หมวดหลัก > พุทธภูมิ พระโพธิสัตว์ การบำเพ็ญบารมี

ความรู้เกี่ยวกับพระพุทธเจ้าโดยละเอียด

<< < (2/9) > >>

Wisdom:
หมวดที่ ๓ พุทธบริษัท

"อุบาสกสำคัญในสมัยพุทธกาล"

คำว่า "อุบาสก" หมายถึงชายผู้นั่งใกล้พระรัตนตรัย คนใกล้ชิดพระศาสนา,คฤหัสถ์ชายที่แสดงตนเป็นคนนับถือพระพุทธศาสนา โดยประกาศถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะ

อุบาสกสองผู้อัครอุปัฏฐาก (ผู้อุปถัมภ์บำรุงพระภิกษุสามเณร) คือ จิตตคฤหบดี และหัตถกอุบาสกชาวเมืองอาฬวี

ปฐมอุบาสิกา หรืออุบาสกคนแรกในพระพุทธศาสนา หมายถึง ตปุสสะ กับภัลลิกะ ซึ่งถึงสรณะ ๒ คือ พระพุทธเจ้าและพระธรรม ทั้งสองเป็นพ่อค้าที่นำกองเกวียนเดินทางมาจากทุกกลชนบท มาถึงแขวงเมืองอุรุเวลาเสนานิคม พบพระพุทธเจ้าขณะประทับอยู่ ณ ภายใต้ต้นไม้ราชาตนะ ใกล้แม่น้ำเนรัญชรา ในกาลนั้นเป็นสัปดาห์ที่ ๗ ที่พระพุทธเจ้าประทับเสวยวิมุตติสุข (สุขเกิดแต่ความหลุดพ้นจากกิเลสอาสวะและปวงทุกข์) ภายหลังจากตรัสรู้ ตปุสสะ กับภัลลิกะเข้ามาถวายสัตตุผงสัตตุก้อน (ข้าวตูเสบียงเดินทาง) เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าเสร็จการเสวยแล้ว พ่อค้าทั้งสองได้กราบทุลแสดงตนเป็นอุบาสกด้วยความเลื่อมใสขอถึงพระผู้มีภาคเจ้ากับพระธรรม ว่าเป็นสรณะตลอดชีวิต ด้วยเวลานั้นยังไม่มีพระสงฆ์ปฐมอุบาสกทั้งสองนี้จึงเป็นอุบาสกประเภท "เทวาจิก" คือเปล่งวาจาขอถึงพระพุทธเจ้า และพระธรรมทั้งสองเป็นที่พึ่งที่ระลึก

ชีวกโกมารภัจจ์ เป็นบุตรของหญิงงามเมือง ในเมืองราชคฤห์แคว้นมคธ ครั้นคลอดแล้วถูกนำไปทิ้งที่กองขยะ เจ้าชายอภัยโอรสของพระเจ้าพิมพิสารมาพบเข้าจึงเก็บไปเลี้ยงไว้ในวัง ครั้นชีวกเจริญวัยขึ้นพอจะทราบว่าตนเป็นเด็กกำพร้า ก็คิดแสวหาศิลปวิทยาไว้เลี้ยงตัวจึงเดินทางไปศึกษาวิชาแพทย์กับอาจารย์แพทย์ทิศาปาโมกข์ ที่เมืองตักศิลาศึกษาอยู่ ๗ ปี ครั้นสำเร็จจึงเดินทางกลับยังพระนครราชคฤห์
เมื่อเสบียงหมดในระหว่างทาง ได้แวะหาเสบียงที่เมืองสาเกตโดยไปรักษาภรรยาเศรษฐีหายจากโรคปวดศีรษะมา ๗ ปี ไม่มีใครรักษาหาย ภรรยาเศรษฐีหายจากโรค ให้รางวัลหมอชีวกมากมาย ครั้นถึงพระนครราชคฤห์ ได้นำเงินและรางวัลทั้งหมดไปถวายเจ้าชายอภัยเป็นค่าปฏิการะคุณที่ได้ทรงเลี้ยงตนมา เจ้าชายอภัยโปรดให้หมอชีวกเก็บรางวัลไว้เป็นของตนเอง และโปรดให้หมอชีวกสร้างบ้านอยู่ในวังของพระองค์
ต่อมาไม่นานเจ้าชายอภัยนำหมอชีวกไปรักษาโรคริดสีดวงงอกแก่พระเจ้าพิมพิสาร เมื่อพระองค์ทรงหายประชวรแล้ว ทรงพระราชทานเครื่องประดับของสตรีชาววัง ๕๐๐ คนให้เป็นรางวัล หมอชีวกไม่รับโดยทูลว่า ขอให้ทรงถือว่าเป็นหน้าที่ของตนเท่านั้น พระเจ้าพิมพิสารจึงโปรดให้หมอชีวกเป็นแพทย์ประจำพระองค์ ประจำฝ่ายในทั้งหมด และประจำพระภิกษุสงฆ์อันมีพระพุทธเจ้าเป็นประมุข
หมอชีวกได้รักษาโรครายสำคัญหลายครั้งเช่น ผ่าตัดรักษาโรคในสมองของเศรษฐีเมืองราชคฤห์ ผ่าตัดเนื้องอกในสำใส้ของบุตรเศรษฐีเมืองพาราณสี รักษาโรคผอมเหลืองแด่พระเจ้าจัณฑปัชโชตแห่งกรุงอุชเชนี และถวายการรักษาแด่พระพุทธเจ้าในคราวที่พระบาทห้อโลหิตจากเศษหินจากก้อนศิลาที่พระเทวทัตกลิ้งลงมาจากภูเขาเพื่อหมายปลงพระชนม์ชีพ
หมอชีวกได้บรรลุธรรมเป็นพระโสดาบัน และด้วยศรัทธาในพระพุทธเจ้าปรารถนาจะไปเฝ้าวันละ 2-3 ครั้ง เห็นว่าพระเวฬุวันวิหารที่พระพุทธองค์ประทับอยู่ไกลเกินไป จึงสร้างวัดถวายในสวนมะม่วงของตน เรียกกันว่า ชีวกัมพวัน ครั้นเมื่อพระเจ้าอชาตศัตรูเริ่มน้อมพระทัยมาทางศาสนา หมอชีวกก็เป็นผู้แนะนำให้เสด็จไปเฝ้าพระพุทธเจ้า
ด้วยเหตุที่หมอชีวกเป็นแพทย์ประจำคณะสงฆ์และเป็นผู้มีศรัทธาเอาใจใส่เกื้อกูลคณะสงฆ์มาก จึงเป็นเหตุให้มีคนมาบวชเพื่ออาศัยวัดเป็นที่รักษาตัวจำนวนมาก จนหมอชีวกต้องทูลเสนอพระพุทธเจ้าให้ทรงบัญญัติข้อห้ามมิให้รับบวชคนเจ็บป่วยด้วยโรคบางชนิด นอกจากนั้นหมอชีวกได้กราบทูลเสนอให้ทรงอนุญาตที่จงกรมและเรือนไฟ เพื่อเป็นที่บริหารกายช่วยรักษาสุขภาพ ของภิกษุทั้งหลาย หมอชีวกได้รับพระดำรัสยกย่องเป็นเอตทัคคะในบรรดาอุบาสผู้เลื่อมใสในบุคคล

บิดาพระยสะ ภายหลังจากพระปัจจวัคคีย์สำเร็จเป็นพระอรหันต์ ๕ องค์แรก ในพระพุทธศาสนา แล้ว พระพุทธเจ้าได้ตรัสเทศนายสมาณพบุตรเศรษฐีกรุงพาราณสีได้ดวงตาเห็นธรรม ครั้นบิดาของสกุลบุตร ผู้เป็นใหญ่ในหมู่ชาวบ้านเสนานิคมตำบลอุรุเวลามาตามหาลูกชายพบพระผู้มีพระภาคเจ้าที่ประทับ พระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมเทศนา โปรดท่านเศรษฐีบิดาได้ดวงตาเห็นธรรมแสดงตนเป็นอุบาสก สมาณพซึ่งนั่งอยู่ในที่นั้นได้ฟังเทศนา ซ้ำเป็นครั้งที่สองก็ได้บรรลุอรหัตตผล ฝ่ายเศรษฐีบิดาก็กราบทูลอาราธนาพระบรมศาสดาให้ไปรับอาหารบิณฑบาตที่เรือนของตน แล้วถวายบังคมลากลับ เมือเศรษฐีบิดากลับแล้ว สมาณพทูลขออุปสมบท นับเป็นภิกษุสาวกและพระอรหันต์องค์ที่ ๖ นอกจากนั้นยังเป็นพระอรหันต์องค์แรกที่อยู่ในเพศคฤหัสถ์ คือยังมิทันได้บวชก็บรรลุถึงความเป็นพระอรหันต์
ในเวลาเช้าวันนั้น พระบรมศาสดาก็มีพระยสะเป็นพระตามเสด็จ ๑ รูป เสด็จไปยังเรือนท่านเศรษฐีตามคำอาราธนา ประทับนั่งยังอาสนะมารดาของยสะคือ นางสุชาดาผู้ถวายข้าวปายาส (ข้าวสุกที่หุงด้วยนมโค)ถวายแก่พระมหาบุรุษในเวลาเช้าของวันที่จะตรัสรู้ และภรรยาเก่าของพระยสะเข้าเฝ้า พระบรมศาสดาทรงแสดงธรรมให้สตรีทั้งสองนั้นได้ธรรมจักษุ เลื่อมใสในพระพุทธศาสนา ปฎิญาณตนเป็นอะบาสิกาขอถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะตลอดชีวิต มารดาและภรรยาเก่าของพระยสะได้เป็นอุบาสิกาสองคนแรกในพระพุทธศาสนาก่อนกว่าอุบาสิกกาทั้งหลายในโลกนี้
ส่วนท่านเศรษฐีบิดาพระยสะได้เป็นอุบาสสกที่ถึงสรณะครบ ๓ คนแรก คือถึงพระรัตนตรัยอันมี พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์

จิตตคฤหบดี เป็นผู้มีศรัทธามั่นคงในพระพุทธศาสนา ท่านผู้นี้เคยถูกภิกษุชื่อสุธรรมด่าว่าเป็นเหตุให้พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติปฏิสาราณียกรรม คือการลงโทษภิกษุผู้ด่าว่าคฤหัสถ์ที่ไม่มีความผิดด้วยการให้ไปขอขมา จิตตคฤหบดีเป็นหนึ่งในสอง อุบาสกผู้เป็นอัครอุปัฎฐากจิตตคฤหบดี ได้รับยกย่องว่าเป็นเอตทัคคะในบรรดาอุบาสกธรรมกถึก (เอตทัคคะ = เป็นผู้ได้รับการยกย่องว่าเป็นผู้ยอดเยี่ยมในทางใดทางหนึ่งธรรมกถึก = การแสดงธรรม)

นกุลบิดา เป็นผู้มั่งคั่งชาวเมืองสุงสุมารคีรี ในแคว้นภัคคะ มีภรรยาชื่อ นกุลมารดา สมัยหนึ่งพระพุทธเจ้าเสด็จมายังเมืองสุงสุมารคิรีประทับที่ป่าเภสกลาวัน ท่านคฤหบดีและภรรยาไปเผ้าพร้อมกับชาวเมืองคนอื่น ๆ พอได้เห็นครั้งแรก ทั้งสองสามีภรรยาก็เกิดความรู้สึกสนิทหมายใจเหมือนว่าพระพุทธเจ้าเป็นบุตรของตน ได้เข้าไปถึงพระองค์และแสดงความรู้สึกนั้น พระพุทธเจ้าเป็นบุตรของตน ได้เข้าไปถึงพระองค์และแสดงความรู้สึกนั้น พระพุทธเจ้าได้แสดงโปรดทั้งสองท่านได้บรรลุธรรมเป็นพระโสดาบัน (ผู้ถึงกระแสที่จะนำไปสู่นิพพาน) ท่านทั้งสองเป็นคู่สามีภรรยาตัวอย่าง ผู้มีความจงรักภักดีต่อกันอย่างบริสุทธิ์และมั่นยั่งยืนตราบเท่าชรา ทั้งยังปรารถนาจะพบกันทั้งชาตินี้และชาติหน้า เคยทูลขอให้พระพุทธเจ้าแสดงหลักธรรมที่จะทำให้สามีภรรยาครองรักกันยั่งยืน ตลอดไปทั้งภพนี้และภพหน้า
เมื่อท่านนกุลบิดาเจ็บป่วยออดแอดร่างกายอ่อนแอ ไม่สบายด้วยโรคชรา ท่านได้ฟังพระธรรมเทศนาครั้งหนึ่ง ที่ท่านประทับใจมากคือ พระดำรัสที่แนะนำให้ทำใจว่า "ถึงแม้ร่างกายของเราจะป่วย แต่ใจของเราไม่ป่วย"
ท่านนกุลบิดาได้รับยกย่องจากพระพุทธเจ้าให้เป็นเอตทัคคะในบรรดาอุบาสกผู้สนิทสนมคุ้นเคย

พระเจ้าพิมพิสาร พระเจ้าแผ่นดินมคธครองราชสมบัติอยู่ที่พระนครราชคฤห์ พระเจ้าพิมพิสารทรงเสด็จพบพระบรมโพธิสัตว์เมื่ือครั้งออกบรรพชาใหม่ ๆ ยังไม่ได้ตรัสรู้ ทรงทูลขอปฏิญญากับพระมหาบุรุษว่า ถ้าพระองค์ได้บรรลุพระสัพพัญญุตญาณ (พระปรีชาญาณหยั่งรู้สิ่งทั้งปวง ทั้งที่เป็นอดีต ปัจจุบันและอนาคต) และขอได้ทรงพระกรุณาเสด็จมายังพระนครราชคฤห์ แสดงธรรมโปรด
พระเจ้าพิมพิสารทรงถวายพระราชอุทยานเวฬุวันแก่พระพุทธเจ้าเมื่อพระองค์เสด็จมาแสดงธรรมโปรดภายหลังจากทรงตรัสรู้แล้ว พระราชอุทยานเวฬุวันเป็นสังฆาราม นับเป็นวัดแรกในพระพุทธศาสนาพระบรมศาสดาได้เริ่มประดิษฐานพระศาสนา เป็นหลักฐานที่พระเวฬุวันวิหาร เกียรติศักดิ์เกียรติคุณแห่งพระพุทธศาสนาได้เริ่มแพร่ไปในชุมนุมชนตามตำบลน้อยใหญ่ตามลำดับ
พระเจ้าพิมพิสารพร้อมด้วยข้าราชบริพารจำนวนมากเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าที่สวนตาล "ลัฏฐิวัน" ทรงสดับพระธรรมเทศนา ได้ธรรมจักษุ ประกาศพระองค์เป็นอุบาสก
พระพุทธเจ้าประทับจำพรรษาที่เวฬุวันวิหาร ในพรรษาที่ ๒-๓-๔ พรรษาที่ ๑๗ และ ๑๙ รวม ๕ พรรษาด้วยกัน พระเจ้าพิมพิสารถูกพระราชโอรสนามว่าอชาตศัตรู ปลงพระชนม์

