เว็บพุทธภูมิ: พุทธภูมิ พระโพธิสัตว์ การบำเพ็ญบารมี



ผู้เขียน หัวข้อ: คาถามหาจักรพรรดิ . . .  (อ่าน 6365 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ Webmaster

  • Administrator
  • สมาชิก
  • *****
  • กระทู้: 404
    • ดูรายละเอียด
คาถามหาจักรพรรดิ . . .
« เมื่อ: กุมภาพันธ์ 22, 2014, 08:59:52 PM »


ย้อนรอย คาถามหาจักรพรรดิ . . .

บทบูชาฉบับเต็ม สามารถนำไปพิมพ์ได้คลิ๊ก http://luangtamalives.com/images/stories/download/chakkavatti.pdf

“นะโมพุทธายะ พระพุทธะ ไตรรัตนะญาณ มณีนพรัตน์ สีสะหัสสะ สุธรรมา พุทโธ ธัมโม สังโฆ ยะธาพุทโมนะ พุทธะบูชา ธัมมะบูชา สังฆะบูชา อัคคีทานัง วะรังคันธัง สีวลี จะมหาเถรัง อะหังวันทามิ ทูระโต อะหังวันทามิ ธาตุโย อะหังวันทามิ สัพพะโส พุทธะ ธัมมะ สังฆะ ปูเชมิ”

“พระคาถามหาจักรพรรดิ” เป็นพระคาถาที่ได้แรงบันดาลใจมาจาก“ชมพูปติสูตร” ในตอนที่พระพุทธเจ้าทรงเนรมิตพระองค์เป็นพระเจ้าจักรพรรดิเพื่อกำราบทิฐิพญา ชมพูบดีพระมหากษัตริย์ผู้มากด้วยอิทธิฤทธิ์ โดยผู้ที่รจนาพระคาถาบทนี้ขึ้นมาก็คือ หลวงปู่ดู่ พรหมปัญโญ แห่งวัดสะแก จ.อยุธยา พระผู้เป็นดั่งร่มโพธิ์แก้วที่แผ่กิ่งก้านใบบุญบารมีมอบความร่มเย็นเป็นสุข ให้แก่ลูกศิษย์ทั่วทุกชนชั้นอย่างไม่มีประมาณตามแนวทางแห่งพระศรีอาริยเมตไตรย์โพธิสัตว์และหลวงปู่ทวดเหยียบน้ำทะเลจืด ซึ่งพระคาถานี้เป็นพระคาถาหลักที่หลวงปู่ดู่ใช้ในการรวมบารมีแผ่เมตตาช่วย เหลือภพภูมิทั้งหลายทั่วสามแดนโลกธาตุ และใช้ในการอธิษฐานจิตปลุกเสกพระเครื่องทุกชนิดของท่าน โดยท่านได้ถ่ายทอดความรู้ทั้งหลาย รวมทั้งพระคาถามหาจักรพรรดินี้ ไว้ให้แก่ลูกศิษย์ผู้เป็นหน่อโพธิ์แก้วต้นใหม่ที่จะทำหน้าที่สร้างความร่ม เย็นเป็นสุขให้แก่ลูกศิษย์ในรุ่นหลังต่อไปก็คือ พระอาจารย์วรงคต วิริยธโร หรือ หลวงตาม้า แห่งวัดถ้ำเมืองนะ นั่นเอง

เคยมีลูกศิษย์ที่ทันสังขารหลวงปู่ดู่ท่านหนึงสนทนากับหลวงปู่ถึงเรื่อง 'คาถามหาจักรพรรดิ' ลูกศิษย์ "หลวงพ่อเป็นผู้แต่งคาถาบูชาพระ คาถามหาจักรพรรดิ ใช่มั้ยครับ"

หลวงปู่ "สำเภาเขาสร้างพระพุทธรูป อยากได้คาถาบูชาพระก็เลยมานึกเอาเอง มันจะผิดอยู่หน่อยหนึ่งตรงคำบูชาที่มี นะโมพุทธายะ แล้วก็ ยะธาพุทโมนะ หรือแกว่าไง" หลวงปู่ท่านถามเป็นนัยๆ

ลูกศิษย์ "ปกติ การตั้งองค์พระ การอธิษฐานให้เป็นพระ โบราณเขาใช้กันว่า นะโมพุทธายะ ยะธาพุทโมนะ ดังการที่หลวงพ่อกล่าวเช่นนี้ต้องการให้บูชาคาถาเกิดเป็นพระพุทธเจ้าปางมหาจักรพรรดิใช่ไหมครับ"

หลวงปู่ดู่ท่านพยักหน้ารับ ทั้งหลวงปู่ดู่ยังกล่าวต่อไปเกี่ยวกับบทบูชาพระที่นิยมนำมาเรียกกันว่าคาถาจักรพรรดิในปัจจุบันนี้อีกว่า

