เว็บพุทธภูมิ: พุทธภูมิ พระโพธิสัตว์ การบำเพ็ญบารมี



ผู้เขียน หัวข้อ: ปฐมฌาน  (อ่าน 14686 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ Webmaster

  • Administrator
  • สมาชิก
  • *****
  • กระทู้: 404
    • ดูรายละเอียด
ปฐมฌาน
« เมื่อ: กุมภาพันธ์ 20, 2012, 09:54:03 PM »
คำสอน พระราชพรหมยาน (หลวงพ่อฤาษีลิงดำ)

ปฐมฌาน

จาก หนังสือ กรรมฐาน ๔๐

วันนี้ก่อนที่จะศึกษาอย่างอื่น ก็ให้นึกถึงกฎธรรมดาไว้เป็นสำคัญ กฎธรรมดาที่จะมีสำหรับเรานั้นก็คือ ชาติปิ ทุกฺขา ความเกิดเป็นทุกข์ ชราปิ ทุกฺขา ความแก่เป็นทุกข์ มรณมปิ ทุกฺขํ ความตายเป็นทุกข์ โสกปริเทวทุกขโสมนัสเป็นต้น ความเศร้าโศกเสียใจเป็นทุกข์ ความพลัดพรากจากของรักของชอบใจเป็นทุกข์ มีอาราณ์ขัดข้องหรือความปรารถนาไม่สมหวังเป็นทุกข์ พระพุทธเจ้าทรงกล่าวว่า เราเกิดมาเพื่อมาประสบกับความทุกข์ คนที่เกิดมาแล้วทุกคนที่จะไม่มีทุกข์ ไม่มี ถ้าหากว่าเรายังยึดถือว่า ร่างกายเป็นของเรา ทรัพย์สินเป็นของเรา ญาติพี่น้องเพื่อนฝูงเป็นของเรา อารมณ์ทุกข์มันก็เกิด เกิดเพราะว่าเราเกาะ ที่เรียกว่าอุปาทาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งโลกธรรมทั้ง ๘ ประการ คือ มีลาภดีใจ ลาภสลายตัวไป เสียใจ มียศ ดีใจ ยศสลายตัวไป เสียใจ มีความสุขในกามสุข ดีใจ ความทุกข์หมดไป ร้อนใจ ได้รับคำนินทา เดือดร้อน ได้รับคำสรรเสริญ มีสุข นี่ก็ถือว่าเป็นอารมณ์ของอุปาทาน สร้างความทุกข์ สร้างความหวั่นไหวให้เกิดขึ้นกับเรา

ทำอย่างไร เราจึงจะพ้นทุกข์

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แนะนำให้พวกเราถือว่าใช้อารมณ์คิดอยู่เสมอว่า กฎนี้เป็นกฎธรรมดาของโลกที่เราไม่สามารถจะหลีกเลี่ยงมันไปได้ ถ้ามันเกิดขึ้นกับเราก็ถือว่า ช่างมัน ตามศัพท์ภาษาบาลีท่านเรียกว่า ขันติ ความอดทน ถ้าใช้คำว่าอดทนมันเข้าใจยาก ใช้ภาษาไทยธรรมดาดีกว่า ว่ามันจะเกิดขึ้นมาประเภทไหนก็ช่างมัน

เกิดเป็นทุกข์ ทุกข์เพราะการแสวงหา การเลี้ยงชีวิต การประกอบอาชีพ การบริหารร่างกาย การบริหารหมู่คณะ กิจที่จะต้องทำมันเหนื่อยยาก ได้รับความขัดข้องใจ เราคือว่าเราทำตามหน้าที่ เราทำไว้เต็มความสามารถแล้วใครจะติว่าดีหรือไม่ดี ไม่ถือ ไม่ปรารภว่าเป็นเรื่องสำคัญ เพราะองค์สมเด็จพระทรงธรรม์กล่าวว่า นตฺถิ โลเก อนินฺทิโต คนที่ไม่ถูกนินทาเลยไม่มีในโลก ฉะนั้น การนินทาว่าร้ายอะไรก็ตาม ก็ถือว่าช่างมันเป็นธรรมดา ทุกอย่างเราทำงานตามหน้าที่

