เว็บพุทธภูมิ: พุทธภูมิ พระโพธิสัตว์ การบำเพ็ญบารมี



ผู้เขียน หัวข้อ: ความลับของจักรวาล ในพระไตรปิฏก  (อ่าน 20525 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 2 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ Wisdom

  • สมาชิก
  • ***
  • กระทู้: 242
  • ใครจะใหญ่เกินกรรม
    • ดูรายละเอียด
ความลับของจักรวาล ในพระไตรปิฏก
« เมื่อ: กุมภาพันธ์ 22, 2012, 06:40:42 PM »


ความลับของจักรวาล ในพระไตรปิฏก

ขนาดของจักรวาล

จักรวาลอันหนึ่ง โดยยาวและโดยกว้าง ประมาณ ๑,๒๐๓,๔๕๐ โยชน์ (๑ โยชน์ = ๑๖ กิโลเมตร)
ส่วนโดยรอบปริมณฑลทั้งสิ้น (ของจักรวาลนั้น) ประมาณ ๓,๖๑๐,๓๕๐ โยชน์

ขนาดหนาของแผ่นดิน ในจักรวาลนั้น
แผ่นดินนี้ กล่าวโดยความหนา มีประมาณถึงเท่านี้ คือ ๒๔๐,๐๐๐ โยชน์

ขนาดหนาของน้ำรองแผ่นดิน สิ่งที่รองแผ่นดินนั้นหรือ
คือน้ำอันตั้งอยู่บนลม โดยความหนามีประมาณถึงเท่านี้ คือ ๔๘๐,๐๐๐ โยชน์

ขนาดความหนาของลมรองน้ำ
ลมอัน (พัดดัน) ขึ้นฟ้า (โดยความหนา) มีประมาณ ๙๖๐,๐๐๐ โยชน์ นี่เป็นความตั้งอยู่พร้อมมูลแห่งโลก

ขนาดภูเขาสิเนรุ (เขาพระสุเมรุ) และต้นไม้ประจำทวีป
อนึ่ง ในจักรวาลที่ตั้งอยู่พร้อมมูลอย่างนี้นั้น มี
ภูเขาสิเนรุอันเป็นภูเขาสูงที่สุด หยั่ง (ลึก) ลงไปในมหาสมุทร ๘๔,๐๐๐ โยชน์ สูงขึ้นไป (ในฟ้า) ก็ประมาณเท่ากันนั้น
ภูเขาใหญ่ทั้งหลาย คือภูเขายุคันธร ภูเขาอิสินธร ภูเขากรวีกะ ภูเขาสุทัสสนะ ภูเขาเนมินธระ
ภูเขาวินตกะ ภูเขาอัสสกัณณะ อันตระการไปด้วยรัตนะหลากๆ ราวกะภูเขาทิพย์ หยั่ง (ลึก) ลงไป
(ในมหาสมุทร) และสูงขึ้นไป (ในฟ้า) โดยประมาณกึ่งหนึ่งแต่ประมาณแห่งภูเขาสิเนรุไปตามลำดับ
ภูเขาใหญ่ทั้ง ๗ นั้น (ตั้งอยู่) โดยรอบภูเขาสิเนรุเป็นที่อยู่ของ (จาตุ)มหาราช เป็นที่ๆ เทวดา และยักษ์อาศัยอยู่

ภูเขาหิมวาสูง ๕๐๐ โยชน์ ยาวและกว้าง ๓,๐๐๐ โยชน์ (เท่ากัน) ประดับไปด้วยยอดถึง ๘๔,๐๐๐ ยอด
ต้นชมพู (หว้า) ชื่อนคะ วัดรอบลำต้นได้ ๑๕ โยชน์ ลำต้นสูง ๕๐ โยชน์ และกิ่ง (แต่ละกิ่ง)
ก็ยาว ๕๐ โยชน์ แผ่ออกไปวัดได้ ๑๐๐ โยชน์โดยรอบ และสูงขึ้นไปก็เท่ากันนั้น ด้วยอานุภาพของ
ต้นชมพู (นี้) ไรเล่า ทวีปนี้จึงถูกประกาศชื่อว่า ชมพูทวีป
ก็แลขนาดของต้นชมพูนี้ใด ขนาดนั้นนั่นแหละเป็นขนาดของต้นจิตรปาฏลี (แคฝอย) ของพวกอสูร
ต้นสิมพลี (งิ้ว) ของพวกครุฑ ต้นกทัมพะ (กระทุ่ม) ในอมรโคยานทวีป ต้นกัปปะในอุตตรกุรุทวีป
ต้นสิรีระ (ซึก) ในบุพพวิเทหทวีป ต้นปาริฉัตตกะ ในดาวดึงส์ เพราะเหตุนั้นแล ท่านโบราณจารย์จึงกล่าวไว้ว่า
(ต้นไม้ประจำภพและทวีป คือ) ต้นปาฏลี ต้นสิมพลี ต้นชมพู ต้นปาริตฉัตตะของพวกเทวดา
ต้นกทัมพะ ต้นกัปปะ และต้นที่ ๗ คือ ต้นสิรีสะ ดังนี้



ขนาดภูเขาจักรวาล

ภูเขาจักรวาล หยั่ง (ลึก) ลงไปในมหาสมุทร ๘๒,๐๐๐ โยชน์
สูงขึ้นไป (ในฟ้า) ก็เท่ากันนั้น
ภูเขาจักรวาลนี้ตั้งล้อมโลกธาตุทั้งสิ้นนั้นอยู่

ขนาดของภพและทวีป
ในโลกธาตุนั้น มีดวงจันทร์ ดวงอาทิตย์ ภพดาวดึงส์ ๑๐,๐๐๐ โยชน์ ภพอสูร มหานรกอเวจี และชมพูทวีปก็
เท่ากันนั้น อมรโคยานทวีป ๗,๐๐๐ โยชน์ บุพพวิเทหทวีปก็เท่านั้น อุตตรกุรุทวีป ๘,๐๐๐ โยชน์ อนึ่ง ในโลกธาตุนั้น
ทวีปใหญ่ๆ ทวีป ๑ ๆ มีทวีปน้อยเป็นบริวาร ทวีปละ ๕๐๐
สิ่งทั้งปวง (ที่กล่าวมานี้) นั้น (รวม) เป็นจักรวาล ๑ ชื่อว่า โลกธาตุอัน ๑ ๑ในระหว่างแห่งโลกธาตุ
ทั้งหลายมีโลกันตนรก (แห่งละ ๑)

๑. มหาฎีกาว่า จักรวาล ก็คือโลกธาตุ โลกธาตุได้ชื่อว่า จักรวาล ก็เพราะมีภูเขาจักรวาล ซึ่งสัณฐานดังกง
รถล้อมอยู่โดยรอบเท่านั้นเองไม่ใช่จักรวาลอัน ๑ โลกธาตุอัน ๑
๒. ท่านว่าจักรวาลหรือโลกธาตุนั้นมีมากนัก ช่องว่างในระหว่างจักรวาล ๓ จักรวาลต่อกัน มีโลกันตนรก ๑
ทุกแห่งไป โดยนัยนี้ คำว่า โลกันตนรก ก็แปลว่า นรกอันตั้งอยู่ในช่องระหว่างจักรวาล ๓ อันนั่นเอง

พระพุทธเจ้าทรงตรัสไว้ใน "จูฬนีสูตร" พระไตรปิฎก หน้า ๒๑๕ เล่ม ๒๐ ว่า
จักรวาล ประกอบด้วยดวงจันทร์ โลก ดวงอาทิตย์ และดาวเคราะห์ทั้งหลายโคจร ไปร่วมกัน
จะมีขุนเขาสิเนรุ (เขาพระสุเมรุ) (เป็นภูเขาทิพย์ที่เห็นได้เฉพาะผู้มีอภิญญา) ทวีปต่างๆ ที่ตั้งชื่อกันในสมัย
นั้นคือ ชมพูทวีป อปรโคยานทวีป อุตรกุรุทวีป และปุพพวิเทหทวีป มหาสมุทรทั้ง ๔ (นับกันได้ในสมัยนั้น)
มีนรกขุมต่างๆ สวรรค์ชั้นต่างๆ และพรหมโลกชั้นต่างๆ
โลกธาตุ มี ๓ ขนาด คือ โลกธาตุอย่างเล็กมีจำนวนพันจักรวาล โลกธาตุอย่างกลางมีจำนวนล้านจักรวาล
โลกธาตุอย่างใหญ่มีจำนวน แสนโกฏิจักรวาล

ทั้งโลกธาตุอย่างเล็กก็ดี อย่างกลางก็ดี อย่างใหญ่ก็ดี ยังมีอีกจำนวนมากมาย
"ทุกสิ่งทุกอย่างมีการเกิดขึ้น ตั้งอยู่ และแตกดับไปในที่สุด"
กำเนิดของโลกพระพุทธเจ้าทรงตรัสไว้ใน "อัคคัญญสูตร" พระไตรปิฎก หน้า ๖๑ เล่ม ๑๑ ว่า
เกิดมีน้ำขึ้นในห้วงอวกาศอันมืดมิดก่อนแล้วนานๆไปเกิดการรวมตัวงวดเข้าเป็นง้วนดิน แล้วพัฒนาเป็นกระบิดิน
ต่อไปเป็นเครือดิน จากนั้นมีต้นข้าวและพืชทั้งหลายเกิดขึ้น ดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์ หมู่ดาว
นรกขุมต่างๆ เทวโลก และพรหมโลกชั้นต่างๆ ก็เกิดขึ้นเอง

กำเนิดชีวิตพระพุทธเจ้าทรงตรัสไว้ว่า "เพราะมีความอยาก จึงมีการเกิดเป็นสัตว์เป็นบุคคลขึ้นมา
เมื่อไม่มีความอยากการเกิดเป็นสัตว์เป็นบุคคลก็ไม่มี"

กำเนิดชีวิตในจักรวาลอื่น ปัจจุบันนักวิทยาศาสตร์ยังถกเถียงกันอยู่ว่ามีหรือไม่มี ?
และยังคงไม่มีใครสามารถสร้างเครื่องมือติดต่อค้นหาเพื่อตอบคำถามนี้ได้
แต่พระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้แน่นอนมากว่าสองพันปีแล้วว่า "มี"

นักวิทยาศาสตร์กล่าวว่า "ดวงอาทิตย์ มีเส้นผ่าศูยน์กลางประมาณ ๑,๔๐๐,๐๐๐ กิโลเมตร
หรือโตกว่าโลกประมาณ ๑๐๙ เท่า มีน้ำหนักประมาณ ๒ x ๑,๐๓๐ กิโลกรัม (หรือ ๒๐ ตามด้วย ๐ จำนวน ๓๐ ตัว)
เนื้อตัวทั้งหมดของดวงอาทิตย์เป็นธาตุไฮโดรเจนซึ่งเป็นธาตุเบา เผาไหม้ตัวเองด้วยปฏิกิริยา
เทอร์โมนิวเคลียร์ จากภายในใจกลางออกมาไม่ใช่เผาไหม้เฉพาะพื้นผิว
สิ้นมวลของตัวเองวินาทีละ ๔ ล้านตัน เผาไหม้อย่างนี้มาแล้ว ๕,๕๐๐ ล้านปี
และจะเผาไหม้อย่างนี้ต่อไปอีก ๕,๕๐๐ ล้านปี" เมื่อเป็นเช่นนี้ลองคิดดูว่าวันหนึ่งมีกี่วินาที ?
ต่อให้ดวงอาทิตย์หรือดาวฤกษ์นั้นใหญ่โตขนาดไหนก็ตาม น่าจะย่อยยับหมดสิ้นภายในวันเดียว
แต่ดวงอาทิตย์หรือดาวฤกษ์นั้นก็ยังอยู่ยืนยาวมานานนับพันๆล้านปี โดยยังมีขนาดเท่าเดิม "
นี้คือความมหัศจรรย์ที่ยังคงเหนือการพิสูจน์



อีกอย่างหนึ่ง นักวิทยาศาสตร์คาดคะเนว่า "เวลาอันยาวนานในอนาคต
ดวงอาทิตย์จะขยายตัวบวมขึ้นจนมีขนาดโตถึงวงโคจรของโลก
แล้วกลืนกินโลกและดาวเคราะห์วงในทั้งหมด และเมื่อเวลายาวนานอีกต่อไป
ก็จะค่อยๆยุบตัวลงกลายเป็นดาวแคระ คือจะมีขนาดเล็กลงเท่าโลกแต่มีความร้อนจัด
ดาวฤกษ์บางดวงก็ยุบตัวลงเป็นดาวนิวตรอนที่มีขนาดเส้นผ่าศูยน์กลางเพียง ๒๕-๓๐
กิโลเมตร และดาวฤกษ์บางดวงก็ยุบตัวลงเป็นหลุมดำ"

พระพุทธเจ้าตรัสว่า "ในอนาคตอันยาวไกลในสุริยะจักรวาล จะมีดวงอาทิตย์เกิดขึ้น
เองเพิ่มขึ้นทีละดวงๆ จนครบ ๗ ดวง แล้วเผาไหม้โลกและดาวเคราะห์บริวารทั้งหมด
นรกทุกขุม สวรรค์ทุกชั้น และพรหมโลกชั้นต่ำๆ รวมทั้งดวงอาทิตย์ทั้ง ๗ ดวงนั้น
ก็พินาศไปด้วย แล้วก็จะมีแต่ความมืดมิดจนนานแสนนาน ก็ก่อตัวขึ้นมาใหม่อีก" (สุริยะสูตร พระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๓ หน้า ๘๓)

