หมวดหลัก > พุทธภูมิ พระโพธิสัตว์ การบำเพ็ญบารมี

มุนีนาถทีปนี การตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า โดย พระพรหมโมลี วิลาศ ญาณวโร

<< < (2/8) > >>

Wisdom:
ธรรมสำคัญ ๘ ประการ ตามที่พรรณนามานี้ มีชื่อว่า ธรรมสโมธานที่เป็นเหตุให้ได้รับลัทธยาเทศคำพยากรณ์ จากสำนักแห่งองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ท่านผู้มีปัญญาทั้งหลาย ได้พิจารณาดูธรรมตามที่กล่าวมานี้แล้ว เป็นอย่างไรบ้างเล่า เป็นสิ่งที่ได้โดยยาก หรือว่าได้ง่ายๆ แน่นอนเป็นสิ่งที่ได้โดยไม่ง่ายเลย

ครั้นองค์สมเด็จพระจอมมุนีสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรวจดูด้วยพระสัพพัญญุตญาณ และทรงทราบว่า ผู้ที่ปรารถนาพระปรมาภิเษกสัมโพธิญาณนั้น พรั่งพร้อมไปด้วยธรรมสโมธานทั้ง ๘ ประการนี้ มิได้ขาดแต่สักข้อหนึ่งแล้ว องค์สมเด็จพระชินสีห์จึงจะทรงชี้พยากรณ์โดยนัยว่า ผู้นั้นจักได้ตรัสรู้เป็นองค์พระพุทธเจ้า ทรงว่าอย่างนั้น ในกัปอันเป็นอนาคตที่เท่านั้น ... ดังนี้เป็นต้น แล้วก็ทรงมีพระโอวาทอนุสาสน์ให้พยายามสร้างสมบ่มพระบารมีเพื่อพระปรมาภิเษก สัมโพธิญาณต่อไปอีก เมื่อได้รับลัทธยาเทศคำพยากรณ์จากสำนักแห่งพระพุทธองค์เจ้าอย่างนี้แล้ว พระโพธิสัตว์เจ้าผู้นั้นก็ได้นามว่า พระนิยตโพธิสัตว์จักอุบัติมาตรัสเป็นสมเด็จพระสรรเพชญพุทธเจ้าในโลกเรานี้ พระองค์หนึ่งในอนาคตกาลอย่างเที่ยงแท้แน่นอน

พระพุทธพากย์

ในกรณีนี้ หากจะมีปัญหาว่า พระบรมโพธิสัตว์ผู้ได้รับลัทธยาเทศคำพยากรณ์จากสมเด็จพระสรรเพชญสัมมา สัมพุทธเจ้าว่าเป็นนิยตโพธิสัตว์นั้น จักได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าในอนาคตอย่างเที่ยงแท้แน่นอน สมจริงตามคำพยากรณ์หรือ?

ปัญหาเรื่องนี้ เป็นข้อที่ไม่ควรคิดสงสัยให้เสียเวลา เพราะธรรมดาว่าพระพุทธพากย์กถา คือถ้อยคำของสมเด็จพระจอมมุนีชินสีห์สัมาสัมพุทธเจ้าเหล่านั้น ย่อมทรงไว้ซึ่งความมหัศจรรย์เป็นสุภาษิต จะได้วิปริตผิดแปลกพจนะกระแส แปรเป็นสองหรือสูญเปล่าไม่เป็นจริงนั้น ย่อมเป็นไปมิได้ พระองค์ดำรสอรรถคดีสิ่งใด สิ่งนั้นไซร้ย่อมปรากฎมีเป็นจริงแท้ ย่อมเป็นไปตามกระแสพระพุทธบรรหารไม่ผิดเพี้ยน และเที่ยงตรงนักหนา มีครุวนาดุจสรรพสิ่งทั้งหลายมีไม้ฆ้อนและก้อนดินเป็นอาทิ อันบุคคลขว้างขึ้นไปสุดแรงเกิดบนอากาศ เมื่อมันขึ้นไปสูงจนสุดกำลังที่ขว้างแล้ว ย่อมเที่ยงที่จะตกลงมายังพื้นปฐพี อุปมานี้ฉันใด พระพุทธพากย์คำพยากรณ์ของสมเด็จพระพุทธเจ้า ย่อมจะมีสภาวะเที่ยงแท้เป็นเหมือนเช่นนั้น

อีกประการหนึ่ง อันว่าฝูงสัตว์โลกทั้งปวงเช่นมนุษย์เรานี้ เมื่อมีกำเนิดเป็นรูปเป็นกายขึ้นมาแล้ว ก็เที่ยงแท้ที่จะถึงแก่มรณกรรม กล่าวคือจำต้องตายทั่วทุกรูปทุกนามเป็นแน่แท้อุปมานี้ฉันใด พระพุทธพากย์คำพยากรณ์ของสมเด็จพระพุทธเจ้า ย่อมจะมีสภาวะเที่ยงแท้แน่นอนเป็นเหมือนเช่นนั้น

อีกประการหนึ่ง อันว่าดวงทิพากรเทพมณฑล คือพระอาทิตย์นี้ย่อมเที่ยงแท้ที่จะอุทัยขึ้นเมื่อยามสิ้นราตรี ณ เพลาอรุณรุ่งเช้าเป็นแน่แท้ อุปมาข้อนี้ฉันใด พระพุทธพากย์คำพยากรณ์ของสมเด็จพระพุทธเจ้า ก็ย่อมจะมีสภาวะเที่ยงแท้แน่นอนเป็นเหมือนเช่นนั้น

อีกประการหนึ่ง อันว่าพญามฤคินทร์ไกรสรสีหราช เมื่อออกจากถ้ำที่สีหาไสยาสน์แล้ว ย่อมเที่ยงแท้ที่จะบันลือสุรสิงหนาทเป็นนิจเสมอ ไปทุกครั้งเป็นแน่แท้ อุปมาข้อนี้ฉันใด พระพุทธพากย์คำพยากรณ์ของสมเด็จพระพุทธเจ้า ก็ย่อมจะมีสภาวะเที่ยงแท้แน่นอนเป็นเหมือนเช่นนั้น

อีกประการหนึ่ง อันว่าชนผู้เป็นพาณิชพ่อค้า เมื่อทราบจะขนสินค้ามาวางร้านเรียงขายนั้น ต้องหาบหิ้วขนแบกซึ่งภาระสินค้าอันหนักของตนเพียบแปร้มาแต่บ้าน กว่าจะถึงร้านในตลาดก็แสนจะเหน็ดเหนื่อยนักหนา พอมาถึงร้านขายของร้านตนแล้ว ก็ย่อมรีบปลงภาระสิ่งของอันหนักนั้น ลงจากบ่าของตนเสียทันทีอย่างนี้เป็นธรรม เพราะถ้าไม่ปลงลงแล้ว จะยืนแบกยืนหาบให้หนักตนเองเหมือนกับเป็นบ้าอย่างนั้น อยู่ชั่วกัปชั่วกัลห์อย่างไรได้เล่า ก็อาการที่ภาระสิ่งของอันหนักซึ่งตั้งอยู่บนบ่านั้น ย่อมเที่ยงที่จะถูกพ่อค้าปลงมาจากบ่าอย่างแน่นอน โดยไม่ต้องสงสัย อุปมาข้อนี้ฉันใด พระพุทธพจน์พิสัยแห่งองค์สมเด็จพระสัพพัญญูผู้ประเสริฐ ที่ตรัสพยากรณ์ไว้ ย่อมเป็นสัจจะเป็นธรรมเที่ยงแท้แน่นอน เป็นเหมือนเช่นกัน

จึงเป็นอันสรุปความได้ว่า เมื่อพระบรมโพธิสัตว์เจ้า ได้รับลัทธยาเทศกล่าวคือคำพยากรณ์ จากสำนักขององค์สมเด็จพระสรรเพชญสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว ย่อมเป็นผู้เที่ยงแท้ที่จักได้ตรัสเป็นพระพุทธเจ้าพระองค์หนึ่งในอนาคตกาล สมจริงตามพระพุทธพากย์พยากรณ์อย่างแน่นอน

พระพุทธภูมิธรรม

สมเด็จพระนิยตบรมโพธิสัตว์ ซึ่งมีพระกฤดาอภินิหารเที่ยงแท้ที่จะตรัสแก่พระปรมาภิเษกสัมโพธิญาณเพราะได้ รับลัทธาเทศแล้วนี้ พระองค์ท่านย่อมมีน้ำใจสลดหดหู่จากบาปธรรม กล่าวคือกุศลกรรมทั้งปวง อุปมาดุจปีกไก่อันต้องเพลิง คือ ถ้าพระองค์ท่านพิจารณาเห็นว่า สิ่งใดเป็นบาปเป็นกรรมแล้ว ย่อมหดหู่เกรงกลัวยิ่งนัก จักได้มีจิตยินดีพอใจกระทำการสิ่งนั้น แม้แต่สักนิดหนึ่งเป็นไม่มีเลย อันน้ำใจแห่งพระนิยตโพธิสัตว์เจ้าทั้งหลายนั้น ย่อมเบิกบานมั่นคง ตรงซื่อแต่ก็จะทำกองการกุศลสิ่งเดียว และขณะเดียวจะกระทำกุศลนั้น ย่อมมีใจชื่นบานกว้างขวาง มีอุปมาดุจเพดานฝ้าที่บุคคลคลี่ออกยาวใหญ่จะได้มีน้ำใจแคบเล็กน้อยต่อการ บำเพ็ญกุศลแต่สักเพลาหนึ่งนั้นเป็นอันไม่มี

อนึ่งนับแต่กาลที่ได้รับลัทธาเทศเป็นต้น สมเด็จพระนิยตโพธิสัตว์เจ้าทั้งปวงย่อมยังเพิ่มพูนพระบารมีให้มากยิ่งขึ้น และมีน้ำใจกอรปไปด้วยพระพุทธภูมธรรม อันยิ่งใหญ่ ๔ ประการ คือ
๑. อุสฺสาโห... ได้แก่ทรงประกอบไปด้วยพระอุตสาหะ มีความเพียรอันสลักติดแน่นในดวงฤทัยอย่างมั่นคง

๒.อุมตฺโต...ได้แก่ทรงประกอบไปด้วยพระปัญญา ทรงมีพระปัญญาเชี่ยวชาญหาญกล้าเฉียบคมยิ่งนัก

๓.อวตฺถานํ...ได้แก่ทรงประกอบไปด้วยพระอธิษฐาน ทรงมีอธิษฐานอันมั่นคงมิได้หวั่นไหวคลอนแคลน

๔.หิตจริยา...ได้แก่ทรงประกอบไปด้วยพระเมตตา ทรงมีพระเมตตาเป็นนิตย์ เจริญจิตอยู่ด้วยเมตตาพรหมวิหารเป็นปกติ
สมเด็จพระนิยตโพธิสัตว์เจ้าทั้งปวง ย่อมสมาทานมั่นในพระพุทธภูมิธรรม สิริรวมเป็น ๔ ประการ นี้อยู่เนืองนิตย์ทุกพระชาติ ไม่ว่าจะทรงเสวยพระชาติถือกำเนิดเกิดเป็นอะไร และในชาติดี ก็ย่อมมีพระพุทธภูมิธรรมประจำในดวงหฤทัยเสมอ

อนึ่ง พระองค์ท่านผู้มีปกติเที่ยงแท้ที่จักได้ตรัสเป็นสมเด็จพระพุทธเจ้าใน อนาคตกาลนั้น ย่อมมีพระอัธยาศัยอันประเสริฐ คือประกอบไปด้วยกุศลธรรมสูงส่งดีงามอยู่เสมอ ทั้งนี้ก็เพื่อเป็นเครื่องช่วยหล่อเลี้ยงให้พระโพธิญาณแก่กล้าเพิ่มขึ้น เรื่อยๆ หากไม่มีพระอัธยาศัยที่ดีงามเป็นกุศลคอยสนับสนุนหล่อเลี้ยงแล้ว "พระโพธิญาณ" อันเป็นเครื่องให้ได้ตรัสรู้เป็นเอกอัครบุคคลกล่าวคือพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จักถึงความแก่กล้าและเต็มบริบูรณ์มิได้ ฉะนั้น พระอัธยาศัยเพื่อให้พระโพธิญาณจริงขึ้นนี้ จึงเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งที่พระบรมโพธิสัตว์เจ้าทั้งปวงจะต้องมีอยู่เป็น ประจำในขันธสันดาน ก็เรื่องอัธยาศัยแห่งพระโพธิสัตว์เจ้านี้ ขอให้ท่านผู้มีปัญญาทั้งหลายพึงทราบจากเนื้อความที่ออกจากโอษฐสมเด็จพระศรี อริยเมตไตรยซึ่งเป็นพระบรมโพธิสัตว์องค์หนึ่ง... ดังต่อไปนี้


อัธยาศัยโพธิสัตว์

กาลครั้งหนึ่ง ยังมีพระมหาเถรเจ้าผู้เป็นพระอรหันต์สาวกวิเศษประกอบด้วยพระปฏิสัมภิทาและ พระอภิญญา ทรงไว้ซึ่งพระอริยฤทธิ์ประเสริฐสุด ได้มีโอกาสขึ้นไปพบเทพบุตรสมเด็จพระศรีอริยเมตไตรยบรมโพธิสัตว์ ซึ่งขณะนี้สถิตเสวยสุขอยู่ ณ เบื้องสวรรค์ชั้นดุสิตภูมิ หลังจากสนทนากันเรื่องอื่นแล้ว พระมหาเถรเจ้าก็ถามขึ้นว่า

"ขอถวายพระพร พระองค์กระทำพระอัธยาศัยเพื่อที่จะให้พระโพธิญาณแก่กล้านั้น ทรงกระทำประการใด คือพระองค์ทรงมีพระอัธยาศัยเป็นอย่างไรบ้าง?"

สมเด็จพระศรีอริยเมตไตรยบรมโพธิสัตว์ ซึ่งมีพระพุทธบารมีเต็มเปี่ยมอยู่แล้ว และรอโอกาสที่จะมาอุบัติตรัสเป็นพระพุทธเจ้าในอนาคตกาล ครั้นถูกพระมหาเถรเจ้าถามดังนั้นจึงตรัสตอบว่า

"ข้าแต่พระคุณผู้เจริญ! โยมนี้เป็นพระโพธิสัตว์ตั้งอยู่ในอัธยาศัย ๖ ประการ คือ
๑. เนกขัมมัชฌาสัย... พอใจบวช รักเพศบรรพชิต นักบวชเป็นยิ่งนัก
๒. วิเวกัชฌาสัย... พอใจอยู่ในที่เงียบสงัดวิเวกผู้เดียวเป็นยิ่งนัก
๓. อโลภัชฌาสัย... พอใจบริจาคทาน และพอใจบุคคลผู้ไม่โลภไม่ตระหนี่เป็นยิ่งนัก
๔. อโทสัชฌาสัย... พอใจในความไม่โกรธเจริญเมตตาแก่สัตว์ทั้งปวงยิ่งนัก
๕. อโหสัชฌาสัย... พอใจในการที่จะพิจารณาสิ่งที่เป็นคุณแลโทษเสพสมาคมกับคนมีสติปัญญายิ่งนัก
๖. นิสสรณัชฌาสัย... พอใจที่จะยกตนออกจากภพ ไม่ยินดีในการเวียนว่ายตายเกิดในวัฏสงสาร ต้องประสงค์พระนิพพานเป็นยิ่งนัก
นี่แหละพระคุณผู้เจริย โยมนี้มีอัธยาศัย สิริรวมเป็น ๖ ประการติดอยู่ในขันธสันดานเป็นนิตย์ พระโพธิญาณของโยมจึงแก่กล้ายิ่งขึ้นทุกทีเพิ่มทวีขึ้นเรื่อยๆ จนถึงกาลบัดนี้"

พระมหาเถรเจ้าผู้ชาญฉลาด เมื่อได้โอกาสแล้วจึงไต่ถามต่อไปอีกว่า
"ขอถวายพระพร พระองค์ทรงสร้างพระบารมีมามากมาย เพราะมีพระทัยประกอบไปด้วยพระอัธยาศัย ๖ ประการ ซึ่งแสดงว่าไม่พอพระทัยในโลภะ โทสะ โมหะ และมีพระทัยรักใคร่ปรารถนาในบรรพชาเพศบรรพชิต มีจิตยินดีพอใจที่จะอยู่ในที่อันเงียบสงัดวิเวก อย่างนี้ก็เป็นการดี แต่อาตมภาพให้สงสัยแคลงใจอยู่เป็นหนักหนาว่าสวรรค์ชั้นดุสิตที่พระองค์เสวย สุขสำราญอยู่เวลานี้ เห็นทีจะเงียบสงัดดีอยู่ดอกกระมัง?"

"ข้าแต่พระคุณ! สวรรค์จะเงียบใยเล่า?" สมเด็จพระศรีอริยเมตไตรยเจ้าทรงตอบตามจริง "อันสวรรค์ชั้นดุสิตภูมิที่โยมอยู่เวลานี้ ย่อมอึกทึกครึกโครมไปด้วยเครื่องประโลมจิต เสียงขับร้องฆ้องกลองพิณพาทย์เป็นอเนกอนันต์ สนั่นเสนาะสำเรียงเสียงไพเราะ ควรจะรื่นรมย์ยินดี หมู่เทพนารีอัปสรสวรรค์มีมากหน้าหลายหมื่นหลายพันเป็นนักหนา"

"ขอถวายพระพร ก็เหตุไรจึงทนประทับอยู่ได้ มิเป็นการขัดกับพระอัธยาศัยแห่งพระองค์ที่ทรงว่าๆ มาเมื่อตะกี้นี้ดอกหรือนี่แหละอาตมาภาพสงสัย?"

