เว็บพุทธภูมิ: พุทธภูมิ พระโพธิสัตว์ การบำเพ็ญบารมี



ผู้เขียน หัวข้อ: กรรมบถ ๑๐ โดย พระราชพรหมยาน (หลวงพ่อฤาษีลิงดำ) วัดท่าซุง  (อ่าน 7415 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ ศรีโคมคำ

  • สมาชิก
  • *
  • กระทู้: 35
  • ญาติธรรม
    • ดูรายละเอียด


กรรมบถ ๑๐

โดย พระราชพรหมยาน (หลวงพ่อฤาษีลิงดำ) วัดท่าซุง จ.อุทัยธานี

(เทศนา ณ. วันพุธที่ ๕ ตุลาคม ๒๕๒๐ )
นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ (๓ จบ)

“ ธัมโม หเว รักขติ ธัมมจาริง ติ ”

   ณ โอกาสบัดนี้ อาตมภาพจะแสดงพระสัทธรรมเทศนาใน กรรมบถทั้ง ๑๐ ประการ เพื่อเป็นเครื่องโสรจสรงองคศรัทธาบารมี ที่บรรดาท่านนริศราทานบดีทั้งหลายได้พร้อมใจกันมาบำเพ็ญกุศลประจำปักษ์ คือ วันพระแรม ๘ ค่ำ เดือน ๑๐ ในวันนี้

   ทั้งนี้ก็เพราะว่าบรรดาท่านพุทธบริษัททั้งหลาย ได้มี ศรัทธา ความเชื่อ ปสาทะ ความเลื่อมใสในองค์สมเด็จพระจอมไตรบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นเหตุ จึงได้มาปฏิบัติความดีตามคำแนะนำขององค์สมเด็จพระบรมโลกเชษฐ์บรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า แต่สำหรับวันนี้ อารัมภบททั้งหลาย อาตมาจะงดไว้ เพราะตั้งใจจะเทศน์ กรรมบถทั้ง ๑๐ ประการ ให้ครบถ้วน

   ความมีอยู่ว่า เมื่อองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้เสด็จประทับยับยั้ง สำราญอิริยาบถ ปรากฏว่าอยู่ในพระเชตวันมหาวิหาร ในเวลานั้นองค์สมเด็จพระพิชิตมารทรงปรารภพราหมณ์คนหนึ่งเป็นสำคัญ ว่าพราหมณ์นั้นได้ทูลถามองค์สมเด็จพระภควันต์บรมศาสดาว่า “ภันเต ภควา ข้าแต่องค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าผู้เจริญ ธรรมใดที่บุคคลปฏิบัติแล้วไปให้เกิดในอบายภูมิก็ดี ไปเกิดในเทวโลกก็ดี ไปเกิดเป็นพรหมก็ดี ไปพระนิพพานก็ดี ข้อนี้องค์สมเด็จพระชินศรีบรมศาสดาตรัสแล้ว แต่ทว่าองค์สมเด็จพระประทีปแก้วยังไม่เคยตรัสธรรมที่ทำให้เกิดเป็นมนุษย์ หรือว่าทรงความเป็นมนุษย์ไว้ได้” องค์สมเด็จพระจอมไตรบรมศาสดาจึงได้มีพระพุทธฎีกาตรัสว่า “พราหมณะ ดูก่อนพราหมณ์ มนุสสธรรม หรือ ธรรมที่ทำให้บุคคลเกิดเป็นมนุษย์ นี้มี ๒ ประการด้วยกัน คือ

๑. สิกขาบท ๕ ประการ มี ปาณาติบาต เป็นต้น และมี สุราเมรัย เป็นปริโยสาน และอีกประการหนึ่งนั้น บุคคลที่จะเป็นมนุษย์สมบูรณ์ได้ก็ต้องอาศัย กรรมบถทั้ง ๑๐ ประการ เป็นสำคัญ เพราะว่าคำว่า “มนุษย์” นี้ แปลว่า เป็นผู้มีใจสูง คือมีอารมณ์ดี”
แล้วองค์สมเด็จพระชินศรีบรมศาสดาจึงได้นำมาซึ่ง กรรมบถ ๑๐ ประการ แสดงแก่พราหมณ์และบรรดาพระภิกษุสงฆ์ทั้งหลายโดยที่องค์สมเด็จพระจอมไตรตรัสว่า “ ภิกขเว ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บุคคลใดที่จะปฏิบัติตนเป็นมนุษย์ครบถ้วนบริบูรณ์ก็ดี หรือว่าจะสร้างกุศลบุญบารมีให้เกิดเป็นมนุษย์ต่อไป ต้องปฏิบัติด้วยเหตุ ๑๐ ประการนี้ คือ
(๑) ปาณาติปาตา เวรมณี เว้นจากการฆ่าสัตว์ตัดชีวิต หรือว่าประทุษร้ายสัตว์ทั้งหลายให้มีความลำบาก
(๒) อทินนาทานา เวรมณี จงเว้นการถือเอาของที่บุคคลอื่นไม่ให้ มาเป็นของตนโดยเจตนา
(๓) กาเมสุมิจฉาจารา เวรมณี จงเว้นจากการคบหาสมาคมกับบุตร ธิดา ภรรยาของบุคคลอื่น
(๔) มุสาวาทา เวรมณี จงเว้นจากการพูดเท็จ
(๕) ปิสุณาย วาจาย เวรมณี จงเว้นจากการพูดส่อเสียดยุยงส่งเสริมให้บุคคลทั้งหลายแตกร้าวกัน
(๖) ผรุสาย วาจาย เวรมณี จงเว้นจากการพูดคำหยาบให้เป็นคำสะเทือนใจของบุคคลอื่น
(๗) สัมผัปปลาปา เวรมณี จงเว้นจากการพูดวาจาเพ้อเจ้อ เหลวไหลไร้ประโยชน์
(๘) อนภิชฌา องค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงให้เห็นโทษของความโลภ ได้แก่ ไม่คิดเพ่งเล็งทรัพย์สินของบุคคลอื่นโดยอยากจะได้มาเป็นของตน
(๙) อพยาบาท จงเว้นจากความโกรธ ความพยาบาท นี่เป็นธรรมะ
(๑๐) สัมมาทิฏฐิ จงมีความเห็นถูก มีความเห็นตรง นี่เป็น ตัวปัญญา เป็นธรรมะ ”