นักวิทยาศาสตร์ทั้งหลาย คือปุถุชนผู้ที่ยังมีกิเลสตัณหา ตั้งทฤษฎีมาจากการคาดคะเน
การนึกคิด การเดา การสันนิษฐาน การค้นคว้าทดลอง การสังเกตจดจำ
การใช้เครื่องมือและอุปกรณ์เป็นจำนวนมาก แต่ทฤษฎีเหล่านั้นก็ยังไม่ตายตัว
พร้อมที่จะถูกลบล้างได้ตลอดเวลา
พระพุทธเจ้าทั้งหลาย คือบุคคลพิเศษ วิเศษ เป็นอัจฉริยะมนุษย์ เป็นบุคคลเอก
ที่ไม่มีใครเสมอเหมือน เป็นผู้สิ้นกิเลสตัณหา เป็นผู้มีญาณวิเศษรู้อดีต ปัจจุบัน
และอนาคต เป็นผู้ตรัสรู้ เป็นผู้รู้แจ้งโลก ดังนั้นพระสูตรหรือทฤษฎีต่างๆที่พระพุทธองค์ทรงตรัสไว้ดีแล้ว
จึงตายตัวไม่มีใครลบล้างได้

ลักษณะของจักรวาล คือ มีเขาสิเนรุเป็นแกนกลาง มี เขาสัตตบริภัณฑ์ คือ เขาล้อมรอบ ๗ ชั้น
ซึ่งมี สีทันดรมหาสมุทร คั่นอยู่ในระหว่าง ตั้งเป็นรูปร่างขึ้นไว้ก่อน ภูมิสวรรค์อยู่พ้นทวีปทั้งหลาย
ซึ่งเป็นที่อยู่ของมนุษย์ เช่น ชมพูทวีปซึ่งมีอินเดียเป็นศูนย์กลาง จึงอยู่พ้นป่าหิมพานต์
พ้นภูเขาหิมวันตะหรือ หิมาลัย พ้นมหาสมุทรแห่งทวีปทั้งปวง แล้วถึงภูเขาสัตตบริภัณฑ์
ตั้งต้นแต่ภูเขาสุทัสสนะ จนถึงภูเขาอัสสกัณณะ จึงเป็นอันถึงสวรรค์ชั้นที่ ๑ เพราะยอดเขา
สัตตบริภัณฑ์เหล่านี้เองเป็นที่อยู่ของท้าวมหาราช ๔ องค์กับบริวาร นับเป็นสวรรค์ชั้นที่ ๑ เรียกว่า จาตุมหาราชิก

ท้าวมหาราช ๔ องค์นี้ แบ่งกันครอบครอง ดั่งนี้

๑)ด้านทิศตะวันออกของเขาสิเนรุเป็นที่อยู่ของ ท้าวธตรัฏฐะ
มีพวกคนธรรพ์เป็นบริวาร (ถัดออกไปเป็นปุพพวิเทหทวีป)

๒)ด้านทิศใต้เป็นที่อยู่ของ ท้าววิรุฬหก มีพวกกุมภัณฑ์เป็นบริวาร
(ถัดออกไปเป็นชมพูทวีป) พวกกุมภัณฑ์นี้ ท่านอธิบายว่าได้แก่ ทานพรากษส

๓)ด้านทิศตะวันตกของเขาสิเนรุเป็นที่อยู่ของ ท้าววิรูปักข์ มีพวกนาคเป็นบริวาร (ออกไปเป็น อมรโคยานทวีป)

๔)ด้านทิศเหนือของเขาสิเนรุเป็นที่อยู่ของ ท้าวกุเวร มีพวกยักษ์เป็นบริวาร (ถัดออกไปเป็นอุตตรกุรุทวีป)

ท้าวมหาราชที่ ๔ ครองอยู่ ๔ ทิศของเขาสิเนรุ มีกล่าวถึงใน อาฏานาฏิยสูตร
หน้าที่ของท้าวมหาราชที่ ๔ และบริวารตามที่ได้กล่าวไว้ คือเป็นผู้รับด่านหน้า
ของสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ เพื่อป้องกันพวกอสูรซึ่งเป็นศัตรูของเทพชั้นดาวดึงส์จะ
ยกมาตีเอาถิ่นสวรรค์ชั้นนั้น แต่ใน สุตตันตปิฎก ติกนิบาต ได้มีแสดงหน้าที่ให้
เป็นผู้ตรวจ ซึ่งเป็นที่อยู่ของหมู่มนุษย์อีกด้วย แสดงเป็นพระพุทธภาษิตมีความว่า
ในวัน ๘ ค่ำแห่งอมาตย์บริษัทของท้าวมหาราชทั้ง ๔ เที่ยวตรวจดูโลก ในวัน ๑๔ ค่ำแห่งปักข์
บุตรทั้งของท้าวมหาราชทั้ง ๔ เที่ยวตรวจดูโลก ในวัน ๑๕ ค่ำแห่งปักษ์
ท้าวมหาราชทั้ง ๔ ตรวจดูโลกเองว่าพวกมนุษย์พากันบำรุงบิดามารดา
บำรุงสมณพราหมณ์ เคารพนบน้อมผู้ใหญ่ในตระกูล รักษาอุโบสถ ทำบุญกุศล
มีจำนวนมากด้วยกันอยู่หรือ เมื่อตรวจดูแล้ว ถ้าเห็นว่ามีจำนวนน้อย ก็ไปบอกแก่พวกเทพชั้นดาวดึงส์
ซึ่งประชุมกันใน สุธรรมสภา พวกเทพชั้นดาวดึงส์ เมื่อได้ฟังดั่งนั้นก็มีใจหดหู่ว่า ทิพยกายจักลดถอย
อสุรกายจักเพิ่มพูน แต่ถ้าเห็นว่าพวกมนุษย์พากันทำดี มีบำรุงมารดาบิดาเป็นต้น เป็นจำนวนมาก
ก็ไปบอกแก่พวกเทพชั้นดาวดึงส์เหมือนอย่างนั้น พวกเทพชั้นดาวดึงส์ก็พากันมีใจชื่นบานว่า
ทิพยกายจักเพิ่มพูน อสุรกายจักลดถอย ๑

ออฟไลน์ Wisdom

  • สมาชิก
  • ***
  • กระทู้: 242
  • ใครจะใหญ่เกินกรรม
    • ดูรายละเอียด
Re: ความลับของจักรวาล ในพระไตรปิฏก
« ตอบกลับ #1 เมื่อ: กุมภาพันธ์ 22, 2012, 06:41:14 PM »
ท้าวมหาราชทั้ง ๔ มีหน้าที่เป็น จตุโลกบาล คือ เป็นผู้คุ้มครองโลกทั้ง ๔ ทิศ
ตามที่เชื่อถือกันมาเก่าก่อนพระพุทธศาสนา แต่เมื่อพระพุทธศาสนาเกิดขึ้นแล้ว
พระพุทธเจ้าได้ทรงแสดง ธรรมเป็นโลกบาล คือ คุ้มครองโลกไว้ ๒ ข้อ คือ หิริ
ความละอายใจ ที่จะทำชั่ว โอตตัปปะ ความเกรงกลัวต่อความชั่ว เพราะเหตุนี้
จึงไม่กล่าวให้ท้าวมหาราชทั้ง ๔ ทำหน้าที่คุ้มครองโลกโดยตรง จะไม่กล่าวถึงเลย
ก็จะขัดขวางต่อความเชื่อของคนทั้งหลายจนเกินไป จึงกล่าวเปลี่ยนไปให้มีหน้า
ที่เที่ยวตรวจดูโลกมนุษย์ ว่าได้พากันทำดีมากน้อยอย่างไร แล้วก็นำไปรายงาน
พวกเทพชั้นดาวดึงส์ พวกเทพชั้นนั้นได้รับรายงานแล้วก็เพียงแต่มีใจชื่นบานหรือ
ไม่เท่านั้น เห็นได้ว่าท่านผู้รวบรวมร้อยกรองเรื่องนี้ไว้ในพระสุตตันตปิฎก ต้องการ
จะรักษาเรื่องเก่าที่คนส่วนมากเชื่อถือ ด้วยวิธีนำมาเล่าให้เป็นประโยชน์ในทางตักเตือนให้ทำดี
เหมือนอย่างที่มีคำเก่ากล่าวไว้ว่า ถึงคนไม่เห็น เทวดาก็ย่อมเห็น คือ สดงจตุโลกบาลที่
เขาเชื่อกันอยู่แล้วในทางที่อาจเข้าใจเป็นธรรมาธิษฐาน ซึ่งเป็นข้อมุ่งหมายโดยตรง
ถึงจะเชื่อว่ามีตัวตนอยู่จริงและคอยมาตรวจดูโลกว่า ใครทำดีไม่ดีอย่างไรก็ไม่เสียหาย
กลับจะดีเพราะจะได้เกิดละอายกลัวเกรงว่า จตุโลกบาลจะรู้จะเห็นว่าทำไม่ดี หรือไม่ทำดี
เป็นอันหนุนให้เกิดหิริโอตตัปปะขึ้นได้ ผู้ที่ไม่ยอดเชื่อเสียอีกอาจจะร้ายกว่า
เพราะไม่มีที่ละอายยำเกรง เว้นไว้แต่จะมีภูมิธรรมในจิตใจดีอยู่แล้ว หรือมีที่ละอายยำ
เกรงอย่างอื่นแทนอยู่ วันที่ท่านกล่าวว่าจตุโลกบาลมาตรวจดูโลก เดือนหนึ่งมีไม่กี่วัน
ดูเหมือนจะน้อยไป แต่คงไม่หมายความว่าตรวจกรรมของคนเฉพาะวันนั้น วันอื่นไม่เกี่ยวข้องด้วย
ควรเข้าใจว่า ตรวจดูรู้ย้อนไปถึงวันอื่นๆ ในระหว่างที่ไม่ได้ลงมานั้นด้วย ตัวของเราเองทุกๆ
คนนึกย้อนตรวจดูกรรมของตนเองภายใน ๗ วันยังจำได้ ไฉนโลกบาลจะไม่รู้กรรมที่ตนเองทำ
แม้จะลืมไปแล้ว โลกบาลก็ต้องรู้ เมื่อเชื่อว่าโลกบาลมีจริง ก็ควรจะเชื่ออย่างนี้ด้วย
จึงจะเป็นโลกบาลที่สมบูรณ์ สรุปลงแล้วทำความเข้าใจว่า โลกบาลมาตรวจตราดูที่จิตใจนี้เอง
จะเกิดประโยชน์มาก.

ตามหลักในการจัดภูมิต่างๆ สัตว์ดิรัจฉานเป็นอบายภูมิต่ำกว่าภูมิมนุษย์และสวรรค์
พระอาจารย์จึงกล่าวว่าในสวรรค์ไม่มีสัตว์เดียรัจฉาน การเกิดในสวรรค์ เกิดโดยอุปปาติก
กำเนิดอย่างเดียว จึงน่ามีปัญหาว่า พวกนาคซึ่งเป็นบริวารของท้าวมหาราชจะจัดว่าเป็นภูมิอะไร
นอกจากนี้ บริวารของท้าวมหาราชจำพวกอื่น เช่น พวกกุมณฑ์ ก็มีลักษณะพิกล
ยักษ์บางพวกก็ดุร้าย เป็นผีเที่ยวสิงมนุษย์ก็มี ดูต่ำต้อยกว่าภูมิมนุษย์
แต่ก็อยู่ในสวรรค์ชั้นหนึ่งนี้ด้วย ตามที่กล่าวมานี้ น่าเห็นว่าเก็บเอามาจากเรื่องเก่าๆ
จึงฟังไม่สนิทตามหลักการจัดภูมิต่าง ๆ ดั่งกล่าว



ชมพูทวีป หมายถึง โลกมนุษย์ทั้งหมด ไม่ใช่อินเดีย-เนปาล
อย่างที่หลายๆคนเข้าใจ ดังมีหลักฐานที่พระพุทธเจ้าแสดงดังนี้

ทวีปต่างๆในจักรวาล

๑) ชมพูทวีป ตั้งอยู่ทางทิศใต้ของเขาสิเนรุ (เขาพระสุเมรุ)

-มีธาตุมรกตอยู่ทางทิศใต้ของเขาสิเนรุ แสงสะท้อนของธาตุมรกตทำให้ทองฟ้าและมหาสมุทรของชมพูทวีปมีสีน้ำเงินแกมเขียว
-มนุษย์ที่ชมพูทวีป มีความสูง ๔ ศอก มีอายุประมาณ ๑๐๐ ปี (อาจตายก่อนอายุได้ ไม่แน่นอน)
-มนุษย์ที่อาศัยอยู่ในทวีปนี้ อายุยิ่งหย่อนขึ้นอยู่กับคุณธรรม ไม่แน่นอน
-สมัยของพระพุทธเจ้าพระนามว่า "พระวิปัสสี" มนุษย์ในชมพูทวีปมีอายุถึง ๘๐,๐๐๐ ปี
-สมัยของพระพุทธเจ้าพระนามว่า "พระเรวะตะ" มนุษย์ในชมพูทวีปมีความสูงถึง ๘๐ ศอก
-แต่เมื่อคุณธรรมเสื่อมลง จิตใจหยาบช้าลง อาหารเลวลง อายุก็ลดลง ร่างกายก็เตี้ยลง
-ต่อไปภายภาคหน้ามนุษย์ในชมพูทวีป จะมีอายุเพียง ๑๐ ปี เท่านั้น และตัวจะเตี้ยถึงขนาด
ต้องสอยมะเขือกิน เรียกยุคนั้นว่า "ยุคทมิฬ" เป็นยุคที่เสื่อมที่สุดของ "ชมพูทวีป"
-ดอกไม้ประจำชมพูทวีปคือ "ชมพู (ไม้หว้า)" ...เพราะเหตุนี้ ถึงเรียกว่า "ชมพูทวีป"
เพราะดอกไม้ประจำทวีปนี้คือ ดอก "ชมพู"
-ชมพูทวีป เป็นทวีปเดียวที่พระพุทธเจ้าทุกพระองค์ ต้องมาตรัสรู้ที่ทวีปนี้เท่านั้น