"ข้าแต่พระคุณผู้เจริญ! พระคุณนี่ช่างฉลาดถามนักหนา" สมเด็จพระศรีอริยเมตไตรยเจ้าทรงกล่าวชม แล้วตรัสสืบไปว่า "เอาเถิดโยม จะว่าให้ฟัง คือว่า ธรรมดาสรวงสวรรค์ชั้นดุสิตนี้ถึงแม้จะมีเสียงอึกทึกครึกโครมประกอบไปด้วย เครื่องประโลมจิตอยู่มากมายก็จริงแล แต่ทว่าเป็นที่พนัก เป็นที่สถิตอยู่แห่งสมเด็จพระบรมโพธิสัตว์ผู้สร้างพระบารมีทุกๆ พระองค์มาเพราะว่าพระโพธิสัตว์เจ้านั้น ครั้นจุติจากมนุษยโลกแล้ว ย่อมมาอุบัติเกิดในสวรรค์ดุสิตนี้ ครั้นจุติจากดุสิตสวรรค์นี้แล้ว ก็กลับไปเกิดในมนุษยโลกอีก ทั้งนี้ ก็เพื่อที่จะสร้างสมบ่มเพาะบารมีเพิ่มพระโพธิญาณให้ภิญโญภาพยิ่งขึ้นไป แต่เฝ้าเวียนไปเวียนมาอยู่อย่างนี้ หลายครั้งหลายหนเป็นธรรมดา ยกตัวอย่างเช่นว่า โยมนี้ ใช่ว่าจะพอใจยินดีหลงเพลินเพลินติดอยู่แต่ในสวรรค์ชั้นดุสิตนี้ตลอดไปหามิ ได้ รอคอยจนกว่าจะสิ้นศาสนาขององค์สมเด็จพระสมณโคดมบรมครูเจ้าแห่งเราทั้งสองนี้ แล้วมีอยู่คราวหนึ่ง โยมจักกระทำอธิษฐานจุติจากสวรรค์ชั้นดุสิตที่กำลังอยู่ขณะนี้ ไปบังเกิดในมนุษยโลก แล้วบำเพ็ญกองการกุศลเป็นสืบสร้างบารมีให้ยิ่งใหญ่ต่อไปอีก ครั้งสิ้นชนมายุจุติตายจากมนุษยโลกในครั้งนั้นแล้ว ก็จักกลับมาอุบัติเกิดเป็นเทพบุตร เสวยสุขอยู่ที่สรวงสวรรค์ชั้นดุสิตนี่อีกนานแสนนาน จนถึงกาลที่ปวงเทพเจ้าทั้งหลายในหมื่นจักรวาลพากันมาอาราธนา ดยมจึงจักจุติไปอุบัติเหตุในมนุษยโลกอีกเป็นครั้งสุดท้าย แล้วจักได้สำเร็จแก่พระปรมาภิเษกสัมโพธิญาณ การณ์เป็นเช่นนี้แล พระคุณผู้เจริญ" สมเด็จพระศรีอาริยเมตไตรยทรงอธิบายให้พระมหาเถรเจ้าฟังอย่างยืดยาว

พุทธกรณธรรม
สมเด็จพระบรมโพธิสัตว์เจ้าทั้งหลาย ซึ่งมีน้ำพระทัยมุ่งหมายพระปรมาภิเษกสัมโพธิญาณ ประสงค์จักเป็นเอกองค์สมเด็จพระพุทธเจ้าในอนาคตกาลนั้น นอกจากจะมีคุณสมบัติพิเศษเกินกว่าคนธรรมดาสามัญหลายอย่างหลายประการตามที่ พรรณนามาแล้ว พระองค์ท่านยังต้อบำเพ็ญธรรมอันสำคัญอย่างยิ่งอีกอย่างหนึ่ง ธรรมที่ว่านี้มีชื่อเรียกอย่างรวมๆ ว่า "พุทธกรณธรรม" คือธรรมพิเศษที่กระทำให้ได้เป็นสมเด็จพระพุทธเจ้า หากว่าปราศจากธรรมะพิเศษ หมวดนี้ก็ดี หรือว่าธรรมะพิเศษหมวดนี้ยังไม่ถึงภาวะบริบูรณ์เต็มที่ในขันธสันดานก็ดี พระโพธิสัตว์เจ้าทั้งหลาย ย่อมจักไม่มีโอกาสได้ตรัสแก่พระปรมาภิเษกสัมโพธิญาณเป็นอันขาด ก็พุทธกรณธรรมซึ่งเป็นธรรมะพิเศษเป็นเหตุให้ได้เป็นสมเด็จพระพุทธเจ้านี้ มีอยู่ทั้งหมด ๑๐ ประการคือ
๑. ทานพุทธกรณธรรม
๒. ศีลพุทธกรณธรรม
๓.เนกขัมมพุทธกรณธรรม
๔. ปัญญาพุทธกรณธรรม
๕. วิริยพุทธกรณธรรม
๖.ขันติพุทธกรณธรรม
๗.สัจจพุทธกรณธรรม
๘.อธิฏฐานพุทธกรณธรรม
๙.เมตตาพุทธกรณธรรม
๑๐. อุเบกขาพุทธกรณธรรม

พุทธกรณธรรมหรือธรรมพิเศษ ที่ให้ได้สำเร็จเป็นพระพุทธเจ้าทั้ง ๑๐ ประการนี้ มีอรรถาธิบายสำหรับดังต่อไปนี้
๑. ทานพุทธกรณธรรม
สมเด็จพระบรมโพธิสัตว์เจ้าทั้งปวง ย่อมยินดีในการบำเพ็ญทานเป็นเนืองนิตย์ ไม่ว่าพระองค์ท่านจะสถิตหรือเกิดในชาติไหน และเสวยพระชาติเป็นอะไร ทุกๆ พระชาติที่เกิดย่อมมีน้ำพระทัยใคร่บริจาคท่าน เมื่อได้ประสบพบพานยาจกซึ่งเป็นคนหินชาติ มีฐานะต่ำทรามก็ดี หรือยาจกผู้มีฐานะมัชฌิมปานกลางก็ดี หรือยาจกผู้ขอซึ่งมีฐานะสูงสุดเป็นอุกฤษฐ์ก็ดีเมื่อขอแล้วพระโพธิสัตว์เจ้า จะได้คิดหน้าพะวงหลังก็หามิได้ย่อมรีบเร่งจำแนกทรัพย์ธนสารให้เป็นทาน ตามความต้องการของผู้ขอด้วยความยินดีเต็มใจอย่างยิ่ง สิ่งไรที่ตนมีแล้วเป็นต้องให้ทั้งสิ้น ถวิลหวังแต่การที่จะบริจาคทานเป็นเบื้องหน้า

อย่าว่าแต่ทรัพย์สมบัติ อันเป็นสิ่งของภายนอกเลย แม้แต่อวัยวะเลือดเนื้อและชีวิต หากใครคิดปรารถนาอยากจะได้และมาเอ่ยปากขอแก่พระโพธิสัตว์ พระองค์ก็อาจจะบริจาคให้ได้ด้วยว่า พระโพธิสัตว์เจ้าทั้งหลาย ย่อมมีน้ำพระทัยประดุจดังตุ่มใหญ่ เต็มเปี่ยมด้วยน้ำ ที่ถูกบุคคลมาจับเทคว่ำ ทำให้ปากตุ่มคว่ำลงกับพื้น ก้นตุ่มปรากฎอยู่ในเบื้องบน อย่างนี้แล้วน้ำภายในตุ่มน้ำก็จักเหลืออยู่แม้แต่สักหยดหนึ่งไปได้อย่างไร กัน น้ำพระทัยของพระองค์ท่านก็เป็นเช่นนั้น คือ เหมือนกับตุ่มน้ำใหญ่ที่คว่ำลง ยินดีในการบริจาคทานโดยต้องการให้หมดไม่มีเหลือในเมื่อมียาจกผู้มาขอ ไม่ว่าจะเป็นทรัพย์สมบัติภายนอก หรือวัตถุภายในคือเลือดเนื้อร่างกายและชีวิตก็ตามที

๒. ศีลพุทธกรณธรรม

สมเด็จพระบรมโพธิสัตว์เจ้าทั้งปวง ย่อมรักษาศีล สมาทานศีลผูกใจมั่นคงในศีลเป็นอาจิณวัตร สู้อุตสาหะปฏิบัติตนให้ตั้งมั่นอยู่ในศีล ยังศีลให้บริสุทธิ์อยู่เสมอ ตลอดระยะเวลาทุกๆ ชาติที่เกิด ไม่ว่าจะเกิดในชาติไหน และเสวยพระชาติเป็นอะไรก็ตาม พระองค์ท่านย่อมสมาทานมั่นคง ไม่ให้ศีลของตนย่อหย่อนบกพร่องได้ ในบางครั้ง แม้จะต้องเสียสละชีวิตเพื่อรักษาศีลแห่งตนไว้ก็จำยอม เพียบพร้อมไปด้วยน้ำใจรักศีลหาผู้เสมอเหมือนมิได้

ในกรณีที่พระบรมโพธิสัตว์เจ้า มีน้ำใจรักในศีลนี้ พึงเห็นอุปมาว่า ธรรมดาหมู่มฤคจามีรซึ่งมีน้ำใจรักขน จนสู้สละชนม์เพื่อรักษาไว้ซึ่งโลมชาติแห่งตนฉันใด พระบรมโพธิสัตว์เจ้าทั้งหลายก็เป็นเช่นนั้น พระองค์ท่านสู้อุตสาหะพยายามรักษาศีล สมาทานศีล มีใจรักในศีล โดยอาการเปรียบปานดุจจามรีรักในขนหางแห่งตนฉะนั้น

๓.เนกขัมพุทธกรณธรรม

สมเด็จพระบรมโพธิสัตว์เจ้าทั้งปวง ย่อมมีน้ำใจยินดีในการบรรพชา คือหมั่นออกจากฆราวาสวิสัยการอยู่ครองเรือนไปบวชบำเพ็ญพรตพรหมจรรย์อยู่เสมอ บางครั้งเมื่อโลกเรานี้ว่างจากพระพุทธศาสนา เพราะไม่มีสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จมาอุบัติ พระโพธิสัตว์เจ้าทั้งหลายได้มาเกิดเป็นมนุษย์แล้วย่อมจะออกบวชเป็นโยคี ฤาษีดาบสบำเพ็ญพรตเพื่ออบรมบ่มพระบารมี แต่เมื่อถึงคราวที่พระบวรพุทธศาสนาปรากฎในโลก พระโพธิสัตว์เจ้าทั้งหลายย่อมมีความเลื่อมใสในพระรัตนตรัยแล้วออกบรรพชา อุปสมบทเป็นสมณะพระภิกษุในพระธรรมวินัยแห่งองค์สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ สัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้นๆ หมั่นออกบวชเพื่อสั่งสมเนกขัมบารมีให้ภิญโญภาพยิ่งขึ้นไปทุกชาติที่เกิด ด้วยมีน้ำจิตยินดีในภาวะที่จะออกจากทุกข์ในวัฏสงสาร พระองค์ท่านจึงตั้งใจสมาทานถือมั่นในเนกขัมมะการออกบวชอยู่เนืองๆ มา

ในกิริยาที่พระบรมโพธิสัตว์เจ้า มีจิตปรารถนาที่จะออกจากทุกข์ภัยในวัฏสงสารนั้น เปรียบปานดังความปรารถนาของนักโทษที่อยู่ในเรือนจำ อันธรรมดาบุรุษนักโทษที่ประพฤติทุจริตมีความผิดต้องติดคุกตะรางทนทุกข์ทรมาน ได้รับความรำคาญขุ่นข้องหมองใจหนักหนา ย่อมปรารถนาแต่จะออกไปให้พ้นจากร้านเรือนจำที่ตนต้องระกำทุกข์อยู่เสมอทุก วันฉันใด พระโพธิสัตว์เจ้าทั้งหลายก็เป็นเช่นนั้น ย่อมมีมนัสมั่นหมายที่จะออกไปจากคุกตะรางคือการเวียนว่ายตายเกิดอยู่ในไตรภพ วัฏสงสาร จึงหาทางออกด้วยการบำเพ็ญพรต กล่าวคือเนกขัมมะอยู่เนืองนิตย์ ไม่ยอมที่จะติดเป็นนักโทษแห่งวัฏสงสารอยู่ตลอดกาล เปรียบปานด้วยนักโทษ ไม่ปรารถนาจะติดอยู่ในคุกตลอดชีวิตเรื่อยไป ฉะนั้น

๔. ปัญญาพุทธกรณธรรม

สมเด็จพระบรมโพธิสัตว์เจ้าทั้งปวง ย่อมเพิ่มพูนปัญญา หมายความว่า ย่อมแสวงหาวิชาความรู้ อันเป็นบ่อเกิดแห่งปัญญาอยู่เป็นเนืองนิตย์ หมั่นอบรมจิตให้ประกอบด้วยปัญญาอยู่เสมอ ทั้งนี้ก็เพราะปัญญาเป็นธรรมสูงสุดอันผู้ปรารถนาพระพุทธภูมิพึงขวนขวาย ฉะนั้น พระโพธิสัตว์เจ้าทั้งหลาย จึงขวนขวายอุตส่าห์พยายามอบรมสั่งสม   ปัญญาบารมีทุกชาติที่เกิด ไม่ว่าจะเกิดในชาติไหน และเสวยพระชาติเป็นอะไร ก็ต้องตั้งใจสมาทานปัญญาบารมีเป็นสำคัญ หมั่นเสพสมาคมกับท่านผู้รู้ ผู้เป็นนักปราชญ์ ย่อมไม่เลือกเลยซึ่งชนผู้มีความรู้ ไม่ว่าผู้นั้นจะเป็นใครก็ตาม ขอแต่ให้ประกอบไปด้วยความรู้ก็แล้วกัน พระองค์ท่านย่อมยินดีใคร่จะคบหาสมาคมไม่เลือกหน้า พร้อมทั้งเอาใจใส่ไต่ถามซึ่งอรรถธรรมและเหตุการณ์ทั้งปวงเป็นเนืองนิตย์ ด้วยมีน้ำจิตไม่รู้จักอิ่มในวิทยาการทั้งปวง

ในกรณีที่พระโพธิสัตว์เจ้า แสวงหาความรู้อันเป็นการสั่งสมปัญญานี้ พึงทราบอุปมาว่า ธรรมดาพระภิกษุสงฆ์องค์สาวกของสมเด็จพระจอมมุนีสัมพุทธเจ้า ผู้ประพฤติตามอริยวงศ์ประเวณีนั้น ครั้นเมื่อโคจรเที่ยวไปบิณฑบาต จะได้เลือกลีลาศหลีกเลี่ยงตระกูลที่สูงต่ำปานกลางใดๆ ก็หามิได้ ย่อมเที่ยวบิณฑบาตเรื่อยไป สุดแท้แต่ว่าใครจะเอาอาหารมาใส่ลงในบาตรก็ยินดีรับเอาไม่เลือกหน้าว่าไพร่ ผู้ดี ยาจก เศรษฐีผู้ใด เพราะมีความประสงค์เพียงจะได้อาหารพอเป็นยาปรมัตเครื่องเลี้ยงชีพตนให้คง อยู่ เพื่อบำเพ็ญสมณกิจแห่งตนอย่างเดียวเป็นประการสำคัญ จะได้เลือกผู้ให้อาหารอันเป็นบิณฑบาตทานแก่ตนเป็นไม่มีเลย อุปมาข้อนี้ฉันใด พระโพธิสัตว์เจ้าทั้งหลายก็เป็นเช่นนั้น เมื่อมีมนัสมั่นมุ่งหมายพระปรมาภิเษกสัมโพธิญาณ ก็ดั้นด้นค้นคว้าแสวงหาปัญญาความรู้ ไม่เลือกท่านผู้เป็นครู ผู้ให้วิชาว่าจะเป็นอย่างไร ขอให้มีความรู้ที่จะให้วิทยาการแก่ตนก็แล้วกัน พระองค์ท่านย่อมพอใจหมั่นคบหาสมาคม ไต่ถามนำเอาความรู้มาสั่งสมไว้ในจิตสันดานของตนเป็นเนืองนิตย์ เพื่อให้ผลผลิตเป็นปัญญาบารมียิ่งๆ ขึ้นไป

Wisdom:
๕. วิริยพุทธกรณธรรม

สมเด็จพระบรมโพธิสัตว์เจ้าทั้งปวง ย่อมเพิ่มพูนวิริยะความเพียรเป็นยิ่งยวด คือมีน้ำใจกล้าหาญ ในการที่จะประกอบกุศลกรรมทำความดีอย่างไม่ลดละ เพราะโพธิญาณอันเป็นสิ่งประเสริฐสุดยอดน้น มิใช่เป็นธรรมที่จะพึงได้โดยง่าย โดยที่แท้ต้องอาศัยความเพียรอันยิ่งใหญ่จึงจะให้สำเร็จได้ ด้วยเหตุนี้พระโพธิสัตว์เจ้าทั้งหลาย จึงสู้อุตสาหะพยายามเพิ่มพูนวิริยะธรรมทุกๆ ชาติที่เกิด ไม่ว่าจะเกิดในชาติไหนและเสวยพระชาติเป็นอะไร ก็ตั้งใจสมาทานถือมั่นในวิริยะธรรมเป็นสำคัญ ประกอบความเพียรเป็นสามารถองอาจไม่ท้อถอยในการก่อสร้างกองการกุศล จนในบางครั้งแม้จักต้องถึงแก่ชีพิตักษัย ก็ไม่คลายความเพียรไม่ย่นย่อครั้นคร้ามขามขยาดต่ออุปสรรคอันตรายทั้งหลาย ที่บังเกิดมี

ในกรณีที่พระโพธิสัตว์เจ้า มีน้ำใจประกอบไปด้วยความเพียรอันยิ่งใหญ่ เพื่อได้ตรัสเป็นเอกองค์สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถนี้ พึงทราบอุปมาว่า ธรรมดาพญาไกรสรสีหราชมฤคินทร์ซึ่งเรืองฤทธิ์ คราวเมื่อมีจิตปรารถนาจะขึ้นนั่งแท่น ย่อมจะแล่นเลี้ยวไม่ลดละ อุตสาหะพยายามอย่างยิ่งยวด แม้จะพลาดพลั้งอยู่ครั้งแล้วครั้งเล่าก็ไม่ถอย เพียรพยายามอยู่นักหนาจนกว่าจะขึ้นนั่งแท่นได้สำเร็จ อุปมาข้อนี้ฉันใด พระบรมภูมิอันประเสริฐสุดประมาณ ย่อมมีน้ำใจอาหาญประกอบไปด้วยอุตสาหะพยายามอันเป็นวิริยธรรม ไม่ท้อถอยไม่ยั้งหยุดจนกว่าจะถึงจุดมุ่งหมาย กล่าวคือพระปรมาภิเษกสัมโพธิญาณ

๖. ขันติพุทธกรณธรรม

สมเด็จพระบรมโพธิสัตว์เจ้าทั้งปวง ย่อมพยายามเพิ่มพูนขันติ คือความอดทนเป็นอย่างยิ่ง ทั้งนี้ ก็เพราะว่า พระโพธิญาณจักสำเร็จสมความมุ่งหมายได้นั้น ต้องอาศัยความอดทนอันยิ่งใหญ่เป็นประการสำคัญ ถ้ามีน้ำใจไม่มั่นคง ไม่มีขันติความอดทน ยอมตนเป็นประดุจดังทาสแห่งบรรดาสรรพกิเลสอยู่เสมอไปแล้ว ก็ย่อมจักแคล้วคลาดจากพระโพธิญาณ การใหญ่คือพระพุทธภูมิปรารถนาก็ไม่มีวันที่จะสำเร็จลงได้ ด้วยเหตุนี้พระโพธิสัตว์เจ้าทั้งหลาย จึงพยายามสั่งสมซึ่งพระขันติธรรมอยู่เสมอทุกชาติที่เกิด ไม่ว่าจะเกิดในชาติและเสวยพระชาติเป็นอะไรก็ตาม พระองค์ท่านย่อมสมาทานมั่นในขันติธรรม อุตส่าห์ระงับใจไม่ให้เกิดความปฏิฆะ ความขุ่นข้องหมองกมลได้ ในบางครั้งสู้อดทนจนถึงแก่ชีพิตักษัยก็มี

ในกรณีพระโพธิสัตว์เจ้าทั้งหลายมีน้ำใจประกอบไปด้วยขันติธรรมความอดทนนี้ มีอุปมาที่ท่านกล่าวไว้ว่า ธรรมดาพื้นพสุธาคือแผ่นดิน ย่อมอดทนทรงไว้ซึ่งสัมภาระน้อยใหญ่คนทั้งหลายในโลกนี้ พากันทิ้งถมระดมสาดวัตถุสิ่งของที่สะอาดก็มี และของที่โสโครกไม่สะอาดก็มี เป็นสัมภาระสิ่งของมากมายนักหนา ลงบนแผ่นพสุธาไม่ว่างเว้นตลอดทุกวันเวลา แต่ว่าพื้นพสุธาก็ดีใจหาย จะได้สำแดงอาการรำคาญเคืองหรือยินดีชอบใจในพัศดุสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ที่บุคคลทิ้งลงทับถมเอาตามขอบใจเป็นไม่มีเลย เฉยอยู่อย่างนั้นชั่วกัปชั่วกัลป์ อุปมาข้อนี้ฉันใด พระโพธิสัตว์เจ้าทั้งหลายก็เป็นเช่นนั้น เมื่อมีมนัสมั่นมุ่งหมายเอาพระโพธิญาณอันประเสริฐเลิศล้ำ ท่านย่อมพยายามสั่งสมขันติธรรมบำเพ็ญตนไม่ให้มีอาการโกรธพิโรธจิต คิดมุ่งร้ายหมายประหารด้วยความเดือดดาลในน้ำใจ ไม่ใช่เกิดมีอาการหวั่นไหว ในเหตุการณ์ทั้งปวงจนกว่าจะลุล่วงถึงพระปรมาภิเษกสัมโพธิญาณ


