เว็บพุทธภูมิ: พุทธภูมิ พระโพธิสัตว์ การบำเพ็ญบารมี



ผู้เขียน หัวข้อ: ความหมายของพุทธภูมิ ปัจเจกภูมิ สาวกภูมิ  (อ่าน 7869 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 2 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ Wisdom

  • สมาชิก
  • ***
  • กระทู้: 242
  • ใครจะใหญ่เกินกรรม
    • ดูรายละเอียด
ดวงจิตจะมีขั้นตอนการเวียนว่ายตายเกิดทั้ง ๕ ระยะดังที่กล่าวมาแล้วข้างต้น ซึ่งกว่าจะได้บรรลุธรรม พ้นความทุกข์นั้น จะต้องผ่านการเวียนว่ายตายเกิดมายาวนานแตกต่างกัน หากหลงทางก่อกรรมทำเข็ญมาก และไม่มีสติรู้สำนึก ก็จะต้องเวียนว่ายตายเกิดชดใช้กรรมต่อไปอีกยาวนาน กว่าที่กรรมจะเบาบางจนเกิดดวงตาเห็นธรรมได้ ดวงจิตต่างๆ ทั้งสามประเภท คือ พุทธภูมิ, ปัจเจกภูมิ และสาวกภูมิ นี้ ต่างก็ต้องผ่านกระบวนการเวียนว่ายตายเกิดนี้เช่นกัน โดยช่วงแรกดวงจิตจะยังไม่มีความแตกต่างกัน ดวงจิตจะมาจากแหล่งเดียวกันก่อน มีความบริสุทธิ์ประภัสสรเหมือนกันมาก่อน เมื่อได้รับการเพาะบ่มพลังจนพร้อมที่จะเวียนว่ายตายเกิดแล้ว จึงเริ่มเข้าสู่สังสารวัฏ หรือกระบวนการเวียนว่ายตายเกิด จากนั้น ก็จะเข้าสู่ช่วงทีมีความหลากหลายเกิดขึ้น โดยผลจากกระบวนการเวียนว่ายตายเกิดของดวงจิต ก็เริ่มถูกพัฒนาให้แตกต่างกันไปเป็นสามแบบดังกล่าว มีดังนี้
๑) พุทธภูมิ




คือ บุคคลที่มี "มโนธาตุ" หรือจิต ที่มุ่งช่วยเหลือสรรพสัตว์ ยังไม่ยอมหลุดพ้นไปเพียงผู้เดียว บางครั้งบางชาติ ยังไม่ได้มีการปรารถนาพุทธภูมิ กล่าวคือ ยังนึกไม่ออกว่าจะต้องบรรลุนิพพานก่อนจึงจะสอนให้คนหมดทุกข์ได้อย่างแท้จริง จึงช่วยเหลือคนทั่วไป เช่น ช่วยชีวิตคนไข้ แม้ไม่ได้อยู่ในหน้าที่หรือตนไม่ได้มีตำแหน่งก็ตาม ฯลฯ และไม่ยอมหลุดพ้นสู่นิพพาน ดังนั้น จึงเกิดและตายวนเวียนในสังสารวัฏ ตราบเมื่อได้พบพระพุทธเจ้า และได้ฟังธรรม จนเห็นหนทางที่ตนจะบรรลุความปรารถนาแล้ว ก็เกิดความมั่นใจศรัทธาตรงต่อการเป็นพระพุทธเจ้า ในชาตินั้น จึงปรารถนาพุทธภูมิ เป็นพระโพธิสัตว์เต็มองค์ บุคคลที่เวียนว่ายตายเกิดหลายชาติเพื่อเป็นพระพุทธเจ้า แบ่งออกเป็น ๕ ระยะ ดังนี้คือ
ก่อนพุทธภูมิ
เมื่อจุติในสังสารวัฏแรกๆ จวบจนกระทั่งเริ่มมีบารมีโดยธรรมชาติ ได้เกิดเป็นหัวหน้าคณะ ช่วงนี้ยังไม่รู้ตัว และยังไม่มีความปรารถนาพุทธภูมิ ยังหลงทางในสังสารวัฏ ยังไม่รู้จะเวียนว่ายตายเกิดไปเพื่ออะไร แต่จะเป็นหัวหน้าที่ดี มีความเมตตาดูแลบริวารในปกครองอย่างดี จึงจะเป็นพุทธภูมิได้ ยกตัวอย่างเช่น พระสารีบุตรในอดีตชาติ ที่ได้เกิดเป็นหัวหน้าคนมากมาย เมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จมาโปรดจนบริวารสำเร็จอรหันต์ทั้งหมด ตนเองมีปัญญาสูงกว่าแต่ยั้งใจ เพราะปรารถนาเป็นอัครสาวกเบื้องขวาของพระพุทธเจ้าสมณโคดม จึงได้มาเกิดเป็นพระสารีบุตร ซึ่งยังไม่รู้ว่าตนเองปรารถนาเป็นพระพุทธเจ้า จนเมื่อได้เป็นพระอัครสาวกเบื้องขวาแล้ว พระพุทธเจ้าสมณโคดม ก็ได้แสดงธรรมโดยอ้อมถึงสุขาวดี ในที่สุดพระสารีบุตรก็รู้ตัวว่าปรารถนาพุทธภูมิ นอกจากนี้พุทธภูมิบางท่าน ก็จุติมาจากภาคแบ่งของดวงจิตพระมหาโพธิสัตว์ หรือพระพุทธเจ้าบางพระองค์ ทำให้สามารถทำหน้าที่ได้ดีมากกว่าดวงจิตคนอื่นๆ และบำเพ็ญเพียรได้รวดเร็วกว่า จะดวงจิตลักษณะนี้ จะไม่ลัดเข้าแย่งลำดับการตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า จากพระโพธิสัตว์อื่นๆ จะหลีกทางให้ผู้อื่นเป็นพระพุทธเจ้าแทนตน
เลือก-ลอง-หลง (แรกรู้ตน)
เมื่อรู้ตนเองว่าปรารถนาพุทธภูมิแล้ว จะรู้สึกเบื่อสิ่งต่างๆ ทางโลก รอหรือเริ่มค้นหาสิ่งที่เหนือกว่าขึ้นไป แต่ยังไม่รู้ว่าจะอยู่ไปเพื่ออะไร สมควรจะทำอะไร จวบจนได้พบพระพุทธเจ้า ก็จะทำการปรารถนาพุทธภูมิ ยกตัวอย่างเช่น พระสังขจักร เมื่อได้ข่าวว่ามีพระพุทธเจ้าสิริมิตรเกิดขึ้นแล้วในโลก ก็สละราชบัลลังก์ แล้วเดิมทางมุ่งไปยังที่ประทับของพระพุทธเจ้า และตัดเศียรบูชาพระพุทธเจ้า จึงได้จุติเป็นพระโพธิสัตว์ที่สวรรค์ชั้นดุสิต หลังจากรู้ตนนี้ จะไม่หลงในสังสารวัฏอีก เพราะเข้าใจว่าจะตายเกิดในสังสารวัฏไปเพื่ออะไร และจะเริ่มเข้าสู่การบำเพ็ญเพียรทศบารมีเพื่อพุทธภูมิอย่างชัดเจน ในขั้นแรกรู้ตนนี้ บางท่านยังไม่ได้ทำการถวายพุทธบูชาด้วยสิ่งต่างๆ แต่บางท่านก็ถวายสิ่งต่างๆ เป็นพุทธบูชาเลย ตั้งแต่ ทรัพย์, อวัยวะ, และชีวิต เป็นต้น ซึ่งแม้ถวายชีวิตแล้วก็ยังบารมีไม่ถึง ๓๐ ทัศ ยกตัวอย่างเช่น อดีตชาติของพระโพธิสัตว์พระยามาราธิราช ซึ่งได้เกิดเป็นขุนนางของพระราชาที่ประกาศห้ามผู้อื่นใดไปถวายพุทธบูชาก่อนตน หากฝ่าฝืนต้องโทษประหาร แต่ขุนนางผู้นั้นไม่สนใจ จึงถวายข้าวห่อเป็นพุทธบูชาประกอบกับพระพุทธเจ้าเพิ่งเสด็จออกจากนิโรธสมาบัติ ผลบุญจึงมีมากมาย สุดท้ายต้องโทษประหาร ยอมตายเพราะพุทธบูชานั้น และยังผลให้ไปเกิดเป็นพระยามาร จวบจนหลังพุทธกาล ๒๐๐ ปีแล้ว พระอุปคุตจึงมาปราบพระยามารลง พระโพธิสัตว์จึงทรงละทิฐิมานะ และพ้นจากความเป็นมาร มีบารมีเต็ม ๓๐ ทัศ (หากบารมีเต็ม ๓๐ ทัศ จะได้อานิสงค์ไม่เกิดเป็นพระยามาร) ดังนั้น แม้จะฆ่าตัวตายเป็นพุทธบูชาแล้ว ยังต้องเกิดอีกเพื่อชดใช้กรรมและบำเพ็ญบารมีตัวอื่นๆ ให้เต็มด้วย
บำเพ็ญพุทธภูมิ
ในการบำเพ็ญบารมีของพุทธภูมินั้น จะบริจาคทรัพย์จนหมดก่อนจึงเรียกว่า บารมี ๑๐ ทัศ จากนั้นจะอุทิศแรงกายจนอาจต้องเสียสละเลือดเนื้อหรืออวัยวะ เช่น การออกศึก ปกป้องประเทศ ช่วยเหลือมวลมนุษย์ หรือ การบริจาคอวัยวะถวายเป็นพุทธบูชาจึงเรียกว่า บารมี ๒๐ ทัศ จากนั้น จะเข้าสู่การเสียสละชีวิต เช่น การยอมตายเพื่อผู้อื่น, ฆ่าตัวตายถวายพุทธบูชา จึงได้เข้าสู่บารมี ๓๐ ทัศ ช่วงนี้แบ่งได้เป็นสามระยะคือ