มหานามศากยะ เป็นเจ้าชายในศากยวงศ์ โอรสของพระเจ้าอมิโตทนศากยะ เป็นพี่ชายของพระอนุรุทธะ ภายหลังพระเจ้าสุทโธทนะพระราชบิดาของพระพุทธเจ้าสิ้นพระชนม์ มหานามศากยะได้เป็นราชาปกครองแค้นศากยะ และเป็นอุบาสกผู้มีศรัทธาแรงกล้า ได้รับยกย่อง เป็นเอตทัคคะในบรรดาผู้ถวายของประณีต

พระเจ้าอชาตศัตรู โอรสของพระเจ้าพิมพิสารกับพระนางโกศลเทวี กษัตริย์แคว้นมคธ ขณะพระนางทรงครรภ์ได้แพ้ท้องอยากเสวยโลหิตของพระเจ้าพิมพิสาร พระเจ้าพิมพิสารทรงทราบจึงเอาพระขรรค์แทงพระชานุ (เข่า)รองพระโลหิตให้พระนางเสวย โหรทำนายว่าพระโอรสที่อยู่ในครรภ์เกิดมาจะทำปิตุฆาต พระนางโกศลเทวีพยายามทำลายด้วยการให้แท้งเสียแต่ไม่สำเร็จ ในที่สุดคิดจะรีด แต่พระเจ้าพิมพิสารทรงห้ามไว้
เมื่อครบกำหนดประสูติเป็นกุมารจึงตั้งพระนามโอรสว่าอชาตสัตรู แปลว่า เป็นศัตรูตั้งแต่ยังไม่เกิด (บางท่านแปลใหม่ว่า มิได้เกิดมาเป็นศัตรู) ในที่สุดเจ้าชายอชาตศัตรูก็คบคิดกับพระเทวทัตฆ่าพระราชบิดาตามที่โหรทำนายไว้ และได้ขึ้นครองราชสมบัติแคว้นมคธ ณ กรุงราชคฤห์แต่ทรงสำนึกและกลับพระทัยได้ หันมาทรงอุปภัมภ์บำรุงพระพุทธศาสนา และได้เป็นพุทธศาสนูปถัมภก ในการสังคายนาครั้งที่ ๑

อนาถบิณฑิก เป็นเศรษฐีอยู่ที่เมืองสาวัตถี ต่อมาได้นับถือพระพุทธศาสนา บรรลุโสดาปัตติผล เป็นผู้มีศรัทธาแรงกล้า สร้างพระเชตุวันมหาวิหารอันยิ่งใหญ่ ถวายแด่พระพุทธเจ้าและภิกษุสงฆ์ที่เมืองสาวัตถี ซึ่งพระพุทธเจ้าประทับจำพรรษารวมทั้งหมดถึง ๑๙ พรรษา (สลับกับบุพพารามที่อยู่ใกล้ชิดติดกัน ณ เมืองสาวัตถี)
ท่านอนาถบิณฑิกนอกจากอุปภัภ์บำรุงพระภิกษุสงฆ์แล้วยังได้สงเคราะห์คนยากไร้อนาถาอย่างมากมายเป็นประจำ จึงได้ชื่อว่าอนาถบิณฑิก ซึ่งแปลว่า ผู้มีก้อนข้าวเพื่อคนอนาถา ท่านได้รับยกย่องเป็นเอตทัคคะในหมู่ทายกฝ่ายอุบาสก (ทายก = ผู้ให้)




"อุบาสิกาสำคัญในสมัยพุทธกาล"
คำว่า "อุบาสิกา" หมายถึง หญิงผู้นั่งใกล้พระรัตนตรัย , คนใกล้ชิดพระ ศาสนาที่เป็นหญิงที่แสดงตนเป็นคนนับถือพระพุทธศาสนา โดยประกาศถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะ

ปฐมอุบาสิกา หรืออุบาสิกาคนแรกในพระพุทธศาสนา มีอยู่สอง คือ นางสุชาดาผู้เป็นมารดาของพระยสะ และภรรยาเก่าของพระยสะดังกล่าวถึงแล้วในเรื่องราวของบิดาพระยสะ

อุบาสิกาสองผู้อัครอุปัฏฐายิกา (ผู้อุปถัมภ์บำรุงพระภิกษุสามเณรที่เป็นหญิง) คือนันทมารดา และอุตราอุบาสิกา

นกุลมารดา เรื่องราวของนางกล่าวถึงใน "นกุลบิดา" ท่านนกุลมารดาได้รับยกย่องจากพระพุทธเจ้าให้เป็นเอตทัคคะในบรรดา อุบาสิกาผู้สนิทสนมค้นเคย
นันทมารดา เป็นอุบาสิกาสองผู้อัครอุปัฏฐายิกา เป็นอนาคามีคือพระอริยบุคคลผู้ได้บรรลุอนาคามิผล (ผลที่ได้รับจากการละสังโยชน์คือ กามราคะ และปฏิฆะ ด้วยทางปฏิบัติ เพื่อบรรลุผลเป็นผู้ชำนาญในฌาน ๔ ได้รับยกย่องว่าเป็นเอตทัคคะทางบำเพ็ญ

วิสาขา เป็นธิดาของธนัญชัยเศรษฐีและนางสุมนา เกิดที่เมืองภัททิยะในแคว้นอังคะ ได้บรรลุโสดาปัตติผลตั้งแต่อายุ ๗ ขวบ ต่อมาได้ย้ายตามบิดามาอยู่ที่เมืองสาเกต แคว้นโกศล แล้วได้สมรสกับพุตรชายมิคารเศรษฐีแห่งเมืองสาวัตถีและย้ายไปอยู่ในตระกูลฝ่ายสามี นางวิสาขาสามารถกลับใจมิคารเศรษฐี บิดาของสามีซึ่งนับถือพระพุทธศาสนามิคารเศรษฐี นับถือนางมากและเรียกนางวิสาขาเป็นแม่ นางจึงได้ชื่อใหม่อีกอย่างหนึ่งว่า "มิคารมารดา"
นางวิสาได้อุปถัมภ์บำรุงพระภิกษุสงฆ์อย่างมากมายและได้ให้ขายเครื่องประดับประจำตัวตั้งแต่แต่งงานซึ่งมีแลค่าสูงยิ่ง นำเงินมาสร้างวัดถวายแด่พระพุทธเจ้าและภิกษุสงฆ์คือ มิคารมาตุปราสาท วัดบุพาราม ณ พระนครสาวัตถี อยู่ใกล้ชิดกับมหาวิหารเชตวันที่อนาถบิณฑิกเศรษฐีสร้างถวาย
นางวิสาขามีบุตรหลานมากมายล้วนมีสุขภาพดีแทบทั้งนั้น แม้นางจะมีอายุยืนถึง ๑๒๐ ปี ก็ดูไม่แก่ และเป็นบุคคลที่ได้รับความนับถืออย่างกว้างขวางในสังคม ได้รับการยกย่องจากพระศาสดาว่าเป็นเอตทัคคะในบรรดาทายิกาทั้งปวง (ทายิกา = ผู้ให้)

สุชาดา เป็นธิดาของผู้มีทรัพย์ซึ่งเป็นนายใหญ่แห่งชาวบ้านเสนานิคม ตำบลอุรุเวลา นางได้ตั้งปณิธานบูชาเทพารักษ์ไว้ว่า ขอให้นางได้สามีที่มีตระกูลเสมอกัน และขอให้ได้บุตรคนแรกเป็นชาย ครั้นได้สามีและบุตรสมที่นึกปราถนา นางจึงหุงข้าวมธุปายาสนำไปบวงสรวง เทพารักษ์ที่ได้บนบานไว้ ในยามเช้าของวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๖ พระมหบุรุษประทับนั่ง ณ ควงไม้นิโครธพฤกษ์ ควงไม่ไทรต้นที่นางสุชาดาบนบานไว้ นางสุชาดาได้ถวายข้าวปายาสแก่พระมหาบุรุษในเวลาเช้าของวันที่ตรัสรู้ ด้วยความเข้าใจว่าพระองค์เป็นรุขเทวดาโดยแท้
บุตรชายของนางสุชาดาชื่อยสะ ซึ่งต่อมาออกบวชเป็นพระอรหันต์องค์ที่ ๖ ในพระพุทธศาสนา นางสุชาดาได้เป็นปฐมอุบาสิกาพร้อมกับภรรยาเก่าของพระยสะ ส่วนสามีของนางได้เป็นอุบาสสกที่ถึงสรณะครบ ๓ คือ พระรัตนตรัยเป็นคนแรก นางสุชาดาได้รับยกย่องเป็นเอตทัคคุในบรรดาอุบาสิกาผู้ถึงสรณะเป็นปฐม


"ปฐมเทศนา ปฐมสาวกและพระอรหันต์ ๖ องค์แรก"

พระพุทธเจ้าทรงตรัสรู้เมื่อวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๖ และประทับเสวย วิมุตติสุข ณ ริมฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา ตำบลอุรุเวลาเสนานิคม แคว้นมคธเป็นเวลา ๔๙ วัน จากนั้นพระบรมศาสดาทรงดำเนินสู่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน ใกล้เมืองพาราณสีเพื่อทรงแสดงธรรมโปรดปัญจวัคคีย์อันมี โทฑัญญะ วัปปะ ภัททิยะ มหานามะ และอัสสชิ พระบรมศาสดาทรงระลึกว่า ปัญจวัคคีย์เป็นผู้มีอุปนิสัยในอันจะตรัสรู้ธรรม ทั้งมีอุปการะแก่ประองค์มาก ได้อุปัฏฐากของประองค์เมื่อครั้งทรงบำเพ็ญทุกรกิริยา

พระบรมศาสดาใช้เวลา ๑๑ วันเดินทางมาถึงป่าอิสิปตนมฤคทายวัน ในยามเย็นของวันขึ้น ๑๔ ค่ำ เดือน ๘ ปัญจวัคคีย์ยังคงเข้าใจว่าพระสมณโคดมเลิกละความเพียรในการบำเพ็ญตบะในทุกรกิริยา คงจะไม่มีโอกาสได้บรรลุพระสัมโพธิญาณแล้ว จึงนัดหมายกันทำเพิกเฉยแสดงอาการไม่เคารพไม่ยินดีในการเสด็จมาของพระผู้มีพระภาคเจ้าและกล่าวปฏสันถารใช้สำนวนอันเป็นกริยาไม่เคารพ
แต่พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสว่า " ดูกร ปัญจวัคคีย์ บัดนี้ ตถาคตได้ตรัสรู้พระสัมมาสัมโพธิญาณแล้ว มาครั้งนี้หวังจะแสดงธรรมแก่เธอทั้ง ๕ เธอจงตั้งใจสดับและปฏิบัติตามคำของตถาคต ไม่ช้าไม่นานสักเท่าใดก็จะได้ตรัสรู้ตาม"

ปัญจวัคคีย์ไม่เชื่อ กลับคัดค้าน แม้พระบรมศาสดาจะตรัสเตือนซ้ำอีก ปัญจวัคคีย์ก็ยังไม่เชื่อ กล่าวโต้แย้งถึง ๓ ครั้ง พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสเดือนด้วยพระกรุณาให้ปัญจวัคคีย์หวนระลึกถึงความหลังดูว่า
"ดูก่อน ปัญจวัคคีย์ วาจาที่ไม่ควรเชื่อคำใด ตถาคตเคยกล่าวอยู่บ้างหรือ แม้แต่คำว่า ตถาคตได้ตรัสรู้พระสัมมาสัมโพธิญาณนี้ ตถาคตเคยกล่าวกะใคร ที่ไหน แต่กาลก่อน"

ด้วยอานุภาพของพระวาจาจริงของพระองค์ เป็นอัศจรรย์ทำให้ปัญจวัคคีย์ระลึกเห็นตาม พากันแน่ใจว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสรู้จริงดังพระวาจา ก็พร้อมกันถวายบังคมพระยุคลบาทด้วยคารวะ ขอประทานอภัยโทษที่แสดงอาการไม่เคารพต่อพระองค์
พระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จประทับพักในสำนักปัญจวัคคีย์ ๑ ราตรี ครั้นรุ่งขึ้น วันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๘ พระพุทธเจ้าทรงแสดงพระธรรมเทศนาครั้งแรก เป็นปฐมเทศนาแก่ปัญจวัคคีย์ พระองค์ประกาศ "ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร" คือ "พระสูตรว่าด้วยการยังธรรมจักรให้เป็นไป" หรือพระสูตรว่าด้วยการหมุนวงล้อธรรม

ปฐมเทศนา "ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร" ว่าด้วยมัชฌิมาปฏิปทา คือทางสายกลาง ซึ่งเว้นที่สุด ๒ อย่างและว่าด้วยอริยสัจ ๔ อันมี ทุกข์สมุทัย นิโรธมรรค ซึ่งพระพุทธเจ้าได้ตรัสรู้ อันทำให้พระองค์สามารถปฏิญาณว่า ได้ตรัสรู้อนุตรสัมมาสัมโพธิญาณ (ญาณคือความตรัสรู้เองโดยชอบอันยอดเยี่ยม) ท่านโกณฑัญญะ หัวหน้าคณะปัญจวัคคีย์ ฟังพระธรรมเทศนานี้แล้ว ได้ดวงตาเห็นธรรม (ธรรมจักษุ) พระพุทธเจ้าทรงเปล่งอุทานว่า
"อญญาสิ วต โภ โกณฑญโญ ๆ"
(โกณฑัญญะได้รู้แล้วหนอ ๆ)

จากนั้นมา คำว่า "อัญญา"จึงมารวมกับชื่อของท่าน ท่านอัญญาโกณฑัญญะได้บรรลุโสดาปัตติมรรคเป็นพระโสดาบัน และทูลขอบวชเป็นภิกษุในประธรรมวินัยของพระพุทธเจ้าประทานด้วยพระองค์เองด้วยการเปล่งพระวาจาว่า "ท่านจงเป็นภิกษุมาเถิด ธรรมอันเรากล่าวดีแล้ว ท่านจงประพฤติพรหมจรรย์เพื่อทำให้สุดทุกข์โดยชอบเถิด"

ณ บัดนั้น พระอัญญาโกณทัญญะจึงเป็นปฐมสาวกหรือพระสาวกองค์แรกของพระพุทธเจ้า เป็นพระสงฆ์องค์แรกของพระพุทธศาสนา เป็นอันว่าพระรัตนตรัย คือ พระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์ได้เกิดขึ้นแล้วบริบูรณ์ในกาลแต่บัดนั้น

พระพุทธเจ้าทรงจำพรรษา ณ ป่าอิสิปตนมฤคทายวันทรงสั่งสอนพรรพชิตทั้ง ๔ รูปที่เหลืออยู่นั้นด้วยพระธรรมเทศนาต่าง ๆ ต่อมาท่านวัปปะกับท่านภัททิยะได้ธรรมจักษุดวงตาเห็นธรรมทูลขออุปสมบทพระบรมศาสดาทรงประทานเอหิภิกขุอุปัมปทาให้ และต่อมาท่านมหานามะกับท่านอสัสชิได้ธรรมจักษุ ทูลขออุปสมบท และพระผู้มีประภาคเจ้าทรงประทานเอหิภิขุอุปสัมปทาให้เช่นกัน

