หมวดหลัก > อภิญญาปฎิบัติ

มรณานุสสติเพื่อความไม่ประมาทในการสร้างบารมี

<< < (3/4) > >>

Wisdom:


โอกาสตายในช่วงชีวิตต่างๆ

ปัจจุบันดาวเคราะห์ที่เราอาศัยช่างเต็มไปด้วยภยันตราย เกิดสงครามและอาชญากรรมปะทุขึ้นที่นั่นที่นี่ หากติดตามข่าวรอบโลกก็จะเห็นเหมือนทั่วทุกหย่อมหญ้าเต็มไปด้วยคาวเลือดและการล้างผลาญชีวิต ทั้งมหันตภัยจากธรรมชาติและมหาภัยจากน้ำมือมนุษย์ด้วยกันเอง
ข่าวอุบัติเหตุบางชิ้นเช่นเครื่องบินตก หรือการตายหมู่จากตึกถล่มนับร้อยนับพันนั้น มักเผยแพร่ออกไปในระดับโลก เพราะเป็นภาพการตายพร้อมกันที่น่าสะเทือนขวัญ แต่น้อยคนนักที่จะทราบว่าประชากรโลกตายกันอยู่แล้ววันละแสนห้า!

ไม่มีใครทำรายงานเช่น ‘ข่าวด่วน! มีคนตายในวันเดียวถึงเกือบสองแสนคน’ นั่นเพราะพวกเรากระจายกันตายแบบห่างๆ เราอาจต้องรู้จักชาวบ้านร่วมครึ่งตำบลจึงจะได้ยินข่าวการตายของใครสักคนหนึ่ง แต่เราต้องรู้จักคน ๖ พันล้านจึงจะทราบว่ามีการตายวันละเกือบสองแสน
แต่อย่างไรความจริงก็คือความจริง วันหนึ่งเกือบสองแสน ซึ่งเกือบเท่าจำนวนคนตายที่ฮิโรชิม่าและนางาซากิรวมกันเมื่อครั้งตกอยู่ในสภาพหนูทดลองระเบิดนิวเคลียร์ ๒ ลูกแรก ทุกคนสามารถจดจำการตายหมู่อันเป็นประวัติศาสตร์ทมิฬของญี่ปุ่นได้ แต่วันนี้ไม่มีใครปั่นข่าวให้ทราบเลยว่าความตายระดับใกล้เคียงกันก็เกิดขึ้น และวันพรุ่งนี้จะมีคนตายเพิ่มอีกหนึ่งแสนห้าหมื่นคน!


ยังมีความเชื่อตามสามัญสำนึกอยู่อีกประการหนึ่ง คือคนเราควรจะตายตอนแก่ อาจเพราะพวกเรารู้จักคนกันไม่มากพอ จึงมักเห็นคนอยู่ได้จนแก่กัน หากขอให้คนรุ่น ๔๐ แจ้งรายชื่อเพื่อนร่วมรุ่นซึ่งเสียชีวิตไปแล้ว ส่วนใหญ่ก็อาจแจ้งได้เป็นจำนวนเลขหลักหน่วย คือไม่ถึงสิบด้วยซ้ำ ต้องขอให้คนรุ่น ๕๐ ขึ้นไปนั่นแหละ จึงจะเริ่มเห็นน้ำเห็นเนื้อขึ้นมาหน่อย นี่จึงทำให้เรารู้สึกว่าช่วงเวลาในชีวิตส่วนใหญ่อยู่ห่างไกลจากความตายไปมาก แม้หนังสือพิมพ์จะลงข่าวเด็กและวัยรุ่นเสียชีวิตกันโครมครามทุกวันก็ตาม
ในหัวข้อนี้ขอแสดงให้เห็นเพียงสถิติที่น่าสนใจ เพื่อให้เห็นว่าความจริงก็คือคนเรามีโอกาสตายได้ทุกช่วงวัย ผ่านความน่าจะเป็นของโรคภัยต่างๆดังนี้


๑) ช่วง ๑ ขวบ มีโอกาสตายเพราะโรคเกี่ยวกับการย่อยอาหารจำพวกไขมัน โปรตีน แป้ง คือกินไม่ได้เพราะร่างกายไม่สามารถสลายได้หมด และเด็กบางคนก็อาจเป็นเบาหวานได้ตั้งแต่เกิดเพราะตับอ่อนเสีย ไม่สามารถสร้างอินซูลินได้
๒) ช่วง ๑๐ ขวบ มีโอกาสตายเพราะโรคมะเร็งที่สมองและไต
๓) ช่วง ๒๐ ปี มีโอกาสตายจากอุบัติเหตุได้มากที่สุด และอาจมีโรคจำพวกปลายประสาทสมองเสื่อมผิดปกติ คล้ายอัลไซเมอร์
๔) ช่วง ๓๐ ปี มีโอกาสตายเพราะโรคติ่งเนื้อในลำไส้ ซึ่งมีอยู่แล้วตั้งแต่เกิด แต่เริ่มเจอเอาช่วงนี้เอง บางคนมีโอกาสรู้ตัวได้เพราะมีประวัติในพ่อแม่ (ซึ่งถ้าเป็นกรรมพันธุ์จริงก็อาจเจอติ่งเนื้อแล้วตัดไส้ส่วนนั้นทัน) วัยนี้บางทีก็มีเรื่องเบาหวานและตับอ่อนเสื่อมให้เห็นเสมอๆ
๕) ช่วง ๔๐ ปี มีโอกาสตายเพราะโรคมะเร็งกันสูง เพราะสภาพร่างกายเริ่มเสื่อม ไม่ยากที่จะเกิดการสร้างเซลล์ใหม่อย่างผิดปกติ หรือไม่ยิ่งอยู่นานก็เท่ากับยิ่งรับสารเคมีจากสภาพแวดล้อมอันเป็นพิษเข้าไปสะสมมากขึ้นๆ แล้วทำให้เซลล์แบ่งตัวผิด พอเป็นมะเร็งแล้วก็จะต่างจากเนื้องอกตรงที่กระจายได้ ลุกลามได้ พอเป็นขึ้นมาถ้าไม่ตรวจพบและรักษาแต่เนิ่นๆจึงมักไปกันไว

