เว็บพุทธภูมิ: พุทธภูมิ พระโพธิสัตว์ การบำเพ็ญบารมี



ผู้เขียน หัวข้อ: ประวัติ หลวงปู่ทวด เเละ หลวงปู่ดู่ พรหมปัญโญ  (อ่าน 13599 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 5 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ Webmaster

  • Administrator
  • สมาชิก
  • *****
  • กระทู้: 404
    • ดูรายละเอียด


ประวัติหลวงปู่ทวด

หลวงปู่ทวดเป็นบุคคลที่มีตัวตนจริงๆ เรื่องราวต่อไปนี้ คุณเมธา พรพิพัฒน์ไพศาลศิษย์ของหลวงปู่ดู่ วัดสะแกท่านหนึ่ง ได้เรียบเรียงจากหนังสืออ้างอิงหลายเล่ม ทั้งที่เป็นตำนาน จารึกหลักฐานทางประวัติศาสตร์ หนังสือและเอกสารต่าง ๆ มากมาย

ทารกอัศจรรย์

เมื่อประมาณสี่ร้อยปีที่ผ่านมาในตอนปลายรัชสมัยของพระมหาธรรมราชา แห่งกรุงศรีอยุธยา ณ หมู่บ้านสวนจันทร์ ตำบลชุมพล เมืองจะทิ้งพระ ตรงกับวันศุกร์ เดือนสี่ ปีมะโรง พุทธศักราช 2125 ได้มีทารกเพศชายผู้หนึ่งถือกำเนิดจากครอบครัวเล็ก ๆ ฐานะยากจน แร้นแค้นแต่มีจิตอันเป็นกุศล ชอบทำบุญสุนทานยึดมั่นในศีลธรรมอันดี ปราศจากการเบียดเบียนมนุษย์และสัตว์ทั้งหลาย
ทารกน้อยผู้นี้มีนามว่า “ปู” เป็นบุตรของนายหู นางจันทร์ ในขณะเยาว์วัย ทารกผู้นั้นยังความอัศจรรย์ให้แก่บิดามารดาตลอดจนญาติพี่น้องทั้งหลาย ด้วยอยู่มาวันหนึ่งมีงูตระบองสลาตัวใหญ่มาขดพันอยู่รอบเปลที่ทารกน้อยนอนหลับอยู่ และงูใหญ่ตัวนั้นไม่ยอมให้ใครเข้ามาใกล้เปลที่ทารกน้อยนอนอยู่เลย
จนกระทั่งบิดามารดาของเด็กเกิดความสงสัยว่า พญางูตัวนั้นน่าจะเทพยดาแปลงมาเพื่อให้เป็นอัศจรรย์ในบารมีของลูกเราเป็นแน่แท้ จึงรีบหาข้าวตอกดอกไม้และธูปเทียนมาบูชาสักการะ งูใหญ่จึงคลายลำตัวออกจากเปลน้อย เลื้อยหายไป
ต่อมาเมื่อพญางูจากไปแล้ว บิดามารดารวมทั้งญาติต่างพากันมาที่เปลด้วยความห่วงใยทารก ก็ปรากฏว่าเด็กชายปูยังคงนอนหลับอยู่เป็นปกติ แต่เหนืออกของทารกกลับมีลูกแก้วดวงหนึ่งมีแสงรุ่งเรืองเป็นรัศมีหลากสี ตาหู นางจันทร์จึงเก็บรักษาไว้ นับแต่บัดนั้นฐานะความเป็นอยู่ การทำมาหากินก็เจริญรุ่งเรืองขึ้นเป็นลำดับ เป็นอยู่อย่างสุขสบายตลอดมา

