หมวดหลัก > พุทธภูมิ พระโพธิสัตว์ การบำเพ็ญบารมี

พระอดีตวงศ์องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่ได้มาตรัสรู้ในอดีตกาล

<< < (4/10) > >>

Webmaster:
พระนารทะพุทธเจ้า

หลังจากศาสนาของพระปทุมะพุทธเจ้าล่วงไป จึงได้ถึงสมัยของพระพุทธเจ้าทรงพระนามว่า พระนารทะพุทธเจ้า เป็นพระพุทธเจ้าองค์สุดท้ายในวรกัปเดียวกัน
พระนารทะพุทธเจ้า ทรงประสูติเป็นนารทะราชกุมาร ในราชวงศ์กษัตริย์แห่งธัญญวดีนคร พระราชบิดาทรงพระนามว่าพระเจ้าสุเทวะ และพระราชมารดาทรงพระนามว่าพระนางอโนมา
นารทะราชกุมารทรงเกษมสำราญอยู่ ๙,๐๐๐ ปี ในปราสาท ๓ หลัง คือ วิชิตะปราสาท วิชิตาวีปราสาท และวิชิตาภิรามะปราสาท ทรงมีพระมเหสีพระนามว่า วิชิตเสนาเทวี และทรงมีสนมนารีแวดล้อมอีก ๑๒๐,๐๐๐ นาง
วันหนึ่ง พระนารทะทรงทอดพระเนตรเห็นเทวทูตทั้งสี่ คือ คนแก่ คนเจ็บ คนตาย และนักบวช พระองค์จึงมีพระทัยน้อมไปทางบรรพชา
เมื่อพระนางวิชิตเสนาเทวีประสูติพระโอรส พระนามว่า นันทุตตรกุมาร จึงได้เสด็จด้วยพระบาทออกบรรพชาในธนัญชัยราชอุทยานนอกพระนคร โดยมีผู้ออกบรรพชาตามจำนวน ๑ แสนคน
นารทะราชกุมารทรงบำเพ็ญความเพียรอยู่ในพระราชอุทยานเป็นเวลา ๗ วัน จนถึงวันเพ็ญเดือนวิสาขะ ทรงรับข้าวมธุปายาสจากพระนางวิชิตเสนาเทวีอัครมเหสี และรับหญ้า ๘ กำจากพนักงานเฝ้าอุทยาน ปูลาดใต้ต้นมหาโสณะ (ต้นอ้อยช้างใหญ่) เป็นโพธิบัลลังก์ และได้ตรัสรู้เป็นพระปัญญาธิกะพุทธเจ้าในคืนนั้น
พระนารทะพุทธเจ้าทรงแสดงปฐมเทศนาแก่พระภิกษุ ผู้บรรพชาตามจำนวน ๑ แสนในราชอุทยานนั้นเอง

พระนารทะพุทธเจ้า ทรงแสดงธรรมาภิสมัยให้บังเกิดขึ้น ๓ วาระ คือ
วาระที่ ๑ แสดงปฐมเทศนา
ธรรมาภิสมัยบังเกิดแก่มนุษย์และเทวดา ๑๐๐,๐๐๐ โกฏิ
วาระที่ ๒ แสดงธรรมแก่พระยานาคโทณะ
ธรรมาภิสมัยบังเกิดแก่มนุษย์และเทวดา ๙๐,๐๐๐ โกฏิ
วาระที่ ๓ แสดงธรรมแก่พระโอรส
ธรรมาภิสมัยบังเกิดแก่มนุษย์และเทวดา ๘๐,๐๐๐ โกฏิ

พระนารทะพุทธเจ้า ทรงประชุมสาวกสันนิบาต ๓ ครั้ง
ครั้งที่ ๑ ทรงแสดงปาฏิโมกข์แก่พระสงฆ์สาวก ๑๐๐,๐๐๐ โกฏิ
ครั้งที่ ๒ ทรงแสดงปาฏิโมกข์แก่พระสงฆ์สาวก ๙๐,๐๐๐ โกฏิ
ที่มาประชุมกันในสมาคมพระญาติ
ครั้งที่ ๓ ทรงแสดงปาฏิโมกข์แก่พระสงฆ์สาวก ๘,๐๐๐,๐๐๐
ที่มาประชุมกันในคราวเสด็จโรงทานของพระยานาคชื่อ เวโรจนะ

พระนารทะพุทธเจ้าทรงมีพระสาวกองค์สำคัญ คือ
พระอัครสาวก คือ พระภัททสาละเถระ และพระชิตมิตตะเถระ
พระอัครสาวิกา คือ พระอุตตราเถรี และพระผัคคุนีเถรี
พระอุปัฏฐาก คือ พระวาเสฏฐะ

พระนารทะพุทธเจ้าทรงมีพระวรกายสูง ๘๘ ศอก มีพระรัศมีวาหนึ่ง เมื่อพระชนมายุได้ ๙๐,๐๐๐ ปี จึงปรินิพพาน พระศาสนาดำรงมาได้อีก ๙๐,๐๐๐ ปีก็อันตรธาน

Webmaster:


เกร็ดความรู้เพื่อศึกษาในบทต่อๆไป
ลองมาดูกันถึงเรื่องของเวลาความยาวนาน
เพื่อพิจารณาเห็นถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระพุทธเจ้าทั้งหลายที่ท่าน
ได้เสียสละตรากตรำสร้างบารมีมานานแสนนานแค่ไหนเพื่อมาโปรดสัตว์


ต่อไปจะเทียบระยะเวลา 1 กัป 1 อสงไขย และ 1 ปทุมะนรก

ให้พิจารณากันดู เพื่อปลงสังเวชกับอัตตา(อวิชชา)ของสัตว์ทั้งหลาย ซึ่งเป็นค่าโดยประมาณ อาจจะมีความคลาดเคลื่อนมากกว่านี้ก็ได้ใครมีความรู้ในทางคณิตศาสตร์ ก็สามารถช่วยแสดงความคิดเห็น เพื่อจะได้ค่าที่ถูกต้องมากขึ้น
เรื่องของกัปจากพระไตรปิฏกประมาณคำว่า 1 กัปได้ดังนี้
สมมุติมีกล่องใบหนึ่ง กว้าง 100 โยชน์ ยาว 100โยชน์ และ สูง 100 โยชน์ ในเวลา 100 ปี ให้เอาเมล็ดผักกาด 1 เมล็ด ใส่ลงไปในกล่องนั้น ทำอย่างนี้จนเมล็ดผักกาดนั้นเต็มเสมอเรียบปากกล่องนั้นละจึงเท่ากับ 1 กัป
(บางตำรากล่าวว่า กว้าง 1 โยชน์ยาว 1 โยชน์สูง 1 โยชน์)
วิเคราะห์คำนวณ 1 โยชน์ = 16 กิโลเมตร
ดังนั้นกล่องใบนี้มีปริมาตร = 1600X1600X1600 = 4,096,000,000 ลูกบาตกิโลเมตร
ประมานว่า เมล็ดผักกาด มีขนาด .5 มิลลิเมตร
1 กิโลเมตรเทียบเป็นมิลลิเมตรได้ดังนี้ 10X100X1000 = 1,000,000 มิลลิเมตร
จะได้ 1 กิโลเมตรใช้เมล็ดผักกาดเรียงกัน = (1,000,000)/0.5 = 2,000,000 เมล็ด
ดังนั้น 1600 กิโลเมตรใช้เมล็ดผักกาดเรียงกัน = 1600X2,000,000 = 3,200,000,000 เมล็ด
ถ้าเป็นปริมาตร คือ กว้าง*ยาว*สูง ต้องใช้เมล็ดผักกาดทั้งหมด คือ
3,200,000,000X3,200,000,000X3,200,000,000 = 32,768,000,000,000,000,000,000,000,000 เมล็ด
ใน 100 ปี ใส่เมล็ดผักเพียง 1 เมล็ด ดังนั้นต้องใช้เวลาทั้งหมดคือ
32,768,000,000,000,000,000,000,000,000X100 = 3,276,800,000,000,000,000,000,000,000,000 ปี
จึงได้เวลา 1 กัป ประมาณ สามล้านสองแสนเจ็ดหมื่นหกพันแปดร้อยล้านล้านล้านล้านปี
ประมาณ 3.3 X 10**30 ปี
เครื่องหมาย ** เป็นเครื่องหมาย ยกกำลัง
(หมายเหตุบางตำรากล่าวว่ากว้าง 1 โยชน์ ยาว 1 โยชน์สูง 1 โยชน์ จึงได้ 1 กัป ประมาณ 3.3
X 10**24 ปี โดยเอา 0 ออกไป 6 ตัว จากค่าที่คำนวณได้ในครั้งแรก)


