เว็บพุทธภูมิ: พุทธภูมิ พระโพธิสัตว์ การบำเพ็ญบารมี



ผู้เขียน หัวข้อ: พระอดีตวงศ์องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่ได้มาตรัสรู้ในอดีตกาล  (อ่าน 83516 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 7 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ Webmaster

  • Administrator
  • สมาชิก
  • *****
  • กระทู้: 404
    • ดูรายละเอียด
พระกกุสันธะพุทธเจ้า

หลังจากศาสนาของพระเวสภูพุทธเจ้าล่วงไป ๒๙ กัป จึงได้ถึงกัปปัจจุบัน เรียกว่าภัททกัป มีพระพุทธเจ้ามาอุบัติแล้ว ๔ พระองค์ พระพุทธเจ้าองค์แรกทรงพระนามว่า พระกกุสันธะพุทธเจ้า
พระกกุสันธะพุทธเจ้า เกิดในสกุลพราหมณ์ชื่อว่า กกุสันธะกุมาร เป็นบุตรของพราหมณ์ปุโรหิตในราชสำนักของพระเจ้าเขมังกร เขมะวดีนคร นามว่าอัคคิทัตตะพราหมณ์ มารดาชื่อวิสาขาพราหมณี
กกุสันธะกุมารเกษมสำราญอยู่ ๔,๐๐๐ ปี ในปราสาท ๓ หลัง คือ กามะปราสาท กามวัณณะปราสาท และกามสุทธิปราสาท มีภริยาชื่อว่า โรจินีพราหมณี และมีบาทบริจาริกาแวดล้อมอีก ๓๐,๐๐๐ นาง
วันหนึ่ง กกุสันธะพราหมณ์ได้เห็นเทวทูตทั้งสี่ คือ คนแก่ คนเจ็บ คนตาย และนักบวช จึงมีใจน้อมไปทางบรรพชา
เมื่อนางโรจินีพราหมณีให้กำเนิดบุตร นามว่า อุตตระกุมาร จึงได้ออกบรรพชาโดยรถม้า โดยมีผู้ออกบรรพชาตามจำนวน ๔๐,๐๐๐ คน
กกุสันธะพราหมณ์บำเพ็ญเพียรอยู่เป็นเวลา ๘ เดือน จนถึงวันเพ็ญเดือนวิสาขะ รับข้าวมธุปายาสจากธิดาวชิรินธพราหมณ์ ณ สุจิรินธนิคม และรับหญ้า ๘ กำจากคนเฝ้าไร่ข้าวเหนียวชื่อ สุภัททะ ปูลาดใต้ต้นสิรีสะ (ต้นซึก) เป็นโพธิบัลลังก์ และได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าในคืนนั้น
พระกกุสันธะพุทธเจ้าทรงเสด็จไปยังป่าอสิปตนะมิคทายวัน ใกล้มกิลนคร ทรงแสดงปฐมเทศนาแก่พระสาวกที่ออกบวชติดตามจำนวน ๔๐,๐๐๐ รูป ทำให้พระสาวกทั้งหลาย สำเร็จเป็นพระอริยบุคล

ธรรมาภิสมัยในพุทธกาลของพระกกุสันธะพุทธเจ้าบังเกิดขึ้น ๓ วาระ คือ
วาระที่ ๑ แสดงปฐมเทศนา
ธรรมาภิสมัยบังเกิดแก่มนุษย์และเทวดา ๔๐,๐๐๐ โกฏิ
วาระที่ ๒ แสดงยมกปาฏิหาริย์ ที่ กัณณกุชชนคร
ธรรมาภิสมัยบังเกิดแก่มนุษย์และเทวดา ๓๐,๐๐๐ โกฏิ
วาระที่ ๓ แสดงธรรมแก่ยักษ์ นรเทพ
ธรรมาภิสมัยบังเกิดแก่มนุษย์และเทวดานับจำนวนไม่ได้

พระกกุสันธะพุทธเจ้า ทรงประชุมสาวกสันนิบาตเพียงครั้งเดียว โดยทรงแสดงปาฏิโมกข์แก่พระสงฆ์สาวก ๔๐,๐๐๐ รูป ที่ได้รับฟังปฐมเทศนาที่ป่าอิสิปัตนมิคทายวัน

พระกกุสันธะพุทธเจ้าทรงมีพระสาวกองค์สำคัญ คือ
พระอัครสาวก คือ พระวิธุระเถระ และพระสัญชีวะเถระ
พระอัครสาวิกา คือ พระสามาเถรี และพระจัมปาเถรี
พระอุปัฏฐาก คือ พระพุทธิชะ

พระกกุสันธะพุทธเจ้าทรงมีพระวรกายสูง ๔๐ ศอก มีพระรัศมีแผ่ไปไกล ๑๐ โยชน์ เมื่อพระชนมายุได้ ๔๐,๐๐๐ ปี จึงปรินิพพาน

ออฟไลน์ Webmaster

  • Administrator
  • สมาชิก
  • *****
  • กระทู้: 404
    • ดูรายละเอียด
พระโกนาคมนะพุทธเจ้า

หลังจากศาสนาของพระกกุสันธะพุทธเจ้าล่วงไป จึงได้ถึงสมัยของพระพุทธเจ้าทรงพระนามว่า พระโกนาคมนะพุทธเจ้า อุบัติขึ้นในภัททกัปเดียวกัน
พระโกนาคมนะพุทธเจ้า เกิดเป็นบุตรของพราหมณ์แห่งโสภวดีนคร นามว่า โกนาคมนะกุมาร บิดาคือยัญญทัตตพราหมณ์ และมารดาคืออุตตราพราหมณี
โกนาคมนะกุมารเกษมสำราญอยู่ ๓,๐๐๐ ปี ในปราสาท ๓ หลัง คือ ดุสิตะปราสาท สันดุสิตะปราสาท และสันตุฏฐะปราสาท มีภริยาชื่อว่า รุจิคัตตาพราหมณี และมีบาทบริจาริกาแวดล้อมอีก ๑๖,๐๐๐ นาง
วันหนึ่ง โกคมนะพราหมณ์ได้เห็นเทวทูตทั้งสี่ คือ คนแก่ คนเจ็บ คนตาย และนักบวช จึงมีใจน้อมไปทางบรรพชา
เมื่อนางโรจินีพราหมณีให้กำเนิดบุตร นามว่า สัตถวาหะกุมาร จึงได้ออกบรรพชาโดยคชยาน โดยมีผู้ออกบรรพชาตามจำนวน ๓๐,๐๐๐ คน
โกนาคมนะพราหมณ์บำเพ็ญเพียรอยู่เป็นเวลา ๘ เดือน จนถึงวันเพ็ญเดือนวิสาขะ รับข้าวมธุปายาสจากอัคคิโสณพราหมณกุมารี ธิดาของอัคคิโสณพราหมณ์ และรับหญ้า ๘ กำจากคนเฝ้าไร่ข้าวเหนียวชื่อ ชฏาตินทุกะ ปูลาดใต้ต้นอุทุมพร (ต้นมะเดื่อ) เป็นโพธิบัลลังก์ และได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าในคืนนั้นเอง
พระโกนาคมนะพุทธเจ้าทรงเสด็จไปยังป่าอสิปตนะมิคทายวัน ใกล้สุทัสสนะนคร ทรงแสดงปฐมเทศนาแก่พระสาวกที่ออกบวชติดตามจำนวน ๓๐,๐๐๐ รูป ทำให้พระสาวกทั้งหลาย สำเร็จเป็นพระอริยบุคล

พระโกนาคมนะพุทธเจ้า ทรงแสดงธรรมาภิสมัยให้บังเกิดขึ้น ๓ วาระ คือ
วาระที่ ๑ แสดงปฐมเทศนา
ธรรมาภิสมัยบังเกิดแก่มนุษย์และเทวดา ๓๐,๐๐๐ โกฏิ
วาระที่ ๒ แสดงยมกปาฏิหาริย์ ที่สุนทรนคร
ธรรมาภิสมัยบังเกิดแก่มนุษย์และเทวดา ๓๐,๐๐๐ โกฏิ
วาระที่ ๓ แสดงธรรมบนดาวดึงส์เทวโลกโปรดพุทธมารดา
ธรรมาภิสมัยบังเกิดแก่เทวดา ๑๐,๐๐๐ โกฏิ

พระโกนาคมนะพุทธเจ้า ทรงประชุมสาวกสันนิบาตครั้งเดียว แก่พระสงฆ์สาวก ๓๐,๐๐๐ รูป ณ สุรินทวดีอุทยาน กรุงสุรินทวดี

พระโกนาคมนะพุทธเจ้าทรงมีพระสาวกองค์สำคัญ คือ
พระอัครสาวก คือ พระภิยโยสะเถระ และพระอุตตระเถระ
พระอัครสาวิกา คือ พระสมุททาเถรี และพระอุตตราเถรี
พระอุปัฏฐาก คือ พระโสตถิชะ

พระโกนาคมนะพุทธเจ้าทรงมีพระวรกายสูง ๓๐ ศอก และปรินิพพานเมื่อมีพระชนมายุได้ ๓๐,๐๐๐ ปี

ออฟไลน์ Webmaster

  • Administrator
  • สมาชิก
  • *****
  • กระทู้: 404
    • ดูรายละเอียด
พระกัสสปะพุทธเจ้า

หลังจากศาสนาของพระโกคมนะพุทธเจ้าล่วงไป จึงได้ถึงสมัยของพระพุทธเจ้าทรงพระนามว่า พระกัสสปะพุทธเจ้า อุบัติขึ้นในภัททกัปเดียวกัน
พระกัสสปะพุทธเจ้า เกิดในสกุลพราหมณ์นามว่ากัสสปะพราหมณ์ เป็นบุตรของพราหมณ์แห่งพาราณสีนคร นามว่าพรหมทัตตะพราหมณ์ มารดาชื่อธนวดีพราหมณี
กัสสปะพราหมณ์เกษมสำราญอยู่ ๒,๐๐๐ ปี ในปราสาท ๓ หลัง คือ หังสวาปราสาท ยสวาปราสาท และสิรินันทะปราสาทมีภริยาชื่อว่า สุนันทาพราหมณี และมีบาทบริจาริกาแวดล้อมอีก ๔๘,๐๐๐ นาง
วันหนึ่ง กัสสปะพราหมณ์ได้เห็นเทวทูตทั้งสี่ คือ คนแก่ คนเจ็บ คนตาย และนักบวช จึงมีใจน้อมไปทางบรรพชา
เมื่อนางสุนันทาพราหมณีให้กำเนิดบุตร นามว่า วิชิตเสนะกุมาร จึงได้ออกบวชโดยปราสาทลอยเลื่อนไปลงที่ต้นนิโครธ (ต้นไทร) ผู้ที่อยู่ในปราสาทนั้นออกบวชตามทั้งหมด ยกเว้นนางบาทบริจาริกา
กัสสปะพราหมณ์บำเพ็ญความเพียรอยู่เป็นเวลา ๗ วัน จนถึงวันเพ็ญเดือนวิสาขะ รับข้าวมธุปายาสจากนางสุนันทาพราหมณี และรับหญ้า ๘ กำจากคนเฝ้าไร่ข้าวเหนียวชื่อ โสมะ ปูลาดใต้ต้นนิโครธ (ต้นไทร) เป็นโพธิบัลลังก์ และได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าในคืนนั้นเอง
พระกัสสปะพุทธเจ้าทรงเสด็จไปยังป่าอิสิปตนะมิคทายวัน ใกล้กรุงพาราณสี และทรงแสดงปฐมเทศนาแก่พระสาวกที่ออกบวชติดตาม ทำให้พระสาวกทั้งหลายเหล่านั้น สำเร็จเป็นพระอริยบุคล

ธรรมาภิสมัยในพุทธกาลของพระกัสสปะพุทธเจ้าบังเกิดขึ้น ๓ วาระ คือ
วาระที่ ๑ แสดงปฐมเทศนา
ธรรมาภิสมัยบังเกิดแก่มนุษย์และเทวดา ๒๐,๐๐๐ โกฏิ
วาระที่ ๒ แสดงยมกปาฏิหาริย์ ที่สุนทรนคร
ธรรมาภิสมัยบังเกิดแก่มนุษย์และเทวดา ๑๐,๐๐๐ โกฏิ
วาระที่ ๓ แสดงธรรมบนดาวดึงส์สวรรค์
ธรรมาภิสมัยบังเกิดแก่เทวดา ๕,๐๐๐ โกฏิ

พระกัสสปะพุทธเจ้า ทรงประชุมสาวกสันนิบาตเพียงครั้งเดียว

พระกัสสปะพุทธเจ้าทรงมีพระสาวกองค์สำคัญ คือ
พระอัครสาวก คือ พระติสสะเถระ และพระภารทวาชะเถระ
พระอัครสาวิกา คือ พระอนุฬาเถรี และอุรุเวฬาเถรี
พระอุปัฏฐาก คือ พระสัพพมิตตะ

พระกัสสปะพุทธเจ้าทรงมีพระวรกายสูง ๒๐ ศอก เมื่อพระชนมายุได้ ๒๐,๐๐๐ ปี จึงปรินิพพาน ณ เสตัพยอุทยาน ใกล้เสตัพยนคร แคว้นกาสี

ออฟไลน์ Webmaster

  • Administrator
  • สมาชิก
  • *****
  • กระทู้: 404
    • ดูรายละเอียด
พระสมณโคตมพุทธเจ้า

หลังจากศาสนาของพระกัสสปะพุทธเจ้าล่วงไป จึงได้ถึงสมัยของพระพุทธเจ้าทรงพระนามว่า พระสมณโคตมพุทธเจ้า อุบัติขึ้นในอันตรกัปที่ ๑๒ แห่งภัททกัปนี้
พระสมณโคตมพุทธเจ้า ทรงประสูติเป็นสิทธัตถะราชกุมาร ในศากยวงศ์แห่งกรุงกบิลพัสดุ์ พระราชบิดาทรงพระนามว่าพระเจ้าสุทโธทนะ และพระราชมารดาทรงพระนามว่าพระนางสิริมหามายาเทวี
สิทธัตถะราชกุมารทรงเกษมสำราญอยู่ ๒๙ ปี ในปราสาท ๓ หลัง คือ สุจันทะปราสาท โกกนุทะปราสาท และโกญจะปราสาท ทรงมีพระเทวีนามว่า ยโสธราพิมพา มีนางสนมนารีแวดล้อม ๔๐,๐๐๐ นาง
วันหนึ่ง เจ้าชายสิทธัตถะทรงทอดพระเนตรเห็นเทวทูตทั้งสี่ คือ คนแก่ คนเจ็บ คนตาย และนักบวช พระองค์จึงมีพระทัยน้อมไปทางบรรพชา
เมื่อพระนางพิมพาเทวีประสูติพระโอรส พระนามว่า ราหุลกุมาร จึงได้เสด็จออกบรรพชาโดยทรงม้าชื่อกัณฑกะ มีผู้บรรพชาติดตาม ๕ คน เรียกว่า ปัญจวัคคีย์
เจ้าชายสิทธัตถะทรงบำเพ็ญความเพียรอยู่เป็นเวลา ๖ ปี จนถึงวันเพ็ญเดือนวิสาขะ ทรงรับข้าวมธุปายาสจากนางสุชาดา ตำบลอุรุเวลาเสนานิคม และรับหญ้า ๘ กำจากคนหาบหญ้าชื่อ โสตถิยะ ปูลาดใต้ต้นอัสสัตถะ (ต้นโพธิใบ) เป็นโพธิบัลลังก์ และได้ตรัสรู้เป็นพระปัญญาธิกะพุทธเจ้าในคืนนั้น
พระสมณโคตมพุทธเจ้าทรงแสดงปฐมเทศนาที่ป่าอิสิปัตนะมิคทายวัน แก่ปัญจวัคคีย์ ทำให้ปัญจวัคคีย์สำเร็จเป็นพระอริยบุคคล

ธรรมาภิสมัยในพุทธกาลของพระสมณโคตมพุทธเจ้าบังเกิดขึ้น ๓ วาระ คือ
วาระที่ ๑ แสดงปฐมเทศนา
ธรรมาภิสมัยบังเกิดแก่พระอัญญาโกณฑัญญะและเทวดา ๑๘ โกฏิ
วาระที่ ๒ แสดงธรรมในมหามงคลสมาคมแก่มนุษย์และเทวดาทั่วหมื่นจักรวาล
ธรรมาภิสมัยบังเกิดแก่มนุษย์และเทวดานับจำนวนไม่ได้
วาระที่ ๓ แสดงธรรมแก่ราหุลกุมาร
ธรรมาภิสมัยบังเกิดแก่มนุษย์และเทวดานับจำนวนไม่ได้

พระสมณโคตมพุทธเจ้าทรงมีพระสาวกองค์สำคัญ คือ
พระอัครสาวก คือ พระสารีบุตรเถระ และพระโมคคัลลานะเถระ
พระอัครสาวิกา คือ พระเขมาเถรี และพระอุบลวรรณาเถรี
พระอุปัฏฐาก คือ พระอานนท์

พระสมณโคตมพุทธเจ้า ทรงประชุมสาวกสันนิบาตเพียงครั้งเดียว จำนวนพระสงฆ์ ๑,๒๕๐ รูป

พระสมณโคตมพุทธเจ้าทรงมีพระวรกายสูง ๑๘ ศอก พระรัศมีแผ่ไปได้ ๔ ศอกโดยรอบ เมื่อพระชนมายุได้ ๘๐ ปี จึงปรินิพพานที่เมืองกุสินารา

ออฟไลน์ Webmaster

  • Administrator
  • สมาชิก
  • *****
  • กระทู้: 404
    • ดูรายละเอียด
ตำนานพระปริตร : อาฏานาฏิยปริตร

   

อาฏานาฏิยปริตร

บทขัดอาฏานาฏิยปริตร

องค์สมเด็จพระผู้มีพระภาค ผู้เป็นมหาวีรบุรุษ ทรงแสดงพระปริตรใด เพื่อคุ้มกันพุทธบริษัททั้ง ๔ มิให้ถูกเบียดเบียน จากอมนุษย์ทั้งหลาย ที่ดุร้ายสันดานหยาบช้า ไม่เลื่อมใสในพระพุทธศาสนา ซึ่งบัณฑิตทั้งหลายรับรองแล้วว่า เป็นศาสนาดีทุกเมื่อ ท่านผู้เจริญทั้งหลายพึงสวดพระปริตรนั้นเทอญ

ตำนาน

สมัยหนึ่งสมเด็จ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงเสด็จประทับอยู่ ณ ภูเขาคิชฌกูฎบรรพต ใกล้กรุงราชคฤห์มหานคร ในครั้งนั้น ท้าวจาตุมมหาราชทั้ง ๔ ซึ่งสถิตย์อยู่เหนือยอดเขายุคันธร ที่เรียกว่าชั้นจาตุมหาราชิกา อันเป็นชั้นต่ำกว่า สวรรค์ชั้นดาวดึงส์ลงมาซึ่งเป็นที่สถิตย์ขององค์อินทราธิราช

พระอินทร์ ทรงมีเทวะพระบัญชาให้มหาราชทั้ง ๔ ทำหน้าที่เฝ้ารักษาประตูสวรรค์ในทิศทั้ง ๔ เพื่อป้องกันมิให้พวกอสูรมารบกวน โดยมี

ท้าวธตรฐ ผู้เป็นเจ้าแห่งพวกคนธรรพ์ รักษาทิศบูรพา
ท้าววิรุฬหก เป็นเจ้าแห่งกุมภัณฑ์ รักษาทิศทักษิณ
ท้าววิรูปักษ์ เป็นเจ้าแห่งนาคทั้งปวง รักษาทิศปัจจิมท้าวเวสวัน เป็นเจ้าแห่งยักษ์ รักษาทิศอุดร

ท้าวมหาราชทั้ง ๔ มีจิตเลื่อมใสศรัทธา ปรารถนาจะเกื้อกูลพระพุทธศาสนา มิให้พวกอสูร หรือพวกศัตรูมาย่ำยีบีฑา แด่พระภิกษุสงฆ์สาวกของพระบรมสุคตเจ้า

จึงคิดจะชวนกันลงมาเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า แต่ก็ห่วงภาระหน้าที่ที่จะต้องดูแลรักษาความสงบเรียบร้อยในประตูสวรรค์ทั้ง ๔ ทิศ มหาราชทั้ง ๔ จึงมีบัญชาแต่งตั้งให้ คนธรรพ์ กุมภัณฑ์ นาค และยักษ์ อย่างละแสนรักษาประตูสวรรค์ทั้ง ๔ ทิศ ซึ่งก็ให้พวกคนธรรพ์ รักษาทิศบูรพา กุมภัณฑ์รักษาทิศทักษิณ นาครักษาทิศปัจจิม ยักษ์รักษาทิศอุดร