ถ้าความเกิดมันเป็นทุกข์อย่างนี้ เราก็ถือว่านี่เพราะว่าอาศัยเราโง่เราจึงเกิด โง่เพราะอะไร ? โง่เพราะยึดมั่นว่า ร่างกายมันเป็นเรา เป็นของเรา เรามีในร่างกาย ร่างกายมันมีในเรา เมื่อยึดร่างกายเสียอย่างเดียว ก็เลยยึดทรัพย์สินภายนอกไปด้วย แต่ความจริงสิ่งทั้งหลายเหล่านี้ มันไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา ถ้ามันเป็นเราจริง มันต้องไม่แก่ มันต้องไม่ป่วย มันต้องไม่ตาย ที่เกิดมาแล้ว มันต้องแก มันต้องป่วย มันต้องตาย ทำไมจิตใจเราจะต้องไปทุกข์มันด้วย ถ้าเราคิดไว้เสมอว่า เราเกิดเพื่อแก่ เกิดมาเพื่อป่วยไข้ไม่สบาย เกิดมาเพื่อกระทบกระทั่งกับอารมณ์ที่เราไม่ชอบใจ เกิดมาเพื่อความพลัดพรากจากของรักของชอบใจ ซึ่งมีความตายไปในที่สุด รวมความว่าเราเกิดมาเพื่อตาย ในเมื่อหน้าที่ของเราเกิดมาต้องประสบด้วยเหตุอย่างนี้ เราจะไปทุกข์มันทำไมเมื่ออาการทั้งหลายเหล่านั้นมันเกิด ถือว่านี่มันเป็นเรื่องธรรมดา ภายในไม่ช้าเราก็จะสิ้นทุกข์

วิธีสิ้นทุกข์ทำยังไง ?

เราก็มีการให้ทานเป็นปกติ ถ้าอารมณ์เราพร้อมเพรียงในทาน ก็ชื่อว่าเป็นการตัดโลภะ ความโลภ เรามีเมตตาเป็นปกติ อารมณ์ของเมตตาที่เราทรงอยู่คือรักษาศีลได้ ถ้ามีเมตตาอยู่ศีลมันก็ไม่ขาด ถ้ามีเมตตาอยู่เป็นปกติ นอกจากมีเมตตาอยู่แล้วศีลไม่ขาดแล้ว เมตตามันยังเป็นตัวทำลายโลภะ เราก็มาพิจารณาหาความจริงว่า ชาติปิ ทุกฺขา ความเกิดเป็นทุกข์ เจ้าอยากเกิดนี่ มันจะทุกข์อย่างไรก็ช่างมัน ใจเราก็วางเฉยไว้ ชราปิ ทุกฺขา ความแก่เป็นทุกข์ อาการงกๆ เงิ่นๆ ร่างกายไม่แข็งแรง ไม่กระปรี้กระเปร่า มีความปรารถนาไม่สมหวัง เพราะทำเองไม่ได้ แล้วเราก็เลยมีทุกข์ ถือว่านี่เป็นเรื่องธรรมดาของคนแก่ เกิดมาเพื่อแก่ มรณมฺปิ ทุกฺขํ ความตายเป็นทุกข์ เรื่องของชาวบ้านธรรมดาเราไม่ทุกข์ ถือว่าเป็นกฎธรรมดา ตายเสียได้ก็ดี เพระามันจะได้หมดเรื่องยุ่ง แล้วเราเห็นว่าขันธ์ห้าเป็นโทษ เป็นทุกข์สำหรับเรา เราก็เลยคิดต่อไปว่า ขึ้นชื่อว่าขันธ์ห้า ความเกิดมามีร่างกายขันธ์ห้า แบบนี้จะไม่มีสำหรับเราอีก เราจะไม่โง่ยอมรับนับถือให้มีร่างกายต่อไป ถ้าอารมณ์ใจของเราคิดไว้อย่างนี้เป็นปกติ เราก็จะหมดความทุกข์ มันค่อยๆ เข้าใจไปเอง

นี่เป็นบทที่บรรดาพุทธบริษัทควรจะคิดให้เป็นปกติ เพื่อความเข้าถึงซึ่งพระนิพพาน นี่เป็นวิปัสสนาญาณตัวสุดท้าย

ต่อแต่นี้ไป ก็จะขอพูดต่อเมื่อวานนี้ เมื่อวานเรามาพูดกันถึงจบอุปจารสมาธิ วันนี้ก็จะขอพูดเข้าถึงจุดของฌาน การรักษาลมหายใจเข้าออกและคำภาวนาว่าพุทโธ ความจริงการภาวนานี่ไม่ได้จำกัด ท่านจะภาวนาอย่างใดก็ได้ตามอัธยาศัย การภาวนาใดๆ ก็ตามให้กำหนดรู้ลมหายใจเข้าออกไปด้วย เวลาหายใจเข้านึกว่าพุธ เวลาหายใจออกนึกว่าโธ ขณะใดที่จิตใจเรายังมีความรู้สึก จิตยังอยู่ในขอบเขตคำว่าพุทโธ หรือลมหายใจเข้าออก พึงทราบว่าขณะนั้นจิตของเราตั้งอยู่ในอารมณ์ของสมาธิ