สามีราโม

เมื่อการล่วงมานานจนเด็กชายปูอายุได้เจ็ดขวบ บิดาได้นำไปฝากสมภารจวง วัดกุฎีหลวง (วัดดีหลวง) เพื่อให้เล่าเรียนหนังสือ เด็กชายปูมีความเฉลียวฉลาดมาก สามารถเรียนหนังสือขอมและไทยได้อย่างรวดเร็ว ครั้นอายุได้ 15 ปี ก็บรรพชาเป็นสามเณรและบิดาได้มอบแก้ววิเศษไว้เป็นของประจำตัว ต่อมาสามเณรปูได้ไปศึกษาต่อกับสมเด็จพระชินเสน ที่วัดสีหยัง (สีคูยัง) ครั้นอายุครบอุปสมบทจึงได้เดินทางไปศึกษาต่อที่นครศรีธรรมราช ณ สำนักพระมหาเถระปิยทัสสี ได้ทำการอุปสมบท มีฉายาว่า “ราโม ธมฺมิโก” แต่คนทั่วไปเรียกท่านว่า “เจ้าสามีราม” หรือ “เจ้าสามีราโม”
เจ้าสามีรามได้ศึกษาอยู่ที่วัดท่าแพ วัดสีมาเมือง และวัดอื่น ๆ อีกหลายวัด เมื่อเห็นว่าการศึกษาที่นครศรีธรรมราชเพียงพอแล้ว จึงขอโดยสารเรือสำเภาเดินทางไปกรุงศรีอยุธยา ขณะเดินทางถึงเมืองชุมพร เกิดคลื่นทะเลปั่นป่วน เรือไม่สามารถแล่นฝ่าคลื่นลมไปได้ต้องทอดสมออยู่ถึงเจ็ดวัน ทำให้เสบียงอาหารและน้ำหมด บรรดาลูกเรือตั้งข้อสงสัยว่าการที่เกิดเหตุอาเพศในครั้งนี้เพราะเจ้าสามีราม จึงตกลงใจให้ส่งเจ้าสามีรามขึ้นเกาะและได้นิมนต์ให้เจ้าสามีรามลงเรือมาด ขณะที่นั่งอยู่ในเรือมาดนั้น ท่านได้ห้อยเท้าแช่ลงไปในทะเลก็บังเกิดอัศจรรย์น้ำทะเลบริเวณนั้นเป็นประกายแวววาวโชติช่วง เจ้าสามีรามจึงบอกให้ลูกเรือตักน้ำขึ้นมาดื่มก็รู้สึกว่าเป็นน้ำจืด จึงช่วยกันตักไว้จนเพียงพอ นายสำเภาจึงนิมนต์ให้ท่านขึ้นสำเภาอีก และตั้งแต่นั้นมาเจ้าสามีรามก็เป็นชีต้นหรืออาจารย์สืบมา
เมื่อถึงกรุงศรีอยุธยา ก็ได้ไปพำนักอยู่ที่วัดแค ศึกษาธรรมะที่วัดลุมพลีนาวาส ต่อมาได้ไปพำนักอยู่ที่วัดของสมเด็จพระสังฆราช ได้ศึกษาธรรมและภาษาบาลี ณ ที่นั้นจนเชี่ยวชาญจึงทูลลาสมเด็จพระสังฆราชไปจำพรรษที่วัดราชานุวาส เมื่อประมาณ พ.ศ. 2149 ตรงกับรัชสมัยของสมเด็จพระเอกาทศรถ

รบด้วยปัญญา

กระทั่งวันหนึ่งถึงกาลเวลาที่ชื่อเสียงของหลวงพ่อทวดหรือเจ้าสามีรามจะระบือลือลั่นไปทั่วกรุงสยาม จึงได้มีเหตุพิสดารอุบัติขึ้นในรัชสมัยของพระเอกาทศรถ กล่าวคือ
ครั้งนั้นพระเจ้าวัฏฏะคามินี แห่งประเทศศรีลังกา ซึ่งเคยเป็นเมืองขึ้นของอาณาจักรแหลมทองทางภาคใต้ คิดแก้มือด้วยการท้าพนันแปลธรรมะ และต้องการจะแผ่พระบรมเดชานุภาพมาทางแหลมทอง ใคร่จะได้กรุงศรีอยุธยามาเป็นประเทศราช แต่พระองค์ไม่ปรารถนาจะให้เกิดศึกสงครามเสียชีวิตแก่ประชาชนทั้งสองฝ่าย จึงทรงวางแผนการเมืองด้วยสันติวิธี คิดหาทางรวบรัดเอากรุงศรีอยุธยาเป็นเมืองขึ้นด้วยสติปัญญาเป็นสำคัญ
เมื่อคิดได้ดังนั้น พระเจ้ากรุงลังกาจึงมีพระบรมราชโองการสั่งให้พนักงานท้อง พระคลังเบิกจ่ายทองคำบริสุทธิ์ แล้วให้ช่างทองประจำราชสำนักไปหล่อทองคำเหล่านั้นให้เป็นตัวอักษรบาลีเล็กเท่าใบมะขาม จำนวน 84,000 ตัวเท่าจำนวนพระธรรมขันธ์ จากนั้นก็ทรงรับสั่งให้พราหมณ์ผู้เฒ่าอันมีฐานะเทียบเท่าปุโรหิตจำนวนเจ็ดท่านคุมเรือสำเภาเจ็ดลำบรรทุกเสื้อผ้าแพรพรรณและของมีค่าออกเดินทางมายังกรุงศรีอยุธยาพร้อมกับปริศนาธรรมของพระองค์
เมื่อพราหมณ์ทั้งเจ็ดเดินทางลุล่วงมาถึงกรุงสยามแล้วก็เข้าเฝ้าถวายพระราช สาส์นของกษัตริย์แห่งตนแก่พระเจ้าเอกาทศรถ ใจความในพระราชสาส์น มีว่า
“พระเจ้ากรุงลังกาขอท้าให้พระเจ้ากรุงสยามทรงแปลและเรียบเรียงเมล็ดทองคำตามลำดับให้เสร็จภายในกำหนดเจ็ดวัดนับแต่วันที่ได้รับพระราชสาส์นเป็นต้นไป ถ้าทรงกระทำไม่สำเร็จตามสัญญาก็จะยึดกรุงศรีอยุธยาให้อยู่ใต้พระบรมเดชานุภาพของพระองค์และทางกรุงสยามจะต้องส่งดอกไม้เงินดอกไม้ทองอีกทั้งเครื่องราชบรรณาการแก่กรุงลังกาตลอดไปทุก ๆ ปีเยี่ยงประเทศราชทั้งหลาย”

