เว็บพุทธภูมิ: พุทธภูมิ พระโพธิสัตว์ การบำเพ็ญบารมี



ผู้เขียน หัวข้อ: อธิบายสวรรค์หกชั้นแบบละเอียด ตอนที่ 2 (ตอนจบ)  (อ่าน 15911 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 2 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ Webmaster

  • Administrator
  • สมาชิก
  • *****
  • กระทู้: 404
    • ดูรายละเอียด


อธิบายสวรรค์หกชั้นแบบละเอียด ตอนที่ 2 (ตอนจบ)
ตุสิตาเทวภูมิ นิมมานรดีเทวภูมิ และ ปรนิมมิตวสวัสตีเทวภูมิ

ตุสิตาเทวภูมิ-สวรรค์ชั้นที่ ๔

เทวภูมิ อันดับที่ ๔ นี้ เป็นแดนสุขาวดี ที่สถิตย์อยู่ แห่งปวงเทพเจ้าชาวฟ้าทั้งหลาย ผู้มีความยินดีและ ความแช่มชื่นอยู่เป็นนิตย์ โดยมีเทพเจ้าผู้มเหศักดิ์ ทรงนามว่าสมเด็จท้าวสันดุสิตเทวาธิราชทรงเป็น อธิบดี จึงมีนามว่า ตุสิตาเทวภูมิ = ภูมิเป็นที่อยู่ของ แห่งทวยเทพ อันมีสมเด็จท้าวสันดุสิตเทวาธิราช ทรงเป็นอธิบดี

แดนสุขาวดีเมืองสวรรค์ชั้นฟ้า ซึ่งมีนามว่าดุสิตาเทวภูมิ นี้ เป็นเทพนครที่ตั้งอยู่เหนือสวรรค์ชั้นยามาขึ้นไป ในเบื้องบน ไกลแสนไกล ภายในเทพนครนี้ ปรากฏว่า มีปราสาทวิมานอยู่ ๓ ชนิด

๑. รัตนวิมาน = วิมานแก้ว
๒. กนกวิมาน = วิมานทอง
๓. รชตวิมาน = วิมานเงิน

ปราสาทวิมานเหล่านี้ ตั้งอยู่เรียงรายมากมาย แต่ละ วิมานเป็นปราสาทสวยสดงดงาม มีความวิจิตรตระการตา เหลือที่จะพรรณา และมีรัตนปราการกำแพงแก้วล้อมรอบ ทุกวิมาน มีรัศมีรุ่งเรืองเลื่อมพรรณราย สวยงามยิ่งกว่า ปราสาทพิมานของเทพยดาในสรวงสวรรค์ชั้นยามาภูมิ นอกจากนั้น สถานที่ต่างๆ ในเทวสถานชั้นนี้ ยังมี สระโบกขรณีและอุทยานอันเป็นทิพย์ สำหรับเป็นที่ เที่ยวเล่นให้ได้ความชื่นบานเริงสราญ แห่งเทพเจ้า ชาวสวรรค์ชั้นนี้มากมายนัก