เรื่องของอสงไขยจากหนังสือสัมภาระโพธิญาณ (จำไม่ค่อยได้) เป็นหนังสือเก่ามากแล้วค่าที่ได้ก็ตรงกับผู้ที่คำนวณไว้ก่อน สามารถนับ 1 อสงไขย และเทียบ

กับหน่วยนับปัจจุบันได้ดังนี้
สิบ สิบหนเป็น ร้อย 10**2
สิบร้อยเป็น พัน 10**3
สิบพันเป็น หมื่น 10**4
สิบหมื่นเป็น แสน 10**5
ร้อยแสนเป็น โกฏิ 10**7
ร้อยแสนโกฏิเป็น ปโกฏิ 10**7 X 10**7 = 10**14
ร้อยแสนปโกฏิเป็น โกฏิปโกฏิ 10**7 X 10**14 = 10**21
ร้อยแสนโกฏิปโกฏิเป็น นนุตหนึ่ง 10**7 X 10**21 = 10**28
ร้อยแสนนนุตเป็น นินนนุตหนึ่ง 10**7 X 10**28 = 10**35
ร้อยแสนนินนุตเป็น อักโขภินีหนึ่ง 10**7 X 10**35 = 10**42
ร้อยแสนอักโขภินีเป็น พินทะหนึ่ง 10**7 X 10**42 = 10**49
ร้อยแสนพินทะ เป็น อัพภูทะหนึ่ง 10**7 X 10**49 = 10**56
ร้อยแสนอัพภูทะ เป็น นิรพุทะหนึ่ง 10**7 X 10**56 = 10**63
ร้อยแสนนิรพุทะ เป็น อหนะหนึ่ง 10**7 X 10**63 = 10**70
ร้อยแสนอหนะ เป็น อพพะหนึ่ง 10**7 X 10**70 = 10**77
ร้อยแสนอพพะ เป็น อฏฏะหนึ่ง 10**7 X 10**77 = 10**84
ร้อยแสนอฏฏะ เป็น โสคันธิกะหนึ่ง 10**7 X 10**84 = 10**91
ร้อยแสนโสคันธิกะ เป็น อุปละหนึ่ง 10**7 X 10**91 = 10**98
ร้อยแสนอุปละ เป็น กมุมะหนึ่ง 10**7 X 10**98= 10**105
ร้อยแสนกมุมะ เป็น ปทุมะหนึ่ง 10**7 X 10**105= 10**112
ร้อยแสนปทุมะเป็น ปุณฑริกะหนึ่ง 10**7 X 10**112= 10**119
ร้อยแสนปุณฑริกะ เป็น อกถานหนึ่ง 10**7 X 10**119= 10**126
ร้อยแสนอกถาน เป็น มหากถานหนึ่ง 10**7 X 10**126= 10**133
ร้อยแสนมหากถาน เป็น อสงไขยหนึ่ง10**7 X 10**133= 10**140
ดังนั้น 1 อสงไขย = สิบยกกำลัง หนึ่งร้อยสีสิบ หรือ 1 ตามด้วย 0 จำนวน 140 มหากัป

ข้อสังเกตจำนวนปีของมนุษย์โลกเทียบกับ 1 กัปนั้นยังมีความคลาดเคลื่อนอีกมากมายจึงไห้ถือกำหนดเอา โลกจักรวาลเมื่อก่อกำเนิดขึ้นจนกระทั้งพังทลายศูนย์หายไป 1 ครั้ง เป็น 1 กัปแต่จำนวน 1 อสงไขยมีกี่กัปนั้นเป็นจำนวนที่แน่นอนคือ 1 ตามด้วยเลข 0 จำนวน 140 ตัว หรือ 1 X 10**140


อายุขัยของเทวดาเทียบกับปีของมนุษย์โลก
หนึ่ง 1 ปีทิพย์ของสวรรค์แต่ละชั้นเท่ากับ 360 วันทิพย์ของสวรรค์แต่ละชั้น
ชั้นจาตุมีอายุ 500 ปีทิพย์ 1 วันทิพย์ เท่ากับ 50 ปีโลกมนุษย์ดังนั้นเท่ากับ 500X360X50 = 9,000,000 ปี
ชั้นดาวดึงส์ " " 1000 " " 1 " " 100 " " เท่ากับ 36,000,000 ปี
ชั้นยามา " " 2000 " " 1 " " 200 " " เท่ากับ 144,000,000 ปี
ชั้นดุสิต " " 4000 " " 1 " " 400 " " เท่ากับ 576,000,000 ปี
ชั้นนิมมา " " 8000 " " 1 " " 800 " " เท่ากับ 2,304,000,000 ปี
ชั้นปรมิน " " 16000 " " 1 " " 1600 " " เท่ากับ 9,216,000,000 ปี


อายุของพระพรหม รูปฌาน 1 ถึง รูปฌาน 4
รูปฌาน 1 มีอยู่ 3 ชั้น
สมาธิอย่างอ่อนปาริสัชนาพรหมมีอายุ 1/3 กัป
สมาธิอย่างกลางปุโรหิตพรหมมีอายุ 1/2 กัป
สมาธิอย่างสูงมหาพรหมมีอายุ 1 กัป
รูปฌาน 2 มีอยู่ 3 ชั้น
สมาธิอย่างอ่อนปริตตาภาพรหมมีอายุ 2 กัป
สมาธิอย่างกลางอัปปมาณภาพรหมมีอายุ 4 กัป
สมาธิอย่างสูงอาภัสสราพรหมมีอายุ 8 กัป
รูปฌาน 3 มีอยู่ 3 ชั้น
สมาธิอย่างอ่อนปริตตสุภาพรหมมีอายุ 16 กัป
สมาธิยย่างกลางอัปปมาณสุภาพรหมมีอายุ 32 กัป
สมาธิอย่างสูงสุภกิณหาพรหมมีอายุ 64 กัป
รูปฌาน 4 มีอยู่ 2 ชั้น
เวหัปผลพรหมมีอายุ 500 กัป
อสัญญสัตราพรหมมีอายุ 500 กัป

สุทธาวาสพรหมมี 5 ชั้น เป็นภพของพระอนาคามี
1. อวิหามีอายุ 1,000 กัป
2. อตัปปามีอายุ 2,000 กัป
3. สุทัสสามีอายุ 4,000 กัป
4. สุทัสสีมีอายุ 8,000 กัป
5. อกนิฏฐามีอายุ 16,000 กัป
อรูปพรหมมี 4 ชั้น
1.อากาสานัญจายตนพรหมมีอายุ 20,000 กัป
2.วิญญาณัญจายตนพรหมมีอายุ 40,000 กัป
3.อากิญจัญญายตนพรหมมีอายุ 60,000 กัป
4.เนวสัญญานาสัญญายตนาพรหมมีอายุ 84,000 กัป