พระสุบินนิมิต

เมื่อพระเอกาทศรถทรงทราบความดังนั้นจึงมีพระบรมราชโองการให้สังฆการีเขียนประกาศนิมนต์พระราชาคณะและพระเถระทั่วพระมหานคร ให้กระทำหน้าที่เรียบเรียงและแปลตัวอักษรทองคำในครั้งนี้ แต่ก็ไม่มีท่านผู้ใดสามารถเรียบเรียงและแปลอักษรทองคำในครั้งนี้ได้ จนกาลเวลาลุล่วงผ่านไปได้หกวัน ยังความปริวิตกแก่พระองค์และไพร่ฟ้าประชาชนต่างพากันโจษขานถึงเรื่องนี้ให้อื้ออึงไปหมด
ครั้นราตรีกาลยามหนึ่งที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเข้าพระบรรทมทรงสุบินว่า ได้มีพระยาช้างเผือกลักษณะบริบูรณ์เฉกเช่นพระยาคชสารเชือกหนึ่ง ผายผันมาจากทางทิศตะวันตก เยื้องย่างเข้ามาในพระราชนิเวศน์แล้วก้าวเข้าไปยืนผงาดตระหง่านบนพระแท่นพลางเปล่งเสียงโกญจนาทกึกก้องไปทั่วทั้งสี่ทิศ เสียงที่โกญจนาทด้วยอำนาจของพระยาคชสารเชือกนั้นยังให้พระองค์ทรงสะดุ้งตื่นจากพระบรรทม

รุ่งเช้าเมื่อพระองค์เสด็จออกว่าราชการ ได้ทรงรับสั่งถึงพระสุบินนิมิตประหลาดให้โหรหลวงฟังและได้รับการถวายบังคมทูลว่า เรื่องนี้หมายถึงชัยชนะที่ยิ่งใหญ่ของพระองค์และพระบรมเดชานุภาพจะแผ่ไพศาลไปทั่วสารทิศเป็นที่เกรงขามแก่อริราชทั้งปวง ทั้งจะมีพระภิกษุหนุ่มรูปหนึ่งจากทางทิศตะวันตก มาช่วยขันอาสาแปลและเรียบเรียงตัวอักษรทองคำปริศนาได้สำเร็จ
พระเจ้าอยู่หัวได้ฟังดังนั้นจึงค่อนเบาพระทัย และรับสั่งให้ข้าราชบริพารทั้งมวลออกตามหาพระภิกษุรูปนั้นทันที

อักษรเจ็ดตัว

ต่อมาสังฆการีได้พยายามเสาะแสวงหาจนไปพบ “เจ้าสามีราม” ที่วัดราชานุวาส และเมื่อได้ไต่ถามได้ความว่าท่านมาจากเมืองตะลุง (พัทลุงในปัจจุบัน) เพื่อศึกษาพระธรรมวินัย สังฆการี จึงเล่าความตามเป็นจริงให้เจ้าสามีรามฟังทั้งได้อ้างตอนท้ายว่า “เห็นจะมีท่านองค์เดียวที่ตรงกับพระสุบินของพระเจ้าอยู่หัว จึงใคร่ขอนิมนต์ให้ไปช่วยแก้ไขในเรื่องร้ายดังกล่าวให้กลายเป็นดี ด้วยเถิด พระคุณท่าน”
ครั้นแล้วเจ้าสามีรามก็ตามสังฆการีไปยังที่ประชุมสงฆ์ ณ ท้องพระโรง พระเจ้าอยู่หัวทรงมีรับสั่งให้พนักงานปูพรมให้ท่านนั่งในที่อันควร พราหมณ์ทั้งเจ็ดได้กล่าวประมาทเจ้าสามีราม ว่า เอาเด็กสอนคลานมาให้แก้ปริศนา เจ้าสามีรามก็แก้คำพราหมณ์ว่า กุมารเมื่อออกมาแต่ครรภ์มารดา กี่เดือนกี่วันจึงรู้คว่ำ กี่เดือนกี่วันจึงรู้นั่ง กี่เดือนกี่วันจึงรู้คลาน จะว่ารู้คว่ำแก่ หรือจะว่ารู้นั่งแก่ หรือจะว่ารู้คลานแก่ ทำไมจึงว่าเราจะแก้ปริศนาธรรมมิได้ พราหมณ์ก็นิ่งไปไม่สามารถตอบคำถามได้ จากนั้นจึงรีบนำบาตรใส่อักษรทองคำเข้าไปประเคนแก่เจ้าสามีราม
ท่านรับประเคนมาจากมือพราหมณ์แล้วนั่งสงบจิต อธิษฐานว่า “ขออำนาจแห่งคุณพระรัตนตรัย บิดามารดา อำนาจแห่งบุญกุศลที่ได้สร้างสมบำเพ็ญมาและอำนาจแห่งเทพยดาที่รักษาพระนครตลอดถึงเทวาอารักษ์ศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลาย ครั้งนี้อาตมาจะแปลพระธรรมช่วยกู้บ้านกู้เมือง ขอให้ช่วยดลบันดาลจิตใจให้สว่างแจ้งขจัดอุปสรรคที่จะมาขัดขวาง ขอให้แปลพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า สำเร็จสมปรารถนาเถิด”
ครั้นแล้วท่านก็คว่ำบาตรเทอักษรทองคำ เริ่มแปลปริศนาธรรมทันที ด้วยอำนาจบุญบารมีกฤษดาภินิหารของท่านที่ได้จุติลงมาเป็นพระโพธิสัตว์โปรดสัตว์ในพระพุทธศาสนา กอปรกับโชคชะตาของประเทศชาติที่จะไม่สูญเสียอธิปไตย เดชะบุญญาบารมีในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ตลอดจนเทพยดาทั้งหลาย จึงดลบันดาลให้ท่านเรียบเรียงและแปลอักษรจากเมล็ดทองคำ 84,000 ตัว เป็นลำดับโดยสะดวก ไม่ติดขัดประการใดเลย
ขณะที่ท่านเรียบเรียงและแปลอักษรไปได้มากแล้ว ปรากฏว่าเมล็ดทองคำตัวอักษรขาดหายไปเจ็ดตัวคือตัว สัง วิ ธา ปุ กะ ยะ ปะ ท่านจึงทวงถามเอาที่พราหมณ์ทั้งเจ็ด พราหมณ์ทั้งเจ็ดก็ยอมจำนน จึงประเคนเมล็ดทองคำที่ตนซ่อนไว้นั้นให้ท่านแต่โดยดี ปรากฏว่าท่านแปลพระไตรปิฎกจากเมล็ดทองคำสำเร็จบริบูรณ์ เป็นการชนะพราหมณ์ในเวลาเย็นของวันนั้น
บัดนั้น เสี่ยงปี่พาทย์ที่เงียบกริบมาถึงหกวันเต็ม ๆ ก็พลันประโคมสนั่นหวั่นไหว เพื่อเฉลิมฉลองชัยที่พระภิกษุแห่งกรุงสยาม สามารถตีความปริศนาธรรมที่ส่งมาจากกรุงลังกาได้สำเร็จ ทั้งสามารถดำรงอธิปไตยของชาติไว้ได้โดยสมบูรณ์ในวาระนั้น


