หมวดหลัก > พุทธภูมิ พระโพธิสัตว์ การบำเพ็ญบารมี

ความรู้เกี่ยวกับพระพุทธเจ้าโดยละเอียด

<< < (3/9) > >>

Wisdom:
"สังเวชนียสถาน ๔ ตำบล"

ในวันเพ็ญ เดือน ๖ ณ กาลนั้น พระพุทธเจ้าทรงมีพระชนมายุ ๘๐ พรรษา พระบรมศาสดาทรงตรัสแก่พระอานนท์ว่า "อานนท์ในยามที่สุดแห่งราตรีวันนี้แหละ ตถาคตจะปรินิพพาน ณ ระหว่างไม้สาละทั้งคู่ ณ สาลวันแห่งมัลลกษัตริย์ ใกล้เมืองกุสินารา"

ครั้นพระพุทธเจ้าพร้อมด้วยพระภิกษุสงฆ์ได้เสด็จพระพุทธดำเนินข้ามแม่น้ำหิรัญญวดี ไปเมืองกุสินารา โปรดให้พระอานนท์ปูลาดเตียงที่บรรทม ณ ระหว่าไม้สาละทั้งคู่ และเสร็จขึ้นบรรทมสีหไสยา(เป็นการนอนอย่างราชสีห์ คือนอนตะแคงขวา ซ้อนเท้าเหลื่อมเท้า มือซ้ายพาดไปตามลำตัว มือขวาช้อนศีรษะไม่พลิกกลับไปมา มีสติสัมปชัญญะกำหนดใจถึงการลุกขึ้นไว้) แต่พระบรมศาสดามิได้มีอุฏฐานสัญญา มนสิการ คือไม่คิดจะลุกขึ้นอีกแล้ว เพราะเหตุเป็นไสยาอวสาน คือการนอนครั้งสุดท้าย (หรือ อนุฏฐานไสยาคือนอนไม่ลุก)

ลำดับต่อมา พระอานนท์เถระเจ้าได้กราบทูลว่า "ในกาลก่อนเมื่อออกพรรษาแล้ว บรรดาพุทธบริษัททั้งหลายในทิศต่าง ๆ เจริญในครั้นพระผู้มีพระภาคเจ้า ได้เข้าใกล้สนทนาปราศัยได้ความเจริญใจ ครั้นพระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จปรินิพพานแล้ว ข้าพระองค์ทั้งหลายจักไม่ได้โอกาสอันดีเช่นนั้น เหมือนกับเมื่อพระองค์ยังทรงพระชนม์อยู่อีกต่อไป"
พระพุทธเจ้าตรัสว่า "อานนท์ สังเวชนียสถาน ๔ ตำบล นี้ คือ

๑. สถานที่พระตถาคตเจ้าบังเกิดแล้ว คือที่ประสูติจากพระครรภ์ (คือ อุทยานลุมพินี กึ่งกลางระว่างกรุงกบิลพัสดุ์และกรุงเทวทหะ กรุงกบิลพัสดุ์เป็นเมืองหลวงของแคว้นสักกะ กรุงเทวทหะเป็นเมืองหลวงของแคว้นโกลิยะ ปัจจุบันอยู่ในเขตประเทศเนปาลห่างชายแดนภาคเหนือของประเทศอินเดีย ๖ กิโลเมตรครึ่ง บัดนี้เรียกว่า รุมมิเนเด)

๒. สถานที่พระตถาคตเจ้าตรัสรู้อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ (คือใต้ร่มไม่ศรีมหาโพธิ์ ภายในป่าสาละ ใกล้แม่น้ำเนรัญชรา ตำบลอุรุเวลาเสนานิคม แคว้นมคธ ปัจจุบันคือ ควงโพธิ์ ที่ตำบลพุทธคยา รัฐพิหารประเทศอินเดีย)

๓. สถานที่พระตถาคตเจ้าแสดงธรรมจักร (คือสถานที่ซึ่งพระพุทธเจ้าแสดงธรรมปฐมเทศนาโปรดปัจจวัคคีย์ ณ ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน ทางทิศเหนือของเมืองพาราณสี แคว้นกาสี ปัจจุบันนี้เรียกว่า สารนาถพาราณสีบัดนี้เรียกว่า วาราณสี)

๔. สถานที่พระตถาคตเจ้าปรินิพพาน (คือที่สาลวโนยาน เมืองกุสินารา แคว้นมัลละ ปัจจุบันี้เรียกเมืองกาเซีย จังหวัดโครักขปุระ)

สถานที่ทั้ง ๔ ตำบลนี้แล ควรที่พุทธบริษัท คือภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา มีความเชื่อความเลื่อมใสในพระตถาคตเจ้า จะดูจะเห็นและควรจะให้เกิดความสังเวชทั่วกัน"

"อานนท์ ชนทั้งหลายเหล่าใดเหล่าหนึ่งได้เที่ยวไปยังเจดีย์สังเวชนียสถานเหล่านี้ด้วยความเลื่อมใส ชนเหล่านั้น ครั้นทำกาลกิริยาลงจักเข้าถึงสุดคติโลกสวรรค์"

อนึ่ง สังเวชนียสถาน มีความหมายถึง สถานเป็นที่ตั้งแห่งความสังเวช แต่คำว่าสังเวชในทางธรรมนั้น มีความหมายลึกซึ้งกว่าความหมายของคำว่าสังเวชที่พบเห็นกันทั่ว ๆ ไป กล่าวคือ ในทางธรรมหมายถึง ความรู้สึกสลดใจที่ทำให้คิดได้ ทำให้จิตใจหันมานึกถึงสิ่งที่ดีงามเกิดความไม่ประมาท เพียรพยายามทำสิ่งที่เป็นกุศลต่อไป จึงจะเรียกว่า สังเวช ความสลดในและหงอยหรือหดหู่เสีย ไม่เรียกว่าเป็นความสังเวช


พระพุทธดำรัสเกี่ยวกับสังเวชนียสถานทั้ง ๔
ณ พระแท่นบรรทม หรือเตียงปรินิพพานนั้นเอง พระพุทธองค์ได้ทรงปรารถเรื่องรา่วต่างๆ หลายเรื่องกับพระอานนท์พุทธอุปัฎฐากรวมทั้งเรื่อง สังเวชนียสถานทั้ง ๔ ตำบล จากในมหาปรินิพพานสูตร พอสรุปได้ดังนี้

ครั้งนั้นพระอานนท์เถรเจ้าได้กราบทูลพระองค์ว่า ในกาลก่อนภิกษุทั้งหลายที่ได้แยกย้ายกันไปจำพรรษาอยู่ตามชนบทในทิศต่างๆ เมื่อสิ้นไตรมาศครบ ๓ เดือนตามวินัยนิยมหรืออกพรรษาแล้ว ข้าพระองค์ทั้งหลายก็ย่อมจะเดินทางมาเฝ้าพระองค์เป็นอาจิณวัตร ก็เพื่อจะได้เห็นจะได้เข้าใกล้ จะได้อุปัฎฐากพระองค์ อันจะทำให้เกิดความเจริญทางจิต ก็มาบัดนี้เมื่อกาลแห่งการล่วงไปแห่งพระองค์แล้ว ก็แล้วข้าพระองค์ทั้งหลายก็จะไม่ได้เห็น จะไม่ได้นั่งใกล้ จะไม่ได้สากัจฉา(สนทนาธรรม) เหมือนกับสมัยที่พระองค์ยังมีพระชนม์ชีพอีกต่อไป

เมื่อพระอานนท์กราบทูลดังนี้แล้ว พระตถาคตเจ้าได้ทรงแสดงสถานที่ ๔ ตำบลว่าเป็นสิ่งที่ควรจะดู ควรจะได้เห็น ควรจะเกิดสังเวช (ความสลดใจกระตุ้นเตือนจิตใจให้คิดกระทำแต่สิ่งดีงาม) แก่กุลบุตร กุลธิดา ผู้มีศรัทธา คือ

๑. สถานที่พระตถาคตเจ้าบังเกิดแล้วคือ ประสูติจากพระครรภ์มารดา ตำบลหนึ่งคืออุทยานลุมพินี

๒. สถานที่พระตถาคตเจ้าตรัสรู้ พระอนุตรสัมมาสัมโพธิญาณตำบลหนึ่งคือ ควงไม้โพธิ์ พุทธคยา

๓. สถานที่พระตถาคตเจ้าให้พระอนุตรธัมมจักเป็นไป หรือแสดงปฐมเทศนาตำบลหนึ่ง คือ ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน แขวงเมืองพาราณสี (ปัจจุบันเรียก สารนาถ)

๔. สถานที่พระตถาคตเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพานแล้วด้วยอนุปาทิเสสนิพพานธาตุตำบลหนึ่ง คือ สาลวโนทยาน เมืองกุสินารา (ปัจจุบันเรียก กาเซีย) ให้เกิดความสังเวชของกุลบุตร กุลธิดา ผู้มีศรัทธา

อนึ่ง ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา ผู้มีศรัทธามายังสถานที่ ๔ ตำบลนี้ ด้วยมีความเชื่อว่า พระตถาคตเจ้าได้บังเกิดขึ้นแล้ว ณ สถานที่นี้ พระตถาคตเจ้าได้ตรัสรู้พระอนุตรสัมมาสัมโพธิญาณแล้ว ณ สถานที่นี้ พระตถาคตเจ้าได้ให้พระอนุตรธัมมจักเป็นไปแล้ว ณ สถานที่นี้ และพระตถาคตเจ้าได้เสด็จดับขันธปรินิพพานด้วยอนุปาทเสสนิพพานธาตุแล้ว ณ สถานที่นี้

