เว็บพุทธภูมิ: พุทธภูมิ พระโพธิสัตว์ การบำเพ็ญบารมี



ผู้เขียน หัวข้อ: พระพุทธรูปพระพุทธเจ้า ๕ พระองค์  (อ่าน 6607 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ Wisdom

  • สมาชิก
  • ***
  • กระทู้: 242
  • ใครจะใหญ่เกินกรรม
    • ดูรายละเอียด
พระพุทธรูปพระพุทธเจ้า ๕ พระองค์
« เมื่อ: พฤศจิกายน 10, 2012, 02:20:51 PM »
ความหมายของคำว่า “พระพุทธรูป”
พระพุทธรูป หมายถึงรูปเหมือนของพระพุทธเจ้า หรือบางทีเรียกว่า “พระพุทธปฏิมา” แปลว่ารูปเปรียบเสมือนพระพุทธเจ้า นั่นก็คือมิใช่รูปเหมือนพระองค์จริงขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า เพราะปฏิมากรหรือจิตรกรผู้สร้างพระพุทธรูปนั้น ไม่มีใครเคยเห็นองค์จริงของพระพุทธเจ้าเลย ประติมากรรมและจิตรกรรมศิลปะในการสร้างพระพุทธรูปเกิดจากจินตนาการ เป็นพระรูปเนรมิตในมโนภาพของผู้สร้างเอง ซึ่งตั้งอยู่บนพื้นฐานประสบการณ์ สภาพแวดล้อม ทั้งเชื้อชาติ ภูมิประเทศ ความรู้ทางด้านศาสนา ศิลปะ วัฒนธรรม ที่มีอยู่เดิมของช่างจะมีอิทธิพลสูง ทำให้พระพุทธรูปของแต่ละชนชาติ แต่ละยุค แต่ละสมัยแตกต่างกันออกไป เช่น พระพุทธรูปของประเทศใดจะมีพุทธลักษณะคล้ายกับชนชาตินั้น พระพุทธรูปของอินเดีย ก็ไม่เหมือนพระพุทธรูปจีนหรือธิเบต หรือเขมร หรือญี่ปุ่น เป็นต้น แม้ของชนชาติเดียวกันแต่ต่างยุคต่างสมัยกัน ก็จะมีพระพุทธลักษณะแตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัด แต่อย่างไรก็ตาม พุทธศาสนิกชนทุกชาติก็ถือว่าพระพุทธรูปเป็นสัญลักษณ์แทนองค์พระพุทธเจ้า เป็นเสมือนพระพุทธเจ้า เป็นสิ่งเคารพสักการะอย่างสูงสุด ผู้ที่พบเห็นได้เคารพสักการะบูชา กราบไหว้ ระลึกถึงองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ระลึกถึงพระธรรม คำสั่งสอนของพระองค์ และพระสงฆ์สาวก ผู้เป็นศาสนทายาท สืบต่ออายุพระพุทธศาสนาของพระองค์ ก่อให้เกิดศรัทธาปสาทะ เลื่อมใสมั่นคงในพระพุทธศาสนาสืบๆไป

พระพุทธรูปพระพุทธเจ้า ๕ พระองค์
พระพุทธรูปพระพุทธเจ้า ๕ พระองค์ หมายถึงพระพุทธรูปพระพุทธเจ้า ๕ พระองค์ที่ตรัสรู้ในภัทรกัปปัจจุบันนี้คือ พระกกุสันธะ พระโกนาคมนะ พระกัสสปะ พระโคตมะ และพระเมตเตยยะ หรือพระศรีอริยเมตไตรย์
ปริศนาธรรมที่แฝงอยู่ในองค์พระพุทธรูป
