เว็บพุทธภูมิ: พุทธภูมิ พระโพธิสัตว์ การบำเพ็ญบารมี



ผู้เขียน หัวข้อ: สังโยชน์ของพระโสดาบัน โดย พระราชพรหมยาน (หลวงพ่อฤาษีลิงดำ) วัดท่าซุง  (อ่าน 4216 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ ศรีโคมคำ

  • สมาชิก
  • *
  • กระทู้: 35
  • ญาติธรรม
    • ดูรายละเอียด


สังโยชน์ของพระโสดาบัน

โดย พระราชพรหมยาน (หลวงพ่อฤาษีลิงดำ) วัดท่าซุง จ.อุทัยธานี

ท่านสาธุชนพุทธบริษัททั้งหลายลำดับต่อไปนี้ก็จะขอนำเอาสังโยชน์ ๑๐ ประการ คือเป็นหลักสูตรสำคัญขั้นสุดท้ายในพระพุทธศาสนามาแสดงแก่บรรดาท่านพุทธบริษัท ทั้งนี้ก็เพราะว่าการศึกษาอย่างอื่นได้ให้การศึกษามาแล้วตามสมควร หวังว่าคงจะเป็นที่อิ่มสำหรับบรรดาญาติโยมพุทธบริษัทและบรรดาพระโยคาวจรทั้งหลายแล้ว ทั้งนี้ก็เหมือนกับหมอผู้ให้ยา ตามธรรมดาการให้ยาแก่คนที่เป็นโรคก็จะต้องให้ยาทุกๆ อย่างที่มีความจำเป็น เมื่อโรคเป็นมาประเภทใดก็ให้ยาประเภทนั้น เมื่อหายจากไข้หรือว่าอาการไข้ดีขึ้นแล้ว หมอก็ให้ยาตัดตอน หมายความว่า เป็นยาตัดรากของโลก ไข้จะได้หายเด็ดขาด ข้อนี้มีอุปมาฉันใด แม้แต่การฟังพระธรรมคำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระจอมไตรบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้าก็เหมือนกัน สำหรับนักปฏิบัติก็ต้องพยายามศึกษาทุกอย่างเพื่อความเข้าใจในเรื่องราวของพระพุทธศาสนาในการที่จะริดรอนกิเลสให้หมดไป สำหรับเวลานี้ อาตมาคิดว่าบรรดาท่านพุทธบริษัททั้งหลายคงจะมีความเข้าใจในข้อวัตรปฏิบัติที่องค์สมเด็จพระทรงสวัสดิโสภาคย์สอนมาแล้ว

