เว็บพุทธภูมิ: พุทธภูมิ พระโพธิสัตว์ การบำเพ็ญบารมี



ผู้เขียน หัวข้อ: "ความตาย"  (อ่าน 12664 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ Webmaster

  • Administrator
  • สมาชิก
  • *****
  • กระทู้: 404
    • ดูรายละเอียด
"ความตาย"
« เมื่อ: กุมภาพันธ์ 22, 2014, 09:30:53 PM »


บทความทรงคุณค่าเรื่องยาว
ตอนเดียวจบ "ความตาย"

โอกาสตายในช่วงชีวิตต่างๆ

ปัจจุบันดาวเคราะห์ที่เราอาศัยช่างเต็มไปด้วยภยันตราย เกิดสงครามและอาชญากรรมปะทุขึ้นที่นั่นที่นี่ หากติดตามข่าวรอบโลกก็จะเห็นเหมือนทั่วทุกหย่อมหญ้าเต็มไปด้วยคาวเลือดและการล้างผลาญชีวิต ทั้งมหันตภัยจากธรรมชาติและมหาภัยจากน้ำมือมนุษย์ด้วยกันเอง

ข่าวอุบัติเหตุบางชิ้นเช่นเครื่องบินตก หรือการตายหมู่จากตึกถล่มนับร้อยนับพันนั้น มักเผยแพร่ออกไปในระดับโลก เพราะเป็นภาพการตายพร้อมกันที่น่าสะเทือนขวัญ แต่น้อยคนนักที่จะทราบว่าประชากรโลกตายกันอยู่แล้ววันละแสนห้า!

ไม่มีใครทำรายงานเช่น ‘ข่าวด่วน! มีคนตายในวันเดียวถึงเกือบสองแสนคน’ นั่นเพราะพวกเรากระจายกันตายแบบห่างๆ เราอาจต้องรู้จักชาวบ้านร่วมครึ่งตำบลจึงจะได้ยินข่าวการตายของใครสักคนหนึ่ง แต่เราต้องรู้จักคน ๖ พันล้านจึงจะทราบว่ามีการตายวันละเกือบสองแสน

แต่อย่างไรความจริงก็คือความจริง วันหนึ่งเกือบสองแสน ซึ่งเกือบเท่าจำนวนคนตายที่ฮิโรชิม่าและนางาซากิรวมกันเมื่อครั้งตกอยู่ในสภาพหนูทดลองระเบิดนิวเคลียร์ ๒ ลูกแรก ทุกคนสามารถจดจำการตายหมู่อันเป็นประวัติศาสตร์ทมิฬของญี่ปุ่นได้ แต่วันนี้ไม่มีใครปั่นข่าวให้ทราบเลยว่าความตายระดับใกล้เคียงกันก็เกิดขึ้น และวันพรุ่งนี้จะมีคนตายเพิ่มอีกหนึ่งแสนห้าหมื่นคน!

ยังมีความเชื่อตามสามัญสำนึกอยู่อีกประการหนึ่ง คือคนเราควรจะตายตอนแก่ อาจเพราะพวกเรารู้จักคนกันไม่มากพอ จึงมักเห็นคนอยู่ได้จนแก่กัน หากขอให้คนรุ่น ๔๐ แจ้งรายชื่อเพื่อนร่วมรุ่นซึ่งเสียชีวิตไปแล้ว ส่วนใหญ่ก็อาจแจ้งได้เป็นจำนวนเลขหลักหน่วย คือไม่ถึงสิบด้วยซ้ำ ต้องขอให้คนรุ่น ๕๐ ขึ้นไปนั่นแหละ จึงจะเริ่มเห็นน้ำเห็นเนื้อขึ้นมาหน่อย นี่จึงทำให้เรารู้สึกว่าช่วงเวลาในชีวิตส่วนใหญ่อยู่ห่างไกลจากความตายไปมาก แม้หนังสือพิมพ์จะลงข่าวเด็กและวัยรุ่นเสียชีวิตกันโครมครามทุกวันก็ตาม

ในหัวข้อนี้ขอแสดงให้เห็นเพียงสถิติที่น่าสนใจ เพื่อให้เห็นว่าความจริงก็คือคนเรามีโอกาสตายได้ทุกช่วงวัย ผ่านความน่าจะเป็นของโรคภัยต่างๆดังนี้

๑) ช่วง ๑ ขวบ มีโอกาสตายเพราะโรคเกี่ยวกับการย่อยอาหารจำพวกไขมัน โปรตีน แป้ง คือกินไม่ได้เพราะร่างกายไม่สามารถสลายได้หมด และเด็กบางคนก็อาจเป็นเบาหวานได้ตั้งแต่เกิดเพราะตับอ่อนเสีย ไม่สามารถสร้างอินซูลินได้

๒) ช่วง ๑๐ ขวบ มีโอกาสตายเพราะโรคมะเร็งที่สมองและไต

๓) ช่วง ๒๐ ปี มีโอกาสตายจากอุบัติเหตุได้มากที่สุด และอาจมีโรคจำพวกปลายประสาทสมองเสื่อมผิดปกติ คล้ายอัลไซเมอร์

๔) ช่วง ๓๐ ปี มีโอกาสตายเพราะโรคติ่งเนื้อในลำไส้ ซึ่งมีอยู่แล้วตั้งแต่เกิด แต่เริ่มเจอเอาช่วงนี้เอง บางคนมีโอกาสรู้ตัวได้เพราะมีประวัติในพ่อแม่ (ซึ่งถ้าเป็นกรรมพันธุ์จริงก็อาจเจอติ่งเนื้อแล้วตัดไส้ส่วนนั้นทัน) วัยนี้บางทีก็มีเรื่องเบาหวานและตับอ่อนเสื่อมให้เห็นเสมอๆ

๕) ช่วง ๔๐ ปี มีโอกาสตายเพราะโรคมะเร็งกันสูง เพราะสภาพร่างกายเริ่มเสื่อม ไม่ยากที่จะเกิดการสร้างเซลล์ใหม่อย่างผิดปกติ หรือไม่ยิ่งอยู่นานก็เท่ากับยิ่งรับสารเคมีจากสภาพแวดล้อมอันเป็นพิษเข้าไปสะสมมากขึ้นๆ แล้วทำให้เซลล์แบ่งตัวผิด พอเป็นมะเร็งแล้วก็จะต่างจากเนื้องอกตรงที่กระจายได้ ลุกลามได้ พอเป็นขึ้นมาถ้าไม่ตรวจพบและรักษาแต่เนิ่นๆจึงมักไปกันไว