"คาถา บทนี้เป็นของดี หมั่นท่องไว้ทุกวัน ปกติเขาไม่ให้กันหรอกเพราะเขากลัวลูกศิษย์จะดีกว่าอาจารย์ แต่ข้าไม่เคยกลัวและไม่ปิดบัง ท่องให้ดีนะอีกหน่อยจะรวย เพราะมีการกล่าวถึงพระสิวลีผู้เป็นเลิศทางลาภไว้ด้วย อาบไปเสกไปก็ได้ กินข้าวก็ได้ ดีทั้งนั้น ทุกสิ่งทุกอย่างที่ข้ามาบอกพวกแก ข้าทดลองมาแล้วทั้งนั้น เมื่อดีแล้วจึงมาบอก ดังนั้นทุกสิ่งทุกอย่างอยู่ที่ศรัทธาและหมั่นฝึกฝนปฏิบัติ คนเราอยู่ดีๆจะให้รวยได้อย่างไร ต้องปฏิบัติเสียก่อน ดูอย่างข้าเมื่อก่อนต้องไปยืมเงินเขามาซื้อธูปเทียนใบชามาเลี้ยงแขก เดี๋ยวนี้ของกินของใช้มีใช้เกลื่อนกลาดไป เรามาพบไม้งามเมื่อขวานบิ่น แกว่าจริงไหมของดีของอร่อยกินก็ไม่ได้ ฟันไม่มี" หลวงพ่อหัวเราะ และยังเสริมอีกว่า

"คนเราต้องทำให้ดีเมื่อดีแล้วจึงรวย แล้วจะได้ไม่ซวย พระจะดีต้องหมดอยาก ถ้ายังอยากอยู่ก็ไม่ใช่พระดี"

คาถาบูชาพระที่หลวงปู่ดู่ท่านย้ำเอาไว้ให้หมั่นท่องไว้ทุกวันนั้น ต่อมาภายหลังมีลูกศิษย์นำไปสวด แล้วเห็นว่ากายทิพย์ทรงเครื่องเป็นมหาจักรพรรดิ และมีพลังงานขับเคลื่อนเป็นพิเศษทำนองนั้น จึงได้นำมากราบเรียนถามหลวงตาม้าในโอกาสที่หลวงตาลงมา กทม. วันหนึ่ง หลวงตาจึงไขความลับให้ฟังทั่วกันว่า ขณะที่สวดคาถามหาจักรพรรดินั้น ถ้าเทวดาผ่านมาก็จะเห็น แม้แต่ หนู หมา แมว บางครั้งก็สามารถเห็นมิตินี้ได้เช่นกัน

ทุกอย่างที่หลวงปู่ตั้งใจรวบรวมเอาไว้ในพระคาถา ดังที่หลวงตาได้อธิบายเอาไว้ จะมาปรากฏที่กายพลังงานของผู้สวดตลอดเวลาที่กำลังสวด ที่หลวงตาเรียกว่าจิตทำการบันทึกบุญเอาไว้ตลอดเวลา หรือหลังจากสวดแล้ว เจ้าตัวสามารถทรงอารมณ์นั้นเอาไว้ได้ กายพลังงานก็จะมีพลังงานต่างๆในพระคาถาปรากฏอยู่ พลังงานในพระคาถาเป็นอย่างนี้เอง หลวงปู่ดู่จึงได้เน้นย้ำเอาไว้ ให้ลูกหลานหมั่นสวดเป็นประจำ จะกินจะดื่ม จะอาบน้ำก็ดี หรือนึกขึ้นได้เมื่อใดสวดเมื่อนั้น ด้วยเกิดพลังงานบุญกุศลที่ยิ่งใหญ่มหาศาล

ที่หลวงปู่ไม่ได้แจงรายละเอียด รอเวลาเมื่อสิ่งเหล่านี้ได้มาปรากฏในผู้สวดแล้ว จึงนำมาถามถึงปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นกับตนว่าเป็นสิ่งไรกันแน่....เป็นการพิสูจน์คุณวิเศษของพระคาถาที่มีคุณประโยชน์ใหญ่หลวงแก่ผู้ที่สวดช่วยทำให้ตนเป็นที่พึ่งแห่งตนได้ในที่สุด หลวงปู่ท่านพูดน้อยแต่แฝงเอาไว้ด้วยนัยแห่งคุณประโยชน์ที่ยิ่งใหญ่ . . .