ครั้นแล้ว ท้าวมหาราชทั้ง ๔ ได้ประชุมพร้อมกันที่ อาฏานาฏิยนคร ณ สวรรค์ชั้นจาตุมหาราชิกา พร้อมกับผูกมนต์อาฏานาฏิยปริตร ซึ่งมีเนื้อความสรรเสริญคุณของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทั้ง ๗ พระองค์ มี

พระวิปัสสี ผู้มีสิริอันงาม
พระสิขี พุทธเจ้า ผู้มากด้วยการอนุเคราะห์แก่สัตว์ทั้งปวง
พระเวสสภู พุทธเจ้า ผู้ปราศจากกิเลส มีตบะ
พระกกุสันธะ พุทธเจ้า ผู้มีชัยชนะแก่พญามารและเสนามาร
โกนาคมนะ พุทธเจ้า ผู้มีบาปอันลอยเสียแล้วมีพรหมจรรย์อันจบแล้ว
กัสสปะ พุทธเจ้า ผู้พ้นวิเศษแล้ว จากกองกิเลสทั้งปวง
พระอังคีส พุทธเจ้า ผู้เป็นโอรสแห่งหมู่ศากยราช ผู้มีศักดิ์ มีสิริ ดัง นี้เป็นต้น

ครั้นผูกมนต์พระปริตรแล้ว ท้าวมหาราชทั้ง ๔ จึงประกาศแก่บริวารของตนว่า ธรรมอาณาจักรของพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า อันเป็นบรมครูของเราทั้ง ๔ ถ้ามีผู้ใดสาธยายมนต์ อาฏานาฏิยปริตร นี้ขึ้น แล้วถ้าใครไม่เชื่อฟัง ไม่สดับ จะต้องถูกลงโทษอย่างสาสม รุนแรง

และแล้วมหาราชทั้ง ๔ ก็พร้อมใจกันลงมาเข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า ณ ภูเขาคิชฌกูฏ กราบบังคมทูลว่าหมู่ยักษ์ทั้งหลาย หมู่นาคทั้งหลาย หมู่กุมภัณฑ์ทั้งหลาย และหมู่คนธรรพ์ทั้งหลาย ผู้มีเดช มีศักดา มีอานุภาพ มีจิตกระด้างหยาบช้า ละเมิดเบญจศีลเป็นอาจิณ ที่ยังไม่เลื่อมใสในคุณของพระรัตนตรัยนั้นมีมากพวกที่เลื่อมใสนั้นมีน้อย

เมื่อพระสาวกของพระผู้มีพระภาค เป็นผู้ยินดีในการอยู่ป่า เพื่อบำเพ็ญสมณธรรม ในที่ห่างไกลจากมนุษย์สัญจร อมนุษย์ผู้ไม่เลื่อมใส ย่อมจะย่ำยี หลอนหลอก กระทำให้เจ็บไข้เป็นอันตรายแก่ชีวิตและพรหมจรรย์ แต่ต่อนี้ไปจะไม่บังเกิดเหตุการณ์เช่นนั้นอีกแล้ว ถ้าพระบรมสุคตเจ้าทรงพระกรุณาโปรดรับมนต์อาฏานาฏิยปริตรนี้ไว้ แล้วโปรดประทานให้พระภิกษุสาวก สาธยายอยู่เนือง ๆ อมนุษย์ทั้งปวงก็จะมิกล้าย่ำยีหลอนหลอกทำร้าย อีกทั้งยังจะช่วยปกป้องคุ้มครอง กันภัยทั้งปวงให้อีกด้วยพระเจ้าข้า

องค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงรับมนต์พระปริตรนั้นโดยดุษฏี

ท้าวเวสวัณ ก็แสดงอาฏานาฏิยปริตรนั้นถวายและแล้ว มหาราชทั้ง ๔ ก็ถวายมนัสการลา

สมเด็จพระบรมศาสดา จึงทรงมีพระบัญชาให้ประชุมภิกษุทั้งหลายในที่นั้น แล้วทรงแสดงมนต์พระปริตรนั้นให้แก่ภิกษุทั้งหลายได้เรียนสาธยาย เสร็จแล้วทรงมีพุทธฎีกาตรัสว่า

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ท่านทั้งหลายจงอุตสาหะ สาธยายมนต์พระปริตรนี้ให้บริบูรณ์ในสันดาน จะพ้นจากอุปัทวันอันตรายทั้งปวงได้ อมนุษย์ทั้งหลายก็จะไม่มาย่ำยี หลอนหลอก เธอทั้งหลายจะได้ดำรงค์อยู่เป็นสุข เพื่อยังพรหมจรรย์ให้เจริญ

ภิกษุเหล่านั้นก็เปล่งสาธุการ น้อมรับด้วยเศียรเกล้า จบ

ออฟไลน์ Webmaster

  • Administrator
  • สมาชิก
  • *****
  • กระทู้: 404
    • ดูรายละเอียด


พระพุทธรูปพระพุทธเจ้า ๕ พระองค์

ความหมายของคำว่า “พระพุทธรูป”
พระพุทธรูป หมายถึงรูปเหมือนของพระพุทธเจ้า หรือบางทีเรียกว่า “พระพุทธปฏิมา” แปลว่ารูปเปรียบเสมือนพระพุทธเจ้า นั่นก็คือมิใช่รูปเหมือนพระองค์จริงขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า เพราะปฏิมากรหรือจิตรกรผู้สร้างพระพุทธรูปนั้น ไม่มีใครเคยเห็นองค์จริงของพระพุทธเจ้าเลย ประติมากรรมและจิตรกรรมศิลปะในการสร้างพระพุทธรูปเกิดจากจินตนาการ เป็นพระรูปเนรมิตในมโนภาพของผู้สร้างเอง ซึ่งตั้งอยู่บนพื้นฐานประสบการณ์ สภาพแวดล้อม ทั้งเชื้อชาติ ภูมิประเทศ ความรู้ทางด้านศาสนา ศิลปะ วัฒนธรรม ที่มีอยู่เดิมของช่างจะมีอิทธิพลสูง ทำให้พระพุทธรูปของแต่ละชนชาติ แต่ละยุค แต่ละสมัยแตกต่างกันออกไป เช่น พระพุทธรูปของประเทศใดจะมีพุทธลักษณะคล้ายกับชนชาตินั้น พระพุทธรูปของอินเดีย ก็ไม่เหมือนพระพุทธรูปจีนหรือธิเบต หรือเขมร หรือญี่ปุ่น เป็นต้น แม้ของชนชาติเดียวกันแต่ต่างยุคต่างสมัยกัน ก็จะมีพระพุทธลักษณะแตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัด แต่อย่างไรก็ตาม พุทธศาสนิกชนทุกชาติก็ถือว่าพระพุทธรูปเป็นสัญลักษณ์แทนองค์พระพุทธเจ้า เป็นเสมือนพระพุทธเจ้า เป็นสิ่งเคารพสักการะอย่างสูงสุด ผู้ที่พบเห็นได้เคารพสักการะบูชา กราบไหว้ ระลึกถึงองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ระลึกถึงพระธรรม คำสั่งสอนของพระองค์ และพระสงฆ์สาวก ผู้เป็นศาสนทายาท สืบต่ออายุพระพุทธศาสนาของพระองค์ ก่อให้เกิดศรัทธาปสาทะ เลื่อมใสมั่นคงในพระพุทธศาสนาสืบๆไป