บารมีต้น ช่วงเสวยบุญเป็นเศรษฐี มีทรัพย์ในการทำบุญทำทานได้มากมาย เป็นช่วงที่ดวงจิตหลังได้รู้ตนเองว่าปรารถนาพุทธภูมิแล้ว จะบำเพ็ญ "ทศบารมี" ในขั้นต้น ในขั้นนี้พระโพธิสัตว์ จะทรงใช้ "ทรัพย์สิน" ในการบำเพ็ญเพียรเสียโดยมาก จะเกิดมาร่ำรวย เป็นผลบุญจากการได้ถวายพุทธบูชา จะได้มาเกิดในพระพุทธศาสนาและทำนุบำรุงพุทธศาสนาด้วยทรัพย์ของตนนั้น แต่ยังไม่สามารถที่จะเข้าไปเปลี่ยนแปลงหรือบริหารงานด้านพุทธศาสนามากนัก ช่วงนี้ จะไม่ได้พบพระพุทธเจ้า จำต้องบำเพ็ญเพียรด้วยความคิดของตนเอง ไม่มีผู้ใดสั่งสอน จึงมีทั้งทำดีและทำพลาดไปบ้าง แต่ผลยังไม่ขยายวงกว้างนัก ได้ทั้งผลบุญและบาปกรรมเปื้อนติดตัวไประดับหนึ่ง ยังไม่มีบริวารมากนัก ความเสี่ยงที่จะทำงานผิดพลาดจึงยังน้อย เพียงสะสมคุณงามความดีเบื้องต้นไปก่อน ยังไม่สามารถเปลี่ยนแปลงสังคมที่เลวร้ายได้ กำลังบารมียังไม่พอ

บารมีกลาง ช่วงเสวยบุญเป็นราชามีอำนาจและบริวารมากมายทำกิจได้มาก เป็นช่วงที่ดวงจิตมีบุญบารมีมากมาย เหนือกว่ามารในสวรรค์ชั้นสูงสุด เป็นผลจากการบำเพ็ญบารมีที่สะสมมา จะมีทั้งบริวารมากมาย และทรัพย์มากมาย ในขั้นนี้ จะเริ่มเปลี่ยนแปลงสังคมตามความคิดของตนเอง ทำให้พระโพธิสัตว์อาจจะเริ่มหลงทาง เพราะหลงในผลบุญที่มีมากมายนั้น เริ่มได้รับอนุญาตให้เกิดมาพร้อมทรัพย์สินและบริวาร และเริ่มได้ปกครองประเทศ ได้เกิดเป็นพระราชา ซึ่งหากปกครองประเทศได้ดี ก็จะได้ผลบุญมากก็จะยิ่งต่อยอดบุญได้มากขึ้นไปอีก หากหลงทางก็จะกลายเป็นมารได้ จะต้องไปจุติยังสวรรค์ชั้นมาร เพื่อปกครองพวกมารอยู่ยาวนาน ต้องเป็นมารเพื่อปกครองมารได้ และรอเวลาอีกยาวนานกว่าจะได้มาเกิดเป็นมนุษย์อีกรอบหนึ่ง




บารมีปลาย เป็นช่วงที่ดวงจิตมีบุญบารมีสูงสุด พร้อมที่จะตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าแล้ว เนื่องจากได้พ้นภพมารแล้ว ได้ละเลิกทิฐิจากความเป็นมารแล้วเพราะได้พบกับคู่ปรับแล้ว แต่ยังมีกรรมที่สะสมมาในแต่ละชาติต้องชดใช้ จากนั้น จึงมาเกิดเป็นคนยากจน ไร้ทรัพย์สินและบริวาร เพื่อแสวงหาสิ่งที่เป็นพื้นฐานธรรมดา เหมือนพระพุทธเจ้าช่วงที่ทรงสละราชสมบัติเพื่อออกผนวช ซึ่งไม่สนใจลาภยศเงินทอง หรือเรื่องราวความวุ่นวายทางโลก ใช้เพียงลำพังตัวคนเดียว ด้วยกำลังสติปัญญา ยังความเมตตาโปรดสัตว์ ตัวอย่างเช่น พระพุทธเจ้าในชาติที่ทรงปราบ "รากษส" ทรงเกิดเป็นคนยากจน และมีแม่ที่อดอยาก ดังนั้น จึงทรงอาสาปราบรากษสเสี่ยงตายเพื่อหาเงินเลี้ยงแม่ จนในที่สุด ปราบรากษสได้ด้วยตัวคนเดียว เป็นต้น ช่วงบารมีปลายนี้ยิ่งต้องระวังกรรมที่เปื้อนไปสู่ชาติที่ได้ตรัสรู้ให้มาก