ดูก่อนอานนท์ ชนทั้งหลายเหล่าใด เจติยจาริกของพระตถาคตเจ้าทั้ง ๔ ตำบลนี้แล้ว จักเป็นคนเลื่อมใส เมื่อกระทำกาลกิริยา(ตาย)ลง ชนทั้งหลายเหล่านั้น จะเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์

สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงความ ๔ ตำบลว่าเป็นที่ควรเห็น ควรดู ควรให้เกิดสังเวชของกุลบุตร กุลธิดา ผู้มีศรัทธาด้วยประการฉะนี้แล

นี้เองเป็นที่มาของสังเวชนียสถาน ๔ แห่งในดินแดนพุทธภูมิ ที่ชาวพุทธทั้งหลายสมควรอย่างยิ่งที่จะไปนมัสการ กราบไหว้สักการะสักครั้งหนึ่งในชีวิต


สังเวชนียสถานแห่งที่ ๑ สถานที่ประสูติ

เสาหินพระเจ้าอโศกมหาราชปักไว้ เพื่อให้อนุชนรุ่นหลังทราบว่าตรงจุดนี้ เป็นที่ที่พระบรมศาสดาออกจากพระครรภ์ของพระมารดา
สังเวชนียสถานแห่งที่ ๑ คือสถานที่ประสูติแห่งองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าของเรานั้น ปัจจุบันนี้อยู่ในเขตประเทศเนปาล ซึ่งตั้งอยู่ทางทิศเหนือของประเทศอินเดีย และสถานที่ประสูตินี้ตั้งอยู่ห่างจากชายแดนอินเดีย-เนปาลประมาณ ๓๒ กิโลเมตร ปัจจุบันสังเวชนียสถานแห่งนี้ ภาษาทางราชการเรียกว่า "ลุมมินเด" แต่ชาวบ้านทั่วไปก็ยังเรียกว่า "ลุมพินี"




สังเวชนียสถานแห่งที่ ๒ สถานที่ตรัสรู้

วิหารตรัสรู้ ที่ยังหลงเหลืออยู่สมบูรณ์ที่สุด
สังเวชนียสถานแห่งที่ ๒ คือสถานที่ตรัสรู้นี้ แต่เดิมทีเดียวในสมัยพุทธกาลนั้น คือตำบลอุรุเวลาเสนานิคม เมืองคยา แคว้นมคธ ซึ่งมีเมืองราชคฤห์ เป็นเมืองหลวง ปัจจุบันสถานที่ตรัสรู้นี้เรียก ตำบลพุทธคยา ขึ้นอยู่กับจังหวัดคยา (ห่างจากจังหวัดคยา ๑๒ กิโลเมตร) รัฐพิหาร มีเมืองหลวงชื่อ ปัฎนะ หรือ ปัฎนา (หรือชื่อเดิมว่า ปาฎลีบุตร)


สังเวชนียสถานแห่งที่ ๓ สถานที่แสดงปฐมเทศนา

ธัมเมกขสถูป สถานที่ที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าปรารถให้พระอรหันต์ ๖๐ รูป ออกไปเผยแผ่พระพุทธศาสนาเป็นครั้งแรก
สังเวชนียสถานแห่งที่ ๓ คือ สถานที่แสดงปฐมเทศนา หรือสถานที่พระตถาคตเจ้าทรงยังพระอนุตรธัมจักให้เป็นไป สถานที่นี้อยู่ในป่าอิสิปตนมฤคทายวัน ใกล้เมืองพาราณสี ปัจจุบันเรียกสารนาถ ห่างจากเมืองประมาณ ๘ กิโลเมตร ซึ่งเมืองพาราณสีนี้อยู่ห่างจากเมืองพุทธคยา สถานที่พระพุทธองค์ตรัสรู้ไปทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ประมาณ ๒๐๐ กิโลเมตร


สังเวชนียสถานแห่งที่ ๔ สถานที่ดับขันธปรินิพพาน

สถูปและวิหารปรินิพพานที่เมืองกุสินารา
สังเวชนียสถานแห่งที่ ๔ คือ สถานที่ดับขันธปรินิพพาน ด้วยอนุาทิเสสนิพพานธาตุดับไม่มีส่วนเหลือ คือทั้งกิเลส ทั้งเบญจขันธ์ดับหมด ตามปกติพระอรหันต์ทั่วไปๆไปจะนิพพาน ๒ ครั้ง คือ ครั้งแรกนั้นเป็นการดับกิเลส ส่วนเบญจขันธ์ยังอยู่ เรียกว่า สอุปาทิเสสนิพพาน หรือนิพพาน เมื่อยังมีชีวิตอยู่ เพียงแต่จิตเข้าสู่แดนพระนิพพานเท่านั้น เป็นจิตที่สะอาด ไม่มีกิเลส ไม่มีทุกข์แล้ว ดังเช่นพระพุทธเจ้า นิพพานครั้งแรกนี้เมื่อวันเพ็ญ เดือนวิสาขะ ก่อนพุทธศักราช ๔๕ ปี ส่วนนิพพานครั้งที่ ๒ ก็คือ อนุปาทิเสสนพิิาน ดังได้กล่าวแล้วนั้นเอง

สถานที่นิพพานที่พุทธประวัติระบุว่า สาลวโนทยาน เมืองกุสินารา ปัจจุบันมีสถูปและวิหารเป็นสัญลักษณ์ เป็นอุทยานที่ได้รับการรักษาจากทางการอินเดียเป็นอย่างดี มีต้นสาละและไม้อื่นปลูกอยู่ทั่วไป ให้ความร่มรื่นพอสมควร



เรื่อง/ภาพ : จากหนังสือ สู่พุทธภูมิสมเด็จพ่อ รวบรวมโดย จิรวํโสภิกขุ

Wisdom:
"๘ พุทธสถานที่สำคัญ ในสมัยพุทธกาล"

ในการเดินทางไปไหว้พระพุทธเจ้า ณ ดินแดนพุทธภูมินั้น ถ้าได้เดินทางไปครบหมดทั้ง ๘ เมืองที่นิยมกันและถือว่ามีความสำคัญมากทางพระพุทธศาสนา ก็ถือว่าไปครบตามที่นักปราชญ์ทางพระพุทธศาสนากำหนดกันไว้ คือ

๑. ลุมพินีวัน สถานที่ประสูติในประเทศเนปาล

๒. เมืองเวสาลี เมืองที่ภิกษุสงฆ์เกิดขึ้นครั้งแรก และเป็นสถานที่ทำสังคายนาครั้งที่ ๒ ในประเทศอินเดีย

๓. เมืองราชคฤห์ เมืองที่พระพุทธองค์ทรงประดิษฐพระพุทธศาสนาเป็นครั้งแรก

๔. พุทธคยา สถานที่ตรัสรู้ และทรงเสวยวิมุตติสุขเป็นเวลา ๗ สัปดาห์แรกภายหลังทรงตรัสรู้

๕. เมืองพาราณสี เมืองที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงปฐมเทศนาโปรดปัจจวัคคีย์ เมืองที่กำเนิดพระรัตนตรัยคือ พระพุทธ พระธรรมและพระสงฆ์ ครบถ้วนสมบูรณ์

๖. เมืองกุสินารา เมืองที่พระพุทธเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพาน

๗. เมืองสาวัตถี เมืองที่พระพุทธเจ้าทรงประทับจำพรรษานานที่สุดถึง ๒๔ พรรษา พระธรรมส่วนใหญ่ของพระบรมศาสดาทรงแสดงที่วิหารในเมืองแห่งนี้

๘. เมืองสังกะสะ เมืองที่พระพุทธเจ้า เสด็จลงจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ หลังจากที่ทรงแสดงพระอภิธรรมโปรดพระพุทธมารดาแล้ว




"๑๖ ตำบล ทรงแสดงนิมิตต์โอภาส"

นิมิตต์โอภาส มีความหมายว่า การที่พระพุทธเจ้าทรงตรัสข้อความเป็นเชิงเปิดโอกาสให้อาราธนาเพื่อดำรง พระชนม์อยู่ต่อไป ซึ่งพระพุทธองค์ทรงแสดงนิมิตต์โอภาส ณ ๑๖ ตำบล แก่พระอานนท์ พระมหาสาวกผู้เป็นพระอุปัฏฐากประจำพระองค์ แต่พระอานนท์ก็ไม่รู้ จึงไม่อารธนาไม่วิงวอน ให้พระพุทธเจ้าดำรงพระชนม์อยู่ต่อไป ดังนั้น พระบรมศาสดาทรงกำหนดพระทัย ทรงปลงพระชนมายุสังขาร ณ ปาวาลเจดีย์ในวันมาฆปุรมี เพ็ญเดือน ๓ จักเสด็จดับขัธ์ปรินิพานในกาล ๓ เดือนข้างหน้า ในวันเพ็ญเดือน ๖ ขณะมีพระชนมายุ ๘๐ พรรษา

สำหรับ ๑๖ ตำบลที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงนิมิตต์โอภาสแก่พระอานนท์นั้น ทรงแสดงที่เมืองราชคฤห์ ๑๐ ตำบล และที่เมืองเวสาลี ๖ ตำบล ดังนี้

๑. ที่ภูเขาคิชฌกุฏ อันเป็นภูเขาลูกหนึ่งในห้าลูกที่เรียกว่า เบญจคีรี ล้อมพระนครราชคฤห์

๒. ที่โคตมนิโครธ เป็นตำบลแห่งหนึ่งในพระนครราชคฤห์

๓. ที่เหวสำหรับทิ้งโจร บนภูเขาคิชณกูฏ ภูเขาลูกนึ่งในเบญจคีรีซึ่งล้อมรอบพระนครราชภฤห์

