เว็บพุทธภูมิ: พุทธภูมิ พระโพธิสัตว์ การบำเพ็ญบารมี



ผู้เขียน หัวข้อ: ธัมมิกอุบาสก โดย พระราชพรหมยาน (หลวงพ่อฤาษีลิงดำ) วัดท่าซุง  (อ่าน 7682 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ ศรีโคมคำ

  • สมาชิก
  • *
  • กระทู้: 35
  • ญาติธรรม
    • ดูรายละเอียด


ธัมมิกอุบาสก

โดย พระราชพรหมยาน (หลวงพ่อฤาษีลิงดำ) วัดท่าซุง จ.อุทัยธานี

( เทศนา ณ.วันพุธที่ ๒๘ มกราคม ๒๕๒๔ )

นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ (๓ จบ)
 
“ ปุญญานิ ปรโลกัสมิง ปติฏฐา โหนติ ปาณินังติ ”

ณ โอกาสบัดนี้ อาตมภาพจะแสดงพระสัทธรรมเทศนาในปุญญาภิกถา เพื่อเป็นเครื่องโสรจสรงองคศรัทธาบารมี ที่บรรดาท่านนริศราทานบดีทั้งหลาย ได้พร้อมใจกันมาบำเพ็ญกุศลประจำปักษ์ คือ วันพระ แรม ๘ ค่ำ เดือน ๑๒ วันนี้ ทั้งนี้ก็เพราะว่าบรรดาท่านพุทธบริษัททั้งหลายมีความเลื่อมใสในสมเด็จพระจอมไตรบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นเหตุ จึงได้พากันมาบำเพ็ญกุศลในศาสนาขององค์สมเด็จพระบรมโลกเชษฐ์ แต่ทว่าอานิสังสคุณบุญราศีในเรื่องการทำบุญประจำวันพระนี้ ก็ได้แสดงพระธรรมเทศนามาแล้วโดยลำดับ วันนี้อาตมภาพจะนำพระธรรมเทศนา ที่องค์สมเด็จพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงไว้ สมัยที่พระองค์ทรงพระชนม์อยู่ ความมีอยู่ว่า ในสมัยนั้น องค์สมเด็จพระบรมครูเสด็จประทับอยู่ที่มหาวิหาร ที่ นางวิสาขา ถวาย มีนามว่า “พระคันธกุฎิ” ตอนนั้นองค์สมเด็จพระชินศรีบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงปรารภ ธัมมิกอุบาสก เป็นเหตุ โดยฉะนั้นองค์สมเด็จพระบรมโลกเชษฐ์ได้แสดงพระธรรมเทศนาเป็นพุทธภาษิตว่า

“ปุญญานิ ปรโลกัสมิง ปติฏฐา โหนติ ปาณินัง”