สำหรับในตอนนี้ก็จะขอให้ยาตัดรากของโรค คือสังโยชน์ ๑๐ ประการ คำว่า สังโยชน์ แปลว่า กิเลสเป็นเครื่องร้อยรัดใจ ทำให้จิตใจของเราตกอยู่ภายในอำนาจของกิเลส ตัณหา อุปาทาน และอกุศลกรรม ทีนี้การที่จะปฏิบัติตนให้เข้าถึงความเป็นพระอริยเจ้าก็ต้องรู้จักกฎรู้จักเกณฑ์ รู้จักทางเดิน ถ้าเราไม่รู้จักกฏไม่รู้จักเกณฑ์ ไม่รู้จักทางเดิน เข้าไปสู่จุดตรง ผลแห่งการปฏิบัติก็ย่อมมีผลไม่สมบูรณ์ ทีนี้การที่จะปฏิบัติให้มีผมสมบูรณ์ก็ต้องมุ่งความเป็นพระอริยเจ้าเป็นอันดับต้น และก็มุ่งพระนิพพานเป็นอันดับสุดท้าย การจะมุ่งพระนิพพาน ความเป็นพระอรหัตผล บางทีท่านพุทธศาสนิกชนอาจจะหนักใจ ว่าอยู่ๆ จะเป็นพระอริยเจ้าได้อย่างไร ทำอย่างไรจึงจะเข้าถึงพระนิพพาน ฉะนั้น จึงขอให้บรรดาท่านพุทธบริษัททุกท่านศึกษาข้อวัตรปฏิบัติตามขั้นตามตอนดังต่อไปนี้
   สำหรับขั้นตอนที่เราจะเข้าถึงความเป็นพระอริยเจ้าคืออรหัตผล องค์สมเด็จพระทศพลทรงจัดไว้เป็น ๔ ขั้นตอน คือ
๑.   อย่างเบาเรียกว่า พระโสดาบัน
๒.   กิเลสบางไปนิด เรียกว่า พระสกิทาคามี
๓.   จัดว่าเป็นอันดับสำคัญ ตัดโลกีย์วิสัยได้ เรียกว่า พระอนาคามี
๔.   ตัดกิเลสทั้งหมดเป็นสมุจเฉทปหาน เรียกว่า พระอรหันต์
สำหรับในตอนต้นเป็นจริยาที่ปฏิบัติแบบเบาๆ พอที่บรรดาท่านพุทธบริษัททั้งหลายเป็นผู้ใหม่ในพระพุทธศาสนาจะพึงปฏิบัติได้ แต่ทว่าขอบรรดาท่านทั้งหลายโปรดสร้างความเข้าใจว่าพระอริยเจ้านี่มีปฏิปทาคือตัดกิเลสได้ไม่เสมอกัน อย่างพระโสดาบันยังไม่ถือว่าตัดกิเลสได้เด็ดขาด เป็นแต่เพียงขังกิเลสเข้าไว้ เหมือนกับเราจับเสือเข้ามาขังไว้ในกรง เสือยังมีกำลังทุกอย่างพอที่จะกัดคนได้ พอที่จะทำร้ายคนได้ แต่ว่าเสือไม่สามารถออกจากกรงได้ ความดุร้ายของเสือยังมีอยู่ ข้อนี้มีอุปมาฉันใดพระโสดาบันก็เหมือนกัน ยังมีความรักในเพศ ยังมีความโลภความอยากรวย ยังมีความโกรธ ยังมีความหลง ตามที่ท่านเขียนกันไว้บอกว่า มีความรัก มีความโลภ ความโกรธ ความหลง เบาลง แต่สำหรับจิตใจของอาตมายังถือว่าไม่เบา เป็นแต่เพียงขังเสือไว้ในกรง หรือขังกิเลสไว้ในกรงเท่านั้น



ทั้งนี้ก็เพราะว่าเราจะเห็นได้ว่า ดูตัวอย่างท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี หรือว่า นางวิสาขามหาอุบาสิกา นางวิสาขามหาอุบาสิกาเป็นพระโสดาบันตั้งแต่อายุ ๗ ขวบ อายุเพียง ๗ ปีได้พบกับองค์สมเด็จพระชินสีห์บรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า นางฟังเทศน์จบเดียวได้พระโสดาบัน และต่อมาเมื่ออายุ ๑๖ ปี นางก็แต่งงานและมีบุตร ๒๐ คน และก็มีเครื่องประดับประดาที่เรียกว่า เครื่องมหาลดาปสาธน์ ราคาถึง ๑๖ โกฏิ ยังมีการทำไร่ไถนา ทำมาหากินเป็นปกติ เราจะเห็นว่าพระโสดาบันยังมีอะไรทุกอย่างอย่างคนธรรมดา และทำไมจึงเรียกกันว่าพระโสดาบัน เป็นพระโสดาบันหรือเป็นพระอริยเจ้าได้อย่างไร ฟังกันต่อไป