พระพุทธรูป แม้เป็นประติมากรรมที่สร้างขึ้นจากวัตถุต่างๆ เช่น ทอง เงิน หิน ดิน ปูน หรือสิ่งใดก็ตาม เมื่อสร้างสำเร็จเป็นพระพุทธรูปแล้ว พระพุทธศาสนิกชนเมื่อทำการกราบไหว้สักการะบูชา ก็มิได้กราบไหว้วัสดุที่สร้าง แต่จะเคารพ สักการะ บูชา และปฏิบัติต่อพระพุทธรูปนั้นเหมือนปฏิบัติต่อองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ประดุจพระองค์ยังทรงพระชนม์อยู่ เป็นสิ่งที่เคารพสักการะสูงสุด ฉะนั้น ในการสร้างพระพุทธรูป ช่างผู้สร้างจะต้องบรรจงสร้างให้มีมิติที่สมบูรณ์แบบที่สุด เพื่อให้ตรงกับพระพุทธลักษณะพระมหาบุรุษลักษณะ ๓๒ ประการ และอนุพยัญชนะ คือพระลักษณะปลีกย่อยของพระมหาบุรุษลักษณะอีก ๘๐ ประการด้วย พระพุทธคุณที่มีอยู่ในพระองค์ด้วย อันประกอบด้วยพระปัญญาธิคุณ พระบริสุทธิคุณ และพระมหากรุณาธิคุณ ตลอดจนพุทธคุณ ๙ ประการ คือ อรหันต์ เป็นผู้ปราศจากกิเลส อาสวะทั้งปวง ควรไหว้บูชา สัมมาสัมพุทโธ เป็นตรัสรู้เองโดยชอบ วิชชาจรณสัมปันโน เป็นผู้สมบูรณ์ด้วยวิชชาและจรณะ สุคโต เป็นผู้เสด็จไปดีแล้ว โลกวิทู เป็นผู้ทรงรู้แจ้งโลกทั้งสาม อนุตตโร ปุริสทัมมสารถิ เป็นผู้ฝึกบุคคลที่ควรฝึกทั้งเทวดาและมนุษย์ ไม่มีผู้ยิ่งไปกว่า สัตถา เทวะมนุสสานัง เป็นศาสดาของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย พุทโธ เป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบานแล้ว ภควา เป็นผู้จำแนกธรรม และผู้สร้างต้องเข้าใจในหลักพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธองค์อย่างแท้จริง จนเกิดมโนภาพเนรมิตพระพุทธรูปเพื่อสื่อแทนพระธรรมที่พระองค์ทรงตรัสรู้และสั่งสอนเวไนยสัตว์ให้พ้นทุกข์ด้วย ฉะนั้น พระพุทธรูปจึงเป็นประติมากรรมชั้นเลิศที่บ่งบอกพุทธลักษณะอันเลิศกว่าเทวดาและมนุษย์ของพระพุทธองค์ให้ได้มากที่สุด และใกล้เคียงความจริงมากที่สุด ผสมกลมกลืนเข้ากับพระพุทธคุณในส่วนที่พระองค์มีอยู่จริง ผสมกลมกลืนเข้ากับหลักปรมัตถธรรมที่พระองค์ตรัสรู้ และบ่งบอกถึงพระพุทธองค์ผู้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า หลุดพ้นจากกิเลสอาสวะทั้งปวง พระพุทธรูปจึงแฝงไว้ซึ่งปริศนาธรรมทางพระพุทธศาสนา ทำให้ผู้พบเห็นมีจิตเคารพเลื่อมใสในพระพุทธองค์ กราบไหว้สักการะเคารพรำลึกถึงพระพุทธองค์ พระพุทธคุณ พระธรรมคุณ ซึ่งเป็นคำสอนอันเป็นปรมัตถสัจธรรม เป็นเบื้องต้นในการก่อให้ศรัทธาในพระพุทธศาสนา และส่งผลไปสู่การน้อมนำพระธรรมไปปฏิบัติซึ่งเป็นธัมมานุธัมมะปฏิบัติ คือปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรมตามกำลังของตน เพื่อความหลุดพ้นจากกองทุกข์คือกิเลสอาสวะทั้งปวงต่อไป
