เว็บพุทธภูมิ: พุทธภูมิ พระโพธิสัตว์ การบำเพ็ญบารมี



ผู้เขียน หัวข้อ: พุทธานุสสติกรรมฐาน  (อ่าน 10324 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ Wisdom

  • สมาชิก
  • ***
  • กระทู้: 242
  • ใครจะใหญ่เกินกรรม
    • ดูรายละเอียด
พุทธานุสสติกรรมฐาน
« เมื่อ: กุมภาพันธ์ 22, 2012, 07:11:43 PM »
"...พุทธานุสสติกรรมฐาน การยอมรับนับถือพระพุทธเจ้า ถ้าบรรดาท่านพุทธบริษัทสามารถทรงกำลังใจได้ ยอมรับนับถือพระพุทธเจ้าด้วยความจริงใจ ความจริงการยอมรับนับถือนี่ต้องปฏิบัติตามกันนะ ข้อนี้บรรดาท่านทั้งหลายผู้รับฟัง จงอย่าลืม การใช้คำว่า เคารพและนับถือ แต่ไม่ปฏิบัติตามคำแนะนำซึ่งกันและกัน เขาถือว่าโกหกกัน อย่างนี้ฟังง่ายดี..."

ต่อไปนี้ขอบรรดาท่านทั้งหลาย จงพยายามรวบรวมกำลังใจให้เป็นสมาธิ คำว่า สมาธิ คือ รวบรวมกำลังใจให้อยู่ในจิตที่เป็นกุศลอย่างใดอย่างหนึ่ง เรียกว่า สัมมาสมาธิ สมาธิแบ่งออกเป็น ๒ ประการด้วยกันคือ
สัมมาสมาธิอย่างหนึ่ง
มิจฉาสมาธิอย่างหนึ่ง
สมาธิถ้าพูดกันตามภาษาไทย ก็เรียกว่าการตั้งใจไว้หรือว่าการทรงอารมณ์ไว้ ตั้งใจไว้อย่างใดอย่างหนึ่ง คิดไว้อย่างใดอย่างหนึ่งโดยเฉพาะ อย่างนี้เรียกว่า สมาธิ
ถ้าหากว่าเราคิดในสิ่งที่ชั่วเป็นการประทุษร้ายตนเองและบุคคลอื่น ให้ได้รับความลำบาก อย่างนี้เรียกว่า มิจฉาสมาธิ คิดให้จิตของเรามีความสุขเป็นไปในทำนองคลองธรรม อย่างนี้เรียกว่า สัมมาสมาธิ อารมณ์จะตั้งอยู่อารมณ์อย่างใดอย่างหนึ่งก็ตาม ถ้าทรงอยู่ในอารมณ์นั้น จะน้อยหรือใช้เวลาได้มากก็ตาม หรือว่าน้อยก็ตาม ก็เรียกว่า สมาธิ
ในส่วนของสัมมาสมาธินี้ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแยกไว้ถึง ๔๐ ประการ เราก็ได้เคยพูดถึงอานาปานุสสติกรรมฐานมาแล้ว
สำหรับวันนี้จะพูดถึง พุทธานุสสติกรรมฐาน พอเป็นที่เข้าใจของท่านบรรดาโดยย่อ
คำว่า พุทธานุสสติ หมายถึง การนึกถึงคุณของพระพุทธเจ้าเป็นอารมณ์ การที่คิดถึงคุณของพระพุทธเจ้าโดยเฉพาะเราก็พรรณนากันไม่จบ ใคร่ครวญกันไม่จบ
ตามพระบาลีท่านมีอยู่ว่า ถึงแม้ว่าจะปรากฏ มีพระพุทธเจ้าขึ้นมา ๒ องค์ นั่งถามกันตอบกันถึงความดีของพระพุทธเจ้าที่ทรงอุบัติขึ้นมาแล้วในโลก แม้แต่สิ้นเวลา ๑ กัป ก็ไม่จบความดีของพระพุทธเจ้าได้
ฉะนั้น ท่านโบราณาจารย์จึงกล่าวไว้ว่า
"พุทโธ อัปปมาโณ คุณของพระพุทธเจ้านี่หาประมาณมิได้"
ในเมื่อคุณของพระพุทธเจ้าหาประมาณไม่ได้ เราพิจารณาไม่จบ เราจะพิจารณาว่ายังไงกันดี โบราณาจารย์ที่ประพันธ์ไว้โดยตรงว่า อิติปิ โส ภควา อรหัง สัมมา สัมพุทโธ เป็นต้น ซึ่งแปลเป็นใจความว่า เพราะเหตุนี้ แม้องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่ทรงบรรลุแล้วโดยชอบ อรหังเป็นพระอรหันต์ อย่างนี้เป็นต้น อย่างนี้เราก็พิจารณาไม่ไหวเหมือนกัน เป็นอันว่า จะกล่าวโดยย่อว่า คุณของพระพุทธเจ้าที่มีต่อเราก็คือว่า
๑. สัพพะปาปัสสะ อะกะระณัง พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนให้พวกเราระงับความชั่วทั้งหมด
๒. กุสะลัสสูปะสัมปะทา พระองค์ทรงสงเคราะห์ให้พวกเราปฏิบัติเฉพาะในความดี
๓. สะจิตตะปะริโยทะปะนัง พระองค์ทรงสั่งสอนให้ทำจิตใจให้ผ่องใสจากกิเลส
นี่ โดยย่อพระธรรมคำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระบรมโลกเชษฐ์ สอนให้พวกเราปฏิบัติอยู่ในกฎทั้ง ๓ ประการที่เป็นหัวใจของพระพุทธศาสนา ถ้าจะย่อลงไปอีกทีหนึ่ง องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงสอนให้พวกเราไม่ประมาท ตามปัจฉิมโอวาท ที่องค์สมเด็จพระบรมโลกนาถตรัสเป็นปัจฉิมวาจา วันใกล้จะปรินิพพาน ตรัสแก่พระอานนท์ว่า
อานันทะ ดูก่อนอานนท์ พระธรรมคำสั่งสอนที่เราสอนพวกเธอนั้น ย่อมรวมอยู่ในความไม่ประมาท แล้วองค์สมเด็จพระบรมโลกนาถ ตรัสว่า อัปปมาเทนะ สัมปาเทถะ ซึ่งแปลเป็นใจความว่า ท่านทั้งหลายจงยังความไม่ประมาทให้ถึงพร้อม
นี่เป็นอันว่า พระพุทธเจ้าสอนให้เราไม่ประมาทในการที่จะละความชั่ว หมายความว่า จงอย่าคิดว่านี่เราไม่ชั่ว พระบาลีที่องค์สมเด็จพระชินศรีสอนไว้บอกว่า อัตตนา โจทยัตตานัง จงเตือนตนด้วยตนเอง นี่ก็หมายถึงว่าพระองค์ไม่ให้เราประมาท จงมองดูความชั่ว มองดูความผิด มองดูความเสียหายของตนเองไว้เป็นปกติ
ถ้าเรามองความชั่ว มองความเสียหายของตัวไว้แล้ว เราก็มีจะแต่ความดี เราอย่าเป็นคนเข้าข้างตัว เอาพระวินัยมากาง เอาธรรมะมากางเข้าไว้ ดูพระวินัย ดูธรรมะว่าอะไรมันผิดบ้าง แม้แต่นิดหนึ่งก็ต้องตำหนิ เหมือนกับผ้าขาวทั้งผืน มีจุดดำอยู่จุดหนึ่ง ก็ชื่อว่าทำผ้าขาวนั้นให้สิ้นราคา แม้จุดนั้นจะเป็นจุดเล็กเท่ากับปลายปากกาที่จิ้มลงไปก็ตามที เขาก็ถือว่า มีตำหนิ
นี่เราเป็นสาวกขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ถ้าเราจะพิจารณาหาความดีของพระองค์ก็ต้องหากันตรงนี้ ว่า พระพุทธเจ้าต้องการให้เรามีจิตบริสุทธิ์ ถ้าจิตบริสุทธิ์แล้วไปไหน
พระพุทธเจ้ากล่าวว่า
"จิตเต ปาริสุทเธ สุคติ ปาฏิกังขา ถ้าจิตบริสุทธ์แล้วอย่างน้อยเราก็ไปสู่สุคติโลกสวรรค์"