๗. สัจจพุทธกรณธรรม

สมเด็จพระบรมโพธิสัตว์เจ้าทั้งหลาย ย่อมพยายามเพิ่มพูนสัจธรรมเป็นยิ่งนัก คือมีน้ำใจประกอบไปด้วยสัจจะไม่ละความสัตย์ซื่อตรง หากพระองค์ท่านได้ตั้งสัจจะลงไปในการใดแล้วก็เที่ยงตรงการนั้นไม่แปรผัน ยักย้าย ด้วยว่า พระพุทธภูมิอันยิ่งใหญ่จักสำเร็จลงได้ ต้องอาศัยสัจจะ กล่าวคือความตรงความจริงเป็นประการสำคัญ ดังนั้น พระโพธิสัตว์เจ้าทั้งหลายจึงพยายามสั่งสมสัจธรรมอยู่เสมอทุกชาติที่เกิด ไม่ว่าจะเกิดในชาติใด และเสวยพระชาติเป็นอะไรก็ตามที ย่อมพยายามที่จะรักษาความสัตย์ เชน จะรักษาวาจาคำพูดแห่งตนไม่ให้ล่วงละเมิดเกิดเป็นเท็จขึ้นมาได้ อันเป็นกิริยาที่โกหกทั้งตนเองและผู้อื่น มีความเที่ยงธรรมประจำใจนักหนา เสมอด้วยตราชูคันชั่งอันเที่ยงตรง บางครั้งถึงกับยอมให้ถึงแก่ชีพิตักษัย เพื่อรักษาสัจจะเอาไว้ก็มี

ในกรณีที่พระบรมโพธิสัตว์เจ้าทั้งหลายมีน้ำใจประกอบไปด้วยสัจจะความเที่ยง ตรงนี้ มีอุปมาที่ท่านกล่าวไว้ว่า ธรรมดาโอสธิดาราคือดาวประกายพรึกนั้น เมื่อเคยขึ้นประจำอยู่ทิศไหน ก็ย่อมโคจรขึ้นประจำอยู่ทิศนั้นวิถีนั้น จะได้แปรเปลี่ยนเยื้องยักไปปรากฎขึ้นในทิศอื่นก็หามิได้ ย่อมทรงไว้ซึ่งความเที่ยงตรงนัก ไม่ว่ากาลไหนฤดูไหน อุปมาข้อนี้ฉันใด พระโพธิสัตว์เจ้าทั้งหลายก็เป็นเช่นั้น เมื่อมีมนัสมั่นมุ่งหมายเอาพระโพธิญาณอันประเสริฐเลิศล้ำ ย่อมพยายามสั่งสมสัจธรรมบำเพ็ญตนตั้งอยู่ในความสัตย์ ไม่ตระบัดบิดเบือนแปรผัน ตั้งมั่นอยู่ในความเที่ยงตรงเป็นล้นพ้น จนกว่าจะได้สำเร็จผลพระปรมาภิเษกสัมโพธิญาณ

๘. อธิษฐานพุทธกรณธรรม

สมเด็จพระบรมโพธิสัตว์เจ้าทั้งปวง ย่อมมีใจมั่นประกอบไปด้วยอธิษฐานธรรม มีความมั่นคงเด็ดขาดยิ่งนัก ด้วยว่าพระพุทธภูมิจักสำเร็จได้ ต้องอาศัยอธิษฐานธรรมเป็นสำคัญเหตุนั้น พระโพธิสัตว์เจ้าทั้งปวงจึงพยายามสร้างสมอบรมพระอธิษฐานธรรมให้มากมูลเพิ่ม พูนและเสวยพระชาติเป็นอะไรก็ตาม ก็ย่อมพยายามสร้างความมั่นคงตั้งมั่นแห่งดวงจิตเพื่อให้ศักดิ์สิทธิ์ สัมฤทธิ์ผลตามความมุ่งหมาย ถ้ายังขาดอยู่ไม่บริบูรณ์ ก็เพียรเพิ่มพูนให้ภิญโญภาพยิ่งๆ ขึ้นไป ให้สำเร็จตามความประสงค์ให้จงได้ ถ้าลงได้อธิษฐานในสิ่งใดแล้ว ก็มีใจแน่วแน่ตั้งมั่นในสิ่งนั้น มิได้หวั่นไหวโยกคลอนเลยแม้แต่น้อยถึงใครจะคอยขู่คำรามเข่นฆ่าให้อาสัญสิ้น ชีวิต ก็ไม่ละอธิษฐาน จิตสมาทานในกาลไหนๆ

ในกรณีที่พระบรมโพธิสัตว์ทั้งหลายมีน้ำใจประกอบไปด้วยอธิษฐานธรรมนี้ มีอุปมาไว้ว่า ธรรมดาไศลที่ใหญ่หลวงคือ ก้อนหินภูเขาแท่งทึบใหญ่มหึมา อันตั้งมั่นประดิษฐานอยู่เป็นอันดี แม้จะมีพายุใหญ่สักปานใด ยกไว้แต่ลมประลัยโลกพัดผ่านมาแต่สี่ทิศ ก็มิอาจที่จะให้ภูเขาใหญ่นั้นสะเทือนเคลื่อนคลอดหวั่นไหวได้แม้แต่สักนิดหนึ่งเลย อุปมาข้อนี้ฉันใด พระโพธิสัตว์เจ้าทั้งหลายก็เป็นเช่นนั้น เมื่อมีมนัสมั่นมุ่งหมายซึ่งพระโพธิญาณประเสริฐเลิศล้ำ ย่อมพยายามเสริมสร้างอธิษฐานธรรมอยู่เนืองนิตย์ ไม่มีจิตหวั่นไหวในทุกสถานในกาลทุกเมื่อเพื่อให้สำเร็จเป็นอธิษฐานบารมี ยิ่งๆ ขึ้นไป จนกว่าจะได้บรรลุพระปรมาภิเษกสัมโพธิญาณ

๙. เมตตาพุทธกรณธรรม

สมเด็จพระบรมโพธิสัตว์เจ้าทั้งปวง ย่อมมีใจประกอบไปด้วยเมตตา มีน้ำใจใคร่จะให้บรรดาสรรพสัตว์ทั้งหลายได้ประสบความสุขสำราญโดยถ้วนหน้า ด้วยว่า พระพุทธภูมิจักสำเร็จลงได้ ต้องอาศัยเมตตาธรรมเป็นสำคัญ เหตุดังนั้น พระบรมโพธิสัตว์เจ้าทั้งปวงย่อมพยายามสั่งสมเมตตาธรรมอันล้ำเลิศ ให้มากมูลเพิ่มพูนแก่กล้าทุกชาติที่เกิด ไม่ว่าจะเกิดในชาติไหนและเสวยพระชาติเป็นอะไรก็ตาม ก็ย่อมอุตส่าห์พยายามอบรมเมตตาธรรม ตั้งความปรารถนาดีไม่ให้มีราคีเคืองขุ่นรุ่มร้อนในดวงจิต เพื่อให้สัมฤทธิ์ผลเป็นความสุขแก่ปวงชนปวงสัตว์ทุกถ้วนหน้า ถ้ายังขาดอยู่ไม่เต็มบริบูรณ์ ก็เพียรเพิ่มพูนเสริมสร้างครั้งแล้วครั้งเล่า บางคราวถึงกับเอาชีวิตเข้าแลกเพื่อให้ชนอื่นสัตว์อื่นได้รับความสุขก็มี

ในกรณีที่พระบรมโพธิสัตว์เจ้าทั้งหลาย มีน้ำใจประกอบไปด้วยเมตตาธรรมนี้ มีอุปมากล่าวไว้ว่า ตามธรรมดาอุทกวารีที่สะอาดเย็นใสในธารแม่น้ำใหญ่ ย่อมแผ่ความเย็นฉ่ำชุ่มชื่นใจให้แก่สัตว์ทั้งหลายทุกถ้วนหน้าไม่ว่าจะเป็น อะไรก็ตามที จะเป็น หมี หมา ไก่ป่า กระทิงเถื่อนเป็นอาทิ ซึ่งเป็นสัตว์เดียรัจฉานก็ดี หรือจะเป็นมนุษย์ทั้งหลายตั้งอยู่ในเพศพรรณวรรณะใด จะเป็นขี้ข้า ตาบอด หูหนวก กระยาจก วณิพกก็ดี หรือจะเป็นคนมีทรัพย์ มียศ เป็นเศรษฐีอำมาตย์ราชเสนาตลอดจนกระทั่งเป็นองค์พระมหากษัตรย์ประเสริฐก็ดี เมื่อมีความปรารถนา บ่ายหน้าลงมาวักดื่มกินน้ำในธารานั้นแล้ว อุทกวารีย่อมให้รสแผ่ความเย็นชื่นเข้าไปในทรวงอกทุกถ้วนหน้า จะได้เลือกว่าผู้นั้นดี ผู้นี้ชั่ว หรือว่าประการใดๆ ก็มิได้มีเลย อุปมาข้อนี้ฉันใด พระบรมโพธิสัตว์เจ้าทั้งหลายก็เป็นเช่นนั้น เมื่อมีมนัสมั่นมุ่งหมาย ซึ่งพระโพธิญาณอันประเสริฐเลิศล้ำ ย่อมพยายามเสริมสร้างเมตตาธรรมให้มากในดวงจิต เพื่อให้ผลิตผลแผ่กว้างออกไปไม่สิ้นสุด ไม่มีจิตประทุษร้าย แม้แต่ในศัตรูคู่อาฆาตปรารถนาให้ได้รับความสุขให้หายมลทินสิ้นทุกข์หมดภัย หมดเวร แผ่ความเย็นใจไปทั่วทุกทิศ มีน้ำใจเป็นมิตรไมตรีไม่มีจำกัด หมู่มนุษย์หรือเหล่าสัตว์ที่คบหาสมาคมด้วย ย่อมได้รับความเย็นใจไม่เดือดร้อนในทุกกรณี เพื่อให้สำเร็จผลเป็นเมตตาบารมียิ่งๆ ขึ้นไป จนกว่าจะได้บรรลุพระปรมาภิเษก สัมโพธิญาณ


๑๐. อุเบกขาพุทธกรณธรรม

สมเด็จพระบรมโพธิสัตว์ทั้งหลาย ย่อมมีน้ำใจประกอบไปด้วยอุเบกขา อุตส่าห์ยังจิตให้ตั้งมั่นในอุเบกขาธรรม ซึ่งเป็นธรรมพิเศษที่ท่านผู้แสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่ ได้เคยซ่องเสพสืบกันมา คือ มีจิตอุเบกขาวางเฉยเป็นกลางในธรรมทั้งหลายด้วยว่า พระพุทธภูมิอันวิเศษนี้ จะสำเร็จลงได้ ต้องอาศัยอุเบกขาธรรมเป็นประการสำคัญ ฉะนั้นพระบรมโพธิสัตว์เจ้าทั้งปวงจึงพยายามบำเพ็ญอุเบกขาธรรมอันล้ำเลิศให้ มากมูลเพิ่มพูนแก่กล้าขึ้นทุกชาติที่เกิด ไม่ว่าจะเกิดในชาติไหน และเสวยพระชาติเป็นอะไรก็ตาม ก็ยอมอุตส่าห์พยายามบำเพ็ญอุเบกขาธรรม กล่าวคือความวางเฉยในที่ทุกสถานในกาลทุกเมื่อ ถ้ายังขาดบกพร้องอยู่ ยังไม่เต็มบริบูรณ์ก็เพียรเพิ่มพูนเสริมสร้างอยู่ครั้งแล้วครั้งเล่า บางครั้งถึงกับต้องเอาชีวิตของตนเข้าออกแลก ด้วยหวังจักทำให้ปราศจากความจำแนก กล่าวคือความยินดียินร้าย มุ่งหมายเพื่อให้มั่นในอุเบกขาธรรมเป็นสำคัญ

ในกรณีที่พระบรมโพธิสัตว์เจ้าทั้งหลาย มีน้ำใจประกอบด้วยอุเบกขาธรรมนี้ มีอุปมาที่กล่าวไว้ว่า ธรรมดาว่า พื้นปฐพีอันกว้างใหญ่ไพศาลนี้ เมื่อมีผู้ถ่ายมูตรคูถของสกปรกโสมมอย่างใดอย่างหนึ่งลงก็ดี หรือแม้จะมีผู้เอาเครื่องสักการะบูชา บุปผา ธูปเทียน เครื่องหอม ของสะอาดทิ้งใส่ลงก็ดี พื้นปฐพี มหาพสุธาดล อันบุคคลและสัตว์ทั้งหลายเหยียบย่ำอยู่ทุกวันนี้จะได้มีความโกรธอาฆาตหรือ ความรักใคร่ขอบใจแม้แต่สักนิดก็หามิได้ ปราศจากความยินดียินร้ายโดยประการทั้งปวง เป็นปฐพีที่นิ่งเฉย ไม่ไหวหวั่นอยู่อย่างนั้น ตลอดเวลาชั่วกัปชั่วกัลป์ อุปมาข้อนี้ฉันใด พระโพธิสัตว์เจ้าทั้งหลายก้เป็นเช่นนั้น คือเมื่อมีมนัสมั่นมุ่งหมายพระโพธิญาณ ย่อมมีน้ำใจอาจหาญ พยายามเสริมสร้างพระอุเบกขาธรรมให้เกิดขึ้นประจำจิตให้ภิญโญภาพยิ่งๆ ขึ้นไป เพื่อให้สำเร็จผลเป็นอุเบกขาบารมีจนกว่าจะบรรลุถึงที่หมายอันยิ่งใหญ่ กล่าวคือพระปรมาภิเษกสัมโพธิญาณ

ท่านผู้มีปัญญาทั้งหลาย พุทธกรณธรรมหรือธรรมพิเศษที่เป็นเหตุให้ได้เป็นสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า นี้ เป็นธรรมที่บำเพ็ญให้สำเร็จได้โดยยากใช่ไหมเล่า ถึงกระนั้น ท่านผู้ปรารถนาเป็นสมเด็จพระจอมมุนรีสัมพุทธเจ้า ก็เฝ้าบำเพ็ญธรรมเหล่านี้เป็นเวลาช้านานหลายแสนโกฎิชาติหนักหนา อุตส่าห์พยายามบำเพ็ญให้เพิ่มพูนเจริญเต็มที่ในจิตสันดาน จนกว่าจะได้บรรลุถึงพระปรมาภิเษกสัมโพธิญาณ

พระบารมี ๓๐ ถ้วน

พระพุทธกรณธรรมที่กล่าวมาแล้วนี้ มีชื่อเรียกอย่างหนึ่งว่า โพธิปริปาจนธรรม = ธรรมสำหรับบ่มพระพุทธภูมิ หมายความว่า เป็นธรรมอันจำเป็นอย่างยิ่ง ที่พระบรมโพธิสัตว์เจ้าทั้งหลาย ผู้ปรารถนาซึ่งพระพุทธภูมิ จะต้องพยายามบำเพ็ญเนืองนิตย์ เพื่อให้สัมฤทธิ์ผลอันประเสริฐ กล่าวคืออบรมบ่มให้พระพุทธภูมิถึงความแก่สุกรอบ แล้วจึงจะได้ตรัสรู้ นอกจากนั้นแล้ว พระพุทธกรณธรรมนี้ยังมีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่ง  ซึ่งเป็นคำคุ้นหูในหมู่พุทธบริษัทว่า บารมี = ธรรมที่นำไปให้ถึงฝั่งนั้น กล่าวคือพระนิพพาน หมายความว่า เมื่อพระบรมโพธิสัตว์เจ้าเฝ้าบำเพ็ญธรรมเหล่านี้ จนครบบริบูรณ์เต็มที่แล้ว ธรรมเหล่านี้ก็จะเป็นสารถีนำพระองค์ท่านให้บรรลุถึงฝั่งโน้น คือได้ตรัสพระปรมาภิเษกสัมโพธิญาณและเสด็จดับขันธ์เข้าสู่พระปรินิพพาน ฉะนั้น ต่อจากนี้ไป เพื่อความเข้าใจง่ายๆ จะเรียกธรรมเหล่านี้ว่ พระบารมีธรรม

ก็พระบารมีธรรมนี้ เมื่อว่าโดยองค์ธรรมจริงๆ แล้วก็มีอยู่ ๑๐ ประการ มีท่านเป็นต้น มีอุเบกขาเป็นปริโยสาน ตามที่พรรณนามาแล้ว แต่ทีนี้ สมเด็จพระบรมโพธิสัตว์เจ้าแต่ละพระองค์ กว่าจะทรงยังพระบารมีเหล่านี้ให้บริบูรณ์เต็มที่ จนกระทั่งได้ตรัสเป็นเอกองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้น มิใช่ว่าจะทรงสร้างพระบารมีเป็นเวลาเล็กน้อย เพียง ๑๐-๒๐ ชาติเท่านั้น โดยที่แท้ ต้องทรงสร้างพระบารมีอยูนานนักหนา นับเวลาเป็นอสงไขยเป็นมหากัป นับพระชาติที่เกิดไม่ถ้วน เมื่อเป็นเช่นนี้ บรรดาพระบารมีที่สร้างแต่ละพระชาติจึงไม่เท่ากันคือ บางพระชาติก็สร้างธรรมดาเป็นปกติ แต่บางพระชาติก็สร้างอย่างอุกฤษฐ์สูงสุดหนักหนา ฉะนั้น จึงจำแนกพระบารมีเหล่านี้ออกเป็นตรียางค์ คือเป็นองค์สาม โดยจัดเป็นพระบารมีอย่างต่ำประเภทหนึ่ง พระบารมีอย่างมัชฌิมปานกลางประเภทหนึ่งและพระบารมีอย่างสูงสุดอุกฤษฐ์ประเภทหนึ่ง ยกตัวอย่าง เช่น พระบารมีธรรมอันดับแรกคือ ทาน เมื่อจำแนกออกเป็นตรียางค์ ก็กำหนดเอาโดยประเภทของทานดังต่อไปนี้
๑. ทานที่บำเพ็ญโดยสถานประมาณเป็นปกติธรรมดาบริจาคธนสารทรัพย์สมบัติน้อยใหญ่ ถึงแม้จะมากมายเพียงใดก็ดี จัดเป็นบารมีประเภทต่ำธรรมดา เรียกชื่อว่า ทานบารมี
๒. ทานที่บำเพ็ญยิ่งขึ้นไปกว่านั้น คือ ถึงกับบริจาคอวัยวะเลือดเนื้อในร่างกาย จัดเป็นพระบารมีประเภทมัชฌิมาปานกลาง เรียกชื่อว่า ทานอุปบารมี
๓. ทานที่บำเพ็ญยิ่งขึ้นไปกว่านั้นอีก คือถึงกับต้องบริจาคชีวิตให้เป็นทาน นับว่าเป็นการบริจาคอย่างใหญ่หลวงอุกฤษฐ์ อย่างนี้จัดเป็นพระบารมีประเภทสูงสุดอย่างยิ่ง เรียกชื่อว่า ทานปรมัตถบารมี

Wisdom:
แม้พระบารมีธรรมที่บำเพ็ญข้ออื่นๆ ก็จำแนกออกเป็นพระบารมีละ ๓ ประเภท เช่นเดียวกับทานที่ยกเป็นตัวอย่างนั่นเอง ทีนี้ พระบารมีที่เป็นองค์ธรรมมีอยู่ ๑๐ ประการ เมื่อจำแนกออกเป็นองค์ละ ๓ พระบารมีจึงรวมเป็นพระสมติงสบารมี คือพระบารมี ๓๐ ถ้วนพอดี เพื่อที่จักให้เห็นได้ง่ายๆ จะขอจำแนกออกไปตามรายชื่อพระบารมี ดังต่อไปนี้
๑. ทานบารมี
๒. ศีลบารมี
๓. เนกขัมมบารมี
๔. ปัญญาบารมี
๕. วิริยบารมี
๖. ขันติบารมี
๗. สัจจบารมี
๘. อธิษฐานบารมี
๙. เมตตาบารมี
๑๐. อุเบกขาบารมี
๑๑. ทานอุปบารมี
๑๒. ศีลอุปบารมี
๑๓. เนกขัมมอุปบารมี
๑๔.ปัญญาอุปบารมี
๑๕. วิริยอุปบารมี
๑๖. ขันติอุปบารมี
๑๗. สัจจอุปบารมี
๑๘. อธิษฐานอุปบารมี
๑๙. เมตตาอุปบารมี
๒๐. อุเบกขาอุปบารมี
๒๑. ทานปรมัตถบารมี
๒๒. ศีลปรมัตถบารมี
๒๓. เนกขัมมปรมัตถบารมี
๒๔. ปัญญาปรมัตถบารมี
๒๕. วิริยปรมัตถบารมี
๒๖. ขันติปรมัตถบารมี
๒๗. สัจจปรมัตถบารมี
๒๘. อธิษฐานปรมัตถบารมี
๒๙. เมตตาปรมัตถบารมี
๓๐. อุเบกขาปรมัตถบารมี
สิริรวมเป็นพระบารมีธรรม ที่ท่านผู้ปรารถนาเป็นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจักต้องบำเพ็ญให้ครบ บริบูรณ์เต็มที่ ๓๐ ถ้วนพอดี ฉะนั้น จึงเรียกเป็นศัพท์ว่า พระสมติงสบารมี ด้วยประการฉะนี้