พ้นจากช่วงนี้สามารถตายได้ทุกเมื่อด้วยความน่าจะเป็นของทุกโรค โดยเฉพาะอย่างยิ่งยุคสมัยที่ต้องเร่งรีบ หรือต้องแบกภาระการงานอันหนักอึ้งเพื่อผ่อนจ่ายทรัพย์สมบัติต่างๆ จนเริ่มมีข่าวคนนอนฟุบหลับเพื่อพักงีบบนโต๊ะทำงานแล้วไม่ตื่นขึ้นมาอีกเลยประปราย ที่โน่นที่นี่ และต่อไปก็มีแนวโน้มว่าอาจได้ยินกันบ่อยขึ้น นี่ยังไม่รวมความเสี่ยงต่ออุบัติเหตุบนท้องถนนที่แต่ละปีคร่าชีวิตหญิงชายไปมากมายเกินจะนับอีกต่างหาก

ไม่มีใครเกิดมาพร้อมกับความรู้ตัวว่าติดกลุ่มเสี่ยงต่อมรณภัยรูปแบบไหน แต่ทุกคนสามารถเลิกประมาทได้เท่าเทียมกัน หันมาตระหนักว่าเราตายได้ทุกเมื่อ และการเตรียมตัวเตรียมใจพร้อมอยู่เสมอเป็นนโยบายที่ฉลาดของคนไม่ประมาทกับชีวิต

Wisdom:
ความตายเป็นความเที่ยงแท้ที่ไม่แน่นอน

อันว่าความตายนั้นเป็นของที่คู่กับชีวิตของเรา เมื่อเราเกิดขึ้นมา เราก็ต้องคำพิพากษาเสียแล้วว่า
เป็นนักโทษประหาร ต้องถึงแก่ความตาย ด้วยการลงโทษประหารในวันใดวันหนึ่ง โดยวิธีใดวิธีหนึ่ง
ณ สถานที่ใดสถานที่หนึ่ง ซึ่งโทษประหารชีวิตนี้มิได้ระบุแน่นอนชัดเจนว่า เราจะตายเมื่อไหร่
จะตายที่ไหน จะตายอย่างไร แต่ที่เที่ยงแท้ก็คือว่า เราทุกคนที่เกิดมาจะต้องพบความตาย
โดยหลีกเลี่ยงมิได้ ความเที่ยงแท้ที่ไม่แน่นอนนี้ เราควรที่จะกำหนดจิตกำหนดใจของเราให้ยอมรับความจริง
คือยอมรับสภาพที่รู้แน่นอนว่าต้องตายนั้นประการหนึ่ง กับสภาพที่ไม่รู้ได้แน่นอนว่าจะตายเมื่อไหร่
จะตายที่ไหน จะตายอย่างไรอีกประการหนึ่ง เพื่อเตรียมจิตเตรียมใจของเราให้พร้อม
เพื่อรับสภาพการณ์ที่ความตายจะมาเยือน ถ้าทำได้อย่างนี้ก็จะมีประโยชน์อย่างมาก
ประโยชน์ยิ่งกว่านั้นก็คือว่า จะได้หาหนทาง หาวิธีที่เราจะก้าวพ้นความตายทั้งหลาย
ไม่ให้มัจจุราชมารมองเห็นตัวของเราได้ ทั้งนี้ ก็โดยอาศัยพระธรรมคำสอน
ที่สมเด็จพระบรมศาสดาทรงสั่งสอนไว้ ให้เราประพฤติปฏิบัติและจะนำไปสู่ความพ้นทุกข์ …