พิจารณาดูจะเห็นว่า เมื่อมีพระพุทธเจ้าบังเกิดขึ้น 1 พระองค์ ขณะที่พระองค์มีพระชนชีพอยู่แสงสว่างของ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ กระจายไปทั่วสากลจักวาลอย่างรวดเร็วเหมือนกับสายฟ้าแลบ และแสงสว่างแห่งธรรมนั้นยังคงสว่างสไหวอยู่
เมื่อพระองค์ดับขันท์ปรินิพพานแม้อายุขัยของภพมนุษย์นั้นจะเพียงน้อยนิดแต่แสงสว่างในธรรมนั้นก็ค่อยทยอยดับอย่างช้าๆ เริ่มต้นจากโลกมนุษย์นี้ก่อนแล้วทยอยดับไปยัง สวรรค์ชั้นจาตุชั้นดาวดึงส์ชั้นยามาชั้นดุสิตชั้นนิมมาชั้นปรมิน
แล้วทยอยดับไปที่รูปพรหมของฌานทั้ง 4 ซึ่งทยอยดับไปที่ละชั้น จนถึงสุทธาวาสพรหมทั้ง 5 ชั้นทยอยดับที่ละชั้นจนถึงอรูปพรหม ที่พระอริยะบางท่านจุติอยู่ ถ้ายังไม่มีพระพุทธเจ้าพระองค์ใหม่บังเกิดขึ้นในโลกแสงสว่างของธรรมจากพระพุทธองค์นั้นเมื่อบังเกิดขึ้น แล้วทยอยดับจนหมดสิ้นใช้เวลาเป็นแสนกัปรอจนพระพุทธเจ้าองค์ใหม่อุบัติขึ้นมาใหม่ในโลก แสงสว่างแห่งธรรมนี้ไม่มีมนุษย์หรือเทพหรือพระพรหมองค์ใดจะกระทำได้ มีแต่เพียงพระพุทธเจ้าเท่านั้นจึงทำให้บังเกิดขึ้นได้


เปรียบเทียบอายุในอเวจีนรก 1 ปทุมนรก กับมนุษย์โลกได้ ดังมีในพระไตรปิฏกดังนี้
เมล็ดงา 1 เกวียน มีอัตรา 20 ขารี 1 ขารีเท่ากับ 256 ทะนาน เมื่อล่วงไป 1 แสนปีเอาเมล็ดงาออกจากเกวียน 1 เมล็ดทำจนหมดจากเกวียน ก็ยังไม่ถึง 1 อัพพุทะในนรกเลยการเปรียบเทียบ 1 อัพพุทะ ตามมาตรตราปัจจุบันอย่างคล่าวๆ
1 ทะนาน เท่ากับ 1 ลิตร
1 ลิตร เท่ากับ 1000 ลูกบาศเชนติเมตร
เมล็ดงา 1 เมล็ด ประมาณ 1 มิลิเมตร ดังนั้น 1 เชนติเมตร เอาเมล็ดงาเรียงกันได้ 10 เมล็ด
จะได้ 1 ลูกบาศเชนติเมตร จะมีจำนวน เมล็ดงา ประมาณ 10 X10 X 10 = 1000 เมล็ด
จะได้ 1 ลิตรมีเมล็ดงาประมาณ 1000X1000 ประมาณ 1,000,000 เมล็ด
จะได้ 1 ทะนานจะมีเมล็ดงาประมาณ 1,000,000 เมล็ด
จะได้ 1 ขารีจะมีเมล็ดงาประมาน 256 X 1,000,000 ประมาณ 256,000,000 เมล็ด
จะได้ 1 เกวียนจะมีเมล็ดงาประมาณ 20 X 256,000,000 ประมาณ 5,120,000,000 เมล็ด
จะได้เวลาทั้งหมดเมื่อหยิบเมล็ดงาออกหมดเกวียน ประมาณ 100,000 X 5120,000,000 ปี
ประมาณ 512,000,000,000,000 ปี
ซึ่งยังไม่ถึง 1 อัพพุทะแต่ก็ประมาณ 512,000,000,000,000 ปีหรือ 5.12 X 10**14 จึงเอาไปแทนค่าตามข้างล่าง
20 อัพพุทะ เป็น 1 นิรัพพุทะ 20**1 X 5.12 X 10**14
20 นิรัพพุทะเป็น 1 อพัพพะ 20**2 X 5.12 X 10**14
20 อพัพพะเป็น 1 อหหะ 20**3 X 5.12 X 10**14
20 อหหะเป็น 1 อฏฏะ 20**4 X 5.12 X 10**14
20 อฏฏะเป็น 1 กุมุทะ 20**5 X 5.12 X 10**14
20 กุมุทะเป็น 1 โสคันธิกะ 20**6 X 5.12 X 10**14
20 โสคันธิกะเป็น 1 อุปปละ 20**7 X 5.12 X 10**14
20 อุปปละเป็น 1 ปุณฑริกะ 20**8 X 5.12 X 10**14
20 ปุณฑริกะเป็น 1 ปทุมะ 20**9 X 5.12 X 10**14
และ 20**9 = 512,000,000,000 = 5.12 X 10**11

ดังนั้น 1 ปทุมะนรก ประมาณ 5.12 X 10**11 X 5.12 X 10**14 ประมาณ 26.2144 X 10**25
ประมาณ 2.62 X 10**26 หรือ 1 ปทุมะนรก ประมาณ 262,144,000,000,000,000,000,000,000 ปีมนุษย์โลก
เมื่อเปรียบเทียบปีมนุษย์ กับ 1 ปทุมะนรก และปีของมนุษย์กับ 1 กัป ดังที่คำนวณมาแล้วจะเห็นว่า มีเวลายาวนานมาก ดังนั้นในตำราของพระพุทธศาสนาจึงกล่าวว่า ผู้ที่ตกนรกอเวจีต้องทรมานอยู่ตลอดกัป หรือชั่วกัปชั่วกัลป์ เหมือนดังพระเทวทัต ที่ตกอเวจีนรกและจะหมดกรรมจากอเวจีนรกก็เกือบจะสิ้นสุดของกัปนี้

ทังหมดนี้คงจะทำให้ท่านปลงสังเวช กับความโง่ หรือ อวิชชา ที่หาเบื้องต้นไม่ได้ถ้ายังไม่ชำละอวิชชาออกไปด้วยปัญญา นิพพาน ก็ไม่รู้ว่าจะหาที่สุดได้เมื่อใด?

Webmaster:


พระปทุมุตระพุทธเจ้า

หลังจากศาสนาของพระนารทะพุทธเจ้าอันตรธานไปแล้ว เป็นช่วงเวลาว่างจากพระพุทธเจ้าถึงอสงไขยหนึ่ง เรียกว่า รุจิอสงไขย กาลเวลาล่วงมาถึงมัณฑกัปหนึ่ง จึงมีพระพุทธเจ้ามาอุบัติ ๑ พระองค์ ทรงพระนามว่า พระปทุมุตระพุทธเจ้า
พระปทุมุตระพุทธเจ้า ทรงประสูติเป็นพระปทุมุตระราชกุมาร ในราชวงศ์กษัตริย์แห่งหังสวดีนคร พระราชบิดาทรงพระนามว่าพระเจ้าอานันทะ และพระราชมารดาทรงพระนามว่าพระนางสุชาดาเทวี
พระปทุมุตระราชกุมารทรงพระเกษมสำราญอยู่ ๑๐,๐๐๐ ปี ในปราสาท ๓ หลัง คือ นรวาหนะปราสาท ยสวาหนะปราสาท และวสวัตดีปราสาท ทรงมีพระมเหสีพระนามว่าวสุทัตตาเทวี และทรงมีสนมนารีแวดล้อมอีก ๑๒๐,๐๐๐ นาง
วันหนึ่ง เมื่อพระเทวีประสูติพระโอรส พระนามว่า พระอุตตระกุมาร และปทุมุตระราชกุมารทรงทอดพระเนตรเห็นเทวทูตทั้งสี่ คือ คนแก่ คนเจ็บ คนตาย และนักบวช พระองค์จึงมีพระดำริว่าจะออกบวช พอดำริดังนั้น วสวัตดีปราสาทก็ลอยเลื่อนไปลงกลางพื้นดิน เมื่อปทุมุตระราชกุมารพร้อมบุรุษผู้ติดตามออกบรรพชาแล้ว ปราสาทนั้นก็ลอยกลับที่เดิม
ปทุมุตระราชกุมารทรงบำเพ็ญความเพียรอยู่เป็นเวลา ๗ วัน จนถึงวันเพ็ญเดือนวิสาขะ ทรงรับข้าวมธุปายาสจากธิดารุจานันทเศรษฐี ณ อุชเชนีนิคม และรับหญ้า ๘ กำจากสุมิตตะอาชีวก ปูลาดใต้ต้นสลละ (ต้นช้างน้าว) เป็นโพธิบัลลังก์ และได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าในคืนนั้นเอง
พระปทุมุตระพุทธเจ้าทรงแสดงปฐมเทศนา แก่พระโอรส ๒ องค์ของพระเจ้าอาแห่งกรุงมิถิลา คือ เทวละกุมาร และสุชาตะกุมาร ที่ราชอุทยานกรุงมิถิลา ทำให้พระโอรสทั้งสองและบริวารสำเร็จเป็นพระอริยบุคล