พระพุทธรูปพระพุทธเจ้า ๕ พระองค์
พระพุทธรูปพระพุทธเจ้า ๕ พระองค์ หมายถึงพระพุทธรูปพระพุทธเจ้า ๕ พระองค์ที่ตรัสรู้ในภัทรกัปปัจจุบันนี้คือ พระกกุสันธะ พระโกนาคมนะ พระกัสสปะ พระโคตมะ และพระเมตเตยยะ หรือพระศรีอริยเมตไตรย์
ปริศนาธรรมที่แฝงอยู่ในองค์พระพุทธรูป
พระพุทธรูป แม้เป็นประติมากรรมที่สร้างขึ้นจากวัตถุต่างๆ เช่น ทอง เงิน หิน ดิน ปูน หรือสิ่งใดก็ตาม เมื่อสร้างสำเร็จเป็นพระพุทธรูปแล้ว พระพุทธศาสนิกชนเมื่อทำการกราบไหว้สักการะบูชา ก็มิได้กราบไหว้วัสดุที่สร้าง แต่จะเคารพ สักการะ บูชา และปฏิบัติต่อพระพุทธรูปนั้นเหมือนปฏิบัติต่อองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ประดุจพระองค์ยังทรงพระชนม์อยู่ เป็นสิ่งที่เคารพสักการะสูงสุด ฉะนั้น ในการสร้างพระพุทธรูป ช่างผู้สร้างจะต้องบรรจงสร้างให้มีมิติที่สมบูรณ์แบบที่สุด เพื่อให้ตรงกับพระพุทธลักษณะพระมหาบุรุษลักษณะ ๓๒ ประการ และอนุพยัญชนะ คือพระลักษณะปลีกย่อยของพระมหาบุรุษลักษณะอีก ๘๐ ประการด้วย พระพุทธคุณที่มีอยู่ในพระองค์ด้วย อันประกอบด้วยพระปัญญาธิคุณ พระบริสุทธิคุณ และพระมหากรุณาธิคุณ ตลอดจนพุทธคุณ ๙ ประการ คือ อรหันต์ เป็นผู้ปราศจากกิเลส อาสวะทั้งปวง ควรไหว้บูชา สัมมาสัมพุทโธ เป็นตรัสรู้เองโดยชอบ วิชชาจรณสัมปันโน เป็นผู้สมบูรณ์ด้วยวิชชาและจรณะ สุคโต เป็นผู้เสด็จไปดีแล้ว โลกวิทู เป็นผู้ทรงรู้แจ้งโลกทั้งสาม อนุตตโร ปุริสทัมมสารถิ เป็นผู้ฝึกบุคคลที่ควรฝึกทั้งเทวดาและมนุษย์ ไม่มีผู้ยิ่งไปกว่า สัตถา เทวะมนุสสานัง เป็นศาสดาของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย พุทโธ เป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบานแล้ว ภควา เป็นผู้จำแนกธรรม และผู้สร้างต้องเข้าใจในหลักพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธองค์อย่างแท้จริง จนเกิดมโนภาพเนรมิตพระพุทธรูปเพื่อสื่อแทนพระธรรมที่พระองค์ทรงตรัสรู้และสั่งสอนเวไนยสัตว์ให้พ้นทุกข์ด้วย ฉะนั้น พระพุทธรูปจึงเป็นประติมากรรมชั้นเลิศที่บ่งบอกพุทธลักษณะอันเลิศกว่าเทวดาและมนุษย์ของพระพุทธองค์ให้ได้มากที่สุด และใกล้เคียงความจริงมากที่สุด ผสมกลมกลืนเข้ากับพระพุทธคุณในส่วนที่พระองค์มีอยู่จริง ผสมกลมกลืนเข้ากับหลักปรมัตถธรรมที่พระองค์ตรัสรู้ และบ่งบอกถึงพระพุทธองค์ผู้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า หลุดพ้นจากกิเลสอาสวะทั้งปวง พระพุทธรูปจึงแฝงไว้ซึ่งปริศนาธรรมทางพระพุทธศาสนา ทำให้ผู้พบเห็นมีจิตเคารพเลื่อมใสในพระพุทธองค์ กราบไหว้สักการะเคารพรำลึกถึงพระพุทธองค์ พระพุทธคุณ พระธรรมคุณ ซึ่งเป็นคำสอนอันเป็นปรมัตถสัจธรรม เป็นเบื้องต้นในการก่อให้ศรัทธาในพระพุทธศาสนา และส่งผลไปสู่การน้อมนำพระธรรมไปปฏิบัติซึ่งเป็นธัมมานุธัมมะปฏิบัติ คือปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรมตามกำลังของตน เพื่อความหลุดพ้นจากกองทุกข์คือกิเลสอาสวะทั้งปวงต่อไป
มหาบุรุษลักษณะ ๓๒ ประการ
ดังได้กล่าวมาแล้วว่า ช่างผู้สร้างพระพุทธรูปได้รังสรรค์เนรมิตพระพุทธรูป ให้มีพระพุทธลักษณะใกล้เคียงพระพุทธองค์ตามมโนภาพ อุดมคติของตนเอง โดยยึดหลักของมหาบุรุษลักษณะ ๓๒ ประการ และอนุพยัญชนะ พระลักษณะข้อปลีกย่อยของมหาบุรุษลักษณะอีก ๘๐ ประการ ดังนั้นจะเห็นได้ว่า พระพุทธรูปจึงมีพุทธลักษณะไม่เหมือนรูปปั้นประติมากรรมของคนทั่วไป ซึ่งมีนิ้วพระหัตถ์ นิ้วพระบาทยาวเสมอกัน พระขนงมีสัณฐานอันงามดุจคันธนู เป็นต้น อันนี้ก็เนื่องมาจากจินตนาการจากพระลักษณะของพระมหาบุรุษและอนุพยัญชนะนั้นเอง
ในมหาปทานสูตร ทีฆนิกาย มหาวรรค และลักขณสูตร ปาฏิกวรรค พระสุตตันตปิฎก ได้กล่าวถึงมหาบุรุษลักษณะของพระพุทธองค์ไว้ ๓๒ ประการ คือ
๑. สุปติฏฺฐิตปาโท มีฝ่าพระบาทราบเสมอกัน ๒. เหฎฺฐาปาทตเลสุ จกฺกานิ ชาตานิ ลายพื้นพระบาทเป็นจักร ๓. อายตปณฺหิ มีส้นพระบาทยาว (ถ้าแบ่ง ๔. พระชงฆ์ตั้งอยู่ในส่วนที่ ๓) ๔. ทีฆงฺคุลิ มีนิ้วยาวเรียว (หมายถึงนิ้วพระหัตถ์และพระบาทด้วย) ๕. มุทุตลนหตฺถปาโท ฝ่าพระหัตถ์และฝ่าพระบาทอ่อนนุ่ม ๖. ชาลหตฺถปาโท ฝ่าพระหัตถ์และฝ่าพระบาทมีลายดุจตาข่าย ๗. อุสฺสงฺขปาโท มีพระบาทเหมือนสังข์คว่ำ อัฐิข้อพระบาทตั้งลอยอยู่หลังพระบาท กลับกลอกได้คล่อง เมื่อทรงดำเนินผิดกว่าสามัญชน ๘. เอณิชงฺโฆ พระชงฆ์เรียวดุจแข้งเนื้อทราย ๙. ฐิตโก ว อโนมมนฺโต อุโภหิ ปาณิตเลหิ ชณฺณุกานิ ปรามสติ เมื่อยืนตรง พระหัตถ์ทั้งสองลูบจับถึงพระชานุ ๑๐. โกโสหิตวตฺถคุยฺโห มีพระคุยหะเร้นอยู่ในฝัก ๑๑. สุวณฺณวณฺโณ มีฉวีวรรณดุจสีทอง ๑๒. สุขุมจฺฉวิ พระฉวีละเอียด ธุลีละอองไม่ติดพระกาย ๑๓. เอเกกโลโม มีเส้นพระโลมาเฉพาะขุมละเส้นๆ ๑๔. อุทฺธคฺคโลโม เส้นพระโลมาดำสนิท เวียนเป็นทักษิณาวัฏ มีปลายงอนขึ้นข้างบน ๑๕. พฺรหฺมชุคตฺโต พระกายตั้งตรงดุจท้าวมหาพรหม ๑๖. สตฺตุสฺสโท มีพระมังสะอูมเต็มในที่ ๗ แห่ง (คือหลังพระหัตถ์ทั้ง ๒ และหลังพระบาททั้ง ๒ พระอังสาทั้ง ๒ กับลำพระศอ) ๑๗. สีหปุพฺพฑฺฒกาโย มีส่วนพระสรีรกายบริบูรณ์ (ล่ำพี) ดุจกึ่งท่อนหน้าแห่งพญาราชสีห์ ๑๘. ปีตนฺตรํโส พระปฤษฎางค์ราบเต็มเสมอกัน ๑๙. นิโครธปริมณฺฑโล ส่วนพระกายเป็นปริมณฑล ดุจปริมณฑลแห่งต้นไทร (พระกายสูงเท่ากับวาของพระองค์) ๒๐. สมวฏฺฏกฺขนฺโธ มีลำพระศอกลมงามเสมอตลอด ๒๑. รสคฺคสคฺคี มีเส้นประสาทสำหรับรับรสพระกระยาหารอันดี ๒๒. สีหหนุ มีพระหนุดุจคางแห่งราชสีห์ (โค้งเหมือนวงพระจันทร์) ๒๓. จตฺตาฬีสทนฺโต มีพระทนต์ ๔๐ ซี่ (ข้างละ ๒๐ ซี่) ๒๔. สนทนฺโต พระทนต์เรียบเสมอกัน ๒๕. อวิวรทนฺโต พระทนต์เรียบสนิทมิได้ห่าง ๒๖. สุสุกฺกทาโฐ เขี้ยวพระทนต์ทั้ง ๔ ขาวงามบริสุทธิ์ ๒๗. ปหูตชิวฺโห พระชิวหาอ่อนและยาว (อาจแผ่ปกพระนลาฎได้) ๒๘. พฺรหฺมสโร กรวิกภาณี พระสุรเสียงดุจท้าวมหาพรหม ตรัสมีสำเนียงดุจนกการเวก ๒๙. อภินีลเนตฺโต พระเนตรดำสนิท ๓๐. โคปขุโม ดวงพระเนตรแจ่มใสดุจตาลูกโคเพิ่งคลอด ๓๑. อุณฺณา ภมุกนฺตเร ชาตา มีอุณาโลมระหว่างพระโขนง เวียนขวาเป็นทักษิณาวัฏ ๓๒. อุณฺหิสสีโส มีพระเศียรงามบริบูรณ์ดุจประดับด้วยกรอบพระพักตร์
อนุพยัญชนะ ๘๐
อนุพยัญชนะ หมายถึงลักษณะข้อปลีกย่อยหรือส่วนประกอบเสริมของพระมหาบุรุษลักษณะ ซึ่งช่างผู้บรรจงสร้างพุทธปฏิมาจะต้องคำนึงถึงด้วย มี ๘๐ ประการ คือ
๑. มีนิ้วพระหัตถ์และนิ้วพระบาทอันเหลืองงาม ๒. นิ้วพระหัตถ์และนิ้วพระบาทเรียวออกไปโดยลำดับแต่ต้นจนปลาย ๓. นิ้วพระหัตถ์ และนิ้วพระบาทกลมดุจนายช่างกลึงเป็นอันดี ๔. พระนขาทั้ง ๒๐ มีสีอันแดง ๕. พระนขาทั้ง ๒๐ นั้น งอนงามช้อนขึ้นเบื้องบนมิได้ค้อมลงเบื้องต่ำ ดุจเล็บแห่งสามัญชนทั้งปวง ๖. พระนขานั้นมีพรรณอันเกลี้ยงกลมสนิทมิได้เป็นริ้วรอย ๗. ข้อพระหัตถ์และข้อพระบาทซ่อนอยู่ในพระมังสะ มิได้สูงขึ้นปรากฏออกมาภายนอก ๘. พระบาททั้งสองเสมอกันมิได้ย่อมใหญ่กว่ากันมาตรว่าเท่าเมล็ดงา ๙. พระดำเนินงามดุจอาการเดินแห่งกุญชรชาติ ๑๐. พระดำเนินงามดุจสีหราช ๑๑. พระดำเนินงามดุจดำเนินแห่งหงส์ ๑๒. พระดำเนินงามดุจอุสภราชดำเนิน ๑๓. ขณะเมื่อยืนจะย่างดำเนินนั้น ยกพระบาทเบื้องขวาย่างไปก่อน พระกายเยื้องไปข้างเบื้องขวาก่อน ๑๔. พระชานุมณฑลเกลี้ยงกลมงามบริบูรณ์ บ่มิได้เห็นอัฏฐิสะบ้าปรากฏออกมาภายนอก ๑๕. มีบุรุษพยัญชนะบริบูรณ์คือมิได้มีกิริยามารยาทคล้ายสตรี ๑๖. พระนาภีมิได้บกพร่อง กลมงามมิได้วิกลในที่ใดที่หนึ่ง ๑๗. พระอุทรมีสัณฐานอันลึก ๑๘. ภายในพระอุทรมีรอยเวียนเป็นทักขิณาวัฏ ๑๙. ลำพระเพลาทั้งสองกลมงามดุจลำสุวรรณกัททลี ๒๐. ลำพระกรทั้งสองงามดุจงวงแห่งเอราวัณเทพยหัตถี ๒๑. พระอังคาพยพใหญ่น้อยทั้งปวงจำแนกเป็นอันดี คือ งามพร้อมทุกสิ่งหาที่ตำหนิบ่มิได้ ๒๒. พระมังสะที่ควรจะหนาก็หนา ที่ควรจะบางก็บางตามที่ทั่วทั้งพระสรีรกาย ๒๓. พระมังสะมิได้หดหู่ในที่ใดที่หนึ่ง ๒๔. พระสรีรกายทั้งปวงปราศจากต่อมและไฝปาน มูลแมลงวันมิได้มีในที่ใดที่หนึ่ง ๒๕. พระกายงามบริสุทธิ์พร้อมสมกันโดยตามลำดับทั้งเบื้องบนแลเบื้องล่าง ๒๖. พระกายงามบริสุทธิ์พร้อมสิ้นปราศจากมลทินทั้งปวง ๒๗. ทรงพระกำลังมาก เสมอด้วยกำลังแห่งกุญชรชาติ ประมาณถึงพันโกฏิช้าง ถ้าจะประมาณด้วยกำลังบุรุษก็ได้ถึงแสนโกฏิบุรุษ ๒๘. มีพระนาสิกอันสูง ๒๙. สัณฐานพระนาสิกงามแฉล้ม ๓๐. มีพระโอษฐ์เบื้องบนเบื้องต่ำมิได้เข้าออกกว่ากัน เสมอเป็นอันดี มีพรรณแดงงามดุจสีผลตำลึงสุก ๓๑. พระทนต์บริสุทธิ์ปราศจากมูลมลทิน ๓๒. พระทนต์ขาวดุจดังสีสังข์ ๓๓. พระทนต์เกลี้ยงสนิทมิได้เป็นริ้วรอย ๓๔. พระอินทรีย์ทั้ง ๕ มีจักขุนทรีย์เป็นอาทิงามบริสุทธิ์ทั้งสิ้น ๓๕. พระเขี้ยวทั้ง ๔ กลมบริบูรณ์ ๓๖. ดวงพระพักตร์มีสัณฐานยาวสวย ๓๗. พระปรางค์ทั้งสองดูเปล่งงามเสมอกัน ๓๘. ลายพระหัตถ์มีรอยอันลึก ๓๙. ลายพระหัตถ์มีรอยอันยาว ๔๐. ลายพระหัตถ์มีรอยอันตรง บ่มิได้ค้อมคด ๔๑. ลายพระหัตถ์มีรอยอันแดงรุ่งเรือง ๔๒. รัศมีพระกายโอภาสเป็นปริมณฑลโดยรอบ ๔๓. กระพุ้งพระปรางค์ทั้งสองเคร่งครัดบริบูรณ์ ๔๔.กระบอกพระเนตรกว้างแลยาวงามพอสมกัน ๔๕. ดวงพระเนตรกอปรด้วยประสาททั้ง ๕ มีขาวเป็นอาทิผ่องใสบริสุทธิ์ทั้งสิ้น ๔๖. ปลายเส้นพระโลมาทั้งหลายมิได้งอมิได้คด ๔๗. พระชิวหามีสัณฐานอันงาม ๔๘. พระชิวหาอ่อนบ่มิได้กระด้าง มีพรรณอันงามแดงเข้ม ๔๙. พระกรรณทั้งสองมีสัณฐานอันยาวดุจกลีบปทุมชาติ ๕๐. ช่องพระกรรณมีสัณฐานอันกลมงาม ๕๑. ระเบียบพระเส้นทั้งปวงนั้นสละสลวยบ่มิได้หดหู่ในที่ใดอันหนึ่ง ๕๒. แถวพระเส้นทั้งหลายซ่อนอยู่ในพระมังสะทั้งสิ้น บ่มิได้เป็นคลื่นฟูขึ้นเหมือนสามัญชนทั้งปวง ๕๓. พระเศียรมีสัณฐานงามเหมือนฉัตรแก้ว ๕๔. ปริมณฑลพระนลาฎโดยกว้างยาวพอสมกัน ๕๕. พระนลาฎมีสัณฐานอันงาม ๕๖. พระโขนงมีสัณฐานอันงามดุจคันธนูอันก่งไว้ ๕๗. พระโลมาที่พระโขนงมีเส้นอันละเอียด ๕๘. เส้นพระโลมาที่พระโขนงงอกขึ้นแล้วล้มราบไปโดยลำดับ ๕๙. พระโขนงนั้นใหญ่ ๖๐. พระโขนงนั้นยาวสุดหางพระเนตร ๖๑. ผิวพระมังสะละเอียดทั่วทั้งพระกาย ๖๒. พระสรีรกายรุ่งเรืองไปด้วยสิริ ๖๓. พระสรีรกายมิได้มัวหมอง ผ่องใสอยู่เป็นนิตย์ ๖๔. พระสรีรกายสดชื่นดุจดวงดอกปทุมชาติ ๖๕. พระสรีรสัมผัสอ่อนนุ่มสนิท บ่มิได้กระด้างทั่วทั้งพระกาย ๖๖. กลิ่นพระกายหอมฟุ้งดุจกลิ่นสุคนธกฤษณา ๖๗. พระโลมามีเส้นเสมอกันทั้งสิ้น ๖๘. พระโลมามีเส้นละเอียดทั่วทั้งพระกาย ๖๙. ลมอัสสาสะปัสสาสะ ลมหายพระทัยเข้าออกก็เดินละเอียด ๗๐. พระโอษฐ์มีสัณฐานอันงามดุจแย้ม ๗๑. กลิ่นพระโอษฐ์หอมดุจกลิ่นอุบล ๗๒. พระเกศาดำเป็นแสง ๗๓. กลิ่นพระเกศาหอมฟุ้งขจรตลบ ๗๔. กลิ่นพระเกศาหอมดุจกลิ่นโกมลบุบผชาติ ๗๕. พระเกศามีสัณฐานเส้นกลมสลวยทุกเส้น ๗๖. พระเกศาดำสนิททั้งสิ้น ๗๗. พระเกศากอปรด้วยเส้นอันละเอียด ๗๘. เส้นพระเกศามิได้ยุ่งเหยิง ๗๙. เส้นพระเกศาเวียนเป็นทักขิณาวัฏทุกๆเส้น ๘๐. วิจิตรไปด้วยระเบียบพระเกตุมาลา กล่าวคือถ่องแถวแห่งพระรัศมีอันโชตนาการขึ้น ณ เบื้องบนพระอุตมังคสิโรตม์ ฯ
สาเหตุแห่งการสร้างพระพุทธรูป
พระพุทธเจ้าทรงแสดงสัมมาสัมพุทธเจดีย์ไว้ ๔ ประเภท คือ
1. พระธาตุเจดีย์
2. บริโภคเจดีย์
3. ธรรมเจดีย์
4. อุทเทสิกเจดีย์
พระธาตุเจดีย์ หมายเอาพระบรมสารีริกธาตุทั้ง ๘ ส่วน จำนวน ๑๖ ทะนาน บริโภคเจดีย์ หมายเอาสังเวชนียสถาน ๔ ตำบล คือ สถานที่ประสูติ ตรัสรู้ แสดงปฐมเทศนา ปรินิพพาน และอัฏฐบริขารที่พระองค์ทรงใช้สอย เช่น บาตร จีวร ที่กรองน้ำ เป็นต้น ธรรมเจดีย์ หมายเอาผู้ที่แสวงหาพระบรมสารีริกธาตุและอัฏฐบริขารของพระองค์เพื่อมาสร้างเป็นพระสถูปไม่ได้ เมื่อประสงค์จะสร้างพระสถูปเจดีย์ไว้เป็นที่กราบไหว้สักการะบูชา ก็ได้นำเอาพระธรรมจารึกไว้ในแผ่นทองคำบ้าง ศิลาบ้าง ใบลานบ้าง บรรจุไว้ในพระเจดีย์แทนพระบรมสารีริกธาตุ อีกนัยหนึ่ง หมายเอาพระธรรมที่พระองค์ทรงแสดงไว้จำนวน ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ เป็นเจดีย์ที่พุทธบริษัทจะพึงนำไปประพฤติปฏิบัติ เพื่อเป็นประโยชน์และความสุขแก่ตนและผู้อื่น ส่วนอุทเทสิกเจดีย์ หมายเอา พระพุทธรูปที่พุทธศาสนิกชนสร้างขึ้นเพื่อเคารพสักการะแทนพระองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
จะเห็นได้ว่า พระพุทธรูปก็นับเนื่องในสัมมาสัมพุทธเจดีย์ จึงมีความสำคัญและมีคุณค่ายิ่งสำหรับพุทธศาสนิกชน ซึ่งการสร้างพระพุทธรูปถือว่าเป็นการสืบต่ออายุพระพุทธศาสนาอีกอย่างหนึ่งด้วย เนื่องจากเป็นสิ่งแทนพระพุทธเจ้า ซึ่งเสมือนพระองค์ยังทรงพระชนม์อยู่ และชาวพุทธมีความรู้สึกเหมือนปฏิบัติ เคารพ สักการบูชาด้วยอามิสบูชาและปฏิบัติบูชาต่อพระพุทธเจ้า อนึ่ง พระพุทธรูปเป็นทั้งสัญลักษณ์ เครื่องหมายของพระพุทธศาสนาและความดีงามทั้งพุทธภาวะที่เป็นธรรมกายและพระพุทธคุณ ตลอดจนสื่อถึงปรมัตถธรรมซึ่งเป็นแก่นพระพุทธศาสนา นอกจากนี้พระพุทธรูปยังเป็นสิ่งที่แสดงถึงศรัทธาอันแรงกล้าของพุทธศาสนชิกชน ที่สร้างพระพุทธรูปเพื่อเป็นศูนย์รวมจิตใจ เป็นแหล่งรวมศรัทธาปสาทะของชาวพุทธทั้งมวลตลอดกาลนานอีกด้วย
ความเป็นมาของการสร้างพระพุทธรูป
จากตำนานพระแก่นจันทน์ได้กล่าวถึงการสร้างพระพุทธรูปในสมัยพุทธกาลว่า เมื่อพระพุทธเจ้าทรงแสดงยมกปาฎิหาริย์แล้ว ได้เสด็จไปประทานพระธรรมเทศนาโปรดพุทธมารดา บนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ และเสด็จจำพรรษาที่นั่น พระเจ้าปเสนทิโกศล กษัตริย์แห่งโกศลรัฐ ไม่ได้เห็นพระพุทธองค์ มีความรำลึกถึง จึงตรัสให้ช่างทำพระพุทธรูปขึ้นด้วยไม้จันทน์แดง ประดิษฐานไว้เหนืออาสนะที่พระพุทธเจ้าเคยประทับ
ในที่บางแห่งได้กล่าวถึงการเขียนรูปพระพุทธเจ้าลงในแผ่นทองคำที่นำทองคำมาตีเป็นแผ่นบางๆ ขนาดองค์พระประมาณ ๑ ศอก โดยพระเจ้ามหารถราช แห่งสักกราชาวดีนคร เพื่อส่งพุทธรัตนะไปถวายพระเจ้าปัญจาลราช กษัตริย์กรุงปัญจาลราชนคร เมื่อพระองค์ทอดพระเนตรเห็นพระพุทธรูปแล้ว ทรงโสมนัสยินดียิ่งนัก ได้นำพระพุทธรูปไปประดิษฐานในพระมณเทียร แล้วบูชาด้วยประทีป ธูปเทียนชวาลา ทรงแสดงองค์เป็นพุทธมามกะ ในเวลาต่อมาพระองค์ได้ให้ช่างแกะรูปพระพุทธเจ้าด้วยแก่นจันทน์ประดิษฐานในศาลาไม้บุนนาก แล้วทรงรับสั่งให้ปิดทององค์พระพุทธรูปเพื่อเป็นพุทธบูชา
ส่วนในชินกาลมาลีปกรณ์ กล่าวถึงการสร้างพระพุทธรูปว่า ได้มีการสร้างพระพุทธรูปขึ้นแล้วในสมัยของพระเจ้ามิลินท์ โดยพระนาคเสนเป็นผู้ดำริสร้างพระพุทธปฏิมาขึ้นมาองค์หนึ่ง สำเร็จด้วยฤทธิ์ของเทพยดาและอิทธิฤทธิ์คือพระแก้วมรกต
อย่างไรก็ตาม จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์และโบราณคดีที่สามารถยืนยันได้อย่างชัดเจนว่า พระพุทธรูปได้เริ่มสร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๓๗๐ โดยชาวโยนก ฝรั่งชาติกรีกที่นับถือพระพุทธศาสนา ประดิษฐานครั้งแรกในแคว้นคันธารราชหรือคันธาระ ในรัชสมัยของพระเจ้ากนิษกะ กษัตริย์กรีกองค์แรกที่ทรงนับถือพระพุทธศาสนา พระพุทธรูปที่สร้างขึ้นในยุคนี้เรียกว่า “พระพุทธรูปคันธาระ” จากนั้นมาการสร้างพระพุทธรูปได้มีการพัฒนาศิลปะ ให้สอดคล้องกับอุดมคติของช่างสกุลต่างๆ ของแต่ละชนชาติ แต่ละยุคสมัย เพื่อให้เกิดความงดงามเป็นที่เคารพสักการะของพุทธศาสนิกชน คตินิยมในการสร้างพระพุทธรูปได้แพร่ขยายไปสู่นานาประเทศที่นับถือพระพุทธศาสนารวมทั้งประเทศไทยได้มีการสร้างพระพุทธรูปจำนวนมาก โดยแบ่งเป็นยุคสมัยต่างๆ เช่น สมัยทวาราวดี สมัยศรีวิชัย สมัยลพบุรี สมัยเชียงแสน สมัยสุโขทัย สมัยอยุธยาและสมัยรัตนโกสินทร์
พระพุทธเจ้า ๒๕ พระองค์
พระพุทธเจ้าที่ทรงบำเพ็ญพระบารมี ๓๐ ทัศ จัดเป็นบารมี ๑๐ (บารมีขั้นธรรมดา เช่น ให้สิ่งของเป็นทาน) อุปบารมี ๑๐ (บารมีระดับกลาง เช่น ให้อวัยวะเป็นทาน) ปรมัตถบารมี ๑๐ (บารมีขั้นสูงสุด เช่น สละชีวิตเพื่อเป็นทาน เป็นต้น) ได้แก่ ทานบารมี ศีลบารมี เนกขัมมบารมี ปัญญาบารมี วิริยบารมี ขันติบารมี สัจจบารมี อธิษฐานบารมี เมตตาบารมี อุเบกขาบารมี เต็มเปี่ยมแล้วได้เสด็จอุบัติขึ้นในมนุษย์โลก แล้วทรงตรัสรู้อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ เพื่อโปรดเวไนยสัตว์นั้น มิใช่มีแต่พระพุทธเจ้าโคตมะพระองค์ปัจจุบันนี้เท่านั้น แต่มีจำนวนหลายพระองค์เช่นกัน เมื่อพระพุทธศาสนาของพระพุทธเจ้าพระองค์หนึ่งเสื่อมสิ้นไปจากโลกแล้ว โลกว่างเว้นจากพระพุทธศาสนา พระพุทธเจ้าพระองค์อื่นๆก็เสด็จมาตรัสรู้ต่อไป ไม่ได้เสด็จมาพร้อมๆกัน หรือต่อเนื่องรับช่วงกันเป็นทอดๆ ในคัมภีร์พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย พุทธวงศ์ ได้กล่าวถึงพระพุทธเจ้าที่เสด็จมาตรัสรู้ใกล้ๆ พระพุทธเจ้าโคตมะในกาลปัจจุบันของพวกเรา จำนวน ๒๕ พระองค์ คือ ๑. พระทีปังกร ๒. พระโกณฑัญญะ ๓. พระมังคละ ๔. พระสุมนะ ๕. พระเรวตะ ๖. พระโสภิตะ ๗. พระอโนมทัสสี ๘. พระปทุมะ ๙. พระนารทะ ๑๐. พระปทุมุตตระ ๑๑. พระสุเมธะ ๑๒. พระสุชาตะ ๑๓. พระปิยทัสสี ๑๔. พระอัตถทัสสี ๑๕. พระธัมมทัสสี ๑๖. พระสิทธัตถะ ๑๗. พระติสสะ ๑๘. พระปุสสะ ๑๙. พระวิปัสสี ๒๐. พระสิขี ๒๑. พระเวสสภู ๒๒. พระกกุสันธะ ๒๓. พระโกนาคมน์ ๒๔. พระกัสสปะ ๒๕. พระโคตมะ

ออฟไลน์ Webmaster

  • Administrator
  • สมาชิก
  • *****
  • กระทู้: 404
    • ดูรายละเอียด
พระพุทธเจ้า ๕ พระองค์
พุทธประวัติของพระพุทธเจ้าทั้ง ๕ พระองค์ มีมาในพระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย พุทธวงศ์ โดยสังเขปดังต่อไปนี้
๑. พุทธประวัติพระพุทธเจ้ากกุสันธะ
พระองค์เป็นพระพุทธเจ้าทรงพระนามว่า กกุสันธะ ทรงถือกำเนิดในสกุลพราหมณ์ ในเขมนคร เป็นตระกูลใหญ่ที่ชาวโลกในขณะนั้นถือว่า ประเสริฐสูงสุดกว่าตระกูลอื่น ที่มีชาติสูงสุดและมียศมาก (เรื่องนี้เป็นธรรมดาของพระโพธิสัตว์ที่จะถือกำเนิดในพระชาติสุดท้ายเพื่อตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า จะเลือกถือกำเนิดในตระกูลที่สูงที่สุดในยุคนั้น หากตระกูลพราหมณ์หรือตระกูลกษัตริย์ ตระกูลใดที่มหาชนยกย่องที่สุดก็จะทรงถือกำเนิดในตระกูลนั้น) พุทธบิดาคือ “อัคคิทัตตะ” พุทธมารดาคือ “วิสาขา” มีปราสาท ๓ หลัง คือ “กามวัฑฒะ”, “กามสุทธิ” และรติวัฑฒะ ทรงครอบครองฆราวาสอยู่ ๔ พันปี ภรรยาชื่อว่า “โรปินี” บุตรนามว่า “อุตระ” ทรงเห็นนิมิต ๔ ประการ จึงเสด็จออกผนวชด้วยรถอันเป็นยานพาหนะ บำเพ็ญเพียรอยู่ ๘ เดือนเต็ม จึงตรัสรู้อนุตรสัมมาสัมโพธิญาณที่ไม้โพธิพฤกษ์ชื่อ “ไม้ซึก” ทรงแสดงปฐมเทศนาคือพระธรรมจักร ณ มฤคทายวัน มีอัครสาวกคือ “พระวิธุรเถระ” และ “พระสัญชีวนามเถระ” พระเถระชื่อ “พุทธิชะ” เป็นพุทธอุปัฏฐาก พระอัครสาวิกาคือ “พระสามาเถรี” และ “พระจัมมปนามาเถรี” อุบาสกเป็นอัครอุปัฏฐาก คือ “อัจจคตอุบาสก” และ “สุมนอุบาสก” อุบาสิกาเป็นอัครอุปัฏฐายิกา คือ “นันทาอุบาสิกา” และ “สุนันทาอุบาสิกา” พระพุทธเจ้ากกุสันธะมีพระองค์สูง ๔๐ ศอก พระรัศมีมีสีเปล่งปลั่งดังทองคำ เปล่งออกไป ๑๐ โยชน์โดยรอบ