ที่บอกไว้อย่างนี้ก็เพื่อความเบาใจของบรรดาท่านพุทธบริษัท เพราะว่าความเป็นพระโสดาบันไม่ใช่สิ่งเกินวิสัยสำหรับเราที่จะทำได้ มาดูสังโยชน์ที่พระโสดาบันตัด คือ
๑. สังกายทิฏฐิ พระโสดาบันตัดได้เพียงเบาๆ เพียงแค่รู้ตัวว่าจะตายเท่านั้น มีความรู้สึกอยู่เสมอว่ายังไงๆ เราก็ตายแน่ ชีวิตของเราไม่สามารถจะทรงอยู่ตลอดกาลตลอดสมัยได้ พระโสดาบันมีความรู้สึกอยู่เสมอว่าเราแก่ลงไปทุกวันๆ แล้วก็มีความรู้สึกอยู่เสมอว่าร่างกายของเรามีความทรุดโทรมมันจะมีความป่วยไข้ไม่สบายเป็นปกติ นี่เป็นความรู้สึกของพระโสดาบันในขั้นสักกายทิฏฐิ ยังไม่ถึงกับตัดเด็ดขาด ตามที่องค์สมเด็จพระบรมโลกนาถทรงแนะนำว่าท่านทั้งหลายจงเจริญมรณานุสสติไว้เสมอ ให้รู้ตัวว่าเราจะต้องตาย นี่เมื่อรู้ตัวว่าจะต้องตายแล้ว พระโสดาบันมีความเชื่อในคำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ไม่สงสัย ทั้งนี้เพราะว่าพระพุทธเจ้าตรัสว่า ถ้าเราตายแล้วจากความเป็นคน ถ้ากิเลสหรือสิ่งที่เป็นอกุศลมันยังมีอยู่ เราก็ต้องเวียนว่ายตายเกิดในวัฏฏะ ทีนี้อาการเวียนไปเวียนมานี่มันไม่แน่ ถ้ากุศลนำไปก็ไปสู่แดนของความสุข ถ้าอกุศลนำไปก็ไปสู่แดนของความทุกข์ ฉะนั้น พระโสดาบันจึงเลือกทางเฉพาะทางเดียว คือทางด้านกุศลโดยเฉพาะ เรียกว่าไม่สงสัยในคำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ใช้ปัญญาเป็นเครื่องพิจารณาตามเหตุตามผล หลังจากนั้นแล้วคนที่จะเป็นพระโสดาบันก็ต้องหาทางเลือกว่าการตายแล้วเราจะต้องไปนรกบ้าง ไปเป็นเปรตบ้าง เป็นอสุรกายบ้าง เป็นสัตว์เดรัจฉานบ้าง มาเป็นมนุษย์บ้าง เป็นเทวดาบ้าง เป็นพรหมบ้าง ถ้ายังไม่หมดกิเลสการเกิดมันยังมีอยู่ เราก็แสวงหาที่เกิดที่ดีที่จะพึงหาได้ อย่างน้อยที่สุด เราก็จะเกิดเป็นคนประเภทชนิดที่จำกัดการเกิด จะไม่ยอมเกิดประเภทที่เรียกว่านับชาติกันไม่ถ้วน เพราะว่าพระโสดาบันมีกระบวนการเกิดอยู่ ๓ แบบ คือ