พ้นจากช่วงนี้สามารถตายได้ทุกเมื่อด้วยความน่าจะเป็นของทุกโรค โดยเฉพาะอย่างยิ่งยุคสมัยที่ต้องเร่งรีบ หรือต้องแบกภาระการงานอันหนักอึ้งเพื่อผ่อนจ่ายทรัพย์สมบัติต่างๆ จนเริ่มมีข่าวคนนอนฟุบหลับเพื่อพักงีบบนโต๊ะทำงานแล้วไม่ตื่นขึ้นมาอีกเลยประปราย ที่โน่นที่นี่ และต่อไปก็มีแนวโน้มว่าอาจได้ยินกันบ่อยขึ้น นี่ยังไม่รวมความเสี่ยงต่ออุบัติเหตุบนท้องถนนที่แต่ละปีคร่าชีวิตหญิงชายไปมากมายเกินจะนับอีกต่างหาก

ไม่มีใครเกิดมาพร้อมกับความรู้ตัวว่าติดกลุ่มเสี่ยงต่อมรณภัยรูปแบบไหน แต่ทุกคนสามารถเลิกประมาทได้เท่าเทียมกัน หันมาตระหนักว่าเราตายได้ทุกเมื่อ และการเตรียมตัวเตรียมใจพร้อมอยู่เสมอเป็นนโยบายที่ฉลาดของคนไม่ประมาทกับชีวิต

ความตายเป็นความเที่ยงแท้ที่ไม่แน่นอน

อันว่าความตายนั้นเป็นของที่คู่กับชีวิตของเรา เมื่อเราเกิดขึ้นมา เราก็ต้องคำพิพากษาเสียแล้วว่าเป็นนักโทษประหาร ต้องถึงแก่ความตาย ด้วยการลงโทษประหารในวันใดวันหนึ่ง โดยวิธีใดวิธีหนึ่ง ณ สถานที่ใดสถานที่หนึ่ง ซึ่งโทษประหารชีวิตนี้มิได้ระบุแน่นอนชัดเจนว่า เราจะตายเมื่อไหร่ จะตายที่ไหน จะตายอย่างไร แต่ที่เที่ยงแท้ก็คือว่า เราทุกคนที่เกิดมาจะต้องพบความตายโดยหลีกเลี่ยงมิได้ ความเที่ยงแท้ที่ไม่แน่นอนนี้ เราควรที่จะกำหนดจิตกำหนดใจของเราให้ยอมรับความจริง คือยอมรับสภาพที่รู้แน่นอนว่าต้องตายนั้นประการหนึ่ง กับสภาพที่ไม่รู้ได้แน่นอนว่าจะตายเมื่อไหร่ จะตายที่ไหน จะตายอย่างไรอีกประการหนึ่ง เพื่อเตรียมจิตเตรียมใจของเราให้พร้อม เพื่อรับสภาพการณ์ที่ความตายจะมาเยือน ถ้าทำได้อย่างนี้ก็จะมีประโยชน์อย่างมาก ประโยชน์ยิ่งกว่านั้นก็คือว่า จะได้หาหนทาง หาวิธีที่เราจะก้าวพ้นความตายทั้งหลายไม่ให้มัจจุราชมารมองเห็นตัวของเราได้ ทั้งนี้ ก็โดยอาศัยพระธรรมคำสอนที่สมเด็จพระบรมศาสดาทรงสั่งสอนไว้ ให้เราประพฤติปฏิบัติและจะนำไปสู่ความพ้นทุกข์ …

คติธรรมพิจารณามรณานุสติ

อายุคนเราเฉลี่ย 76ปี.... นั่นคือแค่ 3592 อาทิตย์ เท่านั้น

คุณหมดเวลากับการนอนไปถึง 1317 อาทิตย์

ซึ่งเท่ากับคุณเหลือเวลาที่ใช้ดำเนินชีวิตแค่ 2635 อาทิตย์!!!

......สองพันกว่าอาทิตย์เองที่ได้อยู่บนโลก......

ถามตัวคุณเองดีกว่า ว่าจะยอมเศร้าซักกี่อาทิตย์ เหงาซักกี่อาทิตย์ มีความสุขซักกี่อาทิตย์....... เพราะทั้งหมดเราก็มีอยู่แค่สองพันกว่าอาทิตย์เอง

ที่กล่าวว่า อายุเฉลี่ยของคนเราคือ76ปีนี้ นี้คือค่ามัชฌิม....ค่าเฉลี่ยอายุคนทั่วไป บางคนอาจจะอยู่ได้นานกว่านั้น..... แต่อีกหลายๆคนก็อยู่ได้ไม่ถึง...... มันไม่มีอะไรจะมารองรับประกันได้เสียด้วยว่าใครจะอยู่ได้นานแค่ไหน..... ใครจะรู้ความตายแม้นพรุ่งนี้......

ครูบาอาจารย์ท่านจะเตือนให้พิจารณาถึงความตายให้บ่อยๆ ไม่ให้ปล่อยเวลาให้ล่วงเลยทิ้งไปเปล่าๆ.....ให้เพียรพยายามเลิกละกิเลสในใจของตน เพื่อจะได้ไม่ต้องมาเกิดเพื่อตายอีก

ความตายเป็นทุกข์ก็จริง...... แต่ท่านสอนให้พิจารณาทุกข์ ให้เอาทุกข์ที่จะต้องมาถึงแน่ๆมาเตือนตน...... ความตายจึงมีประโยชน์กับผู้ที่รู้จักพิจารณา
ความตายเป็นสัจจธรรมที่ฟังเหมือนเป็นเรื่องง่ายๆธรรมดา เหมือนเป็นเรื่องพื้นๆ..... แต่สำหรับผู้ที่พิจารณาโดยแยบคายจะได้อุบายดับทุกข์-ละกิเลสอันยอดเยี่ยม

มรณํง เม ภวิสสติ...... พึงระลึกถึงความตายที่จะมาถึงตัวเราเถิด

สักวันหนึ่งข้าพเจ้าต้องตาย
สักวันหนึ่งท่านก็ต้องตาย
สักวันหนึ่งคนที่ข้าพเจ้ารักต้องตาย
สักวันหนึ่งคนที่ท่านรักก็ต้องตาย

สักวันหนึ่งของที่ข้าพเจ้าชอบต้องพัง
สักวันหนึ่งของที่ท่านชอบก็ต้องพัง
สักวันข้าพเจ้าต้องพลัดพราก
สักวันท่านก็ต้องพลัดพราก

สักวัน.... เราต้องตาย
สักวัน.... สักวัน.....

