จริงน่ะไม่ว่า

จำเป็นอย่างไร ที่เราท่านทั้งหลายผู้เป็นสาวกขององค์สมเด็จพระสัมพุทธเจ้าควรจะปรารถนาเอา พระนิพพานสมบัติ? ก็เพราะว่า บรรดาสมบัติอื่นใดในโลกนี้และโลกหน้า เอาเป็นว่าสมบัติทั้งหมดในจักรวาลนี้ก็แล้วกัน มันไม่เที่ยงแท้แน่นอนและเราอาจะปรารถนาเอาเมื่อใดโดยไม่ต้องพบต้องเจอพระ พุทธศาสนาเลยก็ได้ เช่นสวรรค์สมบัติ คือการไปอุบัติเกิดเป็นเทพบุตร เทพธิดา เสวยสุขสำราญอยู่ ณ สรวงสวรรค์เทวโลกนั้น กาลที่ว่างจากพุทธศาสนาคือเวลาที่ไม่มีสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เสด็จมาอุบัติตรัสในโลกนี้ ผู้ที่มีสันดานดี มีจิตใจเป็นบุญเป็นกุศลประกอบกรรมทำความดีอยู่เนืองนิตย์ เมื่อสิ้นชีวิตแล้วก็ไม่แคล้วที่จะได้ไปเกิดในเทวโลกครองสวรรค์สมบัติสมความ ปรารถนาโดยที่เขาเหล่านั้นไม่ได้มีโอกาสรู้จักพระพุทธศาสนาเลย เช่นนี้ ก็มีมาแล้วมากกว่ามากนักหนา แม้ถึงพระพรหมสมบัติ คือการไปอุบัติเกิดเป็นพระพรหมวิเศษเสวยสุขอันประณีตประเสริฐเลิศยิ่งกว่า เทวดาเป็นเวลานานแสนนานอยู่ ณ พรหมโลกอันโอฬาร ในกาลที่โลกเรายังว่างจากพระพุทธศาสนานั้น ผู้ที่สนใจในการเจริญภาวนาเป็นอันดีคือ เหล่าโยคี ฤาษี ดาบส ซึ่งบำเพ็ญพรตพรหมจรรย์จนได้สำเร็จฌานต่างๆ เมื่อถึงคราววางวายสิ้นชีวิตไปจากมนุษยโลกนี้แล้วก็ไม่แคล้วที่จะได้ไป อุบัติบนพรหมโลก ครองพรหมสมบัติตามอำนาจฌานที่ตนได้ โดยไม่ต้องพึ่งพาอาศัยพระพุทธศาสนา ไม่ต้องเป็นเวลาพุทธกาลก็ได้ เช่นนี้ก็มีเป็นธรรมดา ยิ่งสมบัติในภูมิอันเลวทรามต่ำช้า ที่สัตว์ทุกรูปทุกนามพากันจงเกลียดจงชัยนักหนา คือ นรกสมบัติ เปรตสมบัติ อสุรกายสมบัติและเดียรฉานสมบัติ ซึ่งมีอยู่ในอบายภูมิเหล่านี้ด้วย ยิ่งไม่ต้องพิถีพิถัน ไม่ต้องรอกาลรอเวลา ปรารถนาเมื่อใดเป็นได้เมื่อนั้น ขอแต่ว่าให้ขะมีขมันทำบาปทำกรรมเข้าให้จงมากเถิด เป็นครองแน่!
หัวข้อ: Re: มุนีนารถทีปนี การตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า โดย พระพรหมโมลี วิลาศ ญาณวโร
เริ่มหัวข้อโดย: Wisdom ที่ กุมภาพันธ์ 21, 2012, 12:23:58 PM
แต่ว่าสมบัติที่กล่าวมานี้ทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นสวรรค์สมบัติที่ปรารถนากันักก็ดี หรือว่าพรหมสมบัติที่จัดว่าประเสริฐก็ดี ล้วนเป็นเพียงโลกียสมบัติ คือเป็นขอที่ไม่เที่ยงแท้แน่นอนเสมอไป จะครองอยู่ได้ก็เพียงชั่วครั้งชั่วครา เฉพาะเวลาที่เรามีสิทธิจะครองได้อยู่เท่านั้น พอถึงกาลหมดบุญหรือหมดฌานแล้ว ก็เสื่อมสลายจะครอบครองอยู่ต่อไปไม่ได้ อันนี้เป็นกฎธรรมดา ถ้าปรารถนาอยากได้ก็ต้องแสงหาด้วยการสร้างกรรมกันใหม่ ได้ประสบสุขบ้างทุกข้างไปตามเรื่อง เป็นการสิ้นเปลืองเวลา พาให้เวียนว่ายตายเกิดอยู่ในวัฏสงสารนี้ไม่มีวันที่จะสิ้นสุดลงเลย แต่ว่าพระนิพพานสมบัตินี้สิ เป็นสมบัติอมตะมีสภาวะแสนสุขประณีตละเอียดยิ่งนัก จักหาสมบัติใดอื่นมาเทียมเทียบมิได้ในไตรโลก เป็นสิ่งสิ้นทุกข์สิ้นโศกไม่มีภัย เป็นวิสัยแห่งสัพพัญญุตญาณเท่านั้น ที่จะควานหานิพพานสมบัตินี่พบได้ ผู้วิเศษอื่นใดในสามภพเจบจบทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นมนุษย์ อินทร์ พรหม ยม ยักษ์ มาตรว่าจะทรงมเหศักดิ์เพียงใด เว้นไว้แต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้ทรงไว้ซึ่งพระสัพพัญญุตญาณแล้ว ก็อย่าหวังเลยว่า จะสามารถค้นหาพระนิพพานสมบัติเอามาบอกแก่ชาวเราได้ ฉะนั้น ต้องเข้าใจจงดีว่า พระนิพพานอันเป็นสมบัติแก้วนี้ จะมีอยู่ก็แต่เฉพาะในพระบวรพุทธศาสนา และในเวลาที่พระพุทธศาสนายังมีปรากฎอยู่ในโลกเช่นในปัจจุบันทุกวันนี้เท่า นั้น กาลใดว่างจากพระพุทธศาสนา คือพระพุทธศาสนาของเราเสื่อมสูญหมดไปจากโลกเมื่อไร พระนิพพานเป็นไม่มีอย่างแน่นอ ด้วยเหตุนี้ จึงควรอนุสรณ์นึกถึงนิพพานสมบัติให้มากๆ หากว่าไม่ต้องการเป็นอาภัพอับโชควาสนา...

