เว็บพุทธภูมิ: พุทธภูมิ พระโพธิสัตว์ การบำเพ็ญบารมี



ผู้เขียน หัวข้อ: คำสอนของหลวงตาม้า : การปฏิบัติธรรม-การกราบพระ-การภาวนา  (อ่าน 4855 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ Wisdom

  • สมาชิก
  • ***
  • กระทู้: 242
  • ใครจะใหญ่เกินกรรม
    • ดูรายละเอียด
 

ในการปฏิบัติธรรมนั้น หลวงตาท่านเมตตาสอนว่า

"หลวงตาเพียงแต่แนะนำให้ได้เท่านั้น ครูบาอาจารย์อื่นๆ ก็เหมือนกัน ท่านทำได้เพียงแต่แนะนำ และชี้แนะทางที่ถูกให้เท่านั้น ส่วนการปฏิบัตินั้น อยู่ที่ตัวของผู้ปฏิบัติเองที่จะทำได้แค่ไหน ต้องทำจริงๆ ไม่ใช่พอครูบาอาจารย์แนะนำทีก็ทำที พอนานๆ ไปก็เลิกทำ ถ้าเป็นอย่างนี้จะก้าวหน้าได้อย่างไร ช่วงนี้เป็นเวลาที่เหมาะสมแล้วที่จะปฏิบัติธรรม เพราะตอนนี้พวกเราก็ได้พบทั้งหลวงปู่ดู่ และพระอริยสงฆ์ต่างๆ มากมาย ได้พบครูบาอาจารย์ที่ดี พบหมู่คณะที่ดี สถานที่ปฏิบัติธรรมก็มีแล้วตั้งหลายที่ การปฏิบัติสายหลวงปู่ดู่ก็ไม่ลำบาก ไม่เคร่งจนเกินไป ปฏิบัติไปอย่างสบายๆ จะหาได้ที่ไหนอีก ถ้าไม่ทำตอนนี้ก็ไม่รู้จะไปทำตอนไหนแล้ว เดี๋ยวเกิดต้องตายก่อนจะตามพวกไม่ทัน เพราะเมื่อชาติก่อนเขาทำบุญกันมา เรามัวแต่รบจนไม่มีเวลาปฏิบัติ มาชาตินี้เวลามี สถานที่ก็เหมาะ แล้วช้าอยู่ทำไม...."


 ....ภพชาติมันเหมาะแล้วนะ การปฏิบัติ การบวช มันตัดภพตัดชาติได้เลยนะ อย่างจะเกิดอีก ๑๐๐ ชาติ ก็เกิดแค่ ๕๐ ชาติ มันจะลดไปเรื่อยๆ แต่ถ้าปฏิบัติจนถึงขั้นโสดาบันก็แค่ ๗ ชาติเท่านั้น ถ้าเป็นพระอรหันต์ก็ไม่ต้องเกิดเลยไม่ดีหรือ การปฏิบัติหลวงปู่ดู่ ท่านเคยเมตตาสอนว่า

 "ต้องแลกด้วยความตาย ตายเป็นตาย
ถ้ากลัวตายก็ไปไม่ได้
นักปฏิบัติถ้ากลัวตายเสียแล้วก็จะไม่ก้าวหน้า"


 พระธุดงค์เวลาจะออกธุดงค์ ท่านอธิษฐานจิตตายเลย การปฏิบัติควรทำให้จริงจัง นับวันคนเราก็อายุมากขึ้น จะมัวรอช้าอยู่ทำไม เวลาไม่คอยใคร ควรเริ่มทำได้แล้ว"

หลวงตายังเตือนอีกว่า "เริ่มปฏิบัติซะ เพราะเราไม่มีทางรู้ว่าเราจะไปเมื่อไหร่ อย่างน้อยๆ เราก็ ๑ ใน ๕๐ หรือ ๑๐๐ ก็ยังดี จะรอครูบาอาจารย์มาคอยชี้ คอยเตือนคงไม่ไหว มาหาหลวงตาลองคิดดู ถ้าหลวงตาเข้ากุฏิ ปิดประตูไปก็เรียบร้อย เราต้องไล่ของเราเองแล้ว ใครก็ไล่ให้เราไม่ได้ เวลาเราไปไหนกับเขา เราได้รู้ได้ฟังอะไรมา เราก็ต้องนำเอากลับมาพิจารณาเองทุกครั้ง ต้องทำนะ"


 หลวงตาถามลูกศิษย์ว่า "เวลากราบพระ กราบกันอย่างไร หรือเพียงแต่กราบเท่านั้น หรือกราบอย่างที่ผู้ใหญ่ทั่วๆ ไปสอนเด็ก เอา...กราบ ๑ กราบ ๒ กราบ ๓" แล้วท่านก็หัวเราะแล้วก็เมตตาสอนว่า

"เวลากราบพระต้องกราบด้วยความเคารพจริงๆ ให้ตั้งจิตระลึกถึงองค์พระตรงหน้า แล้วตั้งจิตตั้งใจกราบ


 โดยกราบครั้งที่ ๑ ให้นึกในใจว่า พุทธัง ชีวิตัง เมปูเชมิ
กราบครั้งที่ ๒ ว่า ธัมมัง ชีวิตัง เมปูเชมิ
กราบครั้งที่ ๓ ว่า สังฆัง ชีวิตัง เมปูเชมิ