ธรรมาภิสมัยในพุทธกาลของพระปทุมุตระพุทธเจ้าบังเกิดขึ้น ๓ วาระ คือ
วาระที่ ๑ แสดงปฐมเทศนา
ธรรมาภิสมัยบังเกิดแก่มนุษย์และเทวดา ๑๐๐,๐๐๐ โกฏิ
วาระที่ ๒ แสดงธรรมแก่สรทดาบส
ธรรมาภิสมัยบังเกิดแก่มนุษย์และเทวดา ๓,๗๐๐,๐๐๐
วาระที่ ๓ แสดงธรรมแก่พระเจ้าอานันทะพุทธบิดา
ธรรมาภิสมัยบังเกิดแก่มนุษย์และเทวดา ๕,๐๐๐,๐๐๐

พระปทุมุตระพุทธเจ้า ทรงประชุมสาวกสันนิบาต ๓ ครั้ง
ครั้งที่ ๑ ทรงแสดงปาฏิโมกข์แก่พระสงฆ์สาวก ๑๐๐,๐๐๐ โกฏิ ณ มิถิลานคร
ครั้งที่ ๒ ทรงแสดงปาฏิโมกข์แก่พระสงฆ์สาวก ๙๐,๐๐๐ โกฏิ ณ เวภารบรรพต
ครั้งที่ ๓ ทรงแสดงปาฏิโมกข์แก่พระสงฆ์สาวก ๘๐,๐๐๐ โกฏิ ณ คามนิคมชนบท

พระปทุมุตระพุทธเจ้าทรงมีพระสาวกองค์สำคัญ คือ
พระอัครสาวก คือ พระเทวิละเถระ และพระสุชาตะเถระ
พระอัครสาวิกา คือ พระอมิตาเถรี และพระอสมาเถรี
พระอุปัฏฐาก คือ พระสุมนะ

พระปทุมุตระพุทธเจ้าทรงมีพระวรกายสูง ๕๘ ศอก มีพระรัศมีแผ่ไป ๑๒ โยชน์โดยรอบ เมื่อพระชนมายุได้ ๑๐๐,๐๐๐ ปี จึงปรินิพพานที่พระวิหารนันทาราม พระศาสนาก็ดำรงมาได้อีก ๗๐,๐๐๐ ปี ก็อันตรธาน

Webmaster:
พระสุเมธะพุทธเจ้า

หลังจากศาสนาของพระปทุมุตระพุทธเจ้าล่วงไปได้ ๓๐,๐๐๐ กัป ล่วงถึงมัณฑกัปหนึ่ง มีพระพุทธเจ้ามาอุบัติ ๒ องค์ พระพุทธเจ้าองค์แรกทรงพระนามว่า พระสุเมธะพุทธเจ้า
พระสุเมธะพุทธเจ้า ทรงประสูติเป็นสุเมธะราชกุมาร ในราชวงศ์กษัตริย์แห่งสุทัสสนะนคร พระราชบิดาทรงพระนามว่าพระเจ้าสุทัตตะ และพระราชมารดาทรงพระนามว่าพระนางสุทัตตาเทวี
สุเมธะราชกุมารทรงเกษมสำราญอยู่ ๙,๐๐๐ ปี ในปราสาท ๓ หลัง คือ สุจันทนะปราสาท สุกัญจนะปราสาท และสิริวัฒนะปราสาท ทรงมีพระมเหสีพระนามว่า สุมนาเทวี และทรงมีสนมนารีแวดล้อมอีก ๓๘,๐๐๐ นาง
วันหนึ่ง สุเมธะราชกุมารทรงทอดพระเนตรเห็นเทวทูตทั้งสี่ คือ คนแก่ คนเจ็บ คนตาย และนักบวช พระองค์จึงมีพระทัยน้อมไปทางบรรพชา
เมื่อพระนางสุมนาเทวีประสูติพระโอรส พระนามว่า ปุนัพพสุมิตตะกุมาร จึงได้เสด็จทรงคชยานออกบรรพชา โดยมีผู้ออกบรรพชาตาม ๑๐๐ โกฏิ
สุเมธะราชกุมารทรงบำเพ็ญความเพียรอยู่ในพระราชอุทยานเป็นเวลา ๘ เดือน จนถึงวันเพ็ญเดือนวิสาขะ ทรงรับข้าวมธุปายาสจากธิดานกุลเศรษฐี ณ นกุลนิคม และรับหญ้า ๘ กำจากสุวัฑฒอาชีวก ปูลาดใต้ต้นมหานีปะ (ต้นกะทุ่ม) เป็นโพธิบัลลังก์ และได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า
พระสุเมธะพุทธเจ้าทรงแสดงปฐมเทศนา แก่สรณอนุชา และสัพพกามีอนุชา พร้อมทั้งพระภิกษุที่บรรพชาตามจำนวน ๑๐๐ โกฏิ ในราชอุทยานนั้นเอง

ธรรมาภิสมัยในพุทธกาลของพระสุเมธะพุทธเจ้าบังเกิดขึ้น ๓ วาระ คือ
วาระที่ ๑ แสดงปฐมเทศนา
ธรรมาภิสมัยบังเกิดแก่มนุษย์และเทวดา ๑๐๐,๐๐๐ โกฏิ
วาระที่ ๒ แสดงธรรมแก่ยักษ์กุมภกรรณ
ธรรมาภิสมัยบังเกิดแก่มนุษย์และเทวดา ๙๐,๐๐๐ โกฏิ
วาระที่ ๓ แสดงธรรมที่ราชอุทยานสิรินันทะ อุปการีนคร
ธรรมาภิสมัยบังเกิดแก่มนุษย์และเทวดา ๘๐,๐๐๐ โกฏิ

พระสุเมธะพุทธเจ้า ทรงประชุมสาวกสันนิบาต ๓ ครั้ง
ครั้งที่ ๑ ทรงแสดงปาฏิโมกข์แก่พระสงฆ์สาวก ๑๐๐ โกฏิ ณ กรุงสทัสสนะ
ครั้งที่ ๒ ทรงแสดงปาฏิโมกข์แก่พระสงฆ์สาวก ๙๐ โกฏิ ณ ภูเขาเทวกูฏ ในพิธีกรานกฐิน
ครั้งที่ ๓ ทรงแสดงปาฏิโมกข์แก่พระสงฆ์สาวก ๘๐ โกฏิ ที่ประชุมกันคราวพระสุเมธะพุทธเจ้าเสด็จจาริก

พระสุเมธะพุทธเจ้าทรงมีพระสาวกองค์สำคัญ คือ
พระอัครสาวก คือ พระสรณะเถระ และพระสัพพกามะเถระ
พระอัครสาวิกา คือ พระรามาเถรี และพระสุรามาเถรี
พระอุปัฏฐาก คือ พระสาคระ