ครั้นพระภิกษุปัญจวัคคีย์ตั้งอยู่ในที่พระสาวกและมีอินทรีย์ มีศรัทธา แก่กล้าสมควรสดับธรรมจำเริญวิปัสสนา เพื่อวิมุตติสุขเบื้องสูงแล้ว ครั้นถึงวันแรม ๕ ค้ำ แห่งเดือนสาวนะ คือเดือน ๙ พระบรมศาสดาจึงได้แสดงพระธรรมสั่งสอนพระภิกษุปัญจวัคคีย์ด้วย "อนัตตลักขณสูตร" คือพระ สูตรที่แสดงลักษณะแห่งเบญจขันธ์ว่าเป็นอนัตตา (ไม่ใช่ตัวใช้ตน) เพื่อพระบรมศาสดาตรัสพระธรรมเทศนาแสดงอนัตตลักขณสูตรอยู่จิตของพระภิกษุปัญจวัคคีย์ผู้พิจารณาภูมิธรรมตามกระแสเทศนานั้นพ้นแล้วจากอาสวะ (กิเลสที่หมักหมมไว้ดองอยู่ในสันดานไหลซึมซ่านไปย้อมจิตเมื่อประสบอารมณ์ต่าง ๆ ) ไม่ถือมั่นด้วยอุปาทาน สำเร็จเป็นพระอรหันต์ทั้งหมด

ครั้งนั้น มีพระอรหันต์เกิดขึ้นในโลก ๖ องค์แล้ว คือ พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ๑ กับ พระอริยสาวก ๕ คือ พระอัญญาโกณฑัญญะ ๑ พระวัปปะ ๑ พระภัททิยะ ๑ พระมหานามาะ ๑ พระอัสสชิ ๑ รวม เป็น ๖ ด้วยประการฉะนี้

Wisdom:
"ภิกษุณีสงฆ์ ในสมัยพุทธกาล"


ในพรรษาที่ ๕ ภายหลังพระพุทธเจ้าตรัสรู้แล้ว พระบรมศาสดาทรงประทับจำพรรษาอยู่ที่กูฏาคาร อันเป็นศาลาเรือนยอดในป้ามหาวันบนฝั่งตะวันออกแห่งลำน้ำคันธกะ กรุงเวสาลี นครหลวงแห่งแคว้นวัชชีในขณะที่ประทับอยู่ ณ ที่นั้นก็ได้ทรงทราบข่าวประชวรของพระพุทธบิดาเมื่อพระพุทธเจ้าทรงทราบข่าวการประชวรก็ได้รีบเสด็จไปยังกรุงกบิลพัสดุ๋และได้เข้าเฝ้าพระพุทธบิดา พระบรมศาสดาทรงแสดงธรรมเทศนาโปรดพระเจ้าสุทโธทนะจนได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์ และได้ทูลลาพระพุทธเจ้าเข้านิพพานโดยยังมิทันจะได้อุปสมบท พระบรมศาสดาทรงอยู่ร่วมถวายพระเพลิงศพระพุทธบิดา

ขณะที่พระพุทธเจ้ายังคงประทับอยู่ที่นิโครธาราม ซึ่งเป็นอารามที่พระญาติสร้างถวายพระพุทธเจ้า อยู่ใกล้กรุงกบิลพัสดุ์นั้น พระนางมหาปชาบดีโคตมี (พระน้านาง) เมื่อพระเจ้าสุทโธทนะพระราชสวามีสิ้นพระชนม์แล้วก็ทรงหมดภาระ จึงได้ไปเข้าเฝ้าพระบรมศาสดาและได้ทูลขออนุญาตให้สตรีสละเรือนออกบวชในพระธรรมวินัย แต่การณ์นั้น มิใช่เรื่องง่าย พระพุทธเจ้าตรัสห้ามเสีย ๓ ครั้ง

ต่อมาพระพุทธเจ้าเสด็จกลับไปยังกูฏาคารศาลาในป่ามหาวันกรุงเวสาลี พระนางมหาปชาบดีดคตมีไม่ละความพยายามได้ทรงชักยวนเจ้าหญิงศากยะจำนวนมากปลงพระเกศา ทรงผ้ากาสาวะคือผ้าย้อมน้ำฝาดแล้วเสด็จดำเนินด้วยพระบาททั้งหมดไปยังกรุงเวสาลี โดยต่างมีพระบาทบวมแตกและมีพระกายที่เปรอะเปื้อนธุลีเหน็ดเหนื่อยลำบาก พากันมายืนกันแสงอยู่ที่ซุ้มประตูนอกกูฏาคารศาลา

พระอานนท์ได้เห็นก็เข้าไปถาม พระนางก็ได้รับสั่งบอกเล่าแก่พระอานนท์ พระอานน์ขอให้ประทับรออยู่ที่นั้นก่อน และก็ได้เข้าไปเฝ้าพระพุทธเจ้า ทูลขอให้สตรีได้บวชในพระธรรมวินัย พระพุทธเจ้าได้ตรัสปฏิเสธแก่พระอานนท์ พระอานนท์ก็ได้ทูลขอถึง ๓ ครั้ง ในที่สุดพระอานนท์เปลี่ยนวิธีใหม่ โดยกราบทูลถามว่าสตรีออกบวชในพระธรรมวินัยแล้วจะสามารถบรรลุโสดาปัตติผลจนถึงอรหัตตผลได้หรือไม่ พระพุทธเจ้าก็ตรัสว่า เป็นผู้สมควรที่จะทำให้แจ้งได้

พระอานนท์จึงได้กราบทูลว่า ถ้าสตรีเป็นผู้ที่สมควรอย่างนั้น และพระนางมหาปชาบดีโคตมี ก็เป็นผู้มีอุปการะมากแด่พระพุทธเจ้ามาในเบื้องต้น เพราะทรงเป็นทั้งน้าและมารดาเลี้ยง ผู้เลี้ยงดูทะนุถนอมพระองค์สืบต่อจากพระพุทธมารดาซึ่งได้สิ้นพระชนม์ไป เพราะฉะนั้น ก็ขอให้พระนางได้บวชในพระธรรมวินัยตามที่ทรงตั้งพระหฤทัย

พระพุทธเจ้าก็ตรัสว่า ถ้าพระนางมหาปชาบดีโคตมีจะรับครุธรรม คือธรรมที่หนัก ๘ ข้อได้ ก็ให้อุปสมบทได้ ครุธรรม ๘ ข้อนั้นคือ

๑. ภิกษุณีที่อุปสมบทมาตั้งร้อยพรรษาก็พึงทำการกราบไหว้การลุกรับ การกระทำอัญชลี การทำสามีจิกรรม (การแสดงความเคารพ) แก่ภิกษุที่อุปสมบทใหม่แม้ในวันนั้น
๒. ภิกษุณีจะต้องอยู่จำพรรษาในอาวาสที่มีภิกษุ
๓. ภิกษุณีจะต้องพึงหวังธรรม ๒ ประการจากภิกษุสงฆ์ทุกกึ่งเดือน คือการถามวันอุโบสถและการเข้าไปฟังโอวาท
๔. ภิกษุณีออกพรรษาและพึงปวารณาในสงฆ์ ๒ ฝ่ายคือ ในภิกษุสงฆ์และในภิกษุณีสงฆ์
๕. ภิกษุณีเมื่อต้องครุธรรมคือต้องอาบัติหนักก็พึงประพฤติมานัด (ระเบียบปฏิบัติในการออกจากอาบัติหนัก) ๑๕ วัน ในสงฆ์ทั้งสองฝ่าย (ทั้งภิกษุสงฆ์และภิกษุณี)
๖. สตรีที่ศึกษาอยู่ในธรรม ๖ ข้อเป็นเวลา ๒ ปี (กล่าวคือรักษา ศีล ๑๐ ของสามเณร ตั้งแต่ข้อ ๑ ถึงข้อ ๖ โดยไม่ขาดตลอดเวลา ๒ ปี) อันเรียกว่า นางสิกขมานา เมื่อได้ศึกษาแล้วดั้งนี้จึงอุปสมบทในสงฆ์ ๒ ฝ่ายได้
๗. ภิกษุณีไม่พึงด่าไม่พึงบริภาษภิกษุโดยปริยายใด ๆ
๘. ภิกษุทั้งหลายสั่งสอนห้ามปรามภิกษุณีทั้งหลายได้ แต่ว่าภิกษุณีทั้งหลายจะสั่งสอนห้ามปรามภิกษุทั้งหลายไม่ได้


ถ้าพระนางมหาปชาบดีโคตมี ยินดีรับครุธรรมทั้ง ๘ ประการนี้จึงให้อุปสมบทได้ พระอานนท์ได้ไปทูลให้พรนางมหาปชาบดีโคตมี พระนางทรงยินดีรับครุธรรม ๘ ประการนั้น พระอานนท์ได้กลับเข้าไปเฝ้าพระพุทธเจ้าและทูลให้ทรงทราบว่า พระนางได้รับครุธรรมทั้ง ๘ ได้อุปสมบทแล้ว ส่วนเจ้าหญิงศากยะที่ตามมาทั้งหมด พระพุทธเจ้าตรัสอนุญาตให้ภิกษุสงฆ์อุปสมบทให้

ในคราวนั้นพระพุทธเจ้าได้ตรัสแก่พระอานนท์ว่า การให้สตรีบวชจะเป็นเหตุให้พรหมจรรย์ คือพระศาสนาหรือสัทธรรมตั้งอยู่ได้ไม่ยั่งยืน จะมีอายุสั้นเข้า เปรียบเหมือนตระกูลที่มีบุตรน้อยมีสตรีมาก ถูกผู้ร้ายทำลายได้ง่ายหรือเหมือนนาข้าวที่มีหนอนขยอกลง หรือเหมือนไร่อ้อยที่มีเพลี้ยลง ย่อมอยู่ได้ไม่ยืนนาน พระองค์ทรงบัญญัติครุธรรม ๘ ประการกำกับไว้เพื่อเป็นหลักคุ้มกันพระศาสนา เหมือนสร้างคันกั้นสระใหญ่ไว้ก่อนเพื่อกันไม่ให้น้ำไหลท้นออกไป (พระศาสนาจักอยู่ใต้ยั่งยืนเช่นเดิม)

พระพุทธเจ้าได้ทรงแสดงเหตุผลที่ไม่ให้ภิกษุไหว้ภิกษุณี ให้ภิกษุณีไหว้ภิกษุได้ฝ่ายเดียว เพราะนักบวชในลัทธิศาสนา อื่นทั้งหลายไม่มีใครไหว้สตรีกันเลย กล่าวโดยสรุปว่า หากถือเหตุผลทางด้านสภาพสังคม - ศาสนาแล้วจะไม่ทรงให้สตรีบวชได้

เมื่อแรกการบวชภิกษุณีไม่ได้กำหนดจำนวนคือบวชกันตามสบายมีการบวชเข้ามาเป็นหมู่จำนวนถึง ๑,๐๐๐ ก็มี เช่นพระนางอโนชากับบริวาร ประวัติชีวิตของพระเถรีทังหลายส่วนมากพิสดารเฉพาะก่อนท่านบวช หลังจากบวชแล้วไม่ค่อยมีผลงานเด่นมากนัก นอกจากพระเถรีระดับเอตทัคคะ ๑๓ รูป

หลังจากจำนวนภิกษุณีเพิ่มขึ้นในเวลาอันรวดเร็วระยะหนึ่งปรากฏว่าเกิดปัญหาหลายอย่าง เช่นภิกษุณีถูกคนบางพวกรังแกทำให้ที่อยู่อาศัยของท่านก็ดี การจะไปในที่ต่าง ๆ ก็ดีต้องเกี่ยวข้องกับหมู่คณะ คือ จะไปไหนคนเดียว เดินทางคนเดียว อยู่คนเดียวไม่ได้ การจะอยู่ป่าเขาแบบพระจึงไม่ได้เพราะมีปัญหาเกี่ยวกับสวัสดิภาพของภิกษุณีเองทำให้เสนาสนะ (ที่อยู่อาศัย) ซึ่งชาวบ้านสร้างด้วยศรัทธาทำไม่ทัน ชาวบ้านได้แสดงความเดือดร้อนให้ปรากฏ จนต้องมีการกำหนดเงื่อนไขในการบวชภิกษุณีไว้ดังนี้

สตรีอายุยังน้อยให้บวชเป็นสามเณรีก่อน จนกว่าอายุครบ ๑๘ เมื่ออายุครบ ๑๘ ให้บวชเป็นนางสิกขมานา โดยรักษาศีลข้อ ๑ - ๖ ไม่ให้พกพร่องเป็นเวลา ๒ ปี จึงขอรับฉันทานุมัติจากสงฆ์บวชเป็นภิกษุณี ถ้าในระหว่างประพฤติตนเป็นนางสิกขมานา หากมีความบกพร่องในศีลก่อน ๖ ปี ต้องนับวันกันใหม่ เมื่อได้สิกขาสมมติจากภิกษุณีสงฆ์ด้วยญัตติทุติยกรรมวาจา เธอต้องถืออุปัชฌาย์เช่นเดียวกับภิกษุ แต่เรียกว่าปวัตตินี ซึ่งจะต้องมีพรรษาไม่ต่ำกว่า ๑๒ พรรษา และเป็นผู้ที่ได้รับสมมติจากภิกษุณีสงฆ์ให้เป็นปวัตตินี ปวัตตินีรูปเดียวจะอุปสมบทให้แก่สหชิวินี (ผู้อยู่ร่วม) ได้พียง ๒ ปี ต่อหนึ่งครั้งและอุปสมบทให้ได้ครั้งละ ๑ รูปเท่านั้นเมื่อเป็นภิกษุณีแล้วต้องรักษาสิกขาบท ๓๑๑ ข้อ (ศีล ๓๑๑)

ด้วยเหตุนี้เอง ทำให้ภิกษุณีเริ่มน้อยลงตามลำดับ ในตอนปลายพุทธกาลไม่ค่อยได้ยินชื่อเสียงของท่าน อาจจะเป็นเพราะมีพระวินัยห้ามการคลุกคลีกับภิกษุณีอยู่หลายข้อ ทำให้พระสังคีติกาจารย์ก็ไม่ค่อยทราบชีวิตและผลงานของภิกษุณีต่าง ๆ มากนัก ทั้งภิกษุณีก็ไม่ได้เข้าร่วมในการสังคายนาพระธรรมวินัย เรื่องของภิกษุณีสงฆ์จึงไม่สมบูรณ์เท่าที่ควร

อย่างไรก็ตาม ภิกษุณีนั้นจัดว่าเป็นบริษัท ๑ ใน ๔ ของพระพุทธเจ้าที่มีบทบาทสำคัญในการเป็นพยานแห่งการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า ช่วยเผยแผ่ศาสนธรรม จากชีวประวัติของพระเถรีทั้งหลายในเถรีคาถาและอรรคกถาบอกให้ทราบว่าสตรีที่เข้ามาบวชเป็นภิกษุณีนั้นมีตั้งแต่เจ้าหญิงธิดาเศรษฐี ไปจนถึงโสเภณี คนขอทาน และการเข้ามาบวชของท่านส่วนมากแล้วจะเกี่ยวกับความรักความพลัดพราก และศรัทธาเป็นหลักฐานะของภิกษุณี อาจสรุปได้ดังนี้