ออฟไลน์ Webmaster

  • Administrator
  • สมาชิก
  • *****
  • กระทู้: 404
    • ดูรายละเอียด
Re: "ความตาย"
« ตอบกลับ #1 เมื่อ: กุมภาพันธ์ 22, 2014, 09:31:01 PM »
อาจจะเป็นตอนนี้..... วันนี้.... หรือพรุ่งนี้.....
แต่ยังไง เราและท่าน ก็.... ต้องตายเป็นแน่แท้

1 ชีวิตนี้วิปริตผันแปร ไม่แน่นอน

2 วัย หมดไปตามลำดับแห่งวัย

3 หนุ่มก็ตาย แก่ก็ตาย

4 ชีวิต ไม่ถึงร้อยปีก็จะตาย

5 ถ้าอยู่เลยร้อยปี ก็ต้องตายเพราะความแก่เป็นแน่แท้

6 คนโง่ก็ตาย คนฉลาดก็ตาย

7 สรรพสัตว์ทั้งหลายล้วนก้าวเดินไปสู่ความตาย

8 คนถึงคราวตาย หมู่ญาติก็ช่วยไม่ได้

9 ชีวิตนี้น้อยนัก ชีวิตนี้สั้นนัก

10 วันและคืนย่อมผ่านไป

11 เมื่อมีชีวิต วัยแห่งชีวิตก็ร่นเข้ามา

12 เกิด ก็เป็นทุกข์

13 จะตาย ก็ตายไปคนเดียว

14 กาลเวลาล่วงไป ราตรีก็ผ่านไป

15 ตาย ก็เป็นทุกข์

16 แก่ ก็เป็นทุกข์

17 สัตว์โลกถูกมฤตยูห้ำหั่น

18 จะวิ่งหนีก็ไม่ทัน (ความตายไม่มีใครหนีได้)

19 สัตว์โลก ถูกชราปิดล้อม

20 เจ็บ ก็เป็นทุกข์

21 จะเกิด ก็เกิดมาคนเดียว

22 ชีวิตนี้คับแค้น และสั้นนิดเดียว

23 ชีวิตสิ้นสุดลงที่ความตาย

24 เมื่อยังมีชีวิตอยู่ ควรเกื้อกูลกัน

25 เมื่อสัตว์จะตาย ไม่มีผู้ป้องกัน

26 เมื่อคนจะตาย ยังแถมประกอบด้วยทุกข์อีก

27 คนที่ร้องให้ถึงคนตาย เขาก็จะต้องตายด้วย

28 ปราชญ์กล่าวว่าชีวิตนี้น้อยนัก

29 เห็นอยู่เมื่อเช้า สายก็ตาย

30 ที่ตายแล้วก็แล้วไป ไม่ควรเศร้าโศกถึง

31 ปราชญ์ทั้งหลาย บอกแล้วว่าชีวิตนี้น้อยนัก

32 โลกถูกความตายครอบเอาไว้

33 เมื่อความตายมาถึงตัว ก็ไม่มีใครป้องกันได้

34 เมื่อคนตายแล้วสมบัติสักนิดก็ไม่ติดไป

35 ทุกชีวิตที่เกิดมาแล้วจะต้องแตกสลายในที่สุด

36 ทุกชีวิตจะต้องทอดทิ้งร่ายกายไว้ในโลก

37 ไม่มีใครผัดเพี้ยนกับความตาย ซึ่งมีอำนาจมากได้

38 สถานที่ที่ได้ชื่อว่าไม่มีคนตาย ไม่มีในโลก

39 ทุกคนควรทำหน้าที่ของตนและไม่ควรประมาท

40 ทั้งหนุ่มและแก่ ล้วนร่างกายแตกดับไปทุกคน

41 สัตว์โลกถูกมฤตยูห้ำหั่น ถูกชราปิดล้อม

42 เมื่อสัตว์ถูกชรานำเข้าไปแล้ว ไม่มีผู้ป้องกัน

43 ความผัดเพี้ยนกับมฤตยูอันมีกองทัพใหญ่นั้น ไม่ได้เลย

44 กี่วันผ่านไป ชีวิตก็ยิ่งใกล้ความตาย

45 คนทุกคนต้องตาย

46 วัยสิ้นไปตามคืนและวัน

47 การตายโดยชอบธรรม ดีกว่าการมีชีวิตอยู่โดยไม่ชอบธรรม

48 อายุของคนย่อมหมดสิ้นไป

49 ความตายย่อมมีแก่ผู้เกิด

50 วันคืนเคลื่อนคล้อย อายุก็เหลือน้อยเข้าทุกที

51 สัตว์ทั้งปวงย่อมถูกชราและมรณะพัดพาไป

52 สายเห็นกันอยู่ รุ่งเช้าอีกวันก็ตาย

53 มีชีวิตอยู่อย่างไม่ถูกต้อง หาประเสริฐไม่

54 เงิน ก็ซื้ออายุให้ยืนยาวไม่ได้

55 สัตว์ทั้งปวง จัดทอดทิ้งร่างไว้ในโลก

56 ตั้งอยู่ในธรรมแล้ว ไม่ต้องกลัวปรโลก

57 วัยย่อมเสื่อมลงเรื่อยไป ทุกหลักตา ทุกลืมตา

58 เมื่อตาย ทรัพย์สักนิดเดียวจะติดตัวไปก็ไม่มี

59 ตายเพื่อความถูกต้องประเสริฐกว่า

60 ถึงคราวตาย บุตรทั้งหลายก็ช่วยไม่ได้

61 ถึงคราวตาย บิดา ญาติพี่น้องก็ช่วยไม่ได้

62 รวยก็ตาย จนก็ตาย

63 ทรัพย์สมบัติ ก็ซื้อความแก่ไม่ได้

64 สักวันหนึ่ง ก็จะพรากจากกันไป

65 วันคืน ไม่ผ่านไปเปล่า

66 มฤตยู พยาธิ ชรา ทั้งสามนี้ดุจไฟลามลุกไหม้

67 ผู้ที่ตั้งอยู่ในธรรม ใครเล่าจะกลัวความตาย

68 ผู้ที่เกิดมาแล้วจะไม่ตายไม่มี

69 วันคืนผ่านพ้นไป ชีวิตย่อมจะเหลือน้อยลง

70 อายุย่อมหมดไปทุกขณะที่หลับตาและลืมตา

71 คนจะมีชีวิตอยู่ได้ก็เพียงร้อยปี หรือจะเกินก็เพียงเล็กน้อย

72 แม้ชีวิตอยู่ร้อยปี ก็ไม่พ้นความตายไปได้ มวลมนุษย์ล้วนมีความตายรออยู่ข้างหน้า
73 ชีวิตของเราเป็นของน้อย ชราและพยาธิก็คอยย่ำยี