อานิสงส์พระบารมี

มีข้อที่ควรทราบไว้อีกอย่างหนึ่ง ก็คือว่า นับตั้งแต่ได้ทรงก่อสร้างพระกฤษฏาภินิหารมา จนกระทั่งได้ลัทธยาเทศคำพยากรณ์จากสำนักแห่งองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ว่าเป็น พระนิยตโพธิสัตว์ ผู้เที่ยงแท้ที่จะตรัสพระปรมาภิเษกสัมโพธิญาณในอนาคตกาล ในขณะที่ทรงก่อสร้างอบรมบ่มพระบารมีอยู่ ต้องทรงสังสรณาการ ท่องเที่ยวเวียนว่ายตายเกิดอยู่ในวัฏสงสารนับด้วยแสนโกฏิชาติ เป็นประมาณหรือมากยิ่งกว่านั้น พระบรมโพธิสัตว์เจ้า ผู้เที่ยงที่จะได้บรรลุพระโพธิญาณทั้งหลาย ย่อมได้รับอานิสงส์แห่งพระบารมีที่บำเพ็ญอยู่เรื่อยๆ รวมเป็น ๑๘ ประการคือ
๑. เมื่อเกิดเป็นมนุษย์ ย่อมไม่เป็นคนมีจักษุบอดมาแต่กำเนิด
๒. ไม่เป็นคนหูหนวกแต่กำเนิด
๓. ไม่เป็นคนบ้า
๔. ไม่เป็นคนใบ้
๕. ไม่เป็นคนง่อยเปลี้ย
๖. ไม่เกิดในมิลักขประเทศ คือประเทศป่าเถื่อน
๗. ไม่เกิดในท้องนางทาสี
๘. ไม่เป็นนิยตมิจฉาทิฐิ
๙. ไม่เป็นสตรีเพศ
๑๐. ไม่ทำอนันตริยกรรม
๑๑. ไม่เป็นโรคเรื้อน
๑๒. เมื่อเกิดในกำเนิดสัตว์เดียรฉาน ย่อมเป็นสัตว์อยุ่ในประเภทที่มีกายไม่เล็กกว่านกกระจาบ และไม่ใหญ่กว่าช้าง
๑๓. ไม่เกิดในกำเนิดขุปปิปาสิกเปรต นิชฌานตัณหิกเปรตและกาลกัญจิกาสุรกาย
๑๔. ไม่เกิดในอเวจีมหานรกและโลกันตนรก
๑๕. เมื่อเกิดเป็นเทวดาในกามาพจรสวรรค์ ก็ไม่เกิดเป็นเทวดาผู้นับเข้าในเทวดาจำพวกหมู่มาร
๑๖. เมื่อเกิดในองค์พระพรหม ณ รูปาพจรพรหมโลกก็ไม่เกิดในปัญจสุทธาวาสพรหมโลก และอสัญญสัตตาภูมิพรหมโลก
๑๗. ไม่เกิดในอรูปพรหมโลก
๑๘. ไม่ไปเกิดในจักรวาลอื่น
สิริรวมเป็นอานิสงส์พระบารมี ๑๘ ประการ ที่ท่านผู้ปรารถนาเป็นองค์สมเด็จพระบรมโลกุตมาจารย์ จักต้องได้รับอย่างแน่นอน ในขณะที่ยังท่องเที่ยวอยู่ในวัฏสงสารเพื่ออบรมบ่มพระบารมีญาณ

อนึ่ง ในขณะที่อบรมบ่มพระบารมีญาณอยู่นั้น พระนิยตโพธิสัตว์ผู้เที่ยงแท้จะตรัสรู้เป็นองค์สมเด็จพระพุทธเจ้า หากคราวใดท่านได้มีโอกาสมาบังเกิดเป็นมนุษย์แล้ว ก็ย่อมมีใจผ่องแผ้วยินดีในการที่จะบรรพชา และบำเพ็ญประพฤติในพระจริยามีญาตัดถจริยาความประพฤติเป็นประโยชน์แก่หมู่ ญาติเป็นอาทิอยู่เป็นนิตย์ ทั้งสู้อุทิศชีวิตของพระองค์ทั้งสิ้นให้หมดไปด้วยการสั่งสมพระบารมี ๓๐ ซึ่งมีทานบารมีเป็นต้นและมีอุเบกขาปรมัตถบารมีเป็นปริโยสาน จึงเป็นการสมควรอย่างยิ่งที่พวกเราชาวพุทธบริษัททั้งหลายผู้เกิดมาเป็น มนุษย์พบพระพุทธศาสนาในชาตินี้ จักมีใจยินดีเลื่อมใสในรพะคุณอันเป็นอนันต์แห่งองค์สมเด็จพระภควันต์จอมมุนี

อธิมุตตกาลกิริยา

กาลเมื่อสมเด็จพระนิยตบรมโพธิสัตว์ ยังต้องท่องเที่ยวอยู่ในวัฏสงสารเพื่ออบรมบ่มพระบารมีญาณอยู่นั้น ครั้นว่าพระองค์ได้ไปอุบัติเกิดเป็นเทพบุตรอยู่ ณ เบื้องสวรค์เทวโลกชั้นใดชั้นหนึ่งเช่นสวรรค์ชั้นดุสิต เป็นต้น ซึ่งมีอายุยืนนานกว่ามนุษยโลกมากมายนักแล้วองค์พระโพธิสัตว์เจ้าจะได้หลงใหล เพลิดเพลินเสวยทิพยสมบัติเป็นสุขอยู่ในสวรรค์เทวโลกจนตราบเท่าสิ้นอายุแห่ง เทพยดานั้นก็หามิได้ เพราะว่าแท้จริง สันดานแห่งพระนิยตบรมโพธิสัตว์ผู้เที่ยงแท้จักได้ตรัสเป็นองค์สมเด็จพระ พุทธเจ้านั้น กอรปด้วยพระมหากรุณาแก่เหล่าประชาสัตว์เป็นอันมาก ยิ่งกว่าการที่จะรักตนเอง สันดานที่รักตนเองเห็นประโยชน์ชีวิตตนเองนั้นเบาบางหนักหนา

ฉะนั้น คราเมื่อพระองค์เสวยทิพยสมบัติเป็นสุขอยู่พอควรแก่กาลแล้ว ย่อมจะพิจารณาเห็นว่า เทวโลกมิได้เป็นที่อันเหมาะสมที่จะก่อสร้างอบรมบ่มพระบารมีเพื่อพระ ปรมาภิเษกสัมโพธิญาณเหมือนเช่นมนุษยโลก ครั้นทรงพิจารณาเห็นเช่นนี้แล้ว องค์พระนิยตโพธิสัตว์เจ้าก็มีพระทัยเฝ้าเบื่อหน่ายในการที่จะอยู่ในสวรรค์ เทวโลก ให้อึดอัดรำคาญเป็นกำลัง คราวครั้งหนึ่ง จึงเสด็จเข้าในทิพยวิมานแต่ลำพังพระองค์เดียว แล้วทรงกระทำอธิมุตตกาลกิริยา คือหลับพระเนตรทั้งสองลงแล้วก็อธิษฐานว่า

อิโต อุทฺธํ เม ชีวิตํ นปฺปตฺตตุ
ชีวิตของเรานี้ จงอย่าได้ประพฤติสืบต่อไป เบื้องหน้าแต่นี้

เมื่อพระองค์อธิษฐานในพระทัยฉะนี้แล้ว ด้วยอำนาจกำลังอธิษฐานพระนิยตโพธิสัตว์เจ้าพระองค์นั้น ก็ปวัตตนาการจุติจากสวรรค์เทวโลกในฉับพลันนั้นเอง เสด็จลงมาอุบัติเกิดในมนุษยโลกเรานี้ เพื่อที่จักได้มีโอกาสเสริมสร้างอบรมบ่มพระบารมีให้ภิญโญภาพยิ่งขึ้นไป ในกรณีที่พระองค์พระนิยตโพธิสัตว์เจ้าทรงอธิษฐานในพระทัยแล้ว และจุติจากสวรรค์ลงมาบังเกิดในมนุษยโลก ซึ่งเรียกว่าอธิมุตตกาลกิริยานี้ นับเป็นกรณีพิเศษอย่างหนึ่ง  ซึ่งปรากฎมีแก่ท่านผู้มีมนัสมั่นมุ่งหมายพระโพธิญาณด้วยว่า บรรดาสัตว์โลกผู้ยังเวียนว่ายตายเกิดในวัฏสงสาร ถึงแม้จะมีมหิธาศักดานุภาพสักเพียงไหน เป็นเทพบุตรอินทร์พรหมอื่นใดก็ดี ก็มิอาจที่จะกระทำอธิมุตตกาลนี้ได้ง่ายๆ ซึ่งผู้ที่สามารถจะกระทำการพิเศษคืออธิมุตตกาลกิริยานี้ได้ง่ายดายตามใจ ปรารถนา ก็มีแต่เฉพาะพระนิยตโพธิสัตว์ผู้เที่ยงที่จักต้องได้ตรัสเป็นพระสัพพัญญูจอม มุนีเท่านั้น

การที่สมเด็จพระนิยตโพธิสัตว์ สามารถที่จะกระทำอธิมุตตกาลกิริยาเป็นกรณีพิเศษได้โดยง่ายนี้ ก็เพราะพระองค์ท่านทรงมีสันดานพิเศษ เหตุว่าพระบารมีธรรมทั้งปวงที่พระองค์สั่งสมมาแล้วนั้น มีปริมาณมากมายนักหนา ถึงซึ่งความแก่กล้าบริบูรณ์เป็นอุกฤษฐ์ พระอธิฐานบารมีจึงกล้าหาญเป็นอัศจรรย์ เมื่อพระองค์ท่านจะอธิษฐานสิ่งไร ในขณะที่เป็นเทพบุตรโพธิสัตว์นี้ ก็ได้สำเร็จทุกสิ่งทุกประการ และสมเด็จพระนิยตโพธิสัตว์นี้ ย่อมมีความชำนาญในการอธิษฐานนัก หากจะเปรียบก็อุปมาดุจจิตรกรนายช่างเขียนผู้มีฝีมือเอก ซึ่งชำนาญในการที่จะวาดเขียน เมื่อช่างเขียนนั้น ปรารถนาที่จะเขียนสิ่งใดก็อาจจะเขียนสิ่งนั้นได้สำเร็จดังมโนรถความปรารถนา มิได้ข้องขัดประการใด สำเร็จตามมโนภาพแห่งตนที่นึกคิดว่ อุปมาข้อนี้ฉันใด พระบรมโพธิสัตว์เจ้าผู้ชำนาญในพระอธิษฐานบารมีนั้น ก็ชำนิชำนาญยิ่งนัก พระองค์ท่านอธิษฐานให้เป็นอย่างไร ก็ได้สำเร็จสมมโนรถความปรารถนามิได้ขัดข้อง เพราะเหตุนี้ พระนิยตโพธิสัตว์จึงสามารถจะกระทำอธิมุตตกาลกิริยาได้ ด้วยอำนาจพระอธิษฐานบารมี เพื่อที่จะลงมาบังเกิดในมนุษยโลกนี้ แล้วขวนขวายก่อสร้างอบรมบ่มพระโพธิญาณสืบต่อไป

พุทธอุบัติ


เมื่อสมเด็จพระนิยตบรมโพธิสัตว์เจ้า ได้ทรงบำเพ็ญพระบารมีจนถ้วนสมบูรณ์ ครบกำหนดกาลเวลาตามประเภทแห่งสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทั้ง ๓ ประเภทแล้ว บัดนี้ก็ถึงกาลสำคัญที่สุด คือ ถึงวาระที่จะเสด็จมาอุบัติตรัสแก่ปรมาภิเษกสัมโพธิญาณ และจักได้รับการเฉลิมพระนามว่า สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่ทรงมุ่งมาดปรารถนามานานนักหนาเสียที และเมื่อพระบรมโพธิสัตว์ผู้มีวาสนาบารมีแก่สุกรอบแล้ว จักได้มีโอกาสตรัสเป็นองค์สมเด็จพระพุทธเจ้านั้น พระองค์ท่านย่อมจุติลงมาอุบัติตรัสเป็นองค์สมเด็จพระสรรเพชญพุทธเจ้าใน มนุษย์โลกเรานี้เท่านั้น

ในกรณีนี้ หากจะมีปัญหาว่า เพราะเหตุดังฤา พระนิยตโพธิสัตว์เจ้าจึงจำเพาะเจาะจงเสด็จลงอุบัติเป็นสมเด็จพระพุทธเจ้าแต่ เฉพาะในมนุษยโลกเรานี้เท่านั้น จะไปอุบัติบังเกิดในโลกดีอื่นๆ เช่น บนสรวงสวรรค์เทวโลกมิได้หรือประการใด?

คำวิสัชชนาก็จะพึงมีว่า การที่สมเด็จพระนิยตโพธิสัตว์มิได้อุบัติตรัสเป็นสมเด็จพระพุทธเจ้า ณ เบื้องสวรรค์เทวโลกนั้น ก็เพราะเหตุว่า เทวโลกมิได้เป็นที่ตั้งแห่งศาสนพรหมจรรย์อันการที่จะบำเพ็ญศาสนพรหมจรรย์ และการบรรพชาอุปสมบทนี้ ย่อมเหมาะสมที่จะมีอยู่แต่ในมนุษยโลกนี้เท่านั้น จะได้มีในสวรรค์เทวโลกก็หามิได้

อีกประการหนึ่งนั้น ครั้นว่าสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงบังเกิดเป็นเทวดาแล้ว ถ้าพระองค์จะแสดงพระพุทธนุภาพอันประกอบไปด้วยพระอริยฤทธิ์มีประการต่างๆ มนุษย์ทั้งหลายผู้มักเป็นคนช่างความคิด ก็จะไม่เชื่อฤทธิ์พระพุทธานุภาพ มักให้มีความคิดเห็นไปตามประสาโง่แห่งตนว่า การที่พระองค์แสดงฤทธิ์ต่างๆ ได้นั้น ก็เพราะพระพุทธองค์ท่านทรงเป็นเทวดา ซึ่งประกอบไปเทวานุภาพเป็นอันมาก หากจะทรงอ้างว่าเป็นพระพุทธานุภาพ ก็มีเทวานุภาพเจือปนอยู่ นี่หากพระองค์เป็นมนุษย์แล้ว ไหนเลยจะทรงแสดงพระพุทธานุภาพอันเชี่ยวชาญให้สำเร็จกิจอิทธิปาฏิหารย์ดังที่ เห็นได้ เมื่อคิดไขว้เขวไปเสียเช่นนี้ ก็จะเป็นเหตุให้ลดหย่อนความเลื่อมใสในพระพุทธานุภาพ ตลอดจนไม่สนใจในศาสนธรรมคำสอนอันทรงไว้ซึ่งคุณค่าสูงสุด อนึ่ง หากสมเด็จพระพุทธองค์ทรงเป็นเทวดาแล้วไซร้ ถ้าจะใช้ความเป็นเทวดาสำแดงเทวานุภาพให้ปรากฎ มนุษย์ทั้งหลายก็จักเข้าใจผิดได้อีกเช่นเดียวกัน คือเขาเหล่านั้นจะพากันคิดว่า เทวานุภาพนั้นเจือปนไปด้วยพระพุทธานุภาพ ได้พระพุทธานุภาพอุดหนุนเป็นกำลัง เทวานุภาพจึงเชี่ยวชาญให้สำเร็จอิทธิปาฏิหารย์ทั้งปวงได้ แต่เทวานุภาพสิ่งเดียว ไหนเลยจะได้สำเร็จอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์อย่างนี้ได้ เมื่อมนุษย์ทั้งหลายเข้าใจไขว้เขวไปอย่างนี้แล้ว อารมณ์แห่งมนุษย์นั้นก็จะเป็นสอง จะมิได้เชื่อถือในพระพุทธานุภาพและเทวานุภาพ ที่สมเด็จพระพุทธเจ้าและไม่ปฏิบัติตาม เมื่อไม่มีการปฏิบัติแล้ว ปฏิเวธความได้บรรลุธรรมวิเศษ คือมรรคผลนิพพานอันเป็นจุดมุ่งหมายที่พระองค์ทรงตั้งไว้นานนักหนาจักสำเร็จ ลงได้อย่างไร ด้วยเหตุนี้ สมเด็จพระนิยตโพธิสัตว์เจ้าผู้มีพุทธบารมี จึงไม่เสด็จอุบัติตรัสเป็นสมเด็จพระพุทธเจ้าที่โลกอื่น เช่น พรหมโลกและเทวโลกเป็นต้น อันเป็นโลกคับแคบไม่ควรแก่การที่จะแสดงซึ่งพระพุทธานุภาพ แต่จำเพาะเจาะจงเสด็จลงมาอุบัติตรัสในมนุษยโลก อันเหมาะสมแก่การแสดงพระพุทธานุภาพ ให้ปรากฎได้เต็มที่ เช่นนี้เป็นธรรมประเพณีของพระนิตยโพธิสัตว์เจ้าทุกพระองค์สืบมาแต่ปางบรรพ์

อสุญกัป


ครั้นเมื่อมนุษยโลกเรานี้ ได้มีโอกาสต้อนรับการเสด็จมาอุบัติขึ้นแห่งองค์สมเด็จพระนิยตบรมโพธิสัตว์ ผู้ตรัสเป็นพระเอกองค์พระจอมมุนีชินสีห์สัมมาสัมพุทธเจ้าคราวใด คราวนั้นกาลเวลาย่อมถูกเรียกว่า อสุญกัป = กัป์ที่ไม่สูญเปล่า

กล่าวถึงตอนนี้ บางทีอาจจะมีบางท่านเกิดความสงสัยขึ้นมาในใจบ้างก็ได้ว่า เรื่องกัปนี้ ก็ว่ามาแล้วนี้ ยังไม่หมดอีกหรือ ยังจะมีอสุญกัปอะไรอีกเล่า? เพื่อความเข้าใจในเรื่องนี้ขอให้ท่านผู้มีปัญญาทั้งหลายพึงตั้งใจศึกษาอรรถ วรรณนา ดังต่อไปนี้

กาลเวลาที่นับเป็นมหากัปและเป็นอสงไขย ที่ได้กล่าวไว้แต่ตอนต้นโน้นนะ ท่านผู้มีปัญญาทั้งหลายย่อมจำได้เป็นอย่างดีแล้วมิใช่หรือว่า เป็นระยะยาวนานเพียงใด ทีนี้ แต่ละมหากัปซึ่งกินเวลายาวนานเหล่านั้น ใช่ว่าจะมีสมเด็จพระพุทธเจ้าเสด็จมาอุบัติตรัสในโลกเรานี้ทุกๆ มหากัปไปก็หาไม่ โดยที่แท้บางมหากัปก็มีสมเด็จพระพุทธเจ้ามาตรัส แต่บางมหากัปก็ไม่มีเลย ทั้งนี้ก็เพราะว่า การที่จะหาวิสิฏฐิบุคคล กล่าวคือบุคคลที่ทรงคุณพิเศษ เป็นพระโพธิสัตว์เจ้าผู้มีพระกฤษฎาภินิหารอันสำเร็จแล้ว มาตรัสรู้เป็นองค์สมเด็จพระพุทธเจ้าแต่ละองค์นั้นเป็นไปได้ยากยิ่งนักหนา กล่าวอีกทีก็ว่า ไม่ค่อยจะมีพระนิยตโพธิสัตว์นั่นเอง ฉะนั้น เมื่อมีสมเด็จพระนิยตโพธิสัตว์เสด็จมาอุบัติตรัสในโลกเรานี้ในมหากัปใด มหากัปนั้นย่อมไม่สูญจากคุณวิเศษอันยิ่งใหญ่คือมรรคผลนิพพาน เพราะว่ามีสมเด็จพระบรมโลกุตมาจารย์มาทรงชี้แจงแสดงออก และมหากัปนั้นก็เลยถูกเรียกว่าอสุญกัปไป เมื่อว่าโดยนัยนี้ จึงอาจจะแบ่งมหากัปเป็นประเภทใหญ่ๆ เพื่อให้เข้าใจได้ง่ายเป็น ๒ ประเภท คือ