เป็นอันว่า องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงแก่พราหมณ์มีภิกษุทั้งหลายเป็นเบื้องหน้า ว่าคนทั้งหลายจะปฏิบัติตนเป็นมนุษย์ได้คือเกิดเป็นมนุษย์ต่อไปก็ดี หรือว่าการทรงชีวิตอยู่ จะอยู่ในฐานะมนุษย์ก็ดี จะต้องมีคุณธรรมทั้ง ๑๐ ประการนี้ครบถ้วน ถ้าบุคคลใดก็ตาม สมัยที่เกิดมาแล้วเป็นคน คำว่า “ คน ” นี้แปลว่า ยุ่ง ความจริงคนกับมนุษย์นี้มีอารมณ์ไม่เสมอกัน รูปร่างหน้าตาเหมือนกัน มีอาการ ๓๒ เหมือนกัน แต่ทว่าองค์สมเด็จพระภควันต์ทรงเรียกเป็น ๒ อย่าง คือ คน กับมนุษย์ คำว่า “ คน ” นี่แปลว่า ยุ่ง มีอารมณ์ยุ่งไปด้วยอาการที่เป็นอกุศลกรรมทั้งกาย วาจา และใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ถ้าใจยุ่งเสียอย่างเดียว วาจามันก็ยุ่ง กายมันก็ยุ่ง ถ้าหากว่าใจดีเสียอย่างเดียว กายมันก็ดี วาจาก็ดี ฉะนั้น องค์สมเด็จพระชินศรีบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า จึงได้ตรัสเป็นบาทคาถาว่า “ มโนปุพพังคมา ธัมมา มโนเสฏฐา มโนมยา ” แปลว่า ธรรมทั้งหลายมีใจเป็นหัวหน้า มีใจประเสริฐสุด สำเร็จด้วยใจ รวมความว่า เมื่อใจเราคิดดี กายก็ทำดี วาจาก็พูดดี ถ้าใจคิดชั่ว วาจาก็พูดชั่ว กายก็ทำชั่ว รวมความว่า คนเรานี้จะดีหรือจะชั่วมันอยู่ที่อารมณ์ของใจเป็นสำคัญ เหตุฉะนั้น องค์สมเด็จพระพิชิตมารจึงทรงกล่าวว่า “ ภิกขเว ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ถ้าบุคคลใดที่เกิดมาแล้วในโลกนี้ ปรารถนาจะทำตัวเป็นมนุษย์ก็ดี หรือว่าเกิดไปชาติหน้าปรารถนาความเป็นมนุษย์ก็ดี คำว่า “ มนุษย์ ” หมายความถึงว่า คนดี ไม่ใช่คนเลว จงเว้นจากความชั่วทั้ง ๑๐ ประการนี้ คือ

(๑) ปาณาติปาตา เวรมณี จงมีอารมณ์คิดไว้เสมอว่า เราจะไม่ฆ่าสัตว์ตัดชีวิต หรือทำอันตรายแก่ร่างกายของสัตว์และบุคคลทั้งหลายด้วยเจตนาร้าย ทั้งนี้ก็เว้นไว้แต่ว่าสิ่งนั้นทำไปโดยไม่มีเจตนา เช่น เดินไปไม่เห็นมด ไม่เห็นปลวก ตัวมันเล็กไปเหยียบมันเข้าตาย อย่างนี้ถือว่าไม่ขาดกรรมบถข้อนี้

(๒) องค์สมเด็จพระมหามุนีทรงกล่าวว่า จงเว้นจากการถือเอาของที่บุคคลอื่นไม่ให้มาเป็นของตน นี่มีความหมายว่า ทรัพย์สินใดๆ อันตนเองไม่มีสิทธิ์ที่จะพึงทำได้ หรือไม่มีสิทธิ์จะพึงยึดถือมาได้ คำว่า “ ทำได้” น่ะ หมายความว่า งานการบางอย่างสมัยนี้มีมาก ตามที่เขาประกาศกันว่า ที่โน่นก็จับยาปลอม ที่นี่ก็จับของปลอม อย่างนี้เป็นต้น จะไปนั่งนึกเอาแต่เพียงว่าทรัพย์สินของบุคคนอื่นใด ที่เขาวางไว้เราไม่ยึดถือแล้วก็ไม่เป็น อทินนาทาน ทีนี้ถ้าของสิ่งใดที่เจ้าของเขาทำไว้แล้ว เช่น ยา เขาทำยาไว้ขาย ทำวัตถุธาตุอย่างใดอย่างหนึ่งไว้ขาย เราก็สร้างยี่ห้อปลอมเป็นยี่ห้อของเขาเป็นต้น อย่างนี้องค์สมเด็จพระทศพลก็ถือว่าเป็นอทินนาทาน เหมือนกัน
ฉะนั้น ขอบรรดาท่านพุทธบริษัททุกท่านพึงทราบว่า องค์สมเด็จพระบรมโลกนาถทรงกล่าวว่า ถ้าเราจะเป็นมนุษย์กันจริงๆ อารมณ์ใจของเราจะไม่มีเจตนาตั้งใจจะลักขโมยของบุคคลอื่น จะคดโกงของบุคคลอื่น ไม่ตั้งใจจะปลอมสิ่งทั้งหลายที่เป็นประโยชน์แก่บุคคลอื่นที่เขาทำแล้ว

(๓) องค์สมเด็จพระประทีปแก้วทรงกล่าวว่า ถ้าท่านปรารถนาจะเป็นมนุษย์จริงๆ ก็ต้องเว้นจาก กาเมสุมิจฉาจาร คำว่า  “กาเมสุมิจฉาจาร” นี่ ยังมีคนเข้าใจยาก เข้าใจกันพลาด ถือว่าถ้าละเมิดไปร่วมรักในสามีและภรรยาของบุคคลอื่นเป็นสำคัญ อันนี้เป็น กาเมสุมิจฉาจาร สำหรับผู้ชายที่มีภรรยาอยู่แล้ว ถ้าผู้หญิงคนใดไปยุ่งกับผู้ชายคนนั้น ไปร่วมรักหรือยึดถือเอาเขามาเป็นสามี อย่างนี้องค์สมเด็จพระชินศรีทรงกล่าวว่า หญิงคนนั้นย่อมเป็นกาเม รวมทั้งผู้ชายด้วย แต่ว่าสำหรับผู้ชายที่ไปยุ่งกับสตรีใดที่กล่าวว่า เป็นภรรยาของบุคคลอื่นก็ดี เป็นลูก เป็นหลาน เป็นคนที่อยู่ในปกครองของบุคคลใดก็ดี ถ้าไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าของ นี่ก็ถือว่าเป็นกาเมทั้งหมด ที่บรรดาประชาชนทั้งหลายมักจะเข้าใจผิดในคำสอนขององค์สมเด็จพระบรมสุคตในข้อนี้ ว่าย่อมต้องไปละเมิดเฉพาะภรรยาของบุคคลอื่นเท่านั้น ความจริงไม่ใช่เช่นนั้น ท่านกล่าวไว้ในบาลีว่า สตรี ๒๐ จำพวก ลูกเขาก็ดี หลานเขาก็ดี เหลนเขาก็ดี ที่มีผู้ปกครอง หรือว่าบุคคลใดที่มีผู้บังคับบัญชาปกครองอยู่ ถือว่าเป็นผู้ปกครองควบคุมอยู่ ถ้าไปละเมิดประเภทนั้นเข้าเป็นโทษกาเมเหมือนกันหมด เพราะว่าเป็นการทำลายจิตใจของบุคคลผู้ปกครอง ฉะนั้น องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงทรงให้ระมัดระวังเรื่องนี้เป็นสำคัญ ให้เว้นเสีย แต่อาการทุกอย่างนี้องค์สมเด็จพระทรงธรรมให้ถือใจเราเป็นเหตุ องค์สมเด็จพระบรมโลกเชษฐ์ทรงปรารภว่า ถ้าเราเป็นผู้ปกครองบุคคลใดบุคคลหนึ่ง สตรีใดสตรีหนึ่ง ถ้าบุคคลอื่นเขามาทำอย่างนั้น เราจะมีความรู้สึกเป็นยังไง เราก็ไม่พอใจเป็นเหตุ เหตุฉะนั้น องค์สมเด็จพระบรมโลกเชษฐ์จึงทรงกล่าวว่า “ ธรรมที่เรากล่าวนี้เป็นการรักษาน้ำใจคน ให้พยายามนึกถึงอารมณ์ของเราเป็นสำคัญ ”