74 กาลเวลาย่อมกลืนกินสรรพสัตว์ทั้งหลาย พร้อมกันไปกับตัวมันเอง

75 คนใดร้องให้บ่นเพ้อถึงคนที่ตายไปแล้ว แม้คนที่ร้อนนั้นก็ต้องตายเหมือนกัน

76 เมื่อมาเกิด ก็ไม่มีใครอ้อนวอนมาเกิด เมื่อตายจากโลกนี้ ก็ไม่มีใครอนุญาตให้ไป

77 วันคืนล่วงไป ชีวิตของคนก็พร่องลงไป จากประโยชน์ที่จะทำ

78 ชีวิตของสัตว์เหมือนภาชนะดิน ซึ่งล้วนมีความสลายเป็นที่สุด

79 ทั้งคนมี ทั้งคนจน ล้วนมีความตายเป็นเบื้องหน้า

80 รูปกายของสัตว์ย่อมร่วงโรยไป แต่ชื่อและโครตไม่เสื่อมสลาย

81 อายุสังขาร ใช่จะประมาทไปตามสัตว์ผู้ยืน นั่ง นอน หรือ เดินอยู่ก็หาไม่

82 สิ่งมีชีวิตทั้งปวง ย่อมกลัวโทษและกลัวความตาย จงทำตนเป็นอุปมา แล้วไม่พึงฆ่าหรือใช้ให้ผู้อื่นฆ่า

83 เพราะฉะนั้น ในชีวิตที่เหลืออยู่นี้ ทุกคนควรกระทำกิจหน้าที่ และไม่พึงประมาท

84 ร่างกายนี้ ไม่นานนัก เมื่อวิญญาณจากไปแล้ว หมู่ญาติก็เกลียดกลัว เอาไปทิ้งในป่าช้าเหมือนท่อนไม้

85 เมื่อภิกษุมีใจอันอบรมแล้วด้วยมรณะสัญญาอยู่โดยมาก จิตย่อมหวนกลับ งอกลับ ถอยกลับจากการรักชีวิต

86 กาลเวลาล่วงไป วันคืนผ่านพ้นไป วัยก็หมดไปที่ละตอน ๆ ตามลำดับ

87 อายุของคนนี้น้อยนัก จะต้องจากโลกนี้ไป จึงควรทำกุศล และประพฤติพรหมจรรย์

88 น้ำเต็มฝั่ง ไม่ไหลทวนขึ้นที่สูง ฉันใด อายุของคน ก็ย่อมไม่เวียนไปสู่วัยเด็กอีก ฉันนั้น

89 ชีวิตนี้เป็นสิ่งคับข้อง เป็นสิ่งเล็กน้อย ประกอบด้วยทุกข์ ใครเล่ายังจะอาศัยชีวิตนี้ ไปสร้างเวรกับผู้อื่น

90 ชีวิตนี้น้อยนัก ไม่ถึงร้อยปีก็ตายกันแล้ว ถ้าจะอยู่เกินไป ก็ต้องตายเพราะความแก่

91 วันคืนย่อมล่วงไป ชีวิตย่อมหมดเข้าไป อายุของสัตว์ ย่อมสิ่นไป เหมือนน้ำแห่งแม่น้ำน้อย ๆ ฉะนั้น

92 ชนเหล่าใดกำหนดรู้รูปธาตุ ไม่ตั้งอยู่ในอรูปธาตุ ย่อมหลุดพ้นไปได้ในในโรธธาตุ, ชนเหล่านั้น ชื่อว่าเป็นผู้ละมัจจุได้

93 อายุของมนุษย์มีน้อย คนดีพึงดูถูกอายุนั้นเสีย พึงประพฤติดุจคนมีศรีษะถูกไฟใหม้ มฤตยู (ความตาย) จะไม่มาถึง ย่อมไม่มี

94 ทั้งเด็ก ทั้งผู้ใหญ่ ทั้งเขลา ทั้งฉลาด ล้วนไปสู่อำนาจแห่งความตาย ล้วนมีความตายเป็นเบื้องหน้า

95 ความตายย่อมครอบงำคนเก็บดอกไม้ (กามคุณ) ที่มีใจข้องในอารมณ์ต่าง ๆ ไม่อิ่มในกาม ไว้ในอำนาจ

96 ภัยของสัตว์ผู้เกิดมาแล้ว ย่อมมี เพราะต้องตายแน่นอน เหมือนภัยของผลไม่สุก ย่อมมี เพราะต้องหล่นในเวลาเช้าฉะนั้น

97 ภาชนะดินที่ช่างหม้อทำแล้ว ล้วนมีความแตกเป็นที่สุด ฉันใด, ชีวิตของสัตว์ทั้งหลาย ก็ฉันนั้น

98 ผู้เลี้ยงโคย่อมต้อนฝูงโคไปสู่ที่หากินด้วยพลอง ฉันใด, ความแก่และความตาย ย่อมต้อนอายุของสัตว์มีชีวิตไปเช่นกัน ฉันนั้น

99 การร้องให้ ความโศกเศร้า หรื การคร่ำครวญร่ำไรใด ๆ ย่อมไม่เกิดประโยชน์แก่ผู้ล่วงลับไปแล้ว ผู้ที่ตายแล้วก็คงอยู่อย่างเดิมนั้นเอง

100 เมื่อถูกพญามัจจุราชครอบงำ ไม่ว่าบุตร ไม่ว่าบิดา ไม่ว่าญาติพวกพ้อง มีไว้ก็ช่วยต้านทานไม่ได้ จะหาที่ปกป้องในหมู่ญาติ เป็นอันไม่มี

101 ข้าพเจ้าไม่มีความชั่ว ซึ่งทไว้ ณ ที่ไหน ๆ เลย ฉะนั้นข้าพเจ้าจึงไม่หวั่นเกรงความตายที่จะมาถึง

102 การร้องให้หรือโศกเศร้า จะช่วยให้จิตใจสงบ สบาย ก็หาไม่ ทุกข์ยิ่งเกิดเพิ่มพูนทับทวี ทั้งร่ายกายก็พลอยทรุดโทรม

103 คนที่รักใคร่ ตายจากไปแล้ว ย่อมไม่ได้พบเห็นอีกเหมือนคนตื่นขึ้นไม่ได้เห็นสิ่งที่ได้พบในฝัน

104 จะตายก็ไปคนเดียว จะเกิดก็มาคนเดียว ความสัมพันธ์ของสัตว์ทั้งหลาย ก็เพียงแค่ได้มาพบปะเกี่ยวข้องกันเท่านั้นเอง

105 คนที่สละความเศร้าโศกไม่ได้ มัวทอดถอนถึงคนที่จากไปแล้ว ตกอยู่ในอำนาจของความโศก ย่อมประสบความทุกข์หนักยิ่งขึ้น

106 ตอนเช้ายังเห็นกันอยู่มากคน พอตกเห็นบางคนก็ไม่เห็น เมื่อเย็น ยังเห็นกันอยู่มากคน ตกถึงเช้า บางคนก็ไม่เห็น

107 ถ้าบุคคลจะเศร้าโศกถึงสิ่งที่ไม่มีอยู่แก่ตน (เช่นผู้ที่ตายไปแล้ว เป็นต้น) ไซร้ ก็ควรจะเศร้าโศกถึงตนเอง
ซึ่งตกอยู่ในอำนาจของพญามัจจุราชตลอดเวลา

108 แม่น้ำเต็มฝั่ง ไม่ไหลทวนขึ้นที่สูง ฉันใด อายุของมนุษย์ทั้งหลาย ย่อมไม่เวียนกลับมาสู่วัยเด็กอีก ฉันนั้น

109 ทั้งเด็ก ทั้งผู้ใหญ่ ทั้งคนพาล ทั้งบัณฑิต ทั้งคนมี ทั้งคนจน ล้วนเดินหน้าไปหาความตายทั้งหมด

110 ผลไม้สุกแล้ว ก็หวั่นแต่ละต้องร่วงหลุ่นไปตลอดเวลา ฉันใด สัตว์ทั้งหลายเกิดมาแล้ว ก็หวั่นแต่จะตายอยู่ตลอดเวลา ฉันนั้น

111 อายุของคนน้อยนัก คนดีไม่ควรลืมอายุ ควรระลึกถึงอายุดุจคนถูกไฟไหม้ศรีษะ เพราะการที่ความตายจะไม่มาถึงนั้น ไม่มีเลย

112 ถ้าจะเศร้าโศกถึงคนที่ตายไปแล้ว ก็ควรจะเศร้าโศกถึงตนเองด้วย ที่ตกอยู่ในอำนาจของความตายตลอดเวลา

113 ห้วงน้ำที่เต็มฝั่ง พึงพัดต้นไม้ซึ่งเกิดที่ตลิ่งไปฉันใด, สัตว์มีชีวิตทั้งปวง ย่อมถูกความแก่และความตายพัดไปฉันนั้น

114 เพราะฉะนั้น สาธุชน สดับคำสอน ของท่านผู้ไกลกิเลสแล้ว พึงกำจัดความร่ำไรรำพันเสีย เห็นคนล่วงลับจากไป ก็ทำใจให้ได้ว่า
ผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว เราจะขอให้เป็นอยู่อีกย่อมไม่ได้

115 ดูซิ.. ถึงคนอื่น ๆ ที่กำลังเตรียมตัว เดินทางไปตามยถากรรม ที่นี่สัตว์ทั้งหลายเผชิญกับอำนาจ ของพญามัจจุราชเข้าแล้ว
กำลังดิ้นรนกันอยู่ทั้งนั้น

116 เมื่อวัยเสื่อมสิ้นไปอย่างนี้ ความพลัดพรากจากกัน ก็ต้องมีโดยไม่ต้องสงสัย หมู่สัตว์ที่ยังเหลืออยู่ ควรเมตตา เอื้อเอ็นดูกัน
ไม่ควรจะมัวเศร้าโศกถึงผู้ที่ตายไปแล้

117 วันคืนล่วงไปเท่าไรชีวิตก็พร่องลงไปเท่านั้น เวลาแห่งความตายรุกไล่เข้าไปทุกอิริยาบท ฉะนั้นจึงไม่ควรประมาทเวลา

118 จะอยู่ในอากาศ อยู่กลางมหาสมุทร เข้าไปสู่หลืบเขา ก็ไม่พ้นจากมฤตยูได้ ประเทศคือดินแดนที่มฤตยูจะไม่รุกรานผู้อยู่ ไม่มี

119 กาลย่อมล่วงไป ราตรีย่อมผ่านไป ชั้นแห่งวัยล่อมละลำดับไป ผู้เล็งเห็นภัยในมรณะนั้น พึงทำบุญอันนำสุขมาให้

120 เมื่อเศร้าโศกไป ก็เท่ากับทำร้ายตัวเอง ร่างกายจะผ่ายผอม ผิดพรรณจะซูบซีดหม่นหมอง ส่วนผู้ที่ตายไปแล้ว
ก็จะเอาความโศกเศร้านั้นของเรา ไปช่วยอะไรตัวเขาไม่ได้ ความร่ำไรรำพัน ย่อมไร้ประโยชน์

121 ผู้ที่เศร้าโศกถึงคนตาย ก็เหมือนเด็กร้องให้ เหมือนกับขอพระจันทร์ที่โคจรไปในอากาศ คนตายถูกเผาอยู่ ย่อมไม่รู้ว่าญาติคร่ำครวญถึง เพราะฉะนั้น ข้าพเจ้าจึงไม่เศร้าโศก เขาไปแล้วตามวิถีทางของเขา

ความตายเป็นของเที่ยง ความมีชีวิตอยู่เป็นของไม่เที่ยง

ภาวนาอยู่ดังนี้เรื่อยๆ ไป ถ้าเป็นผู้มีปัญญินทรีย์แก่กล้า
จะสามารถข่มนิวรณ์ธรรมต่างๆ เสียได้ มีมรณารมณ์ตั้งมั่น
เข้าถึงอุปจารสมาธิโดยไม่ยาก นอกจากนั้นยังบังเกิดมรณสัญญา
ที่น่าปรารถนาถึง ๘ ประการ คือ เกิดความรู้สึกเกี่ยวกับความตายขึ้นมาว่า

๑. ชีวิตของเรานี้ จะมีอยู่ต่อไปได้อีกประมาณแค่วันหนึ่งกับคืนหนึ่ง คือ ๒๔ ชั่วโมงเท่านั้น