สำหรับปวงเทพเจ้าผู้สถิตย์อยู่ในดุสิตสวรรค์นี้ แต่ละองค์ย่อมปรากฏมีรูปทรงสวยงาม มีความสง่ากว่า เหล่าเทพยดาชั้นต่ำๆ ทั้งมีน้ำใจรู้บุญรู้ธรรมเป็นอย่างดี มีจิตยินดีต่อการสดับตรับฟังพระธรรมเทศนาเป็นยิ่งนัก ทุกวันธรรมสวณะ เทพเจ้าเหล่านี้ย่อมจะมีเทวสันนิบาต ประชุมฟังธรรมกันเสมอมิได้ขาดเลย ทั้งนี้ ก็เพราะ เหตุที่องค์สมเด็จท่านท้าวสันดุสิตเทวาธิราช จอมเทพ ผู้มีอิสริยยศยิ่งใหญ่ในสวรรค์ชั้นดุสิตนี้ ทรงเป็นเทพเจ้า ผู้พหูสูต เป็นผู้รู้ธรรมะแห่งองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธ เจ้าเป็นอันมาก อีกประการหนึ่ง ตามปกติดุสิตสวรรค์นี้ เป็นที่สถิตย์อยู่แห่งเทพบุตรผู้เป็นโพธิสัตว์ ซึ่งมีโอกาสจัก ได้ตรัสแก่พระปรมาภิเษกสัมโพธิญาณ สำเร็จเป็น องค์สมเด็จพระบรมศาสดาจารย์สัมมาสัมพุทธเจ้า ในอนาคต เพราะฉะนั้นท่านท้าวสันดุสิตเทวาธิบดี จึงมักมีเทวโองการ ตรัสอัญเชิญให้เทพบุตรพระ โพธิสัตว์ผู้ทรงปัญญานั้นเป็นองค์แสดงธรรมเช่นใน ปัจจุบันนี้ สมเด็จพระศรีอริยเมตไตรย พระโพธิสัตว์ ผู้มีชื่อเสียงเลื่องลือเป็นที่รู้จักกันในหมู่พุทธบริษัทว่า จักได้ ตรัสเป็นพระพุทธเจ้า ในอนาคตอันตรกัปที่ ๑๓ แห่ง ภัทรกัปนี้ พระองค์ก็สถิตอยู่ ณ สรวงสวรรค์ชั้นนี้ และมักได้รับอาราธนาให้เป็นองค์แสดงธรรมโปรดเหล่า เทพบริษัทในดุสิตสวรรค์นี้อยู่เสมอ นอกจากจะเป็น สวรรค์ชั้นสำคัญดังกล่าวมาแล้ว ในขณะนี้ แดนสวรรค์ ชั้นดุสิต ยังเป็นที่สถิตย์อยู่ของเทพเจ้าองค์สำคัญซึ่งเรา ท่านทั้งหลายรู้จักกันดี เทพเจ้าองค์นี้ก็คือพระสิริมหามายา เทพบุตรผู้มีบุรพวาสนาเป็นพระพุทธมารดาแต่ปางบรรพ์

ทางไปสวรรค์ชั้นดุสิต

คือต้องอุตส่าห์พยายามสร้างเสบียง กล่าวคือบุญกุศล ต้องมีกมลสันดานชอบสดับตรับฟังพระธรรมเทศนา เพื่ออบรมปัญญาให้เจริญผ่องใส ไม่หวั่นไหวโยกคลอน ในการประกอบกุศล ไม่เป็นผู้มัวเมาประมาทในวัย และชีวิตของตน เร่งสร้างกุศลเช่น บำเพ็ญทานและ รักษาศีลเป็นเนืองนิตย์

ทานสูตร

ดูกรสารีบุตร! ในการให้ทานนั้น บุคคลไม่มีความหวัง ให้ทาน ไม่มีจิตผูกพันในผลแห่งทานแล้วให้ทาน ไม่มุ่งการสั่งสมให้ทาน ไม่ได้ให้ทานด้วยความคิดว่า

"บิดา มารดา ปู่ ย่า ตา ยาย เคยให้เคยทำมา เราก็ไม่ควรทำ ให้ประเพณี"

แต่ให้ทานด้วยคิดว่า

"เราหุงหากิน แต่สมณะหรือพราหมณ์ไม่ได้หุงหากิน เราหุงหากินได้ จะไม่ให้ทานแก่สมณะหรือพราหมณ์ ผู้ไม่หุงหากิน ย่อมเป็นการไม่สมควร"

เขาผู้นั้น ให้ทานด้วยอาการอย่างนี้แล้ว เมื่อทำ กาลกิริยาตายไปแล้ว ย่อมเข้าถึงความเป็นสหาย แห่งเทวดาทั้งหลายในสวรรค์ชั้นดุสิต

ปุญญกิริยาวัตถุสูตร

(อังคุตตรนิกาย อัฏฐกนิบาต ข้อ ๑๒๖ หน้า ๒๔๕ บาลีฉบับสยามรัฐ)

ดูกรเธอผู้เห็นภัยในวัฏสงสาร! บุคคลบางคนในโลกนี้ กระทำบุญกิริยาวัตถุที่สำเร็จด้วยทานมีประมาณยิ่ง กระทำบุญกิริยาวัตถุด้วยศีลมีประมาณยิ่ง ไม่เจริญบุญ กิริยาวัตถุที่สำเร็จด้วยภาวนาเลย เมื่อถึงกาลกิริยา ตายไปแล้ว เขาย่อมเข้าถึงความเป็นสหาย แห่งเทวดาชั้นดุสิต