๒. พุทธประวัติพระพุทธเจ้าโกนาคมนะ
พระพุทธเจ้าโกนาคมนะ ทรงถือกำเนิดในตระกูลพราหมณ์แห่งโสภวดีนคร พุทธบิดาคือ “ยัญทัตตพราหมณ์” พุทธมารดาคือ “นางอุตราพราหมณี” มีประสาท ๓ หลัง ชื่อ “ดุสิต”, “สันดุสิต” และ “สันตุฎฐะ” ทรงครอบครองอยู่สามหมื่นปี นาง “รจิคัตตาพราหมณี” เป็นภรรยา “สัตถวาหะ” เป็นบุตร พระองค์ทรงเห็นนิมิต ๔ ประการ จึงออกบวชด้วยยานคือช้าง บำเพ็ญเพียรอยู่ ๖ เดือน จึงได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าที่ไม้โพธิพฤกษ์ชื่อ “ไม้มะเดื่อ” ทรงแสดงปฐมเทศนาธรรมจักรที่มฤคทายวัน พระอัครสาวก คือ “พระภิยโยสเถระ” และ “พระอุตรเถระ” พระอัครสาวิกาชื่อ “พระสมุททาเถรี” และ “พระอุตราเถรี” พุทธอุปัฏฐากคือ “อัคคอุบาสก” และ “โสมเทวอุบาสก” พุทธอุปัฐฐายิกาชื่อ “สีวลาอุบาสิกา” และ “สามาอุบาสิกา” มีพระองค์สูง ๓๐ ศอก ประดับด้วยรัศมีเปล่งปลั่งดังทองที่ปากเบ้า พระองค์มีพระชนมายุสามหมื่นปี ทรงประกาศพระศาสนาโปรดมหาชนให้ข้ามพ้นจากวัฏสงสารหาประมาณมิได้ แล้วเสด็จดับขันธปรินิพพานที่ “ปัพพตาราม” พระบรมสารีริกธาตุของพระองค์แผ่กว้างไปประดิษฐานในประเทศนั้นๆมากมาย
๓. พุทธประวัติของพระพุทธเจ้ากัสสปะ
พระกัสสปพุทธเจ้าถือกำเนิดในตระกูลพราหมณ์ในพระนครพาราณสี มีพุทธบิดาชื่อ “พรหมทัตตพราหมณ์” และ “นางธนวดีพราหมณี”เป็นพุทธมารดา ทรงมีประสาท ๓ หลังชื่อ “หังสะ”, “ยสะ” และ “สิริจันทะ” ทรงครอบครองอยู่สองพันปี มี “นางสุนันทาพราหมณี” เป็นภรรยา มีบุตรชายชื่อ “วิชิตเสน” พระองค์ทรงเห็นนิมิต ๔ ประการจึงออกบวช ทรงบำเพ็ญเพียรอยู่ ๗ วันจึงตรัสรู้อนุตรสัมมาสัมโพธิญาณที่ไม้โพธิพฤกษ์ชื่อ “นิโครธ” ทรงแสดงปฐมเทศนาธรรมจักรที่มฤคทายวัน มี “พระติสสเถระ” และ “พระภารทวาชเถระ” เป็นพระอัครสาวก พระเถระชื่อ “สรรพมิตตะ” เป็นพุทธอุปัฏฐาก “พระอนุลาเถรี” และ “พระอุรุเวลาเถรี” เป็นพระอัครสาวิกา “สุมังคลอุบาสก” และ “ ฆฏิการอุบาสก” เป็นอัครอุปัฏฐาก “วิชิตเสนาอุบาสิกา” และ “อภัททาอุบาสิกา” เป็นอัครอุปัฏฐายิกา” พระองค์ทรงสูง ๒๐ ศอก มีพระรัศมีเปล่งปลั่ง ดังสายฟ้าในอากาศดุจพระจันทร์เต็มดวง มีพระชนมายุสองหมื่นปี ทรงเสด็จนิพพานที่เสตัพยาราม พระสถูปของพระองค์สูงหนึ่งโยชน์ ประดิษฐานอยู่ ณ เสตัพยารามนั้น

๔. พุทธประวัติของพระพุทธเจ้าโคตมะ
พระโคตมพุทธเจ้าทรงถือกำเนิดในตระกูลกษัตริย์ ในนครกบิลพัสดุ์ “พระเจ้าสุทโธทนะ” เป็นพุทธบิดา “พระนางมายาเทวี” เป็นพุทธมารดา ทรงมีประสาท ๓ หลัง ชื่อ “สุจันทะ” ,”โกกนุทะ” และ “โกญจะ” ทรงครอบครองอยู่ ๒๙ ปี มีมเหสีทรงพระนามว่า “ยโสธรา” และ “พระราหุล” เป็นพระโอรส ทรงเห็นนิมิต ๔ ประการจึงทรงออกบวชด้วยยานคือม้า ได้บำเพ็ญทุกกรกิริยาอยู่ ๖ ปี และเมื่อทรงบำเพ็ญเพียรด้วยทางสายกลางแล้ว จึงตรัสรู้อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณที่ไม้โพธิพฤกษ์ชื่อ “อัสสัตถพฤกษ์” ทรงแสดงปฐมเทศนาธรรมจักรที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน แขวงเมืองพาราณสี มี “อุปติสสะ (พระสารีบุตรเถระ)” และ “โกลิตตะ (พระโมคคัลลานเถระ)” เป็นอัครสาวก “พระอานนทเถระ”เป็นพุทธอุปัฏฐาก “พระเขมาเถรี” และ “พระอุบลวรรณาเถรี” เป็นอัครสาวิกา “จิตตคฤหบดี” และ “หัตถกอุบาสก ชาวเมืองอาฬวี” เป็นอัครอุปัฏฐาก “นันทมารดา” และ “อุตราอุบาสิกา” เป็นอัครอุปัฏฐายิกา ทรงดับขันธปรินิพพานเมื่อพระชนมายุ ๘๐ พรรษา ที่เมืองกุสินารา พระบรมสารีริกธาตุของพระองค์จำนวน ๑๖ ทะนาน ประดิษฐานตามสถานที่ต่างๆที่มีคนรู้จักและเคารพบูชา (รายละเอียดอยู่ใน หนังสือ “พระบรมสารีริกธาตุ” เรียบเรียงโดย ผศ. สงบ เชื้อทอง)

๕. พุทธประวัติพระศรีอาริยเมตไตรย์
พระศรีอาริยเมตไตรย์ทรงถือกำเนิดในตระกูลพราหมณ์ “สุพรหมพราหมณปุโรหิต” เป็นพุทธบิดา “พรหมวดีพราหมณี” เป็นพุทธมารดา ในนครเกตุมวดี ทรงมีปราสาท ๓ หลัง ชื่อ “สิริวัฑฒปราสาท”, “จันทกปราสาท” และ “สิทธัตถปราสาท” “นางจันทรมุขีพราหมณี” เป็นภรรยา “พรหมวัฒนกุมาร” เป็นบุตร ทรงครอบครองฆราวาสได้ ๘๐,๐๐๐ ปี ทรงเห็นนิมิต ๔ ประการ ทรงออกบวช และบำเพ็ญทุกกรกิริยาอยู่ ๗ วัน และเมื่อเสวยข้าวมธุปายาสที่นางสุนันทาพราหมณีนำมาถวายในวันวิสาขปุณมี แล้วเข้าไปในสาลวัน ครั้นเวลาเย็นทรงรับหญ้าคา ๘ กำ ที่โสตถิยมานพนำมาถวาย แล้วเสด็จไปสู่ไม้มหาโพธิพฤกษ์ ชื่อ “กากะทิง” ทรงบรรลุอนุตรสัมมาสัมโพธิญาณ
พระวรกายของพระองค์สูง ๘๘ ศอก มีพระฉัพพัณณรังสีจากพระวรกาย ทำให้สว่างไสวทั้งกลางวันและกลางคืน คนทั้งหลายอยู่ด้วยกันอย่างมีความสุข ระลึกถึงพระพุทธเจ้าเป็นอารมณ์ บริโภคข้าวสาลีที่เกิดด้วยพุทธานุภาพ
ในสมัยพระพุทธเจ้าพระสมณโคดมพระองค์นี้ ทรงตรัสพยากรณ์พระอชิตภิกษุว่า จะเป็นพระศรีอริยเมตไตรย์ในอนาคตข้างหน้าในมหาภัทรกัปนี้ พระธรรมเสนาบดี สารีบุตร ได้ทูลถามถึงบุญบารมีที่พระศรีอริยเมตไตรย์ได้บำเพ็ญ ซึ่งพระพุทธเจ้าก็ตรัสพยากรณ์ถึงอดีตชาติของพระศรีอริยเมตไตรย เมื่อครั้งเสวยชาติเป็นพระเจ้าสังขจักรพรรดิแห่งอินทปัตถนคร ในสมัยของพระสิริมัตตพุทธเจ้า วันหนึ่งได้พบสามเณรในสำนักพระสิริมัตตพุทธเจ้า จึงเสด็จมาเฝ้าพระพุทธเจ้าซึ่งประทับอยู่ที่บุพพาราม แม้ทรงลำบากพระวรกายก็ไม่ทรงท้อถอย พระพุทธเจ้าเนรมิตเพศเป็นมานพน้อย เนรมิตรถเสด็จออกไปรับพระโพธิสัตว์มาสู่บุพพาราม พระโพธิสัตว์ได้ถวายศีรษะของพระองค์แด่พระพุทธเจ้า บูชาพระธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงแก่พระองค์ จุติไปบังเกิดในสวรรค์ชั้นดุสิต ด้วยอานิสงส์บารมี จึงทำให้ได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า
อานิสงส์ในการสร้างพระพุทธรูป
การสร้างพระพุทธรูป ถือว่าเป็นการสร้างอุทเทสิกเจดีย์ คือเจดีย์ที่สร้างเป็นพุทธบูชา อุทิศพระพุทธเจ้า เป็นตัวแทนของพระพุทธเจ้า ซึ่งเป็นสิ่งที่เลิศค่า เป็นรัตนะสูงสุดของชาวพุทธ ที่เรียกว่า พระพุทธรัตนะ แม้องค์พระพุทธรูปจะสร้างจากวัสดุสิ่งใดก็ตาม แต่พุทธศาสนิกชนมิได้ถือว่าได้กราบไหว้บูชาวัสดุเหล่านั้น แต่บูชาสักการะพระพุทธเจ้า และพระคุณของพระองค์ คือ พระปัญญาคุณ พระบริสุทธิคุณ พระมหากรุณาคุณ รวมถึงพระธรรมที่ทรงตรัสรู้และพระสงฆ์ผู้ปฎิบัติตามคำสั่งสอนของพระองค์ กล่าวโดยรวม การบูชาพระพุทธรูปก็คือการบูชาพระรัตนตรัยนั่นเอง พระพุทธรูปเป็นเครื่องเตือนใจให้รำลึกถึงพระรัตนตรัย อันเป็นรัตนะอันเลิศ อันประเสริฐสูงสุด ทำให้ชาวพุทธผู้พบเห็นเกิดศรัทธาแล้วสักการะบูชา ทั้งอามิสบูชา คือการบูชาด้วยดอกไม้ ธูปเทียน และปฏิบัติบูชา ด้วยการให้ทาน รักษาศีล และอบรมเจริญปัญญาประจักษ์แจ้งในธรรมที่พระองค์ทรงตรัสรู้ ซึ่งถือว่าได้สร้างกุศลกรรมในสิ่งที่เลิศ ผลอันเลิศก็ย่อมมีแก่บุคคลผู้ปฏิบัติเช่นนั้น ดังเนื้อความที่กล่าวไว้ใน “อัคคัปปสาทสุตตคาถา” ว่า เมื่อบุคคลรู้จักธรรมอันเลิศ เลื่อมใสแล้วโดยความเป็นของเลิศ เลื่อมใสแล้วในพระพุทธเจ้าผู้เลิศ ซึ่งเป็นทักขิไณยบุคคลอันยอดเยี่ยม เลื่อมใสแล้วในพระธรรมอันเลิศ ซึ่งปราศจากราคะ และสงบระงับเป็นสุข เลื่อมใสแล้วในสงฆ์ผู้เลิศ ซึ่งเป็นบุญเขตอย่างยอด ถวายทานในท่านผู้เลิศนั้น บุญที่เลิศก็ย่อมเจริญ อายุ วรรณะ ที่เลิศ และยศ เกียรติคุณ สุข พละ ที่เลิศย่อมเจริญ ผู้มีปัญญาตั้งมั่นในธรรมอันเลิศแล้ว ให้ทานแก่ท่านผู้เป็นบุญเขตอันเลิศ จะไปเกิดเป็นเทพยดาหรือเกิดเป็นมนุษย์ก็ตามย่อมถึงความเป็นผู้เลิศ บันเทิงอยู่ เมื่อผลอันเลิศย่อมมีแก่พุทธศาสนิกชนผู้บูชาพระพุทธรูปอยู่เห็นปานนี้ อานิสงส์อันโอฬารก็ย่อมเกิดแก่ผู้สร้างพระพุทธรูปตลอดกาลนานและตลอดไปเช่นกัน และเมื่อพระพุทธรูปยังประดิษฐานปรากฏอยู่ในโลกนี้ตราบใด พระพุทธศาสนาก็ยังจะมั่นคง ตั้งมั่น เจริญรุ่งเรือง วัฒนาถาวรในโลกนี้อยู่ตราบนั้น ผู้สร้างพระพุทธรูปจึงได้ชื่อว่า เป็นผู้สืบต่ออายุพระพุทธศาสนาอีกส่วนหนึ่งด้วย
ผู้สร้างพระพุทธรูปถวายไว้ในพระพุทธศาสนา ได้ชื่อว่า ได้สร้างและถวายสิ่งที่เลิศสูงสุด ถวายสิ่งที่ดีที่สุด ถวายฐานะอันประเสริฐสูงสุด ในทานานุโมทนาคาถา ท่านกล่าวไว้ว่า ผู้ที่สร้างถวายในสิ่งที่เลิศสูงสุด ย่อมได้สิ่งที่เลิศสูงสุด ย่อมเข้าถึงฐานะอันประเสริฐสุด ผู้ใดให้ (ถวาย) สิ่งที่เลิศ สิ่งที่ดีที่สุด และฐานะอันประเสริฐสุด ผู้นั้นเกิดในที่ใดๆ ย่อมเป็นผู้มีอายุยืน มียศอันเลิศที่สุดในที่นั้นๆ ดังนี้
อานิสงส์การสร้างวิหาร
การสร้างกุฏิวิหารถวายเป็นสังฆทานนั้น พระพุทธองค์ทรงตรัสสรรเสริญว่า เป็นทานอันเลิศ เป็นทานที่มีผลมากมีอานิสงส์มากเช่นกัน ตามข้อความที่ปรากฏในพระวินัยปิฎกมหาขันธกะ จุล

ออฟไลน์ Webmaster

  • Administrator
  • สมาชิก
  • *****
  • กระทู้: 404
    • ดูรายละเอียด


พระพุทธเจ้า 28 พระองค์

ความแตกต่างขององค์สมเด็จพระสัมาสัมพุทธเจ้า บางประการ....
จากการศึกษา....
ที่ค้นพบ และเห็นว่า พระพุทธองค์ ทรงมีความแตกต่างกัน บางประการ ดังนี้....

1. วรรณะของพระองค์ (เท่าที่พบ มี พราหมณ์ และ กษัตริย์)
2. พุทธลักษณะ ขนาดพระวรกาย
3. พาหนะที่ทรงเสด็จออกบรรพชา
4. ไม้ศรีมหาโพธิ์ที่ตรัสรู้
5. ระยะเวลา ที่ทรงบำเพ็ญเพียรเพื่อตรัสรู้
6. พระรัศมีแผ่ออกโดยรอบพระวรกาย
7. จำนวนพระอรหันต์ ที่เป็นพุทธบริวารแวดล้อมตามเสด็จ
8. พระชนมายุของพระพุทธองค์
9. อายุ การประกาศพระศาสนา

--------------------------------------

สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้า ย้อนขึ้นไป 28 พระองค์(นับตั้งแต่ สมเด็จองค์ปัจจุบัน)
(คัดลอกจากหนังสือ หลวงปู่สอนหลาน หน้า 142-170)

พระพุทธเจ้า 28 พระองค์ นี้ หลวงปู่ครูบาชัยยะวงศาพัฒนา ได้คัดลอกจากภาษาล้านนา และแปลเก็บไว้ในหอพระไตรปิฎก
ณ วัดพระพุทธบาทห้วยต้ม อำเภอ ลี้ ลำพูน

ก็ลองพิจารณาดูนะครับ ถึงความแตกต่างกันของพระพุทธองค์....

ออฟไลน์ Webmaster

  • Administrator
  • สมาชิก
  • *****
  • กระทู้: 404
    • ดูรายละเอียด


พระไตรปิฎก เล่มที่ ๓๓ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๒๕
ขุททกนิกาย อปทาน ภาค ๒ -พุทธวังสะ-จริยาปิฎก

พุทธปกิรณกกัณฑ์
ว่าด้วยเรื่องเบ็ดเตล็ดเกี่ยวกับพระพุทธเจ้า

ในกัปอันประมาณมิได้แก่ภัทรกัปนี้ มีพระพุทธเจ้าผู้เป็นนายกชั้น
พิเศษ ๔ พระองค์ คือ พระตัณหังกรสัมพุทธเจ้า ๑
พระเมธังกรสัมพุทธเจ้า ๑ พระสรณังกรสัมพุทธเจ้า ๑ และพระ
ทีปังกรสัมพุทธเจ้า ๑ ท่านเหล่านั้นเสด็จอุบัติในกัปเดียวกัน ต่อจาก
ที่พระทีปังกรสัมพุทธเจ้า พระสัมพุทธเจ้าพระนามว่าโกณฑัญญะ
พระองค์เดียวเสด็จอุบัติกัปหนึ่ง ทรงช่วยให้หมู่ชนข้ามพ้นวัฏสงสาร
ได้มากมาย ระหว่างพระผู้มีพระภาคทีปังกร และพระโกณฑัญญะ
บรมศาสดา เป็นอันตรกัป โดยจะคำนวณนับมิได้ ต่อจากพระโกณ
ฑัญญะบรมศาสดา มีพระพุทธเจ้าพระนามว่ามังคละ แม้ระหว่าง
พระโกณฑัญญะและพระมังคละพุทธเจ้านั้น ก็เป็นอันตรกัป โดยจะ
คำนวณนับมิได้ พระพุทธเจ้าพระนามว่ามังคละ สุมนะ เรวตะ และ
โสภิตะ ผู้เป็นมุนี มีจักษุ มีพระรัศมีสว่างไสว แม้พระพุทธเจ้า ๔
พระองค์นั้นก็เสด็จอุบัติขึ้นในกัปเดียว กันต่อจากพระโสภิตพุทธเจ้า
มีพระมหามุนีพระนามว่าอโนมทัสสี แม้ระหว่างพระพุทธเจ้าพระนาม
ว่าโสภิตะ และอโนมทัสสีนั้นก็เป็นอันตรกัป โดยจะคำนวณนับมิ
ได้ พระพุทธเจ้าพระนามว่าอโนมทัสสี ปทุมะ และนารทะ ผู้เป็น
มุนีกระทำที่สุดความมืด ก็เสด็จอุบัติขึ้นในกัปเดียว ต่อจากพระ
นารทสัมพุทธเจ้า มีพระพุทธเจ้าพระนามว่าปทุมุตระ เสด็จอุบัติใน
กัปหนึ่ง ทรงช่วยให้หมู่ชนข้ามพ้นวัฏสงสารได้มากมาย แม้ระหว่าง
พระผู้มีพระภาคนารทะและพระปทุมุตรศาสดานั้น ก็เป็นอันตรกัป
โดยจะคำนวณนับมิได้ในแสนกัป มีพระมหามุนีพระองค์เดียว คือ
พระปทุมุตระผู้รู้แจ้งโลก ผู้สมควรรับเครื่องบูชา ในสามหมื่นกัป
ต่อจากพระพุทธเจ้าพระนามว่าปทุมุตระ มีพระพุทธเจ้า ๒ พระองค์
คือ พระสุเมธะและพระสุชาตะ ในพันแปดร้อยกัป (แต่กัปนี้) มี
พระพุทธเจ้า ๓ พระองค์ คือ พระปิยทัสสี พระอัตถทัสสี และ
พระธรรมทัสสี ต่อจากพระสุชาตพุทธเจ้า พระสัมพุทธเจ้าผู้อุดม
กว่าสัตว์ ผู้ไม่มีบุคคลเปรียบในโลก ๓ พระองค์นั้น เสด็จอุบัติใน
กัปเดียวกัน ในกัปที่ ๙๔ แต่ภัทรกัปนี้ มีพระมหามุนีพระองค์เดียว
คือ พระสิทธัตถะ ผู้ทรงรู้แจ้งโลก ยอดเยี่ยมโดยมีบุญสิริ ในกัป
ที่ ๙๒ แต่ภัทรกัปนี้ มีพระสัมพุทธเจ้า ๒ พระองค์ คือพระติสสะ
และพระปุสสะ ผู้ไม่มีบุคคลเปรียบเสมอ ในกัปที่ ๙๑ แต่ภัทรกัปนี้
มีพระพุทธเจ้าผู้เป็นนายกของโลก ผู้มีพระกรุณาพระนามว่าวิปัสสี
ทรงเปลื้องสัตว์ทั้งหลายจากเครื่องผูก ในกัปที่ ๓๑ แต่ภัทรกัปนี้ มี
พระพุทธเจ้า ๒ พระองค์ คือพระสิขีและพระเวสสภู ผู้ไม่มีบุคคล
เปรียบเสมอ ในภัทรกัปนี้ มีพระพุทธเจ้า ๓ พระองค์ คือ พระ-
กุกกุสันธะ พระโกนาคมนะ และพระกัสสปะ บัดนี้เราเป็นพระ
สัมพุทธเจ้าและจักมีพระเมตไตรย์สัมพุทธเจ้า แม้พระพุทธเจ้า ๕
พระองค์นี้ ก็เป็นนักปราชญ์ อนุเคราะห์โลก บรรดาพระพุทธเจ้า
ผู้เป็นธรรมราชาเหล่านี้ พระเมตไตรย์สัมพุทธเจ้าจักตรัสบอกมรรคา
นั้นแก่ผู้อื่นหลายโกฏิ แล้วจักเสด็จนิพพานพร้อมด้วยพระสาวก
ฉะนี้แล.