๒. ชีวิตของเรานี้ จะมีอยู่ต่อไปได้อีกประมาณแค่วันหนึ่ง คือ ๑๒ ชั่วโมงเท่านั้น

๓. ชีวิตของเรานี้ จะมีอยู่ต่อไปได้อีกประมาณเพียงครึ่งวัน คือ ๖ ชั่วโมงเท่านั้น

๔. ชีวิตของเรานี้ จะมีอยู่ต่อไปได้อีกชั่วเวลาเพียงกินข้าวอิ่มหนึ่งเท่านั้น

๕. ชีวิตของเรานี้ จะมีอยู่ต่อไปได้อีกชั่วครึ่งเวลากินข้าวอิ่มเท่านั้น

๖. ชีวิตของเรานี้ จะมีอยู่ต่อได้อีกชั่วเวลากินข้าวได้เพียง ๔ หรือ ๕ คำเท่านั้น

๗. ชีวิตของเรานี้ จะมีอยู่ต่อไปได้อีกชั่วเวลาเคี้ยวข้าวคำหนึ่งเท่านั้น

๘. ชีวิตของเรานี้ จะมีอยู่ต่อไปได้อีกชั่วระยะเวลาหายใจเข้าออกเท่านั้น

มรณสัญญาข้อ ๗ และ ๘ ทำให้มีสติเจริญดีเยี่ยม ถูกต้องตามพุทธประสงค์
ซึ่งพระพุทธองค์ตรัสชมเชยไว้ ส่วนข้อที่ ๑ - ๖ สำหรับผู้คนในสมัยปัจจุบันนี้
ผู้ใดสามารถทำได้ก็นับว่าดีมากแล้ว

การเจริญมรณานุสสตินั้น ได้ผลอย่างมากเพียงอุปจารสมาธิ
ไม่เข้าถึงอัปปนาเนื่องจาก มรณะ ความตายที่นำมาใช้เป็นอารมณ์กรรมฐาน
นั้นเป็นสภาวะที่ทำให้เกิดความสังเวช เมื่อใช้ระลึกถึงอารมณ์ดังนี้เนืองๆ
ทำให้เกิดความสะดุ้งกลัวขึ้นกับจิต จิตจึงไปไม่ถึงอัปปนาสมาธิ

อานิสงส์อันเกิดแต่การเจริญมรณานุสสติมีดังนี้

- ทำให้ละความประมาทมัวเมาในชีวิตลง มองเห็นภัยในวัฏฏสงสาร

- ได้สัพพภเวสุอนภิรตสัญญา คือ ความกระสันที่จะเลิกอยู่ในภพทั้งปวง
สำหรับหน่อเนื้อพุทธะทั้งหลาย จะเิกิดความตื่นตัว ไม่ประมาทในการสร้างบารมี
เร่งบำเพียรบ่มเพาะจิตเพื่อพระโพธิญาณ เพื่อช่วยเหลือสัตว์ในวัฐสงสาร

- ละความยินดีในชีวิต ไม่รักชีวิต

- ติเตียนการกระทำอันเป็นบาป

- ยินดีด้วยสัลเลขะ ความมักน้อย สันโดษ ไม่สั่งสมของบริโภค

- สันดานปราศจากความตระหนี่อันเป็นมลทิน ไม่รักใคร่หวงแหนในสมบัติทั้งปวง

- จิตจะคุ้นเคยใน อนิจจสัญญา มองเห็นอนิจจังในรูปธรรม นามธรรม
เป็นเหตุให้ได้ทุกขสัญญา อนัตตสัญญาตามมา เห็นพระไตรลักษณ์ชัดแจ้งในสันดาน

- เมื่อเห็นพระไตรลักษณ์แล้ว แม้ต้องตายย่อมไม่นึกหวาดกลัว สติไม่หลงเลอะเลือน

คนที่ไม่เจริญมรณานุสสติ เมื่อถึงเวลาใกล้ตายย่อมสะดุ้งตกใจกลัวตาย เหมือนถูกเสือร้ายตะครุบตัวไว้กำลังจะกัดกินเป็นอาหาร หรือเหมือนคนอยู่ในเงื้อมมือโจร หรือเพชฌฆาต หรือเหมือนคนอยู่ในมือยักษ์ หรือในปากอสรพิษ

ข้อคิดเกี่ยวกับชีวิตและความตาย

๑. ชีวิตของสัตว์ทั้งหลายในโลกนี้ สั้นนิดเดียว ลำบากยากเข็ญ มีทุกข์มาก แต่ก็ไม่มี เครื่องหมายให้รู้ว่า จะตายเมื่อใด

๒. สัตว์ทั้งหลายเกิดมาแล้ว พยายามหาวิธีที่จะไม่ต้องตาย ก็ไม่สำเร็จ ถึงจะมีชีวิตอยู่ต่อไป จนชราภาพก็ต้องตาย อยู่ดี เพราะธรรมดาของสัตว์โลกเป็นอย่างนี้

๓. สัตว์ทั้งหลายเกิดมาแล้ว ก็มีภัยจากการที่ต้องตายเป็นนิตย์ เปรียบเหมือน ผลไม้สุกงอม แล้ว ก็มีภัย จากการที่ต้องร่วงหล่นไปในเวลาเช้า

๔. ชีวิตของสัตว์ทั้งหลาย ต้องแตกดับไปเป็นธรรมดาเปรียบเหมือนภาชนะดินทุกชนิด ที่ช่างหม้อปั้นแล้วในที่สุดก็ต้องแตกไป
๕. ทั้งเด็ก ทั้งผู้ใหญ่ ทั้งคนโง่ ทั้งคนฉลาด ล้วนตกอยู่ในอำนาจของมฤตยู บ่ายหน้า ไปสู่ความตายทั้งนั้น

๖. เมื่อเหล่าสัตว์จะตาย ต้องไปปรโลกแน่นอนแล้ว บิดามารดาก็ไม่สามารถช่วย บุตรธิดาของตนไว้ได้ หรือหมู่ญาติก็ไม่สามารถจะช่วยพวกญาติของตนไว้ได้

๗. จงดูเถิด ทั้งๆ ที่มีหมู่ญาติมาเฝ้ารำพึงรำพันอยู่ โดยประการต่างๆ แต่ผู้จะตาย กลับถูกมฤตยูคร่าตัวเอาไปแต่เพียงผู้เดียว เหมือนโคที่เขาจะฆ่า ถูกนำไปแต่เพียงตัวเดียว

๘. สัตว์โลกตกอยู่ในอำนาจของความแก่และความตายอย่างนี้ เพราะเหตุนั้น นักปราชญ์ทั้งหลายทราบชัดถึงสภาพของสัตว์โลกแล้ว จึงไม่เศร้าโศกกัน

๙. ท่านหาได้รู้ทางของผู้มา (เกิด) หรือผู้ไป (สู่ปรโลก) ไม่ เมื่อไม่เห็นปลายสุดทั้งสองด้าน ถึงจะคร่ำครวญไปก็ไร้ประโยชน์

๑๐. ถ้าผู้ที่ทำตนให้เดือดร้อนด้วยการหลงใหลคร่ำครวญ จะทำประโยชน์อะไร ให้เกิดขึ้นได้บ้าง นักปราชญ์ผู้รู้แจ้งก็คงจะทำอย่างนั้นตามไปแล้ว