๑. ท่านเป็นอุปสัมพันในหมู่ของท่านและคนอื่น แต่เป็นอนุปสัมบันในหมู่ภิกษุคือไม่มีฐานะเท่ากัน
๒. จะร่วมสังฆกรรมต่าง ๆ กับภิกษุไม่ได้ จึงไม่มีสิทธิจะห้ามอุโปสถปวารณาแก่ภิกษุทุกกรณี
๓. ภิกษุณีมีสิทธิโดยชอบตามพระวินัย ที่จะไม่ไหว้ภิกษุที่กล่าวคำหยาบคายต่อตน
๔. ในกรณีมีสิทธิโดยชอบตามพระวินัย ที่จะไม่ไหว้ภิกษุที่กล่าวคำหยาบคายต่อตน
๕. เมื่อภิกษุณีจะถามปัญหาแก่ภิกษุให้บอกก่อนว่าจะถามในเรื่องพระสูตร พระวินัย หรือพระอภิธรรม เมื่อบอกไว้อย่างหนึ่ง แต่กลับถามอีกอย่างหนึ่งเป็นอาบัติ

สำหรับสิกขาบทที่ทรงบัญญัติแก่ภิกษุณี ซึ่งมีจำนวนมากกว่าของภิกษุนั้น ส่วนมากแล้วเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับความเป็นสตรีเพศของท่านเพื่อป้องกันรักษาตัวท่านเองให้ปลอดภัยจากอันตรายต่าง ๆ

ภิกษุณีสงฆ์เจริญแพร่หลายในชมพูทวีปอยู่ช้านาน เป็นแหล่งให้การศึกษาแหล่งใหญ่แก่สตรีทั้งหลาย


"พระเถรีสำคัญในสมัยพุทธกาล"

พระภิกษุณีสงฆ์ผู้เป็นกำลังสำคัญในการเผลแผ่พระพุทธศาสนา ในสมัยพุทธกาล นับจากภิกษุณีสงฆ์องค์แรกคือ ประนางมหาปชาบดีโคตม และ พระอัครสาวิกา ทั้งสอง คือ พระเขมาและพระอุบลวรรณ มีดังนี้

มหาปชาบดีโคตมี เป็นพระน้านางของพระพุทธเจ้า เดิมเรียกว่าพระนางปชาบดี เป็นธิดาของพระเจ้าอัญชนะแห่งโกลิยวงศ์ และเป็นพระภคินีของพระนางสิริมหามายา เมื่อพระนางสิริมหายาพระมารดาของพระพุทธเจ้าสิ้นพระชนม์แล้ว พระเจ้าสุทโธนะราชกษัตริย์แห่งกรุงกบิลพัสดุ์ได้มอบสิทธัตถกุมารให้พระนางเลี้ยงดู ต่อมาเมื่อพระเจ้าสุทโธทนะสวรรคตแล้ว พระนางได้ออกบวชเป็นภิกษุณีองค์แรก ในพรรษาที่ ๕ ก่อนพุทธศักราช ๔๐ ปี พระมหาเถรีมหาปชาบดีโคตมีได้รับยกย่องเป็นเอตทัคคะในทางรัตตัญญู (บวชนารู้เหตุก่อนใคร ๆ)

พระเขมา พระเถรีมหาสาวิกาเขมา ประสูติในราชตระกูลแห่งสาคลนครในมัททรัฐ ต่อมาให้เป็นพระอัครมเหสีของพระเจ้าพิมพิสารพระเจ้าแผ่นดินมคธครองราชสมบัติอยู่ที่พระนครราชคฤห์ มีความมัวเมาในรูปสมบัติของตรได้ฟังพระพุทธเจ้าแสดงธรรมเทศนาเรื่องราคะ และการกำจัดราคะ พอจบพระธรรมเทศนาก็ได้บรรลุพระอรหัต แล้วบวชเป็นภิกษุณี ได้รับยกย่องว่าเป็นเอตทัคคะในทางมีปัญญามาก และเป็นอัครสาวิกาฝ่ายขวา

อุบลวรรณา พระเถรีมหาสาวิกาอุบลวรรณา เป็นธิดาเศรษฐีในพระนครสาวัตถี ได้ชื่อว่าอุบลวรรณาเพราะมีผิวพรรณดังดอกนิลุบล (อุบลเขียว) เป็นสตรีผู้มีรูปโฉมงดงามอย่างยิ่ง จึงเป็นที่ปรารถนาของพระราชาในชมพูทวีปหลายพระองค์ ต่างส่งคนมาติดต่อทาบทามกับ ท่านเศรษฐีผู้เป็นบิดา ก่อให้เกิดความลำบากใจมาก จึงคิดจะให้ธิดาบวชพอเป็นอุบาย แต่นางเองพอใจในบรรพชาอยู่แล้ว จึงบวชเป็นภิกษุณี ด้วยศรัทธาอย่างจริงจัง คราวหนึ่งอยู่เวรจุดประทีปในพระอุโบสถ นางเพ่งดูเปลวประทีปถือเอาเป็นนิมิตเจริญญานมีเตโชกสิณเป็นอารมณ์ได้บรรลุพระอรหัต พระมหาสาวิกาอุบลวรรณา ได้รับยกย่องว่าเป็นเอตทัคะ ในทางแสดงฤทธิ์ได้ต่าง ๆ และเป็นอัครสาวิกาฝ่ายซ้าย

กีสาโคตมี พระเถรีสำคัญองค์หนึ่งเดิมเป็นธิดาคนยากจนในพระนครสาวัตถี แต่ได้เป็นลูกสะใภ้ของเศรษฐีในพระนครนั้น นางมีบุตรชายคนหนึ่ง อยู่มาไม่นานบุตรชายตายนางมีความเสียใจมาก อุ้มบุตรที่ตายแล้วไปในที่ต่าง ๆ เพื่อหายาแก้ให้ฟื้น จนได้พบพระพุทธเจ้า พระองค์ทรงสอนด้วยอุบายและทรงประทานโอวาท นางได้ฟังแล้วบรรลุโสดาปัตติผลบวชในสำนักนางภิกษุณี วันหนึ่งนั่งพิจารณาเปลวประทีปที่ตามอยู่ในพระอุโบสถ ได้บรรลุพระอรหัต พระเถรีกีสาโคตมีได้รับยกย่องว่าเป็นเอตทัคคะในทางจีวรเศร้าหมอง

ธัมมพินนา พระเถรีมหาสาวิกาธัมมทินนาเป็นกุลธิดาชาวพระนครราชกฤห์ เป็นภรรยาของวิสาขเศรษฐี มีความเลื่อมใสในพระพุทธศาสนาอย่างยิ่ง บวชในสำนักนางภิกษุณียำเพ็ญเพียรไม่นานก็ได้สำเร็จพระอรหัตพระเถรีธัมมทินาได้รับการยกย่องว่าเป็นเอตทัคคะในทางเป็นธรรมกถึก

ปฏาจารา พระมหาสาวิกาปฏาจาราเป็นกุลธิดาเศรษฐีในพระนครสาวัตถี ได้รับวิปโยคทุกข์อย่างหนักเพราะสามีและลูกตาย พ่อแม่พี่น้องตายหมด ในเหตุการณ์ร้ายที่เกิดขึ้นฉับพลันทันทีและติดต่อกัน ถึงกับเสียสติปล่อยผ้านุ่งผ้าห่มหลุดลุ่ยเดินบ่นเพ้อไปในที่ต่าง ๆ จนถึงพระเชตวันมหวิหาร พระศาสดาทรงแผ่เมตตา เพปล่งพระวาจาให้นางกลับได้สติ แล้วแสดงพระธรรมเทศนา นางได้ฟังแล้วบรรลุโสดาปัตติผล บวชเป็นพระภิกษุณี ไม่ช้าได้สำเร็จพระอรหัต พระเถรีมหาสาวิกาปฏาจาราได้รับยกย่องว่าเป็นเอตทัคคะในทางทรงพระวินัย

ภัททกาปิลานี พระมหาสาวิกาภัททกาปิลานี เป็นธิดาพราหมณ์โกสิยดคตรในสาคลนครแห่งมัททรัฐเมื่ออายุ ๑๖ ปีได้สมรสกับปิปผลิมาณพตามความประสงค์ของมารดาบิดา แต่ไม่มีความยินดีในชีวิตครอบเรือน ต่อมาทั้งสามีภรรยาได้สละเรือน นุ่งห่มผ้ากาสวะออกบวชกันเองเดินออกจากบ้านแล้วแยกกันที่ทางสองแพร่ง ปิปผลิมาณพเดินทางต่อไปจนพบพระพุทธเจ้าที่พหุปุตตกนิโครธ ได้อุปสมบท ครั้นล่วงไป ๗ วันก็ได้บรรลุพระอรหัต เป็นพระมหาสาวกนาม พระมหากัสสปะ ได้รับยกย่องว่าเป็นเอตทัคคะในทางถือธุดงค์
ส่วนนายภัททกาปิลานีออกบวชเป็นปริพาชิกา (นักบวชนอกพระพุทธศาสนา)ต่อมาเมื่อพระมหาปชาบดีผนวชเป็นภิกษุณีแล้ว นางภัททกาปิลานีได้มาบวชอยู่ในสำนักของพระมหาปชาบดี เจริญวิปัสสนากัมมัฏฐานด้วยความไม่ประมาท ได้บรรลุพระหัต ได้รับยกย่องว่าเป็นเอตทัคคะในทางปุพเพนิวาสานุสสติ

ภัททา กัจจนา พระมหาสาวิกาภัททา กัจจานา เป็นธิดาของพระเจ้าสุปปพุทธะแห่งโกลิยวงศ์ พระนามเดิมว่า "ยโสธรา" หรือ "พิมพา" อภิเษกสมรสกับเจ้าชายสิทธัตถะเมือพระชนม์ได้ ๑๖ พรรษา เป็นพระมารดาของพระราหุลพุทธชิโนรส ได้นามว่า ภัททา กัจจานาเพราะทรงมีฉวีวรรณดุจทองคำเนื้อเกลี้ยง บวชเป็นภิกษุณีในพระพุทธศาสนาเจริญวิปัสนากัมมัฏฐานไม่ช้าก็สำเร็จเป็นอรหัจ พระมหาสาวิกาภัททา กัจจานา ได้รับยกย่องว่าเป็นเอตทัคคะในทางบรรลุมหาภิญญา พระนางทรงเป็นสหชาติกับพระพุทธเจ้า

ภัททา กุณฑลเกสา พระมหาสาวิกาภัททากุณฑลเกสาเป็นธิดาของเศรษฐีในพระนครราชคฤห์ เคยเป็นภรรยาโจรผู้เป็นนักโทษประหารชีวิต โจรคิดจะฆ่านางเพื่อเอาทรัพย์สมบัติ แต่นางใช้ปัญญาคิดแก้ไขกำจัดโจรได้ แล้วบวชในสำนักนิครนถ์ (นักบวชนอกพระพุทธศาสนาที่เป็นสาวกของนิครนถนาฏบุตร , นักบวชในศาสนาเชน) ต่อมาได้พบกับพระสารีบุตรพระอัครสาวกเบื้องขวาของพระพุทธเจ้า ได้ถามปัญหากันและกัน จนนางมีความเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา ต่อมาได้ฟังธรรมเทศนาที่พระศาสดาทรงแสดงได้สำเร็จพระอรหัต แล้วบวชในสำนักนางภิกษุณี พระมหาสาวิกาภัททา กุณฑลเกสาได้รับยกย่องว่าเป็นเอตทัคคะในบรรดาภิกษุผู้มาจากตระกูลสูง

สิคาลมาตา พระมหาสาวิกาสิคาลมาตาเป็นธิดาเศรษฐีในพระนครราชคฤห์ เจริญวัยแล้วแต่งงานมีบุตรคนหนึ่งชื่อ สิงคาลกุมารวันหนึ่งได้ฟังธรรมีกถาของพระศาสดา มีความเลื่อมใสศรัทธา ขอบวชเป็นภิกษุณี ต่อ มาได้ไปฟังธรรมเทศนาที่พระศาสดาทรงแสดงนางคอยตั้งตาดูพระพุทธเจ้า
สิริสมบัติด้วยศรัทธาอันแรงกล้า พระพุทธองค์ทรงทราบดังนั้นก็ทรงแสดงธรรมให้เหมาะกับอัธยาศัยของนาง นางส่งในไปตามกระแสพระธรรมเทศนาก็ได้บรรลุพระอรหัต พระมหาสาวิกาสิคาลมาตาได้รับยกย่องว่าเป็นเอตทัคคะในทางศรัทธาธิมุต

โสณา พระมหาสาวิกาโสณาเป็นธิดาของผู้มีตระกูลในพระนครสาวัตถี นางแต่งงานมีสามีและมีบุตร ๑๔ คน เป็นชาย ๗ คน และ หญิง ๗ คน ภายหลังสามีถึงแก่กรรม ลูกชายหญิงก็แต่งงานมีเรือนกันไปหมด จึงออกบวชเป็นภิกษุณี มีความเพียรอย่างแรงกล้า เจริญวิปัสสานาอยู่เรือนไฟได้ฟังพระธรรมเทศนา ของพระศาสดาได้บรรลุพระอรหัตพระมหาสาวิกาโสณาได้รับยกย่องว่าเป็นเอตทัคคะในทางปรารภความเพียร

อโนชา พระมหาสาวิกาอโนชาเป็นพระอัครมเหสีของกษัตริยืผู้ครองราชสมบัติในนครกุกกุฏวดีในปัจจันตประเทศ ได้ทราบข่าวการอุบัติของพระพุทธเจ้าแล้วบังเกิดปีติศรัทธา สละราชสมบัติทรงม้าเดินทางไกลถึง ๓๐๐ โยชน์ (๔,๘๐๐ กิโลเมตร) มาเฝ้าพระพุทธเจ้าสดับธรรมกถา บรรลุพระอรหัตแล้วได้อุปสมบท เป็นพระมหาสาวกองค์หนึ่งมีพระนามว่าพระมหากัปปินะ ส่วนพระนางอโนชา เมื่อทราบข่าวการอุบัติของพระพุทธเจ้าก็เกิดปีติและศรัทธาเช่นเดียวกัน พระนางทรงรถเสด็จมาเฝ้าพระพุทธเจ้าฟังธรรมบรรลุโสดาปัตติผลแล้ว รับพรรพชาจากพระอุบลวรรณาเถรีไปอยู่ในสำนักภิกษุณี

Wisdom:
หมวดที่ ๔ พุทธสถาน

"หมู่บ้าน ตำบล เมืองและแคว้น"
ชมพูทวีปในสมัยพุทธกาลมีหมู่บ้าน ตำบล เมือง และแคว้น ต่าง ๆที่มีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกับพระพุทธเจ้าและพระพุทธศาสนา ซึ่งพอจะประมวลนำมาบันทึกไว้ ณ ที่นี้ได้ดังต่อไปนี้

๑. หมู่บ้าน

กัลลวาลมุตตคาม เป็นหมู่บ้านอยู่ในแคว้นมคธ เมื่อคราวประโมคคัลลานะอุปสมบทได้ ๗ วัน ไปทำความเพียรจนอ่อนใจนั่งสัปหงกโงกง่วงอยู่ พระพุทธเจ้าเสด็จไปเทศนาโปรด จนได้สำเร็จพระอรหัต ที่กัลลวาลมาตุคามนี้

