เว็บพุทธภูมิ: พุทธภูมิ พระโพธิสัตว์ การบำเพ็ญบารมี



ผู้เขียน หัวข้อ: การปฏิบัติธรรมนั้นมิใช่การปฏิบัติเพื่อได้อะไร  (อ่าน 4822 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 2 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ Webmaster

  • Administrator
  • สมาชิก
  • *****
  • กระทู้: 404
    • ดูรายละเอียด


การปฏิบัติธรรมนั้นมิใช่การปฏิบัติเพื่อได้อะไร
มันเป็นไปเพื่อความออกจากทุกข์ใจต่างหาก

...สมาธิหรือจิตสงบนั้น สามารถที่จะทำได้ 2 อย่าง คือทั้งในอิริยาบถนิ่ง และอิริยาบถเคลื่อนไหวและทำได้ในทุกท่า โดยไม่จำกัดท่าใดๆ ด้วยเพราะใช้ใจทำ ใช้กายเป็นสถานที่ทำ คือใช้ใจจับดูกายเท่านั้น กายจะอยู่ท่าไหนก็ได้ เพียงแต่ให้พยายามสนใจดูตัวเองว่า ปัจจุบันนี้เดี๋ยวนี้ขณะนี้ กายเรา กำลังทำอะไรอยู่ ก็กำหนดย้ำความรู้สึกนั้นลงไปอีกทีว่า กำลังทำอะไรอยู่ ข้อสำคัญให้ย้ำความรู้สึกอีกครั้งซ้ำลงไปเรียก..ว่ารู้ในรู้...หรือสติสัมปชัญญะก็คือตัวนี้แหละ มันจะเปลี่ยนแปลงเคลื่อนไหวอย่างไร ก็ให้กำหนดรู้ตามปัจจุบันขณะนั้นอยู่เสมอ คือให้ใจรู้กาย หากจิตนั้นตั้งมั่น รู้อยู่ภายในการในใจอันเป็นปัจจุบันที่รู้จริงๆ แล้วจิตจะเกิดความสงบ ปกติ โปร่ง ว่าง เบาสบาย พอกำลังสติมันเต็มรอบ มันจะเกิดปัญญาอันเป็นความรู้แจ้ง คือตื่นและอิสระเบิกบานในสิ่งที่รู้นั้นทันทีมันจะเกิดปัญญาแห่งธาตุรู้ ที่จะรู้ว่าเหตุทุกข์แท้ๆ นั้นเกิดตรงไหน เกิดจากอะไร ทำไมมันถึงเกิดแก้อย่างไร ควรจะทำอย่างไรจึงจะดับทุกข์ได้สิ้น มันจะบอกเองหมดจากภายในจิตใจของใครของมันอีกที มันจะเป็นทั้งผู้สอนผู้เรียนและผู้ตัดสินต่อผลนั้นทั้งหมด แปลกจริงๆ เรียนเอง สอนเอง รู้เองมันเป็นการรู้จากภายในสู่ภายนอก เป็นรู้จริง รู้แท้ ที่ได้พบเห็น ได้สัมผัสถึงจริงๆ ด้วยการกระทำของตนเอง ธรรมแท้เป็นเรื่องตัวเองต้องพึ่งตนเองจริงๆ การดับทุกข์ทางใจ ด้วยปัญญาจากใจภายในของตนจริงๆ อันเกิดจากกระทำที่ถึงจุดของมันเท่านั้นจึงจะดับทุกข์ได้อย่างแท้จริง ดับสนิทจริงๆ ไม่มีส่วนเหลือ

หลวงตาพูดเสมอว่า...การปฏิบัติธรรมนั้นมิใช่การปฏิบัติเพื่อได้อะไรมันเป็นไปเพื่อความออกจากทุกข์ใจต่างหาก เป็นเรื่องตนเห็นจิตตนซึ่งภาษาธรรมเรียกว่า "ปัจจัตตัง"

1.อยู่กับกิเลสได้โดยใจไม่เป็นทาสของกิเลส
2.อยู่กับทุกข์กาย โดยไม่ทุกข์ใจ
3.อยู่กับงานวุ่นโดยใจไม่วุ่น
4.อยู่กับการรีบด้วยใจสบาย
5.อยู่กับความสมหวังและความผิดหวังได้โดยใจไม่ทุกข์อีกต่อไป
6.อยู่กับโลกได้ด้วยใจเป็นธรรม กายส่วนกายใจส่วนใจแต่อาศัยกันอยู่เท่านั้นเอง
7.อยู่กับหน้าที่โดยไม่ยึดหน้าที่ เพียงแต่จะทำหน้าที่นั้น ให้ดีที่สุดเท่าที่ตนจะทำได้ในขณะปัจจุบันนั้นเท่านั้นเอง ที่ทำไม่ได้ก็ปล่อยไป

. . .

เรียบเรียงจากคติธรรมคำสอนของ
พระอาจารย์ วรงคต วิริยธโร
(หลวงตาม้า) วัดพุทธพรหมปัญโญ
(วัดถ้ำเมืองนะ) ต.เมืองนะ
อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่