เว็บพุทธภูมิ: พุทธภูมิ พระโพธิสัตว์ การบำเพ็ญบารมี



ผู้เขียน หัวข้อ: ในโลกนี้ ทุกข์ อะไรไม่เท่ากับ ทุกข์ใจ  (อ่าน 4413 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ Webmaster

  • Administrator
  • สมาชิก
  • *****
  • กระทู้: 404
    • ดูรายละเอียด


ในโลกนี้ ทุกข์ อะไรไม่เท่ากับ ทุกข์ใจ และในโลกนี้ สุขอะไรไม่มีจะมาเปรียบได้เสมือนกับสุขใจ ใจเท่านั้นเป็นใหญ่ ใจเป็นนายใจเป็นประธาน ทุกสิ่งสำเร็จอยู่ที่ใจ ขอแต่จงอย่าได้เอาจิตออกนอกกาย จะสำเร็จได้ก็ด้วย ลงมือทำ ปฎิบัติ ด้วยการใช้ความคิด สมองที่หมั่นฝึกฝนคิดอยู่เสมอความคิดจะยิ่ง คนเสมือนกับมืดที่ยิ่งคม

สิ่งที่ไม่เป็นแก่นสารหรือไม่มีสารประโยชน์ในโลกนี้มีมากมาย แต่เมื่อกล่าวโดยสรุปแล้วก็มีอยู่ 3 อย่าง คือ 1.ชีวิต 2.ร่างกาย 3.ทรัพย์สมบัติ

ชีวิต ได้แก่ ความเป็นอยู่ เป็นเครื่องหล่อเลี้ยงร่างกายให้ดำรงชีพอยู่ และเป็นเครื่องหมายแห่งการเป็นการตายของสัตว์โลก เมื่อชีวิตยังไม่ดับ สัตว์ก็ชื่อว่ายังไม่ตาย เมื่อชีวิตดับลงแล้ว สัตว์ก็ชื่อว่าตายแล้ว อันลักษณะของชีวิตนี้ เป็นของไม่คงที่ ไม่เที่ยงแท้แน่นอน ย่อมหมดเปลืองไปตามวันคืนที่ล่วงไป แม้ว่าชีวิตจะดับเหมือนกันหมดก็จริง แต่ก็มีข้อแตกต่างกัน กล่าวคือชีวิตของคนบางคนยืนยาว ชีวิตของบางคนเกิดมายังไม่ทันไรก็ตายเสียแล้ว แต่การที่ชีวิตจะยาวหรือสั้นนั้น ไม่ใช่สิ่งที่ใครๆ จะนึกปรารถนาเอาได้ตามใจตนเอง เพราะเป็นเรื่องของกุศลและอกุศล เช่น ชีวิตของคนบางคนเศร้าหมองก็มี ผ่องใสก็มี ขมขื่นก็มี สดชื่นก็มี ทั้งนี้ก็เป็นเพราะความประพฤติเรียบร้อยดีงามหรือความประพฤติไม่ดีไม่งาม ด้วยเหตุนี้เองชีวิตจึงจัดว่าเป็นของหาแก่นสารมิได้

ร่างกาย ได้แก่ อวัยวะน้อยใหญ่ความกันเข้าเป็นอัตภาพ เรียกตามบัญญัติว่า สัตว์บ้าง บุคคลบ้าง อันร่างกายนี้เป็นของไม่ถาวร พอเกิดขึ้นแล้วก็ตกอยู่ใต้อำนาจของชราพยาธิมรณะชราทำให้แก่ให้ทรุดโทรมทุพพลภาพ ความแก่ความเจ็บความตายเป็นภัยที่ใครๆ นี้ไม่สามารถจะหนีพ้นได้ เพราะเป็นตัวทุกข์ประจำสังขาร ยังเป็นสังขารอยู่ตราบใด ก็ต้องประสบทุกข์ภัยเหล่านี้ตราบนั้น ด้วยเหตุนี้ ร่างกายจึงเป็นสิ่งที่หาสาระแก่นสาร อะไรไม่ได้เลย