คำว่า สุคติ นี้ก็ยกยอดไปถึงสวรรค์ก็ได้ พรหมโลกก็ได้ นิพพานก็ได้
นี่เราก็มานั่งใคร่ครวญความดีของพระพุทธเจ้า นั่งนึกเอาว่า พระพุทธเจ้าจะทรงเป็นพระพุทธเจ้าได้ก็อาศัย ตัดความรัก ตัดความโลภ ตัดความโกรธ ตัดความหลง
   ตัดความรัก พระพุทธเจ้ามีพระชายาอยู่แล้ว มีพระราชโอรถ คือ พระราหุล พระราชโอรถคลอดในวันนั้น พระชายาก็ยังสาว อายุเพียง ๑๖ ปี แต่องค์สมเด็จพระชินศรี เห็นว่าการครองเรือนเป็นทุกข์ จึงแสวงหาความสุข คือ พระโพธิญาณ ด้วยการออกบวช ทรงตัดความรักความอาลัยเสียได้ ออกจากบ้านในเวลากลางคืน
ตัดความโลภ พระพุทธเจ้าทรงทราบอยู่แล้วว่า อีก ๗ วัน ตำแหน่งพระเจ้าจักรพรรดิราชจะเข้าถึงพระองค์ แต่พระองค์ก็ไม่อาลัยใยดีในความเป็นพระเจ้าจักรพรรดิราช เพราะการเป็นพระเจ้าจักรพรรดิราชก็ต้องแก่ ต้องตาย ต้องเดือดร้อนเหมือนกัน
นี่องค์สมเด็จพระภควันต์ แม้จะเป็นเจ้าโลก ก็วางทิ้งไปเสียไม่ต้องการ อันนี้เราต้องปฏิบัติตาม ใคร่ครวญตามว่ามันไม่ดี พระพุทธเจ้าจึงวาง ถ้าดีแล้วก็ไม่วาง อะไรที่พระพุทธเจ้าวางไว้ และเป็นสิ่งที่เกินวิสัยที่เราจะครองได้เราจะมีได้ แต่ว่าองค์สมเด็จพระชินศรีมีแล้ว องค์สมเด็จพระประทีปแก้ววางเสีย เราก็ต้องวางตาม เพราะของท่านมากกว่าเรา สูงกว่าเรา หนักกว่าเรา ดีกว่าเรา ที่จะพึงมี ท่านยังวาง ถ้าเรามีดีไม่เท่าท่าน ทำไมเราจึงจะไม่วาง
ประการต่อมา องค์สมเด็จพระบรมศาสดา ทรงแสวงหาอภิเนษกรมณ์อยู่ในสำนักอาฬารดาบส กับ อุทกดาบสรามบุตร ปฏิบัติในรูปฌานและอรูปฌาน ทั้ง ๒ ประการ จนมีความคล่องแคล่ว มีความชำนาญมาก อาจารย์ยกย่องให้องค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าเป็นครูสอนแทน แต่พระองค์ก็มาพิจารณาว่า เพียงแค่รูปฌาน และ อรูปฌาน ทั้ง ๒ ประการนี้ ไม่ใช่หนทางบรรลุมรรคผล สมเด็จพระทศพลจึงได้วางเสีย แล้วออกจากสำนักของอาจารย์นั้น แสวงหาความดีต่อไป
ในด้านของสมาธินี่ องค์สมเด็จพระจอมไตรทรงถึงที่สุดถึงสมาบัติ ๘ ก็ยังเห็นว่าไม่เป็นทางที่สุดของความทุกข์ แต่สมาธินี้ก็ทรงไว้ไม่ทิ้ง หาต่อไปให้เข้าถึงที่สุดของทุกข์ คือ ความไม่เกิด
ต่อมา องค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าก็พบธรรมะที่ประเสริฐ ที่เรียกกันว่า อริยสัจ คือ ทุกข์ เหตุให้เกิดทุกข์ ความดับทุกข์ ปฏิปทาเข้าถึงความดับทุกข์ แล้วก็ความดับทุกข์
ทุกข์ ได้แก่ อาการที่ทนได้ยาก ก็คือ การเกิดขึ้นมาแล้วมันเต็มไปด้วยความทุกข์ นี่ เราพูดกันมานานแล้ว
เหตุให้เกิดความทุกข์ ก็คือ ตัณหา ความอยากเกินพอดี ความอยากนี่ต้องใช้คำว่า เกินพอดี ร่างกายมันหิวอาหาร ร่างกายมันอยากกินน้ำ ร่างกายมันปวดอุจจาระปัสสาวะ จะต้องไปส้วม ร่างกายต้องการเครื่องนุ่งห่มตามปกติ ร่างกายต้องการบ้านเรือนตามปกติ เป็นไปตามวิสัย อย่างนี้ไม่จัดว่าเป็นตัณหาตามที่พระพุทธเจ้าตรัส เพราะมันเป็นของพอดี พอใช้ที่เราจะพึงใช้ พึงมีตามความจำเป็นของร่างกาย แต่ว่าความตะเกียกตะกายเกินพอดีไม่รู้จักพอ มีแค่นี้พอดับพอดีแล้วยังตะกายมากเกินไปทำให้เกิดความลำบาก มีความอยากไม่รู้จักจบ อยากอย่างนี้เรียกว่า ตัณหา เป็นเหตุให้เกิดทุกข์
ทางดับตัณหาตัวนี้ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เรียกว่า มรรค
มรรคนี่มี ๘ อย่าง โดยย่นย่อเหลือ ๓ คือ
ศีล สมาธิ ปัญญา
ศีล คือ การระงับกายวาจาให้เรียบร้อย ให้ดำรงอยู่ในความดีตามขอบเขต ที่เราเรียกว่า พระวินัย
สมาธิ แปลว่า มีอารมณ์ตั้งมั่นอยู่ในความดี คือ ทรงศีล ทรงทานอยู่ จิตน้อมอยู่ในอารมณ์ทั้งสองประการอย่างนี้เป็นต้น
ปัญญา พิจารณาเห็นว่า ธรรมะที่องค์สมเด็จพระทศพล คือ จริยาที่พระองค์ทรงละความรัก ละความโลภ ละความปรารถนาความมักใหญ่ใฝ่สูง ละการเกิด
นี่องค์สมเด็จพระมหามุนีทรงปฏิบัติถูกแล้ว องค์สมเด็จพระประทีปแก้วจึงได้เป็นพระอรหันต์ นี่เราปฏิบัติพิจารณาตามประวัติขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พูดไปอีกนานมันก็ไม่จบ
รวมความว่า วันหนึ่งเราก็นั่งใคร่ครวญถึงความดีของพระพุทธเจ้าตามหนังสือที่มีมา จับใจตรงไหนยึดตรงนั้นเป็นอารมณ์ อย่างนี้ก็ชื่อว่าเป็น พุทธานุสสติ การนึกถึงความดีของพระพุทธเจ้า ถ้าปฏิบัติตามนี้สำหรับพุทธานุสสติ และ ตามคิดแบบนี้จะทรงอารมณ์อยู่ได้แค่อุปจารสมาธิ นี่เป็นแบบหนึ่ง
และอีกแบบหนึ่ง ไม่ปฏิบัติอย่างนั้น ท่านสอนให้ภาวนาว่า พุทโธ เวลาหายใจเข้านึกว่า พุท เวลาหายใจออกนึกว่า โธ การหายใจกำหนดตามสบาย ๆ เป็นการควบกับอานาปานุสสติกรรมฐาน ทำอารมณ์ใจให้สบาย จิตใจชื่นบาน นึกถึงความดีขององค์สมเด็จพระพิชิตมาร แล้วจับใจว่า พุทโธ พุทโธ ภาวนาไว้
แล้วขณะใดที่จิตผูกพันว่า พุทโธ หรือ ลมหายใจเข้าออก ขณะนั้นก็ชื่อว่าจิตของเราเป็นสมาธิ การภาวนาแบบนี้สมาธิจะมีอารมณ์สูงเข้าถึงฌานสมาบัติได้
การพิจารณาว่า พุทโธ ก็จะขอข้ามอารมณ์ต่าง ๆ ไป ถ้ากำลังใจของเราทรงมั่น ถ้าจะมีนิมิตปรากฏขึ้นโดยเฉพาะนิมิตต่าง ๆ ก็คือ ต้องเห็นเป็นพระพุทธรูป หรือว่า เห็นเป็นรูปของพระสงฆ์ แต่มีรัศมีกายผ่องใส อย่างนี้เขาเรียกว่า นิมิตของพุทธานุสสติกรรมฐาน อย่างนี้จับเอาได้
ถ้านิมิตอย่างนี้ปรากฏขึ้นมาเมื่อไร ในกาลต่อไปข้างหน้า ถ้าเราจะภาวนาว่า พุทโธ ก็ให้จิตน้อมนึกถึงภาพนั้นไว้เป็นปกติ อย่างนี้เรียกว่า เกิดอุคคหนิมิต
ถ้านิมิตนั้นเปลี่ยนแปลง ทีแรกเราเห็นเป็นพระพุทธรูปดำบ้าง ขาวบ้าง เหลืองบ้าง แต่ไม่แจ่มใส ต่อไปถ้ามีสมาธิ สมาธิสูงขึ้นก็เห็นเป็นพระพุทธรูปใสขึ้น ใหญ่โตขึ้น เปลี่ยนแปลงมีความงดงามกว่า อย่างนี้เรียกว่า อุปจารสมาธิระดับสูง นี่จิตนึกถึงภาพนะ ภาพปรากฏชัดภายในใจ ไม่ใช่ไปนั่งหาภาพที่จะมาปรากฏใหม่
ต่อไปเมื่อจิตนึกถึงภาพขององค์สมเด็จพระจอมไตร เกิดมีรัศมีกาย มีอารมณ์ผ่องใสแทนที่จะเป็นสีเหลือง หรือ สีเขียว สีดำ สีแดง อะไรก็ตาม สีนั้นเปลี่ยนไปทีละน้อยจากเหลืองเข้มเป็นเหลืองอ่อน ๆ มีความใส ต่อไปก็เป็นแก้ว แก้วใสเป็นประกายพรึกเต็มดวง หรือคล้ายกับกระจกเงาที่สะท้อนแสงพระอาทิตย์ มีความชุ่มชื่น จะนึกให้ใหญ่ก็ได้ จะนึกให้เล็กก็ได้ อย่างนี้ เรียกว่าเป็น ปฏิภาคนิมิต นั่นระดับฌาน
ถ้าจิตตับอยู่แค่นี้จิตใจของเราชื่นบาน จิตจะทรงฌานไปด้วยอำนาจพุทธานุสสติกรรมฐาน จะมีอารมณ์เป็นสุขตลอดกาล แล้วเมื่อได้ภาพอย่างนี้ จงอย่าคลายภาพนี้ทิ้งไป ให้ดำรงภาพนี้เข้าไว้
ขณะใดจิตยังนึกเห็น ไม่ใช่เห็นเฉย ๆ นึกเห็น เห็นภาพอยู่ตราบใด ขณะนั้นเรียกว่า จิตทรงสมาธิ จิตของท่านจะมีแต่ความสุข
ถ้าหากว่าทำจิตได้ถึงระดับนี้แล้ว ปรากฏว่า ปัญญาก็จะเกิด คำว่า อริยสัจ ก็จะปรากฏขึ้นแก่ใจของบรรดาท่านทั้งหลาย ความรู้เท่าของคำว่า การเกิดเป็นทุกข์ ความแก่เป็นทุกข์ ความตายเป็นทุกข์ ความพลัดพรากจากของรักของชอบใจเป็นทุกข์ อย่างนี้มันจะเกิดขึ้นแก่ใจเอง ความเบื่อหน่ายในการเกิดก็จะปรากฏ
ธรรมใดที่องค์สมเด็จพระบรมสุคตศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงสอนเราไว้บอกว่า นี่เป็นอธรรมเป็นความไม่ดี จิตใจของเราจะเห็นน้อมไปตามกระแสพระสัทธรรมขององค์สมเด็จพระชินศรี ด้วยอำนาจของปัญญาอย่างแจ่มใส
ธรรมใดที่องค์สมเด็จพระจอมไตรบรมศาสดาบอกควรประพฤติปฏิบัติ ควรทำให้เกิดมีขึ้น เพราะธรรมนั้นจะสร้างความชุ่มชื่น คือ ความสุขให้เกิดขึ้นกับใจ
ใจ คือ ปัญญาของเรา ก็จะเห็นธรรมนั้นได้แบบผ่องใสไม่เคลือบแคลง เกิดเป็นคุณประโยชน์
การเจริญพุทธานุสสติกรรมฐาน พระอัตถกถาจารย์กล่าวว่า เป็นกรรมฐานที่สามารถสร้างความดีให้เข้าถึงซึ่งพระนิพพานได้ง่าย
สำหรับ พุทธานุสสติกรรมฐานโดยย่อ ก็ขอยุติไว้แต่เพียงเท่านี้ ต่อแต่นี้ไป ขอทุกท่านตั้งกายให้ตรง ดำรงสติให้มั่น กำหนดรู้ลมหายใจเข้าออก ใช้คำภาวนาว่า พุทโธ เวลาหายใจเข้านึกว่า พุท เวลาหายใจออกนึกว่า โธ จนกว่าจะได้ยินสัญญาณบอกหมดเวลา *สวัสดี*