มหาบุรุษลักษณะ ๓๒ ประการ
ดังได้กล่าวมาแล้วว่า ช่างผู้สร้างพระพุทธรูปได้รังสรรค์เนรมิตพระพุทธรูป ให้มีพระพุทธลักษณะใกล้เคียงพระพุทธองค์ตามมโนภาพ อุดมคติของตนเอง โดยยึดหลักของมหาบุรุษลักษณะ ๓๒ ประการ และอนุพยัญชนะ พระลักษณะข้อปลีกย่อยของมหาบุรุษลักษณะอีก ๘๐ ประการ ดังนั้นจะเห็นได้ว่า พระพุทธรูปจึงมีพุทธลักษณะไม่เหมือนรูปปั้นประติมากรรมของคนทั่วไป ซึ่งมีนิ้วพระหัตถ์ นิ้วพระบาทยาวเสมอกัน พระขนงมีสัณฐานอันงามดุจคันธนู เป็นต้น อันนี้ก็เนื่องมาจากจินตนาการจากพระลักษณะของพระมหาบุรุษและอนุพยัญชนะนั้นเอง
ในมหาปทานสูตร ทีฆนิกาย มหาวรรค และลักขณสูตร ปาฏิกวรรค พระสุตตันตปิฎก ได้กล่าวถึงมหาบุรุษลักษณะของพระพุทธองค์ไว้ ๓๒ ประการ คือ
๑. สุปติฏฺฐิตปาโท มีฝ่าพระบาทราบเสมอกัน ๒. เหฎฺฐาปาทตเลสุ จกฺกานิ ชาตานิ ลายพื้นพระบาทเป็นจักร ๓. อายตปณฺหิ มีส้นพระบาทยาว (ถ้าแบ่ง ๔. พระชงฆ์ตั้งอยู่ในส่วนที่ ๓) ๔. ทีฆงฺคุลิ มีนิ้วยาวเรียว (หมายถึงนิ้วพระหัตถ์และพระบาทด้วย) ๕. มุทุตลนหตฺถปาโท ฝ่าพระหัตถ์และฝ่าพระบาทอ่อนนุ่ม ๖. ชาลหตฺถปาโท ฝ่าพระหัตถ์และฝ่าพระบาทมีลายดุจตาข่าย ๗. อุสฺสงฺขปาโท มีพระบาทเหมือนสังข์คว่ำ อัฐิข้อพระบาทตั้งลอยอยู่หลังพระบาท กลับกลอกได้คล่อง เมื่อทรงดำเนินผิดกว่าสามัญชน ๘. เอณิชงฺโฆ พระชงฆ์เรียวดุจแข้งเนื้อทราย ๙. ฐิตโก ว อโนมมนฺโต อุโภหิ ปาณิตเลหิ ชณฺณุกานิ ปรามสติ เมื่อยืนตรง พระหัตถ์ทั้งสองลูบจับถึงพระชานุ ๑๐. โกโสหิตวตฺถคุยฺโห มีพระคุยหะเร้นอยู่ในฝัก ๑๑. สุวณฺณวณฺโณ มีฉวีวรรณดุจสีทอง ๑๒. สุขุมจฺฉวิ พระฉวีละเอียด ธุลีละอองไม่ติดพระกาย ๑๓. เอเกกโลโม มีเส้นพระโลมาเฉพาะขุมละเส้นๆ ๑๔. อุทฺธคฺคโลโม เส้นพระโลมาดำสนิท เวียนเป็นทักษิณาวัฏ มีปลายงอนขึ้นข้างบน ๑๕. พฺรหฺมชุคตฺโต พระกายตั้งตรงดุจท้าวมหาพรหม ๑๖. สตฺตุสฺสโท มีพระมังสะอูมเต็มในที่ ๗ แห่ง (คือหลังพระหัตถ์ทั้ง ๒ และหลังพระบาททั้ง ๒ พระอังสาทั้ง ๒ กับลำพระศอ) ๑๗. สีหปุพฺพฑฺฒกาโย มีส่วนพระสรีรกายบริบูรณ์ (ล่ำพี) ดุจกึ่งท่อนหน้าแห่งพญาราชสีห์ ๑๘. ปีตนฺตรํโส พระปฤษฎางค์ราบเต็มเสมอกัน ๑๙. นิโครธปริมณฺฑโล ส่วนพระกายเป็นปริมณฑล ดุจปริมณฑลแห่งต้นไทร (พระกายสูงเท่ากับวาของพระองค์) ๒๐. สมวฏฺฏกฺขนฺโธ มีลำพระศอกลมงามเสมอตลอด ๒๑. รสคฺคสคฺคี มีเส้นประสาทสำหรับรับรสพระกระยาหารอันดี ๒๒. สีหหนุ มีพระหนุดุจคางแห่งราชสีห์ (โค้งเหมือนวงพระจันทร์) ๒๓. จตฺตาฬีสทนฺโต