ซึ่งแปลเป็นใจความว่า บุญกุศลย่อมเป็นเหตุให้ประชาชนมีความสุขต่อไปในภายภาคหน้า ความมีอยู่ว่าในสมัยนั้น องค์สมเด็จพระศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมโปรดบรรดาท่านพุทธบริษัท ให้เข้าถึงธรรม หมายความว่า ทำคนให้เข้าถึงธรรมะ คือมีใจประกอบไปด้วยธรรม มีการไม่ละเมิดศีล ๕ เป็นต้น และในชั้นสุดท้ายของบุคคลที่เข้าถึงอรหัตผลเป็นพระอริยเจ้าสูงสุดในพระพุทธศาสนา ในขณะที่องค์สมเด็จพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมอยู่ในเวลานั้น ก็มีอุบาสกท่านหนึ่งตามพระบาลีชื่อ “ธัมมิกอุบาสก”คำว่า “ธัมมิกอุบาสก” แปลว่า อุบาสกผู้มีใจประกอบไปด้วยธรรม คือว่าทรงศีลบริสุทธิ์ มีการบริจาคทาน สดับพุทธพจน์เทศนาตัดสินใจตามกำลังที่องค์สมเด็จพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงสั่งสอน ละสักกายทิฏฐิ ท่านบำเพ็ญกุศลอย่างนี้ตลอดมา ด้วยความเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา ด้วยปัญญาที่พิจารณาแล้ว จึงได้มีความเชื่อถือในสมเด็จพระประทีปแก้ว ต่อมาในวันหนึ่ง อาการไข้หนักขึ้นมา ท่านก็คิดว่าชีวิตนี้ มันจะทรงอยู่ได้หรือไม่ได้ ก็ไม่แน่ แต่ทว่าจะอยู่หรือจะตายก็ตามที ร่างกายมีทุกขเวทนาเบียดเบียนแบบนี้ ก็อยากจะฟังพระธรรมคำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระชินศรีบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า แต่ว่าการจะนิมนต์พระพุทธเจ้ามาเทศน์ เป็นของยาก เพราะพระผู้มีพระภาคเจ้ามีภาระมาก ฉะนั้น ธัมมิกอุบาสก จึงได้บอกกับบุตรภรรยาว่า “เธอทั้งหลาย เวลานี้พ่ออยากจะฟังพระธรรมคำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระจอมไตร แต่โอกาสนั้นคงไม่มี แต่กระไรก็ดี ขอลูกทั้งหลายจงไปนิมนต์พระสาวกขององค์สมเด็จพระชินศรี มาเจริญ พระปริตร คือการสวดมนต์” และการสวดมนต์เวลานั้น การสวดพระปริตร ที่เราเรียกว่า สวดมนต์เย็น สวดมนต์เช้า เป็นภาษาของชาวบ้านนั้น ว่าไปแล้วชาวบ้านรู้เรื่องทุกตอน ทุกบท บรรดาลูกทั้งหลายก็ไปอาราธนาบรรดาสาวกขององค์สมเด็จพระจอมไตรมาจำนวนหนึ่ง พระที่ส่งมานั้น พระบาลีก็ไม่ได้บอกว่ามีพระมากี่องค์ แต่ว่ามี พระอานนท์ มาเป็นหัวหน้า ในขณะที่พระมาแล้ว บรรดาลูกหลายทั้งหลายก็แจ้งแก่พ่อว่า “เวลานี้พระมาแล้วคุณพ่อ” แต่ว่าท่านป่วยหนัก หูก็ไม่ค่อยจะดีนัก แต่ว่าใจของท่านดี จับภาพพระรูปพระโฉมขององค์สมเด็จพระชินศรีไว้เป็นปกติ มีพระพุทธเจ้าเป็นอารมณ์ และจิตใจก็ทำตามคำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า รวมความว่า ท่านป่วย จิตครุ่นคิดอยู่ใน พุทธานุสสติกรรมฐาน ธัมมานุสสติกรรมฐาน สังฆานุสสติกรรมฐาน การนึกถึงพระพุทธเจ้าเป็น พุทธานุสสติกรรมฐาน การนึกถึงพระธรรมคำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระชินวรเป็น ธัมมานุสสติกรรมฐาน การนึกถึงพระสงฆ์ที่มีความเลื่อมใสเป็น สัมฆานุสสติกรรมฐาน ในเมื่อจิตตั้งอยู่ในแบบนี้ ก็แสดงว่าจิตมีความผ่องใสเป็นทิพย์ เมื่อบรรดาลูกหลานบอกว่าพระมาแล้ว ท่านก็ตั้งใจยกมือนมัสการทั้งๆ ที่นอนอยู่ หลังจากนั้น บรรดาสาวกขององค์สมเด็จพระบรมครู ซึ่งมี พระอานนท์ เป็นหัวหน้าก็เริ่มสวดพระปริตร ที่เราเรียกกันว่า “สวดมนต์” พระอานนท์ ก็ขึ้นต้นด้วย



“นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ”