การทรงสมาธิวันละนิดหนึ่ง องค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้ากล่าวว่า ท่านผู้นั้นเป็นผู้ไม่ว่างจากฌาน คือมีคุณธรรมสูงพอที่จะเอาตัวรอดได้ ถ้าเราทรงสมาธิได้ดีกว่านั้น หมายความว่าขณะที่ท่านทั้งหลายกำหนดรู้ลมหายใจเข้าออกแล้วก็กำหนดคำภาวนา ภาวนาไปด้วยจิตใจมีอารมณ์สบาย หูได้ยินเสียงภายนอกชัดเจนดี สุนัขเห่า สุนัขหอน คนพูดเสียงร้องเพลงร้องละคร เสียงชาวบ้านทะเลาะกัน เขานินทากัน หรือแม้ว่านินทาว่าร้ายเรา เราได้ยินหมด แล้วก็ปรากฏว่าใจของเราไม่รำคาญ เราไม่มีความรำคาญในเสียง สามารถกำหนดรู้ลมหายใจเข้าออกและคำภาวนาได้แบบสบาย อารมณ์อย่างนี้ถ้าทรงไว้ได้ ๒, ๓ นาที ๕ นาที ๑๐ นาทีก็ตาม ท่านถือว่าอารมณ์อย่างนี้เป็นอารมณ์ของปฐมฌาน จิตเราเข้าถึงปฐมฌาน เป็นฌานที่ ๑

ฌานที่ ๑ นี่เรามีกฏสังเกตไว้อย่างนี้ คือว่า เราไม่รำคาญในเสียง เพราะเสียงนี่เป็นศัตรูของปฐมฌาน ให้สังเกตไว้ แต่การเข้าถึงปฐมฌานกับการทรงปฐมฌานมันต่างกัน การทรงหมายความว่าเราบังคับจิตให้ทรงอยู่ในอารมณ์นั้นๆ เวลาเท่าใดก็ได้ตามที่เราตั้งใจไว้ อย่างนี้ชื่อว่าเป็นผู้ทรงฌาน ถ้าอารมณ์จิตเข้าถึงปฐมฌาน มันก็ลดตัวตัดลงมา ลดลงมาต่ำ เมื่อลดลงมาต่ำแล้ว เราก็ตั้งใจจะก้าวขึ้นไปอีก มันขึ้นไปได้หรือไม่ได้ก็ตามใจ

การที่จะเข้าถึงปฐมฌานในตอนต้น มันมีเรื่องอยู่ที่เป็นเรื่องน่าสงสัย นั้นคืออารมณ์เบื้องต้น ถ้าอารมณ์ของเราหยาบ มันจะมีอาการมืดตื้อ เคลิ้มคล้ายหลับ จะมีอารมณ์มืด บางทีเรามีความรู้สึกตัวเหมือนจะหลับไป ถ้าจิตมันตกจากอารมณ์นั้นลงมา จิตใจจะมีอารมณ์สว่าง เราก็คิดว่าเราเผลอหลับไปหรือไงก็ไม่ทราบ เราจะสังเกตได้ว่าเราหลับหรือไม่หลับ หรือว่าจิตเข้าสู่อารมณ์ฌานหยาบ ถ้าเราหลับหลับมันต้องโงกไปข้างหน้า หรือหงายไปข้างหลังเป็นอาการของคนหลับ ถ้าร่างกายมันนั่งอยู่เฉยๆ แล้วมีอาการเคลิ้มอย่างนั้น เกือบจะหมดความรู้สึกตัวเผลอไปแล้วก็รู้สึกขึ้นมาใหม่ อย่างนี้แสดงว่าจิตของท่านเข้าถึงปฐมฌาน แต่มันหยาบ มันทรงไม่ได้นาน ต่อไปจิตมันก็จะละเอียดเอง นี่เป็นลักษณะหนึ่งที่บรรดานักปฏิบัติทั้งหลายมีความสงสัย

อีกลักษณะหนึ่งนั่นคือว่า เวลานั่งๆ ไป มีอาการหวิวคล้ายกับตกจากที่สูง ทำให้ตกใจเสียวขึ้นมาทันที บางทีก็มีการใจเต้นแรงเหมือนเราตกจากที่สูง เมื่อมีความรู้สึกเป็นเช่นนี้ อารมณ์ดิ่งจะไม่มี เราจับได้ต่อไปก็จะมีแต่อารมณ์สบาย อาการอย่างนี้ขอบรรดาท่านทั้งหลายพึงเข้าใจ ว่านั่นจิตมันเข้าไปสู่ปฐมฌานแล้ว แต่ว่าจิตมันทรงอยู่ไม่ได้นาน มันพลัดตกจากฌาน คือมันพลัดแรงเกินไป ตกเข้าสู่สภาวะภวังค์ที่เรียกว่าจิตปกติ

ถ้าเป็นปฐมฌานอย่างละเอียด มันจะมีอารมณ์สบาย เฉยๆ มีความสว่างของจิต จิตจะมีอารมณ์สงบสงัด หูจะได้ยินเสียงทั้งหมด แต่ก็มีใจสบายไม่รำคาญในเสียง นี่เป็นปฐมฌานละเอียด

ถ้ามีอารมณ์อย่างนี้ทั้งสองประการ ขอบรรดาท่านพุทธบริษัททุกท่านก็ควรจะภูมิใจว่าจิตเราเข้าสู่ปฐมฌาน วันหนึ่งขณะหนึ่งก็ดี นาทีหนึ่ง ๒ นาที ๓ นาทีก็ดี ถ้าจิตทรงได้อย่างนี้ทุกๆ วันก็ชื่อว่าเราเป็นผู้ไม่ว่างจากฌาน เวลาที่ตายไปแล้วเราก็จะกลายเป็นพรหม เวลาที่เราป่วยหนัก อารมณ์ของสมาธิจิตจะเข้ามารวมตัว เมื่ออารมณ์จิตเข้ามารวมตัวแล้วเราก็จะมีความสุข นี่เราจะไปรู้กันเวลาที่ป่วยหนักๆ ว่ามันณขนาดไหน ถ้าจิตรวมตัวได้จิตทรงปฐมฌานอยู่ เวลาป่วยนี่มันได้ผลจริงๆ มันจะทรงตัวได้ดีมาก เมื่อจิตทรงตัวได้ดีมากเวลาตาย ตายในระหว่างปฐมฌาน ถ้าหากว่าเราได้ฌานอย่างหยาบ เราก็เกิดเป็นพรหมชั้นที่ ๑ ถ้าเป็นฌานอย่างกลางเราก็เป็นพรหมชั้นที่ ๒ ถ้าเป็นฌานอย่างละเอียดก็เป็นพรหมชั้นที่ ๓ ีนี่พูดกันถึงด้านโลกียวิสัย เป็นฌานโลกีย์

ถ้าอารมณ์เข้าถึงปฐมฌานแบบนี้ ถ้าเราพิจารณาอย่างตอนต้นแบบง่ายๆ ถึงอัตภาพร่างกายนี้ มันไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา เราไม่มีในร่างกาย ร่างกายไม่มีในเรา เราไม่ยึดมั่นถือมั่นในร่างกาย มันจะป่วยมันจะแก่ มันจะตายก็ช่างมัน ถือว่าเป็นเรื่องธรรมดา ใครจะนินทาใครจะสรรเสริญเราไม่สนใจ ความร่ำรวยมีเท่าใด มันยากจนอย่างไร ก็ช่างมันหากินไปตามหน้าที่ มีมากกินมาก มีน้อยกินน้อย ถือว่ามีมากก็ตาย มีน้อยก็ตาย มีมากก็แก่ มีน้อยก็แก่ มีมากก็ป่วย มีน้อยก็ป่วย มีมากก็กลุ้ม มีน้อยก็กลุ้ม มันก็ไอ้กลุ้มเหมือนกัน สิ่งทั้งหลายเหล่านี้นั้น มันเป็นของธรรมดา เราทำใจให้สบาย

ถ้าจิตใจของเราไม่ยึดมั่นถือมั่นในร่างกาย เห็นว่าร่างกายมีความเกิด มีความแก่เจ็บตายไปในที่สุด เป็นของธรรมดา มีอารมณ์แรงกล้า คือยอมรับนับถือคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าอย่างมั่นคงมีศีลบริสุทธิ์ มีอารมณ์รักพระนิพพานเป็นอารมณ์ นี่แค่ปฐมฌานทำได้แล้วขนาดนี้ เพราะกำลังของปฐมฌานมีกำลังพอที่จะตัดกิเลส อย่างนี้องค์สมเด็จพระบรมโลกเชษฐ์เรียกว่าพระโสดาปัตติผล ถ้าอารมร์ใจของเราเข้าถึงความเป็นพระโสดาบันหรือโสดาปัตติผลนั่นเอง อารมณ์จิตมันก็จะไม่ตกต่ำ ไม่เคลื่อนไปอบายภูมิ ถ้าเราตายจากความเป็นมนุษย์ มีเกิดเป็นมนุษย์บ้างเป็นเทวดาบ้างสลับกันไป ถ้าได้พระโสดาอย่างหยาบ ก็เกิดเป็นมนุษย์อีก ๗ ชาติแล้วไปนิพพาน เป็นพระโสดาบันอย่างกลางก็เกิดเป็นมนุษย์อีก ๓ ชาติ เป็นพระโสดาบันอย่างละเอียดก็เป็นมนุษย์อีก ๑ ชาติ นี่พูดกันถึงตามหลักการที่เราจะได้พระโสดาบันหรือจะไม่ได้พบพระพุทธเจ้า อย่าลืมว่าพระโสดาบันทรงคุณธรรมเพียงสามประการเท่านั้น คือนึกอยู่เสมอว่าเราจะต้องตายเป็นปกติ เห็นความเกิด ความแก่ ความกลัดกลุ้มใดๆ ก็ตามมันเป็นของธรรมดา แต่ความโลภอยากรวยยังมีอยู่ ความอยากสวยยังมีอยู่ ความโกรธยังมีอยู่ ความหลงยังมีอยู่ แล้วความอยากสวยอยากรวยอยากโกรธอยากหลงมันอยู่ในขอบเขตของศีล อยากสวยก็สวยโดยไม่ผิดศีล อยากรวยได้มาโดยไม่ผิดศีล ไม่คดไม่โกงใคร โกรธได้แต่ทำร้ายใครเขาไม่ได้กลัวศีลขาด ยังหลงในร่างกายว่าเป็นเรา เป็นของเรา มีอยู่แต่ว่ารู้อยู่เสมอว่าเราจะต้องตาย จิตใจมันปล่อยได้ งานทุกอย่างทำตามหน้าที่แล้วมีอารมณ์ยอมรับนับถือคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า มีศีลห้าบริสุทธิ์ มีอารมณ์รักพระนิพพานเป็นปกติ นี่แค่นี้เองพระโสดาบัน