พระราชมุนี

สมเด็จพระเอกาทศรถทรงพระโสมนัสยินดีเป็นที่ยิ่ง ทรงมีรับสั่งถวายราชสมบัติให้แก่เจ้าสามีรามให้ครอง 7 วัน แต่ท่านก็มิได้รับโดยให้เหตุผลว่าท่านเป็นสมณะ พระองค์ก็จน พระทัยแต่พระประสงค์อันแรงกล้าที่จะสนองคุณความดีความชอบอันยิ่งใหญ่ให้แก่ท่านในครั้งนี้ จึงพระราชทานสมณศักดิ์ให้เจ้าสามีรามเป็น “พระราชมุนีสามีรามคุณูปมาจารย์”
พระราชมุนีสามีรามคุณูปมาจารย์หรือหลวงพ่อทวดได้ไปจำพรรษาอยู่ ณ วัดราชานุวาส ศึกษาและปฏิบัติธรรมอยู่เป็นเวลาหลายปี

โรคห่าเหือดหาย
ต่อจากนั้น กรุงศรีอยุธยาเกิดโรคห่าระบาดไปทั่วเมือง ประชาราษฎรล้มป่วยเจ็บตายลงเป็นอันมาก ประชาชนพลเมืองเดือดร้อนเป็นยิ่งนัก สมัยนั้นหยูกยาก็หายาก นิยมรักษาด้วยอำนาจคุณพระ และ ยาสมุนไพร
พระเจ้าอยู่หัวทรงพระวิตกกังวลมากเพราะไม่มีวิธีใดจะช่วยรักษาและป้องกันโรคนี้ได้ ทรงระลึกถึงพระราชมุนีฯ มีรับสั่งให้อำมาตย์ไปนิมนต์ท่านเข้าเฝ้า ท่านจึงได้ช่วยโดยรำลึกถึงคุณพระศรีรัตนตรัยและลูกแก้ววิเศษ ทำน้ำพระพุทธมนต์ประพรมแก่ประชาชนทั่วทั้งพระนคร โรคห่าก็หายไปด้วยอำนาจคุณบารมีแห่งท่าน ทำให้พระเจ้าอยู่หัวทรงเลื่อนสมณศักดิ์ท่านขึ้นเป็นพระสังฆราช มีนามว่า “พระสังฆราชคุรูปาจารย์” และทรงพอพระราชหฤทัยในองค์ท่านเป็นอย่างยิ่ง ถึงกับทรงมีรับสั่งว่า “หากสมเด็จเจ้าฯ ประสงค์สิ่งใด หรือ จะบูรณะวัดวาอารามใด ๆ ข้าพเจ้าจะอุปถัมภ์ทุกประการ”