หลวงปู่สร้างพระตลอดมาตั้งแต่สมัยบวชใหม่ ท่านบอกว่า ใจเราจะได้อยู่กับพระ เป็นบุญเป็นกุศลดีกว่าไปทำอย่างอื่น จนมาถึงครั้งสำคัญ ที่ท่านได้วิชามหาจักรพรรดิ คือ ท่านเจ้าคุณใหญ่ มีหนังสือขอมโบราณ หลวงปู่เอามาอ่านตอนที่พระพุทธองค์ปราบท้าวมหาชมพู ซึ่งถือตัวว่าเป็นพระมหาจักรพรรดิมีอำนาจมาก ท่านเล่าให้ฟังว่า "อ่านไปก็ยิ่งมีความปิติ อ่านจนถึงเกือบเที่ยงคืน จนเจ้าคุณใหญ่กลับมาจากงานสวด ตั้งแต่นั้นก็ทำเรื่อยมา ของอะไรก็ตามไม่ใช่ทำวันเดียว ต้องทำหลายครั้งจึงจะได้ ข้าเคยไปสักกับหลวงพ่อแสงที่บางบาล สักแล้วก็เข้าไปขอคาถาท่านว่า "ถ้าไม่กินก็ไม่ต้องทำ" พูดแล้วปิดกุฏิเข้าไปเลยไม่ออกมา เราก็มานั่งตรองดูก็จริงตามที่ท่านว่า คือ คนที่ไม่กินก็ต้องตาย อยู่ในโลกก็ต้องทำงาน พวกแกตอนนี้ต้องอยู่ในโลก เหยียบเรือ ๒ แคมไปก่อน โลกบ้างธรรมบ้าง โลกอย่างเดียวก็ไม่ดี ธรรมอย่างเดียวก็ต้องบวช ค่อยๆ ทำไปเถิด นักศึกษาที่เรียนหนังสือ ถ้าลองทำให้ดี เราเรียนเพื่อตัวเอง เพื่อพ่อแม่ เพื่อประเทศชาติ เราคิดอย่างนี้ก็ได้บุญแล้ว" ท่านพูดถึงที่มาของคาถามหาจักรพรรดิ และยังแถมท้ายเรื่องที่ชวนคิดเป็นธรรมะอีกด้วย

หลวงปู่ดู่ท่านยังกล่าวถึงการใช้บทบูชาพระหรือคาถาพระมหาจักรพรรดิของท่านว่า"ข้าเป็นคนโลภมากทำอะไรก็อยากทำให้มากที่สุด ดีที่สุด เดี๋ยวนี้ใช้แค่บทนี้ทั้งนั้น ใครมานั่งคุมเล่าข้าเสกเขาก็รู้เองแหละว่าทำจริงหรือไม่จริง"

หลวงปู่ดู่ท่านเคยมีลูกศิษย์คนหนึ่งเป็นพระ ต่อมาท่านไม่มาหาหลวงพ่ออีกเนื่องจากหลวงพ่อพูดว่า "ยังไม่ไปนิพพานเพราะต้องโปรดคน" แต่พระองค์นี้ไปตีความไปว่าหลวงพ่อยังติดอยู่กับ ลาภยศ ชื่อเสียง ซึ่งความจริงแล้วหลวงพ่อมีเมตตาและบอกความปราถนาของท่านให้ทราบว่าท่านเป็น พระโพธิสัตว์

สาเหตุอันเนื่องจากการที่บทความนี้กล่าวท้าวความเกี่ยวกับบท ชมพูบดีสูตร หรือบทมหาจักรพรรดิ์ไว้เนื่องจากปัจจุบันขาดผู้สนใจ เห็นเป็นเรื่องเหลวไหล แม้แต่พระบางองค์ท่านยังกล่าวว่าเกินความจริง โดยท่านลืมนึกถึงคำว่า "อจินไตย" คือสิ่งไม่ควรคิดเพราะไม่สามารถนำเหตุผลทางโลกหรือทางทฤษฎีมาทำให้เกิดความ กระจ่างได้ เป็นเรื่องของผู้ปฏิบัติพึงรู้ได้เอง ถ้าคิดมากอาจเป็นบ้า สิ่งเหล่านี้ได้แก่

1. พุทธวิสัย วิสัยของพระพุทธเจ้า เช่น ทำไมท่านถึงตรัสรู้ได้ ท่านมีอิทธิปาฏิหาริย์จริงหรือ
2.วิสัยของกรรม เช่น ทำไมคนนั้นคนนี้รวย จน สมบูรณ์ กำพร้า
3.วิสัยของพระอรหันต์ เช่น ท่านหมดโลภ โกรธ หลงหรือ
4.วิสัยของโลก เช่น โลกเกิดมาได้อย่างไร
5.วิสัยของผู้ปฏิบัติธรรม เช่น ลักษณะที่สงบเป็นอย่างไร สงบจริงหรือไม่