จบพุทธปกิรณกกัณฑ์.
เนื้อความพระไตรปิฎก เล่มที่ ๓๓ บรรทัดที่ ๘๕๖๓ - ๘๖๐๖. หน้าที่ ๓๖๖ - ๓๖๘

ออฟไลน์ Webmaster

  • Administrator
  • สมาชิก
  • *****
  • กระทู้: 404
    • ดูรายละเอียด
......ปฏิปทาพิเศษของพระโพธิญาณที่บำเพ็ญบารมีเฉพาะกิจ นอกเหนือจาก ปัญญาธิกะ สัทธาธิกะ วิริยะธิกะ ตัวอย่างเป็นบารมีเฉพาะกิจขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุธเจ้า ๒๘ พระองค์
.......ความเสียสละของพระโพธิญาณที่ทำบารมีเกิน จึงถือว่าท่านหาความประเสริฐสุดให้แก่เหล่าพุทธบริษัทแต่ละยุคแต่ละสมัยที่บำเพ็ญบารมีเกินปกติ
........ใคร่ให้พวกเราทั้งหลายมีความนอบน้อมในพระพุทธเจ้า แล้วระลึกถึงคุณท่านด้วยความจริงใจด้วยการปฏิบัติบูชา

๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑


นมัสการพระพุทธเจ้า ๒๘ พระองค์

นะโม เม สัพพะพุทธานัง
ข้าพเจ้าขอนอบน้อมแต่พระพุทธเจ้าทั้งหลายทั้งปวง
อุปปันนานัง มะเหสินัง
ผู้แสวงหาคุณอันใหญ่ซึ่งได้อุบัติแล้ว คือ
๑. ตัณหังกะโร มะหาวีโร
ปฏิปทาพิเศษของพระตัณหังกรผู้กล้าหาญ
.๒. เมธังกะโร มะหายะโส
ปฏิปทาพิเศษของพระเมธังกรผู้มียศใหญ่
๓. สะระณังกะโร โลกะหิโต
ปฏิปทาพิเศษของพระสรณังกรผู้เกื้อกูลต่อชาวโลก
๔. ทีปังกะโร ชุตินธะโร
ปฏิปทาพิเศษของพระทีปังกรผู้ทรงไว้ซึ่งปัญญาอันรุ่งเรือง
๕. โกณฑัญโญ ชะนะปาโมกโข
ปฏิปทาพิเศษของพระโกณฑัญญะผู้เป็นประมุขแห่งหมู่ชน
๖. มังคะโล ปุสิสาสะโก
ปฏิปทาพิเศษของพระมังคละผู้เป็นบุรุษประเสริฐ
๗. สุมะโน สุมะโน ธีโร
ปฏิปทาพิเศษของพระสุมนะผู้เป็นธีรบุรุษมีพระหฤทัยงาม
๘. เรวะโต ระติวัฑฒะโน
ปฏิปทาพิเศษของพระเรวะตะผู้เพิ่มพูนความยินดี
๙. โสภิโต คุณสัมปันโน
ปฏิปทาพิเศษของพระโสภิตะผู้สมบูรณ์ด้วยพระคุณ
๑๐. อะโนมะทัสสี ชะนุตตะโม
ปฏิปทาพิเศษของพระอโนมทัสสีผู้สูงสุดอยู่ในหมู่ชน
๑๑. ปะทุโม โลกะปัชโชโต
ปฏิปทาพิเศษของพระปทุมะผู้ทำให้โลกสว่าง
๑๒. นาระโท วาระสาระถี
ปฏิปทาพิเศษของพระนารทะผู้เป็นสารถีประเสริฐ
๑๓. ปะทุมุตโต สัตตะสาโร
ปฏิปทาพิเศษของพระปทุมุตตระผู้เป็นที่พึ่งของหมู่สัตว์
๑๔. สุเมโธ อัปปะฏิบุคคะโล
ปฏิปทาพิเศษของพระสุเมธะผู้หาบุคคลเปรียบมิได้
๑๕. สุชาโต สัพพะโลกัคโค
ปฏิปทาพิเศษของพระสุชาตะผู้เลิศกว่าสัตว์โลกทั้งปวง
๑๖. ปิยะทัสสี นะราสะโภ
ปฏิปทาพิเศษของพระปิยทัสสีผู้ประเสริฐกว่าหมู่นรชน
๑๗. อัตถะทัสสี การุณิโก
ปฏิปทาพิเศษของพระอัตถทัสสีผู้มีพระกรุณา
๑๘. ธัมมะทัสสี ตะโมนุโท
ปฏิปทาพิเศษของพระธรรมทัสสีผู้บรรเทาความมืด
๑๙. สิทธัตโถ อะสะโม โลเก
ปฏิปทาพิเศษของพระสิทธัตถะผู้หาบุคคลเสมอมิได้ในโลก
๒๐. ติสโส จะ วะทะตัง วาโร
ปฏิปทาพิเศษของพระติสสะผู้ประเสริฐกว่านักปราชญ์ทั้งหลาย
๒๑. ปุสโส จะ วะระโท พุทโธ
ปฏิปทาพิเศษของพระปุสสะผู้ประทานธรรมอันประเสริฐ
๒๒. วิปัสสี จะ อะนูปะโม
ปฏิปทาพิเศษของพระวิปัสสสีผู้ที่หาเปรียบมิได้
๒๓. สิขี สัพพะหิโต สัตถา
ปฏิปทาพิเศษของพระสิขีผู้เป็นศาสดาเกื้อกูลแก่สรรพสัตว์
๒๔. เวสสะภู สุขะทายะโก
ปฏิปทาพิเศษของพระเวสสภูผู้ประทานความสุข
๒๕. กะกุสันโธ สัตถะวาโท
ปฏิปทาพิเศษของพระกกุสันโธผู้นำสัตว์ออกจากสันดารตัวกิเลส
๒๖. โกนาคะมะโน ระณัญชะโห
ปฏิปทาพิเศษของพระโกนาคมนะผู้หักเสียซึ่งข้าศึก คือ กิเลส
๒๗. กัสสะโป สิริสัมปันโน
ปฏิปทาพิเศษของพระกัสสปะผู้สมบูรณ์ด้วยสิริ
๒๘. โคตะโม สักยะปุงคะโว
ปฏิปทาพิเศษของพระโคตมะผู้ประเสริฐแห่งหมู่ศากยราช

เตสาหัง สิระทา ปาเท วันทามิ ปุริสัตตะเม วะจะสา มะนะสา เจวะ วันทาเมเต ตะถาคะเต
ข้าพเจ้าขอกราบไหว้พระบาทของพระพุทธเจ้าเหล่านั้นด้วยเศียรเกล้า และขอกราบไหว้พระพุทธเจ้าเหล่านั้นผู้เป็นบุรุษอันสูงสุด ผู้เป็นตถาคตด้วยวาจาและใจทีเดียว

สะยะเน อาสะเน ฐาเน คะมะเน จาปิ สัพพะทา
ทั้งในที่นอนในที่นั่ง ในที่ยืน และแม้ในที่เดินด้วย ในกาลทุกเมื่อฯ

ตัณ เม สะ ที โก มัง สุ เร โส อะ ปะ นา ปะ สุ สุ
ปิ อะ ธะ สิ ติ ปุ วิ สิ เว กุ โก กะ โค นะมามิหัง

พระนามพระพุทธเจ้าตั้งแต่องค์แรกถึงองค์ปัจจุบัน โบราณจารย์ท่านถือว่าเป็นพระคาถาแก้วสารพัดนึก
๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑

ออฟไลน์ Webmaster

  • Administrator
  • สมาชิก
  • *****
  • กระทู้: 404
    • ดูรายละเอียด
เคยมีคนสงสัยและถามไว้ว่า
อ้างอิง:
สงสัยเรื่องอายุครับ
องค์ที่ 1 ถึง 27 ทำไมอายุขนาดนั้นเลยล่ะครับ
ปรินิพพานเมื่อพระชนมายุ เป็นหมื่นเป็นแสนทั้งนั้นเลย
ตกลงองค์ที่ 1 ถึง 27 เป็นมนุษย์หรือเปล่าครับ


ตอบ

เป็นมนุษย์ครับ และมนุษย์ในระยะเขตเวลานั้น ก็จะมีอายุเท่ากับพระพุทธเจ้าด้วย

เพราะมนุษย์แต่ละช่วง จะต่างกัน เขตอายุจะขึ้น และลงไป

คือ

ใน 1 มหากัปป์ = 1 รอบ ที่โลก และจักรวาลเกิด จะมีแบ่งออกเป็น

4 อสงไขยกัปป์ แต่ละ 1 อสงไขยกัปป์คือช่วง จักรวาลแตก 1 อสงไขยกัปป์ จักรวาลก่อตัวใหม่ 1 จักรวาลก่อตัวเสร็จแล้ว 1 จักรวาลกำลังแตก 1 รวมเป็น 4 อสงไขยกัปป์

ในแต่ละอสงไขยกัปป์ จะประกอบด้วยช่วงเวลา 64 อันตรกัปป์

1 อันตรกัปป์ คือ นับตังแต่ มนุษย์ อายุ นานมากนับไม่ไหว จนลดลงมาเหลือ 10 ขวบ เพราะความเลว และมาทำความดีอีกรอบอายุจึงขึ้นไปอีก จนนานมากนับไม่ไหว

ขึ้น ลง ขึ้น 1 ครั้ง เท่ากับ 1 อันตรกัปป์ ครบ 64 อันตรกัปป์ ได้ 1 อสงไขยกัปป์ ครบ 4 อสงไขยกัปป์ ได้ 1 มหากัปป์

พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทุก ๆ พระองค์ จะเกิดในช่วงที่มนุษย์มีอายุขาลง และในเขตอายุเฉลี่ยสูงสุดไม่เกิน 100,000 ปี และต่ำสุด ไม่เกิน 100 ปีเท่านั้น



ปัจจุบัน เรากำลังอยู่ในเขตเวลาอันตรกัปป์ที่ 12 ขาลง
เมื่อขาขึ้นอีกรอบหนึ่งเมื่อมนุษย์อายุ 8 หมื่นปี จะมีพระเจ้าจักพรรดิอุบัติ

จากนั้น มนุษย์จะมีอายุสูงมาก จนเริ่มทำผิดอกุศกรรมบทอีกครั้ง และลงอีกรอบหนึงจนอายุเหลือ 80,000 ปีจะเป็นอันตรกัปป์ที่ 13

พระศรีอริยเมตไตรย์จะทรงอุบัติในอันตรกัปป์ที่ 13 เป็นพระองค์สุดท้าย และจะไม่มีพระพุทธเจ้าในภัททรกัปป์นี้อีก เพราะทรงอุบัติครบแล้ว 5 พระองค์


-----------------------------------------

พระไตรปิฎก และอรรถกถาแปล ของมหามกุฏราชวิทยาลัยในพระบรมราชูปถัมภ์ เล่มที่ 15 ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค ตั้งแต่หน้า 99 จักกวัตติสูตร
----------------------------------------------------------------------------------

จักกวัตติสูตร

ว่าด้วยอกุศลกรรมทำให้อายุเสื่อม

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ด้วยประการดังพรรณามานี้ เมื่อพระมหากษตริย์ ไม่พระราชทานทรัพย์ให้แก่คนที่ไม่มีทรัพย์ ความขัดสน ก็ได้ถึงความแพร่หลาย เมื่อความขัดสนทรัพย์ถึงความแพร่หลาย อทินนาทานก็ได้ถึงความแพร่หลาย เมื่ออทินนาทานถึงความ แพร่หลาย กาเมสุมิจฉาจารก็ได้ถึงความแพร่หลาย เมื่อกาเมสุมิจฉาจารถึงความแพร่หลาย แม้อายุสัตว์เหล่านั้นก็เสื่อมถอย แม้วรรณะก็เสื่อมถอย เมื่อพวกเขาเสื่อมถอยจากอายุบ้างเสื่อมถอยจากวรรณะบ้าง บุตรของมนุษย์ที่มีอายุหนึ่งหมื่นปี ก็มีอายุถอยลงเหลือห้าพันปี ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ในเมื่อมนุษย์มีอายุห้าพันปี ธรรม ๒ ประการ คือ ผรุสวาจาและสัมผัปลาปะ ก็ได้ถึงความแพร่หลาย เมื่อธรรม ๒ ประการ ถึงความแพร่หลาย แม้อายุสัตว์เหล่านั้นก็เสื่อมถอย แม้วรรณะก็เสื่อมถอย เมื่อพวกเขาเสื่อมถอยจากอายุบ้างเสื่อมถอยจากวรรณะบ้าง บุตรของมนุษย์ที่มีอายุห้าพันปี ก็มีอายุถอยลงเหลือสองพันห้าร้อยปี บางพวกมีอายุถอยลงสองพันปี

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ในเมื่อมนุษย์มีอายุสองพันปี อภิชฌาและพยาบาท ก็ได้ถึงความแพร่หลาย เมื่ออภิชฌาและ พยาบาทถึงความแพร่หลาย แม้อายุสัตว์เหล่านั้นก็เสื่อมถอย แม้วรรณะก็เสื่อมถอย เมื่อพวกเขาเสื่อมถอยจากอายุบ้างเสื่อม
ถอยจากวรรณะบ้าง บุตรของมนุษย์ที่มีอายุสองพันห้าร้อยปี ก็มีอายุถอยลงเหลือหนึ่งพันปี

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ในเมื่อมนุษย์มีอายุหนึ่งพันปี มิจฉาทิฏฐิก็ได้ถึงความแพร่หลาย เมื่อมิจฉาทิฏฐิถึงความแพร่หลาย
แม้อายุสัตว์เหล่านั้นก็เสื่อมถอย แม้วรรณะก็เสื่อมถอย เมื่อพวกเขาเสื่อมถอยจากอายุบ้างเสื่อมถอยจากวรรณะบ้าง บุตรของ
มนุษย์ที่มีอายุหนึ่งพันปี ก็มีอายุถอยลงเหลือ ๕00 ปี

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ในเมื่อมนุษย์มีอายุ ๕00 ปี ธรรม ๓ ประการคือ อธรรมราคะ ( ความกำหนัดในฐานะอันไม่สมควร เป็นต้น
ว่า มารดา๑ น้า ๑ บิดา ๒ อาหญิง ๑ ป้า ๑ )วิสมโลภ ( ความโลภที่รุนแรงในฐานะแม้ที่ควรบริโภค ) มิจฉาธรรม ( ความกำหนัดด้วยอำนาจความ
พอใจระหว่าง ชายกับชาย หญิงกับหญิง ) ก็ได้ถึงความแพร่หลาย เมื่อธรรม ๓ ประการถึงความแพร่หลาย แม้อายุของสัตว์เหล่านั้น ก็เสื่อมถอย แม้วรรณะก็เสื่อมถอย เมื่อพวกเขาเสื่อมถอยจากอายุบ้างเสื่อมถอยจากวรรณะบ้าง บุตรของมนุษย์ที่มีอายุ ๕00 ปี บางพวกมีอายุถอยลง ๒๕0 ปี บางพวกมีอายุถอยลง ๒00 ปี

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ในเมื่อมนุษย์มีอายุ ๒๕0 ปี ธรรมเหล่านี้คือ ความไม่ปฏิบัติชอบในมารดา ความไม่ปฏิบัติชอบ ในบิดา ความไม่ปฏิบัติชอบในพราหมณ์ ความไม่อ่อนน้อมต่อท่านผู้ใหญ่ในตระกูล ก็ได้ถึงความแพร่หลาย

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ด้วยประการดังพรรณามานี้ เมื่อพระมหากษัตริย์ ไม่พระราชทานทรัพย์ให้แก่คนที่ไม่มีทรัพย์ ความขัดสนก็ได้ถึงความแพร่หลาย เมื่อความขัดสนถึงความแพร่หลาย อทินนทานก็ได้ถึงความแพร่หลาย เมื่ออทินนาทานได้ ถึงความแพร่หลาย ศัสตราก็ได้ถึงความแพร่หลาย เมื่อศัสตราถึงความแพร่หลาย ปาณาติบาตก็ถึงความแพร่หลาย เมื่อ
ปาณาติบาตถึงความแพร่หลาย มุสาวาทก็ถึงความแพร่หลาย เมื่อมุสาวาทถึงความแพร่หลาย ปิสุณาวาทก็ถึงความแพร่หลาย
เมื่อปิสุณาวาทถึงความแพร่หลาย กาเมสุมิจฉาจารก็ได้ถึงความแพร่หลาย เมื่อกาเมสุมิจฉาจารถึงความแพร่หลาย ธรรม ๒ ประการ คือ ผรุสวาจาและสัมผัปปลาปะก็ได้ถึงความแพร่หลาย เมื่อธรรม ๒ ประการถึงความแพร่หลาย อภิชฌาและพยาบาท
ก็ได้ถึงความแพร่หลาย มิจฉาทิฏฐิก็ได้ถึงความแพร่หลาย เมื่อมิจฉาทิฏฐิถึงความแพร่หลาย ธรรม ๓ ประการ คือ อธรรมราคะ วิสมโลภ มิจฉาธรรม ก็ได้ถึงความแพร่หลาย เมื่อธรรม ๓ ประการถึงความแพร่หลาย ธรรมเหล่านี้คือ ความไม่ปฏิบัติชอบใน มารดา ความไม่ปฏิบัติชอบในบิดา ความไม่ปฏิบัติชอบในสมณะ ความไม่ปฏิบัติชอบในพราหมณ์ ความไม่อ่อนน้อมต่อผู้ใหญ่ ในตระกูล ก็ได้ถึงความแพร่หลาย เมื่อธรรมเหล่านี้ถึงความแพร่หลาย แม้อายุของสัตว์เหล่านั้น ก็เสื่อมถอย แม้วรรณะก็เสื่อม
ถอย เมื่อพวกเขาเสื่อมถอยจากอายุบ้างเสื่อมถอยจากวรรณะบ้าง บุตรของมนุษย์ที่มีอายุ ๒๕0 ปี ก็มีอายุถอยลงเหลือ ๑00 ปี

ว่าด้วยความเสื่อมของกุศล อกุศล

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย จักมีสมัยที่มนุษย์เหล่านี้ มีบุตร อายุ ๑0 ปี ในเมื่อมนุษย์มีอายุ ๑0 ปี เด็กหญิงมีอายุ ๕ ปี จักสม ควรมีสามีได้ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ในเมื่อมนุษย์มีอายุ ๑0 ปี หญ้ากับแก้ จักเป็นอาหารอย่างดี ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ข้าวสาลี
เนื้อ ข้าวสุก จักเป็นอาหารอย่างดี ในบัดนี้ฉันใด ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ในเมื่อมนุษย์มีอายุ ๑0 ปี หญ้ากับแก้ ก็จักเป็นอาหาร
อย่างดี ฉันนั้นเหมือนกัน ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ในเมื่อมนุษย์มีอายุ ๑0 ปี กุศลกรรมบถ ๑0 จักอันตรธานหายไปหมดสิ้น
อกุศลกรรมบถ ๑0 จักเจริญรุ่งเรืองเหลือเกิน ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ในเมื่อมนุษย์มีอายุ ๑0 ปี แม้แต่ชื่อว่ากุศลก็จักไม่มี และคน ทำกุศลจักมีแต่ที่ไหน ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ในเมื่อมนุษย์มีอายุ ๑0 ปี คนทั้งหลายจักไม่ปฏิบัติชอบในมารดา จักไม่ปฏิบัติชอบ
ในบิดา จักไม่ปฏิบัติชอบในสมณะ จักไม่ปฏิบัติชอบในพราหมณ์ จักไม่ประพฤติอ่อนน้อมต่อท่านผู้ใหญ่ในตระกูล เขาเหล่านั้น
จักได้รับการบูชา และได้รับการสรรเสริญ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย คนปฏิบัติชอบในมารดา ปฏิบัติชอบในบิดา ปฏิบัติชอบในสมณะ ปฏิบัติชอบในพราหมณ์ ประพฤติอ่อนน้อมต่อท่านผู้ใหญ่ในตระกูล เขาเหล่านั้นจักได้รับการบูชาและได้รับการสรรเสริญฉันใด ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ในเมื่อมนุษย์มีอายุ ๑0 ปี เขาจักไม่ปฏิบัติชอบในมารดา บิดา สมณพราหมณ์ ไม่ประพฤติอ่อนน้อมต่อ
ท่านผู้ใหญ่ในตระกูล เขาเหล่านั้น จักได้รับการบูชาและได้รับการสรรเสริญฉันนั้นเหมือนกัน ในบัดนี้