ข้อที่ ๔ องค์สมเด็จพระภควันต์ทรงกล่าวว่า อย่า มุสาวาท คืออย่าพูดคำเท็จซึ่งไม่เป็นความจริง ความจริงวาจาที่เป็น มุสาวาท นี่ ต้องมีเจตนาทำลายประโยชน์เป็นสำคัญ ถ้าการกล่าววาจาที่ไม่ตรงความจริงนั้น เพื่อเป็นการรักษาประโยชน์ องค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงกล่าวว่า ไม่มีโทษตามนี้ ไม่เป็นการละเมิด กรรมบถ ๑๐ ประการ

ข้อที่ ๕ องค์สมเด็จพระพิชิตมารทรงกล่าวว่า ปิสุณาย วาจาย เวรมณี จงเว้นเสีย คำว่า “ ปิสุณาย วาจาย ” ก็หมายถึงว่า วาจาที่พูดส่อเสียด ยุยงส่งเสริมให้บุคคลอื่นแตกร้าวซึ่งกันและกัน หมายความว่า เขามีความสามัคคีกันอยู่ เราหวังปรารถนาจะทำลายความสามัคคี ไปใช้เล่ห์เหลี่ยมวาจานี้พูดให้เขาแตกกันให้ได้ อย่างนี้องค์สมเด็จพระจอมไตรทรงกล่าวว่า เป็นผู้ละเมิด กรรมบถ ๑๐

ข้อที่ ๖ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงกล่าวว่า ผรุสาย วาจาย เวรมณี ข้อนี้องค์สมเด็จพระชินศรีทรงกล่าวว่า “ ท่านทั้งหลาย จงเว้นจากวาจาหยาบคายเป็นที่สะเทือนใจของบุคคลอื่น ”

ข้อที่ ๗ สัมผัปปลาปา เวรมณี จงเว้นจากการพูดจาเพ้อเจ้อเหลวไหล คือวาจาเพ้อเจ้อเหลวไหลที่เป็นวาจาที่สะเทือนใจบุคคลอื่น พูดไม่อยู่ในเกณฑ์คำหยาบ พูดไม่อยู่ในเกณฑ์มุสาวาท พูดไม่อยู่ในเกณฑ์ส่อเสียด แต่ว่าเป็นวาจาที่ยกตนข่มท่าน เขาเรียกว่า วาจาเหลวไหล หรือวาจาประการหนึ่ง วาจาที่พูดไปไม่ได้มีประโยชน์ หาประโยชน์มิได้อย่างหนึ่ง เป็นวาจาที่ยกตนข่มท่านอย่างหนึ่ง ที่จัดว่าเป็นวาจาประเภทนี้ ที่องค์สมเด็จพระชินศรีทรงบอกว่า ต้องงดเว้นถ้าเราจะเป็นมนุษย์ หลังจากข้อ ๗ ไปแล้ว ข้อ ๑ ถึงข้อ ๗ องค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงกล่าวว่านี่เป็นศีล ที่เป็นศีลมากเพราะแยกจากมุสาวาท ออกมาเป็น ๔ ข้อด้วยกัน ละเอียดกว่าศีล ๕ ประการ ตั้งแต่ข้อที่ ๘ ถึงข้อที่ ๑๐ นั้น องค์สมเด็จพระพิชิตมารทรงกล่าวว่า นี่เป็นธรรมะ คือตอนนี้ให้รักษากำลังใจ ตั้งแต่ข้อที่ ๑ ถึงข้อที่ ๗ ให้รักษาส่วนในทางกายเป็นสำคัญ เช่น เราไม่ฆ่าสัตว์ เราไม่ทำร้ายสัตว์ นี่ต้องเป็นเรื่องของกายด้วย ใจด้วย ประกอบกัน
ข้อที่ ๒ อทินนาทาน มีทั้งใจ มีทั้งกายร่วมกัน ถ้าใจไม่นึกมือมันไม่หยิบ
ข้อที่ ๓ กาเมสุมิจฉาจาร ก็มีใจคิด มีการกระทำ
ข้อที่ ๔ มุสาวาท วาจาพูดจากใจนึก
ข้อที่ ๕ ปิสุณายวาจา วาจาส่อเสียด มีใจนึก ปากพูด
ข้อที่ ๖ ผรุสวาจา วาจาหยาบ ใจนึก ปากพูด
ข้อที่ ๗ สัมผัปปลาปา นี่ใจนึก ปากพูดเพ้อเจ้อ
ข้อที่ ๘ นี่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าให้ควบคุมใจโดยตรง
ข้อที่ ๘ ถึงข้อที่ ๑๐ ก็ได้แก่
ข้อที่ ๘ อนภิชฌา ท่านกล่าวว่า จงอย่าใช้อารมณ์เพ่งเล็งในทรัพย์สินของบุคคลอื่น ตอนนี้จำให้ดี ว่าคุมเข้าถึงใจว่าใจของเรานี้จะไม่มองทรัพย์ของบุคคลอื่น ว่าไอ้ทรัพย์สิ่งนี้เราอยากจะได้มาเป็นของตน ถ้าเจ้าของเผลอเมื่อไหร่ เราจะยึดถือเอาทรัพย์ทั้งหลายเหล่านี้ไซร้มาเป็นของตนเมื่อนั้น อารมณ์อย่างนี้องค์สมเด็จพระทรงธรรม์ทรงกล่าวว่า จงอย่ามีแก่บุคคลผู้ปรารถนาในความเป็นมนุษย์
ข้อที่ ๙ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสว่า จงละจากความโกรธ ความพยาบาทที่เป็นอารมณ์ของใจว่า ท่านทั้งหลาย จงทรงใจไว้ให้ดี จงตัดความโกรธ ความพยาบาท จงอย่าให้มีในจิตของตน นี่องค์สมเด็จพระทศพลถือใจเป็นสำคัญ นี่ว่ากันเรื่องใจเป็นธรรมะ
ข้อที่ ๑๐ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงกล่าวว่า สัมมาทิฏฐิ ท่านทั้งหลาย จงมีความเห็นตรงในความดีโดยเฉพาะ
คำว่า “ เห็นตรงเห็นถูก ” ในข้อนี้ก็หมายความว่า
จงนึกว่าส่วนใดที่เป็นกุศลกรรม คือ ความดี ข้อนี้เราทำ
สิ่งใดที่เป็นอกุศลกรรม คือความชั่ว เราจะงดเว้นจากจิต
เป็นอันว่า  องค์สมเด็จพระธรรมสามิสรตรัส กรรมบถ ๑๐ ประการ แก่พราหมณ์และบรรดาภิกษุสงฆ์ทั้งหลาย ความจริงพราหมณ์เป็นผู้ถาม แต่ว่าเวลาเทศน์ องค์สมเด็จพระบรมโลกเชษฐ์ทรงกล่าวว่า
“ ภิกขเว ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ”
เป็นอันว่าเราฟังกันไปเหมือนกับพระพุทธเจ้าไม่ได้เทศน์กับพราหมณ์ แต่ความจริงนี่พระพุทธเจ้าเสด็จพระทับอยู่ที่ไหน จะมีบรรดาภิกษุสงฆ์ทั้งหลายแวดล้อมเต็มอยู่เบื้องหน้า และสำหรับบรรดาประชาชนทั้งหลาย ที่มาก็นั่งข้างหลังพระออกไป เหตุฉะนั้นเวลาที่จะเทศน์อะไรก็ตามที องค์สมเด็จพระชินศรีทรงปรารคำว่า “ ภิกขเว ” เป็นสำคัญ หมายความว่า องค์สมเด็จพระทรงธรรม์ทรงเทศน์กับพระ แต่ชาวบ้านจะฟังเอาไปปฏิบัติก็ใช้ได้ เมื่อองค์สมเด็จพระจอมไตรบรมศาสดาทรงแสดงพระธรรมเทศนาเรื่องนี้จบ ก็ปรากฏว่าพระก็ดี บรรดาประชาชนก็ดี ที่ฟังในเวลานั้น ปรากฏว่าบรรลุมรรคผล ตั้งแต่พระโสดาบันเป็นต้นไปเป็นจำนวนมาก และการแสดงพระธรรมเทศนาครั้งหนึ่ง ปรากฏว่าเทวดาหรือพรหมที่มาร่วมฟังด้วยก็บรรลุมรรคผลมากกว่าคน