นิพพานสมบัติ
เมื่อ จะพรรณนาถึงคุณแห่งพระนิพพานสมบัตินั้น ย่อมมีเป็นเอนกอนันต์ สุดที่จักเสกสรรกล่าวขานให้สิ้นสุดลงได้ จะกล่าวไว้โดยอุปมาอย่างย่นย่อดังต่อไปนี้

คุณแห่งปทุมชาติ

อันว่าปทุมชาติใบบัวทั้งหลายนั้น ก็ย่อมทรงไว้ซึ่งความสำคัญเป็นสัญลักษณ์พิเศษแห่งตนอยู่อย่างหนึ่ง คือว่า อุทกวารีถึงจะมีมากมายสักเพียงใดก็ตาม ที่จะได้แทรกซึมติดอยู่ในใบปทุมชาตินั้น ย่อมไม่ปรากฎมีเลยในโลก อุปมานี้ฉันใด อันว่าพระนิพพานนั้น ก็มีสภาวะเช่นเดียวกัน จะได้มีบรรดาสรรพกิเลสซึมซาบติดอยู่ แม้แต่สักนิดหนึ่งก็หามิได้ ปราศจากกิเลสร้ายโดยประการทั้งปวงในที่ทุกสถานในกาลทุกเมื่อ ผู้ที่เชื่อฟังพระโอวาทานุสาสนีแห่งองค์สมเด็จพระชินสีห์สัมมาสัมพุทธเจ้า เมื่อเฝ้าปฏิบัติย่อมมีโอกาสบรรลุธรรมวิเศษคือพระนิพพานอันเป็นสมบัติอม ตซึ่งมีสภาวคุณเห็นปานฉะนี้

คุณแห่งอุทกวารี

อันว่าอุทกวารีคือน้ำนั้น ย่อมทรงไว้ซึ่งความสำคัญเป็นสัญลักษณ์พิเศษคือความเย็น สามารถที่จะดับเสียได้ซึ่งความร้อนกระวนกระวายในโลกได้ อุปมานี้ฉันใด พระนิพพานนั้นไซร้ก็มีสภาวะเป็นของเย็นสามารถที่จะดับกิเลสร้าย อันทำความร้อนกระวนกระวายให้ปรากฎขึ้นในดวงหฤทัยของสัตว์ทั้งหลายเสียได้ ฉะนั้น

อีกประการหนึ่ง ธรรมดาอุทกวารีนั้น เป็นของบริสุทธิ์สะอาดสามารถจะล้างเสียซึ่งมลทินสกปรกได้ และเมื่อใครดื่มเข้าไปแล้ว ย่อมห้ามเสียซึ่งความกระหายน้ำได้รับความชุ่มฉ่ำในดวงฤดีฉันใด พระนิพพานนั้นก็มีสภาวะคล้ายๆ กันนี คือสามารถที่จะล้างเสียซึ่งมลทินกิเลสร้ายอันทำดวงใจสัตว์ทั้งหลายที่สกปรก ลามกให้เป็นดวงใจที่สะอาดบริสุทธิ์ และเมื่อพระวรบุตรพุทธชิโนรสผู้ใดได้ดื่มพระนิพพานนั้นเข้าไปแล้ว ย่อมห้ามเสียซึ่งความกระหายกล่าวคือ ความปรารถนาที่จะไปอยู่ในภพทั้ง ๓ คือ กามภพ รูปภพ อรูปภพ เสียได้อย่างแน่นอน มิต้องมีความอาลัยอาวรณ์ ในวัฏสงสารอันมีภัยร้ายกาจสืบไป

คุณแห่งยาดับพิษงู

อันว่ายาดับพิษงูโอสถขนานวิเศษที่หมองูผู้ขมังเวทย์ปรุงเอาไว้ ย่อมทรงไว้ซึ่งคุณลักษณะ คือ เมื่ออสรพิษร้ายขบกัดบุคคลใดเข้าแล้ว เขาย่อมได้รับทุกข์คือมีมรณภัยความตายเป็นเบื้องหน้า แต่เมื่อเอายาดับพิษงูกินเข้าไป พิษงูนั้นย่อมเสื่อมหาย เขาย่อมได้รับความสุขสบายไม่ต้องตาย เพราะได้โอสถวิเศษนี้เป็นที่พึ่ง อุปมาข้อนี้ฉันใด พระนิพพานนั้น ก็เปรียบเสมือนโอสถวิเศษ สำหรับดับพิษงู คือกิเลสร้ายอันซาบซ่านอยู่ในดวงใจของสัตว์ทั้งหลาย เป็นพิษร้ายทรมานให้ปวดร้าวอย่างแสนสาหัสอยู่ในวัฏสงสารไม่มีวันสิ้นสุด เม่อชินบุตรสาวกของพระพุทธเจ้าผู้ใด มีโอสถคือพระนิพพานเป็นที่ตั้ง ได้ดื่มเข้าไปแล้ว ย่อมระงับดับพิษคือกิเลสร้ายให้เคลื่อนคลายหายไปไม่มีเหลือ ได้รับความสุขาสบายและไม่มีวันที่จะถึงซึ่งความตายเป็นอมตนิรันดร์ เพราะว่าพระนิพพานนั้นย่อมรักษาบุคคลที่ได้พระนิพพานไว้มิให้ตาย ดุจยางูรักษาชีวิตของผู้ถูกงูขบกัดไว้ฉะนั้น

คุณแห่งจันทน์แดง

ธรรมดาจันทน์แดงรุกขชาติในโลกนี้ ย่อมมีคุณลักษณะวิเศษแตกต่างจากพฤกษชาติชนิดอื่น คือ เป็นของที่บุคคลหาได้เป็นอันยากนักหนา มิใช่เป็นของหาได้ง่ายๆ เหมือนไม้ธรรมดา อุปมานี้ฉันใด อันว่าพระนิพพานนั้นก็เช่นกัน กว่าสัตว์จะได้นั้นยากนัก ต้องมีใจรักมุ่งมาดปรารถนา ต้องอุตสาหะปฏิบัติตามพระบรมพุทโธาทไม่คำนึงถึงชีวิต และต้องปฏิบัติไม่ผิด จึงจะได้สมประสงค์...อนึ่ง จันทน์แดงนั้นย่อมมีกลิ่นหอมหาที่เปรียบมิได้ พระนิพพานนี้ ก็มีกลิ่นหอมหาที่จะเปรียบมิได้เช่นกัน อีกประการหนึ่ง จันทน์แดงนั้น ปวงชนต่างพากันยกย่องสรรเสริญว่าเป็นรุกขชาติชั้นสูงชั้นดี เป็นที่พอใจของเหล่าชน ผู้รู้สรรพคุณแห่งไม้ทั้งหลาย พระนิพพานนี้ก็เปรียบกันได้เหมือนเช่นนั้น เพราะเป็นคุณชาติอันปวงพระอริยเจ้าทั้งหลายต่างพากันยกย่องสรรเสริญว่าเป็น ธรรมชั้นสูง และประเสริฐสุด เป็นที่พอใจของเหล่าอริยชนมีพระพุทธเจ้าเป็นต้น ฉะนั้นชนผู้มีปัญญาเห็นภัยในวัฏสงสารจึงปรารถนาประสงค์ตรงต่อพระนิพพานกัน ถ้วนหน้า