ถ้าจะพูดย่อให้สั้นลงมา องค์พระโสดาบันก็คือ

๑) มีความเคารพในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์อย่างแน่นอน

๒) มีศีลห้าเป็นปกติ ศีลห้าไม่ขาด

อาการของพระโสดาบันก็คือชาวบ้านชั้นดี การปฏิบัติแบบนี้เพื่อจะเข้าถึงพระโสดาบันมันเป็นของไม่ยาก

เอาละต่อแต่นี้ไปบรรดาท่านพุทธบริษัททั้งหลาย พยายามตั้งกายให้ตรง ดำรงสติให้มั่นกำหนดรู้ลมหายใจเข้าออก ใช้คำภาวนาและพิจารณาตามอัธยาศัย จนกว่าจะได้ยินสัญญาณบอกหมดเวลา


ปฐมฌาน หรือปฐมสมาบัตินี้ ท่านกำหนดองค์ของปฐมฌาน หรือปฐมสมาบัติไว้ ๕ อย่างดังต่อไปนี้

1. วิตก จิตกำหนดนึกคิด โดยกำหนดรู้ลมหายใจเข้าออก ว่าหายใจเข้าหรือออก ถ้าใช้คำภาวนา ก็รู้ว่าเราภาวนาอยู่ คือภาวนาไว้มิให้ขาดสาย ถ้าเพ่งกสิณ ก็กำหนดจับภาพ กสิณอยู่ตลอดเวลาอย่างนี้เรียกว่าวิตก
2. วิจาร ถ้ากำหนดลมหายใจ ก็ใคร่ครวญกำหนดรู้ไว้เสมอว่า เราหายใจเข้าหรือ หายใจออก หายใจเข้าออกยาวหรือสั้น หายใจเบา หรือแรง ในวิสุทธิมรรคท่านให้รู้กำหนด ลมสามฐานคือ หายใจเข้าลมกระทบจมูก กระทบอก กระทบศูนย์เหนือสะดือนิดหน่อย หายใจ ออกลมกระทบศูนย์ กระทบอกกระทบจมูกหรือริมฝีปาก

ถ้าภาวนา ก็กำหนดรู้ไว้เสมอว่าเราภาวนาถูกต้องครบถ้วนหรือไม่ประการ ใด

ถ้าเพ่งภาพกสิณ ก็กำหนดหมายภาพกสิณว่า เราเพ่งกสิณอะไร มีสีสัน วรรณะเป็นอย่างไร ภาพกสิณเคลื่อนหรือคงสภาพ สีของกสิณเปลี่ยนแปลงไป หรือคงเดิม ภาพที่เห็นอยู่นั้นเป็นภาพกสิณที่เราต้องการ หรือ ภาพหลอนสอด แทรกเข้ามา ภาพกสิณเล็กหรือใหญ่ สูงหรือต่ำ ดังนี้เป็นต้น อย่างนี้เรียกว่า วิจาร
3. ปีติ ความชุ่มชื่นเบิกบานใจ มีเป็นปกติ
4. ความสุขเยือกเย็น เป็นความสุขทางกายอย่างประณีต ซึ่งไม่เคยมีมาใน กาลก่อน
5. เอกัคคตารมณ์ มีอารมณ์เป็นหนึ่ง คือ ตั้งมั่นอยู่ในองค์ทั้ง ๔ ประการนั้น ไม่คลาดเคลื่อน