อันดับแรกแปลเป็นใจความว่า ข้าพเจ้าขอนอบน้อม คือนมัสการแด่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้เป็นพระอรหันต์ พระองค์นั้น
พอพระขึ้นนะโมไม่ทันจะจบ ก็ปรากฏว่าจิตใจของท่านกลายเป็นทิพย์ เวลานี้กลับเห็นเทวดากับสวรรค์ทั้ง ๖ ชั้น นำรถทิพย์มาลอยอยู่ในอากาศ เทวดาแต่ละกลุ่มมีเทวดา ชั้นจาตุมหาราช เธอบอกว่า “บรรดาข้าพเจ้าเป็นเทวดาชั้นจาตุมหาราชนำรถทิพย์มารับท่าน ขอเชิญท่านจงไปอยู่ในชั้นจาตุมหาราช ไปขึ้นรถกับเรา” ชั้นดาวดึงส์ ชั้นยามา ชั้นดุสิต ชั้นนิมมานรดี ชั้นปรนิมมิตวสวัตดี ก็กล่าวเช่นเดียวกัน เทวดาทั้ง ๖ ชั้น เทวดาทั้ง ๖ กลุ่ม ต่างก็ชักชวน ท่านธัมมิกอุบาสก ให้ไปอยู่ด้วยกัน เสียงของเทวดาก็เซ็งแซ่ ปรากฏว่าไม่ได้ยินเสียงพระสวด ใจของท่านเองก็ตั้งใจจะฟังพระสวดมนต์ แต่ว่าเทวดาเห็นว่าท่านมีจิตเป็นกุศล ต่างคนก็ต่างชวน เสียงเทวดามากกว่าเสียงพระ เลยไม่ได้ยินเสียงพระ ท่านก็โบกมือให้เทวดาหยุดก่อน โบกมือว่าหยุดก่อน เมื่อพระได้ยินเสียงของ ท่านธัมมิกอุบาสก โบกมือห้ามบอกให้หยุดก่อนๆ แต่ว่าบรรดาพระที่ไปทั้งหมดนั้นไม่มีใครได้ ทิพพจักขุญาณ เลย ความจริงหัวหน้าที่ไปคือ พระอานนท์ ก็เป็นพระโสดาบัน ในตอนนั้น พระอานนท์ ยังไม่ได้ ปฏิสัมภิทาญาณ มาได้ ปฏิสัมภิทาญาณ ตอนหลัง ความจริงพระที่ได้ ปฏิสัมภิทาญาณ หรือว่าคนที่ได้ ปฏิสัมภิทาญาณ ต้องไม่เคยได้ในส่วนของ วิชชาสาม คือ ทิพพจักขุญาณ หรือ ปุพเพนิวาสานุสสติญาณ มาก่อน หรือว่าไม่เคยได้ อภิญญาห้า ในส่วนของ อภิญญาหก มาก่อน ในขั้นฌานโลกีย์ จะต้องปฏิบัติตนให้ถึง สมาบัติ ๘ และก็เอา สมาบัติ ๘ เป็นพื้นฐานแห่งการเจริญวิปัสสนาญาณ ถ้าจิตใจของท่านผู้นั้นเข้าถึงพระอนาคามีจะได้ ปฏิสัมภิทาญาณ เมื่อนั้น ทีนี้การเห็นผี เห็นเทวดา เห็นนรก เห็นสวรรค์ พระประเภทนี้จึงไม่เห็น จะต้องไปเห็นได้ต่อเมื่อถึงพระอนาคามี แต่ว่าท่านที่ได้ สมาบัติ ๘ มาก่อนนี้ ก็ไม่มีใครไปพักแค่พระอนาคามี เมื่อจับวิปัสสนาญาณตามคำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระชินศรี ไม่เกิด ๑๐ วันก็ได้อรหัตผลพร้อม ปฏิสัมภิทาญาณ ฉะนั้น พระที่ไปวันนั้น ถึงแม้ พระอานนต์ จะเป็นหัวหน้า จะเป็นพระโสดาบัน แต่ท่านก็ไม่ได้เจริญขั้นพื้นฐานคือขั้นต้น คือ วิชชาสาม อภิญญาหก มาก่อน จึงไม่มีโอกาสจะเห็นเทวดาที่มาร้องเซ็งแซ่เรียก