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ในเมื่อมนุษย์มีอายุ ๑0 ปี เขาจักไม่คิดเคารพยำเกรงว่า นี่แม่ นี่น้า นี่พ่อ นี่อา นี่ป้า นี่ภรรยา ของอาจารย์ หรือว่านี่คือภรรยาของท่านที่เคารพทั้งหลาย สัตว์โลกจักถึงความสมสู่ปะปนกันหมด เปรียบเหมือนแพะ ไก่ สุกร สุนัขบ้าน สุนัขจิ้งจอก ฉะนั้น ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ในเมื่อมนุษย์มีอายุ ๑0 ปี สัตว์เหล่านั้นต่างก็จักเกิดความอาฆาต ความ พยาบาท ความคิดร้าย ความคิดจะฆ่า อย่างแรงกล้าในกันและกัน มารดากับบุตรก็ดี บุตรกับมารดาก็ดี บิดากับบุตรก็ดี บุตร กับบิดาก็ดี พี่ชายกับน้องหญิงก็ดี น้องหญิงกับพี่ชายก็ดี จัดเกิดความอาฆาต ความพยาบาท ความคิดร้าย ความคิดจะฆ่ากัน อย่างแรงกล้า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย นายพรานเนื้อเห็นเนื้อเข้า เกิดความอาฆาต ความพยาบาท ความคิดร้าย ความคิดจะฆ่า อย่างแรงกล้า ฉันใด ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ในเมื่อมนุษย์มีอายุ ๑0 ปี สัตว์เหล่านั้นจักมีความอาฆาต...ความคิดจะฆ่าอย่างแรง
กล้าในกันและกัน ฉันนั้นเหมือนกัน

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ในเมื่อมนุษย์มีอายุ ๑0 ปี จักมีสัตถันตรกัป สิ้น ๗ วัน มนุษย์เหล่านั้นจักสำคัญกันและกันว่าเป็น เนื้อ ศัสตราทั้งหลายอันคม จักปรากฏมีในมือของพวกเขา พวกเขาจะฆ่ากันเองด้วยศัสตราอันคมนั้นโดยสำคัญว่า นี้เนื้อ
( มิคสัญญี ) ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ครั้งนั้นสัตว์เหล่านั้น บางพวกมีความคิดอย่างนี้ว่า พวกเราอย่าฆ่าใครๆ และใครๆ ก็อย่าฆ่า
เรา อย่ากระนั้นเลย เราควรเข้าไปตามป่าหญ้า สุมทุมป่าไม้ ระหว่างเกาะ หรือซอกเขา มีรากไม้และผลไม้ในป่าเป็นอาหาร เลี้ยงชีวิตอยู่ซัก ๗ วัน เขาพากันเข้าไปตามป่าหญ้าสุมทุมป่าไม้ ระหว่างเกาะหรือซอกเขา มีรากไม้และผลไม้ในป่าเป็นอาหาร เลี้ยงชีวิตอยู่ตลอด ๗ วัน เขาพากันออกจากสุมทุมป่าไม้ ระหว่างเกาะซอกเขา แล้วต่างสวมกอดกันและกัน จักขับร้องปลอบใจ กันในที่ประชุมว่า สัตว์ผู้เจริญ เราพบเห็นกันแล้ว ท่านยังมีชีวิตอยู่หรือๆ

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ลำดับนั้น สัตว์เหล่านั้นจักมีความคิดอย่างนี้ว่า พวกเราเจริญด้วยอายุบ้าง เจริญด้วยวรรณะบ้าง เพราะเหตุที่สมาทานกุศลธรรม อย่ากระนั้นเลย พวกเราควรทำกุศลยิ่งๆ ขึ้นไป ควรทำกุศลอะไร พวกเราควรงดเว้นจาก อทินนาทาน ควรงดเว้นจากกาเมสุมิจฉาจาร ควรงดเว้นจากปิสุณาวาจา ควรงดเว้นจากผรุสวาจา ควรงดเว้นจาก
สัมผัปปลาปะ ควรละอภิชฌา ควรละพยาบาท ควรละมิจฉาทิฏฐิ ควรละธรรม ๓ ประการ คือ อธรรมราคะ วิสมโลภ มิจฉา
ธรรม อย่ากระนั้นเลย พวกเราควรปฏิบัติชอบในมารดา ควรปฏิบัติชอบในบิดา ควรปฏิบัติชอบในสมณะ ควรปฏิบัติชอบใน
พราหมณ์ ประพฤติอ่อนน้อมต่อท่านผู้ใหญ่ในตระกูล ควรสมาทานกุศลนี้แล้วประพฤติ เขาเหล่านั้นจักปฏิบัติชอบในมารดา ปฏิบัติชอบในบิดา ปฏิบัติชอบในสมณะ ปฏิบัติชอบในพราหมณ์ ประพฤติอ่อนน้อมต่อท่านผู้ใหญ่ในตระกูล จักสมาทานกุศล ธรรมนี้แล้วประพฤติ เพราะเหตุที่สมาทานกุศลธรรมเหล่านั้น เขาเหล่านั้นจักเจริญด้วยอายุบ้าง จักเจริญด้วยวรรณะบ้าง เมื่อ เขาเหล่านั้นเจริญด้วยอายุบ้าง เจริญด้วยวรรณะบ้าง บุตรของคนผู้มีอายุ ๒0 ปี จักมีอายุเจริญขึ้นถึง ๔0 ปี บุตรของคนผู้มี
อายุ ๔0 ปี จักมีอายุเจริญขึ้นถึง ๘0 ปี บุตรของคนผู้มีอายุ ๘0 ปี จักมีอายุเจริญขึ้นถึง ๑๖0 ปี บุตรของคนผู้มีอายุ ๑๖0 ปี จักมีอายุเจริญขึ้นถึง ๓๒0 ปี บุตรของคนผู้มีอายุ ๓๒0 ปี จักมีอายุเจริญขึ้นถึง ๖๔0 ปี บุตรของคนผู้มีอายุ ๖๔0 ปี จักมีอายุ
เจริญขึ้นถึงสองพันปี บุตรของคนผู้มีอายุสองพันปี จักมีอายุเจริญขึ้นถึงสี่พันปี บุตรของคนผู้มีอายุสี่พันปี จักมีอายุเจริญ
ขึ้นถึงแปดพันปี บุตรของคนผู้มีอายุแปดพันปี จักมีอายุเจริญขึ้นถึงสองหมื่นปี บุตรของคนผู้มีอายุสองหมื่นปี จักมีอายุเจริญ
ขึ้นถึงสี่หมื่นปี บุตรของคนผู้มีอายุสี่หมื่นปี จักมีอายุเจริญขึ้นถึงแปดหมื่นปี

ว่าด้วยการงดเว้นอกุศลกรรมบถ ๑0 อายุยืน

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ในเมื่อมนุษย์มีอายุแปดหมื่นปี เด็กหญิงที่มีอายุ ๕00 ปี จึงจักควรมีสามีได้ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ในเมื่อมนุษย์มีอายุแปดหมื่นปี จักมีอาพาธ ๓ อย่าง คือ ความอยากกิน ๑ ความไม่อยากกิน ๑ ความแก่ ๑ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ในเมื่อมนุษย์มีอายุแปดหมื่นปี ชมพูทวีปนี้ จักมั่งคั่งและรุ่งเรือง มีบ้านนิคมและราชธานีพอชั่วไก่บินตก ดูกรภิกษุทั้งหลาย ในเมื่อมนุษย์มีอายุแปดหมื่นปี ชมพูทวีปนี้ประหนึ่งอเวจีนรก จักยัดเยียดไปด้วยผู้คนทั้งหลาย เปรียบเหมือนป่าไม้อ้อ หรือป่า
ไม้แก่น ฉะนั้น

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ในเมื่อมนุษย์มีอายุแปดหมื่นปี เมืองพาราณสีนี้ จักเป็นราชธานีมีนามว่าเกตุมดี เป็นเมืองที่มีมั่งคั่ง
และรุ่งเรืองมีพลเมืองมาก มีผู้คนคับคั่ง และมีอาหารสมบูรณ์ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ในเมื่อมนุษย์มีอายุแปดหมื่นปี ในชมพูทวีปนี้ จักมีเมืองแปดหมื่นสี่พันเมือง มีเกตุมดีราชธานีเป็นประมุข

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ในเมื่อมนุษย์มีอายุแปดหมื่นปี จักมีพระเจ้าจักรพรรดิ์ ทรงพระนามว่า พระเจ้าสังขะ ทรงอุบัติขึ้น
ณ เมือง เกตุมดีราชธานี เป็นผู้ทรงธรรม เป็นพระราชาโดยธรรม เป็นใหญ่ในแผ่นดิน มีมหาสมุทร ๔ เป็นขอบเขต ทรงชนะ
แล้ว มีราชอาณาจักรมั่งคั่งสมบูรณ์ด้วยแก้ว ๗ ประการ คือ จักรแก้ว ช้างแก้ว ม้าแก้ว แก้วมณี นางแก้ว คหบดีแก้ว ปริณายกแก้วเป็นที่ ๗ พระราชบุตรของพระองค์มีกว่าพัน ล้วนกล้าหาญ มีรูปทรงสมเป็นวีรกษัตริย์สามารถย่ำยีเสนาของ
ข้าศึกได้ พระองค์ทรงชำนะโดยธรรม มิต้องใช้อาชญา มิต้องใช้ศัตรา ครอบครองแผ่นดินมีสาครเป็นขอบเขต

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ในเมื่อมนุษย์มีอายุแปดหมื่นปี พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงพระนามว่าเมตไตรย์ จักเสด็จอุบัติขึ้นใน
โลก พระองค์เป็นพระอรหันต์ ตรัสรู้เองโดยชอบ ถึงความพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ เสด็จไปดีแล้ว ทรงรู้แจ้งโลกเป็นสารถีฝึก
บุรุษที่ควรฝึก ไม่มีผู้อื่นยิ่งกว่า เป็นศาสดาของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เป็นผู้เบิกบานแล้ว เป็นผู้จำแนกพระธรรม เหมือน
ตถาคตอุบัติขึ้นแล้วในโลกบัดนี้ เป็นพระอรหันต์ตรัสรู้เองโดยชอบ ถึงพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ เสด็จไปดีแล้ว รู้แจ้งโลก เป็นสารถีฝึกบรุษที่ควรฝึก ไม่มีผู้อื่นยิ่งกว่า เป็นศาสดาของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เป็นผู้เบิกบานแล้ว เป็นผู้จำแนกพระ
ธรรม พระผู้มีพระภาคพระนามว่า เมตไตรย์พระองค์นั้น จักทรงทำโลกนี้ พร้อมเทวโลก มารโลก พรหมโลก ให้แจ้งชัด ด้วย
พระปัญญาอันยิ่งด้วยพระองค์เองแล้ว ทรงสอนหมู่สัตว์พร้อมทั้งพราหมณ์เทวดาและมนุษย์ให้รู้ตาม เหมือนตถาคตในบัดนี้ ทำโลกนี้พร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก ให้แจ้งชัดด้วยปัญญาอันยิ่งด้วยตถาคตเองแล้วสอนหมู่สัตว์พร้อมทั้งสมณะ
พราหมณ์ เทวดาและมนุษย์ให้รู้ตามอยู่ พระผู้มีพระภาคเจ้าพระนามว่าเมตไตรย์พระองค์นั้น จักทรงแสดงธรรมงามในเบื้องต้น งามในท่ามกลาง งามในที่สุด ประกาศพรหมจรรย์ พร้อมทั้งอรรถ พร้อมทั้งพยัญชนะ บริสุทธิ์บริบูรณ์สิ้นเชิงพระผู้มีพระภาค
เจ้าพระนาม ว่าพระเมตไตรย์พระองค์นั้น จักทรงบริหารภิกษุสงฆ์ หลายพัน เหมือนตถาคต บริหารภิกษุสงฆ์หลายร้อย ในบัด
นี้ ฉันนั้น

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ครั้งนั้น พระเจ้าสังขะ จักทรงให้ยกขึ้น ซึ่งปราสาทที่พระเจ้ามหาปนาทะทรงสร้างไว้ แล้วประทับอยู่ แลัวจักทรงสละ จักทรงบำเพ็ญทาน แก่สมณพราหมณ์ คนกำพร้า คนเดินทาง วณิพก และยาจกทั้งหลายจักทรงปลงพระเกศา
และพระมัสสุ ทรงครองผ้ากาสาวพัสตร์ เสด็จออกจากเรือน ทรงผนวชเป็นบรรพชิตในสำนักของพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมา
สัมพุทธเจ้า พระนามว่าเมตไตรย์ ท้าวเธอทรงผนวชอย่างนี้แล้ว ทรงปลีกพระองค์อยู่แต่ผู้เดียวไม่ประมาท มีความเพียรมีตน
ส่งไปแล้ว ไม่ช้านัก ก็จักทรงทำให้แจ้ง ซึ่งประโยชน์อันยอดเยี่ยมที่กุลบุตรทั้งหลาย พากันออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตโดย
ชอบ อันเป็นที่สุดแห่งพรหมจรรย์ ด้วยปัญญาอันยิ่งด้วยพระองค์เอง ในทิฏฐธรรมเทียว เข้าถึงอยู่

ออฟไลน์ Webmaster

  • Administrator
  • สมาชิก
  • *****
  • กระทู้: 404
    • ดูรายละเอียด
อรรถกถาขุททกนิกาย พุทธวงศ์
ปธานเวมัตตะ ความแตกต่างกันแห่งการตั้งความเพียร

ที่ชื่อว่า ปธานเวมัตตะ ความแตกต่างกันแห่งการตั้งความเพียร
ได้แก่ พระพุทธเจ้าคือพระทีปังกร พระโกณฑัญญะ พระสุมนะ พระอโนมทัสสี.พระสุชาตะ พระสิทธัตถะและพระกกุสันธะ ทรงบำเพ็ญเพียร ๑๐ เดือน.

พระพุทธเจ้าคือพระมังคละ พระสุเมธะ พระติสสะและพระสิขี ทรงบำเพ็ญเพียร ๘ เดือน.

พระเรวตพุทธเจ้า ๗ เดือน.
พระโสภิตพุทธเจ้า ๔ เดือน.
พระพุทธเจ้าคือ พระปทุมะ พระอัตถทัสสีและพระวิปัสสี ครึ่งเดือน.
พระพุทธเจ้าคือ พระนารทะ พระปทุมุตตระ พระธัมมทัสสีและพระกัสสปะ ๗ วัน.
พระพุทธเจ้าคือ พระปิยทัสสี พระปุสสะ พระเวสสภู และพระโกนาคมนะ ๖ เดือน.
พระพุทธเจ้าของเราทรงบำเพ็ญเพียร ๖ ปี.
นี้ชื่อว่า ปธานเวมัตตะ.

รัศมีเวมัตตะ

ที่ชื่อว่ารัศมีเวมัตตะ ความแตกต่างกันแห่งพระรัศมี ได้ยินว่า พระมังคลสัมมาสัมพุทธเจ้า มีพระรัศมีแห่งพระสรีระ แผ่ไปในหมื่นโลกธาตุ.

พระปทุมุตตรพุทธเจ้า แผ่ไป ๑๒ โยชน์.
พระวิปัสสีพุทธเจ้า แผ่ไป ๗ โยชน์.
พระสิขีพุทธเจ้า แผ่ไป ๓ โยชน์.
พระกกุสันธพุทธเจ้า แผ่ไป ๑๐ โยชน์.
พระผู้มีพระภาคเจ้าของเรา ประมาณหนึ่งวาโดยรอบ.
พระพุทธเจ้านอกนั้น ไม่แน่นอน.
นี้ชื่อว่า รัศมีเวมัตตะ.



ยานเวมัตตะ

ที่ชื่อว่ายานเวมัตตะ ความแตกต่างกันแห่งพระยาน ได้แก่ พระพุทธเจ้าบางพระองค์ออกอภิเนษกรมณ์ด้วยยานคือช้าง บางพระองค์ด้วยยานคือม้า บางพระองค์ด้วยยานคือรถ ดำเนินด้วยพระบาท ปราสาทและวอเป็นต้นอย่างใดอย่างหนึ่ง.

พระพุทธเจ้าคือพระทีปังกร พระสุมนะ พระสุเมธะ
พระปุสสะ พระสิขิ และพระโกนาคมนะ ออกอภิเนษกรมณ์ด้วยยานคือช้าง
พระโกณฑัญญะ พระเรวตะ พระปทุมะ พระปิยทัสสี พระวิปัสสีและพระกกุสันธะ ด้วยยานคือรถ.
พระมังคละ พระสุชาตะ พระอัตถทัสสี พระติสสะ และพระโคตมะด้วยยานคือม้า.
พระอโนมทัสสี พระสิทธัตถะ พระเวสสภู ด้วยยานคือวอ.
พระนารทะเสด็จออกอภิเนษกรมณ์ด้วยพระบาท.
พระโสภิตะ พระปทุมุตตระ พระธัมมทัสสีและพระกัสสปะออกอภิเนษกรมณ์ด้วยปราสาท.
นี้ชื่อว่า ยานเวมัตตะ.

โพธิรุกขเวมัตตะ

ที่ชื่อว่า โพธิรุกขเวมัตตะ ความแตกต่างกันแห่งโพธิพฤกษ์ ได้แก่พระผู้มีพระภาคเจ้าทีปังกร มีโพธิพฤกษ์ ชื่อต้นกปิตนะ มะขวิด.
พระผู้มีพระภาคเจ้าโกณฑัญญะ มีโพธิพฤกษ์ชื่อต้นสาลกัลยาณี ขานาง
พระมังคละ พระสุมนะ พระเรวตะ พระโสภิตะ มีโพธิพฤกษ์ชื่อต้นนาคะ กากะทิง.
พระอโนมทัสสี มีโพธิพฤกษ์ชื่อ ต้นอัชชุนะ กุ่ม.
พระปทุมะและพระนารทะ มีโพธิพฤกษ์ชื่อ ต้นมหาโสณะ อ้อยช้างใหญ่.
พระปทุมุตตระ มีโพธิพฤกษ์ชื่อ ต้นสลละหรือสาละ.
พระสุเมธะ มีโพธิพฤกษ์ชื่อ ต้นนีปะ กะทุ่ม.
พระสุชาตะ มีโพธิพฤกษ์ชื่อ ต้นเวฬุ ไผ่.
พระปิยทัสสี มีโพธิพฤกษ์ชื่อ ต้นกกุธะ กุ่ม.
พระอัตถทัสสี โพธิพฤกษ์ชื่อ ต้นจัมปกะ จำปา.
พระธัมมทัสสี โพธิพฤกษ์ชื่อ ต้นรัตตกุรวกะ๑ ซ้องแมวแดง.
พระสิทธัตถะ. โพธิพฤกษ์ชื่อ ต้นกณิการะ กรรณิการ์.
พระติสสะ. โพธิพฤกษ์ชื่อ ต้นอสนะ ประดู่.
พระปุสสะ โพธิพฤกษ์ชื่อ ต้นอาลมกะ มะขามป้อม.
พระวิปัสสี โพธิพฤกษ์ชื่อ ต้นปาฏลี แคฝอย.
พระสิขี โพธิพฤกษ์ชื่อ ต้นปุณฑรีกะ กุ่มบก.
พระเวสสภู โพธิพฤกษ์ชื่อ ต้นสาละ.
พระกกุสันธะ โพธิพฤกษ์ชื่อ ต้นสรีสะ ซึก.
พระโกนาคมนะ โพธิพฤกษ์ชื่อ ต้นอุทุมพระ มะเดื่อ.
พระกัสสปะ โพธิพฤกษ์ชื่อ ต้นนิโครธ ไทร.
พระโคตมะ โพธิพฤกษ์ชื่อ ต้นอัสสัตถะ โพธิใบ.
นี้ชื่อว่า โพธิเวมัตตะ.