ออฟไลน์ Wisdom

  • สมาชิก
  • ***
  • กระทู้: 242
  • ใครจะใหญ่เกินกรรม
    • ดูรายละเอียด
Re: พุทธานุสสติกรรมฐาน
« ตอบกลับ #1 เมื่อ: กุมภาพันธ์ 22, 2012, 07:12:07 PM »
ศีลบารมีปฏิบัติ

ท่านสาธุชนพุทธบริษัททั้งหลาย และท่านพระโยคาวจรทั้งหลาย บัดนี้ท่านทั้งหลายได้พากันสมาทานศีลและสมาทานพระกรรมฐานแล้ว ต่อไปขอให้ท่านทั้งหลายรวบรวมกำลังใจของท่าน ตั้งใสดับการศึกษาใน บารมี 10 เพราะว่า บารมี 10 นี้ มีความสำคัญมาก
ถ้าหากว่าท่านทั้งหลายเจริญพระกรรมฐานมาสักกี่แสนปีแล้วก็ตาม ถ้าหากว่า บารมี 10 ของท่านยังไม่ครบถ้วน คำว่า พระอริยเจ้า ย่อมไม่มีกับท่าน
ในที่นี้ก็จะต้องเข้าใจคำว่า บารมี เสียก่อน
คำว่า บารมี นี่ หมายถึง กำลังใจ หมายความว่าท่านทั้งหลาย ต้องมีกำลังใจทรงความดีทั้ง 10 ประการไว้ในใจครบถ้วนทุกอย่างไม่บกพร่อง
คำว่า ทรงความดี นี่ไม่ได้หมายความว่าจำได้ ต้องทำได้ให้จิตทรงอารมณ์เป็นปกติ
ขอทบทวนอีกนิดหนึ่ง บารมี 10 ประการก็คือ
(1) ทานบารมี ได้แก่ การให้ทาน
(2) ศีลบารมี คือ การทรงศีลให้บริสุทธิ์
(3) เนกขัมมบารมี คือ การถือบวช
(4) ปัญญาบารมี คือ ทรงปัญญารู้เท่าทันตามสภาวะตามความเป็นจริงคือ อริยสัจ 4
(5) วิริยบารมี คือ มีความเพียรไม่ท้อถอย
(6) ขันติบารมี คือ มีความอดทน
(7) สัจจบารมี คือ มีความจริงใจ
( 8) อธิษฐานบารมี คือ มีความตั้งใจ
(9) เมตตาบารมี คือ มีจิตใจเมตตาปรานี มีความรักในคนและและสัตว์เป็นปกติ
(10) อุเบกขาบารมี ได้แก่ การวางเฉย
โดยเฉพาะอย่างยิ่งจุดจบก็คือ อุเบกขาบารมี อุเบกขาบารมี ในที่นี้ได้แก่ สังขารุเปกขาญาณ
สำหรับ ทานบารมี ได้พูดกับบรรดาท่านทั้งหลายมาแล้ว หวังว่าท่านทั้งหลายคงเข้าใจพอ ได้โปรดทราบนะ คำพูดทุกอย่างที่ผม พูดไปทุกคำ ผมถือว่าพวกท่านเข้าใจดีพอ และก็ทำได้ด้วย เพราะว่าถ้าหากว่าเราทำไม่ได้ เราก็จะอยู่ในเขตของพระพุทธศาสนาเพื่อประโยชน์อะไร
เพราะในเขตของพระพุทธศาสนานั้นต้องการคนดี ไม่ต้องการคนเลว คำว่าดีในพระพุทธศาสนาคือ ต้องทรง บารมี 10 ครบถ้วน
สำหรับวันนี้จะพูดถึง ศีลบารมี
คำว่า ศีล แปลว่า ปกติ
ถ้าเราเป็นฆราวาส ถ้าหากว่าเป็นฆราวาสปกติของปุถุชนก็ดี หมายถึงเป็นผู้ทรงศีลบริสุทธิ์ ผู้เข้าถึงไตรสรณาคมน์
กัลยาณชน หมายถึง ผู้ทรงฌาน
อริยชน 2 ขั้น หมายถึง พระโสดาบันกับพระสกิทาคามี อย่างนี้ต้องมีศีล 5 เป็นปกติ
โดยเฉพาะอย่างยิ่งพระโสดาบันกับพระสกิทาคามีต้องทรงศีล 5 เป็นปกติ จึงจะชื่อว่าพระโสดาบันกับสกิทาคามี
สำหรับอารมณ์อารมณ์จิตถ้าเข้าถึงพระอนาคามี ตอนที่เข้าถึงพระอนาคามีนี่จะมีศีล 8 เป็นปกติ เพราะว่าพระอนาคามีเป็นผู้ตัด กามฉันทะ กับ ปฏิฆะ อารมณ์แห่งกามารมณ์ย่อมไม่มีในพระอริยเจ้าระยะนี้ คือ ว่าพระอนาคามี
สำหรับพระอรหันต์ก็ไม่ต้องพูดกัน
สำหรับพระภิกษุสามเณรก็เหมือนกัน ภิกษุสามเณรมีศีลคงที่ แต่มีจิตดีขึ้นเพราะทรงศีลบริสุทธิ์
เป็นอันว่า ศีล แปลว่า ปกติ หมายความว่าคนทุกคนที่เกิดมาในโลกนี้ ถ้าไม่ต้องการขาดทุน หมายถึงว่าเราเกิดมาเป็นคนแล้ว ถ้าตายจากคนกลับไปเกิดเป็นสัตว์นรกหรือว่าไปเกิดเป็นเปรต เป็นอสุรกาย หรือเป็นสัตว์เดรัจฉาน หรือว่าเกิดเป็นคนแต่มีสภาวะเท่าเดิม อย่างนี้ถือว่าเราขาดทุน
ฉะนั้น ปกติของคนจะต้องปฏิบัติในศีลให้บริสุทธิ์ ถ้าจะมาเกิดเป็นคนอีกก็ต้องเกิดเป็นคนดีกว่านี้ คำว่าดีกว่านี้ก็ไม่ได้หมายความว่า ต้องมีโภคะมากไปกว่านี้
แต่เนื้อแท้จริง ๆ ถ้าปฏิบัติในศีลบริสุทธิ์จะต้องมีโภคสมบัติดีกว่านี้ มีรูปร่างหน้าตาสวยกว่านี้ และต้องมีทุกสิ่งทุกอย่างดีกว่าทั้งหมดคือ
(1) มีอายุยืนยาวตลอดอายุขัย ไม่ป่วยไข้ไม่สบาย และก็ไม่ตายก่อนอายุขัย
(2) มีทรัพย์สินสมบูรณ์บริบูรณ์ ทรัพย์สินทุกอย่างจะไม่มีอันตรายจากไฟไหม้ จากน้ำท่วม จากลมพัด จากโจรผู้ร้าย
(3) คนในปกครองจะอยู่อยู่ด้วยดี ไม่มีใครดื้อด้าน อยู่ในโอวาททุกอย่าง
(4) วาจาศักดิ์สิทธิ์ วาจาหอมหวนเป็นที่ปรารถนาในการรับฟังของคนดีทั่วไป อย่าลืมนะผมพูดว่าสำหรับคนดีทั่วไป สำหรับคนเลวไม่ต้องไปคำนึงถึง คนเลวเราจะพูดดีขนาดไหนมันก็เลวขนาดนั้น อย่าไปสนใจ
(5) แล้วก็จะต้องมีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์ดีกว่านี้
นี่หมายถึงว่าถ้าเรามีศีลบริสุทธิ์
ทีนี้มาว่ากันถึง ศีลบารมี ความจริงมี ศีลบารมี ข้อเดียวก็จะไปนิพพานได้ ถ้าเราฉลาดเหมือนกับที่ผมพูดมาแล้วใน ทานบารมี ถ้าเรามี ทานบารมี เคร่งครัดเราก็จะไปนิพพานได้ ทีนี้ขึ้นชื่อว่าบารมีอย่างใดอย่างหนึ่ง ถ้าเราจะสร้างให้ครบถ้วนจริง ๆ ต้องอาศัยบารมีอีก 9 อย่างเข้ารวมตัวกัน
แต่ว่าเรื่องนี้ผมพูดไว้แล้วใน บารมี 10 แต่นี่เรามาพูดกันถึงด้านปฏิบัติ ด้านปฏิบัติจำต้องพูดกันละเอียดสักหน่อย เพราะถือว่าการสอนพระกรรมฐานชุดนี้ เป็นกรรมฐานชุดสุดท้าย
ทั้งนี้เพราะอะไร เพราะว่าการสอน บารมี 10 ก็หมายถึงว่าการสอนให้ท่านเป็น พระอริยเจ้า กันนั้นเอง
และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผมรู้ตัวผมดีว่า ผมคงไม่มีเวลามานั่งพูดให้ท่านฟังอีกนานนัก เพราะเวลานี้ร่างกายมันกรอบเต็มทนแล้ว ภารกิจก็มาก ขันธ์ 5 ก็เสื่อมโทรมนัก อายุขัยมันก็ใกล้จะหมด
ฉะนั้น การสอน บารมี 10 ขอท่านทั้งหลายได้ทราบว่า ผมสอนเทกระเป๋า
ทั้งนี้หมายความว่า ผมจะตายหรือไม่ตายก็ตาม ถือว่าเป็นการทิ้งไพ่ใบสุดท้ายในการปฏิบัติของท่านทั้งหลาย
ในการปฏิบัติ บารมี 10 โดยเฉพาะอย่างยิ่งในข้อศีล เราจะต้องเทียบกันเป็น 2 ระยะเหมือนกันว่า บารมีต้น หรือ ปรมัตถบารมี
ก่อนที่เราจะนึกถึงศีลว่า ทำไมเราจะต้องปฏิบัติในศีลนั้นด้วย
การเจริญบารมีเขาคิดกันอย่างนี้นะว่า ทำไมเราจึงต้องมีศีล คนอื่นที่เขาบกพร่องในศีล เขาร่ำรวยเยอะถมไป
บางคนที่บกพร่องในศีล เขาเป็นคนมีอำนาจวาสนาบารมี มียศศักดิ์ใหญ่โตก็เยอะถมไป คนที่บกพร่องในศีลอาจจะมีอำนาจวาสนามาก ปกครองคนทั้งประเทศก็ถมไป
แต่ว่าเราเป็นคนดีศีลกลับมีอะไรไม่ดีเท่าเขา
ถ้าคิดอย่างนี้ละก็ขอประทานอภัย โปรดตั้งใจเตรียมตัวไว้ว่าท่านต้องการนรกขุมไหน เตรียมตัวว่าตายคราวนี้เราไปนรกแน่ ๆ
การปฏิบัติ บารมี 10 เราไม่ได้ปรารภโลกธรรม คือ
- ไม่ได้ต้องการยศ
- ไม่ต้องการความร่ำรวย
- ไม่ต้องการมีอำนาจวาสนาในทางโลกีย์วิสัย
- เราปฏิบัติในศีลต้องการความบริสุทธิ์ของใจ
นี่คำว่า ศีล ท่านย่อมรู้กันแล้วก็มานั่งดูทีว่า ทำไมคนเราจึงต้องมีศีล ศีลเป็นคุณหรือเป็นโทษ ต้องใช้ปัญญาพิจารณากันหน่อยหรือว่าต้องใช้ปัญญานำหน้าสัญญา
คำว่า สัญญา คือ ความจำ
ปัญญา คือ ความคิด
ต้องใช้ปัญญานำหน้าสัญญา ปัญญานั้นความจริงมันนำอยู่แล้ว แสดงว่าสัญญาจะทรงความดีไว้ได้จะต้องมีปัญญาเป็นตัวนำ เราก็มานั่งใคร่ครวญเรื่องศีล โดยเฉพาะศีล 5 หรือ ศีล 8 สำหรับศีล 10 หรือ ศีล 227 จะไม่พูดถึง เพราะพระก็ดี เณรก็ดี ถ้าเณรทรงศีล 10 ไม่ครบ พระทรงศีล 227 ไม่ครบ เขาไม่เรียกพระ เขาไม่เรียกเณร เขาเรียก เถน
ในที่นี้สะกด เถน แปลว่า หัวขโมย คือ ขโมยเอาเพศของพระมาใช้ ขโมยเอาเพศของเณรมาใช้
เป็นอันว่าทุกท่านที่มีศีลไม่บริสุทธิ์ ท่านผู้นี้เรียกว่า มนุสสเปโต หรือ มนุสสติรัจฉาโน หมายความว่าร่างกายเป็นมนุษย์แต่ใจเป็นเปรต ร่างกายเป็นมนุษย์ แต่ใจเป็นสัตว์เดรัจฉาน ตายจากความเป็นมนุษย์ ก็เป็นสัตว์นรก เป็นเปรต เป็นอสุรกาย เป็นสัตว์เดรัจฉาน