๒) อมรโคยานทวีป ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกของเขาสิเนรุ (เขาพระสุเมรุ)
-เป็นแผ่นดินกว้าง ๗,๐๐๐ โยชน์ ประกอบด้วยเกาะ และแม่น้ำใหญ่น้อย
-มีธาตุแก้วผลึกอยู่ทางทิศตะวันตกของเขาสิเนรุ แสงสะท้อนของธาตุแก้วผลึกทำให้ทองฟ้าและมหาสมุทรของอมรโคยานทวีปมีสีแก้วผลึก
-มนุษย์ที่อาศัยอยู่ในทวีปนี้ มีรูปหน้าเหมือนพระจันทร์ครึ่งซีก มีใบหน้าวงกลม คล้ายวงพระจันทร์ คนหน้าเหมือนดั่งเดือนแรม จมูกโด่ง คางแหลม
-มนุษย์ที่อมรโคยานทวีป มีความสูง ๖ ศอก มีอายุ ๕๐๐ ปี (จะไม่ตายก่อนอายุ เป็นกฏตายตัว)
-ดอกไม้ประจำอมรโคยานทวีปคือ "กะทัมพะ (ไม้กระทุ่ม)"

๓) ปุพพวิเทหะทวีป ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของเขาสิเนรุ (เขาพระสุเมรุ)
-เนื้อที่กว้าง ๗,๐๐๐ โยชน์ มีเกาะ ๔๐๐ เกาะ
-มีธาตุเงินอยู่ทางทิศตะวันออกของเขาสิเนรุ แสงสะท้อนของธาตุเงินทำให้ทองฟ้า
และมหาสมุทรของปุพพวิเทหะทวีปมีสีเงิน
-มนุษย์ที่อาศัยอยู่ในทวีปนี้ มีรูปหน้าเหมือนพระจันทร์เต็มดวง คนหน้ากลมเหมือนดวงจันทร์
มีใบหน้าตอนบนโค้งตัดลงมาเหมือนบาตร
-มนุษย์ที่ปุพพวิเทหะทวีป มีความสูง ๙ ศอก มีอายุ ๗๐๐ ปี (จะไม่ตายก่อนอายุ เป็นกฏตายตัว)
-ดอกไม้ประจำปุพพวิเทหะทวีปคือ "สิรีสะ (ไม้ทรึก)"

๔) อุตรกุรุทวีป ตั้งอยู่ทางทิศเหนือของเขาสิเนรุ (เขาพระสุเมรุ)
-มีพื้นที่เป็นรูปสี่เหลี่ยม เนื้อที่กว้าง ๘,๐๐๐ โยชน์ เป็นที่ราบ
-มีธาตุทองคำอยู่ทางทิศเหนือของเขาสิเนรุ แสงสะท้อนของธาตุทองคำทำให้ทองฟ้า
และมหาสมุทรของอุตรกุรุทวีปมีสีเหลืองทอง
-มนุษย์ที่อาศัยอยู่ในทวีปนี้ รูปร่างงาม มีลักษณะใบหน้าเป็นรูป ๔ เหลี่ยม รักษาศีล ๕ เป็นนิจ
ไม่ยึดถือสมบัติ บุตร ภรรยา สามี ว่าเป็นของๆตน
-มนุษย์ที่อุตรกุรุทวีป มีความสูง ๑๓ ศอก มีอายุ ๑,๐๐๐ ปี (จะไม่ตายก่อนอายุ เป็นกฏตายตัว)
-มีต้นไม้นานาชนิด ดอกไม้ประจำอุตรกุรุทวีปคือ "กัปปรุกขะ (กัลปพฤกษ์)"
ถ้าอยากได้อะไร ก็ไปนึกเอาที่ต้นกัลปพฤกษ์ จะสมปรารถนา
-มนุษย์ที่อุตรกุรุทวีป เมื่อตายจากทวีปนี้ ทุกคนจะได้ไปเกิดใน "เทวภูมิ ชั้นตาวติงสาห์ภูมิ" ทุกๆคน เป็นกฏตายตัว
-ในภาษาบาลี "อุตร" แปลว่า "เหนือ" ...เพราะเหตุนี้ ถึงเรียกทวีปนี้ว่า "อุตรกุรุทวีป"

ออฟไลน์ Wisdom

  • สมาชิก
  • ***
  • กระทู้: 242
  • ใครจะใหญ่เกินกรรม
    • ดูรายละเอียด
Re: ความลับของจักรวาล ในพระไตรปิฏก
« ตอบกลับ #2 เมื่อ: กุมภาพันธ์ 22, 2012, 06:41:50 PM »
อะไรคือจุดเริ่มต้นของจักรวาล ก็คือ ความดับไปของจักรวาลก่อนหน้านั้น
เป็นจุดเริ่มต้นของจักรวาลใหม่

ก่อนเข้าใจจักรวาล และกาแลคซี่ทั้งหมด แยกประเภทของจักรวาลออกเป็นส่วน เพื่อให้จำแนกได้เสียก่อน

พระพุทธเจ้าทรงแยกจักรวาลออกเป็น 2 ส่วน ส่วนหนึ่งเราเรียกว่ารูป และส่วนหนึ่ง เรียกกันว่า นาม

รูป คือ สิ่งที่ถูกรู้ ถูกนามเข้าไปรู้ เช่น เสียง สี ความแข็ง ความอ่อน ความเย็น ความร้อน ความเผ็ด จะเรียกได้ง่าย ๆ ว่า สสาร และพลังงาน เรียกว่า รูป

นาม หมายถึง สิ่งที่เข้าไปรู้อารมณ์ได้ คิดได้ เช่น การมองเห็น เราเรียกว่านาม

ดวงตา เป็นรูป สีเป็นรูป แต่การมองเห็น เป็นนาม
หูเป็นรูป เสียง เป็นรูป แต่การได้ยิน เป็นนาม

กาแลคซี่ เป็นรูป แต่การมองเห็นภาพของกาแลคซี่ หรือ การนึกคิดเรื่องกาแลคซี่ เป็นนาม เพราะลำพังตัวกำแลคซี่เอง มันนึกอะไรไม่ได้เพราะมันเป็นรูป

ชาย หญิง เป็นรูป แต่ความติดใจ อยากมีแฟน อยากได้ผู้ชาย อยากได้ผู้หญิง เป็นนาม

ฯลฯ

คุณเข้าใจเรื่องรูปกับนามโดยย่อแล้ว

คำถามเรื่อง จุดเริ่มต้น โลกและจักรวาล เกิดมาได้อย่างไร ? คุณกำลังถามว่า "รูป เกิดมาได้อย่างไร ?" นั่นเอง

เรื่องกัป

กาลสมัยเริ่มแรกทีเดียว คือ ในยุคต้น คนเราไม่ใช่มีอายุน้อยนิดหนึ่งเพียง ๗0 - ๘0 ปี แล้วตายลงอย่างทุกวันนี้เลย ความจริง มนุษย์ในยุคนั้น เขามีอายุยืนนานถึงอสงไขยปี ที่ว่าอสงไขยปีนั้น ก็คือจำนวนปีมนุษย์ที่มีเลขหนึ่งขึ้นหน้า แล้วต่อด้วยเลขศูนย์หนึ่งร้อยสี่สิบตัว หรือจะว่าเป็นจำนวนปีที่นับด้วยเลขหนึ่งร้อยสี่สิบเอ็ดหลักก็ได้ อยากรู้ว่ามีจำนวนเท่าใด ก็ลอง คำนวณดูเถิด คือ ตั้งเลขหนึ่งเข้าแล้วเติมศูนย์ลงไปให้ได้หนึ่งร้อยสี่สิบศูนย์ กาลเวลาตามจำนวนตัวเลขดังกล่าวนี้ เป็นจำนวน อสงไขยปี เพราะมันเป็นจำนวนปีที่มากมายเกือบจะนับไม่ได้อย่างนี้ จึงมีชื่อเรียกว่า อสงไขยปี = จำนวนปีที่นับไม่ได้

ในยุคต้น มนุษย์มีอายุนานได้อสงไขยปีนี่แล แล้วค่อยๆลดลงมา ร้อยปีลดลงหนึ่งปี ลดลงมาเรื่อยๆ ค่อยลดลงด้วย อาการอย่างนี้ จนกระทั่งอายุมนุษย์เหลือเพียงสิบปี อาการที่อายุลดลงนี้ พึงเห็นตัวอย่าง เช่น ในสมัยที่สมเด็จพระสัมมาสัม พุทธเจ้าของเรายังทรงพระชนม์ชีพอยู่มนุษย์ในสมัยนั้นมีอายุหนึ่งร้อยปี ตั้งแต่บัดนั้นมาจนถึงกาลทุกวันนี้ นับได้สองพันห้าร้อย ปีเศษ หรือจะพูดอีกทีว่านับได้ยี่สิบห้าร้อยปีเศษแล้ว ทีนี้ ร้อยปีลดลงเสียปีหนึ่งก็คงเหลือเจ็ดสิบห้าปี (๑00-๒๕ = ๗๕) จึง เป็นอันยุติได้ว่า ในสมัยทุกวันนี้ อายุมนุษย์มี ๗๕ ปี เป็นประมาณเท่านั้นเอง เมื่อลดลงไปจนกระทั่งเหลือนิดหน่อยเพียงสิบปี แล้ว คราวนี้ไม่ลดไปอีกละ แต่จะเพิ่มขึ้น คือ ค่อยเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ร้อยปีเพิ่มขึ้นปีหนึ่ง เช่นเดียวกับตอนที่ลดลงนั่นเอง เพิ่มขึ้น ไปเรื่อยไม่หยุดยั้ง จนกระทั่งมนุษย์อายุยืนนานถึงอสงไขยปีตามเดิมอีก เวลานานหนึ่งรอบอสงไขยปีนี่เองเรียกว่า อันตรกัป

เมื่อนับอันตรกัปที่ว่ามานี่ได้หกสิบสี่อันตรกัป จึงเป็นหนึ่งอสงไขยกัป ก็อสงไขยกัปนี้มีอยู่ ๔ อสงไขยกัป คือ

๑. สังวัฏฏอสงไขยกัป ได้แก่ ตอนที่โลกกำลังถูกทำลาย ซึ่งได้แก่คำว่า สงฺวฏฺฏตีติ สงฺวฏฺโฏ = กัปที่กำลังพินาศอยู่ เรียกว่า สังวัฏฏอสงไขยกัป

๒. สังวัฏฏฐายีอสงไขยกัป ได้แก่ ตอนที่โลกถูกทำลายเสร็จแล้ว ซึ่งได้แก่คำว่า สงฺวฏฺโฏ หุตฺวา ติฏฐตีติ สงฺวฏฺฏฐายี = กัปที่มีแต่ความพินาศตั้งอยู่ เรียกว่า สังวัฏฏฐายีอสงไขยกัป

๓. วิวัฏฏอสงไขย ได้แก่ ตอนที่โลกกำลังพัฒนาคือกำลังจะกลับคืนเป็นปกติ ซึ่งได้แก่คำว่า วิวฏฺตีติ วิวฏฺโฏ =
กัปที่กำลังเจริญขึ้นเรียกว่า วิวัฏฏอสงไขยกัป

๔. วิวัฏฏฐายีอสงไขยกัป ได้แก่ ตอนที่โลกพัฒนาเรียบร้อยแล้วเป็นอันดีแล้วซึ่งได้แก่คำว่า วิวฏฺโฏ หุตฺวา ติฏฐตีติ วิวฏฺฏฐายี = กัปที่เจริญขึ้นพร้อมแล้ว คือทุกสิ่งทุกอย่าง ตั้งอยู่ตามปกติ เรียกว่า วิวัฏฏฐายีอสงไขยกัป

สัตว์โลกทั้งหลายเช่นมนุษย์เรานี้เป็นต้น จะมีชีวิตอยู่ในโลกนี้ได้ ก็เฉพาะตองอสงไขยกัปสุดท้าย คือ วิวัฏฏฐายี อสงไขยกัป นี่เท่านั้น ส่วนตอนทั้งสามกัปข้างต้นนั้น ไม่มีสิ่งมีชีวิตอาศัยอยู่เลย ก็จะอยู่ได้อย่างไรเล่า เพราะเป็นตอนที่โลก กำลังพินาศ และผลมาเป็นปกติเอาเมื่อตอนอสงไขยกัปสุดท้ายนี่เอง

อสงไขยกัปหนึ่งๆ นั้นนับเป็นเวลานานมาก ดังกล่าว คือ

๑. สังวัฏฏอสงไขยกัป นานถึง ๖๔ อันตรกัป
๒. สังวัฏฏฐายีอสงไขยกัป นานถึง ๖๔ อันตรกัป
๓. วิวัฏฏอสงไขยกัป นานถึง ๖๔ อันตรกัป
๔. วิวัฏฏฐายีอสงไขยกัป นานถึง ๖๔ อันตรกัป

รวมทั้ง ๔ อสงไขยกัป ก็เป็น ๒๕๖ อันตรกัป เวลาทั้งหมดนี้ เรียกว่า ๑ มหากัป


สรุป

๑ มหากัป เท่ากับ ๔ อสงไขยกัป
๑ อสงไขยกัป เท่ากับ ๖๔ อันตรกัป
๑ อันตรกัป เท่ากับ ๑ รอบอสงไขยปี

หรือ

๑ รอบอสงไขยปี เป็น ๑ อันตรกัป
๖๔ อันตรกัป เป็น ๑ อสงไขยกัป
๔ อสงไขยกัป เป็น ๑ มหากัป

๑. มหากัปป์ เท่ากับ 1 รอบที่จักรวาลตั้งขึ้น และดับลงไป 1 ครั้งถ้วน

(พระพุทธเจ้าพระองค์ปัจจุบัน ทรงบำเพ็ญพระบารมีเริ่มตั้งแต่ทรงอธิษฐาน เป็นเวลา 20 อสงไขย กับเศษแสนมหากัปป์)