๑. เป็นพระโสดาบันขั้นหยาบที่เรียกกันว่า สัตตักขัตตุง อย่างนี้ต้องเกิดเป็นมนุษย์อีก ๗ ชาติ แต่การเกิดเป็นสัตว์นรก เปรต อสุรกาย หรือสัตว์เดรัจฉานไม่มี จะเกิดในช่วงเทวดาหรือพรหมหรือมนุษย์เท่านั้น แต่ว่าต้องเกิดเป็นมนุษย์อีก ๗ ชาติ จึงจะถึงอรหัตผล
๒. โกลังโกละ ถ้ามีอารมณ์อย่างกลางก็จะเกิดอีก ๓ ชาติ
๓. เอกพิชี ถ้ามีอารมณ์ใจอย่างเข้มก็จะเกิดอีกชาติเดียว
ทีนี้ทำอย่างไร พระโสดาบันก็มีทางทางเดียวคือตัดอบายภูมิเสีย จะไม่พยายามให้ตนต้องตกลงไปสู่อบายภูมิ คือเกิดเป็นสัตว์นรก เกิดเป็นอสุรกาย เกิดเป็นเปรต เกิดเป็นสัตว์เดรัจฉาน ถ้าจะเป็นมนุษย์ก็ต้องอยู่ในเกณฑ์ดี บุคคลผู้จะเป็นพระโสดาบันจะได้เลือกหนทางจุดหนึ่งเป็นทางที่จะกำจัดอบายภูมิทั้ง ๔ ประการ นั่นก็คือรักษาศีลให้บริสุทธิ์ มีความเคารพในพระพุทธเจ้า มีความเคารพในพระธรรม มีความเคารพในพระสงฆ์อย่างจริงจัง เมื่อมีความเคารพในพระรัตนตรัยอย่างจริงจังแล้ว ก็พยายามตั้งใจรักษาศีลให้บริสุทธิ์ ไม่ยอมเป็นผู้บกพร่องในศีล โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ฆราวาสมีศีล ๕ บริสุทธิ์ สำหรับสามเณรมีศีล ๑๐ บริสุทธิ์ พระภิกษุมีศีล ๒๒๗ บริสุทธิ์ มีอารมณ์จิตยับยั้ง
ถ้าจะถามว่าพระโสดาบันยังมีความรักไหม ก็ต้องตอบว่าพระโสดาบันมีความรักในเพศ ยังมีการแต่งงาน แต่ว่าความรักของพระโสดาบันอยู่ในขอบเขต คำว่าขอบเขตหมายถึงว่าขอบเขตของความรัก ไม่นอกใจคนรัก ไม่ทำกาเมสุมิจฉาจาร เพราะเกรงว่าจะขาดศีล
พระโสดาบันยังมีความโลภไหม ก็เห็นจะต้องตอบว่าพระโสดาบันยังต้องการความร่ำรวย จะตอบว่ามีความโลภมันก็ไม่ชัดหรือจะตอบว่าไม่โลภเลยมันก็ไม่ชัด ก็ยังอยากรวยอยู่ แต่ว่าความร่ำรวยของพระโสดาบันไม่ผิดศีล คือไม่คดไม่โกง ไม่ยื้อไม่แย่งทรัพย์สินของบุคคลอื่นที่ได้มาโดยไม่ชอบธรรม อันนี้เป็นอารมณ์ของพระโสดาบัน