สำหรับพระเณรต้องทรงศีลบริสุทธิ์อยู่แล้วผมจะไม่ปรารภถึง จะวัดศีลสำหรับฆราวาส และพระเณรก็ต้องดูด้วยนะว่าท่านทั้งหลายที่บวชอยู่นี้ มีศีล 5 บริสุทธิ์หรือเปล่า
ที่ผมพบมา 90 เปอร์เซ็นต์ ในบรรดาพระเณรที่พบ ประกาศตนว่าเป็นคนมีศีล 227 แต่ว่าเนื้อแท้จริง ๆ ศีล 5 ไม่ครบ ถ้าศีล 5 ไม่ครบจะมีศีล 227 ได้อย่างไร ก็ถ้าใครไปไหว้คนประเภทนี้ก็ถือว่าไหว้สัตว์นรก ไหว้เปรต ไหว้อสุรกาย ไหว้สัตว์เดรัจฉานนั่นเอง เพราะท่านผู้นั้นตายจากความเป็นคน ไม่มีโอกาสจะได้เกิดเป็นคน ไปตั้งต้นมาจากนรกใหม่
ตอนนี้ก็มาพูดกัน ปรึกษาหารือกัน ว่าศีลมีความสำคัญอย่างไร มาพูดกันถึงศีล 5 และศีล 8 เสียก่อน ต้องใช้ปัญญาพิจารณาด้วยไม่ใช่ว่าจะไปนั่งภาวนาว่า สีลัง สีลัง สีลัง อย่างนี้มันเป็นนกแก้วนกขุนทอง เพราะพูดตามที่เขาพูด แต่ไม่ใช่ภาษาเขา เขาไม่รู้เรื่องบอกให้เขาเรียก พ่อจ๋า แม่จ๋า นกแก้วนกขุนทองก็เรียก พ่อจ๋า แม่จ๋า ขอข้าวกินหน่อย แกก็พูดขอข้าวกินทั้งวัน ทั้ง ๆ ที่แกไม่หิว เพราะว่าเขาสอนอย่างนั้น
นักปฏิบัติและนักบวชในพระพุทธศาสนาก็เหมือนกัน ถ้าไปนั่งจำแต่ชื่อของศีลหรือนั่งภาวนาแต่ชื่อของศีล มันอาจจะมีผลเป็นฌานสมาบัติได้เหมือนกัน
แต่ทว่าถ้าศีลบกพร่อง ฌานสมาบัติมันก็ไม่มี สมาธิเล็กน้อยมันก็ไม่เกิด
วิปฏิสาร
นี่ก่อนที่เราจะมาทรงศีลกัน เราจะต้องรู้จักศีลเสียก่อน
สำหรับภิกษุสามเณร ถ้าหากเป็นผู้มีศีลบริสุทธิ์ ท่านบอกว่า ทุกคนจะปราศจาก วิปฏิสาร คือ ความเดือดร้อน พระเณรที่มีความยุ่ง ๆ ขาดการเคารพนับถือของบรรดาประชาชนทั้งหลาย ก็เพราะว่าเป็นพระเป็นเณรที่ขาดศีลนั่นเอง เป็นชั้นเลวที่สุด พระเณรที่ไม่มีศีลบริสุทธิ์ เขาถือว่าเป็นพระเป็นเณรที่เลวที่สุด ไม่ใช่เป็นพระเป็นเณรที่ดีที่สุด
ท่านที่มีศีลบริสุทธิ์จงคิดว่าเรายังเลวมากเกินไป เพราะความดีของเราทรงไว้ได้แค่กามาวจรสวรรค์เท่านั้น ศีล 10 ก็ดี ศีล 227 ก็ดี ศีล 5 ก็ดี ศีล 8 ก็ดี มันก็เหมือนกัน แต่ถ้าหากว่าถ้าดีไปกว่านั้น จิตทรงศีลบริสุทธิ์ไม่ใช่ไปนั่งภาวนาว่า สีลัง ศีลทุกสิกขาบท ทรงอารมณ์จิตบริสุทธิ์ จิตรักษาไว้ได้บริสุทธิ์โดยไม่ละเมิดศีลด้วยเจตนา ในจิตเราคำนึงนึกอยู่เสมอว่า เราจะทรงศีลให้บริสุทธิ์ยิ่งกว่าชีวิต จิตคิดถึงศีลเป็นปกติอย่างนี้ จัดเป็นฌานใน สีลานุสสติกรรมฐาน อย่างนี้เป็นพรหมได้
แต่สำหรับ ศีลบารมี ในที่นี้ ไม่ต้องการได้กามาวจรสวรรค์แล้วก็ไม่ได้หมายให้ต้องการพรหมโลก ที่ศึกษา ศีลบารมี เพื่อต้องการเป็น พระอริยเจ้า คือ พระอรหันต์
ฉะนั้น ก่อนที่เราจะนั่งปฏิบัติศีลให้บริสุทธิ์ ก็ต้องดูผลของศีลว่า ถ้าเราปฏิบัติศีลไม่บริสุทธิ์มันมีความสุขหรือมีความทุกข์ เขาเอาดีกันตรงนี้ ไม่ใช่ไปนั่งเอาดีอวดศีลกัน
ถ้าบวชมาแล้วก็คุยบอกว่าฉันมีศีล 227 ดีไม่ดีแค่ศีล 5 ก็ยังไม่ครบ ในเมื่อศีล 5 ไม่ครบจะเอาอะไรมาเป็นศีล 227
ปาณาติปาตาเวรมณี
ตอนนี้เรามานั่งมองศีล สำหรับพระทุกสิกขาบทอย่าเคลื่อน เรามาดูศีล 5 กันก่อน ศีล 5 ท่านว่า
ปาณาติปาตาเวรมณี เราจะงดเว้นฆ่าสัตว์ตัดชีวิต และเบียดเบียนสัตว์ให้ได้รับความลำบาก
มานั่งนึกดูว่าพระพุทธเจ้าทำไมบอกอย่างนี้ ที่การไม่ให้เบียดเบียนซึ่งกันและกันมันเป็นผลของความสุข มันก็ไม่ยาก คนที่มีศีลข้อนี้ต้องมีเมตตานำหน้า
เมตตา คือ ความรัก
กรุณา ความสงสาร
มุทิตา มีจิตใจอ่อนโยน
อุเบกขา มีอารมณ์วางเฉย
นั่น หมายความว่า เราเห็นสัตว์ที่ควรจะฆ่าได้เราก็ไม่ฆ่าเพราะความรัก
เราจะประทุษร้ายก็ไม่ประทุษร้ายเพราะความสงสาร
ไอ้เราจะไม่ฆ่าเขา เราจะไม่ทำร้ายเขา ด้วยอารมณ์ของเราไม่มีความอิจฉาริษยาใคร เห็นเขาได้ดีเราก็ไม่อิจฉาเขา เรายินดีกับความดี
ถ้าเขาทำเป็นที่ไม่ถูกใจเราก็เฉย คิดว่าเขาจะชั่วก็ให้ชั่วแต่ตัวของเขา เราไม่ชั่วด้วย
อันนี้เป็นอารมณ์ของปัญญา อารมณ์ของปัญญาต้องไปล้วงเอาเมตตาความรัก กรุณาความสงสารเข้ามาควบศีลจึงจะปรากฏ คือ ในศีลข้อที่ 1 คือ ทุกข้อนั่นแหละ ศีลทุกข้อจะต้องมี พรหมวิหาร 4 ครบถ้วน จึงจะมีศีลบริสุทธิ์ นี่เราว่าใน ศีลบารมี เพื่อความเป็นพระอรหันต์
ทีนี้ก็มาถึงศีลข้อที่ 1 ถ้าเราละเมิดล่ะจะเป็นอย่างไร
ถ้าเราปราศจากความเมตตาปราณี เป็นคนใจร้ายประทุษร้ายเขา อยากจะฆ่าเขา ถ้าเราทำกับสัตว์ตัวเล็ก ๆ มันก็จะต้องหมายถึงเรารอผลชาติหน้า หรือว่าฆ่าสัตว์ที่ไม่มีเจ้าของ มันก็ต้องรอผลชาติหน้า
แต่ผลของชาตินี้ที่เรามองไม่เห็นก็คือ ความเลวของจิต มีอารมณ์อำมหิต มีความโหดร้าย เรามองกันไม่ค่อยเห็น เราจะมองเห็นกันได้แต่เฉพาะที่ต้องทำกับสัตว์ที่สนองเราได้ นั่นหมายความว่า เราจะต้องพบกับคู่ต่อสู้ของเรา
ทีนี้เราก็ลองมาทำกับคนบ้าง ทีแรกเราก็มีความเมตตา เรามีความรัก เจอะหน้าใครเราก็ยิ้มแย้มแจ่มใสยกมือไหว้ มันของไม่ยากความดี เราอยากจะให้คนไหว้เราไม่ยาก
เรายกมือไหว้เขา เขาก็ยกมือไหว้เรา
ยิ้มให้เขา เขาก็ยิ้มให้เรา
พูดวาจาไพเราะให้เขา เขาก็พูดวาจาไพเราะให้เรา
เป็นอันว่าถ้าหากว่าเราทำตามนั้น ลองนึกดู สำหรับตัวเรา ถ้าเขามาทำกับเราอย่างนั้น จิตใจของเราจะมีความรู้สึกยังไง เจอหน้าคน คนไหว้ เจอหน้าคน เขายิ้มให้ เจอหน้าคน เขาพูดจาอ่อนหวาน จิตใจของเรามีความสุขหรือจิตใจของเราจะมีความทุกข์ ตอนนี้ต้องใช้ปัญญาพิจารณาดูให้ดี
มาดูอีกตอนหนึ่ง มาดูลักษณะตรงข้าม ถ้าเราเจอหน้าใคร ใครเขาด่าเรา พบหน้าเขา เขาก็ชกหน้าเรา เป็นอันว่าเราจะมีความรู้สึกอย่างไร ถ้าเขาด่าเรา ถ้าเรากำลังใจไม่ดีพอ ถ้าไม่ถึงอนาคามีเราก็ไม่ชอบใจ
แต่ถ้าเขามาตีเรา มาชกหน้าเรา มาทำร้ายเรา เราก็ไม่ชอบใจเหมือนกัน อารมณ์ประเภทนั้นมันเป็นอารมณ์ของความสุข หรืออารมณ์ของความทุกข์
เราก็จะมองเห็นว่าแม้แต่ศีลข้อที่ 1 ถ้าเราละเมิดมันก็จะพบความทุกข์อย่างมหันต์
แล้วทีนี้เราจะทำอย่างไรต่อไป เราควรจะเป็นคนมีศีลหรือคนไม่มีศีล
เจอะหน้ากันยิ้มเข้าหากันดี หรือบึ้งเข้าหากัน
เจอหน้ากันพูดดีเข้าหากัน หรือว่าด่ากันดี
เจอหน้ากันต่างคนต่างอ่อนน้อมแสดงความเคารพซึ่งกันและกันดี หรือว่าชกหน้ากันดี
ถ้าหากว่าท่านทั้งหลายเป็นคนที่มีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์ ท่านก็จะต้องตอบว่าพบหน้ากันยิ้มเข้าหากันนั่นแหละดี หรือว่ามีการอ่อนน้อมซึ่งกันและกันนั่นแหละดี พูดจาอ่อนหวานซึ่งกันและกันนั่นแหละดี นี่เราก็มองเห็นชัด ๆ ถ้าเรามีศีลแล้วอารมณ์ใจก็จะเป็นความสุข
ศีลจะมาจากไหนได้ต้องไปหาเหตุ การสร้างความดีในพุทธศาสนาต้องมีเหตุและมีผล ไม่ใช่ว่ามานั่ง ๆ อยู่จะรู้สึกว่ามีศีล ฉะนั้น ตอนเย็นจะให้เปิดพระวินัยให้ฟังกันอยู่เสมอ สำหรับพระจะได้เข้าใจในเรื่องการปฏิบัติ
ฉะนั้น ขอท่านผู้ใช้ขยายเสียงตามสาย ตอนเย็นทุกเย็นจะต้องใช้ระเบียบและวินัยทุกวัน อย่าเว้น ที่จะให้ฟังอย่างเดิม ไม่ได้หมายต้องการให้เบื่อ เปิดให้ฟังอยู่เสมอก็ไม่แน่ว่าท่านจะปฏิบัติได้ครบถ้วน
ถ้ายังอยู่วัดนี้ปฏิบัติวินัยไม่ครบ ก็วงเล็บไว้ได้ว่าตายลงอเวจี
วันนี้ว่ากันถึงศีลข้อที่ 1 มันก็ไม่จบ เรามาดูเหตุดูผลว่าการปฏิบัติศีลนี่ดี ดีกว่าละเมิดศีล
แล้วทำไมจึงต้องปฏิบัติในศีล มันก็ต้องมานั่งคิดดูว่าชีวิตเราที่เกิดมานี้ ว่ามันจะทรงตัวอยู่ตลอดกาลตลอดสมัยไหม นั่งมองหาความจริงว่าคนที่เขาเกิดมาก่อนเราจะตายไปบ้างมีหรือเปล่า คนเกิดทีหลังเราตายไปมีบ้างหรือเปล่า ก็ต้องทราบว่ามี