ธัมมิกอุบาสก เมื่อท่านเห็น ธัมมิกอุบาสก โบกมือไปมา บอกว่าหยุดก่อนๆ ท่านก็พากันเข้าใจว่า เวลานี้ ธัมมิกอุบากสก แกไม่สบาย ฟังเสียงพระสวดเวลานั้นคล้ายกับว่าจะเป็นการรำคาญใจ ธัมมิกอุบาสก จึงให้หยุดก่อน ฉะนั้น บรรดาพระสงฆ์ทั้งหมดจึงได้หยุดสวด เมื่อหยุดสวดแล้ว ธัมมิกอุบาสก ก็ยังโบกมือว่าหยุดก่อนๆ อยู่นั่น พระทั้งหลายทั้งหมดที่มี พระอานนท์ เป็นหัวหน้า ก็มีความเข้าใจว่า บางที ธัมมิกอุบาสก ยังไม่ต้องการฟังพระปริตร และอีกประการหนึ่ง เห็นว่าคนไม่ต้องการฟัง ความปรารถนาไม่มีอย่างนี้ ก็ควรจะกลับ ก็พากันลาลูกลาหลานของ ธัมมิกอุบาสก กลับ กว่าเสียงเทวดาจะจบ กว่าเสียงเทวดาจะเงียบก็ใช้เวลานาน เมื่อเทวดาเงียบลงจากการชักชวนแล้ว ก็ตั้งใจจะฟังพระปริตร แต่ว่าได้ยินเสียงพระเงียบไปเสียแล้ว จึงได้ลืมตาขึ้นมาดู ไม่พบสาวกขององค์สมเด็จพระบรมครู พระไม่มีสักองค์ ท่านจึงถามลูกถามหลานว่า “บรรดาพระไปไหน พ่อตั้งใจจะฟังพระปริตร” บรรดาลูกหลายเมื่อเห็นท่านโบกมือโบกไม้ แสดงว่าหยุดก่อน หยุดก่อน อย่างนั้นก็พากันเสียใจ คิดว่าบิดาของเรานี้ไซร้ เดิมเป็นคนดี มีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์ มีความเลื่อมใสในองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าก็ดี พระอรหันต์ก็ดี เข้ามาในเขตเมืองพาราณสีนี้ พ่อเราไม่เคยขาดจากการฟังเทศน์สักวัน แต่ว่าความป่วยไข้ไม่สบายตอนนี้นั้น เป็นปัจจัยให้สติสัมปชัญญะไม่สมบูรณ์ เพ้อคลั่ง จึงได้พากันเสียใจ ร้องไห้ พอได้ยินพ่อว่าพระไปไหน ต้องการฟังธรรม เธอก็บอกตามความจริงว่า “เมื่อพระเริ่มสวด พ่อก็โบกมือ ขอจงหยุดก่อนๆ เพราะสาวกขององค์สมเด็จพระชินวร ถ้าจะแสดงธรรมที่ไหน ต้องอาศัยกำลังใจของท่านผู้ฟัง มีความเชื่อ มีความเลื่อมใส จึงจะเทศน์ หรือจึงจะสวด ในเมื่อพระเริ่มสวด พ่อบอกให้หยุด พระท่านก็กลับ ท่านหยุดแล้วท่านก็กลับ” ธัมมิกอุบาสก ท่านจึงบอกว่า “ที่พ่อโบกมือให้หยุด พ่อไม่ได้ห้ามพระ ความจริงพ่อตั้งใจจะฟังพระสวด เพราะว่าเป็นธรรมที่พ่อมีความต้องการ แต่ว่าที่โบกมือ แล้วบอกหยุดก่อนนั้น หยุดก่อนนั้น ความจริงพ่อห้ามเทวดา เพราะว่าเวลานี้เทวดาทั้ง ๖ ชั้น มีจาตุมหาราช เป็นต้น เทวดาแต่ละชั้นนำรถทิพย์มาหาพ่อ มาลอยอยู่ข้างบนอากาศใกล้ๆ แล้วต่างคนต่างก็ชวนพ่อว่า