คุณแห่งแก้วมณี

ธรรมดาแก้วมณีโชติรส อันปรากฎมีแก่ผู้มีบุญญาภินิหารนั้น ย่อมทรงไว้ซึ่งคุณลักษณะเป็นอัศจรรย์เพริศพริ้งบันดาลให้สำเร็จสิ่งที่ต้อง ประสงค์ทุกประการ และบันดาลให้เกิดความยินดีปลาบปลื้มในดวงหทัยอยู่มิวาย อุปมานี้ฉันใด อันว่าพระนิพพานนี้ก็เช่นเดียวกัน ย่อมบันดาลบุคคลผู้ได้นิพพาน ให้สำเร็จสิ่งที่ต้องประสงค์ทุกประการ และบันดาลให้เกิดความยินดี ชุ่มชื่นปลื้มใจรุ่งเรืองขึ้นไปไม่มีวันสิ้นสุดพระชินบุตรสาวกของพระผู้มี พระภาคเจ้า บรรดาที่เข้าสู่นิพพานแล้ว ย่อมเสวยสมบัติแก้วเป็นอมตะ ไม่รู้ที่จะเดือดร้อน โดยประการทั้งปวงฉะนั้น ชนผู้มีปัญญาจึงปรารถนายึดหน่วงเอาพระนิพพานมาเป็นสมบัติของตน

คุณแห่งมหาสมุทร

ธรรมดามหาสมุทรที่จัดว่าบริสุทธิ์ใสสะอาดนั้น จะเห็นได้จากสัญลักษณ์ที่สำคัญ คือ ไม่มีซากศพอันลามกสกปรกล่องลอยอยู่เลย เป็นมหาสมุทรที่บริสุทธิ์ด้วยประการทั้งปวง อุปมานี้ฉันใด พระนิพพานนั้นก็เปรียบได้กับมหาสมุทรที่บริสุทธิ์สะอาด เพราะพระนิพพานเป็นจุณชาติผ่องใสบริสุทธิ์ ไม่มีซากศพคือกิเลสร้ายต่างๆ ล่องลอยปะปนอยู่เลย อนึ่ง ธรรมดาว่ามหาสมุทร ย่อมสุดแสนจะใหญ่กว้างนักหนา พึงมาตรว่าคงคาสี่ห้าห้วง จะไหลล่วงลงมาสักเท่าใดๆ ก็ไม่เต็ม มีฝั่งฟากพ้นมิได้เห็นปรากฎแก่นัยน์ตา ข้อนี้มีครุวนาฉันใด พระนิพพานนี้ก็เหมือนกัน ย่อมเป็นคุณชาติอันสุดแสนจะกว้างใหญ่ยิ่งนัก จักได้มีฝั่งจากโพ้นให้เห็นปรากฎนั้นหามิได้ ถึงฝูงสัตว์จะพากันไปอยู่ในพระนิพพานศิวาลัยประมาณสักเท่าใดก็ตามทีที่จะได้ รู้เต็ม รู้หมดนั้นเป็นอันไม่มี อย่าได้เกรงเลย เกรงอยู่อย่างเดียวก็แต่ว่า ประชาสัตว์จะพากันไปมิถึง พระนิพพานอันกว้างใหญ่ที่ว่ามานี้เท่านั้น... อีกประการหนึ่งอันว่ามหาสมุทรอันกว้างใหญ่นี้ ใช่ว่าจะเป็นภูมิสถานที่อันว่างเปล่าก็หามิได้ โดยที่แท้ เป็นอาวาสที่อาศัยอยู่แห่งหมู่สัตว์ทั้งหลายเป็นอันมากฉันใด อันว่าพระนิพพานนี้ก็คล้ายกัน คือ เป็นที่อยู่อย่างสุขสำราญแห่งพระขีณาสพเจ้าทั้งหลายผู้ทรงพระคุณอันประเสริฐ ล้ำเลิศยิ่งกว่าปุถุชนคนธรรมดา เพราะว่าเป็นผู้หากิเลสตัณหามิได้ เป็นผู้บริสุทธิ์ผุดผ่องไม่มีใครจะเทียมถึง... อีกประการหนึ่ง อันว่ามหาสมุทรอันกว้างใหญ่นี้ย่อมเจือจานไปด้วยบุปผาสุมาลีลาดอกไม้ ชวนให้รื่นรมย์แก่บุคคลผู้ดมดอม มีกลิ่นหอมบริสุทธิ์สุดคณนา อุปมานี่ฉันใด อันว่าพระนิพพานนี้ก็เหมือนกันย่อมเจือจานด้วยดอกไม้เสาวคนชาติหอมบริสุทธิ์ กล่าวคือพระวิมุติธรรมอันไพบูลย์บริสุทธิ์ ทรงไว้ซึ่งพระบวรคุณมากมายสุดประมาณ ซึ่งคนพาลโง่งมงายไม่มีโอกาสรู้จัก แต่นักปราชญ์ผู้เป็นพุทธบุตรทั้งหลาย ต่างก็มีใจมุ่งหมายปรารถนากันนัก
หัวข้อ: Re: มุนีนารถทีปนี การตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า โดย พระพรหมโมลี วิลาศ ญาณวโร
เริ่มหัวข้อโดย: Wisdom ที่ กุมภาพันธ์ 21, 2012, 12:24:47 PM
คุณแห่งโภชนาหาร

ธรรมดาว่าโภชนาหาร อันสัตว์โลกทั้งหลายต้องบริโภคเข้าไปทุกวันนี้ หากเป็นอาหารดีไม่มีโทษแล้ว ย่อมอำนวยประโยชน์โสตถิผลตามคุณลักษณะ ๕ ประการ คือ
๑. เลี้ยงไว้ซึ่งอายุสัตว์ให้วัฒนาการจำเริญยิ่งๆ ขึ้นไป

๒. เพิ่มกำลังแรงแห่งสัตว์ทั้งหลายให้จำเริญยิ่งๆ ขึ้นไป

๓. ให้เกิดมีผิวพรรณผ่องใสไม่ให้อับเศร้าหมองศรีคือผมตายซาก

๔. ดับเสียซึ่งความอยาก ความกระวนกระวายไม่มีความสบายอยู่ไม่เป็นสุข

๕. บรรเทาทุกข์อันเกิดจากความหิวโหยโรยแรง เพราะอดข้าวอดน้ำแห่งสัตว์ทั้งหลาย อุปมาที่ว่ามานี้ ฉันใด
อันว่าพระนิพพานนี้ ก็มีสภาพคล้ายกันนี้ เพราะมีคุณลักษณะอันประเสริฐสุดเทียบเคียงกันได้ ๕ ประการ คือ
๑.พระนิพพาน ย่อมเลี้ยงสัตว์ทรงสัตว์ผู้ได้พระนิพพานไว้ มิให้ฉิบหายด้วยชราและมรณะ คือไม่ให้แก่ไม่ให้าย

๒. พระนิพพาน ย่อมเพิ่มกำลังแรง ทำสัตว์ผู้ได้พระนิพพานให้เป็นคนจำเริญฤทธิ์มีอิทธิพลโดยอุดม แม้แต่พญามัจจุราชเจ้าแห่งความตายก็ต้องเกรงกลัว จะมาทำอันตรายมิได้