เพราะหากยังมีเศษกรรมเปื้อนไป ก็จะยังผลให้พระศาสนาในชาติที่ตรัสรู้นั้น ได้รับผลกรรมไปด้วย เช่น การฆ่ารากษสของพระพุทธเจ้าในชาติที่บำเพ็ญเพียร ยังผลให้ท่านมีอายุเพียง ๘๐ พรรษา ไม่อาจทำกิจตามพุทธศาสนาได้สมปณิธานที่ตั้งใจ ในชาติที่บำเพ็ญบารมีปลาย จึงต้องใช้ "ปัญญาและเมตตา" ให้มากขึ้น แม้มีสิ่งยั่วยุก็ตาม เพื่อไม่ให้กรรมเปื้อนติดตนไปในชาติสุดท้าย
ไถ่ถอนกรรมเก่า
นอกจากจะได้บารมีครบ ๓๐ ทัศแล้ว ในระยะต่อมายังต้องมาเติมบารมีตัวอื่นในทศบารมีให้เต็มอีกด้วย จากนั้นยังต้องชดใช้กรรมเก่าที่ได้สร้างสมมาในชาติต่างๆ ให้เบาบางลงไป เพื่อไม่ให้ผลกรรมเปื้อนและกระทบชาติสุดท้ายที่ตรัสรู้ ดังนั้น เมื่อบารมีครบ ๓๐ ทัศแล้ว ยังต้องบำเพ็ญบารมีต่ออีกสองระยะ จุดนี้จะมีความแตกต่างกันระหว่างพุทธภูมิ ที่ปรารถนาเป็นพระพุทธเจ้า ซึ่งจะเรียกว่า "พระโพธิสัตว์" กับพุทธภูมิที่ปรารถนาช่วยสรรพสัตว์ตลอดไป ไม่หวังเป็นพระพุทธเจ้า ที่เรียกว่า "พระมหาโพธิสัตว์" เนื่องจากพระโพธิสัตว์ จะบำเพ็ญทศบารมีให้เต็ม จะก่อกรรมน้อย จะเปลี่ยนแปลงสังคมที่ผิดไปน้อยกว่า และชดใช้กรรมให้เบาบาง แต่สำหรับพระมหาโพธิสัตว์แล้ว จะบำเพ็ญดุจดั่งเช่น พระพุทธเจ้าองค์หนึ่ง อันเป็นแนวการสอนของพระอมิตาภพุทธเจ้า ที่ให้พระมหาโพธิสัตว์ทั้งหลาย ช่วยสรรพสัตว์เช่นนั้น ดังนั้น พระมหาโพธิสัตว์จะมีบทบาทปราบมาร เปลี่ยนแปลงสังคมมากกว่าพระโพธิสัตว์
ซักฟอกมโนธาตุ
เมื่อผ่านระยะการชดใช้กรรมจนเบาบางสิ้นแล้ว ชาวพุทธภูมิจะเริ่มเดินตามความปรารถนาของตน ทั้งนี้ เมื่อพุทธภูมิมีบารมีครบ ๓๐ ทัศ กล่าวคือ นับจากชาติที่ได้สละชีวิตถวายเป็นพุทธบูชาแล้ว พุทธภูมิจะมีแนวทางในการบำเพ็ญสองสาย สายที่หนึ่ง จะบำเพ็ญตรงทางไปตามเดิมคือ บำเพ็ญทศบารมีที่เหลือให้เต็มและหลีกเลี่ยงกรรม ชดใช้กรรมในอดีตที่ติดตัวมาให้มาก เพื่อรอคิวตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า ในยุคสมัยที่เหมาะสมกับความปรารถนาของตน จนได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าก็จะซักฟอกมโนธาตุให้บริสุทธิ์ และทำหน้าที่พระพุทธเจ้าอย่างสมบูรณ์ ส่วนสายการบำเพ็ญแบบที่สอง จะไม่รอคิว และไม่สนใจที่จะได้เป็นพระพุทธเจ้าหรือไม่ แต่จะทำกิจดุจดั่งเช่น พระพุทธเจ้าองค์หนึ่งในชาติต่อไปทันที คือ การบำเพ็ญ "ยูไล" หรือ การอุทิศชีวิตเคลื่อนพระธรรมจักร ให้พุทธศาสนาดำเนินต่อไปอย่างถูกมรรคถูกผล ได้ถึงนิพพาน ไม่หลงออกไปสู่ทางอื่น และจะบำเพ็ญเช่นนี้เรื่อยๆไป จึงเรียกว่า "มหาโพธิสัตว์" ซึ่งจะซักฟอกมโนธาตุจนบริสุทธิ์จากกิเลสและยังสามารถเกิดใหม่ได้อีก

๒) ปัจเจกภูมิ