ฉันเป็นเทวดา ชั้นจาตุมหาราช
ฉันเป็นเทวดา ชั้นดาวดึงส์
ฉันเป็นเทวดา ชั้นยามา
ฉันเป็นเทวดา ชั้นดุสิต
ฉันเป็นเทวดา ชั้นนิมมานรดี
ฉันเป็นเทวดา ชั้นปรนิมมิตวสวัตดี

และก็ชักชวนพ่อว่าจงไปอยู่กับเขาตามชั้นนั้น พร้อมชวนให้ขึ้นรถ เมื่อเสียงเทวดาดังกลบไปหมดอย่างนี้ พ่อไม่ได้ยินเสียงพระสวดจึงได้โบกมือขอร้องให้เทวดาหยุดพูดเสียก่อน เพื่อจะฟังเสียงพระสวด แต่ว่ากว่าเทวดาจะหยุดก็ใช้เวลานาน ก็เทวดาหยุดพูดเวลานี้ ตั้งใจจะฟังพระสงฆ์ซึ่งเป็นสาวกขององค์สมเด็จพระพิชิตมารมาสวด แต่พระก็ไม่มีเสียแล้ว”



บรรดาลูกทั้งหลายก็เข้าใจว่าพ่อเพ้อ ไม่ขอเชื่อคำพูดของพ่อ ท่านพ่อจึงได้บอกว่า “ถ้าอย่างนั้น ขอลูกจงนำพวงมาลัยให้พ่อหนึ่งพวง พ่อจะโยนขึ้นไปคล้องรถทิพย์ที่ลอยอยู่ในอากาศใกล้ๆ” บรรดาลูกทั้งหลายก็นำพวงมาลัยดอกไม้สด มาหนึ่งพวง ท่านพ่อก็ถามว่า บรรดาเทวดาทั้ง ๖ ชั้น คือ

(๑)   ชั้นจาตุมหาราช
(๒)   ชั้นดาวดึงส์
(๓)   ชั้นยามา
(๔)   ชั้นดุสิต
(๕)   ชั้นนิมมานรดี
(๖)   ชั้นปรนิมมิตวสวัตดี

ถามลูกว่าชั้นไหนดีที่สุด ที่ควรจะอยู่ บรรดาลูกที่เคยฟังเทศน์ของพระบรมสุคตเขารู้ภาษาว่า ดุสิตแปลว่าอะไร ดุสิต แปลว่า ยิ้มแย้มแจ่มใส มีแต่กำลังใจกำลังกาย มีความสุข เป็นชั้นที่มีความสุขที่สุด ในบรรดาสวรรค์ ๖ ชั้น ฉะนั้น บรรดาลูกหลายทั้งหลายจึงกล่าวว่า “ถ้าพ่อจะให้พวงมาลัยขึ้นไปแขวนที่งอนรถ ขอให้แขวนที่งอนรถของ ชั้นดุสิต” ท่านธัมมิกอุบาสก ก็โยนพวงมาลัยขึ้นไปคล้องอยู่ที่งอนรถของเทวดา ชั้นดุสิต แต่ว่าบรรดาลูก บรรดาหลานก็ไม่เห็นรถแล้วก็ไม่เห็นเทวดา แต่ก็เห็นแต่เพียงว่าพวงมาลัยลอยในอากาศเฉยๆ ไม่เคลื่อนไหวไปไหน ท่านจึงกล่าวว่า “บรรดาลูกรักทั้งหลาย พวงมาลัยที่คล้องอยู่นั้น เป็นพวงมาลัยที่คล้องในงอนรถของเทวดา ชั้นดุสิต” ลูกหลานทุกคนต่างก็มีความเลื่อมใสดีใจว่าพ่อเห็นเทวดา แต่ว่าภายในไม่ช้า บรรดาท่านพุทธบริษัททั้งหลายโดยทั่วหน้า ท่านธัมมิกอุบาสก ถ้าจะใช้ภาษาไทย ก็เรียกว่า “ตาย” ใช้ภาษาบาลีก็เรียกว่า “กาลัง กตวา” ไอ้ กาลัง กตวา ตามที่พระพุทธเจ้าท่านเรียกนี่ ก็คือคำว่า “ตาย” ถ้าตายมีอีกศัพท์หนึ่งเรียกกว่า “มรณัง” แต่ว่าเวลาคนตายก็ดี สัตว์ตายก็ดี องค์สมเด็จพระชินศรีทรงเรียกว่า “กาลัง กตวา” คำว่า “กาลัง กตวา” แปลว่า ถึงกาละที่จะต้องไปแล้ว ก็ไม่ได้หมายถึงตาย แต่ก็หมายความว่า อทิสสมานกาย หรือที่เรียกว่าจิตใจของ ท่านธัมมิกอุบาสก ก็เคลื่อนออกจากกาย การเคลื่อนออกจากกาย ไม่ใช่เป็นดวง มันเป็นตัวเป็นตน มีร่างกายเป็นทิพย์ ก็ไปสถิตอยู่บนรถของ ชั้นดุสิต บรรดาเทวดาทั้งหลายก็พาท่านเข้าไปอยู่ยัง ชั้นดุสิต ที่มีความสุข