สิ่งที่ไม่อาจกำหนดได้ ๕ อย่าง
ชีวิตัง พยาธิ กาโล จ
เทหนิกเขปนัง คติ
ปัญเจเต ชีวโลกัสมึ
อนิมิตตา น นายเร
แปลความว่า
สิ่งที่เราไม่อาจรู้ได้ในขณะที่เรามีชีวิตอยู่นั้น มีอยู่ ๕ อย่างด้วยกัน คือ
(ในวงเล็บเหลี่ยมเป็นคำอธิบายขยายแนะนำการปฏิบัติตัวที่ผู้เขียนหนังสือขยายไว้ค่ะ)
๑.
อายุ
เราไม่สามารถรู้ได้ว่าเราจะมีอายุยืนนานสักเพียงไร
[ไม่สำคัญว่าเราจะอยู่นานเพียงใด แต่สำคัญว่าเราอยู่ดีแค่ไหน
ไม่สำคัญว่าระยะเวลาจะมีเท่าใด แต่สำคัญว่าเราจะใช้เวลาของเราอย่างไร]
๒.
ความเจ็บไข้
เราไม่สามารถรู้ได้ว่าวันไหนเราจะเจ็บป่วยร้ายแรงเพียงใด
[เมื่อร่างกายเรายังแข็งแรงดี จิตใจเรายังสมบูรณ์ดี
พีงตั้งหน้าทำความเพียร ประกอบการงานหน้าที่ให้ดีที่สุด]
๓. กาลเวลา
เราไม่สามารถรู้ได้ กำหนดหมายไม่ได้แน่นอน
[เราต้องไม่ประมาท สามารถพร้อมที่จะตายได้ทุกเมื่อ]
๔. สถานที่
เราไม่สามารถกำหนดหรือรู้ได้
[พยายามใช้ชีวิตของเราให้เป็นประโยชน์
อยู่ ณ ที่ใด ก็ระวังจิตระวังใจของเราให้ดี]
๕. คติที่จะไป
เราไม่สามารถรู้ว่าตายไปแล้วเราจะไปไหนต่อ
[ผู้ทำดีย่อมมีสุคติเป็นที่หมาย ผู้ทำชั่วย่อมมีทุคติเป็นที่หมาย]
พระพุทธเจ้าทรงเป็นกัลยาณมิตรช่วยให้พ้นตายได้ ...
ขอให้เราตระหนักถึงความตายนี้ แล้วตั้งหน้าประพฤติปฏิบัติธรรม
เพื่อพ้นจากความตายนี้ให้ได้ โดยอาศัยธรรมะของผู้มีพระภาคเจ้านั่นเองเป็นเครื่องนำทาง
พุทธภาษิต เพื่อการพิจารณาความตาย
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ฐานะ ๕ ประการ อันสตรี บุรุษ คฤหัสถ์หรือบรรพชิต ควรพิจารณาเนืองๆ คือ
๑. ควรพิจารณาเนืองๆ ว่า เรามีความแก่เป็นธรรมดา ไม่ล่วงพ้นความแก่ไปได้
๒. เรามีความเจ็บไข้เป็นธรรมดา ไม่ล่วงพ้นความเจ็บไข้ไปได้
๓. เรามีความตายเป็นธรรมดา ไม่ล่วงพ้นความตายไปได้
๔. เราจะต้องพลัดพรากจากของรักของชอบใจทั้งสิ้น
๕. เรามีกรรมเป็นของตน เป็นทายาทแห่งกรรม มีกรรมเป็นกำเนิด มีกรรมเป็นเผ่าพันธุ์
มีกรรมเป็นที่พึ่ง จักทำกรรมใด ดีก็ตาม ชั่วก็ตาม เราจะเป็นผู้รับผลของกรรมนั้น
(๘๐.๓๓/๑๐๒-๑๐๓ หรือ ๔๕.๒๒/๗๒ ฐานสูตร)
.....
ดูกรภิกษุทั้งหลาย สังขารทั้งหลายไม่เที่ยง ไม่ยั่งยืน ไม่น่าชื่นชม นี้เป็นกำหนด*
ควรเบื่อหน่าย ควรคลายกำหนัด ควรหลุดพ้น ในสังขารทั้งปวง
(๘๐.๓๕/๑๓๒ หรือ ๔๕.๒๓/๙๕ สุริยสูตร)
(* หมายเหตุ ดิฉันคล้ายเคยได้ยินว่า "นี้ควรกำหนด" แต่ไม่กล้าเปลี่ยนเพราะไม่แน่ใจ
ก็เลยคัดลอกตรงตามหนังสือเล่มนี้พิมพ์ไว้มาเลยค่ะ)
.....
เมื่อโลกถูกชรา พยาธิ มรณะ แผดเผาแล้วเช่นนี้ ความสำรวมทางกาย
ความสำรวมทางวาจา ความสำรวมทางใจในโลก ย่อมเป็นที่ต้านทาน เป็นที่เร้น
เป็นเกาะ เป็นที่พึ่ง และเป็นที่ยึดหน่วงแก่เขาผู้ละไปแล้ว
(๘๐.๓๑/๒๔๘ หรือ ๔๕.๒๐/๑๗๔ ชนสูตร)
..... คนพาลย่อมคิดผิดว่า เราจักอยู่ในที่นี้ตลอดฤดูฝน จักอยู่ในที่นี้ตลอดฤดูหนาว และฤดูร้อน
ดังนี้ ย่อมไม่รู้อันตราย มัจจุย่อมพาเอาคนผู้มัวเมาในบุตรและปศุสัตว์ มีมนัสข้องติดในอารมณ์ต่างๆ
เหมือนห้วงน้ำใหญ่พาเอาชาวบ้านผู้หลับไป ฉะนั้น
เมื่อบุคคลถูกมัจจุผู้ทำซึ่งที่สุดครอบงำแล้ว บุตรทั้งหลายย่อมไม่มีเพื่อความต้านทาน
บิดาย่อมไม่มีเพื่อความต้านทาน ถึงพวกพ้องทั้งหลายก็ย่อมไม่มีเพื่อความต้านทาน
ความเป็นผู้ต้านทานไม่มีในญาติทั้งหลาย บัณฑิตทราบประโยชน์นี้แล้ว
พึงเป็นผู้สำรวมแล้วด้วยศีล พึงรีบชำระทางเป็นที่ไปสู่นิพพานพลันทีเดียว
(๘๐.๓๘/๖๙ หรือ ๔๕.๒๕/๔๔ คาถาธรรมบท)