โกลิตคาม เป็นหมู่บ้านเกิดของ "โกลิตะ" บุตรของตระกูลหัวหน้าหมู่บ้าน ภายหลังบวชในพระพุทธศาสนามีนามว่า พระโมคคัลลานะเป็นพระอัครสาวกเบื้องซ้ายของพระพุทธเจ้าได้รับยกย่องว่าเป็นเอตทัคคะในทางมีฤทธิ์มาก โกลิตคามตั้งอยู่ใกล้พระนครราชคฤห์ แคว้นมคธ

ถูนคาม เป็นเขตแดนบ้านที่กั้นถิ่นกลางหรือมัชฌิมประเทศกับเมืองชายแดนนอกหรือปัจันตประเทศ ถูนคามเป็นที่กำหนดเขตสุดแดนทางทิศตะวันตก นับแต่ถูกคามเข้ามาคือมัชฌิมประเทศ

นาลันถคาม อยู่ติดกับโกลิตคาม เป็นหมู่บ้านเกิดของ "อุปติสสะ"บุตรของตระกูลหัวหน้าหมู่บ้าน เป็นเพื่อนสนิทของโกลิตะ ภายหลังบวชในพระพุทธศาสนามีนามว่า พระสารีบุตร เป็นพระอัครสาวกเบื้องขวาของพระพุทธเจ้า ได้รับยกย่องว่าเป็นเอตทัคคะในทางมีปัญญามากกพระสารีบุตรเป็นกำลังสำคัญของพระพุทธเจ้าในการประกาศพระศาสนาและได้รับยกย่องว่าเป็นพระธรรมเสนาบดี นาลันถคามยังเป็นบ้านเกิดของน้องชาย ๓ น้องหญิง ๓ ของพระสารีบุตร ซึ่งต่อมาบวชในพระธรรมวินัยทั้งหมดและน้องชายทั้ง ๓ เป็นพระสาวกผู้ใหญ่จำนวน ๘๐ องค์ทุกคน นาลันถคามตั้งอยู่ใกล้พระนครราชคฤห์ แคว้นมคธ

ปาริเลยยกะ ในพรรษาที่ ๑๐ ระหว่างเวลา ๔๕ ปี แห่งการบำเพ็ญพุทธกิจของพระพุทธเจ้า พระบรมศาสดาทรงจำพรรษาอยู่ที่แดนบ้านปาริเลยยกะใกล้เมืองโกสัมพี แคว้นวังสะ พระพุทธเจ้าเสด็จเข้าไปอาศัยอยู่ในป่ารักขิตวัน ด้วยทรงปลีกพระองค์จากพระสงฆ์ที่แตกกันในกรุงโกสัมพี ตลอดระยะเวลาที่จำพรรษาอยู่ในป่ารักขิตวันนี้นมีพญาช้างปาริเลยยกะคอยปฏิบัติดูและพระพุทธเจ้า

ปิลินทวัจฉคาม เป็นหมู่บ้านของคนงานวัดจำนวน ๕๐๐ ที่พระเจ้าพิมพิสารพระราชทานให้เป็นผู้ช่วยทำที่อยู่ของประปิสินทวัจฉะ พระมหาสาวกผู้เป็นเอตทัคคะให้ทางเป็นที่รักของพวกเทวดา ปิลินทวัจฉคามอยู่ที่พระนครราชคฤห์ แว้นมคธ

เสนานิคม เป็นหมู่บ้านในตำบลอุรุเวลา ในแคว้นมคธ นางสุชาดาผู้ถวายข้าวปายาสแด่พระมหาบุรุษในเวลาเช้าวันเพ็ญ เดือน ๖ วันที่จะตรัสรู้อยู่ที่หมู่บ้านเสนานิคมนี้ ภายหลังนางสุชาดาได้เป็นปฐมอุบาสิกาพร้อมกับภรรยาเก่าของยสะบุตรชายของนาง

อันธกวินทะ เป็นหมู่บ้านอยู่ติดกับกรุงราชคฤห์ แคว้นมคธ

เอกนาลา หมู่บ้านพราหมณซึ่งพระพุทธเจ้าเสด็จประทับจำพรรษาในพรรษาที่ ๑๑ ระหว่างเวลา ๔๕ ปี แห่งการบำเพ็ญพุทธกิจ

ในกาลที่พระพุทธเจ้าทรงปลงอายุสังขาร ณ ปาวาลเจดีย์ พระนครไพศาลี (เวสาลี) ในวันเพ็ญเดือน ๓ พรรษาที่ ๔๕ ภายหลังตรัสรู้พระบรมศาสดาตรัสว่า แต่นี้ไปอีก ๓ เดือน พระตถาคตก็จักปรินิพพานกาลต่อมาพระบรมศาสดาพร้อมด้วยพระภิกษุสงฆ์ ๕๐๐ รูปได้เดินทางออกจากพระนครไพศาลี เพื่อมุ่งหน้าไปยัง สาลวโนทยาน ในกรุงกุสินารา แคว้นมัลละ สถานที่ซึ่งพะพุทธองค์มีประสงค์จักปรินิพพาน ในระหว่างพุทธดำเนินจากพระนครไพศาลีไปกรุงกุสินาราทรงเสด็จผ่านหมู่บ้านต่าง ๆ ดังนี้
พระพุทธเจ้าทรงพาพระภิกษุสงฆ์เสด็จไปยังบ้าน ภัณฑุคาม แสดงธรรมโปรดพุทธบริษัท ต่อจากนั้นเสด็จไปบ้าน หัตถีคาม อัมพุคามชัมพุคาม และโภคนคร โดยลำดับ ประทับอยู่ที่โภคนครแสดงธรรมโปรดพุทธบริษัทชาวเมืองนั้น ต่อจากนั้นจึงเสด็จไปยังเมืองปาวานครเสด็จเข้าประทับอาศัยอยู่ที่อัมพวันสวนมะม่วงของจุนทกัมมารบุตรซึ่งอยู่ใกล้เมืองนั้น เสด็จจากปาวานครพร้อมกับทรงประชวรพระโรค "โลหิตปักขัณทิกาพาธ" (โรคท้องร่วงถึงพระโลหิต) เสด็จพระพุทธดำเนินข้ามแม่น้ำหิรัญญวดะ ในเมืองกุสินารา แล้วเสด็จเข้าไปยังสาลวโนทยานของมัลลกษัตริย์ใกล้เมืองกุสินารา




๒. ตำบล




กาฬศิลา ตำบลในชนบทสำคัญแห่งหนึ่งในแคว้นมคธ อยู่ข้างภูเขาอิสิคิลิพระนครราชคฤห์ ณ ที่นี้พระพุทธเจ้าเคยทำนิมิตต์โอภาสแก่คนร้ายซึ่งรับจ้างจากพวกเดียรถีย์ไปลอบฆ่าด้วยการทุบตีจนร่างแหลกพระพุทธเจ้าโปรดให้ก่อสถูปบรรจะอิฐิธาตุของท่านไว้ไกล้ซุ้มประตูวัดเวฬุวัน ในเขตเมืองราชคฤห์

คยาสีสะ เป็นตำบลเนินเขาแห่งหนึ่ง ริมแม่น้ำเนรัญชรา แคว้นมคธ เป็นสถานที่ซึ่งคยากัสสปน้องชายคนเล็กของนักบวชชฏิลแห่งกัสสปโคตร ตั้งอาศรมอยู่พร้อมบริวาร ๒๐๐ พระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมเทศนาอาทิตตยปริยายสูตร (พระสูตรว่าด้วย อายตนะทั้ง ๖ ที่ร้อนติดไฟลุกทั่ว ด้วยไฟราคะ ไฟโทสะ และไฟโมหะ ตลอดจนร้อนด้วยทุกข์มี ชาติ ชรา มรณะ) ให้คณาจารย์ชฏิลสามพี่น้องและบริวาร ๑๐๐๐ ซึ่งพรรพชาเป็นพระภิกษุสงฆ์ แล้ว ทั้งหมดเคยเป็นชฏิลบูชาไฟมาก่อนหลังจากทรงแสดงธรรมเทศนาพระสูตรนี้ ทำให้ภิกษุเหล่านั้นบรรลุอรหัตตผล

โคตมนิโครธ ตำบลแห่งหนึ่งในพระนครราชคฤห์ นครหลวงของแคว้นมคธ ที่ตำบลนี้พระพุทธเจ้าเคยนิมิตต์โภาสแก่พระอานนท์

ปาริเลยยกะ ตำบลแห่งหนึ่งใกล้กรุงโกสัมพี นครหลวงของแคว้นวังสะ เป็นที่ตั้งของป่ารักขิตวันและแดนบ้านปาริเลยยกะ

เวฬุวคาม ตำบลหนึ่งใกล้แคว้นนครเวสาลี (ไพศาลี) แคว้นวัชชีพระพุทธเจ้าทรงประทับจำพรรษาที่ ๔๕ นับแต่ได้ตรัสรู้ที่เวฬุคามแห่งนี้เป็นพรรษาสุดท้ายที่จะเสด็จปรินิพพาน

เสตกัณณิกนิคม นิคมที่กั้นอาณาเขตมัชฌิมชนบท (ถิ่นกลางของอาณาเขต เป็นศูนย์รวมของความเจริญรุ่งเรืองนานาประการ) กับปัจจันตชนบทหรือปัจจันตประเทศ (หัวเมืองชั้นนอก ถิ่นที่ยังไม่เจริญ)ทางทิศใต้นับจากเสตกัณณิกนิคมเข้ามาถือเป็นมัชฌิมชนบท

อุกกลชนบท เป็นตำบลชนบทแดนไกลที่ ๒ พ่อค่าคือ ตปุสสะ กับภัลลิกะ นำกองเกวียนบรรทุกสินค้าเดินทางเข้ามาพบพระพุทธเจ้าขณะประทับอยู่ ณ ภายใต้ต้นราชาตนะ (ไม้เกต) ภายหลังพระบรมศาสดาทรงตรัสรู้ได้ ๗ สัปดาห์ และเพิ่งเสร็จสิ้นจากเสวยวิมุตติสุข ๒ พ่อค้าจากอุกกลชนบทได้ถวายเสบียงเดินทางคือ ข้าวสัตตุผง ข้าวสัตตุก้อน แล้วเสดงตนเป็นอุบาสก ถึงพระพุทธเจ้ากับพระธรรมเป็น ๒ สรณะ นับเป็นปฐมอุบาสกผู้ถึงสรณะ ๒ เรียกว่า "เทววาจิก"

อุรุเวลา เป็นตำบลใหญ่แห่งหนึ่ง ในแคว้นมคธ ตั้งอยู่ ณ ลุ่มแม่น้ำเนรัญชรา เป็นภูมิสถานที่สงบน่ารื่นรมย์ พระมหาบุรุษทรงเลือกตำบลอุรุเวลาเป็นที่บำเพ็ญเพียร ทรงประทับอยู่ที่ตำบลแห่งนี้นานถึง ๖ ปี จากพระชนมายุ ๒๙ พรรษา ถึง ๓๕ พรรษา ทรงบำเพ็ญเพียร และจากการบำเพ็ญทุกรกริยาเปลี่ยนมาทรงดำเนินในมัชฌมาปฏิปทา (ทางสายกลาง) จนได้ตรัสรู้อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ ในวันเพ็ญเดือน ๖ ก่อนพุทธศักราช ๔๕ ปีภายใต้ร่มพระศรีมหาโพธิ์ภายในปาสาละ ณ ริมฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา ในตำบลแห่งนี้




๓.เมือง



กบิลพัสดุ์ เมืองหลวงของแคว้นสักกะ พระพระพุทธบิดาคือ "พระเจ้าสุทโธนะ" เป็นกษัตริย์ ครองนครกบิลพัสดุ์ (บัดนี้อยู่ในเขตประเทศเนปาล)

กัมปิลละ นครหลวงแห่งแคว้นปัญจาละ หนึ่งในมหาชนบท ๑๖ ในสมัยพุทธกาล เมืองกัมปิลละตั้งอยู่เหนือแม่น้ำคงคาตอนบน

กุกกุฏวดี อยู่ในปัจจันตประเทศหรือหัวเมืองชั้นนอกอันเป็นถิ่นที่ยังไม่เจริญ กษัตริย์ผู้ครองนครกุกกุฏวดีได้ทราบข่าวการอุบัติของพระพุทธเจ้าแล้วบังเกิดปีติศรัทธาสละราชสมบัติทรงม้าเดินทางไกล ๓๐๐ โยชน์ (ประมาณ ๔,๘๐๐ กิโลเมตร) มาเฝ้าพระพุทธเจ้า สดับธรรมกถาบรรลุประอรหัตแล้วได้รับอุปสมบท เป็นพระมหาสาวกนามว่า " มหากัปปินะ" ได้รับยกย่องว่าเป็นเอตทัคคะในทางให้โอวาทแก่ภิกษุส่วนพระอัครมเหสีชื่ออโนชา ทรงรถเสด็จมาเฝ้าพระบรมศาสดาเช่นกัน ฟังธรรมบรรลุโสดาปัตติผลแล้วรับพรรพชาจากพระอัครสาวิกาฝ่ายซ้ายอุบลวรรณาเถรี

กุสินารา เมืองหลวงแห่งหนึ่งของแคว้นมัลละ เดิมชื่อกุสาวดีภายหลังแยกเป็นกุสินาราและปาวา ทั้งสองนครเป็นเมืองหลวงของแคว้นมัลละ หนึ่งในมหาชนบท ๑๖ ในสมัยพุทธกาล กุสินาราเป็นเมืองเล็ก ๆ ซึ่งพระพุทธเจ้าทรงเลือกเสด็จดับขันธปรินิพพานที่เมืองแห่งนี้ กุสินาราตั้งอยู่ในจะดที่บรรจบของแม่น้ำรับดิ และแม่น้ำคันธกะ

โกสัมพี นครหลวงของแคว้นวังสะ ตั้งอยู่เหนือฝั่งตอนใต้ของแม่น้ำยมุนา พระพุทธเจ้าทรงจำพรรษาที่ ๙ ที่วัดโฆสิตารามในกรุงโกสัมพี และทรงจำพรรษาที่ ๑๐ ที่ป่ารักขิตวัน ตำบลปาริเลยยกะ ใกล้กรุงโกสัมพี

จัมปา นครหลวงของแคว้นอังคะ ตั้งอยู่บนฝั่งแม่น้ำจัมปา ซึ่งบรรจบกับปลายแม่น้ำคงคา แคว้นอังคะเป็นหนึ่งในมหาชนบท ๑๖ ในสมัยพุทธกาล

ตักศิลา นครหลวงแห่งแคว้นคันธาระ หนึ่งในมหาชนบท ๑๖ ใน สมัยพุทธกาล ตักศิลาเป็นราชธานีที่มั่งคั่งรุ่งเรืองสืบต่อกันมาหลายศตวรรษตั้งแต่ก่อนพุทธกาล รุ่งโรจน์ด้วยศิลปวิทยาต่าง ๆ เป็นสถานที่มีชื่อเสียงที่สุดในการศึกษายุตโบราณ เป็นศูนย์กลางการศึกษา มีสำนักอาจารย์ทิศาปาโมกข์ สั่งสอนศิลปวิทยาต่าง ๆ แก่ศิษย์ที่เดินทางมาเล่าเรียนจากทุกถิ่นในชมพูทวีป บุคคลสำคัญและมีชื่อเสียงหลายท่านในสมัยพุทธกาลสำเร็จการศึกษาจากนครตักศิลา เช่น พระเจ้าปเสนทิโกศ(พระเจ้าแผ่นดินแคว้นโกศลครองราชสมบัติอยู่ที่พระนครสาวัตถี) เจ้ามหาลิลิจฉวี พันธุลเสนาบดี หมอชีวกโกมาภัจ (แพทย์ประจำประองค์ของพระพุทธเจ้า) และองคุลิมาล (มหาโจรผู้กลับใจเป็นพระอรหันต์มหาสาวก)