ก. มหากัปใด ไม่มีองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามาอุบัติตรัสในโลกนี้เลยแม้แต่สักพระองค์เดียว มหากัปนั้นมีชื่อเรียกว่า สุญ กัป คือเป็นกัปที่สูญจากองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า สูญเปล่าจากมรรคผลนิพพาน มิใช่แต่เท่านั้น ในกาลที่เป็นสุญกัปนี้ ยังสูญจากวิสิฏฐิบุคคลอื่นๆ อีกด้วย คือพระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลายก็ดี สมเด็จพระเจ้าจักรพรรดิราชก็ดี ย่อมไม่ปรากฎมีในสุญกัปนี้เลย นับว่าเป็นกัปที่สูญจากวิสิฏฐิบุคคลจริงๆ
ข. มหากัปใด มีสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จมาอุบัติตรัสในโลก มหากัปนั้น มีชื่อเรียกว่า อสุญกัป คือเป็นกัปที่ไม่สูญจากองค์สมเด็จพระพุทธเจ้า ไม่สูญเปล่าจากมรรคผลนิพพาน มิใช่แต่เท่านั้นดัวยว่า ในกาลที่เป็นอสุญกัปนี้ยังมีวิสิฏฐิบุคคลทั้งหลายอื่นปรากฏในโลกอีกด้วย คือพระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลายก็ดี สมเด็จพระเจ้าจักรพรรดิราชก็ดีย่อมปรากฎมีเฉพาะในกาลที่เป็นสุญกัปนี้เท่า นั้น
บรรดาอสุญกัป คือกัปที่มีสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จมาอุบัตินี้ ยังมีชื่อเรียกตามจำนวนสมเด็จพระพุทธเจ้าที่เสด็จมาตรัสอีก ดังต่อไปนี้
๑. สารกัป... อสุญกัปใด มีสมเด็จพระสรรเพชญสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จมาอุบัติตรัสในโลกนี้แต่เพียง ๑ พระองค์ อสุญกัปนั้นเรียกชื่อว่า สารกัป

๒. มัณฑกัป... อสุญกัปใด มีสมเด็จพระสรรเพชญสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จมาอุบัติตรัสในโลกนี้ ๒ พระองค์ อสุญกัปนั้นเรียกชื่อว่า มัณฑกัป

๓. วรกัป... อสุญกัปใด มีสมเด็จพระสรรเพชญสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จมาอุบัติตรัสในโลกนี้ ๓ พระองค์ อสุญกัปนั้นเรียกชื่อว่า วรกัป

๔. สารมัณฑกัป... อสุญกัปใด มีสมเด็จพระสรรเพชญสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จมาอุบัติตรัสในโลกนี้ ๔ พระองค์ อสุญกัปนั้นเรียกชื่อว่า สารมัณฑกัป

๕. ภัทรกัป... อสุญกัปใด มีสมเด็จพระสรรเพชญสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จมาอุบัติตรัสในโลกนี้ ๕ พระองค์ อสุญกัปนั้นเรียกชื่อว่า ภัทรกัป
ตาม ที่กล่าวมานี้ ท่านผู้มีปัญญาทั้งหลายก็คงจะเห็นแล้วว่าอสุญกัปสุดท้าย คือภัทรกัป นี้เป็นกัปที่ประเสริฐที่สุด เพราะมีสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จมาอุบัติตรัสในโลกเราถึง ๕ พระองค์ นับเป็นจำนวนมากที่สุด ไม่มีกัปใดที่จักมีองค์พระจอมมุณีสัมมาสัมพุทธเจ้า เสด็จมาอุบัติมากยิ่งขึ้นไปกว่านี้อีกแล้ว และบรรดาประชาสัตว์ทั้งหลายซึ่งได้อุบัติเป็นมนุษย์หรือเทวดาในกัปนี้ ย่อมมีโอกาสที่จักได้พบองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า หรือมิฉะนัน ก็ได้พบศาสนธรรมคำสั่งสอนแห่งองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นระยะติดต่อกันไปมากมายถึง ๕ พระองค์ ด้วยเหตุนี้ เหล่าสัตว์โลก คือมนุษย์และเทวดาอินทร์พรหม ผู้มีจิตเป็นกุศลโสภณ ปฏิสนธิด้วยไตรเหตุ ประกอบไปด้วยบุญวาสนาบารมี ย่อมสามารถที่จะกระทำอาสวะกิเลสให้สูญสิ้นไปจากขันธสันดานแห่งตนโดยชุกชุม ในภัทรกัปนี้มากกว่ากัปอื่น เพราะค่าที่เป็นกัปที่ประเสริฐที่สุด เป็นกัปที่หาได้โดยยากยิ่ง นานแสนนานจึงจักปรากฎมีในโลกเรานี้สักครั้งหนึ่ง ท่านจึงขนานนามอสุญกัปสุดท้ายนี้ว่า ภัทรกัป=กัปที่เจริญที่สุด

Wisdom:
พระเจ้า ๕ พระองค์


บัดนี้ มีความยินดีเป็นยิ่งนัก ที่จักขอแจ้งให้พวกเราชาวพุทธบริษัทจงทราบทั่วกันว่า อสุญกัปที่พวกเราโผล่ขึ้นมาเกิดโดยไม่รู้เนื้อรู้ตัวล่วงหน้ามาก่อนเลยเวลา นี้นั้น มีชื่อเรียกว่า ภัทรกัป ซึ่งเป็นกัปที่เจริญที่สุด ประเสริฐที่สุด และหาได้ยากในโลกเป็นที่สุดดังกล่าวมาแล้ว ไม่มีอสุญกัปใดที่ประเสริฐเลิศล้ำ ยิ่งกว่าอสุญกัปที่เราท่านทั้งหลายกำลังเกิดเป็นคนเป็นมนุษย์อย่างเวลานี้ อีกแล้ว เพราะว่าสมเด็จพระจอมมุนีชินสีห์สัมมาสัมพุทธเจ้า เสด็จมาอุบัติตรัสในโลกเรานี้ถึง ๕ พระองค์ คือ
๑. สมเด็จพระกกุสันโธพุทธเจ้า

๒. สมเด็จพระโกนาคมโนพุทธเจ้า

๓. สมเด็จพระกัสสโปพุทธเจ้า

๔. สมเด็จพระศรีศากยมุนีโคตโมพุทธเจ้า คือองค์สมเด็จพระบรมศาสดาจารย์แห่งเราท่านทั้งหลาย ผู้เป็นพุทธศาสนิกชนในขณะนี้ นั่นเอง และต่อจากนี้ไป เมื่อศาสนาของพระพุทธองค์ท่าน ที่พวกเราชาวพุทธศาสนิกบริษัทกำลังประพฤติปฏิบัติด้วยศรัทธาเคารพเลื่อมใส กันอยู่ทุกวันนี้ เสื่อมสูญอันตรธานให้หมดสิ้นแล้ว โลกเรานี้ ก็จักว่างจากพระบวรพุทธศาสนาเป็นโลกมืดบอดจากมรรคผลนิพพานไปอีกนานนักหนา แล้ววาระหนึ่ง จึงจักถึงกาลอันตรกัปที่ ๑๓ (ในปัจจุบันทุกวันนี้กำลังอยู่ในอันตรกัปที่ ๑๒) ก็ในอันตรกัปที่ ๑๓ นั้น สมเด็จพระนิยตบรมโพธิสัตว์เจ้าซึ่งมีพระนามว่า สมเด็จพระศรีอาริยเมตไตรยเทวบุตรโพธิสัตว์ ซึ่งขณะนี้กำลังสถิตเสวยสุขอยู่ ณ เบื้องสวรรค์เทวโลกชั้นดุสิตภูมิ จักเสด็จมาอุบัติตรัสเป็นสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นองค์สุดท้ายในภัทรกัปนี้ ทรงพระนามว่า
๕. สมเด็จพระศรีอริเมตไตรยพุทธเจ้า
สิริรวมเป็นสมเด็จพระพุทธเจ้า ที่เสด็จมาอุบัติตรัสในภัทรกัปนี้ ถึง ๕ พระองค์ ด้วยประการฉะนี้

ทีนี้ หันมาพิจารณาถึงตัวเราท่านนี้บ้าง บรรดาเราท่านทุกผู้ทุกคนผู้กำลังโชคดี เพราะเกิดมาเป็นมนุษย์ในโลกนี้ ในขณะที่เป็นภัทรกัปซึ่งเป็นกัปที่ประเสริฐสุด มีผู้บรรลุมรรคผลนิพพานโดยชุกชุมมากมายในกัปนี้แล้ว ก็จงอย่าได้มีความประมาท จงอย่าทำตนให้แคล้วคลาดจากอมตสมบัติคือมรรคผลนิพพานเสียเลย จงพยายามแสวงหาประโยชน์จากความมีโชคดีในครั้นนี้ให้จงได้ ด้วยการรีบปฏิบัติธรรมตามคำสอนของพระพุทธองค์เจ้า เพื่อเอามรรคผลนิพพานมาเป็นสมบัติของตนให้จงได้ ถ้าจะถามต่อไปว่าจะปฏิบัติอย่างไรกันเล่า จึงจักเข้าถึงซึ่งมรรคผลนิพพานอันเป็นการดำเนินตามรอยบาทพระอริยเจ้าทั้ง หลาย?

เมื่อจะวิสัชชนากันไปอย่างตรงๆ ไม่ต้องอ้อมค้อมพูดมากให้เสียเวลา ก็ต้องตอบดังนี้ว่า การที่จะนำตนให้ได้บรรลุถึงมรรคผลนิพพานอันประเสริฐสุดนั้น ต้องกระทำกุศลกรรมขั้นอุกฤษฐ์ คือปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน ให้วิปัสสนาญาณเกิดขึ้นโดยลำดับ จนกระทั่งพระอริยมรรค พระอริยผล บังเกิดขึ้นในสันดานแห่งตนนั่นแหละ จึงจะรู้จักมรรคผลนิพพานและได้ลิ้มรสอมตธรรม เมื่อทำได้เช่นนี้ จึงจะได้ชื่อว่า ไม่เสียทีที่เกิดมาเป็นมนุษย์พบพระพุทธศาสนา ที่ กล่าวมานี้ ต้องการที่จะชี้ให้เห็นว่าจุดประเสริฐสุดแห่งการได้พบพระพุทธศาสนาในภัทรกัป นี้ อยู่ตรงนี้ คือตรงที่ได้ลิ้มรสอมตธรรมนี่เอง ทีนี้ ถ้าหากผู้ใดไม่ต้องการอมตะธรรมแล้ว ต่อให้มีสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จมาโปรดตรงหน้าเขาสักหมื่นแสนพระองค์ ก็ดี ก็ไม่มีความหมาย คือไม่มีประโยชน์อะไรเลย

ทรงเป็นเอก


ได้พรรณนาไว้แล้วว่า เมื่อถึงโอกาสอันสมควร เพราะวาสนาบารมีครบควรแก่การที่จะได้ตรัสแก่พระปรมาภิเษกสัมโพธิญาณแล้ว สมเด็จพระนิตยโพธิสัตว์เจ้า ย่อมเสด็จมาอุบัติตรัสเป็นเอกองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงประกาศสัจธรรมนำสัตว์ผู้ปฏิบัติตามให้พ้นจากทุกข์ภัยในวัฏสงสาร ทรงเป็นเอกอัครบรมศาสดาจารย์ผู้ยอดเยี่ยม ไม่มีใครเทียมเสมอสองทรงเป็นเอกในโลกจริงๆ แม้แต่เวลาที่ทรงอุบัติ ก็ทรงอุบัติได้คราวละพระองค์เดียว โดยมีกฎธรรมดาอยู่ว่า เมื่อสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จอุบัติขึ้นนั้น ไม่ว่ากาลไหนๆ ย่อมมาตรัสได้ในโลกเรานี้ คราวละพระองค์เดียวเท่านั้น ไม่เสด็จอุบัติพร้อมกันคราวละ ๒-๓ พระองค์เลยเป็นอันขาด ถึงแม้จะมาตรัสในกัปเดิมหลายพระองค์ก็ตาม ถึงกระนั้น สมเด็จพระพุทธเจ้าพระองค์หลัง ต้องทรงรอให้ศาสนาสมเด็จพระพุทธเจ้าพระองค์เก่า หมดสิ้นเสื่อมสูญอันตรธานไปเสียก่อน แล้วจึงจักเสด็จมาตรัสต่อไป

ในกรณีนี้ หากจะปัญหาว่า เหตุไฉน สมเด็จพระสัพพัญญูสัมมาสัมพุทธเจ้า จึงไม่ตรัสในโลกเรานี้พร้อมกันเล่า? เพราะว่าสมเด็จพระพุทธเจ้าทั้งหลายนั้น จะตรัสพระสัทธรรมเทศนาใดก็ดี หรือจะทรงบัญญัติพระวินัยสิกขาบทใดก็ดี ย่อมเป็นเหมือนๆ กันหมด จะได้ผิดแผกแยกให้ต่างกัน แม้แต่บทเดียวก็หามิได้ ถ้าแม้สมเด็จพระสัพพัญญูเจ้าผู้ทรงคุณใหญ่ จะได้ตรัสขึ้นในโลกพร้อมกันแม้ไม่มากแต่เพียง ๒ พระองค์แล้ว โลกเรานี้ก็จะยิ่งเจริญรุ่งเรืองขึ้นไปนักหนา ด้วยมีสมเด็จพระบรมศาสดาจารย์ถึง ๒ พระองค์ จะได้ช่วยกันทรงเทศนา โปรดฝูงมนุษย์เทวดา อินทร์ พรหม ยม ยักษ์ เป็นอันมาก พระพุทธศาสนาก็จักแพร่ไพศาลถึงความรุ่งเรืองภิญโญภาพยิ่งๆ ขึ้นไปมิใช่เหรือ?'

หากจักสงสัยเช่นนี้ คำวิสัชชนาก็จะมีว่า อันว่าโลกธาตุเรานี้มีปกติจำเพาะจะทรงไว้ ซี่งพระคุณแห่งสมเด็จพระสรรเพชญสัมมาสัมพุทธเจ้าได้แต่เพียงพระองค์เดียว เท่านั้น ถ้าว่าสมเด็จพระสัพพัญูเจ้า จักมาตรัสพร้อมกันถึง ๒ พระองค์แล้ว โลกธาตุนี้ก็มิอาจจะทรงไว้ซึ่งพระพุทธคุณอันมากมายก่ายกองไว้ได้ ก็จะถึงความหวั่นไหวสะท้านสะเทือนและถึงความฉิบหายไร้ประโยชน์ยิ่งนัก ถ้าจักให้กล่าวเป็นอุปมาโวหารก็มีคำที่ท่านพรรณนาไว้ ดังต่อไปนี้

นาวาเล็กลำเดียว มีปกติจุแต่บุรุษเดียวเท่านั้น จึงจะข้ามแม่น้ำแล่นไปได้ ทีนี้ ยังมีบุรุษอีกผู้หนึ่ง ซึ่งมีรูปร่างกำยำส่ำสันใหญ่โตพอๆ กันกับบุรุษผู้เป็นเจ้าของเรือนั้นมาขอโดยสารข้ามฟาก จะขอนั่งลงในนาวานั้นเป็น ๒ คนด้วยกัน อย่างนี้นาวาน้อยลำนนั้นจะบรรทุกคนทั้งสองให้ข้ามไปถึงฝั่งได้อย่างไรกัน เพราะเหตุว่าแต่เพียงบุรุษเจ้าของเรือคนเดียวนั่งลงก็เพียบเต็มที่อยู่แล้ว หากยังมีบุรุษล่ำสันเท่ากันมาโดยสารอีกเล่า แต่พอนั่งลง นาวานั้นย่อมมิอาจจะทรงตัวไว้ได้ ก็จะล่มลงเป็นมั่นคงเที่ยงแท้ในกระแสคงคา อุปมาข้อนี้ฉันใด โลกธาตุนี้ก็เป็นเช่นนั้นคือ มีปกติทรงไว้ได้ซึ่งพระคุณแห่งสมเด็จพระพุทธเจ้าแต่เพียงพระองค์เดียวเท่า นั้น ครั้นจะมีสมเด็จพระสรรเพชญพุทธเจ้าเสด็จมาอุบัติขึ้นพร้อมกันอีกพระองค์ หนึ่งเล่า ก็เข้าภึงภาวะที่ไร้ประโยชน์และกลับจะเป็นโทษ ตามอุปมาที่แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนนั้น

อีกประการหนึ่ง เปรียบเหมือนบุรุษผู้ซึ่งบริโภคอาหารอิ่มท้องเต็มแปร้ตลอดคอหอยสุดที่จักรับ ประทานได้แล้ว ยังจะขืนให้บริโภคอาหารเข้าไปใหม่ ให้มีปริมาณเท่ากับที่บริโภคเข้าไปแล้วนั้นอีกเล่า อย่างนี้ก็น่าที่บุรุษนั้นจักต้องได้รับทุกขเวทนาให้มีอันเป็นจุกรากอาเจียร ต่างๆ ไม่มีความสุขสบายเป็นแน่แท้อุปมาข้อนี้ฉันใด โลกธาตุนี้ทรงไว้ซึ่งพระคุณแห่งสมเด็จพระสรรเพชญบรมโลกนาถแต่เพียงพระองค์ เดียวก็เต็มหนักอยู่แล้ว หากจะมีสมเด็จพระจอมมุนีศาสดาจารย์มาตรัสขึ้นพร้อมกันอีกพระองค์หนึ่งเล่า ก็จะปั่นป่วนหวั่นไหวทรุดเซไป มิอาจจะต้านทานพระคุณไว้ได้ เข้าถึงภาวะที่เปล่าประโยชน์และกลับจะเป็นโทษไปเสียด้วยซ้ำ

อีกประการหนึ่ง เปรียบเหมือนบุรุษผู้หนึ่ง  ซึ่งเอาสัมภาระสิ่งของบรรทุกลงในเกวียน ๒ เล่มให้เต็มเสมอเรือนเกวียนแล้ว กลับจะขนสัมภาระอันหนักลงจากเกวียนเล่มหนึ่ง   เอาไปบรรทุกลงในเกวียนเล่มเดียวกัน อย่างนี้ เกวียนเล่มนั้นจะทนทานได้อย่างไรกันเล่า เพราะตามปกติก็บรรทุกไว้จนเต็มที่อยู่แล้ว ยังจะเอามาบรรทุกซ้ำเข้าอีกเท่าหนึ่งเล่า เช่นนี้ก็น่าที่จะเกิดเหตุเป็นแม่นมั่น คือว่ากงกำเกวียนนั้นก็จะต้องทำลายฉิบหายลง มิฉะนั้น เพลาเกวียนก็จะหักสะบั้นไปอย่างไม่ต้องสงสัย อุปมาข้อนี้ฉันใด โลกธาตุแผ่นพสุธาอันกว้างใหญ่นี้ก็เป็นเช่นกัน จำเพาะจะทรงไว้ได้ซึ่งพระคุณแห่งสมเด็จพระโลกเชษฐ์แต่เพียงพระองค์เดียว เท่านั้น หากมีสมเด็จภควันต์เสด็จมาตรัสพร้อมกันเป็นสองพระองค์แล้วไซร้ ก้มิอาจจะทนทานได้ น่าที่จะวิการไปเป็นเหมือนเกวียนบรรทุกสิ่งของเกินอัตราเป็นแม่นมั่น