๔.ที่ถ้ำสัตตบรรณคูหา ข้างภูเขาภารบรรพต หนึ่งใน ๕ ของเบญจคีรี ที่ล้อมรอบพระนครราชคฤห์ และถ้าสัตตบรรณคูหายังไม่เป็นที่สังคายนาครั้งแรกอีกด้วย

๕. ที่กาฬสิลา ข้างภูเขาอิสิคิลิบรรพต หนึ่งใน ๕ ของภูเขาเบญจคีรี ที่ล้อมรอบพระนครราชคฤห์ และกาฬสิลายังเป็นที่ที่พระมหาโมคคัลลานะ อัครมหาสาวกเบื้องซ้ายถูกคนร้ายซึ่งรับจ้างพวกเดียรถีย์ไปลอบฆ่าด้วยการทุบตีจนร่างแหลก

๖. ที่สัปปิโสณฑิกา ณ สีตวัน เป็นเงื้อมเขาแห่งหนึ่งอยู่ที่สีตวันใกล้กรุงราชคฤห์

๗. ตโปทาน สวนแห่งหนึ่งอยู่ใกล้บ่อน้ำพุร้อนชื่อตโปทาใกล้กรุงราชคฤห์

๘. ที่เวฬุวัน พระวิหารในป่าไผ่ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากพระนครราชคฤห์ พระเจ้าพิมพิสารถวายเป็นสังฆารามนับเป็นวัดแรกในพระพุทธศาสนา

๙.ที่ชีวกัมพวนาราม เป็นวิหารในสวนมะม่วงซึ่งชีวกโกมารภัจจ์แพทย์ประจำพระองค์พระพุทธเจ้าสร้างถวาย อยู่ในกรุงราชคฤห์

๑๐. ที่มัททกุจฉิมิคทายวัน ป่าเป็นที่ให้อภัยแก่เนื้อชื่อมัททกุจฉิอยู่ที่พระนครราชคฤห์

๑๑. ที่อุทเทนเจดีย์ เจดีย์สถานแห่งหนึ่งอยู่ทางทิศตะวันออกของเมืองเวลาลี นครหลวงของแคว้นวัชชี

๑๒. ที่โคตมกเจดีย์ เจดีย์สถานแห่งหนึ่งอยู่ทางทิศใต้ของนครเวสาลี

๑๓. ที่สัตตัมพเจดีย์ เจดีย์สถานแห่งหนึ่งที่นครเวสาลี

๑๔. ที่พหุปุตตเจดีย์ เจดีย์สถานแห่งหนึ่งอยู่ทางเหนือของนครเวสาลี

๑๕. ที่สารันทเจดีย์ เจดีย์สถานแห่งหนึ่งที่นครเวสาลี

๑๖. ที่ปาวาลเจดีย์ เจดีย์สถานแห่งหนึ่งที่นครเวสาลีพระพุทธเจ้าทรงทำนิมิตต์โอภาสครั้งสุดท้ายและทรงปรงพระชนมายุสังขาร ณ ปาวาลเจดีย์ก่อนปรินิพพาน ๓ เดือน

Wisdom:
"เจดีย์ และสถูปสำคัญเกี่ยวกับพระพุทธเจ้า"

"เจดีย์" มีความหมายว่า ที่เคารพนับถือ , บุคคล สถานที่ หรือวัตถุที่ควรเคารพบูชา ,เจดีย์เกี่ยวกับเจดีย์ และสถูปสำคัญมี ๔ อย่างคือ

๑. ธาตุเจดีย์ บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ
๒. บริโภคเจดีย์ คือสิ่งหรือสถานที่ที่เจดีย์ พระพุทธเจ้าเคยทรงใช้สอย
๓. ธรรมเจดีย์ บรรจุพระธรรมคือ พุทธพจน์
๔. อุทเทสิกเจดีย์ คือพระพุทธรูป

ในที่นี้จะกล่าวถึงบริโภคเจดีย์ นอกเหนือไปจากสังเวชนียสถานทั้ง ๔ และกุฏิวิหารที่พระพุทธเจ้าทรงเคยใช้สอย ซึ่งได้กล่าวถึงไปแล้ว

ส่วน "สถูป" มีความหายว่าสิ่งก่อสร้างซึ่งก่อไว้สำหรับบรรจุของควรบูชา เป็นอนุสรณ์ที่เตือนใจให้เกิดปสาทะและกุศลธรรมอื่น ๆ ในที่นี้จะกล่าวถึงพระสถูปที่มีความเกี่ยวข้องกับบริโภคเจดีย์ ส่วนสถูปบรรจุพระบรมสารีริกธาตุหรือธาตุเจดีย์นั้น ได้แยกไปกล่าวถึงในหมวดที่ ๘ หัวข้อ "พระสถูปเจดีย์ บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ"แล้ว

สำหรับเจดีย์และสถูปสำคัญอันนับเนื่องอยู่ในบริโภคเจดีย์ เท่าที่นำมาประมวลไว้ ณ ที่นี้ มีดังนี้

๑. จุฬามณีเจดีย์ ตั้งอยู่ ณ สวรรคชั้น ๒ คือ ดาวดึงสเทวโลกเป็นพระเจดีย์ที่บรรจุพระจุฬาโมลี (มวยผม) ของพระสิทธัตถะ เมื่อครั้งเสด็จออกบรรพชา ครั้งเสด็จข้ามแม่น้ำอโนมาแล้ว จะอธิฐานเพศบรรชิต ทรงตัดมวยพระเกศาขว้างไปในอากาศ พระอินทร์นำผอบแก้วมารองรับนำไปประดิษฐานในพระจุฬามณี
ต่อมาเมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพานแล้ว ในขณะแจกพระบรมสารีริกธาตุ พระอินทร์ได้นำเอาพระทาฐธาตุคือพระเขี้ยวแก้วเบื้องบนขวาที่โทณพราหมณ์ซ่อนไว้ในผ้าโพกศีรษะ ใส่ผอบทองนำไปบรรจุในจุฬามณีด้วย นอกจากนั้นพระรากขวัญ (กระดูกไหปลาร้า)เบื้องขวาก็ประดิษฐานอยู่ในพระจุฬามณีเจดีย์สถานเช่นกัน

๒. โคตมกเจดีย์ เจดีย์สถานอยู่ทางทิศใต้ของนครเวสาลีนครหลวงของแคว้นวัชชี เป็นสถานที่ซึ่งพระพุทธเจ้าเคยเสด็จประทับหลายครั้งและเคยทรงทำนิมิตต์โอภาสแก่พระอานนท์

๓. ทุสสเจดีย์ เจดียสถาน ณ พรหมโลก ซึ่งฆฏิการพรหมหรือพระพรหมผู้นำสมณบริขารมีบาตรและจีวร เป็นต้น มาถวายแด่พระโพธิสัตว์เมื่อคราวออกบรรพชา และนำพระภูษาเครื่องทรงในฆาราวาสที่พระโพธิสัตว์ สละออกเปลี่ยนมาทรงจีวร นำไปประดิษฐานอยู่ในทุสสเจดีย์ ครั้นพระพุทธเจ้าดับขันธปรินิพพานแล้ว พระรากขวัญเบื้องซ้ายกับพระอุณหิส (มงกุฎจากเครื่องอาภรณ์มหาลดาปสาธน์ที่นางมัลลิกาทูลอัญเชิญสวมพระพุทธสรีระศพ) ถูกนำไปประดิษฐานอยู่ในทุสสเจดีย์ ณ พรหมโลก

๔. ปาวาลเจดีย์ เจดีย์สถานอยู่ที่เมืองเวสาลี แคว้นวัชชี พระพุทธเจ้าทรงทำนิมิตต์โอภาสแก่พระอานนท์ พระมหาสาวกอุปัฏฐากประจำพระองค์ เป็นครั้งที่ ๑๖ และครั้งสุดท้ายจากนั้นพระพุทธเจ้าทรงปลงพระชนมายะสังขาร ณ ปาวาลเจดีย์ ในวันเพ็ญเดือน ๓ ก่อนปรินิพพาน ๓ เดือน

๕. ปาสาณเจดีย์ เจดีย์สถานในแคว้นมคธซึ่งมาณพ ๑๖ คน ผู้เป็นศิษย์ของพราหมณ์พาวรี ผู้เป็นอาจารย์ใหญ่ตั้งอาศรมสอนไตรเพท แก่ศิษย์อยู่ที่ฝั่งแม่น้ำโคธารรี ณ สุดเขตแดนแคว้นอัสสกะ พราหมณ์พาวรีได้ส่งศิษย์ ทั้ง ๑๖ คนไปถามปัญหาพระบรมศาสดา เพื่อจะทดสอบว่าพระพุทธองค์เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจริงหรือไม่ ณ ปาวาลเจดีย์แห่งนี้ ภายหลังได้รับคำตอบ พราหมณ์พาวรีบรรลุธรรมเป็นพระอนาคามีส่วนศิษย์ ทั้ง ๑๖ ได้บรรลุพระอรหัต และถูกจัดเป็นพระมหาสาวกผู้ใหญ่ ๘๐ องค์ ทุกองค์ด้วยกัน

๖. พหุปุตตเจดีย์ เจดีย์สถานอยู่ทางตอนเหนือของเมืองเวสาลีนครหลวงของแคว้นวัชชี เป็นสถานที่ซึ่งพระพุทธเจ้าทรงทำนิมิตต์โอภาสแก่พระอานนท์

