ศีลบารมีปฏิบัติ
ท่านสาธุชนพุทธบริษัททั้งหลาย และท่านพระโยคาวจรทั้งหลาย บัดนี้ท่านทั้งหลายได้พากันสมาทานศีลและสมาทานพระกรรมฐานแล้ว ต่อไปขอให้ท่านทั้งหลายรวบรวมกำลังใจของท่าน ตั้งใสดับการศึกษาใน บารมี 10 เพราะว่า บารมี 10 นี้ มีความสำคัญมาก
ถ้าหากว่าท่านทั้งหลายเจริญพระกรรมฐานมาสักกี่แสนปีแล้วก็ตาม ถ้าหากว่า บารมี 10 ของท่านยังไม่ครบถ้วน คำว่า พระอริยเจ้า ย่อมไม่มีกับท่าน
ในที่นี้ก็จะต้องเข้าใจคำว่า บารมี เสียก่อน
คำว่า บารมี นี่ หมายถึง กำลังใจ หมายความว่าท่านทั้งหลาย ต้องมีกำลังใจทรงความดีทั้ง 10 ประการไว้ในใจครบถ้วนทุกอย่างไม่บกพร่อง
คำว่า ทรงความดี นี่ไม่ได้หมายความว่าจำได้ ต้องทำได้ให้จิตทรงอารมณ์เป็นปกติ
ขอทบทวนอีกนิดหนึ่ง บารมี 10 ประการก็คือ
(1) ทานบารมี ได้แก่ การให้ทาน
(2) ศีลบารมี คือ การทรงศีลให้บริสุทธิ์
(3) เนกขัมมบารมี คือ การถือบวช
(4) ปัญญาบารมี คือ ทรงปัญญารู้เท่าทันตามสภาวะตามความเป็นจริงคือ อริยสัจ 4
(5) วิริยบารมี คือ มีความเพียรไม่ท้อถอย
(6) ขันติบารมี คือ มีความอดทน
(7) สัจจบารมี คือ มีความจริงใจ
(

อธิษฐานบารมี คือ มีความตั้งใจ
(9) เมตตาบารมี คือ มีจิตใจเมตตาปรานี มีความรักในคนและและสัตว์เป็นปกติ
(10) อุเบกขาบารมี ได้แก่ การวางเฉย
โดยเฉพาะอย่างยิ่งจุดจบก็คือ อุเบกขาบารมี อุเบกขาบารมี ในที่นี้ได้แก่ สังขารุเปกขาญาณ
สำหรับ ทานบารมี ได้พูดกับบรรดาท่านทั้งหลายมาแล้ว หวังว่าท่านทั้งหลายคงเข้าใจพอ ได้โปรดทราบนะ คำพูดทุกอย่างที่ผม พูดไปทุกคำ ผมถือว่าพวกท่านเข้าใจดีพอ และก็ทำได้ด้วย เพราะว่าถ้าหากว่าเราทำไม่ได้ เราก็จะอยู่ในเขตของพระพุทธศาสนาเพื่อประโยชน์อะไร
เพราะในเขตของพระพุทธศาสนานั้นต้องการคนดี ไม่ต้องการคนเลว คำว่าดีในพระพุทธศาสนาคือ ต้องทรง บารมี 10 ครบถ้วน
สำหรับวันนี้จะพูดถึง ศีลบารมี
คำว่า ศีล แปลว่า ปกติ
ถ้าเราเป็นฆราวาส ถ้าหากว่าเป็นฆราวาสปกติของปุถุชนก็ดี หมายถึงเป็นผู้ทรงศีลบริสุทธิ์ ผู้เข้าถึงไตรสรณาคมน์
กัลยาณชน หมายถึง ผู้ทรงฌาน
อริยชน 2 ขั้น หมายถึง พระโสดาบันกับพระสกิทาคามี อย่างนี้ต้องมีศีล 5 เป็นปกติ
โดยเฉพาะอย่างยิ่งพระโสดาบันกับพระสกิทาคามีต้องทรงศีล 5 เป็นปกติ จึงจะชื่อว่าพระโสดาบันกับสกิทาคามี