คำตอบเรื่องที่ว่า จักรวาล เกิดมาได้อย่างไร คำตอบจึงปรากฎแล้ว ว่า สสาร และพลังงาน คือรูป ไม่เคยเกิดขึ้น และไม่เคยดับลง เป็นสิ่งที่ปรากฎอยู่เสมอทั้งในอดีต ปัจจุบัน และอนาคต เพียงแต่แรกเปลี่ยนสภาพตามปัจจัย กลายเป็นก้อนหิน ก้อนใหญ่ ๆ ที่เรียกว่าโลก ที่เรียกว่าดาว

กลายมาเป็นกลุ่มเม็ดทราย ที่เราเรียกว่ากาแลคซี่

โลก จักรวาลทั้งหลาย เกิด และดับ ลงไปครั้งแล้วครั้งเล่า วนเวียนไปอย่างนี้ ไม่รู้จักจบจักสิ้น

การเกิดของมนุษย์ เป็นการเกิดของทั้งรูป และนาม

คือ ร่างกายมนุษย์ เป็นรูป ส่วนจิตใจที่อยู่ในร่างนั้น เป็นนาม

ร่างกายมนุษย์ เกิดจาก นาม และรูปอีกทีหนึ่ง คือ นาม ทำให้เกิดปฏิสนธิเป็นมนุษย์ และกรรม ที่เคยทำเป็นเหตุให้มีรูปร่างต่างกัน ส่วนรูปภายนอกเป็นอาหารหล่อเลี้ยงรูปกายมนุษย์ให้ตั้งอยู่ คือ ข้าว อาหาร น้ำ วิตามิน ไขมัน ฯลฯ

ลงว่า รูปที่เป็นสารอาหาร เป็นปัจจัยแก่ รูป ที่เป็นกายของสัตว์ เช่น มนุษย์ กบ แมว ลิง

ส่วน นาม ที่อาศัย อยู่ในรูป นั้น มีที่เกิดดังนี้

ต้องย้อนทางกลับ ตามนัยปฏิจจสมุปบาท (แปลว่า ปฏิกิริยาลูกโซ่)

มนุษย์ มีอวัยวะรับประสาทสัมผัสครบ ดังนั้น เราจะเริ่มจาก

สฬายตนะ คือ อวัยวะที่เป็นเครื่องสื่อสารระหว่าง ร่างกายภายใน กับอารมณ์ภายนอกเกิดจาก นามรูป

นามรูป คือ รูปคือร่างกาย และนาม คือ เวทนา สัญญา และสังขาร เกิดจากจิต

วิญญาณ(จิต) ดวงที่นำเกิด เกิดจาก การปรุงแต่ง การประมวลผลของอารมณ์ ที่มาจากภพก่อน เรียกว่าสังขาร

สังขาร ทั้งปวง เกิดจากอวิชชา คือ ความไม่รู้ หัว รู้ท้าย ของสภาวะที่ตนเองเป็นอยู่ ความที่จิตไร้ข้อมูลของตนเอง ความที่จิตไม่ทราบว่าตนเองมีลักษณะอย่างไร ตนเอง มีอะไร อย่างไร (อย่างเช่น ตอนนี้เราไม่รู้ว่าทำไมเราถึงมีดวงตา มีหู ) การไม่ทราบข้อมูลที่เกี่ยวเนื่องกับตน เรียกว่า อวิชชา คือ สภาวะไร้ข้อมูล

อวิชชา เกิดจาก อาสวะ คือ การที่อารมณ์ ไหลมาจากรูป ทำให้เกิดปฏิกิริยาต่าง ๆ จนเป็นลูกโซ่ จนเป็นร่างกายมนุษย์นี้ หรือเป็นเทวดา เป็นสัตว์

อาสวะ เกิดเพราะมี อวิชชา คือ การที่มีอวิชชา ไม่ทราบว่า มีสภาวะของทุกข์ ไม่ทราบว่า การเกิดเป็นทุกข์ ไม่ทราบอริยสัจ ทำให้เกิดการยินยอม ปล่อยให้อาสวะไหลไป และเติบโตขึ้นได้

เหมือนราเกิดเพราะมีเชื้อ เชื้อเกิดเพราะมีรานั่นเอง

ต้นเง่า ของนามและรูปที่อาศํยนาม (คือรูปกายของสัตว์) ก็มาจาก อวิชชาและอาสวะนี่เอง


ออฟไลน์ Wisdom

  • สมาชิก
  • ***
  • กระทู้: 242
  • ใครจะใหญ่เกินกรรม
    • ดูรายละเอียด
Re: ความลับของจักรวาล ในพระไตรปิฏก
« ตอบกลับ #3 เมื่อ: กุมภาพันธ์ 22, 2012, 06:42:38 PM »
พระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๑ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๓
ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค

๔. อัคคัญญสูตร
[๕๑] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้- สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารบุพพาราม เป็นปราสาทของนางวิสาขามิคารมารดา เขตพระนครสาวัตถี ก็โดยสมัยนั้นแล วาเสฏฐ-*สามเณรกับภารทวาชสามเณร เมื่อจำนงความเป็นภิกษุอยู่ อยู่อบรมในสำนักภิกษุทั้งหลาย เย็นวันหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเสด็จออกจากที่หลีกเร้น เสด็จลงจากปราสาทแล้ว ทรงจงกรมอยู่ ณ ที่แจ้งในร่มเงาปราสาท วาเสฏฐสามเณรได้เห็นพระผู้มีพระภาค เสด็จออกจากที่หลีกเร้น เสด็จลงจากปราสาทกำลังเสด็จจงกรมอยู่ในที่แจ้ง ในร่มเงาปราสาทในเวลาเย็น ครั้นแล้วจึงเรียกภารทวาชสามเณรมาพูดว่า ดูกรภารทวาชะผู้มีอายุ นี้พระผู้มีพระภาคเสด็จออกจากที่หลีกเร้นในเวลาเย็น เสด็จลงจากปราสาททรงจงกรมอยู่ ณ ที่แจ้งในร่มเงาปราสาท เรามาไปกันเถิด พากันเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ บางทีเราจะได้ฟังธรรมีกถาเฉพาะพระพักตร์ของพระองค์บ้างเป็นแม่นมั่น ส่วนภารทวาชสามเณรรับคำของวาเสฏฐสามเณรแล้ว ทันใดนั้น วาเสฏฐสามเณรกับภารทวาชสามเณร พากันเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ครั้นแล้วถวายบังคมพระผู้มีพระภาค แล้วชวนกันเดินตามเสด็จพระองค์ผู้กำลังเสด็จจงกรมอยู่ ครั้งนั้นแล พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกวาเสฏฐสามเณรมาแล้วตรัสว่า ดูกรวาเสฏฐะและภารทวาชะ เธอทั้งสองมีชาติเป็นพราหมณ์ มีตระกูลเป็นพราหมณ์ ออกบวชจากตระกูลพราหมณ์ ดูกรวาเสฏฐะและภารทวาชะ พวกพราหมณ์ไม่ด่าว่าเธอทั้งสองบ้างดอกหรือ ฯ สามเณรทั้งสองนั้นจึงกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พวกพราหมณ์พากันด่าว่าข้าพระองค์ทั้ง ๒ ด้วยคำเหยียดหยามอย่างสมใจ อย่างเต็มที่ ไม่มีลด-*หย่อนเลย พระผู้มีพระภาคจึงตรัสถามต่อไปว่า ก็พวกพราหมณ์พากันด่าว่าเธอทั้งสองด้วยถ้อยคำอันเหยียดหยามอย่างสมใจ อย่างเต็มที่ ไม่มีลดหย่อนอย่างไรเล่า สามเณรทั้งสองกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พวกพราหมณ์พากันว่าอย่างนี้ว่า พราหมณ์พวกเดียวเป็นวรรณะที่ประเสริฐที่สุด วรรณะอื่นเลวทรามพราหมณ์พวกเดียวเป็นวรรณะขาว พวกอื่นเป็นวรรณะดำ พราหมณ์พวกเดียวบริสุทธิ์ พวกอื่นนอกจากพราหมณ์หาบริสุทธิ์ไม่ พวกพราหมณ์เป็นบุตรเกิดจากอุระ เกิดจากปากของพรหม มีกำเนิดมาจากพรหม พรหมเนรมิตขึ้น เป็นทายาทของพรหม เจ้าทั้งสองคนมาละวรรณะที่ประเสริฐที่สุดเสียแล้ว ไปเข้ารีดวรรณะที่เลวทราม คือ พวกสมณะที่มีศีรษะโล้น เป็นพวกคฤหบดี เป็นพวกดำ เป็นพวกเกิดจากเท้าของพรหม เจ้าทั้งสองคนมาละพวกที่ประเสริฐที่สุดใดเสีย ไปเข้ารีดวรรณะเลวทราม คือพวกสมณะที่มีศีรษะโล้น เป็นพวกคฤหบดี เป็นพวกดำเป็นพวกเกิดจากเท้าของพรหม ข้อนั้นไม่ดี ไม่สมควรเลย ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญพวกพราหมณ์พากันด่าว่าข้าพระองค์ทั้งสองด้วยถ้อยคำที่เหยียดหยาม อย่างสมใจอย่างเต็มที่ ไม่มีลดหย่อนเลยอย่างนี้แล พระองค์จึงตรัสว่า ดูกรวาเสฏฐะและภารทวาชะ พวกพราหมณ์ระลึกถึงเรื่องเก่าของพวกเขาไม่ได้ จึงพากันพูดอย่างนี้พราหมณ์พวกเดียวเป็นวรรณะที่ประเสริฐที่สุด วรรณะอื่นเลวทราม พราหมณ์พวกเดียวเป็นวรรณะขาว พวกอื่นเป็นวรรณะดำ พราหมณ์พวกเดียวบริสุทธิ์พวกอื่นนอกจากพราหมณ์หาบริสุทธิ์ไม่ พวกพราหมณ์เป็นบุตรเกิดจากอุระ เกิดจากปากของพรหม มีกำเนิดมาจากพรหม พรหมเนรมิตขึ้น เป็นทายาทของพรหมดังนี้ ดูกรวาเสฏฐะและภารทวาชะ ก็ตามที่ปรากฏอยู่แล คือ นางพราหมณีทั้งหลายของพวกพราหมณ์ มีระดูบ้าง มีครรภ์บ้าง คลอดอยู่บ้าง ให้ลูกกินนมอยู่บ้าง อันที่จริง พวกพราหมณ์เหล่านั้น ก็ล้วนแต่เกิดจากช่องคลอดของนางพราหมณีทั้งนั้น พากันอวดอ้างอย่างนี้ว่า พราหมณ์พวกเดียวเป็นวรรณะที่ประเสริฐที่สุด วรรณะอื่นเลวทราม พราหมณ์พวกเดียวเป็นวรรณะขาว พวกอื่นเป็นวรรณะดำ พราหมณ์พวกเดียวบริสุทธิ์ พวกอื่นนอกจากพราหมณ์หาบริสุทธิ์ไม่พวกพราหมณ์เป็นบุตรเกิดจากอุระ เกิดจากปากของพรหม มีกำเนิดมาจากพรหมพรหมเนรมิตขึ้น เป็นทายาทของพรหม เขาเหล่านั้นกล่าวตู่พรหม และพูดเท็จก็จะประสบแต่บาปเป็นอันมาก ฯ [๕๒] ดูกรวาเสฏฐะและภารทวาชะ วรรณะเหล่านี้ มีอยู่สี่คือ กษัตริย์พราหมณ์ แพศย์ ศูทร ก็กษัตริย์บางพระองค์ในโลกนี้ มีปรกติฆ่าสัตว์ มีปรกติลักทรัพย์ มีปรกติประพฤติผิดในกามทั้งหลาย มีปรกติพูดเท็จ พูดส่อเสียดพูดคำหยาบ พูดเพ้อเจ้อ ละโมภมาก คิดปองร้ายผู้อื่น มีความเห็นผิด ดูกรวาเสฏฐะและภารทวาชะ ด้วยประการดังที่กล่าวมานี้แล ธรรมเหล่าใดเป็นอกุศลนับว่าเป็นอกุศล เป็นธรรมมีโทษ นับว่าเป็นธรรมมีโทษ เป็นธรรมไม่ควรเสพนับว่าเป็นธรรมไม่ควรเสพ ไม่ควรเป็นอริยธรรม นับว่าไม่ควรเป็นอริยธรรมเป็นธรรมดำ มีวิบากดำ วิญญูชนติเตียน อกุศลธรรมเหล่านั้น มีปรากฏอยู่แม้ในกษัตริย์บางพระองค์ในโลกนี้ ดูกรวาเสฏฐะและภารทวาชะ แม้พราหมณ์บางคนในโลกนี้ ฯลฯ แม้แพศย์บางคนในโลกนี้ ฯลฯ ดูกรวาเสฏฐะและภารทวาชะ แม้ศูทรบางคนในโลกนี้ มีปรกติฆ่าสัตว์มีปรกติลักทรัพย์ มีปรกติประพฤติผิดในกามทั้งหลาย มีปรกติพูดเท็จ พูดส่อเสียดพูดคำหยาบ พูดเพ้อเจ้อ ละโมภมาก คิดปองร้ายผู้อื่น มีความเห็นผิด ดูกรวาเสฏฐะและภารทวาชะ ด้วยประการดังที่กล่าวมานี้แล ธรรมเหล่าใดเป็นอกุศลนับว่าเป็นอกุศล เป็นธรรมมีโทษ นับว่าเป็นธรรมมีโทษ เป็นธรรมไม่ควรเสพนับว่าเป็นธรรมไม่ควรเสพ ไม่ควรเป็นอริยธรรม นับว่าไม่ควรเป็นอริยธรรมเป็นธรรมดำ มีวิบากดำ วิญญูชนติเตียน ธรรมเหล่านั้นมีปรากฏอยู่แม้ในศูทรบางคนในโลกนี้ ฯ [๕๓] ดูกรวาเสฏฐะและภารทวาชะ ฝ่ายกษัตริย์บางพระองค์ในโลกนี้เป็นผู้เว้นขาดจากการฆ่าสัตว์ เป็นผู้เว้นขาดจากการลักทรัพย์ เป็นผู้เว้นขาดจากการประพฤติผิดในกาม เป็นผู้เว้นขาดจากการพูดเท็จ เป็นผู้เว้นขาดจากการพูดส่อเสียด เป็นผู้เว้นขาดจากการพูดคำหยาบ เป็นผู้เว้นขาดจากการพูดเพ้อเจ้อ ไม่ละโมภมาก ไม่คิดปองร้ายผู้อื่น มีความเห็นชอบ ดูกรวาเสฏฐะและภารทวาชะด้วยประการดังที่กล่าวมานี้แล ธรรมเหล่าใดเป็นกุศล นับว่าเป็นกุศล เป็นธรรมไม่มีโทษ นับว่าเป็นธรรมไม่มีโทษ เป็นธรรมที่ควรเสพ นับว่าเป็นธรรมที่ควรเสพ ควรเป็นอริยธรรม ควรนับว่าเป็นอริยธรรม เป็นธรรมขาว มีวิบากขาววิญญูชนสรรเสริญ ธรรมเหล่านั้นมีปรากฏอยู่แม้ในกษัตริย์บางพระองค์ในโลกนี้ดูกรวาเสฏฐะและภารทวาชะ แม้พราหมณ์บางคนในโลกนี้ ฯลฯ แม้แพศย์บางคนในโลกนี้ ฯลฯ แม้ศูทรบางคนในโลกนี้ เป็นผู้เว้นขาดจากการฆ่าสัตว์ ฯลฯ ไม่ละโมภมาก ไม่คิดปองร้ายผู้อื่น มีความเห็นชอบ ด้วยประการดังที่กล่าวมานี้แลธรรมเหล่าใดที่เป็นกุศล นับว่าเป็นกุศล เป็นธรรมไม่มีโทษ นับว่าเป็นธรรมไม่มีโทษ เป็นธรรมที่ควรเสพ นับว่าเป็นธรรมที่ควรเสพ ควรเป็นอริยธรรม นับว่าควรเป็นอริยธรรม เป็นธรรมขาว มีวิบากขาว วิญญูชนสรรเสริญ ธรรมเหล่านั้นมีปรากฏอยู่แม้ในศูทรบางคนในโลกนี้ ดูกรวาเสฏฐะและภารทวาชะ ก็เมื่อวรรณะทั้งสี่เหล่านี้แล รวมเป็นบุคคลสองจำพวก คือพวกที่ตั้งอยู่ในธรรมดำ วิญญูชนติเตียนจำพวกหนึ่ง พวกที่ตั้งอยู่ในธรรมขาว วิญญูชนสรรเสริญจำพวกหนึ่งเช่นนี้ ไฉนพวกพราหมณ์จึงพากันอวดอ้างอยู่อย่างนี้ว่า พราหมณ์พวกเดียวเป็นวรรณะที่ประเสริฐที่สุด วรรณะอื่นเลวทราม พวกพราหมณ์เป็นวรรณะขาว พวกอื่นเป็นวรรณะดำ พราหมณ์พวกเดียวบริสุทธิ์ พวกอื่นนอกจากพราหมณ์หาบริสุทธิ์ไม่ พราหมณ์พวกเดียวเป็นบุตรเกิดจากอุระ เกิดจากปากของพรหม มีกำเนิดมาจากพรหม พรหมเนรมิตขึ้น เป็นทายาทของพรหม ดังนี้เล่า ท่านผู้รู้ทั้งหลายย่อมไม่รับรองถ้อยคำของพวกเขา ข้อนั้นเพราะเหตุไร ดูกรวาเสฏฐะและภารทวาชะ เพราะว่า บรรดาวรรณะทั้งสี่เหล่านั้น ผู้ใดเป็นภิกษุสิ้นกิเลสและอาสวะแล้ว อยู่จบพรหมจรรย์แล้ว มีกิจที่ควรทำ ทำเสร็จแล้ว ได้วางภาระเสียแล้ว ลุถึงประโยชน์ของตนแล้ว สิ้นเครื่องเกาะเกี่ยวในภพแล้ว หลุดพ้นไปแล้วเพราะรู้โดยชอบ ผู้นั้นปรากฏว่าเป็นผู้เลิศกว่าคนทั้งหลายโดยชอบธรรมแท้ มิได้ปรากฏโดยไม่ชอบธรรมเลย ด้วยว่าธรรมเป็นของประเสริฐที่สุดในหมู่ชน ทั้งในเวลาที่เห็นอยู่ ทั้งในเวลาภายหน้า ดูกรวาเสฏฐะและภารทวาชะ โดยบรรยายนี้แล เธอทั้งสองพึงทราบเถิดว่า ธรรมเท่านั้นเป็นของประเสริฐที่สุดในหมู่ชนทั้งในเวลาที่เห็นอยู่ ทั้งในเวลาภายหน้า ฯ [๕๔] ดูกรวาเสฏฐะและภารทวาชะ พระเจ้าปัสเสนทิโกศล ทรงทราบแน่ชัดว่า พระสมณโคดมผู้ยอดเยี่ยมได้ทรงผนวชจากศากยตระกูล ดังนี้ ดูกรวาเสฏฐะและภารทวาชะ ก็พวกศากยตระกูลยังต้องเป็นผู้โดยเสด็จพระเจ้าปัสเสน-*ทิโกศลอยู่ทุกๆ ขณะและพวกเจ้าศากยะต้องทำการนอบน้อม กราบไหว้ ต้อนรับอัญชลีกรรม สามีจิกรรมในพระเจ้าปัสเสนทิโกศลอยู่ ดูกรวาเสฏฐะและภารทวาชะ ด้วยประการดังที่กล่าวมานี้แล พวกเจ้าศากยะยังต้องกระทำการนอบน้อม กราบไหว้ ต้อนรับ อัญชลีกรรม สามีจิกรรมอันใดอยู่ในพระเจ้าปัสเสนทิโกศล แต่ถึงกระนั้น กิริยาที่นอบน้อม กราบไหว้ ต้อนรับ อัญชลีกรรม และสามีจิกรรมอันนั้น พระเจ้าปัสเสนทิโกศลก็ยังทรงกระทำอยู่ในตถาคตด้วยทรงถือว่า พระสมณโคดมเป็นผู้มีพระชาติสูง เรามีชาติต่ำกว่า พระสมณ-*โคดมเป็นผู้มีพระกำลัง เรามีกำลังน้อยกว่า พระสมณโคดมเป็นผู้มีคุณน่าเลื่อมใสเรามีคุณน่าเลื่อมใสน้อยกว่า พระสมณโคดมเป็นผู้สูงศักดิ์ เราเป็นผู้ต่ำศักดิ์กว่าดังนี้ แต่ที่แท้ พระเจ้าปัสเสนทิโกศลทรงสักการะ เคารพ นับถือ บูชานอบน้อมพระธรรมนั้นเทียว พระเจ้าปัสเสนทิโกศลทรงกระทำการนอบน้อม กราบไหว้ ต้อนรับ อัญชลีกรรม สามีจิกรรม ในตถาคตอยู่ด้วยอาการอย่างนี้ ดูกรวาเสฏฐะและภารทวาชะ โดยปริยายนี้แล เธอทั้งสองพึงทราบเถิดว่า ธรรมเท่านั้นเป็นของประเสริฐที่สุดในหมู่ชน ทั้งในเวลาที่เห็นอยู่ ทั้งในเวลาภายหน้า ฯ [๕๕] พระผู้มีพระภาคได้ตรัสต่อไปว่า ดูกรวาเสฏฐะและภารทวาชะเธอทั้งสองคนมีชาติก็ต่างกัน มีชื่อก็เพี้ยนกัน มีโคตรก็แผกกัน มีตระกูลก็ผิดกันพากันทิ้งเหย้าเรือนเสีย มาบวชเป็นบรรพชิต เมื่อจะมีผู้ถามว่า ท่านทั้งสองนี้เป็นพวกไหน เธอทั้งสองพึงตอบเขาว่า ข้าพเจ้าทั้งสองเป็นพวกพระสมณศากยบุตรดังนี้เถิด ดูกรวาเสฏฐะและภารทวาชะ ก็ผู้ใดแล มีศรัทธาตั้งมั่นเกิดขึ้นแล้วแต่รากแก้วคืออริยมรรค ประดิษฐานมั่นคง อันสมณพราหมณ์ เทวดา มาร พรหมหรือผู้ใดผู้หนึ่งในโลก ไม่พรากไปได้ ควรเรียกผู้นั้นว่า เป็นบุตรเกิดแต่พระอุระเกิดแต่พระโอฐของพระผู้มีพระภาค เป็นผู้เกิดแต่พระธรรม เป็นผู้ที่พระธรรมเนรมิตขึ้น เป็นผู้รับมรดกพระธรรม ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะคำว่า ธรรมกายก็ดี ว่าพรหมกาย ก็ดี ว่าธรรมภูต ก็ดี ว่าพรหมภูต ก็ดี เป็นชื่อของตถาคต ฯ [๕๖] ดูกรวาเสฏฐะและภารทวาชะ มีสมัยบางครั้งบางคราว โดยล่วงระยะกาลยืดยาวช้านานที่โลกนี้จะพินาศ เมื่อโลกกำลังพินาศอยู่ โดยมากเหล่าสัตว์ย่อมเกิดในชั้นอาภัสสรพรหม สัตว์เหล่านั้นได้สำเร็จทางใจ มีปีติเป็นอาหารมีรัศมีซ่านออกจากกายตนเอง สัญจรไปได้ในอากาศ อยู่ในวิมานอันงาม สถิตอยู่ในภพนั้นสิ้นกาลยืดยาวช้านาน ดูกรวาเสฏฐะและภารทวาชะ มีสมัยบางครั้งบางคราว โดยระยะกาลยืดยาวช้านาน ที่โลกนี้จะกลับเจริญ เมื่อโลกกำลังเจริญอยู่โดยมาก เหล่าสัตว์พากันจฺติจากชั้นอาภัสสรพรหมลงมาเป็นอย่างนี้ และสัตว์นั้นได้สำเร็จทางใจ มีปีติเป็นอาหาร มีรัศมีซ่านออกจากกายตนเอง สัญจรไปได้ในอากาศ อยู่ในวิมานอันงาม สถิตอยู่ในภพนั้นสิ้นกาลยืดยาวช้านาน ก็แหละสมัยนั้นจักรวาลทั้งสิ้นนี้แลเป็นน้ำทั้งนั้น มืดมนแลไม่เห็นอะไร ดวงจันทร์และดวงอาทิตย์ก็ยังไม่ปรากฏ ดวงดาวนักษัตรทั้งหลายก็ยังไม่ปรากฏ กลางวันกลางคืนก็ยังไม่ปรากฏ เดือนหนึ่งและกึ่งเดือนก็ยังไม่ปรากฏ ฤดูและปีก็ยังไม่ปรากฏเพศชายและเพศหญิงก็ยังไม่ปรากฏ สัตว์ทั้งหลาย ถึงซึ่งอันนับเพียงว่าสัตว์เท่านั้น ดูกรวาเสฏฐะและภารทวาชะ ครั้นต่อมา โดยล่วงระยะกาลยืดยาวช้านาน เกิดง้วนดินลอยอยู่บนน้ำทั่วไป ได้ปรากฏแก่สัตว์เหล่านั้นเหมือนนมสดที่บุคคลเคี่ยวให้งวด แล้วตั้งไว้ให้เย็นจับเป็นฝาอยู่ข้างบน ฉะนั้นง้วนดินนั้นถึงพร้อมด้วยสีกลิ่น รส มีสีคล้ายเนยใส หรือเนยข้นอย่างดี ฉะนั้น มีรสอร่อยดุจรวงผึ้งเล็กอันหาโทษมิได้ ฉะนั้น ฯ ดูกรวาเสฏฐะและภารทวาชะ ต่อมามีสัตว์ผู้หนึ่งเป็นคนโลนพูดว่า ท่านผู้เจริญทั้งหลาย นี่จักเป็นอะไร แล้วเอานิ้วช้อนง้วนดินขึ้นลองลิ้มดู เมื่อเขาเอานิ้วช้อนง้วนดินขึ้นลองลิ้มดูอยู่ ง้วนดินได้ซาบซ่านไปแล้ว เขาจึงเกิดความอยากขึ้น ดูกรวาเสฏฐะและภารทวาชะ แม้สัตว์พวกอื่นก็พากันกระทำตามอย่างสัตว์นั้นเอานิ้วช้อนง้วนดินขึ้นลองลิ้มดู เมื่อสัตว์เหล่านั้นพากันเอานิ้วช้อนง้วนดินขึ้นลองลิ้มดูอยู่ ง้วนดินได้ซาบซ่านไปแล้ว สัตว์เหล่านั้นจึงเกิดความอยากขึ้น ต่อมาสัตว์เหล่านั้นพยายามเพื่อจะปั้นง้วนดินให้เป็นคำๆ ด้วยมือแล้วบริโภค ดูกรเสฏฐะและภารทวาชะ ในคราวที่พวกสัตว์พยายามเพื่อจะปั้นง้วนดินให้เป็นคำๆ ด้วยมือแล้วบริโภคอยู่นั้น เมื่อรัศมีกายของสัตว์เหล่านั้นก็หายไปแล้ว ดวงจันทร์และดวงอาทิตย์ก็ปรากฏ เมื่อดวงจันทร์และดวงอาทิตย์ปรากฏแล้ว ดวงดาวนักษัตรทั้งหลายก็ปรากฏ เมื่อดวงดาวนักษัตรปรากฏแล้ว กลางคืนและกลางวันก็ปรากฏ เมื่อกลางคืนและกลางวันปรากฏแล้ว เดือนหนึ่งและกึ่งเดือนก็ปรากฏ เมื่อเดือนหนึ่งและกึ่งเดือนปรากฏอยู่ ฤดูและปีก็ปรากฏ ดูกรวาเสฏฐะและภารทวาชะ ด้วยเหตุเพียงเท่านี้แล โลกนี้จึงกลับเจริญขึ้นมาอีก ฯ [๕๗] ดูกรวาเสฏฐะและภารทวาชะ ครั้นต่อมาสัตว์เหล่านั้นพากันบริ-*โภคง้วนดิน รับประทานง้วนดิน มีง้วนดินเป็นอาหาร ดำรงอยู่ได้สิ้นกาลช้านานด้วยเหตุที่สัตว์เหล่านั้นมัวเพลินบริโภคง้วนดินอยู่ รับประทานง้วนดิน มีง้วนดินเป็นอาหาร ดำรงอยู่ได้สิ้นกาลช้านาน สัตว์เหล่านั้นจึงมีร่างกายแข็งกล้าขึ้นทุกที ทั้งผิวพรรณก็ปรากฏว่าแตกต่างกันไป สัตว์บางพวกมีผิวพรรณงาม สัตว์บางพวกมีผิวพรรณไม่งาม ในสัตว์ทั้งสองพวกนั้น สัตว์พวกที่มีผิวพรรณงามนั้นพากันดูหมิ่นสัตว์พวกที่มีผิวพรรณไม่งามว่า พวกเรามีผิวพรรณดีกว่าพวกท่าน พวกท่านมีผิวพรรณเลวกว่าพวกเรา ดังนี้ เมื่อสัตว์ทั้งสองพวกนั้นเกิดมีการไว้ตัวดูหมิ่นกันขึ้นเพราะทะนงตัวปรารภผิวพรรณเป็นปัจจัย ง้วนดินก็หายไป เมื่อง้วนดินหายไปแล้ว สัตว์เหล่านั้นจึงพากันจับกลุ่ม ครั้นแล้ว ต่างก็บ่นถึงกันว่า รสดีจริง รสดีจริง ดังนี้ ถึงทุกวันนี้ก็เหมือนกัน คนเป็นอันมากได้ของที่มีรสดีอย่างใดอย่างหนึ่ง มักพูดกันอย่างนี้ว่า รสอร่อยแท้ๆ รสอร่อยแท้ๆ ดังนี้ พวกพราหมณ์ระลึกได้ถึงอักขระ ๑- ที่รู้กันว่าเป็นของดี เป็นของโบราณนั้นเท่านั้น แต่ไม่รู้ชัดถึงเนื้อความแห่งอักขระนั้นเลย ฯ [๕๘] ดูกรวาเสฏฐะและภารทวาชะ ครั้นต่อมา เมื่อง้วนดินของสัตว์เหล่านั้นหายไปแล้ว ก็เกิดมีกระบิดินขึ้น กระบิดินนั้นปรากฏลักษณะคล้ายเห็ด@๑. หมายถึงเรื่องราวกระบิดินนั้นถึงพร้อมด้วยสี กลิ่น รส มีสีเหมือนเนยใส หรือเนยข้นอย่างดีฉะนั้นได้มีรสอร่อยดุจรวงผึ้งเล็กอันหาโทษมิได้ฉะนั้น ดูกรวาเสฏฐะและภารทวาชะครั้งนั้น สัตว์เหล่านั้นพยายามจะบริโภคกระบิดิน สัตว์เหล่านั้นบริโภคกระบิดินอยู่รับประทานกระบิดิน มีกระบิดินเป็นอาหาร ดำรงอยู่ได้สิ้นกาลนาน ดูกรวาเสฏฐะและภารทวาชะ โดยประการที่สัตว์เหล่านั้นบริโภคกระบิดินอยู่ รับประทานกระบิดินมีกระบิดินเป็นอาหาร ดำรงอยู่ได้สิ้นกาลช้านาน สัตว์เหล่านั้นจึงมีร่างกายแข็งกล้าขึ้นทุกที ทั้งผิวพรรณก็ปรากฏว่าแตกต่างกันไป สัตว์บางพวกมีผิวพรรณงาม สัตว์บางพวกมีผิวพรรณไม่งาม ในสัตว์ทั้งสองจำพวกนั้น สัตว์พวกที่มีผิวพรรณงามพากันดูหมิ่นสัตว์พวกที่มีผิวพรรณไม่งามว่า พวกเรามีผิวพรรณดีกว่าพวกท่าน พวกท่านมีผิวพรรณเลวกว่าพวกเรา ดังนี้ เมื่อสัตว์ทั้งสองพวกนั้น เกิดมีการไว้ตัวดูหมิ่นกันขึ้น เพราะทะนงตัวปรารภผิวพรรณเป็นปัจจัย กระบิดินก็หายไป เมื่อกระบิดินหายไปแล้ว ก็เกิดมีเครือดินขึ้น เครือดินนั้นปรากฏคล้ายผลมะพร้าวทีเดียวเครือดินนั้น ถึงพร้อมด้วยสี รส กลิ่น มีสีคล้ายเนยใส หรือเนยข้นอย่างดีฉะนั้น ได้มีรสอร่อยดุจรวงผึ้งเล็กอันหาโทษมิได้ฉะนั้น ฯ ดูกรวาเสฏฐะและภารทวาชะ ครั้งนั้น สัตว์เหล่านั้นพยายามจะบริโภคเครือดิน สัตว์เหล่านั้นบริโภคเครือดินอยู่ รับประทานเครือดิน มีเครือดินเป็นอาหาร ดำรงมาได้สิ้นกาลช้านาน โดยประการที่สัตว์เหล่านั้นบริโภคเครือดินอยู่รับประทานเครือดิน มีเครือดินนั้นเป็นอาหาร ดำรงมาได้สิ้นกาลช้านานสัตว์เหล่านั้นจึงมีร่างกายแข็งกล้าขึ้นทุกที ทั้งผิวพรรณก็ปรากฏว่าแตกต่างกันไปสัตว์บางพวกมีผิวพรรณงาม สัตว์บางพวกมีผิวพรรณไม่งาม ในสัตว์ทั้งสองพวกนั้นสัตว์พวกที่มีผิวพรรณงาม พากันดูหมิ่นพวกที่มีผิวพรรณไม่งามว่า พวกเรามีผิวพรรณดีกว่าพวกท่าน พวกท่านมีผิวพรรณเลวกว่าพวกเรา ดังนี้ เมื่อสัตว์ทั้งสองพวกนั้นเกิดมีการไว้ตัวดูหมิ่นกัน เพราะทะนงตัวปรารภผิวพรรณเป็นปัจจัย เครือดินก็หายไป เมื่อเครือดินหายไปแล้ว สัตว์เหล่านั้นก็พากันจับกลุ่ม ครั้นแล้วต่างก็บ่นถึงกันว่า เครือดินได้เคยมีแก่พวกเราหนอ เดี๋ยวนี้เครือดินของพวกเราได้สูญหายเสียแล้วหนอ ดังนี้ ถึงทุกวันนี้ก็เหมือนกัน คนเป็นอันมาก พอถูกความระทมทุกข์อย่างใดอย่างหนึ่งมากระทบ ก็มักบ่นกันอย่างนี้ว่า สิ่งของของเราทั้งหลายได้เคยมีแล้วหนอ แต่เดี๋ยวนี้ สิ่งของของเราทั้งหลายได้มาสูญหายเสียแล้วหนอดังนี้ พวกพราหมณ์ระลึกได้ถึงอักขระที่รู้กันว่าเป็นของดีเป็นของโบราณนั้นเท่านั้นแต่ไม่รู้ชัดถึงเนื้อความแห่งอักขระนั้นเลย ฯ