๗. เจดีย์พุทธคยา เจดีย์สถานอยู่ใกล้แม่น้ำเนรัญชรา ตำบลอุรุเวลาเสนานิคม ในแคว้นมคธสมัยพุทธกาล พระพุทธองค์ได้เสด็จมาประทับที่ใต้ต้นโพธิ์ และได้ตรัสรู้อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณที่นี่ พระวิหารเจดีย์พุทธคยาสูง ๑๖๐ ฟุต สร้างเป็นหอสูงรูปสี่เหลี่ยมพีระมิดปลายยอดตัดรองรับพระสถูปที่ด้านบนยอดสุด องค์พระเจดีย์สร้างตั้งแต่หลังสมัยพุทธกาล ปัจจุบันเป็นตำบลพุทธคยา รัฐพิหาร

๘. มกุฏพันธนเจดีย์ สถานที่ถวายพระเพลิงพระพุทธสรีระ อยู่ทางทิศตะวันออกของนครกุสินารา แคว้นมัลละ มกุฏพันธนเจดีย์อยู่ห่างจากสาลวโนทยาน สถานที่เสด็จดับขันธปรินิพพานประมาณ ๑ กิโลเมตร

๙. รัตนฆรเจดีย์ เจดีย์เรือนแก้ว อยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของต้นพระศรีมหาโพธิ์ ณ ที่นี้พระพุทธเจ้าทรงประทับพิจารณาพระอภิธรรมปิฎกเป็นเวลา ๗ วัน เป็นสัปดาห์ที่ ๔ แห่งการเสวยวิมุตติสุขถายหลังจากตรัสรู้

๑๐. รัตนจงกรมเจดีย์ เจดีย์ที่จงกรมแก้ว อยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของต้นพระศรีมหาโพธิ์ ระหว่างกลางแห่งต้นพระศรีมหาโพธิ์ ระหว่างกลางแห่งต้นพระศรีมหาโพธิ์กับอนิมิสเจดีย์ ณ ที่นี้พระพุทธเจ้าทรงเสด็จจงกลมตลอด ๗ วัน นับเป็นสัปดาห์ที่ ๓ แห่งการเสวยวิมุตติสุข ภายหลังจากตรัสรู้

๑๑. สัตตัมพเจดีย์ เจดีย์สถานที่นครเวสาลี นครหลวงแคว้นวัชชี ณ ที่นี้พระพุทธเจ้าทรงทำนิมิตต์โอภาสแก่พระอานนท์

๑๒. สารันทเจดีย์ เจดีย์สถานที่นครเวสาลี นครหลวงของแคว้นวัชชี ณ ที่นี้พระพุทธเจ้าทรงทำนิมิตต์โอภาสแก่พระอานนท์

๑๓. อนิมิสเจดีย์ สถานที่ซึ่งพระพุทธเจ้าเสด็จยืนจ้องดูต้นพระศรีมหาโพธิโดยมิได้กระพริบพระเนตรตลอด ๗ วัน อยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของต้นพระศรีมหาโพธิ นับเป็นสัปดาห์ที่ ๒ แห่งการเสวยวิมุตติสุขทังหมดรวม ๗ สัปดาห์ ภายหลังจากทรงตรัสรู้

๑๔. อัคคาฬวเจดีย์ อยู่ใกล้อาฬวีนคร หลังจากทรงทรมาณอาฬวยักษ์ให้สิ้นพยศและตั้งมั่นอยู่ในอริยธรรม ทรงแสดงธรรมเทศนาโปรดชาวเมืองอาฬวีให้ตั้งอยู่ในกัลยาณธรรมแล้ว พระพุทธเจ้าทรงประทับจำพรรษาที่ ๑๖ ภายหลังจากตรัสรู้ ณ สถานที่แห่งนี้

๑๕. อานันทเจดีย์ เจดียสถานในเขตโภคนคร ระหว่างทางจากเมืองเวสาลี แคว้นวัชชี ไปสู่เมืองปาวา แคว้นมัลละ ณ ที่นี้ พระพุทธเจ้าพร้อมด้วยพระภิกษุสงฆ์ ๕๐๐ รูป ทรงประทับแสดงธรรมโปรดพุทธบริษัทชาวเมืองโภคนคร พระพุทธเจ้าตรัสมหาปเทศ ๔ ฝ่ายพระสูตร(หลักอ้างอิงสำหรับเทียบเคียง ๔) จากนั้น พระบรมศาสดาเสด็ดต่อไปยังปาวานคร แล้วเสด็จไปยังสาลวโนทยาน ใกล้เมืองกุสินารา ทรงดับขันธปรินิพพาน


ในส่วนของพระสถูปที่มีความเกี่ยวพันถึงบริโภคเจดีย์ ได้ประมวลนำมาไว้ ณ ที่นี้ ๔ พระสถูปด้วยกันดังนี้


๑. เจาคันธีสถูป สถูปแห่งนี้พระเจ้าอโศกมหาราชทรงสร้างเป็นที่ระลึกที่พระพุทธเจ้าทรงพบปัญจวัคคีย์เป็นครั้งแรก ภายหลังจากทรงตรัสรู้ สร้างขึ้นภายหลังพุทธปรินิพพานแล้วกว่า ๒๐๐ ปี ณ ป่าอิสิปตนมิคทายวัน เมืองพาราณสี แคว้นกาสี

๒. ธัมเมกขสถูป อยู่ใกล้เคียงกับเจาคันธีสถูป เป็นสถานที่ระลึกถึงในกาลที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงปฐมเทศนาโปรดปัญจวัคคีย์ ในวันเพ็ญเดือน ๘ พระรัตนตรัยเกิดขึ้นครบบริบูรณ์ครั้งแรกในโลก ณ ที่ แห่งนี้

๓. ตุมพสถูป พระตุมพเจดีย์อยู่ที่เมืองกุสินารา แคว้นมัลละ พระสถูปแห่งนี้บรรจุทะนานทองที่ใช้ตวงแบ่งพระบรมสารีริกธาตุ เพื่อแบ่งปันให้กษัตริย์ทั้งปวง โดยโทณพราหมณ์ เป็นผู้ตักตวงพระบรมธาตุแบ่งปันถวายกษัตริย์ทั้งหลาย และขอประทานทะนานทองตวงพระบรมธาตุอัญเชิญไปสร้างตุมพสถูปเจดีย์

๔. อังคารสถูป พระอังคารสถูปเจดีย์อยู่ที่เมืองปิปผลิวัน โดยโมริยกษัตริย์ผู้ครองเมือง ได้ทราบข่าวพระพุทธเจ้าเสด็จปรินิพพานจึงส่งราชทูตให้มาทูลขอพระบรมสารีริกธาตุ ณ นครกุสินารา ทั้งยกพลหยุหเสนาตามมาภายหลัง ครั้นกษัตริย์มัลลราชแห่งกุสินาราแจ้งว่าพระบรมสารีริกธาตุนั้น กษัตริย์ทั้ง ๘ พระนครได้ไปประชุมแบ่งปันกันหมดสิ้นแล้ว ยังอยู่แต่พระอังคาร (ถ่านเถ้าที่ถวายพระเพลิงพระพุทธสรีระ) ขอให้เชิญพระอังคารไปทำการสักการบูชาเถิด โมริยกษัตริย์จึงอัญเชิญพระอังคารมาประดิษฐาน ณ พระอังคารสถูปเจดีย์ เมืองปิปผลิวัน


สำหรับพระบริขารพุทธบริโภค (เครื่องใช้สอยของพระพุทธเจ้า) ทั้งหลายนั้นได้รับอัญเชิญไปบรรจุไว้ในสถูป ๑๑ แห่งตามนครต่าง ๆ ดังนี้


๑. พระกายพันธ์ (ประคตเอว,สายรัดเอว) สถิตอยู่ที่เมืองปาฏลีบุตร

๒. พระอุทมสาฎก (ผ้าคลุมอาบน้ำ) สถิตอยู่ที่เมืองปัญจาลราฐ

๓. พระจัมมขันธ์ (เครื่องหนังต่าง ๆ) สถิตอยู่ที่เมืองโกสลราฐ

๔. ไม้สีฟัน สถิตอยู่ที่เมืองมิถิลา

๕. พระธมกรก (กระบอกกรองน้ำ) สถิตอยู่ที่เมืองวิเทหราฐ

๖. มีด กับ กล่องเข็ม สถิตอยู่ที่เมืองอินทปัตถ์

๗. ฉลองพระบาทและถลกบาต (รองเท้าและถุงบาตรที่มีสายคล้องบ่า) สถิตอยู่ที่เมืองอุสิรพราหมณคาม

๘. เครื่องลาด (เครื่องปูนั่งนอน) สถิตอยู่ที่เมืองมกุฏนคร

๙. ไตรจีวร (ผ้าสามผืนที่พระวินัยอนุญาตให้ภิกษุมีไว้ใช้ประจำตัวคือ ผ้าทาบ, ผ้าห่ม(จีวร),ผ้านุ่งสบง) สถิตอยู่ที่เมือง ภัททาราฐ

๑๐. บาตร เดิมสถิตอยู่ที่เมืองปาฏลีบุตร ภายหลังไปอยู่ที่เมืองลังกาทวีป

๑๑. นิสีทนะสันถัต (ผ้าปูนั่ง,ผ้ารองนั่ง) สถิตอยู่ที่เมืองกุรุราฐ

Wisdom:
"ต้นไม้ สวน และป่า"

ต้นไม้ สวนและป่า ในสมัยพุทธกาลที่มีความเกี่ยวพันกับพุทธประวัติซึ่งนำมาประมวลไว้ ณ ที่นี้ดังนี้