๓. พระนิพพาน ย่อมบันดาลให้สัตว์ผู้ได้บรรลุนั้นเป็นบุคคลมีผิวพรรณผุดผ่องสวยงาม เป็นหนึ่งไม่มีสองสุดประเสริฐ เพราะผู้ได้พระนิพพานนั้น ย่อมเพริศพริ้งไปด้วยศีลอันงามสุดประเสริฐ

๔. พระนิพพาน ย่อมบันดาลให้สัตว์ทั้งหลายเป็นสุข ระงับดับเสียซึ่งความกระวนกระวาย เพราะอำนาจแห่งกิเลสทั้งหลายชักพาไปให้เดือดร้อนกระวนกระวาย เช่นที่เห็นๆ กันอยู่นี่

๕. พระนิพพาน ย่อมบันดาลให้สัตว์ทั้งหลายหมดความทุกข์ บันเทาเสียซึ่งความอยากหิวโหย กล่าวคือ กองทุกข์ทั้งหลายอันสุมทับสามัญสัตว์ ให้ปริวัฏเวียนว่ายตายเกิดอยู่ในวัฏสงสารไม่มีวันสิ้นสุด
พุทธ บุตรผู้มีปัญญา เมื่อมองเห็นคุณค่าแห่งพระนิพพานอันมีคุณลักษณ์สิริรวมเป็น ๕ ประการนี้ จึงมีจิตยินดีปรารถนาพระนิพพานยิ่งกว่าสิ่งอื่นประการใดทั้งหมด

คุณแห่งยอดบรรพตคีรี
ธรรมดาว่าบรรพตคีรี อันปรากฎมีในโลกนี้ เฉพาะตรงที่ยอดแห่งภูเขาคีรีนั้น ย่อมทรงไว้ซึ่งคุณลักษณะสำคัญเป็น ๕ ประการ คือ

๑. ยอดคีรีนั้น ย่อมปรากฎเป็นส่วนสูงที่สุดแห่งส่วนคีรีนั้นทั้งหมด

๒. ยอดคีรีนั้น ย่อมจะหาพืชต่างๆ งอกขึ้นมิได้เลย

๓. ยอดคีรีนั้น ย่อมไม่มีความหวั่นไหว โดยประการใดทั้งปวง

๔. ยอดคีรีนั้น ย่อมเป็นสถานที่อันบุคคลจะขึ้นไปได้โดยยากนักหนา

๕. ยอดคีรีนั้น ย่อมปราศจากความรักความชังทั้งสิ้น เพราะเป็นภูมิสถานที่ไม่มีวิญญาณชีวิตจิตใจ อุปมาที่ยกมานี่ฉันใด

อันว่าพระนิพพานนี้ ก็มีสภาพคล้ายกันกับยอดบรรพตคีรีที่ว่านั้น เพราะทรงไว้ซึ่งคุณลักษณะสำคัญ ๕ ประการ คือ

๑. พระนิพพาน ย่อมเป็นธรรมสูงสุดในพระพุทธศาสนา บรรดาธรรมะอันเป็นพระโอวาทานุสาสนีแห่งองค์สมเด็จพระชินสีห์สัมมาสัมพุทธ เจ้าทั้งหมด ย่อมมีพระนิพพานปรากฎเป็นยอดสูงเด่น

๒. พระนิพพาน ย่อมเป็นธรรมสถานที่เตียนโล่งปลอดโปร่ง ปราศจากพืชที่รกรุงรัง คือกิเลสตัณหาทั้งหลาย หมายความว่ากิเลสตัณหาจะงอกขึ้นในพระนิพพานไม่ได้เด็ดขาด

๓. พระนิพพาน ย่อมไม่มีความหวั่นไหว ท่านผู้ได้นิพพานสมบัติ ย่อมปราศจากความหวั่นไหวในโลกธรรมทุกชนิด มีจิตคงที่ มั่นคงไม่คลอนแคลนโดยประการทั้งปวง

๔. พระนิพพาน ย่อมเป็นธรรมสถานอันบุคคลจะขึ้นไปถึงได้นั้นยากนักหนา อย่าว่าแต่จะขึ้นไปถึงเลย ประชาสัตว์โดยมากมักเฉยเมยไม่รู้ไม่ชี้ ต่งพากันถือว่ามิใช่หน้าที่ของตน เพราะค่าที่เป็นคนพาลสันดานหนาไปด้วยโมหะ มองสักเท่าไหร่ก็ไม่เห็นคุณแห่งพระนิพพาน ฝ่ายท่านที่มีปัญญามองเห็นคุณค่ากว่าจะได้จะถึง ก็ต้องอุตสาหะพยายามฟันฝ่าอุปสรรคอันตรายมากมายนักหนา กว่าจะถึงยอดคีรีคือพระนิพพานนี้ได้

๕. พระนิพพาน ย่อมเป็นธรรมที่ปราศจากความรักความชัง เพราะไม่มีกิเลสตัณหาคั่งค้างเหลือติดอยู่แม้แต่เพียงนิดหนึ่ง ซึ่งท่านผู้ที่ได้นิพพาน ย่อมประสบความสุขเกษมสานต์โดยส่วนเดียวอย่างแท้จริง พระนิพพานย่อมเป็นสิ่งประเสริฐสุดนักหนา ตามที่พรรณานามานี้
คุณแห่งนภาลัย

อุปมากถา สุดท้าย ที่จะยกมากล่าวให้เราท่านทั้งหลายได้ทราบเพื่อเป็นเครื่องอาบใจให้เกิดความ ชุ่มฉ่ำดื่มด่ำในพระคุณแห่งสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถศาสดาจารย์เจ้า พระองค์ผู้ทรงมีพระมหากรุณาทรงประทานพระนิพพานสมบัตินี้ไว้แก่พวกเราชาวพุทธ บริษัททั้งหลายและเพื่อเป็นเครื่องเตือนใจให้เราท่านทั้งหลายมีศรัทธาอันถูก ต้อง เร่งรีบรองรับมรดกอันประเสริฐสุด กล่าวคือพระนิพพาน ที่พระพุทธองค์ทรงประทานไว้ เอามาเป็นสมบัติของตนให้จงได้ ก่อนที่จะตายไปจากโลกโดยเปล่าประโยชน์นั้น ก็ได้แก่อุปมาพระนิพพาน ด้วยคุณลักษณะแห่งนภาลัยประเทศ ๑๐ ประการ คือ

๑. ธรรมดาว่านภาลัยประเทศ คืออากาศนั้น ย่อมเป็นธรรมชาติที่ไม่รู้จักแก่ฉันใด อันว่าพระนิพพานนี้ ก็เป็นคุณชาติที่ไม่รู้จักแก่ชราเหมือนกัน

๒. ธรรมดาว่า นภาลัยประเทศนั้น ย่อมเป็นธรรมชาติไม่รู้ตายฉัน อันว่าพระนิพพานนี้ ก็เป็นคุณชาติอันอมตะไม่รู้มรณะเหมือนกัน