ข้อที่ควรสังเกตก็คือ ปฐมฌาน หรือ ปฐมสมาบัตินี้ เมื่อขณะทรงสมาธิอยู่นั้น หูยังได้ยินเสียงภายนอกทุกอย่าง แต่ว่าอารมณ์ภาวนาหรือรักษาอารมณ์ไม่คลาดเคลื่อน ไม่รำคาญในเสียง เสียงก็ได้ยินแต่จิตก็ทำงานเป็นปกติ อย่างนี้ท่านเรียกว่า ปฐมฌาน คือ อารมณ์เพ่งอยู่ โดยไม่รำคาญ ในเสียงทรงความเป็นหนึ่งไว้ได้ ท่านกล่าวว่า กายกับ จิตเริ่มแยกตัวกันเล็กน้อย แล้วตามปกติจิตย่อมสนใจในเรื่องของกาย เช่นหูได้ยินเสียง จิตก็คิดอะไรไม่ออกเพราะรำคาญในเสียง แต่พอจิตเข้าระดับปฐมฌาน กลับเฉยเมย ต่อเสียงคิดคำนึงถึงอารมณ์กรรมฐานได้เป็นปกติที่ท่านเรียกว่า ปฐมสมาบัติ ก็ เพราะ อารมณ์สมาธิเข้าถึงเกณฑ์ของปฐมฌานที่จิตกับกายเริ่มแยกทางกันบ้างเล็กน้อย แล้วนั่นเอง

อารมณ์ปฐมฌาน และปฐมสมาบัติ

เพื่อให้จำง่ายเข้า จะขอนำอารมณ์ปฐมฌานมากล่าวโดยย่อเพื่อทราบไว้ อารมณ์- ปฐมฌานโดยย่อมีดังนี้

1. วิตก ความตรึกนึกคิดถึงอารมณ์ภาวนา
2. วิจาร ความใคร่ครวญทบทวนถึงองค์ภาวนานั้นๆ ครบถ้วนถูกต้องหรือไม่เพียงใด
3. ปีติ ความเอิบอิ่มใจ มีความชุ่มชื่นเบิกบานหรรษา
4. สุข มีความสุขสันต์ทางกายและจิตใจอย่างไม่เคยมีมาในกาลก่อน เป็นความสุข อย่างประณีต
5. เอกัคคตา มีอารมณ์เป็นหนึ่ง คือ ทรงวิตก วิจาร ปีติ สุข ไว้ได้โดยไม่มีอารมณ์ อื่นเข้ามาแทรกแซง

องค์ปฐมฌาน หรือ ปฐมสมาบัติ ๕ อย่างที่กล่าวมาแล้วนี้ ต้องปรากฏพร้อม ๆ กันไปคือ นึกคิดถึงองค์ภาวนาใคร่ครวญในองค์ภาวนานั้น ๆ ว่า ครบถ้วนถูกต้องหรือ ไม่ประการใด มีความชุ่มชื่นเบิกบานใจ มีอารมณ์ผ่องใสสว่างไสวในขณะภาวนา มีความสุข สันต์หรรษา มีอารมณ์จับอยู่ในองค์ภาวนา ไม่สนใจต่ออารมณ์ภายนอก แม้แต่เสียงที่ได้ยิน สอดแทรกเข้ามาทำให้ได้ยินชัดเจน แต่จิตใจก็ไม่หวั่นไหว ไปตามเสียงนั้น จิตใจคงมั่นคง อยู่กับอารมณ์ภาวนาเป็นปกติ

เสี้ยนหนามของปฐมฌาน

เสี้ยนหนามหรือศัตรูตัวสำคัญของปฐมฌาน หรือ ปฐมสมาบัตินี้ ก็ได้แก่ เสียง เสียงเป็นศัตรูที่คอยทำลายอารมณ์ปฐมฌาน ถ้านักปฏิบัติทรงสมาธิอยู่ได้ โดยไม่ต้องระแวงหวั่นไหวในเสียง คือไม่รำคาญเสียงที่รบกวนได้ก็แสดงว่าท่านเข้าถึง ปฐมฌานแล้ว ข้อที่ไม่ควรลืมก็คือ ฌานโลกีย์นี้เป็นฌานระดับต่ำ เป็นฌานที่ปุถุชน คนธรรมดาสามารถจะทำให้ได้ถึงทุกคน เป็นฌานที่เสื่อมโทรมง่าย หากจิตใจของ ท่านไปมั่วสุมกับนิวรณ์ห้าประการอย่างใดอย่างหนึ่งเข้าแม้แต่อย่างเดียว ฌานของท่าน ก็จะเสื่อมทันที ต่อว่าเมื่อไรท่านขับไล่นิวรณ์ไม่ให้เข้ามารบกวนจิตใจได้ ฌานก็เกิดขึ้น แก่จิตใจของท่านต่อไป ฌานจะเสื่อม หรือ เจริญก็อยู่ที่นิวรณ์ ด้านนิวรณ์ไม่ปรากฏจิตว่าง จากนิวรณ์ จิตก็เข้าถึงฌาน ถ้านิวรณ์มารบกวนจิตได้ ฌานก็จะสลายตัวไป ฌานตั้งแต่ ฌานที่ ๑ ถึง ฌานที่ ๘ มีสภาพเช่นเดียวกัน คือต้องระมัดระวังนิวรณ์ไม่ให้เข้ามายุ่ง แทรกแซงเหมือนกัน ก่อนที่จะพูดถึงฌานที่ ๒ จะขอนำเอานิวรณ์ศัตรูร้ายผู้คอยทำลาย ฌานมาให้ท่านรู้จักหน้าตาไว้เสียก่อน