คือ บุคคลที่มี "มโนธาตุ" หรือจิต ที่มุ่งไปสู่ความเป็นหนึ่งแต่เพียงผู้เดียว ด้วยตนเอง ไม่ยอมเป็นสาวกใคร และไม่สนใจช่วยเหลือผู้ใด ในช่วงชาติแรกๆ และกลางๆ ของดวงจิตปัจเจกภูมินี้ ยังมีธาตุแท้แห่งมโนธาตุไม่มาก จะไม่เด่นชัดถึงความไม่ขอความช่วยเหลือผู้ใดและความไม่ยินดีช่วยเหลือผู้ใด แต่เมื่อชาติหลังๆ ที่ใกล้จะได้หลุดพ้นจะมีความเป็นปัจเจกบุคคลสูงมาก มีความสามารถสูงมีปัญญาสูง แต่ไม่สนใจช่วยผู้ใด แต่เมื่อละความทะนงตน ละความเย่อหยิ่งในความสามารถของตนได้แล้ว ก็จะตรัสรู้ พบความสุขพื้นฐานที่เรียบง่ายธรรมดา ละความปรารถนาที่ยิ่งใหญ่เกินตัวลง จะเริ่มมีจิตที่อ่อนน้อมสุขุม และมีเมตตา ทว่า ในชาติที่ได้ตรัสรู้ธรรมนี้ จะพบแต่บุคคลที่สั่งสอนได้ยาก ดื้อด้าน, ปัญญาต่ำ, หรือมีความจิตใจต่ำทราม ไม่ควรแก่การสอน ทั้งยังไม่มีสาวกผู้อุปการะหรืออุปถัมภ์ค้ำจุน ทำให้ไม่สามารถประกาศศาสนาได้ สุดท้ายแม้ตรัสรู้ได้ "สัพพัญญูญาณ" แต่กลับต้องเก็บตัวหลบซ่อนแต่ตามลำพัง หลีกลี้หนีออกจากผู้คน ไม่สามารถอยู่ร่วมกับผู้คนได้ ดุจดั่ง "นอแรด" ที่ฉลาดหลักแหลมโดดเดี่ยวอยู่นอเดียว ทั้งนี้จำต้องผ่านขั้นตอนดังนี้
ก่อนปัจเจกภูมิ
เมื่อจุติในสังสารวัฏแรกๆ จวบจนกระทั่งเริ่มมีบารมีโดยธรรมชาติ ได้เกิดเป็นหัวหน้าคณะ ช่วงนี้ยังไม่รู้ตัว และยังไม่มีความปรารถนาอะไร ยังหลงทางในสังสารวัฏ ยังไม่รู้จะเวียนว่ายตายเกิดไปเพื่ออะไร แต่จะเป็นหัวหน้าที่ไม่ดี ไม่มีความเมตตา ไม่ดูแลบริวารในปกครอง หรือกดขี่ข่มเหงบริวารของตนเอง จึงไม่สามารถเป็นพุทธภูมิได้ ในที่สุดบริวารจะหนีถอยห่างไป จนตนเองไม่มีบริวารอีกในชาติต่อๆ ไป จากนั้น จึงพยายามเอาบริวารของตนคืนมาให้ได้ ยังไม่ละความอยากเป็นหัวหน้า ไม่ละความอยากเป็นเลิศเหนือผู้อื่นใด จึงพยายามใช้อำนาจต่างๆ ใช้อิทธิฤทธิ์ ในการทำให้คนนับถือบูชาตน เพื่อให้บริวารกลับมาหลงตน และเชื่อถือตนเหมือนดังเช่นในอดีตอีก ยกตัวอย่างเช่น พระเทวทัต ก็ยุยงให้พระสงฆ์แตกแยก แล้วนำพระสงฆ์คณะหนึ่งแยกออกไป เพื่อตั้งตนเป็นหัวหน้าคนใหม่ แต่ภายหลังก็ไม่มีผู้ใดนับถือเลย
เลือก-ลอง-หลง
ชาติต่อๆ มาได้พบพระโพธิสัตว์ ก็มีจิตคิดปรารถนาเป็นแบบพระโพธิสัตว์บ้าง ก็ทดลองทำตามพระโพธิสัตว์ แต่เนื่องจากจิตไม่มีความเมตตา มีแต่ความอยากเหนือผู้อื่น อยากเป็นคนเหนือคน เป็นยอดคน แต่ไม่สนใจคน ไม่ดูแลคน ไม่ช่วยเหลือคน จึงได้เลือกทางเดิน ทดลองทำตามพระโพธิสัตว์ หลงทางแก่งแย่งแข่งขันกับพระโพธิสัตว์ ช่วงนี้ "ปัจเจกภูมิ" จะหลงตนเอง คิดว่าตนเองเป็นพุทธภูมิ แต่ไม่มีความจริงใจและความพยายามในการเปลี่ยนแปลงตนเอง เพื่อปรับเปลี่ยนจากปัจเจกภูมิ เป็นพุทธภูมิ ยังไม่เข้าใจว่าการสร้างบุญบารมีนี้เพื่อยังประโยชน์ให้แก่ผู้อื่น ยังคงมีความคิดเห็นแก่ตัว สร้างทุกสิ่งทุกอย่างเพื่อตนเอง สนองความต้องการตนเอง ไม่สนใจคิดทำเพื่อผู้อื่นใด ในช่วงนี้ จึงชอบครอบงำผู้คนให้หลงเชื่อตนไปหลายชาติ เพราะไม่ยอมละทิ้งความอยากเด่นอยากดังเหนือคน และไม่มีความสามารถในการดูแลผู้คน ยังคงหลงในอดีตชาติที่ตนเองได้เป็นผู้นำ ได้เป็นใหญ่เหนือคนอยู่อีก ในช่วงชาตินี้ ยังไม่ได้พบพระโพธิสัตว์ เพียงแต่สะสมบริวารของตนจนมีมากมาย