๓. ธรรมดาว่า นภาลัยประเทศนั้น ย่อมเป็นธรรมชาติที่ทรงอิทธิฤทธิ์ไว้ในตัวของมัน หาอันธพาลตนใดจะข่มเหงมิได้ อันว่าพระนิพพานนี้ก็เป็นคุณชาติที่มีฤทธิ์ ปราศจากอมิตรผู้ข่มเหงเหมือนกัน

๔. ธรรมดาว่า นภาลัยประเทศนั้น โจรอันธพาลใจฉกาจสักเพียงไร ก็ไม่สามารถจะช่วงชิงฉกเอาไปได้ฉันใด อันว่าพระนิพพานนี้ ก็เป็นคุณชาติที่โจรร้ายจะช่วงชิงฉกลักเอาไปมิได้เหมือนกัน

๕. ธรรมดาว่านภาลัยประเทศนั้น ย่อมเป็นธรรมชาติที่ไม่มีใครจะไปตั้งรกอาศัยอยู่ได้ฉันใด อันว่าพระนิพพานนี้ก็เป็นคุณชาติที่กิเลสร้ายลามกทั้งหลายจะอาศัยอยู่มิได้ เหมือนกัน

๖. ธรรมดาว่า นภาลัยประเทศนั้น ย่อมเป็นธรรมชาติที่สัตว์บางหมู่ เช่นสกุณปักษี มนุษย์ผู้มีฤทธีและอสุรี ยักษ์ เทวดา พรหม เท่านั้น ที่สามารถจะคมนาการสัญจรไปได้ฉันใด อันว่าพระนิพพาน ก็เป็นคุณชาติที่บุคคลผู้มีวาสนาคือพระอริยเจ้าผู้ประเสริฐเท่านั้น จักสัญจรไปมาได้เช่นเดียวกัน

๗. ธรรมดาว่านภาลัยประเทศนั้น ย่อมเป็นธรรมชาติที่ไม่รู้ จุติเคลื่อนไปฉันใด อันว่าพระนิพพานนี้ ก็ย่อมเป็นคุณชาติที่ไม่รู้จุติเหมือนกัน

๘. ธรรมดาว่านภาลัยประเทศนั้น ย่อมเป็นธรรมชาติที่กว้างขวาง ว่างโล่งหาสิ่งที่จะกั้นกางมิได้เหมือนกัน

๑๐. ธรรมดาว่านภาลัยประเทศนั้น ย่อมเป็นธรรมชาติที่เป็นอนันต์ คือหาที่สุดมิได้ กว้างยวใหญ่ไม่มีประมาณฉันใด อันว่าพระนิพพานนี้ ก็เป็นคุณชาติที่กว้างยาวใหญ่ไม่มีประมาณ เป็นอนันต์หาที่สุดมิได้เหมือนกัน

ท่านผู้มีปัญญาทั้งหลาย พระนิพพานเปรียบเทียบคล้ายกับคุณลักษณะแห่งอากาศนภาลัย สิริรวมเป็น ๑๐ ประการตามที่พรรณนามานี้ ขอจงค่อยพิจารณาให้ดีเถิด จะเกิดประโยชน์แก่ชีวิตนักหนา

นิพพานปฏิปทา

เมื่อเมธีคนมีปัญญามาพิจารณาเห็นคุณค่าแห่งพระนิพพานที่องค์สมเด็จพระบรม ศาสดาจารย์ทรงเปิดเผยโปรดประทานไว้ เพื่อเป็นเครื่องรื้อสัตว์ขนสัตว์ไป ให้พ้นภัยจากวัฏสงสารตามที่พรรณนามานี้แล้วด้วยดี ย่อมมีศรัทธาเกิดขึ้นในดวงใจอย่างลึกซึ้ง ใคร่ที่จะได้จะถึงพระนิพพาน มีน้ำใจร่าเริงอาจหาญในนิพพานปฏิปทา อุตสาหะพยายามค่อยดำเนินไป มิได้มีความประมาทในวัยแลชีวิต มิได้คิดโง่เซ่อซ่ามัวแต่หลับตาแสวงหาสิ่งภายนอกอันไร้ผล ดุจคนอาภัพไม่พบพระพุทธศาสนา แต่มีน้ำใจกล้าสู้พยายามดำเนินตามมรรคา แม้แต่ชีวิตแลเลื้อเนื้อแห่งอาตมาก็จำยอมเสียสละ พยายามปฏิบัติด้วยดีโดยวิธีการที่ถูกต้องตามครรลองแห่งสัมมาปฏิบัติ ด้วยการพิจารณาซึ่งสังขารธรรม ตามพระโอวาทานุสาสนีสมเด็จบพิตรชินสีห์สั่งสอนมาเมื่อวาสนาบารมีเต็มที่แล้ว ก็จะกระทำให้แจ้งด้วยปัญญา บรรลุถึงพระนิพพานสมความปรารถนา เปรียบอุปมาดุจศิษย์ที่เรียนวิชาในสำนักอาจารย์ เมื่อไม่มีความดื้อด้านหรือความเกียจคร้านติดอยู่ในสันดาน เชื่อถือตามที่อาจารย์เฝ้าสั่งสอนมา ก็สามารถจะกระทำพิทยาคุณให้แจ้งได้ด้วยปัญญา สำเร็จศิลปศาสตร์สมปรารถนา มีความสุขสบายเป็นที่ไปในเบื้องหน้า

เมื่อท่านผู้มีเพียรกล้า เป็นพระโยคาวจรบุคคล หวังจะนำตนออกจากวัฏฏสงสาร พยายามปฏิบัติตามกระแสพระพุทธฎีการเป็นสัมมาปฏิบัติจนได้สำเร็จธรรมวิเศษ สิ้นกิเลสกระทำให้แจ้งซึ่งพระนิพพานแล้ว่อมมีดวงหฤทัยผ่องแผ้วปราศจากทุกข์ หาอุปทวะอันตรายมิได้ เพราะพระนิพพานมีลักษณะเป็นสภาวะละเอียด สงบเกษมสำราญ ประณีตสะอาดและเยือกเย็นสนิท ทำให้ผู้พบเห็นประสบสุขสุดประมาณเปรียบปานดุจบุรุษผู้หนึ่ง ซึ่งมัวหลงนั่งซึมเซ่ออยู่ใกล้กองเพลิงใหญ่มาตลอดกาลนาน ความร้อนแห่งไฟย่อมจะเผาผลาญเขาให้ร้อนรนกระวนกระวายอยู่เนืองนิตย์ ครั้นเขาได้สติคิด จึงกระโดดเผ่นหลีกหนีออกไปให้พ้นจากกองเพลิงนั้น ไปให้ไกลเสียในที่อื่นเขาย่อมได้รับความชุ่มชื่นเป็นสุขสำราญ ไม่ต้องทรมานร้อนเร่าอีกต่อไป อุปมานี้ฉันใด เราทั้งหลายในปัจจุบันทุกวันนี้ก็เร่าร้อนอยู่นัก ด้วยถูกกองไฟ ๓ กอง คือ ราคคฺคิ...ไฟคือราคะกองหนึ่ง โทสคฺคิ...ไพคือโทสะกองหนึ่ง โมหคฺคิ...ไฟคือโมหะกองหนึ่ง มันพากันสุมรุมล้อมอยู่รอบตัวเป็น ๓ เส้า แต่ยังมึนเมางงๆ อยู่ชอบกล เลยมิค่อยจะรู้สึกตนได้สติ แต่ท่านผู้มีวิริยะกล้า คือพระโยคาวจรบุคคล ท่านทนความเร่าร้อนอยู่มิได้ เพราะในดวงใจค่อยเกิดปัญญาเบ่งรัศมีออกมา ทำให้ฉวีวรรณคือผิวหนังของท่านเกิดมีอาการบาง จึงรีบกระโดยผางออกไปตามหนทางมรรคา ที่พระศาสดาจารย์เจ้าทรงชี้บอกไว้ มิได้อาลัยในกองเพลิงอันรุ่งเรืองร้อนร้าย ลุกเผาไหม้อยู่ไม่วายเว้น ก็ได้ไปอยู่ในโอากสที่เย็นสบายสุดประมาณคือพระนิพพานนี่แหละเป็นจำนวนมากต่อ มากมาแล้ว เป็นอย่างนี้จริงๆ ไม่ต้องสงสัย