สำหรับอารมณ์อารมณ์จิตถ้าเข้าถึงพระอนาคามี ตอนที่เข้าถึงพระอนาคามีนี่จะมีศีล 8 เป็นปกติ เพราะว่าพระอนาคามีเป็นผู้ตัด กามฉันทะ กับ ปฏิฆะ อารมณ์แห่งกามารมณ์ย่อมไม่มีในพระอริยเจ้าระยะนี้ คือ ว่าพระอนาคามี
สำหรับพระอรหันต์ก็ไม่ต้องพูดกัน
สำหรับพระภิกษุสามเณรก็เหมือนกัน ภิกษุสามเณรมีศีลคงที่ แต่มีจิตดีขึ้นเพราะทรงศีลบริสุทธิ์
เป็นอันว่า ศีล แปลว่า ปกติ หมายความว่าคนทุกคนที่เกิดมาในโลกนี้ ถ้าไม่ต้องการขาดทุน หมายถึงว่าเราเกิดมาเป็นคนแล้ว ถ้าตายจากคนกลับไปเกิดเป็นสัตว์นรกหรือว่าไปเกิดเป็นเปรต เป็นอสุรกาย หรือเป็นสัตว์เดรัจฉาน หรือว่าเกิดเป็นคนแต่มีสภาวะเท่าเดิม อย่างนี้ถือว่าเราขาดทุน
ฉะนั้น ปกติของคนจะต้องปฏิบัติในศีลให้บริสุทธิ์ ถ้าจะมาเกิดเป็นคนอีกก็ต้องเกิดเป็นคนดีกว่านี้ คำว่าดีกว่านี้ก็ไม่ได้หมายความว่า ต้องมีโภคะมากไปกว่านี้
แต่เนื้อแท้จริง ๆ ถ้าปฏิบัติในศีลบริสุทธิ์จะต้องมีโภคสมบัติดีกว่านี้ มีรูปร่างหน้าตาสวยกว่านี้ และต้องมีทุกสิ่งทุกอย่างดีกว่าทั้งหมดคือ
(1) มีอายุยืนยาวตลอดอายุขัย ไม่ป่วยไข้ไม่สบาย และก็ไม่ตายก่อนอายุขัย
(2) มีทรัพย์สินสมบูรณ์บริบูรณ์ ทรัพย์สินทุกอย่างจะไม่มีอันตรายจากไฟไหม้ จากน้ำท่วม จากลมพัด จากโจรผู้ร้าย
(3) คนในปกครองจะอยู่อยู่ด้วยดี ไม่มีใครดื้อด้าน อยู่ในโอวาททุกอย่าง
(4) วาจาศักดิ์สิทธิ์ วาจาหอมหวนเป็นที่ปรารถนาในการรับฟังของคนดีทั่วไป อย่าลืมนะผมพูดว่าสำหรับคนดีทั่วไป สำหรับคนเลวไม่ต้องไปคำนึงถึง คนเลวเราจะพูดดีขนาดไหนมันก็เลวขนาดนั้น อย่าไปสนใจ
(5) แล้วก็จะต้องมีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์ดีกว่านี้
นี่หมายถึงว่าถ้าเรามีศีลบริสุทธิ์
ทีนี้มาว่ากันถึง ศีลบารมี ความจริงมี ศีลบารมี ข้อเดียวก็จะไปนิพพานได้ ถ้าเราฉลาดเหมือนกับที่ผมพูดมาแล้วใน ทานบารมี ถ้าเรามี ทานบารมี เคร่งครัดเราก็จะไปนิพพานได้ ทีนี้ขึ้นชื่อว่าบารมีอย่างใดอย่างหนึ่ง ถ้าเราจะสร้างให้ครบถ้วนจริง ๆ ต้องอาศัยบารมีอีก 9 อย่างเข้ารวมตัวกัน
แต่ว่าเรื่องนี้ผมพูดไว้แล้วใน บารมี 10 แต่นี่เรามาพูดกันถึงด้านปฏิบัติ ด้านปฏิบัติจำต้องพูดกันละเอียดสักหน่อย เพราะถือว่าการสอนพระกรรมฐานชุดนี้ เป็นกรรมฐานชุดสุดท้าย
ทั้งนี้เพราะอะไร เพราะว่าการสอน บารมี 10 ก็หมายถึงว่าการสอนให้ท่านเป็น พระอริยเจ้า กันนั้นเอง
และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผมรู้ตัวผมดีว่า ผมคงไม่มีเวลามานั่งพูดให้ท่านฟังอีกนานนัก เพราะเวลานี้ร่างกายมันกรอบเต็มทนแล้ว ภารกิจก็มาก ขันธ์ 5 ก็เสื่อมโทรมนัก อายุขัยมันก็ใกล้จะหมด
ฉะนั้น การสอน บารมี 10 ขอท่านทั้งหลายได้ทราบว่า ผมสอนเทกระเป๋า
ทั้งนี้หมายความว่า ผมจะตายหรือไม่ตายก็ตาม ถือว่าเป็นการทิ้งไพ่ใบสุดท้ายในการปฏิบัติของท่านทั้งหลาย
ในการปฏิบัติ บารมี 10 โดยเฉพาะอย่างยิ่งในข้อศีล เราจะต้องเทียบกันเป็น 2 ระยะเหมือนกันว่า บารมีต้น หรือ ปรมัตถบารมี
ก่อนที่เราจะนึกถึงศีลว่า ทำไมเราจะต้องปฏิบัติในศีลนั้นด้วย
การเจริญบารมีเขาคิดกันอย่างนี้นะว่า ทำไมเราจึงต้องมีศีล คนอื่นที่เขาบกพร่องในศีล เขาร่ำรวยเยอะถมไป
บางคนที่บกพร่องในศีล เขาเป็นคนมีอำนาจวาสนาบารมี มียศศักดิ์ใหญ่โตก็เยอะถมไป คนที่บกพร่องในศีลอาจจะมีอำนาจวาสนามาก ปกครองคนทั้งประเทศก็ถมไป
แต่ว่าเราเป็นคนดีศีลกลับมีอะไรไม่ดีเท่าเขา
ถ้าคิดอย่างนี้ละก็ขอประทานอภัย โปรดตั้งใจเตรียมตัวไว้ว่าท่านต้องการนรกขุมไหน เตรียมตัวว่าตายคราวนี้เราไปนรกแน่ ๆ
การปฏิบัติ บารมี 10 เราไม่ได้ปรารภโลกธรรม คือ
- ไม่ได้ต้องการยศ
- ไม่ต้องการความร่ำรวย
- ไม่ต้องการมีอำนาจวาสนาในทางโลกีย์วิสัย
- เราปฏิบัติในศีลต้องการความบริสุทธิ์ของใจ
นี่คำว่า ศีล ท่านย่อมรู้กันแล้วก็มานั่งดูทีว่า ทำไมคนเราจึงต้องมีศีล ศีลเป็นคุณหรือเป็นโทษ ต้องใช้ปัญญาพิจารณากันหน่อยหรือว่าต้องใช้ปัญญานำหน้าสัญญา
คำว่า สัญญา คือ ความจำ
ปัญญา คือ ความคิด
ต้องใช้ปัญญานำหน้าสัญญา ปัญญานั้นความจริงมันนำอยู่แล้ว แสดงว่าสัญญาจะทรงความดีไว้ได้จะต้องมีปัญญาเป็นตัวนำ เราก็มานั่งใคร่ครวญเรื่องศีล โดยเฉพาะศีล 5 หรือ ศีล 8 สำหรับศีล 10 หรือ ศีล 227 จะไม่พูดถึง เพราะพระก็ดี เณรก็ดี ถ้าเณรทรงศีล 10 ไม่ครบ พระทรงศีล 227 ไม่ครบ เขาไม่เรียกพระ เขาไม่เรียกเณร เขาเรียก เถน
ในที่นี้สะกด เถน แปลว่า หัวขโมย คือ ขโมยเอาเพศของพระมาใช้ ขโมยเอาเพศของเณรมาใช้
เป็นอันว่าทุกท่านที่มีศีลไม่บริสุทธิ์ ท่านผู้นี้เรียกว่า มนุสสเปโต หรือ มนุสสติรัจฉาโน หมายความว่าร่างกายเป็นมนุษย์แต่ใจเป็นเปรต ร่างกายเป็นมนุษย์ แต่ใจเป็นสัตว์เดรัจฉาน ตายจากความเป็นมนุษย์ ก็เป็นสัตว์นรก เป็นเปรต เป็นอสุรกาย เป็นสัตว์เดรัจฉาน
สำหรับพระเณรต้องทรงศีลบริสุทธิ์อยู่แล้วผมจะไม่ปรารภถึง จะวัดศีลสำหรับฆราวาส และพระเณรก็ต้องดูด้วยนะว่าท่านทั้งหลายที่บวชอยู่นี้ มีศีล 5 บริสุทธิ์หรือเปล่า