อันนี้เราก็มาสรุปย่นย่อพระธรรมเทศนาขององค์สมเด็จพระทศพลว่า การปฏิบัติกรรมบถ ๑๐ ประการ นี่รู้สึกว่าหนัก ถ้าเราจะไปนั่งไล่เบี้ยว่าพระพุทธเจ้าว่าอะไรบ้าง ดีไม่ดีท่านทั้งหลายที่ลุกไปจากศาลา เวลานี้เทศน์ครบ ๑๐ สิกขาบท แต่พอลุกแล้วปรากฏว่าหล่นหายไปเสียหลายข้อ อย่าง อาจารย์หง่า เป็นต้น หล่นหายใช่ไหม จำไม่ได้ว่าไอ้ ๑๐ ข้อนี่มันมีอะไรบ้าง เราก็มานั่งสรุปปฏิบัติกันแบบย่อๆ ว่าทำยังไงพระธรรมขององค์สมเด็จพระจอมไตรจึงจะทรงตัว เราก็มานั่งคิดว่าธรรมะที่องค์สมเด็จพระธรรมสามิสรตรัสไว้นี่ มันมีข้อปฏิบัติรวบๆ มีอยู่ คือว่าเราปฏิบัติไปตามคำสอนขององค์สมเด็จพระบรมครู ที่ว่าเป็นแก่นของธรรมะ คือ ได้ทั้งศีลได้ทั้งธรรม แล้วก็ กรรมบถ ๑๐ ประการ นี้ก็จะพ้นไป คือไม่มีโทษใน กรรมบถ ๑๐ ประการ นั่นก็คือ ขอบรรดาท่านทั้งหลายตั้งอยู่ใน พรหมวิหาร ๔ ได้แก่

(๑) เมตตา ความรัก สร้างอารมณ์ความรักไว้เป็นปกติ นับตั้งแต่ตื่นขึ้นมาถึงหลับ อารมณ์ของเราจะคิดไว้เสมอว่า เราจะไม่เป็นศัตรูกับใคร เราจะมีความรักในคนและสัตว์ในโลกนี้สม่ำเสมอกัน คนผู้นั้นจะเป็นญาติ จะเป็นคนเนื่องถึงเราหรือไม่ใช่ก็ตาม จะร่วมชาติศาสนาเดียวกันหรือไม่ก็ตาม แต่ว่าเกิดในโลกเดียวกัน จะเป็นคนหรือสัตว์ก็ตาม เรามีความรู้สึกว่าเขามีความปรารถนาเช่นเดียวกับเรา คือ รักสุขเกลียดทุกข์ ไม่มีความต้องการจะให้บุคคลใดมาเป็นศัตรูสำหรับเรา เพราะว่าการเป็นศัตรูซึ่งกันและกัน เป็นปัจจัยของความเร่าร้อน ต้องระมัดระวังมีความลำบาก เมื่อองค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแนะนำให้เราเป็นคนมีความรัก เราก็จะรักตัวเราเอง แล้วเราก็จะรักบุคคลอื่น เราจะรักสัตว์อื่นแม้แต่เป็นสัตว์เดรัจฉานเสมอด้วยตัวเรา เราไม่ปรารถนาสิ่งใด เราก็ไม่ทำกับบุคคลอื่นและสัตว์อื่นอย่างนั้น มีความรู้สึกว่าเขากับเรามีความรู้สึกเสมอกัน มีความต้องการเสมอกัน นี่ประการหนึ่ง