Wisdom:
ข้อคิดเกี่ยวกับชีวิตและความตาย

๑. ชีวิตของสัตว์ทั้งหลายในโลกนี้ สั้นนิดเดียว ลำบากยากเข็ญ มีทุกข์มาก แต่ก็ไม่มี เครื่องหมายให้รู้ว่า จะตายเมื่อใด

๒. สัตว์ทั้งหลายเกิดมาแล้ว พยายามหาวิธีที่จะไม่ต้องตาย ก็ไม่สำเร็จ ถึงจะมีชีวิตอยู่ต่อไป จนชราภาพก็ต้องตาย อยู่ดี เพราะธรรมดาของสัตว์โลกเป็นอย่างนี้

๓. สัตว์ทั้งหลายเกิดมาแล้ว ก็มีภัยจากการที่ต้องตายเป็นนิตย์ เปรียบเหมือน ผลไม้สุกงอม แล้ว ก็มีภัย จากการที่ต้องร่วงหล่นไปในเวลาเช้า

๔. ชีวิตของสัตว์ทั้งหลาย ต้องแตกดับไปเป็นธรรมดาเปรียบเหมือนภาชนะดินทุกชนิด ที่ช่างหม้อปั้นแล้วในที่สุดก็ต้องแตกไป
๕. ทั้งเด็ก ทั้งผู้ใหญ่ ทั้งคนโง่ ทั้งคนฉลาด ล้วนตกอยู่ในอำนาจของมฤตยู บ่ายหน้า ไปสู่ความตายทั้งนั้น

๖. เมื่อเหล่าสัตว์จะตาย ต้องไปปรโลกแน่นอนแล้ว บิดามารดาก็ไม่สามารถช่วย บุตรธิดาของตนไว้ได้ หรือหมู่ญาติก็ไม่สามารถจะช่วยพวกญาติของตนไว้ได้

๗. จงดูเถิด ทั้งๆ ที่มีหมู่ญาติมาเฝ้ารำพึงรำพันอยู่ โดยประการต่างๆ แต่ผู้จะตาย กลับถูกมฤตยูคร่าตัวเอาไปแต่เพียงผู้เดียว เหมือนโคที่เขาจะฆ่า ถูกนำไปแต่เพียงตัวเดียว

๘. สัตว์โลกตกอยู่ในอำนาจของความแก่และความตายอย่างนี้ เพราะเหตุนั้น นักปราชญ์ทั้งหลายทราบชัดถึงสภาพของสัตว์โลกแล้ว จึงไม่เศร้าโศกกัน

๙. ท่านหาได้รู้ทางของผู้มา (เกิด) หรือผู้ไป (สู่ปรโลก) ไม่ เมื่อไม่เห็นปลายสุดทั้งสองด้าน ถึงจะคร่ำครวญไปก็ไร้ประโยชน์

๑๐. ถ้าผู้ที่ทำตนให้เดือดร้อนด้วยการหลงใหลคร่ำครวญ จะทำประโยชน์อะไร ให้เกิดขึ้นได้บ้าง นักปราชญ์ผู้รู้แจ้งก็คงจะทำอย่างนั้นตามไปแล้ว

๑๑. การร้องไห้ เศร้าโศก ไม่สามารถทำใจของผู้คนให้สงบได้ มีแต่จะเกิดทุกข์มากยิ่งขึ้น ทั้งร่างกายก็จะพลอยทรุดโทรม

๑๒. จะเบียดเบียนตนเอง มีร่างกายซูบผอม ผิวพรรณหมองคล้ำ การร่ำไห้คร่ำครวญ ไม่ได้ช่วยอะไรแก่คนที่ตายไปแล้ว จึงไม่มีประโยชน์อะไรเลย

๑๓. คนที่สลัดความโศกไม่ได้ มัวทอดถอนใจถึงคนที่ตายไปแล้ว ตกอยู่ในอำนาจของ ความเศร้าโศก มีแต่จะทุกข์มากยิ่งขึ้น

๑๔. จงดูเถิด ถึงแม้คนอื่นก็กำลังจะตายไปตามยถากรรม สัตว์ทั้งหลายในโลกนี้ ต่างตกอยู่ในอำนาจมฤตยู กำลังพากันดิ้นรน (กลัวตาย) ด้วยกันทั้งนั้น

๑๕. สัตว์ทั้งหลายตั้งความหวังอยากจะให้เป็นอย่างอื่น (คือไม่ตาย) แต่ก็ไม่สมหวัง ความพลัดพรากจากกันมีอยู่เป็นประจำ ท่านจงพิจารณาดูความจริงแท้ของสัตว์โลกเถิด

๑๖. แม้จะมีคนอยู่ได้ถึงร้อยปี หรือเกินกว่านั้นไปบ้าง ก็ต้องพลัดพรากจากหมู่ญาติ ทิ้งชีวิตไว้ในโลกนี้ อยู่ดี

๑๗. เพราะเหตุนั้น เมื่อได้สดับธรรมเทศนาของพระท่านแล้ว ก็พึงระงับ ความคร่ำครวญ ร่ำไห้เสีย ยามเมื่อเห็นคนล่วงลับดับชีวิตไป ก็ให้กำหนดรู้ว่า เขาตายไปแล้ว เราจะให้ เขาฟื้นคืนมาอีกไม่ได้