อนึ่ง  ที่นับว่าสำคัญในกรณีนี้ ก็คือว่า หากสมเด็จพระบรมศาสดาจารย์เจ้า จักเสด็จมาตรัสในโลกนี้พร้อมกันเป็น ๒ พระองค์ แล้วทรงช่วยกันประกาศพระบวรพุทธศาสนา ทรงช่วยกันแสดงพระสัทธรรมเทศนาโปรดสัตว์โลกทั้งหลาย มนุษย์หญิงชายทั้งปวงก็จะแตกต่างออกเป็น ๒ ฝ่าย แล้วต่างก็จะถือเอาแต่วิวาททุ่มเถียงซึ่งกันแลกันไปตามประสาทิฐิแห่งมนุษย์ ว่า

"สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าของพวกเรา"
และว่า
"สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าของพวกท่าน"


เมื่อพุทธบริษัทต่างพากันถือเอาด้วยทิฐิเป็นสองฝ่ายสองพวกไปเสียเช่นนี้ พระโอวาทานุสาสนีอันล้ำค่าก็น่าที่จะไม่ได้ผลเต็มเม็ดเต็มหน่วยเป็นแม่นมั่น การณ์ดีก็จะมีน้อยกว่าการณ์เสีย เปรียบดุจเสนาบดีใหญ่ยิ่ง ๒ คน ซึ่งเป็นข้าเผ้าสมเด็จพระบรมกษัตริยาธิราชเจ้า ที่พระองค์ทรงแต่งตั้งไว้ต่างพระเนตรพระกรรณให้ปรึกษาราชการ เหล่าบริวารทั้งหลายของเสนาบดีทั้งสองนั้น ย่อมถือกันแบ่งกันเป็น ๒ พวก ด้วยถ้อยคำว่า "เสนาบดีนั้น เป็นเจ้านายของพวกท่าน . เสนาบดีนั้นเป็นเจ้านายของพวกเรา" เหล่าบริวารทั้งหลายเกิดมีทิฐิในน้ำใจแบ่งแยกแตกออกเป็น ๒ ฝ่ายไปเสียเช่นนี้ ก็น่าที่จะไม่สามารถยังราชกิจแห่งสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวให้สำเร็จลงได้เต็ม เม็ดเต็มหน่วย อุปมาข้อนี้ฉันใด เมื่อสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถเสด็จมาอุบัติในโลกนี้ทีเดียวพร้อม ๒ พระองค์แล้ว ก็จะเป็นเหตุให้พุทธบริษัทถือทิฐิแบ่งแยกเป็นสองพวกสองเหล่า เช่นอุปมาที่เล่ามานี่ดุจกัน

อีกประการหนึ่ง สิ่งที่ว่าใหญ่โตบรรดามีในโลกธาตุนี้ คือ

มหาปฐพีอันกว้างใหญ่ย่อมมีเป็นอันเดียว จักได้เป็นสองก็หามิได้

มหาสมุทรทะเลใหญ่ย่อมมีเป็นอันเดียว จักได้มีเป็นสองก็หามิได้

สิเนรราชจอมภูผา เป็นพญาแห่งภูเขาทั้งปวง ก็มีแต่หนึ่งซึ่งจะเป็นสองก็หามิได้

สมเด็จเจ้าผู้เป็นใหญ่ ณ เบื้องสวรรค์ชั้นไตรตรึงษ์ ก็ประเสริฐเป็นหนึ่งอยู่แต่พระองค์เดียว คือ องค์สมเด็จพระอัมรินทราธิราช ซึ่งสถิตเสวยสุขอยู่ในไพชยนต์ปราสาทพิมาน

พญามาราธิราช ซึ่งสถิตอยู่ ณ เบื้องสวรรค์ชั้นสูงสุด คือปรนิมิตสวัตตีเทวโลก ก็ประเสริฐเป็นหนึ่งอยู่แต่เพียงพระองค์เดียว จักได้มีผู้ใดเทียมเท่าก็หามิได้
ท้าวมหาพรหมผู้เป็นใหญ่วิเศษอยู่ ณ เบื้องพรหมโลกแต่ละภพ ก็มีอำนาจเลิศเป็นใหญ่แต่ลำพังพระองค์เดียว

เพราะฉะนั้น สมเด็จพระสัพพัญญูสัมมาสัมพุทธเจ้า พระองค์ผู้ทรงพระคุณอันประเสริฐล้ำเลิศในไตรโลก จึงทรงเป็นเอกประเสริฐสุดอยู่แต่เพียงพระองค์เดียว และเมื่อมาตรัสก็ไม่มาตรัสพร้อมกันเป็นสองพระองคืในคราวเดียวกันเลย สภาพการณ์เช่นนี้ เป็นธรรมประเพณีเที่ยงแท้แต่เดิมมา

พรรณาในพระพุทธาธการ กล่าวเรื่องอันเกียวกับองค์สมเด็จพระจอมมุนีชินสีห์สัมมาสัมพุทธเจ้าทั้ง หลาย เห็นว่าเป็นการสมควรแล้ว จึงขอยุติลงเพียงแค่นี้ ต่อจากนี้ เพื่อความเข้าใจดี ขอเชิญท่านผู้มีปัญญาทั้งหลายจงได้ติดตามประวัติการสร้างพระพุทธบารมีของ องค์สมเด็จพระศรีศากยมุนโคดมบรมครูเจ้าแห่งเราทั้งหลายสืบต่อไป

บทที่ ๒

พระบารมีเริ่มแรก


บัดนี้ จักพรรณนาถึงการสร้างพระบารมี เพื่อพระปรมาภิเษกสัมโพธิญาณของสมเด็จพระมิ่งมงกุฏศรีศากยมุนีโคดมบรมโลกนาถ พระองค์ผู้ทรงเป็นพระบรมศาสดา ทรงมีพระมหากรุณาประกาศศาสนธรรมคำสั่งสอน ให้พวกเราชาวพุทธเวไนยนิกรได้ประพฤติปฏิบัติสืบๆ กันมาจนกระทั่งทุกวันนี้ เพื่อเป็นการสดุดีสรรเสริญคุณแห่งพระองค์ เท่าที่สามารถจะประมวลนำมากล่าวไว้ในที่นี้ได้ ขอท่านสาธุชนทั้งหลายจงตั้งใจสดับตรับฟังด้วยดีเถิด เพื่อที่จะได้เกิดศรัทธาปสาทะความเชื่อความเลื่อมใสในองค์พระผู้มีพระภาค เจ้า โดยมาเข้าใจทราบชัดว่า สมเด็จพระบรมศาสดาของพวกเราทั้งหลาย กว่าจะได้ตรัสพระปรมาภิเษกสัมโพธิญาณนั้น พระองค์ท่านต้องทรงพระอุตสาหะพยายามสั่งสมบ่มพระบารมีมาเป็นเวลานาน และยากลำบากนักหนาเพียงไร

สมเด็จพระสรรเพชญ์ศรีศากยมุนีโคดมบรมครูเจ้าของเรานี้ พระองค์ทรงเป็นพระพุทธเจ้าประเภทปัญญาธิกะ คือทรงยิ่งด้วยพระปัญญา ฉะนั้น จึงปรากฎว่าพระองค์ทรงสร้างพระบารมีเพื่อพระพุทธภูมิได้ยิ่งยวดรวดเร็ว นักหนา เร็วยิ่งกว่าพระพุทธเจ้าประเภทอื่นทั้งหมด ตั้งแต่เริ่มปรารถนาพระพุทธภูมิจนกระทั่งได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า แม้จะนับว่ารวดเร็วกว่าพระพุทธเจ้าประเภทอื่น ถึงกระนั้น พระองค์ก็ต้องทรงใช้เวลาสร้างพระบารมีถึง ๒๐ อสงไขยกับ ๑ แสนมหากัปพอดี ในบทนี้ จะกล่าวถึงตอนเริ่มแรกทรงสร้างพระบารมี คือตอนทรงปรารถนาพระพุทธภูมิ ได้แต่ดำริในพระหฤทัยมิได้ออกโอษฐ์เป็นวาจา นับเวลานานถึง ๗ อสงไขย ดังต่อไปนี้


พรหมรำพึง
   

กาลครั้งหนึ่ง ปรากฎว่าในโลกธาตุว่างจากพระบวรพุทธศาสนาคือ ไม่มีองค์สมเด็จพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จมาอุบัติตรัสในโลกเรานี้ เป็นเวลานับได้นานนักหนาถึง ๑ อสงไขย เมื่อไม่มีพระพุทธศาสนา โลกธาตุก็ย่อมจะว่างเว้นจากการได้บรรลุมรรคผลธรรมวิเศษเป็นธรรมดา เพราะว่าธรรมพิเศษคือพระอริยมรรคอริยผลอันเป็นโลกุตตรธรรมนั้น จักมีได้ก็แต่เฉพาะภายในพระพุทธศาสนาเท่านั้น ไม่มีในศาสนาลัทธิอื่นเป็นอันชาด ก็ในกาลครั้งนั้น จึงบรรดาเทพเจ้าทั้งหลายผู้ซึ่งเป็นพุทธศาสนิกบริษัทแลได้บรรลุมรรคผลธรรม วิเศษ คือเป็นพระอริยบุคคลชั้นพระโสดาบัน พระสกิทาคามีมาแต่ศาสนาของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ก่อน เทพยเจ้าพระอริยบุคคลเหล่านั้น ต่างก็พากันอนุโยคพยายามประกอบความเพียรบำเพ็ญเป็นพระอนาคามี อริยบุคคล แล้วจึงจุติขึ้นไปอุบัติเกิดเป็นพระพรหมอนาคามี ณ พรหมโลกชั้นสุทธาวาสทั้งห้า คือ อวิหาพรหมโลก อตัปพรหมโลก สุทัสสาพรหมโลก สุทัสสีพรหมโลก และอกนิฏฐพรหมโลก องค์ใดจะไปอุบัติเกิดในปัญจสุทธาวาสพรหมโลกชั้นไหนนั้น ก็สุดแต่วาสนาบารมีที่ตนอบรมให้แก่กล้าในอินทรีย์ไหน

เมื่อเทพยดาเจ้าทั้งหลายเหล่านั้น ไปอุบัติบังเกิดเป็นพระพรหมอนาคามีแล้ว ก็ย่อมเจริญกรรมฐานต่อไปจนกระทั่งได้บรรลุมรรคผลขั้นสูงสุด คือ ได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์แล้วก็ดับขันธ์ปรินิพพาน ณ พรหมโลกนั้นเอง อันนี้เป็นกฎธรรมดาของพระพรหมอนาคามีทั่วไป ที่ไม่ต้องกลับมาเกิดในโลกไหนๆ อีก เมื่อได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์และดับขันธ์เข้าสู่พระอมตนิพพานไปทีละองค์สอง องค์เช่นนี้ พระพรหมอนาคามีก็เหลือน้อยลงทุกที เพราะผู้ที่จะมาอุบัติเกิดใหม่ก็ไม่มี โดยที่โลกธาตุนี้ว่างจากพระพุทธศาสนา จึงไม่มีพระอนาคามีบุคคลผู้ทรงคุณวิเศษมาอุบัติเกิดดังกล่าวแล้ว เมื่อเป็นเช่นนี้ ท่านสุทธาวาสมหาพรหมอนาคามี ได้ทอดทัศนาเห็นมหาพรหมที่เหลืออยู่น้อยนักหนา ทั้งยังจะต้องได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์และดับขันธ์เข้าสู่ปรินิพพานในวันหน้า อีกด้วยเล่า ท่านมหาพรหมเหล่านั้นจึงให้รำพึงปรึกษากันไปว่า

"ดูรา เราท่านผู้นิรทุกข์เอ๋ย! กาลบัดนี้ บรรดามหาพรหมในชั้นปัญจสุทธาวาสเรานี้ น้อยลงๆ นักหนาแล้ว ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะว่าในโลกธาตุว่างเว้นจากพระพุทธศาสนา กาลที่ไม่มีองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้นแล ปรากฎเป็นอันมากมายกว่ากาลที่มีพระพุทธเจ้าเป็นไหนๆ ฉะนั้น หมู่พระพรหมสุทธาวาสเรานี้ จึงค่อยน้อยไปๆ" เมื่อได้รำพึงปรึกษากันไปดังนี้ ต่างก็มีกมลหฤทัยบังเกิดความสังเวช แลคิดจะแก้ไขเหตุการณ์ให้ดีขึ้น จึงทอดทัศนาเล็งแลดูไปทั่วทั้งจักรวาลแลอนันตจักรวาลน้อยใหญ่ ก็ไม่เห็นพระพุทธเจ้าจักเสด็จมาอุบัติขึ้นในกาลใกล้ๆ นี้เลย จึงรำพึงปรึกษากันต่อไปว่า

"อันธรรมดาองค์สมเด็จพระสรรเพชญ์สัมมาสัมพุทธเจ้าทั้งหลาย ย่อมเสด็จอุบัติตรัสในมงคลจักรวาลนี้เท่านั้น เว้นจากมงคลจักรวาลโลกธาตุแล้ว จักมิได้ไปเสด็จอุบัติตรัสในจักรวาลทั้งหลายอื่นเลย ก็แลใครผู้ใดเล่าหนา จักเป็นผู้มีความพยายามใหญ่ หฤทัยมั่นคงแข็งกล้าอุตสาหพยายามบำเพ็ญกุศลพุทธการกธรรมเพื่อจักได้ตรัสรู้ พระปรมาภิเษกสัมโพธิญาณได้ จำเราทั้งหลายจักต้องคอยค้นคว้าแสวงหาดู"

ครั้นสุทธาวาสมหาพรหมทั้งหลาย ปรึกษากันฉะนั้นแล้ว จึงค่อยสอดส่องแสวงหาดูทั่วทั้งหมู่มนุษย์และเทวดา เพื่อจักหาบุคคลผู้มีกมลหฤทัยผูกพันมั่นคงกล้าหาญ เต็มไปด้วยอนุโยคพยายามอันยิ่งใหญ่ อาจประกอบกิจที่ตนมุ่งหวังให้สำเร็จได้โดยมิได้อาลัยถึงร่างกายแลชีวิต โดยประสงค์ว่า เมื่อพบผู้มีน้ำใจองอาจมั่นคงชนิดนี้แล้ว จักได้เข้าบันดาลดลจิตของผู้นั้นให้บังเกิดมีน้ำใจรักใคร่ในทางที่จะปรารถนา พระพุทธภูมิเพื่อตรัสรู้พระปรมาภิเษกสัมโพธิญาณ ในอนาคตกาลภายภาคหน้า

มานพหนุ่มผู้เข็ญใจ


กาลครั้งนั้น ยังมีมาณพหนุ่มผู้ยากจนเข็ญใจคนหนึ่ง เมื่อถึงกาลชนมายุเจริญวัยแล้ว มารดาบิดาจึงคิดจะปลูกฝังแต่งตั้งให้มีครอบครัวตามประเพณี แต่มาณพนั้นมิได้มีความปรารถนาด้วยประมาณตัวว่าตนเป็นคนยากจน ครั้นชนกชนนีรบเร้าเฝ้ารำพันปลอบ จึงตอบว่า

"ข้าแต่พ่อแม่ทั้งสอง! ทุกวันนี้ทรัพย์สมบัติอันหนึ่งอันใดที่มีค่าในเรือนของเราก็มิได้มี เพราะว่าเราเป็นคนเข็ญใจ ฉะนั้นข้าพเจ้าจึงยังมิพอใจจะมีเหย้ามีเรือน เมื่อมารดาบิดาทั้งสองยังครองชีวิตอยู่ตราบใด ข้าพเจ้าก็จักอุปฐากบำรุงเลี้ยงไปตามประสายาก จนกว่าชีวิตข้าพเจ้าจะหาไม่" เมื่อให้คำตอบดังนี้แล้ว ก็ทำการงานเลี้ยงดูท่านทั้งสองเป็นนิตย์ ครั้งจำเนียรกาลนานมา ท่านบิดาก็ถึงแก่กรรมไปตามธรรมดาของสังขาร

ตั้งแต่นั้นมา มาณพหนุ่มก็มิได้มีความประมาท หมั่นระวังระไวเอาใจใส่อภิบาลมารดาด้วยความรัก เที่ยวแสวงหาหักไม้ในอรัญพอแก่ความต้องการแล้ว ก็นำมาขายได้มูลค่าเท่าใด ก็จ่ายจัดเครื่องภัตตาหารได้แล้วก็นำมาอุปฐากบำรุงเลี้ยงมารดา เป็นกิจวัตรตลอดมาทุกทิวาวาร

วันหนึ่งมาณพหนุ่มผู้ยากไร้นั้น ครั้นเสร็จการเรือนแล้วก็เข้าไปสู่อรัญประเทศเที่ยวหาฟืนแลผักได้มากเหลือ กำลัง นำกลับมาในระหว่างทางก็ให้เหนื่อยกายกระหายหิวน้ำนัก จึงแวะเข้าอาศัยพักนั่งอยู่ริมฝั่งน้ำใต้ร่มไทรใบดกหนาแห่งหนึ่งใกล้ท่าเรือ สำเภา นึกในใจว่า จักเอนกายพอคลายเหนื่อยสักหน่อย จึงจะค่อยเดินทางกลับบ้านต่อไป แล้วก็เอนกายระงับหลับม่อยไปครู่หนึ่ง พอตื่นขึ้นมาเหลือบไปเห็นเรือสำเภาจึงเกิดความคิดอันบรรเจิดคำนึงไปว่า

"อา บัดนี้ เรากำลังเป็นคนหนุ่มอยู่ในปฐมวัย มีกำลังกายอุดมดี จึงอาจแสวงหาผักฟืนอันเป็นงานหนักถึงเพียงนี้ได้ ก็เมื่อกายแก่ชราล่วงกาลนานไปถอยกำลังลงก็ดี หรือเมื่อมีพยาธิความเจ็บไข้มาเบียดเบียนกายให้พิการลงแล้วก็ดี เราจักมีความสามารถประกอบการงานอันหนักอย่างที่กำลังกระทำอยู่ทุกวันนี้ได้ หรือ จำเราจะคิดขยับขยายหนทางประกอบอาชีพเสียใหม่ เข้าไปหานายสำเภานั่นแล้ว ของานทำเพื่อนำค่าจ้างมาเลี้ยงดูมารดา เช่นนี้น่าจะเป็นการดี"

Wisdom:
ครั้งคิดดังนั้นแล้ว จึงผันผายเข้าไปหาพ่อค้าใหญ่นายสำเภา แล้วกล่าวขึ้นว่า

"ข้าแต่นาย! กาลบัดนี้ ข้าพเจ้าถึงซึ่งความยากจนเข็ญใจนัก จึงเซซังมาสู่สำนักท่านด้วยหวังใจว่า ถ้าท่านอนุเคราะห์ข้าพเจ้าได้ ข้าพเจ้าก็จักขอทำงานอยู่กับท่านด้วยความซื่อสัตย์สุจริตต่อไป"

ฝ่ายนายเรือสำเภาผู้ใหญ่ ครั้นได้ฟังวาจาของมาณพหนุ่มมาอ้อนวอนของงานทำเช่นนั้น ก็พลังให้เกิดความสงสาร กอปรทั้งได้เห็นรูปร่างของมาณพหนุ่มดูอุดมไพบูลย์ไปด้วยกำลังกาย อาจทำงานต่างๆ ได้โดยง่าย จึงตกลงใจอนุเคราะห์เร่งรับคำโดยเร็วว่า

"เออ...พ่อนี่ร่างกายดี ทั้งมีปัญญาพูดจาก็คมสันสมควรอยู่ มาเถิดเราจักรับอนุเคราะห์จะต้องการค่าจ้างเท่าไร เราจักให้ตามต้องการ อีกทั้งเสบียงอาหาร เมื่อต้องการก็จงเอาไปก่อนเถิด เราจะรับเลี้ยงเจ้าไปตราบเท่าวันมรณะ เจ้าอย่างได้คิดรังเกียจเลย"

มาณพหนุ่มคนเข็ญใจ เมื่อได้รับความอนุเคราะห์เช่นนั้นก็มีจิตยินดีนักหนา กล่าวคำอำลาแล้วเดินนึกสรรเสริญคุณของนายเรือสำเภาพ่อค้าใหญ่ไปพลาง จนมาถึงร่มไทรที่พักเพื่อจะนำผักและฟืนไปขายเสียก่อน ก็กลับวิตกไปอีกว่า