ที่นำพระธรรมเทศนาเรื่องนี้มาแสดงแก่บรรดาท่านพุทธบริษัท ตามพระบาลีก็ไม่ได้บอกว่า ท่านธัมมิกอุบาสิกา บรรลุมรรคผลขั้นไหน แต่ว่าตามคำแนะนำขององค์สมเด็จพระจอมไตรบรมศาสดา คือตรัสว่า คนที่จะเกิดเป็นเทวดาทั้ง ๖ ชั้นได้นั้น ต้องปฏิบัติตามนี้ คือ

(๑) ชั้นจาตุมหาราช ต้องเคยได้ฌานสมาบัติมาก่อน แต่ไม่ถึงฌาน ๔ เป็นฌาน ๑ ถึง ฌาน ๓ ในขณะที่ยังดีอยู่ แต่เมื่อเวลาจะตาย ใจเป็นกศล แต่จิตของตนเข้าไม่ถึงฌานสมาบัติ แทนที่จะไปเกิดเป็นพรหมก็ไปเกิดเป็นเทวดา ชั้นจาตุมหาราช นี่เป็นคุณสมบัติของเทวดาแต่ละชั้น
(๒) ชั้นดาวดึงส์ ชั้นนี้ ต้องทำบุญทำกุศลด้วยความจริงใจ เป็นการตัดชีวิต หมายความว่า ทำบุญในคราวนั้นไม่ห่วงชีวิต นี่บรรดาท่านพุทธบริษัทที่มีจิตเมตตา เห็นสัตว์เดินมา เห็นคนเดินมา หรือว่าเห็นพระเดินมา มีความหิวโหยต้องการอาหาร หรือว่าต้องการสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ซึ่งมีความสำคัญ แต่เวลานั้นอาหารของเรามีจำกัด ถ้าเราจะกินเข้าไป มันก็พออิ่ม ถ้าจะเหลืออิ่มก็เล็กน้อย ซึ่งไม่พอต่อการอิ่มของอีกหนึ่งคน เมื่อจิตใจของเราเป็นกุศลประกอบไปด้วยเมตตา คิดว่าเขาหิวมา ถ้าไม่ช่วย ชีวิตก็อาจจะตาย หรือมีความลำบาก ก็แบ่งสรรปันส่วนให้ การให้ก็ไม่จำเป็นต้องให้หมด แต่ว่าที่เหลืออยู่กับตัวเอง มันก็ไม่ถึงกับอด แต่กินไม่อิ่ม การให้บุญแบบทำบุญแบบนี้ จึงมีสิทธิ์เกิดบนสวรรค์ชั้นดาวดึงสเทวโลก นี่อย่างหนึ่ง และอีกประการหนึ่ง กรรมที่ทำให้เกิดบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ได้แก่การถวายสังฆทานการถวายสังฆทานนี้ ทำให้เกิดเป็นเทวดาชั้นดาวดึงส์แน่ อย่างที่บรรดาท่านพุทธบริษัทนำอาหารมาถวายทานแก่พระสงฆ์วันนี้ก็ดี หรือใส่บาตรหน้าบ้านก็ดี อันนี้เรียกว่า "สังฆทาน"
สังฆทานนี้บุญขั้นต่ำที่สุดที่จะพึงได้ อานิสงส์ที่จะพึงได้ คือต้องเกิดบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ หรืออีกนัยหนึ่งก็เป็นการสร้างวิหารทาน คือ สร้างที่อยู่ สร้างบ่อน้ำ สร้างสาธารณประโยชน์ สร้างสะพานข้ามคลอง สร้างศาลา และที่พักอาศัยระหว่างทาง อย่างนี้เป็นปัจจัยให้เกิดเป็นเทวดาบน สวรรค์ชั้นดาวดึงส์
(๓) สำหรับ ชั้นยามา ที่เราจะไปเกิดเป็นเทวดาชั้นยามาได้ ก็ต้องมีเหตุผล ประการแรกคือ
๑) พอใจในการสวดมนต์อย่างยิ่ง ถ้าเวลาสวดมนต์บูชาพระ ไม่ได้สวดจริงๆ ใจมันไม่สบาย ต้องสวดให้ได้