ถามว่าพระโสดาบันยังมีความโกรธไหม ก็ต้องตอบว่า พระโสดาบันยังมีความโกรธ แต่ว่าความโกรธของพระโสดาบันนี้มันยังคึกคักๆ อยู่ในใจ ที่เคยกล่าวมาแล้วในตอนต้นว่าจับเสือขังกรงเข้าไว้ โกรธแต่ว่าไม่ทำอันตรายให้แก่บุคคลอื่นให้ได้รับความเดือดร้อน ความไม่พอใจมีอยู่ แต่ว่าการลงมือกระทำความเดือดร้อนแก่ผู้อื่นไม่มี นี่เป็นจริยาของพระโสดาบัน

ถ้าจะถามว่า “พระโสดาบันยังมีความหลงไหม” ก็ต้องตอบว่าพระโสดาบันยังมีความหลง คือยังมีความหลงในการมีคู่ผัวตัวเมีย คนถ้ายังรักยังแต่งงานอยู่ก็ถือว่ามีความหลง แต่ว่าความหลงของพระโสดาบันก็ยังมีขอบเขต ไม่เลยอำนาจของศีล คือไม่ทำลายศีล พระโสดาบันมีความโกรธ ความโกรธจะเกิดขึ้นมาได้ก็เพราะอำนาจของความหลง อันนี้ความโกรธมีขึ้นมาได้ก็อยู่ในขอบเขตของศีล ได้แต่โกรธอย่างเดียวไม่ทำลายใคร พระโสดาบันยังมีความอยากร่ำรวย ก็ยังถือว่าหลงเหมือนกัน เพราะทรัพย์สมบัติทั้งหลายนำไปไม่ได้เวลาตาย แต่ยังถือว่ายังมีความจำเป็นที่จะต้องกินที่จะต้องใช้ ก็เลยยังถือว่ายังมีความหลง แต่ว่าหลงอยู่ในขอบเขตของศีล ไม่คดไม่โกงใคร นี่เรียกว่าหลงเหมือนกัน แต่ว่าหลงสั้น ไม่หลงยาว ถ้าเราจะมองดูหน้าของพระโสดาบันหรือจริยาของพระโสดาบันแล้วบรรดาท่านพุทธบริษัทจะเห็นว่าไม่มีอะไรหนัก ถ้าบรรดาท่านพุทธบริษัททั้งหลายมีกำลังใจสักนิดหนึ่ง พยายามรักษาอารมณ์สมาธิตามที่เคยปฏิบัติมา และพยายามแก้ไขอารมณ์ของสมาธิว่า ที่สมาธิของเราทรงตัวอยู่ไม่ได้เพราะอะไร
เพราะ ราคะจริต เพราะจิตรักสวยรักงามเกินไป จนกระทั่งมีอารมณ์ฟุ้งซ่านทนไม่ไหว ถ้าไม่ได้ของสิ่งนั้นมาเป็นของตน อย่างนี้ก็แก้อารมณ์ฟุ้งซ่านอันนั้นเสียด้วยการเจริญ กายคตานุสสติกรรมฐาน และ อสุภกรรมฐาน เพียงแค่ยับยั้งความต้องการไว้ตามสมควร ถ้าจิตของเราเป็น โทสะจริต ชอบโกรธ ชอบพยาบาท ก็ยับยั้งอารมณ์นั้นได้ด้วย เมตตาพรหมวิหาร ๔ ถ้าหากว่าจิตของท่านมีความรู้สึกตัดสินใจไม่ตก ที่เรียกว่า โมหะจริต หรือ วิตกจริต ชอบคิดอยู่เสมอ ไม่แน่ใจในทุกสิ่งทุกอย่าง เราก็พยายามระงับอาการนั้นด้วย