บำเพ็ญปัจเจกภูมิ
จากนั้น ในชาติต่อๆ มาจะเริ่มก่อกรรมหนักมากขึ้น และบำเพ็ญเสมือนว่าตนก็เป็นพระโพธิสัตว์ไปด้วย และช่วงในระยะว่างชาตินี้ จะได้พบกับพระโพธิสัตว์และได้บำเพ็ญบารมีแข่งกัน หรืออาจเปลี่ยนใจเป็นพุทธภูมิได้ ยกตัวอย่างเช่น พระเทวทัตในชาติที่บำเพ็ญเพียรคู่กับพระพุทธเจ้า ทั้งคู่ต่างเป็นหัวหน้าคนและมีบริวารมากมาย และมักทะเลาะเบาะแว้งกัน เพราะพระเทวทัตมีความอยากเด่นอยากดัง อยากเหนือกว่าพระพุทธเจ้า ในช่วงระหว่างหลายชาตินี้ ปัจเจกภูมิ จึงบำเพ็ญความเด่นดังให้เหนือคน เช่น ปัญญาบารมี พร้อมกับพระโพธิสัตว์ไปด้วย แต่ไม่ได้สนใจบำเพ็ญเมตตาบารมีเลย จึงมักก่อกรรมและเป็นเครื่องช่วยในการบำเพ็ญบารมีให้กับพระโพธิสัตว์ และจะทำเช่นนี้วนเวียนซ้ำหลายชาติ จนกว่าจะ "สำนึกผิดกลับตัวกลับใจ" จึงพ้นได้
ไถ่ถอนกรรมเก่า (แรกรู้ตน)
เมื่อได้สำนึกผิดกลับตัวกลับใจแล้ว จะเริ่มต้นใหม่ แต่เพราะกรรมที่ทำมาทับถมทวีมากมาย จำต้องเกิดมาชดใช้กรรม ไถ่ถอนกรรมที่ทำไว้มากมายนั้น ต้องทนทุกข์ทรมานเพราะเกิดมากี่ชาติๆ ก็ไม่มีดีเลยสักชาติ ต้องพบแต่ความพินาศหายนะของชีวิตซ้ำแล้วซ้ำอีก แม้ไม่อยากเกิดอีก แม้อยากนิพพาน แต่ก็ยังไม่อาจมีดวงตาเห็นธรรม ด้วยเพราะกรรมมากมายนั้นบังตา แต่ก็ยังไม่ละทิ้งความต้องการเป็นคนเหนือคน ยังอยากเป็นยอดคนอยู่เสมอ ทว่า ไม่คิดอยากช่วยเหลือผู้อื่นให้รอดพ้นตามตน เพราะกรรมที่หนักหนาสาหัสนั้น แม้แต่ตนเองก็ไม่อาจช่วยตนเองให้พ้นได้เลย ตราบเมื่อ "กรรมเบาบาง" แล้ว เริ่มได้ "สติ" คิดได้ว่า "นิพพาน" คือที่สุดที่ค้นหา แสดงว่ากรรมเริ่มเบาบางและใกล้หมดแล้ว ชาตินี้จะเป็นชาติที่ชดใช้กรรมเก่าเป็นชาติสุดท้าย
ซักฟอกมโนธาตุ
เมื่อมีสติระลึกได้ว่า "นิพพาน" คือสูงสุดที่ตนค้นหา คือ ทางที่หลุดพ้นแห่งทุกข์ทั้งมวลที่ตนได้รับมา ก็จะมาเกิดเพื่อบรรลุธรรมเป็นพระปัจเจกพุทธเจ้าในชาติสุดท้าย อนึ่ง พระปัจเจกพุทธเจ้าทุกพระองค์จะมีกรรมมากเพราะปรารถนาเป็นยอดคน แต่ไม่ปรารถนาช่วยสรรพสัตว์ จึงมีช่วงกลางของการบำเพ็ญเพียรที่ก่อกรรมไว้มาก (การก่อกรรมมากมีทุกดวงจิต ทั้งพระโพธิสัตว์ในชาติกลางๆ ก็ก่อกรรมมากเช่นกัน) และเหนื่อยหน่ายกับบาปกรรมที่ได้รับ จึงไปไม่ถึงดวงดาว ต้องอำลาพุทธภูมิ สู่ปัจเจกภูมิเสียก่อน และด้วยผลบุญที่น้อยนั้น แม้จะตรัสรู้ได้ด้วยตนเองเพราะปัญญาบารมีสูง มีความรู้มากมายไพศาล แต่ก็ไม่อาจอยู่ในฐานะที่จะสร้างพระศาสนาขึ้นมาได้ ด้วยเพราะอาจเกิดในประเทศกันดาร ห่างไกลจากผู้คนที่มีปัญญา มีศีลธรรม หรือ เกิดในช่วงที่โลกกำลังตกต่ำมีแต่คนไม่เข้าใจธรรม เมื่อแสดงธรรม คนก็หยามหมิ่นหาว่าบ้าบ้าง สุดท้ายจำต้องปลีกเร้นซ่อนกาย หลบกรรม เข้าป่าเสพสุขอยู่อย่างเดียวดาย