๒) การเจริญพระกรรมฐานในตอนต้นนั้น จิตไม่เข้าถึงฌานสมาบัติ แต่ว่ากำลังใจเข้าถึงอุปจารฌาน คือ เฉียดฌาน เมื่อจะตายจากความเป็นคน ใจของเราน้อมไปในกุศลทั้ง ๒ ประการ อย่างใดอย่างหนึ่งคือ จิตคิดติดอยู่ในสวดมนต์ อยากแต่จะสวดมนต์ และพอใจทั้งเสียงสวดมนต์ หรือว่า เวลานั้นจิตตกอยู่ในอุปจารสมาธิ หรือ อุปจารฌาน ถ้าจิตของเราเวลานั้นเป็นอย่างนี้ อย่างใดอย่างหนึ่ง ตายจากความเป็นคนก็ไปเกิดบนสวรรค์ชั้นยามา
(๔) สำหรับ ชั้นดุสิต นี่องค์สมเด็จพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงกล่าวว่าจะไปอยู่ได้ด้วยกัน ๓ ประการ คือ
๑) พระพุทธบิดา พระพุทธมารดาขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ชาติสุดท้าย จึงจะไปเกิดบนชั้นดุสิตได้
๒) หน่อพระบรมโพธิสัตว์ ที่บำเพ็ญบารมีมาถึงปรมัตถบารมี เมื่อตายจากความเป็นคนก็ไปอยู่บนชั้นดุสิต ได้
๓) บุคคลทั้งหลายจะเป็นพระก็ดี เณรก็ดี อุบาสก อุบาสิกาก็ดี เจริญพระกรรมฐานในศาสนาขององค์สมเด็จพระชินศรี ตั้งแต่พระโสดาบันขึ้นไปคือมีผลตั้งแต่พระโสดาบันขึ้นไปถึงพระอนาคามี จึงจะมีสิทธิ์อยู่ชั้นดุสิตได้
ฉะนั้น ท่านธัมมิกอุบาสก ถึงแม้พระบาลีจะไม่ได้บอกว่าท่านเป็นพระอริยเจ้า แต่ท่านต้องเข้าใจตามกฎของการอยู่ ชั้นดุสิต ว่าอย่างน้อยที่สุดท่านต้องเป็นพระโสดาบันเป็นอย่างต่ำ จึงมีสิทธิ์เข้าอยู่ชั้นดุสิตได้
(๕) ขอพูดเรื่องเทวดาอีก ๒ ชั้นต่อไป เมื่อพูดแล้ว เป็นอันว่า สมเด็จพระประทีปแก้วทรงกล่าวถึงคุณธรรมของเทวดาชั้นนิมมานรดี ซึ่งเป็นชั้นที่ ๕ เทวดาชั้นนี้ชอบเนรมิตของทุกสิ่งในการเนรมิตขึ้นมา เมื่อเทวดาชั้นที่ ๖ คือ ปรนิมิตวสวัตดี ต้องการอะไรก็ตามที เทวดาชั้นที่ ๕ เนรมิตให้ทุกอย่าง ท่านที่จะตายจากความเป็นคน ไปเกิดเป็นเทวดาชั้นนี้ได้ ในสมัยที่เป็นมนุษย์มีชีวิตอยู่ ก็มีความเลื่อมใสในสมเด็จพระบรมครูได้ ๕ ในอภิญญา ๖ เว้น อาสวักขยญาณ และก็ชอบเล่นชอบเนรมิตของต่างๆ จุกจิกๆ เล่นอย่างโน้น เล่นอย่างนี้ ด้วยอำนาจของอภิญญาสมาบัติ ชอบเนรมิตเล่นตามความพอใจ เกิดความสบายในจิต ท่านผู้ที่มีจิตเข้าถึงฌาน ๔ จึงได้อภิญญา แต่ทว่าเวลาที่ท่านจะตาย ท่านไม่ได้เข้าฌานตาย จิตเข้าถึงกำลังของฌานเป็นอันว่าจิตของท่านนี้นั้น น้อมไปในกุศล ตายจากความเป็นคนจึงได้เกิดเป็นเทวดาชั้นที่ ๕ เรียกว่า "นิมมานรดี"
(๖) สำหรับเทวดาชั้นที่ ๖ นี้ เป็นผู้ที่ได้ฌานสมาบัติชั้นสูง คือ สมาบัติ ๔ แต่ทว่าเวลาตายนี่ ท่านเองไม่ได้เข้าฌานตายจึงไม่เป็นพรหม ต้องไปเกิดเป็นเทวดาชั้นปรนิมมิตวสวัตดี