๑๑. การร้องไห้ เศร้าโศก ไม่สามารถทำใจของผู้คนให้สงบได้ มีแต่จะเกิดทุกข์มากยิ่งขึ้น ทั้งร่างกายก็จะพลอยทรุดโทรม

๑๒. จะเบียดเบียนตนเอง มีร่างกายซูบผอม ผิวพรรณหมองคล้ำ การร่ำไห้คร่ำครวญ ไม่ได้ช่วยอะไรแก่คนที่ตายไปแล้ว จึงไม่มีประโยชน์อะไรเลย

๑๓. คนที่สลัดความโศกไม่ได้ มัวทอดถอนใจถึงคนที่ตายไปแล้ว ตกอยู่ในอำนาจของ ความเศร้าโศก มีแต่จะทุกข์มากยิ่งขึ้น

๑๔. จงดูเถิด ถึงแม้คนอื่นก็กำลังจะตายไปตามยถากรรม สัตว์ทั้งหลายในโลกนี้ ต่างตกอยู่ในอำนาจมฤตยู กำลังพากันดิ้นรน (กลัวตาย) ด้วยกันทั้งนั้น

๑๕. สัตว์ทั้งหลายตั้งความหวังอยากจะให้เป็นอย่างอื่น (คือไม่ตาย) แต่ก็ไม่สมหวัง ความพลัดพรากจากกันมีอยู่เป็นประจำ ท่านจงพิจารณาดูความจริงแท้ของสัตว์โลกเถิด

๑๖. แม้จะมีคนอยู่ได้ถึงร้อยปี หรือเกินกว่านั้นไปบ้าง ก็ต้องพลัดพรากจากหมู่ญาติ ทิ้งชีวิตไว้ในโลกนี้ อยู่ดี

๑๗. เพราะเหตุนั้น เมื่อได้สดับธรรมเทศนาของพระท่านแล้ว ก็พึงระงับ ความคร่ำครวญ ร่ำไห้เสีย ยามเมื่อเห็นคนล่วงลับดับชีวิตไป ก็ให้กำหนดรู้ว่า เขาตายไปแล้ว เราจะให้ เขาฟื้นคืนมาอีกไม่ได้

๑๘. ธีรชนผู้มีปัญญาเฉลียวฉลาด พึงกำจัดความเศร้าโศกที่เกิดขึ้นเสียโดยฉับพลัน เหมือนเอาน้ำดับไฟ ที่กำลังไหม้ลุกลาม และเหมือนลมพัดปุยนุ่น

๑๙. ผู้แสวงสุขแก่ตน พึงระงับความเศร้าโศกคร่ำครวญร่ำไห้ ความโหยหา และ ความโทมนัส พึงถอนลูกศรคือความเศร้าโศกเสียให้ได้

๒๐. ผู้ถอนลูกศรนี้ได้แล้ว ก็จะมีอิสระ ได้ความสงบใจ ผ่านพ้นความเศร้าโศกทั้งปวง ไม่มีความเศร้าโศกมีแต่เยือกเย็นใจ

๒๑. ชีวิตนี้น้อยนัก มนุษย์ย่อมตายภายในร้อยปี ถึงใครจะอยู่เกินกว่านั้นไปบ้าง ก็ต้องตายเพราะชราเป็นแน่แท้

๒๒. ชนทั้งหลายเศร้าโศก เพราะสิ่งที่ยึดถือว่าเป็นของเรา ทั้งๆ ที่สิ่งที่ยึดถือนั้น ไม่มีอะไรเที่ยงแท้เลย ผู้ที่มองเห็นว่า ความพลัดพรากจากกันจะต้องมีแน่นอนเช่นนี้แล้ว ก็ไม่ควรอยู่ครองเรือน

๒๓. คนที่สำคัญหมายสิ่งใดว่า " นี้ของเรา" ก็จะต้องจากสิ่งนั้นไปเพราะความตาย พุทธมามกะผู้เป็นบัณฑิต ทราบความข้อนี้แล้ว ก็ไม่ควรเอนเอียงไปในทาง ที่จะยึดถือว่า เป็นของเรา

๒๔. คนที่รักใคร่กัน ตายจากไปแล้ว ก็จะไม่ได้พบเห็นกันอีก เหมือนคนตื่นขึ้น ไม่เห็นสิ่งที่พบในฝัน

๒๕. (ขณะมีชีวิตอยู่) คนที่มีชื่อเรียกขาน ก็ยังพอได้พบเห็นกันบ้าง ได้ยินเสียงกันบ้าง คนที่ตายไปแล้วก็เหลือแต่ชื่อเท่านั้น ที่จะพูดถึงกันอยู่

๒๖. ผู้ที่พึงพอใจในสิ่งที่ยึดถือว่าเป็นของเรา ย่อมสละความเศร้าโศก ความคร่ำครวญ และความหวงแหนไปไม่ได้ เพราะฉะนั้น ผู้เข้าถึงธรรม (มุนี) ทั้งหลายเห็น ความปลอดโปร่ง จึงสละสิ่งที่เคยแหนหวงเที่ยวไปได้

๒๗. บัณฑิตทั้งหลาย กล่าวถึงผู้ไม่แสดงตนในภพ (ผู้บรรลุแล้ว) ว่าเป็นบุคคลที่สอดคล้อง เหมาะสมกับภิกษุผู้บำเพ็ญความหลีกเร้นถอนจิต (ผู้ที่ยังไม่บรรลุ) ซึ่งอยู่ในเสนาสนะที่สงัด

๒๘. ผู้เข้าถึงธรรม (มุนี) ไม่ติดอยู่ในสิ่งทั้งปวง ไม่ทำอะไรๆ ให้เป็นที่รัก ให้เป็นที่ชัง ความรำพึงรำพันและความหวงแหน จึงมิได้แปดเปื้อน เหมือนน้ำไม่แปดเปื้อนใบบัว

๒๙. หยาดน้ำไม่ติดบนใบบัว วารีไม่ติดบนดอกบัวฉันใด ผู้เข้าถึงธรรม(มุนี) ก็ไม่ติดในรูปที่เห็น เสียงที่ได้ยิน และอารมณ์ที่ทราบ ฉันนั้น

๓๐. ผู้ห่างไกลจากกิเลส ผู้มีปัญญา ไม่สำคัญหมายในรูปที่เห็น เสียงที่ได้ยิน และอารมณ์ที่รับทราบ ไม่ปรารถนาความบริสุทธิ์ด้วยวิธีการอื่น ทั้งไม่ยินดียินร้าย