๑๘. ธีรชนผู้มีปัญญาเฉลียวฉลาด พึงกำจัดความเศร้าโศกที่เกิดขึ้นเสียโดยฉับพลัน เหมือนเอาน้ำดับไฟ ที่กำลังไหม้ลุกลาม และเหมือนลมพัดปุยนุ่น

๑๙. ผู้แสวงสุขแก่ตน พึงระงับความเศร้าโศกคร่ำครวญร่ำไห้ ความโหยหา และ ความโทมนัส พึงถอนลูกศรคือความเศร้าโศกเสียให้ได้

๒๐. ผู้ถอนลูกศรนี้ได้แล้ว ก็จะมีอิสระ ได้ความสงบใจ ผ่านพ้นความเศร้าโศกทั้งปวง ไม่มีความเศร้าโศกมีแต่เยือกเย็นใจ

๒๑. ชีวิตนี้น้อยนัก มนุษย์ย่อมตายภายในร้อยปี ถึงใครจะอยู่เกินกว่านั้นไปบ้าง ก็ต้องตายเพราะชราเป็นแน่แท้

๒๒. ชนทั้งหลายเศร้าโศก เพราะสิ่งที่ยึดถือว่าเป็นของเรา ทั้งๆ ที่สิ่งที่ยึดถือนั้น ไม่มีอะไรเที่ยงแท้เลย ผู้ที่มองเห็นว่า ความพลัดพรากจากกันจะต้องมีแน่นอนเช่นนี้แล้ว ก็ไม่ควรอยู่ครองเรือน

๒๓. คนที่สำคัญหมายสิ่งใดว่า " นี้ของเรา" ก็จะต้องจากสิ่งนั้นไปเพราะความตาย พุทธมามกะผู้เป็นบัณฑิต ทราบความข้อนี้แล้ว ก็ไม่ควรเอนเอียงไปในทาง ที่จะยึดถือว่า เป็นของเรา

๒๔. คนที่รักใคร่กัน ตายจากไปแล้ว ก็จะไม่ได้พบเห็นกันอีก เหมือนคนตื่นขึ้น ไม่เห็นสิ่งที่พบในฝัน

๒๕. (ขณะมีชีวิตอยู่) คนที่มีชื่อเรียกขาน ก็ยังพอได้พบเห็นกันบ้าง ได้ยินเสียงกันบ้าง คนที่ตายไปแล้วก็เหลือแต่ชื่อเท่านั้น ที่จะพูดถึงกันอยู่

๒๖. ผู้ที่พึงพอใจในสิ่งที่ยึดถือว่าเป็นของเรา ย่อมสละความเศร้าโศก ความคร่ำครวญ และความหวงแหนไปไม่ได้ เพราะฉะนั้น ผู้เข้าถึงธรรม (มุนี) ทั้งหลายเห็น ความปลอดโปร่ง จึงสละสิ่งที่เคยแหนหวงเที่ยวไปได้

๒๗. บัณฑิตทั้งหลาย กล่าวถึงผู้ไม่แสดงตนในภพ (ผู้บรรลุแล้ว) ว่าเป็นบุคคลที่สอดคล้อง เหมาะสมกับภิกษุผู้บำเพ็ญความหลีกเร้นถอนจิต (ผู้ที่ยังไม่บรรลุ) ซึ่งอยู่ในเสนาสนะที่สงัด

๒๘. ผู้เข้าถึงธรรม (มุนี) ไม่ติดอยู่ในสิ่งทั้งปวง ไม่ทำอะไรๆ ให้เป็นที่รัก ให้เป็นที่ชัง ความรำพึงรำพันและความหวงแหน จึงมิได้แปดเปื้อน เหมือนน้ำไม่แปดเปื้อนใบบัว

๒๙. หยาดน้ำไม่ติดบนใบบัว วารีไม่ติดบนดอกบัวฉันใด ผู้เข้าถึงธรรม(มุนี) ก็ไม่ติดในรูปที่เห็น เสียงที่ได้ยิน และอารมณ์ที่ทราบ ฉันนั้น

๓๐. ผู้ห่างไกลจากกิเลส ผู้มีปัญญา ไม่สำคัญหมายในรูปที่เห็น เสียงที่ได้ยิน และอารมณ์ที่รับทราบ ไม่ปรารถนาความบริสุทธิ์ด้วยวิธีการอื่น ทั้งไม่ยินดียินร้าย

๓๑. บุคคลใด ประพฤติชั่วร้าย ไม่มีความคิด ถึงจะมีชีวิตตั้งร้อยปี ชีวิตของเขา ก็หาประเสริฐไม่ ส่วนบุคคลใด มีศีล มีความคิด แม้มีชีวิตอยู่เพียงวันเดียว ก็เป็นชีวิต ที่ประเสริฐกว่า

๓๒. บุคคลใด เกียจคร้าน มีความเพียรทราม ถึงจะมีชีวิตอยู่ตั้งร้อยปี ชีวิตของเขา ก็หาประเสริฐไม่ ส่วนบุคคลใด มุ่งหน้าทำความเพียรอย่างมั่นคง แม้มีชีวิตอยู่ เพียงวันเดียว ก็เป็นชีวิตที่ประเสริฐกว่า

๓๓. บุคคลพึงสละทรัพย์เมื่อจะรักษาอวัยวะ พึงยอมสละอวัยวะเมื่อจะรักษาชีวิต และยอมสละทุกอย่างทั้งอวัยวะ ทรัพย์ และแม้ชีวิต เมื่อคำนึงถึงธรรม