ที่ผมพบมา 90 เปอร์เซ็นต์ ในบรรดาพระเณรที่พบ ประกาศตนว่าเป็นคนมีศีล 227 แต่ว่าเนื้อแท้จริง ๆ ศีล 5 ไม่ครบ ถ้าศีล 5 ไม่ครบจะมีศีล 227 ได้อย่างไร ก็ถ้าใครไปไหว้คนประเภทนี้ก็ถือว่าไหว้สัตว์นรก ไหว้เปรต ไหว้อสุรกาย ไหว้สัตว์เดรัจฉานนั่นเอง เพราะท่านผู้นั้นตายจากความเป็นคน ไม่มีโอกาสจะได้เกิดเป็นคน ไปตั้งต้นมาจากนรกใหม่
ตอนนี้ก็มาพูดกัน ปรึกษาหารือกัน ว่าศีลมีความสำคัญอย่างไร มาพูดกันถึงศีล 5 และศีล 8 เสียก่อน ต้องใช้ปัญญาพิจารณาด้วยไม่ใช่ว่าจะไปนั่งภาวนาว่า สีลัง สีลัง สีลัง อย่างนี้มันเป็นนกแก้วนกขุนทอง เพราะพูดตามที่เขาพูด แต่ไม่ใช่ภาษาเขา เขาไม่รู้เรื่องบอกให้เขาเรียก พ่อจ๋า แม่จ๋า นกแก้วนกขุนทองก็เรียก พ่อจ๋า แม่จ๋า ขอข้าวกินหน่อย แกก็พูดขอข้าวกินทั้งวัน ทั้ง ๆ ที่แกไม่หิว เพราะว่าเขาสอนอย่างนั้น
นักปฏิบัติและนักบวชในพระพุทธศาสนาก็เหมือนกัน ถ้าไปนั่งจำแต่ชื่อของศีลหรือนั่งภาวนาแต่ชื่อของศีล มันอาจจะมีผลเป็นฌานสมาบัติได้เหมือนกัน
แต่ทว่าถ้าศีลบกพร่อง ฌานสมาบัติมันก็ไม่มี สมาธิเล็กน้อยมันก็ไม่เกิด
วิปฏิสาร
นี่ก่อนที่เราจะมาทรงศีลกัน เราจะต้องรู้จักศีลเสียก่อน
สำหรับภิกษุสามเณร ถ้าหากเป็นผู้มีศีลบริสุทธิ์ ท่านบอกว่า ทุกคนจะปราศจาก วิปฏิสาร คือ ความเดือดร้อน พระเณรที่มีความยุ่ง ๆ ขาดการเคารพนับถือของบรรดาประชาชนทั้งหลาย ก็เพราะว่าเป็นพระเป็นเณรที่ขาดศีลนั่นเอง เป็นชั้นเลวที่สุด พระเณรที่ไม่มีศีลบริสุทธิ์ เขาถือว่าเป็นพระเป็นเณรที่เลวที่สุด ไม่ใช่เป็นพระเป็นเณรที่ดีที่สุด
ท่านที่มีศีลบริสุทธิ์จงคิดว่าเรายังเลวมากเกินไป เพราะความดีของเราทรงไว้ได้แค่กามาวจรสวรรค์เท่านั้น ศีล 10 ก็ดี ศีล 227 ก็ดี ศีล 5 ก็ดี ศีล 8 ก็ดี มันก็เหมือนกัน แต่ถ้าหากว่าถ้าดีไปกว่านั้น จิตทรงศีลบริสุทธิ์ไม่ใช่ไปนั่งภาวนาว่า สีลัง ศีลทุกสิกขาบท ทรงอารมณ์จิตบริสุทธิ์ จิตรักษาไว้ได้บริสุทธิ์โดยไม่ละเมิดศีลด้วยเจตนา ในจิตเราคำนึงนึกอยู่เสมอว่า เราจะทรงศีลให้บริสุทธิ์ยิ่งกว่าชีวิต จิตคิดถึงศีลเป็นปกติอย่างนี้ จัดเป็นฌานใน สีลานุสสติกรรมฐาน อย่างนี้เป็นพรหมได้
แต่สำหรับ ศีลบารมี ในที่นี้ ไม่ต้องการได้กามาวจรสวรรค์แล้วก็ไม่ได้หมายให้ต้องการพรหมโลก ที่ศึกษา ศีลบารมี เพื่อต้องการเป็น พระอริยเจ้า คือ พระอรหันต์