อีกประการหนึ่ง เปรียบเหมือนบุรุษผู้ซึ่งนั่งอยู่ ณ สุสานท่ามกลางซากศพงู สุนัขและศพมนุษย์อันเน่าเหม็นตลอดกาลนานไม่น้อย กลิ่นเหม็นทุคนธชาติย่อมจะระบายทะยอยโชยเข้าไปในนาสิกของเขาเรื่อยๆ ไม่หยุดยั้ง ย่อมทำให้เขาคลุ้มคลั่งกระวนกระวายสะอิดสะเอียนอยู่เนืองนิตย์ ครั้นได้สติคิดจึงบ่ายหน้าเข้าไปสู่ป่าเพื่อจะแสวงหาฟืน มาเผาซากศพอันลามกร้ายให้หมดไป ในขณะที่เผาซากศพนั้น ย่อมจะต้องร้อนรนด้วยเปลวไฟบ้างเป็นธรรมดา ครั้นว่าเขาเผาซากศพแล้วย่อมจะได้สูดอากาศบริสุทธิ์สดชื่นรื่นอุรา กลิ่นเหม็นแห่งงูเน่าแลมนุษย์เน่า ย่อมไม่กระทบนาสิกของเขาอีกต่อไป อุปมาข้อนี้ฉันใด เราท่านทั้งหลายทุกวันนี้ ที่ยังเป็นปุถุชนยังระคนยินดีอยู่ในซากศพอันได้แก่เบญจกามคุณคือ รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส ก็เปรียบเหมือนบุรุษผู้มีฆานประสาท คือ จมูกวิบัติใช้การมิได้ เลยไม่รู้สึกเหม็นในซากศพ คือเบญจกามคุณ มิหนำซ้ำกลับหลงใหลไขว่คว้าแสวงหากันวุ่นเพลินอยู่ ถึงจะมีท่านผู้รู้คือสมเด็จพระพุทธเจ้าทรงพยายามบอก ก็ใคร่คิดจะเถียงนอกคอกไปว่า " ซากศพคือเบญจกามคุณที่ว่านั่น มันไม่เห็นน่าจะรังเกียจอะไร พยายามคิดเท่าไหร่ก็คิดไม่เห็นว่า มันจะเน่าเหม็นที่ตรงไหน" ทั้งนี้มิใช่อื่นไกล เป็นเพราะจมูกยังเสียอยู่นั่นเอง ฆานประสาทยังใช้การไม่ได้ เมื่อไรจะดีสักทีก็ไม่รู้ ฝ่ายท่านผู้มีปัญญาวาสนาคือพระโยคาวจรบุคคล ท่านทนความเหม็นแห่งเบญจกามคุณอยู่มิได้ เพราะในดวงใจค่อยเกิดปัญญาเบ่งรัศมีออกมาทำให้นาสิกดี จึงรับขะมีขมันเข้าป่าไปหาฟืนมาเผาซากศพคือเบญจกามคุณเสีย ด้วยการปฏิบัติตามพระแสพระพุทธฎีกา แต่ว่าในขณะปฏิบัติอยู่นั้นก็ย่อมลำบากบ้างเป็นธรรมดา เหมือนบุรุษกำลังเผาซากศพในป่าย่อมร้อนด้วยเปลวไฟบ้าง ฉะนั้น ครั้นพยายามปฏิบัติไป เมื่อวาสนาบารมีถึงที่แล้ว ก็ไม่แคล้วที่จะจัดการเผาเบญจกามคุณสำเร็จ ได้บรรลุธรรมวิเศษเป็นพระอรหันตขีณาสพเจ้า ได้มีโอกาสเข้าไปสูดอากาศอันแสนจะสดชื่น หายใจอย่างโล่งอกสุขสำราญอยู่ในห้วงแห่งพระนิพพานอันแสนประเสริฐ เป็นอย่างนี้มามากต่อมากแล้วจริงๆ ไม่ต้องสงสัย

อีกประการหนึ่ง เปรียบเสมือนบุรุษหนุ่มเจ้าสำราญมีน้ำใจอาจหาญสัญจรเดินดุ่มไปเที่ยวแต่ผู้ เดียว ในหนทางที่เปลี่ยวทั้งมีเลนตมเต็มไปด้วยภัยอันตรายรอบด้านลำบากนักหนา แต่อาศัยที่บุรุษนั้นเป็ฯคนใจคอกล้า จึงพยายามเพียรหลีกออกจากทางมหาวิบากนั้น จนพ้นได้มาสู่ที่ดอนบริสุทธิ์สะอาด ก็เดินสำราญ ความประการนี้มีอุปมาฉันใด ฝ่ายพระโยคาวจรเจ้าผู้มีปัญญา เมื่อแรกปฏิบัติตามกระแสพระพุทธฎีกา ย่อมประสบความลำบากนักหนา เพราะมรรคาที่ดำเนินนั้นเต็มไปด้วยเลนตามและภยันตรายกคือกิเลสคัณหาทั้งหลาย ครั้นพยายามหลีกออกมาได้สำเร็จ สิ้นกิเลสเป็นพระอรหันตขีณาสพแล้ว ก็เข้าสู่ที่อันแผ้วสบายคือที่ดอน เดินเล่นเย็นสำราญเข้าไปในทุกห้อง อันเป็นสุขเกษมสานต์กล่าวคือพระนิพพานอันประเสริฐสุดดี เป็นอย่างนี้มามากต่อมากแล้วจริงๆ ไม่ต้องสงสัย