กลับสู่ถิ่นฐาน

ครั้นกาลเวลาล่วงไปหลายปี สมเด็จเจ้าฯ ได้เข้าเฝ้าถวายพระพรทูลลาเพื่อกลับภูมิลำเนาเดิม พระองค์ทรงอาลัยมาก ไม่กล้าทัดทาน เพียงแต่ตรัสว่า “สมเด็จอย่าละทิ้งโยม” แล้วเสด็จมาส่งสมเด็จเจ้าฯ จนสิ้นเขตพระนครศรีอยุธยา
ขณะที่ท่านรุกขมูลธุดงค์ สมเด็จเจ้าฯ ได้เผยแผ่ธรรมะไปด้วยตามเส้นทาง ผ่านที่ไหนมีผู้เจ็บป่วยก็ทำการรักษาให้ ตามทางที่ท่านเดินพักแรมที่ใดนั้น ที่นั่นก็เกิดเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ ประชาชนในถิ่นนั้นก็ได้ทำการเคารพสักการบูชามาถึงบัดนี้ เช่นที่ บ้านโกฏิ อำเภอปากพนัง ที่หัวลำภูใหญ่ อำเภอหัวไทร และอีกหลายแห่ง


สมเด็จเจ้าพะโคะ

ต่อจากนั้น ท่านก็ได้ธุดงค์ไปจนถึงวัดพัทธสิงห์บรรพตพะโคะ อันเป็นจุดหมายปลายทาง ประชาชนต่างชื่นชมยินดีแซ่ซ้องสาธุการต้อนรับท่านเป็นการใหญ่ และได้พร้อมกันถวายนามท่านว่า “สมเด็จเจ้าพะโคะ” และเรียกชื่อวัดพัทธสิงห์บรรพตตะโคะว่า “วัดพะโคะ” มาจนบัดนี้ สมเด็จเจ้าฯ เห็นวัดพะโคะเสื่อมโทรมลงมาก มีสภาพเหมือนวัดร้าง สมเด็จเจ้าฯ กับท่านอาจารย์จวง คิดจะบูรณะปฏิสังขรณ์วัดพะโคะ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงโปรดให้นายช่างผู้ชำนาญ 500 คน ทรงพระราชทานสิ่งของต่าง ๆ ที่จำเป็นเพื่อการนี้เป็นจำนวนมาก ใช้เวลาประมาณ 3 ปี จึงแล้วเสร็จ สิ่งสำคัญในวัดพะโคะคือ พระสุวรรณมาลิกเจดีย์ศรีรัตนมหาธาตุ ภายในบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ ซึ่งพระอรหันต์นามว่าพระมหาอโนมทัสสีได้อัญเชิญมาจากประเทศอินเดีย สมเด็จเจ้าฯ ได้จำพรรษาเผยแพร่ธรรมที่วัดพะโคะอยู่หลายพรรษา

เหยียบน้ำทะเลจืด

ขณะที่สมเด็จเจ้าฯ จำพรรษาอยู่ ณ วัดพะโคะ ครั้งนี้คาดคะเนว่า ท่านมีอายุกาลถึง 80 ปีเศษ อยู่มาวันหนึ่งท่านถือไม้เท้าศักดิ์สิทธิ์ประจำตัว ไม้เท้านี้มีลักษณะคดไปมาเป็น 3 คด ชาวบ้านเรียกว่า “ไม้เท้า 3 คด” ท่านออกจากวัดมุ่งหน้าเดินไปยังชายฝั่งทะเล ขณะที่ท่านเดินพักผ่อนรับอากาศทะเลอยู่นั้น ได้มีเรือโจรสลัดจีนแล่นเลียบชายฝั่งมา พวกโจรจีนเห็นท่านเดินอยู่คิดเห็นว่าท่านเป็นคนประหลาดเพราะท่านครองสมณเพศ พวกโจรจึงแวะเรือเทียบฝั่งจับท่านลงเรือไป
เมื่อเรือโจรจีนออกจากฝั่งไม่นาน เหตุอัศจรรย์ก็ปรากฏขึ้นคือ เรือลำนั้นแล่นต่อไปไม่ได้ต้องหยุดนิ่งอยู่กับที่ พวกโจรจีนพยายามแก้ไขจนหมดความสามารถเรือก็ยังไม่เคลื่อน จึงได้จอดเรือนิ่งอยู่ ณ ที่นั้น เป็นเวลาหลายวันหลายคืน ในที่สุดน้ำจืดที่นำมาบริโภคในเรือก็หมดสิ้น จึงขาดน้ำจืดไว้ดื่มและหุงต้มอาหาร พากันเดือดร้อนกระวนกระวายเป็นอย่างมาก สมเด็จเจ้าฯ ท่านเห็นเหตุการณ์ความเดือดร้อนของพวกโจรถึงขั้นที่สุดแล้ว ท่านจึงเหยียบกาบเรือให้ตะแคงต่ำลงแล้วยื่นเท้าเหยียบลงบนผิวน้ำทะเล
เมื่อท่านยกเท้าขึ้นจากน้ำทะเลแล้ว ก็สั่งให้พวกโจรลองตักน้ำตรงนั้นมาดื่มชิมดู พวกโจรจีนแม้จะไม่เชื่อก็จำเป็นต้องลองเพราะไม่มีทางใดจะช่วยตัวเองได้แล้ว แต่ปรากฏว่าน้ำทะเลที่เค็มจัดได้แปรสภาพเป็นน้ำจืด เป็นที่อัศจรรย์ยิ่งนัก พวกโจรจีนได้เห็นประจักษ์ในอภินิหารของท่านเช่นนั้น ก็พากันเคารพยำเกรงและสำนึกผิด จึงได้พากันกราบไหว้ขอขมาโทษแล้วนำท่านล่องเรือส่งกลับขึ้นฝั่งต่อไป
เมื่อสมเด็จเจ้าฯ ขึ้นจากเรือเดินกลับวัด ถึงที่แห่งหนึ่งท่านหยุดพักเหนื่อย ได้เอา “ไม้เท้า 3 คด” พิงไว้กับต้นยางสองต้นอันยืนต้นคู่เคียงกัน ต่อมาต้นยางสองต้นนั้นสูงใหญ่ขึ้น ลำต้นและกิ่งก้านสาขาเปลี่ยนไปจากสภาพเดิมกลับคด ๆ งอ ๆ แบบเดียวกับรูปไม้เท้าทั้งสองต้น ประชาชนในถิ่นนั้นเรียกว่า ต้นยางไม้เท้า ซึ่งเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์แห่งหนึ่ง ปรากฏอยู่จนถึงทุกวันนี้
สมเด็จเจ้าพะโคะหรือหลวงพ่อทวดครองสมณเพศและจำพรรษาอยู่ที่วัดพะโคะ เป็นที่พึ่งของชาวบ้านทั่วไป มีความร่มเย็นเป็นสุข ได้ช่วยบำบัดทุกข์ บำรุงสุข เทศนาสั่งสอนธรรมของพระพุทธองค์ ประดุจร่มโพธิ์ร่มไทรของปวงพุทธศาสนิกชนตลอดมา
สังขารธรรม