พระสุเมธะพุทธเจ้าทรงมีพระวรกายสูง ๘๘ ศอก มีพระรัศมีแผ่ไปได้โยชน์หนึ่งโดยรอบ เมื่อพระชนมายุได้ ๙๐,๐๐๐ ปี จึงปรินิพพาน

Webmaster:
ความลับของจักรวาล ในพระไตรปิฏก

ขนาดของจักรวาล

จักรวาลอันหนึ่ง โดยยาวและโดยกว้าง ประมาณ ๑,๒๐๓,๔๕๐ โยชน์ (๑ โยชน์ = ๑๖ กิโลเมตร)
ส่วนโดยรอบปริมณฑลทั้งสิ้น (ของจักรวาลนั้น) ประมาณ ๓,๖๑๐,๓๕๐ โยชน์

ขนาดหนาของแผ่นดิน ในจักรวาลนั้น
แผ่นดินนี้ กล่าวโดยความหนา มีประมาณถึงเท่านี้ คือ ๒๔๐,๐๐๐ โยชน์

ขนาดหนาของน้ำรองแผ่นดิน สิ่งที่รองแผ่นดินนั้นหรือ
คือน้ำอันตั้งอยู่บนลม โดยความหนามีประมาณถึงเท่านี้ คือ ๔๘๐,๐๐๐ โยชน์

ขนาดความหนาของลมรองน้ำ
ลมอัน (พัดดัน) ขึ้นฟ้า (โดยความหนา) มีประมาณ ๙๖๐,๐๐๐ โยชน์ นี่เป็นความตั้งอยู่พร้อมมูลแห่งโลก

ขนาดภูเขาสิเนรุ (เขาพระสุเมรุ) และต้นไม้ประจำทวีป
อนึ่ง ในจักรวาลที่ตั้งอยู่พร้อมมูลอย่างนี้นั้น มี
ภูเขาสิเนรุอันเป็นภูเขาสูงที่สุด หยั่ง (ลึก) ลงไปในมหาสมุทร ๘๔,๐๐๐ โยชน์ สูงขึ้นไป (ในฟ้า) ก็ประมาณเท่ากันนั้น
ภูเขาใหญ่ทั้งหลาย คือภูเขายุคันธร ภูเขาอิสินธร ภูเขากรวีกะ ภูเขาสุทัสสนะ ภูเขาเนมินธระ
ภูเขาวินตกะ ภูเขาอัสสกัณณะ อันตระการไปด้วยรัตนะหลากๆ ราวกะภูเขาทิพย์ หยั่ง (ลึก) ลงไป
(ในมหาสมุทร) และสูงขึ้นไป (ในฟ้า) โดยประมาณกึ่งหนึ่งแต่ประมาณแห่งภูเขาสิเนรุไปตามลำดับ
ภูเขาใหญ่ทั้ง ๗ นั้น (ตั้งอยู่) โดยรอบภูเขาสิเนรุเป็นที่อยู่ของ (จาตุ)มหาราช เป็นที่ๆ เทวดา และยักษ์อาศัยอยู่

ภูเขาหิมวาสูง ๕๐๐ โยชน์ ยาวและกว้าง ๓,๐๐๐ โยชน์ (เท่ากัน) ประดับไปด้วยยอดถึง ๘๔,๐๐๐ ยอด
ต้นชมพู (หว้า) ชื่อนคะ วัดรอบลำต้นได้ ๑๕ โยชน์ ลำต้นสูง ๕๐ โยชน์ และกิ่ง (แต่ละกิ่ง)
ก็ยาว ๕๐ โยชน์ แผ่ออกไปวัดได้ ๑๐๐ โยชน์โดยรอบ และสูงขึ้นไปก็เท่ากันนั้น ด้วยอานุภาพของ
ต้นชมพู (นี้) ไรเล่า ทวีปนี้จึงถูกประกาศชื่อว่า ชมพูทวีป
ก็แลขนาดของต้นชมพูนี้ใด ขนาดนั้นนั่นแหละเป็นขนาดของต้นจิตรปาฏลี (แคฝอย) ของพวกอสูร
ต้นสิมพลี (งิ้ว) ของพวกครุฑ ต้นกทัมพะ (กระทุ่ม) ในอมรโคยานทวีป ต้นกัปปะในอุตตรกุรุทวีป
ต้นสิรีระ (ซึก) ในบุพพวิเทหทวีป ต้นปาริฉัตตกะ ในดาวดึงส์ เพราะเหตุนั้นแล ท่านโบราณจารย์จึงกล่าวไว้ว่า
(ต้นไม้ประจำภพและทวีป คือ) ต้นปาฏลี ต้นสิมพลี ต้นชมพู ต้นปาริตฉัตตะของพวกเทวดา
ต้นกทัมพะ ต้นกัปปะ และต้นที่ ๗ คือ ต้นสิรีสะ ดังนี้

ขนาดภูเขาจักรวาล
ภูเขาจักรวาล หยั่ง (ลึก) ลงไปในมหาสมุทร ๘๒,๐๐๐ โยชน์ สูงขึ้นไป (ในฟ้า) ก็เท่ากันนั้น
ภูเขาจักรวาลนี้ตั้งล้อมโลกธาตุทั้งสิ้นนั้นอยู่

ขนาดของภพและทวีป
ในโลกธาตุนั้น มีดวงจันทร์ ดวงอาทิตย์ ภพดาวดึงส์ ๑๐,๐๐๐ โยชน์ ภพอสูร มหานรกอเวจี และชมพูทวีปก็
เท่ากันนั้น อมรโคยานทวีป ๗,๐๐๐ โยชน์ บุพพวิเทหทวีปก็เท่านั้น อุตตรกุรุทวีป ๘,๐๐๐ โยชน์ อนึ่ง ในโลกธาตุนั้น
ทวีปใหญ่ๆ ทวีป ๑ ๆ มีทวีปน้อยเป็นบริวาร ทวีปละ ๕๐๐
สิ่งทั้งปวง (ที่กล่าวมานี้) นั้น (รวม) เป็นจักรวาล ๑ ชื่อว่า โลกธาตุอัน ๑ ๑ในระหว่างแห่งโลกธาตุ
ทั้งหลายมีโลกันตนรก (แห่งละ ๑)