จึงเป็นอันสรุปได้ว่า การที่สมเด็จพระบรมโลกนาถศาสดาจารย์เจ้าแห่งเราท่านทั้งหลาย พระองค์ทรงอุบัติมาตรัสในโลกนี้ ก็เพื่อที่จะทรงรื้อสัตว์ขนสัตว์ไปสู่พระนิพพานเป็นจุดมุ่งหมายประการสำคัญ จึงได้ทรงโปรดประทานแสดงมรรคาคือทางเข้าสู่พระนิพพานเอาไว้ หากจะถามว่าอะไรคือมรรคาแห่งพระนิพพาน? คำตอบปัญหานี้ ที่ถูกต้องที่สุดก็คือ "วิปัสสนากรรมฐาน ผู้ที่ปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานอันถูกต้องเท่านั้น ชื่อว่ากำลังเดินไปตาทางพระนิพพาน ที่องค์สมเด็จพระบรมศาสดาจารย์ทรงชี้บอกไว้ ด้วยมีพระหฤทัยประสงค์จะให้ประชาสัตว์ทุกผู้ดำเนินไปเป็นอย่างยิ่ง ส่วนการกระทำสิ่งอื่นใดทั้งหมด นอกเหนือจากการปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานแล้ว หาใช้มรรคาสำหรับไปสู่แดนอมตพระมหานฤพานไม่" นี่คือคำตอบอย่างรวบรัด แต่การปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน เพื่อให้บรรลุถึงนิพพานจะมีวิธีการอย่างไรบ้างนั้น เป็นการจนใจนักหนา ที่ไม่สามารถจะนำมากล่าวไว้ได้ในที่นี้ เพราะว่าโอกาสการรจนาเรียบเรียงเรื่อ มุนีนาถทีปนี ถึงวาระที่จะยุติลงแล้ว จึงขอยุติลง ด้วยประการ ฉะนี้. (การปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน ศึกษาได้จากหนังสือ "วิธีบริหารจิตใจ" จัดพิมพ์โดย คณะสังคมผาสุก)
อวสาน
หัวข้อ: Re: มุนีนารถทีปนี การตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า โดย พระพรหมโมลี วิลาศ ญาณวโร
เริ่มหัวข้อโดย: Wisdom ที่ กุมภาพันธ์ 21, 2012, 12:25:19 PM
ปัจฉิมพจน์

ข้าพเจ้าผู้มีนามปรากฏว่า พระมหาวิลาศ ญาณวโร (บัดนี้เป็นพระราชคณะชั้นเทพ ที่พระเทพมุนี) ได้อุปสมบทในพระบวรพุทธศาสนา เมื่อปีพุทธศักราช ๒๔๙๓ โดยมีท่านพระธรรมปัญญาบดี (บัดนี้ เป็นสมเด็จพระราชาคณะที่สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์) ชิ ตินธรเถระ เปรียญธรรม ๙ ประโยค วัดสามพระยา จังหวัดพระนคร เป็นพระอุปัชฌาย์ พระครูสุทธิวรคุณ วัดสุทธิวราราม จังหวัดพระนคร เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และพระครูกัลยณวิสุทธิ์ วัดดอน จังหวัดพระนคร เป็นพระอนุสาวนาจารย์

นับแต่ได้อุปสมบทมา ก็ศึกษาพระปริยัติธรรมตามกำลังสติปัญญาสำเร็จการศึกษาเปรียญธรรม ๙ ประโยค เมื่อปีพุทธศักราช ๒๕๐๓ ครั้นเสร็จธุระในด้านปริยัติศึกษาแล้ว ก็ใฝ่ใจในการปฏิบัติตามกำลังศรัทธา ได้เข้าปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน ๒ ครั้ง โดยมีพระอาจารย์เข่ง อุตตรกโข เป็นพระวิปัสสนาจารย์ผู้บอกกรรมฐานครั้งแรก และพระอาจารย์ภัททันตะ อาสภะเถระ ธัมมะจริยะเป็นพระวิปัสสนาจารย์ผู้บอกกรรมฐานครั้งหลัง

เมื่อออกจากกรรมฐานแล้ว มีใจนึกถึงคุณแห่งพระบวรพุทธศาสนาซาบซึ้งนพระมหากรุณาธิคุณขององค์สมเด็จพระ บรมศาสดาจารย์จอมมุนีเจ้า จึงคิดรจนาเรียบเรียงหนังสือ มุนีนาถทีปนี นี้ขึ้น โดยมากประมวลเอากถาถ้อยคำท่านบุรพจารย์ทั้งหลาย ซึ่งท่านได้กล่าวไว้ในที่ต่างๆ เอามาปรุงแต่งเสียใหม่ เพื่อให้เข้าใจง่ายตามสมควรแก่รูปเรื่องในที่นี้ หวังใจให้เป็นสมบัติพระศาสนา เพื่อบูชาพระคุณองค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้า ด้วยสติปัญญาอันเล็กน้อยแห่งตน โดยเริ่มรจนาเมื่อวันที่ ๑๔ สิงหาคม พุทธศักราช ๒๕๐๖ และจบลงในวันนี้ที่ ๒๙ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๕๐๖ รวมเป็นเวลา ๗๗ วัน โดยปราศจากอุปทวันตรายใดๆ

ต่อจากนี้ไป ก็ได้แต่หวังใจอยู่ว่า หนังสือมุนีนาถทีปนีที่เรียบเรียงขึ้นนี้ คงจะมีสารัตถประโยชน์แก่ท่านสาธุชนผู้มีปัญญา ที่อุตส่าห์ติดตามอ่านมาตั้งแต่ต้น จนกระทั่งจบลงในบัดนี้ บ้างตามสมควร
ข้าพเจ้า ผู้มีน้ำใจศรัทธาเลื่อมใส ใคร่จะให้พระสัทธรรมคำสั่งสอนแห่งองค์สมเด็จพระชินวรโลกนาถบรมศาสดาจารย์ ถาวรตั้งอยู่ตลอดกาลนาน จึงได้อุตสาหะรจเรียบเรียงเรื่อง มุนีนาถทีปนี นี้ขึ้น แล้วได้ประสบบุญกุศลซึ่งอำนวยประโยชน์ให้อันใดด้วยเดชะแห่งบุญกุศลนั้น ขอสรรพสัตว์ทั้งหลายจงประสบแต่ความสุขสำราญจงทั่วกัน
อนึ่ง บรรดาพุทธมามกชนผู้เลื่อมใสพระไตรรัตน์ คือพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์มีเจตจำนงใคร่จะพ้นจากกองทุกข์ จงพ้นทุกข์ในอบายภูมิ และจงบรรลุถึงนิพพานในอนาคตกาลด้วยเถิด

ขอมโนรถความปรารถนาอันประเสริฐซึ่งเกิดจากน้ำใจอันงามของข้าพเจ้า จงสำเร็จผลตามที่ตั้งใจไว้นี้ทั้งหมด เพื่อความหมดจดไหบูลย์แห่งพระสัทธรรมคำสอนขององค์สมเด็จพระชินวรบรมศาสดา จารย์ ตลอดกาลนิรันดรเทอญ
มุนีนาถทีปนี
จบบริบูรณ์