๓๑. บุคคลใด ประพฤติชั่วร้าย ไม่มีความคิด ถึงจะมีชีวิตตั้งร้อยปี ชีวิตของเขา ก็หาประเสริฐไม่ ส่วนบุคคลใด มีศีล มีความคิด แม้มีชีวิตอยู่เพียงวันเดียว ก็เป็นชีวิต ที่ประเสริฐกว่า

๓๒. บุคคลใด เกียจคร้าน มีความเพียรทราม ถึงจะมีชีวิตอยู่ตั้งร้อยปี ชีวิตของเขา ก็หาประเสริฐไม่ ส่วนบุคคลใด มุ่งหน้าทำความเพียรอย่างมั่นคง แม้มีชีวิตอยู่ เพียงวันเดียว ก็เป็นชีวิตที่ประเสริฐกว่า

๓๓. บุคคลพึงสละทรัพย์เมื่อจะรักษาอวัยวะ พึงยอมสละอวัยวะเมื่อจะรักษาชีวิต และยอมสละทุกอย่างทั้งอวัยวะ ทรัพย์ และแม้ชีวิต เมื่อคำนึงถึงธรรม

๓๔. อายุสังขารจะพลอยประมาทไปกับมนุษย์ทั้งหลาย ที่ยืน เดิน นั่งนอนอยู่ ก็หาไม่

๓๕. เพราะฉะนั้น ในชีวิตที่ยังเหลืออยู่นี้ คนเราควรทำกิจหน้าที่ของตน และไม่พึง ประมาท

๓๖. ดอกไม้ที่สุมกันอยู่เป็นกอง นายช่างที่ฉลาด สามารถนำมาร้อย เป็นพวงมาลัย มีคุณค่ามากได้ฉันใด ชีวิตคนเราที่เกิดมานี้ ก็ควรจะใช้ ประกอบกุศลกรรม ความดีให้มาก ฉันนั้น

๓๗. บุญเป็นที่พึ่งของสัตว์ทั้งหลาย ในปรโลก

๓๘. ความตายเราก็มิได้ชื่นชอบ ชีวิตเราก็มิได้ติดใจ เราจักทอดทิ้งกายนี้ อย่างมีสติ สัมปชัญญะ มีสติมั่น

๓๙. ความตายเราก็มิได้ชื่นชอบ ชีวิตเราก็มิได้ติดใจเรารอคอยเวลา เหมือนคนรับจ้าง ทำงานเสร็จแล้วรอรับค่าจ้าง

๔๐. วัยสิ้นไปตามคืนและวัน

๔๑. วันคืนล่วงไป ชีวิตของคนก็พร่องลงไป จากประโยชน์ที่จะทำ

๔๒. วันคืนไม่ผ่านไปเปล่าๆ

๔๓. กาลเวลาล่วงไป วันคืนผ่านพ้นไป วัยก็หมดไปทีละตอนๆ ตามลำดับ

๔๔. รูปกายของสัตว์ย่อมร่วงโรยไป แต่ชื่อและโคตรไม่เสื่อมสลาย

๔๕. เมื่อจะตาย ทรัพย์แม้แต่น้อยก็ติดตามไปไม่ได้

๔๖. กาลเวลาย่อมกลืนกินสัตว์ทั้งหลาย พร้อมกับตัวมันเอง

๔๗. ถ้าบุคคลจะเศร้าโศกถึงคนที่ไม่มีอยู่แก่ตนคือ คนที่ตายไปแล้ว ก็ควรจะเศร้าโศก ถึงตนเอง ซึ่งตกอยู่ในอำนาจของพญามัจจุราชตลอดเวลา

๔๘. วัยย่อมเสื่อมลงไปเรื่อย ทุกหลับตา ทุกลืมตา

๔๙. เมื่อวัยเสื่อมสิ้นไปอย่างนี้ ความพลัดพรากจากกันก็ต้องมีโดยไม่ต้องสงสัย หมู่สัตว์ที่ยังเหลืออยู่ควรเมตตาเอื้อเอ็นดูกัน ไม่ควรจะมัวเศร้าโศกถึงผู้ที่ตายไปแล้ว

๕๐. ผู้ที่เศร้าโศกถึงคนตาย ก็เหมือนเด็กร้องไห้ขอพระจันทร์ที่โคจรอยู่ในอวกาศ คนตายถูกเผาอยู่ ย่อมไม่รู้ว่าญาติคร่ำครวญถึง เพราะฉะนั้น ข้าพเจ้าจึงไม่เศร้าโศก เขาไปแล้วตามวิถีทางของเขา

๕๑. ตอนเช้า ยังเห็นกันอยู่มากคน พอตกเย็น บางคนก็ไม่เห็นกัน เมื่อเย็น ยังเห็นกันอยู่ มากคน ตกถึงเช้า บางคนก็ไม่เห็นกัน

๕๒. จะตายก็ไปคนเดียว จะเกิดก็มาคนเดียว ความสัมพันธ์ของสัตว์ทั้งหลาย ก็เพียงแค่ มาพบปะเกี่ยวข้องกันเท่านั้นเอง

๕๓. วันคืนผ่านไป อายุก็เหลือน้อยเข้าทุกที

๕๔. แม่น้ำเต็มฝั่ง ไม่ไหลทวนขึ้นสู่ที่สูงฉันใด อายุของมนุษย์ทั้งหลาย ย่อมไม่เวียนกลับมาสู่วัยเด็กได้อีก ฉันนั้น

๕๕. ผู้เข้าถึงธรรม ไม่เศร้าโศกถึงสิ่งที่ล่วงแล้ว ไม่ฝันเพ้อถึงสิ่งที่ยังมาไม่ถึง ดำรงอยู่กับปัจจุบัน ฉะนั้นผิวพรรณจึงผ่องใส

๕๖. คืนวันผ่านไป ไม่มีอะไรให้เราเดือดร้อน ไม่เห็นมีอะไรที่เราสูญเสียในโลก ฉะนั้น เราจึงนอนสบายใจคิดแต่จะช่วยปวงสัตว์

๕๗. เวลาแต่ละวัน อย่าให้ผ่านไปเปล่าๆ จะน้อย หรือมาก ก็ให้ทำอะไรไว้บ้าง

๕๘. เร่งทำความเพียรเสียแต่วันนี้ ใครจะรู้ว่าพรุ่งนี้จะตายหรือจะอยู่

๕๙. คนขยันทั้งคืนวัน ไม่ซึมเซา เรียกว่า มีแต่ละวันนำโชค

๖๐. จะมีชีวิตอยู่ก็ไม่เดือดร้อน ถึงจะตายก็ไม่เศร้าโศก ถ้าเป็นปราชญ์ มองเห็นที่หมายแล้ว ถึงอยู่ท่ามกลางความเศร้าโศก ก็ไม่เศร้าโศก