ต้นไม้

๑. ปาริฉัตตก์ คือต้นทองหลาง เป็นชื่อต้นไม้ประจำสวรรค์ชั้นที่ ๒ คือ ชั้นดาวดึงส์ อยู่ในสวนนันทวัน ของพระอินทร์หรือท้าวสักะจอมเทพแห่งสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ในพรรษาที่ ๗ ภายหลังตรัสรู้ พระพุทธเจ้าทรงเสด็จประทับภายใต้ร่มไม้ปาริฉัตตก์ (หรือปาริฉัตร, ปาริชาต) ณ ดาวดึงสเทวโลก ทรงแสดงธรรมโปรดพระพุทธมารดาตลอดสามเดือนพระพุทธมารดาได้ทรงบรรลุพระโสดาปัตติผล ส่วนเทพยดาในโลกธาตุที่มาประชุมฟังธรรมบรรลุผลสุดที่จะประมาณ

๒. พหุปุตตนิโครธ ต้นไทรที่อยู่ระหว่างกรุงราชคฤห์กับเมืองนาลันทา ปิปผลิมาณพได้พบพระพุทธเจ้าและขอบวชที่พหุปุตตนิโครธนี้ครั้นบวชล่วงไปแล้ว ๗ วัน ก็ได้บรรลุพระอรหัต พระมหาสาวกมหากัสสปะ (เดิมชื่อ ปิปผลิมาณพ) ได้รับยกย่องว่าเป็นเอตทัคคะในทางถือธุดงค์

๓. ต้นพระศรีมหาโพธิ ต้นโพธิ ต้นโพธิที่พระพุทธเจ้าประทับภายใต้ร่มเงาของต้นพระศรีมหาโพธิ ณ ริมฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา ตำบลอุรุเวลา เสนานิคม แคว้นมคธ ในวันเพ็ญ เดือน ๖ ก่อนพุทธศักราช ๔๕ ปี พระพุทธเจ้าทรงตรัสรู้อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ ณ ภายใต้ร่มเงาของต้นพระศรีมหาโพธิแห่งนี้ นับเป็นต้นไม้ที่ตรัสรู้ของะพระพุทธเจ้าองค์ปัจจุบัน
ในรัชสมัยรัชการที่ ๕ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ประเทศไทยได้พันธุ์ต้นมหาโพธิ์จากต้นโพธิ์ตรัสรู้ ณ ริ่มฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา ซึ่งดินแดน ณ ที่นั้นได้เปลี่ยนชื่อมาเรียกว่า ตำบลพุทธคยา รัฐพิหาร นับเป็นการได้พันธุ์ต้นมหาโพธิ์ตรัสรู้โดยตรงครั้งแรก นำมาปลูกไว้ ณ วัดเปญจมบพิตรและวัดอัษฏางนิมิตร

๔.ต้นมุจจลินทร์ หรือต้นจิก ภายหลังจากพระพุทธเจ้าทรงตรัสรู้แล้วถึงสัปดาห์ที่ ๖ ทรงประทับภายใต้ร่มเงาของต้นไม้จิกอันมีชื่อว่า มุจจลินทร์ ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ ใกล้ ๆ กับต้นพระศรีมหาโพธิพระพุทธเจ้าประทับนั่งเสวยวิมุตติสุขอยู่ใต้ต้นมุจจลินทร์เป็นเวลา ๗ วัน โดยมีพญามุจจลินทร์นาคราชมาวางขนดแผ่พังพานปกป้องพระองค์ จากสายลมและสายฝน พระพุทธองค์ทรงเปล่งอุทานแสดง ความสุขที่แท้ อันเกิดจาการไม่เบียดเบียนกัน

๕. ต้นราชยตนะ หรือต้นไม้เกต ภายหลังจากพระพุทธเจ้าทรงตรัสรู้แล้วถึง สัปดาห์ที่ ๗ ทรงประทับภายใต้ร่มเงาของต้นไม้เกตอันมีชื่อว่า ราชายตนะ ตั้งอยู่ทางทิศใต้ ใกล้ ๆ กับต้นศรีมหาโพธิ์ พระพุทธเจ้าประทับนั่งเสวยสิทุตติสุขเป็นเวลา ๗ วัน นับเป็นสัปดาห์สุดท้ายแห่งการเสวยวิมุตติสุข ณ ที่นี้มีพ่อค้า ๒ คนนำกองเกวียนค่าขายจากแดนไกล คืออุกกลชนบท ได้ถวายเสบียงเดินทาง สัตตุผง สัตตุก้อนแด่พระพุทธเจ้าพ่อค้าทั้งสองคือ ตปุสสะ และภัลลิกะ ได้แสดงตนเป็นปฐมอุบาสกถึงสรณะ ๒ คือถึงพระพุทธและพระธรรม

๖. ต้นสาละ เป็นไม้ยืนต้นชนิดหนึ่งในดินแดนชมพูทวี มิได้เป็นชนิดเดียวกับต้นรังหรือต้นสาละลังกาที่ปลูกหรือพบในประเทศไทย แต่อย่างใด ต้นสาละเป็นต้นไม้ที่เกี่ยวข้องกับพระสัมมาสัมพุทธเข้าตั้งปต่ประสูติ จนถึงปรินิพพาน
พระพุทธองค์ทรงประสูติภายใต้ต้นสาละใหญ่ ณ อุทยานลุมพินีซึ่งตั้งอยู่ระหว่างกรุงกบิลพัสดุ์ แคว้นสักกะ กับกรุงเทวทหะ แคว้นโกลิยะ ยามนั้นแดดอ่อนดวงตะวันยังไม่ขึ้นตรงศรีษะเป็นวันเพ็ญ เดือน ๖ ก่อนพุทธศักราช ๘๐ ปี ยามนั้นอากาศโปร่ง ต้นไม้ในป่าสาละอุทยานลุมพินีกำลังผลิตดอกออกในอ่อน ดอกไม้นานาพรรณ กำลังเบ่งบาน ส่งกลิ่นเป็นที่จำเริญใจ
ครั้นยามสามของวันเพ็ญ เดือน ๖ ก่อนพุทธศักราช ๔๕ ปี พระพุทธองค์ทรงบำเพ็ญเพียรจนตรัสรู้อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ ภายใต้ร่มเงาพระศรีมหาโพธิ ภายในป่า สาละ ใกล้แม่น้ำเนรัญชรา ณ ตำบลอุรุเวลาเสนานิคม แคว้นมคธ
ครั้น วันเพ็ญเดือน ๘ สองเดือนภายหลังจากพระพุทธเจ้าทรงตรัสรู้พระพุทธองค์เสด็จมาถึงบริเวณป่าสาละอันร่มรื่น ณ อุทยานมฤคทายวันหรืออิสิปตนมฤคทายวัน ทางทิศเหนือใกล้เมืองพาราณสี แคว้นกาสี ณ ที่นี้ พระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมเทศนากัณฑ์แรก คือ ธัมมจักกัปปวันสุตร โปรดปัญจวัคคีย์ พระรัตนตรัยเกิดครบบริบูรณ์ครั้งแรกในโลกนี้ คือ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์
เมื่อพระพุทธเจ้ามีพระชนมายุ ครบ ๘๐ พรรษาได้เสด็จถึงสาลวโนทยานหรือสวนป่าไม้สาละของมัลลกษัตริย์ ใกล้เมืองกุสินารา แคว้นมัลละ เป็นเวลาใกล้ค้ำของวันเพ็ญ เดือน ๖ วันสุดท้ายก่อนการกำเนิดพุทธศักราช พระพุทธเจ้าทรงรับสั่งให้พระอานนท์ปูลาดที่บรรทมระหว่างต้นสาละใหญ่ ๒ ต้น ทรงเอนพระวรกายลงโดยหันพระเศียรไปทางทิศเหนือ ประทับไสยาสน์แบบสีหไสยาเป็นอนุฏฐานไสยาคือเป็นการนอนครั้งสุดท้ายจนกระทั่งสังขารดับ

๗.อปชาลนิโครธ ต้นไทรที่พระพุทธเจ้าทรงประทับนั่งเสวยวิมุตติสุขในสัปดาห์ที่ ๕ ภายหลังทรงตรัสรู้ พระพุทธองค์ประทับนั่งภายใต้ร่มเงาของอปชาลนิโครธเป็นเวลา ๗ วัน ต้นอปชาลนิโครธอยู่ทางทิศตะวันออกของต้นศรีมหาโพธิ์

๘.อัสสัตถพฤกษ์ คือต้นพระศรีมหาโพธิ ณ ริมฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา ตำบลอุรุเวลาเสนานิคม อันเป็นสถานที่ซึ่งพระมหาบุรุษได้ตรัสรู้พระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ

๙. อานันทมหาโพธิ เป็นต้นโพธิ์ตรัสรู้ที่เป็นหน่อของต้นเดิมที่พระพุทธเจ้าประทับนั่งใต้ร่มเงาได้ตรัสรู้ ได้นำเมล็ดไปปลูกเป็นต้นแรกในสมัยพุทธกาล โดยพระอานนท์เป็นผู้ดำเนินการปลูกที่ประตูวัดพระเชตวันมหาวิหาร พระนครสาวัตถี แคว้นโกศล ต้นโพธิ์นั้นเรียกว่า อานันทมหาโพธิ์ ทุกวันนี้ยังปรากฏอยู่
ทั้งนี้พระยามที่พระพุทธเจ้าประทับจำพรรษาที่พระเชตวันมหาวิหารนั้น แต่ละปี พระพุทธเจ้าประทับเพียงปีละ ๓ เดือนในฤดูพรรษาส่วนอีก ๙ เดือนนอกพรรษา พระพุทธเจ้าต้องเสด็จไปสู่ที่อื่นเสียปีละ ๙ เดือน ชาวนครสาวัตถีก็เกิดวิปฏิสารร้อนใจ ใคร่ทูลให้ประทับอยู่ตลอดปี พระพุทธเจ้าทรงทราบความทุกข์ของชาวเมือง จึงรับสั่งให้พระอานนท์นำเมล็ดจากต้นศรีมหาโพธิ มาปลูกไว้หน้าประตูมหาวิหารเชตวัน เพื่อเป็นเครื่องหมายแทนพระองค์ เพื่อว่าสมัยใดที่พระพุทธเจ้าไม่ประทับพักอยู่ มหาชนจะได้บูชาต้นโพธิ์นั้นแทนองค์พระพุทธเจ้า