๑. มหาฎีกาว่า จักรวาล ก็คือโลกธาตุ โลกธาตุได้ชื่อว่า จักรวาล ก็เพราะมีภูเขาจักรวาล ซึ่งสัณฐานดังกง
รถล้อมอยู่โดยรอบเท่านั้นเองไม่ใช่จักรวาลอัน ๑ โลกธาตุอัน ๑
๒. ท่านว่าจักรวาลหรือโลกธาตุนั้นมีมากนัก ช่องว่างในระหว่างจักรวาล ๓ จักรวาลต่อกัน มีโลกันตนรก ๑
ทุกแห่งไป โดยนัยนี้ คำว่า โลกันตนรก ก็แปลว่า นรกอันตั้งอยู่ในช่องระหว่างจักรวาล ๓ อันนั่นเอง
------------------
พระพุทธเจ้าทรงตรัสไว้ใน "จูฬนีสูตร" พระไตรปิฎก หน้า ๒๑๕ เล่ม ๒๐ ว่า
จักรวาล ประกอบด้วยดวงจันทร์ โลก ดวงอาทิตย์ และดาวเคราะห์ทั้งหลายโคจร ไปร่วมกัน จะมีขุนเขาสิเนรุ (เขาพระสุเมรุ) (เป็นภูเขาทิพย์ที่เห็นได้เฉพาะผู้มีอภิญญา) ทวีปต่างๆ ที่ตั้งชื่อกันในสมัย
นั้นคือ ชมพูทวีป อปรโคยานทวีป อุตรกุรุทวีป และปุพพวิเทหทวีป มหาสมุทรทั้ง ๔ (นับกันได้ในสมัยนั้น) มีนรกขุมต่างๆ สวรรค์ชั้นต่างๆ และพรหมโลกชั้นต่างๆ
โลกธาตุ มี ๓ ขนาด คือ โลกธาตุอย่างเล็กมีจำนวนพันจักรวาล โลกธาตุอย่างกลางมีจำนวนล้านจักรวาล โลกธาตุอย่างใหญ่มีจำนวน แสนโกฏิจักรวาล
ทั้งโลกธาตุอย่างเล็กก็ดี อย่างกลางก็ดี อย่างใหญ่ก็ดี ยังมีอีกจำนวนมากมาย "ทุกสิ่งทุกอย่างมีการเกิดขึ้น ตั้งอยู่ และแตกดับไปในที่สุด"
กำเนิดของโลกพระพุทธเจ้าทรงตรัสไว้ใน "อัคคัญญสูตร" พระไตรปิฎก หน้า ๖๑ เล่ม ๑๑ ว่า เกิดมีน้ำขึ้นในห้วงอวกาศอันมืดมิดก่อนแล้วนานๆไปเกิดการรวมตัวงวดเข้าเป็นง้วนดิน แล้วพัฒนาเป็นกระบิดิน ต่อไปเป็นเครือดิน จากนั้นมีต้นข้าวและพืชทั้งหลายเกิดขึ้น ดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์ หมู่ดาว นรกขุมต่างๆ เทวโลก และพรหมโลกชั้นต่างๆ ก็เกิดขึ้นเอง
กำเนิดชีวิตพระพุทธเจ้าทรงตรัสไว้ว่า "เพราะมีความอยาก จึงมีการเกิดเป็นสัตว์เป็นบุคคลขึ้นมา เมื่อไม่มีความอยากการเกิดเป็นสัตว์เป็นบุคคลก็ไม่มี"
กำเนิดชีวิตในจักรวาลอื่น ปัจจุบันนักวิทยาศาสตร์ยังถกเถียงกันอยู่ว่ามีหรือไม่มี ? และยังคงไม่มีใครสามารถสร้างเครื่องมือติดต่อค้นหาเพื่อตอบคำถามนี้ได้ แต่พระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้แน่นอนมากว่าสองพันปีแล้วว่า "มี"

นักวิทยาศาสตร์กล่าวว่า "ดวงอาทิตย์ มีเส้นผ่าศูยน์กลางประมาณ ๑,๔๐๐,๐๐๐ กิโลเมตร หรือโตกว่าโลกประมาณ ๑๐๙ เท่า มีน้ำหนักประมาณ ๒ x ๑,๐๓๐ กิโลกรัม (หรือ ๒๐ ตามด้วย ๐ จำนวน ๓๐ ตัว) เนื้อตัวทั้งหมดของดวงอาทิตย์เป็นธาตุไฮโดรเจนซึ่งเป็นธาตุเบา เผาไหม้ตัวเองด้วยปฏิกิริยา เทอร์โมนิวเคลียร์ จากภายในใจกลางออกมาไม่ใช่เผาไหม้เฉพาะพื้นผิว สิ้นมวลของตัวเองวินาทีละ ๔ ล้านตัน เผาไหม้อย่างนี้มาแล้ว ๕,๕๐๐ ล้านปี และจะเผาไหม้อย่างนี้ต่อไปอีก ๕,๕๐๐ ล้านปี" เมื่อเป็นเช่นนี้ลองคิดดูว่าวันหนึ่งมีกี่วินาที ? ต่อให้ดวงอาทิตย์หรือดาวฤกษ์นั้นใหญ่โตขนาดไหนก็ตาม น่าจะย่อยยับหมดสิ้นภายในวันเดียว แต่ดวงอาทิตย์หรือดาวฤกษ์นั้นก็ยังอยู่ยืนยาวมานานนับพันๆล้านปี โดยยังมีขนาดเท่าเดิม " นี้คือความมหัศจรรย์ที่ยังคงเหนือการพิสูจน์
อีกอย่างหนึ่ง นักวิทยาศาสตร์คาดคะเนว่า "เวลาอันยาวนานในอนาคต ดวงอาทิตย์จะขยายตัวบวมขึ้นจนมีขนาดโตถึงวงโคจรของโลก แล้วกลืนกินโลกและดาวเคราะห์วงในทั้งหมด และเมื่อเวลายาวนานอีกต่อไปก็จะค่อยๆยุบตัวลงกลายเป็นดาวแคระ คือจะมีขนาดเล็กลงเท่าโลกแต่มีความร้อนจัด ดาวฤกษ์บางดวงก็ยุบตัวลงเป็นดาวนิวตรอนที่มีขนาดเส้นผ่าศูยน์กลางเพียง ๒๕-๓๐ กิโลเมตร และดาวฤกษ์บางดวงก็ยุบตัวลงเป็นหลุมดำ"

พระพุทธเจ้าตรัสว่า "ในอนาคตอันยาวไกลในสุริยะจักรวาล จะมีดวงอาทิตย์เกิดขึ้นเองเพิ่มขึ้นทีละดวงๆ จนครบ ๗ ดวง แล้วเผาไหม้โลกและดาวเคราะห์บริวารทั้งหมด นรกทุกขุม สวรรค์ทุกชั้น และพรหมโลกชั้นต่ำๆ รวมทั้งดวงอาทิตย์ทั้ง ๗ ดวงนั้น ก็พินาศไปด้วย แล้วก็จะมีแต่ความมืดมิดจนนานแสนนาน ก็ก่อตัวขึ้นมาใหม่อีก" (สุริยะสูตร พระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๓ หน้า ๘๓)

นักวิทยาศาสตร์ทั้งหลาย คือปุถุชนผู้ที่ยังมีกิเลสตัณหา ตั้งทฤษฎีมาจากการคาดคะเน การนึกคิด การเดา การสันนิษฐาน การค้นคว้าทดลอง การสังเกตจดจำ การใช้เครื่องมือและอุปกรณ์เป็นจำนวนมาก แต่ทฤษฎีเหล่านั้นก็ยังไม่ตายตัว พร้อมที่จะถูกลบล้างได้ตลอดเวลา
พระพุทธเจ้าทั้งหลาย คือบุคคลพิเศษ วิเศษ เป็นอัจฉริยะมนุษย์ เป็นบุคคลเอกที่ไม่มีใครเสมอเหมือน เป็นผู้สิ้นกิเลสตัณหา เป็นผู้มีญาณวิเศษรู้อดีต ปัจจุบัน และอนาคต เป็นผู้ตรัสรู้ เป็นผู้รู้แจ้งโลก ดังนั้นพระสูตรหรือทฤษฎีต่างๆที่พระพุทธองค์ทรงตรัสไว้ดีแล้ว จึงตายตัวไม่มีใครลบล้างได้
-----------------------------
ลักษณะของจักรวาล คือ มีเขาสิเนรุเป็นแกนกลาง มี เขาสัตตบริภัณฑ์ คือ เขาล้อมรอบ ๗ ชั้น ซึ่งมี สีทันดรมหาสมุทร คั่นอยู่ในระหว่าง ตั้งเป็นรูปร่างขึ้นไว้ก่อน ภูมิสวรรค์อยู่พ้นทวีปทั้งหลายซึ่งเป็นที่อยู่ของมนุษย์ เช่น ชมพูทวีปซึ่งมีอินเดียเป็นศูนย์กลาง จึงอยู่พ้นป่าหิมพานต์ พ้นภูเขาหิมวันตะหรือ หิมาลัย พ้นมหาสมุทรแห่งทวีปทั้งปวง แล้วถึงภูเขาสัตตบริภัณฑ์ ตั้งต้นแต่ภูเขาสุทัสสนะ จนถึงภูเขาอัสสกัณณะ จึงเป็นอันถึงสวรรค์ชั้นที่ ๑ เพราะยอดเขาสัตตบริภัณฑ์เหล่านี้เองเป็นที่อยู่ของท้าวมหาราช ๔ องค์กับบริวาร นับเป็นสวรรค์ชั้นที่ ๑ เรียกว่า จาตุมหาราชิก