ที่ชื่อว่า บัลลังกเวมัตตะ ความแตกต่างกันแห่งบัลลังก์ ได้แก่ พระพุทธเจ้า คือ พระทีปังกร พระเรวตะ พระปิยทัสสี พระอัตถทัสสี พระธัมมทัสสีและพระวิปัสสี มีบัลลังก์ ๕๓ ศอก. พระโกณฑัญญะ พระมังคละ พระนารทะและพระสุเมธะ มีบัลลังก์ ๕๗ ศอก. พระสุมนะ มีบัลลังก์ ๖๐ ศอก.

พระโสภิตะ พระอโนมทัสสี พระปทุมะ พระปทุมุตตระ และพระปุสสะมีบัลลังค์ ๓๘ ศอก.
พระสุชาตะ มีบัลลังก์ ๓๒ ศอก.
พระสิทธัตถะ พระติสสะ และพระเวสสภู มีบัลลังก์ ๔๐ ศอก.
พระสิขี มีบัลลังก์ ๓๒ ศอก.
พระกกุสันธะ มีบัลลังก์ ๒๖ ศอก.
พระโกนาคมนะ มีบัลลังก์ ๒๐ ศอก.
พระกัสสปะ มีบัลลังก์ ๑๕ ศอก.
พระโคตมะ มีบัลลังก์ ๑๔ ศอก.
นี้ชื่อว่า บัลลังกเวมัตตะ
เหล่านี้ชื่อว่า เวมัตตะ ๘.

เรื่องสถานที่พระพุทธเจ้าไม่ทรงละ

ก็พระพุทธเจ้าทุกพระองค์ ไม่ทรงละสถานที่ ๔ แห่ง. จริงอยู่ โพธิบัลลังก์ พระพุทธเจ้าทุกพระองค์ไม่ทรงละ เป็นสถานที่แห่งเดียวกันนั่นเอง,ไม่ทรงละการประกาศพระธรรมจักร ณ ป่าอิสิปตนะมิคทายวัน, ไม่ทรงละสถานที่เหยียบพระบาทครั้งแรก ใกล้ประตูสังกัสสนคร ครั้งเสด็จลงจากเทวโลก,ไม่ทรงละสถานที่วางเท้าเคียง ๔ เท้าแห่งพระคันธกุฎีในพระวิหารเชตวัน.พระวิหารเล็กก็มี ใหญ่ก็มี ทั้งพระวิหารก็ไม่ละ ทั้งพระนครก็ไม่ละ.

เรื่องการกำหนดสหชาตและกำหนดนักษัตร์

ยังมีอีกข้อหนึ่ง ท่านพระสังคีติกาจารย์ทั้งหลาย แสดงกำหนดสหชาต และกำหนดนักษัตร ของพระผู้มีพระภาคเจ้าของเราเท่านั้น. สิ่งที่เกิดร่วมกันกับพระสัพพัญญูโพธิสัตว์ของเรามี ๗ เหล่านี้ คือ พระมารดาพระราหุล ๑พระอานันทเถระ ๑ พระฉันนะ ๑ พระยาม้ากัณฐกะ ๑ หม้อขุมทรัพย์ ๑ พระมหาโพธิ ๑ พระกาฬุทายี ๑ นี้ชื่อว่ากำหนดสหชาต.

โดยนักษัตรคือดาวฤกษ์ในเดือนอุตตราสาธ พระมหาบุรุษ ลงสู่พระครรภ์พระชนนี เสด็จออกมหาภิเนษกรมณ์ ทรงประกาศพระธรรมจักรทรงแสดงยมกปาฏิหาริย์, โดยนักษัตรคือดาวฤกษ์ในเดือนวิสาขะ ประสูติตรัสรู้ และปรินิพพาน, โดยนักษัตรคือดาวฤกษ์เดือนมาฆะ พระองค์ทรงประชุมพระสาวก และทรงปลงอายุสังขาร, โดยนักษัตรคือดาวฤกษ์เดือนอัสสยุชะเสด็จลงจากเทวโลก นี้ชื่อว่า กำหนดนักษัตร.





เรื่องธรรมดาของพระพุทธเจ้า

บัดนี้ เราจะประกาศธรรมดาทั่วไปของพระพุทธเจ้าทุกพระองค์ธรรมดาของพระพุทธเจ้าทุกพระองค์ มี ๓๐ ถ้วน คือ

๑. พระโพธิสัตว์ผู้มีภพสุดท้าย มีสัมปชัญญะรู้ตัว ลงสู่พระครรภ์ของพระชนนี
๒. พระโพธิสัตว์นั่งขัดสมาธิในพระครรภ์ของพระชนนีหันพระพักตร์หันพระพักตร์ออกไปภายนอก
๓. พระชนนีของพระโพธิสัตว์ยืนประสูติ
๔. พระโพธิสัตว์ออกจากพระครรภ์พระชนนีในป่าเท่านั้น
๕. พระโพธิสัตว์วางพระบาทลงบนแผ่นทอง หันพระพักตร์ไปทางทิศเหนือ ย่างพระบาท ๗ ก้าว เสด็จไปตรวจดู ๔ ทิศแล้วเปล่งสีหนาท
๖. พระมหาสัตว์ พอพระโอรสสมภพ ก็ทรงเห็นนิมิต ๔ แล้วออกมหาภิเนษกรมณ์
๗. พระมหาสัตว์ ทรงถือผ้าธงชัยแห่งพระอรหันต์ ทรงผนวช ทรงบำเพ็ญเพียรกำหนดอย่างต่ำที่สุด ๗ วัน
๘. เสวยข้าวมธุปายาส ในวันที่ทรงบรรลุพระสัมโพธิญาณ
๙. ประทับนั่งเหนือสันถัตหญ้าบรรลุพระสัพพัญญุตญาณ
๑๐.ทรงบริกรรมอานาปานัสสติกัมมัฏฐาน
๑๑. ทรงกำจัดกองกำลังของมาร
๑๒. ณ โพธิบัลลังก์นั่นเอง ทรงได้คุณมีอสาธารณะญาณ ตั้งแต่วิชชา ๓ เป็นต้นไปเป็นอาทิ
๑๓. ทรงยับยั้งใกล้โพธิพฤกษ์ ๗ สัปดาห์
๑๔. ท้าวมหาพรหมทูลอาราธนาเพื่อให้ทรงแสดงธรรม
๑๕. ทรงประกาศพระธรรมจักร ณ ป่าอิสิปตนะ มิคทายวัน
๑๖. ในวันมาฆบูรณมี ทรงยกปาติโมกข์ขึ้นแสดงในที่ประชุมสาวกประกอบด้วยองค์ ๔
๑๗. ประทับอยู่ประจำ ณ ที่พระวิหารเชตวัน
๑๘. ทรงทำยมกปาฏิหาริย์ ใกล้ประตูกรุงสาวัตถี
๑๙. ทรงแสดงพระอภิธรรม ภพดาวดึงส์
๒๐. เสด็จลงจากเทวโลก ใกล้ประตูสังกัสสนคร
๒๑. ทรงเข้าผลสมาบัติต่อเนื่องกัน
๒๒. ทรงตรวจดูเวไนยชน ๒ วาระ
๒๓. เมื่อเรื่องเกิดขึ้น จึงทรงบัญญัติสิกขาบท
๒๔. เมื่อเหตุต้นเรื่องเกิดขึ้น จึงตรัสชาดก
๒๕. ตรัสพุทธวงศ์ในสมาคมพระประยูรญาติ
๒๖. ทรงทำปฏิสันถารกับภิกษุอาคันตุกะ
๒๗. พวกภิกษุจำพรรษาแล้วถูกนิมนต์ ไม่ทูลบอกลาก่อน ไปไม่ได้
๒๘. ทรงทำกิจก่อนและหลังเสวย ยามต้น ยามกลางและยามสุดท้ายทุก ๆ วัน
๒๙. เสวยรสมังสะ ในวันปรินิพพาน
๓๐. ทรงเข้าสมาบัติยี่สิบสี่แสนโกฏิสมาบัติแล้วจึงปรินิพพาน

ธรรมดาของพระพุทธเจ้าทุกพระองค์มี ๓๐ ถ้วนดังกล่าวมาฉะนี้.

เรื่องอนันตรายิกธรรม

พระพุทธเจ้าทุกพระองค์ มีอนันตรายิกธรรม (คือ ไม่มีอันตรายเป็นธรรมดา) ๔ คือ

๑. ใครๆ ไม่อาจทำอันตรายแก่ปัจจัย๔ ที่มีเฉพาะพระพุทธเจ้าทั้งหลาย
๒. ใครๆ ไม่อาจทำอันตรายแก่พระชนมายุของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย สมจริงดังที่ตรัสไว้ว่า ข้อที่บุคคลพึงใช้ความพยายามปลงพระชนม์ชีพพระตถาคตไม่เป็นฐานะ ไม่เป็นโอกาส [คือเป็นไปไม่ได้]
๓. ใครๆ ไม่อาจทำอันตรายแก่พระมหาปุริสลักษณะ ๓๒ ประการและแก่พระอนุพยัญชนะ ๘๐ ประการ
๔. ใคร ๆ ไม่อาจทำอันตรายแก่พระพุทธรังสีได้

เหล่านี้ ชื่อว่า อนันตรายิกธรรม ๔.

ออฟไลน์ Webmaster

  • Administrator
  • สมาชิก
  • *****
  • กระทู้: 404
    • ดูรายละเอียด
จากโพธิสัตว์ สู่ อนุตรอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า



ผู้ตั้งจิตบำเพ็ญ อีกพวกหนึ่ง ที่ตั้งจิตปรารถนาไว้ว่า จะปฏิบัติพากเพียรเอา "อนุตรอรหันตสัมมา สัมพุทธเจ้า" ทีเดียว ผู้นี้จึงเรียกว่า "พระโพธิสัตว์"
ก็มี ๒ ประเภท คือ "พระอนิยตโพธิสัตว์" กับ "พระนิยตโพธิสัตว์"
"พระอนิยตโพธิสัตว์" คือ ผู้ตั้งจิตปรารถนาจะเป็น "พระโพธิสัตว์" ที่จะไต่เต้าขึ้นเป็น "พระพุทธเจ้า" และ ตั้งใจ บำเพ็ญตน ตามศีล -ตามจริยาของ โลกุตรภูมิ
แต่ยังไม่เที่ยงแท้ว่า "จะเป็นผู้ได้ข้ามภูมิไปถึง "พุทธภูมิ" หรือเปล่า ?"
อาจอยู่แค่ "โลกียภูมิ" นี้ หรือ อยู่แค่ "โลกุตรภูมิ" ก็ได้ หรือ อาจจะขึ้นถึงเขต "พุทธภูมิ" มีภูมิเลยขั้น "อรหันต์" สำหรับตนจบแล้วก็ได้ เป็นแต่ว่า "ยังไม่แน่นอน ยังไม่มีภูมิถึงขั้นเที่ยงแท้พอที่จะได้เป็น 'พระพุทธเจ้า' เท่านั้น"
ดังนั้น "พระอนิยตโพธิสัตว์" ที่เลิกบำเพ็ญบางรูปที่ได้แต่ละขั้นบ้าง ไม่ได้สักขั้นบ้าง จึงอาจจะเป็น ผู้ที่มี จิตต่ำกว่า "ปุถุชน" ธรรมดาบางคนก็ได้ อาจจะสูงกว่าสมณะบางองค์ก็ได้เช่นกัน แต่ก็คือ ผู้ยังไม่เที่ยงแท้ ต่อ "พุทธภูมิ"
"พระนิยตโพธิสัตว์" คือ ผู้มี "จิตบรรลุ" แล้ว เป็น "พระโพธิสัตว์" แท้ มี "อรหันตคุณ" สั่งสมไปตามลำดับๆ เที่ยงแท้ ต่อการได้สู่ "พุทธภูมิ" การดำเนิน หรือเป็นไป ก็คล้ายกับการจะไปเป็น "พระอริยเจ้า" ที่หมาย จะบรรลุ "พระอรหันต์" เช่นกัน โดยนัยเดียวกัน เป็นแต่ว่า "ภูมิธรรมมีจุดสูงสุด คนละระดับขั้น"
การบำเพ็ญของ "พระนิยตโพธิสัตว์" นั้น จะต้องเวียนตายเวียนเกิดอีกนานับชาติ วัฏฏะลึกซึ้งยิ่งใหญ่มาก มาเกิด เป็นมนุษย์อีกบ้าง เกิดเป็นเทพบ้าง พรหมบ้าง และ ซับซ้อนกลับไปอยู่ในรูปของสัตว์เดรัจฉานบ้าง (แต่ภูมิธรรม ของท่านไม่ได้ต่ำเช่นเดรัจฉาน) ตามคุณธรรม และ ตามวาระ
เมื่อมาเกิดเป็น "มนุษย์" อีกนั้น ท่านก็จะไม่ติดหนักกับ "โลกียะ" เหมือนคนธรรมดามากนัก คือ "ไม่มัวเมา หรือ ไม่ติดอยู่นาน เป็นแต่เพียง อยู่เพื่อสำรอกกรรม"
ถ้าท่านมี "ภูมิธรรม" สูงเลยเขตความเป็น "อรหันต์" ไปมากๆ แล้ว ท่านก็ไม่จำเป็นต้องไปเป็นลูกศิษย์ ของใคร เพื่อจะเรียนหาความบรรลุ "อรหันต์"
ท่านบรรลุของท่านเองได้แล้ว ท่านตรัสรู้สิ้นทุกข์ของท่านเองได้ โดยไม่ต้องเรียนรู้ธรรมจากอาจารย์ องค์ใดอีก เพราะในอดีตท่านมี "ภูมิธรรม" สูง เลยการทำตัวให้พ้นทุกข์อริยสัจ มาได้แล้ว ท่านมีบารมีจิต สั่งสมมาแล้วจริง (กัมมทายาท)
ท่านจึง "บำเพ็ญตนพ้นทุกข์อริยสัจ" ได้เอง และ พร้อมกันนั้น ก็บำเพ็ญบารมีอื่น อันเป็นบารมีที่ "พระโพธิสัตว์" จะต้องสั่งสมต่อไปด้วย บำเพ็ญบารมีหนึ่ง จนสำเร็จบารมีนั้น ก็ได้บารมีนั้น ผู้นี้แหละคือ "พระปัจเจกโพธิพุทธเจ้า" หรือ "พระปัจเจกสัมมาสัมพุทธ" บำเพ็ญชาติหนึ่งไปเรื่อยๆ จนตรัสรู้ได้ขั้นหนึ่ง ก็ได้เป็น "พระปัจเจกโพธิพุทธเจ้า" ไปครั้งหนึ่ง
อย่าไปแปลคำว่า "พระปัจเจกโพธิพุทธเจ้า" แต่เพียงว่า "ผู้ตรัสรู้เองไม่อาศัยธรรมะของผู้ใดเท่านั้น" ต้องแปลว่า "ผู้ยังตั้งศาสนาพุทธเองไม่ได้ด้วย" ซึ่งมีอยู่มาก
หรือ "ตั้งศาสนาเองได้" ก็มีแต่ "ศาสนา" นั้น หรือ "ลัทธิ" นั้น ยังไม่ใช่ หรือ ยังไม่เทียบเท่า "พุทธศาสนา" คือ "ยังไม่ถึงแก่นแท้" ยังโยนความไม่รู้ไปให้สิ่งลึกลับ ซึ่งส่วนมากก็สมมุติเป็น"พระเจ้า" หรือ"เทพเจ้า"ต่างๆ อยู่
และที่ว่า "พระปัจเจกโพธิพุทธเจ้า" รู้ได้แต่ตัวเอง สอนคนอื่นไม่ได้นั้น เป็น "พระปัจเจกพุทธเจ้า" แบบฤๅษี หรือ ของลัทธิอื่นๆ ที่ไม่สมบูรณ์ด้วย "สัมมาอริยมรรค" ย่อมสอนคนอื่นไม่ได้ ก็มีอยู่จริง นั่น ไม่ใช่ "พระปัจเจก" ของ ศาสนาพุทธ ไม่ใช่ "พระปัจเจกโพธิพุทธเจ้า" ไม่ใช่ "พระปัจเจกสัมมาสัมพุทธ"
ซึ่งต่างกันกับ "พระปัจเจกโพธิพุทธเจ้า" หรือ "พระปัจเจกสัมมาสัมพุทธ" ที่มีภูมิถึงขั้นเป็น "พระนิยตโพธิสัตว์" แท้ ในโอกาสข้างหน้า
ท่านผู้นี้จะต้องมาเกิด "ตรัสรู้" เป็น "พระสัมมาสัมพุทธเจ้า" แน่นอน และอีกอย่างก็คือ ท่านยังเป็นผู้สั่งสม "บารมีธรรม" ต่ออยู่อีกด้วย
"พระปัจเจกโพธิพุทธเจ้า" ก็จะเวียนอุบัติ-เวียนนิพพาน เพื่อบำเพ็ญบารมีอยู่อีกหลายชาติ แต่แท้จริง ท่านก็เป็น "พุทธชาติ" เวียนเกิดมาเพื่อบำเพ็ญ "โพธิกิจ" ทุกชาติ ท่านสามารถ "บรรลุพุทธธรรม" ได้ด้วย ตนเองจริง จึงชื่อว่า "พระปัจเจก" (แม้ต้องไปเป็นลูกศิษย์ใคร ท่านก็ไม่ได้ "บรรลุพุทธธรรม" กับ อาจารย์ ผู้นั้น)
และหากชาติใด ท่านได้เผยแพร่ธรรม ถึงขั้น "ตั้งศาสนา" ได้ ศาสนานั้นก็เป็นไปเพื่อ "ความดีงาม" เพื่อ "ความสงบสุข" และ เพื่อ "ความแท้จริง" ในแนวเดียวกัน เป็นแต่ว่า "ยังไม่ละเอียดลออเท่า "พุทธศาสนา" เท่านั้น" และ "ศาสนา" นั้น ก็เรียกไปตามกาลเทศะ ดังที่มีอยู่แล้ว ในโลก ขณะนี้
เมื่อมาเกิดบำเพ็ญธรรมแห่ง "พระนิยตโพธิสัตว์" นั้น จะเห็นได้ว่า "ท่านจะต้องใช้ "กรรม" ต่างๆ มากมาย" เช่น "ต้องสละทรัพย์สมบัติชาติหนึ่ง ต้องสละลูกตาชาติหนึ่ง สละชีวิตทั้งชีวิตชาติหนึ่ง หรือ บำเพ็ญธรรม อันมนุษย์ธรรมดา จะกระทำได้ยากยิ่งต่างๆ นานา" จนไม่มีอะไรติดข้องเป็นการ "ผูกพันกรรม" จนเหลือแต่ "ความหมดจด" ทุกประการ !
และพร้อมๆ กันนั้น ท่านก็ย่อมได้เรียนรู้ "จิตขั้นละเอียด" หรือ เรียนรู้พลังงาน หรือ อณูขั้นละเอียด ลงไปอีก เรื่อยๆ ตามลำดับ จนหมด "อวาสนา" อย่างเต็มครบ เป็น "วาสนาบารมี" ! "บริสุทธิ์พร้อม บริบูรณ์พร้อม" นั่นคือ "สำเร็จพระโพธิญาณ"
ก็เป็นอันถึงซึ่ง "อนุตรอรหันตสัมมาสัมโพธิญาณ" พร้อมที่จะเกิดอีกครั้งสุดท้าย คือ เกิดมาเป็น "มนุษย์" นี่แหละ และก็เป็น "พระอนุตรอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า"
ซึ่งก็เป็นชื่อ เป็นตำแหน่งของ "พระผู้มีสัพพัญญุตญาณ" ...ฯ
เมื่ออ่านมาถึงตรงนี้ ก็ให้เข้าใจด้วยว่า "ภาษาศัพท์ที่เรียกกันว่า ไม่เกิดอีกนั้น" ต้องเข้าใจให้สำคัญ !
เพราะ "พระอรหันต์" ที่เป็น "พระโพธิสัตว์" ท่านยังต้องเกิดอยู่ดังนี้ จนกว่าจะบำเพ็ญบารมีครบ ๑๐ ทัศ หรือ ๓๐ ทัศ อย่างละเอียด จึงจะครบ "บารมีธรรม" สำหรับการเป็น "พระพุทธเจ้า" ได้ตรัสรู้ "สัพพัญญุตญาณ" เป็นผู้รู้รอบแจ้งสิ้นทุกโลก ทุกภูมิ
ถ้าไม่มีผู้ตั้งจิตปรารถนาเป็น "พระพุทธเจ้า" ก็ย่อมจะไม่มี "พระพุทธเจ้า" อุบัติกันได้ต่อๆ ไปอีก "พระพุทธเจ้า" ก็จะสูญสิ้นไปจากพิภพภูมิ หรือ สากล จักรวาลใดๆ เท่านั้นเอง
ด้วยเหตุว่า "มีผู้ปรารถนาจิตไว้ และ มุ่งมั่นจะเป็น "พระพุทธเจ้า" อยู่"
"พระพุทธเจ้า" จึงจะเกิดได้ มีได้ !!!