สวนและป่า


๑.ชีวกัมพวัน คือ สวนมะม่วงของหมอชีวกโกมารภัจจ์ ได้ถวายเป็นสังฆาราม ด้วยศรัทธาในพระพุทธเจ้าและปรารถนาจะเข้าเฝ้าวันละ ๒-๓ ครั้ง หมอชีวกโกมารภัจจซึ่งบรรลุธรรมเป็นพระโสดาบันและเป็นแพทย์ประจำประองค์พระพุทธเจ้า ได้สร้างวัดถวายในสวนมะม่วงแห่งนี้ชีวกัมพวันอยู่ในพระนครราชคฤห์ แคว้นมคธ

๒.ตโปทาราม สวนซึ่งอยู่ใกล้บ่อน้ำพุร้อน ชื่อตโปทาอยู่ใกล้ภูเขาเวภารบรรพต ใกล้พระนครราชคฤห์ แคว้นมคธ สถานที่แห่งนี้พระพุทธเจ้าเคยทำนิมิตต์โอภาสแก่พระอานนท์

๓.ปาจีนวังสทายวัน ป่าปาจีนวังสทายวัน อยู่ในแคว้นเจตี เป็นที่ตั้งสำนักของพระสารีบุตร พระอัครสาวกเบื้องขวาของพระพุทธเจ้าพระอนุรุทธะ พระมหาสาวกองค์หนึ่งซึ่งเป็นเจ้าชายในศากยวงศ์ เรียนกรรมฐานได้บรรลุพระอรหัต ณ ที่นี้

๔. ปาวาริกัมพวัน เป็นสวนมะม่วงของปาวาริกเศรษฐี อยู่ในเมืองนาลันทา ซึ่งเป็นเมืองเล็ก ๆ เมืองหนึ่งในแคว้นมคธ อยู่ห่างจากพระนครราชคฤห์ ประมาณ ๑๖ กิโลเมตร ณ ที่นี้พระพุทธเจ้าเสด็จมาประทับแรมหลายครั้ง

๕. เภสกลาวัน เป็นป่าไม้สีเสียด ใกล้เมืองสุงมารคีรีนครหลวงของแคว้นภัคคะ ในพรรษาที่ ๘ ภายหลังจากทรงตรัสรู้ พระพุทธเจ้าเสด็จประทับจำพรรษาอยู่ที่เภสกลาวัน

๖.ป่ามหาวัน กรุงกบิลพัสดุ์ เป็นป่าใหญ่ใกล้ครกบิลพัสดุ์ แคว้นสักกะ พระพุทธเจ้าเคยเสด็จไปทรงพักผ่อนระหว่าประทับอยู่ที่นิโครธารามซึ่งเป็นอารามที่พระญาติสร้างถวายพระพุทธเจ้า ใกล้กรุงกบิลพัสดุ์เช่นกัน พระพุทธเจ้าประทับจำพรรษาที่ ๑๕ ภายหลังจากทรงตรัสรู้ที่นิโครธาราม

๗. ป่ามหาวัน นครเวสาลี เป็นป่าใหญ่ ใกล้เมืองเวสาลี แคว้นวัชชี ในพรรษาที่ ๕ ภายหลังจากทรงตรัสรู้ พระพุทธเจ้า ประทับจำพรรษาอยู่ที่กูฏาคารในป่ามหาวัน นครเวลาลี ณ ที่นี้ พระบรมศาสดาทรงอนุญาตให้มีภิกษุณีสงฆ์ขึ้นเป็นครั้งแรก

๘. มัททกุจฉิมิคทายวัน มีความหมายถึง ป่าเป็นที่อภัยแก่เนื้อชื่อ มัททกุจฉิ อยู่ที่พระนครราชคฤห์ แคว้นมคธ ณ ที่นี้พระพุทธเจ้าทรงทำนิมิตต์โอภาสแก่พระอานนท์

๙.มิคจิรวัน ป่ารักขิตวันอยู่ในแดนบ้านปาริเลยยกะ ใกล้เมืองโกสัมพี แคว้นวังสะ ในพรรษาที่ ๑๐ ภายหลังจากทรงตรัสรู้พระพุทธเจ้าเสด็จเข้าไปอาศัยอยู่ในป่ารักขิตวัน ด้วยทรงปลีกพระองค์จากพระสงฆ์ผู้แตกกัน ณ โฆสิตาราม กรุงโกสัมพี พญาช้างปาริเลยกะคอยเฝ้าปรนนิบัติรับใช้พระพุทธองค์ ในป่ารักขิตวัน

๑๑.ไร่ฝ้าย ขณะพระพุทธเจ้าเสด็จแวะเข้าไปประทับพักอยู่ที่ไร่ฝ้ายแห่งหนึ่ง คณะสหาย๓๐ คน ชื่อคณะภัททวัคคีย์ได้พากันเข้ามาที่ไร่ฝ้ายแห่งนี้ เพื่อเที่ยวตามหาหญิงแพศยาผู้ลักห่อเครื่องประดับหนีไปเมื่อได้พบพระพุทธเจ้าและได้ฟังเทศนาอนุปุพพิกถา (เทศนาที่แสดงไปโดยลำดับ เพื่อฟอกอัธยาศัยของสัตว์ให้หมดจดเป็นชั้น ๆ จากง่ายไปหายาก เพื่อเตรียมจิตของผู้ฟังให้พร้อมที่จะรับฟังอริยสัจ) จากนั้นพระพุทธองค์ทรงเทศนาอริยสัจ ๔ (คือความจริงอย่างประเสริฐมี ๔ อย่าง คือ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค) คณะภัททวัคคีย์ ทั้ง ๓๐ คนได้ดวงตาเห็นธรรมแล้วขออุปสมบท

๑๒. ลัฏฐิวัน สวนตาลหนุ่ม อยู่ทางทิศตะวันตดเฉียงใต้ของพระนครราชคฤห์ เชิงภูเขาปัพภาระ แคว้นมคธ ณ กาลนั้นเป็นตอนปลายของพรรษาที่ ๑ ภายหลังจากทรงตรัสรู้ พระเจ้าพิมพิสารราชาผู้ครองแคว้นมคธพร้อมด้วยราชบริพาร ๑๑ นหุต (๑ นหุต = ๑๐,๐๐๐ จึงเป็นจำนวนหนึ่งแสนหนึ่งหมื่นคน) เสด็จต้องรับพระพุทธเจ้าพร้อมด้วยหมู่ภิกษุสาวกซึ่งเสด็จถึงพระนครราชคฤห์ ประทับอยู่ ณ ลัฏฐิวันบรรดาราชบริพารเหล่านี้ยังไม่รู้จักพระพุทธศาสนา จึงแสดงอาการกริยาต่าง ๆกัน บางพวกถวายบังคม บางพวกประนมมือ บางพวกกล่าววาจาปราศรัย บางพวกประกาศชื่อและโคตรของตน บางพวกนิ่งอยู่พระพุทธเจ้าจึงตรัสถามนำพระอุรุเวลากัสสปะ ผู้เคยเป็นคณาจารย์ใหญ่หัวหน้าชฏิลสามพี่น้อง เป็นผู้ที่ชาวนครราชคฤห์นับถือมากพระพุทธองค์ทรงถามว่า ทำไมจึงเลิกบูชาไฟ พระอุรุเวลกัสสปะกราบทูลประกาศความไม่มีแก่นสารแห่งลัทธิเดิม บรรดาราชบริพารทราบแล้วก็เชื่อถือ จึงตั้งใจฟังพระธรรมเทศนาที่พระองค์แสดงพระเจ้าพิมพิสารและราชบริพารจำนวนมาก เมื่อสดับพระธรรมเทศนาได้ธรรมจักษุ พระเจ้าพิมพิสารประกาศพระองค์เป็นอุบาสก ณ ที่นี้

๑๓. ลุมพินีวัน เป็นสวนที่ประสูติของพระพุทธเจ้า ภายใต้ต้นสาละใหญ่ ในเวลาใกล้เที่ยง เมือวันเพ็ญเดือน ๖ วันศุกร์ ปีจอ ก่อนพุทธศักราช ๘๐ ปี เป็นสังเวชนียสถาน ๑ ใน ๔ แห่ง ตั้งอยู่ระหว่างกรุงกบิลพัสดุ์ แคว้นสักกะ และกรุงเทวทหะ แคว้นโกลิยะ (ปัจจุบันนี้ อยู่ในตำบลลุมมินเด แขวงเปชวาร์ ในเขตประเทศเนปาล ห่างจากเขตแดนประเทศอินเดีย ไปทางเหนือประมาณ ๖ กิโลเมตร ครึ่ง บัดนี้เปลี่ยนชื่อใหม่เป็นสิทธารถนคร