๓) สาวกภูมิ




คือ บุคคลที่มี "มโนธาตุ" หรือจิต ที่มุ่งไปสู่ความเป็นสาวกผู้อื่น นิยมพึ่งพิง พึ่งพาอาศัย หรือยินยอมคล้อยตามผู้อื่น มากกว่าที่จะเป็นตัวของตัวเองแบบปัจเจกภูมิ และไม่นิยมที่จะรับผิดชอบชีวิตผู้อื่นแบบพุทธภูมิ หากจะช่วยเหลือผู้อื่นก็จะช่วยตามควรที่ตนเองไม่เดือดร้อนเท่านั้น เป็นผู้ตามไม่ใช่ผู้นำ แม้ว่าจะมีตำแหน่งเป็นผู้จัดการหรือไม่ก็ตาม ยังมีความเป็นลูกน้องอยู่ดี บุคคลที่เป็นสาวกภูมินี้ปกติไม่รู้ตนเองว่าตนเองมี "มโนธาตุ" แบบใด จวบจนในชาติสุดท้ายที่ได้หลุดพ้นจึงได้รู้ จึงแตกต่างจากพุทธภูมิที่จะรู้ตนเอง และตั้งความปรารถนาในชาติที่มีการลอง, การเลือก และการหลง จนรู้ตนเองจึงบำเพ็ญเพียรได้ถูกต้อง ส่วนปัจเจกภูมิ จะรู้ตนเองหลังจากนั้น เมื่อตนเองคิดว่าเป็นพุทธภูมิ ก็หลงบำเพ็ญเพียรตามพุทธภูมิ แต่ทำได้ไม่ครบ ทั้งยังสะสมกรรมมามาก จนสุดท้ายต้องลัดเข้าสู่การพ้นทุกข์ จึงไม่อาจสำเร็จเป็นพระพุทธเจ้า ซึ่งจะรู้ตนเองว่าไม่ใช่พุทธภูมิ เป็นปัจเจกภูมิก็ในชาติที่เริ่มเหนื่อยล้าและตัดสินใจหาทางพ้นทุกข์ (ช่วงรับกรรมมากๆ) ในส่วนสาวกภูมิมีกระบวนการเวียนว่ายตายเกิด ๕ ขั้นเช่นกัน แต่แตกต่างจากแบบอื่น ดังนี้
ก่อนสาวกภูมิ
เมื่อจุติในสังสารวัฏแรกๆ จวบจนกระทั่งเริ่มมีบารมีโดยธรรมชาติ ได้เกิดเป็นหัวหน้าคณะ ช่วงนี้ยังไม่รู้ตัว และยังไม่มีความปรารถนาอะไร ยังหลงทางในสังสารวัฏ ยังไม่รู้จะเวียนว่ายตายเกิดไปเพื่ออะไร และเป็นหัวหน้าที่ไม่ดี ไม่มีความเมตตาดูแลบริวารในปกครอง ขาดความรับผิดชอบ ขาดความเป็นตัวของตัวเอง ขาดความเป็นผู้นำ ไม่กล้าตัดสินใจ ไม่กล้านำพาผู้คน ไม่กล้าเปลี่ยนแปลงผู้คนไปในทางที่ดี จึงเป็นพุทธภูมิไม่ได้ ผลจากกรรมนี้ ทำให้ชาติต่อๆ มา บริวารต่างพากันหนีไปหมด จนเกิดมาไม่ได้เป็นหัวหน้าคนอีก จนในที่สุด ก็พอใจและยอมรับสภาพที่ไม่ต้องเป็นหัวหน้าใคร รู้สึกดีกว่าต้องรับผิดชอบชีวิตคนอื่น และเริ่มต้องฝ่าฟันอุปสรรคในการเวียนว่ายตายเกิดในสังสารวัฏเพียงผู้เดียว เริ่มมีความกลัว เริ่มคิดหาทางออกให้ตัวเอง แต่ไม่สามารถเข้าใจสรรพสิ่งได้ด้วยตนเอง จำต้องพึ่งพาอาศัยผู้นำทางจิตใจเป็นต้น
เลือก-ลอง-หลง