"หากเราจะไปต่างประเทศกับพวกพ่อค้าพานิชในเรือสำเภา มารดาเราอยู่ข้างหลังใครจักอภิบาลบำรุงเลี้ยงดูเล่า เรานี้น่าจะเป็นคนคิดผิดเสียในครั้งนี้กระมังหนอ แต่จะอย่างไรก็ตาม จำเราจะต้องไต่ถามบอกความแก่มารดาดูเสียก่อน แล้วจึงจะค่อยผ่อนผันตามสมควรในภายหลัง"

คิดดังนี้แล้ว ก็ยกภาระอันหนักนั้นขึ้นใส่บ่าไปขาย ได้มูลค่าแล้วก็จับจ่ายภัตตาหารกลับมาสู่เรือน ประกอบสรรพกิจที่เคยทำมา ครั้นมารดาบริโภคอาหารเสร็จเรียบร้อยแล้ว จึงเข้าไปกราบกรานเล่าเรื่องที่ตนคิดจะไปทำงานกับพวากพานิชยังต่างประเทศให้ ฟัง

ฝ่ายชนนีของมาณพหนุ่มนั้น ครั้นได้ฟังวาจาของปิยบุตรสุดที่รักบอกว่าจักใคร่ไปทำงานเพื่อความก้าวหน้า จะกล่าวห้ามปรามเสียก็ไม่สมควร จึงกล่าวว่า

"ดูกร พ่อผู้ปิยบุตร! ทุกวันนี้ชีวิตของแม่ย่อมเนื่องอยู่กับเจ้าผู้เป็นลูกรัก เพราะฉะนั้น เจ้าจะไปที่ไหนก็จงไปตามใจเถิด แต่ว่าขอให้แม่นี้ได้ไปกับเจ้า ได้อยู่ใกล้ๆ เจ้าเสมอไปก็แล้วกัน"

มาณพหนุ่มได้ฟังดังนี้ ก็มีความยินดีกึ่งวิตก จึงรีบลามารดาไปที่ท่าเรือสำเภา เข้าไปหานายพานิชผู้ใจดีแล้วแจ้งความว่า

"ข้าแต่ท่านผู้มีจิตกรุณา! บัดนี้การที่ข้าพเจ้าจะทำงานในเรือไปกับท่านยังต่างประเทศนั้น ข้าพเจ้าจะไปแต่ตัวคนเดียวหาได้ไม่ ถ้าท่านมีความกรุณา ขอจงอนุญาตให้ข้าพเจ้าพามารดาไปด้วยเถิด แท้จริงมารดาของข้าพเจ้านั้น เป็นคนชราอนาถาหาที่พึ่งมิได้ บุตรธิดาคณาญาติผู้ใดใครผู้หนึ่งนอกจากข้าพเจ้าแล้ว ที่จะบำรุงอุปัฏฐากเป็นไม่มีเลย ข้าพเจ้าจึงไม่อาจสละละทิ้งมารดาไว้แต่เดียวดายได้"

ฝ่ายนายสำเภาได้ฟัง ก็ยิ่งมีจิตกรุณาหนักหนา จึงตอบเป็นมธุรวาทีว่า
"ดูกรพ่อผู้เจริญ! เออ...พ่อนี้ก็เป็นคนมีกตัญญูรู้คุณอุตส่าห์ชุบเลี้ยงมารดาอยู่ด้วยหรือ เออ ดีแล้ว จงพามารดาไปด้วยเถิด เราจะรับอุปการะทั้งสิ้นโดยสุจริตใจ เพราะรักใคร่ในน้ำใจจริงๆ อย่าวิตกกังวลไปเลย"

มาณพก็มีจิตโสมนัสยินดี อัญชลีกรกล่าวขอบคุณนายพานิชแล้วรีบมายังเรือนของตน แจ้งความแก่มารดาให้ทราบแล้ว ก็เลือกเก็บทรัพย์สมบัติอันไม่ค่อยจะมีค่านัก ราบรวมได้ห่อหนึ่งแล้ว จึงพามารดาของตนสู่สำนักนายสำเภา ครั้นได้เวลาเรือออกจากท่าจะไปยังต่างประเทศแล้ว นายสำเภาผู้มีใจกรุณาก็มอบหมายหน้าที่ให้นายมาณพหนุ่มนั้นทำตามกำลังความ สามารถ มาณพนั้นมิได้ประมาทอุตสาหะประกอบกิจทุกประการเป็นอันดี

เมื่อเรือสำเภาแล่นไปในมหาสมุทรทะเลใหญ่ ประมาณได้ ๗ วันสำเภานั้นต้องลมพายุใหญ่เหลือกำลัง ก็เลยถึงซึ่งความอัปปาง ทำลายจมลงในท้องมหาสมุทร บรรดามนุษย์พานิชนิกรทั้งหลายรวมทั้งนายสำเภาผู้ใจดี ก็สิ้นชีวิตถึงแก่มรณาเป็นภักษาแห่งเต่าปลาทั้งหลายในมหาสมุทรนั้น

ฝ่ายมาณพหนุ่ม เมื่อพบประสพการณ์อันร้ายแรงเช่นนั้น ก็ตั้งสติมั่นคงจัดแจงแต่งตัวให้ทะมัดทะแมงเป็นอันดี พอได้ทีก็โลดโผนโจนออกไปจากเรือที่กำลังอับปาง เพื่อรักษาชีวิตแห่งตนไว้ ครั้นแล้วรำลึกได้ถึงมารดาจึงเหลียวหลังกลับมาแลดู ก็บังเอิญให้เห็นมารดายังไม่ตาย ยังเหนี่ยวต้นไม้หักห้อยตัวอยู่จึงดีใจนักหนา ว่ายน้ำกลับมารับมารดาให้นั่งเหนือคอของตนแล้วก็พาว่ายน้ำไปในมหาสมุทร แม้ว่าจะแลเห็นมหาสมุทรอันกว้างใหญ่สุดวิสัยไม่เห็นฟากฝั่งจะข้ามไปให้รอด ชีวิตได้ ถึงกระนั้นก็มิได้มีใจย่อท้อถอยความเพียรเสีย แม้จะเพลียแสนเพลียเหน็ดเหนื่อยนักหนา ก็สู้อุตสาหะอดทนต่อต้านทานกำลังน้ำเชี่ยวเค็มเต็มไปด้วยคลื่น ดัวยน้ำใจเด็ดเดี่ยวมากไปด้วยความพยายามอดทนเป็นยิ่งนัก เพื่อที่จักนำมารดาไปใด้รอดชีวิตให้จงได้

กล่าวฝ่ายท้าวสุทธาวาสมหาพรหมอนาคามี ซึ่งสถิตอยู่ ณ ชั้นอกนิฏฐภพพรหมโลกโพ้น เพื่อคอยแลเล็งเพ่งดูหมู่สัตว์ประสงค์จะเลือดคัดจัดสรรผู้มีหฤทัยองอาจเต็ม ไปด้วยความอุตสาหะใหญ่ใจกล้าสามารถที่จะกระทำพุทธการกธรรมได้ คราวนั้น ครั้นทอดทัศนาลงมาเห็นมาณพผู้กำลังแบกมารดาว่ายน้ำอยู่ในมหาสมุทร จึงดำริว่า "โอ... บุรุษนี้เป็นมหาบุรุษโดยแท้ ดูรึ...ไม่เอื้อเฟื้อย่นย่อต่อมหาสมุทรอันลึกซึ้งกว้างไกล สู้อดทนพยายามว่ายน้ำ เพื่อพามารดาให้ข้ามพ้นบรรลุถึงฝั่ง ก็บุคคลผู้มีใจพยายามมั่นคงเต็มไปด้วยอุตสาหะใหญ่เห็นปานนี้ จึงควรนับว่าเป็นผู้สามารถเพื่อที่จะบำเพ็ญพุทธการกธรรมให้สำเร็จลุล่วงไป ได้" เมื่อท้าวมหาพรหมผู้วิเศษคำนึงฉะนี้แล้ว ก็เข้าดลจิตให้มาณพหนุ่มนั้นนึกปณิธานปรารถนาซึ่งพระพุทธภูมิ

เวลานั้น มาณพหนุ่มผู้ซึ่งมีน้ำใจเด็ดเดี่ยวอดทนเป็นมหาบุรุษ เมื่อแบกมารดาว่ายอยู่ในหมู่คลื่นอันมีกำลังกล้า ซัดซ่ามาปะทะประหารจึงให้เกิดอาการอ่อนเพลียเหน็ดเหนือยนักหนา ก็จมลงไปในมหาสมุทรหน่อยหนึ่งแล้วก็โผล่ขึ้นมาอีก ในเวลานาทีอันเลวร้ายใกล้มรณะ ด้วยเดชอำนาจแห่งน้ำหฤทัยที่ท้าวมหาพรหมผู้วิเศษให้นึกนั้น ก็บังเกิดความคิดขึ้นมาว่า
"ถ้าตัวเราถึง แก่ชีวิตพินาศขาดสูญลงไปในท้องมหาสมุทรทะเลใหญ่พร้อมกับมารดา ณ กาลบัดนี้ ขอกุศลที่เราแบกมารดาว่ายน้ำในมหาสมุทรมาด้วยความเหน็ดเหนื่อยนักหนานี้ จงเป็นปัจจัยให้ถึงซึ่งพระโพธิญาณ ขอเราพึงอาจนำสัตว์ทั้งหลายที่เวียนว่ายในวัฏสงสารให้ข้ามพ้นลุถึงฝั่งโน้น คืออมตมหานิพพาน"
ครั้นคิดดังนี้แล้ว มาณพหนุ่มนั้นก็ตั้งปณิธานซ้ำลงไปอีกว่า
"เมื่อ เราเปลื้องตนออกพ้นจากวัฏสงสารแล้ว ขอเราพึงนำสัตว์ทั้งหลายให้เปลื้องตนพ้นวัฏสงสารด้วยเถิด อนึ่งเมื่อเราข้ามจากวัฏสงสารได้แล้ว ขอให้เราพึงนำสัตว์ทั้งหลาย ข้ามพ้นจากวัฏสงสารได้ด้วยเถิด"
เมื่อนึกปณิธาน ดังนี้แก้ว ก็ให้เกิดอัศจรรย์ พละกำลังที่จวนจะหมดสิ้น ก็พลันเกิดมีขึ้นมาอีกด้วยกำลังแห่งพรหมอนุเคราะห์ มาณพหนุ่มนั้นจึงอุตสาหะแบกมารดาว่ายน้ำข้ามมหาสมุทร สองสามวันก็บรรลุถึงฝั่ง พอพามารดาขึ้นถึงฝั่งได้แล้ว ก็เข้าไปอาศัยบ้านแห่งหนึ่งอยู่ ทำงานเลี้ยงชีวิตด้วยความยากจนสืบไป ครั้นถึงแก่กาลกิริยาสิ้นชีวิต กุศลก็ส่งให้ได้ขึ้นไปอุบัติเกิดในสวรรคสุคติภูมิ

ชีวประวัติของมาณพหนุ่มเข็ญใจนี้ แสดงให้เห็นถึงความปรารถนาดั้งเดิมเริ่มแรก เพื่อต้องการพระพุทธภูมิ ขององค์สมเด็จพระสรรเพชญมิ่งมงกุฏศรีศากยมุนีโคดม บรมครูเจ้าแห่งเราทั้งหลาย คือพระองค์เริ่มตั้งปณิธานความปรารถนาเป็นครั้งแรก ตั้งแต่ปางเมื่อเสวยพระชาติเป็นมาณพหนุ่มแบกมารดาว่ายข้ามมหาสมุทรตามที่ เล่ามานี้ แล้วต่อจากนั้น พระองค์ท่านก็มีหฤทัยมั่นคง ตั้งความปรารถนาในทุกๆ ชาติที่เกิดเรื่อยมาไม่เปลี่ยนแปลง ก็เป็นอันแสดงว่า พระองค์ทรงเริ่มเป็นพระโพธิสัตว์ตั้งแต่ครั้งนั้นเป็นต้นมา เพราะทรงปรารถนาพระพุทธภูมิหรือพุทธภาวะซึ่งเป็นคุณอันยิ่งใหญ่แล้ว ฉะนั้น ต่อแต่นี้ไป จะเรียกคำแทนชื่อพระองค์ว่า พระโพธิสัตว์ ในพระชาติต่างๆ ที่จะนำมาเล่าให้ฟัง อนึ่งขอแจ้งให้ทราบล่วงหน้าไว้ เสียก่อนว่า พระชาติต่างๆ ทีจะนำมาเล่าต่อไปนี้เป็นส่วนเล็กน้อยที่พระองค์เกิดเท่านั้น อย่าพลันเข้าใจว่าพระองค์เกิดเพียงไม่กี่ชาติเท่าที่เล่ามานี้เป็นอันขาด ความ จริง พระองค์เกิดเป็นพระโพธิสัตว์สร้างพระบารมีมากมายจนนับพระชาติไม่ถ้วน ไม่สามารถจะประมวลมาให้สิ้นสุดลงได้ จะยกย่องเอาแต่บางพระชาติมาเล่าไว้ในที่นี้เท่านั้น เมื่อได้ทำความเข้าใจเป็นอันดีเช่นนี้แล้ว ก็จะขอเล่าเรื่องการสร้างพระบารมีของสมเด็จพระชินสีห์สัมมาสัมพุทธเจ้าต่อไป

สัตตุตาปะราชา


หลังจากที่ได้ตั้งปรารถนาพระพุทธภูมิ ในพระชาติที่เป็นมาณพผู้ยากจนเข็ญใจเป็นประเดิมเริ่มแรกแล้ว พระโพธิสัตว์เจ้าก็ท่องเที่ยวเสวยสุขอยู่ ณ สวรรค์เทวโลกอยู่นานแสนนานแล้วจึงจุติจากเทวโลกลงมาบังเกิดในขัตติยตระกูล ณ พระนครที่ปรากฎนามว่า สิริบดีนคร เมื่อพระชนมพรรษาทรงเจริญแล้ว สมเด็จพระชนกธิราชก็เสด็จทิวงคตล่วงลับไป พระองค์จึงได้เสวยมไหศูรยสมบัติ ทรงพระนามว่า สมเด็จพระเจ้าสัตตุตาปนราธิราช มีพระบรมเดชานุภาพเป็นอันมาก ทรงปกครองไพร่ฟ้าประชาชนโดยทศพิธราชธรรม ก็สมเด็จพระบรมโพธิสัตว์เจ้านั้น ทรงมีพระหฤทัยรักใคร่ในหัตถีพาหนะคือช้างเป็นอย่างยิ่ง พระองค์ได้ทรงสดับว่ามีมงคลคชสารอยู่ ณ ประเทศที่ใดแล้ว ก็ทรงพระอุตสาหะเสด็จไปประทับแรมอยู่ ณ ประเทศนั้น จนกว่าจะจับมงคลคชสารได้ จึงจะเสด็จกลับนำมาสู่พระนคร แล้วทรงมอบให้นายหัตถาจารย์ผู้วิเศษชำนาญเวทย์ฝึกสอนต่อไป

สมัยนั้น ที่แขวงเมืองสิรบดี มีพรานไพรพเนจรผู้หนึ่ง ซึ่งเป็นคนเจนจัดสันทัดเที่ยวไปในทางเถื่อนทุรประเทศ วันหนึ่ง เขาสัญจรไปในอรัญราวป่าเพื่อแสวงหาเนื้อ แต่มิได้ประสบพบพานหมู่มฤคแลฟานโดยที่สุด แม้แต่สัตว์เดียรฉานสักตัวเดียวพอที่จะล่าได้ ก็ไม่อาจกลับบ้านได้ด้วยมือเปล่าตามวิสัยพราน จึงลดเลี้ยวเที่ยวไปในป่าลึก จนล่วงหนทางที่ท่องเที่ยวไปของมนุษย์ ก็บังเอิญไปพบมงคลคชสารสีเสวตผู้ผ่องพรรณงามด้วยงวงงาปรากฎขาวราวขนทราย จามรี ท่องเที่ยวอยู่ที่ถิ่นสถานสระโบกขรณีแห่งหนึ่ง แล้วจึงคิดรำพึงว่า

"แต่อาตมาเที่ยวป่ามาช้านาน นับเดือนและปีก็ได้มากแล้ว ยังไม่เคยพบมงคลหัตถ์เช่นนี้เลย ก็คราวนี้ตั้งแต่ออกจากบ้านมา เราไม่ได้ประสบเนื้อถึกมฤคี แม้แต่หมีเม่น กระต่าย ฟานทราย นกกระทา ตัวใดตัวหนึ่งก็ไม่ได้พบพาน จึงได้ล่วงดงกันดารมาถึงสถานที่นี้ บุตรภริยาเราก็ไม่ได้สิ่งใดเลี้ยงชีวิต อย่ากระนั้นเลย เราจะนำเอาข่าวพญาคชสารสีเสวตนี้เข้าไปเป็นบรรณการกราบทูลให้สมเด็จพระเจ้า อยู่หัวของเราทรงทราบ น่าที่จะได้ทรัพย์ข้าวของรางวัลสืบชีวิตได้"

ครั้นคิดสำเร็จตกลงใจดังนี้แล้ว ตะแกก็ตั้งจิตกำหนดแนวพนารัญสิขรินทรบรรพตให้ถนัดแน่ แล้วก็กลับมาในเมืองเข้าไปหยุดอยู่แทบพระทวารพระราชวังแล้ว จึงบอกความนั้นให้ท่านข้างในนำไปกราบทูลสมเด็จพระบรมกษัตริย์ เพื่อทราบเนื้อความ ครั้นสมเด็จพระเจ้าสัตตุตาปะบรมโพธิสัตว์ทรงทราบความแล้ว ก็พระราชทานทรัพย์เป็นราวัลแก่พรานไพรเป็นอันมาก แล้วมีรับสั่งให้ตระเตรียมพลพาหนะเสด็จออกจากพระนคร ให้พรานนั้นเป็นมรรคนายกนำทาง เสด็จมาตามระหว่างเขาไม้ไพรพนมโดยลำดับ จนบรรลุถึงประเทศที่นั้น

ครั้นได้ทอดพระเนครเห็นมงคลคชสาร ก็ทรงโสมนัสดำรัสส่งให้แวดล้อมด้วยคชพาหนะคชาะารเป็นอันมาก ก็ทรงจับพญาคชสารนั้นได้โดยไม่ยาก แล้วนำมาพระนครดำรัสสั่งให้นายหัตถาจารย์ผู้ฝึกช้างเข้ามา เมื่อพระราชทานรางวัลแล้วจึงมีราชโองการว่า

"ดูกร พ่อหัตถาจารย์! ในระหว่างกาล ๗-๘ วันนี้ ท่านจงเร่งฝึกสอนมงคลคชสารที่เราจับมาจากป่าให้มีมารยาทเป็นอันดี เราจะเล่นนักขัตฤกษ์มหรสพด้วยมงคลหัตถีสีเสวตอันประเสริฐตัวนี้"

ฝ่ายนายหัตถาจารย์ รับพระราชโองการแล้วก็เข้าทำการฝึกสอนคชสารให้สำเหนียกโดยให้โอสถ และให้หญ้าเป็นอาหารเพราะความที่ตนเป็นผู้ชำนาญในการฝึกช้างเป็นอย่างเยี่ยม ทั้งรอบรู้ในคชวิชาเป็นอย่างดี ต่อมาไม่ช้าล่วงมาได้ ๓ วันพญาคชสารประเสริฐตัวนั้นเป็นอันถูกฝึกสอนทรมานเป็นอันดีแล้ว จึงนำมาถวายไดตามกำหนด ครั้นพอถึงวันนักขัตฤกษ์ สมเด็จพระบรมกษัตริย์จึงสั่งให้ประดับมงคลคชสารนั้น ด้วยมงคลหัศดาภรณ์พิเศษ ซึ่งล้วนแล้วด้วยแก้วแลทองกุก่องตระการเสร็จแล้ว ก็เสด็จทรงมงคลคชสารนั้นออกด้วยจตุรงนิกรเสนาโยคะมหาราชบริวารเป็นอิสสริยยศ ใหญ่ยิ่ง เพื่อจะทรงเล่นนักขัตฤกษ์ แล้วก็เลยเสด็จทำประทักษิณพระนคร คือเลียบเมืองเป็นที่พระสำราญพระราชหฤทัย