หลังจากนั้น ต่อมา สมเด็จเจ้าฯ จากวัดพะโคะเที่ยวจาริกเผยแผ่ธรรมะหลายแห่ง จากหลักฐานทราบว่า ท่านได้ไปพำนักที่เมืองไทรบุรี ชาวบ้านเรียกท่านว่า “ท่านลังกา”
ท่านได้สั่งแก่ศิษย์ว่า หากท่านมรณภาพเมื่อใด ขอให้ช่วยกันจัดการหามศพไปทำการฌาปนกิจ ณ วัดช้างให้ด้วย ขณะหามศพนั้น ณ ที่ใดน้ำเหลืองไหลลงสู่พื้นดิน ที่ตั้งนั้นให้เอาเสาไม้แก่นปักหมายไว้ ต่อไปข้างหน้าจะเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธ์ อยู่มาไม่นาน ท่านก็ได้มรณภาพลงด้วยโรคชรา บรรดาศิษย์ก็อัญเชิญพระศพของท่านไปไว้ที่วัดช้างให้ อ.โคกโพธิ์ จ.ปัตตานี
สถานที่ที่สมเด็จเจ้าฯเคยพำนักอยู่หรือไปมา มีทั้งตามถ้ำและตามวัดต่างๆเช่นวัดกุฎีหลวงวัดสีหยัง วัดเสมาเมืองนครศรีธรรมราชวัดในกรุงศรีอยุธยาวัดพะโคะวัดเกาะใหญ่วัดในไทรบุรีและวัดช้างให้
ปัจฉิมภาค

สมเด็จเจ้าฯ ในฐานะพระโพธิสัตว์ หน่อพุทธภูมิ ผู้ทรงศีลวิสุทธิ์ ทรงธรรมและปัญญาญาณอันล้ำเลิศ กอปรด้วยพระบารมีและอภินิหาร ไม่ว่าท่านจะพำนักอยู่ ณ สถานที่ใด ที่แห่งนั้น จะเป็นศูนย์กลางแห่งพระพุทธศาสนา ไม่ว่าท่านจะจาริกไป ณ ที่ใด ก็จะมีคนกราบไหว้ฟังธรรม หลักการปฏิบัติของท่านเป็นหลักสำคัญของพระโพธิสัตว์ คือ ช่วยเหลือประชาชนและเผยแพร่ธรรมะ ให้ชาวโลกอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข มีความเคารพเลื่อมใสในพระพุทธเจ้า พระธรรมและพระสงฆ์ สมดังคำว่า “พุทธัง ธัมมัง สังฆัง สรณัง คัจฉามิ” ตลอดไป

ออฟไลน์ Webmaster

  • Administrator
  • สมาชิก
  • *****
  • กระทู้: 404
    • ดูรายละเอียด
Re: ประวัติ หลวงปู่ทวด เเละ หลวงปู่ดู่ พรหมปัญโญ
« ตอบกลับ #1 เมื่อ: กุมภาพันธ์ 08, 2013, 11:15:20 AM »

ประวัติและคำสอน ของ หลวงปู่ดู่ วัดสะแกโดยสังเขป

หลวงพ่อพระพรหมปัญโญ มีนามเดิมว่า ดู่ ท่านเกิดในสกุล “หนูสี” เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2447 ตรงกับวันศุกร์ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 ปีมะโรง ซึ่งเป็นวันเพ็ญวิสาขปุรณมี ที่บ้านคลองข้าวเม่า ต.ธนู อ.อุทัย จ.พระนครศรีอยุธยา