(๒) เรามี กรุณา ความสงสาร ไอ้กรุณา ความสงสารนี่วัดตัวเราเองเป็นสำคัญ เช่นเดียวกัน ว่าเรายามปกติ เราต้องการให้คนเกลียดเราหรือให้คนเมตตาปรานีสงสาร เกื้อกูลในเรา อารมณ์ของเราจริงๆ มีความรู้สึกอย่างเดียว คือต้องการให้คนทั้งโลกมีความเกื้อกูลสงเคราะห์ในเราเป็นสำคัญ ข้อนี้เมื่อเรามีอารมณ์อย่างนี้แล้วนั้น องค์สมเด็จพระภควันต์ทรงกล่าวว่า จงถือใจเราเองเป็นเหตุ สมเด็จพระบรมโลกเชษฐ์ตรัสว่า เมื่อเราต้องการให้ชาวบ้านเขาสงสาร ต้องการให้ชาวบ้านสงเคราะห์เกื้อกูลเราฉันใด จิตใจของเรานับตั้งแต่ตื่นจนกว่าจะหลับ คิดไว้เสมอว่าเราจะสงสารบุคคลอื่นนอกจากตัวเรา เราจะสงสารบรรดาสัตว์ทั้งหลายแม้แต่เป็นสัตว์เดรัจฉาน เราตั้งใจไว้เสมอว่า ถ้าเขาขาดแคลนสิ่งหนึ่งสิ่งใด ถ้าสิ่งนั้นไม่เกินวิสัยของเราที่จะพึงสงเคราะห์ได้ เราจะเกื้อกูลท่านผู้นั้นให้มีความสุขไม่ว่าคนหรือสัตว์ ความจริงถ้าปฏิบัติเพียง ๒ ข้อ เพียงเท่านี้ กรรมบถ ๑๐ ประการ มันก็ไม่ขาด เอา ๒ ข้อก็พอ ที่ว่าเอ้า ๒ ใน ๔ นี่ องค์สมเด็จพระมหามุนีตรัสไว้ใน กรรมบถ ๑๐ เพราะว่าเอาถึง ๔ ข้อ จะหนักสำหรับบรรดาท่านพุทธบริษัท เราก็มานั่งพิจารณากันดูว่า คนที่เรารักก็ดี คนที่เราสงสารก็ดี เราจะฆ่า เราจะทำร้ายเขาได้ไหม เราจะยื้อแย่งความรัก จะทำลายประโยชน์ในทรัพย์สินของเขาได้ไหม เราจะแย่งบุคคลที่เขารักได้ไหม นี่เรารักเราสงสาร เราจะโกหก เราจะใช้วาจาส่อเสียดให้เขาแตกร้าวกัน เราจะพูดคำหยาบให้เป็นเครื่องสะเทือนใจ เราจะพูดวาจาเพ้อเจ้อเหลวไหลเป็นการข่มใจทำลายความสุขจิตใจ เราจะทำกับคนที่เรารักเราสงสารได้หรือไม่ นึกดูกันไป แล้วกำลังใจของเรา เราจะมานั่งนึกว่าไอ้ทรัพย์สินของคนที่เรารักเราสงสารอยู่น่ะ มันมีแหวนเพชร มันมีเงินมาก มันมีทองมาก ถ้ามันเผลอเมื่อไรเราจะลักจะขโมยเอาทรัพย์ทั้งหลายมาเป็นสมบัติของเรา อารมณ์อย่างนี้มันจะคิดไหม แล้วก็บุคคลใดที่เรารักเราสงสาร เราจะปลูกฝังตั้งใจสร้างความโกรธ ความพยาบาท คิดประทุษร้ายจะฆ่ามันให้ตาย จะทำร้ายให้มันมีความทุกข์ อย่างนี้เราจะคิดไหม ถ้าคิดก็เป็นคนที่ไม่มีความรักความสงสาร

ข้อที่ ๑๐ องค์สมเด็จพระพิชิตมารตรัสว่า สัมมาทิฏฐิ
สัมมาทิฏฐิ นี่แปลว่า มีความเห็นชอบ ในเมื่อจิตของเราตั้งอยู่ในเมตตา ความรักเป็นปกติ กรุณา ความสงสารเป็นปกติ อารมณ์มันก็เยือกเย็น อย่างนี้องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงกล่าวว่า “ ท่านผู้นั้นมีความเห็นชอบแล้ว มีความเห็นดีแล้ว มีความเห็นตรงตามที่เราต้องการ ” นี่แหละบรรดาท่านพุทธบริษัททุกท่าน ท่านทั้งหลาย จงพิจารณาคนที่เราเห็นเป็นสำคัญไม่ว่าคน ไม่ว่าพระ ไม่ว่าเณร ดูไว้ให้หมด แล้วก็มาเปรียบเทียบกับตัวเราว่า ที่เราเรียกบุคคลทั้งหลายว่า “ คน ” นี่ความจริงเรียกไม่ผิด เพราะอะไร เพราะว่าตามปกติคนที่เกิดมาในโลกนี้มีมนุษยสมบัติน้อยเต็มที มักจะมีอารมณ์ไม่ครบ กรรมบถ ๑๐ ประการ นี่ประเภทนี้เขาเรียกว่า “ คน ” ถึงแม้ว่าจะเป็น ภิกษุ สามเณร ผู้ทรงผ้ากาสาวพัสตร์ก็เหมือนกัน ทรงก็ทรงไปอย่างนั้น ยังไม่เป็นมนุษย์ ยังไม่เป็นพระ เป็นคน ไอ้คนน่ะมันแปลว่ายุ่ง ยุ่งไปในด้านของความชั่ว ทีนี้หากว่าท่านใดทรงตัวไว้ได้ ทรงกำลังไจไว้ได้ในด้าน กรรมบถ ๑๐ ประการ ท่านเรียกว่า “ มนุษย์ ” เพราะว่ามนุษย์แปลว่ามีใจสูง ใจไม่ต่ำ คำว่า “ มีใจสูง ” ในทีนี้ก็หมายความว่า มีกำลังใจไม่ต่ำลง คือจิตใจไม่เนื่องไปด้วยอบายภูมิทั้ง ๔ ประการ อารมณ์ใจของบุคคลที่เป็นมนุษย์นั้นคือ

(๑)   ไม่ไปยุ่งกับนรก
(๒)   ไม่ไปยุ่งกับเปรต
(๓)   ไม่ไปยุ่งกับอสุรกาย
(๔)   ไม่ไปยุ่งกับสัตว์เดรัจฉาน

อารมณ์ใจหลีกเลี่ยงจากอบายภูมิทั้ง ๔ ประการ ถึงจะเรียกว่าใจสูง คือสูงจากอบายภูมิทั้ง ๔ ประการ ขึ้นมาแล้วอย่างดี อย่างเลวที่สุดตามจากความเป็นมนุษย์ มาเกิดเป็นมนุษย์ก็เป็นมนุษย์ดี เวลามันหมดแล้ว ถ้ามิฉะนั้นตายแล้วก็เกิดในสวรรค์ ถ้ารักษากำลังใจของท่านทั้งหลายในส่วนทั้ง ๑๐ ประการนี้มั่นคงดำรงอยู่ในจิต อย่างนี้องค์สมเด็จพระธรรมสามิสรว่า ตายจากคนเป็นพรหม ถ้าหากว่าท่านทั้งหลายมีความนิยมเป็นปกติ คือใช้กำหนดอารมณ์ทั้งหมดนี้เป็น วิปัสสนาญาณ ความจริง กรรมบถ ๑๐ ประการนี้ ปฏิบัติได้ทุกอย่าง

(๑)   ต้องการเป็นมนุษย์ก็ได้
(๒)   ต้องการเป็นเทวดาก็ได้
(๓)   ต้องการเป็นพรหมก็ได้