ทรัพย์สมบัติ ได้แก่ บรรดาเครื่องอุปโภคบริโภคทั้งหมด อันเป็นอุปการะแก่ชีวิตและร่างกาย ขึ้นชื่อว่าทรัพย์สมบัติย่อมเป็นของที่ทุกคนปรารถนา เพราะผู้มีทรัพย์มากก็มีสุขมาก ผู้มีทรัพย์น้อยก็มีสุขน้อย ด้วยเหตุนี้เองทุกคนจึงกล้าลงทุนลงแรงและพากเพียรพยายามประกอบงานโดยไม่เห็นแก่ความเหนื่อยเมื่อยล้า แต่ทรัพย์สมบัติเหล่านี้ล้วนเป็นของไม่เที่ยงแท้แน่นอน เป็นสิ่งสมมติในโลกใบนี้เท่านั้น ด้วยเหตุนี้ ทรัพย์สมบัติจึงจัดเป็นอสาระหาแก่นสารอะไรไม่ได้เลย

สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้ทรงตรัสสิ่งที่เป็นสาระหรือคุณภาพแห่งชีวิตอันแท้จริง ไว้ 5 ประการ คือ

1.ศรัทธา หมายถึง ความเชื่อต่อสิ่งที่ควรเชื่อโดยใช้ปัญญาคอยควบคุม สิ่งที่ควรเชื่อนั้นคือเชื่ออะไร? ในทางพระพุทธศาสนาท่านสอนให้เชื่อกรรมคือการกระทำของตนเอง คือ เชื่อว่าทำดีให้ผลดีเป็นความสุข ทำชั่วให้ผลเป็นความทุกข์ เป็นต้น

2.ศีล หมายถึง การรักษามารยาททางกายและวาจาให้เรียบร้อยดีงาม เว้นจากการเบียดเบียนกันและกันด้วยกายวาจา

3.สุตะ หมายถึง การสดับตรับฟังตลอดจนถึงการอ่าน บ้านเมืองของเราจะเจริญรุ่งเรืองก้าวหน้าได้ก็ต้องอาศัยพลเมืองมีความรู้มีคุณธรรม ฟังอ่านในสิ่งที่เป็นประโยชน์ แล้วนำไปปฏิบัติให้เป็นรูปธรรม

4.จาคะ หมายถึง การเสียสละทรัพย์สมบัติของตนให้เป็นประโยชน์แก่ผู้อื่น และเสียสละ คือ ลดละเลิก อารมณ์โลภ อารมณ์โกรธ อารมณ์หลง อันเป็นกิเลสภายในใจ

5. ปัญญา หมายถึง ความรอบรอบรู้เฉลียวฉลาด ปัญญานี้นับว่า เป็นคุณธรรมสำคัญที่สุด มีศรัทธาความเชื่อ แต่ปราศจากปัญญาก็ถือว่าเข้าข่ายงมงาย รักษาศีลโดยปราศจากปัญญาก็รักษาอย่างไม่ถูกต้อง ดังนั้นปัญญาจึงนับว่าสำคัญยิ่งทั้งในทางโลกและทางธรรม ทำให้ชีวิตมีแก่นสารสาระอย่างแท้จริง

คุณธรรมทั้ง 5 ประการ ดังกล่าวมานี้ เป็นสิ่งที่มีสาระ บุคคลใดสามารถทำให้เกิดมีขึ้นในตน บุคคลนั้นย่อมสามารถทำตนให้มีสาระแก่นสาร มีคุณภาพที่ดี ย่อมประสบความสงบร่มเย็นทั้งในโลกนี้และในโลกหน้า ท่านสาธุชนทั้งหลาย จงอย่าเสียเวลากับสิ่งที่ไม่เป็นแก่นสารสาระเลย รีบหันมายึดเอาสิ่งที่เป็นแก่นสารสาระตามหลักทางพระพุทธศาสนา จะทำให้ชีวิตของท่านทั้งหลายมีคุณ ภาพที่ดี มีประโยชน์แก่ตนเองและสังคม และเป็นการปฏิบัติธรรมทางศาสนาอย่างแท้จริง