ออฟไลน์ Webmaster

  • Administrator
  • สมาชิก
  • *****
  • กระทู้: 404
    • ดูรายละเอียด


มหาวิโลกนะ มหาวิโลกนะ "การตรวจดูอันยิ่งใหญ่" ข้อตรวจสอบพิจารณาที่สำคัญ หมายถึง สิ่งที่พระโพธิสัตว์ทรงพิจารณาตรวจดู ก่อนจะตัดสินพระทัยประทานปฏิญาณรับอาราธนาของเทพยดาทั้งหลาย ว่าจะจุติจากดุสิตเทวโลก ไปบังเกิดในพระชาติสุดท้ายที่จะตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า มี ๕ อย่าง (นิยมเรียกว่า ปัญจมหาวิโลกนะ) คือ ๑. กาล คือ อายุกาลของมนุษย์จะต้องอยู่ระหว่าง ๑๐๐ ถึง ๑ แสนปี (ไม่สั้นกว่าร้อยปี ไม่ยาวเกินแสนปี) ๒. ทีปะ คือ ทวีป จะอุบัติแต่ในชมพูทวีป ๓. เทสะ คือ ประเทศ หมายถึงดินแดน จะอุบัติในมัธยมประเทศและทรงกำหนดเมืองกบิลพัสดุ์เป็นที่พึงเกิด ๔. กุละ คือ ตระกูล จะอุบัติเฉพาะในขัตติยสกุล หรือในพราหมณสกุล และทรงกำหนดว่า เวลานั้นโลกสมมติว่าตระกูลกษัตริย์ประเสริฐกว่าตระกูลพราหมณ์ จึงจะอุบัติในตระกูลกษัตริย์ โดยทรงเลือกพระเจ้าสุทโธทนะเป็นพุทธบิดา ๕. ชเนตติอายุปริจเฉท คือ มารดา และกำหนดอายุของมารดา มารดาจะต้องมีศีลห้าบริสุทธิ์ ไม่โลเลในบุรุษ ไม่เป็นนักดื่มสุรา ได้บำเพ็ญบารมีมาตลอดแสนกัลป์ ทรงกำหนดได้พระนางมหามายา และทรงทราบว่าพระนางจะมีพระชนม์อยู่เกิน ๑๐ เดือน ไปได้ ๗ วัน หมายเหตุ : พุทธบิดาและพุทธมารดาในข้อ ๔ และข้อ ๕ หมายถึงพุทธบิดาและพุทธมารดาของพระพุทธเจ้าองค์ปัจจุบัน ถ้าเป็นของพระพุทธเจ้าองค์อื่น จะมีชื่อและตระกูลต่างกัน (สรุปตามแนวอรรถกถาชาดก) (จากหนังสือพจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของพระพรหมคุณาภรณ์ (ประยุทธ์ ปยุตโต) หน้า ๒๒๓ - ๒๒๔) -----------------------มหาสุบิน มหาสุบิน ความฝันอันยิ่งใหญ่ ความฝันครั้งสำคัญ หมายถึง ความฝัน ๕ เรื่อง (ปัญจมหาสุบิน) ของพระโพธิสัตว์ ก่อนจะได้ตรัสรู้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า (พระอรรถกถาจารย์ระบุว่า ทรงพระสุบินในคืนก่อนตรัสรู้ คือ ขึ้น ๑๔ ค่ำ เดือน ๖) ดังตรัสไว้ในคัมภีร์อังคุตตรนิกาย ปัญจกนิบาต พระสุตตันตปิฏก ใจความว่า ๑. เสด็จบรรทม โดยมีมหาปฐพีนี้เป็นพระแท่นไสยาสน์ ขุนเขาหิมวันต์เป็นเขนย พระหัตถ์ซ้ายเหยียดหยั่งลงในมหาสมุทรด้านปัจฉิมทิศ พระบาททั้งสองเหยียดหยั่งลงในมหาสมุทรด้านทักษิณ (ข้อนี้เป็นบุพนิมิตหมายถึง การได้ตรัสรู้สัมมาสัมโพธิญาณ อันไม่มีสิ่งใดยิ่งใหญ่กว่า) ๒. มีหญ้าคางอกขึ้นจากนาภีของพระองค์สูงขึ้นจดท้องฟ้า (หมายถึง การที่ได้ตรัสรู้อารยอัฏฏาคิกมรรค แล้วทรงประกาศออกไปถึงมวลมนุษย์และหมูเทพ) ๓. หมู่หนอนตัวขาวศีรษะดำพากันไต่ขึ้นมาจากพระบาทคลุมเต็มถึงชานุมณฑล (หมายถึง การที่คนนุ่งขาวชาวคฤหัสถ์มากมายพากันถึงตถาคตเป็นสรณะตลอดชีวิต) ๔. นกทั้งหลายสี่จำพวกมีสีต่างๆ กัน บินมาแต่ทิศทั้งสี่ แล้วมาหมอบจับที่เบื้องพระบาท กลับกลายเป็นสีขาวไปหมดสิ้น (หมายถึง การที่ชนทั้งสี่วรรณะมาออกบวชรวมกันในพระธรรมวินัย และได้ประจักษ์แจ้งวิมุตติธรรม) ๕. เสด็จดำเนินไปมาบนภูเขาคูถลูกใหญ่ แต่ไม่ทรงแปดเปื้อนด้วยคูถ (หมายถึง การทรงเจริญลาภในปัจจัยสี่พรั่งพร้อม แต่ไม่ทรงลุ่มหลง ติดพัน ทรงบริโภคด้วยพระปัญญาที่ดำรงจิตปลอดโปร่งอิสระ) (จากหนังสือพจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของพระพรหมคุณาภรณ์ (ประยุทธ์ ปยุตโต) หน้า ๒๒๕ - ๒๒๖) พุทธกิจประจำวัน ๕ พุทธกิจที่พระพุทธเจ้าทรงบำเพ็ญเป็นประจำในแต่ละวันมี ๕ อย่างคือ ๑. ปุพฺพณฺเห ปิณฺฑปาตญฺจ เวลาเช้าเสด็จบิณฑบาต ๒. สายณฺเห ธมฺมเทสนํ เวลาเย็นทรงแสดงธรรม ๓. ปโทเส ภิกฺขุโอวาทํ เวลาค่ำประทานโอวาทแต่เหล่าภิกษุ ๔. อฑฺฒรตฺเต เทวปณฺหนํ เที่ยงคืนทรงตอบปัญหาเทวดา ๕. ปจฺจุสฺเสว คเตกาเล ภพฺพาภพฺเพ วิโลกนํ จวนสว่างทรงตรวจพิจาณาสัตว์ที่สามารถ และที่ยังไม่สามารถบรรลุธรรม อันควรจะเสด็จไปโปรดหรือไม่ สรุปท้ายว่า เอเต ปญฺจวิเธ กิจฺเจ วิโสเธติ มุนิปุงฺคโว พระพุทธเจ้าองค์พระมุนีผู้ประเสริฐทรงยังกิจ ๕ ประการนี้ให้หมดจด (จากหนังสือพจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของพระพรหมคุณาภรณ์ (ประยุทธ์ ปยุตโต) หน้า ๑๘๙ - ๑๙๐) พุทธจริยา พระจริยาวัตรของพระพุทธเจ้า การบำเพ็ญประโยชน์ของพระพุทธเจ้ามี ๓ คือ ๑. โลกัตถจริยา การบำเพ็ญประโยชน์แก่โลก ๒. ญาตัตถจิรยา การบำเพ็ญประโยชน์แก่พระญาติ ๓. พุทธัตถจริยา การบำเพ็ญประโยชน์โดยฐานเป็นพระพุทธเจ้า (จากหนังสือพจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของพระพรหมคุณาภรณ์ (ประยุทธ์ ปยุตโต) หน้า ๑๙๑) คำอธิบายเพิ่มเติม โลกัตถจริยา พระพุทธจริยาเพื่อประโยชน์แก่โลก ทรงประพฤติเป็นประโยชน์แก่โลก คือ ทรงอาศัยพระมหากรุณา เสด็จไปประกาศพระศาสนา เพื่อประโยชน์สุขแก่มหาชนในถิ่นฐานแว่นแคว้นต่างๆ เป็นอันมาก และประดิษฐานพระศาสนาไว้ เพื่อประโยชน์สุขแก่ชุมชนภายหลังตลอดกาลนาน (หน้า ๒๖๐) ญาตัตถจริยา พระพุทธจริยาเพื่อประโยชน์แก่พระญาติ ทรงประพฤติประโยชน์แก่พระญาติ เช่น ทรงอนุญาตให้พระญาติที่เป็นเดียรถีย์เข้ามาอุปสมบทในพระพุทธศาสนา ไม่ต้องอยู่ติตถิยปริวาส ๔ เดือนก่อน เหมือนเดียรถีย์อื่น และเสด็จไปห้ามพระญาติที่วิวาทกันด้วยเรื่องน้ำ เป็นต้น (หน้า ๖๒) พุทธัตถจริยา ทรงประพฤติเป็นประโยชน์แก่สัตว์โลก โดยฐานเป็นพระพุทธเจ้า เช่น ทรงแสดงธรรมแก่เวไนยสัตว์ และบัญญัติวินัยขึ้นบริหารหมู่คณะ ทรงประดิษฐานพระพุทธศาสนาให้ยั่งยืน มาตราบเท่าทุกวันนี้ (หน้า ๑๙๔) พุทธปรินิพาน ๓ การปรินิพานของพระพุทธเจ้าอาจนับว่ามี ๓ อย่างคือ ๑. กิเลสปรินิพาน หมายถึง การดับสิ้นแห่งกิเลสในคราวที่ทรงตรัสรู้ ณ โพธิบัลลังก์ ๒. ขันธปรินิพพาน หมายถึง การดับสิ้นแห่งขันธ์ในคราวที่ทรงปรินิพพานที่เมืองกุสินารา ๓. ธาตุปรินิพพาน หมายถึง การดับสิ้นแห่งพระธาตุทั้งหลายของพระพุทธเจ้า ซึ่งจะมีขึ้นในคราวที่ ศาสนาสูญสิ้น พระธาตุทั้งหลายของพระพุทธเจ้าที่อยู่ในที่ต่างๆ ไม่ว่าจะในนาคพิภพ หรือบนพรหมโลก เป็นต้น จะมารวมกันและไปสู่โพธิบัลลังก์ เมื่อไปถึง ก็จะเปล่งฉัพพรรณรังสีออกมา แผ่ไปตลอดหมื่นโลกธาตุ เทวดาทั้งหลายจักประชุมกันแล้วกล่าวว่า "นี้เป็นการได้เห็นครั้งสุดท้ายของเราทั้งหลายในบัดนี้" จากนั้น เตโชธาตุในบรรดาพระธาตุเหล่านั้น ก็จักลุกโพลงเผาพระธาตุจนหมดสิ้น ไม่เหลือแม้เท่าเมล็ดพันธุ์ผักกาด นับแต่นี้ไป ชื่อว่า "ศาสนาได้อันตรธานแล้ว"

ออฟไลน์ Webmaster

  • Administrator
  • สมาชิก
  • *****
  • กระทู้: 404
    • ดูรายละเอียด
๏ พระฉัพพรรณรังสีที่แผ่จากพระวรกายพระพุทธเจ้า

ฉัพพรรณรังสี คือแสงสว่างที่พวยพุ่งออกจากจุดกลางเป็นรัศมี ๖ ประการ ซึ่งเปล่งออกจากพระสรีรกายของพระพุทธเจ้า คือ

๑. นีละ เขียวเหมือนดอกอัญชัน
๒. ปีตะ เหลืองเหมือนหรดาลทอง
๓. โลหิตตะ ขาวเหมือนแผ่นเงิน
๕. มัญเชฏฐะ สีหงสบาทเหมือนดอกเซ่งหรือหงอนไก่
๖. ปภัสสระ เลื่อมพรายเหมือนแก้วผลึก

สีทั้ง ๖ นี้ไม่ได้พุ่งออกเป็นสีๆ ดังที่แยกไว้นี้ แต่แผ่ออกมาพร้อมกันในหนังสือปฐมสมโพธิกถา ฉบับสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส กล่าวถึงพระฉัพพรรณรังสีที่แผ่ซ่านออกจากพระกายพระพุทธเจ้า ไว้ดังนี้

"ในลำดับนั้น พระฉัพพรรณรังสีก็โอภาสแผ่ออกจากพระสริรกาย อันว่านิลประภาก็เขียวสดเสมอด้วยสีแห่งดอกอัญชันมิฉะนั้นดุจพื้นแห่งเมฆแลดอกนิลุบลแลปีกแห่งแมลงภู่ ผุดออกจากอังคาพยพในที่อันเขียวแล่นไปจับเอาราวป่า และพระรัศมีที่เหลืองนั้นมีครุวนา ดุจสีเขียวแล่นไปจับเอาราวป่า แลพระรัศมีที่เหลืองนั้นมีครุวนา ดุจสีหรดารทองแลดอกกรรณิการ์แลกาญจนปัฏอันแผ่ไว้ พระรัศมีออกจากพระสริรประเทศในที่อันเหลืองแล้ว แล่นไปสู่ทิศานุทิศต่างๆ พระรัศมีที่แดงอย่างพาลทิพากรแลแก้วประพาฬ แลกุมุทปทุมกุสุมชาติ โอภาสออกจากพระสริรอินทรีย์ในที่อันแดงแล้วแล่นฉวัดเฉวียนไปในประเทศที่ทั้งปวง พระรัศมีมีที่ขาวก็ขาวดุจดวงรัชนิกร แลแก้วมณี แลสีสังข์ แลแผ่นเงิน แลดวงดาวพกาพฤกษ์ พุ่งออกจากพระสริรประเทศในที่อันขาวแล้วแล่นไปในทิศโดยรอบ พระรัศมีหงสสิบาทก็พิลาสเล่ห์ดุจสีดอกเซ่ง แลดอกชบา แลดอกหงอนไก่ออกจากรัชกายรุ่งเรืองจำรัส พระรัศมีประภัสสรประภาครุนาดุจสีแก้วพลึกแลแก้วไพฑูริย์เลื่อมประพระฉัพพรรณรังสีทั้ง ๖ ประการแผ่ไพศาลแวดล้อมไปโดยรอบพระสกลกายยินทรีย์ กำหนดที่ ๑๒ ศอก โดยประมาณ อันว่าศศิสุริยประภาแลดาราก็วิกลวิการอันแสง เศร้าสีดุจหิ่งห้อยเหือดสิ้นสูญ มิได้จำรูญไพโรจโชติชัชวาล"

รัศมีเฉกเช่นฉัพพรรณรังสีนี้มีเฉพาะพระพุทธเจ้าและเทวดาเท่านั้น นอกจากนี้ก็เกิดแต่ธรรมชาติเช่นสีรุ้งที่เรียกกันเป็นสามัญว่ารุ้งกินน้ำ หรือ พระจันทร์ พระอาทิตย์ทรงกลด ที่ออกจากเทวดานั้นจะเห็นได้ดังที่พรรณนาไว้ในพระสูตรต่างๆ ในเวลาที่เทวดามาเฝ้าพระพุทธเจ้าดังนี้

มีเทวดาตนหนึ่งมีรัศมีสว่างจ้าเข้ามายังพระเชตวัน ทำพระเชตวันให้สว่างไสวไปทั่วบริเวณ เข้าเผ้าพระทุทธเจ้าที่ประทับความสว่างของรัศมีนั้น ไม่เหมือนแสงเดือนแสงตะวัน หรือไม่เหมือนแสงไฟ เป็นแสงสว่างที่เสมอกันทั้งหมด และเป็นแสงสว่างที่ไม่มีเงาเหมือนแสงอื่นเป็นแสงที่แผ่ไปติดอยู่ทั่วบริเวณ

มีข้อความในปฐมสมโพธกถา ปริเฉทที่ ๑๓ ธรรมจักรปริวรรตว่าดังนี้

"ฝ่ายอุปกาชีวเดินมาโดยทุราคมวิถีทางไกล ระหว่างคยาประเทศเขตเมืองราชคฤห์กับมหาโพธิญาณ ติดต่อกัน แลเห็นไพสณฑ์สถานอันโอฬารไพโรจน์พรรณราย ด้วยข่ายฉัพพรรณรังสีโสณิวิลาส ปรากฏโดยทิวาทัศนาการทั้งพสุธารแลอากาศโอภาสด้วยพระรัศมีมีพรรณแห่งละ ๖ อย่าง ทั่วทั้งทิศล่างและทิศบน มาสัมผัสกายตนประหลาดมหัศจรรย์ไม่เคยได้พบเห็นเป็นเช่นนี้มาแต่ก่อน ถ้าจะเป็นเพลิง ไฉนกายอาตมาจึงไม่ร้อนกระวนกระวายแม้จะเป็นน้ำ ไฉนกายอาตมาจะไม่ชุ่มชื้นเย็นนี่จะเป็นสิ่งอันใดยิ่งสงสัยสนเท่ห์จิต จึงเพ่งพิศไปข้างโน้นข้างนี้ ก็เห็นองค์พระผู้ทรงสวัสดิ์ภาคย์เสด็จบทจรมา รุ่งเรืองด้วยพระสิดิฉันธมหาหว่างติสสุระ ลักษณะแลพระพยามประภาโอภาสเบื้องบน พระสุริยก็ช่วงโชติด้วยพระเกตุมาลา ครุนาดุจทองทั้งแท่งประดับด้วยฉัพพรรณรังสี รังสีแสงไพโรจน์จำรัส"

หมวดที่ ๒ - พระพุทธเจ้า และพระนาม

๏ พระพุทธเจ้า ๕ พระองค์ อุบัติในภัททกัปนี้


คำว่า "กัป" หมายถึง ระยะเวลาที่ยาวนานเหลือเกินที่กำหนดว่าโลกคือสกลจักวาฬ ประลัยครั้งหนึ่ง คือกำหนดอายุของโลก ท่านให้เข้าใจด้วยอุปามาว่าเปรียบเหมือนมีภูเขาศิลาล้วน กว้าง ยาว สูงด้านละ ๑ โยชน์ (๔๐๐ เส้น หรือประมาณ ๑๖ กิโลเมตร) ทุก ๑๐๐ ปี มีคนนำผ้าเนื้อละเอียดอย่างดีมาลูบครั้งหนึ่ง จนกว่าภูเขานั้นจะสึกหรอสิ้นไป กัปหนึ่งยาวกว่านั้น

"กัป" ปัจจุบันนี้เรียกว่า "ภัททกัป" หรือ "ภัทรกัป" แปลว่า กัปเจริญ เพราะในภัททกัปจะมีพระพุทธเจ้าอุบัติขึ้นถึง ๕ พระองค์ คือ

๑. พระกกุสันธะ
๒. พระโกนาคมนะ
๓. พระกัสสปะ
๔. พระโคดม (คือพระพุทธเจ้าพระองค์ปัจจุบัน)
๕. พระศรีอริยเมตไตรย

ในภัททกัปนี้จักมีพระพุทธเจ้าอุบัติขึ้นในอนาคตอีกหนึ่ง พระองค์คือ "พระศรีอริยเมตไตรย"
บทนมัสการว่า "นโม พุทธาย" แปลตามศัพท์ว่า "นอบน้อมแต่พระพุทธเจ้า"เป็นคำ กลางๆ แต่ก็นับถือกันว่าเป็นบทไหว้พระพุทธเจ้า ๕ ประองค์ น่าจะเพราะนับได้ ๕ อักษร และพระพุทธเจ้า ๕ พระองค์นั้น ก็หมายถึง พระพุทธเจ้าซึ่งได้อุบัติแล้วและจักอุบัติในภัททกัปนี้