เพียงแค่มี กรรมบถ ๑๐ ประการ นี้ ต้องการไปนิพพานก็ได้ เพราะสัมมาทิฏฐิ
อพยาบาท ไม่โกรธนี่ก็เป็นพระอนาคามี
แล้วก็ อนภิชฌา ไม่โลภ ก็ตัดความโลภ
อพยาบาท ตัดความโกรธ
สัมมาทิฏฐิ ตัดความหลง
เป็นอันว่า การตัดทั้งหมดนี้ เป็นการตัดอกุศลมูลทั้งหมด เห็นว่าตอนท้ายนี่ พระพุทธเจ้าทรงห้อยไว้ มีความสำคัญ ๗ ข้อ เบื้องต้นนั้นเป็นศีล ศีลเป็นปัจจัยให้เราเกิดเป็นมนุษย์อย่างหนึ่ง ศีลเป็นปัจจัยให้เราเกิดเป็นเทวดาอย่างหนึ่ง การทรงศีลไว้ทั้งหมด ศีลทรงกำลังใจเต็มอารมณ์เป็นพรหมได้ แต่ว่าข้อสุดท้าย องค์สมเด็จพระจอมไตรบรมศาสดาห้อยไว้ โอ้โฮ! เมื่อกี้ลืมดูไป ห้อยหนัก

(๑) อนภิชฌา อารมณ์จิตไม่ปรารถนาในการเพ่งเล็งทรัพย์สินของบุคคลอื่น นี่เป็นอันว่าตัดความโลภไปจากจิต ฟังกันให้ดีนะ
(๒) อพยาบาท ไม่โกรธ ไม่พยาบาท คือจิตใจของเราไม่มีความโกรธ จิตใจไม่มีความพยาบาท โอ้โฮ! อย่างนี้ตัดรากเหง้าทิ้งหมด

« แก้ไขครั้งสุดท้าย: สิงหาคม 09, 2014, 05:13:39 AM โดย ศรีโคมคำ »

ออฟไลน์ ศรีโคมคำ

  • สมาชิก
  • *
  • กระทู้: 35
  • ญาติธรรม
    • ดูรายละเอียด


   อาจารย์หง่า แย่ไหมนี่ พระพุทธเจ้าห้อยหนักนะ ไม่ใช่ห้อยเบานะ ความจริง แหม..นี่ทุกคนพอแล้วไม่ต้องไปทำอะไร รักษา กรรมบถ ๑๐ ประการ แล้วไปนิพพานได้สบาย ความโลภเป็นรากเหง้าของอกุศลตัวแรก
ที่เราสร้างความดีกันทั้งหมดนี่ พระพุทธเจ้าต้องการให้ตัดอกุศล รากเหง้าหรือโคตรเหง้าของอกุศล โคตรแล้วก็เหง้าด้วยนะ โคตรของอกุศลแล้วก็เหง้าของอกุศล ๓ ประการเท่านั้นคือ

(๑) ถอนความโลภให้ออกไปจากจิต
(๒) ถอนความโกรธ ความพยาบาทออกไปจากจิต
(๓) ถอนโมหะ ความหลงออกไปจากจิต

ใน กรรมบท ๑๐ ประการ นี้ องค์สมเด็จพระธรรมสามิสรว่า ท่านทั้งหลาย จงอย่ามีอารมณ์เป็น อนภิชฌา อย่างเพ่งเล็งทรัพย์สินทั้งหลายของบุคคลอื่น โดยอยากได้ทรัพย์สินของบุคคลอื่นมาเป็นของตน นี่ตัดความโลภยกยอดกันไปเลย

ข้อที่ ๙ ท่านบอก อพยาบาท ตัดความโกรธ ความพยาบาท ไหนๆ เทศน์แล้วก็ตะบันมันไป มันหมดเวลาแล้ว ก็เทศน์ให้มันเลยเวลาไป เอาให้หมด

ข้อที่ ๑๐ ท่านบอก สัมมาทิฏฐิ มองไปมองมา โอ้โฮ! นี่พระพุทธเจ้าเล่นง่ายๆ แบบนี้นี่ เขาถึงได้เป็นพระอรหันต์กันวันนั้นน่ะ วันที่ท่านเทศน์นั้น ฆราวาสก็ดี พระก็ดี เทวดาก็ดี พรหมก็ดี พอฟังจบเท่านั้น ปรากฏว่าบรรลุอรหันต์กันเป็นแถว ก็เป็นอันว่า ถ้าเราจะฟังกันง่ายๆ ที่พระพุทธเจ้าท่านทรงเทศน์ กรรมบท ๑๐ เพื่อมนุษยธรรม คือ ความเป็นมนุษย์หมายถึง ใจเป็นมนุษย์ ไอ้เราก็คิดว่า ไอ้มนุษย์นี่ มานั่งตาเห็นมั่งไม่เห็นมั่ง อย่าง อาจารย์หง่า นี่น่ะ ฮึ! ใช่ไหม ที่ว่านี่แค่เป็นมนุษย์ แต่ความจริง มนุษย์นี่เขาแปลว่าใจสูง สูงอันดับแรก คือ สูงจากอบายภูมิ ไม่มีทางลงอบายภูมิแล้ว เป็นอันว่า คนปฏิบัติ กรรมบถ ๑๐ อย่างเบาๆ อย่างเลวที่สุดนี่ ไม่ลงอบายภูมิเพราะเป็นวิสัยของพระโสดาบัน เห็นไหม อย่าง อาจารย์หง่า นี่คงเป็นพระโสดาตะบันล่ะมั้ง เห็น มยัง ภันเต อยู่เรื่อยนี่ รับศีลมาทุกวันพระ ไม่เห็นมีสักที ทุกวันพระก็ศีลหายหมดทุกที มารับใหม่ทุกที อย่างนี้เขาเรียกโสดาตะบันใช่ไหม นี่อย่างเลวที่สุดเป็นพระโสดาบัน ไม่ฆ่าสัตว์ ไม่ลักทรัพย์ ไม่ประพฤติผิดในกาม ไม่พูด มุสาวาท ไม่พูดวาจาส่อเสียด ไม่พูดคำหยาบ ไม่พูดวาจาทำลายอารมณ์ใจบุคคลอื่น คือวาจาเพ้อเจ้อ อันนี้เป็นจริยาของพระโสดาบันเขานะ แล้วก็มีอารมณ์ไม่อยากจะขโมยทรัพย์ของใคร ไม่อยากจะโกรธใคร ไม่อยากจะมีความเห็นผิด นี่เป็นอารมณ์ของพระโสดาบัน ใช่ไหม อย่างง่ายๆ คือ อย่างต่ำที่สุด ท่านบอกเป็นมนุษย์อย่างดี อันนี้มาข้อที่ ๘, ๙, ๑๐ นี่ องค์สมเด็จพระชินศรี นี่โอ้โฮ! ล่อกันถนัด
อนภิชฌา ไม่เพ่งเล็งอยากจะได้ทรัพย์สมบัติของบุคคลอื่นมาเป็นของตน แก้ไขยังไง แก้ไขอารมณ์ใจตรงนี้ ก็มีเมตตาความรักกรุณาความสงสาร ให้ทานเป็นปกติ อย่างที่ท่านทั้งหลาย มาถวายทานแก่บรรดาพระสงฆ์ในพระพุทธศาสนาวันนี้ เป็นการทำลาย อนภิชฌา ความโลภ ถ้าจิตคิดอย่างนี้อยู่เป็นปกติ แล้วไม่อยากจะได้ทรัพย์บุคคลอื่นเขามาเป็นของตนโดยไม่ชอบธรรม เป็นอันว่าท่านทั้งหลายทำลายความโลภได้หมด จัดว่าเป็นการตัดรากเหง้าอกุศลรากที่ ๑ ได้ ไอ้ที่เราจะต้องเกิดนี่มันอาศัยความเลว ๓  อย่างเท่านั้นมันทำให้เกิด คือ ความโลภ ความโกรธ ความหลง