ความหมายก็คือ
ข้าพเจ้าขอบูชาพระพุทธเจ้า พระธรรมเจ้า พระสงฆ์เจ้า ด้วยชีวิต"


 "...เช่นกัน ในขณะที่เราเดินทางไปนอกเคหะสถานพบพระพุทธรูปที่ใด หรือได้ไปในสถานที่ใด ที่มีความสำคัญทางพระพุทธศาสนา ก็ให้เราตั้งจิตเอากายใน (กายทิพย์) ลงกราบแล้วสวด
บทมหาจักรพรรดิ ๑ จบที่ว่าด้วย


 นะโมพุทธายะ พระพุทธะ ไตรรัตนะญาณ
มณีนพรัตน์ สีสะหัสสะ สุธรรมา
พุทโธ ธัมโม สังโฆ ยะธาพุทโมนะ
พุทธะบูชา ธัมมะบูชา สังฆะบูชา
อัคคีทานัง วะรังคันธัง สีวลี จะมหาเถรัง
อะหังวันทามิ ทูระโต อะหังวันทามิ ธาตุโย
อะหังวันทามิ สัพพะโส
พุทธะ ธัมมะ สังฆะ ปูเชมิ


 บทมหาจักรพรรดิ เป็นการบูชาพระพุทธเจ้าทั้ง ๕ พระองค์ พระธรรม พระสงฆ์ พระสีวลี สถานที่ศักดิ์สิทธิ์ทั่วไป พระบรมสารีริกธาตุ และพระธาตุทั้งหลายในแสนโกฏิจักรวาล พร้อมทั้งสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลาย บทนี้บทเดียว สามารถบูชาไปทั่วทั้งแสนโกฏิจักรวาลพอจบบทมหาจักรพรรดิ ก็ให้กล่าวคำว่า

 พุทธัง ชีวิตตัง เม ปูเชมิ
ธัมมัง ชีวิตตัง เม ปูเชมิ
สังฆัง ชีวิตตัง เม ปูเชมิ

แล้วกล่าว
พุทธัง วันทามิ
ธัมมัง วันทามิ
สังฆัง วันทามิ
ครูอุปัชฌาย์อาจาริยคุณัง วันทามิ
มาตาปิตุคุณัง วันทามิ
พระไตรสิกขาคุณัง วันทามิ

เป็นการกราบพระ ๖ ครั้ง.."


 การภาวนาหลวงปู่ดู่สอนเอาไว้ว่า

 "ให้หมั่นภาวนาเข้าไว้
นึกได้เมื่อไรก็ภาวนาเลย
เป็นการเกลี่ยจิตตัวเอง ก่อนที่จะปฏิบัติธรรม"


 หลวงตาเมตตาแนะนำอีกว่า
"เรานักปฏิบัติทั้งหลาย อย่าปล่อยเวลาให้หมดไปโดยเปล่าประโยชน์ ให้หมั่นภาวนาไว้ตลอดเวลา พอลืมตาตื่นก็ให้ภาวนาไปจนถึงเวลานอน ให้คำภาวนานั้นหายไปพร้อมกับการหลับ ทำเช่นนี้ให้เคยชิน ไม่ว่าขณะนั้นกำลังทำอะไรอยู่ก็ตาม ไม่ว่าจะอยู่ในรถ ในเรือ หรือเดินอยู่ ก็ต้องภาวนา อย่าประมาท การภาวนานี้นอกจากจะเป็นบุญ และทำให้จิตได้ทำงานแล้ว ยังช่วยให้เราไม่ประมาทในความตายด้วย เพราะไม่มีใครรู้หรอกว่า ตัวเองจะตายเมื่อไหร่ นอกจากพระอรหันต์ท่านเท่านั้น ฉะนั้น จงภาวนาไป ไม่เสียหาย ไม่เสียตัง
มีแต่กำไร..."


 "...การภาวนานั้น ต้องเอาจิตจับองค์พระตลอดเวลา พระองค์ไหนก็ได้ ไม่ว่าจะเป็นพระพุทธรูป หรือพระอริยสงฆ์ องค์ใดก็ได้ที่เรานับถือ ที่เราคุ้นเคย เวลาตายจะได้มีที่ไป คือไปกับพระ เพราะจิตเราจะระลึกแต่พระตลอดเวลาจนเคยชิน ตัวอย่างมีให้ดูตั้งมากมาย เห็นไหมเวลาคนใกล้ตาย เขาจะมีคนไปคอยบอกอยู่ข้างหูว่า ให้คิดถึงพระเข้าไว้ ให้ภาวนา หรือไม่ก็สวดมนต์ พยายามทำทุกวิถีทางให้จิตของคนที่ใกล้ตาย คิดอยู่แต่เรื่องพระ เรื่องกุศล   เพราะอะไร ก็เพราะว่าจิตของคนเราตอนที่ใกล้จะดับนี้แรงนัก ถ้าจิตตอนนั้นคิดแต่เรื่องดีๆ ในที่นี้หมายถึงเรื่องบุญ พอตายไปก็เสวยสุข ไม่ต้องไปนรก ถ้าคิดถึงเรื่องบาป ก็โน่น ไปเลยนรก ไปรับกรรมที่ตัวก่อ จำไว้ให้ดี แล้วก็ไปเลือกเอา จะภาวนาตอนนี้หรือจะรอใกล้ตายค่อยภาวนา ถึงตอนนั้นก็ตัวใครตัวมัน ถือว่าบอกแล้ว..."