ท้าวมหาราช ๔ องค์นี้ แบ่งกันครอบครอง ดั่งนี้
๑)ด้านทิศตะวันออกของเขาสิเนรุเป็นที่อยู่ของ ท้าวธตรัฏฐะ มีพวกคนธรรพ์เป็นบริวาร (ถัดออกไปเป็นปุพพวิเทหทวีป)
๒)ด้านทิศใต้เป็นที่อยู่ของ ท้าววิรุฬหก มีพวกกุมภัณฑ์เป็นบริวาร (ถัดออกไปเป็นชมพูทวีป) พวกกุมภัณฑ์นี้ ท่านอธิบายว่าได้แก่ ทานพรากษส
๓)ด้านทิศตะวันตกของเขาสิเนรุเป็นที่อยู่ของ ท้าววิรูปักข์ มีพวกนาคเป็นบริวาร (ออกไปเป็น อมรโคยานทวีป)
๔)ด้านทิศเหนือของเขาสิเนรุเป็นที่อยู่ของ ท้าวกุเวร มีพวกยักษ์เป็นบริวาร (ถัดออกไปเป็นอุตตรกุรุทวีป)

ท้าวมหาราชที่ ๔ ครองอยู่ ๔ ทิศของเขาสิเนรุ มีกล่าวถึงใน อาฏานาฏิยสูตร หน้าที่ของท้าวมหาราชที่ ๔ และบริวารตามที่ได้กล่าวไว้ คือเป็นผู้รับด่านหน้าของสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ เพื่อป้องกันพวกอสูรซึ่งเป็นศัตรูของเทพชั้นดาวดึงส์จะยกมาตีเอาถิ่นสวรรค์ชั้นนั้น แต่ใน สุตตันตปิฎก ติกนิบาต ได้มีแสดงหน้าที่ให้เป็นผู้ตรวจ ซึ่งเป็นที่อยู่ของหมู่มนุษย์อีกด้วย แสดงเป็นพระพุทธภาษิตมีความว่า ในวัน ๘ ค่ำแห่งอมาตย์บริษัทของท้าวมหาราชทั้ง ๔ เที่ยวตรวจดูโลก ในวัน ๑๔ ค่ำแห่งปักข์ บุตรทั้งของท้าวมหาราชทั้ง ๔ เที่ยวตรวจดูโลก ในวัน ๑๕ ค่ำแห่งปักษ์ ท้าวมหาราชทั้ง ๔ ตรวจดูโลกเองว่าพวกมนุษย์พากันบำรุงบิดามารดา บำรุงสมณพราหมณ์ เคารพนบน้อมผู้ใหญ่ในตระกูล รักษาอุโบสถ ทำบุญกุศล มีจำนวนมากด้วยกันอยู่หรือ เมื่อตรวจดูแล้ว ถ้าเห็นว่ามีจำนวนน้อย ก็ไปบอกแก่พวกเทพชั้นดาวดึงส์ ซึ่งประชุมกันใน สุธรรมสภา พวกเทพชั้นดาวดึงส์ เมื่อได้ฟังดั่งนั้นก็มีใจหดหู่ว่า ทิพยกายจักลดถอย อสุรกายจักเพิ่มพูน แต่ถ้าเห็นว่าพวกมนุษย์พากันทำดี มีบำรุงมารดาบิดาเป็นต้น เป็นจำนวนมาก ก็ไปบอกแก่พวกเทพชั้นดาวดึงส์เหมือนอย่างนั้น พวกเทพชั้นดาวดึงส์ก็พากันมีใจชื่นบานว่า ทิพยกายจักเพิ่มพูน อสุรกายจักลดถอย ๑

ท้าวมหาราชทั้ง ๔ มีหน้าที่เป็น จตุโลกบาล คือ เป็นผู้คุ้มครองโลกทั้ง ๔ ทิศ ตามที่เชื่อถือกันมาเก่าก่อนพระพุทธศาสนา แต่เมื่อพระพุทธศาสนาเกิดขึ้นแล้ว พระพุทธเจ้าได้ทรงแสดง ธรรมเป็นโลกบาล คือ คุ้มครองโลกไว้ ๒ ข้อ คือ หิริ ความละอายใจ ที่จะทำชั่ว โอตตัปปะ ความเกรงกลัวต่อความชั่ว เพราะเหตุนี้ จึงไม่กล่าวให้ท้าวมหาราชทั้ง ๔ ทำหน้าที่คุ้มครองโลกโดยตรง จะไม่กล่าวถึงเลยก็จะขัดขวางต่อความเชื่อของคนทั้งหลายจนเกินไป จึงกล่าวเปลี่ยนไปให้มีหน้าที่เที่ยวตรวจดูโลกมนุษย์ ว่าได้พากันทำดีมากน้อยอย่างไร แล้วก็นำไปรายงานพวกเทพชั้นดาวดึงส์ พวกเทพชั้นนั้นได้รับรายงานแล้วก็เพียงแต่มีใจชื่นบานหรือไม่เท่านั้น เห็นได้ว่าท่านผู้รวบรวมร้อยกรองเรื่องนี้ไว้ในพระสุตตันตปิฎก ต้องการจะรักษาเรื่องเก่าที่คนส่วนมากเชื่อถือ ด้วยวิธีนำมาเล่าให้เป็นประโยชน์ในทางตักเตือนให้ทำดี เหมือนอย่างที่มีคำเก่ากล่าวไว้ว่า ถึงคนไม่เห็น เทวดาก็ย่อมเห็น คือ สดงจตุโลกบาลที่เขาเชื่อกันอยู่แล้วในทางที่อาจเข้าใจเป็นธรรมาธิษฐาน ซึ่งเป็นข้อมุ่งหมายโดยตรง ถึงจะเชื่อว่ามีตัวตนอยู่จริงและคอยมาตรวจดูโลกว่า ใครทำดีไม่ดีอย่างไรก็ไม่เสียหาย กลับจะดีเพราะจะได้เกิดละอายกลัวเกรงว่า จตุโลกบาลจะรู้จะเห็นว่าทำไม่ดี หรือไม่ทำดี เป็นอันหนุนให้เกิดหิริโอตตัปปะขึ้นได้ ผู้ที่ไม่ยอดเชื่อเสียอีกอาจจะร้ายกว่า เพราะไม่มีที่ละอายยำเกรง เว้นไว้แต่จะมีภูมิธรรมในจิตใจดีอยู่แล้ว หรือมีที่ละอายยำเกรงอย่างอื่นแทนอยู่ วันที่ท่านกล่าวว่าจตุโลกบาลมาตรวจดูโลก เดือนหนึ่งมีไม่กี่วัน ดูเหมือนจะน้อยไป แต่คงไม่หมายความว่าตรวจกรรมของคนเฉพาะวันนั้น วันอื่นไม่เกี่ยวข้องด้วย ควรเข้าใจว่า ตรวจดูรู้ย้อนไปถึงวันอื่นๆ ในระหว่างที่ไม่ได้ลงมานั้นด้วย ตัวของเราเองทุกๆคนนึกย้อนตรวจดูกรรมของตนเองภายใน ๗ วันยังจำได้ ไฉนโลกบาลจะไม่รู้กรรมที่ตนเองทำ แม้จะลืมไปแล้ว โลกบาลก็ต้องรู้ เมื่อเชื่อว่าโลกบาลมีจริง ก็ควรจะเชื่ออย่างนี้ด้วย จึงจะเป็นโลกบาลที่สมบูรณ์ สรุปลงแล้วทำความเข้าใจว่า โลกบาลมาตรวจตราดูที่จิตใจนี้เอง จะเกิดประโยชน์มาก.
ตามหลักในการจัดภูมิต่างๆ สัตว์ดิรัจฉานเป็นอบายภูมิต่ำกว่าภูมิมนุษย์และสวรรค์ พระอาจารย์จึงกล่าวว่าในสวรรค์ไม่มีสัตว์เดียรัจฉาน การเกิดในสวรรค์ เกิดโดยอุปปาติก กำเนิดอย่างเดียว จึงน่ามีปัญหาว่า พวกนาคซึ่งเป็นบริวารของท้าวมหาราชจะจัดว่าเป็นภูมิอะไร นอกจากนี้ บริวารของท้าวมหาราชจำพวกอื่น เช่น พวกกุมณฑ์ ก็มีลักษณะพิกล ยักษ์บางพวกก็ดุร้าย เป็นผีเที่ยวสิงมนุษย์ก็มี ดูต่ำต้อยกว่าภูมิมนุษย์ แต่ก็อยู่ในสวรรค์ชั้นหนึ่งนี้ด้วย ตามที่กล่าวมานี้ น่าเห็นว่าเก็บเอามาจากเรื่องเก่าๆ จึงฟังไม่สนิทตามหลักการจัดภูมิต่าง ๆ ดั่งกล่าว
--------------------------------
ชมพูทวีป หมายถึง โลกมนุษย์ทั้งหมด ไม่ใช่อินเดีย-เนปาล อย่างที่หลายๆคนเข้าใจ ดังมีหลักฐานที่พระพุทธเจ้าแสดงดังนี้