ออฟไลน์ Wisdom

  • สมาชิก
  • ***
  • กระทู้: 242
  • ใครจะใหญ่เกินกรรม
    • ดูรายละเอียด
Re: พุทธานุสสติกรรมฐาน
« ตอบกลับ #2 เมื่อ: กุมภาพันธ์ 22, 2012, 07:12:20 PM »
...ขอให้ทุกท่าน จงอย่าหลงตัวว่าเป็นผู้ทรงญาณ เป็นพระอริยเจ้า ความเป็นพระอริยเจ้าไม่ต้องประกาศ เห็นหน้าปั๊บรู้จักได้ยินชื่อ ก็รู้ว่าเป็นพระอริยเจ้า หากว่าท่านยังไม่เป็น และหลงว่าเป็นนี่มันจะซวย ไม่ต้องประกาศเขา ความดีอยู่ที่เรา เราไม่ได้บวชเพื่อบูชาของชาวบ้าน เราบวชเพื่อความดับไม่มีเชื้อ...

หลวงพ่อพระราชพรหมยาน
วัดท่าซุง อุทัยธานี

ออฟไลน์ Wisdom

  • สมาชิก
  • ***
  • กระทู้: 242
  • ใครจะใหญ่เกินกรรม
    • ดูรายละเอียด
Re: พุทธานุสสติกรรมฐาน
« ตอบกลับ #3 เมื่อ: กุมภาพันธ์ 22, 2012, 07:12:42 PM »
พุทธานุสสติเป็นวิปัสสนาญาณ