นิวรณ์ ๕

อกุศลธรรมที่คอยทำลายล้างความดีที่เป็นกุศล คือ ฌาน ท่านเรียกว่า นิวรณ์ มี ๕ อย่างคือ

1. กามฉันทะ ความพอใจใน รูป เสียง กลิ่น รส และสัมผัสอันเป็นวิสัยของ กามารมณ์
2. พยาบาท ความผูกโกรธ จองล้างจองผลาญ
3. ถีนมิทธะ ความง่วงเหงาหาวนอน ในขณะเจริญสมณธรรม
4. อุทธัจจกุกกุจจะ ความคิดฟุ้งซ่าน และความรำคาญหงุดหงิดใจ
5. วิจิกิจฉา ความลังเลสงสัยในผลของการปฏิบัติ ไม่แน่ใจว่าจะมีผลจริงตามที่คิด ไว้หรือไม่เพียงใด

อารมณ์ทั้ง ๕ ประการนี้ เป็นเพื่อนสนิทกับจิตใจมานับจำนวนปีไม่ถ้วน ควรจะพูด ว่า จิตใจของเราคบกับนิวรณ์มานานหลายร้อยหลายพันชาติ เมื่อจิตใจเราสนิทสนม กับอารมณ์ของนิวรณ์มานานอย่างนี้ เป็นธรรมดาอยู่เองที่จิตใจจะต้องอดคบหาสมาคมกับ นิวรณ์ไม่ได้ เมื่อเรามาแนะนำให้คบหาสมาคมกับฌาน ซึ่งเป็นเพื่อนหน้าใหม่ มีนิสัยตรงข้าม กับเพื่อนเก่าก็เป็นการฝืนอารมณ์อยู่ไม่น้อย ฉะนั้น ในฐานะที่นิวรณ์กับจิตเป็นเพื่อนสนิทกัน มานาน ก็อดที่จะแอบไปคบหาสมาคมกันไม่ได้ อารมณ์ที่จะคอยหักล้างนิวรณ์ คืออกุศลห้า- ประการนี้ได้ ก็อารมณ์ ๕ ประการของปฐมฌานนั่นเอง เมื่อจิตกับนิวรณ์เป็นมิตรสนิทกัน มานาน