อานาปานุสสติกรรมฐาน ถ้าจิตของท่านมีความเชื่อมั่นในองค์พระรัตนตรัย องค์สมเด็จพระจอมไตรบรมศาสดาก็ทรงแนะนำให้ใช้พุทธานุสสติ ธัมมานุสสติ สังฆานุสสติ จาคานุสสติ สีลานุสสติ เทวตานุสสติ เป็นเครื่องประคับประคองใจ ถ้ากำลังใจของท่านมีความปลอดโปร่ง มีความเฉลียวฉลาด องค์สมเด็จพระบรมโลกนาถก็ให้เจริญมรณานุสสติกรรมฐาน หรือว่า อาหาเรปฏิกูลสัญญา จตุธาตุววัฏฐาน ๔ อุปสมานุสสติคือนึกถึงพระนิพพานเป็นอารมณ์ นี่เป็นการบังคับไม่ให้จิตของเราฟุ้งซ่านมากเกินไป ให้ทรงกำลังใจอยู่โดยเฉพาะ หลังจากนั้นเมื่อกำลังใจทรงดีแล้ว องค์สมเด็จพระประทีปแก้วก็ให้พิจารณาว่า โลกเต็มไปด้วยความทุกข์ ทุกข์ในอริยสัจคิดว่า ชาติปิ ทุกขา ความเกิดมันเป็นทุกข์ เพราะเกิดมาต้องเลี้ยงตัว เลี้ยงครอบครัว เลี้ยงพี่เลี้ยงน้อง เหนื่อยยากไปด้วยการงานต่างๆ ต้องมีความทุกข์เพราะการกระทบกระทั่งกับอารมณ์ที่เราไม่พอใจ และมีความป่วยไข้ไม่สบาย มีความตายไปในที่สุดและต้องพลัดพรากจากของรักของชอบใจ ถ้าเราเกาะมันเกิดไป อารมณ์ใจมันก็จะมีความทุกข์ เราก็พยายามวางอารมณ์เสีย หาเหตุผลว่าสิ่งทั้งหลายเหล่านี้มันเป็นของธรรมดา เมื่อเกิดขึ้นมาแล้วมันก็ต้องแก่ เกิดขึ้นมาแล้วมันก็ต้องป่วย เกิดขึ้นมาแล้วมันก็ต้องรับภาระในเรื่องของตนเอง เรื่องของครอบครัว เกิดขึ้นมาแล้วก็ต้องกระทบกระทั่งกับอารมณ์ที่ชอบใจบ้าง ไม่ชอบใจบ้าง ยอมรับนับถือว่าสิ่งทั้งหลายเหล่านี้เป็นของธรรมดาที่เราจะปฏิเสธไม่ได้ แล้วพยายามทำใจให้สบาย มีความรู้สึกเป็นสุข ถือว่าธรรมดามันเกิดมาอย่างนี้ เราไม่สามารถจะหลีกเลี่ยงได้ เราก็ไม่หลีกและก็ไม่เลี่ยง เรายอมสู้มัน แต่อาการที่เราจะสู้ เราก็จะต้องสู้ด้วยการยอมรับนับถือกฎของความเป็นจริงว่า ถ้าหากว่าเราขืนดิ้นรนไปตามอาการอย่างนั้น เราทะเยอทะยานในความรักไม่มีขอบเขต เราก็ต้องตกอบายภูมิ เรื่องของความรักเป็นปัจจัยให้มีความทุกข์ รักมากทุกข์มาก รักน้อยทุกข์น้อย ถ้าหากว่าเราไม่รักอะไรเลย เราก็ไม่มีความทุกข์ ทั้งนี้บรรดาท่านพุทธบริษัทศึกษากันมามากแล้วก็ขอพูดแต่โดยย่อ