เทวทหะ หรือรามคาม นครของแคว้นโกลิยะ มีกษัตริย์โกลิยวงศ์ปกครอง พระนางสิริมมหามายาพุทธมารดา เป็นเจ้าหญิงแห่งเทวทหนคร เป็นพระราชบุตรีของพระเจ้าอัญชนะ นครเทวทหะ หรือรามคามเป็นที่ประดิษฐานสถูปบรรจุพระบรมสารีริกธาตุแห่งหนึ่ง บัดนี้อยู่ในเขตประเทศเนปาล

นาลันทา เป็นเมืองเล็ก ๆ เมืองหนึ่งในแคว้นมคธ อยู่ห่างจากพระนครราชคฤห์ประมาณ ๑ โยชน์ (ประมาณ ๑๖ กิโลเมตร) ณ เมือง นี้สวนมะม่วงชื่อ "ปาวาริกกัมพวัน" หรือสวนมะม่วงของปาวาริกเศรษฐีซึ่งพระพุทธเจ้าเสด็จมาประทับแรมหลายครั้ง

ปาฐา เป็นเมืองหนึ่งในมัธยมประเทศ ภิกษุชาวเมืองนี้คณะหนึ่งเป็นเหตุปรารถให้พระพุทธเจ้าทรงอนุญาตการกรานกฐิน

ปาวา นครหลวงของแคว้นมัลละ เดิมชื่อกุสาวดี ภายหลังแยกเป็นปาวาและกุสินารา ทั้งสองนครเป็นเมืองหลวงของแคว้นมัลละหนึ่งในมหาชนบท ๑๖ ในสมัยพุทธกาล

ปิปผลิวัน มีโมริกยกณัตริย์เป็นกษัตริย์ ผู้ครอบเมือง พระองค์ส่งทูตมาไม่ทันเวลาแจกพระบรมสารีริกธาตุของพระพุทธเจ้า จึงได้แต่พระอังคาร(ถ่านเถ้าที่ถวายพระเพลิงพระพุทธสรีระ) ไปบรรจุไว้ในพระสถูปในเมืองปิปผลิวัน อันมีนามว่า "อังคารสตูป"

พาราณสี เมืองหลวงของแคว้นกาสี ตั้งอยู่ริมแม่น้ำคงคาพระพุทธเจ้าทรงแสดงปฐมเทศนาโปรดปัจจวัคคีย์ ที่ป่าอัสปตนมฤคทายวัน ใกล้เมืองพาราณสี ณ สถานที่แห่งนี้เป็นที่ก่อให้เกิดพระรัตนตรัยครบถ้วนสมบูรณ์คือ พระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์ พระพุทธเจ้าทรงประทับจำพรรษาที่ ๑ ภายหลังตรัสรู้ ณ ป่าอิสปตนมฤคทายวัน ใกล้เมืองพาราณสี

โภคนคร เป็นเมืองที่พระพุทธเจ้าพร้อมด้วยพระภิกษุสงฆ์ ๕๐๐ รูปทรงประทับแสดงธรรมโปรดพุทธบริษัทชาวเมืองกุสินาราทรงดับขันธปรินิพาน

มหาศาลนคร เป็นนครที่กั้นถิ่นกลางหรือมัชฌิมประเทศกับเมืองชายแดน หรือปัจจันตประเทศ มหาศาลนครเป็นที่กำหนดเขตสุดแดนทางทิศตะวันออก นับจากมหาศาลนครเข้ามาคือ มัชฌิมประเทศ

มิถิลา เป็นนครหลวงของแคว้นวิเทหะ

ราชคฤห์ นครหลวงของแคว้นมคธ หนึ่งในมหาชนบท ๑๖ ในสมัยพุทธกาล เป็นนครที่มีความเจริญรุ่งเรือง เต็มไปด้วยคณาจารย์เจ้าลักธิพระพุทธเจ้าทรงเลือกพระนครราชคฤห์เป็นภูมิที่ประดิษฐานพระพุทธศาสนาเป็นปฐม พระเจ้าพิมพิสารราชาแห่งแคว้นมคธ ครองราชสมบัติ ณ ราชธานีแห่งนี้ พระองค์ทรงถวายพระราชอุทยานเวฬุวันเป็นสังฆาราม นับเป็นวัดแรกในพระพุทธศาสนา พระพุทธเจ้าทรงประทับจำพรรษาที่ ๒-๓-๔-๑๗ และ ๒๐ ในระว่างเวลา ๔๕ แห่งการบำเพ็ญพุทธกิจ ที่พระเวฬุวัน พระนครราชคฤห์

วิราฏ นครหลวงแห่งแคว้นมัจฉะ หนึ่งในมหาชนบท ๑๖ ในสมัยพุทธกาล

เวรัญชา พระพุทธเจ้าทรงประทับจำพรรษาที่ ๑๒ ภายหลังตรัสรู้ที่เมืองนี้

เวสาลี หรือไพศาลี นครหลวงของแคว้นวัชชี หนึ่งในมหาชนบท ๑๖ ในสมัยพุทธกาล ตั้งอยู่บนฝั่งทิศตะวันออกของแม่น้ำคันธกะพระพุทธเจ้าทรงประทับจำพรรษาที่ ๕ ณ กูฎาคารในป่ามหาวัน นครเวสาลี และในพรรษาสุดท้ายคือพรรษาที่ ๔๕ พระพุทธเจ้าทรงประทับจำพรรษาที่เวฬุคามใกล้นครเวสาลี

สังกัสสะ ตั้งอยู่ในแคว้นปัญจาละอันมีเมืองหลวงชื่อ "กัมปิลละ"เป็นหนึ่งในมหาชนบท ๑๖ ในสมัยพุทธกาล ในพรรษาที่ ๗ พระพุทธเจ้าทรงประทับจำพรรษาที่ดาวดึงสเทวโลก ทรงแสดงพระอภิธรรมโปรดพระพุทธมารดานานสามเดือน และเสด็จลงจากดาวดึงสเทวโลกที่นครสังกะสะแห่งนี้ นครสังกะสะอยู่ทางตอนใต้ของนครกัมปิลละ มีแคว้นกุรุอยู่ทางทิศตะวันตก มีแคว้นโศลอยู่ทางทิศตะวันออก

สาเกต เป็นมหานครแห่งหนึ่ง อยู่ในแคว้นโกศลอันมีนครสาเกตอยู่ห่างจากพระนครสาวัตถี ๗ โยชน์ (ประมาณ ๑๑๒ กิโลเมตร) ธนัญชัยเศรษฐีบิดาของนางวิสาขา มหาอุบาสิกาผู้สร้างวัดบุพพาราม ณ พระนครสาวัตถี เคียงคู่ใกล้กับพระเชตวันมหาวิหารถวายพระพุทธเจ้า

สาคละ นครหลวงของแคว้นมัททะ หนึ่งในมหาชนบท ๑๖ ในสมียพุทธกาลตั้งอยู่ริมแม่น้ำสินธุกับ ยมุนาตอนบน

สาวัตถี นครหลวงของแคว้นโกศล หนึ่งในมหาชนบท ๑๖ ในสมัยพุทธกาล เป็นศูนย์กลางการเผยแผ่พระพุทธศาสนาครั้งสมัยพุทธกาลเป็นที่ที่พระพุทธเจ้าประทับจำพรรษามากที่สุดถึง ๒๕ พรรษา ณ เชตวันมหาวิหาร และบุพพาราม พระเจ้าปเสนทิโกศล พระเจ้าแผ่นดินแคว้นโกศลซึ่งครองราชสมบัติอยู่ที่พระนครสาวัตถึเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา ตั้งมั่นอยู่ในพระไตรสรณคมณ์ สองมหาอุบาสก อุบาสิกาคืออนาถบิณทิกเศรษฐี และนางวิสาขา มิคารมารดาก็พำนักอยู่ ณ พระนครแห่งนี้

สุงสุมารคีระ นครหลวงของแคว้นภัคคะ พระพุทธเจ้าทรงประทับจำพรรษาที่ ๘ ภายหลังตรัสรู้ ที่เภสกลาวันในป่าไม่สีเสียดใกล้เมืองสุงสุมารคีระ แคว้นภัคคะ

โสตถิวดี นครหลวงแห่งแคว้นเจตี หนึ่งในมหาชนบท ๑๖ ในสมัยพุทธกาล

อาฬวี ในพรรษาที่ ๑๖ ระหว่างเวลา ๔๕ ปี แห่งการบำเพ็ญพุทธกิจ พระพุทธเจ้าได้เสด็จไปประทับจำพรรษา ณ เมืองอาฬวี ทรงทรมานอาฬวกยักษ์สยบฤทธิ์เดชให้ยินดีในอริยธรรม ทรงช่วยให้ชาวนครอาฬวีตั้งอยู่ในกัลยาณธรรม ประทานธรรมให้เป็นสมาบัติ ปลุกให้เกิดความปรานีกันทั่วหน้า

อินทปัตถ์ นครหลวงของแคว้นกุรุ หนึ่งในมหาชนบท ๑๖ ในสมัยพุทธกาล ตั้งอยู่บริเวณลุ่มแม่น้ำยมุนาตอนบน

อุชเชนี นครหลวงแห่งแคว้นอวันตี หนึ่งในมหาชนบท ๑๖ ในสมัยพุทธกาล, พระเจ้าจัณฑปัชโชตเป็นราชาผู้ครองแคว้นอันตีครองราชสมบัติอยู่ที่กรุงอุชเชนี

กัมโพชะ แคว้นหนึ่งในมหาชนบท ๑๖ ในสมัยพุทธกาลมีนครหลวงชื่อทวารกะ แคว้นกัมโพชะอยู่ทางตอนเหนือสุดของทวีป (บัดนี้ดินแดนแห่งนี้อยู่ในเขตประเทศอัฟกานิสถาน)

กาสี แคว้นหนึ่งในมหาชนบท ๑๖ ในสมัยพุทธกาล นครหลวงชื่อพาราณสี ในสมัยพุทธกาลแคว้นกาสีถูกรวมเข้าเป็นส่วนหนึ่งของแคว้นโกศล

กุรุ แคว้นหนึ่งในมหาชนบท ๑๖ ในสมัยพุทธกาล นครหลวงชื่ออินทปัตต์ พระเจ้าโกรัพยะเป็นราชาผู้ครองแคว้นกุรุ

โกลิยะ แคว้นโกลิยะหรือดินแดนของกษัตริย์โกลิยวงค์ มีนครหลวงชื่อเทวทหะหรือรามคาม พระนางสิริมมหามายาพุทธมารดา เป็นเจ้าหญิงแห่งโกลิยวงศ์ เป็นพระราชบุตรีของพระเจ้าอัญชนะผู้ครองนครเทวทหะ (บัดนี้ดินแดนแห่งนี้อยู่ในเขตประเทศเนปาล)

โกศล แคว้นหนึ่งในมหาชนบท ๑๖ ในสมัยพุทธกาล มีนครหลวงชื่อสาวัตถี แคว้นโกศลเป็นแคว้นใหญ่และมีอำนาจมาก พระเจ้าปเสนทิโกศลเป็นราชาผู้ครองแคว้นและเป็นผู้เลื่อมใสในพระพุทธศาสนายิ่งนครสาวัตถีเป็นศูนย์กลางการเผยแผ่พระพุทธศาสนาในสมัยพุทธกาล

คันธระ แคว้นหนึ่งในมหาชนบท ๑๖ ในสมัยพุทธกาลมีนครหลวงชื่อตักศิลา เป็นนครที่รุ่งเรืองด้วยศิลปวิทยา ต่างๆ เป็นศูนย์กลางทางการศึกษา พระเจ้าปุกกุสาติเป็นพระราชาผู้ครองแคว้น (บัดนี้ดินแดนของนครตักศิลา อยู่ในเขตประเทศปากีสถาน)

เจตี แคว้นหนึ่งในมหาชนบท ๑๖ ในสมัยพุทธกาล มีนครหลวงโสตถิวดี พระสารีบุตรอัครสาวกเบื้องขวาของพระพุทธเจ้าทรงตั้งสำนักที่ป่าปาจีนวังสทายวันในแคว้นเจตี

ปัญจาละ แคว้นหนึ่งในมหาชนบท ๑๖ ในสมัยพุทธกาล มีนครหลวงชื่อกัมปิลละ

ภัคคะ แคว้นัคคะมีนครหลวงช่อสุงสุมารคีระ ซึ่งพระพุทธเจ้าประทับจำพรรษาที่ ๘ ภายหลังตรัสรู้

มคธ แคว้นหนึ่งในมหาชนบท ๑๖ ในสมัยพุทธกาล มีนครหลวงชื่อราชคฤห์ พระเจ้าพิมพิสารเป็นราชาผู้ครองแคว้น แต่ในตอนปลายพุทธกาลถูกประราชโอรสชื่ออชาตศัตรู ปลงพระชนม์และขึ้นครองราชย์สืบแทน แคว้นมคธเป็นแคว้นที่มีอำนาจมากแข่งกับแคว้นโกศล และเป็นที่ซึ่งพระพุทธเจ้าทรงประดิษฐานพระพุทธศาสนา ในสมัยพุทธกาล

มัจฉะ แคว้นหนึ่งในมหาชนบท ๑๖ ในสมัยพุทธกาล มีนครหลวงชื่อวิรฏ

มัททะ แคว้นมัททะมีนครหลวงชื่อสาคละ นครที่กำเนิดของพระมหาสาวิกา ภัททกาปิลานี

มัลละ แคว้นหนึ่งในมหาชนบท ๑๖ ในสมียพุทธกาลมีนครหลวงชื่อกุสาวดี แต่ภายหลังแยกเป็น ๒ นครหลวงคือ นครกุสินารา กับนครปาวาแคว้นมัลละมีการปกครองแบบสามัคคีธรรม โดยมีพวกมัลลกษัติรย์เป็นผู้ปกครอง ภายหลังแยกเป็น ๒ นครหลวง คณะกษัตริย์แบ่งเป็นพวกหนึ่งปกครองที่นครกุสินารา อีกพวกหนึ่งปกครองที่นครปาวา

วังสะ แคว้นหนึ่งในมหาชนบท ๑๖ ในสมัยพุทธกาล มีนครหลวงชื่อโกสัมพี มีพระเจ้าอุเทนเป็นราชาผู้ครองแคว้น แคว้นวังสะเป็นแคว้นที่เจริญรุ่งเรือง และมีอำนาจมากแคว้นหนึ่ง

วัชชี แคว้นหนึ่งในมหาชนบท ๑๖ ในสมัยพุทธกาล มีนครหลวงชื่อเวสาลี (ไพศาลี) แคว้นวัชชีปกครองด้วยระบอบสามัคคีธรรม พวกกษัตริย์ที่ปกครองเรียกว่า กษัตริย์ลิจฉวี แคว้นวัชชีเจริญรุ่งเรืองเข้มแข็งและมีอำนาจมากตลอดปลายพุทธกาลได้กลายเป็นคู่แข่งกับแคว้นมคธแต่ภายหลังพุทธกาลไม่นานก็เสียอำนาจแก่แคว้นมคธ