ฉะนั้น ก่อนที่เราจะนั่งปฏิบัติศีลให้บริสุทธิ์ ก็ต้องดูผลของศีลว่า ถ้าเราปฏิบัติศีลไม่บริสุทธิ์มันมีความสุขหรือมีความทุกข์ เขาเอาดีกันตรงนี้ ไม่ใช่ไปนั่งเอาดีอวดศีลกัน
ถ้าบวชมาแล้วก็คุยบอกว่าฉันมีศีล 227 ดีไม่ดีแค่ศีล 5 ก็ยังไม่ครบ ในเมื่อศีล 5 ไม่ครบจะเอาอะไรมาเป็นศีล 227
ปาณาติปาตาเวรมณี
ตอนนี้เรามานั่งมองศีล สำหรับพระทุกสิกขาบทอย่าเคลื่อน เรามาดูศีล 5 กันก่อน ศีล 5 ท่านว่า
ปาณาติปาตาเวรมณี เราจะงดเว้นฆ่าสัตว์ตัดชีวิต และเบียดเบียนสัตว์ให้ได้รับความลำบาก
มานั่งนึกดูว่าพระพุทธเจ้าทำไมบอกอย่างนี้ ที่การไม่ให้เบียดเบียนซึ่งกันและกันมันเป็นผลของความสุข มันก็ไม่ยาก คนที่มีศีลข้อนี้ต้องมีเมตตานำหน้า
เมตตา คือ ความรัก
กรุณา ความสงสาร
มุทิตา มีจิตใจอ่อนโยน
อุเบกขา มีอารมณ์วางเฉย
นั่น หมายความว่า เราเห็นสัตว์ที่ควรจะฆ่าได้เราก็ไม่ฆ่าเพราะความรัก
เราจะประทุษร้ายก็ไม่ประทุษร้ายเพราะความสงสาร
ไอ้เราจะไม่ฆ่าเขา เราจะไม่ทำร้ายเขา ด้วยอารมณ์ของเราไม่มีความอิจฉาริษยาใคร เห็นเขาได้ดีเราก็ไม่อิจฉาเขา เรายินดีกับความดี
ถ้าเขาทำเป็นที่ไม่ถูกใจเราก็เฉย คิดว่าเขาจะชั่วก็ให้ชั่วแต่ตัวของเขา เราไม่ชั่วด้วย
อันนี้เป็นอารมณ์ของปัญญา อารมณ์ของปัญญาต้องไปล้วงเอาเมตตาความรัก กรุณาความสงสารเข้ามาควบศีลจึงจะปรากฏ คือ ในศีลข้อที่ 1 คือ ทุกข้อนั่นแหละ ศีลทุกข้อจะต้องมี พรหมวิหาร 4 ครบถ้วน จึงจะมีศีลบริสุทธิ์ นี่เราว่าใน ศีลบารมี เพื่อความเป็นพระอรหันต์
ทีนี้ก็มาถึงศีลข้อที่ 1 ถ้าเราละเมิดล่ะจะเป็นอย่างไร
ถ้าเราปราศจากความเมตตาปราณี เป็นคนใจร้ายประทุษร้ายเขา อยากจะฆ่าเขา ถ้าเราทำกับสัตว์ตัวเล็ก ๆ มันก็จะต้องหมายถึงเรารอผลชาติหน้า หรือว่าฆ่าสัตว์ที่ไม่มีเจ้าของ มันก็ต้องรอผลชาติหน้า
แต่ผลของชาตินี้ที่เรามองไม่เห็นก็คือ ความเลวของจิต มีอารมณ์อำมหิต มีความโหดร้าย เรามองกันไม่ค่อยเห็น เราจะมองเห็นกันได้แต่เฉพาะที่ต้องทำกับสัตว์ที่สนองเราได้ นั่นหมายความว่า เราจะต้องพบกับคู่ต่อสู้ของเรา
ทีนี้เราก็ลองมาทำกับคนบ้าง ทีแรกเราก็มีความเมตตา เรามีความรัก เจอะหน้าใครเราก็ยิ้มแย้มแจ่มใสยกมือไหว้ มันของไม่ยากความดี เราอยากจะให้คนไหว้เราไม่ยาก
เรายกมือไหว้เขา เขาก็ยกมือไหว้เรา
ยิ้มให้เขา เขาก็ยิ้มให้เรา
พูดวาจาไพเราะให้เขา เขาก็พูดวาจาไพเราะให้เรา