ทีนี้ความโกรธเป็นปัจจัยให้เกิดความทุกข์ ถ้าเราไปคิดจะฆ่าเขา คิดจะตีเขา จิตใจของเราก็ไม่มีความสุข ความทุกข์ความดิ้นรนมันย่อมจะเกิดขึ้นกับจิต ความไม่สบายกายไม่สบายใจมันก็เกิดขึ้น อยากจะฆ่าเขา อยากจะทำร้ายเขา ก็ต้องวางแผน คนที่เขาจะถูกทำร้ายยังไม่มีความทุกข์อะไรเลย เราเองเป็นผู้มีความทุกข์ กินไม่ได้นอนไม่หลับ มันไม่ดีก็หาทางตัดมันไป

อำนาจความหลงว่าร่างกายเรานี้มันจะอยู่ได้ตลอดกาลตลอดสมัย หรือว่าทรัพย์สินทั้งหลายที่มีอยู่มันจะอยู่กับเราตลอดไป อำนาจความหลงอย่างนี้เราก็โยนมันไปเสีย ยอมรับนับถือคือว่ายอมเอาบุคคลอื่นเป็นตัวอย่าง ชาวบ้านที่เขาเกิดมาพร้อมเราบ้าง เกิดก่อนเราบ้าง เกิดที่หลังเราบ้าง ที่เขาตายให้เราดูเราเห็นหรือยัง เราก็เห็นแล้วนี่ว่าเขาตายให้เราดู และขณะที่เขาตายนี่ทรัพย์สินทั้งหลายหรือว่าคนที่เรารัก เขาพาไปด้วยหรือเปล่า ก็เป็นอันว่าไม่มีใครเขาพาไปได้เลย แม้แต่ร่างกายอันเป็นที่รักยิ่งก็ปล่อยให้ทับถมพื้นแผ่นดินลงไป ฉะนั้นสิ่งทั้งหลายเหล่านี้มันไม่เป็นปัจจัยที่จะติดตามเราไปในชาติหน้า แล้วอะไรล่ะที่จะตามเราไป คือกรรมที่เป็นกุศลและอกุศล ฉะนั้นเราในฐานะที่เป็นสาวกขององค์สมเด็จพระทรงธรรมบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า เราก็ต้องเลือกทางเดินเอา เพราะเรารู้จักทางเดิน ทางเดินที่เราจะเดินนั่นก็คือเลือกทางเดินตัดอบายภูมิทั้ง ๔ ประการ ตัดความเป็นสัตว์นรก ตัดความเป็นเปรต เป็นอสุรกาย เป็นสัตว์เดรัจฉาน ถ้าจะเกิดเป็นคน เราก็จะเป็นคนแบบประเภทจำกัดกาล อย่างเลวที่สุดเราจะเกิดอีก ๗ ชาติถึงพระนิพพาน อย่างกลางเราจะเกิดอีก ๓ ชาติถึงพระนิพพาน อย่างดีที่สุดเราจะเกิดอีกชาติเดียวถึงพระนิพพาน และเราก็จะทำอย่างไร มันจึงจะถึงพระนิพพาน



เราก็มานั่งพิจารณาถึงความตายที่มันจะปรากฏ ถึงความเสื่อมโทรมในวัตถุและสิ่งมีชีวิตที่มันปรากฏ คิดว่าโลกนี้เต็มไปด้วย “อนิจจัง” หาความเที่ยงไม่ได้ หาอะไรที่ทรงตัวไม่ได้เลย คนเกิดมาแล้วก็แก่ แล้วก็ตาย ทรัพย์สินทั้งหลายเกิดมาแล้วมันก็มีการสลายตัวไปในที่สุด ข้าวของต่างๆ ที่เป็นวัตถุเป็นของใหม่แล้วก็กลายเป็นของเก่า ในที่สุดมันก็พังมันก็สลายตัว

เราจะเอาอะไรเป็นจุดยืน ก็ต้องแสดงหาจุดยืน หาสิ่งที่ทรงตัว คือความดีของพระรัตนตรัย มีความเชื่อในความดีของพระพุทธเจ้า เชื่อในความดีของพระธรรม เชื่อในความดีของพระสงฆ์ ที่เขาเรียกกันว่ามั่นในพระรัตนตรัยทั้ง ๓ ประการ คือตามที่กล่าวกันว่า “พุทธัง สรณัง คัจฉามิ” ข้าพเจ้าขอถึงซึ่งพระพุทธเจ้าเป็นที่พึ่ง “ธัมมัง สรณัง คัจฉามิ” ข้าพเจ้าขอถึงซึ่งพระธรรมเป็นที่พึ่ง “สังฆัง สรณัง คัจฉามิ” ข้าพเจ้าขอถึงซึ่งพระสงฆ์เป็นที่พึ่ง ในเมื่อเรากล่างอย่างนี้แล้ว พระก็บอกว่า “ปานาติปาตา เวรมณีฯ” เป็นต้น หมายความว่าเราเคารพในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ จริงๆ ประกาศขอยอมรับนับถือ พระก็ให้สิ่งที่เรานำไปปฏิบัติ ฆราวาสท่านก็ให้ศีล ๕ ประการ สามเณรให้ศีล ๑๐ พระให้ศีล ๒๒๗ เมื่อเรารักษาศีลบริสุทธิ์เมื่อไร ขณะนั้นชื่อว่าเรามีความเคารพในพระรัตนตรัยอย่างจริงจัง