ดูกรเธอผู้เห็นภัยในวัฏสงสาร! ท้าวสันดุสิตเทพบุตร จอมเทพในชั้นดุสิตนั้น ได้ทำบุญกิริยาวัตถุที่สำเร็จ ด้วยทานเป็นอดิเรก ได้ทำบุญกิริยาวัตถุที่สำเร็จด้วย ศีลเป็นอดิเรก ท้าวเธอจึงทรงเจริญรุ่งเรือง ก้าวล่วง เหล่าเทวดาชั้นดุสิตสวรรค์ โดยฐานะ ๑๐ ประการ คือ อายุทิพย์ วรรณะทิพย์ สุขทิพย์ ยศทิพย์ อธิปไตยทิพย์ รูปทิพย์ เสียงทิพย์ กลิ่นทิพย์ รสทิพย์ โผฏฐัพพะทิพย์

สังคีติสูตร

(ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค ข้อ ๓๔๖ หน้า ๒๗๑ บาลีฉบับสยามรัฐ)

ดูกรสารีบุตร! บุคคลบางคนในโลกนี้ ย่อมถวายข้าว น้ำ ผ้าผ่อน ยวดยาน ดอกไม้ ของหอม เครื่องลูบไล้ ที่นอน ที่นั่ง ที่พัก ที่อาศัย และสิ่งที่เป็นอุปกรณ์แก่ ประทีป ให้เป็นทานแก่สมณะหรือพราหมณ์ เขาย่อมมุ่งหวังสิ่งที่ตนถวายไป โดยเขาได้ยินมาว่า

"พวกเทพเจ้าเหล่าดุสิตสวรรค์เป็นเทพที่มีอายุยืน มีวรรณะงาม มากไปด้วยความสุข"

ดังนี้แล้ว เขาจึงจินตนาอธิษฐานอย่างนี้ว่า

"โอหนอ เบื้องหน้าแต่ตายเพราะกายแตก เราพึงเข้าถึงความเป็นสหายแห่งพวกเทพเจ้าเหล่า ดุสิตสวรรค์เถิด"

เขาตั้งจิตนั้นไว้ อธิษฐานจิตนั้นไว้ อบรมจิตนั้นไว้ จิตของเขา นั้นน้อมไปในสิ่งที่ต่ำ มิได้อบรมเพื่อคุณเบื้องสูง อย่างนี้ ย่อมเป็นไปเพื่อเกิดในสวรรค์ชั้นดุสิตนั้น ก็ข้อนี้แล เรากล่าวสำหรับบุคคลผู้มีศีล ไม่ใช่สำหรับบุคคลผู้ทุศีล ผู้มีอายุทั้งหลาย ความตั้งใจของบุคคลผู้มีศีล ย่อมสำเร็จลงได้เพราะเป็นของบริสุทธิ์ ดังนี้

นิมมานรดีเทวภูมิ-สวรรค์ชั้นที่ ๕

เทวภูมิ อันดับที่ ๕ นี้เป็นที่สถิตย์ของปวงเทพเจ้า ผู้มีความยินดีเพลิดเพลินในกามคุณารมณ์ ที่เนรมิตขึ้น ตามความพอใจของตนเอง โดยมีเทพเจ้ามเหศักดิ์ ทรงนามว่า สมเด็จท่านท้าวสุนิมมิตเทวาธิราช ทรงเป็นอธิบดีผู้ปกครอง จึงได้ชื่อว่า นิมมานรดีภูมิ = ภูมิเป็นที่อยู่แห่งทวยเทพ อันมีสมเด็จพระนิมมิตเทวา ธิราชทรงเป็นอธิบดี

เทพนครนี้ ตั้งอยู่เหนือสวรรค์ชั้นดุสิตขึ้นไปในเบื้องบน ไกลแสนไกล ภายในเทพนครมีปราสาทเงิน ปราสาททอง และปราสาทแก้ว ทั้งมีกำแพงแก้วกำแพงทองอันเป็น ของทิพย์ เป็นวิมานที่อยู่ของเหล่าเทวดา นอกจากนั้น พื้นภูมิภาคยังมีสภาวะเป็นทองราบเรียบเสมอกัน มีสระโบกขรณีและสวนอุทยานอันเป็นทิพย์ สำหรับ เป็นที่เที่ยวเล่นสำราญแห่งเหล่าชาวสวรรค์นิมมานรดี ทั้งหลาย เช่นเดียวกับสมบัติทิพย์ในสวรรค์ชั้นดุสิต ต่างกันแต่ว่าทุกอย่างที่นี่มีสภาวะสวยสดงดงามและ ประณีตกว่าทิพยสมบัติในดุสิตเทวพิภพเท่านั้น