ก็ในเวลาราตรีที่ล่วงหน้า ได้มีฝูงช้างโขลงทั้งหลายมาแต่ราวป่าเข้าลุยเล่นในสวนพระราชอุทยาน ไล่หักรานพรรณพฤกษาที่ทรงผลพวงผกาบุบผาชาติใหญ่น้อยทั้งสิ้นให้แหลกย่อยยับ แล้ว มิหนำซ้ำยังถ่ายมูตกรีสลงไว้ในที่นั้นเกลื่อนกลาดแล้วก็พากันหลีกไป ครั้นเวลารุ่งสางสว่างกาล นายอุทยานบาลเห็นอุทยายยับอยู่เช่นนั้น จึงด่วนพลันนำเอาเนื้อความเข้าไปเพื่อจะกราบทูล ในขณะที่สมเด็จพระบรมกษัตริย์เสด็จกลับจากประทักษิณพระนคร เมื่อถึงที่เฝ้าแล้ว ก็ยอกรประณมบังคมทูลว่า

"ข้าแต่พระองค์! เมื่อเวลารัตติกาลนี้มีฝูงช้างโขลงมาแต่ไพร บุกเข้ามาลุยไล่หักรานพรรณพฤกษาในพระราชอุทยานแหลกเหลวสิ้นแล้วพระเจ้าข้า"

สมเด็จพระบรมกษัตริย์ได้ทรงสดับเช่นนั้น ก็ตรัสสั่งให้เดินขบวนด่วย เสด็จออกไปเพื่อจะทรงทอดพระเนครพระราชอุทยาน ครั้นถึงแล้วก็ทรงเที่ยวทอดพระเนตรดูไปจนทั่ว ในขณะนั้น พญามงคลคชาธารพระที่นั่งทรงตัวประเสริฐก็บังเอิญได้สูดดมกลิ่นแห่งนางพัง ช้างตัวเมียทั้งหลาย ซึ่งมีกลิ่นติดอยู่ในที่นั้นๆ ก็เกิดความเมามัวขึ้นมาภายในด้วยอำนาจราคะดำกฤษณาให้เกิดความเสียวกระสัน จึงสลัดกายให้นายควาญท้ายตกลงแล้ว ก็คลุ้มคลั่งแทงสถานกำแพงอุทยานทะลายลง แล้วก็ลุแล่นไปไม่หยุดยั้ง สมเด็จพระบรมกษัตริย์จึงทรงพระแสงขอคอเกี่ยวเหนี่ยวไว้ด้วยพละกำลัง ก็มิสามารถจะให้พญาคสารนั้นหมดความบ้าคลั่ง และรู้สึกตัวกลัวเจ็บได้ พญามงคลคชสารตัวใหญ่จึงพาพระองค์สละจาตุรงค์นิกายน้อยใหญ่ทั้งปวงไปโดยเร็ว ครั้นแล่นเข้ามาถึงอรัญราวไพรแล้ว พระองค์ได้เสวยความลำบากบอบช้ำระกำพระองค์ แต่ก็จำต้องทรงพระทรมานมากับพญาหัตถี ทรงหมดพระปัญญาที่จะหยุดยั้งไว้ได้ ครั้นยิ่งแล่นไปนานนักหนา สมเด็จพระราชก็ให้เกิดมีอันเป็นทรงพระมึนงง มิอาจที่จะทรงกำหนดทิศานุทิศได้ จึงทรงวินิจนึกในพระหฤทัยว่า "ถ้าเราจักไม่ปล่อยพญาช้างที่กำลังบ้าคลั่งตัวนี้เสียแล้ว เกลือกว่าไปประสบได้ประสานสัปยุทธกับช้างอื่นก็น่าที่จะทำให้อาตมาแตกกาย ทำลายชีวิตเสียเป็นแน่แท้ อย่ากระนั้นเลย จำเราจะสละพญาหัตถีนี้เสียก่อนเถิด" มีพระสติดังนี้แล้ว จึงทอดพระเนตรสังเกตดูหมู่ไพรริมทางจร ครั้นถึงไม้อุทุมพรคือมะเดื่อใหญ่ต้นหนึ่ง มีกิ่งทิ้งทอดห้อยลง พระองค์จึงโน้มพระกายขึ้นเกาะบนกิ่งไม้อุทุมพรนั้นได้ แล้วปล่อยให้พญาหัตถีวิ่งเตลิดไปตามเรื่อง ส่วนพระองค์ทรงนั่งบนกิ่งไม้ให้ทรงหิวกระหายนักหนา จึงทรงเสวยผลมะเดื่อนั้นไปพลาง

ข้างฝ่ายพวกพลนิกาย ก็มีใจเป็นห่วงสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวของตนยิ่งนัก จึงพากันเร่งรีบตามรอยช้าง ส่วงทางมาได้ไกลนักหนาจนเข้ามาถึงป่าใหญ่ ครั้นยังไม่พบพระบรมกษัตริย์ ก็กระทำอุโฆษประสานศัพท์สำเนียงบันลือลั่นสนั่นมา สมเด็จพระราชาได้ทรงสดับ จึงทรงอุโฆษร้องรับ พวกพลนิกายได้ยินพระสุรเสียงก็พากันเข้าไปถึง จึงเห็นสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวสถิตอยู่บนคบไม้มะเดื่อ ก็เชิญเสด็จรับพระองค์ลงมาจากคบพฤกษาแล้ว ก็ประโคมดุริยดนตรีเชิญองค์บรมนราธิบดีเสด็จกลับสู่พระนคร ครั้นประทับแท่นสีห์อาสน์อันประเสริฐแล้ว จึงดำรัสสั่งให้หานายหัตถาจารย์เข้ามาเฝ้า แล้วตรัสถามว่า

"ดูกร นายหัตถาจารย์ผู้เจริญ! ตัวท่านนี้มีความผิด ด้วยประสงค์จะใคร่ฆ่าเราเสียมิใช่หรือ?"

นายหัตถาจารย์ผู้ฝึกช้าง จึงกลับทูลสนองพระราชปุจฉาว่า
"ข้าแต่พระราชาผู้เป็นใหญ่! เหตุไฉน พระองค์จึงดำรัสเหนือเกล้ากับข้าพระพุทธเจ้าฉะนี้ ก็พญามงคลราชหัตถีนั้น เกล้ากระหม่อมก็ได้ฝึกสอนด้วยดีเป็นอย่างยิ่งแล้ว พระเจ้าข้า"

"ก็...เหตุใด พญาช้างจึงอาละวาดวิ่งพาเราเข้าป่าไปให้ได้รับความลำบากแทบล้อมประดาตาย เป็นการสนุกอยู่เมื่อไหร่?" พระราชาทรงถามด้วยความขุ่นพระทัย

"พระเจ้าข้า" นายหัตถาจารย์ทูลตอบ "ซึ่งพญาหัตถีให้มีอันเป็นวิปริตไปเช่นนี้นั้น เป็นเพราะอำนาจความเร่าร้อนแห่งราคะกิเลส แม้ได้สมความต้องการของตนแล้ว ก็คงจะกลับมาดอก พระเจ้าข้า" เขาทูลอธิบายด้วยความเชี่ยวชาญมั่นใจในวิทยาการ

"เออ...ดีแล้ว" พระราชายังไม่หายขุ่นพระทัย "ถ้ากระนั้น จงยับยั้งอยู่ก่อน กว่ามงคลกุญชรนั้นจะกลับมา ถ้าพญามงคลหัตถีกลับมาก็เป็นบุญวาสนาของเจ้า ถ้าแม้นมิได้กลับมา ชีวิตของเจ้าก็จักมิได้มี" ดำรัสฉะนี้แล้ว ก็รับสั่งให้คุมตัวนายหัตถาจารย์ผู้วิเศษนั้นไว้ให้มั่นคง เพื่อรอการลงพระราชอาญา หากว่าพญามงคลหัตถีไม่กลับมาตามคำ

ส่วนพญามงคลหัตถีตัวประเสริฐนั้น ครั้นวิ่งคลุ้มคลั่งไปด้วยอำนาจราคะดำกฤษณาไปทันนางช้างเถื่อนในไพร สำเร็จมโนรถประสงค์ของตนแล้ว ก็รีบกลับมาในเมืองเข้าไปในที่ตนอยู่ เมื่อเวลาปัจจุสมัยใกล้รุ่ง นายหัตถาจารย์ก็ตื่นขึ้นเห็นมงคลคชสารยืนอยู่ในโรงแล้ว รุ่งเช้าจึงเข้าไปเฝ้ากราบทูลแต่สมเด็จพระราชา พระองค์ก็ทรงพระโสมนัสปรีดาหายโกรธเคือง รีบเสด็จลงมาจากปราสาทโดยด่วน ถึงโรงมงคลคชาธารทอดพระเนตรเห็นมงคลคชสารสีเสวต จึงเสด็จเข้าไปใกล้ ยกพระกรขึ้นปรามาสลูบคลำท้องและงาพญาช้างแล้ว จึงมีพระดำรัสว่า

"เออ...ก็มงคลราชหัตถี ท่านสามารถฝึกสอนให้รู้ดีถึงเพียงนี้แล้ว เหตุไฉน เมื่อยามแล่นไปในวันนั้น เรากดเกี่ยวเหนี่ยวไว้โดยแรงด้วยพระแสงขออันคมยิ่ง ยังไม่สามารถที่จะห้ามได้ มันเป็นเพราะเหตุใดหนอ พ่อหัตถาจารย์?"

"พระเจ้าข้า เหตุไฉน พระองค์จึงตรัสดังนี้เล่า" ท่านอาจารย์ช้างผู้ขมังเวทย์ได้ทีจึงรับทูลตอบ "ขึ้นชื่อว่าราคะดำกฤษณานี้ ย่อมมีคมเฉียบแหลมยิ่ง เกินกว่าคมแห่งพระแสงขอนั้นไปร้อยพันทวี อนึ่ง ถ้าจะว่าช้างร้อนเล่า ขึ้นชื่อว่าร้อนแห่งเพลิงคือราคะดำกฤษณานี้ ย่อมร้อนรุ่มอยู่ในทรวงของสัตว์บุคคลอย่างเหลือร้อน ยิ่งกว่าร้อนแห่งเพลิงตามปกติเป็นไหนๆ ...อนึ่ง ถ้าจะว่าไปข้างเป็นพิษเล่า ขึ้นชื่อว่าพิษคือราคะดำกฤษณานี้ ย่อมมีพิษซึมซาบฉุนเฉียวเรี่ยวแรงรวดเร็วยิ่งเกินกว่าพิษแห่งจตุรภิธภุชงค์ คือพิษพระยานาคทั้งสี่ชาติ สี่ตระกูลเป็นไหนๆ เพราะเหตุนั้น ฝ่าละอองธุลีพระบาท จึงไม่อาจเพื่อจะเที่ยวกดพญามงคลราชหัตถี ซึ่งแล่นได้ด้วยแรงแห่งราคะดำกฤษณานั้น ให้หยุดยั้งด้วยกำลังพระแสงขอได้ พระเจ้าข้า" นายหัตถาจารย์ผู้เชี่ยวชาญพูดอธิบายอย่างยืดยาว

"เออ...ก็ไฉนพญาคชสารนี้ จึงกลับมาโดยลำพังใจตนเอง?" พระเจ้าอยู่หัวทรงถามขึ้น หลังจากที่ทรงนิ่งฟังท่านอาจารย์ช้างอธิบายอยู่ นายหัตถาจารย์จึงทูลตอบว่า

"พระเจ้าข้า ข้อซึ่งพญาช้างไปแล้วและกลับมานั้น ใช่ว่าจะมาโดยใจตนก็หาไม่ โดยที่แท้ กลับมาด้วยกำลังอำนาจมนตรามหาโอสถของข้าพระพุทธเจ้า"
ได้ทรงสดับดังนั้น พระองค์จึงดำรัสว่า "ถ้ากระนั้น ท่านจงแสดงกำลังมนต์และโอสถให้เราเห็นสักหน่อยเถิดเป็นไร"

นายหัตถาจารย์ผู้เรืองเวทย์ รับพระราชโองการแล้ว หวังจักสำแดงอำนาจมนต์ของตนให้ประจักษ์แก่สายตาชาวพระนคร จึงสั่งให้บริวารไปนำเอาก้อนเหล็กก้อนใหญ่มา แล้วให้ช่างทอเอาใส่เตาสูบ เผาด้วยเพลิงให้ก้อนเหล็กนั้นสุกแดงแล้ว จึงเอาคีมหยิบออกจากเตา เรียกพญาช้างเข้ามาแล้วก็ร่ายมนต์มหาโอสถประเสริฐ พลางบังคับให้คชสารจับเอาก้อนเหล็กแดงนั้นด้วยคำกำชับสั่งว่า "ดูกร พญานาคินทร์ผู้ประเสริฐ! ตัวท่านจงหยิบเอาก้อนเหล็กนั้นในกาลบัดนี้ แม้นเรายังไม่ได้บอกให้วาง ท่านจงอย่าได้วางเลยเป็นอันขาด"

พญาคชสารตัวทรงพลัง ครั้นได้ฟังคำนายหัตถาจารย์สั่งบังคับ ก็ยื่นงวงมาจ้องจับเอาก้อนเหล็กซึ่งลุกเป็นไฟ แม้วาจะร้อนงวงเหลือหลาย จนงวงไหม้ลุกเป็นเปลวควันขึ้นก็ดี ก็ไม่อาจจะทิ้งก้อนเหล็กนั้นเสียได้" ด้วยกลัวต่อกำลังมนตราของนายหัตถาจารย์นั้นเป็นกำลัง สมเด็จพระบรมกษัตริย์ทอดพระเนตรเห็นงวงคชสารถูกเพลิงไหม้อยู่เช่นนั้น ก็ทรงเกรงพญาช้างจะถึงแก่กาลมรณะ จึงดำรัสสั่งให้นายหัตถาจารย์ บอกให้พญาช้างสารทิ้งก้อนเหล็กนั้นเสียแล้ว ทรงหวนคิดถึงราคะดำกฤษณาของพญาช้างที่ยืนอยู่ตรงพระพักตร์ พร้อมกับคำชักอุปมาอธิบายของนายหัตถาจารย์เมื่อครู่นี้ ทรงรำพึงไป ก็ยิ่งทรงสังเวชในพระราชหฤทัยแสนทวี จึงทรงเปล่งออกซึ่งสังเวชาวาทีว่า

"โอหนอ...น่าสมเพชนักหนา ด้วยฝูงสัตว์มาติดต้องข้องข้ดอยู่ด้วย ราคะดำกฤษณะอันมีพิษพิลึกน่าสพึงกลัวร้ายกาจยิ่งนัก ราคะคือความกำหนัดนี้ย่อมมีอาทีนวโทษเป็นอันมาก ก็เพราะเพลิงราคะมีกำลังหยาบช้ากล้าแข็ง ร้อนรุ่มสุมทรวงสัตว์ทั้งหลายอยู่อย่างนี้ สัตว์ทั้งหลายจึงต้องถูกราคะกิเลสย่ำยีบีฑา นำทุกข์มาทุ่มถมให้จมอยู่ในอู่แอ่งอ่าวโลกโอฆสงสาร ไม่มีวันสิ้นสุดลงได้เพราะราคะกิเลสนี่แล สัตว์ทั้งหลายจึงต้องไปตกนรกหมกไหม้อยู่ในมหานรกทั้งแปดขุม และสัตว์ทั้งหลายบางหมู่ต้องไปเกิดอยู่ในอุสสทนรกบริวารมีประมาณร้อยยี่สิบ แปดขุม อนึ่งเพราะอาศัยราคะกิเลสนี้ สัตว์ทั้งหลายจึงต้องทนทุกขเวทนาอยู่ในเปติวิสัยภูมิ และสัตว์ทั้งหลายบางหมู่ต้องไปเกิดอยู่ในกำเนิดเดียรฉาน สัตว์ทั้งหลายที่ต้องบ่ายหน้าไปสู่อบายภูมิ ก็เพราะอาศัยราคะดำกฤษณาเป็นประการสำคัญ ฉะนั้นจึงน่าสมเพชนัก"

ครั้นทรงแสดงสังเวชวาทีฉะนี้แล้ว สมเด็จพระบรมกษัตริย์หน่อพระพุทธากูร จึงตรัสแสดงอาทีนวโทษแห่งราคะดำกฤษณาต่อไปว่า

"บรรดาสัตว์ทั้งหลายในโลกสันนิวาสนี้ เพราะอาศัยราคะดำกฤษณาย่อมเบียดเบียนบีฑาซึ่งกันและกัน เป็นต้นว่า

บิดาย่อมเบียดเบียนบุตร บางทีฆ่าเสียก็มี
บุตรย่อมเบียดเบียนบิดา บางทีฆ่าเสียก็มี
บิดาย่อมเบียดเบียนธิดาตน เพราะร้อนรนด้วยราคะกฤษณาก็มี

อนึ่ง  ฝูงสัตว์ในโลกสันนิวาสนี้เพราะร้อนด้วยราคะย่อมเบียดเบียนซึ่งกันและกัน เป็นต้นว่า

บุตรย่อมเบียดเบียนชนนี บางทีฆ่าเสียก็มี
ชนนีย่อมเบียดเบียนบุตร บางทีฆ่าเสียก็มี
บางทีพี่ชายมุ่งหมายปองร้าย ราวีตีรันฟันฆ่าน้องชายของตนให้ตายก็มี
บางมีพี่หญิงย่อมบีฑาฆ่าน้องสาว ที่สืบกษิรมารดาเดียวกันมาก็มี
บางทีหลานสาวบีฑาลุงตัวให้ตายก็มี
บางทีลุงลุ่มหลงลงทัณฑกรรมบีฑาหลานสาวตนเองก็มี
บางทีภัสดาย่อมบีฑาโบยรันฟันแทงภริยาตน ให้ถึงตายก็มี
บางทีภริยาบีพ่าฆ่าตีสามีตน ให้ถึงตายก็มี

สัตว์ทั้งหลายเห็นเช่นนี้เพราะอาศัยความร้อนแห่งพลังราคะดำกฤษณามาบีฑาให้ ระทมตรมทุกข์ ถึงซึ่งความพินาศนานาประการ แม้แต่บุตรธิดา มารดาบิดา และภรรยาสามีที่แสนรักนักหนาแล้ว ยังเบียดเบียนบีฑากันเพราะอำนาจราคะกิเลสเป็นมูลฐานมากกว่ามากสุดประมาณ

อีกประการหนึ่ง ฝูงสัตว์ในโลกสันนิวาสนี้ เพราะอาศัยอำนาจราคะดำกฤษณา บางคราย่อมจ่ายทรัพย์สินไปในทางไร้ประโยชน์ บางทีย่อมเสื่อมจากยศและเกียรติคุณ บางทีย่อมประกอบกรรมทำสิ่งที่เป็นโทษ บางทีย่อมทำความสุขให้เสื่อมสิ้นทุกเมื่อและให้ใจเชือนเบือนเบื่อจากกุศล ห้ามทางข้างฝ่ายสุคติภพ บางทีให้ลุอำนาจแก่ความโลภและความโกรธ และให้เจริญโทษทุกภพทุกชาติที่เกิด ให้ถือกำเนิดในอบายภูมิทั้งสี่เพียงเท่านี้ก็หาไม่ ฝูงสัตว์ทั้งหลายในโลกสันนิวาสนี้ เพราะอาศัยอำนาจราคะดำกฤษณา บางคราย่อมทำตนให้พินาศจากศีลสมาทาน บางกาลย่อมทำตนให้เสื่อมจากเานภาวนาสมาธิจิตเป็นนิจกาล ก็อันว่าความอากูลด้วยราคะกิเลส ย่อมเป็นเหตุให้เกิดอาทีนวโทษให้เสวยทุกข์มากกว่ามาก และเป็นเหตุให้สัตว์ทั้งหลายต้องเศร้าหมองมีประการต่างๆ อย่างพรรณนามาฉะนี้

นำร่อง

[0] ดัชนีข้อความ

[#] หน้าถัดไป

[*] หน้าที่แล้ว

Go to full version