เป็นอันว่าถ้าหากว่าเราทำตามนั้น ลองนึกดู สำหรับตัวเรา ถ้าเขามาทำกับเราอย่างนั้น จิตใจของเราจะมีความรู้สึกยังไง เจอหน้าคน คนไหว้ เจอหน้าคน เขายิ้มให้ เจอหน้าคน เขาพูดจาอ่อนหวาน จิตใจของเรามีความสุขหรือจิตใจของเราจะมีความทุกข์ ตอนนี้ต้องใช้ปัญญาพิจารณาดูให้ดี
มาดูอีกตอนหนึ่ง มาดูลักษณะตรงข้าม ถ้าเราเจอหน้าใคร ใครเขาด่าเรา พบหน้าเขา เขาก็ชกหน้าเรา เป็นอันว่าเราจะมีความรู้สึกอย่างไร ถ้าเขาด่าเรา ถ้าเรากำลังใจไม่ดีพอ ถ้าไม่ถึงอนาคามีเราก็ไม่ชอบใจ
แต่ถ้าเขามาตีเรา มาชกหน้าเรา มาทำร้ายเรา เราก็ไม่ชอบใจเหมือนกัน อารมณ์ประเภทนั้นมันเป็นอารมณ์ของความสุข หรืออารมณ์ของความทุกข์
เราก็จะมองเห็นว่าแม้แต่ศีลข้อที่ 1 ถ้าเราละเมิดมันก็จะพบความทุกข์อย่างมหันต์
แล้วทีนี้เราจะทำอย่างไรต่อไป เราควรจะเป็นคนมีศีลหรือคนไม่มีศีล
เจอะหน้ากันยิ้มเข้าหากันดี หรือบึ้งเข้าหากัน
เจอหน้ากันพูดดีเข้าหากัน หรือว่าด่ากันดี
เจอหน้ากันต่างคนต่างอ่อนน้อมแสดงความเคารพซึ่งกันและกันดี หรือว่าชกหน้ากันดี
ถ้าหากว่าท่านทั้งหลายเป็นคนที่มีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์ ท่านก็จะต้องตอบว่าพบหน้ากันยิ้มเข้าหากันนั่นแหละดี หรือว่ามีการอ่อนน้อมซึ่งกันและกันนั่นแหละดี พูดจาอ่อนหวานซึ่งกันและกันนั่นแหละดี นี่เราก็มองเห็นชัด ๆ ถ้าเรามีศีลแล้วอารมณ์ใจก็จะเป็นความสุข
ศีลจะมาจากไหนได้ต้องไปหาเหตุ การสร้างความดีในพุทธศาสนาต้องมีเหตุและมีผล ไม่ใช่ว่ามานั่ง ๆ อยู่จะรู้สึกว่ามีศีล ฉะนั้น ตอนเย็นจะให้เปิดพระวินัยให้ฟังกันอยู่เสมอ สำหรับพระจะได้เข้าใจในเรื่องการปฏิบัติ
ฉะนั้น ขอท่านผู้ใช้ขยายเสียงตามสาย ตอนเย็นทุกเย็นจะต้องใช้ระเบียบและวินัยทุกวัน อย่าเว้น ที่จะให้ฟังอย่างเดิม ไม่ได้หมายต้องการให้เบื่อ เปิดให้ฟังอยู่เสมอก็ไม่แน่ว่าท่านจะปฏิบัติได้ครบถ้วน
ถ้ายังอยู่วัดนี้ปฏิบัติวินัยไม่ครบ ก็วงเล็บไว้ได้ว่าตายลงอเวจี
วันนี้ว่ากันถึงศีลข้อที่ 1 มันก็ไม่จบ เรามาดูเหตุดูผลว่าการปฏิบัติศีลนี่ดี ดีกว่าละเมิดศีล
แล้วทำไมจึงต้องปฏิบัติในศีล มันก็ต้องมานั่งคิดดูว่าชีวิตเราที่เกิดมานี้ ว่ามันจะทรงตัวอยู่ตลอดกาลตลอดสมัยไหม นั่งมองหาความจริงว่าคนที่เขาเกิดมาก่อนเราจะตายไปบ้างมีหรือเปล่า คนเกิดทีหลังเราตายไปมีบ้างหรือเปล่า ก็ต้องทราบว่ามี