๑๔. เวฬุวัน เป็นป่าไผ่ สวนที่ประพาสพักผ่อนของพระเจ้าพิมพิสารราชาผู้ครองแคว้นมคธ อยู่ไม่ใกล้ไม่ไกลจากพระนครราชคฤห์ เป็นที่ร่มรื่นสงบเงียบ มีทางไปมาสะดวก ภายหลังจากพระเจ้าพิมพิสารทรงสดับพระธรรมเทศนาของพระพุทธเจ้า ได้ธรรมจักษุประกาศพระองค์เป็นอุบาสก ณ ลัฏฐิวัน พระเจ้าพิมพิสารจึงทรงพระราชดำริหาที่ประทับให้พระพุทธเจ้า ทรงเห็นว่าพระราชอุทยานเวฬุวันสวนไม่ไผ่เหมาะสม จึงถวายเป็นสังฆาราม พระพุทธเจ้าทรงรับและประทานพุทธานุญาตให้ภิกษุรับอารามที่ทายกถวายได้ การถวายอารมเกิดขึ้นเป็นครั้งแรก ณ ที่นี้ นับเป็นวัดแรกในพระพุทธศาสนา

๑๕.สักกะ เป็นดงไม้ที่อยู่ในชมพูทวีปตอนเหนือ แถบเทือกเขาหิมาลัยในเขตป่าหิมพานต์

๑๖.สาลวโนทยาน สวนป่าไม้สาละของมัลลกษัตริย์ ราชาผู้ครองแคว้นมัลละ ตั้งอยู่ใกล้เมืองกุสินารา พระพุทธเจ้าทรงดับขันธปรินิพพานภายใต้ร่มไม้ต้นสาละใหญ่ ๒ ต้นในสาลวโนยาน ในยามค้ำของวันเพ็ญเดือน ๖ ปีมะเส็ง วันสุดท้ายก่อนเริ่มพุทธศักราช

๑๗. หิมพานต์ ป่าหิมพานต์เป็นป่าใหญ่เชิงเขาหิมพานต์ ซึ่งเป็นภูเขาสูงใหญ่ทางตอนเหนือของชมพูทวีป พระนาลกะ หนึ่งในพระมหาสาวก หลานชายของอสิตดาบสออกบวชตามคำแนะนำของลุง และไปบำเพ็ญสมณธรรมรอการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า ณ ป่าหิมพานต์ ครั้น พระพุทธเจ้าตรัสรู้แล้ว ได้มาทูลถามเรื่องโมไนยปฏปทา (ข้อปฏิบัติธรรมที่ทำให้เป็นปราชญ์) และกลับไปบำเพ็ญสมณธรรมในป่าหิมพานต์ ได้บรรลุพระอรหัตแล้ว ดำรงอายุอยู่อีก ๗ เดือน ก็ปรินิพานในป่าแห่งนี้

๑๘. อนุปิยอัมพวัน สวนป้าไม้มะม่วง อนุปิยอัมพวัน อยธในเขตอนุปิยนิคม แขวง มัลลชนบท พระมหาบุรุษเสด็จพักแรม ณ ที่นี้ ๗ วัน ครั้ง วันที่ ๘ จึงเสด็จดำเนินจากอนุปิยอัมพวันเข้าไปบิณฑบาตในกรุงราชคฤห์ แคว้นมคธ โดยกิริยาสงบอยู่ในอาการสังวร สมควรแก่ภาวะของสมณะเป็นที่ตั้งแห่งความเลื่อมใสของทุกคนที่ได้เห็น พวกราชบุรุษนำความที่ได้พบเห็นไปกราบทูลพระเจ้าพิมพิศาร มีรับสั่งให้สะกดรอยติดตามเพื่อทราบความเท็จจริงของพรรพชิตเศษรูปนี้ ครั้นทรงสดับความจริงแล้ว พระเจ้าพิมพิสารทรงพระประสงค์ จะได้พบกับพระมหาบุรุษ
ต่อมาเจ้าชายศากยวงศ์ทั้ง ๖ คือพระภัททิยะ พระอนุรุทธะ พระอานนท์ พระภัคคุ พรกิมพิละ พระเทวทัต และมีอบาลีอำมาตย์ ช่างกัลบก รวมเป็น ๗ พร้อมใจออกบรรพชา ได้ออกบวช ณ สวนป่าไม้ มะม่วงอนุปิยอัมพวันแห่งนี้

๑๙.อัมพปาลีวัน สวนที่หญิงแพศยาชื่อ อัมพปาลี ถวายเป็นสังฆาราม ไม่นานก่อนพุทธปรินิพพาน อยู่ในเขตเมือเวสาลี แคว้นวัชชี (แพศยา หมายถึง หญิงหาเงินในทางร่วมประเวณี หรือ โสเภณีในปัจจุบัน)

๒๐. อิสิปตนมฤคทายวัน คือป่าที่ให้อภัยแก่เนื้อชื่อ อิสิปตนะอยู่ใกล้เมืองพาราณสี แคว้นกาสี ณ ป่าแห่งนี้พระพุทธเจ้าได้ทรงประกาศพระธัมมจักกัปปวัตนสูตร (พระสูตรว่าด้วยการยังธรรมจักรให้เป็นไป)ประทานปฐมเทศนาแก่ปัญจวัคคีย์ ทั้ง ๕ รูป ในวันเพ็ญ เดือน ๘ พระรัตนตรัยคือ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ได้เกิดขึ้นบริบูรณ์ในกาลนั้น ณ ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน

Wisdom:
"แม่น้ำ"

แม่น้ำสายต่างๆ ในชมพูทวีป ในสมัยพุทธกาล ที่มีความเกี่ยวข้องกับพระพุทธเจ้า และถูกบันทึกลงในพระพุทธประวัติ ที่นำมาประมวลไว้ ณ ที่นี้มีดังนี้

๑. กิมิกาฬา พระมหาสาวกเมฆิยะ ผู้เคยเป็นพระอุปัฏฐากของพระพุทธเจ้า คราวหนึ่งได้เห็นส่วนมะม่วมริมฝั่งแม่น้ำกิมิกาฬน่ารื่นรมย์จึงขอลาพระพุทธเจ้าไปบำเพ็ญเพียร ณ ที่นั้น พระพุทธเจ้าห้ามไม่ฟังพระเมฆิยะไปบำเพ็ญเพียรถูกอกุศลวิตกต่าง ๆ รบกวน ในที่สุดต้องกลับมาเฝ้าพระพุทธเจ้า ได้ฟังพระธรรมเทศนาเรื่องธรรม ๕ ประการสำหรับบ่มเจโตวิมุติ (การหลุดพ้นจากกิเลสด้วยอำนาจการฝึกจิตหรือด้วยกำลังสมาธิ) จึงได้สำเร็จพระอรหัต

๒. กกุธานที ไหลผ่านดินแดนระหว่างเมืองปาวากับเมืองกุสินาราแคว้นมัลละ พระอานนท์ทูลเชิญเสด็จพระพุทธเจ้า เสด็จลงเสวยและชำระพระกายที่ตรากตรำมาในระยะทางจากเมืองปาวาไปเมืองกุสินาราในวันที่พระพุทธเจ้าทรงดับขันธปรินิพพาน

๓. คงคา เป็นแม่น้ำศักดิ์สิทธิ์ เกิดที่ภูเขาหิมพานต์ มีความยาวถึงประมาณ ๒,๕๐๐ กิโลเมตร ณ บริเวณลุ่มแม่น้ำคงคากับยมุนาบรรจบกันเป็นอาณาบริเวณที่อุดมสมบูรณ์ เป็นแหล่งที่ตั้งของนครและแว่นแคว้นที่มีความสำคัญ ๕ สายที่เรียกว่า ปัญจมหานที บรรดาแคว้นในมหาชนบท ๑๖ ที่อยู่บริเวณลุ่มแม่น้ำคงคามีดังนี้
แคว้นอังคะ ตั้งอยู่ปลายแม่น้ำคงคา
แคว้นมคธ ตั้งอยู่ใต้แม่น้ำคงคาตอนกลาง
แคว้นโกศล ตั้งอยู่บริเวณแม่น้ำคงคาตอนกลาง
แคว้นกาสี ตั้งอยู่ตอนบรรจบของแม่น้ำคงคาและยมุนา
แคว้นปัญจาละ ตั้งอยู่ตรงลุ่มแม่น้ำคงคาตอนบนนครหลวงกัมปิละ ตั้งอยู่เหนือแม่น้ำคงคา
นอกจากนั้นนครมิถิลา เมืองหลวงของแคว้นวิเทหะ ตั้งอยู่บนฝั่งแม่น้ำคงคา ตอนกลาง ตรงข้ามกับแคว้นมคธ

๔. คันธกะ แม่น้ำคันธกะไหลผ่านทางด้านทิศตะวันออกของแคว้นวัชชี ส่วนเมืองกุสินารานครหลวงของแคว้นมัลละ ตั้งอยู่ที่จุดบรรจบของแม่น้ำคันธกะ กับแม่น้ำอจิรวดี (หนึ่งในปัญจมหานที)

๕.โคธารวรี แคว้นอัสสกะ ตั้งอยู่ ณ ลุ่มแม่น้ำโคธาวรี พราหมณ์พาวรีอาจารญ์ใหญ่ตั้งอาศรมสอนไตรเพทอยู่ที่ฝั่งแม่น้ำโคธาวรี ณ สุด เขตแดนแคว้นอัสสกะ พราหมณพาวรีได้ส่งศิษย์ ๑๖ คนเดินทางไปถามปัญหาพระพุทธเจ้า ณ ปาสาณเจดีย์ ในแคว้นมคธ

