
การวางจิตระหว่างสวดมนต์
ในการสวดมนต์นั้น บางท่านก็ชอบแบบสวดในใจ บางท่านก็ชอบสวดโดยใช้เสียงเต็ม เคล็ดการสวดให้ได้ผล คือสวดให้เราฟังเองแล้วไพเราะที่สุด มิใช่สวดให้ดังที่สุด ซึ่งก็ไม่แน่เหมือนกันในแต่ละท่านก็ชอบต่างกัน บางคนตะเบ็งเสียงอันดังก็ถือว่าเพราะของเขาแล้ว อันนี้ว่ากันไม่ได้ แต่ก็เกรงใจคนข้างๆเขาด้วย เขารำคาญจะทำให้เป็นบาปเป็นกรรมด้วยกันทั้งสองฝ่ายซึ่งไม่คุ้ม บุญที่แท้ต้องละเอียดอ่อนอย่าให้มีบาปเจือปน ครั้งหนึ่งหลวงปู่ดู่ท่านก็เคยเตือนคนที่พาเด็กกระจองอแงเข้ามาทำบุญที่วัดซึ่งรบกวนคนอื่นเขา
ความไพเราะของเสียงสวด จังหวะเสียงที่เป็นห้องดนตรี จะเกลี่ยจิตให้สงบ เข้าถึงธรรมปีติ ในต่างประเทศอย่างญี่ปุ่น หรือจีน จึงมีการเคาะจังหวะแล้ว
แต่ความไพเราะของเสียงก็หาสำคัญเท่าความไพเราะของใจไม่ คือใจที่สบายๆมีธรรมปีติ อารมณ์ที่เย็นๆสบายๆแบบอารมณ์พรหมวิหาร “ผู้รู้”นั้นเวลาสวดมนต์ท่านจะปรุงใจก่อนอันดับแรก แล้วเสียงสวดมนต์จะไพเราะเอง สมาธิเสียงนั้นแม้ในคริสต์ศาสนาก็มีเช่นเดียวกัน โดยแสดงออกมาในรูปแบบของการร้องเพลงสรรเสริญพระเจ้า ซึ่งแบบพุทธศาสนาก็คือการสวดสรรเสริญพระรัตนตรัยก็คือ “อิติปิโสสามห้อง” นั่นเอง
สวดมนต์ด้วยเสียงแล้วเมื่อจิตเริ่มนิ่งจะอยากหยุดสวด ทางเลือกคือถ้าฝืนสวดต่อจะได้ความเชี่ยวชาญในการทรงจิตในสังคม แต่ถ้าปล่อยตามอารมณ์ที่ละเอียดขึ้นคือหยุดสวดออกเสียง ภาวะจิตจะละเอียดขึ้น เพราะเสียงจัดเป็นเรื่องหยาบ เมื่อจิตละเอียดจะตัดที่เสียงและที่อากัปกิริยาก่อน ละเอียดมากๆเข้าก็ตัดสัมผัสทั้งหมด แม้กระทั่งลมหายใจเข้าออกหรือร่างกายทั้งหมด ตรงนี้เองที่เรียกว่าภาวะสงบนิ่งไร้ตัวตน
คำแนะนำคือทำทั้งสองทางเพราะเมื่อเชี่ยวชาญดีแล้วมีประโยชน์ด้วยกันทั้งคู่และตอนท้ายจะรวมกันได้ คือออกเสียงแต่จิตละเอียดมาก เหมือนขับรถไปร้องเพลงไปนั่นแหละ เป็นเรื่องธรรมดาของผู้ชำนาญ