แต่ขณะใดที่เรายังปฏิบัติในศีลให้ครบถ้วนไม่ได้ ในขณะนั้นเรายังไม่มีความเคารพในพระรัตนตรัย ทั้งนี้เพราะอะไร เพราะว่าเรายอมรับนับถือในท่าน ท่านให้รักษาศีล และลงท้ายท่านบอกว่า “สีเลนะ สุคติง ยันติ” ถ้ามีศีลบริสุทธิ์ ย่อมไปสู่สุคติ โลกสวรรค์ “สีเลนะ โภคสัมปทา” ศีลจะเป็นปัจจัยให้เธอมีโภคสมบัติมาก “สีเลนะ นิพพุติงยันติ” ศีลเป็นปัจจัยให้เข้าสู่พระนิพพาน คนที่จะเป็นพระโสดาบันได้ก็มีอารมณ์อยู่ตอนหนึ่งที่เรียกกันว่าเข้าสู่ โคตรภูญาณ หรือความเป็นพระโสดาบัน



เมื่อพิจารณาเป็นของธรรมดาที่เรียกว่า สังขารุเปกขาญาณ คือวางเฉยต่ออารมณ์ต่างๆ ที่เป็น โลกธรรม ที่มันเกิดขึ้นมาแล้วถือว่าเป็นเรื่องธรรมดา ไม่มีจิตดิ้นรน ร่างกายป่วยถือว่าเป็นเรื่องธรรมดา ถูกนินทาว่าร้ายถือว่าเป็นเรื่องธรรมดา ทรัพย์สินจะต้องหมดไปเพราะเหตุใดเหตุหนึ่งถือว่าเป็นเรื่องธรรมดา จิตใจไม่หวั่นไหว แม้แต่ร่างกายจะตายถือว่าเป็นเรื่องธรรมดา ถือว่าของธรรมดามันจะต้องตายอย่างนี้เรียกว่า สังขารุเปกขาญาณ เมื่อจิตเข้าถึงสังขารุเปกขาญาณแล้ว ตอนนั้นมีอารมณ์ใจรักพระนิพพานเป็นอารมณ์ มีความต้องการอย่างเดียวคือพระนิพพาน การเกิดเป็นมนุษย์ก็ดี เทวดาก็ดี พรหมก็ดี เราไม่รัก แต่ทว่าถ้ายังจะไปนิพพานไม่ได้ มันจะไปพักแค่มนุษย์ แค่เทวดาหรือแค่พรหมเราก็พอใจ แต่เนื้อแท้ของกำลังใจจริงๆ แล้วต้องการเฉพาะพระนิพพาน อันนี้แหละบรรดาท่านพุทธบริษัทุกท่าน อารมณ์ของพระโสดาบันที่แท้จริงก็คือรักษาศีล ๕ บริสุทธิ์ เคารพในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ อย่างเคร่งครัด แล้วก็มีจิตรักพระนิพพานเป็นอารมณ์ เพียงเท่านี้ก็ชื่อว่าเราได้เป็นพระอริยเจ้าเบื้องต้นคือพระโสดาบัน เป็นปัจจัยตัดอบายภูมิทั้ง ๔ ได้ คือไม่ต้องไปเกิดเป็นสัตว์นรก เป็นเปรต เป็นอสุรกาย เป็นสัตว์เดรัจฉาน เห็นว่าไม่นอกเหนือจากกำลังสติปัญญาหรือความสามารถของบรรดาท่านพุทธบริษัททั้งหลายโดยถ้วนหน้า เอาละ สำหรับวันนี้เวลาที่จะพูดก็หมดแล้ว ก็จะขอยุติไว้แต่เพียงเท่านี้ ขอความสุขสวัสดิ์พิพัฒนมงคลสมบูรณ์พูนผลจงมีแด่บรรดาท่านพุทธศาสนิกชนผู้รับฟังทุกท่าน สวัสดี.

ที่มา : นิตยสารธัมมวิโมกข์ ฉบับที่ ๓๑๖ ประจำเดือนกรกฎาคม ๒๕๕๐
หน้า ๘๑-๘๘. ถอดเทปโดย ณัชชา, ถอดความโดย ศรีโคมคำ
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: กรกฎาคม 01, 2014, 02:08:23 PM โดย ศรีโคมคำ »