ปัฏฐนฐปนคาถา

หันทะ มะยัง ปัฏฐะนะ ฐะปะนะ คาถาโย ภะณามะ เสฯ

ยันทานิเม กะตัง ปุญญัง เตนาเนนุททิเสนะ จะ,
ขิปปัง สัจฉิกะเรยยาหัง ธัมเม โลกุตตะเร นะวะ,

บุญใดที่ข้าพเจ้าได้ทำในบัดนี้, เพราะบุญนั้นและการอุทิศแผ่ส่วนบุญนั้น,

ขอให้ข้าพเจ้าทำให้แจ้งโลกุตตรธรรมเก้าในทันที;

สะเจ ตาวะ อะภัพโพหัง สังสาเร ปะนะ สังสะรัง,

ถ้าข้าพเจ้าเป็นผู้อาภัพอยู่ ยังต้องท่องเที่ยวไปในวัฏฏสงสาร;

นิยะโต โพธิสัตโตวะ สัมพุทเธนะ วิยากะโต,
นาฏฐาระสะปิ อาภัพพะ ฐานานะ ปาปุเณยยะหัง,

ขอให้ข้าพเจ้าเป็นเหมือนโพธิสัตว์ผู้เที่ยงแท้
ได้รับพยากรณ์แต่พระพุทธเจ้าแล้ว ; ไม่ถึงฐานะแห่งความอาภัพ ๑๘ อย่าง ;

ปัญจะเวรานิ วัชเชยยัง ระเมยมัง สีละรักขะเน,
ปัญจะกาโม อะลัคโคหัง วัชเชยยัง กามะปังกะโต,

ข้าพเจ้าพึงเว้นจากเวรทั้งห้า; พึงยินดีในการรักษาศีล;
ไม่เกาะเกี่ยวในกามคุณทั้งห้า; พึงเว้นจากเปือกตมกล่าวคือกาม;

ทุททิฏฐิยา นะ ยุชเชยยัง สังยุชเชยยัง สุทิฏฐิยา,
ปาเป มิตเต นะ เสเวยยัง เสเวยยัง ปัณฑิเต สะทา,

ขอให้ข้าพเจ้าไม่พึงประกอบด้วยทิฏฐิชั่ว; พึงประกอบด้วยทิฏฐิที่ดีงาม;
ไม่พึงคบมิตรชั่ว; พึงคบแต่บัณฑิตทุกเมื่อ;

สัทธาสะติหิโรตตัปปา ตาปักขันติคุณากะโร,
อัปปะสัยโห วะ สัตตูหิ เหยยัง อะมันทะมุยหะโก,

ขอให้ข้าพเจ้าเป็นบ่อที่เกิดแห่งคุณ, คือ
ศรัทธา สติ หิริ โอตตัปปะ ความเพียรและขันติ ;
พึงเป็นผู้ที่ศัตรูครอบงำไม่ได้; ไม่เป็นคนเขลา คนหลงงมงาย ;

สัพพายาปายุปาเยสุ เฉโก ธัมมัตถะโกวิโท,
เญยเย วัตตัตวะสัชชัง เม ญาณัง อะเฆวะ มาละโต,

ขอให้ข้าพเจ้าเป็นผู้ฉลาดในอุบายเแห่งความเสื่อมและความเจริญ ;
เป็นผู้เฉียบแหลมในอรรถและธรรม ;
ขอให้ญาณของข้าพเจ้าเป็นไปไม่ข้องขัดในธรรมที่ควรรู้ ;
ดุจลมพัดไปในอากาศ ฉะนั้น ;

ยา กาจิ กุสะลา มยาสา สุเขนะ สิชฌะตัง สะทา,
เอวัง วุตตา คุณา สัพเพ โหนตุ มัยหัง ภะเว ภะเว,

ความปรารถนาใดๆ ของข้าพเจ้าที่เป็นกุศล, ขอให้สำเร็จโดยง่ายทุกเมื่อ;
คุณที่ข้าพเจ้ากล่าวมาแล้วทั้งปวงนี้, จงมีแก่ข้าพเจ้าทุกๆ ภพ;

ยะทา อุปปัชชะติ โลเก สัมพุทโธ โมกขะเทสะโก,
ตะทา มุตโต กุกัมเมหิ ลัทโธกาโส ภะเวยยะหัง,

เมื่อใด,
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้แสดงธรรมเครื่องพ้นทุกข์ เกิดขึ้นแล้วในโลก ;
เมื่อนั้น ขอให้ข้าพเจ้าพ้นจากกรรมอันชั่วช้าทั้งหลาย
เป็นผู้ได้โอกาสแห่งการบรรลุธรรม;

มะนุสสัตตัญจะ ลิงคัญจะ ปัพพัชชัญจะปะสัมปะทัง,
ละภิตวา เปสะโล สีลี ธาเรยยัง สัตถสาสะนัง,

ขอให้ข้าพเจ้าพึงได้ความเป็นมนุษย์; ได้เพศบริสุทธิ์;
ได้บรรพชา อุปสมบทแล้ว ; เป็นคนรักศีล; มีศีล;
ทรงไว้ซึ่งพระศาสนาของพระศาสดา;

สุขะปะฏิปะโท ขิปปา ภิญโญ สัจฉิกะเรยยะหัง
อะระหัตตัปผะลัง อัคคัง วิชชาทิคุณะลังกะตัง

ขอให้เป็นผู้มีการปฏิบัติโดยสะดวก, ตรัสรู้ได้พลัน ;
กระทำให้แจ้งซึ่งอรหัตตผลอันเลิศ, อันประดับด้วยธรรม มีวิชชา เป็นต้น;

ยะทิ นุปปัชชะติ พุทโธ กัมมัง ปะริปูรัญจะ เม,
เอวัง สันโต ละเภยยาหัง ปัจเจกะโพธิมุตตะมัน ติ.

ถ้าหากพระพุทธเจ้าไม่บังเกิดขึ้น ,
แต่กุศลกรรมของข้าพเจ้าเต็มเปี่ยมแล้ว ;
เมื่อเป็นเช่นนั้น
ขอให้ข้าพเจ้าพึงได้ญาณเป็นเครื่องรู้เฉพาะตนอันสูงสุดเทอญ.

หัวข้อ: Re: มุนีนารถทีปนี การตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า โดย พระพรหมโมลี วิลาศ ญาณวโร
เริ่มหัวข้อโดย: Webmaster ที่ สิงหาคม 23, 2012, 08:31:39 PM
โมทนาบุญกับผู้ที่เข้ามาศึกษาหลักธรรมทุกๆท่านครับ
หัวข้อ: Re: มุนีนารถทีปนี การตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า โดย พระพรหมโมลี วิลาศ ญาณวโร
เริ่มหัวข้อโดย: มหาอสงไขย ที่ ตุลาคม 24, 2012, 04:56:46 PM
สาธุ...สาธุ... อนุโมทามิ ขอบพระคุณครับ ขอก๊อปไปพิมพ์อ่านนะครับนั่งอ่านเมื่อยครับจะนอนอ่านครับ