วิเทหะ แคว้นวิเทหะ มีนครหลวงชื่อ มิถิลา เป็นดินแดนพวกวัชชีอีกถิ่นหนึ่ง ตั้งอยู่บยฝั่งแม่น้ำคงคาตรงข้ามกับแคว้นมคธมีการปกครองด้วยระบอบสามัคคีธรรมเช่นเดียวกับแคว้นวัชชี

สักกะ แค้วนหนึ่งในชมพูทวีปตอนเหนือ มีนครหลวง ชื่อกบิลพัสดุ์มีการปกครองโดยสามัคคีธรรม พระเจ้าสุทโธทนะพระพุทธบิดาทรงครองราชสมบัติที่นครกบิลพัสดุ์ (บัดนี้ดินแดนแห่งนี้อยู่ในเขตประเทศเนปาล)

สุนาปรันตะ แคว้นสุนาปรันตะอยู่ในแดนไกล ทางตะวันตกเฉียงใต้ของมัชฌิมประเทศ มีเมืองท่าใหญ่ชื่อสุปปารกะ อยู่ริมทะเล ชาวสุนาปรันตะชื่อว่าดุร้าย พระมหาสาวกปุณณสุนาปรันตะเกิดที่เมืองท่าในแคว้นนี้ พระพุทธเจ้าทรงประทับรอยพระบาทไว้ที่ริมฝั่งแม่น้ำนันมทาและที่ภูเขาสัจจพันธ์ ในกาลที่เสด็จมาแสดงธรรมโปรดชาวแคว้นสุนปรันตะ ตามคำอาราธนาของพระมหาปุณณะ นับว่าเป็นประวัติการเกิดขึ้นของรอยพระพุทธบาท

สุรเสนะ แคว้นหนึ่งในมหาชนบท ๑๖ ในสมัยพุทธกาลมีนครหลวงชื่อมถุรา

อวันตี แคว้นหนึ่งในมหาชนบท ๑๖ ในสมียพุทธกาล มีนครหลวงชื่ออุชเชนี พระเจ้าจัณฑปัชโชตเป็นราชาผู้ครองแคว้น

อังคะ แคว้นหนึ่งในมหาชนบท ๑๖ ในสมัยพุทธกาล มีนครหลวงชื่อจัมปา ในสมัยพุทธกาล แคว้นอังคะ ถูกรวมเข้าเป็นส่วนหนึ่งของแคว้นมคธ แค้วนอังคะตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของแคว้นมคธ มีแม่น้ำจัมปากั้นแดน

อังคุตตราปะ แคว้นเล็กแคว้นหนึ่งในชมพูทวีปครั้งพุทธกาล เมืองหลวงเป็นเพียงนิคม ชื่ออาปณะ

อัสสกะ แคว้นหนึ่งในมหาชนบท ๑๖ ในสมัยพุทธกาล มีนครหลวงชื่อโปตลิหรือโปตนะ

อาฬกะ แคว้นอาฬกะ ตั้งอยู่ลุ่มแม่น้ำโคธาวรี ตรงข้ารมกับแคว้นอัสสะ

Wisdom:
"มหาชนบท ๑๖ ในสมัยพุทธกาล"

มหาชนบท ๑๖ ในสมัยพุทธกาล หมายถึง แคว้นขนาดใหญ่ หรือรัฐ ๑๖ รัฐ ตามที่ปรากฏในคัมภีร์ทางพระพุทธศาสนา ดังนี้

๑. แคว้นกัมโพชะ มีเมืองหลวงชื่อ ทวารกะ
๒.แคว้นกาสี มีเมืองหลวงชื่อ พาราณสี
๓.แคว้นกุรุ มีเมืองหลวงชื่อ อินทปัถะ
๔.แคว้นโกศล มีเมืองหลวงชื่อ สาวัตถี
๕.แคว้นคันธาระ มีเมืองหลวงชื่อ ตักศิลา
๖.แคว้นเจตี มีเมืองหลวงชื่อ โสตถิวดี
๗.แคว้นปัญจาละ มีเมืองหลวงชื่อ กัมปิลละ
๘.แคว้นมคธ มีเมืองหลวงชื่อ ราชคฤห์
๙.แคว้นมัจฉะ มีเมืองหลวงชื่อ วิราฎ
๑๐.แคว้นมัละ มีเมืองหลวงชื่อ กุสาวดี (แต่ภายหลังแยกเป็นกุสินาราและปาวา)
๑๑.แคว้นวังสะ มีเมืองหลวงชื่อ โกสัมพี
๑๒.แคว้นวัชชี มีเมืองหลวงชื่อ เวสาลี (ไพศาลี)
๑๓.แคว้นสุระเสนะ มีเมืองหลวงชื่อ มถุรา
๑๔.แคว้นอวันตี มีเมืองหลวงชื่อ อุชเชนี
๑๕.แคว้นอังคะ มีเมืองหลวงชื่อ จัมปา
๑๖.แคว้นอัสสกะ มีเมืองหลวงชื่อ โปตลิ (โปตละ)


นอกจากมหาชนบทหรืออาณาจักร ๑๖ นี้แล้ว ยังมีแคว้นอื่นๆ ที่ปรากฏในคัมภีร์ทางพระพุทธศาสนา ที่พอจะประมวลมาได้ดังนี้

๑. แคว้นโกลิยะ มีเมืองหลวงชื่อ เทวทหะ (รามคาม)
๒.แคว้นภัคคะ มีเมืองหลวงชื่อ สุงสุมารคีระ
๓.แคว้นมัททะ มีเมืองหลวงชื่อ สาคละ
๔.แคว้นวิเทหะ มีเมืองหลวงชื่อ มิถิลา
๕.แคว้นสักกะ มีเมืองหลวงชื่อ กบิลพัสดุ์
๖.แคว้นสุนาปรันตะ มีเมืองหลวงชื่อ สุปปารกะ
๗. แคว้นอังคุตตราปะ เมืองหลวงเป็นเพียงนิคมชื่ออาปณะ


มหาชนบท หรืออาณาจักร ๑๖ ในสมัยพุทธกาล เท่าที่ค้นพบหลักฐานในปัจจุบัน ได้แก่ อาณาเขตและเมืองดังต่อไปนี้

๑. แคว้นกัมโพชะ ตั้งอยู่เหนือแคว้นคันธาระ ตั้งอยู่เหนือสุดของชมพูทวีป มีเมืองหลวงชื่อทวารกะ (ปัจจุบันอยู่ในเขตประเทศอัฟกานิสถาน)

๒.แคว้นกาสี ตั้งอยู่ตอนบรรจบของแม่น้ำคงคาและยมุนานครหลวงชื่อ พาราณสี อยู่เหนือแคว้นมคธ อยู่ทางตะวันตกเฉียงใต้ ของแคว้นโกศล มีแคว้นวัชชีและแคว้นวิเทหะอยู่ทางตะวันออก มีแคว้นวังสะอยู่ทางตะวันตก ในสมัยพุทธกาลแคว้นกาสีถูกรวมเข้าเป็นส่วนหนึ่งของแคว้นโกศล (ปัจจุบันเรียกว่า วาราณสี)

๓.แคว้นกุรุ ตั้งอยู่บนลุ่มแม่น้ำยมุนาตอนบนอยู่เหนือแคว้นมัจฉะ สุรเสนะ และปัญจาละ มีเมืองหลวงชื่อ อินทปัตถะ (ปัจจุบันเป็นดินแดนราวแคว้นปัญจาบและเมืองเดลีนครหลวงของประเทศอินเดีย)

๔.แคว้นโกศล ตั้งอยู่ระหว่างเทือกเขาหิมาลัยกับแม่น้ำคงคาตอนกลาง ทิศเหนือจดภูเขาหิมาลัยตะวันตก ทิศใต้จดแม่น้ำคงคา ทิศตะวันออกจดแคว้นกาสีต่อกับแคว้นมคธ นครหลวงชื่อสาวัถี (ปัจจุบันเป็นดินแดนราวเมืองอโยธยา หรือ โอธ บัดนี้เรียกว่า สะเหต-มะเหต ตั้งอยู่บนฝั่งลำน้ำอจิรวดีหรือรับดิ ห่างจากเมืองโอธไปทางทิศเหนือราว ๘๐ กิโลเมตร และอยู่ทางทิศใต้ห่างจากเขตแดนประเทศเนปาลราว ๕๐ กิโลเมตรแคว้นโกศลคือ อุตรประเทศในปัจจุบัน)

๕.แคว้นคันธาระ ตั้งอยู่ทางลุ่มแม่น้ำสินธุตอนบน อยู่ทางเหนือสุดของชมพูทวีป มีเพียงแคว้นกัมโพชะอยู่เหนือขึ้นไป นครหลวงชื่อตักศิลา (ปัจจุบันเป็นดินแดนนี้อยู่ราวพรมแดนทิศนะวันตกเฉียงเหนือของประเทศอินเดีย ตรงกับแคว้านปัญจาบภาคเหนือ อยู่ติดกับแคว้นกัษมีระหรือแคชเมียร์ นครหลวงชื่อตักสิสา อยู่ในดินแดนประเทศปากีสถาน)

๖.แคว้นเจตี ตั้งอยู่ลุ่มแม่น้ำคงคา ติดต่อกับแคว้นวังสะทางทิศตะวันออก มีแคว้นวันตีอยู่ทางทิศตะวันตก นครหลวงชื่อโสตถิวดี

๗.แคว้นปัญจาละ ตั้งอยู่ลุ่มแม่น้ำคงคาตอนบน มีแม่น้ำภาคีรถีซึ่งเป็นแควหนึ่งของแม่น้ำคงคาตอนบนไหลผ่าน มีแคว้นโกศลอยู่ทางทิศตะวันออก มีแคว้นกุรุอยู่ทางทิศตะวันตก ภูเขาหิมาลัยอยู่ทางทิศเหนือแม่น้ำคงคาอยู่ทางทิศใต้ เมืองหลวงของแคว้นนี้เดิมชื่อ หัสดินาปุระหรือหัสดินต่อมาจึงแยกไปตั้งนครหลวงใหม่คือกัมปิลละตั้งอยู่เหนือแม่น้ำคงคา ถัดลงมาถึงเมืองสังกัสสะ และถึงเมืองกันยากุพชะ(บัดนี้เรียกว่ากะเนาซ์ปัจจบันดินแดนแห่งนี้ อยู่ราวเมืองอัคราของประเทศอินเดีย)

๘.แคว้นมคธ ตั้งอยู่ใต้แม่น้ำคงคาตอนกลางมีแม่น้ำคงคาอยู่ห่างทิศเหนือ และมีภูเขาวินชัยอยู่ทางทิศใต้และทิศตะวันตก ตั้งอยู่ระหว่างแม่น้ำโสนกับแคว้นอังคะ นครหลวงชื่อราชคฤห์ ตั้งอยู่ในเขตภูเขา ๕ ลูกล้อมรอบคือ ภูเขาคิชณกูฏ อิสิคิสิ ปัพภาระ เวภาระ และเวปุลละเรียกว่าเบญจคีรี ต่อมาพระเจ้าอุทายีพระราชนัดดาของพระเจ้าอชาตศัตรูได้ย้ายนครหลวงไปที่เมืองปาฏลีบุตร บนฝั่งแม่น้ำคงคาเหนือเมืองราชคฤห์ขึ้นไป (ปัจจุบันดินแดนแห่งนี้คือแคว้นพิหารของประเทศอินเดียนครราชคฤห์ บัดนี้เรียกว่า ราชคีร์ ตั้งอยู่ห่างจากเมืองปัตนะเมืองหลวงปัจจุบันของแคว้นพิหารไปทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ประมาณ ๖๕ กิโลเมตร นครปาฏลีบุตร บัดนี้เรียกว่าปัตนะ)

๙.แคว้นมัจฉะ ตั้งอยู่ริมแม่น้ำสินธุกับยมุนาตอนบนมีแคว้นโกศลอยู่ทางทิศตะวันออก มีแคว้นกุรุอยู่ทางทิศเหนือ มีแคว้นสุรเสนะ อยู่ทางทิศใต้ นครหลวงชื่อวิราฏ

๑๐.แคว้นมัลละ ตั้งอยู่ถัดจากแคว้นโกศลไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ อยู่ทางเหนือของแคว้นวัชชี และทางทิศตะวันออกของแคว้นสักกะ นครหลวงชื่อกุสาวดี แต่ภายหลังแยกเป็นนครกุสินาราและนครปาวา นครกุสินารา ตั้งอยู่ในจุดบรรจบของแม่น้ำรับดิและคันธกะส่วนนครปาวาอยู่ระหว่างนครกุสินารากับนครเวลสาลีเมืองหลวงของแคว้นวัชชี (ปัจจุบันเมืองกุสินาราอยู่ในเขตประเทศอินเดียเหนือประเทศเนปาล เมืองกุสินาราบัดนี้เรียกว่าเมืองกาเซีย ส่วนนครปาวา บัดนี้เรียกว่าเมืองปัทระโอนะ)

๑๑.แคว้นวังสะ ตั้งอยู่ทางทิศใต้ของลำน้ำยมุนา ทิศใต้ของแคว้นโกศล และทางทิศตะวันตกของแคว้นกาสี นครหลวงชื่อโกสัมพี ตั้งอยู่เหนือฝั่งแม่น้ำยมุนา (ปัจจุบันนครโกสัมพี เป็นหมู่บ้านเล็ก ๆ ชื่อว่าโกสัมอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของเมืองอัลลาฮาบัด)

๑๒.แคว้นวัชชี ตั้งอยู่บนฝั่งทิศตะวันออกของแม่น้ำคันธกะอยู่ทางทิศตะวันออกของแคว้นมัลละ ทางทิศเหนือของแคว้นมคธ นครหลวงชื่อเวสาลี หรือไพศาลี (ปัจจุบันนครเวสาลีบัดนี้เรียกว่า เบสาห์อยู่ห่างจากเมืองปัตนะไปทางทิศเหนือราว ๔๕ กิโลเมตร)

๑๓.แคว้นสุรเสนะ ตั้งอยู่ระหว่างลำน้ำสินธุกับยมุนาตอนล่าง ตั้งอยู่ทางใต้ของแคว้นกุรุ แคว้นปัญจาละอยู่ทางทิศตะวันออก นครหลวงชื่อมถุรา (ปัจจุบันดินแดนแห่งนี้อยู่ราวแคว้นราชสถานของประเทศอินเดีย และนครมถุราอยู่ราวเมืองมัตตรา)

๑๔.แคว้นอวันตี หรือแคว้นมาลวะ ตั้งอยู่เหนือภูเขาวินธัย ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของแคว้นอัสสกะ ทางตะวันตกเฉียงใต้ของแคว้นวังสะ นครหลวงชื่ออุชเชนี (บัดนี้คือเมืองอุเทนในประเทศอินเดีย)

๑๕.แคว้นอังคะ ตั้งอยู่ปลายแม่น้ำคงคา ทางทิศตะวันออกของแคว้นมคธ มีแม่น้ำจัมปากั้นแดน มีนครหลวงชื่อจัมปา ตั้งอยู่เหนือฝั่ง แม่น้ำคงคา ด้านขวา (ปัจจุบันดินแดนแห่งนี้อยู่ราวรัฐเบงคอลของประเทศอินเดีย นครจัมปา บัดนี้เรียกว่า ภคัลปูร์)