ออฟไลน์ Wisdom

  • สมาชิก
  • ***
  • กระทู้: 242
  • ใครจะใหญ่เกินกรรม
    • ดูรายละเอียด
Re: ความลับของจักรวาล ในพระไตรปิฏก
« ตอบกลับ #4 เมื่อ: กุมภาพันธ์ 22, 2012, 06:42:47 PM »
[๕๙] ดูกรวาเสฏฐะและภารทวาชะ ครั้นต่อมา เมื่อเครือดินของสัตว์เหล่านั้นหายไปแล้ว ก็เกิดมีข้าวสาลีขึ้นเองในที่ที่ไม่ต้องไถ เป็นข้าวไม่มีรำ ไม่มีแกลบ ขาวสะอาด กลิ่นหอม มีเมล็ดเป็นข้าวสาร ตอนเย็นสัตว์เหล่านั้นนำเอาข้าวสาลีชนิดใดมาเพื่อบริโภคในเวลาเย็น ตอนเช้าข้าวสาลีชนิดนั้นที่มีเมล็ดสุกก็งอกขึ้นแทนที่ ตอนเช้าเขาพากันไปนำเอาข้าวสาลีใดมาเพื่อบริโภคในเวลาเช้าตอนเย็นข้าวสาลีชนิดนั้นที่มีเมล็ดสุกแล้วก็งอกขึ้นแทนที่ ไม่ปรากฏว่าบกพร่องไปเลย ดูกรวาเสฏฐะและภารทวาชะ ครั้งนั้น พวกสัตว์บริโภคข้าวสาลีที่เกิดขึ้นเองในที่ที่ไม่ต้องไถ พากันรับประทานข้าวสาลีนั้น มีข้าวสาลีนั้นเป็นอาหารดำรงมาได้สิ้นกาลช้านาน ก็โดยประการที่สัตว์เหล่านั้นบริโภคข้าวสาลีอันเกิดขึ้นเองอยู่ รับประทานข้าวสาลีนั้น มีข้าวสาลีนั้นเป็นอาหาร ดำรงมาได้สิ้นการช้านาน สัตว์เหล่านั้นจึงมีร่างกายแข็งกล้าขึ้นทุกที ทั้งผิวพรรณก็ปรากฏว่าแตกต่างกันออกไป สตรีก็มีเพศหญิงปรากฏ และบุรุษก็มีเพศชายปรากฏ นัยว่า สตรีก็เพ่งดูบุรุษอยู่เสมอ และบุรุษก็เพ่งดูสตรีอยู่เสมอ เมื่อคนทั้งสองเพศ ต่างเพ่งดูกันอยู่เสมอ ก็เกิดความกำหนัดขึ้น เกิดความเร่าร้อนขึ้นในกาย เพราะความเร่าร้อนเป็นปัจจัย เขาทั้งสองจึงเสพเมถุนธรรมกัน ฯ ดูกรวาเสฏฐะและภารทวาชะ ก็โดยสมัยนั้นแล สัตว์พวกใดเห็นพวกอื่นเสพเมถุนธรรมกันอยู่ ย่อมโปรยฝุ่นใส่บ้าง โปรยเถ้าใส่บ้าง โยนมูลโคใส่บ้าง พร้อมกับพูดว่า คนชาติชั่ว จงฉิบหาย คนชาติชั่ว จงฉิบหาย ดังนี้ แล้วพูดต่อไปว่า ก็ทำไมขึ้นชื่อว่าสัตว์ จึงทำแก่สัตว์เช่นนี้เล่า ข้อที่ว่ามานั้น จึงได้เป็นธรรมเนียมมาจนถึงทุกวันนี้ ในชนบทบางแห่ง คนทั้งหลาย โปรยฝุ่นใส่บ้าง โปรยเถ้าใส่บ้าง โยนมูลโคใส่บ้าง ในเมื่อเขาจะนำสัตว์ที่ประพฤติชั่วร้ายไปสู่ตะแลงแกง พวกพราหมณ์มาระลึกถึงอักขระที่รู้กันว่าเป็นของดี อันเป็นของโบราณนั้นเท่านั้น แต่พวกเขาไม่รู้ชัดถึงเนื้อความแห่งอักขระนั้นเลย ฯ [๖๐] ดูกรวาเสฏฐะและภารวาชะ ก็สมัยนั้นการโปรยฝุ่นใส่กันเป็นต้นนั้นแล สมมติกันว่าไม่เป็นธรรม มาในบัดนี้ สมมติกันว่าเป็นธรรมขึ้น ก็สมัยนั้นสัตว์พวกใด เสพเมถุนกัน สัตว์พวกนั้นเข้าบ้านหรือนิคมไม่ได้ สิ้นสองเดือนบ้าง สามเดือนบ้าง ดูกรวาเสฏฐะและภารทวาชะ เมื่อใดแล สัตว์ทั้งหลายพากันเสพอสัทธรรมนั่นอยู่เสมอ เมื่อนั้น จึงพยายามสร้างเรือนกันขึ้น เพื่อเป็นที่กำบังอสัทธรรมนั้น ครั้งนั้น สัตว์ผู้หนึ่ง เกิดความเกียจคร้านขึ้น จึงได้มีความเห็นอย่างนี้ว่า ดูกรท่านผู้เจริญ เราช่างลำบากเสียนี่กระไร ที่ต้องไปเก็บข้าวสาลีมา ทั้งในเวลาเย็นสำหรับอาหารเย็น ทั้งในเวลาเช้าสำหรับอาหารเช้า อย่ากระนั้นเลย เราควรไปเก็บเอาข้าวสาลีมาไว้เพื่อบริโภคทั้งเย็นทั้งเช้าเสียคราวเดียวเถิดดูกรวาเสฏฐะและภารทวาชะ ต่อแต่นั้นมา สัตว์ผู้นั้นก็ไปเก็บเอาข้าวสาลีมาไว้เพื่อบริโภคทั้งเย็นทั้งเช้าเสียคราวเดียวกัน ฉะนี้แล ดูกรวาเสฏฐะและภารทวาชะครั้งนั้น สัตว์ผู้หนึ่งเข้าไปหาสัตว์ผู้นั้นแล้วชวนว่า ดูกรสัตว์ผู้เจริญ มาเถิด เราจักไปเก็บข้าวสาลีกัน สัตว์ผู้นั้นตอบว่า ดูกรสัตว์ผู้เจริญ ฉันไปเก็บเอาข้าวสาลีมาไว้เพื่อบริโภคพอทั้งเย็นทั้งเช้าเสียคราวเดียวแล้ว ต่อมา สัตว์ผู้นั้นถือตามแบบอย่างของสัตว์ผู้นั้น จึงไปเก็บเอาข้าวสาลีมาไว้คราวเดียวเพื่อสองวัน แล้วพูดว่าได้ยินว่า แม้อย่างนี้ก็ดีเหมือนกันท่านผู้เจริญ ดูกรวาเสฏฐะและภารทวาชะ ต่อมาสัตว์อีกผู้หนึ่ง เข้าไปหาสัตว์ผู้นั้น แล้วชวนว่า ดูกรสัตว์ผู้เจริญ มาเถิด เราจักไปเก็บข้าวสาลีกัน สัตว์ผู้นั้นตอบว่า ดูกรสัตว์ผู้เจริญ ฉันไปเก็บเอาข้าวสาลีมาไว้เพื่อบริโภคพอทั้งเย็นทั้งเช้าเสียคราวเดียวแล้ว ฯ ดูกรวาเสฏฐะและภารทวาชะ ครั้งนั้นแล สัตว์ผู้นั้นถือตามแบบอย่างของสัตว์นั้น จึงไปเก็บเอาข้าวสาลีมาไว้คราวเดียว เพื่อสี่วัน แล้วพูดว่า แม้อย่างนี้ก็ดีเหมือนกัน ท่านผู้เจริญ ดูกรวาเสฏฐะและภารทวาชะ ต่อมาสัตว์อีกผู้หนึ่งเข้าไปหาสัตว์ผู้นั้น แล้วชวนว่า ดูกรสัตว์ผู้เจริญ มาเถิด เราจักไปเก็บข้าวสาลีกัน สัตว์ผู้นั้นตอบว่า ดูกรสัตว์ผู้เจริญ ข้าพเจ้าได้ไปเก็บข้าวสาลีมาไว้คราวเดียวเพื่อสี่วันแล้ว ครั้งนั้นแล สัตว์ผู้นั้น ถือตามแบบอย่างของสัตว์นั้น จึงไปเก็บข้าวสาลีมาไว้คราวเดียว เพื่อแปดวัน แล้วพูดว่า แม้อย่างนี้ก็ดีเหมือนกันท่านผู้เจริญ เมื่อใด สัตว์ทั้งหลายเหล่านั้นพยายามเก็บข้าวสาลีสะสมไว้เพื่อบริโภคกันขึ้น เมื่อนั้นแล ข้าวสาลีนั้นจึงกลายเป็นข้าวมีรำห่อเมล็ดบ้าง มีแกลบหุ้มเมล็ดบ้าง ต้นที่ถูกเกี่ยวแล้วก็ไม่กลับงอกแทน ปรากฏว่าขาดเป็นตอนๆ (ตั้งแต่นั้นมา) จึงได้มีข้าวสาลีเป็นกลุ่มๆ ฯ [๖๑] ดูกรวาเสฏฐะและภารทวาชะ ในครั้งนั้น สัตว์เหล่านั้นพากันมาจับกลุ่ม ครั้นแล้วต่างก็มาปรับทุกข์กันว่า ดูกรท่านผู้เจริญ เดี๋ยวนี้ เกิดมีธรรมทั้งหลายอันเลวทรามปรากฏขึ้นในสัตว์ทั้งหลายแล้ว ด้วยว่า เมื่อก่อนพวกเราได้เป็นผู้สำเร็จทางใจ มีปีติเป็นอาหาร มีรัศมีซ่านออกจากกายตนเอง สัญจรไปได้ในอากาศ อยู่ในวิมานอันงาม สถิตอยู่ในวิมานนั้นสิ้นกาลยืดยาวช้านาน บางครั้งบางคราวโดยระยะยืดยาวช้านาน เกิดง้วนดินลอยขึ้นบนน้ำ ทั่วไปแก่เราทุกคนง้วนดินนั้นถึงพร้อมด้วยสี กลิ่น รส พวกเราทุกคนพยายามปั้นง้วนดินกระทำให้เป็นคำๆ ด้วยมือทั้งสองเพื่อจะบริโภค เมื่อพวกเราทุกคน พยายามปั้นง้วนดินกระทำให้เป็นคำๆ ด้วยมือทั้งสองเพื่อจะบริโภคอยู่ รัศมีกายก็หายไป เมื่อรัศมีกายหายไปแล้ว ดวงจันทร์ดวงอาทิตย์ก็ปรากฏขึ้น เมื่อดวงจันทร์ดวงอาทิตย์ปรากฏขึ้นแล้ว ดาวนักษัตรทั้งหลายก็ปรากฏขึ้น เมื่อดวงดาวนักษัตรทั้งหลายปรากฏขึ้นแล้วกลางคืนและกลางวันก็ปรากฏขึ้น เมื่อกลางคืนและกลางวันปรากฏขึ้นแล้ว เดือนหนึ่งและกึ่งเดือนก็ปรากฏขึ้น เมื่อเดือนหนึ่งและกึ่งเดือนปรากฏขึ้นแล้ว ฤดูและปีก็ปรากฏ พวกเราทุกคนบริโภคง้วนดินอยู่ รับประทานง้วนดิน มีง้วนดินเป็นอาหารดำรงชีพอยู่ได้สิ้นกาลช้านาน เพราะมีธรรมทั้งหลายที่เป็นอกุศลชั่วช้าปรากฏขึ้นแก่พวกเรา ง้วนดินจึงหายไป เมื่อง้วนดินหายไปแล้ว จึงมีกระบิดินปรากฏขึ้นระบิดินนั้นถึงพร้อมด้วยสี กลิ่น รส พวกเราทุกคนบริโภคระบิดิน เมื่อพวกเราทุกคนบริโภคระบิดินนั้นอยู่ รับประทานระบิดิน มีระบิดินเป็นอาหาร ดำรงอยู่ได้สิ้นกาลช้านาน เพราะมีธรรมทั้งหลายที่เป็นอกุศลชั่วช้าปรากฏขึ้นแก่พวกเราระบิดินจึงหายไป เมื่อระบิดินหายไปแล้ว จึงมีเครือดินปรากฏขึ้น เครือดินนั้นถึงพร้อมด้วยสี กลิ่น รส พวกเราทุกคนพยายามบริโภคเครือดิน เมื่อพวกเราทุกคนบริโภคเครือดินนั้นอยู่ รับประทานเครือดิน มีเครือดินเป็นอาหาร ดำรงอยู่ได้สิ้นกาลช้านาน เพราะมีธรรมทั้งหลายที่เป็นอกุศลชั่วช้าปรากฏขึ้นแก่พวกเราเครือดินจึงหายไป เมื่อเครือดินหายไปแล้ว จึงมีข้าวสาลีปรากฏขึ้นเองในที่ไม่ต้องไถ เป็นข้าวที่ไม่มีรำ ไม่มีแกลบ ขาวสะอาด กลิ่นหอม มีเมล็ดเป็นข้าวสาร ตอนเย็นพวกเราทุกคนไปนำเอาข้าวสาลีชนิดใดมาเพื่อบริโภคในเวลาเย็นตอนเช้าข้าวสาลีชนิดนั้นที่มีเมล็ดสุกก็งอกขึ้นแทนที่ ตอนเช้าพวกเราทุกคนไปนำเอาข้าวสาลีชนิดใดมาเพื่อบริโภคในเวลาเช้า ตอนเย็น ข้าวสาลีชนิดนั้นที่มีเมล็ดสุกก็งอกขึ้นแทนที่ ไม่ปรากฏว่าบกพร่องไปเลย เมื่อพวกเราทุกคนบริโภคข้าวสาลีซึ่งเกิดขึ้นเองในที่ไม่ต้องไถอยู่ รับประทานข้าวสาลีนั้น มีข้าวสาลีนั้นเป็นอาหารดำรงอยู่ได้สิ้นกาลช้านาน เพราะมีธรรมทั้งหลายที่เป็นอกุศลชั่วช้าปรากฏขึ้นแก่พวกเรา ข้าวสาลีนั้นจึงกลายเป็นข้าวมีรำหุ้มเมล็ดบ้าง มีแกลบห่อเมล็ดไว้บ้างแม้ต้นที่เกี่ยวแล้วก็ไม่งอกขึ้นแทนที่ ปรากฏว่าขาดเป็นตอนๆ จึงได้มีข้าวสาลีเป็นกลุ่มๆ อย่ากระนั้นเลย พวกเราควรมาแบ่งข้าวสาลีและปักปันเขตแดนกันเสียเถิด ดูกรวาเสฏฐะและภารทวาชะ ครั้นแล้ว สัตว์ทั้งหลายจึงแบ่งข้าวสาลีปักปันเขตแดนกัน ฯ [๖๒] ดูกรวาเสฏฐะและภารทวาชะ ครั้งนั้นแล สัตว์ผู้หนึ่งเป็นคนโลภ สงวนส่วนของตนไว้ ไปเก็บเอาส่วนอื่นที่เขาไม่ได้ให้มาบริโภค สัตว์ทั้งหลายจึงช่วยกันจับสัตว์ผู้นั้น ครั้นแล้ว ได้ตักเตือนอย่างนี้ว่า แน่ะสัตว์ผู้เจริญ ก็ท่านกระทำกรรมชั่วช้านัก ที่สงวนส่วนของตนไว้ ไปเก็บเอาส่วนอื่นที่เขาไม่ได้ให้มาบริโภค ท่านอย่าได้กระทำกรรมชั่วช้าเห็นปานนี้อีกเลย ดูกรวาเสฏฐะและภารทวาชะ สัตว์ผู้นั้นแล รับคำของสัตว์เหล่านั้นแล้ว แม้ครั้งที่ ๒ ... แม้ครั้งที่ ๓ สัตว์นั้นสงวนส่วนของตนไว้ ไปเก็บเอาส่วนอื่นที่เขาไม่ได้ให้มาบริโภค สัตว์เหล่านั้นจึงช่วยกันจับสัตว์ผู้นั้น ครั้นแล้ว ได้ตักเตือนว่าแน่ะ สัตว์ผู้เจริญ ท่านทำกรรมอันชั่วช้านัก ที่สงวนส่วนของตนไว้ ไปเอาส่วนที่เขาไม่ได้ให้มาบริโภค ท่านอย่าได้กระทำกรรมอันชั่วช้าเห็นปานนี้อีกเลย สัตว์พวกหนึ่งประหารด้วยฝ่ามือ พวกหนึ่งประหารด้วยก้อนดินบ้าง พวกหนึ่งประหารด้วยท่อนไม้ ดูกรวาเสฏฐะและภารทวาชะ ก็นัยเพราะมีเหตุเช่นนั้นเป็นต้นมาการถือเอาสิ่งของที่เจ้าของไม่ได้ให้จึงปรากฏ การติเตียนจึงปรากฏ การกล่าวเท็จจึงปรากฏ การถือท่อนไม้จึงปรากฏ ครั้งนั้นแล พวกสัตว์ที่เป็นผู้ใหญ่จึงประชุมกัน ครั้นแล้ว ต่างก็ปรับทุกข์กันว่า พ่อเอ๋ย ก็การถือเอาสิ่งของที่เจ้าของไม่ได้ให้จักปรากฏ การติเตียนจักปรากฏ การพูดเท็จจักปรากฏ การถือท่อนไม้จักปรากฏ ในเพราะบาปธรรมเหล่าใด บาปธรรมเหล่านั้นเกิดปรากฏแล้วในสัตว์ทั้งหลาย อย่ากระนั้นเลย พวกเราจักสมมติสัตว์ผู้หนึ่งให้เป็นผู้ว่ากล่าวผู้ที่ควรว่ากล่าวได้โดยชอบ ให้เป็นผู้ติเตียนผู้ที่ควรติเตียนได้โดยชอบ ให้เป็นผู้ขับไล่ผู้ที่ควรขับไล่ได้โดยชอบ ส่วนพวกเราจักแบ่งส่วนข้าวสาลีให้แก่ผู้นั้น ดังนี้ดูกรวาเสฏฐะและภารทวาชะ ครั้นแล้ว สัตว์เหล่านั้น พากันเข้าไปหาสัตว์ที่สวยงามกว่า น่าดูน่าชมกว่า น่าเลื่อมใสกว่า และน่าเกรงขามมากกว่าสัตว์ทุกคนแล้ว จึงแจ้งเรื่องนี้ว่า ข้าแต่สัตว์ผู้เจริญ มาเถิดพ่อ ขอพ่อจงว่ากล่าวผู้ที่ควรว่ากล่าวได้โดยชอบ จงติเตียนผู้ที่ควรติเตียนได้โดยชอบ จงขับไล่ผู้ที่ควรขับไล่ได้โดยชอบเถิด ส่วนพวกข้าพเจ้าจักแบ่งส่วนข้าวสาลีให้แก่พ่อ ดูกรวาเสฏฐะและภารทวาชะ สัตว์ผู้นั้นแลรับคำของสัตว์เหล่านั้นแล้ว จึงว่ากล่าวผู้ที่ควรว่ากล่าวได้โดยชอบ ติเตียนผู้ที่ควรติเตียนได้โดยชอบ ขับไล่ผู้ที่ควรขับไล่ได้โดยชอบส่วนสัตว์เหล่านั้นก็แบ่งส่วนข้าวสาลีให้แก่สัตว์ที่เป็นหัวหน้านั้น ฯ [๖๓] ดูกรวาเสฏฐะและภารทวาชะ เพราะเหตุผู้ที่เป็นหัวหน้าอันมหาชนสมมติ ดังนี้แล อักขระว่า มหาชนสมมติ จึงอุบัติขึ้นเป็นอันดับแรกเพราะเหตุผู้ที่เป็นหัวหน้า เป็นใหญ่ยิ่งแห่งเขตทั้งหลาย ดังนี้แล อักขระว่ากษัตริย์ กษัตริย์ จึงอุบัติขึ้นเป็นอันดับที่สอง เพราะเหตุที่ผู้เป็นหัวหน้ายังชนเหล่าอื่นให้สุขใจได้โดยธรรม ดังนี้แล อักขระว่า ราชา ราชา จึงอุบัติขึ้นเป็นอันดับที่สาม ดูกรวาเสฏฐะและภารทวาชะ ด้วยประการดังนี้แล การบังเกิดขึ้นแห่งพวกกษัตริย์นั้น มีขึ้นได้ เพราะอักขระที่รู้กันว่าเป็นของดี เป็นของโบราณอย่างนี้แล เรื่องของสัตว์เหล่านั้น จะต่างกันหรือเหมือนกัน จะไม่ต่างกันหรือไม่เหมือนกัน ก็ด้วยธรรมเท่านั้น ไม่ใช่นอกไปจากธรรม ดูกรวาเสฏฐะและภารทวาชะ ความจริง ธรรมเท่านั้นเป็นของประเสริฐสุดในประชุมชนทั้งในเวลาที่เห็นอยู่ ทั้งในเวลาภายหน้า ฯ [๖๔] ดูกรวาเสฏฐะและภารทวาชะ ครั้งนั้นแล สัตว์บางจำพวกได้มีความคิดขึ้นอย่างนี้ว่า พ่อเอ๋ย การถือเอาสิ่งของที่เจ้าของไม่ได้ให้จักปรากฏ การติเตียนจักปรากฏ การกล่าวเท็จจักปรากฏ การถือท่อนไม้จักปรากฏ การขับไล่จักปรากฏ ในเพราะบาปธรรมเหล่าใด บาปธรรมเหล่านั้นเกิดปรากฏแล้วในสัตว์ทั้งหลาย อย่ากระนั้นเลย พวกเราควรไปลอยอกุศลธรรมที่ชั่วช้ากันเถิด สัตว์เหล่านั้นพากันลอยอกุศลธรรมที่ชั่วช้าแล้ว ดูกรวาเสฏฐะและภารทวาชะ เพราะเหตุที่สัตว์เหล่านั้นพากันลอยอกุศลธรรมที่ชั่วช้าอยู่ ดังนี้แล อักขระว่า พวกพราหมณ์ๆ จึงอุบัติขึ้นเป็นอันดับแรก พราหมณ์เหล่านั้นพากันสร้างกระท่อมซึ่งมุงและบังด้วยใบไม้ในราวป่า เพ่งอยู่ในกระท่อมซึ่งมุงและบังด้วยใบไม้ พวกเขาไม่มีการหุงต้ม และไม่มีการตำข้าว เวลาเย็น เวลาเช้า ก็พากันเที่ยวแสวงหาอาหารตามคามนิคมและราชธานี เพื่อบริโภคในเวลาเย็นเวลาเช้า เขาเหล่านั้นครั้นได้อาหารแล้ว จึงพากันกลับไปเพ่งอยู่ในกระท่อมซึ่งมุงและบังด้วยใบไม้ในราวป่าอีก คนทั้งหลายเห็นพฤติการณ์ของพวกพราหมณ์นั้นแล้วพากันพูดอย่างนี้ว่าพ่อเอ๋ย สัตว์พวกนี้แลพากันมาสร้างกระท่อมซึ่งมุงและบังด้วยใบไม้ในราวป่าแล้วเพ่งอยู่ในกระท่อมซึ่งมุงและบังด้วยใบไม้ ไม่มีการหุงต้ม ไม่มีการตำข้าวเวลาเย็นเวลาเช้า ก็พากันเที่ยวแสวงหาอาหารตามคามนิคมและราชธานี เพื่อบริโภคในเวลาเย็นเวลาเช้า เขาเหล่านั้นครั้นได้อาหารแล้วจึงพากันกลับไปเพ่งอยู่ในกระท่อมซึ่งมุงและบังด้วยใบไม้ในราวป่าอีก ฯ ดูกรวาเสฏฐะและภารทวาชะ เพราะเหตุนั้นแล อักขระว่า พวกเจริญฌาน พวกเจริญฌาน ดังนี้ จึงอุบัติขึ้นเป็นอันดับที่สอง บรรดาสัตว์เหล่านั้นแลสัตว์บางพวกเมื่อไม่อาจสำเร็จฌานได้ ที่กระท่อมซึ่งมุงและบังด้วยใบไม้ในราวป่าจึงเที่ยวไปยังคามและนิคมที่ใกล้เคียงแล้วก็จัดทำพระคัมภีร์มาอยู่ คนทั้งหลายเห็นพฤติการณ์ของพวกพราหมณ์นี้นั้นแล้ว จึงพูดอย่างนี้ว่า พ่อเอ๋ย ก็สัตว์เหล่านี้ไม่อาจสำเร็จฌานได้ที่กระท่อมซึ่งมุงและบังด้วยใบไม้ในราวป่า เที่ยวไปยังบ้านและนิคมที่ใกล้เคียง จัดทำพระคัมภีร์ไปอยู่ ดูกรวาเสฏฐะและภารทวาชะ บัดนี้พวกชนเหล่านี้ไม่เพ่งอยู่ บัดนี้ พวกชนเหล่านี้ไม่เพ่งอยู่ ดังนี้แล อักขระว่าอชฺฌายิกา ๑- อชฺฌายิกา จึงอุบัติขึ้นเป็นอันดับที่สาม ดูกรวาเสฏฐะและภารทวาชะก็สมัยนั้น การทรงจำ การสอน การบอกมนต์ ถูกสมมติว่าเลว มาในบัดนี้สมมติว่าประเสริฐ ด้วยประการดังกล่าวมานี้แล การอุบัติขึ้นแห่งพวกพราหมณ์นั้นมีขึ้นได้ เพราะอักขระที่รู้กันว่าเป็นของดีเป็นของโบราณอย่างนี้แล เรื่องของสัตว์เหล่านั้นจะต่างกันหรือเหมือนกันจะไม่ต่างกันหรือไม่เหมือนกัน ก็ด้วยธรรมเท่านั้น ไม่ใช่นอกไปจากธรรม ดูกรวาเสฏฐะและภารทวาชะ ความจริง ธรรมเท่านั้นเป็นของประเสริฐสุดในประชุมชน ทั้งในเวลาที่เห็นอยู่ ทั้งในเวลาภายหน้า ฯ [๖๕] ดูกรวาเสฏฐะและภารทวาชะ บรรดาสัตว์เหล่านั้นแล สัตว์บางจำพวกยึดมั่นเมถุนธรรม แล้วประกอบการงานเป็นแผนกๆ เพราะเหตุที่สัตว์เหล่านั้นยึดมั่นเมถุนธรรม แล้วประกอบการงานเป็นแผนกๆ นั้นแล อักขระว่าเวสฺสา เวสฺสา ดังนี้ จึงอุบัติขึ้น ดูกรวาเสฏฐะและภารทวาชะ ด้วยประการดังที่กล่าวมานี้ การอุบัติขึ้นแห่งพวกแพศย์นั้นมีขึ้นได้ เพราะอักขระที่รู้กันว่าเป็นของดี เป็นของโบราณ อย่างนี้แล เรื่องของสัตว์เหล่านั้นจะต่างกันหรือเหมือนกันจะไม่ต่างกันหรือไม่เหมือนกัน ก็ด้วยธรรมเท่านั้น ไม่ใช่นอกไปจากธรรม ฯลฯดูกรวาเสฏฐะและภารทวาชะ ด้วยประการดังที่กล่าวมานี้แล การอุบัติขึ้นแห่งพวกศูทรนั้นมีขึ้นได้ เพราะอักขระที่รู้กันว่าเป็นของดี เป็นของโบราณ อย่างนี้แลเรื่องของสัตว์เหล่านั้นจะต่างกันหรือเหมือนกัน จะไม่ต่างกันหรือไม่เหมือนกันก็ด้วยธรรมเท่านั้น ไม่ใช่นอกไปจากธรรม ดูกรวาเสฏฐะและภารทวาชะ ความจริง ธรรมเท่านั้นเป็นของประเสริฐสุดในประชุมชนทั้งในเวลาที่เห็นอยู่ ทั้งในเวลาภายหน้า ฯ [๖๖] ดูกรวาเสฏฐะและภารทวาชะ มีสมัยอยู่ ที่กษัตริย์บ้าง พราหมณ์บ้าง แพศย์บ้าง ศูทรบ้าง ตำหนิธรรมของตน จึงได้ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต ด้วยประสงค์ว่า เราจักเป็นสมณะ ดูกรวาเสฏฐะและภารทวาชะ พวกสมณะจะเกิดมีขึ้นได้ จากวรรณะทั้งสี่ นี้แล เรื่องของสัตว์เหล่านั้นจะต่างกันหรือเหมือนกัน จะไม่ต่างกันหรือไม่เหมือนกัน ก็ด้วยธรรมเท่านั้น ไม่ใช่นอกไปจากธรรม ความจริงธรรมเท่านั้นเป็นของประเสริฐที่สุดในประชุมชน ทั้งในเวลาที่เห็นอยู่ ทั้งในเวลาภายหน้า ฯ [๖๗] ดูกรวาเสฏฐะและภารทวาชะ กษัตริย์ก็ดี ... พราหมณ์ก็ดี ... แพศย์ก็ดี ... ศูทรก็ดี ... สมณะก็ดี ... ประพฤติกายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต เป็นมิจฉาทิฐิยึดถือการกระทำด้วยอำนาจมิจฉาทิฐิ เพราะยึดถือการกระทำด้วยอำนาจมิจฉาทิฐิเป็นเหตุเบื้องหน้าแต่ตายเพราะกายแตก ย่อมเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรกทั้งสิ้น ฯ [๖๘] ดูกรวาเสฏฐะและภารทวาชะ กษัตริย์ก็ดี ... พราหมณ์ก็ดี ... แพศย์ก็ดี ... ศูทรก็ดี ... สมณะก็ดี ... ประพฤติกายสุจริต วจีสุจริต มโนสุจริต เป็นสัมมาทิฐิยึดถือการกระทำด้วยอำนาจสัมมาทิฐิ เพราะยึดถือการกระทำด้วยอำนาจสัมมาทิฐิเป็นเหตุ เบื้องหน้าแต่ตายเพราะกายแตก ย่อมเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ ฯ [๖๙] ดูกรวาเสฏฐะและภารทวาชะ กษัตริย์ก็ดี ... พราหมณ์ก็ดี ... แพศย์ก็ดี ... ศูทรก็ดี ... สมณะก็ดี ... มีปรกติกระทำกรรมทั้งสอง [คือสุจริตและทุจริต] ด้วยกาย มีปรกติกระทำกรรมทั้งสองด้วยวาจา มีปรกติกระทำกรรมทั้งสองด้วยใจ มีความเห็นปนกัน ยึดถือการกระทำด้วยอำนาจความเห็นปนกัน เพราะยึดถือการกระทำด้วยอำนาจความเห็นปนกันเป็นเหตุ เบื้องหน้าแต่ตายเพราะกายแตก ย่อมเสวยสุขบ้าง ทุกข์บ้าง ฯ [๗๐] ดูกรวาเสฏฐะและภารทวาชะ กษัตริย์ก็ดี ... พราหมณ์ก็ดี ... แพศย์ก็ดี ... ศูทรก็ดี ... สำรวมกาย สำรวมวาจา สำรวมใจ อาศัยการเจริญโพธิปักขิยธรรมทั้ง ๗ แล้ว ย่อมปรินิพพานในปัจจุบันนี้ทีเดียว ฯ [๗๑] ดูกรวาเสฏฐะและภารทวาชะ ก็บรรดาวรรณะทั้งสี่นี้ วรรณะใดเป็นภิกษุ สิ้นอาสวะแล้ว มีพรหมจรรย์อยู่จบแล้ว มีกิจที่ควรทำ ทำเสร็จแล้ววางภาระเสียได้แล้ว ลุถึงประโยชน์ของตนแล้ว หมดเครื่องเกาะเกี่ยวในภพแล้วหลุดพ้นแล้ว เพราะรู้โดยชอบ วรรณะนั้นปรากฏว่า เป็นผู้เลิศกว่าคนทั้งหลายโดยธรรมแท้จริง มิใช่นอกไปจากธรรมเลย ดูกรวาเสฏฐะและภารทวาชะ ความจริงธรรมเท่านั้นเป็นของประเสริฐที่สุดในประชุมชน ทั้งในเวลาเห็นอยู่ ทั้งในเวลาภายหน้า ฯ [๗๒] ดูกรวาเสฏฐะและภารทวาชะ แม้สนังกุมารพรหมก็ได้ภาษิตคาถาไว้ว่า กษัตริย์เป็นประเสริฐที่สุด ในหมู่ชนผู้รังเกียจ ด้วยโคตร ท่านผู้ถึงพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ เป็นประเสริฐที่สุดในหมู่เทวดาและมนุษย์ ฯ ดูกรวาเสฏฐะและภารทวาชะ ก็คาถานี้สนังกุมารพรหมขับถูกไม่ผิด ภาษิตไว้ถูก ไม่ผิด ประกอบด้วยประโยชน์ มิใช่ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ เราเห็นด้วย ดูกรวาเสฏฐะและภารทวาชะ ถึงเราก็กล่าวอย่างนี้ว่า กษัตริย์เป็นประเสริฐที่สุดในหมู่ชนผู้รังเกียจ ด้วยโคตร ท่านผู้ถึงพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ เป็นประเสริฐที่สุดในหมู่เทวดาและมนุษย์ ฯ พระผู้มีพระภาคตรัสพระพุทธพจน์แล้ว วาเสฏฐะและภารทวาชะยินดีชื่นชมพระภาษิตของพระผู้มีพระภาคแล้วแล ฯ
จบ อัคคัญญสูตร ที่ ๔
-----------------------------------------------------