วันนี้ก็จะขอพูดเรื่อง พุทธานุสสติ ต่อ เพราะว่า พุทธานุสสติตามที่อธิบายมาแล้ว เราจัดเป็นระดับ 4 ระดับด้วยกัน คือ
อันดับแรก การพิจารณาตามแบบ คือ พิจารณาความดีของพระพุทธเจ้า โดยใช้คำว่า อิติปิ โส ภควา อรหัง สัมมาสัมพุทโธ เป็นต้น ใช้จิตใคร่ครวญในด้านจริยาของพระองค์ สร้างความเลื่อมใสให้เกิด สร้างความผูกใจให้เกิดในพระพุทธเจ้า อย่างนี้ผลจะพึงมีได้เพียงแค่อุปจารสมาธิ
ถ้าเราจะทำพุทธานุสสติกรรมฐานให้เป็นฌานสมาบัติ ท่านสอนให้จับภาพพระพุทธรูปองค์ใดองค์หนึ่งที่เราพอใจเวลาภาวนาไปว่าพุทโธ หรือ อรหัง ก็ตาม เอาจิตนึกถึงภาพนั้นเป็นอารมณ์ อย่างนี้ถือว่าเอาภาพพระพุทธรูปเป็นกสิณ ถ้าปฏิบัติแบบนี้ก็สามารถทรงเข้าถึงฌานที่ 4 ได้ จัดว่าเป็นรูปฌาน
ถ้าจะทำพุทธานุสสติให้เป็นอรูปฌาน เป็นสมาบัติ 8 ก็ให้จับรูปภาพพระพุทธรูปนั้นทรงอารมณ์จิต ให้เข้าถึงฌาน 4 เมื่อทรงจิตสบายดีแล้วก็เพิกภาพกสิณนั้นทิ้งไป คือ ถอนภาพออกจากใจ พิจารณาอากาศวิญญาณ ความไม่มีอะไรทั้งหมด แล้วสัญญาหรือไม่มีสัญญา ที่เรียกว่า อากาสานัญจายตนยะ วิญญาณัญจายตนะ อากิญจัญญายตนะ เนวสัญญานาสัญญายตนะ คือ ไม่พิจารณารูปเป็นสำคัญ ไม่ต้องการรูป ต้องการแต่นามฝ่ายเดียว
เพราะท่านที่ปฏิบัติแบบนี้ เพราะมีความรังเกียจในรูป ถือว่ารูปเป็นปัจจัยนำมาซึ่งความทุกข์ เกิดไปชาติหน้าไม่ต้องการรูปอีก และเป็นสมถภาวนาจัดเป็น อรูปฌาน
ในอันดับนี้ เราต้องการจะใช้ พุทธานุสสติกรรมฐาน ให้เป็นวิปัสสนาญาณ ท่านก็ให้ตั้งอารมณ์จิตของเรายึดภาพพระพุทธรูปเป็นอารมณ์ ทำภาพให้เห็นชัดด้วยจิตเป็นสมาธิถึงฌาน 4 แล้วก็สามารถจะบังคับรูปนั้นให้เล็กก็ได้ ให้โตก็ได้ แล้วบังคับให้หายก็ได้ สลับกันไปสลับกันมาอย่างนี้ แล้วก็จับภาพนั้นเป็นอารมณ์ พิจารณาว่าพระรูปพระโมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านี้
ความจริง พระพุทธเจ้าทรงเป็นอัจฉริยมนุษย์ เป็นผู้ประเสริฐสุด มนุษย์ผู้มีความอัศจรรย์ ไม่มีบุคคลใดจะเสมอเหมือน
แต่ว่าพระรูปพระโฉมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ในสมัยที่มีชีวิตอยู่ ก็มีความเกิดขึ้นในเบื้องต้น มีความเปลี่ยนแปลงไปในท่ามกลาง มีการสลายตัวไปในที่สุด ถึงแม้ว่าพระองค์จะเป็นผู้ประเสริฐกว่ามนุษย์ เทวดา หรือ พรหมก็ตาม ก็ไม่สามารถจะทรงขันธ์ 5 ให้ยืนยงคงอยู่ได้ตลอดกาลตลอดสมัย เมื่อเกิดขึ้นมาแล้ว ก็มีความเสื่อมไปในท่ามกลาง มีการสลายตัวไปในที่สุด
ทีนี้มานั่งมองตัวของเราเอง พิจารณาตัวของเราเองว่า พระพุทธเจ้านะดีกว่าเราหลายล้านเท่า ความดีของเราหยดหนึ่งในหลายล้านเท่าของท่านก็ไม่ได้
ในเมื่อขันธ์ 5 ขององค์สมเด็จพระจอมไตรบรมศาสดา ก็ไม่สามารถจะทรงอยู่ได้ เราซึ่งมีความดีไม่ถึง ขันธ์ 5 มันจะทรงอยู่ได้ยังไง มันก็ต้องมีความเกิดขึ้น มีการสลายตัวไปในที่สุดเหมือนกัน ขณะที่ทรงตัวอยู่ก็เต็มไปด้วยอำนาจของความทุกข์
นี่ มองเห็นขันธ์ 5 ของพระพุทธเจ้าว่า ไม่มีความจีรังยั่งยืน แล้วก็เข้ามาเปรียบเทียบกับขันธ์ 5 ของเรา
ที่พระพุทธเจ้ากล่าวว่า ขันธ์ 5 นี่ มันไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา เราไม่มีในขันธ์ 5 ขันธ์ 5 ไม่มีในเรา
ขันธ์ 5 คือ ร่างกายประกอบไปด้วยธาตุ 4 คือ ธาตุน้ำ ธาตุดิน ธาตุลม ธาตุไฟ มันทรงกายอยู่ได้ชั่วคราวแล้วมันก็สลายตัวไปในที่สุด
เมื่อการสลายตัวของมันปรากฏขึ้น ถ้ากิเลสของเรายังไม่หมดเพียงใด มันก็ต้องไปเกิดแสวงหาความทุกข์อีก เมื่อตายใหม่กิเลสยังไม่หมด มันก็ต้องไปเกิดใหม่ ให้มีความทุกข์เกิดขึ้นมาอีกหาที่สุดมิได้ จะเทียบกันได้กับพระรูปพระโฉมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่เรายกขึ้นเป็น กสิณ
ถ้าเราต้องการให้พระรูปพระโฉมปรากฏ ก็ปรากฏขึ้น เราต้องการให้หายไป สลายตัวไป การสลายตัวไปไม่ใช่จะสลายไปหมด เราต้องการให้ภาพนี้ปรากฏ ก็กลับมาปรากฏตามเดิม สลับกันไปสลับกันมาอย่างนี้ การที่ภาพหายไปถือว่า เป็นสภาวะของอนัตตา เราบังคับไม่ได้ แล้วภาพที่ทรงอยู่ก็ถือว่า อัตตา ทรงอยู่ แต่เป็นอัตตาชั่วคราว ต่อไปก็เป็น อนัตตา คือ สลายตัว
นี่เราก็มานั่งพิจารณาร่างกายของเรา ที่พระพุทธเจ้ากล่าวว่า
ชาติปิทุกขา ความเกิดเป็นทุกข์
ชราปิทุกขา ความแก่เป็นทุกข์
มรณัมปิทุกขัง ความตายเป็นทุกข์
โสกปริเทวทุกขโทมนัส ความพลัดพรากจากของรักของชอบใจเป็นทุกข์ เป็นต้น
นี่เรียกว่าทุกอย่าง เราเกิดมามันเต็มไปด้วยความทุกข์ หาความสุขไม่ได้ ในเมื่อร่างกายของเราไม่มีความสุข ร่างกายของพระพุทธเจ้าเองท่านก็ไม่มีความสุข เมื่อขันธ์ 5 มันเป็นปัจจัยนำมาซึ่งความทุกข์
ดูตัวอย่างพระรูปพระโฉมของพระพุทธเจ้าไม่สามารถจะทรงตัวได้ฉันใด ร่างกายของเราที่เต็มไปด้วยความทุกข์ มันก็ไม่สามารถจะทรงตัวไว้ได้ฉันนั้น มีความเกิดขึ้นแล้ว มีความเสื่อมไป แล้วมีการสลายตัวไปในที่สุด
ในขณะที่ทรงร่างกายอยู่ก็เต็มไปด้วยความทุกข์ ร่างกายเต็มไปด้วยความสกปรกโสมม มีเหงื่อ มีไคล มีอุจจาระ ปัสสาวะ น้ำเลือด น้ำเหลือง น้ำหนอง เต็มไปทั้งร่างกาย ไม่มีอะไรเป็นของน่ารัก ไม่มีอะไรเป็นของน่าชม มีแต่ของน่าเกลียด ฉะนั้น ถ้าตายแล้วคราวนี้ ถ้าเราต้องเกิดใหม่เราก็ต้องไปแบกทุกข์ใหม่
การที่เราจะไม่แบกทุกข์ต่อไป จะทำอย่างไร
องค์สมเด็จพระจอมไตรบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้าสอนให้เราละสังโยชน์ 10 ประการ อาศัย สักกายทิฏฐิ ตัวเดิมเป็นตัวปฏิบัติ คือ เป็นตัวตัด เอามาพิจารณาร่างกายว่า อัตภาพร่างกายนี้มันไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา เราไม่มีในร่างกาย ร่างกายไม่มีในเรา มันเกิดขึ้นแล้วมันต้องตายแน่ ถ้าการเกิด เกิดแล้วตายมีอยู่ตราบใด เราก็ยังไม่พ้นทุกข์ตราบนั้น
ฉะนั้น ขันธ์ 5 ที่เต็มไปด้วยความสกปรก ขันธ์ 5 ที่เต็มไปด้วยความไม่แน่นอนนี้เราไม่ต้องการ สิ่งที่เราต้องการ นั้นก็คือ พระนิพพาน อย่างเดียว
การที่เราจะต้องการพระนิพพานได้นั้น เราจะต้องปฏิบัติอย่างไรต่อไป
ในเมื่อเราเห็นว่า ขันธ์ 5 มันไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา พระพุทธเจ้าทรงกล่าวว่า ชาติปิทุกขา เกิดเป็นทุกข์ เราเชื่อท่าน ชราปิทุกขา ความแก่เป็นทุกข์ เราเชื่อท่าน มรณัมปิทุกขัง เมื่อความตายเข้ามาถึงเป็นทุกข์ เราเชื่อพระองค์พร้อมไปด้วยของจริง
เพราะความตายร่างกายต้องถูกบีบบังคับอย่างหนัก มีทุกขเวทนาอย่างหนัก มันจึงจะตายได้ คำสอนของพระพุทธเจ้าเป็นความจริง นี่เราไม่สงสัยในคำสอนของพระพุทธเจ้า
แล้วต่อไปเราก็ตั้งใจเกาะศีลให้บริสุทธิ์ ศีลถ้าเราเกาะได้แล้วก็ชื่อว่าเป็นการตัดอบายภูมิทั้ง 4 ประการ มี นรก เปรต อสุรกาย สัตว์เดรัจฉาน เป็นต้น
ฆราวาสตั้งใจทรงศีล 5 ให้บริสุทธิ์ สำหรับสามเณรทรงศีล 10 ให้บริสุทธิ์ สำหรับพระทรงศีล 227 ให้บริสุทธิ์ แล้วก็นั่งพิจารณาร่างกาย มันไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา มันแก่ลงทุกวัน มันพังลงทุกวัน ไม่ช้ามันก็สลายตัว ตัดความเมาในร่างกายเสีย อย่างนี้ก็ถือว่าเข้าถึงความดี เป็นอันดับแรก การตัดสังโยชน์ทั้ง 3 ประการได้จัดว่าเป็นพระโสดาบัน นี่เป็นทุนแล้ว
ต่อไปก็ขยับจิตให้สูงขึ้นไปกว่านั้น เพราะมันยังต้องเกิดอยู่อีกนี่ พระโสดาบันน่ะ เราก็มาพิจารณาร่างกายว่า ร่างกายนี้เป็นชิ้น เป็นท่อน มันไม่ได้เป็นแท่งทึบ แท่งอันเดียวกัน ข้างในเป็นโพรงเต็มไปด้วยอวัยวะต่าง ๆ น้อม กายคตานุสสติกรรมฐาน เข้าไปหา อสุภกรรมฐาน
เห็นว่า อัตภาพร่างกายนี้เต็มไปด้วยความสกปรกโสโครก มีอุจจาระ ปัสสาวะ น้ำเลือด น้ำเหลือง น้ำหนอง อยู่ข้างใน เป็นต้น ใช้ปัญญาพิจารณาให้เห็นทั้งร่างกายของเรา มีสภาพเหมือนกับซากศพที่เคลื่อนที่ได้ หรือ เหมือนกับส้วมที่เคลื่อนที่ได้ มันเต็มไปด้วยความสกปรก ไม่มีอะไรจะเป็นที่น่ารัก
เมื่อพิจารณาในด้านอสุภกรรมฐาน แล้วก็จับกายคตานุสสติขึ้นมาพิจารณาต่อว่า ร่างกายของเราก็ดี ร่างกายของบุคคลอื่นก็ดี ก็มีสภาพเหมือนกัน มันมีแต่ความสกปรกเหมือนกัน เราจะไปนั่งยึดถือว่า ร่างกายนี้เป็นเรา เป็นของเราเพื่อประโยชน์อะไร เพราะว่านอกจากสกปรกแล้ว ยังเต็มไปด้วยความทุกข์ ความแก่เข้ามาท่วมทับ แล้วก็มีความตายไปในที่สุด
พิจารณาแบบนี้ ค่อย ๆ พิจารณาไป ปัญญามันจะเกิด เกิดนิพพิทาญาณ คือ ความเบื่อหน่าย เห็นว่าขันธ์ 5 คือ ร่างกายไม่เป็นแก่นสาร ไม่เป็นสาระ ไม่เป็นที่พึ่ง ปรารถนาสำหรับเรา
เมื่อนิพพิทาญาณ ความเบื่อหน่าย บังเกิดขึ้น ก็พิจารณาเรื่อยไป ให้จิตเข้าถึงสังขารุเปกขาญาณ
ความหนาว ความร้อน ปรากฏขึ้น การกระทบกระทั่งจากวาจาที่ชอบใจบ้าง ไม่ชอบใจบ้างปรากฏขึ้น อาการของจิตมีความรู้สึกว่า นี่มันเป็นของธรรมดา ไม่มีอะไรทุกข์
ความป่วยไข้ไม่สบายบังเกิดขึ้น ก็ถือว่านี่มันเป็นหน้าที่ มันเป็นภาระของขันธ์ 5 คือ ร่างกายมันต้องป่วย
ความทรุดโทรมเกิดขึ้น ก็ถือว่าเป็นเรื่องธรรมดา เมื่อมันมีความเกิดขึ้นแล้ว ก็มีความแก่ไปในที่สุด
อาการกระทบกระทั่งกับคำนินทาว่าร้ายต่าง ๆ ก็คิดว่า คนเราที่เกิดมาในโลกนี้ มันไม่มีอะไรจีรังยั่งยืน หาความทรงตัวอะไรไม่ได้ แม้แต่วาจาเป็นเครื่องกล่าวกระทบกระทั่งนี้ จัดว่าเป็นโลกธรรม เป็นธรรมดาของคนเกิดมาในโลก ทำจิตให้เห็นว่า ทุกสิ่งทุกอย่างเป็นเรื่องของธรรมดา