มาข้อที่ ๙ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสว่า อพยาบาท อย่าคิดทำร้ายเขา อย่าจองล้างจองผลาญเขา แต่ถ้าเรามี เมตตา กรุณา ทั้ง ๒ ประการ ไอ้ความโกรธ ความพยาบาทมันก็หมดไป ถ้าเรามี เมตตา กรุณา ทั้ง ๒ ประการแล้ว  ไอ้การที่จะเพ่งโทษอยากจะได้ทรัพย์สมบัติของบุคคลอื่นมันก็หมดไป เป็นอันว่า กำลังใจของบรรดาท่านพุทธบริษัทที่ทรงคุณธรรมทั้ง ๒ ประการนี่ ทรงกรรมบถ ๑๐ ได้ดี
ข้อที่ ๑๐ องค์สมเด็จพระมหามุนีทรงบอกว่า สัมมาทิฏฐิ ยกยอดไปเลย นี่เป็นตัวนิพพาน เพราะอะไร สัมมาทิฏฐิ เรามีความเห็นตรง มีความเห็นถูก มีความเห็นชอบ ตรงตรงไหน ตรงที่บอกว่า

ชาติปิ ทุกขา ความเกิดมันเป็นทุกข์
ชราปิ ทุกขา ความแก่มันเป็นทุกข์
มรณัมปิ ทุกขัง ความตายเป็นทุกข์
โสกปริเทวทุกขโทมนัส เป็นต้น ความเศร้าโศกเสียใจเป็นทุกข์ ความพลักพรากจากของรักของชอบใจเป็นทุกข์



ถูกไหม อาจารย์หง่า ปวดท้องขี้กับเขาหรือเปล่า หา..ถ้าไม่ทุกข์เดี๋ยวไปพังส้วมที่บ้าน เข้าใจไหม นี่ท่านบอกว่า สัมมาทิฏฐิ มีความเห็นตรง ตรงแล้ว ทรงบอก เออ..นี่อย่าฆ่าสัตว์ตัดชีวิต เราจะไปฆ่าเขาทำไม ไม่เป็นเรื่องนี่วะ ใช่ไหม จะไปลักจะไปขโมยเขาทำไม ของเราเราก็รัก จะไปยื้อแย่งความรักเขาทำไม จะพูดไม่ดีทำไม จะลักจะขโมยเขาทำไม จะโกรธทำไม จะพยาบาททำไม เพราะว่าทุกคนมันเกิดมาแล้วมันทุกข์ทั้งหมด ในเมื่อเขาทุกข์แล้วเราก็ไม่ต้องไปทำให้เขาทุกข์ ถ้าเราอยากจะฆ่าให้เขาตาย ไม่ต้องฆ่าหรอก ไม่ทำมันก็ตาย ทุกคนน่ะ เรานั่งแช่งมันซะก็ได้ เราเป็นคนวาจาศักดิ์สิทธิ์ว่า ไอ้คนและสัตว์ทั้งโลกนี้ที่เกิดมาในโลกนี้ มันจงตายให้หมดรวมเราด้วย ใช่ไหม อาจารย์หง่า เราแช่งเขาก็ตาย เราไม่แช่งเขาก็ตาย ไอ้แช่งน่ะมันแช่งส่งเดช มันไม่ศักดิ์สิทธิ์อะไร แต่ความจริงเขาต้องตายอยู่แล้วเราจะไปนั่งคิดฆ่าเขาทำไม เป็นอันว่า องค์สมด็จพระจอมไตรบรมศาสดาให้ถอนความรู้สึกเสีย ตั้งใจว่าการเกิดเป็นคนมันเป็นทุกข์ การเกิดเป็นเทวดาหรือพรหมพักทุกข์นิดเดียวกลับมาเกิดใหม่ ฉะนั้น องค์สมเด็จพระจอมไตรทรงบอก เราหนีความเกิดเสียดีกว่า หนีความเกิดครั้งแรกมีอะไร มีเมตตากรุณาทั้ง ๒ ประการ เป็นสมุฏฐานพื้นฐานแรก เมื่อเมตตา กรุณา ทั้ง ๒ ประการมีแล้ว เราก็ตัดความโลภได้ เราก็ตัดความโกรธได้
ทีนี้มาตัดความหลง เราก็ใช้ปัญญานิดเดียวว่า การเกิดมันเป็นทุกข์ ทำไมเราจึงจะพ้นความเกิดได้ สิ่งที่เราจะพ้นความเกิดได้ก็คือ

(๑) ตัดความโลภเสีย ความโลภมันทำให้เกิด ไอ้การตัดความโลภ เราตัดด้วยการให้ทาน
(๒) เราตัดความโกรธเสีย ตัดความโกรธด้วยเมตตาและกรุณา
(๓) ตัดความหลง ปลงใจยอมรับนับถือกฎของธรรมดา คือกฎของความจริง ว่าความเกิดมีอยู่แล้ว ทุกสิ่งทุกอย่างในโลกมันเป็น อนิจจัง หาความเที่ยงไม่ได้ ทั้งคนทั้งสัตว์และวัตถุเกิดมาแล้วใหม่ ต่อไปเวลาสิ้นไป มันก็เก่าไปทุกทีๆ ผลที่สุดมันก็สลายตัวหมด ถ้าเราไปยึดถือร่างกายของเราก็ดี ว่าเป็นเรา เป็นของเรา ยึดถือร่างกายของบุคคลอื่นก็ดี ว่าเป็นเรา เป็นของเรา ยึดถือทรัพย์สมบัติทั้งหลายในโลกทั้งหมด ว่านั่นทรัพย์ของกู บ้านของกู เรือนของกู ความของกู เงินของกู ทองของกู ที่ดินของกู ก็แบบไอ้จู้ฮุกกูแบบนกเขาไฟน่ะ มันตายไปหลายตัวแล้ว ฮึ! อาจารย์หง่า