การศึกษาในเบื้องต้นท่านได้ศึกษาที่วัดประดู่ทรงธรรม โดยอาศัยอยู่กับพระ ครั้นอายุครบบวช ท่านจึงได้อุปสมบท โดยมีหลวงพ่อกลั่น วัดพระญาติการามเป็นพระอุปัชฌาย์ ท่านจำพรรษาอยู่ที่วัดสะแกตลอดมา และได้เคยออกธุดงค์ 1 ครั้ง โดยเที่ยวรุกขมูลไปตามป่าแถบจังหวัดกาญจนบุรี สุพรรณบุรี และได้ไปนมัสการพระแท่นดงรัง หลังจากนั้นท่านจึงได้กลับมาจำพรรษาอยู่ที่วัดสะแก

เบื้องต้นของการปฏิบัติ ท่านได้ศึกษาจากหลวงพ่อกลั่น โดยใช้คำภาวนาว่า “พุทโธ” นอกจากหลวงพ่อกลั่นแล้ว อาจารย์ของท่านอีกองค์หนึ่งก็คือหลวงพ่อเภา วัดพระญาติการาม ซึ่งมีศักดิ์เป็นอาของท่าน ได้ถ่ายทอดวิชาความรู้ต่าง ๆ ให้ จากนั้นท่านก็ได้ค้นคว้าศึกษาปฏิบัติทางจิตด้วยตนเองภายใต้ร่มผ้ากาสาวพัสตร์ตลอดมา
ในทางปริยัติธรรม ท่านได้ศึกษาตามสถานภาพของวัดจากตำรับตำราที่มีอยู่ จากชาดกบ้าง จากธรรมบทบ้าง ซึ่งท่านมักยกเอาข้อธรรมที่เป็นพุทธประวัติ ธรรมบทหรือชาดกมาเป็นตัวอย่างสั่งสอนศิษย์เสมอ

ในการสอนของท่าน ท่านมักใช้คำแนะนำสั้น ๆ ง่าย ๆ แต่มีความหมายลึกซึ้งโดยเล่าจากประสบการณ์การปฏิบัติของท่านบ้าง จากพุทธประวัติ หรือชาดกต่าง ๆ เรื่องที่ท่านมักยกมาเล่าให้ศิษย์ฟังอยู่บ่อย ๆ คือ เรื่อง กุมารหูตุ้ม
“กุมารหูตุ้มเป็นบุตรพราหมณ์ บิดามารดาเป็นคนร่ำรวยแต่ขี้ตระหนี่มาก เมื่อกุมารหูตุ้มป่วยก็มิได้พาไปรักษา เพียงต้มยาให้ทานเองเท่านั้น จนในที่สุดกุมารหูตุ้มป่วยหนักใกล้จะถึงแก่ความตาย ทุกขเวทนาบีบคั้นมาก จึงนึกถึงพระพุทธองค์ซึ่งเคยได้ยินว่าท่านมีเมตตามาก โดยที่ตัวของกุมารหูตุ้มเองไม่เคยได้เจอ ได้ปฏิบัติ หรือ ได้ทำบุญกับท่านเลย

พระพุทธองค์ทรงทราบด้วยพระญาณอันบริสุทธิ์ และด้วยพระเมตตาธรรมที่เปี่ยมล้นในพระทัย จึงเสด็จดำเนินผ่านมายังบ้านของกุมารหูตุ้มและเปล่งพระฉัพพรรณรังสีอันมีรัศมีรุ่งเรืองสว่างไสว กุมารหูตุ้มได้เห็นแสงสว่างดังนั้น ก็คิดว่าแสงนี้มิใช่แสงพระอาทิตย์ต้องเป็นแสงของพระพุทธเจ้าแน่นอน
เวลานั้นทุกขเวทนาบังเกิดขึ้นมาก กุมารหูตุ้มไม่มีแรงแม้จะยกมือไหว้ คงมีเพียงใจที่เคารพเลื่อมใสเท่านั้น แล้วก็สิ้นใจไปในขณะนั้น อานิสงส์นี้ทำให้ไปบังเกิดเป็นเทพบุตรมีนามว่า “มัฏฑกุณฑลีเทพบุตร” มีวิมานสูงถึง 30 โยชน์ เสวยทิพยสมบัติตราบสิ้นกาลนาน

เพียงการระลึกถึงพระพุทธเจ้า ด้วยความเคารพยังมีอานิสงส์ถึงเพียงนี้ ที่พวกแกปฏิบัติกันบ่อย ๆ ระลึกถึงคุณพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เป็นประจำ จะมีอานิสงส์เพียงไร” นี้เป็นสิ่งที่หลวงพ่อเคยเล่าให้ลูกศิษย์ฟังเพื่อให้เกิดกำลังใจในการปฏิบัติธรรม