เมื่อถูกด่าใจก็สบาย อาการป่วยไข้ไม่สบายเกิดขึ้นก็สบาย ความกระทบกระทั่งอารมณ์เป็นที่ไม่ชอบใจเกิดขึ้นใจก็สบาย ใครเขาชมก็ไม่หวั่นไหวไปตามคำชม ตัดอารมณ์แห่งความโกรธเสียได้ ตัดอารมณ์ความทุกข์ คือ ความเกาะขันธ์ 5 เสียได้ อย่างนี้ชื่อว่าเป็นพระอนาคามี
เพราะการพิจารณาร่างกายในด้านอสุภกรรมฐาน เป็นการตัดความกำหนัดยินดีในรูป เสียง กลิ่น รส และสัมผัส จนกระทั่งความรู้สึกในเพศไม่มี การยอมรับนับถือกฎธรรมดาของโลก
ใครเขาด่าก็ถือว่าเป็นธรรมดา เขาว่าก็เป็นธรรมดา เขาเสียดสีก็เป็นเรื่องธรรมดา ใจไม่มีความหวั่นไหว ใจไม่มีการสะทกสะท้าน คือ ไม่มีความหนักใจ ไม่มีการเจ็บใจ ถือว่าธรรมดาของคนเกิดมาในโลกเป็นอย่างนี้ อย่างนี้ชื่อว่า ตัดโทสะลงไปเสียได้ มีอารมณ์ยอมรับนับถือกฎของธรรมดา
เมื่อเราตัดโทสะได้ ตัดกามราคะได้ ทั้ง 2 ประการ ท่านเรียกว่า พระอนาคามี
ทั้งนี้เพราะอะไร เพราะเรายึดเอาพุทธานุสสติเป็นอารมณ์ เป็นที่ตั้ง คือ กสิณ แล้วพิจารณาร่างกายของพระพุทธเจ้า ร่างกายของเรา ร่างกายของชาวบ้าน เอามาเปรียบเทียบกันว่า ไม่มีการทรงตัว มีการเสื่อมไป มีการสลายไปในที่สุด จะมานั่งรักความสวยสดงดงามอันเต็มไปด้วยความหลอกลวงเพื่อประโยชน์อะไร จะทำจิตหวั่นไหวไปในโลกธรรม ก็ไม่มีประโยชน์ เพราะร่างกายมันทรงตัวไม่นาน แล้วมันก็พัง
ในเมื่อเรายับยั้งอารมณ์จิตยอมรับนับถือกฎของธรรมดาได้ทุกอย่าง ก็ชื่อว่าเป็นพระอนาคามี เกือบจะเป็นอรหันต์อยู่แล้ว อย่างนี้ตายแล้วไม่ต้องเกิด ไม่ต้องกลับมาเกิดเป็นมนุษย์ เป็นเทวดา หรือ พรหม แล้วก็นิพพานบนนั้น
ต่อไปเราต้องการทำจิตใจให้ถึงความเป็นอรหันต์ ก็มาพิจารณาความดีของพระพุทะเจ้า พระพุทธเจ้าทรงศึกษาในสำนักของอาจารย์ทั้งสอง คือ อาฬารดาบส อุทกดาบสรามบุตร เป็นต้น ได้ฌาน 4 คือ รูปฌานและอรูปฌาน รูปฌานและอรูปฌานนี่เป็นปัจจัยให้เข้าถึงความดี คือ มีจิตตั้งมั่น
แต่องค์สมเด็จพระทรงธรรม์บรมศาสดา ก็เห็นว่ายังไม่ใช่ที่สุดของความทุกข์ ยังไม่จบกิจ ยังชื่อว่าไม่ถึงโมกขธรรม ธรรมเป็นเครื่องพ้นแห่งความตาย ยัง ยังไม่ถึง เราก็ถือจริยาของพระพุทธเจ้าเป็นสำคัญ
ว่าอารมณ์ของเราที่เข้าถึงอนาคามี นี่มันยังมีทุกข์ คือ ยังมีอารมณ์สำคัญอยู่ เห็นว่า ป็นของดี อรูปฌานเป็นของดี ยังมีมานะถือตัวถือตนพอสมควร ยังมีอุทธัจจะมีอารมณ์ฟุ้งซ่าน ยังมีอวิชชา ความโง่ บางอย่างยังติดตัวอยู่
องค์สมเด็จพระบรมครูกล่าวว่า ถ้าเราจะตัดความโง่ให้หมด ก็ให้ใคร่ครวญหาความจริงว่า รูปฌานก็ดี อรูปฌานก็ดี ทั้งสองประการนี่เป็นแต่เพียงบันไดก้าวเข้าไปสู่พระนิพพานเท่านั้น ไม่ใช่อารมณ์ที่เข้าถึงพระนิพพาน
แต่ว่ารูปฌานและอรูปฌานทั้งสองประการนี่ เราต้องเกาะเข้าไว้ เพื่อความอยู่เป็นสุขหรือว่าจิตไม่ฟุ้งซ่าน แต่เรายังไม่เห็นว่าที่สุด คือ รูปฌานและอรูปฌานนี่ยังไม่เป็นที่สุดของความทุกข์ เราต้องเดินทางต่อไป จึงตัดอารมณ์ ไม่มัวเมาในรูปฌานและอรูปฌาน แต่จะรักษาไว้เพื่อประโยชน์แก่จิตใจเท่านั้น
ทรงฌานไว้เป็นปกติ แล้วใช้ปัญญาพิจารณาขันธ์ 5 ว่า มันไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา เราไม่มีในขันธ์ 5 ขันธ์ 5 ไม่มีในเรา ขันธ์ 5 เต็มไปด้วยความทุกข์ ขันธ์ 5 มีการสลายตัวไปในที่สุด ไม่มีอะไรเป็นประโยชน์
ในเมื่อขันธ์ 5 มันไม่ทรงตัวแบบนี้แล้ว มานะการถือตัวถือตน เราจะไปนั่งถือตัวว่า เราดีกว่าเขา เราเสมอเขา เราเลวกว่าเขา เพื่อประโยชน์อะไร เพราะร่างกายของคนมีธาตุ 4 เหมือนกัน เต็มไปด้วยความสกปรกเหมือนกัน มีความเสื่อมเหมือนกัน มีการสลายตัวไปในที่สุดเหมือนกัน
คนและสัตว์มีสภาวะเสมอกัน คือ มีความเกิดขึ้นในเบื้องต้น มีความแก่ในท่ามกลาง และมีการสลายตัวไปในที่สุด นี่ย่อมไม่ยังประโยชน์ให้สำเร็จในการที่จะมานั่งเมาตัวหรือถือตัว วางอารมณ์แห่งการถือตัวถือตนเสีย
มีเมตตาบารมีเป็นที่ตั้ง เห็นคนและสัตว์ทั้งหมด ถือ ว่าทุกคนมีความทุกข์ ทุกคนจะต้องมีความตายไปในที่สุด แล้วเราจะมานั่งถือตัวถือตน เสมอกัน เลวกว่ากัน ดีกว่ากัน เพื่อประโยชน์อะไร เพราะต่างคนต่างก็ไม่มีร่างกายเป็นเรา เป็นของเราจริง เรือนร่าง ร่างกายเป็นแต่เพียงบ้านชั่วคราวเท่านั้น ถ้าทำอารมณ์ได้อย่างนี้ เราก็จะตัดมานะคือ การถือตัวถือตนเสียได้
ต่อไปก็เหลือ อุทธัจจะ คือ ความฟุ้งซ่าน พระอนาคามียังมีความฟุ้งซ่านลงไปหาอกุศล เพราะนับตั้งแต่เป็นพระโสดาบันเป็นต้นมา อารมณ์ที่เป็นอกุศลย่อมไม่มีแก่บุคคลผู้เข้าถึงความเป็นพระอริยเจ้า จะมีอย่างเดียวก็คือ อารมณ์จิตเป็นกุศลเท่านั้น
อย่างพระอนาคามีที่เรียกว่ายังมีอารมณ์จิตฟุ้งซ่านก็หมายถึงว่า ยังพอใจในการบำเพ็ญทาน เห็นว่าทานเป็นของดี พอใจในการรักษาศีล พอใจในการสงเคราะห์ในด้านสังคหวัตถุ
ในบางครั้งบางคราวจิตใจก็แวะซ้ายแวะขวา ยังไม่ตัดหน้าตรงไปเลยทีเดียว ยังเห็นว่า อัตภาพร่างกายนี้บางครั้งนี้มันยังเป็นประโยชน์อยู่ เรียกว่า บางครั้งยังเห็นว่าร่างกายเป็นของดีอยู่ ในการบางคราวยังเห็นว่าทรัพย์สิน คือ วัตถุที่เราปกครองที่เราหามาได้ มันเป็นของดีอยู่
แต่ถึงกระนั้นก็ดี จิตใจของท่านก็ไม่ลืมนึกว่าท่านจะต้องตาย จะต้องพลัดพรากจากของรักของชอบใจ ความหวั่นไหวไม่มีก็จริงแหล่ แต่ทว่าจิตก็ยังมีอารมณ์เกาะอยู่บ้างตามสมควร นี่เรียกว่า อารมณ์ฟุ้งซ่านของพระอนาคามีนี้ ก็ไปตัดที่สักกายทิฏฐิ พิจารณาร่างกายว่า ในเมื่อร่างกายของเรามันจะพังแล้ว อะไรในโลกนี้มันจะเป็นของเราอีก มันก็หาไม่ได้ ถ้าตายแล้วมันก็แบกเอาไปไม่ได้ ถ้ามันเป็นเราจริง เป็นของเราจริง เราก็ต้องแบกมันไปได้
นี่ดูตัวอย่างสรีระขององค์สมเด็จพระจอมไตรบรมศาสดา เมื่อทรงปรินิพพานแล้ว ขณะที่ทรงชีวิตอยู่ องค์สมเด็จพระประทีปแก้วมีทรัพย์สินมาก ชาวบ้านเขานำมาถวายราคานับไม่ได้
เมื่อเวลาที่องค์สมเด็จพระจอมไตรทรงปรินิพพานแล้วแม้แต่จีวรชิ้นหนึ่งก็นำไปไม่ได้ ปล่อยให้ร่างกายทับถมพื้นปฐพี ความนี้มีอุปมาฉันใด เราเองก็ฉันนั้น เราจะไปนั่งฟุ้งซ่าน ยึดโน่นยึดนี่ เพื่อประโยชน์อะไร ใจมันก็จะปลดออกเสียได้ เมื่อเจริญเข้ามาถึงตอนนี้แล้ว องค์สมเด็จพระจอมไตรจึงกล่าวว่า เหลือ อวิชชาอีกหนึ่ง ตัวอวิชชานี่ ได้แก่ ฉันทะกับราคะ
ฉันทะเห็นว่ามนุษยโลกดี เทวโลกดี พรหมโลกดี
ราคะ เห็นว่ามนุษยโลกสวยงาม เทวโลกสวย พรหมโลกสวย
เราก็มานั่งตัด ฉันทะกับราคะ ทั้งสองประการเสียพิจารณาหาความจริงว่า ในเมื่อร่างกายของเรามันจะพังแล้ว ความสวยของความเป็นมนุษย์ เมืองมนุษย์ก็ดี เทวดาก็ดี หรือพรหมก็ดี มันจะมีประโยชน์อะไร ในฐานะที่เราเองก็ไม่สามารถทรงตัวอยู่ได้ มันไม่เกิดประโยชน์อะไร
ฉะนั้น ขึ้นชื่อว่าการเกิดเป็นมนุษย์ก็ดี เทวดาก็ดี พรหมก็ดี ย่อมไม่เป็นที่ปรารถนาขิงเรา เราต้องการอย่างเดียวคือ พระนิพพาน จับจิตจับจุดเฉพาะอารมณ์พระนิพพานเพียงเท่านั้น
แล้วก็ถอยหลังเข้ามาดูอารมณ์ความจริงขิงเราว่า เวลานี้เรามีความโลภ คือ เมาในลาภสักการะหรือเปล่า ยังถือว่ามีอะไรเป็นเราเป็นของเรามีบ้างไหม ถ้ายังมีก็ยังถือว่าใช้ไม่ได้ ยังไม่ใช่พระอรหันต์
ถ้าเห็นร่างกายอัตภาพนี้มันไม่ใช่เรา ไม่ใช่ขิงเราแล้ว ทรัพย์สินที่มีอยู่นี่มันก็ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ขิงเรา มันทรงตัวอยู่ไม่ได้ ตายแล้วนำไปไม่ได้ บางทีเรายังไม่ทันจะตาย ยังไม่ตายเราก็ต้องพลัดพรากจากของรักของชอบใจ คือ ของที่เราต้องการมันก็สลายตัวไปหมด มันไม่ปรากฏว่าจะยืนยงคงทนตลอดกาลตลอดสมัย
นี่เราจึงเห็นว่าความเกิด ความแก่ ความเจ็บ ความตายเป็นของไม่ดี การเกิดเป็นมนุษย์ก็ดี เทวดาก็ดี พรหมก็ดี เราไม่มีความต้องการ โลกทั้งสามนี้เป็นอนัตตาเหมือนกันหมด มีการเกิดขึ้นในเบื้องต้น แล้วมีการสลายตัวไปในที่สุด ในที่สุดเราก็มีอารมณ์จับพระนิพพานเป็นอารมณ์
มีความต้องการอย่างยิ่งโดยเฉพาะ คือ พระนิพพาน
อารมณ์แห่งความรักในเพศไม่มี
การเกาะสิ่งนั้นสิ่งนี้ว่าเป็นเราเป็นของเราไม่มี
อย่างนี้ชื่อว่า จิตของบรรดาท่านพุทธบริษัทเข้าถึงความเป็นพระอรหัตผล เป็นพระอริยบุคคลสูงสุดในพระพุทธศาสนา ชื่อว่าจบกันแค่นี้
นี่การเจริญพระกรรมฐานกองใดกองหนึ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งพุทธานุสสติกรรมฐาน เราก็ทำได้ทุกอย่าง คือ ทำได้ตั้งแต่ขั้นอุปจารสมาธิ คือ พิจารณาแบบต้น คือ ทำแบบจับรูปเราก็ทรงได้ถึงฌาน 4 แล้วทิ้งรูปเสียพิจารณาอรูป ทรงฌาน 4 ได้อีกก็เป็นสมาบัติ 8
แล้วก็จับพระรูปพระโฉมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าว่า มีความเกิดขึ้นในเบื้องต้น มีความแปรปรวนเปลี่ยนแปลงในท่ามกลาง มีการแก่เฒ่าไปในที่สุด แล้วก็สลายตัวไปในขั้นสุดท้าย ถือว่าไม่เป็นสาระไม่เป็นแก่นสาร ไม่มีสภาพจีรังยั่งยืนเป็นประการใด มาเทียบกับกาย ของเราแบบนี้เป็นวิปัสสนาญาณ
นี่แหละ บรรดาท่านพุทธบริษัททุกท่าน กรรมฐานทุกกองเราทำได้ถึงขั้นอุปจารสมาธิ ทางด้านรูปฌานและอรูปฌานและวิปัสสนาญาณทำได้หมด
ตัวอย่างที่องค์สมเด็จพระบรมสุคต สอนโลหิตกสิณแก่พระลูกชายนายช่างทองอย่างเดียวสามารถให้ทำฌานได้ แล้วองค์สมเด็จพระประทีปแก้วก็ทำโลหิตกสิณนั่นแหละให้เป็นวิปัสสนาญาณ ในที่สุดเธอก็ได้เป็นพระอรหัตผล
เอาละ บรรดาท่านพุทธบริษัททุกคน เวลาแห่งการจะพูดมันก็เลยมานานแล้ว ต่อแต่นี้ไป ขอบรรดาท่านพุทธบริษัททั้งหลายตั้งกายให้ตรง ดำรงจิตให้มั่น กำหนดรู้ลมหายใจเข้าออก ใช้คำภาวนาและพิจารณาตามอัธยาศัย จนกว่าจะได้ยินสัญญาณบอกหมดเวลา สวัสดี