เทพยดาทั้งหลาย ย่อมมีรูปทรงสวยงาม น่าดูน่าชม ยิ่งกว่าชาวสวรรค์ชั้นที่ต่ำกว่าทั้งหลาย และมีกายทิพย์ ซึ่งมีรัศมีรุ่งเรืองเป็นยิ่งนัก หากเขาเกิดความปรารถนา จะเสวยสุขด้วยกามคุณารมณ์สิ่งใด เขาย่อมเนรมิต เอาได้ตามความพอใจชอบใจแห่งตนทุกสิ่งทุกประการ ไม่มีความขัดข้องและเดือดเนื้อร้อนในในกรณีใดๆ เลย ปรองดองรักใคร่และได้รับความสุขสำราญชื่นบาน ทุกถ้วนหน้า

ทางไปสวรรค์ชั้นนิมมานรดี

ต้องอุตส่าห์ก่อสร้างกองบุญกุศลให้ยิ่งใหญ่ อบรมจิตใจ ของตนให้บริสุทธิ์ผุดผ่องไม่ให้สกปรกลามกมีมลทิน โดยพยายามรักษาศีลไม่ให้ขาดได้ มีใจสมบูรณ์ด้วยศีล และมีวิริยะอุตสาหะในการบริจาคทานเป็นอันมาก เพราะผลวิบากแห่งทานและศีลอันสูงส่งเท่านั้น จึงจะบันดาลให้ไปอุบัติเกิดในสวรรค์ชั้นนี้ได้

ทานสูตร

ดูกรสารีบุตร! ในการให้ทานนั้น บุคคลไม่มีความหวัง ให้ทาน ไม่มีจิตใจผูกพันในผลแห่งทานแล้วให้ทาน ไม่มุ่งการสั่งสมให้ทาน ไม่ได้ให้ทานด้วยความคิดว่า

"เราหุ่งหากินได้ แต่สมณะหรือพราหมณ์ทั้งหลาย ไม่ได้หุงหากิน เราหุงหากินได้จะไม่ให้ทานแก่สมณะ หรือพราหมณ์ผู้ไม่หุงหากิน ย่อมเป็นการไม่สมควร"

แต่ให้ทานด้วยคิดว่า

เราจักเป็นผู้จำแนกแจกทาน เช่นเดียวกับท่านฤาษี ทั้งหลายคือ ท่านอัฏฐกฤาษี ท่าวามกฤาษี ท่านวาม เทวฤาษี ท่านเวสสามิตรฤาษี ท่านยมทัคคฤาษี ท่านอังคีรสฤาษี ท่านภารทวาชฤาษี ท่านวาเสฏฐฤาษี ท่านกัสสปฤาษี ท่านภคุฤาษี"

เขาผู้นั้น ให้ทานด้วยอาการอย่างนี้แล้ว เมื่อทำ กาลกิริยาตายไปแล้ว ย่อมเข้าถึงความเป็นสหาย แห่งเทวดาทั้งหลาย ในสวรรค์ชั้นนิมมานรดี

ปุญญกิริยาวัตถุสูตร

(อังคุตตรนิกาย อัฏฐกนิกาย ข้อ ๑๒๖ หน้า ๒๔๕ บาลีฉบับสยามรัฐ)

ดูกรเธอผู้เห็นภัยในวัฏสงสารทั้งหลาย! บุคคลบางคน ในโลกนี้กระทำบุญกิริยาวัตถุที่สำเร็จด้วยทานมีประมาณ ยิ่ง กระทำบุญกิริยาวัตถุที่สำเร็จด้วยศีลมีประมาณยิ่ง ไม่เจริญบุญกิริยาวัตถุที่สำเร็จด้วยภาวนาเลย เมื่อถึง แก่กาลกิริยาตายไปแล้ว เขาย่อมเข้าถึงความเป็น สหายแห่งเทวดาชั้น นิมมานรดี

สังคีติสูตร

(ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค ข้อ ๓๔๖ หน้า ๒๗๑ บาลีฉบับสยามรัฐ)

บุคคลบางคนในโลกนี้ ย่อมถวายข้าว น้ำ ผ้าผ่อน ยวดยาน ดอกไม้ ของหอม เครื่องลูบไล้ ที่นอน ที่นั่ง ที่พัก ที่อาศัย และสิ่งเป็นอุปกรณ์แก่ประทีป ให้เป็นทานแก่สมณะหรือ พราหมณ์ เขาย่อมมุ่งหวังสิ่งที่ตนถวายไปโดยเขาได้ศึกษา มาว่า