ทวีปต่างๆในจักรวาล
๑) ชมพูทวีป ตั้งอยู่ทางทิศใต้ของเขาสิเนรุ (เขาพระสุเมรุ)
-มีธาตุมรกตอยู่ทางทิศใต้ของเขาสิเนรุ แสงสะท้อนของธาตุมรกตทำให้ทองฟ้าและมหาสมุทรของชมพูทวีปมีสีน้ำเงินแกมเขียว
-มนุษย์ที่ชมพูทวีป มีความสูง ๔ ศอก มีอายุประมาณ ๑๐๐ ปี (อาจตายก่อนอายุได้ ไม่แน่นอน)
-มนุษย์ที่อาศัยอยู่ในทวีปนี้ อายุยิ่งหย่อนขึ้นอยู่กับคุณธรรม ไม่แน่นอน
-สมัยของพระพุทธเจ้าพระนามว่า "พระวิปัสสี" มนุษย์ในชมพูทวีปมีอายุถึง ๘๐,๐๐๐ ปี
-สมัยของพระพุทธเจ้าพระนามว่า "พระเรวะตะ" มนุษย์ในชมพูทวีปมีความสูงถึง ๘๐ ศอก
-แต่เมื่อคุณธรรมเสื่อมลง จิตใจหยาบช้าลง อาหารเลวลง อายุก็ลดลง ร่างกายก็เตี้ยลง
-ต่อไปภายภาคหน้ามนุษย์ในชมพูทวีป จะมีอายุเพียง ๑๐ ปี เท่านั้น และตัวจะเตี้ยถึงขนาดต้องสอยมะเขือกิน เรียกยุคนั้นว่า "ยุคทมิฬ" เป็นยุคที่เสื่อมที่สุดของ "ชมพูทวีป"
-ดอกไม้ประจำชมพูทวีปคือ "ชมพู (ไม้หว้า)" ...เพราะเหตุนี้ ถึงเรียกว่า "ชมพูทวีป" เพราะดอกไม้ประจำทวีปนี้คือ ดอก "ชมพู"
-ชมพูทวีป เป็นทวีปเดียวที่พระพุทธเจ้าทุกพระองค์ ต้องมาตรัสรู้ที่ทวีปนี้เท่านั้น

๒) อมรโคยานทวีป ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกของเขาสิเนรุ (เขาพระสุเมรุ)
-เป็นแผ่นดินกว้าง ๗,๐๐๐ โยชน์ ประกอบด้วยเกาะ และแม่น้ำใหญ่น้อย
-มีธาตุแก้วผลึกอยู่ทางทิศตะวันตกของเขาสิเนรุ แสงสะท้อนของธาตุแก้วผลึกทำให้ทองฟ้าและมหาสมุทรของอมรโคยานทวีปมีสีแก้วผลึก
-มนุษย์ที่อาศัยอยู่ในทวีปนี้ มีรูปหน้าเหมือนพระจันทร์ครึ่งซีก มีใบหน้าวงกลม คล้ายวงพระจันทร์ คนหน้าเหมือนดั่งเดือนแรม จมูกโด่ง คางแหลม
-มนุษย์ที่อมรโคยานทวีป มีความสูง ๖ ศอก มีอายุ ๕๐๐ ปี (จะไม่ตายก่อนอายุ เป็นกฏตายตัว)
-ดอกไม้ประจำอมรโคยานทวีปคือ "กะทัมพะ (ไม้กระทุ่ม)"

๓) ปุพพวิเทหะทวีป ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของเขาสิเนรุ (เขาพระสุเมรุ)
-เนื้อที่กว้าง ๗,๐๐๐ โยชน์ มีเกาะ ๔๐๐ เกาะ
-มีธาตุเงินอยู่ทางทิศตะวันออกของเขาสิเนรุ แสงสะท้อนของธาตุเงินทำให้ทองฟ้าและมหาสมุทรของปุพพวิเทหะทวีปมีสีเงิน
-มนุษย์ที่อาศัยอยู่ในทวีปนี้ มีรูปหน้าเหมือนพระจันทร์เต็มดวง คนหน้ากลมเหมือนดวงจันทร์ มีใบหน้าตอนบนโค้งตัดลงมาเหมือนบาตร
-มนุษย์ที่ปุพพวิเทหะทวีป มีความสูง ๙ ศอก มีอายุ ๗๐๐ ปี (จะไม่ตายก่อนอายุ เป็นกฏตายตัว)
-ดอกไม้ประจำปุพพวิเทหะทวีปคือ "สิรีสะ (ไม้ทรึก)"

๔) อุตรกุรุทวีป ตั้งอยู่ทางทิศเหนือของเขาสิเนรุ (เขาพระสุเมรุ)
-มีพื้นที่เป็นรูปสี่เหลี่ยม เนื้อที่กว้าง ๘,๐๐๐ โยชน์ เป็นที่ราบ
-มีธาตุทองคำอยู่ทางทิศเหนือของเขาสิเนรุ แสงสะท้อนของธาตุทองคำทำให้ทองฟ้าและมหาสมุทรของอุตรกุรุทวีปมีสีเหลืองทอง
-มนุษย์ที่อาศัยอยู่ในทวีปนี้ รูปร่างงาม มีลักษณะใบหน้าเป็นรูป ๔ เหลี่ยม รักษาศีล ๕ เป็นนิจ ไม่ยึดถือสมบัติ บุตร ภรรยา สามี ว่าเป็นของๆตน
-มนุษย์ที่อุตรกุรุทวีป มีความสูง ๑๓ ศอก มีอายุ ๑,๐๐๐ ปี (จะไม่ตายก่อนอายุ เป็นกฏตายตัว)
-มีต้นไม้นานาชนิด ดอกไม้ประจำอุตรกุรุทวีปคือ "กัปปรุกขะ (กัลปพฤกษ์)" ถ้าอยากได้อะไร ก็ไปนึกเอาที่ต้นกัลปพฤกษ์ จะสมปรารถนา
-มนุษย์ที่อุตรกุรุทวีป เมื่อตายจากทวีปนี้ ทุกคนจะได้ไปเกิดใน "เทวภูมิ ชั้นตาวติงสาห์ภูมิ" ทุกๆคน เป็นกฏตายตัว
-ในภาษาบาลี "อุตร" แปลว่า "เหนือ" ...เพราะเหตุนี้ ถึงเรียกทวีปนี้ว่า "อุตรกุรุทวีป"

นำร่อง

[0] ดัชนีข้อความ

[#] หน้าถัดไป

[*] หน้าที่แล้ว

Go to full version