๓๔. อายุสังขารจะพลอยประมาทไปกับมนุษย์ทั้งหลาย ที่ยืน เดิน นั่งนอนอยู่ ก็หาไม่

๓๕. เพราะฉะนั้น ในชีวิตที่ยังเหลืออยู่นี้ คนเราควรทำกิจหน้าที่ของตน และไม่พึง ประมาท

๓๖. ดอกไม้ที่สุมกันอยู่เป็นกอง นายช่างที่ฉลาด สามารถนำมาร้อย เป็นพวงมาลัย มีคุณค่ามากได้ฉันใด ชีวิตคนเราที่เกิดมานี้ ก็ควรจะใช้ ประกอบกุศลกรรม ความดีให้มาก ฉันนั้น

๓๗. บุญเป็นที่พึ่งของสัตว์ทั้งหลาย ในปรโลก

๓๘. ความตายเราก็มิได้ชื่นชอบ ชีวิตเราก็มิได้ติดใจ เราจักทอดทิ้งกายนี้ อย่างมีสติ สัมปชัญญะ มีสติมั่น

๓๙. ความตายเราก็มิได้ชื่นชอบ ชีวิตเราก็มิได้ติดใจเรารอคอยเวลา เหมือนคนรับจ้าง ทำงานเสร็จแล้วรอรับค่าจ้าง

๔๐. วัยสิ้นไปตามคืนและวัน

๔๑. วันคืนล่วงไป ชีวิตของคนก็พร่องลงไป จากประโยชน์ที่จะทำ

๔๒. วันคืนไม่ผ่านไปเปล่าๆ

๔๓. กาลเวลาล่วงไป วันคืนผ่านพ้นไป วัยก็หมดไปทีละตอนๆ ตามลำดับ

๔๔. รูปกายของสัตว์ย่อมร่วงโรยไป แต่ชื่อและโคตรไม่เสื่อมสลาย

๔๕. เมื่อจะตาย ทรัพย์แม้แต่น้อยก็ติดตามไปไม่ได้

๔๖. กาลเวลาย่อมกลืนกินสัตว์ทั้งหลาย พร้อมกับตัวมันเอง

๔๗. ถ้าบุคคลจะเศร้าโศกถึงคนที่ไม่มีอยู่แก่ตนคือ คนที่ตายไปแล้ว ก็ควรจะเศร้าโศก ถึงตนเอง ซึ่งตกอยู่ในอำนาจของพญามัจจุราชตลอดเวลา

๔๘. วัยย่อมเสื่อมลงไปเรื่อย ทุกหลับตา ทุกลืมตา

๔๙. เมื่อวัยเสื่อมสิ้นไปอย่างนี้ ความพลัดพรากจากกันก็ต้องมีโดยไม่ต้องสงสัย หมู่สัตว์ที่ยังเหลืออยู่ควรเมตตาเอื้อเอ็นดูกัน ไม่ควรจะมัวเศร้าโศกถึงผู้ที่ตายไปแล้ว

๕๐. ผู้ที่เศร้าโศกถึงคนตาย ก็เหมือนเด็กร้องไห้ขอพระจันทร์ที่โคจรอยู่ในอวกาศ คนตายถูกเผาอยู่ ย่อมไม่รู้ว่าญาติคร่ำครวญถึง เพราะฉะนั้น ข้าพเจ้าจึงไม่เศร้าโศก เขาไปแล้วตามวิถีทางของเขา

๕๑. ตอนเช้า ยังเห็นกันอยู่มากคน พอตกเย็น บางคนก็ไม่เห็นกัน เมื่อเย็น ยังเห็นกันอยู่ มากคน ตกถึงเช้า บางคนก็ไม่เห็นกัน

๕๒. จะตายก็ไปคนเดียว จะเกิดก็มาคนเดียว ความสัมพันธ์ของสัตว์ทั้งหลาย ก็เพียงแค่ มาพบปะเกี่ยวข้องกันเท่านั้นเอง

๕๓. วันคืนผ่านไป อายุก็เหลือน้อยเข้าทุกที

๕๔. แม่น้ำเต็มฝั่ง ไม่ไหลทวนขึ้นสู่ที่สูงฉันใด อายุของมนุษย์ทั้งหลาย ย่อมไม่เวียนกลับมาสู่วัยเด็กได้อีก ฉันนั้น

๕๕. ผู้เข้าถึงธรรม ไม่เศร้าโศกถึงสิ่งที่ล่วงแล้ว ไม่ฝันเพ้อถึงสิ่งที่ยังมาไม่ถึง ดำรงอยู่กับปัจจุบัน ฉะนั้นผิวพรรณจึงผ่องใส

๕๖. คืนวันผ่านไป ไม่มีอะไรให้เราเดือดร้อน ไม่เห็นมีอะไรที่เราสูญเสียในโลก ฉะนั้น เราจึงนอนสบายใจคิดแต่จะช่วยปวงสัตว์

๕๗. เวลาแต่ละวัน อย่าให้ผ่านไปเปล่าๆ จะน้อย หรือมาก ก็ให้ทำอะไรไว้บ้าง

๕๘. เร่งทำความเพียรเสียแต่วันนี้ ใครจะรู้ว่าพรุ่งนี้จะตายหรือจะอยู่

๕๙. คนขยันทั้งคืนวัน ไม่ซึมเซา เรียกว่า มีแต่ละวันนำโชค

๖๐. จะมีชีวิตอยู่ก็ไม่เดือดร้อน ถึงจะตายก็ไม่เศร้าโศก ถ้าเป็นปราชญ์ มองเห็นที่หมายแล้ว ถึงอยู่ท่ามกลางความเศร้าโศก ก็ไม่เศร้าโศก

Wisdom:
โอวาทธรรม หลวงปู่ดู่ พรหมปัญโญ


คนเราเกิดมาไม่เห็นมีอะไรดี มีดีอยู่อย่างเดียว คือ สวดมนต์ไหว้พระปฏิบัติภาวนาคือ มองทุกสิ่งทุกอย่างในโลกเป็นของชั่วคราว มีแต่ปัญหามีแต่ทุกข์ แล้วก็เสื่อม..........