"พวกเทพเจ้าเหล่านิมมานรดีสวรรค์ เป็นเทพที่มีอายุยืน วรรณะงาม มากไปด้วยความสุข"

ดังนี้แล้ว เขาจึงจินตนาอธิษฐานอย่างนี้ว่า

"โอหนอ! เบื้องหน้าแต่ตายเพราะกายแตก เราพึง เข้าถึงความเป็นสหายแห่งพวกเทพเจ้าเหล่านิมมานรดี สวรรค์เถิด"

เขาตั้งจิตนั้นไว้ อธิษฐานจิตนั้นไว้ อบรมจิตใจนั้นไว้ จิตของเขานั้นน้อมไปในสิ่งที่ต่ำ มิได้อบรมเพื่อคุณเบื้องสูง อย่างนี้แล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อเกิดในสวรรค์ชั้นนิมมานรดี นี้ ก็ข้อนี้แล เรากล่าวสำหรับบุคคลผู้มีศีล ไม่ใช่สำหรับ บุคคลผู้ทุศีล ผู้มีอายุทั้งหลาย ความตั้งใจของบุคคล ผู้มีศีลย่อมสำเร็จลงได้ เพราะเป็นของบริสุทธิ์ ดังนี้

ปรนิมมิตวสวัสตีเทวภูมิ-สวรรค์ชั้นที่ ๖

เทวภูมิ อันดับที่ ๖ นี้ เป็นแดนสุขาวดีสวรรค์เทวโลก ชั้นสูงสุดฝ่ายกามาพจร ซึ่งเป็นที่สถิตย์อยู่แห่งปวงเทพเจ้า ผู้เสวยกามคุณารมณ์ที่เทวดาอื่นรู้ความต้องการของตน แล้วเนรมิตให้ เป็นที่อยู่อันประเสริฐด้วยสุขสมบัติยิ่งกว่า สวรรค์ชั้นฟ้าทั้งหลาย โดยมีเทพเจ้าผู้เป็นใหญ่นามว่า สมเด็จท่านท้าวปรนิมมิตเทวาธิราชทรงเป็นอธิบดี กับทั้งเป็นที่สถิตอยู่ของเหล่าเทพยดาจำพวกมารทั้งหลาย โดยมีสมเด็จท่านท้าวปรนิมมิตวสวัตตีมาราธิราชทรงเป็น อธิบดี จึงได้ชื่อว่า ปรนิมมิตวสวัตตีภูมิ = ภูมิเป็นที่อยู่ แห่งทวยเทพ อันมีสมเด็จพระปรนิมมิตวสวัตตีเทวาธิราช และสมเด็จพระปรนิมมิตมาราธิราชทรงเป็นอธิบดี

ยอดสวรรค์นี้ เป็นเทพนครที่ตั้งอยู่เหนือสวรรค์ชั้น นิมมานรดีขึ้นไปเบื้องบนไกลแสนไกล แบ่งเป็นสองแดน

๑. แดนเทพยดา
๒. แดนมาร

อยู่กันฝ่ายละแดน มีเขตแดนกั้นในระหว่างกลาง ต่างฝ่าย ต่างอยู่ หากมีกิจจำเป็นจึงจะไปมาหาสู่แก่กันและกัน ทุกท่านล้วนแต่ได้รับความสุขอันประณีต เสวยทิพยสมบัติ ณ ทิพยสถานพิมานแห่งตนๆ สำราญสุขมากกกว่า สวรรค์ชั้นฟ้าอื่นๆ

ทางไปสวรรค์ชั้นปรนิมมิตวสวัตตี

ต้องอุตส่าห์ก่อสร้างกองการกุศลให้ยิ่งใหญ่เป็นอุกฤษฎ์ อบรมจิตใจให้สูงส่งด้วยคุณธรรม เมื่อจะให้ทานรักษาศีล ก็ต้องบำเพ็ญกันอย่างจริงๆ มากไปด้วยศรัทธาปสาทะ อย่างยิ่งยวดและถูกต้อง ทั้งนี้ ก็เพราะว่าผลวิบากแห่ง ทานและศีลอันสูงยิ่งเท่านั้น จึงจะบันดาลให้ไปอุบัติ ในสวรรค์ชั้นนี้ได้

ทานสูตร

(อังคุตตรนิกาย สัตตกนิบาต ข้อ ๔๙ หน้า ๖๐ บาลีฉบับสยามรัฐ)