รวมความว่าเทวดา ๓ ชั้น ที่พ้นจากความเป็นเทวดาแล้วไปเป็นพรหมเลยก็คือ
(๑) ชั้นจาตุมหาราช
(๒) ชั้นนิมมานรดี
(๓) ชั้นปรนิมมิตวสวัตดี

ทั้ง๓ ชั้นนี้ เพราะอาศัยมีฌานเป็นพื้นฐาน ถ้าเป็นเทวดาเมื่อไร ฌานเขาก็ตัดเป็นกำลังใจตามเดิม แต่ว่ายังเป็นพรหมไม่ได้ เพราะเวลาตายไม่ได้เข้าฌานตาย เมื่อหมดเวลาการที่อยู่บนสวรรค์เมื่อใด ท่านทั้ง ๓ ชั้นไปเป็นพรหมทันที

   เอาละ บรรดาท่านพุทธบริษัททั้งหลายโดยทั่วหน้า โดยจริยาของ ท่านธัมมิกอุบากสก เปรียบถึงว่าการบำเพ็ญกุศลในพระพุทธศาสนา ถ้าบรรดาท่านพุทธบริษัททั้งหลายโดยทั่วหน้า มีความพอใจในกุศล พยายามรักษากำลังใจของเราอยู่ในกุศลเป็นปกติ คือ

   (๑) มีปกติคือการให้ทาน และการให้ทานนั้น ต้องไม่หวังผลตอบแทน เป็นการสงเคราะห์คิดว่า ถ้าเราให้เป็นการสงเคราะห์หรือเป็นการตัดโลภะความโลภ
   (๒) จิตใจมีความเคารพอยู่ในศีล คือว่าเราจะไม่ละเมิดศีลด้วยตนเอง ไม่ยุยงส่งเสริมให้บุคคลอื่นละเมิดศีล และก็ไม่ยินดีเมื่อบุคคลอื่นทำลายศีล
   (๓) จิตใจของบรรดาท่านพุทธบริษัทพอใจในธรรม เพราะว่าธรรมะคือความดี เช่น ตั้งใจเคารพในกฎขององค์สมเด็จพระชินศรี พระธรรม พระอริยสงฆ์ แต่ความจริงใจของบรรดาท่านพุทธบริษัทตั้งตรงในเหตุ ๓ ประการนี้ เขาเรียกกันว่า “พระโสดาบัน” เมื่อตายจากความเป็นคนเมื่อไร ขึ้นชื่อว่าอบายภูมิทั้ง ๔ นี้นั้นไม่ต้องไป ถ้าจะไปก็ไปเช่นเดียวกับ ธัมมิกอุบาสก เอาละ บรรดาท่านพุทธบริษัททั้งหลายโดยทั่วหน้า แสดงพระธรรมเทศนามาเหลืออีก ๑ นาที ก็ครบเวลา ๓๐ นาทีพอดี อาตมภาพก็ขอยุติพระธรรมเทศนาลงคงไว้แต่เพียงเท่านี้ ในที่สุดแห่งพระธรรมเทศนานี้ อาตมภาพขอตั้งสัตยาธิษฐาน อ้างคุณพระศรีรัตนตรัย มีพระพุทธรัตนะ พระธรรมรัตนะ และพระสังฆรัตนะ ทั้ง ๓ ประการ ขอจงอภิบาลบรรดาท่านพุทธบริษัททุกท่าน ให้มีแต่ความสุขสวัสดิ์พิพัฒนมงคลสมบูรณ์พูนผล ธรรมใดที่องค์สมเด็จพระทศพลบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงสอนไว้ ขอบรรดาท่านพุทธบริษัททั้งหลายจงบรรลุธรรมนั้น ในชาติปัจจุบันนี้เทอญ เอวัง ก็มีด้วยประการฉะนี้ สวัสดี*

ที่มา : นิตยสารธัมมวิโมกข์ ฉบับที่ ๓๑๐ ประจำเดือนมกราคม ๒๕๕๐
หน้า ๓๐-๓๗.  ถอดความโดย ศรีโคมคำ.
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: กรกฎาคม 01, 2014, 03:01:05 PM โดย ศรีโคมคำ »