คนเราเกิดมาไม่เห็นมีอะไรดี มีดีอยู่อย่างเดียว คือ สวดมนต์ไหว้พระปฏิบัติภาวนาคือ มองทุกสิ่งทุกอย่างในโลกเป็นของชั่วคราว มีแต่ปัญหามีแต่ทุกข์ แล้วก็เสื่อม พังสลายไปในที่สุด

ดูก่อนท่านผู้เห็นภัยในวัฏฏสงสาร(การเวียนว่ายตายเกิด) ทั้งหลาย ถ้าท่านต้องการพ้นภัยจากการเกิดแก่เจ็บตาย ท่านควรมีคุณธรรม 6 ประการนี้ไว้เป็นประจำจิตประจำใจ ทุกท่านย่อมจะได้บรรลุมรรคผลนิพพาน ถึงความสุขใจอย่างยอดเยี่ยม

คุณ 6 ประการนั้นคือ

1. ข่มจิตในเวลาที่ควรข่ม
2. ประคับประคองจิตในยามที่ควรประคับประคอง
3. ทำจิตให้ร่าเริงในยามที่ควรร่าเริง
4. ทำจิตวางเฉยในยามที่ควรวางเฉย
5. มีจิตน้อมไปในอริยมรรค อริยผลอันประณีตสูงสุด
6. มีจิตตั้งมั่นในพระนิพพานเป็นจุดหมายปลายทางของชีวิตผู้ปฏิบัติที่มีความสามารถฉลาด

ย่อมจะต้องศึกษาจิตใจและอารมณ์ของตนให้เข้าใจ และรู้จักวิธีกำหนดปล่อยวางหรือควบคุมจิตใจและอารมณ์ให้ได้ เปรียบเสมือนเวลาที่เราขับรถยนต์ จะต้องศึกษาให้เข้าถึงวิธีการขับขี่ที่ปลอดภัย บางครั้งควรเร่ง บางคราวควรผ่อน บางทีก็ต้องหยุดเร่งในเวลาที่ควรเร่ง ผ่อนในเวลาที่ควรผ่อน หยุดในเวลาที่ควรหยุด ก็จะสามารถถึงที่หมายได้อย่างปลอดภัย

ข้อสำคัญที่สุดของการปฏิบัติคือ ต้องไม่ประมาท ต้องปฏิบัติให้เต็มที่ตั้งแต่วันนี้ ใครจะรู้ว่าความตายจะมาถึงเราเมื่อไร ถ้าเราปฏิบัติไม่เป็นเสียแต่วันนี้ เวลาใกล้จะตายมันก็ไม่เป็นเหมือนกัน เหมือนคนที่เพิ่งคิดหัดว่ายน้ำ เวลาใกล้จะจมน้ำตาย นั่นแหละก็จมตายไปเปล่า ๆ ถ้าใน 1 วันนี้ไม่ปฏิบัติภาวนาวันนั้นขาดทุนเสียหายหลายล้านบาท

จงมองดูทุกสิ่งทุกอย่างในโลกนี้ไม่ว่า คนสัตว์สิ่งของ เงิน ทอง ลาภ ยศ นินทา สรรเสริญ เป็นของโกหกของสมมุติ ภาพมายาทั้งนั้น ทุกอย่างไม่ใช่ของจริงเป็นของหลอกลวงที่คนไม่ฉลาดต่างพากันหลงใหลกับสิ่งของสมมุติของโกหก ไม่ว่าอารมณ์ดี อารมณ์ร้าย ก็ไม่ใช่ของเราจริงผ่านมาแล้วก็ผ่านไป ทุกข์ทั้งหลายเกิดจากเหตุ(คือ ความไม่รู้ ความอยากได้) ถ้าต้องการดับทุกข์ ต้องดับเหตุก่อน คือ ให้รู้ว่าทั้ง 3 โลก เป็นอนิจจัง เปลี่ยนแปลงเป็นโทษเป็นทุกข์เป็นปัญหา และสูญสลายตายกันในที่สุด ถ้าเรามีญาณก็จะรู้ ทุกสิ่งทุกอย่างที่เกิดในชีวิตเราไม่มีการบังเอิญเลย

ผู้ปฏิบัติธรรมย่อมพิจารณาร่างกายคนสัตว์ในโลกว่าน่าเกลียดน่ากลัว เป็นทุกข์เป็นโทษเป็นภาระต้องดูแลอย่างหนัก เน่าเหม็นแตกสลายตายไปกันหมด ผู้ที่มีศรัทธาแท้คือผู้ที่เชื่อและยอมรับ พระพุทะ พระธรรม พระสงฆ์เป็นที่พึ่งแทนที่จะเอาความโลภ ความโกรธ ความหลงมาเป็นที่พึ่ง ผู้ปฏิบัติตามพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงสอน คือ ให้ขยันภาวนา แล้วความโลภ ความโกรธ ความหลงจะน้อยลงและหมดไป