ในช่วงของการเวียนว่ายตายเกิดในสังสารวัฏถัดมา เป็นช่วงแห่งการเลือกทางเดิน, การทดลอง และการหลงทาง ในช่วงนี้จะไหลตามกรรมไปพบผู้นำหลายคน ให้ได้เลือกตามแต่ใจปรารถนา บ้างก็ไปเป็นสาวกบริวารผู้นำผู้หนึ่ง แล้วก็อาจได้โอกาสเปลี่ยนไปเป็นสาวกบริวารของผู้นำผู้อื่นต่อไป ซึ่งสอดคล้องกับเป็นช่วงที่พุทธภูมิเองก็เริ่มสะสมบริวารเช่นกัน ด้านพุทธภูมิต่างแย่งกันแสวงหาผู้ตาม มาเป็นบริวารของตน ส่วนสาวกภูมิก็เลือกหัวหน้าของตนเช่นกัน บ้างเปลี่ยนไปมา บ้างเริ่มคงที่ เมื่อขาดนายตนเองก็ลำบาก ทั้งภพโลกและภพสวรรค์ เมื่อได้นายก็พ้นลำบากสลับไป
แสวงหาที่พึ่งพิง
เมื่อถึงระยะนี้ สาวกภูมิ จะรู้ตนว่าแท้แล้วตนไม่มีกำลังความสามารถที่จะไปรอดได้ด้วยตัวคนเดียวแบบปัจเจกภูมิ, และไม่สามารถช่วยเหลือผู้อื่นหรือแม้แต่ตัวเองได้แบบพุทธภูมิ เหล่าสาวกภูมิ จึงมีความตั้งใจแน่วแน่ชัดเจนแล้วว่าจำต้อง "แสวงหาที่พึ่งพิงเป็นหลักแหล่งแน่นอน" ช่วงนี้จะเปลี่ยนจากยุค "เลือกนายอย่างเสรี" มาสู่ยุค "การเป็นบริวารตลอดไป" ดังนั้น คำว่า "จงรักภักดีมีนายเดียว" จึงได้เกิดขึ้น เมื่อถึงจุดนี้ สาวกภูมิจะไม่ต้องแร่ร่อนในสังสารวัฏทั้งสามภพอย่างไม่มีที่พึ่งพิงอีกต่อไป เพราะจะมีที่อาศัยทั้งภพโลก, ภพสวรรค์ เมื่อทำความดีได้จุติยังสวรรค์ ก็จะไปอาศัยในวิมานของนายของตน เมื่อมาเกิดบนโลกมนุษย์ก็ได้อาศัยนายของตน เป็นผู้ชุบเลี้ยงดูแล ช่วงนี้ สาวกภูมิจึงเวียนว่ายตายเกิดเพื่อช่วยพุทธภูมิในการบำเพ็ญเพียรบางส่วน และเสวยผลบุญบนสวรรค์รอนายของตนเป็นส่วนใหญ่ เรียกว่ามีหลักแหล่งแน่นอนแล้ว และมักจะไม่เปลี่ยนใจไปภักดีต่อนายอื่นอีก จัดเป็นสาวกแท้จริง
ไถ่ถอนกรรมเก่า
ในระยะนี้ เหล่าสาวกภูมิจะต้องรับกรรมที่ตนเองทำในช่วงก่อนๆ หากตนเองเคยทำผิดพลาดมามากก่อนจะพบนายที่ดีสั่งสอน ก็ต้องไปเกิดร่วมกับนายของตนเพื่อไถ่ถอนกรรมและช่วยนายในการบำเพ็ญบารมี ดังนั้น ในการไปเกิดเพื่อสะสมบุญบารมีและไถ่ถอนกรรมของพุทธภูมิหนึ่งดวงจิต จะมีการนำสาวกของตนไปเกิดด้วย เพื่อช่วยงานและเป็นการเปิดโอกาสให้สาวกภูมิ ชดใช้ไถ่ถอนกรรมและบำเพ็ญบุญบารมีบ้าง ดังนั้น เหล่าสาวกจะได้รับการอนุญาตให้ไปเกิดช่วยกันบำเพ็ญบารมีแตกต่างกันไป หมุนเวียนเปลี่ยนไปในแต่ละชาติ สาวกภูมิจึงเกิดน้อยกว่าพุทธภูมิ และเฝ้าอยู่บนสวรรค์ในวิมานนานกว่า รออยู่แบบสบายๆ ไม่ต้องเสี่ยงมากกว่า แต่พุทธภูมินายของตนนั่นเองที่ต้องลงไปบำเพ็ญบุญบารมีอยากมากมาย ช่วงนี้สาวกภูมิเพียงแต่ผ่อนแรงผลัดเปลี่ยนกันลงไปช่วยนายของตนเท่านั้น ซึ่งทำให้ได้ชดใช้ไถ่ถอนกรรมด้วย
ซักฟอกมโนธาตุ
ในชาติสุดท้ายเท่านั้น สาวกภูมิจึงจะได้ซักฟอกมโนธาตุ หรือไม่ก็ไม่เกิน ๗ ชาติ ที่จะทำการซักฟอกมโนธาตุ ซึ่งจะสั้นกว่าพุทธภูมิและปัจเจกภูมิ เนื่องจากการซักฟอกมโนธาตุของสาวกภูมินั้น จำต้องมีผู้สั่งสอน จึงจะสามารถซักฟอกมโนธาตุของตนได้ นอกจากนี้ ส่วนใหญ่สาวกภูมิจะบรรลุธรรมง่ายและสบายกว่าพุทธภูมิและปัจเจกภูมิ
http://www.212cafe.com/boardvip/view.php?user=hacksecret&id=9