ดูกรสารีบุตร! ในการให้ทานนั้น บุคคลไม่มีความหวัง ให้ทาน ไม่มีจิตผูกพันในผลแห่งทานแล้วให้ทาน ไม่มุ่งการสั่งสมให้ทาน ไม่ได้ให้ทานด้วยความคิดว่า

"เราจักเป็นผู้จำแนกแจกทาน เช่นเดียวกับฤาษีทั้งหลาย แต่กาลก่อนคือท่านอัฏฐกฤาษี ท่านวามกฤาษี ท่านวามเทว ฤาษี ท่านเวสสามิตฤาษี ท่านยมทัคคฤาษี ท่านอังคีรสฤาษี ท่านภารทวาชฤาษี ท่านวาเสฏฐฤาษี ท่านกัสสปฤาษี ท่านภคฤาษี" ดังนี้

แต่เขาให้ทานด้วยคิดว่า

"เมื่อเราให้ทานอย่างนี้ จิตของเราจะเลื่อมใส จะเกิด ความปลื้มใจและโสมนัส"

เขาผู้นั้น ให้ทานด้วยอาการอย่างนี้แล้ว เมื่อทำกาลกิริยา ตายไป ย่อมเข้าถึงความเป็นสหายแห่งเทวดาทั้งหลาย ในสวรรค์ชั้น ปรนิมมิตวสวัตตี

ปุญญกิริยวัตถุสูตร

(อังคุตตรนิกาย อัฏฐกนิบาต ข้อ ๑๒๖ หน้า ๑๔๕ บาลีฉบับสยามรัฐ)

ดูกรเธอผู้เห็นภัยในวัฏสงสารทั้งหลาย! บุคคลบางคน ในโลกนี้กระทำบุญกิริยาวัตถุที่สำเร็จด้วยทานมีประมาณ ยิ่ง กระทำบุญกิริยาวัตถุที่สำเร็จด้วยศีลมีประมาณยิ่ง ไม่เจริญบุญกิริยาวัตถุที่สำเร็จด้วยภาวนาเลย เมื่อถึงแก่กาลกิริยาตายไปแล้ว เขาย่อมเข้าถึงความเป็น สหายแห่งเทวดาชั้น ปรนิมมิตวสวัตตี

ปิดท้าย

อายุของสวรรค์ 6 ชั้น (โดยประมาณการ)

สวรรค์ เป็นภพที่มีแต่ความสุขอันเลิศล้ำด้วยกามคุณทั้ง ๕ (รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัสทางกายที่น่าใคร่น่าพอใจ) เป็นภพของเทวดาหรือทวยเทพทั้งหลาย โดยปกติหมายถึงสวรรค์ชั้นกามาพจรหรือกามาวจรสวรรค์ ๖ ชั้น
ซึ่งเรียงลำดับจากชั้นแรกถึงชั้นสูงสุดได้ดังนี้

1. ชั้นจาตุมมหาราชิกา 50 ปีมนุษย์เป็นวัน 1 คืน 1 ของเขา มีอายุขัย 500 ปีทิพย์ เท่ากับ 9 ล้านปีโลกมนุษย์

2. ชั้นดาวดึงส์ 100 ปีมนุษย์เป็นวัน 1 คืน 1 ของเขา มีอายุขัย 1,000 ปีทิพย์ เท่ากับ 39 ล้านปีโลกมนุษย์

3. ชั้นยามา 200 ปีมนุษย์เป็นวัน 1 คืน 1 ของเขา มีอายุขัย 2,000 ปีทิพย์ เท่ากับ 144 ล้านปีโลกมนุษย์

4. ชั้นดุสิต 400 ปีมนุษย์ เป็นวัน 1 วัน คืน 1 ของเขา มีอายุขัย 4,000 ปีทิพย์ เท่ากับ 576 ล้านปีโลกมนุษย์

5. ชั้นนิมมานรดี 800 ปีมนุษย์เป็นวัน 1 คืน 1 ของเขา มีอายุขัย 8,000 ปีทิพย์ เท่ากับ 2,304 ล้านปีโลกมนุษย์

6. ชั้นปรนิมมิตวสวัตดี 1,600 ปีมนุษย์เป็นวัน 1 คืน 1 ของเขา มีอายุขัย 16,000 ปีทิพย์ เป็นอายุทิพย์เท่ากับ 9,216 ล้านปีโลกมนุษย์เรา


จบตอนอธิบายสวรรค์หกชั้นชุดสุคติภูมิชุดต่อไป