ฉะนั้น การดำรงจิตอยู่ในอารมณ์ฌานจึงทรงอยู่ได้ไม่นาน ทรงอยู่ได้ชั่วครู่ชั่วขณะ จิตก็เลื่อนเคลื่อนออกจากอารมณ์ฌานคลานเข้าไปหานิวรณ์ อาการอย่างนี้เป็นกฎธรรมดา ของท่านที่เข้าถึงฌานในระยะต้น หรือที่มีความช่ำชองชำนาญในฌานยังน้อยอยู่ต่อเมื่อไร ได้ฝึกการดำรงฌาน กำหนดเวลาตามความต้องการได้แล้ว เมื่อนั้นแหละความเข้มข้นเข้ม แข็งของกำลังจิตที่จะทรงฌานอยู่ได้นานตามความต้องการจึงจะปรากฏมีขึ้น ขอนักปฏิบัติ จงเข้าใจไว้ด้วยว่า จิตที่เข้าสู่ระดับฌาน คือ ปฐมฌาน หรือฌานอื่นใดก็ตาม ถ้า ยังไม่ฝึกฝนจนชำนาญ เข้าฌานออกฌานตามกำหนดเวลาได้แล้ว จิตก็จะยังทรงสมาธิไว้ ได้ไม่นาน จิตจะค่อยถอยหลังเข้าหานิวรณ์ ๕ ประการอย่างใดอย่างหนึ่งเมื่ออารมณ์ฌาน ย่อหย่อน เมื่อมีอาการอย่างนั้นบังเกิดขึ้นก็จงอย่าท้อใจหมั่นฝึกฝนเข้าฌานโดยการกำหนด เวลาว่า ต่อแต่นี้ไปเราจะดำรงอยู่ในฌาน ตั้งแต่เวลานี้ถึงเวลาเท่านั้น แล้วเริ่มทำสมาธิเข้าสู่ ระดับฌาน ทรงฌานไว้ตามเวลาจนกว่าเมื่อถึงเวลาแล้วจิตจะเคลื่อนจากฌาน มีความรู้สึก ตามปกติเอง เมื่อทำได้แล้วหัดทำบ่อย ๆ จากเวลาน้อย ไปหาเวลามาก คือ ๑ ชั่วโมง ไป หา ๒-๓-๔-๕-๖ จนถึง ๑ วัน ๒-๓-๔-๕-๖-๗ พอครบกำหนด จิตก็จะคลายตัวออกเองโดย ไม่ต้องตั้งนาฬิกาปลุกหรือคนเรียก เมื่อชำนาญอย่างนี้ ชื่อว่าท่านเอาชนะนิวรณ์ได้ แต่ก็ อย่าประมาทเพราะฌานโลกีย์ ถึงอย่างไรก็ดี ยังไม่พ้นอำนาจนิวรณ์อยู่นั่นเอง นิวรณ์ที่ไม่มา รบกวนนั้นไม่ใช่นิวรณ์สูญไปหรือสลายตัวเพียงแต่เพลียไปเท่านั้นเอง ต่อเมื่อไรท่านได้ โลกุตตรฌาน คือ บรรลุพระอริยะ ตั้งแต่พระโสดาบันขึ้นไปนั่นแหละท่านพอจะไว้ใจตัว ได้ว่าท่านไม่มีวันที่จะต้องตกมาอยู่ใต้อำนาจนิวรณ์ คืออกุศลธรรมต่อไปอีก เพราะโลกุต- ตรฌานคือ ได้ฌานโลกีย์แล้วเจริญวิปัสสนาญาณจนบรรลุอริยมรรคอริยผล เป็นพระอริย- บุคคล แล้วอกุศลคือนิวรณ์ ๕ ประการเข้าครองจิตไม่ได้สนิทนักสำหรับพระอริยะต้น พอจะ กวนบ้างเล็กๆ น้อยๆ แต่ก็จักจูงใจให้ทำตามนิวรณ์สั่งไม่ได้ นิวรณ์บางอย่างเช่น กามฉันทะ ความพอใจในความสวยงามของ รูป เสียง กลิ่น รส และสัมผัส ความโกรธ ความขัด เคือง พระโสดาบัน พระสกิทาคามียังมี แต่ก็มีเพียงคิดนึกไม่ถึงกับลงมือทำ เรียกว่าอกุศลกวนใจ นิดหน่อย พอทำได้ แต่จะบังคับให้ทำไม่ได้ สำหรับพระอนาคามี ยังตกอยู่ใต้อำนาจของ อุทธัจจะ คือความคิดฟุ้งซ่าน แต่ก็คิดไปในส่วนที่เป็นกุศลใหญ่มากกว่า ความคิดฟุ้งเลอะ เลือนเล็กๆ น้อย ๆ พอมีบ้าง แต่ไม่มีอะไรเป็นภัย เพราะพระอนาคามีหมดความโกรธ ความพยาบาทเสียแล้ว

อำนาจของนิวรณ์มีอย่างนี้ บอกให้รู้ไว้ จะได้คอยยับยั้งชั่งใจคอยระมัดระวังไว้ไม่ปล่อย ให้ใจระเริงหลงไปกับนิวรณ์ ที่ชวนให้จิตมีความรู้สึกนึกคิดไปในส่วนที่เป็นอกุศลยับยั้งตนไว้ ในอารมณ์ของฌานเป็นปกติ ท่านที่มีอารมณ์จิตเข้าถึงอารมณ์ฌานและเข้าฌานไว้เป็นปกติ ท่านผู้นั้นมีหน้าตาแช่มชื่นเอิบอิ่มอยู่เสมอ มีอารมณ์เบิกบานไม่หดหู่ เห็นน่ารักอยู่ตลอดเวลา ฌานแม้แต่เพียงปฐมฌานจัดว่าเป็นฌานเบื้องต้น ก็มีผลไม่น้อยถ้าทรงไว้ได้ไม่ปล่อยให้เสื่อม ตายไปในขณะที่ทรงฌาน ก็สามารถไปเกิดในพรหมโลกได้สามชั้น คือ ปฐมฌานหยาบเกิด เป็นพรหมชั้นที่ ๑ ปฐมฌานกลาง เกิดเป็นพรหมชั้นที่ ๒ ปฐมฌานละเอียด เกิดเป็นพรหม ชั้นที่ ๓ ถ้าท่านเอาสมาธิในปฐมฌานมาเป็นกำลังของวิปัสสนาญาณแล้วอำนาจสมาธิของ ปฐมฌานก็สามารถเป็นกำลังให้วิปัสสนาญาณกำจัดกิเลสเป็น สมุจเฉทปหาน คือตัดกิเลส ได้เด็ดขาดจนบรรลุอรหัตตผลได้สมความปรารถนา อำนาจฌานแม้แต่ฌานที่ ๑ มีอานุภาพ มากอย่างนี้ ขอท่านนักปฏิบัติจงอย่าท้อใจ ระมัดระวังใจ อย่าหลงใหลในนิวรณ์จนเสียผลฌาน