มีพระทนต์ ๔๐ ซี่ (ข้างละ ๒๐ ซี่) ๒๔. สนทนฺโต พระทนต์เรียบเสมอกัน ๒๕. อวิวรทนฺโต พระทนต์เรียบสนิทมิได้ห่าง ๒๖. สุสุกฺกทาโฐ เขี้ยวพระทนต์ทั้ง ๔ ขาวงามบริสุทธิ์ ๒๗. ปหูตชิวฺโห พระชิวหาอ่อนและยาว (อาจแผ่ปกพระนลาฎได้) ๒๘. พฺรหฺมสโร กรวิกภาณี พระสุรเสียงดุจท้าวมหาพรหม ตรัสมีสำเนียงดุจนกการเวก ๒๙. อภินีลเนตฺโต พระเนตรดำสนิท ๓๐. โคปขุโม ดวงพระเนตรแจ่มใสดุจตาลูกโคเพิ่งคลอด ๓๑. อุณฺณา ภมุกนฺตเร ชาตา มีอุณาโลมระหว่างพระโขนง เวียนขวาเป็นทักษิณาวัฏ ๓๒. อุณฺหิสสีโส มีพระเศียรงามบริบูรณ์ดุจประดับด้วยกรอบพระพักตร์
อนุพยัญชนะ ๘๐
อนุพยัญชนะ หมายถึงลักษณะข้อปลีกย่อยหรือส่วนประกอบเสริมของพระมหาบุรุษลักษณะ ซึ่งช่างผู้บรรจงสร้างพุทธปฏิมาจะต้องคำนึงถึงด้วย มี ๘๐ ประการ คือ
๑. มีนิ้วพระหัตถ์และนิ้วพระบาทอันเหลืองงาม ๒. นิ้วพระหัตถ์และนิ้วพระบาทเรียวออกไปโดยลำดับแต่ต้นจนปลาย ๓. นิ้วพระหัตถ์ และนิ้วพระบาทกลมดุจนายช่างกลึงเป็นอันดี ๔. พระนขาทั้ง ๒๐ มีสีอันแดง ๕. พระนขาทั้ง ๒๐ นั้น งอนงามช้อนขึ้นเบื้องบนมิได้ค้อมลงเบื้องต่ำ ดุจเล็บแห่งสามัญชนทั้งปวง ๖. พระนขานั้นมีพรรณอันเกลี้ยงกลมสนิทมิได้เป็นริ้วรอย ๗. ข้อพระหัตถ์และข้อพระบาทซ่อนอยู่ในพระมังสะ มิได้สูงขึ้นปรากฏออกมาภายนอก ๘. พระบาททั้งสองเสมอกันมิได้ย่อมใหญ่กว่ากันมาตรว่าเท่าเมล็ดงา ๙. พระดำเนินงามดุจอาการเดินแห่งกุญชรชาติ ๑๐. พระดำเนินงามดุจสีหราช ๑๑. พระดำเนินงามดุจดำเนินแห่งหงส์ ๑๒. พระดำเนินงามดุจอุสภราชดำเนิน ๑๓. ขณะเมื่อยืนจะย่างดำเนินนั้น ยกพระบาทเบื้องขวาย่างไปก่อน พระกายเยื้องไปข้างเบื้องขวาก่อน ๑๔. พระชานุมณฑลเกลี้ยงกลมงามบริบูรณ์ บ่มิได้เห็นอัฏฐิสะบ้าปรากฏออกมาภายนอก ๑๕. มีบุรุษพยัญชนะบริบูรณ์คือมิได้มีกิริยามารยาทคล้ายสตรี ๑๖. พระนาภีมิได้บกพร่อง กลมงามมิได้วิกลในที่ใดที่หนึ่ง ๑๗. พระอุทรมีสัณฐานอันลึก ๑๘. ภายในพระอุทรมีรอยเวียนเป็นทักขิณาวัฏ ๑๙. ลำพระเพลาทั้งสองกลมงามดุจลำสุวรรณกัททลี ๒๐. ลำพระกรทั้งสองงามดุจงวงแห่งเอราวัณเทพยหัตถี ๒๑. พระอังคาพยพใหญ่น้อยทั้งปวงจำแนกเป็นอันดี คือ งามพร้อมทุกสิ่งหาที่ตำหนิบ่มิได้ ๒๒. พระมังสะที่ควรจะหนาก็หนา ที่ควรจะบางก็บางตามที่ทั่วทั้งพระสรีรกาย ๒๓. พระมังสะมิได้หดหู่ในที่ใดที่หนึ่ง ๒๔. พระสรีรกายทั้งปวงปราศจากต่อมและไฝปาน มูลแมลงวันมิได้มีในที่ใดที่หนึ่ง ๒๕. พระกายงามบริสุทธิ์พร้อมสมกันโดยตามลำดับทั้งเบื้องบนแลเบื้องล่าง ๒๖. พระกายงามบริสุทธิ์พร้อมสิ้นปราศจากมลทินทั้งปวง ๒๗. ทรงพระกำลังมาก เสมอด้วยกำลังแห่งกุญชรชาติ ประมาณถึงพันโกฏิช้าง ถ้าจะประมาณด้วยกำลังบุรุษก็ได้ถึงแสนโกฏิบุรุษ ๒๘. มีพระนาสิกอันสูง ๒๙. สัณฐานพระนาสิกงามแฉล้ม ๓๐. มีพระโอษฐ์เบื้องบนเบื้องต่ำมิได้เข้าออกกว่ากัน เสมอเป็นอันดี มีพรรณแดงงามดุจสีผลตำลึงสุก ๓๑. พระทนต์บริสุทธิ์ปราศจากมูลมลทิน ๓๒. พระทนต์ขาวดุจดังสีสังข์ ๓๓. พระทนต์เกลี้ยงสนิทมิได้เป็นริ้วรอย ๓๔. พระอินทรีย์ทั้ง ๕ มีจักขุนทรีย์เป็นอาทิงามบริสุทธิ์ทั้งสิ้น ๓๕. พระเขี้ยวทั้ง ๔ กลมบริบูรณ์ ๓๖. ดวงพระพักตร์มีสัณฐานยาวสวย ๓๗. พระปรางค์ทั้งสองดูเปล่งงามเสมอกัน ๓๘. ลายพระหัตถ์มีรอยอันลึก ๓๙. ลายพระหัตถ์มีรอยอันยาว ๔๐. ลายพระหัตถ์มีรอยอันตรง บ่มิได้ค้อมคด ๔๑. ลายพระหัตถ์มีรอยอันแดงรุ่งเรือง ๔๒. รัศมีพระกายโอภาสเป็นปริมณฑลโดยรอบ ๔๓. กระพุ้งพระปรางค์ทั้งสองเคร่งครัดบริบูรณ์ ๔๔.กระบอกพระเนตรกว้างแลยาวงามพอสมกัน ๔๕. ดวงพระเนตรกอปรด้วยประสาททั้ง ๕ มีขาวเป็นอาทิผ่องใสบริสุทธิ์ทั้งสิ้น ๔๖. ปลายเส้นพระโลมาทั้งหลายมิได้งอมิได้คด ๔๗. พระชิวหามีสัณฐานอันงาม ๔๘. พระชิวหาอ่อนบ่มิได้กระด้าง มีพรรณอันงามแดงเข้ม ๔๙. พระกรรณทั้งสองมีสัณฐานอันยาวดุจกลีบปทุมชาติ ๕๐. ช่องพระกรรณมีสัณฐานอันกลมงาม ๕๑. ระเบียบพระเส้นทั้งปวงนั้นสละสลวยบ่มิได้หดหู่ในที่ใดอันหนึ่ง ๕๒. แถวพระเส้นทั้งหลายซ่อนอยู่ในพระมังสะทั้งสิ้น บ่มิได้เป็นคลื่นฟูขึ้นเหมือนสามัญชนทั้งปวง ๕๓. พระเศียรมีสัณฐานงามเหมือนฉัตรแก้ว ๕๔. ปริมณฑลพระนลาฎโดยกว้างยาวพอสมกัน ๕๕. พระนลาฎมีสัณฐานอันงาม ๕๖. พระโขนงมีสัณฐานอันงามดุจคันธนูอันก่งไว้ ๕๗. พระโลมาที่พระโขนงมีเส้นอันละเอียด ๕๘. เส้นพระโลมาที่พระโขนงงอกขึ้นแล้วล้มราบไปโดยลำดับ ๕๙. พระโขนงนั้นใหญ่ ๖๐. พระโขนงนั้นยาวสุดหางพระเนตร ๖๑. ผิวพระมังสะละเอียดทั่วทั้งพระกาย ๖๒. พระสรีรกายรุ่งเรืองไปด้วยสิริ ๖๓. พระสรีรกายมิได้มัวหมอง ผ่องใสอยู่เป็นนิตย์ ๖๔. พระสรีรกายสดชื่นดุจดวงดอกปทุมชาติ ๖๕. พระสรีรสัมผัสอ่อนนุ่มสนิท บ่มิได้กระด้างทั่วทั้งพระกาย ๖๖. กลิ่นพระกายหอมฟุ้งดุจกลิ่นสุคนธกฤษณา ๖๗. พระโลมามีเส้นเสมอกันทั้งสิ้น ๖๘. พระโลมามีเส้นละเอียดทั่วทั้งพระกาย ๖๙. ลมอัสสาสะปัสสาสะ ลมหายพระทัยเข้าออกก็เดินละเอียด ๗๐. พระโอษฐ์มีสัณฐานอันงามดุจแย้ม ๗๑. กลิ่นพระโอษฐ์หอมดุจกลิ่นอุบล ๗๒. พระเกศาดำเป็นแสง ๗๓. กลิ่นพระเกศาหอมฟุ้งขจรตลบ ๗๔. กลิ่นพระเกศาหอมดุจกลิ่นโกมลบุบผชาติ ๗๕. พระเกศามีสัณฐานเส้นกลมสลวยทุกเส้น ๗๖. พระเกศาดำสนิททั้งสิ้น ๗๗. พระเกศากอปรด้วยเส้นอันละเอียด ๗๘. เส้นพระเกศามิได้ยุ่งเหยิง ๗๙. เส้นพระเกศาเวียนเป็นทักขิณาวัฏทุกๆเส้น ๘๐. วิจิตรไปด้วยระเบียบพระเกตุมาลา กล่าวคือถ่องแถวแห่งพระรัศมีอันโชตนาการขึ้น ณ เบื้องบนพระอุตมังคสิโรตม์ ฯ
สาเหตุแห่งการสร้างพระพุทธรูป
พระพุทธเจ้าทรงแสดงสัมมาสัมพุทธเจดีย์ไว้ ๔ ประเภท คือ
1. พระธาตุเจดีย์
2. บริโภคเจดีย์
3. ธรรมเจดีย์
4. อุทเทสิกเจดีย์
พระธาตุเจดีย์ หมายเอาพระบรมสารีริกธาตุทั้ง ๘ ส่วน จำนวน ๑๖ ทะนาน บริโภคเจดีย์ หมายเอาสังเวชนียสถาน ๔ ตำบล คือ สถานที่ประสูติ ตรัสรู้ แสดงปฐมเทศนา ปรินิพพาน และอัฏฐบริขารที่พระองค์ทรงใช้สอย เช่น บาตร จีวร ที่กรองน้ำ เป็นต้น ธรรมเจดีย์ หมายเอาผู้ที่แสวงหาพระบรมสารีริกธาตุและอัฏฐบริขารของพระองค์เพื่อมาสร้างเป็นพระสถูปไม่ได้ เมื่อประสงค์จะสร้างพระสถูปเจดีย์ไว้เป็นที่กราบไหว้สักการะบูชา ก็ได้นำเอาพระธรรมจารึกไว้ในแผ่นทองคำบ้าง ศิลาบ้าง ใบลานบ้าง บรรจุไว้ในพระเจดีย์แทนพระบรมสารีริกธาตุ อีกนัยหนึ่ง หมายเอาพระธรรมที่พระองค์ทรงแสดงไว้จำนวน ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ เป็นเจดีย์ที่พุทธบริษัทจะพึงนำไปประพฤติปฏิบัติ เพื่อเป็นประโยชน์และความสุขแก่ตนและผู้อื่น ส่วนอุทเทสิกเจดีย์ หมายเอา พระพุทธรูปที่พุทธศาสนิกชนสร้างขึ้นเพื่อเคารพสักการะแทนพระองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
จะเห็นได้ว่า พระพุทธรูปก็นับเนื่องในสัมมาสัมพุทธเจดีย์ จึงมีความสำคัญและมีคุณค่ายิ่งสำหรับพุทธศาสนิกชน ซึ่งการสร้างพระพุทธรูปถือว่าเป็นการสืบต่ออายุพระพุทธศาสนาอีกอย่างหนึ่งด้วย เนื่องจากเป็นสิ่งแทนพระพุทธเจ้า ซึ่งเสมือนพระองค์ยังทรงพระชนม์อยู่ และชาวพุทธมีความรู้สึกเหมือนปฏิบัติ เคารพ สักการบูชาด้วยอามิสบูชาและปฏิบัติบูชาต่อพระพุทธเจ้า อนึ่ง พระพุทธรูปเป็นทั้งสัญลักษณ์ เครื่องหมายของพระพุทธศาสนาและความดีงามทั้งพุทธภาวะที่เป็นธรรมกายและพระพุทธคุณ ตลอดจนสื่อถึงปรมัตถธรรมซึ่งเป็นแก่นพระพุทธศาสนา นอกจากนี้พระพุทธรูปยังเป็นสิ่งที่แสดงถึงศรัทธาอันแรงกล้าของพุทธศาสนชิกชน ที่สร้างพระพุทธรูปเพื่อเป็นศูนย์รวมจิตใจ เป็นแหล่งรวมศรัทธาปสาทะของชาวพุทธทั้งมวลตลอดกาลนานอีกด้วย