ผู้ปฏิบัติต้องหมั่นตามดูจิต รักษาจิต ผู้ฝึกจิตถ้าทำจิตให้มีอารมณ์หลายอย่างจะสงบไม่ได้ และ ไม่สภาพของจิตตามเป็นจริง ถ้าทำจิตให้ดิ่งแน่วแน่อยู่ในอารมณ์อันเดียว โดยเห็นว่าทุกสิ่งทุกอย่างแตกสลายตายหมดสิ้นแล้ว จิตก็มีกำลังเปล่งรัศมีแห่งความสว่างออกมาเต็มที่ มองสภาพของจิตตามเป็นจริง ได้ว่าอะไรเป็นจิต อะไรเป็นกิเลส อะไรควรรักษา อะไรควรละทิ้งออกจากจิต ไม่ควรใส่ใจสนใจเรื่องของผู้อื่น ควรตั้งใจตรวจสำรวจดูจิตของเราเองว่ายังมีความโลภ ความโกรธ ความหลง คิดว่าร่างกายนี้ยังเป็นของจิตหรือไม่ ตามความเป็นจริงแล้ว จิตกับกายไม่ใช่อันเดียวกัน เพียงแต่มาอาศัยกันชั่วคราวเท่านั้น

อารมณ์วางเฉยมี 3 อย่าง

1. วางเฉยแบบหยาบ คือ อารมณ์ปุถุชนที่เฉย ๆ ไม่คิดดี ไม่คิดชั่ว ซึ่งมีเป็นครั้งคราวเท่านั้น
2. วางเฉยแบบกลาง มีในผู้ปฏิบัติสมาธิภาวนา มีความรู้ตัว มีความสงบของจิต วางอารมณ์จากความดี ความชั่ว สุข ๆ ทุกข์ ๆ ใด ๆ ในโลกีย์วิสัย เฉยบ่อยมากขึ้น
3. วางเฉยแบบละเอียด คือ อารมณ์ของพระอริยเจ้า พระอรหันต์ ซึ่งไม่มีอารมณ์สุขหรือทุกข์ ดีหรือชั่ว ดีใจปนเสียใจ วิตกกังวลฟุ้งซ่านรำคาญใจ ไม่มี ไม่คิดปรุงแต่งไปในอดีต ปัจจุบัน อนาคต มีความวางเฉยในร่างกายของท่านเอง จะเจ็บปวดทรมาน จิตท่านนิ่งเฉยอยู่ในจิตของท่านว่าจิตส่วนจิต กายเป็นเพียงของสมมุติของชั่วคราว ตายเมื่อไร ท่านก็พร้อมที่จะทิ้งรูปนามขันธ์ เสวยวิมุติสุขแดนอมตะทิพย์นิพพานติดตามองค์พระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า

ของดีนั้นมีอยู่ในตัวเราทุกคน ของดีนั้นอยู่ที่จิตของท่านทุกท่าน ของไม่ดีอยู่ที่ร่างกาย

จิตมี 3 ขั้น ตรี โท เอก

ถ้าตรีก็ต่ำหน่อย ยังวุ่นวายเป็นทุกข์กับเรื่องของโลก
ขั้นโท ก็มีศีลครบ มีเมตตา ทำบุญทำทาน
ขั้นเอกนี่ ดีมาก จิตก็มองดูทุกสิ่งทุกอย่างในโลกมนุษย์ สัตว์ นรก เป็นทุกข์ มีความเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา แล้วก็ตายสลายผุพังไปกันหมดสิ้น ตัวอนัตตา ไม่ใช่ตัว ไม่ใช่ของตน ไม่มีใครเป็นเจ้าของ บังคับเอาไว้ให้คงที่ก็ไม่ได้ ตัวนี้แหละเป็นตัวเอก ไล่ไปไล่มา ให้มันเห็นร่างกายคนเรา ตานแน่ ๆ คนเราหนีตายไม่พ้น แม้เพียงวันเดียว

1. ตายน้อย ก็คือ นอนหลับทุกคืน หลับชั่วคราว คือ ตายทุกคืน ตื่นตอนเช้า
2. ตายใหญ่ ก็คือ นอนหลับตลอดกาล แต่จิตไปตื่นตรงที่มีกายใหม่ มีกายใหม่ที่อื่นเป็นกายผี กายสัตว์ กายเทวดา กายพรหม แล้วแต่ผลบุญหรือผลบาปที่ทำไว้ตอนเป็นคน

Wisdom:
อนิจจา ! สัตว์โลก ถูกจองจำกลับยินดี สู้ศัตรูไม่มีอาวุธ
ใครไม่หยุดไม่ถึงพระ ใครไม่ละไม่ถึงนิพพาน

สำหรับเหล่าหน่อเนื้อพุทธะจงตื่นตัว ไม่ประมาทในการสร้างบารมี
เร่งบำเพียรบ่มเพาะจิตเพื่อพระโพธิญาณ เพื่อช่วยเหลือสัตว์ในวัฐสงสาร

นำร่อง

[0] ดัชนีข้อความ

[#] หน้าถัดไป

[*] หน้าที่แล้ว

Go to full version