๑๖.แคว้นอัสสกะ ตั้งอยู่ลุ่มแม่น้ำโคธาวรี ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของแคว้นอวันตี อยู่ติดแนวของดินแดนทักขิณาบถคือเมืองแถบใต้ มีนครหลวงชื่อโปตลิหรือโปตละ

Wisdom:
"พระวิหารที่ประทับของพระพุทธเจ้า"

ในระหว่างเวลา ๔๕ ปี แห่งการบำเพ็ญพุทธกิจ พระพุทธเจ้าได้เสด็จไปประทับจำพรรษา ณ พระวิหารต่าง ๆ ซึ่งพอจะประมวลไว้ได้ดังนี้

๑.กูฏาคาร เป็นพระอารามที่ประทับในป่ามหาวัน เป็นป่าใหญ่ใกล้เมืองเวสาลี แคว้นวัชชี ในพรรษาที่ ๕ ภายหลังจากตรัสรู้ พระพุทธเจ้าทรงประทับจำพรรษา ณ กูฏาคารในป่ามหาวัน นครเวสาลี

๒. โฆสิตาราม เป็นชื่อวัดสำคัญในกรุงโกสัมพี แคว้นวังสะ ในพรรษาที่ ๙ ภายหลังจากตรัสรู้ พระพุทธเจ้าทรงประทับจำพรรษา ณ พระอารามแห่งนี้ ในบางคัมภีร์ระบุว่าเมื่อพระพุทธเจ้าทรงประทับที่กรุงโกสัมพีทรงพำนักที่โฆสการาม อันเป็นอารามที่โฆสกเศรษฐีสร้างถวาย

๓.จันทนศาลา เป็นศาลาไม้จันทน์แดง ในมกุฬการาม แคว้นสุนาปรันตะ พระมหาสาวกปุณณสุนาปรันตะ ซึ่งจำพรรษาที่วัดมกุฬการาม ได้แนะนำให้น้องชายของท่านและพ่อค้ารวม ๕๐๐ คน แบ่งไม้จันทร์แดงที่มีค่าสูงสร้างถวายพระพุทธเจ้า แล้วทูลอาราธนาเสด็จมายังแคว้นสุนาปรันตะ พระพุทธเจ้าได้ประทับรอยพระบาทไว้ที่ริมฝังแม่น้ำนัมมทาและที่ภูเขาสัจจพันธ์ อันนับว่าเป็นการเกิดขึ้นของรอยพระพุทธบาท

๔.ชีวกัมพวัน หมอชีวกโกมารภัจจ์ แพทย์ประจำประองค์พระพุทธเจ้า และประจำพระภิกษุสงฆ์ อันมีพระพุทธเจ้าเป็นประมุขหมอชีวกโกมารภัจจ์เป็นมหาอุบาสกสำคัญได้รับยกย่องเป็นเอตทัคคะในบรรดาอุบาสกผู้เลื่อมใสในบุคคล หมอชีวกได้บรรลุธรรมเป็นพระโสดาบันและด้วยศรัทธาในพระพุทธเจ้า ปรารถนาจะไปเฝ้าวันละ ๒-๓ ครั้ง ในกาลนั้น พระพุทธเจ้าทรงประทับจำพรรษา ณ พระเวฬุวันวิหารพระนครราชคฤห์ หมอชีวกเห็นว่าพระเวฬุวันไกลเกินไป จึงสร้างวัดถวายในอัมพวัน คือสวนมะม่วงของตน เรียกกันว่า ชีวกัมพวัน (อัมพวันของหมอชีวก) อยู่ในกรุงราชคฤห์ แคว้นมคธ

๕.เชตวันมหาวิหาร เป็นมหาวิหารที่ประทับของพระพุทธเจ้าและพระภิกษุสงฆ์ ตั้งอยู่ทางใต้ของนครสาวัตถี เมืองหลวงของแคว้นโกศลเป็นสถานที่ซึ่งพระพุทธเจ้าประทับจำพรรษานานที่สุดในระหว่างเวลา ๔๕ ปี แห่งการบำเพ็ญพุทธกิจ ชื่อเชตวัน ได้จากพระนามของเจ้าชายเชตะ ซึ่งเป็นพระญาติสนิทของของพระพุทธเจ้า เสนทิราชาผู้ครองแคว้นโกศล สำหรับประวัติของมหาวิหารเชตวันมีดังนี้

มหาเศรษฐีแห่งนครสาวัจถี ตระกูลสุทัตตะ นามอนาถบิณฑิกเศรษฐี เป็นพ่อค้าเดินทางไปมาระหว่างนครราชคฤห์กับนครสาวัตถีคราวหนึ่งได้ฟังธรรมของพระพุทธเจ้าที่นครราชคฤห์ ประกาศตนเป็นพุทธมามกะ ทูลอาราธนาพระพุทธเจ้าเสด็จประทับ ณ นครสาวัตถี

อนาถบิณฑิกเศรษฐีกลับนครสาวัตถีแสวงหาที่ดินแปลงใหญ่ได้แปลงหนึ่ง ใกล้ตัวเมืองเป็นที่เหมาะแก่การโคจร และเป็นที่ตั้งแห่งความสงบได้ โดยทราบว่าเป็นสมบัติของเจ้าชายเชตะจึงขอซื้อ เจ้าชายอ้างว่าจะสงวนไว้เป็นที่เที่ยวเล่นไม่ยอมขาย เศรษฐี เฝ้าอ้อนวอนแล้วอ้อนวอนเล่า เจ้าชายรำคาญแสร้งว่าต้องเอาเหรียญทองมาเกลี่ยเรียงให้เต็มแปลงก็จะขายให้

อนาถบิณฑิกเศรษฐียอมตามด้วยความเลื่อมใสในพระพุทธเจ้าสั่งคนใช้ให้ขนเหรียญทองคำมาปูจเต็มแปลง เจ้าชายเชตะกลับเห็นใจรับสั่งว่า ขอร่วมศรัทธาในพระพุทธเจ้าด้วย จึงขอลดราคาลงไปเพียงครึ่งเดียว ให้เศรษฐีนำเหรีญทองคำกลับไปเสียครึ่งหนึ่ง ขอร่วมบุญด้วยอีกครึ่งหนึ่ง

อนาถบิณฑิกเศรษฐี กับเจ้าชายเชตะร่วมกันบัญชางาน ให้หักร้างถางที่ทำเป็นอุทยานใหญ่จนเป็นที่รื่นรมย์แล้ว ให้สร้างมหาวิหาร ๗ ชั้นมีกำแพงและคูเป็นขอบเขต ภายในบริเวณปันเป็นส่วนสัด มีคันธกุฎี (แปลว่า กุฎีอบกลิ่มหอม เป็นชื่อเรียกพระกุฏีที่ประทับของพระพุทธเจ้า) มีที่จำพรรษาของพระภิกษุสงฆ์ มีที่เจริญธรรม ที่แสดงธรรม ที่จงกรมที่อาบ ที่ฉันครบถ้วนควรแก่สมณบริโภค อนาถนิณฑิกเศรษฐีสิ้นทรัพย์ไปในการณ์นี้ ๓๖ โกฎิกหาปณะ (โกฏิ = สิบล้าน กหาปณะ = ๔ บาท)

จากจดหมายเหตุของหลวงจีนฟาเหียน สมณทูตจีน เล่าเรื่องซากปรักพังของมหาวิหารเชตวัน เมื่อประมาณพุทธศักราช ๙๔๒ ไว้ดังนี้

"ออกจากบริเวณเมืองสาวัตถีไปทางประตูทิศใต้ เดินไปประมาณ ๒,๐๐๐ ก้าว สู่ทางตะวันออกของถนนใหญ่ พบวิหารหันหน้าไปทางทิศตะวันออก ซากที่ยังเหลืออยู่คือ ฐานปะรำ ๓ ฐาน หลัก ๒ หลักที่หลักมีสลัดรูปธรรมจักรด้านหนึ่งและรูปโคอีกด้านหนึ่ง มีที่ขังน้ำใช้น้ำฉันของพระภิกษุยังเหลืออยู่ ในที่เก็บน้ำยังมีน้ำใสสะอาดเต็มเปี่ยม มีไม่เป็นพุ่มเป็นกอ แต่ละพุ่มแต่ละกอมีดอกออกใบเขียวสดขึ้นอยู่โดยรอย ที่ใกล้วิหารหลังนี้ มีซากวิหารอีกหลักหนึ่ง เรียกว่า วิหารตถาคต"

"วิหารคถาคต มองจากซากก็รู้ว่า แต่เดิมมามี ๗ ชั้น บรรดาราชาอนุราชา และประชาชน พากันมากกราบไหว้ ทำการสักการะตลอดกลางคืนกลางวัน"

"ทางทิศตะวันออกเฉียวเหนือขอวิหารคถาคต ไกลออกไป ๖-๗ สี่พบวิหารอีกหลังหนึ่ง (บุพพาราม) ซึ่งมหาอุบาสิกาวิสาขามิคารมารดาสร้างถวายพระพุทธเจ้า เมืองสาวัตถีนี้มีประตูใหญ่เพียง ๒ ประตูคือประตูทางทิศตะวันออกและประตูทางเหนือ มีอุทยานใหญ่แห่ง หนึ่งกว้างขวาง อนาถบิณฑิกเศรษฐีเป็นผู้สละทรัพย์สร้างถายพระพุทธเจ้ามีวิหารใหญ่ตั้งอยู่ตรงกลาง ณ สถานที่นี้เองเป็นที่ประทับถาวรของพระพุทธเจ้าเพื่อทรงแสดงธรรม ยังสรรพสัตว์ทั้งหลายให้พ้นภัย ณ สถานที่ใดอันเป็นที่เคยประทับของพระพุทธเจ้าก็ดี เคยเป็นทีแสดงธรรมของพระพุทธเจ้าก็ดี สถานที่นั้นมีเครื่องหมายไว้ให้เห็นหมด แม้สถานที่ของนางจิญจมาณวิกา (รับใช้พระเทวทัตมากล่าวตู่พระพุทธเจ้า) ก็มีเครื่องหมายแสดงไว้เหมือนกัน"

ท่านเทวปริยวาลิสิงหะ เลขาธิการสมาคมมหาโพธิอ้างหนังสือชื่อ ปูชาสัลลิยะ อันเป็นวรรณคดีของลังกา เขียนเล่าว่า

"แม้พระมหาวิหารเชตวันจะเป็นที่ยังความสะดวกและความสงบให้เกิดได้ ยิ่งกว่าสถานที่ใดในชมพูทวีปก็ตาม แต่พระพุทธเจ้าหาได้ประทับจำพรรษาตลอดปีไม่ แต่ละปีพระพุทธเจ้าประทับเพียงปีละ 3 เดือนในฤดูพรรษา ส่วนอีก ๙ เดือนนอกพรรษา พระพุทธเจ้าเสด็จจาริกออกไปแสดงธรรมในคามนิคมอื่น"

พระมหาวิหารเชตวันมีชื่อมากในตำนานพุทธศาสนา พระพุทธเจ้าประทับจำพรรษาอยู่ ณ มหาวิหารแห่งนี้ ถึง ๒๔ ฤดูฝน พระธรรมส่วนใหญ่ทรงแสดงที่มหาวิหารแห่งนี้ คัมภีร์พุทธวงศ์ และเอกนิบาต อังคุตรนิกาย บรรยายว่า พระพุทธเจ้าประทับจำพรรษา ที่มหาวิหารแห่งนี้ เพียง ๑๙ ฤดูฝน เวลาที่เหลือจากนั้น เปลี่ยนไปประทับ ณ วิหารบุพพามหาวิหารเชตวัน มีอธิบายอีกในหนึ่งว่า เวลากลางวันประทับ ณ วิหารแห่งหนึ่ง และกลางคืนเสด็จไปแสดงธรรม ณ วิหารอีกแห่งหนึ่ง นับเป็นสถานที่ประทับอันนับเนื่องด้วยชีวิตการประกาศธรรมของพระพุทธเจ้า ตลอด ๒๔ ฤดูฝน

๖.นิโครธาราม เป็นพระอารามที่พระญาติสร้างถวายพระพุทธเจ้าอยู่ใกล้กรุงกบิลพัสดุ์ นครหลวงของแคว้นสักกะ ในพรรษาที่ ๑๕ หลังจากตรัสรู้ พระพุทธเจ้าทรงประทับจำพรรษาที่นิโครธาราม

๗.บุพพาราม เป็นพระวิหารที่อยู่ใกล้เคียงกับมหาวิหารเชตวันทางใต้ของนครสาวัตถี เมืองหลวงของแคว้นโกศล นางวิสาขามิคารมารดา มหาอุบาสิกาผู้เป็นเอตทัคคะในบรรดาทายิกาทั้งปวงเป็นผู้สร้างถวาย โดยขายเครื่องประดับประจำตัวตั้งแต่แต่งงาน เรียกชื่อว่ามหาลดาปสาธน์ เป็นเครื่องอาภรณ์งามวิจิตประกอบด้วยรัตนะ ๗ ประการมีค่ามากถึง ๙๐ ล้านกหาปนะ และได้รับยกย่องว่าเป็นของสำหรับผู้มีบุญในสมัยพุทธกาลมีเพียง ๓ คือ ของนางวิสาขา ๑ ของเศรษฐีธิดา ภรรยาท่านเทวทานิยสาระ ๑ และของนางวิสาขานำมาสร้างวัดถวายพระพุทธเจ้าและพระภิกษุสงฆ์ คือ มิคารมาตุปราสาท วัดบุพพาราม ณ พระนครสาวัตถี โดยพระพุทธเจ้าทรงมอบหมายให้พระมหาโมคคัลลานะ อัครสาวก เบื้องซ้ายเป็นนวกัมมาธฏฐายี คือเป็นผู้อำนวนการก่อสร้างวิหารบุพพาราม

๘. พระเวฬุวัน เป็นป่าไผ่ สวนที่ประพาสพักผ่อนของพระเจ้าพิมพิสารอยู่ไม่ใกล้ไม่ไกลจากพระนครราชคฤห์นครหลวงของแคว้นมคธเป็นสถานที่ร่มรื่นสงบเงียบ มีทางไปมาสะดวก พระเจ้าพิมพิสารถวายเป็นสังฆาราม นับเป็นวัดแรกในพระพุทธศาสนา พระพุทธเจ้าทรงประจำพรรษาที่ ๒-๓-๔ และพรรษที่ ๑๗ กับ ๒๐ ภายหลังจากตรัสรู้พระเวฬุวันวิหารนับเป็นอารามในระยะกาลประดิษฐานพระศาสนาระยะแรกเริ่ม

๙.อัคคาฬวเจดีย์วิหาร อยู่ในเมืองอาฬวี ในพรรษาที่ ๑๖ ภายหลังตรัสรู้ระหว่างเวลา ๔๕ ปี แห่งการบำเพ็ญพุทธเจ้าได้เสด็จไปประทับจำพรรษา ณ วิหารแห่งนี้

นำร่อง

[0] ดัชนีข้อความ

[#] หน้าถัดไป

[*] หน้าที่แล้ว

Go to full version