๖. จัมปา แม่น้ำจัมปาไหลกั้นแดนระหว่างแคว้นมคธกับแคว้นอังคะ

๗. นัมมทา แม่น้ำนัมมทาไหลผ่านแคว้นสุนาปรันตะ พระพุทธเจ้าทรงประทับรอยพระบาทไว้ที่ริมฝั่งแม่น้ำนัมมทา เมื่อพระพุทธเจ้าองค์เสด็จไปแสดงธรรมโปรดชาวสุนาปรันตะและนัมมทานาคราช นาคราชขอของที่ระลึกไว้บูชา จึงทรงประทับรอยพระบาทไว้นับเป็นรอยพระพุทธบาทที่เกิดขึ้นเป็นครั้งแรก

๘. เนรัญชรา แม่น้ำเนรัญชราไหลผ่านแคว้นมคธ ณ ตำบลอุรุเวลาเสนานิคมซึ่งตั้งอยู่บนลุ่มแม่น้ำเนรัญชรา อันเป็นภูมิสถานที่สงบน่ารื่นรมย์พระมหาบุรุษทรงเลือกที่แห่งนี้เป็นที่บำเพ็ญเพียร ทรงประทับอยู่ ณ ที่นี้ นานถึง ๖ ปี พระมหาบุรุษทรงบำเพ็ญทุกรกิริยา และเปลี่ยนมาทรงดำเนินในมัชณิมาปฏิปทา จนได้ตรัสรู้อนุตรสัมมาสัมโพธญาณ ภายใต้ร่มพระศรีมหาโพธิ์ ในตำบลนี่ ณ ริมฝั่งแม่น้ำเนรัญชราแห่งนี้

๙. ปัญจมหานที คือแม่น้ำสำคัญ ๕ สาย อันมีต้นกำเนิดจากเทือกเขาหิมพานต์ (หิมาลัย) ซึ่งแถบเชิงเขาปกคลุมไปด้วยป่าไม้ใหญ่มีฝนตกชุก เป็นแหล่งต้นน้ำลำธารหลายสายไหลลงมาทางใต้ ปัญจมหานที (หรือปัญจนที) คือ ๑.แม่น้ำคงคา ๒.แม่น้ำยมุนา ๓. แม่น้ำอจิรวดี (หรือแม่น้ำรับดิ) ๔. แม่น้ำสรภู ๕.แม่น้ำมหี

๑๐.ภาคะรถี แม่น้ำภาคีรถีเป็นแควหนึ่งของแม่น้ำคงคาตอนบนแม่น้ำภาคีรถีไหลผ่านแคว้นปัญจาละ

๑๑. มหี แม่น้ำเป็นแม่น้ำสายหนึ่งในแม่น้ำสำคัญ ๕ สายที่เรียกว่าปัญจมหานที

๑๒. ยมุนา แม่น้ำยมุนาเป็นแม่น้ำสายหนึ่งในแม่น้ำสำคัญ ๕ สายที่เรียกว่า ปัญจมหานที บรรดาแคว้นในมหาชนบท ๑๖ ที่อยู่บริเวณลุ่มแม่น้ำยมุนามีดังนี้
แคว้นกาสี ตั้งอยู่ตอนบรรจบของแม่น้ำยมุนาและคงคา
แคว้นวังสะ ตั้งอยู่ทางทิศใต้ของแม่น้ำยมุนา นครหลงชื่อกรุงโกสัมพี ตั้งอยู่เหนือฝั่งแม่น้ำยมุนา
แคว้นกุรุ ตั้งอยู่บนลุ่มแม่น้ำยมุนาตอนบน
แคว้นมัจฉะ ตั้งอยู่ริมแม่น้ำสินธุกับตอนบน
แคว้นสุรเสนะ ตั้งอยู่ริมแม่น้ำสินธุกับแม่น้ำยมุนาตอนล่าง

๑๓. โรหิณี แม่น้ำโรหิณีไหลผ่านเป็นเส้นแบ่งเขตแดนระหว่างแคว้นศายะกับแคว้นโกลิยะ แคว้นทั้งสองได้เกิดกรณีพิพาทอันมีมูลเหตุจากการแย่งกันใช้น้ำจากแม่น้ำโรหิณีเพื่อทำการเกษตร จนเกือบจะเกิดสงคราม พระพุทธเจ้าทรงเสด็จมาระงับการวิวาทระหว่างพระญาติทั้ง ๒ ฝ่ายจนสงบลงได้
พระมหาสาวกอานนท์ซึ่งเป็นพระอุปัฏฐากประจำประองค์ของพระพุทธเจ้า เป็นเจ้าชายในศากยวงศ์ เป็นพระโอรสของพระเจ้าสุกโกทนะ ซึ่งเป็นพระเจ้าอาของเจ้าชายสิทธัตถะ ครั้นเมื่อพระอานนท์ดำรงชีวิตสืบมาจนอายุได้ ๑๒๐ ปี จึงปรินิพพานในอากาศเหนือแม่น้ำโรหิณี ซึ่งเป็นเส้นกั้นแดนระหว่างแคว้นของพระญาติทั้งสองฝ่ายคือ ศากยะและโกลิยะ

๑๔. วัคคุมุทา พระมหาสาวกยโสชะ เป็นบุตรหัวหน้าชาวประมงใกล้ประตูเมืองสาวัตถี ได้ฟังพระธรรมเทศนากปิลสูตรที่พระพุทธเจ้าทรงแสดง มีความเลื่อมใสขอบวช ต่อมาไปเจริญสมณธรรมที่ริมฝั่งแม่น้ำวัคคุมาทา ได้สำเร็จพระอรหัต

๑๕. สรภู แม่น้ำสรภูเป็นแม่น้ำสายหนึ่งในแม่น้ำสำคัญ ๕ สายที่เรียกว่า ปัญจมหานที

๑๖. สัลลวตี แม่น้ำสัลลวตีเป็นแม่น้ำที่กั้นอาณาเขตมัชฌิมชนบทหรือถิ่นกลางที่มีความเจริญรุ่งเรือง กับปัจจันตชนบทหรือหัวเมืองชั้นนอกถิ่นที่ยังไม่เจริญ ทางด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้ นับจากแม่น้ำสัลลวตีเข้ามาถือเป็นเขตมัชฌิมชนบท

๑๗. สินธุ แม่น้ำสินธุไหลผ่านแคว้นในมหาชนบท ๑๖ ดังนี้
แคว้นมัจฉะ ตั้งอยู่ริมแม่น้ำสินธุกับแม่น้ำยมุนาตอนบน
แคว้นสุรเสนะ ตั้งอยู่ระหว่างแม่น้ำสินธุกับแม่น้ำยมุนาตอนล่าง
แคว้นคันธาระ ตั้งอยู่ทางลุ่มแม่น้ำสิธุตอนบน

๑๘. โสน แคว้นมคธตั้งอยู่ระหว่างแม่น้ำโสนกับแคว้นอังคะ โดยมีแม่น้ำคงคาอยู่ทางทิศเหนือ มีภูเขาวินทัยอยู่ทางทิศใต้และทิศตะวันตก

๑๙.หิรัญวดี แม่น้ำหิรัญวดีนับเป็นแม่น้ำสายสุดท้ายที่พระพุทธเจ้าเสด็จข้าม โดยพระพุทธองค์เสด็จไปเมืองกุสินาราในวันที่จะดับขันธปรินิพาน ทรงข้ามแม่น้ำหิรัญวดีเข้าสู่สาลวโนทยานของมัลลกษัตริย์ซึ่งตั้งอยู่ริมแม่น้ำแห่งนี้ ณ สาลวโนทยาน พระพุทธเจ้าทรงปรินิพพานแม่น้ำหิรัญวดี ไหลลงไปบรรจบกับแม่น้ำสรภู

๒๐. อจิรวดี แม่น้ำอจิรวดี เป็นแม่น้ำสายหนึ่งในแม่น้ำสำคัญ ๕ สายที่เรียกว่าปัญจมหานที แม่น้ำอจิรวดี (หรือที่เรียกว่ารับดิ) มีพระนครสาวัตถี นครหลวงของแคว้นโกศลตั้งอยู่บนฝั่งลำน้ำ และจุดที่บรรจบของแม่น้ำอจิรวดีกับแม่น้ำคันธกะเป็นที่ตั้งของนครกุสินาราเมืองหลวงของแคว้นมัลละ

๒๑. อโนมา แม่น้ำอโนมากั้นพรมแดนระหว่งแคว้นสักะกับแคว้นมัลละ เมื่อพระสิทธัตถะเสด็จออกบรรพชา ทรงม้ากัณฐกะเสด็จออกจากกรุงกบิลพัสดุ์ยามเที่ยงคืน ครั้นยามเช่ามาถึงฝั่งแม่น้ำอโนมา ตรัสสั่งให้นายฉันนะอำมาตย์คนสนิทนำม้าพระที่นั่งและเครื่องประดับสำหรับขัตติราชทั้งหมดกลับคืนพระนคร ทรงตัดพระเมลีด้วยพระขรรค์อธิฐานเพศพรรพชิต ณ ฝั่งแม่น้ำอนโนมานี้

๒๒. อสิคนี แม่น้ำอสิคนี หรือจันทรภาค ไหลผ่านแคว้นมัททะนครหลวงชื่อสาคละ ตั้งอยู่เหนือแม่น้ำอสิคนีหรือจันทรภาคบุตรแม่น้ำมหานที และแม่น้ำกฤษณาไว้อีกด้วย

นำร่อง

[0] ดัชนีข้อความ

[#] หน้าถัดไป

[*] หน้าที่แล้ว

Go to full version