ออฟไลน์ Wisdom

  • สมาชิก
  • ***
  • กระทู้: 242
  • ใครจะใหญ่เกินกรรม
    • ดูรายละเอียด
Re: พุทธานุสสติกรรมฐาน
« ตอบกลับ #4 เมื่อ: กุมภาพันธ์ 22, 2012, 07:13:06 PM »


ลูกรักทั้งหลาย ธรรมส่วนใดที่องค์สมเด็จพระประทีปแก้วสอน ที่พ่อจะปกปิดไว้ไม่มี พ่อสอนหมดทุกอย่าง เมื่อพ่อตายแล้ว ขอลูกแก้วของพ่อ จงประพฤติปฏิบัติตามพระธรรมวินัยส่วนนี้ทั้งหมด ในเมื่อขันธ์ 5 มันทรงไม่ไหว พ่อก็อยู่ไม่ได้ พ่อสอนลูกอยู่เสมอว่า ขันธ์5เป็นของธรรมดา มัน เกิด แก่ เจ็บ และตายเหมือนกันหมด ลูกจะเกาะขันธ์ 5 ของพ่ออยู่อย่างนี้ตลอดกาลตลอดสมัยไม่ได้ ความดีที่จะเกิดมีขึ้นนั้นไซร้คือการปฏิบัติตนเอง ฟังแล้วก็จำ จำแล้วก็คิด คิดแล้วก็ปฏิบัติตาม ถ้าสามารถทำได้ ในที่สุดในไม่ช้าก็จะบรรลุมรรคผลเป็นพระอริยบุคคล

แหล่งที่มา : พ่อรักลูก ๒