อย่างในมงคลสูตรท่านบอกว่านกเขาไฟนี่ ตะบันเทศน์มันไป เลยเวลาแล้วก็เลยไป ฮึ! นักเขาไฟจับอยู่บนต้นไม้ ต่างร้องจู้ฮุกกู ต้นก็ของกู กิ่งก็ของกู ใบก็ของกู ก้านก็ของกู ร้องไปร้องมาในที่สุดนกทั้งหลายเหล่านั้นตายหมด ไอ้ต้นไม้อยู่ตรงนั้นน่ะ ใช่ไหม ใครเป็นของกูล่ะเสร็จ เรานี่ก็เหมือนกัน มานั่งนึกว่าร่างกายนี่ก็ของกู บ้านก็ของกู เรือนก็ของกู ทองก็ของกู เงินก็ของกู ลูกของกู พ่อของกู แม่ของกู ผัวของกู ของกูหมด กูไปกูมา ไม่ช้ากูตายหมด ฮึ! ไอ้ของกูตาย ตัวกูก็ตาย มีอะไรเหลือ นี่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าให้คิดอย่างนี้ว่า โลกนี้เป็น อนิจจัง มันไม่เที่ยง ถ้ามันไม่เที่ยงเราไปนึกว่ามันเป็นเราเป็นของเรา ยึดถือมันทรงตัวอารมณ์มันก็เป็นทุกข์ ถ้าเรายอมรับนับถือกฎธรรมดาเสียอย่างเดียวว่าสภาวะของมันความจริงเป็นอย่างนี้ เกิดขึ้นในเบื้องต้น แล้วก็เสื่อมไปในท่ามกลาง สลายตัวไปในที่สุด ที่เราเกิดมาเป็นคนแบบนี้ต้องมีความทุกข์ ก็เพราะมีความหลงมีความเข้าใจผิด คิดว่าทุกสิ่งทุกอย่างนี่มันเป็นเรา เป็นของเราอยู่ตลอดเวลา แต่ความจริงทุกอย่างไม่มีอะไรเป็นของเรา ร่างกายนี้ก็เป็นเรือนร่างที่อาศัยชั่วคราวเท่านั้น ไม่ช้ามันก็พัง ถ้าเรายังยึดถือในมันอยู่ เราก็จะมีสภาพต้องเกิดแบบนี้ ต้องแก่แบบนี้ ต้องป่วยแบบนี้ ต้องเศร้าโศกเสียใจแบบนี้ ต้องตายแบบนี้ แล้วเราก็ตัดอารมณ์มันเสีย คือไม่ยึดถืออะไรๆ ทั้งหมด คิดไว้เสมอว่า ขึ้นชื่อว่าความเกิดมีขันธ์ ๕ อย่างนี้ ขึ้นชื่อว่าความเกิดมีบ้านมีเรือน มีคู่ครอง มีบุตร มีธิดา อย่างนี้ขึ้นชื่อว่าความเกิดเพื่อมาเกลือกกลั้วกับบุคคลผู้ประกอบไปด้วยอารมณ์ที่มีกิเลสแบบนี้ จะไม่มีที่สำหรับเราอีก ขันธ์ ๕ จะมีกับเราก็มีชาตินี้เป็นชาติสุดท้ายเท่านั้น เราไม่ต้องการขันธ์ ๕ อีก แต่การที่เราไม่ต้องการขันธ์ ๕ อันดับแรก เราจะทรงใจไว้ในเมตตาความรัก กรุณาความสงสาร

 ประการต่อไป เราจะทำลายความโลภให้พินาศไปจากจิต โดยไม่คิดอยากจะได้ทรัพย์สินของบุคคลใดมาเป็นของตน เราจะหักล้างอารมณ์ที่เป็นอกุศลอย่างนี้ด้วยการให้ทานเป็นสำคัญ การให้ทานครั้งหนึ่ง ชื่อว่าเป็นการทำลายความโลภครั้งหนึ่ง เราจะทำลายความโกรธด้วยความเมตตาปรานี เมตตา ความรัก และกรุณา ความสงสาร เราจะทำลายความเห็นผิดอย่างที่องค์สมเด็จพระพิชิตมารทรงสอน โดยไม่ยึดถือร่างกายของเราว่าเป็นเรา เป็นของเรา ไม่ยึดถือร่างกายของบุคคลอื่นว่าเป็นเรา เป็นของเรา ไม่ยึดถือทรัพย์สมบัติทั้งหลายในโลกทั้งหมดว่าเป็นเรา เป็นของเรา เท่านี้แหละบรรดาท่านพุทธบริษัท องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าท่านลง อริยสัจ ไว้เฉยๆ เทศน์ไปเทศน์มา ท่านก็ลง อริยสัจ
 เมื่อองค์สมเด็จพระทรงสวัสดิโสภาคย์ทรงเทศน์จบคราวนั้น บรรดาพระก็ดี บรรดาประชาชนก็ดี เทวดาและพรหมก็ดี พากันได้สำเร็จมรรคผลตั้งแต่พระโสดาบันเป็นต้นมากมาย แล้วอาตมาเทศน์วันนี้ไซร้ แหม..อยากจะทราบว่า แม้แต่เมตตาตัวเดียว มันจะเหลือติดใจใครบ้างหรือเปล่าก็ไม่รู้นะ ฮึ! อาจารย์หง่า ฮึ! องค์สมเด็จพระบรมครูท่านเทศน์ให้คนเป็นอรหันต์ แต่หลวงตาแก่เทศน์วันนี้น่ากลัวเทศน์แล้ว กรรมบถ ๑๐ จะพังไปไม่มีใครจำได้นะ เป็นอันว่า สำหรับการแสดงพระธรรมเทศนาในวันนี้ ว่ามากไปน้อ ความจริงถ้าเทศน์กันจริงๆ ไอ้ กรรมบถ ๑๐ ประการ นี่น่ะ เทศน์กันทุกวันๆ ละ ๑๒ ชั่วโมง จงถึง ๒๔ นาฬิกา ๓ เดือนมันก็ยังไม่จบ เมื่อเทศน์จริงๆ มันไม่จบ เราก็เทศน์หลอกๆ ซะกัณฑ์เดียวมันจบมันก็หมดเรื่องกัน

เอาละ บรรดาท่านพุทธบริษัททุกท่าน การแสดงพระธรรมเทศนามาวันนี้เลยเวลาไปมาก ก็ขอยุติพระธรรมเทศนาขององค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้า ตามที่แสดงมาแล้วเพียงเท่านี้ ในที่สุดแห่งพระธรรมเทศนานี้ อาตมภาพขอตั้งสัตยาธิษฐาน ขออ้างคุณพระศรีรัตนตรัย มีพระพุทธรัตนะ พระธรรมรัตนะ และพระสังฆรัตนะ ทั้ง ๓ ประการ ขอจงอภิบาลบรรดาท่านพุทธบริษัททั้งหลาย ให้เป็นผู้ยึดมั่นถือมั่นทรงไว้ซึ่ง กรรมบถ ๑๐ ประการ และจงมีกำลังใจล้างผลาญโลภะ โทสะ โมหะ ซึ่งเป็นรากเหง้าของอกุศล จงให้หมดไปจากจิตของตน ขอบรรดาท่านพุทธศาสนิกชนทุกท่านจงเป็นผู้เห็นธรรมตามที่พระพุทธเจ้าทรงเห็นแล้วในชาตินี้เถิด สวัสดี*

ที่มา : นิตยสารธัมมวิโมกข์ ฉบับที่ ๓๑๒ ประจำเดือนมีนาคม ๒๕๕๐
หน้า ๓๓-๔๕.  ถอดความโดย ศรีโคมคำ.
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: กรกฎาคม 01, 2014, 02:05:25 PM โดย ศรีโคมคำ »