ปฏิปทาของหลวงพ่อที่เห็นได้เด่นชัด คือ ท่านมีเมตตาต่อทุก ๆ คน ไม่ว่าผู้ใดมาหาท่าน ท่านจะต้อนรับด้วยเมตตาจิตเสมอ โดยเฉพาะ ผู้ที่สนใจในการปฏิบัติธรรมกรรมฐาน ท่านจะรักและเมตตาเป็นพิเศษ
ท่านเคยเล่าว่า เมื่อแรกเริ่มปฏิบัติ ท่านอยากเด่น อยากดัง ไม่ใช่อยากดี วิชา หลาย ๆ อย่าง รวมทั้งรอยสักที่ปรากฏบนกายของท่านนั้น ล้วนแต่เป็นตอนที่อยากเด่นดังทั้งสิ้น

ต่อมาท่านได้พิจารณาเห็นว่า สิ่งเหล่านี้มิใช่หนทางพ้นทุกข์ เป็นบาป ไม่เป็นกุศล ท่านจึงเลิกและไม่ได้สนใจอีกต่อไป แม้ทำได้เรียนสำเร็จ ท่านก็มิได้ใช้วิชาเหล่านั้นไปในทางที่เสื่อมเสีย คงมุ่งปฏิบัติเพื่อบำเพ็ญบารมี อุทิศชีวิตเพื่อพระศาสนาอย่างแท้จริง

หลวงพ่อได้ละสังขารไปด้วยอาการอันสงบด้วยโรคหัวใจ ในกุฏิของท่าน เมื่อวันอังคารที่ 17 มกราคม พ.ศ. 2533 สิริอายุได้ 85 ปี 8 เดือน 65 พรรษา

หลวงพ่อเคยสอนว่า...

“ความสำเร็จนั้น มิใช่อยู่ที่การอ้อนวอนพระเจ้ามาประทานให้ หากแต่ต้องลงมือทำด้วยตนเอง ถ้าตั้งใจทำตามแบบแล้วทุกอย่างต้องสำเร็จ ไม่ใช่ จะ สำเร็จ พระพุทธเจ้าท่านวางแบบเอาไว้แล้ว ครูบาอาจารย์ทุกองค์มีพระพุทธเจ้าเป็นที่สุด ก็ได้ทำตามแบบ เป็นตัวอย่างให้เราดู อัฐิท่านก็กลายเป็นพระธาตุกันหมด
เมื่อได้ไตร่ตรองพิจารณาให้รอบคอบแล้ว ขอให้ลงมือทำทันที ข้ารับรองว่า ต้องสำเร็จ ส่วนจะช้าหรือเร็วนั้น อยู่ที่ความเพียรของผู้ปฏิบัติ”

บ่อยครั้งที่มีผู้ถามปัญหากับหลวงพ่อ โดยมักจะนำเอาเรื่องราวต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับหน้าที่การงาน สามี ภรรยา ลูกเต้า ญาติ มิตรหรือคนอื่น ๆ มาปรารภให้หลวงพ่อฟังอยู่เสมอ

ครั้งหนึ่งท่านได้ให้คติเตือนใจว่า

“โลกเท่าแผ่นดิน ธรรมเท่าปลายเข็ม”

ซึ่งต่อมาท่านได้ให้ความหมายว่า

“เรื่องโลกมีแต่เรื่องยุ่งของคนอื่นทั้งนั้น ไม่มีที่สิ้นสุด เราไปแก้ไขเขาไม่ได้ ส่วนเรื่องธรรมนั้นมีที่สุด มาจบที่ตัวเรา ให้มาไล่ดูตัวเอง แก้ไขที่ตัวเราเอง ตนของตนเตือนตนด้วยตนเอง

ถ้าคิดสิ่งที่เป็นธรรมแล้ว ต้องกลับเข้ามาหาตัวเอง ถ้าเป็นโลกแล้วจะมีแต่ส่งออกไปข้างนอกตลอดเวลา ธรรมแท้ ๆ ย่อมเกิดจากในตัวเรานี้ ทั้งนั้น”

และ สอนเรื่องการทำบุญ แบบประหยัด ว่า…

“บุญนั้น หมั่นทำเข้าไว้ คนไหนที่เขาทำดีอะไรก็ตาม โมทนาไปเลย ไม่มีเสีย มีแต่ได้ อย่าไปขัดเขา เวลาเดินผ่านไปไหน เห็นดอกไม้เราก็นึกถวายพระ ของอะไรก็ตามนึกถวายพระ ได้บุญทั้งนั้น เวลาจะเปิดไฟ ถ้าอยากได้บุญก็ว่า โอม อัคคีไฟฟ้า พุทธบูชา ธรรมบูชา สังฆบูชา ก็ได้แล้ว”

ส่วน เรื่องวัตถุมงคลของท่านนั้น ท่านยืนยันว่า…

“ข้าว่า ของๆ ข้า ไม่เป็นรองใครในแผ่นดิน อยู่ที่คนนำไปใช้ ว่าถึงหรือเปล่า ถ้าถึงจริงๆ แล้ว ก็ไปนิพพานได้” ( หมายถึง ช่วยเป็นกำลังใจในการปฏิบัติได้เป็นอย่างดี นั่นเอง )

วิดีโอประวัติหลวงปู่ดู่ http://www.youtube.com/watch?v=1dy7uuni6dg